แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระครูโสภณ:ขอน้อมคารวะะขอประทานกราบเรียนพระเดชพระคุณหลวงพ่อใหญ่ที่เคารพอย่างสูง กระผมพระครูโสภณกิจจาภิรม คณะพระธรรมทายาทรุ่นที่ ๓ ซึ่งได้เดินทางจากวัดชลประทาน กรุงเทพมหานครได้มาพักแรมรอนอยู่ที่สวนโมกข์แห่งนี้ ซึ่งมีพระเดชพระคุณหลวงพ่อใหญ่ได้ให้ความอุปการะได้ปฏิสัณฐานด้วยอามิสและก็ด้วยธรรม ปฏิสัณฐานด้วยอามิสนั้นก็ด้วยการให้ที่พักพาอาศัยตลอดถึงอาหารซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสัตว์โลกทั้งหลาย และยิ่งไปกว่านั้นกระผมพระธรรมทายาทยังได้มีโอกาสได้สดับรับฟังพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของศาสนาพุทธซึ่งพวกกระผมพระธรรมทายาทรุ่นที่ ๓ นั้นกำลังแสวงหา ก็ได้มีพระเมตตาจากพระเดชพระคุณได้มีเมตตากรุณาให้พวกกระผมได้ฟังพระธรรมโอสถรสพระสัทธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดี และบัดนี้ถึงวาระเวลาโอกาสแห่งการที่จะปิดประชุมในการอบรมพระธรรมทายาทรุ่นที่ ๓ ลงในวันนี้ ก่อนที่จะถึงเวลาปิดประชุมอบรมพระธรรมทายาทนั้น เกล้า(นาทีที่ 4:27)ในนามพระธรรมทายาทรุ่นที่ ๓ มีความประสงค์ใคร่จะสดับรับฟังพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อใหญ่จะได้เมตตาพวกกระผมเพื่อจะได้น้อมนำพระธรรมคำสอนนี้นำไปประพฤติปฏิบัติสืบต่อไปก่อนที่จะได้ปิดการประชุมพระธรรมทายาท ในโอกาสบัดนี้พระธรรมทายาทส่วนมากพร้อมแล้ว กระผมในนามของพระธรรมทายาทรุ่นที่ ๓ ขอกราบอารธนาพระเดชพระคุณหลวงพ่อใหญ่ได้เมตตาประทานโอวาทครั้งสุดท้ายให้แก่พวกกระผมด้วยเถิด ณ บัดนี้ขอกราบอาราธนาครับผม
ท่านอาจารย์พุทธทาส : มันคล้ายกับจะปิดการอบรมแล้วยังมีพูดอีก เอาละขอกล่าวคำที่เป็นการพูดครั้งสุดท้ายเกี่ยวกับธรรมทายาท แม้ที่สุดแต่ระเบียบทำวัตรอย่างที่ทำวัตรเมื่อกี้นี้เสร็จไปแล้ว ก็รวมอยู่ในเรื่องของธรรมทายาทเหมือนกัน เราไม่อาจจะกล่าวได้ว่าการทำวัตรด้วยถ้อยคำอย่างนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล เพราะว่าครั้งพุทธกาลก็ยังไม่มีการทำวัตรในลักษณะอย่างนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ดีมันกล่าวได้ว่าการทำวัตรแบบนี้เป็นของคณะสงฆ์ไทยมาตลอดเวลานานจนไม่ทราบได้ว่าเท่าไหร่ เดี๋ยวนี้มีการทำวัตรแบบขี้เกียจ พูดสองสามคำก็เสร็จ มันก็สูญเสียระเบียบพิธีที่ได้สืบกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี คือทำวัตรแบบอุกาสะวันทานี่ขอให้รักษาไว้ในฐานะเป็นทายาทอันหนึ่งด้วย แม้ไม่ได้สืบต่อมาจากพระพุทธองค์โดยตรงก็สืบต่อมาจากอุปัชฌาย์อาจารย์ ที่ท่านมีสติปัญญากำหนดขึ้นอย่างนี้อย่างนี้ แล้วก็ทำมาทำกันมาหลายร้อยปีแล้ว มีความหมายสมบูรณ์ อุกาสะ วันทามิ ภันเตนี่ขอแสดงความเคารพ สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต นี่ขอโทษให้อดโทษซึ่งกันและกัน มะยา กะตัง ปุญญัง แลกเปลี่ยนส่วนบุญซึ่งกันและกัน มันมีความหมายสำคัญๆถึงสามความหมาย คือแสดงความเคารพในที่ที่ควรเคารพ และก็ขอให้อดโทษซึ่งกันและกัน และก็แลกเปลี่ยนส่วนบุญซึ่งกันและกัน ๓ อย่างนี้ซึ่งรวมกันเข้าแล้วเรียกว่าการทำวัตรแบบเก่าขอให้ช่วยรักษาไว้ ในขอบเขตแห่งอำนาจของตนด้วย คือเป็นพระคณาธิการตั้งแต่เป็นเจ้าอาวาสขึ้นไปก็สามารถที่จะจัดให้ทำอย่างนี้ได้ และอธิบายให้พระเณรเขาเข้าอกเข้าใจ และจะได้พอใจว่ามันทำจริงเป็นธรรมะตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้อย่างสมบูรณ์ ว่าเคารพบูชาผู้ที่ควรเคารพบูชา วัตถุที่ควรเคารพบูชา สถานที่ที่ควรเคารพบูชานี้ก็เป็นธรรมะข้อหนึ่งของพระพุทธเจ้า ขอโทษและอดโทษนั้นยิ่งส่งประสงค์ไว้เป็นผู้ไม่แข็งกระด้าง จึงขอโทษและก็ไม่แข็งกระด้างจึงยอมอดโทษ เมื่อมีการขอโทษและยอมอดโทษกันอยู่ มันก็ยังรักใคร่กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นความตั้งมั่นของคณะสงฆ์นั่นเอง ข้อที่สามที่ว่าแลกเปลี่ยนส่วนบุญนี่อาศัยซึ่งกันและกัน นี่ก็เป็นหลักสำคัญที่ว่าเราจะต้องอยู่ด้วยกันและก็ต้องอาศัยอะไรซึ่งกันและกัน อาศัยกันและกันให้ออกจากอาบัติ ให้กระทำให้ถูกต้องอย่างนี้เป็นต้น ที่เป็นส่วนดีส่วนบุญส่วนกุศลก็พยายามแลกเปลี่ยนแก่กันและกัน เป็นการให้ส่วนบุญเป็นการรับส่วนบุญมันเป็นเรื่องของความรักความสามัคคีและทำลายความเห็นแก่ตัวพร้อมกันไปด้วย ผมเห็นประโยชน์ของความหมายการทำวัตรแบบเก่าของคณะมหานิกายก็เอามาบอกกล่าว และก็ที่อยู่ในอาณัติของผมผมก็ให้ทำวัตรแบบเก่านี้อยู่อย่างนั้น ไม่ใช่ทำวัตรแบบขี้เกียจเสียไม่ได้สองสามคำแล้วก็เลิกกัน ขอให้เป็นอันว่าเราก็ได้ทำวัตรด้วยคือแสดงความเคารพด้วยและก็ขอโทษ ขอโทษและอดโทษด้วยแลกเปลี่ยนส่วนบุญด้วยไปแล้วในวันนี้ ข้อนี้จะเรียกรวมๆกันว่ารักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีที่งามไว้ และขอถือโอกาสพูดพร้อมกันไปเสียคราวเดียวกันเลยว่า ขนบธรรมเนียมประเพณีอะไรที่มันดีมีประโยชน์ก็ช่วยกันรักษาไว้ อย่าเห็นว่ามันพ้นสมัย ถ้ามันเป็นของดีมันไม่มีการพ้นสมัยหรอก แล้วมันถูกมันดีมันพิสูจน์ความมีประโยชน์เสมอมันไม่พ้นสมัย เพราะฉะนั้นช่วยกันรักษาไว้ทุกอย่างซึ่งมันมีมากอย่าง ซึ่งจะพูดให้หมดก็ไม่ได้เวลามันไม่อำนวย ขอให้ไปนึกเอาเอง แต่จะขอยกตัวอย่างอีกสักเรื่องหนึ่ง ซึ่งฟังแล้วมันก็คล้ายเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือน่าหัว แต่มันไม่ใช่เช่นนั้นนะ มันแสดงถึงน้ำใจของผู้ตั้งใจรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี โดยเฉพาะในที่นี้ผมเล็งหมายถึงไอ้การตีระฆังหรือการตีกลอง เท่าที่สังเกตเห็นมาอุปัชฌาย์อาจารย์ในกาลก่อนท่านวางไว้เป็นระเบียบ ว่าตีเรียกประชุมประชุมพระทั้งหมดนั้นตีอย่างไร ตีมาฉันข้าวตีอย่างไร ตีสัญญาณว่าลงมือกระทำกิจอะไรเช่นลงมือเทศน์เป็นต้น ตีอย่างไร อย่างน้อยก็ ๓ อย่างแล้ว ถ้าตีเรียกประชุมเขาก็ตีสามลาใหญ่ๆยาวๆสามลา แต่ว่าก่อนถึงสามลานั้นเขาจะมีเรียกว่าคราง เคาะเบาๆเบาๆให้แรงขึ้นนิดหน่อยแล้วก็เบาๆแล้วหายไปนี่เรียกว่าคราง เรียกกันมาอย่างนั้น แล้วก็ตีสามลา แล้วก็ตีส่งท้ายอีกสามตึงผู้ฟังก็รู้ได้ทันทีว่าเรียกประชุมไม่ต้องบอกกัน นี่ถ้าว่าตีกลองฉันโรงฉันก็ครางครางเหมือนกัน ครางนี่ต้องมีเสมอ แล้วก็ตีตาลาเดียวยาว เสร็จแล้วก็ตีส่งท้ายอีกตึงเดียวก็รู้แต่ว่านี้นิมนต์มาฉัน ถ้าว่าตีแสดงว่าลงมือทำกิจเล็กๆน้อยๆประจำวันหรือว่ากิจอะไรที่ว่าถึงเวลากำหนดจะทำแล้วเขาก็ตีสัญญาณ อย่างนี้ตีเพียง ๓ทีเท่านั้นแหละ แต่ก็มีคราง คราง ครางหึ่มหนึ่งแล้วก็ตี ๓ทีเท่านั้นพอไม่ต้องมีลงท้าย ที่ครางนั้นน่ะเป็นมรรยาทที่ดีว่า ก็ต้องบอกให้รู้ตัวก่อนค่อยๆครางขึ้นมาแล้วเงียบไปน่ะ ให้คนอยู่ใกล้เคียงเขารู้ตัวว่ามันจะตีดัง ไม่ตีดังทันทีเพราะทำให้คนที่ไม่รู้ตัวมาก่อนนั้นสะดุ้งหรือตกใจ นี่ดูเถอะความมีมรรยาทของภิกษุครูบาอาจารย์ในพุทธศาสนา จะทำอะไรก็มีการเตือนกันก่อน เขาจึงตีดังๆสามลาหนึ่งลาแล้วก็ตีดังแล้วก็เป็นระยะๆแล้วค่อยเบาลงไปเบาลงไปลงไปจนขาดเสียง นี่เรียกว่าหนึ่งลาตีสามลาที ตีหนึ่งลาตีเพียงสามที ถ้าตีโรงฉันก็เพียงว่าครางแล้วก็ตีหนึ่งลาแล้วก็ตีส่งท้ายหนึ่งที ถ้าตีลงมือกระทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นเราตีทุกวันที่นี่ก็ครางนิดหนึ่งแล้วก็ตีสามทีดังๆ ก็เป็นอันว่าลงมือแล้ว จะสวดปาติโมกข์หรือจะทำอะไรก็ตามจะขึ้นธรรมาสน์เทศน์ก็ตีสามทีแล้วก็แสดงว่าถึงเป็นการลงมือเทศน์ เป็นที่รู้กันไปอย่างนี้มาแต่โบราณกาล นี่ก็เป็นประเพณีที่ดีอันหนึ่งยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อให้ช่วยกันรักษาไว้ และขอให้ปฎิบัติด้วยความตั้งอกตั้งใจให้เรียบร้อย ต่อมามันไม่รู้ความหมายมันไม่เต็มใจทำหรือมันไม่มีจิตใจจะทำ มันมักจะตีกันตามชอบใจเลยเสียระเบียบหมด จนฟังดูแล้วคล้ายกับคนบ้าตีคือมันไม่ต้องการระเบียบที่มีอยู่มันเหมือนกับคนบ้าตี บางทีบางทีมันเหยาะแหยะยิ่งกว่านั้น ฟังแล้วรู้สักคล้ายว่าลิงมันตี ไม่ใช่คนมันตี นี่ผมก็ได้ยินอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะตีสามทีเพื่อจะลงมือทำอะไร นี่บางวันคล้ายกับว่าลิงมันตี ฟังดูไม่ใช่ว่าคนมีความรู้ตี คนมีความรู้มีแรงมีระเบียบมันก็ต้องตีถูกต้องตามระเบียบ มันก็ต้องครางอย่างเรียบร้อยแล้วก็ตีสามทีอย่างเรียบร้อย ไม่ใช่หลับตาตีเหมาๆอย่างนี้มันจะคล้ายคนบ้าตี หรือบางทีถึงกับว่าจะคล้ายกับลิงตีขอสักทีเถิดอย่าได้ทำอย่างนั้นเลย เอาละนี่เรียกว่าอยู่ในพวกที่เป็นมรดกด้วยเหมือนกันแหละเป็นธรรมทายาทหรือเป็นทายาทที่ต้องช่วยกันรักษาไว้ เป็นสติปัญญาของครูบาอาจารย์แต่กาลก่อนท่านก็เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า มีการดำเนินตามรอย ท่านบัณญัติระเบียบเหล่านี้ขึ้น เราจะต้องช่วยกันรักษาไว้สืบๆไปเพราะว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นการกระทำของผู้มีสติปัญญา ดังนั้นขอให้เอาไปพิจารณาดู อะไรที่ควรรักษาไว้อย่างถูกต้องเป็นประเพณีล่ะก็ขอให้ทำ เรียกว่ารักษามรดกเป็นธรรมทายาทด้วยโดยปริยายหนึ่ง ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่ผมตั้งใจจะพูดครั้งสุดท้ายนี้ ซึ่งเป็นหลักสำหรับธรรมทายาทโดยตรง ขอให้ตั้งอกตั้งใจฟังอีกสักครั้งหนึ่ง เป็นปัจจัยเกื้อกูลแก่กิจกรรมธรรมทายาทเป็นอย่างมาก ผมคิดและก็เชื่อว่าธรรมทายาทจำนวนมากนี้ ก็คงจะมีธรรมทายาทที่แท้จริงอยู่จำนวนหนึ่งเป็นแน่ ตั้งใจจะทำอะไรให้ถูกต้องให้สำเร็จประโยชน์ตามความมุ่งหมาย และตามคำแนะนำชี้แจงสั่งสอน จนสำเร็จตามความประสงค์ในหน้าที่ของธรรมทายาท แต่อีกจำนวนหนึ่งนั้นเป็นธรรมทายาทขี้เหร่ เป็นธรรมทายาทไม่รู้จักตัวเองไม่รู้จักคุณค่าของเวลา เพราะว่าระเบียบการคัดเลือกเข้ามาเป็นธรรมทายาทนั้นมันไม่สมบูรณ์ มันป้ำๆเป๋อๆก็ได้มันจึงเลยติดบุคคลที่ไม่ควรจะเข้ามารับการอบรมเข้ามาด้วย ควรจะมีวิธีการคัดเลือกให้ดีขึ้นกว่าเดิม อย่าให้มีธรรมทายาทขี้เหร่ติดเข้ามา นี่ขออภัยมันมีเวลาน้อยก็เลยต้องพูดตรงๆอย่างนี้ ธรรมทายาทขี้เหร่นี่คงออกไปทำอะไรไม่ได้และไม่เท่าไหร่ก็คงจะเลิกล้มไปในตัว แต่ธรรมทายาทแท้จริงคงจะได้ไปปฎิบัติงานคือไปจนตลอดชีวิตก็ได้เพราะเห็นแก่ส่วนนี้ผมจึงตั้งใจจะพูด สิ่งที่ควรจะพูดและก็พูดดีที่สุดสุดความสามารถของผมเท่าที่จะพูด ขอให้สนใจฟังเถิด ส่วนธรรมทายาทขี้เหร่นั้นก็เป็นเป่าปี่ให้เต่าฟัง เป่าปี่ให้แรดฟัง เป่าปี่ให้ก้อนหินฟัง ไม่เป็นไรมันก็มีเป็นธรรมดา แต่ว่าที่จะเป่าปี่ให้ผู้มีสติปัญญาฟังนั้นมันก็คงจะมีอยู่เพราะฉะนั้นจึงพยายามพูดให้ดีที่สุดนึกคิดดีที่สุดเลือกเฟ้นมาดีที่สุดสำหรับจะพูดแต่เท่าที่พูดมาแล้ว ผมก็ได้ทำอย่างนั้นขอให้ไปใคร่ครวญดูเถิด แต่ถ้าไม่ตั้งใจฟังจริงก็จะไม่รู้สึกว่าอย่างนั้นและมันก็เลือนหายกันไปนั่นน่ะคือลักษณะที่ว่ามันจะเป่าปี่ให้ก้อนหินฟัง ที่วันนี้เป็นวันสุดท้ายครั้งสุดท้ายนี่ ผมมีหัวข้อพูดว่าความถูกฝาถูกตัวของสิ่งที่กระทำ นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นธรรมทายาทจะต้องระมัดระวังหลายอย่างหลายทิศทางในหลายอย่างนั้นมีที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่งด้วยนั่นก็คือความถูกฝาถูกตัวของสิ่งที่กระทำ แม้จะฉลาดอย่างไรในอย่างอื่นแต่ถ้าโง่เพียงอย่างเดียวคือไม่ถูกฝาถูกตัวแล้วเรื่องที่กระทำนั้นไม่เคยสำเร็จประโยชน์หรือสำเร็จประโยชน์น้อยมากไม่คุ้มค่าของการกระทำ จึงขอฝากคำพูดสั้นๆคำเดียวว่าความถูกฝาถูกตัวเอาไปด้วยสำหรับจะเอาไปทำอะไรก็ตามให้มันมีอาการที่เรียกว่าถูกฝาถูกตัว ทีนี้เราก็จะได้พิจารณาความหมายของคำๆนี้ คำว่าถูกฝาถูกตัวนี้ผมเล็งถึงใจความสำคัญที่ถอดออกมาจากสัปปุริสธรรมเจ็ด เป็นผู้รู้เหตุรู้ผลรู้ตนรู้ประมาณรู้กาลรู้บริษัทรู้บุคคล สัปปุริสธรรมเจ็ดที่เรียนกันในนักธรรมตรีน่ะเอามาใคร่ครวญดูเถอะ จะมองเห็นสาระของมันอยู่ที่ความถูกฝูกตัว ถูกตามเหตุถูกตามผลถูกตามตนเองถูกตามประมาณมาตรฐานถูกตามเวลาถูกตามสังคมถูกตามปัจเจกชนคนหนึ่งๆ มันเป็นการถูกฝาถูกตัวอย่างยิ่ง เอามาเรียกว่าถูกฝาถูกตัวนี่ก็ได้หรือว่าถูกฝาถูกตัวนี้เราจะถือว่าถอดออกมาจากมัชฌิมาปฏิปทาคืออริยมรรคมีองค์แปดประการ ในแปดประการนั้นมันขึ้นต้นด้วยคำว่าสัมมาสัมมาสัมมาแปลว่าถูกต้องถูกต้อง ทิฏฐิถูกต้อง ความปราถนาถูกต้อง วาจาถูกต้อง การงานถูกต้อง อาชีพถูกต้อง ความเพียรถูกต้อง สติถูกต้อง สมาธิถูกต้อง มันตั้งแปดถูกต้องมันก็พอที่จะถูกฝาถูกตัวในที่อื่นในพระบาลีเรียกไอ้แปดนี้ว่าสัมมัตตะ๘ เหตุใดไม่เอามาสอนกันในหลักสูตรนักธรรมก็ไม่ทราบแต่ในบาลีมี มีสัมมัตตะ๘ ก็คืออริยมรรคมีองค์แปดและก็มีสัมมัตตะ๑๐ เพิ่มเข้าไปอีกสององค์ในส่วนที่เป็นผล มันเป็นความถูกต้องตามหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนานี้เราจึงเรียกว่าสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งซึ่งท่านเน้นมากในเรื่องความถูกต้อง เพราะมันต้องถูกต้องจึงจะสำเร็จประโยชน์ ความสำเร็จประโยชน์นั่นแหละเป็นเครื่องหมายของความถูกต้อง เดี๋ยวนี้นักคิดนักปรัชญาเขาไม่ค่อยจะยุติว่าถูกต้องกันอย่างไรมีวิธีคิดตามแบบของตนๆยุติกันไม่ค่อยจะได้ ยิ่งที่เรียกว่าปรัชญา Philosophy ด้วยแล้วก็ยิ่งไม่รู้ว่าจะเราถูกต้องกันอย่างไรเถียงกันได้เป็นพวกๆไปเลย แต่ทางพุทธศาสนาเราไม่มีปัญหาอย่างนั้น ถ้ามันพิสูจน์ความมีประโยชน์แล้วก็เรียกว่าถูกต้องเอากันตรงนี้เท่านั้นแหละ ถ้ามันพิสูจน์ให้เห็นว่ามันมีประโยชน์แล้วก็ถือว่าถูกต้อง ถูกต้องนี้มันต้องถูกต้องด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้ามันเป็นการกระทำที่เนื่องกันเป็นสองฝ่าย ท่านจึงมีคำพูดขึ้นมาว่าถูกฝาถูกตัว ถูกต้องทั้งฝ่ายฝาและถูกต้องทั้งฝ่ายตัวทั้งฝาและตัวมันถูกต้อง เป็นเรื่องที่ผู้เผยแผ่ธรรมะจะต้องระมัดระวังจนถึงกับถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของความสำเร็จ ถ้าจะพูดให้รวบให้กว้างๆง่ายๆให้รวบๆรวมๆกันก็จะต้องพูดว่าถูกต้องทุกทิศทุกทางน่ะ ถูกต้องของทุกสิ่งที่เข้ามาแวดล้อมทุกทิศทุกทาง เราไปอยู่ที่ไหนมันก็มีสิ่งแวดล้อมแล้วก็ทุกทิศทุกทาง ไอ้สิ่งแวดล้อมเหล่านั้นมันต้องถูกต้อง บางอย่างในฐานะที่เป็นฝาบางอย่างในฐานะที่เป็นตัว เมื่อนับรวมเราเข้าไปด้วยคนหนึ่งมันต้องมีฝามีตัว เราจะทำอะไรมันก็ต้องให้ถูกหลักเกณฑ์ที่ว่ามันเป็นอะไรต่อกัน เป็นอะไรต่อกันถ้าทำได้ในข้อนี้ก็เรียกว่าถูกฝาถูกตัวของสิ่งที่แวดล้อมน่ะ ความถูกต้องของสิ่งที่แวดล้อมจะแบ่งเป็นสองอย่าง สิ่งที่แวดล้อมและเกี่ยวข้องที่จะให้มีการถูกฝาถูกตัวน่ะแบ่งออกเป็นสองอย่างคือภายในก็ถูกต้องภายนอกก็ถูกต้อง ถ้าเอาผู้พูดเป็นภายในก็ถูกต้องฝ่ายผู้พูด ผู้ฟังเป็นภายนอกก็ถูกต้องฝ่ายผู้ฟัง เขาเรียกว่าถูกฝาถูกตัว ถ้าเราจะเล็งถึงเรื่องที่พูดผู้พูดเขาก็ดูว่าแต่ละคนนั้นก็มีความถูกต้องทั้งภายนอกและภายใน ถ้าผู้พูดมีความถูกต้องทั้งภายนอกและภายในผู้ฟังมีความถูกต้องทั้งภายนอกและภายในมันก็สำเร็จประโยชน์แน่ตามที่ต้องการ ตัวอย่างที่เป็นภายในเช่นผู้นั้นมีคุณธรรมน่ารักน่านับถือน่าพอใจ ผู้นั้นมีสมรรถภาพคือสามารถจริงมันก็ทำได้ และก็มีสมณสารูปมีปรากฎการณ์แสดงออกอยู่ที่เนื้อที่ตัวว่าเป็นสมณะ มีความเป็นสมณะแสดงให้เห็นอยู่ก็เรียกว่าสมณสารูป ก็เป็นผู้พูดที่ดีได้เพราะคนเห็นแล้วเขาก็อยากจะเชื่อเสียแล้ว หรือสมัยใหม่นี้ก็จะเรียกกันว่าบุคลิกภาพ คำนี้เขาคิดขึ้นเพื่อจะเทียบกับคำต่างประเทศเรียกว่าบุคลิกภาพลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจของบุคคลนั้นก็ต้องมี นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ว่ามันจะต้องมี เราจะต้องมีซึ่งจะได้พูดกันเดี๋ยวจะพูดกันในรายละเอียดทีละอย่าง นี่ภายในคุณสมบัติภายในของธรรมทายาทจะต้องมีคุณธรรมจะต้องมีความสามารถจะต้องมีสมณสารูป จะต้องมีบุคลิกภาพหรือบุคลิกลักษณะที่เพียงพอ ทีนี้ตัวอย่างภายนอกที่เป็นภายนอกเข้าไปเกี่ยวข้องอะไรที่ไหนที่นั่นเป็นภายนอกหมด บุคคลที่จะเป็นผู้รับฟังทุกชนิดพิธีกรรมที่แสดงออกไปตลอดจนสถานที่ตลอดจนถึงเครื่องอุปกรณ์ นี่เป็นตัวอย่างว่ามันมีความถูกต้องฝ่ายภายนอก ทีนี้มันก็ยังมีบางอย่างที่มันเป็นได้ทั้งภายในและภายนอกซึ่งจะยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง คือสิ่งที่เรียกว่าทุนหรือทุนรอน ทุนรอนที่เป็นภายนอกก็คือเงินนั่นแหละที่ชะเง้อกันนักแหละ แล้วก็ที่เป็นภายในก็คือคุณธรรมภายในบุคคลนั้นแหละก็เรียกได้ว่าเป็นทุนด้วยเหมือนกัน ทุนภายนอกคือเงินไม่ใช่ว่ามันจะดีหรือมันจะสำเร็จด้วยเงินไปเสียทั้งหมดถ้ามันขาดอะไรบางอย่างแม้แต่มีเงินก็เอามาละลายทิ้งเปล่าๆ อย่าหวังว่าจะมีเงินหรือต้องมีเงินโดยส่วนเดียวมันต้องมีทุนอีกชนิดหนึ่งคือความดีในเนื้อในตัวของบุคคลนั้น บุคคลนั้นแม้มือเปล่าไม่มีทุนสักบาทเดียวแต่เมื่อได้ลงมือทำอะไรเข้าได้รับความช่วยเหลือจนเหลือเฟือจนเอาไปไหนไม่หวาดไหว นี่คำว่าทุนมีทั้งชนิดที่เป็นทั้งภายนอกและภายใน ต้องมีความถูกต้องภายในมีความถูกต้องภายนอกและมีความถูกต้องทั้งภายในและภายนอกที่มันเนื่องกัน ผมจะพูดอธิบายสั้นๆเท่าที่เวลามันเหลืออยู่น้อย อย่างแรกประเภทภายใน ความถูกต้องฝ่ายภายในของบุคคลผู้เป็นธรรมทายาท เขาจะต้องมีคุณธรรมคือธรรมที่เป็นคุณ ที่เป็นค่าที่เป็นคุณที่เป็นความหมายของสัตบุรุษหรือของอริยชนแล้วแต่จะเรียก สัตบุรุษแปลว่าบุรุษผู้สงบคือคนที่สงบ สัตตะนี่สัตตะนี่แปลว่าสันตะแปลว่าสงบ ต้องมีคุณธรรมของบุคคลผู้มีความสงบ และมันจะมั่นคงมันจะน่าเลื่อมใสมันจะอะไรหลายๆอย่าง หรือคุณธรรมของอริยชนคือพระอริยเจ้าก็รู้กันอยู่แล้วนี่เคยเรียนธรรมกันมาแล้วนี่ว่าอริยชนอริยเจ้าอริยบุคคลมันคืออะไร ผมไม่มาพูดใหม่ให้เสียเวลาเพราะเป็นสิ่งที่เรียนมาแล้ว แต่ขอให้มีคุณธรรมของสัตบุรุษหรือของอริยชนถ้ามันเป็นฆราวาสมันก็เป็นได้สัตบุรุษตามแบบฆราวาสก็มี ตามแบบบรรพชิตก็มี อริยชนก็เหมือนกันแบบฆราวาสก็มีแบบบรรพชิตก็มี เป็นพระอริยเจ้าในชั้นโสดาบันนี้ได้ยินว่ามากมาย เขาจะต้องมีคุณธรรมของสัตบุรุษหรือของอริยชนนี่ไม่บกพร่องในฝ่ายภายในของคนนั้น ทีนี้นั้นเขาจะต้องมีสมรรถภาพหรือประสิทธิภาพสมรรถนะอะไรก็แล้วแต่จะเรียกน่ะ เดี๋ยวนี้คำพูดมันค่อนข้างจะเฟ้อ แต่เขาต้องมีความสามารถน่ะสมรรถนะแปลว่าสามารถ ถ้ามันยังหย่อนความสามารถก็รีบไปอบรมให้มันเต็ม ให้มีความสามารถเต็ม ให้มีกำลังโดยเฉพาะกำลังกายกำลังจิตกำลังสติปัญญา นี่ขอให้ช่วยสังเกตดูให้ดีนะท่านวางหลักไว้อย่างนี้ เรื่องกายน่ะมันเรื่องหนึ่งมันรวมวาจาเข้าไปด้วยเสร็จ ทีนี้เรื่องจิตโดยเฉพาะมันมันหมายถึงสมรรถนะของจิต ทีนี้มันยังมีอีกเรื่องหนึ่งต่อไปจากนั้นน่ะท่านมักจะเรียกกันว่าทิฏฐิก็เรียกสติปัญญาก็เรียกก็ต้องมีกำลังสติปัญญา ทิฏฐิ ความคิดความเห็นอะไรที่มันเป็นสมบัติของจิตอีกทีหนึ่ง ต้องมีสมรรถนะทั้งทางกายทั้งทางจิตทั้งทางทิฏฐิสติปัญญา ความคิดความเห็นนี่รวมกันเป็นข้อเดียว นับได้เพียงสามก็พอทางกายจิตแล้วก็ทางสติปัญญา ก็ต้องมีร่างกายสุขภาพอนามัยครบถ้วนน่ะมันจึงทำงานอะไรได้ ไม่มีสุขภาพดีสมองก็เกือบทำอะไรไม่ได้ เมื่อทางจิตก็ได้รับการอบรมมาอย่างดีจนเป็นจิตที่เข้มแข็งเป็นจิตที่คล่องแคล่วว่องไวสามารถในหน้าที่การงานของจิต ทีนี้สติปัญญาเล่าเรียนศึกษามาอย่างถูกต้องจนกระทั่งมีความเจนจัดคือผ่านไปในสิ่งเหล่านั้นแล้วรู้ในแบบสันทิฏฐิโกประจักษ์แก่ใจของตนเองมาอย่างเพียงพอนี่ เขาก็เป็นผู้มีสมรรถนะมีความสามารถทางกายทางจิตทางสติปัญญาถ้ามันยังไม่พอก็รีบเพิ่มสิ มันมีวิธี มีวิธีการศึกษาฝึกฝนอะไรก็เพิ่มสมรรถนะ ทีนี้มีสมณสารูปนี้เราเล็งถึงสิ่งที่มันแสดงออกมาให้คนเห็นภายนอก ในภายในมันมีสามัญญะคือมีความเป็นสมณะ มีความเป็นสมณะอยู่ในภายในแล้วมันแสดงภาพออกมาให้คนภายนอกเห็น ส่วนนี้เรียกว่าอาการแห่งสมณสารูปอาการที่สมควรกันกับความเป็นสมณที่มีอยู่ในภายใน ถ้าใครเห็นมีความเป็นสมณแสดงอยู่ที่ใครเขาก็มีศรัทธาหรือไว้ใจ ทำไมเขาจึงเลือกไหว้เฉพาะที่น่าไหว้ล่ะ ที่ลักษณะที่ไม่น่าไหว้เขาก็ไม่ไหว้ เขาไม่ไว้ใจเขาไม่ศรัทธา ดังนั้นเราจะต้องมีสมณสารูปแสดงอยู่ทุกกระเบียดนิ้วดีกว่าที่เนื้อที่ตัวง่ายในการปฏิบัติหน้าที่ แล้วคำสุดท้ายที่ว่าบุคลิกภาพนี่มันใช้ทั่วไปไม่ไม่ ไม่เพ่งเล็งเฉพาะบรรพชิตน่ะ แล้วไอ้ความหมายก็คล้ายๆกันแหละเขามีบุคลิกภาพแสดงออกอยู่เป็นลักษณะประจำของเขาเสมอต้นเสมอปลายนี่บุคลิกภาพ ข้อนี้จะช่วยให้มีลักษณะน่าเกรงขามน่าเลื่อมใสน่าไว้ใจแม้จะเป็นเพียงรูปร่างกิริยาท่าทางภายนอกก็เป็นที่ตั้งแห่งความไว้ใจเกรงขาม ขอให้นึกถึงและปรับปรุงให้มันมีครบถ้วนมีคุณธรรมมีความสามารถมีสมณสารูปและก็มีบุคลิกภาพนี้จะรวมๆกันเรียกว่าเป็นความถูกต้องในภายในของบุคคลที่จะทำหน้าที่ธรรมทายาท ทีนี้จะพูดไปถึงไอ้ภายนอกปัจจัยภายนอกพอเป็นตัวอย่างอีกต่อไป ก็มีการถูกฝาถูกตัวในทางบุคคลหมายความว่าเรามันไม่ได้ทำอยู่คนเดียวเราไปทำเกี่ยวข้องกับบุคคลเป็นอันมาก บุคคลที่เป็นผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องด้วยในฐานะเป็นผู้ฟังหรือเป็นผู้รับคำแนะนำสั่งสอน เขาเป็นผู้เกี่ยวข้องกับเราผู้เป็นธรรมทายาท เขาก็มีฐานะทางสังคมมีการงานมีอาชีพตามแบบของเขาเป็นบุคคลๆไป เราจะต้องทำอะไรให้เข้ารูปถูกฝาถูกตัวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นตามฐานะทางสังคมตามการงานตามอาชีพที่เขามีอยู่ นี่ให้มันถูกฝาถูกตัวอย่างนี้ เรายังจะต้องมีคนช่วยเหลือมีคนรับใช้ร่วมมือไม่มีใครทำอะไรคนเดียวได้น่ะ ยิ่งงานใหญ่เท่าไหร่ก็ต้องมีคนช่วยเหลือร่วมมือรับใช้มากขึ้น เช่นท่านสมภารองค์หนึ่งจะทำอะไรได้ไปทั้งหมดเล่ามันมีหน้าที่มากมาย หน้าที่ดูแลหน้าที่ปกครองหน้าที่ศึกษาหน้าที่อาหารการกินหน้าที่การเจ็บไข้หน้าที่การก่อสร้างปฏิสังขรณ์หน้าที่บำรุงความเรียบร้อยสวยงามภายในอาราม มันหลายหน้าที่เหลือเกินดังนั้นเจ้าอาวาสคนหนึ่งจะต้องมีเจ้าอธิการช่วยหลายๆอธิการทีเดียวตามหน้าที่ เจ้าอธิการฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ฝ่ายโน้นตั้งสิบอย่าง นี่เรียกว่าผู้ที่จะต้องร่วมมือช่วยเหลือกระทั่งเป็นผู้รับใช้อย่างเด็กวัดที่ต้องมีกันอย่างถูกฝาถูกตัวมันจึงจะทำกันได้ และให้ถือว่าเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์เท่ากันหมดแหละ เพราะว่าถ้ามันไม่มีผู้ที่ทำงานชั้นต่ำล่ะก็งานชั้นสูงมันก็ไปไม่ได้ ไอ้ผมสังเกตเห็นว่ามโนราปักษ์ใต้เรามโนราโรงหนึ่งมันต้องมีคนบ้าๆบอๆคนหนึ่งที่หาบน่ะเป็นผู้หาบสัมภาระทั้งหมดไปน่ะมันจึงไปเป็นโรงสมบูรณ์อยู่ได้ มีแต่ตัวพระตัวนางมันทำอะไรไม่ได้น่ะถ้ามันไม่มีไอ้คนที่หาบน่ะ ฉะนั้นอย่าถือว่าเขาไม่มีค่าหรือมีค่าน้อยต้องให้ถือว่ามันมีค่าเท่ากันแหละ เพราะมันเป็นหน้าที่อันหนึ่งซึ่งถ้าขาดเสียแล้วมันก็ล้มละลายทั้งหมดเลย เอาสิถ้าเราไม่มีคนที่ช่วยกวาดนี่มันจะเตียนอยู่อย่างนี้ได้หรือ ฉะนั้นไอ้คนที่ช่วยกวาดนี่มันก็เป็นหนึ่งในหลายหน้าที่ที่จำเป็น ทีนี้เราจะต้องมีความถูกต้องกับผู้ที่จะช่วยเหลือจะร่วมมือหรือจะรับใช้ นี่เป็นบุคคลประเภทหนึ่งซึ่งจะต้องเกี่ยวข้อง หรือบุคคลที่อยู่ข้างบนคือครูบาอาจารย์ผู้ที่จะให้คำแนะนำปรึกษามันก็ต้องถูกฝาถูกตัวคือถูกกับเรื่องที่เราจะมีจะทำเราต้องมีผู้ที่ปรึกษาอย่าอวดดีให้มากไปนัก จะทำงานระดับไหนก็เถอะมันต้องมีที่ปรึกษาให้คำแนะนำทักท้วง เศรษฐีเป็นมหาเศรษฐีก็ยังมีตาแป๊ะแก่ๆจวนจะเป็นขอทานเป็นที่ปรึกษาเพราะเขาก็มีสติปัญญา ฉะนั้นการที่มีที่ปรึกษานั้นมันดีจะต้องให้มีได้ถึงผู้ที่คอยทักท้วง อย่าไปโกรธเขาเมื่อเขาทักท้วงเราต้องมีที่ทักท้วงไม่อย่างนั้นจะเผลอทำผิดได้มาก มีที่ปรึกษาแนะนำมีเหตุที่คอยทักท้วง ทีนี้บุคคลอีกพวกหนึ่งเรียกว่าเป็นคู่แข่งขัน ไอ้คำว่าแข่งขันคู่แข่งขันนี่มีความหมายทั้งแง่ดีและแง่ร้าย เพราะแข่งขันในทางทำดีก็ได้แข่งขันในทางทำลายล้างก็ได้ คู่แข่งขันก็ต้องเกี่ยวข้องกันให้ถูกต้อง ให้เป็นไปในทางแข่งขันกันทำความดี เดี๋ยวนี้เราอาจจะมีถึงกับว่าลัทธิอื่นศาสนาอื่นเป็นคู่แข่งขัน ถ้าแข่งขันทำลายล้างกันมันก็วินาศไปด้วยกัน ถ้าว่าจะแข่งขันกันเหมือนแย่งกันทำความดีมันก็อยู่รอดด้วยกัน ในโลกนี้ต้องมีให้เลือกหลายลัทธิหลายรูปแบบ ต่างฝ่ายต่างเสนอส่วนที่ดีให้แก่สังคมให้เขาเลือกเอาไปประพฤติปฎิบัติ อย่างที่เคยพูดมาแล้วในการบรรยายครั้งก่อนๆว่าศาสนามันมีหลายศาสนามุ่งหมายความรอดด้วยกัน แต่วิธีที่จะทำให้รอดนั้นมันก็ต้องแตกต่างกัน โดยหลักใหญ่ที่สุดผมอยากจะบอกให้ช่วยจำไปเถอะว่าพวกศาสนาอื่นน่ะเช่นคริสต์เป็นต้นอะไรๆก็แล้วแต่พระเจ้า มันถูกของเขานะถูกของเขานะ แต่ว่าของเราชาวพุทธนี่อะไรๆก็แล้วแต่อิทัปปัจจยตาถ้าฟังดูโดยเนื้อความแล้วมันขัดกัน แต่แล้วมันก็มีผลในที่สุดท้ายเหมือนกันแหละ เขาแล้วแต่พระเจ้าเขาก็ทำตามประสงค์ของพระเจ้ารักผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัวก็ไปตามเรื่องแหละ จนเขามีสันติสุขสันติภาพตามวิธีการของเขา ไอ้เราก็แล้วแต่กฎของอิทัปปัจจยตาทำผิดก็ร้ายทำถูกก็ดีก็แล้วแต่อิทัปปัจจยตา จะเจ็บจะไข้จะหายจะตายจะเสื่อมจะเจริญมันก็แล้วแต่อิทัปปัจจยตาในฐานะเป็นพระเจ้าเหมือนกับพระเจ้าของศาสนาทั้งหลายที่เขามีพระเจ้า เขาพูดว่าแล้วแต่พระเจ้าเราก็แล้วแต่อิทัปปัจจยตา ไปหารายละเอียดเอาเอง นี้เรียกว่าไอ้คู่แข่งขันน่ะมันต้องมี ถ้าคู่แข่งขันไม่มีคนเราไม่ดีถึงขนาดนี้ คนเราไม่เก่งถึงขนาดนี้ถ้าไม่มีคู่แข่งขัน ฉะนั้นเราก็ถือว่ามันมีประโยชน์ด้วยเหมือนกัน ทีนี้เรียกว่าบุคคลในส่วนบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับเรามีฐานะมีการงานมีอะไรต่างกัน เรายังมีคนช่วยเหลือมีคนร่วมมือมีคนรับใช้ มีครูบาอาจารย์เป็นที่ปรึกษาแนะนำอยู่ในเบื้องสูง มีเพื่อนมีมิตรสหายคอยทักท้วงคอยซักฟอกคอยขัดแย้งคอยห้ามล้อก็ยังดี แล้วก็ทำให้ถูกต้องแก่ผู้แข่งขันด้วย เอ้า,ทีนี้ถูกต้องถัดไปก็ถูกต้องโดยธรรมที่พูดไปแล้วมันถูกต้องโดยบุคคลถูกฝาถูกตัวส่วนบุคคล ทีนี้ถูกฝาถูกตัวในส่วนธรรมคำว่าธรรมในภาษาบาลีมันมีความหมายกว้างคือธรรมชาติธรรมดาสิ่งที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติธรรมดาจนกระทั่งว่าหน้าที่กระทั่งว่าผลที่เกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์ของธรรมดา ถูกฝาถูกตัวโดยธรรมเช่นว่าจะสอนอะไรจะสอนเรื่องอะไรก็ให้มันถูกต้อง จะสอนอย่างไรก็ให้วิธีมันถูกต้อง จะสอนแก่ใครก็ให้มันถูกต้อง สอนที่ไหนก็ให้มันถูกต้องสอนเมื่อไหร่ก็ให้มันถูกต้องมันพูดรวมกันหมดไม่ได้มันต้องแยกเป็นอย่างนี้ ธรรมะมันก็มีพร้อมที่จะเอามาใช้สอนอะไรสอนอย่างไรสอนแก่ใครสอนที่ไหนสอนเมื่อไหร่ ที่เป็นบุคคลเราก็มองเห็นชัดอยู่ว่าเราควรจะสอนกันตั้งแต่เด็กทารก ถ้ามีการแวดล้อมดีเด็กทารกก็จะตั้งต้นมาดีมีนิสัยดีมีวัฒนธรรมดีมีอะไรดี แล้วก็เด็กโตเด็กวัยรุ่นคนหนุ่มสาวคนเป็นพ่อบ้านแม่เรือนเป็นคนแก่คนเฒ่า ล้วนแต่จะต้องมีธรรมหรือธรรมะที่ถูกตรงกับสถานะนั้นๆ ทีนี้มันจะต้องมีธรรมะที่เป็นหลัก คือว่ามีหลักการที่ถูกต้องมีอุดมคติถูกต้องมีแผนการวิธีการที่ใช้อยู่อย่างถูกต้องนี่ทั้งหมดนี้จึงจะเรียกว่าถูกต้องในส่วนของธรรมถูกฝาถูกตัวในส่วนของธรรม ต่อจากถูกฝาถูกตัวในส่วนบุคคล ทีนี้ต่อไปอีกถูกฝาถูกตัวในส่วนวิธีการหรือพิธีกรรม วิธีการหรือพิธีกรรมนี้ก็ใช้ได้ทั้งนั้นแหละ แต่คำว่าพิธีนี้มันดิ้นได้ถ้าวิธีมันชัดเจนมันจำกัดไม่มีส่วนงมงายนะ แต่ถ้าพิธีมันไม่แน่มันมีส่วนงมงายได้แต่ถ้าเติมรีตองเข้าไปด้วยแล้วมันแน่นอนน่ะมันผิดใช้ไม่ได้นะพิธีรีตอง ถ้าเป็นเพียงพิธีมันก็คือวิธีนั่นเองแต่ทำให้มันจริงจังมากขึ้นมันก็กลายเป็นพิธี คำว่าพิธีก็คือคำเดียวกับวิธี เพราะฉะนั้นจึงมีวิธีที่กระทำนั่นแหละเป็นความถูกต้องเป็นศิลปะแห่งการโฆษณาอย่างหนึ่งด้วย ให้ถูกต้องตามธรรมชาติตามเรื่องของธรรมชาติ ซึ่งเดี๋ยวนี้เขาสนใจกันมากจนเป็นศาสตร์หรือวิชาใหญ่อันหนึ่งเรียกว่าวิชาการโฆษณา เขาหลอกลวงให้คนซื้อสินค้าซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็นอะไรเลยน่ะกันเป็นแสนเป็นล้านเป็นโกศเป็นอะไรก็ได้ด้วยวิธีการโฆษณา ไอ้นั่นมันเรื่องเรื่องหลอกลวง แต่เราไม่ได้มุ่งหมายเรื่องหลอกลวงแต่เราก็มีวิธีการโฆษณาที่ให้คนเข้ามาหาที่พึ่งเข้ามาหาธรรมะ เรียกว่าศิลปะก็ได้แต่ไม่ใช่หลอกลวง ศิลปะนี้มีความหมายได้ทั้งหลอกลวงและไม่หลอกลวง เขาเรียกว่าศิลปะด้วยกันทั้งนั้น ภาษาฝรั่งมันยังค่อยยังชั่วหน่อย ถ้ามันเป็นอาร์ตติสติก ARTISTIC น่ะมันเป็นศิลปะที่จับใจดึงดูดใจเหลือประมาณและมันไม่หลอกลวง ถ้ามันเป็น ARTIFICIALแล้วมันก็คือหลอกลวง นี่เรามีศิลปะที่ไม่หลอกลวงมีความงามจับใจให้คนยินดีฟังยินดีประพฤติตาม โบราณเขาก็เคยใช้ในหลักสูตรนักธรรมหนังสือเล่มไหนผมก็ลืมเสียแล้วแต่ว่าไปดูเองได้มันมีที่พูดถึงปมาณิกา เขาจะเรียกว่าปมาณิกธรรม ปมาณิกธรรมคือสิ่งที่ประชาชนถือเอาเป็นประมาณตามความรู้สึกแห่งประชาชนตามขั้นตอน ไอ้คนโง่ถือไปอย่างคนปูนกลางก็ถือไปอย่างคนฉลาดก็ถือไปอย่างหนึ่ง ฉะนั้นพระราชตคถาจารย์(นาทีที่ 54:01)จึงมีความคิดเห็นชี้ให้เห็นว่าไอ้คนพวกหนึ่งน่ะมันถือเอารูปสวยหรือว่างดงามทางรูปเป็นประมาณ มันจะมาเลื่อมใสวัดวาอารามหรือว่าบุคคลก็เพราะว่าเขามีรูปร่างสวยงาม อีกพวกหนึ่งก็เสียงเพราะเป็นโฆสัปปมาณิกา เอาเสียงเพราะเป็นเครื่องดึงดูด ประชาชนก็หลงอยู่ในเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งอยู่ด้วยเหมือนกัน แล้วอีกอันหนึ่งเรียกว่าลูขัปปมาณิกาเอาการเป็นอยู่อย่างปอนๆทำให้มันเคร่งให้มันปอนให้มันทำยากประชาชนส่วนหนึ่งก็เลื่อมใสเหมือนกันแต่สามอย่างนี้มันไม่จริงจังน่ะ อันสุดท้ายคือธัมมัปปมาณิกา มีธรรมะนั่นแหละเป็นเครื่องชักจูงเป็นสื่อเราควรจะใช้ธัมมัปปมาณิกาเป็นเครื่องชักจูง แต่ถ้าจะใช้รูปหรือเสียงเป็นเครื่องชักจูงบ้างก็ได้เหมือนกันแหละก็ดูให้มันถูกวิธีอย่าให้เป็นการหลอกลวง ดูสนใจที่จะใช้รูปใช้ภาพใช้เสียงใช้อะไรอย่างที่กำลังเห่อกันอยู่นี้ก็มีนะ อย่าให้กลายเป็นเห่อให้เป็นเพียงถูกต้องในการใช้เครื่องมือทางรูปทางเสียง ส่วนทางปอนทางไอ้เคร่งๆห่มจีวรให้ดำเข้าไว้ พูดเบาๆเคลื่อนไหวช้าๆทำอะไรให้มันเคร่งๆเข้าไว้มันก็ได้เหมือนกันแต่อย่าให้เป็นการหลอกลวง ให้มันมีมาจากคุณธรรมในภายในแสดงความสงบมันก็เป็นเครื่องชักจูงได้ดี ทีนี้จะต้องมีเครื่องใช้อุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวก เดี๋ยวนี้เราก็มีกันอยู่ชักเฟ้อชักเกินอยู่แล้ว ทีนี้มันถูกต้องกับประเพณีของเก่าที่เขามีอยู่แล้วอย่างแน่นแฟ้น ประชาชนเขาเชิ่อเรื่องนรกเรื่องสวรรค์เรื่องโลกนี้เรื่องโลกหน้าเรื่องอะไรต่างๆอยู่แล้วอย่างแน่นแฟ้นน่ะอย่าไปปะทะกันเข้าอย่าไปทำสงครามกันเข้า ทำให้มันกลมกลืนให้เขามองเห็นว่าจะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร อย่างไหนจริงกว่าอย่างไหนแน่นอนกว่าเขาก็ปรับเปลี่ยนเอง ศึกษาพระพุทธประวัติให้มากว่าพระพุทธองค์เกิดขึ้นในประเทศอินเดียซึ่งมีความรู้ความเชื่อขนบธรรมเนียมประเพณีอยู่ก่อนนั้นอย่างตายตัวเรื่องเทวดาบ้างเรื่องสวรรค์บ้างเรื่องนรกบ้าง เรื่องอะไรต่างๆมากมายน่ะ แต่พระองค์ก็ไม่ไปทะเลาะวิวาทไปกระทบกระทั่งกับพวกเหล่านั้น ท่านทรงสั่งสอนอย่างกลมกลืนพิสูจน์ความดีกว่าเสมอความจริงกว่าเสมอความเห็นได้ด้วยตนเองที่นี่และเดี๋ยวนี้เสมอ จนเรื่องนรกสวรรค์ทางอายตนะตาหูจมูกลิ้นกายใจมันก็ชนะพวกที่บอกว่านรกอยู่ใต้ดินสวรรค์บนฟ้าได้โดยเด็ดขาด ในประเทศไทยเราก็มีคำสอนชนิดนั้นมาตั้งมั่นประดิษฐานอยู่ในเมืองไทย แต่ก่อนพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป แม้ในยุคพุทธศาสนาเข้ามาถึงแล้วก็ยังมี ขอระบุตรงๆไม่เกรงขามเลยว่าหนังสือไตรภูมิพระร่วงน่ะแหละคือความคิดนึกแบบเก่าแบบโบราณนอกก่อนพุทธศาสนาและเดี๋ยวนี้ได้ยินข่าวว่าเขาสนับสนุนไตรภูมิพระร่วงยกขึ้นเป็นเรื่องสลักสำคัญของชาตินี่ นี่จะต้องกระทบกันเพราะในไตรภูมิพระร่วงเราจะมีการสอนตามแบบโบราณแบบเก่าเรื่องนรกสวรรค์ใต้ดินอะไรต่างๆ จนกระทั่งว่ามีปลารองอยู่ใต้แผ่นดินโลกอย่างนี้ก็มี นี่หนังสือไตรภูมิพระร่วงนั่นแหละที่เขาจะยกขึ้นมาเป็นหลักสำคัญของการศึกษาของชาติเราอย่าไปกระทบกระทั่งเข้า สอนให้ดีกว่าให้เหนือกว่าไว้เสมอนี่ว่าขนบธรรมเนียมประเพณีที่เขามีอยู่แล้วแต่กาลก่อนอย่างเหนียวแน่นอย่างเหนียวแน่นเราจะต้องเอาชนะให้ได้โดยไม่มีการทะเลาะวิวาทกัน อย่างที่พูดมาแล้วว่าแม้แต่ลัทธิตรงกันข้ามเช่น คริสเตียน คริสตังค์ ฮินดู อะไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งจนทะเลาะวิวาทกัน ทำให้เป็นการร่วมมือกันคนละทิศคนละทางคนละฝ่าย และก็ไปข้างหน้าด้วยกันทั้งนั้นล่ะดีกว่า ถ้าเป็นชั้นต่ำของประชาชนคนที่ไม่มีความคิด ไอ้ความงมงายนั้นมันจะกลายเป็นความถูกต้องเพราะมันทำมากกว่านั้นไม่ได้ ความงมงายนั้นเขาได้เลือกกันมาแล้วสำหรับให้งมงาย ผู้มีปัญญาเขาได้เลือกมาแล้วว่าให้ประชาชนงมงายกันในทางไหน ความงมงายนั้นก็ยังเป็นประโยชน์อยู่ คนส่วนรวมเรียกว่าแม้มวลชนมันมันมีโง่มาก ร้อยคนมันต้องโง่ตั้งเก้าสิบแปดสิบคนคนเหล่านั้นมันจะฉลาดไม่ได้มันก็ต้องมีแบบที่ยึดถือกันอย่างงมงายคือที่เหนี่ยวแน่นที่สุดและมันก็เลยรอดมาโดยลักษณะอย่างนี้แล้วด้วยซ้ำไปที่แล้วมาน่ะ ความงมงายได้ช่วยคนงมงายไว้อย่างรอด สติปัญญาก็ช่วยได้เฉพาะคนมีสติปัญญาแล้วก็รอด มันก็รอดมาพร้อมๆกันทั้งคนงมงายและคนไม่งมงาย นั่นแหละวิธีการของเรามันต้องใช้ได้พิธีกรรมวิธีการนี่ต้องใช้ได้ เอ้า,ทีนี้พูดแข่งกับเวลาแล้วข้อต่อไปก็สถานที่ ความถูกต้องถูกฝาถูกตัวเหมาะสมเกี่ยวกับสถานที่ภูมิประเทศนี่พูดกันกว้างๆว่าภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ก็ได้ที่ๆมันสวยงามสบายตาสบายใจมันช่วยได้มาก หรือภูมิประเทศภายในของบุคคลที่มีการศึกษา ดินแดนที่คนมีความรู้มีปัญญาก็เป็นภูมิประเทศชนิดหนึ่ง ดินแดนของคนงมงายไร้การศึกษามันก็เป็นภูมิประเทศชนิดหนึ่ง ภูมิประเทศตามธรรมชาติสวยงามนี่มันก็ช่วยได้มากน่ะไปนั่งพูดกันตรงที่ที่ภูมิประเทศสงบเงียบสวยงามนี่มันได้ผลมากกว่าไปพูดกันในที่รกรุงรังยุงก็ชุมหนวกหูก็หนวกหู มันก็จะต้องรู้จักเลือกเกี่ยวกับสถานที่หรือปรับปรุงเกี่ยวกับสถานที่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือตามที่ชุมนุมชนเขาอยู่กันมาแล้วอย่างไร เราก็ต้องทำให้มันเข้ารูปเข้ารอยกันกับสถานที่ตามที่ชุมนุมชนเขาอยู่กันมาแล้วอย่างไรมันมีหลายรูปแบบเหลือเกิน ทีนี้ยังมีสถานที่เป็นรมณียสถานตามที่เราจัดขึ้นแม้วัดนี้สวนโมกข์นี้ก็รวมอยู่ในพวกนี้มันเป็นสิ่งที่เราจัดขึ้นด้วยเจตนา จะให้เป็นรมณียสถานแต่ไม่ใช่เพื่อกามารมณ์เป็นรมณียสถานเพื่อธรรมะเพื่อจิตใจมันจะสะดวกในการที่จะมีธรรมะ นี่เรียกว่ารมณียสถานที่เราจะจัดขึ้น ถ้าพระธรรมทายาทจะสามารถจัดสถานที่อย่างนั้นขึ้นได้ ก็จะเป็นการสะดวกดีหรือง่ายขึ้นในการที่จะทำหน้าที่ของตนของตน แล้วเรายังจะต้องจัดสำนักงานน่ะ สำนักงานสำนักการทำงานออฟฟิสที่เราเรียกว่าออฟฟิสน่ะ ออฟฟิสนี่ก็ต้องมีจัดขึ้นเฉพาะเพื่อสะดวกง่ายดายในการปฎิบัติหน้าที่ เราจึงมีการสร้างอาคารพอเหมาะสมไม่ ไม่ ไม่เพ้อเจ้อไม่เฟ้อไม่เหลือ แต่ให้พอดีสำหรับหน้าที่การงานที่จะทำมันก็เลยได้ผลดี ความถูกฝาถูกตัวของสถานที่ที่เราจะพูดจะสั่งสอนจะอบรมจะอะไรนี่ก็มีส่วนสำคัญอย่างนี้ เอ้า,ทีนี้เรื่องภายนอกเป็นตัวอย่างหมดแล้วย้อนกลับไปเรื่องทุนอีกทีหนึ่ง ที่เป็นความจำเป็นทั้งภายในและภายนอกทุนมีทั้งภายในและภายนอกทุนภายในสำคัญกว่าคือคุณธรรมของผู้นั้น ทุนภายนอกคือเงิน เงินน่ะเป็นสิ่งที่ต้องระวังคนโง่ๆก็พูดว่ามีเงินแล้วเป็นสำเร็จหมดนี่มันไม่จริงหรอก ถ้าไม่มีสติปัญญาที่ถูกต้องมันเอาเงินไปถลุงละลายหมดไม่เกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นการที่จะจัดการอะไรขึ้นมาอย่าไปหวังเงินโดยส่วนเดียว ต้องหวังทุนภายในคือสติปัญญาด้วย บางทีพระธรรมทายาทจะมุ่งหมายว่าจะใช้เงินเป็นเบื้องหน้านี่ผมว่าไม่ถูก บางทีจะเชือดคอตัวเองโดยไม่ทันรู้ มันจะต้องดูว่าทุนที่สำคัญนั้นก็คือความสามารถความเสียสละนั่นของผู้ที่จะดำเนินงานถ้าเขามีความฉลาดและการเสียสละมากพอนั้นน่ะคือทุนอันใหญ่หลวง ไม่ต้องมีเงินแม้แต่สักบาทเดียวแต่มีความสามารถรู้จริงทำจริงมีการเสียสละจริง พอทำไปทำไปมีคนยื่นมือเข้ามาช่วยจนไม่หวาดไหวจนทำไม่หวาดไหว แต่ถ้าไม่มีอย่างนี้แม้ใครจะช่วยเงินกันทีร้อยล้านพันล้านมันเอาไปละลายหมด บางทีมันจะเปลี่ยนความคิดกลับเป็นคนคดโกงเอาเงินไปใช้ส่วนตัวไปสึกหาเมียเสียดีกว่า อย่าไปทำเล่นกับเงินนะอย่าไปหวังพึ่งเงินอย่าไปหวังพึ่งพระเจ้าเงิน ทุนน่ะมันไม่ได้อยู่ที่เงินเรารู้ว่าทุนที่สำคัญคือทุนภายในคือสติปัญญาความสามารถความจริงความจริงแท้และความเสียสละ มีคุณธรรมภายในเพียงพอและมีธรรมะเป็นเครื่องมือคือฆราวาสธรรมสี่ประการที่พูดแล้ววันก่อนน่ะ อันนั้นใช้ได้สารพัดอย่างอยู่ในโลกนี้ก็ได้ขึ้นเหนือโลกก็ได้ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะนั้นน่ะจะเป็นทุนชนิดที่เป็นเครื่องมือให้เราทำงานสำเร็จประโยชน์ ฉะนั้นขอเน้นสมณสารูปหรือบุคลิกภาพอีกครั้งหนึ่งว่านี้ก็เป็นทุน ถ้าเรามีสมณสารูปดีบุคลิกภาพดีมันก็เป็นทุนอย่างยิ่งยิ่งกว่าเงินสามารถจะลงโรงทำงานอะไรได้โดยไม่ต้องมีเงินแม้แต้บาทเดียว แล้วมันก็มามาจนเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านจนขี้เกียจจะทำน่ะ ทุนภายนอกคือเงินนั้นยังเข้าใจผิดกันอยู่มากระวังให้ดี ทีนี้ภายนอกก็มันยังมีนอกจากเงินแล้วก็มีการสนับสนุนของคนข้างเคียงหรือสังคมหรือบางทีก็ต้องอาศัยอำนาจในบางกรณีก็ต้องอาศัยอำนาจ อำนาจอะไรก็ตามน่ะที่มันมีอำนาจน่ะจะเป็นอำนาจอาวุธอำนาจกฎหมายอำนาจอะไร ที่มันมีอำนาจพอที่จะหมุนเหตุการณ์ไปได้นี่มันก็จะต้องเรียกว่ามีความสำคัญรวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าทุน นี่จึงพูดว่าสิ่งที่เรียกว่าทุนนั้นมีทั้งชนิดที่เป็นภายในทั้งชนิดที่เป็นภายนอกที่กล่าวไปชัดๆโดยตรง ทุนภายในคือคุณธรรมคือความสามารถคือสมณสารูปคือบุคลิกภาพ ที่เป็นภายนอกก็คือความถูกฝาถูกตัวของบุคคล ของธรรมะ ของพิธีกรรม ของสถานที่ แล้วที่เป็นทั้งภายในและภายนอกก็คือทุนดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกฝาถูกตัว งานนั้นจะง่ายอุปมาเหมือนกับว่ากลิ้งครกลงภูเขาถ้ามันไม่ถูกฝาถูกตัวแล้วมันจะยากโดยอุปมาเหมือนกับว่ากลิ้งครกขึ้นภูเขา อยากรู้เรื่องนี้ก็ไปลองดูก็แล้วกันลองกลิ้งครกขึ้นภูเขาดูมันยากเท่าไหร่ กลิ้งครกลงภูเขาดูมันง่ายเท่าไหร่ ในที่นี้ขอยืนยันแต่เพียงว่ากิจกรรมที่เราจะทำในฐานะเป็นธรรมทายาทนั้นขอให้มีอาการที่เรียกว่าถูกฝาถูกตัวโดยลักษณะที่กล่าวมาแล้วเถิด นี่เป็นหัวใจของการงานของธรรมทายาททั้งที่ว่าจะประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือว่าจะประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของสังคม แล้วว่าทั้งชนิดที่เป็นธรรมทายาทฆราวาส หรือฆราวาสอย่างบรรพชิต อย่าลืมว่าแม้เขาเป็นฆราวาสเขาก็อาจทำหน้าที่ธรรมทายาทได้เหมือนกัน แต่ก็ต้องศัยการกระทำที่ถูกต้องถูกฝาถูกตัวโดยหลักมัชฌิมาปฏิปทาคือพอดีไม่เครียดครัดไม่หย่อนยาน และก็เป็นสัมมัตตะคือความถูกต้องหลายๆประการมารวมเข้าด้วยกันเป็นอันว่าสมประสงค์ นี่วันนี้ผมไม่ได้พูดหลักธรรมะโดยเฉพาะแต่พูดวิธีการที่จะใช้ธรรมะออกไปเพื่อทำหน้าที่ของธรรมทายาทว่าขอให้ระมัดระวังความถูกฝาถูกตัวในระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน ขออย่าได้ทำอะไรหวัดๆชุ่ยๆพูดเสียงดังแต่โง่เขลาเป็นอันขาดเลย แล้วการบรรยายนี้สมควรแก่เวลาเท่าที่มีอยู่อย่างจำกัดขอยุติการบรรยายนี้ไว้เพียงเท่านี้และเป็นการบรรยายครั้งสุดท้ายของการอบรมครั้งที่ ๓ นี้
ªªªªªªªªª
ท่านพุทธทาสพูดสนทนาก่อนคณะเดินทางกลับกรุงเทพฯ
ท่านพุทธทาส: คุณจะปิดแล้วหรือก็ทำพิธีปิดน่ะ อ่านั่นน่ะจะทำพิธีปิดแล้วหรือก็ทำไปเถอะจะทำเมื่อไหร่ก็แล้วแต่จะตกลงกันการบรรยายของผมหมด ถ้าปิดไปแล้วก็ต้องไม่พูดอะไรกันอีกปิดไปแล้วอย่าพูดอะไรกันอีกไม่มีการอบรมอะไรอีกเพราะว่าปิดแล้ว