แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันสุดท้ายใช่ไหม นักศึกษาผู้สนใจในธรรมะทั้งหลาย การพูดกันเป็นครั้งสุดท้ายในวันนี้ จะขอพูดเรื่องปกิณกะก็แปลว่าเรื่องเบ็ดเตล็ด ไม่ได้ติดต่อเป็นรูปโครงไม่มีระบบ จะพูดด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด ซึ่งเป็นส่วนประกอบของหลักธรรมะทั่วๆ ไป ที่จริงมันก็คือเรื่องธรรมะนั่นแหละ แต่เราไม่พูดให้เป็นระบบหรือเป็นโครงเรื่อง มันไม่สะดวกหรือว่ามันยากแก่การเข้าใจและจดจำ และมันใช้ได้แก่หลายๆ โครง หลายๆ รูปโครงของธรรมะ ดังนั้นจงเข้าใจไว้ว่าไอ้เรื่องเบ็ดเตล็ดนั่น มันคือส่วนประกอบของเรื่องใหญ่ที่จะประกอบกันขึ้นเป็นเรื่องใหญ่ แล้วเราแยกเอามาพูดเป็นเรื่องๆ เรียกว่าเรื่องเบ็ดเตล็ดหรือปกิรณกะ ขอให้ตั้งใจฟังและกำหนดจดจำไว้ให้ดีๆ และมันง่ายแก่การกำหนดจดจำเพราะมันเป็นเรื่องเดียวๆ ข้อเดียวๆ หรือประเด็นเดียว แล้วจะได้พูดต่อไป เรื่องแรกประเด็นแรกจะพูดว่าธรรมชาติไม่ได้สร้างชีวิตมาอย่างเป็นบุญเป็นบาป เป็นดีเป็นร้าย เป็นกุศลเป็นอกุศล แต่เพื่อให้เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา แล้วแต่ว่าใครจะสร้างมันอย่างไร ฟังดูให้ดีๆ ว่าอีกทีก็ได้ว่า ไอ้ธรรมชาติไม่ได้สร้างชีวิตนี้มาอย่างว่าเป็นบุญหรือเป็นบาป เป็นของดีหรือของร้าย เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ว่าสร้างมาเป็นกลางๆ เพื่อเป็นไปตามกฎของอิทัปปัจจยตาว่าเขาจะได้ทำกันไปในส่วนไหนแล้วแต่จะสร้างมันอย่างไร นี่ในฐานะนักศึกษาทั่วไป นักศึกษาทั้งหมดควรจะรู้ว่าไอ้ชีวิตนี้ธรรมชาติไม่ได้สร้างมาดีเสร็จหรือชั่วเสร็จ บุญหรือบาป เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล สร้างมาเป็นกลาง ที่นี้ไอ้ชีวิตนั่นแหละมันจะสร้างตัวเองของมันอย่างไร จนกลายเป็นดีเป็นชั่ว เป็นบุญเป็นบาป เป็นกุศลเป็นอกุศล คนโดยมากที่เขาพูดกันตามธรรมเนียมประเพณีน่ะ เขาก็พูดว่าเป็นบุญ การที่ได้เกิดมานี้เป็นบุญ นั่นมันเป็นเพียงความหวัง มันเป็นเพียงความหวัง คือว่าเขาหวังที่จะสร้างจะทำให้มันเป็นบุญได้ แต่มันก็ไม่ได้เป็นบุญเสร็จมาแล้วมันต้องสร้าง มันเพียงแต่ว่าเป็นโอกาสที่จะได้สร้างบุญ หรือสร้างไปในทางฝ่ายดี เลยตีคลุมเหมาเอาว่าได้เป็นบุญชีวิตที่ได้มาหรือเกิดมานี่เป็นบุญ ถ้ามันเป็นบุญแล้วมันก็ไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวนี้มันยังไม่ได้เป็นอะไรเลยมันเป็นของกลางๆ เรานี่แหละจะต้องจัดต้องทำให้มันเป็นไปตามที่ควรจะเป็น ทีนี้มันก็มีกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอยู่อีกเหมือนกันที่ว่า ทำอย่างไรแล้วจะเป็นอย่างไร ทำอย่างไรแล้วจะเป็นอย่างไร ทำอย่างไรแล้วจะเป็นอย่างไร กฎเกณฑ์อันนี้เรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตา โดยส่วนใหญ่แยกออกเป็นสองฝ่าย คือว่าจะทำอย่างนี้แล้วก็เป็นไปในฝ่ายทุกข์ฝ่ายชั่วฝ่ายบาป ทำอย่างนี้แล้วจะเป็นไปฝ่ายตรงกันข้าม คือฝ่ายดีฝ่ายถูกต้องเป็นบุญเป็นกุศล กระทั่งสิ้นสุดแห่งบุญกุศลกระทั่งสิ้นสุดแห่งวัฏสงสาร มันจบลงด้วยการที่ไม่มีตัวบุคคลที่จะเป็นปัญหาอีกต่อไป แต่เรามาเรียกกันเพียงสองอย่างก็พอว่า ด้านหนึ่งซีกหนึ่งเป็นไปเพื่อความทุกข์ ด้านหนึ่งหรือซีกหนึ่งเป็นไปเพื่อดับทุกข์ และการดับทุกข์ที่แท้จริงนั้นมันก็ในขั้นต้นก็ทำดีๆๆ จนในที่สุด เลิกบุคคลนั่นเสีย เลิกบุคคลที่ทำชั่วทำดีเสีย ไม่มีบุคคล แล้วมันก็ไม่ต้องประสงค์ดีหรือชั่ว ชั่วหรือดีอีกต่อไป แล้วกลายเป็นว่าง ดังนั้นถ้าเขียนรูปภาพเป็นรูปเปรียบมันก็ตั้งต้นด้วยความว่างคือวงกลม แล้วมันก็ขยุกขยิกดำขาวๆๆๆ กระทั่งมันขาวๆๆ กระทั่งมันว่างเป็นวงกลมอีกทีหนึ่ง หมายความว่ามันตั้งต้นด้วยวงกลมแล้วก็จบลงด้วยวงกลม ไอ้วงกลมนี้มันก็ต่างกันกับวงกลมแรกนั่น มันอาจจะเปลี่ยนได้ คือเปลี่ยนไปเป็นดำขาวๆ ได้ แต่พอวงกลมสุดท้ายแล้วก็ไม่เปลี่ยนเป็นดำเป็นขาวได้อีกต่อไป นี่ขอให้รู้ว่าชีวิตของคนเราของตัวเองนั่นแหละของใครก็ของมัน มันก็ของชีวิตนั้นน่ะที่จริงมันก็ไม่ได้มีตัวตน แต่ถ้าพูดตามความรู้สึกของคนสามัญก็ว่ามีตัวตนมีชีวิตของฉัน ถ้าพูดตามความจริงแล้วมันเป็นธรรมชาติ ชีวิตเป็นกลุ่มที่ธรรมชาติปรุงขึ้นมาให้มีชีวิตที่มีร่างกายมีจิตใจแล้วก็กระทำกันไปตามเหตุตามปัจจัยนี้เรียกว่าชีวิต ธรรมชาติไม่ได้สร้างมาสำหรับชั่วหรือดี เพราะธรรมชาติเองธรรมชาติแท้ๆ มันไม่มีชั่วไม่มีดี มันมีแต่ว่าอย่างไรเท่านั้นแหละ อย่างไร ทำอย่างไรอะไรจะเกิดขึ้น ทำอย่างไรอะไรจะเกิดขึ้นอย่างไร มันมีแต่อย่างไรเท่านั้นแหละ ธรรมชาติไม่ต้องการชั่วไม่ต้องการดี แต่คนที่เป็นเจ้าของ สมมติตัวเองเป็นเจ้าของนะ ชีวิตนั่นแหละมันมีชั่วมีดี มันมีความรู้สึกที่จะแยกได้เป็นชั่วหรือดี มันเคยชอบชั่วก็ได้ถ้ามันโง่มากเกินไป ต่อมามันก็ไม่ชอบมันก็ชอบดี แล้วก็หลงในความดี ก็เป็นไปอย่างดี เรียกว่าหมุนไปอย่างดีแต่มิใช่หยุดหมุน มันจึงดูให้ดีว่าไอ้ตัวเรานี้มันคืออะไร ถ้ารู้จริงเห็นจริงว่าตัวเรามิไม่ได้มี มันเป็นแต่รู้สึกเอาเองคิดนึกเอาเอง หมายมั่นเอาเองว่าเป็นตัวเรา คือจิตนั่นมันโง่ มันก็หมายมั่นเอาไอ้ชีวิตร่างกายกลุ่มนี้ว่าตัวเรา ดังนั้นความโง่ของมันมีอย่างไรมันก็เป็นไปตามความโง่ มันจึงไปหลงเรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องดีเรื่องชั่ว จนกว่ามันจะหายโง่ พอมันหายโง่มันก็ต้องการจะอยู่เหนือดีเหนือชั่ว โดยประการทั้งปวงที่เรียกว่าจบแห่งวัฏสงสารสิ้นสุดแห่งวัฏสงสารเป็นนิพพาน มันก็ไม่ดีไม่ชั่ว แต่ทีนี้มันผ่านมาแล้วมันหายโง่แล้ว มันจะกลับไปชั่วไปดีอีกไม่ได้ สังเกตดูให้ดีเถิดทีแรกมันก็ไม่ดีไม่ชั่วแต่มันยังมีโง่อยู่ในนั้น และมันก็มาทำจนได้ดีได้ชั่ว ได้ดีได้ชั่ว ได้ดีได้ชั่วเป็นวัฏสงสาร และเป็นไปตามอำนาจปรุงแต่งของความดีความชั่วซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องอยู่นิ่งไม่ได้ ระหกระเหิน กระโดดโลดเต้น แล้วแต่จะใช้คำไหนไปตามความดีไปตามความชั่ว ขนาดนี้เรียกว่านรกแล้วก็แบ่งเป็นหลายๆ ชั้นหลายๆ นรก ขนาดนี้เรียกว่าสวรรค์ก็แบ่งเป็นหลายๆ ชั้นหลายๆ สวรรค์ แต่แล้วมันก็รวมกันอยู่ที่ดีและชั่ว เมื่อมันหลงอยู่ในความดีความชั่วมันก็ต้องไปตามดีตามชั่ว จนกว่าจะเอือมระอาไม่เอาไม่เอาแล้วทั้งชั่วทั้งดี ไม่เอาแล้ว นั่นแหละจะสุดลงกลายเป็นว่างหรือไม่ดีไม่ชั่วอันถาวรตลอดไปเข้าธรรมชาติเดิมแท้ที่ถาวรตลอดไป ทีนี้บางคนก็สงสัยว่า เอ๊ะ, ทำไมก็ในโลกนี้เขาสอนแต่ให้ทำดีกันทั้งนั้น ทำไมมามองสิ่งที่เรียกว่าดี และกลายเป็นของร้ายหรืออันตรายไปเสียอย่างนี้ นี่ถ้าอย่างนี้ขอให้เข้าใจเสียเลยว่ามันพูดกันคนละชั้น ที่มันพูดกันอย่างชั้นคนธรรมดาสามัญที่เรียกกันว่าปุถุชนมันก็พูดอย่างหนึ่ง พูดอย่างผู้รู้ของพระอริยเจ้ามันก็พูดอย่างหนึ่งแหละ อย่างปุถุชนมันก็อยากดีได้ดีเพราะว่ามันได้ความสนุกสนานพอใจเอร็ดอร่อยซึ่งเป็นผลของความดี มันก็บูชาความดีสอนให้ทำความดีอะไรๆ ก็ฝากไว้กับความดี และมุ่งให้ดีที่สุด นั้นคือคนธรรมดา ถ้ามาถึงผู้รู้ ผู้รู้จริง ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คือพระพุทธเจ้านั่น ท่านเห็นว่าทั้งชั่วและทั้งดีนั้นมันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วมันก็จะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ความสงบ ดังนั้นต้องเลิกหรือพ้น พ้นชั่วพ้นดีจึงจะมีความสงบ นั้นคำว่า “นิพพาน” นิพพานที่เป็นยอดสุดจุดจบของพุทธศาสนานั้น จึงมีความหมายว่าเหนือชั่วเหนือดี และไม่มีการเวียนว่ายไปตามความชั่วความดี ฉะนั้นเขาจึงสอนให้อยู่เหนือความดี พวกเราอยู่ในโลกของชาวบ้านอย่างนี้ก็ทำดีๆ อุตส่าห์เรียนให้ดีทำงานให้ดีมีทรัพย์สมบัติให้ดีให้ดีๆๆ และอยู่กันด้วยความดีอย่างเป็นผาสุก ดังนั้นก็เรียกว่าเป็นความถูกล่ะ ไม่ใช่ความผิด เป็นความถูกแล้วสำหรับในโลกนี้ในหมู่ปุถุชนนี้แล้วก็ทำไป แต่ต้องรับรู้ไว้ว่าสักยุคหนึ่งสักสมัยหนึ่งมันก็เห็นว่า เอ้า, มันมันแค่นี้เอง เท่านี้เอง ไม่มีอะไรมากกว่านี้ คือกระโดดโลดเต้น วิ่งๆๆๆ วนๆ อยู่ในชั่วดีๆๆ แม้ดีจะดีอย่างไรแต่มันก็ยังถูกปรุงแต่ง แล้วเราก็เหน็ดเหนื่อยเพราะการบริโภคความดีเท่าๆกันกับเราเหน็ดเหนื่อยเมื่อสร้างความดี เหน็ดเหนื่อยมาก ที่สุดแม้แต่บริโภคความดีมันก็ต้องเหน็ดเหนื่อยเพราะมันต้องทนๆๆๆ มีชีวิต ทนบริโภคความดี แม้จะเป็นชั้นสวรรค์มันก็ต้องบริโภคความดีแล้วมันก็เหน็ดเหนื่อยตามภาษาการบริโภคความดี ซึ่งมันไม่คงที่มันไม่แน่นอน ดังนั้นคนที่เขาศึกษาธรรมะถึงที่สุดแล้วเขาก็จะพูดได้รู้สึกได้และพูดได้ตามแบบพระพุทธเจ้าพูดตรัสนี้ทั้งนั้นแหละ คือไม่เอาทั้งชั่วและดี หนังสือเก่าๆ ของคนโบราณทางภาคนี้เขาเขียนไว้แต่งไว้ ที่เป็นคำกลอนน่ะ มีอยู่ตอนหนึ่งประโยคหนึ่งที่มันที่สุดมันก็เขียนไว้ว่า ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ ฟังดูเถิด ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ บางคนก็ค้านว่าไม่ ไม่ยอมเชื่อเพราะว่าบูชาความดีมาตลอด แล้วมาบอกทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์อย่างนี้ก็มี นี้มันรู้ธรรมะถึงระดับสูงสุดเสียแล้ว จึงเห็นว่าดีชั่วชั่วดีนี้เป็นของคู่ๆ อยู่ข้างล่างอยู่ข้างใต้อยู่ข้างล่าง ไม่เหนือโลกมันอยู่ในโลกมันจมโลก ชั่วดี ชั่วดี ถ้าข้างบนโลกเหนือโลกเป็นโลกุตตระแล้วไม่มีชั่วไม่มีดี มันจึงเสมือนหนึ่งว่าคนนั้นมันยืนอยู่เหนือโลกโดยประการทั้งปวง แล้วมันมองลงมาข้างล่างก็เห็นว่า โอ้, ในโลกนี้มีชั่วมีดี แล้วก็ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ คำพูดอย่างนี้อาจจะถูกด่าทั้งคนที่พูดทีแรกและคนที่เอามาพูดต่อแหละ ไอ้คนมันก็ยังพอใจในความดีเขาก็ด่าเอา แต่เราก็ไม่ไม่เกี่ยวกันเรื่องด่า ด่าไม่ด่าไม่ไม่เกี่ยวกัน มันเกี่ยวกับจริงหรือไม่จริงเท่านั้นแหละ ก็ดูกันในแง่นั้น ทีนี้ก็ดูที่คำว่า “อัปรีย์” ภาษาบาลีแท้ๆ อัปรีย์คือ อปฺริย แปลว่าไม่น่ารัก มันไม่ได้แปลเป็นความเลวทรามเสียหายอย่างในภาษาไทยที่ด่ากันว่าไอ้ชาติอัปรีย์ เลวไปหมด หมดความหมายเลย แต่ในภาษาบาลีแท้ๆ อัปรีย์แปลว่าไม่น่ารัก ปรียะแปลว่าที่น่ารัก อะแปลว่าไม่ อัปรีย์แปลว่าไม่น่ารัก หมายความว่า มันหลอกลวงเหมือนกับชั่วนั่นแหละ มันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเปลี่ยนไปๆ ทั้งชั่วทั้งดี ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาเหมือนกันทั้งสองอย่าง ดังนั้นจึงว่าไม่น่ารัก และที่ชัดเจนกว่านั้นก็หมายความว่าถ้าไปรักมันเข้ามันก็จะกัดเอา ไปหลงชั่วมันก็กัดเอาตามแบบชั่ว ไปหลงดีบ้าดีมันก็กัดเอาตามแบบดี ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่กัดเอาทั้งนั้น ดังนั้นเราจึงไปเอากับมันไม่ได้ไปรับกับมันไม่ได้ จึงใช้คำรวมกันเสียเลยว่า ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์คือไม่น่ารัก มันตรงกับคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเอามาเป็นตัวเราเอาเป็นของเรา ให้มันเป็นของตามธรรมชาติไป นี่เรียกว่ารู้เรื่องชั่วรู้เรื่องดี รู้เรื่องบุญรู้เรื่องบาป รู้เรื่องกุศลรู้เรื่องอกุศลอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะมองเห็นว่าทั้งหมดนั่นทุกคู่ๆๆ เป็นคู่ๆ ทุกๆ คู่นั่นไม่ไม่ได้ไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ไปยึดมั่นถือมั่นแล้วมันกัดเอา คือมันทำให้มีความทุกข์ขึ้นมา สรุปคำสอนก็ว่าอย่าไปหลงรักยึดมั่นยึดถืออะไรในเรื่องชั่วเรื่องดี จงทำใจให้เป็นอิสระอยู่เหนืออำนาจเหนืออิทธิพลของความชั่วความดี อย่าให้ความชั่วมาขู่ให้กลัว ไม่กลัว เราไม่ได้ทำชั่วเราไม่ต้องการความชั่ว อย่าให้ความดีมาล่อให้รัก กูไม่ต้องการมึง ก็เลยไม่ต้องการอะไรหมด นี่เรียกจิตใจอยู่เหนือโลกคือเหนือชั่วเหนือดีซึ่งเป็นของมีอยู่ในโลก ในโลกนี้ไม่มีอะไรนอกจากความชั่วและความดี ถ้าเราอยู่เหนืออิทธิพลของความชั่วและความดีได้แล้วก็คืออยู่เหนือโลก นั้นล่ะคือว่าโลกุตตระ โลกุตตระเหนือโลกที่เป็นจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา
ขอให้มองทีเดียวแต่ต้นจนปลายสำหรับเรื่องของชีวิต ว่าชีวิตนี้ธรรมชาติไม่ได้สร้างให้เป็นดีเป็นชั่วหรือแน่นอนลงไปอย่างไร สร้างมาให้เป็นกลางที่สุด เหมือนกับว่าไอ้สัมภาระทั้งหลาย เช่น ดินๆๆ ดินเหนียว เป็นต้น นี่เราจะปั้นเป็นรูปอะไรก็ได้ ธรรมชาติสร้างมาอย่างเป็นกลาง ทีนี้มนุษย์ที่เป็นตัวชีวิตเป็นตัวเจ้าของชีวิตมันคิดนึกได้มันรู้สึกได้ มันก้าวหน้าทางความคิดนึกได้มันก็คิดไป มันๆ ชอบอย่างไรก็มันก็ทำไปอย่างนั้น ไอ้ที่ถูกใจมันก็ว่าดี ไม่ถูกใจมันก็ว่าชั่วนี่ ถ้าว่ามันรู้สึกกันตามปกตินะ แม้คนพาลมันจะกลับเอาดีเป็นชั่วชั่วเป็นดี มันก็ความหมายอย่างเดียวกัน ถ้าถูกใจมันก็ว่าดี ถ้าความชั่วถูกใจมัน มันก็ว่าดี มันก็ดีของคนพาลไม่ใช่ดีของบัณฑิต ทีนี้เดี๋ยวนี้เราเป็นคนมีปัญญาสูงสุด ไม่หลงไปตามที่จิตมันโง่เขลาไปหลงยึดมั่นรักนั่นเกลียดนี่รักชอบนั่นชังนี่ ป่วยการ นี่ขอให้เข้าใจหัวข้อธรรมะพื้นฐานข้อแรก ว่าอย่างนี้ก่อน เราจะได้รู้ว่าตัวเรา ตัวเราเราปัจจุบันนี้จะต้องทำอย่างไร ถ้าเรารู้ว่าธรรมชาติไม่สร้างมาเพื่อดีหรือชั่ว ไม่ได้ไม่ได้สร้างมาอย่างเป็นดีเป็นชั่วเป็นบุญเป็นบาปแล้ว มันก็เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องสร้างเอาเอง เราจะสร้างอะไร อยากจะลองสร้างความชั่ว ชั่วดูบ้างก็ได้ แล้วมันก็ทนไม่ไหวมันก็เลิกเองน่ะ อยากจะสร้างความดีก็ดี สร้างไปสร้างไปในที่สุดมันก็ว่าขี้เกียจ ขี้เกียจเวียนว่ายไปตามอำนาจของความดี ขี้เกียจจะถูกเชิดด้วยความดี ไม่อยากจะถูกเชิดเลย อยากจะอยู่สงบๆ แล้วก็เลยโยนทิ้งหมดทั้งชั่วและดี นี่จะทำได้หรือไม่นั้นล่ะ มันอีกเรื่องหนึ่ง คุณจะทำได้หรือไม่มันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าธรรมชาติแท้ๆ มันให้มาอย่างนี้ ดังนั้นต่อไปนี้เราจะทำอะไร เราจะเลิกความชั่วจะสร้างความดี เพื่อให้รู้จักเสียก่อนทั้งความชั่วและความดี ต่อไปมันก็เบื่อหน่ายคลายกำหนัดในความดี มันก็ขึ้นไปพ้นความดี แล้วก็จบเรื่องก็จบเรื่อง ที่เรียกว่าจบพรหมจรรย์ จบพรหมจรรย์ก็หมายถึงมาถึงนี่ จิตมาถึงระดับที่ว่าไม่ต้องการทั้งความชั่วและความดี หลุดพ้นจากโลกโดยประการทั้งปวง การประพฤติพรหมจรรย์จนเป็นพระอรหันต์คือเป็นอย่างนี้นี่เอง ขอให้เข้าใจอย่างนี้ แม้แต่เหลียวดูไปทางศาสนาอื่น เช่น ศาสนาคริสเตียน เป็นต้น ข้อความในคัมภีร์ของเขาก็เขียนไว้อย่างนั้นแหละ พระเจ้าสร้างโลกขึ้นมาแล้ว สร้างมนุษย์คู่แรกขึ้นมาแล้ว แล้วก็บอกมนุษย์คู่แรกนั้นว่าอย่าไปกินผลไม้ของต้นไม้ต้นนั้น ซึ่งมันทำให้รู้จักชั่วรู้จักดี ถ้าแกไปกินเข้าแกจะต้องตาย นี่ต่อมาผัวเมียคู่นั้นเขาเขาเกิดไม่เชื่อพระเจ้า เลยเกิดความคิดและอิสระอะไรของเขา แล้วมันก็ไปกินกินเข้ากินเข้า มันก็รู้ รู้สึกผิดชอบชั่วดี รู้สึกเป็นคู่ๆ ขึ้นมา เมื่อก่อนมันไม่เคยนุ่งผ้า มันอยู่เปลือยๆ กันโดยไม่มีความหมายอะไร ตั้งแต่มันกินผลไม้นี้เข้าแล้ว มันรู้ เอ้า, อย่างนี้นุ่งผ้าอย่างนี้ไม่นุ่งผ้า อย่างนี้ละอายอย่างนี้ควรละอายอย่างนี้ไม่ควรละอาย อย่างนี้เลวอย่างนี้ดี เป็นต้น มันก็เกิดนุ่งผ้า เป็นต้น พอพระเจ้ามาเยี่ยมทีหลังก็รู้ว่าไอ้นี่มันกินเข้าไปแล้ว ต่อไปนี้ก็จะต้องต้องตาย พระเจ้าลงโทษว่าต้องตายคือให้มีความทุกข์ตลอดกาล ให้มันมีความทุกข์ตลอดกาลเลย เพราะมันไปยึดถือเรื่องดีเรื่องชั่วเข้าแล้วมันจะมีความทุกข์ตลอดกาล นั่นล่ะคือตาย บาปนิรันดร บาปถาวร บาปตั้งต้นมันก็เกิดขึ้นแล้วแก่มนุษย์ที่ตรงนั้น นี่ไอ้ลัทธิอื่นเขาว่าอย่างนี้ แต่มันก็มีความหมายเหมือนๆ กันตรงที่ว่ามันลำบากเพราะไปยึดมั่นเรื่องชั่วเรื่องดี ก่อนนี้ไม่รู้เรื่องชั่วเรื่องดียังไม่นุ่งผ้า เอ้า, พอรู้เรื่องชั่วเรื่องดีมันรู้สำหรับยึดถือ มันไม่ใช่รู้สำหรับจะอยู่เหนืออิทธิพลของชั่วดี มันรู้สำหรับจะยึดถือชั่วยึดถือดี แล้วก็มีปัญหา ดังนั้นเขาก็ต้องลำบากเรื่องชั่วเรื่องดีตลอดไปจนกว่าจะรู้จักชั่วดีอีกทีหนึ่งในตอนท้าย โอ้, สองอย่างนี้ไม่ไหว ทั้งสองอย่างนี้ไม่เอา ก็เท่ากับว่าไม่รู้ชั่วรู้ดีอีกแหละ คือไม่ให้ความหมายแก่ความชั่วและความดี ไม่สำนึกในความชั่วและความดีอีกต่อไป ถ้าทางฝ่ายพุทธเราก็เรียกว่ามันอยู่เหนือโลก ทางฝ่ายคริสต์เขาก็ว่าไปอยู่กับพระเจ้า ทีนี้ก็ไปอยู่กับพระเจ้า มันๆๆ อยู่เหนือชั่วเหนือดี หมายความว่ามันหมดปัญหาก็แล้วกัน ใช้คำอย่างไรก็ไม่ค่อยถูกนัก แต่ว่าปัญหาจะหมดสิ้นเชิงสำหรับความเป็นมนุษย์ นี่เรียกว่าเป็นธรรมะข้อหนึ่งประเด็นหนึ่ง ไมต้องมีระบบอะไรกับใคร มันมีอยู่อย่างนี้ ขอให้รู้ไว้เป็นประเด็นแรกของคนเราตามคำสรุปความที่บอกไปแต่ต้นนั้นว่า ธรรมชาติไม่ได้สร้างชีวิตมาอย่างเป็นบุญหรือเป็นบาป เป็นดีหรือร้าย เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ให้เป็นไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา ไปในทางชั่วก็ได้ไปในทางดีก็ได้จนกระทั่งรู้ว่าไม่ไหวในการที่จะเวียนว่ายอยู่ในเรื่องดีเรื่องชั่วอย่างนี้ไม่ไหวๆ ขอเลิกขอพ้นขออยู่เหนือ ก็จึงไม่ต้องการทั้งชั่วและทั้งดี นี่เรียกว่ามีปัญญามีวิชชาเกิดขึ้นแล้ว เมื่อก่อนนี้มีอวิชชาไปหลงชั่วหลงดี เดี๋ยวนี้มีวิชชาเสียแล้ว ไม่ต้องการทั้งชั่วและดี มันก็ไม่มีการปรุงแต่งเพื่อชั่วและดี มันก็จบ เรื่องมันจบสำหรับชีวิตนั้นน่ะ ชีวิตที่สมมติเรียกว่าบุคคลคนนั้นมันก็จบ ที่นี้เราเราทุกคนแต่ละคนๆ นี้น่ะกำลังมีปัญหาอยู่ตรงไหนน่ะ อยู่ตรงไหน อยู่กำลังทำชั่วหรือกำลังทำดี ขอให้จับให้ได้สังเกตให้รู้แล้วก็ทำให้มันถูกเรื่องก็แล้วกัน ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม จะศึกษาธรรมะไปทำไม ที่จริงธรรมะทุกๆ ข้อที่สอนให้รู้ให้ปฏิบัตินี่ก็เพื่อจะให้อยู่เหนืออำนาจของชั่วและดี เรียกว่าให้หลุดพ้นให้วิมุตติให้หลุดพ้นนั้น ให้อยู่เหนือการผูกพันของความชั่วและความดี เดี๋ยวนี้มันเดี๋ยวนี้เราคนธรรมดาน่ะอยู่ในใต้อำนาจการผูกพันบีบคั้นของความชั่วและความดีอยู่ตลอดเวลา จนให้เกิดอารมณ์ที่ไหลไปเองเป็นนิวรณ์น่ะ วิตกกังวลลังเลอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ลังเลว่าชีวิตนี้มันจะไปทางไหน ไอ้เรื่องต่างๆ ที่เราตั้งใจจะกระทำนั้นน่ะ มันจะเป็นไปตามที่เราต้องการหรือไม่ ไอ้สิ่งที่เรากำหนดกันไว้จะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ ที่เราพยายามจะได้อะไรแล้วมันจะได้ตามนั้นหรือไม่ มันร้อยแปดพันอย่างน่ะที่มันจะวิตกกังวลและลังเลว่ามันจะได้หรือไม่ในในระหว่างสิ่งทั้งสองนี้ ที่จะพ้นจากความเสียหายชั่วร้าย จะได้สิ่งที่ดีที่ถูกใจหรือไม่ ไม่มีใครเคยคิดว่าช่างหัวมันไม่เอาทั้งสองอย่างเพื่อจะไปอยู่ที่เหนือชั่วเหนือดี ไม่มีใครเคยคิด แล้วมันจึงอยู่ในวงของโลกนี้ มันก็มีนิวรณ์ วิตกกังวล ผูกพันกันอยู่แต่กับเรื่องชั่วเรื่องดี เรื่องชั่วเรื่องดี คือเรื่องได้เรื่องเสียนั่นแหละ มนุษย์นี่มันกังวลอยู่แต่เรื่องได้และเรื่องเสีย นับตั้งแต่ว่าจะสอบไล่ได้หรือไม่ จะมีงานทำหรือไม่ แล้วงานนั้นจะดีหรือไม่ จะได้ผลมากหรือไม่ มันก็วิตกกังวลอยู่แต่เรื่องชั่วเรื่องดี เรื่องได้เรื่องเสีย แล้วมันจะเป็นที่หน้าพอใจหรือไม่ก็คอยสังเกตดูเอาเอง เดี๋ยวนี้พวกเรายังมีอายุน้อยนักยังมีอายุน้อยนัก ชั่วเท่านี้มันยังน้อยนัก มันยังจะต้องศึกษาสังเกตต่อไปข้างหน้าให้มันมากพอ แล้วมันก็จะค่อยตัดสินได้ถูกเองแหละว่าจะเอากันอย่างไร จึงจะจิตใจนี้อยู่เหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง ข้อแรกจบ ข้อแรกมีหัวข้อว่าธรรมชาติไม่ได้สร้างชีวิตมาอย่างเป็นบุญเป็นบาปเป็นดีเป็นชั่ว เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่สร้างมาเพื่อเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้ก็มี สิ่งนี้มีสิ่งนี้ก็มี สิ่งนี้มีสิ่งนี้ก็มี แล้วแต่จะทำกันในฝ่ายไหนแล้วแต่จะสร้างมันอย่างไร ไอ้ชีวิตแต่ละคนนี้มันจะดีจะชั่วจะสุขจะทุกข์ มันก็อยู่ที่เขาสร้างมันขึ้นเอง
เอ้า, ทีนี้ข้อต่อไปปกิรณกะ พูดเรื่องเพศ เรื่องเพศ เรื่องเพศนี่ ระบบเพศธรรมชาติสร้างมาเพื่อสิ่งที่มีชีวิตไม่สูญพันธุ์ เพื่อชีวิตไม่สูญพันธุ์ยังมีอยู่ต่อไป ไม่ใช่ของขวัญอันวิเศษที่ใครจะเรียกร้องแล้วบูชาในฐานะเป็นสิ่งสูงสุด ข้อนี้เราพูดกันเรื่องเพศ ถึงได้บอกว่าธรรมชาติจัดให้มีระบบเพศขึ้นมาในสิ่งที่มีชีวิตนั่นเพื่อมันไม่สูญพันธุ์เท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเอามาเป็นของประเสริฐเป็นของขวัญของพระเจ้า แล้วก็บูชาในฐานะเป็นเรื่องสูงสุดของมนุษย์ ดังนั้นที่ว่าธรรมชาติสร้างมานี่ควรจะเข้าใจกันได้แล้ว คือว่าระบบเพศนี่ธรรมชาติใส่มาทั้งแก่คนสัตว์มนุษย์ และแก่สัตว์เดรัจฉานและแก่ต้นไม้ต้นไร่ซึ่งเป็นสัตว์มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตต่ำต้อยที่สุดมันก็มีเรื่องเพศ เข้าใจว่าท่านทั้งหลายที่เคยศึกษาเรื่องชีววิทยามาดีแล้วน่ะคงรู้เรื่องนี้ดี ว่าแม้แต่ต้นไม้มันก็มีเพศที่มันต้องมีการผสมพันธุ์ระหว่างเพศ แล้วมันก็ไม่สูญพันธุ์ ต้นไม้มันก็มีมาเรื่อยไม่สูญพันธุ์ สำหรับเรื่องสัตว์เรื่องคนนั้นไม่ต้องพูดเพราะเห็นๆ กันอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดว่าเพื่อไม่สูญพันธุ์ นี่รู้ว่าธรรมชาติ ธรรมชาติอันลึกลับธรรมชาติที่เปรียบเสมือนพระเจ้าน่ะมันสร้างระบบเพศมาในร่างกายชีวิตจิตใจของมนุษย์ เพื่อมนุษย์จะได้ใช้ในการสืบพันธุ์และไม่สูญพันธุ์ ที่นี้มันธรรมชาติมันเก่งกว่าเราเหลือประมาณล่ะ ไอ้ธรรมชาติหรือจะเรียกว่าพระเจ้าธรรมชาติก็ตามใจ เขาก็สร้างค่าจ้างคนให้ใช้ให้ทำการสืบพันธุ์ อวัยวะเพศนั้นก็มีเพศรสที่เรียกกันว่ากามารมณ์ เพศรส รสเกิดจากเพศเรียกว่าเพศรส คือกามารมณ์ ซึ่งเป็นรสสูงสุดกว่ารสใดๆ ในบรรดารสทั้งหลาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รสอะไรก็ตาม รสทางเพศเป็นรสสูงสุด ธรรมชาติมันก็ใส่รสสูงสุดนี่มาในระบบเพศ ถ้าไปทำการสืบพันธุ์ล้วนๆ มันไม่สนุก มันสกปรก มันเหน็ด มันเหนื่อย แล้วใครจะไปทำเล่า ดังนั้นธรรมชาติมันมาเหนือเมฆมันมาเหนือความรู้สึกของคน มันจึงใส่สิ่งล่อสูงสุดคือเพศรสนี่ไว้ในระบบนั้น เหมือนกับค่าจ้าง แล้วก็เป็นเรื่องที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องรู้สึกในเรื่องนี้และก็ใคร่จะสืบพันธุ์ โดยไม่ได้เจตนานักน่ะ ไม่ได้เจตนาจะสืบพันธุ์หรอก มันๆๆ เจตนาจะบริโภคเพศรสทั้งนั้น ถ้าว่าธรรมชาติไม่ได้ใส่เพศรสมาแล้วไม่มีใครสืบพันธุ์ เพราะธรรมชาติมันรู้ว่าคนมันไม่ ไม่สืบพันธุ์ก็ถือเป็นเรื่องลำบาก แต่ถ้าว่าใส่ค่าจ้างสูงสุดมาด้วยมันก็สมัครทำสมัครทำ จนกระทั่งเดี๋ยวนี้แม้ว่ามีการเจริญศึกษาสูงสุดอย่างมนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ ระดับมหาวิทยาลัยหรือระดับไหนก็ตาม มันก็ยังทำอะไรเพื่อเพศอยู่นั่นแหละ จนมีผู้กล่าวว่าอุตส่าห์เล่าเรียนอุตส่าห์เก็บหอมรอมริบไว้เป็นอันมากนี่ก็เพื่อจะมีการแต่งงานหรือสมรสที่หรูหราที่สุดครั้งหนึ่งเท่านั้น ดูจะไม่มีอะไรมากกว่านั้น พวกนักศึกษาทั้งหลายรู้สึกอย่างนี้หรือไม่ก็คิดดูเอาเอง ถ้ายังรู้สึกอย่างนี้ก็เรียกคนธรรมดาที่สุด ไม่รู้เรื่องเพศไม่รู้เรื่องชีวิตที่เขาหลอกให้ทำการสืบพันธุ์ด้วยเรื่องของเพศรส แล้วก็มาบูชา บูชากันเป็นสิ่งสูงสุด เป็นเกียรติยศที่สุดที่ได้มีพิธีสมรสที่หรูหราสวยสุด หรือจะเก็บเงินทั้งหมดไว้เพื่อสิ่งนี้สิ่งเดียว กว่าจะมีพิธีสมรส แล้วบางพวกก็จัดไว้เป็นเทพเจ้าเรียกว่ากามเทพ เด็กๆ ถูกหลอกให้บูชากามเทพกันเป็นคุ้งเป็นแควไปเลย เห็นเป็นเรื่องถูกเป็นเรื่องดีเป็นเรื่องสูงสุดของมนุษย์ไปเสียเลย นี่เรียกว่ามันพ่ายแพ้แก่ธรรมชาติทุกประตูทุกประตู จึงได้ท่องเที่ยวไปในโลกของเพศ คือกล่าวได้ว่ามนุษย์ส่วนมากที่สุด สัตว์เดรัจฉานไม่ต้องพูดถึง มนุษย์ส่วนมากที่สุดเป็นพวกกามาวจรภูมิ เป็นพวกอยู่ในกามาวจรภูมิ คือพวกที่ถือว่าเรื่องกามเป็นเรื่องสูงสุด ถ้ามันถือเรื่องรูปบริสุทธิ์เป็นสิ่งสูงสุดก็เรียกว่ารูปาวจรภูมิ ถ้ามันถืออรูปเป็นสิ่งสูงสุดเรียกว่าอรูปาวจรภูมิ ถ้ามันต้องการอยู่เหนือด้วยประการทั้งปวงเรียกว่าโลกุตตรภูมิ นี่เราทั้งหลายโดยทั่วไปมันอยู่ในกามาวจรภูมิ มีการบูชาเพศไม่ได้รู้ว่าไอ้เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ธรรมชาติมันหลอกลวงตั้งไว้เป็นค่าจ้างให้สัตว์ทำการสืบพันธุ์ ไม่สูญพันธุ์ ธรรมชาตินี้ไม่รู้มันเป็นอะไร มันต้องการอย่างยิ่งที่จะไม่ให้สัตว์สูญพันธุ์ คนก็ดี สัตว์เดรัจฉานก็ดี ต้นไม้ต้นไร่ก็ดี ไม่ต้องการให้สูญพันธุ์ มันจึงอยู่กันในสภาพอย่างนี้ ดังนั้นมองดูกันให้ดีไม่ใช่เป็นเรื่องเล่นๆ และไม่ใช่เป็นเรื่องอยู่นอกขอบเขตของคนหรือของมนุษย์ มนุษย์กำลังมีปัญหามากที่สุดก็เกี่ยวกับเรื่องเพศ นี้ล่ะเป็นส่วนใหญ่ คำอธิบายละเอียดในเรื่องนี้ไปหาอ่านเอาเองจากหนังสือหนังหาที่มันมีอยู่ดีแล้วยืดยาวแล้ว เช่น เรื่องของฟรอยด์ นักจิตวิทยารวมปรัชญาที่เรียกว่า ซิก มันด์ ฟรอยด์ เขาอธิบายให้เห็นชัดว่าอะไรๆมันล้วนแต่เป็นไปเพื่อเรื่องเพศ เพื่อเรื่องการสืบพันธุ์และการไม่สูญพันธุ์ ที่เราปฏิบัติอย่างยิ่งเพื่อไม่ ไม่ตายน่ะ ให้มีชีวิตอยู่ก็เพื่อประโยชน์แก่การสืบพันธุ์ ดังนั้นเราจะพบความจริงข้อนั้นได้ว่ามันกลายเป็นบูชาเรื่องนี้เป็นปกติธรรมดาของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา มันมีรายละเอียดมากล่ะก็ ก็เป็นที่น่าสนใจมากล่ะไปหาอ่านดูเอง มาพูดกันทั้งวันก็ไม่จบ แต่สรุปความว่าไอ้ความรู้สึกส่วนใหญ่ของสัตว์ที่มีชีวิตนี้ มันล้วนแต่เป็นไปเพื่อเพื่อเพศ เพื่อเรื่องของเพศ การที่จะมาถือว่าไอ้เรื่องนี้เป็นเรื่องสูงสุดบูชาเป็นของเทพเจ้าไปนั้นน่ะ มันก็พวกอื่นพวกอื่นเขาก็ทำไปแต่ชาวพุทธจะทำไม่ได้ เพราะมันโง่มากเกินไปที่จะเป็นเรื่องของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ดังนั้นชาวพุทธจึงไม่มีความหลงใหลในเรื่องเพศ นี้เป็นเรื่องที่สอง เป็นประเด็นที่สองของเรื่องเบ็ดเตล็ดเรื่องปกิรณกะ เรื่องที่หนึ่งว่าชีวิตมันสร้างมาให้ทำเอาเองเพื่อจะดีหรือจะชั่ว แต่แล้วพอสร้างขึ้นมาแล้วให้มนุษย์นี้ไปหลงใหลเรื่องเพศกันเสียหมด มีอะไรๆ เป็นเรื่องเพศเป็นเบื้องหน้า แล้วมันก็เป็นไปตามนั้นแหละ มันก็ทำดีๆ ที่ว่าดีๆ ก็เพื่อความสมบูรณ์ทางเพศ รสทางเพศ ที่จะไปสวรรค์ ที่พูดกันนักว่าจะไปสวรรค์ แม้คนแก่ๆ นี่ก็เพราะได้ยินว่าในสวรรค์สมบูรณ์ไปด้วยเพศรส คือกามารมณ์สูงสุด มันจึงอยากได้สวรรค์กัน กลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของมนุษย์ไปแล้ว นี่เราควรจะรู้ให้ถูกต้องว่าความจริงนั้นมันเป็นอย่างไร และเราควรจะทำอย่างไร เรื่องที่สาม เรื่องที่สองเรื่องเพศ ชีวิตนะเรื่องที่หนึ่ง ไอ้เรื่องเพศเป็นเรื่องที่สอง
ทีนี้ก็จะพูดถึงเรื่องการล้างบาป คำว่า “ล้างบาป” ล้างบาปนี้เก่ามากเป็นคำเก่าแก่ก่อนพุทธกาล พระพุทธเจ้าเราก็เกิดมาตั้งสองพันกว่าห้าร้อยกว่าปีแล้ว แต่เรื่องล้างบาปล้างบาปก็มีอยู่ก่อนนั้นอีกตั้งหลายพันปี ก็มีพูดถึงการล้างบาป คือมนุษย์ได้เริ่มรู้จักบาป สิ่งที่เป็นบาปว่าเป็นของเลวร้ายร้ายกาจไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง ที่จริงก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมากไปกว่าว่าบาปน่ะมันให้ผลไม่น่าพอใจ แล้วมันบาปก็คอยทำให้เราได้รับผลไม่เป็นที่พอใจอยู่เรื่อย ก็ต้องล้างมันเสีย อย่าให้มันมาให้ผลอย่างนั้นอีก มันจึงมีการล้างบาป ตั้งแต่คนป่ามนุษย์สมัยคนป่ามันได้รู้จักสิ่งชั่วว่าเป็นสิ่งเลวร้ายไม่ควรจะเอาไว้ต้องล้างออกไปเสีย มันจึงมีคำว่า “ล้างบาป” มีพิธีเรียกว่าโทวนะ โทวนะแปลว่าการล้างบาป ก็มาจบอยู่ด้วยการรดน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ทำพิธีรดน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ หรือให้กินให้ดื่มให้ของศักดิ์สิทธิ์เรียกว่าไถ่บาปลุบาปสำรอกบาป คำเหล่านี้มีในบาลี แต่ไม่ค่อยเอามาพูดมาสอนกันเพราะมันไม่จำเป็น ยาที่กินเข้าไปแล้วถ่ายบาปออกหมดก็เรียกว่าวิเรจนะ วิเรจนะยาถ่าย กินเข้าไปแล้วสำรอกบาปออกหมดเรียกว่า วัมมานะ วัมมานะก็มี แล้วน้ำศักดิ์สิทธิ์รดกันแล้วหมดบาปเรียกว่าโทวนะนี้ก็มี พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้เกิดขึ้นในโลกเท่านั้น ท่านบอกว่าอย่างนั้นตามใจพวกแกแกว่าอย่างนั้นก็ตามใจพวกแก พระตถาคตหรือในอริยวินัยนี้บัญญัติอริยมรรคมีองค์แปดว่าเป็นยาถ่ายบาปเป็นยาสำรอกบาปว่าเป็นน้ำล้างบาป อริยมรรคมีองค์แปดมีผลด้วยเป็นสอง คือว่าสัมมายานะ สัมมาวิมุตติ เรียกว่า สัมมัตตะ ๑๐ สมบูรณ์ เพียงแต่อริยมรรคมีองค์แปดเป็นตัวเหตุ ยังไม่ได้ผลเหมือนกับยาที่ยังไม่ได้ผล ต่อเมื่อได้ผลแล้วก็เป็นสัมมัตตะ ๑๐ นี้ปฏิบัติในสัมมัตตะ ๑๐ มันก็สมบูรณ์ที่จะเป็นยาถ่ายบาป ยาสำรอกบาป น้ำล้างบาป ท่านว่าอย่างนี้ ตรงนี้ขอแทรกหน่อยว่าพวกเราทุกคนรู้เป็นหลักตลอดกาลไว้ด้วยว่า พระพุทธเจ้าหรือผู้ที่ปฏิบัติตามรอยพระพุทธเจ้านั้นจะมีหลักปฏิบัติที่เรียกว่าปฏิปทาคือ ไม่คัดค้านใคร ไม่คัดค้านใคร ไม่ทะเลาะวิวาทกับใคร เมื่อเขาสอนกันอยู่แต่ก่อนว่าอย่างไร ท่านก็บอกเป็นเรื่องของพวกท่าน แต่เราพูดอย่างนี้ เราขอพูดอย่างนี้ แล้วท่านก็พูดเรื่องของท่าน โดยไม่ระบุว่าของใครผิดของใครถูกหรอก แต่ไปเลือกเอาเองไปเลือกเอาเอง ข้อนี้อย่าเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าได้เป็นผู้คัดค้านเป็นผู้เจตนาต่อสู้ทำลาย ไอ้ลัทธิต่างๆ ที่มีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า แม้แต่พวกเดียรถีย์ทั้งหลาย พระองค์ก็ยังไปทรงสนทนาด้วยคบค้าสมาคมด้วย และเมื่อพวกเดียรถีย์เขาว่าอย่างนั้นท่านก็ว่าเราว่าอย่างนี้เท่านั้นแหละ นี่เป็นสิ่งที่ควรจะสังเกตกำหนดไว้เป็นหลักการด้วย อย่าไปว่าเขาผิด อย่าไปว่าศาสนาอื่นลัทธิอื่นผิด มันถูกของท่านมันถูกของท่านแต่ของเรามันมีอย่างนี้ๆ และก็พูดไว้ให้มันเคียงคู่กัน และท่านไม่ๆ แนะนำให้คิดว่าเราเท่านั้นถูกผู้อื่นผิด คนอื่นผิดหมดเราถูกคนเดียว อย่างนี้ไม่ได้หรอก เพราะเขาก็ถูกของเขา เขาก็มีส่วนถูกตามแบบของเขา ไอ้เราก็มีส่วนถูกหรือการถูกตามแบบของเรา ดังนั้นเรามีอย่างไรก็ว่าไป ถ้าเขาสอนกันอยู่ว่านรกอยู่ใต้ดินเป็นอย่างนั้นๆ สวรรค์อยู่บนฟ้าเป็นอย่างนั้นๆ มันสอนอยู่ก่อนแล้ว เอ้า, พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นท่านก็ตรัสว่า โอ้, มันอยู่ที่อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันเห็นแล้ว ฉันเห็นแล้ว ว่ามันแปลกไปจากนรกที่เขาสอนกันอยู่ก่อนว่าอยู่ใต้ดิน หรือสวรรค์อยู่บนฟ้า ท่านว่ามันอยู่ที่อายตนะ ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกชื่อว่า ผัสสายตนิกนรก ผัสสายตนิกสวรรค์ ทีนี้ผู้ฟังที่มันฉลาดบางคนเท่านั้น ที่มันฉลาดมันก็รับเอาสิ ที่มันไม่ฉลาดมันก็ถือไปตามแบบเดิมสิ แล้วมันมาสอนให้ในเมืองไทยก่อนพระพุทธศาสนาเข้ามา ดังนั้นมหาชนที่อยู่แถวนี้มันเชื่อนรกตามแบบเดิมก่อนพระพุทธเจ้านั้นอยู่เป็นประจำเป็นพื้นฐานเสียแล้ว มันจึงฟังเรื่องนรกสวรรค์ของพระพุทธเจ้าไม่ค่อยออก มันไปเชื่อนรกใต้ดินสวรรค์บนฟ้าตามแบบก่อนที่มาสอนไว้ก่อนแล้ว ยิ่งหนังสือไตรภูมิพระร่วงมาส่งเสริมนรกสวรรค์ชนิดนี้ด้วย คนก็ยิ่งเชื่อถือกันใหญ่ ถ้าว่าเป็นลูกศิษย์สาวกพระพุทธเจ้าจริงนรกสวรรค์มันอยู่ที่การกระทำถูกหรือกระทำผิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง มันจึงเป็นสนฺทิฏฺฐิโก คือเห็นได้ที่นี่เดี๋ยวนี้ รู้จักได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ทั้งนรกและสวรรค์ ดังนั้นอย่าตกนรกชนิดนี้ที่นี่และเดี๋ยวนี้และจะไม่ตกนรกชนิดไหนหมดตลอดกาลเลยกี่ชาติๆ ก็ตามใจ ขอให้ได้สวรรค์ที่นี่และเดี๋ยวนี้ถูกต้องที่อาสนะ แล้วมันก็จะได้สวรรค์ทุกชาติในอนาคตจะมีจะมีสักกี่ชนิดกี่อย่างก็ช่างมัน จะได้หมดแหละถ้าตกนรกที่นี่และก็ตกนรกตลอดไป ถ้าได้สวรรค์ที่นี่ก็ได้สวรรค์ตลอดไป แต่แล้วก็อย่าลืมว่าท่านไม่ได้สอนให้ต้องการนรกไม่ต้องการได้สวรรค์ตลอดไป ต้องการให้ขึ้นเสียให้พ้นจากนรกและสวรรค์เป็นโลกุตตระโน่น นี่เรียกว่าจะต้องช่วยกันระวัง เรื่องบาปนะเรื่องล้างบาป หรือบางทีก็พูดว่าล้างกรรม ล้างบาปล้างกรรม อย่างนี้ก็มีพูดกัน ทำไม่ได้โดยวิธีอื่นนอกจากให้ถูกตามกฎของอิทัปปัจจยตา ทำพิธีรีตรองล้างบาปมันไม่ถูกตามกฎของอิทัปปัจจยตา เพราะว่าบาปมันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะพิธีรีตองของใคร บาปมันเกิดขึ้นเพราะการทำผิดจากกฎอิทัปปัจจยตาในส่วนนั้น ดังนั้นจะล้างบาปจะเลิกบาปก็ให้ถูกตามกฎของอิทัปปัจจยตาในที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ดังนั้นเราจึงล้างบาปเลิกบาปได้โดยการกระทำที่ถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา ไม่ใช่โดยพิธีรีตองโดยอะไรที่ที่ทำๆ กันอยู่ หรือในศาสนาอื่น เขาสอนกันอย่างอื่นไม่ใช่กฎอิทัปปัจจยตา เขาเขาสอนถึงพระเจ้ายกบาป พระเจ้าเลิกบาป พระเจ้าล้างบาปก็ตามใจเขา เราไม่พูดเราจะพูดแต่ว่าพระพุทธเจ้าหรือในพระพุทธศาสนานี้จะล้างบาปจะล้างกรรม เลิกบาปเลิกกรรมเสียได้โดยปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา ดังนั้นจึงหวังว่านักศึกษาทั้งหลายคงจะไม่งมงายในเรื่องนี้ ไปทำพิธีล้างบาปล้างกรรมอะไรกันที่ว่าน่าสงสาร ถ้าจะเลิกล้างบาปหรือความชั่วหรือผลของความชั่วแล้วก็ทำให้ถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา โดยดูให้เห็นว่าบาปนี้มันเกิดขึ้นมาอย่างไร มันมีเหตุให้เกิดบาปเป็นตอนๆๆๆๆ จนถึงบาปสมบูรณ์ เราก็พยายามกำจัดเหตุแห่งบาปเหล่านั้นเสีย หรือว่าควบคุมไว้อย่าให้ไปทำมันเข้า อย่างนี้เรียกว่าถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา ในเรื่องของการล้างบาปการล้างกรรม นี่พูดเรื่องล้างบาป หัวข้อที่สามพูดเรื่องล้างบาป ถ้าใครอยากจะหมดบาปหมดชั่วหมดทุกข์ ก็ต้องทำพิธีเลิกล้างให้ถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา ซึ่งมันก็มีรายละเอียดยืดยาวเหมือนกันนะ แต่ก็ได้อธิบายไว้เพียงพอแล้วในการบรรยายแต่ละครั้งไปหาอ่านเอาเอง ทุกอย่างมันมาแต่เหตุแล้วเหตุมันก็ส่งทยอยกันขึ้นมาตามขั้นตอนๆๆ จนถึงกับว่ามานั่งเป็นทุกข์อยู่ โดยตรงโดยอ้อมโดยหยาบโดยละเอียดโดยเปิดเผยโดยไม่เปิดเผยนี่ก็มีอยู่ อย่าลืมว่าเรานี่ต้องการจะหมดบาปหมดบาปหมดกรรมกันทั้งนั้น แม้ที่มาศึกษาธรรมะมาศึกษาพุทธศาสนาก็เพราะเรื่องนี้ ถ้าจับเรื่องนี้ไม่ได้มันก็ล้างไม่ได้ก็เสียเวลาเปล่าๆ จะมาที่สวนโมกข์สักกี่ร้อยหนก็ไม่มีประโยชน์อะไร จะไปศึกษาที่ไหนสักกี่ร้อยหนมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้ามันไม่รู้เรื่องนี้ ไม่รู้เรื่องว่าการล้างบาปเลิกกรรมนั้นมันทำได้โดยการปฏิบัติถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา ดังนั้นขอให้บันทึกลงไปเป็นข้อที่สามว่าการล้าง ล้างบาป มีได้โดยการกระทำให้ถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา ไม่ใช่โดยพิธีรีตองใดๆ
เอ้า, ทีนี้หัวข้อที่สี่เรียกชื่อว่า อาหาร หัวข้อที่สี่นี้เรียกชื่อว่าเรื่องอาหาร เรามีหลักทั่วๆ ไปว่าสัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ได้เพราะอาหาร นี่เป็นพระพุทธภาษิตก็มีหลักทั่วไปก็มี สัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ได้เพราะอาหาร นี้อาหารนั้นมันมีหลายอย่างซึ่งเราจะจำแนกตามหลักที่เราชอบใช้วิธีการพูดที่เราชอบใช้โดยการแบ่งระดับสูงต่ำของธรรมะนี้ เราจะพูดเป็นสามระดับ คือ ทางกาย ทางจิต แล้วก็ทางวิญญาณ คือสติปัญญา วิญญาณในที่นี้คือสติปัญญา ไม่ใช่วิญญาณผีสางเทวดาที่ล่องลอยอย่างนั้นไม่ใช่ ไม่ใช่ที่ว่าต้องเส้นด้วยเอาของใส่ฝาหอยแครงไปวางไว้ให้กิน ไม่ใช่ๆ วิญญาณอย่างนั้น วิญญาณในที่นี้หมายถึงสติปัญญาระบบสติปัญญา ยกตัวอย่างเรื่องโรคภัยไข้เจ็บก่อน เป็นที่เข้าใจกันเสียทีก่อน นอกเรื่องแต่ว่าช่วยให้เข้าใจว่า เราเจ็บไข้ทางกายเราไปโรงพยาบาล เราเจ็บไข้ทางจิต หรือเนื่องกับจิต ก็ไปโรงพยาบาลโรคจิตหรือไปหาโรงพยาบาลที่สอนทำสมาธิให้หายโรคทางจิต นี้เราเจ็บไข้ทางวิญญาณคือทางสติปัญญา มีแต่อวิชชาก็ต้องไปหาพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะแหละ โรงพยาบาลของพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธเจ้าที่ยังทรงอยู่โดยพระคุณในบัดนี้น่ะ ไปขอแสงสว่างอันถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วก็ได้อาหารทางวิญญาณ หรือจะพูดเอาความสุขทางกาย ความสุขทางจิต ความสุขทางวิญญาณ ก็ๆ ได้เหมือนกันมันก็ช่วยให้ง่ายขึ้นอีก ความสุขสบายทางกายทางวัตถุบางทีเรามีที่บ้านที่เรือน อ้า, ความสุขทางจิตเราก็ไปทำสมาธิ โดยกดความทุกข์ไว้ตลอดเวลาที่มีสมาธิ นี้ถ้าว่าความสุขทางวิญญาณนั้นน่ะเราตัดกิเลสหมดจดสิ้นเชิง สิ้นอาสวะ ไม่มีอะไรเหลือ ก็เป็นความสุขทางวิญญาณโดยสมบูรณ์ เป็นสามชั้นอย่างนี้ ทีนี้เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดเรื่องอาหาร อาหาร อาหารทางกาย ข้าวปลาอาหารที่รับประทานอยู่ทุกวันนี้อาหารทางกาย อาหารทางจิตก็คือทำจิตให้ให้สบายเป็นสุขโดยสมาธิ สมาธิที่ทำแล้วได้รับทิฏฐธัมมิกัตถะสุข สมาธินั้นก็เป็นอาหารทางจิต ทีนี้ถ้าเป็นอาหารทางวิญญาณก็คือความรู้สติปัญญา ต้องการความรู้ที่ถูกต้อง ความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้มันไกลไปกว่าเรื่องจิต ต้องมีความรู้เรื่องธรรมะสูงสุดหลุดพ้นนั่นล่ะมาเป็นอาหารของวิญญาณ วิญญาณในที่นี้ คำว่า “วิญญาณ” วิญญาณนี้ในที่บางแห่งเป็นไวพจน์ของพระนิพพาน พระนิพพานเป็นไวพจน์ของพระนิพพานนั้นเรียกว่าวิญญาณอย่างนี้ก็มี แต่ไม่ได้มาสอนกัน จึงไม่ค่อยรู้ ดังนั้น คำว่า “วิญญาณ” ในที่นี้ต้องจำเป็นขอใช้ไปทีก่อนเพราะไม่รู้ว่าจะใช้คำอะไรดี วิญญาณแปลว่ารู้แจ้ง แต่รู้แจ้งทางสติปัญญา
แล้วมันจะมีอาหารได้ก็เพราะความรู้ที่ถูกต้องนั้นเองเป็นอาหารของวิญญาณ นี่เราต้องอยู่ด้วยอาหารครบทั้งสามประการ มนุษย์ทุกคนที่เป็นมนุษย์ที่ถูกต้องเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าที่ถูกต้องต้องมีอาหารเลี้ยงชีวิตครบทั้งสามประการ คืออาหารทางกายนี้ไม่ต้องพูดหรอก เพราะพูดกันทั่วโลกอยู่แล้ว อาหารทางจิต นี่ก็ไปฝึกจิตให้สงบระงับ ให้จิตได้ชุ่มชื่นเบิกบาน ทีนี้อาหารทางวิญญาณไปศึกษาให้รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้รู้อริยสัจ ให้รู้ปฏิจจสมุปบาท ให้รู้เรื่องระดับนี้ให้หมด นี่เป็นอาหารทางวิญญาณ มีอาหารทางกายกินมันก็ได้แต่รอดตายเท่านั้นแหละ มันไม่ได้อะไรมากไปกว่านั้นน่ะ มีอาหารทางจิตทำสมาธิได้จิตได้กินอาหารก็ได้ชื่อว่ามีสมาธิเท่านั้นแหละ พอเลิกสมาธิมันก็หิวอีก นี้อาหารทางวิญญาณเป็นความรู้เรื่องธรรมะอันสูงสุดทำลายตัวตนทิ้งเสีย ทำลายตัวตนเพิกถอนตัวตน ไม่มีตัวตนแล้วก็ไม่มีใครหิวอีกต่อไป อาหารจึงมีอยู่เป็นสามชั้นอย่างนี้ ถ้าใครได้กินอาหารครบทั้งสามชั้นอย่างนี้ คนนั้นเป็นพุทธบริษัทที่สมบูรณ์ เป็นอริยสาวกที่สมบูรณ์ แล้วก็จะระบุผู้ที่สมบูรณ์ที่สุดก็ต้องระบุไปยังพระอรหันต์เท่านั้นล่ะไม่มีทางอื่น เรานี่ก็ขอให้ได้กินอาหารทั้งสามอย่างแม้ไม่สมบูรณ์ ให้ได้กินอาหารครบอยู่ทั้งสามอย่างแม้ยังไม่สมบูรณ์ อาหารทางกายนี้ทำให้สมบูรณ์ได้ง่าย อาหารทางจิตก็พอจะทำให้สมบูรณ์ได้บ้าง แต่อาหารทางวิญญาณนั้นน่ะสมบูรณ์ไปก่อนเท่าที่จะทำได้แม้ยังไม่สมบูรณ์ถึงที่สุดมันก็ยังดี มันไม่โง่ไม่หลงไม่งมงาย ให้เสียสภาพความถูกต้องของความเป็นพุทธบริษัท นี่หวังว่านักศึกษาทั้งหลายจะรู้เรื่องอาหารให้ถูกต้องอย่างนี้แล้วไปจัดการเรื่องอาหารให้ถูกต้อง เรื่องอาหารทางกายอาหารทางจิตอาหารทางวิญญาณ สำหรับอาหารทางกายนั้นก็มีหลักปฏิบัติอยู่แล้วในพระคัมภีร์พระบาลีว่า บริโภคอาหารเท่าที่จะสบายอยู่ได้ พอเลี้ยงอัตภาพอยู่ได้ อาหารทางกายต้องการเท่านั้นก็พอ กินก็เหมือนหยอดน้ำมันเตาเกวียน หรือกินเสมือนกินเนื้อลูกกลางทะเลทรายอย่างนี้เป็นต้น เท่าที่จำเป็นที่จะเลี้ยงชีวิตให้เป็นปกติอยู่ได้ ไม่ต้องไปกินอาหารคำละหมื่นให้มันโง่หมื่นหนึ่งเปล่าๆ เดี๋ยวนี้ก็มีอาหารชนิดอะไรก็ไม่รู้เรียกไม่ค่อยถูกหรอก แพงมากขนาดเฉลี่ยคำละพันคำละหมื่น ไปกินข้าวมันก็มีความโง่ตั้งพันตั้งหมื่น ไปกินอาหารชนิดนั้น ถ้าอย่างนี้แล้วมันไม่หล่อเลี้ยงจิตใจหรอก มันทำให้จิตใจขาดอาหารอยู่เรื่อยไป ขอให้ทุกคนไปจัดการเรื่องอาหาร อย่าให้ขายหน้าต้นไม้ พูดอย่างนี้ดีกว่า อย่าให้ขายหน้าต้นไม้ เหลียวไปดูต้นไม้รอบๆ ตัวเรานี่ มันสดชื่นเต็มอยู่ด้วยความสดชื่นเพราะมันมีอาหารถูกต้องและสมบูรณ์สำหรับต้นไม้มีความสดชื่นเพราะมีอาหารบริบูรณ์ แล้วทำไมคนจะต้องมาเหี่ยวแห้ง เหี่ยวแห้งอยู่ในจิตใจ หิวกระหายอยู่ในจิตใจ คนมันก็เลวกว่าต้นไม้พูดอย่างนี้ดีกว่า เมื่อต้นไม้ไม่มีปัญหาเรื่องอาหารแล้วทำไมคนจะต้องมีความทุกข์เพราะอาหาร แม้แต่สัตว์เดรัจฉานมันก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องอาหารมันต้องหากินหาเลี้ยงร่างกายไปได้แต่ละวันๆ ถ้าใครอย่าไปกักขังมันเสีย จะเป็นวัวควายในทุ่งนา หรือสุนัขและแมวตามบ้านนี้ มันมีอาหารเพียงพอแก่การเลี้ยงอัตภาพและไม่มีปัญหา มันต้องมีวิธีหาที่มีอาหารเพียงพอแก่การเลี้ยงอัตภาพ ดังนั้นเราก็อย่าทำผิดในเรื่องนี้ ขอให้มีอาหารถูกต้องทั้งทางกายและทางจิตและทางวิญญาณ ทีนี้อยากจะแนะและอยากจะชี้ให้เห็นความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าอาหาร มันมีความหมายมากกว่าที่จะพูดว่าสัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้เพราะอาหารมันก็ถูกที่สุดแล้วในแง่ของวัตถุร่างกาย แต่ทีนี้แม้ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่สิ่งที่มีชีวิตมันก็ต้องการอาหาร คือธรรมะที่เป็นปัจจัยแก่กันและกัน อย่างที่พูดเมื่อวานนี้ว่า แม้แต่อวิชชามันก็มีนิวรณ์เป็นอาหาร การที่เรามีนิวรณ์อยู่เป็นประจำวันนั่นล่ะนิวรณ์เหล่านั้นเป็นอาหารแก่อวิชชา ทำให้อวิชชาเจริญงอกงามขึ้นในบุคคลนั้น แม้แต่อวิชชาแท้ๆ มันก็ยังต้องการอาหาร มันไม่ใช่บุคคลหรือไม่ใช่สิ่งมีชีวิตอย่างบุคคล มันก็ยังต้องการอาหารคือนิวรณ์ เมื่อใดมีนิวรณ์เกิดขึ้นในจิต นิวรณ์นั้นก็หล่อเลี้ยงอวิชชาให้อ้วนพี หรือว่ามีนิวรณ์เกิดขึ้นเมื่อใดก็เป็นการเปิดโอกาสให้อวิชชาเข้ามายึดครองอัตภาพนี้จิตใจนี้ ตามหลักทั่วไปถือว่าอวิชชาเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เรียกว่าอวิชชาธาตุ เป็นสิ่งที่พร้อมที่จะแสดงตัวออกมาเมื่อมีโอกาส สัพเพสุ ธัมเมสุ ปฐิตา ก็จะตกลงไปในธรรมทั้งปวงเมื่อมีโอกาส โอกาสนั้นก็คือเมื่อมีนิวรณ์นั่นเอง เมื่อใดจิตมีนิวรณ์เมื่อนั้นก็เป็นโอกาสแก่อวิชชาธาตุที่มีอยู่ตามธรรมชาติจะเข้าไปครอบงำจิตนั้น คือจิตที่มีนิวรณ์นั้น แม้แต่อวิชชาซึ่งเป็นกิเลส เป็นประเภทกิเลส เป็นธรรมะประเภทบาปอกุศล มันก็ยังต้องการอาหารแหละ จึงเป็นสิ่งที่มันต้องรู้จักกันไว้ให้ดีๆ เพราะมันขาดไม่ได้ อวิชชาเป็นฝ่ายอกุศลมันยังต้องการอาหาร วิชชา วิชชาที่เป็นฝ่ายกุศลมันก็ต้องการอาหารด้วยเหมือนกัน มันก็ต้องตรงกันข้าม ถ้าอวิชชามีนิวรณ์เป็นอาหาร วิชชามันก็ต้องการความไม่มีนิวรณ์เป็นอาหาร จิตที่ปราศจากนิวรณ์มีภาวะปราศจากนิวรณ์ ภาวะปราศจากนิวรณ์ก็เป็นอาหารของวิชชา ดังนั้นเราจงพยายามทำจิตให้มีลักษณะปราศจากนิวรณ์ อันนั้นก็จะเป็นอาหารของวิชชา ทำให้วิชชาเจริญงอกงาม ดูกันง่ายๆ ง่ายๆ นิดเดียวก็พอมองเห็นเด็กๆ ก็พอจะเข้าใจว่าเมื่อใดจิตใจโปร่งสบาย ใจคอโปร่งสบาย อารมณ์ดี เมื่อนั้นก็คิดอะไรดี จำอะไรดี นึกอะไรดี อะไรดีทั้งนั้นแหละ เพราะว่าจิตที่โปร่งอย่างนั้นน่ะ คือจิตที่ปราศจากนิวรณ์ ดังนั้นวิชชาก็ต้องการความไม่มีนิวรณ์นั้นแหละเป็นอาหาร ทีนี้เรื่องวิชชาเรื่องอวิชชาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด อวิชชาก็ฝ่ายให้เกิดทุกข์มันก็มีอาหารของมัน ก็ตัดอาหารของมันเสีย วิชชาเป็นฝ่ายที่ดับทุกข์มันก็ต้องการอาหารของมัน ก็ส่งเสริมอาหารให้แก่มันให้เพียงพอ คือภาวะที่จิตอยู่โดยปราศจากนิวรณ์ เป็นต้น นี่เรื่องอาหาร อาหารเป็นอย่างนี้ ขอให้สนใจว่า มันอยู่ไม่ได้โดยปราศจากอาหาร จะเป็นคนก็ดี เป็นสัตว์ก็ดี เป็นต้นไม้ต้นไร่ก็ดี มันก็อยู่ด้วยอาหาร แม้จะเป็นธรรมชาติที่ไม่มีชีวิตมันก็อยู่ด้วยอาหาร คำว่า “อาหาร” นั้นก็หมายความว่าช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ความมีอยู่ นำมา นำมาซึ่งปัจจัยเป็นเครื่องเกื้อกูลแก่สิ่งนั้น เรียกว่าอาหาร คือมันนำมาซึ่งเหตุหรือปัจจัยที่เกื้อกูลแก่สิ่งนั้น สิ่งนั้นเรียกว่าอาหาร ทุกอย่างมันต้องมีอาหารถ้าไม่มีอาหารมันก็ดับ เช่นว่าชีวิตนี้มันก็มีร่างกายจิตใจมีอะไรมันก็ล้วนแต่ต้องการอาหาร คือความถูกต้องของมัน ความถูกต้องทางกาย ความถูกต้องทางจิต ความถูกต้องทางวิญญาณ ทีนี้ก็อยากจะพูดขยายไปถึงคำว่า “สัตว์” เป็นสัตว์น่ะ สัตว์มนุษย์ก็ได้ สัตว์เดรัจฉานก็ได้ เขาเรียกกันว่าสัตว์ อย่างนี้ยิ่งชัดที่สุดเลยว่ายิ่งต้องการอาหาร ดังนั้นคำว่า “สัตว์” สัตตะ สัตวะ แล้วแต่ มันแปลว่าผู้ข้องติดอยู่ ถ้าถามว่าข้องติดอยู่ในอะไร ก็คือข้องติดอยู่ในอาหารนั้นเอง สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าสัตว์ชนิดไหนเป็นผู้ข้องติดอยู่ ข้องติดอยู่ในอะไร ข้องติดอยู่ในอาหารนั่นเอง
ดังนั้นก็เป็นอันว่าเรานี่มันถูกคล้องถูกมัดถูกอะไรให้มันติดอยู่กับความต้องการอาหาร หรืออาหารที่ตัวต้องการ ไม่หลุดพ้นออกไปได้ ถ้ายังมีตัวตนตัวกูในความหมายของคำว่าสัตว์นั้นๆ แล้วมันก็ยิ่งต้องการอาหาร มันจะพ้นจากความเป็นสัตว์ พ้นจากความเป็นสัตว์ ก็ต่อเมื่อมันพ้นจากความเป็นตัวตน มันไม่มีความยึดถือว่าตัวตน ไม่มีอวิชชายึดถือว่าตัวตน มันก็พ้นจากความยึดถือตัวตน พ้นจากความข้องก็ไม่เป็นสัตว์และไม่ข้องอยู่ในอะไรเลย ดังนั้นธรรมะที่เป็นอาหารของสัตว์มันก็หมดไป เมื่อสัตว์นั้นหลุดพ้นจากวัฏสงสาร ถ้ามันยังข้องอยู่ในวัฏสังสารมันก็ยังต้องการอาหารอยู่เรื่อยไป ดังนั้นทำจิตใจให้อยู่เหนือความมีตัวตน แล้วมันก็จะพ้นจากความข้องติดอยู่ในอาหาร ซึ่งเป็นความหลุดพ้นเป็นการบรรลุพระนิพพาน คำว่า “อาหาร” นั้นน่ะมีความหมายกว้างขวางใช้ทั้งในฝ่ายผิดและฝ่ายถูก อาหารฝ่ายผิดก็ไปเพื่อทุกข์ อาหารฝ่ายถูกก็เพื่อดับทุกข์ แล้วก็ตั้งแต่อย่างต่ำที่สุดไปจนถึงอย่างสูงสุด คืออาหารทางวิญญาณก็ได้แก่ความรู้ในระดับวิปัสสนา รู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริง มันก็เป็นอาหารของปัญญา ของญาณทัศนะของยถาภูตะสัมมัปปัญญากันได้อาหารอย่างนี้แล้ว ไอ้จิตที่ประกอบด้วยญาณนี้มันก็หลุดพ้นจากความเกี่ยวพันผูกพันของสิ่งที่เรียกว่าอาหาร เราต้องการอาหารทางสติปัญญาเพื่อเพิกถอนตัวเราออกมาเสียจากความต้องการอาหาร พูดแล้วมันคล้ายกับเล่นพูดเล่น มีอาหารทางวิญญาณทางสติปัญญามาให้สมบูรณ์ จิตนี้มีอาหารสมบูรณ์แล้วมันก็จะถอนตัวออกมาได้เสียจากความติดอยู่ในความต้องการอาหารตามธรรมดาสามัญทั่วไป เพื่อสรุปให้สั้นที่สุดคำว่า “อาหาร” อาหารก็คือสิ่งที่จะนำผลมาให้ตามที่มันควรจะเป็น อาหาร อาหารนี่ความหมายกลางๆ ของมันก็คือสิ่งที่จะนำผลอย่างใดอย่างหนึ่งมาให้ตามที่ควรจะเป็น คือเป็นอาหารผิดหรืออาหารถูก อาหารเพื่อทุกข์หรืออาหารเพื่อดับทุกข์ จนกล่าวได้ว่า ทุกคนทุกกรณีทุกระดับ ทุกๆ อะไรก็ตาม มันเนื่องด้วยอาหารมันต้องการอาหาร ถ้าพูดว่าสิ่งมีชีวิตนะ ก็พูดว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดทุกระดับในในทุกๆ กรณี คือทุกๆ อย่างแหละ มันอยู่ได้ด้วยอาหาร มันจะเลวลงไปก็เพราะอาหารฝ่ายเลวเข้ามา มันจะดีขึ้นไปก็เพราะอาหารฝ่ายดีเข้ามา มันจะหลุดพ้นออกไปเลย พ้นเลวพ้นดี พ้นชั่วพ้นดี ก็เพราะอาหารชนิดสูงสุดนั้นเข้ามา คืออาหารทางวิญญาณหรือทางสติปัญญามันเข้ามา มันก็บรรลุมรรคผลหรือบรรลุนิพพาน พ้นไปจากวิสัยที่ต้องการอาหารเป็นจุดหมายปลายทางของพุทธบริษัทเรา เรียกว่าพรหมจรรย์นี้มันเพื่อดับทุกข์สิ้นเชิง แต่มันพูดได้ว่าเพื่อหยุดเสียซึ่งความต้องการอาหาร ไม่ใช่ทำกันอย่างพอเป็นพิธีรีตอง เฮกันไปเฮกันมาเป็นพิธีรีตองอย่างนี้ไม่มีประโยชน์อะไร นี้ขอให้ทำให้ได้ให้มันตรงเรื่องตรงราวตรงจุดของเรื่องความจริงของเรื่อง ว่ามันมีอยู่อย่างไร เอาล่ะเวลามันก็หมดแล้ว ก็จะขอสรุปใจความอย่างเชื่อมโยงอีกทีหนึ่งว่า ทวนต้น ธรรมชาติมันสร้างชีวิตมาอย่างกลางๆ ให้ใช้กับกฎอิทัปปัจจยตาตามที่ตัวจะปรารถนา เรื่องเพศนั้นไม่ใช่เรื่องวิเศษวิโสอะไร เป็นเรื่องที่ธรรมชาติจ้างคนโง่ให้ทำการสืบพันธุ์ อย่าได้บูชาหลงใหลกันนัก เรื่องการล้างบาปนั้นไม่ไม่เกี่ยวกับพิธีรีตองต้องทำให้ถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา แล้วว่าสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต มันก็อยู่ได้ด้วยอาหาร อาหารอย่างเป็นมีชีวิตหรืออาหารอย่างที่ไม่ต้องมีชีวิต มันก็เป็นอาหารด้วยกันทั้งนั้น บรรดาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นสังขตธรรม อสังขตธรรม มันก็อยู่ด้วยอาหาร อย่าเพ่ออย่าเพ่อ มันอยู่ได้ด้วยอาหารมันอยู่ได้ด้วยอาหารขอให้ฟังให้ดี ให้จัดการเกี่ยวกับอาหารนี้ให้ถูกต้อง อาหารฝ่ายความชั่วอย่าให้มัน อาหารฝ่ายความดีเราก็ให้มัน แล้วก็ให้อาหารที่ยิ่งขึ้นไปจนจะพ้นชั่วและพ้นดี นี่เรียกว่าอาหารเพื่อส่งให้ถึงโลกุตตระ ความอยู่เหนือโลกโดยประการทั้งปวง เอาละวันนี้เราพูดกันได้แต่เพียงสี่หัวข้อของไอ้ธรรมะเฉพาะข้อๆ ไม่ได้เป็นระบบหรือรูปโครงอะไรเป็นสี่หัวข้อดังที่กล่าวแล้ว หัวข้อแรกเรื่องชีวิตสร้างมาสำหรับให้เราจัดการเอาเอง พูดธรรมดาสามัญก็ชีวิตนี้ธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้เราจัดการเอาเอง ในเรื่องเพศนั้นน่ะเป็นเรื่องค่าจ้างให้สืบพันธุ์ให้คนโง่มันสืบพันธุ์ นี้เรื่องล้างบาปยกเลิกกรรมนั้นต้องทำโดยกฎอิทัปปัจจยตาไม่เกี่ยวกับพิธีรีตอง และชีวิตหรือสิ่งที่เนื่องกับชีวิตมันมีเหตุมีปัจจัยคืออาหาร ต้องจัดการกับสิ่งนั้นให้ถูกต้องแล้วมันก็จะหมดปัญหาแน่นอน เอาล่ะเป็นสี่หัวข้อสั้นๆ อย่างนี้ จะนำไปใช้กับธรรมะใดๆ ก็ได้ทั้งหมดทั้งสิ้นที่มันเกี่ยวเนื่องกัน จึงพูดไว้ในฐานะเป็นหลักกลางๆ แล้วแต่ว่าผู้มีปัญญานั้นจะนำไปใช้กับเรื่องอะไร เนื่องด้วยเหตุที่เวลาหมดแล้วขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
มีผ้าไหม พาดที่กิ่งไม้ พาดที่กิ่งไม้นี้ โน่นมันมีอยู่กิ่งไม้มันมีอยู่แล้วพาดที่โน่นนี่
ใครก็ได้ ได้ยินว่าจะจะไปวันนี้ใช่ไหม จะออกเดินทางวันนี้ ที่เรียกว่าผ้าป่านั่นชักเมื่อไรก็ได้จึงจะเรียกว่าผ้าป่า ดังนั้นจะขออนุโมทนาเลย
ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี ให้สำเร็จประโยชน์การกระทำจะมีผลมากหรือผลน้อย ก็เพราะว่าการเข้าใจถูกต้องหรือเข้าใจไม่ถูกต้อง การถวายไทยธรรมเหล่านี้ ขอให้มองเห็นให้ถูกต้องว่ามันเป็นปัจจัย เพื่อการอยู่ได้ของภิกษุสงฆ์ เพื่อสืบอายุพระศาสนา เมื่อมีการบำรุงอยู่อย่างนี้ก็มีผู้บวชก็มีผู้เรียน มีผู้ปฏิบัติมีผู้ได้รับผลของการปฏิบัติ แล้วก็มีการสอนต่อๆกันไป เมื่อมีการกระทำอย่างนี้อยู่พระศาสนาก็ยังมีอยู่ในโลกนี้ เมื่อพระศาสนายังมีอยู่ในโลกนี้คนทั้งโลกก็ได้รับประโยชน์จากพระศาสนา อย่างนี้เรียกว่ามันได้รับประโยชน์กันทั้งโลก มันมากมายมหาศาล ดีกว่าที่จะได้สวรรค์คนเดียว ไปนอนอยู่ในสวรรค์คนเดียวนั้นมันน้อยเกินไป ขอให้ทำจิตใจให้กว้างขวางว่าการกระทำนี้จะเป็นประโยชน์แก่คนทั้งโลกเป็นประโยชน์แก่เทวโลก มารโลก พรหมโลก ทุกๆ โลก นี่ขอให้เข้าใจอย่างนี้ ใจมันกว้างอย่างนี้ บุญมันก็มากตามที่ความเข้าใจถูกต้อง เราจะต้องช่วยกันทำให้พระศาสนามีอยู่ในโลกเป็นหลักช่วยโลก มีธรรมะอยู่ในโลก โลกนี้ก็มีที่พึ่งเพราะธรรมะแปลว่าสิ่งที่ชู เชิดชูสิ่งทั้งปวงไม่ให้ตกต่ำ เมื่อคนมันมีธรรมะคนมันก็ไม่ตกต่ำมันไม่ลงไปในกองทุกข์ มันอยู่เหนือความทุกข์เพราะว่ามันฉลาดเพราะว่ามันมีธรรมะ ธรรมะแปลว่าหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดจะเป็นคนก็ได้ เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ แม้กระทั่งเป็นต้นไม้ก็ได้ มันมีชีวิตน่ะ สิ่งที่มีชีวิตมันต้องปฏิบัติธรรมะทั้งนั้นแหละ อย่าว่าแต่คนเลย ต้นไม้นี้ก็ปฏิบัติหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตอยู่ตลอดเวลา ตลอดวันตลอดคืน มันจึงทรงอยู่ได้ ดังนั้นคนแต่ละคนก็จงมีธรรมะอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ก็จะทรงความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องอยู่ได้ ความทุกข์ก็ไม่ครอบงำ การดับทุกข์ไม่มีด้วยพิธีรีตอง การดับทุกข์มีด้วยการประพฤติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมะที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท ความทุกข์มันเกิดมาจากสิ่งใดก็ต้องทำลายต้นเหตุนั้นเสีย แล้วความทุกข์มันก็ดับไป เหมือนกับว่าเมื่อเราเห็นไฟลุกอยู่ ที่ไฟนั้นจะต้องมีเหตุให้เกิดไฟ เช่น เชื้อเพลิง เป็นต้น เราก็ทำลายเชื้อเพลิงเสียแล้วไฟมันก็ดับเอง นี่แล้วจะต้องทำลายเหตุของความทุกข์อย่างนี้ให้ความทุกข์ดับไป ไม่ใช่ทำเป็นพิธีรีตองสวดร้องอ้อนวอน ขออย่างที่เรียกว่าเป็นไสยศาสตร์นั่นมันดับทุกข์ไม่ได้ มันเพียงแต่หลอกๆ แล้วก็ได้ จึงหวังว่าท่านทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัทจะได้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่นผู้เบิกบาน ตรงตามหลักของพระพุทธศาสนา ไม่มีความงมงายแม้แต่ประการใด ขอให้ความตั้งใจที่จะทำนี้เป็นผลสำเร็จเต็มที่ตามความหมายทุกประการ