แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านนิสิตนักศึกษาและครูบาอาจารย์ผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย ก่อนอื่นทั้งหมด ขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ ในลักษณะอย่างนี้ คือว่ามันเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย การมานี้เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ผู้มาก็ได้รับประโยชน์เป็นความรู้ เป็นต้น วัดก็ได้รับประโยชน์โดยอ้อมคือได้ทำประโยชน์ไม่เป็นหมัน วัดนี่จะขอบใจท่านทั้งหลายผู้มาเสียอีก ว่าทำให้วัดนี่มีประโยชน์ไม่เป็นหมัน ท่านทั้งหลายไม่ต้องขอบใจวัด ทางอื่นอีกก็ว่าการศึกษาธรรมและปฎิบัตินี้ เป็นประโยชน์แก่มหาชน ในโลกทั่วๆไป เพราะเมื่อพระศาสนายังอยู่ มีผู้เรียนผู้ปฎิบัติ ผู้ได้รับผลของการปฎิบัติ โลกนี้ก็มีสันติสุข ทีนี้ยังจะเป็นประโยชน์ แก่พระศาสนาเอง คือ พระศาสนาไม่สาบสูญไปเสีย ยังมีชีวิตอยู่ นี่คือประโยชน์ที่จะพึงได้ มีอยู่อย่างนี้ก็นับว่ามากหลาย ขอให้ท่านทั้งหลายทำให้สำเร็จประโยชน์ ให้เรามานั่งกันกลางดิน นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องกำหนดเอาไว้ในใจ ข้อแรกก็ว่า ธรรมะนี่เกิดกลางดิน เพราะพระพุทธเจ้าท่านประสูติกลางดิน ท่านตรัสรู้กลางดิน ท่านสอนก็กลางดิน ท่านอยู่กลางดิน ท่านนิพพานคือตายก็กลางดิน นั่นมันเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ท่านสอนกลางดิน โดยส่วนใหญ่พระไตรปิฎกนั่นน่ะ พระสูตรที่ตรัสกันนั่นน่ะท่านนั่งตรัสกลางดิน เพราะว่าธรรมะศาลาก็กลางดิน ท่านตรัสได้ทุกหนทุกแห่งไม่ว่าที่ไหน แผ่นดินจึงเป็นที่เกิดของธรรมะ เรามานั่งกันกลางดิน มันก็ควรจะพอใจเป็นพิเศษยิ่งกว่าที่จะนั่งเรียนศึกษากันบนตึกราคาแพง อย่างที่มหาวิทยาลัยเป็นต้น เมื่อนั่งกลางดินมีจิตใจอย่างไร ขอให้กำหนดเอาไว้ให้ดีๆ ถ้าไปนั่งบนตึกเรียน มีจิตใจอย่างไรก็จะได้กำหนดเพื่อเปรียบเทียบกันดูและจิตใจชนิดไหนที่เหมาะสำหรับจะศึกษาและปฏิบัติธรรมะ ข้อนี้ก็จะรู้ได้เอง การมีจิตใจต่ำ เอ้ย, การมีการเป็นอยู่ต่ำ จิตใจมันก็ไปสูง ถ้าว่าอยู่สูง จิตใจมันก็ไปต่ำ ควรจะกำหนดข้อนี้ไว้ด้วย จะได้พยายามเป็นอยู่อย่างต่ำอย่างง่าย อย่างถูกที่สุด ถ้าเป็นอย่าง พระสาวกแล้วก็เป็นอยู่อย่างไม่ต้องใช้เงินเลยอย่างนี้เป็นต้น ขอให้ตั้งข้อสังเกต ตั้งแต่เรื่องเหล่านี้เป็นต้นไป
ทีนี้เรื่องที่จะพูดกันวันนี้ เท่าที่ได้รับทราบมาเป็นความประสงค์จะให้พูดเรื่อง แนวการปฏิบัติหรือการเป็นอยู่ของพุทธบริษัทสำหรับจะได้ดำเนินตาม อาตมาก็จะขอตั้งชื่อเสียใหม่สำหรับการบรรยายในวันนี้ว่าจะบรรยายเรื่อง “รอยของพระธรรม”ร่องรอยของพระธรรม ขอให้พยายามทำใจกำหนด ฟังให้ดีๆเพราะว่ามันเป็นการลำบากอยู่ ในการที่จะพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วมีผู้ฟังชนิดที่แตกต่างกันมาก ระดับหนึ่งเป็นศิษย์ ระดับหนึ่งเป็นครูบาอาจารย์ หรือยิ่งกว่าครูบาอาจารย์ก็มี มันก็เป็นการยากที่จะพูด ประโยคเดียวคำเดียวให้เหมาะสมด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นจะต้องคอยกำหนดเอาเอง กำหนดเอาใจความเป็นสำคัญ สำนวนที่พูด คำที่พูดนั่นก็ไม่สำคัญอะไรนัก สำคัญอยู่ที่เนื้อหาของเรื่องที่พูด ขอให้กำหนดให้ได้ตามภูมิแห่งสติปัญญาของตน ของตน
ที่ว่าจะพูดเรื่องรอยของพระธรรมนั้น ก็หมายความว่า รอยนี้ หรือพระธรรมนี้เป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทั้งหลายได้ดำเนินไปแล้ว ได้ดำเนินไปแล้ว รอยแห่งการดำเนินไปแล้วนั้นมันมีอยู่ สำหรับพวกเราก็ต้องเดินตามแม้ว่าจะลำบากบ้าง ถึงขนาดที่เรียกว่าแกะรอย ก็ยังเป็นการสมควรอยู่นั่นเอง ที่จะกระทำให้สำเร็จประโยชน์ พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัส ในทำนองอย่างนี้คือว่าทางเดินเก่า ท่านเรียกว่าทางเดินเก่า คือทางที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้เคยเดินไปแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายได้เคยเดินไปแล้ว พระอริย ะสงฆ์ได้เคยเดินไปแล้ว ทางเดินเก่า ยังมีร่องรอยพอที่จะกำหนดได้ ไม่เหลือวิสัย ฉะนั้นท่านตรัสไว้อย่างไร เราก็ควรจะกำหนดซึ่งเป็นเสมือนการเดินตาม เดินตามไปไหน จุดหมายปลายทาง ของพระธรรม หรือของพรหมจรรย์ หรือของศาสนา หรือของการปฏิบัตินี้ ก็คือความดับทุกข์สิ้นเชิง จุดหมายอยู่ที่นั่น และที่สำคัญที่สุดก็คือ พระพุทธองค์ได้ตรัสยืนยันว่า แต่ก่อนก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ฉันพูดแต่เรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์ นั้นเราอย่าเอาอะไรให้มันมากไปกว่านั้น มันยุ่งเปล่าๆ มันเสียเวลาเปล่าๆ เรื่องที่แตกตื่นฮือฮากันเตลิดเปิดเปิงไป อย่างนั้นอย่างนี้ เป็นเรื่องวิจิตรพิสดาร แปลกประหลาดก็มีมาก ถ้ามันไม่ดับทุกข์แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ให้เรา ท่านตรัสว่า กล่าวแต่เรื่องความทุกข์กับการดับทุกข์ ทำไมต้องพูดถึงเรื่องความทุกข์ล่ะ ก่อน มันต้องดูให้เห็นว่ามีความทุกข์กันเสียก่อน ถ้าไม่มีความทุกข์ก็ไม่มีปัญหาอะไร คนเรานี่อย่าอวดดีไป ถ้าไม่มีความทุกข์ก็ไม่มีปัญหาอะไรนะ ขอให้คิดดูกันให้ดีๆ ฉะนั้นมันจะต้องมีปัญหาคือตัวความทุกข์ และพยายามที่จะดับความทุกข์นั้นเสีย คนบางคนอาจจะเขลาไป รู้สึกว่าไม่มีความทุกข์อะไร พอใจทุกอย่าง หรือว่าเกิดความทุกข์ขึ้นมาบ้าง ก็ทำไม่รู้ไม่ชี้เสีย อย่างนี้ก็มี คนบางคนยังมีแปลกไปกว่านั้นอีก คือเขาพูดว่าถ้าเป็นคนธรรมดา ปกติธรรมดา ก็ต้องมีความทุกข์สิ ถ้าไม่มีความทุกข์เลย ก็เป็นคนผิดปกติ ผิดปกติใน ใน ในความหมายที่ว่าน่ารังเกียจนั้น เป็น Abnormal มันเป็นคนผิดปกติเหมือนกับคนบ้าคนบอ อะไรอย่างนั้น ถ้าไม่มีความทุกข์เลย พวกนั้นเขาเห็นเป็นว่าเป็นเรื่องผิดปกติเราไม่เอา เราจะเอาแต่ปกติคือมีทุกข์บ้างสุขบ้าง คลุกเคล้ากันไป อย่างนี้ก็มีอยู่ เป็นอันว่าไม่ต้องมีปัญหาในเรื่องอย่างนี้ แล้วยังมีปัญหาที่เป็นเครื่อง บีบคั้นจิตใจ ทรมานจิตใจ รบกวนจิตใจแล้วที่สุดแต่ว่าทำจิตให้หม่นหมองก็เรียกว่าความทุกข์ แม้ที่สุดแต่ว่ารำคาญในตัวชีวิตนี้เอง มันช่างไม่ได้อย่างใจไปเสียทุกอย่าง มีความรำคาญแก่ชีวิตนั้น นี่ก็ต้องเรียกว่าความทุกข์ด้วยเหมือนกัน มันต้องไม่มี ถ้าไม่มีจะดีไหม หรือจะเหมือนอย่างคนนั้นว่า เป็นมนุษย์ต้องมีความทุกข์ เรื่องนี้ตามหลักของพระศาสนาถือว่า เราจะต้องพยายามให้ถึงที่สุดสิ้นแห่งความทุกข์ มีความสิ้นสุดลงแห่งความทุกข์ ก็มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ขึ้นมา เพราะมีความทุกข์นั่นแหละ ความเป็นมนุษย์ของเราจึงไม่เต็ม ถ้ามีความทุกข์มากเท่าไรก็เรียกว่าความเป็นมนุษย์มันพร่องมากเท่านั้น ความทุกข์น้อยลงไปเท่าไร ก็มีความเป็นมนุษย์มากขึ้นเท่านั้น ความเป็นมนุษย์ เต็มขึ้นๆ เต็มขึ้นเพราะระดับทุกข์ลดลงไปๆ พอดับทุกข์ได้สิ้นเชิง ความเป็นมนุษย์ก็ถึงที่สุด นี่ฝรั่งเขารู้มาอย่างไรก็ไม่รู้ ของเขาแปลคำว่าพระอรหันต์นี่ เป็นที่ถูกใจมาก ที่เขาแปลว่า The man perfected คือพระอรหันต์นั่นแหละเป็นคนที่เต็ม มนุษย์ที่เต็มคือเป็นพระอรหันต์ พูดอย่างไม่เกี่ยวกับศาสนา เขาพูดตามความรู้ทั่วไป ตามหลักทั่วไป ไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาก็ได้ ว่าเป็นพระอรหันต์ นั่นน่ะคือมนุษย์ที่เต็มไอ้คำนี้แหละเป็นคำที่น่าสนใจคือเป็นคำเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ ก่อนพุทธศาสนาโน้น ก่อนมีพระพุทธศาสนาเขาก็มีคำว่าอรหันต์ อรหันต์นี่ใช้กันอยู่แล้วล่ะ แล้วเขาก็หมายถึงมนุษย์ที่ดีที่สุดที่ประเสริฐที่สุดนั่นแหละ แต่มันก็ยังไม่ประเสริฐจริง มันประเสริฐเท่าที่เขารู้เท่าที่เขาคิดได้ เขาก็ยกให้เป็นพระอรหันต์ไป พระพุทธเจ้าไม่ทรงพอพระทัยในความเป็นพระอรหันต์เพียงเท่านั้น ท่านก็ตรัสเรื่องความดับทุกข์ ถึงมากยิ่งขึ้นไปยิ่งขึ้นไปจนดับทุกข์โดยสิ้นเชิง แล้วก็เรียกว่าพระอรหันต์ นี่เรียกว่า มนุษย์ที่ถึงที่สุดแห่งความเป็นมนุษย์ เราจะเอาหรือไม่เอาก็ ก็ลองคิดดูไม่เอาทั้งหมด เอาสักครึ่งหนึ่งก็ยังดีถมไป คือดับทุกข์ได้สักครึ่งหนึ่งก็ยังดีถมไป
เอาละเป็นอันว่าเราต้องการกันแล้วละเดี๋ยวนี้ บางคน ไม่เอา บางคนเอาน้อย บางคนเอามากเกินไป บางคนจะเอาอะไรให้มันมากเกินไปกับชีวิตนี้อย่างนี้ก็ ก็มีอยู่ มันจะต้องเป็นที่แน่นอนกันเสียก่อนว่าเราจะเอาอะไรกันบางกับไอ้สิ่งที่เรียกว่ากันว่าชีวิตนี้ ถ้าให้เลือกเอาตามชอบใจดูจะไม่สิ้นสุด กระทั่งเอาสิ่งที่ตรงกันข้าม เตลิดเปิดเปิงออกไปไม่ควรจะเอา เป็นอย่างเดี๋ยวนี้ขอให้ทุกคน มองดูตัวเอง มองดูผู้อื่นหรือมองดูเพื่อนมนุษย์ทั้งโลกว่าแล้วเขาต้องการอะไร เขาต้องการอะไร คือเขาต้องการมากเกินไปกว่าความดับทุกข์ จนเรียกได้ว่าต้องการจนเป็นบ้า ต้องการเรื่องสวยเรื่องงามเรื่องเอร็ดอร่อย เรื่องสนุกสนาน เรื่องอำนาจวาสนา เรื่องอะไรสารพัดอย่าง กระทั่งต้องการสวรรค์มากกว่าต้องการความดับทุกข์ ความดับทุกข์ไม่ค่อยมีความหมายสำหรับคนจำพวกนี้ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าสวรรค์ตามความนึกคิดของเขาน่ะมีความหมายมาก ดังนั้นเขาจึงเตลิดเปิดเปิง ในความต้องการ เรื่องความดับทุกข์ไม่สนใจ สนใจที่จะมีรถยนต์ราคาแสนราคาล้าน ต้องการบ้านราคาหลายสิบล้าน ต้องการอะไรอย่างนั้น จนไม่มีที่สิ้นสุด เห็นเป็นเรื่องดีกว่าความดับทุกข์ หรือคิดว่าถ้าถึงนั้นแล้วมันจะไม่มีความทุกข์ นี่มันเป็นเรื่องที่คิดผิดทั้งสองอย่างแหละ มันอยู่ที่จิตใจวางไว้ถูกหรือวางไว้ผิด มันจะเป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์ นี่มันอยู่ที่ใจว่าจิตใจวางไว้ถูกหรือวางไว้ผิด ให้มันร่ำรวยเป็น มีรถยนต์ราคาล้านๆตั้งหลายคัน มีบ้านราคาหลายสิบล้านตั้งหลายบ้าน มีอะไรเต็มไปหมดตาม ตามอัตรานั้น ถ้ามันตั้งใจเอาไว้ผิด เท่านั้นแหละมันก็เป็นทุกข์ มันก็ตกนรก หรือถ้าไม่มีอะไรเลยก็ได้ แต่ถ้าตั้งใจไว้ถูกมันจะไม่มีความทุกข์เลยเหมือนกัน ฉะนั้นมันคนละเรื่องกัน ถ้าจะพูดถึงความดับทุกข์ ความดับทุกข์แล้วก็ขอให้เป็นเรื่องของความดับทุกข์ให้มันถูกต้อง นี่เรามาคำนวณใคร่ครวญกันดูให้ดี ถ้าอย่างไรเราต้องการกันแต่พอเหมาะพอดี เรียกว่าต้องการชีวิตชนิดที่ไม่มีความทุกข์เลยแล้วก็มีการเคลื่อนไหวที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย เพียงเท่านี้เอาไหม จะตกลงไหม เพื่อมีชีวิตชนิดที่ไม่มีความรู้สึกที่เป็นทุกข์เลย ก็หมายความว่ามันเย็นไม่ร้อนไม่เป็นทุกข์แล้วก็อิ่ม คือไม่ต้องการ ความพอใจมาแต่ความอิ่ม เมื่ออิ่มมันก็ไม่มีความทุกข์ ถ้ามันอยาก มันหิว มันก็มีความทุกข์ เดี๋ยวนี้เราไม่รู้จักว่าจะอยาก ควรอยากอะไรไม่ควรอยากอะไร อิ่มคืออิ่มอย่างไรไม่รู้กันไปเสียทั้งนั้น มันก็เอาความหิวมาเป็นความอิ่มมากลับกันเสียก็ได้ เป็นความสุขชนิดหัวมงกุท้ายมังกร เอาเรื่องความบ้าหลังในเรื่องวัตถุฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ว่าอย่างนี้เป็นความสุขก็มี
แต่ความอิ่มคำนี้สำคัญมาก บาลีเรียกว่าตุฏฐิ (นาทีที่ 21:30) ตุฏฐิที่มาเป็นคำว่าสันโดษ สันโดษ ยินดีพอใจ ตุฏฐิแปลว่าความอิ่ม ไม่มีใครจะเป็นคนอิ่ม นอกจากพระอรหันต์ คือพระอรหันต์ไม่มีความความต้องการไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้ต้องการ ไม่มีอวิชชา สำหรับไปคิดว่าจะต้องการอะไรท่านก็ไม่มีความหิว แต่บาลีกล่าวไว้แปลกมาก คือในบางสูตรกล่าวเรื่องการหมดจดสิ้นสุดของกิเลส กิเลส อย่างนั้นๆ อย่างนั้นและก็มีประโยคหนึ่งว่าความอิ่มของท่านถึงที่สุด นี่มีว่าอย่างนี้ ความอิ่มของท่านถึงที่สุดถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ยังมีหิว ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งโดยตรงโดยอ้อมโดยเร้นลับโดยเปิดเผยก็ตามใจ ความอิ่มยังไม่สมบูรณ์ นี่คำว่าสันโดษ สันโดษ นี่ของพระอรหันต์ทั้งนั้นน่ะที่จะสมบูรณ์ ของคนทั่วๆไป มันก็สันโดษแกนๆไปอย่างนั้นแหละ บางทีก็สันโดษเพราะมันหาไม่ได้ หรือมันไม่รู้จักทำจิตใจให้พอใจให้หยุด มันก็สันโดษไม่ได้ ในความอิ่ม นั่นแหละเป็นชื่อเดียวกันกับความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ ดับสิ้นสุดแห่งความทุกข์ ก็เป็นความอิ่ม เรียกสมมุติอีกก็ว่าเป็นความสุข เป็นความสุข
เรื่องความสุขนี้ รู้จักกันไว้ให้ดีๆ มันมีอยู่ ๒ ชนิดซึ่งมันหลอกลวงได้มาก ความสุชชนิดหนึ่งเกิดมาจากการที่ กิเลสได้เหยื่อกิเลส กิเลสได้เหยื่อกิเลส มีเหยื่อให้กิเลสกิน กิเลสก็พอใจแล้วก็เป็นความสุข นี่ความสุขชนิดนี้เกิดมาจากการที่กิเลสได้เหยื่อตามที่มันต้องการ ทีนี้ความสุขอีกชนิดหนึ่งเกิดมาจากการที่ไม่มีกิเลส หรือกิเลสไม่ ไม่ต้องได้เหยื่อ กิเลสไม่ ไม่ต้องได้เหยื่อ กิเลสถูกทำให้หมดไปให้ลดไป ให้หายไป หรือจะพูดใกล้ๆ ใกล้ ใกล้เคียงกันก็คือว่า เมื่อกิเลสไม่ต้องการกินเหยื่อ เมื่อกิเลสไม่หิว ไม่มีกิเลสจะหิว เมื่อนั้นก็เป็นความสุข ความสุขอย่างที่หนึ่งเมื่อกิเลสได้กินเหยื่อ ความสุขอย่างที่สองก็เมื่อ ไม่ ไม่มีเหยื่อให้กิเลสกิน จิตไม่มีกิเลส จิตก็สงบระงับก็เป็นสุขมาทางนี้ ทางที่ไม่ต้องมีกิเลสสำหรับกินเหยื่อ อีกที่ทางหนึ่งกิเลสต้องได้เหยื่อตามที่กิเลสต้องการ จึงจะรู้สึกเป็นสุข นั่นแหละคือคนทั่วไปหรือปุถุชน ต้องการเหยื่อแห่งราคะโทสะโมหะ อย่างที่รู้จักกันดี อะไรเป็นความสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางวัตถุทางเนื้อทางหนัง เป็นความเพลิดเพลินอันหลอกลวงนั้นแหละ เป็นเรื่องที่กิเลสได้เหยื่อ และก็เห็นว่าเป็นความสุข นี่เป็นเรื่องของปุถุชน ขอพูดรุกร้ำไปสักหน่อยว่า ทุกคนในโลกจะเป็นเสียอย่างนี้ที่อุตส่าห์เล่าเรียนอย่างนักเรียน นักศึกษาก็เพื่อที่จะได้ทำงานชนิดที่ได้เงินมากแล้วก็ไปซื้อหาสิ่งเหล่านี้ทั้งนั้น เรียนเพื่อได้เงินมาก เพื่อเอาเงินไปซื้อหาเหยื่อหล่อเลี้ยงกิเลส ก็ได้ความสุขชนิดที่กิเลสได้เหยื่อ เป็นความสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยไปตามแบบนั้น จะเป็นกันเสียทั้งโลก
ทีนี้ควรจะรู้ในสิ่งส่วนที่ตรงกันข้ามกันไว้เสียบ้างว่า มันมีอีกอันหนึ่งซึ่งตรงกันข้าม คือไม่เกิดกิเลส แล้วไม่ต้องการเหยื่อ คือเรื่องทั้งหมดมันมีแต่จิตยืนอยู่เป็นประธาน จิตน่ะเป็นกลางๆ ยืนอยู่เป็นประธาน ถ้าจิตปรุงแต่งเป็นกิเลสมีกิเลสครอบงำจิต ก็กิเลสครอบครองชีวิต มันก็เป็นไปตามอำนาจของกิเลส นี่ถ้าจิตไม่มีกิเลสมีแต่วิชาปัญญาโพธิเหล่านี้ไมีมีกิเลส ก็วิชาหรือโพธินี้ครอบงำชีวิต ชีวิตมันก็เป็นไปตามแบบของปัญญาหรือโพธิซึ่งตรงกันข้ามกับกิเลส ใครมันคิดว่ากิเลสมาจากความโง่ฝ่ายหนึ่งเรียกว่าไม่มีกิเลสมาจากโพธิคือความฉลาด ถ้าจิตเป็นกิเลสมันก็ต้องการเหยื่อของกิเลส ถ้าจิตเป็นโพธิมันก็ไม่ต้องการเหยื่อของกิเลส มันเกลียดขยะแขยง มันกลับเกลียดชังขยะแขยงไอ้เหยื่อของกิเลส มันก็ต้องการอีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้นเรารู้จักกันเสียให้ดีๆว่ามันมีความเป็นไปหรือข้อเท็จจริงในชีวิตนั้นเป็นอย่างนี้ ถ้าจิตปรุงเป็นกิเลส เป็นจิตมีกิเลส ก็ไปตามแบบของกิเลส จิตปรุงเป็นโพธิมีโพธิอยู่กับจิต มันก็เป็นไปตามแบบของโพธิ โพธิ โพธิ คือปัญญา คือความรู้ในสิ่งที่ควรจะรู้ ฉะนั้นถ้าเราจะศึกษาชนิดที่เป็นประโยชน์แท้จริงก็คือศึกษาให้เกิดโพธิชนิดที่จะไม่เกิดกิเลส การศึกษาอย่างอื่นร้อยอย่างพันอย่างก็ตามใจ มันไม่สู้การศึกษาชนิดที่ทำให้เกิดโพธิได้ เดี๋ยวนี้ในโลกมันก็ศึกษาเพื่อพร้อมที่จะไปรับใช้กิเลสกันเสียมาก วิชาที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งหลายก็เพื่อใช้รับใช้กิเลสกันเสียเป็นส่วนมาก เพื่อใช้วิชานั้นผลิตสิ่งที่เป็นเหยื่อแก่กิเลสหรือเป็นอุปกรณ์ ก็จึงเป็นโลกที่เต็มไปด้วยกิเลส มีความทุกข์ร้อนและจะทำกันอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่จะต้องคิดดูให้ดีๆ
เอาละทีนี้ก็จะพูดถึง รอยของพระธรรม ที่อยู่เป็นระบบ เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกันเป็นระบบครบถ้วนสมบูรณ์น่ะ เรื่องของพระธรรม แต่ว่าใจความสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่ากำจัดกิเลส กำจัดกิเลสอย่างเป็นระบบ การสอนธรรมะ หรือการศึกษาธรรมะมันมีอยู่เป็น ๒ ชนิดคือว่าอย่างฉาบฉวยไม่มีระบบนี่ก็พวกหนึ่ง อย่างมีระบบครบถ้วนนี่ก็อีกพวกหนึ่ง พวกที่สั่งสอนอย่างฉาบฉวยไม่มีระบบ ก็คือพูดไปตามความนึกคิดชั่วขณะ พูดอะไรออกมาสักประโยคหนึ่งมันน่าฟัง มันก็ยึดถือกันไป เป็นใหญ่เป็นโตเป็นศักดิ์สิทธิ์เป็นขลังเป็นอะไรไป แต่ไม่มีระบบ ตายด้านไม่ ไม่ถึงกับดับทุกข์ได้ ถ้าพูดอย่างมีระบบคือมันครบถ้วนในทุกแง่ทุกมุมจะมองเห็นได้ชัดเจนว่า มันจะไปสู่ความดับทุกข์ได้อย่างไร ดังนั้นขอให้ทุกคนศึกษาธรรมะนี่อย่างมีระบบ แต่ก็ไม่ต้องเกินขอบเขต ต้องไม่เกิน เกิน ไม่ต้องเกินน่ะไม่ต้องมีส่วนเกิน เท่าที่เป็นระบบนี่มันก็ไม่เกิน ถ้า ถ้าเกินก็ตัดออก ให้ระบบมันสั้นเข้ามา ให้มันน้อยเข้ามา ให้พอดีสำหรับที่จะดับทุกข์ได้ก็เเล้วกัน
ทีนี้ที่เรียกว่ารอยของพระธรรมนี่ ก็เป็นรอยของบุคคลที่ชนะกิเลสได้แล้วเอาชนะกิเลสได้แล้ว มีรอยเหลืออยู่ทั้งอย่างที่เป็นหลักวิชาก็มีเรียนกันอยู่ ที่เป็นหลักปฎิบัติ ก็มีการปฎิบัติกันอยู่ ส่วนผลของการปฎิบัตินั้นก็มีตามส่วน มีการปฎิบัติถูกต้องที่ไหน ก็มีการบรรลุผลที่ดีที่สุดอยู่ที่่นั่น อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าจะเป็นอยู่โดยชอบแล้วโลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ท่านตรัสว่าถ้าภิกษุเหล่านี้จะเป็นอยู่โดยชอบแล้ว โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ คำว่าเป็นอยู่โดยชอบนั่นแหละ เอ่อ, สนใจดีๆ ถ้าเป็นบาลีก็เรียกว่า สัมมา วิหาโร (นาทีที่ 32:15) เป็นคำกิริยาว่า สัมมา วิหาเรยุง (นาทีที่ 32:18) ถ้าอยู่กันโดยชอบแล้ว อสุญฺ โญ โลโก อรหนฺเตหิ อสฺสฺ (นาทีที่ 32:25) โลกนี้ก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ที่อย่างไรเรียกว่าเป็นอยู่โดยชอบ กำปั้นทุบดินก็เป็นอยู่อย่างไม่มีผิดพลาด ผิดพลาดคือเป็นเหตุให้กิเลสเกิดขึ้นหรือส่งเสริมกิเลส ถ้ามันไม่มีทางให้กิเลสเกิดแล้วเป็นเครื่องกำจัดกิเลส ก็เรียกว่ามันเป็นอยู่โดยชอบ โดยส่วนใหญ่โดยหลักในระบบก็หมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นแหละเป็นอยู่อย่างอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เรียกว่าเป็นอยู่โดยชอบ เป็นอยู่อย่างนั้นถึงที่สุดแล้ว โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์
เรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ นี่เข้าใจว่านักเรียนนักศึกษาทั้งหลายคงจะได้ยินได้ฟังมาแล้ว บางคนท่องได้จำได้สวดได้ ถ้าใครยังไม่จำได้ จำไม่ได้ ไม่ ไม่รู้นี่ ช่วยเรียนรู้เสียเถิด เป็นสิ่งสูงสุดในฐานะเป็นตัวเป็นพุทธศาสนาเป็นเนื้อเป็นตัวของพระพุทธศาสนา เป็นหัวใจด้วย เป็นทั้งตัวทั้งหัวใจของพระพุทธศาสนา แล้วแต่ว่าจะมองกันในแง่ไหน ความถูกต้อง ๘ ประการนั้นแหละเรียกว่าเป็นอยู่โดยชอบ แต่มีคำชนิดที่สั้นมากซึ่งเป็น ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของสติ ปัฏฐาน (นาทีที่ 34:10) ทั้ง ๔ สติปัฏฐานทั้ง ๔ น่าจะจัด จะตรัสไว้อย่างยืดยาวเท่าไร่ก็ตาม สวดกันหลายชั่วโมง ก็มีคำที่เป็นใจความสั้นๆ เป็นประโยคสั้นๆว่า สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ(นาทีที่ 34:35) หรือบางทีก็ สโต สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ (นาทีที่ 34:50) ไม่จำก็ได้บาลียุ่งๆนี่ แต่ใจความเป็นภาษาไทยสั้นๆก็คือว่ามีสติสัมปชัญญะนำ อภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ซ้ำ มีสติสัมปชัญญะนำ อภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ขอซ้ำอีกทีหนึ่งสำหรับคนที่ไม่ได้จด มีสติสัมปชัญญะนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ นี่คือเป็นรอยพระธรรมที่สั้น สั้นที่สุด ชัดเจนที่สุด เป็นรอยที่หลงไม่ได้และเป็นรอยที่ว่าเราจะเดินตามกันได้โดยไม่ยาก อยู่ในวิสัยที่เราจะปฎิบัติได้ ทั้งวันทั้งคืนมีสติสัมปชัญญะนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ปฎิบัติเพียงเท่านี้จะไปถึงความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง ไม่รู้เรื่องอภิชฌาและโทมนัสซึ่งมีอยู่ในโลก อภิชฌาคือส่วนที่น่ารักน่าพอใจทำให้อยากได้ มีมากอย่างไม่รู้กี่ร้อยกี่พันอย่างโทมนัสคือสิ่งที่ทำให้ขัดใจขัดแค้นโกรธเคืองไม่เป็นสุข นี่เรียกว่าโทมนัส บาลีเรียกว่า อภิชฌาและโทมนัส เรามาเรียกเป็นไทยๆกันดีกว่าว่าความยินดียินร้าย อภิชฌาความยินดี โทมนัสความยินร้าย มีอยู่ในโลก แล้วก็นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัส โดยเป็นคนมีสติและสัมปชัญญะทำอยู่อย่างนี้เท่านั้น นั่นแหละคือการเดินตามรอยพระธรรม เดินตามรอยพระพุทธเจ้าเดินตามรอยพระอรหันต์ เดินอยู่ในรอยของพระธรรมอย่างยิ่ง แต่มันก็มีเรื่องที่จะต้องศึกษาหรือคำอธิบาย เราอยู่ในโลกนี้ เราถูกรบกวน ถูกกระชากลากถูก หรือว่าถูกตบหน้าก็ได้ เซไปเซมาอยู่ด้วยเรื่อง ๒ อย่างนี้ หรือด้วยของ ๒ อย่างนี้ คือด้วยอภิชฌาและโทมนัส บางเรื่องมาทำให้ยินดี บางเรื่องมาทำให้ยินร้าย ที่ทำให้ยินดีนั้นไม่ใช่ความสงบ มันก็เสียสมดุลเป็นบวก ถ้ายินร้ายมันก็ทำให้เป็นทุกข์ทรมาน มันก็เสียสมดุลและเป็นลบ ถ้าเป็นพุทธศาสนาต้องอยู่ตรงกลางที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา อยู่ตรงกลาง มันไม่บวกมันไม่ลบ เดี๋ยวนี้เราไม่มีสติสัมปชัญญะพอ คือบางทีเราจะไม่รู้จักด้วยซ้ำไป ตั้งแต่เกิดมาในโลกนี้เราได้รับการสั่งสอนเรื่องนี้ แต่แล้วเราก็ได้เพิ่มรากเหง้าของกิเลส หรือต้นตอของกิเลสเพิ่มขึ้นๆโดยไม่รู้สึกตัว เรื่องนี้อาจจะแปลกสำหรับบางคน แต่จริงๆเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่สุด ก็พอเราเกิดมาจากท้องแม่ ซึ่งเมื่ออยู่ในท้องแม่หรือเกิดมาใหม่ๆมันไม่มีอะไร มันไม่มีปัญหาอะไร มันมีจิตใจที่เกลี้ยง แต่พอทารกนั้นรู้จักกินนม รู้จักกินอาหาร รู้จักอะไรต่างๆ มันก็เกิด ในความรู้สึกใหม่ๆ อันแรกก็คือพอใจ อย่างแรกกินนมแม่อร่อยก็พอใจ ก็เกิดความคิดปรุงแต่งไปตามความพอใจ ทีนี้บางเวลาไม่ได้กิน บางเวลาเขาไม่ให้กิน บางเวลามันมีเรื่องอื่นมาขัดขวาง มันก็โกรธ ก็ยินร้าย นี่ยินดียินร้าย
ฉะนั้นที่นี้ความยินดียินร้ายซึ่งเป็นความรู้สึกทั้งนั้นน่ะ ที่มันเกิดขี้นนั่นแหละ มันทำให้เกิดความรู้สึกอันเลวร้ายที่สุดต่อไปอีก คือความรู้สึกว่าตัวกู ในชั้นแรกไม่ได้รู้สึกเป็นตัวกู รู้สึกแต่ว่าพอใจหรือไม่พอใจ อร่อยหรือไม่อร่อย มีความอยาก ในสิ่งที่น่ารักน่าพอใจ มีความอยากจะทำลายสิ่งที่ไม่น่ารักไม่น่าพอใจ พอมันมีความอยาก ความต้องการซึ่งเป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เป็นความโง่ของจิตชนิดหนึ่งเท่านั้น ไอ้ความโง่ชนิดที่เป็นความอยากความต้องการเกิดขึ้นแล้ว มันก็ปรุง ให้เกิดความรู้สึกประเภทตัวกูที่จะได้มาเป็นของกู มันก็เลยเป็นกูนี่อยาก กูน่ะต้องการ กูอยากเอามาเป็นของของกู นี่ความเลวร้ายถึงที่สุดเรียกว่าตัวตนได้เกิดขึ้นแล้ว โดยที่เด็กทารกนั้นไม่รู้สึกตัว แล้วมันก็ไม่หยุด มันก็ยังมีเรื่องที่ทำให้เกิดรู้สึกชนิดนี้มากขึ้นๆ จนเป็นเด็กโตขึ้นมาเป็นเด็กเดินได้วิ่งได้ เป็นเด็กวัยรุ่นเป็นเด็กหนุ่มสาวอะไรก็ตาม มันมีสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกยินดียินร้าย เมื่อยินร้ายก็กูยินร้าย เมื่อยินดีก็กูยินดี มันก็มากขึ้นๆจนถึงที่สุด เป็นความทุกข์ถึงที่สุด ตามเรื่องราวที่กล่าวไว้ในเรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้ายังไม่เคยรู้เรื่องก็ควรจะสนใจมาศึกษาเข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาท โดยย่อก็มีว่าเรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วข้างนอกเรามีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ข้างในก็ ๖ ข้างนอกก็ ๖มันจับคู่กันพอดี เป็น ๖ คู่ ยกตัวอย่างเพียงคู่แรกคู่ตา ตาถึงกัน เข้ากับรูป มันก็เกิดวิญญาณทางตาเรียกว่าจักษุวิญญาณ ตาหนึ่ง สองรูป สามจักษุวิญญาณ เพราะตากระทบรูป เกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการนี้ทำความรู้สึกอยู่อย่างนี้เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ นี่ ทีนี้ผัสสะมันยังโง่ ไม่มีการศึกษา ไม่ได้ยินไม่ได้ฟังอะไรมาเลย เป็นผัสสะของปุถุชนคนโง่ ก็เป็นผัสสะโง่ มันก็เกิดเวทนาโง่ออกมา คือเวทนาสำหรับจะหลงรักหลงโกรธนั่นแหละ สุขเวทนาก็ยินดี ทุกขเวทนาก็ยินร้าย เป็น เป็นเวทนาสำหรับจะยินดีหรือยินร้าย เวทนาโง่ ทีนี้เวทนาโง่เกิดแล้วมันก็ทำให้เกิดความอยากที่โง่ ความอยากที่ไม่มีสติปัญญารวมอยู่ด้วย เรียกว่า ความอยากที่โง่ นั้นเรียกว่าตัณหาบ้าง โลภะบ้าง แล้วแต่จะเรียก มันก็เกิดตัณหาหรือความอยากที่โง่ เมื่อความอยากไปตามนั้น ถ้าว่าน่ารักก็อยากได้ น่าเกลียดก็อยากจะตีเสียให้ตาย ไอ้ความอยากนี่รุนแรงเข้า รุนแรงเข้า มันก็ปรุงให้เกิดความรู้สึกอันที่สอง คือมีตัวกูผู้อยาก ตรงนี้ รู้ รู้ให้ดีหัวใจพระพุทธศาสนาที่ว่าอนัตตา อนัตตาน่ะ มันไม่มีตัวตนอันแท้จริง ตัวกูหรือตัวตนที่แท้จริงมิได้มี มันเป็นเพียงผลิตผลของความอยาก ถ้ามีความรู้สึกอยากถึงที่สุดแล้ว มันเกิดจะความรู้สึกเป็นตัวกู ผู้อยาก เกิดเลยเรียกว่า อนัตตาไม่ใช่ตัวตนอันแท้จริง เป็นเพียงความคิดปรุงแต่งอย่างโง่เขลา พอมีตัวกูผู้อยากอย่างนี้แล้ว มันก็ยึดเอาสิ่งต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นของกู เรียกว่ามีตัวกูโดยสมบูรณ์ เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูขึ้นมาโดยสมบูรณ์ เรียกว่าภพ เรียกว่าชาติ เด็กเกิดมาจากท้องแม่ยังไม่มีภพชาติอันสมบูรณ์ จนกว่าเด็กนั้นจะเกิดความรู้สึกมาถึงขั้นนี้ มาถึงขั้นว่ามีตัวกู มีภพมีชาติแห่งตัวกูจึงจะเรียกว่าความเกิดนั้นสมบูรณ์ แล้วมันก็ยึดเอาทุกอย่างเป็นของกู ที่เป็นสุขก็ของกู ที่เป็นทุกข์ก็ของกู อะไรก็ของกู ที่น่ารักก็ของกู น่าเกลียดก็ของกู น่าโกรธก็ของกู น่ากลัวก็ของกู อะไรๆเป็นของกูไปหมด นี่เรียกว่าเป็นทุกข์เพราะยึดไว้ถือไว้ซึ่งของหนัก นี่เรื่องปฏิจสมุปบาทมีย่อๆอย่างนี้ เป็นเรื่องอริยสัจที่ขยายให้เต็มที่ เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็เป็นพระพุทธเจ้า โดยรายละเอียดศึกษาเอาไว้จะเป็นการดี มันมีความสำคัญอย่างยิ่งอยู่ตรงที่ว่ามันเป็นความโง่ของคนนั่นเองสร้างขึ้นมาเองและโดยไม่รู้สึกตัว เรื่องที่เกี่ยวพันทุก ข์นี่ (นาทีที่ 45:59) มันน่าหัว มันสร้างขึ้นมาเอง มันสร้างขึ้นมาเองโดยความโง่ของตัวและก็โดยไม่รู้สึกตัว แล้วในที่สุดมันก็ฆ่าตัว ตัวมันก็ สำหรับเป็นทุกข์ มีเกิดความรู้สึกเป็นตัวตนเมื่อไร มีความทุกข์เมื่อนั้น ความรู้สึกว่าตัวกูของกูเกิดเมื่อไร มันก็มีความทุกข์เมื่อนั้นแหละ ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ก็ทุกข์กันใหญ่เลย นี่มันน่าหัวตรงที่ว่า มันโง่สร้างขึ้นมาเองสำหรับตัวเองจะเป็นทุกข์ แล้วก็โดยไม่รู้สึกตัว
เพื่อจำง่ายหรือกันลืมก็อยากจะเล่านิทานสั้นๆที่เล่าเมื่อวานนี้อีกครั้งหนึ่งว่ามันมีคนโง่คนหนึ่ง มันเอาเครื่องเขียนน่ะ สีน่ะ มาเขียนเป็นรูปมาร รูปยักษ์รูปมารขึ้นมา พอมันเขียนเสร็จแล้วมันเหลือบดูมันก็กลัว มันก็กลัว ถ้ามันเขียนรูปผี มันก็กลัว เขียนรูปยักษ์มันก็กลัว เขียนรูปมารนี่มันก็กลัว ทั้งที่มันเขียนเอง ทั้งที่มันเขียนเอง แต่พอมันมองดูแล้วมันลืมไปว่ามันเขียนเองแล้วมันก็กลัว ทีนี้แล้วมันเขียนต่อ มันเติมรายละเอียดลงไปชัดเข้าๆ แล้วดูก็ยิ่งกลัวๆ ทีนี้ไปเขียนจนถึงที่สุด เป็นของจริง เหมือนของจริงที่สุด แล้วมันก็มองดู แล้วมันก็กลัวถึงที่สุด แล้วมันก็ตาย มันกลัวจนตาย นี่คิดดู ไอ้ชาติโง่ มันทำขึ้นเองโดยไม่รู้สึกตัว โดยความโง่ของตัวแล้วก็ไม่รู้สึกตัว ว่าได้ทำอะไรขึ้น แล้วมันก็ตาย เพราะไอ้สิ่งนี้ คือเป็นทุกข์ถึงที่สุด เมื่อตัวกูของกู เจริญขึ้นไปถึงที่สุด เติมมันลงไปเรื่อย มีความรู้สึกประเภทโง่เขลา ประเภทเป็นตัวกูของกูมากขึ้นๆ มันก็มีความทุกข์ถึงที่สุด เรียกว่ามันตายรู้ไว้ว่าไอ้เรื่องความทุกข์นี้มันน่าหัวที่ว่ามันทำขึ้นเอง มันสร้างขึ้นเองโดยไม่รู้สึกตัว แล้วมันก็รับผลของมันเอง นี่มนุษย์ตอนนี้น่าสงสารไหม เกิดมาจากท้องแม่ จิตใจเกลี้ยงไม่มีอะไร ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอมาได้รับอะไรทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นเข้า มันก็ค่อยรู้สึก อร่อยไม่อร่อย คือยินดียินร้ายเพิ่มขึ้นๆ เพิ่มขึ้น ก็มีความอยากไปตามความยินดียินร้ายเพิ่มขึ้นๆ แล้วมันเกิดความรู้สึกว่ากูผู้อยาก กูผู้อยากนี่ขึ้นมา ตามความยินดียินร้ายเพิ่มขึ้นจนพัฒนาสูงสุดจนได้เป็นทุกข์ถึงที่สุด เพราะว่ามีตัวกู แล้วมันก็ยึดถือนั่นนี่ เป็นของกูมาก อะไรๆในโลกจะถูกยึดถือเป็นของกู แล้วก็ถูกสอนให้ยึดถือมาตั้งแต่เล็กโน่น นี่ไม่ใช่ว่าจะ จะเนรคุณผู้สอน แต่อยากจะบอกให้รู้ว่าเป็นการสอนผิดนะ ที่พ่อแม่พี่เลี้ยงอะไรก็ตาม สอนเด็กทารกนั้นให้เข้าใจว่าพ่อของกู แม่ของกู บ้านของกู เรือนของกู อะไรก็ของกูหมด ไอ้เด็กทารกมันได้รับคำสั่งสอนให้รู้จักยึดถือเป็นของกู แล้วก็มากขึ้นๆ ต่อมาก็ยึดถือได้เอง มัน มัน มันมีความรู้สึกผิดแล้ว มันก็ยึดถือได้เองเป็นของกูๆ ตัวกูของกู ตัวกูของกู จนบัดนี้ จนเดี๋ยวนี้ มีเท่าไร มีหนาแน่นเท่าไร แล้วเป็นความทุกข์เท่าไรก็ลองคิดดู
มันมีเรื่องหรือเหตุปัจจัยหรือสิ่งแวดล้อมก็ตาม แล้วแต่จะเรียก เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ทำให้เกิดความยินดียินร้ายเมื่อกี้พูดแล้วน่ะ อยากจะใช้คำสั้นๆง่ายๆ ยินดียินร้าย ถ้ายินดีก็เรียกว่าอภิชฌา ยินร้ายก็เรียกว่าโทมนัส ดังนั้นในชีวิตคนธรรมดาสามัญ มันจึงเต็มไปด้วยอภิชฌาและโทมนัส เหมือนการปฎิบัติที่รัดกุมที่สุด ก็คือนำออกเสียซึ่งอภิชฌาและโทมนัส นำออกด้วยอะไร ด้วยความรู้คือสติและสัมปชัญญะ สติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว นั่นก็คือความรู้ ความรู้ รู้อยู่ว่าอะไรเป็นอะไร นั่นแหละสัมปชัญญะ อะไรเข้ามาทางตาเอ้า, สติระลึกได้ทันควัน ว่าอันนั้นก็เป็นอารมณ์ที่เข้ามาทางตาตามธรรมชาติ มีสัมปชัญญะรู้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเอง มันก็ไม่เกิดความยินดี นี่เรียกว่านำความยินดีออกในโลกออกเสียได้ด้วยมีสติสัมปชัญญะ ทีนี้ถ้ามาในลักษณะตรงกันข้ามคือมาให้โกรธให้เกลียดให้กลัว มีสติสัมปชัญญะโอ้, มันเช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเอง มันก็ไม่เกิดยินร้าย ไม่เกิดยินดียินร้าย แล้วมันก็ไม่เกิดความอยากไปตามความยินดียินร้ายแล้วมันก็ไม่เกิดตัณหา คือความอยาก ไม่เกิดอุปาทานคือตัวกูกูอยากผู้อยาก ก็เกิดภพเกิดชาติคือความเต็มเปี่ยมแห่งความรู้สึกว่าตัวกูน่ะมันไม่เกิด ความยินดียินร้ายมันไม่เกิดไอ้สิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่มาทำให้เป็นทุกข์ได้ ฉะนั้นถ้ามีสติสัมปชัญญะอย่างเพียงพอ ในทุกขณะที่มีอะไรมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มันก็ไม่มียินดียินร้าย นี่คือการเดินอยู่ในรอยของพระธรรมอย่างแท้จริง ไม่เกิดยินดียินร้ายในตามเวทนานั้นน่ะ คือมีผัสสะ ที่มีสติ สัมปชัญญะ ผัสสะไม่โง่ก็เวทนาก็ไม่โง่ ก็ไม่เกิดตัณหา คือความอยากที่โง่ มันก็ไม่เกิดอุปาทานว่าตัวกูของกู มันก็เลยไม่เป็นทุกข์อย่างไรล่ะ เดี๋ยวนี้ปัญหามันก็มีอยู่ที่ว่าเราไม่มีสติสัมปชัญญะ บางทีก็ไม่มีเอาเสียเลย บางทีก็มีน้อยเกินไป บางทีก็มีช้าเกินไปไม่ทันแก่เหตุการณ์หรือเวลา จึงพยายามฝึกสติ สัมปชัญญะให้มากให้เร็วสำหรับจะใช้ในขณะที่มีผัสสะ มีผัสสะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้ผัสสะนั้นมันตื่นอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ก็ไม่คลอดเวทนาโง่ ตัณหาโง่ อุปาทานโง่ มันก็เลยไม่มีความทุกข์ นี่มันป้องกันไม่ให้มีความทุกข์
เรื่องมันมีเท่านี้ หัวใจของมหาสติปัฏฐาน มหาสติปัฏฐานสูตร มันมีประโยคสั้นๆว่า สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฌาโทมนสฺสํ (นาทีที่ 54:15) มีสติสัมปชัญญะนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ นำความยินดียินร้ายในโลก ที่มีอยู่ในโลก ตามธรรมดาโลก ในจิตใจที่ยังเป็นโลก มันจะมียินดียินร้ายแล้วก็นำออกเสียได้ คือไม่ทำให้มันเกิดขึ้นมาได้ มันก็ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดภพไม่เกิดชาติเป็นตัวกู มันไม่มีตัวกูแล้วมันก็ไม่เอาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นต้นมาเป็นของกู แล้วมันก็ไม่มีความทุกข์อะไร เดี๋ยวนี้มันมีอภิชฌาโทมนัส ทางตา สวยไม่สวย ทางหู ไพเราะไม่ไพเราะ ทางจมูก หอมหรือเหม็น ทางลิ้น อร่อยไม่อร่อย ทางผิวหนัง นิ่มนวลหรือกระด้าง ทางจิตนี่ ยินดีหรือยินร้าย มันเป็นคู่ๆ แล้วก็ทางจิตน่ะคือความรู้สึก ยินดีหรือยินร้ายที่เป็นคู่ๆ ความรู้สึกที่เป็นคู่นั่นแหละสำหรับทำให้ยินดีหรือทำให้ยินร้าย มีมากมายหลายคู่ หรือหลายสิบคู่ ดูเหมือนเคยเห็นให้รวบรวมไว้ได้ตั้ง ๓๗ คู่ ความรู้สึกว่าสุขหรือทุกข์อย่างนี้ ความรู้สึกว่ายินดียินร้ายนี่เป็นคู่แรก เป็นคู่แรก ยินดีคู่กับยินร้าย สุขหรือทุกข์ น่ารักหรือไม่น่ารัก ก็เลยไปถึงความรู้สึกว่าได้หรือเสีย ได้มาหรือเสียไป แล้วก็แพ้หรือชนะ กระทั่งเรื่องสุขทุกข์ บุญบาป กระทั่งเรื่องความเป็นหญิงความเป็นชายอันนี้ให้เกิดความรู้สึกเป็นคู่ตรงกันข้ามคือเป็นบวกเป็นลบทั้งนั้น แม้ที่สุดแต่นรกและสวรรค์ก็เป็นเรื่องบ้าบอ มีความรู้สึกบวก มีความรู้สึกลบ อย่าให้ความรู้สึกคู่ๆเหล่านี้ เข้ามาหลอกได้ เข้ามายินดีไม่ยินร้ายในความรู้สึกที่เป็นแสดงผลออกมาเป็นคู่บวกหรือลบ ดังนั้นพระอรหันต์จึงเป็นผู้ที่มีจิตใจไม่มีความทุกข์เลย เพราะไม่มีความรู้สึกเป็นบวกหรือเป็นลบในจิตใจ มันไม่มีความรู้สึกเป็นบวกหรือเป็นลบในจิตใจของพระอรหันต์ ดังนั้นท่านจึงไม่มีความรู้สึกเป็นคู่ๆใดๆหมด ไม่บวกไม่ลบไม่ Positive ไม่ Negative ไม่ Optimist ไม่ Pessimist ไม่ ไม่รู้สึกแต่ในแง่ดี ไม่รู้สึกแต่ในแง่ร้าย ที่เป็นคู่ทั้งหลายแล้วก็ไม่มี เรียกว่าอยู่ตรงกลาง เป็นตัวพุทธศาสนาแท้ คืออยู่ตรงกลาง ไม่ใช่อันนี้หรืออันนั้น ไม่ใช่อันอื่นหรืออันนี้ ไม่ใช่ทำเองหรือคนอื่นทำ ซึ่งมันเป็นคู่เหวี่ยงสุดโต่ง เป็นคู่ๆมันไม่มี มันมีแต่อยู่ตรงกลาง แม้ดีหรือชั่วนี่ก็อยู่ตรงกลาง ถ้าดีมันก็ให้เกิดความรักความหลงใหล ความชั่วก็ให้เกิดความขัดแค้นเป็นทุกข์ขึ้นมา อยู่ระหว่างตรงกลางไม่ดีไม่ชั่วนั่นแหละ แต่ก็เรียกอีกทีว่าอยู่เหนือดีเหนือชั่ว ทีนี้ในโลกนี้มันเต็มไปด้วยของเป็นคู่ๆอย่างนี้ แต่ท่านยกตัวอย่างมาเพียงคู่เดียวว่าอภิชฌาและโทมนัส ความยินดียินร้าย มันก็โทษใครไม่ได้เพราะว่าธรรมชาติมันสร้างมาแล้ว เราก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับรับรู้ รูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ พอสิ่งเหล่านี้มันเข้ามา มันก็เข้ามาสร้างความรู้สึก ที่เป็นคู่ข้างใดข้างหนึ่งตามเรื่องของมัน แล้วก็สูญเสียความอยู่ตรงกลาง เดิมที่เคยอยู่ตรงกลางน่ะก็ศูนย์เสียไป มันก็เหวี่ยงไปข้างซ้ายเป็นอภิชฌา เหวี่ยงไปข้างขวาเป็นโทมนัส แล้วแต่เหวี่ยงไปทางนี้เปียกแฉะ เหวี่ยงไปทางโน้นก็ไหม้เกรียมไม่อยู่ตรงกลางนี่ นี่จิตใจชนิดที่รักษาไว้ไม่ได้ มันก็เลยต้องเป็นอภิชฌาและโทมนัส แล้วก็ต้องมีความทุกข์ ท่านจึงสอนไว้สั้นที่สุดเป็นหัวใจของมหาสติปัฏฐานว่ามีสติสัมปชัญญะนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ประโยคนี้ของย้ำ ๑๐ หน เข้าใจว่าคงจะจำกันแม่นยำทุกคน ว่ามีสติสัมปชัญญะนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ นี่คือรอยของพระธรรม และไม่เกิดยินดียินร้าย แล้วมันก็ไม่เกิดปัญหาอุปาทานอะไรได้ ก็ไม่มีความทุกข์
ทีนี้พูดถึงหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นน่ะเป็นหลักการบำเพ็ญมีชีวิตอยู่เพื่อไม่ เพื่อมีสติสัมปชัญญะ เพื่อไม่ยินดียินร้าย หรือว่าถ้ามันรู้สึกไม่ยินดียินร้ายได้ มันก็เป็นความถูกต้องครบทั้ง ๘ องค์ คนที่ไม่ยินดียินร้ายคือคนที่มีสัมมาทิฏฐิ มีสัมมาสังกัปปะ มีสัมมาวาจา มีสัมมากัมมันตะ มีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สติ สมาธิ ความถูกต้อง ๘ ประการนี้กระจายออกไป กระจายออกไป จากคำว่านำอภิชฌาและโทมนัสออกเสียได้ กระจายออกไปให้เป็นข้อปฎิบัติเห็นชัดง่ายๆ ว่า ๘ อย่างเป็นความถูกต้อง เรายังมีความถูกต้องแห่งความคิดเห็นความคิดความเห็นความรู้ความเชื่อนี่รวมเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ แล้วก็มีความปรารถนาที่ถูกต้อง คือสัมมาสังกัปปะ แล้วมีการพูดจาถูกต้อง สัมมาวาจา มีการกระทำการงานที่ถูกต้อง เรียกว่าสัมมากัมมันตะ ดำรงชีวิตถูกต้องเรียกว่าสัมมาอาชีวะ พยายามอยู่ในทางถูกต้องเรียกว่าสัมมาวายามะ กำหนดสติอยู่อย่างถูกต้องเรียกว่าสัมมาสติ ปักใจมั่นอยู่แต่ในความถูกต้องอย่างนี้เรียกว่าสัมมาสมาธิ เรียกว่าทางสายกลาง เมื่อเดินอยู่ใน ๘ องค์นี้แล้วมันก็ไม่เอียงซ้ายหรือเอียงขวา ไม่เป็นกามสุขัล ลิกานุโยค (นาทีที่ 01:02:05) คือจมอยู่ในกาม ไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยค (นาทีที่ 01:02:09) คือโลภไปหลงทำลายอวัยวะเป็นที่ตั้ งเป็นที่รับอารมณ์ ให้พินาศไปเสีย เรียกอย่างอื่นเรียกว่า อาคาฬหะ (นาทีที่ 01:02:25) คือเปียกแฉะกับ นิชฌามะ (นาทีที่ 01:02:30) คือไหม้เกรียม อย่ามีชีวิตชนิดที่เปียกแฉะ อย่ามีชีวิตชนิดที่ไหม้เกรียม แต่อยู่ตรงกลางแห่งความถูกต้องทั้ง ๘ ประการอย่างที่กล่าวแล้ว นี่ก็คือรอยของพระธรรมที่ขยายออกไปจากประโยคสั้นๆประโยคแรกว่า มีสติสัมปชัญญะ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ มีความถูกต้องทั้ง ๘ ประการนั้น หากครบถ้วนอยู่ เป็นตัวชีวิตจิตใจ นี่คือดำรงตนอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา เดินตามรอยทางเก่า รอยทางเก่า ที่พระอริยเจ้าได้เดินไปแล้ว ได้เดินไปแล้ว แต่ทิ้งร่องรอยไว้ให้คนข้างหลัง เราจึงเดินไปตามทางเก่านั้น ซึ่งบุคคลไปแล้วนับไม่ไหว นับไม่ถ้วน เป็นพระอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์ เป็นอริยบุคคลกัน นับไม่ถ้วน สำหรับเราจะได้เดินตามไป แกะรอยแล้วก็เดินตามไป ปฎิบัติอย่างนักสั้นที่สุดคือมีสติสัมปชัญญะ ไม่ให้อภิชฌาและโทมนัสเกิดขึ้นจึงอยู่ด้วยความถูกต้องทั้ง ๘ ประการ ที่เรียกว่า อัฏฐัง คิกมรรค (นาทีที่ 01:03:58)
ที่นี้ก็เหลืออยู่หน่อยหนึ่งที่เรียกว่าทำอย่างไรจึงมีสติสัมปชัญญะ มันก็ต้องฝึกทั้งนั้นแหละ มันไม่มีทางอื่นน่ะ ไอ้ฝึกอย่างที่เขาเรียกกันว่าฝึกวิปัสสนา ฝึกกรรมฐานนั่นแหละ ถ้าทำไปอย่างถูกต้องไม่งมงาย ไม่งมงายเพราะมันมีการงมงายได้ ถ้าทำไปอย่างถูกต้องไม่งมงาย มันจะเพิ่มมีสติสัมปชัญญะ ยกตัวอย่างเช่น อานาปานสติ ๑๖ ขั้น ๔ หมวดๆละ ๔ หมวดๆ ละ ๔ ขั้น กำหนดลมหายใจยาว กำหนดลมหายใจสั้น กำหนดตามที่ลมหายใจปรุงแต่งร่างกาย แล้วก็บรรเทาการปรุงแต่งนั้นให้ลดลง นี่เรียกว่า ๔ ขั้น กำหนดลมหายใจยาวขั้นหนึ่ง กำหนดลมหายใจสั้นขั้นหนึ่ง แล้วรู้ว่าลมหายใจนี้ปรุงแต่งกายคือเนื้อหนัง แล้วก็รู้จักทำให้การปรุงแต่งนั้นลดกำลังลงเสีย คือจิตใจสงบระงับจนเป็นสมาธิ ฝึกกันแต่จนมี ทั้งสติ ทั้งสมาธิ ทั้งสัมปชัญญะ ทั้งปัญญา เริ่มต้น ในขั้นเริ่มต้น การที่จะกำหนดอะไรได้นั้น มันต้องมีสติ ถ้าเรากำหนด อะไรได้ ก็เท่ากับทำให้มีสติ ฉะนั้นฝึกการกำหนดอะไรได้ คือการฝึกมีสตินั่นเอง นี่เขาให้ฝึกชนิดที่ว่ามีสติ เพิ่มขึ้นๆ เพิ่มขึ้น มี มีกรรมฐานมีมาก แต่กรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ ก็คืออานาปานสติ อย่างที่ว่านี้ ๑๖ ขั้นนี้ พระองค์เองก็ได้ทรงบำเพ็ญอานาปานสติจึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านี่ เอ่อ, ครั้นทำให้การปรุงแต่งร่างกายน่ะ คือบรรเทาการปรุงแต่งของลมหายใจ ปรุงแต่งร่างกายเสียได้ ก็มีสมาธิ เป็นสมาธิ เป็นผลของขั้นที่ ๔ แล้วในสมาธินั้น มันมีความรู้สึกที่เป็นปิติและเป็นสุข กำหนดปิติว่าเป็นอย่างไร กำหนดความสุขว่าเป็นอย่างไร แล้วกำหนดรู้ว่าทั้ง ๒ อย่างนี้ปรุงแต่งจิต แล้วก็บรรเทากำลังปรุงแต่งของสิ่งทั้ง ๒ นี้เสีย จิตก็ระงับลง ระงับลง นี่หมวดเวทนา มีอยู่ ๔ ขั้น
นี่หมวดที่สามก็เรื่องจิตล้วน ดูว่าจิตกำลังเป็นอย่างไร มีกี่อย่างก็ตาม แล้วก็ ฝึกบังคับจิตให้ยินดีพอใจ ธรรมปิติในธรรม แล้วฝึกจิตให้ตั้งมั่นเข้มแข็ง แล้วก็ฝึกจิตให้ปล่อยสิ่งที่เข้ามายึดถือ ปล่อยจิตจากสิ่งที่ยึดถือ ปล่อยสิ่งที่ยึดถือจากจิต แล้วแต่จะเรียกได้ทั้งนั้นแหละ ตอนนี้เข้มแข็งมากจนบังคับจิตได้แล้ว สติก็เกินพอใช้แล้ว อันสุดท้ายเป็นหมวดที่สี่ กำหนดอนิจจัง ความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวง ดูข้างในอย่าดูข้างนอก ตามหลักธรรมะแล้วมันจะไม่กำหนดสิ่งที่มีอยู่ข้างนอก จะกำหนดอนิจจังก็กำหนดสิ่งที่มีอยู่ข้างใน ดังนั้นจึงย้อนกลับมากำหนดลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น กายปรุงแต่งกาย ระงับกายสังขาร ทีนี้กำหนดลมหายใจยาว ก็เพื่อจะดูความไม่เที่ยงของมัน กำหนดลมหายใจสั้นก็จะเพื่อดูความไม่เที่ยงของมัน ดูความที่ลมหายใจปรุงแต่งร่างกาย ก็เพียงแต่จะดูความไม่เที่ยงของมัน ดูความที่ร่างกายระงับลง ระงับลง ก็เพื่อจะดูความไม่เที่ยงของมัน จะดูปิติก็ดูความไม่เที่ยงของมัน ดูความสุขก็ดูความไม่เที่ยงของมัน ดูข้อที่ปิติและสุขปรุงแต่งจิตก็ดูความไม่เที่ยงของมัน ดูความที่จิตระงับลง ก็ดูความไม่เที่ยงของมัน ทีนี้ก็มาดูจิตเอง จิตอย่างนี้ก็เห็นความไม่เที่ยง จิตอย่างนั้นก็ความ ก็เห็นความไม่เที่ยง เห็นความไม่เที่ยงของจิตที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างนั้นๆ ทั้ง ทุกชนิด แม้จิตที่ยินดีก็ไม่เที่ยง จิตที่ตั้งมั่นก็ไม่เที่ยง จิตที่ปล่อยก็ไม่เที่ยง มันเห็นความไม่เที่ยงรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งของปิติและสุข มันจึงละความพอใจและความไม่พอใจเสียได้ ครั้นเห็นความไม่เที่ยงอย่างนี้แล้ว จิตก็คลายตัวจากความยึดถือเรียกว่า วิราคะ กำหนดวิราคะทีหนึ่ง มันคลาย คลาย คลายไปก็ดับหมด แห่งตัว ตัว ตัวตนแห่งความยึดถือเรียกว่า นิโรธะ ก็กำหนดนิโรธะอีกทีหนึ่ง ในที่สุดก็กำหนด ปฏิ นิสสัคคะ (นาทีที่ 01:09:44) คือว่าอ้าว, เดี๋ยวนี้ สลัดคืนแล้ว สลัดคืนแล้ว สลัดความยึดถือ หรือสิ่งที่เคยยึดถือออกไปแล้ว เรียกว่ากำหนด ปฏินิสสัคคะ เลยได้มา ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้น เรียกว่า ๑๖ ขั้น นี้เรียกว่าอานาปานสติ เมื่อฝึกอานาปานสติแล้วจะมีสติที่สมบูรณ์มากและเร็วพอ แล้วยังให้เกิดปัญญาตัดกิเลสตัณหาพร้อมกันไปในตัว ใน ใน ใน ในระบบนี้ ในระบบอานาปานสติ ไม่ต้อง เปลี่ยนไม่ต้องเลื่อนระบบอื่น ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นระบบอื่น เพียงระบบอานาปานสติระบบเดียว ก็จะทำได้ตั้งแต่ต้นจนถึงบรรลุพระอรหันต์เลย รู้ รู้ว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว นี่เป็นเรื่องของการฝึกให้มีสติ
ฉะนั้นเพียงแต่หัดกำหนดลมหายใจยาวลมหายใจสั้นให้อยู่ในอำนาจได้ ก็มีการฝึกสติโขอยู่เพียงพอ อยู่มากเหมือนกัน มันจะเกิดนิสัยว่ามันจะต้องรู้สึกตัวในสิ่งนั้นๆอยู่ก่อนแต่ที่จะมีความคิดนึกใดๆ ผลมหาศาลน่ะมันเกิดขึ้นว่า จะเกิดนิสัยใหม่ที่ว่ามันจะต้องรู้สึกตัวก่อนแต่ที่จะคิด จะพูด จะทำอะไรจะต้องรู้สึกตัวเสียก่อนเสมอ นี่ประโยชน์อานิสงส์ของความมีสติ เมื่อรู้ว่าเป็นอย่างไร แล้วกำหนดไว้ กำหนดไว้ นั่นเรียกว่าสัมปชัญญะกำหนดอยู่คือรู้ตามที่เป็นจริงว่ามันเป็นอย่างนั้น แล้วกำหนดไว้ เมื่อกำหนดอยู่อย่างนี้ มันก็ทำอะไรผิดไม่ได้ ที่ว่ารู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ นั่นน่ะคือสัมปชัญญะ อย่างนี้ความรู้สึกตัวนั่นแหละ มันกลายเป็นชีวิตนี้ไปแล้ว ชีวิตนี้เต็มไปด้วยความรู้สึกตัว ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความรู้สึกตัว ทุกวินาที ทุกกระเบียดนิ้ว มันเต็มอยู่ด้วยความรู้สึกตัวมันเกิดมีชีวิตชนิดที่รู้สึกตัวอยู่เสมอ คำฝรั่งมีอยู่คำหนึ่งที่เขา เขาแปลได้ถูกต้องดีคือ Awareness มีความรู้สึกอยู่ ตามที่ความจริงนั้นมันเป็นอย่างไร มีความรู้สึกในความจริงนั้นอยู่ตลอดเวลา เรียกว่ามีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เดี๋ยวนี้ชีวิตเต็มไปด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มันทำผิดอะไรไม่ได้อีกต่อไป มันยินดียินร้ายอะไรไม่ได้อีกต่อไป เพราะมันมีสติสัมปชัญญะคอยป้องกันไว้ได้ทันท่วงที ตามหลักบาลีที่ว่า นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ นี่ขอย้ำประโยคนี้ ๑๐ ครั้งว่ามีสติสัมปชัญญะนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ เพราะเรามีตา หู จมูกลิ้น กาย ใจ มันช่วยไม่ได้ที่จะไม่ให้อะไรเข้ามา มันถูกตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันช่วยไม่ได้ มันป้องกันไม่ได้ มันทำได้แต่ว่าถ้ามันเข้ามาถูก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็ไม่ต่อสู้หรือต้อนรับ ในลักษณะอย่างที่ว่า คือมีสติสัมปชัญญะทันในขณะแห่งผัสสะ ไม่เกิดเวทนาโง่ มันก็ไม่เกิดปัญหา ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดภพ ไม่เกิดชาติ ไม่เกิดความทุกข์ใดๆ นี่เรียกว่า รอยของพระธรรม ก็เรียกว่าการเดินตามทางเก่า เดินตามทางรอยทางเก่า รอยพระธรรมเป็นทางเดินเก่า ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเดินไปแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายเดินไปแล้ว พระอริยบุคคลทั้งหลายเดินไปแล้ว คือพูดเพียงเท่านี้ขอยืนยันว่าจบเรื่อง แม้จะโดยย่อ พูดเพียงเท่านี้มันจบเรื่องทั้งหมด แต่ว่ามันเป็นการพูดโดยย่อ ในเวลาอันจำกัด แต่แม้ใครจะขยายความอธิบายมากออกไปเท่าไรๆ มันก็ยังอยู่ในขอบเขตเพียงเท่านี้ มีสติสัมปชัญญะนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ หวังว่า นิสิต นักศึกษา ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย จะได้กำหนดจดจำใจความสำคัญ ดังที่ได้บรรยายมาแล้วนี้ ว่าเราพูดกันถึงเรื่องรอยของพระธรรม ดำเนินชีวิตกันอยู่ในรอยของพระธรรม มีสติสัมปชัญญะนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ เสร็จแล้วมีความเป็นอยู่ที่ถูกต้อง ๘ ประการ ที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นตัวพรหมจรรย์ ซึ่งเป็นตัวพระพุทธศาสนา มันก็เป็นการดับทุกข์ เป็นชีวิตที่ไม่เป็นทุกข์ แม้จะมีอะไรมากระทบมันก็ถูกทำให้กลับไป ให้ถูก ให้กลับไป ไม่มาทำให้จิตใจเป็นทุกข์ เหมือนว่าคลื่นในทะเลมันก่อตัวขึ้นมา แล้วมันมาตายที่ฝั่งทั้งนั้น คลื่นทุกลูกมาตายที่ฝั่งทั้งนั้น ฉะนั้นอะไรๆที่มันจะก่อเรื่องก่อราวขึ้นมา ในจิตใจในชีวิตนี้ ก็ให้มันมาตายที่ฝั่งคือสติสัมปชัญญะชนิดที่นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ เรื่องก็มีเท่านี้ นี่การบรรยายนี้เรียกสั้นๆว่าเรื่องรอยของพระธรรม หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะมีความรู้ความเข้าใจบ้างไม่มากก็น้อย สามารถที่จะแกะรอยพระธรรม ดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามรอยของพระธรรมตามรอย ตามหลังพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ หรือพระอริยบุคคล ไปตามลำดับมีความสุขสวัสดี อยู่ในโลกนี้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้จนกว่าจะเป็นคนที่เต็มอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ
ต่อไปนี้มีกำหนดการอะไร มีโปรแกรมอะไร
(เสียงคนตอบ แต่ได้ยินไม่ชัด)
(เสียงท่านพุทธทาส) มีเวลาเหลืออยู่บ้าง ถ้าจะถามปัญหาบ้างก็ได้ มีเวลาเหลืออยู่บ้าง
ไม่เอา ไม่เอา (เข้าใจว่าท่านพุทธทาสดุหมา) เขาไม่รู้ว่าจะถ่ายรูป เขาคิดว่าจะมาทำร้ายอาตมา สุนัขคิดว่าจะมาทำร้ายอาตมา
มีปัญหาอะไรก็ปิดประชุม
(เสียงผู้ถาม) ขอประทานโทษครับท่านอาจารย์ คือเนื่องจากกระผมมีความเป็นเข้าในเรื่องคนเต็มกับคนไม่เต็มไม่พอเพียงนะครับ ก็กระผมขอให้ท่านอาจารย์อธิบายในเรื่องเกี่ยวกับคนเต็มกับคนไม่เต็มนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง แล้วก็แตกต่างกันในเรื่องใดครับ แค่นี้ครับ
(เสียงท่านพุทธทาส) ฟังไม่ถูกเลยว่าถามว่าอะไร เสียงมันฟังอย่างไร เลยฟังไม่ออกว่าถามว่าอย่างไร พูดช้าๆ ชัดๆ ดังๆ
(เสียงผู้ถาม) คำถามของกระผมนะครับ ผมอยากจะทราบว่า คนเต็มกับคนไม่เต็มนั้นแตกต่างกันอย่างไรบ้าง และแตกต่างกันในเรื่องใดบ้างครับ ท่านอาจารย์
(เสียงท่านพุทธทาส) อะไรนะ เป็น ไม่เป็น อะไร
(เสียงผู้ถาม) คนที่เต็มกับคนไม่เต็มน่ะครับ มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างครับ
(เสียงท่านพุทธทาส) เป็นอะไรกับไม่เป็นนะ เป็นอะไรกับไม่เป็นอะไร
(เสียงผู้ถาม) คนเต็มกับคนไม่เต็มครับท่านอาจารย์
(เสียงท่านพุทธทาส) ในเรื่องอะไร ในเรื่องอะไร
(เสียงผู้ถาม) สำหรับในความหมายในเรื่องเกี่ยวกับของธรรมะครับท่านอาจารย์ว่า คนเต็มกับคนไม่เต็มนั้นแตกต่างกันอย่างไรบ้าง และในด้านใดบ้างครับ
(เสียงท่านพุทธทาส) ยังฟังไม่ออก ว่า เป็น หรือ ไม่เป็น ในเรื่องอะไร ไม่เป็นก็คือตาย
(เสียงผู้ชายอีกคนหนึ่ง) ครับ สำหรับคำถามนะครับ คำถามนี้ถามว่าคนเต็มในธรรมะกับคนไม่เต็มในธรรมะต่างกันอย่างไรครับ
(เสียงท่านพุทธทาส) เป็นในธรรมะ
(เสียงผู้ชาย) เต็มครับ สระเอ ตอเต่า
(เสียงท่านพุทธทาส) เต็มหรือ ไม่ใช่เป็น เต็ม เออ, ดี เต็มน่ะ ไม่ใช่เป็น ได้ยินว่าเป็น ได้ยินว่าเป็นนี่ ก็เลยฟังไม่ออกว่า เป็น หรือไม่เป็น
เป็นมนุษย์ที่เต็ม เป็นมนุษย์ที่เต็ม เต็มแห่งความเป็นมนุษย์ คือหมดปัญหาไม่มีปัญหาอะไรเหมือนกับที่มนษย์ทั้งหลายเขามีอยู่ จิตใจของเขาก็ เต็มคือไม่ต้องการอะไรอีกต่อไป ถ้ายังต้องการอะไรอยู่ แม้แต่เพียงสงสัย ก็ยังเรียกว่าไม่เต็ม เมื่อดับทุกข์ได้สิ้นเชิง ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง มันก็ไม่ได้ต้องการอะไรอีก ไม่มีปัญหาอะไรเหลืออยู่อีก เรียกว่ามีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ที่เต็ม ไม่มีปัญหารบกวน เต็มแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เต็มแห่งธรรมะ ธรรมะนั้นเต็มอยู่เสมอ แต่มนุษย์นี่มันมีความเป็นมนุษย์ที่เต็มบ้างไม่เต็มบ้าง จะต้องพยายามมีความเป็นมนุษย์ให้เต็มขึ้นๆ มันเป็นคำพูดที่ค่อนข้างจะแปลก ไม่เคยค่อยจะได้ยิน แต่มันเป็นคำพูดที่ดีในการสรุปยอดสุดของเรื่อง มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่ไม่เต็มก็คือมีอยาก อยากอะไรอยู่นั่นแหละคือความไม่เต็ม ในเมื่ออยากอะไรอยู่ก็ต้องมีความทุกข์เพราะความอยากนั้น เมื่อไม่มีความอยากอะไรไม่มีความทุกข์อะไร มันก็ไม่มี ก็มี ก็ไม่มีความทุกข์อะไร เรียกว่ามนุษย์นั้นจบ จบแล้ว ความเป็นมนุษย์นั้นจบแล้ว
(เสียงผู้หญิง) เอ้อ, พวกเรายังเป็นมนุษย์ที่ไม่เต็มอยู่ค่ะ คือว่าเอ่อ, คือว่าพวกนิสิตนักศึกษาอยากจะขออนุญาตถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกและเป็นที่บูชาค่ะ ทั้งนิสิตและอาจารย์ค่ะ ขออนุญาตท่านด้วยนะคะ
(เสียงท่านพุทธทาส) ถ่ายได้อย่างไรน่ะ มืด
(เสียงผู้หญิง) ก็มีแฟลชค่ะ
(เสียงท่านพุทธทาส) เอาสิ แล้วๆ แต่ เอาไว้ถ่ายพรุ่งนี้ไม่ดีกว่าหรือ
(เสียงผู้หญิง) เป็นบางส่วนได้ไหมคะ
(เสียงท่านพุทธทาส) ได้ ถ้าต้องการก็ได้
[T1]ไม่แน่ใจว่าสะกดว่า ‘อริยะสงฆ์’ หรือ ‘อริยสงฆ์’
[T2]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T3]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T4]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T5]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T6]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T7]ได้ยินไม่ชัด
[T8]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T9]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T10]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T11]ไม่แน่ใจตัวสะกด