แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทุกท่านที่เป็นหรือเรียกตัวเองว่าเป็นธรรมทายาททั้งหลาย (นี่)เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้พูดกัน ผมก็ถือโอกาสมาพูดเท่าที่จะพูดได้ นี่เรามานั่งกันตรงนี้ในลักษณะอย่างนี้ถือว่าเป็นกรณีพิเศษ มีความหมายพิเศษเพื่อเป็นที่ระลึกตลอดกาลนาน โดยเป็นการผูกพันว่าจะต้องประพฤติกระทำทุกอย่างเท่าที่จะประพฤติกระทำได้ ในข้อที่เราได้พูดกันที่นี่ที่เรียกว่าอบรมธรรมทายาท ผมพูดมาหลายครั้งหรือว่าหลายสิบครั้งตั้งแต่บางท่านอาจจะไม่เคยได้ยินได้ฟังเพราะผู้มาใหม่ก็มี นี่คือข้อที่พูดว่าพระพุทธเจ้าประสูตรกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน นิพพานกลางดิน เหมือนว่าเราได้นั่งพูดกันกลางดินก็ให้ถือว่าซึ่งเป็นในการพูดที่มีความหมาย หรือว่าพูดกันในที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะต้องรักษาความจริง คือ รักษาไอ้คำมั่นสัญญาหรือข้อตกลงอะไรต่างๆ ไว้ตลอดไปโดยเอาแผ่นดินเป็นพยาน ซึ่งแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์นี่เป็นพยานว่าได้พูดอะไรอย่างไรแล้วก็จะต้องทำอย่างนั้น คือแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ที่สุดเพราะเป็นที่ประสูติ เป็นที่ตรัสรู้ เป็นที่อบรมสั่งสอน เป็นที่อยู่ เป็นที่นิพพานของพระพุทธเจ้า ลองไปคิดดูเองว่าจะมีอะไรศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่มากไปกว่านี้ ซึ่งขอให้สนใจแผ่นดิน เมื่อได้นั่งกลางดิน ให้จิตระลึกนึกถึงเป็นพุทธานุสติทันที นั่นแหละมีลักษณะแห่งความเป็นธรรมทายาทอยู่มาก ไม่เช่นนั้นก็(เป็น)พระธรรมทายาทแต่ปาก อาจจะรังเกียจการนั่งกลางดินก็ได้ นี่ขอให้ทำความรู้สึกอย่างนี้ ว่าได้นั่งกลางดินนี่เป็นเหมือนกับนั่งในที่ศักดิ์สิทธิ์ พูดจาด้วยถ้อยคำชนิดที่ยึด ต้องยึดถือว่าต้องมีความหมาย มีความจริง มีความศักดิ์สิทธิ์ จะเอาไปประพฤติเอาไปกระทำเปรียบเสมือนหนึ่งว่าเรากระทำในนามของสาวกทั้งหลายในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าเสียเลยก็ได้ ถ้าว่าเราจะได้นั่งกลางดิน ได้พูดกันกลางดิน นี่เป็นข้อหนึ่งที่ขอให้สนใจหรือติดอยู่ในใจตลอดชีวิตว่าได้มานั่งกลางดินได้พูดกันอย่างไร ที่ไหน เมื่อไร นี่ผมพูดไม่ค่อย มันแน่น มันไม่ค่อยสบาย
ทีนี้ก็จะพูดเป็นเรื่อง เป็นเรื่องๆ ไปเท่าที่จะนึกได้และเห็นควรว่าจะพูดหรือจะต้องพูด มันมีหลายอย่าง มันมีหลายแง่หลายมุมที่ควรจะได้พูด (อย่าง)เรื่องนี้ก็ควรพูด คือว่าเมื่อขอให้ฟังเทปแทนการพูดซึ่งก็ไม่พอใจไม่สนใจ บิดพลิ้ว ต้องขอโอกาสใช้คำพูดตรงๆ ว่าบรมโง่ เรื่องที่ผมพูด(กับ)พระธรรมทายาทก่อนๆ นั้นพูดดีที่สุด เตรียมเนื้อเตรียมตัวเป็นวันเป็นเดือนเอามาพูดดีที่สุด ถ้าให้พูดวันนี้ บัดนี้ในสภาพอย่างนี้จะพูดไม่ได้สักเสี้ยวหนึ่งของไอ้คราวนั้น แล้วคุณก็ไม่ฟังเพราะมันเป็นเทป ไม่ได้ฟังจากปากพูด คนอื่นๆ ก็เหมือนกันไม่ใช่เฉพาะพวกท่านทั้งหลายเดี๋ยวนี้นะ พวกอื่นๆ ที่มาแล้วเมื่อไม่ได้พูดหรืออยากจะเปิดเทปให้ฟังก็บิดพลิ้วทั้งนั้นแหละ แล้วก็ไม่ฟังแหละ แล้วก็นั่งด้วยด้วยความรู้สึกที่บิดพลิ้วและไม่ยอมฟัง มันก็ไม่เข้าหู เรื่องที่ดีอย่างไรมันก็ไม่มีประโยชน์ ถึงแม้พระในวัดนี้เองแหละมันก็ยังไม่ชอบฟังเทป ถ้าเปิดเทปให้ฟังมันก็บิดพลิ้วเหมือนอยู่ในสภาพที่เรียกว่าบรมโง่ ไอ้ครั้งที่พูดไว้อย่างดีที่สุดบันทึกเทปไว้ เป็นการพูดที่ดีที่สุดกลับไม่ฟัง นี่จะมาให้พูดลวกๆ ด้วยความไม่สมบูรณ์ คือจะไม่ค่อยสบายเป็นต้น ซึ่งอยากจะขอท้าว่าในการบรรยายชุดธรรมทายาทครั้งแรกนั้นนะดีที่สุด ไม่เชื่อไป copy แล้วไปฟังดูจะดีที่สุด ถ้าจะให้พูดคราวนี้อีกก็ไม่ได้เท่านั้นนะ และก็ไม่ได้ครึ่งของเท่านั้นนะ ไม่ได้เสี้ยวของเท่านั้น และถ้าให้ดีกว่านั้นอีกก็อยากจะบอกว่าไอ้คำบรรยายแก่ธรรมทูตต่างประเทศที่ไปนอนพูดกันที่ค่ายลูกเสือ นอนค้างวันค้างคืนกันที่นั่นทั้งผมทั้งพระธรรมทูตนั้นแหละก็เป็นคำบรรยายที่ดีที่สุด ซึ่งถ้าจะให้พูดเดี๋ยวนี้อีกมันพูดไม่ได้ ไม่ได้อย่างนั้น ไม่ได้ครึ่งไม่ได้เสี้ยวของไอ้คำพูดนั้น แต่ถ้ามาเปิดเป็นเทปให้ฟัง ไม่มีใครฟัง ไม่ยอมฟัง บิดพลิ้ว เพราะบรมโง่ มันต้องการแต่จะฟังจากปากพูดโดยตรง นี่ขอทำความเข้าใจกันอย่างนี้ไว้ด้วย คือว่าไอ้คำบรรยายชุดต่างๆ ก่อนๆ นั้นดีมาก ถ้าให้พูดเดี๋ยวนี้จะไม่ได้ดีเท่านั้น เพราะไม่ค่อยสบาย และเพราะไม่มีเวลาเตรียมตัวมากถึงขนาดนั้น ดังจะพูดคำบรรยายชุดธรรมทูตต่างประเทศมีการเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นเดือน ก็มีโน้ตมีอะไรที่ไปพูดได้อย่างดี อย่างธรรมทายาทชุดที่ ๑ ชุดที่ ๒ ก็เหมือนกันละ มีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี แล้วก็มีเรื่องที่จะมีประโยชน์ที่สุดเท่าที่จะนึกได้ ดังนั้นถ้าจะให้พูดเดี๋ยวนี้อีก มันก็ไม่มากไปกว่านั้น ไม่แปลกไปกว่านั้น ไม่ดีไปกว่านั้น แล้วก็เลวจะด้อยค่ายังเหลือไม่ถึงครึ่งไม่ถึงเสี้ยวด้วยซ้ำไป เลยขอทำความเข้าใจกับพวกเราอย่างกันเองว่าถ้าสงสัย (ถ้า)ไม่เชื่อก็ขอให้เอาเทปชุดนั้นไปเปิดฟังดูเถอะ กล้าท้าว่าไม่มีอะไรที่ไม่ได้พูด ได้พูดหมด และกล้าท้าว่าที่คุณอบรมฟังกันมาที่วัดชลประทานตั้งเดือนหนึ่งไม่ได้กระผีกของไอ้ที่ผมพูดสองสามครั้งหรือสี่ห้าครั้งในธรรมทูตครั้งที่แล้วๆ มา นี่กล้าท้าอย่างนี้ ไปหาฟังดู เพราะว่ามันเป็นการพูดที่ตั้งใจจะพูด คิดนึก สอดส่อง ค้นคว้าที่เคยกระทั่งได้บทสวดสำหรับธรรมทายาทมา แล้วก็เดี๋ยวนี้ก็ไม่สวดแล้ว ดูถูกดูหมิ่นว่ามันไม่มีประโยชน์อะไร นี่เรียกว่าไม่ได้ถือเอาประโยชน์ให้เต็มที่ให้ตามที่ควรจะได้ นี่พูดกันตรงๆ ก็พูดอย่างนี้
เอ้าทีนี้เรื่องที่ ๓ ถัดไป ก็อยากจะพูดซ้ำถึงความหมายของคำว่าธรรมทายาทนั่นแหละ ธรรมทายาทนั่นแหละ ถ้าทุกคนรู้จักความหมายของคำว่าธรรมทายาทดีก็จะเป็นธรรมทายาทที่ดีแน่นอน เดี๋ยวนี้จะไม่รู้แม้แต่ความหมายของคำว่าธรรมทายาท ผมอธิบายความหมายคำว่าธรรมทายาทสุดสติปัญญา สุดความรู้แล้วในการบรรยายชุดก่อนๆ นี้ นี่คราวนี้ก็จะสรุปใจความเหลือสั้นๆ ที่สุด ว่าถ้าพูดถึงธรรมทายาทแล้วก็เอาคำว่าทายาทๆ เป็นหลักก็ได้ความหมายสัก ๒ ความหมาย ไอ้ทายาดดอเด็กสะกดนั้นมันก็รู้จักเขียนดอเด็กสะกดไอ้คำนี้ ทายาด ยาดดอเด็กสะกดนั่นคือทายาดคือทนทายาด ยอมตายไม่ยอมแพ้ นี่แหละ ทายาดคือทนทายาด ทรหดอดทนเหลือประมาณนี้เรียกว่าทายาด ทีนี้ทายาทอีกคำหนึ่ง ก็คือทอทหารสะกด ธรรมทายาโท (12.17) นี่ นี่ก็แปลว่าผู้รับมรดก อันนั้นแปลว่าผู้อดทน ทายาทอันนี้แปลว่าผู้รับมรดก มัน ๒ ทายาทอยู่ นี่ถ้าเอาทายาททั้ง ๒ คำมารวมกันเข้าแล้วจะวิเศษประเสริฐที่สุด นั่นคือทำหน้าที่เหมือนกับผู้รับมรดกธรรมของพระพุทธเจ้ารักษาไว้และปฏิบัติต่อธรรมนั้นอย่างทรหดอดทนหรือทายาด มนุษย์บางคนมีความทนทายาดสู้จิ้งหรีดสักตัวหนึ่งก็ไม่ได้ จิ้งหรีดบางตัวมันกัดจนตายไม่ยอมแพ้แล้ว กระผมเคยเห็น นี่พวกเราบางคนนี้จะมีความอดทนทายาดสู้จิ้งหรีดสักตัวหนึ่งก็ไม่ได้มั้ง คือจะไม่ได้ทำงานให้ถึงกับว่าตายคาที่เหมือนพระพุทธเจ้า นี่คุณอย่าเพ่อเห็นว่าผมพูดจ้วงจาบพระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธเจ้าทำงานตายคาที่ ถ้าพูดให้มันเป็นไปแล้วปกติชน(13.20)สิ้นพระชนม์นาทีสุดท้ายนั้น ต้องพูดว่าอย่างนั้น ถ้าพูดอย่างนั้นมันไพเราะเกินไปมันอาจจะฟังยากก็ใช้คำว่าตายคาที่ พระพุทธเจ้าทำงานตายคาที่ นั่นแหละคือทายาด ทายาด ความเป็นทายาททรหดอดทนทำงานตายคาที่ ถ้าเรียนนักธรรมตรีมาแล้วก็รู้เรื่องพุทธประวัติตอนนี้ดี ว่าวันที่จะปรินิพพานยังเดินทางไกลเป็นโยชน์ๆ นะคิดดู ตอนนั้นเจ็บป่วยแล้ว ฉันอาหารมีพิษที่บ้านนายจุนทะแล้ว ลงพระโลหิตอย่างยิ่งแล้วยังต้องเดินทางไกลเป็นโยชน์ๆ ไปสู่ที่ที่จะปรินิพพานนี่ ลงโลหิตด้วยคือสุกรมัททวะนี่
เออ ตรงนี้ขอแทรกความรู้พิเศษนอก นอกเรื่องหน่อยนะ ก็เพราะว่าท่านทั้งหลายเหล่านี้ก็เป็นนักเรียนบ้างเป็นครูสอนนักธรรมบ้าง คือคำว่าสุกรมัททวะที่ฉันแล้วเจ็บหนักประชวรหนักเลยนิพพานในวันนั้นน่ะ มีปัญหามากอธิบายต่างๆ นานา อรรถกถาซึ่งเขียนเมื่อพันปีอธิบายไว้ตั้งหลายอย่างจนไม่รู้ว่าอะไร คัมภีร์อรรถกถา ฝรั่ง รุ่น รุ่น รุ่นหนึ่งเขาสันนิษฐานว่าจะเป็นไอ้เห็ดใต้ดินชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Truffle ที่นี้เมื่อผมไปที่อินเดียคราวที่แล้วมานี่ อ้อคราวก่อน ไม่ใช่ ครั้งที่ ครั้งแรก ไปอินเดียครั้งแรกได้พบกับนักศึกษาค้นคว้าคนหนึ่งที่บ้านเขา ไปพักที่บ้านเขา เขาให้นอนในโรงม้าบนกองขี้ม้าก็ไม่เป็นไรก็เพราะว่าพระธิเบตที่เขาเช่าไว้ที่อื่นไม่มี (15:24) จะขึ้นไปนอนบนตึกเขายังไงได้เล่า ก็ต้องนอนที่กองขี้ม้าในโรง ในโรงม้า แต่ค่ำลงต้องมาคุยด้วย คุยกันถึงเรื่องนี้ เขาว่าน้องชายของเขาค้นพบความจริงข้อนี้ ว่าเป็นพืชมีหัวใต้ดินชนิดหนึ่งที่ส่งต้นขึ้นมาใบสวยนะ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ในอินเดียเรียกว่า สุกรกันดะ สุกรกันดะ(15:51) เพราะหัวมันต้องกิน ถ้าทำไม่ดีก็ลงโลหิต ลงเลือด ที่เรื่องในพระบาลีนั่น บ้านนี้เมืองนี้ก็มี เรียกว่าบุก ถ้าทำไม่ดีกินแล้วเลือดออก เป็นพิษถึงกับเจ็บไข้เป็นตายกันได้ ต้องทำอย่างดีอย่างถูกต้อง ในหัวบุกนั้น ต้มนึ่งอะไรกันก็สุดแท้เถอะ แต่ถ้าว่าเอามาทำเป็นแป้งแล้วก็หมดอันตราย คือเอามาฝนเป็นแป้ง เป็นน้ำแป้งขาวกรองกากทิ้ง ได้น้ำแป้งขาวกรองไว้โดยผ้าหนาล้างหลายๆ หน(จะ)กลายเป็นแป้งที่วิเศษและแพงที่สุด เรียกว่าแป้งไม้พร้าว(16:34) มาจากเมืองจีน นิดเดียวถ้าสมัยนั้น ๕๐ สตางค์ กองละ ๕๐ สตางค์ แต่ไอ้บุกนี้ชนิดนี้ที่เมืองนี้ที่กินกันแล้วเลือดไหลออกมา ก็ทำหยาบไปอะไร มียางมีอะไรติดเข้าไป ปอกไม่ดีอะไรไม่ดี สุกรกันดะ ในบาลีเรียกว่า สุกรมัททวะ ความหมายเหมือนกัน กันดะ ก็แปลว่าอร่อยเหมือนกัน ของอร่อยเหมือนกัน สุกรมัททวะก็ของอร่อย ของหมู สุกรกันดะก็ของอร่อยของหมู เรื่องที่ว่าฉันในวันนั้นที่บ้านนายจุนทะนั้น และทรงห้ามไม่ให้ใครอื่นกิน ให้ไปฝังเสียที่เหลือ ฉันองค์เดียวแล้วก็ป่วย มีเลือดออกเพราะลำไส้ถูกกัดเป็นแผลขึ้นมา ในฝรั่งนักศึกษาสันนิษฐานบางพวกว่าพระพุทธเจ้านิพพานเพราะเป็นโรคบิด dysentery บิดชนิดมีเลือดออกเหมือนกัน แต่นี่ไม่ใช่บิด มันเป็นพิษของไอ้หัวชนิดนั้นที่มีพิษทำให้ลำไส้ทะลุมีเลือดออกมา ที่มีเลือดออกมาแล้วก็ยังต้องเดินทางไกลเป็นโยชน์ๆ ตลอดวัน ไอ้ธรรมทายาทหัวจิ้งหรีดนี่มันไม่ไปหรอกมันวิ่งไปโรงพยาบาลลองมันป่วยขนาดนั้นมันวิ่งไปโรงพยาบาลไม่เดินทางต่อไปตามจุดมุ่งหมาย นี่พระองค์ยังเดินทางไปตามจุดมุ่งหมายตลอดวันด้วยความอ่อนระโหยโรยแรง นี่ทายาดหรือไม่ทายาดลองคิดดู ทีนี้เมื่อไปถึงที่ที่จะปรินิพพานแล้วจึงจัดที่ปรินิพพานกลางดินระหว่างต้นรังทั้งคู่ ทางโน้นมีต้น ทางนี้มีต้น ต้นสาระนี่ ก็เจ็บปวดตลอดเวลามีโลหิตออกตลอดเวลา แล้วก็มีสุภัททปริพาชกมาขอเฝ้า พระอานนท์หรือใครที่อยู่เวรไล่ไม่ให้เข้าเฝ้า พระพุทธเจ้าได้ยินทรงได้ยินก็บอกว่าอย่าไล่ อย่าไล่บอกให้เข้ามา บอกให้เข้ามา นี่ นี่ดูความเป็นทรหดอดทนทายาดของพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไม่กี่นาทีแล้วยังยินดีที่จะอดทนที่จะพูดจากับสุภัททปริพาชกจนเขาได้บรรลุธรรมะเป็นพระอรหันต์ในองค์สุดท้ายอย่างนี้เป็นต้น ไอ้ธรรมทายาทหัวจิ้งหรีดมันก็ไม่ ไม่ทำได้ ทำไม่ได้หรอก มันไล่ ไล่กลับไปแล้วมันไม่ยอมทนเจ็บปวดไอ้สอนคนอีกสักคนหนึ่งให้เมื่อจะตายจะนิพพานอยู่หยกๆ ไม่กี่นาทีแล้ว ยังได้กล่าวคำสำคัญอะไรบางเรื่องบางอย่างไว้ปรากฏอยู่บนหลักฐาน สุภัททปริพาชกคนนั้นก็ได้สำเร็จประโยชน์เป็นพระอรหันต์ แล้วต่อมาไม่กี่นาที ก็ใช้คำว่าอย่างนั้นพระองค์ก็ปรินิพพาน นี่ทายาดหรือไม่ทายาดล่ะ นี่ระวังให้ดีถ้าจะเป็นทายาท เป็นธรรมทายาทแล้วก็ให้นึกถึงเรื่องนี้ไว้เถิดว่าป่วยถึงขนาดโลหิตไหลแล้วก็ยังเดินทางไกลเป็นโยชน์ๆ ไปจนได้ ไปถึงแล้วก็ไม่วิ่งไปโรงพยาบาล ไม่ปวดหัวเหมือนธรรมทายาทสมัยนี้ เป็นอะไรนิดหน่อยก็วิ่งไปโรงพยาบาลแล้ว มันไม่ละอายกันเลย นึกถึงพระพุทธเจ้าในข้อนี้สิว่าจะปรินิพพานอยู่เดี๋ยวนี้แล้วยังไม่ขอไปโรงพยาบาล ยังไม่ขอการเยียวยารักษาอะไร ก็ทำหน้าที่ของพระองค์เรื่อยไปๆ จนนาทีสุดท้าย จนปรินิพพาน จนเข้าสู่ฌาน ออกจากฌานแล้วก็ปรินิพพานเลยเรื่องมันก็จบ นี่ทายาดหรือไม่ทายาดขอให้พิจารณาดู นี่พระพุทธเจ้าทำงานหน้าที่ของพระพุทธเจ้าจนนาทีสุดท้ายหรือเปล่า ถ้าพูดภาษา......(21.00)อย่างภาษาชาวบ้านก็ทำงานตายคาที่นี่ เป็นความจริงรึเปล่า ทำงานจนตายคาที่ คางานอย่างนี้ มันเป็นทายาดหรือไม่ทายาดนี่(21.20) นี่ถ้าเป็นทายาทชนิดอย่างนี้แล้วก็ดีแน่นอน และสมชื่อว่าเป็นเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นทายาท เป็นธรรมทายาท ดังนั้นก็จะ(21.40)ท้อถอยก็นึกถึงจิ้งหรีดไว้นะ ทุกองค์นี่ผมขอร้องพอจะท้อถอยในการงานแล้วนึกถึงจิ้งหรีดไว้นะ อย่าให้เลวกว่าจิ้งหรีดนะ จิ้งหรีดทนทายาดกัดจนตายนะ อย่างนี้นะ ธรรมทายาท ทายาดดอสะกด คือ ทรหดอดทน ทายาททอสะกดก็รับมรดก ดังนั้นขอให้เป็นผู้รับมรดกธรรมและรับมรดกความทายาดน่ะ รับมรดกความอดทนทรหดทายาดมาด้วยนี่ ทำงานจนตายคาที่ (ไม่ใช่)อะไรนิดหน่อยก็วิ่งไปโรงพยาบาล อะไรนิดหนึ่งวิ่งไปโรงพยาบาล อะไรนิดก็ยังวิ่งไปโรงพยาบาล ผมสังเกตเห็นบางคนน่าสงสาร มันกลัวตายอะไรนิดหนึ่งก็วิ่งไปโรงพยาบาล นี่จะเป็นธรรมทายาทได้อย่างไร ขอให้ทำในใจถึงพระพุทธเจ้าไว้ถือว่าท่านเป็นทายาท ธรรมทายาทอย่างไรกัน ถ้าเราระลึกนึกถึงเรื่องนี้ไว้แล้วก็จะช่วยให้สำเร็จสมประสงค์ได้โดยง่าย ได้โดยง่าย คือไม่ล้มละลายเพราะว่างานที่จะทำในหน้าที่ของสาวกนั้นน่ะมันยุ่งยาก สลับซับซ้อน ยาวนานแล้วก็หนักหน่วง มันต้องอดกลั้นอดทนถึงขนาดจนทายาดเป็นทรหดอดทนถึงจะทำได้ ถ้าคิดว่ามาอบรมที่วัดชลประทานสักเดือนมาสวนโมกข์สักสี่ห้าวันแล้วก็เป็นธรรมทายาท(แล้ว)นี่โง่เต็มทีเลย โง่ที่สุด โง่เหลือประมาณ มันเป็นไปไม่ได้หรอกว่าด้วยการอบรมเพียงเท่านี้จะเป็นธรรมทายาทที่สามารถ ยังไม่ได้ อย่างว่าจะเทศน์ได้นี่มันต้องเคยเทศน์พันครั้ง อย่างจะเทศน์ได้แสดงปาฐกถาได้บรรยายอะไรได้ต้องเคยมาเป็นพันครั้งนั้น ยกเว้นมานี่สักวันจะเป็นผู้ได้แล้ว(24.00) จะเรียกว่าเป็นผู้ได้แล้วจบแล้ว จบหลักสูตรแล้วเป็นผู้ได้ นี่ผมนี่เทศน์มาเกินกว่าพันครั้งสองสามพันครั้ง ผมจึงเทศน์ได้ เพราะว่าเคยเทศน์มาเกินกว่าพันครั้ง เมื่อ ๗๐ เมื่อ ๕๐ กว่าปีมาแล้วบวช บวช บวช บวชได้สองสามวันก็เทศน์แล้ว บวชในจวนจะเข้าพรรษาสองสามวัน บวช พอบวชแล้วก็เทศน์ คือไปโรงเรียนนักธรรมที่วัดโพธารามที่โรงเรียนเรียนธรรมวิพากษ์เพื่อจะสอบนักธรรมตรีนั้น ครูสอนเรื่องธรรมวิพากษ์หมวด ๒ หมวด ๓ ก็เอามา พอมากลับมาถึงวัดก็มาขึ้นธรรมาสน์เทศน์ให้โยมชีให้เหล่าสีกาทั้งหลายฟัง แล้วพอบวชเข้าก็เทศน์นั้น แล้วก็เทศน์อย่างนี้เรื่อยมา แล้วก็ ๓ พรรษาเป็นอย่างนั้นเมื่อเรียนนักธรรมตรี เมื่อเรียนนักธรรมโท เมื่อเรียนนักธรรมเอกแล้วมันก็เทศน์อย่างนั้น เทศน์จนเหมาหมด สมภารไม่ต้องเทศน์ องค์อื่นไม่ต้องเทศน์ ให้องค์อื่นเทศน์โรงธรรมมันร้างนะ มันจนขนาดนั้น นี่คนที่มาฟังน่ะ มันไม่ ไม่มาฟัง มันก็ร้าง มันก็เทศน์ไม่ได้ ถ้าผมเทศน์มันยังมีคนมาฟังมากขึ้นๆๆ
ผมจะเล่าเรื่องที่คุณบางคนจะเห็นว่าอวดดี เอาเรื่องอวดดีมาเล่า แต่ไม่ใช่เรื่องอวดดี มันเป็นเรื่องจริง จน จนถึงกับว่าต้องทายกทายิกาของหมู่บ้านนั้นต้องมาปรับความเข้าใจกัน อย่าให้เทศน์พร้อมกันในพรรษา คือมีเทศน์ทุกวัด เทศน์ทุกวัน เทศน์ทุกวัด ให้วัดที่อยู่มาทางเหนือเรียกว่าวัดเหนือเทศน์ให้แต่เนิ่นที่สุด แล้วพอถึงวันที่วัดผมอยู่เทศน์ พอหลังไปจากนั้นถึงวัดอีกวัดหนึ่งเทศน์ ประชาชนก็ยังแห่ไปฟังได้ทั้ง ๓ วัดเพราะเราจัดให้ไม่พร้อมกัน นี่บอกว่ามันติดกันถึงขนาดนั้น ถึงเขาเรียกว่าบ้าเทศน์ เป็นบ้าเทศน์มาตั้งแต่แรกบวช แล้วมันจริงเทศน์ตลอดมา ตลอดมากี่ปี เทศน์มากขึ้นๆ จนบัดนี้นับแล้ว ผม ผมประมาณว่าพันกว่าครั้งหรือสองพันครั้งก็ไม่รู้ แต่รู้สึกว่าจะเทศน์ได้ดีถึงขนาดต้องเคยเทศน์มาแล้วเป็นร้อยๆ ครั้ง ไม่ใช่ว่าไปหัดเทศน์สักสองสามวัน สองสามเดือนแล้วจะเป็นนักเทศน์ได้ เพราะว่ามันสอนกันไม่ได้ด้วยคำพูดหรือด้วย(การ)บอกกล่าวนี่ มันสอนได้ด้วยการกระทำ ดังนั้น ขอให้กระทำเถอะแล้วการกระทำนั้นมันจะสอน ขอให้ขยันเทศน์แล้วทุกทีที่เทศน์มันจะสอน จะสอนอะไรให้เสมอ อย่างหนึ่งเสมอซึ่งคนอื่นสอนไม่ได้หรอก ผู้ ผู้เป็นนักเทศน์จะมาสอนให้พักเดียวมันก็หมด หมดคำสอนแล้วมันก็ยังเทศน์ไม่ได้อยู่นั่นแหละ แต่ถ้าให้มันสอนเองสอนในการเทศน์หลายๆ เดือนหลายๆ ปีเข้ามันก็ได้ ดังนั้นธรรมทายาทนั้นที่จะคิดว่าจะเป็นผู้เทศน์ได้บรรยายได้นั้น อย่าคิดว่ามันจะทำได้ในเดือนสองเดือนหรือปีสองปี มันต้องอุทิศเป็นธรรมทายาทแท้จริง เป็นธรรมทายาทหัวจิ้งหรีด เพราะทนมัน เทศน์มันให้ได้สักห้าร้อยครั้งนี่ นี่ผมจะประมาณให้ว่าขอให้อดทนเทศน์ให้ได้สักห้าร้อยครั้งแล้วจะเทศน์เป็น จะเทศน์ได้ ทุกคนแหละถ้าคิดจะปีหน้าจะสึกปีนี้จะสึกอย่างนี้ไม่มีหวัง ไม่มีทางจะทำได้ หรือคิดว่ามันจะเทศน์ได้โดยง่ายโดยสะดวกนั้นมันไม่มีหวัง ดังนั้น จะเรียนอะไรก็เหมือนกันจะต้องทรหดอดทนขนาดนี้ อะไรที่เป็นความคิดที่ดีของเราเองหรือมีอยู่ในพระคัมภีร์ก็ตามนี่มันต้องจดใส่สมุดโน้ตเป็นพิเศษไว้เสมอ ถ้ามันขี้เกียจ ว่าจำได้ จำได้ไม่เป็นไร ไม่ต้องจด มันก็ลืมหายหมดแหละ โดยเฉพาะความคิดที่มันเกิดขึ้นจากภายในใจของเราเอง ความคิดที่ลึกซึ้งที่แยบคายนั้นถ้าไม่จดไว้แล้วมันก็จะไม่มาอีก ดังนั้นจดไว้เถอะ หลายปีหลายสิบปีเข้าสมุดเล่มนั้นมันจะมีค่า มีค่าเหลือประมาณ เพราะว่ามีอยู่เล่มสองเล่มให้ใครมาขอซื้อสักล้านหนึ่งก็ไม่ขายสมุดโน้ตสองสามเล่มนั้น มันมีประโยชน์สารพัดนึกทุกอย่าง ถ้าว่าจะไปเทศน์เมืองนอกเมืองนานี่มีแต่สมุดเล่มนั้นเล่มเดียวไปได้ทั่วโลก เรื่องสำหรับจะเทศน์นั้นนะ นี่มันเป็นขนาดนี้เพราะฉะนั้นขอให้ช่วยนึกคิดกันไว้บ้าง ว่ามันไม่ทำได้ง่ายๆ ทำได้ง่ายๆ อย่างเสกเอาด้วยพิธีการพิธีรีตองนี้มันเป็นไปไม่ได้ ไอ้ความ ข้อความที่ลึกซึ้งในพระบาลีโดยเฉพาะอ่านพระไตรปิฎกทีไรก็เก็บไว้ เก็บไว้ เก็บไว้ หรือว่าอ่านหนังสือของคนอื่นเกิดความคิดลึกซึ้งแยบคายขึ้นมาทีไรก็จดไว้ จดไว้ หรือแม้แต่ว่านั่งอยู่เฉยๆ หรือเดินไปบิณฑบาตรมันคิดนึกได้อะไรขึ้นก็ต้องจดไว้ จดไว้ มารวมไว้ในสมุดโน้ตจดไว้เป็นระเบียบ เป็นระเบียบแล้วจะเป็นของมีค่าที่สุด จะมีค่ายิ่งกว่าพระไตรปิฎก เดี๋ยวจะว่าจ้วงจาบพระไตรปิฎก ไม่ใช่อย่างงั้น ในพระไตรปิฎกยังมีมากมีค่าก็จริงแต่เอามาใช้ไม่ได้เพราะมันอยู่ในพระไตรปิฎกไม่รู้อยู่ตรงไหนนี่ ถ้ามันมาอยู่ในสมุดโน้ตของเราพลิกได้ทันที เอามาพูดได้ทันทีเอามาเทศน์ได้ทันที ซึ่งเขาจะมานิมนต์บรรยายหรือปาฐกถาวันนั้นวันนี้เรื่องนั้นเรื่องนี้จากสมุดเล่มเล็กนั้นมันพอ มันพอที่จะพูดได้ มันจึงมีค่ามากกว่าพระไตรปิฎกตรงที่ว่ามันใช้ได้ทันที ส่วนพระไตรปิฎกนั้นต้องนั่งพลิกอยู่เป็นชั่วโมงชั่วโมงสองสามวันกว่าจะได้เรื่องพอ มันก็ไม่ทัน มันก็ไม่ได้ ดังนั้นขอให้ผู้ที่จะเป็นนักเทศน์เป็นนักเลงชั้นนักเลงมีสมุดอย่างนี้ประจำตัวกันเถิดเล่มสองเล่มก็แล้วแต่ ต้องทำอย่างดีที่สุดแหละทำเป็นพวกเป็นหมวดเป็นหมู่เขียนบรรจง เขียนตัวเล็กละเอียดบรรจงสวยงามให้มันอยู่คู่ชีวิตเลย นั่นแหละจะได้จะจะจะจะได้เกินกว่าที่เคยนึกเคยคาดไว้ แล้วมันสำเร็จประโยชน์เพราะว่าทำ ทำ ไม่ไม่ไม่ไม่ไม่ไม่เคยทำก็ป่วยการต้องเคยทำ คือ เคยเทศน์ ยิ่งเคยเทศน์ซ้ำๆ ซากๆ ด้วยแล้วก็ยิ่งดี มันแน่นแฟ้นเหลือประมาณ แล้วมันจะน่าประหลาดที่ว่าหลับไปพลางก็เทศน์ได้
นี่คุณไม่เชื่อใช่ไหม นี่ที่นั่งกันอยู่นี่คงไม่เชื่อว่าหลับไปพลางก็เทศน์ได้ ก็เพราะว่ามันซ้ำ ผมจะเล่าให้ฟังว่าเมื่อไปเทศน์พร้อมประชาชนกับไอ้ เมื่อก่อนเขาเรียกว่าอะไร ข้าหลวงภาคน่ะ ข้าหลวงภาค พระยาอมรฤทธิ์ธำรง ณ ถลางนั้น พาไปทั้ง ๑๔ จังหวัดเป็นเวลาเดือนกว่าสองเดือน พาไปเองท่านพาไปด้วยตนเอง เป็นข้าหลวงภาคไปที่จังหวัดไหนก็สั่งอย่างนั้นๆ ให้เตรียมคนอย่างนั้น เตรียมคนอย่างนี้ ผมก็เทศน์ บางทีก่อน ก่อนฉันเช้าก็เทศน์ที่เรือนจำอะไร ก็ ฉันเช้าแล้ว ระหว่างเช้าถึงเพลก็เทศน์กับนักเรียน ตอนบ่ายไปเทศน์กับตำรวจ ไปเทศน์กับประชาชน ไปเทศน์กับข้าราชการแล้วก็ไปเทศน์กับพระเณร ไปเทศน์ทั้งวันนะอย่างนี้ ไปเทศน์กับประชาชนเหนื่อยมาทุ่มกว่าแล้ว กลับมาถึงวัดมาถึงที่พักเพื่อจะได้พักผ่อน มันก็ไม่ได้พักผ่อน เพราะว่าพระ เณร อุบาสก อุบาสิกาก็มานั่งรออยู่ตรงโบสถ์ มันก็ต้องเทศน์แล้วก็ต้องเทศน์จนหมดเวลาจนถึงกับง่วง อาบน้ำแล้วก็จะล้มลงตาย นี่เทศน์ก่อนอาหารเช้าเทศน์ หลังอาหารเช้าเทศน์ บ่ายเทศน์ เย็นเทศน์หัวค่ำเทศน์ ผู้ฟังมีทุกชนิด แล้วผมก็เทศน์แต่เรื่องเดียว คือเรื่อง เอ่อ ฆราวาสธรรม ๔ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เทศน์กับพวกไหนก็เทศน์ออกแต่เรื่องนี้เรื่องศีลนี้ แต่มัน มันเปลี่ยนต่างกันบ้างสำหรับนักเรียนก็ไปอย่าง สำหรับไอ้ประชาชนก็ไปอย่าง สำหรับทหารตำรวจก็ไปอย่าง สำหรับข้าราชการก็ไปอย่าง แล้วมันก็ชิน อย่างเทศน์สำหรับข้าราชการอย่างนี้ ก็เทศน์เหมือนกันทั้งทุกแห่งทุกที่ถ้าเป็นข้าราชการ แล้วมันก็เคยเทศน์เรื่องฆราวาสธรรม ๔ นี่หลายสิบครั้งเต็มที กว่าจะได้ กว่าจะจบ จบ จบคอร์ส จบกลับกว่าจะได้กลับ มันจริงหลับครึ่งเทศน์ครึ่ง ปากมันพูดไปได้โดยหลับ มันหลับไม่ใช่ไม่หลับแต่ปากมันพูดไปได้ มันกะพอดีๆ มันจะ มันจะตื่น ตื่นทุกสองนาทีหรือทุกสามนาทีแล้วมันก็พูดต่อไปได้ จนตื่นก็หลับแล้วก็พูดต่อไปได้จนจบเรื่อง มันเลยเหมือน เหมือน เหมือนกับว่าคัดลอกกันมาจนไอ้ผู้ที่ติดตามเขา เขา เขา เขา เขารู้สึกประหลาดที่สุดเลยว่าเทศน์เหมือนกันทุกที แต่สำหรับประชาชนไม่เป็นไรมันคนละคน คนละพวก นี่ถึงแม้มันจะเทศน์เหมือนกันอย่างนี้ก็ไปได้ นี่ผมจะบอกยืนยันว่าหลับไปครึ่งก็เทศน์ได้ถ้าทำกันจริงๆ ทำกันจริงๆ มีคนหาปลาคนหนึ่งที่พุมเรียงเขาแจวเรือหลับได้ ไม่ ไม่ค่อยมีใครเชื่อกี่คนนัก แต่ในที่สุดมันก็เป็นความจริงกลับมาจากหาปลาหลายคุ้งน้ำ หลายคลองคุ้งน้ำก็หลับ พอดีตื่นเลี้ยวคุ้งหลับเป็นระยะๆๆ มา ไอ้ ไอ้มือก็แจวอีกมือก็จับแจวเรือหลับได้จนมาถึงบ้าน มันเหมือนกับเราเทศน์ไปพลางหลับไปพลางสลับกันไปได้ นี่ที่เอามาเล่านี่ก็หมายความว่าไอ้ตามธรรมชาติมันทำได้ถึงอย่างนี้นะ ตามธรรมชาติมันทำได้ถึงอย่างนี้ เพราะฉะนั้นขอให้มันจริงให้มันสักหน่อยเถอะจริงให้มันสักหน่อย ผมก็คุยได้นะว่าเคยเทศน์เรื่องฆราวาสธรรม ๔ เป็นร้อยๆ ครั้ง เพราะมันง่ายดีเพราะมัน ก็เรื่องไอ้ฆราวาส ผู้ฟังเป็นฆราวาส ไอ้เรื่องนี้มันตรงดี เออ นี่อยากจะบอกว่าแม้ไอ้ชื่อจะเป็นฆราวาสนี่ แม้จะชื่อว่าฆราวาสธรรม ธรรมะสำหรับฆราวาสนะ มันไม่ ไม่ ไม่ ไม่อย่างนั้นหรอก มันธรรม(37.49)สำหรับจะบรรลุนิพพานเป็นพระอรหันต์ เป็นพระนิพพานก็ได้ ธรรมะ ๔ ข้อนี้ถ้าเทศน์เป็นนั่นนะ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ มันเป็นไอ้ธรรมะกลาง ธรรมะเครื่องมือจะปฏิบัติเพื่อเป็นพระอรหันต์ปฏิบัติไอ้กรรมฐานวิปัสสนาอันไหนก็ตามก็ต้องใช้ไอ้ ๔ อย่างนี้ ๔ อย่างนี้ มีสัจจะตั้งใจจริง มีทมะบังคับไป แล้วก็อดทนไป แล้วก็สละไอ้ข้าศึกของไอ้ความสำเร็จออกไป อย่าไปเข้าใจว่าเป็นเรื่องสำหรับฆราวาสแท้ๆ ล้วนๆ เลย ปฏิบัติเป็นพระอรหันต์บรรลุนิพพานก็ได้ด้วยธรรมะ ๔ ข้อนี้ ดังนั้นพยายามใช้ให้เต็มที่ ศึกษาให้ดีจะเห็นได้ชัดว่าไอ้ธรรมะทั้งหลายๆ ในพระไตรปิฎกมันมีอยู่เป็น ๒ ชนิด คือเป็นธรรมะโดยตรง เป็นตัวธรรมะชนิดหนึ่ง อีกชนิดก็เป็นเครื่องมือเป็นเครื่องมือสำหรับปฏิบัติธรรมะอื่น เช่น อิทธิบาท ๔
อิทธิบาท ๔ นี่เป็นธรรมะเครื่องมือ เอ่อ อย่างธรรมะอริยทรัพย์นี่เป็นธรรมะโดยตรง ดังนั้นถ้าเราจะปฏิบัติอริยสัจให้ดีให้มีประโยชน์ถึงที่สุดเราก็ใช้ไอ้ธรรมะอิทธิบาท ๔ ทำกับเรื่องอริยสัจแล้วสำเร็จประโยชน์ นี่ธรรมะเช่นอริยสัจ ๔ เอ่อ เช่น อิทธิบาท ๔ หรือฆราวาสธรรม ๔ มันมีอะไรอีกหลายหมวด มันมีลักษณะเป็นเครื่องมือ ธรรมะจริงๆ นี่ก็คือตัวธรรมะแท้ๆ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่มีลักษณะเป็นเครื่องมือเช่นเรื่องอริยสัจ เป็นต้น แล้วมันยังมีธรรมะบางพวกเป็นเครื่องมือก็ได้เป็นธรรมะจริงยืน ตัวยืน ยืนโรงก็ได้ เช่น พละ ๕ อินทรีย์ ๕ จะปฏิบัติอย่างเป็นตัวธรรมะก็ได้ แต่ที่จริงก็เป็นธรรมะเครื่องมือ แม้แต่โพชฌงค์ ๗ มีลักษณะเป็นธรรมะเครื่องมือใช้ปฏิบัติอริยมรรคที่มีองค์ ๘.....(40:16)ให้เต็มที่ได้ แต่จะปฏิบัติในฐานะเป็นตัวธรรมะจริงก็ยังได้เหมือนกัน ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติลงไปจริงๆ ในฐานะเป็นธรรมะจริงก็ได้ แต่โดยหลักที่มีอยู่แม้ในพระบาลีเองก็เห็นได้ชัดว่าเป็นธรรมะเครื่องมือ ที่มีพละ พละหรืออินทรีย์ข้อนั้นข้อนี้เมื่อมันเกิดปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้ในการปฏิบัติอานาปานสติ ๔ โดยเฉพาะมันจะมีเขียนไว้ชัดนี่(ใน)ปาฐกถา เมื่อเกิดปัญหาอย่างนั้นให้เพิ่ม...อินทรีย์ ปัญหาอย่างนี้ให้เพิ่ม...อินทรีย์.....อินทรีย์อะไรก็ตาม(41:04) มันมีลักษณะเหมือนกับเป็นเครื่องมือ ไปศึกษาให้ดีที่สุดจนเห็นว่าธรรมะหมวดไหนเป็นธรรมะหมวดเครื่องมือสำหรับปฏิบัติธรรมะอื่น ธรรมะหมวดไหนเป็นธรรมหลักเป็นธรรมะจริง ธรรมะ ธรรมะยืนพื้น แล้วธรรมะหมวดไหนใช้ได้ทั้ง ๒ อย่างจะใช้อย่างเครื่องมือก็ได้ ใช้อย่างธรรมะจริงก็ได้ นี่ทำอย่างนี้เรื่อยๆ ไปเถอะแล้วจะมีการแตกฉานในเรื่องของธรรมะ ต้องใช้ความสนใจตลอดเวลา คิดนึก สังเกตอยู่ตลอดเวลา และพยายามที่จะศึกษาให้ลึกยิ่งขึ้นไปเรื่องเดียวกันแหละ ธรรมะชื่อเดียวกัน มาเรียนนักธรรมตรีศึกษาระดับหนึ่ง พอเรียนนักธรรมโทศึกษาลึกเข้าไปอีกระดับหนึ่ง พอเรียนนักธรรมเอกศึกษาลงอีกระดับลึกเข้าไปอีกระดับหนึ่ง จึงเป็นเรื่องชนิดที่เป็นโลกุตตระมากยิ่งขึ้นทุกทีๆ ดังนั้น ขอให้ศึกษาธรรมะลึก ซ้ำและลึกกว่าก่อนยิ่งขึ้นทุกปีๆ ๆ ก็จะถึงจุดสูงสุดของธรรมะนั้นๆ
นี่ขอให้สังเกตดูที่เราเคยรู้เคยเข้าใจเมื่อเรียนนักธรรมตรีนั้นพอเป็นนักธรรมเอกแล้วมันรู้สึกอย่างไรบ้าง ทีนี้ถ้ามันเป็นนักธรรมเกินเอกเล่า เป็นนักธรรมพิเศษเรียนแล้วเรียนอีก เรียนแล้วเรียนเล่าอีกหลายๆ ปีล่ะ ยิ่งกว่านักธรรมเอกมันจะรู้สึกอย่างไรบ้าง ขอให้สนใจ แม้จะให้อธิบายธรรมะหมวดเดียวกัน เช่น ฆราวาสธรรม ๔ ให้คนมีความรู้เพียงนักธรรมตรีอธิบายก็อธิบายได้แค่นั้น ให้คนมีความรู้นักธรรมโทมันก็อธิบายได้มากกว่านั้น นักธรรมเอกก็อธิบายมากกว่านั้น ถ้าเป็นธรรมะนักธรรมะชั้นพิเศษอธิบายได้มากกว่านั้นอีกหลายเท่าจนรอบตัวไปหมด ดังนั้นเตรียมตัวสำหรับเป็นนักธรรมหรือนักธรรมะแท้จริงกันดีกว่า มันไม่ใช่หยุดอยู่เพียงแค่นักธรรมเอกล่ะ นักธรรมเอกนี่กลายเป็นใน ไอ้มาตรฐานขั้นต้นที่เรียนนักธรรมเอกได้แล้วก็พอสำหรับจะศึกษาไอ้ธรรมะทั่วไป เมื่อศึกษาพอเป็นไอ้เครื่องมือสำหรับศึกษาธรรมะทั่วไป นักธรรมเอกก็มีได้เพียงเท่านั้น ต้องพยายามศึกษาให้มันลึกในความหมายที่ลึกจนเป็นภาษาธรรมะ ตอนแรกเรียนเรียนด้วยภาษาคนทั้งนั้นแหละ ภาษาอย่างที่มีตัวมีตนอย่างนั้นอย่างนี้ก็เรียนด้นกันไป มันจึงมีเรื่องตายแล้วเกิด เกิดแล้วทำอย่างไรแล้วก็มีเรื่องตัวตนอย่างนี้ ที(นี้)ศึกษามากไป มากไปแม้แต่เดี๋ยวนี้มันก็ไม่มีตัวตน ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องตายแล้ว ไม่ต้องเกิด ไอ้ที่อยู่นี่มันก็ไม่มีตัวตน นี่เห็นเป็นว่างไปหมด แม้ที่นี่และเดี๋ยวนี้นั้นก็เรียกว่ารู้ธรรมะจริงๆ ที่สุด ที่ยังมีตัวมีตนเหลืออยู่อย่างนั้นอย่างนี้มันก็ยังไม่ถึงที่สุด จะรู้ได้ว่าถ้ามันถึงขนาดที่เป็นของว่างเป็นเรื่องว่างไปแล้วก็มันถึงที่สุดแหละ นี่หรือมันเป็นคนละชั้น เช่น ทางสายกลางมัชฌิมาปฏิปทาเองมรรคมีองค์ ๘ ทางสายกลาง เมื่อคำว่าทางสายกลางเป็นหลักแล้วอธิบายได้มากมายหลายสิบเรื่อง ถ้าเอาอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นหลักมันก็ตาย มันก็ขอบเขตจำกัดเท่านั้น ถือเสียว่าเอาทางสายกลาง ทางสายกลางเป็นหลักนี้มันก็จะไปจนถึงเรื่องว่าง จน จนกระทั่งรู้ว่าไอ้ที่มันเป็นกลางได้ ต้อง ต้องถึง ถึงว่าง ถ้ายังไม่ว่างยังมีคนอยู่นั้นเป็นกลางไม่ได้ มันต้องมีคนดี คนชั่ว คนแพ้ คนชนะ คนอะไรมันไม่กลาง ถ้าว่าเรียนเรื่องทางสายกลางถึงขนาดสูงสุดแล้วมันกลายเป็นเรื่องอิทัปปัจจยตาไปเสีย ก็ยังไม่มีดี ไม่มีชั่ว ไม่มีบุญไม่มีบาปไปเสีย แล้วก็ไปถึงจุดว่างนั่นแหละ ว่างนั่นอยู่ตรงกลางที่สุดแหละ ต่ำกว่านั้นต่ำกว่านั้นยังไม่ได้กลางที่สุดมันเป็นการบัญญัติการในขอบเขตที่จำกัดอย่างนี้ยังไม่ถึงที่สุด (46.08) ดังนั้น เรื่องเดียวข้อเดียวน่ะชื่อเดียว(ใน)การศึกษาก็มีอยู่หลายชั้นนัก หลายชั้นนัก ศึกษาอย่างธรรมดาสามัญเป็นภาษาคน เป็นภาษาธรรมก็ต้องเป็นภาษาธรรมชั้นสูงสุด นี่เรียกว่ามันนอก นอก นอกหลักสูตร นอกโรงเรียน นอกหลักสูตรไปแล้ว เลยต้องเรียกว่านักธรรมชั้นพิเศษ ไอ้เรื่องนักธรรมชั้นพิเศษนี่ผมเคยขยับพูดกับพระมหาเถระผู้มีอำนาจกับการหลายบางองค์ (46.46) บางองค์ท่านว่าเออท่าจะดี เดี๋ยวนี้เรามันมีแต่นักธรรมตรี โท เอก มัน มันตายด้านนะขยายหลักสูตรของสนามหลวงของคณะสงฆ์ให้ขึ้นไปถึงนักธรรมพิเศษ เรียนต่อจากนักธรรมเอกจึงจะทัน ทันเหตุการณ์ ทันสมัยที่จะอธิบายธรรมะในโลกปัจจุบันซึ่งนิยมวิทยาศาสตร์เป็นหลัก พวกนัก นักธรรมเอกทั้งหลายเหล่านี้ไม่เคยรู้ ไม่เคยเรียนเรื่อง เรื่องวิทยาศาสตร์มันอธิบายไม่ได้ คุณจะอธิบายไม่ได้แม้แต่นักธรรมเอกสองหนก็อธิบายไม่ได้ มันต้องเรียนนักธรรมชั้นพิเศษกว้างออกไปไกลออกไป จนกลายเป็นเรื่องของธรรมชาติไม่ใช่เป็นเรื่องของศาสนา ทีนี้ไม่ใช่บัญญัติสมมติแล้วไม่ใช่บัญญัติแล้ว กลายเป็นเรื่องความจริงของศาสนา เป็นกฎเกณฑ์เหมือนกับวิทยาศาสตร์ที่นักธรรมชั้นพิเศษจะต้องอธิบายได้ถึงขนาดนี้ นี่ขอให้เตรียมตัวไว้ด้วยถ้าจะเป็นธรรมทายาทที่แท้จริง ไม่ใช่ธรรมทายาทจิ้งหรีดผีที่ขี้แพ้ยังไม่ทันกัดก็วิ่งหนีแล้ว จิ้งหรีดผีเป็นอย่างนั้น ถ้าจิ้งหรีดแท้จริงมันสู้จนตาย นี่เราจะเป็นธรรมทายาทกันสักทีก็ขอให้มันมีจริงๆๆ ถึงวาระสุดท้าย ทายาดเหมือนกับพระพุทธเจ้าทำงานจนวินาทีสุดท้าย
นี่ผมก็นึกว่ามันเป็นเรื่องที่ควรพูดเป็นเรื่องที่ควรพูดแม้มันจะไม่น่าฟังแต่มันก็เป็นเรื่องที่ควรพูดว่าไอ้หนทางข้างหน้านั้นมันมีอยู่อย่างนั้นจริงๆ ถ้าไม่ไปตามนี้ไม่ไปถึงนี้ มันไม่ ไม่ถึงที่สุดหรอก ไม่ถึงที่สุดของการเผยแผ่สั่งสอนชี้แจงอย่างที่ว่ามันหลุดพ้นออกไปได้ คำว่าหลุดพ้น หลุดพ้นออกไปได้นี่เป็นคำที่อธิบายยากที่สุด นักธรรมเอกทั้งหลายเท่าที่เรียนมานั้นอธิบายไม่ถูกหรอกผมกล้ากล้า ดูหมิ่น กล้าดูถูกว่าอธิบายคำว่าหลุดพ้นออกไปได้(49.31) ก็มันยังสอนเรื่องต้องไป ต้องหลุด ต้องอะไรอยู่นี่แล้ว มันยังต้องหลุดแล้วมันไม่ใช่หลุดพ้น ถ้ามันยังต้องไปแล้วมันก็ยังไม่ใช่นิพพานแล้ว นี่ยังสอนแต่นิพพานต้องไปนิพพานต้องถึงนิพพานต้องอะไรกันอยู่ ไม่ใช่ว่ามันเป็นไอ้ธรรมะโดยธรรมชาติ การสลายตัวแห่งอุปาทานว่าตัวตนอย่างนี้มันไม่ต้องไป ไม่ต้องถึงอะไรมันก็ทำอยู่ตรงนี้ ทำอยู่ตรงนี้ แล้วมันก็ว่างไปหมด มันว่างไปหมด นั่นแหละเรียกว่าไปหรือถึง ทีนี้ประชาชนเขาก็ฟังไม่ถูก มันก็น่าเห็นใจ เราก็ต้องใช้คำที่เขาฟังถูก มันจึงพูดออกไป(ว่า)นิพพานไปนรกไปสวรรค์ก็ไปตามเรื่อง
เอาละขอร้องว่าให้ศึกษาให้กว้างขวางออกไปอีก อย่าศึกษาเท่าที่มีอยู่แล้วแค่นักธรรมโท นักธรรมเอกหรือแค่คิดๆ นึกๆ เดาๆ เอา ไม่ชั่วไม่กี่วันไม่กี่เดือน มันยังมีอีกมาก มันยังมีอีกมาก ซึ่งต่อไปนี้นะจะต้องศึกษาด้วยจิตใจไม่ใช่ศึกษาด้วยกระดาษดินสออย่างนี้ ไอ้ที่แล้วมา มันก็ศึกษาด้วยกระดาษดินสอในโรงเรียนด้วยการฟังการอะไรต่างๆ การคิดการทำความเข้าใจที่เลยนั้นไปมันไม่ได้เรียนอย่างนั้นแล้ว มันเรียนจากความรู้สึก มันเรียนด้วยความรู้สึก ดูที่ความรู้สึก ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้มันจึงจะเป็น(การ)เรียกว่ารู้แจ้ง รู้ตรัสรู้ รู้แจ้งอย่างตรัสรู้ เรื่องทุกเรื่องนี่ไปถึงเรื่องรู้แจ้งทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าเรื่องอะไรที่ชั้นนักธรรมตรีวันแรกถ้าเรียนเป็นเข้าใจไปตามลำดับก็จะไปถึงความรู้แจ้งและจะกลายเป็นเรื่องว่างไปหมดไม่มีอะไรเป็นตัวตนทั้งนั้นแหละ เมื่อนั้น เรา เรา เราก็จะเป็นผู้ที่รู้จักธรรมะ รู้แจ้งธรรมะ ไม่ใช่เพียงแต่จำไว้ได้ ไม่ใช่เพียงแต่จำไว้ได้ มันต้องรู้แจ้งและรู้จัก ไอ้เรียนในโรงเรียน มันเป็นเรื่องคิด เรื่องจำ เรื่องใช้เหตุผล อย่างดีที่สุดมันก็ใช้เหตุผล อนุมาน อุปมาน อะไรไปตามที่มันจะทำได้ ลักษณะอย่างนี้เอามาศึกษาธรรมะอันสูงสุด เอ่อ ในพุทธศาสนาไม่ได้ เอามาทำเข้ามันก็กลายเป็นปรัชญาไปหมดน่ะ คือคิดไปตามแนวแห่งเหตุผลโดยสมมติฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เป็นธรรมะ ไม่เป็นพุทธศาสนา (แต่)มันเป็นปรัชญา และในโลกเดี๋ยวนี้ เขาเรียนกันอย่างนั้นทั้งนั้นแหละ มหาวิทยาลัยไหนก็ตามใจ แม้แต่เรียนพุทธศาสนามันก็เรียนอย่างปรัชญา ต้องใช้คำว่า philosophy เรียนอย่าง philosophy ในเมืองไทยมันมีบาปกรรมอะไรก็ไม่รู้ มันใช้คำว่าปรัชญาแทนคำว่า philosophy พวกอินเดียเขาโกรธ เขาไม่ยอมว่าทำโง่ ทำผิด คำว่าปรัชญาไม่ใช่ เอ่อ เอ่อ ปรัชญาสันสกฤตนั้น ไม่ใช่ ไม่ตรงกับคำว่า philosophy philosophy ตรงกับคำว่าทัศนะ ความเห็นหนึ่งๆ เอ่อ เป็น เอ่อ อันเป็นมติของไอ้การคิดการคำนวณโดยสมมติฐานอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้เป็น philosophy พุทธศาสนาไม่เป็น philosophy จะเรียนพุทธศาสนาอย่าง philosophy ไม่มีทางที่จะได้รับผลของพุทธศาสนา ต้องเรียนอย่างถึงตัวจริงที่เรียกว่าปรัชญานั่นแหละ แต่มันคนละความหมายเสียแล้ว ปรัชญา ปรัชญาในเมืองไทยมีความหมายเป็น philosophy แต่ปรัชญาของเดิมเขาในอินเดียหมายถึงรู้แจ้ง รู้แจ้งแทงตลอด เป็นปัญญาอย่างยิ่ง คือคำว่าปัญญา ปัญญา เป็นการเห็นด้วยใจ ด้วยปัญญา ด้วย ไม่ใช่เอ่อความรู้ที่เกิดมาจากการคิดคำนวณ เอ่อ ต่อไปนี้ก็อุตส่าห์ศึกษาไอ้หัวข้อธรรมะนั่นน่ะ ในลักษณะที่เป็นเรื่องของความรู้แจ้ง ดูเหมือนจะรู้ได้ยินกันอยู่ทุกองค์แล้วว่า สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา นั่นแหละ ไปให้ถึงภาวนามยปัญญากันบ้าง แล้วสุตะก็เบื้องต้นที่สุด เป็นการใช้เหตุผลคิดค้นไปมันก็เข้าไปถึงกลางแล้ว ถ้าเป็นภาวนา ธรรมโดยทางจิตใจ เห็นแจ้งโดยจิตใจแล้วมันก็เป็นอันสุดท้ายแล้ว จะมีความรู้ ธรรมะที่จะดับทุกข์ได้นั่น มันต้องไปถึงไอ้ภาวนามยปัญญา ที่ในโรงเรียนนักธรรมของเราให้ได้แต่เพียงสุตมยปัญญา ในมหาวิทยาลัยชั้นสูงขึ้นไปมันเพียงแค่จินตามยปัญญา มันยังไม่ลงมือทำด้วยจิตด้วยใจลงไปที่ตัวธรรมะโดยตรงคือเป็นภาวนามยปัญญา เอ่อ ต่อไปนี้ก็ต้องกอง ชุมนุมกัน สนใจไอ้เรื่องภาวนามยปัญญา ให้มันมากยิ่งขึ้น มันก็มีหวังว่าเราจะเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา สามารถทำหน้าที่อันเกี่ยวกับพุทธศาสนาได้สำเร็จถึงที่สุด สมกับที่ว่าเป็นธรรมทายาท ผู้รับมรดกธรรม ผู้สืบมรดกธรรมได้ถึงที่สุด ด้วยความอดทน ทรหด ทายาด ได้อาศัยทายาด ทายาดอดทนนั่นแหละเป็นเครื่องมือ ทำตนให้เป็นทายาท ผู้รับมรดกโดยแท้จริง
นี่มันมีอย่างนี้ โดยย่อๆ มันมีอย่างนี้ มันอาจจะพูดให้ละเอียด พิสดารมากกว่านี้ก็ได้ แต่มันก็ไม่แปลกหรอก โดยย่อๆ มันจะมีอยู่อย่างนี้ ดังนั้น ขอให้สนใจ ทำกันไปเถอะ เทศน์มาแล้วไม่ ไม่น้อยกว่าห้าร้อยครั้ง ถ้าเทศน์เป็น เทศน์มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าร้อยครั้ง ด้วย ด้วยความระมัดระวังอย่างดีที่สุดมาห้าร้อยครั้งแล้วจะเทศน์เป็น จะทรหดอดทนกันถึงขนาดนั้น ถ้าได้ถึงพันครั้งสองพันครั้งก็ยิ่งดี จะเขียนหนังสือก็เหมือนกันแหละ มันต้องเขียนมาแล้วเป็นพันหน้าสองพันหน้า มันจึงจะเขียนเป็น เขียนถูก เพิ่งหัดเขียนเดี๋ยวนี้ มันก็ทำได้ มันก็ได้เท่านั้น ได้แค่นั้น แม้จะหัดบรรยายปาฐกถาธรรมกันนี้ ก็ทำเป็นร้อยๆ ครั้ง เขียนเป็นร้อยๆ ครั้ง เก็บใจความสำคัญไว้ ที่เป็นชั้นหัวใจน่ะไว้ในสมุดโน้ต เพื่อช่วยความสะดวก ความง่าย ความพร้อม จนคุยได้ว่าสมุดเล่มนั้นติดไปในย่ามแล้วไม่ต้องกลัว ไปได้รอบโลก
แล้วผมก็พูดตั้งชั่วโมงแล้ว เอ่อ ขอแสดงความยินดีในส่วนที่มีความตั้งใจจะเป็นธรรมทายาท นี่เป็นเรื่องที่ดีที่สุดสำหรับที่ได้บวชได้เรียนอะไรกันเข้ามา ก็ขออย่าได้ประมาทว่ามันของง่ายๆ พูดกันสักเดือนสองเดือนแล้วก็จะจบ ไม่มีทางจะเป็นไปได้ มันเป็นเพียงพูดพอรู้เรื่อง แล้วก็ต้องเอาไปทดลอง ปฏิบัติ ค้นคว้า ทดสอบ ทดลองอยู่นั่นแหละ เป็นปีๆ เป็นหลายสิบปีก็ยิ่งดี แล้วก็จะพูดได้ถูกต้อง พูดได้ลึกซึ้งหรือสูงสุดแล้วก็ถูกต้องสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ฟังโดยแท้จริง และเราก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้รับมรดกธรรมของพระศาสดาโดยแท้จริง นี่ผมก็ขอแสดงความยินดีด้วยที่ทุกองค์นี่มีความประสงค์จะเป็นธรรมทายาท กล้าพูดได้ว่าไม่เสียชาติเกิดกับการที่ได้อุทิศตนเป็นธรรมทายาทจนตลอดชีวิตนี่มันเป็นของที่มีค่าไม่เสียชาติเกิด สึกออกไปมีลูก มีเมียอะไร มันก็แค่นั้นแหละ มันก็เท่านั้นแหละในที่สุดมันก็หลับตา แล้วก็ตายไป ไม่ถึงจุดสูงสุดของธรรมะเลย ที่เราเมื่อจะเป็นธรรมทายาท มันก็ต้องเอาอย่างพระพุทธเจ้า มอบกายถวายชีวิต แล้วก็ทำงานจนนาทีสุดท้าย เหมือนพระพุทธเจ้านั่นน่ะที่จะทำงาน(จน)ตายคาที่ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ขอให้นึกถึงข้อนี้อยู่เสมอ จะมานั่งที่นั่ง ที่นอน ที่นิพพานของพระพุทธเจ้าคือกลางดินแล้วก็อย่าให้เสียทีเปล่า ให้มันสำเร็จประโยชน์สมตามที่เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า ผู้ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน ตายกลางดิน แล้วก็ขอร้องว่าทุกๆ องค์จงมีความกล้าหาญ มีความอดทน ทรหด เป็นทายาท ทรหดทายาทอันทรหด มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานไปตามลำดับจนได้รับผลเป็นที่พอใจ แม้แต่ตนเอง เรียกว่าทำนี้เพื่อ การกระทำนี้เพื่อสนองพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือจะเรียกว่ามันเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ ทำแล้วไม่เสียชาติเกิดอย่างนี้ก็ได้ แล้วแต่จะใช้คำไหน มันก็ได้ผลอย่างเดียวกัน ขอให้ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยความกล้าหาญ ด้วยความไม่ประมาท ด้วยความอดทนทายาดดังที่กล่าวมาแล้ว ขอยุติการบรรยาย