แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านนักศึกษาผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายเป็นครั้งแรกนี้ ผมคิดว่า คือจะพูดจำกัดความ พูดชนิดที่เป็นการจำกัดความของคำต่าง ๆ ที่เราใช้พูดกันอยู่ ซึ่งเห็นว่ามันยังไม่แน่นอน ยังไปคนละทิศคนละทาง เป็นเหตุให้ไม่รู้ความหมายของคำเหล่านั้นอย่างถูกต้อง คำเหล่านี้ก็คือคำที่พูดกันอยู่ทั่ว ๆ ไปและบางทีก็เป็นคำที่เล่าเรียนมาตั้งแต่ในโรงเรียน ตั้งแต่ยังเป็นเด็กโน้น เช่น คำว่า พุทธศาสนา ก็ได้ยินมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ในโรงเรียนและก็ได้ยินได้ฟังเพิ่มเติมขึ้น มากคำขึ้น ความหมายของคำเหล่านั้นก็ไม่ ไม่ค่อยจะลงรอยกัน มันคือ มันไม่รับกัน และอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าจะต้องการให้จับใจความสำคัญให้ได้ ถ้ามันมีความหมายหลายอย่าง คือมันประพฤติได้หลายอย่างหลายทิศทาง ก็ต้องจับความหมายของมันให้ได้ ให้ได้ความหมายชนิดที่เอามาใช้ปฏิบัติเป็นประโยชน์ทุก ๆ วัน ทุก ๆ วันได้จริง นี่เราจะมาพูดกันในข้อนี้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ค่อยจะได้พูดไว้เป็นแบบฉบับที่พิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือหนังหา ดังนั้นก็เท่ากับว่าไอ้ที่พูดไว้แล้วในหนังสือหนังหา หาอ่านได้นั้นไม่ต้องพูดกันดีกว่า ไม่ ๆ ต้องเอามาพูดกันดีกว่าเพราะว่าหาอ่านได้จากหนังสือ และก็คงจะเคยอ่านกันมาแล้วเป็นส่วนมาก เดี๋ยวก็คอยสังเกตดูเถิดว่าผมจะพูดเรื่องอะไร
เราจะเอากันตั้งแต่คำแรกที่สุดที่ควรทำความเข้าใจ ต้องทำความเข้าใจ รีบทำความเข้าใจให้มันชัดเจน แน่วแน่ ตรงกัน ตรงกันหมด คำแรกที่สุดก็คือคำว่า “พุทธศาสนา” เอาตามตัวหนังสือนี่เลย แปลว่า “คำสั่งสอนของผู้รู้ธรรม” “พุทธะ” แปลว่า “ผู้รู้ธรรม” “ศาสนา” แปลว่า “คำสั่งสอน” “พุทธศาสนา” ก็แปลว่า “คำสั่งสอนของผู้รู้ธรรม” นี่ถือเป็นหลักอย่างนี้สิ ตามตัวหนังสือก็มีหลักอย่างนี้ ตามข้อเท็จจริงโดยพฤตินัยมันก็เป็นอย่างนี้ “คำสั่งสอนของผู้รู้ธรรม” ทีนี้ “ผู้รู้ธรรม” นั้นมันคือใคร ท่านถือว่าหมดเลย ถ้าเขารู้ธรรมแล้วก็เรียกว่าเป็นพุทธบุคคลทั้งนั้น ถ้ารู้ธรรมเป็นพุทธบุคคล จะเป็นชั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ เป็นชั้นพระปัจเจกพระพุทธเจ้าก็ได้ เป็นชั้นอนุพุทธสาวกนี่ก็ได้ แม้แต่ผู้ศึกษาเล่าเรียนมาก เล่าเรียนมากเป็นพหูสูตบุคคลก็เรียกว่า “ผู้รู้ธรรม” เหมือน ๆ กัน เรียกว่า “ผู้รู้ธรรม” ในความหมายอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้เมื่อเราได้ยินคำว่า “พุทธศาสนา” เราก็มักจะมุ่งหมายเอาเฉพาะพระพุทธเจ้า ก็ ๆ ได้เหมือนกัน ก็ถูกแล้ว แต่ขอให้รู้ว่า “ผู้รู้ธรรม” มันมีตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ก็เรียกว่า “ผู้รู้ธรรม” และมาเป็น “ผู้รู้ธรรมสูงสุด” กันก็เกิดมีพระพุทธเจ้า และก็ไม่มีใครรู้สูงสุดไปกว่านั้นอีก มันก็ยุติลงแค่พระพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ที่รู้รอง ๆ ๆ ลงมาก็เรียกว่า “ผู้รู้ธรรม” ด้วยเหมือนกัน
ทีนี้ “คำสั่งสอน” สมัยโบราณโน้นท่านก็สอนกันด้วยปาก ไม่ได้สอนด้วยหนังสือหนังหา ถ่ายทอดกันด้วยปาก ด้วยวาจา สมัยนี้เรามีการขีด การเขียน การพิมพ์ การอะไรก็ ๆ มากออกไป แต่ก็ความหมายเดียวกันนั่นแหละ คือทำให้มันรู้เหมือนกัน จนกระทั่งว่าประพฤติให้ดู ทำตัวอย่างให้ดู หรือมีชีวิตให้ดู นี่ก็เป็นคำสั่งสอนอย่างยิ่ง เราอยู่กับผู้รู้ธรรม เป็นพระอริยเจ้าอยู่ร่วมกันโดยไม่ต้องพูดกันเลย แต่ก็มีการสอนและการเรียนได้ คือพระอริยเจ้าท่านทำอย่างไร ท่านทำอย่างไร เราคอยดู แล้วทำตาม ฉะนั้นการทำตัวอย่างให้ดูก็เป็นคำสั่งสอนอย่างยิ่ง ๆ ยิ่งกว่าที่จะสอนกันด้วยตัวหนังสือเสียอีก นี่คำว่า “พุทธศาสนา” ก็แปลว่า “คำสั่งสอนของผู้รู้ธรรม”
ทีนี้คำต่อมา คำที่สองก็คือคำว่า “ธรรม” “ธรรม” นั่นเอง คืออะไร เรามักจะเรียนกันมาตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ ในโรงเรียน ธรรม หรือพระธรรม คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ความหมายมันเหหันไปในทางคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามากกว่าที่จะแสดงความหมายของคำว่า “ธรรม” ที่ ๆ ครบ ที่มีความหมายครบถ้วน คำสั่งสอนของผู้รู้ธรรม ธรรมคือสิ่งที่สั่งสอน ทีนี้ธรรมมันสอนเรื่องอะไรนั้นสำคัญที่สุด ทีนี้คำว่าธรรม ธรรม นี่มันเคยเกิดขึ้นมาในโลก และก็หมายถึงอะไร และธรรม ธรรม ธรรม นี่มันเกิดก่อนพระพุทธเจ้าเสียอีก ก่อนบุคคลที่เราเรียกกันว่าพระพุทธเจ้ายังไม่เกิด แต่คำว่าธรรม ธรรมนี่มีใช้แล้ว มีใช้ในหมู่มนุษย์ผู้มีความรู้ตามสมควรแล้ว แล้วก็เข้าใจว่า แม้ในหมู่คนธรรมดา คนธรรมดา ไม่ถึงระดับสูงนี่ เขาก็พูดคำว่า ธรรม ธรรม ธรรมะ ธรรม เพราะว่าเขาหมายถึง หน้าที่ ธรรมะนี่หมายถึงหน้าที่ เอาละ, เป็นอันว่า คนแรก ๆ ๆ เจริญเป็นคนป่า ที่แรกจะเจริญมาเป็นคนบ้าน มารู้จักทำมาหากิน เลี้ยงสัตว์ ทำไร่ทำนา คนในระดับนี้ ในชั้นนี้ มันเริ่มมองเห็นสังเกตเห็นว่ามีสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งคือสิ่งที่พวกเราเดี๋ยวนี้เรียกว่าหน้าที่ คนสมัยนั้นมันก็ ๆ หมายความถึงหน้าที่ แต่เขาก็ต้องเรียกตามภาษาอินเดียสมัยนั้น ภาษาอินเดียโบราณสมัยโน้น สมัยดึกดำบรรพ์ เขาก็เรียกสิ่งที่เราเรียกกันว่าหน้าที่เดี๋ยวนี้ ธรรม ธรรม ธรรมะ หรือ ธรรม ธรรมคือหน้าที่นั่นเอง แล้วก็เป็นหน้าที่ชั้นต่ำสุดนะที่มนุษย์แรกรู้จัก แรกรู้จัก มันก็รู้ว่า ธรรม ธรรม หน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ กระทั่งว่าหน้าที่ที่จะต้องทำไร่ ทำนา ทำสวน จะต้องเลี้ยงสัตว์ จะต้องต่อสู้ป้องกัน จะต้องรักษาโรคภัยไข้เจ็บอะไรต่าง ๆ คือหน้าที่ หน้าที่นั่นแหละ ที่เรียกว่าธรรม ธรรม มันก็ชั้นต่ำ ธรรมะในสมัยนั้นคือหน้าที่ชั้นต่ำ พวกทำมาหากิน พวกต่อสู้ป้องกันตัว หรือกระทั่งว่าค่อย ๆ รู้สูงขึ้นมาว่า แม้กระทั่งการสืบพันธุ์ก็เป็นหน้าที่ ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ดีที่สุด หน้าที่ทุกชนิด ฉะนั้นธรรมะจึงแปลว่าหน้าที่ ๆ ๆ มีความหมายถึงหน้าที่ ๆ พอคนที่ฉลาดมากกว่าเกิดขึ้น ๆ เขาก็พูดเรื่องหน้าที่ ๆ นี่กว้างขวางออกไป จนมาถึงยุคพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ท่านก็อธิบายคำว่าหน้าที่ หน้าที่สูงสุดเลยคือถึงกับบรรลุมรรคผลนิพพานกันเลย ดังนั้นหน้าที่ของมนุษย์ตั้งแต่ต่ำสุด จนถึง สูงสุดคือนิพพานนั่นแหละ คือคำว่าหน้าที่ในภาษาไทย หรือธรรมะ ธรรมะในภาษาอินเดีย
ดังนั้นผมจึงบอกเดี๋ยวนี้ว่า คำว่าธรรม นั้นแปลว่าหน้าที่ อย่าแปลแต่เพียงว่าเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันจะจำกัดแคบไป เพราะว่าคำว่าธรรม ธรรมนี่ เขามีพูด มีใช้คำพูดนี้ตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดโน้น มีความรู้ที่ทำให้ทำหน้าที่ได้ดี เรียกว่าธรรม ก็มีหลายพวก หลายอาจารย์ หลายสำนัก แล้วแต่สอนเรื่องอะไร หน้าที่อย่างไร คนก็แยกย้ายกันไปตามที่พอใจ ชอบธรรมะของอาจารย์คนนี้ ชอบธรรมะของอาจารย์คนโน้น ชอบธรรมะของอาจารย์คนโน้น ล้วนแต่สอนในเรื่องหน้าที่ที่มันสูงขึ้นมาแล้วตอนนี้ สูงขึ้นมากว่าหน้าที่ที่ทำไร่ ทำนา ค้าขาย หรือว่าหน้าที่ที่ชั้นต่ำสุด เอาละ, เป็นที่ยุติว่าคำว่า ธรรม แปลว่าหน้าที่
ทีนี้เราดูความหมายคำว่าหน้าที่ ๆ หรือว่าธรรม ธรรมนี่ หน้าที่คือธรรม ธรรมคือหน้าที่ ความหมายของมันก็คือสิ่งที่ช่วยให้รอด หน้าที่คือสิ่งที่ช่วยให้รอด รอดอย่างต่ำ ๆ รอด ๆ ชั้นต่ำ ก็คือรอดจากความตาย รอดจากความเจ็บไข้ ซึ่งเป็นเรื่องทางกาย ดังนั้นรอดชั้นต่ำก็คือรอดทางกาย ให้มีอาหารกิน ให้อยู่สบาย คือเรื่องเกี่ยวกับปัจจัย ๔ ทั้งนั้นไอ้รอด ๆ ชั้นต่ำ แล้วก็ไม่ต้องตาย ตัวนี้ก็รอดชั้นสูง สูงขึ้นมาคือรอดทางใจ รอดทางใจคือรอดจากกิเลส หรือ ความทุกข์ทางใจ ถ้ารอดทางใจถึงที่สุดจริง ๆ ก็คือบรรลุนิพพานนั่นเอง เรียกว่ารอด รอดตามภาษาธรรมดานี่มี ๒ ขั้น รอดทางกาย รอดตาย รอดชีวิต รอดเป็นอยู่ตามสบายเป็นปกติ รอดขั้นสูง ขั้นที่ ๒ คือรอดจากกิเลส รอดจากความทุกข์ รอดจากปัญหาชั้นละเอียดทางจิตใจ ก็บรรลุมรรคผล มรรคผลนิพพาน นี่รอดทาง ๆ ใจ มีอยู่ ๒ รอด หน้าที่ ๆ คือ สิ่งที่ช่วยให้รอดทั้งทางกายและทางใจ เรียกว่าธรรมะว่าหน้าที่ เรียกหน้าที่ว่าธรรมะก็ได้ ใช้แทนกันได้ ธรรมะก็คือสิ่งที่ช่วยให้รอดทั้งทางกายและทางใจ หน้าที่คือสิ่งที่ช่วยให้รอด นี่ขอให้เราคือรู้เรื่องความรอดที่ถูกต้อง และความหมายที่รัดกุมชัดเจน บอกให้ทราบได้เลยว่าทุกศาสนา ทุกศาสนาที่เป็นศาสนา ที่เป็นศาสนาที่เป็นที่ยอมรับกันจะพูดถึงสิ่งสุดท้ายตรงกันคือความรอด ศาสนาคริสต์เตียนเขาก็ความรอด ศาสนาอิสลามก็ความรอด ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู ความรอด ๆ ไอ้ความรอดนั่นอยู่จุดสุดท้ายที่มุ่งหมายของศาสนา ทีนี้ความรอด ไม่ใช่คำที่เล็กน้อยหรือเป็นความหมายธรรมดาต่ำ ๆ เป็นความหมายสูงสุด จุดมุ่งหมายสูงสุดของทุกศาสนา ล้วนแต่สอนให้รอดทั้งนั้น ศาสนาพุทธก็มีวิธีรอด ๆ ตามแบบศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ก็รอดตามแบบศาสนาพราหมณ์ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามก็มีความรอดตามแบบศาสนาของตน ๆ นี่เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ มนุษย์นี่มันต้องการตรงกันเลย มนุษย์ทั้งหมดต้องการตรงเป็นจุดเดียวกันคือที่ความรอด แม้จะถือลัทธิต่างกันอย่างไร อะไร ก็ มันก็มุ่งกันไปที่ความรอดด้วยกันทั้งนั้น หรือแม้พวกเราชาวพุทธมันก็มุ่งไปที่ความรอดกันทั้งนั้น ที่เรียกภาษาบาลีว่าวิมุตหลุดพ้น หรือนิพพาน ดับทุกข์ คือความรอด พูดเป็นไทย ๆ ก็ความรอด หน้าที่ก็เพื่อช่วยให้รอด หน้าที่ก็คือทำความรอด ธรรมะก็คือหน้าที่ ธรรมะก็คือสิ่งที่ช่วยให้รอด ดังนั้นเพื่อจะเข้าใจกันง่าย ๆ ในภาษาไทยของเรา ธรรมะแปลว่าหน้าที่ หน้าที่คือสิ่งที่ทำให้เกิดความรอดทั้งทางกายและทางใจ
ดังนั้น พวกคุณก็ควรจะรู้ว่าเรามาศึกษาพุทธศาสนานี่ รู้หน้าที่ที่จะทำให้เกิดความรอดทั้งทางกายและทางใจ ทีนี้ความรอดทางกายคือไม่ตาย เป็นอยู่ได้ ไม่เจ็บ ไม่ไข้ สบาย นี่เป็นของเข้าใจยากลำบากสำหรับมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์โน้น ที่ยังเป็นคนป่าอยู่โน่น เพราะมันก็เป็นเรื่องสูงสุดอยู่เหมือนกัน คือให้รอดจากชีวิต รอด ๆ โดยชีวิต รอดทางกาย แต่ครั้นมาถึงสมัยนี้ โลกสมัยปัจจุบันนี้ ความรอดทางกายมันไม่เป็นเรื่องสูงสุด ถึงกับเป็นศาสนาที่ศักดิสิทธิ์สูงสุด เพราะเรามันรู้เรื่องนี้กันมากขึ้น ๆ จะหากินอย่างไร จะรักษาโรคภัยไข้เจ็บอย่างไร จะทำที่อยู่อาศัยอย่างไร จะป้องกันศัตรูอย่างไร มันกลายเป็นเรื่องธรรมดา เรียกว่าเรื่องโลก ๆ ไป เป็นหน้าที่อย่างโลก ๆ เป็นทางรอดอย่างโลก ๆ ก็เลยไม่ ไม่ขลังหรือไม่ศักดิสิทธิ์ ไม่สูงสุดอะไรนักแล้ว มันเหลือที่สูงสุด ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดอยู่ก็คือรอดทางจิตใจซึ่งมันยังมืดอยู่ มืดมนอยู่ ยังไม่รู้ เราจึงต้องมาศึกษา อุตส่าห์มาศึกษากัน ก็เพื่อให้รู้ อย่างที่คุณก็มาใช่ไหม คุณก็มาสวนโมกข์ก็เพื่อศึกษาธรรมะหรือพุทธศาสนา ก็เลยบอกให้ทราบว่ามันเหลือแต่เรื่องความรอดทางจิตใจ ที่เหลืออยู่เป็นปัญหาที่เราจะต้องศึกษา แต่ว่ามันควรจะรู้ว่าไอ้ความรอดทางกายและทางใจนี่มันสัมพันธ์กัน รอดทางกายชีวิตอยู่ได้ก็เป็นเหตุให้เกิดรอดทางใจ ถ้ารอดทางใจ จิตใจดีไม่มีอะไรรบกวนใจ ทางร่างกายก็สบายดี มันสัมพันธ์กันอยู่อย่างนี้ เรามองดูที่ตัวหน้าที่และนั่นแหละคือตัวธรรมะ
ที่ผมบอกว่าจะไม่พูดอย่างที่เคยมีเขียนหรือพิมพ์ไว้ในหนังสือหนังหาแล้ว ก็จะบอกในส่วนนี้ว่าเดี๋ยวนี้เราจะให้เพ่งเล็งธรรมะไปที่หน้าที่ ทีนี้มองว่าหน้าที่ ๆ ๆ ก็หน้าที่ของใคร ก็ตอบว่าหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่นั้นคือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด สิ่งมีชีวิตชนิดสูงก็คือคน คือคน คือมนุษย์นี่ มนุษย์มีหน้าที่อย่างไร ก็ดู ก็ดูเอาเอง ทั้งหมดนั้นแหละมันเป็นหน้าที่หรือเป็นธรรมะของมนุษย์ คำว่ามนุษยธรรม หรือธรรมะของมนุษย์ ก็คือสิ่งที่ทำให้เป็นมนุษย์นั่นแหละ ให้มันรอดเป็นมนุษย์อยู่ได้แล้วกัน มนุษย์จึงต้องรู้จักหน้าที่ว่าเป็นสิ่งสูงสุด มีเกียรติที่สุด ต้องสนใจที่สุด ต้องกระทำอย่าให้บกพร่องเลย อย่าให้บกพร่องเลย ข้อนี้ก็ไม่ต้องพูดมากแล้ว เพราะว่าเข้าใจว่าคงจะสังเกตเห็น หรือเข้าใจได้เองว่ามนุษย์มีหน้าที่อย่างไร หน้าที่ทั้งหมดนั้นแหละเป็นธรรม เป็นธรรม ตั้งแต่ว่ามนุษย์จะต้องรู้จักทำมาหากิน รู้จักต่อสู้ศัตรู รู้จักสืบพันธุ์ รู้จักรักษาลูกหลานให้ปลอดภัย เหมือนอย่างที่มนุษย์จะต้องเป็นไป ขอให้ถือว่านั่นก็คือหน้าที่และคือธรรมะด้วยเหมือนกัน คนเขาจะไม่เอา คือจะไม่เข้าใจว่าธรรมะลงไปถึงที่นั่น
เมื่อชาวนาไถนาอยู่ ชาวนาขุดดินอยู่ นั่นคือเขาปฏิบัติธรรมะ ธรรมะของชาวนา เมื่อชาวสวนมันขุดดินอยู่ มันปลูกต้นไม้อยู่ มันรักษาท้องร่องอยู่ นั่นคือธรรมะ ธรรมะของชาวสวน ทีนี้เมื่อคนค้าขาย มันทำหน้าที่ของคนค้าขายอยู่ ก็คือธรรมะของคนค้าขาย พวกข้าราชการทำหน้าที่ของราชการอยู่ก็เรียกว่าธรรมะของราชการ พวกกรรมกรทำหน้าที่ของกรรมกร เขาก็มีธรรมะ ๆ ธรรมะของพวกกรรมกร อย่าไปดูถูกเขา มันมีธรรมะคือหน้าที่ เป็นที่ของกรรมกร ทีนี้กรรมกรมันก็ลงไปถึงว่าเป็นคนแจวเรือจ้าง เป็นคนกวาดถนน ล้างท่อถนน ไอ้งานต่ำสุด มันก็เป็นธรรมะของเขา กระทั่งในที่สุดว่าคนขอทาน เมื่อคนขอทานทำหน้าที่ ๆ ทำหน้าที่ของคนขอทาน นั่นคือธรรมะของคนขอทาน เขาจะต้องทำหน้าที่ของคนขอทานให้ดีคือมีธรรมะของคนขอทานให้ดี ไม่เท่าไรเขาก็พ้น ๆ จากสภาพขอทานไม่ต้องเป็นคนขอทาน ไปเป็นคนอื่น ระดับอื่นที่สูงขึ้นไปได้ พ้นจากความเป็นคนขอทาน แต่เมื่อนั่งขอทานอยู่ ก็ถือว่าธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ คนขอทานปฏิบัติธรรมะของคนขอทาน ทำหน้าที่ของคนขอทานอยู่ อย่าไปดูถูกเขาเลย ทุกคนทำหน้าที่เสมอกันหมดเลย เรียกว่ามีธรรมะเสมอกันหมดเลย ไอ้หน้าที่ที่ชั้นสูงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นมหาจักรพรรดิ เป็นอะไรก็ มันก็สักว่าหน้าที่เหมือนกัน ทำหน้าที่ตามหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ ดังนั้นที่ไหนมีการทำหน้าที่ ที่นั่นมีการปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติธรรมะคือปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่คือปฏิบัติธรรมะ ที่ไหนมีการปฏิบัติหน้าที่ ที่นั่นมีการปฏิบัติธรรมะ ไม่จำกัดว่าที่วัดหรือที่บ้าน ที่วัดอาจจะไม่มีธรรมะก็ได้ ถ้าไม่มี ไม่มีการทำหน้าที่ วัดไหนมันเหลวแหลกมันไม่ทำหน้าที่ ในโบสถ์มีแต่สั่นเซียมซี นั่งบวงสรวงอ้อนวอน ที่นั่นไม่มีธรรมะ ในโบสถ์นั้นไม่มีธรรมะ ที่กลางทุ่งนาที่ชาวนากำลังไถนาอยู่ กลับมีธรรมะ คือหน้าที่ นี่คุณจำไอ้ข้อเปรียบเทียบนี้ไว้สิ อุปมาหรือว่าข้อเปรียบเทียบนี้ ถ้าในโบสถ์ไม่มีการปฏิบัติหน้าที่ โบสถ์นั้นไม่มีธรรมะ กลางทุ่งนา ชาวนาไถนาอยู่ ที่นั่นกลับมีธรรมะคือมีการทำหน้าที่ ฉะนั้นขอให้สนใจคำว่าหน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ แล้วธรรมะนั้นจะช่วยให้รอดจากปัญหาเฉพาะเรื่อง ๆ ๆ เป็นเรื่อง ๆ ไป
เรามีคำกล่าวถือเป็นหลักกันว่า ธรรมะคือสิ่งที่ทรงผู้ปฏิบัติไว้ ไม่ให้ตกลงไปในที่ต่ำใช่ไหม เมื่อเรียนนักธรรมตรีในโรงเรียน ก็จะพบคำอธิบายคำนี้ว่าธรรมะคือผู้ที่ทรงปฏิบัติไว้ไม่ให้ตกต่ำลงไป ก็ถูก หน้าที่มันทรงไว้ไม่ให้ตกต่ำ ลงไป โดยตัวหนังสือพยัญชนะ มันก็เป็นอย่างนั้น คำว่า ธรรมะ หรือ Dharma ก็ตามนี่ ไอ้ราก รากของตัวหนังสือ รากศัพท์ ธรร ธรร แปลว่า ทรงไว้ ทรงไว้ คือ ชูไว้ หรือทรงไว้ ตัวหนังสือมันก็ว่าอย่างนั้น คือทรงไว้ หรือชูไว้ ก็แสดงออกมาเป็นตัวธรรมะจริง ๆ มันก็ทรงไว้ ชูไว้ ซึ่งผู้ปฎิบัติ ผู้ปฎิบัติก็ตกลงไปในความทุกข์ไม่ได้ นี่คือความหมายของธรรม ธรรมะ คือสิ่งที่ช่วยให้รอด สิ่งที่ทรงไว้ไม่ให้ตกลงไปในความทุกข์ นี่คือธรรมะ ฉะนั้นถ้าเรามองดูในแง่ของตัวหนังสือ หรือความหมายของตัวหนังสือ ธรรมะก็คือสิ่งที่จะช่วยสัตว์ไม่ให้ตกลงไปในความทุกข์
ถ้าเรามองดูในฐานะเป็นมนุษยธรรม มนุษย์วิทยา ธรรมะก็คือหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ ๆ หน้าที่ก็คือ สิ่งที่ทรงผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ให้ตกลงไปในความทุกข์เหมือนกัน ดังนั้นธรรมะกับหน้าที่ สองคำนี้มันหมายถึงสิ่งเดียวกัน คุณจงจำไว้เป็นหลักว่าทำหน้าที่ก็แล้วกัน ทำหน้าที่ทุกชนิดที่จะต้องทำ ไอ้ ๆ แยกเป็นไปตามอาชีพ ชาวนาทำนา ชาวสวนทำสวน พ่อค้าค้าขาย นั่นก็เป็นหน้าที่เป็นไปตามแบบของอาชีพ ทีนี้เรา เดี๋ยวนี้ก็เรียกว่าเป็นคน เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นบิดามารดา เป็นครูบาอาจารย์ เป็นลูกศิษย์ลูกหา เป็นผู้บังคับบัญชา เป็นผู้อยู่ใต้ผู้บังคับบัญชา แล้วแต่ว่ามันจะมีหน้าที่อะไร เป็นธรรมะหมด แม้เมื่อแม่เลี้ยงลูก แม่ให้ลูกกินนม นี่มันก็เป็นธรรมะ เป็นหน้าที่ของมารดา เป็นธรรมะของมารดา เมื่อเด็กนักเรียนกวาดโรงเรียน ทำความสะอาดให้แก่โรงเรียน ทำความสะอาดที่บ้าน ช่วยล้างจานให้พ่อแม่ กวาดบ้านถูเรือน มันก็เป็นธรรมะของเด็กที่จะปฏิบัติที่โรงเรียนก็ได้ ที่บ้านก็ได้ ขอให้ดูว่าธรรมะนั้นมันไปอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งซึ่งเป็นหน้าที่
ทีนี้หน้าที่ หน้าที่นี้ยังจะต้องดูว่ามันเป็นไปตามธรรมชาติ ๆ หน้าที่ตามธรรมชาติ ฟังให้ดี เช่น เราจะต้องกินอาหาร เมื่อเราจะต้องกินอาหาร เราก็ต้องทำอาหารกิน เราต้องประกอบอาชีพ ดังนั้นการประกอบอาชีพก็คือธรรมะ แล้วเราก็มากิน กินอาหาร การกินอาหารก็เป็นธรรมะ ทีนี้การที่จะทำทุกอย่างให้มันมีอาหารกิน มันก็เป็นธรรมะหมด การกระทำทุกอย่างเมื่อกินอาหารให้เรียบร้อยถูกต้อง มันเป็นธรรมะหมด ถ้าเข้าไปในครัว หุงข้าวมันก็เป็นธรรมะ คดข้าวมากินมันก็เป็นธรรมะ ล้างจานก็เป็นธรรมะ ก็ต้องทำให้ดีที่สุดในฐานะที่เป็นธรรมะ มิฉะนั้นจะทำเลว ๆ แล้วไม่เป็นธรรมะ แล้วก็ให้โทษ ต้องกินข้าวเป็นต้น ตัวอย่างนะ ต้องกินข้าวด้วยสติ ให้ได้ผลดีของการกินข้าว จะล้างจานล้างชามก็ต้องมีสติ ล้างจานล้างชามเป็นหน้าที่ต้องทำดีที่สุด ก็เป็นธรรมะ ถ้าไม่มีธรรมะทำไปโง่ ๆ เดี๋ยวจานแตกหมดแหละ อะไรก็เสียหายหมดแหละถ้าไม่ทำด้วยความเคารพว่านี่เป็นธรรมะ ฉะนั้นขอให้มองเห็นธรรมะว่าทุกหน้าที่เป็นธรรมะหมด ต้องอาบน้ำก็อาบน้ำให้ดีที่สุด ก็เป็นหน้าที่ ต้องถูให้ดี ถูให้สะอาด แล้วก็จะผลัดผ้าก็ทำให้ดีที่สุด พอใจอยู่ตลอดเวลา นั่นแหละคือธรรมะ แม้กระทั่งว่าจะไปถ่ายอุจจาระ ก็ต้องรู้ว่าหน้าที่ที่จะต้องถ่ายอุจจาระ ต้องทำด้วยความรู้ด้วยความพอใจ ถ่ายอุจจาระให้ดีที่สุด นั่นแหละคือธรรมะในส้วม ในห้องส้วม ต้องถ่ายอุจจาระให้ถูกต้องที่สุด ปลอดภัยที่สุด ดีที่สุด รู้สึกว่าถูกต้องแล้ว ๆ พอใจ ๆ ถูกต้องแล้ว พอใจ ๆ นั่นแหละคือธรรมะ ทีนี้ไอ้คนโง่ ๆ มันก็ถ่ายอุจจาระชนิดที่เรียกว่ามันไม่อยากจะถ่ายด้วยซ้ำไป มันจำเป็น จำใจถ่าย มันก็ทำหวัด ๆ ทำเร็ว ๆ มันเกิดโรคภัยไข้เจ็บ หรือมันเกิดไอ้ความทุกข์ เกิดความไม่ถูกต้องอะไรขึ้นมาในการถ่ายอุจจาระ นี่คนมันเลว แม้แต่การถ่ายอุจจาระ มันก็เกิดเป็นโทษขึ้นมา ถ้าเรามีธรรมะ ถ่ายอุจจาระอย่างประพฤติธรรมะอย่างหนึ่ง ฟังดู ถ่ายอุจจาระนั่นทำอย่างกับประพฤติธรรมะอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน มันก็ดี ๆ มันก็เรียบร้อยดี มีผลดี ถ่ายอุจจาระก็เหมือนกัน
ทีนี้เราจะเอาผลของธรรมะ มี ๆ มีธรรมะ แล้วก็เอาผลของธรรมะ ขอให้เอาให้ได้ ทุก ๆ อิริยาบถ ทุก ๆ อิริยาบถที่เปลี่ยนแปลง ทุก ๆ อิริยาบถที่เคลื่อนไหวหรือว่าทุกนาทีก็ได้ ถ้าเรามีธรรมะทุกนาที เราก็มีความสุข ความพอใจทุกนาที นี่เป็นเรื่องที่ทุกคนมองข้าม เรามีสติทำทุกสิ่งอย่างถูกต้องทุกขั้นตอน มีสติกระทำหน้าที่ทุกชนิด แล้วก็อย่างถูกต้อง แล้วก็ทุกขั้นตอน นั่นแหละคือธรรมะ ที่ต้องการที่สุด ต้องการอย่างยิ่ง ขอให้ช่วยฟังนี่สักหน่อยนะ อย่าเห็นเป็นเรื่องพูดเล่นนะ พอตื่นนอนเช้าขึ้นมา ตื่นนอนเช้าขึ้นมา มีสติ ตื่นนอนถูกแล้ว นอนพอแล้ว ควรจะตื่นนอน แล้วการตื่นนอนนี้ถูกต้องแล้ว เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เป็นหน้าที่ที่ถูกต้องแล้ว แล้วก็พอใจ ๆ เมื่อพอใจก็เป็นสุข ๆ ๆ เพราะได้ตื่นนอน พอตื่นนอนขึ้นมามีสติ รู้ว่าทำหน้าที่เกี่ยวกับการนอนถึงที่สุดแล้ว เสร็จแล้ว แล้วก็พอใจว่าได้ทำธรรมะหรือว่าหน้าที่ในข้อนี้แล้ว และก็เป็นสุขและพอใจ เรียกว่าตื่นนอนขึ้นมาด้วยความเป็นสุขและพอใจ ทีนี้ทำอะไร ล้างหน้า ก็ต้องรู้สึกว่าหน้าที่ที่มันจะต้องล้างหน้า จะต้องทำด้วยความพอใจ เคารพ ให้เกียรติ การล้างหน้านั่นเป็นการปฏิบัติธรรมะ แล้วก็หยิบขันล้างหน้า ตักน้ำล้างหน้า แล้วก็ล้างหน้า แล้วก็ทำทุก ๆ ระยะด้วยความรู้สึกว่าได้ทำหน้าที่ถูกต้องแล้วก็พอใจ ถ้ามีการถูฟัน เอาแปรงถูฟันมาถูฟัน ทุก ๆ ครั้งที่เคลื่อนไหว รู้สึก มีสติรู้สึก ทำถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้ว แล้วก็พอใจ จนถูฟันเสร็จด้วยความรู้สึกว่าถูกต้องแล้วและพอใจ และก็การล้างหน้าและการถูฟัน นี่มีความสุขและความพอใจทุก ๆ นาที ทุก ๆ วินาทีติดต่อ ๆ กันไป ก็มีสติทำหน้าที่หรือปฏิบัติธรรมะ เอ้า, ทีนี้จะไปทำงาน สมมติจะออกไปห้องทำงาน เมื่อก้าวขาไปก้าวหนึ่งก็รู้ว่าถูกต้องแล้ว และพอใจ เพราะว่าเราจะไปทำงาน ซึ่งมันถูกต้องแล้ว ก้าวขาซ้าย ก้าวขาขวา ก้าวขาซ้าย ก้าวขาขวา ก็มีสติ ว่าถูกต้องแล้ว เป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว ถูกต้องแล้ว แล้วก็พอใจ มันก็เป็นสุขทุกก้าวขาที่ก้าวออกไป เมื่อทำด้วยสติ รู้สึกว่านี้เป็นหน้าที่และทำถูกต้องแล้ว ก็เป็นสุขทุกก้าวที่ก้าวไป แต่คนโง่มันไม่ทำอย่างนั้นนี่ แม้แต่เมื่อมันแปรงฟันอยู่ จิตใจมันก็ไปเรื่องอื่น หรือมันจะไปทำอะไรที่ไหน มันก็ทำไป มันก็ไปหรือทำไปด้วยจิตใจที่ไม่ปรกติ จิตใจที่เคียดแค้น จิตใจที่กรุ่นอยู่ด้วยความอยาก ความต้องการอะไรของมันก็ไม่รู้ เราอย่าทำอย่างนั้น เราจะเคลื่อนไหวอิริยาบถ แม้แต่ก้าวขาสักก้าวหนึ่งก็พอใจ แล้วก็เป็นสุข ทีนี้ไปถึงห้องทำงาน ก็ยิ่งพอใจ เดี๋ยวนี้มันหน้าที่ที่จะต้องทำ แล้วก็ทำด้วยความพอใจ ทำงานทุก ๆ นาทีอยู่ด้วยความรู้สึกถูกต้องแล้ว พอใจ ถูกต้องแล้ว พอใจ จำคำว่าถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้ว นี้ไว้ให้ดี แล้วก็มันตามมาด้วยคำว่าพอใจ พอใจ ข้าพเจ้าพอใจ เอานี่ไปทำงาน ถ้าไป ไปในครัว ไปหุงข้าวก็เหมือนกันนั่นแหละ พอจะเดินเข้าไปในครัวทุกก้าวขา พอใจ ถูกต้องแล้ว พอใจ ไปหยิบหม้อมา ใส่ข้าวสาร ก็ถูกต้องแล้ว ทุกระยะ ๆ ที่มันจะเอื้อมมา จะหยิบมา จะลากไป ถูกต้องแล้ว พอใจ เอาน้ำใส่ เอาข้าวสารใส่ ติดไฟ หุงข้าวเป็นอะไรขึ้นมา ทุกขั้นตอน ๆ ถูกต้องแล้ว พอใจ ถูกต้องแล้ว พอใจ ข้าวสุกแล้วก็พอใจ ทีนี้เตรียมอาหารจะเลี้ยงครอบครัว ก็ทุกขั้นตอนพอใจ หยิบถ้วยจานชามพอใจ หยิบช้อน หยิบกะลาพอใจ อะไรพอใจ จนมานั่งกินกัน แล้วก็ด้วยความถูกต้องและพอใจ เขาจะไปทำงานที่ออฟฟิศ ทุก ๆ ขาที่ก้าวออกไปนี่ เขาจะต้องถูกต้อง รู้สึกว่าถูกต้องและพอใจ ไปถึงออฟฟิศ เขาทำงานด้วยความรู้สึกถูกต้องและพอใจ ถ้าเหนื่อย ๆ เขาจะพัก เขาก็ถูกต้องแล้วที่เราจะต้องพัก แล้วก็พักด้วยความถูกต้อง รู้สึกว่าถูกต้อง แล้วก็พอใจนี่ มีสติอย่างยิ่ง มีสติสมบูรณ์อย่างยิ่งทุก ๆ สิ่งที่มันเคลื่อนไหวไป นี่ธรรมะสูงสุดที่จะใช้ได้จริงสำหรับมนุษย์ ถ้าต้องไปนา เอ้า, ถ้าต้องไปนา เดินไปทุกก้าว ๆ กว่าจะถึงนา ถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและพอใจ ไปถึงนา เอาวัว จับวัวไถนา ๆ ถูกต้องและพอใจไปทุก ๆ อิริยาบถ ทุก ๆ ลมหายใจ ถูกต้องแล้วและพอใจนั่นแหละ ธรรมะ ถูกต้องแล้วและพอใจนั่นแหละ ธรรมะ ไถนา ร้อน แดดร้อน เหงื่อออกมา ก็ยังถูกต้องและพอใจอยู่ ทั้งที่ร้อนและเหงื่อออกมา ก็ถูกต้องแล้วที่จะเหงื่อจะต้องออกมา แล้วก็พอใจ ไอ้เหงื่อก็เลยกลายเป็นน้ำเย็น ๆ รดจิตใจสบาย ถ้าคนโง่มันไม่มีสติอย่างนี้ ไม่มีปัญญาอย่างนี้ มันก็โกรธสิ แดดก็ร้อนแล้ว เหงื่อก็ออกมา ข้าวก็ยังไม่ได้กิน อะไรอย่างนี้ มันก็โกรธ เดือด ๆ เดือดร้อนเป็นทุกข์อยู่ในใจ นี่มันตรงกันข้าม เห็นไหม มันตกนรก ส่วนเรานี้ถูกต้องแล้ว พอใจ ถูกต้องแล้ว พอใจ เป็นสวรรค์ เป็นสวรรค์อยู่เสมอ ก็จะเสร็จทำนา เสร็จทำนา ถูกต้องแล้วและพอใจ จะกลับบ้านก็ถูกต้องแล้วและพอใจ ทุกก้าว ๆ ๆ ที่กลับบ้าน นี่เรียกว่าชาวนา ถ้าเป็นคนค้าขายก็เหมือนกัน ถูกต้องแล้วและพอใจ ถูกต้องแล้วและพอใจทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหว เดินไปเดินมา หยิบโน้นทำนี่ ถูกต้องแล้วและพอใจ เป็นข้าราชการ เป็นกรรมกร เป็นคนขอทาน มันก็รู้สึกว่าถูกต้องแล้วและพอใจ
นี่ก็ให้ญาติโยมทั้งหลายเหล่าโน้นฟังไปด้วย รู้จักทำด้วยสติสัมปชัญญะในทุกอิริยาบถที่มันเคลื่อนไหว ให้รู้สึกว่า โอ้, มันถูกต้องแล้ว ที่ทำนี่ถูกต้องแล้ว เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แล้วก็พอใจ พอใจก็เป็นสุข นี่ทุกคนจงรู้ไว้ด้วยว่าความสุขต้องมาจากความพอใจ แล้วมันต้องมาจากความถูกต้อง ถ้าเป็น เป็นไอ้หน้าที่ที่ผิด ไม่ได้ เช่น ถ้าเราเป็นโจร เราจะต้องทำหน้าที่โจร ปล้น จี้ ขโมย หรือว่าเราจะต้องเอาอาวุธมาต่อสู้ข้าศึกศัตรู ชนิดที่มันไม่มีเหตุผล อย่างนี้มันไม่ใช่หน้าที่นะ เราจะไปฆ่าเขาอย่างไม่มีเหตุผล มันไม่ใช่หน้าที่ แต่ถ้ามันเป็นหน้าที่มีเหตุผล มีเหตุผลเป็นหน้าที่ มันก็ทำได้ ถ้าทำหน้าที่ถูกต้องตามความหมายของธรรมะแล้ว แม้จะทำให้ใครตาย มันก็ยังเป็นธรรมะอยู่นั่นแหละ อย่างว่าเราจะต้องกินยาถ่าย กินยาถ่าย ถ้าเรากินยาถ่ายเข้าไป ต้องมีสัตว์ตาย ต้องมีสัตว์ตาย แต่เมื่อเราสำนึกในหน้าที่ที่ถูกต้อง เหตุผลที่ถูกต้องในการที่จะต้องกินยาถ่าย และมีสติว่าไม่ได้คิดว่าจะฆ่า ฆ่าสิ่งเหล่านั้น จะฆ่าสัตว์เหล่านั้น มีหน้าที่ นี้มันเป็นหน้าที่ที่ถูกต้องที่เราจะต้องกินยาถ่าย และเราก็กิน ต่อไปนั้นมันก็ตามเรื่องของมัน ก็ยังเป็นความถูกต้อง เราจะ เราไม่ต้องรับผิดชอบไกลจนไปนอกขอบเขต เช่นว่า เราจะเดินไปธุระอย่างนี้ ก็ต้องมีอะไรเหยียบอะไรตายบ้าง แต่เรา มันไม่ใช่หน้าที่ที่จะไปทำให้มันตาย เรามีหน้าที่ที่จะเดินไปทำธุระ ดังนั้นก็ไปเหยียบอะไรตายอยู่ข้างใต้ดินนั้น มันก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะว่าเราไม่ได้เจตนาจะทำ เราเจตนาจะทำแต่หน้าที่ของเรา นี่รู้จักไว้ด้วยว่าหน้าที่ที่ถูกต้องนั้นเป็นสิทธิอันชอบธรรม เป็นสิทธิที่ทุกคนจะต้องทำและทำได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการทำลายสิทธิของผู้อื่น เช่น หน้าที่ต่อสู้ป้องกันตัว อันนี้ก็ทำได้ ไม่ได้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น แต่ขอให้ทำอยู่ในขอบเขตของความถูกต้อง มีสติรักษาความถูกต้องไว้ ต้องมีคำว่าถูกต้อง ๆ ๆ กำกับอยู่ ถูกต้องแล้วจึงจะพอใจ เมื่อพอใจแล้วก็เป็นสุข ดังนั้นความพอใจก็ต้องถูกต้อง คือพอใจในสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับหน้าที่ ๆ มันมีหน้าที่ในสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง จะไปเอาหน้าที่ของโจร ของอันธพาลมาอ้างความเป็นถูกต้อง แล้วก็ทำอะไรไปตามหน้าที่ของโจรของอันธพาลแล้วว่าถูกต้องอย่างนี้ ไม่มี ๆ เป็นไปไม่ได้ จะต้องถูกต้องของวิญญูชน ของหลักธรรมะ ที่เรียกว่าถูกต้อง
นี่ ๆ สำหรับนักศึกษาทั้งหลาย คงจะได้เคยเรียนปรัชญา เคยเรียนอะไรบ้า ๆ บอ ๆ มา จนไม่รู้ว่าถูกต้องคืออะไรก็ได้นะ ไอ้พวก philosophy มันมีความถูกต้องไปทุกหลายแง่ ๆ หลายอย่าง ๆ จนไม่รู้ว่าจะเอากันอย่างไร นี่ขอให้ถือตามหลักพุทธศาสนาเถิดว่าถ้าถูกต้องก็คือ การที่ทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ คำว่าถูกต้องหมายถึงการกระทำที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ คือเราก็ได้ ผู้อื่นก็ได้ ฝ่ายเราก็ได้และก็ไม่เป็นโทษ เมื่อได้รับประโยชน์ก็คือไม่เป็นโทษ ดังนั้นความถูกต้องหรือความดีของฝ่ายธรรมะ คือการที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ ถ้า ๆ ไม่อย่างนั้น มันผิดหรือไม่ดี นี่เป็น เป็นหลักของทางศาสนาที่จะตัดสินว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ดีหรือไม่ดี แต่ถ้าทางปรัชญาอื่น ๆ เขานั้นเขา ทาง phylosophy อื่น ๆ เขา ๆ ถือเป็นอย่างอื่น เราไม่เอามาใช้ในกรณีนี้ เราจะต้องทำชนิดที่ระลึกถึงไอ้สิทธิของผู้อื่น ความปลอดภัยของผู้อื่น ประโยชน์ของผู้อื่นแล้วก็ทำ มีผลให้ได้รับประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายนี่เรียกว่าถูกต้อง แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่เป็น เป็นเรื่องป้องกันตัว เช่น การกินยาถ่ายอย่างนี้ เราจะให้ตัวพยาธิได้รับประโยชน์ด้วยนี้ มันไม่ได้ เพราะว่ามันมุ่งหมายแต่กำจัดโทษ กำจัดอันตราย คำว่าถูกต้องในสังคมนี้หมายถึงในสมาชิก ในสังคมนี่มันได้รับประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย จึงเห็นได้ว่าไอ้หน้าที่นั่นแหละคือธรรมะ ธรรมะนั่นแหละคือหน้าที่ เมื่อใดมีการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อนั้นมีการปฏิบัติธรรมะ เป็นมนุษย์ก็มีหน้าที่อย่างมนุษย์ มนุษย์ก็ต้องทำหน้าที่ของมนุษย์ พอไม่ทำหน้าที่ของมนุษย์ มันก็ไม่เป็นมนุษย์ และมันก็จะต้องตายด้วย ถ้ามันเลวเกินไป ต่ำเกินไป มันจะต้องตายด้วย ถ้าเรารอดตายให้ถูกต้องแล้วก็ได้เป็นมนุษย์ แล้วสูงขึ้นไปจนบรรลุมรรคผลนิพพาน ธรรมะคือหน้าที่สำหรับสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด ทุกระดับ นั่นแหละ บทนิยาม บทนิยามที่ ที่ชัดเจน หมดสิ้น ครบถ้วน หน้าที่ ธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดและทุกระดับ
เอ้า, คนก็มีหน้าที่อย่างคน ให้สมบูรณ์ถึงมาตรฐานของคนอย่างที่ว่ามาแล้ว หรือทำหน้าที่แล้ว ก็พอใจและเป็นสุข ถูกต้องแล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจ ทุกกระเบียดนิ้ว เรียกว่าทุกนาทีเรามีความสุข เพราะปฏิบัติธรรมะคือหน้าที่ นี่เป็นคน มันเป็นได้มากถึงอย่างนี้ คือสามารถจะมีความรู้สึกพอใจและเป็นสุขได้ทุก ๆ อิริยาบถ ทุก ๆ การเคลื่อนไหว ทุก ๆ กระเบียดนิ้ว ทุก ๆ วินาที อย่างเราเดินไปสวนอย่างนี้ เดินไปทำสวน ก้าวขาหนึ่งถูกต้องแล้วและพอใจ ก้าวอีกขาถูกต้องแล้วและพอใจ หรือเป็นชาวนา ฟันดินลงไปที ถูกต้องแล้วและพอใจ ฟันดินลงไปอีกถูกต้องแล้วและพอใจ ฟันดินอีกอย่างนี้เรื่อยไป เรียกว่ามีความสุขทุกกระเบียดนิ้ว ทุกวินาที ทุกกาลเทศะ สัตว์เดรัจฉานมันก็ต้องทำหน้าที่ ไปดูเอาเองเถิด มันต้องทำหน้าที่เพื่อรอดชีวิต สัตว์เดรัจฉานมันก็ต้องทำหน้าที่เพื่อรอดชีวิต ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติและก็รอดชีวิต เราเห็นไก่เขี่ยดิน ถ้าไก่เขี่ยดิน เราก็จะรู้สึกว่าได้ว่าไก่เขี่ยดิน แต่ถ้ามันรู้ธรรมะ มันก็จะบอกว่า ไก่ประพฤติธรรมะของไก่ เมื่อไก่มันเขี่ยดิน หรือว่าสัตว์อะไรมันทำอะไรตามหน้าที่ของมัน เราอย่ามองแต่เพียงว่าไก่มันเขี่ยดิน เราต้องนึกว่าไก่มันประพฤติธรรมะของไก่ แล้วขยันแล้วก็พอใจ ธรรมะของไก่ ของสุนัข ของแมว ของไอ้วัวควาย ของทุก ๆ สัตว์ทุกชนิด มันต้องมีหน้าที่ แล้วการทำหน้าที่ของมันก็คือธรรมะ และสัตว์เดรัจฉานเหล่านี้ก็ไม่เคยบกพร่อง สัตว์เดรัจฉานนี่ไม่เคยบกพร่องและไม่เคยหลบหลีกหน้าที่เหมือนคนอันธพาล อันธพาลหลบหลีกหน้าที่ที่ควรจะทำแล้วก็ไปปล้น ไปจี้ ไปฆ่า ไปทำนอกหน้าที่ หรือว่าหน้าที่ของอันธพาล ธรรมะของอันธพาลอย่าเอามาปนกันกับธรรมะหน้าที่ของสัตบุรุษ
ธรรมะนั้นนะ หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด เมื่อกี้ย้ำไปแล้วนะว่าธรรมะคือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด ทีนี้ขอให้ ๆ ๆ ให้เกียรติ ลองมอง มองลงไปดูถึงต้นไม้เหล่านี้บ้าง ต้นไม้เหล่านี้ก็มีชีวิต แล้วต้นไม้เหล่านี้ทำหน้าที่ ทำหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตอย่างยิ่ง เราเคยได้อ่าน ได้เรียนมาว่าไอ้ต้นไม้นี้มันทำหน้าที่ ในกลางวันมันมีแสงแดด มันคายออกซิเยนออกมาทั้งวันนะต้นไม้ กลางคืนนี่มันคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทั้งคืน ๆ แล้วทำไมไม่ยอมรับว่าต้นไม้ทำงานทั้งวันและทั้งคืน ๒๔ ชั่วโมง มันก็เก่งกว่าคน เพราะคนไม่เคยทำงานตั้ง ๒๔ ชั่วโมง ต้นไม้ทำงานทั้งวันและทั้งคืน ทั้ง ๒๔ ชั่วโมง ทำไมไม่ยกมือไหว้มันเสียบ้างเล่า มันขยัน หรือมันรู้ซื่อตรงในหน้าที่ แล้วมันเป็นสิ่งที่มีชีวิต กลางวันเมื่อมีแสงสว่างมันทำงานอย่าง กลางคืนเมื่อไม่มีแสงสว่างมันทำงานอีกอย่างหนึ่ง เช่นมันจะดูดน้ำดูดแร่ธาตุ ทำได้ มันก็ทำงานทั้ง ๒๔ ชั่วโมง มันน่าเลื่อมใส มันก็เลยจะควรถือว่าธรรมะคือหน้าของสิ่งที่มีชีวิตทุกระดับ ตั้งแต่ระดับคน สัตว์ แล้วก็ต้นไม้ ถ้าสูงขึ้นไป มีเทวดา มีพรหม มีอะไรก็ตาม ถ้ามันเป็นเทวดาจริง พรหมจริง มันก็ทำหน้าที่ของเทวดา ของพรหมตลอดเวลาเหมือนกัน ถ้าไม่ทำหน้าที่มันก็ตาย ถ้าไม่ทำหน้าที่ขั้นที่ ๒ มันก็อยู่อย่างเป็นทุกข์ทรมาน อยู่ในกองทุกข์ ฉะนั้นขอให้เรามองเห็นว่า หน้าที่คือสิ่งสูงสุดของสิ่งที่มีชีวิต สำหรับสิ่งที่มีชีวิตแล้วหน้าที่นั่นแหละคือสิ่งที่สูงสุด เช่นเดี๋ยวนี้เราอาจจะพูดได้เลยว่า ถ้าทั้งโลก ทั้งโลก สากลโลกนี่ ทุกคนในโลกทำหน้าที่ของตนเท่านั้นแหละ โลกมีสันติภาพเหลือ เหลือประมาณ เดี๋ยวนี้ทุกคนไม่ได้ทำหน้าที่ของตนนี่ ไปทำหน้าที่อันธพาลทำลายผู้อื่น รบราฆ่าฟัน ทำสงครามกัน อะไรกัน เหล่านี้ไม่ใช่หน้าที่นี่ มันก็เลยผิดหมด มาถือธรรมะกันใหม่ คือว่าหน้าที่ของใครมีอย่างไร ไอ้คนนั้นทำหน้าที่อย่างนั้น ทุกคนในโลกทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง แล้วโลกนี้ก็มีสันติภาพสูงสุด นั่นแหละเห็นไหม คำว่าหน้าที่ หน้าที่นี่มันสำคัญกี่มากน้อย มันสำคัญกี่มากน้อย ขอให้ลองคิดดู ดังนั้นขอให้เราพอใจหน้าที่ บูชาหน้าที่ เคารพในการทำหน้าที่ ทุกหน้าที่ สมมติว่าคันและก็เกา คันและก็เกา ทำไมไม่มองดูหน้าที่ที่จะต้องเกา การที่ต้องเกา มันก็คือการปฏิบัติธรรมะอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน และควรจะบอกว่าถูกต้องแล้วและพอใจ เรียกว่าหน้าที่หรือธรรมะมันมีไปหมดทุก ๆ ๆ กระเบียดนิ้วก็ว่าได้ เราก็ทำให้ถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว มันก็เรียกว่ามีธรรมะบริบูรณ์
พอ สมมุติว่า ค่ำลง ๆ จะนอนแล้ว นอนก็เป็นหน้าที่แล้วก็จะต้องนอน แต่ว่าก่อนจะนอนนั้น มานึกดูวันนี้ได้ทำหน้าที่อะไรบ้าง วันนี้ได้ทำหน้าที่อะไรบ้าง วันนี้ได้บกพร่องหน้าที่อะไรบ้าง หรือวันนี้ไม่ได้ทำหน้าที่อะไรเลย ถ้ามองเห็นว่าวันนี้ทำหน้าที่ครบถ้วนตามที่ควรจะทำ ถูกต้อง สมบูรณ์ ก็พอใจ ๆ ๆ จนยกมือไหว้ตัวเองได้ อยากจะถามว่าทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ใครเคยยกมือไหว้ตัวเองบ้าง ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ใครเคยยกมือไหว้ตัวเองบ้าง ก็ไม่เคย เห็นไหม ไม่เคย เพราะมันไม่เคยสนใจเรื่องหน้าที่ เรื่องความถูกต้อง และมันก็จะไม่เจริญในหน้าที่และความถูกต้อง ทีนี้ยิ่งกว่านั้น พอ ๆ มานึกดูว่าตัวเองทำอะไร มันเกลียดน้ำหน้าตัวเอง ไหว้ไม่ลงนั่น เอาล่ะ, กลับไปสิ แล้วก็กลับไปคิดดูว่านี่เรามีอะไรที่จะไหว้ตัวเองได้บ้าง เดี๋ยวมันจะไหว้ไม่ลงนั่น เพราะมันเป็นไปแต่ความบกพร่อง การเกลียดตัวเองนั่นคือนรก ถ้ามองเห็นไอ้ความไม่ถูกต้องของตนเอง แล้วเกลียดตัวเอง นั่นคือนรก นรกแท้จริง นรกชัด ๆ นรกที่นี่ นรกเดี๋ยวนี้ ถ้าตกนรกชนิดนี้แล้ว มันตกนรกหมดแหละ ตายไปกี่ชาติ ๆ ก็ตกนรกทุกชนิด ไอ้นรกที่แท้จริงคือมันไม่ถูกต้องและมันเกลียดตัวเอง การเกลียดตัวเองคือนรก ตกนรกชนิดนี้แล้ว มันก็ตกนรกทุกชนิดเลย จะมีหรือไม่มีก็ไม่รู้ แต่ว่าถ้ามี มันก็ตกกนรกทุกชนิด ถ้ามันตกนรกที่นี่ เดี๋ยวนี้ เพราะมันเกลียดตัวเอง ไหว้ตัวเองไม่ลง เกลียดตัวเอง ถ้ามีธรรมะ มีหน้าที่ ไม่บกพร่อง มันก็ยกมือไหว้ตัวเองได้ทันที นี่คือสวรรค์ สวรรค์ที่แท้จริง สวรรค์ที่แท้จริงคือเมื่อยกมือไหว้ตัวเองได้ ถูกต้องแล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจทุกอย่าง พอใจจนยกมือไหว้ตัวเองได้ นี่แหละคือสวรรค์ที่แท้จริง และของจริงตามหลักพระพุทธศาสนานั้นต้องเป็นสันทิฎฐิโก รู้สึกอยู่กับใจ สันทิฎฐิโกคือรู้สึกอยู่กับใจ อกาลิโก ไม่เกี่ยวข้องกับเวลา เวลาไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้นี่ แล้วเรียกให้มาดูได้ มาดูสิ ฉันมีอยู่ในใจ ฉันมีอยู่ในใจ มาดูสิ เรียกมาให้ดูได้ สันทิฎฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก แล้วทุกคนมาเห็นแล้ว อ้อ, นี้ควรมี นี้ควรมี นี้ควรมีไว้ในตัว นี้ควรมีไว้ในตัว พวกผู้มีปัญญา วิญญูชนนั่น แม้จะเป็นปัญญา ยังรู้ได้เฉพาะตน รู้ได้เฉพาะตน รู้สึกแทนกันไม่ได้ นรกจริง สวรรค์จริง เจ้าของมันจะมีความรู้สึกจริงเป็นสันทิฎฐิโก แล้วก็ไม่เกี่ยวกับเวลา ถ้าทำผิด ทำถูก เมื่อไรมันก็มีเมื่อนั้น แล้วเพียงแต่เวลาเปลี่ยนไป ไอ้ผลนี้มันก็ยังอยู่กว่าจะหมดผลของมัน ไม่ ๆ ไม่ให้เวลาเข้ามาแทรกแซง จงถือธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าเป็นธรรมะที่พูดไว้อย่างถูกต้อง คือสวากขาโต สิ่งนั้นต้องเป็นสันทิฎฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ เดี๋ยวนี้อาตมากำลังยืนยันว่าไอ้นรกจริง ๆ สวรรค์จริง ๆ ต้องเป็นอย่างนี้ คือต้องเป็นสันทิฎฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก เป็นต้น จึงคิดว่าเราน่าจะมีหลักปฏิบัติ พอ ๆ พอค่ำลง ปิดเวลา ค่ำลงจะนอนนี่ มองดูหน้าที่ มองดูธรรมะของตน แล้วยกมือไหว้ตัวเองได้กันทุกคนเถิด นั่นแหละพุทธบริษัทที่แท้จริง เป็นสาวก เป็นศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่แท้จริง ต้องยกมือไหว้ตัวเองได้ พอปิดวันลงค่ำละนอน นี่ต้องยกมือไหว้ตนเองได้ เพราะมันเต็มไปด้วยความดี ถ้ามันเกิดเกลียดตัวเองขึ้นมา ไหว้ตัวเองไม่ลง ก็ไม่ใช่แล้ว เป็นคนนอก นอกแล้ว คือไปอยู่กับนรก อยู่กับยมบาลเถิด ถ้าเผื่อคิดถึงแล้ว มันเกลียดชังตัวเองนั่น มันก็เกิดนรก เกิดนรกขึ้นมา ที่นั่น เดี๋ยวนั้น เกิดนรกขึ้นมา ที่นั่น เดี๋ยวนั้น มียมบาลมายึดตัวไปแล้วที่นั่นและเดี๋ยวนั้น มันก็หลับไป ด้วยความหลับที่เลวร้าย ฝันร้ายไปตามเรื่อง ถ้าสำรวจดูแล้วมันมีแต่ความถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและพอใจ มันก็เป็นสวรรค์ที่แท้จริง มันก็นอนหลับดี ฝันดีไปตลอดเรื่อง แต่ที่เป็นอยู่โดยมากนี่ เราจะมองไปถึงว่าเขาไม่มีความถูกต้องและพอใจเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง จิตใจของเขาก็ตกต่ำ เศร้าหมอง ทนทรมาน อยู่ที่นี่ เพราะมันเป็นนรก ยู่ที่นี่ ในความที่ไม่มีอะไรดีจนยกมือไหว้ตัวเองได้ พวกนี้ ไม่ ๆ กี่วันก็เป็นโรคประสาท ไม่ว่าหญิงหรือชาย มันจะต้องเป็นโรคประสาท เพราะมันไม่มีอะไรที่ยกมือไหว้ตัวเองได้ มันทรมานอยู่ทั้งวันทั้งคืน มันจะเอาเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ ไสยศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนมาช่วย มาปลอบ มาประโลม มันก็เป็นไปไม่ได้ มันหลอกทั้งนั้นแหละ ของจริงมันอยู่ที่จริง ไอ้ของหลอกมันก็อยู่ที่หลอก อย่าไปหวังว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของขลังศักดิ์สิทธิ์ เทวดาผีสางที่ไหนจะมาช่วยได้ มันช่วยไม่ได้ มันต้องทำให้ถูกต้อง จะไปรดน้ำมนต์สักร้อยวัด มันก็ช่วยไม่ได้ จะไปให้ใครไปเป่ากระหม่อมสักร้อยครั้งมันก็ช่วยไม่ได้ ก็มันเลวหรือมันดี อยู่ที่หน้าที่ ที่ตนกระทำ เราอย่าไปหวังว่าไสยศาสตร์จะมาช่วยแก้ปัญหาได้
พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ เรื่องความดี ความจริง ความถูกต้อง ตามหลักของพุทธศาสนานี้ มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันไม่ใช่ไสยศาสตร์ อย่าไปเอาไสยศาสตร์มาทำลายพุทธศาสนา ไม่มีอะไรจะทำลายพุทธศาสนามากเท่ากับไปเอาไสยศาสตร์มาใส่ลงไปในพุทธศาสนา ไปดูเอาเอง คุณถือไสยศาสตร์อะไรไหม ไสยศาสตร์นั้นมันจะทำลายพุทธศาสนา เรียกว่าศาสนาจะอันตรธาน เพราะคนในศาสนานี้ไปเอาไสยศาสตร์มาใส่เข้ากับพุทธศาสนา แล้วศาสนาอันตรธาน ผมจะไม่ออกชื่อว่าอะไรบ้าง มันจะกระทบกระเทือน คุณไปดูเอาเองก็แล้วกันว่าอะไรเป็นไสยศาสตร์ ถ้าเอาไสยศาสตร์มาใส่ลงในพุทธศาสนา ศาสนาก็หมดความเป็นพุทธศาสนา เดี๋ยวนี้ถ้าว่าวิทยาศาสตร์มันเจริญก้าวหน้าก็ได้ ๆ ได้กำลังแก่พุทธศาสนา ขอให้วิทยาศาสตร์ในโลกนี้มันเจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปเถิด มันจะยิ่งเพิ่มกำลังให้แก่พุทธศาสนาซึ่งมีหลักเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มีความเป็นไสยศาสตร์ การต้องพึ่งผี พึ่งสาง พึ่งเทวดา พึ่งพระเจ้า เป็นต้น นั้นมันเป็นไสยศาสตร์ ถ้ามันพึ่งการกระทำที่ถูกต้อง ตามกฎของธรรมะ อิทัปปัจจยตา มันเป็นพุทธศาสตร์ ดังนั้นเราเป็นพุทธบริษัทกันให้ถูกต้อง เราถือศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ถือศาสนาที่เป็นไสยศาสตร์ ศาสนาที่เชื่อผีสาง เทวดา พระเจ้าจะช่วย นั้นเป็นพวกไสยศาสตร์ หรือการกระทำตามกฎของธรรมชาติ ทำถูกต้องก็มีคนดี ทำไม่ถูกต้องก็มีคนร้าย นี่เป็นวิทยาศาสตร์
เอ้า, นักศึกษาบาง ๆ หลาย ๆ องค์นี่ ผมอยากจะบอกว่าเดี๋ยวนี้เขาสามารถที่จะแยกเอาได้ง่าย ๆ ว่าศาสนามีอยู่ ๒ เท่านั้นเอง ศาสนาพวกหนึ่งมันเป็น creationism มันเชื่อว่ามีพระเจ้าสร้าง มีพระเจ้าควบคุม มีพระเจ้าคอยทำลาย มีพระเจ้าคอยดูแลอยู่ในที่ทั่วไป นี่เป็นพวก creationism ทีนี้อีกพวกหนึ่งถือว่าไม่ใช่ เป็นไปตามวิวัฒนาการของกฎของธรรมชาติคือกฎอิทัปปัจจยตา ศาสนาพวกนี้เป็น evolutionism นี้รู้จักพวกเรา ๆ ไอ้พุทธนี่ ชาวพุทธนี่เป็นพวก evolutionism จงทำอะไร ทำอะไรให้มันถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของ evolutionism ก็จะอยู่ในพุทธศาสนา จะไม่นอกออกไปจากแนวทางของพระพุทธศาสนา
ทีนี้ก็มาดูถึงความรอด เมื่อตะกี้ก็บอกแล้วว่าความรอดเป็นจุดหมายปลายทางมุ่งหมายของทุก ๆ ศาสนา ทีนี่ความรอดของพวก creationism คือพระเจ้าช่วย ความรอดของพวกศาสนา creationism คือมีผู้สร้าง มันก็คือพระเจ้าช่วย แต่ความรอดของอีกพวกหนึ่ง พวก evolutionism คือความถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แล้วก็มีความรอด ดังนั้นความรอดมันแตกต่างกันมาก เมื่อความรอดมันแตกต่างกันอย่างนี้ แล้วมันก็แสดงให้เห็นได้ว่าหน้าที่มันก็แตกต่างกัน หน้าที่ที่จะทำมันก็แตกต่างกัน หน้าที่อ้อนวอนพระเจ้า หรือหน้าที่ทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เมื่อมีหน้าที่ต่างกัน ก็หมายความว่าธรรมะนั้นมันต่างกันแล้ว เพราะธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ เมื่อหน้าที่มันต่างกันเพราะความรอดมันต่างกัน ธรรมะนั้นมันก็ต่างกัน คือเราจะมีระบบธรรมะที่ต่างกัน ๆ แล้วแต่ว่าพวกนั้นมันถือหลักเกณฑ์อย่างไร ถือหลักเป็นมีพระเจ้าสร้าง ควบคุม มีพระเจ้าที่เป็นรู้สึกอย่างบุคคล พระเจ้าอย่างบุคคล มีรู้สึกอย่างบุคคล โกรธได้ รักได้ เกลียดได้ อ้อนวอนให้ช่วยได้ พระเจ้าอย่างนั้น มันก็แบบหนึ่ง ฉะนั้นความรอดมันก็อยู่ที่พระเจ้านั่น ทีนี้อีกพวกหนึ่ง มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ กฎวิวัฒนาการ หรือกฏอิทัปปัจจยตา เขาไม่รู้ไม่ชี้กับพระเจ้า กับเทวดา เขารู้กันแต่ว่าจะทำอย่างไร มันจะถูกต้องตามกฎของธรรมชาติหรืออิทัปปัจจยตา นี่จะเป็นเหตุให้เรารู้จักตัวเอง รู้จักตัวเองคือรู้จักความเป็นพุทธบริษัทของตัวเอง ว่าเราเป็นพุทธบริษัท เราอยู่ในสถานะอย่างไร มีกฎเกณฑ์อย่างไร มีแนวทาง วิถีทางอย่างไร รู้ ๆ ไว้เสียให้เพียงพอ
นี่ผมบอกแล้วว่าจะพูดกันแต่เพียงคำที่ต้องมีบทนิยามที่ต้องชัดเจน แล้วก็ไปถึงคำว่าธรรมหรือหน้าที่ ทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและพอใจ อยู่ทุกกระเบียดนิ้วและทุกวินาที ถ้าเอาอย่างเทศะ เอาอย่าง space ก็เรียกว่ามันถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว ถ้าเอาอย่างกาละ กาลเวลา มันก็ถูกต้องทุกวินาทีเลย อาจจะพูดออกมาได้ว่าถูกต้อง มองเห็นแต่ความถูกต้อง มองเห็นแต่ความถูกต้อง มองเห็นแต่ความถูกต้อง อย่างเรามานั่ง เรียกว่าถูกต้องแล้วที่จะต้องมานั่ง มาฟังและศึกษา ทีนี้จะแจกให้ละเอียด ทีนี้คุณจะกลับไปกุฏิ ทุกย่างก้าวของขาก้าวไป ต้องมีความรู้สึกว่าถูกต้องและพอใจที่จะกลับไปกุฏิด้วยสติและปัญญา ทำให้รู้สึกได้ว่าถูกต้องแล้วที่ต้องไปกุฏิ และก็พอใจ พอใจ ก็มีความสุข ความพอใจ มาจนถึงกุฏิ พอจะเข้าไปในกุฏิก็ถูกต้องแล้ว พอเข้าไปในกุฏิก็ถูกต้องแล้ว พอจะลงนอนก็ถูกต้องแล้ว พอนอนก็ถูกต้องแล้ว มันก็เป็นเรื่องของถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและพอใจ จนกว่าจะหลับไป แต่เดี๋ยวนี้เราไม่ได้ทำอย่างนั้นนี่ เราไม่ได้มีสติ เราไม่ได้กำหนดสติ เราแล้วแต่ว่าความปรุงแต่งในภายในมันจะปรุงไปคิดเรื่องอะไร ไปคิดบ้าหลัง ไปกี่เรื่องกี่ราว ไม่ได้มีสติทุกอิริยาบถ ทุกขณะจิต อย่างที่ว่านี้ อย่างคุณเดินมานี่ คิดอะไรกี่เรื่อง เดินกลับไปกุฏิ คิดอะไรกี่เรื่อง แล้วก็เรื่องแต่ละเรื่องนั้น น่าสั่นหัวทั้งนั้น หรือเป็นเรื่องที่ทำให้ยกมือไหว้ตัวเองไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่ทำให้ยกมือไหว้ตัวเองไม่ได้ ถ้าเราทำกันเป็นการรับประกันได้ว่าทุกการเคลื่อนไหวนี่ ถูกต้องและพอใจ เพราะว่าทำให้เกิดผลคือดับทุกข์ได้ ถูกต้อง ๆ ๆ อยู่ในทางของการดับทุกข์ได้ นี่เราไม่มีสติและไม่มีความรู้ที่จะมองกันอย่างนี้ ไม่มีความรู้เรื่องว่าธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ก็ไม่มีความรู้ และก็ไม่มีสติที่จะทำให้มันถูกต้อง ถูกต้องและพอใจ ฉะนั้นขอให้ช่วยเอาไปคิดไปนึก เดี๋ยวนี้ผมไม่เชื่อว่าคุณจะทำได้ ผมเชื่อแต่ว่าคุณเอาไปคิดไปนึกให้มากกว่านี้เสียก่อน แล้วจึงจะทำได้ พวกศรัทธากลุ่มโน้นก็เหมือนกัน กว่าที่จะเอาไปทำให้มันเกิดความถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและก็พอใจ ถูกต้องและพอใจ อยู่ตลอดเวลา มันยังอีก มันยังอีก ยังอีกนาน ยังอีกหน้า ขอให้พยายามเถิด ให้มีชีวิตชนิดที่มองดูแล้วก็รู้สึก โอ้, มันถูกต้องแล้วก็พอใจ ถูกต้องแล้วก็พอใจ หลายหนเข้าก็ยกมือไหว้ตัวเองได้ มีสวรรค์อย่างแท้จริงทันทีที่นั่น นี่คือธรรมะแท้ ธรรมะแท้ หน้าที่ถูกต้องแท้ มันก็จะเป็นอย่างนี้ เมื่อตะกี้ก็เล่ารายละเอียดให้ฟังแล้ว แม้แต่จะล้างจาน ล้างถ้วยล้างจานอยู่ ก็รู้ มีสติรู้สึก ล้างอย่างดี เพราะมันเป็นการทำหน้าที่หรือปฏิบัติธรรมะ แล้วก็ถูกต้อง แล้วก็พอใจ จะล้างได้ดี จานก็ไม่แตก ไม่ทำ ไม่เผลอทำจานแตก แล้วก็เก็บ ๆ ๆ ถูกต้องและพอใจ แล้วก็ทำงานอื่น เดินออกไป ถูกต้องและพอใจ มันถูกต้องและพอใจไปเสียทุกหนทุกแห่ง ในบ้านในเรือน ในไร่ในนา ในออฟฟิศ ที่ออฟฟิศ หรือที่โรงเรียน หรือที่ไหนก็ตาม จะรู้สึกว่าถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและพอใจ ด้วยสติที่มีปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง นี่คือความเป็นพุทธะ พุทธบริษัท พุทธบริษัท บริษัทของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทธะแปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่นคือไม่หลับ ผู้เบิกบานคือมีความพอใจ ๆ พอใจคือเบิกบาน มีความรู้สึกตัว ตื่นอยู่ด้วยสติ คือไม่หลับ และก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอะไร มันก็ทำได้ถูกต้องแล้วก็พอใจคือเบิกบาน สวดมนต์ ไหว้พระ แปลกันอยู่ทุกวันว่าพระเจ้า พระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สาวกของพระพุทธเจ้าก็ต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ฉะนั้นขอให้รู้หลักเกณฑ์อันนี้ ปฏิบัติธรรมะหรือหน้าที่ถูกต้องอยู่ทุก ๆ อิริยาบถ แล้วเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ได้ทุกอิริยาบถ ยังไม่นิพพานก็เป็นสวรรค์อยู่ทุกอิริยาบถ แต่เป็นสวรรค์แท้ สวรรค์ไม่หลอกหลวง สวรรค์แท้จริง คือถูกต้องแล้วก็พอใจ แล้วก็เป็นสุข สวรรค์แท้นั้นมันถูกต้อง แล้วก็พอใจ แล้วก็เป็นสุข เป็นสุขชนิดที่ไม่ต้องเสียเงิน ไม่ต้องเสียสตางค์ แม้แต่บาทเดียว แม้แต่สตางค์เดียว ทำถูกต้องแล้วก็พอใจ แล้วก็เป็นสุข สุขแท้จริงอยู่เมื่อทำหน้าที่ นี่คือสุขที่แท้จริง ไม่ใช่หลอกลวง ก็เลยพูดขึ้นมาอีกบทหนึ่งว่าความสุขที่แท้จริงไม่ต้องเสียเงิน ความสุขที่หลอกลวงยิ่ง ยิ่งต้องเสียเงิน จนเงินไม่พอ จนไม่มีพอจะใช้ นี่ช่วยจำไปด้วยฆราวาสทั้งหลาย ถ้าเป็นความสุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้เงินเลย เพราะมันเป็นสุขเสียแล้ว ถูกต้องพอใจ ถูกต้องพอใจ ถูกต้องพอใจอยู่ในการงานที่กระทำ ได้รับความสุขที่แท้จริงแล้วก็ไม่ต้องเสียเงินเลย ถ้าเราทำหน้าที่ทำไร่ทำนา ถูกต้องเป็นสุขเสียแล้ว เมื่อทำไร่ทำนา เงินมันก็เหลือ ๆ ๆ ไม่ต้องใช้เงิน ทำงานที่เป็นผลงาน เงินมันเป็นผลงาน มันก็เหลืออยู่ ไม่ต้อง ไม่ต้องใช้ ความสุขหลอกลวงคือไม่ใช่ความสุข เป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวง เรื่องกามารมณ์ เรื่องสถานกามารมณ์เริงรมย์อะไร ก็มาใช้จนเงินหมด ต้องไปโกง ไปคอรัปชั่น ไปลัก ไปขโมย นั่นความสุขที่หลอกลวงคือไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง มันทำให้ใช้เงิน จนเงินหมดก็ไม่พอใช้ ถึงจะถือเป็นหลักว่าถ้าความสุขที่แท้จริง เงินมันจะเหลือกองอยู่เยอะเลย ก็เป็นสุขอยู่ที่ความถูกต้องและพอใจอยู่ในใจ ความสุขหลอกลวงของกิเลส ตัณหา เงินใช้เท่าไร ถมเท่าไรก็ไม่พอ ก็ไม่พอ ๆ เพราะมันเป็นของหลอกลวง
ที่เชียงรายจะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ทว่าแถวใต้นี่ เวลาพระไปเจริญพระพุทธมนต์เย็น พระไปเจริญพระพุทธมนต์เย็นที่นิมนต์ไปเจริญพุทธมนต์เย็นที่บ้าน พระเขาจะสวดบท บทสำคัญ บทที่สอง ที่สามของการสวดแล้วแต่วิธีไหน จะมีบทสวดตอนหนึ่งว่า ลัทธา มุธา นิพพุติง ภุญชะมานา ยะถายัมปะทีโป (๑.๑๕.๒๕) บอกว่า ในการปฎิบัติอย่างนี้ ก็ได้นิพพาน นิพพุติง คือ นิพพาน มาบริโภคอยู่ ภุญชะมานา มาบริโภคอยู่ มุธา เปล่า ๆ ฟรี ไม่ ๆ ๆ เก็บเงิน ไม่ต้องใช้เงิน ก็ได้นิพพานมาบริโภคอยู่เปล่า ๆ ไม่ต้องเสียเงิน นี่ถ้าว่าฟังถูก ที่พระไปเจริญพระพุทธมนต์ถึงบ้าน แล้วบอกอย่างนี้ ถ้าฟังถูก ก็ทำให้ถูกสิ นิพพานต้องได้เปล่าเสมอ ถ้านิพพานไหนต้องเสียเงิน เป็นนิพพานปลอม นิพพานเก๊ นิพพานใช้ไม่ได้ คือความดับทุกข์ที่แท้จริงมัน ๆ มันให้เปล่า ไม่ต้องใช้เงิน ไม่ต้องเสียเงิน คือปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้องพอใจ ถูกต้องพอใจ ถูกต้องพอใจ เป็นสุขอย่างนี้ เรียกว่านิพพานที่ไม่ต้องใช้เงิน ทีนี้เอาเงินที่ทำนาได้ ทำสวนได้ ไปกามารมณ์ ไปเริงรมย์ ไปเที่ยวทัศนาจรก็ได้ มันก็เป็นเรื่องหลอกลวง แล้วมันก็ไม่ได้ความสุขที่แท้จริง
เดี๋ยวจะเข้าใจผิดนะ จะบอกให้ทราบว่าทัศนาจรนี่มันมีอยู่ตั้ง ๔ แบบทัศนาจร พวกเหนือมาทัศนาจรที่ใต้นี่ มาทัศนาจรซื้อของถูก หนีภาษีที่หาดใหญ่ มันมาทัศนาจรซื้อของถูกหนีภาษี นี่ก็พวกหนึ่ง แล้วทีนี้อีกพวกหนึ่ง ทัศนาจรหาความสนุก ๆ ๆ นี่ก็พวกหนึ่ง หรืออีกพวกหนึ่ง ทัศนาจรหาบุญ บ้าบุญ เมาบุญ นี่ก็พวกหนึ่ง แล้วทัศนาจรอีกพวกหนึ่ง หาความรู้ หาธรรมะ ถ้าคุณทำอย่างนี้ที่นั่งอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวนี้ นี่คือทัศนาจรหาธรรมะ ทัศนาจรซื้อของถูก ทัศนาจรสนุกเพลิดเพลิน ทัศนาจรเอาบุญ นั่น ๓ พวกนั้นจะไม่ช่วย จะไม่ช่วยให้เกิดความถูกต้องแล้วพอใจ มันไม่ช่วยให้เกิดได้ ต้องทัศนาจรเพื่อหาความวิชารู้ที่ถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา ไม่เท่าไรก็จะร้องออกมาว่าถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้ว พอใจ พอใจ ถูกต้องแล้ว มันอิ่มไปด้วยความสุขชนิดนี้แล้ว จะไปหาความเพลิดเพลินที่หลอกลวงกันทำไมเล่า นั่นสรุปความได้ว่าถ้านิพพานต้องให้เปล่า นิพพานจริงต้องให้เปล่า การดับทุกข์ที่แท้จริงต้องให้เปล่า นิพพานปลอมไปใช้เงิน ไม่พอใช้ ไปทุจริต นั่นนิพพานปลอม ฉะนั้นเราจงพอใจในการปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่แล้วพอใจ แล้วดับทุกข์ได้นี้จะนำมาให้ซึ่งนิพพานจริง จะนำนิพพานจริง เย็นจริง ดับทุกข์จริงมาให้แก่เรา นิพพานแปลว่าดับทุกข์ ดับร้อน ดับความร้อนมีแต่ความเย็น ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว ไม่ต้องรอต่อตายแล้วหลาย ๆ หน ที่นี้และเดี๋ยวนี้ ขอทำหน้าที่ให้ถูกต้อง กิเลสก็ไม่เกิด เมื่อกิเลสไม่เกิด ก็เท่ากับไฟมันไม่มี ไฟมันไม่มี ไฟมันไม่มี มันก็คือไม่ร้อน ไม่ร้อนก็คือเย็น เย็นก็คือนิพพาน นิพพานนั้นแปลว่าเย็น เย็นอกเย็นใจ ครั้งพุทธกาลเขารู้ความหมายนี้กันดี เขาพูดกันอยู่ตามบ้านตามเรือน คำว่านิพพานคือเย็น ถ้าเป็นวัตถุก็เย็นของวัตถุ ถ้าเป็นจิตใจก็เย็นของจิตใจ หญิงสาวคนหนึ่งเขาเห็นพระสิทธัตถะเดินมา เขาพูดขึ้นว่าถ้าผู้ใดเป็นพ่อของบุรุษนี้ ผู้นั้นจะนิพพาน ถ้าผู้ใดเป็นแม่ของบุรุษนี้ ผู้นั้นจะนิพพาน ผู้ใดเป็นภรรยาของบุรุษนี้ เขาจะนิพพาน นิพพุตา นิพพุตา นิพุโต คำว่านิพพาน ในที่แห่งนี้เขาหมายถึงเย็นอกเย็นใจ ไม่มีความทุกข์เลย ไม่มีความทุกข์เลย เขานิพพานกันที่นี่และเดี๋ยวนี้ เพราะจิตใจมีแต่ความเย็นอย่างเดียว ไม่มีความร้อนเลย นางจึงหาความเย็นชนิดนี้ให้แก่จิตใจ นั่นคือนิพพาน ทำได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ต้อง ไม่ต้องต่อตายแล้ว ไอ้เรื่องต่อตายแล้วนั้นมันไม่แน่นอนหรอก มันขึ้นอยู่กับเดี๋ยวนี้ ทำให้ได้เดี๋ยวนี้เลย แล้วมันจะได้ตลอดไป ถ้าเดี๋ยวนี้ทำไม่ได้แล้ว ต่อตายแล้วจะไปหวังอะไร นี่ขอให้สนใจทำให้ถูกต้องเสียแต่เดี๋ยวนี้ จะได้เป็นเดิมพัน เป็นทุนรอนสำหรับข้างหน้า
นี่จึงสรุปความว่า ขอให้ทำหน้าที่ให้ถูกต้องคือปฏิบัติธรรมะให้ถูกต้อง ให้เกิดความรอดอย่างต่ำคือรอดชีวิต ให้เกิด ความรอดอย่างสูงคือบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็จะได้ชื่อว่าเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบกับพุทธศาสนา
นี่เห็นว่าการบรรยายนี้มันสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยายด้วยการสรุปสั้น ๆ ว่าจงรู้จักพุทธศาสนาว่าเป็นคำสั่งสอนของผู้รู้ ผู้รู้นั้นสั่งสอนธรรมะ ธรรมะนั้นคือหน้าที่ หน้าที่นั้นคือสิ่งที่ทำให้เกิดความรอดทั้งอย่างต่ำและ อย่างสูง เรามีความรอดทั้งอย่างต่ำและอย่างสูงแล้ว เรื่องมันก็จบกัน ดังนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายดำรงตนอยู่ในทางที่ ถูกต้อง ของหน้าที่ มีความสุขเกิดจากรู้สึกว่าถูกต้องแล้ว พอใจแล้ว ถูกต้องแล้ว พอใจแล้ว ถูกต้องแล้ว พอใจแล้ว อยู่ทุกทิพพาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยาย