แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ จะได้พูดกันด้วยเรื่อง หัวใจของพระพุทธศาสนา ทุกคนไม่ ไม่ใช่ว่า จะเฉพาะพวกไหน ในบรรดาที่เป็นพุทธบริษัท แล้วก็จะต้อง รู้จักหัวใจของพุทธศาสนา สังเกตดูแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่ ยังฟั่นเฟื้อกันอยู่มาก อ้างข้อนั้น อ้างข้อนี้ อ้างข้อโน้น ว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา
เมื่อพูดถึงหัวใจ แล้วมันก็ต้องให้เป็นเรื่องของหัวใจจริง ๆ เดี๋ยวนี้ คนเค้ามาบัญญัติ หรือสมมุติ นั่นนี่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา หัวใจของพระไตรปิฎก หัวใจของอะไรต่าง ๆ นานา ผมก็เคยสนใจมามากหลาย ๑๐ ปีนะ ว่าอะไรเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ในที่สุดก็จับหัวใจได้ว่า การปฏิบัติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ ที่ดับทุกข์ได้
การปฏิบัติให้ถูกตามกฎ ของธรรมชาติ ที่ทำให้ดับทุกข์ได้ มันสั้น ๆ อย่างนี้ คือ หัวใจพุทธศาสนา เหลืออยู่เป็นการปฏิบัติ เมื่อการปฏิบัตินั้น ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ในเรื่องที่จะช่วยให้ดับทุกข์ได้ นี่คือ หัวใจของพุทธศาสนา จะขยายให้มากเรื่องมากราว เป็นนั่น เป็นนี่ มันก็ได้ ก็มีมากมาย แต่ไม่ถึงหัวใจของพุทธศาสนา
ถ้าจะเพ่งเล็งไปยัง พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันก็ไม่ได้หมายถึงว่า เป็นหัวใจของพุทธศาสนา นี่เป็นทุกเรื่องเสียด้วยซ้ำ เป็นทุกเรื่องพุทธศาสนา ถ้าจะเอากันที่ ๓ คำนี้ แล้วก็ต้องระบุ ไปยังสิ่งที่เรียกว่า พระธรรม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต้องเจาะจงลงไปที่คำว่า พระธรรม เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ที่เป็นปริยัติ เป็นหลักวิชา ก็เรื่องที่ถูกตามกฎของธรรมชาติ กล่าวไว้อย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ และดับทุกข์ได้
ที่นี้ถ้าเป็นปฏิบัติ ก็เป็นปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามกฎของธรรมชาติ และดับทุกข์ได้ ถ้าเป็นผล เกิดขึ้น ก็คือผลเป็นการดับทุกข์ได้ เพราะปฏิบัติถูกต้อง ตามกฎของธรรมชาติ นี่คือความหมาย ทั้งหมด ของคำว่า พระธรรม ส่วนพระพุทธและพระสงฆ์นั้น ยังไม่ต้องสนใจก็ได้
เราจะต้องระลึกถึงข้อ ที่พระองค์ตรัสว่า ตถาคตทั้งหลายจะเกิดขึ้น หรือจะไม่เกิดขึ้น ก็ตาม ธรรมธาตุนัั้น ก็มีอยู่ว่า สิ่งทั้งปวงมีเหตุ มีปัจจัย ปฏิบัติให้ถูกตามเหตุ ตามปัจจัย เพื่อดับทุกข์ มันก็ดับทุกข์ได้เท่านั้น หมายความว่า ไอ้หลักเกณฑ์หรือกฎเกณฑ์ ที่ปฏิบัติแล้วดับทุกข์ได้ มันมีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ใช่ว่ามี เพราะพระพุทธจ้าเกิดขึ้น หรือพระพุทธเจ้าไม่ได้เกิดขึ้น แล้วมันจะไม่มี พระพุทธเจ้าจะมีหรือจะไม่มี จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น กฎเกณฑ์อันนี้ก็ยังเป็น อยู่อย่างนี้ อยู่ตลอดไป โดยเฉพาะเรื่อง ตถาตา อวิตถาตา อนันยตถาตา (นาทีที่ 7:23) อิทัปปัจจยตา เอาแต่คำเดียว ก็พอคือ อิทัปปัจจยตา
กฎเกณฑ์เรื่องอิทัปปัจจยตา เป็นของธรรมชาติ มีอยู่ด้วยธรรมชาติ โดยธรรมชาติ ในธรรมชาติทั้งปวง นี่คือ ธรรมธาตุ ทำ-มะ-ทา-ตุ ธรรมธาตุ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ก็ได้สั่งสอนเรื่องนี้ ค้นพบเรื่องนี้ ค้นพบเรื่องนี้ และสั่งสอนเรื่องนี้ แล้วได้ดับทุกข์ ปฏิบัติตามแล้วดับทุกข์ได้ ค่าของมัน อยู่ที่ว่า ปฏิบัติแล้วดับทุกข์ได้ ส่วนพระพุทธเจ้านั้น เป็นเพียงผู้ตรัสรู้ คือค้นพบ แล้วนำมาบอก แก่คน เมื่อมีบางคนหรือคนจำนวนหนึ่งรู้ แล้วเข้าใจ แล้วก็ปฏิบัติ แล้วก็ดับทุกข์ได้ ไม่ได้หมายความ ว่าทุกคน ที่มีบางคนปฏิบัติได้เต็ม แล้วก็ดับทุกข์ได้ มีบางพวกดับ อ่า, ปฏิบัติ ปฏิบัติได้ไม่เต็ม ไม่สามารถจะปฏิบัติให้เต็ม แล้วก็ดับทุกข์ได้บางส่วน ส่วนพวกที่ฟังไม่รู้เรื่อง แล้วก็ไม่รู้จะ ปฏิบัติอย่างไร แม้ปฏิบัติ ก็ปฏิบัติตาม ๆ ตาม ๆ กันไป อย่างนี้ก็มีอยู่มาก คือ ไม่ได้รับประโยชน์ จากธรรมะข้อนี้
ในการที่ยกเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขึ้นมาเป็นหลักสำคัญนั้น มันเป็นเรื่องทีหลัง เมื่อคนเขารู้ เรื่องดับทุกข์ และปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอน เขาก็ชอบใจในธรรมนั้น และก็ชอบใจในพระพุทธเจ้าในฐานะเป็นผู้บอกให้ และก็ชอบใจในพระสงฆ์ คือเป็นผู้ปฏิบัติตามนั้น ได้สำเร็จ นี่คุณพิจารณาดูเอาเองก็แล้วกันว่า ๓ อย่างนี้ อันไหนสำคัญกว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าค้นพบ ความลับของธรรมชาติ คือกฎเกี่ยวกับอิทัปปัจจยตา ดับทุกข์ได้ ด้วยพระองค์เองก่อน แล้วก็สอนผู้อื่นให้รู้ ให้ปฏิบัติตาม ดับทุกข์ได้ด้วย สิ่งที่เรียกว่า พระธรรม ก็คือเรื่อง การดับทุกข์นั่นเอง ถ้าอยู่ในรูปของวิชา ก็เรียกว่าวิชา อยู่ในรูปของการปฏิบัติ ก็เรียกว่า การปฏิบัติ อยู่ในเรื่องผลที่ได้รับ มันก็เป็นเรื่องผลที่ได้รับ นั้นคำว่า พระธรรม พระธรรมนี้ ครอบคลุมไปทั้ง ๓ อย่าง ทั้งหลักวิชา ทั้งการปฏิบัติ และผลการปฏิบัติ นั้นก็รวมเรียกว่า พระธรรม
พระสงฆ์ ก็คือ คนหมู่หนึ่ง ที่ปฏิบัติได้รับผลตามนั้น เรียกว่า พระสงฆ์ ก็ลองชั่งน้ำหนัก กันดูว่า ๓ อย่าง อย่างนี้ อันไหนจะมีน้ำหนักมากหรือสำคัญมาก ถึงกับจะจัดเป็นหัวใจของ พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ เคารพพระธรรม เป็นคำที่ตรัสเองว่า พระพุทธเจ้า ทุกพระองค์ เคารพพระธรรม คือ กฎเกณฑ์ที่ดับทุกข์ได้ ที่ตรัสรู้แล้วนำมาสอน กลับเป็นที่เคารพ ของพระพุทธเจ้าผู้ค้นพบ ผู้นำมาสอน พระธรรมก็คือตัวสิ่งนั้น คือ กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่ปฏิบัติตามแล้วดับทุกข์ได้ ส่วนพระสงฆ์นี่อยู่ปลายแถว คือ บรรดาผู้ที่ได้รู้ ได้ยิน ได้ฟัง เข้าใจแล้ว ปฏิบัติตาม จนดับทุกข์ได้
พระธรรมนั่นแหละ อ่า, ทำให้เกิดพระพุทธเจ้า คือว่าเพราะมีพระธรรมโดยกฎของ ธรรมชาติอยู่ พระพุทธเจ้าได้ค้นพบเรื่องนี้ เพราะรู้เรื่อง เพราะสอนเรื่องนี้ จึงถูกบัญญัติ สมมุติ บัญญัติ ว่าเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าเพราะรู้ธรรมะนี้ เพราะปฏิบัติธรรมะนี้ เพราะได้รับผล ของการปฏิบัติธรรมะนี้เป็นคนแรก และต่อมาก็มีผู้รู้ตาม ผู้ปฏิบัติตาม ได้ผลเพิ่มขึ้น ๆ นี้ก็เป็นส่วน พระสงฆ์ คือ ผู้ฟังแล้วปฏิบัติตาม นั้นตัวพระธรรมมันอยู่ที่ตรงกลาง เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่ว่าเมื่อทำลงไปอย่างนี้ ผลจะเกิดขึ้นอย่างนี้ ทุกอย่างทุกประการ นั่นนับไม่ไหวแล้ว ที่ว่าทำลงไป อย่างนี้ ผลจะเกิดขึ้นอย่างนี้ ทำลงไปอย่างนี้แล้วผลจะเกิดขึ้นอย่างนี้ มีมากนับไม่ไหว แต่ไม่เอา ไม่เอาทั้งหมดหรือไม่เอามาก เอาแต่เพียงว่า เมื่อทำลงไปอย่างนี้ แล้วผลเกิดขึ้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นความ ดับทุกข์ได้ นั่นนะคือ ตัวที่ต้องการ หรือเป็นธรรมะที่เป็นประธาน ที่เป็นหลัก ที่เป็นประธาน จึงจะเรียกว่า หัวใจของพระพุทธศาสนา
ทีนี้กฎเกณฑ์อันนี้ มันมีอยู่อย่างไร ก็อธิบายกันได ้ให้ละเอียดออกไปจนเพียงพอ จนเพียงพอ ที่จะปฏิบัติได้มีรายละเอียดแตกออกไป แตกออกไป เป็นอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ไอ้เรื่องทุกเรื่อง มันเป็นความจริงทั้งนั้นแหละ ที่มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นกฎของธรรมชาติ เป็นเรื่องจริงทั้งนั้นเลย แต่มันไม่จำเป็น ที่เราจะต้องไปรู้ เราจำเป็น ที่จะต้องรู้ เฉพาะเรื่องที่มันดับทุกข์ได้ มันดับทุกข์ได้ มันมีความสำคัญอยู่ในตัวมันเอง พระพุทธเจ้า จะเกิดขึ้น หรือพระพุทธเจ้าจะไม่เกิด สิ่งนี้ก็มีอยู่ แต่สิ่งนี้ไม่เป็นที่ปรากฏแก่ชาวโลก จนกว่าจะมีผู้ค้นพบ แล้วก็นำมาเปิดเผย สั่งสอน ให้รู้ ให้ปฏิบัติ ตามแล้วก็ดับทุกข์ได้
เดี๋ยวนี้มันมาอยู่ในลักษณะที่ว่า เป็นหลักที่เปิดเผยแล้ว มีอยู่แล้วในลักษณะ ที่เป็นคำสอน ที่เรียกว่า พระไตรปิฎก หรือพระธรรมวินัยก็ได้ แล้วแต่จะเรียก ของเดิมแท้ ๆ เรียกว่า พระธรรมวินัย พระไตรปิฎกนี่ เป็นคำใหม่เพิ่งเกิด เมื่อมันจัดเป็น ๓ ปิฎก ก่อนแรกทีเดียวไม่ได้จัดเป็น ๓ ปิฎกอะไร เรียกว่า ธรรมวินัย หรือจะให้มันสั้นกว่านั้นอีก ก็เรียกธรรม ธรรมะเฉย ๆ คำว่า ธรรมะคำเดียว นั่นแหละ แตกออกเป็นธรรมวินัยก็ได้ แตกแยกออกไปอีก เป็นพระไตรปิฎกก็ได้ จึงเหลืออยู่ที่คำว่า ธรรมเพียงคำเดียว เป็นสิ่งที่มีค่า มีความสำคัญ มีอะไรทั้งหมดทั้งสิ้น เช่นว่า เราจะไม่รู้เรื่องของ พระพุทธเจ้า ส่วนพระองค์ของท่านเลยก็ได้
สมมุติว่าไม่ได้เรียนพุทธประวัติเลยได้ ก็รู้ธรรม ธรรมะที่ดับทุกข์นี้ได้ หรือว่าจะไม่มีตัว พระสงฆ์ ไม่รู้จักพระสงฆ์ แต่รู้จักตัวธรรมะที่ดับทุกข์นี้ได้ มันก็สำเร็จประโยชน์แล้ว ขอให้เจาะจง ลงไปที่สิ่ง ที่เรียกว่าธรรม ธรรมะ หรือพระธรรม จะพูดให้เข้าใจ ไม่ใช่จะเป็น ไม่ใช่พูดจ้วงจาบ จาบจ้วงอะไร ว่าเราไม่ต้องเรียนรู้เรื่องอะไร ที่มากมายก่ายกอง เรียนรู้แต่เรื่องที่ว่า ดับทุกข์ได้ เรื่องเดียวมันก็พอ
มาถึงบัดนี้ มันมีเรื่องต่าง ๆ ที่มีอยู่ครบถ้วนในพระคัมภีร์ ในพระไตรปิฎก เรื่องใดที่มัน เรื่องดับทุกข์ได้โดยตรง สนใจเรื่องนั้น แล้วก็นำมาปฏิบัติให้ดับทุกข์ได้ มันก็เท่านั้น มันก็มีเท่านั้น แต่เพื่อให้มันรัดกุม หรือเพื่อให้มันยึดโยง ยึดโยงกันอย่างแน่นแฟ้น จะพูดออกเป็น ๓ เรื่อง คือ เรื่องพระพุทธ เรื่องพระธรรม เรื่องพระสงฆ์
การรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น สำเร็จอยู่ที่รู้จักดับทุกข์ รู้จักเรื่องดับทุกข์ ถ้าไม่รู้จัก เรื่องความดับทุกข์ แล้วไม่มีทาง ที่จะรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริง มันจะมีแต่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เค้าบอกให้ แล้วก็เป็นอย่างฟังมา พูดได้ ท่องได้ กล่าวได้อย่าง นกแก้วนกขุนทอง ยังไม่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริง ในบุคคลชนิดนี้ ซึ่งยังดับทุกข์ไม่ได้ นั้นต่อมาเค้าปฏิบัติ แล้วดับทุกข์ได้ คนนี้ต่อมาปฏิบัต ิแล้วดับทุกข์ได้ รู้ประจักษ์ แก่จิตใจ ว่าดับทุกข์ลงไปอย่างไร นั่นแหละ เค้าจะเริ่มรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แท้จริง ที่แท้จริง ที่เป็นตัวจริงทันที
ก่อนหน้านี้ ก็รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างนกแก้วนกขุนทองกันมาก่อน เหมือนพวกคุณ ที่เพิ่งบวชไม่กี่วันนี้ คุณก็รู้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สมาทาน อธิษฐาน ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันก็เป็นเรื่องจำ หรือเป็นเรื่องทำตามคำบอก จะยังไม่รู้จัก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จนกว่าจะได้ศึกษา ไอ้ตัวธรรมะ แล้วปฏิบัติและดับทุกข์ได้ ตอนนี้ระวังให้ดีเถอะ เป็นเรื่องที่รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์กันจริง ๆ
เมื่อเขาดับทุกข์ ดับกิเลสได้ รู้ภาวะที่ดับทุกข์ ดับกิเลสได้ นั่นแหละจะรู้ โอ้, พระพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ทำอย่างนี้ได้ก่อนใคร ๆ แล้วนำมาสอนให้คนอื่นรู้ พระสงฆ์ทุกองค์ ก็ล้วนแต่ทำอย่างนี้ได้ ก็น่าเลื่อมใส น่าอนุโมทนา ส่วนตัวผู้นั้นเอง กลายเป็นพระพุทธ พุทธะ หรือพุทธบุคคลขึ้นมา ระดับ หนึ่ง ผู้ที่รู้ปฏิบัติจนดับทุกข์ได้ ก็กลายเป็นพระพุทธเจ้าองค์น้อย ๆ ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ก็เรียกว่า อนุพุทธะ อนุพุทธะ พุทธเจ้าผู้รู้ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เรียกว่า พระพุทธเจ้า เหมือนกัน คือ ดับทุกข์ได้สิ้นเชิงเป็นพระอรหันต์ นี่ก็เรียกว่า อนุพุทธะ เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ด้วยเหมือนกัน ผิดจากสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง แล้วสอนผู้อื่นด้วย คือ จิตใจ รู้สึกคิดนึกอะไรเป็นในสิ่งเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านทราบ ท่านรู้ แล้วบุคคลนั้น ก็กลายเป็น พระสงฆ์ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าไปทันที แล้วก็เป็นสงฆ์สาวกที่แท้จริงด้วย ไม่ใช่เป็นสงฆ์ แต่เพียงทำพิธีบวช ทำพิธีอะไรให้ แล้วก็กลายเป็นพระสงฆ์ นี่เรียกว่า พระสงฆ์ตามพิธี แต่ถ้าเขาได้ เรียนรู้หลักปฏิบัติจนดับทุกข์ได้ นั้นเขาเป็นพระสงฆ์ที่แท้จริง นั่นตลอดเวลา ที่ยังไม่ได้บรรลุ มรรคผล นี่ยังไม่ใช่เป็นพระสงฆ์ที่แท้จริง ยังเป็นเตรียมพระสงฆ์อยู่ทั้งนั้น มีบางทีบางแห่ง ก็เรียกว่า สมมุติสงฆ์ สมมุติไว้อยู่ในกลุ่มของพระสงฆ์ คนเราจะเป็นพระสงฆ์ที่แท้จริงไม่ได้ จนกว่าจะได้ ปฏิบัติธรรมะ ดับทุกข์ได้ รู้สึกด้วยตนเองว่าเป็นอย่างไร นี่คือ มีจิตใจเหมือนกับพระพุทธเจ้าขึ้นมา ในส่วนนี้
ที่นี้ดูอีกทางหนึ่ง ก็จะเห็นได้ว่าคนนั้นนะเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เอง คนที่ปฏิบัติ จนดับทุกข์ได้นะ เป็นพระพุทธ เป็นพระธรรม เป็นพระสงฆ์เสียเอง ก็ยังพูดได้ หรือจะว่ามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ครบถ้วนก็พูดได้ ถ้าจะพูดว่าเป็นก็พูดได้ จิตใจของเขา เป็นเหมือนอย่างจิตใจ ของพระพุทธเจ้า และตัวธรรมะที่ดับทุกข์ได้ มีอยู่ในจิตใจของเขา และเขาก็เป็นพระสงฆ์ สาวกของ พระพุทธเจ้าโดยแท้จริง นี่ถ้าว่าดับทุกข์ได้สิ้นเชิง เป็นพระอรหันต์อย่างนี้ มีทางที่จะกล่าวว่า เป็นพระพุทธ เป็นพระธรรม เป็นพระสงฆ์ที่แท้จริง ด้วยตนเองด้วย หรือจะพูดว่ามี มีก็ได้ เขามี พระพุทธ มีพระธรรม มีพระสงฆ์ที่แท้จริง
นี่เรื่องมันมีอยู่อย่างนี้ ไอ้เรื่องนอกนั้น มันเป็นเรื่องปลีกย่อย เรื่องประกอบ เรื่องเปลือก เรื่องกระพี้ออกไป มีมากมายก่ายกอง เรื่องหัวใจมีนิดเดียว คือรู้เรื่องความดับทุกข์ ที่เป็นกฎของ ธรรมชาติ แล้วก็ปฏิบัติจนดับทุกข์ได้ตามนั้น มันมีเท่านั้น หัวใจพุทธศาสนามีเท่านั้น เข้าถึงหัวใจ พุทธศาสนา ก็คือรู้เรื่องดับทุกข์และปฏิบัติจนดับทุกข์ได้ ไอ้ตัวธรรมะ คือ กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ท่ีมีอยู่อย่างนั้น ว่าปฏิบัติอย่างนั้น ปฏิบัติอย่างนั้น ปฏิบัติอย่างนั้น แล้วก็จะดับทุกข์ อันนี้เป็นของ สูงสุด เป็นของเด็ดขาดอยู่ในตัวเอง ตัวกฎของธรรมชาติ ที่ทำให้ดับทุกข์ได้ เป็นของสูงสุด เด็ดขาด อยู่ในตัวเอง ที่เรียกว่าเป็น absolute คือว่าสูงสุด เด็ดขาดอยู่ในตัวเอง คือ กฎของธรรมชาติ ที่มีอยู่ว่า ปฏิบัติอย่างนี้ แล้วดับทุกข์ได้ นั่นคือ หัวใจของพระศาสนา
ส่วนนอกนั้น เป็นเรื่องที่มัน เป็นส่วนประกอบ ซึ่งค่อยขยายออกไป ขยายออกไป อธิบาย พูดให้มันมากออกไป มากออกไป เป็นพิธีรีตองต่าง ๆ มา นานามากมาย นั้นไม่ใช่หัวใจ บางทีก็ มากมาย จนเตลิดเปิดเปิง ไปเป็นโง่ เป็นล้ม ไปเสียอีกก็มี เกิดมีพิธีรีตองที่ไม่ ไม่ ไม่มีเหตุผล เพราะมันโง่เตลิดเปิดเปิงออกไป ลักษณะอย่างนี้ไม่มี ไม่ ไม่มีในพระพุทธศาสนาที่แท้จริง คือ ศาสนาไหนก็เหมือนกัน หัวใจของมันก็อยู่ตรงที่ดับทุกข์ได้ แต่ที่นี้บัญญัติ เรื่องปลีกย่อย เรื่องพิธีรีตอง เรื่องอะไรต่าง ๆ มากมาย จนเวียนหัว จนไม่รู้จะเอากันอย่างไร
ไอ้เรื่องปลีกย่อยออกไป เช่น เรื่องระเบียบวินัยของการเป็นพระสงฆ์ เป็นพระสงฆ์ อย่างนี้ก็ดูเถอะ มีสิกขาบท มีปาติโมกข์อะไรมากมาย นั่นเป็นเรื่องปลีกย่อย เป็นเรื่องประกอบ เป็นเรื่องเกิดขึ้นทีหลัง เพื่อจะแก้ไขคนที่โง่เขลา คนที่ไม่จริง คนที่ประมาท คนที่โง่เขลา จะต้องได้รับ การขูดเกลา ด้วยระเบียบวินัยต่าง ๆ เหล่านี้ จนกระทั่ง เหมาะสมที่จะรู้ธรรมะโดยตรง แล้วปฏิบัติ แล้วดับทุกข์ได้
ถ้าเอาไอ้เรื่องปลีกย่อยเหล่านี้ เรื่องเปลือก เรื่องฝอยเหล่านี้ออกไป ออกไป ออกไป ออกไป เรื่อย ๆ มันก็จะเหลือ แต่ความจริงข้อหนึ่ง ที่ว่าปฏิบัติแล้วดับทุกข์ได้ แล้วเราก็ไม่ควรจะต้องการ อะไร มากไปกว่าว่าดับทุกข์ได้ มันเป็นเรื่องไม่จำเป็น เรื่องจำเป็นมันมีเรื่องเดียว คือ ดับทุกข์ให้ได้ เป็นหัวใจของเรื่อง ก็คือว่าดับทุกข์ให้ได้ ขอให้เพ่งดู สอดส่องดู ว่าหัวใจมันอยู่ที่ตรงไหน หัวใจของ พุทธศาสนาอันกว้างขวาง อันมีคำบรรยายไว้มากมาย เหลือประมาณนั่นแหละ หัวใจมันอยู่ที่ ตรงไหน ถ้าจะเอาตามพระบาลี ทั้งหมดมารวมกัน มารวมกัน แล้วก็พูดขึ้นเป็นคำสั้น ๆ ก็คือ ปฏิบัติชนิดที่ ไม่เกิดความรู้สึกว่า ตัวตนของตนขึ้นมาในใจในทุกกรณี คือ ปฏิบัติจนมองเห็นว่า สิ่งทั้งหลาย ทั้งปวง ไม่มีสิ่งใดที่ควรจะยึดถือ ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นของของตน ดังที่มีพระบาลี เป็นที่อ้างว่า ธรรมทั้งปวง อันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตนหรือเป็นของตน
สิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรยึดมั่นว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของของตน เพราะว่า พอยึดมั่นอะไรว่าเป็นตัวตนหรือของตน เท่านั้นแหละ มันก็มีความทุกข์ ตั้งแต่ชั้นน้อย ๆ แล้วก็ ชั้นมากขึ้น มากขึ้น จนเป็นทุกข์อย่างใหญ่หลวง ทุกข์ชนิดที่เต็มที่ เหมือนเด็กทารก คลอดมาจาก ท้องแม่ ตลอดเวลาที่คิดนึกรู้สึกอะไรไม่ได้ มันก็ยังไม่มีความทุกข์หรอก แต่พอมีความรู้สึกคิดนึก รู้สึก เออ, อารมณ์ที่ชอบใจหรือที่ไม่ชอบใจได้ รู้สึกต่อเวทนาชนิดนี้ได้ แล้วก็จะเกิดความรู้สึกอยาก อย่างนั้น อย่างนี้ ตามความหมายของเวทนา พอรู้สึกอยากอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็เกิดความรู้สึก ขึ้นมาอีกทีว่า ตัวกูเป็นผู้อยาก เมื่อเราได้รับของที่ถูกใจ ก็อยากจะได้ เมื่อได้รับของที่ไม่ถูกใจ ก็อยากจะทำลาย นี่คือหัวใจของเรื่อง เมื่อมีอวัยวะทำหน้าที่ครบถ้วนเต็มที่ มันก็จะรู้สึก เป็นเวทนา ที่น่ารักน่าพอใจ และก็ที่ไม่น่ารักไม่น่าพอใจ พอได้รับเวทนาที่น่ารักน่าพอใจ ก็อยากจะได้ อยากจะเอา อยากจะมี อยากจะยึดครอง พอไม่ได้อย่างที่น่ารักน่าพอใจ คือมันเป็นเรื่องน่าเกลียด เป็นน่าชัง เป็นปฏิปักษ์กัน มันก็อยากที่จะทำลายเสีย
ความอยากมันก็มีอยู่ ๒ อย่างอย่างนี้ หรือจะเพิ่มอีก ๓ ก็คือ มันเป็นอยากที่ไม่รู้ว่าจะ ทำอะไร เวทนานั้นจะว่า น่ารักน่าพอใจก็ไม่ใช่ ไม่น่ารักไม่น่าพอใจก็ไม่ใช่ มันยังไม่รู้ว่าอะไร มันก็มีเหมือนกัน เช่น ได้บริโภค เสวยอะไรเข้า บางอย่าง แล้วยังไม่รู้สึกว่ารักหรือไม่รัก แต่มันก็มี ความหมายว่า เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งมันเกี่ยวข้องกับเรา ก็สนใจอยู่อย่างนั้นแหละ จนกว่าจะได้ความชัด แน่นอนออกมาว่า เป็นที่น่ารักน่าพอใจ หรือไม่เป็น ที่น่ารักน่าพอใจ อันนี้มันเกินไปเอาออกเสียก็ได้ มันไม่เป็นปัญหาโดยตรง
ที่เป็นปัญหาโดยตรง ในชีวิตประจำวัน ก็มีเพียงอยู่ ๒ อย่าง คือ น่ารักน่าพอใจ ก็อยากได้ อยากเอา ไม่น่ารักไม่น่าพอใจ ก็อยากจะทำลายเสียหรือพ้นไปเสีย เป็นความรู้สึก ๒ ประการ รู้สึกว่า น่ารักน่าพอใจ กับรู้สึกว่าไม่น่ารักไม่น่าพอใจ เมื่อมีความอยาก ไปตามความรู้สึกนั้น ๆ แล้ว มันก็เกิด ความรู้สึก ที่ว่าเป็นตัวกู เป็นตัวเรา ผู้อยาก เป็นผู้อยาก ผู้ได้ ผู้ทำลาย ผู้อะไรขึ้นมา มันก็เป็นทุกข์ กันตอนนี้เอง
เมื่อเกิดความรู้สึกเป็นตัวตนขึ้นมา มันมีลักษณะเป็นของหนัก เป็นของหนัก มีภาระ ที่จะต้องทำ และอะไร ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับตน ก็ยึดเอาเป็นของตน ทั้งที่สิ่งเหล่านั้น มันยึดเอาไม่ได้ มันเป็นของธรรมชาติ มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไปยึดเอามาเป็นของตน มันก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะว่า สิ่งนั้นมันไม่ ไม่เล่นด้วย มันไม่เอาด้วย มันเป็นไปตามธรรมชาติ ตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าเราไปรักสิ่งใดเข้าแล้ว สิ่งนั้นมันจะเป็นไปตามความต้องการของเรา หรือแม้ว่าเราจะ ไปเกลียดสิ่งใดก็ตามเถอะ สิ่งนั้นมันก็จะไม่เป็นไปตามที่เราเกลียด มันต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ ของมันเอง ไอ้คนที่มันไปหลงจะให้เป็นอย่างนั้น จะให้เป็นอย่างนี้ มันก็เป็นทุกข์เอง
สิ่งต่าง ๆ สิ่งทุกสิ่ง มันเป็นไปตามเรื่องของมัน มันไม่มาเป็นไปตามความต้องการของคน ๆ นั้น คน ๆ นั้น จะต้องมองเห็นว่า ทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยของมันเอง ทุกสิ่งมันมีเหตุ มีปัจจัยของมันเอง ปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ปรุงแต่งให้เกิดขึ้น แล้วก็เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยเช่นนั้น ของมันเอง ใครจะไปบังคับ ว่าจงเป็นอย่างนี้ จงมาอยู่กับเรา จงเป็นไปตามความต้องการของเรา อย่าได้เป็นอย่างอื่นเลย อย่างนี้มันก็ทำไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นั้นคนเราก็ต้องมีความทุกข์ เพราะสิ่งที่รักหรือต้องการนั้น ไม่เป็นไปตามความต้องการ สิ่งที่ไม่น่ารักก็ยังมาหา ทั้งที่เรา ไม่ต้องการ ต้องกระทบกันเข้า พบกันเข้ากับสิ่งที่ไม่น่ารัก ทั้งที่เราไม่ต้องการ นี่ในโลกมันมีอยู่ อย่างนี้ แล้วคนก็เป็นทุกข์เพราะเหตุอย่างนี้ ในเมื่อเขาไม่รู้เรื่องนี้ เขาก็ต้องเป็นทุกข์ ก็ต้องมี ความทุกข์ เพราะสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่ตัวต้องการ
ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายนี่ มันเป็นของเด็ดขาดของมันในตัวเอง มันไม่เป็น ไปตามที่เราต้องการอย่าเกิด อย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย มันเป็นไปไม่ได้ เมื่อมันไม่เป็นไปตามที่ต้องการ มันก็เป็นทุกข์ คำว่าทุกข์นี้ มีความหมายรอบด้าน มีความหมายหลายอย่าง แต่เมื่อรวมความแล้ว มันก็คือ ทำให้เกิดความทุกข์ทนทรมาน เกิดความทรมาน เกิดความที่ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ แล้วก็ เป็นสิ่งที่หลีกไม่ได้ สำหรับคนโง่เท่านั้นแหละ จะหลีกไม่ได้ คือว่าจะคิดเป็นอย่างอื่น อย่าให้เป็น ทุกข์นะ มันคิดไม่เป็น มันก็ได้แต่รู้สึกเป็นทุกข์ อยู่กับสิ่งเหล่านี้ ที่เป็นภายใน ที่เป็นภายในร่างกาย เนื้อหนัง ร่างกายนี้ มันก็ยังไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ ที่เป็นภายนอกคนอื่น ผู้อื่น มันก็ไม่เป็น ไปตามที่เราต้องการ เราจึงเต็มไปด้วยปัญหา เต็มไปด้วยปัญหา เต็มไปด้วยสิ่งที่มารบกวนจิตใจ ก็ต้องเป็นทุกข์
ถ้ารู้ว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้เอง ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้เอง มันก็ไม่ไปหลงรัก หรือไม่ไปหลงโกรธอะไร ไม่ได้ไปหมายมั่นว่าอะไร จงเป็นไปตามที่เราต้องการ เราเกี่ยวข้องกับ สิ่งเหล่านั้น โดยไม่ต้องไปหมายมั่น ว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา แม้แต่ชีวิตนี้ แม้แต่ชีวิตนี้ มันก็เป็น ไปตามเหตุ ตามปัจจัยของมัน มันจะไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ บางคนเค้าอาจจะพูดว่า เราทำได้สิ เราทำให้ชีวิตของเรารอดอยู่ ทำให้ชีวิตของเราสบาย นั้นเป็นเรื่องเปลือก ๆ ผิว ๆ ทั้งนั้น เป็นเรื่องเล็กน้อยเกินไป
เราจะต้องเป็นฝ่ายที่ไม่เป็นทุกข์ ไม่ว่าชีวิตนั้น มันจะเปลี่ยนแปลงไปตามกฎเกณฑ์ ของธรรมชาติอย่างไร ส่วนที่ป้องกันได้นั้น เป็นเรื่องที่เล็กน้อยมาก ส่วนที่ป้องกันบังคับไม่ได้นั้น เป็นส่วนใหญ่ เราจึงเกี่ยวข้องกับทุกสิ่ง ทั้งภายนอกและภายใน เหมือนกับว่า เป็นของยืมมาใช้ ยืมของธรรมชาติมาใช้ ทุกสิ่งเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เป็นของธรรมชาติ ถ้าเราต้องการจะมี จะใช้ เอามาทำบ้าน ทำเรือน ทำเป็นอาหาร ทำเป็นอะไรต่าง ๆ มันก็เหมือนกับยืมเอามา ในที่สุด มันก็จะต้องไปตามกฎเกณฑ์ของมัน เรื่องบุตร ภรรยา สามี มันก็เหมือนกันแหละ มันเหมือนกับยืม ยืมของธรรมชาติมาใช้ ชั่วคราวเท่านั้นแหละ แล้วมันก็ต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ
เรื่องนี้ไม่มีใครชอบฟัง หรือจะเถียงว่า มันไม่จริง เราทำอะไรได้ เราบังคับอะไรได้ เราซื้อหา มาได้ เราจัด เราทำได้ ไอ้ที่เราอยากจะจัด อยากจะทำให้ได้นั่นแหละ มันยิ่งจะมีปัญหา มันยิ่งมีปัญหา เราจัดหรือทำได้ เท่าที่ธรรมชาติอำนวยให้อีกเหมือนกัน เช่น เราจะบริหารร่างกายนี้ อย่าให้เจ็บไข้ ได้ป่วยนัก ก็ทำได้เท่าที่ธรรมชาติอำนวยให้ แต่จะให้เด็ดขาด ตรงตามความต้องการเรา ไปทุกอย่าง นั้น มันทำไม่ได้ มันทำไม่ได้ นี่เรียกว่า ชีวิตแท้ ๆ ร่างกายของเราแท้ ๆ เราจัดการได้ เฉพาะบางอย่าง ซึ่งเรียกว่า เป็นส่วนน้อยเอง ให้ตรงตามความต้องการ
ทรัพย์สมบัติ ข้าวของ ไปซื้อเอามา ไปหาเอามา รวบรวมเข้าไว้ แล้วก็ใช้กิน ใช้สอยไป ตามต้องการ นั่นนะมันได้ส่วนเท่านั้น มันน้อย ส่วนใหญ่ที่จะเป็นไปอย่างนี้ อย่าเป็นไปอย่างอื่นนั้น มันทำไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ คิดจะให้ เป็นให้ได้ มันก็ต้องรบกับธรรมชาติ แล้วก็ไม่มีทางที่จะชนะ มันก็พ่ายแพ้แก่ธรรมชาติ ในที่สุดมัน ก็ระทมทุกข์ ต้องมานั่งร้องไห้อยู่ หรือว่าเดือดจัดขึ้นมา มันก็ฆ่าตัวเองตาย เพราะทุกสิ่งมันไม่เป็น ไปตามที่ต้องการ
ถ้าว่ารู้ความเป็นจริงของธรรมชาติ ก็ไม่ยึดถือรุนแรงอย่างนั้น ไม่หมายมั่นรุนแรงอย่างนั้น แต่ประพฤติกระทำ ให้สมคล้อยกับธรรมชาติที่ มันเป็นอย่างนั้น เมื่อชีวิตนี้มันเป็นของไม่เที่ยงนี้ เราก็ปฏิบัติให้ถูกต้อง กับการที่ชีวิตนี้มันเป็นของไม่เที่ยง มันจะมีความทุกข์น้อย หรือถ้าเก่งจริง มันก็จะไม่มีความทุกข์เลย อะไร ๆ มันจะเป็นไปตามธรรมชาติ เราก็ผสมโรงกับมันให้พอดี ที่จะเอา ประโยชน์ได้ อย่างไรเท่าไร จะใช้ชีวิตนี้ให้ทำสิ่งที่ต้องการได้อย่างไร เท่าไร ไอ้ส่วนที่มันทำไม่ได้ หรือมันเกินความต้องการ ก็ไม่ปรารถนา ก็ไม่ต้องการ สามารถที่จะจัดให้พอดี พอดี สำหรับจะ รอดชีวิตอยู่ได้ แล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะไอ้ความเปลี่ยนแปลง หรือความที่มันเป็นตามธรรมชาติ ของมัน ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อน
นี่ขอให้ ศึกษาเรื่องนี้แหละ ไว้เป็นหลัก แม้ว่าตั้งแต่เราคลอดมาจากท้องมารดา จนมาถึง วันนี้ เรายังไม่รู้อะไรก็ตามใจ แต่ว่าต่อไปนี้เราจะต้องรู้ จะต้องรู้ชนิดที่จะไม่เกิด ความทุกข์ทรมาน ขึ้นมาในจิตใจ บวชแล้วก็เรียน แล้วก็รู้ว่าจะทำอย่างไร กับทุกอย่างที่สมมุติ เรียกว่า ตัวเราหรือของ เรา ที่แท้มันไม่ใช่ตัวตนของเรา มันเป็นสิ่งที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นไป หมุนไป เปลี่ยนไป ไปตามกฎของธรรมชาต ิที่เรียกว่า กฎอิทัปปัจจยตา แม้แต่ ความรู้สึกคิดนึกของเรา ก็เป็นไปตามกฎนั้น ร่างกายเนื้อหนังก็เป็นไปตามกฎนั้น อะไร ๆ ก็เป็นไปตามกฎนั้น
ถ้ารู้ว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้ ก็ไม่ต้องดีใจก็แล้วกัน ว่าในบางครั้งบางคราว มันเป็นไปอย่าง ถูกใจ แล้วก็ไม่เสียใจ เพราะบางครั้งบางคราว มันก็ไม่เป็นไปตามที่เราต้องการให้เป็น เราปรับปรุง จิตใจ อย่าให้ต้องเป็นทุกข์ร้อนขึ้นมา เพราะความเปลี่ยนแปลงของสิ่งใด ๆ หรือจะเรียกอีกทีหนึ่ง ก็ว่า ผสมโรงกันกับความเปลี่ยนแปลงนั้นแหละ พอจะได้รับความสะดวกความสบายบ้าง เพราะมัน เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้มีทางที่จะปรับปรุง ถ้าทุกอย่างมันเที่ยงแท้ตายตัว เปลี่ยนไม่ได้แล้ว เราก็ทำอะไรไม่ได้
ดูให้ดีเถอะ ไอ้ความไม่เที่ยงกลับมีประโยชน์ คือ ความไม่เที่ยงมันเปลี่ยนแปลงได้ เราก็รู้จัก ให้มันเปลี่ยนแปลง ในทางที่ว่าจะเป็นประโยชน์ จะสะดวกสบายบ้าง ความที่มันเปลี่ยนแปลงได้ มันก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน แต่อีกทางหนึ่งมันเป็นโทษหรือมันทำให้คนไม่สบายใจ เพราะว่ามัน ไม่คงที่ อยู่ตามความต้องการของบุคคลนั้น แต่ทีนี้เราก็ฉวยโอกาสที่ว่า มันปรับปรุงได้ตามสมควร ปรับปรุงที่เหตุ ที่ปัจจัยของมันได้ตามสมควร ปรับปรุงจิตใจอย่าให้ต้องเป็นทุกข์ เพราะความ เปลี่ยนแปลงของสิ่งใด ๆ เมื่อเปลี่ยนแปลง ผสมโรง เปลี่ยนแปลงกับสิ่งนั้น ๆ ตามที่มันจะเป็นไปได้ แล้วก็อาศัย ประกอบเป็นอยู่ด้วยกันกับชีวิต
นี่กับชีวิต แต่ถึงอย่างนั้น มันก็จะหมายมั่นว่า จงเป็นอย่างนี้ จงอย่าเป็นอย่างนั้นนะไม่ได้ มันคงจะเป็นไปตาม มันก็ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ตามกฎเกณฑ์ของมัน ทั้งที่เราอุตส่าห์ แสวงหา มา สะสมไว้ ประคบประหงมไว้อย่างดี มันก็ไม่เป็นที่หวัง ได้ว่ามันจะเป็นอย่างนั้น กับเราตลอดไป และจิตใจที่เปลี่ยนแปลงนี่มันก็จะไม่คงที่เหมือนกัน ไอ้ที่เคยรัก มันก็ไม่รักก็ได้ ที่เคยเกลียด เคยกลัว มันไม่เกลียด ไม่กลัวก็ได้ มันก็เปลี่ยนแปลงได้
เมื่อรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลง ตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็อย่าต้องเป็นทุกข์ เพราะความ เปลี่ยนแปลง แล้วก็สวมรอยกับความเปลี่ยนแปลงนั้นแหละ ให้ถูกเรื่อง ของกฎของธรรมชาติ ที่จะได้รับความสะดวก สบายหรือเป็นผาสุกได้ เช่น เราจะต้องกินอาหารอย่างนี้ เราจะต้องอาบน้ำ เราจะต้องบริหารร่างกาย จะต้องถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะอย่างนี้ มันล้วนแต่ เป็นการปรับปรุง ให้มันเข้ากันได้ กับเรื่องของธรรมชาติ ที่มีความเปลี่ยนแปลง ถ้าทำไม่ถูกในเรื่องนี้ หรือไม่ทำ มันก็ตาย มันก็ต้องตายแหละ
สรุปความว่า กฎของธรรมชาติ เรื่องอิทัปปัจจยตา มีอยู่ว่า เพราะมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นนั่นแหละ หัวใจของเรื่องทั้งหมด จะเรียกว่า หัวใจของพระพุทธศาสนาก็ได้ เพราะว่าสิ่งต่าง ๆ จะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จะเรียกว่า หัวใจของเรื่อง ทุกเรื่องไม่ว่า นอกพุทธศาสนา ไม่เกี่ยวศาสนา มันก็ยังเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา เนื้อตัวของเรา ร่างกายของเรา ก็เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา สิ่งที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกัน เป็นของ ๆ เราอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ล้วนแต่ เป็นไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา ไอ้เรียกว่าตัวตนก็เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา ของตน ของตนนั้น ก็เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา
ถ้ามีความรู้เรื่องนี้แล้วก็ อย่าต้องเป็นทุกข์ เพราะที่มันจะต้องเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา ก็เรียกว่า ผู้ดับทุกข์ได้ หรือเอาชนะความทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็คือ ตรัสรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาท หรือเรื่องความทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ พาให้ถึง ความดับทุกข์ นั้นแหละตัวเรื่องอิทัปปัจจยตาแหละ ที่เรียกว่า อริยสัจ ๔ เป็นตัวเรื่องอิทัปปัจจยตา ความทุกข์จะเกิดขึ้นเพราะอย่างนั้น ความดับทุกข์จะมีได้เพราะอย่างนั้น ซึ่งต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
นี่คือหัวใจของพุทธศาสนา ซึ่งสอนเรื่องอิทัปปัจจยตา เป็นเรื่องกฎของธรรมชาติ เป็นเรื่องกฎของธรรมชาติ รู้จักกฎของธรรมชาติแล้ว ปฏิบัติชนิดที่ มันไม่ต้องไปทะเลาะ กับธรรมชาติ อย่าให้เกิดการทะเลาะ ต่อสู้กับไอ้กฎของธรรมชาติ จะรู้จักใช้เรื่องของธรรมชาติ หรือกฎของธรรมชาตินั่นแหละ ให้เป็นประโยชน์ คือ ไม่ต้องเป็นทุกข์ทรมานมากมาย นี่เราเรียกว่า ความลับของธรรมชาติ ที่จะต้องรู้และปฏิบัติให้กลมกลืนกันไป ไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมา
รู้เรื่องกฎของธรรมชาติ ซึ่งเป็นของลึกลับอยู่ ทุกคนรู้เองไม่ได้ ค้นพบไม่ได้ แต่ว่าบางคน ท่านตรัสรู้ได้ ท่านรู้เองได้ แล้วท่านมาสอนให้ คนที่รู้เองไม่ได้ พลอยรู้ตาม ๆ กันไป แล้วก็ดับทุกข์ได้ อย่างเดียวกัน จะเป็นการดับทุกข์ของผู้ค้นพบทีแรก หรือเป็นการดับทุกข์ของผู้รู้ตามทีหลัง มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราไปเรียนเอาได้ทีหลัง จากเรื่องราวนั้น ๆ โดยเฉพาะ
เดี๋ยวนี้ก็พูดแต่หัวข้อของมัน หัวใจของเรื่อง ว่าที่เรามาบวช บวชมาเพื่อศึกษาพระธรรม ในพระพุทธศาสนานั้น มันไม่มีเรื่องอะไรอื่นเลย นอกจากเรื่องรู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ชนิดที่จะ ช่วยให้ดับทุกข์ได้ หรือจะช่วยป้องกัน ไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ มันก็อยู่อย่างเป็นผู้ที่ไม่มี ความทุกข์ ถ้ารู้จริง ปฏิบัติจริง ถึงที่สุดจริง จะมีชีวิตอยู่อย่าง ผู้ที่ไม่เป็นทุกข์ ไม่มีความทุกข์ จนกว่าสังขารร่างกายนี้ มันจะถึงที่สุดของมัน ก็ตามเรื่องมัน แต่ถ้ามันยังมีชีวิตอยู่จะเป็นทุกข์ไม่ได้ เพราะมันรู้จักดำรงจิตไว้ ในลักษณะที่ถูกต้อง ชนิดที่เป็นทุกข์ไม่ได้
นี้เราไม่ได้พูดอะไรกัน กี่เรื่องกี่ราวเลย นอกจากแต่จะพูด เรื่องเดียวว่า ต้องรู้กฎของ ธรรมชาติ ชนิดที่ปฏิบัติตามแล้วเป็นทุกข์ไม่ได้เท่านั้นเอง เรียกว่า หัวใจของพระพุทธศาสนา คำอธิบายที่อื่น อย่างอื่น โดยบุคคลอื่น อาจจะอธิบายไปต่าง ๆ นานา มากมายหลายอย่าง หลายสิบ อย่างก็ได้ แต่ว่าหัวใจแท้ ๆ ของมันอยู่ที่ตรงนี้ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ จนความทุกข์ เกิดไม่ได้ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ จนความทุกข์เกิดไม่ได้
วันนี้ก็พูดเท่านี้ ว่าหัวใจของพุทธศาสนา คือ การปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามกฎของธรรมชาติ จนความทุกข์เกิดไม่ได้ แล้วก็มีชีวิตชนิดที่ไม่มีความทุกข์ ในรายละเอียดอย่างอื่น ไว้ค่อยพูดกัน วันอื่น วันนี้พูดแต่เรื่องว่า มันมีกฎของธรรมชาติ ที่ถ้ารู้แล้ว ปฏิบัติตามแล้ว ความทุกข์เกิดไม่ได้ นั้นมันก็มีอยู่ คือ กฎเกณฑ์เรื่องอิทัปปัจจยตา ขอหยุดการบรรยายวันนี้ ไว้เพียงเท่านี้