แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ จะพูดกันเรื่องอัตตา อนัตตา เรื่องอัตตาและอนัตตา พุทธศาสนามีหลัก เอ่อ, ที่เป็นสัจธรรม เป็นของจริง เป็นความจริงว่า เอ่อ, สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา ศาสนาอื่น เอ่อ, เกือบจะกล่าวได้ว่า แม้ในอินเดีย ทั้งหมด เอ่อ, ก็เป็นศาสนาที่มีหลักว่า มีอัตตา มีสิ่งที่เป็นอัตตา โดยประการทั้งปวงก็มี มีอัตตา แต่บางอย่างก็มี เพราะว่ามันหลายลัทธิ หลายศาสนา คือ เขามีอัตตากันทั้งนั้น ส่วนพุทธศาสนาไม่มี เอ่อ, ถือว่าไม่มีอะไร ที่เป็นอัตตา มีแต่เป็นอนัตตา คือ มิใช่ตน อัตตา ตน อนัตตา มิใช่ตน ไม่ควรเรียกว่า ตน ไม่มีความหมายแห่งตน
ฉะนั้นเราจะต้องศึกษา ให้รู้จักพุทธศาสนา ว่ามีหลักอนัตตา เอ่อ, อย่างไรกัน ไอ้คำว่า อัตตา นั้นนะ มันมีความหมายหลายอย่าง เอ่อ, มีอัตตาเป็นไอ้ฝ่ายทิพย์ก็มี มีอัตตาเป็นวิญญาณ เป็นไอ้ แบบอัตภาพ ชีโวชีวะ เจตภูตนั่นก็มี แม้ที่เรียกกันโดยทั่วไป ในภาษาปัจจุบัน ในภาษาอังกฤษว่า soul soul นั้นนะ ก็หมายถึง สิ่งที่เป็น อัตตา รวมความว่า พวกที่ถือว่ามีอัตตา ก็มีหลาย หลาย หลายความหมาย อัตตาแต่ละความหมาย หลายความหมาย มันต้องศึกษาเป็นลัทธิ ลัทธิไป ตามแบบของลัทธินั้น ๆ แต่พุทธศาสนานั้น ง่ายที่ว่าไม่มีอะไร ที่เป็นอัตตา
ทีนี้ ไอ้ความหมายคำว่า อัตตา นะ มันคืออะไร คือว่าเป็นตัวมันเอง เป็นอิสระอยู่ในตัวมันเอง เด็ดขาด
อยู่ในตัวมันเอง ต้องการอย่างไรได้อย่างนั้น นี่สิ่งเหล่านี้ เอ่อ, ความหมายเหล่านี้แหละ คือความหมายของ คำว่า อัตตา ที่เรารู้สึกมาแม้ตั้งแต่เด็ก ๆ เด็ก ๆ นะ รู้สึกคิดนึกและพูดได้ว่า ตัวฉัน ตัวกู มีตัวกู มีตัวตนของกู อันนี้ความหมายคำว่า อัตตา ในความรู้สึกคิดนึกเช่นนั้นนะ ซึ่งไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่ประกอบอยู่ด้วยความรู้ มีแต่ ความไม่รู้ แล้วเกิดความคิด เอ่อ, ขึ้นมาว่าตัวกู ว่าของกู คือ อัตตา
ทีนี้ตามหลักพุทธศาสนา ถือว่าไม่มีอะไรที่เป็นอัตตา สิ่งที่เป็นไปตามธรรมดา มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ทุกชนิดก็ไม่เป็นอัตตา สิ่งที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เอ่อ, มันเป็นได้ในตัวเอง ก็ยังไม่เรียกว่า อัตตา ไม่ควรเรียกว่า อัตตา คือเป็นธรรมชาติเท่านั้น เป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติเท่านั้น ไม่ควรเรียกว่า อัตตา คือ เป็นตัวตนของใคร
เรื่องนี้มันเกี่ยวกับหลักลัทธิที่ ที่มุ่งหมายนะ ที่ลึกซึ้ง ที่ ที่เป็นที่มุ่งหมาย เอ่อ, ของพระศาสดาผู้ตรัสรู้
อย่างในพุทธศาสนานี้ เอ่อ, มีหลักที่สำคัญอยู่ว่า ความรู้สึกว่าอัตตานั้น เอ่อ, เป็นของหนัก เป็นความทุกข์ เป็นของหนัก ไม่ว่าจะไปมีอัตตาในอะไร ความหมายว่าอัตตา เอ่อ, เป็นของหนัก ยึดถือว่าอัตตา ก็คือถือของหนัก ยึดถือของหนัก แบกหามของหนัก เพื่อจะไม่ให้มีความทุกข์เลย ก็ต้องไม่มีอัตตา แล้วก็ถือว่า ตรงตามความเป็น จริงของธรรมชาติ ทุกสิ่ง ๆ เป็นอัตตา
คำที่ผู้บวชใหม่ไม่ค่อยได้ยินไม่ค่อยเข้าใจ เอ่อ, ๒ คำก็คือว่า สังขตะ และอสังขตะ สังขตะ คือ สิ่งที่มีเหตุ มีปัจจัยปรุงแต่ง หลาย ๆ สิ่งประกอบกันเข้า มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่ง เออ, เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ ต้นไร่ เป็นวัตถุสิ่งของ อะไรก็ตาม มีมาแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่ง นี่เรียกว่า สังขตะ จำไว้บ้างก็ดี สังขตะแปลว่า มีเหตุปัจจัย ปรุงแต่ง
คราวนี้อีกพวกหนึ่งตรงข้ามเลย ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ตรงกันข้ามกับ สังขตะก็แล้วกัน เรียกว่า อสังขตะ ตามหลักพุทธศาสนา ถือว่าสังขตะก็ดี อสังขตะก็ดี ไม่เป็นอัตตา มิใช่อัตตา เป็นสักว่า ธาตุตามธรรมชาติ ธาตุ ธรรมธาตุ ธาตุคือธรรมธาตุ แล้วก็ตามธรรมชาติ ธาตุพวกหนึ่งนี่ปัจจัยปรุงแต่ง ธาตุพวกหนึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เอ่อ, คำพูดอย่างนี้ หรือคำสอนอย่างนี้ นะมันเป็นคำสอนชั้น ชั้นลึก ชั้นลึกที่สุด ชั้นสูงสุด อาจจะลำบากแก่การฟัง หรือว่ามันเป็นการกระโดดข้ามไปพูด เอ่อ, กันถึงเรื่องที่สูงสุด เรื่อง อสังขตะ
แต่มันก็หลีกไม่พ้นนะ ที่จะต้องพูดกัน แม้ในระยะนี้ เอ่อ, เพื่อให้เข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนา โดยว่า ทุกสิ่งเป็นอนัตตา จำไว้เป็นความรู้กันได้ว่า ตามหลักธรรมะในพุทธศาสนา เมื่อเราจะพูดถึงทุกสิ่ง ทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไร ก็พูดได้คำ ๒ คำนี้ว่า ที่เป็นสังขตะก็ดี เป็นอสังขตะก็ดี แล้วมันก็คือหมดนะ ไม่มีอะไรเหลือ ในบรรดาสิ่งที่ มนุษย์รู้จักหรือไม่รู้จัก ก็มีว่าเป็นสังขตะพวกหนึ่ง เป็นอสังขตะพวกหนึ่ง
เรื่องอสังขตะนี้ มันเข้าใจยาก ต้องมีการศึกษาพอสมควร จึงจะมองเห็น แต่ถ้าพยายามมองที่เป็นสังขตะ ที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ให้เห็นว่ามีอยู่อย่างไร เป็นอยู่อย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร แล้วก็มองในแง่ตรงกันข้าม โดยประการทั้งปวง นั่นนะคือ ลักษณะของอสังขตะ ฉะนั้นอาจจะเป็น ไอ้เรื่องที่ ที่ไม่จำเป็น หรือสูงเกินไปก็ได้ ที่จะเอามาพูด เอ่อ, แก่ผู้บวชใหม่ แต่ถ้าจำไว้ได้ก่อนก็เป็นการดี เพราะมันจะได้ประหยัด เอ่อ, ให้มันเร็วเข้า ในการที่จะศึกษาธรรมะ ว่าตามหลักธรรมะนี้ สิ่งทั้งปวงนะ มี ๒ พวกเท่านั้น
ถ้าพูดว่าทั้งสังขตะ และอสังขตะ แล้วก็ไม่ได้ยกเว้นอะไร พวกที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ก็หมายความว่า มันต้องมีอะไรเป็นส่วนประกอบ แล้วก็ปรุงแต่งกัน ตามกฎของธรรมชาติ เป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา จนกว่าจะเป็น คนขึ้นมานี่ ก็มีอะไรมากรวมกัน ปรุงแต่งกัน เป็นสัตว์ขึ้นมา เป็นต้นไม้ ต้นไร่ ขึ้นมา เป็นวัตถุ ก้อนหิน ก้อนดิน เป็นอะไรก็ตามนะ มันประกอบอยู่ด้วยธาตุหลาย ๆ ธาตุ อึ้ม, ประกอบกันขึ้นมา แล้วก็มีเหตุปัจจัย ทำให้เกิดขึ้น ทำให้ต้อง ทำให้เปลี่ยนไป ทำให้ดับลง จะเห็น พอจะเห็นได้ว่า ไม่ควรจะเรียกว่า อัตตา
แต่ทีนี้ แม้สิ่งที่ตรงกันข้าม คือ ฝ่ายอสังขตะ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไอ้ภาวะที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ถูกปรุงแต่ง ภาวะนั้น ก็มีอยู่ ก็เรียกว่า อสังขตะ โดยเฉพาะก็เล็งถึง เอ่อ, นิพพาน นิพพาน คือ ไม่มีเหตุ ปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็ไม่เกิดความทุกข์ หรืออาการแห่งความทุกข์ ก็ยังไม่ ไม่ ไม่ต้องการให้ถือว่าเป็นอัตตา หรือเป็นตัวตน ให้ถือสักว่าเป็นธาตุตามธรรมชาติ มันก็เลยเกิดคำว่า ธาตุ ขึ้นมาเป็น ๒ ชนิด คือสังขตธาตุ อสังขตธาตุ ธา-ตุ สังขตะธา-ตุ อสังขตะธา-ตุ มีธาตุอยู่ ๒ ชนิด คือ ธาตุที่มีปัจจัยปรุงแต่ง มีปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็เปลี่ยนไป ตามเหตุตามปัจจัยเรื่อย
ทีนี้ อสังขตธาตุ เป็นธาตุที่ละเอียด ลึก ลึกเกินกว่าที่จะเป็นรูปเป็นนามอะไร แต่ก็สักว่าเป็นธาตุ ตามธรรมชาติ แม้จะรู้เพียงแต่ แม้แต่จะ รู้สึกได้ด้วยจิต มันก็ยังเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ มีกฎเกณฑ์เฉพาะ อย่างของแต่ละฝ่าย คือ ฝ่ายสังขตธาตุ ก็มีกฎเกณฑ์อย่างหนึ่ง ฝ่ายอสังขตธาตุ ก็มีกฎเกณฑ์อย่างหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้น ทั้ง ๒ อย่างก็เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ นี่คือ คำพูดที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา เมื่อมีแต่ สิ่งสักว่าธาตุตามธรรมชาติ เป็นธาตุตามธรรมชาติ จะเรียกว่า ธรรมธาตุก็ได้เหมือนกัน เรียกว่า ธาตุเฉย ๆ ก็ได้ เรียกว่า ธรรมธาตุก็ได้ ธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น นั้นก็ไม่ไปหมายมั่นยึดถือสิ่งใดว่าเป็นตัวตน ขอให้เป็นเพียง สักแต่ว่า ธาตุตามธรรมชาติ เช่น นิพพาน ก็เป็นธาตุตามธรรมชาติ ถ้าจิตรู้ถึง หรือสัมผัสธาตุ นิพพาน มันก็ไม่มี ความทุกข์ อะไรที่จะเกิดขึ้น หรือตั้งอยู่ได้ มันเป็นจิตชนิดที่ไม่มีความทุกข์อะไร ที่จะครอบงำจิตได้ นี่เรียกว่า หลุดพ้น
อึ้ม, ทีนี้ก็ มาถึง เอ่อ, สรุปความตอนนี้ว่า ไม่อะไรที่เป็นอัตตา เป็นเพียงสักว่า ธาตุตามธรรมชาติ แล้วจะทำอย่างตรงกันข้าม คือ มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง และไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ก็สักว่า เอ่อ, ธาตุตามธรรมชาติ
เอ่อ, ทีนี้ ที่มันจำเป็น เอ่อ, ที่เราจะต้องรู้จัก ก็คือ เอ่อ, ตัวคน เอ่อ, ที่สมมุติเรียกกันว่า คน ๆ หนึ่ง คน ๆ หนึ่ง มนุษย์คนหนึ่งนี่ มนุษย์คนหนึ่งนี่ ประกอบขึ้นด้วย ส่วนต่าง ๆ ด้วยธาตุต่าง ๆ ปรุงกันขึ้นมา จนเป็นมนุษย์ คนหนึ่ง ๆ อย่างเราทุกคนนี่มีร่างกาย แล้วก็มีจิตใจ รู้สึกคิดนึกได้ ต่าง ๆ นานา นี่คือคน ๆ หนึ่ง เอ่อ, คน ๆ หนึ่ง
ประกอบอยู่ด้วย ส่วนประกอบ ส่วนประกอบ หลาย ๆ อย่าง ประกอบกันขึ้นเป็นคน ๆ หนึ่ง ทีนี้แต่ละส่วน แต่ละส่วน แต่ละส่วน ที่ประกอบกันขึ้นเป็นคน ๆ หนึ่งนั้น ก็เป็นอนัตตา ดังนั้นทั้งหมด จะเป็นอัตตาอย่างไรได้ เมื่อแต่ละส่วนที่ประกอบกันขึ้น เป็นคน ๆ หนึ่งนั้น เป็นอนัตตา เป็นสักว่าธาตุตาม ธรรมชาติ ฉะนั้นคน ๆ หนึ่ง มันก็เป็น สักว่าธาตุตามธรรมชาติ
เอ้า, ทีนี้ก็ดูกันให้ดี ในตอนนี้นะ ที่ว่าคน ๆ หนึ่งเป็นอนัตตานี่ มันก็ต้องรู้จักดู ว่าคน ๆ หนึ่งนั้น ประกอบอยู่ด้วย ส่วนอะไรบ้าง คำตอบก็คือ ประกอบอยู่ด้วยขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ส่วนทั้ง ๕ หรือกอง ๕ กอง ส่วน ๕ ส่วน เรียกว่า ขันธ์ ๕ ขอให้สนใจคำว่า ขันธ์ ๕ แม้ว่าเป็นคำที่น่าเบื่อหน่าย ไม่น่าสนใจ ครึ ๆ คร่า ๆ แต่ถ้าว่า ไม่สนใจหรือไม่รู้ เอ่อ, ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ขันธ์ ๕ มันก็ยากที่จะรู้จัก หรือจะศึกษาธรรมะต่อไป คนเราคนหนึ่ง ๆ เอ่อ, ส่วนที่เป็นรูปธรรม หรือรูปธาตุนั้นนะ ก็มี ที่เป็นร่างกาย เป็นส่วนของร่างกายนี่ เป็นรูปธาตุก็เรียก รูปธรรมก็เรียก
ทีนี้นอกนั้น ก็เป็นเรื่องของจิต หรือนาม เป็นนามธาตุ ไอ้นามธาตุนี่ แยกกันได้เป็น ๔ อย่าง คือที่เรียกว่า เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ รวมกันเป็น ๔ อย่าง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไอ้วิญญาณตัวสุดท้าย นั่นแหละ เป็นสิ่งที่เรียกว่า จิต เวทนา สัญญา สังขาร ๓ อย่างนี้ เรียกว่า เจตสิก แต่มันก็ต้องอาศัยกัน จิตไม่อาศัย
เจตสิก ก็ไม่มีความรู้สึก ความหมายอะไร เจตสิกไม่มีจิตเป็นที่อาศัยเกิดขึ้น ก็ไม่มี ตัวตนอะไร ไม่มีความหมาย อะไร นี่ส่วนที่เป็นจิต จะเป็นเจตสิก รวมเรียกว่านาม นาม นาม คือจิตกับเจตสิก เวทนาก็คือ ความรู้สึก ว่า ว่าสุข ว่าทุกข์ ว่าพอใจ ว่าไม่พอใจ อย่างนี้ เป็นความรู้สึกอย่างนี้ มีความหมายอย่างนี้ เมื่อเกิดขึ้นเมื่อไร ก็เรียกว่า เวทนาเกิดขึ้น เมื่อดับไป ก็เรียกว่า เวทนาดับไป
ทีนี้สัญญา สิ่งถัดไปคือ สัญญา โดยเฉพาะก็มีความมั่นหมายในเวทนานั่นแหละ มั่นหมายในเวทนานั้นว่าเป็น เป็นอย่างไร เป็นอย่างไร กระทั่งว่า เป็นสัตว์ เป็นคน เป็นตัวเป็นตนอันนั้น เรียกว่า อัตตสัญญา (นาทีที่ 20:08) สัญญาว่าตน หรืออิถถีสัญญา (นาทีที่ 20:14) สัญญาว่าผู้หญิง ปุริสะสัญญา (นาที่ที่ 20:17) สัญญาว่าผู้ชาย คือสำคัญมั่นหมาย อย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดเป็นความรู้สึกสำคัญมั่นหมาย นี่เรียกว่า พวกสัญญา
ทีนี้สังขาร นี่ประเภทความคิด ความคิด คิดเป็นเรื่องเป็นราวไปเลย คิดปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราว เป็นความหยาบ เป็นเรื่องเป็นราวไป คิดจะกระทำเป็นเรื่องเป็นราวไป คิดได้ทุกชนิดนะ ที่เป็นความคิด นี่เรียกว่า สังขาร ส่วนวิญญาณนั้น สำหรับรู้แจ้งทางอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตนั้นทำหน้าที่รู้สึกต่ออารมณ์ ภายนอก ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจนี่ อันนี้เรียกว่า วิญญาณ รวมกัน ๕ อย่าง นี่เรียกว่า ขันธ์ ๕
เอ่อ, คน คนหนึ่งประกอบอยู่ด้วยขันธ์ทั้ง ๕ นี้ แต่ก็มิได้หมายความว่า ครบทั้ง ๕ อยู่ตลอดเวลา แต่เกิดได้ครบทั้ง ๕ แต่ไม่ใช่คราวเดียวกันทั้ง ๕ ที่จะเรียงลำดับ คือดูว่า พอตาเห็นรูป หรือหูได้ยินเสียง หรือจมูกได้กลิ่นก็ตาม เอาในกรณีตา ตาเห็นรูป ตากระทบกันเข้ากับรูป ก็เกิดจักษุวิญญาณ คือวิญญาณทางตา เมื่อวิญญาณทางตา ทำหน้าที่รู้สึกต่ออารมณ์ คือรูปอยู่นี่ ก็เรียกว่า สัมผัส เรียกว่า สัมผัส เป็นเบื้องต้นของเวทนา
ทีนี้พอสัมผัสแล้ว มันก็รู้สึกว่าถูกใจ รูปนั้นนะ ในรูปนั้นนะ พอใจในรูปนั้น หรือไม่พอใจในรูปนั้น หรือว่ารูปนั้น เป็นสุขแก่ตา รูปนั้นเป็นทุกข์แก่ตา อะไรก็ตามนี่ ความรู้สึกตัวนี้ เรียกว่า เวทนา คือความรู้สึกสุข หรือทุกข์ ทีนี้ก็ปรุงความคิด ถัดไปคือสัญญา สำคัญมั่นหมาย นับตั้งแต่เห็นรูปทีแรกแล้ว จำได้ว่ารูป รูปอะไร รูปหญิง รูปชาย รูป เอ่อ, ดอกไม้ รูป เอ่อ, วัตถุสิ่งของ แล้วก็ นั้นก็สำคัญมั่นหมายว่าเป็นอย่างนั้น กระทั่งสำคัญ ไอ้ส่วนที่เป็นเวทนา สุขสัญญา สำคัญว่าสุข ทุกขสัญญา (นาทีที่ 23:38) สำคัญว่าทุกข์ สำคัญว่าน่ารัก น่าพอใจ สำคัญมั่นหมาย ไปตามเวทนา ที่มันมีคุณค่าอย่างไร นี้เรียกว่า สัญญา
ภาษาไทยสัญญา ก็คือการทำสัญญาอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ในภาษาธรรมะนี่ สัญญาคือความสำคัญมั่นหมาย ลงไปในจิต ตามที่จำได้ ก็เป็นการสำคัญมั่นหมายหรือแม้จะรู้สึกใหม่ ของใหม่ ก็เป็นความสำคัญมั่นหมาย สำคัญมั่นหมายว่าอย่างไร ก็เป็นสัญญา นี่สัญญาทำหน้าที่มั่นหมายอย่างไรแล้ว ก็เกิดสังขาร คือความคิด คิด เป็นความคิดเกิดขึ้น ไปตามความหมายของสัญญา สัญญามั่นหมายว่าอย่างไร มันก็ปรุงความคิด ไปตามรูปแบบ อันนั้น ความรู้สึกคิดนึก เอ่อ, เช่น ต้องการ เช่น อยากได้ พยายามที่จะทำ มีความคิดที่จะทำอย่างไร
กระทั่งมีความคิดว่า เอ่อ, มีตัวตนที่เป็นผู้อยากได้ คือ ความคิดว่าอยากได้มันเกิดขึ้นแล้วในใจนี่ มันก็เกิด ความคิดว่า มีฉัน มีกู มีตัวเรา นี่เป็นผู้อยาก นี่ปรุงเป็นความคิด เป็น เป็นตัณหา คือ ความอยาก เป็นอุปาทาน คือ ตัวบุคคลผู้อยาก ล้วนแต่เป็นของที่จิตปรุงขึ้นมา ด้วยอำนาจที่ว่า มัน มันมีแต่อวิชชา คือ ความไม่รู้ มันก็เลย มีตัวตน ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ อ่า, ถ้าจิตมันมีความรู้สึกอยาก ต้องการ อย่างนี้ละก็ มันจะปรุงไอ้ความรู้สึก อันถัดมา คือ มีตัวฉัน มีตัวเรา มีตัวตน เป็นผู้อยาก ผู้ต้องการ
นี่ ขอให้มองตรงนี้ที่ว่า ไอ้ตัวตนนะเป็นอนัตตา คือ ไม่ได้มีตัวตน แต่มันรู้สึกว่ามีตัวตนนั่น เพราะว่า จิตมันยังโง่ มันยังมีอวิชชา ยังไม่รู้ตามที่เป็นจริง มันก็ปรุงไอ้ความคิดว่ามีตัวตนขึ้นมา แม้สิ่งที่จิตคิดว่าตัวตนนะ มันก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่นนั้นเอง อย่าลืมว่า พอ พอจิตมีความรู้สึกอยาก อยากเต็มที่นะ เป็นตัณหานะ มันก็ปรุงความคิดถัดไป คือ อุปาทาน ว่าตัวฉันอยาก ตัวฉันผู้อยาก ตัวผู้อยาก ตัวตนผู้อยาก แล้วก็ยังอยากจะเอามาเป็นของตนด้วย เพราะมันมีตัวตนขึ้นมาแล้ว ก็อยากจะมีอะไรเป็นของตน อุปาทานจึงมีควาหมายเป็น ๒ ชนิด คือ ตัวตน และของของตน อึ้ม, ความคิดว่าตัวตน และความคิดว่าเป็นของ ของตน ของตนนั้น เป็นอุปาทาน รวมอยู่ในคำว่า สังขาร สังขาร
ส่วนวิญญาณนั้นพูดแล้ว พูดแล้วตั้งแต่ต้นนะ ตั้งแต่แรก ว่ากระทบอารมณ์ วิญญาณนี้เกิดได้หลายครั้ง เอามาเรียงไว้ทางท้ายสุด เรียงกัน สิ่งแรกก็รูป รูป คือ ฝ่ายกาย แล้วก็เวทนา แล้วก็สัญญา แล้วก็สังขาร แล้วก็ วิญญาณ วิญญาณทำหน้าที่รู้แจ้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่ก็ตอนหนึ่ง หรือครั้นเกิดเป็น เวทนาขึ้นมาแล้ว ก็มีมโนวิญญาณ เกิดวิญญาณทางใจ รู้แจ้งต่อเวทนานั้นอีก รู้สึกว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มันก็โดยมโนวิญญาณ รู้สึกต่อนามธรรม ให้สนใจ ให้มากเป็นพิเศษสักหน่อย เพราะว่ามันค่อนข้างจะ เข้าใจยาก และไม่ชวนให้ศึกษา แต่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่รู้เรื่องนี้แล้ว มันก็ไม่มีทางที่จะรู้ พุทธศาสนาให้ถึงที่สุดได้
เอ้า, ทีนี้ ผมก็จะไล่ ไล่ ให้ฟังไปตามลำดับ เรามีร่างกายนะ เราคนหนึ่ง ๆ นี่ เรามีร่างกาย นี่คือรูป พวกที่เป็นรูป เมื่อใด ไอ้ร่างกายหรือรูปนี่ทำหน้าที่ของกายนะ นั้นนะเรียกว่า รูปขันธ์ รูปขันธ์ รูปขันธ์ เช่น ตา มันก็เป็น เป็นเนื้อหนังนี่ ดวงตานะ ประสาทตา ดวงตา เป็นเนื้อหนัง เมื่อมันไม่ทำหน้าที่เห็นรูป ก็เรียกว่า รูปขันธ์ยังไม่เกิด มีแต่รูปธาตุตามธรรมดา ยังไม่จัดเป็นรูปขันธ์ รูปขันธ์นะ คือขันธ์ที่ ๑ ขันธ์ที่ ๑ รูปขันธ์
ร่างกายที่เรียกว่าตา ร่างกายที่เรียกว่าหู ร่างกายที่เรียกว่าจมูก ว่าลิ้น ว่าผิวกาย ว่า ๕ อย่างนี้ เรียกว่ารูป แล้วพอ ทำหน้าที่ตามของมันแล้ว เรียกว่ารูปขันธ์เกิด ส่วนจิตหรือมโนนั้นนะ ก็ทำหน้าที่รู้สึกอารมณ์ ธรรมารมณ์ ก็เรียกว่า มโนเกิด จิตใจเกิด นี่ก็เป็นคำที่จะต้องจดจำ หรือสังเกตให้ดี ว่าภาษาบาลี โดยหลักธรรมะนั้น เค้ามีความหมายแปลก จากภาษาพูดตามธรรมดา คือเค้าพูดได้ที่ว่าตาเกิด ตาดับ หูเกิด หูดับ จมูกเกิด จมูกดับ ลิ้นเกิด ลิ้นดับ อยู่ได้ตลอดเวลา กี่ครั้งก็ได้แต่ละวัน ๆ นะ
นี่ คือหมายความว่า เมื่อมันทำหน้า เมื่อมันทำหน้าที่ เมื่อตาทำหน้าที่เห็น ก็เรียกว่าตาเกิด พอหยุดทำ หน้าที่ ก็เรียกว่าตาดับ พอจมูกได้กลิ่น ก็เรียกว่าจมูกเกิด หยุดทำหน้าที่ได้กลิ่น ก็จมูก เอ่อ, จมูกดับ หูได้ยินเสียง ก็เรียกว่าหูเกิด พอหูหยุดทำหน้าที่ได้ยินเสียง ก็เรียกว่าหูดับไป แต่ที่จริงนะ ตา หู จมูก ลิ้นนี่ มันมีอยู่ตลอดเวลา แต่นั้นยังไม่จัดว่าเป็นรูปขันธ์ เพราะยังไม่ทำหน้าที่ นี่เรียกเป็นภาษาที่คัดค้านกันกับภาษาพูดธรรมดา ว่าเรามี ตา หู จมูก ลิ้น กายอยู่ลอดเวลา ทำไมเรียกว่าเกิด ว่าดับ ภาษาบาลีเขา เมื่อทำหน้าที่ เรียกว่าเกิด เมื่อไม่ทำหน้าที่ ก็เรียกว่า ดับ
นั้นอย่าได้ประหลาดใจ ที่ได้ยินได้ฟังว่า ตาเกิด ตาดับ หูเกิด หูดับ จมูกเกิด จมูกดับ ลิ้นเกิด ลิ้นดับ กาย
เกิด กายดับ ใจเกิด ใจดับ เมื่อมันทำหน้าที่แล้ว ก็เรียกว่าเกิด เมื่อนั้นนะจึงจะเป็นไอ้รูปขันธ์ รูปขันธ์ ถ้ารูปกาย เฉย ๆ ไม่ทำหน้าที่อะไร คนตายมันก็มี คนตายก็ยังมีตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ทำอะไรไม่ได้ นี่ ในทางธรรมนะนี่ จึงถือว่า เมื่อมันทำหน้าที่ได้อยู่ ทำอยู่ นั่นแหละเรียกว่า เกิด นี่เรา บาง บางเวลาก็เป็นเรื่องรูปขันธ์ มีรูปขันธ์
ทีนี้ มีผัสสะ มีเวทนา รู้สึกอยู่ด้วยเวทนา ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ พอใจ ไม่พอใจนี่ เวลานั้น ชีวิตนี่ประกอบ อยู่ด้วยเวทนา อาศัยร่างกายนี้รู้สึกเวทนาอยู่ เป็นเวทนาขันธ์ เรียกว่า ส่วนหรือกองของเวทนา พอมีเวทนารู้สึก อย่างนี้แล้ว เอ่อ, มันก็สำคัญมั่นหมายในเวทนานั้น ว่าเป็นอะไร เป็นอย่างไร หรือนับตั้งแต่เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้นมา มันสำคัญมั่นหมายว่า เป็นรูปของอะไร เป็นเสียงของอะไร ครั้นมาเป็นเวทนาแล้ว ก็สำคัญมั่นหมายว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา สุขสัญญา ทุกขสัญญา
เวลาที่สำคัญมั่นหมายอะไร ว่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่นั้นนะ เมื่อนั้นมีสัญญา สัญญาขันธ์ บางเวลา กำลัง คิดนึกอะไรอยู่อย่างรุนแรง คิดนึกอยู่อย่างรุนแรง เมื่อนั้นอยู่กับสังขารขันธ์ ความคิดนี้แจกออกไปได้ หลายอย่าง หลายชนิดนะ เช่น ความอยากจะได้ ก็เป็นความคิด ความคิดว่าตัวตนจะได้ ผู้ได้ ก็เป็นความคิด ที่ ที่เป็นตัวร้าย ตัวการสำคัญก็คือ คิดเป็นตัวตน คิดเป็นของตน
ถ้าจะรู้ธรรมะ หรือรู้พุทธศาสนาจริง ต้องศึกษาที่สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ศึกษาในสมุด ในหนังสือ ในตำรา ในคัมภีร์ ถ้าจะศึกษาพุทธศาสนาให้รู้จริง จงศึกษาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วศึกษาที่รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จงศึกษาที่เมื่อ มันประกอบกันทำหน้าที่เป็นรูปขันธ์อย่างไร กำลังเป็นเวทนาขันธ์อย่างไร กำลังเป็นสัญญาขันธ์อย่างไร กำลังเป็นสังขารขันธ์อย่างไร กำลังเป็นวิญญาณขันธ์อย่างไร
นี่ นี้ต้องรู้สึก รู้จักโดยประจักษ์ ตามที่มันเป็นจริงอยู่อย่างไร ไม่ใช่จดชื่อไว้ท่อง ๆ แล้วก็ท่องคำอธิบาย ด้วย แล้วมันไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนละ มันกลายเป็นอยู่ในสมุด กลายเป็นขันธ์ ๕ อยู่ในสมุดจด อย่างนี้ไม่มีทางจะรู้ จะรู้พุทธศาสนา เอ่อ, ต้องรู้จักที่ตัวจริงของมัน ว่ารูปอย่างไร เวทนาอย่างไร สัญญาอย่างไร สังขารอย่างไร วิญญาณอย่างไร ก็จะเห็นได้ทันทีว่า เป็นสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ปรุงแต่งเป็นความคิด นี่มันถูกปรุงแต่ง ขึ้นมาตามธรรมชาติ ความรู้สึกที่เป็นเวทนา สัญญา เป็นสังขารนี่ เป็นความคิดปรุงแต่งขึ้นมาตามธรรมชาติ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีชีวิต เอ่อ, เป็นคน เป็นสัตว์ ที่มันรู้แจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ให้รู้ว่า มันเป็นตาม ธรรมชาติอย่างนั้นนะ มันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันก็รู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรื่องมันจึงเกิด
ทีนี้ถ้า สมมุติว่าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ไอ้ใจด้วย มันก็ไม่มีเรื่องเลย ไม่มีเรื่อง มันไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันเงียบฉี่ โดยเหตุที่ว่า คนเรานี่มีตาสำหรับเห็นรูป มีหูสำหรับฟังเสียง มีจมูกสำหรับดมกลิ่น มีลิ้นสำหรับรู้รส มีผิวกายทั่วไปสำหรับรับสัมผัส ที่ผิวกายทั่วไป มันเลยมีอยู่ในโลกนี้ก็มี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็มีใจ สำหรับรู้สึกต่อความรู้สึกคิดนึก เพราะมีใจ มีธรรมารมณ์ สำหรับใจรู้สึก นั้นนะ ตัว ตัวการ เอ่อ, ตัว เอ่อ, ตัวการ ต้นเหตุ ตัวการอยู่ที่ว่า มันมีตาสำหรับเห็นรูป มีรูปสำหรับตาเห็น มีหูสำหรับฟังเสียง มีเสียงสำหรับหูได้ยิน มี เอ่อ, จมูกสำหรับดมกลิ่น มีกลิ่นสำหรับจมูกดม มีลิ้นสำหรับรู้รส มีรสสำหรับลิ้นรู้ รสรู้ รู้รส มีกาย มีผิวกาย ที่รู้สัมผัสอะไรได้ เรียกว่า โผฏฐัพพะที่มากระทบกาย และโผฏฐัพพะสำหรับกระทบกาย มีกายสำหรับรู้สึกกับ โผฏฐัพพะต่าง ๆ ที่จะมากระทบกาย ข้างนอกเป็นมากอย่างนี้แล้ว มันก็เหลือสำหรับจะปรุง ขั้นคู่ คู่สุดท้าย คือ ใจกับธรรมรมณ์ มีใจสำหรับรู้สึกต่อธรรมารมณ์ มีธรรมารมณ์สำหรับให้ใจรู้สึก
ขอร้องให้สนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษเลย ให้รู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้รู้จักรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ธรรมารมณ์ ซึ่งเป็นคู่ ๆๆๆ แล้วเกี่ยวข้องกันแล้ว มันเกิดวิญญาณอย่างไร เกิดผัสสะอย่างไร เกิดเวทนาอย่างไร เกิดสัญญา สังขาร อย่างไร หรือจะพูดตามปฏิจจสมุปบาทก็ว่า เอ่อ, มันจับคู่กันเข้าแล้ว มันเกิดวิญญาณอย่างไร
มันเกิดสัมผัสอย่างไร เกิดเวทนาอย่างไร เกิดตัณหาอย่างไร เกิดอุปาทานอย่างไร เกิดภพอย่างไร เกิดชาติอย่างไร
แล้วก็เอาอะไร มาเป็นของของตนหมด เกิด แก่ เจ็บ ตาย มาเป็นของตน จนได้มีความทุกข์ สิ่งที่กระทบอยู่ ตามธรรมชาติ ก็เอามาเป็นของตน จนได้เป็นทุกข์ อะไร ๆ ที่เป็นไปเองตามกฎของธรรมชาติ ก็เอามาเป็นของตน และเป็นทุกข์ นี้คือเรื่องที่สำคัญที่สุดที่จะต้องรู้ และทำให้รู้พุทธศาสนา ถ้าไม่รู้เรื่องเหล่านี้ ก็ไม่มีทาง ไม่มีทางเลย ที่จะรู้พุทธศาสนา เรื่องแรกที่จะต้องรู้ ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็เรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จับคู่กัน เกิดเป็นวิญญาณ เป็นวิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เมื่อวิญญาณทำหน้าที่นั้นอยู่ ก็เรียกว่า สัมผัส สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัมผัสแล้ว ก็ออกลูกมา เป็นเวทนา เวทนาที่เกิดมาจากการสัมผัสตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็มีสัญญา ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ แล้วก็มี เอ่อ, สังขาร ชนิดที่เป็นตัณหา ตัณหาในรูป ตัณหาในเสียง ตัณหาในกลิ่น ตัณหาในรส ตัณหาในโผฏฐัพพะ ตัณหาในธรรมารมณ์
ทีนี้ก็มีอุปทานว่าเป็นตัวตน ยึดถืออะไรโดยความเป็นตัวตน เอ่อ, สิ่งนั้นก็กลายเป็นของหนัก เป็นของหนักแก่จิตใจที่ยึดถือ นั้นเรียกว่า ความทุกข์ เอ่อ, ความทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก เอ่อ, ถึงกับว่า เกือบจะไม่รู้สึก ไม่ ไม่ใช่หมายความว่า เจ็บปวดเหมือนถูกฟัน ถูกตี ถูกแทง ถูกเชือด ถูกเฉือน อันนั้นมันหยาบไป ไอ้ความทุกข์ ที่เป็นชั้นลึก เอ่อ, ชั้นละเอียดนะ คือ มีจิตหมายมั่นอะไร เป็นตัวตน แล้วก็มีปัญหา เอ่อ, มี ความหนักอกหนักใจ วิตกกังวล รัก โกรธ เกลียด กลัว อะไรก็ตามอยู่กับสิ่งนั้น บางทีมันชอบด้วยซ้ำ ยึดถือความทุกข์นี่ กลับชอบใจในความทุกข์ที่ยึดถือ จึงหลงรักสิ่งที่เป็นทุกข์ เรียกว่า หลงรักความทุกข์ก็ได้ พูดแล้วมันไม่น่าเชื่อ เพราะมันไม่รู้ หรือไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ มีตัวตน ก็ยิ่งชอบใจในตัวตน มีของของตน ก็ยิ่งชอบใจในของของตน ไม่รู้สึกว่าตัวตนนี่ กำลังแบกภาระ แบกของหนักอยู่
บทสวดมนต์แปลบทหนึ่งซึ่ง ซึ่งคงจะสวดกันอยู่แล้วบ่อย ๆ เรื่องภารา หะเว ปัญจักขันธา(นาทีที่ 42:36) ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นของหนัก เว้ย, ภาระหาโร จะ ปุคคะโล(นาทีที่ 42:44) บุคคลนั่นแหละ แบกของหนักพาไป ภาราทานัง ทุกขัง โลเก(นาทีที่ 42:51) การแบกของหนักในโลกนี้ มันเป็นความทุกข์ ภาระนิกเขปะนัง สุขัง (นาทีที่ 42:58) โยนของหนักทิ้งออกไปเสีย เป็นความสุขนิกขิปิตวา คะรุง ภารัง อัญญัง ภารัง อะนาทิยะ (นาทีที่ 43:05)โยนของหนักทิ้งไปเสียแล้ว ไม่แบก ไม่จับฉวย เอาของหนักอันอื่นขึ้นมาแบกอีก กังหัง สะมูลัง ตัณหัง อัพพุยหะ นิจฉาโต ปรินิพพุตโต (นาทีที่ 43:18) จะถอนตัณหาเสียได้ กระทั่งราก เย็นดับ เย็นสนิท นิจฉาโต (นาทีที่ 43:34) ไม่มีไฟ ปะรินิพพุโต(นาทีที่ 43:36) เย็นสนิท
คล้าย ๆว่า ไอ้จิตนี้ยังโง่ อยู่ด้วยอวิชชา เอ่อ, สำคัญมั่นหมายในรูปขันธ์ ว่า ว่าตัวตน สำคัญในเวทนาขันธ์ ว่าตัวตนหรือของตน สำคัญในสังขาร สัญญาขันธ์ว่าเป็นตัวตน เป็นของตน สำคัญในสังขารขันธ์ ว่าเป็นตัวตน ของตน ในวิญญาณขันธ์ ว่าเป็นตัวตน ของตน นั่นนะคือ จิตนั่นแบกของหนัก ทั้งที่จิตเป็นนามธรรมที่จับไม่ได้ ยังแบกของหนักได้ คือมันแบกด้วยความรู้สึก มันรู้สึกว่าตัวตน รู้สึกว่าของตน จิตนั้นก็หนัก ด้วยความรู้สึก ว่าตัวตน ว่าของตน จิตนั้นก็เป็นจิตที่แบกของหนัก แล้วก็เป็นความทุกย์
เรื่องขันธ์ ๕ นี่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะต้องรู้จัก เพราะมันเป็นที่ตั้งแห่งเรื่องทั้งหมด เรื่องทุกข์ เรื่องดับ
ทุกข์ มันก็ มัน มัน มันอยู่ที่ขันธ์ ๕ จงรู้จักให้ดี ว่าตอนนี้ เรากำลังอยู่กับอะไร นาทีนี้ หรือวินาทีนี้นะ ชีวิตกำลัง อยู่กับอะไร มีอะไรอยู่ เช่น มีรูปขันธ์ ยึดถือรูปขันธ์อยู่ หรือมีเวทนาขันธ์ ยึดถือในเวทนาขันธ์อยู่ มีสัญญาขันธ์ ยึดถือในสัญญาขันธ์อยู่ มีสังขารขันธ์ ยึดถือในสังขารขันธ์อยู่ มีวิญญาณขันธ์ ยึดถือในวิญญาณขันธ์ อยู่ มัน ๕ อย่างเท่านั้น เมื่อมีความรู้สึกว่าตัวตน ว่าของตน ในขันธ์ไหน นั่นก็คือยึดถือในขันธ์นั้น เอ่อ, แบก ถือ หิ้ว หาม อะไร แล้วแต่จะเรียกนะ ซึ่งของหนักนั้นอยู่ ตัวอย่างเช่น พอตาเห็นรูป มันโง่ไปว่า กูเห็นรูป นี่ มันก็เอาตัวรูปนี่ มาเป็นตัวตน เห็นรูปของกู เลยเอารูปมาเป็นของตน เมื่อรู้สึกต่อเวทนาอันเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ก็รู้สึกต่อเวทนา นั้นว่าเป็นของตน หรือจิตที่มีเวทนานั้นแหละตน ว่าเวทนานั้นเป็นของจิต หรือเป็นของตน
ขณะนี้เรายึดถือเวทนา กันตน เป็นของตน หรือเป็นของตน เมื่อสำคัญมั่นหมายว่าตัวตน และยึดถือ สัญญาขันธ์ว่าเป็นตัวคน หรือแล้วแต่อะไร ที่ยึดถือให้เป็นตัวตน แล้วว่ามันเป็นของตน สำคัญมั่นหมายว่า บุตรของกู ภรรยาของกู บ้านเรือนของกู ทรัพย์สมบัติของกู หมายมั่นโดยความเป็นตัวตน เป็นของตน นี่เรียกว่า มันมีสัญญาขันธ์ที่กำลังยึดมั่น อยู่อย่างเหนียวแน่น นี่ถ้ามีความคิดนึกอะไร ก็รู้สึกว่า ว่าตัวกูน่ะคิด มีความรู้สึก ว่าตัวกูน่ะคิด คิดอย่างไร คิดจะทำอย่างไร คิดเพื่อตัวกูอย่างไร เวลานั้นนะเขายึดถือสังขารขันธ์ เป็นตัวตน หรือเป็นของของตน
ส่วนวิญญาณขันธ์นั้น มีได้หลายขั้นตอน ขั้นตอนแรก ก็พอตาเห็นรูป ก็คิดว่ากูเห็นรูป หูได้ยินเสียง
ก็ ๆๆๆๆ รู้ ก็คิดว่ากูได้ยินเสียง ตัวตนได้ยินเสียง ไม่ใช่เสียงกระทบหู ตามธรรมชาติ แล้วได้ยินไปตามธรรมชาติ ไม่คิดว่าเป็นธาตุตามธรรมชาติ ไม่คิดว่าเป็นธาตุตามธรรมชาติ คิดว่าเป็นตัวตน เป็นตัวกูไปหมด เมื่อจมูกได้กลิ่น ก็ตัวกูได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้รส ก็กูได้รส เมื่อผิวกายได้โผฏฐัพพะ ก็กูกระทบ โผฏฐัพพะ เมื่อจิตคิดอะไรตามธรรมชาติ ตามหน้าที่ ตามธรรมชาติ ก็กูนะคิด กูนะเป็นผู้คิด ถ้ามันมี ถ้ามีความหมายไปในทางเป็นผู้กระทำ แล้วมันก็คือ ยึดถือเป็นของตน ถ้ามีความหมายว่าเป็นตัวตน เป็นของตน เป็นของตน ยึดถือว่าของตน ยึดถือในเป็นฝ่ายกระทำ ก็ว่าเป็นตัวตน ยึดถือในฝ่ายที่ถูกกระทำ ก็เป็นของของตน
ช่วยจำไว้ให้แม่น ๆ ข้อนี้ช่วยจำให้แม่น ๆ แล้วก็รู้สึกทันที รู้สึกให้ทันท่วงที ทุกเวลา กลางวัน กลางคืน เมื่อไร ที่ไหนก็ตามใจ ให้รู้ว่าจิตกำลังเป็นอย่างไรนี่ จิตกำลังยึดถือในอะไร เพราะตามปกติธรรมดาสามัญ คนธรรมดา ยึดถือนั้นนะ ทั้งวันทั้งคืนนะ มันมีความรู้สึกและยึดถือ นี่เรารู้ว่า มันยังละไม่ได้ ก็ให้รู้ว่ามันยึดถือ อะไร มันจะได้รู้เรื่องนี้มากขึ้น มากขึ้น เพราะฉะนั้นทำจิตให้ปกติ แล้วก็สังเกตในข้อนี้ว่าจิตนี้กำลังยึดถืออะไร ยึดถือในฝ่ายรูป หรือฝ่ายเสียง หรือฝ่ายกลิ่น ฝ่ายรส ฝ่ายโผฏฐัพพะ ฝ่ายธรรมารมณ์ มีสติกำหนดสิ่งเหล่านี้ อยู่ตลอดเวลานั่นแหละ คือ เป็นผู้ปฏิบัติธรรมะชั้นสูงสุด เป็นนักวิปัสสนาชั้นเลิศ ที่คอยกำหนดสิ่งเหล่านี้อยู่
เดี๋ยวนี้เขามีสมถะ สมาธิ วิปัสสนา แบบไหนกันก็ไม่รู้ ผมไม่อยากจะพูด เห็นนั่นเห็นนี่ ไปนรก ไปสวรรค์ ไปอะไร ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องของพระพุทธเจ้าเลย ถ้าสมาธิ หรือวิปัสสนาตามแบบของพระพุทธเจ้า ก็ทำจิตให้ เหมาะสมที่สุด สำหรับจะเห็น นี่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่ว่าเกิดขึ้นอย่างไร ปรุงแต่ง อย่างไร จิตกำลังยึดถือ ว่าตัวตนหรือว่าของตนอย่างไร ให้มองเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่ นี่ คือ นักวิปัสสนาชั้นเลิศ ของพระพุทธเจ้า ในพระพุทธศาสนานี้ ถ้าผิดไปจากนี้แล้วก็ เป็นเรื่องอื่น
เอ้า, ทบทวนอีกทีว่า เราเป็นคน ๆ หนึ่ง สมมุตินะ เรียกว่าเป็นคน ๆ หนึ่ง ที่จริงก็เป็นเพียงธาตุตาม ธรรมชาติ เป็นกลุ่ม ๆๆๆ จับกลุ่ม จับกลุ่ม จับกลุ่ม แล้วมันเนื่องกันเป็น เอ่อ, ที่เรียกว่าเป็นคน ๆหนึ่ง ถ้าพูดว่า คน ๆ หนึ่ง ก็พูดโดยสมมติ ถ้าตามความจริงนั้น เป็นเพียงธาตุตามธรรมชาติ ธาตุตามธรรมชาติ หลายธาตุ หลาย ๆๆๆๆ ธาตุ ประกอบกันเข้าเป็นโครงร่างนี้ มีส่วนที่เป็นร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไอ้ที่เป็นส่วนร่างกาย เพื่อให้เเป็นที่ตั้งที่อาศัย เอ่อ, สำหรับส่วนที่เป็นจิตใจ
ไอ้ร่างกายนี้ มันมีส่วนสำคัญอยู่ที่สมอง ในกะโหลกศีรษะมีมันสมอง มีระบบประสาท สำหรับให้ธาตุ ตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง คือ นามธาตุหรือจิตธาตุ ธาตุใจนะ อาศัย เอ่อ, สมองนี่เป็นออฟฟิศ แล้วแสดงบทบาทได้ จิตเป็นนามธรรม ต้องมีรูปธรรมมาสำหรับเป็นที่อาศัย เป็นที่ตั้งให้อาศัย แล้วมันจึงจะแสดงบทบาทของมันได้ ถ้าไม่มีฝ่ายรูปธรรม เป็นที่ตั้ง ที่อาศัย มันแสดงอะไรไม่ได้เลย
นี่ รู้ไว้เถอะว่า ไอ้กายกับใจนะ ต้องอาศัยกัน หรือพูดอย่างบาลีก็ว่า รูปกับนาม ต้องอาศัยกัน รูปคือกาย นามคือใจ คู่นี้ต้องเป็นเกลอ คู่กันเสมอ พอแยกจากกันก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่มี ไม่ ไม่สามารถจะทำอะไรได้ กายกับใจ ต้องไปด้วยกัน อึ้ม, กายมี เรื่องทางกาย ทางวัตถุพร้อม ชั้นละเอียดอ่อน คือ ระบบปะสาท ประสาททั้งหลาย ประสาทตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับให้จิตนะ ทำหน้าที่โดยทางระบบประสาทนั้น สัมผัสได้ รู้เวทนาได้ มีสัญญา สังขาร วิญญาณได้ นั่นส่วนจิต หรือส่วนใจ ร่างกายก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีใจ มันเหมือนก้อนหินนะ ร่างกายนี้ถ้าไม่มีใจ มันก็ไม่มีความหมายอะไรเลย เหมือนก้อนหิน ก้อนดิน
ทีนี้ใจก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีกาย ก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่ ๆๆ ไม่ปรากฏเลย ไม่ปรากฎเป็นใจ เป็นจิต เป็นอะไร ได้เลย ต้องมีร่างกาย เป็นเหมือนกับที่ทำงานนะ ให้มันได้ทำงาน ร่างกายเป็นออฟฟิศสำหรับ จิตหรือใจได้อาศัย แล้วแสดงบทบาทของจิตและใจ แสดงบทบาทเป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นนะ บทบาทของจิต
ทีนี้ ทำหน้าที่เป็นรูปขันธ์ ก็คือว่าร่างกายนี้พร้อมจะทำหน้าที่ ทำหน้าที่ทาง เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เอ่อ ตา หู จมูก ลิ้น กายอ่ะ ๕ อย่างนี้ เรียกว่า เรียกว่ากาย หรือฝ่ายรูป ตา หู จมูก ลิ้น กายนี่ ที่มัน พร้อมที่จะรู้สึก ทาง เอ่อ, ตา หู จมูก ลิ้น กายนี่ จิตก็ทำงานได้ ทำหน้าที่ได้ ภาษาบาลีจึงเรียกรวมกัน เป็นสิ่งเดียวกันเลย เรียก เรียกว่า นามรูป นามรูป ไม่แยก ไม่แยกออกเป็นนามและรูป ไม่แยกออกเป็น ๒ อย่างว่า นามและรูปแต่เรียกรวม กันเสียเลยว่า นามรูป ไม่แยก ๆ ไม่ ๆๆๆ ไม่แยก และไม่อาจจะแยกออกจากกัน เพราะว่าถ้าแยกแล้ว มันมีไม่ได้ ก็เลยไม่ต้องแยก
ดังนั้นที่มันมีชีวิต ทำอะไรได้อย่างนี้ เพราะมันเป็นนามรูปที่กำลังรวมกันอยู่ เอ่อ, ฝ่ายรูป คือ ฝ่ายกาย ก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ ตามหน้าที่ของฝ่ายกาย ฝ่ายใจก็ทำ ก็พร้อมทำหน้าที่ทาง ทางฝ่ายใจ ถ้างั้นมันจึงง่าย ง่าย คล่องแคล่ว รวดเร็ว ที่ตาจะเห็นรูป แล้วเกิดความรู้สึกไปตามแบบของตา หู ง่ายที่จะได้ยินเสียง แล้วก็รู้สึกไป ตามแบบของหู จมูก ง่ายที่จะรู้สึกต่อดม ต่อกลิ่น รู้สึกดมกลิ่น ลิ้นสำหรับรู้รส ผิวกาย สำหรับรู้สึกสิ่งที่มา กระทบผิวกาย ๕ คู่นี้นะ เป็นฝ่ายที่ เอ่อ, เป็นภายนอก
ทีนี้ จิตก็พร้อมที่จะรู้สึกฝ่ายธรรมารมณ์ ความรู้สึกทางจิต รู้จักสิ่งที่เรียกว่า นามรูป นามรูป แล้วก็รู้ว่า มันเป็นสิ่งที่แฝดติดกันอยู่ ไม่แยกกัน เอ่อ, จึงจะเป็นชีวิต ที่มีชีวิต จะรู้สึกคิดนึกอะไรได้ นั่นล่ะคือ คน ๆ หนึ่ง ไม่มีตัวตนอันแท้จริงที่ส่วนไหน ที่ส่วนกาย หรือส่วนรู เอ่อ, ส่วนรูป ส่วนรูปขันธ์ ก็มิใช่ตัวตน เป็นธาตุตาม ธรรมชาติ ปรุงแต่งกันขึ้นมาเป็นฝ่ายกาย เป็นร่างกาย เวทนา เอ่อ, มันก็อาศัยการ เอ่อ, กระทบกันของ เอ่อ, อายตนะ เป็นกายกับรูป เป็นต้น มันก็ของเพิ่งเกิด ของการกระทบทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก แล้วแต่ทางไหน ดังนั้น เวทนาก็ไม่มีตัวตน หาตัวตนอันแท้จริงของเวทนาไม่ได้ เป็นเพียงปฏิกิริยา เป็นเพียง reaction คือการกระทบกัน เอ่อ, ของอายตนะภายในและอายตนะภายนอก เวทนาจึงไม่มีความเป็นตัวตน
ทีนี้สัญญา ที่ถอดรูปมาจากเทนา มันก็ไม่มีตัวตน สังขาร ความคิดนึกที่ถอดรูปมาจากสัญญา มันก็ไม่ใช่ ตัวตน เอ่อ, ส่วนวิญญาณนั้นนะ มันสำหรับรู้แจ้งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ตามธรรมชาติ ซึ่งธรรมชาติสร้างมา สำหรับทำหน้าที่อย่างนั้น เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ มีอาศัยปัจจัยหลายอย่างปรุงแต่ง ก็ไม่ใช่ตัวตน รวมความว่า รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน พอสวดบททำวัตรเช้า แปลมาถึงตอนนี้ ขอให้คิดนึกถึงความจริงข้อนี้เถิด ทุก ๆ เวลาที่ทำวัตรเช้า ที่สวดว่า รูปังอนัตตา (นาทีที่ 58:45) เวทนาอนัตตา สัญญาอนัตตา
ขอให้นึกถึง เอ่อ, เรื่องนี้ว่ามีอยู่อย่างนี้ ความจริงของธรรมชาติอย่างนี้ เราก็จะรู้ได้ว่า ไอ้คนที่ประกอบ อยู่ด้วย ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ มันไม่ใช่ตัวตน ขันธ์แต่ละขันธ์มิใช่ตัวตน แม้จะมาประกอบกันเข้าทั้ง ๕ ขันธ์ ก็ยังมิใช่ ตัวตนอยู่นั่นเอง ถ้ารู้สึกว่าตัวตนนั้น เป็นความคิดโง่เขลา คิดว่าเป็นตัวตนเท่านั้น เป็นสังขารขันธ์ที่คิดเอาว่า เป็นตัวตนเท่านั้น ตัวตนเป็นของความคิดนึกว่า เป็นตัวตนเท่านั้น ตัวตนผู้คิดก็มิได้มี มีแต่การปรุงแต่งตาม ธรรมชาติ ซึ่งเกิดความรู้สึกขึ้นมาอย่างนั้น เกิดความคิดนึกขึ้นมาอย่างนั้น มันจึงมิใช่ตัวตน
เอาละ เป็นอันว่า รู้เรื่องอัตตา อนัตตา เอ่อ, ในชั้นแรก โดยย่อหรือโดยสังเขป แต่ว่าสิ้นเชิงนะ ที่พูดนี้ ก็โดยย่อหรือโดยสังเขป แต่ว่าสิ้นเชิง ครบถ้วน นี่ขอให้จำไว้ให้ดี สำหรับจะได้รู้จักขันธ์ทั้ง ๕ ว่าเป็นอนัตตา
แล้วจะได้รู้จักคน ๆ หนึ่ง ที่ประกอบอยู่ด้วยขันธ์ ๕ นี้ว่า เป็นอนัตตา มิใช่บุคคล ตัวตนอะไร อัน อันเป็นแก่น เป็นสาร ในความหมายแห่งตัวตนเลย เป็นเพียงธาตุตามธรรมชาติ ของสังขตธาตุ (นาทีที่ 1:00:30) คือธาตุที่มี เหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย
นี่เราพูดกันสิ้นเชิง เรื่องอัตตาของสังขตธาตุ (นาทีที่ 1:00:40) เวลาหมด กำหนดให้ดี เรื่องอัตตา กับเรื่องอนัตตา อัต อัตตาตัวตนนั้น เป็นผลของความคิด ที่ปรุงขึ้นมาอย่างมืดบอดด้วยอวิชชา ด้วยความคิด ว่าตัวตน โดยเนื้อแท้เป็นธาตุ ตามธรรมชาติ คือเป็นอนัตตา แล้วก็น่าหัว ที่ว่าธาตุตามธรรมชาติที่เป็นอนัตตา มันคิดนึกได้ ทีนี้มันคิดนึกว่าเป็นอัตตา มันก็เห็นเป็นอัตตา ใครจะไปห้ามมันได้ ก็มันก็คิดนึกอย่างนั้นกันเอง มันไม่มีวิชชา ไม่มีปัญญา มันก็คิดนึกเป็นแบบนั้น มันก็รู้สึกเป็นตัวตนขึ้นมา ฉะนั้นมันจึงยึดมั่น ถือมั่น เป็นตัวตน หรือเป็นของตน เป็นตัวกู หรือเป็นของกู อย่างที่ปรากฏอยู่ แล้วก็เป็นปัญหา เป็นความทุกข์
นี่คือเรื่องอัตตา เรื่องอนัตตา โดยสังเขปที่สุด แต่ว่าสิ้นเชิงที่สุด ขอให้จำไว้ แล้วเอาไปขยายความ อยู่เรื่อย ๆ ไป ก็จะรู้พุทธศาสนา เพิ่มขึ้นทุกที ๆ ขอยุติการบรรยายครั้งนี้ เพียงเท่านี้