แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เคยใช้ตอนกลางคืนนี่พูดจากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็พระบวชใหม่ วันนี้ก็เป็นวันแรก ก็จะได้พูดเรื่องที่เป็นเบื้องต้นที่สุดนะ คล้ายกับว่าทบทวนเรื่องที่เคยพูดกันเมื่อวันบวช อีกครั้งหนึ่ง สำหรับผู้ที่ไม่ได้บวชที่นี่ หรือบวชมาจากอื่นก็ไม่เคยได้ฟัง ดังนั้น จึงต้องยอมเสียเวลาถอยกลับไปพูดเรื่องนี้ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ยังไม่เคยฟัง การบวชโดยเฉพาะอย่างยิ่งของ เอ่อ, คนหนุ่มสมัยปัจจุบันนี้ มันมีความประสงค์ต่างออกไปจากที่เป็นความประสงค์อันแท้จริงของการบวชในยุคก่อน เอ่อ, ในยุคพุทธกาล หรือในยุคก่อนๆ คือว่า การบวชนั้นเขาถือเอาเป็นโอกาสสำหรับไปแสวงหาความสุขในบั้นปลายของชีวิตตลอดไป แต่เดี๋ยวนี้เราบวชตั้งแต่หนุ่มๆ แล้วก็ มีการกำหนดว่าจะสึกด้วย มันจึงแตกต่างกันมาก ดังนั้น ขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกเรื่อง หรือให้ถูกฝาถูกตัวกับเรื่องของเรา ในการบวชเลย บวชตลอดชีวิต ท่องเที่ยวไปจนตลอดชีวิตนั้น มันของสำหรับผู้ที่มีอายุมากพอสมควร ผ่านโลกมาแล้ว ไม่ประสงค์จะอยู่อย่างโลก จึงเป็นอันว่าปฏิบัติไปอย่างหนึ่ง โดยมากก็เที่ยวสั่งสอน ส่วนคนหนุ่มที่บวชนี้มันก็มีเหมือนกัน ระเบียบเขาก็มี ในประเทศอินเดีย คือ คนหนุ่มเข้าไปสู่อาศรมแห่งใดแห่งหนึ่ง เพื่อได้รับการฝึกหัด ฝึกฝนต่างๆ กว่าจะครบถ้วนกระบวนความตามที่นิยมกันอย่างไร คือว่าจะให้ฝึกฝนอะไรกันบ้าง นี้ก็มีเป็นอาศรม คือ อยู่กันมากๆ เขาเรียกว่า อาศรม อยู่กันเป็นร้อยเป็นพันก็ได้ แล้วก็ประพฤติปฏิบัติอย่างเดียวกัน นี้โดยมาก หรือส่วนใหญ่ ในการปฏิบัตินั้น ส่วนสำคัญที่สุด ก็คือการบังคับตนเอง บังคับตนเอง ซึ่งหมายถึงการบังคับกิเลสของคนหนุ่ม นั่นแหละเป็นที่มุ่งหมายสำคัญ เพื่อฝึก ฝึกฝนการบังคับกิเลส บังคับตนเองจนกว่าจะชนะตัวเอง คือ ปกครองตัวเอง คุ้มครองตัวเอง บังคับตัวเองได้ ถ้า อ้า, ศึกษา ฝึกฝน ปฏิบัติครบถ้วนแล้ว ก็อนุญาตให้กลับบ้านได้ ไปเป็นคนดี ไปเป็นคนที่มีธรรมะ เป็นคนที่อยู่ในความเคารพนับถือของสังคม แล้วก็เรียกคนเหล่านี้ว่า บัณฑิต บัณฑิต อันนี้เรียกกันมาตั้งแต่โบราณ มันคล้ายๆ กับการเข้ามหาวิทยาลัยสมัยนี้ แต่ว่ามหาวิทยาลัยสมัยนี้ มันเรียนมากเกินไป ไม่ได้เรียนเท่าที่จำเป็นที่มนุษย์จะต้องมีจะต้องใช้ เราก็จะเรียกว่าเหมือนกันทีเดียวเลยก็ไม่ได้ แต่มันมุ่งหมายมันคล้ายกัน แล้วการศึกษาในปัจจุบันในมหาวิทยาลัยนี่เป็นเรื่องอาชีพ เป็นเรื่องอาชีพ ไม่ใช่ปฏิบัติทางจิตใจ ส่วนครั้งก่อนโน้นนั้น เป็นการปฏิบัติทางจิตใจ ไม่ได้สอนวิชาชีพ มันต่างกันอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เราก็เรียนวิชาชีพกันมาแล้ว ตามสมควร ก็ยังเหลือแต่เรื่องทางจิตใจ จะต้องศึกษา ฝึกฝน บังคับจิตใจ ให้เรียกว่าปลอดภัยก็ได้ หรือให้มันเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปก็ได้ แต่ส่วนใหญ่นั้นมันเพื่อความปลอดภัยมากกว่า เพราะว่าคนที่บังคับตนเองไม่ได้ ก็มีกิเลส ก็มีกิเลส กิเลสก็เบียดเบียนผู้นั้นเอง แล้วก็เป็นเหตุให้ทำอันตรายผู้อื่นด้วย มันเลยเบียดเบียนทั้งตนเอง เบียดเบียนทั้งผู้อื่น เขาจึงมุ่งศึกษาในเรื่องนี้กันเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ในขั้นแรก ก็คือว่า ปัญหาของตนเองนั้นนะให้มันหมดไป และปัญหาที่จะอยู่ในสังคมนี่มันหมดไป ส่วนเรื่องที่จะให้มีจิตใจสูงสุดขึ้นไปนั้น ก็ว่ากันไปเรื่อยๆ ตามใจชอบ แต่ในขั้นต้นนี้ ก็เพื่อให้บังคับตนเองได้ บังคับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ขอให้สนใจในเรื่องบังคับตนเองนี่แหละให้มาก เพื่อให้มีบทเรียนสำหรับให้บังคับตนเอง ให้อยู่ในระเบียบ ให้อยู่ในลักษณะที่พึงปรารถนา นับตั้งแต่ว่า ไม่ขี้เกียจ ไม่นอนสาย ไม่เห็นแก่ตัว หรือว่าดูดาย แล้วก็ไม่นึกถึงหัวอกผู้อื่น ดังนั้น เราจึงมีระเบียบเบื้องต้น สำหรับฝึกฝน เช่น การตื่นขึ้นมา ไหว้พระ สวดมนต์กันตั้งแต่ดึกหน่อย เมื่อ ตี ๔ ตี ๕ นะ เป็นเวลาที่นอนหลับสบาย ถ้าต้องตื่นมาเวลานั้น มันก็เป็นการบังคับ บังคับตัวเอง มันก็เลยได้มีการบังคับตัวเอง ถ้าทำไป ทำไปจนเป็นที่พอใจ ไม่รู้สึกว่าฝืนทำ มันก็ดีเท่านั้นแหละ มันก็มีจิตใจดี คือ ไม่เห็นแก่นอน ไม่เห็นแก่ความสุขชนิดนั้น ซึ่งเป็นอันตราย เป็นการทำให้ตามใจตัวเองมากขึ้นๆ ไอ้เรื่องตามใจตัวเองนั่นแหละ อันตรายที่สุดแหละ คือ ตามใจกิเลสนั่นแหละ คำว่า ตนเอง ในภาษาชาวโลกนี่ คือ หมายถึงกิเลสนะ ทั้งนั้น เห็นแก่ตน ก็เห็นแก่กิเลส ตามใจตนก็ตามใจกิเลส ถ้าพูดถึงว่าบังคับตน มันก็คือ บังคับกิเลส เราจึงมีระเบียบอย่างนี้กันมาแต่กาลก่อนนะ คือ อุปัชฌาย์ อาจารย์ในกาลก่อนท่านได้มองเห็นประโยชน์อย่างนี้ แล้วก็วางระเบียบ ขนบธรรมเนียมประเพณีไว้อย่างนี้ ก็เป็นเวลาร้อยๆ ปีมาแล้ว ตามที่ว่ามันมีพุทธศาสนาเข้ามาสู่สังคมนี้ รับเอาเป็นศาสนาประจำชาติ ประจำหมู่คณะก็ล้วนแต่มีระเบียบ ให้ประพฤติปฏิบัติที่เป็นการขูดเกลากิเลส ท่านกล่าวไว้เป็นหลักกลางๆ เช่นว่า บิณฑบาต กวาดวัด ปลงอาบัติ ทำวัตร สวดมนต์ ขวนขวายในเรื่องการศึกษาการเจริญภาวนา จบลงด้วยการทำตนให้หมดจด ให้น่าไหว้ น่าบูชา ซึ่งได้กล่าวไว้ในละเอียด เอ่อ,กล่าวไว้อย่างละเอียดในเรื่อง วัตรของผู้บวชใหม่ ผู้ที่มีหนังสือสำหรับผู้บวชใหม่นะช่วยอ่านดูให้ดีๆ ให้จำข้อความเหล่านี้ไว้ได้ แล้วพอถึงเวลาที่จะต้องปฏิบัติ ก็มีความเต็มใจ พอใจที่จะปฏิบัติ ถ้ามันเกิดการรู้สึกบิดพลิ้ว เกียจคร้าน หนาวบ้าง อะไรบ้าง ก็ถือเป็นโอกาสบังคับตัวเอง ขจัดความรู้สึกอย่างนั้นออกไปเสีย มันก็ค่อยดีขึ้น ค่อยๆ ดีขึ้น ค่อยเปลี่ยนนิสัยเป็นคนที่ว่า บริสุทธิ์ เข้มแข็ง ตรงไปตรงมา ไม่เปิดโอกาสให้แก่ความอ่อนแอหรือกิเลสครอบงำ นี่ถ้าจะทำไปได้สักหลายๆ เดือน อย่างนี้ มันก็พอจะเปลี่ยนนิสัยได้ เรียกว่าจะกลายเป็นคนละคนก็ได้ เราไม่เคยอยู่ในที่ควบคุมอย่างนี้ มีแต่ปล่อยตามสบายใจตั้งแต่เกิดมา ทำอะไรได้ตามสบายใจ อ้า, บางทีบิดามารดาก็ไม่ได้ฝึกฝน ไม่ได้อบรม ในเรื่องอย่างนี้ เพราะความรักความสงสารมันก็เป็นไปตามแบบของชาวบ้านอย่างนั้น บัดนี้ มาบวชแล้ว เข้ามาสู่การบวชแล้ว ก็ขอให้ถือโอกาสนี้เป็นโอกาสสำหรับศึก เอ่อ, ศึกษา ฝึกฝน ชดเชยกับการที่ไม่ได้ อ้า, ไม่ได้รับการศึกษาฝึกฝนในเรื่องอย่างนี้ การบังคับจิตนั่นนะวิเศษ เป็นเรื่องวิเศษ ความเลวร้ายทั้งหลายมาจากการที่ไม่บังคับจิต มันก็ปล่อยไปตามอำนาจของกิเลส ก็ทำชั่ว ทำอะไรต่างๆ ด้วยตน เบียดเบียนตน ครั้นแล้วก็เลยไปถึงผู้อื่น คือ เบียดเบียนผู้อื่น อ้า, เพราะการบังคับจิตไม่ได้ การบังคับตนไม่ได้ ดังนั้น ขอให้ทุกองค์มองเห็น และถือว่าการบังคับจิต บังคับตนนั่นแหละ คือ ตัวพรหมจรรย์ ตัวพรหมจรรย์ คือ ระบบของการบวชทั้งหมดเรียกว่า พรหมจรรย์ มีข้อปฏิบัติปลีกย่อยหลายอย่าง หลายสิบอย่าง แต่ถ้าสรุปให้เหลือเป็นข้อใหญ่ มันก็จะเหลือเป็นการบังคับตนเอง บังคับจิต มัน มัน มันรวมไปถึงการขูดเกลากิเลสของจิต ฝึกฝนจิตให้เดินตรง ให้เป็นไปในทางที่จะเกิดประโยชน์โดยส่วนเดียว จิตนี้ถ้าไม่บังคับ มันก็ถูกกิเลสครอบงำ กิเลสก็ไสหัวจิตไปตามอำนาจของกิเลส มันก็เป็นเรื่องทำไปตามอำนาจของกิเลสทั้งนั้น ดังนั้น ขอให้พิจารณา ตรึกตรองดูในข้อนี้ให้มากๆ ให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ว่ามันเป็นจริงอย่างนั้น และจะต้องทำอย่างนั้น และจะรีบฝึกฝนอบรมตนให้มากที่สุด โดยเฉพาะให้ทันกับเวลาที่ว่า จะลาสิกขาออกไป สำหรับผู้บวชเพียงพรรษาเดียวนะ ก็ต้องรีบจัด รีบทำ ให้ได้รับการศึกษา การฝึกฝน เหล่านี้ ทันแก่เวลา ลองสังเกตดูว่า เราต้องฝืนความรู้สึกเท่าไรในการที่จะต้องตื่นแต่ดึก เป็นต้นนี่ ต้องฝืนความรู้สึกเท่าไร แล้วต่อไปก็ค่อยๆ เบาลง เบาลงจนไม่ฝืนความรู้สึก เป็นของสะดวกสบาย พอใจอย่างยิ่ง คนนอนสายนะ มันเห็นโลกน้อยกว่าคนที่ตื่นแต่ดึกนะ คนตื่นแต่ดึกนั้น มันมีเวลาที่จะเห็นโลกนี้มาก ยาวนานกว่า เห็นอะไรมากกว่า ให้ตื่นสาย นอนสาย งัวเงีย งัวเงียเสีย อาทิตย์ขึ้นแล้ว ก็ยังนอนอย่างนี้ มันก็งัวเงีย ก็เห็นโลกนิดเดียวเท่าที่ตื่นขึ้นมา แล้วก็ชิงจะนอนหัวค่ำอีก มันก็เห็นโลกน้อย ในเวลาดึกนี่มันก็เป็นโลกแบบหนึ่ง ดังนั้น ตื่นขึ้นมาดูโลกแบบนั้น กันเสียบ้าง ซึ่งอยู่ที่บ้านนั้นไม่เคยทำ จะเห็นโลกมากแง่ มากมุมออกไป หรือแม้แต่ว่าตื่นแล้วนอนช้าหน่อย ก็ได้เห็นโลกในเวลาดึกๆ อีกด้วยเหมือนกัน มันมีอะไรแปลก ขอให้สนใจเถิด ถ้าตื่นสายแล้วโลกนี้มันก็จะแคบเข้าคือ มีอะไรให้ดูน้อยเข้า ดูให้มาก ดูให้พอ ดูให้รู้จัก ดังนั้น การที่จะตื่นขึ้นมา แต่ดึกๆ แล้วมานั่งกำหนด พิจารณาโลก หรือสิ่งทั้งปวง หรือชีวิต หรืออะไรนี่ เป็น เป็น เป็นเรื่องใหม่ เป็นโลกใหม่ เป็นโลกที่ไม่เคยสัมผัส ขอให้พยายามทำกันให้มากๆ ตื่นขึ้นแต่ดึก จะปัจจเวกขณ์ก็ได้ จะพิจารณาโลกทั้งหลายทั้งปวง ในแง่ของความทุกข์ ของความดับทุกข์ก็ได้ มันก็ยิ่งดี ใจความสำคัญมันอยู่ที่ความดับทุกข์ เป็นวิปัสสนาจริงๆ ที่จะมองเห็น อ้า, ความทุกข์และความดับทุกข์ ไอ้คำสอนที่มีอยู่ในแบบหนังสือหนังหาก็เอาตามนั้น แต่ที่มันนอกแบบก็ยังมี ดังนั้น ขอให้กำหนดศึกษา อุตส่าห์ฟัง อุตส่าห์จดจำไว้บ้าง การศึกษานอกตำรามันก็ยังมี นี่ต้องอาศัยอุตส่าห์ฟัง การศึกษาในตำราก็อุตส่าห์อ่าน แล้วก็อุตส่าห์เอาไปคิดนึก คิดนึกให้ปรากฏชัดเจน ในความจริงของสิ่งนั้นๆ ของเรื่องนั้นๆ ยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งว่า ถ้าจะเรียนอย่างเร็วที่สุด อย่างลัดสั้นที่สุด ผมก็แนะว่า ให้พยายามคิดพิจารณาสอดส่องว่า ใคร ใครชนิดไหน คนชนิดไหน ใครในรูปแบบไหน ที่มีความสุขที่สุด อ้าว, คุณลองคิดดู ใคร คนไหน ในรูปแบบไหน ในสถานะเช่นไร มีความสุขมากที่สุด อ้าว, นับตั้งแต่ พระมหาจักรพรรดิ ราชามหากษัตริย์ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เรื่อยๆ มาถึงข้าราชการทั้งหลาย และก็พ่อค้า ประชาชน ชาวไร่ ชาวนา กรรมกร กระทั่งคนขอทาน คนขอทาน ใคร่ครวญดูมาตามลำดับ หาพบที่ตรงไหนสักคนหนึ่งไหม ที่มีความสุขที่สุด ที่พอจะเรียกว่ามีความสุขที่สุด นี่จะเป็นเหตุให้เราพบไอ้เรื่องหลักธรรมะ เรื่องความดับทุกข์ได้ง่ายขึ้น ถ้าสอดส่องอยู่อย่างนี้ มันจะไปเข้าใจเรื่องที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ได้ง่ายขึ้น เช่น เขียนไว้ว่าไอ้ความยึดมั่นถือมั่น เป็นความทุกข์ นี่ฟังไม่ถูก จนกว่าเราจะได้ศึกษารู้เรื่องความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่จริงในหมู่มนุษย์เรา หรือในตัวเรานั่น เราจึงจะค่อยๆ ฟังถูก เมื่อใดมีความยึดมั่นเกิดขึ้นแล้วก็เป็นทุกข์ทันที ทันที เมื่อไม่มีความยึดมั่น ก็ไม่เกิดทุกข์ แล้วก็มีโอกาสที่จะทำงานให้สนุกไปโดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น มันจะเป็นเทวดาในสวรรค์ยึดมั่นถือมั่นมันก็มีความทุกข์ใจ เป็นมหาจักรพรรดิ เป็นราชามหากษัตริย์ เป็นอะไร ลงมาตามลำดับเถิด มัน มัน คุณดูก็พอจะรู้เรื่องอย่างนี้ว่า ใครมันมีความสุขใจ เย็นใจนี่ สะอาด สว่าง สงบ เยือกเย็น เป็นสุขบ้าง มันมีแต่ความยึดมั่นถือมั่น มีนิทานพวกจีนเขาเล่ากันมา มันจะเป็นเรื่องจริงใน ใน ใน ในเมืองไทยนี่ ในกรุงเทพฯ นี่ ฟังดูว่ามัน มันเป็นความยึดมั่นถือมั่นอย่างไร คือ คนขอทานคนหนึ่งอาศัยอยู่ในโรงม้า โรงรถอะไรของ ในบ้านเศรษฐีใหญ่แห่งหนึ่ง เป็นคนขอทาน ประพฤติตัวดี เขาจึงยอมให้อยู่ในเขตบ้าน ก็ออกไปขอทานทุกวันนะ ไปขอทานทุกวัน กลับมา กินข้าวกินปลา ค่ำลงก็สีซอ สีซอ สบายใจ อารมณ์ครึ้มกว่าจะหลับกว่าจะนอน เป็นอยู่อย่างนี้เป็นปีๆ มาวันหนึ่ง เอ่อ, ทำอย่างนั้นไม่ได้ กลับมาแล้วสีซอไม่ได้ ดับไฟเงียบ เศรษฐีเข้ามาถามขอทานคนนี้ว่า ก่อนนี้ทำไม่สีซอทุกวันจึงนอนหลับ วันนี้ทำไมไม่สีซอ ไอ้คนขอทานนั้นก็บอกว่า วันนี้เผอิญได้เงินมา ๑๐ บาท ไม่รู้จะเก็บที่ไหน เป็นห่วงแต่เรื่องไม่รู้จะเก็บที่ไหน เลยสีซอไม่ได้ ทุกวันๆ มันได้ไม่กี่สตางค์ กินใช้หมดไป วันนี้เผอิญมีคนให้มากทีเดียว ๑๐ บาท ไม่รู้จะเก็บที่ไหนก็เลยเป็นทุกข์ ไม่ สีซอไม่ได้นี่ลองสังเกตดูเถิดว่า ความยึดมั่นถือมั่นนั่นคืออย่างไร ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตน แล้วก็เป็นของของตน เมื่อมันรักมากหวงมาก มันก็เกิดตัวผู้รักผู้หวงขึ้นมา แล้วก็รักก็หวงเป็นของตน ของกูขึ้นมา มันก็กดทับจิตใจหนักอึ้งและเป็นทุกข์ เลยสีซอไม่ได้ นี่เราจะเห็นว่าคนสีซอ เอ่อ, คนขอทานคนนี้ เขาสบายดี เรื่อยๆ มา จนมาถึงวันหนึ่งที่ความยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้นแรงกล้าครอบงำเอา ก็เลยหมดความสุข ดังนั้น พอจะแยกแยะให้เห็นได้ว่า เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละเป็นสุข เพราะฉะนั้น ใครทำอะไร มีชีวิตอยู่โดยไม่ยึดมั่นถือมั่น คนนั้นแหละมีความสุข จะเป็น มหาจักรพรรดิ ราชามหากษัตริย์ เป็นประธานาธิบดี รัฐมนตรี ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน กระทั่งกรรมกร เวลาไหนที่เขาไม่ได้ยึดมั่นตัวตนของตน เวลานั้นจะมีความสุขที่สุด ดังนั้น เราจึงพูดไม่ได้ว่า ใครมีความสุขที่สุด บางทีขอทานก็มีความสุขที่สุดยิ่งกว่าเศรษฐี ยิ่งกว่าผู้มีอำนาจวาสนามากเสียอีก เพราะว่าไอ้เรื่องที่ให้ยึดมั่นถือมั่นมันมีมากนัก มากนักสำหรับคนรวย คนมีอำนาจวาสนามันเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น ส่วนขอทานนี่เขาไม่มีสมบัติอะไร เขายึดมั่นถือมั่นยาก แต่ว่าถ้าเผอิญมันเกิดเรื่องขึ้นมาอย่างขอทานคนที่เล่านี้ มันก็ยึดมั่นถือมั่นแล้วมันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน ดังนั้น ใครมีอะไรที่ทำให้ยึดมั่นถือมั่นมาก คนนั้นก็เป็นทุกข์มาก ถ้าสลัดการยึดมั่นถือมั่นออกไปเสียได้ ก็เลยไม่มีความทุกข์ อย่าทำด้วยความยึดมั่นถือมั่น แต่ทำด้วยสติปัญญา นี่เราเห็นว่าคนที่ทำอะไรด้วยความยึดมั่นถือมั่นมันเหนื่อยมาก คนที่ทำด้วยสติปัญญามันสนุกสนานเพลิดเพลินไปในการทำงาน มันไม่เหนื่อย นี่เป็นความจริงอันหนึ่ง สำหรับเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาชั้นสูงสุดเลย เมื่อคุณยังทำวิปัสสนาตามแบบฉบับไม่ได้ ก็ทำวิปัสสนาแบบนี้แหละ แบบที่พิจารณาดูชีวิตจิตใจของมนุษย์เรานี่ ตื่นนอนแต่ดึก ปรับปรุงร่างกายเหมาะสมดีแล้ว ก็นั่งพิจารณาได้ มันจะรู้จักโลกกว้างขวางออกไป กว้างขวางออกไป รู้โลกทุกชนิด ทุกขั้นตอน ความยึดมั่นถือมั่นนั้นน้อยลงไปเท่าไรก็เป็นอริยบุคคลมากขึ้นเท่านั้น จำไว้อย่างนี้ก็แล้วกัน ความยึดมั่นถือมั่นเต็มเปี่ยมก็เป็นปุถุชนเต็มขั้น ความยึดมั่นถือมั่นน้อยลงไปเท่าไร ก็เป็นอริยบุคคลมากขึ้น มากขึ้นๆ จนถึงสูงสุดเป็นพระอรหันต์ หมดความยึดมั่นถือมั่นโดยประการทั้งปวง นี่เป็นหลักใหญ่ อ้า, ที่จะต้องเอามาทำไว้ในใจ เอามาทำไว้ในใจ เป็นหลักพื้นฐานทั่วไป พิจารณาได้ทุกวัน คือ พิจารณาเรื่องยึดมั่นถือมั่นนั่นได้ทุกวัน ในแง่นั้น ในแง่นี้ แง่โน้น ในระดับนั้น ระดับนี้ ระดับโน้น ให้มันแตกฉานในเรื่องความทุกข์ และความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า แต่ก่อนก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี เราบัญญัติเฉพาะเรื่องทุกข์กับเรื่องดับทุกข์เท่านั้น เรื่องอื่นนอกนั้น ไม่พูด ไม่บัญญัติ ไม่เอามาสอนให้เสียเวลา ดังนั้น อย่าไปคิดเรื่องที่มันเสียเวลา มันเปลืองเปล่า มันเปลืองเวลาเปล่า เป็นเรื่องปัญหาโลกแตกเสียโดยมากที่เอามาคิดมาเถียงกันจนเสียเวลาเปล่าๆ ถ้าเวลามีค่ามากที่สุดก็จงคิด จงนึกศึกษาแต่เรื่องความดับทุกข์ ดับทุกข์คือ เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ทุกข์ไม่เกิดคือ ดับ พอมีอะไรมาทำให้โง่ไป เผลอไป ไปยึดมั่นถือมั่นเข้า มันก็เป็นทุกข์ เหมือนกับแบกของหนักไว้ในจิตใจ บนจิตใจ ใจก็หนัก ก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่มีของหนัก ใจไม่ได้แบกอะไรไว้ มันก็เบาสบาย เวลาที่สบายที่สุดคืออย่างนั้น จิตใจไม่ได้แบกหามอะไรไว้ในลักษณะความยึดมั่นถือมั่น ขอให้พิจารณาศึกษา สังเกต ค้นคว้าไอ้เรื่องความยึดมั่นถือมั่นนี่แหละ ให้เพียงพอเสียแต่ในสมัยที่บวชนี่แล้วมันจะได้เป็นประโยชน์ต่อไปจนตลอดชีวิต รู้จักความยึดมั่นถือมั่นแล้ว มันก็จะรู้จักสลัดออกไป รู้จักป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ดังนั้น เราจึงมีการฝึกฝนสติสัมปชัญญะเพื่อจะได้ไม่เผลอสติ โง่ไปยึดมั่นถือมั่น นั่นแหละประโยชน์ส่วนใหญ่ การฝึกจิต การฝึกกรรมฐานทางจิต ถ้าว่ามันไปยึดมั่นถือมั่นแล้วเป็นทุกข์อยู่ ก็ต้องอาศัยความรู้ที่ได้ศึกษามาแต่ก่อน เอาสติ ระลึกเอาความรู้มา อ้าว, นี่เราไปยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้ว ไม่เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง เรามันไปเผลอยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้ว จิตมันไปเผลอยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้ว คำว่าเราในที่นี้หมายถึงจิตนะ จิตธรรมดาคือ จิตที่โง่ จิตของปุถุชน จิตที่ฉลาดก็จิตของพระอริยเจ้า จิตของพระอรหันต์ ต่างคนก็ต่างดำเนินไป จิตโง่ของปุถุชนมันก็ดุ่มไปหาไอ้ความยึดมั่นถือมั่น จิตของพระอริยเจ้าก็ปล่อยวาง ปล่อยวาง ปล่อยวาง ระวังไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นจนกระทั่งมันไม่เกิด ดังนั้น เราจะต้องรู้จักรสชาติ รสชาติของความยึดมั่นถือมั่น คือ เจ็บปวด ทุกข์ทนทรมาน ไอ้รสชาติของความยึดมั่นถือมั่นนี่ เราจะต้องพิจารณาอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะเรื่องของตนเองแหละดี เรื่องของคนอื่นเราไม่ค่อยจะรู้ หรือรู้แจ้งได้ยาก แต่ถ้าเรื่องของตนเองรู้แจ้งได้ง่าย พอมีความทุกข์หม่นหมองใจ ดูเถิดมันมีความยึดมั่นถือมั่นอันหนึ่งแหละ ในที่สุดแต่มันนอนไม่หลับอย่างนี้ มันก็มีความยึดมั่นถือมั่นอะไรเหลืออยู่ ค้างอยู่ ก็จะได้เกลียด เกลียดความยึดมั่นถือมั่น รังเกียจ เกลียดชัง กลัวความยึดมั่นถือมั่น จะได้หาทางบรรเทา กำจัด ตัดรอนอยู่เสมอ นี่ว่าถึงเวลาที่ว่าเราไม่ได้ทำการงานอย่างอื่น ตื่นขึ้นมาดึกๆ หรือก่อนแต่จะนอน ดึกๆ ยังไม่ทันจะนอน ทำจิตใจให้พร้อม ให้ได้ที่ ที่จะพินิจ พิจารณา แล้วก็พินิจพิจารณา ยิ่งมืด ยิ่งเงียบ ยิ่งพิจารณาได้ลึกซึ้ง ดังนั้น จงฝึกฝนตนให้พอใจในความมืดและความเงียบ มันจะเป็นผลดี นี่รู้ไว้เถิดว่า ถ้าอยู่ที่บ้านนะทำไม่ได้ เมื่อบวชอยู่มันทำได้ ก็ศึกษาฝึกฝนเสียให้ทำได้ แล้วมันจะมีความรู้ความสามารถติดตัวไป ต่อไปมันไปใช้ประโยชน์ที่บ้านก็ได้ มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การตื่นแต่ดึกนั้นนะ มีโอกาสที่จะบำเพ็ญประโยชน์ได้มากมาย นี่ขอให้รู้จักไว้ดีๆ อย่าเห็นเป็นเรื่องว่าบังคับให้ลำบากไปเปล่าๆ บังคับกันให้ลำบากทำไม มันเป็นเรื่องที่เขาได้พบกันมาแล้ว ได้ทดสอบกันมาแล้ว วางหลักปฏิบัติสำหรับภิกษุไว้อย่างดีที่สุด นี่ในเรื่องทางจิตใจ ทีนี้ในเรื่องทางภายนอกออกไป คือ ทางกายหรือภายนอกออกไป ก็ใช้เวลาเรี่ยวแรงชนิดที่ ที่ทำลายกิเลสอีกเหมือนกัน เรื่องทำลายกิเลสนี่เป็นศูนย์กลาง เราจงทำอะไรๆ ชนิดที่เป็นการทำลายกิเลสอยู่ทุกอย่าง อย่างที่นี่เราก็มีบทเรียนให้ทำงาน ให้ทำงาน โดยไม่รับอะไรตอบแทน โดยไม่ต้องรับอะไรตอบแทน แม้แต่คำว่า ขอบใจ จากใคร ก็ไม่ต้อง แล้วก็ทำงาน ทำงาน ทำงาน มันเป็นการทำงาน อ้า, เพื่อทำลายกิเลส ทำงานเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว เราก็ไม่ค่อยเคยจะทำกันนักหรอก ผมก็กล้าพูด ผม เมื่อก่อนๆ ก็เหมือนกัน เมื่ออยู่ที่บ้านมันไม่ได้รับการฝึกฝนให้ทำงานเพื่อทำลายกิเลส แต่ทำงานหาสตางค์กันทั้งนั้น เดี๋ยวนี้มันก็มาถึงขั้นนี้แล้ว จงทำงานเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว เหน็ดเหนื่อยอย่างไรๆ ก็ทำได้โดยไม่ประสงค์อะไรตอบแทน แม้แต่คำว่า ขอบใจ จากใครสักคนหนึ่งก็ไม่มี ขอให้ถือเอาบทเรียนอันนี้ว่ามันเป็นบทเรียนสูงสุด ทำลายความเห็นแก่ตัว แล้วก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ควรกระทำ มันก็จะสนุกสนาน สนุกสนานในการกระทำ ไอ้ความเหนื่อยยากลำบากมันก็ไม่มี ไม่ปรากฏ มันพอใจเสียแล้ว มันสนุกสนานในการกระทำเสียแล้ว นี่เรายังมีหลักว่าให้มีการทำงานอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น เล็กใหญ่ไปตามเรื่อง อะไรที่พอจะทำได้ก็ทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่นเป็นสุข สะดวกสบาย ให้ผู้อื่นได้รับความพอใจ ช่วยกันทำแก่กันและกัน ให้ได้รับความพอใจแก่กันและกัน ได้ผลเป็นประโยชน์ทางวัตถุโดยตรงนั่นด้วย แต่ได้รับผลทางจิตใจนั้นมากกว่าคือ การทำลาย ความเห็นแก่ตัวนั่นเอง ฉะนั้น จงพอใจ อ้า, ศึกษาฝึกฝนบทเรียนอันนี้ คือ การทำลายความเห็นแก่ตน เป็นจุดตั้งต้น แล้วต่อไปมันก็จะเจริญ สูงๆ ยิ่งขึ้นไปตามลำดับ จะทำลายความเห็นแก่ตนชั้นละเอียดลึกซึ้ง ชั้นกิเลสที่ละเอียดลึกซึ้งได้ไปตามลำดับ นี่มันจะ มันจะเป็นคนที่แปลกไปจากเดิม ถ้าจะพูดว่าเข้าไปในเขตของอริยบุคคลก็ได้ แต่เดี๋ยวจะหาว่า พูดเอามากเกินไป แต่ถ้าทำลายความเห็นแก่ตัวอยู่เรื่อยๆ ไป นี่ มันคือ การเขยิบเข้าไป เขยิบเข้าไปในเขตแดนของอริยบุคคล คือ คนที่ประเสริฐ มีความทุกข์น้อย มีประโยชน์มาก ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีแต่ทำให้ตนเองและผู้อื่นได้รับประโยชน์เต็มที่ยิ่งๆ ขึ้นไป นี่ผลของ การประพฤติธรรมะ หรือบำเพ็ญพรต พรหมจรรย์ นี่เรียกว่า ปรับความเข้าใจในขั้นต้น ให้เราเป็น คนที่ว่าฝึกฝน การบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง แล้วยังแถมว่า สั่งสอนผู้อื่นจริงๆ อีกด้วยนะ นับดูว่ากี่จริง บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง สั่งสอนผู้อื่นได้จริง ๕ จริง ถ้า ๕ จริงนี้นะมีก็วิเศษ ช่วย ช่วยกำหนดไว้ให้แม่นยำ ประพฤติปฏิบัติตามระบบของการบวช เป็นบวชจริง บวชจริง เรียนจริง คือ เรียนทางหนังสือ เรียนทางฟัง เรียนทางที่เรียนจริง แล้วก็ ปฏิบัติจริง ปฏิบัติจริง ปฏิบัติตามที่ได้ใคร่ครวญแล้วว่ามันดับทุกข์ได้ ปฏิบัติจริง ปฏิบัติจริง แล้วก็ได้รับผลโดยแท้จริงไม่ใช่ละเมอๆ และสามารถที่จะสอนผู้อื่นได้จริง ประโยชน์นี่จะมีติดตัวไปจนตาย ไปจนตาย ขอให้สังเกตดูให้ดีๆ บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง ที่นี่เดี๋ยวนี้ ทำที่นี่เดี๋ยวนี้แหละ แต่ว่าจะได้ผลไปจนตาย ได้ผลไปจนตาย ขอให้มองดู ให้เห็น ทำวิปัสสนามองดูข้อนี้ให้เห็น เพราะฉะนั้น อย่าให้เสียทีที่ได้บวชแล้ว ไม่ได้เรียน ไม่ได้บวชจริง ไม่ได้เรียนจริง ไม่ได้ปฏิบัติจริง ไม่ได้ผลจริง ไม่ได้สืบอายุพระศาสนาไปจริงๆ นี่ ไหนๆ ก็บวชแล้ว ก็ขอให้มันเป็นเรื่องบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง สอนสืบๆ กันไปจริงๆ ลองคำนวณดูว่า มี มีราคาเท่าไร มีค่าเท่าไรที่ได้เกิดมาชาติหนึ่ง เกิดมาชาติหนึ่งแล้วได้ทำอย่างนี้ มันมีราคาเท่าไร คิดดูให้ดีๆ ให้มันถูกกับความเป็นจริง มันมีค่าเหลือประมาณ มันมีค่าเหลือที่จะกล่าวได้ ไม่มีอะไรที่จะ ยิ่งไปกว่านี้ นี่ระบบการเรียนการปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี้ มันเป็นอย่างนี้ เป็นอยู่ชนิดที่กำจัดกิเลสอยู่ทุกเวลา สร้างสรรค์ความเจริญแก่จิตใจอยู่ทุกเวลา จนเป็นการเกิดใหม่ บางคนอาจจะทราบแล้ว บางองค์อาจจะทราบแล้วว่าการบวชนี้เป็นการเกิดใหม่ แต่บางองค์อาจจะไม่ทราบ ถ้ายังไม่ทราบ ก็ทราบเสียด้วย เขาว่าเรียก เรียกว่าเกิดใหม่โดยอริยชาติ เกิดมาประพฤติปฏิบัติกฎระเบียบวินัยของพระอริยเจ้า นี่เรียกเกิดใหม่ เกิดใหม่ ทำพิธีบวชเสร็จแล้ว นั่นนะ มันก็เป็นการรับปฏิญญาว่าเกิดใหม่ แล้วก็ต้องปฏิบัติไปจริงๆ ไปจริงๆ จึงจะเป็นการเกิดใหม่ที่แท้จริง มันทำคนละอย่างนี่ มันพูด มันคิด มันทำอะไรมันคนละอย่างจากก่อนบวช หรือไม่บวชนะ การไม่บวช มัน มันทำอย่าง พูดอย่าง คิดอย่าง อย่างอื่นนะ ถ้าบวชเข้ามาแล้ว มันทำอีกอย่างหนึ่ง การทำ การพูด การคิด นี่มันทำอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น จึงเป็นการเกิดใหม่ มนุษย์ที่ดีต้องมีการเกิดใหม่โดยอริชาติอีกครั้งหนึ่ง นี่มันเป็นธรรมเนียมโบราณที่เขากล่าวไว้อย่างนี้ เกิดสองหนอย่างนี้ แต่มันก็ต่างกัน เกิดครั้งที่สองนี่ในลัทธินั้นก็เป็นอย่างนั้น ในลัทธิโน้นก็เป็นอย่างโน้น ในลัทธินี้ก็เป็นอย่างนี้ ในลัทธิพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้ ในลัทธิพราหมณ์ก็เป็นอย่างอื่น แต่ว่าเป็นการเกิดใหม่กันอีกที เมื่อ เมื่อ เมื่อรับการบวชนะ เมื่อรับเอาการบวชเอามาใส่ในชีวิตเรียกว่าเป็นการเกิดใหม่ ฉะนั้น ขอให้ดูให้ดี ให้มันเข้ารูปเข้ารอย ให้เป็นการเกิดใหม่ที่ประเสริฐกว่าเก่า ที่มีคุณค่าสูงกว่า มีอะไรน่าชื่นใจกว่า แล้วก็เป็นการเกิดชั้นสูงสุด ถ้าบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ก็เป็นอันว่าเป็นการเกิดใหม่ที่สมบูรณ์ถึงที่สุด แต่แม้แต่เพียงการบวชนี่ก็เรียกว่า เกิดใหม่นะ เป็นเรื่องของการเริ่มเกิดใหม่เพื่อจะไปในอีกทางหนึ่ง จะไปในทางเหนือความทุกข์ ไม่จมอยู่ในกองทุกข์ ดังนั้น เราจึงมีการเตือนกันเรื่องบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง สอนไปจริงๆ ให้ตั้งจิตอธิษฐานแต่ว่า จะให้เป็นอย่างนี้ ให้จริงอย่างนี้ เรามองเห็นประโยชน์อยู่ว่า มันได้ประโยชน์มหาศาล มหาศาลเหลือที่จะกล่าว ประโยชน์ตนก็ได้ ประโยชน์ผู้อื่นก็ได้ ประโยชน์แก่โลกเป็นส่วนรวมก็ได้นะ ผู้ที่บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริงนี้มันเป็นประโยชน์ แก่ตนเองก็ถึงที่สุด แก่ผู้อื่น แก่ญาติโยม บิดามารดา เป็นต้น ก็ถึงที่สุด แก่โลกก็ถึงที่สุด เพราะว่าทำให้โลกนี้มันมีศาสนา เพราะว่าทำให้โลกนี้มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่จะกำจัดสิ่งชั่วร้ายออกไปได้ ก็เลยเป็นประโยชน์แก่โลก การบวชของเราที่นี่เดี๋ยวนี้ แม้คนเดียวนี้ สามารถจะได้รับประโยชน์กว้างขวางอย่างนี้ ขอให้มีความตั้งใจจริง รักตัวเองจริงๆ ซื่อตรงต่อตัวเองจริง ๆ อย่าหลอกตัวเอง ตั้งใจให้มันชัดลงไปอย่างนี้แล้วก็ทำให้มันได้อย่างนี้ ถ้ามิฉะนั้นเป็นการหลอกตัวเอง หลอกประชาชน หลอกใครหมดเลย บวชแล้วมันไม่ทำให้ตรงกับเรื่องของการบวช เอาละ เป็นอันว่า เราก็มาทำความเข้าใจ มาซ้อมความเข้าใจเรื่องการบวชกันเป็นวันแรกในวันนี้ แล้วมันเป็นรากฐานของเรื่องอื่นๆ ต่อไปข้างหน้า เรื่องบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง สอนจริงๆ นี่ เป็นรากฐานของเรื่องทุกเรื่องที่จะมีมาในกาลข้างหน้า หวังว่าจะกำหนดจดจำให้ดีๆ กลัวลืมก็ไปจดใส่สมุดโน้ตไว้ หัวข้อที่สำคัญๆ มันมีอย่างไรบ้าง ไปจดใส่สมุดโน้ตไว้ เพราะว่าถ้าพูดมากเข้า หลายๆ วันเข้า มันก็จะลืมหมด อาจจะไม่เหลืออะไรก็ได้ ดังนั้นเพื่อให้แน่นอน ไปบันทึกข้อความที่มีประโยชน์ ที่สำคัญไว้ทุกวัน ทุกวันๆ ไม่เฉพาะแต่มาฟังกันที่นี่ ฟังที่อื่นก็ได้ อย่ารังเกียจการฟัง มีโอกาสฟังแล้วก็ฟังเถิด แม้มันพูดผิดๆ พูดเรื่องโง่ๆ มันก็มีประโยชน์ว่า มันผิดๆ มันโง่ๆ จะได้รู้ไป ถ้ามันพูดเรื่องที่ถูกต้อง มันก็ยิ่งดี มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น เราฟังได้ทุกเรื่องแหละ ถ้ามีโอกาสที่จะฟังแล้วก็ควรจะสนใจฟัง อย่าไปคิดเสียว่า เรา คนนี้ไม่น่าฟัง ไม่ควรฟัง หรือว่าเขาคงไม่รู้อะไร นี่ผมจะบอกว่า แม้แต่มันพูดผิดๆ เราก็จะได้รู้ว่า อ้อ, เรื่องผิดๆ มันยังมี เรื่อง คนไม่รู้เรื่องนี้ยังมี คือ คนโง่ก็ยังมี เราอย่าไปแสดงบทบาทซ้ำกันเข้า ดังนั้น ขอให้ฟังไว้ให้มากที่สุด ถ้าฟังเป็นแล้วมันจะได้ประโยชน์หมด เด็กๆ พูด ก็ได้ประโยชน์ ฟังคนบ้าพูด ก็ได้ประโยชน์ ให้มันรู้ว่าอย่างไรดี อย่างไรชั่ว อย่างไรบ้า อย่างไรไม่บ้า มันก็รู้หมด มีประโยชน์อย่างนั้น สงวนให้เวลาให้เป็นประโยชน์ ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ที่สุด ทุกนาที ทุกๆ ชั่วโมง
เอาละ สรุปความว่า เรื่องบวช ละหมด เว้นหมด จากความเป็นฆราวาส มาเกิดใหม่ในโลก ของพระอริยเจ้า ประพฤติอยู่อย่างนี้ ปฏิบัติอยู่อย่างนี้โดยจิตใจ โดยจิตใจเกิดใหม่ โดยร่างกายก็เรียกว่าเกิดใหม่ก็ได้ เพราะว่าเครื่องนุ่งห่มก็แปลกใหม่ออกไปแล้ว อะไรก็แปลกๆ ออกไปแล้ว เป็นเรื่องของการเกิดใหม่ก็ได้ ให้ระมัดระวังให้การเกิดใหม่นี่ อ้า, เป็นการเกิดใหม่ที่ถูกต้อง ถูกต้องๆ อยู่ตลอดเวลา ก็จะไม่เสียทีที่ได้บวช นี่นึกถึงที่ว่า บิดามารดาก็หมดเปลือง ยุ่งยากลำบาก เพราะการบวชของเรา บางท่านก็มาจากที่ไกล มาจากถิ่นไกล ลำบากมาก แพงมาก แล้วก็จะมาบวชเพื่อจะได้รับประโยชน์อะไร มันต้องให้ได้รับประโยชน์นั้น คุ้มค่า คุ้มค่าๆ แล้วก็จะได้พอใจตัวเอง ว่า ได้ดี ได้สิ่งที่ดี เป็นการได้ที่ดี นั่นแหละเรื่องมันมีความสุข พอใจที่ว่าเป็นการได้ที่ดี เป็นการได้ที่ดี จนยกมือไหว้ตัวเองได้ อย่าทำอะไรให้ชั่ว ให้หม่นหมอง แม้แต่สักนิดหนึ่งซึ่งมันยกมือไหว้ตัวเองไม่ได้ เพราะมันเกลียดตัวเอง อย่างนี้แล้วมันก็ ไม่ ไม่ได้แล้ว มันทำดีบังหน้า เพื่อหาประโยชน์อย่างชั่ว อย่างนี้มันก็มีมาก มันทำดีบังหน้า เพื่อหาประโยชน์ซึ่งเป็นความชั่ว อย่าทำเลย อ้า, เลิกกันเลยเด็ดขาด ไม่ต้องมีอย่างนั้น มุ่งหมายให้มันดี โดยบริสุทธิ์ คำว่า ดี นี่ไม่ยาก ภาษาธรรมะ ไม่ ไม่ ไม่ยาก คือ บัญญัติว่า ไม่เป็นโทษแก่ผู้ใด เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย นั่นแหละ คือ ดี ไม่ให้โทษแก่ผู้ใด แก่ฝ่ายใด เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย นั่นนะคือ ดี ไม่มีปัญหา ทำอะไรก็ทำให้มันเข้ารูปนี้ ไม่ทำอันตรายผู้ใด เราเองก็ไม่เป็นทุกข์ ผู้อื่นก็ไม่เป็นทุกข์ เราเองก็ได้รับประโยชน์ อ้า, เป็นความสุข ผู้อื่นก็ได้รับประโยชน์ เป็นความสุข นี่ที่เรียกว่า ดี ดี ถ้าเขาถามว่าดีอย่างไร ก็ตอบอย่างนี้ จะเอาหลักเกณฑ์อย่างอื่นนั้น ก็ไม่ค่อยถูกนัก ที่คนเขาสรรเสริญอะไรก็ไม่ถูกนัก คนโง่ก็สรรเสริญคนไม่ดีได้ เอาความจริงในตัวมันเองดีกว่าว่า เราไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษแก่ผู้ใด มีแต่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย นี่เราได้เกิดมาไม่เสียทีที่ได้เกิดมา เกิดมา ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา เอาละ พูดวันนี้ เป็นหัวข้ออย่างนี้ ไปจดจำหัวข้อไว้ให้ดีๆ ซึ่งเราก็จะได้พูดเพิ่มเติมกันมากขึ้นๆ อ้า, วันนี้ ขอพูดเพียงเท่านี้ เท่าที่เรี่ยวแรงจะมีสำหรับพูด ขอให้จดจำไว้ดี ๆ แล้วก็ขอปิดประชุม ปิดประชุมวันนี้