แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
รหัส |
1115270216010 |
รายชื่อ |
มาฆบูชาเทศนา ปี 2527 |
วันที่แสดง |
16/02/2527 |
ชื่อเรื่อง/ ชุด |
กัณฑ์ 1 บ่าย |
ผู้ถอด |
สิรวิชญ์ เมืองระรื่น |
ผู้ตรวจทาน |
วรรณวิภา สัตตธรรมกุล |
อีเมล์ |
sirawit_ma@hotmail.com |
อีเมล์ |
babybabies@hotmail.com |
หมายเหตุ |
เริ่มถอดเสียงนาทีที่ 01:07 |
ณ บัดนี้อาตมาจะได้วิสัชนาในพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความรู้ วิริยะ ความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปในทางแห่งพระพุทธศาสนา กว่าจะยุติลงด้วยความสมควรแก่เวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาพิเศษดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบได้เป็นอย่างดี ก็มีขึ้นในโอกาสแห่งมาฆบูชา เป็นวันพิเศษในพระพุทธศาสนา การที่อุตส่าห์มากันจนถึงสถานที่นี้นั้น ขอให้ได้รับประโยชน์โดยสมควรแก่การเสียสละในการมา เรามาประชุมกันในป่าเช่นนี้ เพื่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมมีสิ่งแวดล้อมอารมณ์แวดล้อมคล้าย ๆ กับครั้งกระโน้นซึ่งมีการประชุมของพระอรหันต์ในป่าไผ่ ในสวนเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ เหลียวไปทางไหนก็เห็นแต่ธรรมชาติ ย่อมดีกว่าที่ว่าเหลียวไปทางไหนจะเห็นแต่ตึกราม สี แสง และเสียงอันอึงอลไปด้วยความหมายที่ส่งเสริมกิเลส มันย่อมได้ที่ตั้งแห่งจิตผิดกัน
อีกประการหนึ่งนั้น เราก็มานั่งกันกลางดิน บางคนยังไม่ทราบว่ามันจะมีประโยชน์อะไร การมานั่งลงกลางดินเช่นนี้ บางคนยังไม่ทราบว่ามันจะมีประโยชน์อะไร การมานั่งลงกลางดินเช่นนี้ก็เพื่อให้เกิด ความรู้สึกพิเศษเป็นที่ระลึกแก่พระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแม้จะเป็นกษัตริย์ แต่ว่าถึงคราวประสูติก็มาประสูติกลางดิน ใต้ต้นไม้ที่เรียกกันว่าต้นสาละ เป็นไม้ตระกูลเดียวกับต้นพยอมที่เห็นอยู่นี้ แล้วเมื่อท่านตรัสรู้ก็นั่งตรัสรู้กลางดิน ใต้ต้นไม้ตระกูลไม้มะเดื่อชนิดหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้เราเรียกกันว่าต้นโพธิ์ ไม้นั้นชื่อว่าไม้อัสสัตถะ (นาทีที่ 04:20) แต่พอพระพุทธเจ้าได้นั่งตรัสรู้ใต้ต้นไม้ชื่อนั้น ต้นไม้ชื่อนั้นก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นต้นโพธิ์หรือโพธิไป ไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ไหนไปนั่งตรัสรู้ใต้ต้นไม้ชื่อใด ต้นไม้ชื่อนั้นก็เปลี่ยนชื่อเป็นต้นโพธิ์ไปทั้งนั้น นี้เรียกว่าท่านนั่งตรัสรู้กลางดิน เมื่อสอนก็เรียกว่ากลางดิน โรงธรรมของพระพุทธเจ้าพื้นดิน ท่านสอนไปในที่ทุกหนทุกแห่ง ไม่เฉพาะอยู่ในวัดในวา แม้แต่ในการเดินทางในป่าก็ยังสอน ที่อยู่ของพระองค์ก็พื้นดิน ในที่สุดก็ปรินิพพานกลางดิน พูดอย่าภาษาบ้าน ๆ ธรรมดาก็ว่า เกิดกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน ตายกลางดิน ดังนั้น ขอให้นึกถึงความหมายของแผ่นดิน และเราก็มานั่งกันบนแผ่นดิน เพื่อเป็นที่ระลึกเป็นการบูชาแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จึงมีผลพิเศษไปกว่าที่จะนั่งบนอาสนะอย่างอื่น และขอให้ท่านทั้งหลายกระทำในใจเสมือนหนึ่งว่า เรามาแอบดูพระสงฆ์ประชุมมหาสังฆสันนิบาตอยู่กลางดิน อย่าลืมว่าที่ประชุมสงฆ์จาตุรงคสันนิบาตนั้นก็นั่งกลางดิน พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูปก็นั่งกลางดิน ทำในใจอย่างนี้ให้มันต่ำลงไปถึงดิน นี่ก็เรียกว่ามันใกล้ความจริงคือธรรมชาติ
ท่านทั้งหลายอุตส่าห์มาถึงที่นี่ด้วยความลำบาก เสียเวลา เสียเงิน เสียแรงงาน อะไรต่าง ๆ นี้ก็ควรจะได้ผล คุ้มกันในทางจิตใจ ในทางวัตถุนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะว่าผลอันแท้จริงเป็นเรื่องทางจิตใจทั้งนั้น ดังนั้นเราควรจะเตรียมจิตใจให้พร้อมในการที่จะกระทำพิธีมาฆบูชา ซึ่งอาตมาจะได้กล่าวชี้แจงในธรรมเทศนาอันจะมีต่อไปนี้ให้ท่านทั้งหลายเข้าใจในการกระทำ เพราะว่าการกระทำใด ๆ ที่จะมีประโยชน์ถึงที่สุดนั้น ผู้กระทำจะต้องเข้าใจในความหมายของการกระทำถึงที่สุด เดี๋ยวนี้เรากระทำพิธีมาฆบูชา คือการบูชาสมเด็จพระบรมศาสดาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ ซึ่งตามปกติจะตรงกับเดือน ๓ เราจะบูชากันอย่างไร บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนนี้ ท่านเรียกว่าอามิสบูชา เป็นการบูชาในระดับทั่วไป แต่ถ้าการบูชาด้วยการเสียสละแรงกาย เสียสะความอดกลั้นอดทน ประพฤติปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งให้ถูกให้ตรงตามพระธรรมคำสอนนั้นแล้ว การบูชานั้นก็เรียกว่าปฏิบัติบูชา ซึ่งพระศาสดาทรงสรรเสริญว่าเป็นการบูชาอย่างยิ่ง เราต้องเข้าใจ ต้องมีความรู้ในเรื่องนี้ และรู้ว่าเราจะต้องปฏิบัติอย่างไร แล้วเราก็ปฏิบัติอย่างนั้น นั้นจะเป็นการบูชาอย่างยิ่ง ที่เรียกว่าปฏิบัติบูชา
เรื่องที่จะต้องทราบในวันนี้ กระทำไว้ในใจอย่างแจ่มแจ้งอยู่ตลอดเวลานั้นก็คือข้อที่วันนี้ เป็นวันมาฆบูชา เรียกว่าเป็นวันพระสงฆ์ วันวิสาขบูชาเรียกว่าเป็นวันพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ หรือนิพพาน ต่อมาถึงวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่ทรงแสดงอริยสัจ ๔ และอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเราเรียกกันว่าปฐมเทศนา คือการเปิดเผยธรรมะเป็นครั้งแรกแก่หมู่สัตว์ หลักพระพุทธศาสนาที่สำคัญก็คือความดับทุกข์ คือเรื่องของอริยสัจ แสดงเรื่องความดับทุกข์ และวิธีที่จะดับทุกข์ด้วยมรรคมีองค์ ๘ ประการ เรียกว่าแสดงหัวใจแห่งการดับทุกข์ในวันอาสาฬหนั้น อาสาฬหปุณณมีนั้น เราจึงเรียกว่าเป็นวันพระธรรม การที่ในวันนั้นมีพระอัญญาโกณฑัญญะรูปหนึ่ง มีดวงตาเห็นธรรมเป็นสาวกของพระองค์ เพียงองค์เดียวเท่านั้นยังไม่เรียกว่าพระสงฆ์ พระสงฆ์ต้องมากกว่า ๑ องค์และเป็นหมู่เป็นคณะ จึงเรียกวันอาสาบูชานั้นว่าวันพระธรรม วันเปิดเผยพระธรรม วันประดิษฐานพระธรรมลงไปในโลก ต่อมาก็ถึงวันเพ็ญมาฆบูชาเช่นเดียวกับวันนี้ เป็นวันที่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ประชุมกันเป็นมหาสังฆสันนิบาต พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์เป็นการประกาศว่า คณะสงฆ์นี้จะถือหลักปาติโมกข์อย่างนี้ เรียกว่าวิสุทธปาติโมกข์ ข้อนี้จะต้องนึกไปถึงข้อที่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ เช่นพระพุทธเจ้าวิปัสสี สิขี เวสสภู เป็นต้น ท่านได้แสดงโอวาทปาติโมกข์นี้อย่างเดียวกัน แต่ท่านไม่ได้แสดงภิกษุปาติโมกข์ ไม่ได้บัญญัติภิกขุปาติโมกข์ นี้ก็เป็นที่น่าประหลาดใจที่พระพุทธเจ้า ๓ องค์แรกนั้นไม่ได้บัญญัติภิกขุปาติโมกข์ ก็ไม่มีการลงปาติโมกข์ หรือสวดปาติโมกข์ เพิ่งจะมีในพระพุทธเจ้าองค์หลัง ๆ ที่มีการบัญญัติภิกษุปาติโมกข์ แล้วก็มีการลงปาติโมกข์ การลงปาติโมกข์ในรูปของภิกษุปาติโมกข์นี้ไม่เหมือนกัน แต่วิสุทธปาติโมกข์คือหลักปฏิบัติ ซึ่งเป็นแก่นเป็นหัวใจนั้นเหมือนกันทุกพระองค์ ถ้าจะดูให้ดี ก็เรียกว่าเป็นวันประดิษฐานอย่างมั่นคงแห่งพระภิกษุสงฆ์ เรียกว่าเป็นวันมหาสังฆสันนิบาต เป็นวันพระสงฆ์ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ควรจะทราบไว้ด้วยว่า ในบรรดาพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ นั้นก็มีการประชุมมหาสังฆสันนิบาตแห่งพระอรหันต์ในศาสนานั้น ๆ ท่านจะไม่ได้เคยฟังก็ได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าจะได้ฟังว่า พระพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ล้วนแต่มีสาวกสงฆ์เป็นพระอรหันต์ และมีการประชุมมหาสังฆสันนิบาตหรือจาตุรงคสันนิบาตด้วยกันทุกพระองค์
พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงมีการประชุมมหาสังฆสันนิบาตในวันมาฆปุณมีนั้นถึง ๓ ครั้ง ครั้งแรกมีพระสงฆ์มาประชุมกัน หกสิบแปดหมื่น (๖๘,๐๐๐) องค์ ครั้งที่ ๒ สิบหมื่นองค์ (๑๐,๐๐๐) ครั้งที่ ๓ ๘๐,๐๐๐ องค์ ขอให้ฟังไว้ก่อนว่าทำไมมากนัก ครั้นมาถึงพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี องค์ที่ ๒ นี้มีการประชุมมหาสังฆสันนิบาตเช่นนี้ ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีพระอรหันต์ประชุม สิบหมื่นองค์ (๑๐,๐๐๐) องค์ ครั้งที่ ๒ ๘๐,๐๐๐ องค์ ครั้งที่ ๓ ๗๐,๐๐๐ องค์ ครั้นมาถึงพระพุทธเจ้าพระนามว่าเวสสภู เป็นองค์ที่ ๓ นั้นมีการประชุมมหาสังฆสันนิบาต ๓ ครั้งเหมือนกัน ครั้งที่ ๑ ๘๐,๐๐๐ องค์ ครั้งที่ ๒ ๗๐,๐๐๐ องค์ ครั้งที่ ๓ ๖๐,๐๐๐ องค์ ต่อนั้นมาก็ถึงพระพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันโธ เป็นองค์ที่ ๔ มีการประชุมพระอรหันต์ ๔๐,๐๐๐ องค์ ต่อมาถึงพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคม มีการประชุมพระอรหันต์ ๓๐,๐๐๐ องค์ ครั้งเดียวเท่านั้น ในต่อมามีถึงพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป มีการประชุมสงฆ์ครั้งเดียว ๒๐,๐๐๐ องค์ จนกระทั่งมาถึงพระพุทธเจ้าพระนามว่า สมณโคดม ที่พวกเราถือกันว่าเป็นพระพุทธเจ้า ประจำพระศาสนาในยุคแห่งเรานี้ มีการประชุมสังฆสันนิบาตเพียงครั้งเดียว และมีเพียง ๑,๒๕๐ องค์ ลองเปรียบเทียบกันดูว่ามันต่างกันอย่างไร ต่างกันสักเท่าไร พระพุทธเจ้าวิปัสสีมีพระอรหันต์ประชุมหกสิบแปดหมื่น (๖๘,๐๐๐) คือหมื่นหกสิบแปด (๑๐,๐๖๘) ครั้ง นี้กล่าวตามสำนวนภาษาบาลีเขานับกันอย่างนั้น สิบหมื่น (๑๐,๐๐๐) องค์ ๘๐,๐๐๐ องค์ ๗๐,๐๐๐ องค์มาตามลำดับ อย่างต่ำที่สุดก็ ๒๐,๐๐๐ องค์
ครั้นมาถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ทำไมมันจึงเหลือ ๑,๒๕๐ องค์ ตัวเลขนี้จะไม่ต้องถือเป็นประมาณ แต่ถือเอาแต่ใจความว่ามันเคยมาก แล้วมันก็น้อยลง ๆ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เรียกว่ามนุษย์นี้มันเป็นอย่างไรกัน มันจึงเปลี่ยนแปลงจำนวนของพระอรหันต์อย่างไกลกันเช่นนี้ ถ้าถามพวกเด็ก ๆ ดูว่าทำไมพระอรหันต์จึงลดจำนวนลงถึงขนาดนี้ เด็ก ๆ คงจะตอบว่าสมัยโน้นเขาไม่บ้ากันเหมือนสมัยนี้ สมัยโน้นเขาบ้ากันน้อยก็เป็นพระอรหันต์กันมาก สมัยนี้มันบ้ากันมากก็มีพระอรหันต์น้อยลง ก็เป็นสิ่งที่มีเหตุผล เราคิดกันอย่างผู้ใหญ่ก็พอจะเข้าใจได้ว่า โลกนั้นมันเปลี่ยนไป ๆ ในทำนองที่เป็นข้าศึกแก่การบรรลุพระอรหัตผล พระอรหันต์จึงน้อยลง ๆ ตามยุคตามสมัย และต่อไปข้างหน้ามันจะเป็นอย่างไร เราจะนึกกันอย่างไร เราจะรับผิดชอบกันอย่างไรว่า ความเป็็็นพระอรหันต์ในโลกนี้จะลดลง ๆ ใครจะเป็นผู้ที่ต่อสู้ต้านทานหรือป้องกันไว้ได้ถ้าไม่ใช่พวกเรากันเอง มันก็จะต้องพูดอย่างเด็ก ๆ เขาพูดว่าอย่าบ้ากันให้มากเกินไป เดี๋ยวนี้มันหลงใหลในวัตถุปัจจัยที่ส่งเสริมกิเลสมากเกินไป เรื่องกินเรื่องอยู่ เรื่องนุ่งเรื่องห่ม เรื่องเครื่องใช้ไม้สอย เรื่องอะไรที่อยู่อาศัยก็ล้วนแต่มันเป็นอะไรมากเกินไป ถ้าไม่ใช่คำว่าบ้า มันก็บ้ากันมากเกินไปมันก็ไปลุ่มหลงอยู่ในสิ่งเหล่านั้นจนตาย ไม่เคยคิดนึกว่าสิ่งเหล่านั้นมันเป็นของบ้า เป็นเครื่องบ้า ควรจะลดกันเสียบ้าง อาตมามีความเห็นอย่างนี้ ท่านทั้งหลายจะมีความเห็นอย่างไร อย่างน้อยก็ควรจะนึกไว้ในใจว่า จำนวนพระอรหันต์ลดลงจากหกสิบแปดหมื่น (๖๘,๐๐๐) จนมาเหลือ ๑,๒๕๐ องค์ และต่อไปข้างหน้าจะลดลงสักเท่าไร นี่แหละเอาใจความตรงนี้ว่าวันมาฆบูชานี้เป็นวันพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์มีศาสนาของพระองค์ มีการประชุมที่เรียกว่ามหาสังฆสันนิบาตนี้ด้วยกันทุกองค์ บางพระพุทธเจ้ามีมากถึง ๓ ครั้งบางพระพุทธเจ้าเหลือเพียงครั้งเดียว ๆ ตลอดมา
ทีนี้ก็จะดูกันต่อไปว่า โอวาทปาติโมกข์ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงขึ้นในท่ามกลางสงฆ์นั้นมันมีลักษณะเหมือนกับอะไรสำหรับพวกเราชาวโลก อาตมามีความเห็นว่า ถ้าจะเปรียบแล้วก็เปรียบเหมือนกับรัฐธรรมนูญ วันรัฐธรรมนูญของเรานั้นน่ะมันเป็นวันรัฐธรรมนูญของสัตว์โลกทั้งปวง เพราะในคำตรัสโอวาทปาติโมกข์นั้น กล่าวไว้ชัดเจนว่าจะต้องปฏิบัติกันอย่างนั้น ปฏิบัติกันอย่างนั้น ๆ ซึ่งจะได้วิสัชนาในวาระสืบต่อไป แต่ขอให้มองเห็นว่ามันเหมือนกับวันธรรมนูญของสัตวโลก ธรรมนูญของมนุษยชาติ ซึ่งจะต้องยึดถือเป็นหลักปฏิบัติทั่วไป ถ้ายึดถือเป็นหลักปฏิบัติทั่วไปก็จะเพิ่มจำนวนพระอรหันต์ให้มากขึ้น ๆ ไม่ใช่น้อยลง ๆ
ทีนี้ก็จะดูคำตรัสนั้นที่ว่ามีลักษณะเหมือนกับเป็นธรรมนูญปฏิบัติอย่างไร โอวาทปาติโมกข์ คือประมวลถ้อยคำขึ้นมาแต่หัวข้อสำหรับปฏิบัตินี้ หมวด ๑ ซึ่งมองเห็นได้ชัดว่าเป็นหมวดรวบยอดหมด รวบใจความสำคัญไว้หมด หมวดนี้ตรัสเป็นใจความว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่กระทำซึ่งบาปทั้งปวง กุสะลัสสูปะสัมปะทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การกระทำจิตให้ขาวรอบ คำว่าขาวรอบ ก็คือบริสุทธิ์สิ้นเชิง บริสุทธ์โดยแท้จริง เอตัง พุทธานะสาสะนัง ๓ อย่างนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หมวดนี้เป็นเสมือนหมวดรวบยอดเอากันแต่หัวใจใช้ได้ทั่วไป
ทีนี้หมวดต่อมาคล้าย ๆ กับว่าจะมุ่งหมายเฉพาะบรรพชิตหรือภิกษุ มีคำตรัสว่า ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา ขันตี ความอดกลั้นอดทนนั้นเป็นตบะ ถ้าแปลตามตัวหนังสือก็แปลว่า ตบะเครื่องเผากิเลสนั้น ได้แก่ ความอดกลั้นอดทนเป็นอย่างยิ่ง นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ นี้เป็น ๔ หัวข้ออย่างนี้ พอจะมองเห็นได้ว่ามุ่งหมายสำหรับบรรชิต
ต่อมาอีกหมวดหนึ่งทั่วไป ๆ หมด ไม่จำกัดบรรพชิตหรือคฤหัสถ์หรือจะเรียกว่าสำหรับคฤหัสถ์เป็นส่วนใหญ่ก็กล่าวได้ คือตรัสไว้อีก ๖ ข้อว่า อะนูปะวาโท การไม่กล่าวร้าย อะนูปะฆาโต การไม่กระทำร้าย ปาติโมกเข จะสังวะโร สำรวมในปาติโมกข์ มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง เป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง ที่นอนที่นั่งอันสงัด อะธิจิตเต จะ อาโยโค พากเพียรทำจิตให้ยิ่ง ให้สูงยิ่ง เอตัง พุทธานะสาสะนัง ๖ อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลายจับใจความเหล่านี้ไว้ให้ได้โดยทั่วไป โดยเฉพาะสำหรับคฤหัสถ์แล้วก็จะมีหลัก ๖ ประการนี้เป็นส่วนสำคัญ ว่าเราจะไม่พูดร้าย พูดร้ายคือการทิ่มแทงผู้อื่นด้วยหอกคือปาก ในบาลีเขาจัดปากไว้เป็นหอกชนิดหนึ่ง ซึ่งทิ่มแทงคนเจ็บปวดยิ่งกว่าหอกตามธรรมดา เพราะฉะนั้นอย่าเป็นผู้กล่าวร้าย คือการใช้หอกปากทิ่มแทงผู้อื่น จำไว้เป็นข้อแรก
อะนูปะฆาโต ไม่กำจัดผู้อื่น คือไม่ทำร้ายทำอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือไม่ถึงแก่ชีวิตก็ตาม อย่าทำให้ใครลำบากเจียนตายหรือถึงกับตาย ข้อที่ ๒
ปาติโมกเข จะ สังวะโร ระวังสังวรในระเบียบวินัยให้เป็นอย่างดี คำว่า ปาติโมกข์ นี้เราได้ยินกันแต่ใช้สำหรับภิกษุลงปาติโมกข์ แต่เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้วคำว่า ปาติโมกข์ นี้หมายถึงระเบียบวินัยที่มนุษย์จะต้องมีทั่วไปทุกอย่าง จะต้องระวังสังวรเป็นอย่างดีในระเบียบวินัยสำหรับสังคมมนุษย์
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง นั่นรู้ประมาณในการบริโภค ในภาษาบาลีใช้คำว่าบริโภคคำเดียวก็พอ ในภาษาไทยนั้นเกิดแบ่งแยกเป็นบริโภคและอุปโภค ถ้ากินทางปากเรียกว่าบริโภค ถ้าใช้ภายนอกกายเรียกว่าอุปโภค แต่ในภาษาบาลีโดยเฉพาะคำนี้นั้น หมายถึงการบริโภคทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ได้ เมื่อรับสิ่งใดมาในฐานะเป็นอารมณ์ เพื่อความประเล้าประโลมใจหรือบำรุงใจแล้วก็รียกว่ามันเป็นเรื่องบริโภคไปหมด มีคำซึ่งท่านฟังแล้วคงจะงง อย่างในภาษาบาลีหรือสันสกฤตนี้ เขามีคำว่าบริโภคสตรี เขามีพูด แต่ไม่ใช่เอาสตรีมาฆ่าแกงกิน คือบริโภคทางเพศนี้ก็เรียกว่าบริโภค อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นขอให้ถือว่าหลักธรรมะข้อนี้หมายถึง การบริโภคทุกอย่าง ไม่ว่าทางตาคือบริโภคความสวยงาม ทางหู ความไพเราะ ทางจมูก ความหอมหวล ทางลิ้น ความอร่อย ทางผิวหนังคือความนุ่มนวล ทางจิตใจคือขับกล่อม เป็นต้น อย่าบริโภคให้มันมากเกินพอดี เดี๋ยวนี้มันเกินพอดีจึงไม่ได้ถือหลักข้อนี้กันโดยทั่วไป
ข้อที่ ๕ ว่า ที่นั่งที่นอนอันสงัด เดี๋ยวนี้เราไม่ชอบที่นั่งที่นอนอันสงัด เราอยากจะมีการขับกล่อม บางคนก็เปิดวิทยุอยู่ข้างหมอนตลอดคืน บางคนก็เปิดทีวีดูตลอดเวลา มันไม่ชอบที่นั่งที่นอนอันสงัด ที่นั่งที่นอนอันสงัดคือไม่มีอะไรรบกวน เป็นการพักผ่อนจริง ๆ การพักผ่อนโดยแท้จริงนั้นไม่ต้องมีอะไรรบกวน เดี๋ยวนี้เราพักผ่อนด้วยการไปดูหนังไปดูละคร ไปกินเหล้า ไปอะไรต่าง ๆ ไม่มีการพักผ่อน แม้นอนก็ไม่มีการพักผ่อน ต้องเอาอะไรมาขับกล่อมอยู่ตลอดเวลา ต้องเป็นเวลาที่สงบสงัดจากสิ่งเหล่านั้น จึงจะรียกว่าที่นั่งที่นอนอันสงัด ขอให้ท่านทั้งหลายชำระสะสางตัวเอง จัดแจงในบ้านเรือนของตัวเองให้เป็นที่นั่งที่นอนที่อยู่อาศัยอันสงบกันเสียบ้างเถิด จะได้ตรงตามพระโอวาทนี้
ข้อที่สุดท้ายเรียกว่าการพากเพียรทำจิตให้ยิ่ง เป็นบาลีว่า อะธิจิตเต จะ อาโยโค อาโยโค แปลว่า การประกอบความเพียรสุดกำลัง อาโยค ๆ นี่ทำความพากเพียรสุดกำลัง อธิจิตเต ในอธิจิต คือทำจิตให้ยิ่ง คือให้จิตสูงขึ้นไปจากระดับของกิเลส หรือระดับที่ความทุกข์มันจะครอบงำได้ ถ้าจิตมันอยู่ในระดับต่ำ กิเลสและความทุกข์มันก็ครอบงำได้ ดังนั้นขอให้พากเพียร ๆ ให้จิตมันสูงขึ้นไปจนกิเลสก็เหมือนกับน้ำหรือโคลนตมนี่มันท่วมทับไม่ได้ นี่เรียกว่าอธิจิต รู้จักทำให้ถูกต้อง กระทำความเพียรในการพัฒนาจิต เจริญจิตให้ถูกต้องก็จะได้รับผลอันนี้ มีความรู้ที่ถูกต้องแล้วก็ย่อมพัฒนาจิตได้ทั้งนั้น
เอตังพุทธานะสาสะนัง ๖ ข้อนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๖ ข้อนี้เป็นหลักทั่วไป บรรพชิตก็ได้ ฆราวาสก็ได้ แต่ดูแล้วจะเป็นเรื่องมุ่งหมายสำหรับฆราวาสเสียมากกว่า สำหรับบรรพชิตนั้นก็คือชุ ๒ ที่ว่า ขันตี ความอดกลั้นอดทนเป็นเครื่องเผาผลาญ คือเป็นตบะแก่กิเลสอย่างยิ่ง นี้มันเป็นเรื่องของบรรพชิต นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอย่างยิ่ง ที่ออกบวชนี้ก็ออกบวชเพื่อนิพพาน เพื่อธรรมอย่างยิ่ง แล้วก็ไม่ทำร้ายใคร ไม่ทำให้ใครถึงตาย ไม่ทำใครลำบากนี่อีก ๒ ข้อ รวมเป็น ๔ ข้อ
ทีนี้ถ้าจะพูดให้หมดทั้ง ๒ หมวดนั้นเอามาแต่ใจความก็จะได้ ๓ ประการ อย่างที่เราสวดกันท่องกันอยู่เป็นประจำว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่กระทำบาปทั้งปวง ใช้ได้ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต กุสะลัสสูปะสัมปะทา ทำกุศลให้ถึงพร้อม ใช้ได้ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต สะจิตตะปะริโยทะปะนัง ทำจิตให้ขาวผ่อง ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ทำได้ร่วมกันตรงกัน นั้นแหละท่านทั้งหลาย อุตส่าห์กำหนดจดจำไว้ดี ๆ ว่า หัวข้อธรรมะสูงสุด ๆ ๆ จนพระพุทธเจ้าท่านทรงนำมาแสดงในท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตซึ่งประกอบด้วยพระอรหันต์ ว่ามันเป็นหลักทั่วไปสำหรับความเป็นพระอรหันต์หรือว่าสำหรับความดับทุกข์ในทุกระดับชั้น นี้เรียกว่าผู้ที่จะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้านั้นต้องปฏิบัติตามหลักเหล่านี้ให้ดีที่สุด ทุกอย่างมันก็จะเป็นไปในทางดี เดี๋ยวนี้เราทำกันอย่างไร
ท่านทั้งหลายลองสังเกตดูให้ดี ๆ ข้อว่าอะนูปะวาโท ไม่กล่าวร้าย ๆ แต่เดี๋ยวนี้ถ้าเรามีหูคิด เราจะได้ยินเสียงตะโกนด่ากันก้องไปทั้งโลก ก้องไปทั้งอากาศในบรรยากาศของโลกนี้มีแต่เสียงด่า ฝ่ายโน้นก็ด่าฝ่ายนี้ ฝ่ายนี้ก็ด่าฝ่ายโน้น คือด่าทางวิทยุ เขาด่ากันอยู่ตลอดเวลา นี้ไม่กล่าวร้ายอะไรได้ เปิดวิทยุฟังมันก็จะพบเสียงซึ่งฝ่ายหนึ่งด่าฝ่ายหนึ่ง จะระบุตรง ๆ ก็ได้ว่า ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ด่าฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยก็ด่าฝ่ายคอมมิวนิสต์ มันก้องไปทั้งโลกในทุก ๆ อณู นี้มันตรงกันข้ามเอาเสียเลยกับความประสงค์ของพระพุทธเจ้าว่าอย่ากล่าวร้าย ๆ แต่มันก็มีการกล่าวร้ายก้องอยู่ในบรรยากาศทั่วโลก
ข้อว่าไม่ทำร้าย อะนูปะฆาโต นี้มันก็ทำร้ายกันอยู่ทั่วโลก เดี๋ยวนี้ทำร้ายกันอยู่ทั่วโลก เล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในบ้านในเมืองนี้ก็มีทำร้ายกันอยู่ทั่วโลก สถิติอาชญากรรมมันเพิ่มขึ้น เพราะความเจริญของกิเลส เพราะมนุษย์ผลิตแต่ปัจจัยที่ส่งเสริมกิเลส เรื่องสวยเรื่องงาม เรื่องหวานเรื่องหอมเรื่องเอร็ดอร่อย เรื่องอะไรต่าง ๆ นี้มันเห็นแก่ตัวมากขึ้นแล้วมันก็ทำร้ายกันอย่างยิ่ง จนกระทั่งในกรุงเทพ เองมันไม่มีที่ปลอดภัยจากอันธพาลเสียแล้ว ทีนี้เมื่อทำร้ายกันถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นสงคราม เดี๋ยวนี้สงครามมีอยู่หลายแห่งหลายจุดในโลก ที่บนดินก็ยิงกันด้วยปืนด้วยอาวุธ ที่ใต้ดินก็ใช้วิถีทางอุบายที่จะทำร้ายฝ่ายอื่น เรียกว่าสงครามใต้ดินนี้ทำกันอยู่ตลอดเวลา ทำกันทุกฝ่าย มุ่งหมายจะทำลายฝ่ายตรงกันข้ามให้วินาศไป เรียกว่าสงครามใต้ดินมันก็ทำกันอยู่ตลอดเวลาทั่วไปทั้งโลก เดี๋ยวนี้โลกมันมีการทำร้ายซึ่งกันและกัน
ทีนี้ข้อว่ารู้ประมาณในการบริโภค รู้ประมาณในการบริโภคแต่พอดี ใช้คำว่ากินอยู่แต่พอดี เดี๋ยวนี้คนเขาอยากจะกินดีอยู่ดีไม่มีประมาณ คนสมัยนี้จะกินดีอยู่ดีไม่มีประมาณ เขาไม่อยากจะมีประมาณ พอหาเงินมาได้เท่าไรก็กินหมด ถ้ายังหาไม่ทันก็เป็นหนี้ไว้ก่อนได้เพื่อกิน เพื่อกินอาหารมื้อละพันบาท มื้อละหมื่นบาท มันไม่อยากจะมีประมาณในการกินในการบริโภคคนสมัยนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าให้มีประมาณ รู้ประมาณในการบริโภค แต่มนุษย์มันทำตรงกันข้าม มันไม่อยากจะมีประมาณ ขอให้ท่านคิดดู มันตรงกันข้ามเอาทีเดียวอย่างนี้
ทีนี้ก็นั่งนอนในเสนาสนะอันสงัด ก็เราไม่อยากจะสงัดนี่ เราเปิดทั้งวิทยุ เปิดทั้งทีวี หรือเปิดอะไรก็ตามให้มันก้องไปทั้งบ้านทั้งเมืองทั้งเรือนมีเครื่องมือที่จะทำได้ ในสมัยพุทธกาลเสียอีกเขาทำไม่ได้หรอก ที่เขาจะเปิดเพลงกันทั้งคืน เขาทำไม่ได้ สมัยนี้มันทำได้ แล้วมันก็ไม่ต้องการความสงัด นั่งทำงานแท้ ๆ ก็ยังเปิดวิทยุฟังไปพลาง อาตมาเห็นเด็กคนหนึ่งเขานั่งเขียนอยู่ที่โต๊ะ แล้ววิทยุก็เปิดอยู่ข้าง ๆ ถามว่าทำอะไร เขาว่าทำการบ้าน เด็กทำการบ้านเปิดวิทยุอยู่ข้าง ๆ มันบ้าสักเท่าไร มันจะทำได้ดีเท่าไร มันไม่ชอบความสงบสงัด เพื่อจะส่งเสริมความถูกต้อง ความมีสติปัญญา การอยู่ในที่สงบสงัดนะมันส่งเสริมความมีสติปัญญา พระศาสดาทุกพระองค์ทุกศาสนาทุกพระองค์ ตรัสรู้ในป่าทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าศาสดาของศาสนาไหนก็ตรัสรู้ในป่าในที่สงบสงัดทั้งนั้น นี่ขอให้คิดดูว่า ที่สงบสงัดนี้มันจำเป็นอย่างไร
ทีนี้มาข้อสุดท้ายว่าความพากเพียรในการทำจิตให้ยิ่ง ทำจิตให้สูง นี้ดูจะยิ่งเดินคนละทางอีกแล้ว คนสมัยนี้มันต้องการทำจิตให้ทราม คนสมัยนี้มันต้องการทำจิตให้ต่ำไปตามอำนาจของกิเลส มันพอกพูนกิเลส มันสะสมกิเลส จิตนี้มันก็ต่ำ ตรงกันข้ามกับที่พระพุทธองค์ตรัสว่า จงพากเพียรทำจิตให้สูง มนุษย์ในโลกสมัยนี้พากเพียรทำจิตให้อยู่ใต้อำนาจของกิเลสและปัจจัยแห่งกิเลส นึกคิดค้นหาแต่เรื่องที่จะส่งเสริมกิเลส มันก็เป็นเรื่องจิตทราม บูชาอบายมุขทุกอย่างทุกชนิด ล้วนแต่เป็นเรื่องทำให้จิตทราม นี่มันตรงกันข้ามโดยประการทั้งปวงกับพระโอวาทปาติโมกข์ ที่ว่าอย่าพูดร้าย อย่าทำร้าย สำรวมในระเบียบวินัย รู้ประมาณในการบริโภค เสพคบเสนาสนะอันสงบสงัด พากเพียรทำจิตให้สูง อาตมาพูดเป็นแต่อย่างนี้ เขาเรียกว่าเป็นคนขี้ด่า เขาก็ยกตำแหน่งด่าให้อาตมา เขาพูดกันอย่างนี้มากขึ้น ก็รู้ตัวเหมือนกัน แต่ก็มันช่วยไม่ได้ มันเปลี่ยนไม่ได้ มันเปลี่ยนอย่างอื่นไม่ได้ มันทำได้แต่อย่างนี้ คือจะบอกกันตรง ๆ ว่ามันทำได้แต่อย่างนี้ อะไรที่มันผิด มันฝืนมันตรงกันข้ามแล้ว ก็จะต้องทำอะไรที่มันตรงกันข้ามกับความถูกต้อง เราต้องช่วยกันต่อต้านแก้ไขให้มันถูกต้อง นี่เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะช่วยมนุษย์ด้วยกัน จะไปส่งเสริมความผิดพลาดมันก็เป็นผู้ทำลาย เป็นผู้หวังร้ายโดยไม่รู้สึกตัว เราจงช่วยกันต่อต้านการกระทำที่ผิดพลาดด้วยความหวังดี ในเพื่อนเกิดแก่เจ็บ ตายของเรา ไม่ต้องกลัวเขาจะโกรธ แต่มันก็มีวิธีที่จะทำได้โดยไม่ต้องโกรธ ในการที่จะตักเตือนซึ่งกันและกันให้เดินมาในทางที่มีจิตสูง
นี่ทั้งหมดนี้คือโอวาทปาติโมกข์ มีอยู่ ๓ ชุด ชุดสรุปทั่วไป ชุดสำหรับบรรพชิต ชุดสำหรับฆราวาส ขอทบทวนชุดสำหรับฆราวาสอีกทีหนึ่ง ก็มีมาก ว่าอย่าพูดคำร้าย อย่ากระทำร้าย สำรวมในระเบียบวินัย รู้ประมาณในการบริโภค พอใจเสนาสนะอันสงัด ที่ส่งเสริมสติปัญญา พากเพียรทำจิตให้สูงยิ่ง ๖ อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ถ้าดูให้ดี ๖ ข้อนี้มันเป็นเหมือนกับธรรมนูญของสัตว์โลก ธรรมนูญของมนุษยชาติ ถ้าเปรียบก็เปรียบกันได้กับรัฐธรรมนูญ ประเทศชาติต้องมีธรรมนูญ สำหรับรัฐถือเป็นหลัก แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้อง ทีนี้มนุษยชาติทั้งหมด ๆ ทั่วจักรวาลนั้นจะมีอะไรเป็นรัฐธรรมนูญ เรียกว่ามนุษยธรรมนูญ โลกธรรมนูญ ก็มีหลัก ๖ ประการนี้ ไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้าย สำรวมในระเบียบวินัย รู้ประมาณในการบริโภค เสพเสนาสนะที่สงบสงัด ไม่ให้ได้เปรียบแก่กิเลส พากเพียรทำจิตให้ยิ่ง หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะพอใจยินดีรับเอาธรรมนูญนี้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงประทานไว้สำหรับสัตว์โลกทั้งปวง เพื่อมนุษยชาติทั้งปวง เราจึงควรถือว่า วันมาฆบูชานี้เป็นวันธรรมนูญของมนุษยชาติ ทว่าทั้งหมดนี้ทั้งจักรวาลนี้ก็เรียกว่า ธรรมนูญของจักรวาล บรรดาสิ่งมีชีวิตที่อยู่โลกไหนกี่โลกกี่ร้อยโลกก็ตาม ธรรมนูญนี้ใช้ได้ น่าประหลาดไหม ว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสั่งสอนอะไรออกมาใช้ได้แก่ทุกโลก ใช้ได้แก่ทุกจักวาล นี่คือข้อที่น่าอัศจรรย์ของพระธรรม วันมาฆบูชาเป็นวันธรรมนูญของจักรวาลอย่างนี้ วันนี้เป็นวันพระอรหันต์ประชุมกันจนเรียกว่าเป็นวันพระอรหันต์ ความหมายที่มันจะชัดเจนก็คือว่าเป็นวันที่มนุษย์ประกาศชัยชนะ มนุษย์ทั้งปวงมีชัยชนะเหนือกิเลส โดยมีพระอรหันต์เหล่านั้นเป็นผู้ประกาศ ที่เขาเรียกภาษาการเมืองว่าวันประกาศอิสรภาพ เดี๋ยวนี้พระอรหันต์เขาประกาศอิสรภาพ เหนือกิเลส เหนือความทุกข์ ในท่ามกลางพระอรหันต์ผู้ประชุมกัน นี่ขอให้ถือว่ามันเป็นวันชนะของมนุษย์เป็นทางการของสากลจักวาล ดังนั้นมนุษย์ควรจะร่าเริงยินดีในวันนี้ ๆ วันมาฆบูชาวันนี้ คือวันที่มนุษย์สามารถชนะความทุกข์และกิเลสในสากลจักวาล ควรจะถือว่าเป็นวันวาเลนไทน์ที่แท้จริง ไม่ใช่วันวาเลนไทน์บ้า ๆ บอ ๆ เมื่อวันที่ ๑๔ ในวันนั้นนะมีข่าวฆ่าฟันกันด้วยความรักในหน้าหนังสือพิมพ์ตั้งหลายเรื่อง วันวาเลนไทน์ของกิเลส วาเลนไทน์ของความรักอย่างกิเลส มันก็ส่งดอกกุหลาบแดงกัน แล้วก็ฆ่ากันมีเลือดสีแดงเหมือนกันนั้นนะวันวาเลนไทน์บ้า ๆ บอ ๆ โลกนี้มันควรจะประกาศวันมาฆบูชานั้นแหละเป็นวันวาเลนไทน์ที่แท้จริง วันวาเลนไทน์ชนิดนี้จะไม่เรียกว่าวาเลนทีน วาเลนไทน์ดอกกุหลาบสีแดง เป็นวันวาเลนทีนก็ได้ มันจึงได้ผลอย่างนั้น วันนี้เป็นวันที่มนุษย์ชนะ ข้าศึกของมนุษย์คือกิเลส เราก็ควรจะร่าเริงยินดี ประกาศเป็นวันที่ร่าเริงยินดีของมนุษย์ของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
ก็อยากจะพูดต่อไปถึงความหมายของคำว่า วันพระอรหันต์ พระอรหันต์อย่าลืม พระอรหันต์อย่าลืม เข้าใจว่าหลายคนที่อายุมากพอสมควรแล้วคงจะได้ยิน สมัยก่อน ๆ น่ะ เมื่อใครเจ็บหนักใกล้จะตายแล้วก็จะช่วยบอก พระอรหันต์อย่าลืม ๆ แต่ว่าสมัยนี้เขาไม่บอกกันแล้วเพราะเขาอยากจะลืม คนแก่ ๆ มันก็อยากให้ลูกหลานของมันลืมพระอรหันต์ มันไม่บอกกันแล้วว่าพระอรหันต์อย่าลืม สมัยอาตมาเป็นเด็ก ๆ นี้ จะได้ยินบ่อย ๆ เมื่อใครเจ็บหนัก ไปเยี่ยมแล้วจะได้ยินคนบอกพระอรหันต์อย่าลืม ๆ จนกระทั่งเขาตายไปนี่ อันนี้มีความหมายมากนะ พระอรหันต์อย่าลืม คือผู้ที่ชนะกิเลสนะ อย่าลืม อย่าลืมผู้ที่ชนะกิเลส เราจะตายแล้ว เราจะหลับตาตายไปแล้ว ก็อย่าลืมผู้ชนะกิเลสคือพระอรหันต์ แต่ที่จริงมันแคบเกินไป มันไม่ควรจะจำกัดเฉพาะเมื่อเวลาจะตาย ตลอดเวลานาทีทั้งวันทั้งคืนทั้งเดือนทั้งปี ควรจะตะโกนบอกันว่า พระอรหันต์อย่าลืม คนที่เอาชนะกิเลสและความทุกข์ได้นะคือพระอรหันต์ เราอย่าลืม เราจะตั้งใจเป็นเช่นนั้นบ้าง ถ้าเอาคำนี้มาใช้ตักเตือนกันว่า พระอรหันต์อย่าลืม พอเห็นใครทำอะไรไม่เข้าท่าเข้าทีแล้ว ก็ตะโกนบอกมันว่าพระอรหันต์อย่าลืม มันคงจะหยุดได้บ้างเพราะว่าพระอรหันต์ไม่ทำอย่างนั้นนะ ไม่ทำอย่างที่แกกำลังจะทำ มันก็คงจะดีจะเป็นคำทักที่ทักท้วงที่สุภาพ เราบอกเขาว่าอย่าลืมพระอรหันต์นี่มันสุภาพที่สุดแล้ว ไอ้ขี้เมาคนนั้นมันก็อาจจะนึกได้บ้าง หรือว่าอันธพาลคนนั้นมันก็อาจจะนึกได้บ้าง จะนึกถึงพระอรหันต์แล้วมันก็จะหยุดชะงักการกระทำที่ไม่น่ากระทำ ฉะนั้นถ้าจะเตือนเพื่อนกันอย่างสุภาพแล้วก็เตือนว่าพระอรหันต์อย่าลืม พระอรหันต์อย่าลืม ทำอะไรก็ให้นึกถึงพระอรหันต์ซะก่อน พระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เป็นจอมโจก ก็คืออย่าลืมพระพุทธเจ้านั้นเอง จะทำอะไรตัดสินใจอะไรก็ตามนะ ให้นึกถึงพระอรหันต์ นึกถึงพระพุทธเจ้าเสียก่อน ทำเสมือนหนึ่งว่า ถ้าเราไปทูลถามพระองค์ถึงเรื่องนี้แล้วท่านจะอธิบายว่าอย่างไร หรือเราควรทำอย่างนั้นดีกว่า จะทำอะไรที่เป็นปัญหาใหญ่ จะหย่าลูกหย่าเมียหย่าผัวหย่าอะไรก็ตาม จงทำชนิดที่ว่าถามพระพุทธเจ้าเสียก่อน มันคงจะถูกต้องกว่าที่จะไม่คิดอย่างนั้น วันพระอรหันต์ วันนี้เป็นวันพระอรหันต์ เราก็ไม่ลืม ถ้าเราลืมแล้วเราก็คงไม่มาประชุมกันที่นี่อย่างนี้แหละ เดี๋ยวนี้เราก็ไม่ลืมพระอรหันต์ อุตสาห์มาจากที่ไกล มาประชุมกันที่นี้เพื่อจะซ้อมความเข้าใจ ไม่ลืมพระอรหันต์ นี่อาตมาขอแสดงความยินดี ทีนี้คำว่าพระอรหันต์อย่าลืม พระอรหันต์อย่าลืม นั้นคือว่าเรื่องสูงสุดของมนุษย์น่ะ อย่าลืมเรื่องสูงสุดของมนุษย์
คำว่าพระอรหันต์อย่าลืมนี้มันมีหลายความหมาย มีหลายความหมาย ความหมายแรก อย่าลืมว่าการชนะกิเลส ชนะความชั่วนั้นเป็นสิ่งที่มีได้ เดี๋ยวนี้อารมณ์บ้าวูบเดียวมันไม่นึกไม่คิดอะไร มันทำชั่วผลุนผลันลงไป มันบังคับจิตไม่ได้ หรือมันคิดว่าห้ามไม่ได้ ช่วยไม่ได้ มันก็เลยทำไปโดยที่ไม่ต่อสู้หรือต่อต้านแก่กิเลส เราเป็นพุทธบริษัททั้งทีต้องมีหลักอันแน่นอนว่า กิเลสนั้นเป็นสิ่งที่ชนะได้ เอาชนะได้ อย่ายอมแพ้โง่ ๆ ง่าย ๆ ให้ถือว่าการชนะกิเลสนั้นเป็นสิ่งที่มีได้ คนมักจะแก้ตัวให้ตัวเองว่า กิเลสนั้นเอาชนะมันไม่ได้ ก็ทำไปตามอำนาจของกิเลส ทำอย่างนี้จิตมันก็ทรามลงไปต่ำลงไปทุกที ๆ มันก็ไปจมอยู่ในกองทุกข์ ถ้าพระอรหันต์อย่าลืม แล้วก็เราก็จะต้องนึกถึงพระอรหันต์ผู้ชนะกิเลส แล้วก็มองเห็นชัดลงไปว่ากิเลสเป็นสิ่งที่ชนะได้ พระอรหันต์อย่าลืมมันมีประโยชน์อย่างนี้
ข้อที่ ๒ ต้องจัดต้องทำให้รู้สึกได้เต็มใจว่าทุกอย่างถูกต้อง ทุกอย่างถูกต้อง พวกฝรั่งเขามีคำพูดที่อาตมาเห็นว่าดีที่สุดอยู่คำหนึ่ง แต่เขาจะหมายอย่างนี้หรือไม่ ที่ฝรั่งมันพูดกันว่า all right all right นะ คือทุกอย่างถูกต้องนะ แล้วมันดีที่สุดนะ ถ้ามันถูกต้องจริงแล้วมันก็เป็นเทวดา อย่างน้อย กลัวมันจะไม่ถูกต้องเหมือนปากว่า เราจะต้องจัดให้ทุกอย่างมันถูกต้อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถูกต้อง กาย วาจา ใจ ทิฐิ ความคิดความเห็น มันถูกต้อง อะไร ๆ ในบ้านในเรือนมันมีแต่ความถูกต้องไปหมด ดูที่เนื้อที่ตัวมันก็ถูกต้องไปหมด ดูการพูดจาการคิดนึกมันก็ถูกต้องไปหมด ถ้าพระอรหันต์อย่าลืม แล้วก็ขอให้จัดให้ทำให้ทุกอย่างมันถูกต้องไปหมด เดี๋ยวนี้มันอวดดี เดี๋ยวนี้มันสะเพร่า มันสะเพร่า มันอวดดี มันไม่มีอะไรถูกต้องเลย แล้วมันก็ไม่คิดนึกที่ว่าจะทำให้ทุกอย่างมันถูกต้อง ถึงกับพูดกันว่าทุกอย่างถูกต้อง มันก็พูดกันแต่ปาก แต่ก็ยังดีกว่าที่จะไม่นึกไม่คิดว่าให้ทุกอย่างมันถูกต้อง
ข้อที่ ๓ อยากจะให้ระลึกนึกถึงพระอรหันต์ แล้วก็ให้รู้ว่าปฏิบัติอย่างไรจึงจะดับทุกข์ได้นั้น อันนี้มีใจความสำคัญว่า ถ้าเราเข้าใจศาสนาผิด ก็จะมัวแต่นั่งอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนา มันมีศาสนาสำหรับนั่งอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไกลพระอรหันต์ ห่างพระอรหันต์ ทิ้งมันไม่มีมองเห็นกันเลย เข้าใจศาสนาผิดมันก็มัวแต่อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนา ไม่มีการกระทำที่ถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตาแล้วเอาตัวรอดได้ เรื่องอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นมันมีสำหรับคนป่าสมัยโน้น คนป่าสมัยยังไม่นุ่งผ้าก็ได้ ในพุทธศาสนานี้ถือการกระทำให้ถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา ถ้าไม่ถูกต้องมันก็มีผลในทางฝ่ายทุกข์ อิทัปปัจจยตามันมีทั้งฝ่ายผิดและทั้งฝ่ายถูก คือฝ่ายให้เกิดทุกข์และฝ่ายให้เกิดสุข เราต้องทำให้ถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตาในฝ่ายที่จะทำให้เกิดความสุข เดี๋ยวนี้เราเข้าใจศาสนาผิด ทำอะไรไม่เป็น ๆ ได้แต่นั่งอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนานั่นเอง ทำให้ศาสนามีแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับนั่งอ้อนวอน ไม่มีการปฏิบัติธรรมะ การทำหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตอย่างถูกต้องนั่นแหละคือธรรมะ มีการทำหน้าที่อย่างถูกต้องที่ไหนก็จะมีธรรมะที่นั่น ในโบสถ์อาจจะไม่มีธรรมะก็ได้ ถ้ามันมีแต่เซียมซีหรือมีแต่จุดธูปเทียนบนบานขอนั่นขอนี่ อย่างนี้ในโบสถ์นั่นแหละไม่มีธรรมะ ไอ้คนที่ประพฤติหน้าถูกต้องในสวนในนาในที่ต่าง ๆ นั้นกลับมีธรรมะ เพราะเขาปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องของมนุษย์ นี่กลัวว่าเมื่อเข้าใจศาสนาผิด มัวแต่นั่งอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนานั้นเอง มันก็กลายเป็นคอกหรือเป็นกรงสำหรับขังดวงวิญญาณให้มันติดอยู่ที่นั้นมันออกไปไม่ได้ ถ้านึกถึงพระอรหันต์ก็ท่านไปแล้วโน้น ท่านออกไปแล้ว ไปสู่โลกุตตระ คืออยู่เหนือกิเลสเหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวงแล้ว เราอย่ามานั่งอยู่ในคอกอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้อยู่เลย จงรีบกระทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา และถอนตนออกมาได้จากความทุกข์ สมตามความมุ่งหมายของคำว่ามนุษย์ ๆ ๆ ๆ ซึ่งแปลว่ามันมีจิตใจสูง สูงเหนือกิเลสและความทุกข์นั้นเอง
ข้อที่ ๔ ต่อไป ให้มองดูให้ดีว่าทุกคนที่ถือศาสนาอยู่ทุก ๆ ศาสนาในโลกนี้โดยแท้จริงเขาถือศาสนาประโยชน์ ปากว่าถือ พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ซิกข์ อะไรก็ตาม แต่ใจจริงมันถือศาสนาประโยชน์ มันเป็นศาสนาประโยชนาธิปไตย มีประโยชน์เป็นใหญ่ ประโยชน์นี้ก็ประโยชน์ต่ำ ๆ นะ ประโยชน์ทางวัตถุ ประโยชน์ทางเงินทองสิ่งของกามคุณ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ใช่ประโยชน์สูงสุด ทีนี้พระอรหันต์ท่านเป็นอย่างไรพระอรหันต์ผู้มีจิตใจอยู่เหนือประโยชน์นะ นี่ ถ้าไม่เคยคิดก็คิดเสียบ้าง พระอรหันต์มีจิตใจอยู่เหนือประโยชน์ ประโยชน์ใด ๆ ก็ตามนะไม่มาข้องติดอยู่ในจิตใจของพระอรหันต์ ท่านไม่ต้องการประโยชน์ เพราะว่าประโยชน์นั้นแปลว่าสิ่งผูกพัน โยชนะ แปลว่า ผูกพัน ปะ หรือประ แปลว่า ครบถ้วนหรือทั้งหมดทั้งสิ้น ประโยชน์ ประโยชน์คำนี้ แปลว่า สิ่งผูกพันอย่างครบถ้วนสิ้นเชิง ใครต้องการอะไรเป็นประโยชน์ สิ่งนั้นก็ผูกพันจิตใจของคนนั้นอย่างเหนียวแน่น มันติดอยู่ในคอกในกรงในบ่วงในแร้วของประโยชน์ พระอรหันต์ท่านมีจิตใจเหนือประโยชน์ ที่ว่าโลกุตระนั้นมันเหนือโลก คือเหนือประโยชน์ที่คนในโลกเขาหลงติดกัน
ถ้าพระอรหันต์อย่าลืม นึกถึงพระอรหันต์แล้ว ก็จงพยายามทำจิตให้อยู่เหนืออิทธิพลของประโยชน์ ของสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ อิทธิพล พิษสง ความร้ายกาจอะไรก็ตามของประโยชน์นั้น อย่าได้มาผูกมาคล้องมาผูกมัดเราเลย เดี๋ยวนี้ปากว่านับถือศาสนา พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ซิกข์ อะไรก็ตาม แต่ใจมันถือศาสนาประโยชน์นี่ ในโลกมันเป็นเสียอย่างนี้ มันลำบากยุ่งยากด้วยกันทุกศาสนาเลย ที่ว่าสมาชิกในศาสนานี่มันไปถือศาสนาประโยชน์กันเสียหมด พุทธบริษัทก็ควรจะสังเกตดูให้ดี จะเห็นแก่ประโยชน์ ผูกพันอยู่ในประโยชน์ อาตมาคิดว่าหลายคนทีเดียว ให้ ๑๐ พระพุทธเจ้าเขาก็ไม่เอาหรอก สู้แฟนของเขาคนเดียวก็ไม่ได้ ลองคิดดูนะ ให้พระพุทธเจ้าสัก ๑๐ องค์ เขาก็คิดว่าสู้แฟนของเขาคนเดียวก็ไม่ได้ แล้วแต่มันจะเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชาย ชายหนุ่มหรือหญิงสาว นี่มันต้องพูดกันด้วยใจจริงที่ว่า เขาดูกิริยาท่าทางของมันแม้ที่มาเดินอยู่ในสวนโมกข์นี่ก็เหมือนกัน อาตามาคิดว่า ไอ้คนนี้นี่มันเป็นโรคกามคุณขึ้นสมอง เอาพระพุทธเจ้ามาให้สัก ๑๐ องค์มันก็ไม่ยอมมาแลกกับแฟนของมันเพียงคนเดียว หลายคนทั้งหญิงทั้งชายที่มาเดินในสวนโมกข์นี่ที่มันเดินเกี่ยวก้อยกันในสวนโมกข์ต่อหน้าพระนี่ มันยังมีคนหนุ่มคนสาวมาเดินเกี่ยวก้อยกันจะสะดุดพระอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าไอ้คนชนิดนี้เอาพระพุทธเจ้าสัก ๑๐ องค์มาแลกแฟนของมันคนเดียวมันก็ไม่เอาหรอก นั่นน่ะมันจะเป็นอย่างนั้นเสียโดยมาก นี่ขอให้ช่วยกันบอกลูกบอกหลานให้ดี ๆ ว่า พระอรหันต์นะท่านอยู่เหนือสิ่งผูกพันชนิดนี้ จึงเรียกว่าเป็นพระอรหันต์สูงสุดที่เรายอมเคารพบูชาสักการะ ไม่มีอะไรจะสูงเท่า แต่คนเดี๋ยวนี้มันว่าสู้แฟนของมันคนเดียวก็ไม่ได้ แล้วมันจะตามรอยพระอรหันต์ได้อย่างไร
ข้อต่อไป อยากจะให้ง่าย สรุปกันให้ง่าย ๆ ว่า ไอ้นรก สวรรค์ พระนิพพานนั้นนะมันมีอยู่จริง จริงยิ่งกว่าจริง เมื่อเป็นทุกข์นั้นคือนรก เมื่อเป็นสุขนั้นคือสวรรค์ เมื่อเหนือทุกข์เหนือสุขนั้นคือพระนิพพาน คนโง่มันก็จมอยู่ในกองทุกข์ เพราะมันทำผิด คนดีคนฉลาด มันก็อยู่ในความสุข เพราะว่ามันทำถูก แต่ว่าทั้งนรกและทั้งสวรรค์นั้น ไม่ใช่ความพักผ่อน ไม่ใช่ชีวิตเย็น พูดให้ฟังง่ายก็ต้องพูดว่า ไม่ใช่นิพพาน ไม่ใช่ชีวิตเย็น ทั้งสุขและทั้งทุกข์นั้นนะไม่ใช่ชีวิตเย็น ต้องขึ้นไปอยู่เหนือสุขเหนือทุกข์จึงจะเป็นนิพพาน คือชีวิตเย็น นรกก็ร้อนไปตามแบบนรก สวรรค์ก็ร้อนไปตามแบบสวรรค์ เชื่อเถิดว่าพวกเทวดาในสวรรค์มันก็มีกิเลสหนายิ่งกว่ามนุษย์ก็มี หลงใหลไปในกามารมณ์ เพราะว่ามีนางฟ้าเป็นบริวารเป็นหมื่นเป็นแสนโน่น แล้วมันก็ยิ่งไปกว่ามนุษย์ แล้วมันไม่มีการพักผ่อน ต้องขึ้นไปพ้นสุขพ้นทุกข์ จึงจะเป็นนิพพาน เราเข้าใจพระนิพพานกันให้ถูกต้องว่าเป็นที่หยุด เป็นที่พัก เป็นที่สงบเย็นของดวงวิญญาณที่โลดเต้นเร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา ความสงบเย็นคือไม่มีไฟ ไม่มีความร้อน เมื่อไม่มีความร้อนมันก็เท่านั้นแหละ พอแล้วอย่าไปเติมอะไรเข้ามาอีกเลย มันไม่มีความร้อนไม่มีความทุกข์แล้วควรจะพอ ถ้าเติมอะไรเข้ามาอีกมันก็เป็นเรื่องยุ่งเป็นเรื่องร้อนแบบใหม่ไปอีก เอาความร้อนของกิเลสออกไปเสียให้หมดสิ้น มันก็พอ
พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสแต่เรื่องที่สุดแห่งความทุกข์ ที่สุดแห่งความทุกข์ เรามันต้องการแต่สิ่งกระตุ้นอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มุ่งหมายความเอร็ดอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เกิดกิเลส แล้วก็มันเป็นความร้อน นอนจมอยู่ในความร้อน มันก็ไม่รู้สึกว่าเป็นของน่ารังเกียจ มันอุตส่าห์แลกเอา เอาความเหนื่อยยากลำบากแลกเหยื่อของกิเลส เอามาหล่อเลี้ยงกิเลส นี่จะเรียกว่า ปุถุชน มีไฝฝ้าในดวงตาหนาเกินไป ปุถุ แปลว่า หนา หนาแห่งกิเลส หนาแห่งไฝฝ้าในดวงตา มันก็หาที่เย็นไม่พบ มันก็เลยเอาไอ้ร้อนไอ้ยุ่งนั่นแหละเป็นของดีที่สุดของมนุษย์ หรือได้ตามใจกิเลส ปุถุชนน่ะแปลว่าได้ตามใจกิเลสนั่นแหละดีที่สุดของมนุษย์ แต่ถ้าพระอริยเจ้าท่านก็กล่าวว่า เหนือกิเลส นอกเหนืออำนาจของกิเลส หรือทำลายกิเลสได้นั่นแหละดีที่สุดของมนุษย์
ทีนี้ก็จะให้ใกล้ตัวเข้ามา ข้อ ๖ นี้จะพูดว่า ธรรมะคืออะไร สอนกันจนไม่รู้ว่าธรรมะคืออะไร ธรรมะ คือ หน้าที่อันแท้จริงของสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด สิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดนับตั้งแต่เทวดาก็ได้ มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน ต้นไม้ต้นไร่อะไรเหล่านี้มีชีวิต ในสิ่งที่มีชีวิตต้องมีหน้าที่เพื่อชีวิตรอด ธรรมะนั่นแหละคือหน้าที่สำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดเพื่อจะอยู่รอด มัวสอนกันแต่ว่าธรรมะ คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็ไม่ต้องเรียนหรอกว่าสอนว่าอะไร ไม่ต้องเรียน ครูในโรงเรียนสอนเด็ก ๆ แต่เพียงว่า ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วไม่บอกให้รู้ว่าสอนอย่างไรด้วยซ้ำไป มันก็ตายด้านกันหมดที่ตรงนี้แหละ ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นมันถูกนิดเดียว มันถูกตอนหลัง ๆ เพราะว่าธรรมะมันมีก่อนพระพุทธเจ้าเกิดโน่น ธรรมะมันมีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด เมื่อยังไม่เกิดพระพุทธเจ้าขึ้นมาในโลกนะ คนในประเทศนั้นนะ ประเทศที่มีคำพูดภาษานี้ว่าธรรมะ ๆ นะเขามีใช้กันแล้ว พอมนุษย์ป่าเถื่อนเหล่านั้นจะค่อยเจริญขึ้นจนรู้จัก ว่ามนุษย์มีหน้าที่อย่างไร ไอ้สิ่งที่เขารู้จักที่เราเรียกกันในภาษาไทยว่าหน้าที่ เขาเรียกว่าธรรมะ ๆ ไอ้ธรรมะในภาบาลีหรือ dharma ในภาษาสันสกฤตนั้นนะ ไอ้รากศัพท์มูลศัพท์มันแปลว่าสิ่งที่ชูสิ่งอื่นไว้ สิ่งที้ชูยกสิ่งอื่นไว้นะก็เรียกว่า ธรรมะ ๆ มนุษย์ย่อมรู้จักสิ่งที่เชิดชูความเป็นมนุษย์ไปได้นั่นก็คือธรรมะ แล้วเขาก็เรียกธรรมะ ๆ กันมาเรื่อย ๆ มา แต่เขาเปลี่ยนเรื่อยแหละเพราะเขารู้มากขึ้น ๆ ไอ้สิ่งที่เป็นหน้าที่นั้นรู้มากขึ้น ๆ จนหลายลัทธิแหละจนกระทั่งพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมา ท่านก็ใช้คำนี้อยู่นั่นแหละ เพราะมันเป็นคำที่รู้กันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้วว่า ธรรมะ ธรรมะมันคือสิ่งที่จะช่วยมนุษย์ไว้ได้
ในประเทศอินเดียเขาจะถามกันว่า ท่านชอบใจธรรมะของใครนะ ถ้าพบหน้ากันแล้วก็จะถามกันว่า ท่านชอบใจธรรมะของใคร เขาไม่ได้ถามกันว่าท่านถือศาสนาไหน ไม่มี ไม่เคยมี ไม่เคยพบในพระบาลี จะพบทั่ว ๆ ไปว่าท่านชอบใจธรรมะของใคร ท่านชอบใจธรรมะของ นิครนห์ถบุตร (ชั่วโมงที่ 1:06:40) หรือชอบใจธรรมะของพระสมณโคดม หรือชอบใจธรรมะของเกตกัมพะลี (ชั่วโมงที่ 1.06.52) มันมีตั้งหลาย ๆ ลัทธินะ ลัทธิหนึ่ง ๆ เรียกว่าเดียรถีย์ เดียรถีย์หนึ่งเดียรถีย์นี้ แปลว่าเป็นเจ้าลัทธิ เจ้าลัทธิที่มีคนขึ้นมากจึงจะเป็นเดียรถีย์ หมายถึงตัวลัทธิหรือตัวหัวหน้าเจ้าลัทธิ แม้พุทธศาสนาเราก็เป็นเดียรถีย์อันหนึ่ง แต่เราไม่เรียกว่าเดียรถีย์ เราเรียกพวกอื่นว่าอัญเดียรถีย์ เดียรถีย์เหล่าอื่นทุก ๆ ลัทธิก็เรียกอัญเดียรถีย์ ตัวเราเองก็เป็นเดียรถีย์อันหนึ่ง แต่ไม่ต้องเรียกว่าพุทธเดียรถีย์เพราะมันพูดกันภายใน นี่มีคนเรียกอาตมาว่าเดียรถีย์ ก็ชอบใจสิ มันเป็นเจ้าลัทธิ เกียรติยศสูงสุด แต่เป็นไม่ได้เป็นไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นเจ้าลัทธิถึงขนาดนั้น เราก็ไม่เอาสิ นี่เรียกว่าเขาชอบใจธรรมะของเดียรถีย์ไหน จะถือนิครนห์ถบุตร หรือสัญชัยเวลัฏฐบุคร หรือพระสมณโคดม (ชั่วโมงที่ 1.07.50)
ธรรมะ ๆ นี่ แปลว่า ระบบหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต หน้าที่นี้เพื่ออะไร หน้าที่นี้เพื่อความรอด ดังนั้นขอให้สังเกตดูทุกศาสนาเลย ไปดูจุดหมายปลายทางของศาสนาไม่ว่าศาสนาไหน เขาจะมีคำสุดท้ายปลายทางว่าความรอดทั้งนั้นแหละ แต่ใช้ชื่อต่าง ๆ กันตามภาษาที่ศาสนานั้น ๆ เขาใช้กันอยู่ อย่างเราก็ใช้ภาษาบาลีว่า วิมุต ความหลุดพ้น ลัทธิคริสเตียนก็ใช้คำว่า Emancipation ซึ่งความหมายก็แปลว่าวิมุตหลุดพ้นเหมือนกัน เพราะมนุษย์เริ่มรู้จักหน้าที่ที่จะทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ จึงมีความมุ่งหมายหลุดพ้นจากความทุกข์เป็นจุดหมายปลายทาง ถ้าเราจะเรียกว่านิพพานก็ได้ แต่เราหมายเอาผลเสียแล้ว เมื่อรอดแล้วมันเย็นเป็นนิพพาน เดี๋ยวนี้ถ้ามองดูที่ว่าไอ้หน้าที่นั้นนะมันขาดไม่ได้ ถ้าขาดหน้าที่แล้วมันตาย ลองขาดหน้าที่สิ ไม่ทำหน้าที่สิ ไม่กินอาหาร ไม่อาบน้ำ ไม่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะมันก็ตายสิ ดังนั้นหน้าที่ชั้นต่ำก็คือหน้าที่ให้รอดตายทางกาย หน้าที่ชั้นสูงก็คือให้รอดจากกิเลสและความทุกข์ในทางใจ ความรอดมันจึงมีอยู่ ๒ ชั้น รอดทางกายคือไม่ตาย รอดทางจิตก็คือไม่มีกิเลสคุกคามย่ำยีเบียดเบียน นี่เรียกว่าความรอด มีอยู่ ๒ ชั้นเท่านั้น รอดจากความยากจน รอดจากความตาย นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่สูงสุดอะไร เพียงแต่ขยันทำหน้าที่ก็็็้็็ฒ?ษ? ฏฏฉฉฉใแมแมมพอแล้ว ธรรมะคือหน้าที่ การทำหน้าที่นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรมะ แต่ว่าพวกเรามันโง่เกินไป เห็นธรรมะเป็นข้าศึกกับหน้าที่การงาน มีคนโง่ถึงกับว่าถ้าไปประพฤติธรรมะแล้วจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ จะไม่ทำนาทำสวน นั่นแหละคือคนที่โง่ที่สุด ไอ้คนที่ไถนาเหงื่อไหลอยู่กลางนานั่นแหละคือคนที่มีธรรมะที่สุด ถ้าในโบสถ์มีแต่เซียมซีและจุดธูปอ้อนวอนขออยู่เรื่อยไป นี่คนมันโง่ถึงขนาดว่าถ้าเรามาทำหน้าที่การงานในทางโลกแล้วไม่มีธรรมะอะไร ถ้าเราจะปฏิบัติธรรมะ เราต้องทิ้งหน้าที่การงานไปนั่งสวดมนต์ภาวนาอยู่ในป่าในวัด นั่นคือคนโง่ที่สุด
คนที่รู้ความจริงอย่างถูกต้องเขาจะมองเห็นว่า มีการทำหน้าที่ที่ไหนมีธรรมะที่นั่น ขอให้ทำหน้าที่ ชาวนาทำนา ชาวสวนทำสวน พ่อค้าค้าขาย ข้าราชการทำราชการ กรรมกรทำกรรมกร จะถีบสามล้อ จะแจวเรือจ้าง จะล้างท่อถนน ก็เป็นธรรมะทั้งนั้น แม้ที่สุดแต่จะไปนั่งขอทานอยู่ มันก็เป็นธรรมะของคนขอทาน เป็นหน้าที่ของคนขอทาน ถ้าเขาทำดีตรงตามหน้าที่ ไม่เท่าไรมันจะพ้นจากสภาพขอทานที่จะต้องขอทาน ธรรมะมันช่วยอย่างนี้ มันช่วยยกช่วยชูอย่างนี้ ขอให้ทุกคนเข้าใจอย่างถูกต้องตามหลักของธรรมะว่า การปฏิบัติหน้าที่นั้นแหละคือการปฏิบัติธรรม ชาวนาปฏิบัติหน้าที่การทำนาก็มีธรรมะของชาวนา ชาวสวนปฏิบัติหน้าที่ในสวนก็มีธรรมะของชาวสวน พ่อค้าทำหน้าที่พ่อค้าอย่างถูกต้องนะ ไม่ใช่หน้าที่คดโกงขูดรีด ก็ทำหน้าที่แล้วก็เป็นธรรมะของพ่อค้า ข้าราชการทำหน้าที่อย่างถูกต้องก็มีธรรมะของข้าราชการ กระทั่งทำหน้าที่ของคนขอทานก็มีธรรมะของคนขอทาน ถ้าไปทำหน้าที่อย่างโจรมันก็เป็นธรรมะของโจร ธรรมะของโจรไม่นับรวมอยู่ในข้อนี้ มันเป็นฝ่ายผิด เป็นธรรมะของโจร เป็นโจรธรรมนั้นไม่ใช่ธรรมะในที่นี้ เพราะมันไม่ใช่หน้าที่อย่าถูกต้อง มันเป็นหน้าที่ที่พวกโจรเขาว่าเอาเอง มันก็เป็นธรรมะของโจร ไม่เอามารวมในที่นี้ ธรรมะในที่นี้ต้องเป็นไปเพื่อความรอดทางกายและทางจิต ดังที่กล่าวแล้ว ธรรมะของพวกโจรไม่ช่วยให้รอดอะไร ในที่สุดก็ไปอยู่ในตาราง รอดที่ว่าไม่ต้องทำนากินเอง ไปกินข้าวของตารางมันก็รอดอย่างนั้น จะสู้รับไม่ไหวนั่น
ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่นี้เพื่อความรอด อันใครทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องแล้วจงพอใจ เมื่อได้ทำหน้าที่ถูกต้องมาก ๆ ก็ยกมือไหว้ตัวเอง ว่าเต็มไปด้วยธรรมะ นั่นแหละคือสวรรค์ เมื่อใดทำแต่หน้าที่ที่ถูกต้องจนยกมือไหว้ตัวเองได้ เมื่อนั้นเป็นสวรรค์อันแท้จริง ถ้าได้สวรรค์อย่างนี้แล้ว จะได้สวรรค์ทุกชนิดทุกอย่างต่อตายไปแล้วหรือที่ไหนเมื่อไรก็ได้ สวรรค์อันแท้จริงจะได้ต่อเมื่อทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง ไม่ใช่มานั่งอ้อนวอนเอา อธิษฐานเอา เอาเปรียบเกินไป ต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้องเสียก่อน จึงจะมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาสวรรค์ เพราะฉะนั้นเราทำให้มีความถูกต้องอยู่ตลอดเวลา จนยกมือไหว้ตัวเองได้ก็เรียกว่ามีสวรรค์อยู่ในนั้น พอใจตัวเอง ชื่นใจตัวเอง จนยกมือไหว้ตัวเองได้ เมื่อทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง นี้ทำได้ ๆ อย่างแน่นอน ทำได้อย่างไม่เหลือวิสัย คือรู้ว่าการปฏิบัติหน้าที่นั้นคือการปฏิบัติธรรม การทำหน้าที่ของตน ๆ ๆ นั่นแหละ แม้จะต่างกันอย่างไรก็เป็นธรรมะทั้งนั้น เราไม่อาจจะเป็นมหาจักรพรรดิ ไม่อาจจะเป็นประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี เรายังต้องแจวเรือจ้าง เราก็แจวเรือจ้างอย่างถูกต้องไปเถิด มันก็จะค่อย ๆ พ้นสภาพต้องแจวเรือจ้าง สูงขึ้นมา ๆ เดี๋ยวนี้เราจะทำหน้าที่เหมือนกันไม่ได้ เพราะว่าธรรมชาติสร้างคนเรามาไม่เท่ากัน มีกำลังไม่เท่ากัน สติปัญญาไม่เท่ากัน อะไร ๆ ก็ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นจงรับหน้าที่ที่พอเหมาะสมแก่สภาพของตน แต่ครั้นได้ทำหน้าที่นั้นแล้ว ไม่มีแตกต่างอะไรกัน คือเป็นธรรมะเหมือนกันหมด หน้าที่ของพระมหาจักรพรรดิกับหน้าที่ของคนนั่งขอทานก็เป็นธรรมะเท่ากัน ถ้าเขาไม่ปฏิบัติ ถ้าเขาไม่บกพร่องในหน้าที่ของตน ฉะนั้นขอให้มองเห็นว่า ความหวังมันมีอยู่เต็มที่ แต่เราไม่เอาเองในการที่จะชนะความทุกข์
ทีนี้เราไม่ทำหน้าที่ ก็คือทำหน้าที่ผิด ๆ จนเกลียดน้ำหน้าตัวเอง นั่นแหละคือนรก อันธพาลทั้งหลายมันก็รู้ว่า ที่มันทำนั้นไม่ถูกหรอก ไม่ถูก แต่มันบังคับตัวเองไม่ได้ มันทำยังไง มันก็ทำไปทั้งที่เห็นผิด ๆ มันก็รู้สึกเกลียดตัวเองเหมือนกัน คนดี ๆ เรานี่ไปทำผิด ๆ มันก็เกลียดน้ำหน้าตัวเอง เกลียดน้ำหน้าตัวเองที่ไหนเมื่อไรก็เป็นนรกที่นั่นแหละเมื่อนั้น ขออย่าได้ให้มีเลย อย่าได้กระทำอะไรชนิดที่ต้องเกลียดชังตัวเอง ไม่มีหิริโอตตัปปะเลย มันจะเป็นนรกแท้จริง ถ้าตกนรกชนิดนี้แล้ว ตายแล้วก็ไปตกนรกทุกชนิดแหละไม่ว่ามันจะมีอีกกี่ชนิด ถ้ามันตกนรกที่นี่เดี่ยวนี้คือเกลียดน้ำหน้าตัวเอง มันเป็นนรกเต็มไปแต่ที่นี่แล้ว ตายแล้วมันก็จะต้องตกนรกทุกชนิดที่มีให้ ฉะนั้นเราจงทำชนิดที่ให้ยกมือไหว้ตัวเองได้ ก็เป็นสวรรค์ตลอดเวลาทั้งโลกนี้โลกหน้าและโลกไหน ๆ ถ้าทำจนเกลียดชังตัวเอง มันเป็นนรกที่นี่ตลอดเวลา มันก็เป็นนรกตลอดไปไม่ว่าโลกนี้หรือโลกไหน ถ้าอยากจบอยากสิ้นก็อยู่เหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือดีเหนือชั่วเป็นนิพพาน หมายความว่าเราไม่ต้องการจะมาเวียนว่ายอยู่ในนรกสวรรค์ ไม่มาเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร เราอยากจะนิพพาน ก็ทำจิตใจเสียให้สูงไปกว่านั้นอีกทีหนึ่ง เป็นจิตใจที่ไม่ต้องการอะไร เขาด่าอาตมาว่าอาตมาดีแต่พูด ไม่ทำอะไร แต่อาตมาทำอะไรที่เขามองไม่เห็น ไว้ค่ำนี้สิจะพูดให้ฟังในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ถ้าว่าไม่ต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไรนั่นแหละมันจะอยู่เหนือดีเหนือชั่ว แล้วมันจะเป็นไปทางนิพพาน
ที่อยู่ที่นี่คงจะมีหลายคนแหละที่ด่าอาตมาว่า ไม่ทำอะไรดีแต่พูด ไม่ปฏิบัติอะไร แต่อาตมายืนยันว่าปฏิบัติอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าปฏิบัติซะอีก แต่ไว้พูดให้ฟังค่ำนี้ เพราะมันยืดยาวนัก นี่มันก็พูดมากไปแล้ว ธรรมะคือหน้าที่ ผู้ใดทำหน้าที่ของตนผู้นั้นมีธรรมะ สัตว์เดรัจฉานก็ต้องทำหน้าที่ของมัน มิฉะนั้นมันจะต้องตาย มันก็เป็นธรรมะของสัตว์เดรัจฉาน เมื่อไก่มันเขี่ยดิน กินอาหารนั่นมันมีธรรมะมากกว่าคนขี้เกียจบางคนเสียอีก สัตว์เดรัจฉานก็ต้องมีธรรมะ ไม่งั้นมันไม่ทำหน้าที่แล้วมันก็ตาย ต้นไม้เหล่านี้ก็ต้องทำหน้าที่ มันต้องดูดน้ำดูดแร่ธาตุ เอาแสงแดด เปลี่ยนแปลงทางเคมี เลี้ยงต้นใบ มันทำหน้าที่ตลอดเวลานะ ถ้าเปรียบกันแล้ว ต้นไม้มีธรรมะมากกว่าคนก็ได้ เพราะมันทำหน้าที่ของมันตลอดเวลา ไอ้คนเรานี้มีแต่ขี้เกียจบิดพลิ้ว ไม่ต้องทำอะไรยิ่งดี ไม่ต้องทำอะไรยิ่งดีเอาแต่ประโยชน์เท่านั้น ถ้าคนอย่างนี้ก็มีธรรมะน้อยกว่าต้นไม้ต้นไร่ มีธรรมะน้อยกว่าหมูหมากาไก่ที่มันขยันทำหน้าที่ของมันทั้งวัน ๆ ผู้ใดทำหน้าที่ผู้นั้นมีธรรมะ เพราะธรรมะคือหน้าที่ นี่ถ้านึกถึงพระอรหันต์ก็ให้นึกว่า พระอรหันต์ทำหน้าที่สมบูรณ์จนอยู่เหนือหน้าที่ เราจะตามหลังท่านไป ก็จงทำหน้าที่ให้ถูกต้องโดยเร็วให้สมบูรณ์โดยเร็ว เราก็จะไล่ท่านทัน ติดตามไปข้างหลัง
เอ้า, อีกข้อว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาให้เราปรับปรุงได้ตามต้องการ ชีวิตนี้ธรรมชาติมันสร้างมาให้ ให้เราปรับปรุงได้ตามต้องการ แต่คนโง่บรมโง่มันว่าไม่ได้ ฉันทำไม่ได้ ฉันมีเท่านี้ ฉันมีตายตัวเท่านี้ พรหมลิขิตอะไรบ้า ๆ บอ ๆ หรือว่ามีเพียงเท่านี้ฉันทำไม่ได้ แต่ว่าโดยที่แท้นั้นธรรมชาติมันสร้างชีวิตมาให้เราปรับปรุงได้ตามต้องการ อยากลงนรกก็เอาลงไป อยากขึ้นสวรรค์ก็ไปขึ้นไป อยากไปนิพพานก็ไปก็ไปได้ ธรรมชาติมันอำนวยให้ทุกอย่างอย่างนี้ แต่คนโง่มันไม่รู้จักใช้ แล้วมันยังจะใช้สำหรับกิเลสโน่น ให้กิเลสครอบครอง มีจิตเต็มไปด้วยกิเลส ก็ทำไปด้วยอำนาจของกิเลส แล้วมันก็แก้ตัวว่า ทำไปในทางฝ่ายตรงกันข้าม มันทำไม่ได้ ไอ้นี้มันโกงธรรมะ ธรรมะ หน้าที่มีครบถ้วนสำหรับจะเป็นอะไรก็ได้
ธรรมชาติก็สร้างชีวิตนี้มาสำหรับเป็นอะไรก็ได้ คือปรับปรุงได้โดยกฎของธรรมชาติ มีกฎของธรรมชาติที่เรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตา ถ้าเราต้องการให้เป็นอย่างไร จงทำให้ถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจยตาของความเป็นอย่างนั้น ต้องการความชั่วก็ทำกฎอิทัปปัจจยตาฝ่ายที่เป็นไปเพื่อชั่วและทุกข์ ต้องการความสุขก็ปฏิบัติตามกฎอิทัปปัจจยตาที่เป็นไปในทางความสุข พวกที่เขาถือศาสนาอื่นโดยมากเขาถือพระเจ้า เขาก็พูดว่า แล้วแต่พระเจ้า ก็ตามใจเขาสิ เขาแล้วแต่พระเจ้า ส่วนพวกเราพุทธบริษัทนี้ว่าแล้วแต่กฎอิทัปปัจจยตาที่เรากระทำมัน แล้วแต่อิทัปปัจจยตานี่พุทธบริษัทจะพูด พวกอื่นจะพูดว่าแล้วแต่พระเจ้า แล้วแต่พรหมลิขิต แล้วแต่อะไร แม้แต่จะพูดว่าแล้วแต่กรรมหนหลังก็ไม่ถูกนะ อาตมายืนยันเดี๋ยวนี้ ฟังให้ดีว่าแล้วแต่กรรมหนหลังก็ไม่ถูก กรรมหนหลังนะเราแก้ไขได้โดยอิทัปปัจจยตาที่นี่และเดี๋ยวนี้ ถ้าเรามีกฎอิทัปปัจจยตาที่ถูกต้องแล้ว เราจะแก้กรรมหนหลังได้ที่นี่และเดี่ยวนี้ กรรมหนหลังนะมาสิ ลองมาดูสิ มาสู้กับอิทัปปัจจยตาของคนฉลาดสิ มันก็เลิกถอนไปหมด ปฏิบัติให้อยู่ในความถูกต้องได้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า สุขทุกข์นั้นมิใช่เป็นผลของกรรมเก่า เพราะว่าอิทัปปัจจยตาสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ แม้จะมีกรรมเก่าอย่างไร สุขและทุกข์นั้นมิใช่การบันดาลของพระเจ้า ท่านตรัสไว้อย่างนี้ แต่ท่านใช้คำว่า อิศวร คำว่าพระเจ้านั้น ให้พระเจ้าแกล้งให้เราเป็นทุกข์เอาสิ เราจะต้อนรับด้วยอิทัปปัจจยตาฝ่ายถูกต้องที่มันเป็นทุกข์ไม่ได้ เราควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้ให้เป็นทุกข์ไม่ได้ เอ้า, ให้เทวดาเป็นฝูง ๆ มาแกล้งเราก็เอาสิ เราจะต้อนรับด้วยกฎแห่งอิทัปปัจจยตาที่ถูกต้อง เมื่อเรามีโอกาสมีอิสระที่จะไม่เป็นทุกข์โดยอาศัยกฎอันสูงสุดคืออิทัปปัจจยตา ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ แล้วท่านทรงเคารพเป็นสิ่งสูงสุด พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เคารพธรรมะที่ท่านได้ตรัสรู้คือกฎอิทัปปัจจยตา ซึ่งเรามักจะเรียกกันว่าปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ถ้าใครเห็นกฎอิทัปปัจจยตา ประพฤติถูกต้องแล้วก็ผู้นั้นเห็นธรรม และเห็นพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งเดียวกันเลย ชีวิตนี้ธรรมชาติสร้างมาให้ปรับปรุงได้ หรือจะพูดให้มันเป็นสำนวนเด็ก ๆ ฟังได้ก็ว่า ไอ้ชีวิตนี้มันเติมน้ำมันได้ ชีวิตนี้มันเป็นสิ่งที่เราเติมน้ำมันลงไปได้ ให้มันวิ่งไปได้ต่อไป ไม่ให้หมดน้ำมัน เติมน้ำมันได้เรื่อยไปให้มันวิ่งไปได้จนถึงพระนิพพาน โดยกฎของอิทัปปัจจยตา
ทีนี้ข้อสุดท้ายที่มันเนื่องกันอยู่ จะพูดว่าจิตนี้ปรับปรุงได้ อย่าคิดว่าจิตเป็นสิ่งที่ปรับปรุงไม่ได้ เกิดมาอย่างไรแล้วจะต้องเป็นไปอย่างนั้น จิตนี้เป็นสิ่งที่ปรับปรุงได้ ถ้ามิฉะนั้นแล้วพระพุทธองค์จะไม่ตรัสว่า อะธิจิตเต จะอาโยโค เหมือนที่พูดเมื่อตะกี้นี้นะ การทำจิตให้เป็นจิตยิ่งน่ะมันเป็นการทำได้ โดยการปฏิบัติตามกฎของอิทัปปัจจยตา จิตนี้ปรับปรุงได้ ปรับปรุงได้จนถึงขนาดว่าอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง ไปสู่พระนิพพานคือความว่าง จนเป็นจิตที่ไม่ต้องการอะไร จิตที่ไม่ต้องการอะไรนั่นแหละมันฟังยาก เข้าใจว่าทุกคนไม่ชอบก็ได้ จิตที่ไม่ต้องการอะไรนะ เพราะมันไม่สนุก จิตที่ไม่ต้องการอะไร ไม่อยากอะไร ไม่ทำอะไรทั้งวัน ๆ ไม่ทำอะไร มันเป็นสิ่งที่ทำได้
ถามคนแก่ ๆ คนหนึ่ง อย่าออกชื่อเลย เดี๋ยวลูกหลานอยู่ที่นี่มันจะโกรธเอา อาตมาถามว่าอยากไปนิพพานไหม อยาก ๆ ๆ แต่นิพพานไม่มีรำวงนะ ไม่เอา ๆ ๆ เพราะว่าเขาชอบรำวง นี่ มันเป็นอย่างนี้ เข้าใจว่าในนิพพานนี่มันเต็มไปด้วยสิ่งสนุกสนานที่เราต้องการอย่างยิ่ง นี่ไม่รู้ว่าจิตนี้นะมันปรับปรุงได้จนถึงพระนิพพาน อยู่เหนือความดีความชั่ว ความสุขความทุกข์ เรียกว่าไม่ต้องการอะไรเป็นจิตว่างจากกิเลสแล้วมันก็ไม่ต้องการอะไร นั่นแหละคือรอยของพระอรหันต์ ถ้าพระอรหันต์อย่าลืม จะตามรอยพระอรหันต์แล้ว ก็จงพยายามเถิดให้ถึงระดับที่ว่าจิตนี้มันไม่ต้องการอะไร เลยไม่มีการกระทำที่เป็นกรรมดีกรรมชั่วอะไร ไม่มีบุญไม่มีบาป ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ สิ้นสุดแห่งความทุกข์เด็ดขาดนั่นแหละ แต่บางทีก็พูดเป็นภาษาธรรมะ โฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง นั้นเป็นเรื่องโฆษณาชวนเชื่อพูดด้วยภาษาคนว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง ที่จริงนะมันเหนือสุขเหนือทุกข์โดยประการทั้งปวง ถ้าจะตามรอยพระอรหันต์มันต้องไปถึงที่นั่น คือสภาพที่จิตไม่เป็นสังขารชนิดที่ปรุงแต่ง ให้เกิดความรู้สึกคิดนึกใด ๆ ได้ เป็นวิสังขาร คือจิตเป็นวิสังขาร เป็นจิตที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป นั่นแหละคือร่องรอยของพระอรหันต์
วันนี้เป็นวันพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้ชนะสิ่งทั้งปวง พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ เหมือนกับเป็นธรรมนูญสำหรับสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จะปฏิบัติอยู่อย่างไม่ต้องมีทุกข์ แล้วก็วิวัฒนาการไปตามทางของความหลุดพ้นจนกระทั่งถึงพระนิพพาน เอาล่ะ พอทีแล้ว อาตมาก็เหนื่อยแล้ว ว่าที่เป็นวันพระอรหันต์ เรามาประชุมกันที่นี่ เพื่อประโยชน์แก่การระลึกถึงพระอรหันต์ เพื่อบูชาพระอรหันต์ เราจะบูชาทางกาย ดอกไม้ธูปเทียนเวียนประทักษิณ นี่บูชาทางกาย แล้วเราก็กล่าววาจาบูชา กล่าวคำบูชาทางวาจา แล้วก็บูชาทางจิตใจ คือทำจิตใจให้เดินตามรอยของพระอรหันต์ เป็นการบูชาด้วยจิตใจ โอกาสนี้เราจะทำการบูชาพระอรหันต์ ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางจิตใจ เมื่อท่านทั้งหลายได้ทำในใจไปตามคำพูดที่อาตมาได้พูดไปแล้วนี้ ก็คงจะเป็นการบูชา ด้วยจิตใจได้โดยง่าย ๆ เราจะได้มีการบูชาพร้อมทั้งทางกายทางวาจาทางจิตใจ ซึ่งเราจะได้กระทำพิธีบูชาอันสูงสุดนี้ในโอกาสเช่นนี้สืบต่อไป บัดนี้เป็นการเตรียมจิตใจเพียงพอแล้วที่จะประกอบพิธีมาฆบูชา อาตมาขอยุติธรรมเทศนาลงด้วยการสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้