แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการพูดครั้งนี้ เออ, จะพูดโดยหัวข้อว่า “ ความไม่เกิดแห่งทุกข์” ต่อจากครั้งที่แล้วมา ที่ว่าความเกิดแห่งทุกข์ ที่จริงคำที่ใช้อยู่ทั่ว ๆ ไปนั้น เขาใช้ว่าความดับทุกข์ หรือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ฟังแล้วมันยังไม่ค่อยจะ เหมาะสมกับเรื่อง เราจะมีหลักว่า ความไม่เกิดแห่งทุกข์ ดีกว่า คือ ทำให้ความทุกข์ไม่เกิดดีกว่า ที่ว่ามีความทุกข์เกิดแล้วจึงดับทุกข์ เหมือนอย่างว่า เรามีวิธีปฏิบัติ ไม่ให้ไฟไหม้บ้านนะ ดีกว่าให้ไฟไหม้บ้านแล้วจึงดับไฟ
มันก็กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า คำพูดนี้มันเป็นคำพูดที่เป็นหลัก หรือเป็นแนวทั่ว ๆ ไป ซึ่งจะศึกษา พิจารณาใคร่ครวญ ขยับขยายได้ ตามลำพังต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีเขตจำกัด ดังนั้น จึงใช้หัวข้อให้มันกว้าง เพื่อให้ ขยายความ ออกไปได้มากกว่า ที่จะพูดว่าดับทุกข์ แล้วพูดกันเสียว่า ไม่เกิดแห่งทุกข์ คือ เราจะมีชีวิตอยู่ชนิด ที่ ความทุกข์ไม่เกิด นี่เป็นหลักใหญ่ แต่สำหรับคนที่ไม่มีธรรมะ ไม่มีความรู้อะไร ก็ได้ปล่อยให้ความทุกข์ เกิดไม่ทันรู้ นี่ก็ต้องดับทุกข์ วิธีนั้นมันก็มีอีกอย่างซิ วิธีทำให้ทุกข์เกิดอย่างหนึ่ง แล้ววิธีทำให้ทุกข์เกิดขึ้นมา แล้วจะดับอย่างไร นั่นนะเป็นอีกอย่าง
โดยหัวข้อใหญ่ เราจะพูดเรื่อง ไม่เกิด ความไม่เกิดแห่งทุกข์ เป็นเรื่องพื้นฐานทั่ว ๆ ไป กิริยาอาการ ที่จะไม่ให้ทุกข์เกิด มันก็ตรงกันข้าม กับการที่ทุกข์เกิด ในการบรรยายครั้งที่แล้วมา ดังนั้นมันก็จำเป็น ที่จะ ต้องทบทวน อาการที่ทุกข์เกิดอย่างไร กันอีกครั้งหนึ่ง ว่าเรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับจะรับอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ พอมันมาถึงกันเข้า อารมณ์มาถึงกันเข้า ก็เกิดวิญญาณ ทางอายตนะทั้ง ๖ เมื่อกำลังทำหน้าที่รู้อารมณ์ รู้แจ้งอารมณ์อยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ แปลว่า การกระทบ มีได้ทั้ง ๖ ทาง เหมือนกัน
ทีนี้ในกรณีที่จะเกิดทุกข์ หมายความว่า บุคคลนั้นไม่มีสติปัญญา ไม่มีความรู้ทางธรรมะ ไม่ได้รับ การศึกษาฝึกฝนในธรรมะ เป็นคนโง่ ผัสสะของเขานั้น จึงเป็นผัสสะโง่ ผัสสะมืด ผัสสะหลับ นี่สำคัญอยู่ที่ ตรงนี้ ไม่รู้ธรรมะเอาซะเลย จนผัสสะเกิดกี่ครั้ง ๆ มันก็เป็นผัสสะที่โง่ที่หลับ ที่จะทำให้เกิดเวทนา ชนิดที่จะ ยินดียินร้าย คือ เวทนาโง่อีกเหมือนกัน เวทนาโง่ งั้นเวทนามันโง่ ก็เกิดความอยาก คือ ตัณหาที่โง่ไปตาม เวทนานั้น เกิดตัณหาแล้วก็เกิดอุปาทาน ให้เกิดตัวตน รู้สึกว่ามีตัวตนผู้อยาก มาเป็นของตน นี่เรียกว่า ตัวตน ได้มีขึ้นมาแล้ว เรียกว่า ภพ เมื่อตัวตนทำหน้าที่โดยสมบูรณ์เต็มที่ ก็เรียกว่า ชาติ เพราะมีชาติเป็นปัจจัย โสกะเทวะ ทุกะโทมนัสกะ(นาทีที่7.14) ทั้งหลายก็ย่อมมี
นี่เป็นหลักที่ต้องจำไว้ว่า ความทุกข์เกิดเพราะว่า โง่ในขณะแห่งผัสสะ ทำผิดในขณะแห่งผัสสะ เราเคยมีบทกลอน ให้จำง่าย ๆ กันว่า ความทุกข์เกิดแก่จิต หากเพราะทำผิดเมื่อผัสสะ ความทุกข์จะไม่โผล่ ถ้าไม่โง่เมื่อผัสสะ อีกอันหนึ่งลืมแล้ว เท่านั้นก็พอ ความทุกข์เกิดแก่จิต ก็ทำผิดเมื่อผัสสะ ความทุกข์จะไม่โผล่ ถ้าไม่โง่เมื่อผัสสะ รวมความว่า เมื่อมีผัสสะแล้วนั้น ต้องมีสติปัญญา มีสติและปัญญา ผัสสะนั้นก็เป็น ผัสสะ ที่ฉลาด ผัสสะที่ไม่หลับ เป็นผัสสะที่ตื่นอยู่ด้วยสติปัญญา มันก็รู้จักอารมณ์นั้น ๆ ก็เลยไม่หลงในอารมณ์ นั้น ๆ จึงไม่เกิดเวทนาสำหรับให้ยินดี หรือไม่เกิดเวทนาสำหรับให้ยินร้าย หรือไม่เกิดเวทนา สำหรับเป็น กลาง ๆ เมื่อไม่เกิดเวทนา มันก็ไม่มีที่จะเกิดตัณหา เมื่อไม่มีอะไรให้เกิดตัณหา ก็ไม่เกิดอุปาทาน อุปาทานก็ไม่ เกิดภพ ไม่เกิดชาติ ไม่เกิดทุกข์ นี่การที่จะไม่เกิด ทำให้ไม่เกิดความไม่เกิด แห่งความทุกข์นั้น เพราะทำถูกต้อง เมื่อมีผัสสะ
ก็เรื่องผัสสะนี้ ก็บอกแล้วให้ศึกษาให้ดี เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งกันทุกคน ๆ ในชีวิตประจำวันทุกวัน ๆ เพราะมันมีผัสสะเป็นธรรมดา เดี๋ยวก็ทางตา เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวทางจมูก เดี๋ยวทางลิ้น เดี๋ยวทางกาย เดี๋ยวทางใจ นี่ ผัสสะเมื่อไหร่ ก็ขอให้เป็นผัสสะที่ฉลาด คือ มีสติปัญญามาทัน ในขณะแห่งผัสสะ ดังนั้นเราจึงต้องอบรม ปัญญาอยู่เป็นประจำ ให้มีปัญญารู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตามที่เป็นจริงอยู่เป็นประจำ แล้วก็ฝึกหัดสติ ๆ ให้รวดเร็ว ให้ว่องไว เพื่อจะระลึกนึกได้ถึงปัญญา คือ เอาปัญญามาให้แก่ผัสสะ นั้นการปฏิบัติมันจึงมีทำสติ ฝึกให้เป็นคนมีสติ ให้เป็นคนมีปัญญา พอผัสสะมี สติก็ไปเอาปัญญามาคุมผัสสะ ไอ้ผัสสะนั้น ก็เป็นผัสสะ ฉลาด ผัสสะลืมหูลืมตา ผัสสะไม่โง่ มันก็ไม่ต้องเกิดเวทนาโง่ ไม่เกิดความอยากที่โง่ ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดภพ ไม่เกิดชาติ ไม่เกิดทุกข์ นี่แนวทั่วไป ที่จะไม่เกิดทุกข์ ที่สังเกตดูให้ดี ว่ามันเรื่องอะไร มันจึงไม่เกิดทุกข์ เขามีสตินั่น มีแต่ปัญญา ถ้าไม่มีสติพามา มันก็ไม่มีความหมายอะไร ปัญญาไปนอนหลับซะที่ไหนก็ไม่รู้ มันไม่มีอะไรพามา ให้ทันเวลาที่มีผัสสะ งั้นความสำเร็จประโยชน์ มันอยู่ด้วยสติมีเพราะสติ
งั้นจึงกล่าวไว้ เป็นหลักทั่ว ๆ ไป ว่า กั้น..ปิดกั้นกิเลส ปิดกั้นความทุกข์นี่ ทำได้ด้วยสติ มันไม่เกิด กิเลส เพราะมีสติ แล้วก็ไม่เกิดความทุกข์ ก็เพราะมีสติ งั้นความที่มีสติสมบูรณ์รวดเร็ว เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะให้สิ่งทั้งปวงเป็นไปด้วยดี ดังนั้นต้องมีความรู้เรื่องสติ หรือฝึกฝนสติกันอีกเรื่องหนึ่ง มันถึงเป็นเรื่อง ของมันโดยเฉพาะ ไว้พูดกันคราวอื่น ในครั้งนี้รู้แต่ว่า ถ้ามีสติมาละก็ มันก็จะคุ้มครองป้องกัน ไม่ให้เกิดกิเลส ไม่ให้เกิดความทุกข์ ศึกษาให้เข้าใจตอนนี้ละ ตอนที่ว่ามีผัสสะ แล้วผัสสะมันมีสติปัญญา มันไม่เกิดเวทนาโง่ ไม่เกิดตัณหาโง่ นี่เป็นแนวหนึ่งเลย เป็นแนวหลัก เป็นแนวประธาน เป็นหลักทั่วไป สำหรับที่จะไม่เกิดทุกข์
อ้าว, ที่นี้จะพูดให้กว้างกว่านั้น คือ จะเป็นอยู่ มีชีวิตอยู่อย่างไร จึงจะไม่เกิดความทุกข์ ก็อย่างที่เคย พูดมาแล้ว เรื่อย ๆ ว่า คือ ว่าเป็นอยู่โดย อริยมรรคมีองค์ ๘ มัชฌิมาปฏิปทา หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ที่สวดท่องกันอยู่นี้ได้ทุกคน นั่นนะถ้าเอามาใช้ปฏิบัติ ให้มีอยู่ครบทุกข้อ ๆ ในชีวิตประจำวันแล้ว ความทุกข์ เกิดไม่ได้ มันจะป้องกันมากมายไปกว่า ที่พูดเมื่อตะกี้นี้เสียอีก สัมมาทิฐิมาก่อน รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็น เหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความดับทุกข์ อะไรเป็นทางถึงความดับทุกข์ นี้สัมมาทิฐิ มันรู้เรื่องทุกข์ เสียเต็มที่ พอตัวนั่น ที่นี้มันก็มีสัมมาสังกัปปะ ปรารถนาใฝ่ฝันไปในทาง ที่จะไม่เกิดทุกข์ จะไม่เป็นทุกข์ งั้นก็มีวาจา การพูดจาถูกต้อง มีการกระทำการงานทางกายถูกต้อง มีการดำรงชีวิตถูกต้อง ก็มีการพากเพียร ถูกต้อง มีสติถูกต้อง มีสมาธิตั้งมั่น อยู่อย่างถูกต้อง แล้วความทุกข์จะเกิดได้อย่างไร นี่เรียกว่า โดยแนวใหญ่ โดยหลักใหญ่ เราก็อยู่ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ศึกษาให้ชัดเจนแจ่มแจ้งถูกต้อง แล้วก็ปฏิบัติอยู่ โดยความถูกต้องทั้ง ๘ ประการนั้น เรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค มันมีคำว่า สัมมาๆๆ ๘ สัมมา หรือ ๘ ถูกต้อง เอามาทำให้อยู่ในชีวิตของเรา มารวมอยู่ในชีวิตของเรา ทั้ง ๘ ถูกต้องแล้ว มันก็รวมกัน เป็นการดำรงชีวิตอยู่ ชนิดที่ความทุกข์เกิดไม่ได้ ชีวิตนี้มันเหมือนกับการเดินทางมันเปลี่ยนไปเรื่อย จึงมีทางให้มันเดิน คือ มรรค อริยมรรค มีองค์ ๘ ให้ชีวิตมันเดินดำเนินอยู่ ๆ ดำเนินอยู่ในองค์ ๘ ประการนี้ ความทุกข์มันก็เกิดไม่ได้
สนใจให้ละเอียด ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ชัดเจน แล้วเห็นอยู่ว่ามันมีอยู่ในเรานะ ในชีวิตความเป็นอยู่ ของเรานั้นเป็นอย่างไร ศึกษาสัมมาทิฐิ ให้ครบถ้วนเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ ทางของความดับทุกข์ หรือสัมมาทิฐิว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอย่างนี้ก็ได้ หรือเรื่อง มีสัมมาทิฐิ แล้วก็พ้นจากทุกข์ทั้งปวง อย่างนี้ก็มีพระบาลีว่า พ้นจากก้าวล่วง ๆ ความทุกข์ทั้งปวง เพราะสมาทานสัมมาทิฐิ มันยกมาพูดแต่สัมมาทิฐิข้อเดียว แต่แล้วคำอธิบาย มันก็รอบหมดเลย ถ้ามีสัมมาทิฐิ จึงมีสัมมาสังกะโป สังกะปะ วาจาสัมมากัมมันโต อาชีโว ยาวาโม สัมมาสติ สมาธิ แต่คำพูด เอามาพูดคำเดียว มีสัมมาทิฐิ มีสัมมาทิฐิเข้าใจถูกต้อง แล้วมันก็รู้เองว่า จะต้องมีอะไรอีก มีอะไรอีก ๆ จะต้องทำอย่างไร ก็ทำไปหมด เพราะอำนาจของสัมมาทิฎฐินั้น นี่เป็นการพูดอย่างย่อที่สุด หรือจะเรียกว่า พูดอย่างเอาเปรียบที่สุด
มันก็มีอยู่เป็นหลัก หลักหนึ่งว่า เพราะสมาทานสัมมาทิฐิ ก็ก้าวล่วง คือ แคล้วคลาดจากความทุกข์ ทั้งปวงได้ เรื่องที่ปฏิบัติยากหน่อย ต่อไปก็คือ เรื่อง สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ วายามะ คือ พากเพียร ๆ ทำให้มีสิ่งที่ควรจะมี แล้วก็ทำให้ไม่มีสิ่งที่ไม่ควรจะมี พากเพียรอยู่อย่างนี้ นี้สติก็ระลึก ไปในสิ่ง ที่ควรระลึก อย่างสติปัฏฐาน ๔ ระลึกไปในกาย ระลึกไปในเวทนา ระลึกไปในจิต ระลึกไปในธรรม ไปหา คำอธิบายโดยรายละเอียด ดูในเรื่องนั้น ๆ ที่นี้สัมมาสมาธิ มีจิตตั้งมั่น คือ จิตนั้นบริสุทธิ์ จิตนั้นเข้มแข็ง ตั้งมั่น และจิตนั้นว่องไว ๆ ที่จะทำหน้าที่ของจิตเอง คือ รู้สึกคิดนึก มองเห็นทำจิตให้ดี อย่างนี้อยู่เป็นประจำ ความจริงนั้นถ้าไม่มีกิเลส ไม่มีนิวรณ์มารบกวนแล้ว จิตมันจะดีอย่างนั้น อยู่เป็นประจำแหละ คือ เป็นจิตที่มี สัมมาสมาธิ
แต่เดี๋ยวนี้ มันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะมันมีอะไรมารบกวน ที่รบกวนอยู่เป็นประจำ คือ นิวรณ์ ๕ ไปศึกษา เรื่องนิวรณ์ ๕ ที่รบกวนจิตอยู่เป็นประจำทุกวัน ๆ พอมันเกิดนิวรณ์แล้ว จิตมันก็ขุ่นมัวเศร้าหมอง อ่อนเพลีย เฉื่อยชา ไม่ต้องเรียนจากหนังสือ เรียนจากชีวิตจริง ๆ ที่ว่าเมื่อไหร่ที่นิวรณ์เกิดแล้ว จิตเป็นอย่างไร นิวรณ์ ๕ อย่าง ความรู้สึกที่น้อม ไปในทางเพศทางกามเกิดขึ้น แล้วจิตเป็นอย่างไร ความรู้สึกไม่ชอบ อึดอัด ขัดใจอะไรอยู่เป็นอย่างไร ความที่จิตอ่อนเพลีย ถอยกำลังแฟบลงไปเป็นอย่างไร ความที่จิตฟุ้งเกินประมาณ นี้เป็นอย่างไร แล้วความลังเลไม่แน่ใจ ในสิ่งที่ควรจะแน่ใจเป็นอย่างไร คือ ความเป็นห่วง ๆ ไม่แน่ใจ มันมีได้ มาก มีได้มากอย่าง สารพัดอย่างที่จะไม่แน่ใจ แล้วแต่ว่าเป็นคนชนิดไหน เป็นเด็กก็เป็นน้อยหน่อย เพราะมัน ไม่รู้จักคิดจักนึก ถ้าเป็นผู้ใหญ่สูงอายุแล้ว มันก็รู้จักคิดรู้จักนึกมาก ทั้งความเป็นห่วง ไม่แน่ใจ มันก็ขยาย ได้มาก
เมื่อเราเป็นห่วงอะไรอยู่ ด้วยความไม่ปลอดภัย จิตเกือบจะทำอะไรไม่ได้เลย หาความสงบสุขก็ไม่ได้ หาสติปัญญาก็ไม่ได้ หากำลังอะไรก็ไม่ได้ งั้นจงเป็นคนมีความเชื่อ ในการกระทำของตัว เชื่อในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ เชื่อในการงานที่ ได้จัดได้ทำไว้ดีแล้ว เชื่อในสุขภาพอนามัย ได้จัดได้เตรียมไว้ดีแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วงไม่ต้องกลัว นี่คือ ความไม่ลังเล ไม่มีวิจิกิจฉา เมื่อจิตไม่มีนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้จิตนั้น เป็นจิตที่ เยือกเย็น สดชื่น แจ่มใส เกลี้ยงเกลา ว่องไว ในการที่จะคิด จะนึก จะจำ จะอะไรทุกอย่างเลย นี่สนใจ มีชีวิต แต่ละวัน ๆ ด้วยจิตที่ไม่มีนิวรณ์ ไม่มีนิวรณ์ จิตนั้นก็จะเป็นสมาธิ พอที่จะเป็นที่ตั้งแห่งปัญญา แห่งความรู้ ในอันดับสุดท้าย เมื่อจิตมันเป็นสมาธิแล้ว จะเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง เดี๋ยวนี้จิตมันเห็นสิ่งทั้งปวงไม่ได้ ตามที่เป็นจริง เพราะมันมีนิวรณ์บังอยู่ปิดอยู่ เหมือนกับแว่นตาที่สกปรก เปื้อนโคลนนี้ มันมองไม่เห็น ได้ทาง แว่นตานั้น ถ้าแว่นตานั้น เช็ดใสสว่างแล้ว มันก็มองเห็นได้ทางแว่นตานั้น จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามีกิเลส มีนิวรณ์ กลัดกลุ้มอยู่ ห่อหุ้มอยู่ มันก็มืด มันจะมีความรู้อะไรละ มันมองไม่เห็นนี่ แล้วเมื่อเห็นแล้ว มันจึงจะ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มันต้องเห็น มันจะต้องทำจิตให้เป็นสมาธิแล้ว จะเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง นี่คือ ความจริง เราอยากจะรู้อะไร อยากจะเห็นอะไรอยู่เป็นประจำ แต่มันเห็นไม่ได้ เพราะจิตมันไม่เป็นสมาธิ พอสักว่า จิตมันเป็นสมาธิ มันก็เห็นได้ เมื่อเห็นได้ มันก็รู้ได้ ไอ้เรื่องมันก็เป็นอย่างนี้
พูดง่าย ๆ ก็คือ ว่ามันมีจิตเหมาะสม มีจิตเหมาะสมที่จะทำ เรื่องของจิตในแต่ละวัน ๆ เรามีจิต ประกอบด้วย นิวรณ์ คือ จิตที่มันงัวเงีย จิตที่มันฟุ้งซ่าน จิตที่มันกระสับกระส่าย เอาแน่นอนไม่ได้ นี่ไปเรียน เรื่อง นิวรณ์ แล้วมาตั้งข้อรังเกียจนิวรณ์ แล้วก็ทำให้นิวรณ์ ไม่อาจจะเกิดขึ้นมา ตลอดวัน ตลอดเวลายิ่งดี แม้ที่สุดแต่ว่า กินอาหารอิ่มนัก มันคิดอะไรไม่ได้ มันต้องมานั่งง่วงอยู่ หรือต้องไปนอนเลยก็มี นี่ลอง ๆๆ ทดลองดู ให้ทั้งวันเลย ทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นจนกว่าจะหลับลงไปอีก สดชื่นแจ่มใส คิดนึกอะไรได้ว่องไวจะทำอะไร ได้ถูกใจ จิตชนิดนั้นนะต้องการ มีความหมายแห่งความเป็นสมาธิ แล้วให้ได้ทุกแห่งทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็น นั่งเดิน ๆ ยืน นอนอยู่ที่ตรงไหน เวลาไร ก็ให้จิตมันแจ่มใส เยือกเย็น เกลี้ยงเกลาอย่างนั้น คิดดูดิแล้ว มันจะ ได้อะไร ๆ มันได้อะไรมากเกินไป ได้อะไรมากทีเดียว กับจิตที่มันคอยแต่จะงัวเงีย อ่อนเพลีย กลัดกลุ้ม ก็เรื่องรัก เรื่องโกรธ เรื่องเกลียด เรื่องกลัว เรื่องวิตก กังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวง มันก็ ทำให้จิต ปราศจากสิ่งนั้น โดยสิ้นเชิง ก็เป็นจิตพิเศษ จิตนี้ คือ จิตที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน
ที่นี้เอาเป็นว่า ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดทุกข์ ในปัจจุบันนี้ก็พอ มีกำไรถมเถไป มันคอยสนใจ เรื่อง อัฎฐังคิกมรรค มีองค์ ๘ ประการ แต่ละองค์ ๆ ศึกษาเข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วทำให้มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ตลอดวัน ตลอดเดือน ตลอดปี เมื่ออยู่อย่างนี้ ความทุกข์ไม่เกิด พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า ถ้าภิกษุเหล่านี้ จะเป็นอยู่ โดยชอบไซร้ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ นี่ความหมายมาก คุณค่ามาก ถ้าอยู่โดยชอบ โลกไม่ว่างจาก อรหันต์ อยู่โดยชอบ ก็คือ อยู่โดยอริยมรรค มีองค์ ๘ นั่นแหละ สัมมาๆๆๆ โดยชอบ สัมมา ๆๆ ถูกต้อง ๘ อย่าง อยู่ด้วยความถูกต้อง ๘ อย่างนี่ อยู่อย่างนี้แล้ว โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ คือ การเป็นอยู่อย่างนี้ จะทำให้เกิดมี พระอรหันต์ ทำให้เกิดให้บรรลุพระอรหันต์
นั่นอริยมรรคมีองค์ ๘ ไปได้ไกลถึงอย่างนั้น ดังนั้น มันก็เป็นเรื่องง่ายนิดเดียว ในการที่จะป้องกัน ไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นมา นี่เรียกว่า กลุ่มการมีชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง คือ ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ หรือจะ พูดสั้น ๆ ว่ามีสัมมาทิฐิ ซึ่งคลอดออกไปเป็นอีก ๗ อย่างได้ โดยสะดวกโดยง่าย แล้วก็มีความสำคัญ อยู่ที่สติ อีกเหมือนกัน ถ้ามันมีอะไรมาเกิดขึ้น มาแทรกแซงขึ้น สัมมาสติมันช่วย สกัดกั้นกระแส แห่งการปรุงแต่ง ที่จะเกิดความทุกข์ ไอ้เรื่องสตินี่ จะต้องไปอยู่เป็นเจ้ากี้เจ้าการหมดทุกแห่ง อ้าว, นี่ได้พูดมาแล้วนะ ว่าการ เป็นอยู่ชนิดที่กิเลสไม่เกิดนะ การป้องกันไม่ให้กิเลสเกิดนะ คือ ทำอย่างนี้ คือ มีสติอยู่ใน ทางอายตนะ ปรุงแต่งทางอายตนะนี่ก็ได้ หรือจะพูดว่ามีการเป็นอยู่โดยอริยมรรค มีองค์ ๘ ประการนี้ก็ได้ เป็นอยู่อย่างนี้ แล้วไม่เกิดความทุกข์
ที่นี้ก็จะพูดไปซะเลยว่า ถ้าความทุกข์มันเกิดแล้วละ มันจะดับกันได้อย่างไร นี่ก็สติอีกเหมือนกัน นั่นเห็นไหม อะไรมันไม่พ้นจากสติ ถ้าปุถุชนเป็นคนธรรมดา เป็นคนโง่ไม่รู้ธรรมะอะไร มีความทุกข์เกิด อยู่แล้วก็ดี หรือว่าเราที่มีความรู้อะไรอยู่บ้าง แต่ได้เผลอ ๆ จนความทุกข์เกิดแล้ว เดี๋ยวนี้ความทุกข์ ได้เกิด แล้ว เหมือนกับไฟไหม้วู้ ๆ อยู่ทีเดียว จะดับทุกข์นั้นอย่างไร มันก็ต้องมีสติ อีกละมีสติ มีสติระลึกได้ อันนี้เป็นความทุกข์ เกิดมาจากไอ้ความเผลออย่างนั้น ๆๆ ก็เรียกร้องเอาธรรมะ ที่มันตรงกันข้าม ที่มันจะ ดับได้
ไอ้ความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา หรือตถาตา ความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา คือ เรื่องที่ว่าสิ่งนี้ปรุงแต่ง สิ่งนี้ ๆ ปรุงแต่งสิ่งนี้ ๆ ปรุงแต่งสิ่งนี้ เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึง เกิดขึ้นนั่นแหละ ถ้าสติมีมาอย่างนี้แล้ว ไอ้ตัวความทุกข์นั้นมันจะเปลี่ยน หรือมันจะผ่อนคลาย หรือมันจะ หายไป ถ้าเก่งหรือละเอียด มีสติปัญญา รู้เรื่องเช่นนั้นเอง ๆ ถึงที่สุด มันก็ปิดกั้น ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ได้เหมือนกัน แต่มันยากหรือมันลึก ไอ้ความทุกข์นี้ เป็นเรื่องตามธรรมชาติเท่านั้น ไม่ใช่เราผู้ทุกข์ ไม่มีเรา ซึ่งเป็นผู้ทุกข์ มีแต่ความทุกข์ เกิดขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ แล้วความทุกข์นั้น มันก็คือ ความรู้สึกแก่ระบบ ประสาท ตามธรรมชาติ ถ้าระบบประสาทไม่รับรู้ ไม่ทำหน้าที่รับรู้ มันก็ไม่มีความรู้สึก ที่เป็นทุกข์ขึ้นมาได้ เดี๋ยวนี้ระบบประสาทตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันทำหน้าที่รับ ความรู้สึกอันนั้น แล้วเอามาเป็นทุกข์ ถ้าว่ามัน ฉลาด มันก็เห็นมันตามธรรมชาติเช่นนั้นเอง ไม่เอามาเป็นของเรา ไม่ทุกข์
อ้าว, ที่นี้ถ้ามันโง่ มันทำไม่ได้ มันก็ต้องร้องไห้ ๆๆ จนกว่ามันจะคลายทุกข์ เมื่อเหตุปัจจัย มันเปลี่ยนแปลง ๆ ความทุกข์มันก็ดับไป ตามความเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ โดยมากจะเป็นอย่างนี้ ไอ้คน ธรรมดาทั่วไป เมื่อมีความทุกข์แล้วดับทุกข์ไม่ได้ มันก็ต้องทนทุกข์ไป ๆๆ ความทุกข์ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป ตามเหตุตามปัจจัย มันก็ค่อย ๆ ดับได้เหมือนกัน ถ้าชอบอย่างนั้น ชอบจะทำอย่างนั้น มันก็ง่ายนิดเดียว ไม่ต้องศึกษาอะไร คือ ทนทุกข์ไปจนกว่ามันจะดับ แต่ถ้าจะไม่ให้ทนทุกข์ จะทำอย่างไรนี่ ต้องมีสติปัญญา พิจารณาคือ เห็นไอ้ความทุกข์นั้นเป็นเช่นนั้นเอง สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ เช่นนี้เอง เราจะมา นั่งมีความทุกข์อยู่ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ดังนั้นไม่ทุกข์ ๆ ไปต้องการทำงาน ทำหน้าที่ การงาน ทำอะไร ซะดีกว่า ไม่มานั่งทุกข์อยู่ นี้ปฏิเสธกันซึ่งหน้า อย่างนี้ก็ได้ แต่ว่าธรรมะมีมากกว่านั้น มีละเอียดกว่านั้น เมื่อมีความรู้สึกเป็นทุกข์แล้ว ก็พิจารณาความทุกข์ นั่นแหละให้มันกลายเป็นของที่ เปลี่ยนแปลง เป็นของปรุงแต่ง เป็นของเปลี่ยนแปลง แล้วสลายไปในที่สุด
ก็ศึกษาเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไว้มากพอ ในการฝึกสติ กัมมัฏฐานโดยเฉพาะ อานาปานัสสติ มีความรู้เรื่อง ไอ้ความทุกข์คืออะไร เดี๋ยวนี้มาพิจารณาอย่างนั้น ตัวความทุกข์มันก็กลายเป็นของที่เรามองเห็น ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ๆ แล้วจะไปเป็นทุกข์กับมันทำไม ไม่มีประโยชน์อะไร บางทีใช้ปัญญาง่าย ๆ ปัญญาของ คนโง่ ปัญญาของธรรมชาติธรรมดา แล้วมันเป็นอย่างนั้นเอง จะไปเป็นทุกข์กับมันทำไม ที่เขาเป็นทุกข์ จนฆ่าตัวตาย จนอะไร เพราะพลัดพลาดจากของรัก ของพอใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ฆ่าตัวเองตายก็มี นั้นมันโง่ คือ มันโง่ ถ้าเราเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง เราก็ไม่ต้อง ไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้อง ระทมใจ เพราะเหตุที่ สิ่งต่าง ๆ มันไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ นี่ถ้าเราบังคับไว้ ไม่ให้เป็นทุกข์ได้ทีหนึ่ง มันก็ลด ๆ ความเคยชิน ที่จะเป็นทุกข์ ได้ทีหนึ่ง ได้หน่วยหนึ่ง นานเข้ามันก็ค่อยเบาบาง เรียกว่า ปัดความทุกข์ออกไป ด้วยความรู้ต่ำ ๆ เบื้องต้นง่าย ๆ ทำเช่นนั้นเอง กูไม่เอากับมึง ไม่เป็นทุกข์ให้เสียเวลา นี่ใช้คำหยาบ มันก็ไปทำหน้าที่การงาน ทำอะไรเสีย หรือจะไปสวดมนต์ภาวนาเสีย เปลี่ยนเรื่องเสีย จะทำให้ ความทุกข์ ที่กำลังเกิดอยู่นั้น หยุดลงไป ดับลงไป
เราก็ได้เรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ ความไม่เกิดแห่งทุกข์ ความไม่ตั้งอยู่แห่งความทุกข์ สมบูรณ์ อ้าว, ทบทวนอีกทีหนึ่งว่า โดยหลักใหญ่ โดยส่วนใหญ่ ทั้งหมดก็อยู่ด้วยอริมรรคมีองค์ ๘ ทุกข์ไม่เกิด ที่นี้ ที่ละเอียดแคบเข้ามา ก็อยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ เมื่อมีผัสสะ ๆ ทางอายตนะแล้ว ก็มีสติปัญญามาทันเวลา ควบคุมผัสสะไว้ไม่ให้โง่ มันก็ไม่ปรุงแต่ง ไปในทางที่จะไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน และเกิดทุกข์ มันก็ไม่ ทุกข์ นี่เรื่องธรรม โดยเฉพาะเจาะจง ลงไปเป็นเรื่อง ๆ เลย ที่จะไม่ให้เกิดทุกข์ ๆ
ที่นี้ เรื่องที่เกิดทุกข์แล้ว จะดับอย่างไรก็มีสติอีก ไอ้ที่ ที่เขาไม่มีธรรมะ ๆ เขาก็โทษกรรม โทษผีปีศาจ โทษเทวดา โทษเคราะห์ โชคชะตา ไปตามเรื่อง งั้นมันไม่ใช่ความจริง ความจริงไอ้ทุกข์ ความทุกข์ มันเป็น สังขาร มันเกิดขึ้น ตามเหตุ ตามปัจจัย นี่จัดการให้ถูกต้องเกี่ยวกับเหตุ เกี่ยวกับปัจจัย มันก็ดับลงไป มันก็ ระงับลงไป มันก็มีเท่านั้น ไม่ต้องไปโง่ โทษผีสางเทวดา โชคชะตา ราศีอะไรที่ไหนกันอีก ความทุกข์เกิด มาจากการโง่ ไม่รู้เท่าทันอายตนะ แล้วมันก็เกิด ที่นี้ครั้นมันเกิดแล้ว มันก็ต้องเรียกความรู้เท่าทัน ทางอายตนะกลับมา มันก็ดับไป ทุกอย่างสำเร็จได้ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า สติ ๆ สตินี้เร็ว ๆ มาก ที่จะเกิด ความระลึกได้ ขึ้นมาเป็นปัญญา เราเปรียบอุปมา เหมือนกับมันวิ่ง ไปเอาปัญญามาทันเวลา แต่เดี๋ยวนี้ เขาเรียกว่า ระลึก ๆ ระลึกได้ สติระลึกได้ คือ มันแล่นมาเร็ว เร็วทันกับเรื่องของกิเลส เค้าเรียกกันว่า เร็วกว่าสายฟ้าแลบ คอยฝึกสติและปัญญา อยู่เป็นปกติ เมื่อมีเวลาเมื่อไรก็ฝึกสติปัญญา ที่เรียกว่า อานาปานสติ ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ในบทสวดมนต์ ที่เขาสวดแปลนั้นก็มี เมื่อฝึกอานาปานสติอยู่เสมอ จะมีมากทั้งสติ และทั้งปัญญา แล้วมันก็จะว่องไว รวดเร็ว เหมือนกับเป็นอัตโนมัติเลย อะไรเกิดขึ้น หรือกระทบ ที่จะเป็นในทางเป็นทุกข์ สติปัญญามันก็มาทันเวลา ควบคุมไว้ มันเป็นเรื่องจริง เกินกว่าจริง ถ้าเราทำได้ มันก็ป้องกันทุกข์ได้จริง ดับทุกข์ได้จริง
นี่เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ไว้ เป็นหลักทั่วไป เป็นหลักทั่วไป อย่าเห็นเป็นเรื่อง ๆ เล่นหรือเป็นเรื่องคร่ำครึ หรือเป็นเรื่องกไม่รู้อะไร ไม่มีความหมายอะไร นี่เป็นเรื่องพระพุทธศาสนา เรื่องหลักพระพุทธศาสนา มีสติปัญญารู้แจ่มแจ้ง ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง พออะไรเกิดขึ้น ก็เอาความรู้นี้ มาทำให้คิดนึก หรือประพฤติกระทำไปโดยถูกต้อง ไม่เกิดความทุกข์ นี่โดยหลักใหญ่หมด ที่นี้ มันก็มีปลีกย่อย ที่เราจะ ต้องรู้ไว้เหมือนกัน ไอ้สิ่งที่มันช่วย ให้เกิดความทุกข์ได้โดยง่ายนะ อย่าไปเอากะมัน คือ อย่าไปในสถานที่ ชนิดที่มันชวน ให้เกิดกิเลสความทุกข์ อย่าคบหาสมาคมกับบุคคล ที่ช่วยให้เกิดกิเลสและความทุกข์ อย่าชอบคิดนึก ไปในทางที่ให้เกิดกิเลสและความทุกข์ บางทีคิดนึกไปเรื่องกิเลสนั่นเอง ชอบคิดนึก ไปในเรื่องกิเลสนั่นเอง มันสนุกดี เรื่องเพศ เรื่องกามคุณคิดนึกไป มันก็เกิดกิเลสและความทุกข์ กิเลสประเภทที่จะเอา หรืออยากจะเอา จะได้
ที่นี้กิเลสประเภทที่มันจะไม่เอา จะโกรธ จะขัดใจ นี่มันก็มีสติ เมื่อจะเข้าไปในที่ ที่มันจะทำให้ขัดใจ มีสติเข้าไป ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่เข้าไปในที่อย่างนั้น แต่ถ้าจำเป็นจะต้องผ่าน จะต้องเข้าไป ก็มีสติเต็มที่ แล้วก็ เข้าไป หรือมันโกรธ อาฆาตพยาบาทอยู่กับผู้ใด พอมันเห็นหน้าแล้ว มันก็เกิดกิเลส เราก็ไม่เห็นหน้า ถ้าต้องเห็นหน้า ต้องมีสติเพียงพอ ก็ต้องหัวเราะเยาะให้ได้ อย่าให้มันกลายเป็น ความโกรธขึ้นมา นี้เป็น เรื่องธรรมดา สังเกตได้เอง รู้ได้เองไม่ยาก เรียกว่า ที่ ๆ ไม่ควรจะเข้าไป หรือสิ่งที่ไม่ควรจะเสพคบ หรือไม่ควร จะมาทำไว้ในใจ รู้จักไว้ก็ง่ายขึ้น ๆ คือ กิเลสมันจะไม่เกิดมากขึ้น ไม่เกิด คือ มากขึ้นในทางไม่เกิด เกิดยากขึ้น
นี่เราก็มีธรรมะ ประเภทที่ว่า ช่วยสนับสนุนให้ เรามีหิริโอตตัปปะ ทำตนให้มีหิริ มีโอตตัปปะ ละอายความชั่วกลัวความทุกข์ หิริ แปลว่า ละอาย ๆ ความชั่ว โอตตัปปะ คือ กลัว กลัวความทุกข์ ไอ้คนที่มันกระด้างเกินไป เท่านั้นแหละ ที่มันจะไม่ละอายความชั่ว ไม่กลัวความทุกข์ เป็นอันธพาลแล้ว ถ้าไม่ละอาย มันมีความชั่ว ถ้าไม่กลัวมันมีความทุกข์ มันก็ได้ทุกข์ ได้ชั่วได้ทุกข์ ไปถึงสุดเหวี่ยงของมัน งั้นระลึกนึกถึงไว้เสมอว่า ที่เราเป็นคนมีความสุภาพ อ่อนโยน มีศรัทธา มีความเสื่อมใส ในธรรมะ ในศาสนา ซึ่งเมื่ออบรมกันเพียงพอแล้ว มันก็จะมีนิสัยละอายความชั่ว กลัวความทุกข์ ไอ้คนอันธพาลทั้งหลาย เขาไม่กลัวความทุกข์ เขากล้าทำทั้งที่รู้ว่าความชั่ว และความทุกข์ กล้ารู้ว่าติดตาราง ติดคุกอะไร เขาไม่กลัว ทั้งนั้นเลย ทำไปทั้งนั้น นี่เรียกว่า อันธพาลเกินไป ถ้าเขารู้จักละอายความชั่ว กลัวความทุกข์กันบ้าง ก็จะไม่ทำผิดชนิดนั้น จะไม่มีใครติดคุกติดตะราง จะไม่มีใครบกพร่องในหน้าที่ของตน
เอาละเป็นอันว่า เรื่องปลีกย่อยเหล่านี้ ไปคิดนึกได้เอง เพราะบอกแนวใหญ่ แนวหลักเอาไว้ให้แล้ว ไอ้เรื่องเบ็ดเตล็ดเหล่านี้ไปคิดได้เอง เราจะเป็นอยู่อย่างไร มีอะไรอย่างไร จะกิน จะนอน จะอาบ จะถ่าย จะอะไรอย่างไร ซึ่งกิเลสมันจะไม่เกิด ก็เอาอย่างนั้น อย่าประมาท รวมความแล้วอย่าประมาท ไอ้คนประมาทนั้น เขาจะเห็นว่า กิเลสเป็นเรื่องเล็ก ๆ ก็เลยก็ทำไป ทำไปอย่างหวัด ๆ ชุ่ย ๆ กิเลสไม่ใช่ เรื่องเล็ก มันเรื่องเป็น เรื่องตายเลย คนนั้นมันก็ต้องได้รับผล ถึงขนาดเป็นตายเลย ความทุกข์ไม่ใช่เรื่องเล็ก ก็ต้องเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ถ้าเราระลึกได้อย่างนี้ ก็ไม่ประมาทสิ ถ้าระลึกไม่ได้อย่างนี้ ก็ประมาทสิ ประมาทยิ่งขึ้น ประมาทยิ่งขึ้น ค่อยลืมตัวเข้าไปในความประมาท ไปจมอยู่ในกองทุกข์ ถึงที่สุดแล้ว บางทีไม่รู้สึกตัวก็มี ถึงแม้จะรู้สึกตัว มันก็เป็นทุกข์เต็มที่แล้ว
เอาละ เป็นอันว่า เราได้พูดกัน เรื่อง ความไม่เกิดแห่งทุกข์โดยหลัก โดยหลักอย่างนี้ รวมทั้งการดับ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วด้วย โดยหลัก นี่เรียกว่า โดยหลัก ๆ เป็นเรื่องที่ ๓ ความจริงมันก็น่าจะพอ ถ้าพูดเรื่อง ดับทุกข์ แล้วมันก็ มันก็เป็นเรื่องที่หมดแหละ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ท่านสอนแต่เรื่อง ความทุกข์กับ ความดับทุกข์ เดี๋ยวนี้ เราก็มาเรียนกัน เรื่องความทุกข์และความดับทุกข์ เมื่อคืนที่แล้วมา ก็พูดเรื่อง ความทุกข์เกิดอย่างไร แล้ววันนี้ก็พูดเรื่อง ความดับทุกข์อย่างไร ความไม่เกิดแห่งทุกข์ ก็หมดแล้ว พระไตรปิฎก พระคัมภีร์ พระทั้งหลายทั้งสิ้น ก็รวมอยู่ในเรื่องที่ว่า ความทุกข์และความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เรายึดถือเรื่องนี้เป็นหลัก ปฏิบัติต่อเรื่องนี้ โดยถูกต้องอยู่ตลอดเวลา มันก็หมดแหละ มันก็จะก้าวหน้าไป ทางการบรรลุมรรค ผล นิพพานของมันเอง
ขอให้เป็นอยู่อย่างถูกต้องอย่างนี้ สกัดกั้นความทุกข์ ไว้ได้ทุกที ที่มันจะเกิดทุกข์ ด้วยสติ เอาสติเป็นเครื่องสกัดกั้น ความทุกข์ไว้ได้ทันท่วงที ทุก ๆ ทีที่มันจะเกิดทุกข์ นี่คำพูดประโยคสั้น ๆ อย่างนี้จำไว้ดี ๆ มีสติสกั้นความทุกข์ไว้ได้ ทุกทีที่มันจะเกิดทุกข์ แล้วอะไรมันจะเกิดล่ะ
เอาละ เป็นอันว่า จำเรื่อง อัฎฐังคิกมรรค ไว้เป็นหลักปฏิบัติอยู่เสมอไป ๆ เป็นชีวิตทั้งหมดเลย แล้วก็มีสติ ในเรื่องการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ตามปฏิจจสมุปบาท คือ ว่าเมื่อตะกี้นี้คือ การกระทำทางอายตนะ เป็นลำดับ ๆ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท เกี่ยวกับความทุกข์ มันก็มีสติ รักษาไว้ได้ดี ถ้าเผลอไปความทุกข์เกิด ขึ้นแล้ว ก็รีบมีสติ คือ ต้องมีสติ อย่าให้มันเป็นทุกข์จนไหม้เกรียมไปเลย ให้มันสติหยุดความทุกข์เอาไว้เสียได้ แล้วเราก็จะเป็นมนุษย์ที่มีความรู้ เรื่องของมนุษย์ เป็นมนุษย์ที่มีความรู้เรื่องมนุษย์อย่างเพียงพอ คือ เรื่องความดับทุกข์ ก็ไม่มีความทุกข์ ที่นี่จะทำการงานก็ไม่เป็นทุกข์ จะศึกษาเล่าเรียนก็ไม่มีความทุกข์ จะเป็นอยู่อย่างไรในแต่ละวัน ๆ ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่คือ สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้
การบรรยาย เรื่อง ความไม่เกิดแห่งทุกข์นี้ สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยายวันนี้
ไอ้การจดอย่างนี้ เป็นการจดอย่างรีบด่วน เมื่อกลับไปถึงที่พักแล้ว ต้องจดอย่างบรรจงอีกทีหนึ่ง ไม่งั้นมันจะขาดตกบกพร่อง มันจะอ่านไม่รู้เรื่อง มันจะไม่ได้สิ่งที่ควรจะจด เดี๋ยวนี้จดแต่ใจความย่อ ๆ พอเป็นกันลืม พอไปถึงก็เขียนอย่างบรรจงลง ในสมุดโน้ต ทุกคราว ๆ ทำอย่างนั้น ไม่เท่าไหร่ ก็มีความรู้ ในสมุดนั้นมากพอ ที่เปิดดูได้ทันท่วงทีในเวลาสั้น ๆ มีสมุดบันทึกธรรมะประจำตัว ๑ เล่ม กระดาษดี ทนทาน บันทึกไว้ทุกเรื่อง ที่ควรจะบันทึก
ถาม..สัมมาอาชีโวคือการประกอบอาชีพชอบ มีลักษณะอย่างไรและแตกต่างกับการทำงานชอบอย่างไรค่ะ
ตอบ..นี่ก็ฟังบทสวด ๆ ที่เขาสวดกันอยู่นี่ สัมมากัมมันโต เว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิฉาจาร สัมมาอาชีโว เว้นจากการเลี้ยงชีวิตที่ผิด เลี้ยงชีวิตแต่ในทางที่ถูก คำว่า เลี้ยง เลี้ยงในที่นี้ ให้หมายความกว้าง ไปถึงว่า การดำรงอยู่ การบริหารอยู่ คือ การดำรงชีวิต อาชีวะ แปลว่า ดำรงชีวิต อา แปลว่า ดำรง ชีวะ แปลว่า ชีวิต อาชีพ อาชีวะ แปลว่า ดำรงชีวิต งั้นมีความถูกต้อง ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เกี่ยวกับการเลี้ยงชีวิต
ถาม.. ทำอย่างไร จึงจะสัมมาทิฐิและอานาปานัสสติ คืออะไรค่ะ
ตอบ.. นั้นมันต้องไปเรียนไปฝึก สัมมาทิฐิต้องพอกพูน จงพอกพูนสัมมาทิฐิ คือ ศึกษาให้รู้อะไร เป็นอะไรอยู่เรื่อย ส่วนอานาปานัสสติ ๔ หาหนังสือเรื่องนั้นไปอ่านเอาเอง
ถาม..มีคำกล่าวที่ว่า “ในการทำสมาธิแบบธรรมกายนั้น เป็นทางเข้าสู่นิพพานด้วย” ไม่ทราบว่า หลวงพ่อมีความคิดเห็นอย่างไร เกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ
ตอบ..ต้องไปถามคณะธรรมกาย เราตอบแทนไม่ได้ เรามีแต่อานาปานัสสติสี่ ๔ อย่าง กาย เวทนา จิต ธรรม ๔ อย่างนั้น ประพฤติตามหลัก ที่เขามีให้ปฏิบัติ รู้เรื่องกายจนไม่ยึดถือกาย รู้เรื่องเวทนาจนไม่ยึดถือเวทนา รู้เรื่องจิตจนไม่ยึดถือเรื่องจิต รู้จักธรรมรู้เรื่องโดยไม่ยึดถือธรรม ไม่ยึดถือนี่ ๔ อย่าง เรียกว่า หลุดพ้น แบบธรรมกาย ก็ต้องไปศึกษาสำนักธรรมกาย อธิบายแทนไม่ได้เดี๋ยวจะผิด
ถาม..ที่กล่าวว่า ฆราวาสสามารถบรรลุนิพพานได้ ถ้าคนที่มีอาชีพร้องเพลง หรือเป็นชาวประมงนี้ ไม่ทราบว่าสามารถบรรลุนิพพานได้หรือไม่ ถ้าเขากระทำอาชีพของเขาทั้งสองด้วยจิตว่าง
ตอบ..จิตว่างมันไม่ร้องเพลง มันไม่ทำประมง ถ้าจิตมันว่าง มันจะไม่ร้องเพลง ไม่ทำประมง
ถาม..ขอให้ความกระจ่างกับคำว่า อุปาทาน ด้วยค่ะ
ตอบ.. ความคิดหลงไปว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา โดยหลักใหญ่ ความสำคัญมั่นหมาย ให้เป็นตัวเรา เป็นของเราขึ้นมานี่อุปาทาน โดยรายละเอียดแจกเป็น ๔ ยึดมั่นโดยความเป็นกาม ยึดมั่นโดยความเป็นทิฐิ ความคิดเห็น ยึดมั่นโดยศีลพรตที่ไร้เหตุผล ไม่มีเหตุผล ยึดมั่นว่ามีตัวตน ๆ นั่นแหละ อันสุดท้ายสำคัญที่สุด สำคัญว่าเป็นตัวตนหรือของตน ไอ้ความสำคัญนั้น เป็นความไม่รู้ เป็นความโง่ เป็นความเขลา สำคัญว่า เป็นตัวตน นี่เป็นเรื่องชั้นลึก เป็นเรื่องชั้นละเอียด สำคัญว่าเป็นตัวตน มันก็มีปัญหามากมายขึ้นมาทันที สำคัญว่ารูปเป็นตัวตน เวทนาเป็นตัวตน สัญญาเป็นตัวตน สังขารเป็นตัวตน วิญญาณเป็นตัวตน อันนี้แหละ มีปัญหาที่เกี่ยวกับความทุกข์ เกิดขึ้นมาเต็มไปหมด อธิบายยาก ที่ว่าจะอยู่อย่างไร ด้วยความคิดที่ว่า ไม่ใช่ตัวตนแล้วก็อยู่ได้ ทุกสิ่งนั้นเป็นธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ แต่มันรู้สึกคิดนึกได้แล้ว มันรู้สึกคิดนึกอย่างผิด ๆ ว่าตัวกู ว่าของกูขึ้นมา ที่จริงมันเป็นเพียงธรรมชาติตามธรรมชาติ
ถาม..คำว่า “อย่าไปคบคนที่ช่วยให้เกิดกิเลสและทุกข์ ถ้าจำเป็นต้องคบต้องเข้าสังคม” จะหลีกเลี่ยงได้อย่างไรค่ะ
ตอบ..ก็หลีกเลี่ยงเท่าที่จะหลีกเลี่ยงได้ บุคคล วัตถุ สิ่งของ สถานที่ การประพฤติ การกระทำ ที่มันเป็นเครื่อง ส่งเสริมกิเลสนั้นอย่าไปคบ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปคบ แต่ก็ไม่ต้องไปทะเลาะกับเขา ไม่ต้องไปดูถูก ดูหมิ่นเขา
ถาม.. ถ้าเราตั้งใจรักษา อุโบสถศีล แต่มีอาชีพเป็นนักร้องนักแสดงจะถือว่า ศีลขาดหรือไม่ค่ะ
ตอบ..ศีลข้อไหนละ ศีลข้อ นัจเจคีตวา(นาทีที่ 1:05:13) แล้วแต่เจตนา ไอ้ทำอาชีพนั้น มันไม่ได้เจตนา ที่จะหลงใหล หรือมัวเมาอะไร มันเป็นอาชีพ ถ้าเจตนาบริสุทธิ์เพื่อเป็นอาชีพ มันก็คงไม่ถึงกับขาดศีลข้อนั้น มันมัวหมองไปบ้าง เหมือนกับแต่งตัวสวย ๆ เสื้อผ้าสวย ๆ หรือเปิดร้านตัดเสื้อผ้าสวย ๆ เสริมความงาม อะไรนี้ ถ้ามันเป็นความรู้สึกบริสุทธิ์ เป็นอาชีพแท้ ๆ มันก็ไม่ถึงกับขาด ขาดสำหรับคนที่หลง ๆๆ
ถาม..ถ้าเราเกิดกิเลส แล้วเราทำตามกิเลสนั้น เกิดความสำนึกผิดขึ้นภายหลัง เราควรทำอย่างไรค่ะ
ตอบ.. ก็หยุดกิเลส หยุด หยุดทำอย่างนั้น ถ้ากิเลสเกิด มันก็ร้อนเป็นไฟ พอจะรู้ได้ก็หยุด ๆ
คำถามหมดแล้วค่ะ
อ้าว, คำถามหมดแล้วก็ปิดประชุม