แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพื่อความสะดวกขอเรียนเชิญคุณวิเชียร กาญจนาลัย ข้าราชการบำนาญแห่งกระทรวงการต่างประเทศ ได้โปรดให้เกียรติเป็นประธานของที่ประชุมนี้ มาเป็นผู้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยครับ ขอเรียนเชิญคุณวิเชียร กาญจนาลัยครับ
ตั้งแต่นาทีที่ 00:25 – 01:42 เป็นการสวดมนต์
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา เป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะ ความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าขึ้นไปในทางแห่งพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนานี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษปรารภอาสาฬหบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ได้ทราบดีอยู่แล้ว อาตมาขอถือโอกาสแสดงธรรมะไปในลักษณะที่จะเป็นเครื่องส่งเสริมการทำพิธีอาสาฬหบูชาให้มีผลยิ่งๆขึ้นไป ไม่ว่าอะไรที่เราจะทำให้ได้รับผลดีที่สุดนั้น ต้องเป็นสิ่งที่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งนั้นอย่างถูกต้องครบถ้วนชัดเจนเพียงพอ ในการที่จะประกอบพิธีอาสาฬหบูชานี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน ถ้าได้รู้ถึงความหมายอันแท้จริงแล้วย่อมทำในใจได้ถูกต้อง ทำในใจได้ถูกต้องแล้วก็ย่อมจะมีการกระทำทางกายทางวาจาที่ถูกต้อง จึงจะได้รับผลเต็มที่ตามที่ควรจะได้รับ อีกประการหนึ่งในโอกาสเช่นนี้เป็นโอกาสที่เราจะต้องตัดสินใจ ตกลงใจในการที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมให้ยิ่งๆขึ้นไปโดยสมควรแก่เหตุการณ์นั้นๆ จึงจะขอแสดงเรื่องของอาสาฬหบูชา ซึ่งมีความหมายอยู่ที่พระธรรมเทศนาอันเรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แล้วถือเอาใจความอันแท้จริงแห่งพระบาลีนั้นมาถือเป็นหลักปฏิบัติ มันก็จะมีการปฏิบัติที่ถูกตรงตามเรื่อง และสมกับที่เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญก้าวหน้างอกงามตามทางแห่งพระศาสนายิ่งๆขึ้นไป ขอท่านทั้งหลายทุกคนจงได้ตั้งใจสดับฟังด้วยดี
สิ่งที่จะกล่าวในวันนี้ สรุปแล้วก็คือเรื่องพระธรรม พระธรรม คำเดียวช่วยจำไว้ด้วยว่าพระธรรม พระธรรม เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าวันนี้เป็นวันพระธรรม วันวิสาขบูชาเป็นวันแห่งพระพุทธเจ้า ปรารภเรื่องพระพุทธเจ้า ถัดมาถึง วันอาสาฬหบูชาเป็นวันพระธรรม คือทรงแสดงธรรมที่ได้ตรัสรู้ให้เป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์ แล้วก็เป็นครั้งแรก เป็นการประกาศพระธรรมออกไปในลักษณะที่เป็นความหมายให้เป็นธรรมาณาจักร เป็นอาณาจักรแห่งธรรมแผ่ซ่านไปทั่วโลก แม้ว่าวันนั้นจะมีผู้ลุธรรม บรรลุธรรมเพียงคนเดียว องค์เดียว คือพระอัญญาโกณฑัญญะ ก็ยังกล่าวได้ว่าเป็นความสำเร็จประโยชน์แก่การแสดงธรรม และก็เป็นการแสดงธรรมโดยแท้จริงเป็นครั้งแรก เรียกว่าเป็นวันแห่งพระธรรม คือวันที่พระธรรมเกิดขึ้นมาในโลก บางคนเข้าใจว่าเป็นวันพระสงฆ์ เพราะว่ามีพระสงฆ์เกิดขึ้นองค์หนึ่ง ภาษาเด็กนักเรียนประถมมันก็ยังรู้ว่าพระสงฆ์องค์เดียวนั้นไม่เรียกว่าสงฆ์ อย่างน้อยต้อง ๔ องค์จึงจะเรียกว่าสงฆ์ ต้องเป็นหมู่เป็นคณะ ดังนั้นการที่มีผู้บรรลุธรรมเพียงองค์เดียวก็จะถือว่าเป็นเหตุการณ์ทั้งหมด เรียกว่าวันพระสงฆ์นี้ไม่มีเหตุผล เหตุผลจึงมีอยู่สำหรับที่จะเป็นวันพระธรรม ทรงแสดงธรรม ทรงประกาศอาณาจักรแห่งธรรม แล้วอาณาจักรแห่งธรรมเป็นไปๆ ต่อมาถึงคราวสมัยมาฆบูชา เกิดพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปประชุมกัน เป็นการประดิษฐานพระสงฆ์มั่นคงลงในพระศาสนา เรียกว่าวันมาฆบูชาเป็นวันพระสงฆ์นี้ถูกต้องอย่างยิ่ง แล้วก็เป็นลำดับกันมาโดยธรรมชาติ วันแรกเป็นวันพระพุทธ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้น อันดับที่ ๒ ทรงแสดงธรรม พระธรรมเกิดขึ้น อันที่ ๓ พระสงฆ์ผู้รับปฏิบัติธรรม ก็เกิดขึ้นเป็นวันพระสงฆ์ เป็นวันพระพุทธ เป็นวันพระธรรม เป็นวันพระสงฆ์ เป็นลำดับกันเป็นอย่างดี ง่ายๆ สังเกตเห็นได้ง่ายๆอย่างนี้ ขอท่านทั้งหลายจงทำในใจไว้อย่างนี้ว่าวันนี้เป็นวันพระธรรม เป็นวันพระธรรม วิสาขะที่แล้วมาเป็นวันพระพุทธ วันนี้เป็นวันพระธรรม ต่อไปอีกสักสองสามเดือนนี้ก็เป็นวันพระสงฆ์
เรามาพิจารณาดูถึงใจความสำคัญแห่งวันๆนี้ว่าเป็นวันพระธรรม เป็นวันที่พระธรรมปรากฏออกมาในโลก และพระองค์ทรงแสดงในลักษณะที่ประกาศธรรมาณาจักร เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิเขาประกาศอาณาจักรพระพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็ประกาศธรรมาณาจักร อาณาจักรแห่งพระองค์ ให้แผ่กว้างขวางออกไป ย่ำยีมารและเสนามาร ให้หมดสิ้นไปจากการเบียดเบียนสรรพสัตว์ ทำให้สรรพสัตว์ได้รับประโยชน์สุข แล้วทำไมพวกเรารู้ ไม่รู้สึกอะไร ทำไมจึงไม่รู้สึกอะไรว่าวันนี้เป็นวันสำคัญอย่างไร เราควรจะรู้สึกถึงความสำคัญอย่างยิ่งแห่งวันนี้ เพราะว่าถ้าไม่มีธรรมะปรากฏขึ้นแล้วโลกนี้ก็ไม่มีดวงตา สัตว์โลกทั้งหลายก็ไม่มีดวงตา เป็นเหมือนกับตาบอดหรือว่าเป็นเหมือนกับตาหลับ ก็คือไม่มีดวงตา แล้วมันจะทำอะไรได้ มันจะทำอะไรถูกในการที่จะดับเสียซึ่งความทุกข์ บัดนี้พระองค์ทรงแสดงธรรม ซึ่งเป็นหนทางดับทุกข์คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ประการในวันนี้ นั่นแหละคือธรรมะสำหรับเป็นแสงสว่างของโลก ส่องทางให้สัตว์โลกทั้งหลายเห็นว่าเราจะเดินกันไปอย่างไร เดินไปในทิศทางไหน โดยวิธีใด แล้วก็จะถึงซึ่งความดับทุกข์ จึงเป็นวันแห่งแสงสว่างของพระธรรม คำว่าเป็นวันพระธรรมก็คือความเป็นแสงสว่างแก่สัตว์โลก ขอให้เราทุกคนบรรดามีนี่ตอบสนองการเวียนมาแห่งวันพระธรรมด้วยการตั้งใจให้ดี พยายามเข้าใจ พยายามประพฤติ พยายามปฏิบัติ ตอบสนองการเวียนมาแห่งวันพระธรรม เป็นการตอบสนองพระคุณของพระพุทธองค์ด้วยคือช่วยกันทำให้สำเร็จประโยชน์ในการที่จะมีธรรมะครองโลก ได้รับประโยชน์แก่ธรรมะด้วยกัน ทั้งเทวดาและทั้งมนุษย์ดังที่กล่าวแล้ว ท่านเข้าใจคำว่าเทวดาและมนุษย์กันเสียใหม่อย่างสั้นๆ ให้ถูกต้องว่าพวกที่ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย มีความสุขพอใจได้โดยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยนี้เรียกว่าพวกเทวดา ทีนี้พวกมนุษย์ก็คือพวกต้องยังอาบเหงื่ออยู่ ต้องมีการทำงานอยู่ มนุษย์หรือสัตว์นี่มันมี ๒ ชนิด พวกที่เป็นเทวดาก็ไม่รู้จักเหงื่อ แล้วก็สนุกสนานเพลิดเพลินไปตามเรื่องของเทวดา พวกมนุษย์ยังต้องรู้จักเหงื่อ ก็คลุกเคล้าไปด้วยเหงื่อ แต่ถึงอย่างไรก็ตามทั้ง ๒ พวกนี้ยังมีความทุกข์ เพราะว่าพวกเทวดาก็ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ยังต้องเร่าร้อนอยู่ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง พวกมนุษย์มันก็ไม่ต้องพูดแล้ว ยังอยู่ในระดับธรรมดา ยังเดือดร้อนอยู่ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่ยังต้องอาบเหงื่อด้วย มันก็เสียเปรียบพวกเทวดาอยู่ตอนนี้เอง เอาละเป็นว่าจะอยู่ในพวกไหนก็ต้องการธรรมะสำหรับจะดับความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น นี่ธรรมะมีคุณค่าสูงถึงขณะนี้ เป็นเครื่องกำจัดทุกข์ทั้งของเทวดาและมนุษย์ เราจงพากันมาแสดงความรื่นเริงยินดีต้อนรับวันๆนี้ ซึ่งเป็นวันพิเศษสุดในพระพุทธศาสนาก็ได้ ทำไมจึงว่าเป็นวันพิเศษสุด ก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องเดียวเท่านั้นแหละคือเรื่องพระธรรม ถ้าขาดพระธรรมทุกอย่างทุกเรื่องก็ล้มๆ ล้มละลายหมด ไม่มีเรื่องอะไรเหลือ วันนี้เป็นวันพระธรรมจึงเป็นวันพิเศษสูงสุด เราจงมารื่นเริงยินดีกันตามวิสัยแห่งมนุษย์ผู้มีสติปัญญา รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักทุกสิ่งที่ควรจะรู้จัก แล้วก็ควรจะรู้จักสิ่งที่ควรร่าเริงยินดี รู้จักวันที่ควรจะร่าเริงยินดีเช่นวันนี้นี่ จึงขอชักชวนท่านทั้งหลายว่าเราทำความรู้สึกในใจเป็นความร่าเริงยินดี ตามวิสัยแห่งสัตว์ที่ยังมีความร่าเริงยินดีได้ ในการที่วันนี้เวียนมาถึงเข้าอีก สรุปความว่านี่เป็นวันพระธรรม เป็นวันพระธรรม เป็นวันพระธรรมเกิดขึ้นในโลก แล้วก็แผ่ไปในโลก เลยได้นามว่าธรรมจักร ธรรมจักร ธรรมจักรนี่แปลว่าล้อแห่งธรรม คำว่าล้อนี้หมายถึงหมุนไป หมุนไปๆ มีอำนาจแห่งการหมุนไป หมุนไปไม่มีอะไรต้านทาน คำว่าจักรหรือล้อนี่มัน มันมีความหมายอยู่ที่ว่าเคลื่อนไปได้นั่นเอง มันเคลื่อนไปๆ เคลื่อนไป อวัยวะแห่งการเคลื่อนไป หรือเครื่องมือแห่งการเคลื่อนไป ก็เรียกว่าจักรทั้งนั้น เช่นล้อเกวียนก็เรียกว่าจักร มือตีนของเรานี้ก็เรียกว่าจักร เพราะว่าเป็นเครื่องเคลื่อนไป ทีนี้จะให้ดูในอีกความหมายหนึ่งก็คือเป็น วันแห่งความถูกต้อง พระองค์ทรงประกาศธรรมจักรออกมาในรูปแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ อริยมรรคนั้นประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการ องค์นั้นคือความถูกต้อง องค์แห่งความถูกต้อง ๘ ประการ ไอ้ความถูกต้อง ๘ ประการ รวมกันเข้าเป็นหนทาง นี่เรียกว่าอริยมรรค วันนี้เป็นวันที่ทรงประกาศอริยมรรค ก็เป็นการประกาศความถูกต้อง ความถูกต้อง ๘ ประการ มีความถูกต้อง ๘ ประการ ถูกแล้วเรียกว่าความถูกต้อง ๘ ประการ แต่ถ้ารวมกันเข้าแล้วก็เรียกว่าเป็นอริยมรรคมีหนึ่งเดียว มีสายเดียว อย่าไปเข้าใจหรือไปเรียกว่ามรรค ๘ หรือว่าทางมีองค์ ทาง ๘ ให้รู้ว่าทางเดียว มรรคเดียวแต่มีองค์ ๘ แต่ละองค์ๆคือความถูกต้องอย่างหนึ่งๆ ความถูกต้อง ๘ ประการรวมกันแล้วเรียกว่าอริยมรรค วันนี้ทรงประกาศธรรมจักรโดยอริยมรรค ก็คือวันแห่งความถูกต้อง พระองค์ทรงแสดงความถูกต้องไว้อย่างไรขอให้เราทั้งหลายทุกคนจงเข้าใจ รับเอาคำสั่งสอนเรื่องความถูกต้องมาประพฤติปฏิบัติให้เกิดความถูกต้องขึ้นในตนจนครบถ้วน นี่ต้องต้อนรับด้วยการปฏิบัติให้สมตามพระพุทธประสงค์ เราจงรื่นเริงยินดีในการที่จะปฏิบัติความถูกต้อง หรือธรรมะอันเป็นความถูกต้องนั้นให้เต็มที่ ซึ่งอาตมาจะได้ถือเอาเป็นสาระของเรื่องที่จะแสดงในวันนี้
ทีนี้ก็ขอให้ดูไปอีกนิดหนึ่ง คืบหน้าไปนิดว่าวันนี้เป็นวันแห่งทางสายกลาง ทางสายกลาง อริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นทางสายกลาง พระองค์ทรงแสดงเป็นเรื่องแรกของธรรมที่ทรงแสดงในวันนี้คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ในพระสูตรสูตรนี้มีอยู่ ๒ ตอน ตอนแรกแสดงมัชฌิมาปฏิปทา ตอนถัดมาแสดงอริยสัจ ๔ แล้วมรรค มรรคมีองค์ ๘ ก็ไปรวมอยู่ในตอนท้ายของอริยสัจ ๔ แต่โดยหลักทั่วไปก็แยกออกมาเป็นตัวเองได้เรื่องหนึ่งเหมือนกัน แล้วทรงแสดงก่อน แสดงมัชฌิมาปฏิปทาว่าได้เห็นเอง รู้เอง ไม่ได้ฟังของใครมา แล้วก็มาเสนอแนะให้ผู้ฟังทั้งหลายรับเอาไปปฏิบัติ อย่าปฏิบัติอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่ในเวลานั้น ข้อนี้เราต้องเชื่อโดยการอาศัยหลักที่ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทานั่นเองว่าสมัยนั้นปฏิบัติกันไม่ถูกอยู่โดยทั่วๆไป คือว่าพวกหนึ่งปฏิบัติไปในทางหย่อน ในทางหละหลวมตามใจกิเลส หมกมุ่นอยู่ในกาม บูชากามคุณ นี่เรียกว่าพวกกามสุขัลลิกานุโยค นี้ก็พวกหนึ่ง ไม่เฉพาะแต่ชาวบ้าน แม้นักบวช บรรพชิตทั้งหลายก็ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อประโยชน์แก่กามคุณในสวรรค์ เป็นต้น ปรากฏอยู่ในตัวลัทธินั้นๆแล้ว แม้ที่สุดแต่ลัทธิของชฎิลพันรูปก็มีหลักว่ามีสตรีเป็นที่หมายเป็นจุดมุ่งหมาย ฟังดูก็น่าขำ เมื่อพรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้ามีวิมุติเป็นที่หมาย พรหมจรรย์ของพวกชฎิลเหล่านั้นมีสตรีเป็นที่หมาย คือหมายถึงไอ้กามสุขัลลิกานุโยคในอนาคต ในข้างหน้า ในโลกทิพย์ โลกเทวดาอะไรก็แล้วแต่ พวกนี้หนึ่งนี้หย่อนไปในทางกามารมณ์ บูชากามารมณ์ แล้วก็ยังสืบทอดกันมาจนถึงวันนี้ ทีนี้อีกพวกหนึ่งตรงกันข้าม เกลียดชังกามารมณ์ แล้วก็พาลหาเหตุทำลายอวัยวะอันเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกทางกามารมณ์ ว่าทำลายอวัยวะเหล่านี้ให้หมดสมรรถภาพไปแล้ว ประกอบกิจทางกามไม่ได้แล้วก็จะเป็นความหลุดพ้น นี่เขาเรียกว่าบำเพ็ญตบะ ทรมานกาย ย่ำยีร่างกายให้ทุพพลภาพ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งกามารมณ์อีกต่อไป นี้เรียกว่าพวกสุดโต่งฝ่ายตึง พวกหนึ่งสุดโต่งฝ่ายหย่อน ไปจมลงในกามารมณ์ พวกหนึ่งสุดโต่งฝ่ายตึง หรือเกลียดกามารมณ์เป็นบ้าเป็นหลัง แล้วก็ทำลายอัตภาพร่างกายนี้ให้เป็นของทุพพลภาพ ไม่อาจจะเสวยกามารมณ์อย่างนี้มันก็สุดโต่ง นี่พระองค์ทรงแสดงทางสายกลางเป็นเรื่องแรก เป็นธรรมแรกที่เอ่ยขึ้นมาในการแสดงพระธรรมนี้ว่ามีทาง ๒ ทาง คือทางกามสุขัลลิกานุโยค และทางอัตตกิลมถานุโยค บรรพชิตไม่ควรจะข้องแวะเข้าไป จงดำรงอยู่ในทางสายกลางที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ มีความดำริชอบ สัมมาวาจา พูดจาชอบ สัมมากัมมันโต การงานชอบ สัมมาอาชีโว ดำรงชีวิตชอบ สัมมาวายาโม พากเพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ ๘ อย่างนี้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือเป็นหนทางที่อยู่ตรงกลาง คำนี้อธิบายได้กว้างขวาง อธิบายกันเป็นชั่วโมงก็ไม่หมด คือว่าอย่าเอียงไปฝ่ายใด แต่ให้ดำรงอยู่ตรงกลาง แล้วก็จะไม่เกิดปัญหาขึ้นมา ครั้นทรงแสดงทางสายกลางนี้แล้วก็แสดงเรื่องอริยสัจ ๔ จบลงด้วยมีภิกษุองค์หนึ่งได้บรรลุธรรมจักษุคือพระอัญญาโกณฑัญญะ ใจความมันอยู่ที่ทางสายกลาง ไม่เหวี่ยงไม่สุด อยู่ตรงกลาง ไม่เหวี่ยงสุดข้างใดแต่อยู่ตรงกลาง ไม่หย่อนไม่ตึงแต่อยู่ตรงกลาง ไม่เปียกแฉะไม่ไหม้เกรียมแต่อยู่พอดีๆ จะใช้คำพูดอย่างไรก็ตามใจเถอะขอให้มันอยู่ตรงกลางในทุกความหมายแหละ ไม่รักไม่ชังมันก็อยู่ตรงกลาง ไม่ขึ้นไม่ลงมันก็อยู่ตรงกลาง ให้มีความปกติตามธรรมชาติ แล้วมันก็จะอยู่ตรงกลาง ถ้ามันเกิดการปรุงแต่งแล้วก็มีทางผิดๆไป ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปสุดโต่งอยู่ที่ใดที่หนึ่งนั่นมันมีการปรุงแต่งที่ผิดเสียแล้ว ให้ปรับตัวอยู่ตรงกลางแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร นี้เรียกว่าทางสายกลาง
วันนี้เป็นวันแห่งทางสายกลาง เป็นวันที่ทรงแสดงทางสายกลาง เป็นวันที่เราควรจะเข้าใจเรื่องทางสายกลาง แล้วเป็นวันที่เราควรจะดำรงตนอยู่ในทางสายกลางให้ถูกต้องให้ครบถ้วน เอ้า, แล้วทีนี้รวมกันเลย วันแห่งพระธรรมก็คือวันนี้ วันแห่งความถูกต้องก็คือวันนี้ วันแห่งทางสายกลางก็คือวันนี้ แต่มันเป็นเรื่องเดียวกัน มันเป็นเรื่องของพระธรรมจึงเป็นความถูกต้อง มันเป็นเรื่องของพระธรรมมันจึงเป็นไอ้วัน เป็น เป็นทางสายกลาง นี่ทางสายกลางรวมกันก็คือพระธรรม ความถูกต้องรวมกันก็คือพระธรรม พระธรรมก็คือพระธรรม ความหมายสำคัญมันจึงอยู่ตรงที่ว่าเป็นธรรมประกอบด้วยธรรม เรื่องมันก็ชัดเจนพอแล้วว่าเราทั้งหลายจงประกอบตนอยู่ในธรรม เอาคำว่าธรรม ธรรมคำเดียวนี่เป็นหลัก คือความถูกต้อง เป็นความถูกต้อง ถ้าจะถามว่าถูกต้องอย่างไร ก็ขอตอบรวบรัดเสียทีหนึ่งก่อนว่าถูกต้องเพื่อบรรลุนิพพาน ถูกต้องสำหรับจะบรรลุนิพพาน นิพพานคือความดับทุกข์สิ้นเชิง ไม่มีส่วนเหลือ ถ้าการปฏิบัติใดเป็นไปเพื่อการบรรลุนิพพานมันก็ถูกต้องสำหรับที่จะบรรลุนิพพาน นั่นแหละคือความหมายของคำว่าถูกต้อง หรือความหมายของคำว่าธรรม ธรรม ธรรมะ คำว่าธรรมะนี้เป็นคำประหลาด ถ้าพูดกันให้หมดแล้วมันหมายถึงทุกสิ่ง ทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไรเป็นธรรมะหมด อย่างที่เคยพูดมาหลายครั้งหรือหลายสิบครั้งแล้วก็ได้ว่าธรรมะมีอยู่ ๔ ความหมาย ธรรม ธรรมะนี้มีอยู่ ๔ ความหมาย ธรรมะคือตัวธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง ธรรมะคือกฎของธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง แล้วก็ธรรมะคือผลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ มันมีอยู่ ๔ ความหมายว่าตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็หน้าที่ แล้วก็ผลที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ทีนี้เมื่อเราจะเอาธรรมะ เอาธรรมะเฉพาะที่เป็นความถูกต้อง ธรรมะเฉพาะที่เป็นความถูกต้อง มันก็ต้องเล็งถึงธรรมะความหมายที่ ๓ คือหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ดูตัวอย่าง เอ้อ, ไม่ใช่ดูตัวอย่าง ดูตัวจริงเลย ในตัวเรานี่ ตัวเรานี่เนื้อหนังร่างกายนี้มันเป็นธรรมชาติ แต่มันมีกฎของธรรมชาติบังคับเนื้อหนังร่างกายจิตใจอยู่ เป็นกฎที่บังคับอยู่นี้ก็เป็นกฎของธรรมชาติ ที่ไอ้เนื้อหนังร่างกาย ไอ้อัตภาพนี้ต้องมีหน้าที่ๆ หน้าที่ประพฤติปฏิบัติกระทำทำให้ถูกต้องตลอดเวลา นี่จึงมีความถูกต้องตามหน้าที่ของธรรมชาติอยู่ที่เนื้อที่ตัวเรา ที่เราทำอยู่ทุกวันๆนั่นแหละ นั้นมันมีความถูกต้องอยู่ที่นั่น แล้วเราก็ได้รับผลของความถูกต้องหรือการปฏิบัติอย่างถูกต้องคือความผาสุก อยู่กันผาสุกทั้งทางกายและทางใจ ถ้าสูงขึ้นไปก็ถึงทางวิญญาณคือผาสุกชนิดระดับสูงสุดเป็นพระนิพพาน เย็นเพราะความดับสนิทแห่งไฟ ไม่มีเชื้อเหลืออยู่สำหรับจะร้อนอีก นี่พ้นความถูกต้อง ความถูกต้องคือหน้าที่ที่จะประพฤติปฏิบัติถูกต้องต่อกฎของธรรมชาติ แต่ถ้าหากว่าเราจะเอามาเป็นเรื่องของการเรียนการศึกษา มันก็จะต้องเป็นความรู้ที่ถูกต้องหมดทั้ง ๔ ความหมาย ต้องถูกต้องกันหมดทั้ง ๔ ความหมาย คือรู้เรื่องธรรมชาติทั้งหลายอย่างถูกต้อง รู้เรื่องกฎของธรรมชาติทั้งหลายอย่างถูกต้อง รู้เรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติอย่างถูกต้อง แล้วรู้จักผลที่จะเกิดขึ้นอย่างถูกต้อง แม้แต่ผลนี้ยังสำคัญผิดได้นะ จึงต้องมีความถูกต้องทั้ง ๔ ความหมายแหละ แต่ถ้าเล็งเอาเฉพาะความหมายที่สำคัญมายึดเป็นหลักปฏิบัติกันแล้วก็เอาความหมายที่ ๓ คือหน้าที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ซึ่งจะต้องประพฤติปฏิบัติ มิฉะนั้นมันจะตาย หรือถ้าไม่ตายมันก็อยู่อย่างทนทุกข์ทรมาน ถ้าถูกต้องมันก็ไม่ตายแล้วก็อยู่อย่างเป็นผาสุก กระทั่งผาสุกถึงที่สุดในระดับที่เรียกว่าจิตที่ได้บรรลุพระนิพพาน นี้เรียกว่าความถูกต้อง ความถูกต้อง ขยายความเฉพาะข้อนี้ ช่วยฟังดูให้ดีๆว่าระบอบการปฏิบัติที่ถูกต้อง ระบอบการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะว่าการ ความถูกต้องหรือการถูกต้องมันมิใช่มีอย่างเดียว มีความถูกต้องหลายอย่างรวมกันเข้าเป็นระบอบการปฏิบัติของความถูกต้อง ถูกต้องแก่อะไร ก็ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ แล้วเท่าไร ก็ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขาทั้งเพื่อตัวเองและทั้งเพื่อผู้อื่นด้วย มันยาวหน่อยหนึ่ง แต่ก็สมบูรณ์ที่สุด ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขาทั้งเพื่อตนเองและทั้งเพื่อผู้อื่น นี่มันหมดแหละ ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วมันหมดจริงๆ ไอ้หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติมันมีเท่านี้
คำว่าถูกต้องในที่นี้เอาตามความหมายในหลักธรรมะ อย่าไปเอาความ ความหมายตามหลักที่พวกนักศึกษาวิชาศาสดาสมัยใหม่เขาพูดกัน ความถูกต้องทาง logic บ้าง ความถูกต้องทาง philosophy ความถูกต้องทางอะไรอีกหลายอย่าง มันเอายุติไม่ได้ เถียงกันจนบัดนี้ก็ยังไม่ยึดถือว่าถูกต้องคืออย่างไร ดีคืออย่างไร ชั่วคืออย่างไร ทางพุทธศาสนาเรามีเรื่องชัดเจน ง่ายแก่การทำความเข้าใจว่าก็ถ้าถูกต้องแล้วมันก็ไม่ทำอันตรายแก่ผู้ใด กลับมีคุณประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ถูกต้องหรือดีหรือในพุทธศาสนานี้มันมีความหมายชัดๆลงไปอย่างนี้ว่าไม่ทำอันตรายแก่ใครเลยทั้งสองฝ่าย ทำประโยชน์คุณแก่ทั้งสองฝ่ายนี้คือความถูกต้อง แล้วก็ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ ตั้งแต่คลอดท้องแม่ ตั้งแต่คลอดจากท้องแม่จนถึงเข้าโลง หรือจะดูวิวัฒนาการใหญ่ของโลก ก็ตั้งแต่โลกเริ่มมีมนุษย์แหละ มีมนุษย์ขึ้นมาจากสัตว์ หลังจากสัตว์ หลังจากสัตว์ก็มีมนุษย์ มันก็มีความถูกต้องๆ ถูกต้องเรื่อยมาจนถึงบัดนี้ แล้วก็จะต้องถูกต้องต่อไปจึงจะรอดอยู่ได้ ถ้าเกิดผิดพลาดขึ้นมาก็จะต้องวินาศ ไม่มีความถูกต้องเพื่ออยู่เป็นสุขได้แต่ต้นจนปลายไม่มีปัญหา ไม่ลึกซึ้งอะไร ไม่ต้องเถียงกันเรื่องว่าถูกต้องอย่างไร ไม่ถูกต้องอย่างไร จู้จี้หยุมหยิม เสียเวลาเปล่า และความถูกต้องนี้อยู่ในลักษณะที่มนุษย์ปฏิบัติได้ หมายความว่าถ้ามันดีเกินไป ไม่มีใครปฏิบัติได้ก็เสียเวลาเปล่าๆ เป็นความถูกต้องมีค่ามาก มีคุณค่ามาก แต่ก็อยู่ในวิสัยที่มนุษย์ตามธรรมดาสามัญประพฤติปฏิบัติได้ มันไม่เหลือวิสัยนี่เพื่อแม้จะ เพื่อไปนิพพานก็ไม่เหลือวิสัย ถ้าตรัส ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสสิ่งที่เหลือวิสัยมันก็เป็นหมัน พระองค์ตรัสในสิ่งที่มนุษย์ประพฤติปฏิบัติได้ นี่ก็คือความหมายของคำว่าถูกต้อง ถ้าถูกต้องดีทุกอย่างแล้วแต่มัน ใครปฏิบัติไม่ได้ก็เป็นยกเลิกหมด หาประโยชน์อะไรไม่ได้ ฉะนั้นความถูกต้องนี้มันต้องอยู่ในวิสัยที่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจะต้องได้รับด้วย และปฏิบัติได้ด้วย พอจะรับได้ด้วย พอที่จะปฏิบัติได้ด้วย ทีนี้จะพูดเผื่อไว้ก็ให้มัน เผื่อไว้ให้มันสะดวกนี่สำหรับการสังเกตจดจำก็ว่าถูกต้องทั้งทางปริยัติ ถูกต้องทั้งทางปฏิบัติ ถูกต้องทั้งทางปฏิเวธ คือถูกต้องสำหรับจะศึกษาเล่าเรียนก็เรียนถูกต้อง ถูกต้องสำหรับจะปฏิบัติก็ปฏิบัติถูกต้อง แล้วผลที่เกิดขึ้นก็ถูกต้อง เรียกกันง่ายๆว่าการเรียนรู้ก็ถูกต้อง การปฏิบัติการเรียนรู้นั่นก็ถูกต้อง แล้วผลก็ออกมาเป็นความถูกต้อง เป็นความถูกต้องทั้งทางการเรียนรู้ การปฏิบัติและผลของการปฏิบัติ ซึ่งเราเรียกกันในภาษาวัดว่าถูกต้องทางปริยัติ ถูกต้องทางปฏิบัติ ถูกต้องทางปฏิเวธ ถ้าถูกต้องอย่างนี้แล้วมันก็ถูกต้องสำหรับนิพพาน ถูกต้องสำหรับจะดับทุกข์สิ้นเชิง ไม่ใช่ถูกต้องไปทางไหน คำว่าถูกต้อง ถูกต้องนี่มุ่งไปสู่ความดับทุกข์สิ้นเชิงคือพระนิพพาน นิพพาน นิพพานนี่ก็เป็นปัญหา เป็นคำที่เป็นปัญหา ไอ้คนบางคนเขาก็เอาพระนิพพานไปไว้อีกหลายกัปป์หลายกัลป์ต่อจากนิพพาน แล้วก็หวัง แหงนหน้าหวังอย่างยิ่งกว่าสุนัขหวงก้าง แหงนดูก้าง หมาแหงนดูก้างยิ่งกว่านั้นไปเสียอีก เท่าไรๆมันก็ไม่ถึง เพราะว่านิพพานมันไม่ได้อยู่ไกลขนาดนั้น เมื่อนิพพานมันอยู่ที่นี่มันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่เมื่อไม่เกิดกิเลสในจิต เมื่อจิตไม่เกิดขึ้นในกิเลส เอ้ย, เมื่อกิเลสไม่เกิดขึ้นในจิต เมื่อจิตไม่มีกิเลส เมื่อจิตว่างไปจากกิเลส เมื่อนั้นภาวะของพระนิพพานย่อมปรากฏแก่จิต ทีนี้มันเป็นความโง่ของเราเอง ไม่สังเกตว่าเมื่อใดจิตว่างจากกิเลสบ้างก็ไม่สังเกต ดู ดูแล้วไม่มี ไม่มีความว่างจากกิเลสเสียเลย ทำไมไม่สังเกตดูว่าเมื่อไรจิตมันว่างจากกิเลส เวลานั้นเราสบายที่สุด นี่ขอให้ถามตัวเองดูว่าเมื่อไร เวลาไหนที่เราสบายที่สุด เมื่อเรากินอร่อย ฟังเพลงอร่อย ดูของสวยๆสบายที่สุด หรือว่าเมื่อจิตไม่มีอยู่ในกิเลสเลยเมื่อนั้นสบายที่สุด แม้แต่นอนหลับ อ้าว, นอนหลับแต่จิตไม่มีกิเลส ไม่ฝันไม่อะไรก็ มันก็สบายที่สุด แต่มันเป็นสบายชนิดที่มันไม่ ไม่ ไม่ตรงกับกิเลส คนมีกิเลสจึงไม่รู้สึกสบาย นี่เห็นไหม ไอ้ที่มันสบายแท้จริงตามแบบของพระพุทธเจ้านั่นน่ะมันไม่สบายแก่กิเลส ฉะนั้นคนมีกิเลสมันจึงไม่รู้สึกสบาย อย่างนี้เขาเรียกว่าความตรงกันข้ามระหว่างโลกียะกับโลกุตระ ไอ้ที่โลกียะว่าอร่อยหรือสบาย พวกโลกุตระสั่นหัว ไอ้พวกที่โลกุตระว่าอร่อยหรือสบาย พวกโลกียะก็สั่นหัว นี่เปรียบกับของบางอย่างที่มัน มันไม่ใช่ระดับของตัวนั้น เช่นถ้าแมงผึ้งมันก็สั่นหัวแก่ของเน่าของเหม็น เพราะมันยินดีแก่ของหอม ถ้ามันเป็นสุนัขมันก็ต้องยินดีแก่ของเหม็นของเน่า นี่เรียกว่ามันตรงกันข้ามอย่างนี้ ท่านใช้คำว่าอัญญะโต อัญญะโต มีอยู่โดยประการที่ตรงกันข้าม แจกไว้หลายอย่างต่อหลายอย่าง ไอ้ที่คนปุถุชนว่าเป็นทุกข์ พระอริยเจ้ากลับว่าเป็นสุข เช่นว่ามาอยู่ในป่าเงียบคนเดียวอย่างนี้ ปุถุชนมันว่าเป็นทุกข์ แต่พระอริยเจ้าว่าเป็นสุข เป็นที่พอใจ อะไรๆมันก็มีความหมายตรงกันข้ามไปเสียหมด นี่เราจึงไม่รู้จักนิพพานด้วยจิตที่มีกิเลส ด้วยจิตที่มีกิเลสเราไม่อาจจะรู้จักนิพพาน เมื่อจิตมีกิเลสเราไม่อาจจะรู้จักนิพพาน พอเมื่อใดจิตมันว่างจากกิเลสบ้างเมื่อนั้นจะรู้รสของพระนิพพาน ดังนั้นคอยจ้องให้ดีๆ คอยสังเกตศึกษาให้ดีๆว่าเมื่อไรจิตมันว่างจากกิเลสสักแวบหนึ่งให้รู้ตัวว่ามันมีรสอย่างไร เดี๋ยวนี้มันถูกลากไปอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทางกามคุณ ทางกามสุขัลลิกานุโยคกันเสียหมด จนไม่มีระยะว่างจากกิเลสเอาเสียเลย เอาเถอะแม้ที่สุดแต่ว่ามันจะว่างสักนิดหนึ่งเพราะมันเหน็ดมันเหนื่อยแล้ว มันอยากจะหยุดแล้ว ก็ยังพอสังเกตได้ว่าถ้าเมื่อไรจิตมันว่างจากกิเลสแม้แต่สักนิดหนึ่งมันก็เป็นไอ้ความสุขที่มีรสแปลก ตรงกันข้ามกับไอ้ความสุขของไอ้ชาวบ้าน ฉะนั้นมันอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงพูดได้ว่าไอ้ความสุขของชาวบ้านของปุถุชนคือเมื่อได้ตามใจกิเลส ทีนี้ความสุขของพระอรหันต์เมื่อ เมื่อไม่มีกิเลส เมื่อไม่ได้ตามใจของกิเลสเพราะไม่มีกิเลส ฉะนั้นปุถุชนเขาเอากิเลสเข้ามาจึงจะมีความสุขไปตามความรู้สึกของกิเลส พระอรหันต์ท่านไม่มีกิเลส ท่านก็เลยมีความสุขตามแบบที่มันไม่มีกิเลส มันเลยตรงกันข้าม แล้วอะไรๆก็จะหยั่งทราบได้โดยวิธีตรงกันข้าม ระหว่างโลกียะกับโลกุตระ หรือระหว่างปุถุชนกับพระอรหันต์อย่างนี้
ทีนี้วันนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นหนทางไปสู่นิพพาน หมายความว่าทางที่จะออกไปจากโลกีย์ โลกียะ หรือทางที่จะออกไปเสียจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า แล้วก็ไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ในที่สุด มีชีวิตอยู่กับนิพพาน นิพพานคือว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ว่างจากความร้อน เมื่อใดชีวิตนี้เป็นชีวิตเย็นก็เรียกว่าชีวิตนิพพาน มีความเย็นอกเย็นใจนั่นแหละเป็นความหมาย แล้วก็เป็นลักษณะสำหรับสังเกตนิพพานว่าเมื่อไรเย็นอกเย็นใจนั่นแหละจะเป็นนิมิตลักษณะสำหรับสังเกตนิพพาน ไม่ใช่เมื่อเวลาสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางอายตนะ ทางเนื้อทางหนัง นั่นมันเป็นเรื่องของกิเลส เป็นลักษณะของกิเลส ได้เหยื่อของกิเลส แล้วกิเลสก็พอใจ เป็นสุขสนุกสนานไปตามแบบของกิเลส แล้วเขาก็เรียกว่าความสุข ทีนี้พระอริยเจ้าท่านไม่ ท่านทำอย่างนั้นไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะมันฉลาดพอแล้วที่จะไปเห็นไอ้ความหลอกลวงของสิ่งเหล่านั้น มันก็เลยมาอยู่ที่ความไม่มีกิเลสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ล้วนแต่ไม่เป็นการเกิดกิเลส นี่จึงรู้รสของความไม่มีกิเลส เย็นเป็นพระนิพพาน นิพพานแปลว่าเย็น อยากจะพูดซ้ำๆซากๆให้โมโหกันเล่นบ้าง พูดแต่เรื่องเย็นๆ เย็นนี่ว่าเย็น เย็นนั่นแหละคือนิพพาน ถ้าวัตถุเย็นก็เป็นนิพพานของวัตถุ ถ้าสัตว์เดรัจฉานมันเย็น มันไม่มีพยศร้าย ก็เป็นนิพพานของสัตว์เดรัจฉาน ถ้าคนมีจิตใจเย็น ไม่มีกิเลส ก็เป็นนิพพานของคน ของสัตว์มนุษย์ วัตถุเช่นถ่านไฟแดงๆ ถ่านไฟแดงๆมันก็เป็นวัตถุ พอถ่านไฟแดงๆเย็นลงมาดำสนิท นั่นก็นิพพานของถ่านไฟ นิพพานของวัตถุ พูดอย่างนี้พวกอภิธรรมเขาด่า แล้วก็เคยรับมามากๆ มากพอแล้วว่านิพพานของวัตถุก็มี ทีนี้สัตว์เดรัจฉานเอามาจากป่า เอามาฝึกๆ ฝึกๆจนมันไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีพิษร้ายอะไร ไม่มีอันตรายอะไร เย็นสนิทแล้วก็เรียกว่าสัตว์ตัวนี้มันนิพพานแล้ว มันไม่มีอันตรายอะไรจะเกิดขึ้นแล้ว นี่เป็นนิพพานของสัตว์ ทีนี้ถ้าคนเราหมดกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นเหมือนไฟนี่ดับเสียได้ เย็นแล้วมันก็เป็นนิพพานของคน ทีนี้ก็ต่อรองกันว่าแม้แต่ถ่านไฟมันยังนิพพานได้ แล้วทำไมคนนิพพานไม่ได้ มันขายขี้หน้าไหม แม้แต่สัตว์มันยังนิพพานได้ แล้วทำไมคนจะนิพพานไม่ได้ สัตว์หมดพยศร้าย สนิทสนม มันยังเป็นนิพพานได้ แล้วคนเป็นไม่ได้ มันก็ขายขี้หน้าสัตว์ นี่จะพูดอย่างนี้ยั่วโมโหให้กันลืม นิพพานแปลว่าเย็น นิพพานแปลว่าเย็น จะของวัตถุก็ได้ ของสัตว์ก็ได้ ของคนก็ได้ ถ้าเป็นคนก็ขอให้มีความเย็นที่เนื้อ ที่ตัว ที่กาย ที่วาจา ที่จิต ที่ใจ ที่ความคิดนึก ความรู้สึกอะไรให้มันเย็นๆ เย็น คำว่านิพพานแปลว่าเย็น เป็นภาษาชาวบ้าน ทีนี้พอไปเป็นภาษาธรรมะชั้นสูงก็คือเย็น เพราะไม่มีกิเลสคือไฟ เย็นภาษาชาวบ้านเพราะไม่มีไฟในเตามันก็เย็น ถ้าเย็นภาษาธรรมะก็เย็นเพราะมันไม่มีกิเลสซึ่งเป็นไฟในหัวใจแหละ แล้วมันก็เย็น เรียกว่าเย็นด้วยกันทั้งนั้นแหละ แต่เรื่องมันต่างกันที่ว่าจะเป็นวัตถุหรือจะเป็นสัตว์หรือว่าจะเป็นคน ไอ้ความถูกต้องของธรรมะนั้นถูกต้องเพื่อไปถึงนิพพาน ถ้าถูกต้องแล้วจะไม่ไปไหน มีแต่จะไปนิพพาน พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ชัดเจน ตรัสแล้วตรัสเล่า มีพบหลายสิบแห่งในพระบาลีว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เอียงไปทางนิพพาน น้อมไปทางนิพพาน เงื้อมไปทางนิพพาน ไหลไปทางนิพพาน เทไปทางนิพพาน มีแต่อย่างนี้แหละ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เมื่อประพฤติถูกต้องแล้วมัน มันมีความลาดเอียงไปเองไปทางนิพพาน ทีนี้พอคนถึงอริยมรรค ถึงแนว ถึงกระแสแห่งอริยมรรคมันก็เอียงไปทางนิพพาน มันเหมือนกับกลิ้งครกลง ลงภูเขานั่นมันง่ายขนาดนั้น ขอให้ไปถึงแนวหรือกระแสของอริยมรรคเถิด แล้วการไปสู่นิพพาน บรรลุนิพพานนั้นจะง่ายเหมือนกับกลิ้งครกลงภูเขา หรือเหมือนกับเด็กๆถีบรถจักรยานลงสะพานขาลง ด้านลง มันคล่องอย่างนั้น อริยมรรคมีลักษณะลาดเอียงเทไปสู่พระนิพพาน เราก็พยายามที่จะดำรงตนให้ได้ ให้อยู่ในแนวของอริยมรรคให้ได้ แล้วชีวิตนี้ก็ลาดเอียงเทไปทางนิพพานไปสู่ความเย็นตามลำดับ ตามลำดับไปถึงประตูพระนิพพานเขาเรียกว่าโสดาบัน นี่เรียกว่า อมตทฺวารํ อาหจฺจ เป็นคุณลักษณะของพระโสดาบันองค์หนึ่งในหลายๆองค์ องค์นี้น่าฟังมากเรียกว่า อมตทฺวารํ อา อาโอหจฺจ ก้าวถึงประตูพระนิพพาน เอ้า, ทีนี้ก็เข้าไปๆ เข้าไปถึงที่สุดหมดแล้วก็เป็นพระอรหันต์ ยังไม่ถึงที่สุดก็เป็นพระสกิทาคามี อนาคามี พอก้าวข้ามพ้นประตูทั้ง ๒ ขาก็เป็นพระสกิทาคามี เข้าไปถึงลึกเกินครึ่งแล้วไม่อยากกลับมาอีกก็เป็นอนาคามี ก็อยู่ครองนครนิพพาน เป็นพระโสดา เป็นพระอรหันต์ นี่พูดสมมตินะ เปรียบนะ ไม่ ไม่ใช่เรื่องเป็นอย่างนี้นะ เดี๋ยวเข้าใจว่าเป็นเรื่องเป็นของ เป็นบ้านเป็นเมืองอย่างนี้อีกก็ยิ่งผิดกันใหญ่ แม้พระพุทธเจ้าเองท่านก็ตรัสภาษาเปรียบ คำเปรียบเทียบ จึงตรัสว่า อมตทฺวารํ โอหจฺจ มาถึงจรดประตูพระนิพพาน ถ้าฟังไม่ดีพระนิพพานก็เป็นบ้านเป็นเมือง เป็นตึกเป็นวัง เป็นอะไรไปแล้วผิดไปกันใหญ่เลย เป็นคำเปรียบเทียบว่าจิตนี้สูงขึ้นมาตามลำดับ ตามลำดับแล้วก็เป็นอย่างนี้ๆ
ทีนี้การที่จะไปสู่นิพพานต้องเป็นการเดินทางที่ถูกต้อง ทางที่ถูกต้องคืออริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ที่พระองค์ทรงแสดงในฐานะเป็นธรรมจักร ธรรมจักร ธรรมจักรนั่นคือความถูกต้อง ๘ ประการ เป็นตัวธรรม เป็นตัวธรรมะ เป็นตัวทางที่จะเข้าไปสู่พระนิพพาน ธรรมจักรคืออริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ไอ้ธรรมจักรการเดิน การเดินหรือการก้าวไป ตัวอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนั่นแหละเรียกว่าเป็นการเคลื่อนไป เคลื่อนไปเหมือนกับจักรหมุนไป จักรหมุนไป จักรหมุนไป ล้อหมุนไป ล้อหมุนไปแล้วก็ไปถึงจุดที่หมายปลายทางคือพระนิพพาน ฉะนั้นเราเอาใจความสำคัญตรงที่ว่าธรรมะของธรรมจักรก็ได้ เรียกว่าธรรมจักร แต่เอาตัวธรรมะคำเดียวออกมาก็ได้ แล้วมากระจายเป็นความถูกต้อง ๘ ประการคืออริยอัฏฐังคิกมรรค และอริยอัฏฐังคิกมรรคนี้มันก็เป็นความถูกต้อง ๘ ประการ เป็นพระธรรมที่ประกอบอยู่ด้วยองค์ประกอบ ๘ ประการ ถ้าเรามีชีวิตอยู่อย่างถูกต้องตามองค์ ๘ ประการนี้ ก็เพื่อว่ามีชีวิตเป็นธรรม มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต คือชีวิตที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะธรรมะคือความถูกต้อง ความถูกต้องมีองค์ ๘ ประการ ดังนั้นการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนี่เรียกว่ามีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ ขอให้ทุกคนสนใจคำว่ามีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ ก็จะไม่เสียที ไม่เสียทีหลายๆอย่างแหละ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบกับพุทธศาสนาแหละ ถ้าตั้งใจที่จะมีชีวิตเป็นธรรมะ ตั้งใจที่จะมีธรรมะเป็นชีวิตแล้วก็จะไม่เสียทีที่ได้พบพระพุทธศาสนาแหละ แล้วความเป็นมนุษย์ของเขาก็ไม่เป็นหมันนะ ความเป็นมนุษย์ก็จะได้ การได้ที่ดี คือยิ่งๆขึ้นไปจนที่สุดที่มันจะดีได้ จนพ้นดีเหนือดี จะเป็นสภาพว่าง ไม่มีปัญหาอะไรเลย มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต นี่เราพูดอย่างความหมาย ถ้าพูดอย่างเป็นศัพท์เป็นแสง เป็นคำสั้นๆก็ว่าธรรมะชีวี ธรรมะชีวี ธรรมะคือธรรมะ ชีวีคือมีชีวิต ธรรมะชีวีคือมีชีวิตเป็นธรรมะ ธรรมะชีวี วันนี้ตั้งใจจะพูดเรื่องธรรมะชีวี เพราะว่าธรรมะนี่ หมายถึงพระธรรมที่เป็นพระธรรมจักร ประกอบอยู่ด้วยองค์ ๘ ประการ ทำให้ไหลไปสู่พระนิพพาน กระแสธรรม กระแสของพระธรรม ผู้ที่ตกไปในกระแสของพระธรรมแล้วไม่มีไปไหน เอียงไปทาง ไปทางพระนิพพาน เช่นเปรียบไว้ว่าเหมือนกับแม่น้ำ แม่น้ำทุกสายเอียงไปหาทะเลทั้งนั้น ถ้าได้พลัดตกลงไปในแม่น้ำแล้วมันก็ง่ายที่จะลอยไปตามกระแสน้ำไปสู่ทะเล ไปถึงปากอ่าวปากทะเล มันก็แน่นอนที่จะถึงทะเล นี้เราก็จะมีธรรมะชีวีคือชีวิตที่ประกอบไปด้วยธรรมะ องค์ ๘ ประการนั่นแหละปฏิบัติเข้า มันก็จะมีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต เพราะคำว่า ธรรมะหมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ฉะนั้นขอให้สนใจกันสักหน่อยที่ว่าองค์ ๘ ประการนี้จะเป็นธรรมะชีวีนี้ได้อย่างไร ข้อปฏิบัติที่ประเสริฐที่สุดของพระพุทธศาสนาก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ดังนั้นถ้ามีอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการเป็นหลักปฏิบัติอยู่แล้วมันไม่เกิดความทุกข์ได้โดยประการใดๆ มันไม่เกิดความทุกข์ได้นี่ ถ้ามีชีวิตอยู่อย่างนี้แล้วมันไม่เกิดความทุกข์ได้ หรือถ้ามันเคยเกิดความทุกข์อยู่แต่ก่อน แล้วก็มาดำรงตนอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการแหละไอ้ความทุกข์มันก็จะดับไป แล้วทางดำเนินไปสู่ความดับทุกข์นี่ความหมายแท้จริงมันอยู่ที่ป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้เลย นั่นแหละธรรมะชีวี มีชีวิตอยู่ชนิดที่ความทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้เลย ขอร้องให้ทุกคนที่ได้ยินได้ฟังนี้ ทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็ก ทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ จงสนใจคำว่าธรรมะชีวี ธรรมะชีวีติดไปด้วย กลับไปบ้านคราวนี้ขอให้เอาคำว่าธรรมะชีวี ธรรมะชีวีติดใจกลับไปบ้านด้วย เพื่อว่าเราจะมีชีวิตอยู่เป็นธรรมะชีวี มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต ที่จะมีธรรมะเป็นชีวิตก็จะต้องประกอบไปด้วยการประพฤติปฏิบัติในอริยมรรคมีองค์ ๘ มันเป็นทางให้ถึงพระนิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสว่าทางนี้เท่านั้น ทางอื่นไม่มี เอเสว มคฺโค นตฺถญฺโญ ทางนี้เท่านั้น ทางอื่นไม่มี อย่างนี้เป็นคำที่ทรงย้ำไม่มีหรอก ถึงที่สุดแล้ว ทรงย้ำถึงที่สุดแล้ว ภาษาบาลีถ้าว่า เอเสว มคฺโค เอโส เอว มคฺโค หมายความว่าย้ำกันถึงที่สุด รับประกันที่สุด ยืนยันที่สุดว่าทางนี้เท่านั้น ทางอื่นไม่มี เอเสว มคฺโค นตฺถญฺโญ ทสฺสนสฺส วิสุทฺธิยา ทางนี้เท่านั้น ทางอื่นไม่มี ก็จะแจ่มแจ้งแก่พระนิพพาน
เอ้า, ทีนี้มาดูไอ้ ๘ ประการนี้กันสิว่ามันเป็นทางเพื่อ เพื่อพระนิพพานอย่างไร ถูกต้องๆ ทางนี้ถูกต้อง ทางนี้ถูกต้อง นี่ข้อแรก ทางนี้ถูกต้อง ทีนี้ถูกต้องๆนี้ประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการ จำ ๘ ประการไว้ ในทางกายมี ๒ ประการ ทางวาจามี ๑ ประการ ทางจิตมี ๓ ประการ ทางสติปัญญามี ๒ ประการ รวมกันเป็น ๘ ประการ ทางกายมี๒ ประการคือสัมมากัมมันโต ประพฤติกายกรรมอยู่อย่างถูกต้อง สัมมาอาชีโว ดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง ๒ ประการทางกาย คือว่ามีการงานถูกต้อง มีการดำรงชีวิตถูกต้อง การงานที่กระทำๆไปนั่นแหละต้องถูกต้องนะ แล้วก็ดำรงชีวิตอยู่ก็อย่างถูกต้อง ไอ้การงานถูกต้องคือไม่ทำอันตรายใคร ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน การงานนั้นเรียกว่าเป็นการงานถูกต้อง ท่านจำแนกไว้เป็นไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงกาเม ไม่อะไรเหล่านี้ทั้งหมดแต่ว่าเราจะมาเรียกสั้นๆสักคราวเดียวว่าไม่ทำอันตรายใคร ถ้าประทุษร้ายชีวิตและร่างกายของเขาก็ขาดปาณาติบาต ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของเขาก็ขาดอทินนาทาน ประทุษร้ายของรักของเขาก็ขาดกาเมสุมิจฉาจาร มันล้วนแต่มันผิดทั้งนั้นนี่ มันประทุษร้ายทั้งนั้น ทีนี้ก็ไม่ทำใครเดือดร้อน ไม่ประทุษร้ายใคร การงานของเราก็ชื่อว่าถูกต้อง ทีนี้ดำรงชีวิตอยู่นี่ความหมายมันกว้าง อาชีวะนี่แปลว่าดำรงชีวิตอยู่ จะหามา จะมีไว้ จะกินจะใช้ จะจ่ายจะทำอะไรทุกๆอย่าง กี่อย่างกี่ประการในบ้านเรือนเรียกว่าดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง มันก็เหมือนกันอีกแหละถ้ามันทำอันตรายผู้ใด หรือถ้าอันตรายตัวเองแล้วก็ไม่ถูกต้องแล้ว มันโง่แล้ว ต้องไม่ทำอันตรายผู้ใด กลับเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ทุกฝ่ายนี้เรียกว่าถูกต้อง ฉะนั้นขอให้มีการกระทำการงานถูกต้อง มีการดำรงชีวิตถูกต้อง ก็จะเรียกว่ามีความถูกต้องทางกาย ๒ ประการ ทีนี้มีความถูกต้องทางวาจา ๑ ประการ เรียกว่าสัมมาวาจา มีวาจาถูกต้อง ตัวอย่างชัดๆไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ คือไม่พูดเท็จหลอกลวง แล้วก็ไม่พูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกสามัคคีกัน นินทาว่าร้ายกัน แล้วก็ไม่พูดคำหยาบซึ่งไม่มีใครประสงค์จะฟัง แล้วก็ไม่พูดเพ้อเจ้อ พูดบ้าน้ำลาย พูดไร้สาระทั้งวันก็ไม่มีประโยชน์อะไร นี่ตัวอย่างของการพูด ถ้าว่าทำไปอย่างนั้นมันเรียกว่า ผิด ถ้าไม่ทำอย่างนั้นเรียกว่ามันถูก วาจาถูกต้องคือไม่มีวาจาชนิดนั้น มีแต่วาจาที่ ที่จริง มีวาจาที่สมัครสมานให้คนรักสามัคคีกัน มีวาจาที่ไพเราะชวนฟัง แสดงความเป็นมิตร แล้วก็มีวาจาที่มีประโยชน์ทุกคำ ทุกคำที่เขาพูดออกไป เป็นวาจาที่มีประโยชน์ นี่วาจาที่ประกอบด้วยลักษณะอย่างนี้เรียกว่าวาจาชอบ ท่านมารวมเรียกกันเสียหมดทีเดียวว่าวาจาชอบ ก็เรียกว่ามี ๑ มี ๑ ข้อคือ สัมมาวาจา มีวาจาชอบ ทีนี้ก็มีทางจิต ๓ ประการ ถูกต้องทางจิต ดำรงจิตถูกต้อง สัมมาวายามะคือมีความพากเพียร มีความพยายาม มีความตั้งใจพยายาม พยายามนี่แต่ในทางที่ถูกต้อง อย่าให้มีความพยายามเพื่อความไม่ถูกต้องเป็นอันขาด แล้วก็มีสติระลึก ระลึกถึงความถูกต้อง มีความรู้เรื่องความถูกต้อง แล้วก็ระลึกถึงความถูกต้องได้ทันทีทันเหตุการณ์ มีอะไรเกิดขึ้นมีสติระลึกได้ถูกต้องทันทีทันเหตุการณ์ นี่เรียกว่ามีสติถูกต้อง ทีนี้มีสัมมาสมาธิ ตั้งใจไว้มั่นอย่างถูกต้อง จิตที่ตั้งไว้มั่นนั่นมั่นผิดๆก็มี ตั้งมั่นไว้ผิดๆก็มีเรียกว่ามิจฉาสมาธิ ถ้าตั้งไว้ถูกต้องเรียกว่าสัมมาสมาธิคือมันจะเป็นไปแต่ประโยชน์ เป็นไปแต่ในทางที่เป็นประโยชน์ ส่วนมิจฉาสมาธินั้นมันๆ มันทุจริตแหละ มันมีความหวังทุจริต มีการใช้ทุจริต มีความผิดอยู่ในสัมมาสมาธินั้น ในสมาธินั้นเรียกว่ามิจฉาสมาธิ ดังนั้นจิตนี้จะต้องพากเพียรแหละ พากเพียรบากบั่น ก้าวหน้าอยู่อย่างถูกต้อง จิตนี้จะต้องมีสติระลึกรู้สึกตัวอยู่อย่างถูกต้อง จิตนี้จะต้องมีสมาธิคือความตั้งมั่นลงไปอย่างถูกต้อง ๓ ประการนี้เรียกว่าถูกต้องทางจิต
ทีนี้ทางสติปัญญาอีกสอง ๒ อย่าง สัมมาทิฏฐิ มีความเห็น มีความคิดเห็นถูกต้อง ไม่ๆ ไม่ไปนอกทางของความถูกต้อง คือไม่ไปนอกทางของพระนิพพานก็แล้วกัน ถ้าความคิดเห็นนั้นมันเป็นไปในทางของพระนิพพานแล้วก็เรียกว่าถูกต้อง มีทิฏฐิความคิดเห็นถูกต้อง แล้วก็ขยายความออกไปได้ มีความเชื่อก็ถูกต้อง มีความเข้าใจก็ถูกต้อง มีอะไรๆที่มันเกี่ยวกับความคิดนึกแล้วมันก็ถูกต้องทั้งนั้น จะเรียกว่าเข้าใจถูกต้องก็ได้ คิดเห็นถูกต้องก็ได้ เชื่อถูกต้องก็ได้ ก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิได้เหมือนกัน ทีนี้อย่างที่ ๒ สัมมาสังกัปโป ความน้อมเอียงแห่งจิต ความต้องการของจิตมันถูกต้อง ถ้าความเห็นความคิดมันถูกต้องแล้วจิตมันย่อมจะน้อมเอียงไปในทางถูกต้อง คือมันจะปรารถนาไอ้สิ่งที่ควรจะปรารถนา สังกัปปะ สังกัปปะนี้ก็แปลว่าไอ้ความต้องการนั้นเอง เป็นคำกลางๆ ต้องการอย่างกลางๆนี่ใช้คำว่าสังกัปปะ ถ้าต้องการด้วยกิเลส ตัณหา อวิชชา นั่นเขาเรียกว่าตัณหา ความอยากด้วยความโง่ด้วยอวิชชานั่นแหละเรียกว่าตัณหา ความอยากอย่างนั้นเรียกว่าตัณหา นี่ความอยากอย่างกลางๆไม่เกี่ยวกับกิเลสหรือว่าความอยากที่มันประกอบอยู่ด้วยสติปัญญา สัมมาทิฏฐินี้เรียกว่าสังกัปปะ ท่านจึงใช้คำว่าสัมมาสังกัปโป มีความดำริถูกต้อง ดำริคือความน้อมเอียงของจิต ย่อมน้อมเอียงไปตามความต้องการ ถ้ามันมีความเห็นผิดมันก็ต้องการผิด ถ้ามันมีความเห็นถูกมันก็ต้องการถูก เดี๋ยวนี้มันอยู่กับสัมมาทิฏฐิ มันก็เลยเป็นความต้องการที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าความต้องการแล้วจะเป็นกิเลสไปเสียหมด มีบุคคลบางพวก สำนักบางสำนักน่ะเขา เขาสอนว่าถ้าเกิดต้องการแล้วเป็นโลภะหมด เป็นกิเลสหมด เราบอกว่าไม่ใช่ มัน มันต้องดู มันต้องการด้วยอะไร ต้องการด้วยกิเลสหรือต้องการด้วยปัญญา ถ้าต้องการด้วยปัญญามันก็ไม่ใช่กิเลส ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่ตัณหา เดี๋ยวนี้สัมมาสังกัปปะนี้มันต้องการด้วยอำนาจของสัมมาทิฏฐิ มันรู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร ฉะนั้นขอให้มีสัมมาสังกัปโป คือความดำริชอบด้วยอำนาจของสัมมาทิฏฐิ ที่พระให้พรว่าให้สังกัปปะของท่านเต็มเปี่ยมเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ เหมือนแก้วมณีโชตินั่นหมายความอย่างนี้ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา นั่นคือความต้องการของท่านเต็มเปี่ยมได้ อย่างนี้ไม่ใช่กิเลสหรอก เพราะมันเป็นความถูกต้อง แล้วมีความต้องการใฝ่ฝันไปในทางของความถูกต้อง อย่าเอาสัง สังกัปปาไปปนกับตัณหา ตัณหาเป็นความต้องการของกิเลส สังกัปปาเป็นความถูกต้องของสติปัญญา เอ้า, เดี๋ยวนี้เราก็มีความเห็นถูกต้อง มีความต้องการถูกต้อง ซึ่งขึ้นอยู่กับสัมมาทิฐิ ก็เลยเป็นถูกต้องทางสติปัญญา แยกออกมาเสียจากจิต ก็มันเป็นเรื่องของจิต อาศัยอยู่ที่จิต แต่มันไม่ใช่จะเรียกว่าตัวจิต มันเป็นสติปัญญาที่จะนำจิต ในพระบาลีอาจจะรวบรัดเป็นเพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือทางกายและทางจิต แต่นี้มันแยกให้ชัดให้กว้างออกไป ให้เห็นง่ายๆว่ามันมีทางกาย มีทางวาจา มีทางจิต มีทางสติปัญญา
ทีนี้ก็มีข้อที่ควรจะสังเกตว่าในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นพระพุทธเจ้าทรงแสดงทางสติปัญญาก่อนนะ นี้ที่อาตมามาแสดงลำดับใหม่นี้เพื่อให้มันเข้าใจง่ายว่ากาย แล้ววาจา แล้วจิต แล้วสติปัญญา แต่ในพระบาลีแท้ๆท่านแสดงสติปัญญาก่อน สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา เอ่อ สัมมาสัง สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป แล้วจึงแสดงสัมมาวาจา กัมมันโต สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว นี่ทางกายกับทางวาจารวมกัน แล้วแสดงทางจิตเป็นสัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ พระพุทธเจ้าท่านแสดงเรื่องปัญญา เรื่องสัมมาทิฏฐิก่อนในฐานะว่ามันเป็นผู้นำ ต้องมาก่อน เดี๋ยวนี้เราแสดงให้ง่ายตามหลักธรรมดาทั่วไป ตามความต่ำความสูง ตามความหยาบความละเอียด จึงแสดงเรื่องกาย เรื่องจิต แล้วเรื่องสติปัญญาโดยนิตินัย โดยนิตินัยคือสำหรับพูด แต่ถ้าโดยพฤตินัยที่จะเป็นไปโดยแท้จริงแล้วก็ต้องเอาไอ้สติปัญญามาก่อน สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ดำริชอบนั่นมาก่อน พอเห็นชอบ ดำริชอบแล้วไม่ต้องกลัวหรอก ไอ้กาย วาจา อาชีวะมันก็เดินตาม ก็ชอบไปหมดแหละ ทีนี้ก็ส่งท้ายด้วยจิตถูกต้องคือวายามะ พากเพียรถูกต้อง สติระลึกอยู่ถูกต้อง สมาธิตั้งใจมั่นอยู่อย่างถูกต้อง มันก็เลยไปกันถูกต้องทั้งหมดทั้งขบวน ที่ว่ามีสัมมาทิฏฐินำหน้านั้นน่ะสำคัญมาก เพื่อไม่ให้ ไม่ให้มันผิด ไม่ให้มันเชื่อผิด ไม่ให้มันทำผิด มันต้องมีความรู้เป็นปัญญาก่อน แล้วจึงกาย วาจาจะถูกต้อง หรือเป็นปัญญาก่อนแล้วศีล สมาธิก็จะถูกต้อง ถ้าปัญญาไม่มาก่อน แล้วศีลหรือสมาธิก็เข้ารกเข้าพงไปหมดแหละ มันไปหลงเอานั่นมาเป็นนี่ เอานี่มาเป็นนั่น ไปสำคัญมั่นหมายจนเกิดสีลัพพัตตปรามาส ถ้าปัญญาไม่มาก่อน แล้วการประพฤติกระทำจะเป็นสีลัพพัตตปรามาส แล้วเราก็มักจะเป็นอย่างนั้นกันมาทั้งนั้นแหละ เพราะว่าเราคลอดมาจากท้องแม่ เราไม่มีปัญญา เราเคว้งคว้างมาตามสีลัพพัตตปรามาสกันก่อนจนเป็นนิสัย หรือจะมาแก้ไข ลูกเด็กๆเกิดมานี้ถูกพ่อแม่ทำให้เป็นไสยศาสตร์หมด ไปหวังพึ่งสิ่งที่ไม่รู้ว่าอะไร หวังพึ่งผู้อื่น หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หวังพึ่งไปเป็นไสยศาสตร์หมด ลูกเด็กๆตั้งต้นด้วยไสยศาสตร์ โตขึ้นมา โตขึ้นมาก็ค่อยๆรู้ ค่อยๆรู้ จนเข้ามาสู่พุทธศาสนาจึงขจัดไสยศาสตร์นั้นออกไป มาถึงพุทธศาสตร์เหตุผลตามกฎเหตุปัจจัยอิทัปปัจจยตา เป็นต้น เรียกว่ามันเกิดมานี้มันไม่ ไม่เป็นผิดไม่เป็นถูกหรอกเด็กทารกคลอดออกมา แต่พอเด็กทารกคลอดออกมาแล้วพ่อแม่นี่จะสอนไปในรูปไสยศาสตร์ทั้งนั้น มันเป็นประเพณี ขนบธรรมเนียมประเพณี สอนให้เชื่อในลักษณะที่ไม่มีเหตุผล ให้ไหว้ไปก่อน ให้รับศีลไปก่อน ให้สวดมนต์ไปก่อนอะไรอย่างนี้ ลักษณะที่ว่าศักดิ์สิทธิ์ขลังทั้งนั้น นั่นแหละคือไสยศาสตร์แหละ แล้วมันก็ไปไม่ได้หรอก ถ้า ถ้าติดอยู่แค่อย่างนั้น แล้วมันก็เป็นสีลัพพัตตปรามาส เป็นสังโยชน์ตัวแรกที่สุดที่จะต้องละเพื่อจะเป็นพระอริยเจ้า คนที่เรียนธรรมะมาแล้วก็รู้ว่าต้องละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพัตตปรามาสกลุ่มนี้ก่อน แล้วก็จะค่อยๆไปตามทางของพระอริยเจ้า เด็กทารกเกิดมาก็ถูกสอนให้เป็นสีลัพพัตตปรามาส ทีนี้มันก็แล้วแต่ว่าจะเป็นโชคดีของใคร ของคนๆไหน เติบโตขึ้นมาแล้วเราก็ค่อยรู้ความจริงของสิ่งเหล่านี้ มันก็ถอนความหมายแห่งไสยศาสตร์ออกมาเสียได้ ยกตัวอย่างเช่นว่า เมื่อเป็นเด็กๆเขาสอนให้ไหว้พระ เพราะว่าดี เพราะว่าได้บุญ เพราะว่าจะได้สวยได้รวยอะไรต่างๆนี้ก็เป็นไสยศาสตร์ ต่อมาเด็กๆนั้นมันก็เรียนรู้ขึ้นมาเอง รู้ขึ้นมาเองว่าพระนั้นคือผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ไม่มีความทุกข์ เราไหว้พระมันก็ได้ไอ้ความดีอย่างนี้
นี่ค่อยๆถอนความเป็นไสยศาสตร์ออกไปๆ ดังนั้นอาตมาก็ไม่ได้โทษใคร ไม่ได้ติเตียนใครที่ว่ายังมีไสยศาสตร์เหลือกับภายหลังมาบ้าง มันๆ มันยากเหลือเกินแหละที่มันจะให้มันหมดไป มันก็เหลืออยู่บ้าง เหลืออยู่บ้างแต่ขอให้มันน้อยลง ให้มันน้อยลง ให้ไสยศาสตร์มันน้อยลง ให้เป็นพุทธศาสตร์มากขึ้น จนเป็นพุทธศาสตร์เต็มตัวก็จะไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบกับพระพุทธศาสนาคือไสยศาสตร์ นี่รู้ความจริง รู้ปัญหาอันแท้จริงกันไว้อย่างนี้เถิด ไม่ต้องละอาย ไม่ต้องละอาย ไม่ต้องหลบเลี่ยง เพราะมันได้เป็นมาอย่างนั้นจริง พอเกิดมาไม่มี ไม่มีเด็กคนไหนที่ได้รับคำสั่งสอนเรื่องมรรคผลนิพพาน ถึงพูดมันก็ฟังไม่ถูก ไอ้เด็กทารกมันก็ฟังไม่ถูก มันก็ต้องสอนระดับที่มันฟังถูก ฟังถูก ให้มันยึดถือไว้ก่อนแหละ ปล่อยให้มันว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต ทั้งที่มันไม่รู้ว่าอะไรมันก็ว่าไปก่อนด้วยความคิดว่าดีๆ ดีๆ จะสวย จะรวย จะได้บุญ จะมีความสุขมันก็ยึดถืออย่างนี้ไปก่อน กว่าจะรู้ทีหลังว่า นะโม นี้คืออะไร อิติปิโส นี้คืออะไร แล้วก็รู้ๆ รู้เหมือนที่เรารู้เดี๋ยวนี้ มันผิดกับที่รู้เมื่อทีแรกที่คนผู้ใหญ่เขาสอนให้เราว่าเมื่อเรายังเป็นทารกอยู่นั่น ถ้าเรายังเป็นอย่าง อย่างนั้นอยู่ เราก็เป็นทารกหัวหงอก เป็นทารกอายุร้อยปีแหละ หัวหงอกมัน มันอย่างนั้น มันไม่ได้แล้ว มันต้องเลื่อนแล้ว มันต้องเลื่อนแล้ว มันต้องรู้เรื่อง นะโม อิติปิโส ปาณาติปาตา สูงขึ้นมา สูงขึ้นมาจนพ้นจากความเป็นทารก นี่ความก้าวหน้าผ่านมาตามลำดับ สัมมาทิฏฐิสำคัญอย่างนี้ สัมมาทิฏฐิต้องนำมา นำมาเป็นทัพหน้า เป็นกองทัพหน้าตีบุกเข้าไปในเมืองของพญามารคือกิเลสตัณหาอันเป็นรากฐานของไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์ตั้งรากฐานอยู่บนความไม่รู้ กระทั่งเป็นกิเลสตัณหา ส่วนพุทธศาสตร์ตั้งรากฐานอยู่บนสติปัญญาคือความรู้ มันตรงกันข้ามอย่างนี้ คำว่าไสยะ ไสยะนี่ตามภาษาบาลีแปลว่าหลับนะ พุทธะ พุทธะนี่แปลว่าตื่นนะ ดูสิหลับกับตื่นนี่มัน มันตรงกันข้ามอย่างไร ถ้าถือไสยศาสตร์ก็ศาสตร์สำหรับหลับ หลับไปเรื่อยต่อไป ถ้าพุทธศาสตร์ก็ตื่นลืมตา แล้วก็รู้ถูกต้องตามที่เป็นจริง แต่เดี๋ยวนี้เราเกิดมาจากท้องแม่เป็นทารกมันถูกมอบให้ด้วยไสยศาสตร์ ถูกมอบหมายด้วยไสยศาสตร์ ถูกอาบย้อมไว้ด้วยไสยศาสตร์เพราะว่ามันเป็นหนทางที่จะดึงขึ้นมา มันไม่มีทางอื่น การที่อยากได้อยากดี อยากอร่อยอยากอะไรต่างๆนี่มันเป็นเครื่องดึงขึ้นมา เรียกว่าสวรรค์สมบูรณ์ด้วยกามารมณ์ นี้เด็กๆมันก็ว่าดี มันก็ถูกดึงขึ้นมาอยากได้สวรรค์ แต่พอโตขึ้นมาได้เกี่ยวข้องกับไอ้สิ่งที่เรียกว่าสวรรค์มากเข้าๆมันก็ค่อยๆสั่นหัวเอง มันก็ค่อยอยากจะเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านี้ ก็อยากจะหลุดพ้นจากวิมุติ หลุดพ้นจากอำนาจของสิ่งเหล่านี้ นี่คือจะมาสู่มรรคผลนิพพาน เด็กทุกคนโตขึ้นมามันก็จะต้องค่อยๆรู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นไสยศาสตร์ อะไรเป็นพุทธศาสตร์ แล้วก็เดินให้ถูกหนทาง มันก็ออกมาเสียได้จากไสยศาสตร์มาสู่พุทธศาสตร์ มันก็มีหวังที่จะบรรลุถึงพระนิพพาน นี่อย่างนี้ก็เรียกว่าตื่นแล้ว ตื่นแล้ว เป็นพุทธบริษัทแล้ว ลืมตาแล้ว ไม่หลับตาแล้ว เป็นพุทธศาสตร์แล้ว เดี๋ยวนี้พระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรมในวันนี้ แสดงความเป็นพุทธศาสตร์คือลืมหูลืมตา รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร อย่าไปเอาเรื่องหย่อนเรื่องตึง อย่าไปเอาเรื่องเปียกเรื่องแห้ง อย่าไปเอาเรื่องคู่ตรงกันข้ามแบบนั้นเลย เอาตรงกลาง เอาตรงกลางที่มีความถูกต้องอยู่ตรงกลาง นั้นจึงไม่มีเครียดไม่มีหย่อน ไม่มีหนักไม่มีเบา ไม่มีอะไรที่มันเป็นสุดเหวี่ยงสุดโต่ง มันอยู่ตรงกลาง เรียกว่าสมดุลหรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่จะเรียก นี่คือหนทาง ประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการคือความถูกต้อง ๘ ประการ ถูกต้องทางความคิดเห็น ถูกต้องทางความปรารถนา ถูกต้องทางการงาน ถูกต้องทางการดำรงชีวิต ถูกต้องทางการพูดจา ถูกต้องทางดำรงจิตในรูปแบบของความเพียร ของสติ ของปัญญา เอ่อ ของสมาธิ เหล่านี้ไม่ต้องอธิบายหรอก เพราะมันมีอยู่ในหนังสือหนังหา ตำรับตำราหามาอ่านได้ง่ายโดยสะดวกแล้วโดยรายละเอียด จึงพูดแต่หัวข้อ แล้วก็ชนหัวข้อกันให้ถูกต้องก็เป็นพอ
เอ้า, ทีนี้จะมีธรรมะชีวี จะมีธรรมะชีวี มีชีวิตด้วยธรรมะ มีชีวิตด้วยความถูกต้อง ก็ทำให้ประกอบอยู่ด้วยองค์ ๘ ประการนี้ นี่พูดแล้วนะว่าถูกต้อง ๘ ประการนั้นอย่างไรนะ ทีนี้พอเราเห็นด้วยใจของเราว่าอ้าว, มันถูกต้องแล้ว เรามีทิฏฐิถูกต้องแล้ว อ้าว, ก็ถูกต้องแล้วก็พอใจ เรามีสังกัปปาถูกต้องแล้วก็พอใจ มีวาจาถูกต้องแล้วก็พอใจ การงานถูกต้องแล้วก็พอใจ อาชีวะดำรงชีพถูกต้องแล้วก็พอใจ มีสติถูกต้องสมบูรณ์ก็พอใจ มีความเพียรถูกต้องก็พอใจ มีสมาธิถูกต้องแล้วก็พอใจ ขอให้พบแต่ความถูกต้องในเนื้อในตัวของตน เมื่อได้แยกออกเป็น ๘ อย่าง ๘ ประการนี้แล้วก็สอบสวนดูทีละอย่างทีละประการ พบว่าทุกๆประการมีความถูกต้อง แล้วก็รู้สึกพอใจ มองให้เห็นความถูกต้องแต่ละประการนี้อยู่ในใจ แล้วรู้สึกพอใจนี้คือธรรมะชีวี ธรรมะชีวี ธรรมะชีวี มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะ ก็พอมองดูเข้าไปข้างในตัวแล้วเห็นแต่ถูกต้องและพอใจ ไม่มีที่ผิดพลาดและน่าเกลียดน่าชัง เห็นแต่ความถูกต้องแล้วพอใจทุกๆเวลา ทุกๆสถานที่ ให้เห็นว่าถูกต้อง เรียกว่าเรามีการเป็นอยู่อย่างถูกต้อง แล้วเราก็พอใจ ทีนี้บางคนอาจจะสงสัยขึ้นมาว่าในกรณีที่มัน มันทำอันตรายเรา ในกรณีที่ผู้อื่นเขาเกลียดเรา เขาแกล้งเรา เขาว่าร้ายเรา เขานินทาเรา เราจะไปถูกต้องได้อย่างไรเวลานั้น ฉะนั้นถ้าเรามีธรรมะจริง เราก็อ้าว, มันก็ถูกต้องแล้วที่อยู่ในโลกนี้มันต้องมีอย่างนี้แหละ ถ้าอยู่ในโลกนี้มันต้องมีอย่างนี้ อยู่ในโลกนี้มันต้องมีคนเกลียด ต้องมีคนแกล้ง มันต้องมีคนอิจฉาริษยา พอมีใครเกลียด แกล้ง อิจฉาริษยา อ้าว, มันก็ถูกต้องแล้ว อยู่ในโลกนี้มันต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องเสียใจ ก็พอใจเหมือนกันว่าอยู่ในโลกนี้ ได้รับบทเรียนอันนี้แล้วจะได้ศึกษาต่อไป แต่บางคนสั่นหัวไม่เอา ว่าเมื่อได้รับความทุกข์ยากลำบากเจ็บไข้อะไรก็ตามก็พอใจ พอใจ ฉันยินดีรับบทเรียนอันนี้มาศึกษาเพื่อเอาชนะให้ได้ มันก็ถูกต้องและพอใจ ความเจ็บความไข้อันตรายอะไรมาก็ถูกต้องและพอใจ เพื่อนแกล้งนินทาว่าร้ายก็ถูกต้องและพอใจนี่ เพราะว่ามันดีแล้ว ที่ว่า ถูกแล้วที่มันเกิดมาในโลกนี้มันต้องเป็นอย่างนี้ ทีนี้ถ้าว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เช่นไฟ เช่นน้ำท่วม เช่นไฟไหม้ เช่นฟ้าผ่า เช่นอะไรเป็นเรื่องของธรรมชาติแท้ๆ เราไม่ได้มีส่วนนั่นนี่อะไรมันก็ถูกต้องและพอใจ เพราะว่าเกิดมาในโลกนี้มันต้องเป็นอย่างนี้ เกิดมาในโลกนี้มันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ก็ถูกต้องและพอใจ ฉันจะแก้ แก้ไขไอ้ความเกิด แก่ เจ็บ ตายจนได้ มันนินทาว่าร้าย ด่าว่าฉัน ฉันก็จะเอาชนะมันให้ได้ ก็ถูกต้องและพอใจแล้ว เพราะว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ สมมติว่าระเบิดปรมาณูลงมาดีกว่าก็ถูกต้องและพอใจ เกิดมาในโลกนี้มันต้องอย่างนี้นี่ฉันจะไม่เป็นทุกข์ให้เสียเวลา ถ้าสมมติว่าระเบิดปรมาณูจะลงมาฉันก็หัวเราะเยาะอยู่นั่นแหละ มันก็ถูกต้องและพอใจ นี้ไม่ต้องถึงอย่างนั้นหรอก จะน้ำท่วมใหญ่ ไฟไหม้ใหญ่ หรือแผ่นดินถล่ม แค่นี้ก็ถูกต้องและพอใจ ถ้ามันจะตายก็ถูกต้องและพอใจเพราะมันเกิดมาสำหรับตายนี่โว้ย, ถ้ามันจะต้องตายมันก็พอใจแล้วมันเกิดมาสำหรับจะเป็นอย่างนี้ แต่ว่าฉันจะไม่มีความทุกข์นะ ซึ่งมันจะต้องตายหรือจะต้องอะไรก็ตามฉันจะไม่มีความทุกข์ นี่มันดีอยู่ที่ตรงนี้ต่างหากล่ะ ดังนั้นจะสามารถรู้สึกว่าถูกต้องและพอใจในทุกกรณี ในทุกกรณีไม่ว่าจะมาดีไม่ว่าจะมาร้าย หรือมาอะไรก็ตามจะปรับปรุงจิตใจของตัวเองให้รู้สึกว่าถูกต้อง ถูกต้องและพอใจอยู่เสมอ นี่แหละคือ ธรรมะชีวี ธรรมะชีวี ธรรมะชีวี มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต มันต้องอย่างนี้
ทีนี้จะพูดถึงข้อที่ว่าทุกขณะสักหน่อย ทุกขณะ ทุกขณะ ขอให้ทุกขณะเลย จะยืนเดินนั่งนอนอะไรอยู่ ก็ในจิตก็รู้ตัวว่าถูกต้องพอใจอยู่เสมอ เมื่อนั่งทำอะไรอยู่ก็ถูกต้องและพอใจ ยืนขึ้นก็ถูกต้องและพอใจ เดินไปก็ถูกต้องและพอใจ นอนอยู่ก็ถูกต้องและพอใจ เดินไปไหนทุกๆก้าวที่ย่างลง ย่างก้าวไปถูกต้องและพอใจ เพราะมันถูกต้องแล้วที่จะไปที่นั่น ที่จะไปทำอะไรที่มันมีประโยชน์ เช่นว่าจากกรุงเทพฯ มาสวนโมกข์นี่ถูกต้องและพอใจมาตลอดเวลาที่นั่งมาในรถ จะกลับไปกรุงเทพฯ อีกก็ถูกต้องตลอดเวลาที่นั่งอยู่ในรถ อยู่ในรถ จะเดินไปก็ตามใจก็ถูกต้องและพอใจทุกก้าวย่าง จะนั่งอยู่ในรถในเรือก็ถูกต้องและพอใจตลอดเวลาทุกอิริยาบถ ทีนี้ก็จะขยายความออกไปถึงว่าทุกลมหายใจเข้าออกเลย เรายังหายใจเข้าออกอยู่ เมื่อหายใจเข้าก็รู้สึกว่าชีวิตของเราถูกต้อง เมื่อหายใจออกก็รู้สึกว่าชีวิตของฉันถูกต้อง หายใจเข้าก็ชีวิตของฉันถูกต้อง นี่เป็นอานาปานสติสูงสุด ประเสริฐที่สุด ถ้าใครทำได้อย่างนี้ หายใจออกก็ชีวิตของฉันถูกต้อง หายใจเข้าชีวิตของฉันถูกต้อง รู้สึกอยู่ในความถูกต้องตลอดเวลาทุกหายใจเข้าออก แต่มันสำคัญอยู่ที่ว่าจะรู้จักความถูกต้องครบถ้วน แล้วจะมีสติเพียงพอที่รักษาความถูกต้องไว้ได้หรือไม่นั่น ทีนี้พอมีอะไรเข้ามามันไปโกรธเสียแล้ว มันไปเกลียดเสียแล้ว มันไปถึงกิเลสเสียแล้วนี่มันไม่ถูกต้องโดยรั้งไว้ไม่ทัน คุมไว้ไม่ทัน ดังนั้นจะต้องมีสติเพียงพอ ต้องฝึกฝนสติให้มากตามแบบของการฝึกฝนสติ ทำสติถูกต้องๆอยู่ทุกหายใจเข้าออกนี้ก็เป็นบทเรียนที่ดี จะทำอานาปานสติ ภาวนาตามที่อธิบายไว้ในพระบาลีก็พอ ก็ๆ ก็พอดีก็ยิ่งดี แต่นี่เดี๋ยวนี้เรามาฝึกกันให้มันเต็มที่ ขอให้ช่วยฟังอีกหน่อยว่ามันฝึกได้อย่างนี้นะฮะ ตื่นนอนขึ้นมาอย่าเพิ่งฟุ้งซ่านอะไร ตื่นนอนขึ้นมาอย่าเพิ่งลุกจากที่นอน สำรวมจิตใจดูว่ามันถูกต้องมาแล้วตลอดคืน มีชีวิตมาได้ตลอดคืน มานอนหลับแล้วก็กำลังจะตื่นนี้ให้ถูกต้อง ถูกต้อง อ๋อ, มันถูกต้อง ถูกต้องแล้วก็พอใจ พอใจ ยินดี พอใจ ทีนี้ก็จะลุกขึ้น ลุกขึ้น อิริยาบถลุกขึ้นก็ลุกขึ้นมาด้วยความรู้สึกว่าถูกต้อง ค่อยๆลุกขึ้นมาจากที่นอน ก้าวขาเดินไปที่ล้างหน้า ทุกก้าวที่ก้าวที่เดินไปที่ล้างหน้าถูกต้อง ถูกต้อง พอใจทุกก้าวขาที่เดินไปที่ล้างหน้า จับขันล้างหน้าก็ถูกต้อง ล้างหน้าถูหน้าก็ถูกต้อง อะไรก็ถูกต้อง ถูกต้อง จนล้างหน้าเสร็จเต็มไปด้วยความถูกต้องและพอใจ เสร็จแล้วก็ถูกต้องและพอใจ จะไปไหน จะไปเข้าห้องส้วมก็ถูกต้องและพอใจ ทุกก้าวขาที่ไปห้องส้วม นั่งอยู่บนโถส้วมก็ถูกต้องและพอใจ จิตเป็นสมาธิเองด้วยตอนนี้ ก็ถูกต้องและพอใจ การถ่ายอุจจาระถูกต้อง การถ่ายปัสสาวะถูกต้อง ทำด้วยสติสัมปชัญญะถูกต้องและพอใจ ไม่มีที่ติตำหนิติเตียนอะไรได้ถูกต้องและพอใจจนกว่าจะออกมาจากห้องน้ำ ทีนี้ไปห้องครัวถูกต้องและพอใจ เข้าไปในห้องครัว นั่งลงก็ถูกต้องและพอใจ กินอาหาร จับจานมาจับช้อนมาจับอะไรมาทุกคำถูกต้องและพอใจ รับประกันได้ว่ามีความถูกต้องและพอใจ ฉันไม่มีความผิดความร้ายอะไร ยกมือไหว้ตัวเองได้อยู่เสมอนี่ถูกต้องและพอใจจนกินข้าวเสร็จ จนกินข้าวเสร็จ ถูกต้องและพอใจออกจากห้องอาหาร ทีนี้จะไปไหนล่ะ จะไปแต่งตัวเอ้า, ก็ถูกต้องและพอใจ สวมเสื้อสวมกางเกงด้วยอิริยาบถ ทุกอิริยาบถถูกต้องและพอใจ ลงกระไดไปทุกขั้นๆถูกต้องและพอใจ ไปขึ้นรถตลอดเวลาถูกต้องและพอใจ ไปถึงที่ทำงานถูกต้องและพอใจ ทำงานก็ถูกต้องและพอใจ กำลังทำงานก็ถูกต้องพอใจ พักงานสักงีบหนึ่ง พักงานสักงีบหนึ่งก็ถูกต้องและพอใจ เพราะเราต้องพัก เรา เราพักงาน พักงานงีบหนึ่งเพื่อรอเวลาถูกต้องและพอใจ ดีกว่าชวนกันไปเต้นดิสโก้ เดี๋ยวนี้เขาอยากจะมีการเต้นดิสโก้ระหว่างพักงาน ๑๕ นาที เราไม่เอาหรอก เราจะเอาที่ถูกต้องและพอใจของเราอยู่เสมอ ถูกต้องและพอใจจนเสร็จงาน จนขึ้นรถกลับมาบ้าน ทุกก้าวเท้าทุกเวลาขึ้นบันได เข้าไปพักผ่อน ไปอาบน้ำ ไปกินข้าว ฉันถูกต้องและพอใจก็จะถึงเวลานอน ง่วงนอนก็ถูกต้องแล้วมันจะต้องนอนแล้ว ถึง ถึงง่วงนอนก็อย่าเสียใจ มันพอใจมันถูกต้องแล้วที่มันจะต้องนอน แต่ขอสักอย่างหนึ่งว่าก่อนแต่จะนอนนี่สำรวมงบยอดงบดุล งบยอดวันนี้เสียทีทั้งวันถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและพอใจจนยกมือไหว้ตัวเองได้ ก่อนแต่ที่จะหลับปิดวันสุด วันน่ะ สำรวจความถูกต้องและพอใจ จนพอใจจนยกมือไหว้ตัวเองได้ นี่บางคนคิดว่าพูดเล่นพูดเพ้อเจ้อ พูดเล่นยกมือไหว้ตัวเองได้บ้าแล้วโว้ย, นี่ขนาดนี้มันก็เห็นว่าบ้าแล้วโว้ย, แต่ขอให้มันเป็นได้อย่างนั้นสิให้มันยกมือไหว้ตัวเองได้ก่อนแต่จะนอนพักลงไปวันหนึ่งคืนหนึ่ง วันหนึ่งคืนหนึ่ง ไหว้พระพุทธเจ้าเสียทีหนึ่ง ไหว้พระธรรมเสียทีหนึ่ง ไหว้พระสงฆ์เสียทีหนึ่ง แล้วก็ไหว้ตัวเองที่ถูกต้องและพอใจนี้อีกทีหนึ่ง ๔ ทีพอ ฉะนั้นมีการไหว้ ๔ ครั้งก่อนแต่ที่จะนอน เรียกว่าถูกต้องทุกอิริยาบถ ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกวินาที ย่อยออกไปโดยทางเวลา กาละนี้ก็ถูกต้องทุกวินาที ย่อยออกไปโดยทางเทศะพื้นที่ แล้วก็ถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว ถูก ถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว ทุกเวลานาที อย่างนี้เรียกว่าธรรมะชีวี คนที่มองไม่เห็นก็บ้าแล้วโว้ย, ก็ได้อาตมาก็จะยอมรับว่าบางคนจะเห็นว่าบ้าแล้วโว้ย, แต่เห็นโดยๆ โดยแท้จริงโดยตัวเองมันไม่บ้า อย่างนี้คือมันถูกต้องที่สุด มันสมบูรณ์ที่สุด มีสติที่สุด ถ้าผู้ใดมองเห็นว่าไม่บ้า เป็นเรื่องที่ปฏิบัติถูกต้องตามพระพุทธประสงค์แล้วขอให้ทุกคนสมาทานชีวิตธรรมะชีวี สมาทานอธิษฐานจิตว่าข้าพเจ้าจะดำรงชีวิตอย่างบุคคลที่เป็นธรรมะชีวี มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะอยู่ทุกๆวินาทีและทุกๆกระเบียดนิ้ว นี่ธรรมะคืออย่างนี้
วันนี้เป็นวันธรรมะอย่างที่พูดแล้วตอนต้น วันนี้เป็นวันธรรมะ เป็นวันพระธรรม เป็นวันที่แสดงความถูกต้อง ๘ ประการ ประกอบกันเข้าเป็นทางสายเดียวตรงไปสู่พระนิพพาน นี้คือความถูกต้อง เอาความถูกต้องทั้ง ๘ ประการนี้มาสวมใส่เข้ากับชีวิตของเราทุกวินาที ทุกกระเบียดนิ้ว มีชีวิตเป็นธรรมะชีวี มีธรรมะอยู่กับเนื้อกับตัว จะไม่เสียทีที่เป็นพุทธบริษัท และไม่เสียทีแม้ที่เป็นมนุษย์นะ ปฏิญาณตนเป็นพุทธบริษัทแล้วไม่ได้อะไรที่พระพุทธเจ้าประทานให้ มันเป็นไม่ได้หรอก มันเป็นพุทธบริษัทไม่ได้หรอก มันเป็นละเมอๆไปตามไอ้การชี้จูง ชักจูงของๆ ของผู้ที่ไม่รู้ ของผู้ที่ตาบอด แล้วก็จูงคนตาบอดนี่มันก็ไม่ได้อะไร ขอให้ชีวิตธรรมะชีวีกลับมีมาที่เนื้อที่ตัว เราจะเรียกชื่ออย่างอื่นก็ได้ แต่อาตมาว่าชื่อนี้มันง่ายดี เข้าใจง่ายดี จับฉวยได้ง่ายดีว่ามีชีวิตเป็นธรรมะชีวี อยู่ที่เนื้อที่ตัว ที่เนื้อที่ตัว ที่กายที่วาจาที่ใจ ที่ความรู้สึกคิดนึกอะไรทุกอย่างเลยเป็นธรรมะชีวี จะไม่เสียทีที่เป็นพุทธบริษัท หรือสาวกของพระพุทธองค์ผู้นั่งแวดล้อมรอบๆพระองค์ นี่อย่างนี้มันไม่เสียเกียรติ ถ้าไม่มีความเป็นพุทธบริษัทแล้วมันเสียเกียรติ เพราะไม่ได้มีเกียรติเป็นพุทธบริษัท แล้วไม่ได้เป็นมนุษย์มันก็เสียทีที่ได้เป็น ที่ ที่ไม่ได้เป็นมนุษย์คือไม่ได้รับสิ่งที่ดีที่มนุษย์ควรจะได้รับนี้มันเสียชาติเกิด มันเสียชาติเกิดหมดแล้ว มันหมดเนื้อหมดตัวแล้วถ้ามันไม่ได้สมกับที่ได้เป็นมนุษย์แล้วมันก็เสียชาติเกิด ไม่ได้เป็นพุทธบริษัทมันก็เสียเกียรติ ไม่ได้เป็นมนุษย์มันก็เสียชาติเกิด ทีนี้เพื่อไม่ให้เสียชาติเกิด เพื่อไม่ให้เสียทีที่เป็นพุทธบริษัทก็ประพฤติธรรมะ อย่างที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในวันนี้ วันอาสาฬหปุณณมี พระจันทร์เต็มดวงแห่งเดือนอาสาฬห ท่านแสดงธรรมจักร มีตัวธรรมะคือมัชฌิมาปฏิปทา ความถูกต้อง ๘ ประการ เป็นหนทางให้ดับทุกข์ได้ เรื่องมีเท่านี้ ทั้งหมดนี้แสดงเรื่องธรรมะ ซึ่งเป็นใจความของอาสาฬหบูชาหรือวันพระธรรม แล้วเราก็มีพระธรรมกันจริงๆ จนเรียกตัวเองได้ว่าธรรมะชีวี ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา อาตมารู้สึกว่าได้เตรียมจิตใจของท่านทั้งหลายทุกคน อาตมาได้เตรียมจิตใจ ได้ซักฟอกจิตใจของท่านทั้งหลายทุกคนให้เหมาะแล้วที่จะประกอบพิธีอาสาฬหบูชาได้เป็นจริงเป็นจัง ไม่ทำแต่ท่าทางเหมือนเล่นละคร ทำพิธีทางศาสนาอย่างนั้นอย่างนี้ ทำใจลอยไม่รู้อะไรเหมือนเล่นละคร เดี๋ยวนี้เราจะไม่ใช่ใจลอยเล่นละครนะ จะเดินเวียนเทียนประทักษิณทำอะไรก็ตามน่ะมีสติสัมปชัญญะรู้ว่ามันเป็นความถูกต้อง เป็นความถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและพอใจ เป็นของจริงอยู่ในใจไม่ใช่เล่นละครไม่ใช่ละเมอ เป็นอันว่าอาตมาได้เตรียมจิตใจของท่านทั้งหลายเหมาะสมแล้วสำหรับจะประกอบพิธีอาสาฬหบูชา ดังนั้นจึงขอยุติธรรมเทศนาที่เป็นบุรพภาคนี้เพื่อจะได้ประกอบพิธีอาสาฬหบูชาสืบต่อไป เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้