แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ดังที่ได้กล่าวแล้วแต่ต้นในการบรรยายครั้งที่แล้วมาว่า เรามีโอกาสพูดจำกัด มีเวลาจำกัด จะพูดโดยรายละเอียดใดๆ ย่อมไม่ได้ จึงเห็นว่าจะพูดเฉพาะแนวทาง หรือวิธีการที่จะเอาไปใช้ในการศึกษาธรรมะในอนาคตข้างหน้าและหลังจากการลาสิกขาแล้ว
ธรรมะเป็นสิ่งที่ต้องศึกษากันตลอดชีวิต ขอให้ฟังดูดีๆ บางคนจะคิดว่าเดี๋ยวเดียวก็เสร็จ เดี๋ยวเดียวก็พอ มีคนมาขอร้องว่า ขอศึกษาธรรมะสักคืน สักวัน นี่มันไม่รู้ คือศึกษาธรรมะหนึ่งคืน หนึ่งวันน่ะมันจะศึกษาอะไรได้ เพียงแต่รู้เค้าเงื่อนมันก็ยังแต่ไม่พอ เราจึงต้องมีแผนการที่จะต้องศึกษากันจนตลอดชีวิต ทีนี้จะทำได้อย่างไร มันก็ต้องรู้วิธีสำหรับศึกษา เมื่อออกไปจากวัด หรือออกจากหมู่คณะ ออกจากอาจารย์ที่ควบคุมไป มันก็ยังต้องศึกษาได้ ฉะนั้นขอให้สนใจ เก็บหอมรอมริบ นี่ความรู้ประเภทนี้แหละ ประเภทที่ว่าสึกออกไปแล้วก็ยังสามารถศึกษาธรรมะต่อไปอีกได้ มันก็จะประสบผลข้างหน้า เรียกว่าทันเวลาแห่งชีวิต ที่ผมจะพูดวันนี้ก็คือหัวข้อว่า ธรรมะในพระพุทธศาสนานี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องของธรรมชาติ ตัวพุทธศาสนานั้น เราเรียกกันทั้งหมดทั้งระบบ แล้วก็มีธรรมะอันนี้ เป็นเรื่องๆ เรื่องๆ เรื่องไป เรียกว่าธรรมะ มีครบถ้วนเป็นระบบ เรียกว่าพุทธศาสนา
ที่ว่าเป็นเรื่องของธรรมชาตินั้นแหละเป็นใจความสำคัญ ทำไมพุทธศาสนาแตกต่างจากศาสนาอื่นอีกพวกหนึ่ง คือเป็นเรื่องของพระเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องของธรรมชาติ ในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ด้วย และก็มิได้เป็นอะไรยุ่งๆ เป็นจิตวิทยา หรือเป็นปรัชญา ปรัชญาแบบ Philosophy แม้แต่ Theology ที่เรียกกันว่าเทวศาสตร์ ในศาสนาที่มีพระเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้องละก็ ก็เรียกว่าเป็นศาสนาในพวก Theology มีลักษณะเป็นไสยศาสตร์ได้ง่ายที่สุด คือพุทธศาสนานี่ไม่มีลักษณะอย่างนั้นเลย ศึกษาลงไปตรงๆ ที่ธรรมชาติ จนรู้จักอย่างแจ่มแจ้งว่า เมื่อประพฤติกระทำลงไปอย่างไร ผลจะเกิดขึ้นอย่างไร เมื่อประพฤติกระทำลงไปอย่างไร ผลจะเกิดขึ้นอย่างไร อย่างแน่นอนตายตัว นี่คำว่าธรรมชาติ ธรรมชาตินี่ ในภาษาศาสนานั้นก็มีความหมายกว้าง ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ แต่ในภาษาไทย หรือในภาษาฝรั่ง คำว่าธรรมชาติก็มีความหมายจำกัด แคบ อยู่แต่ในสิ่งที่มนุษย์ไม่ได้ไปแตะต้อง เรียกว่าเป็นธรรมชาติ แล้วก็เกี่ยวข้องอยู่แต่ทางวัตถุ ทางวัตถุหรือร่างกายบ้างก็ในแง่ของวัตถุ ฉะนั้นเขาจึงไม่รู้เรื่องทางจิตซึ่งก็เป็นธรรมชาติด้วยเหมือนกัน ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ เรื่องนี้ก็ควรจะเข้าใจไว้ สำหรับประกัน ไอ้การฟั่นเฝือ ยุ่งเหยิง สงสัย อยากจะขอให้จดจำคำอธิบายเรื่องธรรมะ สี่ความหมายไว้เป็นหลัก
ความหมายที่หนึ่ง ธรรมะคือ ตัวธรรมชาติทั้งหลาย จะเป็นสิ่งมีรูป หรือไม่มีรูป หรือจะเป็นเพียงกริยาอาการ หรือเป็นภาวะอะไรก็ตาม เรียกว่าธรรมชาติ ทั้งหลายนี้ก็เป็นธรรมะในความหมายที่หนึ่ง คือตัวธรรมชาติทั้งหลาย
ทีนี้ธรรมะในความหมายที่สองคือ กฎของธรรมชาติที่ทำให้สิ่งทั้งปวงต้องเป็นไปตามกฎนั้น มีธรรมชาติที่ไหน ในธรรมชาตินั้นก็มีกฎของธรรมชาติ ในก้อนหิน ก้อนดินนี่ วัตถุเหล่านี้มันเป็นตัวธรรมชาติ มันก็มีกฎของธรรมชาติที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป แต่มันไม่รวดเร็ว รุนแรงเหมือนกับสิ่งที่มีชีวิตซึ่งรู้สึกคิดนึกเร็วเคลื่อนไหวเร็ว ธรรมชาติชนิดนี้มันมีปัญหาขึ้นมาได้ทันที เรียกว่าธรรมชาติ ต้องมีกฎของธรรมชาติ เป็นเนื้อตัวของเราทั้งหมดนี่มันเป็นธรรมชาติ และในเนื้อตัวของเราทั้งหมดทุกๆ ปรมาณูนั่นน่ะ มันมีกฎของธรรมชาติควบคุมอยู่ ให้เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เมื่อยังถูกต้องตามกฎของธรรมชาติมันก็ยังไม่มีปัญหาอะไร ถ้ามันผิดกฎของธรรมชาติมันก็เกิดการต่อสู้ เกิดการขัดแย้งอะไรกันขึ้นมา ถ้ามากเกินไปมันก็ตายซะก่อน สู้ไม่ได้ ทีนี้ธรรมะในความหมายที่สามคือหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั่นเอง เมื่อกฎธรรมชาติมันมีอยู่ว่าอย่างไร ไอ้สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ อันนั้นนั่นแหละเรียกว่าหน้าที่ หน้าที่ ธรรมะในความหมายที่สามหมายถึงหน้าที่ ภาษาบาลี หรือภาษาอินเดีย ปัจจุบันเขาถือเอาความหมายที่สาม เป็นคำแปลของธรรมคือธรรมะ ธรรมะแปลว่า duty หมายถึงในส่วนที่มันเกี่ยวกับมนุษย์ที่มนุษย์จะต้องทำน่ะธรรมะคือหน้าที่ ถ้าธรรมะคือธรรมชาติมันก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ ถ้าเป็นเรื่องกฎของธรรมชาติมันก็เป็นเรื่องกฎของธรรมชาติ ถ้าธรรมะคือหน้าที่ ตามกฎของธรรมชาตินี่มันเกี่ยวกับเราโดยตรง มันเกี่ยวกับสิ่งที่มีชีวิตโดยตรง หน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั่นคือธรรมมะทั้งหมดที่เราพากันมาเล่าเรียนศึกษา กว่าจะเพียงพอจนดับทุกข์ได้คือทำให้ถูกตามหน้าที่ ตามกฎของธรรมชาติจนไม่มีปัญหาใดๆ
ส่วนธรรมะในความหมายที่สี่นั้น ไม่ค่อยสำคัญอะไรหรอก เรียกว่าผลที่เกิดจากหน้าที่ แต่ถึงอย่างไรมันก็เป็นธรรมชาติ เมื่อมีการทำหน้าที่แล้วมันจะต้องมีผลจากหน้าที่นั้นอย่างถูกต้อง อย่างสมควร อย่างตรงไปตรงมา ผลที่เกิดขึ้นนี้เป็นความสุข ความทุกข์ หรืออะไรก็ตาม ได้เกิดมาจาการทำหน้าที่ เขาเรียกธรรมะในความหมายที่สี่ ถ้าเข้าใจทั้งสี่ความหมายก็คือรู้จัก สิ่งทั้งหมดไม่ยกเว้นอะไร
ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลอันเกิดจากหน้าที่นั้น มันมีอยู่สี่ความหมายอย่างนี้ คำอธิบายอย่างนี้มีในพระไตรปิฎกครบถ้วน พระไตรปิฎกอันมหาศาลบางส่วนบางตอนก็พูดถึงเรื่องธรรมชาติ รูปนาม ธาตุขันธ์ อายตนะตามธรรมชาติ บางส่วนบางตอนก็พูดถึงกฎของธรรมชาติ เช่น ความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือว่าเพราะมีอย่างนี้เป็นปัจจัย อย่างนี้จึงเกิดขึ้น คือเรื่องปฏิจสมุปบาท หรือเรื่องอิทัปปัจจยตาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในพุทธศาสนานี่ ก็มีมากที่สุดเลย
ในหน้าที่ หน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างไร ก็คือเรื่องอริยะมรรคมีองค์แปด หรือเรื่องศีล สมาธิ ปัญญาเพียงสามข้อนี้ก็ได้ นี่เป็นที่สรุปรวมของหน้าที่ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติที่ประพฤติปฏิบัติแล้วจะไม่มีปัญหา จะไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมา นี้ก็มีพวกที่พูดถึงผลเป็นมรรคผลนิพพาน อะไรก็ตาม เรียกว่าเป็นผลที่เกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่ เป็นพระอริยะบุคคลผู้มีคุณธรรมเหนือความทุกข์ เมื่อรู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะให้ถูกต้อง และก็ลองคำนวณดูว่ามันมีอะไรอีกที่มันเหลืออยู่นอกไปจากไอ้สี่ความหมายนี้ คุณลองหาอะไรมาดูทีว่าอะไรมันอยู่นอกเหนือไปจากไอ้สี่ความหมายนี้ คือตัวธรรมชาติ คือกฎของธรรมชาติ คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และผลที่เกิดมาจากการทำหน้าที่ เอาทั้งเรื่องภายนอก นอกตัวเราไปทั่วสากลจักรวาล และที่เป็นภายใน ในตัวเรายาวศอกวานี่ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะรู้จักดีที่สุด เราซึ่งยาวประมาณวาหนึ่งนี้ มันมีอะไรบ้างล่ะ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วแต่พูด เรียกชื่อ หรือจะดูกันในแง่ที่ว่ามันเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ อย่างนี้ก็ได้ ทั้งหมดนั้นน่ะ มันเป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติ เป็นธรรมชาติ ประกอบขึ้นมาจากส่วนน้อยที่สุดจึงเป็นส่วนใหญ่ เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เป็นกระทั่งครบทั้ง ทั้งตัวคนนี่ ก็เรียกว่ามันเป็นธรรมชาติ แล้วมันก็ อยู่ๆ ตามธรรมชาติ ที่เป็นส่วนร่างกายก็เป็นร่างกาย ที่เป็นส่วนจิตใจก็เป็นส่วนจิตใจ ที่เป็นส่วนวัตถุล้วนๆ นั่นน่ะ มีไม่ได้สำหรับในทางธรรมะ คือว่าจะไม่ได้สนใจส่วนที่เป็นวัตถุล้วนๆ เพราะว่าไอ้วัตถุถ้าจะมีมันก็เนื่องอยู่กับร่างกาย จะมีอาหาร มีเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม มีอะไรก็ตามมันต้องเนื่องกันอยู่กับร่างกาย แม้ว่าเนื้อหนังนี้มันจะเป็นส่วนวัตถุแต่ถ้ายังมีชีวิต มันต้องเนื่องกันอยู่กับจิต มันจะเป็นเพียงเนื้อหนังก้อนเดียวเหมือนกับเนื้อวัวที่ขายกันที่ตลาดอย่างนี้มันก็เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นถ้าว่ามันเกี่ยวกับชีวิต และมันก็ต้องมีจิต มีความรู้สึก ตามหน้าที่ ที่มันจะต้องรู้สึก นี่ที่นี้สิ่งที่สามก็คือหน้าที่ไง ในกายเรานี่สิ่งที่หนึ่งคือตัวร่างกายจิตใจ เป็นตัวธรรมชาติ และตัวกฎของธรรมชาติที่สิงอยู่ ทุกๆ ปรมาณูแห่งร่างกายต้องเป็นตามกฎของธรรมชาติ สิ่งที่สามคือหน้าที่ๆ ทุกส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายนี่ล้วนแต่ต้องทำหน้าที่ทั้งนั้น หน้าที่ของ ไอ้ส่วนใหญ่ๆ ทั้งตัว มันก็มีหน้าที่หาอาหารกิน หรือว่า หน้าที่น้อยๆ ลงไป ระบบการหายใจ ระบบโลหิตไหลเวียน ระบบต้านทานโรค ระบบทุกๆระบบนี่มันก็มีอยู่ตามหน้าที่ ลองไม่ทำตามหน้าที่สิ เช่น หัวใจหยุดเต้น หยุดสูบฉีด มันก็ตาย หรือปอดมันไม่ทำการสูบฉีดลม มันก็ตาย อะไรมันประกอบเว้นจากหน้าที่มันก็ตาย ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า ไอ้คำว่าหน้าที่ หน้าที่สำคัญนั้นที่สุด ถ้าปราศจากหน้าที่อันถูกต้องแล้วคือตาย ตายทางร่างกายคือตายจับใส่โลงก็ได้ ตายทางจิตใจคือเป็นทุกข์ไม่มีอะไรดีเลย ตายทางจิตใจอย่างนี้ก็ได้ แล้วมันก็ต้องตาย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามทางร่างกายก็เจ็บ ก็ไข้แล้วก็ตาย ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่ฝ่ายจิตมันก็มีโรคจิต มันก็มีกิเลส มีความทุกข์ร้อน เหมือนกับอยู่ในกลางกองไฟ นี่เรียกว่า ในหนึ่ง หนึ่ง กายที่ยาวหนึ่งวานี้มีหน้าที่ทุกๆ กลุ่มของปรมาณู เรียกว่าทุกปรมาณูก็ได้ มันต้องทำหน้าที่ แล้วมันประกอบเป็นส่วนๆ ส่วนๆ ขึ้นมา ก็ต้องทำหน้าที่ตามส่วน ถ้าไม่ทำหน้าที่ก็คือตาย นี่จำไอ้คำข้อนี้ว่าต้องทำหน้าที่ ทีนี้ไอ้หน้าที่ทางกายนั้นน่ะ มันไม่ลึกลับ สอนกันได้ง่าย สอนกันอยู่ทั่วๆไป ไอ้หน้าที่ทางจิตนี่ ทำยังไงจึงไม่เกิดกิเลส และความทุกข์นี่ยังลึกลับอยู่ คุณเสียสละมาบวชสามเดือนสี่เดือนนี้มันก็ยังไม่รู้อะไรกี่มากน้อย ถ้าเรียนไม่ถูกเรื่องกะมันแล้ว บางทีจะไม่รู้อะไรเลยก็ได้ จะต้องรู้เรื่อง และก็จับเค้าเงื่อนให้ได้ และก็ให้ได้เรียนสิ่งที่ควรจะเรียน จึงจะได้รับประโยชน์ ไอ้คำว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติน่ะ มีอยู่ในทุกๆ ปรมาณูที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายเรา ไอ้อันที่สี่ว่าผลจากการปฏิบัติหน้าที่ อย่างเช่น มีสุข มีทุกข์ อย่างเช่น มีสุขภาพดี มีสุขภาพเลว มีสมรรถภาพดี มีสมรรถภาพเลว อะไรต่างๆ นี่จึงเป็นผลของการทำหน้าที่ ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง ผลเหล่านี้ก็อาศัยอยู่ที่ร่างกายวาหนึ่งนี้เหมือนกัน ไอ้ร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี้มันก็มีส่วนที่เป็นผล ส่วนที่เป็นผลของการทำหน้าที่อยู่มาก เจอทางกายสะอาดดี มีสุขภาพอนามัยดี ก็นอนหลับดี อะไรต่างๆ เป็นต้น ทางจิตถ้ามีสุขภาพถูกต้อง มันก็นอนหลับดี มันก็ไม่เป็นโรคจิต ไม่เป็นโรคประสาท ที่พูดนี่ขอให้คอยสังเกตว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องของพระเจ้า หรืออะไรมาบันดาล ไม่ใช่ว่าผีสาง เทวดา พระเจ้า พระเป็นเจ้าอะไรมาบันดาล มันเป็นเรื่อง เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ นี่คือพุทธศาสนา ดังนั้นเราก็รู้จักพุทธศาสนาไว้ในฐานะที่ว่ามันต่างจากศาสนาอื่นอย่างไร เมื่อตะกี้ก็บอกแล้วว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องของธรรมชาติ ธรรมะในพุทธศาสนาเป็นเรื่องของธรรมชาติในสี่ความหมายนั้น ไม่มีการกล่าวถึงพระเจ้า หรือเทวดา หรืออะไรที่มันไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติ ร่างกายก็เป็นธรรมชาติ จิตใจก็เป็นธรรมชาติ กิเลสก็เป็นธรรมชาติ ความทุกข์ สุข ก็เป็นธรรมชาติ มรรคผล แม้แต่นิพพาน นิพพานสุดท้ายก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ ธรรมชาติชนิดหนึ่ง แล้วก็ต้องดูๆๆๆ ให้เห็นแจ่มแจ้ง ถูกตัวของมัน รู้หน้าที่อันสำคัญของมัน อย่างเดียวกับวิธีวิทยาศาสตร์ทั่วไป วิทยาศาสตร์ที่เขาเรียกกันว่าวิทยาศาสตร์ทั่วๆ ไปนี่ แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ชั้นลึก หรือทางจิตใจ ถ้าเป็นทางกายก็เป็นกายที่เนื่องอยู่กับจิตใจ ไม่ใช่วัตถุล้วนๆ เหมือนกับธาตุคาร์บอน ออกซิเจน นี้เป็นต้น นั่นมัน มันไม่มี ไม่เกี่ยวกับจิตใจ แต่มันมาประกอบกันเป็นร่างกายมันจึงจะเป็นที่ตั้งของจิตใจ มันจึงคนละขั้นตอน ที่นี้ความทุกข์นี่มันเกิดขึ้นในตอนที่ว่ามันมีจิตใจแล้ว และจิตใจนั้นเดินไปผิดกฎของธรรมชาติ ทำไปอย่างผิดกฎของธรรมชาติมันก็สูญเสียความปกติ คือเป็นปัญหา หรือเป็นความทุกข์ขึ้นมา เรียนรู้ว่าพุทธศาสนาของเรา เป็นเรื่องของธรรมชาติ ตามกฎของวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงไม่มีพระเจ้า ส่วนศาสนาอื่นๆ อีกมากมาย ก็มีพระเจ้าตามแบบของตน ของตน อะไรๆ ก็เป็นไปตามคำสั่ง หรือความต้องการของพระเจ้า การดับทุกข์ก็คือการทำให้ถูกตามความพระประสงค์ของพระเป็นเจ้าแล้วก็อ้อนวอนด้วย เชื่อด้วย มีความเชื่อเป็นเบื้องหน้า พุทธศาสนามีปัญญา และความรู้แจ้งเป็นเบื้องหน้า ความเชื่อนั้นเอาไว้ทีหลัง คือ ไม่ ไม่จำเป็นเท่าไหร่ เดี๋ยวนี้ในโลกเขาก็พูดกันแล้ว แปลว่าตกลงกันได้แล้วว่า ในโลกนี้ในมีศาสนาอยู่สองกลุ่ม สองกลุ่ม กลุ่มที่มีผู้สร้าง มีพระเจ้าผู้สร้าง เรียกว่ากลุ่ม Creationist Creation ที่แปลว่าสร้างนั้นแหละ Creationist คือผู้ที่ถือว่ามีการสร้างโดยพระเจ้า ผู้สร้าง มีมากมายหลายศาสนา ก็รู้เองนั่นแหละว่าศาสนาไหนมีพระเจ้าก็มาเป็นผู้บงการก็เรียกว่าเป็นศาสนาประเภทนี้ ประเภทมีพระเจ้าผู้สร้าง ในพุทธศาสนาไม่มีพระเจ้าอย่างนั้น ถ้าจะมีหน้าที่คล้ายๆ ก็คือกฎของธรรมชาตินั่นแหละ กฎของธรรมชาตินั่นแหละ ทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ทำให้สิ่งต่างๆ เป็นไป เป็นวิวัฒนาการ ตามธรรมชาติล้วนๆ มันก็มีอยู่หลายศาสนาเหมือนกันแต่ไม่ค่อยจะปรากฏ หรือเด่นนัก เช่น ในอินเดีย มีศาสนาไชนะนี่ก็อยู่ในพวกที่ไม่มีพระเจ้า เป็นต้น ศาสนาใดไม่มีพระเจ้า ไม่พูดถึงพระเจ้า พูดถึงเหตุผลที่เป็นไปตามธรรมชาติ ก็เรียกว่า Evolutionist Evolution ที่หมายถึงวิวัฒนาการ Evolutionist พวกที่ถือว่ามันเป็นวิวัฒนาการของธรรมชาติ ไม่ใช่พระเจ้า หรือใครมาสร้าง พวกนี้ก็มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ ตามกฎของธรรมชาติที่เห็นอยู่ รู้สึกอยู่ ส่วนพวกที่เป็น มีพระเจ้าก็มีลักษณะเป็นไสยศาสตร์ ไปยึดถือในสิ่งที่มองไม่เห็นตัว เชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็นตัว และก็หวังพึ่งผู้อื่นให้มาช่วย ถ้าอย่างนี้ก็เป็นไสยศาสตร์ พุทธศาสนาไม่หวังใครมาช่วยนอกจากการทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ แล้วมันก็ช่วยตัวเองได้ นี่รู้ไว้เพราะว่า มันเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วก็จะได้รู้ว่า ใครเป็นเพื่อนของเรา ใครเป็นปรปักษ์ของเรา ถ้ามันมีหลักเกณฑ์ เป็นวิวัฒนาการตามกฎของธรรมชาติ คือเหตุและผลแล้วก็นี่คือ กลุ่มนี้ กลุ่มพุทธศาสนานี่ ซึ่งหายากมีไม่อยู่กี่ศาสนา แล้วถ้าว่า ถ้าจะถือเอาไอ้กลุ่ม เหลาจื้อ ขงจื้อ ว่าเป็นศาสนาด้วยมันก็ยังได้ มันก็จะได้เพื่อนเพิ่มขึ้น คำสอนของเหลาจื้อนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติเหมือนกัน เมื่อมันมีปัญหาเกิดขึ้น หรือว่าถูกเขาถามถึงพุทธศาสนาของตนเองนี่ มันจะได้ตอบให้ถูกต้อง ว่าเป็นศาสนาชนิดที่ถือวิวัฒนาการของธรรมชาติเป็นหลัก ส่วนพวกอื่นๆ ซึ่งมีมาก มีมากศาสนาถือว่ามีพระเจ้าเป็นหลัก ทุกอย่างเป็นไปตามความประสงค์ของพระเจ้าต้องเชื่อพระเจ้า ต้องอ้อนวอนพระเจ้าอย่างนี้เป็นต้น นี่มันจะช่วยให้เราพ้นจากความงมงายไปเป็นไสยศาสตร์ เรื่องมันก็เกี่ยวพันกันด้วย เพราะว่าการกระทำอย่างเดียวนั่นน่ะ มันจะมีความหมายต่างๆ กันได้ ยกตัวอย่างที่จะกันลืม ยกตัวอย่างที่จำง่าย กันลืมว่า เช่นว่า เอาพระเครื่อง พระพุทธรูป พระเครื่องเล็กๆ มาแขวนคอ ถ้ามันแขวนเพื่อกันลืมพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้เรื่องธรรมชาติ ถ้าแขวนเพราะความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้รู้เรื่องกฎของธรรมชาติ แล้วให้ดับทุกข์ได้นี่ ถ้าเอามาแขวนอย่างนี้มันก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องพุทธศาสาตร์ แต่ถ้าเอามาแขวนให้เป็นของขลังยิงไม่เข้า ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า หรือเป็นเรื่องทำนองนั้นไปแล้วมันก็เป็นเรื่องไสยศาสตร์ จะไปว่าพระเครื่องเป็นอะไรมันก็ไม่ ไม่ได้ มันอยู่กับผู้แขวนต่างหากว่ามีความคิดอย่างไร ถ้าเขาแขวนด้วยความคิดอย่างนี้ อย่างนี้ มันก็เป็นพุทธศาสตร์ ถ้าแขวนด้วยความคิดอย่างนี้ อย่างนี้ มันก็เป็นไสยศาสตร์ และคำนี้มันก็น่าหัว คำว่าไสยศาสตร์นั่นน่ะแปลว่าศาสตร์ของผู้หลับ ไสย ไสยนี่แปลว่าหลับ พุทธะ พุทธะนี่แปลว่าตื่น ตื่นคือไม่หลับ พุทธศาสตร์ ศาสตร์ที่เป็นความรู้ของผู้ตื่น คือไม่หลับน่ะ ถ้าไสยศาสตร์เป็นความรู้ของผู้หลับ เชื่อไปตะพรืด ดังนั้น มันจึงให้ผลต่างกันน่ะ ไอ้หลักไสยศาสตร์ก็เป็นที่พอใจของมนุษย์ ผู้ไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์ หรือไม่ได้ศึกษาวิทยาศาตร์ และก็มา มา มา ตกหนักอยู่ที่มนุษย์นะ เพราะมนุษย์พอเกิดมาก็ถูกอบรมให้พึ่งผู้อื่น เด็กทารกนี่ถูกอบรมให้พึ่ง พึ่งผู้อื่นนี่ไม่มีการอบรมให้พึ่งตัวเองเลย และก็ให้กลัวสิ่งที่ไม่รู้ว่าอะไร ให้กลัวผีกลัวอะไรซะก่อนเพื่อว่าอย่าให้มันดื้อ มันก็รับมอบเอาไสยศาสตร์เข้าไปเต็มที่ พอดีมาถึงศาสนาชนิดที่สอนไสยศาสตร์ มีพระเจ้า มีพระเป็นเจ้า ก็สมกันเลย เหมาะสมกันเลย กลมกลืนกันไปหมดเลย นี่ก็เป็นผู้ถือศาสนาอย่างไสยศาตร์ หรือเทวศาสตร์ แล้วแต่จะเรียกมาเต็มที่ จนกว่าจะ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ถืออย่างไสยศาสตร์มาเต็มที่ จนกว่าจะได้มาพบกับพุทธศาสนา เรื่องนี้ใครๆ ก็เดาได้ สันนิษฐานได้ว่า ไอ้เรื่องที่รู้อย่างมิใช่ไสยศาสตร์นี้ต้องมาทีหลังแน่ รู้อย่างมีไสยศาสตร์นี่ต้องมาก่อนแน่ จะเอาคนป่าสมัยโบราณเป็นหลักมันก็ถือไสยศาสตร์กันมาก่อน จนกว่าจะเกิดพระพุทธเจ้าผู้ที่สอนเรื่องความจริงของธรรมชาติ นี้เห็นได้ว่าไอ้ไสยศาสตร์มันมาก่อน ถึงแม้จะเอาเพียงในบุคคลคนเดียว ชั่วชีวิตเดียวนี่ พอเกิดมานี่เราก็รับไสยศาสตร์เอาไว้เต็มที่ หรือถือศาสนาที่มีไสยศาสตร์มากๆ มันก็ไสยศาสตร์เต็มที่ จนกว่าจะเข้าใจ หรือมองเห็น หรือว่าฉลาดขึ้น จนสลัดไสยศาสตร์มาถือพุทธศาสตร์ มันก็เป็นอันว่าไสยศาสตร์นำหน้ามาตลอดเวลา ฉะนั้นเราอยู่ในจังหวะไหนก็ลองคิดดูเอง ถ้ายังต้องพึ่งผู้อื่นนอกไปจากตัวและสิ่งนั้นก็ไม่รู้ว่าอะไร มีแต่ความหวัง มีแต่ความอ้อนวอน อย่างนี้มันก็เป็นศาสนาประเภทไสยศาสตร์ซึ่งดึกดำบรรพ์ที่สุด พุทธศาสนา หรือที่คล้ายกันนี่เพิ่งพบทีหลัง ว่ามันเป็นเรื่องของการประพฤติ กระทำของตนเอง ผิดหรือถูก ถ้าทำอย่างนี้ อย่างนี้ กิเลสหรือความทุกข์จะเกิดขึ้น ถ้าทำอย่างนี้ อย่างนี้ กิเลสหรือความทุกข์ไม่เกิดขึ้น ก็มีเท่านั้นเอง
ควรจะหมดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้กันเสียที มันจะไม่รบกวนประสาท จะได้มีความเชื่อในความรู้ที่แน่นอนลงไป ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ คือผิดไม่ได้ ทำลงไปแล้วได้ผลจริงตามนั้น แล้วก็เป็นอันว่า ธรรมะ คือหลักของพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องของธรรมชาติ มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ นี่เป็นข้อปรารภร่วม
ทีนี้ก็ลองสังเกตดูตรงที่ว่าเรานี่จะต้องทำอย่างไรบ้าง จึงจะได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา คือว่าเรื่องของธรรมชาติมันก็มีมากเรื่อง กี่สิบกี่ร้อยเรื่องมันก็มี แล้วเรื่องอะไรบ้าง และในลักษณะอย่างไรที่จะทำให้ได้รับประโยชน์อันแท้จริง อันมีค่าจากพระพุทธศาสนา เหมือนกับอย่างที่พูดมาแล้วเมื่อคืน เมื่อคืนที่แล้วมาก็ว่ามันต้องการจะดับทุกข์ เห็นมันดับทุกข์หรือยัง ถ้ามันยังไม่ดับทุกข์ก็เพราะเหตุไร ก็เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ไม่รู้ปัญหามีอยู่อย่างไร อะไรเป็นความทุกข์ ก็แทบว่าจะยังไม่รู้จัก เจ็บปวดนั่งร้องไห้อยู่ มันก็ยังไม่รู้ว่าเป็นความทุกข์ แต่มันเจ็บปวดมันจึงร้องไห้อยู่ ทีนี้ที่ไม่เจ็บปวดไม่ต้องร้องไห้อยู่มันกลับเป็นทุกข์มากไปกว่านั้นอีกก็มี คือมันหนักหัวใจ แผดเผาหัวใจ มันก็เป็นความทุกข์ที่น่ากลัวกว่า
ทีนี้ก็อยากจะพูดแนวสังเขป ย่อๆ ของธรรมชาติที่ให้เกิดทุกข์ และไม่ให้เกิดทุกข์ ขอให้จดจำไว้เป็นหลักสำหรับจะได้ศึกษาต่อไปตลอดอนาคตข้างหน้า เมื่อตั้งปัญหาว่าไอ้ความทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างไรนี่ เราจะมีปัญญาพอ หรือไม่ที่จะรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่ายึดมั่นถือมั่น ไอ้ความทุกข์มันเกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นถือมั่นมันเกิดมาจากตัณหา เกิดจากความอยากอย่างโง่เขลา ตัณหานี่มันเกิดมาจากความโง่เมื่อมีผัสสะมากระทบ ฉะนั้นเรียนไปอย่างที่ว่าไปตามลำดับ ก็ต้องเรียนเรื่องว่ามันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งจะต้องรู้จักดีที่สุดเลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต้องรู้จักดีที่สุด ในฐานะเป็น ก ข กอกา ตรงพุทธศาสนาเลย และมันก็มีคู่ของมัน คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ธรรมารมย์ โผฐฐัพพะคือสิ่งที่มากระทบกาย ธรรมารมณ์คือสิ่งที่มากระทบจิต ไอ้รูป เสียง กลิ่น รส นั่นเข้าใจว่ารู้ดีอยู่แล้ว ไม่พูด ไม่ต้องอธิบาย มันมีเป็นคู่ๆ ตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรส ผิวกายสำหรับไอ้สิ่งที่มากระทบกาย จิตสำหรับสิ่งที่จะเกิดในจิต ปรุงขึ้นในจิต นั่นน่ะคือจุดตั้งต้น มันๆ ตั้งต้นที่สิ่งที่ต้องมี ไอ้สิ่งที่มีชีวิตนี่ ไอ้คนนี่ต้องมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้ามันไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ มันก็เลิกกัน มันก็ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ที่เป็นปัญหา เดี๋ยวนี้มันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้จักไว้นั่นแหละดี นั่นแหละมันเป็นจุดตั้งต้นที่จะมีเรื่อง ยกตัวอย่างเรื่องแรกที่สุดคือเรื่องตา มีตา คู่ของมันก็คือรูป หรือภาพ คือรูปที่จะมากระทบตา มีตาอยู่ข้างใน มีรูปจากข้างนอกมากระทบตา และก็เกิดการเห็นทางตา นี่สังเกตดูเถอะ เป็นสามอย่างเข้ามาแล้วนะ ตานี่อย่างหนึ่ง ไอ้รูปที่มากระทบตานี่อย่างหนึ่ง แล้วเกิดการเห็นทางตานี่อีกอย่างหนึ่ง รวมเป็นสามอย่าง เป็นของธรรมชาติ ธรรมดาแท้ๆ ทุกคน เมื่อสามอย่างที่ว่านี้ กำลังทำหน้าที่กันอยู่ คือตาคู่กับรูป คือการเห็นทางตาอยู่นี่ เรียกว่าผัสสะ ผัสสะแปลว่าการกระทบ ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แต่ไม่ศึกษาไม่สังเกต ที่ว่ามีผัสสะแล้ว มีผัสสะแล้วมันก็มีหลักต่อไปว่า ในเวลาผัสสะนั้นน่ะ โง่ หรือฉลาด ในเวลาที่มีผัสสะอย่างนี้ เขาเป็นคนโง่หรือเป็นคนฉลาด ตามธรรมดาต้องเป็นคนโง่เพราะว่าเขาเกิดมาจากท้องแม่ เขาไม่ได้มีความรู้อะไรติดมา จะเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นอะไร เขาไม่ได้เรียนเรื่องที่ว่าผัสสะคืออะไร เขาจึงไม่รู้เรื่องผัสสะ ผัสสะนั้นจึงปราศจากความรู้เป็นผัสสะ คือเป็นผัสสะที่ไม่รู้อะไร ผัสสะที่ประกอบอยู่ด้วยความไม่รู้อะไร แล้วมันออกมาเป็นเวทนาที่น่ารักน่าพอใจ มันก็รัก ก็พอใจ ที่ไม่น่ารักไม่น่าพอใจ มันก็ไม่พอใจ ก็มีเท่านี้ เรียกว่ายินดี ยินร้าย ทีนี้มันไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เมื่อมีเวทนาจึงน่ารัก น่าพอใจ ถ้าพอใจก็เกิดตัณหา หรือความอยากจะเอา อยากจะได้ อยากจะยึดครอง อยากจะมี อยากจะบริโภค อยากจะเสวย นี่นะส่วนที่มันเป็นสุขเวทนา ทีนี้ถ้ามันเป็นทุกขเวทนามันก็อยากอีกอย่างหนึ่ง คืออยากจะทำลายเสีย อยากจะไปให้พ้นเสีย อยากจะฆ่าเสีย อยากจะไม่เผชิญหน้าด้วย นี่เรียกว่าความอยากที่โง่ มาจากเวทนาที่โง่ มาจากผัสสะที่โง่ ในขณะผัสสะมันโง่เพราะไม่มีความรู้อะไร เป็นผัสสะโง่ก็ออกมาเป็นเวทนาโง่ ก็จะให้หลง หลงรัก และหลงเกลียด แล้วก็เกิดตัณหาชนิดที่จะหลงรัก และหลงเกลียด มีความอยาก อยากอย่างรุนแรง อยากด้วยความโง่นี่มันอยากสุดเหวี่ยง มันอยากด้วยความโง่ เมื่อมีความอยากมันก็ปรุงความอยาก มันปรุงในความรู้สึกที่เรียกว่าอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น มีตัวกูผู้อยากขึ้นมา รู้สึกว่า ตัวกูๆๆ กูอยาก กูอยากได้มาเป็นของกู นี่เรียกอุปาทาน พอมาถึงตอนนี้ก็เรียกว่ามันครบละที่จะเป็นทุกข์ มันมีตัวกู ตัวกูนั้นเกิดภพขึ้นมาแล้ว ตั้งต้นภพขึ้นมาแล้ว ถ้าตัวกูเป็นไปถึงที่สุด ก็เป็นชาติ ชาติแห่งตัวกูขึ้นมาแล้ว อะไรๆ ที่เกี่ยวกับตัวกูมันก็เลยเข้ามาเป็นปัญหาหมด คือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อะไรก็ตาม เป็นปัญหาหมด มันก็ได้มีความทุกข์ นี่คุณสังเกตดูมันเป็นวิทยาศาสตร์ ทุกกระเบียดนิ้วตั้งแต่ต้นจนปลาย พุทธศาสนาเรามันเป็นอย่างนั้น มันไม่มีพระเจ้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าพูดอย่างศาสนาอื่นก็พระเจ้ามาเกี่ยวข้องทำให้ต้องเป็นสุข และเป็นทุกข์ตามใจ แต่พุทธศาสนาไม่มีไม่มีหลักอย่างนั้น มีหลักว่า โง่เมื่อผัสสะ ก็เกิดเวทนาโง่ เกิดตัณหาโง่ เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ เกิดทุกข์ขึ้นมา ทีนี้ในฝ่ายที่ตรงกันข้าม คือพอมีผัสสะ ผัสสะ อย่างที่ว่าตะกี้แหละ เผอิญคนนั้นมีความรู้ เพราะได้ศึกษาได้เล่าเรียนมา หรือจะได้ความรู้มาจากไหนก็สุดแท้ มันมีความรู้ ว่ามันสักว่าผัสสะเท่านั้นหนอ ก็เช่นนี้เองหนอผัสสะ เท่านั้นหนอ มันก็ไม่เกิดเวทนาที่ทำให้โง่ มันก็รู้เวทนานี้เป็นสักว่าความรู้สึกแก่ระบบประสาทเท่านั้นหนอ เท่านั้นหนอ เป็นธรรมชาติที่เกิด แก่ระบบประสาทตามกฎของธรรมชาติเท่านั้นหนอ มันก็ไม่เกิดตัณหาที่ไปหลงอยาก อย่างนั้น อย่างนี้ เมื่อไม่มีความอยาก ก็ไม่มีอุปาทาน มันก็ไม่มีภพ ไม่มีชาติ ไม่มีความทุกข์ เรื่องมันสั้นนิดเดียวอย่างนี้ เป็นพระบาลีก็ไม่กี่บรรทัดแหละ ควรจะจำกันไว้ หนังสือสวดมนต์แปลก็ดูมี ขึ้นด้วยคำว่า (เริ่มนาทีที่ 44.20 -45.06 จะคุณจะปะติจะรูปเปจะ ตะหุปัดชะติวิญญาณนัง ทินนังมาธรรมานัง สังฆติปัสโส อัสสะปัจจะยาเวทนา เวทนาปัจจะยาตัณหา ตัณหาปัจจะยาปุปาทานัง อุปาทานะปัจจะยาภาโว ภาวะปัจจะยาปาติ ชาติปัจจะยาชาระนามะระณัง โสกะเวทะทุกขะ ......เทวะลัสสะ ทุกขะขันะสะ สมุทะโยโหติ ความทุกข์ทั้งปวงเกิดขึ้นได้ด้วยอาการอย่างนี้เอง อย่างน้อยก็เข้าใจว่าไอ้ความทุกข์นี่มันเกิดขึ้นมาด้วยอาการอย่างนี้ ไม่มีพระเจ้าผีสางเทวดามาเกี่ยวข้องมันก็เกิดได้ เพราะว่าโง่ เพราะว่าโง่ เพราะว่าหลับ เพราะว่าไม่รู้ เมื่อมีผัสสะ ทีนี้จะแก้ไขอันนี้ก็ต้องฝึกให้มีสติ ให้มีความรู้ แล้วก็สติเอาความรู้มาทันเวลา พอตาเห็นรูปไอ้สติมันก็เอาความรู้มาทันเวลา มีความรู้ประจำอยู่ มันก็ไม่เดินทางผิด เหมือนที่ว่า มันเดินในทางที่ไม่เกิดทุกข์ ผัสสะก็สักว่าผัสสะ เวทนาก็สักว่าเวทนา จะต้องทำอย่างไรก็ทำ ไม่ต้องทำอย่างไรก็ไม่ต้องทำ ไม่ไปหลงอยาก หรือว่าหลงยึดมั่นถือมั่น อย่างนี้จะไม่มีความทุกข์เลย ทั้งอย่างใหญ่ อย่างเต็มขนาด และอย่างที่ผิวๆ ให้รู้จักความทุกข์จนเกลียดชังความทุกข์ และเรื่องมันจะง่าย เดี๋ยวนี้ไม่รู้จักแม้แต่ความทุกข์ มันก็ปล่อยให้เป็นเรื่องความทุกข์เกิดขึ้นได้ตามสบาย ไม่ศึกษาธรรมะ เพื่อจะดับทุกข์นี้ให้เพียงพอ สติมันก็ไม่รู้จะไปเอาความรู้ที่ไหนมาจัดการกับไอ้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ในขณะแห่งผัสสะนั่นแหละ สติต้องมีพอมีความรู้ เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อิทัปปัจจยตา ก็ได้เอามารู้อยู่ในจิต ในจิตมันก็ไม่ ไม่โง่ จิตจะมองเห็น อ้าวมันอย่างนี้เอง การปรุงแต่งตามเหตุตามปัจจัยของธรรมชาติอย่างนี้เอง มันอย่างนี้เอง มันเท่านี้เอง มันแค่นี้เองในเรื่องของไอ้กิเลส ทีนี้ก็ไม่ ไม่หลงอยาก หรือก็ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดทุกข์ แล้วมันก็จะต้องทำอย่างไรก็ทำสิ ถ้าไม่ต้องทำอย่างไรก็ไม่ต้องทำสิ เรื่องเกี่ยวกับทางตามันก็มีอย่างนี้ เรื่องเกี่ยวกับทางหูก็เหมือนกันอีกทั้งหกทาง เหมือนกัน พอมากระทบกันเข้าแล้วก็เกิดวิญญาณ ทางนั้นๆ หลายอย่างทำงานร่วมกันอยู่เรียกว่าผัสสะ ไม่มีสติ ไม่มีปัญญามันก็เป็นผัสสะโง่ ก็เดินไปตามทางของความทุกข์ เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และทุกข์ แต่ถ้ารู้เรื่องนี้ ก็คือรู้เรื่องหัวใจอันแท้จริงของพุทธศาสนา ว่าไอ้ความทุกข์นี่มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ มันเป็นหัวใจพุทธศาสนาในส่วนที่เป็นทุกข์ ทีนี้ถ้ารู้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีสติ ฝึกไว้ดี มีภาวนาที่ฝึกไว้ดี มีวิปัสสนา มีสมถะดี มันก็มีสติ ไอ้ความรู้ที่ถูกต้องนั้น มารับหน้าผัสสะ หรือเวทนา ก็ไม่เกิดกิเลสตัณหา ก็ไม่มีความทุกข์ นี่เพราะเราทำผิดหลักธรรมชาติทางอายตนะ ทางอายตนะภายในหก อายตนะภายนอกหก เราทำผิดหลักของธรรมชาติเกี่ยวกับอายตนะ มันก็ต้องเป็นทุกข์ ไม่มีใครช่วยได้ ถ้าทำไม่ผิด คือมีสติปัญญาพอ ไม่ผิด มันก็ไม่เป็นทุกข์ มันก็มีเท่านั้น จึงรู้ไว้ว่านี่เป็น ไอ้จะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่นะ เป็นพระธรรมสูงสุดที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วสอนต่อๆ กันมาจนถึงเรา พระพุทธเจ้ามีพระคุณมีอะไรอย่างยิ่งก็เพราะว่ารู้เรื่องนี้แล้วสอนให้คนอื่นๆ รู้ด้วย แล้วปฏิบัติ ดับทุกข์ได้ด้วย เราจึงนับถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ พระธรรมก็คือเรื่องนี้ เรื่องนี้ก็นับถือพระธรรมเป็นสรณะ พระสงฆ์ก็คือผู้สามารถปฏิบัติได้สำเร็จในเรื่องนี้ เราจึงนับถือพระสงฆ์เป็นสรณะ นี่เรียกว่ามีเหตุผลที่จะนับถือ มีเหตุผลปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้งอยู่ในตัว แล้วพิสูจน์ประโยชน์คือว่าเมื่อทำอย่างนั้นแล้ว มันดับทุกข์ได้ มีประโยชน์ถึงที่สุด นี่ความเชื่อจะเกิดตอนที่ดับทุกข์ได้แล้วว่า เออทำอย่างนี้ดับทุกข์ได้จริง ทำอย่างนี้ดับทุกข์ได้จริง ความเชื่อมันก็มาทีหลังปัญญา และก็ไม่งมงาย ไม่งมงาย ความเชื่อที่มาก่อน ก่อนปัญญา ก่อนจะรู้อะไรเป็นความเชื่องมงาย เป็นรากฐานทางไสยศาสตร์ ทีนี้มันก็มีปัญหาเหมือนกัน มันยากเหมือนกันว่าจะเอาความรู้มาจากไหน เด็กๆ เกิดมาจากท้องแม่ พอคลอดออกมาก็ถูกสอนให้งมงาย ถูกสอนให้งมงาย เช่นสอนให้ยึดถือว่าตัวกู ว่าของกู แล้วก็เลี้ยงดูทุกอย่างทุกกาล จนเด็กมันมีความรู้สึกว่าผู้อื่นมันเลี้ยงเรา ไม่ใช่เราเลี้ยงตัวเองได้ และก็ถูกเชื่อในสิ่งที่ไม่มองเห็นตัว มองไม่เห็นตัวอีกมากมาย จนกลายเป็นคนขลาด คนอยู่จนตายก็มี นี่มันเรื่องของวัฒนธรรมที่ไม่มี ไม่ดี ไม่ถูก ในบ้านเรือนเหล่านั้น ที่ผมพูดอย่างนี้ ก็เลยอยากจะให้จดจำไปด้วยว่า ถ้าจะไปเป็นหัวหน้าครอบครัว บ้านเรือน ลองขึ้นศักราชใหม่กันเสียทีจะดีไหม คือจะไม่สอนเด็กๆ ให้เดินทางนั้น รีบทำให้เด็กๆ เขารู้ว่า ต้องช่วยตัวเองต้องอะไรอย่างนี้ แล้วก็เป็นของกูตัวกูนี่ มันไม่ได้หรอก เช่น เด็กเขาเอา เดินไป หัว หัวไปกระทบกับโต๊ะก็โกรธว่าโต๊ะเป็นผู้ทำอันตรายเขาก็เตะโต๊ะ อย่างนี้เป็นต้น บางทีแม่ก็ช่วยตีอีก ตีโต๊ะ เด็กๆ มันก็เลยโง่หนักขึ้น มันไม่ควรจะมีอาการอย่างนี้ และก็ไม่ต้องสอนให้กลัวผี หรือกลัวอะไรที่มันไม่มีเหตุผล ถ้าจะกลัวก็คือความทุกข์ สิ่งที่ควรกลัวที่สุดก็คือความทุกข์ ไม่ใช่เรื่องผีสาง เรื่องมองไม่เห็นตัว หรือเรื่องโง่ๆ กลัวไส้เดือน กลัวจิ้งจก กลัวตุ๊กแก แม้เดี๋ยวนี้คุณก็ไปพิสูจน์ตัวเองดูเถอะ มันก็ยังไม่กล้าจับไส้เดือน ไม่กล้าจับตุ๊กแก ลูกหนูอะไรเป็นต้น ซึ่งมันมันเกลียด และมันกลัว เลยถูกกระทำให้เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นควรจะฉลาดมาตั้งแต่เล็กๆ แหละ ให้เด็กๆ รู้ว่า ที่แม่พ่อให้กินอาหาร ให้ช่วยอย่างนั้น อย่างนี้ก็เพราะว่า เด็กนั่นแหละ หนูนั่นแหละจะเป็นคนทำดี มีประโยชน์ จึงได้เลี้ยงเอาไว้ แต่ฟังดูมันท่าจะทารุณโหดร้ายต่อลูกเด็กๆ ก็ควรจะพูดตามสมควร อย่าให้เด็กมันโง่จนกระทั่งว่าเราต้องพึ่งผู้อื่นเท่านั้น ถ้าเด็กมันมีหลักจะพึ่งผู้อื่นเท่านั้นแล้วมันก็สอนพุทธศาสนายาก ถ้าเด็กทำอะไรได้เราก็ให้รางวัล หรือให้สิ่งตอบแทนทุกๆ ครั้งที่เขาทำอะไรได้ อย่างนี้ก็จะเป็นการเพิ่มความรู้ที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาที่ว่าต้องพึ่งตนเอง เรื่องของกินอร่อย สวยงาม ไพเราะนิ่มนวลนั่นน่ะ อย่าทำให้เด็กๆ หลง อย่าทำให้เด็กๆ หลงในสิ่งเหล่านั้น แต่กลับจะบอกว่าไอ้สิ่งเหล่านี้ และมันจะทำให้เราโง่ จะทำให้เราหลง ฉะนั้นเราอย่าไปโง่ อย่าไปหลงกับมัน อยากจะกิน จะใช้บ้างก็ได้ แต่ไม่ต้องโง่ ไม่ต้องหลง ไม่ต้องบูชา ไอ้สิ่งเอร็ดอร่อยสวยงามสนุกสนานเหล่านี้ นี่ที่ถูกมันควรจะเป็นอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้พ่อแม่จะเข้าใจผิดว่า ถ้าไปสอนอย่างนู้น ไอ้เด็กๆ ก็จะไม่อยากดี อยากเด่น อยากดัง แล้วจะสู้คนอื่นไม่ได้ นี่คือความเข้าใจผิด เดี๋ยวนี้เขาเอา เรื่องดี เรื่องเด่น เรื่องดังกันนี่ เรื่องทุกข์ หรือไม่ทุกข์นี่ ไม่ค่อยสนใจ นี่ขอให้รู้ รู้ก่อนแล้วจะไปใช้ประโยชน์ได้เท่าไหร่นั้น ก็ไปคิดเอาเอง ถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัวนี่ จะนำครอบครัวไปอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา นั่นแหละจะได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา ไม่เสียทีที่มาบวชมาเรียนมาขวนขวายมาอะไร เพื่อจะให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้ ก็คือเป็นทุกข์ไม่เป็น ทุกข์ไม่ได้ ทุกข์ไม่มี ก็คือดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ แม้ไม่ได้เต็ม ก็ขอให้ได้สักครึ่งสักค่อนไปตามเรื่องก็ยังดี มันจะได้เป็นชีวิตที่เย็น มีความหมายแห่งนิพพาน เป็นชีวิตที่ เย็นๆๆๆ ทำงานสนุก รักผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น ที่ช่วยเหลือผู้อื่นนั่นน่ะ มันรู้สึกเหมือนกับช่วยตัวเอง ถ้ารวมกันหมดเป็นไอ้ตัวใหญ่ ว่าเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น มันก็เลยช่วยผู้อื่นพร้อมกับช่วยตัวเองสนุกไปเลย สนุกไปเลย นี่ไอ้ลัทธิที่จะช่วยมนุษย์ได้ ถ้ามันเป็นราก เข้าไปเป็นรากเป็นฐานของการเมืองระบบไหน การเมืองระบบนั้นมันจะช่วยโลกได้ เดี๋ยวนี้มีแต่การเมืองระบบที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวกู ของกู มันก็เอาเปรียบผู้อื่น ทำลายผู้อื่น มันก็อยู่กันอย่างมีความทุกข์ ถ้าปัญหาอะไรเกิดขึ้นขอให้สังเกต หมายความว่าต่อไปข้างหน้า ลาสิกขาไปแล้ว ไปอยู่ที่บ้าน ที่เรือน ถ้าปัญหาอะไรเกิดขึ้นเป็นความทุกข์ เป็นความยุ่งยาก เป็นการกระทบกระทั่ง แล้วดูเถอะมันมาจากการทำผิดในเรื่องนี้ ทำผิดต่อสิ่งที่เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าป้องกันได้ มันก็ไม่มีไอ้ความผิด หรือความทุกข์ หรือความเดือดร้อนนี่เลย นี่ขอให้สอดส่องจริงจังโดยเฉพาะว่านี่เป็นเรื่องธรรมชาติ ที่เป็นอย่างนี้คือเป็นเรื่องตามกฎของธรรมชาติ เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องตามกฎของธรรมชาติ เป็นเรื่องปฏิบัติหน้าที่ผิด หรือถูกตามกฎของธรรมชาติ และก็ได้รับผลดี หรือผลร้าย เพราะปฏิบัติผิด หรือถูกต่อกฎของธรรมชาติ เป็นว่าวันนี้ก็พูดเรื่องที่เป็นใจความสำคัญเรื่องหนึ่งว่าธรรมะในพุทธศาสนาเป็นเรื่องของธรรมชาติ และก็เอาไว้จับกับไอ้เรื่องทุกเรื่องดูเถอะว่าจริงหรือไม่ เวลาหมดแล้ว ขอให้กำหนดเรื่องว่าจะศึกษาพุทธศาสนาต่อไปอย่างไร จับเอาวิธีการศึกษาแล้วจะได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ระหว่างที่บวชนี่ แล้วต่อไปมันก็จะศึกษาพุทธศาสนาได้เอง จนตลอดชีวิตเลย ขอยุติการบรรยาย
พระอาจารย์พุทธทาส: คืนนี้ไม่มีปัญหา
โยม: มีปัญหาจะเรียนถาม
พระอาจารย์พุทธทาส: เอ้า เอ้าว่าไป
โยม: เรื่องของธรรมารมณ์ว่า ธรรมารมณ์นี่นี้เป็นอายตะภายนอกที่จิตของเรานี้ปรุงแต่งขึ้นมาเองหรือเปล่า
พระอาจารย์พุทธทาส: ธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ คุณหมายถึงธรรมะ ถามธรรมะเรื่องธรรมารมณ์ใช่ไหม (... นาทีที่ 55:54) อาศัยข้างนอก และเหตุปัจจัยข้างนอก ที่ได้เคยผ่านมาแล้ว ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มันไปเก็บไว้ ไปเป็นสัญญา เป็นความจำที่มัน เอามาใช้ปรุงเป็นเรื่องภายในใจ โดยไม่ต้องเกี่ยวกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในเวลานี้ แต่นี้เป็นธรรมารมณ์ มันก็จัดเป็นนาม เพราะมันเป็นคู่กับธรรมารมณ์ เป็นเรื่องของใจ ทั้งใจ และธรรมารมณ์ นั่นก็เป็นเรื่องของใจ ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้ง 5 คู่นี้เป็นเรื่องของไอ้ กาย ของ รูป
โยม: ถ้าเกิดไอ้ธรรมารมณ์นี่ เป็นสิ่ง เป็นเรื่องของใจน่ะครับ เราจะสามารถบังคับไม่ให้ธรรมารมณ์นี่มันเกิดขึ้นได้
พระอาจารย์พุทธทาส: อ้าว ก็พูดมาตั้งนานแล้ว พอมันมากระทบเกิดขึ้นแล้วก็ มีสติรู้สึกทันท่วงที โอ้มันสักว่าทันกระทบกันทางใจ (... นาทีที่ 57:07) อาศัยความจำในอดีต หรืออะไรที่เก็บเอามาเป็นอารมณ์ ก็เท่านั้นเองแหละ ก็สักว่า ธรรมารมณ์ สักว่าผัสสะ สักว่าเวทนา โดยวิธีเดียวกันกับเรื่องทางตา เป็นสักว่า คำที่สำคัญที่สุด สักว่า เป็นเช่นนั้นตามธรรมชาติ เท่านั้น ไม่ต้องหลงรัก หลงอะไรกันให้เสียเวลา
โยม: แสดงว่าธรรมารมณ์นี่ไม่ใช่สิ่งที่จิตนี่ปรุงแต่งขึ้นมาภายหลัง
พระอาจารย์พุทธทาส: อ้าว ต้องปรุงแต่ง ในกรณีที่เกี่ยวกับจิต แต่ไม่ได้อาศัยสัญญา ความที่เคยผ่านมาแล้วน่ะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก่อนๆ นู้น เช่นว่า เรียนอะไร จำอะไรเข้าไว้ได้ นั่นน่ะมันคือ ใส่ไว้ใน เหมือนกับคลัง คลัง ที่จะเป็นอารมณ์ของ ของ ของใจ มันจะเอามาแต่ไหน ปรุงแต่ง หรือว่าไม่ได้ มันต้องมีอะไรที่ปรุงแต่ง ต่อ ต่อ ต่อกัน เช่น เคยเห็นรูป เคยฟังเสียง เคยอะไร แล้วมาแต่หนหลัง แล้วเหลือฝังอยู่ในจิตใจ เรื่องดี เรื่องร้าย เรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องอะไรก็ตามที่มันเคยผ่านมาแล้ว มันยังเหลืออยู่ในจิตใจ จะมาปรุงใหม่เป็นเรื่องเดี๋ยวนี้