แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในวันนี้จะพูดโดยหัวข้อว่า ชีวิตแต่ละวัน ๆ มันแล้วแต่กิเลสหรือโพธิ ในความเป็นคนของเรา แต่ละวัน แต่ละวันนั้น มันแล้วแต่กิเลสหรือโพธิ ข้อนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับของจริง คือ ชีวิตเราแต่ละวัน ๆ บางเวลาจิตประกอบอยู่ด้วยกิเลส บางเวลาจิตประกอบอยู่ด้วยโพธิ แม้เป็นเรื่องที่ ไม่ต้องอธิบายกันให้ ละเอียดละออ อะไรมากมายนัก ที่เกี่ยวกับว่า จิตนี้มันคืออะไร หรือจิตนี้มันอยู่ที่ตรงไหน ควรจะรู้เสียก่อน ว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่า จิตนั่น คือ สิ่งที่มันรู้สึกได้ คิดนึกได้ รู้สึกได้ คิดนึกได้สิ่งนั้นนะ คือ จิต
แต่ในทางธรรมะนี่ ไม่ต้องไปเอามาดูไปเอามา แยกแยะดูอย่างกับในห้องทดลอง เราก็รู้สึกได้ว่า จิตนี้คิดนึกได้ มีสิ่งที่คิดนึกได้ มันจะอยู่ที่ตรงไหนนั้น มันไม่สำคัญ มันไม่ต้องรู้ มันไม่ใช่เรื่องของธรรมะ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติส่วนนั้น เอาเป็นว่า มันมีสิ่งที่เรียกว่า จิต ถ้าจะถามว่ามันอยู่ที่ไหน อยู่ไหน โดยกว้าง ๆ คัมภีร์อธิบายเรื่องนี้ ว่าอยู่ที่หัวใจ แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัส พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่า จิตนี้ คือหัวใจ หรืออยู่ที่หัวใจ คำอธิบายอรรถคถาชั้นหลัง ๆ นี้ก็อธิบายกันว่า จิตนี้อยู่ที่หัวใจ สำนักงานอยู่ที่หัวใจ จิตอาศัยอยู่ที่หัวใจ
เดี๋ยวนี้เราก็เป็นที่รู้กันแล้ว โดยไม่ต้องเถียงกันอีกในเรื่องนี้ ว่ามันอยู่ที่สมอง ส่วนที่เรียกว่าสมอง เราศึกษาค้นคว้า พิสูจน์ทดลองมันก็พอแล้ว ที่ว่าใอ้ส่วนที่เป็นสมองนี้ เป็นที่ตั้งที่ทำงานของจิต คิดนึก รู้สึกอะไรต่าง ๆ เป็นอันว่า ไม่เอาตามพระคัมภีร์อรรถคถา เหล่านั้น เอาอย่างที่เรารู้สึกได้ พอจะเห็นได้ เข้าใจได้ว่า จิตนี้มันมีสำนักงานของมันอยู่ที่สมอง แต่มันจะอยู่ที่ไหนก็ไม่สำคัญนะ มันสำคัญอยู่แต่ที่ว่า มันเป็นสิ่งที่รู้สึกคิดนึกได้ และมันก็ไม่ใช่วัตถุ มันเป็นนามธรรม จับตัวมันไม่ได้ แล้วมันก็ว่องไว เหลือประมาณนะ ไอ้สิ่งที่เรียกว่า จิตนี่เป็นสิ่งที่ว่องไวเหลือประมาณ แล้วก็เปลี่ยนแปลงอยู่อย่างที่ เรียกว่า ผลุบผลับ ๆ ตามที่มันมีสิ่งมากระทบ
ทีนี้คนเราละคน ๆ นี่ก็มีสิ่งที่เรียกว่า จิต และจิตนั้นก็คิดนึกรู้สึก ได้เป็น ๒ อย่าง คือถ้าความว่า มันเป็นรู้สึกคิดนึกผิด ผิดๆ เป็นมิจฉาทิฐิ ก็เรียกว่า เป็นฝ่ายกิเลส จิตเวลานั้นอยู่ด้วยกิเลส มีกิเลสจิตของกิเลส แต่บางเวลาบางโอกาส มันก็อยู่ด้วยความคิดนึกรู้สึกที่ไม่ผิด ที่ถูกต้องตามความจริงของธรรมชาติ ขณะนั้น เราก็เรียกว่า จิตมันมีโพธิ มันอยู่ด้วยโพธิ นี่หมายความว่า จิตเป็นของกลาง เป็นของกลาง มันก็เป็นของที่ ทรงตัวอยู่ได้ด้วยการเกิดดับ เกิดดับ ๆ ไม่มีความรู้สึกคิดนึกอะไรก่อน คือพูดได้ว่าพวกนามธรรมนี้ มันก็มีการเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ อย่างถี่ยิบ จนกำหนดไม่ได้ว่าเกิดดับ เห็นเป็นของที่โชติช่วง อยู่เหมือน ตลอดไปนี่ มันมีการเกิดดับตั้งพันครั้ง ตั้งพันแปดร้อยครั้งโดยมาก ถ้าเครื่อง generator ต่อนาที ต่อวินาที แต่เราก็ไม่เห็นว่ามันเกิดดับ เกิดดับ เพราะมันมาติดถี่กันจนไม่เห็นระยะที่มันเกิดดับ ๆ นี่ก็เหมือนกันตาม ธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เกิดดับ ๆ และติดต่อกันอย่างไม่เห็น ไม่รู้สึก ได้ว่าเกิดดับ ๆ เหมือนกับว่า มันก็โชติช่วงอยู่
ทีนี้มันมี สิ่งที่จะเข้าไปประกอบกับจิต ให้เกิดเป็นรูป ความรู้สึกนึกคิดอะไร อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา อันนี้ ก็เรียกว่า เจตสิก ชาวบ้านไม่ค่อยได้ยิน ไม่ค่อยได้ฟัง หรือไม่ค่อยจะรู้เรื่องคำว่า เจตสิก เมื่อจิตล้วน ๆ ไม่มีความรู้สึกอะไร ไม่มีความหมายอะไร ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า เจตสิกนี่ประกอบเข้าไปกับจิต แล้วจิตนั้นก็จะ รู้สึกนึกคิดอะไรไปตาม สิ่งที่เรียกว่า เจตสิกนั้น นี้เจตสิกนั้น มีเป็น ๒ ฝ่าย อย่างที่กล่าวแล้ว เป็นเจตสิก ฝ่ายกิเลส คือ ฝ่ายรู้สึกผิด เข้าใจผิด เห็นผิด อะไรผิด นี่มันฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งถูก รู้สึกถูก เข้าใจถูก เห็นถูก นี่ฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายผิด เรียกว่า กิเลสก็ทำให้เศร้าหมอง ฝ่ายถูก เรียกว่า โพธิ เพราะทำให้รู้ นี่่มันแล้วแต่เหตุ แล้วแต่ปัจจัยนั่น อะไรที่จะเข้ามาปรุงจิต แล้วเจตสิกอันไหนจะเข้ามาปรุงจิต
ทีนี้ก็ต้องรู้ถึงเรื่อง เกี่ยวกับธรรมชาติของมัน อาศัยสิ่งภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นจะต้อง รู้จักไอ้สิ่งตัวการ ที่จะทำให้มีเรื่องมีราวนั้น กันไว้เสียด้วยว่า ในโลกนี้มันมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ รูป คือ สิ่งที่จะรู้สึกได้ด้วยตา เสียง คือ สิ่งที่จะรู้สึกได้ด้วยหู กลิ่น สิ่งที่จะรู้สึกได้ด้วยจมูก รส สิ่งที่จะรู้สึกได้ด้วยลิ้น โผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะ คือ สิ่งที่จะรู้สึกได้โดยทางผิวหนัง ทั่วไปทั้งตัว แล้วก็ ธรรมารมณ์ คือ สิ่งที่จะรู้สึกได้ด้วยจิตนั้นเอง นั้นนะรู้เรื่องว่า ในโลกนี้มันมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แล้วก็ในร่างกายคนนี้ มันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างด้วยกัน เหมือนกัน มันจึงจับคู่ได้กัน เป็นคู่ ๆ
เมื่ออยู่ในโลกนี้ มันก็หลีกไม่พ้น ที่จะไม่ต้องมีการกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ สมมุติว่ากรณีนี้ มันเป็นเรื่องทางตา นี่คือรูปมากระทบตา รูปมากระทบตา คือ ตาเห็นรูป เรียกว่า รูปกระทบตา ก็เกิดจักขุวิญญาณ คือ วิญญาณทางตา จิตที่เกิดขึ้นทำหน้าที่ทางตา เรียกว่า จักขุวิญญาณ จิตทำหน้าที่รู้สึก เรียกว่า จักขุวิญญาณ เมื่อจิตรู้สึกต่อรูปที่มากระทบตา ก็เรียกว่า ผัสสะทางตา ผัสสะทางตา มันเป็นอาการ เป็นสถานะกันของจิตทางตา เรียกว่า ผัสสะทางตาหรือจักขุสัมผัส คือ มีสัมผัสแล้ว มันก็ปรุง จักขุสัมผัส ปรุงให้เกิดเวทนาที่มาจากจักขุสัมผัส เวทนา เรียกว่า ความรู้สึกหลังจากสัมผัส เรียกว่า เวทนา เช่นว่า สวยน่าพอใจ หรือว่าไม่สวย ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจนี้ เป็นต้น นี่เรียกว่าเวทนา สบายแก่ตา หรือไม่สบาย แก่ตา เรียกว่า เวทนา
ทีนี้ตรงนี้ ที่เป็นเรื่องที่ว่า มันจะเกิดอะไรต่อไป ในลักษณะที่เป็นกิเลสหรือเป็นโพธิ ถ้าบุคคลนั้น เป็นคนธรรมดา เป็นคนโง่ มันก็เกิดกิเลส คือ ความรู้สึกที่ไม่ถูกต้อง ถ้ารูปสวยก็หลงรัก ยึดเอาเป็นรูปสวย สบายแก่ตา ถ้ารูปไม่สวยไม่สบายแก่ตา มันก็เกิดความรู้สึก ที่ตรงกันข้าม แต่ถึงอย่างนั้น ก็เรียกว่า เป็นความรู้สึกที่ผิด เพราะไปรู้สึกว่าสวยหรือไม่สวย ใครก็ตามเกิดมาในโลก มันไม่มีความรู้อย่างอื่นหรอก มันก็มีความรู้ตามที่รู้ ๆ กันสอนกันมา อบรมกันมาว่า สวยหรือไม่สวย น่ารักหรือไม่น่ารัก น่าพอใจหรือไม่น่า พอใจ นี่พวกเวทนาก็เกิดขึ้น เวทนาก็คือตัวเจตสิก ผัสสะก็คือตัวเจตสิก เกิดขึ้นกับจิตปรุงจิต เวทนาก็คือ ตัวเจตสิก เกิดขึ้นกับจิต
ทีนี้เมื่อปรุงเป็นเวทนาแล้ว มันก็ปรุงต่อไปเป็นตันหา ซึ่งเป็นเจตสิกอีกเหมือนกัน ที่ปรุงขึ้นเป็น ความอยาก ถ้าสวยหรือน่ารักน่าพอใจ ก็อยากจะได้ อยากจะเอา อยากจะยึดครอง อยากจะมี ถ้ามันไม่สวย มันก็ไม่สบายแก่ตา มันก็อยากในทางที่จะให้พ้นไปเสีย อยากที่จะทำลายเสีย หรือว่าอยากจะไม่รอหน้า คือ อยากไม่เอา นี่เจตสิกอันนี้ ๒ อย่างนี้ ไม่อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมากนะ มันจะเกิดขึ้น แต่ว่าเป็นฝ่ายกิเลส ทั้งนั้น คือ ฝ่ายผิดทั้งนั้น ความรู้สึกเกิดขึ้น แบบน่ารักและจะเอา ก็เป็นฝ่ายกิเลส ความรู้สึกแบบที่ว่าน่าเกลียด ไม่อยากจะเอา ก็เป็นฝ่ายกิเลส นี่กิเลสก็ได้เกิดขึ้นแล้วแก่จิต
ทีนี้โพธิไม่มี ไม่รู้อยู่ที่ไหน เพราะว่าไอ้คนเหล่านี้ เกิดมาจากท้องแม่ นี่มันไม่ได้ศึกษามาจาก ในท้องแม่ และสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่น่ารักหรือไม่ใช่ไม่น่ารัก สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เป็นไปตามกฎ ของอิทัปปัจจยตา และอารมณ์ที่มากระทบตานั้น มีผัสสะ มีเวทนานี้ เป็นการปรุงแต่ง ไปตามกฎของ อิทัปปัจจยตา คนโง่ก็ไปบัญญัติว่าสวยในบางกรณี บัญญัติว่าไม่สวยในบางกรณี มันจึงเกิดความอยากขึ้นมา ตามสมควรแก่กรณี ถ้ามันมีความรู้สึก ขึ้นมาว่า โอ้, เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา ตามกฎอิทัปปัจจยตานั้น นี่คือ โพธิ
ทีนี้คุณคิดดูซิว่าเด็กคนไหน ที่มันเกิดมาร้องแล้ว มันจะไม่มีความรู้อย่างนี้ติดมาด้วย ดังนั้นมันก็มีแต่ เครื่องหลอกให้โง่ให้หลงคือฝ่ายกิเลส แล้วก็อยากที่จะได้เมื่อน่ารัก อยากที่จะทำลาย อยากจะไปเสียให้พ้น เมื่อไม่น่ารัก อย่างนั้นมีแต่กิเลส ต่อเมื่อได้ยินได้ฟังคำสอนของพระอริยเจ้า ว่า โอ้, มันเป็นอย่างนั้นเอง มันเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตาอย่างนั้นเอง เมื่อสัมผัสแล้ว มันก็ปรุงขึ้นมาอย่างนั้นเอง ไอ้ที่สวยและ ที่ไม่สวยนั้นนะ มันเป็นความคิดนึกเอาเองตามความโง่ ตามความที่ไม่รู้ ทีนี้ถ้าต่อมา ๆ เด็กคนนี้หรือว่า คนหนุ่มคนนี้ มันได้ศึกษาได้ยิน ได้ฟังคำของพระอริยเจ้าหรือมันจะค่อย ๆ สังเกต รู้สึกเอาเองได้บ้างก็ได้ เหมือนกัน ว่า โอ,้ มันเป็นธรรมชาติอย่างนี้เอง เป็นธรรมชาติอย่างนี้เรื่อย กูจะไม่ไปรักที่น่ารัก จะไม่ไปเกลียด ที่น่าเกลียด
นี่เรื่องของโพธิ โพธิปัญญามันก็ตั้งต้น นี่ก็เป็นเจตสิก โพธิก็เป็นเจตสิก หรือว่าสิ่งที่จะประกอบจิต เรียกว่า เจตสิกทั้งนั้น แต่ถ้าว่าเป็นเรื่องที่ไม่ลึกซึ้งนัก เราก็จะจับความรู้สึกได้เองว่า ไม่ต้องไปหลงรัก หลงเกลียด ไม่ต้องไปหลงรัก หลงเกลียด เขาก็ค่อยไปรู้จักขึ้นมาได้ด้วยตัวเองว่า ไปหลงรักหลงเกลียดทีไร แล้วมันเหมือนกับถูกตัด ถูกเผา ถูกทำอันตราย นี่จึงไม่อยากหลงรักหรือหลงเกลียด อยากจะอยู่เฉย ๆ อยากจะรู้ว่าต้องทำอะไรไหม จะต้องทำอย่างไรไหม ถ้าจะต้องทำอย่างไรก็ทำ ถ้าไม่ต้องทำอะไร ก็ปล่อย ไว้เฉย ๆ ถ้ามีอะไรที่ต้องทำ ก็ทำไปชนิดที่จะไม่ต้องเกิดความทุกข์แก่ แก่เรา
นี่โพธิ มันก็ค่อย ๆ มีขึ้นมา หรือว่าอยู่ในโลก นานเข้ามันก็จะพอรู้ขึ้นมาบ้าง เองว่าในกรณีอย่างนี้ มันคืออย่างนี้ ไม่ใช่ลึกลับ หรือน่าอัศจรรย์ หรือน่าพิศวงอะไร โพธิมันก็ค่อย ๆ งอกงามขึ้นมา แต่แล้วฝ่ายที่ เป็นกิเลสนั้น มันก็ยังอยู่เหมือนตอนนี้ มันก็เกิดดึงกันน่ะเหมือนกับชักคะเย่อกัน ระหว่างกิเลสกับโพธิ ถ้ามันเป็นโชคดีที่บุคคลนี้ มันได้ยินได้ฟังธรรมะหรือคำสั่งสอนของพระอริยเจ้า เลยได้ยินได้ฟังมาก ไปถึง เรื่องทำสติ ๆ คือ สำหรับจะระลึกให้ถูกต้องอยู่เสมอ ทำสติให้ระลึกถูกต้องอยู่เสมอได้ ไอ้ส่วนที่เป็นโพธิ มันก็จะได้โอกาสมากขึ้น ส่วนที่เป็นกิเลส มันก็จะค่อย ๆ หมดโอกาส ก็แปลว่า มันดีขึ้น มันดีขึ้น
ทีนี้ี่ถ้าว่าเขามีอายุยืนยาว เป็นผู้ใหญ่อายุมากเข้า ๆ มันรู้ รู้สึกต่อสิ่งเหล่านี้ ด้วยตนเองโดยมากขึ้น ๆ มันก็พอที่จะควบคุม อย่าให้ไปหลงรักหลงเกลียด ให้ปกติอยู่ ถ้าจะต้องทำก็ทำไปโดยไม่ต้องรู้สึกรัก หรือรู้สึก เกลียด ถ้ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำนะ ก็ต้องเป็นการเป็นงานที่จะต้องทำ มันก็ทำ ถ้ามันไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำ มันก็ไม่ ต้องทำ มันก็หยุดอยู่ นี่ชีวิตของคนเรา มันแล้วแต่ว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับจิต คือโพธิเกิดกับจิตหรือกิเลส เกิดกับจิต
ทีนี้ถ้าว่าไม่รุนแรงถึงขนาดเป็นโพธิหรือเป็นกิเลส มันก็ยังมีขุยของกิเลส ที่เรียกว่านิวรณ์ นิวรณ์ นิวรณ์ก็อยู่ ในเครือของกิเลสนะ แต่ไม่ใช่ตัวกิเลส โดยสมบูรณ์ เรื่องนิวรณ์นี่ เป็นเรื่องที่ควรรู้จัก เป็นเรื่องแรกก่อน เรื่องใด ๆ ในการศึกษาธรรมะ ผมรู้สึกอย่างนั้น แต่เขาก็ไม่ทำกันอย่างนั้น ไม่ได้สอน เรื่องนิวรณ์ นิวรณ์นี้ก็ ไม่ใช่ลึกลับอะไร คือ ความรู้สึกที่เกิดมาจากอนุสัย และความเคยชินของกิเลส อนุสัยความเคยชินของกิเลส เก็บอยู่ในสันดาน จากอนุสัยนั้นนะ ก็ส่งออกมาเป็นนิวรณ์ ๕ ประการ กามฉันท์ ข้อที่ ๑ กามฉันท์ ความรู้สึกที่มันน้อมเอียง ไปในทางเพศหรือเพศตรงกันข้าม ตัวที่ ๒ ก็พยาบาท ที่อึดมา ไม่ชอบขัดใจอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ แล้วก็ถีนมิทธะจิตอ่อนเพลีย หดหู่อ่อนเพลีย อุทธัจจกุกกุจจะ ฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่าน รำคาญ และวิจิกิจฉา ลังเล ๆ
ผมขอร้องให้สนใจ ซึ่งนิวรณ์ ๕ ของตน ๆ ให้ ให้ ให้รู้จักชัดเจนเต็มที่ บางเวลา มันเกิดความรู้สึก โน้มเอียง ไปในทางเรื่องเพศตรงกันข้ามขึ้นมา อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย แต่ไม่ได้รุนแรงนะ ไม่ได้รุนแรงเหมือนกับ กระทบกันโดยตรง อย่างนี้ก็เพราะว่า มันเป็นธรรมชาติ ในตัวธรรมชาติ ในร่างกายชีวิตนี้ มันมีเรื่อง เกี่ยวกับทางเพศ แล้วก็เคยมีกิเลสทางเพศ และความเคยชินนั้นเหลืออยู่ เกิดความรู้สึกทางเพศ
ในเมื่ออายุมันโตพอสมควร ที่มันจะมีความรู้สึกทางเพศ พอความรู้สึกทางเพศเกิดขึ้น จิตมันก็ ก็เป็นฝ่ายกิเลสนะ คือ เป็นฝ่ายที่ไม่สะอาด ไม่ว่าง ไม่โปร่ง ไม่สงบ ไม่เย็น ข้อนี้เรียนเอาเอง จากความรู้สึกสิ ไม่ต้องอาศัยคำพูดเหล่านี้นัก พอเมื่อเป็นหนุ่มขึ้นมาแล้ว ก็มีความรู้สึกทางเพศ บางทีจะเรียนหนังสือ จะอ่านหนังสือ ไอ้ความรู้สึกทางเพศ ก็แทรกแซงเสียแล้ว มีหยิบจะทำงานอะไร อย่างละเอียดประณีต สักหน่อย ความรู้สึกทางเพศก็แทรกแซงเสียแล้ว ก็ทำไม่ได้ นั่นน่ะก็คือนิวรณ์ นิวรณ์ออกมาจากส่วนลึก เรียกว่า มันเหมือนกับขุย ๆ ควัน ๆ ขึ้นมากรุ่น ๆ มาจากอนุสัย คือ ความเคยชินแห่งกิเลสที่เก็บไว้ส่วนหนึ่ง พวกราคานุสัย
ที่นี้บางเวลา มันเกิดรู้สึกไม่ชอบใจอะไร อย่างไม่มีเหตุผลก็ได้ อย่างไม่รู้ว่าอะไรก็ได้ มันก็เกิดจิต ที่อึดอัดไม่พอใจ ๆ มีความโกรธ โกรธอะไรก็ไม่รู้ นี่เรียกว่า ความอึดอัดขัดเคืองเกิดขึ้นมาได้ เหมือนกัน เท่า ๆ กันนะแหละ กับที่จะเกิดขึ้นมา เป็นความรู้สึกกามอารมณ์ นี้ก็เรียกว่า นิวรณ์ ยิ่งเป็นคนมีเรื่องมีราวกับใคร ค้าง ค้างคากันอยู่ด้วยแล้ว ยิ่งเกิดมากที่สุดนะ ความรู้สึกที่เกลียดชัง มันก็มารบกวน ๆ ทีนี้บางที เพลีย จิตอ่อนเพลีย ละเหี่ยละห้อย มึนชา ง่วงซึมทำอะไรก็ไม่ได้ เรียนหนังสือก็ไม่ได้ นั่นก็คือนิวรณ์ บางเวลาก็ ฟุ้งซ่าน ๆ เหมือนกับจะเป็นบ้า เหมือนกับจะเป็นบ้า นี่ก็เรียกว่า นิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจะ
ตัวสุดท้ายนี่ คือ ความที่จิตนี้ลังเล ลังเลสงสัยไปเสียหมด คือ ความไม่แน่ใจว่าถูกต้องแล้ว ไม่แน่ใจว่า ปลอดภัยแล้ว ไม่แน่ใจว่าเราจะประสบความสำเร็จ ไม่แน่ใจว่าเราจะสอบไล่ได้ อย่างนี้เป็นต้น กระทั่งมีความ ไม่แน่ใจในชีวิต ในอนาคตยืดยาวไปโน่น นั่นเรียกว่า วิจิกิจฉาหรือลังเล ไม่เป็นตัวกิเลส แต่เกิดมาจาก ไอ้ความเคยชินแห่งกิเลส ที่เก็บไว้ในสันดานส่วนลึก แล้วก็ออกมาในลักษณะน้อย ๆ ไม่เต็มขนาดของกิเลส กามฉันท์ก็มาจากราคานุสัย อัพยาบาทก็มาจากปฏิฆานุสัย (นาทีที่ 28:40) ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ๓ อย่างนี้ ก็มาจากอวิชชานุสัย เคยชินของกิเลส ที่เก็บไว้ในสันดานนะ มันส่งขึ้นมา มันส่งขึ้นมา ก็มีเหตุปัจจัยบ้างพอสมควรแหละ ที่มันจะส่งอะไรขึ้นมา
ตรงนี้บางคนจะยังไม่ทราบว่า พอเราเกิดกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่ง ครั้งหนึ่งนะ เมื่อกิเลสนั้นดับไปแล้ว มันก็เหลืออนุสัยเก็บไว้เป็นความเคยชิน ในส่วนลึกของสันดาน ถ้าเราเกิดกิเลสประเภทราคะ หรือโลภะ ครั้งหนึ่งดับไปแล้ว มันก็เก็บราคานุสัยความเคยชิน ที่จะเกิดกิเลสประเภทราคะหรือโลภะ ไว้ในสันดาน หน่วยหนึ่ง เราโกรธเคืองอะไรขึ้นครั้งหนึ่งดับไปแล้ว มันก็เก็บความเคยชิน ที่จะโกรธเคืองนั้นนะ เรียกว่า ปฏิฆานุสัย (นาทีที 29:56) ไว้ในสันดาน ที่เราโง่ เราโง่ โง่ โง่ ๆ เป็นกิเลสโง่ครั้งหนึ่งดับไปแล้ว มันก็เกิด มันก็เก็บอวิชชานุสัย ไว้ในสันดาน ก็เรียกว่า ในสันดานนั้นนะ มันพร้อมที่จะมีอนุสัย แล้วมันก็ออกมา เป็นนิวรณ์
รู้จักนิวรณ์นี่ รู้จักนิวรณ์ ว่าเป็นสิ่งที่รบกวนความสงบสุขที่สุด นี่เป็นเรื่องที่ ไม่ได้เกิด เพราะการ กระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอะไรเลย เป็นนิวรณ์เหมือนกับไอ ไอครุ่นขึ้นมา ออกเป็นควันขึ้นมา จากอนุสัย ดังนั้นนิวรณ์นี้ มันไม่ถึงกับเป็นกิเลส แต่มันเป็นพวกของกิเลส มันเป็นไออุ่น ที่พุ่งขึ้นมาจากอนุสัย เป็นความเคยชินของกิเลส ที่มีอยู่ในส่วนลึกของสันดาน นี่เรียกว่า กิเลส ที่ไม่ ไม่ ไม่ ไม่เป็นกิเลสโดยสมบูรณ จึงเรียกว่า นิวรณ์
ที่เป็นกิเลสโดยสมบูรณ์ ก็คือว่า กระทบทางตา ทางหู เป็นต้น แล้วเป็นผัสสะแล้ว เป็นเวทนา ครั้นเป็นเวทนาแล้ว นี่มันก็จะเกิดตัณหา คือ โลภะอยากได้อยากเอา หรือว่าวิภว(นาทีที่ 31:37) ไม่อยากได้ ไม่อยากเอา หรือว่าอยากจะทำลาย ทำลายทุบตี ทำลายที่เป็นกิเลส เป็นรูปเป็นขนาด ที่จะเรียกว่า กิเลส ถ้าเกิดเวทนาแล้ว ปุถุชนคนนั้นนะ ไม่มีสติปัญญาก็ต้องเกิดกิเลสไง เพื่อประกอบจิต แต่ถ้าคนนั้นเป็นสัตบุรุษ และได้ศึกษามามาก สังเกตมามาก เขาก็รู้เท่าทันไ ม่ไปหลงรัก ไม่ไปหลงเกลียดหลงโกรธ อะไรกับไอ้สิ่งที่ เป็นเวทนานั้น เป็นเวทนาน่ารักก็ไม่รัก เวทนาน่าเกลียดก็ไม่เกลียด น่ากลัวก็ไม่กลัว เพราะมันมีโพธิ เจตสิกฝ่ายโพธิมาทัน แล้วก็ช่วยป้องกันไว้ได้
ทีนี้โพธิไม่มี ก็ได้เป็นโอกาสของกิเลส กิเลสก็มาสวมครองบังลังค์ ยึดครอง มันก็เกิดความรู้สึก ที่เป็นกิเลส ถ้าเป็นกิเลสอย่างใด ก็ตามโลภะก็ตาม โทสะก็ตาม โมหะก็ตาม มันก็เป็นไปเพื่อทุกข์ คือ เกิดตัณหาที่เป็นกิเลสแล้ว ทีนี้มันก็เกิดอุปาทาน ตัวเป็นตน ว่าเป็นตัวกู ผู้อยากผู้ได้ ผู้จะเอา ผู้จะกิน ผู้อะไร ต่าง ๆ นี่เป็น อุปาทาน ก็เป็นภพ เป็นชาติ เป็นตัวตน ที่มีความรู้สึกรุนแรง ที่จะเป็นตัวตน ที่จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนี้ จะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้ จนเอา เอา เอาไอ้ธรรมชาติ มาเป็นตน มาเป็นของตนอย่างนี้ เอาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มาเป็นของตน หรืออะไร ๆ ที่จะเกิดขึ้น เป็นความรู้สึกอย่างไร ก็เอามาเป็นตน เป็นของตน มันก็มีทุกข์ มีความทุกข์ นี้เป็นไปฝ่ายกิเลส ถ้าเป็นไปฝ่ายโพธิ มันก็หยุด หยุด เหลือแค่เวทนานั้น ไม่ต้องเกิดตัณหา หรือถ้าว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องประพฤติ ต้องกระทำ เพราะเป็นหน้าที่ หรือเพราะเป็นสิ่งที่ควรทำ มันก็ทำตาม ความรู้สึกของโพธิ ก็เลยไม่ต้องเป็นทุกข์
ทีนี้ขอให้สังเกตดูให้ดีว่า ชีวิตของคนเรา ของเราแต่ละวัน ละวันนะ มันก็เป็นการดึงกัน ระหว่าง กิเลสกับโพธินี้เป็นหลัก ชีวิตคนเราแต่ละวัน ถ้ากิเลสยึดครองมันก็ไปตามแบบกิเลส ถ้าโพธิยึดครองไป ตามแบบโพธิ แล้วมันก็ดึงกัน บางทีก็ดึงกัน
นี้ถ้าว่าเราจะแก้ปัญหานี้ เราก็ศึกษาการปฏิบัติ ที่จะควบคุมจิต ไว้แต่ในฝ่ายที่จะเป็นโพธิ คือ การปฏิบัติสมถะ วิปัสสนากรรมฐานในแบบนี้แหละ เมื่อฝึกฝนดีแล้ว มันก็ทำให้มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา มาต่อต้าน ไม่ให้โอกาสแก่กิเลส แต่ให้โอกาสแก่โพธิ
เรื่องที่พูดนี้ ให้หัวข้อว่า มันแล้วแต่กิเลสหรือโพธิ คุณฟังให้ดี ธรรมดาชีวิตคนเรานี่ มันก็คือ การต่อสู้กัน ระหว่างกิเลสกับโพธิ เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือถ้าไม่มีอารมณ์ เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ต่อสู้กันอยู่กับนิวรณ์ กับพวกนิวรณ์อย่างที่ว่า นิวรณ์ ๕ ที่ปรุง ขึ้นมาจากอนุสัยในสันดาน นี่มันน่าสังเวช น่าสังเวชสักเท่าไหร่ ถ้าไม่มีกิเลสโดยตรง ก็มีนิวรณ์รบกวน ทุกคน เด็ก ผู้ใหญ่ หญิง ชาย อะไรก็ตาม มีสิ่งที่เรียกว่า นิวรณ์ ๕ รบกวนอยู่เป็นประจำ แต่เขาไม่รู้เรื่องนี้ เขาไม่สนใจจะรู้ และเขาก็ว่าไม่ต้องรู้ก็ได้ อะไรเกิดขึ้น เขาก็ทำไปตามความไม่รู้ ทำไปตามความไม่รู้
ลำพังนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ ถ้าเพียงแต่ทำสมาธิได้เท่านั้นนะ มันก็ระงับไป นิวรณ์ ๕ ที่รบกวนอยู่ เป็นประจำ เพียงแต่เราทำสมาธิขั้นต้น ๆ ได้เท่านั้น มันก็จะระงับไป เช่น ทำการกำหนดลมหายใจออกเข้า ออกเข้า อย่างดี ๆ อยู่อย่างนี้ ก็ นิวรณ์ก็ไม่เกิด ถ้านิวรณ์กำลังเกิดอยู่ มันก็ไล่ไป มันก็ขับไล่ไป การทำสมาธิ ในขั้นต้น มีผลที่ว่า ป้องกันไม่ให้นิวรณ์เกิด ถ้านิวรณ์เกิดแล้วขับไล่ไป แล้วก็พ้น ๆ จากศัตรูออกไปด่านหนึ่ง แล้ว ทีนี้ก็เหลือ แต่ไอ้กิเลสโดยตรงนี่ ที่จะเข้ามา ที่จะเกิดขึ้นโดยอาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้มันเป็น เรื่องใหญ่นะ มันมีทั้งตา หู จมูก ลิ้น กายใจตั้ง ๖ ๖ ทางที่จะเกิด แล้วในโลกนี้ก็เต็มไปด้วย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี่จึงเป็นการต่อสู้กันอย่างหนัก ต่อสู้กันอย่างหนัก ที่จะควบคุมสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ได้ อย่าให้เกิดกิเลส แต่ให้เกิดโพธิ
ไอ้โพธิหรือปัญญานี่ มันก็เป็นสิ่งที่มีเหตุมีปัจจัยเหมือนกันแหละ เป็นสังขาร มีเหตุมีปัจจัยด้วยกัน ทั้งนั้นนะ มันจะเกิดเองไม่ได้ ต้องพยายามกระทำ ก็เรียกว่า พัฒนาหรือว่าภาวนานะ ภาวนา ทำให้มีขึ้นมา แล้วก็ปฏิบัติสมถะ และวิปัสสนาโดยเฉพาะ เมื่อทำวิปัสสนาโดยเฉพาะ อยู่มันก็เป็นการพอกพูนโพธิ ให้มันมากขึ้น หรือว่าปลูกต้นโพธิในจิตใจให้ มันงอกงาม เจริญเบิกบานเต็มที่ด้วย วิปัสสนานั้น
วิปัสสนาเป็นอย่างไรนั้น มันมีเรื่องยืดยาวต้องพูดคราวอื่น ให้รู้ไว้เถิดว่า ที่ว่าเจริญวิปัสสนานั้น ก็คือทำจิตให้เป็นสมาธิแล้ว มองเห็นความจริงของสิ่งทั้งปวงอยู่ด้วยปัญญา จิตเป็นสมาธิแล้วน้อมจิต ไปเพื่อพิจารณา เห็นความจริงทั้งสิ่งทั้งปวงอยู่ด้วยปัญญา นี่ถ้าทำอยู่อย่างนี้ ทำอยู่อย่างนี้ทุกวัน ๆ ไอ้ความรู้ ประเภทโพธิมันก็เจริญงอกงาม แล้วมันยังจะไวขึ้นจะรวดเร็วขึ้น มันจะงอกงามมากขึ้นด้วย แล้วมันจะไวขึ้น มันไปอยู่ในรูปของสติ ปัญญาที่มาทันเหตุการณ์นั้น ก็เรียกว่า สติ เมื่อรู้สึกอยู่ต่อเหตุการณ์นั้น เรียกว่า สัมปชัญญะ
ขอให้ฝึกทั้งสมถะและวิปัสสนานี้ ให้ถูกต้อง ให้ถูกทางนั้นแล้ว ก็ให้เพียงพอน่ะ ก็จะได้เปรียบ ฝ่ายโพธิอย่างยิ่งเลย ไอ้โพธินี่จะเป็นสิ่งที่เกิดง่าย เกิดเร็ว เกิดทันเวลา เกิดได้มากพอ ที่จะมาขจัดการเกิด ของกิเลสออกไป ถ้าจะพูดอย่างอุปมาเปรียบเทียบ ก็ว่ามันเหมือนกับชิงเก้าอี้กัน จิตนี้เหมือนเก้าอี้ ที่ว่างอยู่ ถ้าเป็นโอกาสกิเลส กิเลสก็ยึดครอง ยึดครองจิตนั่งเก้าอี้ตัวนั้น แล้วก็บัญชาไป แต่ถ้าโพธิมันมีมากพอ มันก็มานั่งเก้าอี้ตัวนั้นแล้วก็บัญชาไป จิตของเรานั้นนะ มันไม่เป็นตัวเป็นตนอะไรมันเลย มันให้โอกาส ทั้งแก่กิเลสและทั้งแก่โพธิ แต่แล้วมันก็น่าหัวที่ว่า ไม่มีใครที่ไหนมาหรอก ที่มาช่วยจัดช่วยทำ มันก็เรื่อง ของจิตนั้นนะ ที่ประกอบด้วยโพธิ จิตที่ประกอบด้วยโพธิ มันจะเป็นผู้จัด ผู้ทำให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปอย่าง ถูกต้อง แล้วก็ไม่มีความทุกข์ ถ้ามิฉะนั้นแล้ว จิตที่เป็นกิเลสที่ประกอบด้วยกิเลสนะ มันก็จะทำหน้าที่ กิเลสพอกพูนกิเลส ส่งเสริมกิเลส จนเต็มไปด้วยความทุกข์ จนเต็มไปด้วยความทุกข์
นี่ลองใคร่ครวญ ให้เข้าใจเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องเบื้องต้น เป็นเรื่องเงื่อนต้น เป็น ก ขอ ก กา ที่จะเรียน ธรรมะ ในพระพุทธศาสนา รู้จักการต่อสู้แย่งกันครองจิต ระหว่างกิเลสกับโพธิ ถ้าไม่มีการต่อสู้กัน ระหว่าง กิเลสกับโพธิ ก็ยังมีเรื่องนิวรณ์ทั้ง ๕ มารบกวน นี่ชีวิตโดยแท้จริง เป็นอย่างไร ๆ ในชีวิตที่โดยแท้จริง ที่ปราศ จากธรรมะนั้นเป็นอย่างไร คือ ตามปกติ โดยปกต ิโดยธรรมดาก็ถูกรบกวนอยู่ด้วย นิวรณ์ทั้ง ๕ นั้นถ้ามี การรับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างใดอย่างหนึ่งเข้า มันก็เป็นการต่อสู้กันระหว่างกิเลสกับโพธิ แต่สำหรับคนธรรมดาสามัญนั้นนะ โพธิหายาก กิเลสครอบครองหมด ก็เลยเป็นเรื่องของกิเลส และเป็นเรื่อง ของความทุกข์ มีความทุกข์ เอาอะไร ๆ ที่ไม่ใช่ของตน เอามาเป็นตน แล้วก็เป็นความทุกข์
ถ้าได้รับคำสั่งสอนเรื่องนี้ กันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก คือ ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ๆ มันก็จะดีมาก คือว่าจะรู้จัก ต่อต้าน กิเลสและโพธิ เดี๋ยวนี้ไม่มี เขายังไม่มีพ่อแม่บิดามารดาอะไร ที่จะสอนเรื่องอย่างนี้แก่ลูกเด็ก ๆ หรือสอน มันก็คงฟังไม่ถูก ๆ ฉะนั้นจะต้องปล่อยให้มันไปตามธรรมชาติ ไปตามบุญตามกรรมของมันนะ คือ เกิดกิเลสและได้รับความทุกข์แล้วค่อย ๆ รู้จักเบื่อระอาต่อความทุกข์ แล้วก็มาสนใจ ในเรื่องป้องกันกิเลส ได้ ด้วยธรรมะ ด้วยโพธิ
ทีนี้ก็ลองคิดดูทีว่า ทุกคนที่มาบวชนี่ ไม่เคยรู้เรื่องนี้ แล้วมันก็เป็น เรื่องที่พ่ายแพ้แก่กิเลสมาเรื่อย ๆ เดี๋ยวนี้มาบวชแล้ว ๆ มันก็ควรจะได้รู้เรื่องนี้ สำหรับชีวิตในอนาคตต่อไปข้างหน้านั้นนะ มันจะเป็นไป ในทางที่น่าดูน่าเลื่อมใส น่าสรรเสริญ จึงพูดให้มองเห็นธรรมดา หรือธรรมชาติของชีวิตนี้กันเสีย แต่ละวัน ๆ มันแล้วแต่ว่า จะเกิดกิเลสหรือเกิดโพธิ แต่ส่วนมาก มันก็จะเกิดกิเลส ไม่ค่อยจะเกิดโพธิ เพราะไม่รู้เรื่อง
ฉะนั้นขอให้สนใจ ให้มากเป็นพิเศษ ที่จะให้รู้เรื่องของโพธิ นี้ก็ฝึกฝนให้มีสติ ให้มีสติสัมปชัญญะ มีสมาธิให้มากพอ จะสามารถมีโพธิ และใช้โพธิ เอาโพธิให้เกิดทันเวลา ที่เผชิญหน้ากับอารมณ์ ที่จะให้เกิด กิเลส หมายความว่า ให้ได้เปรียบของฝ่ายโพธิไว้นะ ให้โพธิเป็นฝ่ายที่ชิงเก้าอี้ คือ จิตนะมันนั่งครอง แล้วก็ บัญชา ไปตามลักษณะของโพธิ
ทีนี้มันก็มีวิธี ที่จะทำให้เป็นเช่นนั้น คือ ฝึกสมาธิ วิปัสสนาอย่างที่มีอยู่ในพระบาลีนั่นแหละ แบบที่ดีที่สุด คือ อานาปานัสสติจบขั้น ในอานาปานัสสติสูตร เป็นแบบที่ดีที่สุด ตรงเรื่อง ตรงราวที่สุด นี่ช่วยกันศึกษา อุตส่าห์ท่องหัวข้อ สวดมนต์แปลอานาปานัสสติสูตร ให้คล่องเสียก่อน วันหลังจะพูดให้ฟัง ในระหว่างนี้ ท่องตัวบทของอานาปานัสสติสูตร ให้แม่นยำเสียก่อน แล้วก็จะปฏิบัติไปตามนั้นนะ ไปตามนั้น
ทีนี้มันก็เป็นการ ได้เปรียบฝ่ายโพธิ ถ้าเรารู้เรื่องนี้ เราปฏิบัติอย่างนี้อยู่ มันก็เป็นการทำให้โพธิ ได้เปรียบ ได้โอกาสจะชนะฝ่ายกิเลสได้ตลอดไป ๆ นั่นหมายความว่า ที่แล้วมากิเลสเป็นผู้ยึดครองชีวิต เกือบจะทั้งหมด แต่พอเรารู้เรื่องนี้แล้ว ต่อไปนี้เราจะจัดให้โพธิ เป็นฝ่ายที่ยึดครองชีวิตเกือบทั้งหมด ก็คือทั้งหมด ถ้าให้มันครองชีวิต ให้โพธินะควบคุมชีวิตไปเรื่อย ๆ แล้วมันนั้นแหละ คือ การบรรลุมรรค ผล นิพพาน หมายความว่า กิเลสจะไม่มีโอกาสเกิด และก็ ก็จะไม่มีอนุสัย เพราะกิเลสมันไม่มีโอกาสเกิด มันก็ไม่เพิ่มอนุสัย เมื่อไม่เพิ่มอนุสัย อนุสัยมันก็ลด แล้วนิวรณ์มันก็จะไม่มีส่งออกมาจากอนุสัย เมื่ออนุสัย มันลด นิวรณ์มันก็ลด เมื่อทำลายอนุสัยได้ขาด นิวรณ์มันก็ลด อาสวะที่จะไหลออกมาเป็นกิเลสก็ไม่มี นี่เป็นอย่างนี้ ถ้าอนุสัยเต็มอัดอยู่ในสันดาน นิวรณ์ก็จะเกิดมาก อาสวะจะไหลกลับออกมา เป็นกิเลส อย่างเดิมอีก มันก็มาก
ทีนี้การสิ้นกิเลสนั้นนะ มันหมายถึง การสิ้นอนุสัย การสิ้นอนุสัย หมายถึง การสิ้นอาสวะ และการสิ้นอนุสัย ก็หมายความว่า ไม่มีที่เกิด ที่ส่งนิวรณ์ออกมา ไม่มีแหล่งที่จะส่งนิวรณ์ออกมาอีกต่อไป มันก็หมด หมดกันไปด้วยกันนะ นิวรณ์ก็ไม่มีกิเลส ก็ไม่เกิดอนุสัย เพราะอนุสัยมันหมด นี้เราต้องประพฤติ ปฏิบัติกัน ในลักษณะที่ป้องกันไว้ได้ ไม่ให้กิเลสเกิด การศึกษาทั้งหลาย ที่เป็นตัวพระพุทธศาสนา ที่ว่ากัน คืนก่อน หัวใจพุทธศาสนา มันก็คือ การปฏิบัติชนิดที่กิเลสเกิดไม่ได้ เพราะมีสติปัญญา มีอะไรมากพอ สัมปชัญญะมากพอ กิเลสเกิดไม่ได้ เมื่อกิเลสเกิดไม่ได้ เกิดไม่ได้มันก็หมดเหตุ หมดปัจจัยสำหรับจะเกิดต่อไป มันก็คือความสิ้นกิเลส แล้วก็ไม่ต้องนะ พูดถ้ามันสิ้นกิเลส มันก็ไม่มีความทุกข์ เพราะความทุกข์ มันมาจาก กิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเภทโมหะ ๆ ที่ทำให้ยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวกู เป็นของกูแล้ว ก็เกิดกิเลส อีกร้อยอย่าง พันอย่าง จากไอ้ความโง่ จากโมหะ จากอวิชชานั้นเอง
เอาละเป็นอันว่า เราได้พูดกันถึงเรื่องจริงของคนเรา ซึ่งรวมทั้งพวกเราทุกคนนี้ด้วย สิ่งที่เรียกว่า ชีวิต นั้นมันขึ้นอยู่กับของ ๒ สิ่ง คือ กิเลสและโพธิ แล้วแต่สิ่งไหน มันจะได้โอกาสยึดครองจิตใจ จิตนี้มันเป็น กลาง ๆ มันไม่เป็นดี ไม่เป็นชั่ว แล้วมันก็รู้สึกคิดนึกอะไรไม่ได้ รู้ว่าจิตล้วน ๆ นั้น มันรู้สึกคิดนึกอะไร ไม่ได้เว้นไว้แต่ ไอ้สิ่งที่เรียกว่า เจตสิกนะ เข้ามาประกอบกันเข้ากับจิต เจตสิกชนิดไหนเข้ามาประกอบกับจิต จิตก็คิดไปตามความหมายทั้งเจตสิกนั้น ถ้าเจตสิกคือความโลภเข้ามาครอบงำจิต จิตมันก็โลภ โลภ โลภ ทำอย่างโลภ ทำอย่างความโลภ แล้วก็โทสะเจตสิก เจตสิกชื่อโทสะเข้ามาครอบงำจิต จิตก็บันดาลโทสะ
เรื่องเจตสิกนี้มีมาก มีมากซึ่งเราจะ ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ทั้งหมด เรียนรู้แต่ที่มันเป็นแม่บทสำคัญ ๆ มันก็ไอ้ ๓ นั้นนะ คือราคะ โทสะ โมหะ ที่เป็นอย่างละเอียด เป็นอุปกรณ์ ก็เช่น สติ เจตสิกชื่อสติ มาปรุงจิตแล้ว จิตนั้นก็มีสติ หรือเจตสิกชื่อสัมปชัญญะ เข้ามาประกอบกับจิตแล้ว จิตนั้นก็มีสัมปชัญญะ หรือแม้ที่สุดแต่ เจตสิกชื่อหิริโอตตัปปะ หิริโอตตัปปะนี่เข้ามาปรุงจิตแล้ว จิตนั้นก็มีหิริ มีโอตตัปปะ
นั่นรู้ไว้เถอะว่า ลำพังจิตล้วน ๆ นั้นไม่มีความหมายอะไร ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า เจตสิกเข้ามาประกอบ กันเข้า ครั้งหนึ่งก็เป็นเรื่อง ๆ หนึ่ง มันก็มีความคิดนึกอย่างนั้นนะ ก็อย่างที่เจตสิกตัวนั้นนะ มันมีหน้าที่ อย่างไร มีลักษณะอย่างไร นี่เราก็ฝึกด้วยวิธีฝึกให้มีสติ เพื่อจะให้สติเข้ามาทันเวลา ที่กระทบกับอารมณ์ แล้วโพธินั่นก็จะได้โอกาส เมื่อมีการกระทบอารมณ์แล้ว มีสติแล้ว โพธิก็ได้โอกาส ที่จะมาควบคุม ควบคุม เรื่องนั้น ๆ สติจึงมีความสำคัญมาก
สตินี้ ต้องการใช้ในทุก ๆ กรณี อย่างที่ท่านกล่าวว่า สติสัพพัตถะ ปัตถิยา (นาทีที่ 56:06) สตินี่ เป็นสิ่งที่จำเป็น จะต้องมีใช้ในทุก ๆ กรณี ไม่ว่ากรณีไหน การฝึกให้สติมากพอ รวดเร็วพอ เป็นทางรอด เป็นหนทางรอด เราไม่เคยรู้เรื่องนี้ เราไม่เคยฝึก เราก็ต้องสนใจหน่อย สนใจให้เข้าใจ สนใจจนเข้าใจ แล้วจนฝึกได้ ให้เป็นคนมีสติ เป็นคนมีสติ ถ้าไม่มีสติ คือ เป็นคนโง่ เป็นคนหลง เป็นคนประมาท สิ่งที่เรียกว่า สตินั้น มันตรงกันข้ามกับความประมาท ความประมาทนี้ มันก็เหมือนกับโง่เง่า หลับหูหลับตา ไม่กระดุก กระดิก ไม่เคลื่อนไหว ก็เป็นเรื่องของความทุกข์
สติ มันก็คือ ส่วนของโพธิ ถ้าไม่มีสติโพธิก็ทำอะไรไม่ทันมาช่วยไม่ทัน สติที่ว่าระลึกได้ ระลึกได้ คือ ระลึกโพธิ ระลึกเอาโพธิมา ผมจึงเปรียบอุปมาว่า สตินะเหมือนกับเครื่องขนส่ง ยานที่ขนส่งอย่างรวดเร็ว พอเกิดอะไรขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก เป็นต้นนี้ สติขนส่ง คือรับเอาโพธิหรือปัญญามาทันท่วงที เข้าเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ควบคุมการปรุงแต่งของจิต เกี่ยวกับกรณีนี้ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดความทุกข์ เมื่อทำได้อย่างนี้ ชีวิตนี้มันก็เป็นไป แต่ฝ่ายโพธิโดยส่วนเดียว ไม่เป็นไปเพื่อกิเลส ไม่เปิดโอกาสให้กิเลส กลายเป็นไปเพื่อ เป็นไปเพื่อโพธิโดยส่วนเดียว มันก็ดิ่งแน่วไปหานิพพาน
เอาละเป็นอันว่า ได้บอกให้ทราบว่า ชีวิตแต่ละชีวิตนี้ มันขึ้นอยู่กับว่า มันจะเป็นกิเลสหรือเป็นโพธิ ถ้าไม่เกิดกิเลสหรือไม่เกิดโพธิ มันก็ยังถูกรบกวน อยู่ด้วยนิวรณ์ นี่เราก็ทำชนิดที่ให้มันเป็นโอกาสแห่งโพธิ ควบคุมจิต ไม่ให้โอกาสแก่กิเลส กิเลสก็เกิดไม่ได้ ความเคยชินแห่งกิเลส ที่เรียกว่า อนุสัยก็ลดลง ๆๆ ไอ้นิวรณ์ ทั้งหลายก็ลดลง ๆๆ ก็ได้ชีวิตใหม่
นี่ชีวิตใหม่ ชีวิตที่เป็นที่น่าพอใจ คือว่ามันเต็มไปด้วยโพธิ มันก็ไม่มีความทุกข์ ทั้งชนิดหยาบ ๆ และชนิดละเอียด ๆ ได้เวลาหมดแล้ว ขอให้กำหนดใจความสำคัญไว้ วันละข้อ ๆ วันหนึ่งข้อเดียวพอ วันนี้พูดเรื่องว่า แล้วแต่กิเลสหรือโพธิจะมายึดครองจิต แต่เรามีวิธีที่จะฝึกฝน ให้โพธินะควบคุมจิต หรือควบคุมชีวิต ได้ตามต้องการ ธรรมะนี้ไม่เหลือวิสัย ธรรมะนี้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ เพราะว่ามันเป็นกฎ ของธรรมชาติ ที่มีอยู่อย่างนั้นจริง ขอยุติการบรรยายวันนี้ ไว้เพียงเท่านี้