แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นนักศึกษาและครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ในครั้งที่แล้วมา เราพูดกันถึงเรื่องธรรมะและวิธีปฏิบัติธรรมะ วันนี้จะพูดถึงเรื่องความทุกข์และวิธีดับทุกข์ การพูดถึงเรื่องธรรมะนั้น พูดถึงเรื่องหน้าที่ที่เราจะต้องประพฤติปฏิบัติต่อชีวิตร่างกาย สิ่งที่เนื่องกันให้มันถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เพื่อจะไม่ให้ก่อปัญหาขึ้นมา ก็คือไม่ให้เกิดความทุกข์นั่นแหละ ที่จริงมันก็เป็นเรื่องเดียว เดียว กัน วันนี้จะพูดเรื่องทุกข์กับวิธีการดับทุกข์ ลองทบทวนครั้งที่แล้วมาว่า ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง ตามกฎของธรรมชาติจนเป็นที่พอใจ ว่าถูกต้อง ถูกต้อง แล้วพอใจ ทุกอิริยาบถ ทุกเวลานาที ทุกสถานที่ นั่นมันก็ควรจะหมดปัญหาแล้ว ธรรมะคือหน้าที่ สำหรับสิ่งที่มีชีวิตจะต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง มนุษย์นี้มันมีอะไรสูงกว่าสัตว์มาก ฉะนั้นสัตว์ก็มีหน้าที่ไม่มาก แต่มนุษย์ก็มีมาก ก็คิดได้มาก มีการกระทำมากกว่าสัตว์มาก หน้าที่มันจึงมีมาก จึงต้องศึกษากันหลายๆ ชั้น หลายชั้นหลายระดับ ถ้าเป็นนักเรียนหน้าที่มันก็คือการเรียน ถ้าเป็นผู้เสร็จการเรียนประกอบอาชีพ มันก็อาชีพหละคือหน้าที่ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม มันก็รวมอยู่ในสิ่งที่ว่าต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ เราจะประกอบอาชีพไม่ได้ถ้าเราไม่เรียนรู้ เรื่องต่างๆ ที่มันเป็นเบื้องต้นของการประกอบอาชีพ การเล่าเรียนก็เป็นบุพภาคเบื้องต้นหรือบทนำของอาชีพ แต่เดี๋ยวนี้เรายังไม่มีอาชีพ เราก็ทำการเรียน การเรียนมันจึงกลายเป็นหน้าที่ หรือกลายเป็นธรรมะคือหน้าที่ ที่ต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องให้ดี จนกระทั่งบอกตัวเองได้ว่าถูกต้องแล้ว พอใจ ถูกต้องแล้ว พอใจ ถูกต้องแล้ว พอใจ อย่างนี้อยู่ตลอดเวลา นั่นแหละคือผู้ที่มีธรรมะแล้วก็จะรอดจากปัญหาทั้งปวง
ถ้ามันทำได้อย่างนั้น มันก็หมดปัญหา แต่มันมีเรื่องบางเรื่องหรือหน้าที่บางอย่าง มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น มันจะต้องรู้ให้ลึกลงไปถึงที่สุดของมัน มันก็คือเรื่องความทุกข์ เราจะศึกษาเรื่องความทุกข์กันให้เพียงพออีกเรื่องหนึ่ง
ความทุกข์ก็มีอยู่หลายๆ ระดับ คือหลายๆ ชั้น ตั้งแต่ชั้น ชั้นง่าย ชั้นหยาบ ชั้นต่ำ สูงขึ้นไปจนถึงชั้นละเอียด เป็นทุกข์ มีหลายชั้น ฉะนั้นจะพูดตามที่เห็นว่าง่ายแก่การศึกษา สำหรับนักศึกษาหรือนักเรียน ขอให้ตั้งใจฟังให้ดีๆ ถ้ามันผิดแปลกไปจากที่เคยอ่านในหนังสือหนังหา ก็ไม่เป็นไร ขอให้สนใจว่ามันมีอยู่อย่างนี้ แล้วเราจะดับให้มันได้ ดับเสียได้ก็แล้วกัน ถ้าเป็นเรื่องในโรงเรียน ในแบบเรียน ในตำราเรียน ก็ กฌต้องจำไว้อย่างนั้น ถ้าจะสอบไล่ ก็ต้องตอบไปตามแบบเรียนนั่นแหละ แต่ที่นี่เราไม่ใช่โรงเรียน ไม่ใช่แบบเรียน ใช้แบบเรียน เราจะมุ่งตรงไปยังไอ้ตัวธรรมชาติ ที่มันเป็นอยู่จริงๆ คือความทุกข์ และความลับของมันว่าเราจะดับมันได้อย่างไร
สิ่งแรกก็คือคำว่าความทุกข์นั่นแหละ คำว่าทุกข์หรือความทุกข์นี้ ในภาษาธรรมะมันก็มีความหมายหลายอย่าง เอาแต่อย่างเดียวก็พอ คือมันทนไม่ได้ มันยาก มันเป็นความยากลำบากที่ทนไม่ได้ นั่นหละเรียกว่าความทุกข์ ทีนี้ ถ้าดู ดูต่อไป มันก็เห็น ความทุกข์ นี่คือสิ่งที่น่าชัง สิ่งที่น่าเกลียด สิ่งที่ไร้สาระ ไม่มีอะไรดีเอาเสียเลย อันนี้เก็บไว้ก่อน ไม่ต้องพูด ความทุกข์ในความหมายที่ว่ามันทนไม่ได้ มันยากลำบาก มันเจ็บปวด มันทรมานทางกายบ้าง ทางจิตใจบ้าง รวมๆ กันแล้วก็เรียกว่าความทุกข์ ตัวหนังสือแท้ๆ มันแปลว่า ทนยาก ทุก แปลว่ายาก ขะนี่แปลว่าทน ทุกขะ แปลว่าทนยาก ทนไม่ไหว เอาความหมายก็คือลำบาก ทนทรมาน ไม่ใช่ว่าทนยาก แล้วจะสอนให้ทน มันทนยาก มันเป็นทุกข์ มันลำบาก เขาก็สอนให้ละมันเสีย ให้ดับมันเสีย ดังนั้นเรามาพูดกันเรื่องความทุกข์ กับความดับทุกข์ หรือการดับทุกข์ มันก็พอ มันมีเหตุผลควรจะพูด
ทีนี้คอยฟังให้ดีว่าไอ้ความทุกข์มันเป็นขั้นตอน หรือมีขั้นตอนสูงต่ำอย่างไร พูดคร่าวๆ ไปทีก่อนว่า ความทุกข์ที่เกิดมาจากนิวรณ์ จำไว้ก่อนก็ได้ แม้ไม่รู้อะไร นิวรณ์ ความทุกข์ที่เกิดมาจากนิวรณ์ และความทุกข์ที่เกิดมาจากกิเลส และความทุกข์ที่เกิดมาจากอนุสัย และความทุกข์ที่เกิดมาจากอาสวะ และความทุกข์ที่เกิดมาจากอุปาทาน นั่นแหละ พอกันที ก่อนก็ได้ ความทุกข์เกิดมาจากนิวรณ์ ความทุกข์เกิดมาจากกิเลส ความทุกข์เกิดมาจากอนุสัย ความทุกข์เกิดมาจากอาสวะ และความทุกข์เกิดมาจากอุปาทาน บางคนคงจะเลือนจำไม่ได้แล้ว เลิกกันแค่ตอนนี้ แต่ขอร้องว่าขอให้ฟังให้ดี เราจะพูดเรื่องจากในคน ภายในคน ไม่ใช่พูดจากหนังสือ เราจะเรียนเรื่องนี้จากเนื้อตัวของเราหรือภายในตัวของเรา ไม่ใช่เรียนจากหนังสือ ไม่ใช่เรียนจากคำบอก คำเทศน์ คำสอน
ข้อแรกไอ้ความทุกข์เกิดมาจากนิวรณ์ ข้อนี้มันจำเป็นที่ต้องใช้คำว่า นิวรณ์ นิวรณ์ ซึ่งเป็นภาษาบาลี รู้จักนิวรณ์ คือจิตมันจะปกติ จะสดชื่น จะเป็นสุข จะสบาย นิวรณ์มันมากั้นเสียไม่ให้เป็นอย่างนั้น คำว่า คำว่านิวรณ์ นิวรณ์แปลว่าเครื่องกั้น หุ้มห่อ ปิดกัน กั้น จิตจะสบาย จะปลอดโปร่ง จะสดชื่น จะแจ่มใส จะเป็นสุข ไอ้หมอนี้ มารบกวน มากีดกัน นิวรณ์คืออะไรบ้าง นี่ตรงนี้จะต้องจดต้องจำให้ดีๆ นิวรณ์มีอยู่ ๕ อย่าง นิวรณ์คือความรู้สึกพอใจในกาม คำว่ากามนี่แปลว่าสิ่งที่น่ารักน่าพอใจ หรือยั่ว ยั่วความปรารถนา เราจะสบายใจ โปร่งใจสักหน่อย ไอ้ความรู้สึกที่น้อมไปในทางกาม มันก็มารบกวนเสีย เลยหมด หมดความโปร่งใจ เย็นใจ สบายใจ สิ่งที่เรียกว่า กามฉันทะ ความพอใจในกามนั้น มันก็มารบกวนเสีย ทีนี้บางเวลา ไอ้สิ่งที่เรียกว่าพยาบาท ไม่ใช่พยาบาทมาดร้าย อย่างที่ ที่รู้จักกัน พยาบาทเพียงแต่ว่ามันไม่ชอบใจ คือการ การที่จิตมันกระทบกระทั่ง กระฟัดกระเฟียด มันไม่พอใจอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ เราจะสบายใจ เย็นใจ โปร่งใจ สักนิด ไอ้นี้มันก็เกิดขึ้นในใจ มารบกวนเสีย เลยไม่ได้เย็นอกเย็นใจ ทีนี้ตัวที่ ๓ เรียกว่า ถีนมิทธะ แปลว่าความละเหี่ย ละห้อย มึน ชา คือจิตไม่มีแรง จิตอ่อนเพลีย จิตตกต่ำ ละเหี่ยละห้อย แล้วก็มึน มึนชา เมาอะไรก็ไม่รู้ แม้แต่ความง่วงนอนก็สงเคราะห์ไว้ในข้อนี้ มึนเพราะยังง่วงนอน หรือมึนเพราะกินอาหารเข้าไปมาก แล้วมันก็มึน จิตมันต่ำตกลงไป เรียกว่าจิตมันต่ำตกลงไป จิตมันเป็นอย่างนี้เสีย เราจะสบายใจแจ่มใสสดชื่นสักนิด พอไอ้นี่มามันก็เลยหมด นี่นิวรณ์ มากั้นเสียไม่ให้รู้สึกเป็นสุขและพอใจ นี่ตัวที่ ๔ ตัวถัดไปเรียกว่า อุทธัจจะกุกกุจจะ ตรงกันข้ามเลย ฟุ้งขึ้นมา ฟุ้งขึ้นมา แล้วก็รู้สึกรำคาญ รำคาญไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง เรียกว่าฟุ้งซ่าน และรำคาญ ซึ่งบางทีมันก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน ก็มันมีขึ้นมาเสียเอง นี่ เดี๋ยวค่อยพูดกันดีกว่า เราจะสบายใจสักนิด จะเย็นใจ ชื่นใจสักนิด อ้าว ไอ้นี่มาอีกแล้ว มันก็หมด ไม่มีโอกาสที่จะจิตใจ สดใส เยือกเย็น ทีนี้อันที่ ๕ อันสุดท้ายนั้นก็เรียกว่า วิจิกิจฉา คำนี้แปลว่าความลังเล แต่เขามักจะพูดกันโดยมากว่า ความสงสัย แต่ตัวหนังสือแท้ๆ มันแปลว่าความลังเล เอาแน่ไม่ได้ เอาแน่ในอะไรไม่ได้ มันก็สงสัยเป็นธรรมดาแหละ จะเรียกรวมกันเสียก็ได้ว่า ความลังเลสงสัยก็ได้ อันนี้เป็นตัวที่รบกวนอย่างยิ่ง ตลอดเวลา ทั้งหลับทั้งตื่นก็ว่าได้ คือมันไม่แน่ใจในอะไรหมดนะ ไม่แน่ใจในความปลอดภัย ไม่แน่ใจในสุขภาพ ไม่แน่ใจในเรื่องการเงิน อะไรทุกๆ อย่างที่มันไม่แน่ใจว่า พออ้อ ปลอดภัยแล้ว ปลอดภัยแล้วมันไม่มี อย่างน้อยก็ มันคอยสงสัยลังเลว่าจะถูกทำร้าย จะถูกใครมาทำร้าย จะถูกใครโกง จะถูกใครแกล้ง จะถูกใครหักหลัง มันมีอยู่เป็นประจำ ในชีวิตของคนธรรมดา ซึ่งมีความหวังหรือมีความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ เมื่อชีวิตอยู่ด้วยความหวังและความต้องการแล้ว มันก็จะต้องมีความรู้สึกตรงกันข้าม คือลังเลสงสัยว่ามันจะไม่ได้ตามนั้นจนกระทั่งเกิดความกลัว คนก็อยู่ด้วยความกลัว
๕ อย่างนี้เกิดขึ้นมาจากข้างใน ไม่ต้องอาศัยข้างนอก ไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย อะไรข้างนอกหรอก มันเกิดมาจากข้างใน เป็นเรื่องของใจ จากข้างใน แล้วก็มีลักษณะครึ่งทุกข์ดีกว่า พูดว่าครึ่งทุกข์ ไม่เต็มที่ของความทุกข์หรอก ที่เรียกว่านิวรณ์ นิวรณ์นี้ มันเกิดโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย ว่าอย่างนั้นหละ ไม่ได้มีเจตนา ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรูปเสียงกลิ่นรสภายนอก แต่มันก็น้อมไปได้เอง คล้ายกับว่ามันเป็นสิ่งที่ติดมาคู่กันกับจิต เรียกว่าความพอใจในกาม ทีนี้บางคนอาจจะถามว่า แล้วเด็กเล็กๆ มันจะรู้สึกพอใจในกามได้อย่างไร มันก็รู้สึกไอ้สิ่งที่เป็นบุพภาคของกาม ไอ้คนจะมีความรู้สึกทางกามได้เต็มที่ หมายถึงเต็มที่ก็ต่อเมื่อ อวัยวะ อวัยวะเพื่อสิ่งนั้น ต่อม Gland อะไรต่างๆ เพื่อสิ่งนั้นน่ะ มันเจริญเต็มที่มันจะมีความรู้สึกทางกามโดยสมบูรณ์ แต่มันก็ได้มีมาแล้ว มันได้มีมาแล้ว มันเพียงไม่แก่ ไม่สมบูรณ์ แต่มันได้มีมาแล้ว เด็กๆ ก็รู้จักสิ่งนี้นะมาตั้งแต่เป็นทารกหละ คือรู้จักรสของสิ่งประเล้าประโลมใจ อะไรที่เป็นสิ่งประเล้าประโลมใจ แล้วเด็กทารกเขาก็ ได้รับ เช่นการอุ้ม การกอด การอยู่ในทรวงอกของแม่ การทะนุถนอมให้เป็นที่พอใจด้วยการกกกอดอย่างนี้มันมีจุดตั้งต้นของมันแล้ว ความรู้สึกที่ทำให้รู้สึกสบายทางเนื้อหนัง ใช้คำว่าอย่างนี้ดีกว่า นั่นแหละจุดตั้งต้น หรือว่าระยะเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่ากาม ในหนังสือจิตวิทยาที่มีชื่อเสียง บางคน บางเล่มเขียนไว้ถึงกับว่า เมื่อเกิดความรู้สึกพอใจ ถ้าพูดภาษาธรรมดาๆ ก็พูดว่า อร่อย เมื่อเกิดความรู้สึกทาง รู้สึกพอใจในขณะที่ถ่ายอุจจาระหรือถ่ายปัสสาวะของเด็กทารก แม้นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า sex ผลของ sex รสของ sex นี่แสดงว่ายังไม่ต้องเป็นหนุ่มเป็นสาวหรอก ไอ้สิ่งที่เรียกว่ากามหรือรกรากของกามนี้มันก็มีมาแล้ว ติดในรสทางเนื้อทางหนังจากสิ่งประเล้าประโลมใจมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก มันก็ฝังอยู่ข้างใน เป็นไอ้สิ่งที่เก็บไว้ข้างใน แล้วไอ้ความรู้สึกที่จะเกิดขึ้น มันก็เกิดขึ้นเพื่อจะระลึกถึงสิ่งนั้น จะหา จะใฝ่หาสิ่งนั้น จะได้สิ่งนั้น ฉะนั้นคนทั่วไปจึงมีความรู้สึกที่เรียกว่าความพอใจในกามได้มาตั้งแต่เป็นเด็กทารก โตขึ้นๆ ก็ยิ่งมาก ขึ้น ๆเพราะฉะนั้นถึงขีดเต็มที่ เป็นคนอายุเต็มที่แล้วก็เป็นอันว่าเต็มที่ ความรู้สึกจะน้อมไปในทางกาม ความพอใจในกามมันก็มีพร้อมที่จะเกิด เมื่อไรก็ได้
อย่างนี้เรียกว่าเรียนจากตัวจริงที่มีอยู่ในตัวเองไม่ใช่เรียนจากหนังสือ ไม่ใช่บอกให้เชื่อ ในหนังสือก็มีอยู่ในหนังสือ จงเอาตัวเองเป็นหลัก เมื่อเราอยากจะอยู่สงบๆ ก็ตาม เมื่อเราอยากจะเรียนหนังสือ อยากจะทำอะไรก็ตาม ที่มันเป็นการงานประณีตต้องทำด้วยจิตที่ประณีต และความรู้สึกเป็นกามฉันทะนี่เข้ามารบกวน แล้วทำไม่ได้ ก็ต้องวิ่งไปจัดการเรื่องกามฉันทะ มันต้องไปต่อสู้ ต้องไปทำให้มันหมด หมดไปนี่มันทำให้เสียการเสียงานเสียเวลา แม้ไม่ถึงขนาดนั้นมันก็รบกวนจิตใจให้หวั่นไหวอยู่นั่นแหละ หาความสดชื่นแจ่มใสไม่ได้ นี่คือนิวรณ์ตัวที่ ๑ นิวรณ์ตัวที่ ๑ ซึ่งจะรบกวนคนธรรมดาในความหมายแห่งกามฉันทะ ถ้าจะจัดเป็นกิเลส ก็จัดเป็นกิเลสประเภทโลภะแหละ แต่ยังไม่ใช่กิเลส ยังไม่ถึงจะกับจัดเป็นกิเลส แต่มันอยู่ในเครือของโลภะ กิเลสชื่อโลภะ เรียนจากตัวเองสิ เดี๋ยวนี้อายุขนาดนี้แล้ว มันเกินกว่าที่จะแสดงแล้ว แล้วมันแสดงจนทำให้ยุ่งยากลำบากใจ รำคาญ เรียนหนังสือไม่ได้ จะทำงานประณีต ประณีต เช่น จะแต่งบทกวี แต่งกลอน พอไอ้ความรู้สึกอันนี้ผ่านมา ก็ทำไม่ได้ ก็ทำไม่ได้ ต้อเก็บไว้ก่อน นี่เรียนจากในตัวเอง เรียนจากในตัวเอง อย่าเรียนจากหนังสือเลย
นี่นิวรณ์ตัวที่ ๑ ที่ทำให้เรา ไม่มีความสดชื่นแจ่มใสเยือกเย็นในชีวิต มันมากั้น มาหุ้ม หรือมองทางหนึ่งมันสะกัดกั้นไม่ให้ก้าวหน้า ไม่ให้ก้าวหน้าไปในทางที่จะดีที่สุด หรือสูงสุด มันกั้นไว้ นี่แหละคือนิวรณ์ แล้วอย่างนี้มันเป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์ ก็บอกแล้วอย่างไรว่านิวรณ์นี้เอาเพียงครึ่งทุกข์ อย่าเอาเต็มทุกข์เลย เป็นครึ่งทุกข์ แต่มันก็เป็นความทุกข์นั่นแหละ เพราะมันลำบากยุ่งยากในใจ ลองให้มันเกิดขึ้นมาดูสิ มันก็เป็นความทุกข์ยากลำบากในใจแก่บุคคลคนๆ นั้น ความรู้สึกที่น้อมไปในทางกาม เป็นของติดมากับชีวิต แล้วก็ค่อยๆ แสดงออก แสดงออก คือมันพร้อมที่จะไปหลงใหลในสิ่งประเล้าประโลมใจหรือประโลมกาย นิวรณ์ตัวที่ ๑ เป็นทุกข์ไหม ไม่ต้องถามใครเป็นทุกข์หรือไม่ ไม่ต้องถามใคร ดูเอาเองว่าเป็นทุกข์หรือไม่ ถ้าเป็นทุกข์ก็จะถือว่าเป็นทุกข์ที่เกิดมาจากนิวรณ์ตัวที่ ๑
ตัวที่ ๒ เรียกว่าพยาบาท แต่เนื้อแท้ของมันไม่ใช่พยาบาท อาฆาต มาดร้าย ขัดใจอะไรก็อยู่อย่างที่เรียกว่าพยาบาทอาฆาต มันเรียกว่าความกระทบกระทั่งแห่งจิต คือจิตถูกกระทบกระทั่ง ด้วยความไม่พอใจ นี่ก็ดูตัวเองสิ บางเวลามันรู้สึกไม่พอใจ ไม่เป็นที่ถูกใจ เรื่องอะไรก็ไม่รู้ แต่รู้สึกว่ามันไม่ ไม่ถูกใจ จนกระทั่งว่าไอ้ตัวชีวิตนี้เองแหละมันเป็นศัตรู มันเป็นไอ้สิ่งกระทบกระทั่ง ไม่สงบเยือกเย็นได้ มีลักษณะชัดเจนคือ ไม่ชอบ ไม่ชอบ ไม่ชอบ ไม่ชอบ ไม่ชอบ แล้วมันเป็นทุกข์ หรือไม่เป็นทุกข์เล่า คิดดูเถอะ ถ้าว่าไอ้ความรู้สึกอันนี้มันเกิดขึ้นแล้ว อย่างน้อยมันก็ครึ่ง พอรู้ อย่างมากก็มันเกิดเกือบครี่ง แต่อยู่ในพวกที่เป็นทุกข์คือรบกวนความสงบสุข ไม่มีความสดชื่นแจ่มใส ตื่นนอนขึ้นมา ไม่มีเรื่องอะไรก็ไม่ชอบใจ ไม่ชอบใจ ไม่ชอบใจอะไรก็ไม่รู้ รู้แต่ตื่นมาไม่ชอบใจไม่พอใจนั่นแหละ มันได้มาแล้ว มันได้เกิดขึ้นแล้ว อย่างนี้เรียกว่านิวรณ์ยังไม่ใช่กิเลส ยังไม่ใช่กิเลส และไม่ใช่เจตนาของผู้นั้น ไม่มีเจตนาอยู่ในสิ่งที่เรียกว่านิวรณ์นั้น แล้วก็ไม่ได้อาศัยอายตนะภายนอก ภายใน มันอาศัยมาจากสันดาน ส่วนที่เก็บไว้ในสันดานโน่น เดี๋ยวค่อยพูดดีกว่า
ทีนี้ตัวที่ ๓ ละเหี่ยใจ ละเหี่ยใจ ใจตกลงไปในทางต่ำ มึนชา ถอยกำลัง หมดกำลัง กระทั่งเลยมาถึงอ่อนเพลีย ทางที่จิต ไม่สดชื่นแจ่มใสมันกลับไปในทางหม่นหมองละเหี่ยละห้อย มึนชา ง่วงเหงา หาวนอนไปตามเรื่อง นี่แทบจะทุกคนเคยมี แม้ว่าจะไม่บ่อยนัก แต่ก็มันต้องเคยมี ความที่จิตมัน มันจะไม่อยากทำอะไร จิตมันไม่ ไม่อยากจะทำอะไร ไม่ว่องไวในสิ่งที่จะทำนั่น ไม่ๆๆ active อย่างที่เขาใช้คำ... (ฟังไม่ออกค่ะ นาทีที่ 26.35) active เดี๋ยวนี้มันไม่มี active กันเลย หมดเลย เพราะฉะนั้นก็จะทำอะไรไม่ได้ อยากนอนท่าเดียว นี่มันก็ทำให้เรียนไม่ได้ ทำการงานก็ไม่ได้ จะทำอะไรสักหน่อยก็มันก็ไม่ได้ดี มันต้องไปนอนดีที่สุด ถ้าเป็นคนไม่ ไม่ต่อสู้ ยอมแพ้ มันก็ไปนอน มันก็จะต้องเป็นนักต่อสู้ ถึงจะต่อสู้
ทีนี้ตัวที่ ๔ ตรงกันข้ามนี่มัน แทนที่จะลดต่ำ แฟ่บกลับ ฟู ลุก ขึ้นไป ไปทางบน คือมันฟุ้งซ่าน มันเหมือนกับคลั่ง แล้วก็อยู่ด้วยความรู้สึกที่เรียกว่า รำคาญ รำคาญ รำคาญ รำคาญไปหมด ไม่รู้อะไร รำคาญไปเสียหมด จะให้จิตหยุดคิดนึกเพื่อทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราวมันก็ทำไม่ได้ มันฟุ้งซ่าน มันรำคาญ ทุกคนต้องเคยมี แต่มันอาจจะน้อยกว่าไอ้สองสามอย่างขั้นต้น จิตฟุ้งซ่าน รำคาญ นี่ไม่ใช่ ไม่ใช่เป็นของหายากหรือเป็นของลี้ลับอะไร มันก็มีกันอยู่บ่อยๆ ถ้าเลยนั้นมันก็เป็นบ้า เสียสติ เป็นบ้า เป็นโรคทางจิตเสีย นี่ก็เรียกว่ามันเป็นเครื่องกั้น ไม่ให้ได้รับความสุขสดชื่นแจ่มใสด้วยเหมือนกัน ศึกษาเองจากข้างในจึงจะรู้จัก มัวแต่อ่านหนังสือ บางทีก็อ่าน อ่าน อ่านแล้วก็ไม่รู้จัก เช่นเดียวกับพระเณรเรียนนักธรรม ทำกี่ปี อ่านเรียนเรื่องนิวรณ์ อ่านเรื่องนิวรณ์ก็ยังไม่รู้จักนิวรณ์ ก็ยังเข้าใจผิดๆ
แล้วอันสุดท้ายคือว่า วิจิกิจฉา คือชีวิตที่อยู่ด้วยความไม่แน่ใจ เมื่อมันไม่แน่ใจมันก็สงสัยลังเล หวาดกลัว หวาดเสียวไปตามเรื่อง เพราะมันไม่มีอะไรเป็นเครื่องรับประกัน มันก็ไม่แน่ใจ มันก็ระแวงภัยอยู่เสมอ ยิ่งถ้าไปทำเรื่องอะไรกับใครเข้าไว้ เป็นคู่ศัตรูแล้วก็จะระแวงกันใหญ่เลย จะลังเลไปทั้งหมดเลยว่าเขาจะมาฆ่าเราเมื่อไร เป็นบ้าไปเลย นี่มันเป็นความรู้สึกที่ไม่แน่ลงไปว่าเราปลอดภัยแล้ว มันไม่แน่ใจลงไปว่าข้าพเจ้าปลอดภัยแล้ว ก็ระแวง สงสัยลังเล รบกวนอยู่ ทีนี้ถ้าเกี่ยวกับการงาน มันก็ลังเลว่า การงานนี้จะไม่สำเร็จเรื่อยไป การงานนี้จะไม่สำเร็จ ถ้ามันเกิดความหวัง มันก็สงสัยว่าจะไม่สำเร็จ นักเรียนร้อยคน เข้าใจว่าหาสักคนค่อนข้างยากที่แน่ใจว่าเราเรียน ครบหมดถูกต้อง สอบไล่ได้แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ มันมีแต่ระแวง กลัวว่าจะตกอยู่เรื่อย ส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้ เมื่อระแวงอย่างนี้เป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์เล่า คิดดูสิ มันระแวงอยู่ด้วยความกลัวหลายๆ ชนิดอย่างนี้ มันเป็นสุขหรือว่าเป็นทุกข์เล่า แต่มันก็ไม่ได้รุนแรงถึงขนาดที่มาจากกิเลสหรอก เกิดมาจากนิวรณ์อย่างนี้ มันเป็นการรบกวนมีความทุกข์น้อยๆ เป็นเรื่องรบกวน ไม่ใช่ขบกัด ถ้าจะจำง่ายๆ เปรียบเทียบเหมือนกับว่า แมลงมาตอมนี่ แมลงมาตอมนี่ มันก็เป็นทุกข์ ในแบบรำคาญ อย่างนั้นแหละรำคาญมันถึงโมโหโทโส มันไม่ได้เป็นทุกข์ขนาดว่าเสือกัด ถ้าเสือกัด งูกัด มันก็จะตาย แต่ถ้าแมลงตอม แม้แต่แมลงหวี่ แมลงวันหรือยุง นี่ก็ถ้ามาตอมอยู่เรื่อยมันเป็นอย่างไร มันก็มีความทุกข์แบบนิวรณ์ ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ พูดอย่างนี้มันคงจะรู้ยาก ต้องไปเมื่อไอ้แมลงมาตอมสิ แล้วดูไหน แมลงหวี่มันชุม มันตอมตาเรื่อย ทำอย่างไร มันก็ตอมเรื่อย ทำอย่างไร มันตอมเรื่อย เอายามาทาก็ยังตอมเรื่อย นี่รำคาญกี่มากน้อย แต่มันไม่ถึงตาย นี่ไอ้การรบกวนของนิวรณ์มันเพียงทำให้เกิดความทุกข์ครึ่งหนึ่งอย่างนี้ แล้วก็เรียกว่านิวรณ์ขึ้นมาจากภายใน ไม่ใช่ ไม่ ไม่ใช่มีปัจจัยภายนอก เช่น ตากระทบรูป หูกระทบเสียง ตอนนี้ไม่มี ยังไม่มี ถ้ามีมันไปเป็นเรื่องของกิเลส แต่นี่เป็นเรื่องของนิวรณ์ที่มันเหมือนกับ กรุ่นๆ ขึ้นมาจากภายในเหมือนกับควันไฟ แต่ก็ทำลายมากนะ ทำลายความก้าวหน้าของชีวิตมาก คนไหนมีนิวรณ์มาก คนนั้นยากที่จะทำอะไรให้ดีได้ จะศึกษาจะเล่าเรียน จะทำงานฝีมือ จะเป็นช่าง ศิลปินอะไรก็ตาม มันเอาดียาก
ในทีนี้เราเรียกกันว่าความทุกข์อันดับแรกที่เกิดมาจากนิวรณ์ เป็นความทุกข์ครึ่งทุกข์ มีความหมายเป็นความรบกวนอย่างยิ่ง ความรู้สึกทั้ง ๕ ประการนี้รบกวนจิตอย่างยิ่ง จนจิตอยู่ปกติไม่ได้ ไม่มีความสดชื่นแจ่มใสเยือกเย็นเสียเลย เอ้าพวกหนึ่ง ความทุกข์เกิดมาจากนิวรณ์ นี้เรียนจากที่มันเกิดอยู่จากตัวเองจริงๆ ถ้าอยากจะดับ มันก็มีวิธีดับ ซึ่งเราจะพูดกันทีหลังว่าดับทุกข์ เดี๋ยวนี้จะพูดถึงตัวความทุกข์ ก็ อันแรกก็คือกลุ่มที่มาจากนิวรณ์ทั้งหลาย
ที่นี้กลุ่มถัดมา กลุ่มที่ ๒ นี้จะระบุไปยังความทุกข์ที่เกิดมาจากกิเลส กิเลสนี่ เต็มที่ เต็มที่ของความรู้สึก มีเจตนาอยู่ในตัวความรู้สึก แล้วก็ได้อารมณ์เหตุปัจจัยภายนอก เช่น ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส หรืออะไรก็ตาม นี้มันจะทำให้ปรุงแต่งเป็นกิเลส นี่ก็ต้องศึกษาจากภายในเหมือนกัน ศึกษาจากหนังสือเกือบจะไม่ได้อะไร เมื่อคืนก็ได้พูดถึงเรื่องนี้แล้วตอนนี้แล้ว ว่ามันเกิดเป็นลำดับขึ้นมาอย่างไร พูดซ้ำอีกทีหนึ่งเพื่อให้มันเข้าใจแจ่มแจ้งแม่นยำว่า เมื่อตาเห็นรูป หรือหูฟังเสียง หรือจมูกได้กลิ่น อะไรก็ตาม ในคู่ใดคู่หนึ่งแล้วก็ตาม มันก็เกิดวิญญาณที่ทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูกไปตามเรื่องของมัน เกิดวิญญาณแล้วมีตากับรูปเป็นอารมณ์นี่ ทำงานรู้สึก มีความรู้สึกอยู่ด้วยวิญญาณนั้นๆ ในเวลานั้นๆ เราเรียกว่าผัสสะ คือการกระทบ ทีนี้คนธรรมดาไม่มีความรู้ ไม่มีสติปัญญา ไอ้ผัสสะนั้นมันก็โง่ ผัสสะบอด ผัสสะมืด มันก็คลอด เวทนา โง่เวทนา บอดเวทนา มืดออกมา สำหรับให้ยินดียินร้าย ถ้าเวทนานั้นสวยงาม หอมหวล เอร็ดอร่อย มันก็ให้เกิด กิเลส หรือตัณหา ก็จะเรียก กิเลส มันอยากจะได้ อยากจะเอา อยากจะยึดครอง อยากจะสงวน อยากจะทะนุถนอม หึงหวงกันเต็มที่ นี่กิเลสประเภทแรก เรียกว่าโลภะบ้าง เรียกว่าราคะบ้าง โลภะคือมันอยากจะได้ ราคะคือมันกำหนัด ยินดี นี่กิเลสตัวที่ ๑ คือ โลภะ หรือราคะ
นี่ถ้าเวทนานั้นมันออกมาในรูปที่ไม่น่ารัก น่าเกลียดหรือกระทบกระเทือนความรู้สึก มันไม่อยากจะได้ มันก็เกิดตัณหาหรือกิเลสอีกชนิดหนึ่งคือโทสะ โกรธ ประทุษร้าย โกรธ ประทุษร้าย อยากจะทำลายเสีย ทีนี้ถ้าว่าไอ้เวทนานั้นมันไม่เป็นอย่างน่ารักหรืออย่างน่าเกลียด มันไม่ให้ความรู้สึกสองอย่างนั้น ยังเฉยๆ กลางๆ อยู่ มันก็ยังให้เกิดความรู้สึกที่สงสัย กังวล อาลัย อาวรณ์ วิตก มัวเมาอยู่ในสิ่งนั้นแหละว่ามันจะต้องมีอะไรดี นี่ก็เกิดกิเลส โมหะ โมหะ หลงใหลอยู่ มัวเมาอยู่ นี่กิเลสมี ๓ ชื่อ เอาแต่ชื่อใหญ่ๆ มี ๓ ชื่อ แต่ ๓ ชื่อนี้แจกลูกออกไปได้แยะเลย กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด รู้จักไว้ ๓ ชื่อ โลภะ หรือราคะนี้ กิเลสที่จะเอาเมื่อมันน่ารักน่าพอใจ โทสะ หรือ โกรธะ มันจะทำลายเสีย เมื่อมันไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ แล้วก็โมหะมันหลงใหลมัวเมาอยู่ในสิ่งที่มันเข้าใจไม่ได้ เราจึงมี ทุกข์ มีความทุกข์ อยากจะได้จะเอาก็ไปมีความทุกข์ชนิดหนึ่ง ไม่อยากได้ ไม่อยากเอาก็มีความทุกข์ชนิดหนึ่ง สงสัย หลงใหล มัวเมาอยู่ก็มีความทุกข์ชนิดหนึ่ง เผาหัวใจด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นท่านเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าอัคคิ อัคคิ แปลว่าไฟ ไฟ ราคัคคิ ไฟคือราคะ โทสัคคิ ไฟคือโทสะ โมหัคคิ ไฟคือโมหะ ทั้งราคะ โทสะ โมหะ ไฟเผาใจร้อน นั่นแหละคือความทุกข์หละ ไอ้ความร้อนที่ถูกเผาเพราะกิเลสนั้นมันก็คือความทุกข์ ไม่ต้องไปทำอะไรที่ไหนก่อนก็ได้ ถ้ามันไปทำอะไรที่ไหนไปตามใจกิเลสนั่นมันยังอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องถัดๆ ไปข้างหน้า ยังมี แต่ว่าเดี๋ยวนี้ พอสักว่าเกิดกิเลส แล้วมันก็ร้อนเสียแล้ว เป็นความทุกข์ที่เกิดจากกิเลส ราคะกิเลส กำหนัดยินดี โดยเฉพาะกามารมณ์ โทสะโกรธเคืองประทุษร้าย ก็เมื่อไม่ได้กามารมณ์ โมหะมัวเมาในสิ่งที่ยังไม่ได้ชัดลงไป ยืดยาวด้วย ไปดูเอาเองสิ เมื่อ เมื่อเกิดราคะ หรือ โลภะมันร้อนอย่างไร เมื่อเกิดโทสะหรือโกรธะ โกรธนั่นมันร้อนอย่างไร เมื่อเกิดโมหะ โง่เง่าสะเพร่า หลงใหล หลงลืมอะไรก็ตามนี่ มันร้อนอย่างไร นั่นแหละคือความทุกข์ที่เกิดมาจากกิเลส เราได้ความทุกข์ ๒ กลุ่มแล้วนะ ทุกข์เกิดมาจากนิวรณ์กลุ่มหนึ่ง ๕ อย่าง ทุกข์เกิดมาจากกิเลสกลุ่มหนึ่งมีอยู่ ๓ อย่าง
ทีนี้ถัดไปจะเรียกความทุกข์ที่มันเกิดมาจากอนุสัย อนุสัย มันเป็นคำที่แปลก ไม่เคยได้ยิน จำยาก ขี้เกียจจำ แล้วจะพาลไม่สงสัยเสียด้วย ฉะนั้นพาลไม่สนใจไม่อยากเรียนเอาเสียด้วย ก็ตามใจ แต่ต้องการจะบอกให้รู้ว่า ไอ้นี้แหละตัวร้ายล่ะ ไอ้อนุสัยนี่ตัวร้าย คือความเคยชินที่จะเกิดกิเลสขึ้น อนุสัย อนุสัยแปลว่า ความเคยชินที่จะเกิดกิเลส ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสนี้มันเข้าไปสะสมอยู่ในสันดาน แยะเลย ในสันดานนี่เต็มไปด้วย ความเคยชินที่จะเกิดกิเลส ถ้าเราเกิดโลภะ หรือราคะนั้น รักทีหนึ่งนั้น มันก็เกิดความเคยชินที่จะรักเช่นนั้นอีกข้างหน้าโน่น ความเคยชินที่จะรักเช่นนั้นอีก เรียกว่า ราคานุสัย เมื่อตะกี้เขาเรียก ราคะเฉยๆ มาถึงหมวดนี้เรียกว่า ราคานุสัย ความเคยชินที่จะกำหนัดยินดี นอนอยู่ในสันดาน เพราะฉะนั้นเราจึงเกิดความรู้สึกรักหรือยินดีได้โดยง่ายเร็วเป็นฟ้าแลบขึ้นมา เพราะมันเก็บความเคยชินไว้ในสันดาน
เอ้าที่นี้ถ้าเป็นเรื่องของความโกรธ พอเราโกรธ หรือมี บันดาลโทสะ ขึ้นมาครั้งหนึ่ง ด้วยเรื่องอะไรก็ตาม ในชีวิตประจำวัน บันดาลโทสะขึ้นมาครั้งหนึ่ง มันก็จะเก็บความเคยชินที่จะเป็นเช่นนั้น ความเคยชินที่จะโกรธเช่นนั้นไว้ในสันดานอีก แต่ตอนนี้เขาเรียกว่าปฏิฆานุสัย ที่เป็นราคะเรียกว่าราคานุสัย ที่เป็นโทสะหรือโกรธะนี่เรียกแปลกออกไปว่า ปฏิฆานุสัย ปฏิฆานี่แปลว่ากระทบกระทั่ง โขก กระทบกระทั่งเหมือนกับโขกลงไปอย่างนี้ เรียกว่ากระทบกระทั่ง ปฏิฆานุสัย ความเคยชินที่จะโกรธเก็บไว้ในสันดาน ทุกคราวที่เราโกรธมันจะเก็บความเคยชินนี้ไว้หน่วยหนึ่งทุกคราวที่เราโกรธ ทีนี้เรามันโกรธไม่รู้กี่สิบครั้ง มันเก็บไว้แยะ เพราะฉะนั้นมันเร็ว เร็วที่จะโกรธ จนคุมไว้ไม่อยู่ โกรธเร็วเป็นสายฟ้าแลบ ปัญหาทั้งนั้น มีคนมาถามแยะ ไม่รู้จะ จะควบคุมความโกรธอย่างไร มันโกรธเร็วเกินไปนี่ เพราะมันมีไอ้นี่ อนุสัยแห่งความโกรธ ความเคยชินที่จะโกรธมันเก็บไว้ในสันดาน
ทีนี้ถ้ามันโง่ มันมีโมหะ ตัวที่ ๓ ขึ้นมาทีหนึ่ง มันก็จะเก็บความเคยชินที่จะโง่ที่จะหลงนี้ไว้ในสันดานเหมือนกัน เขาไปเรียกว่า อวิชชานุสัย ถ้าเราจะเรียกว่า โมหานุวิสัยก็ได้เหมือนกัน ใครจะว่าเรา แต่ในบาลีไม่ได้เรียก ไปเรียก อวิชชานุสัย เราอยากจะตั้งเอาเองก็ได้ ว่าเกิดราคะ แล้วก็เก็บราคานุสัยไว้ เกิดโทสะ ก็เก็บโทสานุสัยไว้ เกิดโมหะก็เก็บโมหานุสัยไว้ อย่างนี้ก็ได้ เหมือนกันแหละ แต่เราตั้งชื่อมันใหม่เอาเอง เราเข้าใจเรา ในบาลี ถ้าเกิดราคะ ก็ๆๆ เป็นการเก็บราคานุสัยไว้ เคยชินที่จะกำหนัดอย่างยิ่งอย่างเร็ว เกิดโทสะก็เก็บปฏิฆานุสัยไว้ เคยชินที่จะโกรธอย่างเร็วและมากด้วย เกิดโมหะก็เกิดอวิชชานุสัย แปลว่าโง่ ไม่รู้อะไร ความเคยชินที่จะโง่ เคยชินที่จะสะเพร่า เคยชินที่จะมืด เรียกว่าอวิชชานุสัย สนุกไหมลองคิดดูสิ ถ้ามันชินที่จะรัก นี่มันสนุกไหม มันชินที่จะโกรธเร็วเกินไปนี่มันสนุกไหม มันชินที่จะโง่ จะสะเพร่า มันสนุกไหม มันมีความทุกข์ เมื่อเราไม่อยากจะรักหรือยินดี อ้าว มันก็รักไปแล้ว เราไม่อยากจะโกรธ มันก็โกรธไปแล้ว เราไม่อยากจะหลงใหล มันก็หลงใหลเสียแล้ว เป็นความทุกข์ เพราะว่าเรา ไม่อาจจะควบคุมมันได้ ไม่อาจจะบังคับมันได้ มันรักเร็วเกินไป มันโกรธเร็วเกินไป มันโง่เร็วเกินไป เป็นความทุกข์ไหม ไปดูเอาเอง ยิ่งถ้ามันไปทำอะไรต่อไปจากนั้นอีก มันก็ยิ่งเป็นความทุกข์มากไปกว่านี้แหละ แต่เดี๋ยวนี้เพียงแต่ว่ามันเกิดเร็วเกินไปเท่านี้ เพราะเราเก็บไว้ในๆๆ ในใจ ในสันดาน สันดานเขาก็แปลว่าส่วนลึกของจิตใจ ส่วนลึกของจิตใจเหมือนกับมียุ้ง มีฉางอะไรของจิตใจ สำหรับจะเก็บอะไร เดี๋ยวนี้มันก็เก็บอนุสัยคือความเคยชินไว้ อนุสัยนั้นมันก็เป็นตัวความรู้สึกที่ทำให้เราลำบากยุ่งยาก คือรักเร็วเกินไป โกรธเร็วเกินไป หลงใหลได้ง่าย ได้เร็วเกินไป มันก็อยู่ในพวกกิเลส แต่ไม่ใช่ตัวกิเลส เป็นความเคยชิน เคยชิน เคยชินของกิเลสจนเป็นนิสสัยไป ที่จริงมันก็คำเดียวกับคำว่า นิสสัยในภาษาไทยนั่นแหละ บาลีเขาเรียกว่า อนุสัย อนุสัย นี่หมวดนี้ก็หมวดหนี่งนะ
มีอนุสัยแล้วมันก็มีปัญหา มีปัญหาที่บังคับความรักไม่ได้ บังคับความโกรธไม่ได้ บังคับความหลงใหลไม่ได้ มันก็มีปัญหาและเป็นความทุกข์ทรมาน ทีนี้มันเป็นขั้นปลีกย่อยอีกขั้นหนึ่งที่เรียกว่า อาสวะ อาสวะ คงจะเคยได้ยินกันทั้งนั้นแหละ แต่ก็ไม่รู้ว่าอะไรแล้วก็ไม่อยากสนใจ มันก็ไม่รู้จนบัดนี้ เพราะไปฟังเทศน์ที่ไหน วัดไหน ก็มักจะได้ยินคำว่าอาสวะ อาสวะ เราไม่อยากสนใจเอง เราไม่อยากรู้ เราก็ยังโง่อยู่เดี๋ยวนี้ จะโทษใครล่ะ คำว่าอาสวะนั้น คือแรงผลักดันทางกิเลสที่มันจะไหลออกมา แรง แรงที่จะผลักให้ไหลออกมา อนุสัยที่เก็บไว้ในสันดานนั่นแหละเมื่อมันมากเข้า มากเข้า มากเข้า มากเข้า มันก็มีความดันมากที่จะออกมา เหมือนกับโอ่งใส่น้ำมากๆ มีรูรั่วนิดเดียว มันก็พุ่งฉี่ออกมาเลย เพราะมันมีความดันอยู่มากในโอ่งนั้น ในน้ำในโอ่งนั้น ทีนี้ในสันดานของเราก็เหมือนกัน เมื่อเก็บอนุสัยอย่างที่ว่านี้ ความเคยชินของกิเลสนี้ไว้มาก ไว้มาก ไว้มาก มันก็มีความดันออก กำลังที่จะดันออกออกมา ก็มาเป็นกิเลสอีกนั่นแหละ มาเป็นกิเลสนี่อีกหละ กิเลสที่ไหลออกมาจากภายนอก ในรูปนิวรณ์ก็ได้ ในรูปกิเลสธรรมดาก็ได้ ฉะนั้นถ้าว่านิวรณ์นี้ไม่รู้มาจากไหน มันก็มาจากอนุสัยที่มันเก็บๆ ไว้ มันก็ดันออกมาโดยที่ไม่ต้องมีเหตุปัจจัยอย่างอื่น เพราะมันเก็บไว้ เหมือนกับเราสุมไฟไว้ ถึงเราจะเอาอะไรปิดไว้ ควันมันก็อุตส่าห์ออกมาจนได้ เป็นควันกรุ่นๆ น้อยๆ ก็ได้ อนุสัยนี่มันก็ออกมาเป็นนิวรณ์ได้ ทีนี้ถ้ามันเต็มที่มันก็ออกมาเป็นกิเลสเต็มรูปแบบเลย คือเป็นราคะ โทสะ โมหะ ออกมาอีก กิเลสส่วนที่อยู่ข้างในที่จะดันออกมานี้เรียกว่า อาสวะ นิวรณ์คือไอกรุ่นของกิเลสที่อยู่ในสันดานกรุ่นขึ้นมา เหมือนควันไฟอ่อนๆ ทีนี้กิเลสที่ได้เกิดขึ้นเพราะการกระทบอายตนะภายนอก ภายในอย่างที่พูดแล้ว มันเกิดโลภะ โทสะ โมหะขึ้นมา ที่นี้อนุสัยคือกิเลสที่เก็บไว้ กิเลสที่เก็บไว้ เก็บใส่ยุ้งฉางไว้ คืออนุสัย ทีนี้กิเลสที่เก็บไว้มากๆ มันจะดันออกมา นี่คืออาสวะ อาสวะ มันจะไหลออกมาตามรูรั่ว มันจึงเกิดเร็วเกิดง่าย เราได้ความทุกข์เพราะกิเลสมันดันออกมา นั่นแหละ เพราะโลภะ โทสะ โมหะ มันดันออกมา กิเลสนั่นเรามีความทุกข์เพราะเหตุนั้น เหมือนไฟมันลุกขึ้นมา ฉะนั้นอาสวะก็ให้เกิดทุกข์ได้ โดยลำพังอาสวะมันก็ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ได้ ถ้าไปทำกรรม ทำอะไรตามอำนาจก็ยิ่งไปกันใหญ่ เรื่องนั้นเอาไว้ เอาไว้ เรื่องโน้น แต่ว่าเรื่องนี้เท่านั้นแหละมันก็รู้สึกเป็นทุกข์ได้ คือกิเลสมันไหลออกมา เป็นทุกข์อย่างละเอียดก็ได้ จะเรียกว่าอย่างละเอียดก็ได้ อย่างเข้าใจยากก็ได้
๔ อย่างนี้ เนื่องด้วยกิเลสทั้งนั้นเห็นมั้ย นิวรณ์ก็คือว่าไอ้ลูกอ่อนของกิเลส กิเลสก็คือตัวกิเลส อนุสัยคือความเคยชินของกิเลสที่เก็บไว้ อาสวะคือกิเลสที่ไหลพรั่งออกมาเมื่อมีโอกาส เป็นเรื่องกิเลสทั้งนั้น แล้วก็เป็นความทุกข์ได้ทั้งนั้น ที่นี้อันที่ ๕ อันที่ ๕ ไอ้นี้ตัวร้ายแหละ ตัวสำคัญแหละ เรียกว่า อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น มีอวิชชา ไม่รู้จักสิ่งทั้งปวงหรือสิ่งใดๆ ตามที่เป็นจริงว่ามันเป็นอย่างไร มันก็หลงยึดมั่น หลงยึดมั่นในสิ่งนั้นๆ แต่ทีนี้มันเป็นในแง่ของตัวกูของกู ไม่ใช่ที่จะเกิดความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความไอ้โง่อะไร ไม่ใช่ แต่มันเป็นไปในความหมายอีกประเภทหนึ่ง คือจะเกิดความรู้สึกเป็นตัวกู เป็นของกู ยึดมั่นเป็นตัวกูของกู ด้วยอำนาจของอวิชชามันโง่ มันไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอะไร เป็นอย่างไร เป็นสักว่าเช่นนั้นเอง มันก็มายึดถือเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เช่น ความโง่ มันยึดถือจิตที่คิดนึกได้นั้น จิตของคนเรา คิดนึกได้ รู้สึกได้ แม้แต่วิญญาณทางตา ทางนี้มันก็รู้สึกได้ ไอ้จิตโง่มันก็ยึดว่านี่คือตัวตน คือตัวกู มันยึดเอาตัวจิตนั่นแหละว่าเป็นตัวตน เพราะมันมีอวิชชา มันจึงมีตัวตนขึ้นมา ถึงเมื่อคืนก็พูดแล้วนี่ ว่าเกิดความอยากคือตัณหาแล้วก็อุปาทานว่าตัวตน ประหลาดที่สุด ที่เกิดความอยากก่อน ก่อนผู้อยาก ก็เพราะมันไม่ใช่ตัวตนอะไร มันเป็นเพียงความคิดนึกปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นก็คิดนึกปรุงแต่งเอาตามความโง่ของมัน ยึดอะไรเป็นตัวตนก่อน แล้วก็จะยึดว่าของตน ถ้ามันยึดชีวิตนี้ว่าเป็นตน มันก็ยึดอะไรเป็นของชีวิต คือของตน ถ้ามันเอาจิตเป็นตัวตน มันก็เอาชีวิตเป็นของจิต ชีวิตเป็นของตนก็ได้เหมือนกัน แล้วแต่มันจะโง่ไปในแง่ไหน มันโง่ได้ร้อยทิศทางแล้วแต่มันจะโง่ แต่มันเหมือน มัน มันมาสรุปอยู่ที่ว่ามันจะยึดถือว่าตัวตน หรือว่าของตน
เกิดความโง่เป็นตัวตนขึ้นมาก่อน เช่น จะยึดถือว่าอัตภาพนี้ของตน ร่างกายนี้ของตนก็ได้ แต่ถ้าเด็กตัวเล็กๆ มันจะเอากายนี้เป็นตน เอาร่างกายนี้เป็นตัวกู ต่อมามันฉลาดหน่อย มัน โอ้ มันร่างกายนี้เป็นของกู กูอยู่ข้างใน กูคือจิตอย่างนี้ ไปดูเอาเองเถิดเคย เคยยึดถือมาอย่างโง่เขลากี่ชนิด กี่อย่าง กี่ขั้นตอน ไปดูเอาเอง ที่ยึดถือรูปกายว่าตน ก็ได้ แต่ถ้าฉลาดกว่านั้น ยึดถือร่างกายนี้ว่าของตน มันจะยึดถือเวทนา เวทนา เพราะเวทนาก็มันรู้สึกได้ว่า ก็ต้องตนสิ รู้สึกเวทนาเป็นตนก็มี ต่อมา โอ้ มันเป็นเพียงความรู้สึกของจิตโว้ย เวทนาเป็นของตน ไม่ใช่ตัวตน งั้นรูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี อาจจะหลงถูกยึดถือเป็นตัวตนก็ได้ ของตนก็ได้ หรือเป็นตัวตนของตนอีกทีหนึ่งก็ได้ นี่เรียกว่ายึดถือด้วยจิต ที่ประกอบด้วยอวิชชา ยึดถือด้วยจิต มันไม่เหมือน ไม่เหมือนไปยึดถือด้วยมือหรอก เพราะจิตมันไม่มีมือ แต่มันมีการยึดถือเช่นเดียวกับยึดถือด้วยมือ มันเป็นเรื่องทางจิต มันก็มี มีมือของจิต สำหรับยึดถือนั่นแหละคืออุปาทาน อุปาทาน แปลว่าความยึดถือ เราถูกสอนให้ยึดถือมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เรียกว่าเด็กทารกเกิดขึ้นมา มันก็ถูกสอนให้ว่า นี่ นี่ แม่ของกู นี่อาหารของกู นี่ลูกกะตาของกู นี่อะไรของกู กูได้อันนั้น กูได้อันนี้มาเป็นของกู แล้วมันก็หนา แน่นหนาเข้า แน่นหนาเข้า มีอุปาทาน ว่ากู ว่าของกูมาตั้งแต่เล็กๆ จนโตจนบัดนี้หนาแน่นด้วยความยึดถือว่ากูก็ของกู เพราะไม่มีใครมาสอนว่ามันไม่ใช่กู ไม่ใช่ของกูนี่ มันมีแต่คนยุให้เข้าใจว่ากูว่าของกู โรงเรียนก็ของกู ใช่ไหม อะไรก็ของกู มันก็มีความรู้สึกยึดถือจนเป็นนิสสัยอีกเหมือนกัน เป็นเคยชิน เป็นนิสสัย ทีนี้มันเป็นทุกข์ เพราะว่าไอความยึดถือ นั่นหละ เมื่อยึดถือ เมื่อถือมันก็หนัก เหมือนกับมือของเรา หิ้วอะไรมา ถืออะไรมามันก็หนักมือ เพราะมันถือ จึงหนักมือและเมื่อยมือ จิตนี่ก็เหมือนกัน ถ้าอย่าไปยึดถืออะไรมันก็เบานะ พอจิตนี้ไปยึดถืออะไรเข้า มันก็หนักกับจิต นั่นคือความทุกข์
ที่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญนี่ เรา เราไม่ต้องยึดถือก็ได้ เราทำไปตามที่ควรจะทำ ไม่ต้องที่ยึดถือก็ได้ บ้านเรือน ข้าวของ เงินทอง โรงเรียนอะไรก็ตาม ที่เคยยึดถือว่าเป็นของกูนั้น ไม่ยึดถือก็ได้ ทำไปถูกหน้าที่เถิด ไม่เป็นทุกข์ด้วย และได้รับประโยชน์ด้วย เดี๋ยวนี้พอไปยึดถือมันก็เป็นทุกข์ เป็นบ้าไปเยอะมากแล้ว เป็นโรคประสาทอยู่เต็มไปหมด เพราะมันยึดถือ นี่ถ้าไม่ยึดถือ มันก็ไม่เป็นทุกข์ พอไปยึดถือมันก็หนัก หนัก หนัก เพราะมันไปถือไว้ จนกระทั่งจะปล่อย จนกว่ามันจะปล่อย พอปล่อย ก็ไม่หนัก ก็ไม่ทุกข์ ถ้าๆ ยังถืออยู่ มันก็หนักอยู่ แล้วมันก็มีถืออยู่ทั่วๆ ไป เรารู้สึกอะไรเป็นของเรา ก็คือยึดถือสิ่งนั้น ก็หนักอยู่ในหัวใจของเรา เราไม่ต้องยึดถือ เราทำไปก็แล้วกัน จะทำงานก็ทำไป โดยไม่ต้องยึดถือว่ากูทำ จะทำเพื่อกู เป็นมายาทั้งนั้นหละ ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู แต่จิตมันยึดถือว่าอย่างนั้น แล้วมันก็เป็นทุกข์ ถ้าสิ่งนั้นมันน่ารัก มันก็ยึดถือมากหละ เพราะมันน่ารัก ยึดถือเป็นตัวกูของกูมาก แต่พอยึดถือว่ารัก น่ารัก มันจะกลายเป็นโกรธและเกลียด เมื่อมันไม่ได้ตามที่มันต้องการ มันยึดถือว่าของกูมากเท่าไร มันก็มีหนทางที่จะเป็นทุกข์มากเท่านั้น
ความโกรธของคนก็มันต้องมาจากความรัก มันต้องรักก่อน แล้วเมื่อไม่ได้ตามที่มันรัก มันจึงโกรธ ฉะนั้นความโกรธก็มาจากความรัก แล้วความโง่หละเป็นเหตุให้เป็นอย่างนี้ มันช่วยกันอย่างนี้ กิเลส โลภะ โทสะ โมหะ มันช่วยกันอย่างนี้จนเกิดการยึดถือเรียกว่าอุปาทาน อุปาทาน มัน มันยังมีอวิชชา มีความโง่ มันก็ปล่อยลงไม่ได้ มันไม่ยอมปล่อย มันก็หิ้ว หิ้ว หิ้วไว้เป็นของหนัก ยิ่งดี ยิ่งชอบหิ้ว หิ้วสวยยิ่งชอบหิ้ว ยิ่งน่าพอใจก็ยิ่งชอบหิ้วชอบถือ เพราะฉะนั้นปัญหามันก็อยู่ที่สิ่งที่น่ารักน่าพอใจน่ายึดถือแล้วก็เป็นทุกข์ นี่เราดูจากภายใน ไอ้เรื่องในหนังสือ ในพระคัมภีร์มันก็เขียนไว้ มันก็ตรงกับเรื่องที่มันมีอยู่ในภายใน แต่เราไปอ่านในหนังสือ ไม่เห็นตัวจริง ไม่เห็นของจริงหรอก ฟังเทศน์หรืออ่านหนังสือยังไม่เห็นตัวจริง ยังไม่รู้จักของจริง ดูจากภายในที่มันมีอยู่จริง มีนิวรณ์อย่างไร มีกิเลสอย่างไร มีอนุสัยอย่างไร มีอาสวะอย่างไร มีอุปาทานอย่างไร ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทุกข์ เป็นทุกข์นั้น ท่านหมายถึงถูกยึดถือแล้วทั้งนั้นแหละ ไอ้ความเกิดเป็นทุกข์นั้น เพราะคนธรรมดามันก็ยึดถือว่าความเกิดของกู มันก็เป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ เพราะคนธรรมดาสามัญยึดถือว่าความแก่ของกู มันก็เป็นทุกข์เพราะความแก่ ความตายเป็นทุกข์ เพราะไอ้ มันยึดถือว่าความตายของกู กูก็เป็นทุกข์ อะไรๆ ที่ยึดถือว่าเป็นของกู แล้วมันก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์ ผู้ที่ถึงที่สุดคือพระอรหันต์นั้นไม่ยึดถือ ฉะนั้นความเกิด ความแก่ ความตาย ไม่เป็นทุกข์แก่พระอรหันต์ แต่เป็นทุกข์แก่คนโง่คือปุถุชนคนธรรมดาที่ยึดถือว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายของกู ส่วนท่านที่รู้แจ้ง ตรัสรู้แล้วก็ ไม่ ๆๆ โง่ ไม่ยึดถือว่าความเกิด แก่ เจ็บตายของกู ดังนั้นท่านจึงไม่เป็นทุกข์ ทั้งที่ร่างกายของพระอรหันต์ก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย แต่ท่าน จิตนั้นไม่ได้ยึดถือเอามาเป็นความแก่ ความเจ็บ ความตายของกู ท่านก็ไม่เป็นทุกข์
นี่ ความทุกข์โดยเฉพาะนี่ มันเกิดมาจากความยึดถือ คือติดเนื่องกันอยู่เลย ยึดถือเมื่อไรเป็นทุกข์เมื่อนั้น ยึดถือเมื่อไรเป็นทุกข์เมื่อนั้น ยึดถือว่าตัวกูก็เป็นทุกข์ในความหมายแห่งตัวกู ยึดถือว่าของกูก็เป็นทุกข์ในความหมายว่าของกู ยึดถือเมื่อไรเป็นทุกข์เมื่อนั้น มันจึงมีวิธีที่จะดับอุปาทานหรือความยึดถือนั้นเสียแล้วจะได้ไม่เป็นทุกข์ อุปาทานให้เกิดทุกข์ก็เป็นของหนัก อยู่ในตัวอุปาทานนั้น คือมันยึดถือเป็นของหนักอยู่ในตัวมันเอง มันจึงเป็นทุกข์ เราจะดับทุกข์เสียได้ ก็ด้วยการดับอุปาทานนั้นเสีย นี่ก็เป็นเรื่องดับทุกข์ ย้อนไปข้างต้นที่ว่า ทุกข์เกิดจากนิวรณ์ก็ต้องหาวิธีดับ ทุกข์เกิดจากกิเลสก็ต้องหาวิธีดับ ทุกข์เกิดจากอนุสัยก็หาวิธีดับทุกข์ ทุกข์เกิดจากอาสวะ ก็หาวิธีดับ ทุกข์เกิดจากอุปาทานก็หาวิธีดับ จึงมีระบบของการดับทุกข์ครบถ้วนบริบูรณ์ในพระพุทธศาสนานี้
เรื่องทุกข์หมดไปแล้ว ทีนี้ก็เหลือแต่เรื่องดับทุกข์ การดับทุกข์หรือวิธีดับทุกข์ ที่จะต้องพูดต่อไป เวลาจะพอหรือไม่ นี่มันเข้าไปชั่วโมงหนึ่งแล้ว จะทนไหวไหม เอาละก็พูดไปตามเรื่องเท่าที่จะ จะทำได้ เอ้าก็ย้อนไปที่ความทุกข์อันเกิดมาจากนิวรณ์ มันต้องดับนิวรณ์มันจึงจะดับทุกข์ที่เกิดมาจากนิวรณ์ หรือใครรู้แล้ว ใครรู้วิธีดับไอ้ความรู้สึก ๕ ประการนั้นได้ ได้เองแล้ว ดับกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา อย่างน้อยก็ต้องมองให้เห็นชัดว่า ถ้ามันไม่มี มันก็จะดีเท่าไร นิวรณ์ ๕ อย่าง แต่ละอย่าง ละอย่าง ถ้ามันไม่มีแล้วมันจะสบายสักเท่าไร ควรจะรู้อย่างนี้กันเสียก่อนสิ มันจะได้อยากจะดับ มันจะจำกัดมันเสีย ถ้ามันไม่มองเห็นอย่างนี้ มันก็ไม่อยากจะดับ ไม่อยากสนใจด้วยซ้ำไป อยู่กับนิวรณ์ เป็นคู่กันไปกับชีวิตจิตใจตามเดิม ฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่ดับได้
อันนี้ก็เป็นคำพูดที่สำคัญที่สุด อย่าๆๆ ถือว่าเป็นคำพูดกำปั้นทุบดิน เคอะ เคอะ ในพุทธศาสนาที่ว่า ทุกสิ่งมันดับได้ เพราะว่าทุกสิ่งที่มีความเกิด แล้วก็มีการดับได้ นิวรณ์นั้นมันมีการเกิด ดังนั้นนิวรณ์จึงเป็นสิ่งที่ดับได้ เขาจึงมีวิธีที่จะดับนิวรณ์และดับความทุกข์อันเกิดมาจากนิวรณ์ เราก็ศึกษา ในที่นี้จะต้องศึกษา ยากที่จะรู้สึกได้เอง จะต้องศึกษา แต่อยากจะพูดว่า ไอ้คนแรก ไอ้คนแรก มนุษย์คนแรกที่มันรู้จักดับนิวรณ์นั้นมันเรียนมาจากใครล่ะ เพราะว่าก่อนหน้านั้นมันก็ไม่มีใครรู้จักดับนิวรณ์นะ แล้วมีคนๆ แรกที่รู้จักดับนิวรณ์ได้ นี่มันเรียนมาจากใคร มันต้องเรียนมาจากการที่มันไม่ชอบนิวรณ์นั่นแหละพอมันรู้จักนิวรณ์คือว่ามันรบกวนใจอยู่ด้วยความรู้สึกทางกามารมณ์บ้าง ทางโกรธบ้าง อะไรบ้าง มันไม่ชอบ มันก็ต้องคิดว่ากูจะต้องเอาออกไป หรือกูไม่รู้ไม่ชี้กับมัน ไปนึกเรื่องอื่นเสีย ฉะนั้นจะโดยบังเอิญก็ได้ พูดอย่างนี้มันก็ ก็เสี่ยงต่อการถูกด่า เหมือนกับว่ามันโดยบังเอิญก็ได้ ที่มนุษย์คนแรกที่มันรู้จักไอ้กามฉันทะรบกวนจิตใจอยู่ มันก็เกิดความรู้สึกว่ากูไม่รู้ไม่ชี้กับมึง กูมากำหนดลมหายใจดีกว่า แกก็มากำหนดอยู่ที่ลมหายใจ ไอ้ความรู้สึกที่เป็นนิวรณ์มันก็เลือนหายไป นี่เรียกมันโดยบังเอิญอย่างนี้ก็ได้ ไม่อย่างนั้นมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร พระพุทธเจ้าก็ยังไม่มี ใครก็ยังไม่มี ที่จะรู้จักเรื่องนิวรณ์และกำจัดนิวรณ์ จึงถือว่ามันเป็นเรื่องเหตุปัจจัยที่ถึงพร้อมกันเข้าแล้ว และเช่นเดียวกับที่ว่าไอ้คนป่าคนแรก คนดึกดำบรรพ์ที่จะมาสังเกตเห็น โอ้ มีหน้าที่ สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ แล้วก็ออก หลุดปากว่า ธรรมะ ธรรมะ คือหน้าที่ มันก็ไม่มีใครสอนโดยเฉพาะหรอก มันสังเกตและมันก็รู้สึก แล้วมันก็พูดออกมาเอง
ฉะนั้นเรื่องสมาธินี่ก็เหมือนกัน เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องประจวบเหมาะ ด้วยเหตุการณ์ทุกๆ อย่าง แล้วบุคคลนั้น มันก็คลำพบเอง เช่นว่า พอเกิดงัวเงีย กระวนกระวายใจด้วยนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งขึ้นมา เขาเปลี่ยนความรู้สึกไปกำหนดที่ลมหายใจที่มันหายใจเข้าหายใจออก หายใจเข้าหายใจออกอยู่ตามธรรมชาติ มันไปทำจิตกำหนดที่นั่นเสียโดยบังเอิญก็ได้ โดยบังเอิญนั่นแหละไม่ได้เจตนา พอมันก็รู้อีกทีก็ อ้าว นี่มันหายไปแล้ว ก็เลยยึดถือเอานั้นไว้ เป็นหลักที่จะปฏิบัติ เพื่อจะกำจัดนิวรณ์ เพราะฉะนั้นเขาก็ค้นหาวิธีที่จะกำหนดลมหายใจให้ดียิ่งขึ้นไป ให้ดียิ่งขึ้นไป ดียิ่งขึ้นไป เลยมนุษย์สอนต่อๆ กัน มาถึงเรื่องว่าจะกำจัดความรู้สึกเลวร้ายที่รบกวนจิตใจนี่ เรามากำหนดลมหายใจกันเถิด หรือถ้าสมมติว่าเขานึกถึงเรื่องอื่นได้ ไปกำหนดเข้ามันก็หายไป มันได้เหมือนกัน มันก็ได้ผลอย่างเดียวกัน ถ้าเราเปลี่ยนจิตไปกำหนดเสียที่สิ่งใดสิ่งหนี่ง ให้จริงจัง และไอ้ความรู้สึกที่เป็นนิวรณ์มันก็เงียบหายไปเอง หนักเข้า หนักเข้า ก็ๆๆ รู้จักทำให้จิตเป็นสมาธิเข้มข้นเข้า เข้มข้นเข้าในอารมณ์ของสมาธิ นิวรณ์มันก็เงียบไปต่อหน้าเลย นิวรณ์ไหนๆ ทั้ง ๕ อย่างนี้ ก็ไม่กล้าโผล่หน้ามาให้เห็น ก็เป็นที่พอใจ มันก็เกิดระบบการทำสมาธิขึ้นมาในโลก ตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดนมนาน นานไกลทีเดียวก่อนพระพุทธเจ้าเกิดนี้ มนุษย์รู้จักทำสมาธิกำจัดนิวรณ์กันได้ตามสมควรแล้ว มันก็เหลืออยู่แต่ว่าครูอาจารย์ชั้นต่อมาๆ มันก็ค้นหาวิธีที่จะกำหนดลมหายใจให้ดีกว่า ให้ประณีตกว่า ให้ลึกซึ้งกว่าขึ้นมา เท่านั้นเอง มันไม่เพียงให้กำหนดง่ายๆ โง่ๆ โดยบังเอิญอย่างนั้น ดังนั้นวิธีการกำหนดลมหายใจมันจึงประณีตลึกซึ้งแยบคายมากขึ้น มากขึ้น จนพระพุทธเจ้าเกิด แล้วก็ท่านสอนระบบอานาปานสติ กำหนดลมหายใจโดยวิธี ๑๖ วิธี ๔ หมวดๆ ละ ๔ วิธีนั่น ไปศึกษาดูเถอะ เรื่องอานาปานสติ นี่มันประณีตละเอียดสุขุมมากกว่าไอคนๆ แรกที่ว่ากำหนดลมหายใจเท่านั้นหละ สักว่ากำหนดลมหายใจเท่านั้น มันก็ไล่นิวรณ์ไปได้ ขับนิวรณ์ไปได้ตามสมควร
ทีนี้มากำหนดลมหายใจละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป ตามแบบของพระพุทธเจ้าที่ว่านี้ มันไม่เพียงแต่กำจัดนิวรณ์หรอก มันกำจัดกิเลส กำจัดอนุสัย กำจัดอุปาทานอะไรได้ไปได้ด้วย ไปศึกษาเรื่องอานาปานสติ ๑๖ ขั้น แบ่งเป็น ๔ หมวดๆ ละ ๔ ขั้น หมวดแรกก็กำหนดลมหายใจสั้นหรือยาว กำหนดให้สั้นหรือยาวหนักเข้าหนักเข้า นิวรณ์มันก็จะหายไปแล้ว เพราะมันเป็นสมาธิแล้ว นี่กำหนดให้รู้ว่าลมหายใจนี่ปรุงแต่งกาย นะ เอ้านี้ก็ฉลาด มีปัญญาเพิ่มขึ้น แล้วก็กำหนดให้ลมหายใจระงับไป ระงับไป ระงับกายสังขารที่ลมหายใจ มันก็เกิดสมาธิที่สูงกว่า ที่เป็นฌาน เป็นอะไรขึ้นมา มีฌาน ปฐมฌานประกอบด้วยองค์ ๕ อะไรว่าไปตามเรื่องของฌาน นี่ประณีตกว่า ลึกซึ้งกว่า มากมายกว่ามนุษย์คนแรกที่มีความรู้แต่เพียงว่า พอเราไปตั้งหน้าสังเกตกำหนดลมหายใจ ไอ้ความรู้สึกที่เป็นนิวรณ์ก็หายไป มีเท่านั้น มันมีนิดเดียวเท่านั้น แต่นี้มันแยบคายมาก
แล้วหมวดที่สองกำหนดเวทนา ทุกลมหายใจ กำหนดลมหายใจที่ประกอบอยู่ด้วยเวทนา มีปีติมีสุข รู้ว่าไอ้ ๒ อย่างนี้ปรุงแต่งจิต กำหนด ทอนกำลังของปีติและสุขเสีย จิตมันก็สงบลง สงบลง สงบลง ทำจิตสังขารให้ระงับอยู่ จิตก็ระงับอยู่ มันก็รู้ว่าเวทนานี้ มันสักว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เวทนาที่ ที่น่ารักน่าพอใจก็สักแต่ว่าเวทนา เวทนาที่ไม่น่ารักไม่น่าพอใจก็สักแต่ว่าเวทนา เวทนาที่พูดไม่ได้ว่าน่ารัก ไม่น่ารัก ก็สักแต่ว่าเวทนา เพราะมันเห็นอยู่แก่จิตใจ ประจักษ์อยู่ในจิตใจตลอดเวลาว่ามันเกิดขึ้นอย่างนั้น เกิดขึ้นอย่างนั้น ตามการกำหนดเวทนา มีเวทนา มี มีปีติ มีเวทนา ปีติก็พอใจ เวทนาเป็นสุขก็เป็นสุข แล้วปีติหรือสุขนี่ทำให้เกิดความคิดนึกอย่างนั้นอย่างนี้ รุนแรง นี่ควบคุมกำลังของปีติและสุขเสีย ไอ้ความคิดก็ลดลง ลดลง ลดลง คือระงับลง ระงับลง มันยิ่งกว่าระงับนิวรณ์ละทีนี้ มันปิดทางเกิดของกิเลส นี่ก็ไปรู้เรื่องจิต จิต ๔ ขั้นนะ จิตอย่างธรรมดาเป็นอย่างไร ทำจิตให้พอใจได้ ทำจิตให้ตั้งมั่นได้ ทำจิตให้ปล่อยสิ่งที่ยึดมั่นได้ มันก็เลย กำจัด เกินกว่ากำจัดนิวรณ์แล้วทีนี้ มันรู้เรื่องการบังคับควบคุมจิตจนไม่ให้เกิดกิเลส บังคับจิตให้พอใจก็ได้ ให้เฉยก็ได้ ให้วางก็ได้ แล้วกิเลสมันจะเหลืออยู่ที่ไหนล่ะ กระทั่งอันสุดท้ายกำหนดเรื่องอนิจจัง เรื่องวิราคะ เรื่องนิโรธะ เรื่องปฏินิสัคคะกันหมดเลย เรื่องของกิเลส เรื่องของมูลเหตุของกิเลส อุปาทานอะไรต่างๆ มันถูกชะล้างไปหมด วิธีใช้ลมหายใจให้เป็นอุบายสำหรับเพิกถอนปัญหาที่เกี่ยวกับนิวรณ์ เกี่ยวกับกิเลส เกี่ยวกับอนุสัย เกี่ยวกับอาสวะ เกี่ยวกับอุปาทาน มันก็หมดไป โดยวิธีประพฤติ ปฏิบัติอย่างนี้ ที่จะศึกษาได้จากภายใน ไม่ต้องยึดถือในหนังสือกันนักก็คืออย่างนี้แหละ แต่ว่าถ้าไม่เคยอ่าน อ่าน ไม่เคยศึกษาไม่เคยฟังมา มันคิดไปไม่ได้ ไปเอาหนังสือมาอ่านก็ได้ แต่แล้วต้องดูข้างในให้เห็นจริง เหมือนกับที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ หรือในคัมภีร์
ถ้าลองทำอานาปานสติ กำหนดลมหายใจดู พอทำดู มันก็รู้ อ้าว นิวรณ์หายไปไหนหมดเล่า นิวรณ์ไม่ๆๆ โผล่หน้ามาให้เห็นเลย เพียงแต่กำหนดอานาปานสติหมวดต้นเท่านั้นแหละ มันก็แสดงให้เห็นเอง บอกให้เห็นได้เองว่านิวรณ์ไม่รู้ไปไหนหมด ทีนี้ที่มันลึกไปกว่านั้นก็คือว่า ไอ้การฝึกอานาปานสตินั้น มันฝึกให้มีสตินะ อานาปานสติภาวนา การเจริญสติอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เมื่อทำอย่างนั้นมันมีสติสิ มีสติที่จะรู้อะไรได้ แล้วทำต่อไป จนถึงหมวดที่ ๔ เมื่อทำมาแล้วมันเป็นปัญญา พอเราทำครบทั้ง ๖ ขั้นนี่ เราเป็นคนเก่ง แคล่วคล่องว่องไวทั้งในแง่ของสติ ทั้งในแง่ของสมาธิ ทั้งในแง่ของปัญญา อ้าวทีนี้กิเลสมันจะเกิดตรงไหน กิเลสจะเกิดเมื่อผัสสะนี้เป็นที่เข้าใจกันแล้วไม่ต้องอธิบาย พอมีผัสสะมันก็เอาสติ เอาปัญญา เอาสมาธิมา ควบคุมผัสสะถูกต้อง หมดกิเลสเกิดไม่ได้ จึงมีความดับแห่งผัสสะ แล้วมีความดับแห่งกิเลส ดับแห่งกาม ดับแห่งโทสะ ดับแห่งอะไรก็ตาม เรียกว่ามันมีเพราะดับแห่งผัสสะ ต้องยอมให้ใช้ถ้อยคำในพระบาลีบ้าง เพราะท่านกล่าวกันไว้อย่างนั้น เมื่อท่านพูดว่า ความดับแห่งผัสสะนั้น มันก็หมายความว่าทำให้ผัสสะไม่อาจจะทำหน้าที่ตามที่มันเคยทำตามธรรมชาติ เมื่อสิ่งใดไม่ทำหน้าที่ เรียกว่าสิ่งนั้นดับนะ ในทางพระศาสนาในทางบาลี เช่นตาดับนี่ ตาดับทั้งที่ตายังอยู่นี่ คือตาไม่ทำหน้าที่ตา ตา หูดับ เมื่อหูไม่ทำหน้าที่หู จมูกดับ อะไรดับได้ทั้งนั้นเลย กิเลสดับ ก็หมายความมันไม่ทำหน้าที่ของกิเลสได้ ผัสสะดับ ก็หมายความว่าผัสสะไม่ทำหน้าที่ของผัสสะได้ เรียกผัสสะดับ พอผัสสะดับ มันก็ไม่มีเวทนา ตัณหา อุปาทานอะไรได้ ก็ดับทุกข์หมด ทุกข์ที่เกิดมาจากนิวรณ์ก็ดับ ทุกข์ที่เกิดมาจากกิเลสก็ดับ ทุกข์ที่เกิดมาจากอนุสัยก็ดับ เกิดจาก อาสวะก็ดับ เกิดจากอุปาทานก็ดับ เพราะว่าเราทำการดับผัสสะได้ คือทำให้ผัสสะไม่อาจจะทำหน้าที่ของผัสสะ นี่เรียกว่าความดับแห่งผัสสะ
จำไว้สักคำด้วย คำในพระพุทธศาสนาที่ว่า ดับ ดับ ดับ นั้นไม่ต้องตาย ไม่ใช่ตาย หรือไม่ใช่สูญหายไปไหน เพียงแต่มันไม่ทำหน้าที่ ก็เเรียกว่ามันดับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ละอย่าง ละอย่างดับได้ ดับคือมันไม่ทำหน้าที่ได้ ก็เรียกว่ามันดับ ถึงรูป เสียง กลิ่น รส ข้างนอกก็เหมือนกัน ก็เรียกว่ามันดับได้ ก็มันก็เมื่อมันไม่เข้ามาทำหน้าที่ มันไม่เข้ามาร่วมกันทำหน้าที่ วิญญาณดับ เมื่อวิญญาณไม่ได้ทำหน้าที่ เวทนาดับ เมื่อเวทนาไม่ได้ทำหน้าที่ เรียกว่าดับ ดับ ดับ เดี๋ยวนี้ความสำคัญอยู่ที่ว่าผัสสะดับ เพราะเรามีสติเร็วพอ แล้วก็มีปัญญาเร็วพอ มีมากพอ มันมีสมาธิมีกำลังมากพอ ทั้งสติ ทั้งปัญญา ทั้งสมาธิ ปรากฏขึ้นในขณะแห่งผัสสะ ผัสสะ ผัสสะ มันเลย ทำหน้าที่ไม่ได้ ก็เรียกว่าผัสสะดับ กระแสปรุงแต่งแห่งกิเลสทั้งหลาย หยุด หยุด หยุด อุปาทานก็ทำหน้าที่ไม่ได้
นี่คือหัวใจของเรื่องดับทุกข์ เรื่องดับทุกข์นั้นมันละเอียดมากมาย หลาย กี่อย่างก็ตามเถอะ มันมีหัวใจอยู่นิดเดียวที่ว่า ดับผัสสะเสียได้ แล้วมันก็ไม่มี เวทนา ตัณหา อุปาทาน ที่จะเป็นทุกข์ได้ จะดับผัสสะได้ ต้องมีสติเร็ว มีปัญญามากพอ มีสมาธิกำลังจิตมากพอ เกิดสติ เกิดสมาธิ เกิดปัญญาขึ้นในขณะที่ผัสสะนั้นได้ แล้วก็ได้ ได้การดับทุกข์ได้ ดับทุกข์ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ในแง่ไหน ไปรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์นั้นเสียทุกแง่ทุกมุม ทุกชนิด แล้วก็ทำให้ถูกวิธี ตามกฎของธรรมชาติอันลึกซึ้ง ความจริงของธรรมชาติอันลึกซึ้ง ทำให้ถูกวิธีเถอะ มันก็จะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้ หมดทุกเรื่องแหละ และคำสำคัญก็คือว่าผัสสะดับ ผัสสะทำหน้าที่ไม่ได้ เวทนา ตัณหา อุปาทานดับ ความทุกข์ทั้งปวงดับ
นี่เป็นข้อความที่มีอยู่ในพระบาลี เมื่อสรุปความแล้วมันเป็นอย่างนี้ อย่างที่กำลังพูดนี้ แต่เขาไม่เอามาสอนกันอย่างนี้ เขาสอนกันอย่างอื่น หรือเขาทำกันอย่างอื่น มันก็ช่วยไม่ได้ จะดับทุกข์ได้หรือไม่ก็ไม่รู้ แต่เท่าที่อาตมาศึกษาค้นคว้ามาเป็นสิบๆ ปี มันพบข้อความในพระบาลี ในลักษณะอย่างนี้ แล้วเอามาจับกันเข้ากับของจริงที่เกิดแก่จิตของเราเอง มันก็เป็นอย่างนี้ จึงเอามาพูดให้ฟังว่า ไอ้ความทุกข์คืออย่างนี้ อย่างนี้ ๕ กลุ่มซึ่งเขาไม่สอนหรอก เขาจะพูดสั้นๆ เพียงบางอย่าง นี่เพื่อให้เห็นชัดว่ามันเป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์ได้ แม้ในเรื่องของนิวรณ์ แม้ในเรื่องของกิเลส ของอนุสัย ของอาสวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของอุปาทาน ถ้าเราจัดการกับต้นเหตุอันลึกซึ้งในภายใน คือผัสสะได้นะ มันจะไม่มีทางที่จะเกิดทุกข์ โดยนิวรณ์ก็ดี โดยกิเลสก็ดี โดยอนุสัยก็ดี โดยอาสวะก็ดี โดยอุปาทานก็ดี ถ้าอยากจะดับทุกข์รวบยอด เราก็ศึกษาวิธีอานาปานสติ จากเรื่องนั้นๆ โดยตรง ไม่ใช่จะโฆษณาขายหนังสือ มันมีคนพิมพ์ขึ้น การบรรยายแก่นิสิตนักศึกษา ปีไหนก็ไม่ทราบ โดยละเอียด แล้วเขาก็พิมพ์ขึ้น เรียกว่าอานาปานสติภาวนาฉบับสำหรับนิสิตนักศึกษา ปกเขียวๆ ถ้าศึกษาเข้าใจแล้วก็ปฏิบัติดูเถิด มันก็จะดับทุกข์ได้อย่างที่พูดนี้ อย่างที่ว่านี้ มันดับนิวรณ์ แล้วมันดับกิเลส แล้วมันดับอนุสัย มันดับอาสวะ มันดับอุปาทาน แล้วความทุกข์อะไรมันจะเหลืออยู่ได้ เอาละขอยอมรับว่าพูดได้แต่โดยย่อ ไม่มีเวลา จะพูดโดยรายละเอียดถี่ยิบ เพราะว่าอาจจะไปหาอ่านดูได้จากหนังสือเล่มที่ว่า หรือหนังสือเล่มอื่นๆ ก็มี เรื่องอานาปานสติภาวนา การเจริญสติเนื่องด้วยลมหายใจเข้าออก ปฏิบัติกรรมฐานชื่อนี้ แล้วมันจะจัดการของมันเอง ด้วยตัวมันเองหละ จะหยุดเสียซึ่งนิวรณ์ ซึ่งกิเลส ซึ่งอนุสัย ซึ่งอาสวะ ซึ่งอุปาทาน
นี่วันนี้เราพูดกันถึงเรื่อง ความทุกข์และความดับทุกข์ ทุกข์มีที่มาให้เห็นเป็น ๕ อย่าง หรือ ๕ กลุ่ม คือ นิวรณ์ กิเลส อนุสัย อาสวะ อุปาทาน ไปเรียนจากภายในความรู้สึกของตนเอง จะเรียนจากสมุดที่จดไปนี้คงไม่สำเร็จ มันช่วยความจำกันลืมได้ แต่จะรู้จักตัวมันจริง ต้องไปดูที่มันเกิดขึ้นในใจจริงๆ ว่า นิวรณ์อย่างไร กิเลสอย่างไร อนุสัยอย่างไร อาสวะอย่างไร อุปาทานอย่างไร เห็นตัวจริง มันจะเกิดความสังเวช ความเบื่อหน่ายต่อความทุกข์ ถ้ามันเกิดความเบื่อหน่ายต่อความทุกข์แล้วมีหวังหละ มีหวังที่จะดับได้ ถ้าไม่ ไม่เกิดความเบื่อหน่ายต่อความทุกข์ มันก็ยังไปอยู่กับความทุกข์ ชอบความทุกข์ สนุกไปกับความทุกข์ ไม่มีทางที่จะไปดับมันได้ มันเป็นเห็นกงจักรเป็นดอกบัวเสีย เอาความทุกข์เป็นเรื่องสนุกสนานเป็นที่พอใจ เป็นกามฉันทะ เกิดพอใจต้อนรับเอาเลย เคลิ้มไปเลยอย่างนี้ แล้วมันจะดับทุกข์ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราจะต้องมองเห็นสิ่งเหล่านี้ ตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นความทุกข์ มองดูก็ยิ่งชวนให้เกลียด ให้ เกลียดความทุกข์ เบื่อหน่ายในความทุกข์ มันก็น้อมไปในทางตรงกันข้าม เห็นว่านี้เป็นความทุกข์ จิตมันก็เปลี่ยนกระแสไปในทางตรงกันข้ามจะไปหาทางดับทุกข์ มันช่วยให้ง่ายขึ้น เพราะเหตุนี้เอง
เอาละเรื่องมันมีเท่านี้ ในพุทธศาสนานี้มันมีเรื่องดับทุกข์ ถ้าใครไม่ต้องการเรื่องดับทุกข์ ก็เลิกกัน ไม่ต้องมาพูดกันให้เสียเวลา พุทธศาสนาไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับคนชนิดนั้น พุทธศาสนาไม่มีประโยชน์สำหรับคนที่ไม่ต้องการจะดับทุกข์อยากจะอยู่กับความทุกข์ ถ้าไม่มีเรื่องดับทุกข์ พุทธศาสนาก็ไม่มีค่าแม้แต่นิดเดียว ถ้าไม่มีเรื่องดับทุกข์พุทธศาสนาก็ไม่มีค่าอะไรแม้แต่สตางค์แดงเดียว โดยเหตุที่มันดับทุกข์ได้มันจึงมีค่า ฉะนั้นเราจะเป็นพุทธบริษัทกันทั้งที มันก็ต้องรู้พุทธศาสนาในส่วนที่มันเป็นการดับทุกข์ เป็นความดับทุกข์ โดยรู้จักความทุกข์แล้ว เบื่อหน่ายเกลียดชังแล้ว จึงหาวิธีที่จะดับทุกข์นั่นเสีย
นี่ขอให้การมาที่นี่ของท่านทั้งหลาย มันเข้ารูปเข้ารอยกับพุทธศาสนาด้วย ที่จะรู้จักความทุกข์ เกลียดความทุกข์และต้องการจะดับความทุกข์ให้ได้ตามที่ควร เดี๋ยวนี้มานั่งในที่นั่งที่นอนของพระพุทธเจ้าแล้วนะ ใครไม่รู้ หรือฟังไม่ถูกก็นับว่าแย่มาก มานั่งกลางดินนี่คือมานั่งบนที่นั่งที่นอนของพระพุทธเจ้า อย่าให้เสียเวลาเปล่า อย่าให้เป็นโมฆะ พระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน พระพุทธเจ้าตรัสรู้กลางดิน พระพุทธเจ้าสอนกลางดิน อยู่กลางดิน นิพพานกลางดิน ดินนี่มันที่นั่งที่นอนที่ตายของพระพุทธเจ้า เดี๋ยวนี้เรามานั่งกลางดินแล้ว มันควรจะใกล้ๆ พระพุทธเจ้าเข้าไปบ้าง นั่งกลางดินนี่มันไม่ชวนให้เกิดกิเลส ทะเยอทะยานเหมือนกับนั่งบนตึกราคาเป็นล้านๆ ที่เขาใช้เป็นวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัย เอาไปเปรียบเทียบกันดูว่านั่งกลางดินที่ของพระพุทธเจ้านี้ นี่กลับไปนั่งบนตึกราคาล้านๆ ที่โรงเรียนอีก จิตมันต่างกันอย่างไร ยิ่งไกลธรรมชาติ มันก็ยิ่งไม่รู้จักธรรมชาติ ยิ่งอยู่ใกล้ธรรมชาติมันก็ยิ่งรู้จักธรรมชาติ เพราะฉะนั้นพระศาสดาแห่งทุกๆ ศาสนานั้นท่านตรัสรู้กลางดินกันทั้งนั้น หาไม่พบหรอก พระศาสดาแห่งศาสนาไหนตรัสรู้ในมหาวิทยาลัย ไม่มีเลย เพราะมันไม่เป็นที่ที่จะช่วยให้ตรัสรู้ได้ เพราะมันไกลธรรมชาติ มันไกลธรรมชาติ เดี๋ยวนี้เราก็มานั่งกลางดิน ใกล้ชิดธรรมชาติ และธรรมชาติชนิดที่เคยช่วยให้คนเป็นพระพุทธเจ้า ก็ควรจะได้รับผลบ้าง ในการที่มานั่งกลางดิน เป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของการที่จะดับทุกข์ได้ ขอให้ได้รับประโยชน์ ในการบรรยายสมควรแก่เวลาและเรี่ยวแรง มันก็ต้องหยุด มันชั่วโมงครึ่ง ขอหยุดการบรรยาย ถ้ามีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ บ้าง จะถามบ้างก็ได้ อีกสัก ๑๕ นาที อีกสัก ๑๕ นาที ถ้ารู้หมดแล้ว ปัญหาไม่มี ก็ไปนอนได้
(ถามคำถาม) ผมอยากเรียนถามว่า อานาปานสติภาวนาทำให้เกิดสมาธิได้อย่างไร
(ท่านพุทธทาสตอบ) ก็บอกแล้วว่า นั่นน่ะทำให้เกิดสติ เกิดสติ เกิดสมาธิ เกิดปัญญา จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เกิดความหลุดพ้น เกิดความรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว นี่ครบหมดเลย ในๆๆๆ สายของอานาปานสติ มันเรียกว่าสติอยู่แล้ว ฝึกสติ แต่มันไม่ได้ ไม่ได้ฝึกสติอย่างเดียว มันฝึกสมาธิด้วย มันฝึกปัญญาด้วย ในหมวดที่ ๔ หมวดสุดท้ายนั้น มันเกิดเบื่อหน่ายคลายกำหนัดจากความทุกข์แล้วก็ดับทุกข์ สิ้นทุกข์ แล้วเกิดความรู้ว่าสิ้นทุกข์แล้วโว้ยด้วย ข้อสุดท้าย
(ถามคำถาม) ผมขอความกรุณาว่า ช่วยอธิบายความสำคัญระหว่าง ศีล สมาธิ ปัญญา
(พุทธทาสตอบ) ศีลคือความถูกต้องทางกายทางวาจา มีก่อน สมาธิคือความถูกต้องทางจิต ปัญญาคือความถูกต้องทางสติปัญญา เป็นความถูกต้องทางกาย ทางวาจา ทางจิต ทางสติปัญญา ทิฐิ ความคิดความเห็นถูกต้องหมด ความเห็นถูกต้องหมด แล้วมันก็เห็นตามที่เป็นจริง มันไม่หลง มันไม่หลงจนเกิดกิเลส หรือเกิดอุปาทาน ในศีล สมาธิ ปัญญานี่เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติมากที่สุด แต่มนุษย์ก็ไม่ค่อยรู้จัก โดยเฉพาะมนุษย์เหล่านี้ไม่รู้จัก เอาไปไว้เป็นเรื่องของศาสนาเสียหมด ไม่เอามาไว้เป็นเรื่องของคนทั่วไปทุกคนเลย คนทั่วไปทุกคนนี่ไม่ต้องเกี่ยวกับศาสนา ต้องมีความถูกต้องทางกาย ทางวาจา มันจึงจะทำอะไรได้ใช่ไหม มันต้องมีความถูกต้องทางจิตนะ ไม่เช่นนั้นมันบ้านะ มันต้องมีความถูกต้องทางสติปัญญา มันจึงจะทำอะไรได้ถูก ถูกต้องตามที่ควรจะทำ
อย่างจะผ่าฟืน เอ้า อย่างต่ำที่สุด จะผ่าฟืนนี้ มันก็ต้องมีศีล คือการบังคับทุกอย่างให้มันถูกต้อง แล้วก็มีสมาธิ คือความแนวแน่ ที่มันจะปล่อยขวานลงไป แล้วมันมีความรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรตั้งแต่ต้นจนปลาย จะวางไม้ฟืนอย่างไร จะจับขวานอย่างไร จะปล่อยน้ำหนักอย่างไร จะลับขวานอย่างไร มันก็เป็นปัญญา มันพูดได้ว่าจะเลี้ยงควายเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ จะทำอะไรทุกอย่าง มันจะต้องประกอบอยู่ด้วยความหมายของศีล สมาธิ ปัญญา ในการตัด ตัดด้วยมีดนะ น้ำหนักของมีดนี่เป็นเหมือนกับเป็นสมาธิ ความคมของมีดเหมือนกับปัญญา การบังคับมือตีนให้มันถูกต้องในการที่จะปล่อยลงไป นั้นมันเป็นศีล หรือว่าเราได้ท่านั่งท่ายืน หรือที่นั่งที่ยืนที่ถูกต้องสำหรับจะฟันนั่นแหละคือศีล แม้แต่ที่ตัวมีดเอง มันก็มีทั้งศีล สมาธิ ปัญญา น้ำหนักของมีดนั้นสมาธิ ความคมของมีดนั้นเป็นปัญญา ถ้ามีดไม่มีน้ำหนักมันก็ฟันไม่ได้ มีแต่ความคมเฉยๆ มันฟันไม่ได้ ถ้ามีดไม่มีน้ำหนักของมีดหละมันตัดไม่ได้ ถ้ามีดมันมีแต่น้ำหนักแล้วมันไม่มีคมมีด มันก็ตัดไม่ได้เหมือนกัน
ฉะนั้นการบังคับมีดให้ลงไปในลักษณะที่ถูกต้องนั่นน่ะ เรียกว่าการตั้งใจกระทำนั้น เรียกเป็นศีล ฉะนั้นการที่จะสับอะไรลงไปด้วยมีดให้ของขาดออกไป มันสมบูรณ์อยู่ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ไม่บอกกัน ไม่สอนกัน ไม่แนะให้สังเกต มันก็ดูเหมือนกับจะไม่มี จริงๆ การกระทำที่สำเร็จประโยชน์ทุกชนิดแหละ ต้องมีความหมายแห่งศีล สมาธิ ปัญญา ศีลคือการบังคับให้กระทำ สมาธิคือความมุ่งมาด กำลังจิตที่จะกระทำ ปัญญาคือความรู้ที่จะกระทำ ๓ อย่างนี้กลมกลืนกันดีแล้ว การงานทุกชนิดสำเร็จ
คุณอธิบายได้ไหมว่าจะเปิปข้าวเข้าปากนี้ต้องสมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องง่ายๆ ไปมองก็เห็น ไม่บอกแล้ว ไปคิดเอาเอง ไปมอง ไปมองเอาเอง ไปคิดเอาเองว่า เปิบข้าวเข้าปากเท่านั้นน่ะ ขณะนั้นแหละ มันต้องเต็มไปด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา โดยหลักใหญ่ๆ ศีลคือการบังคับให้กระทำ ไม่มีการบังคับมันไม่ทำ สมาธิ คือกำลังจิต ปัญญาคือกำลังความรู้ สติรวมอยู่ในสมาธิ ในการเปิปข้าวเข้าปากสักคำหนึ่ง ต้องสมบูรณ์ด้วยศีล ด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา
ธรรมะมีคุณมากขนาดนี้ แล้วๆ คนก็ไม่รู้จักคุณของธรรมะ ไม่รู้จักค่าของธรรมะ แล้วก็ไม่รู้จักบุญคุณ พระเดชพระคุณของธรรมะ อริยมรรคมีองค์ ๘ แปดองค์นี้มันเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มศีล กลุ่มสมาธิ กลุ่มปัญญา และกลุ่มปัญญาต้องนำหน้า ไอศีล สมาธิ มันจึงจะไปถูกทาง ถ้ากลุ่มปัญญาไม่นำหน้า ไอศีล สมาธิมันจะผิดทาง จะเฉออกนอกทาง เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นถ้าจะเรียกสำหรับเรียน สำหรับพูดนั้น เรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา แต่ถ้าเรียกสำหรับการประพฤติกระทำโดยจริงโดยพฤตินัยจริงๆ แล้ว มันจะต้องว่า ปัญญา ศีล สมาธิ โดยพฤตินัยพูดได้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เอ่อ โดยนิตินัย โดยนิตินัยพูดได้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แต่โดยพฤตินัยจะต้องพูดว่า ปัญญา ศีลและ สมาธิ เพราะเมื่อกระทำจริงๆ มันทำกันอย่างนั้น ปัญญามาก่อน คือมันต้องรู้ว่าจะทำอย่างไร จะทำอะไรอย่างไรนี่เป็นปัญญา แล้วบังคับให้ทำก็เป็นศีล พอทำลงไปด้วยกำลังใจทั้งหมด มันก็เป็นสมาธิ นี่เรื่องพูดมันก็ไปอย่างหนึ่ง เรื่องจริง ทำจริงก็ไปอย่างหนึ่ง ฉะนั้นเราอย่ามัวแต่พูดกันว่า ศีล สมาธิ ปัญญา หัดพูดเสียใหม่ว่า ปัญญา ศีล สมาธิ บ้างนั่นแหละ จะสำเร็จประโยชน์ เมื่อพูดเอามาก่อนมาหลังกันแล้วต้องเอาปัญญามาก่อน ถ้าพูดกันโดยเกียรติ ก็จะเอาศีล เอาศีล เบื้องต้นโดยเกียรตินี่น้อยกว่าเพื่อนนะ มีสมาธิ มีปัญญา แต่ถ้าพูดด้วยเทคนิคในการกระทำเกี่ยวกับเวลา แล้วก็ปัญญาต้องมาก่อน ศีลตามมาทีหลัง สมาธิก็ตามมาทีหลัง แต่ ๓ อันนี้มันเข้าเป็นอันเดียวกันกลมกลืนกันจนไม่รู้ว่าใครก่อนใครหลัง เริ่มไปทำงานจริงๆ มันกลมกลืนกันไปหมด จนดูไม่ออกว่าใครก่อนใครหลัง
ศีลถูกต้องทางภายนอกคือกาย วาจา สมาธิถูกต้องทางภายในคือจิต ปัญญาถูกต้องทางวิชาความรู้ ทิฐิ ความคิด ความเห็นซึ่งเป็นสมบัติของจิตมิใช่ตัวจิต
ไม่มีแล้วเหรอ ปัญหา
(ถามคำถาม) เสียงเบาค่ะ นาทีที่ 101:04
(ท่านพุทธทาสตอบ) อ้าวสมถะนั่นคือสมาธิ วิปัสสนานั่นคือปัญญา ศีลก็คือศีล ศีลและสมถะและวิปัสสนาอย่างนี้ก็ได้ ศีลและสมาธิและปัญญา อย่างนี้ก็พูดได้ สมถะก็คือสมาธิ วิปัสสนาก็คือปัญญา เราฟังกันแต่เสียงพูดเราไม่รู้จักตัวจริง พอเราไปหาสมถะมันก็พบที่สมาธิ หาที่สมาธิก็พบที่สมถะ
เรียนจากตัวจริง กับเรียนจากพระคัมภีร์หรือคำพูดมันต่างกันอย่างนี้นะ ถ้าเรียนจากตัวจริง มันดูจากตัวจริง มันก็รู้จากตัวจริง มันก็ไม่มีทางไขว้เขวอะไร เอาตามคำพูดตามตัวหนังสือว่ามันเรียกกันคนละอย่าง จนรู้ เห็นว่าสมาธิก็อย่างหนึ่ง สมถะก็อย่างหนี่ง แต่ตัวจริงมันคือสิ่งเดียวกัน
ทำหน้าที่ให้ถูกต้องอยู่ตลอดเวลา สถานที่ อิริยาบถ ทำให้มันมีความถูกต้องอยู่ตลอดเวลา ทุกสถานที่ ทุกอิริยาบถ มีเท่านั้นแหละ ทำได้แล้วก็หมดปัญหา ทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง คือถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ อยู่ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกอิริยาบถ ในนั้นคือธรรมะทั้งหมด ในนั้นมีพระพุทธเจ้า มีพระสงฆ์ มีอะไร ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ในคำๆ เดียวนั้นแหละว่า ความถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ มีอะไรทั้งหมดรวมอยู่ในนั้น แล้วก็ดับทุกข์ได้โดยอัตโนมัติ
มันเหมือนกับเราสะกดรอย เราเดินตามรอย สะกดรอยของท่านที่เคยเดินไปแล้ว บรรลุไปแล้ว หลุดพ้นไปแล้ว นี่เรากำลังมาแกะรอย สะกดรอยเพื่อจะเดินตามไป ถ้าทำได้ก็ดี
พรุ่งนี้ถ้าพูดอีกจะพูดเรื่องเวลา บอกล่วงหน้า โปรแกรมหนัง พรุ่งนี้ถ้าจะมีพูดอีก จะพูดเรื่องเวลา มันเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมะหรือดับทุกข์อย่างยิ่ง ไอ้สิ่งที่เรียกว่าเวลา เวลา เอ้า หมดเวลาแล้ว หมดเวลาแล้ว ปิดประชุม ปิดประชุม ปิดประชุม.