แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาตั้งใจที่จะบรรยายธรรมเกี่ยวกับเรื่องธรรมะชีวีสืบต่อไป ท่านทั้งหลายก็ได้ฟังมาตามลำดับกัน ๒ ครั้งแล้ว คงจะได้เค้าเงื่อนอะไรบ้างพอสมควร อาตมาก็มีหน้าที่จะต้องพูดให้ครบทุกเรื่อง จะเก็บ ผู้ฟังจะเก็บเอาไว้ได้เท่าไรอย่างไรก็แล้วแต่ผู้ฟัง ผู้พูดก็มีหน้าที่จะเอามาพูดให้หมดจดครบถ้วนสิ้นเชิง ท่านทั้งหลายที่เป็นผู้ฟังก็จะต้องรับผิดชอบตัวเองว่ามันจะได้มากได้น้อย มีประโยชน์ไม่มีประโยชน์ในที่สุด คำที่ต้องการให้ถือเป็นหลักประจำใจ ติดใจติดปากให้อยู่ก็คือธรรมะชีวี แปลว่ามีธรรมะเป็นชีวิต ธรรมะอยู่กับชีวิต แล้วชีวิตนี้ก็จะเป็นชีวิตที่มีค่าที่สุด มีประโยชน์ที่สุด เรียกว่าหรือเยือกเย็นที่สุด ไม่มีไฟคือกิเลสซึ่งเป็นของร้อน เพราะนิพพานนั่นแปลว่าเย็น ภาวะแห่งความเย็นเพราะไม่มีไฟคือกิเลส ไม่ใช่ตัวจิตแต่เป็นภาวะอย่างหนึ่งซึ่งจิตจะรู้สึกได้ เมื่อจิตได้รับการอบรมดีถึงที่สุดแล้วจิตนี้จะได้รู้สึกต่อภาวะอย่างหนึ่งคือภาวะแห่งความเย็นเพราะไม่มีกิเลส เป็นภาวะที่มีอยู่ทั่วไปในที่ทุกหนทุกแห่ง พอใครทำจิตของตนให้เหมาะสมเท่านั้นแหละมันก็จะได้รับสิ่งนั้น ซึ่งมีไว้ให้ทุกหนทุกแห่งราวกับว่ามันรออยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง ให้ทำจิตให้ถูกต้อง ที่ไหนเมื่อไรก็ได้ แล้วก็จะได้ประสบกับภาวะแห่งความเย็นที่เรียกว่านิพพานนั้นได้ นี่เป็นธรรมะสูงสุดสำหรับจะมีในชีวิต เราพูดว่าธรรมะชีวี มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต แล้วธรรมะชนิดไหนล่ะที่จะมีให้กับชีวิต มีให้เป็นชีวิต เพราะธรรมะทุกอย่างที่เป็นความถูกต้องแล้วมันสูงสุดอยู่ที่ตรงไหน ก็สูงสุดอยู่ตรงที่นิพพาน ที่เรียกว่านิพพาน มีพระบาลีกล่าวว่า นิพพานัง ปรมัง วทันติ พุทธา ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอย่างยิ่งคือเป็นบรมธรรม บรมธรรมก็คือธรรมะสูงสุด ธรรมะอย่างยิ่งในบรรดาธรรมทั้งหลายที่มีคุณค่า สำหรับที่ควรจะประสงค์แล้วก็ไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่าพระนิพพาน ท่านจึงกล่าวพระนิพพานว่าเป็นบรมธรรม คือเป็นธรรมะอย่างยิ่ง เป็นธรรมะสูงสุด มันก็ควรจะมีธรรมะ ได้ธรรมะสูงสุดนี่มาอยู่กับชีวิต แล้วชีวิตก็จะเป็นชีวิตที่มีค่าสูงสุดตามไปด้วย ดังนั้นเราจะต้องรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่านิพพานนั้นให้เพียงพอ เป็นบรมธรรม แล้วก็จะได้เอามาสำหรับประกอบกันกับชีวิตให้เป็นชีวิตสูงสุดดังที่กล่าวแล้ว
คำว่านิพพาน นิพพานนี้เข้าใจกันไปตามที่ได้ยินได้ฟังมาต่างๆนานา จับต้นชนปลายไม่ค่อยจะถูก แต่ส่วนมากก็คิดว่าอีกกี่กัปป์กี่กัลป์ก็ไม่รู้ว่าตายแล้วอีกกี่ร้อยชาติพันชาติก็ไม่รู้จึงจะได้นิพพาน คนชนิดนี้หมดหวัง หมดหวังที่จะเป็นธรรมะชีวี เพราะว่าเอานิพพานไปไว้เสียไกลเกินไปเกินกว่าที่จะมาเป็นคู่กับชีวิตนี้ได้ ผู้ที่จะเป็นธรรมะชีวีได้ก็ต้องมีนิพพานมาอยู่เป็นคู่กับชีวิตโดยแท้จริง ฉะนั้นเรารู้จักพระนิพพานกันเสียให้ถูกต้อง อย่าให้เป็นนิพพานที่ต้องรออีกกี่ร้อยชาติพันชาติกี่กัปป์กี่กัลป์นั้นเลย ให้เป็นนิพพานที่อาจจะมีได้เดี๋ยวนี้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ขอให้สังเกตตั้งต้นไปตั้งแต่ว่าเมื่อใดจิตมันร้อนด้วยอะไร แล้วก็เมื่อใดจิตมันเย็นก็ด้วยอะไร เวลาไหนที่ว่าจิตมันร้อน เวลาไหนจิตมันเย็น ควรจะรู้จักสังเกตเอาจากจิตใจของตัวเอง ไม่มีใครรู้ได้ เห็นได้แทนเรา ไม่มีใครมาบอกเราได้ หรือว่าใครๆก็รู้แทนใครไม่ได้ จะบอกใครไม่ได้นอกจากตัวเองที่จะรู้จักความเย็นความร้อนของตัวเอง โดยเฉพาะเป็นความร้อนความเย็นแห่งจิตใจ ยังไม่มีใครเคยทำปรอทวัดความร้อนความเย็นแห่งจิตใจ วัดกันได้เพียงเรื่องของวัตถุ เช่นร่างกายเป็นต้น นั้นมันเป็นเรื่องร่างกาย เป็นเรื่องที่เป็นเปลือก เป็นชั้นที่เป็นเปลือก ไม่ใช่คุณธรรมที่รู้สึก ที่ว่าจะเอามาให้อยู่กับจิต พูดอย่างอุปมาก็พูดว่าไอ้ร่างกายมันก็เป็นเปลือกของจิต จิตนี้ก็จะเป็นที่ปรากฏแห่งความเย็นหรือความร้อน แล้วแต่ว่ามีการประพฤติกระทำกันอย่างไร ในชั้นแรกนี้จะพูดว่าเมื่อใดจิตว่างจากกิเลสเมื่อนั้นจิตนี้ก็เย็น กิเลสก็คือราคะ โทสะ โมหะ หรือว่าโลภะ โทสะ โมหะ หรือว่าโลภะ โกธะ โมหะ ก็จะมี ๓ คำนี้ทั้งนั้นแหละคือราคะ โทสะ โมหะ นี้ท่านเปรียบเสมือนไฟเพราะว่าถ้าเกิดขึ้นแล้วก็มีความร้อนแก่จิตใจ เหมือนกับว่าไฟธรรมดาถ้าเอามาลนเข้าที่กายก็เป็นความร้อนที่กาย นั่นมันไฟธรรมดาไฟข้างนอก เห็นกันได้ง่ายๆไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เว้นเสียได้โดยง่าย แต่ว่าไฟแห่งจิตใจนี่มันคนละอย่าง แล้วมันต่างกันไปเสียทุกอย่าง คือมันยากที่จะรู้จักได้ว่าเป็นไฟ มันคิดว่าเห็นเป็นมิใช่ไฟ เป็นของถูกใจไปเสียก็มีเช่นกิเลสเรื่องความโลภ กิเลสเรื่องความกำหนัดรักใคร่อย่างนี้ ตามธรรมชาติก็เป็นไฟเหลือที่จะกล่าว แต่คนก็กลับชอบกลับพอใจที่จะมีกิเลสชนิดนั้น มันก็คือพอใจไฟโดยที่ไม่รู้จักว่าเป็นไฟ ขอให้ท่านทั้งหลายสังเกตดูให้ดีๆว่ามันมีอยู่ในอาการอย่างนี้หรือไม่ ถ้ามันหลงผิดกลับกันเสียอย่างนี้แล้วมันก็จะต้องเต็มไปด้วยไฟ ในอัตภาพนี้จะต้องเต็มไปด้วยไฟ คือไฟแห่งราคะ ไฟแห่งโทสะ ไฟแห่งโมหะ ก็ไม่มีบรมธรรมคือไม่มีนิพพาน ชีวิตนี้ก็ไม่เป็นธรรมะชีวีได้เพราะว่ามันไม่มีธรรม ไม่มีบรมธรรม จะเป็นไอ้ชีวิตที่มีธรรมะสูงสุดไม่ได้ เพราะว่ามันไม่มีบรมธรรม ดังนั้นขอให้พยายามพอกพูนสติปัญญาให้มีความรู้ความเข้าใจในบรมธรรมสูงสุดคือพระนิพพานนี้กันให้มาก คือความที่มันว่าง ว่างจากกิเลสหรือไฟ แล้วมันก็ว่างจากความทุกข์แหละ ถ้ามันมีกิเลสหรือมีไฟมันก็เป็นทุกข์ชนิดรู้สึกตัวบ้าง ไม่รู้สึกตัวบ้าง แล้วแต่มันจะเป็นไฟชนิดไหน ไอ้เราไม่รู้จักไฟมันก็ยากที่จะดับไฟ ถ้ามีไฟบางชนิดมันหลอกลวงมาก เราก็ยินดีที่จะกระโจนลงไปในกองไฟ นี่เรื่องอารมณ์ต่างๆในโลกนี้เป็นที่ตั้งแห่งกิเลส เราก็พอใจ เราก็หลงรักหลงใคร่ในอารมณ์แห่งกิเลสกันอยู่ด้วยกันทั้งนั้น แล้วมันก็มีไฟชนิดที่ไม่รู้สึกตัวเผาลนอยู่ บางคราวบางโอกาสแหละที่จะเจ็บปวดถึงขนาดที่จะทำให้บุคคลนั้นเองรู้สึกด้วยตนเองว่าไฟ เกลียดกลัวอย่างยิ่ง นี่ก็เห็นได้ว่าไอ้ไฟนี้มันก็มีความหลอกลวง มีความหลอกลวงให้เห็นเป็นมิใช่ไฟไปเสียอีก ถ้ามันเป็นไฟโดยตรง เผาลนอยู่โดยตรงตลอดเวลา คนก็จะหนีไฟกันมากกว่านี้ คนเราก็จะไม่มีไฟในชีวิตในจิตใจมากเหมือนที่กำลังมีอยู่เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้มันมีไฟชนิดที่หลอกลวงไม่ทำให้รู้สึกว่าเป็นไฟ เพราะมันมีอะไรบังหน้าก็เรียกว่าไอ้ความหลอกลวงของมัน เสน่ห์ของมัน กิเลสนี่มันมีอารมณ์เป็นเสน่ห์แก่บุคคล ของน่ารัก น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเป็นเหยื่อของกิเลส เมื่อถึงกันเข้าแล้วก็รู้สึกพอใจไปตามอำนาจของกิเลส มันก็ต้องนอนในกองไฟแหละคือกิเลสนั่นเอง นี่มันยากสักเท่าไรขอให้ท่านทั้งหลายลองคิดดู มันยากสักเท่าไรที่จะละไฟคือกิเลสซึ่งมีความหลอกลวง เรื่องของโลภะ เรื่องของราคะ มันก็มีรสอร่อยติดไว้ข้างหน้า กิเลสได้เหยื่อของมัน มันก็ยิ่งอร่อย มันก็ยิ่งทนไฟได้มาก เรื่องโทสะ โกธะก็ดีมันก็เป็นไฟ แต่มันก็ยังมีความเอร็ดอร่อยเมื่อได้โกรธ ได้ตี ได้ด่า ได้ทำอันตรายผู้อื่นก็พอใจ รู้สีกพอใจ คนจึงด่าเก่ง เพราะว่าเมื่ออร่อย เมื่อด่ามันก็รู้สึกสบายใจ อร่อยแก่ติดใจเมื่อด่าผู้อื่น นี่ก็เรียกว่าความโกรธมันก็มีเสน่ห์หลอกลวงที่จะทำให้คนจะต้องโกรธ และอีกอย่างหนึ่งมันๆ มันเว้นยากเพราะว่าความโกรธนี่มันมาจากความรักหรือความโลภ ความกำหนัดยินดี เมื่อเราพอใจในความรัก ความกำหนัดยินดีแล้วก็หนีไม่พ้นหรอกที่จะต้องมีความโกรธ คือมันจะมีอะไรมาทำให้เราไม่ได้ หรือพลัดพราก หรือเสียหายไอ้สิ่งที่เรารักเราพอใจ เราก็ต้องโกรธเป็นธรรมดา ฉะนั้นถ้ามีความโลภ หรือมีราคะความกำหนัดแล้วต้องมีความโกรธหรือมีโทสะเป็นธรรมดา ไม่อาจจะหลีกพ้นได้ เดี๋ยวนี้เราพอใจไอ้ความโลภ หรือพอใจราคะเสียแล้ว ไอ้ความโกรธมันก็เป็นสิ่งที่หลีกไม่พ้น ส่วนไอ้ไฟกองที่ ๓ คือโมหะ นั่นเป็นไฟที่ไม่แสดงตัว ไม่แสดงไอ้ความเป็นไฟโดยเปิดเผย มันเหมือนกับเชื้อโรคที่มันซ่อนอยู่อย่างเร้นลับ มันไม่เปิดเผย คนจึงตกเป็นโรคกันโดยมาก เพราะไม่เข้าใจ เพราะไม่อาจจะเข้าใจ เพราะไม่อาจจะรู้สึกควบคุมได้ ไอ้เรื่องโล โมหะ โมหะนี่มันเป็นไฟ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก็เป็นไฟเท่ากัน ราคะ โทสะ โมหะ ๓ อย่างนี้เป็นไฟเท่ากัน ในลักษณะต่างกัน โมหะจะเป็นเหตุให้หลงรักไฟเสียด้วยซ้ำ ถ้ามีโมหะแล้วก็จะเห็นกลับกันอยู่ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว จะเป็นเหตุให้หลงรักไฟ เลยเป็นสิ่งน่ารัก น่าพอใจไปเสียอีก นี่คนจึงทำผิดทำชั่ว ทำอะไรที่ไม่ควรจะทำเพราะโมหะนั้นเอง ราคะ โทสะ โมหะก็เป็นไฟเสมอกัน แล้วก็ต่างกันในลักษณะต่างกัน บางทีจะเรียกชื่อให้มันแปลกๆไปว่าไฟที่เย็น ไฟที่เย็น ไฟที่เปียก นี่ยิ่งเข้าใจยาก เป็นกิเลสต่างๆชนิด เป็นไฟต่างๆชนิด ถ้ามีไฟก็มีการเผา เพราะว่ากิเลสนี่มันมีสมบัติของมัน เป็นตัวตน มีความรู้สึกเป็นตัวตน เห็นแก่ตน มันจึงจะเกิดกิเลสได้ นี่ก็ลำบากที่ว่าจะไม่ให้ใครมันยึดถือตัวตน ลำบากอย่างยิ่งแหละที่จะไม่ให้ใครยึดถือตัวตน คนเรามันก็ยึดถือตัวตน เมื่อถูกใจแก่ตัวตนแก่กิเลสของตัวตนมันก็เกิดกิเลสยิ่งๆขึ้นไป มันก็มีความทุกข์หนัก ทรมานเพราะตัวตนซึ่งเป็นของหนัก นี้เรียกว่าไม่ว่างจากกิเลส ไม่ว่างจากไฟ มันเต็มอัดอยู่ด้วยไฟหรือด้วยความยึดถือว่าตัวตนซึ่งเป็นของหนัก นี่เรียกว่าไม่มีบรมธรรม นิพพานเป็นบรมธรรม เดี๋ยวนี้มันเป็นเสียอย่างนี้ มันไม่เป็นบรมธรรมคือว่างจากกิเลส ไอ้คำพูดที่เข้าใจไม่ได้สำหรับคนธรรมดาก็คือคำว่า ว่าง ว่าง ว่างจากกิเลส ว่างจากตัวตน มีแต่การปรุงแต่งเป็นกิเลสเป็นตัวตนเสียเรื่อยไม่มีหยุดไม่มีหย่อน นี่ก็คือไม่มีบรมธรรม ไม่มีธรรมะสูงสุดคือพระนิพพาน
ทีนี้ที่ว่านิพพานต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้นั่นมันก็ต้องมีอะไรๆที่จำเป็นจะต้องมี สำหรับป้องกันไม่ให้เกิดกิเลส สำหรับละกิเลสที่มันเกิดขึ้นมาแล้วนี่จึงจะทำให้มีความว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์คือมีบรมธรรม ฉะนั้นอะไรจะช่วยให้เป็นอย่างนั้นได้ สิ่งสำคัญที่สุดสิ่งแรกก็คือปัญญาหรือสติปัญญา สติกับปัญญานี่ไม่ควรจะแยกกันนะ ปัญญาคือความรู้ สติคือความระลึกได้ แล้วมันระลึกอะไรล่ะ มันก็ระลึกความรู้นั่นแหละ ที่ว่าสติระลึกได้เร็ว ระลึกได้เร็ว เอามาได้เร็วมันก็ระลึกถึงความรู้ที่ถูกต้องคือปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา สติก็ไม่ได้รู้ ไม่รู้จะระลึกอะไร ถ้ามีแต่ปัญญาไม่มีสติมันก็ระลึกไม่ได้ ปัญญามันก็เป็นหมัน ไม่เอามาใช้ได้ในกรณีที่มันเกิดเรื่องที่จะเกิดกิเลสหรือจะเกิดทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรสถูกต้อง โผฏฐัพพะด้วยผิวหนัง รู้สึกด้วยใจอย่างนี้ การกระทบทางอายตนะนี้มีเป็นของประจำ เพราะมันเป็นธรรมดาอยู่ในโลกนี้ อยู่ในโลกนี้ ในโลกนี้ คนๆ แต่ละคนนี่มันก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่มันไวในความรู้สึก ต่อความรู้สึกเพราะมันมีระบบประสาท ระบบประสาทสำหรับตา สำหรับหู สำหรับจมูก สำหรับลิ้น สำหรับกาย สำหรับใจสำหรับจะรู้สึก นี่มันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอยู่ในคน ทีนี้ข้างนอกออกไปมันก็มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่จะมากระทบตา กระทบหู กระทบจมูก กระทบลิ้น กระทบผิวกาย มันหลีกไม่พ้นนี่ เราอยู่ในโลกนี้เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วคู่ของมันที่อยู่ข้างนอกมันก็พร้อมอยู่เสมอที่จะมากระทบ หรือจะเรียกว่ามันมีอยู่ทุกหนทุกแห่งก็ได้ ไอ้รูปที่จะมากระทบตา เสียงที่จะมากระทบหู กลิ่นที่จะมากระทบจมูก รสที่จะมากระทบลิ้น สัมผัสทางผิวหนังที่จะมากระทบผิวหนังมันก็มีอยู่ทั่วไป ฉะนั้นจึงหลีกไม่พ้น เราอยู่ในโลกนี้ก็หลีกไม่พ้นสิ่งเหล่านี้ ทีนี้มันก็ต้องกระทบ พอกระทบแล้วนี่มันก็จะปรุงแต่งไปตามแบบของมันจนเกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปทาน เกิดทุกข์ มันก็ ก็เป็นเรื่องของความทุกข์ ไม่ดีอะไร มีแต่ความทุกข์ไม่ดีอะไร นี่พยายามที่จะไม่มีความทุกข์ ไม่ให้เกิดความทุกข์ ต้องมีไอ้สิ่งที่เรียกว่าสติและปัญญานั่นแหละ สติและปัญญา ปัญญารู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าสิ่งนี้เป็นอย่างนี้ สิ่งนี้มีเรื่องอย่างนี้ มีลักษณะอย่างนี้ จะแก้ไขจะป้องกันอย่างนี้เป็นต้นนี้เรียกว่าปัญญา หรือปัญญารวบยอด มันก็รวบยอดเสียเลยเพราะว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง ตามธรรมชาติของมันเองที่ถูกแล้ว ไม่ควรจะไปยินดียินร้ายกับมัน เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง นี่เป็นปัญญาสูงสุด ทีนี้ปัญญานั่นถ้ามันอยู่แต่ปัญญามันก็อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ อยู่ในส่วนไหนของจิตใจก็ไม่รู้ มันไม่ออกมาปะทะต่อสู้กับไอ้เหยื่อของกิเลส หรือการเกิดของกิเลสได้ สิ่งที่จะเอาปัญญามาต่อสู้ได้ทันท่วงทีก็คือสติ คือสติ คนธรรมดาอาจจะรู้สึกว่าสตินี่เป็นของเล็กน้อย เป็นของเล็กๆ น้อยๆ มีสติกันสักหน่อยก็พอแล้ว แต่ทางธรรมะนั้นมันไม่ใช่อย่างนั้น มันกลายเป็นสิ่งที่สำคัญ สำคัญ มีความหมายมาก มีค่ามากในการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ ถ้าไม่มีสติมันไม่มีอะไรที่จะเอาธรรมะหรือเอาปัญญามาจัดการกับกิเลสหรือความทุกข์ ดังนั้นท่านจึงกล่าวไว้เป็นหลักว่าสตินั่นน่ะต้องมีใช้ทุกกรณี ทุกสิ่งทุกอย่างคือทุกกรณีต้องใช้สติ ต้องมีสติในการที่จะป้องกันกิเลส เพราะมีสติป้องกัน ไอ้การทำลายกิเลสมันก็มีสติเป็นผู้เอาปัญญามาทำลาย ที่จะทำอะไร จะเคลื่อนไหวแต่ละอิริยาบถนี่มันก็ต้องมีสติ มันจึงจะไม่ผิดพลาดแหละ จะไม่เกิดเจ็บป่วยหรือเกิดอะไรขึ้นมา รวมความว่าไปคิดดูเถอะในทุกกรณีน่ะสติจะต้องเข้าไปเป็นเจ้ากี้เจ้าการ แล้วเรื่องเลวร้ายก็จะไม่เกิดขึ้นในที่นั้นๆ ทีนี้ปัญหามันก็มีอยู่ว่าขาดสติ ไม่มีสติ เราไม่มีสติเพียงพอ เรามีสติน้อยเกินไป แล้วความรู้ก็ไม่มีด้วย ขาดสติปัญญา ปัญญาความรู้ก็ไม่ค่อยจะมี สติก็ ความระลึกได้ก็ไม่ค่อยจะมี มันเลยล้มเหลวหมด ไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย เขาทำหน้าที่ของมันไปตามไอ้ธรรมชาติสบายไปเลย สำหรับจะรับอารมณ์แล้วก็ยินดียินร้าย แล้วก็เกิดกิเลสทั้งอย่างยินดีและอย่างยินร้าย ได้รับอารมณ์ที่น่ารักน่าพอใจมาก็เกิดกิเลสแบบหนึ่ง ได้รับอารมณ์ที่ไม่น่ารักไม่น่าพอใจมาก็เกิดกิเลสอีกแบบหนึ่ง แล้วขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วก็เหมือนกันทั้งนั้นแหละคือเศร้าหมอง แล้วทำให้เกิดทุกข์ เรียกว่า เรียกว่าเสีย สูญเสียไอ้ความดี สูญเสียค่าของความเป็นมนุษย์ สูญเสียอะไรหมดเพราะอำนาจของกิเลส ถ้ามองเห็นอย่างนี้แล้วก็ ก็จะเกิดความตั้งใจ ต้องการเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่ให้เกิดกิเลส ดังนั้นจึงต้องฝึกฝนไอ้เครื่องมือเครื่องใช้
เครื่องป้องกันที่จะไม่ให้เกิดกิเลสคือสติ จึงมีระบบการฝึกสติที่เราเรียกกันว่าทำกรรมฐาน ทำวิปัสสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอานาปานสติหรือสติปัฏฐานแล้วแต่จะเรียก นี่สำหรับจะให้มันมี จะฝึกๆ ฝึกให้มันมีสติมาก สติเร็วยิ่งขึ้น เร็วยิ่งขึ้น มีสติมากพอเร็วยิ่งขึ้น มันก็เป็นเครื่องมือที่ดีที่จะนำเอาปัญญาไปใช้ทันท่วงที ทีนี้มันยังดีกว่านั้นก็คือว่าในระบบฝึกสตินั่นแหละมันมีการอบรมปัญญา พอกพูนปัญญาพร้อมกันไปในตัว ถ้าฝึกเต็มที่ฝึกครบถ้วนบริบูรณ์แล้วจะเป็นสติปัฏฐานก็ดี อานาปานสติก็ดี มันจะมีทั้งปัญญาและสติอย่างเต็มที่มาด้วยกันทั้งนั้น แต่เรา เรามักจะเล็งไปในข้อที่ว่าฝึกสติ ฝึกสติ แล้วดูเหมือนจะเป็นจุดตั้งต้น แล้วก็เป็นไอ้จุดสุดท้ายที่จะต้องเอาไปใช้ การเอาไปใช้ แล้วก็มองเห็นกันแต่สติว่าเป็นสิ่งสำคัญ จึงเกิดคำพูดขึ้นมาว่าสำคัญที่สติ ต้องฝึกสติ จะถูกหรือไม่ถูกคิดดูเอาเอง คำพูดอย่างนี้จะถูกหรือไม่ถูกก็คิดดูเอาเอง แต่ท่านพูดกันมาอย่างนี้ แต่แล้วมันก็น่าขันตรงที่ว่าไอ้ระบบฝึกสตินั่นมันฝึกปัญญาด้วย สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี่มันก็มีปัญญาน้อยๆ น้อยๆสำหรับจะฝึกไปตั้งแต่จุดตั้งต้น พอถึงไอ้หมวดสุดท้ายคือหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มันเต็มไปด้วยปัญญา เต็มไปด้วยเรื่องของปัญญา เพราะว่ามันมีสมาธิมากพอในเบื้องต้น เช่นการฝึกนี่แล้วก็เห็นตามที่เป็นจริงในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงซึ่งเป็นปัญญา ที่เห็นนั่งอบรมกันอยู่ที่นั่นแหละ นั่งอมรมความมีสมาธิ ความมีปัญญา เห็นแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริง นั่งอบรมกันอยู่ที่นั่นแหละ มันมากเข้าๆ มากเข้า นี่ความมีสมาธิที่เป็นกำลังของเรื่องนี้นะก็มีมากเข้า ไอ้ตัวเรื่องตัวปัญญาก็มีมากเข้า สติที่จะทำหน้าที่ทุกอย่างมันก็มีมากเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำหน้าที่ขนส่งปัญญา นำปัญญามาทันท่วงทีที่มีการสัมผัสอารมณ์ รู้สึกอารมณ์ กระทบอารมณ์ มันจะต้องเร็วมากเหมือนขนาดที่ว่าถ้าเราเหยียบไฟอย่างนี้ชักตีนได้เองโดยเร็ว เราเหยียบหนามเราก็ชักตีนได้เองโดยเร็ว มันสติต้องมีความเร็วถึงขนาดนั้นแหละ เมื่อตาเห็นรูปก็ต้องมีสติเร็วที่จะควบคุมให้ไม่เกิดความผิดพลาดทางตา เมื่อได้ยินเสียงก็มีสติรวดเร็ว ควบคุมไม่ให้เกิดความผิดพลาดทางเสียง ทางจมูก ทางกลิ่น ทางกลิ่นที่มันมากระทบจมูก ทางรสที่มากระทบลิ้นก็เหมือนกันแหละ อะไรที่มากระทบผิวกายก็เหมือนกัน มีอะไรมากระทบผิวกายสติรู้ๆตั้งแต่ระยะที่ว่ามีอะไรมากระทบ สตินำปัญญามารู้เร็วว่าอะไรมากระทบแล้วรู้ว่ามัน มันเป็นอะไร ควรจะทำอย่างไรก็รู้หมด นี่คือปัญญาก็เพียงพอ สติก็มากพอ ทีนี้ก็ลองคำนวณดูทีว่าเราแต่ละคนๆนี่มันมีสติมากพอ มีปัญญามากพออย่างนี้หรือเปล่า ถ้ามันไม่มีมากพออย่างนี้มันก็ทำไม่ได้ มันก็เป็นไปไม่ได้แหละดังนั้นมันจึงผิดพลาดเกิดขึ้น เมื่อเห็นรูป เมื่อฟังเสียง เมื่อดมกลิ่น เมื่อลิ้มรส เมื่อสัมผัสทางผิวหนังมันเกิดยินดียินร้าย มันเกิดกิเลสไปตามความยินดียินร้าย ก็เป็นตัณหา เป็นอุปาทานเกิดขึ้น แล้วก็เป็นทุกข์เพราะอุปาทานยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวตนของตน เป็นของหนัก และก็ไม่เป็นไปตามความต้องการ นี่ชีวิตตามธรรมดาแต่ละวันๆของคนเรามันมีส่วนที่จะเป็นไปตามอำนาจของกิเลส ปรุงกิเลส ก่อกิเลส แล้วก็เป็นไปตามอำนาจของกิเลสเสียเป็นส่วนมาก รู้ว่าทุกทีที่มีอารมณ์มากระทบและมันก็เป็นกิเลสไปเสียจะทุกทีก็ว่าได้ แต่แท้ว่าคราวไหนมีสติ มีปัญญา มีอะไรรอบรู้เพียงพอ ต่อต้านไว้ได้มันก็ดีไป มันก็ป้องกันกิเลส และก็ลดความเคยชินที่จะเกิดกิเลส ถ้ามันมาในทางนี้มันก็ดี ไม่เกิดกิเลสไม่เกิดความเคยชินที่จะเกิดกิเลส จิตมันก็ว่างจากกิเลสอยู่โดยมาก แต่ถ้าเป็นไปอย่างตรงกันข้าม มันก็เกิดกิเลสเสียเป็นเจ้าเรือนเป็นธรรมดา จนบางคนพูดว่าจิตนี้มีกิเลสอยู่เป็นธรรมดาเป็นพื้นฐาน นี่ก็เพราะความที่ว่าส่วนมากมันเป็นไปเพื่อกิเลสและเกิดกิเลส แต่ที่จริงกิเลสนี่มันเพิ่งเกิดหรอก เพิ่งเกิดเมื่อทำผิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่ได้มีอยู่เดิมเป็นพื้นฐานไม่ใช่ กิเลสนี้มันก็เป็นสังขารเหมือนสิ่งอื่นๆนั่นแหละ เมื่อเป็นสังขารมันก็มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ฉะนั้นกิเลสก็มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันได้อารมณ์ ได้โอกาส ได้ช่องทางที่จะเกิดตา หู จมูก ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เกิด เดี๋ยวๆมันก็หมดอำนาจปรุงแต่งอันนั้นมันก็ดับ แล้วมันก็ได้ใหม่อีก หรือมันมีอะไรมาตัดทอนกันไปในตัว กิเลสอันใหม่ก่อขึ้นมาได้เรื่อยๆไป เรื่อยๆไป ดูเป็นเหมือนกับว่าเต็มไปด้วยกิเลส แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรอก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าจิตนี้มันเป็นประภัสสร มัน มันก็ไม่มีกิเลส แต่ว่ามันจะมีกิเลส จะเศร้าหมองเพราะเมื่อกิเลสมันเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่ากิเลสเกิดอยู่โดยปกติเป็นพื้นฐาน ถ้าผู้ใดเข้าใจไปว่ากิเลสเกิดอยู่เป็นพื้นฐาน คนๆนั้นก็จะหมด หมดกำลังใจที่จะละกิเลสแหละ เพราะมันถือว่ามันเป็นพื้นฐาน มันเกิดเองเป็นพื้นฐาน ถ้าผู้ใดเห็นว่ากิเลสนี่เพิ่งเกิด เพิ่งเกิดเมื่อทำผิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นของใหม่ เพิ่งมาเพิ่งเกิด คนนี้จะมีโอกาสฝึกจิต ฝึกจิตไม่ให้เกิดกิเลส ฝึกจิตให้เป็นจิตชนิดที่ไม่เปิดโอกาสให้กิเลส ฝึกจิตชนิดที่กิเลสเกิดไม่ได้นั่นแหละ มันต่างกันตรงกันข้ามอย่างนี้ คนหนึ่งมันมีความเห็นผิดจนไม่มีการป้องกัน หรือไม่ ไม่มีการอบรมจิตเพื่อป้องกันกิเลสนั้นจะต้องลำบากไปตลอดชาติ อีกฝ่ายหนึ่งอีกพวกหนึ่งมันรู้ถูกต้องว่ากิเลสเพิ่งเกิด ป้องกันได้โดยการอบรมจิตให้ถูกต้องไม่ให้เกิดกิเลสได้ เขาก็อบรมจิตได้ เขาก็สนใจที่จะอบรมจิต ไม่เหมือนกับคนที่ว่ากิเลสเป็นพื้นฐาน เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นอย่างนี้ก็รู้สึกว่าหมด หมดหนทางที่จะอบรมจิต เพราะกิเลสมันเป็นพื้นฐานเสียแล้ว ความเข้าใจอย่างนี้สำคัญมาก ถ้าเข้าใจผิดมันก็ส่งเสริมและทำให้เต็มไปด้วยกิเลส ถ้าเข้าใจถูกก็เป็นไปในทางที่จะอบรมจิตให้กลายเป็นจิตชนิดที่กิเลสเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะว่ามันเต็มไปด้วยสติและปัญญาอย่างที่กล่าวมาแล้ว เมื่อเราประสงค์จะมีความว่างจากกิเลส หรือพระนิพพานที่เป็นบรมธรรมนั้นน่ะให้มาอยู่กับจิต ก็ต้องสนใจเรื่องนี้ สนใจอย่างนี้ สนใจในลักษณะอย่างนี้ แยกง่ายๆ แยกเป็นขั้นตอนง่ายๆ ก็คือว่ามีสติปัญญาพอที่จะเอามาควบคุมการสัมผัสทางอายตนะ เมื่อตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณ รู้สึกอยู่ก็เป็นไอ้จักษุสัมผัส พอจักษุสัมผัสเกิดขึ้นมาอย่างนี้แล้วก็มีสติปัญญามาทันท่วงที ควบคุมการสัมผัสนั้นอย่าให้เกิดการปรุงแต่งไปในทางผิดทางหลง มีสติปัญญาควบคุมไว้ และผัสสะนั้นมันก็ไม่โง่เพราะมันถูกควบคุมไว้ด้วยสติและปัญญา มันก็ไม่ต้องหลงในเวทนาหรือไม่ทำให้เกิดเวทนาที่ทำให้หลง เพราะมันฉลาดไปเสียแล้วตั้งแต่ผัสสะ เวทนามันก็ไม่โง่ มันคอยเป็นเวทนาที่ฉลาด คือให้ความรู้สึกอยู่ในตัวแหละว่ามันเป็นสักว่าเวทนา แม้เวทนานี้จะน่ารักน่าพอใจมันก็สักว่าเวทนา เวทนานี้ไม่น่ารักไม่น่าพอใจมันก็สักว่าเวทนา เราไม่ ไม่ไปยินดียินร้ายกับมัน ไม่ไปยินดีกับเวทนาที่น่ารักน่ายินดี ไม่ยินร้ายกับเวทนาที่น่ายินร้าย เป็นอย่างนี้ทั้ง ๖ ทางแหละ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นอย่างนี้ทั้ง ๖ ทางหมายความว่ามีความรู้มากพอที่จะควบคุมผัสสะที่จะเกิดขึ้นในทางทั้ง ๖ นั้น นี่แหละหัวใจสำคัญของความสำเร็จ สำเร็จที่ว่าจะควบคุมไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น ให้จิตอยู่กับความว่างจากกิเลสเป็นบรมธรรม เป็นชีวิตที่มีธรรมะสูงสุดคือความว่างจากกิเลส ถ้าจะเรียกว่าธรรมะชีวีก็เป็นธรรมะชีวีระดับสูงสุดเลย จะอยู่กับธรรมะสูงสุด หรือธรรมะบรมธรรม คือพระนิพพาน จะเป็นได้อย่างไรหรือไม่มันก็แล้วแต่บุคคลนั้นที่เขาจะมีความรู้ความเข้าใจเท่าไร พอใจเท่าไร มีความประสงค์เท่าไร ดูโดยมาก ดูที่เป็นไปโดยมากไม่รู้เรื่องนี้ ไม่มีความประสงค์ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ มันก็ปล่อยไปตามบุญตามกรรมของไอ้กิเลส หรือของอารมณ์ของการการปรุงแต่งของกิเลส นี้เรียกว่าไอ้ชีวิตนี้มันก็ถูกปล่อยไปตามบุญตามกรรม ไม่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ก็ไม่เป็นธรรมะชีวีอย่างที่กล่าวแล้ว นี่คือเรื่องที่เรียกว่ามันลึกซึ้ง ลึกซึ้งหรือแยบคาย
อาตมาก็จะบอก ก็ต้องขอบอกว่าเป็น เป็นการเอาเรื่องที่ลึกซึ้งแยบคายมาพูด ถ้ามันเป็นผิดฝาผิดตัว ผิดกาลเทศะ อาตมาก็ขอรับบาป แต่เหตุ โดยเหตุที่เชื่อว่าคงจะมีหลายคนกระมังที่ฟังถูก มีหลายคนที่ฟังถูก ฟังเรื่องนี้ถูกพอจะสำเร็จประโยชน์บ้าง อาตมาก็ไม่ต้องรับบาป เพราะเป่าปี่ให้แรดฟัง เพราะเป่าปี่ให้เต่าฟัง ถ้ามามัวนั่งเป่าปี่ให้แรดฟังมันก็เสียเวลาทั้งคนเป่าและทั้งแรดด้วย แล้วมันจะเสียหายเท่าไร มันจะเสียหายเท่าไร ลองคิดดูก็แล้วกันว่ามันจะเสียหายเท่าไร ถ้าเรามานั่งพูดกันที่นี่อย่างนี้ในลักษณะนี้ แล้วมันมีผลเหมือนกับเป่าปี่ให้แรดฟัง แล้วใครจะรับผิดชอบ มันก็ผู้ ผู้นั้นแหละ มันทำได้เท่าไรมันก็ต้องได้ผลเท่านั้น มันทำผิดไปเท่าไรให้มันไปรับผิดชอบกันเท่านั้น ถ้าอาตมาชักชวนให้มีธรรมะชีวี ให้เป็นธรรมะชีวี แล้วฟังกันไม่ถูก ไม่มีใครต้องการ ไม่มีใครประสงค์ มันก็เข้าลูกเดียวแหละ มันก็เสียเวลาเปล่าแบบว่าเป่าปี่ให้แรดฟัง ตามที่ได้คิดนึก ศึกษา สังเกต ทบทวน ใคร่ครวญได้มาเป็นอย่างมาก เป็นเวลานานแล้ว มันรู้สึกอย่างนี้ มันรู้สึกว่าเรื่องมันมีอยู่อย่างนี้ คือมันมีอยู่ว่าเราต้องเป็นธรรมะชีวี มีชีวิตประกอบอยู่ด้วยธรรมะให้ถูกต้องให้แท้จริงให้เพียงพอ แล้วเราก็จะได้รับประโยชน์จากความมีชีวิต จากความมีชีวิตแหละได้รับประโยชน์เต็มที่ มันมีอยู่อย่างนี้แล้วจะให้พูดอย่างไร ไอ้ความจริงมันมีอยู่อย่างนี้ เท่าที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมามากมายก่ายกองนี่มันมีผลอย่างนี้ มันรู้สึกอย่างนี้ มันเห็นชัดอย่างนี้ ฉะนั้นก็ต้องขอพูดอย่างนี้ ส่วนที่ใครจะเห็นด้วย จะเอาหรือไม่เอา จะยอมรับหรือไม่ยอมรับนั้นอีกปัญหาหนึ่งต่างหาก แต่สำหรับอาตมานี้ขอยืนยันว่าในบรรดาเรื่องธรรมดา สิ่งที่ได้ค้นคว้าศึกษาเล่าเรียนมาตลอดเวลาหลายสิบปีนี่มันมีอย่างนี้ คือมันมีอยู่ทางเดียวเท่านั้นแหละที่จะได้รับประโยชน์จากทั้งหมดนั่นก็คือเป็นธรรมะชีวี ขอให้ทุกคนเป็นธรรมะชีวี มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตประกอบอยู่ด้วยธรรมะ มีธรรมะประกอบอยู่ในชีวิต จะให้พูดอีกกี่ชั่วโมงมันก็พูดได้แต่อย่างนี้แหละ ให้มันมีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะให้จนได้ แล้วเราก็จะไม่เสียทีที่เป็นพุทธบริษัท ไม่เสียทีที่เป็นพุทธบริษัท เป็นบรรพชิตก็ได้ เป็นคฤหัสต์ก็ได้เรียกว่าเป็นพุทธบริษัท และก็ไม่เสียทีเพราะได้มีธรรมะเป็นชีวิต แล้วชีวิตนี้ก็เย็นเพราะมีบรมธรรมคือพระนิพพานประกอบอยู่ด้วย มีความว่างจากกิเลส มีความว่างจากความทุกข์ประกอบอยู่กับชีวิต ไอ้ชีวิตนี่เป็นธรรมะชีวี ทีนี้ขอให้จัดทำอย่างนี้แหละ จัดทำจนมีผลเกิดขึ้น รู้สึกปรากฏอยู่แก่จิตใจว่าจิตใจของเราไม่มีกิเลส เมื่อเราเดินยืนนั่งนอนอยู่ หรือว่าเมื่อเราทำอะไรอยู่ทุกอย่างทุกประการอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้นนะว่าตื่นนอนขึ้นมาจะไปล้างหน้า จะไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะ จะไปอาบน้ำ จะไปแต่งตัว จะกินอาหาร เสร็จแล้วก็จะทำกิจธุระต่างๆ แล้วจะไปทำงาน ทำงาน ทำงานเสร็จแล้วกลับมาบ้าน ก็จะมีเรื่องอาบน้ำแต่งตัว กินอาหาร พักผ่อน ให้ทุกระยะทุกขั้นตอนน่ะมันรู้สึกอยู่ว่าฉันไม่ได้มีกิเลสเกิดขึ้น มีสติสัมปชัญญะพอ ควบคุมไว้อย่างถูกต้อง มิได้มีกิเลสเกิดขึ้นใน ในทุกๆวินาที ในทุกๆกระเบียดนิ้วที่มันเคลื่อนไหวอยู่นี่ ชีวิตร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่ทุกกระเบียดนิ้วไม่ได้เกิดไอ้กิเลสอย่างว่าทุกๆวินาที ก็ไม่ได้เกิดกิเลสอย่างว่า ก็เลยพอใจๆ พอใจที่มันไม่มีกิเลสเกิด รู้สึกว่าชีวิตนี้ถูกต้อง ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ และก็ไม่ให้เกิดกิเลสอะไรๆ แล้วก็พอใจ ความรู้สึกที่จะรู้สึกออกมาก็คือว่าถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้ว ทุกอิริยาบถพอใจ เป็นที่พอใจทุกอิริยาบถ ทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหว กระทั่งว่าทุกครั้งที่หายใจออกหายใจเข้าก็เต็มไปด้วยความรู้สึกว่าถูกต้องแล้วไม่มีกิเลส ถูกต้องแล้วไม่มีกิเลส แล้วก็พอใจ พอใจ ยินดี ปรีดาปราโมทย์ในธรรมะ มีธรรมะปีติ มีธรรมะเป็นรส เสวยรสแห่งธรรมะ อยู่ด้วยความรู้สึกว่าถูกต้องแล้วและพอใจ นี่จะเป็นไปได้หรือไม่ บางคนจะสงสัยว่าถ้ามัวแต่กำหนดอย่างนี้แล้วจะทำงานอะไรได้ นั่นแหละคือยังไม่เข้าใจเรื่องของจิต ยกตัวอย่างง่ายๆว่าเมื่อเราถูฟันแปรงฟันอยู่ เราคิดเรื่องอะไรก็ได้ใช่ไหมล่ะ มันก็ถูฟันไปได้ตามความเคยชิน ใจคิดนึกอะไรอยู่ก็ได้มันก็ยังบ้วนปาก ล้างหน้า ถูฟันได้อยู่นั่นเอง นี่ก็หมายความว่าเราจะทำงานอะไรอยู่ มีการงานอะไรอยู่ก็ทำไป จิตมันก็รู้สึกอีกเรื่องหนึ่งได้ว่าถูกต้องแล้วและพอใจ มันทำนองเดียวกับเมื่อมีอารมณ์ร้าย นี่มันเป็นอารมณ์ดีนะมันเกิดได้ตามที่เราต้องการ อารมณ์ร้ายมันก็เกิดได้ตามที่มันต้องการ เช่นโกรธใครเกลียดใครมันก็ฝังใจอยู่นั่นแหละ เราจะไปทำอะไร จะไปไอ้อาบน้ำ แต่ง กินข้าว แต่งเนื้อแต่งตัว ทำการงาน ไอ้โกรธมันก็ยังรู้สึกในจิตใจ เพราะว่ามันมีแรงมาก เพราะมันมีแรงมาก เป็นไอ้อารมณ์ในจิตที่แรงมาก มันก็ยังทำได้ เราจะนึกโกรธเกลียดใครอยู่ทุกอิริยาบถก็ทำได้ เราจะนึกกลัวอะไรอยู่ทุกอิริยาบถมันก็ทำได้ ทีนี้ฝ่ายข้างนี้ที่เราจะรู้สึกว่าถูกต้องแล้วพอใจและยินดี ถูกต้องแล้วพอใจนี่อยู่ทุกอิริยาบถมันก็ต้องทำได้เช่นเดียวกัน มันเพียงแต่ตรงกันข้ามเท่านั้นแหละ แต่โดยเหตุที่เราไม่เคยนึกไม่เคยตั้งใจจะทำ ไม่เคยฝึกฝนมันก็ทำไม่ได้ มันก็จะมีความคิดไปในทางที่ว่าทำไม่ได้ ทำไม่ได้แล้วก็ไม่ทำ แล้วก็ไม่พยายามจะทำ ผลมันจึงเกิดขึ้นเหมือนอย่างที่มีอยู่ทุกวันนี้ อยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้ทำ เพราะมันไม่คิดว่าจะทำได้ แล้วก็ปล่อยไปตามไอ้อารมณ์ ปล่อยไปตามธรรมชาติ ไม่ได้คิดว่าจะทำ ไม่ได้คิดว่าจะควบคุมอะไร ไม่ได้คิดที่จะมีสติปัญญาในอะไร มันก็เกิดเป็นแบบนี้ขึ้นมาจนเป็นธรรมดาไปแล้ว มันก็เลยไม่มีธรรมะในชีวิต ไม่มีชีวิตในธรรมะ ไม่มีชีวิตที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ หรือธรรมะที่ประกอบอยู่ในชีวิต ไอ้ความที่จะเป็นผู้มีธรรมะในชีวิตมันก็มีไม่ได้ เรียกสั้นๆว่าธรรมะชีวีเป็นไม่ได้ เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะว่าเจ้าตัวน่ะมันไม่รู้สึกอะไรเสียเลย มันไม่รู้อะไรเสียเลย ไม่รู้ไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่รู้ว่าอะไรควรจะทำได้ แล้วไม่รู้ว่าอะไรจะต้องทำอย่างไร มันก็ไม่รู้ไปเสียทั้งหมด มันก็ทำไม่ได้จริงเหมือนกัน มันก็ไม่ได้ทำด้วย
นี่ขอให้พุทธบริษัทเรามีความรู้สึกที่ตื่นตัว ตื่นตัวว่าพุทธบริษัทจะต้องทำอะไร จะต้องทำอย่างไร ควรแล้วที่จะต้องทำอย่างไร โอกาสนี้เป็นโอกาสที่จะต้องทำอย่างไรก็พยายามใช้ให้มันถูกต้อง ให้มันมีการกระทำที่เรียกว่าถูกต้อง แล้วก็ก้าวหน้าไป ก้าวหน้าไป เรียกว่าเจริญ เจริญด้วยธรรมะ ให้มีความก้าวหน้าในหนทางของธรรมะ เรียกรวมๆกันว่ามีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย มันมีเรื่องเท่านี้ แล้วมันมีเรื่องอย่างนี้ จะเอาหรือไม่เอา มันมีอยู่แต่ว่าจะเอากันหรือไม่เอา ว่าจะยินดี ประพฤติสมาทานระบบธรรมะชีวีกันหรือไม่ อาตมาขอชักชวนอย่างยิ่ง และขอบอกกล่าวว่าไม่มีทางอื่นหรอกที่จะดีกว่าทางนี้ ที่จะให้ ให้ได้รับผลของความเป็นพุทธบริษัทน่ะไม่มีทางอื่น มีแต่ทางนี้ทางเดียวคือทำตนเป็นธรรมะชีวีอยู่ให้มากที่สุด มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วก็ยิ่งขึ้นไปยิ่งขึ้นไป เมื่อตอนเย็นก็พูดอย่างนี้ เมื่อตอนหัวค่ำก็พูดอย่างนี้ และตอนดึกก็พูดอย่างนี้ เพราะมันไม่มีเรื่องอื่น เพราะมันไม่มีเรื่องอะไรที่ดีกว่านี้ ไม่มีอะไรที่เร่ง จะดีไปกว่าเป็นธรรมะชีวี ให้เนื้อหนังทั้งร่างกายทั้งจิตใจนี้ ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ นั่นแหละคือธรรมะชีวี อย่าให้ตกเป็นทาสของกิเลสเหมือนที่เป็นๆอยู่ มันสมัครเป็นทาสของกิเลส ไม่ตั้งตนอยู่ในธรรมะ มีความคิดนึกผิดๆไปหมดเลย มีความอิจฉาริษยาเป็นเจ้าเรือน เขาเสมอกันกับเราก็อิจฉาเขา เขาดีกว่าเราก็อิจฉาเขา เขาเลวกว่าเราก็ยังอิจฉาเขาอีก นี่มันเป็นเสียอย่างนี้ ฉะนั้นคำพูดหรือการกระทำมันก็ออกมาเป็นรูปของผิดพลาด เป็นอกุศลไปหมด คิดนึกเป็นอกุศล พูดจาเป็นอกุศล กระทำก็เป็นอกุศล เห็นกันอยู่ชัดๆว่ามันมีแต่ความผิดพลาดอย่างนี้มานานเท่าไรแล้ว มันนานเท่าไรแล้ว มันควรจะเลิกล้างกันเสียที มันมี ควรจะมีเจตนาเลิกล้างกันเสียที เพราะว่ามันผิดพอแล้วนี่ มันผิดพลาดน่ะมันพอแล้ว มันมากพอแล้ว มากพอที่จะคิดนึก รู้สึกได้ว่ามันพลาดไปมากพอแล้ว ถ้ารู้สึกเห็นว่ามันพลาดไปมากพอแล้วนั่นแหละมันจะกลับตัว มันจะกลับตัวเป็นมีหิริโอตับปะ มันก็กลัวความทุกข์ กลัวกิเลส กลัวความชั่ว มันก็จะค่อยน้อมมาทางมีสติสัมปชัญญะ ความกลัวต่อความทุกข์นั่นแหละมันจะช่วยให้มีธรรมะ มันจะช่วยให้น้อมมาๆ ค่อยๆน้อมมาในทางที่จะฝึกฝนสติสัมปชัญญะ สมาธิ ปัญญา เมื่อพูดถึงสติมันก็คือสัมปชัญญะนะ เมื่อพูดถึงสัมปชัญญะมันก็คือปัญญานั่นแหละ สิ่งเหล่านี้ถ้ามีกำลัง มีกำลังมั่นคงมันก็คือสมาธิ กำลังของปัญญา กำลังของสติที่จะเป็นตัวกำลังนั้นคือตัวนั้นเป็นสมาธิ ทำหน้าที่มั่น ลงหลักมั่น ต่อสู้เข้มแข็ง ลงหลักปักมั่น สติมันก็ทำหน้าที่ระลึก ระลึกนำ นำหน้าไป ปัญญาก็เป็นความรู้ ความรู้จริงว่าทำอย่างไร ต้องทำอย่างไร นี่ก็เรียกว่าเมื่อทำงานเข้าจริงๆแล้วมันก็มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ไอ้สัมปชัญญะคือตัวปัญญาที่มาเป็นสติระลึกได้ประจำอยู่เป็นระยะยาว สติก็คือสัมปชัญญะแหละถ้ามันระลึก ระลึกอยู่ด้วยปัญญาเป็นระยะยาวเราก็เรียกว่าสัมปชัญญะ แค่เพียงแต่ว่าระลึกได้ ระลึกได้นี่มันเป็นสติ ถ้าระลึกแล้วอยู่ๆ อยู่ๆ อยู่ไอ้ยาวออกไปด้วยปัญญา มีปัญญาอะไรนี่ก็เรียกว่าสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะก็เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้หรอก ในๆ ในเมื่อมันจะทำงานจริงๆ ในเมื่อมันจะทำงานให้สำเร็จประโยชน์จริงๆมันแยกกันไม่ได้ สติไปเอาความรู้คือปัญญามา แล้วคุมไว้ให้มันยังคงอยู่ ตอนนี้ก็กลายเป็นสัมปชัญญะ สัมปชัญญะนั่นมีความรู้นะ เป็นตัวความรู้นะ แล้วมาคงอยู่ในหน้าที่นี้ด้วยอำนาจของสตินะ ดังนั้นสติสัมปชัญญะก็เป็นสิ่งที่ไม่แยกกัน สติกับปัญญาก็ไม่อาจจะแยกกัน สติกับสมาธิก็ไม่อาจจะแยกกัน มันต้องมีทั้งกำลัง ต้องมีทั้งความรู้ แล้วก็มันสามารถระลึกได้ แล้วมันก็ควบคุมความระลึกนั้นให้ตั้งอยู่ได้นี่มันทำงานสัมพันธ์กันหมด ไอ้สติสัมปชัญญะ สมาธิ และปัญญา การฝึกฝนอย่างนี้คือฝึกฝนไอ้ที่เรียกว่าฝึกฝนกรรมฐาน ฝึกฝนสมถะ ฝึกฝนวิปัสสนา หรือฝึกฝนกรรมฐาน ไม่มีความเป็นอย่างอื่นหรอก ถ้าเป็นอย่างอื่นมันก็ไม่ใช่ ไม่ใช่กรรมฐานหรอก คือมันไม่มีประโยชน์อะไร มันช่วยไม่ได้มันก็ไม่เป็นกรรมฐาน หรือเป็นกรรมฐานก็เป็นกรรมฐานผิด กรรมฐานช่วยให้มีความทุกข์มากขึ้น ถ้าเป็นกรรมฐานที่ถูกต้องมันจะช่วยดับทุกข์แล้วมันก็ต้องเป็นอย่างว่า มีสติในหน้าที่ของสติ มีปัญญาในหน้าที่ของปัญญา มีสมาธิในหน้าที่ของสมาธิ มีหน้า มีสัมปชัญญะในหน้าที่ของสัมปชัญญะ ควบคุมไว้ได้เป็นอย่างดีสม่ำเสมอตลอดเวลา มันก็ป้องกันกิเลส มันลดความเคยชินแห่งกิเลสที่สะสมไว้ให้มันทำลายไอ้หรือว่าบรรเทาอาสวะในสันดาน สักวันหนึ่งมันก็หมดกิเลส หมดอนุสัย หมดอาสวะ ตายตัว ตายตัวแน่ๆ แน่นอนตายตัวตลอดไป เดี๋ยวนี้มันไม่แน่นอนตายตัวตลอดไป มันเป็นครั้งคราว เราควบคุมกิเลสได้เป็นครั้งคราวแหละ มันเหมือนกับต่อสู้กันอยู่ล้มลุกคลุกคลานกันอยู่ แต่เมื่อทำถึงที่สุดแล้วมันถึงที่สุด มันไม่ชั่วคราว มันเด็ดขาดลงไป กิเลสสูญสิ้นเด็ดขาดลงไป ไม่อาจจะปรุงให้เป็นความทุกข์ขึ้นมาได้อีกต่อไป
นี่ขอให้เราทุกคนรู้เรื่องนี้ว่าพระศาสนาของเราเป็นอย่างนี้ พรหมจรรย์ของเราเป็นอย่างนี้ หน้าที่ที่เราจะต้องทำน่ะมันเป็นอย่างนี้ ดังนั้นถ้าเราทำอยู่อย่างนี้ก็คือมีธรรมะ เป็นธรรมะชีวีตั้งแต่เริ่มต้น เริ่มต่อสู้ก็เป็นธรรมะชีวี ต่อสู้ไปก็เป็นธรรมะชีวี ชนะแล้วก็เป็นธรรมะชีวี เป็นธรรมะชีวีตั้งแต่รักษาศีล ตั้งแต่ทำทาน ทำบุญ เจริญเมตตาภาวนาไปเป็นธรรมะชีวีน้อยๆ น้อยๆ ขั้นต้นๆ ต้นๆไปก่อน ก็สูงขึ้นๆ สูงขึ้น แล้วก็ไม่ยึดถือสิ่งเหล่านี้โดยความเป็นตัวตนของตนอันถาวร ยึดถือมันเพียงแต่เป็นเครื่องมือ ความดี บุญกุศลต่างๆนานาที่ทำมาแต่หนหลังนั้นแหละยึดถือไว้แต่เพียงเป็นเครื่องมือ นับถือมันเพียงว่าเป็นเครื่องมือ อย่าให้เป็นตัวตนที่มีค่าสูงสุดเหนือกว่าสิ่งใดแล้วก็ยึดถือ มันก็ผิดไปอีกแหละ เอ้า, พอยึดถือมันก็มีตัวตนสำหรับจะมีกิเลส สำหรับจะเกิดกิเลส เราไม่ได้ยึดถือเครื่องมือ ด้วยเรือแพ รถ อะไรนี่เรามันไม่ได้ยึดถือ แล้วเป็นตัวตนยึด ถือตนเป็นเครื่องมือ ช่วยให้เราถึงที่ที่เราต้องการ แล้วก็ต้องเลิกกันแหละ ขี่รถขี่เรือเมื่อถึงที่ต้องการแล้วก็เลิกกันกับรถกับเรือ ไม่ต้องทูนแบก ไม่ต้องทูนศีรษะไปด้วยแล้วก็วางไม่ลง แล้วมันก็ขึ้นบกไม่ได้หรอก ถ้าขนาดนี้มันก็ขึ้นบกไม่ได้ ไอ้เรือแพ รถราอะไรนั่นมันก็เป็นยานพาหนะ ทำให้ดีที่สุดที่จะเป็นยานพาหนะที่ดีที่สุด แล้วก็ไปส่งถึงที่ต้องการได้ นี่การทำบุญให้ทานเป็นประจำโดยพื้นฐานที่ได้ศึกษามาแต่ต้นแต่แรกมันเป็นได้เพียงเท่านี้ แล้วมันก็ส่งมาถึงขั้นที่ว่าจะรู้ในทางที่จะปล่อยวาง จะรู้ในทางที่ไม่เอากันแล้ว ก่อนนี้มันรู้แต่ในทางที่จะเอา เอาให้ได้ เอาให้ดี เอาให้มาก พอมาถึงขั้นนี้แล้วมันก็รู้ว่า โอ้ย,ไม่เอาแล้วโว้ย, ยุ่งทั้งนั้นเลย ไอ้ชั่วไอ้ดีนี่มันยุ่งทั้งนั้น หากไม่ต้องการจะเอาก็จะปล่อยวางให้ว่าง ให้เหนือไปเสียให้หมดทั้งชั่วและดี นั่นแหละคือนิพพาน มองดูภาพนี้นี่ง่ายๆก็ว่าละชั่วเสียแล้วก็มาอยู่กับดี แล้วก็พ้นดี เหนือดีขึ้นไปก็เป็นนิพพาน มันจะมาติดอยู่ที่ดี ดีนี่มันก็ไม่นิพพาน แล้วมันก็ทรมานจิตใจอยู่ด้วยกับความหลงดี ยึดมั่นดี ยึดถือความดี หนักอยู่ด้วยความดี นี่เรียกว่าขั้นตอน ขั้นตอนที่จะต้องเดินไปเป็นขั้นๆขั้นๆ ละความชั่วแล้วก็ถึงความดี ปล่อยวางความดีขึ้นไปให้พ้นจากความดี ก็ถึงความสงบ ความสงบเงียบไม่ชั่วไม่ดี นี่เรียกว่านิพพาน ภาวะนี้เรียกว่านิพพาน ภาวะนี้เป็นบรมธรรม เป็นธรรมะสูงสุด เอามาไว้ได้กับจิตใจเมื่อไร ชีวิตจิตใจนั้นก็เป็นธรรมะชีวีชั้นสูงสุด สูงสุดเลย ตลอดเวลาที่ร่างกายยังไม่แตกดับมันก็อยู่กับธรรมะสูงสุดนี้ พอถึงเวลาที่ร่างกายแตกดับมันก็เลิกกันแหละ เพราะว่าจิตใจมันก็ไม่รู้สึกอะไรก็ปิดฉากกันไปหมด แต่ว่าก่อนแต่ที่มันจะปิดฉากอย่างนี้นะขอให้จิตใจนี้ได้พบกันกับไอ้ภาวะสูงสุดคือพระนิพพาน หรือภาวะที่ไม่มีความทุกข์เลย ให้ได้มีชีวิตเป็นธรรมะชีวีบ้างสักปีสองปี ห้าปี สิบปีก็ยิ่งดี แล้วในที่สุดไอ้ ไอ้สังขารร่างกายนี้มันก็ทนอยู่ไม่ได้ ร่างกายทนอยู่ไม่ได้แตกดับ ไอ้จิตก็พลอยหมดหน้าที่หมดการงานหมดอะไรไปด้วย แต่ว่าชีวิตนี้ชาตินี้ของผู้นี้มันได้รับผลดีที่สุดถึงที่สุด
นี่เรียกว่าไอ้แนวทางขั้นตอนของธรรมะชีวี การมีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะมันมีแนวของมันอย่างนี้ แล้วมีขั้นตอนๆ ขั้นตอนของมันอย่างนี้ ขอให้เดินให้ถูกแนวของมันทุกขั้นทุกตอน ก้าวขึ้นไปทุกขั้นทุกตอนให้สูงขึ้นไป ให้ยิ่งขึ้นไป ก็จะได้พบกับสิ่งสูงสุดนี้ก่อนแต่ที่จะเน่าเข้าโลง ถ้าเรื่องเน่าเข้า เป็นเน่าเข้าโลงแล้วมันก็ไม่มีอะไรแล้ว มันไม่มีปัญหาอะไรแล้ว แล้วมันทำอะไรไม่ได้ด้วย ฉะนั้นรีบทำเสียก่อนที่มันจะเน่าเข้าโลงไป ให้มันมีความถูกต้องจนยกมือไหว้ตัวเองได้ นี่สำรวจตัวเองดูก็ยกมือไหว้ตัวเองได้ ถ้าว่าสำรวจดูตัวเองแล้วพบแต่ร่องรอยของกิเลสแล้วมันไหว้ตัวเองไม่ลง มันก็ตายเปล่าสิ มันถึงยังไงๆก็ยอมเสียสละเถอะ ไอ้เรื่องของกิเลสที่สนุกสนานเอร็ดอร่อยไปตามแบบของกิเลสนั้นแหละเลิกเสียเถอะ ที่เคยอร่อยแก่จิตใจเพราะอิจฉาริษยาคนอื่น นินทาคนอื่นนั้นยอมเลิกเสียเถอะไอ้รสอันนั้นมันไม่วิเศษอะไร มันเป็นความสนุกที่หลอกลวง มาระลึกนึกถึงความว่างจากกิเลส สงบเย็น ผ่องใส สะอาดปราศจากกิเลส อันนี้เอา อันนี้เอา หันมาทางนี้กันที ถ้ามันมองเห็นชัดอย่างนี้แล้วง่ายนิดเดียวที่จะดำเนินธรรมะชีวี ดำเนินชีวิตให้เป็นธรรมะชีวี ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรืออยู่ที่วัดจะทำได้เสมอกัน
นี่หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้สนใจในเรื่องของธรรมะชีวีให้สูงขึ้นมาตามลำดับ ตามลำดับดังที่ได้พรรณนามา เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อตอนเย็นน่ะ แล้วเริ่มต้น แล้วต่อมาเมื่อหัวค่ำ และมาเดี๋ยวนี้ ดึก เดี๋ยวนี้ก็ขึ้นวันใหม่แล้ว นาฬิกานี่ตีหนึ่ง ขึ้นวันใหม่แล้ว เราก็พูดกันแต่เรื่องธรรมะชีวีมาตลอดเวลา หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจบ้าง เข้าใจตามสมควร หากเข้าใจพอที่จะเป็นเงื่อนต้น เป็นร่องรอย เป็นแนวทางสำหรับจะได้ดำเนินต่อไปจนให้ถึงที่สุด ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา เดี๋ยวนี้ดูไม่รู้ว่าจะเอาอะไรกัน ไม่รู้ว่าจะเกิดมาเป็นมนุษย์ มาเพื่อพบพระพุทธศาสนานี่ทำไมกันก็ไม่รู้ มันก็ทำตามๆทำตามๆ คาดคะเน เห่อตามๆกันมา อย่างนี้ก็น่า น่าเสียดาย น่าเสียดาย เมื่อมันได้เกิดชีวิตมาชาติหนึ่งแล้วก็จัดให้มันได้รับผลดีที่สุดแหละ ถูกต้องที่สุดจนพ้น พ้นดี อยู่เหนือทุกอย่างทุกประการ เป็นนิพพาน เป็นบรมธรรม พบนิพพาน พบบรมธรรมเสียก่อนแต่ที่จะแตกตายทำลายขันธ์ ธรรมเทศนาในตอนนี้ก็สมควรแก่เวลา ก็จะได้ให้พักผ่อน มีขั้นตอนตามสมควร การแสดงธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้