แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เอ้อ, ครั้งนี้ผมจะพูดโดยหัวข้อว่า เออ, โครงสร้างของอานิสงส์แห่งพรหมจรรย์ ทีแรกมาเราพูดถึง ตัวโครงสร้างของพรหมจรรย์ ในวันนี้จะพูดถึง ตัวอานิสงส์ของพรหมจรรย์ ในรูปที่เป็นโครงสร้างเหมือนกัน ก็เพื่อจะให้ ให้จดจำง่าย สังเกตง่าย ที่เรียกว่า โครงสร้าง โครงสร้าง และก็ไม่ได้บรรจุรายละเอียดอะไรมากมายนัก
ก็เพียงมันเป็นเค้าโครง เพื่อที่มันจะยึดโยง กำกับกันอยู่ในตัว เป็นรูปเป็นร่างพอให้สังเกตได้ ขีดเขียนในแผนภูมิได้ เค้าว่างั้น เมื่อเราจะใช้ประโยชน์ จากสิ่งที่เรียกว่า โครงสร้างกันบ้าง ถ้าไม่จัดให้เป็นโครงสร้าง รูปร่าง คือไม่มีรูปร่าง มันก็กำหนดยาก
เพราะถ้ามันเป็นโครงสร้าง รูปร่างอะไรขึ้นมา ก็กำหนดง่าย จำง่าย ก็ไปทำรายละเอียดได้ด้วยตนเอง ก็ยังได้อีกมาก จะกล่าวไว้แต่หลัก ทีนี้ก็จะพูดถึงคำว่า อานิสงส์ มันเป็นภาษาวัด แต่ก็เป็นภาษาบาลี ที่คู่กันมากับ พุทธศาสนา เรื่องอานิสงค์ คำว่า อานิสงส์ นิสสะ(นาทีที่ 2.52) แปลว่า ไหล ไหลออก คือ ผลที่มันไหลออกมา
จากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็คล้าย ๆ กับไอ้ปฏิกิริยา หรือ reaction นั่นแหละ เอ้อ, เพราะว่ามันมีการกระทำ แล้วมันก็จะต้องมี ปฏิกิริยาออกมาจากการกระทำ นี่ถ้าเค้ามองแต่ส่วนที่ดี ก็เรียกว่า อานิสงส์ ที่มันออกมาร้ายหรือไม่ดี ก็เรียกว่า โทษ นั่นมันเป็นเรื่องมนุษย์บัญญัติขึ้น แต่ถ้าตามธรรมชาติ
มันเป็นเพียงปฏิกิริยาหรือผลที่ออกมา ถ้าก็เอาธรรมะหรือธรรมชาติเป็นหลัก มันไม่มีดีไม่มีชั่ว มันมีก็แต่ว่า เมื่อทำลงไปอย่างนี้ ผลก็ขึ้นมาอย่างนี้ ่ก็จัดเป็นผลดีแก่ผู้ที่ต้องการหรือปรารถนา หรือมันตรงกับความปรารถนา ของผู้นั้น ก็เรียกว่าเป็นดี นี่เป็นอานิสงส์ไป ทีนี้มันสู้ไม่ไหว มันเลวร้าย มีแต่ความเลวร้าย ก็เรียกว่า โทษ
มันมีอยู่ที่ว่า ผู้นั้นมันไปกระทำเข้าอย่างไร ตามกฎของอิทัปปัจจยตา ซึ่งเป็นกลาง กลาง เด็ดขาด
มีแต่เพียงว่า ถ้าทำลงไปอย่างนี้ หรือปรุงแต่งกันอย่างนี้ แล้วผลมันก็เกิดขึ้นมาอย่างนี้ นี่มันเป็นอย่างนี้
กฎธรรมชาติ ไม่มีความรู้สึกคิดนึกอะไร ที่จะมารู้สึก ได้ เสีย สุข ทุกข์ ดี ไม่ดี มันไม่รู้ เป็นเพียงแต่ว่า มันจะให้ ปฏิกิริยาออกมาอย่างถูกต้อง ตามการกระทำ ตามความจริงของการกระทำ ดังนั้นมนุษย์ก็เลือกเอาเองสิ ว่าเราต้องการผลอย่างไร แล้วก็ทำให้มันตรงกับ ไอ้เรื่องของผลอย่างนั้น แล้วก็ได้รับผลอย่างนั้น
ทีนี้เป็นธรรมดาสำหรับมนุษย์ ที่มีความรู้สึกคิดนึก มันก็ต้องการแต่ฝ่ายที่เรียกว่า ดี ดี ดี ที่มีประโยชน์ เป็นที่ปราถรถนา เป็นที่พอใจและก็เลย เลยไปถึงเป็นที่น่ารัก น่ายึดถือ น่าหลงใหลไปโน่น มันก็กลายเป็นโทษ โดยไม่รู้สึกตัวขึ้นมาอีก ที่มันเป็นประโยชน์ตามปกติหรือควรจะมีประโยชน์ตามปกติ มันก็พอดีแล้ว แต่ถ้าเลยนั้น มันก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือหลงใหลไปตามเรื่อง มันก็มีความทุกข์กลับมา นี่ี่เรียกว่า อานิสงส์ มีคำแทนชื่อ อีกหลาย ๆ คำ จะเรียกว่า ผลหรือผลานิสงส์หรือจะเรียกว่าประโยชน์ จะเรียกว่า คุณ จะเรียกว่าอะไรก็ได้ แต่ว่าไอ้คำที่เต็มยศของมันนั่น ตามภาษาบาลีเค้าเรียกว่า อานิสงส์ ชาวบ้านมักจะเติม คำว่า ผล เข้าไปเป็น ผลอานิสงส์ เป็นผลานิสงส์ มีใจความอยู่ที่คำว่า มันเป็นสิ่งที่ออกมาจากการกระทำ ทีนี้เราก็เอามนุษย์เป็นหลัก การประพฤติพรหมจรรย์นี่ ก็คือที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ว่าประพฤติอย่างไร ประพฤติอย่างไร ที่พูดกันมาแล้ว
ทีนี้มันจะให้ผลหรืออานิสงส์อย่างไร เราจะมาดูกันแต่อีกชั้นหนึ่ง และก็ดูคราวเดียวหมด เรื่องนี้ให้จำไว้เป็น หลักข้อศึกษาว่า ไอ้ประโยชน์หรืออานิสงส์ ของการทำความดี ความถูกต้องนั้น ท่านก็แบ่งไว้เป็น ๒ ชั้นเสมอ
เป็น ๒ ชั้น คือ ประโยชน์สำหรับผู้ที่ยังข้องอยู่ในโลกนี้ นี่ประเภทหนึ่ง และประโยชน์สำหรับการที่จะ ออกไปจาก โลกนี้ นี่อันหนึ่ง ก็เป็น ๒ ประโยชน์ จะเรียกว่า ประโยชน์ในโลก ประโยชน์เหนือโลก เป็นโลกียประโยชน์ เป็นโลกุตระประโยชน์ก็ได้ แต่ใจความสำคัญ มันก็คือว่าประโยชน์สำหรับ ผู้ที่ยังข้องยังอยู่ในโลกนี้ แล้วก็ประโยชน์ สำหรับ ผู้ที่มุ่งหมายจะออก หรือกำลังออก หรือออกไปจากโลกนี้
ข้อนี้ขอให้เข้าใจว่า คนจำพวกหนึ่งนะ มันยังต้องอยู่ในโลกนี้ อยู่ในวิสัยแห่งโลกนี้ ตามความหมายของ คำว่า สัตว์ คำว่า สัตว์น่ะ สัด ตะ หรือสัด ตะ วะ ก็ตาม คำว่าสัตว์นะ ในภาษาบาลี ออกมาเป็นภาษาไทย รูปสันสกฤต ก็เขียนว่าเป็น สัด ตะ วะ คำว่า สัด ตะ นี่ คำคำนี้ รากศัพท์ของมัน แปลว่า ข้อง เกี่ยวข้อง ข้องติด คำว่า สัตว์ ก็คือ ผู้ที่ข้องติดอยู่ในโลก ข้องติดอยู่ในโลกด้วยเครื่องเกี่ยวข้องนานาประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันก็คือสติปัญญา มันไม่พอ มันไม่ได้อบรมสติปัญญา ถึงขนาดที่เรียกว่า เพียงพอ มันจึงไม่เห็นการข้องการติด การทนทรมาน อยู่ในโลกนี้ มันก็พอใจที่จะติดข้องอยู่ในโลกนี้ ก็เพราะว่าในโลกนี้ มันมีอารมณ์เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ ก็ตั้งแต่เด็ก ๆ มาพอเกิดมามันก็ไม่ต้องรู้เรื่องอื่นน่ะ มันรู้แต่สิ่งที่เป็นที่น่ารักน่าพอใจ ไอ้ที่ไม่น่ารักไม่น่าพอใจ มันก็ไม่สนใจ แต่ชนิดไหนเป็นที่น่ารักน่าพอใจ มันก็สนใจมากขึ้น มากขึ้น จนจิตใจมันข้องติดอยู่แต่ในสิ่งเหล่านั้น นี่เรียกว่า เขามีพื้นเพแห่งจิตใจ สำหรับจะข้องติดอยู่ในโลกนั้น เป็นหนุ่มเป็นสาวก็ยังเป็นอย่างนั้น บางทีกระทั่งเป็นคนแก่ คนเฒ่าก็ยังเป็นอย่างนั้นนะ ไม่รู้เรื่องออกไปจากโลก นี่เป็นสัตว์สมบูรณ์
ทีนี้ แต่อีกพวกหนึ่งมัน เออ, ด้วยเหตุอะไรก็ตาม ด้วยการเจริญแห่งสติปัญญา หรืออะไรก็ตามนะ มันต้องการจะออกไป จากการข้อง จากสิ่งข้อง ออกไปเป็นอิสระ นี่มันก็เกิดขึ้นมาพวกหนึ่ง คือ พวกที่จะ อยู่เหนือโลก ทีนี้เราก็ต้องเห็นใจ ผู้ที่มันยังออกไปไม่ได้ มันก็ต้องมีระบบประพฤติปฏิบัติ ให้เหมาะสมที่จะอยู่ในโลก ได้รับความสุข ความสะดวกความสบายตามสมควร ของสัตว์ที่ยังข้องติดอยู่ ที่เปรียบเหมือนกับว่า สัตว์ชนิดที่ มันถูกขังกรง โดยไม่รู้สึกตัวก็ได้ แล้วมันก็พอใจอยู่ในกรง ยิ่งเมื่อมีการเลี้ยงดูดี สัตว์เหล่านี้ก็ไม่อยากจะออกไป จากคอกหรือจากกรง มันก็เป็นระดับมาตรฐานอันหนึ่งของจิตใจหรือพอใจ
ทีนี้กรงที่จะขังจิตนั่นนะ มันก็คือ อารมณ์นั่นเอง อารมณ์ แปลว่า เครื่องยึดหน่วงแห่งจิต ที่เป็นที่ยึด หน่วงแห่งจิต นะก็เรียกว่า อารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๖ ประการนี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่ง ความพอใจ นั้นนะมันเป็นกรง ทีนี้เขาก็จะต้องทำชนิดที่ได้อยู่กับสิ่งเหล่านี้ ในโลกนี้ มันก็เป็นที่พอใจ แม้จะต้องมี ความทุกข์ ลำบากบ้าง ก็ไม่เห็นเป็นส่วนสำคัญ เอาแต่ให้ได้ส่วนที่พอใจ ตามความต้องการของความรู้สึก ที่เรียกว่า ความสุข เราจึงต้องนึกถึงว่า อานิสงส์ที่จะอยู่ในโลกนี่ มันก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งต้องมีต้องรู้จัก ต้องสนใจ เพราะว่า มันยังต้องอยู่ในโลก ในลักษณะนี้
นี้ท่านก็มีรูปแบบของอานิสงส์ ซึ่งพอจะแยกออกได้ เป็นส่วนบุคคล หรือส่วนสังคมด้วยเหมือนกัน แม้ธรรมะนี่แหละ บางคนมันโง่ มันไม่รู้ มันหลับตาพูดว่า พระพุทธศาสนาดีแต่เอาตัวรอด ไม่นึกถึงสังคม นักศึกษาที่มันว่าเอาเอง ไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง ที่จริงคนโบราณดึกดำบรรพ์โน่น ก่อนพุทธกาล ด้วยซ้ำไป เขารู้จักสิ่งที่เรียกว่า สังคมด้วยเหมือนกัน เขาก็มีการกระทำอะไร ๆ เพื่อประโยชน์แก่สังคมด้วยเหมือนกัน นี้ความมุ่งหมายของการประพฤติพรหมจรรย์ หรือในระดับศีลธรรมนี้ มันก็มีเพื่อประโยชน์บุคคลนั้นด้วย เพื่อประโยชน์สังคมนั้นด้วย เพื่อประโยชน์แก่บุคคลนั้น ๆ คือ ได้มีสิ่งที่ควรจะมีตามธรรมดาชาวโลก มีทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศ ชื่อเสียง มีมิตรสหายที่ดี อันนี่จำไว้เป็นหลักใหญ่เถอะ ว่าท่านถือกันมาอย่างนี้ วางหลักกันไว้อย่างนี้ มีทรัพย์สมบัติตามที่ควรจะมี เป็นมหาเศรษฐีได้ก็ยิ่งดีนะ แต่ว่าเราต้องมีทรัพย์สมบัติพอตัวพอสมควร แก่ฐานะ แก่อัตภาพ แล้วก็มีเกียรติยศชื่อเสียงพอสมควรแก่ฐานะแก่อัตภาพ แล้วก็มีมิตรสหายชาวเกลอเพื่อนผู้หวังดี คือ มิตรนะ พอสมควรแก่อัตภาพ คือส่วนตัวดูมันก็จะพอแล้ว
ทีนี้ก็เหลือส่วนสังคม ประโยชน์ที่จะได้แก่สังคม คือสังคมของคนที่รวมรวมกันอยู่นี้ ก็ได้รับผล เป็นที่พอใจ ด้วยเหมือนกัน แต่โบราณมามีปรากฏอยู่ในพระบาลี ในพระพุทธภาษิตด้วยซ้ำไป ที่เขาถือกันเป็นหลัก เขาเรียกว่า ชีวิตโวหาร การใช้ชีวิตเป็นเครื่องลงทุน โวหารนี้ก็แปลว่า การค้าขายชีวิต ชีวิตโวหาร การค้าขายด้วยชีวิต ใช้ชีวิตเป็น เครื่องลงทุน แล้วก็ได้รับผลถึงที่สุดแล้ว สำหรับคนคนนั้น แม้เขาก็ยกตัวเองขึ้นจากชาวบ้านธรรมดา เป็นผู้จบกิจ ชีวิตโวหารแล้ว แต่มันเป็นเรื่องนอกพุทธศาสนา หรือก่อนพุทธศาสนา เขาใช้คำเหมือนกับว่า สิ้นกิเลสแล้ว แต่ไม่ได้ สิ้นกิเลสนะ คือเขามีทรัพย์สมบัติพอตัว เกียรติยศชื่อเสียงพอตัว ลูกหลานพอตัว อะไรอะไรก็ มากมายก่ายกอง ยกทรัพย์มรดกให้ลูกหลานดำเนินการไป พ่อเฒ่านี้ก็นุ่งผ้าขาว กางร่มขาว ใส่รองเท้าขาว เที่ยวเดินอยู่ตามทำเล
ที่อากาศดี ไปวัดไปวา นี่เรียกว่า นี่ผู้สำเร็จชีวิตโวหาร ก็จบเรื่องที่จะเป็นฆราวาส แต่ไม่ได้หมดกิเลสอะไร พระพุทธเจ้าท่านล้อให้คนเหล่านี้ โดยเอาเรื่องหมดกิเลสเข้ามา มาพูด มาเปรียบให้เขาฟังก็มีเหมือนกัน
ถ้ามันหมดเรื่องจริง มันก็ต้องหมดถึงกับว่าไม่มีปัญหา กิเลสรบกวนในภายใน เดี๋ยวนี้แม้จะร่ำรวย มีชีวิตชนิดนั้นแล้ว มันก็ยังมีกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่ง รบกวนอยู่ในภายใน แต่แล้วเอาเป็นว่า ลงมาถึงระดับธรรมดาว่า จะต้องมีทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศชื่อเสียง มีมิตรสหายที่พอตัว แล้วก็เป็นผู้อยู่อย่างสุจริต มีธรรมะที่ประพฤติ แล้วสุจริต ซึ่งถือกันเป็นหลัก มาแต่โบร่ำโบราณว่า มันจะปลอดภัย ไม่ตายโหง ไม่ตายโหงหมายความว่า ไม่มีใครมา ฆ่าตายเสียก่อน ก่อนเวลาที่ควรจะตายนะ ไม่มี นี่ในอรรถกถาท่านชอบอ้างกันนักแหละว่า ผู้ที่ประพฤติพรจรรย์ โดยเฉพาะกรรมบถ ๑๐ นี้ จะไม่มีใครตายก่อนถึงอายุขัย อายุขัย ๘๐ ปี ๑๐๐ ปี ๑๒๐ ปี แล้วก็ตามใจ เรียกว่า อายุขัย ผู้ที่ประพฤติพรจรรย์นี้ จะไม่ตายก่อนอายุขัย
ก็มาชอบ ชอบเล่าไว้ในอรรถกถาก็ว่า มีชาวบ้านตำบลหนึ่ง เขาถือพรหมจรรย์ ถือกุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นชีวิตจิตใจ จนเป็นที่รู้กันว่า คนพวกนี้ไม่ตายก่อนอายุขัย ทีนี้มันมีคนหนึ่ง เขาเดินทางไกลไปธุระถิ่นไกลโน่น หายไปน่ัน มีนักเลงดีมาหลอกว่า ไอ้คนคนนั้นมันตายแล้วนี่ มันเอากระดูกมาให้ดู คือเขาเก็บกระดูกแพะ กระดูกอะไรก็ตามมาให้ดู คนในหมู่บ้านทุกคนไม่ยอมเชื่อ ไม่ยอมเชื่อไอ้คนนักเลงคนนี้ ว่าเด็ก ๆ ของเราจะไม่ตาย ก่อนอายุขัยเป็นอันขาด มันก็เลยหลอกไม่ได้ ในที่สุดคนนั้นมันกลับมา คือ มันไม่ตาย นี่ยึดถือกันถึงขนาดว่า ในเรื่องโลก อยู่อย่างชาวโลก ก็เอากันถึงขนาดว่า จะไม่ตายก่อนอายุขัย แล้วก็จะได้รับประโยชน์ตามที่ควรจะได้รับ ตามฐานะ นี่เรียกว่า ส่วนบุคคล ส่วนบุคคลนะ มันได้รับอานิสงส์เต็มที่ ตามที่บุคคลแต่ละคนควรจะได้รับ
ทีนี้ถ้าเป็นเรื่องของสังคม ก็มุ่งหมายสังคมที่สงบสุข ปกติสุข มีแต่ความสุขความเจริญ ซึ่งบัญญัติเรียกกันว่า โลกของพระศรีอริยเมตไตร คือ ทุกคนประพฤติชอบ แล้วก็แถมรักผู้อื่นอย่างสุดชีวิตจิตใจนี่ ลองคำนวณดูสิ ถ้าคนทุกคนในสังคมนั้น ในประเทศนั้นนะ มันประพฤติดี ประพฤติชอบ อย่างที่ว่าโดยส่วนตัวนี้แล้ว แล้วมันรัก ผู้อื่นอย่างสุดชีวิตจิตใจ แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น คิดดู มันเกิดสังคมพระศรีอริยเมตไตรขึ้นมา อยู่ในความผาสุก สงบสุขขนาดที่เรียกว่า ไม่รู้เรื่องการทำร้าย นอนไม่ต้องปิดประตูเรือน หรือไม่ได้ทำประตูเรือน คือไม่มีอันตราย จากโจรคนขโมย ศีลธรรมดี เล่าเรื่องว่า พอลงจากเรือนแล้วก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ดีเหมือนกันหมด หมายความว่า ไปทางไหนก็มีแต่คนที่ถามว่าจะให้ช่วยอะไร มีคนชูมือขึ้นว่าจะให้ช่วยอะไร ช่วยอะไร จะให้ช่วยอะไร ต้องการอะไร บอกมา มีแต่คนชูมือสลอนถามอย่างนี้แหละ สังคมพระศรีอริยเมตไตร
นี่มันก็เป็นผลของการประพฤติธรรมะสูงสุด แต่ว่ายังเป็นเรื่องที่ยังข้องอยู่ในโลก ยังไม่วิเศษวิโส ถึงกับว่า มันจะออกไปจากโลก มันยังอยู่ในโลก มันยังผูกพันกันเป็นโลก อยู่ในโลก เป็นอานิสงค์ที่เรียกว่า สำหรับผู้ที่จะอยู่กัน ในโลก นี่คนเราพิจารณาด ูจัดลำดับดู ว่าแม้ในส่วนที่เป็นโลก ๆ นี่ มันก็ยังไปได้ไกลถึงอย่างนี้ ถ้าเปรียบกับที่มันมีอยู่ เวลานี้ในบ้านเมืองของเรา หรือว่าในโลกทั่ว ๆ ไป มันยังไกลกับลิบนะ ในโลกนี้น่ะประเทศไหนก็ตาม มันยังไม่มี วี่แวว ที่ว่าจะมีความรักแก่กันถึงขนาดนี้ ยังคอยจ้องที่จะเอาเปรียบกัน ขูดรีดกัน หาประโยชน์เหนือประโยชน์ ของผู้อื่น เพราะมันไม่มีการประพฤติพรมจรรย์ แม้ที่สุดแต่ที่เรียกว่า กุศลกรรมบถ คือหนทางแห่งกุศล หนทางแห่งกุศลมันก็ไม่มี
เท่าที่อ่านทราบเรื่องราวในพระบาลีนี่ ผู้ปกครอง ชนชั้นปกครอง คือ พระราชา มหากษัตริย์ จักรพรรดิ อะไร เค้าถือเป็นหน้าที่อย่างยิ่ง คล้ายว่าเอาครึ่งหนึ่งของหน้าที่ พระราชาองค์หนึ่ง มีหน้าที่จะทำให้ประชาชน
สงบเรียบร้อย ปกครองเรียบร้อย นี่ก็หน้า หน้าที่ตั้งอยู่ในศีลธรรม เกลี้ยกล่อม อบรมช่วยเหลือ ให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม เรียกว่าใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ ใช้อาชญาไปบังคับที่ควรจะบังคับ เพื่อให้มีการประพฤติที่ถูกต้อง แล้วก็ใช้ พระคุณอบรมสั่งสอนเกลี้ยกล่อมประชาชน เหมือนประวัติศาสตร์สุโขทัยพ่อขุนรามคำแหง ถึงวันพระก็ขึ้นนั่งเทศน์ บนกระดานหิน ให้ประชาชนฟัง ในอินเดียพุทธกาลหรือก่อนพุทธกาลก็ ก็มีอย่างนี้ เป็นหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดิน ที่จะชักจูงให้ประชาชน ตั้งอยู่ในศีล ในธรรม มีสลักภาพที่ภูเขา หรือว่าที่ ที่สร้างขึ้นเป็นเจดีย์สถาน อะไรก็ตามนะ สลักภาพประเภท ที่ชวนให้พลเมืองมีศีลธรรมดี มีศีลธรรม พอเราสำรวจดูภาพชาดก ที่ถูกสลักหินมากที่สุด ปรากฏอยู่ในทางโบราณคดี สลักเรื่องเวสสันดร สลักหินมากที่สุด ตามภูเขา ตามพระเจดีย์ ตามอะไรต่าง ๆ นี่พระราชาต้องการอบรมประชาชน ให้มีน้ำใจเหมือนพระเวสสันดรนะ คือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แม้ครั้งหลัง เช่น พระเจ้าอโศกนี่ ก็มีเรื่องราวกล่าวไว้มาก ที่ชักจูงประชาชนให้หนักในศีลธรรม หนักในการประพฤติธรรม จนมีผู้ตรวจหรือมีตำรวจ เที่ยวตรวจการประพฤติธรรมของประชาชน ในเรื่องราวมีปรากฏอยู่อย่างนี้ มีตำรวจ เที่ยวตรวจทุกบ้านเรือน ตรวจการประพฤติธรรมของประชาชน แล้วว่า เป็นว่า มันมีเรื่องโดยตรง โดยเฉพาะ ที่จะต้องได้รับประโยชน์ อย่างที่เรียกว่า โลกียะ มันยังเป็นไปในวิสัยโลก
ที่นี้ก็มาถึง ประโยชน์อานิสงส์ ประเภทที่ ๒ คือว่า เพื่อจะอยู่เหนือโลก พอพูดว่าอยู่เหนือโลก ขอให้เข้าใจ ถูกต้องเสียด้วยนะว่า ไม่ได้ขึ้นไปในอวกาศ หรือไปที่ไหน นอกไปจากโลกนี้ คำว่า เหนือโลกนะ มันเป็นเรื่อง ของจิตใจ มีจิตใจอยู่เหนืออิทธิพลใด ๆ ที่มีอยู่ในโลก นั่นแหละคือ เหนือโลก จะหนีจะอยู่ที่ใหนมันอยู่ในโลก หนีไปอยู่ในป่ามันก็อยู่ในโลก จะไปอยู่บนสวรรค์กับเทวดามันก็ไปไม่ได้ และมันก็ไม่ใช่เหนือโลก ควรจะรู้กันไว้ว่า แม้เทวดาชั้นกามาวจร หรือชั้นพรหม ท่านก็ยังจัดเป็นโลก ยังไม่ใช่โลกุตระนะ สวรรค์ทั่วไปที่เต็มไปด้วยกามารมณ์ ที่ปรารถนากันนักนี่ ทำบุญตักบาตรช้อนหนึ่ง ให้ได้วิมานหลังหนึ่ง เป็นที่ยึดถือ อันนั้นก็ไม่ใช่เหนือโลกไม่ใช่พ้นโลก ที่ยิ่งไปกว่านั้นอีก คือ เป็นฤาษีเป็นมุนี บำเพ็ญเป็นสมาธิภาวนา ได้รูปฌานบ้าง ได้อรูปฌานบ้าง เสวยสุขอยู่ในฌาน นั้น ๆ มันก็ยังไม่ใช่เหนือโลก ยังเป็นวิสัยโลก แต่ว่ามันเป็นโลกชั้นสูง
พอจะมองเห็นที่ท่านจัดจัดกันไว้ว่า ไอ้โลกนรกนะชั้นต่ำสุดนะ โลกสัตว์เดรัจฉานนี่ สูงขึ้นมา โลกเปรต โลกอสุรกาย และมนุษย์โลกธรรมดา และก็เทวดา ในสวรรค์กรรมารมณ์ กามาวจร และก็พวกพรหมในพรหมโลก เหล่านี้เป็นโลกทั้งนั้นนะ เพราะยังข้องติดอยู่กับอารมณ์ในโลก แม้ว่าพวกหนึ่งจะไม่เกี่ยวกับกาม คือพวกพรหม ไม่เกี่ยวกับกาม แต่ก็พอใจในรสทางธรรมารมณ์ ทางจิตใจที่ไม่เกี่ยวกับกาม มีจิตใจข้องติดอยู่ในอารมณ์นั้น ๆ นะ ก็คือโลกเพราะฉะนั้นยังไม่พ้นจากโลก พ้นจากโลก ก็คือ พวกพระอริยเจ้า เริ่มรู้สึกสังเกตเห็นและเบื่อหน่าย ต่อเรื่องผูกพัน ที่มันผูกพันผูกรัด ให้ติดอยู่กับอารมณ์ในโลก เพราะจึงแยกออกมาเป็นอีกพวกหนึ่ง พวกเหนือโลก หรือพวกที่กำลังจะเหนือโลกแน่นอน แน่นอนที่ว่าจะเหนือโลก เช่น พระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี นี่แหละ ก็เรียกว่าแน่นอนที่จะเหนือโลก พระอรหันต์นั้นแน่แล้ว เสร็จแล้ว พ้นแล้ว เหนือโลกแล้ว แต่ร่างกายของท่าน ก็ยังเดินอยู่ในโลก ยังเที่ยวขอทานอาหาร บิณฑบาตรอยู่ในโลก แต่ว่าจิตใจนั้นนะ ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลใด ๆ ของอารมณ์ในโลก ไม่หลงติดในรสอันอร่อยของวัตถุ ของกามารมณ์ หรือแม้แต่ของฌาน ของสมาบัติ พวกที่หลงใหลในฌานสมาบัติ ก็หลงใหลเหมือนกับ คนธรรมดาที่หลงใหลในกามารมณ์ ในรสชาติของฌาน ของสมาธิของสมาบัตินั้นนะไม่ใช่เล็กน้อย เป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหล เหมือนกับที่คนธรรมดาในโลกนี้ หลงใหลในกามารมณ์ทางเพศ
เพราะฉะนั้นไอ้รสของสมาธิ ของฌาน ก็ถูกจัดไว้ใน ฐานะเป็นอารมณ์ เครื่องข้องของจิต เครื่องติดข้อง ของจิตด้วยเหมือนกัน ยังมีความหมายเป็นสัตว์ตามธรรมดา เป็นสัตว์โลก เป็นสัตว์สวรรค์ เป็นสัตว์พรหม อะไรก็ยังเป็นสัตว์ที่ยังมีจิตข้องอยู่ตามธรรมดา ทีนี้พระอริยเจ้า คือ ผู้ที่ยังมองเห็นในโทษของความข้องติดนี้ จึงขยับขยายออก ไปทางที่จะไม่ข้องติด จึงประพฤติธรรมะหรือพรหมจรรย์ในอีกระบบหนึ่ง ที่จะไม่ข้องติด อยู่ในโลก หารายละเอียดอ่านดูจากหนังสือเรียนนักธรรมนั่นแหละ เขามีอยู่แล้ว พระโสดาบันจะต้องละอะไรบ้าง พระสกทาคานามีจะต้องละอะไรบ้าง จนกระทั่งว่าละหมด พวกกิเลสนะไม่มีอะไรเหลือ ท่านก็เลยพ้นจากเครื่องข้อง โดยประการทั้งปวง
อันสุดท้ายมันก็คือ พ้นจากความยึดถือว่าตัวตน เครื่องที่เกาะเกี่ยว เกี่ยวข้อง เกี่ยวพัน ร้ายกาจที่สุดถึงที่สุด ก็คือ ความยึดถือว่าตัวตน นี่มันเครื่องข้อง ถ้าพ้นจากเครื่องข้องอันนี้แล้ว จะพ้นหมดล่ะ เพราะว่าเรื่องกิเลสตัณหา เรื่องความทุกข์ เรื่องอะไร เรื่องกรรม เรื่องพ้นกรรม เรื่องอะไรก็ตาม มันมันตั้ง อยู่บนสิ่งที่เรียกว่า ตัวตน ถ้าไม่มี ตัวตนแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ละลายหมด ทีนี้สิ่งที่เรี่ยกว่า ตัวตน ตัวตนนั้นเป็นเพียงมายา ปรุงแต่งขึ้นมาจากความคิด ที่ไม่มีความรู้ มันเป็นอวิชชา นี่มันเกิดความรู้สึกว่าตัวตน และก็เป็นที่รองรับอะไรต่าง ๆ อยู่บนตัวตน เรียกว่าถ้ายัง ข้องติดอยู่ในตัวตน แล้วก็เอาอะไรอะไรไว้ด้วยกันทั้งหมด ถ้าทำลายความรู้สึกว่าตัวตนเสียได้ ไม่มีความรู้สึกว่าตัวตน มันก็ไม่มีอะไรที่จะรองรับ ไอ้เครื่องผูกพันเหล่านั้น ก็เลยเรียกว่า หลุดพ้น
ถ้ายังเป็นสัตว์ก็ยังเกี่ยวข้องติดอยู่เหมือนกัน ว่าอะไรเขามักจะเทียบกับแกะติดตรึงหนามบ้าง ไอ้แกะขนยาว ติดตรึงหนามแล้วออกไม่ได้ เดี๋ยวนี้มันไม่มีแล้วไอ้เรื่องอย่างนั้น มันก็มีแต่เรื่องหลุดคือไม่ติด เป็นวิมุต หลุด เป็นอานิสงส์ของการประพฤติปฏิบัติ ส่วนที่จะเป็นพระอริยเจ้า อันนี้เป็นตัวพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ในการปฏิบัติ เพื่อให้เจริญในทรัพย์ ยศ ไมตรี หรือแม้แต่พระศรีอริยเมตไตรนั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่ค่อยได้เน้นนะ คล้าย ๆ ว่า ท่านจะไม่ได้ยอมรับ ว่าเป็นระบบของท่านด้วยซ้ำไป ระบบของท่านจึงมีแต่การหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง จนกล่าวได้ว่าพรหมจรรย์นี้ มีวิมุตเป็นอานิสงค์ ถ้าพรหมจรรย์ที่ไม่มีวิมุตเป็นอานิสงส์์ ก็ไม่ใช่พรหมจรรย์นี้ ไม่ใช่พรหมจรรย์นี้ของตถาคต
แต่ด้วยเหตุที่ว่า ประชาชนมันยังต้องมีอยู่อย่างนี้ ท่านก็สอน ท่านก็สอนเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ ไม่ใช่ จุดมุ่งหมายสูงสุด หรือโดยเฉพาะเจาะจงอะไร จึงเรียกว่า อานิสงส์ของพรหมจรรย์นั้น มันแบ่งออกได้เป็น ๒ ซีก อย่างนี้ คือ ซีกสำหรับสัตว์ที่ยังข้องอยู่ในวัฏฏะ ในวัฏสงสารนะ เกิดแล้วเกิดอีก กับสัตว์ที่จะออกไปจากวัฏสงสาร เพื่อความไม่เกิดแล้วเกิดอีก แบ่งออกได้เป็น ๒ ซีก นี้แต่ละซีก แต่ละซีก ก็แบ่งออกได้ เป็นปลีกย่อย ปลีกย่อย ไปตามเรื่อง จะดูเรื่องโลกก็ปลีกออกไปได้อย่างที่ว่ามาแล้ว เพื่อบุคคลเพื่อสังคม หรือในระดับต่ำ ระดับกลาง หรือในระดับสูง สูงสุดยอด ก็มีอยู่
ทีนี้ก็มาดูกันโดยเฉพาะ ที่เรียกว่า โลกุตตระโดยตรงนี้ คงจะเคยได้ยินกันมาแล้ว สำหรับคำเรียก โลกุตระ โลกอุดร ท่านชอบพูดกันว่า โลกุตรธรรม ๙ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ รวมเป็น ๙ แต่ผมไม่เคยพบ พระพุทธภาษิต ที่เรียกว่า โลกุตรธรรม ๙ อาจจะเป็นเรื่องคัมภีร์ชั้นหลังเขาพูดไว้ เขาพูดไว้ดีแล้ว ก็ยึดถือเป็นหลัก พูด สำหรับพูดกันมาจนบัดนี้ ว่าโลกุตรธรรม ๙ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ๔ คู่ ๘ พระองค์ เหมือนที่เราสวด บททำวัตร นับเรียงตัวบุรุษแปด นับคู่ได้สี่คู่นะ ประพฤติพรหมจรรย์ส่วนนี้ ก็คือ ปฏิบัติอัษฏางคิกมรรคโดยตรงนะ ก็เพื่อโลกุตระนี้ ถ้าปฏิบัติศีล ทาน สมาธิอะไร อย่างชาวพุทธทั่ว ๆ ไป ก็เป็นเรื่องที่ยังข้องอยู่ในโลก ยังเป็นโลกียะ ถ้าปฏิบัติอัษฏางคิกมรรค มีองค์ ๘ นี้โดยตรงแล้ว ก็เพื่อโลกุตระโดยส่วนเดียว
นี้จำไว้ให้ดี ๆ ไอ้โลกุตระ มันเหนือโลก ไอ้โลกียะ คือไปในโลก อยู่กับวิสัยโลก เมื่อยังมาสู่โลกุตระไม่ได้ มันก็ยังต้องอาศัยอยู่ในวิสัยโลก ดีที่สุด เท่าที่จะอยู่ได้ เหมือนกับเราจะต้องสึกไปเป็นฆราวาสอย่างนี้ มันก็จะไปต่อสู้ กับไอ้เรื่องโลกให้ดีที่สุด เท่าที่จะดีได้ เพื่อจะอยู่ในโลก ในสภาพที่เรียกว่า ดีที่สุด เท่าที่มันจะดีได้ แต่ถ้าเป็นโลกุตระ แล้ว มันไม่มีการกระทำอย่างนั้น มันเหนือดีขึ้นมาอีก มันพ้นดี มันเหนือดีขึ้นมาอีก พ้นชั่วมาถึงดี แล้วก็พ้นดีก็มาถึง โลกุตระ พูดง่าย ๆ พูดด้วยภาษาง่าย ๆ จำง่าย ๆ ก็คุณก็จำไว้เถอะว่า พอพ้นชั่วก็มาถึงดี ถ้าพ้นดีอีกทีจะเอาอะไร ท่านใช้คำว่า สงบ ใช้คำว่าสงบ นั้นก็คือโลกุตระล่ะ มีความหมายในทางสงบ ไม่ชั่วไม่ดี ซึ่งยุ่ง ยุ่งกันทั้งสองอย่างล่ะ ทั้งชั่วทั้งดี มันก็ยุ่งให้วุ่นวาย พอพ้นชั่วพ้นดีมันก็เป็นความสงบ นี่เขตขอบเขตของโลกุตระ มันจึงเริ่มสงบ ก็เริ่มสงบ เริ่มสงบ ไม่ไปหลงในความดี ที่เรียกกันว่าดีตามภาษาชาวบ้าน ที่เรียกกันว่า ดี
นี่ผู้ที่เขารู้ธรรมะแท้จริงสูงสุด เขากล้าพูดว่า ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ แต่ผมก็ไม่ค่อยอยากจะพูด เดี๋ยวจะ เข้าใจผิด แล้วก็จะไปกันใหญ่ หมายความว่า เขาเห็นถึงขนาดว่า ทั้งชั่วทั้งดีทั้งสองอย่างนี้มันยุ่ง ก็ดีก็ดู ก็ดูสิ ในโลกที่ว่าชั่วว่าดี ดีเท่าไหร่ ดีเท่าไหร่ มันก็ยังยุ่ง จึงต้องการจะพ้นดี ผู้ที่ต้องการจะพ้นดี เขาจะพูดว่าทั้งชั่วทั้งดีล้วน แต่อัปรีย์ กูไม่เอากับมึง เพราะมันยุ่งนี่ เรายังไม่ไปถึงขนาดนั้นได้ ก็เลือกสรรเอาแต่ที่ เรียกว่ามันจะพอทนได้ ไอ้ดีชนิดที่ว่าไม่ ที่อัปรีย์น้อยก็แล้วกันนะ เพราะว่าชั่วนั้นมันเป็นการปรุงแต่ง ดีก็เป็นการปรุงแต่ง มันก็จะยุ่งยาก ลำบาก อยู่ด้วยการปรุงแต่ง และต้องเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยของการปรุงแต่ง ไม่เป็นอิสระแก่ตัว เป็นทาสของ ความชั่ว เป็นทาสของความดี ไม่เป็นอิสระแก่ตัว
อย่างนี้อานิสงส์ธรรมดา อยู่ในโลกธรรมดาเป็นโลกียวิสัย ถ้าจะขึ้นไปให้พ้นชั่วพ้นดี นั่นแหละ มันจึงจะเป็น โลกุตระ เหนือโลก หลักปฏิบัติที่เป็นพรหมจรรย์ส่วนนี้ก็คือ อัษฏางคิกมรรค หรือจะเรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญาก็ได้ แต่ต้องเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ชนิดที่เป็นอัษฏางคิกมรรค ศีลธรรมดา สมาธิธรรมดา ปัญญาตามธรรมดา ธรรมดา ก็ยังคงมีอยู่พวกหนึ่ง นี่มันจะเป็นไปในวิสัยโลก ต้องเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ชนิดที่เนื่อง หรือนับเนื่อง หรือว่าเป็นตัว อัษฏางคิกมรรคนี่ ศีล สมาธิ ปัญญา เหล่านี้มันไม่ ไม่ง่าย ๆ ไม่ต่ำ ๆ ไม่ คือว่าไม่อยู่ในวิสัยของโลกแล้ว มันจะออกมา นอกวิสัยโลก ขอต่อท้ายด้วยคำว่า วิเวกนิสฺสิตํ วิราคนิสฺสิตํ วสฺสคฺคปริณามึ (นาทีที่ 44:29) เรียกชื่อต่อท้ายไปเป็น จนรู้ว่า มันเพื่อออกไปจากโลกล่ะ โวสฺสคฺคปริณาม(นาทีที่ 44:48) เป็นไปเพื่อการเสียสละ น้อมเป็นไปเพื่อการสลัด ออก เป็นไปเพื่อวิเวก เป็นไปเพื่อราคะ เพื่อวิราคะ เป็นไปเพื่อนิพพาน
ศีล สมาธิ ปัญญา ตามธรรมดานั้น ทุกคนเขาทำกันเพื่อเอาสวรรค์ เพื่อเอาอะไรกันอยู่ก็มี แต่ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา ชนิดที่เป็นอย่างที่ว่านี้ เป็น วิเวกนิสฺสิตํ วิราคนิสฺสิตํ โวสฺสคฺคปริณามึ (นาทีที่ 45:20) นี่มันจะ ต้องการจะ
ตัด ๆๆๆ ไอ้สิ่งผูกมัด แล้วก็ออกไปสู่โลกุตระ ถ้า ถ้าว่าที่จริงแล้ว ทุกข้อ ธรรมะปฏิบัติทุกข้อ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อะไรก็ตามที่เป็นธรรมะ ที่กล่าวสอนกันอยู่นั้น มี ๒ ชนิดทั้งนั้น ชนิดหนึ่งเพื่อจะอยู่ในโลก ชนิดหนึ่งเพื่อจะ ออกไปจากโลก ที่จะออกไปจากโลก แล้วสงเคราะห์รวมกันได้ในอัษฏางคิกมรรค มีองค์ ๘ ประการ ไม่หลงอยู่ในโลก ก็เริ่มออกจากโลก อันดับแรกที่สุดเรียกว่า โสดาบัน โสตาบันนะ อันดับแรกก็โสตาปันนะ(นาทีที่ 46:22) แปลว่า ถึงกระแส โสตะ แปลว่า กระแส อาปันนะ แปลว่า ถึง โสตาปันนะ(นาทีที่ 46:33) แปลว่า ผู้ที่ถึงกระแส ถึงกระแส แห่งอะไร ก็คือ ถึงกระแสแห่งโลกุตระนะ คือ นิพพาน จะใช้คำอย่างอื่นอีกหลายคำ ก็มีคำที่ประหลาดอยู่คำหนึ่ง ก็คือว่า อมตัทวารัง อาหัจจะ(นาทีที่ 46:56) มายืนอยู่จรดประตูอมตะ พระโสดาบันนี่ มายืนอยู่จรดประตูอมตะ ยังไม่ได้ก้าวเข้าไป นี่ความหมายอย่างเดียวกับโสดาบัน ผู้ถึงซึ่งกระแส เอาเป็นว่าแน่นอนนะ ที่จะไปแต่ทาง
พระนิพพาน ไม่ไปทางอื่น ไม่เวียนกลับไปสู่เรื่องลูกโลก มีแต่จะถอยห่างออกไปจากโลก จากโลก นี่เป็นขั้นแรก ที่เรียกว่า โสดาบัน
ทีนี้ไกลไปถึงขนาดที่ว่า จะมีจิตน้อมกลับมาเรื่องโลก โลกอีกครั้งหนึ่ง เขาก็เรียกว่า สกทาคามี ทีนี้จิตจะไม่ น้อมมายังเรื่องโลกนี้อีกเลย คือ อนาคามี ไปข้างหน้าเลย แล้วก็ถึงที่สุดก็เป็นพระอรหันต์ สกทาคามี กลับมาอีก ครั้งหนึ่ง อนาคามี จะไม่มาอีกเลย อรหันต์ แปลว่าถึงที่สุด แห่งความประเสริฐ ถึงจุดปลายทางแล้ว
ทีนี้คำว่านิพพานน่ะ มรรค๔ ผล๔ นิพพาน๑ ที่ยังเป็นมรรคนะ มรรคที่เป็นผลแล้วสำเร็จแล้ว เขาเรียกว่า ผล จึงมี ๔ คู่ มรรคผล มรรคผล มรรคผล มรรคผล ๔ คู่ แล้วก็มีนิพพาน โดยความหมายทั่วไป เขาอธิบายหลังจากเป็น พระอรหันต์แล้ว ก็เป็นนิพพาน จึงจะมีนิพพานหลังจากพระอรหันต์แล้ว แต่ถ้าเราเอาพระบาลี มาพิจารณาดูให้ดี ดูให้ดี มันก็มีนิพพานไป ตั้งแต่พระโสดาบัน คือความสิ้นไปแห่งกิเลส ที่ควรจะสิ้นนั่นนะ ส่วนนั้นก็เป็นนิพพาน ขั้นหนึ่ง ขั้นหนึ่ง ขั้นหนึ่งเป็น ตทังคนิพพาน (นาที่ที่ 49:08) สันทิฏฐิกนิพพาน(นาทีที่ 49:11) น้อย ๆ น้อย ๆ น้อย ๆ ไปตามที่ว่า กิเลสส่วนใดสิ้นไป สิ้นไปอย่างไม่กลับมาอีกนะ ก็เป็นนิพพานของกิเลสส่วนนั้น แต่คำอธิบายอย่างนี้ ไม่ได้เอามาพูด ไม่ได้เอามาใช้ ไม่ได้เอามาสอนกัน พอเอามาพูด แล้วมันก็แปลก แล้วก็ไม่มีใครยอมรับก็ได้
คำว่า นิพพาน ในความหมายที่ใช้ได้ลงมาจนถึง แล้วก็โสดาบันนี่ ก็ไม่ได้เอามาสอนกัน จะนิพพานกันแต่ พระอรหันต์ขึ้นไปโน่น แล้วสอนประหลาด ๆ กระทั่งว่าพระอรหันต์ตายลง ตายแล้ว ก็เป็นนิพพานชนิดหนึ่ง ของคนตายแล้ว ถ้าพูดว่าพระอรหันต์ตายด้วยก็พอดีกัน เลอะเทอะ พระอรหันต์ต้องไม่ตาย พระอรหันต์ไม่มีบุคคล ไม่มีความรู้สึกเป็นบุคคล พระอรหันต์ไม่มีบุคคล ก็คือไม่ตาย ตายไม่ได้ มันเกิดไม่ได้
เอาละ เอาว่า นิพพานนั้น หมายถึง ความเย็นแห่งการที่กิเลสดับไป กิเลสนะเป็นความร้อน มันดับไปได้ เท่าไหร่ มันก็เป็นนิพพานเท่านั้น พ้นกิเลสคือ นิพพานเท่านั้นนะ จนกว่าจะหมดสิ้นสุดลงไป เป็นนิพพานสมบูรณ์ นี่อานิสงค์ของพรหมจรรย์ ประเภทที่เป็นโลกุตตระ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เราไม่ควรจะคิดว่า เรายังไปถึงไม่ได้ เราไม่สนใจ อย่างนี้มันก็ไม่ถูกหรอก เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่รออยู่ข้างหน้า ในชีวิตนี้มีจุดจบสุดท้าย อยู่ที่นิพพาน
ฉะนั้นควรจะรู้ว่า มันจะเป็นอย่างไร จะได้เชื่อมกันไปได้ง่ายเข้า จะเป็นไปได้เท่าไหร่ แต่มันก็ได้เท่านั้นแหละ มันไม่เสียหายอะไร แม้จะอยู่ในโลก ถ้ามีธรรมะในขั้นนิพพาน หรือในขั้นความหมายของนิพพาน เอามารวมอยู่ด้วย มาเจืออยู่ด้วย ก็ไม่เสียหายอะไร ทว่าที่จริงแล้ว มีความจำเป็นอย่างยิ่งนะ ที่เราจะต้องมีนิพพาน เข้ามาหล่อเลี้ยงชีวิต อยู่เป็นประจำ หมายความว่า เวลาที่ไม่มีกิเลส นั่นแหละ คือ เวลาที่เป็นนิพพานจะกี่นาที กี่อึดใจก็ตามใจ ไอ้ระยะที่ มันไม่มีกิเลสนะ มันเป็นนิพพาน ในความหมายหนึ่ง ในความหมาย ตัวอย่าง ลองคิดดูถ้าเรามีกิเลส เช่น ราคะ โทสะ เป็นต้น เต็มอัดอยู่ตลอดเวลา ทุกชั่วโมง ทุกชั่วโมง ทั้งวัน ทั้งคืน อยู่ได้ มันอยู่ได้ที่ไหน มันก็บ้า เป็นบ้า หรือตายไปแล้ว
นี้ควรจะขอบคุณของพระนิพพานอัตโนมัติ ตามธรรมชาติอย่างนี้กันไว้บ้าง คือ ธรรมชาติ มันจัดมา ไว้ให้ มีระยะว่างจากกิเลสตามสมควร เพราะว่ากิเลสนี้ มันก็เป็นสิ่งที่มีเหตุ มีปัจจัย ปรุงแต่ง เขาเรียกว่า สังขาร หรือเรียก ว่า สังคตะ แล้วแต่จะเรียก แปลว่า มันเป็นเหตุที่มีสิ่งปัจจัยปรุงแต่ง มันก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มันดำรงอยู่ พักหนึ่งเมื่อเหตุปัจจัยนั้นมันหมดไป มันก็ดับไป กิเลสมันก็ดับไป จนกว่ามันจะเกิดกิเลสใหม่ ดังนั้นไอ้ระยะที่มันว่าง จากกิเลสนั้นมันมีพอสมควร ที่เราจะได้พักผ่อนหรือว่างจากกิเลส ถ้าราคะกระตุ้นอยู่ทุกอึดใจ โทสะกระตุ้นอยู่ทุก อึดใจ มันก็บ้าตาย
ที่ธรรมชาติมันจัดมาไว้ให้นี่ ไม่ใช่เราทำนะ มันเป็นไปตามธรรมชาติตามกฎของธรรมชาติ กิเลสได้เหตุ ได้ปัจจัยเกิดขึ้น พอหมดเหตุนั้นก็ดับไปเอง มันก็มีประโยชน์ ยิ่งถ้าเรารู้เรื่องนี้เราก็ควบคุมให้ดี ให้มีความดับ ระยะที่ดับนะยาวออกไป ยาวออกไป ก็ยิ่งมีประโยชน์มากขึ้น จงรักษาภาวะจิตที่ว่างจากกิเลส ให้มีที่อยู่ตามสมควร โดยมากขึ้นมากขึ้น อยู่ด้วยความว่างจากกิเลสนะ ให้มันมากได้เท่าไหร่ก็เป็นผลดีเท่านั้น เรียกว่า สบาย นี่คือว่า มีพระนิพพานตัวอย่าง นิพพานล่วงหน้า นิพพานชิมลองกันไปเรื่อย ๆๆ แต่คุณ พูดอย่างนี้ไม่มีใครพูด มีแต่ที่นี่ แล้วคุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เอาหรือก็ตามใจ แต่ที่ผมศึกษามาเป็นเวลานานนะ เห็นว่ามันเป็นอย่างนี้ จึงเอามาเล่าให้ฟัง ในฐานะที่มันเป็นอานิสงส์ พื้นฐานตามธรรมชาติ เพราะว่าเราไม่ได้ทำ แต่ถ้าเราทำ มันก็อยู่ในอำนาจของเรา ก็เรียกว่าเราทำ ก็เป็นอานิสงส์ชนิดที่ว่า เราได้ทำให้เกิดขึ้น แต่ที่มันเป็นไปของมันเอง ตามธรรมชาติ มันก็เป็น อย่างนี้ ได้เหตุ ได้ปัจจัยก็เกิดกิเลส เกิดความทุกข์ พอหมดเหตุ หมดปัจจัย มันก็ดับของมันได้เอง หรือจนกว่ามันจะมี เรื่องให้เกิดกิเลส เกิดความทุกข์ใหม่ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มันมีตั้ง ๖ ทาง เพราะงั้นมันเกิด ได้ง่าย เกิดได้มาก เกิดได้ แต่ถ้าฝึกฝนจิต หรือประพฤติพรหมจรรย์ดีพอ หรือควบคุมไว้ได้ ก็เกิดไม่ค่อยได้ เกิดห่าง ออกไป ห่างออกไป จนเกิดไม่ได้ มันก็มีเท่านั้นแหละ
การประพฤติพรหมจรรย์นี้ก็คือ จัดให้กิเลสเกิดไม่ได้ ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ถ้าถึงระดับสุดท้าย ก็บรรลุพระอรหันต์ เป็นนิพพาน แต่คนทั่วไปเขาไม่รู้เรื่องนี้ เขาไม่ต้องการอย่างนี้ เขาต้องการจะอยู่กับกิเลสอร่อย สนุกสนานเพลิดเพลินอยู่กับกิเลส เขากลับจะชอบกิเลส บูชากิเลส หล่อเลี้ยงกิเลส ไปตามแบบของเขานั้นนะ ดังนั้นเขาก็มีการกระทำไปทางหนึ่งแบบหนึ่ง ที่ว่าได้อยู่กับกิเลส ชนิดที่ว่าพอดูได้ พอดูได้หรือดีหน่อย มันไม่ต้อง เหมือนกับตกนรก ถ้ามันมากกว่านั้น มันก็กลายเป็นนรกนะ กลายเป็นคนอยู่ในนรกนะ นั่นนะผู้ที่เขาเห็นข้อนี้ ลึกพอ เขาถึงพูดว่า ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ เพราะไอ้เรื่องชั่วเรื่องดี มันเป็นเรื่องของกิเลส ไม่มีกิเลสเมื่อใด มันก็ไม่มีความหมาย ว่าชั่วว่าดี กลายเป็นความสงบ ไปเสียทั้งความชั่วและความดี เงียบหายไปทั้งความชั่ว และความดี นั่นแหละเป็นโลกุตระ ถ้ายังโลดๆ เต้นๆ ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่กับความชั่วความดีอยู่ คืออยู่ในโลกนี้ ดีชั้นมนุษย์ก็ได้ ดีในชั้นกามาวจรก็ได้ ดีชั้นพรหมโลกก็ได้ เท่าที่มนุษย์ได้รู้จักมันแล้ว ที่ปรากฎอยู่ในพระคัมภีร์ ทั้งหลาย มันดีสุดอยู่แค่พรหมโลกนะ แต่ความเป็นพรหมก็ดีสุดอยู่แค่นั้น ถ้าเลยนั้นไปก็จะเป็นโลกุตระ เป็นเรื่องพระอริยเจ้าไป
งั้นอย่าเหมาเอาว่าเป็นเรื่องสมาธิ เรื่องเข้าฌาน เรื่องสมาบัต ิแล้วก็เป็นเรื่องโลกุตระไปหมด ชนิดที่ไม่เป็น โลกุตระก็มี เรื่องสมาธิ เรื่องฌาน เรื่องสมาบัตินะ เขาเรียกว่าเป็นโลกียะ เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ พอใจ หลงใหล “เข้าฌานนานนับเดือน ไม่เขยื้อนเคลื่อนกายา จำศีล กินวาตา เป็นผาสุขทุกคืนวัน” เข้าใจว่าพวกคุณนี้ ไม่เคยอ่าน หนังสือเรียนเล่มนี้ใช่ไหม มันมีสมัยผมเรียนนั่น สมัยผมเป็นเด็ก ๆ ผมเรียนหนังสือเล่มนี้ เขาเรียกว่ามูลบทบรรพกิจ หนังสือที่เรียน ก ข ก กา เรียนภาษาไทย มาถึงแม่กน มาตรากัน (นาทีที่ 59:41) แม่กนนั้น จะมีบทสวดสำหรับสวด ในบทสวดนั้นก็มีอันนี้อยู่ด้วย “เข้าฌานนานนับเดือน ไม่เขยื้อนเคลื่อนกายา จำศีล กินวาตา เป็นผาสุขทุกคืนวัน” ก็แสดงอยู่ในตัวแล้ว ว่ามันเป็นที่ตั้งแห่งความพอใจอย่างยิ่งเหมือนกัน จนถึงกับไม่ทำอะไรน่ะ จะอยู่ในฌาน ในสมาบัติ แต่นี่ก็ยังเป็นโลก ยังเป็นโลก ยังเป็นสัตว์ ข้องอยู่ในโลก โลกชั้นสูง ยังไม่หลุดพ้น
เอาล่ะเราก็ได้พูดกันมา ถึงเรื่องโครงสร้างแห่งอานิสงค์ของพรหมจรรย์ พอเป็นรูป เป็นร่างแล้ว คุณก็ไปเขียน เป็นแผนภูมิ เป็น diagram เอาเอง ต่ำที่สุดอยู่อย่างไร ผ่าออกเป็นสองซีกอย่างไร และตัดตอน ๆๆ อย่างไร จะช่วยให้เข้าใจ เรื่องของธรรมมะ หรือการปฏิบัติธรรมได้ง่ายขึ้น ๆ ในอนาคต นี่วันนี้เราพูดถึง เรื่องโครงสร้างแห่งอานิสงค์ของพรหมจรรย์ ก็หมดเวลาแล้ว ตามที่กำหนดไว้ ก็ขอยุติการบรรยาย แล้วก็ปิดประชุมตามเคย