แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้จะพูดเรื่องการศึกษาและการรับปริญญาในพระพุทธศาสนา บางคนคงจะคิดว่า เป็นเรื่องพูด เล่นลิ้น หรือพูด อ่า, ชนิดที่ว่าเอาเอง นี่ขอบอกกล่าวให้ทราบว่า ในพุทธศาสนานั้น จะมีทั้งการศึกษา และการรับปริญญา ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เอง คือ การศึกษา ก็คือ สิกขา ๓ ส่วนปริญญานั้น คือ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ๓ อีกเหมือนกัน ตรัสว่าภิกษุทั้งหลาย ปริญญามี ๓
๓ คืออะไร ๓ คือ สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ นี่คือปริญญา
ที่นี่เราก็จะพูดกันไปตามลำดับ พูดถึงคำว่า การศึกษา คือ สิกขา เป็นภาษาบาลี ก็เป็นสิกขา เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า สิกฉา(นาทีที่ 01:55) หรือภาษาไทยเราว่าศึกษา คำเดียวกันหมด เออ, ถ้าถือ เอาตามตัวหนังสือแท้ ๆ ดูจะได้เรื่องได้ราวดีมาก แล้วก็ลึกซึ้งด้วย สิกขานั่นแปลว่า การเห็นเอง เห็นด้วยตนเอง เห็นซึ่งตนเอง สะ สะนี่ แปลว่า เอง อิขะ อิขะ แปลว่า เห็น สะกับอิขะนี่ ถอดความได้ว่า เห็นซึ่งตนเอง เห็นด้วยตนเอง และเห็นเพื่อตนเอง เห็นโดยตนเอง
สิ่งที่สำคัญข้อแรก ก็คือว่า การเห็นตนเอง คือ เห็นสิ่งที่เรียกโดยสมมุติว่า ตนเองนั่นแหละ เรายังโง่อยู่ อะไรเป็นตน การศึกษาก็คือตนเองนั่นแหละ หรือผู้ที่ฉลาดแล้วก็จะเห็นว่า ที่รู้แล้วก็เห็นว่า มันไม่ใช่ตน แต่เห็นด้วยความเข้าใจผิดว่าตน ข้อนี้หมายความว่า ให้ดูอะไร ๆ เข้ามา เข้ามาในตน เข้ามาที่ตน แล้วก็ดูด้วยตน หรือเพื่อประโยชน์แก่ตน ดูเพื่อประโยชน์แก่ตน แต่เมื่อพูดถึงการกระทำ สิกขานี่แยกเป็น ๓ คือ ศีลสิกขา ศึกษาในส่วนศีล จิตสิกขา ศึกษาในส่วนจิต ปัญญาสิกขา ศึกษาในส่วนปัญญา
การศึกษาในส่วนศีล นั่นก็คือ ดูตนเองที่ไม่มีศีล ดูตนเองที่มีศีล ดูให้ตนเองมีศีล ให้ศีลของตนเอง เป็นไปถึงที่สุด นี่ก็เรียกว่า ศีลสิกขา ศึกษาในส่วนศีล ที่จิตสิกขา ศึกษาที่จิต ให้รู้จักจิต ให้รู้ธรรมชาติของจิต ให้รู้จักควบคุมจิต ให้รู้จักใช้จิตให้เป็นประโยชน์อย่างนี้ เรียกว่า จิตสิกขา การศึกษาที่เกี่ยวกับจิต ที่นี่ปัญญาสิกขา ศึกษารอบรู้ ศึกษาในส่วนปัญญา คือ ศึกษาให้รอบรู้ เท่าที่ควรจะรู้ รู้ทุกอย่างที่ต้องรู้ แต่ไม่รู้ไปหมดทุกอย่าง ที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้ ซึ่งมันทำไม่ได้หรอก ไอ้คนจะรู้ไปทุกอย่าง ไม่ว่าอะไรรู้ทำไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ แต่ว่ารู้ทุกอย่างเท่าที่ควรจะรู้ เท่าที่จะดับทุกข์ได้นี่ มันเป็นไปได้ นี่ขอให้ลองสังเกตดูให้ดี อยากจะพูดว่า แม้พระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูรู้ทุกอย่าง ก็มีขอบเขตจำกัดอยู่ที่ว่า รู้ที่ควรจะรู้ คือ รู้ที่ดับทุกข์ได้ ที่ไม่จำเป็นจะต้องดับทุกข์ จะไปรู้มันทำไม อ่ะ, มันไม่มีประโยชน์อะไร เสียเวลาเปล่า ๆ
ที่นี่ก็ดูไปตั้งแต่ต้น ตั้งแตศีลสิกขา โดยเปรียบเทียบกัน ศีลสิกขา ศึกษาความถูกต้องทางกาย ทางวาจา นี่ เรียกว่า ศีล ศีล ถูกต้องทางกาย ทางวาจา แล้วก็จิตสิกขาถูกต้องทางจิต มีความถูกต้องทางจิต แล้วปัญญา ปัญญาศึกษา ปัญญาสิกขานะ ดูให้มันถูกต้องทางปัญหา คือ ความรู้ ความรู้ ความคิด ความเห็น ความเข้าใจ อะไรให้มันถูกต้อง พูดง่าย ๆ ก็ว่าถูกต้องทางกายทางวาจานี่อย่างหนึ่ง ถูกต้องทางจิตนี่อย่างหนึ่ง ถูกต้องทาง สติปัญญา ความคิดความเห็นนี่อีกอย่างหนึ่ง รวมเป็น ๓ อย่าง ๓ สิกขานี้ เป็นการศึกษา ในพระพุทธศาสนา หรือความพยายาม ให้มีความถูกต้องทางกายทางวาจา นี่เป็นข้อแรก เป็นเบื้องต้น เป็นรากฐาน อย่าให้มีการ กระทำที่ผิดทางกายทางวาจา มีแต่การกระทำที่ถูกต้องทางกายทางวาจา มีอะไรเป็นหลักเกณฑ์ มาวัดว่า เป็นความถูกต้อง
นี่จะขอบอกให้ทราบว่า พุทธศาสนานี่ มีหลักที่ตายตัว กล่าวได้ง่าย ๆ ว่าถูกต้องนั่นคืออย่างไร ไม่เหมือนกับความถูกต้องทางลัทธิ ความถูกต้องทาง philosophy นี้ นั้นบ้าไม่รู้จักจบ ไม่รู้ว่ามันจะถูกต้อง กันอย่างไร ถ้าถูกต้องในพุทธศาสนา ก็คือ มันไม่เกิดความทุกข์นี่ ที่มันไม่เป็นไป เพื่อให้เกิดความทุกข์นี่ ไม่มีทางที่จะเกิดทุกข์นี่ นั่นแหละคือถูกต้อง ที่นี่กินความไปไกลว่า ทั้งเราและทั้งผู้อื่นด้วยก็ยิ่งดี ไม่เกิด ความทุกข์ทั้งเราด้วย ทั้งผู้อื่นด้วยก็ยิ่งดี ถ้ามันเป็นไปเพื่อให้เกิดทุกข์ แล้วก็ไม่ถูกต้อง ไม่มีทางที่จะถูกต้อง
นี้ส่วนศีลสิกขานี่ เรื่องทางกายทางวาจา มีความถูกต้อง กายและวาจามิได้ประพฤติกระทำไปในทาง ที่จะให้เกิดทุกข์แก่ผู้ใด แก่ทุกฝ่าย โดยหลักใหญ่ ๆ เช่น ศีล ๕ นี่ดูเถอะ มันเป็นหลักพื้นฐานขยาย ๆ ออก ไปเป็นอะไรได้มากมาย ศีล ๕ ประการ เราจะบัญญัติ คำบัญญัตินะให้มันรัดกุม ให้มันครบถ้วนด้วย ยิ่งรัดกุม ยิ่งครบถ้วนด้วย
ข้อที่ ๑ ไม่ประทุษร้าย ชีวิตและร่างกายของผู้ใดโดยวิธีใด คือ อย่าประทุษร้าย หรือกระทบกระทั่งชีวิต หรือร่างกายของผู้ใดหรือสัตว์ใดนี่ ขยายความไปได้มาก ไม่ตี ไม่ด่า ไม่ฆ่า ไม่กระทบกระทั่ง ไม่ทุกอย่างแหละ ที่มันเป็นการประทุษร้ายชีวิต หรือเพียงแต่ร่างกายของคนหนึ่งคนใด
ข้อที่ ๒ ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่นนี่ ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ไม่ได้ลักของเขามา หรือทำให้ของเขาเสียหายเปล่า ๆ ไม่เป็นประโยชน์ แตกหักไป เรียกว่า ไม่ประทุษร้าย ไม่กระทบกระทั่งทรัพย์ ของผู้อื่น
ข้อที่ ๓ ไม่ประทุษร้าย ของรักของใคร่ของผู้อื่น นี่คือ ข้อกาเมที่สอนกันผิด ๆ จน เด็ก ๆ ไม่ต้องถือ ศีลข้อกาเม หนังสือบางเล่มว่า ศีลกาเมนี้ มีไว้สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น ไม่มีสำหรับเด็ก ๆ นั่นแหละคือ มันเข้าใจไม่ถูก ข้อกาเมนั้นคือ ไม่ประทุษร้ายของรักของใคร่ของบุคคลอื่น ถ้าเป็นเด็ก ๆ มันก็ เด็กมันรัก มันพอใจอะไรของมัน ก็เรียกว่า ของรักของใคร่ของมัน มันยังไม่ถึงกามคุณ ไม่ถึงกามารมณ์ แต่มันก็มี ความรักอย่างยิ่ง เช่น ตุ๊กตา หรือของเล่น หรือของใช้ อะไรก็ตาม ที่มันรักของมันอย่างยิ่ง ถ้าไปประทุษร้าย ทำของเขาเสียใจ ไม่สบายใจ เขาเรียกว่า ขาดศีล ถ้าเป็นผู้ใหญ่แล้ว มันก็เรื่องเพศ วัตถุทางเพศ เรื่องภรรยาสามี เรื่องอะไรเหล่านี้ หรือแม้ที่สุดแต่ว่า ลูกเล็ก ๆ ลูกหญิง ลูกชายที่เป็นที่รัก ที่หวงแหนของ บิดามารดา ก็ไม่ต้องประทุษร้ายด้วย นี่เรียกสั้น ๆ ว่า ไม่ประทุษร้าย ของรักของใครของบุคคลอื่น ต้องถือ กันหมดนั่นแหละ ทั้งผู้ใหญ่และทั้งเด็กนี่
เด็ก ๆ ก็ถือศีลข้อนี้ ไม่ไปกระทบกระทั่ง ของรักของใคร่ของผู้อื่น ให้เจ้าของเขาเจ็บใจ ข้อนี้ไม่ ไม่ใช่ ข้อเดียว กับการประทุษร้ายทรัพย์สมบัติ ไอ้ประทุษร้ายทรัพย์สมบัตินั้น เอามาเสียเลย ส่วนของรักของใคร่นี้ ไม่เอา ไม่ได้เอา แต่ว่าทำให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจเล่น นี่ของรักของใคร่เป็นของธรรมดา ที่ทุกคนมันต้องมี อย่าไป กระทบกระทั่งของรัก ที่เขารัก เขาหวงแหนนั้น ให้เสียหาย ให้ชอกช้ำ ให้อะไรก็ตาม ควรรักษาน้ำใจของผู้อื่น ไว้อย่างดี
นี้ข้อที่ ๔ ไม่ประทุษร้ายความเป็นธรรม หรือความยุติธรรมของผู้อื่น คือ โกหก การโกหกนั่น มันทำให้ เสียความเป็นธรรม ประทุษร้ายความเป็นธรรมของผู้อื่น คือ ข้อนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลเดิมเหตุ มูลเหตุเดิมก็
คือว่า เป็นการโกหกในศาลนี่ ในศาล เช่น พูดเท็จในศาล ให้เกิดความผิดพลาด จากความเป็นจริง หรือว่ามัน จะทำให้เขาสูญเสียความเป็นธรรม ความยุติธรรม อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม จะไม่พูดคำชนิดนั้น เป็นอันขาด ในส่วนวาจา พูดให้เป็นคำจำกัดความสักหน่อย ก็ว่า ไม่เป็นการประทุษร้าย ความเป็นธรรมของผู้อื่น ด้วยวาจา นี่มีความหมายกว้าง กว้างหมดเลย ไม่รู้กี่ ๑๐ อย่าง อ่ะ, อยู่ที่ประทุษร้ายด้วยวาจา
ที่นี่ข้อที่ ๕ ก็ว่า ไม่ประทุษร้ายสติสมประดีของตนเอง คือ ดื่มน้ำเมานะ พอดื่มเข้าไปแล้ว มันประทุษร้ายสติสมประดีของผู้ดื่ม การดื่มน้ำเมาจึงเป็นการประทุษร้ายสติสมประดีของผู้นั้น คือ ทำให้ผู้นั้น สูญเสียสติสมประดี เหมือนกับคนบ้า คนเมากับคนบ้านี่ มันเหมือนกันนั่นแหละ แต่บ้าเป็นการถาวร เมาเป็น การชั่วคราว แต่ว่าเป็นการประทุษร้าย สติหรือสัมปติ(นาทีที่14:53)คำเดียวกัน สมประดี สัมปติ(นาทีที่14:58) ก็คือคำว่า สตินั่นเอง สติเป็นภาษาบาลี สัมปติ(นาทีที่15:03)เป็นภาษาสันสกฤต ไม่ประทุษร้ายสติสมประดี ของตนเองนี่ น้ำเมาทุกชนิดแหละ ของเมาทุกชนิดแหละ มันประทุษร้ายสติสมประดี เออ, ของผู้ใช้หรือผู้เสพ จะเป็นของเมาชนิดที่เป็นน้ำดื่มกินเข้าไป หรือเป็นของแห้งสูดดมเข้าไป หรือเป็นของทาที่เนื้อที่ตัว หรือใช้โดย วิธีใดวิธีหนึ่ง แล้วของเมานั้น ก็ทำให้ผู้นั้นสูญเสียสติสมประดี เรียกว่า ประทุษร้ายสติสมประดี กลายเป็นคนบ้า คนเมาหรือคนประมาท ในตัวสิกขาบท ใช้คำว่าปะมาทัฏฐานา สุราเมรย มัชชปมาทัฏฐานา(นาทีที่15:56) สุราเมรัยที่เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ความประมาท นี่คือสูญเสียสติสมประดี นี่ศีลที่เป็นหลักของศีลทั้งหลาย
ที่นี่ก็ขยายออกไปเป็นกี่ ๑๐๐ ข้อก็ได้ มันรวมอยู่ที่หลักใหญ่นี้ แม้วินัยของพระว่ามี ๒๒๗ ข้อ ในที่สุด มันก็มารวมอยู่ได้ใน ๕ ข้อนี้ นั้นเร่ืองเผอเรอนี่ เรื่องมิสคี(นาทีที่ 16:39)เผอเรอ มันก็คือเรื่อง มีสติสมประดี ไม่สมบูรณ์นั้น ไป ไป ไปศึกษาดูเอง ไปสังเกตดูเองว่า ไอ้แม่บทของศีลมันมี ๕ อย่างนี้ มันกระจายไปเป็น
กี่ ๑๐ อย่างกี่ ๑๐๐ อย่างก็ได้ ไม่ทำผิดในส่วนศีล คือ ไม่ทำผิดในส่วนกายและวาจา โดยหลักใหญ่ ๆ อย่างนี้ โดยรายละเอียดนับไม่ถ้วน
ที่นี่ก็ จิตสิกขา การศึกษาในส่วนจิต คือ ให้รู้เรื่องจิตของตน ว่าจิตมีอยู่อย่างไร ตามธรรมชาติมัน เป็นอย่างไร จะรักษาและควบคุมไว้ในลักษณะอย่างไรนี่ เป็นเรื่องของจิต การศึกษาธรรมชาติของจิต รู้ว่าจิตนี้ ตามปกติ ก็จะน้อมลงไปทางต่ำ คือ กามารมณ์ กามคุณ เพราะมันเป็นสัญชาติญาณ เมื่อปล่อยไปตาม สัญชาติญาณ ไม่มีความรู้ ไม่มีการควบคุม มันก็น้อมไปในทางต่ำ จึงเปรียบว่าเหมือนกับปลา จับโยนขึ้นมา บนบก มันก็จะไหลลงไปหาน้ำ
นี่จิตนี่ มีลักษณะว่า มันจะไหลลงไปหาน้ำ คือ กามารมณ์ พอเรายกจิตออกมา เสียจากกามารมณ์ มันก็ดิ้นรน ดิ้นรน ดิ้นรน จะตกไปหากามารมณ์ ก็เลยต้องมีวิธีที่ดี ที่จะควบคุมมันไว้ ไม่ให้มันตกลงไปใน ทางต่ำ ทีนี้มันตกลงไปในทางต่ำ คือ กามารมณ์อย่างนี้ มันก็ทำผิดอีกมากมาย เดี๋ยวจะเดือดร้อน ยุ่งยาก ลำบากกันไปทุกฝ่าย และมากมาย ถ้าทำไปตามธรรมชาติของจิต ล้วน ๆ ที่ไม่มีการศีกษา
นั้นจึงมีวิธีรู้จักจิต แล้วก็บังคับจิต ให้จิตอยู่ใน ความถูกต้อง เช่น ทำสมาธิอย่างนี้ พอเรากำหนดของ อารมณ์ของสมาธิ เช่น ลมหายใจ เป็นต้น มันก็เป็น การฝึกจิต จับเอาจิตมาฝึก ผูกพันไว้กับอารมณ์ ซึ่งเป็นที่ตั้ง แห่งความหยุด ไม่ให้จิตมันแล่นไป ตามธรรมชาติของจิตที่ฟุ้งซ่าน นี่บังคับจนจิตอยู่ในอำนาจ กำหนดอารมณ์ อะไร ก็อยู่แต่ในอารมณ์อันนั้นได้ อย่างนี้เรียกว่า จิตได้รับการฝึกฝน เป็นการศึกษาทางจิต จะเรียกว่า พัฒนาจิตก็ได้นะ จิตที่ไม่ได้พัฒนา เป็นจิตป่าเถื่อนนั่นนะ มันทำอะไรให้ดีไม่ได้ แล้วคอยแต่จะทำไม่ดี
ที่นี้ก็มีวิธีพัฒนา ให้มันทำแต่ในทางที่ถูกที่ดี แล้วก็ทำได้มาก จิตธรรมชาติ ทำประโยชน์ได้น้อย จิตที่พัฒนาอบรมฝึกฝนดีแล้ว มันทำประโยชน์ได้มาก มากอย่างไม่น่าเชื่อ จนท่านต้องใช้คำว่า เป็นอจินไตย อจินไตย พุทธวิสัย ฌาณวิสัย กรรมวิบาก โลกจิณนี่ ฌาณวิสัยนะ คือว่า จิตที่เป็นสมาธิแล้ว ทำอะไรได้บ้าง ตอบไม่หมด ตอบไม่ ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่รู้สิ้นสุด จนเป็นอจินไตย คือว่า ตอบไม่ได้ คาดคะเนไม่ถึง เช่นว่า เดี๋ยวนี้นะ เขาเจริญด้วยการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ไปโลกพระจันทร์ได้เหมือนว่าเล่น นี่ก็มันเป็นเรื่องพัฒนา ของจิต แล้วสิ่งเหล่านี้ ยัง ยังเป็นเด็กเล่นอยู่ มันจะมีมากกว่านี้ มันจะมีดีกว่า สูงกว่า การไปโลกพระจันทร์นะ ถ้าพัฒนาจิตให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็จะรู้จักทำอะไรอย่างอื่น ที่ดีกว่า ที่ยิ่งไปกว่า การไปโลกพระจันทร์ เพียงแต่ไป โลกพระจันทร์นี่ ก็สรรเสริญเยินยอกันหนักหนา นี่ก็ขอให้รู้ว่า จิตนั้นยังทำอะไรได้มากกว่านั้นอีกมาก เมื่อพัฒนามันให้ถึงที่สุด
ฉะนั้นเขาถึงมี หลักเกณฑ์ที่จะพัฒนาจิต แต่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าว่า เพื่อดับทุกข์ได้สิ้นเชิง ถ้าไม่อย่างนั้น มันไม่รู้จบนะ จะไปโลกพระจันทร์ จะไปโลกพระอังคาร จะไปไหนต่อไหน หรือทำอะไรอีก มันไม่รู้จบ มาจบกันเสียทีว่า ให้มันดับทุกข์ได้ดีกว่า ให้จิตนี้มีลักษณะไม่เป็นทุกข์ หรือทุกข์ไม่ได้ เป็นทุกข์ไม่ได้
อีกต่อไป นี่เอากันเพียงเท่านี้
การฝึกจิตให้มีคุณสมบัติยิ่ง ยิ่งขึ้นไป กว่าที่มันมีตามธรรมชาติ ตามธรรมชาติมันก็มีคุณสมบัติ จิตคิดนึกอะไรก็ได้ รู้อะไรได้ แต่ยังไม่ถึงที่สุด ต้องพัฒนา แม้แต่ที่ แม้อย่างต่ำแต่ว่า บังคับจิตได้ ก็ได้รับ ความสุข ชนิดที่ไม่เคยได้รับมาแต่ก่อน เราได้รับความสุขกันมา มากมายหลายอย่าง แต่ก็ไม่เคยได้รับความสุข ที่เกิดมาจากการบังคับจิตได้ คือ เมื่อทำจิตเป็นสมาธิแล้ว จะได้รับความสุขชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนความสุข ชนิดไหนหมด ทีนี้ก็เรียกว่า เป็นผลของการที่บังคับจิต นี้เรียกว่า ได้รับความสุขที่ไม่เคยรับมาแต่ก่อน และจิตที่ ฝึกฝนอบรมดีแล้วนี้ จะรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ตามที่เป็นจริงได้โดยง่าย
จิตที่ฝึกให้ดี แล้วก็ มันจะรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง จนไม่มีปัญหา ไม่หลงรักอะไร ไม่หลงโกรธ อะไร หลงกลัว หลงอะไร คือไม่ทำผิดด้วยจิตนั้น นี่เรียกว่า ผลชั้นเลิศของการฝึกฝนของจิต ที่ทุกคนนั้น ควรจะ ศึกษา เป็นเหมือนกับวิชาที่มนุษย์จะต้องศึกษาชนิดหนึ่งด้วย แต่เดี๋ยวนี้มันไม่มีธรรมเนียม ไม่มีประเพณีอย่างนี้ ไปเรียนหนังสือในโรงเรียนประถม มัธยม อุดมอะไรก็ตาม จบมหาวิทยาลัยหมดทุกแห่ง แล้วก็ยังไม่เคยฝึกฝน จิต ไม่รู้เรื่องจิต การศึกษาไม่สมบูรณ์ ถ้าได้ศึกษาเรื่องจิต จนได้รับประโยชน์จากจิต ถึงที่สุดจริง ๆ นี่เรียกว่า การศึกษานี้มันสมบูรณ์ สมบูรณ์กว่าการศึกษาในโลก ที่กำลังมีอยู่ นี้เรียกว่า ความถูกต้องของจิต เป็นผลของ การศึกษาทางจิต ศึกษาจิต
เอาที่นี้ ก็มาถึงปัญญาสิกขา การศึกษาเพื่อความถูกต้องของปัญญา ของความคิด ของความเห็น ของความเชื่อ คือ เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ปัญญานี่ เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง เรียก เป็นบาลียาวเฟื้อยว่า ยถาภูต สมปัญญา(นาทีที่ 25:55) ปัญญาเห็นชอบ เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง นี่คือ ปัญญาทำให้เกิดขึ้นมา เมื่อเห็น หรือรู้จัก หรือเข้าใจ ทุกสิ่งตามที่เป็นจริงแล้ว มันก็ไม่ทำอะไรผิด ทำอะไร ผิดไม่ได้ ทำอะไรผิดไม่ได้ เพราะมันรู้ตามที่เป็นจริงแล้ว แล้วมันก็รู้จักเลือก รู้จักทำแต่สิ่งที่มีประโยชน์นี่ นี่ขั้นสุดท้าย คือ ปัญญาที่ศึกษา ฝึกฝน อบรมพัฒนาดีแล้ว จะเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ไม่ไปหลงรักสิ่งใด ๆ ปัญญาสิกขา คือ การกระทำเพื่อความถูกต้องของปัญญา ที่กล่าวไว้เป็นหลัก ก็ว่าปัญญา ที่ถึงที่สุดแล้ว ก็ย่อมเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของสิ่งทั้งปวง เห็นสุญตา คือ ความไม่มีตัวตนของสิ่งทั้งปวง แล้วก็เห็นวิธี ที่จะทำให้จิต ไม่ไปผูกพันกับสิ่งใด ไม่ไปหลงรัก หลงเกลียด หลงชังในสิ่งใด ก็เลยไม่มีความทุกข์
เมื่อศีลสิกขาดีแล้ว ก็ส่งเสริมให้จิตสิกขาดี ยิ่งขึ้นไป จิตสิกขาดีแล้ว ก็ส่งเสริมปัญญาสิกขา ให้ยิ่งขึ้นไป ปัญญาสิกขาดีแล้ว ก็ทำให้หลุดพ้นจากอาสวะหรือสิ้นกิเลส สิ้นกิเลส ตอนนี้รับปริญญา ปัญญาสิกขา ที่อบรม ดีแล้ว ก็มีผลทำให้สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ เออ, ความสิ้น ๓ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่าน ตรัสเรียกว่า ปริญญา ปริญญา อ่า, ปัญญา แปลว่า รู้ทั่ว ปริญญา แปลว่า รู้รอบ ปรินะ รอบจบ รอบด้าน รอบด้าน ปริ แล้วก็ ญา ญา คือ รู้ เดี๋ยวนี้ความรู้ของปัญญา ขึ้นมาถึงขนาด ที่เรียกว่า รู้รอบไปหมด ไม่ยกเว้นอะไร แต่เล็งถึงสิ่งที่ ควรจะรู้ อย่างยิ่ง คือ รู้ความสิ้นราคะของตน รู้ความสิ้นโทสะของตน รู้ความสิ้นโมหะของตน เพราะอำนาจของสิกขา ๓ ที่ได้ประพฤติปฏิบัติมาเป็นอย่างดี จนรู้วิธีทำให้สิ้นราคะ โทสะ โมหะ ปัญญารู้ทั่ว ที่ควรจะรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รู้เรื่องราคะ โทสะ โมหะ ว่าเป็นอย่างไร แล้วจนกระทั่ง รู้จักทำให้สิ้นสุดไป เรียกว่า สิ้นกิเลส สิ้นอาสวะ
นี่ขอกล่าวทบทวนข้อนี้ อีกทีหนึ่งว่า คนเราเกิดมาจากท้องแม่ ไม่มีความรู้อะไรติดมาเลย แต่มันมี อายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ติดมา สำหรับรับอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี่ เมื่ออายตนะภายใน เช่น ตา เป็นต้น ถึงกันเข้ากับอายตนะภายนอก มีรูป เป็นต้น มันก็เกิดวิญญาณทางตานี่ วิญญาณทางตา ทำหน้าที่เห็นรูปนั้นอยู่ เรียกว่า ผัสสะ นี้มีผัสสะ ก็ต้องมีผลของผัสสะ คือ เวทนา คือ สบาย หรือไม่สบาย เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ที่นี่เมื่อรู้สึกว่าสบายเป็นที่พอใจ มันก็มีความรัก อยากจะได้ อยากจะเอา อยากจะยึดครอง ถ้ามันได้สิ่ง ถ้ามันได้พบสิ่งที่ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ มันก็เกิดความโกรธ ความขัดแค้น อยากจะ ทำลายเสีย แล้วถ้ามันได้เวทนา ที่ไม่แน่ใจว่า มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มันก็มีความสงสัยเหลืออยู่ เป็นโมหะ เป็นโมหะ ราคะ โทสะ โมหะ จึงตั้งต้นขึ้นมาในจิตของเด็ก ๆ แล้วก็เติบโตขึ้นมาตามตัว จนเป็นผู้ใหญ่ จนมีราคะ โทสะ โมหะ สมบูรณ์ มั่นคง แข็งแรง
ที่นี่เรื่องของกิเลส มันมีอยู่อย่างนี้ว่า ถ้าเกิดกิเลสประเภท ราคะหรือโลภะครั้งหนึ่ง มันก็เก็บไว้เป็น อนุสัย ชื่อว่า ราคานุสัยไว้ในสันดานนี่ ถ้ามันเกิดกิเลสที่เป็นโทสะหรือโกรธะ คือ ไม่พอใจครั้งหนึ่ง มันก็เกิด ปฏิฆานุสัย เก็บไว้ในสันดาน ถ้ามันได้อารมณ์ที่ไม่สุขไม่ทุกข์ มันก็เก็บอวิชชานุสัยไว้ในสันดาน เรียกว่า อนุสัย อนุสัย นี่เป็นผลของการเกิดกิเลสแล้ว เหลือความเคยชินไว้ในสันดาน ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสอย่างนั้นอีก ไว้ในสันดาน เรียกว่า อนุสัย ก็มี ๓ เหมือนกับกิเลสแหละ กิเลสราคะหรือโลภะ มีราคานุสัยเก็บไว้ในสันดาน เกิดกิเลสประเภทราคะทีหนึ่ง ก็สร้างราคานุสัย ไว้ในสันดานหน่วยหนึ่ง เกิดกี่ครั้ง ๆ ก็สร้างไว้หน่วยหนึ่ง หน่วยหนึ่ง หน่วยหนึ่ง ทีนี้เกิดมากครั้ง ก็สร้างราคานุสัยไว้ในสันดานมาก นี้ถ้าเกิดโทสะ หรือโกรธะทีหนึ่ง มันก็เหลือเป็นปฏิฆานิสัย ไว้ในสันดานหน่วยหนึ่ง เกิดทีหนึ่งเหลือหน่วยหนึ่ง เกิดทีเหลือไว้หน่วยหนึ่ง ในสันดาน จึงเต็มไปด้วย ปฏิฆานุสัย คือ พร้อมที่จะโกรธ
ที่นี่ถ้าว่ามัน ได้รับอารมณ์ที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ จนเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ มันก็โมหะ มันก็หลงใหล อย่างนี้ เรียกว่า อวิชชานุสัย ถ้าเราโง่ทีหนึ่งนะ ความโง่นั้นดับไปแล้ว มันก็เหลืออวิชชานุสัยเก็บไว้หน่วยหนึ่ง ในสันดาน นี่ เรียกว่า กิเลสเกิดขึ้นแล้ว จะเหลือความเคยชินแห่งกิเลสไว้ในสันดาน เรียกว่า อนุสัย ราคะให้เกิด ราคานุสัย โทสะให้เกิดปฏิฆานุสัย โมหะให้เกิดอวิชชานุสัย มีกิเลสทีหนึ่งก็เก็บอนุสัยไว้หน่วยหนึ่ง พออนุสัยนั้น เก็บไว้มาก เก็บไว้มาก แล้วมันก็อัด อัด อัด อัดมาก อัดตัวมาก พร้อมที่จะไหลออกมา ที่พร้อมที่จะไหลออกมา นี่เรียกว่า อาสวะ เหมือนเราตักน้ำใส่ตุ่ม ที่มีรูรั่วนิดหนึ่ง ใส่ลงไปมากเข้า ๆ จนมากไอ้ที่จะดันออกมาทางรูรั่วนั้น ก็แรง แรงเข้า ๆ อย่างนี้ อนุสัยที่เก็บไว้มากเข้า ๆๆ ก็มีกำลัง ที่จะไหลออกมา เป็นกิเลสอีก เรียกว่า อาสวะ มากเข้า มากเข้า
เพราะฉะนั้นกิเลสก็คือ การเกิดกิเลสครั้งแรก การเกิดกิเลสครั้งหนึ่ง ก็เหลืออนุสัยไว้ในสันดาน หน่วยหนึ่ง ตามชื่อของกิเลสนั้น ๆ ครั้นอนุสัยมากเข้า มากเข้า มันจะดันออก ดัน ๆ จะดันออกมา ก็เรียกว่า อาสวะ พร้อมที่จะดันออกมา เป็นกิเลสตามชุดของมัน ราคานุสัยมันก็ให้ดันออกมา สำหรับจะเกิดกิเลส ประเภทราคะ ปฏิฆานุสัยมันก็สำหรับที่จะดันไหลออกมา เป็นกิเลสประเภทโทสะ อวิชชานุสัย มันก็เป็นเหตุ สำหรับให้ไหลออกมาเป็นโมหะ
เออ, ที่นี่มันมีต่อไปว่า ถ้าเราบังคับไว้ได้ เช่น มันจะเกิดราคะนี่ บังคับไว้ได้ไม่ให้เกิด มันก็จะลด ราคานุสัยเสียหน่วยหนึ่ง ทุกทีที่บังคับไว้ได้ นี่อนุสัยนั้นจะลดลง ลดลง ทุกครั้งที่บังคับไว้ ไม่ให้เกิดกิเลสใด ๆ ได้ บังคับไว้ไม่ให้เกิดราคะก็ลดราคานุสัย บังคับไว้ไม่ให้เกิดโทสะก็ลดปฏิฆานุสัย บังคับไม่ให้โมหะ ไม่ให้โง่ มันก็ลดอวิชชานุสัย ที่นี้เราก็ทำชนิดที่ บังคับไว้ให้อยู่ในความถูกต้อง ไม่เกิดกิเลส ไม่ให้เกิดกิเลส อนุสัยก็ลดลง ลดลง ไม่มีสำหรับจะดันออกมาเป็นอาสวะ มันก็เป็นการสิ้นอาสวะ เพราะสิ้นอนุสัย เพราะสิ้นกิเลส นี่เรียกว่า ความสิ้นไปแห่งกิเลส เป็นชุดกันเลย เพราะว่ากิเลสนั้นมันเป็นชุด ชุด ๓ อย่างนี้ ราคะ โทสะ โมหะ
มีวิธีการกระทำ เป็นอยู่ โดยไม่ให้เกิดกิเลส เรื่อยไป ก็ลดอนุสัย และสิ้นอาสวะ คือเราก็ต้องรอบรู้ว่า กิเลสนี้เป็นอย่างไร จะเกิดอย่างไร จะไม่เกิดอย่างไร อะไรเป็นไอ้สมุทัยของกิเลส รอบรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ กิเลสนี่ ด้วยอำนาจของปัญญา ก็สามารถที่จะจัด จะทำให ้อนุสัยลดลง ลดลง ลดลง จนไม่ไหลออกมา เป็นกิเลส ก็คือ ความสิ้นไปแห่งกิเลส ความสิ้นไปแห่งกิเลส สิ้นไปแห่งราคะ สิ้นไปแห่งโทสะ สิ้นไปแห่งโมหะ นี่เรียกว่า ปริญญา แปลว่า สิ่งที่ควรรอบรู้อย่างยิ่ง สิ่งที่ควรรอบรู้อย่างยิ่ง สำหรับคน มนุษย์เรานี่ คือ ความสิ้น ราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ สิ่งอื่น ๆ ไม่ ไม่น่ารู้ ไม่ควร ไม่ต้องรอบรู้ ไม่มีประโยชน์อะไร ที่สิ่งที่ควร จะรู้และรอบรู้ที่สุด ก็คือ รู้ไอ้ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะนี่ ถ้าใครรู้ความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะของตน คนนั้นนะ คือได้รับปริญญาของพระพุทธเจ้า เรียกว่า ปริญญาของพระพุทธเจ้า ซึ่งท่านตรัสว่า ปริญญามี ๓ ๓ คืออะไร ๓ คือ ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ นี่คือ ปริญญา ๓ ปริญญาของพระพุทธเจ้า
สาวกของพระองค์ ก็ศึกษาสิกขาทั้ง ๓ ศึกษาสิกขาทั้ง ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา รู้แล้วเกิดผล ของการศึกษาขึ้นมา เป็นปริญญา คือ รู้ว่ามีราคะสิ้นแล้ว รู้ว่าโทสะสิ้นแล้ว รู้ว่าโมหะสิ้นแล้ว นี่คือปริญญา และได้รับปริญญา เป็นไปด้วยตนเอง เห็นเองเสร็จตามธรรมชาติ ไม่ต้องมีใครมาแจกกระดาษปริญญาให้ เพราะว่าปริญญานี้ มันไม่อาจจะทำเป็นแผ่นกระดาษ มันเป็นเรื่องของนามธรรม มันเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นสันทิฏฐิโก รู้ได้ด้วยตนเอง ว่ามีกิเลสหรือไม่มีกิเลส รู้ได้ด้วยตน ว่ากิเลสสิ้นแล้วหรือกิเลสยังอยู่ นี่ขอให้รู้ไว้ว่า ในพระพุทธศาสนานี้ ก็มีการศึกษาและก็มีการรับปริญญา อย่างที่กล่าวมานี้
เออ, ปริญญา คือ สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะนั้นนะ มันก็เป็นผลของการปฏิบัติ ในสิกขาทั้ง ๓ ด้วยตนเอง โดยตนเอง เพื่อตนเอง สิ้นกิเลสด้วยประการทั้งปวง อย่างนี้แล้ว เขาก็เรียกว่า บุคคลจบการศึกษา วุฒิตัง ธรรมะจริยัง(นาทีที่ 42:04) พรหมจรรย์นี้อยู่จบแล้ว คือ จบการศึกษา จบการศึกษา เมื่อสิ้นราคะ เมื่อสิ้น โทสะ เมื่อสิ้นโมหะ รู้อยู่แก่ใจเองทั้งนั้น ไม่ต้องมีคนอื่นมาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงไม่ต้องรับปริญญาจากใคร หรือแม้ จากพระพุทธเจ้า แต่ว่าพระพุทธเจ้าก็ได้สอน ได้แนะ ได้ชี้ทางให้สำหรับคนนั้น ที่จะทำปริญญา ให้เกิดขึ้นมา แก่ตัวเอง เพื่อตนเอง โดยตนเอง แล้วเราก็เรียกกัน โดยสมมุติบัญญัติว่า พระอรหันต์ ถ้าสิ้นกิเลส โดยประการ ทั้งปวง อย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่า พระอรหันต์ นี่ถ้าสิ้นยังไม่ถึงที่สุด สิ้นบางส่วน ก็เป็นพระอริยบุคคล ที่รอง ๆ ลงมา เช่น เป็นอนาคามี เป็นสกิทาคามี เป็นโสดาบัน เป็นต้น
พระโสดาบัน ก็นับเนื่องอยู่ในฝ่ายที่เป็นปริญญา แม้ยังไม่จบ ไม่จบปริญญา ก็เป็นที่แน่ว่าจะ จบปริญญา เขาจึงจัดพระโสดาบัน ไว้ในฐานะเป็นอริยบุคคลขั้นแรก แน่นอนว่าจะสิ้นกิเลสหรือเป็นพระอรหันต์ โสดาบัน ก็แปลว่า ถึงกระแสแห่งปริญญา ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน คือ ถึงกระแสแห่งปริญญา พระโสดาบัน นั้น คือ สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะในวันหนึ่งข้างหน้า เดี๋ยวนี้ก็เตรียมสิ้นโมหะ พระโสดาบันนี้ ละกิเลสประเภท โมหะ เป็นเบื้องต้น เป็นเบื้องหน้าละ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ๓ อย่างนี้ เป็นประเภทโมหะ ส่วนประเภทกาม กามราคะหรือปฏิฆะนั้นยัง ยัง ยังพอมีอยู่ แต่เพราะสิ้นกิเลสประเภทโทสะ อ้า, ประเภทโมหะ ๓ อย่าง ข้างต้น เช่น สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสแล้ว มันแน่ มันแน่ แน่ที่สุด ว่าจะสิ้นต่อไป ตามลำดับ ตามลำดับ สิ้นกิเลสทุกอย่างที่ไม่มีเหลือ
นี่เราก็จะไว้ค่อยศึกษา กันเรื่อย ๆ ไป พระโสดาบันละกิเลสอะไรได้ สกิทาคามีละกิเลสอะไรได้ อนาคามีละกิเลสอะไรได้ แต่โดยเค้าเงื่อนแล้ว ก็เริ่มละประเภทโมหะก่อน สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตน อะไร ๆ ที่มันชวนให้เห็นว่าเป็นตน ก็เห็นว่าเป็นตน นี่เรียก สักกายทิฏฐิ ก็ละเสีย วิจิกิจฉา คือ ความไม่แน่ใจ ลังเล สงสัยในการปฏิบัติของตน หรือสงสัยในพระธรรม ว่าจะดับทุกข์ได้จริงหรือไม่ หรือสงสัยในอะไร ๆ ที่มัน เป็นที่ตั้งแห่งการปฏิบัติ เพื่อการดับทุกข์ ถ้ามันมีความสงสัยอย่างนี้อยู่ มันจะเป็นพระโสดาบันไม่ได้ มันแน่ใจ ในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในศีล ในสมาธิ ในปัญญา มีความแน่ใจ ไม่ลังเลสงสัย ต่อสิ่งเหล่านี้ ก็เริ่มถึงกระแส เป็นองค์ประกอบองค์หนึ่งของผู้ถึงกระแส
สีลัพพตปรามาส ข้อที่ ๓ นั้น ไม่ได้ประพฤติผิดงมงาย จนผิดวัตถุประสงค์อันแท้จริง ของวัตร วัตรปฏิบัตินั้น ๆ คนธรรมดา คนปุถุชน เขารักษาศีลก็ไม่ได้มุ่งหมาย ประโยชน์ของศีลโดยแท้จริง คือ กำจัดกิเลส เขารักษาศีล เพื่อที่จะไปสวรรค์ เป็นต้น รักษาศีลเพื่อจะเด่น จะดี จะวิเศษ มีฤทธา เป็นต้น
คือ ปฏิบัติวัตรใด ๆ โดยไม่ถูกต้อง ตามความมุ่งหมายแท้จริง ของวัตรปฏิบัตินั้น ๆ จึงปฏิบัติงมงาย งมงาย ไปทุกอย่าง นี้เป็นสีลัพพตปรามาส ซึ่งมีอยู่มากแหละ ในประชาชนคนเรานี้ เช่น ทำทานหรือให้ทานนี้ ก็ไม่ได้คิดว่า เพื่อจะกำจัดกิเลสประเภทโลภะหรอก ทำทานแลกเอาสวรรค์โน่น ทำบุญบาตรเอาวิมานหลัง ตักบาตรช้อนเอาวิมานหลัง อย่างนี้มันผิดหลักอันแท้จริง ของวัตรปฏิบัตินั้น ๆ หรือเขารักษาศีล ก็เพื่อเป็น ผู้พิเศษ วิเศษอะไร ไปดี ไปเด่น ไปรวย ไปสวย เป็นบุญ เป็นเรื่องรวย เรื่องสวย ไปทางโน้น ไม่ได้ว่ารักษาศีลนี้ เพื่อกำจัดกิเลส ในส่วนกาย วาจา เป็นต้น
ถ้าเขาทำสมาธิ เขาก็ทำเพื่อจะเห็นนรก เห็นสวรรค์ มีฤทธิ์ มีเดช มีปาฏิหาริย์ ไม่ได้ทำสมาธิ เพื่อให้จิต เหมาะสม ซึ่งจะรู้สิ่งทั้งปวงตามที่ควรจะเป็นจริง วิปัสสนาของเขา จึงเป็นเรื่องเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นอะไร ชนิดที่ไม่ใช่ดับทุกข์นี่ นี่เรียกว่า มันไม่ถูกต้องตามความมุ่งหมาย ของข้อวัตรและปฏิบัตินั้น ๆ เขาเรียกว่า สีลัพพตปรามาส คือ ลูบคลำ ลูบคลำศีลและพรต(นาทีที่ 48:25) ให้กลายเป็นของสกปรกไป
ศีลวัตรนี่ เป็นข้อปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความสะอาด สว่าง สงบ นี่คนโง่เหล่านี้ เขาไม่ได้มุ่งหมายเหล่านั้น เขามุ่งหมาย เพื่อจะได้สิ่งที่กิเลสของเขาต้องการ กิเลสของเขาต้องการจะได้อะไร เขาก็สนองกิเลสนั้น ๆ ด้วยการประพฤติปฏิบัติ ที่ว่าจะให้ได้มาซึ่ง เหยื่อของกิเลสนั้น ๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ มันก็ไม่ละกิเลส
เออ, ผู้ที่ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ได้นั้น เป็นผู้แรกถึงกระแสแห่งปริญญา กระแส แห่งความหมดกิเลส คือ พระนิพพาน เป็นผู้แรกถึงกระแสแห่งกิเลส ถึงกระแสแห่งความสิ้นกิเลส หรือนิพพาน เป็นคำอุปมา เรียกอย่างเป็นคำอุปมาก็ว่า เป็นผู้มาถึงประตูแห่งอมตะ นี้ในบาลีมี อมตัทวารัง อาหัจจะ (นาทีที่ 49:49) มาอยู่จรดประตูแห่งอมตะ อมตะนี้ก็คือ นิพพาน พระโสดาบันเป็นผู้มาจรดประตูแห่งอมตะ อย่างนี้ เป็นต้น ก็แปลว่า ไม่ถอยหลัง เรียกว่า นิยโต (นาทีที่ 50:06) เป็นผู้เที่ยงแท้ ไม่มีการเวียนกลับเป็นธรรมดา นี่จุดตั้งต้น ของความสิ้นกิเลส เป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาให้ยิ่งขึ้นไป
การศึกษาไม่มีอย่างอื่น ศึกษาเพื่อเป็นพระโสดาบันก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ครั้นเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ศึกษา ศีล สมาธิ ปัญญาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปก็จะเป็นสกิทาคามี เป็นแล้วศึกษา ศีล สมาธิ ปัญญาให้ยิ่งขึ้น เพื่อจะ เป็นอนาคามี และศึกษา ศีล สมาธิ ปัญญายิ่งขึ้นไป เพื่อเป็นพระอรหันต์ มาถึงตอนนี้มันสิ้นกิเลส มันจบการศึกษาพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว ก็ไม่ต้องศึกษาอะไรอีกต่อไป เพราะไม่มีอะไรจะให้ศึกษาอีกต่อไป เพราะมันถึงที่สุดแห่งการศึกษา เรียกว่า ได้รับปริญญา คือ ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ รับปริญญาด้วยตนเอง ก็คือ รู้อยู่แก่ใจของตนเองว่า ความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะนี้ เป็นอย่างไร นี้เรียกว่า รู้สิ่งที่ควรรู้ ครบถ้วน หมดจดสิ้นเชิง สมกับคำว่า ปริญญา คือ รู้อย่างรู้รอบ รู้รอบต่อสิ่งที่ ควรรู้ และมันไม่ ไม่มีอะไรดีกว่า สูงกว่า แปลกกว่า ความสิ้นไปแห่งกิเลส แล้วก็รู้รอบนี้ หมายความว่า รู้สึกอยู่ ด้วยใจของตนเอง ท่านจึงเป็นผู้ได้รับปริญญา ตามกรรมวิธีของธรรมชาติ ไม่ได้รับปริญญากระดาษ ที่เขารับ ๆ กันอยู่
นี่อย่าเข้าใจ ว่าเป็นเรื่องแกล้งพูดเอาเอง ในพระบาลีในพุทธศาสนา มีเรื่องการศึกษา ๓ อย่าง คือ ศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา ครั้นศึกษา ๓ อย่างนี้จบแล้ว ก็ได้รับปริญญา ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเอง เรียกเอง เรียกว่า ปริญญา ๓ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ก็ได้รับปริญญา แต่ไม่ใช่รับแผ่นกระดาษ ได้รับความสิ้นกิเลส แล้วก็อยู่อย่างเป็นผู้ไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ จึงเรียกว่า เป็นอีกโลกหนึ่ง เป็นอีกโลกหนึ่ง โลกของผู้ไม่มีกิเลส โลกของผู้ไม่มีความทุกข์
แม้ว่าร่างกายจะอยู่ในโลกนี้ แต่จิตใจอยู่ในโลกอื่น คือ โลกที่เหนือโลก จิตใจรู้ถึงไอ้ความอยู่เหนือโลก เรียกว่า โลกุตระ ได้รับปริญญานี้แล้ว ก็อยู่ในโลกุตระ เป็นภาวะชนิดที่เป็นโลกุตระ ไม่ใช่เกิดสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา อะไรขึ้นมา เพียงแต่ว่าจิตนั้น เปลี่ยนสภาพ เป็นจิตที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป อนุรูป สังขา นภตัง จิตตัง(นาทีที่ 53:56) เป็นจิตที่อะไรจะปรุงแต่ง ให้เกิดกิเลสไม่ได้อีกต่อไป ตาจะเห็นรูป หูจะได้ฟังเสียง จมูกจะ ได้กลิ่น ลิ้นจะได้รส กายได้สัมผัส ผิวหนัง ใจได้ธรรมารมณ์อะไรก็ตาม ไม่อาจจะกิเลส ไม่อาจจะเกิดกิเลส เหมือนอย่างที่เคยเกิดมาแล้ว ตอนนี้พอได้รับอารมณ์อะไรอย่างนี้ ก็ไม่มีวิชา มันก็เกิดกิเลส ก็กิเลสปรุงแต่ง จิตนั่นแหละ จนเป็นทุกข์ ได้เป็นทุกข์ จิตนั้น เป็นจิตที่กิเลสยังปรุงแต่งได้
ที่นี่พอมาศึกษา ศีล สมาธิ ปัญญา ถึงที่สุดแล้ว จิตเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ตามที่เป็นจริง ด้วยปัญญา อันสูงสุดแล้ว เปลี่ยน จิตมันเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ อะไรปรุงแต่งจิตนั้นอีกไม่ได้ เรียกว่า จิตหลุดพ้นจากการปรุงแต่ง มีการปรุงแต่ง สงบ ระงับไปโดยสิ้นเชิง ก็เรียกว่า จบการศึกษา โดยการรับปริญญาของธรรมชาติ ของธรรมะ ตามธรรมชาติ แล้วก็ไม่มีความทุกข์ ตามธรรมชาติอีกต่อไป
ขอให้จำใจความเอาไป สังเกตศึกษาดูเอาเอง ว่ามีการศึกษาในพระพุทธศาสนา แล้วก็มีการรับ ปริญญา ในพระพุทธศาสนา มีลักษณะดังที่กล่าวมา ขอให้พยายาม เพื่อจะได้รับปริญญานั้นบ้าง แม้ไม่ใช่ ขั้นสุดยอด ก็ขั้นรอง ๆ ลงมาก็ยังดี ก็จะไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา และวันนี้จบแล้ว อย่าให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา ขอยุติการบรรยายวันนี้ไว้เพียงเท่านี้