แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เท่าที่จะนึกได้ คงคิดว่าจะพูดเรื่องสรุปความ ที่จะจำได้ง่าย ๆหรือปฏิบัติได้ง่ายๆ สักเรื่องหนึ่ง และก็เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ ที่จะไม่เคยฟังก็ได้ น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับจะปฏิบัติ จะปฏิบัติจนตลอดชีวิตก็ได้ และก็เป็นเรื่องไม่ยาก ไม่ยากสำหรับทุกคน หากแต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติเพราะไม่รู้ นี่จะพูดเรื่องอย่างนี้ หัวข้อเรื่องก็มีอยู่ว่าธรรมะคือหน้าที่ นี่คำที่จะต้องจำกันเป็นพิเศษหน่อย และก็จำไม่ยากอะไรเลย ธรรมะคือหน้าที่ นี่เดี๋ยวนี้เรามักจะเข้าใจกันแต่เพียงว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนมากก็ไม่ได้ติดตามหรอกพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอะไร ที่จริงพระพุทธเจ้าท่านก็สอนสิ่งซึ่งเป็นหน้าที่ ขอให้สนใจเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งนี้ ธรรมะคือหน้าที่ เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นกฎของธรรมชาติ แม้ว่าจะเคยพูดว่าธรรมะมี ๔ ความหมาย มันก็รวมอยู่ใน ๔ ความหมายนั่นแหละ ธรรมะ ๔ ความหมายได้แก่ ธรรมะคือตัวธรรมชาติ ธรรมะคือตัวกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และก็ธรรมะคือผลที่จะได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ ความหมายที่สามนั่นคือหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว ความหมายนี้สำคัญที่ต้องเอามาใช้ทั่วๆ ไป ฉะนั้นก็เลยพูดเรื่องนี้ในความหมายอันนี้ ธรรมชาติคือสิ่งทั้งปวงที่เป็นอยู่เองตามธรรมชาติ เป็นเรื่องรูปธรรม คือ ร่างกายหรือวัตถุนี้ก็มี ไม่ได้เป็นนามธรรมคือ จิตใจ นั่นก็มี ก็เรียกว่าธรรมชาติเหมือนกัน ทั้งร่างกาย และจิตใจก็เรียกว่าธรรมชาติ ทีนี้ในธรรมชาติเหล่านี้มีกฎของธรรมชาติสิงอยู่ ควบคุมอยู่ บังคับอยู่ ให้ธรรมชาติสิ่ง ธรรมชาติเหล่านี้เป็นไปตามกฎ จึงมีกฎธรรมชาติที่ตายตัว เรามีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาขึ้น คือมีความทุกข์นั่นเอง นี่คือตัวธรรมะล่ะ นี่เราพูดเป็นระบบวิชา มี ๔ ความหมาย เป็นความหมายที่สาม ทีนี้พูดอย่างธรรมชาติทั่วไปกันบ้าง ขอให้สังเกตดูให้ดีๆ ว่าบรรดาสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด มันล้วนแต่มีหน้าที่และต้องปฏิบัติหน้าที่ ถ้าไม่ปฏิบัติหน้าที่มันก็ตาย ที่เป็นคน เป็นมนุษย์นี่ก็มีหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎสำหรับจะอยู่ได้และไม่ตาย สำหรับสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายก็มีหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเท่าที่สัตว์เดรัจฉานเหล่านั้นไม่ต้องตาย ต้นไม้ ต้นไร่มันก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่แล้วมันก็ไม่ตาย หน้าที่นี้เป็นหน้าที่พื้นฐาน คือเพียงเพื่อความไม่ตาย หากแต่ว่าไม่ตายแล้วมันยัง ยังจะต้องทำอะไรดีขึ้นไปกว่านั้นจนได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มันควรจะได้ เดี๋ยวนี้เราพิจารณาดูถึงไอ้ ไอ้สิ่งที่เป็นหน้าที่พื้นฐาน มนุษย์ก็มีหน้าที่ที่ว่าจะต้องมีอาหารกิน จะต้องไปทำงานทุกชนิดที่ทำให้มีอาหารกิน นี่อาชีพ และก็จะต้องมีหน้าที่รักษาสุขภาพอนามัยให้ถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องมันก็เจ็บไข้ ตายเหมือนกัน ก็มีหน้าที่ที่สองจะต้องรักษาสุขภาพอนามัย หน้าที่ที่หนึ่งมีอาหารกิน หน้าที่ที่สองมีสุขภาพอนามัย ที่นี้หน้าที่ที่สาม จะต้องสังคมกันให้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นมันก็จะตายอีกเหมือนกัน ถ้ามันสำคัญกันผิดพลาด มันก็มีแต่ผู้ที่มีแต่จะเกิดเรื่อง ประหัตประหารกันแล้วมันก็ตายเหมือนกัน จึงถือว่าหน้าที่ชั้นแรก ระดับแรกคือ มีอาหารกิน มีสุขภาพอนามัยดี มีการสังคมถูกต้อง ไปมองดูให้เห็นชัด ไม่ต้องเชื่อใคร ไม่ต้องเชื่อผมหรือไม่ต้องเชื่อใคร มันต้องมีอย่างนั้นจริงๆ คำว่ามีอาหารกิน มันก็ต้องทำหลายอย่าง หลาย ๆ อย่าง องค์ประกอบหลายอย่างจึงจะสำเร็จประโยชน์ ว่ามีอาหารกิน ดังนั้นแล้วก็มีสุขภาพอนามัยดี ก็ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างกว่าจะมีสุขภาพอนามัยดี แล้วก็สังคมกันให้ดี ไม่ฆ่ากันเองตายในหมู่มนุษย์ นี่ก็เรียกก็ได้ว่าหน้าที่ หรือเพราะมันเหลือสั้นๆ เป็นหัวข้ออย่างนี้ เราจะต้องทำหน้าที่อย่างนี้ ดังที่เรากำลังจะทำอยู่ แต่เราก็ทำโดยไม่มีความรู้สึกว่าเป็นธรรมะ ก็ยังมัน มันเรียกในภาษาไทยว่าหน้าที่ คำว่าธรรมะมาจากอินเดียพอมาถึงเมืองไทยมันแปลว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสีย ข้อนี้มันไม่ ไม่ ไม่ถูกร้อยเปอร์เซนต์ คือ มันไม่ตรงตามเรื่องจริง ก็ธรรมะมันมีก่อนพระพุทธเจ้าเกิดมาด้วยซ้ำไป ก่อนพระพุทธเจ้านี้ เกิดก่อนมีพุทธศาสนาอย่างนี้ ก็มีคนที่นั่นมันก็มีคำว่าธรรมะ ธรรมะ ใช้พูดกันอยู่แล้ว โดยหมายถึงหน้าที่ หน้าที่ ดังนั้นเราจึงถือได้ว่า คำว่าหน้าที่มันเป็นคำพิเศษ ที่มนุษย์คนแรก มนุษย์คนแรกได้สังเกตุเห็น มนุษย์เมื่อพ้นจากความป่าเถื่อนมาพอสมควรแล้วมนุษย์คนแรกได้สังเกตุเห็นว่า มีสิ่งซึ่งเรียก ซึ่งต้องทำ มีสิ่งซึ่งต้องทำ แล้วเขาก็หลุดปากออกมาเป็นชื่อของสิ่งนั้นว่า ธรรมะ ธรรมะ แปลว่าหน้าที่ ใครจะเห็นหน้าที่เท่าไหร่ เขาก็เรียกธรรมะหมด นี่คำว่าธรรมะคือหน้าที่ เกิดขึ้นมาในโลกเพราะมีบุคคลสังเกตุเห็นสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ และก็เรียกว่าธรรมะ เขาสอนเรื่องหน้าที่ สอนเรื่องหน้าที่ ทุกอย่าง ทุกชนิด เท่าที่จะสอนได้ เท่าที่จะนำมาสอนได้ ไอ้คนทั้งหลายก็รู้เรื่องหน้าที่ดี ถูกต้อง ครบถ้วน มันก็ปฏิบัติหน้าที่กันอย่างถูกต้องครบถ้วนดีกว่าที่แล้วมา มันจึงเรียกว่าปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ แต่พอมาสมัยนี้ในภาษาไทยเราน่ะมันมีคำเรียกว่าหน้าที่ ไม่ได้เรียกว่า ธรรมะ นั่นแหละคือสิ่งเดียวกัน เมื่อมนุษย์คนแรกสอนเรื่องหน้าที่ในขั้นต้นๆต่ำๆไปก่อน ต่อมาก็มีผู้ที่รู้มากกว่านั้นสอนหน้าที่ที่สูงขึ้นไป มันก็มีผู้รู้เป็นฤาษีมุนี เป็นอะไรก็ได้ เป็นพราหมณ์ เป็นอาจารย์อะไรก็ได้ สอนหน้าที่ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป จนหน้าที่ที่มันจะเป็นอยู่ได้ในโลกนี้มันครบถ้วน คือมันรอดชีวิตอยู่ได้ ทีนี้ต่อมามีครูอาจารย์บางคน มุนี ฤาษี อะไรก็ตามใจเถอะ สังเกตุเห็นว่ายังมีปัญหาเหลืออยู่ แม้ว่าเราจะอยู่สบาย มีกิน มีใช้ สังคมคบหากันดี แต่มันก็ยังมีปัญหาอีกประเภทหนึ่งเหลืออยู่ในใจคือความทุกข์เดือดร้อน เพราะความผิดที่เกิดขึ้นในใจที่เรียกว่า กิเลส โลภะ โทสะ โมหะ มันเกิดมีปัญหาระดับที่สองขี้นมาอย่างนี้ ว่ามันจะต้องเอาชนะสิ่งเหล่านี้ หรือแก้ปัญหาในระดับนี้ด้วย จึงเกิดคำสอนทางฝ่ายจิตใจ หรือที่จะเรียกว่าทางฝ่ายศาสนาขึ้นมา จึงมีระบบคำสอนเรื่องการปฏิบัติว่าจะดับโลภะ โทสะ โมหะอย่างไร นี่ก็เป็นหน้าที่ระดับสองระดับจิตใจ ถ้าเอาชนะความทุกข์ในใจได้ เรื่องมันก็จบแหละ ถ้าคนไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์อะไรในจิตใจอีกแล้วเรื่องมันก็จบสำหรับคนนั้น อย่างที่เราเดี๋ยวนี้เรียกกันว่าเป็นพระอรหันต์ ชนะกิเลสในใจหมดสิ้น ไม่มีปัญหาเหลือก็จบเรื่อง จบกิจ จบสิ่งที่จะต้องประพฤติ ปฏิบัติ ที่เรียกว่าจบพรมจรรย์ นี่สองหน้าที่อย่างนี้ ฉะนั้นเรารู้ว่าแม้แต่ตัวเราเองก็เหมือนกันมันมีหน้าที่อยู่สองระดับ เรียกสั้น ๆ ว่า ๑.หน้าที่เพื่อให้รอดชีวิต ๒. หน้าที่ที่เพื่อดับทุกข์ทางจิตใจไปหมดสิ้น หน้าที่ทางวิญญาณอย่างที่หนึ่ง หน้าที่ทางร่างกาย หน้าที่ที่สอง หน้าที่ทางวิญญาณ คือเรื่องสติปัญญา ทุกคนศึกษาไว้ให้พอ เตรียมตัวให้พอว่าจะต้องปฏิบัติให้ลุล่วงไปทั้งสองหน้าที่ มิฉะนั้นจะต้องเป็นทุกข์ ทำได้แต่หน้าที่แรก มันก็มีเพียงแต่มีชีวิตรอดเท่านั้นหรือว่าอยู่สบายตามแบบส่วนร่างกาย ส่วนจิตใจยังมีความทุกข์ ฉะนั้นจึงต้องทำด้วย นี่ธรรมะคือหน้าที่หมายความว่าอย่างนี้ ทีนี้มันก็มีปัญหานิดเดียวที่ว่า เมื่อก่อนเราไม่ทราบว่าหน้าที่ที่จะต้องทำนั้นคือธรรมะ ดังนั้นเราจึงไม่รู้สึกเลยว่า เราปฏิบัติธรรมะอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้สึกตัว เพราะเราไปเรียกหน้าที่ตามความหมายในภาษาไทย ทุกคนทำหน้าที่ในระดับหนึ่ง ระดับชีวิตรอดอยู่ตลอดเวลา แต่เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาปฏิบัติธรรมะล่ะ และก็ทำด้วยความจำใจ จำเป็น ไม่ได้สมัครทำ จะต้องหาอาหารกิน จะต้องทำด้วยความจำใจ รักษาสุขภาพอนามัยก็ทำด้วยความจำใจ จะสังคมสมาคมกันก็ระมัดระวัง ทำด้วยความจำใจ นี่อย่าง อย่างนี้ มันไม่รู้ว่าเป็นธรรมะ มันก็ไม่มีความรู้สึกว่ามีธรรมะ และมันก็ไม่มีความพอใจ ทีนี้ขอตรงนี้ ขอนิดเดียวต่อไปนี้ทำอะไรอยู่ตามธรรมดาที่เคยทำ หน้าที่ที่เคยทำนั่นแหละ ขอให้รู้สึกว่าเป็นธรรมะทั้งหมด เป็นอันว่าเราปฏิบัติธรรมะอยู่ตลอดเวลา เมื่อไม่รู้สึกตัวมันก็ ก็เหมือนกับไม่ได้ปฏิบัติธรรมะ แต่ถ้ารู้สึกตัวเข้าใจดีก็จะรู้ว่าเป็นการปฏิบัติธรรมะอยู่ตลอดเวลา ธรรมะแปลว่าหน้าที่ หน้าที่เพื่อชีวิตรอด คือกินอาหาร คือรักษาอนามัย คือคบหาสมาคมกันดี เราทำอยู่ทุกวัน จะเห็นได้ว่าเราทำอยู่ทุกวัน แต่ว่าเรามันไม่รู้ว่านี่คือธรรมะ ที่นี้ก็ทำไปอย่างที่จำเป็นจะต้องทำ จำใจจะต้องทำ มันก็เลยไม่ชื่นอกชื่นใจ ไม่ได้พอใจตัวเองว่าได้ปฏิบัติธรรมะ เดี๋ยวนี้ก็ขอให้ไปรู้กันเสียใหม่ว่า หน้าที่ทุกชนิด ทุกระดับ เป็นธรรมะ ขอให้ทำด้วยสติและสัมปัชชัญญะ สติน่ะเอาความรู้ว่าอะไรเป็นอะไรมา ควบคุมอยู่เมื่อทำอะไรก็ตาม สตินั้นก็กลายเป็นสัมปัชชัญญะ เรื่องนี้มันสามเศร้า เราต้องมีความรู้ที่ถูกต้องว่าสิ่งทั้งปวงอะไรเป็นอย่างไร เป็นอย่างไร อย่างนี้เรียกว่า ปัญญา ปัญญา พอเกิดเรื่องอะไรขึ้นที่จะต้องทำ ต้องมีสติ คือความระลึกได้ ระลึกถึงความรู้หรือปัญญา และสติก็ขนเอาปัญญามาสำหรับควบคุมการทำหน้าที่ ยืนคุมอยู่อย่างนี้เรียกว่าสัมปัชชัญญะ แรกขนเอามาคือแรกระลึกได้เรียกว่าสติ พอมาคุมไม่มีอยู่เฉพาะหน้าในการทำนั่นก็เรียกว่าสัมปัชชัญญะ ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของปัญญา นี่เราจะต้องทำอะไรด้วยกฎเกณฑ์อย่างนี้ ถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อยเกินไป บางทีก็ไม่ได้ ไม่ได้สนใจเสียเลยก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ ไม่สนใจ ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง แล้วมันเกิดเรื่อง คือมันจะต้องเป็นทุกข์ มันจะต้องเป็นทุกข์ นี่ขอให้ตั้งต้นกันใหม่ว่า แต่นี้ต่อไปขอให้ทำอะไรทุกอย่างด้วยสติสัมปัชชัญญะ ยกตัวอย่างว่า ตั้งต้น ตั้งต้นวันด้วยการตื่นนอนขึ้นมา ก็มีสติสัมปัชชัญญะ ตื่นนอนขึ้นมารู้สึกตัวว่า มีชีวิต มีหน้าที่ที่จะต้องทำ ก็ปลอดภัย จะได้นอน ได้ตื่นนอนนี่ก็ดีแล้ว ทีนี้จะทำอะไร ถ้าไปล้างหน้า มันก็ต้องมีสติสัมปัชชัญญะตลอดเวลาที่ก้าวไปสู่ที่ล้างหน้า และก็ทำการล้างหน้าทุกอิริยาบทที่เคลื่อนไหว จะหยิบขันล้างหน้าหรือจะทำอะไรก็ตามใจ มีกี่อิริยาบทก็มีสติ สัมปัชชัญญะรู้สึกตัวหมด จนกว่าจะล้างหน้าเสร็จ รู้สึกได้ว่าได้ปฏิบัติธรรมะเสร็จไปขั้นตอนหนึ่งนี้ก็พอใจ พอใจ แล้วก็เป็นสุข และก็พอใจ ดังนั้นเป็นการกล่าวได้ว่า เราหาความสุขได้แม้เมื่อเราล้างหน้า ถ้าเรารู้สึกว่าไอ้การล้างหน้านั้นมันเป็นหน้าที่และหน้าที่นั้นคือธรรมะ ฉะนั้นก็ปฏิบัติธรรมะคือการล้างหน้า แล้วก็พอใจว่าได้ปฏิบัติธรรมะอย่างถูกต้อง แล้วก็พอใจ ถ้าพอใจแล้วไม่ต้องสงสัยมันเป็นสุขเองแหละ แต่ที่นี้ไม่รู้จัก มันก็ไม่ได้เป็นสุข มันก็เลยไม่ได้เป็นสุข มันก็ไม่ได้รู้สึกเป็นสุข เพราะการทำหน้าที่แม้แต่การล้างหน้า ทีนี้จะไปทำอะไร รู้เอาเอง แต่ว่า อย่างว่า เขาจะไปถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ มีสติสัมปัชชัญญะเดินไป จะไปทำหน้าที่ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ซึ่งมันเป็นธรรมะ ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะให้ดีที่สุดตลอดเวลามันเป็นธรรมะ เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ว่าถูกต้องแล้ว ปฏิบัติธรรมะหน้าที่อันนี้ถูกต้องแล้ว แล้วก็พอใจ แล้วก็เป็นสุข สามารถจะมีความสุขได้ตลอดเวลาที่ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ ซึ่งตามธรรมดาเขาก็ไม่ได้ทำกัน เขาก็ไม่ได้รู้สึกเป็นสุข หรือรู้สึกไม่พอ แต่เราอาจจะมีความสุข ความพอใจในการกระทำของตัวเองว่าได้ปฏิบัติหน้าที่คือธรรมะ จนเสร็จเรื่องถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ จะไปไหน ไปไหว้พระ สวดมนต์ก็แล้วแต่ ตลอดเวลาที่ไปมีสติ สัมปัชชัญญะ ถูกต้อง ถูกต้อง ทำหน้าที่เสร็จแล้ว พอใจ พอใจ นี่จะมาฉันอาหาร ไปสู่ที่ฉันอาหารก็ด้วยสติ สัมปัชชัญญะ ตลอดเวลาที่ฉันอาหาร มีสติ สัมปัชชัญญะ นับตั้งแต่ได้หยิบภาชนะมา หยิบช้อน หยิบจานมาตักข้าว เข้ามาใส่ปากเคี้ยวฉันไปตลอดเวลา มีสติ สัมปัชชัญญะไว้ ปฏิบัติธรรมะเป็นหน้าที่อันหนึ่ง ธรรมะข้อหนึ่ง เรียบร้อยแล้วก็รู้สึกว่าถูกต้อง และพอใจ มันก็เป็นสุข เพราะการฉันอาหาร เป็นเรื่องตลอดเรื่องทั้งเรื่องของการฉันอาหาร มีความสุข มีความพอใจ นี่ขอย้ำว่าไอ้ความสุข ความพอใจ ชนิดนี้คนโง่ ๆ มันไม่ได้รับเพราะมันไม่ได้รู้สึกว่าปฏิบัติธรรมะ ผู้ที่มีความรู้ ความฉลาดเท่านั้น รู้ว่า อ้าว,นี่เป็นการปฏิบัติธรรมะแล้วก็พอใจ พอใจแล้วก็เป็นสุข ที่จะไปทำอะไร เป็นฆราวาส แม้ที่ว่าจะต้องล้างจานข้าว จะต้องเช็ด ถู บ้านเรือน จะทำอะไรก็ตาม ทุกอิริยาบท ทุกเวลา ทุกระยะที่หายใจออกเข้า มีสติ สัมปัชชัญญะทำ จะถูพื้น จะล้างจาน จะทำอะไรก็ตาม หรือว่าถ้าไปทำงานตามหน้าที่ นี่สมมุติเรื่องของฆราวาส มันจะต้องแต่งเนื้อแต่งตัว แต่งเนื้อแต่งตัวจนเสร็จ ปฏิบัติหน้าที่นี้เสร็จก็พอใจแล้วเป็นสุขตลอดเวลาที่แต่งเนื้อแต่งตัว นี่ลงบันไดไปด้วยความรู้สึก มีสติ สัมปัชชัญญะ พอใจไปเป็นสุข ลงบันไดไป ขึ้นรถไปที่ทำงาน เข้าไปในห้องทำงาน เหล่านี้เป็นหน้าที่ สำคัญนะ ต้องทำงานเกี่ยวกับอาชีพ ที่ออฟฟิศ มีสติ สัมปัชชัญญะทำให้ดีที่สุด แบบโบราณแท้ๆ น่ะเขาจะทำอะไรกับอะไร เขายกมือไหว้ พนมมือไหว้ให้เกียรติยศ ให้แก่งานนั้นเสียทีก่อน อย่างชาวนาจะไปไถนา เอาวัว เอาควาย ไปไถนา ถ้ามันมีความรู้สึกในข้อนี้ว่าการไถนานี่เป็นการปฏิบัติธรรมะ ควรพนมมือให้ควาย ให้ไถ ให้นาเสียก่อน ทีนี้เราก็ไปทำงานที่ออฟฟิศ เข้าไปในห้องที่ทำงาน ห้องทำงานก็ดี เครื่องใช้ทุกๆ อย่าง เกี่ยวกับทำงานก็ดี เป็นอุปกรณ์แห่งการปฏิบัติธรรมะ พนมมือให้แก่ห้องทำงานเสียก่อน แก่เครื่องอุปกรณ์อันนั้นเสียก่อนแล้วจึงนั่งลงทำงาน ไอ้พวกคนโง่ๆ ทั้งหลาย มันก็ เอาไอ้นี่บ้าแล้ว ไอ้นี่บ้าแล้ว มันจะบ้าจริงหรือไม่จริ ก็แล้วแต่ คือว่าเราไม่ได้บ้า เรามีความรู้ เรามีเหตุผลของเรา ไอ้คนที่ไม่รู้มันก็บ้าแล้ว บ้าแล้ว ก็ทำตามที่มันจะไม่เกิดเรื่อง แต่ว่าตลอดเวลา ทำหน้าที่อยู่ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกวินาที ได้ความรู้สึกว่าเป็นธรรมะ ธรรมะ รู้สึกว่าปฏิบัติธรรมะ ไม่ใช่ ไม่ใช่ทำหน้าที่ชนิดที่ว่าจำใจทำ ฝืนทำ มัน ไม่ไม่เกิดความพอใจ ถ้ารู้สึกว่านี่ต้องฝืนทำ ทำเป็นบังคับต้องฝืนทำ ทำงานอย่างนั้นแหละมันก็ไม่มีความพอใจและเป็นสุข แต่ถ้ารู้ว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกต้อง คือเป็นหน้าที่และเป็นธรรมะแล้วก็พอใจ และเป็นสุขตลอดเวลาที่ทำงาน จะเป็นครูตลอดเวลาที่จับชอล์คยืนอยู่หน้าชั้น หน้ากระดานดำ มันมีความสุข จะเป็นพ่อค้าตลอดเวลาที่ทำการค้า แม้แต่จะเป็นกรรมกร ก็รู้สึกว่าหน้าที่และธรรมะ ทำอย่างสมัครใจทำ แล้วก็เป็นสุข เหน็ดเหนื่อยเหงื่อออกมาก็เป็นเรื่องเย็นไปหมด ถ้ามันฝืนใจทำ มันไม่อยากทำ แต่ความจำเป็นบังคับให้ทำ มันก็เป็นนรก คือตกนรกไปพลาง ทำงานไปพลาง คนหนึ่งทำงานไปพลาง มีสวรรค์ไปพลาง คนหนึ่งทำงานไปพลาง ตกนรกไปพลาง จะเลือกเอาอย่างไหนล่ะ นี่ขอให้คิดดูให้ดีๆ แม้ว่าจะทำงานหนักแบบว่าเป็นกรรมกร แจวเรือจ้าง เหงื่อท่วมตัว ถีบสามล้อ เหงื่อถ่วมตัว กวาดถนน ล้างท่อถนน เหงื่อถ่วมตัว แต่ถ้ามันมีธรรมะ ให้รู้สึกอยู่ในใจว่าหน้าที่ คือธรรมะนี่คือปฏิบัติธรรมะ มันไม่เหนื่อย มันไม่เหนื่อย คือมันพอใจเสีย ก็เป็นสุขเสีย มันก็เลยมีงานทำไม่ ไม่ ไม่ขาดมือ ไม่ต้องเลือกงาน เมื่อมันมีความเหมาะสมกับสถานะของเราแล้วก็เอาเถอะ ถ้ามันทำอะไรได้ไม่มาก สถานะทางชีวิต ร่างกายนี้มันไม่ทำอะไรได้ ก็ไปนั่งขอทาน ไปนั่งขอทาน ด้วยความพอใจว่ามันเหมาะสมแก่อัตภาพ แล้วก็ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ เป็นการปฏิบัติธรรมะในการขอทานนั่นแหละ คิดดูสิ มันก็เลยมีความสุขเป็นขอทาน ทำหน้าที่อย่างดี อย่างถูกต้อง อย่างนี้ มันก็พ้นสภาพขอทานได้ในวันหนึ่ง หรือเป็นกรรมกรที่พอใจเป็นสุขอยู่อย่างนี้ มันก็พ้นจากฐานะของกรรมกรได้ในวันหนึ่ง เพราะว่ามันทำหน้าที่ แล้วเป็นสุขในหน้าที่ เงินที่จะต้องใช้เพื่อซื้อหาความสุข ไม่ต้องใช้ ทีนี้คนมันไม่เป็นอย่างนั้นนี่ มันไปมัวเมาในไอ้ความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ไม่ใช่ความสุข คืออบายมุขทั้งหลาย จะเป็นข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน กรรมกร ชาวไร่ ชาวนา ก็ยังบูชาอบายมุข ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน เรื่องเพศ เรื่องกามารมณ์ อะไรก็ตาม มันก็ซื้อหาจนเงินหมด เพราะมันไม่รู้สึกว่ามันได้รับความสุข ไม่ต้องไปติดความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ไม่ใช่ความสุข ทำให้เงินหมด ไม่มีเหลือ ทีนี้ถ้าปฏิบัติธรรมะอยู่อย่างนี้ มันพอใจและมันเป็นสุข มันก็เลยไม่ต้องใช้เงินเพื่อซื้อหาความสุข เงินมันก็เหลืออยู่หมด ไอ้ผลงานที่ได้มาเป็นเงินมันก็เหลืออยู่หมด ไม่ต้องเอาไปซื้อหาความเพลิดเพลินที่หลอกลวง แต่ก็เอาไปใช้ในสิ่งที่มันเป็นประโยชน์ แล้วส่วนมากมันจะเหลือเพราะว่ามันไม่ต้องใช้หมด ไอ้ซื้อเพื่อความสุขมันมีเสียแล้วตลอดเวลา ทุกวินาที ทุกกระเบียดนิ้ว การทำอย่างนี้นะเรียกได้ว่าปฏิบัติกรรมฐานอยู่ตลอดเวลาทุกอิริยาบท ถ้าถามว่ากรรมฐานข้อไหน ก็บอกกรรมฐานข้อธรรมานุสติ เรามีธรรมานุสติอยู่ตลอดเวลา ทุกอิริยาบท ทุกกระเบียดนิ้ว เป็นธรรมานุสติ ธรรมะเป็นสิ่งสูงสุด ระลึกถึงและปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา เป็นธรรมานุสตินี่ช่วยได้ ธรรมะช่วยได้เพราะเหตุนี้ คำว่าหน้าที่คือสิ่งที่ช่วยให้รอด คำว่าธรรมะมันเป็นคำเดียวกัน มันก็คือสิ่งที่ช่วยให้รอด มีธรรมะเป็นที่พึ่งช่วยให้รอด เป็นพระเจ้าที่แท้จริง ที่จะช่วยให้เรารอดยิ่งกว่าพระเจ้าชนิดไหนหมด ถ้าจะมีพระเจ้าคอยเหลือบไปทางธรรมะนะ ปฏิบัติแล้วช่วยรอด ช่วยให้รอด พระเจ้าที่ไม่รู้ที่ไหน ได้แต่บนบาน บวงสรวง ขอร้องอ้อนวอนอย่างนั้นเป็นไสยศาสตร์ ไม่ใช่ความจริง ขอพูดถึงคำว่าไสยศาสตร์สักนิด ไสยศาสตร์นั้นมันเป็นหลักที่มีไว้ปฏิบัติ ที่มีไว้สำหรับคนปัญญาอ่อน ไม่อาจจะเข้าใจอย่างที่เรากำลังพูดว่าหน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่แล้วก็รอดเขาไม่เข้าใจก็ไม่อาจทำให้เกิดความรู้สึกพอใจในการทำงานได้ ก็ต้องไปบนบานอย่างไสยศาสตร์ พระเจ้า ผีสาง เทวดา ที่ไหนก็ไม่รู้ เป็นเรื่องการกระทำของคนปัญญาอ่อน ก็น่าสงสารเพราะปัญญามันอ่อน ก็เก็บไสยศาสตย์ไว้ให้คนปัญญาอ่อน พุทธศาสตร์แปลว่าศาสตร์ของคนตื่น ทีนี้ไสยศาสตร์น่ะ ศาสตร์ของคนหลับ คำว่า “ไส-ยะ” แปลว่า หลับ “พุท-ธะ” แปลว่าตื่น มีพุทธศาสตร์ คือศาสตร์ของคนตื่น มีความรู้ของคนตื่น มีสติปัญญา เหมือนคนตื่นไม่หลับด้วยอวิชชา ทีนี้ไสยศาตร์ ศาสตร์ของคนหลับ มันไม่มีปัญญาถึงขนาดที่จะตื่น จะรู้จักเห็นแจ้งได้ แต่เผอิญว่ามันมี แปลได้อย่างหนึ่ง ไส-ยะแปลว่าดีกว่า หมายความว่าดีกว่าไม่มีอะไรเสียเลย ไสยศาสตร์สำหรับคนปัญญาอ่อน มันดีกว่าไม่มีอะไรเสียเลย ยกให้เป็นมรดกของคนปัญญาอ่อน เราไม่ต้อง เมื่อเรามีพุทธศาสตร์แล้วก็ทำอย่างว่า สามารถจะทำให้มีความสุขอยู่ได้ทุกอิริยาบท ทุกกระเบียดนิ้ว เมื่อวัดโดยเวลา โดยทุกวินาที วัดโดยพื้นที่ก็ทุกกระเบียดนิ้ว มีแต่ความถูกต้อง มีความเป็นสุข ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวไปในท่าไหนอย่างไร ว่าทุกกระเบียดนิ้วและทุกวินาที มีความสุข ด้วยสิ่งที่เราทำอยู่เป็นประจำนั่นแหละแต่ว่าเราไม่ได้ทำด้วยความรู้สึกเป็นธรรมานุสติ ว่านี่คือการปฏิบัติธรรม เราก็เลยไม่ได้รับประโยชน์อันนี้ ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นสุขทุกอิริยาบท ทุกกระเบียดนิ้ว ทีนี้ที่ทำอยู่อย่างเดิมแหละ ขอให้มีสติสัมปัชชัญญะเข้ามา มันก็จะกลายเป็นเรื่องที่มีความสุข พออกพอใจ ชื่นใจตัวเองอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว โดยพื้นที่ ทุกวินาที โดยเวลา ทำอย่างนี้เรียกว่ามีธรรมานุสติ ปฏิบัติกรรมฐานในข้อธรรมานุสติอยู่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นคนอาชีพไหน จะเป็นเศรษฐี เป็นราชา มหากษัตริย์ จะเป็นพ่อค้า เป็นชาวนา ชาวสวน เป็นกรรมกรก็ตาม สามารถจะทำให้หน้าที่เป็นธรรมะ ก็พอใจแล้วเป็นสุขอยู่ตลอดเวลา เมื่อจิตมันรู้สึกเป็นสุขแล้วมันก็ไม่ต้องการอะไรอีก แต่เขายังไม่รู้จักทำให้เป็นสุข ไม่รู้สึกเป็นสุข แม้ว่าจะทำหน้าที่นี้อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราทำหน้าที่อย่างนี้อยู่ตลอดเวลา เราก็รู้ รู้จักทำให้มันมีความหมายเป็นหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ เมื่อปฏิบัติธรรมะก็พอใจ เมื่อพอใจก็เป็นสุขตลอดเวลา นี่ไอ้ความลับมันอยู่ที่ว่า ถ้าเธอรู้ว่าไอ้หน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ ก็จะสามารถทำให้เราเป็นผู้มีธรรมะหรือปฏิบัติธรรมะอยู่ตลอดเวลาทุกวินาที ทุกพื้นที่ ทุกกระเบียดนิ้ว ถ้ามันไม่รู้ก็ทำปาวๆ ไปอย่างนั้น ทำไปโดยที่ว่าทำความเคยชิน ทำความจำเป็นบังคับ หรือตามที่เขาทำเราก็ทำ ไม่สามารถจะทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นสุขได้ทุกอิริยาบท นี่มันเสียเปรียบกันอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจะต้องเพิ่มงานอะไรได้ เท่าที่ทำอยู่ทุกวันตื่นขึ้นมาก็ล้างหน้า ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ แล้วก็อาบน้ำแล้วก็กินอาหาร แต่งตัวไปทำงาน ทำงานกลับมาแล้วก็กลับมาก็อาบน้ำ ล้างหน้า อาบน้ำ กินอาหาร อย่าง อย่างนั้นตลอดเวลา เรียกว่ามันถูกย้อมอยู่ด้วยความรู้สึกพอใจ พอใจ ว่าเป็นสุขอยู่ตลอดเวลา พอค่ำลงจะนอนนึกย้อนหลังทั้งวันนี้ทำอะไร มันก็รู้สึกว่าทำปฏิบัติธรรมะ ทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลาเป็นที่พอใจอยู่ตลอดเวลา โดยความถูกต้องตลอดเวลา ก็ยกมือไหว้ตัวเอง จะไหว้ด้วยกิริยาท่าทางจริงๆ ก็ได้ หรือไหว้ในใจก็ได้เหมือนกัน ยกมือไหว้ตัวเอง พอใจ อิ่มอกอิ่มใจ ที่สุดนั่นน่ะคือสวรรค์แท้จริง สวรรค์แท้จริง ที่เรากำลังมีอยู่ ให้ถือเป็นหลักได้ว่าเมื่อไหร่พอใจตัวเองจนยกมือไหว้ตัวเองได้ เรียกว่าเรานั้นมีสวรรค์อันแท้จริง สวรรค์ต่อตายแล้วนั่นยังไม่รู้อยู่ที่ไหน แล้วมันไม่รู้จะไปจริงกันที่ตรงไหน สวรรค์นี้จริง รู้สึกพอใจ เป็นสุขใจแท้จริงอยู่ตลอดเวลา จนยกมือไหว้ตัวเองได้ ทีนี่สวรรค์ต่อตายแล้ว ถ้ามันมีจริงก็ขึ้นอยู่กับสวรรค์นี้ ถ้าเราได้สวรรค์อย่างนี้ ไม่ต้องกลัว ตายแล้วก็ได้สวรรค์ทุกอย่างที่มันมี ที่นี้ในทางที่ตรงกันข้าม เราทำอะไรผิดพลาด โง่เง่า อวดดีก็ตาม ให้นึกถึงตัวเองแล้วเกลียดตัวเอง เกลียดขี้หน้าตัวเองอย่างนี้นั่นแหละนรก นรกที่แท้จริงที่ตกอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือมันทำผิดตกนรก ถ้ามีตกนรกแท้จริงอย่างนี้ ที่นี่เดี๋ยวนี้แล้วไม่ต้องสงสัย ตายแล้วก็ไปตกนรกทุกชนิด ที่มันมีอยู่ ไอ้นรกหรือสวรรค์ต่อตายแล้วไม่ต้องคิดถึงก็ได้ ขอแต่ทำให้นรก เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ที่นี่ให้มันถูกต้อง ไม่ตกนรกที่นี่ มีแต่สวรรค์ที่นี่ ไม่ต้องกลัว ตายแล้วจะไม่ตกนรก หรือร่ายสวรรค์ (นาทีที่ 36:22) นี่สวรรค์อย่างนี้ เป็นสวรรค์ที่พระพุทธเจ้า ตรัสรู้และสอน นรก อย่างนี้ สวรรค์ อย่างนี้ ที่รู้สึกอยู่ในใจ เกี่ยวกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำผิดก็เป็นนรก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำถูกก็เป็นสวรรค์ ท่านเรียกว่า ผัสสายะตนิกะสัคคะ (นาทีที่ 36:44) สวรรค์ทางอายตนะ ผัสสายะตนิกะนิริยะ (นาทีที่ 36:52) นรกทางอายตนะ ส่วนนรกที่อยู่ใต้ดิน ใต้บาดาลนู้น และสวรรค์ไปอยู่บนฟ้าสูงสุด เขาสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เรื่องของพุทธศาสนา เพราะว่าเขาสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า แต่พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ เกิดขึ้นจากที่ท่านตรัสสอนว่า ไอ้นรกนี้ ทางอายตนะ ผัสสายะตนิกะนรกนี่ (นาทีที่ 37:19) ฉันเห็นแล้ว สวรรค์ทางอายตนะนี่ ฉันเห็นแล้ว ท่านตรัสว่า ฉันเห็นแล้ว ฉันเห็นแล้ว ไม่อยากทิฐา (นาทีที่ 37:27) แปลว่าฉันเห็นแล้ว แล้วท่านก็ไม่ไปต่อล้อต่อเถียง ไม่ไปยกเลิกไอ้พวกโน้นที่เขาเชื่อกันอยู่ก่อน แต่ถ้าจะต้องสอนพวกโน้น ท่านก็จะสอนได้เหมือนกันว่าทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้สิ ไม่ตกนรก ปฏิบัติอย่างนี้สิได้ขึ้นสวรรค์ แต่ถ้าเป็นนรก สวรรค์ ใน ในการตรัสรู้ของท่าน ซึ่งไม่ซ้ำกับนรก ของพวกที่เขาสอนอยู่ก่อน มันคืออย่างนี้ ให้ระมัดระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดีๆ อย่าให้เกิดผิดพลาดขึ้นมา ก็มีสวรรค์ทางอายตนะที่นี่ สวรรค์จริง รู้สึกอยู่จริง ปรากฎอยู่จริง มีอยู่จริง ถ้ามันไม่มีธรรมะ มันประมาท มันสะเพร่า มันทำผิดพลาดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เกิดความทุกข์ ความร้อนใจ นี่ก็เป็นนรกทางอายตนะ นี่จำไว้เป็นคู่เปรียบ ไอ้นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เขาสอนอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่คัดค้าน ไม่ยกเลิก ไม่ไปเสียเวลา ไม่ไปต่อต้าน แต่ถ้าต้องพูดก็พูดได้เหมือนกันว่าปฏิบัติดีก็ไปสวรรค์ ปฏิบัติไม่ดีก็ไปนรก เพราะบางอย่างอาจจะไม่เหมือนกับที่เขาสอนกันอยู่ก่อนก็ได้ เพราะว่าที่เขาสอนกันอยู่ก่อน ที่ให้บูชายัญหรือให้ทำอะไรอย่างนั้นจึงจะไปสวรรค์อย่างนี้พระพุทธเจ้าไม่สอน สอนให้ปฏิบัติดี ไปสวรรค์ไม่ปฏิบัติชั่ว เพื่อไม่ไปนรก แต่ที่สอนชัดเจนที่สุดก็คือ ระวังมีสติ ระวัง เมื่อ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำหน้าที่ของมัน ระวังอย่าให้ผิดพลาด ถูกต้อง ก็พอใจก็เป็นสวรรค์ ถ้าผิดพลาด ก็เสียหาย ก็เป็นนรก เดี๋ยวนี้เรามีสติ สัมปัชชัญญะอยู่ทุกอิริยาบท ทุกอิริยาบททั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น มีสติ สัมปัชชัญญะอยู่มันก็ไม่มีความผิดพลาด เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสวรรค์ให้ได้ ทุกวันเรารู้สึก สรุปบัญชีตอนจะนอน โอ้,มันมีแต่ความถูกต้อง เป็นสวรรค์ พอใจ อย่างนี้ไปจนตลอดชีวิต ไม่ได้เพิ่มอะไรขึ้น การงานทุกอย่างทำอยู่แล้ว งานเพื่อเลี้ยงชีวิต ใส่ปาก ใส่ท้อง ก็ทำอยู่แล้ว งานเพื่อสุขภาพอนามัยก็ทำอยู่แล้ว งานเพื่อสังคมที่ถูกต้องก็ทำอยู่แล้ว ฉะนั้นมีอยู่แต่ว่า ทำงานไหน ทำงานชนิดไหน ในระยะไหน ในขั้นตอนไหน มีสติสัมปัชชัญญะทำให้มันถูกต้อง ถูกต้อง ปฏิบัติธรรมะไปเลย เป็นการปฏิบัติธรรมะไปเลย การกิน การนอน การอาบ การถ่ายของคนโง่ มันก็เป็นหน้าที่ของคนโง่ทำด้วยความจำเป็น ไม่ได้เอาใจใส่ ว่าจะทำให้ดีถูกต้องอย่างไร เป็นเรื่องของคนโง่ แต่ถ้าเรื่องของคนฉลาด รู้ธรรมะ มันก็ทำให้เป็นธรรมะ การกิน การนอน การอาบ การถ่าย ทุกอย่างแหละ แม้แต่ที่สุดมันคันขึ้นมามันก็จะต้องเกา มันก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องเกา แต่ว่าเกาด้วยสติสัมปัชชัญญะ ทำหน้าที่ที่ถูกต้อง ที่ควรทำ อย่าเกาด้วยความโมโหโทโส นี่ หน้าที่ที่น้อยที่สุด ที่ว่าคันแล้วก็ต้องเกา ก็ขอให้ทำด้วยสติสัมปัชชัญญะ อย่าโมโห ฮึดฮัด เกาแล้วก็เป็นเหมือนกับผีสิงไปพักหนึ่ง เพียงแต่เพราะว่ามันคันเลยต้องเกา เรียกว่าสติสัมปัชชัญญะ จำให้ดีๆ จะเรียกว่าสติ อย่างเดียวก็ได้ แต่มันจะต้องคู่กัน มีสติระลึกได้ แล้วเอามายืนคุมเชิงอยู่เรียกว่าสัมปัชชัญญะ ขอให้เข้าใจเรื่องหน้าที่ คือธรรมะ ธรรมะคือ หน้าที่ ดังนั้นเมื่อต้องทำหน้าที่อะไร ขอให้นึกถึงธรรมะ ให้เป็นธรรมะไปเสียหมด อย่าให้เป็นสิ่งที่ทำด้วยความจำใจ ไม่อยากทำ เหนื่อยบ้าง อะไรบ้าง ยกตัวอย่างเป็นกรรมกร ถีบสามล้อ ถ้ามันไม่อยากทำ มันฝืนใจทำ มันก็เหนื่อยเกือบตาย เป็นทุกข์เกือบตาย แต่ถ้ามันนึกเสียว่าเป็นหน้าที่ เป็นธรรมะที่เหมาะสมกับชีวิตและอัตภาพของเราแล้ว เป็นธรรมะแล้ว ยินดีพอใจในธรรมะแล้วก็เป็นสุข อย่างนี้มันก็ถีบสามล้อเป็นสุขตลอดวัน จิตใจมันหยืดหยุ่นได้เป็นอย่างนี้ มันเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างนี้ ฉะนั้นอย่าให้มีอะไรที่ต้องทำด้วยความอิดหนาระอาใจ ไม่อยากทำ ทนทุกข์ทรมานอยู่ในการทำ นั้นมันผิด มันของคนโง่ มันของคนไม่รู้ว่าธรรมะคือหน้าที่ แล้วมันก็ต้องทนทรมานไปจนตาย ส่วนอีกคนหนึ่งต้อนรับเอาด้วยเป็นธรรมะหมด ก็พอใจหมด ไม่ว่าจะต้องทำอะไร ทำด้วยความพอใจเลยเป็นสุขหมด นี่เรียกว่าเขาเป็นสุขอยู่ตลอดเวลาทุกอิริยาบท ที่ไหนทำหน้าที่ที่นั้นเป็นธรรมะ หน้าที่ในการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง บำรุงกายก็ดี หน้าที่ในการระมัดระวังรักษาอนามัยก็ดี ซึ่งจะต้องทำอย่างถูกต้องและพอใจ ที่นี้การจะต้องคบหาสมาคมกันก็เหมือนกัน ทำให้ถูกต้องและพอใจ หน้าที่มันก็สมบูรณ์แหละ จะเป็นฆราวาสโดยเฉพาะ เป็นพระก็เหมือนกัน ไม่แตกต่างอะไรกันนัก ถ้าไม่มีการทำหน้าที่มันก็ไม่ ไม่ ไม่มีธรรมะ ในโบสถ์ ในโบสถ์น่ะที่ไม่มีการทำหน้าที่ มีแต่สั่นเซียมซีหรืออ้อนวอน ในโบสถ์นั้นไม่มีธรรมะ ที่กลางทุ่งนา ที่ชาวนาไถนาอยู่ เย้ว เย้ว กลับมีธรรมะ ธรรมะกลับไปมีกลางทุ่งนา แล้วก็ไม่มีในโบสถ์ที่มีการสั่นเซียมซี คือไม่มีการปฏิบัติหน้าที่อะไร พูดได้อย่างนี้ ฉะนั้นขอให้ทุกคนรู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะคือหน้าที่ แล้วก็ทำให้เป็นหน้าที่ เป็นธรรมะโดยสติ สัมปัชชัญญะตลอดเวลา มันก็เลยเป็นสุขอยู่ตลอดเวลา จนไม่รู้จะเอาเงินไปซื้อความสุขอะไรที่ไหน เพราะว่ามันเป็นสุขแท้จริงเสียตลอดเวลาแล้ว เลยพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้เงินเลย แต่ความสุขที่แท้จริงมันทำได้อย่างนี้เกิดขึ้นในใจอย่างนี้ โดยไม่ต้องใช้เงินเลย ยิ่งกว่านั้นมันแถมให้เงินเหลือ ผลงานที่ทำ เกิดมาจากการทำงานทำหน้าที่มันก็เหลืออยู่ เพราะมันไม่ต้องไปหาไอ้ความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ส่วนความเพลินเพลินที่หลอกลวงหรือความสุขที่หลอกลวงต้องใช้เงินมาก จนเงินไม่พอใช้ เพราะมันทำไปด้วยกิเลสตัณหา มันก็ไม่มีจักอิ่ม จักพอ มันก็ไม่มีเหลือ มันไม่มีความสุขด้วยซ้ำไป ถ้ามันรู้สึกอย่างนั้นน่ะ เป็นเรื่องของกิเลสตัณหา มันไม่มีความสุขสงบเย็น มันก็มีแต่อยากยิ่งๆขึ้นไป ชะเง้อหายิ่งๆ ขึ้นไป เงินหมดแล้วก็ยังอยากอยู่ ก็เลยต้องไปกู้ ไปยืม ไปคอร์รัปชั่น ต้องไปต่าง ๆ เลยวินาศ พระพุทธเจ้าตรัสว่า นิพพาน นิพพาน ให้เปล่า เป็นของให้เปล่า ไม่ได้คิดค่า คิดเงิน ก็หมายถึงทำจิตใจให้เยือกเย็น แต่หมายถึงสูงขึ้นไปนะ สูงขึ้นไป ปฏิบัติธรรมะสูงขึ้นไปจนไม่มีความรู้สึก ตัวกู ของกู ไม่มีกิเลส เอาละนี่เรื่องตอนแรกมันจบนะ หน้าที่ทางกาย ทางโลกมันจบด้วยการทำอย่างนี้ ทีนี้ก็หน้าที่ทางจิต ทางวิญญาณประเภทที่สอง ทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็สติ สัมปัชชัญญะอีกแหละ ถ้ามีสติ สัมปัชชัญญะ เมื่อ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัมผัสสิ่งข้างนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ สติ สัมปัชชัญญะที่เพียงพอมันทำให้ไม่หลงในสัมผัส ไม่หลงในเวทนา มันก็รู้แต่ว่าสัมผัสตามธรรมชาติ มันก็ไม่เกิดยินดี ยินร้ายในเวทนา และเวทนานั้นก็เป็นเวทนาที่ไม่ไม่ ไม่ต้องให้เกิดตัณหา ถ้ามันโง่ มันยินดี ยินร้าย ไอ้เวทนามันก็ให้เกิดตัณหา มันคิดว่าสิ่งนั้นถูกใจ พอใจ มันก็เกิดตัณหา อยากได้ อยากเอา ถ้าไม่พอใจ มันเกิดตัณหา อยากฆ่า อยากทำลายเสีย เป็นต้น นี่ถ้าสัมผัสมันไม่มีสติสัมปัชชัญญะควบคุมเป็นสัมผัสโง่ มันก็ออกมาเป็นเวทนาโง่ แล้วก็เกิดตัณหา ทีนี้ก็ช่วยไม่ได้แหละ มันก็เกิดอุปาทาน ตัวกู ของกู เอาอะไรมาเป็นตัวกูของกู มันก็มีความทุกข์เท่านั้นแหละ แต่ถ้ามีสติ สัมปัชชัญญะหรือรู้เรื่องนี้พอ ศึกษาไว้พอแล้วพอสัมผัสอารมณ์ทางตาก็ตาม ทางไหนก็ตาม มันมีสติ สัมปัชชัญญะเข้ามา มันก็ไม่ทำผิดในการรับอารมณ์นั้นๆ หรือไม่เกิดไอ้เวทนาที่ทำให้เกิดตัณหา มีแต่ความรู้อย่างถูกต้องไปทั้งหมดทั้งสิ้น ผัสสะคือ อย่างนี้ จัดว่าเป็นอย่างนี้ เวทนาอย่างนี้ จัดว่าเป็นเวทนาตามธรรมชาติอย่างนี้ จะเป็นสุขเวทนาหรือเป็นทุกขเวทนา มันก็เป็นธรรมชาติอย่างนี้ ไม่ต้องไปหลงรักหลงยึดถืออะไร นี่ก็เป็นคนที่ไม่ต้องมีความทุกข์ทางจิต ทางวิญญาณในขั้นสูงขึ้นไป คือมีความสุขในทางฝ่ายธรรมะ ประเภทที่สูงขึ้นไป หน้าที่ที่สูงขึ้นไป ชนิดที่เรียกว่าบรรลุ มรรคผลนิพพาน จะบรรลุมรรคผลนิพพานสำเร็จได้ก็ด้วยสติสัมปัชชัญญะ เมื่อสัมผัสอารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่ต้องศึกษาให้มากพอ แล้วมันก็จะทำได้ ไม่ใช่ทำไม่ได้ ถ้าละกิเลส ตัณหาได้ ก็ด้วยสติ สัมปัชชัญญะ เพียงพอ มันก็จบกิจที่จะต้องทำเหมือนกัน เป็นพระอรหันต์ แต่เดี๋ยวนี้เราจะพูดกันอยู่ในโลกนี้ก่อน ว่าไอ้หน้าที่ชั้นระดับทางกาย ทางภายนอกนี่สำคัญ ขอให้ไปเปลี่ยนใหม่ เปลี่ยนใหม่นิดเดียว คือว่าไอ้ที่ทำอยู่ทุกวัน ขอให้เปลี่ยนเป็นทำด้วยสติสัมปัชชัญญะ อย่าทำด้วยใจลอย ที่เคลิ้ม เคลิ้มๆ แล้วมันก็มีความทุกข์หลายๆ อย่าง หลายๆ ชนิด นับตั้งแต่มีนิวรณ์ทั้ง ๕ คงจะเคยเรียนเรื่องนิวรณ์มาแล้วในการเรียนนักธรรม หรือว่าเรื่องนวโกวาท แต่คงจะไม่รู้จักนิวรณ์ เพราะครูอาจารย์มักจะไปสอนนิวรณ์ เรื่องนิวรณ์ต่อเมื่อทำกรรมฐาน เมื่อมองข้ามไปจนหมด ไม่ต้องเกี่ยวกรรมฐาน กรรมเฐินที่ไหน ไอ้คนที่มันอยู่ในบ้านในเรือนกันทั่วไป อยู่ที่บ้านน่ะมันก็มีนิวรณ์กวนอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งแรกที่เราจะต้องรู้จัก ถ้านิวรณ์มาจิตใจนี้ก็หมด หมดปกติ หมดความผาสุก หมดความเย็น กลายเป็นร้อนรุ่ม กระวนกระวายด้วยอำนาจของนิวรณ์ ใครไม่รู้จักนิวรณ์มันก็โง่ที่สุด แต่ว่าดูให้ดี คนก็โง่มาก โง่กันเต็มบ้านเต็มเมืองเพราะไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่านิวรณ์ มันคิดว่าจะต้องสนใจนิวรณ์ต่อเมื่อไปทำกรรมฐาน ถูกแล้ว กรรมฐานทำแล้ว นิวรณ์มันก็ระงับไป แต่เดี๋ยวนี้รู้จักนิวรณ์ที่มันกำลังรบกวนอยู่ทุกวัน ทุกวัน เราอยากจะอยู่จิตใจว่าง เย็น สงบ โปร่ง ดี ทำไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้เพราะนิวรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งมารบกวน เดี๋ยวนิวรณ์ในทางเพศที่เรียก กามฉันทะ ฉุยขึ้นมากวนจิต เดี๋ยวนิวรณ์ทางพยาบาทคือโกรธ ฉุยขึ้นมาในจิตโดยไม่มีเหตุปัจจัยอะไรภายนอก มันก็ฉุยขึ้นมาได้เพราะว่ามันเป็นของที่สร้างรกรากขึ้นมาจากข้างใน จากอนุสัยที่นอนอยู่ในสันดาน เดี๋ยวก็งัวเงีย งัวเงีย ละเหี่ย ละห้อย อยากแต่จะนอน อยากแต่จะหลับ บางทีก็ฟุ้งซ่านเหลือประมาณเหมือนกับคนบ้า และนิวรณ์ที่ ๕ คือ ความไม่แน่ใจ แต่ละวัน ละวัน ไม่มีความรู้สึกที่แน่ใจว่าถูกต้องแล้ว ปลอดภัยแล้ว มันมีแต่ระแวงว่ามันยังไม่ถูกต้อง มันยังไม่เพียงพอ มันยังไม่แน่ว่าจะปลอดภัย นี่นิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ รบกวนอยู่ตลอดเวลา และทุกคนไม่มากก็น้อย แต่คนโง่จะมองไม่เห็น และก็ไม่รู้สึกว่ามีปัญหา ดังนั้นจึงไม่สนใจธรรมะที่จะกำจัดนิวรณ์เหล่านั้นเสีย เพียงแต่กำจัดนิวรณ์ทั้ง ๕ ได้นี่ สบายเหลือประมาณ ไปคิดดู จิตใจเยือกเย็น เป็นปกติตลอดวัน ตลอดคืน ไม่ถูกรบกวนด้วยความรู้สึกประเภทนิวรณ์ทั้ง ๕ มันก็ดี ไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ มีนิวรณ์อย่างนั้น มีนิวรณ์อย่างนี้ ให้อยู่เป็นประจำ เรื่องท่านต้องรู้จักนิวรณ์กันเสียก่อนสิ มันเป็นสิ่งที่รบกวนอยู่ทุกคนและทุกวัน ทีนี้ศึกษาธรรมะ ผมว่าด้วยการทำสติสัมปัชชัญญะในหน้าที่ประจำวัน นั่นแหละมีสติสัมปัชชัญญะในหน้าที่ที่ทำ อยู่อย่างเต็มที่ อยู่เต็มกำลังจิตกำลังใจ นิวรณ์ก็เกิดไม่ได้เหมือนกัน เพราะมันกำหนดธรรมะอยู่อย่างแรงกล้า เรียกว่าเป็นกรรมฐานอยู่ในตัว กำจัดนิวรณ์อยู่ในตัวด้วยการปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่างตลอดเวลาด้วยสติสัมปัชชัญญะ แม้ว่าเราอยู่อย่างชาวบ้าน ที่บ้านนั่นแหละ สามารถที่จะกำจัดนิวรณ์ได้อย่างนี้ ทำให้จิตใจสบาย ไม่มีนิวรณ์รบกวน ทำงานถูกต้อง ทำงานได้ดี ทำงานในหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้นไปอีก และก็จะมีเวลาพิจารณาธรรมะในชั้นโลกุตตระตามสมควรด้วย เพราะมันมีแต่จิตใจที่โปร่งสบายไปหมด ทั้งวันทั้งคืน แล้วเอาเป็นว่าปัญหามันหมดด้วยเหตุที่มีสติสัมปัชชัญญะในการปฏิบัติหน้าที่ทุกชนิด ทำหน้าที่ด้วยความรู้สึกว่าเป็นธรรมะ ธรรมะ ธรรมะแล้วก็พอใจ เมื่อพอใจก็เป็นสุข และเป็นสุขอยู่ตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ หน้าที่น้อยๆ แม้แต่จะช่วยล้างจาน ช่วยกวาดบ้าน ช่วยถูเรือนก็กลับมีความสุข มีความสุขไปในหน้าที่นั้น แล้วมันหาง่ายเหลือประมาณที่จะทำให้เกิดความสุข ไม่ว่าจะตื่นนอน ไม่ว่าจะล้างหน้า ไม่ว่าจะอาบน้ำ ไม่ว่าจะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ไม่ว่าจะรับประทานอาหาร ไม่ว่าจะแต่งเนื้อแต่งตัว อะไรก็ตามมันเป็นหน้าที่ ที่ทำแล้วให้เกิดความพอใจ แล้วเป็นสุขได้ทั้งนั้น ดังนั้นจึงถือว่าโอกาสที่จะเป็นสุขมีอยู่ทั่วไป แต่เราไม่รู้จัก เราไม่สามารถจะทำให้มันเป็นความสุขขึ้นมาได้ นี่สรุปความว่าต่อไปนี้ขอให้มีสติสัมปัชชัญญะ ทำหน้าที่ทุกชนิด ทุกเวลา ทุกสถานที่ มีสติสัมปัชชัญญะทำ รู้สึกว่าทำหน้าที่คือปฏิบัติธรรมะ สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่นั้นเป็นธรรมะเป็นสิ่งที่ช่วยให้รอด หรือเป็นตัวธรรมะที่เป็นที่เคารพแม้ของพระพุทธเจ้า แล้วก็พอใจแล้วก็เป็นสุข เลยเป็นสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลได้จริง ทุกอิริยาบทได้จริง ทุกเวลาได้จริง ดังนั้นในวันนี้ วันแรกนี้ขอพูดเรื่องหลักทั่วไปอย่างนี้ ขอให้กำหนดจดจำไว้ให้สำเร็จประโยชน์ เป็นเรื่องที่ใช้ได้จนตลอดชีวิต สามารถจะสร้างสรรค์ชีวิตที่เป็นสุข เย็น มีความหมายแห่งนิพพาน เพื่อสุข เย็น ได้จนตลอดชีวิต การบรรยายวันนี้ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้