แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เรื่องที่คุณอาจจะไม่ทราบ คนอื่นๆอาจจะไม่ทราบ คนอายุมาก เดินมาแล้วมันก็เหนื่อย แล้วมันก็แน่น คนหนุ่มๆไม่รู้วิ่งขึ้นบนภูเขาก็ได้ ไอ้เราเพียงแต่เดินมานี่มันก็รู้สึกว่าผิดปกติแล้ว
ท่านพระธรรมทายาททั้งหลาย ในการบรรยายครั้งนี้ ผมจะกล่าวโดยหัวข้อว่าธรรมะที่ใช้รวมกันได้ทั้งพระทั้งฆราวาส ธรรมะที่ใช้รวมกันได้ทั้งพระทั้งฆราวาส คิดว่าคงจะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายก็ได้ เพราะมันพูดเรื่องที่รู้ๆกันอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่คงไม่เคยรู้ในประเด็นที่ว่าจะใช้รวมกันได้ทั้งพระและฆราวาสอย่างไร แต่ก็เป็นการพูดถึงเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว เรียนกันมาแล้ว ดังนั้นหวังว่าจะเป็นการบรรยายที่ผู้ฟังจะนั่งง่วงโงกสัปหงกหลับไปมากที่สุดก็ได้ บอกให้รู้เสียเลยว่าจะพูดเรื่องธรรมะที่ใช้รวมกันได้ทั้งพระและฆราวาส ทำไมจะต้องพูดเรื่องนี้ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่นักเรียนนักศึกษา โดยเฉพาะนักธรรมนะเขามองข้ามกันไปเสีย แม้จะมีพูดสอนสะกิดกันบ้างเมื่อเรียนนักธรรม มันก็น้อยเกินไป ไม่ชัดเจนพอ เพราะมันไม่อยู่ในความมุ่งหมายในหลักสูตรที่จะต้องสอนให้ชัดเช่นนั้น แต่เดี๋ยวนี้ผมมามองเห็น มามองเห็นเลยว่าธรรมะมากมายใช้รวมกันได้ทั้งพระทั้งฆราวาส พูดให้มันน่าตกใจกว่านั้นก็คือว่าใช้ได้ทั้งแก่ผู้ที่จะอยู่ในโลกนี้และผู้ที่จะบรรลุนิพพาน พอพูดอย่างนี้ก็ถูกด่าเลย หาว่าโง่เขลา พูดให้เรื่องโลกกับโลกุตระเป็นเรื่องเดียวกันไปเสีย หรือว่าพูดเอาเดียวทั้งที่จะให้เจริญทางโลกและเจริญทั้งทางธรรม จะเป็นเศรษฐีด้วยจะเป็นพระอรหันต์ด้วย เขาว่ามันบ้า และเขาก็ล้อด้วยคำว่าขนมปังแผ่นเดียวทาเนยสองหน้า ไม่มีใครทำ ถ้าเราจะมองว่าธรรมะข้อเดียวใช้ได้ทั้งอยู่ในโลกนี้และเป็นพระอรหันต์นะ อุปมาอย่างนั้น แต่ผมมันมุ่งหมายอย่างอื่น หมายจะบอกข้อเท็จจริงที่มันมีอยู่จริงนี่อย่างหนึ่ง เรามันมุ่งหมายว่ามันเป็นสิ่งที่ทำได้ควรจะรู้และทำได้ ไม่ใช่ขนมปังแผ่นเดียวทาเนยสองหน้า แต่ว่ามันเป็นแซน-วิช ดีกว่าที่มีของประกบสองข้างที่มันไม่เหมือนกัน ในแซนวิชที่เขาใส่อะไรไว้ตรงกลาง แล้วก็มีขนมปังประกบอยู่สองข้าง ถ้ามันเป็นขนมปังคนละชนิดติดกัน ถ้าจะตรงกันข้ามมันก็ยังได้อยู่ดีละ และมันก็คงจะเป็นแซนวิชที่กินอร่อยดีกว่าที่จะประกบด้วยขนมปังชนิดเดียวกันทั้งสองข้าง คุณทำความเข้าใจอย่างนี้ไว้สิแล้วก็จะง่ายที่ว่าธรรมะอย่างเดียวใช้ได้ทั้งเพื่ออยู่ในโลกนี้และเพื่อไปเหนือโลกพ้นโลกคือเป็นโลกุตตระ ทีนี้มันก็มีข้อที่จะต้องคิดต่อไปว่าเราธรรมทายาทมันมีหน้าที่สอนประชาชนที่เป็นฆราวาสมากกว่ากระมัง มากกว่าที่จะไปสอนพระด้วยกัน ฉะนั้นเรื่องที่จะไปสอนฆราวาสกับสอนพระนี่มันต่างกันอย่างไร มันก็ควรจะรู้ หรือที่ว่ามันจะใช้ธรรมะข้อเดียวเรื่องเดียวกันได้ก็ยิ่งควรจะรู้ มันจะเป็นกำลังใจแก่ฆราวาสอย่างมาก และมันต้องทำให้ถูกต้องให้ครบถ้วนตามกฏเกณฑ์ของธรรมะ เราต้องการให้เขาทำงานอย่างได้ผลดีที่สุด สุจริต ขยันแข็ง ทั้งสุจริตทั้งขยันขยันแข็ง แม้เขาจะเป็นชาวนา เขาก็มีชาวนา ก็เป็นชาวนาที่มีจิตใจอย่างอริยชน นี่มันก็เป็นทั้งชาวนา เป็นทั้งพระอริยเจ้าได้นะ ในครั้งโบราณในพุทธกาลก็มีกล่าวถึงคน ฆราวาสบางคนเป็นพระอริยเจ้าในระดับโสดาบันก็มีมาก ทำไมจึงเป็นชาวนาก็ได้เป็นพระโสดาบันก็ได้ เพราะเรื่องมันอย่างนี้ล่ะ ถ้าเราไม่ได้พูดกันถึงเรื่องนี้ ก็นับว่ายังไม่เท่าไหร่ ยังอ่อนมาก ยังอ่อนมาก เราไม่ได้พูดกันถึงเรื่องนี้เพราะว่าเราไม่สนใจนี่ ฉะนั้นผมจึงทำหน้าที่พิเศษคือบรรยายเรื่องที่ให้เกิดการกระทำหรือความสนใจ ผมไม่ค่อยจะได้บรรยายเรื่องวิชาการหรือหลักวิชาโดยตรงเห็นไหม ที่แล้วๆมาก็เหมือนกัน แต่ผมก็จะบรรยายในส่วนวิธีการ วิธีการ เสียมากกว่า ไม่ค่อยบรรยายตัวธรรมะเพราะว่าเรียนกันมาแล้วในโรงเรียน เต็มที่แล้ว แต่วิธีที่จะใช้ธรรมะนั่นนะไม่ค่อยมี ไม่ได้ค่อยสอนกัน เป็นวิธีการ ก็เลยถือโอกาสบรรยายส่วนนี้ที่รู้สึกว่ามันยังขาดอยู่ ฉะนั้นขอให้สังเกตดูให้ดีๆ ที่เป็นครูนักธรรม สอนนักธรรมอะไร รู้เรื่องหมวดธรรม วิชาธรรมะมาอย่างเต็มที่และแตกฉาน แต่ก็มักจะขาดวิธีการที่จะสอนหรือจะแนะให้เขาเอาไปประพฤติ กระทำ ให้ได้รับประโยชน์เต็มที่ ข้อนี้มีมากมาย พูดไม่หมดนะ พูดให้หมดตัวอย่างไม่ได้ จะพูดแต่บางอย่างเท่าที่จะพูดได้ตามสมควรแก่เวลาและก็เอาไปเทียบเคียงเอาเอง ถ้าว่าเราไม่ได้ทำให้สมบูรณ์อย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นความผิดพลาด เป็นความไม่สมบูรณ์อย่างยิ่ง นี่ก็กลัวว่าธรรมทายาทจะทำงานไม่สมบูรณ์ จึงได้คิดซอกแซก ซอกแซก ซอกแซกว่าอะไรที่ยังไม่เคยสนใจกันไม่เคยรู้ก็จะเอามาพูด ดังนั้นในวันนี้มันจึงได้เรื่องที่รวมๆกันแล้วเรียกว่าธรรมะที่ใช้รวมกันได้ทั้งพระและทั้งฆราวาส คือทั้งบรรพชิตและทั้งฆราวาส แม้อย่างนั้นก็ยังต้องแบ่งออกเป็นสองประเภทอยู่ดี คือประเภททั่วไป ประเภททั่วไป คือธรรมดาสามัญทั่วไปนี้ประเภทหนึ่ง และประเภทที่เป็นธรรมะสูง ในระดับสูงอีกพวกหนึ่ง ซึ่งใช้รวมกันได้ ดูแล้วมันก็น่า น่าขำหรือน่าขันดีเหมือนกัน ซึ่งพูดได้ว่าไอ้ธรรมะระดับต่ำของฆราวาส พระก็เอามาใช้ได้ ทีนี้ธรรมะระดับสูงของพระนี่ ฆราวาสก็เอาไปใช้ได้ เรื่องมันสวนทางกันในทางที่จะได้ ไม่ใช่ว่าจะแตกแยกกัน ระดับต่ำหรือระดับทั่วไปเป็นธรรมะที่พูดไว้สำหรับฆราวาส แต่พระก็ต้องเอามาใช้ อีกทางหนึ่งที่พูดไว้สำหรับบรรพชิตทั่วไป โลกุตตระนี่ ฆราวาสก็เอาไปใช้ได้และจะได้ผลดีกว่าที่จะไม่เอาไปใช้เป็นไหนๆ ในวันนี้เวลาเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ มันน้อยกว่าทุกวัน ดูนาฬิกาก็จะต้องพูดเท่าที่เวลาจะอำนวย ทีนี้ก็จะพูดเป็นหัวข้อไปเลยเป็นข้อๆ ระดับต่ำสำหรับที่พระจะสามารถเอามาใช้ได้ สิ่งแรกข้อแรกก็คือการประหยัด ช่วยกันจดจำให้ดีว่าการประหยัด การประหยัดนี่เขามักจะถือกันว่าเป็นเรื่องของฆราวาส พระบางพวกหรือส่วนมากไม่เห็นว่าเป็นเรื่องของพระ พระก็เลยไม่ประหยัด พระพวกนั้นเลยไม่ประหยัด สุรุ่ยสุร่าย ทำลายสิ่งของเสียเป็นอันมาก อย่าเข้าใจว่าเป็นเรื่องสำหรับฆราวาสเท่านั้นในเรื่องประหยัด พระเสียอีกจะประหยัดกว่าประหยัดได้เก่งกว่า เรื่องนี้ก็ขอให้นึกถึงเรื่องพระอานนท์ที่เป็นตัวอย่างแห่งการประหยัดที่ปรากฏอยู่ในพระวินัยปิฎก (นาทีที่ 12:54) หรือมัชฌิมานิกายสุตันตปิฎก(นาทีที่ 12:57)จำไม่ค่อยแม่น แต่ว่ามีเรื่องที่จำแม่นว่ากษัตริย์พระราชา พระเจ้าอุเทน อุเชนีหรืออะไรนี่แหละ เกิดสงสัยขึ้นมาว่าพวกพระนี่คงสุรุ่ยสุร่ายกันใหญ่ เดี๋ยวคนนั้นถวาย เดี๋ยวคนนี้ถวาย เดี๋ยวคนโน้นถวายทั้งอาหารทั้งจีวรทั้งอะไรต่างๆ พระนี่คงจะสุรุ่ยสุร่ายกันใหญ่แล้ว และก็ประณามว่าพระเป็นคนสุรุ่ยสุร่ายกัน ด้วยความดูหมิ่นนั่นและเที่ยวพูดกันอย่างนี้ วันหนึ่งมาพบกันเข้ากับพระอานนท์ ซึ่งถือว่าเป็นเสมือนตัวแทนของพระพุทธเจ้า เป็นเงาตามตัวของพระพุทธเจ้า ก็ถามพระอานนท์ถึงเรื่องนี้ พระอานนท์ก็ตอบว่าไม่เป็นไปได้ เป็นไปไม่ได้ วินัยโดยตรง วินัยโดยอ้อมก็มีแต่เป็นเรื่องการประหยัดทั้งนั้น ธรรมะก็นิยมการประหยัดทั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นก็เลยถามพระอานนท์ว่าท่านใช้จีวรอย่างไร พระอานนท์ก็บอกว่าใช้อย่างระมัดระวังที่สุดประหยัดที่สุดตามวินัย จะปล่อยให้ขาดเกินช่องหลังเล็บไม่ได้ หรือจะต้องซักต้องเก็บรักษาให้มันทนนานที่สุด วินัยไปดูเถอะ คุณก็ไปดูเอาเอง วินัยเรื่องจีวร วินัยเรื่องบาตร วินัยเรื่องอาหารอะไรต่างๆ มันมีความประหยัด มีการประหยัดมาก จะไม่ขอเขาด้วยเหตุว่ามันชำรุดเพียงเล็กน้อย ทีนี้พระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นว่า ถ้ามันขาดมันทะลุท่านทำอย่างไร ก็เย็บ ก็ดาม ปะ ไปตามเรื่อง ทีนี้ถ้าว่ามันเก่าไปอีกจะทำอย่างไร ซึ่งพระอานนท์ก็บอกว่าเราเอามาซ้อนกันเป็นสองผืน สองผืนเก่าๆชำรุด เอามาซ้อนกันเป็นสองผืนเย็บโดยรอบเป็นผืนเดียวกัน ใช้อีกคือไม่ทิ้ง นี่จีวรสองชั้นนั้นน่าจะมาจากอย่างนี้ก็ได้ ที่อื่นอธิบายอย่างอื่น ก็ว่ากันเรื่องเข้าบ้าน เอาสังฆาฏิซ่อนดูไม่ค่อยมีเหตุผล อันนี้มีเหตุผลกว่า ทีนี้พระเจ้าแผ่นดินถามว่าไอ้สองชั้นนั้นแหละใช้ไปๆจนมันเก่า มันเปื่อยแล้วจะทำอย่างไร พระอานนท์ก็บอกว่าเอามาพับเข้าเป็นสี่ชั้น ทำผ้าปูที่นอน จีวรพับกลางแล้วพับกลางอีกทีเป็นสี่ชั้นเย็บติดกันแล้วก็ทำผ้าปูที่นอนไปเรื่อยๆ พระเจ้าแผ่นดินก็ถามว่า ถ้าใช้เป็นผ้าปูที่นอนจนมันเก่าเปื่อยแล้วทำอย่างไร จะเอามาพับเข้าให้สั้นกว่านั้นขนาดเป็นผ้ารองนั่ง เป็นอาสนะ เป็นอาสนะทบกันเข้าจนเหลือขนาดอาสนะและใช้เป็นผ้ารองนั่ง และเมื่อใช้เป็นผ้ารองนั่งจนเปื่อยใช้ไม่ได้ตามความเก่าของมันจะทำอย่างไร พระอานนท์ก็ตอบว่าเอามาพับเป็นผ้าเช็ดเท้า วางอยู่ที่ๆเช็ดเท้า ทีนี้ก็ว่าเมื่อเช็ดเท้าจนมันเช็ดไม่ไหวแล้วจะทำอย่างไร พระอานนท์ก็ตอบว่าเอามาเผาไฟ เอาขี้เถ้าอย่างดี ขี้เถ้าผ้าอย่างดี มันเป็นขี้เถ้าอย่างดีไปผสมกับขี้วัวหรือน้ำฝาด ที่เขามีวิธีทำสำหรับปาดฝากุฏิดินน่ะ กุฏิที่มันทำด้วยดินนี่เอาน้ำนี่ทาฝาทั่วๆไป ก็เป็นฝาใหม่สะอาดขึ้นมา พระเจ้าแผ่นดินเลยยอมแพ้สาธุท่วมหัวๆว่า สมณศากยบุตรนี้ประหยัดที่สุดไม่มีใครเท่าเสียแล้ว คือไม่เหลือแม้แต่ขี้เถ้า แม้แต่ขี้เถ้าของผ้าคิดดูเถอะ ถ้าไม่เคยอ่าน ไม่เคยฟัง ก็ให้รู้ไว้ว่ามันมีเรื่องอยู่อย่างนี้ในพระบาลี ฉะนั้นก็พอจะสรุปได้ว่าเรื่องประหยัดนั้นก็ถึงที่สุด แล้วก็ไปดูประหยัดอย่างอื่นๆเล็กๆน้อยๆ เพื่อสุขภาพอนามัยก็มี เพื่ออะไรก็มี ในวินัยทุกข้อแหละไปดูเถอะ มันจะมีเค้าเงื่อนการประหยัด และมีบางข้อพูดเรื่องการประหยัดโดยตรงเลย เรื่องบาตร เรื่องจีวร นี่ก็คือเรื่องประหยัด ขอให้เราได้ใช้วัตถุปัจจัยของ ทายก ทายิกา จนกระทั่งวินาทีสุดท้ายอย่างนี้เถิด แม้ว่าเรื่องประหยัดเป็นเรื่องของชาวบ้าน ก็เอามาเป็นเรื่องของพระ ใช้ร่วมกันได้ ทีนี้เรื่องถัดมาก็อยากจะระบุไปยังการบูรณะซ่อมแซม ทีนี้เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าพระต้องซ่อมแซมจีวรนี้ปล่อยให้ขาดไม่ได้ กุฏิวิหารอะไรก็ตาม ภาชนะใช้สอยอะไรก็ตาม ต้องบูรณะซ่อมแซม ไม่ใช่เสียนิดหน่อยแล้วก็โยนทิ้ง แม้ว่ามันเหลือเฟือ สิ่งของมันเหลือเฟือ ไม่ต้องซ่อมแซมก็ได้ โยนทิ้งก็ได้มีอันใหม่ใช้ อย่างนี้ขอให้สำนึกอยู่ในใจว่าไม่ถูกแล้ว ตามธรรมะก็ไม่ถูก ตามวินัยก็ไม่ถูก ฉะนั้นขอให้มีการบูรณะซ่อมแซม ในส่วนที่เหลือที่มันมากเกินไปก็เอาไปให้ผู้อื่นได้ ให้เราใช้สิ่งที่บูรณะซ่อมแซมก็ได้ โดยเฉพาะอย่างเดี๋ยวนี้มันมีอะไรมาก เครื่องใช้ไม้สอย มันมากกว่าครั้งพุทธกาลมาก เราควรถือหลักบูรณะซ่อมแซม อย่าชำรุดแล้วทิ้ง ชำรุดแล้วทิ้ง คำบูรณะหมายความว่าแก้ไข ปากกาลูกลื่นถ้าเก็บไว้นานมันก็ตันเขียนไม่ออก ต้องบูรณะแก้ไขด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งถ้ามันฉลาดอยู่บ้าง มันก็ทำให้เขียนได้ เด็กๆมันยังรู้จักทำเลย เมื่อไหร่ที่จะต้องบูรณะก็ต้องบูรณะโดยเฉพาะกุฏิสำหรับอยู่อาศัย พระเณรไม่ค่อยจะบูรณะ มีแต่ทำให้เสียหาย ตอกตะปูตามชอบใจ ดัดแปลงตามชอบใจ รั่วหรือชำรุดก็ไม่ซ่อมแซมแก้ไข อยู่กันไปอย่างนั้นแหละ พระเณรของเราเป็นเสียอย่างนี้ มันก็เลวกว่าชาวบ้านสิ ชาวบ้านเขายังบูรณะแก้ไข แล้วพระไม่บูรณะซ่อมแซม ปฏิสังขรแก้ไขมันก็เลวกว่าชาวบ้าน ฉะนั้นขอให้นึกถึงคำว่าบูรณะ ปฏิสังขร ซ่อมแซม ทีนี้มาถึงข้อว่าพัฒนา พัฒนา คือสิ่งที่ ที่ ที่ คือสิ่งที่มันยังไม่มีหรือมีน้อย ก็ทำให้มันมีขึ้นมาหรือมาก มากขึ้นไปตามที่จะทำได้ ข้อนี้มีคนเข้าใจผิดว่าถ้าพระทำอย่างนั้น พระกลายเป็นคนโลภ ละโมบไป นั่นมันว่าเอาเอง มันโง่เองช่างหัวมัน ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำไปเพราะความโลภ ทำสิ่งที่มันไม่มีให้มันมี และสิ่งที่มีอยู่แล้วให้มันได้ผลดียิ่งๆขึ้นไปงอกงามออกไป ขอให้มีการพัฒนาโดยรายละเอียดหรือโดยรายใหญ่ รายรวม ชาวบ้านเขาจึงต้องการที่สุด คือการพัฒนาทุกอย่างทุกประการ เราก็ควรจะพัฒนาได้ แม้แต่ที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดิน ที่จงกลม ที่อะไรก็ตาม มันก็มีส่วนที่จะทำให้ดีขี้น ให้สะดวกขึ้น ให้สะอาดเรียบร้อยขึ้นก็เรียกว่าเป็นการพัฒนา การป้องกันรักษา นี่ก็เหมือนกัน มันต้องป้องกันรักษาอย่าให้มันชำรุดเร็วกว่าเวลา บางอย่างถ้าป้องกันรักษามันก็ยืนอยู่เป็นอายุคน เป็นชั่วอายุคน ของบางอย่างนี่ถ้าเราใช้ดีๆมันจะยืนยาวไปเป็นชั่วๆอายุคน เช่นเครื่องพิมพ์ดีดเครื่องหนึ่ง ถ้าปฏิบัติ รักษา ใช้และรักษาอย่างถูกต้องมัน มันจะยืนยาวไปชั่วอายุคน สองสามชั่วอายุคนก็ได้ เดี๋ยวนี้ไม่ทันไร เพราะว่านิสัยไม่ ไม่ ไม่ทะนุถนอม ไม่ป้องกัน ไม่รักษา ไม่ประหยัดนั่นแหละ มันมีมาแต่เดิม คือเป็นฆราวาสที่บกพร่องและก็มาบวชพระ แล้วก็บกพร่องในเรื่องนี้ ก็สุรุ่ยสุร่าย ก็ไม่รักษา ไม่ป้องกันไม่อะไรต่างๆ มันก็มีความชำรุดเสียหาย ขอให้ผมยกตัวอย่างเล็กๆน้อยๆสักเรื่องหนึ่ง อย่าถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว อวดดีอะไรไม่ใช่ เมื่อผมบวช เครื่องไทยธรรมถวายพระ อัฐบาตรนะมีหลายอย่าง อย่างหนึ่งมันมีน้ำตาล น้ำตาลทราย และก็ใส่คณโฑ คณโฑน้ำน่ะ อย่างที่มันดี มันใช้ได้เต็มคณโฑแล้วก็ถวายพระอัฐบาตร รุ่งขึ้นหรือวันที่สองเห็นคณโฑนั้นแตกกระจายไปนอนอยู่ในกองขยะหลายลูก นี่คุณลองคิดดูว่าพระผู้ได้รับไทยทานนั่นนะเขาใช้มันอย่างไร เพียงวันเดียวสองวันมันไปเป็นเศษแก้วนอนอยู่ในกองขยะนี่ผมก็ไปเห็นเอง ก็รู้ได้ว่านี่คณโฑที่เราถวายพระอัฐบาตรกับมือของเรา คิดดูว่าถ้าพระเรามีนิสัยประหยัด ระมัดระวัง ป้องกัน รักษาบ้าง มันก็คงอยู่ได้อย่างน้อยสักเดือนสองเดือน หรือมันอาจจะอยู่เป็นปีๆ เป็นของสงฆ์ไปเลยก็มี ก็พอเห็นอยู่ในส่วนนั้น ทีนี้ก็อยากจะพูดถึงเรื่องสุขภาพอนามัย ก็มีคนที่พูดเอาเองว่าพระไม่มีตัวไม่มีตนจะมาห่วงเรื่องสุขภาพอนามัย เจ็บไข้อยู่ก็เป็นคนกลัวตาย ใช้ไม่ได้ เป็นพระที่มีตัวตนมากไปเกินไปก็ถูกตำหนิ พระที่จะมาสนใจสุขภาพอนามัยบ้างก็ถูกตำหนิ นี่สิความโง่ของใคร เอาว่าเราก็จะระมัดระวังรักษาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยอย่าให้แพ้ชาวบ้าน นี่เรียกว่าเป็นหลักเกณท์ที่ใช้ร่วมกันได้ระหว่างพระกับชาวบ้าน คุณก็ดูวินัยเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยมีหลายอย่างนะที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้มากมายเหลือเกิน ไม่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงของเสียหรือในน้ำที่มันทำให้เสียสุขภาพของส่วนรวม อย่างนี้ไม่ต้องพูดแล้วเพราะว่ารู้กันอยู่แล้ว เรียนกันมาแล้วไปเปิดดูอีกก็ได้ และข้อที่ควรจะนึกถึงในกรณีนี้ก็คือข้อที่ว่าถ่ายอุจจาระห้ามเบ่งแรง ภิกษุที่เบ่งแรงย่อมเป็นอาบัติทุกคน นี่ทำไมพระพุทธเจ้าถึงจู้จี้พิถีพิถันขนาดนี้เล่า มันเป็นเรื่องสุขภาพอนามัยทั้งนั้นแหละ ใครลองโง่เขลาถ่ายอุจจาระพรวดพราดเบ่งแรงไม่ทันไรก็เป็นโรคริดสีดวงอยู่นั่นแหละ ขอให้ถือว่าเรื่องสุขภาพอนามัย พระพุทธเจ้าท่านถี่ยิบเลย เราไม่ควรจะโง่ ใช้เป็นหลักทั่วไปทั้งพระทั้งฆราวาสเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ทีนี้ก็มาถึงหมวดธรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับฆราวาสที่เรียกว่าวิธีปฏิบัติไปอ่านดูมีทุกอย่าง พระถือตามได้โดยพฤตินัย นั่นคือทำโดยหลักนั้นได้ตามสมควร ฆราวาสธรรมโดยเฉพาะน่ะเป็นชื่อสำหรับฆราวาสธรรม สำหรับฆราวาสนะพระปฏิบัติได้ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะนี่ปฏิบัติอยู่ในโลก เป็นชาวไร่ ชาวนาก็ดี ปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานก็ได้ นี่ครูนักธรรมทั้งหลายควรจะได้สอนนักเรียนให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ ชาวนามีสัจจะจริงใจ ทมะบังคับตนให้ทำตามนั้น ขันติอดกลั้นอดทน ก่อนจะสำเร็จ จาคะสิ่งใดเป็นสิ่งที่ขัดขวางอุปสรรคสละมันไปเสียเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้ดี ฉะนั้นฆราวาสนั้นก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง พระเราก็เหมือนกันแหละ มีสัจจะในสิ่งที่จะต้องทำ มีทมะบังคับตนเองอยู่เสมอ และก็มีขันติอดกลั้นอดทน เพราะความมีสัจจะปฏิบัตินั้นมันต้องมีการอดกลั้น อดทน มีจาคะคือสละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน ที่เป็นอุปสรรคของการปฏิบัติ สละออกไปเสมอก็เป็นบรรพชิตที่ดีมีคุณธรรมของบรรพชิต และทำอย่างนี้เรื่อยไปๆ จนบรรลุมรรคผลนิพพาน เมื่อถึงขั้นเป็นพระโสดาบันแล้วก็ยังมี สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เรื่อยไปอีกจนกว่าจะเป็นสกิทาคามี อนาคามีและเป็นพระอรหันต์ เพราะมันเป็นหลักธรรมที่เป็นประเภทเครื่องมือในธรรมะทั้งหลาย ไปสังเกตดูให้ดีมันจะมีอยู่เป็นสองแผนก สองพวก พวกหนึ่งเป็นตัวธรรมะแท้ๆว่าต้องปฏิบัติลงไปอย่างนี้ ลงไปอย่างนี้ ลงไปอย่างนี้ เป็นตัวธรรมะแท้ ธรรมะอีกพวกหนึ่งเป็นเพียงเครื่องมือให้ปฏิบัติอย่างนั้นได้ เป็นธรรมะเครื่องมือ ธรรมะจะมีอยู่สองชนิดอย่างนี้เสมอ แต่ว่าธรรมะบางพวกก็เป็นได้ทั้งสองอย่างพร้อมกันไปในคราวเดียวอย่างนี้ก็มี ทีนี้เรามีสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ใช้รวมกันทั้งฆราวาสและบรรพชิต ทำไมท่านจึงบัญญัติธรรมะนี้ว่าเป็นธรรมะสำหรับฆราวาส ก็เพราะว่ามันจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับฆราวาส ทีนี้ความหมายที่ลึกไปกว่านั้นก็คือว่า สำหรับฆราวาสจะพ้นจากความเป็นฆราวาส ฟังออกไหม ดูให้ดี ทำไมได้เรียกว่าฆราวาสธรรมล่ะ ก็เพราะว่าฆราวาสจะได้ใช้เพื่อพ้นจากความเป็นฆราวาส ฆราวาสจะพ้นจากความเป็นฆราวาสมาเป็นพระอริยเจ้าได้ก็เพราะธรรมะ ๔ อย่างนี้แหละ ถ้ายังไม่สมัครเป็นพระอริยเจ้าก็ทำนาทำสวนไปด้วยอาศัยธรรมะ ๔ อย่างนี้ ก็พูดได้เลยว่าฆราวาสธรรมเพื่อความเป็นฆราวาสสมบูรณ์ก็ธรรมะ ๔ ข้อนี้ ฆราวาสธรรมเพื่อฆราวาสจะพ้นจากความเป็นฆราวาสก็ธรรมะ ๔ ข้อนี้ ผมเทศน์เรื่องฆราวาสธรรมมาตั้งแต่เริ่มหัดเทศน์ เริ่มหัดเทศน์และก็สอนอย่างนี้ทั้งนั้น แม้แต่ผู้ที่จะไปบรรลุมรรคผลนิพพานก็ต้องใช้ เลยถือเป็นธรรมะประเสริฐที่สุดสำหรับมนุษย์ เมื่อไปเทศน์อบรมข้าราชการและประชาชนภาคใต้สิบสี่จังหวัดรวดเดียว ไปทุกจังหวัด ข้าหลวงภาคเขาพาไปแต่ละจังหวัดแต่ละอำเภอ ผมเทศน์แต่เรื่องนี้เรื่องเดียวไม่ละอายล่ะ มาบอกทุกคนให้รู้ว่าผมเทศน์แต่เรื่องฆราวาสธรรมเรื่องเดียวสิบสี่จังหวัด ร้อยกว่าครั้ง เทศน์จนหลับก็เทศน์ได้ ถ้าเรื่องนี้นะหลับไปพลางเทศน์ไปพลาง เดี๋ยวก็นึกตื่นขึ้นมาก็กำหนดใหม่ ว่าไปพลางหลับไปพลาง เทศน์จนหลับก็เทศน์ได้เรื่องฆราวาสธรรม จำได้ว่าร้อยกว่าครั้งเกือบสองร้อยครั้งเรื่องฆราวาสธรรม มันก็สำเร็จประโยชน์นะเพราะฆราวาสเขาก็ใช้ได้ดีที่สุด ถ้าจะออกมาจากความเป็นฆราวาสก็ใช้ธรรมะนี้อีกเหมือนกัน ฉะนั้นเราจึงเรียกว่าเป็นธรรมะตลาดใช้ร่วมกันได้ทั้งฆราวาสและบรรพชิต เดี๋ยวนี้ก็ดีมากที่ในหลวงท่านเลือกเอามาเป็นธรรมะสำหรับประชาชน ตรงเรื่องตรงราวที่สุดเอามาขอร้องให้ประชาชนยึดถือเป็นหลักฆราวาสธรรม ๔ ประการ พอละตัวอย่างในเรื่องที่ว่าระดับทั่วๆไปเพื่ออยู่ในโลกเอามาใช้เพื่อโลกุตตระ ทีนี้ก็มาพูดถึงพวกที่สอง ประเภทที่สองหรือระดับสูงที่เอามาใช้ในเรื่องของฆราวาสระดับต่ำก็ได้ เราสอนกันมันไม่ ไม่ตรงตามความเป็นจริง มันสอนตามประเพณี ตามที่สอนตามๆกันมา ไอ้ธรรมะเลยถูกจัดไว้เฉพาะมากเกินไป เช่นถ้าใครเอาเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ ไปสอนชาวบ้าน เขาหาว่าบ้าแล้ว เขาว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นหนทางสำหรับไปนิพพาน จะไปสอนชาวบ้านเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างไร เป็นเรื่องของอริยะสัจขั้นสูงสุด ผมว่าไม่บ้า ถูกที่สุดเหมาะสมที่สุด ไอ้คนว่านะมันบ้ามันหลับหูหลับตาว่า เรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องสงวนไว้สำหรับผู้ที่จะไปนิพพาน ท่านกล่าวว่ามันเป็นเครื่องมือสำหรับดับทุกข์ ฉะนั้นมันจะต้องดับทุกข์ได้ทุกชนิด ถ้ามันดับทุกข์ชั้นสูงได้มันก็ต้องดับทุกข์ชั้นต่ำได้ ถ้ามันดับทุกข์ชั้นต่ำไม่ได้แล้วมันจะดับทุกข์ชั้นสูงได้อย่างไร มันขัดกันอยู่ในตัวอย่างนี้ เรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นต้นนี้มันก็เป็นเรื่องที่ใช้ดับทุกข์ ไม่ว่าทุกข์ชนิดไหน ทุกข์ของคนยากจนเข็ญใจ ทุกข์ของชาวไร่ชาวนาหรือว่าทุกข์ของผู้มีอันจะกิน หรือว่าทุกข์ของผู้ไม่มีอันจะกิน ไม่ว่าทั้งเทวดาและมนุษย์มีความทุกข์อยู่ก็ต้องใช้หลักอันนี้ เพื่อจะดับทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น เราพูดอย่างนี้เขาก็ไม่ยอมฟัง เขาก็ไม่ยอมเชื่อ เขาก็ตัดบท โดยที่คนแต่ก่อนเขาไม่เคยพูดอย่างนี้ เขาไม่แนะกันอย่างนี้ เขายกไว้ให้เป็นเรื่องของพระนิพพานอย่างเดียว ผมว่าไม่ได้แล้ว ถ้าขืนรักษาความโง่อันนี้ไว้ต่อไปไม่สมควร จึงเอามาพูดกับท่านทั้งหลายที่เป็นธรรมทายาท ให้พิจารณาดูถึงธรรมะระดับสูง ระดับที่จะไปสู่การตรัสรู้หรือนิพพานให้ดีๆ และมองดูแง่มุมที่จะเอามาใช้ดับทุกข์ แม้ของฆราวาสโดยทั่วไป หมวดธรรมะหมวดแรกที่จะพูดถึงก็คือหมวดอิทธิบาท หมวดอิทธิบาท ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ซึ่งรู้กันทั่วไปว่ามันสำเร็จประโยชน์ทุกอย่าง ที่เผอิญว่าคนบางคนเขาไม่รู้ว่าอิทธิบาท ๔ มันมีที่มาที่ไหน อิทธิบาท ๔ มันมีที่มาในหมวดธรรมะที่สูงคือโพธิปักขิยธรรมโน่น โพธิปักขิยธรรมเป็นไปเพื่อตรัสรู้มันมีอิทธิบาท ๔ รวมอยู่ด้วยเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานนะ มีอิทธิบาท ๔ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ ก็เลย เขาก็พูดได้ว่าอิทธิบาทสำหรับฆราวาส พูดกันจนป็นเรื่องของฆราวาสไปเสีย อิทธิบาท ๔ ลืมไปว่ามันเป็นโพธิปักขิยธรรม ฆราวาสทำไร่ทำนาทำอะไรก็ตามใช้อิทธิบาท ๔ เอาตัวรอดได้ในเวลาอันสั้น แต่การจะปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานที่เป็นการตรัสรู้ เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ที่เรียกว่าโพธิปักขิยะหรือโพธิปักขิฏะ ที่เรียกกันอยู่สองอย่างนี้มันมีอิทธิบาทรวมอยู่ด้วย ก็ต้องมีอย่างยิ่งอย่างแน่นอนมันจึงจะครบตามหลักของโพธิปักขิยธรรม ใช้ชั้นสูงสุดก็ได้ เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือบรรลุนิพพานก็ได้ จะใช้ระหว่างนั้นกี่ขั้นกี่ตอนกี่ระดับก็ยังได้ ฉะนั้นไปแจกแจงให้ดีให้ฆราวาสเข้าใจว่าอิทธบาท ๔ มันเป็นอย่างนี้ๆ ใช้สำหรับพุทธบริษัททุกระดับ แม้ว่ามันรวมอยู่ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือเพื่อนิพพาน มันก็เอามาใช้ทำไร่ทำนาได้ไม่ขัดเขินหรือไม่ต้องดัดแปลงอะไร ฉันทะก็พอใจในสิ่งที่ทำ วิริยะก็ทุ่มเทกำลังงานให้มันเต็มที่ จิตตะก็เอาใจใส่ กำลังใจทั้งหมดใช้มันไป วิมังสาก็คอยสอดส่องปรับปรุงแก้ไข ก็ต้องทำแม้แต่ว่าคนทำงานต่ำที่สุด ทำงานหนักที่สุด ถ้ารู้จักใช้อิทธิบาทก็ทำได้สำเร็จก็จะก้าวหน้าสูงยิ่งๆขึ้นไป ทีนี้โพธิปักขิยธรรมก็กล่าวถึงหมวดที่ ๕ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ เป็นโพธิปักขิยธรรม ก็ไม่เอามาอีกแหละ ก็เอาไปไว้ให้พระบรรพชิตสูงสุดปฏิบัติเพื่อกรรมฐานภาวนา มันก็จริง การปฏิบัติกรรมฐานภาวนามันตั้งรากฐานอยู่บนอินทรีย์ ๕ พละ๕ แต่ว่าไปดูสิ แต่ละข้อ ละข้อ มันเอามาใช้กับชาวนาก็ได้ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มันจะทำอะไรมันต้องมีความเชื่อในสิ่งนั้นเพียงพอ แล้วก็มีความพากเพียรเพียงพอ มีสติเพียงพอ มีสมาธิเพียงพอ มีปัญญาเพียงพอ ในฐานะที่มันเป็นธรรมะสำคัญก็เรียกว่าอินทรีย์ ในฐานะที่มันเป็นธรรมะให้กำลังก็เรียกว่าพละ ชื่อมันอย่างเดียวกัน ฉะนั้นในหลักของการเจริญวิปัสสนา ท่านให้คอยทดสอบตัวเองอยู่เสมอว่ามันเป็นอย่างไร ว่าศรัทธาของเราเป็นอย่างไร วิริยะเป็นอย่างไร สติเป็นอย่างไร สมาธิเป็นอย่างไร ปัญญาเป็นอย่างไร อันไหนหย่อนไป อันไหนพอดีแล้ว อันไหนเกินไป ก็ให้มันพอดีๆประสานงานกันได้เต็มที่ บางทีจิตมันง่วงเหงาซบเซาเมื่อกำลังทำกรรมฐานทำภาวนาน่ะ ก็ดูสิว่ามันซบเซาง่วงเหงาเพราะอะไร เพราะศรัทธามันไม่พอหรือ ก็เพิ่มศรัทธาคิดนึกไปในทางศรัทธา และก็ความเพียรมันไม่แก่กล้า ก็เพิ่มความเพียร สติมันไม่สมบูรณ์มันก็เพิ่มสติ ฉะนั้นขอให้จำไว้ว่าท่านได้กล่าวไว้เป็นหลักในพระคัมภีร์ ชั้นพระบาลีว่าให้ทดสอบอินทรีย์และพละของตนอยู่เสมอสำหรับโยคี โยคาวจร ว่าอะไรขาด อะไรเกิน อะไรพอดี แล้วก็เพิ่มลดอะไรกันให้พอดี การทำภาวนานั้นก็เป็นไปได้ ทีนี้ชาวบ้านล่ะ ชาวบ้านที่เขาจะทำนา ทำสวน ทำอะไรก็ตาม ก็ต้องนึกถึงอยู่เสมอว่าความเชื่อมั่นในการงานนั่นมีมากพอหรือไม่ หรือมันท้อถอยลังเลอยู่กลางคัน ความพากเพียรนี่เราได้ใช้ถึงที่สุดหรือเปล่า เรามีสติ สุขุม รอบคอบในการกระทำ ไม่พลั้ง ไม่เผลอ ไม่บกพร่องในอะไรหรือเปล่า กำลังจิตของเราเต็มที่หรือเปล่า ปัญญาความรู้ของเราในหน้าที่การงานของเรานี้มันมีครบถ้วนหรือเปล่า ก็เอามาใช้แม้แต่การทำไร่ ทำนา ค้าขาย อะไรก็ได้ที่เป็นการงานของมนุษย์ เอามาใช้ทั้งอินทรีย์และทั้งพละ เอามาใช้ในการเป็นอยู่ของฆราวาสก็ได้ ถ้าฆราวาสคนไหนมันไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ก็ขอร้องให้ฆราวาสคนนั้นทดสอบดูสิ่งทั้ง ๕ เหล่านี้ของตน ของเขาน่ะดูบ้าง เขาก็จะพบไอ้สิ่งที่มันขาด มันจึงไม่ก้าวหน้า มันจึงท้อแท้ มันจึงอ่อนแอ มันจึงบังคับจิตนิดหน่อยก็ไม่ได้ เป็นฆราวาสที่บังคับจิตนิดหน่อยก็ไม่ได้ เดี๋ยวมันก็ก็ฉิบหายหมดแหละ มันโกรธง่ายเกินไป มันรักง่ายเกินไป มันหลงง่ายเกินไป และก็ฉิบหายถึงแม้จะเป็นฆราวาส แต่ถ้ามันมาควบคุมให้อินทรีย์ ๕ พละ ๕ มีอยู่อย่างครบถ้วนและถูกต้อง ไอ้สิ่งเหล่านี้มันก็หายไปในฆราวาส ฆราวาสแท้ๆที่ทำไร่ ทำนา ก็ยังต้องใช้ธรรมะ ที่เป็นโพธิปักขิยธรรม ทีนี้ก็มาถึงไอ้หมวดที่สำคัญที่สุดหมวดหนึ่ง ซึ่งจำเป็นนักสำหรับบรรพชิต และก็จำเป็นด้วยเหมือนกันสำหรับฆราวาส คือโพชฌงค์ โพชฌงค์ พระนี่จะรู้จักโพชฌงค์กันแต่เพียงสำหรับไปสวดให้คนเจ็บฟัง แล้วเอาค่าปัจจัยไทยธรรม จะรู้จักโพชฌงค์กันแต่เพียงเท่านั้นกระมัง คิดดูให้ดีสิ ถ้าเรารู้จักโพชฌงค์กันแต่เพียงเท่านี้ละก็ น่าละอายอย่างยิ่ง โพชฌงค์องค์แห่งการตรัสรู้ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา โพชฌงค์ทั้ง ๗ นั่น องค์แห่งการตรัสรู้ คือบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้านั่น ไม่ใช่เพียงแต่ไปเอาไว้สวดเมื่อคนเจ็บ ให้เขาหายเพราะการสวดซึ่งมันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าคนเจ็บนั้นมันไม่รู้เรื่องนี้แล้วไม่มีหายหรอก ถ้าไปสวดให้คนเจ็บที่มันรู้เรื่องนี้อยู่และมันพอใจ มันมีปีติ มันหายโรคหายภัยได้ หรือมิฉะนั้นก็จะค่อยทุเลาขึ้นมาสักหน่อยเพราะความเชื่อตามขนบธรรมเนียมประเพณีว่าถ้าพระมาสวดโพชฌงค์แล้วเราจะหาย เขาก็มีกำลังใจขึ้นมาบ้าง รู้สึกทุเลาบ้างไม่ถึงที่สุด เว้นไว้แต่ผู้นั้นน่ะมันรู้เรื่องโพชฌงค์ทั้ง ๗ ดีว่าเป็นอย่างไรๆ และตนก็เคยมีมาแล้ว และตนเองก็ได้ประสบผลของสิ่งเหล่านี้มาแล้วฉะนั้นไปอ่านดูในพระบาลีโดยตรงสิที่ว่าพระองค์ไหนไม่สบาย พระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระองค์ไหนไปสวดโพชฌงค์ พระไม่สบายเหล่านั้นล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น ผู้เป็นอรหันต์เหล่านั้นก็รู้เรื่องโพชฌงค์ดี พอมีผู้ไปออกชื่อหรือไปเตือนโพชฌงค์ทั้ง ๗ ขึ้นมาใหม่ โอ้,จิตมัน มัน มันนั่นขึ้นมาทันที จิตมันเต็มไปด้วยไอ้ความรู้สึกที่สดชื่นแจ่มใสเข้มแข็งขึ้นมาทุกอย่างเลยจนกำจัดโรคภัยนั้นหายไปได้ ในพระบาลีทั้งหลายไม่เคยพบที่ไปสวดโพชฌงค์ให้ชาวบ้านฟัง ไปสวดให้พระอรหันต์ด้วยกันฟังหรือกระทั่งว่าสวดให้พระพุทธเจ้าเองเมื่อคราวประชวรฟัง ท่านเหล่านี้ฟังถูกนี่ รู้ว่าโพชฌงค์เป็นอย่างไร เมื่อเกิดอะไรๆขึ้นใหม่ในจิตใจจนถึงกับว่าขับไล่ความรู้สึกที่เป็นโรคภัยออกไปเสียได้นี่โพชฌงค์ ไม่ใช่เพียงแต่เท่านี้โพชฌงค์มันต้องมีตั้งต้นมาตามลำดับ จนสำเร็จประโยชน์ และถ้าเรามองเห็นอันนี้เราก็จะเกิดกำลังใจแรงกล้า กำจัดความรู้สึกที่ไม่พึงปรารถนาออกไปเสียได้หมด กระผมขอร้องว่าให้ไปทบทวนกันใหม่เถิด เท่าที่เรียนมาในโรงเรียนบาลี โรงเรียนนักธรรมมันไม่พอ เรียนกันมาอย่างลวกๆ ผิวๆ ไปทบทวนเสียใหม่ เรียนกันเสียใหม่ให้รู้ว่ามันเป็นอะไร สติคือความระลึกได้ มันระลึกถึงธรรมะทั้งหลายทั้งปวงทั้งภายนอกทั้งภายใน ทั้งที่เป็นเหตุ ทั้งที่เป็นผล ทั้งที่เป็นปัญหาและเป็นเครื่องดับปัญหา มีทั้งเรื่องความทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ รู้วิธีการดับทุกข์ มันต้องระลึกได้ ในสิ่งที่จะต้องระลึก เราถึงเรียกว่าระลึกกันเสียก่อนว่ามันมีอะไร เป็นอย่างไร อะไรคืออะไร อะไรเพื่ออะไร โดยรอบตัวเรา แล้วก็มีธัมมวิจยะ ธรรมวิจัยมันก็เป็นการเลือกเฟ้น มันเลือกเฟ้น เลือกเฟ้นจนพบว่าธรรมะสัจจะในกรณีนี้คืออย่างไร อะไรเป็นตัวความทุกข์ อะไรมันจะดับความทุกข์ในกรณีนี้ได้ ก็เป็นธัมมวิจยะ คือธรรมะที่เลือกแล้ว พบตัวแล้วทั้งฝ่ายที่เป็นปัญหาและฝ่ายที่จะแก้ปัญหา เลือกกันอย่างดี เลือกกันอย่างดีจนพบตัวปัญหาและตัวที่จะแก้ปัญหา และก็ต้องมีขอบเขตของการเลือกพอสมควร คล้ายๆกับว่าเราไปเลือกเก็บดอกไม้ในสวนอุทธยาน ที่ซึ่งมีดอกไม้นาๆชนิด นาๆแบบ ก็เลือกเอามาได้ดีพอที่จะมาทำเป็นมาลาให้สวยงามที่สุดได้ เพราะมันมีให้เลือกให้ครบ ถ้าไอ้คนมันโง่มันก็ไม่รู้จักเลือกมันก็อีกส่วนหนึ่งนะ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ได้หมายถึงคนโง่ เพราะคนโง่มันจะมาทำ โง่เกินไปเป็นปทปรมะนะมันพูดกันไม่รู้เรื่องหรอก แต่นี่หมายถึงคนธรรมดาสามัญที่พอจะรู้เรื่องก็เลือกได้ หรือว่าเข้าไปในป่าทั้งป่าดงมหาศาลนี่ก็เลือกไม้อันไหนจะมาทำประโยชน์อะไรได้ เขาก็เลือกเอาไม้อันนั้นมา เอามาทำบ้าน ทำเรือน ทำอะไรก็ตาม ทำเครื่องใช้ไม้สอย ทำเกวียน ทำทุกอย่างแหละ มันก็ทำได้ เพราะมันเลือกเอามานี่ มันเลือกเอามาจากทั้งหมดที่รู้จักดี นี่ระลึกไปหมดและเลือกเอาที่จะต้องใช้ในกรณีนี้ ทีนี้พอพบแล้วก็มีวิริยะ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ก็ลงมือทำ ลงมือทำ ทุ่มเทกำลังทั้งหมดในการทำพากเพียรทำ ใช้กำลังกันเต็มที่ในการทำ ทีนี้ต้องรู้จักพอใจ ทำได้เท่าไหร่พอใจเท่านั้น ทำได้เท่าไหร่พอใจเท่านั้น ปีตินั้นมันก็หล่อเลี้ยงความเพียร ถ้าไม่รู้จักพอใจในส่วนที่ทำได้แล้ว ไม่มีอะไรหล่อเลี้ยงความเพียร เดี๋ยวมันก็ขี้เกียจ นี่เราทำความเพียรอย่างยิ่งได้เท่าไหร่ ก็ปีติพอใจในส่วนที่ทำได้จะเกิดปีติขึ้นมาหล่อเลี้ยงวิริยะ มันก็ไปกันได้เรื่อยแหละ มันก้าวหน้าในการกระทำ ปีติก็เพิ่มในการหล่อเลี้ยง ความเพียรมันก็ถูกหล่อเลี้ยงด้วยปีติอย่างนี้เรื่อยไป ๆ เมื่อมันเติมเต็มกันอย่างนี้มันก็ถึงจุดที่ถูกต้อง พอดี เหมาะสม ที่เรียกว่าปัสสัทธิ แม้ตัวหนังสือจะแปลว่าระงับลง มันก็มีคำว่า ปัฏฏิ(นาทีที่ 52:50) มันก็เฉพาะเรื่อง คือมันเข้ารูปนั่นเอง ทุกๆอย่างมันเข้ารูปเข้าตามหน้าที่เฉพาะของมันเรียกว่าปัสสัทธิ ก็เรียกว่าเข้ารูป ระงับลง เข้ารูประงับลงหมายความว่าปัญหามันหมดไป ปัญหามันหมดไป ด้วยจิตที่มันไม่ ไม่ ไม่ถูกเรื่องถูกราวน่ะ มันเริ่มถูกเรื่องถูกราว มันเข้ารูปของมัน มันก็ระงับลง นี่ก็ปัสสัทธิ ทีนี้ปัสสัทธิแล้วก็มีสมาธิเป็นองค์ที่ ๖ ก็หมายความว่าทุ่มเทกำลังจิตถึงที่สุด จนทั้งหมดนั้นมารวมอยู่ที่สมาธินี่ทั้งนั้น นี่มีสมาธิคือกำลังจิตที่ทุ่มเทลงไปในเรื่องนี้มันถึงที่สุด มันเข้ารูปแล้วได้ใช้กำลังหมดแล้ว ทีนี้ทำอะไรไม่ได้มากกว่าที่จะนั่งดู นั่งดู ว่ามันอะไรจะเกิดขึ้น ว่ามันจะถึงที่สุดความสำเร็จได้อย่างไร ถ้าจะมีอุปสรรคอะไรแทรกแซงเข้ามาจะแก้ไขได้ทันที เปรียบเสมือนกับนั่งเฝ้าดูให้กิจการนั้นดำเนินไป ดำเนินไป ดำเนินไป คำว่าอุเบกขาน่ะไม่ได้แปลว่าเฉยนะ เรามาแปลกันเอง สอนกันเอง แปลว่าเฉยนี่ ตัวหนังสือไม่ได้แปลว่าเฉย อุบะแปลว่าเข้าไป อิฏฐะแปลว่าดู เข้าไปมองดูอยู่ เข้าไปเพ่งดูอยู่ เข้าไปเพ่งดูอยู่ ไม่ใช่ไม่ทำอะไร ถ้าเฉยก็นอนหลับก็ได้ แต่มันอาการเฉยมีอยู่ คือว่าไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่เฝ้าดู นั่งเฝ้าดู เหมือนกับคนนั่งเฝ้าเครื่องจักรที่เครื่องจักรกำลังทำงานน่ะ เขาไม่ต้องทำอะไรเขานั่งเฝ้าดูจริงๆ แต่เขาพร้อมที่จะทำอะไรทันที ถ้าว่ามีอะไรเกิดขึ้นแก่เครื่องจักรนั้น ไอ้การนั่งดูนั่นไม่ใช่ไม่ทำอะไรเสียเลย มันคอยดู ระมัดระวังให้เป็นไปตามนั้นอย่างถูกต้อง นี่เรียกอุเบกขา ไม่ได้แปลว่าเฉยไม่ทำอะไร แต่ว่าอุบะ อิฏฐะ(นาทีที่55.28) เข้าไปเพ่งดูอยู่โดยไม่ต้องทำอะไร แต่พร้อมที่จะทำ เมื่ออะไรมันเกิดขึ้น นี่มันก็ปล่อยไปอย่างนี้ ปล่อยไปอย่างนี้ ไอ้พฤติของการงานหรือของจิตนั้นมันก็เป็นไปๆจนถึงที่สุด บรรลุธรรมะ จุดหมายปลายทางได้เพราะการนั่งดูเฉยอยู่นั่นแหละมันเป็นไปเองได้ ถ้าทุกอย่างกระทำถูกต้องแล้ว ผมขอแทรกพิเศษว่าการที่ไปสอนเรื่องพรหมวิหาร เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาน่ะ เมตตาก็รักใคร่ กรุณาก็ช่วยเหลือ มุทิตาก็ยินดีด้วย พอถึงอุเบกขาก็เฉยอยู่ เฉยหมด อันนี้ผิดหมด บางคนก็สอนเรื่องพ่อแม่เลี้ยงดูเด็ก มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตาและอุเบกขา ก็เฉยอยู่อย่างนี้ มันเฝ้าดูเฉยอยู่ มันพร้อมที่จะช่วย ฉะนั้นสอนเรื่องเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ให้ถูกต้องว่าในกรณีที่เดี๋ยวนี้มันทำอะไรใม่ได้แล้ว แต่มันก็เฝ้าดูเฉยอยู่ว่าถ้าจะทำอะไรได้ก็จะทำทันที ฉะนั้นในอุเบกขามันคือพร้อมที่จะช่วยทันที ไม่ใช่นั่งหลับเสีย มันนั่งมองดูอยู่ว่าจะช่วยอะไรได้ แล้วก็จะช่วยทันที นี่ไปสอนเรื่องเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา กันเสียใหม่ให้ถูกต้อง อุเบกขาไม่ใช่วางเฉย โดยไม่มีความรู้สึกอะไร ไม่รับผิดชอบอะไร นี่ยังรับผิดชอบอยู่ว่าถ้าอะไรเกิดขึ้นแก้ไขได้ก็จะแก้ไขได้ทันทีเลยนั่นแหละคืออุเบกขาที่ถูกต้อง ที่จะทำกับลูกเด็กๆก็ดี จะทำกับเพื่อนมนุษย์ก็ดี นี่ธรรมะนี้สำคัญมาก เราอุเบกขาในชีวิตหมายความว่าเราปล่อยให้เป็นไปตามความถูกต้องไม่ได้ทำอะไร แต่เราก็พร้อมที่จะทำอะไรถ้ามันเกิดขึ้น นี่ธรรมะสูงสุดบรรลุมรรคผลนิพพาน โพชฌงค์ ๗ นะ ใกล้ชิดพระนิพพานอย่างยิ่ง เราเอาไปใช้ในการทำไร่ ทำนา ทำสวนก็ได้โดยความหมายเดียวกัน ข้อแรก คนนั้นต้องมีสติระลึกเลือกการงานทั้งหมดว่าเขาจะต้องทำอะไร จะต้องทำอย่างไร ที่เขาศึกษานั่นแหละ เขาศึกษาเขาเลือกว่าเราจะทำอะไรดี เราจะหากินด้วยอะไรดี แล้วงานที่เราจะทำนั้นมันมีอะไรบ้าง แล้วก็เลือกทุกอย่าง เลือกเครื่องไม้เครื่องมือ เลือกโอกาส เลือกสถานที่ เลือกเวลา พอเราระลึกได้หมดแล้วเราก็เลือกได้ เรามีสติระลึกให้หมด แล้วเราก็เลือกด้วยธัมมวิจยะเลือกมาให้หมด นึกมาให้หมด เลือกมาให้หมด แล้วมันก็เลือกได้ที่เหมาะสมที่สุดว่าเราจะทำนาอย่างนี้ เราก็เลือกเครื่องไม้ เครื่องมือ สัตว์ พาหนะอะไรให้มันดี แล้วเราก็ลงมือทำด้วย วิริยะความพากเพียรอย่างยิ่ง ทีนี้ทำได้เท่าไหร่ก็พอใจเท่านั้น และก็มีกำลังใจที่จะทำต่อไป เพียงแต่ชาวนานั้นขุดดินได้สามสี่ครั้งในครั้งแรก ก็พอใจแล้วว่ามันขุดดินได้สามสี่ครั้ง แถวหนึ่งแล้ว นี่มันมีปีติเกิดขึ้นหล่อเลี้ยงการเหน็ดเหนื่อยไม่ให้เหน็ดเหนื่อยให้ชุ่มชื่น ให้เหงื่อนั้นกลายเป็นน้ำเย็น เป็นน้ำมนต์เย็นไปเลย ไม่ต้องเดือดร้อนไม่ต้องทิ้งงาน นี่วิริยะต้องถูกหล่อเลี้ยงด้วยปีติไว้อย่างนี้เสมอ ชาวนาที่ฉลาดก็ให้รู้จักพอใจในการงานที่ทำวันละนิดวันละหน่อย วันละนิดวันละหน่อยเพิ่มขึ้นทุกวันๆ หล่อเลี้ยงมันไว้ด้วยปีติ ไม่ทิ้ง ไม่ถอย ทีนี้มันก็ถึงจุด ทุกอย่างมันทำไปครบถ้วนแล้วมันก็ถึงจุดที่ว่ามันครบถ้วน ปัสสัทธิความลงรูป ความเข้ารูป ความที่มันจะดำเนินไปได้เองมันก็เกิดขึ้น หมายความว่าข้าวกล้าก็ปลูกดำดีแล้ว น้ำท่าก็เตรียมพร้อมแล้ว ไอ้ยาฆ่าแมลงก็ทำเสร็จแล้ว อะไรก็ทำเสร็จหมดแล้ว นี่คือมันเข้ารูป มันก็มีความพอใจ แล้วสมาธินี่จิตใจมันก็มั่นคงแน่วแน่ ถึงที่สุด ถึงที่สุดในขณะนั้น มันมีความมั่นใจถึงที่สุด ทีนี้ชาวนาก็ไม่ต้องทำอะไรนอกจากว่าเฝ้าดูจนกว่ามันจะออกรวงและเกี่ยวได้ ไม่ใช่เฝ้าดูโดยไม่ต้องทำอะไร มันเฝ้าดูคือพร้อม พร้อมที่จะแก้ไขถ้าว่าอะไรมันเกิดขึ้น อุเบกขาชาวนาได้ปล่อยไปตามธรรมชาติให้ข้าวมันเติบโต เจริญออกรวงและทุกอย่างได้ทำมาถูกต้องแล้วตั้งแต่เบื้องต้น ในที่สุด ข้าวมันก็ออกรวงเก็บเกี่ยวได้ตามความปราถนา นี่โพชฌงค์ทั้ง ๗ มันไปแทรกอยู่ในพฤติกรรมของการทำนาได้ในลักษณะอย่างนี้ ธรรมะสำหรับไปนิพพานเอามาใช้ในการทำนาของชาวนาก็ยังได้อย่างนี้ มันก็ทำนองเดียวกับเรื่องอิทธิบาท ๔ ที่เอามาใช้ได้อย่างไร เพียงแต่ว่าเดี๋ยวนี้มันขยายรายละเอียดให้มากออกไปเป็น โพชฌงค์ ๗ ประการ เอ้า,ทีนี้ก็เหลืออริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ผมคิดว่าจะไม่ต้องพูดอะไรมากแล้ว เพราะเข้าใจกันดีแล้วเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนี่ คล่องปากคล่องคอกันดีอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่ามองกันในแง่ไหน ที่จะเอามาใช้สำหรับฆราวาสก็ได้ สำหรับผู้ที่จะไปนิพพานก็ได้ แม้เป็นฆราวาสเขาก็ต้องมีสัมมาทิฏฐิตามแบบของฆราวาส สัมมาทิฏฐิรู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรทำอย่างไร แล้วเขาก็มุ่งหมายถูกต้อง คือมีสัมมาสังกัปปะปรารถนาถูกต้อง และก็มีการพูดจา การทำการงานถูกต้อง ชนิดที่จะไม่เป็นภัยไม่เป็นอันตรายเกิดขึ้น อาชีวะก็เป็นอันว่าถูกต้อง ดำเนินชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง มีสติระลึก ระลึกควบคุมสิ่งเหล่านี้ มีวิริยะคือความพากเพียรในสิ่งเหล่านี้ มีสติควบคุมในสิ่งเหล่านี้ แล้วก็มีสมาธิคือความมั่นแห่งจิตใจ ความตั้งมั่นแห่งจิตใจ สำหรับจิตใจจะดำเนินไป มันต้องด้วยความตั้งมั่นแห่งจิตใจ มันก็ครบ ๘ ครบ ๘ มีสมาธิสัมมาสมาธิเป็นไปถึงที่สุดแล้วมันก็สำเร็จในเรื่องนั้นซึ่งเป็นเรื่องทางจิตใจ ในบาลีมีเรียกว่าสัมมัตตะ ๘ ก็มี ในหลักสูตรนักธรรมพูดถึงกันแต่สัมมัตตะ ๑๐ ถ้าเอาเพียง ๘ ที่เป็นตัวเหตุ ก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ เรียกมัตตะ ๘ แล้วมีผลอีก ๒ คือสัมมายานะ สัมมาวิมุตติ นั้นเป็นส่วนผล ๒ รวมกันเข้าเป็นสัมมัตตะ ๑๐ เมื่อดับทุกข์ ดับกิเลส ก็ไปนิพพาน ที่ว่าสัตว์ทั้งหลายจะพ้นจากการเกิดแก่เจ็บตายได้ก็เพราะสัมมัตตะ ๑๐ หรือจะเอาเพียง ๘ ก็ได้ เพราะถ้ามีเพียง ๘ มันแล้วมันก็สิบของมันเองแหละ เหตุมันครบถ้วน แล้วผลมันก็มาเอง ข้อนี้ก็ถือโอกาสบอกพวกเราอีกทีว่า ที่ทายก ทายิกาของเรามัวแต่สวดกันว่าเรามีความเกิดเป็นธรรมดาไม่พ้นความเกิดไปได้ มีความแก่เป็นธรรมดาไม่พ้นความแก่ไปได้ มีความเจ็บเป็นธรรมดาไม่พ้นความเจ็บไปได้ มีความตายเป็นธรรมดาแล้วไม่พ้นความตายไปได้ และก็หยุดเสียเพียงเท่านั้น นั่นนะไม่ใช่พุทธศาสนาหรอก สวดเพียงเท่านั้น รู้สึกเพียงเท่านั้นไม่ใช่พุทธศาสนา ไม่ใช่พุทธบริษัท เพราะพุทธศาสนาต้องพ้นได้ การ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ต้องพ้นได้ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้ต่อไปว่าถ้าได้อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ที่มีความเกิดเป็นธรรมดาจะพ้นจากความเกิด สัตว์ที่มีความแก่เป็นธรรมดาจะพ้นจากความแก่ ที่มีความเจ็บเป็นธรรมดาจะพ้นจากความเจ็บ ที่มีความตายเป็นธรรมดาจะพ้นจากความตาย ตอนนี้ไม่เอามาสวด สวดกันแต่ว่าเราไม่อาจจะพ้นไปได้ ก็นั่งร้องไห้ฮือๆอยู่จะเป็นพุทธศาสนาอย่างไร ถ้าเราไม่พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันก็เหมือนกับยอมแพ้ นั่งร้องไห้โฮๆ อยู่ไม่ใช่พุทธบริษัท มันต้องเอาชนะสิ่งเหล่านี้ให้ได้ ตามพุทธภาษิตที่ตรัสว่าอาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตร ทีนี้เมื่ออาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้วก็ปฏิบัติในอริยมรรคมรรคมีองค์ ๘ ประการ หรือจะเรียกว่าสัมมัตตะ ๘ ประการก็ได้เหมือนกัน มันจัดไว้ในที่อื่นสูตรอื่นมันไม่ติดต่อกันอยู่กับสูตรนี้ ที่บอกไว้ครึ่งท่อนว่าเราไม่พ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ในสูตรอื่นท่านตรัสว่าถ้าได้อาศัยตถาคตเป็นกัลยาณมิตรแล้วจะพ้นได้ ในสูตรอื่นท่านกล่าวว่าอาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรนั้น คือปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ แล้วก็เรียกมาเรียนมรรคมีองค์ ๘ นั้นว่ายาถ่าย วิเรจนะว่ายาถ่าย อริยมรรคมีองค์ ๘ ถูกเรียกว่ายาถ่าย คือถ่ายโรคภัย ไข้เจ็บ พิษร้ายออกมาเสียหมด ในบางสูตรเรียกว่าวัมมะนะๆ คือยาสำรอก คือกินแล้วอาเจียน อาเจียนแล้วพิษร้ายออกมาหมด อริยมรรคมีองค์ ๘ ถูกเรียกว่ายาสำรอกให้อาเจียน ในบางสูตรเรียกว่าโพวนะคือน้ำชำระบาป โพวนะเป็นคำพูดที่ใช้ในลัทธิอื่นที่เขามีพิธีล้างบาป ล้างกระดูก เอากระดูกคนตายมาล้างแล้วก็หมดบาป แล้วก็ไปนั้นน่ะไปตามเรื่องของลัทธินั้น พระองค์ว่าเราก็มีเหมือนกัน โพวนะคืออริยมรรคมีองค์ ๘ ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วมันจะมีโพวนะ คือการล้างบาปออกไปหมด นี่ถือว่าอย่าไปตายอยู่เพียงแค่ เกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดา ให้เลยไปถึงว่าเราไม่เกิด แก่เ เจ็บ ตาย พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ออกไปได้ในที่สุด นี่ธรรมะนี้สูงสุดนะ เป็นนิพพาน จนหลุดพ้นเป็นนิพพาน แต่เอามาใช้กับชาวไร่ ชาวนา ค้าขาย กรรมกร อะไรได้ ใช้หลักมีองค์ ๘ ประการนี้ เป็นเครื่องประจำใจเถิด เขาจะสบายใจ สนุกสนาน ในการทำงาน และการงานก็ก้าวหน้า ไม่เท่าไหร่ก็พ้นจากปัญหาความยากจนหรือความทุกข์ทั้งปวง นี่แหละธรรมะชั้นสูงฝ่ายบรรพชิต ก็เอาไปใช้ในการดำเนินชีวิต การงานของฆราวาสก็ได้ และธรรมะที่กล่าวระบุไว้สำหรับฆราวาสนั้น เอามาใช้ในการดำเนินชีวิตการปฏิบัติของบรรพชิตในชั้นสูงก็ได้ นี่มันแลกเปลี่ยนกันได้อย่างสวนทางกันทีเดียว นี่เวลาก็เลยมากเสียแล้วก็ต้องยุติ ขอสรุปความว่าธรรมะที่ใช้รวมกันได้ทั้งพระและฆราวาสนั้นมันมีอยู่ ขอให้รู้จักและขอให้เอาไปใช้สั่งสอนอบรมให้สมกับที่เป็นธรรมทายาทโดยแท้จริง คือจะช่วยแก้ปัญหาทุกปัญหาและของทุกคนได้ ขอยุติลงด้วยพอสมควรแก่เวลา ก็ยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้