แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ อาตมาภาพจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป ในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยความสมควรแก่เวลา
ธรรมเทศนาในโอกาสนี้ เป็นธรรมเทศนาเนื่องในวิสาขบูชา สืบต่อมาจากธรรมเทศนาตอนบ่าย ในธรรมเทศนาตอนบ่ายนั้น มีข้อสำคัญที่ท่านทั้งหลายจะต้องกำหนดจดจำไว้ให้ดี ว่าการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้านั้น มิใช่เป็นการเกิดจากครรภ์มารดา เป็นเด็กมาตามลำดับแล้วโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ว่าการเกิดของพระพุทธเจ้านั้น เป็นการเกิดอย่างที่เรียกว่า โอปปาติกะกำเนิด เกิดโดยทางใจ เกิดผลุงขึ้นมาเต็มตามความหมายของการเกิดชนิดนั้น เป็นการเกิดทางจิตใจผลุงขึ้นมา เต็มตามความหมายของการเกิดชนิดนั้น ไม่ต้องเกิดเป็นเด็กก่อน แล้วก็ค่อยๆเติบโตมาตามลำดับ
ขอให้สนใจคำว่า โอปปาติกะกำเนิด เกิดอย่างที่เรียกว่า อุบัติ ขึ้นมา และได้กล่าวแล้วโดยละเอียดในธรรมเทศนานั้นว่า เป็นได้แก่ทุกคน เป็นได้สำหรับเราทุกคน เพราะว่าเราก็มีใจ มีจิตใจ เราก็เกิดทางจิตใจได้ เกิดทางร่างกายจากท้องมารดานั้นมันหมดแล้ว มันจบแล้ว มันสิ้นไปแล้ว มันสิ้นเรื่องการเกิดแล้ว จะต้องพูดอะไรกันให้เสียเวลาทำไม แต่ที่มันยังจะเกิดอีกต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดนั้น ก็คือ การเกิดในทางใจ มีความคิดปรุงอย่างไรมันก็เกิดเป็นอย่างนั้น นี่ยังจะต้องเกิดต่อไปอีกมากมาย ไม่รู้อีกกี่สิบชาติ หรือร้อยชาติ หรือพันชาติ เท่ากับคนมันเกิดเก่ง วันเดียวมันก็เกิดได้ตั้งสิบๆชาติเสียแล้ว
ถ้ามันคิดอย่างเลว มันก็เกิดเป็นคนเลวทันที
ถ้ามันคิดอย่างคนดี มันก็เกิดเป็นคนดีทันที
มันคิดอย่างคนอันธพาล มันก็เกิดเป็นคนอันธพาลทันที
ถ้ามันคิดชนิดที่ใจร้อนเป็นไฟ มันก็เกิดเป็นสัตว์นรกทันที
ถ้ามันคิดด้วยความโง่เขลา โง่อย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ พูดแล้วไม่น่าเชื่ออย่างนี้ มันก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานทันที
ถ้ามันมีความคิดที่หิวกระหายต้องการไม่รู้จักสิ้นสุด มันก็เกิดเป็นเปรตทันที คือ เป็นผู้หิว
ถ้ามันมีความขี้ขลาด มันขี้ขลาดไปซะหมดทุกสิ่งทุกอย่าง มันกลัว แม้กระทั่งสัตว์ตัวเล็กๆ กระทั่งมันจะกลัวตาย หรือกลัวอะไรก็ตามใจ ถ้ามันเป็น ความกลัว แล้วก็เรียกว่า มันมีความคิดปรุงแต่งเป็นความกลัว มันก็เกิดเป็น อสุรกาย ทันที อสุรกาย ก็แปลว่า หมู่สัตว์ที่ไม่มีความกล้าหาญ อ (อะ) แปลว่า ไม่ - สุร (สุ-ระ) แปลว่า กล้าหาญ กาย แปลว่า หมู่สัตว์ หมู่-หมู่สัตว์
นี่เราระวังให้ดี ที่มันจะเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกายได้ไม่ทันรู้ ถ้าปราศจากสติ-สัมปชัญญะอันเพียงพอ มันก็คิดไปอย่างนั้นได้แล้วก็เกิดเป็นอย่างนั้นได้โดย โอปปาติกะกำเนิด ถ้ามันคิดอย่างคนก็เป็นคน คิดอย่างสัตว์มันก็เป็นสัตว์ มันจะคิดอย่างแมว สุนัข ไก่ หมู มันก็เกิดเป็นสัตว์ชนิดนั้นในร่างนี้ ถ้ามันคิดได้ คิดอย่างไรมันก็จะเกิดอย่างนั้น
ลุ่มหลงในกามารมณ์ มันก็เกิดเป็นเทวดา
ถ้ามีจิตใจมั่นคงในรูปธรรมอันบริสุทธิ์ มันก็เกิดเป็น พรหม เช่น ทำสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่ง มีรูปธรรมเป็นอารมณ์สำเร็จแล้ว มีสมาธิตั้งมั่นแล้ว มันก็ได้เกิดเป็น รูปพรหม พรหมมีรูปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว
ถ้ามันเก่งกว่านั้น บางคนทำสมาธิไม่ต้องมี รูปธรรม เป็นอารมณ์ เอาสิ่งที่ไม่มี รูปธรรม เป็นอารมณ์ เช่น เอาอากาศซึ่งไม่มีรูป เอาวิญญาณซึ่งไม่มีรูป เอาภาวะไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์ก็ไม่มีรูป กระทั่งว่าเอาความรู้สึกที่มีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้ มาเป็นอารมณ์ มันก็ไม่มีรูป อย่างนี้เขาเรียกว่า เกิดเป็นอรูปพรหม
ถ้ามาลองคำนวณดูสักนิดหนึ่งก็เห็นได้ว่า มันแตกต่างกันอย่างไร? มันแตกต่างกันสักกี่มากน้อย เมื่อมีความร้อนอก-ร้อนใจ มีความคิดชนิดที่เป็นความร้อนอก-ร้อนใจอยู่ในตัวมันเอง แล้วก็มันให้เกิดผลให้เกิดความร้อนอก-ร้อนใจอยู่อย่างยิ่งอยู่อย่างนี้ มันต่างกันอย่างไรกับการที่มีจิตใจสงบเย็น ไม่มีความร้อนอก-ร้อนใจด้วย ราคะ โทสะ โมหะ เลย มันก็ต่างกันมาก เมื่อมองเห็นแล้วก็คงจะปรารถนามีความเกิดชนิดที่ไม่มีความร้อนใจ นี่เป็นสิ่งที่ทำได้ เมื่อมันเกิดเป็นอะไรๆ ชนิดที่ไม่น่าปรารถนาได้ มันก็ควรจะเกิดเป็นอะไรๆ ชนิดที่ควรปรารถนาได้ด้วยวิธีเดียวกัน คือ โดยวิธี โอปปาติกะกำเนิด นี้ อย่าไปคิดว่าต้องตายไปแล้วมันจะเกิดเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ตายทีหนึ่งเกิดได้อย่างหนึ่ง ตายทีหนึ่งเกิดได้อย่างหนึ่ง อย่างนี้มันคนไม่รู้อะไร มันเดาเอาเองหรือว่ามันฟังตามคนโง่พูด ไม่รู้อะไร ขอให้สนใจในการเกิดที่เรียกว่า โอปปาติกะกำเนิด คือ พอเราคิดอย่างไร มันก็เกิดเป็นอย่างนั้นนั้นแหละ ให้มาก แล้วมันจะเกิดต่อไปมากมาย ถ้าคิดชั่วก็เกิดเป็นคนชั่ว คิดดีก็เกิดเป็นคนดี อย่างนี้เป็นต้น คิดให้ร้อนใจมันก็ร้อนใจ คิดให้เย็นใจมันก็เย็นใจ ใครอยากจะเกิดอย่างไรก็ควรจะขวนขวาย ศึกษาให้รู้ และปรุงแต่งจิตใจให้มีความคิดเป็นไปในทางนั้นอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ก็จะได้เกิดเป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะถ้าจะเกิดเป็นคนมีความสุขสงบ เย็นอก เย็นใจ คิดไปในทางแห่งความสุขสงบ เย็นอก เย็นใจ ก็จะได้เกิดเป็นคนชนิดนั้น นี่ขอให้ท่านทั้งหลายกำหนดไว้ในใจ ว่าเราเกิดได้ตามที่เราต้องการ อยากเกิดเป็นคนชั่วก็คิดชั่วๆเข้า อยากเกิดเป็นคนดีก็คิดให้มันดีเข้า อยากจะเกิดเป็นคนเย็นก็มีความคิดที่มันเย็น อยากเกิดเป็นคนร้อนมันก็มีความคิดอย่างคนร้อน
ทีนี้อาตมาอยากจะแนะสักคำหนึ่งว่า ให้เกิดเป็น ธรรมะชีวี ธรรมะชีวี แปลว่า มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ ขอให้ท่านทั้งหลายเกิด-ได้เกิดเป็น ธรรมะชีวี ดังหัวข้อบาลีที่ยกขึ้นมาไว้ข้างต้นว่า ธัมมะกาโม ภะวัง โหติ ผู้ชอบธรรมะจะเป็นผู้เจริญ ธัมมะเทสสี ปะรา ภะโว ผู้ชังธรรมะจะเป็นผู้ฉิบหาย ธัมมะชีวี สะทา สะโต ฉะนั้น จงเป็นผู้มีสติเป็น ธรรมะชีวี มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมทุกเมื่อเถิด ขอให้ได้เกิดเป็นธรรมะชีวี ผู้มีชีวิตเป็นธรรมะ ผู้มีธรรมะเป็นชีวิต มีสติอยู่ทุกเมื่อเถิด
คำว่า มีสติ นั่นแหละสำคัญมาก ถ้าไม่มีสติแล้วมันทำอะไรไม่ได้ มันทำอะไรไม่ถูก มันทำอะไรให้มั่นคงถาวรไม่ได้ ถ้าเรามีสติระลึก นึกถึงเหตุผลของสิ่งต่างๆอยู่ เราก็มีความรู้ความเข้าใจที่จะดำเนินชีวิตนี้ให้เป็นไปตามที่ประสงค์นั้นได้ ระลึกอยู่เสมอว่า ผู้ชอบธรรมะจะเป็นผู้เจริญด้วยธรรมะนั้น ผู้ชังธรรมะก็จะฉิบหายด้วยความชังธรรมะนั้น อย่างนี้มันรู้สึกตัวอยู่ มันก็ดำรงชีวิตนี้ให้มันมีธรรมะอยู่ทุกเมื่อ เมื่อทำอยู่อย่างนี้ คิดอยู่อย่างนี้ มันก็เกิดใหม่ เกิดเป็น ธรรมะชีวี เกิดเสียใหม่ เกิดเป็น ธรรมะชีวี มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะเป็นสิ่งที่เกิดใหม่ได้ ขอให้สนใจสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะนั้นให้ถูกต้องให้เพียงพอ ก็จะเกิดความพอใจอย่างยิ่งในสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ นั้น ความคิดปรุงแต่งมันก็จะทำให้เกิดชีวิตชนิดที่เต็มไปด้วยธรรมะ มีธรรมะอยู่อย่างเต็มที่ได้ และปัญหาก็จะหมดเหมือนกัน อาตมาพูดบ่อยๆในข้อที่ว่าปัญหาหมด-เรื่องจบ หลายอย่างหลายหนแล้ว ผู้ฟังอาจจะคิดว่ามันมีหลายเรื่อง หลายอย่าง หลายชนิด ที่จริงพูดว่าเรื่องจบปัญหาหมดมีชนิดเดียวเท่านั้นหละ ชนิดเดียว คือว่า มันจะไม่มีความทุกข์อีกต่อไป ก็เมื่อจบเรื่องจบกันทีก็แปลว่า หมดปัญหา หมดความทุกข์ หมดเหตุ-หมดปัจจัยแห่งความทุกข์เรื่องมันก็จบ ในพระบาลีก็เรียกว่า จบพรหมจรรย์ จบพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ คือ ข้อที่ต้องประพฤติปฏิบัติให้ดีที่สุด ให้ได้ผลดีที่สุด ถ้าเราประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด จบพรหมจรรย์ เรื่องมันก็จบ แล้วเราก็เลยได้รับผลดีที่สุด คือ ไม่มีความทุกข์ อย่างแสดงไว้ในบทว่า ชาติสิ้นแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์จบแล้ว ชาติสิ้นแล้วไม่ต้องประพฤติอะไรอีกต่อไป ถ้าเรื่องมันจบมันก็ไม่ต้องประพฤติอะไรอีกต่อไป เดี๋ยวนี้มันยังไม่จบ เพราะว่ามันยังมีกิเลสตัณหาเหลืออยู่ มันยังมีเกิดไปตามกิเลสตัณหาซ้ำๆ ซากๆ ที่เรียกว่าเวียนว่ายไปใน วัฏฏสงสาร นั้นอยู่เรื่อยไป มันยังไม่จบ ถ้าประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด-จบ ก็หมายความว่าจะไม่มีการเกิดอีกต่อไป นี่จะต้องระวังให้ดีว่าเราจะเกิดให้ดีกันไปก่อน จนกว่าจะไม่ต้องเกิดอีกต่อไป แล้วปัญหามันก็จะจบ แต่ก่อนที่จะหยุดการเกิดโดยประการทั้งปวงได้นั้น เรามาเกิดอย่างที่ควรจะเกิดกันไปก่อน จะพอทำได้สำหรับทุกคน วันหนึ่งเกิดได้หลายสิบหน เลือกไปเถิดจะเกิดเป็นอะไร แต่ว่าเกิดโดยวิธีที่เรียกว่า โอปปาติกะ นั้น เราจึงมาศึกษาเรื่องนี้กันเป็นพิเศษ
มีสติควบคุมการปรุงแต่งของความคิดให้เพียงพอ การปรุงแต่ง การควบคุมความคิดปรุงแต่งนั้น มันต้องควบคุมที่ ผัสสะ เพราะถ้ามี ผัสสะ อะไรมากระทบทีหนึ่งแล้ว มันจะต้องมีความคิดปรุงแต่งเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ที่เรียกว่า ดีบ้าง ชั่วบ้างอะไรก็แล้วแต่ มีความคิดปรุงแต่งอะไรมันก็เกิดเป็นอย่างนั้น มีความคิดปรุงแต่งดี-เกิดเป็นคนดี มีความคิดปรุงแต่งชั่ว-มันก็เกิดเป็นคนชั่ว เป็นบาปเป็นบุญไปตามความคิดปรุงแต่ง ถ้าจะมีการควบคุมความคิดปรุงแต่ง มันก็ต้องควบคุม ผัสสะ ให้ดี คือ มีสติทันเวลาที่มี ผัสสะ สติทันเวลา หมายความว่า เอาปัญญามา มันนำเอาปัญญามา พาปัญญาแล่นมาทันเวลาแห่ง ผัสสะ อย่าให้ ผัสสะ นั้นประกอบอยู่ด้วยความโง่ ความไม่รู้อะไร นี่เรียกว่าเป็น ผัสสะ เลว ผัสสะโง่ ผัสสะหลับ ผัสสะอวิชชา ถ้าเรามีสติระลึกได้ถึงความจริง มาควบคุม ผัสสะ นั้น ผัสสะ นั้นก็จะถูกควบคุมไว้ไม่ให้ปรุงแต่ง เวทนา โง่ ๆ แล้วไปเกิดเป็น ตัณหา เป็น อุปาทาน อย่างนั้น อย่างนี้ ซึ่งเป็นความคิดปรุงแต่งที่สมบูรณ์ ก็ได้เกิดเป็นอย่างนั้น การที่จะควบคุมให้มีการเกิดโดยทางจิตใจให้เป็นที่น่าพอใจ ก็ต้องรู้จักควบคุม ผัสสะ
บางคนจะสงสัยว่า ทำไมเดี๋ยวนี้มาพูดเรื่องการเกิด มายุให้เกิด มายั่วให้เกิด มาชวนให้เกิดเล่า? ก็ไหนว่าจะสิ้นสุดการเกิดกันเสียที? นั่นมันก็ถูกแล้ว ถ้าสามารถทำที่สุดแห่งการเกิดได้ มันก็หยุดเกิด แต่เดี๋ยวนี้มันยังทำไม่ได้ จึงขอให้เกิดดีไปก่อนก็แล้วกัน จนกว่ามันจะเบื่อการเกิด แม้เป็นการเกิดที่ดี เกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ก็เบื่อ เกิดเป็นพรหมก็เบื่อ เกิดเป็นสัตว์ในอบายนั้นไม่ต้องพูด เพราะว่ามันไม่มีใครชอบแล้ว แต่ที่จะเกิดเป็นคนมีบุญ เป็นคนสวย เป็นคนร่ำรวย เป็นคนเฉลียวฉลาดนี้ มันยังมีคนชอบอยู่มาก ดังนั้น เขาจึงต้องเกิดกันไปก่อน แต่เมื่อจะต้องเกิดกันไปก่อนแล้วขอให้มันเกิดแต่ในทางที่ดี ในฝ่ายที่ดี ฝ่ายที่ถูกต้อง เป็นกุศล ที่ว่าถูกต้องเป็นกุศลนั้นมันมีความหมายนิดเดียว คือ มันไม่เป็นทุกข์เลย มันไม่ทำความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ใครเลยนั่นแหละ เขาเรียกว่าดี หรือถูกต้อง หรือเป็นกุศล ขอให้มีการเกิดที่ดีไปก่อนถ้ามันยังต้องเกิด แล้วมันคล้ายๆ กับว่า พูดเอาเปรียบ คือ ต้องเกิดอย่างดี อย่างดี อย่างดีไปก่อน แล้วมันก็จะพอ มันก็จะอิ่ม มันก็จะเบื่อ มันก็ไม่อยากเกิดอีกแม้อย่างดี มันก็ไม่ได้อยากเกิดอีกนั่นล่ะ มันจึงจะการสิ้นสุดแห่งการเกิด คือ เบื่อการเกิด ถ้ายังมีการเกิด ไปเกิดดี เกิดดี เกิดดี เกิดดีไม่เท่าไรมันก็จะต้องเบื่อ เพราะว่าขึ้นชื่อว่า การเกิด แล้วก็เป็น ของหนัก เป็นภาระหนักที่จะต้องบริหารการเกิด เหมือนกับแบกของหนัก ชีวิตนี้มันเป็นของหนัก เพราะเหตุนี้
ทีนี้เบื่อการเกิด ก็ค่อยพูดกันถึงเรื่องว่า จะหยุดเกิดได้อย่างไร? นี่ไว้พูดกันตอนหลัง ตอนนี้อยากจะขอร้องว่า ให้เกิดดีที่สุดกันไปก่อน เกิดดีที่สุดเกิดเป็นอะไร? ก็เกิดเป็น ธรรมะชีวี อย่างที่กล่าวแล้ว อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น ธรรมะชีวี นี้แปลว่า มีชีวิตเป็นธรรมะ เรียกอย่างภาษาบาลีก็ว่า ธรรมะชีวี ถ้าเรียกอย่างภาษาสันสกฤตก็ต้องว่า ธรรมะชีวิน เหมือนกัน ธรรมชีวี หรือ ธรรมะชีวิน เหมือนกัน คือสิ่งเดียวกัน เรียกช่อแปลกกันหน่อยก็แล้วแต่ภาษาที่เราจะใช้ เราจะใช้ภาษาบาลี หรือใช้ภาษาสันสกฤต เรามาคิดว่าภาษาบาลีมันดี มันเป็นภาษาที่ทรงพระพุทธศาสนาไว้ เลยใช้คำว่า ธรรมะชีวี - มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ เป็น ธรรมะชีวี - มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ แล้วเรื่องก็จะจบ ในทางที่ปัญหาก็จะหมดไปส่วนหนึ่งตอนหนึ่งในเรื่องการเกิดนี้ จะปลอดภัยตลอดไปจนกว่าจะไม่อยากเกิด เราก็พิจารณาเรื่องเกิดเป็น ธรรมะชีวี กันให้สิ้นสุด มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะ เรียกว่า ธรรมะชีวี ใจความสำคัญมันก็อยู่ที่คำว่า ธรรมะ นั่นเอง ธรรมะคืออะไร? ต้องรู้ว่าธรรมะคืออะไรเสียก่อนมันจึงจะเกิดเป็นชนิดนั้นได้ ชีวี แปลว่า มีชีวิต ชีวี แปลว่า มีชีวิต ธรรมะชีวี ก็มีชีวิตเป็นธรรมะ สิ่งที่ต้องรู้ให้ละเอียดก็คือว่า ธรรมะ ธรรมะ นั่นแหละ
ทีนี้ก็จะอธิบายคำว่า ธรรมะ ให้เป็นที่เข้าใจกันอย่างครบถ้วน คำว่า ธรรมะ ธรรมะ นี่มันประหลาดที่สุด คำๆนี้ประหลาดที่สุดเมื่อศึกษาค้นคว้าดูไปอย่างทั่วถึงแล้วปรากฏว่า เป็นคำที่ประหลาดที่สุด คือ เป็นคำที่ใช้หมายได้ทุกสิ่งถึงสิ่งทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร นั่นแหละความหมายหนึ่ง ความหมายทั่วไปเป็นความหมายหนึ่ง ความหมายทั่วไปคือหมายถึงอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยกเว้นอะไร ก็เลยพูดกันไม่รู้ว่าจะพูดอะไร ก็ ธรรมะ อย่างนี้มันหมายความว่า เป็นธรรมชาติ ธรรมะ คือ ธรรมชาติ ทุกสิ่งมันเป็นธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ของมีรูปก็เป็นธรรมชาติ ของไม่มีรูปก็เป็นธรรมชาติ ของมีปัจจัยปรุงแต่งก็เป็นธรรมชาติ ของไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็เป็นธรรมชาติ ของดี ของเลว ของต่างๆก็เป็นธรรมชาติ อะไรก็เป็นธรรมชาติ อย่างนี้เรียกว่า ธรรมะ คือ ธรรมชาติ นี่ รู้ไว้ความหมายหนึ่งก่อน
ทีนี้ในธรรมชาตินั้นมันก็มีอำนาจอันหนึ่ง เรียกว่า กฎของธรรมชาติควบคุมอยู่ เพื่อให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปตามกฎของธรรมชาตินั้น คือ มันอยู่นิ่งไม่ได้ มันปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของธรรมชาติ ถ้าเรารู้เรื่องนี้ดี เราก็สามารถที่จะจัดให้มีการปรุงแต่งที่ดี ธรรมะ คือ กฎของธรรมชาติว่า ถ้าทำลงไปอย่างนี้ผลจะเกิดขึ้นอย่างนี้ ถ้าทำไปอย่างนี้ผลจะเกิดอย่างนี้ ทำไปอย่างนี้ผลจะเกิดอย่างนี้ ที่เรียกชื่อฟังยากๆหน่อยว่า อิทัปปัจจยตา คือ กฎของธรรมชาติ ที่บอกว่า ถ้าทำอย่างนี้ผลจะเกิดอย่างนี้ ทำไปอย่างนี้ผลจะเกิดอย่างนี้ นี่บอกตรงกลางเลย ไม่เกี่ยวกับดีกับชั่ว ดี-ชั่วนี้คนเพิ่งพูดกันทีหลังว่า ถ้าถูกใจเขาก็ว่า-ดี ไม่ถูกใจเขาก็ว่า-ชั่ว แต่ธรรมชาติแท้ ธรรมชาติแท้ๆ ไม่มีดี-ไม่มีชั่ว มันเพียงแต่ว่า ทำอย่างนี้ผลจะเกิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ผลจะเกิดอย่างนี้ ชนิดที่ทำให้คนเจ็บปวด-เขาก็ว่าไม่ดี ชนิดที่ทำให้คนสบาย-เขาก็ว่ามันดี แต่ตัวธรรมชาติมันไม่ได้มีจิตใจ เจตนาที่จะทำให้เจ็บปวดหรือทำให้สบายหรอก มันเพียงแต่ว่าถ้าทำอย่างนี้ผลจะเกิดขึ้นอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ผลจะเกิดขึ้นอย่างนี้ นี่เรียกว่า ธรรมะ คือ กฎของธรรมชาติ
ทีนี้ก็มันมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ สิ่งทั้งหลายต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ มันก็เกิดเป็นหน้าที่ขึ้นมา ว่าจะต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาตินั้นให้ถูกต้อง ให้ถูกต้อง ธรรมะในความหมายนี้สำคัญที่สุด คือ เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ แล้วจะได้ไม่เป็นทุกข์ หน้าที่ที่จะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ แล้วจะได้ไม่เป็นทุกข์ หน้าที่ ก็คือ หน้าที่ของสิ่งมีชีวิต ถ้ามันไม่มีชีวิต มันก็ไม่ต้องรับรู้เรื่องหน้าที่ เพราะมันไม่ได้มีชีวิต มันไม่ต้องการมีชีวิต แต่ถ้ามันมีชีวิต มันต้องการจะมีชีวิตแล้ว มันต้องมีหน้าที่ทันที มันหลีกไม่พ้น มันปฏิเสธไม่ได้ สิ่งที่มีชีวิตก็มีหน้าที่ที่จะต้องประพฤติพระธรรม เพื่อให้รอดชีวิตนั้นเอง หน้าที่ในความหมายนี้ก็หมายความว่า หน้าที่ที่ถูกต้องสำหรับให้สิ่งมีชีวิตมันรอดอยู่ได้ สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ หน้าที่ นั้นแหละคือ ธรรมะ ธรรมะ ในความหมายนี้ คือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ อยากจะบอกเลยไปถึงว่า ความรู้อันนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรในหมู่มนุษย์?
เอาเป็นว่าตั้งแต่มนุษย์เริ่มเป็นมนุษย์นั้น เป็นคนป่า เป็นครึ่งสัตว์ครึ่งมนุษย์ ต่อมาก็มนุษย์ คือเป็นคน อย่างคน พอเป็นคนพอสมควรแล้ว มีสติปัญญาอย่างคนแล้ว คนสมัยโน้นสมัยดึกดำบรรพ์โน้นมันก็เริ่ม ๆ สังเกตเห็นว่า มันมีสิ่งที่ต้องทำ มนุษย์ดึกดำบรรพ์โน้นมันก็ทำไร่ ทำนา ทำมาหากิน ต้องต่อสู้ต้อง อยู่กันเป็นหมู่เป็นสังคม แล้วก็มีปัญหาไข้เจ็บอะไรต่างๆ นานา ข้าศึกศัตรูก็มี ธรรมชาติก็เบียดเบียน อะไรอย่างนี้ มันก็เลยสังเกตเห็นว่า โอ้, มันมีหน้าที่ มันเรียกสิ่งนั้นว่า ธรรมะ ซึ่งแปลว่า หน้าที่ ที่ในภาษาไทยเราเรียกว่า หน้าที่ หน้าที่ เป็นภาษาไทย ถ้าเป็นภาษาโบราณในประเทศอินเดียสมัยโน้น คือ คำว่า ธรรมะ ธรรมะ แปลว่า หน้าที่ ทีนี้พอ ธรรมะ แปลว่า หน้าที่ ก็หมายความว่ามันต้องทำ ถ้าไม่ทำมันก็ตาย มันอยู่ไม่ได้ ถ้ามันไม่ทำหน้าที่เพื่อชีวิต ดังนั้น ต้องขอเอาคำว่า ธรรมะ มาใช้สำหรับสิ่งที่เราเรียกกันในภาษาไทยว่า หน้าที่
ทีนี้ก็มีเรื่องที่ต้องรู้ต่อไปอีกนิดหนึ่งว่า ธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ คำนี้ ศัพท์ตัวรากของศัพท์มันแปลว่า ทรงไว้ ชูไว้ ยกขึ้นไว้ ยกขึ้นไว้ ทรงขึ้นไว้ ชูขึ้นไว้ไม่ให้พลัดตกลงไป คนที่เรียนบาลีก็จะรู้ว่า ธรรมะ คำนี้มาจาก พระธะ ธ ธ (ทะ) แปลว่า ทรงไว้ ชูไว้ ยกขึ้นไว้ ไม่ให้ตกจมลงไป มันก็เข้ารูปกันที่คนสมัยดึกดำบรรพ์โน้นเขารู้จักว่า โอ้, ธรรมะ ธรรมะ คือ หน้าที่ คือ สิ่งที่จะทรงเราไว้ ไม่ให้ตกลงไปสู่ความตาย ไม่ให้ตกลงไปสู่ความทุกข์ยากลำบากอะไร มันก็เรียก ธรรมะ ธรรมะ เราก็ถือความหมายคำว่า ธรรมะ ธรรมะ นี้คือ สิ่งที่จะทรงผู้มีธรรมะไว้ไม่ให้ตกลงไป ใครมีธรรมะ ธรรมะก็จะทรงไว้ไม่ให้ตกลงไปสู่ความทุกข์ หรือความตายนี้ ธรรมะ แปลว่า หน้าที่ ที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะได้ทรงตัวเองไว้ไม่ให้ตกไปสู่ความทุกข์หรือความตาย หน้าที่มีความหมายอย่างนั้น ธรรมะ คือ หน้าที่ ถ้ามีหน้าที่ก็คือมีธรรมะ ถ้าปฏิบัติหน้าที่ก็คือปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติธรรมะก็คือปฏิบัติหน้าที่ แต่ต้องขอร้องให้ศึกษาให้รู้จักทุกหน้าที่ ทุกชนิดของหน้าที่ที่มันทรงผู้ปฏิบัติไว้ เราจะได้ปฏิบัติธรรมะกันให้เต็มที่ แล้วก็จะได้ชื่อว่า ธรรมะชีวี ธรรมะชีวี คือ เป็นผู้มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต จะขอพูดเรื่องคำว่า ธรรมะ คือ หน้าที่นี้ให้ละเอียดที่สุด จนท่านทั้งหลายเข้าใจแล้วปฏิบัติตนเป็น ธรรมะชีวี มีธรรมะเป็นชีวิตอยู่ทุกๆ เวลานาที ทุกหน ทุกแห่ง ทุกๆ อิริยาบถ จะมีธรรมะอยู่เป็น ธรรมะชีวี ทุกอิริยาบถ ก็หมายความว่า ทุกเวลา ทุกครั้งที่หายใจ ทุกเวลาที่หายใจ ทุกหน ทุกแห่ง ก็คือ ไม่เว้นที่ไหนเลยให้มีธรรมะ
พูดให้กว้างไปถึงภาษาธรรมดาๆ ธรรมะ คือ หน้าที่ เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ มันก็พอจะฟังถูก หน้าที่ หน้าที่ ถ้าไม่ทำหน้าที่ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องอะไร ข้อนี้ต้องฟังกันให้ถูกเสียก่อน คือ ถ้าไม่ทำหน้าที่ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาอะไรมากินมาใช้ เพราะฉะนั้น เราจึงให้เด็กๆเขารู้จักทำหน้าที่ แล้วก็ตอบแทนเขาด้วยสิทธิว่าเขาต้องการอะไรก็จะได้ โดยทั่วไป เราต้องทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาอะไร แม้ในทางสังคมนี้ ในทางสังคมที่เราอยู่กันเป็นสังคมนี้ ทุกคนต้องทำหน้าที่ ต้องทำหน้าที่แล้วก็มีสิทธิที่จะเรียกร้อง ทีนี้ พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ตรงจริงตามธรรมชาติ จึงมีกฎเกณฑ์ที่ว่าจะต้องทำหน้าที่ จึงเกิดสิทธิ ถ้าไม่ใช่พุทธศาสนาเป็นเพียงไสยศาสตร์ อย่างนี้เขาไม่ค่อยทำหน้าที่หรอก ไปนั่งเรียกร้อง ไปนั่งขอร้อง บนบาน ศาลกล่าวเอา ขอร้องจากพระเจ้า ขอร้องจากเทวดา ขอร้องจากภูตผีปีศาจ ซวยขึ้นมาก็ขอร้อง เรียกร้องอย่างกับเป็นสิทธิที่จะต้องได้โดยไม่ต้องทำหน้าที่ ถ้าอย่างนี้เป็นไสยศาสตร์ ไม่ใช่พุทธศาสตร์ ถ้าเป็นพุทธศาสตร์ต้องสมบูรณ์ในหน้าที่ คือ ธรรมะ ธรรมะ คือ หน้าที่ หน้าที่ คือ ธรรมะ ต้องมีความสมบูรณ์ในหน้าที่ คือ ธรรมะ แล้วก็จึงจะได้สิ่งตอบแทนโดยไม่ต้องขอร้อง ตามกฎของ อิทัปปัจจยตา ไม่ต้องขอร้อง เมื่อได้ทำหน้าที่ คือ ปฏิบัติธรรมะแล้วผลของธรรมะก็จะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องขอร้อง ดังนั้น เราก็ไม่ต้องไปขอร้อง ไม่ต้องไปบนบาน ไม่ต้องขอร้อง ไม่ไปนั่งกราบไหว้แม้แต่พระพุทธรูปแล้วขอร้องโดยไม่ต้องทำหน้าที่ เพราะทำอย่างนั้นมันไม่ถูกตามกฎเกณฑ์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีพระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์ เราจะไปนั่งกราบไหว้พระพุทธรูปซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าแล้วขอๆ ๆ ๆ ถ้าอย่างนี้เป็นไสยศาสตร์ ไม่เป็นพุทธศาสตร์ แล้วมันก็ไม่ได้อะไร ถ้ามันสำเร็จได้ด้วยการขอ ด้วยการบนบานขอร้องแล้วเราก็ไม่ยากจนหรอก ทุกคนจะรวยกันหมด ไม่ต้องยากจน เดี๋ยวนี้มันไม่ได้นี่ มันต้องทำหน้าที่ให้เหมาะสมแก่เรื่องนั้นๆ แก่ความจริงในเรื่องนั้น ๆ แล้วเราต้องได้รับผลกระท้อนออกมา โดยไม่ต้องขออะไรอีกก็ได้ ขอด้วยการทำหน้าที่ ถ้าทำหน้าที่แล้วมันก็ได้เองโดยกฎของธรรมชาติ นี่เราก็มีหน้าที่นั่นแหละเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำ ขอให้มองเห็นหน้าที่ - หน้าที่ คือ ธรรมะ - ธรรมะ คือ หน้าที่จะช่วยให้รอด แล้วก็บูชาหน้าที่ บูชาหน้าที่นั่นแหละคือ บูชาธรรมะ บูชาธรรมะ คือ บูชาหน้าที่ จงชอบใจธรรมะ- ชอบใจหน้าที่ ทะนุถนอม หรือว่ารักษา ปฏิบัติให้ดีที่สุด อย่าให้บกพร่องในหน้าที่ ก็คือ ไม่บกพร่องในธรรมะ มีธรรมะเต็มเปี่ยมแล้ว ก็คือ มีหน้าที่เต็มเปี่ยมนั่นเอง ก็เลยไม่มีปัญหาที่จะต้องเป็นทุกข์-เป็นร้อน เพราะว่าหน้าที่หรือธรรมะนั้นมันช่วยให้รอด มันขจัดปัญหาอยู่ในตัว หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตจะช่วยชีวิตนั้นให้รอด นี่แหละ เป็นของจริงที่ต้องดูให้เห็น เพราะว่ามันต้องทำหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต ทำให้ถูกต้องตามหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต มีชีวิตอย่างคนก็ต้องทำหน้าที่ของคน มีชีวิตอย่างสัตว์เดรัจฉานก็ต้องทำหน้าที่อย่างสัตว์เดรัจฉาน เป็นธรรมะของสัตว์เดรัจฉาน ต่ำลงไปเป็นต้นไม้ ต้นไร่อย่างนี้ก็ทำหน้าที่อย่างต้นไม้ ต้นไร่ เป็นธรรมะของต้นไม้ เมื่อต้นไม้มันปฏิบัติหน้าที่ของมัน มันก็รอดชีวิต ลองต้นไม้ต้นไหนไม่ปฏิบัติหน้าที่ คือ มันจะไม่ดูดน้ำ ไม่ดูดอาหาร ไม่รับแสงแดด ปรุงอาหาร ต้นไม้ต้นนั้นมันไม่ทำหน้าที่มันก็ตาย เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันกล่าวได้ว่า ไม่ว่าชีวิตชนิดไหน ระดับไหนจะต้องทำหน้าที่ ได้ยินเขาพูดกันในเรื่องต้นไม้นี้ ทางวิทยาศาสตร์ว่าต้นไม้นี้ ว่าต้นไม้นี้มันคายคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดคืน กลางคืนมันคายแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ทีนี้ กลางวันมันคายแก๊สซออกซิเย่นตลอดวัน ก็แปลว่ามันทำงาน ๒๔ ชั่วโมง ต้นไม้มันทำงาน ๒๔ ชั่วโมง คือทำหน้าที่ของมัน ๒๔ ชั่วโมง มันเก่งกว่าคนที่ทำงาน ๘ ชั่วโมงก็ว่ามากแล้ว เดี๋ยวนี้พวกกรรมกรก็ทำงาน ๘ ชั่วโมงมากแล้วรู้สึกจะต้องลด แต่ต้นไม้ทำงาน ๒๔ ชั่วโมง แม้แต่สัตว์เดรัจฉานมันก็ทำงานไม่จำกัดเวลา มันต้องทำงานทำหน้าที่ของมันจนกว่าเพียงพอแก่ความต้องการ คนนี่มันมีความคิดนึกได้ มันก็คิดเอาเปรียบจนกระทั่งคิดว่า ไม่ต้องทำงานและได้เงินนั่นแหละดีที่สุด จะเป็นอุดมคติของกรรมกรในยุคปรมาณูนั้นแหละว่า ไม่ต้องทำงานเลยแต่ขอให้ได้เงิน แล้วจะทำกันไปได้ที่ไหนเล่า
เพราะฉะนั้น ขอให้เราทำหน้าที่เพราะเราเป็นคน สัตว์มนุษย์ มีชีวิตอย่างคน ทำหน้าที่อย่างคน แล้วก็จะได้รอดอยู่เป็นคนที่ไม่มีปัญหา ที่ไม่มีความทุกข์ใดเลย และมีธรรมะของมนุษย์ เช่นเดียวกับที่สัตว์มันก็มีธรรมะของสัตว์ ต้นไม้ก็มีธรรมะของต้นไม้ คำว่า ธรรมะ ธรรมะ มันคืออย่างนี้นะ แล้วจำเป็นหรือไม่จำเป็น ลองคิดดูเองว่า พอไม่มีธรรมะ คือ ไม่ทำหน้าที่ มันก็ต้องตาย หรืออย่างน้อยก็มีความทุกข์เจียนตาย ไม่ทำหน้าที่ เอ้า ลองๆ ไม่หาอาหารกิน แล้วก็ไม่มีอาหารกิน แล้วเป็นอย่างไร? ไม่มีอาหารกินจะเป็นอย่างไร? มันก็ต้องตาย ไม่ต่อสู้ความไข้เจ็บ ไม่ทำหน้าที่แก้ไขเยียวยาความเจ็บไข้ มันก็ต้องเจ็บไข้ มันก็ต้องเป็นทุกข์ ไม่ทำหน้าที่สำคัญแล้วมันก็ต้องตาย ทำหน้าที่สำคัญน้อยกว่านั้นก็เป็นทุกข์เจียนตาย กระทั่งว่าหาความสุขไม่ได้ ไม่ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ต้องเป็นคนยากจนเข็ญใจ มันก็ต้องมีปัญหามีความทุกข์ เพราะฉะนั้น เราจงทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ หน้าที่ คือ มีชีวิตอยู่ก็ทำให้สมบูรณ์ หน้าที่ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บก็ทำให้สมบูรณ์ หน้าที่สมัครสมานสามัคคีอยู่กันเป็นหมวดเป็นหมู่ก็ทำให้สมบูรณ์ แม้ว่าจะต้องพิทักษ์รักษาทรัพย์สมบัติเพื่อความสะดวกแก่การดำรงชีวิตก็ต้องทำให้สมบูรณ์ อะไรๆที่จะทำให้ชีวิตเป็นไปปกติสุขแล้วก็ทำให้สมบูรณ์ นี่เรียกว่า หน้าที่ทางฝ่ายกาย หน้าที่ทีแรก หน้าที่ที่หนึ่ง คือ หน้าที่ทางฝ่ายกาย ทำให้สมบูรณ์จนไม่ตาย จนมีร่างกายสบายดี หน้าที่ชั้นแรกทางกายก็สมบูรณ์
ทีนี้ทางกายสมบูรณ์แล้ว มันยังมีเรื่องทางจิต ยังมีความทุกข์ทางจิต ต้องมีหน้าที่ทางจิตกันอีกระดับหนึ่ง อีกตอนหนึ่ง ทีนี้ก็ทำเรื่องทางจิตให้ถูกต้อง ให้สมบูรณ์ มันก็มีความสุขทางจิต มีความสุขทั้งทางกาย และมีความสุขทั้งทางจิต แล้วมันควรจะพอกันทีละมัง เลยนั้นจะเอาไปทำไม เอาไปทำไม เลยนั้นมันก็จะบ้าไปมากกว่า มีความสุขถูกต้องสมบูรณ์ทางกายแล้ว และมีความสุขถูกต้องสมบูรณ์ทางจิตแล้ว มันก็ควรจะพอ ทั้งหมดนี้สำเร็จมาจากการทำหน้าที่ การทำหน้าที่ คือ การปฏิบัติธรรมะ การปฏิบัติธรรมะ คือ การปฏิบัติหน้าที่
ทีนี้บางทีเราเรียกหน้าที่ว่า การงาน พอเรียกการงานแล้วเราหมายถึงสิ่งที่ทำแล้วเหนื่อย ทำแล้วน่าเอือมน่าระอา เพราะเราไม่รู้ว่าการงานหรือหน้าที่นั้นคือ ธรรมะ คือ สิ่งที่ช่วยเราได้ ดังนั้น เราจึงสนุกในการทำงาน แม้เหงื่อจะออกมา ก็รู้สึกว่า โอ้, นี่อาบน้ำมนต์เย็นดี เย็นสบาย เหงื่อออกมาจากการทำการงาน แต่คนโง่ไม่คิดอย่างนั้นนะ คิดว่าเหงื่อออกมาแล้ว เลิกดีกว่า ไปพักผ่อนดีกว่า นอนดีกว่า เหงื่อนี่เป็นน้ำร้อน ไม่ใช่น้ำเย็น นี่เพราะมันไม่มีธรรมะ ถ้ามันมีธรรมะมันก็คิดว่า เหงื่อเป็นน้ำเย็น เป็นน้ำมนต์รดให้เยือกเย็น รดให้ชีวิตรอด ให้ชีวิตรอดต่อไปได้เพราะเหงื่อนั่นแหละ มันก็บูชาเหงื่อ ไม่รังเกียจเหงื่อ ยินดีที่จะทำงานแม้ว่าเหงื่อมันจะออกมา นี่กลายเป็นคนบูชาเหงื่อไป ฟังแล้วน่าแปลก ซึ่งทุกคนเขาไม่บูชา เขาเกลียด เพราะเหงื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความทุกข์ความลำบาก เรากลับเห็นว่าเป็นเครื่องหมายแห่งความรอด มีเหงื่อออกมาก็มีเครื่องหมาย-สัญลักษณ์แห่งความรอด เราก็ยินดีพอใจในการที่จะมีเหงื่อ ก็ทำหน้าที่โดยไม่ต้องเห็นแก่การที่จะต้องออกเหงื่อหรือเสียเหงื่อ การเสียเหงื่อเป็นการได้หน้าที่ของมนุษย์ ได้ธรรมะของมนุษย์ เพราะฉะนั้นผู้ใดที่ต้องทำงาน ยังต้องทำงานด้วยการเสียเหงื่อก็ทำให้สนุกไปเถิด สนุกในการปฏิบัติหน้าที่ที่ทำ ให้ออกเหงื่อนั่นแหละทำให้สนุกไปเถิด เรียกว่า ทำงานให้สนุก แล้วเป็นสุขเสียเมื่อทำงานนั่นเอง แต่ถ้าว่างานบางชนิดมันไม่ต้องออกเหงื่อ ก็ทำงานให้สนุกไปอีกเหมือนกันนั่นล่ะ ไม่ต้องเบื่อหน่ายว่ามันเป็นการงาน ถ้ามันมีงานเบาไม่ต้องออกเหงื่อก็ทำให้สนุกเหมือนกัน ทำงานให้สนุก-เป็นสุขเมื่อทำการงาน
เราก็มีธรรมะสำหรับจะช่วยให้รอด ช่วยทางกายรอด และก็ช่วยทางจิตให้รอด ทำงานทางจิตมันนี้ไม่ออกเหงื่อ แต่มันก็เหนื่อยเหมือนกันนะ ถ้าลงชื่อว่าการงานแล้วมันก็ต้องเหนื่อย ถ้าเหนื่อยก็รู้สึกว่า ถูกต้องแล้ว มันดีแล้ว เพราะเราได้ทำแล้วเราจึงรู้สึกเหนื่อย เพราะเรารู้สึกเหนื่อยเป็นเครื่องแสดงว่าเราได้ทำแล้ว เราได้ทำหน้าที่แล้ว เราก็ควรจะขอบใจตัวเอง พอใจตัวเองว่า ฉันได้ทำแล้ว พอใจตัวเองว่า ได้ทำหน้าที่แล้ว คือ มีธรรมะแล้ว มีความถูกต้องแล้ว ขอเติมคำว่า ความถูกต้อง ความถูกต้อง สัมมัตตะ ความถูกต้อง เข้ามาอีกคำหนึ่ง เพราะฉะนั้น ต้องทำจนให้เกิดความรู้สึกว่า มันถูกต้องแล้ว มันถูกต้องแล้วสำหรับจะรอด ถูกต้องแล้วสำหรับจะเจริญยิ่งๆขึ้นไป เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัติทุกอย่างที่เขาวางไว้เป็นหลักมาแต่ก่อนๆโน้น มันเป็นความถูกต้อง เป็นเรื่องของความถูกต้อง ถูกต้องสำหรับจะรอด และถูกต้องสำหรับจะเจริญรุ่งเรือง คือรอดในชั้นจิตใจ ถูกต้องสำหรับความรอดทั้ง ๒ ชั้น ทั้งชั้นกายและชั้นจิตใจ อันนี้ก็เรียกว่า ความรอด ถ้าความถูกต้องมีแล้วความรอดจะมี เราจะศึกษาธรรมให้มันถูกต้อง คำว่า ถูกต้อง ถูกต้อง นี้ถูกต้องตามหน้าที่ ตามธรรมะ
ธรรมะในความหมายที่ ๓ คือ กฎของธรรมชาติ ธรรมะ คือ กฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ทำให้ถูกต้องตามความหมายที่ ๓ คือ ตามหน้าที่ หน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เราไม่อาจจะรู้ได้เองทั้งหมดนี้ แต่ว่าคนที่เกิดก่อนเราแต่ดึกดำบรรพ์มา ดึกดำบรรพ์มานั้น เขาได้รู้ ได้รู้ ได้รู้ ได้สอน สอน สอน สืบต่อมา บัญญัติไว้เป็นรูป เป็นระบบ เป็นศาสนา จึงมีการบัญญัติในศาสนาว่า ทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ และอย่าทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนั้น ซึ่งมันเป็นข้าศึกแก่กัน ทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้มันก็ถูกต้อง เมื่อถูกต้องแล้วมันจะรอด มันจะรอดได้โดยตัวมันเอง รอดจากความตายก็ได้ รอดจากความทุกข์ทั้งปวงก็ได้
เรามีหน้าที่ที่ต้องกระทำเพื่อความรอดทั้ง ๒ ระดับ คือ รอดอย่างภาษาโลก คือ รอดตาย รอดภาษาธรรม คือ รอดจะความทุกข์ทั้งปวง เรามีหน้าที่ที่จะทำความรอดทั้ง ๒ ความหมาย คือ รอดทั้งทางกายและรอดทั้งทางจิต พอรอดแล้วมันก็หมดปัญหา สัตว์เดรัจฉานมีปัญหาน้อยกว่าเรา ก็มันรอดทางกายอย่างเดียวก็พอแล้ว เพราะมันคิดนึกอะไรไม่ได้ มันไม่มีความทุกข์ทางจิตใจเหมือนมนุษย์ เพราะฉะนั้น สัตว์เดรัจฉานก็ทำหน้าที่น้อยกว่าเราอย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่ง เพราะมันรู้จักรอดเพียงร่างกาย รอดชีวิตเท่านั้น ส่วนที่รอดจากกิเลส รอดจากความทุกข์อันละเอียด-มันไม่มี ทีนี้ถ้าดูไปถึงต้นไม้ มันยิ่งมีงานน้อยเข้าไปอีกแหละ มันรอดชีวิตชนิดง่ายๆ ชนิดง่ายๆ ตามแบบของต้นไม้ ง่ายกว่าสัตว์เดรัจฉานไปเสียอีก เราจึงมีความรอดที่เหนือความรอดใดๆ ความรอดของสัตว์มนุษย์นี้ ต้องรอดทั้งทางกาย รอดทั้งทางจิต รอดทุกระดับ สัตว์เดรัจฉานเอาแต่เพียงรอดทางกาย รอดตายก็พอ ต้นไม้ก็เหมือนกันเอารอดทางกาย รอดชีวิตง่าย ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ต่ำ ๆ ของมันก็พอ เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างสัตว์เดรัจฉานไม่ได้ เราจะทำพออย่างรอดทางกายอย่างเดียวนั้นมันก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน เราต้องทำความรอดทั้งทางจิตด้วยมันจึงจะเป็นมนุษย์ หรือว่าถ้าทำน้อยกว่าสัตว์เดรัจฉานก็ไปเป็นต้นไม้ต้นไร่ หรือไม่ทำซะเลยก็ได้เป็นก้อนหินที่ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องความรอดอะไร
เอาละ เป็นอันว่าเราจะต้องมีหน้าที่ หรือต้องมีธรรมะ ๒ คำนี้เป็นสิ่งเดียวกัน เพราะว่าเรามันไม่เคยเรียนมาอย่างนี้ อาตมาพูดก็คงจะไม่มีใครเชื่อก็ได้ว่า ธรรมะ แปลว่า หน้าที่ หน้าที่ แปลว่า ธรรมะ ธรรมะก็คือหน้าที่เป็นสิ่งเดียวกันนี้ ท่านอาจจะไม่เชื่อก็ได้เพราะท่านไม่เคยเรียนมาอย่างนี้แต่อาตมานั้นเมื่อเรียนมา เรียนมา เรียนมา อ้าว, มันมาเห็นว่า ธรรมะ คือ หน้าที่ หน้าที่ คือ ธรรมะ เราสอนลูกเด็กๆว่า ธรรมะ คือ พระธรรม คือ คำสั่งสอนของพระเจ้า เราไม่เคยบอกลูกเด็กๆว่า ธรรมะ คือ หน้าที่ เราบอกแต่ว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโว้ย แต่แล้วก็ไม่ได้บอกว่าสอนอย่างไร สอนว่าอย่างไรก็ไม่ได้บอก เราจะต้องบอกมันเสียเลยว่าธรรมะ คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านะ ท่านสอนเรื่องหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ทุกอย่างทุกชนิดต้องทำหน้าที่ทุกอย่างทุกชนิดให้ถูกต้อง นั่นแหละคือ คำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วควรจะทราบกันเสียด้วยว่าคำว่า ธรรมะ ธรรมะ หรือหน้าที่นี้ เขารู้จัก เขาพูด เขาใช้คำพูดคำนี้มาตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดโน่น ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์มนุษย์แรกเจริญนั้นมันรู้จักคำว่า ธรรมะ คือ หน้าที่ ธรรมะ คือ หน้าที่ แล้วก็สอนกันมาดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้น เป็นลัทธิ เป็นนิกาย เป็นอะไรกันมาตามลำดับ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาในโลกนี้ ท่านก็สอนต่อไปสอนหน้าที่ต่อไปจนถึงหน้าที่สูงสุด เป็น วิมุตติ หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง คือ บรรลุนิพพาน คำว่า ธรรมะ ธรรมะนี้ไม่ใช่คำที่พระพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นใช้ หรือเพิ่งเกิดมีในยุคที่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้น มันมีก่อนหน้านั้น มันมีพูดอยู่ในหมู่มนุษย์แล้ว เราก็มีแต่จะค้นคว้าและจะมาบอกมาสอนกันให้ดีที่สุดว่า ธรรมะสูงขึ้นไปนั้นอย่างไร ธรรมะสูงขึ้นไปนั้นอย่างไร คือ หน้าที่ที่สูงขึ้นไปนั้นอย่างไร หน้าที่ที่สูงขึ้นไปนั้นอย่างไร มันก็สูงไป สูงไปจนถึงที่สุด คือ หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงเป็นนิพพาน รอดจากความทุกข์ทั้งปวงตามหลักของพระพุทธเจ้า หรือของพระพุทธศาสนา ส่วนในลัทธิอื่น ในศาสนาอื่น เขาก็สอนไปตามแบบของเขา เขาก็มีความหมายไปตามแบบของเขา มันไม่เหมือนกัน แต่มันมุ่งหมายเหมือนกันคือจะรอด จะรอด จะรอดให้ถึงที่สุด แต่เขาให้ความหมายคำว่า รอด ต่างกัน ดังนั้น ข้อปฏิบัติเพื่อความรอดมันก็ต้องต่างกันเป็นธรรมดา
พุทธบริษัท นี้เป็นมนุษย์พวกที่ถือว่า สิ่งต่างๆเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง คือ กฎอิทัปปัจจยตา ไม่สอนว่ามีพระเจ้าผู้สร้าง ไม่สอนว่ามีพระเจ้าผู้ควบคุม หรือพระเจ้าอะไรชนิดที่เป็นบุคคลที่มีความรู้สึกอย่างบุคคล พวกอื่นก็มีพระเจ้าอย่างบุคคล มีความรู้สึกอย่างบุคคล แต่เรามีพระเจ้าอย่าง กฎอิทัปปัจจยตา ถ้าถามว่าใครสร้างโลก ก็บอก กฎอิทัปปัจจยตา ถ้าถามว่าใครควบคุมโลก ก็ กฎอิทัปปัจจยตา ใครทำลายหรือใครยกเลิกโลกเป็นครั้งเป็นคราวก็ กฎอิทัปปัจจยตา ใครคอยมองดูโลกนี้อยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ก็ กฎอิทัปปัจจยตา กฎของธรรมชาติ คอยดูแล คอยควบคุม คอยลงโทษ คอยให้รางวัล ไม่ต้องเป็นบุคคล มันเป็นกฎของธรรมชาติที่เป็นอย่างนั้นได้เอง กฎของธรรมชาติที่เป็นอย่างนั้นได้เอง ก็ดูสิถมไป มันมีทุกสิ่งทุกอย่างที่กฎของธรรมชาติที่ว่า ทำลงไปแล้วมันก็เกิดผลอย่างนั้นขึ้นมาได้เอง เช่นว่า เราอยากจะเผาให้ไหม้ เราก็จุดไฟขึ้นมา ไม่ต้องไปยืมมือของเทวดาอะไรที่ไหนหรอก หรือถ้าอยากจะให้สิ่งนี้ขึ้นมา เราก็พยายามทำ ทำขึ้นมา แล้วก็เกิดสิ่งใหม่ๆอยู่เรื่อยอยู่ตลอดเวลาโดย กฎของอิทัปปัจจยตา ก็มีต้นไม้แปลก ๆ ซึ่งไม่เคยมีในโลกมาแต่ก่อน ต้นไม้แปลกๆ เรามีสัตว์แปลกๆ มีไก่ มีแมว มีอะไรที่แปลกประหลาดออกไป เพราะการผสม การปรับปรุง หรือว่าเรามีเครื่องใช้ไม้สอยใหม่ๆ เรามีเรือบิน เรามียานพาหนะไปโลกพระจันทร์ก็ได้ ซึ่งมันไม่เคยมีมาแต่ก่อน แล้วก็มีขึ้นมาได้โดย กฎของ อิทัปปัจจยตา ที่เราค้นพบ ค้นพบแล้วก็ทำของใหม่ ทำของใหม่ ทีละเล็กทีละน้อย ทีละเล็กทีละน้อย เติมกันเข้า เติมกันเข้า เติมกันเข้าจนมีเครื่องมือวิเศษ ไปโลกพระจันทร์ก็ได้ มีอะไรคิดนึกอย่างเหมือนกับว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหลายเหล่านี้ ก็คิดนึกขึ้นมาได้โดย กฎอิทัปปัจจยตา แต่อย่าไปหลงว่า ไอ้สิ่งเหล่านี้จะช่วยดับทุกข์นะ เรื่องบ้า ๆ บอ ๆ เหล่านี้ไม่ช่วยดับทุกข์หรอก ไปโลกพระจันทร์ก็ไม่ดับทุกข์ได้ ไปโลกพระจันทร์ก็ไม่ดับทุกข์ได้ มีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ก็ไม่ดับทุกข์ได้ จะทำให้คนโง่มากไปกว่าเดิมเสียอีกโดยไม่รู้จักใช้สมองของตนเอง เราไม่เลื่อมใสความคิดชนิดนี้ เราจะต้องการความรู้ชนิดที่ดับทุกข์ในจิตในใจได้ เราไม่บูชาเรื่องที่ว่ามันวิวัฒนาการไปตามความต้องการของมนุษย์ ไปโลกพระจันทร์ได้ ไปทุกโลก ทุกดวงดาวได้ มันก็ดับทุกข์ไม่ได้ เพราะมันต้องดับทุกข์ในจิตใจ มันทำเครื่องคอมพิวเตอร์แปลกประหลาดได้ มันก็คนนั่นแหละทำ มันก็ไม่แปลกไปจากความต้องการของบุคคลได้ มันจะทำคอมพิวเตอร์ชนิดไหนขึ้นมามันก็ดับทุกข์ไม่ได้ เพราะมันต้องดับทุกข์ในใจ
นี่, เรามองเห็นเถอะว่า กฎอิทัปปัจจยตา นี้มันจะสร้างอะไรขึ้นมาก็ได้ แต่ถ้าสร้างไปในทางหนึ่งมันเกิดผลในทางที่ว่า จะทำลายมนุษย์นั้นแหละ ถ้าเราทำผิดมันก็จะทำลายมนุษย์แหละ ถ้าทำถูกมันก็จะรักษา-คุ้มครองมนุษย์เอาไว้ได้ นี่, มันเกิดเป็นของใหม่ๆขึ้นมาได้ โดยการประพฤติกระทำให้ถูกต้องตาม กฎของอิทัปปัจจยตา แล้วระวังให้ดีนะ ของใหม่ๆ นี้ต้องให้เป็นไปในทางดับทุกข์นะ อย่าให้เป็นไปในทางเพิ่มทุกข์ เรามาดูกันแต่ที่มันจะดับทุกข์ดีกว่า เราอย่ามีกิน-มีใช้ให้มันเพิ่มทุกข์เลย อย่าแต่งเนื้อ-แต่งตัวให้มันเพิ่มทุกข์เลย อย่ามีเครื่องไม้-ใช้สอย-บ้านเรือนรุงรังอะไรให้มันดีไปจนเพิ่มทุกข์เลย อย่าให้มันเพิ่มความทุกข์เลย เดี๋ยวนี้ในบ้านในเรือนมันเพิ่มของที่จะเพิ่มความทุกข์กันมากขึ้น สิ่งที่มันไม่จำเป็น ที่มันไม่ดับทุกข์นั้นก็ซื้อหามาใส่บ้านเรือนกันมากขึ้น และแพงๆทั้งนั้นแหละ นี่มันจะเป็นคนโง่หรือคนฉลาดก็ให้คิดกันดูให้ดี นี่ถูกต้องหรือยัง? ถูกต้องตามหน้าที่หรือยัง? ถูกต้องตามธรรมะที่จะดับทุกข์หรือยัง? ถ้ายัง ก็ช่วยคิดกันเสียใหม่ ปรับปรุงให้มันถูกต้อง มาอยู่ที่คำว่า ถูกต้อง ความถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องต่อความดับทุกข์แล้ว มันไม่ดับทุกข์ แล้วมันจะเพิ่มทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า ถูกต้อง ถูกต้อง นั้นมันหมายถึง การดับทุกข์ ความถูกต้องของท่านมันมีความหมายว่า มันดับทุกข์ สัมมา สัมมา แปลว่า ถูกต้อง สัมมา ทุกชนิดต้องดับทุกข์
สัมมาทิฏฐิ ก็ต้องดับทุกข์แบบหนึ่ง
สัมมาสังกัปโป ก็ดับทุกข์แบบหนึ่ง
สัมมาวาจา ก็ดับทุกข์แบบหนึ่ง
สัมมากัมมันโต ก็ดับทุกข์แบบหนึ่ง
สัมมาอาชีโว ก็ดับทุกข์แบบหนึ่ง
สัมมาสติ ก็ดับทุกข์แบบหนึ่ง
สัมมาสมาธิ ก็ดับทุกข์แบบตามแบบของตัว
สัมมา สัมมา ถูกต้อง ก็ต้องดับทุกข์ทั้งนั้น ทีนี้ความถูกต้องนั้น เรียกว่า สัมมัตตะ ก็คือความมีความถูกต้องนั่นเอง การมีความถูกต้อง หรือภาวะแห่งการมีความถูกต้อง เรียกว่า สัมมัตตะ สัมมัตตะ เขาเรียกเป็นตัวคุณค่า วิเศษณ์ ก็เรียกว่า สัมมา แปลว่า ซึ่งถูกต้อง ถ้าเรียกเป็น นามนาม ก็เรียก สัมมัตตะ แปลว่า ความถูกต้อง ในความถูกต้องส่วนที่เป็นเหตุมันมีอยู่ ๘ คือ มรรคมีองค์ ๘ ความถูกต้องส่วนที่เป็นเหตุ และส่วนที่เป็นผลยังมีอีก ๒ เรียกว่า สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ เมื่อมี สัมมา สัมมา ๘ นี้แล้วก็ถึงจะต้องมีอีก ๒ สัมมา สัมมาญาณะ ความรู้เป็นญาณถูกต้อง สัมมาวิมุตติ หลุดพ้นถูกต้อง นี้เป็น ๑๐ ความถูกต้องส่วนผลมี ๒ ความถูกต้องส่วนเหตุมี ๘ รวมกันเข้าแล้วเป็นความถูกต้อง ๑๐ เรียกว่า สัมมัตตะ ๑๐ ธรรมะ คือ ความถูกต้อง ถูกต้องในส่วนเหตุหรือถูกต้องในส่วนผลก็ตาม ต้องมีความถูกต้อง พอมีความถูกต้องและดับทุกข์แล้วไม่ต้องสงสัย ถ้าไม่อย่างนั้นไม่เรียกว่า ความถูกต้อง ถ้ามีการดับทุกข์ได้ก็เรียกว่า ความถูกต้อง ถ้ามันดับทุกข์ไม่ได้ไม่เรียกว่า ความถูกต้อง นี่พุทธศาสนาถือหลักอย่างนี้ วิทยาศาสตร์ของชาวบ้านจะถือหลักอย่างอื่นก็ตามใจเขา ความรู้ทาง Philosophy ของพวก Philosopher ก็ตามใจเขา เขาบัญญัติความถูกต้องอย่างอื่น ก็ตามใจเขา ไม่ใช่ความถูกต้องในพุทธศาสนาถ้ามันดับทุกข์ไม่ได้ ในความถูกต้องในทางพระพุทธศาสนาแล้วต้องดับทุกข์เสมอไป ฉะนั้น ขอให้เราประพฤติ กระทำในลักษณะที่ให้เห็นอยู่ว่าเป็นความถูกต้อง คือ ดับทุกข์ได้เสมอ มันต้องศึกษาบ้างล่ะ จะให้รู้ขึ้นมาโดยไม่ศึกษานั้นมันก็เป็นไปไม่ได้ ศึกษาแล้วมันไม่เหลือวิสัย ศึกษาแล้วจะรู้ได้ว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เพราะว่ามันมีหลักตายตัวอยู่แล้วว่า ถ้าดับทุกข์ได้ก็ถูกต้อง ก็ลองวัดกันดูสิ ทำมาหากินอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง? ก็เห็นอยู่ชัด ๆ แล้วว่า มันดับทุกข์ได้ การทำมาหากินก็เป็นการถูกต้อง การไม่ทำมาหากินนั่นแหละ คือ การไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น คนไม่ทำมาหากินนี้คือคนไม่มีธรรมะ คนมีธรรมะต้องทำมาหากิน ดังนั้น คนมีธรรมะจึงขยันในการทำมาหากิน อยู่ในหน้าที่ที่ถูกต้อง อย่างนี้เป็นต้น
ความถูกต้องต้องมีไปหมดทุกๆขั้นตอน เมื่อทำมาหากินทำไร่-ทำนาแล้วเพื่อจะได้กินก็ต้องมีความถูกต้องในการหา การได้มาแล้วก็กินให้ถูกต้อง มันเป็นความถูกต้องในการกิน ครั้นกินแล้วก็ถ่ายอุจจาระ-ปัสสาวะให้ถูกต้องด้วย มันจึงมีความถูกต้อง ไม่เช่นนั้นมันก็ไม่ถูกต้อง มันก็ตายเหมือนกันแหละ ลองกินเข้าไปแล้วมันไม่ถ่ายมันก็ตายนั่นแหละ ทุกอย่างมันต้องมีความถูกต้อง เพราะฉะนั้นขอให้ตั้งข้อสังเกตให้ดีๆว่า มันดับทุกข์แล้วมันก็ถูกต้อง ตื่นนอนขึ้นมา ตื่นนอนขึ้นมา ตลอดคืนแล้วตื่นนอนขึ้นมา โอ้, ถูกต้องแล้วที่ได้นอน ที่ได้นอนนี่มันถูกต้องแล้ว ข้าพเจ้าพอใจก็ถูกต้องแล้วที่ได้นอน ทีนี้มันจะไปล้างหน้า ไปล้างหน้า ถูกต้องแล้วที่ต้องล้างหน้าเพราะหน้ามันต้องล้าง ไม่ล้างมันไม่สะดวก มันไม่สบาย ก็ไปล้างหน้า ถูกต้องแล้วที่ล้างหน้า ทีนี้มันก็ถูฟัน ถูฟัน เอ้า, แปรงฟัน มันก็ถูกต้องแล้วที่มันต้องแปรงหรือถูฟันชำระฟัน มันก็เลยถูกต้องแล้วก็พอใจ ถูกต้องแล้วก็พอใจ ทีนี้ไปเข้าห้องน้ำ ไปอาบน้ำ มันก็ถูกต้องแล้วก็พอใจ ไปถ่ายอุจจาระ ถูกต้องแล้วพอใจ ถ่ายปัสสาวะ ถูกต้องแล้วก็พอใจ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีธรรมะเขาจะต้องถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะอย่างถูกต้อง อย่าทำอย่างขี้เกียจ อย่าทำอย่างโง่เขลา มันจะเป็นอันตราย แล้วห้องน้ำก็จะเลอะเทอะสกปรกไปหมด แล้วมันก็จะยุ่งยากทีหลัง เพราะฉะนั้น การทำมันให้ถูกต้องในการถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ การอาบน้ำก็ถูกต้องแล้ว ถูขี้ไคลมันก็ถูกต้องแล้ว ไม่ถูขี้ไคลมันไม่ถูกต้อง จึงอาบน้ำอย่างดี ถูขี้ไคลอย่างดี เสร็จแล้วนุ่งผ้าอย่างถูกต้อง-อย่างดี มันก็เป็นเรื่องถูกต้องแล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจทุกกระเบียดนิ้วมา
ทีนี้ไปทำงาน ไปทำงาน ไปทำงานที่ร้าน ไปทำงานที่ออฟฟิศ ไปทำงานที่สวน ไปทำงานที่นา มันก็ถูกต้องแล้วที่ไปทำนา ก้าวขาไปทีหนึ่งทีก็ถูกต้องแล้วและก็พอใจ ก้าวขาไปอีกทีก็ถูกต้องแล้วและก็พอใจ ก้าวขาอย่างนี้เรื่อยไป ถูกต้องแล้วก็พอใจ ไปถึงออฟฟิศ ไปถึงร้าน ไปถึงนา ไปถึงสวน ก็ทำสิ พอทำงานนี่ งานนี้มันถูกต้องแล้วที่จะต้องทำเพื่อความรอด ก็ถูกต้องแล้วก็ทำงานสนุก ทำงานสนุก เหงื่อออกมามันก็ยิ่งถูกต้องแล้วเพราะถ้ามันทำงานได้แล้วมันมีเหงื่อออกมา ก็ยิ่งพอใจอาบเหงื่อแทนน้ำมนต์นั้น แล้วก็สมควรแล้ว เลิกงาน เลิกงานก็ถูกต้องแล้ว เลิกงานก็ถูกต้องแล้ว กลับบ้าน กลับบ้าน ทุกก้าวขาก็ถูกต้องแล้วพอใจ กินข้าวกินปลาถูกต้องพอใจ แม้ที่สุดจะต้องช่วยเขาล้างจานบ้างมันก็ถูกต้องแล้วพอใจ ขอให้ช่วยเขาล้างจานอย่างถูกต้องแล้วก็พอใจ กวาดบ้านถูบ้านอย่างรู้สึกว่าถูกต้องและพอใจ ทีนี้ก็ถึงเวลาจะนอน โอ้, ถูกต้อง เป็นการถูกต้องแล้วที่จะนอน คิดทบทวนย้อนหลังดูว่า โอ้, มันตั้งแต่เช้าจนค่ำจะนอนอยู่แล้วถูกต้อง ถูกต้อง มีแต่ความถูกต้องและพอใจ ยกมือไหว้ตัวเองได้ นั้นแหละคือ สวรรค์ ทุกคนที่มาจากที่ไกลน่าจะคงจะไม่เคยได้ยิน อาตมาบอกเดี๋ยวนี้ว่า เมื่อยกมือไหว้ตัวเองได้นั่นแหละคือ สวรรค์ เมื่อเกลียดน้ำหน้าตัวเองนั่นแหละคือ นรก ขออย่าให้มีการกระทำชนิดที่เกลียดชังตัวเอง อิดหนาระอาใจในการกระทำของตัวเองนั่นแหละมันคือ นรก ถ้ามันถูกต้องพอใจ ถูกต้องพอใจจนยกมือไหว้ตัวเองได้นั่นแหละคือ สวรรค์ สวรรค์ที่แท้จริง ที่สุด ที่นี่และเดี๋ยวนี้ สวรรค์ที่เขาพูดๆ กันตอนตายนั้น มันไม่แน่นอนหรอก ไม่แน่นอนหรอก แล้วก็มองเห็นไม่ได้แล้วก็ไม่มีใครรับประกันได้ ถ้าถูกต้องจนยกมือไหว้ตัวเองได้นี่เราแหละรับประกันว่านี่มันถูกต้อง มันเป็นสวรรค์ ดับทุกข์ได้ ถ้าได้สวรรค์ชนิดนี้แล้วจะได้สวรรค์ทุกชนิด ต่อให้ตายแล้วมันจะมีกี่สวรรค์ก็ได้หมดแหละ ขอให้ได้สวรรค์ที่แท้จริง คือ ยกมือไหว้ตัวเองได้เมื่อมีความถูกต้อง มีความถูกต้องจนยกมือไหว้ตัวเองได้ นี่คือ สวรรค์ที่แท้จริง แล้วก็ไม่ต้องเสียสตางค์ซื้อสวรรค์ชนิดนี้ สวรรค์จริงไม่ต้องซื้อด้วยสตางค์ ทำงานสนุก พอใจ ถูกต้อง พอใจ ถูกต้องแล้วเป็นสวรรค์ขึ้นมา สตางค์เหลือเยอะเลย ถ้าสวรรค์ที่แท้จริงนั้นสตางค์จะเหลือเยอะ เพราะมันไม่ต้องใช้เงินเพื่อจะซื้อสวรรค์ เพราะมันถึงสวรรค์ได้โดยการทำให้มันถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้องทุกอิริยาบถ ทุกกระเบียดนิ้ว แล้วก็พอใจถูกต้อง พอใจถูกต้อง พอใจ เป็นสวรรค์ที่แท้จริง ชนิดที่ให้ได้สวรรค์ ชนิดที่มันไม่รู้ว่าเมื่อไรที่ไหนนั้น มันจะได้สวรรค์ทั้งหลายมันขึ้นอยู่กับสวรรค์ที่แท้จริงนี้ คือ ถูกต้องและพอใจ ยกมือไหว้ตัวเองได้ นรกทั้งหลายมันก็ขึ้นอยู่กับนรกชนิดที่ว่า เกลียดน้ำหน้าตัวเอง ไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรดีจนยกมือไหว้ตัวเองได้ นั่นแหละคือ นรก เราไม่ตกนรกชนิดนี้ เราจะไม่ตกนรกชนิดไหนหมด สวรรค์แท้จริงอยู่ที่นี่ นรกแท้จริงก็อยู่ที่นี่ ที่มองเห็นได้ชัดๆ อย่างนี้ไม่ต้องเชื่อตามคนอื่น
ที่เขาพูดไว้แต่ก่อนหน้าเขาพูดไว้ในความหมายอย่างนี้ เขาพูดกันภาษาอุปมา เป็นวัตถุ เป็นอะไรให้คนโง่มันฟังง่าย สวรรค์ได้สบายใจ มีนางฟ้า มีอะไร นรกมีหม้อทองแดง มีหลาวเหล็ก ก็เอาแต่ความหมายเท่านั้นแหละ เมื่อมันอึดอัด ขัดใจ กระวนกระวายใจ มันก็เท่ากับถูกต้มด้วยหม้อทองแดง ถูกแทงโดยหลาวเหล็ก ถ้ามันพอใจมันมีแต่ความพอใจ พอใจมันก็เป็นสวรรค์ ถ้าคนมันชอบกามารมณ์ ในสวรรค์ก็เต็มไปด้วยกามารมณ์ แต่ถ้าไม่ชอบกามารมณ์ สวรรค์ก็เต็มไปด้วยความสงบเงียบ อย่างที่เรียกว่า วิเวก เป็น พรหมโลก เป็น รูปพรหม เป็นอรูปพรหม ก็เป็นสวรรค์เหมือนกัน สวรรค์ที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์
รวมความว่าระมัดระวังให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นความถูกต้อง คือ ดับทุกข์ได้ทั้งของเราและทั้งของผู้อื่น มนุษย์เราไม่ได้มีหน้าที่ดับทุกข์ของตัวอย่างเดียวหรอก มันมีหน้าที่ดับทุกข์ของผู้อื่นด้วย ขอให้มันมีแน่ลงไปว่ามันดับทุกข์ของทุกฝ่าย ก็คือ ถูกต้อง จะเคลื่อนไหวอะไรสักนิดหนึ่งก็ขอให้รู้สึกว่ามันถูกต้อง ถ้ามันถูกต้องดับทุกข์ได้แล้วไม่ใช่เรื่องนิดหรอก ยกตัวอย่างว่า ถ้าเราคัน ถ้าเราคันขึ้นมาเราก็เกา เมื่อเกามันก็หายคันมันก็ดับทุกข์ได้ การเกาเมื่อคันมันก็เป็นการปฏิบัติธรรมะอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อกำจัดความทุกข์คือคันนี่แหละ แม้แต่เกาเมื่อมันคันนี่ก็เป็นธรรมะ เป็นการปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติถูกต้องแล้วมันก็ดับทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย น้อยที่สุดแม้แต่ว่าคันก็ต้องเกานี้ก็เป็นธรรมะ มันมีอะไรต่างๆอีกมากมายหลายอย่างที่ต้องประพฤติ-กระทำในโลกนี้เพื่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย อย่างว่าโบราณนี้ไปเห็นแก้วแตกอยู่ที่ไหน ช่วยหยิบทิ้ง เห็นหนามอยู่ที่ไหน ช่วยหยิบทิ้ง เห็นของรกรุงรังที่ไหนจะช่วยกวาด ก็คือ ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะแล้วเพื่อช่วยดับทุกข์ของเราและผู้อื่นแล้ว ถ้ามีคนอย่างนี้มาก ๆ บ้านเมืองนี้มันก็สบายจนไม่มีความทุกข์ บ้านเมืองนี้โลกนี้ก็จะเป็นสวรรค์ได้ ถ้าทุกคนทำหน้าที่ ทำหน้าที่ของตนโดยไม่บกพร่อง ถูกต้องแล้วทั้งเพื่อประโยชน์เราเอง และเพื่อประโยชน์ผู้อื่น อย่างนี้เรียกว่า ชีวิตนี้มันอยู่ด้วยความถูกต้อง คือ ธรรมะ เขาเรียก ธรรมะชีวี - มีชีวิตอยู่ด้วยความถูกต้อง ขอให้ทุกคนเป็น ธรรมะชีวี มีความคิดเสียใหม่เกิดขึ้นอย่างนี้เป็น ธรรมะชีวี แล้วปฏิบัติต่อไป ต่อไปไม่ว่าที่ไหน เวลาไหนจนตลอดชีวิตมีแต่ความถูกต้อง เป็น ธรรมะชีวี รู้สึกอยู่ในใจว่าเป็นความถูกต้องเสมอ มีสติตรวจสอบความถูกต้องนั้นว่า ถูกต้องจริง ถูกต้องจริง คือ ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำความทุกข์ให้แก่ใคร ทำประโยชน์ให้แก่คนทั้งปวง นั่นคือ ความถูกต้องที่แท้จริง ถ้ามันได้ไปทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นแก่ใครแม้ในฝ่ายใด ก็ไม่ใช่ความถูกต้องแล้ว เป็นความผิดพลาดแล้ว จึงต้องใช้สติ สติ สติรู้สึกควบคุมอยู่ให้มันถูกต้อง อย่าให้มันเป็นที่เดือดร้อน ถูกต้องแล้วพอใจเบียดเบียนใครเลย จึงพูดว่า ธัมมะชีวี สะทา สะโต มีสติเป็น ธรรมะชีวี อยู่ทุกเมื่อเถิด คำว่า ทุกเมื่อ ขอให้ใช้คำว่า ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี กระทั่งว่า ทุกชั่วโมง ทุกนาที ทุกวินาที ทุกครั้งที่หายใจ ให้รู้สึกได้ว่าถูกต้องแล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจ อย่างนี้ ให้มันเห็นว่า ถูกต้องแล้วและพอใจ ไม่ว่าเป็นการงานชนิดไหน และไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เล็ก เรื่องใหญ่อะไรก็ตาม เข้าห้องน้ำ อาบน้ำ ก็ถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้วตลอดเวลาในการที่จะรดน้ำ ในการที่จะถูขี้ไคล ในการที่จะนุ่งผ้า เข้าไปในครัว หยิบฟืนมาก็ถูกต้องแล้ว เอาหม้อตั้งบนไฟก็ถูกต้องแล้ว ติดไฟในเตาก็ถูกต้องแล้ว หุงข้าวถูกต้องแล้ว สุกถูกต้องแล้ว กินถูกต้องแล้ว มันเป็นการถูกต้องแล้วและพอใจ ถูกต้องแล้วและพอใจไปเสียหมด แล้วจะเอาโอกาสไหนมาตกนรกเล่า ทีนี้มันก็มีแต่สวรรค์ ยกมือไหว้ตัวเองได้เสียทั้งนั้น โลกหน้า-ชาติหน้าก็ไม่ต้องกลัว มันขึ้นอยู่กับความถูกต้องของโลกนี้ ของชาตินี้ ของที่นี่ เราไม่ตกนรกที่นี่ก็ไม่ตกนรกที่ไหนหมด เรามีสวรรค์ที่นี่ก็มีสวรรค์ทุกชนิด ทุกหน ทุกแห่ง
หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจดีของคำว่า ธรรมะชีวี มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ คือ หน้าที่ที่ถูกต้อง จนบอกตัวเองได้หมดตลอดเวลาว่า ถูกต้องแล้ว พอใจแล้ว ถูกต้องแล้ว พอใจแล้ว คือ มีสวรรค์ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ตลอดทั้ง ๒๔ ชั่วโมง นอนหลับถูกต้อง ตื่นอยู่ก็ถูกต้อง
เอ้า ทีนี้จะพูดถึงเรื่องถ้ามันมีเรื่องตรงกันข้าม คือ มันเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์หรอก มันถูกต้องอยู่แล้วตามกฎของธรรมชาติ คือ เจ็บไข้ได้ป่วย มันถูกต้องแล้วก็พอใจแล้ว ทีนี้ก็รักษา รักษาก็ถูกต้องแล้ว เรารักษาเยียวยาโรคภัยไข้เจ็บมันก็ถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้ว ก็รักษาไป ถ้าไม่หายมันจะตายก็ถูกต้องแล้ว ตามธรรมชาติมันจะต้องตายก็ถูกต้องแล้ว ก็หัวเราะตายดีกว่าร้องไห้ตาย มันถูกต้องถึงขนาดนี้ ถ้าว่าอะไร ๆ ที่ทำลงไปมันไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เช่น ทำนาปีนี้ตายหมดไม่ได้เลย-ก็ถูกต้องแล้ว ก็ไม่ต้องไปทุกข์ ก็ไปทำใหม่สิ รู้จักทำหลายๆหนเก็บประหยัดไว้ ชดเชยหลายหนมันก็มีผิดพลาดหนหนึ่ง ถ้าหายขาดทุนมันถูกต้องแล้ว มันก็ถูกต้องแล้วที่มันจะต้องขาดทุน ต้องมีขาดทุนบ้าง หลายๆหนขาดทุนสักหนจะเป็นไรไป นี่เรียกว่ามันไม่มีอะไรที่จะทำให้เราเป็นทุกข์ เพราะว่า เราทำจิตไว้ถูกต้อง ผู้ที่ทำจิตไว้ถูกต้องทุกเวลา ทุกหน ทุกแห่งนั้น เรียกว่า ธรรมะชีวี
ขอให้ท่านทั้งหลายที่มาสวนโมกข์ปีนี้ได้ไปคำพูดใหม่อีกสักคำหนึ่งว่า ธรรมะชีวี แล้วไปเกิดเป็นธรรมะชีวี เสียด้วย โอปปาติกะกำเนิด เกิดเป็น ธรรมะชีวี อยู่ตลอดไป เป็น ธรรมะชีวี นี้เกิดจากท้องแม่ไม่ได้หรอก เพราะแม่จะเกิดให้เราได้เพียงร่างกาย ส่วนจิตใจนั้นเราต้องเกิดเอง ต่อไปนี้เราต้องมีการเกิดเองเป็น ธรรมะชีวี เคลื่อนไหวทุกอิริยาบถ เป็นความถูกต้องแล้วก็พอใจ ถูกต้องแล้วก็พอใจ มีความรู้สึกว่าถูกต้องแล้วพอใจในที่ทุกหน ทุกแห่งตลอดเวลา ทุกเวลาตลอดกาล ทุกเมื่อ เรื่องจบ สำหรับเกิดดี สำหรับเกิดดี ขอให้เกิดดีอย่างนี้เรื่อยๆไปจนกว่าจะไม่ต้องการเกิดเลย-หยุดกันที แล้วค่อยพูดกันใหม่ บางทีพูดตอนดึกจะพูดเรื่องนี้ ตอนหัวค่ำนี้พูดเรื่องว่า การเกิดดีเป็น ธรรมะชีวี ขอให้เกิดดีกันตลอดไป
ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลาแล้ว สำหรับตอนแรกนี้ขอยุติการบรรยายไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้