แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระธรรมเทศนาเนื่องในวันอาสาฬหบูชา กัณฑ์ที่ ๒ เวลา ๓ ทุ่ม เนื่องในวันอาสาฬหบูชา วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ ที่ศาลามหานาวา ร่วมงาน ผู้ร่วมงานของเรามีพระสุชาติ สุชาโต พระสุพล สุลพะโล พระอาจารย์ปรีชา สุมังคโล พระอาจารย์โสภณ โสภโณ พระอาจารย์สำเริง สวโร ทั้งนี้อยู่ในความควบคุมของพระอาจารย์โสภณ โสภโณ พระสุชาติ สุชาโต บันทึกเสียง
ตั้งแต่นาทีที่ 00:46 – 01:12 เป็นเสียงสวดมนต์
ท่านสาธุชนทั้งหลาย อาตมาขอแสดงธรรมในรูปของการบรรยายธรรมะอย่างที่เรียกว่าปา ปาถกฐาธรรม ไม่ต้องตั้งนะโม ไม่ต้องอะไรให้เสียเวลามาก แล้วก็พูดด้วย (นี่พูดขึ้นไม่ได้ รู้สึกไหม พูดอีกไม่ได้-พูดเป็นภาษาใต้) เอ้า,อยากจะพูดเรื่องธรรมะชีวีให้ละเอียดลออยิ่งขึ้นไปอีก ท่านที่ได้ฟังเมื่อตอนเย็นบนภูเขาเรื่องธรรมชีวีนั้นขอให้ปะติดปะต่อข้อความมาถึงการฟังในครั้งนี้ด้วย โดยเฉพาะนักเรียนทั้งหลายซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก เราจะมีหลักในการปฏิบัติประจำชีวิตของเราโดยใช้คำว่าธรรมะชีวี มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต แม้แต่เด็กนักเรียน แม้แต่เด็กนักเรียนแหละขอให้ฟัง แม้แต่เด็กนักเรียน การประพฤติธรรมะทุกชนิดทุกระดับแหละเมื่อปฏิบัติแล้วก็จะเรียกว่าปฏิบัติธรรมะเสมอกัน เมื่อปฏิบัติอยู่เป็นปกติแล้วมันก็เรียกว่าเป็นธรรมะชีวี คือมีธรรมะเป็นชีวิต มีธรรมะในชีวิต มีธรรมะเพื่อชีวิต มีธรรมะแก่ชีวิต แล้วแต่จะมองกันในความหมายไหน ขอให้มีความรู้กันให้ถูกต้องเสียใหม่โดยเฉพาะคำว่าธรรมะ ธรรมะ
เด็กนักเรียนของเรามักจะได้ฟังครูสอน คำว่าธรรมะแปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เข้าใจว่านักเรียนทุกคนจะเคยได้ยินอย่างนี้ว่าครูสอนในโรงเรียน ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทีนี้ถ้าเขาถาม หรือเขาจะบอกว่าไอ้คำว่าธรรมะ ธรรมะนี่มีพูดมีสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด แล้วเธอจะว่าอย่างไร นี่นักเรียนจะว่าอย่างไร แล้วก็เป็นความจริงเช่นนั้น คำว่าธรรมะ ธรรมะนี่เขาพูดคำนี้กันแล้วก็ใช้สั่งสอนเรื่องนี้กันตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ครั้นพระพุทธเจ้าเกิดไอ้คำนี้ก็ยังใช้อยู่ ยังใช้อยู่ พระพุทธเจ้าท่านก็ใช้คำว่าธรรมะมาเพื่ออธิบายธรรมะให้ยิ่งขึ้นไปๆจนเป็นธรรมะระดับสูงสุด นี่ธรรมะ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจริง ตอนหลังนี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจริง แต่ว่าก่อนหน้านั้นเขามีใช้กันอยู่แล้ว เพราะคำว่าธรรมะนั้นมันหมายถึงหน้าที่ หน้าที่ เมื่อคนยุคแรกโน้น ยุคแรกก่อนพระพุทธเจ้าน่ะ เขาสังเกตเห็นว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ หน้าที่ของคนของมนุษย์น่ะ แล้วแต่จะเล็งถึงว่าทำนาทำสวน เลี้ยงสัตว์หรือทำอะไรก็ตามแหละ หน้าที่ที่เขาต้องทำอยู่ทุกวันนั่นแหละมันคือหน้าที่ แล้วเขาก็พอสำนึกเห็นว่ามันมีสิ่งที่เป็นอย่างนั้นน่ะ เขาก็เรียกสิ่งนั้นว่าธรรมะ ธรรมะ ยกความหมายของคำว่าธรรมะขึ้นมาในฐานะเป็นสิ่งสูงสุด ดีที่สุด มีเกียรติที่สุด เพราะว่าถ้าปฏิบัติธรรมะหรือหน้าที่แล้วมันรอด มันรอด ข้อสำคัญที่ว่ามันสูงสุดคือมันรอด รอดตายนี่ก็เพราะว่าปฏิบัติหน้าที่ รอดจากความทุกข์ รอดจากปัญหาทุกอย่างๆ สูงขึ้นไปๆ รอดจากไอ้สิ่งที่เป็นความทุกข์และเป็นปัญหาเหล่านั้น มันก็เลยเห็นความจำเป็นของหน้าที่ แล้วก็เห็นคุณค่าที่สูงสุดของหน้าที่ ถึงขนาดที่ว่าถ้าไม่ทำหน้าที่เราต้องตาย ทีนี้เมื่อมองเห็นว่าช่วยให้รอด หน้าที่นี้ช่วยให้รอด หน้าที่ช่วยให้เจริญไปในที่สุด มันก็เลยถือเอาสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่นั่นแหละเป็นสูงสุด เป็นสิ่งสูงสุดเหมือนกับพระเจ้า แม้ว่าคนจะเกิดไอ้ความคิดเรื่องพระเจ้า บัญญัติคำว่าพระเจ้า ก็ไม่มีความหมายยิ่งไปกว่าผู้ช่วยให้รอด ผู้ช่วยให้รอด ทีนี้ผู้ช่วยรอดแท้จริงจะเป็นพระเจ้าซึ่งไม่รู้อยู่ที่ไหนดี หรือว่าจะหมายถึงหน้าที่ที่เรากระทำอยู่อย่างถูกต้องทุกวันดี ในที่สุดก็ต้องเหมา เหมากันหมดเลยว่าจะเป็นหน้าที่ที่ทำอยู่เดี๋ยวนี้ หรือว่าพระเจ้าบนสวรรค์ พระเจ้าที่ไหนก็ไม่รู้ ไอ้สิ่งที่ช่วยให้รอดนั่นแหละเป็นสิ่งสูงสุด เดี๋ยวนี้หน้าที่มันช่วยให้รอด เห็นอยู่ชัดๆ ต่อหน้าต่อตา ก็เลยยกเอาธรรมะหรือคำว่าธรรมะหรือคำว่าหน้าที่นี่เป็นสิ่งสูงสุด แล้วก็เคารพธรรมะในฐานะเป็นสิ่งสูงสุด ทำไมจึงเรียกว่าพระ พระธรรม พระธรรมเกิดเป็นระบบอันหนึ่งขึ้นมาก็เพราะว่าคนบางพวก บางหมู่ บางเหล่าเขาจัดระเบียบคำพูดคำสอนเรื่องหน้าที่ เรื่องพระธรรมนี้ให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ให้ดียิ่งขึ้น ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ให้ประพฤติได้โดยตรงยิ่งขึ้น คำว่าพระธรรม พระธรรมก็สูงสุดขึ้นมา หน้าที่ก็ได้เกียรติสูงเป็นพระธรรมขึ้นมา เคารพพระธรรมกันสืบมาๆ แล้วมันก็ต้องจัดเป็นสิ่งสูงสุดสิ่งหนึ่งใน ๓ สิ่ง พระพุทธเจ้าคือยอดของบุคคลผู้รู้จักหน้าที่อันแท้จริงสูงสุด นี้พระธรรมคือเรื่องหน้าที่แท้จริงและสูงสุด นี้พระสงฆ์ก็คือผู้ปฏิบัติหน้าที่นี้ ได้รับประโยชน์ถึงที่สุด เกิดเป็น ๓ องค์ขึ้นมา พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เรื่องหน้าที่สูงสุดคือหน้าที่สำหรับบรรลุนิพพาน พระธรรมก็คือตัวหน้าที่ ระบบหน้าที่ในรูปของคำพูดก็ได้ ในรูปของการปฏิบัติก็ได้ ในรูปแห่งผลของการปฏิบัติก็ได้ เพราะมันเนื่องกันมันแยกกันไม่ได้ ในเรื่องหลักวิชา ในเรื่องการปฏิบัติ ในเรื่องผลของการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นพระธรรม พระธรรมจึงถูกแยกออกเป็น ๓ อย่างน้อยนะ แยกเป็นอย่างอื่นก็ได้ มากกว่า ๓ ก็ได้ แต่ที่เราเห็นๆกันอยู่ทั่วไปนี่ก็คือว่าปริยัติ พระธรรมที่อยู่ในรูปของคำพูดของวิชชา และปฏิบัติพระธรรมที่อยู่ในรูปของการปฏิบัติอยู่ที่กาย วาจา ใจ แล้วก็ปฏิเวธคือพระธรรมที่อยู่ในรูปแห่งผลของการปฏิบัติ ได้รู้สึกอยู่เป็นสุขอยู่ พระธรรมก็เป็นระบบใหญ่ เข้มแข็ง กว้างขวาง แน่นแฟ้น จนถึงกับเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา ผู้ปฏิบัติทำอย่างไรก็จะทำให้ได้รับผลอย่างนั้น ปฏิบัติอย่างพระพุทธเจ้าก็เป็นพระพุทธเจ้า ปฏิบัติอย่างเป็นพระอรหันต์ก็ได้เป็นพระอรหันต์ ลดลงมาเท่าไรก็ได้เป็นอย่างนั้น กระทั่งว่าปฏิบัติอย่างโจร ก็ได้เป็นอย่างโจร ปฏิบัติอย่างอันธพาลอย่างไรมันก็ได้เป็นอย่างนั้น นี่ปฏิบัติธรรมะอย่างไรหรือปฏิบัติหน้าที่อย่างไรก็ได้เป็นอย่างนั้น
ทางการเมืองเขาก็แยกไปตามหน้าที่ๆ ถ้าเอาแต่สูงขึ้นมาก็ว่าพวกกษัตริย์คือพวกปกครอง พวกเจ้าไอ้ชนชั้นปกครอง เจ้าหน้าที่ปกครองอะไรนี่ก็เรียกว่าพวกวรรณะกษัตริย์ พวกที่มีความรู้สั่งสอนเป็นครูบาอาจารย์นี่ก็เรียกว่าวรรณะพราหมณ์ พวกที่ทำมาหากินด้วยตนเอง เป็นอิสระ แน่นแฟ้นมั่นคงนี้ก็เรียกว่าวรรณะไวศยะหรือแพศย์ ทีนี้พวกลูกจ้างกรรมกร คนชั้นต่ำ ชั้นต่ำสุดนี่ก็เรียกว่าศูทร มันก็เพราะหน้าที่การงานนั่นแหละมันแบ่งให้ แล้วเขาก็ถือกันเป็นวรรณะขึ้นมา แต่มันถือหนักไป พลาดไปหน่อย ถือเป็นว่าถ้าได้กำเนิดมาจากวรรณะใดก็จะเป็นวรรณะนั้นอยู่เรื่อยไป อันนี้มันไม่ถูก เพราะว่าเกิดจากวรรณะใดมันก็ต้องประพฤติธรรมะของวรรณะนั้น จึงจะเป็นผู้อยู่ในวรรณะนั้น นี่มันสำเร็จอยู่ที่ธรรมะที่เขาปฏิบัตินั่นเอง ธรรมะที่เขาปฏิบัตินั่นเองเป็นเหตุให้เขาได้ชื่อว่าอย่างไร นี่พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นท่านก็บอกเลิกวรรณะโดยชาติโดยกำเนิด จะเอากันตามชาติตามกำเนิดนั้นไม่ถูก ต้องเอากันตามธรรมะที่ปฏิบัติ เขาปฏิบัติธรรมะในลักษณะอย่างไรก็เรียกว่าเขาตั้งอยู่ในวรรณะนั้น ถ้าเขาปฏิบัติถูก ก็เป็นการปฏิบัติถูกด้วยกันทั้งนั้น ก็เลยว่าวรรณะไหนก็ตามถ้าปฏิบัติถูกต้องสำหรับจะดับทุกข์แล้วก็ดับทุกข์ได้เสมอกัน คนพวกอื่นนั้นเขาก็ไปตามวรรณะ ไอ้วรรณะต่ำๆนั่นบรรลุนิพพานไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านว่าเป็นมนุษย์เสมอกัน เราบัญญัติโลกุตรธรรมว่าสำหรับมนุษย์เสมอกัน มนุษย์มันจะอยู่ในวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทรอะไรก็ตามใจ ถ้าประพฤติธรรมะถูกต้องในเรื่องของการดับกิเลสน่ะโดยเฉพาะมัชฌิมาปฏิปทา หรือว่าอริยอัฏฐังคิกมัคค์ที่กล่าวแล้วตั้ง เมื่อตอนเย็นนั่นน่ะ แล้วก็ไปในทางสูง บรรลุธรรมะในทางสูง จนกระทั่งว่าเป็นพระอรหันต์ได้ด้วยกันทั้งนั้นแหละ คือบรรลุนิพพานได้ด้วยกันทั้งนั้น นี่ธรรมะ ธรรมะมันซื่อตรงอย่างนี้ มันยุติธรรมอย่างนี้ มันเฉียบขาดอย่างนี้ ใครประพฤติธรรมะอย่างไรมันก็ได้เป็นอย่างนั้น ประพฤติธรรมะสำหรับจะตกนรกก็ได้ตกนรก ประพฤติธรรมะสำหรับจะขึ้นสวรรค์ก็ได้ขึ้นสวรรค์ ประพฤติธรรมะสำหรับจะบรรลุพระนิพพานก็ได้บรรลุพระนิพพาน เสมอกันอย่างนี้ นี่คือหลักธรรมะในพระพุทธศาสนาเรานี่ ทีนี้ในลัทธิอื่นในศาสนาอื่นเขาไม่สอนอย่างนี้ เขาไม่บัญญัติอย่างนี้ บัญญัติจนเป็นว่าวรรณะตายตัวไปตามชาติกำเนิด แล้วก็ไม่มีทางที่จะบรรลุคุณสมบัติอะไรให้ยิ่งขึ้นไปได้ เช่นว่าวรรณะศูทรอย่างนี้ถูกปรับให้เป็นวรรณะต่ำตลอดกาลอยู่อย่างนั้นเอง นี่มันผิดหลักธรรมะ ตามหลักธรรมะประพฤติอย่างไรก็จะได้เป็นอย่างนั้น มันเพียงแต่ว่าถ้าคนในวรรณะต่ำวรรณะศูทรเป็นต้นนี่มันไม่มีโอกาสจะได้ศึกษา ไม่ได้มีโอกาสจะมาพบกันเข้ากับธรรมะที่เป็นชั้นสูงก็เลยตกต่ำอยู่อย่างนั้นเอง แต่ถ้าว่าคนวรรณะศูทรได้มาศึกษาเหมือนกันมันก็ได้รับผลเหมือนกัน นั่นในปัจจุบันในประเทศอินเดียนี่ คนวรรณะศูทรก็กลายเป็นครูบาอาจารย์ กระทั่งเป็นรัฐมนตรีก็มี คนวรรณะศูทรในอินเดียสมัยปัจจุบันนี้ ก็เมื่อเขาประพฤติปฏิบัติธรรมะถูกต้องตรงตามระบบไหนมันก็ควรจะได้ผลตามนั้น นี่จึงเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าท่านได้วางหลักไว้ถูกต้องและยุติธรรม เอาธรรมะที่ปฏิบัตินั่นแหละเป็นหลัก อย่าเอาชาติกำเนิดจากท้องมารดาว่ามารดาบิดาเป็นอะไร แล้วก็จะเป็นอย่างนั้นกันเสียเรื่อย นั้นมันไม่เป็นไปตามธรรม มันไม่เป็นไปตามกฎของธรรม เช่น อิทัปปัจจยตา เป็นต้น
นี่ที่พูดมาทั้งนี้ก็เพื่อจะให้เห็นว่าธรรมะเป็นสิ่งสูงสุด ธรรมะให้คนเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่เขาจะปฏิบัติธรรมะอะไร เขาจะปฏิบัติธรรมะสำหรับเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้เป็นสัตว์เดรัจฉานในร่างคนนี่แหละ เขาจะปฏิบัติให้เป็นโจร เป็นอันธพาลมันก็ได้เป็นโจรในร่างอย่างนี้ หรือจะปฏิบัติให้เป็นเทวดาก็ได้เป็นเทวดาในร่างอย่างนี้แหละ แล้วแต่ว่าเขาปฏิบัติชั้นไหน ประพฤติเพื่อความสมบูรณ์ด้วยกามารมณ์นี้ก็เป็นเทวดา ประพฤติสมบูรณ์ด้วยความสุขเกิดจากสมาธิสมาบัตินี่ก็ได้เป็นพรหม เป็นรูปพรหมบ้าง เป็นอรูปพรหมบ้าง แต่เขาอธิบายกันว่าอยู่เป็นโลกๆ อยู่ต่างหาก นั่นเขาพูดอย่างนั้นก็ตามใจเขา เราพูดตามหลักของพุทธศาสนาว่าถ้าได้ทำกิจให้เป็นอย่างไรแล้วก็ได้เป็นอย่างนั้น แล้วก็ที่นั้นเอง ฉะนั้นใครลองมีจิตลุ่มหลงมัวเมาในกามารมณ์ก็เป็นพวกเทวดา ใครมีจิตพอใจลุ่มหลงในเรื่องของฌานของสมาบัติก็ได้เป็นพรหม ถ้าใครมีจิตอยู่เหนือนั่นเหนือทั้งหมดเลย ไม่มีตัวตนสำหรับจะเป็นอะไร จิตหลุดพ้นจากความหมายแห่งความเป็นอย่างนั้นความเป็นอย่างนี้ที่เรียกว่าภพ เป็นภพเป็นภูมิเหล่านั้นเสียแล้ว ไม่มีภพไม่มีภูมิ เขาก็ถึงซึ่งพระนิพพานคือความว่างจากความเป็นอะไร ไม่ต้องเป็นอะไร นี่คือธรรมะ ดังนั้นธรรมะต่ำๆ ก็คือหน้าที่ต่ำๆ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่ของชาวนาทำนา หน้าที่ของชาวสวนทำสวน คนค้าขายก็ค้าขาย ทำราชการก็ทำราชการ เป็นกรรมกรก็เป็นกรรมกร กรรมกรมีหลายๆแบบเต็มที จะเป็นกวาดถนน ถีบสามล้อ แจวเรือจ้าง ล้างคูสกปรกอะไรก็เรียกว่ามันก็เป็นหน้าที่ทั้งนั้นแหละ มันเป็นธรรมะของคนชนิดนั้นประเภทนั้น เป็นธรรมะในระดับนั้น แต่ก็ยังเป็นธรรมะอยู่ดีถ้ามันยังเป็นหน้าที่ที่ช่วยให้รอดได้แล้วก็เป็นธรรมะอยู่ดี กระทั่งว่ามันได้เป็นคนขอทาน นั่งขอทานอยู่อย่างดีอย่างถูกต้องมันก็มีธรรมะของคนขอทาน ไอ้ขอทานที่มีธรรมะของคนขอทานนี่ไม่เท่าไรมันก็พ้นจากความเป็นคนขอทานแหละ ธรรมะของคนขอทานก็จะช่วยให้ไอ้คนขอทานพ้นจากความเป็นคนขอทาน นี่ธรรมะช่วยทุกธรรมะเลย ไม่ว่าจะเป็นธรรมะของใคร ระดับไหน ชั้นไหน นี่ธรรมะเป็นสิ่งสูงสุดช่วยอย่างนี้ พอดูที่ตัวธรรมะไปจริงๆ อ้าว, มันตัวหน้าที่ หน้าที่นั่นเอง หน้าที่ๆ หน้าที่ของชาวนาของชาวสวน ของพ่อค้า ของข้าราชการ ของกรรมกรกระทั่งขอทาน กระทั่งสูง ไปทางสูงก็เป็นหน้าที่ของเทวดา เป็นหน้าที่ของราชามหากษัตริย์ เป็นจักรพรรดิ เป็นเทวดาเป็นพรหม เป็นอะไรไปสุด สุดแห่งพรหม ภวัคคพรหม ไอ้พรหมชั้นสุดท้ายนั่นก็เรียกว่าภวัคคพรหม นี่ลองไล่ดูใหม่ตั้งแต่ขอทานนี่ ขอทาน แล้วเป็นกรรมกร แล้วก็เป็นข้าราชการ เป็นพลเรือน เป็นพ่อค้า เป็นชาวสวนเป็นชาวนา นี่ถ้าว่าเป็นไอ้ข้าราชการนี่ก็เรื่อยขึ้นไปจนถึงข้าราชการชั้นสูง มีหน้าที่ในทางปกครอง เป็นราชามหากษัตริย์ เป็นมหาจักรพรรดิ ถ้าเดินไปอีกทางหนึ่งก็เป็นเทวดา เทวดาอยู่ในสวรรค์ชั้นกามาวจร ก็ลุ่มหลงอยู่ในกามารมณ์ เป็นเทวดาชั้นพรหมก็ลุ่มหลงอยู่ด้วยความสุขที่เกิดมาแต่สมาบัติ นี่ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่มีอย่างไร ไปปฏิบัติเข้าก็จะได้รับผลเป็นอย่างนั้นแล้วก็ได้เป็นอย่างนั้น นี่ธรรมะคือหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ เราเป็นอุบาสกเป็นอุบาสิกา ลองทำ ก็ต้องทำหน้าที่ของอุบาสกอุบาสิกาจึงได้เป็นอุบาสกเป็นอุบาสิกา จะเป็นภิกษุสามเณรต้องทำหน้าที่ของภิกษุสามเณร หรือว่าจะแจกให้มันละเอียดลงไปมีหน้าที่เป็นไอ้เด็กวัด เป็นภารโรง เป็นคนกวาดขยะ เป็นคนถากหญ้า เป็นคนอะไรแล้วแต่มันก็เป็นธรรมะหรือหน้าที่อย่างหนึ่ง หน้าที่อย่างหนึ่ง หน้าที่อย่างหนึ่งของเขาๆ ธรรมะคือหน้าที่ ปฏิบัติแล้วก็จะได้ผลตามลักษณะหรือตามความหมายแท้จริงของหน้าที่อันนั้น เขาก็ เขาต้องปฏิบัติหน้าที่อันนั้นเขาจึงจะได้รับผลอย่างนั้น เป็นอันว่าธรรมะนั้นคือหน้าที่ แล้วก็เป็นสิ่ง หน้าที่นี่เป็นสิ่งสูงสุดคือจะช่วยให้เขารอดหรือให้เขาได้ตามประสงค์ แต่ในที่นี้เราจะ จะจำกัดเอาเฉพาะหน้าที่ที่ถูกต้อง ไอ้หน้าที่ที่ไม่ถูกต้อง เช่นเป็นโจร เป็นขโมย ฉกชิงวิ่งราว หน้าที่อย่างนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ใช่หน้าที่ที่กำลังพูดถึงนี้ ต้องถูกต้อง หน้าที่ที่ถูกต้องจึงจะเป็นหน้าที่ชนิดที่เรียกว่าธรรมะ คือช่วยผู้นั้นให้รอดได้ ส่วนหน้าที่ที่ไม่ถูกต้อง เช่นหน้าที่เป็นโจรเป็นขโมย เป็นต้นนี้มันไม่ถูกต้อง มันก็ไม่มีประโยชน์แก่ใคร แล้วในที่สุดผู้ทำหน้าที่นั้นจะต้องไปอยู่ในคุกในตาราง ไปตกนรกหมกไหม้อย่างนี้ หน้าที่อย่างนี้ไม่ถูกต้อง ดังนั้นเราทุกคนจงพิจารณาหน้าที่ของตนๆให้มันเป็นหน้าที่ที่ถูกต้อง คือมีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่เป็นโทษแก่ทุกฝ่าย มีประโยชน์แก่ทุกฝ่ายนี่เรียกว่าถูกต้อง ช่วยจำกันไว้ดีๆสำหรับคำว่าถูกต้อง ถูกต้องนี่มันก็คือไม่เป็นอันตรายแก่ฝ่ายใด แล้วก็เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ถึงมันจะต่างกันก็เพียงว่ามันต่ำหรือสูง หรือต่ำหรือกลาง หรือสูงหรือสูงที่สุด ต่ำที่สุด แล้วก็ต่ำหรือว่ากลางๆ แล้วก็สูง แล้วก็สูงที่สุด หน้าที่ทั้งหมดนั้นต้องถูกต้อง เมื่อถูกต้องแล้วจะช่วย ช่วยได้ ช่วยตนเองช่วยผู้อื่นได้ นี่เรียกว่าหน้าที่ นี่คือตัวธรรมะ คือตัวพระธรรม
ทีนี้เราจะหวังพระธรรมซึ่งไม่รู้อยู่ที่ไหน พระธรรมในคัมภีร์ พระธรรมในสมุดในกระดาษ พระธรรมที่เป็นเสียงสวดร้องท่องบ่น หรือพระธรรมอะไรก็ไม่รู้ มันก็เลยไม่ได้ผลของพระธรรม ซึ่งได้แก่หน้าที่ ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ให้ตรงตามเรื่องที่ควรจะต้องการ เช่นว่าจะดับกิเลสดับทุกข์ บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ต้องทำหน้าที่อันนี้ พระธรรมอันนี้ หน้าที่อันนี้ พระธรรมอันนี้ หน้าที่อันนี้ คือที่มันจะดับทุกข์ได้ ดับกิเลสได้สูงยิ่งๆขึ้นไป ธรรมะจึงมาอยู่ที่หน้าที่นะ อยู่ที่การทำหน้าที่นะ ไม่ได้อยู่ที่พระคัมภีร์ ไม่ได้อยู่ที่เสียงสวดร้องท่องบ่น ไม่ได้อยู่ที่จารึกที่นั่นที่นี่ หรือแม้กระทั่งว่าจารึกเอามาแขวนคอไว้มันก็ไม่เป็นธรรมะที่ช่วยได้ มันต้องเป็นธรรมที่เป็นหน้าที่ที่ปฏิบัติแล้วก็รอดตามสมควรแก่หน้าที่นั้น ไอ้คำว่ารอดๆ รอดนี่คือว่ามันเป็นความหมายที่สำคัญที่สุดใน สำหรับทุกคนแหละ ทุกคนต้องรอด รอดจากตาย รอดจากไอ้ภาวะเลวร้ายที่ตนไม่ปรารถนา แล้วก็เรียกว่ารอด ทุกศาสนาสอนเรื่องความรอด นี่ไปดูเถอะว่าทุกๆศาสนาจะมีคำว่าความรอดตามแบบของศาสนานั้นๆ แล้วเราก็ไม่ต้องทะเลาะกันเพราะเหตุนี้ เพราะขึ้นชื่อว่าความรอดแล้วมันจะต้องดีทั้งนั้น แม้แต่รอดชั่วคราวก็ยัง ยังดีกว่าไม่รอดเสียเลย แม้ว่าจะรอดอย่างที่เรียกว่ากลบเกลื่อนเอาไว้ อะไรเอาไว้อย่างนี้ก็ยังดีกว่าที่ไม่รอดเสียเลยนะ เพราะถ้าไม่รอดเสียเลยเราก็ตายนะ ทีนี้ถ้าว่ามันมีรอดได้มันก็ดีแหละ ดีกว่าไม่รอด แต่ทีนี้มันรอดที่ถูกต้อง เป็นความรอดที่ถูกต้อง มันก็ไปอย่างถูกต้อง สูงขึ้นไปอย่างถูกต้องจนบรรลุนิพพาน หน้าที่ หน้าที่ ดังนั้นขอให้มองดูพระธรรมที่หน้าที่ แล้วก็มองดูพระที่ หน้าที่ให้เห็นเป็นพระธรรม นั่นแหละคือธรรมะแหละ ไอ้หน้าที่ที่เราทำอยู่นั่นแหละคือธรรมะ ถ้าอยากรู้ว่าธรรมะอยู่ที่ไหนก็ต้องดูที่หน้าที่ที่เรากระทำอยู่อย่างไร ระดับไหน ธรรมะนี้จะช่วย คือไอ้หน้าที่ที่เราประพฤติกระทำนั่นแหละมันจะช่วย ฉะนั้นขอให้มองพระธรรมที่หน้าที่ มองพระธรรมว่าเป็นหน้าที่ที่ช่วยให้สัตว์รอด ให้สัตว์ที่มีชีวิตมันรอด อย่าเอาพระธรรมไปไว้ที่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็เลิกกัน พูดแต่ว่าพระธรรมเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็เลิกกัน ก็เลิกกันเหมือนที่กำลังเลิก เลิกอยู่บัดนี้ บางทีก็มาสวดร้องบ้าง ทั้งที่ไม่รู้ความหมาย ทั้งที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ตรงตามความหมายที่มีอยู่ในถ้อยคำเหล่านั้น ที่จริงไอ้เรื่องถ้อยคำเหล่านั้นก็เป็นพระธรรมในส่วนที่เป็นไอ้คำพูดสำหรับสอนสำหรับบอก คือเท่านั้นมันไม่พอ มันต้องขึ้นมาถึงปฏิบัติตามหลักเหล่านั้น ตามเกณฑ์เหล่านั้น แล้วก็เป็นหน้าที่ขึ้นมาจริงๆ มันก็ช่วยให้รอด ดังนั้นจึงอยากจะบอกว่าธรรมะนั้นแหละคือหน้าที่ หน้าที่คือสิ่งที่จะช่วยให้รอด เมื่อช่วยให้รอดๆ รอดถึงที่สุดก็คือพระเจ้านั่นเอง พระเจ้าพระเป็นเจ้าที่แท้จริงก็คือสิ่งที่ช่วยให้เรารอดในระดับสูงสุด แล้วก็ไม่อยู่ที่ไหนมันอยู่ที่หน้าที่ที่เรากระทำ ที่เราประพฤติกระทำให้ถูกต้องๆ ถูกต้องยิ่งขึ้นไป ถูกต้องยิ่งขึ้นไป จนได้รับความรอดถึงที่สุด นี่ธรรมะอยู่ที่นี่
นี่ขอเวลาอธิบายยืดยาวหน่อย อย่าเพิ่งรำคาญ เพราะว่าเราจะมีธรรมะเป็นชีวิต เพราะว่าเราจะมีชีวิตเป็นธรรมะ จะมีธรรมะเป็นชีวิต ดังนั้นเราจะต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้นให้ถูกต้องและเพียงพอ แล้วจะได้เอามาเป็นตัวชีวิต อยู่กับชีวิต ธรรมะคือชีวิต ชีวิตคือธรรมะได้ในที่สุด มันก็จะเรียกตัวเองว่าเป็นธรรมะชีวี ผู้มีชีวิตเป็นธรรมะ ขอชักชวนทุกคนแหละจะเอาหรือไม่เอาก็ตามใจ แต่ขอชักชวนทุกคนเลยว่าจงบำเพ็ญตนให้เป็นธรรมะชีวี มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต ตั้งแต่เด็กๆขึ้นไปเลย ตั้งแต่เป็นเด็กเป็นยุวชนอายุน้อยให้ระวังให้ดี ให้ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง จนมันช่วยได้ ถ้าเรายังเป็นเด็ก ไอ้การศึกษาเล่าเรียนนั่นแหละเป็นหน้าที่ การปฏิบัติตามคำสั่งสอนของผู้ใหญ่ บิดามารดา ครูบาอาจารย์นั่นแหละหน้าที่ นั่นแหละทำให้ดีที่สุดเถิดมันจะช่วย แล้วก็ช่วยๆจนกลายเป็นพระเจ้า ช่วยสุดเลย ช่วยถึงที่สุดสูงสุดเลย ให้จับตัวพระธรรม จับตัวพระธรรมให้ได้ให้ถูกต้องคือจับที่หน้าที่ อย่าให้เป็นลมๆแล้งๆ เป็นคำสวดร้องท่องบ่น แล้วก็ไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร หรืออยู่ที่ไหน อย่างนี้ไม่สำเร็จประโยชน์แน่ จะสำเร็จประโยชน์ก็คือว่า เราจะต้องศึกษาเล่าเรียนเพื่อรู้จักหน้าที่แล้วก็ทำหน้าที่ ไอ้การศึกษาเล่าเรียนก็กลายเป็นหน้าที่ไปด้วย แม้แต่ว่าจะศึกษาตั้งแต่เป็นทารกนอนในเบาะ ศึกษามา ศึกษามาจนกระทั่งว่ามันจะนั่งได้ เดินได้ วิ่งได้ กระทำหน้าที่การงานอย่างนั้นอย่างนี้ได้ก็ล้วนแต่ต้องศึกษาทั้งนั้น ถ้าเด็กๆมันไม่ศึกษาเพื่อจะลุกนั่งได้มันก็นอน นอนแบจนตายอย่างนั้น ถ้ามันไม่ศึกษาเพื่อจะยืนได้มันก็ยืนไม่ได้ ถ้าเด็กทารกมันไม่ศึกษาเพื่อจะเดินๆ มันก็เดินไม่ได้ มันก็นอนตาย จึงต้องศึกษาๆ ศึกษามาตามลำดับจนทำอะไรได้ทุกอย่างที่มนุษย์เขาจะทำได้ นี่มันเรียกมันรอดตาย แล้วมันสามารถทำอะไรที่ให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป เป็นชีวิตที่เจริญแล้วไม่หยุดอยู่เพียงแค่ว่าไม่ตาย หน้าที่มีอยู่ ๒ ชั้นแหละคือหน้าที่เพื่อไม่ให้ตายนี่อย่างหนึ่ง ถ้าไม่ตายแล้วก็มีหน้าที่เพื่อให้เจริญยิ่งขึ้นไปกว่าจะถึงที่สุดนี่อีกชั้นหนึ่ง ก็ลองพิจารณาดูว่าเดี๋ยวนี้เรามันอยู่ในหน้าที่ชั้นไหน มันเพียงแต่ว่าไม่ตายเท่านั้นกระมัง เพียงแต่ว่าไม่ตายรอดตาย มันไม่รอดจากความบีบคั้นของกิเลสของความทุกข์ ยังมีความทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ นี้ก็เรียกว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่สมบูรณ์ เราปฏิบัติหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ควรจะปรับปรุงขยับขยายต่อไปๆให้สมบูรณ์ เป็นเด็กๆก็เรียนวิชาสำหรับเด็กๆให้จบ แล้วสูงขึ้นมาก็เรียนให้จบ สูงขึ้นมาก็เรียนให้จบ พอถึงเวลาที่จะทำหน้าที่การงานก็ทำให้จบ ทำให้ดี ทำให้ถึงที่สุด ทั้งหมดนั้นเป็นธรรมะ สามารถจะมีธรรมะตั้งแต่คลอด ออกมาจากท้องแม่ ถ้าได้รับความช่วยเหลือจากผู้คลอดหรือผู้เลี้ยงสักหน่อยนะ เด็กๆก็จะมีธรรมะขึ้นมา ตั้งแต่แรกคลอดออกมา แล้วก็มีธรรมะเพิ่มขึ้นๆ เพิ่มขึ้นๆ เพิ่มขึ้นจนถึงธรรมะสูงสุด ดับทุกข์ได้ บรรลุมรรคผลนิพพานได้ มีธรรมะตลอดชีวิต มันจึงเป็นอย่างนี้ นี้ก็เรียกว่ามีธรรมะเป็นชีวิต ธรรมะเป็นเครื่องช่วยไอ้ค้ำชูชีวิตอยู่แล้วโดยธรรมชาติ อยู่แล้วโดยธรรมชาติ เป็นธรรมะชีวีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ หากแต่ว่ามันยังไม่พอ เท่านั้นมันไม่พอ มันจะทำได้มากกว่านั้น ฉะนั้นเราจึงมาพิจารณากันใหม่คือให้มีธรรมะมากกว่านั้น อย่าให้มีธรรมะเพียงที่ขนบธรรมเนียมประเพณีมันให้มีนั้นมันไม่พอ จะต้องศึกษาให้ครบถ้วน แล้วประพฤติ เอามาประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องให้เพียงพอ ไอ้ความมีธรรมะในชีวิตก็จะมากขึ้น คือเป็นธรรมะชีวีมากขึ้นๆยิ่งกว่าที่จะเป็นมาตามธรรมชาติ เราพูดได้เลยว่าทุกอย่างที่เป็นมาตามธรรมชาตินั่นมันเพียงชั้นต่ำ หรือให้รอดในชั้นต่ำ มันไม่พอ ต้องให้สูงไปกว่านั้น ให้สูงไปกว่าที่เป็นเพียงธรรมชาติ เช่นเราทำอะไรได้ตามธรรมชาติ เราก็ต้องทำให้มันมากกว่านั้น เช่นว่าเรามีสติตามธรรมชาติไม่พอ สติตามธรรมชาตินี้ยังไม่พอที่จะคุ้มครองผัสสะอายตนะ ก็เลยเป็นทุกข์ เราก็เลยฝึกๆ ฝึกสตินี่ให้มากกว่าธรรมชาติ ให้มากกว่าที่มันมีตามธรรมชาติ แล้วเราก็จะได้รับผลมากกว่าที่จะปล่อยไปตามธรรมชาติ หรือว่าสมาธิ สมาธินี่คนเราก็มีกันทั้งนั้นแหละ มีมาตามธรรมชาติแต่มันไม่พอ เรามีสติ สมาธิตามธรรมชาตินี่เราจึงดำรงชีวิตมาได้ ทรงตัวให้เดินตรงได้ เดินไม่ชนเสา หรือว่าจะไม่หลงไม่ลืม หรือว่าจะคิดนึกอะไรให้ลึกซึ้งอะไรนี่ก็ทำได้ เท่าที่ธรรมชาติให้มานั้นมันคล้ายๆกับว่ามันเท่าที่จำเป็น เช่นว่าเรามีความจำ จำอะไรได้ตามธรรมชาติ มันก็เท่านั้นแหละ มันเพียงแต่ไม่เกิดปัญหาในชั้นนั้น แต่มันไม่พอที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าในชั้นนู้น เราก็เลยมาฝึกความจำให้มันยิ่งๆขึ้นไปก็จำอะไรได้มากกว่า เรามีสมาธิเช่นว่าเราจะยิงปืน จะขว้างก้อนอิฐหรือว่าจะโยนไอ้เบี้ยลงหลุมให้ลงหลุม สมาธิตามธรรมชาติมันก็มีพอที่จะทำได้บ้าง มันไม่พอมันก็ฝึกเข้าๆ มันก็ทำได้มากกว่าจนเรียกว่าสำเร็จประโยชน์แหละตามที่ควรจะได้ หรือว่าแม้แต่สำเร็จประโยชน์ไปเพียงแสดงให้คนดู เก็บเงินได้ เลี้ยงชีวิตอย่างนี้ นี่คือเท่าที่มีอยู่ตามธรรมชาติยังไม่พอ ก็ฝึกให้มากไปกว่าธรรมชาติ ความดี ความงาม ความถูกต้อง ความเป็นธรรมอะไรก็ตามเท่าที่รู้สึกกันโดยธรรมชาตินั้นยังไม่พอ ต้องศึกษาให้มากกว่านั้น เรียกว่าปฏิบัติให้มากให้จริงจนมีธรรมะเหล่านั้นจริง นี่ก็มีธรรมะมากขึ้น คือความเป็นธรรมะชีวีก็จะมีมากขึ้น มีมากขึ้น เป็นธรรมะชีวีมากขึ้น แล้วจะเป็นอย่างไร มันก็จะใกล้เข้าไปในสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นั่นแหละ เป็นมนุษย์นี่มันก็ต้องให้สูงกว่าสัตว์เดรัจฉานอยู่แล้ว ในเมื่อมนุษย์นี่มันจะไปได้ถึงไหน ไปได้ไกลถึงไหนก็ขอให้ได้ไปได้ไกลจนถึงนั้น เช่นว่าดับทุกข์สิ้นเชิงเป็นพระนิพพาน ก็คล้ายๆกับว่ามันเป็นสิ่งที่ธรรมชาติจัดไว้ให้สำหรับมนุษย์ที่เก่งกล้าสามารถที่สุดไปถึงได้ ทีนี้ไอ้มนุษย์ส่วนมากมันไม่สนใจ มันไม่ มันไม่รู้ค่า มันไม่ต้องการ มันก็ตายเปล่า เกิดมาทีหนึ่งมันก็ไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ทีนี้ถ้าเรามาสนใจธรรมะก็ต้องสนใจหน้าที่ สนใจหน้าที่ก็คือธรรมะ ก็ปรับปรุงหน้าที่คือปรับปรุงธรรมะ ปฏิบัติหน้าที่คือปฏิบัติธรรมะให้สูงขึ้นไปๆ แล้วก็มีหวังที่ว่าจะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้ นี่ขอให้ ขอให้จำ ขอให้เข้าใจ ขอให้จำได้ ขอให้จำไว้สำหรับจะไปปรับปรุงกันจริงๆ ไม่ใช่ว่าเราจะคิดว่าของใครก็ของใคร ของใครก็ของมัน เราจะคิดว่าของเพื่อนมนุษย์ทุกคนที่เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน นี่จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และก็มีประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ที่ช่วยเหลือและทั้งผู้ที่ถูกช่วยเหลือก็จะได้รับประโยชน์ด้วยดีกันทั้งสองฝ่าย นี่ก็คือเป็นธรรมะ เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือจะต้องช่วยกันให้ดีด้วยกัน ให้รอดด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าว่าคิดเอาแต่รอดของตัวเองมันก็ถูกครึ่งเดียว มันทำหน้าที่ครึ่งเดียว ถูกต้องครึ่งเดียว ถ้าทำความรอดตัวเองด้วยแล้วก็ช่วยเหลือผู้อื่นให้รอดด้วยมันก็ถูกต้องทั้งสองฝ่ายนี่ จะถึงความเต็มเปี่ยมแห่งหน้าที่ได้เร็วเข้า
เอาแหละคงจะเข้าใจกันได้เพียงพอแล้วว่าธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ปฏิบัติหน้าที่คือปฏิบัติธรรมะ เมื่ออยากจะมีธรรมะสูงก็ปฏิบัติหน้าที่ให้มันสูงขึ้นไป แล้วรับเอามาเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติอยู่กับเนื้อกับตัว อย่าให้ธรรมะอยู่เหนือเฉพาะพระไตรปิฎก แล้วเก็บไว้อยู่วัด อย่างนั้นไม่ ไม่ช่วยอะไรได้ ธรรมะนั้นจะต้องอยู่ที่เนื้อที่ตัวของเรา อยู่ที่กาย ที่วาจา ที่ใจของเราให้มันถูกต้อง มีความประพฤติทางกาย ทางวาจา ทางจิต ทางใจ ทางไอ้ความคิดความเห็นอะไรถูกต้องหมดนี่ ยังมีธรรมะอยู่กับเรา อยู่กับเนื้อกับตัวของเรา ชีวิตอยู่ที่ไหนธรรมะอยู่ที่นั่น นี่จึงจะเรียกว่าเป็นธรรมะชีวี เดี๋ยวนี้เอาธรรมะไว้ที่วัด ตัวเองอยู่ที่บ้าน แล้วก็เล่นตลกกับธรรมะไปทำไอ้สิ่งที่ไม่ควรจะทำ มันก็ผิดหมดแหละ คือมันๆ มันไม่ทำหน้าที่ที่ควรจะทำ ไปทำหน้าที่ที่ไม่ควรจะทำ แล้วมันก็เป็นอันตราย มันก็เสื่อมทรุดลงไปจนวินาศในที่สุด เพราะไม่มีธรรมะเป็นชีวิต ดังนั้นขอให้สรุปความว่าเราจะประพฤติหน้าที่ ประพฤติหน้าที่หรือธรรมะก็ตาม แล้วแต่จะเรียกนี่ให้เต็มที่คือให้สมบูรณ์ แล้วเราก็ แล้วต่อไปเราก็จะเลื่อนจะขยับไอ้สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่หรือธรรมะนั้นให้มันสูงขึ้นไป เมื่อรับเอาสิ่งใดระดับใดมาเป็นหน้าที่ แล้วก็ปฏิบัติให้สุดความสามารถ แล้วก็เลื่อนระดับของหน้าที่นั้นให้สูงขึ้นไป แล้วก็ระดับ แล้วก็ประพฤติปฏิบัติให้เต็มที่ตามระดับที่เราเลื่อนขึ้นไปใหม่ อย่างนี้ก็คือเลื่อนขึ้นไปๆ สูงขึ้นไปๆ ไปสู่จุดหมายปลายทางคือสูงสุดเหนือโลก เหนือโลก คำว่าเหนือโลกนี้ก็ๆ ก็เป็นคำที่ควรจะเข้าใจด้วยเหมือนกัน คนโง่หรือเด็กๆมันก็จะคิดว่าเหนือโลกๆก็ขึ้นไปบนฟ้า เหนือโลกก็ขึ้นไปบนฟ้า ขึ้นไปบนฟ้า ในที่สุดก็ไม่พบอะไร ไม่มีอะไรที่อยู่เหนือฟ้า เหนือฟ้าก็ยังมีฟ้าอยู่นั่นเองมันไม่มีอะไร คำว่าเหนือโลกนั่นไม่ได้หมายความอย่างนั้น หมายความว่าในโลกนี้ ในโลกมนุษย์ ในหมู่มนุษย์ที่อยู่กันอย่างนี้แหละ อะไรเป็นธรรมชาติเป็นธรรมดาประจำอยู่ในโลกนี้นั้นน่ะมันไม่ดีกี่มากน้อยหรอก มันไม่พ้นจากทุกข์ได้ ถ้าอยู่อย่างชาวโลกธรรมดามันไม่พ้นจากทุกข์ได้ มันจมอยู่ในกองทุกข์ในกิเลสอันนี้ ก็เลื่อนขึ้นไปให้สูง จิตใจจะไม่จมอยู่ในไอ้ความทุกข์หรือกิเลส ไอ้สิ่งใดที่มันมีอยู่ในโลกสำหรับทำให้คนเราติดอยู่ในโลก ติดแน่นอยู่ในโลก ก็เลื่อนขึ้นไปเสียให้พ้นจากสิ่งนั้น ในโลกนี้มีแต่ ๒ อย่างคือดีกับชั่ว พูดกันง่ายๆ ดีกับชั่ว ถ้ามันไม่ดีไม่ชั่วก็ไม่มีปัญหานี่ ที่มาหลงอยู่ในความดีความชั่วจนเกิดปัญหา จนเกิดความทุกข์ได้ทั้งจากความดีและความชั่ว ต่อความชั่วก็ปฏิบัติไม่ถูกต้องเกิดความทุกข์จากความชั่ว ต่อความดีก็ปฏิบัติไม่ถูกต้องจนเกิดความทุกข์จากความดี เหมือนที่มันฆ่าตัวมันเองตายเพราะมันหลงในความดี เข้าใจผิดต่อสิ่งที่เรียกว่าความดีก็เลยเป็นทุกข์ มันออกมาได้ทั้งจากความชั่วและความดี เรียกว่าในโลกมีปัญหาอย่างนี้ ทีนี้เราขึ้นไปเสียให้พ้นนั้น อย่าให้ความชั่วหรือความดีนี่มาเป็นปัญหาแก่เราได้ อย่าให้ตามขึ้นมาถึงจนมีปัญหาแก่เรา ทีนี้จะทำอย่างไรล่ะ เรื่องเหล่านี้มันอยู่ที่ความโง่หรือความฉลาดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่จะไปสัมผัส เกิดสัมผัสขึ้นมา ถ้าเรายังโง่เราก็ไปหลงไอ้พอใจ ยึดมั่น ยึดมั่นดีกว่า เรียกว่ายึดมั่นดีกว่าในๆ ในๆ ในผลของสัมผัสนั้น คือถ้าอร่อยก็หลง หลงรักใคร่ ถ้าไม่อร่อยก็หลงเกลียดหลงโกรธ แล้วมันจะมีอะไร ในโลกนี้มันไม่มีอะไรนี่นอกจากอร่อยหรือไม่อร่อยนี่ สวยหรือไม่สวย หอมหรือเหม็น ไพเราะหรือไม่ไพเราะ นิ่มนวลหรือกระด้าง นี่มันเป็นคู่ๆอย่างนี้ ซึ่งให้เกิดความพอใจกับความไม่พอใจ ทีนี้สิ่งที่น่าพอใจก็ไปหลงรักมัน ก็ลำบากเพราะกิเลสแห่งความรัก ที่ไม่น่ารักมันก็ไปหลงโกรธ ก็ลำบากเพราะกิเลสแห่งความโกรธ ก็เลยว่าไอ้ ทั้ง ทั้งขึ้นทั้งล่อง ไม่ว่าจะได้รับสิ่งที่พอใจหรือไม่พอใจมันก็กลายเป็นความทุกข์ไปเสียหมด นี่คือวิสัยโลก ระดับโลก วิสัยที่อยู่ในโลกขอให้ขึ้นมาเสียจากระดับนั้น อย่าต้องเป็นทุกข์เพราะอำนาจสิ่งใดๆที่มีอยู่ในโลก สิ่งที่มีอำนาจทำให้รักก็ไม่รัก สิ่งที่มีอำนาจทำให้โกรธก็ไม่โกรธ จะมีอำนาจทำให้เกลียดก็ไม่เกลียด จะทำให้กลัวก็ไม่กลัว เราไม่มีไอ้กิเลสที่จะไปรัก โกรธ เกลียด กลัว เพราะว่าเราทำจิตใจของเราให้อยู่เหนืออำนาจของสิ่งเหล่านั้น มันก็คืออยู่ในโลก อยู่ในโลก อยู่กะโลก อยู่ในโลกอย่างที่ก่อน แต่ก่อนนะแต่เดี๋ยวนี้จิตใจไม่อยู่ใต้อำนาจของสิ่งเหล่านั้น คนโง่มันอยู่ในโลกมันก็จมโลก เดี๋ยวมันก็หัวเราะเดี๋ยวมันก็ร้องไห้ เดี๋ยวมันก็หัวเราะเดี๋ยวมันก็ร้องไห้ไปตามสิ่งที่มันมีอยู่ในโลกมันกระทบกระทั่งเอา อย่างนี้เรียกว่าจมโลก ทีนี้ปรับปรุงจิตใจเสียใหม่ตามหลักแห่งธรรมะ หน้าที่ที่จะไปให้สูง จนกระทั่งจิตใจมันไม่ไปหลงรัก หลงเกลียด หลงโกรธ หลงกลัวคือไม่ยินดียินร้ายในสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลก อย่างนี้ก็เรียกว่าพ้นโลก เหนือโลก พ้นอำนาจไอ้บีบคั้นของโลก ไม่ต้องขึ้นไปบนฟ้าบนไหนให้มันโง่ อยู่กับโลกนี่ก็ไม่มีปัญหาใดๆที่เกี่ยวกับโลก มันก็มีชีวิตเยือกเย็นเป็นนิพพาน นี่อยู่กับผลของธรรมะเป็นธรรมะชีวีชั้นดี ชั้นที่อยู่กับผลของธรรมะ ธรรมะชีวีชั้นต้นก็ศึกษาเล่าเรียนธรรมะ ธรรมะชีวีชั้นกลางก็ปฏิบัติธรรมะให้ถูกต้อง ธรรมะชีวีชั้นสูงก็คือว่าได้รับผลของการปฏิบัติที่ถูกต้อง มีชีวิตเย็น อาตมาพูดสั้นๆแต่ว่าชีวิตเย็น ชีวิตเย็นเท่านี้ก็พอ ไปนึกเอาเอง ไปตีความเอาเอง อะไรเอาเองให้มันได้ใจความสมกับว่าชีวิตเย็น ไม่ร้อนแล้วก็แล้วกันแหละ เป็นอันว่าถูกต้องแน่ มีความเย็นอกเย็นใจ เป็นที่พอใจอยู่ตลอดเวลาเรียกว่าชีวิตเย็น ความร้อนมาเบียดเบียนไม่ได้แล้ว นี่ก็เรียกว่าหลุดพ้นจากความร้อน ชนะความร้อน ชนะ อยู่เหนือความร้อนเหนือกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เป็นทุกข์ นี่มันมีชีวิตอยู่กับธรรมะเป็นธรรมะชีวี ก็ได้ผลอย่างนี้มีชีวิตเย็นเป็นนิพพาน ความว่างจากกิเลสนั่นมีมามากขึ้น บ่อยขึ้น มากขึ้น ยาวออกไปๆ นี่ธรรมะชีวี มีชีวิตอยู่กับธรรมะมีผลอย่างนี้
นี่ขอให้เราทุกคนเกิดมาแล้วให้ได้รับแต่ประโยชน์ผลที่ดีที่สุด ที่จริงมัน ก็เราไม่ได้อยากจะเกิดมาหรอก เพราะเราเกิดมาโดยไม่รู้ บิดามารดาทำให้เกิดมา เราก็ไม่รู้และเราก็ไม่ได้อยากจะเกิดมา แต่เดี๋ยวนี้มันเกิดมาแล้วจะทำอย่างไร มันเกิดมาแล้วมันมีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้จะทำอย่างไร ก็คือทำใจอย่าให้มันมีความทุกข์ก็แล้วกัน เพราะว่ามันเกิดมาแล้ว ทีนี้ถ้าหากว่ามันมีทางที่จะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะได้ ก็ควร ควรจะฉวยโอกาสเอาทันที เพราะจะ จะทำอย่างไรจะฆ่าตัวตายมันก็โง่หลงที่สุด จะกลับเข้าไปท้องแม่ ถอยหลังกลับมันก็ทำไม่ได้ มันเกิดมาแล้วมันก็ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในฐานะที่เกิดมาแล้ว อาตมาจึงเสนอว่า ไม่มีอะไรดีกว่าเป็นธรรมะชีวี เป็นผู้มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ คือช่วย สิ่งที่ช่วยให้รอดคือหน้าที่ สิ่งที่เราต้องเคารพเชื่อฟังยำเกรงที่สุดก็คือหน้าที่ คือพระเจ้า ลองไม่เคารพหน้าที่ ไม่ทำหน้าที่นี่มันจะต้องตาย หรือมันจะไม่มีอะไรดีเลย ก็ไม่บกพร่องในการทำหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ มีธรรมะสมบูรณ์แล้วก็เป็นธรรมะชีวีสมบูรณ์ นี่เรียกว่าไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบกับพุทธศาสนา มันเป็นเรื่องที่เกิดมาแล้ว มันถอยกลับไม่ได้แล้ว แล้วมันก็จะต้องอยู่ ต้องดำรงอยู่ชนิดที่ว่าเป็นที่น่าพอใจ ได้ผลเป็นความสุขสงบเย็น แล้วจะเอาอะไร จะเอาอะไรที่ดีกว่านั้นมันก็ไม่มีแล้ว ถ้าว่าอยู่อย่างไม่มีความทุกข์เลยอย่างนี้มันก็ดีแล้ว มันไม่มีอะไรอีกแล้ว เราจึงมีจิตใจที่อบรมดีแล้ว ไม่หลง ไม่หลงในอะไร ไม่หลงที่จะเป็นอะไร ที่พูดว่าเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์นี่ไม่ใช่เป็นด้วยความหลง เป็นโดยรับรู้ว่ามันเป็นมนุษย์ชนิดที่จะทำอะไรก็ได้ ไอ้ความเป็นมนุษย์นี่ประเสริฐวิเศษ เป็นกายสิทธิ์ นั่นเรียกว่าเป็นกายสิทธิ์ ความเป็นมนุษย์นี่ คือจะใช้ทำอะไรก็ได้ ได้ความเป็นมนุษย์นี่จะใช้ให้เป็นหมาก็ได้ คนนี่ลองประพฤติอย่างหมาก็ได้เป็นหมา ความเป็นมนุษย์นี่จะเอาไปใช้เป็นหมาก็ได้ เป็นคนก็ได้ เป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นเทวดาก็ได้ เป็นพรหมก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ กระทั่งว่าหลุดพ้นเป็นนิพพานไปเลยมันก็ยังได้ นี่มันแล้วแต่หน้าที่ มันแล้วแต่ธรรมะที่ตนได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แล้วประพฤติปฏิบัติกันอย่างไรนี่
สรุปความว่าประพฤติหน้าที่อย่างไร ประพฤติธรรมะอย่างไรก็จะได้ประสบผลเช่นนั้น จะมีความเป็นเช่นนั้น ถ้าลองเป็นได้ทุกอย่างก็ดีเหมือนกัน มันจะได้รู้ว่าเป็นอะไรเป็นอย่างไร แล้วมันจะได้หยุดเป็น หยุดเลือกเป็นอะไรกันเสียที แต่เดี๋ยวนี้เป็นมนุษย์นี่แหละเป็นให้มันถูกต้องกันเสียเถิด เป็นมนุษย์นี่ใช้ให้เป็น ใช้ความเป็นมนุษย์ให้มันเกิดความเป็นไอ้ผู้ที่ไม่มีความทุกข์เลย ดับทุกข์สิ้นเชิง เป็นยอดมนุษย์ เป็นพระอรหันต์ เป็นอะไรก็แล้วแต่จะเรียกแหละ ไอ้ชื่อนั้นไม่สำคัญนะ ไอ้ตัวจริงมันเป็น มันสำคัญ เช่นว่าเป็นพระอรหันต์นี้ ถ้าเป็นแต่ชื่อมันก็ไม่มีความหมายอะไร แต่ความหมายคือไม่มีความทุกข์เลย ไม่มีความทุกข์เลย แล้วดี ประเสริฐ ประเสริฐในทางที่ถูกต้องคือไม่มีความทุกข์เลย ไม่ใช่ประเสริฐเพราะคนโง่แต่งตั้ง ยกยอสรรเสริญให้เป็นคนประเสริฐ อย่างนั้นมันไม่จริง มันหลอกลวง แต่นี้มันประเสริฐจริงตามธรรมชาติที่ว่าถึงที่สุดแล้ว อยู่เหนือความทุกข์เหนือกิเลสแล้วมันก็เป็นผู้ประเสริฐจริง เรียกว่าเป็นพระอริยเจ้า พื้นฐานแล้วมันก็คือความเป็นมนุษย์นั่นแหละ ความเป็นมนุษย์นั่นเราใช้ๆ ใช้จนได้กลายเป็น เป็นมนุษย์ชนิดพระอริยเจ้า หมายความว่าจะไปในทางพ้นทุกข์ จะเหนือความทุกข์ กระทั่งเหนือจริงๆ เหนือจริงๆเป็นพระอริยชั้นสูงสุด เหนือความทุกข์จริงๆคือเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นธรรมะมันก็อยู่ที่เนื้อที่ตัว เราจะปรับปรุงให้เป็นอย่างไรมันก็เป็นอย่างนั้น จึงสนใจที่จะปรับปรุงให้เป็นสิ่งที่เรียกว่ามันมีค่าที่สุดแหละ ไม่ใช่สำหรับจะหลงใหล แต่สำหรับจะไม่มีความทุกข์ สำหรับจะอยู่อย่างไม่มีความทุกข์ ไม่ใช่จะหลงใหลว่าเราเป็นคนดีเป็นคนเด่น เป็นนั่นเป็นนี่อย่างนี้มันก็โง่ มันยังโง่อยู่ จะเป็นทุกข์เพราะว่าไอ้ความหมายมั่นเป็นนั่นเป็นนี่นั่นเอง ถ้ามันรู้ไปหมดแล้วทุกอย่าง ไม่ควรจะหมายมั่นว่าเป็นอะไรมันก็ไม่หมายมั่นอะไร มันไม่อยากได้อะไร ไม่ต้องการจะเป็นอะไร มีหน้าที่ที่จะต้องทำก็ทำไปมันก็อยู่รอด ไม่ไปแบกยึด ไม่ไปแบก ไม่ไปทูน ไม่ไปยึด ไม่ไป ของหนักคือตัวกู ของหนักคือตัวกู คือตัวตนแหละ เพราะความยึดมั่นถือมั่นขึ้น ขึ้นมาเองว่าเป็นตัวตนแล้วก็หนัก เพราะการแบก เพราะการบริหารไอ้ตัวกู อย่างนี้มันมีธรรมะผิดแล้ว เมื่อเกิดตัวกูของกู ยึดมั่นเป็นตัวกูของกู ขึ้นมานี่ความรู้นี้ผิดแล้ว หน้าที่ก็จะผิด ธรรมะก็จะผิด เป็นธรรมะผิด ไม่ดับทุกข์ ถ้ามันดับทุกข์ได้นั่นแหละคือถูก จะขอบอกเสียเลยว่าไอ้ที่มาถามกันบ่อยๆว่าสำนักนั้นเป็นอย่างไร สำนักนี้เป็นอย่างไร สำนักโน้นเป็นอย่างไร อาตมาก็บอกว่าไม่รู้ แต่ถ้ามันดับทุกข์ได้แล้วถูกทั้งนั้นแหละไม่ว่าสำนักไหน ถ้ามันสามารถจะดับทุกข์ได้ด้วยข้อปฏิบัติอันนั้นแล้วสำนักนั้นถูก สำนักนั้นสอนถูกต้อง นี่เราถือเอาความดับทุกข์ได้นี่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ เป็นผลของการมีธรรมะที่ถูกต้อง มีหน้าที่ที่ถูกต้อง
นี่เอาละ มันก็พอสมควรแก่เวลาสำหรับการบรรยายในครั้งนี้ ซึ่งพูดถึงเรื่องมีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะ ต่อจากที่พูดกันแล้วในตอนเย็นบนภูเขา นี่ก็พูดขยายความให้ออกไปๆ ให้เห็นชัดว่าธรรมะชีวี ธรรมะชีวีเป็นอย่างไร แล้วก็ขอโอกาสชักชวนท่านทั้งหลายว่าจงพยายามทำความเข้าใจ แล้วเป็นธรรมะชีวี กันให้มากให้ดีที่สุดจงทุกๆคนเถิด การบรรยายธรรมะในโอกาสที่ ๒ นี่สมควรแก่เวลา ขอให้สรุปความเอาไปให้ได้บริบูรณ์ครบถ้วนยิ่งๆขึ้นไป แล้วก็จะสามารถเป็นธรรมะชีวีได้แน่นอน เป็นได้แน่นอน เป็นได้ยิ่งๆขึ้นไป ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา วันอาสาฬหบูชานี้เป็นวันธรรมะ เป็นวันของพระธรรม เรามาพูดกันถึงเรื่องพระธรรม แล้วเอาพระธรรมมาใส่เข้ากับชีวิตให้เป็นธรรมะชีวี ก็จะกล่าวได้ว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องสมควรแก่วันอาสาฬหบูชา หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นๆทุกปีที่มีการทำอาสาฬหบูชา อาตมาก็พยายามอย่างยิ่ง พยายามสุดความสามารถแหละ ที่จะช่วยให้ท่านทั้งหลายได้รับประโยชน์อันนี้ สามารถที่จะมองเห็นความจริงข้อนี้ แล้วประพฤติปฏิบัติให้ได้รับประโยชน์สุดที่จะได้รับได้ แล้วเราก็จะได้เป็นเพื่อนที่รอด เป็นเพื่อนรอดจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นแต่เพียงเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายนั้นมันตายด้าน เป็นเพื่อนที่รอดจากความเกิด แก่ เจ็บ ตายกันนะ ร่วมมือกันทุกคน นั่นแหละคือพระพุทธประสงค์ ต้องรอดจากความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นพระพุทธประสงค์ มีธรรมะอะไรจะให้รอดจากเกิด แก่เจ็บ ตายได้ก็เอามาใช้ให้อยู่กับเนื้อกับตัวนั่นแหละคือธรรมะชีวี การบรรยายในครั้งที่ ๒ นี้ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติการบรรยายไว้แต่เพียงนี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้