แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายในวาระสุดท้ายแห่งอาสาฬหบูชานี้ ก็ยังคงกล่าวด้วยเรื่องธรรมะชีวีสืบต่อไป ในฐานะเป็นประเด็นสุดท้ายก็จะพูดกันถึงปัญหา ซึ่งคงจะอยู่เป็นปัญหาสุดท้าย ปัญหาข้อนี้ก็คือว่าพระนิพพาน
นิพพานเป็นบรมธรรม เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตแล้วชีวิตนี้ก็เป็นธรรมะชีวีชั้นสูงสุด จะเรียกว่าเป็นบรมธรรมะชีวี ทีนี้ที่คนทั่วไปเขาถือกันอยู่ก็คือเข้าใจว่าอีกนานกว่าจะนิพพานแล้วถ้านิพพานแล้วก็ตายทุกที นิพพานนี้จะถึงได้หลังจากตาย แล้วการบรรลุนิพพานที่แท้จริงคือ อนุปาทิเสสนิพพานนั้นหมายถึงตาย พูดตรงๆพวกเขาหมายความว่าพระอรหันต์ตายลง พระอรหันต์ตายลงจึงจะชื่อว่าบรรลุนิพพาน ที่สมบูรณ์ ที่พูดกันอยู่ทั่วๆไป หรือเรื่องสอนเด็กเล็กๆว่านิพพานก็แปลว่าตาย ตายสำหรับพระอรหันต์ นี่เป็นปัญหาสุดท้ายว่านิพพานนั้นต้องตายด้วยหรืออย่างไร อาตมาสังเกตดูมาตลอดเวลาอันยาวนานนี่ ก็พบว่าในพระบาลีนั้นมีคำเป็นอันมากที่แสดงว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับความตาย มันมีคำว่า ปัจจัตตะนิพพาน หรือ สันทิฏฐิกนิพพาน หรือ ทิฏฐธรรมนิพพาน ชื่อมากมายล้วนแต่แสดงว่าไม่ได้ตาย ไม่ได้เกี่ยวกับความตาย คือเป็นนิพพานที่รู้สึกได้ด้วยตนเองจึงจะเป็น สันทิฏฐิก และบท คุณ คุณบทของพระนิพพานก็มีอยู่เหมือนกันว่า สวากขาตัง ภะคะวะตา นิพพานัง สันทิฏฐิกัง อะกาลิกัง เอหิปัสสิกัง โอปะนะยิกัง ปัจจัตตัง เวทิตัพพัง นี่คุณบทของพระนิพพานนี่มีคุณบทเหมือนกับคุณบทของพระธรรม ที่สำคัญที่สุดก็คือ สันทิฏฐิกัง เห็นได้ด้วยตนเอง หรือแม้แต่ว่า ปัจ เอหิปัสสิกัง ก็เรียกกันมาดู ถ้าตายแล้วจะเรียกกันมาดูอะไรกันได้ จะเรียกมาดูคนตาย นี่ก็ ปัจจัตตัง เวทิตัพพัง อันวิญญูชนพึงเห็นได้ด้วยตนเองอย่างนี้ ถ้าตายแล้วจะเห็นอะไร ถ้าตายแล้วจะเห็นได้อย่างไร ฉะนั้นคำว่านิพพานนั้นน่ะไม่ได้เกี่ยวกับความตาย ไม่ต้องตายจึงจะเป็นนิพพาน เรียกว่าไม่เกี่ยวกับความตายเสียเลย ถ้ามันตายแล้วมันก็เลิกกัน ไม่ ไม่มีความหมายของนิพพานอะไร เพราะไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใคร ถ้าเป็นสิ่งที่ถึงได้ต่อตายแล้วมันก็ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใคร ดังนั้นนิพพานความหมายไหนก็ตาม นิพพานชั่วคราว นิพพานสมบูรณ์ นิพพานทุกชนิดแหละมันต้องรู้สึกได้ด้วยจิตต่อพระนิพพานนั้น รู้สึกในรสของพระนิพพานนั้น ทั้งนั้นเลย ถ้าเป็นเรื่องตายแล้วก็ไม่ใช่เรื่องนิพพานหรอก มันไม่ได้รับรสอะไร นิพพานนี่เป็นธรรมะที่มีรสสูงสุด ต้องรู้รสนั้นของพระนิพพานน่ะจึงจะเรียกว่าเป็นธรรมที่กล่าวไว้ดีแล้ว กล่าวไว้ดีแล้ว เป็น สันทิฏฐิกัง ผู้นั้นเห็นได้ด้วยตนเองคือรู้สึกได้ด้วยตนเอง นี่แหละจะต้องเข้าใจ เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจ และเข้าใจว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องรู้รสน่ะของพระนิพพานนั้น ในเมื่อบุคคลรู้รส เสวยรสของไอ้การที่จิตบรรลุนิพพานนั่นแหละเป็นธรรมะชีวี ยังไม่ตาย และก็รู้รสของจิต บรรลุพระนิพพาน การที่จิตสิ้นกิเลสเป็นจิตที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป ไม่มีกิเลส อุปาทาน ไม่มีอะไรทั้งสิ้น แล้วเสวยรสนั้นอยู่ด้วยตนนั้นจึงจะเป็นชีวีๆ ชีวีแปลว่ามีชีวิต หมายความว่าไม่ได้ตาย ดังนั้นธรรมะชีวีนี้ไม่เกี่ยวกับความตายด้วยเหมือนกัน มันต้องเป็นการมีชีวิตอยู่ เป็นการมีชีวิตอยู่อย่างที่รู้รสของพระนิพพาน
เดี๋ยวนี้เราไม่ได้สนใจกันอย่างแท้จริงเหมือนครั้งพุทธกาลก็ได้ อาตมาเคยสำรวจดูพบไอ้เรื่องที่แปลกประหลาดก็คือว่า สันทิฏฐิกนิพพาน น่ะ นิพพานที่เห็นได้ด้วยตนเองนี่มีผู้มาทูลถามพระพุทธเจ้ามาก มากราย และเป็นฆราวาสทั้งนั้น นี่น่าแปลกที่ว่าไม่มีพระภิกษุไปทูลถามเรื่องนี้ มีแต่ฆราวาสทั้งนั้น แม้จะเป็นท้าวสักกะหรือเป็นเทวดา เราก็ต้องเรียกว่าเป็นฆราวาส เพราะไม่ใช่บรรพชิต ฆราวาสเป็นอันมากไปทูลถามเรื่อง สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานที่เห็นเอง ทิฏฐธรรมนิพพาน นิพพานที่รู้สึกได้เอง รู้สึกอยู่แก่ใจเอง คำว่า ทิฏฐธรรม ทิฏฐธรรม นี้แปลว่าธรรมที่ตนเห็นแล้ว คือสิ่งที่ตนเห็นแล้วก็เรียกว่า ทิฏฐธรรม ถ้าตายแล้วจะเห็นได้อย่างไร ไม่มีไอ้การเห็นด้วยความรู้สึกก็ดี เห็นด้วยอะไรก็ตามเถอะมันไม่มี ทั้งหมดนี้ต้องการจะให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่านิพพานนั้นไม่เกี่ยวกับความตาย ถ้าพูดง่ายๆก็เกี่ยวกับความเป็น เกี่ยวกับความเป็นคือเป็นอยู่ เป็นอยู่นั่นแหละจะได้เป็นธรรมะชีวี มันจะน่าหัวที่สุดแหละที่ว่าพุทธศาสนาเราไปจบด้วยความตาย ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร เดี๋ยวนี้พุทธศาสนาไม่ได้ไปจบลงด้วยความตายหรอก ไปจบลงที่จิตที่หมดกิเลส แล้วรู้สึกด้วยตนว่าหมดกิเลสนั้นเป็นอย่างไร หมดกิเลสแล้วเป็นอย่างไร จะเรียกว่าความสุขอีกชนิดหนึ่ง เป็นความสุขที่เป็นตรงกันข้ามกับความสุขอย่างไอ้ชาวบ้านนี่มันเป็นคำสมมติเท่านั้นแหละ สุขชาวบ้านนี่ก็คำสมมติ สุขพระอรหันต์ก็เป็นคำสมมติ แล้วมันก็ต่างกันมากแหละคือสุขเพราะมีกิเลส กับสุขเพราะไม่มีกิเลส นี่มันต่างกันมาก แต่มันก็ต้องเป็นสิ่งที่เกิดแก่ผู้ที่ยังไม่ตายจึงจะมีความหมายว่าเป็นความสุขก็ได้ ถ้าตายเสียแล้วก็ไม่มี ไม่รู้สึกรู้แจ้ง มันก็ไม่เป็นความสุข เดี๋ยวนี้เราจะเอาธรรมะชีวีในระดับที่เรียกว่ามีชีวิต อยู่ด้วยความรู้สึกที่เรียกกันว่าเป็นความสุข ทำอย่างไรจะมีความรู้สึกที่เป็นความสุขแบบโลกุตรสุขนะไม่ใช่แบบโลกียสุข รู้สึกต่อความสุขอยู่ได้ตลอดเวลาทุกอิริยาบถ ทุกเวลา ทุกสถานที่หรือทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ในหมวดธรรมะก็มีอยู่คำหนึ่งซึ่งน่าสนใจเรียกว่า อุปสมานุสสติ ว่าสติกำหนดระลึก อุปสมะ อุปสมะ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน ในอนุสสติ ๑๐ มันมี อุปสมานุสสติ สติกำหนด พระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าตายแล้วจะกำหนดได้หรือ มันก็ทำกันไม่ได้ นี่ถ้าว่าไม่มีนิพพานรู้ รู้สึกอยู่ในจิตแล้วจะกำหนดอะไร มันก็ไม่มีอะไรจะกำหนด มันก็ต้องมีรสของพระนิพพานนี่รู้สึกอยู่ในจิตสำหรับจะกำหนด เมื่อกำหนดอย่างนั้นอยู่ก็เป็น อุปสมานุสสติ ระลึกกำหนดความสงบ ระงับความเข้าไปสงบ ระงับ แม้ว่าชื่อนี้จะแปลกคือว่า คือชื่อว่า อุปสมะ อุปสมะ มันก็แปล ก็เล็งถึงนิพพานอยู่นั่นแหละ เพราะแปลว่าความเข้าไปสงบแห่งสังขารทั้งปวง ข้อนี้ก็ควรจะนึกไปถึงไอ้คำที่ได้ยินอยู่เป็นประจำน่ะ เตสัง วูปสโม สุโข คนที่เรียนมาน้อยนะใช้คำว่าอย่างนี้ ดีกว่าดูถูกกันหน่อย ไอ้คนที่เรียนมาน้อยนะ พอได้ยินพระสวดบังสกุลที่ป่าช้า อนิจจา วต สังขารา อุปปาทวยธัมมิโน นี่ พอถึงบทว่า เตสัง วูปสโม สุโข เขาว่าตาย เขาว่าตาย ตายเหมือนกับศพที่นอนอยู่ในโลง แล้วก็สุข สุข เป็นสุข ไอ้คนตายที่นอนอยู่ในโลงเป็นสุข นี่ดูเรื่องของคนที่มันมีการศึกษาน้อย ก็พลอยทำให้พุทธศาสนาเป็นเรื่องบ้าบอไปเสียด้วย อ่าว, หรือทำให้พระพุทธเจ้าถูกเข้าใจผิด นี่มันทำลายศาสนาอย่างลึกซึ้งที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เมื่อเข้าไป เมื่อไปป่าช้า ไปเผาศพไปอะไรก็ตามได้ยินคำบังสกุล อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปสโม สุโข เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความเข้าไปสงบ ระงับเสียซึ่งสังขารนั้น เป็นสุข เตสัง วูปสโม สุโข คำ อุปสมะ อีกแล้ว คำเดียวกันเลย เตสัง วูปสโม วูปสมะ อุปสมะ เข้าไประงับเสียซึ่งสังขารนั้นเป็นสุข ท่านบอกว่าความเข้าไประงับเสียซึ่งการปรุงแต่ง ปรุงแต่งให้ อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เกิดดับๆ เกิดดับเสีย หยุดเสียนั่นจึงจะเป็นความสุข ฉะนั้นการกล่าวบังสกุลชักบังสกุลที่ป่าช้าก็เป็นการบอกเรื่องพระนิพพานโดยตรง อาศัยภาษิตที่สำคัญนี่มาบอกว่าเข้าไปสงบระงับเสียซึ่งสังขารนั้นเป็นความสุข แล้วคนที่ฟังทั้งหลายอยู่ก็เข้าใจว่าตาย ความตายเป็นสุข ก็ลองคิดดูสิ เอาเองเถอะว่ามันจะสักเท่าไร เขาบอกว่านิพพานน่ะหยุดระงับเสียซึ่งการปรุงแต่งสังขารเป็นความสุข แต่นี้มาตีความว่าความตายเป็นความสุข ไอ้ความตายนี่มันไม่รู้สึกอะไรมันจะเป็นความสุขได้อย่างไร ต้องไม่ตาย มันต้องไม่ตาย แต่ว่ามันระงับสังขารได้ คือไม่มีการปรุงแต่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของจิต ด้วยไอ้เหตุปัจจัยของการปรุงแต่งเรียกว่าตัณหาหรืออุปาทานก็ได้ เป็นปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดอีก คือเกิดความรู้สึกว่าตัวตนขึ้นมาในสำนึกนี้ก็เรียกว่าเกิด ไม่จำเป็นจะต้องเกิดจากท้องแม่ ไอ้เกิดจากท้องแม่นั่นไม่ได้เป็นทุกข์ ไม่ได้เป็นทุกข์ ต้องไปสังเกตดูให้ดีเถอะ แล้วเมื่อเพียงแต่เกิดมาจากท้องแม่นี่ยังไม่เป็นความเกิดที่สมบูรณ์ ถ้าต่อเมื่อเด็กทารกนั้นโตขึ้นพอจะรู้จักคิดนึกว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นตัวกูว่าเป็นของกูนั่น เกิดความรู้สึกว่าตัวกูของกูขึ้นในจิตของทารกนั้นแล้วจึงจะเรียกว่ามีการเกิดที่สมบูรณ์ ฉะนั้นอย่าเข้าใจไปง่ายๆโดยทางวัตถุ เอาวัตถุเป็นหลัก เอาพอกายของทารกออกมาจากท้องแม่แล้วก็เป็นการเกิดที่สมบูรณ์ นั้นมันเกิดแต่ทางกาย มันยังไม่ได้เกิดในทางจิตคือทางอุปาทาน จนกว่าเด็กเขาจะมีความรู้สึกคิดนึกเป็นตัวตน ว่าตนของตน มีความรู้สึกอยู่อย่างนี้เรียกว่าเกิดตนขึ้นมาแล้ว นี่เกิดสมบูรณ์แล้วทั้งทางกายและทางจิต นี่ไปสังเกตดูเอาเองว่าไอ้เด็กทารกนี่มันคงจะเกิดเมื่อไร ไอ้เกิดความรู้สึกว่าตัวตนได้เมื่อไร เมื่อ เมื่ออยู่ในท้องแม่แล้วไม่มีหวังหรอก ไม่มี ไม่มีความนึกคิดอะไร ทีนี้ออกมาจากท้องแม่แล้ว มันเกิด มันยังไม่เกิดตัวตนหรอกเพราะมันไม่ได้เสวยเวทนาที่เป็นเหตุให้เกิดตัณหาแล้วเกิดอุปาทาน โดยหลักมันก็ต้องได้รู้สึกเวทนา เสวยเวทนา แล้วก็เกิดตัณหาในเวทนา แล้วเกิดอุปาทานจากตัณหา จึงมีอุปาทานว่าตน ว่าตัวตน ว่าของตนขึ้นมา สันนิษฐานเอา ประมาณเอาว่ามันจะต้องเป็นเด็กขนาดที่รู้สึกยินดียินร้ายแล้ว จะเกิดได้กี่วันหรือกี่สัปดาห์ก็ตามใจเถอะ แต่ต้องเป็นเด็กทารกที่มีความรู้สึกยินดียินร้ายได้แล้ว นั่นคือเวทนา พอยินดีมันก็อยากไปอย่างหนึ่ง พอยินร้ายมันก็อยากไปอย่างหนึ่ง พอมันเกิดความอยากแล้วไม่ต้องสงสัย มันก็เกิดความรู้สึกตัวกูผู้อยาก ผู้ที่มีความรู้เรื่องนี้ก็ไปสังเกตดูเอาเองว่ามันคงจะตกอยู่ในอายุประมาณสักกี่วันหรือกี่สัปดาห์ จนกว่าเจ้าทารกนั้นมันเกิดความรู้สึกที่เป็นตัวตน ถ้ามันร้องไห้ มันก็ร้องไห้ด้วยความมั่นหมายแห่งตัวตน มันไม่ได้อย่างใจ มันร้องไห้ในลักษณะที่แสดงว่าโมโหโทโสแล้ว นั่นแหละจึงจะเรียกว่าไอ้ทารกนั้นมันเกิดความรู้สึกว่าตัวตนแล้ว ดูในอาการที่มันโกรธนั่นจะรู้ได้ง่าย ได้ง่ายหน่อยว่ามันเกิดตัวตนมาแล้ว แต่แม้จะดูในแง่ของไอ้ความรัก ความโลภ ความต้องการ มันก็อาจจะดูได้เหมือนกัน อาจจะดูออกเหมือนกันว่าเด็กคนนี้มีความมั่นหมายแห่งตัวตนแล้ว มีความต้องการอย่างแรงกล้าแล้ว แสดงออกมาให้เห็นแล้ว นี่คือความเกิดแห่งตัวตน
ทีนี้ต่อไปนี้ก็เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ ตามที่ได้สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในกรณีใดให้เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทานก็เรียกว่าเกิดตัวตนทุกทีไปแหละ ทีนี้มันก็เกิดดับ เกิดดับ อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ อุปปัชชิตวา เกิดขึ้นแล้ว นิรุชฌันติ ย่อมดับไปนี่อยู่อย่างนี้ พระบาลีนั้นใช้คำว่า สังขารา นะ อนิจจา วต สังขารา คำว่า สังขารา นั้นเป็นพหูพจน์คือหลายอย่าง สังขารหลายอย่างเกิดขึ้นเพราะว่าประชุมกันเข้า แล้วจึงเกิดอะไรใหม่ออกมา เพราะสังขารหลายๆอย่างประชุมกันเข้าจึงเกิดอาการที่เรียกว่า อุปปัชชิตวา เกิดขึ้นแล้ว นิรุชฌันติ ย่อมดับไป บทว่า นิรุชฌันติ ตามภาษาบาลีก็เป็นพหูพจน์ว่าหลายอย่างดับลงไป ไม่ใช่คนๆเดียวตาย อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ ย่อมดับไป นิรุชฌันติ เป็นคำกิริยาแสดงเป็นพหูพจน์ เพราะว่าประธานไอ้ของเรื่องของคำต้นคือ สังขารา แปลว่าสังขารทั้งหลาย เรื่องว่าการเกิดดับแห่งสังขารนั่นแหละเป็นตัวปัญหาไม่ใช่ของบุคคลคนเดียว ถ้าเป็น เป็นบุคคลคนเดียวก็จะไม่ใช้ว่า สังขารา หรือ นิรุชฌันติ ฉะนั้นขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่าที่ป่าช้า สวดชักบัง บังสุกุลแหละเป็นการบอกกล่าวเรื่องที่สูงสุด ที่สุดเลย ธรรมะที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา แล้วเมื่อสังขารหยุดปรุงนั่นน่ะจะเป็นความสุข เป็นความสุขอย่างยิ่ง คนก็มาตีความหมายเอาว่าตาย หยุดปรุงคือตาย เพราะว่า เพราะไปๆไปสวดในที่มีคนตายนอนอยู่ นี่คนฟังมันก็เข้าใจผิด เรื่องนี้มันไม่ใช่เป็นพระพุทธ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะอ้างพระพุทธภาษิตได้หรอก พุทธภาษิตก็กล่าวได้ว่าเป็นอย่างนั้นแหละแต่ท่านไม่ได้หมายถึงคนตาย แล้วท่านก็ไม่ได้แนะนำว่าให้เอามาสวดเมื่อมีคนตายนี่ แล้วในอินเดียครั้งพุทธกาลไม่มีการชักบังสกุลแบบนี้หรอก มันไม่มีหรอกมันเพิ่งมามีในประเทศฝ่ายบ้านเรานี่ มันก็เลยเข้าใจผิดว่าการตายนั่นแหละเป็นความสุข เตสัง วูปสโม สุโข คือตายแล้วก็เป็นสุข ทีนี้ก็มารู้กันเสียเถอะว่าไอ้ความสุขนั้นไม่ต้องตายนะ ถ้าตายแล้วมันไม่มีความสุข ไม่มีรู้ รู้สุขหรือทุกข์ มันไม่ ไม่มีทางจะรู้สึกได้ ถ้าพูดว่าความสุข ความสุขแล้วมันต้องไม่ตาย มันต้องไม่ตายมันจึงจะมีความสุขได้ ทีนี้เราก็ไม่ตายสิ เป็นธรรมะชีวีมีชีวิตอยู่แท้ๆจะตายอะไรได้ล่ะ มีธรรมะเป็นชีวิต มีบรมธรรมคือความไม่ตาย ความไม่ตายนั่นแหละเป็นชีวิตอยู่ มีชีวิตอยู่ด้วยความรู้สึกในความไม่ตาย ก็หมายความว่าบุคคลผู้นี้กระทำในใจอยู่ตลอดเวลาถึงความไม่ปรุงแต่งแห่งสังขารใดๆ เขาสามารถหยุดการปรุงแต่งแห่งจิตใจ ไม่ปรุงแต่งตามกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทที่ทำให้เกิดความทุกข์ ถ้าจะไม่ให้ปรุงแต่งมันก็ต้องรู้เท่าทันเวทนาหรือผัสสะ เมื่อมีการกระทบทางอายตนะ ตากระทบรูปเป็นต้นเกิดจักษุวิญญาณแล้ว ทำความรู้สึกอยู่อย่างนี้เรียกว่าผัสสะ นี่ก็คือปรุงแหละ ทีนี้ผัสสะก็ปรุงต่อไปให้เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทานนี่ก็ปรุงกันเต็มที่ จนถึงกับว่าเกิดอุปาทาน อุปาทานแล้วก็คือเกิดตัวตนเต็มที่ มีของหนักแบก แบกอยู่ มีอุปาทานในสิ่งใดสิ่งนั้นก็เป็น อุปาทิ คือเป็นของหนักที่อุปาทานแบกอยู่ยึดถืออยู่ มัน มันมีความยึดถือในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ในเวลานั้น ยึดถือสิ่งใดอยู่สิ่ง สิ่งนั้นเป็นของหนัก แล้วจิตก็ยึดถือสิ่งนั้นไว้ด้วยอุปาทานก็แปลว่าแบกถือของหนัก มันก็เป็นความทุกข์ อย่างนี้มันเป็นความทุกข์ เราไม่ต้องการจะมีความรู้สึกอย่างนี้ ธรรมะชีวีต้องไม่มีความรู้สึกที่เป็นทุกข์ เพราะว่าความทุกข์นั้นมันมีค่าเท่ากับตายแล้ว ที่เป็นๆอยู่ต้องไม่ตาย เป็นความสุขชนิดที่แท้จริง แล้วก็ผู้นั้นก็มีชีวิตอยู่ รู้ รู้สึกอยู่ รู้สึกเสวยความสุขอันนั้นอยู่ นี่คือธรรมะชีวี และควรจะเพ่งเล็งไปที่ตัวกิริยาอาการมากกว่าผล คือเพ่งเล็งไปที่ตัวเหตุยิ่งกว่าผล ตัวเหตุในที่นี้ก็คือการไม่ปรุงแต่งในใจ ไม่ปรุงแต่งทางจิตใจ เพราะฉะนั้นธรรมะชีวีในระดับนี้ก็คือรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าไม่มีการปรุงแต่งแห่งกฎอิทัปปัจจยตาฝ่ายเกิดทุกข์อยู่ในใจ รู้สึกอยู่ในใจตลอดเวลาว่าไม่มีการปรุงแต่งสำหรับเกิดความทุกข์ รู้สึกอย่างนี้อยู่เป็นธรรมะชีวีแท้จริงคือไม่ตาย ไม่ตาย ไม่มีความทุกข์มีความหมายเป็นชีวีคือไม่ตาย เป็นชีวิตชนิดที่ไม่ตาย เรื่องมันก็จะเลยไปถึงว่าไอ้ ไอ้ร่างกายจะตายก็ช่างมันสิ ไอ้ธรรมะไม่ตายก็แล้วกัน ธรรมะไม่ตาย ธรรมะไม่ตาย ร่างกายจะตายก็ช่างหัวมัน ไอ้ธรรมะในบุคคลนั้นหรือของผู้นั้นมันไม่ตายก็พอแล้ว นี่เป็นชีวิตใหม่ เป็นชีวิตที่ไม่รู้จักตาย เพราะไม่มีการปรุงแต่งสำหรับให้เกิดความทุกข์ ทีนี้พูดแวดล้อมให้เข้าใจง่ายมากขึ้นมาอีกก็ว่าไม่มีกระแสปรุงแต่งแห่งอิทัปปัจจยตาอยู่ในชีวิตนั้น ในชีวิตนั้นไม่มีอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาทที่จะทำให้เกิดความทุกข์น่ะมันไม่มี ไม่มีการปรุงแต่งชนิดนั้นอยู่ในชีวิตนั้น แล้วก็เป็นธรรมะชีวีอันสูงสุด ในตอนต้นของการบรรยายก็พูดถึงว่าเรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำผิดอะไรทางศีลก็ดี ทางอะไรวินัยก็ดี แล้วก็พอใจ ไม่มีความผิดแล้วก็พอใจ มีแต่ความถูกต้องแล้วก็พอใจ นี่ก็ต่ำมาก ต่ำมากจนจะทำได้กันทั่วไปทุกคน ทุกผู้ทุกคนแหละ เพราะว่ารักษาศีลให้ดี ทำอะไรตามไอ้หน้าที่ให้ดีแล้วก็พอใจ นี่มันง่ายมาก ถ้ามาเปรียบกับว่าเดี๋ยวนี้จะมีความรู้สึกถึงขนาดว่าควบคุมไว้ได้ ไม่ให้เกิดการปรุงแต่งแห่งปฏิจจสมุปบาทอยู่ในใจก็เป็นธรรมะชีวีชั้นเข้มข้นสูงสุดขึ้นมา คือว่าปฏิบัติยากนั่นแหละ แล้วก็เป็นอันสุดท้ายแหละในการที่จะปฏิบัติไม่ให้เกิดการปรุงแต่งขึ้นมาในขอบเขตของจิต ในๆ ในพฤติของจิต ในกระแสแห่งจิตไม่มีการปรุงแต่ง นี่จะจบแล้ว เรื่องมันจบแล้ว ถ้ามันมาถึงขนาดนี้แล้วมันไม่รู้จะว่าไปต่อไปไหนอีกแล้ว มันไปไม่ไหวแล้ว ธรรมะชีวีเดี๋ยวนี้สามารถมีสติสัมปชัญญะไอ้อย่างยิ่งอย่างสมบูรณ์ ควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทไว้ได้ วันหนึ่งจะมี วันหนึ่งๆจะมีการกระทบทางอายตนะกี่ครั้ง กี่สิบครั้งกี่ร้อยครั้งก็ไม่เป็นอะไร ไม่มีความ ไม่มีปัญหาอะไรเพราะมันไม่มีการปรุงแต่ง เพราะควบคุมไว้ได้โดยความสมบูรณ์แห่งสติ สมาธิ และปัญญา
เอาล่ะเป็นว่า เป็นอันว่าไอ้เรื่องธรรมะชีวีจะจบกันที่ตรงนี้แหละ ก็จะต้องศึกษาให้รู้เรื่องการปรุงแต่งนั้นแหละให้เข้าใจให้ดี ไอ้การปรุงแต่งที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปปาโทนั่นแหละศึกษาให้ดี อาตมาก็ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะอธิบายเรื่องนี้ให้เห็นชัด ให้ง่ายที่สุด เรื่องปฏิจจสมุปบาทที่เราอธิบายกันที่นี่ไม่เกี่ยวกับความตาย ไม่เกี่ยวกับข้ามภพข้ามชาติ เพราะว่าในหนึ่งชาติหรืออย่าว่า อย่าว่าหนึ่งชาติเลย หนึ่งวันเท่านั้นแหละก็มีปฏิจจสมุปบาทเยอะแยะไปหมด นี้ก็ไม่ให้มีแม้แต่สักครั้งเดียวในหนึ่งวันนี้นะ ถ้าทำได้ก็เรียกว่ามีชีวิตประเสริฐ ชีวิตสูงสุด ไม่มีความตาย ไม่เกิดบุคคลขึ้นมาสำหรับจะเกิดหรือสำหรับจะตาย มันก็ไม่มีบุคคลที่เวียนเกิดเวียนตายนี่ แล้วจะเอาความทุกข์มาแต่ไหนล่ะ เป็นผู้รอบรู้ในเรื่องการปรุงแต่งของปฏิจจสมุปบาท แล้วควบคุมไว้ได้ด้วยสติอันสมบูรณ์ของตน มีชีวิตวันหนึ่งๆ อย่างนี้ นี้คือธรรมะชีวีอันสูงสุด ถึงจุดนี้แล้วเรื่องก็จะจบ ก็จะจบพรหมจรรย์น่ะ กิจที่จะต้องทำ ทำเสร็จแล้ว และกิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกมิได้มี เรามีกิจที่จะทำเพื่อความดับทุกข์ ดังนั้นทำถึงขนาดนี้แล้วมันจบกิจ กิจที่จะต้องทำเพื่อความดับทุกข์อีกนั้นมันไม่มี ก็แปลว่าธรรมะชีวีมาถึงยอดแล้ว ขึ้นมาถึงยอดแล้ว ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อดับทุกข์อีกต่อไปแล้ว เพราะว่าความทุกข์ไม่เกิดอีกแล้ว ความทุกข์ไม่เกิดอีกแล้ว ไม่เกิดความรู้สึกว่าบุคคลตัวตนอีกแล้วมันก็ไม่เกิดความทุกข์อีกแล้ว มันอยู่ที่ตรงนี้ ถ้ามันเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูร้อนฉี่ขึ้นมานั่นแหละคือตัวเกิดและตัวทุกข์ อย่าให้มีอาการอย่างนั้นเลย เดี๋ยวนี้มันมีแต่ตัวกู ตัวมึง ตัวสูอยู่เสียเรื่อยไป แม้แต่ในวัดในวานี้มันก็ไม่ยกเว้น อย่าว่าแต่ที่บ้านเลย มันไม่ได้ยกเว้น ขอให้แผ่ทั่วไปที่บ้านหรือที่ไหนก็ตามอย่าได้เกิดไอ้ความรู้สึกชนิดนี้ ให้มีจิตอันสงบ สงบการปรุงแต่ง สงบสังขารการปรุงแต่ง แล้วก็เป็นสุข เป็นธรรมะชีวีที่มีชีวิตอยู่ด้วยความรู้สึกในความสุขทุกอิริยาบถ หรือจะพูดให้ละเอียดก็ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า หายใจเข้าก็สุขหนอ หายใจออกก็สุขหนอ สุขอย่างแท้จริงนะสุขอย่าง อุปสมะ คือระงับแห่งสังขารน่ะ นี่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นสมาธิที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์อย่างสมบูรณ์แล้ว ที่จริงไอ้สมาธิทั้งหลายทั้งปวงนั่นน่ะใน ในคำบัญญัติท่านบัญญัติไว้ว่าเอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ แม้ว่าเราเริ่มทำสมาธิเดี๋ยวนี้ จะเริ่มทำเดี๋ยวนี้ ผัสสะก็กำหนดเข้าออกอะไรก็ตามแหละมันมุ่งหมายปลายทางอยู่ที่นิพพานทั้งนั้นแหละ แต่คนนั้นยังไม่รู้สึก คนนั้นยังไม่ๆ ไม่ๆ ไม่ได้รู้แจ้งใน ต่อ ต่อพระนิพพานน่ะ แต่ความมุ่งหมายแท้จริงของเรื่องนั่นมันต้องการจะไปถึงนิพพาน ไม่ใช่ทำสมาธิอยู่ที่ตรงนี้ หรือว่าไม่ใช่ทำสมาธิเพื่อจะไปเกิดในพรหมโลกหรืออะไรๆที่มันไม่ใช่นิพพาน ถ้าเป็นสมาธิแท้จริงในพระพุทธศาสนาก็ต้องเป็นเอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ หรือจะ โดยผู้นั้นไม่รู้สึกก็มีความมุ่งหมายของหลักการอันนั้นแม้ว่าผู้นั้นจะไม่รู้ แต่ถ้าเขาไปประพฤติกระทำตามหลักการอันนั้นแล้วหลักการอันนั้นมีนิพพานเป็นอารมณ์อยู่ดี ผู้นั้นจะรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัว การกระทำนั้นมีจุดมุ่งหมายปลายทางอยู่ที่พระนิพพาน เดี๋ยวนี้เราก็มีสมาธิชนิดนี้มาถึง จนถึงที่สุด ถ้าวันหนึ่งๆมาถึงที่สุด สามารถควบคุมการปรุงแต่งแห่งจิตได้ จิตสงบระงับอยู่เสมอ ไม่มีการปรุงแต่งอยู่เสมอ นี่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ถึงที่สุดแล้วสมบูรณ์แล้ว สมบูรณ์แล้วตามความหมายของคำว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์ ดังนั้นขอให้ทุกคนมีความเข้าใจอันถูกต้องเกี่ยวกับสัมมาสมาธิว่าเอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นอารมณ์ๆจนกว่าจะถึงจริง ถึงจริง เมื่อยังไม่ถึงก็มีเป็นความมุ่งหมายและคือหวังแหละ หวังนิพพานเป็นอารมณ์เป็นที่หมาย แต่พอถึงเข้าจริงมันก็จริงแล้ว มันก็มีนิพพานเป็นอารมณ์สำหรับกำหนดรู้สึกอยู่ในขณะนั้น ที่เรียกว่า อุปสมานุสสติ ก็ได้ หรือจะว่า เรียกอะไรก็ได้แต่ขอให้ว่าเวลานั้นจิตมันเต็มไปด้วยความรู้แจ้งประจักษ์ว่าไม่มีการปรุงแต่งในกระแสจิต แล้วก็มีความสงบเย็นเป็นนิพพาน นี่เรียกว่าได้ดื่มรสของพระนิพพาน เย็นไปหมดไม่มีอะไรที่ร้อน เพราะว่าเวทนานั้นไม่ถูกยึดถือโดยความเป็นตัวตนมันก็เย็น นี่เย็นเพราะไม่ยึดถือโดยความเป็นตัวตน สติสัมปชัญญะ ปัญญาถึงที่สุดแล้ว สามารถจะควบคุมความรู้สึกไว้ได้ ไม่มีอะไรเป็นตัวตน เวทนาทั้งหลายเป็นของเย็นแล้ว สรีระก็ยังเหลืออยู่คือไม่ตาย เคยพบพระบาลีกล่าวไว้ถึงขนาดนี้นะ เวทนาเป็นของเย็นสนิทแล้วสรีระเหลืออยู่ กลับว่าไม่ คือไม่ตายนะ ไม่ใช่สรีระเหลืออยู่เป็นความตาย นอนกลิ้งอยู่ ไม่ใช่ คือชีวิตยังเหลืออยู่ ชีวิตยังเหลืออยู่ คนไม่ตาย กิเลสหมดแล้ว รู้สึกอยู่ในความไม่มีกิเลสนั้น เป็นอารมณ์อยู่ในจิตทุกๆเวลานาที ทุกๆสถานที่ อย่างที่เรียกว่าทุกวินาที ทุกกระเบียดนิ้วเลย ทุกกระเบียดนิ้วก็ไม่ ไม่ต้องการจะยกเว้นแม้แต่สักนิดหนึ่ง
นี่ขอให้สนใจเอาเรื่องที่บรรยายแล้วเมื่อตอนเย็นเมื่อวานน่ะ เดี๋ยวนี้วันใหม่แล้ว ที่ตอนเย็นเมื่อวาน ที่ตอนหัวค่ำของเมื่อวาน ที่ตอนเที่ยงคืนของเมื่อวานมาติดต่อกัน ให้ติดต่อกันตลอดสายมาเป็นเรื่องสุดท้ายคือวันนี้ เดี๋ยวนี้นะ ก็จะเข้าใจเรื่องธรรมะชีวีอย่างสมบูรณ์ที่สุด สมบูรณ์ที่สุดของเรื่องธรรมะชีวี ธรรมะคือหัวใจสำคัญของการแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งทรงแสดงในวันนี้ที่เรียกว่าวันเพ็ญอาสาฬหนี่ เราก็มาถึงวันนี้ เราก็ต้องหยิบเอาเรื่องหรือใจความสำคัญที่สุดของวันนี้มาพูดจากัน มาพิจารณากัน มาประพฤติปฏิบัติกันให้ได้รับผลตรงตามความประสงค์อันนั้น นี่เราก็ได้ทำหน้าที่อันนี้สุดความสามารถของเราแล้ว คนอื่นไม่รู้ แต่สำหรับอาตมาเองนี่รู้ว่าได้ทำสุดความสามารถแล้วที่จะเอาเรื่องของธรรมะ ธรรมะซึ่งเป็นคำสำคัญในวันที่ทรงแสดงธรรมจักรนี้มาพูดเพื่อให้ท่านทั้งหลายรู้จัก เข้าใจชัดเจนจนเอาไปทำให้เป็นชีวิตได้ เพื่อให้เป็นธรรมะชีวีได้ นี่อาตมานี้ได้พยายามสุดความสามารถแล้ว ทีนี้ท่านทั้งหลายที่เป็นผู้ฟังน่ะจะทำถึงที่สุดแล้วหรือไม่ก็รู้เอาเอง ถ้าไม่ถึงที่สุดก็พยายามทำให้ถึงที่สุดเสีย เข้าใจให้ถูกต้องถึงที่สุดก็ยังดีนะ แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้องถึงที่สุดนะ ก็แล้วก็ได้รับผลอันสูงสุดถึงที่สุด ปฏิบัติถูกต้องอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกก็เป็นธรรมะชีวีระดับหนึ่งแล้ว หรือว่ามี มีแต่เรียนรู้ รู้อยู่ กำหนดความรู้ถูกต้องอยู่ก็ต้องเรียกว่าเป็นธรรมะชีวีในระดับหนึ่งแล้วคือในระดับเรียนรู้ ขั้นปฏิบัติก็เป็นธรรมะชีวีในระดับปฏิบัติ ครั้นได้รับผลของการปฏิบัติมันก็เป็นธรรมะชีวีในระดับรับผลของการปฏิบัติ ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนพยายามให้เกิดความรู้สึกอันนี้ อยู่ในความรู้สึกเป็นอยู่ เป็นอยู่ตลอดวันตลอดคืน อย่างน้อยที่สุดก็เอาว่าถูกต้องแล้วโดยบทบัญญัติ โดยวินัย โดยอะไรเราไม่มีความผิดพลาดที่ใครจะมาติเตียนเราได้นับตั้งแต่ว่าตื่นนอนขึ้นมาตลอดวันจนกว่าจะกลับไปนอนใหม่อีก ตรวจดูที่ไหน เมื่อไร ในลักษณะไหนก็พบแต่ความถูกต้อง ความถูกต้อง ถูกต้องของชีวิต เพียงเท่านี้ก็นับว่าเป็นธรรมะชีวีที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ครั้นทำให้มันหมดกิเลสหมดความทุกข์ไปได้ หรือจะไม่พูดว่าหมด แต่จะพูดว่าไม่ปรากฏเลยอย่างนี้ก็ยังดีที่สุดแหละ มันจะไม่หมดไปจากสันดาน แต่ว่าทำให้มันไม่ปรากฏเลยมันก็ ก็มีผลเป็นสุขที่สุดได้เหมือนกันเพราะมันไม่ปรากฏ ทำอย่างนี้ไปให้ถึงวาระสุดท้ายของร่างกายนี้ ก็เรียกว่าเป็นธรรมะชีวีถึงขนาดแหละ เป็นธรรมะชีวีถึงระดับหรือถึงขนาดเป็นแน่นอน นี่ขอให้เรารู้จักธรรมะที่พระองค์ทรงแสดงในวันวิ อาสาฬหนี่ คือแสดงมัชฌิมาปฏิปทา แล้วก็แสดงธรรมะที่เป็นความถูกต้อง ๘ ประการ รวมกันเป็นอริยอัฏฐังคิกมรรคหรือมัชฌิมาปฏิปทานั้น ท่านอุตส่าห์แสดงธรรมะหรือความถูกต้องมีองค์ ๘ ประการนั้นในวันอาสาฬหนี้ เราก็สนองพระพุทธประสงค์ มีความยินดีพอใจ ต้อนรับเอามาประพฤติปฏิบัติให้เกิดความถูกต้องตามนั้นขึ้นในชีวิตจิตใจ ในขันธสันดานอยู่ตลอดเวลาทุกอิริยาบถ ทุกสถานที่ มันก็พูดโดยอุปมาว่านั่งอาบรสของพระนิพพานน่ะ นั่งอาบ อาบน้ำพระนิพพานน่ะคือความเย็นอยู่ในจิตนี่ตลอดวันตลอดคืน ตลอดวันตลอดคืน ตลอดวันตลอดคืน ถ้าว่าเขาไม่มองเห็นประโยชน์อันนี้ก็ไม่มีใครแลกเอาหรอก ไปสนุกสนานเพลิดเพลินทางกามารมณ์ ทางไอ้อายตนะกันเสียดีกว่า ตามที่เขาเคยรู้สึกมาแล้ว ทีนี้ความเยือกเย็นของพระนิพพานนี้ไม่เคยรู้สึก แล้วก็ไม่ยอมเชื่อว่ามันจะดีไปกว่ารสของความรู้สึกทางอายตนะที่เคยรู้สึกกันมาแต่ก่อน ก็เรียกว่าไม่ยอมแลก เอาโลกุตรสุขด้วย ด้วย ด้วยโลกียสุข ไม่ยอมสละแม้แต่โลกียสุขหลอกๆของเด็กเล่นน่ะ เพื่อที่จะให้ได้โลกุตรสุข ก็เพราะว่าเขาไม่รู้จักโลกุตรสุขนี่จะทำอย่างไรล่ะ เขาก็ถือหลักที่ว่าเอาไอ้ที่เรารู้จักไว้ก่อนแหละ อะไรสิบเบี้ยใกล้มือไว้ก่อนแหละ ไอ้ทองคำเป็นช่างเป็นหาบอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่เอาที่สิบเบี้ยที่มันอยู่ในมือหรือใกล้มือแล้วไว้ก่อน ไอ้คนมันก็จะคิดกันเสียอย่างนี้เป็นส่วนใหญ่ ไอ้โลกุตรสุขก็เลยเป็นหมันไป ไม่มีอะไรสำหรับบุคคลคนนี้ นี่เราจะ จะเอากันอย่างไรล่ะ จะยินดีเสียสละไอ้ๆ ไอ้สิ่งหลอกลวงเหล่านี้เพื่อไปเอาของจริงแท้กันสักทีได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ไม่ได้ ถ้าจะเอามันก็ต้องได้มันไม่เหลือวิสัย เพราะได้กล่าวมาแล้วว่าธรรมะที่แท้จริงนั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ในลักษณะที่ไม่เหลือวิสัย คือปฏิบัติได้ เป็นสวากขาโตเพราะปฏิบัติได้ กล่าวไว้ดีแล้วคือปฏิบัติได้จึงเป็นสวากขาโต คือกล่าวไว้ดีแล้ว
นี่อาตมาก็พยายามนำเอามาเรียงลำดับ เรียงลำดับนับตั้งแต่ต่ำๆขึ้นไปหาสูงและสูงสุด สูงสุดจบอยู่ที่เรื่องหยุดการปรุงแต่ง แล้วก็ว่างจากการปรุงแต่ง แล้วก็เป็นนิพพาน เป็นธรรมะชีวีชั้นง่ายๆ แล้วก็สูงขึ้นๆจนกระทั่งสูงสุด ครบทุกอย่างแล้ว ก็มีแต่ว่าจะเลือกเอามันเข้าไปในร้านที่มีของขายทุกอย่าง ตั้งแต่ราคาถูกที่สุด ถึงแพงที่สุด ดีที่สุด แล้วก็เลือกเอาสิ เอาตามที่ต้องการ ในพระศาสนานี้ก็มีอย่างนี้แหละ มีให้เลือก ให้เลือกแล้วแต่จะเอาอย่างไหน จะเอาในระดับไหนล่ะได้ทั้งนั้น แต่ถ้าได้แล้วเอามาประพฤติกระทำให้อยู่ที่เนื้อที่ตัวอยู่ตลอดเวลาแล้วก็จะเรียกว่าธรรมะชีวี อยู่กับธรรมะคือความถูกต้อง ความถูกต้องนั้นถูกต้องในการที่จะไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้น ถูกต้องในการที่จะตรงไปสู่พระนิพพาน นี่เรียกว่าความถูกต้อง อยู่ด้วยความถูกต้องนั้นคือธรรมะ ความถูกต้องนั้นคือธรรมะ อยู่ด้วยธรรมะนั้นคือธรรมะชีวี มีชีวิตอยู่ด้วยความถูกต้อง นี่ได้พูดกันถึงเรื่องลักษณะของธรรมะชีวี เรื่องวิธีปฏิบัติของธรรมะชีวี เรื่องประโยชน์ เรื่องอานิสงส์ของธรรมะชีวีอย่างครบถ้วนแล้ว เรียกว่าวิสาขบูชาปีนี้เราก็ได้พยายามกันมากที่สุดแล้วในการที่จะแสดงธรรม ให้รู้จักสิ่งที่เป็นใจความสำคัญ ของวันอาสาฬหบูชาคือมัชฌิมาปฏิปทา ธรรมะที่ถูกต้อง ๘ ประการ รวมกันเข้าเป็นทางสายเอกสายเดียวตรงไปสู่พระนิพพาน ขอให้ท่านทั้งหลายได้รับประโยชน์ อานิสงส์ของการทำพิธีอาสาฬหบูชาในวันนี้ ในปีนี้อย่างที่กล่าวมาแล้วนี้ ในลักษณะที่กล่าวมาแล้วนี้ แล้วก็จะเป็นหลักชัดเจนแจ่มแจ้ง แน่นแฟ้นอยู่ในจิตใจของตนๆจงทุกๆคน ขอให้จงมีความงอกงามในทางธรรม มีความเจริญก้าวหน้าไปในทางศาสนา ไปในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาสมตามความมุ่งหมายทุกประการ ทั้งหมดนี้เพื่อประโยชน์ตนเองด้วย เพื่อประโยชน์ผู้อื่นด้วย เพื่อประโยชน์บูชาคุณ สนองพระคุณ ตอบแทนพระคุณของพระพุทธเจ้าด้วย ครบแล้วๆ หมดแล้ว ขอให้ได้สำเร็จตามนี้ มีความสำเร็จดังที่กล่าวนี้ แล้วก็หมดปัญหาหมดความทุกข์ความร้อน อย่าไปหลงชอบความร้อน แล้วก็เกลียดความเย็นคือพระนิพพาน เพราะไม่รู้จัก เหมือนกับคนที่ถามปัญหานี้น่ะก็ไม่แน่ใจว่ามัน มันอย่างไรกันแน่ แต่ฟังดู ฟังดูเขาระแวง กลัวว่ามันจะมีอะไรเสียหายอยู่ในความหมดโลภะ โทสะ โมหะ เขาจึงถามว่าถ้าไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะแล้วต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น นั่นเขาระแวงอยู่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อาตมารู้ตามที่เป็นจริงว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้นนอกจากความหยุด เย็น ไม่ปรุงแต่ง เป็นความเยือกเย็นแห่งพระนิพพาน ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่ต้องการแน่นอน แล้วก็ไม่เชื่อว่ามันจะได้อย่างนั้น ก็เก็บไอ้ความสงสัยอันนี้ไว้เป็นวิจิกิจฉา กีดขวางหนทางแห่งพระนิพพานต่อไปอีกนาน แต่ถ้ามองเห็นแล้วมันก็หมดความลังเล หมดความสงสัย มันก็เปิดหนทางให้สะดวกดาย ง่ายแก่การเดินไปสู่พระนิพพานเพื่อบรรลุพระนิพพาน ขอให้ท่านทั้งหลายสลัดไอ้สิ่งที่ขัดขวางเหล่านี้ออกไปเสียได้ทุกคน ไม่มีความลังเลสงสัยในพระนิพพาน ในเรื่องของพระนิพพาน ในปฏิปทาปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงพระนิพพาน แล้วก็มีการปฏิบัติด้วยความพอใจ มีฉันทะพอใจในเรื่องที่จะต้องปฏิบัติ การปฏิบัติก็ต้องเป็นไปด้วยดีจนกระทั่งมีผลอานิสงส์สุดท้ายคือวิมุติ แล้วก็มีพระนิพพานเป็นปริโยสานเอ่า, เรื่องจบ ธรรมเทศนาในวันนี้ต้องขอร้องให้เอามาติดต่อกันให้ดีทั้งสามสี่ตอนนะ แล้วก็จะพบไอ้หัวใจของอาสาฬหบูชา แล้วก็ทำได้ด้วย ไม่เสียทา ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้