แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เออ, วันนี้ เออ, ตั้งใจจะพูดเรื่องรวบหมด เออ, ของเรื่องที่เราจะต้องรู้ รวบหมด หรือรวมหมด ขอให้ เออ, ตั้งฟังให้ดี เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ แก่การศึกษาทั้งหมด เรื่องที่จะพูด โดยหัวข้อว่า จากปุถุชนถึง อ่า, พระอริยเจ้า เป็นการดูทีเดียวหมด สำหรับทุกเรื่อง เหมือนว่าจะดู โลกจากที่ไกล จากเบื้องบนนะ จะเห็นแผ่นดินทั้งหมดอยู่กันอย่างไร หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โดยปริทัศน์ คือดูหมดคราวเดียวกัน ทุกเรื่องโดยรอบ
จึงได้ใช้คำว่า จากปุถุชนถึงพระอริยเจ้า แล้วก็หมายถึงพระอริยเจ้าในขั้นสุดท้ายนะ คือ ขั้นที่เป็นพระอรหันต์ จะพูดว่า จากปุถุชนถึงพระอรหันต์ก็ได้ แต่มันยังเข้าใจได้คลุมเคลือ ว่าจากปุถุชนถึงพระอริยเจ้า คือ จากต่ำสุดของปุถุชน แล้วก็ขึ้นไปถึงสูงสุดของพระอริยเจ้า การที่เราบวชและเรียน ทุกเรื่องมันก็รวมอยู่ในเรื่องนี้เรื่องเดียว ในเรื่องที่ว่าจากปุถุชนถึงพระอริยเจ้า ขอสนใจดี เชื่อว่าจะช่วยได้มาก และการที่จะเข้าใจเรื่องทุกเรื่องที่จะเรียน
พูดให้มันเป็นธรรมชาติ เรียกว่า เป็นวิทยาศาสตร์หน่อย ก็ว่าจากป่าเถื่อนที่สุด แล้วก็ถึง ที่เจริญที่สุด คุณลองวาดภาพดู เราจะดูตั้งแต่จากป่าเถื่อนที่สุด ของความเป็นคน เป็นมนุษย์ แล้วก็ไปถึที่ยอดสุด หรือประเสริฐที่สุด ที่เรียกว่า พระอริยเจ้า ที่จริงคำนี้ มันก็คือการพูดอย่างนี้ มันก็เป็นการพูดเข้ารูปเข้ารอยกับเรื่องที่ มันมีอยู่ในหมู่มนุษย์ ไม่ต้องเกี่ยวกับพุทธศาสนา ไม่ต้องเกี่ยวกับศาสนาอะไรก็ได้ เราก็ยังมองเห็นได้ว่า คนเรานี่ มันมีตั้งแต่ระดับป่าเถื่อนที่สุด แล้วก็ดีขึ้น ๆๆ จนถึงดีที่สุด นี่มันจะเป็นอย่างไร หรือถ้าจะแบ่งกันโดยหลักวัฒนธรรมทั่ว ๆ ไป ก็ได้ ก็แบ่งได้เป็นชั้น ๆ ชั้น ๆ จนถึงที่สุด ถ้าจะแบ่งโดยหลักธรรมะ ที่เป็นกฎเกณฑ์ในพุทธศาสนา มันก็ยังแบ่งได้ มันก็มีเป็นเรื่อง ๆ เรื่อง ๆ สำหรับกำหนดรู้ หรือสำหรับแบ่ง
ขอให้คอยสังเกตดูให้ดี เอากันอย่างไม่เกี่ยวกับศาสนา ก่อน ชนพวกหนึ่งในอินเดีย เขาเรียก ตัวเองว่า พวกอริยะ อริยกะ หรือ อารยัน(นาทีที่ 05:52) และอีกพวก เรียกอีกพวกว่า พวกทัสยุ (นาทีที่ 06:00)หรือพวกทาส พวกป่าเถื่อน นั่นถ้าถือตามเรื่องทำนองประวัติศาสตร์ มันก็มีว่า
พวกที่เจริญแล้วนะพวกอารยัน ที่เรียกตัวเองว่าอารยัน มาจากทางตะวันตก ของประเทศอินเดีย คือทางประเทศเปอร์เซียแถวนั้น พวกที่เรียกกันในตอนหลังว่า พวกอารยัน ก็เข้ามาในอินเดีย ก็พบกับพวกป่าเถื่อน ยังไม่ถึงขนาดแห่งความเจริญ เป็นชั้น ๆ ชั้น ๆ แต่ค่อย ค่อยยังชั่ว ดีกว่าที่เลวที่สุด
พวกอารยัน ยกตัวเองเป็นชนชั้นที่เจริญแล้ว เป็นชนชั้นสูง แม้แต่รูปร่างมันก็ใหญ่โต ผิวพรรณดี ท่าทางน่าเลื่อมใส ทีนี้พวกที่มาอยู่ แต่ก่อนนั้น มันก็เป็นพวกดำ พวกเหลือง บางทีก็พวก เงาะป่า พวกเซมัง ซาไก เหมือนอย่างที่มีแถวแหลมมลายูนี้เหมือนกัน อย่างดีที่สุด พวกนั้นก็ยังถูก พวกที่มาใหม่ หาว่าล้าหลัง เขาเขียนไว้เป็นหลัก ๆ ว่า พวกดราลิเบียน(นาทีที่ 07:45) ที่เจริญที่สุด อยู่ในประเทศอินเดีย ในสมัยที่พวกอารยันเข้ามา คือ ประมาณ ๒,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล หรือ ๑,๕๐๐ ปีก่อนพุทธกาลนะ รวมกันมันก็ตั้ง ๔,๐๐๐ ปีแล้ว ที่เข้ามาในอินเดีย แล้วก็ครองแผ่นดินอินเดีย ตอนที่สะดวกสบาย ขับไล่พวกที่ไม่เจริญ ให้ตกทะเลไป ไปทางปลายแหลมอินเดีย ไปเกาะลังกา อะไรนั้น มันก็ต่างกันโดยวัฒนธรรม หรือความเจริญที่กัน เรียกกันว่าเป็นเครื่องวัดมนุษย์
คำที่ทำให้เกิดการแยกกันเป็น ๒ พวก ว่าพวกป่าเถื่อน กับพวกเจริญแล้วเกิดขึ้น เรียกพวกที่ เจริญแล้วก็พวกอารยันหรืออริยกะ แต่ทางความหมายโลก ๆ ไม่ใช่ความหมายทางธรรมะ อารยัน หรืออารยะนี่ เขาความเจริญอย่างโลก ๆ ก็คือไม่เจริญก็ป่าเถื่อนอย่างโลก ๆ คือ มันล้าหลังหมด นี่เป็นอันว่า คำมันได้เกิดขึ้นแล้วในโลก สำหรับเรียกพวกหนึ่งว่า พวกป่าเถื่อน เรียกพวกหนึ่งว่า พวกเจริญแล้ว
ทีนี้มันก็น่าประหลาดใจบ้างเหมือนกัน ที่คำคู่อย่างนี้ มันก็มาอยู่ในโครงของเรื่องทางศาสนา คือเมื่อเกิดพุทธศาสนาขึ้นมาแล้ว ก็เรียกพวกที่ไม่ประสีประสาต่อธรรมะ หรือเรื่องหลุดพ้น ก็เรียกว่า ปุถุชน มีความหมายว่า หนาอยู่ในความโง่ ปุถุ แปลว่า หนา ปุถุชน ก็คนหนาอยู่ในความโง่ พระอริยะ ก็หมายถึง ดีแล้ว ประเสริฐแล้ว แต่ไม่ได้จัดโดยชาติพันธุ์ของมนุษย์ ไม่ได้จัดโดยชาติพันธุ์ ของมนุษย์ ซึ่งที่จัดโดยชาติพันธุ์ของมนุษย์ คือ พันธ์ุที่ล้าหลังที่สุด โง่เง่าที่สุด ป่าเถื่อนที่สุด จัดเป็น พวกป่าเถื่อน พวกที่เจริญรู้อะไรมาก มาจากทางทิศตะวันตกนี่ ก็พวกอารยะ มันมีความหมายว่า ป่าเถื่อนที่สุด เจริญที่สุด แต่เอาไอ้ชาติกำเนิดนั้นเป็นเกณฑ์ คือ อาการกระทำอย่างโลก ๆ เป็นเกณฑ์
มาถึงพุทธศาสนา คำคู่นี้ก็ยังมีอยู่ เอาปุถุชนเป็นพวกที่ต่ำสุดทางด้านจิตใจ พวกอริยะเป็น สูงสุดในด้านนจิตใจ ไม่ได้เอาชาติกำเนิดหรือวงศ์ หรือพันธุ์พืช พันธ์ุมนุษย์เป็นเกณฑ์ จะเป็นอะไร ก็สุดแท้ แต่มันหมายความว่า ยังไม่เจริญ ยังไม่ลืมหูลืมตา ยังเป็นปุถุชน เจริญแล้ว ลืมหูลืมตาแล้ว กระทั่ง หมดปัญหาแล้ว นี่เป็นพวกอริยะ นี่คุณก็จะต้องกำหนดคำ ๒ คำนี้ไว้ ว่ามันเป็นทั้งหมด ทั้งหมดของมนุษย์ ที่เราพูดกันว่าป่าเถื่อนที่สุด แล้วก็ดีขึ้น ดีขึ้น เป็นดีที่สุดของมนุษย์ ทั้งหมดชนิด ทุกชนิดของมนุษย์
ทีนี้เรื่องเกี่ยวกับชาติกำเนิด วงพันธ์ุนั้น เราก็ไม่ต้องพูด ให้มาพูดถึงไอ้เรื่องทางจิตใจ หมายความว่า ถ้ายังเป็นปุถุชน ก็ยังโง่เต็มที ไม่รู้ความจริง อะไรเจริญ แล้วก็ค่อย ๆ รู้ จิตใจก็ค่อย ๆ สูง สูง สูงจน สูงที่สุดเป็นพระอริยเจ้า ตั้งแต่โสดาบันเป็นอย่างต่ำ จนถึงพระอรหันต์ นี่จะพูดว่าจาก ปุถุชนถึงพระอรหันต์ก็ได้ จากปุถุชนถึงพระเจ้าก็ได้ ในระหว่างนั้น มันมีเป็นชนิด ๆ อะไรเป็นเครื่อง ทำให้เกิดเป็นชั้น ๆ ชั้น ๆ อย่างนั้น ก็คือความรู้นั่นเอง ความรู้ รู้ รู้เรื่องที่ควรรู้ รู้เรื่องจริง ทั้งเรื่องที่ ควรรู้ ถ้ายังเป็นป่าเถื่อนอยู่ มันก็รู้อย่างงมงาย รู้อย่างไม่มีเหตุผล รู้อย่างงม งมงายเต็มที่ งมงายเต็มที่ เท่าที่คนป่าเถื่อนนั้นจะงมงายได้ พูดอย่างงี้ดีกว่า เรียกว่าปุถุชน ลืมตา ลืมตา เป็น ชั้น ๆ ชั้น ๆ มา ก็ค่อย ๆ กลายเป็นอริยะ และอริยะที่สุด
ทีนี้เราจะมา กำหนดไอ้ความรู้ของคนเหล่านี้ ทุกขั้น ๆ ทุกขั้น ๆ ว่าเขารู้อะไร คือ ถ้าพูดอย่างสมมุตินะ ก็เรียกว่า โง่แบบไม่มีเหตุผล แบบที่มันถูกหลอก ถูกหลอนด้วยการศึกษา เล่าเรียนชนิดแพง ชนเหล่านั้น พวกนั้น สมัยนั้น ซึ่งเรารวมเรียกง่าย ๆ ว่า พวกไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์ งมงายโดยทุกประการ ที่พอจะมาเป็นอริยเจ้าอย่างนี่ ไสยศาสตร์จะน้อยลง ความจริงจะ เพิ่มขึ้น ไสยศาสตร์จะน้อยลง ความจริงจะเพิ่มขึ้น หมดไสยศาสตร์เมื่อไร ก็เป็นพระอริยเจ้า เป็นพุทธศาสตร์ หมดไสยศาสตร์ ก็จะเป็นพระอริยเจ้า พุทธศาสตร์ แล้วก็ไปเป็นต่อไป อีก ๒-๓ ขั้น ๓-๔ ขั้น ก็จะยอดสุดของพระอริยเจ้า
ดังนั้น ขอให้กำหนดดู จุดหนึ่งซึ่งจะแบ่งเขตทั้งหมด ความโง่เง่างมงาย เป็นไสยศาสตร์ ที่จุดหมายตรงนั้นนะเป็นเส้นกลาง คือ ฝ่ายนี้จะเป็นปุถุชน ฝ่ายโน้นจะเป็นพระอริยเจ้า แต่คำว่า ไสยศาสตร์นี้ ขอให้ขยายความ ตั้งแต่งมงายที่สุดจนงมงายถึงสุดท้าย ซึ่งทางธรรมดาจะไม่ถือว่า ไสยศาสตร์ก็ได้ แต่ถ้าเอาพุทธศาสนาชั้นสูง มาจับเป็นหลัก มันก็เรียกเป็นไสยศาสตร์ คือ พวกที่ยังมี ตัวตน จะดีอย่างไรก็ยังเป็นไสยศาสตร์
เอาล่ะ, ยกตัวอย่าง คำพูดที่ชวนเข้าใจได้ง่าย มาสักบทหนึ่งก่อน คือโคลงโลกนิติ ที่ว่า เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้น เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้น แล้วก็พูดกันไปตามแบบของผู้พูด มันมีความรู้ ต่างกัน คือ เขามีโคลงบทหนึ่งว่า หมอบอกว่าไข้ลมคลุม พวกหมอพวกแพทย์บอกว่า ไข้ลมคลุม ทีนี้พวกโหรนะ โหร ว่าเคราะห์แรงรุมโทษให้ พ่อมดหรือแม่มดก็ตาม พ่อมดว่า ผีกุมทำโทษ ปราชญ์ว่า กรรมเองไซร้ ส่งให้เป็นเอง เป็น ๔ พวก เออ, พวกหมอ พวกแพทย์ธรรมดา ด้วยตาเนื้อ เห็นธรรมดา ว่ามันเป็นไข้อย่างนั้น อย่างนี้ มีไข้แล้วก็มีโรคลมอะไรเข้ามาปนด้วย เป็นไข้เจ็บธรรมดา ตามที่ตาเห็น หมอแพทย์อย่างนี้ ก็ว่าไปอย่างนี้ ทีนี้พวกโหร โหร ก็ว่าไม่ใช่ เพราะเคราะห์ ถ้าเคราะห์ร้าย แล้วก็ให้เกิดเจ็บไข้อย่างนี้ ทีนี้พวกแม่มด พ่อมด หมอผี ว่าผี ผีเข้ามาสิง ผีเข้ามา ยึดครอง ทีนี้ปราชญ์ว่า พวกนักปราชญ์ว่า มันเป็นกรรมของมันเอง กรรมเองไซร้ ส่งให้เป็นเอง
ทีนี้คุณยังมี พูดขึ้นมาอีกสักพวกหนึ่งได้ไหม ให้มันดีกว่านั้นไปอีก ให้มันเลยนักปราชญ์ ที่ว่า กรรมเองไซร้ก่อให้เป็นเอง ถ้าเข้าในข้อนี้ จะเข้าใจพุทธศาสนา แต่มันก็ทะเลาะกัน พุทธศาสนา บางคนบางท่าน กรรมหมดแล้ว ถ้ามันยังมีกรรมอยู่ มันยังไม่ใช่ถึงที่สุดในพุทธศาสนา มันต้องเหนือ กรรม พ้นกรรม ไม่เกี่ยวกับกรรม คืออะไร คือ พระอรหันต์ ท่านจะว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง ตถตา ตถตา ไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บอะไร ไม่ใช่เคราะห์ร้ายอะไร ไม่ใช่ผีสิงอะไร ไม่ใช่กรรมแกม อะไรที่ไหน มันเป็นอย่างนั้นเอง ถ้ายังเป็นกรรมอยู่ ถ้ายังเชื่อกรรม มีกรรมผูกพันธ์อยู่ ยังไม่หลุดพัน ยังไม่เป็น พระอรหันต์ นี่ตรงนี้มันลึก
ที่ว่าเดี๋ยวนี้ ใคร ๆ ก็จะถือที่ว่ากรรม เชื่อกรรมแล้วก็หมดแล้ว หมดเรื่องแล้ว ยังไม่หมด ยังติดอยู่ใต้ความโง่เรื่องกรรม สมมุติเป็นกรรมดี เป็นกรรมชั่วอะไรอยู่ ยังไม่หมด แต่ว่ามันสูงที่สุด แล้ว มันสูงกว่าพ่อมดหมอผี แต่มันยังไม่สุดหรอก แต่ถ้าสุด มันก็ต้องเป็นตถตา ซึ่งเราก็ได้พูดกันมา เรื่อย ๆ ไม่รู้กี่ครั้งกี่หนแล้วเรื่องตถตา แล้วก็อยากจะพูดอยู่เรื่อย ๆ เรื่องตถตา เราจะได้เข้าใจ กันดีที่สุด
หมอแพทย์ว่าเป็นไข้เป็นลม โหรว่าเคราะห์ร้าย พ่อมดหมอผีว่าผี ปราชญ์ว่ากรรม เพราะกรรม พระอรหันต์ว่าตถตา มันเป็นเช่นนั้นเอง คือ พระอรหันต์อยู่เหนือกรรม ไม่เรียกว่า กรรมดี กรรมชั่ว มันเป็นเช่นนั้นเอง กรรมดีก็เช่นนั้นเอง กรรมชั่วก็เช่นนั้นเอง มันเป็นไปตาม เหตุปัจจัยที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท เป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง นี่สุดแล้ว สุดยอดแล้ว สติปัญญาจะไปสูงกว่านั้น ไม่ได้อีกแล้ว นี่เรียกว่า จากต่ำสุดถึงที่สุด จากป่าเถื่อนที่สุด ถึงเจริญ รุ่งเรืองถึงที่สุด
นี่จำหลักนี่ไว้มันง่าย คือ พวกหมอธรรมดา เรียกเจ็บไข้ ตามที่สมมุติเรียก ตามที่สมมุติเรียก ทีนี้พวกโหร ว่าเคราะห์ร้าย เคราะห์ร้าย พวกพ่อมด ผีสิง ผีสิง เป็นอย่างนั้น นักปราชญ์ว่าเป็น กรรมของมัน อยู่ใต้อำนาจกรรม กรรมยังมีอำนาจ แต่พระอรหันต์ท่านว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ต้อง พูดให้เป็นโรคภัยไข้เจ็บ หรือไม่ต้องพูดให้เป็นเคราะห์ร้าย ไม่ต้องเป็นหมอ พ่อมด หมอผี หรือแม้แต่ ว่ากรรม กรรมนี่ แม้แต่ว่าคุณจะเคยเข้าใจ หรือว่าที่เขาเข้าใจกันอยู่ ถ้าพูดเป็นเรื่องกรรม จบแล้ว หมดแล้ว สูงแล้ว สูงสุดแล้ว ไม่สูง ยังไม่สูงมาก มันยังมีงมงายอยู่นิดนึง หลงบัญญัติ
สมมุติเรื่องกรรม มันต้องพ้นกรรม พ้นกรรม ไม่มีกรรม เที่ยงไปจากกรรม เป็นเช่นนั้นเอง ตามธรรมชาติ นี่สติปัญญาจึงจะเรียกว่า ถึงที่สุดพ้นจากความงมงาย นี่เรายกตัวอย่าง ด้วยถ้อยคำที่ เขาพูดกันอยู่หรือเขาเชื่อกันอยู่ จนถึงกับมีคำสอนเป็นนิติสำหรับชาวโลก ไว้ด้วยว่าโลกนิตินี้ ทบทวนดู อีกทีว่า ถ้าหมอแพทย์ก็ว่าเป็นโรคนั้น โรคนี้ ไอ้ที่หมอเชื่อว่าโรคนั้นโรคนี้ คือ บัญญัติว่า เป็นโรคนั้นโรคนี้ ถ้าว่าเอาบัญญัติออกเสีย มันก็ไม่เป็นโรคนั้นโรคนี้ มันเป็นเช่นนั้นเอง ตามธรรมชาติ ความไข้เจ็บ มันเป็นเช่นนั้นเอง ตามธรรมชาติ
แต่นี้เมื่อถูกรับการศึกษามา สมมุติให้เป็น โรคนั้น โรคนี้ สมมติว่าเป็นโรคนั้น โรคนี้ บัญญัติว่าโรคนั้นโรคนี้ เขาว่าติดอยู่ที่บัญญัติและสมมุตินั้น ว่าเป็นโรคนั้นโรคนี้ธรรมดา ทีนี้โหรเขา เรียนมา แต่เรื่องพระเคราะห์ คือดาวพระเคราะห์ทั้งหลาย เป็นหลักเกณฑ์ สำหรับจะให้ร้าย ให้ดี เรื่องราวตามแบบของ ดาวพระเคราะห์ พวกโหรเขาเรียนอย่างนี้ เขาก็เลยบอกว่า พระเคราะห์ร้าย พระเคราะห์อย่างนั้น อย่างนี้ คือความเจ็บไข้ นี่ก็เป็นหลงสมมุติ เรื่องพระเคราะห์ ก็ยังงมงายอยู่
ทีนี้พวกพ่อมด หมอผีว่า ผี ผี ผี นี้ ไม่มีความรู้อะไร นอกจากเรื่องผี ที่ได้เรียนใส่หัวกันมา อย่างฝัง ฝัง เรื่องผี ผี ผี มันก็ว่าผี มันก็งมงาย งมงาย โดยไม่รู้อย่างแท้จริงว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง นี่ตามธรรมชาติ เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนี้ ว่ามันเป็นอย่างนี้เอง ที่หมายถึงนักปราชญ์ นักปราชญ์ท่าน ธรรมดาว่า กรรมเองไซร้ส่งให้เป็นเอง เพราะว่าหลงยึดถือบัญญัติ ว่ากรรม กรรมดี กรรมชั่ว ถ้าเอาบัญญัติว่าดีว่าชั่วออกเสีย มันก็คือเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยเช่นนั้นเองของธรรมชาติ
ทีนี้ไปหลงติด ที่บัญญัติว่าโลก ว่าบุญ ว่าบาป ว่ากรรมดี กรรมชั่ว ก็ว่ากรรม กรรม กรรม แต่นี้ดีมากแล้ว เกือบจะหลุดแล้ว ถ้าหมายถึงกรรมนี่ ถ้าขึ้นมาได้ถึงกรรมนี่ มันจะหลุดแล้ว มันจวนจะหลุดแล้ว เพราะขึ้นเหมือนกันว่า โอ้, มันเป็นเช่นนั้นเองตามธรรมชาติ นี่ หลุด หลุดออก มาได้ เป็นพระอริยเจ้า หมดสิ้นแห่งการสมมุติบัญญัติหรือไสยศาสตร์ หมดเรื่องสมมุติ หมดเรื่อง บัญญัติ หมดเรื่องไสยศาสตร์ ทั้งหลาย มันเหลืออยู่แต่มันเป็นเช่นนั้นเอง ตามกฎของธรรมชาติ ที่เรียกว่า ตถตา วิตถตา อนันยตา(นาทีที่ 25:51) อิทัปปัจจยตา ตา ตา ตา น่ี หมายถึงเรื่องเดียวกัน หมด ว่ามันเป็นเช่นนั้นเองตามธรรมชาติ ถ้ามาถึงนี่แล้วก็หมด เหนือหมด เหนือกรรม
คำว่า กรรม ไม่ได่มีความหมาย ที่จะให้ยินดีในกรรมดี ยินร้ายในกรรมร้าย นี่ก็ไม่ ไม่มีแล้ว มันสูงกว่ากันอย่างนี้ พ้นกรรม เหนือกรรมขึ้นไปอีก เป็นพวกที่เข้าถึงตถตา หรือจะเรียกว่าเข้าถึง อิทัปปัจจยตาก็ได้ เข้าถึงปฏิจจสมุปบาทก็ได้ แล้วมันก็จะเห็น แต่ว่าเป็นเช่นนั้น เช่นนั้น เช่นนั้น ตามกฎของธรรมชาติ เราจะไม่ไปสมมุติว่า ดี ชั่ว บุญ บาป อะไร แต่ว่าก่อนนี้เคยสมมุติ ดี ชั่ว บุญ บาป มา มันเป็นขั้นสุดท้าย ของการที่จะละจากอวิชชานะ สุดอยู่ที่บุญ ที่บาป แล้วพอเหนือบุญ เหนือบาป มันก็หมดอวิชชาโดยประการทั้งปวง นี่เรียกว่ามันสุดท้ายแล้ว
เอาตามหลักนี้ ก็พอจะสรุปได้ว่า พวกปุถุชนทั้งหลาย เขายึดแน่นในสมมุติ ในบัญญัติทุกขั้น ทุกขั้น ทุกขั้น ทุกขั้น จนกว่าเมื่อไหร่จะพ้นจากสมมุติ พ้นจากบัญญัติ เมื่อนั้นจึงจะเป็นพระอริยเจ้า สมมุติว่าเป็นโรคนั้น สมมุติว่าเป็นโรคนี้ นี่ก็เรียกว่าสมมุติ ยึดติดอยู่ที่สมมุติ ยึดติดอยู่ที่ชื่อที่สมมุติ ขึ้นมาให้แต่กริยา อาการนั้น ๆ ยึดติดที่สมมุติ หรือจะสมมุติว่า เป็นพระเคราะห์ดวงนั้น พระเคราะห์ ดวงนี้ ก็เรื่องสมมุติเหมือนกัน ก็ติดสมมุติในดาวพระเคราะห์ ทีนี้พวกผี ผีปอบ ผีฟ้า ผีเรือน ผีอะไร ก็ไม่รู้ ไม่รู้กี่ ๑๐ ผี นี่มันก็หลงในสมมุติ ที่สมมุติว่าผี ผี ผี ไม่เห็นธรรมชาติ
ทีนี้สูงขึ้นมาจนเห็นว่าเป็นกรรมดี กรรมชั่ว นี้ก็คือ หลงในบัญญัติ หรือสมมุติ และบัญญัติ ว่าดี ว่าชั่ว ว่ากรรมดี ว่ากรรมชั่ว ว่าบุญ ว่าบาป ว่าสุข ว่าทุกข์ อะไรก็ตาม พอไม่เห็น อย่างนั้น ก็เห็น โอ้, มันเป็นเช่นนั้นเอง อย่างนั้น นี่จึงจะจบ ว่าบุญก็เช่นนั้นเองแหละ บาปก็เช่นนี้เอง ดีก็เช่นนั้นเอง ชั่วก็เช่นนั้นเอง สุขก็เช่นนั้นเอง ทุกข์ก็เช่นนั้นเอง คือมันเป็นธรรมชาติเช่นนั้นเอง แล้วเรามาบัญญัติ ให้มันว่า ดี ว่าชั่ว ว่าบุญ ว่าบาป ว่าสุข ว่าทุกข์
นี่ความเจริญในด้านจิตใจ มันมีอยู่อย่างนี้ จากต่ำสุดไปถึงสูงสุด จะพูดให้สั้น ๆ ที่สุด ก็ว่า จากไสยศาสตร์ถึงพุทธศาสตร์ จะเรียกว่าเป็นไสยศาสตร์ ด้วยกันทั้งหมด ถ้ายังหลงในสมมุติ ในบัญญติ อะไรอยู่ การที่เรียกชื่อว่า โรคลม โรคไข้ โรคอะไรก็ตาม เป็นการสมมุติ เป็นโรคอย่างนั้น แล้วยึดถือ ในชื่อนั้น ๆ ยึดถือว่าสมมุติ
เอาเป็นว่า ยังไม่รู้ความจริง และก็เป็นไสยศาสตร์ไปก่อนก็แล้วกัน แม้พวกที่ยึดถือว่า ตัวตน ตัวตน ของตน กูดี กูบุญ กูบาป กูชั่ว กูสุข กูทุกข์ อย่างนี้ก็เรียกว่า ยังไม่รู้ความจริงถึงที่สุด แต่มันรู้ มากแล้ว มันจวน ๆ จะสุดอยู่แล้ว นั่นนะมันจะละ มันจะเลิกละกันตอนนั้น แต่ถ้ามันยังเป็นตัวตน เต็มที่ โง่เง่าเต็มที่ ผีสางเทวดา อะไรกันอย่างเต็มที่ อย่างนี้ก็เรียกว่า ไสยศาสตร์เต็มอัดอยู่
ที่พูดนี้ก็ไม่ใช่อะไร ต้องการจะให้รู้เรื่อง ที่มันเป็นอยู่จริง ๆ ในธรรมดาสามัญทั่วไป เอ้า, ยุติกันไว้ว่า จากไสยศาสตร์ถึงพุทธศาสตร์ ไสยศาสตร์ก็จางออก จางออก จางออก แล้วก็หมด แล้วก็เริ่มพุทธศาสตร์ เริ่มพุทธศาสตร์ มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น จนถึงที่สุด ชีวิตของคนเรานะ มันเป็นอย่างนี้ มันต้องเริ่มมาด้วย ความไม่รู้แล้วก็ค่อย ๆ รู้ จนกระทั่งรู้ถูกต้อง รู้ถึงที่สุด รู้ความจริง ถึงที่สุด ต้องเริ่มมาด้วยความไม่รู้
อยากจะให้สังเกตว่า เราเกิดมาไม่ ไม่ไม่มีความรู้อะไร คือ ว่างอยู่ แต่พอคลอดออกมาจาก ท้องแม่ แล้วก็ได้รับการอบรม รับการอบรม ก็เลย ก็มีความร ู้ตามที่เขาอบรมให้ ทีนี้อบรมกัน ในยุคนั้นนี่ มันเป็นเรื่องมีความหมายเป็นไสยศาสตร์ทั้งนั้น คือ เด็กนั้นเข้าใจไม่ได้ ทารกนั้นเข้าใจ ไม่ได้ แต่ก็ถูกกระทำให้มีความเชื่อ ๆๆ กลัว ๆๆๆๆ เด็กทารกถูกกระทำให้ หลงไปในหลายทิศทาง อันแรกก็หลงในความเอร็ดอร่อย หลงรักในความเอร็ดอร่อย ก็หลงรัก หลงคิดจนได้เอร็ดอร่อย นี่ก็หลง เมื่อไม่ได้เอร็ดอร่อย มันก็โกรธเองแหละ มันก็โกรธเป็นเองแหละ ถ้าไปหลงในความ เอร็ดอร่อย
ทีนี้อีกทางหนึ่ง มันกลัว ถูกทำให้กลัวนั่น กลัวนี่ เด็ก ๆ ถูกอบรมให้กลัว จนเลยเถิด เลยขอบเขต นับตั้งแต่ว่ากลัวอะไรก็ไม่รู้ พอเขาทำท่ากลัว มันก็กลัว คนเลี้ยงทำท่ากลัวให้ดู เด็กมันก็กลัว จนไม่รู้ว่ากลัวอะไรกัน แล้วมันก็กลัวเกินขอบเขต กลัวจิ้งจก กลัวตุ๊กแก กลัวลูกหนู กลัวกิ้งกือ กลัว ๆ แม้กระทั่งกลัวผี เพราะคนเลี้ยงทำท่ากลัวผี ทำท่าว่ามีผี แล้วเด็กมันก็เชื่อ ฝังลงไป ว่ามีผี แล้วมันก็กลัวผี มันก็มีผี มันก็กลัว
ทีนี้ต่อมาก็เรื่อง เทวดาบนฟ้าบนสวรรค์ บูชาเทวดา อย่างนั้นอย่างนี้ เด็กมันก็บูชา แล้วก็ด้วยความเชื่อว่า มีเทวดาบนสวรรค์ ผีสางเทวดา แล้วก็ยังมีพรหม ชั้นสูงสุดของเทวดา มันก็เชื่อ ๆ ไปตามที่อบรมกัน ตั้งแต่อ้อนแต่ออกนั้น นี่ไสยศาสตร์มันจึงหนาขึ้น หนาขึ้น หนาขึ้น กลายเป็นเรื่องของไสยศาสตร์เต็มที่และเต็มตัว นี่คือปุถุชน ปุถุชนเต็ม อ่า, เต็มขั้น ปุถุชนเต็ม มาตรฐานของปุถุชน
ทีนี้ก็มีความทุกข์ ทุกข์นั่น ทุกข์นี่ไปเรื่อย ๆ ตามแบบของ ไอ้ความรู้ไม่จริง ความรู้ที่เป็น ไสยศาสตร์ ก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ พอหลงรักก็เป็นทุกข์เพราะความรัก เมื่อไม่ได้ดังที่รักก็โกรธ ก็เป็นความทุกข์เพราะโกรธ ทั้งที่ไม่รู้ว่าอะไร ก็กลัว ๆๆ กลัวมา กลัวจนเลวกว่าหมา คำพูดนี้หยาบ สักหน่อยนะ กลัวจนเลวกว่าหมา หมาเข้าไปในป่าช้าไม่กลัวนะ แต่คนเข้าไปในป่าช้าแล้วกลัว ถ้าหมานะ ถ้ามันไม่มีอะไรกิน มันขุดผีขึ้นมากินเลย มันกลัวอะไร แต่คนมันยังกลัวผี กลัวผีที่หมาไม่กลัว
เล่าเรื่องส่วนตัวผมสักนิดก็ได้ ที่จริงก็ไม่อยากเล่า ผมก็โง่กว่าวัวเหมือนกัน คือเมื่อเด็ก ๆ ช่วยเขาเลี้ยงวัว บางทีพาไปเลี้ยงจนไกลออกไป พอค่ำก็ต้องกลับบ้าน เผอิญทางนั้นมันต้องผ่านป่าช้า ไอ้เรานี่มันพะทึก(นาทีที่ 35:48) แรกที่เข้าเขตป่าช้า มันกลัว กลัว จูงวัวมาเรื่อย แต่พอมาถึงกลาง ป่าช้า วัวมันก็ยังกินเรื่อย มันกินหญ้ากัดมาตลอดทาง พอเราเห็นวัวไม่มีความกลัว ไม่รู้สึกกลัวผี ในป่าช้าเลย ซึ่งเรากลัวเกือบตาย เราก็เลยละอายวัว โง่กว่าวัว นี่จึงค่อยหายกลัวผี เพราะวัวมันสอนให้
นี่เพราะว่าคนเราถูกสอนให้กลัว แล้วสัตว์เดรัจฉาน มันไม่ได้รับการสอนอะไรได้ ให้กลัว มันก็เลยไม่ ไม่รู้จักกลัว แล้วก็ไม่มีผี ทำไมหมาไม่กลัวผี แล้วคนกลัวผีเกือบเป็นเกือบตาย จะไม่ให้พูด ว่าโง่กว่าหมา แล้วจะให้พูดว่ายังไง อะไรก็ได้ ศักดิ์สิทธิ์ยังไงก็ได้ ศาลพระภูมิอะไรก็เยี่ยวรด ทำไม ไม่ ไม่ต้องกลัว หรือไม่ต้องทำอะไร ถ้าพระภูมิเก่งจริงก็ต้องทำให้หมาตาย หมาเยี่ยวรดศาลพระภูมินะ มันเป็นเรื่องของความงมงาย ความงมงายของไสยศาสตร์ เกิดเป็นความกลัว ก็กลัวจนโต กลัวจนตาย เข้าโลง บางคนกลัวอย่างโง่ บรมโง่ จนตายเข้าโลง มีบางคนเท่านั้นที่จะโชคดี เรื่องนี้ค่อย ๆ รู้ ค่อย ๆ ไม่กลัว ค่อย ๆ ไม่กลัว มารู้พระศาสนา แล้วก็ไม่กลัวอะไรนี่
นี่มันแยกทางกันเดินแล้ว นั้นไสยศาสตร์ งมงาย ไม่มีเหตุผล เขามอมเมาให้เชื่อ ให้เชื่อ ให้กลัว นั่นแหละคือ ไสยศาสตร์ อันนี้คือปุถุชนเต็มขั้น อันนี้จะต้องค่อยหมดไป หมดไป หมดไป พอขึ้นต้นให้รู้ตามที่เป็นจริง ว่าเป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง จนถึงที่สุด เป็นพระอรหันต์ นี่จากไสยศาสตร์ถึงพุทธศาสตร์ จากปุถุชนสุดเหวี่ยง จนขึ้นไปถึงเป็นพระอรหันต์ ก็คือการละ ความโง่ ความงมงาย ในรูปแบบของไสยศาสตร์นั่นแหละ เรื่อย ๆ ไป เรื่อย ๆ ไป จนมันหมด ไสยศาสตร์ แล้วมันก็เริ่มพุทธศาสตร์ คือ ลืมตา ลืมตา ลืมตา ลืมตาจนถึงที่สุด
ถ้าไม่หมดไสยศาสตร์ จะเป็นพระโสดาบันก็ไม่ได้ เป็นเพียงชั้นโสดาบันก็ไม่ได้ สักกายทิฎฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เป็นเรื่องไสยศาสตร์ทั้งนั้น ละแล้วจะเป็นพระอรหันต์นะ นั้นถ้ายังละ ไสยศาสตร์ไม่หมดสิ้น จะไม่มีเป็นโสดาบัน ขั้นพระโสดาบันนะ พระอริยเจ้าขั้นต้น ถ้าไม่ละ ไสยศาสตร์เหล่านั้นให้หมด แล้วจะเป็นแม้แต่โสดาบันก็ไม่ได้ ส่วนพระอรหันต์ ยังต้องละอะไร หหต่อไปอีก ถึงมันละเอียดสูงไปกว่าอีก
เดี๋ยวนี้ เอาว่า เพียงแต่จะเป็นพระโสดาบันเท่านั้น จะต้องละรูปแบบของไสยศาสตร์หมดเลย ที่ว่าสีลัพพตปรามาสนั่นแหละ เป็นไสยศาสตร์ทั้งหมด ความยึดถือว่า (นาทีที่ 39:31) ตัวตน ตัวกู ของกู อย่างเลวที่สุดเป็นสักกายทิฎฐินี้ ก็คืองมงายอย่างยิ่ง ถูกสอนให้เข้าใจอย่างนั้น แต่อ้อนแต่ออก พอทารกรู้ความ ก็ได้รับการเสี้ยมสอนว่า ของกูทั้งนั้นแหละ พ่อของกู แม่ของกู ตุ๊กตาของกู บ้านของกู อะไรก็ของกู ของกู ของกู จนเขาเต็มไปด้วยความคิดว่า ตัวกู ของกู ของกู เด็ก ๆ นั้น ไอ้นี่ก็จะต้องเรียกว่า โง่กว่าหมาเหมือนกัน คือ หมาไม่ได้รับการสั่งสอนอะไร ให้ยึดติดอะไร ๆ ว่าเป็นของกู แต่มนุษย์เราได้รับการสั่งสอน ให้ยึดถืออะไรเป็นของกูมากขึ้น ๆ จนเป็นความทุกข์ เต็มที่ ไอ้วิจิกิจฉาความลังเลไปเสียหมด ก็เพราะมันไม่รู้ เพราะไสยศาสตร์มันดึงไว้ จะเชื่อผี มันก็ไม่ได้ เพราะว่ามันถูกสอนให้เชื่อผี มันก็ลังเลอยู่ระหว่าง ผีมี หรือผีไม่มี มันก็ยังเป็นอิทธิพล ของไสยศาสตร์
สังโยชน์ ๓ ข้างต้นนะ สักกายทิฎฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส นั่นแหละคือ กลุ่มของ ไสยศาสตร์ ถ้าละให้หมดไม่ได้ ก็จะไม่เข้ามาในเขต ของพระอริยเจ้า คือไม่เป็นแม้แต่พระโสดาบัน ก็ไม่ต้องอะไรมาก พูดแต่เพียงว่า ตลอดเวลาที่ยังละไสยศาสตร์ไม่หมด ก็จะไม่มีทางที่จะเป็น พระอริยเจ้า แม้ขั้นต้นที่สุด คือ พระโสดาบัน นี่พระโสดาบันนี่ เริ่มละที่ว่าเป็น สมมุติว่าเป็นเจ็บ เป็นไข้ สมมุติว่าเป็นเคราะห์กรรม เคราะห์ร้าย สมมุติว่าเป็นผีสางเทวดา นี่ก็มาละได้มากแล้ว แต่ว่าเรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องบุญ เรื่องกรรม นี่ยังละไม่ได้ พระโสดาบันยังละไม่ได้ แต่ก็ละที่โง่ ที่เลวร้ายเท่านั้น ได้มาตามลำดับ ละความเห็นแก่ตัวตน อย่างโง่ ๆ เสียได้ ละเรื่องโชค เรื่องกรรม เสียได้ ละเรื่องผีเสียได้ นี่เรียกว่า ไสยศาสตร์หมดไปเท่าไหร่แล้ว หมดไปเกือบหมดแล้ว เรียกว่าละสมมุติบัญญัติ ว่าบุญ ว่าบาป เสียได้ มันก็จะไปเป็น พระอรหันต์ โน่น.