แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ อาตมาภาพจะได้วิสัชชนาพระธรรมเทศนาเป็น ปุพพปรลำดับ สืบต่อธรรมเทศนาที่ได้กล่าวมาแล้วในยามต้น และยามกลางแห่งราตรี โดยใช้ข้อความว่า ธรรมะชีวี เป็นหลัก เราสามารถจะปฏิบัติธรรมะตรงตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ แล้วมี โอปปาติกะกำเนิด เกิดเป็น ธรรมะชีวี ซึ่งมีความหมายได้หลายขั้นตอน เราจะมี ธรรมะชีวี หมายถึง การเกิดดีไปก่อนจนกว่าจะเบื่อการเกิด แล้วก็ไม่อยากเกิด ก็เป็น ธรรมะชีวี อีกความหมายหนึ่ง คือ เป็นชีวิตที่ไม่ตาย เหมือนกับสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ คือไม่มีการเกิดอีกต่อไป ในข้อนี้มีความหมายซึ่งอาจจะปนเปกันก็ได้ ถ้าไม่ฟังให้ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพูดที่ว่าจะไม่ตาย โดยอาศัยพระบาลีสั้นๆ เพียงข้อเดียวว่า ถ้าอาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ที่มีความตายเป็นธรรมดา ก็จะพ้นจากความตาย ดังนี้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับคำพูดนี้มีปัญหาเสมอ เพราะว่าคำพูดนั้นแม้แต่ที่เป็นภาษาบาลี คำเดียวก็ยังแปลได้หลายอย่าง ครั้นแปลออกมาแล้วก็ถือเอาความหมายได้หลายอย่าง แต่ละอย่างยังถือความหมายได้แตกต่างกันไป ซึ่งอยากจะให้มีความรู้ความเข้าใจในที่นี้ก็คือ คำที่ว่า ไม่ตาย หรือ พ้นจากความตาย สิ่งที่เรียกว่า อมตะธรรม ธรรมทำความไม่ตาย ธรรมะที่ทำความไม่ตายนั้น ก็มีความหมาย ซึ่งจะแยกอธิบายได้เป็น ๒ ขั้นตอน มีความไม่ตายขั้นตอนแรก ก็คือ ความตายไม่เป็นปัญหา แม้ว่าร่างกายนี้มันจะตายก็ไม่มีความหมายอะไร ผู้ที่มีจิตใจถึงขนาดนั้นก็เรียกว่า เป็นผู้ไม่ตาย คือ ยังรักษาความหมายในภาษาคนไว้สักครึ่งหนึ่ง ว่ามีบุคคลที่มีจิตใจชนิดนั้นแม้จะมีความตายมาถึงเข้า แต่ก็ไม่รู้สึกว่ามีความหมายอะไร เป็นผู้มีจิตใจชนิดที่ไม่กลัวความตาย ไม่มีปัญหาอันเกี่ยวกับความตาย เพียงเท่านี้ก็นับว่าสบายมาก แต่ถ้าสูงขึ้นไปกว่านั้น ก็คือ ไม่ต้องมีบุคคลกันเสียเลย เป็นเรื่องที่กล่าวถึงระดับสูงสุด หรือสุดท้ายไม่มีอะไรที่เป็นบุคคล และก็ไม่มีอะไรที่จะเกิดหรือที่จะตาย มองเห็นเป็นธรรมชาติล้วนๆเท่านั้นเป็นไป ไม่มี-ใครเกิด ไม่มี-ใครตาย นั่นแหละ คือ อมตะธรรม ธรรมะที่ทำความไม่ตาย ในระดับสุดท้าย กล่าวโดยง่ายๆสั้นๆ คือ คำสอนเรื่องความไม่มีคน เมื่อเข้าถึงธรรมะล้วน ธรรมะบริสุทธิ์ล้วนๆไม่มีคน มันก็ไม่มีเรื่องของคน คือ ไม่มีเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย คำว่า ธรรมะ ในความหมายนี้ หมายถึง ธรรมะ ประเภท อสังขตธรรม ธรรมะที่ปัจจัยอะไรๆปรุงแต่งไม่ได้ จึงไม่ต้องมาทำการคิดนึกถึงเรื่องเกิด เรื่องตาย ไม่ต้องทำความคิดนึก เพื่อจะให้อยู่เหนือเรื่องอำนาจของความตาย แต่ถึงอย่างไรก็ดีมันก็เนื่องกัน การที่จะทำจิตไม่ให้อยู่ใต้อิทธิพลของความตายนั้น ถ้ามันเป็นถึงระดับสูงสุดกันจริงๆ ก็คือ ทำจิตให้ขึ้นถึงระดับที่มองเห็นว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล-ตัวตนนั่นเอง เป็นการถอนความยึดมั่น-ถือมั่นว่าตัวตนเสียได้ เรียกว่าละ อัสมิมานะ เสียได้ ดั่งนี้ก็ได้ เรียกว่า ถอน อัตตวาทุปาทาน เสียได้ ดังนี้ก็ได้ บุคคลผู้มีการเห็นธรรมะถึงที่สุดในระดับสุดท้าย ก็เป็นผู้มองเห็นธรรมะประเภทที่เป็น อสังขต ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นธรรมชาติประเภทหนึ่งซึ่งอยู่เหนือการปรุงแต่งของเหตุและปัจจัย จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพราะการปรุงแต่งนั้น ดังนั้น ถือว่าไม่มีอาการที่เรียกว่า หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นความหมายของการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย การเห็นธรรมะนั้น จะเห็นที่ไหนกัน? มันกลายเป็นว่าจะต้องเห็นในภายใน ภายในไหน? ภายในของอะไร? ก็ภายในกาย ภายในร่างกาย ภายใน อัตภาพ สิ่งที่จะเป็นที่ตั้งแห่งการศึกษานั้นทุกเรื่องเลยมันมารวมอยู่ที่ร่างกายของคนที่ยังมีชีวิตเป็นๆอยู่ ร่างกายนี้ถ้ายังมีชีวิตเป็นๆอยู่ เป็นที่รวบรวมของการศึกษาทุกเรื่อง แต่พอตายลงแล้ว เป็นร่างกายที่ไม่มีชีวิตแล้ว ก็เลิกกัน ไม่อาจจะเป็นที่ศึกษามองหาอะไรได้ แล้วตัวมันเองก็ไม่อาจจะศึกษาอะไรได้ เพราะมันตายเสียแล้ว ถ้าชีวิตยังไม่ตาย ก็สามารถจะคิดนึกศึกษาได้ และในชีวิตที่ไม่ตายนั้น จะหาพบทุกอย่าง ทุกประการที่เกี่ยวกับธรรมะ ข้อนี้ก็จะขอให้ทุกคนกระทำในใจถึงพระพุทธภาษิตที่ตรัสว่า แต่ก่อนนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ตถาคตบัญญัติเฉพาะเรื่องความทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น หมายความว่า ๒ เรื่องเท่านั้นที่จะตรัส ที่จะพูด ที่จะบัญญัติ การที่เราพูดเรื่องอื่นนอกจากเรื่องความทุกข์และความดับทุกข์ ก็จะกลายเป็นการพูดนอกขอบเขตของพุทธศาสนา ไม่ได้พูดเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสหรือสอนไว้ให้ศึกษา เดี๋ยวนี้ก็เป็นกันมาก ชอบพูดเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับความทุกข์และความดับทุกข์ ก็ทำให้เรื่องมากขึ้นไป ทีนี้แม้เรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์ก็ต้องมองให้เห็นชัดลงไปว่า พระองค์ตรัส-บัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาววาหนึ่ง ที่ยังมีสัญญาและใจ คือ ยังเป็นๆ ดังที่กล่าวแล้วนั้นเอง มีพระบาลีตรัสแก่ โรหิตัสสเทวบุตร ว่า โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับสนิทแห่งโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับสนิทแห่งโลกก็ดี เราบัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาววาหนึ่ง ประมาณวาหนึ่ง มีทั้งสัญญาและใจ ก็เป็นอันว่า จะศึกษาเรื่องความทุกข์ก็ดี ศึกษาเรื่องความดับสนิทแห่งทุกข์ก็ดี ต้องศึกษาจากร่างกายในกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง มีสัญญาและใจ คือ ยังเป็นๆ นี่แหละเป็นเรื่องที่ว่าไม่ต้องดูออกไปให้ไกลในจักรวาลหรือในโลก โลกอื่น ดูข้างในซึ่งเป็นร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนั้น ทีนี้บางคนจะถามว่า โลกหรือจักรวาลทั้งหลายนั้นมันไม่ได้อยู่ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี่หรือ? ก็ตอบว่าถูกแล้ว ถ้าดูเป็น พิจารณาเป็นแล้ว โลกทุกโลก จักรวาลที่รวมแห่งโลกทุกโลก มันก็อยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง ถ้าพูดอย่างนี้พวกเด็กๆก็ลุกขึ้นวิ่งหนีไปหมดแล้ว เพราะมันเข้าใจไม่ได้ หรือถ้ามันจะทนฟังอยู่ มันคงหลับไปหมดแล้ว เพราะมันฟังไม่ออก ฟังไม่ได้ ฟังไม่ถูกว่า ไอ้ทุกโลก ทุกจักรวาลจะมาอยู่ในร่างกายนี้ได้อย่างไร? ฟังไม่ได้ ฟังไม่เข้าใจ ฟังไม่ถูก มันก็ต้องง่วงและหลับไป ขอให้ถือเอาธรรมะ ที่ฟังถูก ฟังเข้าใจนั่นแหละเป็นยาแก้ง่วง ถ้าฟังไม่รู้เรื่องก็ง่วง มันก็หนีไปนอนแล้ว หรือมันก็นอนหลับอยู่ตรงข้างหน้านี้เอง จึงควรจะสนใจเรื่องนี้กันบ้าง ใครเป็นผู้ที่ง่วงเป็นนิสัยก็จงแก้ไขมันเสีย ด้วยการฝึกฝนบทเรียน คือ การไม่นอนตามที่มันง่วง ไม่ต้องยอมนอนตามที่มันง่วง เราจึงถือโอกาสวิสาขบูชานี้ ฝึกฝนบทเรียนสำหรับแก้ง่วงไปด้วยในตัว มีคนเป็นอันมากมารายงานว่าพอลงมือทำสมาธิก็ง่วง ทำไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะง่วง คนที่ทำสมาธิไม่ได้เพราะง่วงนี้ ควรจะมาฝึกบทเรียนอย่างที่เรากำลังฝึกนี่ คือ อยู่กันตลอดคืน ทั้งวันสำคัญของวันวิสาขบูชาเช่นนี้ เป็นต้น ถ้าทนไป ทนไป มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนนิสัยเป็นเรื่องไม่ง่วง หรือทนต่อความง่วงได้ หรือบังคับความง่วงได้ เป็นอันว่าการที่จะมาแสดงธรรม หรือว่าสนทนาธรรม พูดจาอภิปรายอะไรกันให้ตลอดคืนนี้ มันก็เป็นการฝึกบทเรียนนี้ด้วยเหมือนกัน ร่างกายนี้มันควรจะได้รับใช้เราตามความประสงค์ แม้จะมีหลักที่พูดว่า กายนี้ไม่อยู่ในอำนาจของผู้ใดนั้นมันหมายถึงในระดับความหมายขั้นสูง แต่ในระดับต่ำๆทั่วไปแล้ว มันควรจะอยู่ในอำนาจของบุคคลผู้นั้น เราจะต้องใช้ร่างกายนี้ได้ ใช้มันทำงานก็ได้ ใช้มันกินก็ได้ ใช้มันนอนก็ได้ กระทั่งว่าไม่ให้มันง่วงก็ควรจะได้ถ้ามีการฝึกที่ถูกต้อง และเพียงพอแล้วมันก็เปลี่ยนนิสัยได้ เราจงพอใจยินดีฝึกบทเรียนอันนี้กันตลอดไป เท่าที่จะสามารถทำได้ จนกว่ามันจะทำไม่ได้ หรือมันมีการทำไม่ได้ด้วยเหตุผลชนิดที่แก้ไขไม่ได้จริงๆ เช่น มันเจ็บไข้ อย่างนี้มันก็คงจะทำไม่ได้ แต่ถ้ายังทำได้อยู่ ก็จะฝึกฝนบทเรียนนี้กันสืบต่อไป คือ การบังคับกาย หรือบังคับจิตเท่าที่จะบังคับได้ ในขั้นต้นๆ ต่ำๆ ถือว่าถ้าไม่ให้มันง่วง มันก็ควรจะบังคับได้ ถ้าบังคับกันไม่ได้เสียเลยในลักษณะอย่างนี้ มันก็คงทำอะไรไม่ได้ จะอ่านหนังสือสักหน้าหนึ่งมันก็ง่วงเสียแล้วมันก็อ่านไม่ได้ แล้วจะทำอะไรกันได้ หรือว่าจะนึกคิดอะไรสักเรื่องหนึ่งมันก็ง่วงเสียแล้วมันก็คิดไม่ได้ จะเขียนหนังสือจดหมายสักฉบับหนึ่งมันก็ง่วงเสียแล้ว จะแต่งกลอนสักบทหนึ่งมันก็ง่วงเสียแล้ว แล้วมันก็จะทำอะไรได้ เรียกว่า นิวรณ์ นี้มันมีอำนาจมาก เหนือบุคคลนั้นเกินไปแล้ว มีอำนาจเหนือบุคคลนั้นมากเกินไปแล้ว ควรจะต่อสู้ ควรจะกำจัดเสียเท่าที่จะกำจัดได้ เรียกว่า ถึงกับเปลี่ยนนิสัยได้ มีจิตเข้มแข็งพอสมควร บังคับ นิวรณ์ เช่นนี้ได้ นับตั้งแต่ว่าจะไม่ยอมไปตั้งแต่ต้น บางคนมันชอบหาวนอน มันหาวอวดคนจนเป็นนิสัย มันก็ง่วงนอนเป็นนิสัย ถ้าเราคิดว่าเราจะไม่หาวนอนให้ใครเห็นจนตลอดชีวิต มันก็มีการเปลี่ยนแปลงที่จะไม่แสดงอาการหาว ไม่ทำกิริยาหาว มันก็คงจะลืมไปได้ จนไม่รู้จักหาว ไม่รู้จักหาวนอน ก็หมายความว่า มันเข้มแข็งขึ้นมาระดับหนึ่งทีเดียว ความเข้มแข็งชนิดนี้มันมีประโยชน์อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ถ้าใครทำสมาธิไม่ได้ ขี้ง่วง แล้วก็ต้องต่อสู้ด้วยบทฝึกหัดชนิดที่ทำให้ไม่ง่วงอย่างที่เรากำลังฝึกอยู่นี้ ไม่ใช่ว่าจะต้องฝึกกันทุกวัน ทุกเดือน มันก็เป็นบางครั้ง บางคราว เป็นเครื่องแก้นิสัยไว้บ้าง เป็นตัวถ่วงไว้บ้าง ไม่ปล่อยไปตาม นิวรณ์ เสียเรื่อยไป เรียกว่า เป็นการประพฤติธรรมะอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน แก้นิสัยง่วงนอน หรือบังคับการง่วงนอนไว้ได้นี่เป็นการประพฤติธรรมะอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน คนอ่อนแอทำไม่ได้ คนขี้ขลาดทำไม่ได้ มันกลัวตาย มันกลัวว่าอดนอนสักคืนหนึ่งแล้วมันจะตาย บางทีก็เหมือนว่าจะเป็นลม จะเป็นลม ถ้าอดนอนจะเป็นลม มันก็เลยทำไม่ได้ ถ้าจิตมันคิดอย่างนั้นเสียแล้ว มันก็ทำไม่ได้ทำไม่ได้แน่นอน เพราะว่ามันคิดว่าจะเป็นอย่างนั้นเสียแล้วมันก็เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราไม่คิดอย่างนั้นมันก็เป็นไม่ได้หรอก ถ้าเราไม่คิดเช่นนั้น เราบังคับความคิดเช่นนั้นไว้ได้มันก็เป็นไม่ได้ เหมือนกับว่าจะอดอาหารในวันอุโบสถ ถ้าไปคิดจะกินอยู่มันก็อดไม่ได้ ถ้าคิดว่าไม่กิน ไม่กินแน่ มันก็ลืมไป มันก็ไม่หิว นี้มันขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเรา หรือความคิดของเรา การบังคับจิตของเรา ถ้าเราตั้งใจวันนี้ไม่กินข้าว มันก็ไม่หิว แต่ถ้าเราไม่สามารถจะตั้งใจอย่างนั้นได้ มันก็ต้องหิว มันก็ต้องรบกวนอยู่เรื่อย ในที่สุดมันก็พ่ายแพ้แก่ความหิว มันก็ต้องไปกินข้าว หรือว่าต้องไปแอบขโมยกินข้าว กลัวเพื่อนเขาจะเห็น นี่ เรียกว่า ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับจิต จะได้หรือไม่ได้มันขึ้นอยู่กับจิต ที่ว่าบังคับได้หรือไม่ได้ หรือว่าจะจูงจิตไปได้หรือไม่ได้นั่นเอง กำลังที่จะมาบังคับจิต มาจูงจิตนี้ มันก็มีอยู่หลายอย่าง แม้แต่กำลังของกิเลสก็ใช้ได้ ถ้ามันมีของรัก ของชอบใจของกิเลสมาอยู่ด้วย มันไม่ต้องนอนก็ได้หลายๆคืนก็ยังได้ แต่นั่นมันเป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของกิเลส หรือทำไปเพื่อกิเลส ในทางที่ตรงกันข้าม มันก็เป็นเรื่องของโพธิ โพธิ ตรงกันข้ามกับกิเลส คือ ความรู้สึกที่ตรงกันข้ามกับกิเลส มันก็เป็นเรื่องของโพธิ จะใช้เรื่อง โพธิ ก็ได้เหมือนกัน คือมันชอบใจในสิ่งนั้น มันก็อาศัยกำลังของ โพธิ ที่ชอบใจในสิ่งนั้น ระงับเรื่องนอน เรื่องกิน เรื่องอะไรเหล่านี้ก็ได้ คนเขานั่งเล่นไพ่กันตลอดรุ่ง มันก็ทำได้เพราะกิเลสที่อยากจะได้เงิน อยากจะรวย มันก็นั่งเล่นไพ่ ได้จนรุ่ง แต่ถ้าเอาคนๆ นั้นมานั่งฟังเทศน์สักชั่วโมงเดียว มันก็ทนไม่ไหว มันก็ยอมแพ้ ถ้ามันนั่งเล่นไพ่ มันนั่งได้ตลอดรุ่ง แต่ถ้ามาฟังเทศน์ชั่วโมงเดียวมันก็ทนไม่ไหว ทีนี้ลองกลับกันเสียบ้าง ไอ้คนที่เขาชอบธรรมะนั่งฟังเทศน์ได้ตลอดรุ่ง มีปีติในธรรมะหล่อเลี้ยงใจไว้ นั่งฟังเทศน์หรือนั่งเจริญกัมมัฏฐานได้ตลอดรุ่ง จะเอามันไปนั่งเล่นไพ่สักชั่วโมง มันก็คงทนไม่ไหวเหมือนกัน ไม่รู้ความที่มันตรงกันข้ามกันอยู่อย่างนี้ว่า กิเลส กับโพธินี้มีอารมณ์ต่างกัน อารมณ์เดียวกันมันก็รู้สึกต่างกัน เราจงหันหน้าไปหาสิ่งที่เรียกว่า โพธิ คือ กำลังของความรู้ของสติปัญญา ต้องการจะรู้สิ่งสูงสุด แล้วก็มีความพอใจ สมมติว่าเราจะนั่งเฝ้าดูพระพุทธเจ้า เผอิญว่าถ้าเรามีโอกาสที่จะนั่งเฝ้าดูพระพุทธเจ้าตรัสรู้ตลอดคืน อย่างนี้จะได้หรือไม่? ถ้ามีกำลังของ โพธิ พอมันก็นั่งเฝ้าดูตลอดคืน จนได้เห็นพระพุทธเจ้าตรัสรู้ไม่ยากเลย ทีนี้คนบางคนลูกไม่สบาย เจ็บไข้ จะตาย มันก็นอนไม่หลับ นอนไม่ลง มันก็ดูแลลูกไปจนสว่างคาตา นี้เป็นอำนาจของความรักลูก ถ้าเรามีความรัก ความรู้ รักสติปัญญา รัก โพธิ มากเท่านั้น มันจะสามารถทนดูพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้จนสว่างคาตาได้เหมือนกัน ใครเล่าจะตรัสรู้ ก็คือ ตัวเองนั่นแหละ ถ้ามันจะทำความเพียรเพื่อการบรรลุธรรมหรือตรัสรู้ ถ้ามันมีความพอใจมันก็ทำความเพียรเพื่อการบรรลุธรรมได้จนสว่างคาตา กลายเป็นของไม่มีปัญหา ไม่เจ็บปวด ไม่ทนทรมานอะไร เป็นสุขพอใจ มีปีติตลอดเวลา จนบรรลุธรรมะขั้นสูงสุดนั้น เมื่ออยากจะถึงที่สุดสำเร็จประโยชน์ถึงที่สุดในเรื่องของสิ่งใด ในเรื่องใด จะต้องสร้างความพอใจในสิ่งนั้นให้มาก ถ้าอยากเล่นไพ่สว่าง ก็ทำความพอใจในการเล่นไพ่ ถ้าอยากจะทำกัมมัฏฐานสว่าง ก็ต้องสร้างความพอใจในการทำกัมมัฏฐาน เฝ้าดูตัวเองว่าเมื่อไรมันจะตรัสรู้ เมื่อไรมันจะมี กำเนิดโอปปาติกะผลุงขึ้นมาเป็นการรู้ เป็นการตรัสรู้ เปลี่ยนชีวิตจิตใจได้ นี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับพวกเรา ไม่ใช่เรื่องนอกเรื่อง มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับพวกเรา ที่ว่าทำไมบางคนจึงมีจิตใจเข้มแข็ง ปฏิบัติธรรมะได้เป็นล่ำเป็นสัน ทำไมบางคนมันจึงอ่อนแอ ไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมะได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน มันต่างกันมากทีเดียว เรามาพูดเป็นเรื่องเตือนสติว่า เราจะปฏิบัติกับตัวเองอย่างไร? บางคนเข้าใจผิดว่า ถ้าว่าเป็นการบังคับตัวเองมากไปหน่อยแล้ว เห็นเป็นเรื่องผิดพลาดไปเลย ว่าเป็น อัตตกิลมถานุโยค แล้ว เป็น ทุกรกิริยา เป็น อัตตกิลมถานุโยค ผิดแล้ว เป็นสุดโต่งฝ่ายข้างตึงแล้วก็เลิกเสียไม่กล้าทำ ที่จริงเพราะว่ามันเป็นคนขี้นอน มันเห็นแก่นอน มันจึงทำไม่ได้ มันไม่ได้เป็น อัตตกิลมถานุโยค เพราะว่าจะอยู่ไม่นอนสักคืนหนึ่งนี้ มันเป็นการทำชนิดที่จะทดสอบตัวเองดูก็ได้ จะขจัด นิวรณ์ ที่เป็นนิสัยสันดานนั้นก็ได้ เป็นการประพฤติพรหมจรรย์อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน ถ้าคนอ่อนแอมันก็เห็นเป็น อัตตกิลมถานุโยค ไม่ยอมฝึกฝน ไม่ยอมฝึกหัด มันก็อยู่ที่นั่น มันก็อยู่ที่นั่น ก็ทิ้งกันไว้ก่อน ทิ้งกันไว้ที่นั่น มันไม่กล้าหาญ มันไม่เข้มแข็งที่มันจะโผขึ้นบินไปในระดับอื่น เมื่อเรามีความพอใจในสิ่งใดถึงขนาดที่เรียกว่ามี ธรรมปีติ ในสิ่งนั้นแล้ว มันก็มีอำนาจมากพอที่จะระงับความเหน็ดเหนื่อย ระงับอุปสรรคต่างๆ จะปฏิบัติธรรมได้ไม่รู้จักความเหน็ดเหนื่อย ไม่รู้จักง่วง ไม่รู้จักชนิดที่มันเป็นกีดกันไม่ให้สำเร็จ มันจะต้องรู้จักหล่อเลี้ยงจิตใจ ปลอบโยนจิตใจด้วยความพอใจในสิ่งอันเป็นวัตถุประสงค์ ขอให้สังเกตดูในเรื่องโพชฌงค์ ๗ ประการ มี ธัมมวิจยะ มี สติ มี ธัมมวิจยะ มี วิริยะ มี ปีติ มี ปัสสัทธิ มี สมาธิ มี อุเบกขา ทำไมต้องเอา ธรรมปีติ ธรรมปีติ เข้าไปใส่ไว้ด้วย เพราะมันเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างที่กล่าวนี้ ถ้ามันมีปีติในสิ่งนั้นแล้ว มันก็มีกำลังใจสูงสุด มันจะนั่งปฏิบัติธรรมะ เฝ้าดูตัวเองตรัสรู้ได้ โดยไม่ง่วง ไม่เหงา ไม่อ่อนแอ อ่อนเพลียอะไร เหมือนคนที่เขาชอบเล่นไพ่ ก็นั่งเล่นไพ่ได้ตลอดรุ่งเช่นเดียวกัน ความหมายมันคนละอย่าง ความมุ่งหมายมันคนละอย่าง แต่กิริยาอาการที่เป็นไปนั้นมันมีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน คือ มันต้องมีความพอใจในสิ่งนั้นอย่างเพียงพอ พอใจในธรรมะอย่างเพียงพอ ก็นั่งศึกษาหรือค้นคว้า หรือฟังธรรมะนั้นได้ อย่าว่าตลอดรุ่งคืนเดียว ตลอดรุ่งหลายๆ คืนก็ยังทำได้ ทีนี้ คนที่เขาหลงในวิชาการบางอย่างเขาค้นคว้าไม่นอนเป็นคืน เป็นคืนก็ได้ มันนอนน้อยมากจนเรียกว่าจะไม่มีการนอนเอาสียเลยอย่างนี้มันก็ยังทำได้ เราควรจะทำอย่างนั้นบ้างกับสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ที่เป็นเครื่องดับทุกข์ วิริยะ คือความพากเพียรต้องหล่อเลี้ยงไว้ด้วย ปีติ เสมอ ดังหลักโพชฌงค์ที่กล่าวแล้วว่ามี สติระลึกธรรมะประมวลมาแล้วก็เลือกเอาธรรมะที่เห็นว่าอันนี้จะช่วยได้ ที่จะปฏิบัติสำเร็จได้ ทำความดับทุกข์ได้ แล้วก็มีวิริยะ คือ ความพากเพียรในทางธรรมะที่เลือกแล้วนั้น แล้วก็ ปีติ ปีติ คือ ความพอใจหล่อเลี้ยงไว้เรื่อย พอใจหล่อเลี้ยงอยู่เรื่อย อยู่เรื่อย มันก็ปรับปรุงตัวเองเข้ารูปกันได้ ไปได้ตามที่เราต้องการ นี่เรียก ปัสสัทธิ มันเข้ารอย เข้ารูปกับที่เราต้องการ มันมี ปัสสัทธิ เข้ารูปเข้ารอยกับที่เราต้องการ มันก็มี สมาธิ ก็สมาธิก็รักษาไว้ได้ด้วยธรรมะที่ชื่อว่า อุเบกขา คือ รักษาความเป็นอย่างนั้น ความถูกต้องอย่างนั้น ความเข้ารูป เข้ารอยอย่างนั้นไว้เรื่อย จนกว่ามันจะบรรลุผลุงขึ้นมาเป็น โอปปาติกะกำเนิด เกิดเป็นพระอริยเจ้า เอาแล้ว เป็นการเพียงพอแล้วที่ว่าเราจะต้องฝึกฝนความเข้มแข็งแห่งจิตตามสมควรแก่โอกาส ตามสมควรแก่สมรรถนะ อัตภาพของตน ของตน เรียกว่า จะใช้ชีวิตนี้ให้ทำประโยชน์ให้สูงสุดเท่าที่มันจะทำได้ เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เราจะมาดำเนินการปฏิบัติให้ถึงความไม่ตาย เป็น อมตะธรรม เป็น ธรรมะชีวี ในความหมายขั้นสุดท้าย ว่ามีชีวิตเป็นธรรมะที่ไม่รู้จักตาย ธรรมะในความหมายนี้แยกออกมาเฉพาะในความหมายนี้ก็กล่าวได้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่รู้จักตาย จะยังคงมีอยู่ตลอดอนันตกาล ตลอดอนันตกาล คือ ไม่มีการดับสิ้น เป็นนิรันดร ความเป็นนิรันดรของธรรมะประเภทนี้ ก็เรียกว่า ธรรมะที่ไม่ตาย มีความหมายที่ว่า ไม่มีอะไรปรุงแต่งจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนไปในทาง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทำจิตให้เข้าถึงภาวะอันนี้ ลักษณะอันนี้ มันก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือ ไม่เปลี่ยนไปตามสิ่งที่เข้ามาแวดล้อม ทาง ผัสสะ คงมีจิตมั่นคง อยู่ด้วยอำนาจของธรรมะ หรือมีหลักธรรมะอันนี้ที่รักษาไว้ด้วยสติ อย่าให้เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุ-ตามปัจจัย มี วิชชา เต็มที่ ในขณะแห่ง ผัสสะ และก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็น เวทนา ตัณหา อุปาทาน หาพบความไม่ตายตรงที่ ผัสสะ นี้อีกเหมือนกัน ความดับ ผัสสะ หมายความว่า หยุดการปรุงแต่งของ ผัสสะ เสียได้ ไม่ให้ปรุงแต่งเป็น เวทนา ตัณหา เป็นตัว-เป็นตนขึ้นมาก็อยู่ที่ตรงนี้เอง ที่ว่าจะทำให้ไม่มีตัวตน ทำให้ไม่เกิดตัวตน ไม่มี อุปาทาน ว่าตัวตน ไม่มี มานะ ว่าตัวตนมันจะทำกันที่ตรงไหน? จะทำกันเมื่อไร? พวกอื่น ลัทธิอื่น ศาสนาอื่น เขาก็พูดไปตามแบบของเขา จะทำกันอย่างไร ในอินเดียโดยเฉพาะนี่มีหลายลัทธิ หลายศาสนา มีคำสอนหลายรูปแบบ เขาก็มีรูปแบบของลัทธิของศาสนาของเขา แต่ว่าเราพุทธศาสนานี้มีวิธีปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นแห่งตัวตน เพื่อจะดับเสียซึ่งตัวตนตามวิธีนี้ คือ ตามวิธีที่จะควบคุม ผัสสะ ให้ ผัสสะ ไม่สามารถจะปรุงแต่งไปตามธรรมชาติของ ผัสสะ ที่โง่เขลา ผัสสะ ที่มี อวิชชา มันก็มีการปรุงแต่งไปจนเกิดตัวตน ถ้ามีสติ มีปัญญา มี วิชชา มาทันท่วงที ผัสสะ นี้ก็จะไม่มีโอกาสปรุงแต่งไปตามธรรมดาของ ผัสสะ ที่โง่เขลา พูดอย่างลึกซึ้งก็เรียกว่า ดับ ผัสสะ เสีย คือ ไม่ให้มันทำหน้าที่ ทำให้ ผัสสะ ทำหน้าที่ไม่ได้นั้นเรียกว่า ดับ ผัสสะ เสีย การดับ ผัสสะ ก็คือ การดับการปรุงแต่ง ที่จะปรุงแต่งไปจนเป็นตัวตน เรื่องนี้ก็ได้พูดกันมามากแล้วว่า ผัสสะ เป็นจุดที่สำคัญที่สุด จะจัดการอะไรให้สำเร็จประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ก็จัดการตรงที่เป็น ผัสสะ จะดับโลก จะดับทุกข์ จะดับกาม จะดับกิเลส ดับอะไรที่ควรดับ แล้วก็จงดับที่ ผัสสะ เพียงให้มีการดับแห่ง ผัสสะ ให้ ผัสสะ หยุดปรุงแต่งเสีย ผัสสะ ไม่ปรุงแต่ง เวทนา ไม่ปรุงแต่ง ตัณหา ไม่ปรุงแต่ง อุปาทาน ตัวตนจะมาแต่ไหน มันก็ไม่มี เมื่อไม่มีตัวตน ก็ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวตน ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ไม่มีที่ตั้งอาศัย ณ ที่ใด มันก็เลยไม่มี มันไม่มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะมันไม่มีตัวตนให้เป็นที่ตั้ง ที่อาศัย มันยากมากหรือยากน้อย มันลึกหรือตื้น ก็ขอคิดดูเองด้วยกันจงทุกคนเถิด แต่ว่าหลักธรรมะมันมีอยู่อย่างนี้ ถ้าต้องการจะดับตัวตนกันเสียโดยแท้จริงแล้ว ต้องศึกษาเรื่องนี้ คือ ดับ อุปาทาน เพราะว่าดับ ตัณหา เสีย ดับ ตัณหา เสียก็เพราะว่าดับ เวทนา เสีย ดับ เวทนา เสียก็เพราะดับผัสสะ เสีย อย่าให้ ผัสสะ มันปรุงแต่งเป็นเวทนาชนิดที่เป็นปัจจัยแก่ ตัณหา และ อุปาทาน มันก็ไม่มี ภพ มันก็ไม่มี ชาติ ในความหมายใด ถ้ามันไม่มีความหมายเป็น ภพ ชาติ อุปาทาน แล้ว แม้จะเกิดมาจากท้องแม่ มันก็ไม่มี ภพ มี ชาติ อะไร มันเป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงของธาตุ เนื้อหนัง ร่างกายเท่านั้น อย่างนี้เรียกว่า มันไม่มีตัวตน ไม่มีการปรุงแต่งให้เป็นตัวตนโดย รูป โดย เวทนา โดย สัญญา โดย สังขาร โดย วิญญาณ หมายความว่า ชีวิตมันยังอยู่ มันดับตัวตนเสียแต่ชีวิตยังอยู่ เด็กๆก็คงฟังไม่ถูก ผู้ที่มีความรู้อย่างเด็กๆก็คงฟังไม่ถูก เพราะว่าดับตัวตนเสียแล้วจะมีชีวิตอย่างไร? ดับสังขารเสียแล้วจะมีชีวิตอย่างไร? มันฟังไม่ถูก ดับสังขาร คือไม่ให้มีการปรุงแต่ง มันไม่ได้ตายแต่ไม่ให้มีการปรุงแต่งให้เป็นตัวตนในความรู้สึกของ อุปาทาน ดับตัวตนเสีย ดับ อุปาทาน เสีย มันก็ยังไม่ตาย มันก็ยังมีชีวิตอยู่ นี่เรียกว่ามันเป็น อมตะ คือ ไม่ตาย ไม่มีความตาย ไม่มีความตายของตัวตน เพราะมันไม่มีความยึดถือว่าตัวตน ถ้าไปยึดถืออะไรว่าเป็นตัวตนเข้า มันจะมีความตายที่นั่นแหละ ยึดถืออะไรเป็นตัวตนแล้ว มันก็มีความตายของตัวตนที่นั่นแหละ คิดดูเอาเองเถิดว่า มันเป็นเรื่องละเอียด ประณีต สุขุมสักเท่าไร ที่คนเราจะมีความรู้สึกมีจิตใจได้อย่างนี้ เคยบอกกันถึงอุบายอันนี้ในรูปอุปมาว่า ให้ตายเสียก่อนตาย และอวดว่าเป็น ปริญญาของสวนโมกข์ ปริญญาตายก่อนตาย ใครจะได้รับบ้าง คือ ตัวตนนั้นตายโดยที่ชีวิตนี้ไม่ต้องตาย ร่างกายไม่ต้องตาย ให้ตัวตนมันตาย คือ หมด อุปาทาน ว่าตัวตนเสียก่อนแต่ที่ชีวิตนี้จะแตกดับ เมื่อหมด อุปาทาน ว่าตัวตนแล้ว ชีวิตนี้จะไม่มีความทุกข์เลย ที่ว่าชีวิตเป็นทุกข์ก็เพราะว่ามันมี อุปาทาน ว่าตัวตน เป็นตัวชีวิต เป็นเจ้าของชีวิต เป็นผู้ยึดครองชีวิต กำจัดความรู้สึกว่าตัวตนออกไปเสียจากสิ่งที่เรียกว่า ชีวิต ชีวิตนี้ก็ไม่มีตัวตน มันก็ไม่มีปัญหาของตัวตนคือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นอยู่อย่างนี้ได้ก็เรียกว่า ชีวิตนี้มันเข้าถึงความไม่ตาย ความไม่ตายลักษณะนี้ท่านจัดไว้เป็น นิรันดร มีความหมายที่ว่าเมื่อมันไม่ถูกปรุงแต่งแล้ว มันก็ไม่มีความเปลี่ยนแปลง มันก็ไม่มีความแตกดับ เพราะมันไม่มีความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น ชีวิตนิรันดรนี้ก็หาพบได้ ได้ในร่างกายที่ยังเป็นๆที่ยาวหนึ่งวา ยังเป็นๆอยู่ยังไม่ตายนี้เอง อย่าเข้าใจว่าตาย ตายจากโลกนี้แล้วไปหาชีวิตนิรันดรข้างหน้า โลกอื่น โลกไหน ตามที่เขาพูดๆกันนั้น เขาก็พูดกันไปตามแบบของเขา แต่ในพุทธศาสนานี้มันไม่มีชีวิตนิรันดรแบบนั้น ชีวิตนิรันดรแบบพุทธศาสนา ต้องรู้ได้ ต้องเข้าถึงได้ ต้องรู้จักได้ทันที เมื่อดับ อุปาทาน ว่าตัวตนเสีย ดับ ตัณหา เสีย อุปาทานก็ดับ ดับเวทนาโง่ๆ จากผัสสะโง่ๆ เสีย ก็ไม่เกิดตัณหา ตัณหาก็ดับ เรียกว่าดับผัสสะตามธรรมดาของคนโง่เสีย ปุถุชนเป็นคนโง่ มันมี ผัสสะ ตามแบบของปุถุชน มันก็ปรุงแต่งกันไปจนเกิดตัวตนและเป็นทุกข์ ดับ ผัสสะ ชนิดนี้เสีย มันก็ไม่เกิด เวทนา เกิด ตัณหา เกิด อุปาทาน ว่าเป็นตัวตน มันเป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องศึกษากันเป็นพิเศษ จึงจะมองเห็นได้ว่า ดับ ผัสสะอย่างไร และคำว่า ดับ ดับนี้ บอกกันมาหลายสิบครั้ง หลายสิบหนแล้วว่า คือ ไม่ทำหน้าที่ เมื่อมันไม่ทำหน้าที่ทำแบบของมันแล้ว ก็เรียกว่า มันดับ เมื่อตาไม่ทำหน้าที่ของตา ก็เรียกว่า ตาดับ เมื่อหูไม่ทำหน้าที่ของหู ก็เรียกว่า หูดับ ทั้งที่ตาก็ยังอยู่ หูก็ยังอยู่ มันคอยแต่จะเกิดดับ เกิดดับ ไปตามทำหน้าที่ มีอะไรมาให้มันทำหน้าที่ ก็เรียกว่า มันเกิด มันทำหน้าที่ไม่ได้ ไม่ได้ทำหน้าที่ ก็เรียกว่า มันดับ นี้เป็นความละเอียดของความหมายในทางภาษาของธรรมะ ซึ่งจะต้องศึกษากันไว้บ้าง จะต้องรู้กันไว้บ้าง ถ้ามิฉะนั้นแล้วจะไม่อาจเข้าใจธรรมะได้ ไม่สามารถจะเข้าใจธรรมะได้ เพราะมีความจริงที่ละเอียดลึกซึ้ง และก็พูดกันได้ด้วยภาษา ด้วยถ้อยคำที่มีความหมายละเอียดลึกซึ้ง ไม่ใช่มีความหมายอย่างธรรมดาที่ชาวบ้านเขาพูดจากัน ดังนั้นเราจึงแยกภาษาพูด หรือคำพูดนี้เป็น ๒ ประเภท คือประเภทภาษาคน สำหรับคนไม่รู้ธรรมะพูด และประเภทภาษาธรรม สำหรับคนรู้ธรรมะพูด ขอให้ทุกคนจงรู้ทั้ง ๒ ภาษา ไอ้ภาษาคนนั้นมันก็รู้อยู่แล้ว มันพูดมันใช้อยู่เป็นปกติ จนออกจะเกินไปแล้ว จะโง่โดยไม่รู้ตัวแล้ว ก็มาศึกษาภาษาธรรมกันเสีย ให้รู้ภาษาธรรมลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป นั่นแหละ จะแก้ปัญหาได้ รู้ภาษาธรรม ก็หมายความว่า มันรู้ธรรม แล้วมันจึงจะรู้ภาษาธรรม รู้ธรรมะแล้วมันจึงจะพูดอย่างถูกต้องตามธรรมะ คำพูดที่ออกมามันก็เป็นภาษาธรรม ถ้าพูดว่าทุกข์มันก็มีความหมายอย่างหนึ่ง ดับทุกข์ก็มีความหมายอย่างหนึ่งตามแบบของภาษาธรรม ไม่ใช่ตามแบบของภาษาคน ถ้าพูดว่ามีความสุขมันก็มีความหมายตามแบบภาษาธรรม ไม่ใช่แบบภาษาคน เพราะฉะนั้น ทุกคำที่ใช้พูดกันอยู่นั้น มันมีความหมาย ๒ อย่าง และมันตรงกันข้ามเสมอ มันจะตรงกันข้ามเสมอ เพราะว่าคำพูดของคนรู้ กับคำพูดของคนที่ไม่รู้ มันก็ต้องมีความหมายที่ตรงกันข้ามเสมอ เพราะฉะนั้น เราอุตส่าห์ศึกษาไว้ สังเกตไว้ ทำความเข้าใจไว้ ว่าประโยคนี้ที่เขาพูดนี้ เขาพูดอย่างภาษาคน หรือพูดอย่างภาษาธรรม พระพุทธภาษิตที่ตรัสว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นี่ก็เห็นมี เห็นว่ามีอยู่ในพระบาลี และก็พระพุทธภาษิตที่แสดงให้เห็นว่า นิพพานนั้นไม่ได้เป็นสุขอะไร มันพ้นจากความเป็นสุข หรือพ้นจากความเป็นทุกข์ นิพพานนี้เหนือสุข เหนือทุกข์ ไม่มีความหมาย สุข อย่างที่ชาวบ้านเขารู้สึก รู้จัก และต้องการกัน ดังนั้น เมื่อจะพูดว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ก็พูดเพื่อให้คน คนธรรมดาสนใจเท่านั้นแหละ ถ้าพูดอย่างภาษาธรรมะแท้ๆแล้ว นิพพานนั้นก็เหนือความสุข ไม่มีความหมายแห่งความสุขอย่างที่ชาวบ้านเขารู้สึกกัน ไอ้ความสุขก็เกิดเป็น ๒ ความหมาย ความสุขในภาษาคนก็อย่างหนึ่ง ความสุขในภาษาธรรมก็อย่างหนึ่ง แต่โดยที่แท้แล้ว ภาษาธรรมนั้นก็ต้องการให้หมดความหมายของคำว่า สุข อย่างที่ชาวบ้าน คน คนนี่เขารู้จักกัน มันเดินกันคนละทางอย่างนี้ พอมันมีความจำเป็นที่จะต้องมาพูดให้คนธรรมดาฟัง แล้วจะพูดภาษาอะไร มันก็พูดภาษาคนนั่นแหละ ค่อยๆอธิบายทำความเข้าใจให้เห็นว่าที่พูดอย่างนั้น มันไม่ถูกหรอก ไม่ถูกกับความจริง คนที่ไม่รู้ความจริง พูดมันก็พูดไปตามที่ไม่รู้ความจริง มันก็หลงใหลในความสุขตามความรู้สึกของกิเลส มันกลายเป็นความสุขของกิเลส พูดว่า ความสุข ในภาษาคนก็ความสุขของกิเลส พูดว่า ความสุข ในภาษาธรรม ก็คือ ความไม่มีกิเลส ความสุขของความไม่มีกิเลส จะไปเที่ยวยินดี หลงใหล ติดใจ อาลัย อาวรณ์อยู่ในสิ่งใดก็ไม่ได้ นี้เรียกว่า ไม่มีทางอื่นหรอกนอกจากที่จะต้องศึกษาสังเกตดูความหมายที่ลึกลงไปกว่าที่คนธรรมดารู้จัก หรือรู้สึก ภาษาคนต้องมีตัวตน ภาษาธรรมไม่มีตัวตนนี้ เป็นหลักอันใหญ่ หลักที่เป็นประธาน เพราะว่าภาษาคนเขาพูดอย่างมีตัวตน ก็ต้องได้อย่างนั้น ต้องได้อย่างนี้ตามกิเลสของตัวตน ถ้าเป็นภาษาธรรม มันไม่มีตัวตน มันก็ไม่ต้องการอะไร มันจึงเป็นคนละเรื่อง มีจิตใจอยู่กันคนละระดับ ถ้ายังมีตัวตน มีตัวกู มีอะไรอยู่ มันก็พูดไปตามแบบของมีตัวตน ของกิเลสที่มีตัวตน ถ้าหมดกิเลสมันก็เป็นความรู้สึกอย่างอื่น มันก็ไม่พูดว่ามีตัวตน หรือตัวตนมันต้องการอะไร ธรรมะนี้มันไปจบลงที่เรื่องไม่มีตัวตน คือ เรื่อง อนัตตา ถ้ายังมีอัตตา มีตัวตนอยู่ ยังไม่จบ ไม่ว่าจะเป็น อัตตา ชั้นดี ชั้นเลิศ ชั้นประเสริฐ ชั้นมั่นคงอะไรก็ยังไม่จบ มันยังมีตัวตนอยู่ จิตที่ยังรู้สึกว่ามีตัวตนอยู่ก็เป็นจิตที่แบกของหนัก ดังนั้น พุทธศาสนาจึงไม่ได้จบลงด้วยความมีตัวตนอย่างที่ศาสนาอื่นเขามีกัน ศาสนาที่ถือกันว่าประเสริฐที่สุด ฉลาดที่สุดก่อนพระพุทธเจ้าเกิดนั้น เขาเรียกกันว่า ลัทธิอุปนิษัท ค้นพบว่าตัวตนที่ไม่มีกิเลสนั้นแหละ จะไปเป็นตัวตนที่ตั้งอยู่อย่างนิรันดร เขาก็มุ่งหมายกันที่นั่น พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาท่านไม่สอนอย่างนั้น ท่านสอนให้ดับความรู้สึกหรือความหมายว่าตัวตนเสีย พุทธศาสนาจึงกระโดดขึ้นไปขั้นหนึ่งจากลัทธิที่ถือว่าประเสริฐที่สุดอยู่ในขณะนั้น มันจึงไม่มีไม่มีตัวตน ชนิดที่เรียกว่าเป็นอะไร เป็น ปรมาตมัน คือ เป็น บรมพรหมมา เป็น บรมพรหมมา เป็นถาวร เหมือนกับใน ลัทธิอุปนิษัท ในเมืองไทยเรานี้ มันก็มีปัญหาเพราะว่าลัทธิฮินดู ลัทธิพราหมณ์อุปนิษัทนั้นก็ได้มาสอนกันอยู่ในเมืองไทยก่อนพุทธศาสนามาถึงเป็นแน่นอน เพราะว่าชาวอินเดียนี้เขามาถึงดินแดนแถวนี้กันแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธศาสนามาถึง ถ้าถือตามเรื่องในประวัติศาสตร์ ว่าพุทธศาสนามาถึงดินแดนแถวนี้เมื่อประมาณ ๓๐๐ ปีหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ทีนี้ในยุคพุทธกาลนั้นกล่าวได้ว่าชาวอินเดียได้มาสู่ที่นี่ สถานที่นี้ แหลมทองนี้แล้ว ก็ได้มาสอนลัทธิอย่างนั้นของเขาไว้แล้ว เราจึงมีความรู้เรื่องตัว เรื่องตน เรื่องตัวตนอันสูงสุด เรียกว่า เรื่องมีตัวตนก็แล้วกัน ยึดถือกันไว้อย่างแน่นแฟ้น พอพระพุทธศาสนามาถึงดินแแดนส่วนนี้ มันก็ยากลำบากที่จะสอนเรื่องไม่มีตัวตนแก่ประชาชนที่ถือลัทธิตัวตนอย่างแน่นแฟ้นอยู่ก่อนแล้ว นั่นแหละคือความยากลำบากในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงมีคำกล่าวไว้ในตำนานนี้ในประวัติอันนี้ว่า พระอรหันต์ที่พระเจ้าอโศกส่งมาเผยแผ่พุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ คือ ดินแดนนี้ ประสบความยากลำบากมาก ต้องมาปราบยักษ์ ปราบ รากษส ปราบผี ปราบอะไรก็หลายอย่าง ให้มันหมดไปเสียก่อนจึงสอนพุทธศาสนาได้ ก็หมายความว่า เขามาสอนกันอยู่ก่อนว่ามีตัวตน มีเทพ มีเทวดา มีผี มีอะไร อย่างแน่นแฟ้นอยู่ก่อนแล้วนั้นแหละ มันก็ถือ ประชาชนมันถือลัทธิกันอย่างนั้นอยู่ก่อนอย่างแน่นแฟ้นแล้ว พอพุทธศาสนามาถึงจะสอนเรื่องไม่มีตัวตน มันก็ยากลำบาก มันก็ต้องมาต่อสู้กันก่อน กว่าจะสอนลัทธิไม่มีตัวตนได้ในหมู่คนที่ถือลัทธิตัวตนอยู่อย่างแน่นแฟ้น แล้วมันก็ปราบได้ไม่หมดหรอก เพราะมีการถือตัวตนอย่างแบบ อุปนิษัท แบบฮินดูอยู่จนกระทั่งบัดนี้ คือ ลัทธิฮินดูของพราหมณ์ ของอุปนิษัทนั้นมันไม่ได้หมดไป มันยังมีถือเป็นตัวตน เหนียวแน่นอยู่ในสันดานของประชาชน ของมหาชนในถิ่นนี้ ถ้าใครศึกษาพุทธศาสนาได้ คือ เขาปราบสำเร็จ ประดิษฐานพุทธศาสนาให้ได้มันก็เปลี่ยนเป็นเรื่องไม่มีตัวตน แต่แล้วมันก็ยากลำบาก มันยากเกินไป มันทำไม่ได้ ส่วนใหญ่มันก็เลยถือมีตัวตนกันไปตามเดิม บางทีจะเหนียวแน่นยิ่งขึ้นเพราะว่าไอ้เรื่องไสยศาสตร์มันกลับมาอีก สอนเรื่องมีตัวตนชนิดนี้เพิ่มขึ้นอีก แม้ปัจจุบันนี้มันก็เป็นการยากที่จะสอนลัทธิเรื่องไม่มีตัวตน เป็นการยากที่จะสอนลัทธิธรรมะบริสุทธิ์ล้วนๆ เพราะว่าเรื่องไสยศาสตร์มันกลับมาอย่างเข้มข้น เชื่อเรื่องตัวตน เชื่อเรื่องผี สาง เทวดาอะไรที่มันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นเรื่องไม่ใช่พุทธศาสนา แล้วก็ลุกลามเข้ามาในขอบเขตของพุทธศาสนา จนกลายเป็นว่าเรื่องไสยศาสตร์นั้นเข้าไปทำในกลางโบสถ์ ในโบสถ์ของพุทธศาสนานั้นเอง อย่างนี้น่ากลัวกว่า อันตรายของพุทธศาสนาที่น่ากลัวกว่า ก็คือ เรื่องอย่างนี้ อย่าไปทะเลาะกันด้วยเรื่องอย่างอื่นเลย จงดูไอ้ความน่ากลัวที่เป็นการต่อสู้กันระหว่างความถูกต้องกับความไม่ถูกต้อง ระหว่าง วิชชา กับ อวิชชา ระหว่างพุทธศาสนากับไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าหวาดเสียว น่าอันตรายอย่างยิ่ง ถ้าเอาไสยศาสตร์หรือความขลังความศักดิ์สิทธิ์มาใส่ลงไปในพุทธศาสนา พุทธศาสนาก็หมด จึงเตือนแล้วเตือนอีก ว่าอย่าเอาความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์มาใส่ลงไปในพุทธศาสนา พุทธศาสนามันจะหมด มันกลายเป็นไสยศาสตร์ไป จงรักษาความเป็นไปตามหลักแห่งเหตุผลคือ กฎ อิทัปปัจจยตา ให้คงมีอยู่ในพุทธศาสนา นั่นแหละป้อมค่าย มั่นคงของพุทธศาสนา ถ้าความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา ยังคงมีอยู่เพียงใด ความรู้สึกว่าตัวตนมันก็เกิดขึ้นไม่ได้ เป็นเพียงกระแส อิทัปปัจจยตา ว่าสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมีอย่างนี้ ไอ้ตัวตน ตัวตนมันก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหลักพุทธศาสนายังมีอยู่เพียงไร พุทธศาสนาก็มีอยู่เพียงนั้น ถ้าหลัก อิทัปปัจจยตา ยังมีอยู่เพียงไร พุทธศาสนาก็มีอยู่เพียงนั้น ถ้าหลัก อิทัปปัจจยตา หายไป ไสยศาสตร์ก็มาแทนที่พุทธศาสนา ก็หมดแล้ว หมดเกลี้ยง หมดอย่างไม่มีอะไรเหลือ นี่, พวกพุทธบริษัททั้งหลายจงรู้กันไว้ ว่าพุทธศาสนาถือหลักสูงสุด คือ ความไม่มีตัวตน ความไม่มี อัตตา มีแต่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ธรรมดา ปรุงแต่งกันไปตามกฎแห่ง อิทัปปัจจยตา นี้เรียกว่าความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา มันกำจัดตัวตน มันทำลายตัวตนไม่ให้มีขึ้นมา หรือที่มีอยู่แล้วก็ให้หายไปนี่ อิทัปปัจจยตา กฎเกณฑ์อันนี้จึงเป็นหัวใจของพุทธศาสนายังมีอยู่เพียงใด พุทธศาสนาก็ยังมีอยู่เพียงนั้น พอเอาความรู้เรื่องนี้ออกไป เอาเรื่องขลัง เรื่องศักดิ์สิทธิ์เข้ามา ก็เป็นไสยศาสตร์ พุทธศาสนาก็หมดไป เราก็ไม่มีโอกาสอีกต่อไปที่จะศึกษาเรื่องความไม่มีตัวตน เราก็ไม่อาจจะบรรลุถึงธรรมะที่ไม่มีตัวตน มันก็ดับทุกข์อะไรไม่ได้ มันมีตัวตนที่จะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือ อวิชชา ความโง่ ความเขลา เป็นตัวกู ของกู เป็นอะไรของกู มันอยู่กันที่ตรงนี้แหละ ต่ำสุดกันอยู่ที่ตรงนี้คือ มีตัวกู มีของกู มีตัวตน มีของตน ที่หมายมั่นเป็นตัวตนกันเสียจริงๆ ไม่ได้ว่างจากตัวตนเลย นี่, เพื่อเห็นแก่พระศาสนา หรือเพื่อเห็นแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในโลกที่ควรจะมีความรู้อย่างถูกต้องอยู่เป็นหลักนี้ ก็ช่วยกันรักษาเรื่องของ อิทัปปัจจยตา คือ เรื่องไม่มีตัวตนนี้ ไว้เพื่อให้ยังคงอยู่ตลอดไป ตลอดไป จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษากันให้ดี ศึกษาอย่างยิ่ง ศึกษาให้เข้าใจ ปฏิบัติอยู่ ถือเป็นหลักได้อยู่ ก็เรียกว่า ป้องกันธรรมะหรือพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงไว้ได้ ไม่ให้มีศัตรูอันใดที่ไหนมาทำลายได้ เพราะมีหัวใจของพุทธศาสนาอยู่จริง วันนี้ ตอนนี้ เราต้องการจะพูดกันเรื่องไม่มีตัวตน เป็น ธรรมะชีวี ชนิดที่เป็นอุปมาเหมือนกับว่า มีชีวิตเป็นธรรมะชนิดที่ตายไม่ได้ เพราะมันไม่มีตัวตน คือ ความจริงที่เป็นไปตามกฎของ อิทัปปัจจยตา เรื่องมันก็จะจบ ถ้ามันเป็นความรู้ของ อิทัปปัจจยตา รุ่งเรืองขึ้นมามันก็เปลี่ยนแปลง ความรู้สึกว่ามีตัวตนนั้นให้เป็นความรู้แจ้งว่าไม่มีตัวตน พอไม่มีตัวตนนั่นแหละมันคือเป็น โอปปาติกะกำเนิด เกิดผลุงขึ้นมาเป็นพระอรหันต์เลย ความไม่มีตัวตนนั้นเป็นระดับพระอรหันต์นะ ในขั้นที่ต่ำลงมาก็ยังมีตัวตนอย่างละเอียดอ่อนอย่างอะไร ซ่อนๆกันอยู่ในนั้น พระอรหันต์ระดับเดียวเท่านั้นที่จะหมดความมีตัวตน ไม่มีความยึดถือว่าตัวตน ต้องศึกษา ต้องประพฤติ ต้องปฏิบัติเรื่อยไปจนกว่าจะมีการอุบัติโดย โอปปาติกะกำเนิด เกิดเป็นภาวะของพระอรหันต์ คือ ความหมดตัวตนนี้ นี่, เรื่องมันจบนะ ถ้าขึ้นมาถึงตอนนี้แล้วเรื่องมันจบ มันไม่รู้จะพูดอะไรอีกต่อไป แล้วก็พูดกันเป็นเรื่องสุดท้ายของวันนี้ คือ วันวิสาขบูชา พูดมาตั้งแต่เรื่องมีตัวตน มีตัวตนดีขึ้นมา มีตัวตนดีขึ้นมาเป็น ธรรมะชีวี ชนิดดีขึ้นมา จนกระทั่งว่าเป็นธรรมะชีวีชนิดสุดท้ายไม่มีตัวตน เหนือชั่ว เหนือดีไม่รู้จักตาย เหมือนกับธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ธรรมะที่ไม่รู้จักตาย หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจเรื่องสิ้นสุดแห่งตัวตน มีหู ตาสว่างขึ้นบ้าง หายง่วงนอนขึ้นสักเล็กน้อยก็ยังดี ถ้าเข้าใจเรื่องความไม่มีตัวตน ซึ่งเอามาพูดเป็นเรื่องสุดท้ายของการบรรยายธรรมะ นี่เป็นการบรรยายครั้งสุดท้ายของวิสาขบูชาปีนี้ เรื่องไม่มีตัวตน ให้รู้จักความหมายของภาษาคน ความหมายของภาษาธรรม พระสิทธัตถะตายแล้วเกิดมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา นี่ก็เรียกว่าภาษาธรรม ใช้สำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช้กับพระสิทธัตถะ พระสิทธัตถะนั้นเกิดมาได้ แล้วก็ตรัสรู้ได้ แล้วก็นิพพานได้ แต่พระพุทธเจ้านั้นจะเกิดอย่างนั้นไม่ได้ การตรัสรู้นั้นถ้าไม่มี พุทธภาวะ ความเป็นสัมมาสัมพุทธะปรากฏออกมาจากการตรัสรู้ ไม่ได้เกิดจากท้องแม่ พระสิทธัตถะเกิดจากท้องมารดา แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้เกิดจากท้องมารดา เกิดจากการตรัสรู้ของจิตที่ตรัสรู้ และการปรินิพพานนั้นเป็นการปรินิพพานของกิเลส ไม่ใช่นิพพานของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านิพพานไม่ได้ นี่พูดย้อนหลัง สรุปต้นย้อนหลังมาอีกทีว่า เราอย่าไปคิดเขลาๆว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระพุทธเจ้าแท้จริงปรินิพพานไม่ได้ ที่ปรินิพพานได้มีแต่กิเลสเท่านั้น เขาจะแจกแจงออกไปว่า ขันธ์นิพพาน กิเลสนิพพาน ขันธ์นิพพาน ธาตุนิพพาน ก็ตามใจเขา แต่ที่มันเป็นนิพพานจริง ก็คือ กิเลส เมื่อมีการตรัสรู้เมื่อไรก็มีการนิพพานของกิเลสเมื่อนั้นแล้วคนนั้นไม่ต้องตาย จะนิพพานกันสักเท่าไร เท่าไร คนมันก็ไม่ตาย ก็ยังอยู่ นี่ถ้าเอานิพพานเป็นความตายแล้วก็ตายหมด ก็พระพุทธเจ้าก็ถูกฆ่าให้ตายไปเสียโดยคนโง่ มันเข้าใจว่าพระพุทธเจ้านั้นปรินิพพานได้ นี่เราพูดกันบ่อยๆ พูดกันซ้ำๆ เพื่อให้มันแน่นอน เพื่อที่จะให้มันเปลี่ยนได้ ให้มีความรู้ที่ถูกต้องที่เปลี่ยนไม่ได้ แต่ว่าถ้าภาษาคนก็เป็นเรื่องของพระสิทธัตถะ ถ้าภาษาธรรมก็เป็นเรื่องของพระสัมมาสัมพุทธะ มันจะเป็นเรื่องเดียวกันไม่ได้ เพราะว่าอย่างหนึ่งเป็นเรื่องของคน อีกอย่างหนึ่งเป็นเรื่องของ พุทธภาวะ อย่างหนึ่งมันตาย เหมือนอย่างที่เขาเรียกว่าตายกันได้ อีกอย่างหนึ่งมันตายไม่ได้ นี่เราจึงมีพระพุทธเจ้าอยู่กับเราตลอดเวลา จนกระทั่งวันนี้ เรามีพระพุทธเจ้าที่ตายไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา ไม่เสียทีที่ว่าเราถือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ เป็นสรณะ เราปฏิบัติธรรมะกันอยู่นี่คือเรียกว่า ปฏิบัติพระพุทธเจ้า ปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้าที่แท้จริง เมื่อทำอยู่อย่างนี้ เราก็สามารถที่จะเกิดโดยวิธีเดียวกับพระพุทธเจ้า กลายเป็นพระพุทธเจ้าองค์น้อยๆ หรือเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระพุทธเจ้าองค์น้อยๆได้เหมือนกัน ถ้าเห็นว่าเป็นสิ่งเหลือวิสัยไม่สนใจ มันก็เลิกกัน มันไม่ต้องมีอะไรอีกแล้ว แต่ถ้ารู้สึกว่ามันอยู่ในวิสัยที่เราก็จะเป็นได้ เราก็จะได้พยายามกันต่อไป ด้วยจิตนี้ลุถึงภาวะที่เรียกกันว่า พุทธะ พุทธะ เปลี่ยนเป็น..เป็นอะไรล่ะ ก็เป็นภาวะอันใหม่ หรือถึงซึ่ง พุทธภาวะ เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านได้ถึงแล้ว ท่านได้สอนวิธี ถึง ไว้ให้แก่เรา ซึ่งได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการที่เรียกว่า หนทาง หนทาง หนทางนี้คือทางที่พระพุทธเจ้าท่านได้ประทานไว้ให้ สอนไว้แก่เราสำหรับจะเดินทางตามพระพุทธเจ้าไป นี่พูดภาษาคนอีกแล้ว เพื่อว่ามนุษย์นี้มันจะได้มีความรู้ในการที่จะทำจิตให้ลุถึงภาวะสูงสุด ไม่มีความทุกข์เลย เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ทั้งหลายท่านได้เป็น ได้ถึงกันแล้ว เมื่อถึงอันนี้แล้วเรื่องมันก็จบ ไม่ต้องมาทำอะไรให้เป็นเรื่องรบกวน ยุ่งยาก ลำบาก แต่ถ้ามันยังไม่ถึงนั้น มันก็ต้องขวนขวายทำให้ถึงนั่น มันก็มีอย่างนี้บ้างแหละที่จะทำพิธีวิสาขบูชา อาสาฬบูชา มาฆบูชาอะไรกันไปตามเรื่อง ขอแต่เพียงว่าทำทุกทีให้มันมีความก้าวหน้าสูงขึ้นไป อย่าให้มันย่ำเท้าชะงักอยู่โดยไม่มีการก้าวหน้าเลย หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะประมวลข้อความที่ได้แสดงโดยธรรมเทศนา ๔ ครั้ง ในวันวิสาขบูชานี้ไว้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนสืบต่อไป มีความเจริญ งอกงาม ก้าวหน้า ในหนทางของพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาที่ไม่รู้จักตาย แล้วก็จะได้ดำเนินตามรอยพระพุทธองค์ไปได้โดยง่าย แล้วก็มีความ เหมาะสมที่จะเรียกว่าเป็นพุทธบริษัท ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ธรรมเทศนานี้มันก็สมควรแก่เวลาแล้ว ก็จะต้องยุติลงด้วยความสมควรแก่เวลา แต่จะขอฝากไว้แก่ท่านทั้งหลายว่า ให้ทำความเจริญ งอกงาม ก้าวหน้าแก่จิตใจ ให้มีความถูกต้องทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทาง ทิฏฐิ ความคิด ความเห็น ให้มีการกระทำทุกอย่างเป็น ศีล สมาธิ ปัญญาอยู่ทุกๆอิริยาบถ จนบอกตนเองได้ว่าถูกแล้ว ถูกต้องแล้ว แล้วก็พอใจ แล้วก็เป็นสุข เป็นสุขชนิดที่แท้จริง ไม่เกี่ยวกับอามิสนี้ อยู่ตลอดเวลาทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ (นาทีที่ 1:16:39 เป็นต้นไป เป็นบทสวดมนต์) สาธุ พุทธะสุโพธิตา, .......สาธุ ! ความตรัสรู้ดีจริงของพระพุทธเจ้า. สาธุ ธัมมะสุธัมมะตา, ......สาธุ ! ความเป็นธรรมดีจริงของพระธรรม. สาธุ สังฆัสสุปะฏิปัตติ, .....สาธุ ! ความปฏิบัติดีจริงของพระสงฆ์. อะโห พุทโธ, ..................พระพุทธเจ้า น่าอัศจรรย์จริง. อะโห ธัมโม, ...................พระธรรมเจ้า น่าอัศจรรย์จริง. อะโห สังโฆ, ...................พระสงฆะเจ้า น่าอัศจรรย์จริง. อะหัง พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สะระณัง คะโต ข้าพเจ้าถึงแล้ว, ซึ่งพระพุทธเจ้า, พระธรรมเจ้า, พระสงฆะเจ้า, ว่าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกถึง. อุปาสะกัตตัง เทเสสิง ภิกขุสังฆัสสะ สัมมุขา. ข้าพเจ้าขอแสดงตน, ว่าเป็นอุบาสก ในที่จำเพาะหน้าพระภิกษุสงฆ์. เอตัง เม สะระณัง เขมัง, เอตัง สะระณะมุตตะมัง. พระรัตนตรัยนี้, เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าอันเกษม, พระรัตนตรัยนี้, เป็นที่พึ่งอันสูงสุด. เอตัง สะระณะมาคัมมะ, สัพพะทุกขา ปะมุจจะเย. เพราะอาศัยพระรัตนตรัยนี้, เป็นที่พึ่ง, ข้าพเจ้าพึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวง. ยะถาพะลัง จะเรยยาหัง สัมมาสัมพุทธะสาสะนัง. ข้าพเจ้าจักประพฤติ, ซึ่งพระธรรมคำสั่งสอน, ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, โดยสมควรแก่กำลัง. ทุกขะนิสสะระณัสเสวะ ภาคีอัสสัง อะนาคะเต. ขอข้าพเจ้าพึงมีส่วนแห่งพระนิพพาน, อันเป็นที่ยกตนออกจากทุกข์, ในอนาคตกาล, เบื้องหน้าโน้นเทอญ. ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา มะณิ โชติระโส ยะถา ฯ สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุ มา เต ภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ ฯ อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง ฯ ยังกิญจิ กุสะลัง กัมมัง กัตตัพพัง กิริยัง มะมะ กาเยนะ วาจามะนะสา ติทะเส สุคะตัง กะตัง เย สัตตา สัญญิโน อัตถิ เย จะ สัตตา อะสัญญิโน กะตัง ปุญญะผะลัง มัยหัง สัพเพ ภาคี ภะวันตุ เต เย ตัง กะตัง สุวิทิตัง ทินนัง ปุญญะผะลัง มะยา เย จะ ตัตถะ นะ ชานันติ เทวา คันต์วา นิเวทะยุง สัพเพ โลกัมหิ เย สัตตา ชีวันตาหาระเหตุกา มะนุญญัง โภชะนัง สัพเพ ละภันตุ มะมะ เจตะสาติ ฯ ปิดงานด้วยการทำวัตรเช้า ปิดพิธีด้วยการทำวัตรเช้า พระจะทำพร้อมกันเลย ทำพร้อมพระ พระไม่ทำก็ทำกันแต่ชาวบ้านนะ เอ้า, ทำวัตรเช้า ทำวัตรแล้วก็พอดีปิดพิธี