แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักศึกษาผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย เมื่อคืนได้พูดกันถึงเรื่องธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ซึ่งเป็นคำสั่งสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลาย แล้วก็ได้พูดกันถึงข้อที่ว่าธรรมะคือหน้าที่นั้น มันเพื่อความรอดของสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดทุกระดับ แล้วก็ได้พูดในตอนท้ายว่าไอ้ความรอดมีอยู่ ๒ ชนิด ในศาสนาหรือลัทธิที่เขามีพระเจ้าเป็นผู้สร้าง ไอ้ความรอดมันก็เนื่องอยู่กับการโปรดปรานของพระเจ้า เดี๋ยวนี้ในลัทธิหรือศาสนาที่ไม่มีพระเจ้าชนิดนั้น จะมีกฎของธรรมชาติเป็นผู้สร้างสิ่งทั้งปวง ควบคุมสิ่งทั้งปวง เราก็มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎของธรรมชาตินั่นแหละเป็นผู้ให้ความรอด นี่เราพูดกันใจความสำคัญกันอย่างนี้ คำที่จะต้องรู้ไว้เพื่อตัวเองหรือเพื่อตอบคำถามของไอ้คนนอก ก็มีอยู่นั้นก็คือคำว่าพระเจ้า
คำว่าพระเจ้านี่เป็นปัญหา แต่ถ้าถือตามที่เขากล่าวกันเป็นหลักทั่ว ๆ ไปแล้วก็ไม่มีปัญหาก็ได้ แต่ต้องเชื่อ เชื่อตามที่เขากล่าวไว้ว่ามี มีพระเจ้า อย่างที่มีความรู้สึกอย่างบุคคล แล้วก็น่าหัวที่ว่าเขาก็ไม่รู้ว่าจะเป็นผีหรือเป็นคนเหมือนกัน พูดกระมิดกระเมี้ยน ไม่ เอาแน่ไม่ได้ แต่ในที่สุดเดี๋ยวนี้ก็ยุติว่าเป็นวิญญาณชนิดหนึ่ง พระเจ้านั้นเป็นวิญญาณชนิดหนึ่ง เป็น holy ghost แปลว่าผีศักดิ์สิทธิ์ เป็นวิญญาณชนิดหนึ่ง ตั้งอยู่ในฐานะเป็นพระเจ้า แล้วว่าพระเจ้านี่มีความรู้สึกอย่างบุคคล รู้สึกอย่างสัตว์ทั่วไป คือมีอารมณ์ รักก็ได้ เกลียดก็ได้ โกรธก็ได้ อะไรก็ได้ เหมือนอย่างบุคคล เราจึงเรียกได้ว่าพระเจ้าอย่างบุคคล ก็มีพระเจ้าเช่นนั้น นี่ถือกันเป็นหลักทั่วไป ไอ้นักศึกษา นักปรัชญาตามของ ๆ ชาวโลก เขาก็ยอมรับพระเจ้าชนิดนั้นว่าเป็นพระเจ้า มันก็ถือเป็นหลักสำคัญของสิ่ง สำหรับสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ทีนี้ก็มีปัญหาว่าใน ในศาสนาที่ไม่มีพระเจ้าชนิดนั้น เช่นในพุทธศาสนานี่ มันมีผู้สร้างสิ่งทั้งปวงหรือเปล่า มีผู้ควบคุมสิ่งทั้งปวงหรือเปล่า มีผู้ทำลายสิ่งทั้งปวงหรือเปล่า เป็นผู้ใหญ่กว่าสิ่งทั้งปวง ดูแลสิ่งทั้งปวง สิงสถิตอยู่ในที่ทั้งปวงหรือเปล่า
ทีนี้ข้างฝ่ายเรา เราคือพุทธศาสนา เราก็ว่าเราก็มี เราก็มี ไม่ใช่เราจะไม่มีสิ่งที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นที่เกิดมาแห่งสิ่งทั้งปวง ควบคุมสิ่งทั้งปวงอยู่ ทำลายสิ่งทั้งปวงเป็นยุค ๆ ไป อยู่ในที่ทั้งปวง เป็นใหญ่กว่าสิ่งทั้งปวง ก็มี แต่เราไม่เรียกว่าพระเจ้าอย่างบุคคล แล้วเราก็ไม่เรียกว่าพระเจ้าด้วย เราเรียกว่าพระธรรม พระธรรมในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ ธรรมะหรือพระธรรมในฐานะเป็น ที่เป็นกฎของธรรมชาติ ทำหน้าที่ทุกอย่างเหมือนกับพระเจ้าในฝ่ายศาสนาเหล่าโน้นที่มีพระเจ้าอย่างบุคคล แต่ทีนี้กฎของธรรมชาตินี่มันไม่ ๆ ไม่มันไม่ใช่บุคคล มันไม่มีความรู้สึกอย่างบุคคล รัก โกรธ เกลียด อะไรไม่ได้ ก็ไม่ใช่ holy ghost ไม่ใช่ ไม่ใช่ผีศักดิ์สิทธิ์ แต่มันก็ทำหน้าที่อย่างเดียวกับพระเจ้าอย่างที่เขามี ดังนั้นเราจึงมีพระเจ้าอย่างที่เรามี โดยที่ฝ่าย โดยที่พวกอื่นเขาไม่ยอมเรียกว่าพระเจ้า นี่คือปัญหา เราชาวพุทธนี่จะถูกถามว่าท่านมีพระเจ้าไหม ในพุทธศาสนามีพระเจ้าไหม ฉะนั้นชาวพุทธที่รู้แค่ห่างอึ่งมันก็ว่าไม่มีพระเจ้านี่ เพราะมันสอนกันมาอย่างนั้น แต่ถ้าถามไอ้ชาวพุทธที่มีความรู้แค่หางอึ่งว่าใน ใน พระพุทธศาสนานี่มีไหม ไอ้สิ่งที่เป็นต้นเหตุแห่งสิ่งทั้งปวง ควบคุมสิ่งทั้งปวงอะไรอย่างหน้าที่พระเจ้านั่นมีไหม มันก็งง ที่สุดมันก็ต้องรับว่ามี ๆ เราก็มีพระเจ้าชนิดที่เราไม่ได้เรียกว่าพระเจ้า แต่แล้วมันก็โกหกตัวเอง นี่พวกคุณนี่นักศึกษานี่คุณรู้ไว้ เรามีคำพูดที่โกหกตัวเองอยู่คำหนึ่ง ที่พูดกันอยู่ทั่วไปว่าข้าพเจ้า ข้าพเจ้านั่น ตั้งแต่บุคคลสูงสุดจนถึงขอทาน มันก็พูดว่าข้าพเจ้า ๆ เป็นข้าของพระเจ้านั้น ข้าพเจ้าคือข้าพระเจ้า ข้าพระเจ้าคือข้าของพระเจ้า ถ้าแกไม่มีพระเจ้าทำไมแกจึงเรียกตัวเองว่าข้าพระเจ้า หรือว่าพระเจ้านั้นจะหมายเพียงพระเจ้าแผ่นดิน หรือจะหมายเพียงพระสงฆ์องค์เจ้า มันก็พูดไม่ถนัด เพราะตัวหนังสือมัน มันมีชัดอยู่ว่าข้าพเจ้า ข้าพเจ้า เรียกตัวเองว่าข้าพเจ้าแต่ปฏิเสธว่าไม่มีพระเจ้า มันก็เป็นคนพูดภาษาอะไรกันก็ไม่รู้
ทีนี้ผมก็อยากจะให้รู้กันไว้ว่าเราก็มีสิ่งที่ทำอะไร ๆ อย่างเดียวกับพระเจ้าของเขาฝ่ายโน้นแหละ มี แต่เราไม่เรียกว่าพระเจ้านี่ เราเรียกพระธรรมหรือกฎของธรรมชาติ แต่แล้วมันมาอยู่ในภาษาไทยพูดว่าข้าพเจ้า ข้าพเจ้า ด้วยเหตุวิธีได้ก็ไม่ทราบ เป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ของภาษาของไอ้วัตร มนุษย์ เอาละ, เป็นอันว่าเราก็มีสิ่งที่เราเรียกกันว่าพระเจ้า แต่มิใช่อย่างบุคคล ดังนั้นจึงเกิดพระเจ้าขึ้นมา ๒ ชนิด พระเจ้าอย่างที่เป็นบุคคลเหมือนกับทั่วไป แล้วก็พระเจ้าอย่างที่มิใช่บุคคล ชนิดที่เรามองดูได้หาพบได้ในฝ่ายนี้คือฝ่ายพุทธศาสนา หรือศาสนาที่เครือเดียวกันกับพุทธศาสนา หมายความว่าพระเจ้าอย่างที่มิใช่บุคคลนี่มันมี มีอยู่ในหลาย ๆ ศาสนาเหมือนกันที่เขาไม่มีพระเจ้าอย่างโน้นก็แล้วกัน ทีนี้มันก็อาจจะมีไอ้คนที่เอาเปรียบ ๆ ถ้าฝ่ายโน้น ฝ่ายพระเจ้าบุคคลนั่นเขาเกิดจะเอาเปรียบขึ้นมา เขาก็จะพูดว่า ฉันเอาพระเจ้าไม่ใช่บุคคลอย่างของแกนั่นแหละไปเรียกอย่างพระเจ้าของฉันคือเป็นบุคคล มันก็ได้เหมือนกัน นี่เป็นเรื่องน่าหัวนะ ก็จะเห็นชัดว่าเป็นเรื่องตลบตะแลง แต่ยังไม่เคยพบนะ ไม่เคยพบคนที่กล้าพูดถึงอย่างนั้น เขาจะยืนยันเครียดครัดที่สุดว่าเขามีพระเจ้าชนิด Holy ghost นั่นแหละ แล้วก็เป็นพระเจ้าผู้สร้างผู้ให้ทุกอย่างเต็มตามความหมายนั้น เอ้า, เป็นอันว่า มันมีพระเจ้าอยู่ ๒ ชนิด คือชนิดที่เป็นบุคคลหรืออย่างบุคคลชนิดหนึ่ง และชนิดที่เป็นกฎของธรรมชาตินี่อย่างหนึ่ง
แต่แล้วทีนี้เราสังเกตดูเห็นได้ว่า ในหมู่นักศึกษาวิชาการอะไรของพวกฝรั่ง ฝรั่งที่มันถือว่าเป็นจอมอาจารย์นั่นนะ เป็นเจ้าของความรู้ไปเสียหมดนั่น มันเกิดไปบัญญัติขึ้นมาว่า ในโลกนี้มีศาสนาอยู่ ๒ พวก ก็คือพวก Theist มีพระเจ้า และพวก Atheist ไม่มีพระเจ้า มีศาสนาชนิดที่มีพระเจ้าคือพวกเขา คริสต์เตียนเป็นต้น แล้วก็มีพวกที่ไม่มีพระเจ้า เช่น อย่างชาวพุทธ ลัทธิพุทธ ลัทธิไชนะ ลัทธิอะไรอีกบางลัทธินี่ ไม่มีพระเจ้าอย่างบุคคลเขาก็เรียกว่าไม่มีพระเจ้า เป็นศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า ทีนี่ถ้าเผอิญมาพบกัน มา ๆ สนทนากันเขาก็จะหาว่าเราไม่มีพระเจ้า เราก็บอกว่าฉันมีสิ ฉันมี มีพระเจ้า มีพระเจ้าที่จริงกว่าของแกเสียอีก มีพระเจ้าชนิดอย่างที่ว่านี่คือกฎของธรรมชาติ นี่ถ้าว่าคุณไปซื้อหนังสือของฝรั่งมาเรียนแล้วคุณจะพบว่ามัน มันแบ่งศาสนาไว้เป็น ๒ พวกคือ Theist กับ Atheist เป็นศาสนาที่มีพระเจ้ากับศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า แล้วจะยอมรับได้ไหม หรือว่าจะยอมหลับตาพูดไปตามที่เขาพูด ถ้าว่าการศึกษาในประเทศเรายังเป็นขี้ข้าการศึกษาของฝรั่งอยู่เพียงใด แล้วก็ในมหาวิทยาลัยคงสอนเรื่องมีศาสนา ๒ ชนิดอย่างนี้แหละ คือศาสนาที่มีพระเจ้ากับศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า ที่สวนโมกข์นี่ก็ไม่ยอม เราถือว่ามีพระเจ้ากันทั้งนั้นแหละ ทุก ๆ ศาสนาแหละมีพระเจ้า มีสิ่งสูงสุดเป็นปฐมเหตุ ที่ออกมาแห่งสิ่งทั้งปวงนั่น แต่เราไม่ใช่พระเจ้าอย่างบุคคล เราพระเจ้าอย่างกฎของธรรมชาติ เพราะว่าที่สวนโมกข์นี่ไม่ ๆ ไม่เป็นขี้ข้าการศึกษาของพวกฝรั่ง เราจึงไม่ยอมพูดอย่างนั้น
ทีนี้มีเรื่องน่าหัวที่ในประเทศอินโดนีเซียเขา เขาเกิด เขามีกฎหมายว่าถ้าไม่มีศาสนา ถ้าไม่มีศาสนาก็ไม่เป็นพลเมืองของประเทศอินโดนีเซีย แล้วเขาถือตามหลักอะไรของเขาก็ไม่รู้ว่าถ้าไม่มีพระเจ้าแล้วก็ไม่ใช่ศาสนาโน้น ถ้าลัทธิคำสอนระบบไหนไม่มีพระเจ้าล่ะก็ นั่น ๆ ไม่ใช่ศาสนา จะอ้างเป็นปรัชญา อ้างเป็นอะไรก็ตามใจ มันไม่ใช่ศาสนา ทีนี้ชาวพุทธ ชาวพุทธในอินโดนีเซียหรือชาวพุทธทั่ว ๆ ไปนั่น เขาก็ไม่ยอมรับว่ามีพระเจ้า เพราะตามความหมายของฝรั่ง ไอ้ ๆ คำพูดอย่างฝรั่ง พระเจ้าหรือ God มันเป็นอย่างบุคคล ก็ ๆ ๆ ไม่ยอมรับว่าในพุทธศาสนามีพระเจ้าหรือมี God เพราะฉะนั้นก็เลยปฏิเสธ ถ้าอย่างนั้นแก แกไม่มีศาสนา ท่านไม่มีศาสนา ดังนั้นท่านไม่เป็นพลเมืองของประเทศอินโดนีเซียเต็มที่ตามกฎหมาย ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ไม่ได้รับสิทธิอะไรหลาย ๆ อย่าง ได้ยินข่าวต่อมาว่ามีคนโต้แย้งอย่างนี้ โต้แย้งว่ามีพระเจ้า มีพระเจ้า แต่ไม่ใช่อย่างบุคคล แต่ฉันก็มีพระเจ้า ดังนั้นฉันก็มีศาสนา ฉันก็เป็นพลเมืองที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย นี่เรื่องอย่างนี้มันเกี่ยวพันกันยุ่งเห็นไหม แต่นั่นเป็นเรื่องการเมืองเรื่องโลก ช่างหัวมัน เราเอากันแต่ว่าในเรื่องธรรมะนี่ เรื่องธรรมะที่จะดับทุกข์นี่ เราก็มีสิ่งสูงสุดในความหมายที่เรียกกันว่าพระเจ้า แต่เรามาเรียกชื่อคนละอย่าง คนละชื่อ ไม่ยอมรับความหมายบางอย่าง คือไม่ ๆ ยอมรับความหมายที่ว่า พระเจ้านั่นเป็นบุคคล เรามีพระเจ้าที่เป็นกฎของธรรมชาติ ที่มีอำนาจเหนือสิ่งทั้งปวง
ที่จริงพระเจ้านี่มันก็ต้องเอาที่ความหมาย อย่าเอาที่คำพูด มันก็จะไปด้วยกันได้ เพราะพระเจ้านี่เป็น เขาเรียกว่าปฐมเหตุ The first cause, first cause เป็น cause อันแรกออกมาแห่ง cause ทั้งหลาย เราก็มีสิ่งชนิดนั้นนะ ตามหลักธรรมะเราก็มีสิ่งชนิดนั้น คือกฎแห่งอิทัปปัจจยตา เป็น The first cause มีพระเจ้าเป็นผู้สร้าง เราก็มีกฎอิทัปปัจจยตาเป็นผู้สร้าง เป็นพระเจ้า เป็น provident provident ก็คือว่าให้ ๆ จัดหาให้ ทุกสิ่งทุกอย่างคือจัดโลก จัดอะไรต่าง ๆ นี่ เราก็มี กฎแห่งอิทัปปัจจยตา กฎแห่งกรรม กฎแห่งอะไรก็ตาม ที่จัดหาให้มนุษย์โลกเป็นไปอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น มันก็รู้ทุกสิ่งจัดทุกสิ่งอะไรได้โดยกฎของธรรมชาติ นี่ควรจะรู้ไว้ว่าปัญหามันมีอยู่อย่างนี้ ถ้าคุณไปเที่ยวเมืองฝรั่ง ฝรั่งเขาถามว่าคุณมีพระเจ้าไหม คุณจะตอบอย่างไร ก็ไปคิดเอาเอง ข้อเท็จจริงมันมีอย่างนี้ จะตอบว่ามีในส่วนเดียวหรือไม่มีโดยส่วนเดียว มันก็คงจะไม่ถูก มันมีไม่เหมือนของท่าน ไม่ ไม่มีพระเจ้าอย่างของท่านแต่ฉันมีอย่างของฉัน
ทีนี้เรื่องที่เกี่ยวกับธรรมะที่ควรจะต้องรู้ต่อไปก็คือข้อที่ว่า พระเจ้านั่นก็ ไอ้ ๆ ก่อนนี้เขามีชื่อ มีชื่อแปลกสำหรับพระเจ้าของยิวและของคริสต์เตียนนั่นเรียกว่า รวมกันนั่นเรียกว่ายะโฮวา พระเจ้าของอิสลามเรียกว่าอัลลาห์ แต่เขามีคำกลางรวมเรียกพระเจ้าทุก ๆ องค์ว่า God God เขียนตัว G ตัวใหญ่ God ผมก็อยากรู้ว่า God นั่นมันมีความหมายว่าอะไร คริสต์เตียนบางคนที่พอจะเชื่อถือได้เขาก็บอกว่านั่นคือคำว่า good นั่นเอง good ที่แปลว่าดี God ก็คือไอ้ประชุมแห่งความดีทั้งหลาย สูงสุดแห่งความดีทั้งหลาย ผมก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นเอากับคุณไม่ได้แล้ว เราจะร่วม God กับคุณไม่ได้แล้ว เพราะเราไม่ชอบ ไม่นับถือ ไม่บูชาไอ้ดีหรือดีที่สุดหรือสูงสุดแห่งความดี เราต้องการจะขึ้นไปเหนือ เหนือพ้นความดีโน้น เหนือความดี เราจะมา จะมาหยุดกันอยู่ที่ความดีนี้ไม่ได้ เพราะความดีมันคู่กับความชั่ว มันก็เป็นของตรงกันข้ามกับความชั่ว เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมาตามธรรมชาติ แล้วมนุษย์ก็บัญญัติเอาเองว่าดีว่าชั่ว ถ้าถูกใจมนุษย์ มนุษย์ก็ว่าดี ไม่ถูกใจมนุษย์ มนุษย์ก็ว่าชั่ว ฉะนั้นคำว่าดีนี่มีความหมายชนิดที่ไม่จริง ธรรมชาติแท้ ๆ นั่น ธรรมชาติแท้ ๆ นั่นมันไม่อาจจะแสดงว่าดีหรือชั่วหรอก มันแล้วแต่มนุษย์ไปเกี่ยวข้องเข้า แล้วมนุษย์มันชอบใจส่วนไหนอย่างไรมันก็บอกว่าดี ไม่ชอบใจส่วนไหนอย่างไรมันก็ว่าชั่ว ก็ทำให้คนหัวใจปั่นป่วน ให้มนุษย์นี่มีหัวใจปั่นป่วนไปทั้งอย่างดีและอย่างชั่ว ไอ้เรื่อง เรื่องดีเรื่องชั่วก็เป็นเรื่องทำให้มนุษย์หาความสงบไม่ได้ เราจึงอยากจะพ้นขึ้นไปเสีย พ้นความดี ฉะนั้นเราจึงรับคำว่า God ซึ่งเป็นที่สูงสุดแห่งความดีนั้นไม่ได้ นี่ตาม ตามรู้สึก หรือความหมายของธรรมะในพุทธศาสนา จิตที่อยู่เหนือหรือพ้นไปจากชั่วจากดี ถึงภาวะว่าง ว่างจากชั่ว ว่างจากดี ไม่มีความหมายแห่งความชั่วความดี นั่นแหละจึงจะเป็นไอ้สูงสุด ถ้ายังมีชั่วมีดี มันก็ยังมีตัวตน มีตัวตนเป็นที่ตั้งแห่งความชั่วความดี มีตัวตนสำหรับไปยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา เลยไม่ได้ ๆ เราจะยอมรับเอาว่าดีหรือดีที่สุดเป็นสิ่งสูงสุด เป็นจุดหลุดพ้นมันไม่ได้ นี่คือปัญหาที่เข้าใจยาก ที่ชาวต่างศาสนา ชาวต่างประเทศเขาจะไม่เข้าใจ และแม้พวกคุณชาวพุทธนี่ก็จะไม่เข้าใจ ถ้าว่าเป็นเรื่องแรกตั้งต้นเกินไปคุณก็จะไม่เข้าใจ ว่าทำไมเราจึงไม่เอาที่ดี ๆ หรือพอแล้ว ที่ดี ๆ ก็ยังจะกระโดดขึ้นไปให้พ้นดีเหนือดี เพราะว่าดีมันยังคู่กับชั่ว มันยังทำให้เกิดความปรุงแต่งด้วย มันเป็นผลการปรุงแต่งด้วย เพื่อให้เกิดการปรุงแต่งต่อไปด้วย เป็นเรื่องชั่ว เป็นเรื่องดี มันจะดีที่สุดนั่นแหละยิ่ง ๆ ยิ่งเลวที่สุด ยิ่งดีที่สุดก็ยิ่งยึดถือมาก ยิ่งรักมาก ยิ่งหวงแหนมาก ยิ่งพอใจมาก มันก็กัดเอาบ้าง ไอ้ความรู้ของชาวพุทธเราแถบนี้ แถบใต้พวก armandon (นาทีที่ 00.21.44) ที่ว่าเจริญด้วยพุทธศาสนามาเป็นพัน ๆ ปี นี่เขาก็รู้เรื่องนี้กันดีเหมือนกัน รู้จนติดปาก ติดปากชาวบ้านพูด สอนชาวบ้านให้รู้เหมือนกันว่าไม่ ๆ ๆ ๆ ไม่ใช่สิ้นสุดอยู่ที่ดี มันจึงเกิดคำกลอนสอนธรรมะขึ้นมาประโยคหนึ่งว่า ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ คุณระวังนะ อย่าไปพูดให้ใครบางคนฟังนะ เขาจะด่าเอานะ เพราะว่าเขาไม่รู้ว่าอัปรีย์ยังไง ข้อนี้ก็ต้องเรียนภาษากันหน่อย เรียนภาษา คำว่าอัปรีย์นั่น อัปรีย์ อัปปะ อะไม่ ปรียะ น่ารัก ปิย ในบาลี ปฺริย ในสันสกฤตแปลว่าน่ารัก ซึ่งน่ารัก เป็นที่ตั้งแห่งความรัก นี่เขาเรียกว่าปรีย์ ทีนี้ อัป ว่าไม่ อัปรีย์ ว่าไม่น่ารัก ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ คือมันไม่น่ารักนี่ ถ้าไปเอากับเข้ามันกัดเอานะ ไปเอากับเรื่องชั่วมันก็กัดเอาตามแบบชั่ว ไปเอากับเรื่องดีมันก็กัดเอาตามแบบดี ล้วนแต่ทำให้นอนไม่หลับกระสับกระส่ายเหมือนกันทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นขอให้รับรู้ไว้ว่าบรรพบุรุษของเราชาวพุทธนี่เคยรู้เรื่องนี้ดี คือสอนกันมาอย่างดีเข้าใจกันอย่างดีแล้วแต่สมัยโบราณ มันจึงคลอดไอ้คำพูดเช่นว่าทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์มาได้ เพราะต้องการจะเหนือชั่วเหนือดีนั่นเอง แต่ถ้าอธิบายไม่ถูกมันก็กลายเป็นเรื่องให้ผลร้ายก็ได้ จนใคร ๆ ไม่ ไม่คิดจะทำดี อ้าว, ไม่คิดจะทำดี คุณไปทำชั่วให้เขาสิ ก็ลองดูสิ แล้วมันก็ยิ่งหนักไปกว่าเก่า เขาต้องการแต่เพียงว่าอย่าไปติดหมายมั่นเกาะยึดแน่นอยู่ที่ความดี มันจะกัดหัวใจ ธรรมดาความดี ถ้ารู้สึกว่าดี มันก็รัก มันก็หึงหวง มันก็ยึดถือ ยึดมั่นถือมั่น แล้วมันก็กัดหัวใจ ฉะนั้นเราจึงว่าทั้งชั่วทั้งดีอย่าไปเอากับมัน มันจะกัดเอา นี่พุทธศาสนาไปไกลสุด ๆ ถึงอย่างนี้จนไม่มีใครจะไปให้ไกลสุดเกินนั้นไปได้อีกแล้ว คือมันพ้นชั่วพ้นดี ไม่มีปัญหาเรื่องชั่วเรื่องดี
คุณก็พอจะรู้ได้นะว่าเดี๋ยวนี้ที่เขารบกันนั่น เขาแบ่งเป็น ๒ ฝ่ายแล้วรบกันตลอดเวลานั่น รบเงียบ รบเปิดเผย รบอะไรก็ตาม เขารบกัน เพราะเขาอยากจะครองโลก เพราะเขาอยากจะเป็นเจ้าโลก ที่เขาอยากจะเป็นเจ้าโลกเพราะเขา เพราะเขาเห็นว่ามันดี ๆ ถ้าฉันได้เป็นเจ้าโลกฉันก็มีอะไรทุกอย่าง ฉันทำได้ทุกอย่างนั้นมันดี นี่เรื่องยึดติดเหนียวแน่นในความดีจนอยากเป็นเจ้าโลก เมื่อมีขึ้นมา ๒ ฝ่าย มันก็ได้รบกัน มันก็ได้กัดกัน ระหว่างผู้ที่จะเป็นเจ้าโลก ที่จะแย่งดี แย่งดีที่สุด เห็นไหม ไอ้คำว่าชั่วว่าดีนี่มันมีปัญหาอยู่แก่มนุษย์ แล้วไปดูให้ดีเถิดไอ้เรื่องธรรมดา เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องเลว ๆ เหลว ๆ นี่มันฆ่าตัวตายกันเพราะความดีไม่รู้จักเท่าไรต่อเท่าไร แล้วก็อย่างโง่เขลาที่สุด เมียเป็นชู้ในหน้าหนังสือพิมพ์ที่ผมอ่านบ้างนะ เมียเขาเป็นชู้ เขาก็เอาปืนไปยิงเสียทั้งเมียทั้งชู้และทั้งตัวเอง นั่นแหละคุณรู้ไหมว่ามัน ๆ ๆ เพราะมันยึดถืออะไร เพราะมันยึดมั่นอะไร มันยึดมั่นที่จะดี ที่จะเป็นผู้ชนะ หรือจะเป็นผู้ ใคร ๆ จะมาเหนือไม่ได้ ฆ่าตัวตายเพราะกลัวว่าจะหมดดี ก่อนแต่จะหมดดีก็ชิงฆ่าตัวตายเสียก่อน นี่ ๆ ดูจะเป็นธรรมเนียมไปเลยของคน ของคนที่มี มีอะไร มีปัญญา มีเกียรติ มีอะไรกันสูงสุดนั่นแหละ มันชิงฆ่าตัวตายเพราะเพียงแต่รู้ว่าดีมันจะถอยเท่านั้น นี่เขาเรียกว่ายึดมั่นในความดี ไอ้เรื่องฮาราคีรีของญี่ปุ่นหรือเรื่องอื่นที่คล้าย ๆ กัน มัน ๆ ยึดมั่นในความดี มหาเศรษฐียิงตัวตายเสียก่อน ที่พอเริ่มรู้ว่าเรามันเริ่มจะทรุดลง ฐานะของเศรษฐี ฉะนั้นไปดูเถิดไอ้หน้าหนังสือพิมพ์ธรรมดา ๆ พวกคนเลว ๆ ที่มันยิงตัวตายฆ่าคนอื่นตายนี่ ค้น ๆ ๆ มันจะพบว่ามัน มันติดดี มันติดดี เพราะไม่ได้ดี เพราะไม่ได้อย่างดี มันก็เลยฆ่าผู้อื่น แล้วก็ฆ่าตัวเอง คนเขารู้กันนานแล้ว ไอ้เรื่องดี ๆ นี่ ไปยึดกับมันไม่ได้ มันกัดเอา ฉะนั้นทำใจเป็นกลาง ๆ สิ ทำใจเป็นกลาง ๆ นั่นแหละจะไม่มีความทุกข์ เครียดไปในทางชั่วมันก็ทุกข์แบบชั่ว เครียดไปในทางดีก็ทุกข์แบบดี ไม่เครียดอยู่ตรงกลาง ไม่เป็นดี ไม่เป็นชั่ว อยู่ว่าง ๆ อยู่ตรงกลางนั่นแหละจะไม่มีทุกข์ ฉะนั้นพุทธศาสนาเราก็สอนเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ยึดมั่นถือมั่นเรื่องดีเรื่องชั่ว ก็เลยไม่เกิดการปรุงแต่งที่เป็นกิเลส แล้วก็มันก็ไม่เป็นทุกข์
นี่พูดมาถึงข้อที่ว่าพระเจ้า มีความหมายว่าดีที่สุด สิ่งที่ดีที่สุดอย่างนี้ชาวพุทธรับไม่ได้ ฉะนั้นถ้าชาวพุทธจะมีพระเจ้ากันบ้างก็ต้องเหนือดีขึ้นไปอีก ต้องเหนือดีขึ้นไปอีก พระเจ้าต้องอยู่ความหมายว่าดีว่าชั่ว อยู่เหนือความดีความชั่ว จะต้องไม่เป็นพระเจ้าที่รู้สึกอย่างบุคคล รู้สึกว่าดีว่าชั่ว ว่าได้ว่าเสีย พระเจ้าอย่างของฮินดู นี่ดูจะไม่ ไม่ไหว มัน ๆ มันรับไม่ไหว พระเจ้า พระอิศวร พระนารายณ์ พระอะไรตามที่แบบ ที่เขาพูดกันมาอย่างบุคคล อย่างบุคคล นี่มันพูดกันมาอย่างบุคคล ที่จริงที่ถูกที่แท้ แต่ก่อนเขาคงไม่ใช่อย่างบุคคลนะ ไม่ใช่เป็นอย่างบุคคล มันพูดต่ำมาเป็นอย่างบุคคลจนมีรัก มีโกรธ มีเกลียด มีกลัว เรื่องพระอิศวรเหล่านี้ ดูจะเป็นเรื่องที่เหลวไหลมากที่สุด เดี๋ยวให้นั้น เดี๋ยวลงโทษนี้ เดี๋ยวเป็นเจ้าชู้ก็มี นิทานเด็ก ๆ ให้เล่ากันอยู่ที่เมืองนี้นะ เรื่องพระอิศวรกินกุ้ง แถวเมืองอื่นที่อื่น แถว ๆ บ้านคุณจะมีไม่มีก็ไม่ทราบ แต่ผมบอกว่าที่แถวเมืองนี้มันมี ในเรื่องมากมายที่เกี่ยวกับพระเจ้า เอามาเล่ากันจนเป็นเรื่องที่หมดความหมายของพระเจ้าเลย เล่าว่าสัตว์ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงไปร้องทุกข์กับพระอิศวรว่ามนุษย์นี่เบียดเบียน เบียดเบียนสัตว์เดรัจฉาน เบียดเบียนนัก ทนไม่ไหวแล้ว สัตว์ทั้งหลายก็ไปเฝ้าพระอิศวร ไปฟ้องว่ามนุษย์เบียดเบียนนักขอให้พระเจ้าช่วยจัดการ ทีนี้ในสัตว์เหล่านั้น มันก็มีสัตว์ที่มนุษย์กินเนื้อโดยส่วนมาก ว่ามนุษย์มันเบียดเบียนเอา เอาเนื้อกิน ที่มันมีกุ้งติดอยู่ในหมู่นั้นด้วย ไปเฝ้าพระอิศวรด้วยเหมือนกัน พอถึงทีกุ้งเข้าไปร้องทุกข์พระอิศวร พระอิศวรก็พูดว่า เอ๊ะ, ถ้าอย่างนั้นเนื้อของแกคงจะกินดี ฉันอยากจะลอง ฉันอยากจะลองขึ้นมาเลย เดี๋ยวนั้นเลย นี่เลยทำให้กุ้งกระโดดหนี เดินไปทางกลับ กลับหลังหัน เอาหลังไป เป็นเรื่องนิทานที่ ๆ บอกให้รู้ว่าทำไมกุ้ง กุ้งมันจึงเอาหลังไป นี่คุณอาจจะไม่รู้นะ ถ้าคุณไม่เคยเล่นกับกุ้งที่อยู่ใน ในน้ำ ไปดูสิ กุ้งเวลาไป เอาหลังไปทั้งนั้นแหละ หลังคู้นี่แหละ มันไป ไปเหมือนกันหัวเรือ ถ้ามันจะไปเร็ว ๆ นี่เป็นเหตุให้กุ้งเป็นสัตว์ที่เอาหลังไปตั้งแต่นั้นมา แต่นิทานอย่างนี้มันมีมาก มีมากหลาย หลายประเด็นหลายแง่หลายตอนด้วยกันทุกชาติทุกภาษา แต่ก็มันน่าหัวใช่ไหมล่ะ พาดพิงไปถึงพระเจ้า ถ้าพระเจ้านั้นมีความรู้สึกอย่างบุคคล ถ้าพระเจ้านั้นเป็นเพียงกฎของธรรมชาติ แล้วมันจะกินกุ้งได้อย่างไรเล่า ทีนี้พระเจ้ามันเป็นบุคคล มีความรู้สึกอย่างบุคคล มันก็อยากจะลองกินกุ้งขึ้นมา ทำให้กุ้งเป็นสัตว์ที่เดิน เดินด้วย วิ่งไปด้วยหลัง พุ่งไปด้วยหลัง ถ้ามันเดินช้า ๆ คลานไปตามแผ่นดิน มันก็คลานไปตามแผ่นดินนั้นนี่แหละ มันก็คลานด้วยเท้าเหมือนกับสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง แต่ถ้าบทที่ต้องไปเร็วปรูด แล้วมันก็เอาหลังไป เหมือนกับลูกศร ถึงคราวที่จะไปเร็วอย่างลูกศรพุ่งเอาหลังไป ทุกอย่างช่วยดันให้หลังที่คู้นั่น ไปโดยเร็วพ้นอันตราย นี่โทษของการที่ว่า มันมีอะไรล่ะพระเจ้าอย่างบุคคล พระเจ้าดีที่สุด หรือพระเจ้าคือไอ้สิ่งที่ดีที่สุด แล้วเป็นอย่างบุคคล ก็ยังอยากจะกินนั่นกินนี่ ชอบนั่นชอบนี่ เกลียดนั่นเกลียดนี่ มันเลยไปกันไม่ไหว ฉะนั้นเราชาวพุทธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่สามารถจะยอมรับพระเจ้าชนิดนั้น มันก็เลยมีพระเจ้าที่เป็นกฎของธรรมชาติ
ทีนี้ก็มาถึงประเด็นหนึ่งที่ว่า ไอ้ลักษณะของพระเจ้านั้น ไอ้ qualification ของพระเจ้านั่น มันก็มีอยู่หลาย ๆ อย่าง ไอ้ที่สำคัญที่สุด ที่กลัวกันนัก ก็คือพระเจ้านั้นอยู่ในที่ทั้งปวง สิงอยู่ในที่ทั้งปวง ฉะนั้นใครจะทำอะไรให้ลับตาพระเจ้าไม่ได้ ทำชั่วทำดีลับตาพระเจ้าไม่ได้ เพราะพระเจ้ามีอยู่ในที่ทั้งปวง เราก็เลยคิดเล่น ๆ คิดเล่น ๆ ขึ้นมา ว่าพระเจ้าจะไปอยู่ในที่ทั้งปวงได้อย่างไร ถ้าพระเจ้ามีความรู้สึกอย่างบุคคล เหมือนกับบุคคลนั่น พระเจ้าจะไปอยู่ในที่ทั้งปวงทุกสิ่งได้อย่างไร เรามีพระเจ้าอย่างกฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาตินั่น เข้าไปอยู่ในทุกสิ่งของสิ่งทั้งปวงได้ จนกระทั่งว่าพระเจ้านี่จะไปควบคุมอยู่ในทุก ๆ ปรมาณู ทุก ๆ อะตอม ที่มันประกอบกันขึ้นเป็นจักรวาลนี้ ในแต่ละปรมาณูนั่นมีพระเจ้าคือกฎของธรรมชาตินี่เข้าไปครอบคลุมอยู่ บังคับบัญชาอยู่ สิงสถิตอยู่ เราก็คุยได้ว่า เข้าไปอยู่ในทุก ๆ ปรมาณูของสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นจักรวาล ก็เลยล้อ ๆ ล้อพระเจ้าอย่างบุคคล พระเจ้าของบุคคลนี่เข้าไปอยู่ในกองขี้หมาได้ นี่คำนี้ไม่ใช่ผมพูดเป็นคนแรกนะ เขาได้ยิน เขาพูดกันมา ในพวกเซนก็พูด พระเจ้าไปอยู่ในกองขี้หมาได้หรือ ถ้าเป็นอย่างบุคคล เรา ๆ เรากำหนดพระเจ้าเป็นกฎของธรรมชาติ เข้าไปปกครองอยู่ทุก ๆ ปรมาณู ในกองขี้หมากองหนึ่งมันจะประกอบไปด้วยปรมาณูกี่ล้าน ๆ ๆ ก็ตามแต่ ในทุกปรมาณูที่ประกอบกันเป็นกองขี้หมานั่น ก็มันยังมีพระเจ้าที่เป็นกฎของธรรมชาติเข้าไปควบคุมอยู่ มันก็เลยเลิกกัน พระเจ้าอย่างบุคคลจะเข้าไปควบคุมอยู่ในทุก ๆ ปรมาณูที่ประกอบกันขึ้นเป็นจักรวาลได้อย่างไร มันมองไม่เห็น ฉะนั้นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระเจ้าตามแบบที่พุทธศาสนายอมรับได้ โดยตั้งคำถามขึ้นด้วยคุณสมบัติ คุณลักษณะ qualification นั่น ทุก ๆ ข้อที่มันประกอบกันขึ้นเป็นพระเจ้า ที่เขาประกอบกันขึ้นเป็นคุณสมบัติของพระเจ้านั่น เช่นว่า เป็น ๆ เป็นสิ่งแรกของสิ่งทั้งปวง คือมีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวงและสิ่งทั้งปวงออกมาจากสิ่งนั้น แล้วก็มี มีได้ มีกฎของธรรมชาติอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง
พระเจ้าอย่างบุคคลจะมีได้ มีพระเจ้าก็สร้างสิ่งทั้งปวง บันดาลสิ่งทั้งปวงออกมา ๆ ๆ แล้วก็มีกฎของธรรมชาติเป็นเครื่องบันดาลให้สิ่งทั้งปวงออกมาตามกฎเกณฑ์ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เป็นกลาง ๆ ทำผิดก็ผิด ทำถูกก็ถูก ทำไม่ดีก็มีความทุกข์ ทำดีก็มี ไม่มีความทุกข์ ถ้าพระเจ้าเป็นอย่างบุคคลมีความรู้สึกอย่างบุคคลแล้ว ทำไมสร้างสิ่งต่าง ๆ มาให้เป็นปัญหาเล่า สร้างโรคภัยไข้เจ็บมาให้เป็นปัญหาทำไม หากพระเจ้าเป็นบุคคลแล้วจะโง่หรือฉลาดที่จะสร้างโรคภัยไข้เจ็บมาให้มาด้วย ทำไมสร้างบุคคลนี่ให้มีสติปัญญาสำหรับคัดค้านพระเจ้า สำหรับดื้อ ดื้อดึงต่อพระเจ้า จนพระเจ้าต้องลงโทษให้เสียเวลาอีก นี่เพราะว่ามีความรู้สึกดีที่สุด มีปัญญาที่สุดก็ไม่ต้องสร้างไอ้สิ่งเลวร้ายเหล่านี้เข้ามาในโลก เช่น สงคราม เป็นต้น
ผมเห็นว่าไอ้สิ่งที่น่าหัวที่สุดก็คือว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มากัดกันเอง นี่ถูกหรือ ถ้ามนุษย์ทุกคนพระเจ้าสร้างมาแล้วทำไมสร้างมาในลักษณะที่มากัดกันเองไม่มีที่สิ้นสุดในโลกปัจจุบันเวลานี้ เราจึงยอมรับไม่ไหวว่าพระเจ้าที่ฉลาดที่สุดสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา พระเจ้าควบคุมสิ่งทั้งปวง เอาสิ ถ้าพระเจ้ามีความรู้สึกอย่างคนเดี๋ยวก็รับสินบนไม่ทันรู้หรอก เหมือนอย่างนิทานเรื่องกุ้งนั่น พระเจ้าทำลายล้างโลกเป็นคราว ๆ นี่กฎของธรรมชาติก็มีอย่างนั้นจริงเหมือนกัน จนโลกนี่มันเปลี่ยนไปจนถึงกับว่ามันวินาศเป็นคราว ๆ อย่างที่วิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าไอ้ solar system นี่มันเพิ่งมี แล้วมันก็จะสูญสิ้นไป แล้วมันก็จะเกิด solar system อันใหม่ขึ้น เช่น ดวงอาทิตย์นี่มันก็ยังเกิดเป็นยุค ๆ ดับเป็นยุค ๆ ในโลกนี้เดี๋ยวมันก็พลอยเกิดเป็นยุค ๆ ดับเป็นยุค ๆ เรียกว่าพระเจ้าทำลายโลกเป็นคราว ๆ แต่เขาพูดอย่างอื่น เขาพูดอย่างอื่นเรื่องน้ำเรื่องไฟอย่างโลกธรรมดา นี่เราเอาถึงกับว่าทำลายระบบจักรวาลกันเลย ระบบจักรวาลทั้งระบบ ๆ แต่ละระบบ ๆ มันเพิ่งเกิดแล้วมันก็ดับไปได้ แล้วมันเกิดได้อีก เมื่อดับไปได้ เพียงแต่มันนานเหลือเกินเท่านั้น เอาละ, เป็นอันว่าโลกนี้มันก็มีการถูกยุบ ยุบเลิกเป็นคราว ๆ พระเจ้าเป็นใหญ่กว่าสิ่งทั้งปวง ก็เอาสิ เราว่ากฎของธรรมชาติเป็นใหญ่กว่าสิ่งทั้งปวง ถ้าพระเจ้าใน ในแบบเป็นบุคคลนั่น บางทีมันก็บังคับไอ้เทวดาลูกน้องก็ไม่ได้ พระเจ้าบังคับซาตานก็ไม่ได้ พระเจ้าบังคับลูกน้องก็ไม่ได้ จะว่าเป็นใหญ่เหนือสิ่งทั้งปวงได้อย่างไร พระเจ้ามีอยู่ในที่ทั้งปวงก็อย่างที่ว่าแล้ว กฎของธรรมชาติเข้าไปมีในทุก ๆ ปรมาณู ยิ่งกว่าในกองขี้หมาก็ได้ นึกว่าพระเจ้ารู้ทุกสิ่ง คือสามารถจะทำให้เกิดสิ่งทุกสิ่ง ซึ่งแปลกประหลาดไม่มีที่สิ้นสุด เช่นว่าเดี๋ยวนี้มนุษย์สร้างไอ้ของประหลาด ๆ ๆ อย่างยิ่งออกมาเรื่อย ๆ ๆ นี้ พวกพระเจ้าเขาก็ว่าพระเจ้าเป็นผู้บันดาล ไอ้เราก็ว่ากฎของธรรมชาติ มันดลบันดาลให้มันสมองมนุษย์ไม่มีหยุด ออกไปเรื่อย อันไหนจะจริงกว่า ลองคิดดู
เอาล่ะ, เป็นอันว่าเราจะมองไปยังไอ้สิ่งที่เขากล่าวไว้ เป็น เป็นไอ้คุณลักษณะหนึ่ง ๆ ๆ ๆ ของคำว่าพระเจ้า ดูที่นั่น แล้วก็จะพบว่าในพุทธศาสนาก็มี แต่เราเรียกว่ากฎของธรรมชาติ ซึ่งระบุไปยังกฎของอิทัปปัจจยตา ดังนั้นในคืนนี้ผมตั้งใจจะพูดเรื่องกฎอิทัปปัจจยตา จะเพื่อให้มันเป็นประยุกต์ ให้มันชัด ให้มันชัดว่ามีอยู่ในที่ทุกแห่ง ในทุกบุคคล ในทุกเรื่องราวอาการของโลกนั่น เราไปดูเถิดมันจะมีเรื่องของอิทัปปัจจยตาเข้าไปแทรกแซงอยู่ทั้งนั้น แล้วมันที่มันน่าหัว ๆ ที่ว่าอิทัปปัจจยตานี้มันครอบงำโลกควบคุมจักรวาลนะ แต่จุดตั้งต้นอยู่ในหัวใจคนนิดเดียว ในหัวใจเรานิดเดียว มันเป็นจุดตั้งต้นอิทัปปัจจยตา ถ้าว่ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษย์ เรื่องอิทัปปัจจยตาตั้งต้นอยู่ในจุด ในหัวใจของคน ในโลกนี้ทั้งกี่ หรือโลกอื่นก็ตามที่มันมี มีมนุษย์ มีคนนั้น มันก็จะต้องมีเรื่องที่เกิดขึ้นในหัวใจคน แล้วคนจึงทำอะไรลงไป ๆ ทำอะไรลงไปในโลก ในบนผืนแผ่นดินโลกจนเรียกว่ามันเปลี่ยนแปลงโลก หรือมันปฏิวัติโลกกันทีเดียว ฉะนั้นแทนที่จะพูดถึงสวรรค์ถึงในโลกอื่นก็ตามเถิด มันเป็นเรื่องความคิดที่มนุษย์คิดทั้งนั้น มนุษย์มันวาดภาพสวรรค์ วาดภาพนรก วาดภาพอะไรก็แล้วแต่ที่จะคิดนึกได้ ถ้าว่ามันมีจริง มัน มันเป็นอย่างนั้นจริง มันก็คือว่าไอ้หัวใจคน มนุษย์คนนั้นมันสร้างขึ้น เช่นว่าเทวดานั้นก็คือสัตว์ที่มีความคิดนึกเหมือนกัน แล้วมันไม่มีอะไรที่ว่ามันจะไม่มาจากไอ้การปรุงแต่ง ที่มีจุดตั้งต้นที่สุดอยู่ที่กฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ
เอ้า, ทีนี้มาถึงตัวพุทธศาสนาแท้ ๆ ที่เรียกว่ากฎของธรรมชาติหรือกฎของอิทัปปัจจยตา คำนี้มันแปลว่า เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย เพราะความมีสิ่งนี้เป็นปัจจัยเรียกว่าอิทัปปัจจยตา ถ้า ถ้าพูดให้ยาวมันก็พูดว่า เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ว่ากันกี่ชั่วโมงกี่วันเล่า เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น กฎเกณฑ์อันนั้นแหละที่เรียกว่ากฎของอิทัปปัจจยตา อิทัง ปัจย แล้วก็ ตา ความที่มีสิ่งนี้เป็นปัจจัย กฎของความที่มีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น ถ้าพูดถึงไอ้เรื่องทางฝ่ายวัตถุ วัตถุล้วน ๆ วัตถุล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่มีชีวิตคิดนึกได้นะ เช่น ตัวแผ่นดิน ตัว ตัวโลก ตัวดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์อะไรที่มันไม่ ไม่ได้มีชีวิต มันก็มีเหตุปัจจัยตามแบบนั้นมาตั้งแต่ทีแรก มันจึงมาปรากฏเป็นอยู่อย่างนี้ เรื่องนี้คุณก็ไปหาศึกษาเอาเองจากหนังสือวิทยาศาสตร์ เรื่องชีววิทยาชั้นลึกที่เขาพูดกันไปจนถึงกับว่าโลกนี้ ดวงอาทิตย์นั้นมันมาจากอะไร มันแตกกระจายไปเป็นโลกเป็นอะไร หรือก่อนจะดวงอาทิตย์ ก่อนจะมีดวงอาทิตย์มันมีอะไร อะไรมันจับกลุ่มเข้ามาเข้มข้นจนเป็นดวงอาทิตย์ เป็นดวงดาวพระเคราะห์ ดาวฤกษ์ต่าง ๆ นั่นมันก็ไม่มีชีวิตจิตใจอะไร มันก็มีเหตุปัจจัยซึ่งเราก็บอกไม่ได้ว่าเหตุปัจจัยอันนั้นคืออะไร แต่มันก็คือเหตุปัจจัยนั่นแหละ ที่ทำให้หมอกเพลิง nebula อะไรมา จับตัวหมุนเข้มข้นเป็นดาวฤกษ์ต่าง ๆ กระทั่งดวงอาทิตย์ กระทั่งดวงอาทิตย์จะต้องแยกออกมาเป็นโลก หรือว่าโลกก็จะมาจาก nebula ของตัวเองโดยเฉพาะ แล้วก็ความหมายก็เหมือนกันแหละ มันก็มาจากไอ้เหตุปัจจัยตั้งต้น ซึ่งจะสาวออกไปออกอีกไปไกล ผมเคยพูดคำว่าเหตุปัจจัยตั้งต้น เหตุปัจจัยตั้งต้น สาวไปก็ สาวไปไม่ได้ก็หยุดแต่มาดูกันที่นี่ดีกว่าว่าปัญหามันอยู่ที่ไหน ปัญหามัน ๆ มันอยู่ที่เรื่องของสิ่งที่มีชีวิต ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่เรื่องของสิ่งที่ไม่มีชีวิต ดังนั้นเราก็จะไม่ไปสนใจกับเรื่องที่ไม่มีชีวิต มันเสียเวลามากกว่าจำเป็น รู้เท่าที่ควรจะรู้ เพราะว่าตัวปัญหามัน มันอยู่ที่ตัวความทุกข์ที่มีอยู่ในจิตใจของคนนั่น นี่มันปัญหาใหญ่หลวง แล้วมัน คนนั่นมันทนอยู่ไม่ได้ถ้ามันมีความทุกข์ มันต้องต่อสู้ มันต้องดิ้นรน แต่คนมันทนอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนมันก็ต้องดิ้นรนเพื่อจะหาวิธีที่จะดับทุกข์นั้นเสีย
เมื่อความทุกข์เหล่านี้มันเกิดมาตามกฎของธรรมชาติ หรือกฎอิทัปปัจจยตา แล้วมันก็ต้องใช้กฎอิทัปปัจจยตา ฝ่ายที่มันแสดงความตรงกันข้าม ตรงกันข้าม มาดับทุกข์เหล่านี้เสีย ให้ถูก ให้ตรงตามเรื่องตามราวของมัน ก็ดับทุกข์ได้ ไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือของพระเจ้า ผีสางเทวดาอะไรที่เป็นพวกที่พิสูจน์ไม่ได้ ที่บังคับให้นับถือกันโดยไม่ยอมให้พิสูจน์นั่น ไม่ ไม่ต้อง จึงมาดูกันในใจคนว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นในจิตใจของคนได้อย่างไร แล้วคนก็พยายามแก้ไข ๆ จนความทุกข์เกิดไม่ได้ในจิตใจ คนมันก็พอแล้วนี่ เรื่องมันควรจะจบแล้ว ถ้าคิดต่อไปจากนี้มันก็ไม่มี ๆ ไม่ม่ประโยชน์อะไร ไม่มีความหมายอะไร เมื่อคนมันไม่มีความทุกข์แล้วมันก็ไม่มีปัญหาอะไร
ดังนั้นพุทธศาสนาจึงพูดกันแต่เรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์เท่านั้น ถ้าคุณบวชใหม่นี่ไม่ ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็ คุณก็จำไว้ก็แล้วกัน ว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า ฉันบัญญัติแต่เรื่องความทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น เรื่องอื่นไม่พูดนั่นเอง กระทั่งเดี๋ยวนี้และที่แล้วมานี่ พระพุทธภาษิตนี้ควรจำไว้เป็นหลักตลอดชีวิต เพื่อจะเตือน เตือนว่าอย่าไปพูดเรื่องนอก นอกไปจากนี้ มันไม่มีประโยชน์อะไร บุพเพจาหัง ภิกขะเว เอสรหิจะ ทุกขัง เจวะ ปัญญา เปมิ ทุกขะ สัจจ วิโรทัง (0:49:50) บาลีว่าแค่นี้ ภิกษุทั้งหลาย ก่อนโน้นก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ตถาคตบัญญัติเฉพาะเรื่องทุกข์กับดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น ถ้าใครมาชวนคุยเรื่องนอกไปจากนี้ เราไม่เอาด้วย เสียเวลา ไม่ใช่พุทธศาสนา ดังนั้นเราจึงไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องต่าง ๆ ที่มันไม่ ๆ ไม่เกี่ยวกับเรื่องดับทุกข์ เรื่องจิต เรื่องวิญญาณ เรื่องผีสางเทวดา เรื่องเกิดใหม่ อะไรไปเกิดอะไรก็ตามช่างมันเถิด มา ๆ ๆ มาดูกันแต่เรื่องว่าดับทุกข์กันอย่างไรดีกว่า
ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสไว้ว่า ไอ้เรื่องทุกข์ก็ดี เหตุให้เกิดทุกข์ก็ดี ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ก็ดี ทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งที่ยังเป็น ๆ นั่น ที่ประกอบเป็นสัญญาและใจที่ยังเป็น ๆ หมายความว่าถ้า ๆ มัน มันตายแล้ว มนุษย์ตายแล้วไม่มี ไม่มีเรื่องนี้ ต้องพูดกันแต่มนุษย์ที่ยังไม่ตาย มนุษย์ที่ยังเป็น ๆ อยู่ใน ในร่างกายมนุษย์ที่ยังเป็น ๆ ที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ มีเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ฉะนั้นเราก็อย่าศึกษานอกไปจากร่างกายนี้ อย่าศึกษาบ้าหลังนอกไปจากร่างกายนี้ซึ่งมันมีรวมไว้หมด ไอ้คำว่าทุกข์ ทุกข์ในที่นี้บางทีพระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่าโลก น่า น่ากลัว ใช้คำว่าโลกแทนที่จะพูดว่าทุกข์ ท่านใช้คำว่าโลก โลหิตัสสะ ตรัสแก่คนชื่อโลหิตัสสะ (0:51:52) โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับแห่งโลกก็ดี ทางถึงความดับแห่งโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ที่ยังเป็น ๆ นั่น คือมีชีวิต ไอ้โลกก็ดี ที่สุด ๆ จบแห่งโลกก็ดี ก็อยู่ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี้ ไอ้เทวดานั้น มัน มันคิดหาเรื่องที่สุดโลก ที่สุดโลกอยู่ที่ไหน ที่สุดโลกอยู่ที่ไหน ใช้ความเป็นเทวดาของมันจะค้นหาไม่พบ เมื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านว่ามันอยู่ในร่างกายนี้ ที่สุดโลกมันอยู่ในร่างกายนี้ หรือที่สุดทุกข์ก็มันอยู่ในร่างกายนี้ ไอ้ความทุกข์มันก็อยู่ในร่างกายนี้ ปัญหามันจึงมาอยู่ที่เรื่องของสิ่งที่มีชีวิตคิดนึกได้และเป็นทุกข์ในความรู้สึก นั้นเราจึงสนใจกันแต่ในเรื่องของความทุกข์ที่มันมีอยู่ใน ในเนื้อ ในตัว ในร่างกาย ในปัญหาของเราจริง ๆ
ทีนี้ข้อที่ตรัสว่าทุกข์หรือเหตุให้เกิดทุกข์อะไรก็อยู่ในร่างกายนี้ เราก็ตั้งต้นเรียนเรื่องอิทัปปัจจยตา เรียกอีกอย่างหนึ่งแคบเข้ามาเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท เรื่องอิทัปปัจจยตาอันกว้างขวางนี่ถ้าพูดกันเฉพาะแต่สำหรับสิ่งที่มีชีวิตจิตใจรู้สึกคิดนึกได้แล้วก็เรียกว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้าขยายออกไปหมดรวมทั้งเรื่องโลกเรื่องสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลายด้วยก็เรียกว่าเรื่องอิทัปปัจจยตา เรื่องเดียวกันแต่ว่าความหมายกว้างกว่า แคบกว่ากันเท่านั้น ถ้าเรียกว่าอิทัปปัจจยตาหมายหมดทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไร จะเป็นไอ้มีชีวิต ไม่มีชีวิตก็ตาม แต่ถ้าเรียกแคบเข้ามาเป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาทแล้วก็มุ่งหมายถึงสิ่งที่มีชีวิตรู้สึกคิดนึกได้ โดยเฉพาะกับคนนั่นเอง ฉะนั้นเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็คือเรื่องของคน แต่เดี๋ยวนี้คนก็ไม่สนใจเรื่องของคน สนใจเรื่องอะไรก็ไม่รู้ มันเป็นเพราะอะไรหลายอย่างนะ จะโทษใครก็ไม่ได้ ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม ไอ้ความรู้การศึกษา มัน มันมีอย่างไร เพียงไรคนมันก็ทำกันเพียงเท่านั้น ถ้ามันรู้กันแต่เพียงเรื่องกินอร่อย สนุกสนานมันก็สนใจกันแต่เพียงเท่านั้น มันไม่สนใจถึงโทษถึงไอ้เรื่องที่ต้องดับไอ้สิ่งเหล่านี้ นี่ถ้าชาวพุทธมันเป็นชาวพุทธกันแท้จริง ก็ต้องสนใจจนดับทุกข์ได้ ไม่สนใจแต่เพียงว่ามีอาหารกิน มีที่อยู่ที่อาศัย พอสะดวกสบายพอแล้ว นั่นมันก็ไม่ถูก เพราะว่ามีชีวิตอยู่อย่างนั้นมันก็มีความทุกข์อยู่ในใจ คนมีเงินก็มีความทุกข์มีปัญหาเกี่ยวกับเงิน คนมีทรัพย์สมบัติอย่างอื่น ก็มีปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศชื่อเสียง ก็มีปัญหาเกี่ยวกับเกียรติยศชื่อเสียง มีอะไรมันก็เป็นเหตุให้เกิดปัญหา เพราะสิ่งที่มีนั้น จึงมีคำศัพท์สั้น ๆ ว่าไอ้พวกที่มีวัวมีควายก็เป็นทุกข์เพราะวัวเพราะควาย พวกที่มีลูกมีหลานก็มันก็มีความทุกข์ยุ่งยากเพราะลูกเพราะหลาน มีทรัพย์สมบัติก็อย่างนั้น แปลว่ามันไปยึดถือว่ามันมีอะไร ในสิ่งใด มันก็ต้องเป็นทุกข์เพราะเหตุนั้น ถ้ามีชนิดที่ไม่ยึดถือมันก็มีไม่เป็น สำหรับคนทั่วไป มีโดยไม่ต้องยึดถือนี่ จะมีได้เฉพาะคนที่รู้ธรรมะสูงสุดในพระพุทธศาสนาเท่านั้น มีโดยไม่ต้องยึดถือ มีชีวิตโดยไม่ต้องยึดถือว่าชีวิตของกู มีทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของก็มีโดยไม่ต้องยึดถือว่าของกู มีบุตรภรรยาสามีก็มีได้โดยจิตไม่ต้องยึดถือหมายมั่นว่าเป็นของกู แล้วก็ปฏิบัติหน้าที่ต่อสิ่งเหล่านั้นไปตามที่ควรจะปฏิบัติเพียงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือความทุกข์ขึ้นมา นี่คือหัวใจพุทธศาสนา ไม่ยึดถืออะไรว่าเป็นตัวตนหรือของตน ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวกูหรือของกู นี่เป็นหัวใจพุทธศาสนาที่ต้องทำให้ได้อย่างนั้นจริง ๆ
ทีนี้มันแปลก มันมีอะไรแปลกนิดหนึ่งอยากจะเล่าให้ฟัง มันก็คงจะเสียเวลาบ้าง แต่ว่าก็อยากจะเล่าให้ฟังว่า ไอ้คำสอนเรื่องมีโดยไม่ต้องเป็นของกูนี่ มันก็พลัด ๆ ไปอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์ไบเบิลของพวกคริสต์เตียน แต่ไม่ใช่คำสอนของพระเยซูโดยตรงหรอก เป็นคำสอนของลูกศิษย์พระเยซู เมื่อพระเยซูสิ้นไปแล้ว ลูกศิษย์ชั้นหลังก็สอนกันอยู่นี่ Saint Paul คนนี้ก็ไปสอนชาวบ้านโคอินเทียน เมืองโคอินเทียน (นาทีที่ 00.57.27) สอนมาก สอนเยอะมากมาย แต่มีอยู่ตอนหนึ่งที่ว่าเดี๋ยวนี้เราก็แก่แล้ว เดี๋ยวนี้เราก็แก่กันแล้ว อายุมากแล้ว ดังนั้นมีภรรยาก็จงเหมือนกับไม่มีภรรยา มีภรรยาก็จงทำจิตเหมือนกับไม่มีภรรยา มีทรัพย์สมบัติก็จงทำจิตเหมือนกับไม่มีทรัพย์สมบัติ มีความสุขก็จงทำจิตเหมือนกับที่ไม่มีความสุข ไปซื้อของที่ตลาดแล้วอย่าเอาอะไรมา ไอ้คำสอนนี้ตรงกับหัวใจพุทธศาสนา แต่ดูเขาจะไม่ หรือเขาไม่รู้ถึงเจตนา หรือไอ้เหตุผลเหมือนอย่างที่เรารู้ จึงมีคำว่าเดี๋ยวนี้เราก็แก่ชรากันทุกคนแล้ว ฉะนั้นทำอย่างนี้เถิด แต่หลักอันนี้มันมาตรงกับหลักพุทธศาสนา มีอะไรก็เหมือน ก็รู้สึกเหมือนกับมิได้มี คือมันไม่มีตัวกูของกูที่จะยึดครอง มีภรรยาก็จงเหมือนกับไม่มีภรรยา มีทรัพย์สมบัติก็จงเหมือนกับไม่มีทรัพย์สมบัติ มีความสุขหรือ มีความสุขอยู่แท้ ๆ ก็จงรู้สึกว่าเหมือนกับไม่มีความสุข ไปซื้อของที่ตลาดแล้วไม่เอาอะไรมาหมายความว่า ซื้อของแล้วก็มีจิตใจไม่ได้ยึดถือว่าของกู ก็ถือของนั้นเอามาถึงบ้าน ก็กินก็ใช้ก็ทำไปตามที่ ๆ ๆ ต้องการจะทำแต่ก็ไม่ได้ยึดถือว่ากูทำหรือของกู นี่เขาใช้คำพูดที่ประหลาดดีว่าซื้อของที่ตลาดแล้วอย่าเอาอะไรมา ไม่ต้องเอาอะไรมา นี่มันเป็นหัวใจพุทธศาสนาที่ไปมีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งมันไม่ ไม่ได้ ได้ตรงเป็นหลักแท้จริงมาตั้งแต่ต้นหรอก มันเป็นคำบังเอิญ เป็นการบังเอิญที่คำพูดของผู้สอนนี่ เขาสอน ที่ว่าเตือนสติสำหรับคนที่อายุมากจวนจะตายอยู่แล้วทั้งนั้น คงจะนึกขึ้นมาได้ว่าคนที่จะตายอยู่แล้วนี้ อย่าไปมัวยึดถืออะไรเป็นของตนเลย มันก็ให้มัน ๆ มันเข้าถึงพระเจ้าได้ง่ายขึ้น ถ้าเราไปมัวยึดถืออะไรของเป็นของตน ๆ ก็เข้าถึงพระเจ้าไม่ได้ เราต้องพยายามรีบให้เข้าถึงพระเจ้า เดี๋ยวนี้แก่มากแล้ว ชรามากแล้ว จงใช้วิธีนี้เถิด เพราะฉะนั้นเป็นอันว่าข้อนี้เราก็จะไม่วิจารณ์อะไรให้มันมากนัก เดี๋ยวมันอาจจะไม่ตรงกับความจริงซึ่งเราก็ยังไม่รู้ แต่ตามปรากฏการณ์ที่มันปรากฏอยู่นี่ก็เห็นว่าข้อความชนิดนี้มีในคัมภีร์ไบเบิลด้วยเหมือนกัน
ส่วนในพุทธศาสนาเรานี่ก็เอาว่าเต็มที่เลย ไม่มีความหลงโง่เป็นตัวตน เป็นของตน เป็นตัวกู เป็นของกู เพราะว่าไอ้ตัวกูหรือของกูนี่มันเป็นเพียงสิ่งที่เพิ่งจะรู้สึกทั้งนั้น เพิ่งจะรู้สึก ด้วยความโง่ที่ปรุงแต่งกันขึ้นมาในจิตใจ นี่คือเรื่องสำคัญที่สุด ที่จะต้องพูดกันจนให้รู้ว่าไอ้ความโง่ว่าตัวกูของกูนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ดังนั้นเราจึงจะต้องพูดเรื่องปฏิจจสมุปบาท รายละเอียดมันมีอยู่ในหนังสือเรื่องปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ ถ้าใครสนใจก็ไปหาอ่านเอาเอง เป็นรายละเอียดมากมายเหลือประมาณ
และเดี๋ยวนี้จะบอกแนวของเรื่องปฏิจจสมุปบาท จนกระทั่งเห็นว่าเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันของคนทุกคน ของคุณทุกคน ในชีวิตประจำวันทุกวันของคนทุกคน ฟังดูให้ดี ไม่ใช่เรื่องอดีตอนาคตหรือเรื่องต่อตายแล้ว ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เอ้า, คุณ ๆ ก็จงกำหนดให้ดี ๆ ว่าเรามีหลักสำหรับการศึกษากันอย่างไร ในพระพุทธศาสนานี้ อันแรกที่สุดเราก็ต้องมีหลักนี่ ศึกษาว่าเราคือคนนี้j คนที่สมมติเรียกว่าคน สมมติเรียกว่าเรานี่ คือสัตว์ชนิดนี้ ที่กำลังสมมติเรียกตัวเองว่าคน ว่าเรานี่ มีอายตนะภายใน ๑ หมวดที่ ๑ คืออายตนะภายใน ได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖อย่างนี้ แต่ละอย่าง ๆ มีเป็นระบบ ระบบของมันอยู่ในตัว เช่น ตา ก็มีก้อนเนื้อลูกตา มีเส้นประสาทตา ที่ทำหน้าที่ได้อย่างตา สำหรับจะเป็นที่ตั้งของวิญญาณทางตาจะเข้ามาทำหน้าที่ เรามีอายตนะภายใน ๖ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๒ มันมีธรรมชาตินั่นมันมีอายตนะภายนอก คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี่ดู ดูแล้วจะเห็นว่าเป็นคู่ ๆ ตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรส ผิวหนังกายนี่คู่กับโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่มากระทบกาย และใจคู่กับธรรมารมณ์คือสิ่งที่ใจจะรู้สึกได้ตามธรรมชาติ เลยเป็น ๖ คู่ ในตัวเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้างนอกตัวเรามีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทีนี้เมื่อตากระทบกับรูป หรือรูปมากระทบตาด้วยกัน ตาถึงกันเข้ากับรูป ก็เกิดวิญญาณทางตา วิญญาณทาง เกิดกระทบหูเกิดวิญญาณทางหู ครบ ๖ วิญญาณนี่เหมือนกัน วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก วิญญาณทางลิ้น วิญญาณทางกาย วิญญาณทางใจ นี่ชุดที่ ๓
ทีนี้เมื่อ ๓ อย่างนี้ คืออายตนะภายในเช่น ตา เป็นต้น อายตนะภายนอกหรือรูป เป็นต้น แล้วก็วิญญาณทางตา เป็นต้น ๓ อย่างนี้กำลังทำงานร่วมกันอยู่ คือถึงกันอยู่ สังคติกันอยู่ นี่เราเรียกว่าผัสสะ ผัสสะ เราก็ได้ผัสสะอีกชุดหนึ่ง ๖ ผัสสะ ผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ผัสสะทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ได้อีกชุดหนึ่งผัสสะ ๖ ทีนี้เพราะมีผัสสะแล้วจะต้องเกิดไอ้สิ่งที่เรียกว่าเวทนา เวทนาที่เกิดเพราะสัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดเพราะสัมผัสทางหู เวทนาที่เกิดเพราะสัมผัสทางจมูก ๖ เวทนาอีกเหมือนกัน เวทนาที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ทีนี้มีเวทนา ๖ แล้ว รู้สึกสุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ในเวทนา แต่ละอย่าง ๆ ๖ อย่างแล้วมันก็เกิดความอยาก คือตัณหา ตามสมควรแต่เวทนานั้น แล้วก็ในชุดนี้ ชุดก็คือตัณหา ๖ เวทนา ๖ ตัณหา ๖ ตัณหาในรูป ตัณหาในเสียง ตัณหาในกลิ่น ตัณหาในรส ตัณหา ตัณหานี่ก็ไปแจกตามอายตนะภายนอก ไอ้ผัสสะเวทนานี่แจกตามอายตนะภายใน นี่มีตัณหาคือความอยาก ๖ อย่าง ทุกตัณหาทำให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูผู้อยาก เรียกว่าอุปาทาน เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน ไอ้ความรู้สึกอยากเกิดขึ้นก่อน แล้วก็ปรุงความคิด เข้าใจ สำคัญผิดว่ามีตัวกูผู้อยากและได้อยู่ เป็นของกู กูอยากแล้วก็ได้อยู่ เป็นของกู นี่เรียกว่าอุปาทาน พอถึงอุปาทานนี่มันมีการยึดถือด้วยใจแล้วก็มีอาการแห่งความทุกข์ มีอาการแห่งความทุกข์ ในความยึดถือนั่นน้อย ๆ แต่ทีนี้มันไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ไอ้ความรู้สึกว่าตัวกู ๆ นี่มันเข้มข้นเข้า ๆ ไอ้อุปาทานนั่นทำให้เกิดภพ ภพ ภว ภว ภพ แปลว่าความมี ความเป็นแห่งตัวกู ซึ่งจะเป็น แจกเป็นกามภพ รูปภพ อย่าเพิ่งไปสนใจก่อนก็ได้ มันละเอียดเกินกว่าที่จะศึกษากันในขั้นแรกนี้ แต่มันมีภพ คือความมี ความเป็นแห่งตัวกูแก่ แก่คือเข้มข้น เข้มข้นอยู่ในความรู้สึก ตัณหาอุปาทานนั่นเหมือนกับการตั้งครรภ์ ภพเหมือนกับครรภ์แก่ ทีนี้มันก็จะเกิดออกมาเป็นชาติ ภพนี่เกิดมาเป็นชาติ เป็นตัวกูของกูอย่างเต็มที่เต็มความหมาย เรียกว่าชาติ ชาติ ทั้งหมดนี้เพราะไม่รู้ตามเป็นจริง มันอวิชชา มันไม่รู้มาตั้งแต่ผัสสะโน้น ตั้งแต่ผัสสะโน้น คนก็เลือกไปดูหมวดผัสสะ ในหมวดนั้นมันไม่มีปัญญา มันไม่มีวิชชา เป็นผัสสะโง่ มันจึงได้เป็นมาอย่างนี้ ๆ ๆ จนถึงเกิดชาติตัวกูของกูเพราะความโง่นั้น พอมีตัวกูของกูในความรู้สึกอย่างนี้แล้วมันก็จะจับฉวยทุกอย่างที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องนี่เป็นของกูหมด ไอ้ชาติ ชาติโง่ ชาติอะไร ตัวกูของกูอย่างโง่ ๆ ที่มันเกิดขึ้นมานี่มันจะไปคว้าเอาอะไร ๆ มาเป็นของกู มันไปเฝ้าความเกิดจากท้องแม่มาเป็นของกู ความแก่ตามธรรมชาติเป็นของกู ความเจ็บไข้ตามธรรมชาติเป็นของกู ความตายตามธรรมชาติเป็นของกู ในสิ่งต่าง ๆ ในบ้านในเรือน นอกบ้านนอกเรือน ที่ไร่ที่นา ของต่าง ๆ ก็เป็นของกู เกียรติยศชื่อเสียงก็เป็นของกู นรกสวรรค์ในความคิดความนึกก็เป็นของกู อะไรก็มันมีตัวกู มีของกู นี่จิตใจเดือดร้อน เดือดร้อนกระวนกระวายระส่ำระสาย หนัก หนักอึ้ง มืดมัว พัวพันอะไรก็แต่ ทุกลักษณะที่เรียกว่าความทุกข์ เพียงแต่เกิดความรู้สึกว่าตัวกูและของกูเท่านั้น มันก็เกิดความกลัวว่ามันจะหาย มันจะสูญหายไปเสียแล้ว แล้วไปยึดถือหลงรักสิ่งใดว่าเป็นตัวกูของกู มันก็ย่อมเกิดความรู้สึกตามมาว่ามันจะหาย มันก็กลัวว่าจะหาย นี่เรียกว่าความทุกข์มันเกิดมาจากความยึดถือ พอมันหายเข้าจริง ๆ มันก็ยิ่งเป็นทุกข์ใหญ่ เมื่อได้มา มันก็กลัวว่าจะหาย ยังไม่ทันจะได้ มันก็กลัวว่าจะไม่ได้ ถ้าได้มา มันก็กลัวว่าจะหาย นี่โทษร้ายกาจของความยึดถือ แล้วเราก็ได้เป็นทุกข์
ไปมองกันทุกคนให้เห็นว่า ทั้ง ทั้งเรื่องนี่ตั้งแต่อายตนะไปถึงความทุกข์ มันเป็นเรื่องของคนในแต่ละวัน ๆ เพราะว่ายังมีตาหูจมูกลิ้นกายใจอยู่ ไอ้ข้างนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ พร้อมที่จะสัมผัสเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ แล้วเราก็โง่ เมื่อมันมา มาสัมผัสนะ ก็เกิดวิญญาณขึ้นแล้ว เป็นสัมผัสขึ้นมาแล้ว เราก็โง่ในสิ่งเหล่านั้น จนเกิดความคิดว่าตัวกู ว่าของกู แล้วก็เป็นทุกข์กันอย่างใหญ่หลวง รายละเอียดอย่างนี้มันมากเกินไป เขาจึงไม่นำมาสอน ประชาชน พุทธบริษัททั้งหลายจึงไม่รู้เรื่องรายละเอียดเหล่านี้ จะรู้แต่คำบอกลัด ๆ สั้น ๆ ว่าอย่ายึดถือสิ่งใดเป็นตัวตนเว้ย, เป็นอนัตตาเว้ย, เป็นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเว้ย, ก็หมายความว่า สิ่งเหล่านั้นมันเป็นไปตามอาการเหล่านี้ ตามอาการเหล่านี้ ๆ เปลี่ยนไป ๆ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอัตตาตามอาการเหล่านี้ ดังนั้นชาวบ้านทั้งหลายได้รับการสั่งสอนแต่เพียงว่ามันอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาโว้ย, แต่ไม่ได้แจงให้รายละเอียดเหมือนอย่างที่แจงนี้ ให้เห็นว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในลักษณะอย่างไร ฉะนั้นเรารู้กันเสียบ้างในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทจะต้องรู้เรื่องนี้ เรามีกฎเรื่องนี้ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นพระเจ้า คือเป็นสิ่งสูงสุดที่มันจะทำให้เกิดทุกข์ เมื่อปฏิบัติผิด จะไม่เกิดทุกข์เมื่อปฏิบัติถูกต้อง เราเป็นพุทธบริษัทก็รู้จักพระเจ้าของพุทธบริษัทเสียให้ถูกต้อง แล้วเราก็จะได้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันไม่ต้องเกิดทุกข์ มันเป็นอย่างนี้เอง คุณทบทวนไปสิว่า มันเป็นอย่างนี้เอง ตัวอย่าง เมื่อตากระทบรูปเกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการนี้เรียกว่าผัสสะ มันเป็นอย่างนี้เอง ถ้ามีผัสสะโง่ในขณะนั้น ไม่มีปัญญา มันก็เกิดเวทนาโง่ เป็นอย่างนี้เอง เวทนาโง่ก็ให้เกิดตัณหา คือความอยากโง่ อยากที่โง่ ก็เป็นอย่างนี้เอง ตัณหาให้เกิดอุปาทาน มันก็อย่างนี้เอง อุปาทานให้เกิดภพก็อย่างนี้เอง ภพมาเกิดชาติก็คืออย่างนี้เอง ชาติให้เกิดความทุกข์ก็อย่างนี้เอง นี่รู้ว่าอย่างนี้เอง มันไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง มันเป็นเพียงอย่างนี้เอง ตามกฎของอิทัปปัจจยตา
ก็น่าเห็นใจนะ คุณยายคุณตาคงศึกษาไม่ไหว แล้วไม่มีเวลาโอกาสจะมาศึกษารายละเอียดอย่างนี้ แต่ขอ บอกว่ามันมีทางลัดที่ว่าเห็นอย่างนั้นเอง อย่างนั้นเอง มันอย่างนั้นเอง อย่าไปรัก ไปโกรธ ไปเกลียด ไปกลัว ไปอะไรกับมัน มันอย่างนั้นเอง ถ้ามันมาให้น่ารัก มันมาให้รัก มาอย่างน่ารัก ก็มันอย่างนั้นเอง อย่าไปรักกับมัน มันมาให้น่าเกลียด แล้วมันก็อย่างนั้นเอง อย่าไปเกลียดกับมัน มันมาให้กลัว มันน่ากลัว ก็อย่าไปกลัวกับมัน มันอย่างนั้นเอง ไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่วิตกกังวล ไม่อาลัยอาวรณ์ ไม่อิจฉาริษยา ไม่หึงไม่หวง ไม่ยึดมั่นโดยประการใด ๆ รู้เพียงว่ามันอย่างนั้นเอง มันตามกฎของอิทัปปัจจยตา หรือของพระเจ้าอิทัปปัจจยตา มันเป็นอย่างนั้นเอง ๆ อย่ามีใจหวั่นไหวไปตาม ถ้าว่าไปจับฉวยเข้าเป็นความทุกข์ ก็วางได้ทันที ไม่คิดอย่างนั้น ไม่ยึดถืออย่างนั้น ไม่คิดอย่างนั้น ฉะนั้นคำสอนเรื่องอิทัปปัจจยตาที่จะเอาไปปฏิบัติกันได้โดยง่ายก็คือเห็นว่ามันอย่างนั้นเอง
ตามแนวยาว ของยาวเป็นขั้น ๆ ๆ ๆ ของปฏิจจสมุปบาท คือมันอย่างนั้นเอง สูตรนี้เป็นสูตรปฏิจจสมุปบาทที่ประยุกต์ได้ คือไม่พูดให้มีความหมายบางอย่างลึกจนเข้าใจไม่ได้ มันมีสูตรปฏิจจสมุปบาทที่ยืดยาว ที่ฟังแล้วเข้าใจไม่ได้ แล้วไม่อาจจะอธิบายในเวลาอันสั้นนี้ได้ มันอีกพวกหนึ่ง แต่ว่าสูตรนี้พระพุทธเจ้าท่านทรงนำมาท่องด้วยพระองค์เอง การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นคือการตรัสรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทนะ ท่านทยอยมาทีละขั้น ๆ ตามเรื่องของปฏิจจสมุปบาทจนตัวทุกข์ดับไปเพราะเหตุนี้ ทุกข์เกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ เป็นพระพุทธเจ้าแล้วนี่ ดูเหมือนจะหลาย ๆ สิบปีมาแล้วก็ได้นี่ ดูลักษณะของสูตร ๆ สูตรนี้พระพุทธเจ้าท่านเอามาท่องอยู่คนเดียว อยู่องค์เดียว (นาทีที่ 1.15.36) จักขุญจะ ปฏิจจะ รูเปจะ ปฏิจจะ อุปปัชชะติ วิญญาณัง ทินนัง ธัมมานัง สังฆาฏิ ผัสโส ผัสสะปัจจะยา เวทะนา เวทะนาปัจจะยา ตัณหา ตัณหาปัจจะยา อุปาทานัง อุปาทานะปัจจะยา ภะโว ภะวะปัจจะยา ชาติ ชาติปัจจะยา ชะรามะระณัง โสกะปะริเทวะทุกขะ เป็นทุกข์ไปเลย ท่องเรื่องหูเรื่องจมูก นี่พระพุทธเจ้ามานั่งท่อง จะเรียกว่าท่องก็ไม่ถูก แต่ท่านเอามา ๆ ๆ ๆ มาอะไรดี มาร้องเพลงเล่น ไม่ต้องท่องเพราะท่านตรัสรู้ผ่านไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องต้องท่องอย่างเด็กท่องสูตรคูณก็หาไม่ แต่ว่าก็มาท่องอย่างเด็ก เหมือนกับเด็กท่องสูตร ท่องสูตรคูณ ไม่เคยเห็น ไม่เคยพบในเรื่องไหนที่ว่าพระพุทธเจ้าเอาเรื่องอะไรมาท่องเล่นอย่างนี้ เหมือน นอกจากเรื่องนี้เรื่องเดียว นี่ไปหาอ่านดูรายละเอียดในเรื่องนั้น ในเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าเอามาสาธยายอยู่ด้วยองค์เดียว เหมือนกับว่า เหมือนกับว่าเด็กร้องเพลงเล่น คนร้องเพลงเล่นอย่างนั้นอยู่คนเดียว โดยที่ท่าน ท่านสำคัญว่าอยู่ อยู่องค์เดียว ท่านก็ว่าไป ๆ คิดว่าอยู่องค์เดียว ทีนี้มีภิกษุองค์หนึ่งมันมาแอบอยู่ข้างหลัง แอบอยู่ข้าหลัง พระพุทธเจ้าเหลียวไป เหลียวไปเห็นภิกษุนั้นก็ อ้าว, แกมาอยู่ที่นี่ ๆ ก็มาแอบฟัง ดีแล้ว ๆ ๆ เอาไป ๆ แกจงเรียนเอาไป จงจำเอาไป จงจำเอาไป ก็บังคับให้ภิกษุนั้นจำเอาไป คือบทนี้ บทที่ว่านี้ จักขุญจะ ปฏิจจะ รูเปจะ ปฏิจจะ อุปปัชชะติ วิญญาณัง ทินนัง ธัมมานัง สังฆาฏิ ผัสโส (1:17:30) อย่างที่ว่ามาแล้ว บังคับให้ภิกษุนี้เรียนเอาไป ๆ ว่านี่แหละคือพรหมจรรย์ นี่แหละคือตัวพรหมจรรย์ นี่แหละคือจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ เอ้า, เอาไปเรียน เอาไปแล้วก็ไปศึกษาไปปฏิบัติ นี้คือเรื่องแห่งปฏิปัจจสมุปบาท ถ้าจะเรียกให้ลึกเป็นวิทยาศาสตร์ก็เรียกว่ากฎแห่งอิทัปปัจจยตา นี่เป็นตัวพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจงมองเห็นชัดลงไปว่า พุทธศาสนานั้นเป็นวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนามิใช่ไสยศาสตร์ ไม่มีส่วนแห่งไสยศาสตร์ มีกฎแห่งความจริงของธรรมชาติแสดงอยู่โดยชัดเจนตลอดสาย ดังนั้นพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ เท่ากับหลักวิทยาศาสตร์ ท้าทายนักวิทยาศาสตร์ว่าแกจงมาพิสูจน์ดู นี่ขอให้รู้ไว้ว่าเรามีศาสนาซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเรามีพระเจ้าก็มีกฎของธรรมชาติเป็นพระเจ้า เป็นพระเจ้าที่มิใช่บุคคล เป็นพระเจ้าที่นักวิทยาศาสตร์ยอมรับได้ พระเจ้าในศาสนาวิทยา เอ้อ, ศาสนาไสยศาสตร์นั้น นักวิทยาศาสตร์เขายอมรับไม่ได้ นี่ ก็ที่ฝรั่งหันมาสนใจพุทธศาสนาก็เพราะว่าเบื่อพระเจ้าชนิดที่ยอมรับไม่ได้ หันมาหาธรรมะที่พอจะยอมรับได้นี่ พุทธศาสนาจึงแผ่ไปในหมู่นักวิทยาศาสตร์เอง โดยไม่ต้องไปจ้างไปอ้อนวอนไปหลอกลวงให้เขามาศึกษา มายึดถือ เพราะมันมีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ในตัว ฉะนั้นเราไม่ต้องไปแผ่พุทธศาสนาโดยไปตั้งโรงพยาบาล โดยไปแจกของโดยไปทำอะไรเหมือนกับที่ว่าไอ้ศาสนาคริสต์เขาจะทำในประเทศไทย เราไม่ต้องทำอย่างนั้น แล้วถ้าวิทยาศาสตร์ยิ่งก้าวหน้าเท่าไร ไอ้รากฐานของพุทธศาสนาก็ยิ่งมั่นคงมากเท่านั้น ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายอย่าโง่เสียเอง อย่าโง่บรมโง่เสียเองโดยทำพุทธศาสนาให้กลายเป็นไสยศาสตร์ อย่าเอาไสยศาสตร์มาใส่ลงไปในพุทธศาสนา มันจะหมดความเป็นพุทธศาสนา นี่แล้วก็ปล่อยให้วิทยาศาสตร์มันเป็นวิทยาศาสตร์เรื่อยไป ๆ จนกระทั่งว่ารู้กันโดยประจักษ์แจ่มแจ้งไปทั่วทั้งโลก มนุษย์ก็จะพ้นจากความทุกข์ได้จริง พวกเราอย่าทำลายพุทธศาสนาโดยเอาไสยศาสตร์เข้ามาใส่ลงไปในพุทธศาสนา มาแต่จุดธูปจุดเทียนนั่งอ้อนวอน นั่งสั่นเซียมซี นั่งอะไรอยู่ในโบสถ์นั่น นั่นเอาไสยศาสตร์มาใส่ในพุทธศาสนาจนในโบสถ์ไม่มีธรรมะอยู่แล้วนั่น
ก็เป็นอันว่าผมก็ได้พูดเรื่องอิทัปปัจจยตาตามที่ตั้งใจจะพูดในวันนี้มาพอสมควรแก่เวลาแล้ว ทบทวนตั้งแต่เมื่อวานนี้ว่าเราพูดกันถึงเรื่องว่า คำสอนของท่านผู้รู้นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าธรรมะหมายถึงหน้าที่ ไอ้ที่สิ่งที่มีชีวิตทุกชีวิตจะต้องประกอบกระทำ ประกอบกระทำเพื่อความรอด รอดทางกาย รอดทางจิต ฉะนั้นถ้าเราเป็นพุทธบริษัทเรามีความรอดโดยการปฏิบัติตามกฎอิทัปปัจจยตาไมใช่รอดเพราะพระเจ้าช่วย เดี๋ยวนี้เราก็รู้อิทัปปัจจยตาว่ามันคืออย่างนี้ ๆ ๆ เป็นกฎของธรรมชาติ เกี่ยวข้องกันอยู่กับเราทุกวัน เพราะว่าแต่ละวัน ๆ เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่ตลอดเวลา จงปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้องอย่าให้ความทุกข์เกิดขึ้นได้นั้นจึงจะเป็นพุทธบริษัท ถ้าทำผิดต่อสิ่งเหล่านี้จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้วจะไปร้องหาใคร จะไปโทษใคร จะไปให้ใครปลอบโยน มันเป็นเรื่องโง่ทั้งนั้น มันต้องทำให้ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านี้จนความทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อตาเห็นรูปก็ดี เมื่อหูได้ยินเสียงก็ดี เมื่อจมูกได้กลิ่นก็ดี เมื่อลิ้นได้รู้รสก็ดี เมื่อผิวหนังได้สัมผัสทางผิวหนังก็ดี เมื่อจิตมีความคิดนึกรู้สึกอะไรขึ้นมาก็ดี อย่าได้โง่ อย่าได้ทำผิด จนเกิดเป็นความเข้าใจผิด เป็นความอยากอย่างโง่ ๆ คือตัณหา แล้วก็มีอุปาทานเป็นผู้อยากอย่างโง่ ๆ แล้วก็มีภพมีชาติเป็นตัวตนที่ไปจับฉวยสิ่งต่าง ๆ เอามาเป็นทุกข์
สรุปความสั้น ๆ ว่าเมื่อตาเห็นรูปก็อย่าได้เกิดทุกข์ขึ้นเพราะตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียงก็อย่าได้เกิดทุกข์ขึ้นเพราะหูได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่นก็อย่าได้เกิดความทุกข์ขึ้นมาเพราะจมูกได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้รสก็อย่าได้เกิดความทุกข์ขึ้นมาเพราะลิ้นได้รส เมื่อผิวหนังผิวกายได้สัมผัสกับอะไรก็อย่าได้เกิดความทุกข์ขึ้นมาเพราะการสัมผัสของผิวหนัง เมื่อจิตรู้สึกคิดนึกอะไรเป็นอารมณ์ขึ้นมาอย่างหนึ่งก็อย่าได้โง่จนเกิดความทุกข์ขึ้นมาเพราะความคิดนั้น เรื่องมันจบ คือไม่มีความทุกข์เลย ให้ระลึกนึกถึงไว้ว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสแล้วว่า แต่ก่อนนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ตถาคตบัญญัติแต่เรื่องทุกข์เรื่องความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น ทั้งหมดนั้นก็ได้บัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ที่ยังเป็น ๆ คือยังมีชีวิตอยู่ พุทธบริษัทอย่าโง่เลย จงใช้ชีวิตที่ยังเป็น ๆ ร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี้เป็นบทเรียนเป็นโรงเรียนศึกษาธรรมะอันสูงสุดในพระพุทธศาสนาแล้วดับทุกข์ให้ได้ด้วยกันทุกคน ทั้งนี้เป็นไปตามกฎของอิทัปปัจจยตาซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์สูงสุด ซึ่งยังจะมั่นคงยืนยาวแผ่ไปในโลกของมนุษย์ตลอดกาลนาน เรื่องไสยศาสตร์นั้นจะต้องหดตัวเอง จะต้องหดตัวเอง เมื่อมนุษย์มันหายโง่ แล้วมันก็สูญสิ้นไป แต่พุทธศาสนาหรือพุทธศาสน์นี้ต้องยังอยู่ เป็นคู่กับมนุษย์ที่เจริญในทางจิตใจตามวิถีทางวิทยาศาสตร์ ก็หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนจะรู้จักตัวเอง จะรู้จักกฎของธรรมชาติที่เกี่ยวกับตัวเอง คือรู้จักพุทธศาสนาสำหรับจะดับทุกข์ของตัวเอง ด้วยตัวเอง เพื่อตัวเอง แล้วก็มีความเจริญตามทางแห่งพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลายยิ่ง ๆ ขึ้นไป จงทุกทิพาราตรีการเทอญ
จบคำบรรยายสำหรับวันนี้
เสร็จแล้วก็ ปิดประชุม ก็เวลามันล่วงไปพอสมควรแล้ว ปิดประชุม เชิญกลับไปพักผ่อน