แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นนักศึกษาและครูบาอาจารย์ทั้งหลาย วันนี้จะพูดกันถึงเรื่องทางสายกลาง แล้วทำไมจะต้องพูดเรื่องทาง ทางสายกลาง ก็เพราะว่าชีวิตเป็นการเดินทางอยู่เสมอ มันควรจะเดินให้ถูกต้องคือเดินทางสายกลาง มองอีกทางหนี่ง ไอ้เรื่องทางสายกลางแหละคือเรื่องตัวพุทธศาสนา หรือพุทธศาสนาบอกเรื่องทางสายกลาง ข้อนี้รู้ได้ง่ายๆ เมื่อศึกษาพุทธศาสนามากเข้าๆ จะรู้สึกอย่างนั้น อย่างที่เคยบอกแล้วว่าพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้น มันรวมอยู่ที่เรื่องกฎอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท เป็นความจริงของธรรมชาติ นั่นแหละคือตัวพุทธศาสนา และไอ้ตัวปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง คือตัวทางสายกลางอย่างนี้ แต่ว่าคำอธิบายนี้จะลึกเกินไป จะไม่เข้าใจก็ได้ จะพูดในแง่อื่นที่เข้าใจง่ายกว่านั้น ทีนี้ก็ ก็มีอยู่ข้อหนึ่งว่า มันเป็นเรื่องแรกที่สุดที่พระพุทธเจ้าท่านทรงนำมาสอนสัตว์โลก หมายความว่าพอท่านตรัสรู้แล้ว เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เรื่องแรกที่สุดที่ท่านนำมาสอนแก่สัตว์โลกนั่นน่ะ ได้แก่เรื่องทางสายกลาง นักเรียนคงจะเคยเรียนมาว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องธรรมจักร เรื่องอริยสัจ ๔ เป็นเรื่องแรก เพราะเขาเรียกกันว่าปฐมเทศนา คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ข้อนี้ก็จริง จริง แต่ว่าในตัวธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้นมันแบ่งเป็น ๒ ตอน ตอนแรกคือเรื่องทางสายกลาง ตอนหลังคือเรื่องอริยสัจ ๔ แล้วก็พูดได้ว่าพระองค์ทรงสอนเรื่องทางสายกลางเป็นเรื่องแรก หรือเมื่อพิจารณาดูถึงถ้อยคำสำนวนที่ตรัส เกี่ยวกับตอนแรกของไอ้ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ เห็นได้ชัดเลยว่าพระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายจะให้เป็นเรื่องแรก ให้เป็นเรื่องแรก ทรงบอกว่า ภิกษุทั้งหลายที่สุดโต่ง ๒ ข้างนั้นมีอยู่ที่บรรพชิตไม่ควรจะแวะเข้าไป คืออย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น แล้วก็บอกถึงทางสายกลางที่เป็นประโยชน์และเป็นหนทางที่เราตถาคตรู้ขึ้นมาได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องฟังมาจากใครอื่น นี่ท่านยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้ไปฟังมาจากใครอื่น เอามาพูดเป็นเรื่องแรก แล้วว่าท่านจงเดินตามทางนี้ เรื่องทางสายกลางนี่ อย่าแวะไปข้างต่ำ คุณ กามสุขัลลิกานุโยค อย่าไปแวะ ทั้ง อัตตกิลมถานุโยค (นาทีที่ 4:57) คือทำตนให้ลำบาก เพื่อวัตรปฏิบัติซึ่งเขาทำกันอยู่ทั่วไปในสมัยนั้น เพราะฉะนั้นให้ถือว่าเรื่องทางสายกลางนั้นเป็นเรื่องแรกที่สุดของเรื่องที่พระองค์ทรงนำมาสั่งสอนมนุษย์หลังจากการตรัสรู้แล้ว ทีนี้มันก็มีอะไรบางอย่างที่ทำให้เข้าใจ ขัดแย้งกันบ้าง ก็คือ เมื่อตรัสรู้แล้วใหม่ๆ เมื่อกล่าวตามอรรถกถาน่ะ เมื่อตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ท่านก็ได้กล่าวคำพูดในลักษณะที่เยาะเย้ยกิเลสตัณหาที่เคยมีมาแต่ก่อน บัดนี้มันสิ้นแล้ว ท่านได้กล่าวคำพูดสำนวนโวหารเป็นทำนองเยาะเย้ยกิเลสตัณหา ที่เราเอามาสวดเป็นปฐมพุทธภาษิตในบทสวดมนตร์แปลนั้นน่ะที่ว่า อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ (นาทีที่ 06:23) นั่นแหละ ดังนั้นไปพิจารณาดูให้ดี เนื้อเรื่องเนื้อหาของไอ้บทสวดบทนี้ เป็นคำกล่าวที่พระองค์กล่าวขึ้นลอยๆ โดยไม่มีใครฟัง ตอนนั้นไม่มีใครอยู่ด้วย ท่านกล่าวเยาะเย้ยกิเลสตัณหาที่เคยทำให้ท่านเป็นทุกข์มามากมายในการเวียนว่าย ท่านก็บอก บอกว่าเดี๋ยวนี้พอกันที เดี๋ยวนี้พอกันที แกจะสร้างปัญหาบ้านเรือนน่ะ บ้านเรือนให้ฉันไม่ได้อีกต่อไป เพราะว่าไอ้เครื่องประกอบที่จะเอามาเป็นเรือนน่ะ ฉันหักหมดแล้ว ทำลายหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวเรือน ตัวโครงเรือน ตัวยอดหลังคาเรือนอะไรต่างๆ น่ะทำลายหมดแล้ว เพราะว่าเดี๋ยวนี้จิตมันบรรลุถึงสิ่งที่เป็นวิสังขาร คือไม่มีอะไรปรุงแต่งได้อีกต่อไป จิตบรรลุถึงวิสังขารเสียแล้ว มีลักษณะอาการเยาะเย้ยถากถางดูหมิ่นกิเลสตัณหาที่เคยมีมาแต่กาลก่อน และด้วยเหตุที่ไม่มีใครนั่งฟังอยู่ด้วย แล้วจะไม่ถือว่าเป็นคำสอน หากแต่ว่ามันเป็นคำกล่าวที่กล่าวขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากการตรัสรู้แล้ว กล่าวกับพระองค์เอง ด้วยความพอใจหรืออะไรก็ตาม พูดเองฟังเอง เราจึงไม่เรียกว่าคำสั่งสอน แต่เรียกว่าเป็นคำกล่าวคำแรกแล้วก็ได้เหมือนกัน เนื้อความไพเราะมาก ไปหาดูเอาเองจากหนังสือสวดมนตร์แปลที่เรียกว่า ปะฐะมะโอวาทะปาถัง (นาทีที่ 08:34) เอาละเป็นอันว่าเรื่องแรกที่สุดที่พระพุทธเจ้าท่านได้กล่าวสอนคน ผู้ฟัง ก็คือเรื่องทางสายกลาง แล้วท่านเรียกมันว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า หนทางสายกลาง ไม่แวะไปข้างกามารมณ์ อย่างที่คนโดยมากในโลกเขามัวเมากันอยู่ แล้วก็ไม่แวะไปทางฝ่ายที่ทรมานร่างกายให้ลำบาก โดยคิดว่าจะหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ด้วยการทำอย่างนั้น ที่มันอยู่ตรงกลาง ความหมายของคำว่ากลาง กลางนี่ ควรจะสนใจ เพราะว่าชีวิตมันกำลังเดินทาง ชีวิตเป็นสิ่งที่เดินทาง เป็นกำลังเดินทาง เราต้องให้มันเดินถูกทาง และทางที่ถูกนั้นคือทางสายกลาง ตรงนี้อยากจะให้มองเห็นไอ้ข้อที่ว่าชีวิตเป็นการเดินทางกันเสียก่อน ไม่ยากทุกคนก็มอง พอจะมองเห็น ตัวชีวิตสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้มันไม่ได้หยุดนิ่ง ฝ่ายร่างกายมันก็เปลี่ยนไปเรื่อย ฝ่ายจิตใจมันก็เปลี่ยนไปเรื่อย ทั้งกายและใจรวมกันเป็นชีวิตแล้วมันก็เปลี่ยนไปเรื่อย เรียกว่าชีวิตคือการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของเด็กเล็กๆ เด็กวัยรุ่น หนุ่มสาว ผู้ใหญ่ผู้เฒ่า ชีวิตเป็นการเดินทาง ถ้าทางกายมันก็จบกันที่เข้าโลงก็ได้ ถ้าทางจิตมันก็ยังไปกันอีก กว่ามันจะถึงที่สุด ซี่งไม่มีที่ที่จะต้องไปอีกแล้ว คือบรรลุโลกุตระ พ้นโลก พ้นทุกข์ พ้นกิเลส เป็นนิพพาน ปลายทางมันอยู่ที่นี่ แต่เอาเป็นว่าเดี๋ยวนี้ชีวิตของเราทุกคนนี้มันเป็นการเดินทาง เพื่อให้มันปลอดภัยในการเดินทาง เราก็ต้องรู้ว่าจะเดินทางไหน มันจึงมาอยู่ที่คำสอนเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา ปฏิปทาแปลว่าการเดินทาง มัชฌิมาแปลว่ามีอยู่ตรงกลาง มัชฌิมาแปลว่าซึ่งมีอยู่ตรงกลาง ปฏิปทาแปลว่าการเดินทาง ที่เราเรียกสั้นๆง่ายๆ ว่าทางสายกลาง การเดินทางซึ่งเป็นการเดินอยู่ตรงกลาง เรียก มัชฌิมาปฏิปทา เอาแล้วว่า มันกลางน่ะอย่างไร ให้เห็นชัดว่ามันกลางอย่างไร ที่ตรัสไว้ในพระบาลีนั้นก็คือว่าไม่ ไม่ไม่ ไม่เอียงไปทาง จะเรียกว่าทางซ้ายก็ได้ คือไปทางกามารมณ์อย่างที่คนทั่วไปเขาเป็นกันอยู่ทั้งเทวดาและมนุษย์ เอียงไปทางกามารมณ์ ทางเพศ นี่ไม่ได้อยู่ตรงกลาง เพราะมันเอียง เอียง เอียง ไปยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งดี ยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งดี เอียงไปทางกามารมณ์ ทีนี้อีกฝ่ายตรงกันข้ามก็เอียงไปทางอัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบากโดยหวังว่าจะดับทุกข์ได้ เพราะการกระทำอย่างนั้น และพวกหนึ่งๆ เขาคิดว่าจะดับทุกข์ได้เพราะมีกามารมณ์เต็มเปี่ยมหรือสมบูรณ์ เขาก็หันไปทางกามารมณ์นั้นพวกหนึ่ง นี้พวกนี้เห็นว่าไม่ ไม่ใช่อย่างนั้น ตรงกันข้ามเลย คือทำให้อวัยวะร่างกายมันหมดกำลังที่จะไปหลงใหลในกาม นี่เขาจึงมีการทรมานร่างกาย ทรมานองค์ประกอบส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ ก็ต้อง ก็ทำให้มันเสื่อมสมรรถภาพในการที่จะไปเกี่ยวข้องกับกามารมณ์ เขาเรียกทรมานตนให้ลำบาก โดยคิดว่า คือเมื่อมันไม่เกี่ยวข้องกับกามารมณ์ได้มันก็ไม่มีกิเลส มันก็ดับทุกข์ได้ นี่เป็นความคิดของคนพวกหนึ่ง ตรงกันข้ามจากพวกแรก แต่ที่เขาเขียนอธิบายไว้ที่บางแห่ง เขาว่าการที่ทรมานตนมากๆ ทรมานตนมากๆ นั้นจะได้บรรลุธรรมะสูงสุด เป็นของที่พวกเก่าแก่ก่อนพุทธกาลเขาถือกันมาแต่ก่อน ซึ่งเขาก็ถือว่ามีพระเป็นเจ้า ทรมานร่างกายให้ถึงที่สุด ให้พระเป็นเจ้าเห็นใจและโปรดปรานจะได้โปรดประทานเอาตัวไปให้พ้นจากความทุกข์ อย่างนี้ก็มี ที่มันเป็นง่ายๆ ก็เรียกว่า ถ้าว่าเราทำ ทำให้ไอ้ ไอ้กำลังกายนี้มันหมดสมรรถภาพแล้ว มันก็ไม่ไปในทางกามารมณ์ กิเลสก็ไม่เกิด ก็ไม่ ก็ ก็สิ้นกิเลสได้เหมือนกัน อย่างนี้ก็มีนะ นี้ก็เรียกว่าในทางกามารมณ์ ก็ไม่ใช่ในทางทรมานตนให้ลำบาก ตรงกันข้ามกับกามารมณ์ก็ไม่ใช่ ให้อยู่ตรงกลาง ตรงกลางคือปฏิบัติอย่างที่เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ เดี๋ยวค่อยพูดกัน ตอนนี้เราจะพูดกันแต่ถึงเรื่องกลาง กลางอย่างไรเสียก่อน ที่เราจะได้ยินพูดกันได้ทั่วๆ ไปก็ไม่หย่อน ไม่ตึง ถ้าหย่อนก็ไปทางกามารมณ์ ถ้าตึงก็ไปทางทรมานร่างกายให้ลำบาก ไม่หย่อนไม่ตึง อยู่ตรงกลาง ทีนี้ในพระสูตรอื่น พระพุทธเจ้าท่านเรียกชื่ออย่างอื่นก็มี ก็ไม่เปียกแฉะ และก็ไม่ไหม้เกรียมนั่นแหละคืออยู่ตรงกลาง ปฏิปทาเปียกแฉะก็คือไปจมอยู่ในกามารมณ์ ที่ปฏิปทา ปฏิปทาไหม้เกรียมก็คือไปทรมานกายให้ลำบาก อย่างที่ว่ามาแล้ว มันเป็นคำพูดเปรียบเทียบ มันก็พูดเป็นภาพพจน์เปรียบเทียบว่า เปียกแฉะ จมอยู่ในของเปียกนั่นแหละคือกามารมณ์ ไหม้เกรียมเหมือนถูกเผาให้ไหม้เกรียมนั่นแหละคืออัตตกิลมถานุโยค ทรมานตนให้ลำบากจนไม่มีเนื้อมีหนังอยู่ จนเหลือ จนเหลือแต่กระดูก คือทีนี้ที่ละเอียด ที่ละเอียด ความหมายละเอียด เราจะพูดกันตามภาษาสมัยใหม่บ้างก็ได้ บางทีจะช่วยให้คนง่ายขึ้นก็คือว่า มันไม่ มันไม่บวกและมันไม่ลบ ทางสายกลางนั้นน่ะไม่มีลักษณะแห่งการเป็นของบวก หรือการเป็นของลบ ไม่ Positive ไม่ Negative ไอ้บวกนั่นมันคือ ยั่วให้ได้ ยั่วให้เอา ยั่วให้หลงใหล ไอ้ Negative นั่นมันไม่มีทางที่จะไปหลงใหล มันปฏิเสธหมด ไอ้ ไอ้งานหรือผลงานต่างๆ ในโลกเวลานี้ก็มองดูกันในสองแง่นี้มาก คือเป็นบวกหรือเป็นลบ หลักพุทธศาสนาไม่เอาทั้งบวกและทั้งลบ แต่จะเอาที่อยู่ตรงกลาง ตรงกลาง เรียกว่า Middle หรือ Central ก็แล้วแต่จะเรียก มันอยู่ตรงกลาง บวกมันก็ทำให้ ให้หลง หลง หลงใหล เพลิดเพลินไป ไอ้ลบมันก็ทำให้เศร้า ให้เหี่ยว ให้ทรุดโทรมไป คือไม่บวกไม่ลบดีกว่าจะได้เป็นทางสายกลาง นี่ อีก อีก อีก อีกคู่หนึ่งนะที่เราน่าจะเอามาพิจารณานะ ก็คือที่เรียกว่าไม่ ไม่มองในแง่ดี ไม่มองในแง่ร้าย อย่าให้มันดี อย่าให้มันร้าย มันจึงจะเป็นกลาง ในโลกนี้มันมีคนอยู่จำพวกหนึ่งมองอะไรในแง่ดีหมด เป็นดีไปหมด น่าหลงใหลไปหมด ที่เรียกว่าพวก Optimist Optimist เขามีหลักจะมองอะไรในแง่ดี ในแง่ดี ดี ดี ดี ดี ทุกสิ่งทุกอย่าง โลกนี้ก็เป็นของดี แง่ดี นี่พวกตรงกันข้ามเป็น Pessimist Pessimistic มันมองเห็นแต่ในแง่ร้าย มองได้แต่ในแง่ร้าย มองในแง่ร้าย โลกนี้ก็เป็นความร้าย แต่หลักพุทธศาสนาตัวมันบ้าทั้ง ๒ อย่างน่ะ มองในแง่ดีมันก็หลงไป มองในแง่ร้ายมันก็เดือดร้อนกระวนกระวายอยู่ไม่เป็นสุข แทบจะไม่มีแผ่นดินอยู่ นี่มองในแง่ร้าย เราจะไม่เป็นผู้ที่มองอะไรในแง่ดี ตะพึดไปแล้วไม่มองอะไรในแง่ร้าย ตะพึดไป แล้วจะมองว่า มันแล้วแต่เหตุปัจจัย นั่นน่ะสำคัญ มันแล้วแต่เหตุปัจจัย มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่เรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตา บางทีคนไปสมมติเอาเองอะ ที่มันถูกใจมันว่าดี ที่ไม่ถูกใจมันก็ว่าร้าย ที่จริงสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นไปตามกฎแห่งอิทัปปัจจยตา มีสิ่งนี้ มีสิ่งนี้ ก็มีสิ่งนี้ มีสิ่งนี้ก็มี โดยตรง ตรงเผงเลย ไม่มาก ไม่น้อย ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ลำเอียงก็ว่าอย่างนั้นแหละ นั่นแหละตัวกลาง แต่คนเรามันมีกิเลสสำหรับมองในทางดี เห็นเป็นดี ก็หลงรัก มีกิเลสสำหรับมองไปในทางร้าย เห็นเป็นร้ายแล้วก็หลงเกลียด เรียกว่าชั่ว ดังนั้นพุทธศาสนาจึงมิใช่หวังดีหรือหวังร้าย แต่หวังอิสรภาพอยู่ตรงกลางระหว่างดีระหว่างร้าย อยากจะบอกเรื่องที่ว่ามันสำคัญและจำง่าย แต่แล้วก็อาจจะเป็นอันตราย ที่ว่าเด็กๆ ยังชอบดี ชอบของดี พอบอกว่าดีก็ไม่เอา ชั่วก็ไม่เอา เด็กๆ ก็ไม่รู้จะเอาอะไร แล้วเอาอะไรไม่ได้ ก็เลยไปทำตามไอ้กิเลสอีกแหละ อย่างนี้ก็เคว้งคว้าง ปู่ย่าตายายของเราเคยรู้เรื่องนี้ดี จนถึงกับเขียนไว้ กล่าวไว้ สอนไว้ เป็นคำประพันธ์อย่างลึกซึ้ง คำประพันธ์อย่างลึกซึ้งว่า ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ น่าตกใจ ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ เราได้รับคำสั่งสอนมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกว่า ให้ทำดี ให้ทำดียิ่งๆ ขึ้นไป ให้ทำดี ให้ดี ดี ดี ดี เดี๋ยวนี้คนๆ นี้มาบอกว่า ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ มันคือสูงกว่าระดับธรรมดา ถ้าว่าเว้นชั่วเสียทำดี ดี ดี ดี ชอบดี รักดี หลงดี นั่นน่ะก็นี่ระดับธรรมดา เขาสอนกันมาอย่างนั้น แต่แล้วไม่ดับทุกข์สิ้นเชิง แล้วมันก็ไม่อยู่ในสายกลางด้วย ถ้าไปหลงดี ก็ไปข้าง ข้างหนึ่ง หลง หลงชั่วหลงร้าย ก็ไปข้างหนึ่ง ไม่ใช่สายกลาง ทำไมเขาจึงสอนให้อยู่ในสายกลางล่ะ เพราะว่า ถ้าไปหลงดี มันก็หลง ก็หลง ก็หลง บ้า บ้าดี บ้าบุญ บ้าสวรรค์ บ้าอะไรไปตามเรื่อง ของคนที่มันหลงดี แล้วมันก็ได้มีความยุ่งยาก มีปัญหา มีความลำบากเพราะหลงดี ถ้ามันหลงชั่วมันก็ทำไปตามชั่วแล้วมันก็ได้ไป มีลักษณะมันก็ตกนรกหมกไหม้ ก็มันก็ชั่ว หมายความว่าถ้าหลงแล้วมันก็ใช้ไม่ได้ หลงดีก็ใช้ไม่ได้ หลงชั่วก็ใช้ไม่ได้ คือว่าถ้าไปหลงแล้วมันก็กัดเอา ที่เราหลงดี อยากดี เมื่อไม่ได้อย่างดี ก็นั่งร้องไห้อยู่ฆ่าตัวตายก็มี คนฆ่าตัวตายเพราะไม่ได้ดีอย่างที่เขาต้องการนี่ก็มีอยู่มากในโลกนี้ หรือมีบ่อยๆ จิตมันไปเป็นทาสของความดี เมื่อไม่ได้อย่างที่ดีมันก็เป็นทุกข์ นี่ฉัน ถ้าฉันพูดอย่างนี้กับพวกนักเรียน และทำให้นักเรียนหยุดทำดีจะว่าอย่างไร มันกลายเป็น ทำ ทำบาปไปมั้ย ผู้พูดก็เป็นการทำบาป ผู้ฟังก็ได้รับไอ้คำสอนที่ คำสอนผิดๆ แล้วกลายเป็นบาปหมด อันที่เรามาพูดกันเลยกลายเป็นเรื่องบาปไปเสีย แต่ความจริงมันมีอยู่อย่างนี้ ดังนั้นจงทำดี ในฐานะที่ว่ามัน มันจะ จะ จะได้ช่วยแก้ปัญหาให้เป็นอยู่สะดวกสบาย อย่าถึงกับหลงเลย อย่าถึงกับหลงดี หลงดี บ้าดี บ้าดี บ้าบุญ บ้าสวรรค์ บ้าดี นั่นแหละ ไอ้นั้นแหละคือมัน มันกัดเอาแล้วแหละ ไปหลงมัน มันก็กัดเอาแล้วทำให้ ให้ลำบาก เพราะไอ้ความดีที่หลงน่ะ ไอ้ชั่วนั้นมันแน่นอนแล้ว ถ้าไปหลงชั่วมันก็กัดเห็นชัดๆ นะไอ้ ไอ้ที่เรียกว่าชั่วกัดน่ะมันเห็นชัดๆ แต่ที่ไอ้ดีกัดนี่เห็นยาก เราก็ยังจะเอาอยู่เรื่อย ทั้งที่มันกัดเอา เราก็ยังอยากจะเอาอยู่เรื่อยเพราะเราไม่มองเห็นว่ามันกัด นี่ฟังกันไว้คิดก่อนนะ แต่ไม่ใช่ให้เลิกทำดีนะ ถ้ายังอยู่ในโลกนี้ ยังต้องทำดีหรือทำบุญ เป็นเสมือนหนึ่งยานพาหนะ เหมือนกับเรือนี่ รถเรือนี่มาเป็นยานพาหนะ ถ้ามันเป็นชั่วมันก็เป็นพาหนะไม่ได้ แต่ถ้ามันเป็นดี ใช้มันเป็นพาหนะไปสู่ที่ที่เราต้องการจะไปได้ แต่ถ้าว่าไปหลงอยู่กับไอ้ยานพาหนะ มันก็ ก็ไม่ขึ้นไปสู่ที่ที่ควรจะไปถึง มันก็นอนอยู่ใน ในเรือ ในยาน ในพาหนะ มันไม่ยอมขึ้นจากเรือ อุปมาเหมือนว่าเราอาศัยความดี หรือบุญนี่เป็นยานพาหนะแล่นไปข้ามทะเล ข้ามแม่น้ำ ข้ามทะเลไปถึงฝั่งโน้น แล้วเราก็หลง หลงดี หลง ไอ้ ไอ้ยานพาหนะที่ว่าดี เราก็ไม่ยอมขึ้นจากเรือ แล้วจะเอาอย่างไรทีนี้ มันก็นอนอยู่ในเรือ ก็เลยไม่ต้องถึง ไม่ต้องถึงที่ที่ปรารถนา ทีนี้อีกคนหนึ่งก็คิดว่า กูแบกเรือไปด้วย กูแบกเรือไปด้วย ไปไหนแบกเรือไปด้วย เพื่อนก็ว่าบ้าเลย นี่เรียกว่าอย่าให้มันยึดมั่นติดแม้ในสิ่งที่เรียกว่าความดี มันทำให้เราหายใจขัด บอกไม่ใช่ขมกันมาเยอะแล้ว (นาทีที่ 26:28) ไอ้ที่บ้าดี หลงดี ติดดี นี่เรียกว่าทางสายกลาง แล้วก็ไม่ต้องมองในแง่ดีหรือมองในแง่ร้าย เดี๋ยวนี้คำนี้เขาก็พูดกันมากในโลกนี้อะ จำไว้เถอะไม่เสียหลายหรอก เขาว่าเป็นพวก optimist ก็คือพวก คนนั้นมัน มันมองอะไรไปในแง่ดีหมด อีกคนมัน pessimist คนนี้มันมองอะไรไปในแง่ร้ายหมด แล้วในโลกนี้เวลานี้เขา เขาประณามเขาเกลียดไอ้ pessimist เที่ยวมองอะไรในแง่ร้ายน่ะเขาเกลียด แล้วเขาสอน ชี้แจง ชักจูงให้มองอะไรในแง่ดี เป็น optimist แต่ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เราไม่เอากับเขา เราจะอยู่ที่ตรงกลาง เราจะทำอะไรก็ได้ เมื่อเราอยู่ที่ตรงกลาง เราเป็นอิสสระ เราจะไม่ ไม่ ไม่ ไม่มีความทุกข์ ถ้าว่าหลงดี ก็แบกดีเอาไป ถ้าหลงชั่วก็แบกชั่วเอาไป แล้วมันก็ติดกันอยู่กับไอ้ดีกับชั่ว นี่เขาจึงใช้คำว่าทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปปรีย์ ไอ้คำสอนนี้มันใช้ได้สำหรับคนที่มีความรู้ความเข้าใจถูกต้องเท่านั้นแหละ ถ้าไปสอนเด็กๆ ที่มันยังเด็กเกินไป หรือคนไม่มีความรู้ความเข้าใจถูกต้อง มันก็ ก็เลิกดี มันก็ไม่ทำดี แต่แล้วก็มันไม่ห้ามด้วยนะว่า ไม่ ไม่ ไม่เอาทั้งชั่วทั้งดี มันก็ไม่ทำดีก็ได้ แต่อย่าไปทำชั่ว มันก็จะอยู่ตรงกลางโดย โดย โดยจำเป็นอยู่นี้ เราจะได้เป็นอิสระ หายใจสะดวก ไม่เป็น ไม่เป็นทาสของความดี ไม่เป็นทาสของความชั่ว ทีนี้อยากจะบอกอีกสักนิดหนึ่งว่า คำว่าอัปปรีย์ อัปปรีย์นี่ ในภาษาบาลี มันไม่เลวร้ายอะไรนัก ไม่เหมือนในภาษาไทย ภาษาไทยถ้าใครมาว่าเราไอ้ ไอ้อัปปรีย์ เราก็โกรธตายโหงเลย แต่ในภาษาบาลี หรือภาษาอินเดียนั้น อัปปรีย์แปลว่าไม่น่ารัก เขาไม่ได้แปลว่าชั่วเลว อัปปรีย์ อัปปรีย์ ปรียะแปลว่าน่ารัก อัปปรียะแปลว่าไม่น่ารัก ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปปรีย์ คือไม่น่ารัก แต่ถ้าเป็นคนที่เขาเกลียดกิเลส ที่เขามอง มีจิตใจในชั้นสูง เขาก็จะเกลียด เป็นของเลว เป็นของสกปรก เป็นของไม่อยากจะแตะต้องน่ะ ทั้งความชั่วและความดี นี่เราเอาเป็นว่าทั้งชั่วและดีล้วนแต่อัปปรีย์ คือไม่ไปหลงรักมัน ถ้าไปเอากับมัน มันกัดเอาทั้งนั้น นี่คำพูดนี้ฟังง่ายๆ ไม่ว่าชั่วไม่ว่าดี ถ้าไปหลงกับมันแล้วมันกัดเอาทั้งนั้นแหละ แล้วก็มันกัดกันคนละแบบ ของน่ารักกัดอย่างหนึ่ง ของน่าเกลียดกัดอีกอย่างหนึ่ง แต่มันกัดทั้งนั้น ดังนั้นอย่าไปหลงรักหลงเกลียด เมื่อไม่อยากจะหลงรักหลงเกลียด มันก็ไม่มีดีไม่มีชั่ว มันก็อยู่ตรงกลาง นี่ นี่จำแล้วก็ฟังให้ดีๆ เป็นคำสอนที่ต้องการให้เป็นอิสระจากสิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์ สิ่งใดๆ ที่ทำให้เราเป็นทุกข์แล้วเราก็อยากจะหลุดเสียจากอำนาจของสิ่งเหล่านั้น ดีก็มีอำนาจไปอย่าง ชั่วก็มีอำนาจไปอย่าง เราไม่อยากจะอยู่ในอำนาจของสิ่งใด อยากจะมีสติปัญญาเป็นอิสระออกมาเสียจากความชั่วความดี ในคัมภีร์ของพวกคริสเตียนก็มี ใบแรกๆ ว่าอย่าไปกินผลไม้ของต้นไม้ที่ทำให้มีความรู้เรื่องชั่วเรื่องดี ก็เพราะว่ามันจะไปลำบากทุกข์ยาก เพราะไปหลงเรื่องชั่วเรื่องดี แต่พวกคริสเตียน คริสตังเขาไม่อธิบายอย่างนี้ เราไม่ถืออย่างนี้ พอเราอธิบายให้เขาฟัง เขาว่าไม่ใช่อย่างนั้น เขาว่าไม่มีความหมายอย่างนี้ มีความหมายแต่เพียงว่ามีคนๆ แรกดื้อดึงต่อคำสั่งของพระเจ้าเท่านั้นแหละ ข้อที่ห้ามว่าอดัมกับอีฟอย่าไปกินผลไม้ของต้นไม้แห่งความรู้ชั่วรู้ดี มันมีความหมายเดียวกับพุทธศาสนาน่ะ อย่าไปหลงไอ้ชั่ว อย่าไปหลงไอ้ดี ถ้าแกไปกินผลไม้ของต้นไม้นี่เข้า แกจะต้องตาย นี่ต่อมาผัวเมียคู่นั้นมันกินผลไม้นั้นเข้าไป พระเจ้ามาพบเข้า มารู้เรื่องทีหลัง เลย เลยสาปให้เป็นคนมีบาปนิรันดร เป็นทุกข์นิรันดร นั่นแหละคือตาย ดังนั้น ผู้มีสติปัญญาแม้แต่ในกาลก่อน ก่อนพุทธศาสนา ก่อนอะไร เขาก็รู้เรื่องนี้กันอยู่พอสมควรเหมือนกัน ว่าไปหลงชั่วหรือหลงดีนี่มันทำให้มีปัญหาและมีความทุกข์ และไม่อยู่ตรงกลาง นั้นเพื่อฟังง่าย เพื่อเข้าใจง่าย เพื่อรักษาไว้ได้โดยง่าย ไอ้หลักทางพุทธศาสนาจึงพูดชัดๆ เลยว่า จงอยู่ตรงกลาง จงอยู่ตรงกลาง จงอยู่ตรงกลาง คือทางสายกลาง อย่างที่เรากำลังจะพูดนี่ เรียกว่าทางสายกลาง ทางสายกลาง อ้าว, ทีนี้เมื่อออกชื่อทางสายกลางแล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสถึงไอ้ลักษณะของทางสายกลาง ว่าได้แก่ อัฏฐังคิโก มัคโค (นาทีที่ 33:05) หนทางประกอบไปด้วยองค์ ๘ แล้วก็ อัฏฐังคิกมรรค หนทางประกอบไปด้วยองค์ ๘ ขอให้ทุกคนเลย ขอร้องทุกคนเลย อุตส่าห์จำให้แม่นยำ ว่าทางมีองค์ ๘ น่ะอุตส่าห์จำเอาไว้เถอะจะเอาตัวรอดได้ ทั้งเรื่องโลก ทั้งเรื่องธรรมะ ทั้งเรื่องโลกียะ เรื่องโลกุตระ ขอให้รู้จักใช้อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือว่าองค์ ๘ แห่งอริยมรรค แล้วแต่จะเรียก มันมี ๘ องค์ คือ ๘ Factorไอ้ ๘ Factor หรือ ๘ องค์นี่มารวมเข้าเป็นสิ่งเดียว ลักษณะของการรวมเข้าเป็นสิ่งเดียว เห็นได้ง่ายๆ เช่นว่าเชือก เชือกเส้นหนึ่งมันมี ๘ เกลียว มันไม่ได้ทำงานทีละเกลียว เชือก ๘ เกลียว มันก็ทำงานพร้อมกันหมดทั้ง ๘ เกลียวรวมเป็นเชือกเส้นหนึ่ง ดังนั้นมันสมบูรณ์มาก มันช่วยสำเร็จประโยชน์มาก เรียกว่าองค์ประกอบของหนทางนั้น ซึ่งมีองค์ประกอบอยู่ ๘ องค์ หรือจะเปรียบอย่างนี้ก็ได้ว่า หนทาง ทาง ทางเดินทางไกลนี่ ไอ้ทางที่จะเดินทางไกลไปเป็นเดือนๆ ปีๆ น่ะ ถ้าหนทางนั้นมันดีจริง สำเร็จประโยชน์จริง มันต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบทุกอย่างที่จะต้องมีเกี่ยวกับการเดินทาง นี่หมายความว่าทางเดินทางไกล ไปต่างเมืองต่างประเทศไป ทางไกลก็แล้วกันแหละ ทางนั้นเรียกว่าทางเส้นเดียวเดี่ยวไปก็จริง แต่มันต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ ถ้าในที่นี่เราก็อยากจะให้ประกอบอยู่ในองค์ ๘ องค์ มันจะมีแนวทาง มีแนวทางที่สังเกตุได้เห็นชัดเลย เห็นแนวทางที่จะเดินไปน่ะ เห็นเป็นแนวชัดเลย นี่มีองค์นะ นี่ก็มีอะไรชนิดที่ชวนให้เดิน มีอะไรๆ ชนิดที่ให้กำลังใจในการที่จะเดิน เช่นความปลอดภัย เป็นต้น แล้วในทางนั้นมันก็ต้องมีไอ้ความ มีสิ่งที่จำเป็นอย่างอื่นอีก เช่นว่ามันมีสะพาน ในเมื่อมันควรจะมีสะพาน หรือว่ามันจะมีการคุ้มกันจากอันตรายเสือสางเป็นต้น หรือว่ามันจะมีร้านอาหารหาซื้อกินได้ มีอาหารหาได้ในระหว่างทาง มีน้ำหากินได้ มีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายแต่ละFactor Factor Factor นี้มีครบหมด ไอ้ทางนั้นมันก็เป็นหนทางที่ดีที่สุด ไม่ใช่ ๘ ทาง อย่า อย่าเข้าใจผิด ชอบพูดกันผิดๆ แม้ในโรงเรียนก็ชอบพูดกันผิดๆ ว่า ๘ ทาง เรียกว่ามรรค ๘ มรรค ๘ น่ะไม่ถูก เพราะมรรคนั้นมันเดี่ยว แต่มันมีองค์ประกอบ ๘ องค์ อย่า อย่าไปเรียกว่ามรรค ๘ มรรค ๘ ตามเขา พูดผิดๆ ไอ้มรรคนี้มี ๑ เท่านั้นน่ะ แต่ว่า ๑ นี่มันประกอบไปด้วยองค์ประกอบครบถ้วนตามที่ควรจะมี นี่ที่เราจะได้พูดกัน อุตส่าห์ตั้งใจไว้ให้ดีว่าหนทางที่ชีวิตจะเดินไปสู่จุดสูงสุดของมันนั้น ต้องเดินทางสายกลาง เพราะชีวิตนี้ต้องเดินทางแน่ หยุดไม่ได้ นี่ก็ให้เดินทางสายกลาง ซึ่งมันถูกต้องและสำเร็จประโยชน์ แต่ว่าทางสายกลางนี้จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ ๘ องค์ เข้าใจว่าจะท่องได้กันอยู่แล้วกระมัง ถ้าว่า ถ้าว่าเคยสวดมนตร์แปล นักเรียนหลายๆ โรงเรียนก็สวดบท สวดมนตร์แปลนั้นได้ ก็ท่องกันแจ้วแล้ว เรื่องมรรคมีองค์ ๘ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ แล้วแปลได้ด้วย ถ้าว่ายังท่องไม่ได้ก็อุตส่าห์ไปเรียนดีกว่า มันคุ้มค่า มันคุ้มค่า ไปเรียนจำได้ ท่องได้ สวดร้องกันอยู่เสมอ มีประโยชน์ คุ้มค่า ทีนี้ก็จะได้พูดเป็นองค์ๆ ไป ทีละองค์ ทีละองค์ องค์ที่หนึ่งเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ แปลว่าความเห็นชอบชอบคือถูกต้อง ถูกต้องคือไม่เป็นอันตรายกับฝ่ายใด มีแต่ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย นี่เรียกว่าถูกต้องหรือชอบ ความเห็นชอบ สัมมาแปลว่าชอบ ทิฏฐิแปลว่าความเห็น สัมมาทิฏฐิ แปลว่าความเห็นชอบ คือความเห็นถูกต้อง คือไม่ทำอันตรายใคร มีแต่ให้ประโยชน์โดยส่วนเดียว ทีนี้คำว่าความเห็น ความเห็น ทุกคนมีความเห็นของตนทั้งนั้นแหละ นี่ไป ไป ไปมองกันเสียใหม่สิว่า ไม่มีใครที่มีชีวิตเป็นคนเป็นนี่จะไม่มีความเห็นของตนนั้น มันไม่มี มันมีความเห็นกันทั้งนั้นแหละ ซึ่งมันรวมทั้งความเชื่อ ความเข้าใจ ความรู้สึกคิดนึก แต่ในที่นี่ท่านเรียกว่าทิฏฐิ ทิฏฐิ ทิฏฐิแปลว่าความเห็น เขามีความเห็นอย่างไร เขาก็เชื่ออย่างนั้น เขามีความเข้าใจอย่างไร เขาก็เห็นอย่างนั้น เขาเห็นอย่างไร เขาก็เห็นไปตามความที่ตามที่เขาเข้าใจ นั้นเราจะเรียกว่าความเข้าใจก็ได้ ความเชื่อก็ได้ หรือความรู้ก็ยังได้ แต่ท่านไม่เรียกกันนะ ท่านไม่เรียกนะ มันมีคำชนิดนั้นเหมือนกันในบาลี แต่ท่านไม่เอามาเรียก ท่านเรียกว่าทิฏฐิ ทิฏฐิแปลว่าความเห็น คือเห็นด้วยใจ เห็นด้วยความคิด ด้วยสมอง เห็นด้วยใจ เรียกว่าทิฏฐิ ที่เป็นภาษาไทยแปลงมาจากภาษาสันสกฤตนั้นเขาเรียกว่าทฤษฎี ทฤษฎี นั่นคำเดียวกับคำว่าทิฏฐิ แต่ทฤษฎีเป็นภาษาสันสกฤต ทิฏฐิเป็นภาษาบาลี หมายถึงสิ่งเดียวกันคือความคิดเห็น หนังสืออ่านกวีนิพนธ์บาง บางเรื่องก็มีคำว่า ทอดทฤษฎี คือทอดสายตา เล่มไหนก็ไม่รู้อะ เราเคยผ่านหนังสือกวีนิพนธ์บางเล่ม ว่าทอดทฤษฎี คือทอดสายตา เอาไปใช้ไปในตาเห็นไปเลย ไม่ถูก ทฤษฎีก็หมายถึงเห็นด้วยใจ ดังนั้นถ้าไปพบคำว่า ทฤษฎี ในปทานุกรมหรือที่ไหนก็ล้วนแล้ว นั่นน่ะคือทิฏฐิแหละ คือสิ่งที่เรียกว่าทิฏฐิ แปลว่าความเห็น ภาษาอังกฤษเขาก็นิยมใช้คำว่า View, View ความเห็นในที่นี้ เขาจึงมีคำว่า ความเห็นชอบคือ Right view, Right view นั้นก็อย่าลืมนะว่า ไอ้คำว่าความเห็น หรือ ทิฏฐินี้มันรวมเอาความรู้ ความเชื่อ เอาความเข้าใจ เอาอะไรไว้ ไว้ด้วย ก่อนนี้แปลกันหลายคำ แปลว่าความเข้าใจถูกต้องก็มี ความรู้ถูกต้องก็มี ที่พวกฝรั่งเขาแปลกันไป ในประเทศเยอรมันก็แปลมาก ประเทศอังกฤษก็มีหลายคำ แปลกันตามพอใจว่า ว่าเข้าใจบ้าง อะไรบ้าง แต่เดี๋ยวนี้หยุดหมดแล้ว แปลว่า view คำเดียว สัมมาทิฏฐิหมายถึง view, Right view ก็เป็นสัมมาทิฏฐิ ก็คือความคิดเห็นนั้นมันถูกต้อง ทีนี้ถูกต้อง ถูกต้องตามอะไร ก็ถูกต้องตามกฏของธรรมชาติ ถ้าถือศาสนามีพระเป็นเจ้า เขาก็ว่าถูกต้องตามคำสั่งของพระเป็นเจ้า แต่พุทธศาสนาไม่มีพระเป็นเจ้าชนิดนั้น ก็ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ หรือพูดอย่างเอาเปรียบ ฟังดูดีๆ นะ ไอ้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ บางทีมันจะลึก ถูกต้องตามที่มันจะเป็นประโยชน์แก่คนนั่นแหละ อย่างนั้นถูกต้อง อย่างนั้นดีกว่า ถูกต้องตามที่มันจะเป็นประโยชน์แก่คน เพราะฉะนั้นในชั้นต้นๆ สัมมาทิฏฐิในชั้นต้นๆ สำหรับคนธรรมดามันจึงพูดไว้อย่างหนึ่ง สัมมาทิฏฐิชั้นสูงชั้นลึกก็พูดไปอีกอย่างหนึ่ง นั่นแหละ องค์แห่งมรรคนี่ก็มีว่าพูดสำหรับคนธรรมดา ก็ชี้ไปยังไอ้อย่างง่ายๆ ต่ำๆ ถ้าพูดสำหรับชั้นสูง ก็ชี้ไปอย่างสูง ที่มองเห็นยาก เข้าใจยาก ทีนี้สัมมาทิฏฐิที่ว่าถูกต้องสำหรับจะเป็นประโยชน์แก่คนธรรมดานี่ เขาก็กล่าวไว้ เช่นว่า เขามีความเชื่อมีความเห็นว่า บุญมี บาปมี นรกมี สวรรค์มี โลกหน้ามี บิดามารดามี บุญกุศลมี เชื่อว่ามีในสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์แก่ทุกคน ถ้าเชื่อว่าไม่มี มันกลายเป็นโทษ มันก็เลยถือเป็นฝ่ายไม่ถูก แม้แต่ว่าตัวตนมี ก็ยังได้นะ ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิขั้น ขั้นต้นๆ สำหรับคนขั้นต้นๆ จะเชื่อว่าตัวตนมีก็ได้ สำหรับจะได้เป็นที่ตั้ง ทำให้ดี ทำให้เจริญ แต่ครั้นรู้มากเข้า เห็นมากเข้า รู้มากเข้า เห็นมากเข้า เขาก็ไม่พูดอย่างนี้แล้ว เขาไม่พูดอย่างนี้แล้ว จะไม่พูดว่ามี มี อย่างนี้แล้ว เพราะเขาไม่ต้องการจะเอาดีอยู่ที่นี่ เขาต้องการจะไปให้พ้น จะหลุดพ้น มันก็เหลือเป็นเรื่องที่ว่าตามกฏเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตาว่าความทุกข์มันเป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไร ทางให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร ถ้าใครมารู้เรื่องนี้ดีนั่นน่ะเรียกว่ามีสัมมาทิฏฐิชั้นดี ชั้นสูง ชั้นเลิศ ไม่จำเป็นที่จะต้องมาเกาะอยู่ที่ว่า ทีนี่ โลกนี้มี โลกหน้ามี บุญมี บาปมี สวรรค์มี นรกมี ซึ่งเป็นเรื่องช่วยให้ศีลธรรมดี ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิสำหรับโลก สำหรับอยู่ในโลก ช่วยคนทำดี มีศีลธรรมดี อยู่ในโลก สัมมาทิฏฐิอย่างนี้ก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิสำหรับอยู่ในโลก ทีนี้ก็พอถึงสัมมาทิฏฐิที่เหนือกว่านั้นจะหลุดไปจากโลกก็พูดอย่างอื่นได้ ไม่พูดเรื่องอย่างที่พูดนี้แล้ว ไม่ ไม่ต้องพูดแล้ว พูดแต่ความทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดความทุกข์เป็นอย่างไร ความดับทุกข์จะหมด ให้หมดเป็นอย่างไร หนทางดับทุกข์เป็นอย่างไร มันก็จะดับทุกข์ท่าเดียว แล้วในที่สุดมันก็ไม่มาหลงอยู่ที่นรก สวรรค์อีก เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องดับทุกข์ชั้นสูงสุดอะไร เพราะฉะนั้นถ้าเราอยู่ในโลก วนเวียนอยู่ในโลก เดี๋ยวนี้ก็ต้องการจะขึ้นเหนือโลก จะเป็นโลกุตระอยู่เหนือโลก ก็รู้แต่เรื่องดับทุกข์สิ้นเชิง ทุกข์มันอยู่ในโลก โลกมันคือทุกข์ ทุกข์มันคือโลก มีจิตใจอยู่เหนือโลก คือไม่มีกิเลส แล้วก็เป็นเอามากไปจนถึงกับว่าไม่ ไม่ ไม่พูดชนิดที่ว่าเป็นฝ่ายโน้นหรือฝ่ายนี้ คือ คือไม่ ที่ไม่อยู่ตรงกลาง ไม่พูดอย่างนั้น จะไม่พูดว่าคนและจะไม่พูดว่ามิใช่คน จะไม่พูดว่าอะไร อันนี้หรืออันนั้น เช่นว่าเราจะไม่พูดว่าหินก้อนนี้ หรือหินก้อนนั้น เพราะนั้นมันโง่เขลาไง มันไม่มีนี้ ไม่มีนั้น มันมีแต่สิ่งที่กำลังเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา เหมือนกันทั้งสองก้อน เลยไม่มีนี้ ไม่มีนั้น อย่างนี้เป็นต้น เห็นไหมว่ามันละเอียดลึกซึ้งเท่าไร มันจะไม่มีนี้ และไม่มีนั้น เพราะว่าทั้ง ๒ อันนี้คือสิ่งที่กำลังเป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตา ซึ่งเป็นกลาง ไม่พูดว่าฉัน หรือท่าน ไม่พูดว่าฉัน หรือแก เพราะว่าทั้งสองคนนี้กำลังเป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตา ทำไมต้องพูดว่าฉันหรือแก หรือจะไม่พูดว่าอันนี้หรืออันอื่น ไม่พูด เพราะอันนี้หรืออันอื่นก็คือสิ่งที่กำลังเป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตาทั้งนั้นเลย นี่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิชั้นสูงสุด แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ มันไม่มีไอ้สิ่งที่ให้ยึดถือว่านั่นว่านี่ ด้วยอำนาจความโง่ เมื่อฉลาดถึงที่สุดแล้ว มันจะเห็นไอ้ ไอ้ตรงกลางหรือสายกลางนี่อย่างยิ่ง คืออิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาท เพราะว่าสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ปัจจัย สิ่งนี้เกิดขึ้น ตามกฎชัด ตามกฎนั้นตายตัว ไม่ใช่ไปเรียกได้ จะไปเรียกทำไม ว่าอันนี้หรืออันอื่น อันนี้หรืออันนั้น ฉันหรือแก หรืออะไรที่มันเป็นคู่ๆ จะว่า ดี ว่าชั่ว เป็นต้น เพราะว่าทั้งดีและทั้งชั่วก็คือสิ่งที่กำลังเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตาโดยเท่ากัน แล้วมนุษย์ว่าเอาเองว่า สิ่งใดถูกใจก็เรียกว่าดี สิ่งใดไม่ถูกใจก็ว่าไม่ดี นั้น มนุษย์ว่า มนุษย์ผู้เห็นแก่ตัว เข้าข้างตัว มันว่าเอานะ แต่ธรรมชาติมันไม่ยอม ธรรมชาติมันมีแต่สิ่งที่เป็นไปตามกฎนั้น เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี แล้วแต่แหละ มันแล้วแต่จะมองไปที่อะไร กำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามกฎอิทัปปัจจยตา นี่จะเป็นเหตุให้เราไม่รู้สึกว่า เรามีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย จะทำให้เราอยู่เหนือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ถึงแม้ร่างกายมันจะตาย เราก็ไม่รู้สึกว่าตาย เราก็ไม่เป็นทุกข์เพราะความเกิดแก่เจ็บตาย ไอ้เรื่องนี้ก็เข้าใจดีๆ นะที่ว่าคนเกิดแก่เจ็บตายน่ะหมายความว่ามันไม่เป็นปัญหา ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันไม่เป็นปัญหากับเรา นี่เราจึงเรียกว่าเราพ้น หรืออยู่เหนือความเกิดแก่เจ็บตายนั่นแหละ มีเท่านั้นเอง นี่ถ้าเห็นอิทัปปัจจยตาจะเห็นธรรมชาติแท้ๆ ธรรมชาติแท้ๆไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่มึง ไม่ใช่กู ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ชั่ว นี่สัมมาทิฏฐิชั้นสูงสุด เกินไปรึยัง ถ้าเกินไปก็จะไม่มีประโยชน์แก่ผู้ฟัง จะเกินไปแล้วรึยัง เดี๋ยวไปเอากันต่ำๆ ว่ามีดี มีชั่ว มีบุญ มีบาป มีโลกนี้ มีโลกอื่น มีนรก มีสวรรค์ รู้ไว้ทั้ง ๒ อย่างนั่นแหละดี ถ้าเพื่อประโยชน์แก่ศีลธรรม แก่เด็กๆ แล้วก็รู้ไว้ทั้ง ๒ อย่าง มี มีบุญ มีบาป มีดี มีชั่ว มีนรก มีสวรรค์ มีโลกหน้า มีโลกอื่น มีโลกนี้ ก็ว่าไปตามสมมติ ก็เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิสำหรับจะอยู่ในโลก อย่างดีๆ อย่างดีๆ แต่ถ้าจะพ้นทุกข์สิ้นเชิงแล้วก็ไปโน่นเลย ไม่มีอย่างที่ว่า มีแต่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา นี่เป็นข้อต้น เออ, เป็นองค์ องค์ องค์ต้น องค์ที่หนึ่งของมรรคมีองค์ ๘ เรียกว่ามีความเห็นถูกต้อง ทีนี้ข้อต่อไปก็เรียกว่า สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ เรียกว่าดำริชอบ ที่แท้ก็คือความต้องการนั่นแหละ การที่เราต้องการนั่นแหละ เราก็ดำริไปตามความต้องการ เราต้องการเราก็จะดำริไปตามความต้องการ มันเป็นอันเดียวกันนั่นแหละ สังกัปโปนี่จะแปลว่าความต้องการก็ได้ จะแปลว่าความดำริแห่งจิตก็ได้เหมือนกัน ในบท ในคำพูดธรรมดาๆ ที่ใช้อยู่ทั่วๆ ไป สังกัปปะ สังกัปปะนี่แปลว่าความต้องการ ที่เขาให้พร เวลาพระให้พรเวลาทำบุญช่วงนี้ สัพเพ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา มะณิ โชติระโส ยะถา (นาทีที่ 51:50) นั่นแหละ คำว่าสังกัปปาคำนั้นแปลว่าความต้องการ ดังนั้นขอให้ความต้องการของท่านเต็มบริบูรณ์เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ หรือเต็มเหมือนกับแก้วมณี สังกัปปะ สังกัปโปแปลว่าความต้องการ คือดำริไปตามความต้องการ ขอให้มีความต้องการนี่ถูกต้อง เมื่อมี เมื่อมีทิฏฐิความเห็นถูกต้องแล้ว ไอ้ความต้องการมันก็ถูกต้องแน่แหละ ความต้องการนี้มันจะเป็นไปตามความเห็น เราเห็นอย่างไร เราเชื่ออย่างไร ความต้องการมันก็จะเป็นไปตามความเห็นและความเชื่อ ถ้าเรามีสัมมาทิฏฐิอย่างโลกๆ ก็ต้องการไปอย่างโลกๆ ถ้าเรามีสัมมาทิฏฐิอย่างโลกุตระ นี่เราก็ต้องการไปอย่างโลกุตระ ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องกลัว ขอแต่ให้ความเห็น ความเห็น ความรู้ ความเห็น ความเชื่อ นั้นมันถูกต้องเถอะ แล้วมันก็ต้องการไปตามความเห็นนั้น แล้วมันก็พลอยถูกต้องไปด้วย เมื่อเห็นว่านรกมี สวรรค์มี เราก็ไม่ต้องการนรก เราก็ต้องการสวรรค์ เมื่อโลกหน้ามี เราก็ต้องการจะไปโลกหน้าให้ดีๆ นี่ชั้นต่ำๆ แต่ถ้าเรามาเห็นสูง ก็ไม่มี มันมีแต่อิทัปปัจจยตา เราก็ไม่ต้องการอะไรที่จะเอาหมายมั่นเป็นของเรา มีแต่ว่ามันจำเป็นจะต้องทำอะไรเพื่อเลี้ยงชีวิตไป ก็ทำไปให้มันถูกต้อง ทำไปให้มันถูกต้อง ข้อที่หนึ่งความเห็นมันถูกต้องนะ ข้อที่สองความต้องการหรือความดำริแห่งจิตน่ะก็ถูกต้อง ทีนี้เมื่อมีการกระทำ การกระทำก็ถูกต้องหมดแหละ คือพูดจาถูกต้อง เรียกว่าสัมมาวาจา สัมมาวาจา พูดจาถูกต้อง สัมมากัมมันโต ทำการงานถูกต้อง สัมมาอาชีโว ดำรงชีวิตถูกต้อง ๓ อย่างนี้ เป็นพวกศีลเป็นตัวศีล สัมมาวาจามีวาจาถูกต้อง ชอบหรือถูกต้อง คือวาจานั้นไม่ทำอันตรายใคร มีแต่ทำประโยชน์ให้แก่ทุกคน ดังนั้น พูดจาที่ไม่ทำอันตรายใคร มีแต่ทำประโยชน์แก่ทุกคนนั่นแหละ นั่นแหละคือวาจาที่ชอบ วาจาที่ถูกต้อง คือวาจาที่ไม่เป็นคำเท็จ วาจาที่ไม่เป็นคำหยาบ วาจาที่ไม่เป็นคำยุยงให้แตกสามัคคี วาจาที่ไม่เพ้อเจ้อ ในตำราในหนังสือเรียนมีอยู่แล้วนะ สัมมาวาจา สัมมาวาจา วาจาถูกต้อง คืออย่างนั้น เมื่อมีความรู้ถูกต้อง มีความต้องการถูกต้อง แล้ววาจามันก็ถูกลากไปให้ถูกต้อง เป็นธรรมดานะ ทีนี้การกระทำน่ะ การกระทำด้วยมือด้วยเท้านี้ เดี๋ยวการงานก็ถูกต้อง นี่การกระทำมันก็ถูกต้อง เรียกว่า สัมมากัมมันโต ไม่ฆ่าใคร ไม่ขโมยใคร ไม่ประพฤติผิดของรักของผู้ใด อย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นการงานที่ถูกต้อง ทีนี้สัมมาอาชีโว ดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง รายละเอียดไปหาเอาเองก็ได้ มันชัดพอแล้วนี่ พูดจาถูกต้อง ไม่เป็นโทษเป็นภัย การงานถูกต้องไม่เป็นโทษเป็นภัย การดำรงชีวิตถูกต้องไม่เป็นโทษเป็นภัย คือไม่หาเลี้ยงชีวิตที่ผิดๆ ไม่ดำรงชีวิตที่ผิดๆ เรียกว่าสัมมาอาชีโว มีอาชีวะถูกต้อง ๓ ข้อนี้เป็นพวกศีล ๒ พวก พวก ๒ ข้อข้างต้นเป็นพวกปัญญา สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโปเป็นพวกปัญญา ทีนี้ ๓ ข้อนี้ สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว นี่เป็นพวกศีล สังเกตุไว้ด้วยก็ได้ว่าปัญญามาก่อนศีล นี้ต่อไปอีก ก็มีสัมมาวายาโม พยายามอย่างถูกต้อง นี่เป็นเรื่องเพ่งเล็งไว้ทางจิต พยายามของจิตน่ะ พยายามถูกต้อง เรียกว่าพยายามถูกต้อง แต่ในทางที่ถูกต้อง มันเกี่ยวกับไอ้ผิดหรือถูกนี่ ที่ชั่วหรือผิด ที่เห็นว่าชั่วหรือผิด หรือเป็นโทษเป็นอันตราย ระวัง พยายามระวังไม่ให้มันมีขึ้นมา ถ้ามีขึ้นมา พยายามละเสีย ที่มันถูกต้องที่มันเป็นประโยชน์ ที่จะดับทุกข์ได้ ก็พยายามให้เกิดขึ้นมา ที่มันเกิดขึ้นแล้ว ก็พยายามให้มันเจริญมาก มาก มากขึ้นไป ไอ้ความเพียร ๔ อย่างนี้ ในแบบเรียนก็มี ทำไมจึงต้องจด เพราะในแบบเรียนก็มี นี่สัมมาวายาโม ภาษานี้เป็นภาษาบาลี วายามะ วายามะ เพราะถ้ามันแปลกจากที่เคยรู้ จะจดก็ได้ แต่เดี๋ยวมันจะจดมากเกินไป ภาษาบาลีเขาเรียกวายามะ ภาษาไทยเขาเรียกว่าพยายาม พยายาม เขาเอามาจากสันสกฤต พยายามะ คำว่าพยายามนั่นเองคือวายามะ พยายามอยู่อย่างถูกต้อง ถูกต้องอย่างไร ไอ้ที่ชั่วที่ผิดที่อันตรายนั้นอย่าให้เกิด ถ้าเกิดแล้วละมันเสีย ที่ดีที่มีประโยชน์นั้นทำให้เกิดขึ้นมา พยายามให้เกิดขึ้นมา ที่เกิดขึ้นมาแล้วก็พยายามรักษาไว้ให้มาก นี่เรียกว่ามีความพยายามถูกต้อง ทีนี้ถัดไป ข้อที่เจ็ดก็ สัมมาสติ สัมมาสติ มีระลึกในใจอย่างถูกต้อง ในบาลีชั้นสูงเขาพูดถึงระลึกสติ ระลึกสติปัฏฐาน ๔ ในทีนี้จะพูดว่าทั่วไปแหละ อะไรที่ควรระลึก ก็ระลึกให้ถูกต้อง เรื่องเกี่ยวกับร่างกาย เกี่ยวกับเรื่องจิต เกี่ยวกับความรู้สึกของจิต เกี่ยวกับความจริงของธรรมชาติ อะไรก็ตาม ระลึกอยู่อย่างถูกต้อง มีความรู้อย่างถูกต้อง และระลึกอยู่อย่างถูกต้อง นี้เขาเรียกว่ามีสติถูกต้อง สัมมาสติ ทีนี้ ข้อสุดท้าย ข้อที่แปดก็ สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิ มีความตั้งใจมั่นถูกต้อง กำลังใจที่เข้มแข็งว่องไว ถูกต้อง ถูกต้อง แต่ในทางที่จะสามารถ ทำลายกิเลสหรือดับทุกข์ สัมมาสมาธิ สมาธิคือ ใจเข้มแข็งไม่อ่อนแอ จิตใจเกลี้ยงเกลาไม่มีกิเลส แล้วก็จิตใจว่องไวในการที่จะทำหน้าที่ของจิตใจ พูดสั้นๆ ว่าจิตบริสุทธิ์ จิตเข้มแข็ง จิตว่องไว คือสมาธิ ลักษณะของสมาธิ มีอยู่ ๓ อย่างนี้ที่สำคัญ จิตบริสุทธิ์ จิตเข้มแข็ง จิตว่องไว เมื่อจิตเป็นสมาธิก็หมายความว่าจิตนั้นเข้มแข็งอย่างยิ่ง สามารถอย่างยิ่งที่จะเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ที่องค์ที่แปด ของหนทาง ถ้าต่อไปนั้นก็ไป จะเป็นเรื่องของปลายทาง ของผล ผลปลายทางแล้ว นั่นไม่พูด พูดแต่ ๘ องค์นี้ แล้วไปใคร่ครวญดูอยู่ตลอดเวลาก็แล้วกัน พวกคอมมิวนิสต์เขาศึกษาลัทธิคอมมิวนิสต์วันละ ๘ ชั่วโมง เราพุทธบริษัทศึกษาธรรมะของตนวันละ ๑ ชั่วโมง ก็ไม่ค่อยจะได้ งั้นจะไปสู้กันไหวหรือ ลองศึกษาธรรมะวันละ ๘ ชั่วโมงดูบ้าง เดี๋ยวก็พอแหละที่จะสู้กัน ไปดูไอ้ ๘ องค์นี่ อยู่บ่อยๆ อยู่เรื่อยๆ ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ทั้งความจำ ทั้งไอ้ความหมาย ตัวหนังสือและทั้งเนื้อความให้แจ่มแจ้ง สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ สัมมาวาจา พูดจาชอบ กัมมันโต ทำงานชอบ สัมมาอาชีโว ดำรงชีวิตชอบ วายาโม พากเพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ เอาตามแบบสวดมนต์แปลนี่ก็ได้ นี่พอประกอบด้วยองค์ ๘ รวมเป็นทางเดียวกันนี่แหละคือ อัฏฐังคิกมรรค หนทางอันประกอบด้วยองค์ ๘ ๒ องค์แรกเป็นปัญญา ๓ องค์ตรงกลางเป็นศีล ๓ องค์อันสุดท้ายเป็นสมาธิ คือมันประกอบอยู่ด้วย สมา.. ศีล สมาธิ ปัญญา นี่ก็เป็นข้อที่ต้องรู้ไว้นะ สังเกตุดูดีๆ นะ เพราะว่าเราพูดกัน พูดกันนี่มัน พูดกันว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นะ พอทีพระพุทธเจ้าท่านตรัส ทำไมจึงตรัสลำดับว่า ปัญญา แล้ว ศีล แล้ว สมาธิ มีใครทราบไหมว่าเพราะเหตุใด ก็เมื่อพูดน่ะมันพูดโดยพฤติ เออ, โดยนิตินัย ตามวิชาการ ตามหนังสือ ตามนิตินัยที่เอาสูง เอาต่ำ เป็นหลัก นี่ก็เป็น เออ, เป็นเรื่องวิชาการ เป็นเรื่องทฤษฎีก็ได้ แต่พอพระพุทธเจ้าท่านตรัสในเรื่อง เรื่องสูตรนี้ ท่านเอาไอ้พฤตินัย โดยพฤตินัย คือความจริง ว่ามันทำงานกันอย่างไร เมื่อมันจะทำงานกันจริงๆ ปัญญาต้องมาก่อน แล้วศีลกับสมาธิก็จะถูกต้อง ถ้าปัญญาไม่มาก่อน ศีลมันก็ผิดหมดแหละ ศีลมันก็เข้ารกเข้าพง ศีลมันก็เถลไถล ออกไปไหนเสียก็ไม่รู้ ดังนั้นเมื่อเป็น เมื่อเป็น Practical ปฏิบัติกันนั้น ปัญญาต้องมาก่อน แล้วศีลมา แล้วสมาธิมา มันก็ถูกต้อง แล้วมันกลับส่งเสริมไอ้ปัญญา ควบคุมศีล ควบคุมสมาธิ แรงขึ้น แรงขึ้นเป็นอย่างนั้น นี่เรารู้แล้วว่า ถ้าเราจะพูดกันเป็นเพียงวิชา แล้วเราพูดว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ถ้าเราพูดเป็นปฏิบัติ เป็นเทคนิคของการปฏิบัติ แล้วมันกลายเป็นว่า ปัญญา ศีล สมาธิ เขาไม่ได้เถียงกัน เขาไม่ได้ทะเลาะวิวาทกัน แต่มันพูดกันคนละแนว พูดกันละคน เออ, ละแง่ พูดอย่างทฤษฎี ก็พูดว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ตามน้ำหนักมากน้อย สูงต่ำ แต่พูดถึงเทคนิคของการปฏิบัติก็ต้อง ปัญญา แล้วก็ศีล ก็สมาธิ เพราะมันทำอย่างนั้นจริงๆ เพราะมันทำงานน่ะ มันทำอย่างนั้นจริงๆ ๘ องค์รวมกันเข้าเป็น ๑ ทาง นี่ทางนี้ ทางนี้คือทางสายกลาง ไม่เอียงซ้าย เอียงขวา ไม่เอียงซ้าย เอียงขวา ไม่ ไม่ไปในทางกิเลส ฝ่ายกามหรือกิเลส ฝ่ายโมหะ คือทำให้ลำบาก ไม่มีลักษณะเปียกแฉะ และไม่มีลักษณะไหม้เกรียม เพราะมันถูกต้องและพอดี ไม่เป็นลบไม่เป็นบวก ถ้าเข้าใจข้อนี้ได้จะดีมาก ลักษณะ ๘ องค์นี้เมื่อกลมเกลียวกันเป็นองค์เดียวกันแล้ว ไม่มีลักษณะเป็นลบหรือเป็นบวก มันเป็นลักษณะอยู่ตรงกลางคือความถูกต้อง ความถูกต้อง ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหลยึดถือว่าได้หรือเสีย หรือน่ารัก หรือน่าเกลียด มันไม่มีที่โง่ จะไม่โง่อย่างนั้นอีกต่อไป แล้วก็ไม่มองดูอะไรในแง่ร้าย ไม่มองดูอะไรในแง่ดี ทำอยู่อย่างถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้องตามที่ควรจะทำ ในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติ ไม่เนื่องด้วยผีสางเทวดา พระเจ้าพระอะไรที่ไหน ไม่เนื่อง ไม่เนื่อง เนื่องอยู่แต่กับกฎของธรรมชาติที่ว่าทำลงไปอย่างนี้ ผลจะเกิดอย่างนี้ ทำลงไปอย่างนี้ ผลจะเกิดอย่างนี้ เราเรียกว่าพุทธศาสตร์ ถ้าผิดจากนี้เป็นไสยศาสตร์ คือตรงกันข้าม พุทธศาสตร์แปลว่าศาสตร์ของคนลืมตา คือตื่น ตื่นอยู่ ไสยศาสตร์ ศาสตร์ของคนหลับตา คือหลับอยู่ ไสยะแปลว่าหลับ พุทธะแปลว่าตื่น ไปเปิดดู Dictionary เองก็ได้ ไสยะนั้นแปลว่าหลับ ไอ้พุทธะแปลว่าตื่น เรามีพุทธศาสตร์ ศาสตร์แห่งคนตื่นอยู่ เพราะฉะนั้นไสยศาสตร์ทั้งหลายก็ไม่ใช่พุทธศาสตร์ พุทธศาสตร์ต้องเป็นวิทยาศาสตร์ ตามกฎของธรรมชาติ ถ้าไสยศาสตร์ ศาสตร์ของคนหลับ เขาฝันว่าอะไรก็ได้ เขาสอนว่ามีอะไร มีอะไร มีอะไร มีผีสางเทวดาอะไรก็ได้ตามใจเขา อยากไปเรื่องรดน้ำมนตร์ก็ได้ เอ้า, เครื่องรางของขลังอะไรก็ได้ตามใจเขา แต่ถ้าว่าพุทธศาสตร์ต้องเป็นวิทยาศาสตร์ตามกฎของธรรมชาติ ถ้าทำลงไปอย่างนี้ ผลจะเกิดอย่างนี้ ทำกิริยาอย่างนี้จะเกิดปฏิกิริยาอย่างนี้ เช่นว่าเคาะลงไปมันก็ดังโผงอย่างนี้เป็นต้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ตามกฎที่เที่ยงแท้ของวิทย์ ของ ของธรรมชาติ และเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ นี่รู้ไว้ด้วยว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์น่ะเป็นอย่างไร เดี๋ยวพอถึงเวลาที่จะไปโต้เถียงกับใครบ้างเรื่องนี้ ก็จะพูดไม่ถูกนั่นว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร คือมันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอย่างที่เห็นได้ อย่างที่พิสูจน์ได้ และคิดทุกอย่างอยู่ในภายใน เนื่องกับภายใน ไม่ต้องเนื่องกับภายนอก ทุกสิ่งจะดูหาได้จากภายใน คือในชีวิตจิตใจนั่นเอง มันจะต้องตอบคำถาม ที่จะมีผู้ถามไปที่ไหนว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์หรือเป็นไสยศาสตร์ ตอบให้ดีๆ ถ้าไสยศาสตร์น่ะมัน มันไม่มีเหตุผลอย่างนี้ แล้วก็ ก็ว่าเอาเอง คิดนึกเอาเอง มีที่พึ่งอยู่ข้างนอก พึ่งสิ่งภายนอก ยึดถือสิ่งภายนอกตัวเป็นที่พึ่งน่ะเป็นไสยศาสตร์ ถ้าถือเอาสิ่งที่มีอยู่ภายในตัวเป็นที่พึ่งนี่เป็นพุทธศาสตร์ เราจึงมีอะไรๆ อยู่ในภายใน ความทุกข์ก็ดี เหตุให้เกิดทุกข์ก็ดี ความดับทุกข์ไม่มีเหลือก็ดี ทางถึงการดับทุกข์ก็ดีอยู่ในนี้ ใน ในร่างกายนี้ ในจิตใจนี้ แล้วก็มีกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติ คือเหตุและผล เหตุและผล เหตุและผลอย่างไม่เป็นอย่างอื่น เมื่อทำเหตุลงไปอย่างนี้ ผล เอ้า, ผลก็เกิดขึ้นอย่างนี้ ทำเหตุลงไปอย่างนี้ ผลก็เกิดขึ้นอย่างนี้ และพิสูจน์ได้เหมือนกับมันเป็นวัตถุ เห็นอยู่ตรงหน้านี่ พิสูจน์ ทดลองได้อย่างนี้ ตลอดทุกเวลา นี่ก็เรียกว่ามีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น รู้จักอริยมรรคมีองค์ ๘ เสียที จะเปรียบเทียบไอ้ความกลมเกลียวกันของไอ้ ๘ นี่ ข้อที่หนึ่งคือมีความเห็น ความรู้ความเข้าใจ ความเห็น ถูกต้อง แล้วก็มีความต้องการถูกต้องตามความรู้ความเห็นนั้น แล้วมันก็มีการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางจิตถูกต้อง ตามความเห็นอันนั้น ดังนั้นไอ้สัมมาทิฏฐินี่เป็นตัวแรก เอามาไว้ข้างแรก อันแรกมีลักษณะเหมือนกับผู้นำ ผู้นำ ไอ้เจ็ดที่เหลือเป็นผู้ตาม ไอ้ผู้นำก็คือไอ้ตัวแรก ที่หนึ่งตัวสัมมาทิฏฐิ พอสัมมาทิฏฐิถูกต้องแล้วอื่นๆ มันถูกต้องหมดแหละ เพรามันเป็นผู้ตาม เราต้องมีความรู้ ความเชื่อ ความคิด ความเห็นอย่างถูกต้องเสียก่อน แล้วความปรารถนา การพูดจา การทำการงานและการมีสติ สมาธิมันจะตามไป แล้วมันก็จะถูกต้องกันหมด จึงเห็นได้ว่ามันสำคัญที่สุด จนพระพุทธเจ้า หรือใครก็ได้พูด ก็ถูกต้องตรงกันหมดว่า ล่วงพ้นความทุกข์ทั้งปวงได้เพราะสัมมาทิฏฐิ จำประโยคนี้ไว้ให้ดีๆ พอคนเราหรือใครทั้งหมดล่วงพ้นความทุกข์ทั้งปวงได้เพราะสัมมาทิฏฐิ ให้ขลังสักหน่อย จะบอกคาถาบาลีด้วย คอยระวังเขียนให้ดี สัมมาทิฏฐิ เขียนเป็นจุดใต้ได้ไหม สัมมาทิฏฐิ เขียนลงไปสิ สัมมาทิฏฐิ ติดกันสมาทานา ติดกันนะ สมาทานา สัมมาทิฏฐิสมาทานา วรรค สัพพัง สัพพัง วรรคก็สัพพัง และวรรค ทุกขัง แล้ววรรค อุปัจจคุง อุปัจจคุง สอบทานอีกทีนะ จะบอกสอบทานอีกที ทวนอีกที สัมมาทิฏฐิสมาทานา สัพพัง ทุกขัง อุปัจจคุง อุปัจจคุง นี่คาถาสูงสุดในพระพุทธศาสนา สัมมาทิฏฐิสมาทานา สัพพัง ทุกขัง อุปัจจคุง ถูกเหรอ ฮือ. แล้วมาเอะอะ เอะอะ อะไร (นาทีที่ 01:13:01) ล่วงทุกข์ได้เพราะสมาทานสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิสมาทานา เพราะสมาทานาสัมมาทิฏฐิ อุปัจจคุง ล่วง ทุกขังซึ่งทุกข์ สัพพังทั้งปวง ล่วงพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงเพราะสมาทานสัมมาทิฏฐิ คำว่าสมาทาน สมาทาน แปลว่าถือปฏิบัติไว้อย่างดี เราถือปฏิบัติไว้อย่างดี เรียกว่าสมาทาน แล้วมันสัมมาทิฏฐิสมาทานา สมาทานสัมมาทิฏฐิน่ะ ถือสัมมาทิฏฐิไว้เป็นอย่างดี สัพพัง ทุกขัง อุปัจจคุง จะล่วงทุกข์ จะล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะว่าพอมีสัมมาทิฏฐิดีถูกต้องแล้ว อีก ๗ องค์มันตามหลังมาหมดเลย เพราะมันมีสัมมาทิฏฐินำหน้า ท่านจึงเปรียบไว้อย่างหนึ่งว่าเหมือนกับว่า พออาทิตย์อุทัย พอดวงอาทิตย์อุทัยแดงๆ ขึ้นมา ทางทิศตะวันตก (นาทีที่ 01:14:30) มันก็เป็นที่แน่นอนว่าจะมีเวลากลางวัน จะมีเวลากลางวัน นี่พอมีสัมมาทิฏฐิ เริ่มขึ้นมา แล้วอีก ๗ องค์จะตามมาแน่นอน อีก ๗ องค์จะตามมาแน่นอน ขอให้มา ให้มีสัมมาทิฏฐิเถิด แล้วสัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา กัมมันโต อาชีโว วายาโม จะตามมา เช่นเดียวกับพออาทิตย์อุทัยขึ้นมา เรื่อยๆ ขึ้นมาแล้วก็ เวลาที่เป็นเวลากลางวันสว่างจ้ามันจะตามมา ว่าอย่างนั้น จึงเห็นว่าเป็นธรรมะสำคัญรีบทำให้มี รีบรักษาไว้ให้ดี รีบชำระให้ถูกต้อง ให้มีสัมมาทิฏฐิเสมอไป ถ้าไม่ถูกต้องน่ะเขาเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ ถ้ามันตรงกันข้ามแล้วเขาก็เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ มันเลวร้าย นำไปสู่ความทุกข์โดยส่วนเดียว เมื่อสัมมาทิฏฐิมันดับทุกข์ได้ด้วยประการทั้งปวง ไอ้มิจฉาทิฏฐิมันก็นำไปสู่ความทุกข์โดยประการทั้งปวงไม่ต้องสงสัย มันสำคัญอยู่ที่ว่าสัมมาทิฏฐิมันรู้มันเห็นมันเข้าใจมันเชื่ออย่างไรแล้วก็ นอกนั้นมันจะตามไปหมดแหละ มันต้องการถูกต้อง พูดจาถูกต้อง ทำการงานถูกต้อง พากเพียรถูกต้อง เอ้อ, ดำรงชีวิตถูกต้อง พากเพียรถูกต้อง มีสติถูกต้อง มีสมาธิถูกต้อง ไปศึกษาทุกอย่างแหละ แต่ละอย่าง ละอย่างให้เข้าใจ พอสมควร แล้วค่อยๆ ศึกษาให้ละเอียดๆ มากขึ้น เช่น เช่น คำๆ เดียวนี้มัน อู้, มันมีคำอธิบายมากมาย แต่เดี๋ยวนี้อย่าเพิ่งเอามาพูดเลย มัน มันมากเกินไป มันยุ่ง มันสับสน เช่นพูดว่าสัมมาทิฏฐิมีสมาธิถูกต้องนี่ พูดกันหลายชั่วโมงก็ยังได้ แต่นี่เราไม่พูดอย่างนั้นแหละ เราพูดแต่เท้าเงื้อน ใจความสำคัญ เราจะมีสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้อง แล้วเรามีความปรารถนาถูกต้อง เรามีการพูดจาถูกต้อง เรามีการงานที่ทำถูกต้อง เรามีการดำรงชีวิตถูกต้อง เรามีความพยายามถูกต้อง มีสติถูกต้อง มีสมาธิถูกต้อง ก็มีเท่านั้นแหละ ทั้งวันทั้งคืน พอตรวจดู โอ้, ถูกต้อง ถูกต้องแล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจ อย่างที่พูดกันคืนก่อน(นาทีที่ 01:17:14) ถูกต้องแล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจ มันก็เป็นสุข นี่ถูกต้องแล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจ จะอยู่ในห้องนอน หรืออยู่ในห้องน้ำ หรืออยู่ในห้องทำงาน หรืออยู่ที่ไหนก็ตามใจ ก็ให้มันแสดงเห็นชัดว่าถูกต้องแล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจ นี่คือทางสายกลาง ถ้าอยู่อย่างถูกต้อง ถูกต้อง แล้วโลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่าอย่างนั้น ถ้าอยู่กันโดยชอบคือถูกต้องแล้วโลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ จะยังมีพระอรหันต์ ท่านตรัสไว้อย่างนั้น เอาละสรุปความว่าอยู่ตรงกลาง อยู่ตรงกลาง อย่าเอียงซ้ายเอียงขวา ให้ถูกต้อง อยู่ที่ตรงกลาง ตรงกลาง จะพูดธรรมดา ธรรมดาไม่หย่อน ไม่ตึง ไม่มาก ไม่น้อย ไม่เปียก ไม่แห้ง ไม่บวก ไม่ลบ ไม่ดี ไม่ร้ายนะ ให้มันอยู่ตรงกลาง ทุกๆ คู่ที่เป็นคู่เปรียบเทียบน่ะ เราอยู่ตรงกลาง นี่คือ ทางสายกลาง ทางสายกลาง หัวใจของพุทธศาสนา พระพุทธเจ้านำมาสอนเป็นเรื่องแรกของเรื่องทั้งหมดที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ เรื่องแรกที่สอนแก่ปัญจวัคคีย์คือเรื่องนี้ ส่วนเรื่องคำเยาะเย้ยตัณหาเล่นโดยพระองค์เองไม่ได้สอนใครนั้นน่ะเป็น เป็น เรียกว่าเป็นคำตรัสคำแรกด้วยซ้ำ แต่ไม่ใช่ ไม่ใช่ ไม่ใช่คำสอนเรื่องแรก เพราะไม่ได้สอน นี่คำสอนสุดท้ายก็ที่ว่า ไอ้สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลง จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นั่นแหละ คำ คำสอนสุดท้าย โอวาทสุดท้าย อยู่ตรงกลาง อยู่ตรงกลาง ไม่ถูกเกินไป ไม่แพงเกินไป ดีไหม ดีไหม อีกคู่นี้ อย่าให้มันถูกเกินไป อย่าให้มันแพงเกินไป จะกินจะอยู่ จะแต่งเนื้อแต่งตัว จะมีอะไรใช้สอย ให้มันอยู่ตรงกลาง อย่าให้มันถูกเกินไป อย่าให้มันแพงเกินไป เดี๋ยวนึ้มันชอบแต่ที่แพงนี่ ชอบแต่ที่สวย ชอบที่ ที่แพงโดยไม่คิดว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้น มันก็หลงเป็นเหยื่อของกิเลส อยากจะบอกคำพูดเกี่ยวกับคำพูดอีกคำหนึ่ง ก็เป็นเรื่องสุดท้ายว่า ไอ้อยู่อย่างธรรมดาๆ ดูเหมือนภาษาไทยเรานี่ใช้คำว่าปอนๆ อย่างสวย สวย สวย นั้นก็มันสวยเกินไป ไอ้สกปรก สกปรก แล้วที่นี้มันก็นั่นเกินไป พอปอนๆ เท่านั้นแหละ ตรงกลางๆ นั่นแหละ จะไม่แพงเกินไป มันจะไม่ส่งเสริมกิเลสด้วย ใครจะว่าก็ช่างหัวมัน เราไม่แต้มสี ไม่ระบายสีไม่สวยไม่แพรวพราว ไม่อะไร เอาพอปอนๆ เท่านั้นแหละ นั่นแหละมันจะเข้ากันกับคำว่า ทางสายกลาง นี่ใจความเรื่องทางสายกลางซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนา เป็นเรื่องหัวใจสำคัญที่สุดของพุทธศาสนา และเป็นเรื่องแรกที่พระพุทธเจ้านำมาสอน นำมาสอน ก่อนเรื่องใด ก่อนเรื่องใดๆ วันแรกเราพูดถึงเรื่องธรรมะกับการปฏิบัติธรรม วันถัดมาพูดเรื่องความทุกข์กับการดับทุกข์ วันที่สามพูดเรื่องเวลากินเรา เรากินเวลา เรื่องที่สี่วันนี้เรื่องทางสายกลาง ถ้าเอาความรู้เหล่านี้ทั้ง ๔ เรื่องนี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ก็พอแล้ว เกินพอซะอีก เอาไปซักซ้อม ทำความเข้าใจแจ่มแจ้ง ปฏิบัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติ แล้วมันจะสอนให้เองแหละ ถ้ามันปฏิบัติไม่ถูก มันไม่ดับทุกข์หรอก ไม่ต้องไปอ้างใคร ไม่ต้องไปเชื่อใครที่ไหน ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้อง มันไม่ดับทุกข์ ความทุกข์มันอยู่ ถ้ามันดับทุกข์ได้ นั่นถูกแล้ว ถูกแล้ว เริ่มถูกแล้ว ถูกแล้ว ถือเป็นหลักสำคัญตรงนี้ ถ้าว่ามันถูกต้องแล้วมันก็จะดับทุกข์ให้เห็น ถ้าไม่ถูกต้องมันก็ไม่ดับทุกข์ให้เห็น ดังนั้น เอาไปศึกษา ไปค้นคว้า ไปปฏิบัติ ไปพิสูจน์ ไปทดลองตามวิธีวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ไสยศาสตร์ ไม่ต้องหลับตาทำ แต่ว่าต้องลืมตาทำ เป็นอิสระแก่ความคิดความเชื่อของตนเอง พิสูจน์ได้ว่าถ้าถูกต้องแล้วมันดับทุกข์ ไม่ถูกต้องแล้วมันไม่ดับทุกข์ เพราะมันมีหลักที่จะตัดสินของมันเองอยู่ในตัว เอาละเป็นอันว่าต่อไปนี้คงจะเดินทางถูกต้อง เท่านั้นก็พอ ชีวิตเป็นการเดินทางอยู่เสมอ ไปเห็นเสียก่อนว่าชีวิตนี่มันเป็นการเดินทางอยู่เสมอ และจัดให้มันเดินทางอย่างถูกต้อง และนั่นคือการเดินทางสายกลาง คือตัวพุทธศาสนา ตัวแท้ของพุทธศาสนาคือทางสายกลาง เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค ก็ได้ เรียก มัชฌิมาปฏิปทา ก็ได้ เรียกว่าตัวพรหมจรรย์ก็ได้ ทางสายกลางนี้ ในบาลีเรียกว่า ตัวพรหมจรรย์ ดังนั้น ขอยุติการบรรยาย เพราะความสมควรแก่เวลาและเรี่ยวแรง วันนี้นั่งกับธรรมชาติ เมื่อคืนไม่นั่งกับธรรมชาติ ไปเปรียบเทียบกันดู ต่างกันอย่างไร ปิดประชุม ปิดประชุม