แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพระธรรมทายาททั้งหลาย ผมขอบรรยายเรื่องที่พูดค้างไว้ยังไม่จบต่อไป คือเรื่องกิจกรรมธรรมทายาทนั่นเอง เมื่อวานเราพูดถึงเรื่องนี้โดยหัวข้อว่า มันคืออะไร มันเกิดมาจากอะไรและมันเพื่อประโยชน์อันใด สามหัวข้อแล้ว วันนี้ก็มาถึงหัวข้อที่สี่ซึ่งมีอยู่ว่าจะสำเร็จได้โดยวิธีใด โดยวิธีใด โดยทำอย่างไร กล่าวให้ติดต่อกัน ก็ต้องกล่าวมาแต่ต้นว่า กิจกรรมธรรมทายาทเป็นหน้าที่ของสมณศากยบุตร เราทำเพื่อสนองบูชาพระคุณพระพุทธประสงค์ เนื่องมาจากเหตุที่ว่ามันจะทนดูอยู่ไม่ได้ในการที่จะปล่อยให้สิ่งต่างๆ เป็นไปอย่างน่าสมเพชเวทนา โดยไม่มีกิจกรรมอะไรของพระสาวกเข้าไปช่วยเหลือแก้ไข เรารู้สึกผิดชอบในหน้าที่อันนี้ โลกปัจจุบันนี้ก็กำลังต้องการสิ่งนี้เป็นอย่างยิ่ง ที่เราทำนี้ก็เพื่อว่าพระศาสนานั่นแหละจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านั้นในโลกทั้งปวง การกระทำนี้จะเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ เราแบ่งมนุษย์ในโลกทั้งหมดไว้เป็นเพียงสองพวก ว่าพวกที่ลำบากอยู่กับพวกที่ไม่ลำบากแล้วในเรื่องอาหารการเป็นอยู่ เพื่อว่าโลกทั้งโลกนี่มันจะได้สงบเย็น ทีนี้อุดมคติเหล่านี้จะสำเร็จได้โดยวิธีใดก็จะขอกล่าวโดยสรุปๆว่า ในขั้นแรกที่สุดเราจะต้องดำรงความเป็นสมณะพุทธสาวกของเราให้ถูกต้องแท้จริงเสียก่อน คือเราเป็นพระสาวกที่แท้จริงกันเสียก่อน แล้วสองก็ทำหน้าที่ที่มีอยู่เฉพาะนี่ให้ลุล่วงไปด้วยดีอย่างถูกต้องแก่กาลเทศะ เหตุการณ์ตามหลักที่ถือกันอยู่ทั่วไปว่าเป็นสัปปุริสธรรม คือสติปัญญาของสัตบุรุษซึ่งเป็นผู้รู้ทุกอย่างที่ควรจะรู้ ซึ่งเรามักจะสรุปกันไว้สั้นๆสำหรับท่องจำสะดวก รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้บริษัท รู้บุคคล สัปปุริสธรรม๗ มีคนสรุปไว้จำไว้ง่ายๆว่า รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล กาลเวลา รู้บริษัทคือสังคม รู้บุคคล เอกชน แต่ละคนๆ ที่เราต้องทำให้ถูกต้องกับสิ่งเหล่านี้ เจ็ดหัวข้อนี้มันจึงจะสำเร็จประโยชน์ ถ้าไม่ถูกต้องตามนี้ก็ไม่สำเร็จประโยชน์เรียกว่ามันไม่ตรงกับเรื่องมันไม่ถูกฝาถูกตัว ทีนี้มาดูกันถึงข้อแรกซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ ก็คือเราจะต้องดำรงอยู่ในความเป็นสมณะให้ถูกต้องเสียก่อน อยู่ในความเป็นสมณะหรือพุทธสาวก หรือแล้วแต่จะเรียกให้ถูกต้องเสียก่อน ถ้าเราเองดำรงตนอยู่ไม่ถูกต้องในลักษณะเหล่านี้แล้ว มันไม่มีหวังหรอก มันไม่มีหวัง คนที่ช่วยตัวเองไม่ได้จะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร นี่มันมีความหมายเท่านั้นแหละ เราจะต้องช่วยตัวเองให้ได้ ตามที่ควรจะมี ตามที่ควรจะเป็นนั้นเสียก่อน ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นพระอรหันต์กันเสียก่อน แล้วจึงจะช่วยใครได้ อย่างนั้นมันหามิได้ แต่ถ้าเราช่วยตัวเราเองได้เท่าไหร่แล้วเราก็ควรจะนึกช่วยผู้อื่นเท่านั้นแหละเพราะว่าเวลามันยังมีไม่ใช่ไม่มี ไม่มีข้อแก้ตัวที่จะพูดว่าเวลามันไม่มี มันอยู่ที่ว่าเราไม่พยายามทำตนให้เป็นผู้หลุดพ้นจากปัญหาเสียก่อนแล้วเราก็จะไปช่วยผู้อื่น ดังนั้นจึงขอให้นึกถึงสิ่งที่เราเรียกกันอยู่เป็นประจำว่าสมณสารูป สมณสารูป คำนี้พูดกันมากพูดกันบ่อยเหลือเกิน แต่แล้วก็ไม่ค่อยจะมีความหมายอะไร มันได้แต่พูด แล้วคำว่าสมณสารูปก็ไม่ได้มีความหมายเล็กๆ น้อยๆ เพียงว่าโกนหัวห่มเหลือง เดินช้าๆ ตาก้มๆ ไม่ได้เป็นสมณสารูป นั่นมันโดยรูปแบบข้างนอกมันเป็นเพียงเปลือกของสมณะ มันต้องลึกเข้าไปถึงข้างในคือมีจิตใจที่เป็นสมณะด้วย เป็นสมณะทั้งทางภายนอกเป็นสมณะทั้งทางภายในแล้วจึงจะเรียกว่ามีสมณสารูป คำว่าสารูปแปลว่าสมควร สมณสารูปแปลว่าสมควรที่จะเรียกว่าสมณะ ทุกอย่างเลยที่ทำให้สมควรที่จะเรียกว่าสมณะแล้วต้องมี จึงจะเป็นสมณะ ทีนี้สิ่งที่ทำให้สมควรได้นามว่าสมณะนั่นน่ะมันมีมาก โดยรายละเอียดมันมีมาก โดยย่อ โดยใจความมันก็มีคำเดียวแหละว่า คือมีความสงบ มีความสงบ สมณะแปลว่าสงบ มีรูปแห่งความสงบ มันยังมีสงบกาย สงบจิต แล้วสงบอุปธิ คือทิฐิความคิด ความเห็น หรือรวมทั้งสติปัญญาด้วย เราต้องมีความสงบกาย ก็กายไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความเอร็ดอร่อย สุขกาย สุขกาย สุจิทัง (นาทีที่ 9:42) เป็นทางกาย มันเป็นเรื่องของกิเลสเสียมากกว่า ดังนั้นถ้าเรายังเป็นผู้ที่ตกอยู่ใต้อำนาจของความสุขชนิดนี้ มันก็มีความวุ่นวาย ทุรนทุรายในทางกาย มีร่างกายอันไม่สงบ จะเหมือนกับลิงหรือไม่ก็ไม่รู้ ไอ้ลิงนี่มันไม่มีการสงบทางกายให้เห็นอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะเหมือนกับคนหรือไม่ ความดิ้นรนกระวนกระวายทางกายก็แสดงถึงความมีทุกข์มีลักษณะน่าเกลียดไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ นี่ต้องสงบกายสงบอาการเหล่านี้และต้องสงบทางจิต จิตที่ฟุ้งซ่านหรือหดหู่ ปัญหามีอยู่สองอย่างเท่านั้นแหละ คือจิตที่มันฟุ้งไปกว่าธรรมดากับจิตที่มันแฟบไปกว่าธรรมดา ถ้ามันมีฟูหรือแฟบอย่างนี้อยู่แล้วก็เรียกว่าไม่มีความสงบในทางจิต ต้องรู้จักทำจิตให้มั่นคงไม่หวั่นไหว ในการที่จะฟูขึ้นไปตามความพอใจจะแฟบลงมาตามความเสียใจ เป็นความไม่สงบทางกายและทางใจ แล้วคนนั้นก็จะทำอะไรที่เกี่ยวกับทางใจไม่ได้ จะคิดจะนึกอะไรก็ไม่มีทางที่จะถูกต้องหรือก้าวหน้าหรือทะลุถึงความจริงถึงความจริง ซึ่งซึ่งเราจะต้องรู้ต้องเอาไปสั่งสอนจะเรียกกันง่ายๆก็ว่าจิตปรกติ จิตไม่ปรกติก็ไม่มีทางที่จะทำงานด้วยจิต เรามักจะเรียกกันว่าจิตเป็นสมาธิคือความสงบแห่งทางจิต แต่ว่าคำว่าสมาธินั่นมันแปลว่าสงบก็จริง แต่มันยังรวมลักษณะอื่นๆไว้ด้วยคือความเข้มแข็ง ความมั่นคง ความว่องไวในการที่จะทำหน้าที่ทางจิต ไม่ใช่ว่าจิตเป็นสมาธิแล้วก็เป็นก้อนหินเป็นท่อนไม้มันก็ไม่แคล่วคล่องว่องไวในการที่จะทำหน้าที่ทางจิต ในพระบาลีมีอยู่ชัดว่า จิตเป็นสมาธินั้นมันต้อง ปริสุธโธ สมาหิโต กัมมนีโย ปริสุทโธ คือไม่ ไม่ ไม่ถูกกิเลส ไม่ถูกกิเลสกลุ้มรุม มันว่างจากกิเลสด้วยอำนาจของสมาธินั่น สมาหิโตคือมันตั้งมั่น มันมีกำลังเป็นตนเอง เป็นตนของตนเอง ไม่มีอะไรมากระทบกระทั่งให้โงนเงน นี่เรียกว่าความมั่นคง และมีกัมมนีโยคือพร้อมที่จะทำหน้าที่ มันต้องมีความพร้อมเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ ไม่ใช่มานั่งหลับตาและหยุดหมด แข็งทื่อ เหมือนกับก้อนหิน เหมือนกับท่อนไม้อย่างนี้มันจะกัมมนีโยได้อย่างไร กัมมนีโยเป็นภาษาชาวบ้านก็แปลว่าพร้อมที่จะทำกิจนั้นๆ จะเป็นอะไรก็ตาม หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ อวัยวะส่วนไหนก็ตาม เมื่อมันพร้อมจะทำหน้าที่ตามหน้าที่แล้ว มันก็เรียกว่ากัมมนีโย เดี๋ยวนี้จิตต้องมีความพร้อมอย่างยิ่ง รวมทั้งความว่องไวอย่างยิ่งด้วยในการจะทำหน้าที่การงานในทางจิต จิตนี้โดยส่วนใหญ่มันก็คิด นับตั้งแต่ความรู้สึกว่องไวที่จะรู้สึก ว่องไวที่จะคิดนึก ว่องไวที่จะพินิจพิจารณาแยกแยะสอดส่องค้นคว้าอะไรก็ตาม เรียกว่าหน้าที่ของจิตจะว่องไว ความสงบจิตนั่นไม่ใช่สงบเป็นก้อนหิน มันสงบจากสิ่งรบกวนทั้งหลายจนจิตเป็นอิสระ มีความเข้มแข็ง สามารถ พร้อมเพรียง ว่องไวที่จะทำหน้าที่ของจิต ขอให้รู้คำว่า รู้ความหมายคำว่าสงบจิต ทีนี้สงบสูงไปกว่านั้น ก็คือสงบอุปธิ สงบทางอุปธิ สงบเสียจากโทษทั้งปวงอันเกิดมาจากอวิชชา มีอวิชชาก็ไม่มีสติปัญญา แล้วมันก็ทำผิดน่ะ ไปยึดมั่นถือมั่นนั่นนี่ ว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นของตน นี่มันต่างจากสงบจิตนะ เรื่องจิตมันก็เป็นเรื่องจิตยังไม่ใช่ ไม่ใช่เรื่องสติปัญญา เดี๋ยวนี้สติปัญญามันเพ้อเจ้อมันผิดไปหมด เรียกว่าสติปัญญามันไม่อยู่ในความถูกต้อง มันไปเที่ยวยึดนั่นยึดนี่เอาไว้เป็นตัวตนของตน อาการที่เข้าไปยึดถือหรือเข้าไปแบก เข้าไปหาม เข้าไปทูนเอาไว้ก็ตาม เรียกว่ายึดถือสิ่งใดไว้โดยความเป็นตัวตนของตน กิริยาอาการอันนั้นๆ กิริยาอาการนั้นเรียกว่าอุปธิ อุปธิตัวหนังสือก็คล้ายๆ กับเข้าไปแบกเอาไว้ เข้าไปถือเอาไว้ เข้าไปทรงเอาไว้ เข้าไปทูนเอาไว้ สิ่งใดที่เอามาแบก มาถือ มาทรงไว้นี้ก็เรียกว่าอุปธิเหมือนกัน สงบจากการที่เข้าไปแบก เข้าไปถือ เข้าไปยึด เข้าไปทรงอะไรไว้ด้วยความโง่คืออวิชชา ไปแบกถือเอาไว้ว่าเป็นของตน สงบไปเสียจากนี้จากสิ่งเหล่านี้หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ก็เรียกว่า วิเวกจากอุปธิกายวิเวก วิเวกทางกาย จิตวิเวก วิเวกทางจิต อุปธิวิเวก วิเวกทางอุปธิ มันแยกกันเป็นสามสิ่งโดยเด็ดขาด กายปรกติ จิตปรกติ อุปธิก็ปรกติคือไม่ยึดถือสิ่งใดๆ มีความสงบสามอย่างนี้แล้วก็สมควรแก่คำว่าสมณะ สมณะ ควรแก่ความสงบ ควรแก่สมณะ ควรแก่ความเป็นผู้มีความสงบ นั่นเรียกว่าสมณสารูป เราต้องมีชีวิตชนิดที่ควรแก่สมณะ คือควรแก่ความสงบทั้งสามอย่างนี้ นั่นแหละจึงจะสมควรหรือเหมาะสมหรือเป็นไปได้ในการที่จะให้กิจกรรมธรรมทายาทเป็นไปได้ด้วยดี คือให้ผู้มีความสามารถทำหน้าที่ ให้ผู้ที่สามารถทำหน้าที่นั่นแหละทำหน้าที่ เมื่อไม่สามารถแล้วจะทำหน้าที่ได้อย่างไร ฉะนั้นจึงนึกถือข้อนี้ก่อนสิ่งใดว่าเราจะต้องทำตนให้เป็นสมณสารูป ควรแก่การเป็นสมณะคือหลุดพ้นไปจากปัญหาและความทุกข์เสียก่อน แล้วจึงสามารถช่วยผู้อื่น อย่างที่ธรรมดาๆที่พูดกันอยู่ว่า เราต้องไม่เป็นคนตาบอด มันจึงจะจูงคนตาบอดได้ ถ้าเราก็ตาบอดแล้วคนอีกคนหนึ่งก็ตาบอดแล้วมันก็จูงกันไม่ได้ หรือว่าถ้าเราว่ายน้ำไม่เป็นมันก็ช่วยคนตกน้ำไม่ได้ อย่างนี้ เอาละข้อนี้มันมีความหมายโดยสรุปก็เพียงว่าดำรงตนอยู่ในสมณสารูปกันเสียก่อน ข้อนี้มันจะเป็นเนื่องไปถึงการปฏิบัติตามแบบอย่างของสมณะโดยรายละเอียด ซึ่งรู้กันอยู่ทั่วๆไปหรือจะต้องกล่าวถึงอีกข้างหน้า ข้อหนึ่งนี้คือทำตนให้เหมาะสมที่จะทำกิจกรรมธรรมทายาท ทำตนให้เหมาะสมแก่การที่จะดำเนินกิจกรรมทางธรรมทายาท อ้าว,ทีนี้ก็จะพูดถึงการทำหน้าที่ที่มาถึงเข้าคราวเฉพาะหน้า หมายความว่าที่มันรออยู่ต่อหน้าเรา ที่มันรออยู่ต่อหน้าเรา ให้เราทำนี้เรียกกิจกรรม ที่เราควรจะทำในฐานะเป็นธรรมทายาท ผมก็พูดตามแบบฉบับ เพราะมันไม่มีอะไรดีไปกว่าตามแบบฉบับที่ท่านได้ค้นคว้าพิสูจน์ทดลองมาแล้วยุติ(นาทีที่ 20:42) ไว้ว่าอย่างไร ทำหน้าที่เฉพาะหน้าก็คือหน้าที่ในทางปริยัติ มีปริยัติอย่างถูกต้อง ทำหน้าที่ในทางปฏิบัติมีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ทำหน้าที่ในทางปฏิเวธคือหวังผลและมีผลอย่างถูกต้อง และข้อที่สี่ก็คือประกาศพรหมจรรย์ให้ถูกต้อง นี่หน้าที่เฉพาะหน้า หน้าที่เฉพาะหน้า รอหน้า จ่อหน้า (นาทีที่ 21:33) ที่เราจะต้องทำมันมีอยู่สี่หัวข้ออย่างนี้ว่า มีปริยัติถูกต้อง มีปฏิบัติถูกต้อง มีปฏิเวธถูกต้อง มีการประกาศพระศาสนาหรือพรหมจรรย์นั้นอย่างถูกต้อง คำว่าถูกต้องนี่อธิบายรวบรวบท้ายไปเสียคราวเดียวกันทั้งหมด ทุกอย่างถูกต้องหมายความว่าอย่างไร คำว่าถูกต้องนี้ขอให้สังเกตและจำไว้ด้วยว่าเป็นคำที่ถกเถียงกันมากที่สุดในหมู่มนุษย์ที่เป็นนักคิดนักศึกษา มันน่าหัวก็น่าหัว ที่ว่าในหมู่นักศึกษาชั้นเอก ชั้นบัณฑิต นักปราชญ์ของโลกนี่ มันก็ยังต้องมาเถียงกันว่าความถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร คนหนึ่งเห็นอย่างหนึ่ง คนหนึ่งเห็นอย่างหนึ่ง ตามแบบของตนของตน ไอ้นักจิตวิทยามันก็เห็นไปทางหนึ่ง นักตรรกวิทยาก็เห็นไปอีกทางหนึ่ง นักปรัชญา philosophy ปรัชญา philosophy ก็เห็นไปอีกทางหนึ่ง และแม้ในหมู่หนึ่งๆ น่ะเช่นนักจิตวิทยาด้วยกัน มันก็ยังมีความคิดแตกแยกกันไปอย่างหนึ่งๆว่าไอ้ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร ก็มองกันตามทัศนะของตน ตามทัศนะของตน มิใช่ตามความจริงอันเด็ดขาดของธรรมชาติ ยิ่งในทางปรัชญาแล้วก็เถียงกันมาสองพันกว่าปีแล้วว่าความถูกต้องคืออะไร แล้วก็ถือเอาคำว่าความถูกต้องนั่นแหละเป็นจุดหลัก หมาย มุ่งหมายสำหรับจะใช้วิธีปรัชญา เขาก็บัญญัติกันว่าอย่างนั้น ว่าอย่างนี้ ว่าอย่างโน้น จน จน จนเราฟังดูแล้วเวียนหัว ผมก็เลยไม่เอา คำว่าถูกต้องตามวิธีนั้นๆ ของไอ้นักคิด นักศึกษาเหล่านั้น เราก็ใช้วิธีตามหลักพุทธศาสนาของเราเอง แปลว่าถูกต้องนั้นคือ พิสูจน์ความมีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย นี่ลอง ลองจำไว้ให้ดีนะ ที่ว่าถูกต้องมันพิสูจน์ความมีประโยชน์แก่ทุกคนหรือทุกฝ่าย ถ้ามันได้อย่างนี้แล้วก็เอาเถอะ ยอมรับ นับถือว่ามันถูกต้อง ถ้ามันไม่พิสูจน์ความเป็นอย่างนั้น ก็ยังเรียกว่ามันไม่ถูกต้อง หรือมันถึงกับผิด ผิดเอาเลย ถ้าเราจะไปสอนเขาให้ทำอะไรถูกต้อง ในเรื่องใหม่เรื่องแปลก ที่ไม่เคยสอนกันมาแต่ก่อน จะสอนความถูกต้องแล้วก็นึกถึงข้อนี้ให้ได้ นึกถึงข้อที่ว่าถ้ามันมีผลแสดงออกมาเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายแล้วนั่นแหละเป็นความถูกต้อง บางทีจะต้องใช้คำว่าทุกกาละ ทุกเทศะ ทุกบุคคล ทุกอะไรด้วยก็ได้ จึงจะเรียกว่าเป็นความถูกต้อง หรือสมควร ไอ้คำว่าผิดหรือถูก สมควรหรือไม่สมควร เหล่านี้มันก็ต้องใช้ไอ้ ไอ้ ไอ้คำตัดสินที่ว่ามันมีประโยชน์ มันแสดงถึงความมีประโยชน์หรือมันเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายก็เรียกว่าถูกต้อง ทีนี้เราก็มาจับกันดูกับหน้าที่ที่เราจะต้องทำคือมีปริยัติถูกต้อง มีปฏิบัติถูกต้อง มีปฏิเวธถูกต้อง มีการประกาศถูกต้อง มีปริยัติถูกต้องข้อแรกก็คือปริยัตินั้นต้องพิสูจน์ความมีประโยชน์ เดี๋ยวนี้เราเรียนปริยัติชนิดเพ้อเจ้อ ไม่มีประโยชน์เสียก็มี ถ้ามันไม่มีประโยชน์ก็ต้องถือว่าผิดเพราะมันเสียเวลาเปล่าๆ เพราะว่ามันเสียแรงงานเปล่าๆ การศึกษาในโลกนี้ มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยก็มี พูดแล้วไม่มีใครเชื่อ เพราะเขาเพ่งเล็งคำว่าประโยชน์มันหลายอย่าง เพราะว่าแม้แต่เอาไปหลอกลวงใครได้ก็เรียกว่าประโยชน์เหมือนกัน มันก็กลายเป็นถูกต้องไปเสียหมด มีความรู้สำหรับจะไปหลอกลวงใครเอาเปรียบผู้อื่นทำนาบนศีรษะผู้อื่นอย่างนี้ มันไม่ใช่ไม่ใช่ความถูกต้อง ถ้ามีปริยัติถูกต้อง ก็เรียนรู้เรื่องที่จะดับทุกข์ได้จริง ถ้าว่าจะคิดให้มันมากไป มันก็มากไปจนเกินความจำเป็น คำว่าปริยัติหมายถึงว่าศึกษาพระไตรปิฎก การที่จะศึกษาพระไตรปิฎกให้จบนั่นคงจะลำบาก แต่ว่าต้องศึกษาเท่าที่ควรจะศึกษา ถ้าจะกล้าตัดสินว่าพระไตรปิฎกตรงนี้ผิด พระไตรปิฎกตรงนี้ถูกแล้วอย่างนี้ก็ยังเหลือวิสัยที่นักศึกษาระดับพวกเรานี้จะทำได้ ไม่ต้องไปหวังถึงข้อที่ว่าจะตรวจแก้ความถูกต้องของพระคัมภีร์ ของพระไตรปิฎก ไม่จำเป็นหรอก มันสำคัญอยู่ตรงที่ว่าเราได้ข้อความใดๆ มาจากพระคัมภีร์เหล่านั้นแล้ว เอามาใคร่ครวญดูก่อนก็ได้ ว่าข้อนี้ที่กล่าวไว้อย่างนี้ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติลงไปแล้วมันจะได้ผลอย่างไร หรือมันคงจะได้ผลอย่างไร ถ้ามันมีหวังว่าจะได้ผลก็ลองทดลองดู ลองปฏิบัติดู แล้วมันก็ได้ผลจริง มันก็พิสูจน์ว่าอันนี้ถูกต้อง เราถูกต้องต้องชี้ว่ามันให้เกิดประโยชน์หรือสำเร็จประโยชน์ได้ บางทีเราก็ไม่ต้องนึกด้วยซ้ำไปว่าอันนี้พระพุทธเจ้าตรัสหรือพระพุทธเจ้ามิได้ตรัสหรือว่าใครมาปลอมแปลงคำของพระพุทธเจ้า ไม่ต้องนึกถึงอย่างนี้ก็ได้ เพราะมันไม่อาจจะนึกได้หรือนึกก็ไม่มีประโยชน์ แต่นึกอย่างยิ่งไปในทางที่ว่าข้อนี้ ถ้าปฏิบัติตามลงไปแล้ว มันจะเกิดผลอะไรขึ้นมา ถ้ามันเกิดเป็นผลดีคือดับทุกข์ได้ มองเห็นอยู่แล้วก็เอาเถอะ ยอมรับว่าเป็นความถูกต้องในเบื้องต้นแล้ว แล้วก็ลองปฏิบัติดู แล้วมันก็ให้ผล มันก็เป็นที่รับรอง แน่นอนว่ามันถูกต้องแล้วอย่างไร มันถูกต้องแล้ว เราจะต้องมีหลักปริยัติที่ถูกต้องทุกๆ ข้อ ที่เรามีอยู่หรือถือไว้ ยึดถือไว้เป็นหลัก ยึดถือหลักธรรมะนี่ ไม่ใช่อุปาทาน อุปาทาน ยึดถือด้วยความโง่ และถ้าว่าสมาทานแล้วก็ยึดถือด้วยความเฉลียวฉลาด การถือหลักปริยัตินั้นไม่ใช่อุปาทานแต่เป็นสมาทานยึดถือไว้ด้วยสติปัญญา เรามีการถือหลักปริยัติไว้อย่างถูกต้องและเพียงพอ คำว่าถูกต้องนี้มันต้องควบคู่กันอยู่กับคำว่าเพียงพอ ถ้าไม่เพียงพอก็มันอยู่ในพวกที่ไม่ถูกต้อง คือมันน้อยเกินไปมันไม่สำเร็จประโยชน์ ถ้าถูกต้องมันต้องหมายถึงเพียงพอด้วย มีความรู้ที่ถูกต้องและเพียงพอ ถูกต้องมันดับทุกข์ได้จริง เพียงพอน่ะมันมากพอที่จะกำจัดความทุกข์ได้ทุกกรณี หรือทุกๆ ชนิด ทุกๆ แห่ง เป็นอันว่าเราจะต้องศึกษาค้นคว้ารวบรวมหลักปริยัติอย่างถูกต้องไว้อย่างหนึ่งในหน้าที่เฉพาะหน้าของเรา ทุกคนไม่ได้เป็นนักธรรมเอก ไม่ได้เป็นเปรียญเอก ไม่ได้เป็นนักศึกษามีปริญญา แต่ว่าข้อนั้นไม่เป็นไรหรอก เพราะว่าเดี๋ยวนี้มันเรียนได้ ไม่รู้บาลีมันก็เรียนจากที่เขาแปลไว้ก็ได้ คือเรามีอิสระที่จะใคร่ครวญสอบสวนว่าไอ้ข้อความเหล่านี้ ออกมาเป็นหลักเกณฑ์อย่างนี้แล้วมันดับทุกข์ได้ไหม ถ้ามันดับทุกข์ได้ ก็เอารวบรวมเข้าไว้ สะสมเข้าไว้ เป็นเครื่องมือให้เพียงพอสำหรับจะทำหน้าที่ธรรมทายาท ได้อย่างนี้ก็เรียกว่ามีปริยัติเพียงพอ ทีนี้มีการปฏิบัติถูกต้องอีก การปฏิบัตินี่มัน มันมีหลายรูปแบบที่เป็นไปโดยมากมักจะงมงายเห่อๆ ตามๆ กันมา แม้แต่ในการปฏิบัติวิปัสสนาก็ยังไม่พ้นจากการเห่อๆและงมงาย อย่างนี้จะเรียกว่าปฏิบัติถูกต้องไม่ได้ ว่าที่จริงแล้วการปฏิบัติถูกต้องนั่นน่ะมันอิงอาศัยปริยัติที่ถูกต้อง ถ้าไม่มีปริยัติที่ถูกต้องมันปฏิบัติให้ถูกต้องไม่ได้ เดี๋ยวนี้มีพระแบกกลด ผมขออภัยนะใช้คำว่าพระแบกกลด พระแบกกลดหลายคนทีเดียวตำหนิปริยัติ ตำหนิการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน ว่าเป็นเรื่องไม่ต้องทำ เป็นเรื่องบ้าเปล่าๆ บวชแล้วก็อยู่ป่าดีกว่า ลองดูสิว่ามันจะเดินไปทางไหนน่ะ อย่าเข้าใจอย่างนั้น ถ้าปริยัติยังอยู่เป็นหลักและการปฏิบัติก็จะถูกต้องต่อไป ถ้าปริยัติสูญหายหมด หลักปริยัติสูญหายหมด การปฏิบัติก็ย่อมจะเลอะเลือน เพราะไม่รู้จะไปถามใครไม่รู้จะไปสอบสวนกันอย่างไร หรือถ้าอาจารย์ที่เป็นนักปฏิบัติตายหมด มันก็สูญหมดแหละถ้าไม่มีปริยัติ เดี๋ยวนี้ต่อให้อาจารย์ นักปฏิบัติตายหมดเลย เอ้า,ปริยัติที่ถูกต้องมันยังอยู่นี่ มันก็ตั้งต้นปฏิบัติกันได้ใหม่ ฉะนั้นอย่าตำหนิปริยัติเลย พระแบกกลดหลายองค์ มาถึงถามว่าบวชได้สักกี่พรรษา พรรษาเดียว แล้วก็ทำไมมานักเล่า ทำไมรีบมานักเล่า ก็เพราะว่าไม่ชอบการเรียนนักธรรม ไม่ชอบการเรียนบาลี ไม่ชอบการเรียนปริยัติ บวชได้ไม่ถึงปีก็วิ่งเข้าป่า แล้วก็ตำหนิติเตียนผู้ที่เล่าเรียนปริยัติ นี่พระป่าทำบาปข้อนี้กันมากคือติเตียนปริยัติ โดยที่ตัวท่านเองก็คลานงุ่นง่านอยู่เพราะไม่มีปริยัติอันเพียงพอ ถ้าเราจะมีปฏิบัติที่ถูกต้อง มันก็มีมูลมาจากปริยัติที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเราจะต้องแตกฉานพระไตรปิฎกทั้งหมดทั้งสิ้น แต่ว่าข้อใดเป็นข้อปฏิบัติข้อหนึ่งๆที่แสดงไว้ แล้วเราก็มาใคร่ครวญดู เมื่อเห็นทางว่าจะมีผลตามนั้นก็ลองปฏิบัติดู เพราะฉะนั้นมันจึงมีคำว่าลองดูก่อน การปฏิบัติในชั้นลองดูก่อนนี่ก็ดี ไม่ใช่เสียหายอะไร มันจะได้รู้ว่ามันจะเป็นได้จริงสักเพียงไร ลองนี่ไม่ใช่ลองอย่างงมงาย ลองหลังจากที่ได้ใคร่ครวญหลักปริยัตินั้นๆ มาอย่างเพียงพอแล้ว เห็นอยู่ว่ามันจะต้องเกิดผลดีแน่แล้วก็ลองปฏิบัติดู มันก็ได้ความรู้อันเด็ดขาด เพิ่มขึ้นว่านี่จริง นี่จริง นี่จริง คือดับทุกข์ได้จริง แล้วก็ปฏิบัติให้เต็มที่ให้จริงยิ่งขึ้นไปมันก็ถึงที่สุด เพราะฉะนั้นการปฏิบัติอย่างถูกต้องนั่นแหละเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะว่าผลมันต้องเกิดมาจากปฏิบัติ มันจะเกิดผลขึ้นมาเองลอยๆ โดยไม่มีการปฏิบัตินั้นมันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นตัวสำคัญของเรื่องมันก็อยู่ที่ปฏิบัติ ถ้าเรามีแต่ปริยัติ มันก็ยังไม่มีผลอะไร แม้ว่าปริยัติมันจะถูกต้อง จะมีค่า มีความจำเป็นอะไรก็ ก็เป็นไปเถอะ แต่ถ้ายังไม่มีการปฏิบัติ ปริยัติก็ค้างเติ่งอยู่นั่น ถ้ามีการปฏิบัติแล้วไม่ต้องกลัว ผลของการปฏิบัติย่อมจะมีเป็นแน่นอน เพราะฉะนั้นขอให้เราปักใจลงไปที่ปฏิบัติ ที่การปฏิบัติ ระมัดระวังให้ถูกต้อง แล้วก็ให้เพียงพอนั่นแหละ แล้วก็จริงจังที่สุด จริงจัง ตามที่มันถูกต้องยิ่งๆ ขึ้นไป อย่าจริงจังตั้งแต่เมื่อยังไม่รู้อะไร มันจะงมงายๆเหลือประมาณ จริงจังด้วยความงมงาย มันก็ไม่ได้ผลอะไรเลย มันก็ไม่รู้จะไปทิศไหนทางไหน ในที่สุดมันก็เป็นเรื่องเสียหาย ความจริงจังนี่มันก็จะมีประโยชน์ได้ ก็ต่อเมื่อมันถูกต้อง ไม่ถูกต้องแล้ว ยิ่งจริงเท่าไหร่ มันก็ยิ่งฉิบหายเท่านั้นแหละ ทีนี้อีกคำหนึ่งที่จะต้องสังวรกันไว้บ้างก็คือคำว่าเคร่ง คำว่าเคร่งหรือไม่เคร่งนี่มันใช้กับการปฏิบัติ เดี๋ยวนี้คนเขาชอบการเคร่ง ยิ่งโง่มากยิ่งชอบเคร่งมาก นี่ผมพูดอย่างนี้ถูกด่าแน่ มันยิ่งโง่มากเท่าไหร่มันจะยิ่งชอบเคร่งครัดมากเท่านั้น แล้วประชาชนทั้งหลายก็เหมือนกันแหละ ประชาชนชั้นโง่เขลาจะชอบคนเคร่ง ทำอะไรเคร่งให้ขลังเข้าไว้ คนจะชอบจะติดกันเป็นแถว เป็นอาจารย์ผู้รุ่งเรืองขึ้นมาได้ในเวลาอันสั้นเพราะประชาชนเขาชอบเคร่ง พวกอาจารย์ทั้งหลายจึงอาศัยความเคร่งเป็นเครื่องมือหากินกันโดยมาก อย่างนี้ไม่ถูกแล้ว ไม่ใช่กิจกรรมอันบริสุทธิ์แล้ว ถ้าธรรมทายาทจะต้องเคร่งมันก็ต้องเคร่งให้ถูกความหมาย คือจริงจังในความถูกต้องจึงจะเรียกว่าเคร่ง ถ้าพูดถึงกิริยาอาการคำว่าเคร่งนั้นน่ะมันหมายถึงความพอดี นี่น่าหัวไหมน่าแปลกไหมที่ว่าเคร่งน่ะหมายถึงพอดี ถ้าเกินพอดี เคร่งบ้านั่นแหละ ไม่ใช่เคร่งที่ควรจะถือเอา คำว่าเคร่งมันจะต้องถูกต้องและพอดี ซึ่งเรามีหลักว่ามัชฌิมาปฏิปทา นั่นเป็นความถูกต้อง ยิ่งเป็นมัชฌิมาปฏิปทาอยู่ตรงกลางเท่าไหร่นั้นน่ะยิ่งเคร่ง คือจะมีผลอันแน่นอน ถ้าเลยนั้นไป คือเลยพอดี เลยความเป็นกลางมันก็กลายเป็นเคร่งครัด เคร่งเครียด หรือในที่สุดมันก็เป็นบ้าเลย หรือว่าถ้าต้องการเพียงลาภ ผล สักการะจากประชาชน มันก็ได้แล้วมันก็พอแล้วมันก็หยุดเสีย ความเคร่งชนิดนี้มันไม่ใช่เป็นความเคร่งที่ควรปรารถนา คำว่าเคร่งนี้จะหาไม่พบในพระบาลีก็ได้ เพราะท่านกล่าวถึงกันแต่มัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาตั้งอยู่ในระดับกลาง พอดีๆ แล้วพอดีให้มากเท่านั้นแหละคือเคร่ง ก็หมายความว่ายิ่งพอดี พอดีที่สุด นั่นแหละคือเคร่ง การปฏิบัติของเราต้องเป็นไปในลักษณะที่ถูกต้อง คือมันอยู่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา และมันหนักเข้าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา หนักเข้านั่นแหละ คือเคร่งที่ถูกต้อง ที่แท้จริง ของพุทธบริษัทเรา มิฉะนั้นก็เป็นเรื่องเคร่ง หลอกลวงคน จะได้ในบทว่าประพฤติพรหมจรรย์เพื่อลาภสักกาละ เพื่อหลอกลวงคน หลอกลวงมหาชนให้เคารพเลื่อมใส แล้วก็ได้ลาภสักการะ ดังนั้รการที่จะทำตนเป็นคนเคร่ง ระวัง ขอให้มันเคร่งให้ถูกต้อง ตามหลักของพุทธบริษัท อย่าเคร่งเพียงให้เขานับถือ มันก็จริงเหมือนกับเจ้าลัทธิสนชัย (นาทีที่ 41:14) ว่า ในโลกนี้มีคนโง่มาก ในโลกนี้ยังมีคนโง่มาก มองไม่เห็นแต่ก่อนว่ามันมีคนโง่มากอย่างไร แล้วคนโง่ทุกคนจะชอบความเคร่ง เพราะความเคร่งมันแปลกมันประหลาดและมันน่าอัศจรรย์ ฉะนั้นทำเคร่งสิจะได้สมาชิกมาก จะได้บริวารมาก จะได้คนเลื่อมใสมาก แต่ถ้ามองกันโดยจิตใจที่เป็นธรรมแล้ว มันน่าขยะแขยง เพราะความเคร่งนั้นมันทำให้โง่งมงายด้วยกันทั้งสองฝ่าย มันเป็นการประพฤติพรหมจรรย์เพื่อหลอกลวงมหาชนไปเสีย เป็นข้าศึกอย่างยิ่งกับกิจกรรมของธรรมทายาท เพราะพระพุทธเจ้าท่านไม่เคยทรงกระทำอย่างนั้นเลย และท่านก็ไม่ทรงประสงค์ให้พวกเราทำอย่างนั้นด้วย ฉะนั้นถ้าเราจะเป็นธรรมทายาทรับมรดกธรรมของพระองค์แล้ว อย่าได้กล้าเคร่งในลักษณะอย่างนั้น มันเป็นการประพฤติพรหมจรรย์เพื่อหลอกลวงมหาชน โดยเจตนาก็ได้ โดยไม่เจตนาก็ได้ ทำเคร่งก็แล้วกัน เขาก็เลื่อมใสเองโดยไม่ต้องเจตนาของเรา ก็เป็นข้อแก้ตัวว่า ฉันไม่ได้เจตนา แต่แล้วมันก็มีผลเหมือนกันคือเกิดความงมงายขึ้นในระหว่างคนสองฝ่าย อย่างนี้เรียกว่าไอ้การปฏิบัตินั่นน่ะมันไม่ถูกต้องเสียแล้ว นี่มาถึงว่าปฏิบัติต้องถูกต้องคือดับทุกข์ได้จริง แล้วก็ไม่ขาดไม่เกิน คือไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป อยู่ตรงกลาง และกลางให้มากเท่าไหร่ นั่นแหละควรจะเรียกเคร่ง อยู่ที่ตรงนั้น ทีนี้ก็มาถึงข้อที่ว่าปฏิเวธถูกต้อง ปฏิเวธนี้คือผลของการปฏิบัติ คนเป็นอันมากหวังผลจากการปฏิบัติอันไม่ถูกต้อง อันไม่ถูกต้อง เช่นว่ามาประพฤติบำเพ็ญกรรมฐานภาวนา เพื่อว่าจะมีฤทธิ์ มีเดช มีปาฏิหาริย์ มีสิ่งน่าอัศจรรย์ ให้มหาชนพากันเลื่อมใส อย่างนี้ก็เรียกว่าหวังผลของปฏิเวธผิดแล้ว เป็นปฏิเวธที่ถูกหวังแล้วอย่างผิดๆ เมื่อหวังผลปฏิเวธผิดๆ มันก็มีการปฏิบัติผิดๆ เป็นแน่นอน ในชั้นแรกที่สุดเราจะต้องเข้าใจอย่างถูกต้องว่าปฏิเวธที่แท้จริงนั้นมันมุ่งผลกันอย่างไร อย่าให้มันอุตริวิตถารนอกเหนือออกไปจากแนวทางที่ถูกต้อง ประชาชนเขามุ่งกันแต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ น่าประหลาดเป็นปาฏิหาริย์ ดังนั้นถ้าใครทำอะไรได้ประหลาด น่าอัศจรรย์ เขาก็เข้าใจว่าถูกแล้ว เก่งแล้ว ประเสริฐแล้ว วิเศษที่สุดแล้ว ผมเคยสังเกตเห็นหลายอย่างที่ประชาชนเหล่านี้เขาถือกันอย่างนี้จนกลายเป็นธรรมเนียม เช่นว่าอาจารย์ผู้มีชื่อเสียง มีธรรมะสูงสุดเดินมานี่หรือจะลงจากกุฏิไปทำอะไรที่ไหน เขาเอาปืนมาแอบยิงข้างหลัง แล้วคอยดูว่าสะดุ้งหรือไม่สะดุ้ง ถ้าอาจารย์นั้นไม่มีอาการสะดุ้ง แปลว่าเก่ง เป็นอาจารย์ที่มีคุณธรรมสูง ถ้าสะดุ้งก็ใช้ไม่ได้ ถอดเลย ถอดจากอาจารย์ไปเลย นี่เป็นเรื่องที่งมงายในเรื่องผลของการปฏิบัติ เขาเคยเล่าให้ฟังว่าเคยทำกันมาอย่างนี้ บางทีว่าให้อาบน้ำเจ็ดโอ่ง สิบโอ่ง ถ้าไม่หนาวสะท้านแล้วก็ใช้ได้ เป็นอาจารย์ที่มีคุณธรรมสูง นี่มันก็เรื่องบ้าชัดๆ หรือว่าจะเอาน้ำแข็งมารด มาอาบ มันก็ไม่หนาวสะท้าน ถ้าเป็นอาจารย์ที่มีคุณธรรมสูง มันเรื่องไม่มีเหตุผล นี่มันเป็นเรื่องของการหวังผลของการปฏิเวธที่ผิดทางเสียแล้ว คำว่าปฏิเวธนี่ก็หมายความว่าแทงตลอด กิเลสตลอดปัญหา ตลอดความทุกข์นั่นแหละ เรียกว่าทำลายกิเลส ทำลายความทุกข์ ทำลายปัญหาต่างๆ นั่น ซึ่งเราก็เคยเรียนกันมาแล้วในหลักสูตรนักธรรม จะละอะไรได้บ้างจึงจะจัดอยู่ในขั้นพระโสดาบัน ละอะไรได้บ้างจึงจะจัดอยู่ในขั้นสกิทาคามี อนาคามี และอรหันต์ หมายความว่าละความทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น มันไม่ได้หมายความว่าเปลี่ยนระบบประสาทจนเอาปืนมายิงข้างๆไม่สะดุ้ง หรือเอาน้ำมารดสิบโอ่งก็ไม่หนาวสะท้านอย่างนี้ อย่างนั้นมันเป็นเรื่องของร่างกาย เป็นเรื่องปกติของร่างกายตามธรรมชาติ จะมาเป็นเครื่องวัดอย่างนี้ไม่ได้ มันต้องวัดกันที่กิเลสและความทุกข์ ถ้ามันหมดไปเท่าไหร่นั่นแหละเรียกว่ามันมีจริง มีปฏิเวธโดยถูกต้องและแท้จริง เดี๋ยวนี้เราถ้าว่ากันที่แท้แล้ว มันก็ไม่ได้ต้องการผลโดยแท้จริง มันต้องการผลทางเกียรติยศ ลาภสักการะเสียมากกว่า ไปเอาลาภสักการะเป็นเครื่องวัด แม้ที่สุดในเรื่องธรรมดาสามัญที่สุดก็โง่ โดยเอาลาภสักการะเป็นเครื่องวัด โดยเฉพาะเช่นว่าทำดีไม่ได้ดีหรือทำดีได้ดีอย่างนี้ ที่เขาว่าทำดีได้ดีเขาหมายถึงว่าได้สวย ได้รวย ได้ลาภอะไรนั่นถึงจะเรียกว่าทำดีได้ดี ทำชั่วก็เหมือนกัน ไม่ได้ชั่ว ถ้ามันได้เงินได้ของได้อะไรมาจากความชั่วมันก็ไม่จัดเป็นความชั่วอย่างนี้มันผิดหมด มันผิดเรื่องของปฏิเวธคือผลที่ได้รับจากการปฏิบัติไปเสียหมดทุกอย่าง เรื่องนี้ผมก็อยากจะขอแนะนำว่า อย่าใช้คำพูดเขลาๆ อย่างนั้นนะ ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั้นอย่าพูดเลย มันเป็นคำพูดเขลาๆ พูดเสียใหม่ว่า ทำดี ดี! ทำชั่ว ชั่ว! ดีกว่า ไม่ต้องใส่คำว่าได้เข้าไปหรอก พอทำดี มันก็ดีเสร็จนะ ไม่ต้องได้ก็ได้ พอทำชั่ว มันก็ชั่วเสร็จ มันไม่ต้องมีคำว่าได้ เพราะเขาเอาคำว่าได้ไปใส่เข้ามันเตลิดไปถึงว่าได้ผลตามมาทีหลัง อย่างนี้มันผิดหมด เพราะว่าเรื่องที่แท้จริงนั้นมันได้ชนิดอื่น ไม่ใช่ได้อย่างนั้น อย่างเช่นว่าจิตนี้คิดดี จิตดวงนี้คิดดี พอจิตนี้คิดเสร็จ จิตดวงถัดมาก็รู้สึกเป็นสุข พอใจ อิ่มอก อิ่มใจ มันติดมาทันทีเลย เพราะจิตที่เป็นมโนกรรมเมื่อทำเสร็จ จิตที่เป็นวิบากมันก็เกิดขึ้นทันที จึงเรียกว่าทำดีก็ดีทันที ทำชั่วก็ชั่วทันที ไม่ต้องรอว่ามันได้อะไร ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แล้ววัดกันด้วยสิ่งของภายนอก เช่นลาภ สักการะ ชื่อเสียงเป็นต้น ได้มาโน่นจึงจะเรียกว่าทำดีแล้วได้ดี อย่างนี้เลยผิดหมด ผิด คาราคาซังกันอยู่ในบัดนี้ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง ในข้อที่ว่าทำดีทำไมไม่ได้ดี ทำชั่วทำไมได้ดีอย่างนี้เป็นต้น นั่นเพราะว่ามีหลักเกณฑ์มันผิดในเรื่องเกี่ยวกับผลของการปฏิบัติ เราหวังผลของการปฏิบัติให้ถูกต้องไปเสียตั้งแต่ลงมือปฏิบัติหรือก่อนปฏิบัติ คือมีปริยัติที่ถูกต้อง หวังผลของการปฏิบัติที่ถูกต้อง ว่ามันจะดับทุกข์ได้ ดับทุกข์ได้ ดับทุกข์ได้หรือว่ามันจะตัดกิเลสได้ ตัดกิเลสได้นั่นเอง มันก็ถูก มันก็ถูกมาตั้งแต่ปริยัติ ถูกมาตั้งแต่ปฏิบัติแล้วมันก็ถูกถึงปฏิเวธ สิ่งที่เรียกว่าปฏิเวธมันก็ถูกต้องแน่นอน ขอให้เราถูกต้องทั้งปริยัติทั้งปฏิบัติและทั้งปฏิเวธ จึงจะเป็นธรรมทายาทที่ดีได้ คือเป็นผู้ที่สนองพระพุทธประสงค์ได้ตรงตามพระพุทธประสงค์และเป็นการรับมรดกที่แท้จริง ตามที่พระพุทธองค์ทรงประทานไว้เป็นมรดก นี่ขอให้นึกถึงปริยัติถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ปฏิเวธถูกต้องแล้วก็จะเป็นการรับมรดกที่ถูกต้อง เป็นธรรมทายาทจึงมีกิจกรรมที่เราจะต้องทำให้ถูกต้องทั้งในส่วนปริยัติ ส่วนปฏิบัติ และส่วนปฏิเวธ ทีนี้อันสุดท้าย อันสุดท้าย ก็คือมีการประกาศเผยแผ่ที่ถูกต้อง มีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธถูกต้องแล้ว ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องประกาศเผยแผ่สิ่งเหล่านี้ออกไปอย่างถูกต้อง อันนี้ควรจะนึกให้กว้างไกลออกไปจนถึงกับว่ามันเป็นหน้าที่ มันเป็นหน้าที่ มันเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องทำ อย่าไปคิดว่าเราไม่ต้องทำ คนอื่นทำ เราไม่ต้องทำ เราไม่ใช่พระพุทธเจ้า เราไม่ต้องทำ ถ้าคิดอย่างนี้ก็ผิด การทำให้ผู้อื่นรู้นั้นน่ะมันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เพื่อได้ประโยชน์แก่คนเหล่านั้นและเพื่อประโยชน์แก่จิตใจของเราเอง ถ้าเรามีความคิดไปในทางอยากให้ผู้อื่นได้ดีด้วย ได้รู้ดีด้วย ได้ดีด้วย แล้วจิตใจของเราก็จะดี จิตใจของเราจะก้าวหน้าไปโดยเร็วในการประพฤติปฏิบัติกว่าจะถึงที่สุด ดังนั้นเราจึงถือว่าทุกคนน่ะ พระสาวกของพระพุทธเจ้าทุกองค์จะต้องมีหน้าที่เผยแผ่เป็นพระพุทธประสงค์ จะเห็นได้ว่าเมื่อมีพระสาวกครบ ๖๐ องค์ ก็ส่งพระสาวกเหล่านั้นไปประกาศพระศาสนาเป็นเรื่องราวสำคัญมากในพระบาลีที่เราจะต้องเรียนรู้ จะต้องศึกษาให้เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งว่าการส่งสาวกไปประกาศพระศาสนานั้นมีความสำคัญอย่างไรแก่พระสาวก แล้วเราก็ทำหน้าที่ธรรมทายาทด้วยกิจกรรมเหล่านั้น ท่านส่งไปด้วยคำว่า เราก็พ้นแล้วจากตัณหาจากบ่วงทิพย์ ท่านทั้งหลายก็พ้นแล้วจากตัณหาคือบ่วงทิพย์ บ่วงทิพย์หมายความว่าบ่วงกามอารมณ์ ที่ผูกพันจิตใจ เรียกว่าบ่วงทิพย์ นั่นคือปัญหานั่นเอง ปัญหาที่มันผูกพันบุคคลไว้ติดอยู่ในกองทุกข์ ต้องมีของอร่อยสวยงามมาล่อลวง จึงจะเรียกว่าบ่วงทิพย์ เราก็พ้นแล้วจากบ่วงทิพย์ ท่านทั้งหลายก็พ้นแล้วจากบ่วงทิพย์ ดังนั้นเธอทั้งหลายก็จงไป ไปประกาศพรหมจรรย์แสดงธรรมะให้สมบูรณ์ด้วยอรรถ พยัญชนะ งดงามเบื้องต้น งดงามท่ามกลาง งดงามเบื้องปลาย เหล่านี้ควรจะสนใจทั้งนั้นแหละ จะไปสั่งสอนเขานะให้มันสมบูรณ์ทั้งความหมายและคำย่อสำหรับท่องจำ ให้มันถูกต้องและให้มันบริบูรณ์เหมือนที่ว่าแล้วมันต้องถูกต้องและมันต้องบริบูรณ์ และมันต้องมีความงามคือดึงดูดใจให้คนปฏิบัติตาม ทั้งเบื้องต้น ทั้งท่ามกลาง และเบื้องปลาย คือว่าตั้งแต่จุดตั้งต้น ตั้งแต่เริ่ม เริ่มต้นก็ให้มันน่าเลื่อมใส ทำไปๆ ในขั้นกลางก็น่าเลื่อมใส ผลสุดท้ายมันก็จบลงด้วยความน่าเลื่อมใส ชวนให้ปฏิบัติตามอย่างนี้เรียกว่างดงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและเบื้องปลาย และก็ไปทางละคน สายละคน อย่าไปทางเดียวกันสองคน อย่าไปทางเดียวกันสององค์ มันเปลืองคนมากไป พระพุทธเจ้ายังทรงกำชับว่าไปทางหนึ่ง สายหนึ่งนะองค์หนึ่ง อย่าไปทางเดียวกันสององค์ ถึงแม้เราก็จะไปเพียงตำบลอุรุเวลา คือไปปราบชฎิล นี่แสดงว่า ไม่ ไม่ ไม่ได้เอาเปรียบ พระองค์เองก็ทำหน้าที่เหมือนกัน เท่ากัน คนหนึ่งด้วยเหมือนกัน เพื่อให้มีผลกว้างขวางโดยเร็ว ทีนี้บางคนอาจจะแย้งว่า นั่นเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น ท่านควรจะไป เรายังไม่เป็นพระอรหันต์ รอก่อนก็ได้หรือเรายังไม่ทำ นี่มันเป็นข้อแก้ตัวของคนเกียจคร้าน เพราะว่าเวลาที่จะทำมันมีนี่และเรารู้แล้ว เท่าไหร่ ทำได้แล้วเท่าไหร่ เคยมีผลประจักษ์มาแล้วเท่าไร เราก็สอนไปเท่านั้น ทีนี้อ่านดู ในพระประวัติของการเผยแผ่นั่นเอง เมื่อแสดงธรรมให้เขาเป็นพระอรหันต์ได้ เป็นพระอรหันต์แล้วก็ทรงส่งไปประกาศพระศาสนา ในบางกรณี การแสดงธรรมนั้นไม่ได้ทำให้เป็นพระอรหันต์ก็มี ดูเหมือนเรื่องภัททวัคคีย์ชายหนุ่มเจ้าสำราญ แสดงธรรมแล้ว ฟังธรรมแล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรมไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แต่แล้วพระองค์ก็ส่งไปเหมือนกัน ส่งไปประกาศพระศาสนาเหมือนกัน ทั้งที่เป็นเพียงผู้มีดวงตาเห็นธรรม ยังไม่เป็นพระอรหันต์ นี่มันก็แสดงอยู่ว่าพระพุทธองค์ไม่ได้ทรงมุ่งหมายว่าเป็นพระอรหันต์แล้วจึงค่อยเผยแผ่ แต่มีความมุ่งหมายว่าเผยแผ่ไปพลาง เผยแผ่ไปพลางก็แล้วกัน ทำได้เท่าไหร่ก็ทำเท่านั้น ตัวเองรู้สึกปลดเปลื้องความทุกข์ออกไปได้เท่าไหร่ก็สอนเขาเท่านั้นหรือว่าเป็นตัวอย่างให้เขาดูในปริมาณเท่านั้นในลักษณะอย่างนั้น มันก็มีผลดีแก่พระศาสนาอย่างยิ่ง ขอให้เรามีความแน่ใจว่ากิจกรรมธรรมทายาทนั้นแม้ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องทำและต้องทำได้ เมื่อเราได้ทำมาประจักษ์ผลดีแท้จริงแน่นอนเท่าไหร่ก็สอนไปเท่านั้น มันสำคัญอยู่ที่ว่าอย่าสอนเกินไปกว่าที่รู้จริงหรือปฏิบัติได้จริงมันจะกลายเป็นการหลอกลวง หรืออย่างน้อยก็เป็นการงมงายละเมอๆ อย่างนั้นน่ะไม่ถูก เพราะนั้นจงเลือกเฟ้นในสิ่งที่ตนผ่านมาแล้วอย่างแน่ใจโดยแท้จริง และก็สอนไปให้สำเร็จประโยชน์ตามนั้น นั่นน่ะคือกิจกรรมตามรอยพระบาทตามรอยพระพุทธองค์ตามรอยแห่งพระพุทธประสงค์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกิจกรรมธรรมทายาท นี้เรียกว่าความถูกต้องของการเผยแผ่ในส่วนที่เป็นหลักเกณฑ์สำคัญๆ มันก็มีส่วนปลีกย่อยที่จะต้องพิจารณาเฉพาะกรณีๆเป็นอย่างๆไป โดยที่อาศัยหลักสัปปุริสธรรม รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้บริษัท รู้บุคคล ว่าถ้าทำที่นี่ทำอย่างไร ทำเวลานี้ทำอย่างไร ทำกับคนชนิดนี้ทำอย่างไร นี่อย่างนี้เป็นต้น มันก็เป็นสิ่งที่พิจารณาได้เฉพาะกรณีไปว่าจะทำที่ไหน ควรจะทำที่ไหน จะไปทำอะไรกันที่ไหน ศึกษาอบรมกันที่ไหน เมื่อไหร่ ในเวลาอย่างไร ในฤดูกาลอย่างไร แล้วก็ว่าทำเท่าใด เท่าใด มากน้อยเท่าใด ทำแก่ใคร ไม่ควรทำแก่ใคร และก็ทำอย่างชนิดไหนถึงจะเหมาะแก่บุคคลชนิดนี้เป็นต้น อย่าทำตามความคิดนึกชุ่ยๆ ชั่วขณะๆหรือไม่ได้คิดเลยก็มี เรียกว่าทำด้วยความประมาทหรือความอวดดี มันก็ไม่มีทางจะสำเร็จประโยชน์ ขอให้ใช้หลักสัปปุริสธรรม ซึ่งจะต้องคล่องที่สุด คล่องปาก คือ xx (นาทีที่ 1:02:57) ว่าได้แม่นยำ คล่องทางกาย คือประพฤติอยู่เสมอ คล่องทางจิตใจ คิดนึก รู้สึกทบทวนมีเหตุผลอยู่เสมอตลอดเวลา นี้เรียกว่าหลักเกณฑ์สำคัญอย่างใด ใดมีอยู่อันนั้นมันต้องคล่อง คล่องปาก คล่องใจ คล่องการกระทำ คล่องการนึกคิดพิจารณา แยกแยะสอบสวนอะไรต่างๆ นี่เป็นข้อหนึ่งเรียกว่าการประกาศถูกต้องจึงเป็นองค์หนึ่ง ส่วนหนึ่งของไอ้จะทำได้โดยวิธีใด ของหลักที่ว่าจะทำโดยวิธีใด สรุปความในส่วนนี้ก็ว่าเราทำตนให้เป็นผู้สมควรเสียก่อน แล้วจึงสอนผู้อื่นอย่างถูกต้อง แล้วทีนี้มันมาถึงความถูกต้อง ก็ดูให้มันถูกต้องทางปริยัติ ให้มันถูกต้องทางปฏิบัติ ถูกต้องทางปฏิเวธ ถ้าถูกต้องในวิธีการแห่งการเผยแผ่ นี่มันก็จะสำเร็จประโยชน์ ในส่วนที่ว่าเราจะทำโดยวิธีใด กิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาจึงจะเป็นไปได้ คำว่าเผยแผ่พระพุทธศาสนานั่นมันไม่ได้หมายความว่า เพียงแต่ประกาศให้ได้ยินได้ฟัง เท่านั้นไม่ได้ คำว่าเผยแผ่พระพุทธศาสนาไม่ได้หมายความว่าทำให้เขาได้ยินได้ฟังไม่พอ มันต้องจำกัด จำกัดความให้ชัดลงไปว่าต้องทำให้มีศาสนาอยู่ในตัวบุคคล กว้างออกไป กว้างออกไป ทำให้มีศาสนา มีธรรมะแท้อยู่ในตัวบุคคลมากขึ้นๆ นั่นแหละคือการเผยแผ่พุทธศาสนา ไม่ใช่เพียงแต่ให้เขาได้ยินได้ฟัง ได้อ่าน การทำอย่างนั้นมันเป็นไปไม่ได้หรอก สมมติว่าเราจะพิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นวางเต็มไปทั้งโลก มันก็ไม่ช่วยอะไรได้ มันไม่ช่วยอะไรได้ ที่จริงถ้าจะทำก็ทำได้ ถ้าคนในโลกมันคิดจะพิมพ์พระคัมภีร์ของศาสนาของตนๆ ไปวางไว้ทุกหนทุกแห่ง มันก็ไม่ช่วยได้ให้เกิดการสงบเย็นตามความมุ่งหมายของพระศาสนา แต่มันเพียงเป็นส่วนหนึ่งได้ ที่ทำให้เกิดความสนใจได้ เป็นเงื่อนต้น เป็นชนวนเบื้องต้นให้เขาสนใจนั้นมันได้ แต่จะทำให้มีศาสนาไปทั่วโลกนั้นไม่ได้ มันต้องทำทุกอย่าง ทุกอย่าง ทุกอย่าง จนกระทั่งมีการปฏิบัติ จนกระทั่งมีการได้รับผลของการปฏิบัติทั่วๆไปในโลก นี่เผยแผ่พระศาสนาสำเร็จ เราไม่ได้หวังกันนักไอ้เรื่องพิมพ์หนังสือให้คนอ่าน หวังเพียงว่ามันจะเป็นเครื่องจุดชนวนขั้นต้นให้เขาติดตามกันต่อไป มันไม่สำเร็จได้ด้วยการเพียงแต่ให้เขาได้อ่านหรือได้ยินหรือได้ฟัง บางทีมันจะทำให้เขารำคาญแล้วก็ทำตนเป็นปฏิปักษ์เสียมากกว่า ถ้าเราจะเอาพระคัมภีร์มาอ่านทางวิทยุกระจายเสียงทุกสถานีทั้งวันทั้งคืนทั่วไปทั้งโลก มันก็ไม่ทำให้ธรรมะมีขึ้นมาในโลกได้ มันต้องทำอย่างอื่นด้วย คือปฏิบัติตนให้ได้รับผลของธรรมะเป็นที่น่าพอใจให้เขาเห็น ซึ่งเราใช้คำพูดว่าเป็นตัวอย่างแห่งความเป็นบุคคลมีความสุขให้เขาดู เราทำตัวอย่างเป็นบุคคลผู้มีความสุขที่น่าพอใจนี่ให้เขาดู โดยเฉพาะชาวต่างประเทศนี่ เขาฟังกันมากแหละว่าจะได้รับวิถีชีวิตหรือแนวปฏิบัติชีวิตแบบใหม่ เขาจึงมาศึกษา มาไต่ถาม มาลองดู นี่แสดงว่าทุกคนมันต้องการจะมีชีวิตชนิดที่อยู่เหนือความทุกข์ ดังนั้นเราทำตนเป็นตัวอย่างให้เขาเห็นว่าอยู่เหนือความทุกข์ได้อย่างไร ให้เขาเห็นแม้แต่ส่วนหนึ่งเท่านั้นแล้วเขาก็จะพอใจ เขาจะติดตาม เขาก็จะขยายไกลออกไปๆให้มันถึงที่สุด ผมจึงขอสรุปความว่าขอให้พระธรรมทายาททุกคนนี่ จงรับมรดกธรรมด้วยการเป็นผู้มีความสุขอยู่ที่เนื้อที่ตัวด้วย และแสดงเป็นตัวอย่างให้คนทั้งหลายดูด้วย เรามีความสุขเป็นของเราไม่มีความทุกข์เป็นของเราในชีวิตของเราด้วย แล้วก็แสดงตัวอย่างอันนี้ให้มหาชนทั้งหลายดูด้วย ทั้งเทวดาและมนุษย์ เพราะว่าทั้งเทวดาและมนุษย์ยังมีความทุกข์ เราแสดงตัวอย่างของผู้ที่ไม่มีความทุกข์ให้ดู ความสำคัญมันจะตกอยู่ที่ตรงนี้ อย่าไปหวังเรื่องอื่นให้มันเพ้อเจ้อมากเกินไปเลย ดูเหมือนจะจัดให้มีความรู้พิเศษปลีกย่อยมากเกินไปแล้ว ความรู้ที่เป็นเนื้อหาที่แท้จริงยังไม่เพียงพอ มันจะต้องรู้ธรรมะตัวจริง ดับทุกข์ได้ให้ปรากฏชัดอยู่ และแสดงผลของการดับทุกข์ได้ให้คนอื่นดู แล้วคนทั้งหลายก็จะพากันยอมรับเอา คือยอมปฏิบัติตามโดยสะดวกได้ นั่นแหละสำเร็จสมตามความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นต้นกำเนิดของการประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา ในพระพุทธศาสนานี้เราก็สืบสนองความประสงค์ของพระพุทธองค์ในฐานะเป็นธรรมทายาท กิจกรรมธรรมทายาทคืออะไร เกิดขึ้นเพราะเหตุใด เพื่อผลอันใดในที่สุดและจะสำเร็จได้โดยวิธีใด ผมก็ได้บรรยายมาแล้ว โดยใจความ โดยใจความที่จะพอเข้าใจได้ โดยรายละเอียดบางทีต้องพูดกันเป็นเดือนๆ ปีๆ ก็ได้ และมันก็เกินไป พูดโดยใจความ พูดโดยหัวข้อสำคัญๆ แล้วก็เอาไปพิจารณาใคร่ครวญ จำแนก แจกแจงในส่วนรายละเอียดเอาเองก็เป็นอันว่าเพียงพอ นี่การบรรยายในวันนี้เป็นตอนท้ายของเรื่องกิจกรรมธรรมทายาท เป็นการบรรยายที่พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้เอาไปคิดนึกใคร่ครวญพิจารณาดู จับใจความสำคัญได้อย่างไรก็บันทึกกำหนดจดจำไว้ให้ดีๆ ให้สะดวกในการที่จะดึงมาดูทันทีเมื่อเกิดความสงสัย อย่าประมาท อวดดีว่าจำได้ไม่ต้องจด เป็นเรื่องขี้เกียจและเหลวไหล ถ้าจะให้สำเร็จประโยชน์จริงสิ่งสำคัญต้องจดพร้อมจะดึงออกมาดูทุกคราวที่จะต้องปฏิบัติงาน หรือแม้แต่ทุกคราวที่จะต้องคิดนึกทบทวน อย่างผมเองนี่บางทีอยู่คนเดียวดึกๆขึ้นมา มันสงสัยเรื่องอะไรขึ้นมาก็ต้องไปคว้าเอาสมุดบันทึกสมุดโน้ตนั่นมาเปิดดูให้พบเรื่องนั้นแล้วก็ทบทวน หรือว่าส่งเสริม หรือว่าอะไรให้มันแน่ใจให้มันถึงที่สุดสำหรับจะได้อยู่ในความจำอันมั่นคง ไปพูดที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ยังต้องทำอยู่อย่างนี้ ทั้งที่ทำมาสี่สิบห้าสิบปีแล้ว มันก็ยังต้องทำอยู่อย่างนี้ ยังต้องอาศัยไอ้สมุดเล็กๆ อย่างนี้เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นผู้ช่วยอย่างที่จะขาดเสียไม่ได้ ไอ้สมุดเล็กๆนี้มันเป็นที่รวบรวมความรู้ความคิดอะไรที่สำคัญที่สุดที่จะใช้ให้สะดวกในเวลาทุกเมื่อ ผมจึงขอร้องว่ากลับไปถึงที่พักแล้วใคร่ครวญดูให้ดีอะไรเป็นใจความสำคัญจงบันทึกจดจำลงไปในสมุดช่วยจำ คือสมุดโน้ต ใช้ให้คุ้นเคยให้คล่อง เป็นของคู่มืออยู่เสมอ ไอ้สมุดโน้ตนี่ก็เหมือนกัน มันร้อยเรื่องพันเรื่องหรือหลายพันเรื่อง ถ้าไม่ใช้คู่มือให้คล่องๆๆๆ เปิดคล่องดูอยู่เสมอแล้ว บางทีมันก็หาไม่พบ เดี๋ยวมันก็ขี้เกียจเดี๋ยวมันก็ไม่ทำ แม้ที่เราคิดเองอะไรเอง ก็ต้องเอามาทดสอบใคร่ครวญดูอยู่เป็นประจำ เรียกว่ามันคล่องปาก คล่องใจ คล่องมือ คล่องอะไรไปหมด การปฏิบัติหน้าที่ก็จะง่ายดาย หวังว่าจะทำกันอย่างนี้ เพื่อให้มันแน่นอนในการที่จะมีผลก้าวหน้า การบรรยายในวันนี้ขอยุติลงด้วยความสมควรแก่เวลาเพียงเท่านี้
นิมนต์ๆ บาตรรออยู่แล้ว ไปจัดแจงกับบาตร ถ้าใครจะฉันเพลก็เหลือไว้ในบาตรตามแบบของพุทธกาล ถ้าจะฉันอาหารมากกว่าหนึ่งครั้ง ท่านเหลือไว้ในบาตร แล้วท่านก็ฉัน ไม่ใช่เป็นของแปลกใหม่อะไร