แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ อาตมาภาพจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเป็น บุพพาปรลำดับ คือ ต่อจากธรรมเทศนา ที่วิสัชนาแล้วในยามต้นแห่งราตรี กล่าวคือ เรื่อง ธรรมะชีวี ซึ่งขอให้ทุกคนพิจารณา ให้มีการเกิดเป็น ธรรมะชีวี โดยวิธีที่เรียกว่า โอปปาติกะกำเนิด ขึ้นมา ก็จะไม่เสียทีที่มีสมเด็จพระบรมศาสดา เป็น เนตติ นาทีที่ 2:40 เป็น ทิฏฐานุคติ อันประเสริฐ เป็นผู้นำหนทางอันประเสริฐแล้วก็มีผู้เดินตามหนทาง ไม่เป็นหมัน ไม่เสียเปล่าแต่ประการใด การดำเนินไปในหนทางนี้ เป็นการถูกต้องอย่างยิ่งสำหรับสรรพสัตว์ ที่ว่าเกิดมาแล้วชีวิตนี้จะไม่เป็นหมัน เพราะว่าจะได้เดินไปตามทางที่มนุษย์ควรจะเดินโดยแท้จริง คือ ดียิ่งขึ้นไป สูงยิ่งขึ้นไปตามลำดับตามลำดับ และหนทางเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็มีอยู่ ได้แก่ หนทางที่เรียกว่า
อริยอัฏฐังคิกมรรค คือ หนทางประกอบด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐ
ทัสสนัสสะ วิสุทธิยา เป็นไปเพื่อความหมดจดแห่งทัศนะ เราดำเนินตนอยู่ในหนทางที่เป็นไปเพื่อความหมดจดแห่ง ทัศนะ
ทัศนะ ในที่นี้ก็หมายถึง การเห็น แต่เป็นการเห็นในทางจิต-ทางใจ ในทางภายในไม่ใช่เห็นด้วยลูกตาธรรมดา เห็นด้วยลูกตาธรรมดานี้เอาแน่ไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกมากเกินไป จะต้องเห็นด้วย ธรรมะจักษุ อันเป็นภายใน มีเหตุปัจจัยในภายในโดยเฉพาะ และก็เห็นแจ้งภายในแห่งจิตใจนั้นๆ หนทางแห่งความหมดจดของ ทัศนะ นี้ได้แก่ อริยอัฏฐังคิกมรรค ขอให้ทุกคนสนใจหนทางที่เป็นความหมดจดแห่ง ทัศนะดังที่กล่าวแล้ว
คำว่า ทาง ทาง นี้เป็นภาษาธรรมดาสามัญที่รู้กันได้ เข้าใจกันได้ ทั้งในฝ่ายภาษาคนและภาษาธรรมในภาษาคน คนธรรมดา ก็รู้จักสิ่งที่เรียกว่า หนทาง ทาง นี้ดีแล้ว ทางพอคำๆนี้ถูกนำไปใช้คือ ขอยืมไปใช้ภาษาธรรม ความหมายเดิมก็ยังมีอยู่ คือ ทางที่ผู้เดิน เดินไปแล้วก็ย่อมจะไปถึงสิ่งที่เป็นจุดหมายปลายทาง เราเรียกว่า ทาง คำเดียวกัน ความหมายอย่างเดียวกันทั้งภาษาคน ภาษาธรรม จะต่างกันอยู่ที่ว่า ภาษาคนเล็งไปทางวัตถุ ทางกาย ภาษาธรรมเล็งไปทางด้านจิตใจ เราต้องมีการเดินทั้ง ๒ ทาง เพราะว่าคนเราไม่ได้มีแต่ร่างกาย คนเรามีจิตใจด้วย จึงต้องมีการเดินทั้ง ๒ ทาง ถ้าไม่อย่างนั้นมันไม่ใช่คน ถ้ามันไม่เดินทั้ง ๒ ทางที่มันเดินแต่ทางกายทางเดียวมันไม่ใช่คน รึจะเป็นคนก็ไม่ใช่มนุษย์ ถ้าจะเป็นมนุษย์ต้องเดินให้ถูกให้ครบทั้ง ๒ ทาง ที่เรียกว่า ทางเท้าและทางใจ ทางเดินด้วยเท้าและเดินด้วยใจ มีอยู่ ๒ ทางจึงต้องเดินทั้ง ๒ ทาง หรือจะเรียกว่า ทางข้างนอก-ทางข้างใน ก็ต้องเดินทั้ง ๒ ทาง เลือกเดินให้ถูก เดินให้ดี ทั้ง ๒ ทาง
ชีวิตประกอบขึ้นด้วยร่างกายและจิตใจยังมีความเป็นอยู่ คือ ใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางกายและทั้งทางใจ จึงจะเรียกว่า มีชีวิตอยู่ ชีวิตมีอยู่เป็นของฉันอย่างนี้ มันก็ต้องมีการก้าวหน้า คือ การเดินไป เดินไปอย่างถูกต้องทั้ง ๒ ทาง เรียกว่า ทางกายก็ก้าวหน้า ทางจิตก็ก้าวหน้า ทางกายก็ไปถึงที่สุดของฝ่ายกาย ทางจิตก็ไปถึงที่สุดของฝ่ายจิต หมายความว่า ร่างกายก็สบายดีที่สุด ทางจิตก็สบายดีถึงที่สุด นี่เรียกว่า เป็นมนุษย์ ที่ควรเรียกว่า เป็นมนุษย์ จึงขอให้ท่านทั้งหลายสนใจสิ่งที่เรียกว่าทางทั้ง ๒ ทาง ทางใจเรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐ ทำให้ถึงจุดหมายปลายทาง คือ ความดับทุกข์
องค์ ๘ มีอะไรบ้าง? เกือบไม่ต้องอธิบายกันแล้วสำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับวัดกับวาถึงขนาดที่เรียกว่า ไม่กล้าอธิบายกันแล้วก็ได้ แต่ขอย้ำไว้โดยใจความเพื่อความชัดเจน แจ่มแจ้ง มั่นคงยิ่งขึ้น
ทางประกอบองค์ ๘ นี่ ดูจะมีที่ยืนยันอยู่ในพระบาลีว่า มีแต่ในทางพระพุทธศาสนา มีแต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ในศาสนาอื่นในลัทธิอื่นก็จะมีทางอย่างอื่น เรียกอย่างอื่น หรือประกอบด้วยองค์จำนวนอื่น หนทางประกอบด้วยองค์ ๘ จำนวน ๘ นี้มีแต่ในพระพุทธศาสนา และยืนยันเลยไปถึงว่าในศาสนาที่มีหนทางแต่องค์ ๘ เท่านั้นถึงจะมีสมณะ สมณะที่หนึ่ง สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ คือ ความเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ในลัทธิศาสนาที่มีหนทางมีองค์ ๘ เท่านั้นจึงจะมี สมณะ แล้วเราก็รู้กันไว้ว่าองค์ ๘ นั้นทำให้เกิดเป็นสมณะขึ้นมาอย่างไร? ทำไมพระพุทธองค์จึงตรัสไว้ในลักษณะที่เรียกว่าประกอบด้วยองค์ ๘? พระพุทธองค์จะต้องได้ทรงใคร่ครวญเห็นแจ้งด้วยการตรัสรู้แล้วจึงบัญญัติจำนวน ๘ ว่ามีองค์ ๘ เราก็ควรจะศึกษาดู
ในองค์ ๘ นั้นเรียกว่า มีหลักเกณฑ์ มีเหตุผล มีความถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่า มีความเป็นวิทยาศาสตร์ คือ มีเหตุผลนั่นเองอยู่อย่างครบถ้วน องค์ ๘ นั้นเอาแต่ใจความสำคัญๆกันก็คือว่า จะต้องมี
ความเห็นที่ถูกต้อง ความเห็นในที่นี้กินความลงมาถึงรากฐานของความเห็น เช่นว่า มีความเชื่อ มีการศึกษา มีการค้นคว้าถูกต้อง จึงมีความเห็นถูกต้องต่อสิ่งทั้งปวง ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอย่างไร โดยทั่วไปท่านแสดงถึงความเห็นอันถูกต้องใน อริยสัจทั้ง ๔ ข้อนี้มีปรากฏอยู่ในพระบาลีแล้วไม่ต้องพูดถึง แต่อยากจะพูดถึงเป็นของที่แปลกออกไปว่า มีความเห็นอย่างถูกต้องในสิ่งที่เรียกว่า ธรรม หรือ ธรรมะ นั่นเอง อย่างน้อยก็มีความเห็นถูกต้องว่า ธรรมะ มีอยู่ ๔ ความหมาย
สังเกตดูให้ดีดี เรื่องมันก็จะไปออกผลอย่างเดียวกัน จะเห็น อยากจะมีความเห็นถูกต้องโดย อริยสัจ ๔ ก็ดีก็ตาม จะมีความเห็นถูกต้องโดยหลักแห่งธรรมะที่มีความหมาย ๔ ประการนี้ก็ตาม ผลมันก็ต้องเป็นอย่างเดียวกัน คือ รู้ความจริงของธรรมชาติ - ความทุกข์ เหตุทำให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางถึงความดับทุกข์ ก็เป็นตัวธรรมชาติบ้าง เป็นตัวกฎของธรรมชาติบ้าง เป็นตัวการปฏิบัติหน้าที่ตรงตามกฎของธรรมชาติบ้าง เรื่อง อริยสัจ ๔ เป็นเรื่องของธรรมชาติ ถ้าเรารู้เรื่องของธรรมชาติโดยธรรมะ ๔ ความหมายแล้ว ก็ครอบงำความหมายของ อริยสัจ ๔ ได้อย่างครบถ้วน
ผู้ใดมีความเหมาะสมที่จะถือเอาความหมายของคำว่า ความเห็นชอบนี้ในลักษณะอย่างไร ก็อาจถือเอาได้โดยลักษณะอย่างนั้น แต่ในที่สุดมันก็มีผลตรงเป็นอันเดียวกันว่า มีความรู้ที่ถูกต้องในการที่จะดับทุกข์ มีความรู้ มีความเห็น มีความเชื่อ มีความเข้าใจอะไรก็ตามอย่างถูกต้องในการที่จะดับทุกข์ให้ได้ ถ้าใครมีอย่างนี้แล้วก็เรียกว่ามี สัมมาทิฏฐิ เป็นองค์อันหนึ่ง องค์ที่ ๑ ด้วยของ อริยมรรค มีองค์ ๘ ประการ
ที่นี้ก็มาถึงองค์ที่ ๒ ซึ่งเนื่องกัน ถ้าคนเรามีความรู้ ความคิด ความเห็น ความเชื่ออันถูกต้องในเรื่องของธรรมชาติ หรือของธรรมะแล้ว เขาก็จะต้องมีความปรารถนาและมีความต้องการ มีการดำริ ใฝ่ฝันอย่างถูกต้อง ที่เรียกว่ามี สัมมาสังกัปโป ความดำริถูกต้อง เมื่อเขารู้ชัดอยู่ว่าธรรมชาติเป็นอย่างไร? หรือว่าความทุกข์เป็นอย่างไร? เขาก็รู้จักปรารถนาให้มันถูกต้องในการที่จะดับความทุกข์นั้นเสียตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เขาจึงมีความต้องการที่ถูกต้องที่เรียกว่า สังกัปปะ ตรงนี้ขอให้สังเกตดูเป็นพิเศษสักหน่อยว่า ถ้าความปรารถนาที่ไม่ใช่กิเลสตัณหา ไม่ใช่ความโง่ของอวิชชาแล้ว ความปรารถนานี้ท่านจะเรียกว่า สัมมาสังกัปปะ เสมอ สังกัปปา จันโท ปานะระโส ยะถา ท่านให้พรว่า ขอให้ สังกัปปะ ของท่านเต็มเปี่ยมเหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญ ท่านจะไม่พูดว่าขอให้ตัณหา หรือ โลภะของท่านมีความเต็มเปี่ยมเหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญ เพราะนั่นมันเป็นความต้องการของกิเลส ตัณหา เมื่อเป็นความต้องการที่ไม่เนื่องด้วยกิเลส ตัณหา เราจะเรียกกันว่า สังกัปปา ถ้าถูกต้อง ก็เรียกว่า สัมมาสังกัปปา สัมมาสังกัปปะ นี่เป็นความถูกต้องของความต้องการ สืบเนื่องมาจากการเห็นอย่างถูกต้องของสิ่งทั้งปวง แล้วก็มีการเลือกเฟ้นได้ เลือกต้องการให้มันถูกต้องได้ว่า ควรจะต้องการอะไร
ทีนี้ต่อไปก็มาถึง การประพฤติ การกระทำ ที่มันแสดงออกมาเป็นการประพฤติ เป็นการกระทำ หมายความว่า เมื่อมีความเห็นถูกต้องแล้ว ความต้องการถูกต้องแล้ว ก็มีการแสดงโดยทางการกระทำที่ถูกต้อง คือ การกระทำทางวาจาถูกต้อง คือ พูดจาถูกต้อง การกระทำทางกายก็ถูกต้อง การดำรงชีวิตก็ถูกต้อง จึงมีความถูกต้องนี้ต่อมาอีก ๓ องค์คือ
สัมมาวาจา - พูดจาถูกต้อง
สัมมากัมมันโต - มีการกระทำทางกายถูกต้อง
สัมมาอาชีโว - มีการดำรงชีวิตถูกต้อง
ก็หมายถึงการพูดจา การกระทำ การดำรงชีวิตนี้มันถูกต้อง ตามหลักของความเห็นที่ถูกต้องในธรรมเห็นธรรมถูกต้อง ปรารถนาในธรรมะถูกต้อง แล้วก็แสดงออกเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางอาชีวะ คือดำรงชีวิตถูกต้อง เป็นอันว่าในส่วนของการกระทำมันก็ถูกต้อง
ทีนี้ต่อไปก็มีความถูกต้องของสิ่งที่จะให้สำเร็จตามนั้น คือ ความพยายาม สัมมาวายามะ - พยายามถูกต้อง เมื่อเข้ามาในแนวของความถูกต้องแล้ว ก็พยายาม พยายาม พยายามให้เกิดความพยายามอย่างถูกต้องขึ้นในขอบเขตอันนั้น นี้เรียกว่า ความพยายามชอบ
ทีนี้จะให้ความถูกต้องเป็นไปยั่งยืน สม่ำเสมอ ไม่ผิดพลาดได้ ก็ต้องมี ความถูกต้องของสิ่งที่เรียกว่าสติ สติ ระลึกได้ ควบคุมอยู่ ด้วยความรู้สึก ด้วยความสำนึก เรียกว่า มีสติถูกต้อง คือ การระลึกชอบ เป็นผู้ควบคุมกระแสแห่งความถูกต้องเหล่านี้อยู่
ข้อสุดท้าย คือ ความถูกต้องของกำลังจิต จิตอันที่แรง เข้มแข็ง มั่นคง ก็คือ สมาธินั่นแหละ มันจะถูกต้อง จะต้องถูกต้อง จึงมีองค์สุดท้ายว่า สัมมาสมาธิ – ความตั้งใจมั่นไว้อย่างถูกต้อง แล้วเรื่องมันก็จะไปไหนเสีย ลองคิดดู
เมื่อประกอบพร้อมกันทั้ง ๘ องค์ล้วนแต่ถูกต้อง ที่มีหน้าที่นำหน้า คือ สัมมาทิฏฐิ - ก็นำหน้าถูกต้อง ความคิดเห็นมันถูกต้อง มีความต้องการถูกต้อง มีการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางอาชีพ-ถูกต้อง แล้วก็มีเรื่องจิต ทางจิตซึ่งเป็นความสำคัญอยู่เบื้องหลังก็ถูกต้อง พากเพียรถูกต้อง ระลึกถูกต้อง ตั้งใจมั่นถูกต้อง รวมกันเป็น ๘ นี่เรียกว่า องค์ ๘ องค์ ๘ ของหนทางสำหรับจิตใจ ที่จิตใจต้องดำเนินไปอย่างดีที่สุด ทำสำเร็จแล้วก็เรียกว่า เป็น หนทางที่จิตดำเนินไปแล้วอย่างถูกต้อง เรียกว่า ความถูกต้อง ๘ ประการนี้เป็นส่วนเหตุ มรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นส่วนเหตุ ถ้าเติมส่วนที่เป็นผลมาอีก ๒ คือ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ ก็มีญาณ มีญาณอันถูกต้อง แล้วก็มี วิมุตติ คือความหลุดพ้นถูกต้อง
สัมมาญาณะ ใช้คำว่า ญาณ แปลว่า ความรู้ สัมมาทิฏฐิ หมายถึง ความคิด ความเห็น ใช้คำว่า ทิฏฐิ ถ้าฟังไม่ดี หรือดูไม่ดีก็จะเห็นว่าเป็นการซ้ำกัน แต่โดยที่แท้นั้น ทิฎฐิ กับ ญาณ นั้นมันคนละความหมาย ตามตัวหนังสือแท้ๆ นั้น ทิฏฐิ ก็แปลว่า ความเห็น ญาณะ แปลว่า ความรู้ ความเห็นนั้นจะต้องมาก่อนความรู้ เมื่อเห็นถูกต้อง มันก็รู้ถูกต้อง ต้องมีความเห็นที่ถูกต้องจึงจะเกิดความรู้ที่ถูกต้อง
มีคำกล่าวว่า ญาณทัศนะ แปลว่า ทัศนะเพื่อญาณ เขาจะแปลว่า ทัศนะเพื่อญาณ ทัศนะเพื่อความรู้อันถูกต้อง อย่าไปแปลว่า ญาณ และ ทัศนะ เลย คำว่า ญาณทัศนะ นี้สำคัญมาก มันเป็นคู่แฝด ซึ่งมันเป็นปัจจัยของกันและกัน ทำ ความเห็น ให้ถูกต้องแล้วก็จะเกิด ความรู้ ที่ถูกต้องอย่าญาณทัศนะ จึงหมายถึง ทัศนะ เพื่อญาณ สำเร็จประโยชน์ได้ มี สัมมาทิฏฐิ ยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่า ญาณ ต่อเมื่อ สัมมาทิฏฐิ ต้องดำเนินไปตามองค์อีก ๗ ประการ หรือดำเนินไปได้ตามองค์ ๗ ประการครบ ๘ แล้ว มันจึงจะเกิด สัมมาญาณ คือ ญาณ อันเป็นความรู้ที่ถูกต้อง เมื่อเกิด ญาณ ความรู้ถูกต้องแล้วก็จะไม่ไปไหนเสีย ก็จะเกิดความหลุดพ้นที่ถูกต้อง ความหลุดพ้นอย่างอื่นไม่ถูกต้องก็ได้ มันต้องเป็นความหลุดพ้นที่มาจาก ญาณ ที่ถูกต้อง จึงต้องมี ญาณ ที่ถูกต้องเสียก่อนจึงเกิดความหลุดพ้นที่ถูกต้อง ญาณ ที่ถูกต้องและความหลุดพ้นที่ถูกต้องนี้ เป็นความถูกต้อง ส่วนผล ตามมาทีหลัง ถ้าเอา ๒ นี้ไปบวกกับ ๘ ข้างต้นก็กลายเป็น ๑๐ กลายเป็นความถูกต้อง ๑๐ นั่นแหละสมบูรณ์ เรียกว่า สัมมัตตะ ๑๐ ในพระบาลีมีกล่าวถึงมาก แต่เพราะเหตุใดเราไม่เอาพูดกันมากในการสอน ในการเรียนของประเทศไทย สอนกันนักอยู่เพียง มรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้สอนกันให้เต็มขึ้นมาถึงองค์ ๑๐ คือ สัมมัตตะ ๑๐ นี่เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา นี่เป็นสิ่งที่ต้องหยิบมาพิจารณา สัมมัตตะ ๑๐ คือ ความถูกต้อง ๑๐ อย่าหยุดอยู่เพียงแค่ เหตุ ๘ หรือความถูกต้อง ๘ มันจะไม่สมบูรณ์ ถ้ารู้เรื่อง อัฏฐังคิกมรรค มีองค์ ๘ แล้วขอให้รู้เรื่องผลของ อัฏฐังคิกมรรค อีก ๒ คือ สัมมาญาณะ และ สัมมาวิมุตติ ด้วยจึงจะสมบูรณ์ แล้วก็เรียกว่า สัมมัตตะ ๑๐ สัมมัตตะ ๑๐ แปลว่า ความถูกต้อง ๑๐ เรื่อง สัมมัตตะ ๑๐ นี้ ตรัสไว้มากมายหลายแห่งในพระบาลี และก็มีความหมายสำคัญๆทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหมายที่สำคัญที่สุดได้แก่ ท่านที่ได้ตรัสว่า (นาทีที่ 25.15) สัมมัตตะ ๑๐ นี้จะทำให้พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
เราเอาบาลีมาสวดกันท่อนเดียวว่า เรามีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่พ้นการเกิดไปได้ เรามีความแก่เป็นธรรมดาไม่พ้นความแก่ไปได้ เรามีความเจ็บเป็นธรรมดาไม่พ้นความเจ็บไปได้ เรามีความตายเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ เรามีกรรมเป็นของของตัว เราจะต้องเป็นไปตามกรรม คล้ายๆกับว่า สวดแล้วก็นั่งร้องไห้ฮือๆ ฮือๆ นั่งร้องไห้อยู่ว่า เราไม่ล่วงพ้นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือการเวียนว่ายไปตามกรรมได้ เรื่องมันก็น่าสงสารสิ ที่พุทธบริษัทมาสวดบทความจริงของธรรมชาติครึ่งท่อน ว่าเราไม่พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปได้ ที่นี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า-ได้ พ้นได้ เริ่มขึ้นด้วยคำว่า ถ้าสัตว์ทั้งหลายได้อาศัยตถาคตเป็น กัลยาณมิตร แล้ว สัตว์ที่มีความเกิดจะพ้นจากความเกิด สัตว์ที่มีความแก่จะพ้นจากความแก่ สัตว์ที่มีความตายจะพ้นจากความตาย คือ พ้นหมดแหละ คือ พ้นไปจากการเวียนว่ายตามกรรมก็พ้นได้ แล้วก็ได้ตรัสว่า สัมมัตตะ ๑๐ นั่นแหละที่จะเกิดขึ้นเพราะอาศัยตถาคตเป็น กัลยาณมิตร หรือจะพูดให้ละเอียดไปกว่านั้นก็พูดว่า ถ้าได้อาศัยพระพุทธเจ้าเป็น กัลยาณมิตร แล้ว เราก็ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ คือ ปฏิบัติใน มรรคมีองค์ ๘ เป็น สัมมัตตะ ๘ ขึ้นก่อน เมื่อ สัมมัตตะ ๘ สมบูรณ์แล้วมันไม่ไปไหนเสีย มันก็มีความถูกต้องอีก ๒ เกิดขึ้นคือ สัมมาญาณะ กับ สัมมาวิมุตติ มันก็เป็น สัมมัตตะ ๑๐
พอมี สัมมัตตะ ๑๐ คือ วิมุตติ ถูกต้องแล้วมันก็พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีตัวตนสำหรับจะเวียนว่ายไปตามกรรม มันสิ้นกรรมด้วย มันพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วย มันไม่เวียนว่ายไปใน วัฏฏสงสาร อีกต่อไปด้วย ขอให้รู้ความสำคัญข้อนี้ที่ได้ตรัสไว้หลัก อยากจะพูดเลยไปถึงว่า เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า สัมมัตตะ ๑๐ นี้ พระพุทธองค์ตรัสเปรียบเทียบโดยอุปมา เรียก สัมมัตตะ ๑๐ นี้ว่า เป็นยาถ่าย เป็น วิเรจนะ คือ ยาถ่าย กินเข้าไปแล้วถ่าย คือ เมื่อประพฤติปฏิบัติใน สัมมัตตะ ๑๐ ถูกต้องทั้ง ๑๐ ประการนั้นแล้ว มันก็ถ่ายกิเลสออกหมด ถ่ายความทุกข์ออกหมด ถ่ายสิ่งไม่พึงปรารถนาออกหมด นี่เป็นยาถ่าย เช่นเดียวกับกินยาถ่าย ถ่ายโรคภัยไข้เจ็บนั้นออกไปหมดในทางร่างกาย แต่ถ้าเรากินยาถ่าย คือ สัมมัตตะ ๑๐ แล้ว มันจะถ่าย กิเลส ถ่าย อาสวะ ถ่าย อนุสัย ถ่าย สังโยชน์ ถ่ายความทุกข์ ที่เป็นผลของสิ่งเหล่านั้นออกไปได้หมด นี่เปรียบเหมือนยาถ่าย สัมมัตตะ ๑๐ เป็น วิเรจนะ คือ เป็นยาถ่าย
แล้วอีกสูตรหนึ่ง ท่านตรัสว่ามันเป็น ยาสำรอกให้อาเจียน เรียกว่า วะมะนะ วะมะนะ (นาทีที่ 28.45) กินเข้าไปแล้วอาเจียน เมื่อคนกินยาพิษเข้าไปเขาก็ให้กินยาสำรอกให้อาเจียน พิษมันก็หมดเพราะมันถูกอาเจียนออกมาหมด สัมมัตตะ ๑๐ ความถูกต้ององค์ ๑๐ นี้ก็เป็นยากินแล้วอาเจียน คือ อาเจียนกิเลส อาเจียนความทุกข์ อาเจียนอะไรออกมาหมด เหมือนกับกินยาถ่ายเหมือนกัน
ในบางสูตรตรัสเปรียบเทียบความถูกต้อง ๑๐ ประการนี้ว่าเป็น น้ำล้างบาป นี้จะไปเทียบเคียงกับลัทธิอื่น กับศาสนาอื่นที่เขามีน้ำล้างบาปในอินเดีย ลัทธิก่อนพระพุทธกาล หรือ ลัทธิอุปนิสัจ นั้นพูดถึงน้ำล้างบาป แล้วติดต่อไปถึงศาสนาอื่น ศาสนาที่เรียกว่า น้ำชำระให้บริสุทธิ์นั้นไปจากต้นตอนี้ทั้งนั้น คือ น้ำล้างบาป โธวะนะ (นาทีที่ 29.45) แปลว่า น้ำเป็นเครื่องชำระซึ่งบาป พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัมมัตตะ ๑๐ ความถูกต้อง ๑๐ ประการเป็น โธวะนะ (นาทีที่ 29.55) เป็นน้ำชำระบาป ในลัทธิอื่น ในศาสนาอื่นเขาอาจถือเอาตรงๆตามความหมาย คือ น้ำ เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำคงคา หรือแม่น้ำชื่ออื่นๆ แล้วแต่ลัทธินั้นๆเขาจะถือแม่น้ำอะไรว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เมื่อรด-ดื่มน้ำในแม่น้ำนั้นแล้วก็หมดบาป เขาจึงไปอาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นเพื่อหมดบาป ลงไปอาบน้ำในแม่น้ำนั้นแล้วหมดบาป พระพุทธองค์ไม่ทรงยอมรับข้อนี้ แต่ยอมรับว่ามีน้ำอีกชนิดหนึ่ง คือ สัมมัตตะ ๑๐ ความถูกต้อง ๑๐ ประการนี้เป็น น้ำอาบล้างบาป พุทธบริษัทเราก็อาจจะมีการอาบน้ำชำระบาปได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่น้ำในแม่น้ำ น้ำ คือ การประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนทั้ง ๑๐ ประการ ถ้าอาบแล้วมันก็หมดบาป น้ำในแม่น้ำนั้นมันจะหมดบาปได้อย่างไร มองไม่เห็น ถ้าว่าน้ำในแม่น้ำมันทำให้หมดบาปได้แล้ว ไอ้เต่า ปลา หรือสัตว์ทั้งหลายในแม่น้ำนั้นก็จะหมดบาปไปด้วย เพราะมันแช่ทั้งวันทั้งคืน นี่มันเป็นไปไม่ได้ มันน่าหัวเราะอย่างนี้ เพราะฉะนั้น คำว่า น้ำล้างบาป มันจึงมาอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติให้มีความถูกต้อง ๑๐ ประการ คือ ส่วนเหตุ ๘ ประการ และ ส่วนผลอีก ๒ ประการ รวมเป็น ๑๐ ประการนี้ครบถ้วนแล้ว ครบถ้วนทั้ง ๑๐ นี้แล้วเป็น น้ำล้างบาป เราจึงรู้จักพระพุทธศาสนาของเราว่ามีหลักการปฏิบัติอย่างนี้ ปฏิบัติให้มันถูกต้อง ๘ ประการเรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค เกิดผลอีก ๒ ประการ รวมกันเป็น ๑๐ ที่เรียกว่า สัมมัตตะ ๑๐ เดินตามทางนี้เท่านั้นแหละที่จะถึงจุดหมายปลายทาง เป็นการเกิดใหม่เป็น ธรรมะชีวี ตามที่เราต้องการ เพราะฉะนั้น ขอให้เราเดินตามทางนี้ คือ มรรคมีองค์ ๘ นี่ก็จะเถิด สัมมาญาณะ สัมมาวิมุติ เป็น ธรรมะชีวี ขึ้นมาทีเดียว แล้วก็จะเป็นอย่างชนิดที่เรียกว่า โอปปาติกะกำเนิด ไม่ต้องรอเกิดจากท้องแม่ ไม่ต้องไปเข้าท้องมารดาที่ไหน มันเกิดได้โดยร่างกายที่มีอยู่นี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางจิตใจอย่างใหญ่หลวง มีความเกิดทางจิตใจเป็น โอปปาติกะ แล้วแต่การประพฤติปฏิบัติมากหรือน้อย จะเป็น โอปปาติกะ เพียงพระโสดาบันก็ได้ เป็น โอปปาติกะ สูงขึ้นไปถึงพระสกิทาคามีก็ได้ สูงขึ้นไปถึงพระอนาคามีก็ได้ สูงขึ้นไปถึงพระอรหันต์ก็ได้ แต่มันจะเกิดโดยวิธีของ โอปปาติกะกำเนิด คือเกิดผลุงขึ้นมาในใจ โดยทางจิตใจ ไม่ต้องค่อยๆโต ค่อยๆโตอย่างเด็กทารก
เราอาจจะมีการเกิดโดย โอปปาติกะกำเนิด เกิดเป็น ธรรมะชีวี มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิตในเบื้องต้นนี้ก่อน ถ้าเดินต่อไปอีกก็จะเกิดเป็นพระอริยเจ้า มีพระโสดาบัน เป็นต้น ดังที่กล่าวแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็หวังที่จะเกิดเป็น ธรรมะชีวี มีชีวิตที่ถูกต้อง มีชีวิตที่เป็นธรรมะกันเสียก่อนเถิด แล้วก็จะงอกงามต่อไป เดินต่อไป เดินต่อไป จนเกิดเป็นพระอริยเจ้าตามลำดับ ตามลำดับพอถึงพระอรหันต์ แล้วก็หยุดเกิด เลิกเกิด จบการเกิดกันที่ตรงนั้น เรื่องมันก็จบอีก เรื่องจบ ก็หมายความว่า หมดปัญหาหมดทุกข์โดยประการทั้งปวง ตรงนั้นไม่ใช่ปัญหา ตรงนี้สิ ตรงที่จะปฏิบัติอย่างไรนี่เป็นปัญหา เพราะฉะนั้น ขอให้ถือหลักปฏิบัติชนิดที่ว่าสามารถจะประพฤติกระทำได้ในที่ทั่วไปทุกหน ทุกแห่ง ทุกเวลา ทุกสถานที่ เพื่อให้มีการกระทำที่อยู่ในร่องรอยของ อัฏฐังคิกมรรค ดังที่ได้กล่าวแล้ว เราจะพูดให้มันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญก็คือว่า ให้มีความถูกต้องทางกาย ทางวาจา ทางใจ ความถูกต้องทางกาย ทางวาจา ทางใจ ขอเติมอีกอัน คือ ทางความคิดเห็น เราไม่พูดกันเพียงแต่ว่าทางกาย ทางวาจา และทางใจ มันมีอีกทางที่เหนือไปกว่าทางใจ คือ ทาง ทิฏฐิ ทิฏฐิ คือ ความคิดความเห็น ไม่ทำผิดทางกาย ไม่ทำผิดทางวาจา ไม่ทำผิดทางจิต แต่ว่า ทิฏฐิ ยังวิปริตอยู่ยังใช้ไม่ได้ หรือจะพูดเสียใหม่ก็ว่า ถูกต้องโดย ๓ ความหมาย คือ มีศีล สมาธิ ปัญญา
ศีล คือ ถูกต้องทางกายและวาจา
สมาธิ คือ ความถูกต้องทางจิต
ปัญญา คือ ความถูกต้องทางความคิด-ความเห็น
เอาคำนี้เป็นหลักมันจะง่ายกว่า ขอเสนอใหม่ว่า เอา ๓ คำนี้เป็นหลักมันจะกำหนดได้ง่ายกว่า นั่นคือขอให้ทำอย่างมี ศีล สมาธิ ปัญญา ในทุกๆการกระทำ ให้มีการกระทำที่มี ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ในทุกๆการกระทำ คือ ให้แต่ละการกระทำที่กระทำอยู่ในแต่ละวันนั้นมันมีความเป็น
ศีลที่ถูกต้องทางกาย ทางวาจา
ให้มีความเป็นสมาธิ คือ ถูกต้องทางจิต และ
ให้มีความถูกต้องทางปัญญา คือ ความคิด ความนึก หรือทางวิชชา ทางหลักวิชาให้มันถูกต้อง
ตรงนี้อยากอธิบายเป็นพิเศษหน่อยว่า คำว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นี้จะใช้ได้ดีในกรณีทั่วไปทุกๆกรณี แต่เราไม่มองกันเอง ไม่มองก็ไม่เห็น ไม่เห็นก็พูดไม่ถูก หรือทำไม่ถูก ถ้ามีความถูกต้องทางศีล ทางสมาธิ ทางปัญญา หรือเรียกว่า มีศีล สมาธิ ปัญญาก็แล้วกัน ไม่ต้องใช้คำว่าถูกต้องอีกก็ได้ ถ้ามีศีล สมาธิ ปัญญา ก็มีความถูกต้องทางกาย ทางวาจา ทางใจ และ ทาง ทิฏฐิ หรือ ทางหลักวิชา
ทำงานตามธรรมดา ทำไร่-ทำนากันดีกว่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นล่ำเป็นสัน ทำไร่ทำนาก็ต้องมีความถูกต้องทั้งศีล สมาธิ ปัญญา คนทำนา ทำสวนต้องมีศีล สมาธิ ปัญญาอยู่ในการกระทำที่ทำไร่ทำนา การบังคับให้ทำนั่นแหละเป็นศีล จิตมุ่งหมายหมดเลยนี้เป็นสมาธิ ปัญญานี่รู้ว่าจะทำอย่างไร ชาวนารู้ว่าจะทำนาอย่างไร นี่มันเป็น เรื่องปัญญา ชาวนาทำด้วยกำลังใจทั้งหมดนี่เรียกว่า เป็นสมาธิ มีการบังคับให้ทำไม่ให้เหลวไหลนี่เรียกว่า เป็นศีล ศีล สมาธิของการทำนา ศีล สมาธิ ปัญญาของการทำนา มีอยู่อย่างนี้นะ
เปรียบให้ง่ายเล็กลงมาก็จะผ่าฟืน จะผ่าฟืนมันก็มี -
ศีล คือว่า บังคับให้ทำให้ดีที่สุด
แล้วจิตก็ตั้งไว้ดีที่สุดที่จะผ่าฟืน
แล้วก็มีปัญญาที่จะผ่าให้ออกมาโดยง่าย นี่เป็นเรื่องทางใจ
แต่ถ้าเป็นเรื่องทางวัตถุ จะเปรียบเป็นเรื่องทางวัตถุ -
ปัญญา ก็คือ ความคมของขวานที่จะผ่าฟืน
จิตสมาธิ ก็คือ น้ำหนักของขวานที่มันจะลงไปหนักๆ
ศีลของการผ่าฟืน ก็คือ ทำให้มันถูกต้อง บังคับให้มันแน่นอน ให้มันแน่วแน่ ให้มันถูกต้อง
ในการผ่าฟืนนั้นก็มีศีล สมาธิ ปัญญา ใครไม่เชื่อก็ว่านี่บ้า พูดเอาเอง เกินเรื่อง นอกเรื่องไปแล้ว แต่ขอยืนยันว่าไม่ได้นอกเรื่องเลยแหละ จะทำอะไรก็ขอให้มี ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ในการกระทำนั้น จะทำอะไรสักนิดหนึ่งที่เป็นของเล็กๆน้อยๆ ก็มันต้องมีการบังคับให้กระทำ นี่เป็นศีล ศีล นี่ทำด้วยจิตทั้งหมดนี่เป็น สมาธิ มีความรู้ในการกระทำมันก็เป็น ปัญญา นับตั้งแต่จะไถนา จะทำสวน จะขุดดินสักหลุมหนึ่งมันก็ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญาในการกระทำนั้น
ศีล คือ การบังคับให้กระทำ
สมาธิ คือ ทำด้วยจิตทั้งหมด
ปัญญา คือ มีความรู้ในการกระทำนั้น
เพราะการงานทั้งหมดกี่ร้อยกี่พันชนิด ที่มนุษย์ทำกันอยู่แม้แต่หุงข้าวสักหม้อหนึ่ง อย่างแม่ครัวหุงข้าวสักหม้อก็ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญาอยู่ในการหุงข้าว บังคับให้กระทำด้วยศีล ทำด้วยกำลังจิตทั้งหมดนี่เป็นสมาธิ ทำด้วยความรู้นี้เป็นปัญญา ถ้าถือหลักกันอย่างนี้แล้วไม่มีอะไรที่จะทำพลาด ไม่มีผิดพลาด จะเป็นการกระทำที่ถูกต้องไปหมด ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ทุกประการ มันจะเอาอะไรกันอีกเล่า มันไม่มีทางผิดพลาดเลย มันถูกต้องถึงที่สุดจุดหมายปลายทางไปทุกอย่าง ทุกประการ
เอ้า, จะยกตัวอย่างอีกข้อหนึ่งว่า กินอาหาร นั่งกินอาหารนี่ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา บังคับให้มันเป็นการกินในทางที่ถูกต้อง และมีจิตแน่วแน่ทั้งหมดเลยในการกิน แล้วก็มีปัญญารู้ว่ากินอย่างไรให้ได้ผลดีที่สุด การกินอาหารนั้นก็ประกอบอยู่ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
เอาละ จะเป็นยุติว่า จะเป็นการงานชนิดไหน เล็ก ใหญ่อย่างไรก็กระทำได้โดยประกอบอยู่ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ทีนี้ ศีล สมาธิ ปัญญามันขยายออกเป็น อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้ ถ้าเคยเรียนนักธรรมมาบ้างแล้วก็รู้ดี ว่า
สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว นี้เป็น ศีล
สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้เป็น สมาธินี้เป็นจิต เป็นเรื่องจิต เป็นเรื่องสมาธิ
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป นี้เป็น เรื่องของปัญญา
องค์ ๘ นั้นย่นเหลือเพียง ๓ คือเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเราชอบใช้จำนวนมากๆก็ว่า องค์ ๘ ก็แล้วกัน ถ้าเราชอบจำนวนน้อยๆจำง่ายก็ ๓ ก็แล้วกันคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เอา อริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นมาเรียกให้สั้นๆว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นว่าทำอะไรที่ประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา คือ ประกอบไปด้วย องค์ ๘ แห่งอริยมรรค นั่นเอง เลยมี อริยมรรค อยู่ในทุกการงาน ทุกสิ่งที่กระทำ อย่างที่พูดมาแล้วในกัณฑ์เทศน์กัณฑ์แรกแล้วว่า ขอให้จัดกระทำให้มีความถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง แล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจ อยู่ในการงานทุกชนิด ทุกๆอิริยาบถ ทุกๆเวลา ทุกๆสถานที่ ให้มีความถูกต้องแล้วพอใจ นั่นแหละคือ มี อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือว่ามี ศีล สมาธิ ปัญญา มีการกระทำที่มีการงานทุกชิ้น ทุกอันประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา หรือมีการงานทุกชิ้นทุกอันที่ประกอบอยู่ด้วย อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือว่ามีการงานทุกชิ้น ทุกอันประกอบด้วยคำว่า ถูกต้อง พอใจ ถูกต้อง พอใจ ถูกต้อง พอใจ ยกมือไหว้ตัวเองได้ เป็นสวรรค์อยู่ที่นี่ เพราะมีความถูกต้องและพอใจ
จึงหวังว่าท่านทั้งหลายจะชำระสะสางความเป็นพุทธบริษัทของตนให้ถูกต้อง ให้สะอาด ชำระความเป็นพุทธบริษัทของตนให้ถูกต้อง ให้สะอาด เพื่อให้มองเห็นได้ว่า ถูกต้องและพอใจ หรือ มองเห็นอยู่ได้ว่ามันเต็มอยู่ด้วยความหมายของ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือว่า มันเต็มอยู่ด้วยความหมายของ อริยอัฏฐังคิกมรรค นี่เรียกว่า เรามีชีวิตเป็นความถูกต้อง เป็นธรรมะ เรียกว่า ธรรมะชีวี ธรรมะชีวี มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต จนกระทั่งว่าจะทำกิจอันใดก็ถูกต้องด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา จะอาบน้ำ จะถ่ายอุจจาระ จะถ่ายปัสสาวะ ก็มีความถูกต้องของศีล สมาธิ ปัญญาอยู่ในการกระทำนั้นๆ
เจตนาที่จะกระทำนั้นมันเป็น ตัวศีล
ทำด้วยกำลังจิตทั้งหมดนั้นมันเป็น สมาธิ
มีความรู้ครบถ้วนทั้งหมดมันเป็น ปัญญา
ไม่ใช่พูดลบหลู่ จะยกตัวอย่างด้วยของต่ำๆ เช่นว่า จะถ่ายอุจจาระ ก็ประกอบอยู่ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา จะถ่ายปัสสาวะก็ประกอบอยู่ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา จะอาบน้ำก็ประกอบอยู่ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญาซึ่งอาจจะขยายออกไปเป็น อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการได้ทุกเมื่อ นี่มีความถูกต้อง มองเห็นอยู่ว่ามีความถูกต้องแล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจอยู่ทุกอิริยาบถ นี่แหละ เป็นพุทธบริษัทแท้ พุทธบริษัทแท้ แท้เพราะมีความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน เป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน
เป็น ผู้รู้ คือ ไม่โง่ ไม่เขลา
เป็น ผู้ตื่น คือ ไม่หลับอยู่ด้วยกิเลส
เป็น ผู้เบิกบาน อยู่ด้วยอำนาจของธรรมะ ซึ่งทำให้เกิดการเบิกบานเป็นลำดับ เป็นลำดับ เป็นลำดับไป พอจะบรรลุถึงนิพพาน มันก็เบิกบานเหมือนดอกไม้บานเป็นลำดับ เป็นลำดับไป
พุทธบริษัทผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นได้ด้วยการกระทำอย่างที่ว่ามาแล้ว คือ ประกอบไปด้วยความถูกต้อง ๘ ประการ หรือว่า มี ศีล สมาธิ ปัญญา นี่คือการเกิดใหม่แล้ว เกิดใหม่แล้ว จิตใจเปลี่ยนแล้วจากปุถุชนโง่เขลา จากปุถุชนหนาด้วยกิเลส มาเป็นพระอริยะเจ้าแล้ว เกิดด้วยวิธี โอปปาติกะ ในทางจิตใจนั้นทำได้อย่างนี้ แล้วก็จะอยู่เหนือปัญหาทั้งปวง พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พ้นจากการเวียนว่ายไปใน วัฏฏสงสาร ด้วยอำนาจแห่งกรรม สมตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า ถ้าสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ได้อาศัยเราเป็น กัลยาณมิตร แล้ว สัตว์ที่มีความเกิดเป็นธรรมดาจะพ้นจากวามเกิด สัตว์ที่มีความแก่เป็นธรรมดาจะพ้นจากความแก่ สัตว์ที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาจะพ้นจากความเจ็บไข้ สัตว์ที่มีความตายเป็นธรรมดาจะพ้นจากความตาย สัตว์ที่ต้องเป็นไปตามกรรมก็ไม่ต้องเป็นไปตามกรรม นี่ตอนหนึ่ง
ทีนี้บางคนอาจจะสงสัยว่ามันพ้นไปได้อย่างไร เกิด แก่ เจ็บ ตาย แม้แต่พระพุทธเจ้าเองร่างกายก็ยังเกิด แก่ เจ็บ ตาย ร่างกายที่แก่ที่ตายก็ใส่โลงไปเผาไปฝัง พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ หมายความว่าอย่างไร? นี่ตอนนี้จะโง่หรือจะฉลาดฟังกันดูให้ดีสักทีหนึ่งว่าจะพ้นจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้อย่างไร? พ้นจากเกิด แก่ เจ็บ ตายนี่มันมี ๒ ความหมาย หรือเป็น ๒ ชั้นอีกเหมือนกัน
พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตายในความหมายแรก ก็คือว่า ไอ้ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายหรือความต้องเวียนว่ายไปตามกรรมนั้น มันไม่บีบบังคับหัวใจของเราอีกต่อไป ความเกิดก็ไม่มาบีบบังคับจิตให้เป็นทุกข์ ความแก่ก็ไม่มาบังคับมาบีบบังคับจิตให้เป็นทุกข์ ความเจ็บก็ไม่มาบังคับจิตให้เป็นทุกข์ ความตายก็ไม่มาบังคับจิตให้เป็นทุกข์ ความที่ต้องเป็นไปตามกรรมก็ไม่มาทำจิตให้เป็นทุกข์ เพราะเหตุไร? เพราะว่าเราจัดจิตใจให้ถูกต้องแล้ว จัดจิตใจให้ถูกต้องแล้วจนไม่ต้องมีความทุกข์อันเกิดมาจากตัณหาของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย จิตนี้ถูกจัด ถูกกระทำเสียตามวิธีของ อริยอัฏฐังคิกมรรค เป็นต้นนี้ จนไม่รู้สึกเป็นทุกข์เพราะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต่อไป ร่างกายมันจะแก่ เจ็บ ตาย ไปอย่างไรก็ช่างมันสิ จิตนี้ไม่เป็นทุกข์ก็แล้วกัน อย่างนี้เรียกว่า พ้นจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย
ที่นี้ในความหมายที่ ๒ ที่อาจจะพูดให้ลึกไปกว่านั้น ก็คือว่า ไม่มีตัวตน มีการประพฤติปฏิบัติถึงขนาดที่เรียกว่า ทำลาย อัสมิมานะ ยึดมั่น-ถือมั่นว่าตัวตนเสียได้ ครั้นไม่มีตัวตนแล้วอะไรจะเกิด แก่ เจ็บ ตายเล่า? โรคเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือ กรรม ผลกรรมนี้มันตั้งอาศัยอยู่ที่ตัวตน ถ้าไม่มีตัวตนก็ระงับความยึดถือว่าตัวตนเสียได้ ไม่มีตัวตน มันก็ไม่มีที่ตั้งแห่งความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงเป็นอันว่าพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตายโดยแท้จริง และโดยประการทั้งปวง นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสแล้วจะมีความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์เสมอไป เมื่อท่านตรัสว่า พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันก็พ้นจริงๆเหมือนกัน เพราะจิตใจไม่รับเอาอิทธิพลของการเกิด แก่ เจ็บ ตายมันก็ไม่มาบีบคั้นหัวใจได้ หรือจะกล่าวให้ลึกถึงที่สุดก็ว่า-ทำลายตัวตนเสียได้ ทำลายความเข้าใจว่าตัวตน ยึดถือว่าตัวตน อุปาทานว่าตัวตนเสียได้ มันก็ไม่มีตัวตนอยู่ในความยึดถือ มันก็ไม่มีตัวตนสำหรับจะเป็นทุกข์ สำหรับจะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีตัวตนที่จะทำกรรม ไม่มีตัวตนที่จะรับผลกรรม ก็เลยไม่ต้องเป็นไปตามกรรม นี่เรียกว่า มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง คือ เป็น กัลยาณมิตร แล้ว สัตว์ที่มีความเกิดเป็นธรรมดา-หลุดพ้นจากความเกิด สัตว์ที่มีความแก่เป็นธรรมดา-หลุดพ้นจากความแก่ มีความตาย-พ้นจากการตาย มีการเวียนว่ายตามกรรม-ก็จะหลุดพ้นไปจากการเวียนว่ายไปตามกรรม นับว่าเป็นการได้ที่ดีที่สุด และให้รู้ว่าเราสามารถจะพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ อย่ามานั่งท่องนั่งบ่นอยู่ว่า เรามีความเกิดเป็นธรรมดา-ไม่พ้นจากความเกิดไปได้ เรามีความแก่เป็นธรรมดา-ไม่พ้นจากความแก่ไปได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา-ไม่พ้นจากความเจ็บไข้ไปได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา-ไม่พ้นจากความตายไปได้ แล้วจะได้ผลเป็นอย่างไร? มันก็ต้องนั่งร้องไห้โฮ โฮ โฮ โฮ อยู่ว่า กูไม่อาจพ้นไปจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายได้อย่างนี้ ไม่เป็นพุทธบริษัท แต่ถ้าเป็นพุทธบริษัทต้องปฏิบัติกระทำไปจนพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วอย่ามาสวดคาถาสวดมนต์ครึ่งเดียวว่า มีแต่จะสร้างเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่พ้นการเกิด แก่ เจ็บ ตายไปได้ มันก็จะเป็นเรื่องหลอกตัวเอง มันสะเพร่าเองที่ไม่เอามาสวดให้ครบ ให้ถ้วน ให้หมด เอามาท่อนเดียว ตรงนั้นมันเป็นการเตือนไม่ให้ประมาท ให้รีบทำจิต ทำหน้าที่เสียโดยเร็วก่อนที่จะมีเกิด แก่ เจ็บ ตายมาตัดรอนเสีย รีบทำหน้าที่ของตนด้วยความไม่ประมาท นึกถึงความเกิด แก่ เจ็บ ตายไม่ให้เกิดความประมาท แล้วก็รีบทำหน้าที่ของตนเสีย อย่าให้มันติดชะงักอยู่ที่ตรงนั้น มันก็จะน่าสงสาร นี่ พุทธบริษัทผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อย่ามาติดตัน ตายด้านอยู่ที่ตรงนี้ ว่าเราไม่พ้นไปจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้ จะต้องมองเห็นชัดว่า เราหลุดพ้นไปได้จากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือ กรรม หรือ ผลกรรม หรือ การเวียนว่ายไปตามกรรม ไม่มีอะไรมาทำให้เราเป็นทุกข์ได้ กฎของธรรมชาติเป็นอยู่อย่างนี้ กฎอิทัปปัจจยตา เป็นอยู่อย่างนี้ เรารู้จักใช้ กฎอิทัปปัจจยตา นี้ให้ถูกต้องให้ถูกต้องแล้วเราก็จะได้รับผลอย่างนี้ คือ พ้นจากเกิด แก่ เจ็บ ตายได้จริง เป็นพุทธบริษัทได้จริง เป็น ธรรมะชีวี อีกความหมายหนึ่ง คือ สูงขึ้นไป มีชีวิตเป็นธรรมะ ธรรมะนั้นไม่รู้จักตาย ธรรมะไม่รู้จักตาย สิ่งที่เรียกว่าธรรมะนี้ไม่รู้จักตาย มีธรรมะเป็นชีวิตแล้ว ชีวิตนี้ก็ไม่รู้จักตาย ก็ได้สมตามความมุ่งหมายที่ว่า จะดับทุกข์สิ้นเชิง ธรรมะชีวี เกิดขึ้นได้แล้วโดย โอปปาติกะกำเนิด แก่พุทธบริษัทผู้รู้ธรรมะ ประพฤติธรรมะ ดำเนินไปตามทางของธรรมะได้ครบถ้วน เรียกว่าเป็น อริยะ พระอริยะ หรือ พระอริยะเจ้า อริยะ แปลว่า ประเสริฐ ประเสริฐคำนี้มันยืมเอาความหมายของคำว่า อริยะ มา อริยะ นี้ไม่ได้แปลว่า ประเสริฐ อริยะ แปลว่า ไปพ้นแล้วจากข้าศึก อริ แปลว่า ข้าศึก ยะ แปลว่า ไป อริยะ แปลว่า ไปพ้นแล้วจากข้าศึก เพราะไม่มีข้าศึกจึงเรียกว่าประเสริฐ ภาษาบาลีคำว่า ประเสริฐ มีอีกคำหนึ่งว่า เช่นคำว่า เสฎโฐ เสฎโฐ แปลว่า ประเสริฐ เดี๋ยวนี้ อริยะนี่ แปลว่า ไปพ้นแล้วจากข้าศึก ในภาษาไทยเราเอามาเรียกว่า ผู้ประเสริฐ ก็เพราะไม่มีข้าศึกนั่นเอง ตัวหนังสือมันว่า ไปแล้วจากข้าศึกก็เป็นผู้ประเสริฐ หมายความว่า เหนือปัญหา เหนือความทุกข์ เหนือปัญหา เป็นผู้อยู่เหนือไอ้เรื่องที่เป็นปัญหานี้ เรียกว่า เป็นผู้ประเสริฐ
ครั้นหลุดพ้นแล้ว ถูกต้องแล้วก็ยังมีความถูกต้องที่เกี่ยวกับผู้อื่น อย่าถูกต้องหรือหลุดพ้นแต่ตัวเองฝ่ายเดียว ต้องคอยนึกถึงผู้อื่นด้วย เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องประพฤติกระทำช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ของเราให้พ้นด้วย นี้จึงจะประเสริฐเต็ม ทำแต่ฝ่ายตัวเองฝ่ายเดียวประเสริฐไม่เต็ม ช่วยผู้อื่นให้หลุดพ้นได้ด้วยจึงจะประเสริฐเต็ม
จึงหวังว่าพุทธบริษัททุกคนจะทำหน้าที่ของตนให้ครบถ้วน ให้ถูกต้อง ถูกต้อง คือ มีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะตนฝ่ายเดียว นี่ขอให้มุ่งทำอะไร อะไร ชนิดที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เถิด อย่าให้เป็นไปเพื่อโทษและอันตรายเลย ถ้ามันมีเค้าเงื่อนว่าจะเกิดโทษ เกิดอันตรายแล้วเลิกมันเสีย ยกเลิกมันเสีย คนโกรธตอบ หรือ คนแก้แค้นนั้นมันเลวมาก มันเลวกว่าคนที่โกรธทีแรก คนโกรธเดิม คนทำร้ายทีแรกนั้นมันก็ไม่ดีหรือเลวแล้ว แต่ถ้าคนที่ทำไม่ดีตอบนี้เป็นคนเลวกว่าคนที่ไม่ดีทีแรก คนด่าตอบนี่เลวกว่าคนที่ด่าทีแรก คนตีตอบนั้นมันเลวกว่าคนที่ตีทีแรก คนที่ประทุษร้ายตอบนั้นมันเลวกว่าคนที่ประทุษร้ายทีแรก พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราจงเลิกการกระทำชนิดที่จะต่อความยาว สาวความยืดในการที่จะทำให้เกิดโทษ เกิดอันตรายแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ยุติลงเสียได้อย่างนี้เป็นคนหลับ เป็นคนมืด เป็นคนล้ม เป็นคนไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่า หน้าที่ของตนนั้นเป็นอย่างไร?
ขอให้พุทธบริษัททุกคนรู้จักหน้าที่ของตน ดำเนินไป ดำเนินไป รีบดำเนินไปให้ถึงจุดหมายปลายทางตามหลักแห่ง อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ แล้ว เป็น ธรรมะชีวี โดยสมบูรณ์ โดย โอปปาติกะกำเนิด นั้น นี่เป็นการอธิบายต่อจากพระธรรมเทศนาในยามต้นแห่งราตรี ว่าจงดำเนินหนทางของ ธรรมะชีวี ให้จนถึงที่สุดได้ในเวลาอันสมควร
ธรรมเทศนานี้ก็สมควรแก่เวลาอีกครั้งหนึ่ง ขอยุติธรรมเทศนานี้ไว้คราวหนึ่งก่อน แล้วเราก็จะได้สนทนา พาที อภิปราย สัมมนาอะไรกันไปตามสมควรแก่เวลา แล้วก็จะได้พูดกันอีกสักครั้งหนึ่ง ก่อนที่ราตรีนี้มันจะหมดไป
ขอยุติธรรมเทศนาไว้แต่เพียงนี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
สวดมนต์คำสาธุการเมื่อพระเทศน์จบ นาทีที่ ๕๙.๔๐ -
สาธุ พุทธะสุโพธิตา, .......สาธุ ! ความตรัสรู้ดีจริงของพระพุทธเจ้า.
สาธุ ธัมมะสุธัมมะตา, ......สาธุ ! ความเป็นธรรมดีจริงของพระธรรม.
สาธุ สังฆัสสุปะฏิปัตติ, .....สาธุ ! ความปฏิบัติดีจริงของพระสงฆ์.
อะโห พุทโธ, ..................พระพุทธเจ้า น่าอัศจรรย์จริง.
อะโห ธัมโม, ...................พระธรรมเจ้า น่าอัศจรรย์จริง.
อะโห สังโฆ, ...................พระสงฆเจ้า น่าอัศจรรย์จริง.
อะหัง พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สะระณัง คะโต
ข้าพเจ้าถึงแล้ว, ซึ่งพระพุทธเจ้า, พระธรรมเจ้า, พระสงฆเจ้า, ว่าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกถึง.
อุปาสะกัตตัง (หญิงสวด อุปาสิกัตตัง) เทเสสิง ภิกขุสังฆัสสะ สัมมุขา.
ข้าพเจ้าขอแสดงตน, ว่าเป็นอุบาสก ในที่จำเพาะหน้าพระภิกษุสงฆ์.
เอตัง เม สะระณัง เขมัง, เอตัง สะระณะมุตตะมัง.
พระรัตนตรัยนี้, เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าอันเกษม, พระรัตนตรัยนี้, เป็นที่พึ่งอันสูงสุด.
เอตัง สะระณะมาคัมมะ, สัพพะทุกขา ปะมุจจะเย.
เพราะอาศัยพระรัตนตรัยนี้, เป็นที่พึ่ง, ข้าพเจ้าพึงพ้นทุกข์ทั้งปวง.
ยะถาพะลัง จะเรยยาหัง สัมมาสัมพุทธะสาสะนัง.
ข้าพเจ้าจักประพฤติ, ซึ่งพระธรรมคำสั่งสอน, ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, โดยสมควรแก่กำลัง.
ทุกขะนิสสะระณัสเสวะ ภาคีอัสสัง อะนาคะเต.
ขอข้าพเจ้าพึงมีส่วนแห่งพระนิพพาน, อันเป็นที่ยกตนออกจากทุกข์, ในอนาคตกาล, เบื้องหน้าโน้นเทอญ.
ท่านพุทธทาสฯ : .....ว่าแต่ปาก พระพุทธเจ้าน่าอัศจรรย์จริง มันว่าแต่ปาก ถ้าธรรมะมันน่าอัศจรรย์จริงมันว่าแต่ปาก มันไม่เล่นจริงจะประพฤติเต็มสติกำลังนี้ มันว่าแต่ปากนี่ มันไม่ได้ทำจริงนี่ ....... นาทีที่ 61:59 เณรmeไมโครโฟนให้หมอสม นาทีที่ 62:06 .....อะโห พุทโธ พระพุทธเจ้าน่าอัศจรรย์จริงนี้ว่ามาร้อยครั้งแล้ว หลายร้อยครั้งแล้ว แต่ว่าแต่ปากมันไม่อัศจรรย์จริง
ท่านพุทธทาสฯ : ในโอกาสแห่งวิสาขบูชา เพื่อจะควัก นาทีที่ 62:35 ออกมาบูชาพระศาสดาในวันนี้ ดีกว่าไปนอน ถึงไม่พูดแค่นั่งฟังก็ยังดีกว่าไปนอน เป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ให้ตาแจ้งในธรรมะ เอ้า, ..... นาทีที่ 62:59 พูด จะมาจากไกลๆ ...........................นาทีที่ 63:08
ท่านผู้ได้รับเชิญพูด : ปรากฏว่าวันวิสาขบูชาปีนี้ก็มีพระภิกษุ พระคุณเจ้านี้มาจากหลายที่หลายแห่ง ก็จะขอนิมนต์ออกมาเพื่อแสดงความรู้สึก หรือมีข้อธรรมะที่จะมาอภิปรายหรือมาแสดงเนื่องในวันวิสาขบูชานี้ ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือว่าจะในหัวข้อบรรยายที่พระเดชพระคุณได้แสดงมาทั้ง ๒ กัณฑ์นี้ ก็คงเป็นเรื่องของ ธรรมะชีวี คือ ชีวิตที่ประกอบอยู่ด้วยธรรม แล้วก็เป็น โอปปาติกะ คือ การเกิดในทางจิตวิญญาณนี้ คือ เกิดผลุงขึ้นเพื่อเป็น ธรรมะชีวี สมกับที่พระพุทธองค์นั้นทรงอุบัติขึ้นในวันเช่นวันนี้ ที่จริงการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านั้น มีความสำคัญตรงที่ว่า เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ นั้นประการหนึ่ง
แล้วอีกประการหนึ่ง เป็น เครื่องชี้ให้เห็นว่าแม้แต่เราเองนี้ ทุกๆคนนี้ก็สามารถที่จะอุบัติขึ้นอย่างเป็น โอปปาติกะ เช่นพระองค์ได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องขอนิมนต์พระคุณเจ้ามาแสดงในแง่ใดแง่หนึ่งนี้ ตอนแรกนี้ก็ขอนิมนต์ อาจารย์พระมหาจัน คุณวุฒิโท นาทีที่ 66:15 จากวัดขันเงิน ของสวน มาแสดง นิมนต์ครับ … จำวัดหรือครับ !!
ท่านมหาสมใจ มาจากสงขลา นิมนต์ครับ
ท่านมหาสมใจ : ขอกราบท่านอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง ...... นาทีที่ 68:20 ที่เคารพ และก็ญาติโยมทุกท่าน อาตมารู้สึกเป็นพิเศษที่ได้มีโอกาสมาร่วมทำวิสาขะที่สวนโมกข์ ความจริงก็เคยมาหลายครั้ง ครั้งก่อนๆก็ไม่ค่อยได้ปรากฏกันเท่าไหร่ และอีกอย่างหนึ่งก็พูดไม่ค่อยเป็นด้วย
สำหรับคืนนี้ก็เป็นพิเศษในวันวิสาขบูชา ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านนิมนต์ให้พระที่มาแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับวันวิสาขบูชา ก็..สำหรับอาตมาเองนั้นก็ต้องรู้สึกประทับใจมากเกี่ยวกับเรื่องวันนี้ มีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า ที่บวชอยู่ในศาสนานี้ก็เพราะประทับใจในเรื่องนี้ วันวิสาขบูชา คือ วันที่ซึ่งถือกันว่าเป็นวันสำคัญในทางพุทธศาสนานี้ เป็นวันตรัสรู้ ... ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธเจ้านี้ มันทำให้พวกเราชาวพุทธที่เป็น สัมมาทิฏฐิ นี้ ได้ประโยชน์อย่างมากที่สุด เพราะว่าถ้าหากว่าไม่มีเรื่องอย่างนี้ขึ้นมา ไม่มีการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าขึ้นมา พระภิกษุที่มีความสำคัญในทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในเมืองไทยเรา อย่างเช่นท่านอาจารย์เจ้าคุณนี้ก็คงจะไม่มี และพวกเราก็คงจะไม่ได้มาประชุมกันที่นี้ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ทีนี้ ก็ในฐานะที่เป็นพระนี้ อาตมาอยากจะพูดกับญาติโยม ไม่มากหรอก สัก ๒-๓ ประโยค ที่เห็นว่า จำเป็นที่ทำให้เรานึกถึงพระพุทธเจ้ามากๆ เพราะว่าถ้าเรานึกถึงพระองค์อยู่มากๆนี้ เรื่องที่จะทำให้ความทุกข์มันสิ้นไปหรือดับไปนี้ จะมีโอกาสมากขึ้น โดยเฉพาะบทสวดมนต์ตอนเย็น ทำวัตรเย็นนี้ มันมีอยู่ ๒-๓ ประโยค ที่พวกเราพุทธบริษัทควรจะว่าบ่อยๆ ที่ภาษาบาลีใช้คำว่า พะหุลีกะทา ภาวิตา พะหุลีกะตา ทำบ่อยๆ ทำมากๆ นี้จะทำให้นึกถึงพระองค์มาก ทำให้นึกถึงพระพุทธเจ้ามากๆ จะได้สวดอย่างนี้กันอยู่ ใช้เป็นคำพูดก็ได้ เช่นว่า บทว่า
พุทธัสสาหัสมิ ทาโส วะ พุทโธ เม สามิกิสสะโร นี้
ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนาย มีอิสระเหนือข้าพเจ้า อะไรอย่างนี้
พุทธัสสาหัง นิยยาเทมิ สะรีรัูชีวิตัูจิตัง
ข้าพเจ้ามอบกายถวายชีวิตนี้ แด่พระพุทธเจ้า
วันทันโตหัง จะริสสามิ พุทธัสเสวะ สุโพธิตัง
ข้าพเจ้าผู้ไหว้อยู่ จักประพฤติตามซึ่งความตรัสรู้ดีของพระพุทธเจ้า
นัตถิ เม สะระณัง อัูญัง พุทโธ เม สะระณัง วะรัง
สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี, พระพุทธเจ้าเป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า
อะไรอย่างนี้ อาตมาว่าเป็นบทที่ควรจะว่าบ่อยๆ มันจะทำให้เกิดความคิดอะไรหลายๆอย่างที่ไม่ออกนอกแนว หรือว่าเวลามันมีกิเลสเกิดขึ้นควรจะสวดบทนี้ และทีนี้ พระพุทธเจ้าคือใครนี่ ท่านอาจารย์ก็บรรยายมามากแล้ว อาตมาไม่ขอโอกาสพูดบรรยายในที่นี้ และญาติโยมที่มาที่นี้ก็เข้าใจว่า พระพุทธเจ้าคือใคร พระธรรมคือใคร พระสงฆ์คือใคร เพราะว่าแม้แต่โยมผู้หญิงเมื่อกี้มาพูดก็บอกว่า มาที่นี่มา ๒๒ ปีแล้ว อาตมายังมาทีหลัง ครั้งแรกมาปี ๒๕๑๕ ก็เพิ่งได้ ๑๒ ปีเท่านั้นเอง ยังเป็นรุ่นน้องเป็น ๑๐ ปี เพราะฉะนั้นก็เข้าใจว่าญาติโยมทุกคนส่วนใหญ่ที่มากันหลายปี รู้เรื่องนี้ดี
ทีนี้ ทางศาสนานี้ พระพุทธเจ้าท่านนิยมให้ทำมากๆ ทำบ่อยๆ คำว่า มากๆ บ่อยๆ นี้อาจจะทำทุกลมหายใจเข้า-ออกก็ได้ คำว่า มาก ของท่านนี้ หรือเช่นคำว่า พหุสสุตา ......... นาทีที่ ๑.๑๕.๑๐ อะไรอย่างนี้ คงไม่ได้มากเหมือนอย่างที่โยมวรรณพูดว่า คนสมัยนี้มันรู้มาก คงไม่ได้มากอย่างนั้น มากในเรื่องที่ดับทุกข์ได้ อย่างเวลานี้เขารู้มากก็จริง แต่ไปรู้เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องดับทุกข์ รู้สารพัดอย่างแต่ว่ามันก็รู้เรื่องอื่น เรื่องที่เพิ่มกิเลสมากขึ้นทุกวัน ทุกวัน ทุกคืน มันไม่ใช่เรื่องที่ลดกิเลส เพราะฉะนั้น ถึงรู้มากมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่คำว่า มาก ของพระพุทธจ้าไม่ได้มากอย่างนั้น มากในเรื่องที่จะดับทุกข์ได้ เอามาทำอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก มาก ของท่านคือ มากอย่างนี้ ไม่ได้มากเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เอามาทำมากๆ ที่มันดับทุกข์ได้ นี่หมายความว่า มาก นี่
ถ้าว่าถึงหลักในการทำมากๆ ใน พหูสูต นี้ เท่าที่ปรากฏอยู่ก็รู้สึกจะมีสัก ๕ ขั้นตอน คือ ถ้าเรื่องใดที่มันเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ได้นี้ ท่านบอกว่าให้ทำมากๆ จนกระทั่งว่ามันเกิดหลักการข้อที่ ๒ ขึ้นมา ที่เรียกว่า ธตา นาทีที่ ๑.๑๖.๒๒ สามารถทรงจำเรื่องนั้นได้อย่างแม่นยำ ชัดเจนอยู่ในความรู้สึก และทีนี้จำได้อย่างแม่นยำแล้วก็ยังไม่พอ ที่ว่า มาก นี้ ต้องเอามาพูดจนคล่องปาก สาธยายได้อย่างคล่องปาก สิ่งเหล่านี้จะทำให้พระศาสนาอยู่ได้ เพราะว่าศาสนาจะไม่อันตรธาน คล่องปากแล้วยังไม่พอ ท่านบอกว่าเอามาเพ่งกันจนขึ้นใจ มนสานุเปกขิตา นาทีที่ ๑.๑๖.๕๓ เพ่งขึ้นใจ เรื่องใดที่เป็นประโยชน์นี้เอามาเพ่งจนขึ้นใจ
ประการสุดท้าย ท่านบอกว่า ทิฎฐิยา สุปฏิวิทธา มองเห็นแจ่มแจ้งตลอดสาย เรื่องอะไรก็ตาม อย่างเช่น เรื่องที่ท่านอาจารย์ท่านบรรยายนี้ อาตมาว่าพุทธบริษัทพวกเรานี้ จะต้องรับผิดชอบเอาไปทำมากๆ แล้วก็ต้องจำได้อย่างแม่นยำ พูดได้คล่องปาก ทำให้เพ่งขึ้นใจ ทำให้เข้าใจแจ่มแจ้ง และถ้าพุทธบริษัทเป็นอย่างนี้แล้วก็ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งหมด ต่อให้ใครที่ไหนเอาช้างมาสัก ๒๐ เชือก ๑๐๐ เชือก ๕๐๐ เชือกนี้ ก็ดึงไปไม่ไหว เป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นห่วงอะไรทั้งสิ้น เดี๋ยวนี้น่าเป็นห่วงอยู่ที่สุดก็คือว่า แม้แต่คนที่รักพระศาสนาเองก็ยังไม่เข้าใจศาสนา ที่รู้เท่าไหร่ก็ไม่รู้ อาตมาก็ไม่อยากพูดเหมือนกัน มันเป็นการกระทบกระเทือน เพราะว่าพุทธเจ้าท่านก็บอกว่า ตรัสว่า อะนูปะวาโท เราชาวพุทธนี้จะไม่พูดจาก้าวร้าวผู้อื่น เพราะว่ามันจะผิดหลักที่ว่า เรานี้ต้องการทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์และความสุขแก่มหาชน ถ้าชาวพุทธเรายังพูดจาก้าวร้าวอยู่มันก็ไม่เป็นประโยชน์ มันก็ไม่ได้เป็นชาวพุทธแต่มันเป็นคนที่อะไรก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น เราต้องศึกษาหลักเกณฑ์ของเรานี้ให้ได้ก่อน แล้วปฏิบัติจนมันเห็นแจ้งเห็นจริงในเรื่องนี้ ทำให้มันขึ้นใจ เข้าใจแจ่มแจ้ง ทุ่มเทกันบ้าง เหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์เคยพูดขอร้องไว้ทุกครั้ง มาคราวที่แล้วท่านบอกว่า พุทธทาสนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะท่าน พวกเราก็เป็นด้วย ญาติโยมที่นั่งอยู่ที่นี่ก็เป็นด้วย เพราะเวลาสวดมนต์ทำวัตรก็ว่ากันทุกคน เรื่องนี้อาตมาขอฝากไว้พียงเท่านี้ว่า พวกเราชาวพุทธนี้ สิ่งใดที่มันเป็นประโยชน์แล้วนี้ให้เอาไปทำให้มากๆ อย่างที่ว่ามาแล้วทั้งหมด ทำมากๆ จนจำได้ จนพูดได้คล่องปาก จนเพ่งจนขึ้นใจ จนเข้าใจแจ่มแจ้ง ชาวพุทธช่วยกันทำอย่างนี้ ศาสนาพุทธจะไม่อันตรธาน ถ้ามิฉะนั้นแล้วนี่ก็ไว้ใจไม่ได้ อันตรธานไปก็เพราะพวกเราไม่ทำกันอย่างนี้ ไปทำกันอย่างอื่น จึงมีความรู้สึกอย่างนี้ ว่าอยากเห็นพวกเราชาวพุทธทำกันในลักษณะอย่างนี้ และก็เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์มากกับการที่เรามาอดหลับอดนอนกันอยู่อย่างในคืนวิสาขะคืนนี้ ท่านอาจารย์ยังไม่ได้ขึ้นไปไหนเลย พวกเราหนีกันไปนอนหลายคนแล้ว อาตมาก็ไม่อยากจะว่าใคร ตัวเองก็นั่งโงกง่วงไปหลายทีแล้วเมื่อกี้...ธรรมดา มันยังแพ้นิวรณ์กันอยู่ และขอกล่าวอะไรตามความรู้สึกในใจ เป็นการบรรยายธรรมะไว้เพียงแค่นี้
ต่อไปขอนิมนต์ พระอาจารย์สุชา นาทีที่ ๑.๒๐.๕๕ ครับ จากขอนแก่น ท่านก็เที่ยวเป็นธรรมฑูตไปเผยแพร่ธรรมะอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ คิดว่าคงจะมีเรื่องเกี่ยวกับการเผยแพร่ศาสนา ที่ว่ามีปัญหา มีอุปสรรค แล้วเราจะพูดจะแสดงอย่างไรที่เกี่ยวกับว่าจะให้พุธศาสนาของเรานี้ แพร่หลายไปยังศาสนิก ก็มีประสบการณ์ในเรื่องการทำงานนี้ก็มาก ดังนั้น ขอนิมนต์ครับ
พระอาจารย์สุชา : ขอนมัสการพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพุทธทาส เจริญพรญาติโยมชาวพุทธทุกท่าน กระผมหรืออาตมาชื่อ พระสุชา สุจารโน นาทีที่ ๑.๒๒.๐๗ อยู่ที่สำนักทุ่งสว่าง ซอยประดิพงษ์ กม. ๑๕ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น นาทีที่ ๑.๒๒.๒๐ เพิ่งออกไปตั้งสำนักได้ ๒ พรรษา เหตุที่ไปตั้งสำนักใหม่ก็เพราะว่า อยู่วัดไม่ได้ เพราะวัดทุกวันนี้มีแต่ วิก นาทีที่ ๑.๒๒.๓๗ ก็เลยไม่อยากอยู่วิก ก็เลยไปทำสถานที่ใหม่ให้เป็นที่ปฏิบัติธรรม ที่มาสวนโมกข์ก็... ทุกคนก็ว่ามา ๒๐ ปี ๒๒ ปี ส่วนกระผมก็เพิ่งมาได้ ๙ ปีนี้ มาปี ๑๙ ปีแรก
วันวิสาขบูชานี้เป็นวันที่สำคัญทุกคนก็พูดไปแล้วว่า เราทุกคนต้องมารำลึกนึกถึงวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นผู้ชนะโลก วันนี้ก็จะอภิปรายตามความรู้สึกของการประสบการณ์ ส่วนกระผมนั้นก็จะพูดในปัญหาที่ คุณโดม นาทีที่ ๑.๒๓.๕๙ พูดปัญหาไว้ คือ ที่พุทธศาสนาไม่ได้ผลเพราะอะไร? นี่ปัญหาหนึ่ง
ที่จริงแล้วพุทธศาสนาของเรานั้นถูกเผยแพร่มานานแล้ว แต่ว่ากระผมก็คิดว่า เผยแพร่พุทธศาสนา แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ ไปดูกันแล้วมันเป็นการเผยแพร่ลัทธิหนึ่งนอกพุทธศาสนาไป โดยเฉพาะเป็น...ของ สัสสตทิฏฐิ นาทีที่ ๑.๒๔.๓๘ เรื่องนี้ก็ระดับชั้นปกครองที่เป็นระดับสูงสุดลงมา ตั้งแต่ฝ่ายพุทธจักร หรือ ฝ่ายอาณาจักรก็จริง..ก็ดี ไม่ได้เอาพุทธศาสนานี้มาสอนกัน โดยเฉพาะจะสอนขั้นศีลธรรมกันมากกว่า เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ในประเทศไทยของเรา โดยเฉพาะอย่างกระผมนี้ก็บวชมาได้ ๑๘-๑๙ พรรษา แต่ไม่เคยรู้พุทธศาสนาเลย เพิ่งมาเข้าใจไปนิดหน่อยปี พ.ศ. ๒๕๑๙ นี้เอง ที่ออกมาจากการบวชตามประเพณี ได้มาศึกษาพุทธศาสนาที่สวนโมกข์ ที่จริงถ้าไม่มีสวนโมกข์ ไม่มีท่านอาจารย์แล้วก็คงอยู่อย่างนั้นแหละ ยังเข้าใจการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน อย่างประวัติศาสตร์ หรืออย่างภาษาคนธรรมดาพูด ไม่ได้เข้าใจอย่างภาษาธรรม เพิ่งได้มาเข้าใจเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ ขึ้นมา ก็เริ่มปฏิบัติธรรมตั้งแต่ปีนั้นมา ก็ได้ออกเผยแพร่พุทธศาสนาตั้งแต่ปี ๒๐ จนถึงทุกวันนี้ ส่วนอุปสรรคนั้นมีมาก อุปสรรคการเผยแพร่นี้มีมากเพราะเราไม่เข้าใจ
ขั้นแรก ไปเผยแพร่ก็เอาตามกิเลสของตัวเอง นึกว่าของตัวเองถูกเสียเป็นส่วนมากก็เลยไปด่า ไปด่าเขา ไปด่าเขาว่าเขาไม่ทำอย่างตัวเอง ก็ไปไม่ค่อยได้เพราะเขาก็ไม่ต้องการ พอทำมา ทำมาได้ต่อมาก็มาอบรมที่สวนโมกข์กับท่านอาจารย์วรศักดิ์ นาทีที่ ๑.๒๗.๐๐ บ่อยๆและก็มาฟังบ่อยๆเป็นประสบการณ์ของตัวเอง ก็เลยเข้าใจวิธีการบ้าง ไปสัมมนาที่อื่นบ้าง แต่เดี๋ยวนี้อุปสรรคก็ลดน้อยลง ผลที่เกิดจากการเผยแพร่ปฏิบัติก็มากขึ้น ตกมาถึงปีนี้ตั้งแต่มกราถึงเมษานี้ไม่มีวันที่จะหยุด ขึ้น-ล่องอยู่แถวตะวันออกไปหาอีสานก็ทำอยู่ เพิ่งได้หยุดวันที่ ๓๐ เมษา นี่เอง โดยเฉพาะที่จังหวัดตราดก็มีพระคุณเจ้าและโยมมาหลายท่าน เช่น โยมสุดใจ เป็นต้น ที่ได้ไปเปิดอบรมที่จังหวัดตราดทุกปี
ทีนี้ก็ วันที่ ๙ วันที่ ๑๐ มิถุนา นี้เอง กระผมจะเปิดสัมมนาเพื่อเจาะปัญหาหรือว่าวิจัยปัญหาของการเผยแพร่ มีอยู่ ๔ หัวข้อ จะนิมนต์และก็เชิญนักวิชาการไปให้ความรู้จากพระผู้เผยแพร่ เพราะว่าพระผู้เผยแพร่นี้มาจากประถม ๔ กันทั้งนั้น โดยไม่ได้จบปริญญาอะไร มาจากประถม ๔ แต่ว่าใจมันชอบ มันรักงานนี้ก็จึงกระทำกันไปและก็ศึกษากันไป..... จบไม่บริบูรณ์ !!