แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ก็ยังคงพูดเรื่องสิ่งที่จะรู้ไว้เพื่อสะดวกแก่การศึกษาธรรมะต่อไปในอนาคต ก็พูดเรื่องธรรมะนั่นแหละ แต่พูดให้เห็นในแง่ที่ว่ามันมีอย่างไร จากอะไร เพื่ออะไร เป็นต้น จนเราสามารถจะศึกษาเรื่องเกี่ยวกับธรรมะได้ต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นหัวข้อสำหรับพูดในวันนี้มีว่า “ธรรมะกับสิ่งที่เรียกว่าชีวิต” คือธรรมะกับสิ่งที่เรียกว่าชีวิต รู้จักธรรมะดี รู้จักชีวิตดี แต่แล้วจะสำเร็จประโยชน์ในการที่จะมีธรรมะโดยง่าย และโดยสะดวก และสามารถดำรงตนอยู่อย่างที่เรียกว่า “ธรรมะชีวี” จำคำว่า “ธรรมะชีวี” ไว้ด้วย คือ “ธรรมะ” คำหนึ่ง “ชีวิต” คำหนึ่ง “ธรรมะชีวี” อีกคำหนึ่ง เข้าใจคำทั้ง 3 นี้ไว้เป็นหลัก สำหรับศึกษาเรื่องธรรมะให้ละเอียดพิสดารสืบต่อไป
สิ่งแรกที่จะบอก หรือให้สนใจก็คือ คำว่า “ธรรมะ” นั่นเอง คุณเรียนเท่านี้ ศึกษาเท่านี้ ก็ได้ยินมาเพียงเท่านี้ว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถามว่าธรรมะคืออะไร ก็ตอบว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันก็ถูกนะไม่ใช่ผิด แต่มันถูกไม่หมด เพราะว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ธรรมะนี่เขามีพูด มีสอน มีพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดโน่น คือมีธรรมะในลัทธิอื่น ในคนพวกอื่น หรือแม้แต่ในครูบาอาจารย์ระดับที่ต่ำลงมาก็พูดถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ดังนั้นการที่จะพูดว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นน่ะมันถูกไม่หมด มันถูกน้อยไป ควรจะศึกษาให้ถึงที่สุดว่าธรรมะนั่นคืออะไร ที่เขาพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า แล้วในสมัยพระพุทธเจ้า คำนี้ก็ยังใช้พูดอยู่ในหมู่ประชาชน เมื่อเขาพบปะกัน ประชาชนก็ถามถึงกันว่าท่านชอบใจธรรมะของใคร บางคนก็บอกว่าชอบใจธรรมะของพระสมณะโคดม บางคนก็ตอบว่าชอบใจธรรมะของวิสันกันนาตบุตร (นาทีที่ 4:00) บางคนก็ตอบว่าข้าพเจ้าชอบใจธรรมะของสันชายะเวละทบุตร (นาทีที่ 4:05) อย่างนี้เป็นต้น นี่หมายความว่าเมื่อเขาพูดกันอยู่นี่ ภาษาธรรมดาเขาว่าธรรมะนั่นหมายถึงอะไรอื่นมากไปกว่าที่จะเป็นเพียงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่ถ้าพูดกันแต่ภายในวงของพุทธบริษัท และก็ไม่เอาอะไรให้มากนัก เอาเฉพาะในวงแคบๆ นี่ ก็จะพูดได้ว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่เป็นข้อที่ว่าควรจะรู้กันไว้ แล้วจะได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั่นกว้างขวาง ครบถ้วน ถูกต้อง คือถ้าว่าธรรมะ ธรรมะนี่ ในภาษาอินเดีย ประเทศอินเดียที่เป็นเจ้าของภาษานี่ เขาแปลว่าหน้าที่ ธรรมะนี่เขาไม่ได้แปลว่าคำสั่งสอนของคนนั้นคนนี้ มันจะแปลว่า (น่า นาทีที่ 5:17) คำสั่งสอนก็ได้ก็เป็นกลางๆ ภาษาบาลีก็ยิ่งแปลได้หลายอย่าง ธรรมะคือธรรมชาติ และที่ถือกันเป็นหลักทั่วไปในหมู่ประชาชน กระทั่งนักเรียน คำว่าธรรมะ มันแปลว่าหน้าที่ เรื่องนี้อย่าทำเล่นกับมัน มันจะทำให้โง่ต่อสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ แล้วก็คุยโวกันไปอย่างโง่เขลา เข้าใจว่ามันจะเป็นคำพูด และคำแรกที่มนุษย์ได้พูดขึ้นเมื่อได้สังเกตเห็นสิ่งซึ่งเราเรียกกันในบัดนี้ว่าหน้าที่ ไอ้ที่เราเรียกกันในภาษาไทยว่าหน้าที่ หน้าที่ คนสมัยดึกดำบรรพ์ คนป่า คนครึ่งคนป่า โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย มันก็ได้สังเกตเห็นสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ หน้าที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่ทุกคนจะต้องทำ และมันก็เอ่ยปากเรียกออกมาว่าธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ มีความหมายเท่ากับว่าหน้าที่ หน้าที่ในภาษาไทย คำว่าธรรมะก็คือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตทุกชีวิตแหละ เพราะว่าชีวิตไหนไม่ทำหน้าที่มันก็ตายเท่านั้นแหละ ทีนี้ธรรมะคำนี้ถ้าเอากันอย่างภาษาศาสตร์ อักษรศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ คำว่าธรรมะ แปลว่าสิ่งที่ทรงไว้ไม่ให้พลัดตกลงไป คำว่าธรรมะถ้าเอาตามรากของศัพท์ก็คือรากศัพท์ที่ว่าพละ พละ แปลว่าทรงขึ้นไว้ไม่ให้พลัดตกลงไป มันก็เข้ารูปกันแหละกับที่มนุษย์ดึกดำบรรพ์ได้สังเกตเห็นว่า เอ้อ มันมีหน้าที่ที่จะต้องทำ เมื่อทำหน้าที่แล้วมันก็ไม่พลัดตกลงไปสู่ความทุกข์ยากลำบาก ความชั่ว หรือความตาย ธรรมะมันมีรากศัพท์ว่าสิ่งที่ทรงไว้ไม่ให้ตกลงไป ความหมายมันก็อย่างเดียวกับหน้าที่ หน้าที่ ถ้าเราทำหน้าที่ หน้าที่ก็ทรงไว้ไม่ให้ตกลงไป ลองไม่ทำหน้าที่ ไม่กินอาหาร ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ คราวนี้มันก็ตายแล้วแหละ นี่มันส่วนร่างกาย ทีนี้ในส่วนจิตใจต้องทำให้มันถูกต้อง ถ้ามันไม่ถูกต้องมันก็ตกลงไปสู่ปัญหา ความทุกข์ทางใจ เป็นเรื่องทางจิตใจ นับตั้งแต่นอนไม่หลับ เป็นโรคประสาท เป็นโรคจิต เป็นบ้า นี่มันตกลงไปที่นั่น อย่างนั้น นี่ถ้ามีการทำหน้าที่ มันไม่เป็นอย่างนั้น นี่คือข้อที่ว่าธรรมะกับหน้าที่คือสิ่งเดียวกัน คำว่าธรรมะหมายถึงหน้าที่ หน้าที่หมายถึงธรรมะ นี่จะเห็นได้ว่าเราอยู่ได้ด้วยธรรมะ เพราะว่าเราอยู่ได้ด้วยหน้าที่ พอเกิดมาก็มีหน้าที่ แล้วก็ปฎิบัติหน้าที่อยู่ตลอดมา นั่นก็คือปฎิบัติธรรมะอยู่ตลอดมา แต่ไม่มีใครบอกว่านั่นคือธรรมะ เพราะว่ามันถือเอาใจความของคำว่าธรรมะไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ เราเกิดมาจากท้องมารดาก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำ ทั้งที่ไม่ยังๆไม่รู้อะไร ยังเป็นทารกแท้ๆ มันก็ต้องทำ ต้องกิน ต้องถ่าย ต้องทุกอย่างเหมือนที่เขาจะต้องทำให้ หรือทำเองก็ตามใจ แล้วมันก็ทำมากขึ้นๆ จนเป็นเด็กโต เป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาว ก็ทำหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่มากขึ้นๆ นั่นคือธรรมะทั้งนั้น ดังนั้นเป็นอันว่าเราได้ประพฤติธรรมะอยู่ตลอดเวลา และก็โดยไม่รู้สึกตัว และก็ไม่รู้คุณของธรรมะ กลายเป็นสัตว์เนรคุณไปก็ได้ ก็ไม่รู้คุณค่าของธรรมะว่าคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ เข้าใจว่าคงจะได้เล่าเรียนมาในโรงเรียน ในวิทยาลัยอะไรก็ตามถึงคำว่าหน้าที่ หน้าที่ กันมาพอสมควรแล้ว ในที่นี้ก็เพียงแต่อยากจะให้สังเกตเห็นอย่างครบถ้วน นับตั้งแต่ว่าหน้าที่ของคน แล้วก็หน้าที่ของสัตว์เดรัจฉาน หน้าที่ของต้นไม้ ศึกษาทั้งหลาย มันมีหน้าที่ทั้งนั้น ถ้ามันไม่ทำหน้าที่มันตายทั้งนั้น คือคนลองไม่ได้ทำหน้าที่อย่างคนมันก็ตาย สัตว์เดรัจฉานก็เหมือนกัน เมื่อมันไม่ได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องมันก็ตาย ต้นไม้ ต้นไร่นี่ก็เหมือนกันเมื่อไม่ได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องของต้นไม้มันก็ตาย ดังนั้นมันจึงทำหน้าที่กันเต็มที่ ที่จะรอดชีวิตอยู่ได้ นี่เขาเขียนไว้ว่าต้นไม้นี่กลางวันคายออกซิเจน กลางคืนคายคาร์บอนไดออกไซด์ หมายความว่ามันทำงานตลอดวันตลอดคืน มันเก่งกว่ามนุษย์ ซึ่งทำงานเพียงสัก 8 ชั่วโมงก็บ่นแล้ว เราจะต้องรู้ว่าไอ้ธรรมชาติ ธรรมชาติ แล้วก็กฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ผลที่เกิดจากหน้าที่ 4 ประการนี้ที่พูดถึงกันแล้วเมื่อคืนน่ะ เมื่อคืนที่แล้วมาน่ะ ใน 4 ความหมายนั้นมันมีความหมายที่ 3 ว่าธรรมะคือหน้าที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ นี่เราก็จะต้องระมัดระวังให้หน้าที่นั้นถูกต้อง ถ้าผิดหน้าที่ไม่ถูกต้องมันก็กลายเป็นไม่ใช่หน้าที่คือไม่ใช่ธรรมะ มันก็เกิดปัญหาอย่างอื่นขึ้นมา อย่างพวกอันธพาล จี้ปล้นขโมย เขาก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของเขา ไปทำอย่างนั้นมันก็ถูก มันเป็นธรรมะของอันธพาล ธรรมะของคนอันธพาล ไม่ใช่ธรรมะของไอ้คนทั่วไป นี่เราจะต้องรู้ได้ในตัวว่าหน้าที่ หน้าที่นี้คือถูกต้อง หน้าที่ที่ถูกต้อง ที่นี้คำว่าถูกต้อง ถูกต้องนี่ไม่ต้องจำกัดความ ขยายความอะไรกันให้มันยุ่ง เหมือนการศึกษาสมัยใหม่มันยุ่ง ถูกต้องอันนี้หมายความว่าไม่ทำอันตรายใคร และทำประโยชน์แก่ทุกฝ่ายนั่นแหละถูกต้อง การกระทำที่ไม่ทำอันตรายใคร และเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายนั่นแหละคือความถูกต้อง ถ้ามีหน้าที่ที่ถูกต้องก็ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และก็ไม่ไปทำอันตรายเบียดเบียนใคร ถ้าใครประพฤติอยู่อย่างนี้ก็เรียกมีธรรมะอย่างถูกต้อง สมบูรณ์อยู่ในตัวเอง ถ้าไม่ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ก็คิดดูสิว่าจะเป็นอย่างไร มันจะต้องตาย ถ้าไม่ตายก็อยู่อย่างเต็มไปด้วยปัญหา คือความทุกข์ทรมานทุกอย่างทุกประการ ดังนั้นถ้าใครมีชีวิตชนิดที่เป็นความทุกข์ทรมานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ก็ช่วยตรวจสอบดูให้ดี ตรวจสอบดูให้ดี เพราะมันต้องมีอะไรผิด ทำหน้าที่ผิดตามกฎของธรรมชาติ แม้ที่สุดแต่จะเรื่องกินอาหาร เรื่องอาบน้ำ เรื่องถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ อะไรก็ตามที่มันเป็นเรื่องง่ายๆ ธรรมดาๆ นี่เอง มันก็ต้องถูกต้อง จึงจะไม่ทำให้เกิดปัญหา หลักธรรมะมีง่ายนิดเดียวเอาให้ถูกต้องหรือดี คือไม่ทำอันตรายใครแล้วก็เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย อยากจะให้กำหนดสังเกตให้มากตรงข้อที่ว่าเราน่ะมันรอดชีวิตมาจนถึงวันนี้เพราะธรรมะ คือหน้าที่ที่เราได้กระทำมาอย่างถูกต้อง ตั้งแต่อ้อนแต่ออกมาจากท้องมารดาเติบโตเรื่อยมาจนทุกวันนี้มันรอดชีวิตอยู่ได้ ก็เพราะสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่อย่างถูกต้อง ดังนั้นหน้าที่มันจึงคู่กันมากับชีวิต หน้าที่นั้นเรียกว่าธรรมะก็ได้ ดังนั้นธรรมะก็เป็นสิ่งที่คู่กันมากับชีวิต แต่คนไม่ได้สนใจและไม่ได้พยายามจะเข้าใจ แต่มันก็ลำบากนะเมื่อการศึกษามันไม่มี มันก็ไม่ได้รู้ ไม่ได้เรียน ก็เลยเป็นคนนอนหลับไม่รู้ ไม่รู้คุณค่าของธรรมะ เลยกลายเป็นสัตว์เนรคุณไปโดยไม่รู้ตัว และต้องได้รับโทษ คือมีชีวิตอยู่อย่างเดือดร้อน มีชีวิตอยู่อย่างกระวนกระวายระส่ำระส่ายอยู่ทั่วๆ ไป นี่จึงว่าถ้ามันมีอะไรที่เป็นความเดือดร้อนเป็นทุกข์อยู่ในจิตใจรีบดูให้ดี ดูให้ครบว่ามันทำหน้าที่อะไรไม่ถูกต้องอยู่บ้าง มันจะมีประโยชน์ ชีวิตทุกชนิดในแต่ละชนิดเกือบทุกระดับต้องมีสิ่งนี้ มีหน้าที่ที่ถูกต้อง หรือมีธรรมะ ถ้ามีหน้าที่ หรือธรรมะถูกต้องแล้วมันก็รอด รอด รอด ธรรมะนี่มีผลเป็นความรอด หน้าที่นี่ก็มีผลเป็นความรอด อีกทางหนึ่งก็คือสิ่งสูงสุดที่ช่วยให้รอด ดังนั้นธรรมะจึงเท่ากับพระเจ้า หน้าที่ที่เราทำนี่ก็เท่ากับพระเจ้าจึงจะช่วยเรารอด ทุกคนจึงต้องทำหน้าที่ พวกเทวดาก็ต้องทำหน้าที่ พวกพรหมก็ต้องทำหน้าที่ อย่าอวดดีไปเลย ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ต้องตายจุติจากภาวะนั้น มนุษย์ก็ต้องทำหน้าที่กันทุกระดับนับตั้งแต่มหาจักรพรรดิ์ลงมาถึงคนธรรมดา ชาวนาชาวสวนต้องทำหน้าที่ พ่อค้าประชาชนต้องทำหน้าที่ ข้าราชการทำหน้าที่ กรรมกรก็ทำหน้าที่ คนขอทานก็ทำหน้าที่ จึงมองเห็นได้ว่าธรรมะมีแก่ทุกคน นับตั้งแต่คนขอทานขึ้นมาทีเดียว ถ้าคนขอทานประพฤติธรรมะคนขอทานคือขออย่างดีขออย่างถูกต้องตามวิธี ไม่ ไม่เท่าไหร่หรอกคนขอทานนั้นก็พ้นสภาพคนขอทาน กลายไปเป็นคนตั้งตัวได้ คนกรรมกรชั้นต่ำ ถีบเรือ ถีบสามล้อ แจวเรือจ้าง ล้างท่อถนน อะไรก็ตามมันก็มีธรรมะ มีหน้าที่ ดังนั้นเมื่อเขาทำหน้าที่นั้นๆ อย่างถูกต้องคือมีธรรมะนั่นเอง ไม่เท่าไหร่ก็พ้น พ้นจากสภาพอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เขาไม่ทำอย่างถูกต้องนี่ เขาทำอย่างเอารัดเอาเปรียบ เขาทำอย่างแต่ว่าเอาเงินให้มากทำงานให้น้อย ได้เงินมาก็เอาไปทำอบายมุขหมดจนไม่ได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องอย่างถูกต้อง ครอบครัวก็เดือดร้อน อย่างนี้มันก็เดือดร้อนหนักขึ้นไปอีก ถ้ากรรมกรชนิดไหนก็ตามทำหน้าที่อยู่อย่างถูกต้อง ไม่เท่าไหร่ก็จะพ้นจากภาวะกรรมกร ชาวนาชาวสวนยิ่งเห็นได้ชัด ชาวนาทำนาชาวสวนทำสวน ก็เรียกว่าประพฤติธรรม ประพฤติธรรมะอันเป็นหน้าที่ ถ้าประพฤติตรงตามหน้าที่แล้วก็ไม่มีลักษณะที่น่ารังเกียจ แม้คนค้าขายไม่คดโกง เป็นทนายความก็ไม่คดโกง เรียกว่าทำหน้าที่ถูกต้องและบริสุทธิ์ มันก็เป็นธรรมะไปหมด ข้าราชการไม่คดโกง ไม่คดโกงงาน ไม่คดโกงเวลา ไม่คดโกงอะไรหมด ก็มีคนดีโดยทั่วไป ขึ้นไปถึงพระราชา มหากษัตริย์ พระจักรพรรดิ์ก็ทำหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ ตามหน้าที่ ปัญหามันก็จะหมด นี่พอจะสรุปใจความสั้นๆได้ว่า การปฎิบัติหน้าที่คือการปฎิบัติธรรม นี่ผมท้าว่าเป็นความจริงอย่างนี้ การปฎิบัติธรรมคือการปฎิบัติหน้าที่ การปฎิบัติหน้าที่คือการปฎิบัติธรรม ถ้าไม่จริงอย่างนี้ยอมให้มาด่า สักเดือนก็เอา นั่งด่านี่ ถ้ามันไม่จริงอย่างนี้ การทำหน้าที่นั่นแหละคือการปฎิบัติธรรม การปฎิบัติธรรมก็คือการทำหน้าที่ ที่ไหนมีหน้าที่ที่นั่นมีธรรมะ ที่ไหนมีหน้าที่ที่นั่นมีธรรมะ เวลาไหนมีหน้าที่เวลานั้นมีธรรมะ ดังนั้นเมื่อนั่งถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะอยู่ก็มีธรรมะ คือธรรมะชื่อนั้น ขอให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่อันละเอียดแล้วก็มีชื่อเรียกอย่างหนึ่งว่าธรรมะ มีการทำหน้าที่ที่ถูกต้อง หน้าที่เพื่อความรอด ที่ไหนล่ะก็มีธรรมะที่นั่น ไม่ใช่ว่าในโบสถ์แล้วจะมีธรรมะเสมอไป โบสถ์บางโบสถ์มีแต่นั่งสั่นเซียมซีกับอ้อนวอนขอร้องรดน้ำมนต์กัน โบสถ์อย่างนี้ไม่มีธรรมะ แต่ในทุ่งนา ควายกำลังไถนาอยู่นั่น กำลังมีธรรมะ ธรรมะของควาย คือธรรมะของชาวนาที่กำลังคุมให้ควายไถนาอยู่นั่นแหละคือธรรมะ อย่าเอาไอ้สมมติอะไรให้มันเป็นหลักกันนัก เอาความจริงกันบ้าง ที่ไหนมีการทำหน้าที่ที่นั่นมีธรรมะ เราจึงมีธรรมะตลอดเวลา จัดให้มีธรรมะตลอดเวลา คือมีการทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลา คือรู้จักว่าหน้าที่ที่ทำถูกต้อง แล้วก็พอใจ พอใจ พอใจ ยินดี เป็นสุข อยู่นี้เรียกว่าธรรมะชีวี ธรรมะชีวี ช่วยจำกันไปด้วยเถิดจะเป็นคำที่มีประโยชน์ตลอดเวลา เป็นธรรมะชีวี คือมีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะ มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ มีธรรมะอยู่ในชีวิตจนเป็นสิ่งเดียวกัน ก็อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วว่าธรรมะก็คือชีวิต ชีวิตก็คือธรรมะ เพราะว่ามันอยู่ได้ด้วยหน้าที่ ชีวิตมันอยู่ได้ด้วยธรรมะหรือหน้าที่ ฉะนั้นเรามาศึกษาเอาเองในชั้นนี้ ชั้นต้นๆ อย่างนี้ ศึกษาเอาเองว่าอะไรเป็นหน้าที่ ถ้าจะต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ต้องทำงาน ต้องทำงานก็ได้ปัจจัยมาเลี้ยงชีวิต นี่เป็นหน้าที่ใหญ่ฝ่ายร่างกาย แล้วก็ศึกษาเรื่องทางจิตใจ ปฎิบัติให้ถูกต้องในทางจิตใจ มีจิตใจสงบเย็นเป็นชีวิตนิพพาน นี่มันก็เป็นหน้าที่ฝ่ายจิตใจ แต่มันไม่ใช่มีแต่เพียงใหญ่ๆ เรื่องใหญ่อย่างนั้นเพียงเรื่องเดียว มันมีทุกเรื่องมันกระจายออกมาเป็นทุกเรื่อง แม้แต่เพียงร่างกายนี่เราจะต้องกระทำกี่อย่างให้มันถูกต้อง เราต้องนอนให้ถูกต้อง แล้วก็ต้องตื่นนอนขึ้นมาอย่างถูกต้อง รู้สึกพอใจว่ามันถูกต้องในการนอน พอใจ และเป็นสุข ก็ไปล้างหน้า รวมเป็นหน้าที่ที่จะต้องล้างหน้า ก็พอใจที่จะล้างหน้าให้ดีที่สุด เพราะว่าการล้างหน้านั้นก็เป็นการปฎิบัติธรรมะ จึงตั้งใจทำให้ดีที่สุดในการล้างหน้า รู้สึกว่าถูกต้อง ถูกต้อง แล้วก็พอใจ พอใจ พอใจแล้วก็เป็นสุข เป็นสุข แม้แต่การล้างหน้า ก็ทำให้เกิดความพอใจแบบเป็นสุข ล้างหน้าแล้วไปไหน เอ้า ไปห้องส้วม ก็พอใจว่าหน้าที่ที่จะต้องทำให้ดีที่สุด ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะให้ดีที่สุด ทุกๆ ขั้นตอนของการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะให้ถูกต้องตามธรรมตามวินัย ตามอะไรให้หมดทุกอย่าง เอ้า เมื่อหน้าที่ถูกต้องเป็นธรรมะ ประพฤติธรรมะแม้นั่งถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ขออภัยอย่าพูดว่าคนโง่คงมองไม่เห็น เพราะทำอย่างหวัดๆ ทำอย่างหยาบๆ ทำอย่างเป็นอันตรายเลอะเทอะไปหมด จะทำอย่างดีที่สุดมันก็กลายเป็นว่านั่งถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะให้ดีที่สุดนั่นก็คือการปฎิบัติธรรมะ ชื่อนั้นเวลานั้น อย่างนั้น ทำดีที่สุด สะอาดที่สุดอะไร แล้วก็รู้สึกว่าถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้ว แล้วก็รู้สึกพอใจ พอใจ พอใจ พอใจแล้วก็รู้สึกว่าเป็นสุข เป็นสุข เป็นสุข ถูกต้อง พอใจ และเป็นสุข มันจะมา 3 ขั้นตอนอย่างนี้เสมอ ถ้าจะไปอาบน้ำก็ต้องมีสติ ต้องรู้นะ อาบน้ำเป็นหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ดังนั้นต้องทำให้ดีที่สุด อาบน้ำให้ดีที่สุด อย่าทำอย่างคดโกงตัวเอง ทุกๆ ทุกท่า ทุกอากัปกิริยาในการอาบน้ำทำดีที่สุด มีผลดีที่สุด แล้วก็รู้สึกว่าถูกต้อง ถูกต้อง พอใจ พอใจ เป็นสุข เป็นสุข เป็นเรื่องอาบน้ำ นี่สมมติตัวอย่างธรรมดานะ ที่นี้ก็ไปกินอาหาร ไปในห้องอาหาร หิวแล้วก็รู้สึกว่าเป็นอาหาร ก็ต้องกินแหละ แล้วก็ต้องกินอย่างถูกต้อง ถูกต้องในของที่กิน ถูกต้องในกิริยาอาการที่กิน ถูกต้องในการบริหารทุกอย่าง กินอาหารก็เป็นการปฎิบัติธรรมะ ถ้ามีสติสัมปะชัญญะอยู่อย่างที่พระปัจจเวกขณ์ กันอยู่แล้วก็ยิ่งเป็นธรรมะมากขึ้น เป็นการเรียนธรรมะมากขึ้นแม้ในขณะที่กินอาหารนั่นเอง นี่เห็นได้ว่าแม้แต่นั่งกินอาหารอยู่นี่ ทุกคำเคี้ยวอยู่ทุกครั้งที่เคี้ยวนั่นน่ะให้มีสติรู้สึกว่ามันเป็นธรรมะเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฎิบัติให้ถูกต้อง อย่าทำอย่างรวกๆ ทำอย่างกิเลส บางทีไม่เคี้ยวก็กลืนเข้าไป มัน มันไม่ได้รู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ดีที่สุด มันถูกต้องที่สุด จะทำอะไรต่อไปก็เรื่องกินอาหารนี่มันถูกต้องแล้ว พอใจแล้ว เป็นสุขแล้ว ทีนี้ก็แต่งตัวไปทำงาน เอ้า แต่งตัวไปทำงาน ก็รู้หน้าที่ว่ามันจะต้องแต่งตัว ก็ต้องแต่งตัวให้ถูกต้องให้เรียบร้อยให้ดีที่สุด ก็ลงบันได ทุกก้าวถูกต้องแล้ว พอใจ ไปขึ้นรถ แล้วก็ไปทำงาน ทำงานอยู่ในความรู้สึกว่าถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและพอใจ จนกว่าจะเลิกงาน ทำในใจให้ดีที่สุด ประณีตที่สุดก็ควรจะเคารพ แสดงความเคารพในการงาน พอจะเข้าไปในห้องทำงานพนมมือให้ห้องทำงาน หลับตากำหนดความหมายของการทำงาน พนมมือให้แก่ห้องทำงาน แก่โต๊ะทำงาน อยากจะพูดว่าพอชาวนาเอาควายไปถึงนาแล้ว กำลังจะครอบจะไถนาแล้วยกมือไหว้ควาย ไหว้ไถ เพราะมันเป็นอุปกรณ์การทำงาน มันเป็นการทำงานซึ่งเป็นการปฎิบัติธรรมะ นับตั้งแต่จูงควายมา เอาไถครอบเข้า แล้วก็ให้ควายมันเดิน แล้วก็เดินตามหลังควาย ทุกอิริยาบถมันเป็นธรรมะ เคารพต่อสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ถ้าอย่างนี้แล้วมันจะไม่มีอันตรายทางกาย และทางใจ ทำอะไร ทำให้มันเป็นธรรมะไปเสียให้หมด นี่เรียกว่าธรรมะชีวี ทั้งเนื้อทั้งตัวเป็นธรรมะ ทุกครั้งที่หายใจเป็นธรรมะ ทุกครั้งที่เคลื่อนไหวมันเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นอารมณ์ มีสติกำหนดอยู่ที่ตัวธรรมะ หรือความถูกต้องนั้นตลอดเวลา ถ้าจะเรียกให้มียศมีเกียรติก็เรียกว่าธัมมานุสติ ในอนุสติ 10 มี พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ถ้าทำอย่างที่ว่านี่ ทำอย่างที่ว่านี่มันเป็นพุทธานุสติ นึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ธัมมานุสติ ปฎิบัติตามพระสงฆ์ สังฆานุสติ ที่นี้ถ้าว่ามันรู้สึกโอ้ถูกต้อง พอใจ แล้วเป็นสุข เป็นสุข เป็นสุขในการกระทำนั้น มันยิ่งเป็นอุปสมานุสติ มีสติในนิพพาน อุปสมะที่แปลว่าความสงบ นั้นหมายถึงพระนิพพานเป็นคำๆ เดียวกัน เป็นการทำสติในนิพพาน คิดดูสิมันได้ประโยชน์มหาศาล จะกี่มากน้อย มันเป็นธรรมะไปเสียทุกกระเบียดนิ้ว ที่เนื้อที่ตัว ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ทุกวินาที ก็เลยมีธรรมะเต็มไปทั้งเนื้อทั้งตัว ระวังให้ตลอดวันตลอดคืนเป็นไปอย่างนี้ บอกตัวเองได้ว่าถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้ว ทำถูกต้องแล้ว แล้วก็พอใจในความถูกต้องแล้วก็เป็นสุข พอถึงเวลาจะนอน ปิดวัน วันจะสิ้นวัน ถึงเวลาจะนอน ก็ใคร่ครวญดูตลอดวันมาตลอดทั้งวันมาล้วนแต่มีความถูกต้อง พอใจ และเป็นสุข ยกมือไหว้ตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเอง ไม่ไหว้ควายแล้วทีนี้ ยกมือไหว้ตัวเองนั่นแหละคือสวรรค์ ขอบอกกล่าวให้ทุกคนๆ นี่รู้ว่าไอ้สวรรค์ที่แท้จริงนี่นั่นคือทำความพอใจจนยกมือไหว้ตัวเองได้ เมื่อใดเกลียดตัวเองเมื่อนั้นเป็นนรก ทำอะไรลงไปแล้วก็ดูแล้วโอ้มันเกลียดตัวเองนี่มันเป็นนรก ทำแล้วเป็นที่พอใจตัวเองยกมือไหว้ตัวเองได้เมื่อนั้นเป็นสวรรค์ นี่คือนรกสวรรค์ชนิดที่เป็นสันทิฏฐิโก สันทิฏฐิโก อะกาลิโก มันอยู่ที่ตรงนี้ นรกสวรรค์แต่ตายแล้วไม่มีใครรับประกัน ก็ว่าตามๆ กันไปเท่านั้นก็ได้ แล้วมันไม่ได้รู้สึกด้วยตน ไม่เป็นสันทิฏฐิโก มันจำกัดเวลา มันก็ไม่เป็นอะกาลิโก รู้ไว้เถอะว่าเมื่อไรยกมือไหว้ตัวเองได้เมื่อนั้นเป็นสวรรค์ เมื่อใดเกลียดตัวเองเมื่อนั้นเป็นนรก แท้จริง แท้จริงที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ตามบทธรรมะที่ว่าสันทิฏฐิโก อะกาลิโก ส่วนนรกสวรรค์ต่อตายแล้วนั้นอย่าไปแตะต้องเลย ไม่ต้องนึกถึงก็ได้ เพราะว่าถ้ามีนรก ถ้าไม่ตกนรกอย่างที่ว่านี้แล้วไม่ตกนรกที่ไหนหมด ตายแล้วไปกี่ครั้ง กี่ครั้ง ถ้าได้สวรรค์ยกมือไหว้ตัวเองได้อย่างนี้แล้วมันก็ตายแล้วไปได้สวรรค์ มันก็ได้สวรรค์ทุกชนิด ไม่ต้อง ไม่ต้องไปนึกถึงสิ่งที่มันไม่เป็นอะกาลิโก สันทิฏฐิโก รู้สึกต่อนรกสวรรค์ที่เป็นสันทิฏฐิโก อะกาลิโก ให้มีแต่สวรรค์ นึกขึ้นมาว่าดีที่สุด ยกมือไหว้ตัวเองที่ไหน เวลาไหนก็เป็นสวรรค์ที่นั่นเวลานั้น ในห้องทำงานก็ได้ หรือเมื่อทำงานชิ้นเอกชิ้นดีเสร็จไป ยกมือไหว้ตัวเองก็เป็นสวรรค์ แต่ว่าพอค่ำลงถึงเวลาที่จะนอน และคิดบัญชีรวมกันหมดสักทีนึง มีแต่ความถูกต้อง พอใจตัวเอง รู้สึกเป็นสุข ยกมือไหว้ตัวเอง อยู่กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริง อยู่กับพระนิพพานที่แท้จริง หรือจะอธิบายเป็นอนุสติทั้ง 10 ไปทั้งหมดก็ได้ ไม่ใช่ ไม่ต้องแกล้งทำหรอกมันมีความจริงรวมอยู่ในนั้น เดี๋ยวนี้เอาแต่เพียงว่ามีสติในนิพพาน ในความเย็น เพราะไม่มีกิเลสก็พอแล้ว มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงอยู่ที่เนื้อที่ตัว อย่างนี้คือธรรมะชีวี มีชีวิตอยู่กับธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะ ที่ขอร้องว่าช่วยจำคำว่า “ธรรมะชีวี” ไว้ดีๆ เพราะมันมีความหมายอย่างนี้ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้รอด จะคุ้มครองไม่ให้เกิดความทุกข์ทุกอย่างทุกประการ เป็นธรรมะชีวี อยู่กับธรรมะ เหมือนกับที่เคยอยู่กับธรรมะมาแล้วโดยไม่รู้สึกตัว นั้นมันยังโง่มันยังหลับอยู่ เป็นทารกคลอดมาจากท้องแม่ก็ต้องทำหน้าที่โดยไม่รู้สึกตัว คือปฎิบัติธรรมะอยู่โดยไม่รู้สึกตัว ครั้นมาเดี๋ยวนี้มันโตแล้ว โตแล้ว โตแล้วนี่มันรู้อะไรเป็นอะไรมันก็มองเห็น ก็ปฏิบัติธรรมะ หรือหน้าที่โดยที่รู้สึกตัว ทำให้ดียิ่งขึ้น ทำให้ดีที่สุด ทำให้ดีสุดความสามารถ มันก็เป็นการปฏิบัติธรรมะโดยรู้สึกตัว ที่ชีวิตคือธรรมะ ธรรมะคือชีวิตเป็นอย่างนี้ ชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องอยู่กับธรรมะ ธรรมะเป็นสิ่งที่ต้องอยู่กับชีวิต หวังว่าเรื่องนี้คงจะเป็นแนวสังเขปแนวทั่วๆ ไปสำหรับให้เข้าใจธรรมะทั้งหลายได้ละเอียดลออยิ่งขึ้น ขอให้จดจำเอาไว้ และศึกษาแนว ศึกษาวิธีที่จะทำตนให้มีธรรมะต่อไปในอนาคตนั้นอย่างไร แล้วก็ทำได้จริง ทำได้จริง โดยความรู้สึกของตนเองว่าทำได้จริง มีธรรมะเป็นที่พึ่งก็คือมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง การสำรวมระวังอย่างนั้นอยู่มันย่อมเป็นศีลเป็นทาน เป็นอะไรอยู่ในตัวหมด ขอให้กำหนดไว้แนวหนึ่งว่ามันมีอยู่อย่างนี้ ว่าชีวิตนี่ต้องประกอบไปด้วยธรรมะ จึงจะรอด และจึงจะเจริญ
พูดถึง “ความรอด” ก็เป็นคำๆ หนึ่งที่ควรจะจำไว้ ว่ามันมีความหมายกว้างมาก ไม่ใช่เพียงแต่รอด รอดตาย รอดเอ่อ... รอดอย่างเอาตัวรอดอย่างนั้นน่ะ มันเป็นอันธพาลก็ได้ คำว่า “รอด” รอดนี่มันต้องถูกต้อง ต้องถูกต้องตามหลักของศาสนาแล้วทุกศาสนาเขามีวัตถุที่มุ่งหมายเป็นความรอดด้วยกันทั้งนั้น เรียกชื่อต่างๆ กันตามภาษาของศาสนานั้นๆ แต่ความหมายเดียวกันคือความรอด ศาสนาไหนก็ตามไปศึกษาดูเถิดมันจะพบข้อที่เรียกว่าความรอด ตั้งอยู่เป็นจุดหมายปลายทาง เราจงรู้ว่าไอ้ทุกศาสนา หรือศาสนานั้นมันเพื่อความรอด แต่มันรอดเองเฉยๆ ไม่ได้ มันต้องทำหน้าที่ ทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม และมันก็รอดจริงเหมือนกัน รอดถึงขณะที่ว่าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เรื่องนี้ก็อย่าโง่กันให้มากนักว่าถึงกับไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายตามตัวหนังสือ อย่าโง่ถึงขนาดนั้น มันเพียงแต่ว่าไอ้ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายไม่เป็นปัญหากับเราอีกต่อไป ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายนั่นไม่บีบคั้นจิตใจเราต่อไป ความเกิด แก่ เจ็บ ตายนั้นไม่เป็นความทุกข์แก่จิตใจของบุคคลชนิดนี้ต่อไป อย่างนี้เรียกว่าพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พระพุทธเจ้าได้ตรัสปฏิปทาสำหรับรอดพ้นความเกิด แก่ เจ็บ ตายไว้ ก็คือ อัษฎางคิกมรรค อริยมรรคมีองค์ 8 ประการนั่นแหละเป็นธรรมประเสริฐ มันยังมีจิตใจอยู่เหนืออิทธิพล หรือเหนือความหมายของความเกิด แก่ เจ็บ ตายนี่ พระบาลีมีกล่าวไว้ตรงๆ อย่างนี้แต่เขาไม่เอามาสอนกันเอง เมื่อประพฤติมีอริยมรรคมีองค์ 8 ประการอย่างที่สวดกันอยู่ ก็เรียกว่ามีสัมมัตตะ8 เพียงเท่านี้เรียกว่ามีสัมมัตตะ 8 เป็นส่วนเหตุ ครั้นมีสัมมัตตะ8 เป็นส่วนเหตุแล้ว ก็จะมีมีสัมมัตตะเป็นส่วนผลอีก 2 คือสัมมาญาณะ และสัมมาวิมุตติ รวมกันเป็นมีสัมมัตตะ10 พระองค์ตรัสว่านี่คือสิ่งที่ทำให้สัตว์พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ข้อที่ตรัสว่า ถ้าได้อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ที่มีความเกิดเป็นธรรมดาจะพ้นจากความเกิด สัตว์ที่มีความแก่เป็นธรรมดาจะพ้นจากความแก่ สัตว์ที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาจะพ้นจากความเจ็บไข้ สัตว์ที่มีความตายเป็นธรรมดาจะพ้นจากความตาย หมายความว่า ประพฤติปฏิบัติในสัมมัตตะ 10 นี่ทรงระบุไว้ตรงๆ อย่างนี้ ที่ว่าอาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรก็เพื่อจะปฏิบัติจนเกิดมีสัมมัตตะ10 แล้วมันก็ไม่มีตัวตนที่จะแก่ จะเจ็บ จะตาย มันไม่มีความรู้สึกโง่เขลา ยึดถือเป็นตัวตนที่จะเกิด จะแก่ จะเจ็บ จะตาย มันเลยหมด หมดเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ยังมีชื่อเรียกแปลกๆ สัมมัตตะ10 นี่มีการบรรยายไว้มากแต่ไม่ค่อยเอามาสอนกัน ชื่อหนึ่งเรียกว่า “วิเรจนะ” วิเรจนะ วิเรจนะนี่แปลว่า ยาถ่าย กินแล้วถ่ายอริยมรรคมีองค์ 8 หรือสัมมัตตะ 8 เป็นยาถ่าย ถ่าย ถ่ายกิเลสและความทุกข์ บางทีก็เรียกว่า วมน แปลว่า อาเจียน ยากินให้อาเจียน สำรอกให้อาเจียน ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นสัมมัตตะ 8 แล้วมันก็อาเจียน เอาไอ้สิ่งที่เป็นโทษ เป็นทุกข์ออกมา บางทีก็เรียกว่า “โทวะนะ” โทวะนะ แปลว่าล้างบาป น้ำล้างบาป พวกอื่นมีน้ำล้างบาปอย่างอื่นลงไปในแม่น้ำล้างบาปก็ตามใจเขา ในพุทธศาสนานี้มีการล้างบาป เอาน้ำมาล้างบาปตรงที่ประพฤติอริยมรรคมีองค์ 8 ประการ ซึ่งเรียกชื่อตรงๆ เหมือนกับศัพท์วิทยาศาสตร์ว่าความถูกต้อง 8 ประการ สัมมัตตะ 8 นี่คือธรรมะแหละ ธรรมะคือความถูกต้อง ถ้าแจกออกไปในลักษณะที่ควรจะรู้ ควรจะทำ ควรจะมีคำว่า 8 “สัมมาทิฏฐิ” มีความเห็นถูกต้อง “สัมมาสังกัปปะ” มีความปรารถนาถูกต้อง “สัมมาวาจา” มีการพูดจาถูกต้อง “สัมมากัมมันตะ” มีการงานถูกต้อง “สัมมาอาชีวะ” ดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง “สัมมาวายามะ” พากเพียรอยู่อย่างถูกต้อง “สัมมาสติ” ระลึกอยู่อย่างถูกต้อง “สัมมาสมาธิ” มีความ มีจิตตั้งมั่นอยู่อย่างถูกต้อง เป็นถูกต้อง 8 ประการ เรียกว่า สัมมัตตะ คือความถูกต้อง 8 ประการ หากปฏิบัติได้ถึงขนาดนี้ก็มีธรรมะชีวี เป็นธรรมะชีวีเต็มขนาด เต็มความหมาย ถึงขนาดที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ ตื่นขึ้นกิเลส ธรรมะชีวีในอันดับสุดท้ายก็สิ้นกิเลสก็เป็นพระอรหันต์ ขอให้สนใจกันให้สำเร็จประโยชน์ตามที่เราได้เป็นพุทธบริษัท นับถือพระพุทธศาสนา จงปฏิบัติหน้าที่อย่าให้มีหน้าที่อะไรบกพร่อง ไม่มีหน้าที่ต่ำหน้าที่สูงเพราะว่าหน้าที่นั้นเป็นธรรมะหมด ธรรมะของคนขอทาน และธรรมะของมหาจักรพรรดิ์ก็เป็นธรรมะเหมือนกัน ไม่ต้องมีต่ำมีสูง ก็เป็นธรรมะ ธรรมะ ธรรมะเหมือนกัน อย่าละเลยหน้าที่ ทำหน้าที่ทุกชนิด ทุกอย่าง ทุกประการ แม้ว่าแต่ว่าจะช่วยล้างจาน ช่วยถูบ้าน ช่วยทำอะไรกัน อย่างนี้ก็เรียกว่าหน้าที่ หรือธรรมะ ไม่ต้องรังเกียจ
นี่เป็นแนวสำหรับวันลาสิกขาออกไปแล้ว เพราะว่าจะมีแนวของธรรมะที่ยึดถือไว้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน แน่นอน เป็นคนดีที่สุด ทำหน้าที่ ทำหน้าที่ ทำหน้าที่ เพราะเป็นธรรมะมันก็รู้สึกสนุก เมื่อรู้สึกว่าเป็นธรรมะมันก็พอใจ จึงทำงานได้สนุก เพราะงานคือธรรมะ หน้าที่คือธรรมะ งานคือธรรมะ เพราะงานคือธรรมะคือสิ่งที่ช่วยให้รอดมันก็พอใจ พอใจแล้วก็เป็นสุข ที่นี้มาถึงคำว่า “สุข” ขอให้สนใจถูกต้องคำว่าสุข สุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้เงินซื้อ ก็คือพอใจที่ได้ทำงานในฐานะที่งานนั้นคือธรรมะนั่นเอง เป็นสุขตลอดเวลาที่ทำงาน จิตใจมันอิ่มไปด้วยความสุขแล้วมันก็ไม่ต้องการอะไรที่เป็นเรื่องหลอกลวง การไปสถานเริงรมย์ สถานกามรมย์นั้นไปหาความเพลิดเพลินที่หลอกลวง แต่คนโง่มันเรียกว่าความสุข ความเพลิดเพลินที่หลอกลวงไม่ใช่ความสุข มันเป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ซึ่งมันต้องซื้อด้วยเงินแพงมากจนบางทีวินาศไปเพราะเหตุความสุข ความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ความสุขที่แท้จริงนี่คือความพอใจ ได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ทำ คือปฏิบัติธรรมะ คือปฏิบัติความถูกต้องอยู่ตลอดไป ก็พอใจ พอใจก็เป็นสุข นี่คือความสุขที่แท้จริง สมกับคำว่าสุขหรือความสุข ส่วนกามารมย์เป็นต้นนั้นไม่มีความหมายแห่งความสุข มีความหมายแห่งความเพลิดเพลิน แล้วความเพลิดเพลินนั้นหลอกลวงด้วย นี่ขอให้จำไว้เป็นหลักตายตัวว่าไอ้ความสุขที่แท้จริงซื้อไม่ได้ด้วยเงิน มีทำจิตใจ กาย วาจา ให้มันถูกต้อง และก็พอใจ แล้วก็เป็นสุข นี่คือความสุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้เงิน เรื่องกามารมย์เรื่องอบายมุขทั้งหลายนี่ต้องใช้เงิน ใช้มาก และก็ได้มาเพียงความเพลิดเพลินที่หลอกลวง แต่คนก็บูชากันนัก แสวงหาเงินไว้มากแล้วก็ว่าจะหาความสุข แล้วก็ไปหาความสุขที่เรื่องความเพลิดเพลินที่หลอกลวง อย่างนี้เป็นกันทั้งโลก เราก็กำลังจะไปเป็นกะเขาด้วยระวังให้ดี บทสวดที่พระสวดเป็นพุทธภาษิตตอนนี้ว่า นิพพานน่ะให้เปล่า เมื่อนิมนต์พระไปสวดเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้าน หรือที่ไหนก็ตาม ถ้ามันมีการเจริญพระพุทธมนต์ 7ตำนาน 2 ตำนาน มันจะมีประโยคหนึ่งที่สวดไปด้วยว่า (ปุญยะมานา นาทีที่ 50:52) นั่นแหละมีสวดบทนี้ ว่าเมื่อประพฤติอย่างนี้แล้วย่อมได้นิพพาน นิพพุติง คือนิพพานมาบริโภคอยู่เปล่าๆ (มุทา นาทีที่ 51:07) ได้เปล่า ได้ฟรี ได้ไม่ต้องเสียสตางค์ (ลัดทา นาทีที่ 51:10) ที่นี่ก็มีหลัก ตามพระบาลีก็มีหลัก แต่เอาถ้าเราไม่เชื่อ ไม่เชื่อ แต่เพียงว่ามันมีคำพูดอยู่ เราจะเชื่อตรงที่เราเห็นจริง เรามองเห็นจริงว่าอะไรเป็นทุกข์สุขจริง อะไรเป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวง แล้วความสุขที่แท้จริงนั่นน่ะมันซื้อด้วยเงินไม่ได้ มันซื้อด้วยเงินไม่ได้ มันใครจะขายได้ ใครจะซื้อได้ ต้องทำตนให้เป็นธรรมะชีวี มีความถูกต้อง รู้สึกอยู่ในสติสัมปะชัญญะของตนตลอดเวลาเป็นธรรมะชีวี นี่มีนิพพานได้เปล่าไม่ต้องเสียสตางค์ ฉะนั้นผู้ที่มีความสุขที่แท้จริงนั้นเงินจะเหลือเยอะแยะไปหมดไม่รู้จะเอาไปทำอะไร คนโง่ที่ไปหลงความเพลิดเพลินที่หลอกลวงเงินก็ไม่พอใช้ ไม่ถึงหัวเดือนท้ายเดือนมันก็ต้องเดือดร้อน ต้องคดโกง ต้องคอรัปชั่น ต้องเอาจนวินาศไปเลย เพื่อได้ความเพลิดเพลินที่หลอกลวง จึงขอร้องให้แยกออกจากกันให้เด็ดขาดไปว่าความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างหนึ่ง แต่ความเพลิดเพลินที่หลอกลวงนั่นมันอีกอย่าง อย่าเอาไปปนกันเข้า พอปนกันเข้ามันก็โง่ แล้วมันก็วินาศน่ะ แสวงหาความสุขที่แท้จริงเรื่อยๆไป มันไม่ต้องใช้เงิน มันก็เหลือก็เอาไปใช้อย่างอื่นก็ได้จะไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน ถ้ามีความสุขที่แท้จริง ถ้าไปบูชาความเพลิดเพลินที่หลอกลวงแล้วมันก็จะต้องเป็นทุกข์ เหมือนตกนรกทั้งเป็น อยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ นี่คือคำว่า “ธรรมะชีวี” มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะคืออย่างนี้ ธรรมะคู่กับสิ่งที่มีชีวิต เมื่อชีวิตมีธรรมะแล้วก็เป็นธรรมะชีวี ช่วยจำคำ 3 คำไว้ดีๆ ว่า ธรรมะเป็นหน้าที่ ธรรมะและชีวิตเป็นสิ่งที่คู่กันอยู่กับธรรมะ ครั้นมีธรรมะแล้วก็เรียกว่าธรรมะชีวี คำสั้นๆ เพียง 3 คำมีความหมายมากคือคำว่า “ธรรมะ” คำหนึ่ง คำว่า “ชีวิต” คำหนึ่ง และคำว่า “ธรรมะชีวี” อีกคำหนึ่งเป็น 3 คำ ถ้ามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ดีก็ทำไม่ผิดในเรื่องเหล่านี้แล้วจบ จบการศึกษา จบพรหมจรรย์ จบในที่มันจะต้องศึกษา หรือประพฤติปฏิบัติ เพราะมันเป็นธรรมะชีวี มันไม่มีความทุกข์ และหวังว่าคงจะจำแนวสังเขปอันนี้ ที่มันมีอยู่อย่างนี้ ในฐานะเป็นกฎของธรรมชาติ เป็นหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติซึ่งจะเว้นไม่ได้ จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงขอให้พยายามให้ชนะ เอาชนะให้ได้ ชนะปัญหาให้ได้ ชนะกิเลส ชนะความทุกข์ให้ได้ มีชีวิตเป็นธรรมะแล้วอยู่เป็นสุขทุกทิพพาราตรี
นี่การบรรยายสมควรแก่เวลา ขอยุติการบรรยายไว้เพียงแค่นี้
พระอาจารย์พุทธทาส: คืนนี้ไม่มีปัญหา
โยม: มีปัญหาจะเรียนถาม
พระอาจารย์พุทธทาส: เอ้า เอ้าว่าไป
โยม: เรื่องของธรรมารมณ์ว่า ธรรมารมณ์นี่นี้เป็นอายตะภายนอกที่จิตของเรานี้ปรุงแต่งขึ้นมาเองหรือเปล่า
พระอาจารย์พุทธทาส: ธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ คุณหมายถึงธรรมะ ถามธรรมะเรื่องธรรมารมณ์ใช่ไหม (... นาทีที่ 55:54) อาศัยข้างนอก และเหตุปัจจัยข้างนอก ที่ได้เคยผ่านมาแล้ว ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มันไปเก็บไว้ ไปเป็นสัญญา เป็นความจำที่มัน เอามาใช้ปรุงเป็นเรื่องภายในใจ โดยไม่ต้องเกี่ยวกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในเวลานี้ แต่นี้เป็นธรรมารมณ์ มันก็จัดเป็นนาม เพราะมันเป็นคู่กับธรรมารมณ์ เป็นเรื่องของใจ ทั้งใจ และธรรมารมณ์ นั่นก็เป็นเรื่องของใจ ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้ง 5 คู่นี้เป็นเรื่องของไอ้ กาย ของ รูป
โยม: ถ้าเกิดไอ้ธรรมารมณ์นี่ เป็นสิ่ง เป็นเรื่องของใจน่ะครับ เราจะสามารถบังคับไม่ให้ธรรมารมณ์นี่มันเกิดขึ้นได้
พระอาจารย์พุทธทาส: อ้าว ก็พูดมาตั้งนานแล้ว พอมันมากระทบเกิดขึ้นแล้วก็ มีสติรู้สึกทันท่วงที โอ้มันสักว่าทันกระทบกันทางใจ (... นาทีที่ 57:07) อาศัยความจำในอดีต หรืออะไรที่เก็บเอามาเป็นอารมณ์ ก็เท่านั้นเองแหละ ก็สักว่า ธรรมารมณ์ สักว่าผัสสะ สักว่าเวทนา โดยวิธีเดียวกันกับเรื่องทางตา เป็นสักว่า คำที่สำคัญที่สุด สักว่า เป็นเช่นนั้นตามธรรมชาติ เท่านั้น ไม่ต้องหลงรัก หลงอะไรกันให้เสียเวลา
โยม: แสดงว่าธรรมารมณ์นี่ไม่ใช่สิ่งที่จิตนี่ปรุงแต่งขึ้นมาภายหลัง
พระอาจารย์พุทธทาส: อ้าว ต้องปรุงแต่ง ในกรณีที่เกี่ยวกับจิต แต่ไม่ได้อาศัยสัญญา ความที่เคยผ่านมาแล้วน่ะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก่อนๆ นู้น เช่นว่า เรียนอะไร จำอะไรเข้าไว้ได้ นั่นน่ะมันคือ ใส่ไว้ใน เหมือนกับคลัง คลัง ที่จะเป็นอารมณ์ของ ของ ของใจ มันจะเอามาแต่ไหน ปรุงแต่ง หรือว่าไม่ได้ มันต้องมีอะไรที่ปรุงแต่ง ต่อ ต่อ ต่อกัน เช่น เคยเห็นรูป เคยฟังเสียง เคยอะไร แล้วมาแต่หนหลัง แล้วเหลือฝังอยู่ในจิตใจ เรื่องดี เรื่องร้าย เรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องอะไรก็ตามที่มันเคยผ่านมาแล้ว มันยังเหลืออยู่ในจิตใจ จะมาปรุงใหม่เป็นเรื่องเดี๋ยวนี้ เราจะเกลียดคนนั้น จะรักคนนี้ จะโกรธคนนู้นอะไรก็ได้ ไปคอยศึกษาจนเข้าใจว่า ทั้ง 6 คู่ มันเหมือนกันเลย เพียงแต่คู่สุดท้ายเป็นเรื่องทางใจ 5 คู่ข้างต้น เป็นเรื่องทางวัตถุ หรือทางกาย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเนื่องกับใจนั่นแหละ ถ้ามันไม่เนื่องกับใจ มันไม่มีปัญหาอะไร ตาเห็นรูปเดี๋ยวมันก็ปรุงแต่งเรื่องทางใจ หูฟังเสียงก็ปรุงแต่งเรื่องทางใจ แต่นี้ก็ต้องไม่มีตา หรือรูป หรือเสียง ไอ้ ใจมันก็ยังมีอื่น มีอารมณ์ทางอื่น มีการได้อารมณ์จากทางอื่น เป็นสัญญาในอดีตโดยมาก (... นาทีที่ 59:40) ปรุงแต่ง กระทบใจแล้วปรุงแต่ง เป็นผัสสะ เวทนา ตัณหาอะไรก็ได้เหมือนกัน ตรงนี้มันต้องใช้ ต้องใช้ความพยายามสนใจซักหน่อยจะเข้าใจได้ คู่สุดท้ายนั่นน่ะ สนใจกันให้มากสักหน่อยจะเข้าใจได้ ไอ้ 5 คู่ข้างหน้า นั่นน่ะมันตื้นกว่า ง่ายกว่า
โยม: อย่างนี้แสดงว่าจิตของเรานี่ สามารถทำหน้าที่ได้ 2 อย่าง คืออย่างแรกนี่ เป็นอายตนะภายในสำหรับรับธรรมารมณ์ด้วย แล้วก็อย่างที่ 2 นี่เป็น เออ เป็นจิตอีกแบบหนึ่งด้วย
พระอาจารย์พุทธทาส: พูดอย่างนั้นมันจะไม่เข้ารูป ถ้าว่าจิตนี่ มันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลา จนเมื่อได้รับสิ่งแวดล้อมมารอบข้าง มันก็เปลี่ยนเป็นจิตอย่างนั้น เป็นจิตอย่างนี้ เป็นจิตอย่างโน้น เป็นอย่างไหนที่มันทุกข์ทนไม่ได้ เราก็ต้อง เราก็ต้องไม่เอา เราก็ต้องต่อสู้ เราก็ต้องแก้ไข เมื่อยังไม่มีอารมณ์มากระทบตามคู่นั้น จิตยังไม่แสดงตัว เมื่อตามากระทบ รูปมากระทบตาก็เกิดจิตที่เรียกว่าจักษุวิญญาณ นี่เพิ่งแสดงตัวออกมาตอนนี้เอง ธรรมชาติคือจิตมีอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าไม่แสดงตัวเหมือนกับไม่มี พอตาได้อาศัยอารมณ์ คือรูปก็เกิดจิตขึ้นทางตา นี้เรียกว่าจักษุวิญญาณ การเห็นทางตา ตอนนี้ก็เป็นเรื่องจิต และวิญญาณ เป็นเรื่องจิตแล้ว ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน เป็นเรื่องจิตหมด เรื่องที่เนื้อ ที่ตัวแท้ๆ และมีทุกวัน ทุกวัน อย่างนี้แท้ๆ เราไม่ได้เรียนกัน เราไม่ได้ศึกษา เราไม่ได้เรียนให้พอ ให้เพียงพอที่จะเข้าใจธรรมะ เรื่องทุกข์กับเรื่องดับทุกข์ ถ้าทำผิดเมื่อผัสสะก็เป็นทุกข์ ทำไม่ผิดเมื่อผัสสะก็ไม่มีทุกข์ ก็มีเท่านั้นเอง ผัสสะคือการกระทบ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
โยม: ในกรณี ที่สมมุติว่า มีคนๆ หนึ่งนี่ อายตนะภายใน 5 อย่างแรก (...ตั้งแต่กำเนิ นาทีที่ 1:02:30) ไม่สามารถจะรับเอาความรู้สึกได้เลย ธรรมารมณ์ของบุคคลนี้เกิดขึ้นได้
พระอาจารย์พุทธทาส: คือ ก็จะมีน้อยมาก แล้วเขาจะเอาอะไรเป็นความคิด ความนึก ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะเกิดความคิด ความนึก ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่มีทางสัมผัสกับอารมณ์ กับไอ้อารมณ์ข้างนอก มันเป็นสิ่งที่มีไม่ได้ มันจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็มิใช่ปัญหา เรื่องอย่างนั้นมันก็กลายเป็นเรื่องปรัชญา เพ้อเจ้อ philosophy ไปเรื่อย มันจะต้องสมมุติ สมมุติ สมมุติ ไปเรื่อยแหละ