แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายครั้งนี้ ก็ยังเป็นการพูด ถึงแนวสังเขป แต่ละแนว ของธรรมะ สำหรับจะได้กำหนดไว้ เป็นหลัก เพื่อจะศึกษาโดยรายละเอียด เรื่องนั้น เรื่องนี้ เรื่องโน้น ได้โดยสะดวก วันนี้ก็จะพูดถึง เรื่องของ กิเลสและความทุกข์ ปัญหาของมนุษย์ ก็มีแต่เรื่องของกิเลสและความทุกข์ นอกนั้นมันก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้าเราแก้ไข เรื่องกิเลสและความทุกข์เสียได้ คนเราก็ไม่มีปัญหา ไม่มีความยุ่งยากลำบากอะไร ที่มาบวชนี้ ถ้าว่าที่แท้แล้ว ก็เพื่อจะศึกษาเรื่อง กิเลส เรื่อง ความทุกข์ ให้เข้าใจยิ่ง ๆ ขึ้นไป ตลอดถึง การลองปฏิบัติดู ขอให้ตั้งใจ คอยกำหนดว่า เรื่องเกี่ยวกับกิเลสและความทุกข์ มันเป็นอย่างไร แล้วค่อยดูว่ามันเกี่ยวเนื่อง กับเรื่องอื่น ๆ อย่างไร นี่เราจะพูดกันถึง เรื่องกิเลสเกิดมาอย่างไร แล้วความทุกข์เกิดอย่างไร สืบต่อไป
เรื่องกิเลส โดยหัวข้อใหญ่ ๆ ก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ นี่เป็นคำที่จะต้องจำไว้เป็นหลัก กิเลสชื่อ โลภะ บางทีก็เรียกว่า ราคะ นี่ก็เป็นพวกเดียวกัน กิเลสชื่อว่า โทสะ บางทีก็เรียกชื่อว่า โกธะ มันก็เป็นแทนกันได้ กิเลสที่ ๓ ก็เรียกว่า โมหะ ไม่ค่อยมีคำอื่นมาแทน จำไว้ว่า ๓ อย่าง ๓ พวก เนี่ยมันมีอะไร เป็นเครื่องสังเกต มีเครื่องสังเกต เห็นได้ไม่ยากเลย ถ้าเป็นกิเลสประเภทที่ จะเอาเข้ามา ๆ ดึงเอามา เอาเข้ามามาหาตัว มายึดถือไว้ เอาเข้ามา เรียกว่า เอาเข้ามานี่ ก็เรียกว่า พวกโลภะหรือราคะ ถ้ากิเลสประเภทที่ผลักออกไป ๆ หรืออยากฆ่า ทำลายเสียให้หมด นี่ก็เรียกว่า กิเลสประเภทโทสะ หรือโกธะ นี่กิเลสประเภทที่ มันไม่รู้อะไร อย่างถูกต้อง แล้วก็หลงใหลมัวเมาอยู่ ราวกับว่าวิ่งวนอยู่รอบ ๆ สิ่งนั้น ด้วยความโง่ กิเลสประเภทนี้ ก็เรียกว่า โมหะ มันต่างกันลิบนะ แต่มันก็ยังเนื่องกัน เมื่อมันเกิดโลภะ ราคะก็ มันก็จะเอาเข้ามาหรือจะรักษาไว้ เมื่อเกิดโทสะหรือโกธะ มันก็จะผลักออกไป หรือมันจะทำลายเสีย เกิดกิเลสประเภทโมหะ มันก็จะวิ่งวน อยู่รอบ ๆ ด้วยความหลงใหล ด้วยความสงสัย ด้วยความมัวเมา อะไรก็แล้วแต่
ที่นี้กิเลสเหล่านี้มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร มันไม่ได้มีอยู่ตลอดไป ยิ่งบางคนพูดว่า กิเลสติดมาจาก ชาติก่อน อย่างนี้ด้วยละยิ่งไม่มีทาง กิเลสเมื่อชาตินี้เดี๋ยวนี้ มันก็ไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา มันจะเกิดต่อ มันมี เรื่อง เขาเรียกว่า มันมีเหตุมีปัจจัยสำหรับจะให้เกิด นี้มันจะเกิดกันอย่างไร นี่เราจะต้องศึกษากว้างออกไป ขยายออกไป ถึงสิ่งที่เป็นเงื่อนต้นหรือต้นกำเนิด ของการเกิดกิเลส สิ่งนั้นก็คือ เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ มีอยู่ในภายในแต่ละคน ที่นี้ข้างนอกก็มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ซึ่งเป็นคู่ ๆ กัน พอดี
ข้างในมี ๖ ข้างนอกมี ๖ จับคู่กันพอดี ตาอยู่ข้างในคู่กับรูปที่อยู่ข้างนอก หูอยู่ข้างในคือในตัวแหละ ก็คู่กับเสียงที่อยู่ข้างนอก จมูกอยู่ข้างในคู่กับกลิ่นที่อยู่ข้างนอก ลิ้นอยู่ข้างในนี่คู่กับรสที่อยู่ข้างนอก จะมา กระทบลิ้น นี่ผิวกาย กายทั่ว ๆ ไปเรียก ตัวกาย ผิวกายอยู่ข้างใน สำหรับจะกระทบโผฏฐัพพะ คือ สิ่งที่จะมา กระทบกาย นี่ก็คู่นึง นี่คู่สุดท้ายคือ ใจ ใจอยู่ข้างใน ความคิดนึกของใจก็อยู่ข้างใน เรียกว่า ชุดข้างในมีอยู่คู่นึง
ถ้าเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเหลวไหล ไม่น่าสนใจ แล้วก็ไม่เข้าใจ มันก็ไม่มีทางที่จะรู้เรื่องกิเลส และการ เกิดของกิเลส งั้นต้องฟังให้ดี ว่ามันเกิดอย่างไร แต่ละอย่าง จำไว้อย่างแม่นยำ ไม่ให้มันปนเป กันฟั่นเฝือ นี่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ข้างใน สำหรับรับอารมณ์ข้างนอก คือ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ต้องรู้จักสิ่งเหล่านี้ เหมือนกันรู้จักอะไร ๆ ที่มันรู้จักกันจริง ๆ นี่
ที่นี้ก็จะบอกให้เป็นลำดับไป ว่ามันจะ เกิดกิเลสอย่างไร คือ เมื่อตาถึงกันเข้ากับรูป คือ มีรูปมาถึงตา ตาถึงกับรูปหรือรูปมาถึงตานี่ มันก็เกิดการเห็นแจ้งทางตา เรียกว่า วิญญาณทางตา วิญญาณรู้แจ้งในทางตา คือ ตาได้เห็นรูป เมื่อหูถึงกันเข้ากับเสียง ก็เกิดการได้ยินทางหู เรียกว่า วิญญาณทางหู เมื่อจมูกกับกลิ่น มาถึง กันเข้า มันก็เกิดการรู้กลิ่นด้วยจมูก ดมกลิ่นด้วยจมูก ก็เกิดวิญญาณทางจมูก เมื่อรสมาถึงลิ้น ลิ้นมาถึงรส ก็เกิดความรู้รสทางลิ้น เรียกว่า วิญญาณทางลิ้น เกิดวิญญาณทางลิ้น เมื่อความรู้สึกกระทบใจ ใจรู้สึก ก็เรียกว่า เกิดความรู้สึกในทางใจ รู้แจ้งในทางใจ เรียกว่า วิญญาณทางใจ ทางมโน วิญญาณทางมโน นี่มันได้ วิญญาณ มาอีก ๖ ก่อนนี้มันหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๖ แล้วก็ได้ วิญญาณ ๆ มาอีก ๖ ๓ คู่ ๖ คู่นั้น นี้ไม่ใช่เรื่องจำ แต่เป็นเรื่องที่ต้องรู้จัก รู้จักโดยประจักษ์ เพราะเป็นเรื่อง ที่มีอยู่จริงแก่เรา
ทำไมแต่ละวัน แต่ละเวลา ทุกหนทุกแห่ง มันมีตาเห็นรูป แล้วเกิดจักษุวิญญาณ มีหูได้ยินเสียง แล้วเกิดโสตวิญญาณ จมูกได้กลิ่นเกิดฆานวิญญาณ ลิ้นได้รสเกิดชิวหาวิญญาณ กายได้สัมผัส สิ่งมาสัมผัส ก็เกิดกายวิญญาณ มโนรู้สึกต่ออารมณ์ ก็เกิดมโนวิญญาณนั่น ไอ้เรื่อง นโมนั้นคงจะเข้าใจได้ยากหน่อย แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ไอ้เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่รู้สึกได้ง่าย ๆ แต่เราไม่เคยสนใจ เราไม่เคยรู้เรื่องนี้ อ้าว, ไม่เคยรู้เรื่องนี้ก็ไม่สนใจ เดี๋ยวนี้ แม้แต่เรียนเรื่องนี้อยู่ ก็ไม่เข้าใจและไม่สนใจเหมือนกัน ของมีอยู่จริง ก็ไม่ได้ สนใจ ต้องสนใจ ต้องรู้จักโดยประจักษ์
แล้วก็จะพูดต่อไปถึงว่า มันจะเกิดกิเลสได้อย่างไร ยกตัวอย่างเพียงคู่แรก คือ คู่ตากับรูป รูปมาถึงตา หรือตามาถึงรูป เกิดจักษุวิญญาณ คือ การรู้แจ้งทางตานี้ เป็น ๓ อย่างขึ้นแล้ว ตรงนี้สังเกตให้ดี เป็น ๓ อย่าง ขึ้นแล้ว คือ ตาอย่างหนึ่ง รูปอย่างหนึ่ง การเห็นทางตาหรือจักษุวิญญาณนี่อย่างหนึ่ง ตา รูป กับจักษุวิญญาณ นี่เป็น ๓ อย่าง เมื่อ ๓ อย่างนี้มีอยู่พร้อมกันใน การทำหน้าที่คือ ตาเห็นรูปอยู่นั่นแหละ ทำหน้าที่เห็นรูปอยู่ ก็เรียกว่า มีผัสสะทางตา คือ มีการกระทบทางตา เมื่อ ๓ อย่างนี้ ทำงานในหน้าที่ด้วยกันอยู่ เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะก็เรียกว่า ผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ผัสสะทางจมูก จนครบทั้ง ๖ อย่าง
ตอนนี้สำคัญที่สุด เรียกว่า ผัสสะ ในขณะแห่งผัสสะ ถ้าเราเป็นคนธรรมดา เป็นคนปุถุชนคนโง่ มันก็ไม่มีสติปัญญา ที่จะมาควบคุมผัสสะ ผัสสะมันก็เป็นผัสสะโง่ ผัสสะสำหรับจะปรุง ไปให้เกิดกิเลส เป็นผัสสะโง่ มันก็เกิดเวทนา เวทนาโง่เหมือนกับผัสสะแหละ เวทนาสำหรับจะให้หลง เกิดผัสสะแล้ว ก็เกิดเวทนา เวทนาโง่สำหรับจะหลงรักเมื่อน่ารัก สำหรับจะโกรธ ๆ เมื่อน่าโกรธ หรือจะมัวเมา เมื่อน่าจะ หลงใหล มัวเมา นี่แหละ เป็นเวทนา เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นไม่สุข ไม่ทุกข์บ้าง นี่คือ เวทนา ยังไม่ใช่ หมายถึง เจ็บปวดอะไร เป็นเพียงความรู้สึก ในความหมายคุณค่า ว่ามันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรือไม่สุข ไม่ทุกข์ พูดอย่างธรรมดา ๆ ก็ว่ามันเป็น ที่พอใจหรือไม่พอใจ หรือไม่ทั้งสองอย่าง นี่คือ เวทนาที่ได้อาศัย ผัสสะที่ไม่มี ๆ ธรรมะ ไม่มีปัญญา ไม่มีวิชา ผัสสะโง่ ให้เกิดเวทนาโง่อย่างนี้
เกิดเวทนาอย่างนี้แล้ว มันก็เกิดความอยาก ไปตามเวทนานั้น เป็นความอยาก ที่โง่อีกเหมือนกัน คือ มันอยากได้ในสิ่งที่พอใจ มันก็อยากไม่ได้ในสิ่งที่ไม่พอใจ เกิดเป็นตัณหา เรียกว่า ตัณหา ความอยากที่โง่ ก็เรียกว่าตัณหา ที่น่ารักน่าพอใจก็อยากไปอย่างหนึ่ง ที่ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ ก็อยากไปอีกอย่างหนึ่ง เช่น อยากฆ่า อยากทำลาย ที่ยังไม่รู้อะไร ๆ เป็นอะไรแน่ ก็ยังสงสัยมัวเมา อยู่ด้วยความไม่รู้ ไอ้ตัณหานี้ก็อนุโลม ไปตามเวทนา ถ้าเวทนาน่ารัก มันก็อยากได้ เวทนาไม่น่ารัก มันก็อยาก จะทำลาย นี่ยังไม่รู้เป็นอะไรแน่ มันก็ยังโง่อยู่เท่าเดิม ๆ นี่คือ กิเลสแล้ว เกิดความอยากเพราะความโง่ เพราะไม่รู้จักสิ่งเหล่านั้น ตามที่เป็นจริง
กิเลส คือ ตัณหาเกิดขึ้น หรือจะแจกเป็นโลภะ โทสะ โมหะก็ได้ มันมีความอยาก ถ้ามีความอยาก รู้สึกอยาก ๆๆ อย่างรุนแรงอย่างยิ่ง ในสิ่งเหล่านั้นแล้ว มันก็เกิดมีความรู้สึกว่าตัวตน ตัวกู ตัวเราซึ่งเป็น ผู้อยาก นี่เรียกว่า ตัวตน ก็จะอยากเป็นผู้อยาก เกิดความรู้สึกเป็นตัวตนว่าเป็นผู้อยาก อยากเอามาเป็นของตน เห็นไหมว่า ไอ้ตัวตนและของตน นี่เป็นเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ ไม่ใช่มีอยู่จริง เพียงแต่มันเกิดขึ้นในความรู้สึก ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่ต้องรู้สึกอย่างนั้น เมื่อมันมีความรู้สึกอยากถึงที่สุด มันก็ปรุงความรู้สึกว่า ตัวกูผู้อยาก ก็จะเอามาเป็นของกู นี่เป็นกิเลสเต็มที่ มีโลภะ โทสะ โมหะ อะไรรวมอยู่ในนั้น หมดทุกเรื่อง แหละ แล้วแต่จะแจกออกไป ถ้าเป็นเรื่องที่เวทนา สวยงามน่ารักน่าพอใจ มันก็อยากได้ ก็มีตัวกูที่อยากได้ เอามาเป็นของกู ถ้ามันเป็นเวทนา ที่ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ คือ เป็นเรื่องร้าย มันก็อยากจะทำลายเสีย อยากจะ พ้นไปเสีย ด้วยความยุ่งยากลำบากใจ ถ้าเวทนานั้นไม่เป็นทั้ง ๒ อย่าง คือ ไม่ใช่น่ารัก น่าพอใจหรือไม่ใช่ไม่ น่ารัก ไม่น่าพอใจ มันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มันก็ยังโง่อยู่เท่าเดิม นี่เป็นโมหะ โลภะเกิดอย่างนี้ โทสะเกิดอย่างนี้ โมหะเกิดอย่างนี้
เดี๋ยวนี้เป็นอุปาทาน มีตัวกู ในกรณีหนึ่ง ๆ ก็มีตัวกูชนิดหนึ่ง เรียกว่า มีกิเลสของตัวกู เป็นราคะ เป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ แล้วแต่กรณี นี่ตัวกูเกิดแล้ว ชาติ ๆๆ ชา-ติ แห่งตัวกูเกิดแล้ว มีความยึดถือ ว่าตัวตน ว่าของตน แล้วก็มันทำให้เกิด ความมี ความเป็น แห่งตัวตนขึ้นมา เรียกว่า ภพ ภาวะภพ จากอุปาทาน ก็มีภพ มีภาวะเป็นตัวตนของตนขึ้นมา แล้วมันก็เกิด ความถึงสุดขีดแห่งตัวตนเกิดชาติ คือ เกิด เกิดลงออกมาเต็ม ตามความหมาย หมายความว่า ไอ้ความรู้สึกว่าตัวตน ว่าของตนนั่นแหละ มันเข้มข้นเข้า เข้มข้นเข้าจนเต็ม ตามความหมาย ก็เรียกว่า ชาติ ๆ ที่นี้ก็มีความทุกข์อะไร ๆ ที่เป็นตัวตน เป็นของตน มันก็เป็นความหนัก เป็นการทรมานจิตใจ กัดเจ้าของผู้มีความรู้สึก ว่าตัวตน ว่าของตน
แล้วบทสวดมนต์ของเราก็มีต่อไปว่า ชาติปิ ทุกขา ชะราปิ ทุกขา มะระณัมปิ ทุกขัง (นาทีที่ 21:27) มันเอาความเกิด มาเป็นของตน เอาความแก่ มาเป็นของตน เอาความเจ็บ มาเป็นของตน เอาความตาย มาเป็นของตน อะไร ๆ ตลอดไป จนถึงโน้น, ปรารถนาสิ่งใด แล้วไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ มันมีมูลเหตุ อยู่ที่ว่า มันมีความรู้สึกว่าตัวตน ๆ นั่นแหละ เป็นจุดศูนย์กลาง ที่จะเกิดความทุกข์ ตั้งต้นเป็นความทุกข์ และมีความทุกข์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ข้อนี้เรื่องทางตา เรื่องทางหูก็เหมือนกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เองก็เหมือนกัน มันต้องมีการกระทบกับอารมณ์ข้างนอก แล้วมีวิญญาณ แล้วมีผัสสะ แล้วมีเวทนา แล้วมีตัณหา แล้วมีอุปาทาน แล้วมีภพแล้วมีชาติ นี่ทุกข์ทั้งปวงก็เกิดขึ้น เพราะเหตุนั้น
ที่เราก็เรียนจากเรื่องจริง ไอ้เรียนจากหนังสือ มันได้แต่ท่องสวดมนต์ อย่างที่ท่อง ๆ กันนั้นแหละ ที่นี้เปลี่ยนมาเรียน จากเรื่องจริง ของจริง จากชีวิตจริง จากเราจริง ๆ จากไอ้ตัวร่างกาย จิตใจจริง ๆ ว่าวันนี้ เห็นรูปแล้วเป็นอย่างไร เกิดเวทนาอย่างไร เกิดตัณหาอย่างไร เกิดอุปาทานอย่างไร เกิดภพอย่างไร ทั้งหมดนี้ เร็ว ๆ เหมือนกับฟ้าแลบ แปลบเดียว ก็ไปถึงปลายจุดปลาย ฉะนั้น พอเห็นรูปก็ปรุงแปลบ เป็นลำดับไป จนกระทั่ง เกิดยินดียินร้าย เกิดอยาก เกิดทุกข์ เกิดยึดมั่นถือมั่น กันถึงที่สุดแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น มันจะเร็ว สักเท่าไหร่ เราก็พอสังเกตได้ งั้นเมื่อใด จิตของเราได้ผิดปกติไป คือ ว่ายินดีรู้สึกทันที ยินร้ายรู้สึกทันที ไม่ทั้ง ๒ อย่าง ก็รู้สึกทันที ให้เกิดความอยาก อยากไปตามเรื่องที่ยินดียินร้ายนั้น ก็รู้สึกให้ทันทีว่า อ้าว..นี่อยาก พออยากแล้ว มันก็เกิดมีความรู้สึก มีผู้อยาก คือ ตัวกูผู้อยาก มันก็เลยตัวกูแสดงบทบาทเต็มที่ อยากนั่น อยากนี่ เอามาเป็นของกู ยึดถือเป็นของกู กระทั่งว่าอะไร ๆ ก็ของกู เงินทองของกู อะไรของกู นั่นแหละ คือ มันเป็นกิเลสเกิดแล้ว
บางกรณีเป็นความโลภ คือ จะเอา บางกรณีเป็นความโกรธ ก็อยากจะทำลาย บางกรณีเป็นความหลง ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ก็หลงไปอย่างนั้นแหละ นี่ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือราคะ หรือโลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นอย่างนี้ เพียงแต่ท่องจำได้ สวดมนต์นั้นมันไม่พอ มันจะต้องรู้จัก ที่เกิดอยู่จริงในจิตใจ ๆ หรือว่ามันกำลังทำงานอยู่ ที่ตา ที่หู ที่จมูก ก็ให้รู้ มันเข้าไปในใจ เป็นความพอใจไม่พอใจก็ให้รู้ ๆ ทุกขั้นตอน จนรู้ว่า อ้าว, เดี๋ยวนี้มีความโลภ เพราะมันกลุ้มอยู่ เดี๋ยวนี้มีความโกรธ ร้อนกลุ้มอยู่ มันมีความหลง กระวน กระวาย ระส่ำระสายอยู่ นี่เรื่องของกิเลส
เกิดกิเลสอย่างนี้ ๆ ถ้าใจให้ดี เป็นหลักเกณฑ์อย่างนี้ อ้าว, ทบทวนอีกที โดยหัวข้อสั้น ๆ ว่า มันมี อายตนะข้างใน เครื่องรับอารมณ์ข้างใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ อยู่ข้างใน แล้วมีอายตนะ ข้างนอก จะติดต่อข้างนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ข้างใน ๖ ข้างนอก ๖ พอถึงกันเข้า เมื่อไรเป็นคู่ ๆ แต่ละครั้ง แต่ละคู่เท่านั้น จะทำพร้อมทั้ง ๖ ไม่ได้ นั้นมันก็เกิดวิญญาณ วิญญาณทางนั้นนะ ทางที่มันกระทบ จึงมีวิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก วิญญาณทางลิ้น วิญญาณทางกาย วิญญาณทางใจ ถ้าจำเป็นบาลีได้ ก็ดีเหมือนกัน จำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้รู้จักตัวจริงของมัน เรียกว่า จักษุวิญญาณ-วิญญาณทางตา โสตวิญญาณ-วิญญาณทางหู ฆานวิญญาณ-วิญญาณทางจมูก ชิวหาวิญญาณ- วิญญาณทางลิ้น กายวิญญาณ-วิญญาณทางผิวกาย มโนวิญญาณ-วิญญาณในใจทางใจ นี่วิญญาณ นี้ ๓ อย่าง นี้คือ รูปหรือตา ตากับรูป กับจักษุวิญญาณ ทำงานอยู่ อยู่ด้วยกัน เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะแปลว่า การกระทบ ก็เลยมีผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ผัสสะทางจมูก ผัสสะทางลิ้น ผัสสะทางกาย ผัสสะทางใจ
ที่นี้ผัสสะของคนธรรมดา ที่ไม่ได้มีธรรมะ ไม่ได้ศึกษา ไม่มีวิปัสสนา ไม่มีปัญญา มันก็เป็นไปตาม ธรรมชาติละ คือว่า ผัสสะเหมือนกับหลับอยู่หรือโง่อยู่ มันก็ให้เกิดเวทนา เกิดเวทนาความรู้สึกจากผัสสะนั้น สำหรับจะหลงรัก ก็เรียกว่า สุขเวทนา สำหรับจะหลงโกรธ ก็เรียกว่า ทุกขเวทนา สำหรับจะสงสัยโง่ต่อไป ก็เรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา เวทนามี ๓ อย่างนั้น ไอ้ชาวบ้านจะพูดกันเพียง ๒ ก็ว่าสุขกับทุกข์ ๆ เท่านั้น อทุกขมสุข เขาไม่อาจจะพูด ไม่รู้เรื่องจะพูด แต่โดยหลักที่แท้จริง มันเป็นเวทนาสำหรับโมหะ สุขเวทนา สำหรับโลภะ ทุกขเวทนาสำหรับโทสะ อทุกขมสุขเวทนานั้น สำหรับโมหะ นี่พอเวทนารู้สึกอย่างนั้นแล้ว ก็เกิดตัณหา คือ ความอยากอย่างโง่เขลา โดยสมควรแก่เวทนานั้น ถ้าเวทนาเป็นสุข เป็นที่พอใจ ก็อยากได้ อยากเอา อยากมี อยากยึดครอง หึงหวงกันไปตามเรื่อง ถ้าเวทนานั้นไม่เป็นที่พอใจ มันก็อยากทำลาย อยากฆ่า อยากฟัน อยากให้หายไปเสียจากหน้า ถ้าเวทนานั้นมันไม่เป็นทั้ง ๒ อย่าง คือ ไม่ชวนให้ยินดีหรือยินร้าย มันก็สงสัยก็โง่อยู่ตามเดิม
ความอยากนั้น มันก็อยากไปในทาง ที่จะรู้อยากจะรู้ ๆ โดยมันไม่รู้ มันมีความไม่รู้ ไม่รู้สึกว่าเป็น สุขเวทนาหรือทุกขเวทนา แต่มันยังมีความสนใจว่า มีอะไรอยู่ในเวทนานั้น มันก็อยากไปในทางที่จะ พัวพัน อยู่ด้วย มัวเมาอยู่ด้วย วนเวียนอยู่ด้วย นี่เรียกว่า ตัณหา ตัณหาจากนั้น ก็มีความรู้สึกว่าเป็นผู้อยาก ตัวกูผู้อยาก มีความรู้สึกอยากแล้ว มันก็เกิดรู้สึกมีตัวกูผู้อยาก ดังนั้นตัวกูผู้อยากเป็นเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ เป็นเรื่องสักว่า ความรู้สึก ที่เกิดขึ้นในใจเท่านั้นแหละ มันไม่ใช่มีตัวตนอะไรโดยแท้จริง นี่เรียกว่า อุปาทาน ว่าตน ว่าของตน มีความรู้สึกว่ามีตัวกู ตัวกูอยากจะได้ เอามาเป็นของกู
กูก็คือตัวตน ของกูก็คือของตน มันก็แบกของหนักทันที แบกของหนักทันที คือ เหมือนกับตั้งครรภ์ ที่จะคลอดออกมา เดี๋ยวนี้ตัวตนมันตั้งครรภ์แก่ จัดอยู่ข้างใน มีความเป็นเช่นนั้น เต็มรูปขึ้นมา เรียกว่า ภพ พอคลอดออกมา เต็มความรู้สึก เรียกว่า ชาติ ตัวกู ของกู แสดงบทบาทได้เต็มอัตรา เต็มที่ของมัน โง่ไปหมด จนถึงกวาดเอาทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายทั้งปวง มาเป็นของกู มาเป็นตัวกูแล้วแต่กรณี เมื่อมีความรู้สึกว่าเป็น ของกู มันก็มีความทรมานใจ จิตไม่ได้เกลี้ยง ไม่ได้หยุด ไม่ได้เย็น ไม่ได้บริสุทธิ์ อยู่ตามเดิมละ เดี๋ยวนี้มีกลุ้ม กลุ้มอยู่ด้วยความรู้สึก ว่าตัวกูว่าของกู นี่คือ ความทุกข์ ที่เกิดขึ้นมาจากกิเลส กิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะอย่างนี้ โดยเฉพาะเจาะจง ตัณหา คือ ความอยาก นะมันเป็นกิเลส ที่ให้เกิดอุปาทาน ว่าตัวกู ของกู เกิดภพ เกิดชาติ ออกมาเป็นตัวตนที่สมบูรณ์ มันก็มีการยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกู ว่าของกู
ในการยึดมั่นถือมั่น นั้นมันเป็นของหนัก เรียกว่า ภาระ เป็นของหนัก มันก็เป็นทุกข์ เหมือนกับ คนถือของหนัก ของหนักทางวัตถุทางรูปธรรม เช่น ก้อนหิน แบกเข้ามันก็หนัก นี่ตัวกูของกูในทางจิตใจ แบกเข้า มันก็เป็นของหนัก หนักยิ่งกว่าก้อนหินเสียอีก ทั้งที่ไม่มีดุ้นมีก้อนน่ะแหละ แต่มันหนักแก่จิตใจ ยิ่งกว่าที่ว่าร่างกาย มันจะแบกก้อนหินเสียอีก นั่นน่ะคือความทุกข์ ความเกิดเป็นของธรรมชาติ ตามธรรมชาติมันเกิด ก็เอามาเป็นความเกิดของกู ความแก่ที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ๆ มันก็แก่ไม่เป็นของใคร แต่ก็เอามาเป็นความแก่ของกู ความเจ็บไข้เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ก็เอามาเป็นของกู ความตายเป็นอยู่ตาม ธรรมชาติ ก็เอามาเป็นของกู ถ้าจิตมันถึงขนาดนี้แล้ว ทุกอย่างมันจะปรุง เป็นเรื่องของตัวกูของกู ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ โสกะวะ เทวะ(นาทีที่ 34:16)ร่ำไร ความประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ความพลัดพราก จากสิ่งที่รัก ความปรารถนาอย่างไร แล้วไม่ได้อย่างนั้น เพราะตัวกูมันไม่ได้อย่างนั้น มันมีความยึดถือว่า ตัวกูที่จะต้องได้อย่างนั้น ก็เกิดความหนักขึ้นมาแก่จิตใจ
แต่เป็นเรื่องที่ละเอียด ไม่ศึกษาจริง ๆ จะมองไม่เห็นว่า ไอ้ความทุกข์นี่ เกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่น ตัณหาให้เกิดทุกข์ทันทีไม่ได้ ตัณหาทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวกูเป็นของกู เสียก่อนแล้ว มันจึงจะ เป็นความทุกข์ได้ เวลานั้นชีวิตนี้ ก็เป็นการแบกของหนัก ยึดถือของหนักนั่นแหละเป็นทุกข์ นี้ไปสังเกตดู เอาเอง ว่าเป็นทุกข์เรื่องอะไร ๆ ที่เราเคยเป็นทุกข์นั่งร้องไห้น้ำตาไหล มันก็อยู่ในพวกเหล่านี้ทั้งนั้น ที่มันอยากได้แล้ว มันไม่ได้ แม้แต่เพียงความอยากอย่างเดียว มันก็ถึงกับเป็นทุกข์ ทรมานใจเป็นทุกข์ เพราะว่ามันทำให้เกิดยึดมั่น หวงแหน หึง ล้วนแต่เป็นเรื่องแผดเผาจิตใจทั้งนั้น นี่เป็นเค้าเงื่อน เป็นแนว ของธรรมะ ที่จะต้องกำหนดจดจำออกไป
สำหรับจะรู้สึกได้ทันท่วงทีทันเวลา เมื่อสิ่งเหล่านี้มันได้เกิดขึ้นมาจริง ๆ ไม่ว่าจะยังบวชอยู่ หรือลาสิกขา สึกไปแล้วก็ตาม มันมีทั้งนั้นแหละ มันยังมีชีวิตอย่างคนธรรมดาอยู่ แล้วมันก็มีสิ่งเหล่านี้ นี่เรารู้เรื่องความทุกข์และกิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ส่วนเรื่องจะป้องกันกิเลสอย่างไรนั้น มันมีเรื่อง ของสติ การทำสติให้เพียงพอ ในขณะแห่งผัสสะ แล้วเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ตลอดเวลานั้น เป็นเรื่องดับทุกข์ ค่อยพูดคราวอื่น ไม่พูดเรื่องดับทุกข์อย่างไร ในวันนี้ไม่พูด จะพูดแต่ว่า มันเกิดทุกข์ขึ้นมาอย่างไร คือ เกิดกิเลส และเกิดทุกข์อย่างไร
เพราะว่าปัญหายังมีต่อไปอีก คือ ว่ามีสิ่งที่มีชื่อแปลก ๆ บางคนอาจจะไม่เคยได้ยินก็ได้ เรียกว่า อนุสัย อนุสัย คือ ความเคยชินแห่งการเกิดกิเลส เรียกว่า อนุสัย ยกตัวอย่าง เหมือนว่ามีความโลภขึ้นมาครั้งหนึ่ง ที่จิตใจมันก็จะโลภง่ายขึ้น กว่าที่เมื่อยังไม่เคยโลภ พอโลภ ๒ หน โลภ ๓ หน โลภ ๔ หน จิตที่จะโลภ มันยิ่งง่าย และยิ่งเร็ว นี่ความเคยชินที่จะเกิดความโลภ หรือเกิดความ กำหนัดยินดี นี่เขาเรียกว่า ความเคยชิน ที่จะเกิดกิเลส ในเมื่อเรามีความโลภหรือมีความกำหนัดยินดี ในสิ่งใด สักครั้งหนึ่ง มันจะสร้างนิสัย นิสัยในสันดานมีความเคยชิน ที่จะเป็นอย่างนั้นได้ง่ายขึ้น ๒ ครั้งง่ายขึ้นไปอีก ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง ยิ่งง่ายขึ้นไปอีก นี่ความเคยชินที่จะเกิดกิเลส มันก็มีเพิ่มขึ้น ๆ งั้นเราจึงเกิดกิเลสเก่ง ไอ้เรื่องที่จะโลภ จะรัก โลภเก่ง รักเก่ง เรื่องที่จะโกรธจะเกลียด ก็เกลียดเก่งโกรธเก่ง เรื่องที่จะโง่ก็โง่เก่ง เพราะว่าได้เกิด กิเลสทีไร มันจะสร้าง ความเคยชิน ที่จะเป็นอย่างนั้นขึ้น หน่วยหนึ่ง ๆๆ เสมอไป นี่เรียกว่า อนุสัย มันจะช่วย ให้เกิดกิเลสง่ายขึ้น เร็วขึ้น ๆ จนเหมือนกับว่า ยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ
ความเคยชินแห่งการเกิดกิเลสเรียกว่า อนุสัย ความเคยชินที่จะเกิดกิเลส ประเภท โลภะ ราคะน่ะ ก็เรียกว่า ราคานุสัย ราคะ-อนุสัย ราคานุสัย ความเคยชินที่จะเกิดกิเลส ประเภทโทสะ หรือโกธะนั้น ก็เรียกมันว่า ปฏิฆานุสัย ๆ นี่ในเรื่องของโมหะ ความเคยชินที่จะโง่ซ้ำ ๆ โมหะนี่ เรียกว่า อวิชชานุสัย ๆ ถ้าจำแต่ชื่อก็จำได้ง่าย ๆ ว่า ราคานุสัย ความเคยชินให้เกิดกิเลส ประเภทโลภะ ราคะ ปฏิฆานุสัย ความเคยชิน ให้เกิดกิเลส ประเภทโทสะหรือโกธะ อวิชชานุสัย ความเคยชินที่ให้เกิดกิเลส ประเภทโมหะ
ถ้าความเคยชินนี้ มากเข้า ๆ ก็เกิดง่ายขึ้น ๆๆ งั้นตั้งแต่ เราเกิดมาจากท้องมารดา กว่าจะโตเท่านี้ เกิดกิเลสไม่รู้กี่สิบครั้ง กี่ร้อยครั้ง ดังนั้นความเคยชิน มันจึงมีมาก มันจึงเกิดเร็ว เป็นสายฟ้าแลบ ยิ่งกว่าสายฟ้า แลบ แวบก็โกรธแล้ว แวบก็รักแล้ว แวบก็เกลียดแล้ว แวบก็กลัวแล้ว เป็นต้น ถ้ามันสร้างความเคยชิน มามาก มายก่ายกอง ที่นี้ในทางที่ตรงกันข้าม ถ้าไอ้เรื่องที่น่าโลภ น่ากำหนัดยินดีมาถึงเข้า มันยั่วให้กำหนัดยินดี เราบังคับไว้ได้ บังคับไว้ได้ไม่โลภไม่กำหนัดยินดี มันจะลด ๆ ความเคยชินที่สะสมไว้ เรื่องที่น่าเกลียด น่าโกรธ น่าโทสะนะมาให้โกรธ ไม่โกรธบังคับไว้ได้ มันก็ลด ลดอนุสัยที่สำหรับจะโกรธ หน่วยหนึ่ง ๆ คิดว่าหน่วยหนึ่ง ก็แล้วกัน กรณหนึ่งครั้งหนึ่งก็หน่วยหนึ่ง ถ้ามันมาให้โง่ให้หลง เราไม่โง่ไม่หลง เราฉลาดไว้ ด้วยวิปัสสนา เป็นต้น แล้วมันก็ลด ลดอวิชชานุสัย อวิชานุสัยก็ลด
เขียนอย่างย่อก็เขียนว่า ราคานุสัย เคยชินที่จะโลภ ที่จะเกิดความโลภหรือราคะ ปฏิฆานุสัย ความเคยชินที่จะเกิดโทสะหรือโกธะ อวิชชานุสัย ความเคยชินที่จะเกิดโมหะ ถ้ามันเกิดได้ ๆ ทุกที มันจะเพิ่ม ความเคยชินนั้นให้แรง ๆ ขึ้นทุกที ความที่จะเกิดแรงเกิดไวก็มีมากขึ้นทุกที ถ้าบังคับไว้ได้มันก็จะลดลงไป ทุกทีเหมือนกัน เรื่องนี้ไม่ยากหรอกสังเกตดู ถ้าเราอะไรละไปรักมันเข้า รักมันบ่อย ๆ มันก็รักมาก รักเร็ว รักรุนแรง ถ้าเราไปโกรธ ไปเกลียดมันเข้าบ่อย ๆๆ มันก็โกรธมาก โกรธแรง โกรธเร็วอย่างนี้ ถ้าเราเป็นโง่ ไปโง่ไปสะเพร่า ไปอะไรเข้ามันก็จะโง่หรือสะเพร่าได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้นอย่างนี้
ไม่รู้เรื่องอนุสัย ว่าเกิดกิเลสทีไร ก็สร้างอนุสัยสำหรับกิเลสชื่อนั้น เพิ่มขึ้นหนึ่ง ๆๆ เขาเรียกว่า อยู่ใน สันดานๆ คือว่าคล้าย ๆ กับว่ายุ้ง ฉาง ของจิตใจอย่างนั้นแหละ เรียกว่า สันดาน สะสมไว้ในสันดาน เป็นอนุสัย นี่พอได้อารมณ์ข้างนอก สำหรับจะให้ออกมาเกิด มันก็ไหลออกมา เกิดออกมาเป็นอาสวะ ตอนนี้ เรียกว่า อาสวะ กิเลสที่เป็นอนุสัยก็จะไหลออกมาข้างนอก เป็นความรู้สึกอีก ก็เรียกว่า อาสวะ ไหลออกมา ถ้าอนุสัยข้างในมีมาก อาสวะก็ออกมาง่ายออกมาเร็ว มันเนื่องกันอย่างนี้ มีกิเลสก็สร้างอนุสัยเข้าไว้ อนุสัย มากเข้า ก็บีบให้อาสวะไหลออกมาอย่างเร็ว ตามเรื่องของอนุสัย ที่มันมีมากมีน้อย ถ้าเก็บไว้มาก มันก็จะไหล ออกแรง เหมือนกับเราเอาน้ำใส่ให้เต็มตุ่ม เอาน้ำใส่ลงไปในตุ่มให้เต็มตุ่ม ถ้ามันมีรูรั่วสักนิด มันก็ออกมาแรง แต่ถ้าเราใส่ไม่เต็มตุ่ม แม้จะมีรูรั่วที่ก้นสักนิด มันก็ออกช้า ๆ ความดัน ความเบ่งมาก มันก็ออกมาแรง เหมือนกับว่าอนุสัย เมื่อสะสมไว้ แรงไว้มาก มันก็ออกมาเป็นอาสวะรุนแรงรวดเร็ว
งั้นถ้าอยากจะบรรเทาอาสวะ ก็ระวังอย่าให้เกิดอนุสัย หรือลดกำลังของอนุสัย ถ้าไม่มีอนุสัย ก็ไม่มี อาสวะละ นี่คือ ความเกิดแห่งกิเลส การสะสมความเคยชิน แห่งการเกิดกิเลส และการไหลออกมาเป็นกิเลส ครั้งหลัง ๆ เรียกว่า กิเลส เรียกว่า อนุสัย เรียกว่า อาสวะ ๓ อย่างนี้ทำงานติดต่อกัน เนื่องกัน ก็เมื่อเรามีกิเลส อยู่ตามปกติธรรมดา ทุกวันก็สร้างอนุสัยไว้มากมาย อนุสัยมีมากมันก็เกิดกิเลสครั้งหลัง ๆ ได้ง่ายและเร็ว เร็วขึ้น ได้มากขึ้น อันที่จะไหลออกมาทีหลังนี่ เรียกว่า อาสวะ นี่ก็คือ กิเลสนั้นแหละ แต่คือ กิเลสที่ออกมา จากความเคยชิน ไม่เหมือนกับกิเลสครั้งแรก เกิดกิเลสครั้งแรก มันก็เกิดเพราะว่าโง่ เมื่อผัสสะ ก็เกิดกิเลส สะสมอนุสัยไว้ เมื่อสะสมอนุสัยไว้มันก็โง่ที่สุด กิเลสก็มากขึ้นเหมือนกัน
นี่เป็นเรื่องอภิธรรม พระอภิธรรมที่สุดยอดนะ อยู่ที่ตรงนี้ ที่เขากันเรียกว่า อภิธรรม ๆ มีเยอะแยะ ไปหมด อภิธรรมรังหนู ไว้ให้หนูกัดกินทำรังก็มีเยอะแยะไปหมด แต่ว่าอภิธรรมแท้ อภิธรรมจริง ที่คนจะต้อง เกี่ยวข้อง จะต้องจัดการให้ถูกต้อง นี้มันมีอยู่อย่างนี้ นี่คือเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เรื่องจักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ เรื่องจักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส แล้วก็มีเวทนา เวทนาเกิดจากจักษุสัมผัส เวทนาเกิดจากโสตสัมผัส เวทนาเกิดจากฆานสัมผัส เวทนาเกิดจาก ชิวหาสัมผัส เวทนาเกิดจากกายสัมผัส เวทนาเกิดจากมโนสัมผัส
ที่นี้มันก็มีเกิดความอยาก จากเวทนาเกิดความอยาก เรียกว่า ตัณหา ตัณหาเกิด เพราะมีรูป เป็นต้นเหตุ ตัณหาเกิดเพราะมีเสียงเป็นต้นเหตุ ตัณหาเกิดเพราะมีกลิ่นเป็นต้นเหตุ ตัณหาเกิดเพราะมีรส เป็นต้นเหตุ ตัณหาเกิดเพราะมีสัมผัสผิวหนังเป็นต้นเหตุ ตัณหาเกิดเพราะธรรมารมณ์ในใจเป็นต้นเหตุ ที่นี้ก็จะเป็นอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น
ยึดมั่นถือมั่น เขาแจกโดยลักษณะการที่มันประพฤติกระทำไว้เป็น ๔ กามุปาทาน ยึดมั่นในฐานะ เป็นกาม เป็นกามารมณ์ ทิฎฐุุปาทาน ยึดมั่นในฐานะความคิดที่เชื่อ ความเชื่อความคิดเห็น สีลัพพตุปาทาน ยึดมั่นเป็นศีลวัตร ชนิดที่ไม่รู้เหตุผล ไม่รู้ความหมายแท้จริงของมัน ไปยึดถือไว้โง่ ๆ เขลา ๆ ผิด ๆ นี่มา อัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นว่าตัวตนว่าของตน อุปาทานก็เต็มไปด้วยของหนัก หนักอะไร ทั้งโลกเอามาแบก มาหาม มายึดถือไว้เป็นของหนัก นี่เรียกว่า เป็นทุกข์ ถ้ามีความรู้สึกในสิ่งใดว่าตัวตน ถ้ามีความรู้สึกว่าตัวตน ในสิ่งใด สิ่งนั้นจะ เป็นของหนักขึ้นมาทันที เช่น ชีวิตของเรานี่ ชีวิตของกูนี่ ชีวิตนี้เป็นของหนักขึ้นมาทันที หรือว่ารูปร่าง กายของกู มันก็เป็นของหนักขึ้นมาทันที เวทนาของกู สัญญาของกู สังขารของกู วิญญาณของกู แต่ละอย่าง ๆ เป็นของหนักขึ้นมาทันที
แม้วัตถุภายนอก ถ้ามารู้สึกยึดถือเป็นของกูขึ้นมา มันก็หนักขึ้นมาทันทีละ บ้านเรือนของกู วัวควาย ไร่นาของกู เกียรติยศ ชื่อเสียงของกูอะไรก็ตาม ถ้ามันไปเอามาเป็นของกู ละมันเป็นของหนักขึ้นมาทันที แล้วก็ทรมานจิตใจของคนโง่นั้น ให้หนัก ให้เป็นทุกข์ ปุถุชนก็ต้องเป็นอย่างนี้ มีแต่ว่ามากหรือน้อย ถ้าไม่มี กิเลส ไม่มียึดมั่นถือมั่น ก็เป็นพระอรหันต์ ไม่มีความทุกข์เลย ไม่มีความทุกข์เลย
ตอนที่เรามาบวชนี้ มันคล้ายกับลองเดินตาม รอยพระอรหันต์ เหมือนบทสวดปัจจเวก น่ะ วันหนึ่งคืนหนึ่งนี้ ข้าพเจ้าก็ทำตามพระอรหันต์ ระมัดระวังอยู่อย่างดี นี่เรียกว่า สิ่งที่ต้องรู้ ของจริง ที่มีค่าที่ต้องรู้ เมื่อรู้แล้วประพฤติปฏิบัติได้ มันก็ไม่มีความทุกข์จริงเหมือนกัน แต่แล้วมันไม่ได้ง่าย เหมือนปากพูด มันต้องการความจริง ความตั้งใจจริง ความอดกลั้นอดทน ความเอาใส่ใจอะไรเป็นที่สุด จึงจะรู้สึกทันกิเลส ป้องกันกิเลส ป้องกันไม่ให้เกิดกิเลส นั้นไปศึกษาในเรื่อง ฝ่ายที่ว่าจะป้องกันทุกข์ หรือดับความทุกข์กันอีกเรื่องหนึ่ง
วันนี้พูดแต่เพียงเรื่องเดียวเรื่องทุกข์เกิดอย่างไรเท่านั้น มันก็มาก มากเกินกว่าที่จะจำไหวหรือจะ จดไหวก็ได้นะ มันเป็นเรื่อง ๆ ทีละเรื่อง ๆ ไม่เชื่อลองไปทบทวนดูสิ มันจำได้หมดไหม เข้าใจได้หมดไหม ตามที่พูดมานี้ ว่าความทุกข์เกิดอย่างไร ความทุกข์เกิดมาจากกิเลส เกิดกิเลสแล้วเกิดอนุสัย เกิดอนุสัยก็ไหล ออกมาเป็นความทุกข์อีก ทำผิดทางจิตใจก็เกิดความทุกข์ ทำผิดทางจิตใจมันก็เกิดกิเลส กิเลสก็เจริญไปจนถึง เกิดตัวกูของกู มันก็เป็นทุกข์ แล้วมันจะเป็นง่าย ๆ มากขึ้น เร็วขึ้น ก็เพราะว่ามีความเคยชิน ที่สะสมไว้มาก เช่น โลภบ่อย ๆ ก็โลภเก่ง รักบ่อย ๆ ก็รักเก่ง โกรธบ่อย ๆ ก็โกรธเก่ง เกลียดบ่อย ๆ ก็เกลียดเก่ง กลัวบ่อย ๆ ก็กลัวเก่ง เพราะว่าทำบ่อย ๆ นะ การที่ทำบ่อย ๆ มันก็ทำได้มากทำได้เร็ว ในการที่มันจะเกิดปัญหาขึ้นมา
ทีนี้เรามา ทำกลับตรงกันข้าม คือ ไม่ให้มันเกิด มันก็ไม่มีไอ้ความเก่งที่จะเกิด เมื่อไม่ให้มันเกิด มันก็ไม่มีความเก่งที่เกิดง่าย ๆ เกิดเร็ว ๆ เกิดมาก ๆ นี่เรียกว่า ควบคุมไว้ได้ ด้วยการปฏิบัติธรรมะ มีความรู้ เรื่องธรรมชาติ เป็นหลักแล้วมีสติ นำเอาความรู้นั้นมาใช้ ทันเวลาทันท่วงที ที่มีการกระทบทางอารมณ์ เมื่อตากระทบรูป เมื่อหูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น อะไรก็ตามนี่ มีสติเอาความรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเข้ามา แล้วมันก็จะไม่โง่ไม่หลง ไม่เกิดเวทนาโง่ ตัณหาโง่ อุปาทานโง่ ซึ่งเป็นเรื่องของการดับทุกข์ เอาไว้พูดคนละทีดีกว่า
วันนี้ พูดเรื่อง ความเกิดแห่งทุกข์ ซึ่งเกิดมาจากกิเลส เกิดกิเลสแล้วสะสมความเคยชิน แห่งการเกิด กิเลสไว้ ดังนั้นจึงเกิดง่าย เกิดเร็วอย่างน่าอัศจรรย์ ถ้าเราจะถามตัวเอง ๆ ดูซิทำไมจึงเร็วนักนะ เรื่องรักก็ดี เรื่องโกรธก็ดี เรื่องเกลียดก็ดี เรื่องกลัวก็ดี เรื่องอะไรก็ดี ทำไมมันจึงเร็วนัก เร็วจนไม่รู้จะห้ามหักกันอย่างไร เพราะว่ามันมีความเคยชินทางจิตใจ มันมากนั่นเอง
เอาละเป็นอันว่า รู้เรื่องเกิดกิเลสและเกิดทุกข์ ให้เพียงพอซะก่อน แล้วค่อยรู้ เรื่องการปฏิบัติ ก็จะป้องกันกิเลสหรือจะดับกิเลสกันทีหลัง นี่การบรรยายนี้ ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ยุติการบรรยาย ในวันนี้ ไว้แต่เพียงเท่านี้
ถาม....อนุสัยกับการเก็บกดต่างกันอย่างไรค่ะ
ตอบ.... การเก็บกดมันคนละอัน อนุสัยไม่ได้เกี่ยวกับความเก็บกด นั้นสะสมไว้เอง สะสมความ เคยชิน ที่จะเกิดกิเลสอย่างนั้นไว้เอง โดยไม่ต้องเจตนา เรื่องเก็บกดเป็นเจตนา ที่จะเก็บไว้เองเรื่องใด เรื่องหนึ่ง เพราะมันโง่มันไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่รู้ว่าจะระบายออกไปอย่างไร มันก็มีอาการที่ เรียกว่า เก็บกด เต็มไปด้วย ความทุกข์ทรมาน อนุสัยไม่ใช่การเก็บกด การเก็บกดนี้ มันมีเมื่อมันรู้สึกทุกข์ รู้สึกเป็นทุกข์ หรือว่ารู้สึกกิเลส กำลังทำอันตรายอยู่ แล้วก็พยายามเก็บกด เป็นเรื่องชั่วคราว เป็นเรื่องมีผลน้อยมาก ไม่คุ้มกัน
ถาม..คำว่ากิเลสกับคำว่าตัณหา มีความหมายแตกต่างกันหรือว่าเหมือนกันอย่างไรค่ะ
ตอบ.. ไอ้ตัณหามันรวมอยู่ในคำว่ากิเลส คำว่า กิเลส มีความหมายกว้าง เรื่องผิด เรื่องชั่ว เรื่องเลวใน ด้านจิตใจ ก็เรียกว่า กิเลส กิเลสทั้งนั้น ตัณหามันก็รวมอยู่ในคำว่า กิเลสนั่นเอง เช่น ในโลภะก็มี ตัณหาอยู่ เต็มที่ กิเลส แปลว่า สิ่งเศร้าหมองแห่งจิต อะไรก็ได้ เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ก็เรียกว่า กิเลส ส่วนตัณหา นั้น หมายถึง ความรู้สึกที่เป็นความอยาก เอามาแต่ความรู้สึก ที่เป็นความอยาก แล้วก็เรียก ตัณหา มันก็รวม อยู่ในพวกกิเลส ภาษาไทยเราชอบรวบ เรียกรวบ พูดเป็นกิเลสตัณหา ภาษาบาลีพุทธวัจนะ ไม่เรียกรวบง่าย ๆ อย่างนี้นะ กิเลสก็กิเลส ตัณหาก็ตัณหา
ถาม ... โทสะ โมหะ โลภะ ตัวไหนหนักกว่ากันค่ะ
ตอบ... แล้วแต่กรณี จะพูดว่าหนักกว่ากันนี่ พูดไม่ได้ ในกรณีไหนโลภะถึงที่สุด ก็โลภะหนัก โทสะถึงที่สุดก็หนัก แต่ถ้าถามว่าอันไหนบังคับหรือป้องกัน ได้ยากง่ายกว่ากัน ก็พอมีทางจะพูด คือ ที่ลำบากมากที่สุด ก็คือ โมหะ เพราะเป็นเรื่องของความไม่รู้ ป้องกันหรือแก้ไขโมหะนี่ ลำบากมากกว่า โลภะหรือโทสะ ถึงมันรู้สึกได้ด้วยเจตนา มันจึงมีโอกาสที่จะต่อสู้ป้องกันได้ง่าย กว่าโมหะ ซึ่งไม่เกี่ยว กับเจตนา เป็นการที่ปราศจากความรู้ แล้วมันก็ทำไปอย่างปราศจากความรู้
ถาม.. เมื่อเกิดอนุสัยแล้วทำอย่างไรจึงลดความเคยชินนั้นได้ค่ะ
ตอบ.. อ้าว, ก็มีสติงัย มีสติอย่าทำซ้ำอีก อย่าทำกิเลสอย่างนั้นซ้ำอีก คือ ว่าอย่าซ้ำ ๆๆ ลงไปในกิเลส มีสติคอยป้องกันไว้ แล้วมันก็ลดอนุสัย...ลดอนุสัย...ลดอนุสัย
ถาม.. ในกรณีที่ต้องเข้าสังคมบ่อย ๆ นี้ จะมีการควบคุมไม่ให้เกิด โมหะกับเวทนาได้อย่างไรค่ะ
ตอบ..คนละเรื่อง โมหะมันต้องมีการศึกษารู้ ว่าถูกว่าจริงเป็นอย่างไร เวทนานั้นมันก็เรื่อง สติ อีกเหมือนกัน เมื่อเข้าสังคมมันมีเรื่องง่าย ที่จะเกิดการกระทบทางตา ทางหู ทางอะไรก็มีสติ เมื่อมีการกระทบ ก็ไม่ให้เกิดความโง่ มันเป็นเวทนา ที่จะทำให้เกิดปัญหา เมื่อหลักเกณฑ์เดียวกันแหละ สังคมหรือไม่สังคม ก็หลักเกณฑ์เดียวกัน เพียงแต่ว่าในสังคม ท่ามกลางสังคมมันทำยาก
ถาม..เมื่อไม่เกิดเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ ไม่รักและไม่เกลียด แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรนั้น หลวงพ่อบอกว่าโง่ โง่อย่างไรค่ะ เพราะที่จริงการรู้สึกเฉย ๆ ดีไม่ใช่หรือค่ะ
ตอบ.. นั่นเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยเรียนรู้ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา สุขเวทนา อ้าว, มันก็อยากได้ ทุกขเวทนามันอยากทำลาย อทุกขมสุขเวทนา มันยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ยังหมายมั่น เป็นเวทนาอยู่ เป็นที่ตั้งแห่งความโง่ สำหรับจะโง่ต่อไป เรื่องนี้ละแปลก ซึ่งเขาไม่เคยเอามาพูดกัน แม้ว่าในบาลี จะกล่าวไว้ชัด สุขเวทนา แล้วสำหรับเอา ทุกขเวทนาสำหรับทำลาย อทุกขมสุขเวทนา สำหรับโง่ต่อไป สำหรับโง่ต่อไป คือ ไม่สิ้นสุด จำง่าย ๆ ว่า สุขเวทนาสำหรับยินดี ทุกขเวทนาสำหรับยินร้าย อทุกขมสุขเวทนา สำหรับโง่ต่อไป
อ้าว, ถ้าปัญหาหมด ก็ปิดประชุม ไปนอนได้