แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านอาจารย์เริ่มการอบรมธรรมะ: สมาชิกธรรมจาริณีทั้งหลาย ในชั้นแรกที่สุดขอแสดงความยินดีในการกระทำของท่านทั้งหลาย คือการบวชเพื่อศึกษาธรรมะสำหรับออกไปผจญกับปัญหาต่างๆในโลก การบวชชั่วคราวก็ไม่เป็นไร ศึกษา ๒-๓ วัน ปฏิบัติได้ตั้งสองสามปี แต่ต้องเป็นการศึกษาที่ดีที่ถูกต้องที่แท้จริง นั่นแหล่ะขอให้ตั้งใจทำให้สำเร็จประโยชน์ เรายังมีชีวิตต่อไปอีกหลายปี มันก็มีปัญหาที่ว่าจะต้องดำเนินให้ถูกต้องอย่างไร ปัญหาใหญ่มันก็คือการเกิดความทุกข์คือสภาพที่ไม่น่าพอใจขึ้นมา ซึ่งคงจะทราบกันอยู่ไม่น้อยแล้วว่ามันได้แก่อะไร ความทุกข์เกิดจากกิเลสก็มี เราก็จะต้องศึกษาวิธีที่จะควบคุมหรือกำจัดกิเลส ความทุกข์เกิดมาจากสภาวะตามธรรมชาติก็มี เช่นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย แล้วยังมีความทุกข์อีกประเภทหนึ่ง มันเกิดมาจากอุบัติเหตุในโลก ซึ่งไม่มีใครเจตนาจะทำให้เกิดขึ้น เช่นว่ามันจะเกิดน้ำท่วม เกิดแผ่นดินไหว เกิดไฟไหม้ เกิดสงครามแล้วก็ระเบิดปรมาณู ซึ่งเราไม่มีส่วนสร้างแต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วในโลกมันก็พลอยได้รับ นี่ก็เป็นอีกประเภทหนึ่ง ทีนี้ก็จะได้ดูกันเป็นประเภทๆไป
ในประเภทแรกความทุกข์เกิดมาจากกิเลส กิเลสเป็นสิ่งที่พึ่งเกิดเมื่อเราทำผิดในขณะแห่งผัสสะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ผัสสะมีเป็นธรรมดา เมื่อมีชีวิตอยู่ในโลกก็ต้องได้รับผัสสะ เพราะว่าถ้าเรายังมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่เพียงใด มันก็ต้องมีผัสสะอยู่เพียงนั้น แต่ถ้าไม่มีผัสสะ มันก็คือไม่มีอะไรเลย มันก็เท่ากับตายแล้ว ก็ไม่มีปัญหาทั้งสองฝ่าย คือถ้าเราไม่มีผัสสะทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ มันไม่มีอะไรที่จะเป็นปัญหาภายในและภายนอก ก็เหมือนกับไม่มี โลกนี้ก็ไม่มี อะไรๆก็ไม่มี เพราะไม่มีเพราะว่าเราไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่จะสัมผัสมัน ดังนั้นมันจึงสำคัญอยู่ที่ผัสสะ ถ้าประพฤติผิดในขณะแห่งผัสสะก็ต้องเกิดความทุกข์ ประพฤติถูกต้องต่อผัสสะก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ใจความสำคัญมันมีอยู่เท่านี้จึงต้องศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ข้อแรกจะต้องนึกถึงคนทุกคนตามธรรมดาสามัญก็มีผัสสะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อยู่ทุกวัน แต่บางทีก็ไม่ได้ศึกษาไม่ได้รู้จักสิ่งเหล่านี้เลย มันเป็นไปตามธรรมชาติที่สุนัขและแมวมันก็เป็นได้ สัตว์ทั้งหลายส้ตว์ทั้งหลายมันก็เป็นได้ เดี๋ยวนี้เราเป็นคนควรจะรู้อะไรมากกว่าสัตว์เหล่านั้น ว่าตานี้เป็นอย่างไร หูเป็นอย่างไร จมูกเป็นอย่างไร ลิ้นเป็นอย่างไร ผิวกายเป็นอย่างไร จิตใจเป็นอย่างไร นี่ต้องรู้ และนั่นแหล่ะเป็นจุดตั้งต้นที่จะศึกษาธรรมะ สรุปความอีกทีหนึ่งว่า ผัสสะที่ผิดที่ทำผิดเกิดความทุกข์ ธรรมะจะแก้ความทุกข์ ก็ต้องคืนความถูกต้องของการกระทำในเมื่อมีผัสสะ
จะยกตัวอย่างให้ฟังสักข้อหนึ่งคือทางตา คอยฟังให้ดีๆว่ามันทำงานกันอย่างไร แล้วมันเกิดความทุกข์กันอย่างไร มันไม่เกิดความทุกข์อย่างไร เรามีตาอยู่กับเนื้อกับตัวเรียกว่าอายาตนะภายใน แล้วมันก็มีรูปที่จะเข้ามาสัมผัสตาจากข้างนอก เราก็เรียกว่าอายาตนะภายนอก เรามีอายาตนะภายในคือตา เรามีรูปเป็นอายาตนะภายนอกคือมาสัมผัสมาถึงกันเข้ากับตา เรียกว่ามาถึงกันเข้ากับตาแล้วก็เกิดจักษุวิญญาณ คือการเห็นทางตา ตากับรูปถึงกันเข้าเกิดจักษุวิญญาณคือการเห็นทางตา ย่อมเป็นสามอย่างแล้ว ตาอย่างหนึ่ง รูปอย่างหนึ่ง การเห็นทางตาอย่างหนึ่ง รวมกันเป็นสามอย่าง เมื่อทั้งสามอย่างนี้ทำงานอยู่ด้วยกัน คือมีการเห็นรูปด้วยตาด้วยจักษุวิญญาณก็เรียกว่าผัสสะทางตา ผัสสะทางตา คือผัสสะที่ได้เกิดขึ้นทางตา ผัสสะเกิดขึ้นแล้วมันก็ย่อมจะเกิดเวทนาและอื่นๆต่อไป ทีนี้ว่าผัสสะนั้นเป็นผัสสะโง่ คือผัสสะของผู้ที่ไม่มีสติปัญญา เป็นผัสสะของคนโง่ ประกอบอยู่ด้วยความโง่หรืออวิชชา ก็เรียกว่ามีผัสสะด้วยอวิชชา การเห็นรูปนั้นก็เห็นด้วยอวิชชา เห็นด้วยอวิชชา เป็นผัสสะโง่ ผลที่ออกมามันก็คือเวทนาโง่ เวทนาโง่ เพราะว่าผัสสะด้วยอวิชชาคือปราศจากสติปัญญา สัมผัสทางตา ตาเห็นรูปด้วยความโง่ มันก็มีเวทนาโง่ออกมาเป็นความพอใจ เป็นความไม่พอใจ เป็นความกลางๆ คือเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น แต่มันไม่เหมือนกันทุกทีไปมันแล้วแต่เหตุการณ์ เมื่อมันโง่เมื่อผัสสะ เมื่อผัสสะน่ะ เมื่อเห็นรูปเป็นต้นนั้นน่ะ มันโง่มันก็เกิดความยินดีในรูปที่น่ารัก มันก็เกิดกิเลสประเภทโลภ มันก็จะเกิดกิเลสประเภทโลภต่อไป ถ้ารูปนั้นมันไม่น่ารักมันก็เกิดกิเลสประเภทโกรธ จะเกิดกิเลสประเภทโกรธต่อไปไปยินร้าย ถ้ามันไม่แน่มันก็อยู่ด้วยความสงสัยว่าจะน่ารักหรือไม่น่ารัก จะเอาดีหรือไม่เอาดี มันก็มีความผูกพันธ์กันอยู่ สำหรับจะโง่อีกเหมือนกัน
นี่จงรู้จงรู้ว่ามันเป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องที่เกิดอยู่กับเรา เกิดอยู่กับเราในแต่ละวันๆ เห็นรูปที่น่ารักก็รัก ไอ้รูปที่น่าเกลียดน่าโกรธน่ากลัว ก็โกรธก็เกลียดก็กลัว เห็นรูป เห็นรูปที่ยังไม่มีความหมายอะไร มันก็เห็นอยู่ด้วยความสงสัยด้วยความหวัง หรือว่าไม่ ไม่เกิดความรู้สึกอย่างไร มันก็ให้เกิดความรู้สึกว่าโง่ คือไม่รู้จักอะไร คือไม่รู้จักอะไร สำหรับจะโง่ยิ่งๆขึ้นไปสำหรับที่จะไม่รู้อะไร ดูให้เป็นเรื่องของตนเองกันเสียก่อน นี่ผัสสะให้เกิดเวทนาอย่างนี้ เวทนาคือรู้สึกอยู่กับใจเป็นความชอบใจบ้าง เป็นความไม่ชอบใจบ้าง เป็นความเฉยๆกลางๆบ้าง ไม่ใช่แต่ว่าอ่านจากหนังสือ หรือไม่ใช่แต่ไว้ฟังเทศน์ฟังพูด แต่มันต้องรู้จากที่มันมีอยู่กับเรา เกิดอยู่กับเรา รู้สึกอยู่กับจิตใจของเราโดยแท้จริงนั่น นี่การศึกษาอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ใช่อยู่ที่อ่านหนังสือหรือฟังเทศน์อย่างเดียว นั่นมันเป็นเบื้องต้น การศึกษามันอยู่ที่คอยกำหนด สังเกต รู้สึก รู้จัก ต่อสิ่งต่างๆที่มันเข้ามากระทบที่มันเกิดขึ้นในใจหรือมันดับลงไปเมื่อไรก็ให้มันรู้ นี่คือตัวการศึกษาที่แท้จริง
ดังนั้นการศึกษาที่แท้จริงมันจึงเป็นไปภายใน ในตัวในใจในความรู้สึกแห่งใจ ไม่ใช่ที่โรงเรียน แต่ว่าเราก็มีโรงเรียนสำหรับเรียนให้รู้ว่า เราจะไปศึกษาเกี่ยวกับจิตใจอย่างไร ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็ศึกษาเกี่ยวกับจิตใจไม่ถูกด้วยเหมือนกัน เราจึงศึกษาจากภายนอกจากหนังสือหนังหา จากการได้ยินได้ฟังอะไรต่างๆนี่ เป็นการศึกษาจากภายนอก เป็นเบื้องต้นเป็นต้นทุนเป็นเดิมพันก่อน เมื่อมีความรู้อย่างนี้พอสมควรแล้ว ทีนี้ก็นำการศึกษาเข้าไปสู่การศึกษาภายใน จากการศึกษาภายนอกก็นำไปสู่การศึกษาภายใน ทีนี้ก็กำหนดด้วยความรู้สึกว่าอะไรเป็นอย่างไร เกิดขึ้นอย่างไร ตั้งอยู่อย่างไร เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ตอนนี้เป็นการศึกษาภายใน เดี๋ยวนี้เราก็จะศึกษาให้รู้ว่าพอมีผัสสะมันก็มีเวทนา ผัสสะโง่มันก็ไปหลงพอใจเวทนาที่น่ารัก น่ายินดี ไปหลงเกลียด หลงชังในเวทนาที่ไม่น่ารักไม่น่ายินดี มันก็เป็นสงสัยพะว้าพะวังอยู่ในเวทนาที่ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร นี่จงรู้จักตัวเวทนาอย่างนี้ก่อนที่มีอยู่กับเราจริงๆไม่ใช่ที่มีอยู่ในหนังสือ ครั้นแล้วก็คอยดูคอยสังเกตต่อไปว่าเวทนานั้นจะให้เกิดอะไรอีก คือเวทนาจะให้เกิดตัณหาหรือความต้องการ ตัณหาแปลว่าความต้องการอย่างโง่ เพราะมันมาจากผัสสะโง่มาจากเวทนาโง่ แล้วมันก็เกิดตัณหาคือความต้องการที่โง่ เฉพาะความต้องการที่โง่เท่านั้นที่เขาเรียกว่าตัณหา ถ้าความต้องการที่ดีที่ถูกต้องที่ควรจะต้องการมีสติปัญญานั้นไม่เรียกว่าตัณหา เรียกว่าความปรารถนาตามธรรมดา เป็นบาลีก็เรียกว่าสังกัปปา สังกัปปะ สังกัปโป สังกัปปะนั่นน่ะคือความต้องการไม่ได้เกี่ยวกับอวิชชา ถ้ามันต้องการเกี่ยวกับอวิชชาก็เรียกว่าตัณหา โลภะ หรืออะไรอีกหลายๆชื่อ รู้จักแยกเอาเองก็แล้วกันว่าถ้ามันต้องการด้วยความโง่ด้วยอวิชชา แล้วมันก็เป็นชื่อของกิเลส เป็นตัณหาเป็นโลภะ แต่ถ้ามันต้องการด้วยสติปัญญา เช่นต้องการจะดับทุกข์เป็นต้นอย่างนี้ไม่เรียกว่าตัณหา เขาเรียกว่าสังกัปปะที่ถูกต้อง ความปรารถนาที่ถูกต้อง ความใฝ่ฝันในทางที่ถูกต้อง นี้เวทนาให้เกิดตัณหาอย่างไร ถ้าเวทนาเป็นเวทนาโง่ คือเป็นที่ตั้งแห่งความหลงรักหลงพอใจก็เกิดตัณหาประเภทที่อยากจะได้ ถ้าว่าเวทนานั้นไม่ชวนให้ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความรักใคร่มันก็เกิดความต้องการหรือตัณหาในทางที่จะทำลาย ถ้าว่ามันเป็นเวทนาชนิดที่ไม่ไม่ใช่ทั้งสองอย่างคือไม่ใช่ว่าน่ารัก ไม่ใช่ไม่น่ารัก เป็นกลางๆ มันก็เกิดความสงสัยความอยากรู้ต่อไปคือเป็นอวิชชาเพิ่มขึ้นมา
สรุปความสั้นๆว่า ถ้าน่ารักน่าพอใจก็เกิดความอยากได้ ถ้าไม่น่ารักไม่พอใจก็เป็นเกิดความอยากจะทำลาย ถ้าไม่ใช่ทั้งสองอย่างมันก็เกิดความโง่ไม่รู้อะไร พะวงหลงใหลสงสัยอยู่นั่นแหล่ะ นี่เราดูที่จิตใจของเราว่ามันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้รึเปล่า จะได้เข้าใจคำว่าเวทนาให้เกิดตัณหาคือควาามอยาก และเป็นความอยากด้วยอำนาจของอวิชชาคือความโง่ มันจึงอยากมาก เป็นความอยากมาก ความดิ้นรนกระวนการวายทะเยอทะยาน เพราะมันอยากด้วยความโง่ ถ้าว่าความอยากด้วยตัณหาอย่างนี้มีแล้วมันก็เป็นเหตุให้เกิดอุปาทานในความรู้สึกต่อไปว่า กูอยาก ฉันอยาก กูอยากได้มาเป็นของกู มีอุปาทานยึดมั่นว่ากูเป็นผู้อยากยึดมั่นว่าจะได้มาเป็นของกู ฉะนั้นอุปาทานก็มีความรู้สึกว่าตัวกูอย่างหนึ่ง ของกูอย่างหนึ่ง นี่เดี๋ยวนี้มันเกิดมีขึ้นมาแล้วเป็นความรู้สึกเป็นตัวกู ของกู มันก็เกิดความหนักขึ้นมาในใจ ท่วมทับจิตใจ หนักยิ่งกว่าภูเขานั้นแหล่ะคือความทุกข์ เริ่มต้นแล้ว
เมื่อมีอุปปาทานเป็นตัวกูของกูแล้วมันก็เกิดภพคือความพร้อมที่จะเบ่งบานออกมาเป็นตัวกูในภายนอก ดังนั้นก็เรียกว่าภพ ความปรุงแต่งแห่งตัวกู ภพมีมากแล้วก็ปรุงแต่งชาติ คือเป็นตัวกูอยู่ในความรู้สึกเต็มแน่นเต็มอัดเต็มทรงๆ อยู่ในความรู้สึกเรียกว่าชาติ มีชาติแห่งตัวกูแห่งของกู ทีนี้มันก็ไปเอาอะไรต่างๆรอบๆตัวมาเป็นตัวกูมาเป็นของกูไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เอาส่วนใดส่วนหนึ่งว่าเป็นตัวกู แม้แต่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเองมาเป็นตัวกูก็ได้ แล้วก็ทุกอย่างมาเป็นของกู ในแง่ดีหรือแง่ร้ายก็ตาม แล้วมันก็ไปยึดถึอเอาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มาของตัวกู มันก็เป็นทุกข์เดือดร้อน เพราะ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่เป็นความทุกข์เพราะสภาวะที่มีอยู่ตามธรรมชาติแท้ๆ เป็นความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของร่างกาย มันก็ยังเอามาเป็นของตัวกู ซึ่งไม่มีตัวตนอะไรที่ไหนเป็นความรู้สึกโง่ โง่เง่า งมงายอะไรลมๆแล้งๆว่าตัวกู แต่เมื่อมารู้สึกอยู่ในใจมันก็มียิ่งกว่ามี ทั้งที่มันเป็นมายานั่นแหล่ะ มันกลายเป็นว่ามีมีตัวยิ่งกว่ามีตัวมายาแล้ว ก็เลยมีปัญหาเกิดขึ้น ถ้าเกี่ยวกับ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เอา เกิด แก่ เจ็บ ตาย มาเป็นของกู เกี่ยวกับอย่างอื่นก็เอามาเป็นของกู โสกะเป็นเทวะ ทุกขะโทมนัส อุปาญาติ อะไรต่างๆก็เอามาเป็นของกู กระทั่งยึดถือทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง จะเป็นบุคคลสัตว์สังขารใดๆก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ถูกยึดถือว่าเป็นตัวกู เป็นหรือเป็นของกูไปด้วยทั้งนั้น ทีนี้ก็เป็นทุกข์เพราะสิ่งเหล่านั้นทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งยึดถือมาเป็นตัวตน ของตน ตัวกูของกู นี่จับใจความสำคัญให้ได้ว่าความทุกข์มันเกิดมาจากการยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้โดยความเป็นตัวกูหรือของกู คือจิตใจน่ะมันยึดมันยึดเหมือนกับมือถืออะไรอย่างนั่นล่ะ แต่จิตใจมันไม่ใช่มือ มันเป็นความรู้สึก เป็นความรู้สึกหมายมั่นในอะไรก็เรียกว่ายึดถือสิ่งนั้น ฉะนั้นจิตใจที่ยึดถืออะไรมันก็เป็นความทุกข์ไปทั้งนั้น ทุกอย่างที่มันยึดถือ ให้เราจงมองดูให้เห็นเถอะ
ทุกคราวที่เรามีความทุกข์แล้วก็มองดูเถอะจะพบว่ามันยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่แหล่ะ ถ้ามันเกิดอึดอัดขัดใจแน่นอกแน่นใจต้องร้องไห้ร้องห่มต้องอะไรก็ตาม ดูให้ดีเถอะมันมีอะไรที่ยึดถึออย่างยิ่งอยู่อย่างหนึ่งแหล่ะ จึงพูดได้ว่าความทุกข์มันมาจากความยึดถือ แม้เราจะได้ยินได้ฟังว่าความทุกข์มาจากตัณหา เรื่องไอยสัตว์ พูดว่าความทุกข์มาจากตัณหา มันก็ต้องผ่านทางตัวกูเสียก่อน ตัณหาให้เกิดอุปาทานเป็นตัวกูของกูเสียก่อน มันจึงจะเกิดความทุกข์ นั้นที่ใกล้ชิดที่สุด ความทุกข์เกิดมาจากความยึดถือ ความยึดถือเกิดมาจากตัณหา ตัณหาเกิดมาจากเวทนาโง่ๆ มาจากผัสสะโง่ๆ ผัสสะโง่ๆนี่ก็มีมาเพราะว่าในขณะนั้นมันไม่มีสติปัญญา ไม่มีวิชชา มันว่างจากวิชชา มันว่างจากปัญญา มันจึงมีแต่อวิชชามันจึงเป็นผัสสะที่โง่ อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ครั้นผัสสะโง่ แล้วก็มีเวทนาโง่ เวทนาโง่ แล้วก็มีความต้องการที่โง่คือตัณหา มีตัณหาแล้วก็มีอุปาทานแล้วก็มีภพ มีชาติ ซอยให้ละเอียดลงไปอีกทีหนึ่งว่า มีชาติเป็นตัวกูเต็มที่แล้วก็คว้าทุกๆอย่ามาเป็นของกูแล้วก็แบกของหนัก ที่ว่าภารา ทานัง ทุกขังโลเก (นาทีที่ 25:25) น่ะ หมายถึงตรงนี้ล่ะตัวกูจับฉวยเอาทุกอย่างมาเป็นของกู คือจิตใจที่โง่เขลาจับทุกอย่างมาเป็นของกู มันก็เลยหนัก คำว่าภารา ทานัง ทุกขัง โลเก (นาทีที่ 25:42) ก็มีอยู่ในบทสวดมนต์ที่สวดกันอยู่แหล่ะ อย่าสวดเฉยๆทำความเข้าใจให้ได้ แล้วก็มีบทต่อไปว่า ภาระ นิเข ปะนัง สุขขัง (นาทีที่ 25:55) การวางของหนักลงเสียเป็นความสุข มันเป็นคู่คำคู่ ถ้าถือของหนักก็เป็นทุกข์ วางของหนักเสียก็ไม่ทุกข์ ฉะนั้นจงรู้จักว่าเมื่อไรยึดถือของหนัก เมื่อไรไม่ยึดถือของหนักเมื่อผัสสะแล้วเป็นอย่างไร ถ้าโง่มันก็ปรุงมาเป็นความยึดถือจนได้ ถ้ามันไม่โง่ในขณะผัสสะมันก็ไม่ปรุงมาเป็นความยึดถือในที่สุดมันก็ไม่เป็นทุกข์ นี่เพราะความยึดถือจึงเป็นทุกข์ เห็นได้ง่ายๆว่าถ้าถือมันก็เป็นทุกข์เหมือนกับมือนี่ ถืออะไรไว้มันก็ต้องหนักมือ ต้องออกแรงชูอยู่ ก็หนักก็หนัก ไอ้หนักนั่นล่ะเป็นทุกข์ จะถือก้อนหินก้อนใหญ่ๆมันก็หนักและเป็นทุกข์ มันจะถือทองคำเพชรพลอยก้อนเล็กๆ มันก็ยังหนักและเป็นทุกข์ เพราะมันต้องถือมันเป็นทุกข์อยู่ที่ถือ ถ้าไม่ถือก็ไม่เป็นทุกข์คือมันไม่หนักก็ไม่เป็นทุกข์
นี่เรารู้จักเรื่องราวของตัวเราเองว่าเรามีจิตใจแต่ละวันในแต่ละวันว่า ยึดถืออย่างไรไม่ยึดถืออย่างไร ยึดถือเมื่อใดเเป็นทุกข์เมื่อนั้น ยึดถือเป็นความเป็นตัวกู ก็ได้ยึดถือเป็นของกูก็ได้ล้วนแต่หนักทั้งนั้นแหล่ะ ถ้าไอ้ความยึดถือนี้เกิดมาแล้วมันก็เรียกว่ามีตัวกูของกูแล้ว มันก็หนักด้วยตัวกูของกูนั่นแหล่ะซึ่งหนักกว่าอะไรหมด ยึดถือตัวกูของกูนั่นแหล่ะหนักกว่าอะไรหมด หนักกว่าภูเขาหนักกว่าทั้งโลก เพราะมันเกิดเป็นตัวกูของกูขึ้นมาแล้วมันเป็นความหนักด้วยอำนาจของอวิชชากดทับอยู่บนจิตใจ ทรมานอยู่ในจิตใจ นี่เรียกว่าความทกุข์เกิดขึ้นมาจากกิเลส มีแนวเป็นสายมาตั้งแต่ว่าตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณเป็นสามประการ ทำหน้าที่ร่วมกันอยู่นี้เรียกว่าผัสสะ ผัสสะนั้นถ้าไม่มีสติปัญญามาควบคุมก็เป็นผัสสะโง่ก็ทำไปอย่างโง่ๆ ก็เกิดเวทนาโง่รู้สึกสำหรับจะยึดถือรู้สึกว่าน่ารักน่าพอใจ ไม่น่ารักไม่น่าพอใจ รู้สึกไปอย่างโง่ๆอย่างนั้น
ถ้าว่ามันมีสติปัญญามามันไม่รู้สึกอย่างนั้น มันรู้ว่าโอ้, มันเช่นนั้นเองมันตามธรรมชาติ กูจะไม่ไปหลงยึดถือคือ ไม่ไปหลงรัก ไม่ไปหลงเกลียด ไม่ไปหลงโกรธ ไ ม่ไปหลงกลัว ไม่ไปหลงวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวง อะไรต่างๆ นี่ก็วิชชามันมีมามันเป็นผัสสะฉลาดไอ้เวทนาก็ไม่หลอก ไม่หลอก ไม่หลอก ให้หลง มีความรู้กำกับอยู่ในผัสสะในเวทนานั้นจะสวยอย่างไร จะไม่สวยอย่างไรมันก็สักว่าตามธรรมชาตินั่นแหล่ะ ไปหลงโกรธ ไปหลงรัก เข้ามันก็หนักอกหนักใจตามแบบคนหลงรักซึ่งรู้กันดี ไปหลงโกรธ หลงเกลียดเข้า มันก็หนักอกหนักใจตามแบบของคนโกรธ คนเกลียดซึ่งก็รู้กันดี อย่าไปปล่อยให้เกิดความรู้สึกสองอย่างนั้น ดูแต่ว่ามันเป็นอะไร มันเป็นอย่างไร เรื่องนี้ต้องจัดการอย่างไร ถ้าควรจะจัดการเป็นประโยชน์ได้ก็จัดก็ทำ ถ้าไม่ต้องทำก็ไม่ต้องทำไม่รู้ไม่ชี้ก็ปล่อยให้หายไป มันผ่านมาแล้วเกิดมา แล้วก็ดับไปแล้ว นี่เราปฏิบัติต่อสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเราอย่างถูกต้อง อย่าให้เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมาได้ เพราะเหตุนี้พอเวทนาเกิดขึ้นน่ารักน่าพอใจก็โอ้,ธรรมชาติก็เช่นนั้นเอง กูไม่ได้เป็นทาสมึง ถ้าไม่น่ารักไม่น่าพอใจก็เช่นนั้นเอง กูจะไม่ไปเสียเวลากับมึง ควรทำอย่างใดก็ทำ ไม่ต้องทำอะไรก็ไม่ต้องทำ แต่ที่จะไปยินดียินร้ายนั้นไม่ไม่ทั้งสองอย่าง ข้อนี้มันยาก และยอมรับว่ามันยาก ที่จะไม่ยินดีไม่ยินร้ายมันยาก แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ทำได้ ถ้าไม่พยายามทำมันก็ต้องเป็นทุกข์แหล่ะมันไม่มี ... (นาทีที่ 31:49) ถ้าไม่ทำมันก็ต้องเป็นทุกข์เพราะว่ามันเป็นทาสของอารมณ์ เป็นทาสของอายตะ เป็นทาสขี้ข้าไม่ใช่ธาตุ ธาตุ เป็นทาสขี้ข้าของอารมณ์ที่มากระทบ เป็นทาสขี้ข้าของอายตนะสำหรับจะรู้สึก มันก็เลยเป็นทุกข์ใช้คำว่าเป็นทาสอารมณ์อย่างหนึ่งเป็นทาสอายตนะอย่างหนึ่ง จำไว้ให้ดีๆ ถ้ายังเป็นทาสของอารมณ์ต้องขึ้นๆลงๆไปตามอารมณ์ที่มากระทบมันก็ต้องเป็นทุกข์ ที่ไม่เป็นทาสของอารมณ์จิตใจก็ปกติ ก็ไม่ขึ้นๆลงๆไปตามอารมณ์ที่มากระทบมันก็สบายดี
ทีนี้ที่ว่าไม่เป็นทาสของอายตนะ ก็หมายความว่าไม่ตามใจกิเลสตัณหา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ไปตามใจ สิ่งเหล่านี้ไม่ไปหลงใหลกับกิเลสที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่ไม่เป็นทาสตาไม่เป็นทาสหู ไม่เป็นทานจมูก ไม่เป็นทาสลิ้น ไม่เป็นทาสกาย ไม่เป็นทาสใจ ตามันเห็นสวยแล้วจิตใจของเราน่ะไปหลงในความสวยเพื่อประโยชน์แก่ตามันก็เป็นทาสตา หรือเรียกว่ากิเลสเกิดขึ้นทางตา มันก็เป็นกิเลสเป็นทาสแก่กิเลสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ก็เหมือนกันแหล่ะ ที่มันเกิดความไพเราะสวยงามเอร็ดอร่อยขึ้นทางไหนไปหลงใหลในสิ่งเหล่านั้นมันก็เป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น เป็นทาสของอารมณ์คือสิ่งที่เข้ามาปรุงแต่ง เป็นทาสของอายตนะคือสิ่งที่จะสัมผัสอารมณ์ มีชีวิตอยู่อย่างเป็นทาสของกิเลสก็เหมือนตกนรกทั้งเป็น มันก็เหมือนอยู่ในกองไฟซึ่งมันจะมีง่ายที่สุดมีมากที่สุดในชีวิตของคนธรรมดา ถ้าพวกเรามาบวชศึกษาธรรมะในลักษณะอย่างนี้ก็เพื่อจะเตรียมตัวศึกษาไว้ให้ดีๆอย่าต้องเป็นอย่างนั้น มารู้เรื่องสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ดีๆ อย่าให้ต้องไปเป็นทาสอารมณ์ อย่าต้องไปเป็นทาสของอายตนะเลย ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะคุ้มค่าในการที่อุตส่าห์มาบวช จะได้ประโยชน์มหาศาลเหลือประมาณคุ้มค่าหรือเกินค่าของการที่มาบวชมาศึกษา เพราะว่ามันจะรู้คือ มีสิ่งซึ่งจะป้องกันความทุกข์ได้สืบไปจนตลอดชีวิต
ดังนั้นเมื่อจะไม่ให้เสียเวลาเปล่า ไม่ให้ไม่ให้บวชเปลืองเปล่าๆจงสนใจเรื่องนี้ให้ดีๆ ให้เข้าใจเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์คือเรื่องที่จะดับทุกข์ เรื่องที่จะไม่เป็นทุกข์นี่ให้ดีๆ ให้ได้รับความรู้เหล่านี้อย่างเพียงพอแล้ว ก็ออกไปมันก็คุ้มค่าหรือเกินค่าในการที่ลงทุนบวช เราก็ได้รับประโยชน์ เพื่อนของเราก็ได้รับประโยชน์ บ้านเมืองก็ได้รับประโยชน์เพราะมีแต่คนที่ไม่มีความทุกข์ เมื่อไม่มีเวทนา เอ้อ, เมื่อเวทนาไม่หลอก ไม่ไม่ใช่เวทนาโง่หลอกให้หลงรัก หลงเกลียด แล้วก็ไม่มีตัณหาอย่างใดๆก็ไม่มีอุปาทานเกิดขึ้นได้ ไม่มีความรู้สึกว่าตัวกูของกูเกิดขึ้นได้ มันก็ไม่มีภพไม่มีชาติ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ไม่เอามายึดถือว่าเป็นของเรา ของจิต จิตก็เลยไม่เป็นทุกข์ จิตก็เลยไม่เป็นทุกข์ ร่างกายมันจะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ช่างหัวมัน มันเป็นเรื่องของร่างกาย กูไม่เป็นทุกข์ก็แล้วกัน นี่มันมีอยู่อย่างนี้ที่จะไม่ให้ร่างกายเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันก็เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ามันเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วก็ขอให้เป็นของธรรมชาติเถิด เป็นของร่างกายที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย เถิดอย่าให้เป็นตัวเราขึ้นมา
เรื่องเรื่องนี้เรื่องลึกที่สุดเป็นเรื่องสูงสุดของพระพุทธศาสนา เรียกว่าความไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะว่ายึดมั่นถือมั่นแล้วต้องเป็นทุกข์ทุกกรณีไม่ยกเว้นอะไรเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ เรื่องลึก เรื่องตื้น ถ้ายึดมั่นแล้วเป็นทุกข์ทั้งนั้น เรื่องเด็กก็เป็นทุกข์อย่างเด็ก เรื่องผู้ใหญ่ก็เป็นทุกข์อย่างผู้ใหญ่ เรื่องคนแก่คนเฒ่าก็เป็นทุกข์ อย่างคนแก่คนเฒ่าเพราะยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนจึงเป็นทุกข์ มีชีวิตอยู่ชนิดที่ไม่เกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน นี่เรียกว่าชีวิตนี่เย็น เพราะยึดมั่นถือมั่นก็เกิดกิเลสก็ร้อนเป็นไฟกิเลส กิเลสให้เกิดทุกข์ก็ร้อนเป็นไฟทุกข์ จำไว้อีกสองคำว่าไฟกิเลสเกิดขึ้นก็ทำผิด เมื่อผัสสะเกิดตัณหาอย่างหนึ่งก็เป็นโลภะ เกิดตัณหาอย่างหนึ่งก็เป็นโทสะ เกิดตัณหาอย่างหนึ่งก็เป็นโมหะ เกิดไฟกิเลสขึ้นมาแล้วมันก็ร้อน จิตใจนี้น่ะ อัตภาพนี้ทั้งหมดนี้ก็ร้อนเพราะไฟกิเลส ไฟกิเลสทำให้เกิดทุกข์ก็มันร้อนเพราะความทุกข์ โดยเฉพาะกิเลสที่ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนของตนน่ะ มันก็ไปยึดเอาอะไรมาเป็นตัวตนของตน มันก็หนักและเป็นทุกข์ กระทั่งว่าเกิด แก่เจ็บ ตาย ก็มาเป็นของตนแล้วมันก็เป็นทุกข์ นี่มันเนื่องกันเห็นไหม ถ้ามีกิเลสมันก็ทุกข์เพราะกิเลสคือร้อนเพราะราคะโทสะโมหะก็ร้อนๆไปเถิด แล้วมันเลยต่อนั้นไปกิเลสมันไปเป็นเหตุให้ไปหลงยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนเป็นของตน ไปยึดมั่นถือมั่นเอาอะไรมามันก็เป็นทุกข์เพราะเหตุนั้น แล้วมันยึดมั่นถือมั่นได้ทั้งโลกเลยมันยึดมั่นถือมั่นได้ทั้งโลกเลย ไอ้สิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นมันยึดมั่นได้ทั้งโลกเลย แต่ท่านสรุปให้สั้นๆเข้ามาให้เหลือเพียงห้า เรียกว่าขันธ์ห้า เมื่อจิตรู้สึกอยู่ในรูปมีรูปก็เรียกว่ารูปขันธ์ รู้สึกอยู่ในเวทนาก็เรียกเวทนาขันธ์ รู้สึกในความหมายมั่นในเวทนานั้นก็เรียกว่าสัญญาขันธ์ คิดนึกอยู่ด้วยสิ่งนั้นก็เรียกว่าสังขารขันธ์ รู้แจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เรียกว่าวิญญาณขันธ์ มันรู้แจ้งทางตา ทางหู เสร็จแล้วมันยังมารู้แจ้งทางใจ อีกทีหนึ่ง แล้วมาหลงทำผิดเกี่ยวกับเรื่องทางใจ ตอนนี้ล่ะเป็นทุกข์เป็นทุกข์ถึงที่สุด ฉะนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นน่ะจำไว้ในฐานะเป็นสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึด ยึดรูปยึดร่างกายยึดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เองนี่มันก็ง่าย เห็นง่ายล่ะ แต่ครั้นเกิดเป็นเวทนาแล้วยึดเวทนาอีก เวทนาเป็นตัวกูเป็นของกูอีก เวทนาปรุงให้เกิดสัญญาก็ยึดมั่นเป็นตัวกูของกูอีก สัญญาปรุงให้เกิดสังขาร สังขารขันธ์น่ะ ก็ยึดมั่นเป็นตัวกูของกูอีก วิญญาณนั้นมีอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ข้างต้นตรงกลางข้างปลาย มีวิญญาณเกิดขึ้นทางตาในรูปทีหนึ่งแล้วก็มีวิญญาณทางใจเกิดขึ้นในเวทนา เป็นสุขเป็นทุขก์เป็นต้น กระทั่งมีความรู้สึกอย่างอื่นๆก็มีมโนนั้นก็สัมผัส และรู้สึกต่อธรรมารมณ์นั้นมีวิญญาณ มีมโนวิญญาณเรื่อยไปๆๆตลอดสาย
ถ้าไม่ศึกษาให้ดีสังเกตให้ดีจะไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าขันธ์ห้า ได้แต่ท่องได้ แต่ท่อง แต่ไม่รู้จักตัวจริง ฉะนั้นอย่าให้ท่องเปล่า ท่องว่ารูปก็ให้รู้ว่ารูปคืออะไร อย่างไรมีอยู่ที่ตัวเราอย่างไร เวทนาก็คืออะไรอย่างไรมีอยู่อย่างไร สัญญาอย่างไร สังขารอย่างไร วิญญาณอย่างไร ให้มันรู้แจ้งทั้งห้าแหล่ะ โลกทั้งสิ้นมันเข้ามาในทางรูปแล้วก็มาปรุงเป็นเรื่องทางใจทั้งนั้น ไม่ว่าเรื่องอะไรไม่ว่าสิ่งใด เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ ถ้ามันไม่เข้าไปถึงในจิตใจแล้วไม่มีปัญหาหรอก เดี๋ยวนี้มันเข้าไปปรุงแต่งในภายในในจิตใจเป็นเวทนาบ้าง เป็นสัญญาบ้า ง เป็นสังขารบ้าง เป็นวิญญาณบ้างแต่ละอย่างละอย่าง พอยึดถือเข้าแล้วหนักอึ้งไปเสียทั้งนั่นแหล่ะ การยึดถือขันธ์ทั้งห้าเรียกว่าปัญจุปาทานักขันธ์ ก็เป็นความทุกข์ อย่างที่สวดมนต์สวดบทสวดมนต์อยู่นั่นแหล่ะ สังขิตเตนะปัญจุปาทานักขันธาทุกขา โดยสรุปแล้วเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่โดยอุปาทานเป็นตัวทุกข์ของภายนอกในโลกทั้งโลกทั้งจักรวาลไม่รู้กี่ล้านกี่แสนอย่าง มันเข้าผ่านเข้าไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันก็เข้าปรุงเป็น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ภายในเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือก็เป็นทุกข์ ที่เรียกว่าปรุงแต่งคือสังขาร ในความหมายที่ว่าปรุงแต่งอารมณ์ผ่านเข้าไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไปปรุงแต่งเป็น เวทน าสัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีความทุกข์ เพราะการปรุงแต่งนั่นทีนี้ว่ามันปรุงแต่งตามธรรมชาติ คนไม่รู้มันก็ไม่อาจจะหยุดการปรุงแต่ง เพราะมันโง่เมื่อผัสสะ จึงต้องเรียนให้รู้เรื่องนี้ เป็นสติปัญญามาควบคุมผัสสะไม่ให้โง่ เมื่อกระทบผัสสะแล้วมันก็ไม่มีการปรุงแต่งชนิดที่จะเป็นทุกข์ นี่เรื่องของกิเลสและสิ่งที่เนื่องเกี่ยวเนื่องกันอยู่กับกิเลส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นตัวเปิดประตูรับเอาเรื่องต่างๆภายนอกเข้ามาปรุงแต่งในภายในเป็นกิเลสก็ได้เป็นขันธ์ต่างๆก็ได้แล้วแต่จะเรียกชื่อ เมื่อมีการปรุงแต่งแล้วมันก็ปรุงแต่งไปในทางเกิดความทุกข์ทั้งนั้น มันไม่มีการปรุงแต่งไหนที่จะไม่เป็นความทุกข์ จะต้องหยุดการปรุงแต่งนั้นเสีย อย่างบทสวดเขาสวดศพได้ยินคำว่า เตสังวูปะสะโมสุขโข ความระงับแห่งสังขารเป็นความสุข หมายถึงระงับการปรุงแต่งไม่ให้เกิดการปรุงแต่งอย่างที่ว่า เมื่อตะกี้นั่นแหล่ะ ไม่ให้ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นผัสสะ เวทนา อุปาทาน ภพ ชาติ ไม่ให้มีการปรุงแต่งอย่างนั้นแหล่ะเรียกว่า เตสังวูปะสะโมสุขโข ระงับการปรุงแต่งเหล่านั้นเสียได้เป็นความสุข ต้องมีสติปัญญาพอตัวมีความรู้สึกไว ทันอารมณ์ที่เข้ามากระทบ ฉลาดเมื่อมากระทบมันก็หยุดการปรุงแต่งเสียได้ ถ้าไม่ฉลาดเมื่อมากระทบมันก็ปรุงแต่งต่อไปจนถึงความทุกข์ มันก็จมอยู่กับความทุกข์ เรื่องนี้ฟังดูยึดยาวลึกซึ้้งหรือเข้าใจยาก แต่ไม่เหลือวิสัยถ้าตั้้งอกตั้งใจจริงเอาจริงศึกษาจริงก็เข้าใจได้
พระพุทธเจ้าท่านไม่ตรัสเรื่องเหลือวิสัย ถ้าเหลือวิสัยมันก็ไม่มีประโยชน์แก่ใคร การตรัสนั้นก็เป็นหมันเปล่า ดังนี้พระพุทธเจ้าจึงไม่ตรัสเรื่องเหลือวิสัย แต่คนโง่ๆมันมาเห็นเอาเองว่าเหลือวิสัย กูทำไม่ได้ กูก็ไม่ทำ กูก็ไม่สนใจ อย่างนี้มันก็ได้เป็นทุกข์ไปจนตาย ฉะนั้นเราสนใจที่จะเข้าใจ วันนี้ไม่เข้าใจก็เข้าใจวันหลังๆ ศึกษาเรื่อยไป อย่ายอมแพ้ แม้ว่าจะละเพศบวชชั่วคราวนี้ไปแล้วยังอยู่ที่บ้านก็หาเวลาศึกษาต่อไปเถิดให้มันรู้ยิ่งขึ้นๆๆ มันต้องรู้ได้อย่างแน่นอน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในฐานะเป็นเรื่องของมนุษย์ แล้วเราก็เป็นมนุษย์นี่ไม่ใช่ว่าเราเป็นแมว เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเราก็ควรจะเข้าใจได้ เราก็จะช่วยกันบ้างช่วยกันจดช่วยกันจำ ช่วยกันพูด ช่วยกันปรึกษาหารือ ช่วยกันตักเตือน ช่วยกันอย่างนี้มันก็ง่ายเข้าหรือเร็วเข้า ความเป็นเพื่อนกันมันก็มีประโยชน์หลายๆคนก็ยิ่งมีประโยชน์ไม่ใช่มาเกะกะ ทะเลาะ เบาะแว้งทุ่มเถียงกันให้เสียประโยชน์ เป็นอันว่าเรื่องของกิเลสนั้นทำได้ คือการที่จะควบคุมกิเลสนั้นทำได้ไม่เหลือวิสัย การละกิเลสนั้นยิ่งขึ้นไปแต่ก็ไม่เหลือวิสัยถ้าเอาจริง
เดี๋ยวนี้เรามันไม่มีเวลาที่จะไปเอาจริงกับการละกิเลสโดยสิ้นเชิง แล้วก็พยายามสนใจในการที่จะควบคุมกิเลสมีสติปัญญาควบคุมกิเลส มีชีวิตอยู่ด้วยสติปัญญา สติคือความระลึกได้คือระลึกเอาปัญญามาจัดการกับเรื่องที่มันเกิดขึ้น ปัญญารู้สิ่งที่ควรรู้ รู้เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุแห่งทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ เรื่องทางให้ถึงการดับทุกข์ ก็รู้ความจริงเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้ความที่สังขารปรุงแต่งแล้วเป็นทุกข์ ไม่ปรุงแต่งแล้วไม่เป็นทุกข์ รู้ความจริงเหล่านี้กระทั่งรู้ว่าโอ้, มันเป็นเช่นนี้เอง มันเป็นเช่นนี้เอง ทุกอย่างเป็นไปตามกฏเกณฑ์เช่นนี้เอง นี่เรียกว่าปัญญา พอมีอะไรเกิดขึ้นสติไประลึก เอาปัญญามาได้ทันท่วงทีความคิดจิตใจมันก็ตั้งอยู่ปกติ หรือคิดไปถูกต้อง ดำเนินไปอย่างถูกต้อง ไม่ต้องเป็นทุกข์ เรื่องมีหลักเกณฑ์อย่างนี้
ฉะนั้นจงมีชีวิตอยู่ด้วยสติปัญญา มีสติในการที่จะรับอารมณ์ สัมผัสอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ก็มีสติต้อนรับอารมณ์ คือมีสตินำเอาปัญญามาแล้วผัสสะก็ไม่โง่ มันก็เป็นผัสสะฉลาด มันก็ไม่เป็นผัสสะโง่ เวทนาโง่ตัณหาโง่ อะไรต่อไป มีชีวิตอยู่ด้วยสติ อย่าประมาท อย่าอวดดี ให้ระลึกถึงความจริงความถูกต้องให้ทันท่วงทีไว้เสมอ ธรรมะนั้นน่ะสำคัญจะต้องเข้าใจแจ่มแจ้ง แตกฉาน ตามสมควรพอมีอะไรเกิดขึ้นสติระลึกนึกธรรม นึกถึงธรรมะได้ทันที เรื่องกิเลสมันเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ ฉะนั้นสติก็ต้องเร็วเหมือนสายฟ้าแลบเหมือนกันมัน จึงจะทันกัน ถ้ามัวงุ่มง่ามอยู่มันก็ไม่ทันกับกิเลส กิเลสก็เกิดขึ้นเผารนไหม้ไหม้เกรียมไปหมด เรามีชีวิตอยู่ด้วยสติ อย่าประมาทเลย ทีนี้ทำผิดไปบ้างแล้ว ความทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็มีสตินั่นแหล่ะอีก มีสติรู้อ้าวนี่ความทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็มีสติระลึกขึ้นได้ทันทีว่ามันทำผิดอย่างไร ทำผิดตอนไหนก็ทำเสียให้มันถูก คือหยุดและกลับเรื่องมันเสียให้กลายเป็นเรื่องที่ดับทุกข์ลงไป ป้องกันทุกข์ ป้องกันความทุกข์ก็ป้องกันด้วยสติมีสติ เมื่อมีอะไรมาเกี่ยวข้องอย่าให้เกิดกิเลสอย่าให้เกิดเป็นทุกข์ เมื่อแก้ไขกิเลสก็ต้องด้วยสติอีกเหมือนกัน สติไปเอาปัญญามาให้เพียงพอแก้ไขกิเลสหรือดับกิเลส
รวมความว่าจะป้องกันกิเลสก็ต้องด้วยสติ จะดับกิเลสที่เกิดขึ้นก็ต้องด้วยสติ เพราะคำว่าสติสตินี่มันหมายถึงมีปัญญารวมอยู่ในนั้นด้วย สตินี้ที่จริงก็เป็นเหมือนเครื่องขนส่งเป็นยานพาหนะเครื่องขนส่งเท่านั้น ตัวมันเองเป็นหน้าที่เพียงขนส่งคือไปเอาปัญญามาให้ทันท่วงทีขนส่งปัญญาเอามาให้ทันท่วงที เมื่อรับอารมณ์ก่อนจะเกิดทุกข์ก็มีสติ เผลอเกิดทุกข์แล้วก็มีสติที่จะรู้และขจัดมันเสีย เรามีสติก็หมายความว่าทั้งปัญญาด้วย มีสติปัญญาเรียกว่ามีสติ สติเฉยๆมันก็ไม่มีความหมายอะไร สติมีความหมายขึ้นมาเพราะมันไปนำเอาปัญญามา ครั้นเอาปัญญามาได้แล้วให้ปัญญาคอยคุมเชิงคุมเชิงอยู่ตรงนั้น ปัญญาที่คอยคุมเชิงอยู่ตรงนั้นเรียกว่าสัมปชัญญะ มันป็นเรื่องเดียวกันสติระลึกได้คือระลึกเอาปัญญามา เอาปัญญามาแล้วก็คุมเชิงอยู่อย่าให้ไปไหนเสียก็เรียกว่าสัมปัญชัญญะ สัมปัญชัญญะกับปัญญานั้นเป็นเรื่องเดียวกัน คือรู้ทุกสิ่งที่ควรจะรู้ รู้อยู่เฉยๆ เรียกว่าปัญญา รู้ในขณะที่เข้าด้ายเข้าเข็มจะเกิดทุกข์นี่เรียกว่าสัมปัญชัญญะ สามารถที่จะป้องกันและแก้ไขการเกิดขึ้นแห่งกิเลสได้ เราจงมีสติสัมปัญชัญญะหรือปัญญา สามอย่างนี้ให้ทันแก่เหตุการณ์
แต่ท่านมักจะเรียกสั้นๆ ด้วยคำสั้นๆว่ามีสติ มีสติ แต่คอยรู้เถิดว่าถ้ามีสติแล้วมันจะมีสัมปชัญญะ มีปัญญา สติไปนำเอาปัญญามาทำให้เป็นสัมปชัญญะแล้วคอยคุมเชิงอยู่ที่จะเล่นงานกิเลสที่จะไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นไม่ให้กิเลสรุกลาม เพียงแต่มีผัสสะมันยังไม่เกิดกิเลส แต่ถ้าไม่มีสติมาควบคุมอยู่ในความถูกต้องแล้ว มันก็ปรุงกิเลสจนเกิดกิเลส นี่เรียกว่าทำผิดเมื่อกระทบผัสสะแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ มีความถูกต้องเมื่อกระทบผัสสะแล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ความทุกข์เกิดที่จิตก็ต้องผิดเมื่อกระทบผัสสะ ความทุกข์เกิดไม่ได้ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ จำไว้ว่ามันเป็นหลักอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ว่าจำไว้เฉยๆมันต้องไปรู้จักด้วย เข้าใจด้วย รู้จักด้วยว่าผัสสะคืออะไร สติคืออะไร อะไรคืออะไร นี่เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนๆๆในขณะที่เป็นโอกาสที่จะเรียน ครั้นเรียนแล้วก็เอาไปคิดไปนึกไปทบทวนให้มันแจ่มแจ้ง ให้มันเข้าใจรู้จักตัวเอง ให้มันรู้จักชีวิต รู้จักอัตภาพนี้ว่าเป็นอย่างไร ควบคุมกันอย่างไรก็จะได้ควบคุมจิต ควบคุมชีวิตนี้ให้อยู่ในลักษณะที่ถูกต้องไม่เกิดความทุกข์เลยนั่นแหล่ะ คือประโยชน์ของการมีธรรมะของการใช้ธรรมะ
ในการบวชนี้มันก็เพื่อสะดวกอย่างยิ่งในการศึกษาธรรมะถ้าอยู่ที่บ้านมันไม่สะดวกก็เสียเวลาสักคราวหนึ่งบวชเพื่อศึกษาธรรมะเสียให้เพียงพอสำหรับจะไปใช้จนตลอดชีวิต เรียกว่าได้เกิดมาโชคดีรู้เรื่องความดับทุกข์และดับทุกข์เสียได้ ไม่เสียทีที่ได้พบพระพุทธศาสนา ดังนั้นทุกคนคงจะมองเห็นได้ด้วยตนเองแล้วว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่พิธีรีตรอง ไม่ใช่ทำแต่พิธีรีตรอง ไม่ใช่ว่าทำพิธีบวชแล้วความทุกข์จะดับไป มันต้องจัดการกับกิเลส ต้องรู้จักจัดการกับกิเลส ให้มันถูกควบคุมให้มันถูกแก้ไข ให้มันถูกชำระชะล้างให้มันถูกเพิกถอนไปอย่างสิ้นเชิง นี่พูดเรื่องความทุกข์อันเกี่ยวกับกิเลส
แต่ความทุกข์อันเกิดจากการไปยึดถือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหลือข้อสุดท้าย ก็ความทุกข์ที่ว่ามันเกิดตามธรรมดาโลกเป็นอุบัติเหตุ ดังนี้ก็ต้องต่อสู้ได้ ต้องมีความรู้ต่อสู้ได้ คือต่อสู้ด้วยความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาว่ามันเป็นอย่างนั้นเองโลกนี้จะต้องเป็นอย่างนี้เองคือไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา รวมความแล้วเรียกว่า มันเช่นนั้นเอง ถ้ามันจะต้องเกิดน้ำท่วมใหญ่ตายกันหมด ไฟไหม้ใหญ่ตายกันหมด แผ่นดินไหวใหญ่ตายกันหมด ระเบิดประมาณูลงมาตายกันหมดก็ช่างหัวมัน เราไม่เป็นทุกข์ก็แล้วกัน จิตใจรู้ว่ามันเช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเอง ไม่เป็นทุกข์เลยตั้งแต่แรก มันก่อตั้งต้นขึ้นมา ตั้งต้นขึ้นมา รู้ว่ามันต้องเป็นอย่างนี้แล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เช่นเดียวกับรู้ว่าจะต้องตายอย่างนี้จะต้องตายอย่างนี้ก็อย่าเป็นทุกข์ เพราะมันเช่นนั้นเอง ถึงจะต้องตายกันโดยบังเอิญตายกันมากๆตายกันทั้งบ้าน ทั้งเมือง หรือทั้งโลกก็ตามใจ กูไม่เป็นทุกข์กับมัน รู้ว่ามันเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง นี่ธรรมะสูงสุดที่ดับทุกข์ได้ แม้เป็นความทุกข์ชนิดที่มหาศาลที่เหลือวิสัยของคนๆเดียวจะแก้ไขได้ อย่างนี้มันก็ไม่ใช่ความผิดของเรา ไม่ใช่กิเลสของเราทำให้เป็นทุกข์ มันเป็นอุบัติเหตุตามธรรมชาติ แล้วมันก็เช่นนั้นเองตามธรรมชาติ จิตนี้ดับไปไม่เป็นทุกข์ ตายนี้คือจิตนี้ดับไปแล้วก็ไม่เป็นทุกข์ก็แล้วกัน ถ้ามันเป็นทุกข์ตั้งแต่ก่อนตายแล้วก็ตายลงไปด้วยความทุกข์นี่มันน่าสงสาร มันไม่ได้อะไรเลย ก่อนตายก็ไม่เป็นทุกข์ จะตายอยู่ก็ไม่เป็นทุกข์ ตายลงก็ไม่เป็นทุกข์นั่นแหล่ะผลอันเลิศ ผลอันประเสริฐของการรู้ธรรมะ
เอาล่ะทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องหลักใหญ่ เป็นเรื่องเค้าเงื่อน เป็นเรื่องโครงสร้างของธรรมะให้รู้จักว่าธรรมะนั้นเป็นอย่างไร เวลาพูดสำหรับชั่วโมงเดียวนี่ก็พูดได้เฉพาะโครงสร้างทั้งหมดโดยรายละเอียดของส่วนไหนไปศึกษาเอาเรื่อยๆไปให้รู้โดยรายละเอียดในทุกๆส่วนที่มันประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างเป็นหลักธรรมะที่มีอยู่อย่างที่กล่าวมานี้ เข้าใจโดยหลักสรุปอย่างนี้แล้ว มันก็ง่ายที่จะไปหารายละเอียดเอาเอง นี่ขอให้รู้หนทางที่จะศึกษาต่อ ไปเรียนไว้เดี๋ยวนี้สำหรับแก้ไขปัญหาจนตลอดชีวิต ฟังให้ดีๆว่า เรียนเดี๋ยวนี้เพื่อจะแก้ไขปัญหาจนตลอดชีวิต ศึกษาสองสามชั่วโมงปฏิบัติสองสามร้อยปีก็ไม่หมด ศึกษาสองสามชั่วโมงให้รู้จริงปฏิบัติได้จนตลอดชีวิต ขอให้สำเร็จประโยชน์อย่างที่ว่ามานี้ทุกคน ถ้ามีเวลาวันหลังจะพูดเรื่องอื่นโดยรายละเอียด วันนี้เป็นวันแรกก็พูดเรื่องโครงสร้างทั้งหมดของสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ความดับทุกข์ ของสิ่งที่เรียกว่ากิเลส และความทุกข์ของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต จิตใจ ประกอบอยู่ด้วยขันธ์ห้า มีกระแสแห่งการเกิดความทุกข์เป็นอย่างไรนี่ชัดเจนแจ่มแจ้งเถิด เขาเรียกว่าอิทัปปัจจยตาบ้าง ปฏิจสมุป-บาทบ้าง วิธีการที่ความทุกข์จะเกิดขึ้นอย่างไร เราศึกษาไว้ดีๆสามารถป้องกันสามารถแก้ไขแล้ว เอาชนะความทุกข์ได้ในชีวิตนี้ ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา การบรรยายสมควรแก่เวลาวันนี้ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้