แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นนักศึกษาและครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อาตมาคิดว่า ท่านทั้งหลายคงจะเตรียมตัวศึกษาธรรมะเพื่อร่วมมือให้กับรัฐบาลในการที่จะฟึ้น ฟื้นฟูส่งเสริมศีลธรรมของยุวชนของชาติเป็นส่วนสำคัญกว่าเรื่องใด อาตมาก็มีความยินดี ถ้ามันเป็นเช่นนั้น เพราะรู้สึกว่าเป็นที่น่าวิตกกังวลและเป็นหน้าที่ ที่เราจะต้องทำกันโดยตรง ถ้ามิฉะนั้นแล้ว เราจะเป็นครูอาจารย์กันไปทำไม คำว่าครูอาจารย์มีความหมายสำคัญตรงที่ ช่วยยกสถานะของคนในโลก ให้มันขึ้นจากหล่มของปัญหาหรือความทุกข์ ดูจะไม่มีอะไรเป็นปัญหาของมนุษย์เราเท่ากับความทุกข์ ความทุกข์คือปัญหา และปัญหาก็คือความทุกข์ คือสิ่งที่ทนอยู่ไม่ได้ ต้องดิ้นรนต่อสู้แก้ไข ถ้าปราศจากปัญหาไม่มีอะไรต้องดิ้นรนต่อสู้แก้ไข เราก็สบาย ฉะนั้นธรรมะมันก็มีไว้เพื่อจะขจัดไอสิ่งเหล่านี้ให้พ้นออกไปจากความเป็นปัญหาที่รบกวนเรา ดังนั้นอาตมาคิดว่าจะพูดโดยหัวข้อว่าธรรมะและการปฏิบัติธรรม ธรรมะคืออะไร และการปฏิบัติธรรมะนั้นคือทำอย่างไร
เราจะต้องพิจารณากันถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ธรรมะ ล้วนๆ นี่ ว่า นี่ก่อนว่ามันคืออะไรและมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรในโลกนี้ ครูบาอาจารย์ ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังก็ได้ว่า คำว่าธรรมะนั้นมันแปลว่าหน้าที่ ครูบาอาจารย์จะได้ยินแต่คำว่า ธรรมะแปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและบางทีก็ไม่ได้รู้ว่าสั่งสอนเรื่องอะไรด้วยซ้ำไป นี่มันยังไขว้กันอยู่มาก กับข้อเท็จจริงที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์ คำว่าธรรมะ ธรรมะนี่ ในภาษาเก่าแก่ของอินเดียนั้นมันแปลว่า หน้าที่ที่จะต้องทำ และมนุษย์สมัยโน้นคนแรก มันเริ่มสังเกตเห็น เริ่มสังเกตเห็นว่า ไอ้เรานี่ พวกเราทั้งหลายมันมีสิ่งหนึ่งซึ่งเว้นไม่ได้ ซึ่งต้องทำ ไม่ต้องมีใครมาบอก มันสังเกตเห็นได้เอง มันนึกได้เองว่า มันมีอยู่สิ่งหนึ่งซึ่งเราต้องทำแต่ไม่สนใจนั้นไม่ได้ คนป่าสมัยโน้น สมัยดึกดำบรรพ์โน้น มันก็สังเกตได้ว่า มันมีสิ่งๆ หนึ่งซึ่งเราต้องทำ และมันก็ได้เคยทำมาตามสมควรแล้ว คนป่าเหล่านั้นเคยทำหน้าที่ของตนตามสมควรแล้ว แต่ยังไม่ได้เรียกกันให้มันชัดว่าหน้าที่
ต่อมาก็สังเกตเห็นว่าไอ้สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็คือตาย หรืออยู่อย่างทนทุกข์ทรมาน เขาก็หลุดปากออกมาเป็นคำว่า หน้าที่ หน้าที่ ซึ่งสมัยโน้นในอินเดียโน้นนั้น คือคำว่า ธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ นั่นเอง ธรรมะแปลว่าสิ่งที่ต้องทำ ถ้าพูดเป็นภาษาไทย เดี๋ยวนี้ก็พูดว่า หน้าที่ หน้าที่ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่เมืองไทย และไม่ใช่เวลานี้ มันยุคดึกดำบรรพ์โน้น ในประเทศอินเดีย มนุษย์เหล่านั้น เขาก็ต้องใช้ภาษาของเขา ตามยุคสมัยของเขา แล้วเขาก็หลุดปากออกมาว่า ธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ แปล แปลความหมายคือว่า หน้าที่ หน้าที่ ฉะนั้นเขาจึงบอกแก่กันและกันให้ทุกคนรู้ว่า มันมีสิ่งๆ นี้อยู่ ซึ่งจะต้องรับรู้ และจะต้องปฏิบัติคือทำให้ดีที่สุด คือทำหน้าที่ ธรรมะและการปฏิบัติธรรมมันก็เกิดขึ้น ในยุคดึกดำบรรพ์โน้น คือมนุษย์ยังเป็นคนป่า อยู่ไม่น้อย เพิ่งจะเจริญเท่านั้นเอง
ทีนี้ก็ ธรรมะ ธรรมะ หน้าที่ หน้าที่ นี้มันค่อยๆ รู้กว้างขวาง รู้ลึกซึ้งละเอียดมาตามลำดับ จึงรู้หน้าที่ละเอียดกว้างขวางขึ้น เป็นระบบ จนทำเป็นระบบ จนจัดเป็นระบบอะไรได้ว่า ต้องทำหน้าที่นั้นอย่างนั้น หน้าที่นั้นอย่างนั้น ระบบนั้นทำอย่างนั้น นี่เวลามันล่วงมานาน หน้าที่มันจึงเกิดเป็นระบบขึ้นมาสำหรับมนุษย์ ก็เกิดมีครูบาอาจารย์ตามยุคตามสมัย ค้นคว้าสังเกต ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ หน้าที่ ดีขึ้นดีขึ้น เขาจึงสอนได้มากขึ้นและดีขึ้น ก็เรียกว่าธรรมะมันก็วิวัฒนาการ ขยายตัว ขยายตัว สูงขึ้นมา ดีกว่าเก่า มากกว่าเก่า ละเอียดลึกซึ้งกว่าเก่า จนเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เป็นพวกเป็นสำนักที่สอนหน้าที่ได้ดีที่สุด ตามแบบของๆๆ สำนักนั้น สำนักนั้นๆ ทีนี้ประชาชนเขาชอบใจ เขาก็มีสิทธิที่จะเลือก เขาก็เลือกเอาสำนักไหนก็ได้ ถึงเกิดมีหลายสำนักสอนธรรมะขึ้นมากมายหลายสำนัก ประชาชนก็เลือกกันตามพอใจ มันเป็นอย่างนี้คู่กันมา คู่กันมากับมนุษย์
นี่จะต้องมองให้เห็นข้อเท็จจริง อันจริงอย่างยิ่งสักอีกข้อหนึ่งว่า ไอความรู้ รู้สึกคิดนึกต่อสิ่งที่มีอยู่รอบตัวนั่นแหละ มันนำมนุษย์ นำมนุษย์ให้รู้อะไรเพิ่มขึ้น ไม่ใช่มนุษย์นำความรู้ คือมนุษย์ไม่ได้คิดไปล่วงหน้า คิดเผื่อไว้ว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะมันยังไม่เคยมีคำสอนเรื่องนี้ ไม่เหมือนกับมนุษย์สมัยนี้ มนุษย์สมัยนั้นมันให้ความจำเป็นที่จะต้องรู้ ลากไป ลากไป ลากไป แล้วก็รู้มากขึ้น ดีขึ้น ลึกซึ้งขึ้น แต่มนุษย์สมัยนี้ มันไม่เป็น มันไม่เป็นอย่างนั้น พอมันเกิดมาในท่ามกลางวิชาความรู้ ตำรับตำราการศึกษา มันก็กระโดดไปอยากรู้ อยากเข้าใจไอ้สิ่งที่มันไม่ได้เป็นความจำเป็นสำหรับเขาเลย เช่นพวกคนสมัยนี้ที่มาเรียนธรรมะนี่ เป็นการกระโดดเข้ามาหาสิ่งที่เขาสมมติกันว่าดี เขาลือกันว่าดี ไม่ใช่ความจำเป็นบังคับมา ไม่ใช่เห็นความทุกข์ แล้วก็มาศึกษาธรรมะเพื่อจะดับทุกข์ นี่มันเป็นการกระโดดเข้ามารับสิ่งที่ตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าอะไรแน่ ทำไปทำไมก็ยังไม่รู้ นี่คือข้อที่คนสมัยนี้ศึกษาธรรมะกัน ดังนั้นคนศึกษา ผู้ศึกษาธรรมะสมัยนี้จึงไม่ค่อยรู้ธรรมะ ไม่รู้ธรรมะจริง เพราะมันไม่มีปัญหาจริงๆ ที่ดึงมาให้ศึกษาธรรมะ มันทำตามๆ กันมา มันเห่อตามๆ กันมา เพราะไปมันยินเขาว่า สิ่งเหล่านี้ดีวิเศษประเสริฐสูงสุด เราจึงไม่ ไม่ค่อยจะรู้ธรรมะ หรือไม่รู้ธรรมะเอาเสียเลยก็ได้ เพราะมาเรียนในสิ่งที่เราไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม แต่ถ้าคนป่าสมัยโน้นเขาเห็นชัดในหน้าที่ หน้าที่ มันอย่างนั้น มันต้องทำ ไม่ทำมันจะตาย หรือจะอยู่อย่างทนทุกข์ทรมาน ก็เป็นสิ่งศึกษาค้นคว้าหาหน้าที่ ธรรมะนั้น ด้วยเหตุผลที่แท้จริงที่มีอยู่ กับชีวิตของเขา เมื่อเขาก้าวหน้ามาในทางของธรรมะ อย่างที่เรียกว่าธรรมะลากมา เดี๋ยวนี้เรามันอวดเก่ง ซึ่งเราจะลากธรรมะ เรากระโดดมาเรียนธรรมะซึ่งสูงๆ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม นี่เรามันลากธรรมะ เลยไม่ได้อะไร แล้วมันผิดกันอยู่อย่างตรงกันข้าม ฉะนั้นระวังให้ดี กลับไปเป็นคนป่ากันดีกว่า ให้เห็นความจำเป็นที่มันจะต้องมีธรรมะ ที่มันจะต้องมีธรรมะอย่างนั้น เพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนั้น แล้วก็ ก็อาจจะให้ความจำเป็นนั่นแหละมันลากมา มันเลื่อนชั้นขึ้นมา เลื่อนชั้นขึ้นมา นี่ ธรรมะคือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตที่มนุษย์ยุคโน้นมันได้รู้จัก มันก็เรียกว่าธรรมะ ธรรมะ แล้วมันก็เรียกกันมาจนกระทั่งบัดนี้ ครั้นล่วงมา มานานจนถึงยุคพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ท่านก็ใช้คำนี้ นี่แหละ ใช้คำนี้ที่มันมีอยู่ก่อนนี่แหละ นี่ก็ธรรมะ ธรรมะ คือหน้าที่อย่างไรบ้าง แต่ท่านอธิบาย หรือพูดขยาย สอนให้มันดีขึ้น สูงขึ้นจนเป็นหน้าที่ ในระดับสูงสุด คือดับทุกข์ได้จริง ดับทุกข์ได้จริง ก่อนนี้มันก็มีดับทุกข์ตามสมควร ดับทุกข์ชั้นต่ำ ชั้นกลาง ชั้นอะไรตามสมควร พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ท่านก็แสดงไอข้อปฏิบัติที่เป็นหน้าที่ดับทุกข์สูงสุด คือดับไม่ให้เหลือกันเลย แล้วก็เรียก ไอผลสุดท้ายที่ดับทุกข์ไม่เหลือกันนั้นเลยว่า นิพพาน นิพพาน นิพพานแปลว่าเย็น เย็นคือหมด หมด หมดความร้อน คือหมดปัญหา หมดสิ่งซึ่งทำให้ร้อนนั่นแหละ ก็ไม่มีมีความร้อน เรียกว่านิพพาน
ที่นี้เรามารู้จัก ไอ้สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ กันให้ถูกต้องเต็มตามความหมาย แล้วเราก็มารู้จักว่า จะต้องปฏิบัติกันอย่างไร นี่คือหัวข้อที่จะบรรยายว่า ธรรมะและการปฏิบัติธรรมะ เมื่อกี้ เรื่องแรกที่ต้องพูดว่าท่านรู้ธรรมะกันอย่างไร คนเก่าแก่ก่อนโน้นรู้ธรรมะกันอย่างไร ท่านรู้ธรรมะกันเมื่อทำการงานนั้นเอง คนป่าเหล่านั้น มันก็ต้อง ทีแรกก็ไม่นุ่งผ้า อยู่ตามถ้ำตามเขา ต่อมาก็รู้จักทำนาทำไร่ รู้จักเลี้ยงสัตว์ประกอบการงานขึ้นเป็นกลุ่มเป็นสำนัก เมื่อทำงานอยู่ เมื่อทำงานอยู่ ทำนั่นทำนี้ทำโน้น วันหนึ่งต้องทำมากๆ อย่าง วันหนึ่งมันก็สำนึกขึ้นมาได้ว่า มันมีสิ่งที่ต้องทำ ไม่เคยเรียกกันมาแต่ก่อนว่าอะไร ไอ้คนนี้ คนรุ่นนี้ คนชุดนี้ มันเริ่มสังเกตเห็นสิ่งนี้ แล้วมัน มันเรียกหลุดปากออกมาเองว่า ธรรมะ ธรรมะ คือหน้าที่ที่ต้องทำ ฉะนั้นขอให้พวกเราชั้นนี้ รู้เรื่องนี้ ยอมรับไอเความหมายอันนี้ว่าธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ แต่ด้วยเหตุที่มันเป็นภาษาเก่าแก่ในอินเดีย ว่า ธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ เท่ากับเราพูดเดี๋ยวนี้ว่า หน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ ถ้าเราพูดว่า หน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ เดี๋ยวนี้ถ้าเราพูดอย่างนี้ เรารู้สึกอย่างไร คนป่าสมัยโน้น ก็รู้สึกต่อคำว่า ธรรมะ ธรรมะ ธรรมะอย่างนั้นเหมือนกัน เราเดี๋ยวนี้เสียอีก พอไปพูดถึงคำว่า ธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ เราไม่ได้รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ เราไปรู้สึกว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องอะไรก็ไม่รู้ ศักดิ์สิทธิ์สูงสุด อยู่เหนือฟ้า เหนืออะไรไปเสียอีก อันนี้ก็ไม่เจอ ไม่พบกันกับธรรมะ เว้นไว้แต่ว่าเรามามองเห็นสังเกตเห็น ด้วยความรู้สึก ชัดเจนว่ามันมีสิ่งที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำมันตาย หรือมันไม่เจริญ ไม่รอดอยู่ได้ มันไม่เจริญรุ่งเรืองนั่นหละ มันมีสิ่งที่ต้องทำ
เพราะฉะนั้นจึงขอให้ถือเอาความหมายของธรรมะ ธรรมะ ว่าสิ่งที่เป็นหน้าที่ ที่ต้องทำ สำหรับสิ่งที่มีชีวิต ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ทำแล้วต้องทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ถ้ามันเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตมันก็ไม่ต้องมีหน้าที่สิ เป็นก้อนหินอย่างนี้ มันไม่ชีวิต มันก็ไม่ต้องทำหน้าที่ แต่ถ้าสิ่งที่มีชีวิต มันมีชีวิตที่ตายได้ มันก็เลยเกิดหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อให้ชีวิตนั้นรอดอยู่เป็นอย่างน้อยคือไม่ตาย ทีนี้ถ้าไม่ตายแล้ว มันต้องทำต่อไปคือว่าให้เจริญให้รุ่งเรืองให้ดีที่สุด หน้าที่สำหรับสิ่งที่มีชีวิตที่ชีวิตจะต้องทำ ในอันดับแรกก็ รอดทางกาย รอดทางชีวิต ในอันดับที่สองก็รอดทางจิต รอดทางวิญญาณ คือจิตใจไม่ถูกบีบคั้นอยู่ด้วยความทุกข์ เลยมีความรอดเป็นสองชั้น รอดทางร่างกายคือรอดชีวิต รอดทางจิตใจคือ ไม่มีความทุกข์มาครอบงำย่ำยี ทีนี้มองดูเอาเองบ้างก็ได้นะว่า ไอ้ความรอดสองชั้นนี้ ชั้นไหนสำคัญกว่า รอดอย่างรอดตาย ดูว่าสัตว์เดรัจฉานก็ทำเป็นนะ แต่ถ้ารอดชนิดที่ไม่ถูกความทุกข์บีบคั้น มันจะทำได้แต่มนุษย์เท่านั้นแหละ จะเป็นปัญหาของมนุษย์ เพราะว่าสัตว์เดรัจฉานมันไม่มีความรู้สึกคิดนึก สูงถึงกับจะรู้จักความทุกข์ในทางจิตใจ มันรู้จักแต่ความทุกข์ในทางร่างกาย สัตว์เดรัจฉานมันแก้ปัญหาเฉพาะความทุกข์ทางร่างกายมันก็พอแล้ว พอแล้ว แล้วมันก็ไม่ตาย แล้วมันก็อยู่ได้ อยู่สบาย แต่มนุษย์เท่านั้นไม่พอ มันมีความทุกข์ที่บีบคั้นจิตใจ ความทุกข์หลายๆ ชนิด เป็นชั้น ชั้น ชั้น ชั้น บีบคั้นจิตใจอยู่ ต้องรอดในข้อนี้อีกทีหนึ่ง จึงจะเรียกว่ารอดโดยสมบูรณ์
พอมาถึงขั้นนี้ก็จำคำว่า รอด รอด รอด ไว้ก็แล้วกัน ไอ้ความรอดนั่นแหละคือความมุ่งหมายของธรรมะ ใช้มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ คือไปศึกษาดูเถอะ ไปศึกษาดูสิ ทุกศาสนาที่มีอยู่ในโลกเวลานี้กี่ศาสนา ไปศึกษาดูจะพบว่าไอ้จุดหมายปลายทางของศาสนาบทสุดท้ายของมันก็คือความรอดเท่านั้นแหละ ศาสนาพุทธก็รอดอย่างชาวพุทธ ศาสนาคริสต์ก็รอดอย่างชาวคริสต์ ศาสนาอิสลามก็รอดอย่างอิสลาม ศาสนาอื่นมันก็คือรอดตามแบบของศาสนานั้นๆ ผลของธรรมะคือหน้าที่ก็คือความรอด แล้วก็รอดถึงที่สุดก็คือรอดทางจิตทางวิญญาณ ถ้ารอดแต่เพียงทางกายมันก็เป็นศาสนาที่ต่ำเกินไป ไม่ๆๆ ถึงกับจะยกมาเป็นศาสนาอันมีเกียรติได้ เพราะว่ารอดทางกายนั้น สัตว์เดรัจฉานมันก็ทำเป็นนะ อะไรที่ช่วยให้รอดชีวิตนั้นเป็นศาสนาของสัตว์เดรัจฉาน อย่าว่า อย่าว่าสัตว์เดรัจฉานไม่มีศาสนานะ คือมันมีระบบ ระบบหนึ่งที่มันต้องทำ ทำแล้วมันอยู่รอด นี่มันคือศาสนาของมัน เช่น หนู มันก็ต้องขุดรูเป็น มีอะไรมามันก็วิ่งลงรูแล้วมันก็รอด เพราะฉะนั้นระบบที่มีรูและอยู่รู รอดนั่นคือศาสนาของสัตว์ในระดับนี้ มันมีกันทุกสัตว์ทุกชนิดแหละ มันต้องมีความระบบเพื่อความรอดแห่งชีวิตของมัน
แล้วมันก็มีอะไรที่เป็นรายละเอียดมากกว่านั้น แต่ว่ารวมความแล้วก็คือรอดชีวิตเท่านั้น ซึ่งจริงๆ อยากจะให้เสียเวลานิดหน่อย พิจารณาถึงความรอดของสิ่งที่มีชีวิตทุกระดับ เอาไปจากข้างบนก็ระดับมนุษย์หรือคนนี้ มีชีวิตแล้วก็ต้องรอดชีวิตอย่างคนหรืออย่างมนุษย์ ทีนี้สัตว์เดรัจฉานมันก็ต้องทำแบบสัตว์เดรัจฉาน รอดอย่างสัตว์เดรัจฉานซึ่งต่ำลงไป ทีนี้ต่ำลงไปอีกทีก็ถึงต้นไม้ ต้นพฤกษาชาติทั้งหลาย มันก็มีชีวิต พฤกษาชาติทั้งหลายก็ต้องทำหน้าที่ตามแบบของมัน เพื่อรอดชีวิต อ้าวมันหมดเสียแล้ว มันไม่มีชีวิตอะไรที่ต่ำลงไปกว่าต้นไม้ต้นไร่ จึงเห็นว่าจากต้นไม้ขึ้นมาถึงสัตว์เดรัจฉาน จากสัตว์เดรัจฉานขึ้นมาถึงมนุษย์หรือคน ถ้าจะมีเทวดาอะไรบ้าง ถ้ามันมี มันก็ไม่มากไปกว่าคนหรอก หน้าที่ที่จะต้องทำ ไม่มากไปกว่ามนุษย์ เพราะฉะนั้นเอาเพียงว่าไอ้พืช พืช ที่เรียกว่าพืชคือต้นไม้ทั้งหลาย แล้วก็สัตว์ สัตว์เดรัจฉาน แล้วก็คน มีหน้าที่ตามที่ธรรมชาติกำหนดไว้ โดยกฎที่เรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตา คำๆ นี้สำคัญมากนะ อุตส่าห์จำไว้ไม่เสียเที่ยว
กฎอิทัปปัจจยตานั่นน่ะคือกฎวิทยาศาสตร์อันสูงสุดในพุทธศาสนาซึ่งจะรับหน้าความเจริญของวิทยาศาสตร์ในอนาคตได้ พวกนักวิทยาศาสตร์ชั้นสูง เช่นไอน์สไตน์ เป็นต้น เขาก็ถือว่าถ้าศาสนาไหนมันไม่ขานรับความต้องการของวิทยาศาสตร์ได้แล้ว มันต้องล้มละลาย ต้องเลิกไป ศาสนานั้นถ้าจะมีก็คือพุทธศาสนานั่นเอง ไอน์สไตน์เขาว่าอย่างนั้น แล้วเราพุทธบริษัท ทำไมไม่รู้จักพุทธศาสนาของเราหละว่ามันมีความเป็นวิทยาศาสตร์ คือความที่มีกฎอิทัปปัจจยตาเป็นตัวลัทธิ กฎแห่งเหตุแห่งปัจจัยนั้น กฎแห่งเหตุผล เพราะมีเหตุจึงมีผล เพราะมีเหตุจึงมีผล เพราะมีเหตุจึงมีผล แต่ท่านใช้คำธรรมดา สามัญที่สุดในบาลี เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น พูดอย่างนี้กี่ร้อยครั้งกี่พันครั้งก็ได้มันมีแต่อย่างนี้ เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้เลยเกิดขึ้น นั่นก็คือกฎวิทยาศาสตร์ เพราะมีอันนี้ เช่นว่าเพราะมีปรมาณู มันจึงมีอณู เพราะมีอณูมันจึงมีธาตุ ธาตุต่างๆ และธาตุคือสสารที่เป็นธาตุ ประกอบกันขึ้น มันก็มีกลุ่มของธาตุ อย่างนั้นอย่างนี้จึงจะเป็นส่วนประกอบของสิ่งที่มีชีวิตเป็นเซลล์เป็นทั้งหมดที่เป็นตัวคนขึ้นมา มีตัวคนขึ้นมาแล้ว เพราะเหตุอะไรมันผลักดัน คนมันก็วิวัฒนาการเรื่อย วิวัฒนาการเรื่อย มันก็ต้องเป็นสัตว์เซลล์เดียว เป็นสัตว์ในน้ำ เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เป็นสัตว์บก เป็นลิง เป็นคน เป็นมาตามลำดับ นั่นแหละ มันมาตามกฎของกฎ มาตามอำนาจของกฎอิทัปปัจจยตา
ฉะนั้นเรารู้จักไว้เสียด้วยเถอะว่าพวกเราชาวพุทธนั้น เขาจัดไว้เป็นพวกถือหลักวิวัฒนาการ เขาเรียกเป็นภาษาสากลว่า evolutionist evolutionist คือถือว่าทุกอย่างนี้เป็นevolution ตรงกันข้ามกับพวกอีกพวกหนึ่ง พวกนั้นเขาถือว่าพระเจ้าสร้าง พระเจ้าสร้าง ไม่ใช่ evolution พระเจ้าสร้าง ฉะนั้นเขาจึงบัญญัติคำเรียกพวก พวกโน้นว่า creationist พวกที่ถือว่าพระเจ้าสร้าง ในวงการศาสนาในโลก ทั้งโลก มี ๒ พวกเท่านั้น ศาสนาพวกหนึ่งถือว่าสิ่งทั้งปวงนี้ พระเจ้าสร้าง ใครถือหลักอย่างนี้ก็เรียกว่า creationist ทีนี้อีกพวกหนึ่ง ไม่ๆ เห็นอย่างนั้น เห็นว่ามันเป็นมาตามกฎของวิวัฒนาการ พวกนี้ถูกเรียกว่า evolutionist แล้วก็มีอยู่ๆ ในโลกด้วยกัน ถ้าพบหน้ากันมันก็ต้องทะเลาะกัน เพราะพวกหนึ่งมันถือว่าพระเจ้าสร้าง พวกหนึ่งถือว่ามันเป็นตามเหตุปัจจัยซึ่งไม่ใช่พระเจ้า แต่ถ้าเราจะเอออวยกับเขาบ้าง ก็เราก็ว่าเราก็มีกฎนี้ กฎ evolution นี้เป็นพระเจ้า ขอให้เรามีพระเจ้าบ้างเถิด แต่ไม่ต้องเป็นคน ไม่ต้องเป็นสัตว์ ไม่ต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้สึกอย่างคน เรามีกฎของธรรมชาตินี่เป็นพระเจ้า เราก็เลยเรียกว่าพระเจ้าอิทัปปัจจยตา คือกฎที่มีอยู่ในธรรมชาติ อยู่ในธรรมชาติทั้งปวง ในทุกๆ ปรมาณูมีกฎอิทัปปัจจยตาควบคุมอยู่ แล้วก็ทำให้ทุกๆ ปรมาณูเปลี่ยนแปลงไปจนเป็นอณู เป็นธาตุ เป็นสสาร เป็นอะไรที่มัน เป็นโลกเกิดโดยสมบูรณ์ ส่วนอีกพวกหนึ่ง เขาไม่ยอมถืออย่างนี้ เขาว่าพระเจ้าสร้างทีเดียวเป็นคนขึ้นมาเลย สร้างคนคู่แรก Adam กับ Eve เขาออกลูกหลานเต็มมา ส่วนสัตว์กับต้นไม้ไม่รู้ใครสร้าง แล้วก็สร้างเมื่อไหร่ไม่ค่อยได้พูด แต่เขาก็ว่าพระเจ้าสร้างนะ สร้างขึ้นมา สร้างโลก ๖ วันเสร็จหมด สร้างดิน สร้างฟ้า สร้างน้ำ สร้างสัตว์ สร้างอะไรหมด อันสุดท้ายก็สร้างคน คู่แรก แล้วก็เป็นคนมาจนบัดนี้ นี่พวกนี้เขาเชื่ออย่างนี้ เขาสอนให้เชื่ออย่างนี้ และเป็นคำสอนบังคับ ไม่เชื่อไม่ได้ ถ้าไม่เชื่อ ท่านไม่อยู่ในศาสนานี้แล้ว ถ้าท่านไม่เชื่อข้อนี้ เป็นคำสอนบังคับ เขามีคำสอนบังคับอย่างนั้น นี่เขาเรียก dogma d-o-g-m-a dogma นั้น คือคำสอนที่บังคับในศาสนาที่ถือว่ามีพระเจ้าสร้าง เช่น ให้ถือว่าทุกสิ่งคือพระเจ้าสร้าง พระเยซูคือผู้แทนพระเจ้าอะไรเหล่านี้ มีหลายๆ ข้อ แหละ ต้องเชื่อโดยไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์อะไร นี่ศาสนานั้นมีพระเจ้าสร้างที่เรียกว่าพวก creationist
ทีนี้ชาวพุทธมีเสรีภาพเปิดให้กว้าง คุณอยากจะเชื่ออะไรคุณก็เชื่อสิ คุณก็เชื่อได้ คุณไม่เชื่อฉันก็ได้ คุณจะเชื่อความคิดของคุณเองก็ได้ แต่แล้วคุณจะต้องพิสูจน์เอาเองว่าอะไรทำเข้าไปแล้วมันเกิดความทุกข์ ทำอะไรทำแล้วมันดับทุกข์ได้ แล้วคุณก็ค่อยเชื่อสิ ค่อยเชื่อทีหลัง เมื่อมองเห็นแล้วค่อยเชื่อ ไม่บังคับให้เชื่อ แต่จะเชื่อโดยสติปัญญาของตนเองได้ นี่ความแตกต่างระหว่างศาสนาชนิดนี้กับศาสนาชนิดโน้น ศาสนาที่เป็น creationist ก็มีหลายศาสนาเหมือนกัน ศาสนาที่เป็น evolutionist จะมีน้อยมาก คือพุทธศาสนากับศาสนาที่ใกล้ๆ กัน เรียก ศาสนา Jain เป็นต้น แต่ก็ไม่สมบูรณ์เท่าพุทธศาสนาหรอก ศาสนาฝ่ายที่ถือว่ามันเป็นตามกฎวิวัฒนาการนี้มีพุทธศาสนาเท่านั้นแหละนำหน้า แม้จะมีเพื่อนศาสนาอื่นๆ บ้างก็เล็กน้อยเต็มที เรานี่รู้ให้ดี รู้ให้ถูกต้องว่าเรามันอยู่ในพวกนี้ ที่เขาจัดไว้ให้ นี่ก็พวกฝรั่ง พวกที่นักศึกษา ความคิดอย่างฝรั่งเขาจัดคนเป็น ๒ พวกอย่างนี้ เราไม่มีปัญญาจัด เราไม่ได้ลืมหูลืมตาที่จะจัด พวกโน้นเขาจัดให้ไว้ให้แล้ว พวกที่ถือศาสนามีพระเจ้าอย่างบุคคลผู้สร้างโลก พวกนั้นเป็นพวก creationist แต่ชาวพุทธนี้ถือตามกฎอิทัปปัจจยตาว่าเป็นไปตามกฎวิวัฒนาการ พวกนี้เป็น evolutionist
ดังนั้นสิ่งที่เราควรจะรู้ให้เพียงพอก็คือเรื่องอิทัปปัจจยตา ถ้ามันเป็นคำที่แปลก ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนก็ขอให้สนใจ ที่จะฟังที่จะจดจำ นั่นหละมันคือผู้ที่สร้างเรามา กฎอิทัปปัจจยตานั้นคือสิ่งที่สร้างเรามา ที่เราจะถือว่าพ่อแม่สร้างเรามา ก็มันโดยอำนาจของอิทัปปัจจยตา ที่ทำให้บิดามารดาสืบพันธุ์หรือทำให้เป็นมาได้ ก็โดยกฎอิทัปปัจจยตา เพราะมีสิ่งนี้เป็นต้นเหตุ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเป็นผลก็กลายเป็นเหตุ และมันก็สร้างผลอื่นๆ อีก ผลมันกลายเป็นเหตุอีก สร้างอันอื่นต่อไปอีก ทยอยกันไปเหมือนกับว่า บางทีจะเปรียบด้วยห่วงลูก ห่วงโซ่ ห่วงลูกโซ่คล้องกันเป็นสายอย่างนี้ก็ได้ หรือจะดูกันให้ง่ายๆ ก็ว่า อิฐที่เขาก่อผนัง อิฐมันจะซ้อนกันอยู่ตามลำดับ อิฐก้อนนี้มันซ้อน มันซ้อนอยู่บนอิฐก้อนหนึ่ง แล้วมันก็กลายเป็นอิฐที่ถูกซ้อน โดยอิฐอีกก้อนหนึ่ง และอิฐนั้น ก้อนนั้นมันก็ถูกอันอื่นซ้อนอยู่อีก มันถูกซ้อน ซ้อนกันโดยตามลำดับ เรียกว่ามันพยุงกันขึ้นตามลำดับ นี่สิ่งที่มันจะทำให้เกิดสิ่งใหม่และมันก็เป็นไปตามกฎอย่างนี้ ถ้าจะใช้กับไอ้สิ่งทุกสิ่ง ใช้คำว่าอิทัปปัจจยตา หลักเกณฑ์อันนี้นะ ถ้าจะใช้กับสิ่งทุกสิ่ง ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ใช้คำว่ากฎ อิทัปปัจจยตา แต่ถ้าใช้เฉพาะกับสิ่งที่มีชีวิตเรียกว่ากฎปฏิจจสมุปบาท เฉพาะสิ่งที่มีชีวิตรู้สึกเป็นทุกข์เป็นอะไรได้ เรียกว่ากฎปฏิจจสมุปบาท ถ้าจะเรียกให้สมบูรณ์ที่สุดก็เรียกขึ้นยาวว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา เฉยๆ หมายถึงทุกสิ่ง ครอบงำทุกสิ่ง แต่ถ้าแยกออกมาเฉพาะสิ่งที่รู้สึกสุขรู้สึกทุกข์มีชีวิตเรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท เติมคำปฏิจจสมุปบาทเข้าไปข้างท้ายเพื่อให้ชัดว่า อิทัปปัจจยตาชนิดปฏิจจสมุปบาท
นี่ทำให้เกิดการปรุงแต่ง ปรุงแต่ง จนกระทั่งมีความทุกข์เกิดขึ้นมา เมื่อพระพุทธเจ้าออกบวช ท่านออกไปค้นหาว่า อะไรเป็นที่ดับแห่งความทุกข์ เมื่อเราตั้ง ตั้งปัญหาขึ้นมาว่าอะไรเป็นที่ดับแห่งความทุกข์ เหมือนกับว่าเรารู้ความทุกข์ ถ้าไม่รู้ก็ต้องค้นให้รู้ว่าความทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ดับมันอย่างไร ท่านออกไปบวช ไปทำความเพียร ไปเที่ยวศึกษาตามสำนักต่างๆ ก่อน เพื่อจะรู้เรื่องความดับทุกข์ เมื่อศึกษาจนหมด หมดสำนักที่จะศึกษาในอินเดียสมัยนั้น ท่านจึงมาทำของท่านเอง มาค้นคว้าของท่านเอง ในที่สุดท่านจึงพบไอ้ระบบนี้ ระบบที่เรียกว่าทุกสิ่งเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตานั่น ท่านจึงรู้ว่าทุกข์มันจะเกิดขึ้น ตามกระแสอิทัปปัจจยตา ฝ่ายที่จะเกิดขึ้น อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น และทุกข์นี้มันจะดับลง ตามกระแสกฎอิทัปปัจจยตา ดับลงอย่างนี้ ดับลงอย่างนี้ ดับลงอย่างนี้ ดับลงอย่างนี้
ขอให้ศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาททั้งฝ่ายที่ทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร และทุกข์ดับลงไปอย่างไร รู้รายละเอียดของเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าท่านรู้เรื่องนี้ นั่นแหละที่เรียกว่าการตรัสรู้ รู้ครบถ้วนบริบูรณ์เมื่อหัวรุ่งแห่งวันตรัสรู้ คือตรัสรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา จะเรียกว่าเรื่องอริยสัจก็ได้ เพราะเรื่องอริยสัจก็คือเรื่องทุกข์ ทุกข์เกิดอย่างไร ทุกข์ดับอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์ มันก็คือตามกฎอิทัปปัจจยตา ท่านเรียกว่าธรรมะเป็นที่ดับทุกข์ พอท่านรู้เรื่องนี้แล้ว ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เกิดถามตัวเองขึ้นมาว่า เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว คือตรัสรู้แล้วนี้จะเคารพอะไร หรือจะถาม ถามเป็นคำถามแรกว่าคนจะอยู่โดยไม่มีที่เคารพนั้นได้ไหม แล้วปรากฏว่าไม่ได้ แล้วถ้าอย่างนั้นจะเคารพอะไร เป็นพระพุทธเจ้าแล้วจะเคารพอะไร ก็คือเคารพธรรมะสูงสุด ธรรมะสูงสุด ธรรมะสูงสุดคือกฎอิทัปปัจจยตาที่ตัวเองตรัสรู้นั่นแหละ นี่น่าๆๆ หัวไหมล่ะ ต้องเคารพสิ่งที่ตัวเองตรัสรู้นั่นแหละ เพราะว่าได้ตรัสรู้สิ่งสูงสุด คือกฎอิทัปปัจจยตา แล้วก็เคารพสิ่งสูงสุดก็คือเคารพกฎนี้ เพราะฉะนั้นที่ว่าพระพุทธเจ้าก็เคารพพระธรรมนั่น พูดเป็นคำประพันธ์ ประพันธ์ teenage สักหน่อยก็ได้ว่า เหนือฟ้ายังมีฟ้า แต่เหนือพระพุทธเจ้ามันยังมีกฎอิทัปปัจจยตา เช่นเดียวกับเหนือฟ้านั้นมันยังมีฟ้า แต่เหนือพระพุทธเจ้าขึ้นไปมันมีกฎอิทัปปัจจยตา เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านเคารพทันทีที่ท่านได้ตรัสรู้ นี่เรียกว่ากฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ ไม่ใช่คำสั่งบังคับบัญชาของพระเป็นเจ้าที่มีความรู้สึกอย่างบุคคล ถ้ามีความรู้สึกอย่างบุคคลทำไม่ไหวหรอก เรื่องมันมากเกินไป จะไปครอบ ไปควบคุมทุกๆ อณู ทุกๆ ปรมาณูที่ประกอบกันขึ้นเป็นจักรวาล พระเจ้าที่มีความรู้สึกอย่างบุคคลทำไม่ได้ แต่ว่ากฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติมันทำได้ และมันอยู่ในทุกๆ ปรมาณูที่ประกอบกันขึ้นเป็นจักรวาล แล้วมันก็ควบคุมไอ้ความเปลี่ยนแปลงของปรมาณู ให้มีวิวัฒนาการได้ และมีกฎตายตัวว่าถ้าอย่างนี้จะต้อง อย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ต้องเกิดอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ต้องเกิดอย่างนี้ อย่างแน่นอนเลย ฉะนั้นมันจึงเกิดอะไรขึ้นมาได้ครบทุกอย่างแหละ ถ้าเราทำอย่างนี้ผลจะเกิดอย่างนี้ กลายเป็นกฎวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่มนุษย์รู้จักอยู่เดี๋ยวนี้ มันไม่นอกไปจากกฎ อิทัปปัจจยตา ทางฟิสิกส์ ทางเคมี ทางอะไรก็ตาม เพราะทำอย่างนี้มันจึงเกิดผลอย่างนี้ เพราะทำอย่างนี้มันจึงเกิดผลอย่างนี้
นี่เรียกว่ากฎธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่ทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายวัตถุและทั้งฝ่ายจิตใจ ฝ่ายวัตถุก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติฝ่ายวัตถุ ถ้าเป็นจิตใจก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติฝ่ายจิตใจ แต่เนื่องจากว่าสำหรับสิ่งที่มีชีวิตนั้น มันไม่แยกกันได้ วัตถุกับจิตใจต้องอยู่ด้วยกันเสมอ ดังนั้นสิ่งที่มีชีวิตมันจึงมีภาระทั้งสองฝ่ายแหละ ทั้งฝ่ายวัตถุและฝ่ายจิตใจ ไอ้กฎของธรรมชาติที่ครอบงำสิ่งที่มีชีวิตมันก็ต้องครอบงำทั้งฝ่ายวัตถุคือร่างกายและฝ่ายจิตใจ เราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎนั้นทั้งฝ่ายร่างกายและจิตใจ ก็ดูตัวเราเองเรามีร่างกายอยู่อย่างนี้ ส่วนหนึ่งเป็นจิตใจ มันก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของมัน ของมัน แต่ละอย่าง ละอย่าง ถ้าต้องการให้ร่างกายเป็นอย่างนี้ ก็ทำไปตามกฎของร่างกาย ถ้าต้องการให้จิตใจเป็นอย่างนี้ ก็ทำไปตามกฎของจิตใจ เมื่อมันมีความถูกต้องทั้งทางกายและทางจิตใจ ชีวิตนี้มันก็ไม่มีปัญหา คือไม่ๆ อาจจะเกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ นี่เรามีหน้าที่ที่จะต้องทำให้ถูกต้อง ตามกฎของธรรมชาติ นั่นแหละคือตัวธรรมะ หน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ ที่จะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาตินั่นแหละคือตัวธรรมะ การปฏิบัติธรรมะก็คือการปฏิบัติหน้าที่นั่นเอง ถ้าเราไม่ศึกษาว่ามีหน้าที่อย่างไร เราก็ปฏิบัติไม่ถูก ดังนั้นเราต้องศึกษาในขั้นแรกว่าหน้าที่นั้นเป็นอย่างไร หน้าที่นั้นเป็นอย่างไร หน้าที่นั้นเป็นอย่างไร แล้วเราปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามหน้าที่นั้นๆ ตามกฎของธรรมชาติที่บังคับอยู่อย่างตายตัวเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่ผ่อนผันสั้นยาวให้แก่ใครหรอก
เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดว่าจะอะไร จะดื้อธรรมชาติ จะดื้อกฎธรรมชาติ อย่าไปคิด อย่าไปติดสินบน อย่าไปคิดว่าจะติดสินบนกฎของธรรมชาติ หรือจะเอาตัวรอด อย่าไปคิด ป่วยการณ์ อย่าไปเอาอย่างคนที่ติดสินบนพระเจ้า อ้อนวอน บวงสรวงพระเจ้า ติดสินบนพระเจ้าให้อำนวยความต้องการ ทำไม่ได้สำหรับฝ่ายที่มันเป็น evolutionist นี่ มันเป็นวิธีของฝ่าย creationist เราเป็น evolutionist ทำไม่ได้ ทำไม่ได้ อย่าไปคิดว่าจะทำเลย จงพอใจยินดี สมัครใจที่จะทำให้ถูกตรงตามกฎของธรรมชาติ คือกฎอิทัปปัจจยตา เมื่อเรื่องอื่นมันไม่มีปัญหาก็ตามใจมัน ไม่ต้องสนใจ แต่ทำเรื่องความทุกข์นี่ ทุกข์มันเป็นปัญหาที่หลีกไม่ได้ เราก็เอาใจใส่เป็นพิเศษ เรื่องที่เกี่ยวกับความดับทุกข์ จึงต้องศึกษาว่ามันมีกฎอยู่อย่างไร ฉะนั้นจะพูดไอเรื่องที่มันเป็นใจความสำคัญของเรื่องทุกข์และดับทุกข์บ้างสักเล็กน้อย จะพูดมากก็คงจะป่วยการ คือจำไม่ได้ ไปหาหนังสือเรื่องนั้นอ่านดีกว่า แต่จะพูดเท่าที่ จะพอเข้าใจได้ และจำได้
เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ข้อแรก เรียกว่าอายตนะภายใน เรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่ามีอายตนะภายใน คำแปลกๆ เหล่านี้ถ้าจำได้ก็ดีนะ ถ้าถือว่าเป็นคำบาลี จำยากไม่อยากจำก็ มันก็อยู่แค่นั้นแหละ มันตันอยู่แค่นั้นแหละ อุตส่าห์จำไว้บ้างสิ คำมันจะแปลกไปบ้าง เรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับสัมผัสสิ่งภายนอก จึงเรียกว่าอายตนะภายใน อายตนะนี่แปลว่าเครื่องให้รู้สึก เครื่องให้รู้สึก หรือติดต่อได้ ทีนี้ในโลกนี้มันก็มี อายตนะภายนอก คือรู้ที่มากระทบ คือรูปที่จะมากระทบ จากเสียงที่จะมาก็ได้กระทบหู กลิ่นที่จะมากระทบจมูก รสที่จะมากระทบลิ้น สัมผัสต่างๆ ที่จะมากระทบผิวหนัง แล้วความคิดนึกที่จะมากระทบจิต กระทบใจ มันก็ ๖ อีกเหมือนกัน อายตนะภายในมันมี ๖ อายตนะภายนอกมันก็มี ๖ มันเป็นคู่ เป็นคู่ เป็นคู่ คู่เฉพาะกันไปด้วย นี่หมวดที่ ๒ ที่เราต้องรู้
ทีนี้มันก็ๆๆๆ พบกันหรือเนื่องกัน เรามีตาก็พบกับรูป เรามีหูก็พบกับเสียง ในวันหนึ่ง วันหนึ่ง ตามโอกาส บางโอกาส ตากระทบกับรูป บางโอกาส หูกระทบกับเสียง บางโอกาสก็ ลิ้นกระทบกับรส แล้วแต่ พอมันมีการกระทบตามคู่ของมัน เช่นตากระทบรูป มันก็เกิดการเห็นทางตา เรียกว่าวิญญาณ มันจึงเกิดวิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก วิญญาณทางลิ้น วิญญาณทางกาย วิญญาณทางใจ มันก็ ๖ อีกเหมือนกัน เพราะว่ามันมี ๖ อายตนะภายในก็มี ๖ อายตนะภายนอกก็มี ๖ พอเนื่องกันเกิดวิญญาณ วิญญาณก็พลอยมี ๖
ทีนี้สามอย่างแล้วนะ อายตนะภายในคือตา อายตนะภายนอกคือรูปที่มาเนื่องกับตา เกิดวิญญาณทางตาขึ้นมาเป็นสามอย่างแล้ว สามอย่างนี้ ต้องเข้าใจว่ามันมีสามอย่างอย่างไร มันมี มีตา มีรูปมาเกี่ยวข้องกับตา แล้วก็มีวิญญาณทางตาเกิดขึ้น สามอย่างนี้กำลังทำความรู้สึกอยู่ ทำหน้าที่กันอยู่ คือวิญญาณทางตาเกิดขึ้น รู้แจ้งไอ้สิ่งที่มากระทบ สามอย่างนี้กำลังทำหน้าที่ของมันร่วมกันอยู่ ที่เขาเรียกว่า ผัสสะ หรือสัมผัส แล้วแต่ เรียกสั้นๆ ว่า ผัสสะ เรียกยาวๆ ก็มัน ก็เรียกว่าสัมผัส มันก็เลยกล่าว เกิดสัมผัสทางตา สัมผัสทางหู สัมผัสทางจมูก สัมผัสทางลิ้น สัมผัสทางผิวหนัง สัมผัสทางใจขึ้นมาอีก ๖ อย่างนี่แหละ มัน ๖ ทั้งนั้นเลย ก็เพราะไอ้ต้นแรกมันมี ๖ ที่นี้เรื่องสัมผัสนี่ ไอ้ตัวนี้ตัวร้ายที่สุดหละที่จะเป็นปัญหาทั้งหลายเกิดขึ้น ก็เพราะไอ้สิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ หรือ สัมผัสนี้ แต่เราจะว่าไปให้ตลอด
ทีนี้มันมีสัมผัสหรือผัสสะแล้ว มันก็เกิดความรู้สึก เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า เวทนา เวทนา เวทนาที่เกิดทางตา เวทนาที่เกิดเพราะสัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดเพราะสัมผัสทางหู เวทนาที่เกิดเพราะสัมผัสทางจมูก เวทนาที่เกิดเพราะสัมผัสทางลิ้น เวทนาที่เกิดเพราะสัมผัสทางผิวหนัง เวทนาที่เกิดเพราะสัมผัสทางใจ เราเรียกสั้นๆ ว่า เวทนาทางตา เวทนาทางหู ก็ได้เหมือนกันเรียกสั้นๆ แต่ถ้าเรียกให้ครบ เรียกให้ถูกต้องก็ว่า เวทนาที่เกิดจากการสัมผัสทางตา นี่เรียกสั้นๆ ว่าเวทนาทางตา เวทนาที่เกิดจากการสัมผัสทางหู เรียกสั้นๆ ว่า เวทนาทางหู เวทนาก็ได้ ๖ อีกเหมือนกัน
อ้าว ทีนี้ในกรณีทั่วไปของปุถุชนคนโง่ มันไม่มีปัญญา ไม่มีวิชชา ไม่มีสติในการสัมผัส เวทนานี้มันก็พร้อมที่จะหลอกให้ยินดี เป็นสุขเวทนา หลอกให้ยินร้าย ก็เป็นทุกขเวทนา หรือบางทีก็มีพวกหนึ่งซึ่งไม่อาจจะพูดว่ายินดีหรือยินร้าย คือไม่ใช่สุขหรือไม่ใช่ทุกข์ แต่ก็สักว่าเวทนาทั้งนั้นแหละ และเวทนาก็มี ๖ ตามฐานมันเกิด แต่ถ้าว่ามันโง่ เมื่อผัสสะมันโง่ เมื่อผัสสะไม่มีปัญญา ไม่มีวิชชา เมื่อมีผัสสะ เวทนานี้ก็ออกมาในรูปแบบที่จะทำให้โง่ คือให้รู้สึกว่าเป็นสุข ก็พอใจหลงใหล รู้สึกว่าเป็นทุกข์ก็เกลียดชัง โกรธแค้นขึ้นมา หรือถ้าไม่ทุกข์ไม่สุขก็ให้มัน มันเฉยอยู่ด้วยความโง่ เฉยอยู่ด้วยความสงสัย เฉยอยู่ด้วยความจะต้องรู้ อยากจะรู้ต่อไป นี่เวทนาได้เกิดขึ้นในรูปแบบที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเฉยๆ หรือว่าไม่สุขไม่ทุกข์ นี่ทีนี้เวทนานี้แหละมันจะทำให้เกิดตัณหา ตัณหาคือความอยากไปตามเวทนานั้น ถ้าเวทนานั้นเป็นสุขเวทนา คือเป็นที่พอใจ มันก็เกิดตัณหา คือความอยากจะได้ อยากจะเอา อยากจะเป็นนั่นหละ ถ้ามันเป็นสุขเวทนา ทีนี้ถ้ามันเป็นทุกขเวทนา มันก็อยากที่จะไม่เอาไม่เป็นหรืออยากจะทำลายเสีย อยากจะทำลายเสียนั่นแหละ ถ้ามันเป็นทุกขเวทนา ถ้าว่ามันไม่สุข ไม่ทุกข์ มันก็ยังอยาก ไม่แน่นอน แต่มันอยากรู้อยากเข้าใจ อยากรู้แจ้งว่ามันควรจะได้อย่างไร ควรจะทำอย่างไร มันก็คาราคาซังกันอยู่
นี่เวทนาเกิดตัณหาอย่างนี้ ตัณหาคือความอยาก ความอยากนี้เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ ถ้ามันรู้ มันไม่อยาก ถ้ามันรู้ว่าเป็นธรรมชาติเช่นนั้นเอง เป็นอย่างนั้น เช่นนั้นเอง มันก็ไม่อยากหรอก เดี๋ยวนี้มันไม่รู้ เพราะมันโง่ มันมีอวิชชา มาตั้งแต่ตอนผัสสะโน่น มันก็จึงหลงอยาก ไอที่น่ารักน่าพอใจ เรียกว่า อยากที่จะได้ อยากที่จะมี อยากที่จะเป็น พวกหนึ่ง แล้วก็ดิ้นเร่าๆ ไปตามความอยากชนิดนั้น ทีนี้ถ้าว่ามันไม่เป็นที่พอใจ มันเป็นทุกข์ มันก็อยากจะทำลายเสีย อยากจะพ้นไปเสีย อยากจะเลิกร้างเสีย มันก็เดือดร้อนไปตามความอยากชนิดนั้น ถ้ามันไม่เป็นที่แน่นอนลงไปว่า น่ารัก หรือไม่น่ารัก มันก็เฝ้าพะวงสงสัยอยู่นั่นแหละ มันก็วนเวียนอยู่นั่นแหละ เหมือนกับเป็นความอยากที่ไม่รู้จะเอาอย่างไรแน่ ถ้าน่ารักน่าพอใจ มันก็เกิดความอยากได้ ไม่น่ารักไม่น่าพอใจมันก็เกิดความขัดเคือง ที่ว่ายังไม่แน่นอนว่าอย่างไร มันก็เกิดความรู้สึกที่วนเวียน พัวพันอยู่นั่นแหละ หลีกไปไม่ได้ เพราะมันเชื่อว่ามันมีค่า มันมีประโยชน์ มันมีความหมายอยู่ในสิ่งนั้น เพียงเท่านี้เราก็เป็นทุกข์ซะแล้ว แล้วก็เริ่มเป็นทุกข์เสียแล้ว เพราะความอยากแต่ละอย่าง ละอย่าง นี้มันบีบคั้นหัวใจ เราก็เริ่มเป็นทุกข์เสียแล้ว
ทีนี้มันไม่หยุดแค่นั้นหรอก ไอความอยากแต่ละอย่างนี้ มันปรุงให้เกิดความรู้สึกขั้นต่อไป ที่เขาเรียกว่าอุปาทาน อุปาทาน คือความรู้สึกขึ้นมาว่ากู มีกูเป็นผู้อยาก กูอยากได้มาเป็นของกู ตอนนี้คือทุกข์เต็มที่ ทีแรกเกิดแต่ความอยากเฉยๆ นะมันน่าหัวนะ ถ้าว่าพูดตาม logic แล้วมันผิด logic ที่มันเกิดความอยากก่อนผู้อยากนี้ มันเกิดความอยากขึ้นมาในจิตใจก่อน แล้วมันจึงเกิดความรู้สึกตัวกูผู้อยาก ผู้อยากมันเกิดทีหลังความอยาก logic ธรรมดามันก็ใช้ไม่ได้ แต่ความจริงของธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น มันเกิดความรู้สึกที่อยากอย่างยิ่งขึ้นในจิตก่อน แล้วจากความรู้สึกที่เป็นความอยากนี้มันปรุงความคิดว่ากู กู กูอยาก กูต้องการ กูจะได้เอามาเป็นของกู ตอนนี้เกิดมีกู ตัวตนเกิดตรงนี้ ก่อนนี้ตัวตนไม่มี ตัวตนเกิดตรงนี้ เพิ่งเกิดจากความอยาก ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าตัวตนนั้นเป็นเพียงมายาเท่านั้น ไม่ใช่ตัวจริง ไม่ใช่ของจริง มันเป็นความรู้สึกเท่านั้น เป็นความรู้สึกที่ปรุงกันมาตามลำดับจากความอยาก ปรุงมาเป็นความรู้สึกว่ามีตัวตนผู้อยาก ผู้อยากได้มาเป็นของตน นี่รู้คำที่ว่า เป็นอนัตตา อนัตตา มิใช่ตน เพราะมันเป็นเพียงไอ้คำปรุงของความโง่ ของอวิชชา ตัวตนไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง
พอมีตัวตนมีของตนแล้ว อะไรๆ มันก็เอามาเป็นของตนหมด ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความได้ ความเสียอะไรมาเป็นของตนหมด เลยเรื่องมันลุกลาม สำหรับที่จะเป็นทุกข์ไปเสียทุกอย่าง ความแก่เป็นของธรรมชาติ ก็เอามาเป็นความแก่ของกู ความเจ็บเป็นของธรรมชาติ ก็เอาความเจ็บมาเป็นของกู ความตายเป็นของธรรมชาติ ก็เอามาเป็นความตายของกู แล้วมันจะไม่เป็นทุกข์อย่างไร ทีนี้ของที่ใกล้ตัวกว่านั้น เงินทอง ข้าวของ บุตร ภรรยาสามี ซึ่งมันเป็นไปตามธรรมชาติ มันก็เอามาเป็นของกู เงินทองข้าวของของกู ทรัพย์สมบัติพัสถานของกู เพราะเหตุนี้ คนมันจึงต้องเป็นทุกข์ ไปตามไอ้สิ่งที่มันยึดถือว่าเป็นของกู จึงมีคำกล่าวว่าคนมีเงินก็เป็นทุกข์เพราะเงิน คนมีทองก็เป็นทุกข์เพราะทอง คนมีนาก็เป็นทุกข์เพราะนา คนมีวัวก็เป็นทุกข์เพราะวัว คนมีอะไรที่มันยึดถือ มีอะไรที่มันยึดถือว่าเป็นของตน มันจะต้องเป็นทุกข์เพราะเหตุนั้น กระทั่งว่าเรายึดถือชีวิตว่าของเราอย่างนี้ ชีวิตนี้ก็เป็นของหนัก ทรมานจิตใจขึ้นมาทันที ความหนักที่ไปยึดถือว่าเป็นของตนนั่นแหละ เป็นตัวความทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือมาเป็นของตน มันก็ไม่เป็นความทุกข์ ทุกอย่างแหละในตัวก็ดี นอกตัวก็ดี ถ้าไม่ยึดถือว่าเป็นของตน ถ้าไม่โง่ยึดถือว่าเป็นของตน มันไม่หนัก มันไม่เป็นของหนัก ชีวิตนี้ถ้าไม่ยึดถือว่าเป็นของตน มันก็ไม่หนัก พอจะยึดถือว่าเป็นของตน มันเป็นชีวิตที่หนัก
ท่านเรียกโดยคำภาษาธรรมะว่า ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือตัวชีวิตที่ประกอบกันอยู่ พอยึดถือว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้เป็นของตน มันก็หนัก ก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือว่าของตน เพราะรู้แจ้งเห็นจริงว่าไม่ใช่ของตน ไม่ยึดถือ มันก็ไม่หนักไม่เป็นทุกข์ ตามหลักพุทธศาสนากล่าวได้ว่า มันเป็นทุกข์เพราะยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน ซึ่งมาจากตัณหา ที่พูดมาแล้ว เห็นได้ตัณหาให้เกิดอุปาทาน อุปาทานยึดถือแล้วจึงเป็นทุกข์ แล้วจะต้องพูดว่าทุกข์นี้เกิดมาจากอุปาทาน โดยตรงเลย จะพูดว่าเกิดมาจากตัณหาก็ได้ เพราะว่าตัณหามันให้เกิดอุปาทานเสมอไป
นี่มีเท่านี้แหละ ไอ้หลักสำคัญที่เป็นหัวใจของอิทัปปัจจยตา เกี่ยวกับเกิดทุกข์ ดับทุกข์มันมีเท่านี้ แต่รายละเอียดมันมีมากกว่านี้ แต่นี่จะพูดแต่โดยหลักสำคัญ ของแนวที่สำคัญที่ต้องรู้ก่อน ว่าความทุกข์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เราเรียนสิ่งแรกก็คือสิ่งนี้ จะเรียกว่าเป็น A B C ของพุทธศาสนา หรือเป็น กอขอ กอกา ของพุทธศาสนาก็ได้ มาเรียนหนังสือวันแรก มาเรียน กอขอ กอกา และมาเรียนพระพุทธศาสนาวันแรก เขาให้เรียนเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชุดหนึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กามารมณ์ ชุดหนึ่ง วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูกชุดหนึ่ง ผัสสะทางตา ผัสสะทางหูก็ชุดหนึ่ง เวทนาทางตาทางหู ก็ชุดหนึ่ง นี่ ๕ ชุดนี่ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก ผัสสะ เวทนา อาตยนะภายใน อาตยนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนา ๕ ชุดๆ ละ ๖ ตัวหนังสือ ๓๐ ตัว กอขอ นี้มี ๓๐ ตัว มี ๕ หมวดๆ ละ ๖ ตัว และเรียนรู้ไปด้วยว่ามันทำกันอย่างไร จึงเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา
สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในตัวคนนั่นแหละ ไม่ใช่มีอยู่ที่ไหนไปหาที่อื่นไม่พบหรอก มันอยู่ในตัวคน หมวดที่แรก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ ตัว หมวดที่สอง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กามารมณ์ ๖ ตัว หมวดที่สาม วิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ๖ ตัว หมวดที่สี่ เวทนา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ๖ ตัว อายตนะภายใน อาตยนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนา ทีนี้ว่าเกิดตัณหา เกิดอุปาทานนั้นเรื่อยๆ ไป เราจะนับเพียง ๕ หมวดๆ ละ ๖ เหมือนกับ กอขอ ๓๐ ตัว ถ้าใครไม่รู้จัก ก็ไม่มีทางที่จะเรียนพุทธศาสนาหละ ให้ฟังให้จดให้จำไปเท่าไร มันก็ไม่มีทางที่จะรู้ๆๆ การดับทุกข์ ถ้าจะรู้การดับทุกข์ มันต้องรู้ไอ้ๆๆ ๕ หมวด หมวดละ ๖ นี้ และต่อไปนั้นก็รู้เรื่องตัณหาเรื่องอุปาทานเรื่องทุกข์ต่อไปเรื่อยๆ ไป ถ้าเห็นว่าเป็นของคร่ำครึ โบรงโบราณไม่มีประโยชน์ ไม่สนใจ ก็เลิกกันสิ ก็ไม่ต้องเรียนก็ได้ แต่ถ้าจะเห็นว่านี้ไม่ใช่เรื่องคร่ำครึเป็นเรื่องเป็นเรื่องตาย เรื่องสุข เรื่องทุกข์ โดยตรงแล้ว ก็เป็นขอให้สนใจให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดแรกคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันมีความสำคัญเท่าไร ถ้าคนแต่ละคน ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้วมันจะมีเหรอ มันก็ไม่มีอะไร มันก็เลิกกัน ชีวิตมันก็ไม่มี ไม่ต้องมีกัน เพราะมันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่สัมผัสได้ ไอ้โลกนี้มันจึงมี ฟังออกหรือไม่ออก โลกนี้มันมีเพราะว่าสัตว์มันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าสัตว์มันเกิดไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ โลกนี้มันก็ไม่มี มันก็ไม่มีอะไร ปัญหามันก็ไม่มี ความทุกข์มันก็ไม่มี เพราะเหตุว่ามันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ทำให้สิ่งข้างนอกมี พอสิ่งข้างนอกมีก็มากระทบกับสิ่งข้างใน มันก็ทำให้เกิดเรื่องทางจิตทางใจเป็นกิเลสตัณหาขึ้นมา
นี่ก็คือตัวพุทธศาสนา ที่จะต้องรู้ เพื่อจะได้รู้ว่าเรามีหน้าที่อย่างไร เรามีหน้าที่ที่จะดับทุกข์กันที่ตรงนี้ เรามีหน้าที่ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าความทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว เรามีหน้าที่ที่จะดับมันเสีย ก็รู้ว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นมาเพราะทำผิด เรื่องเกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าทำให้ถูก เอ้ย ทำให้ผิด เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำแต่ให้มันถูก ตามกฎเกณฑ์ของเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉลาดให้ทันควัน เมื่อผัสสะ เมื่อมีผัสสะ แล้วก็ฉลาดให้ทันควันอย่าโง่ ถ้าโง่มันจะออกมาเป็นเวทนาโง่แล้วก็อย่ามีความอยากที่โง่ คือ ตัณหา แล้วก็อุปาทานก็เป็นทุกข์ คนเราต้องฉลาดให้ทันเวลาที่มีผัสสะ อะไรมากระทบตา กระทบหู กระทบจมูกก็ตาม อันนั้นเรียกผัสสะ ต้องฉลาดให้ทันเวลานั้น ถ้าฉลาดไม่ทันเวลา แน่นอนต้องเกิดความทุกข์ ต้องฝึกความฉลาดที่เรียกว่าปัญญาไว้ให้เพียงพอ แล้วต้องฝึกสติ สติ เครื่องขนส่ง ขนส่งเอาปัญญามาให้ทันเวลาให้เพียงพอ ให้สติเพียงพอ ให้ปัญญาเพียงพอ แล้วมันก็มีหวังที่จะป้องกันความทุกข์ หรือดับความทุกข์ได้ ไอ้เรื่องฝึกสติอย่างไร ฝึกปัญญาอย่างไร เป็นเรื่องใหญ่ ไว้ศึกษากันคราวอื่นก็ได้ แต่คราวนี้รู้ว่าเราต้องมีสติ ขนเอาปัญญาที่เราศึกษาไว้มาทันในเวลาที่มีผัสสะ ให้เป็นผัสสะที่ฉลาดไว้เสมอไป มันก็จะไม่เกิดกิเลส ถ้ามันโง่เมื่อผัสสะ และต่อไปนั้นก็เหลือแต่การเกิดกิเลส ก็ต้องเป็นทุกข์ ปัญญามาทันในขณะแห่งผัสสะ โอ้มัน โอ้ โอ้ นี่มันเป็นตามธรรมชาติเท่านั้นโว้ย เป็นอย่างนี้เองตามธรรมชาติเท่านั้นโว้ย มันไม่ให้ความหมายมากกว่านั้น ถ้าเกิดเวทนาออกมา อันนี้ก็เป็นเวทนาตามธรรมชาติ จะไม่ไปหลงรักที่น่ารัก ไม่หลงโกรธที่น่าโกรธ หรือไม่กลัวที่น่ากลัว ไม่เกลียดที่น่าเกลียดไปหมด นี่มันหยุดเสีย มันไม่เกิดกิเลส มันฉลาดให้ทันเวลา ยืมคำของพวกฝรั่งมาใช้บ้างก็ได้ ที่ว่าฉลาดให้ทันเวลานี้ เขาพูดกันอยู่ก่อนแล้วนะ พวกฝรั่งเขาพูดว่า Be wise in time ฉลาดทันเวลา นี่ก็คือหลักปฏิบัติในพุทธศาสนา ทันเวลาแห่งผัสสะ ทันเวลาเมื่อผัสสะ คนเรามีผัสสะทุกวัน วันละมากๆ ครั้ง พอไม่ฉลาดทันเวลา ผัสสะหนึ่งมันเกิดความทุกข์อย่างหนึ่งเสมอ ถ้าฉลาดทันเวลามันควบคุมได้ ไม่ให้เกิดไอ้ตัณหา ไม่ให้เกิดกิเลส ถ้าไม่ทันเวลา จิตมันก็ปรุงไปเป็นกิเลส ตัณหามันก็เป็นทุกข์
ฉะนั้นฝึกสติไว้ให้พอ ฝึกปัญญาไว้ให้พอ ศึกษาเรื่องปัญญาไว้ให้พอ ฝึกสติไว้ให้เร็วพอ อย่าให้มันงุ่มง่ามอยู่ เพราะว่าเรื่องของจิตนี้ มันไวเหมือนกับฟ้าแลบ ไวเท่าสายฟ้าแลบ มันจะต้องฝึกไว้ให้เพียงพอ มีสติเร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ ระลึกตัวได้ทันควันเมื่อมีผัสสะ แล้วก็ออกมาเป็นเวทนาที่ฉลาด อ๋อ มันอย่างนี้เอง มันเช่นนี้เอง ตามธรรมชาติเช่นนี้เอง กูจะไม่โง่ ไปหลงรัก หลงเกลียด หลงกลัวมึง นี่เท่านี้แหละ แล้วเรื่องมันก็หยุดเท่านั้นแหละ มันก็ไม่เกิดไอ้กิเลสและความทุกข์
นี่เรื่องสั้นๆ มีเท่านี้แหละ เรื่องที่จะ จะหยุดความทุกข์ โดยกฎอิทัปปัจจยตา ที่ว่ามันเกิดความทุกข์ขึ้นมาลำดับๆ นี้ มันก็คืออิทัปปัจจยตา ฝ่ายเกิด คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีวิญญาณ มีผัสสะ มีเวทนา มีตัณหา อุปาทาน นี่อิทัปปัจจยตา ฝ่ายเกิดทุกข์ ทีนี้เราหยุดมันเสียตรงผัสสะ มีสติมีปัญญามาจัดการผัสสะให้หายโง่ อย่าให้โง่ เวทนาไม่โง่ ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน ความทุกข์มันก็อยู่ตามกฎอิทัปปัจจยตา ไม่ต้องเอาผีสางเทวดามาช่วยหรอก ทำให้ถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจยตา ความทุกข์ก็ดับ ทีนี้คนเป็นอันมากเขาไม่รู้เรื่องนี้ เขาก็คิดว่ามันเป็นไปตามกรรมเก่าบ้าง ผีสางเทวดาบ้าง เขาก็นั่งร้องไห้อยู่บ้าง อ้อนวอนเทวดาบ้าง บวงสรวงเทวดาบ้าง เสียเงินเสียทองกันเป็นการใหญ่ นี้ไม่ใช่พุทธบริษัท เพราะมันเป็นคนหลับตา พุทธบริษัทแปลว่าคนลืมตา นี้ก็คงไม่รู้หรอก กล้าพูดว่าครูบาอาจารย์อันนี้ไม่รู้หรอก คำว่าพุทธะมันแปลว่าลืมตา ถ้าหลับตาเรียกว่ามันเป็น ไอ้ไม่ใช่พุทธะ ไอ พุทธะในภาษาบาลีมันแปลว่า ตื่นจากหลับคือลืมตา ถ้าหลับมันเป็นไสยะ ไสยะ ไสยศาสตร์ ศาสตร์แห่งความหลับ พุทธศาสตร์ ศาสตร์แห่งความตื่น ไม่ใช่ตื่นกลัวนะ ตื่นคือลืมตา เห็นอะไรตามที่เป็นจริง ฉะนั้นถ้าใครถือไสยศาสตร์อยู่ ก็ให้รู้เถิดว่าถือศาสตร์หลับ ศาสตร์สำหรับหลับ ถ้าถือพุทธศาสตร์ นี่ศาสตร์สำหรับลืมตา
ใครแขวนพระเครื่องบ้าง ที่คอน่ะ ใครแขวนพระเครื่องบ้าง อย่าแขวนเป็นไสยศาสตร์นะ แขวนเป็นพุทธศาสตร์ดีกว่านะ ถ้าจะแขวนพระเครื่องกันบ้าง ก็แขวนอย่างพุทธศาสตร์ เป็นเครื่องเตือนสติถึงกฎ อิทัปปัจจยตา เอามาแขวนไว้ที่คอ แต่ถ้าแขวนอย่างว่ามันจะช่วย จะเป็นของศักดิ์สิทธิ์มาช่วย อย่างนั้นเป็นไสยศาสตร์ ไม่ใช่พุทธศาสนาและไม่ใช่พุทธบริษัท พุทธบริษัทจะแขวนพระเครื่องบ้างก็ขอให้แขวนอย่างที่ว่าเป็นเครื่องเตือน อย่าให้ลืมพระพุทธเจ้า อย่าให้ลืมการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อย่าให้ลืมกฎอิทัปปัจจยตานั่น อย่างนี้เป็นพุทธศาสตร์ มันจะได้ทำให้ถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตาแล้วมันเกิดความทุกข์ไม่ได้ มันมีเท่านั้นแหละ มันเกิดความทุกข์ไม่ได้ เพราะมันมีความรู้ต่อกฎอิทัปปัจจัยตารวดเร็วทันควันทันที มันป้องกัน เกิดทุกข์ไม่ได้ เรามีความถูกต้องในทางที่จะเกิดความทุกข์ไม่ได้ เพราะว่าเรารู้เรื่องนี้ดี เพราะว่าเรารู้เรื่องกฎ อิทัปปัจจตยาดี จนรู้ว่าทำอย่างไร จึงจะไม่เกิดทุกข์ เมื่อมีสติอยู่เสมอก็ไม่เกิดทุกข์ ขอให้มีสติรู้ มีสติที่เอาปัญญามานั้น ปัญญากับสติมันทำงานร่วมกัน สติมันระลึกถึงความรู้หรือปัญญา แล้วมันเอามาทันเวลา ที่มันเกิดเรื่องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือว่า หรือจะพูดว่า เมื่อเราจะทำอะไรก็ตาม ขออย่าลืม อย่าลืม อย่าลืม อิทัปปัจจตยา ขอให้ถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจตยาอยู่เสมอ แล้วก็จะทำไปแต่ในทางที่จะไม่เกิดความทุกข์ มีความถูกต้อง มีความถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจตยา คำว่าถูกต้องคือถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจตยา ผลของมันก็คือไม่มีความทุกข์ทั้งเราเองและผู้อื่น ถ้ามันถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจตยาแล้ว มันจะมีผลถูกต้องขึ้นมาคือไม่มีใครเป็นทุกข์เลย จงจัดให้มันถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจตยาแล้วก็ไม่มีใครเป็นทุกข์เลย อยู่เสมอไป อยู่เสมอไป
เอาละก็จะบอกคาถาที่สำคัญที่สุดว่า ถูกต้อง ถูกต้อง พอใจ ถูกต้อง พอใจ คือฉันไม่ได้ทำผิด ฉันไม่ได้โง่ ฉันทำถูกต้องอยู่ แล้วฉันก็รู้สึกว่ามันถูกต้อง แล้วฉันก็พอใจ ถ้าได้อย่างนี้แล้ว เป็น เป็นเครื่องรางคุ้มครองไม่ให้มีความทุกข์เลย แต่ถ้าไม่ถูกต้องอย่างนี้แล้ว ให้แขวนพระเครื่องสัก ๑๐ กิโล ก็ไม่ๆ กันได้ ไม่คุ้มครองได้ แขวนให้คอหัก มันก็ไม่คุ้มครองอะไรได้ แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะให้มันถูกต้องอยู่เสมอแล้วพอใจแล้ว ไม่ต้องแขวนพระเครื่องก็ได้ จะไม่มีความทุกข์เลย เพราะอย่างนี้จึงเกิดทุกข์ตามแบบที่ว่าให้ฟังแล้ว เมื่อกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างไร อย่างไร อย่างไรก็เกิดทุกข์ เรารู้ทันอย่างไร อย่างไร จึงไม่เกิดทุกข์ คือถูกต้อง เมื่อประพฤติปฏิบัติถูกต้อง มันก็ไม่เกิดทุกข์ นั่นหละคือเราปฏิบัติหน้าที่อย่างสูงสุด หน้าที่ ธรรมะ ธรรมะ หน้าที่ หน้าที่ ธรรมะอย่างสูงสุด ให้มันมีความรู้สึกว่าถูกต้องอยู่ทุกอิริยาบถ
ยกตัวอย่าง ไม่ใช่ยกตัวอย่างหละ คือ ชี้ระบุไปยังไอ้ตัวอย่างที่มันจะ จะต้องสังเกต จะต้อง พอตื่นนอนขึ้นมา มีสติให้รู้ว่ามันถูกต้องแล้ว ที่มันนอนมาคืนหนึ่งนี้มันถูกต้องแล้ว เป็นสิ่งที่กระทำถูกต้องแล้ว ไม่ไปเที่ยวดูหนังดูละคร มันไปบ้าบอที่ไหน มันนอนมาหนึ่งคืน มันถูกต้องแล้ว แล้วก็พอใจ ถ้ามันรู้สึกอย่างนี้ มีความสุขไหม คิดดูสิ ถ้าพอตื่นนอนขึ้นมา บอกตัวเองได้ว่ามันถูกต้องแล้ว แล้วฉันพอใจ มันเป็นความสุขหรือไม่ ลองคิดดูสิ ทีนี้ฉันจะก้าวขา ก่อนที่จะลุกขึ้นมานี่ ก่อนที่จะลุกขึ้นมาจากที่นอนนี้ ฉันจะต้องรู้ว่าฉันจะทำอะไรให้มันถูกต้องและพอใจ ก็ถูกต้องและพอใจ ลุกขึ้นมาก็ถูกต้องและพอใจ ไปล้างหน้า ทุกๆ ก้าว ที่ก้าวไปหาที่ล้างหน้า มันก็ถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและพอใจไม่ทุกข์ละ ไปจับขันมาล้างหน้า ก็ถูกต้องและพอใจ อยู่ตลอดเวลา ล้างหน้าแล้วก็ถูกต้องแล้วพอใจ ถูฟัน ถูฟัน อ้าวก็ถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและพอใจ ล้างหน้าเสร็จก็ถูกต้องและพอใจ กลับมาก็ถูกต้องและพอใจ มาทำไม มากินข้าว อ้อ ก็ถูกต้องและพอใจทุกก้าวย่างที่มันจะไปที่กินข้าว หยิบจานมาก็ถูกต้องและพอใจ ตักข้าวถูกต้องพอใจ จะตักแกงถูกต้องพอใจ กินเคี้ยวก็ถูกต้องพอใจ เคี้ยวอยู่ก็ถูกต้องพอใจ ฉะนั้นมันมีสติควบคุมความถูกต้องไว้ได้อย่างนี้สิ มันก็เป็นสุขทุกอิริยาบถ กินข้าวแล้ว มันจะไปไหน ก็ทุกก้าวย่างแหละ มันถูกต้องและพอใจ มันจะลงบันได ขึ้นรถไปทำงาน อ้าว มันก็ถูกต้องและพอใจ ทุกก้าวย่างนั่งอยู่ในรถ พอใจทุกก้าวย่าง ไปออฟฟิศแล้วก็ถูกต้องและพอใจ ทำงานถูกต้องและพอใจ ถ้าเหนื่อยหยุดพัก แล้วก็ถูกต้องและพอใจ เพราะมันเหนื่อย มันก็ต้องหยุดพักแล้วมันก็ถูกต้องและพอใจ ทั้งเมื่อทำงานทั้งเมื่อพักเหนื่อย ทำอย่างนี้จนมันสิ้นวัน มันถูกต้องและพอใจอยู่ทั้งวันแหละ
ถ้าเป็นครูอยู่หน้ากระดานดำแล้วมันก็มีความถูกต้อง พอใจอยู่ทุกก้าวย่าง เต้นไปเต้นมาอยู่หน้ากระดานดำนั่นแหละ นี่เรียกมีความสุขเพราะความรู้สึกว่าถูกต้องและพอใจ อ้าว เย็นแล้วจะกลับบ้าน ก็ถูกต้องและพอใจทุกก้าวย่าง กลับมาถึงบ้าน อาบน้ำกินข้าวแล้วก็เหมือนกันแหละ มันถูกต้องและพอใจ ถ้าจะนอน พอจะนอน เตรียมพร้อมจะนอน ถูกต้องและพอใจ ไปห้องนอน ก่อนแต่จะนอน คิดบัญชีกันเสียหน่อย คิดบัญชีกันหน่อย ทั้งวัน มีแต่ถูกต้องและพอใจ ไม่มีผิดพลาดเลย ถูกต้องและพอใจทั้งวัน ไม่มีผิดพลาดเลย ยกมือไหว้ตัวเองเสียที นั่นแหละคือสวรรค์แหละ รู้ไว้เถอะ นั่นแหละคือสวรรค์ที่แท้จริง ที่ไม่หลอกใคร ไม่หลอกลวงใคร มันมีความรู้สึกชนิดที่ยกมือไหว้ตัวเองได้ นั่นแหละคือสวรรค์ สวรรค์ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เป็นสวรรค์จริง สวรรค์ไม่หลอก สวรรค์ต่อตายแล้วไม่มีใครรับประกัน อย่าไปหวังกับมันนัก แต่ขอให้แน่ใจอยู่สักอย่างหนึ่งว่า ไอ้สวรรค์ต่อตายแล้ว มันขึ้นอยู่กับสวรรค์นี้ สวรรค์เดี๋ยวนี้ สวรรค์ที่ฉันยกมือไหว้ตัวเองได้นี่ ถ้าฉันทำเป็นยกมือไหว้ตัวเองได้ เป็นสวรรค์ที่นี่แล้ว สวรรค์ต่อตายแล้ว เป็นได้หมด แน่นอน ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวนี้ ยังไม่ต้องนึกถึงสวรรค์ต่อตายแล้ว สวรรค์จริงๆ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ทำอะไรขึ้นยกมือไหว้ตัวเองได้ สวรรค์
ทีนี้ถ้าเราเกลียดตัวเองขั้นมาเมื่อไหร่ นั้นมันเป็นนรก นรกแท้จริงทีเดียว ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ตายแล้วมันไปตกนรกทุกชนิดแหละ ถ้ามันตกนรกที่นี่เดี๋ยวนี้เสียแล้ว ตายแล้วมันไปตกนรกทุกชนิด ถ้ามันได้สวรรค์ที่นี่เดี๋ยวนี้เสียแล้ว ตายแล้วไปได้สวรรค์ทุกชนิด นี่เราควบคุมได้อย่างนี้ไม่ดีเหรอ มันเป็นนรกและสวรรค์ที่เราควบคุมได้ พระพุทธเจ้าท่านไม่เชื่อตามที่คนแต่ก่อนเขาเชื่อ ไอ้คนก่อนพระพุทธเจ้าเขาก็เชื่อว่านรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้า เชื่ออยู่ก่อนพระพุทธเจ้า พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ท่านไม่ไปค้าน ท่านไม่ไปค้านเขาให้เสียเวลา ท่านบอกว่าสวรรค์หรือนรกนั้นมันอยู่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง ถ้าใครทำผิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เป็นนรกอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าใครมันทำถูกต้องที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เป็นสวรรค์อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกคนเหล่านั้น ที่เชื่อว่า นรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้าเสียใหม่ บอกว่ามันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ทำผิดหรือทำถูก นรกที่นี่ ฉันเห็นแล้ว สวรรค์ที่นี่ ฉันเห็นแล้ว ท่านบอกอย่างนี้เพื่อไม่ทะเลาะกับเขา และไม่ไปคัดค้านกับเขา นรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้านั้นเป็นของเก่า ก่อนพระพุทธเจ้า เป็นของคนที่ยังไม่รู้จัก ไอ้นรก สวรรค์ชนิดที่แท้จริง เขาจึงควบคุมนรกกับสวรรค์ไม่ได้ สร้างนรก สวรรค์ไม่ได้ ปล่อยไปตามบุญตามกรรม ไอ้เรานี่ทำได้ ให้มีความถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและพอใจ เมื่อไรเป็นสวรรค์เมื่อนั้น พอจะนอน คิดบัญชีเสียที มีแต่ถูกต้องและพอใจ ยกมือไหว้แล้วนอน ในความถูกต้องนั่นแหละ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในความถูกต้องนั้น มีศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ในความถูกต้องนั้น ฉะนั้นขอให้มีความถูกต้องและพอใจอยู่ตลอดเวลาเถิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พอจะนอน สรุปรวบยอดวันนี้ มีแต่ความถูกต้องและพอใจ อะไรๆ มีหมดอยู่ในนั้น ความดีความงาม ความอะไรมีหมดอยู่ในนั้น พระพุทธก็อยู่ในนั้น พระธรรมก็อยู่ในนั้น พระสงฆ์ก็อยู่ในนั้น การปฏิบัติศีลก็อยู่ในนั้น การปฏิบัติสมาธิก็อยู่ในนั้น การปฏิบัติปัญญาก็อยู่ในนั้น มันจริง มันเป็นเรื่องจริง ไม่ต้องคาดคะเน ไม่ต้องฝากไว้กับความเชื่อ ซึ่งเป็นเหตุให้สงสัยอยู่เรื่อยไป เดี๋ยวนี้ไม่ต้องสงสัยแล้ว เพราะมันรู้สึกเยือกเย็นเป็นสุข อยู่กับใจ กับเนื้อกับตัว
นี่คือการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง ธรรมะคือหน้าที่ที่เราจะต้องทำ ที่เราปฏิบัติธรรมก็คือการทำหน้าที่ ครั้นถูกต้องแล้วเราก็ยกมือไหว้ตัวเองได้ เราก็มีสวรรค์อยู่ในกำมือของเรา อะไรที่เป็นหน้าที่ก็ทำเถิด คนทำหน้าที่อย่างคน สัตว์ทำหน้าที่อย่างสัตว์ ต้นไม้ทำหน้าที่อย่างต้นไม้ นั้นเป็นธรรมะหมด เป็นธรรมะของต้นไม้ เป็นธรรมะของสัตว์เดรัจฉาน เป็นธรรมะของมนุษย์ เดี๋ยวนี้เราเป็นมนุษย์นี่ เราก็นึกถึง ธรรมะหรือหน้าที่ของมนุษย์ก่อนสิเราจะต้องทำอะไรบ้าง ทำอย่างไรบ้าง ให้เป็นหน้าที่ที่ถูกต้องแก่ทางร่างกายแก่ทางจิตใจ แก่ตัวเอง แก่ผู้อื่น ให้มันถูกต้องให้หมด อย่าให้มีอะไรที่มันผิดพลาดจนรังเกียจตัวเอง
ฉะนั้นเราจะต้องศึกษาพอสมควร มีวิชาความรู้พอสมควร และมีสติที่รวดเร็วที่จะเอาความรู้มาควบคุมไม่ให้ผิดพลาด เมื่อมีผัสสะ เมื่อมีผัสสะ ฉะนั้นเราจะไม่ต้องทำอะไรให้มันผิด ในหน้าที่การงานทุกอย่าง ถ้ามีหน้าที่เป็นครู ก็จาระไนดูมีหน้าที่อะไรบ้างให้มันถูกไปทุกกระเบียดนิ้วเลย เป็นครูที่มีความถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว ถ้าเป็นชาวนาก็ทำนาให้ถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว ชาวสวนก็ทำสวนให้ถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว แม่ค้า ทำให้ พ่อค้า ทำให้ถูกต้องตามแบบของพ่อค้า แม่ค้า เป็นข้าราชการก็ทำให้ถูกต้องตามหน้าที่ราชการ เป็นกรรมกร ก็ทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามแบบของกรรมกร อย่าไปเห็นว่ามันเป็นต่ำทราม ถีบสามล้อก็ได้ แจวเรือจ้างก็ได้ ล้างท่อถนนก็ได้ อะไรก็ได้ ทำเถิด มันเป็นหน้าที่ ถ้าเป็นหน้าที่ก็เป็นธรรมะ ธรรมะคือสิ่งสูงสุดที่จะช่วยให้รอด ถ้ากรรมกรทำหน้าที่กรรมกรอย่างดี ไม่เท่าไรก็รอดจากการเป็นกรรมกร เดี๋ยวนี้เขาไม่อยากทำนี่ แต่เขาจะเอาเงินเท่านั้นแหละ ลัทธิกรรมกรคือทำงานแต่น้อย เอาเงินให้มาก ลัทธิกรรมกรบางอย่าง ไม่ต้องทำงานเลย เอาเงิน ไปแบ่ง ไปแย่งมาจากนายทุนก็แล้วกัน อย่างนี้มันๆๆ ผิดหลักธรรมชาติ เพราะว่าไม่ทำหน้าที่ จะอ้างว่านั้นเป็นหน้าที่ไม่ได้ นั่นหน้าที่อย่างนั้นไม่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เด็กอันธพาลจะคิดว่า ฉันมีหน้าที่ขโมยปล้นจี้ ฉันก็ปล้นจี้ ฉันก็ทำหน้าที่ อย่างนี้ไม่ถูก เพราะว่าหน้าที่นั้นไม่ถูกตามกฎของธรรมชาติ ไม่เป็นประโยชน์แก่ใคร ไม่ช่วยให้รอดเลย มันต้องถูกตามกฎของธรรมชาติ คือทำให้เกิดความรอดแก่ทุกฝ่าย ถ้าเป็นคนขอทาน ก็ทำหน้าที่ขอทานให้ดีที่สุด เป็นธรรมะของคนขอทาน นั่งขอทานให้ถูกต้องให้ดีที่สุด มันจะมีผลว่าไม่เท่าไร มันจะพ้นจากความเป็นคนขอทาน ไอ้ธรรมะของคนขอทานนั้นมันจะช่วยคนขอทานให้พ้นจากความเป็นคนขอทาน
ฉะนั้นแต่ละชนิดของบุคคลมีหน้าที่เป็นชนิดๆ ไปตามแบบของตัว ของตัว เป็นคนทั้งทีก็ทำหน้าที่ของคนนั้นให้ถูกต้อง แล้วก็จะได้เลื่อนขึ้นเป็นคนชั้นดี เป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์ในที่สุด ให้มันเป็นไปอย่างถูกต้อง เดี๋ยวนี้ไม่อยากทำหน้าที่ แล้วไม่รู้ว่าธรรมะคือหน้าที่ ไม่รู้ว่าตัวธรรมะนั่นคือตัวหน้าที่ ตัวหน้าที่คือตัวธรรมะ บางคนคิดว่าต้องมาธรรมะที่วัด มาปฏิบัติที่วัดจึงจะเป็นธรรมะ นี่เราบอกว่าทำหน้าที่อย่างถูกต้องที่ไหน มีธรรมะที่นั่น เป็นครูสอนนักเรียนถือชอล์กอยู่หน้ากระดานดำ เวลานั้นแหละคือเวลามีธรรมะ หรือปฏิบัติธรรมะ มีธรรมะอยู่เมื่อทำหน้าที่ เช่นเดียวกับกรรมกรถีบสามล้อ มีธรรมะอยู่ มันถีบสามล้อนั่นแหละคือธรรมะ คือหน้าที่ ถ้ามันทำหน้าที่แล้วมันจะรอด มันจะรอด เพราะธรรมะหรือหน้าที่นี้เป็นสิ่งสูงสุดคือช่วยให้รอด คำว่าธรรมะ ธรรมะที่แปลว่าหน้าที่นั่นแหละ ตัวหนังสือ ทางตัวหนังสือ มันแปลว่าสิ่งที่ชู ชูไว้ สิ่งที่ชูสิ่งอื่นไว้ ไม่ให้พลัดตกลงไป ธรรมะนี้ ไอ้ศัพท์ รากศัพท์ root ของมันนั้นแปลว่า ทรงไว้ ทรงไว้ ทรงไว้ ไม่ให้พลัดตก ฉะนั้นธรรมะจึงทรงผู้ปฏิบัติไว้ไม่ให้พลัดตกลงไปในกองทุกข์ มันก็เลยพูดได้เลยว่าหน้าที่คือสิ่งที่ทรงผู้ทำหน้าที่ไว้ไม่ให้พลัดตกลงไปในกองทุกข์ ธรรมะก็คือสิ่งทรงไว้ซึ่งผู้มีธรรมะ หน้าที่ก็คือสิ่งทรงไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติหน้าที่ ผู้มีธรรมะกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ถือเป็นคนเดียวกัน ขอให้เราทำหน้าที่ตลอดเวลา หลับก็ทำหน้าที่หลับให้ดี จะได้พูดได้ว่าถูกต้องแล้ว และพอใจ ตื่นขึ้นมาก็ตื่นให้ดี ถูกต้องแล้ว และพอใจ แม้ที่สุดจะเข้าไปในห้องน้ำ จะถ่ายอุจจาระ จะถ่ายปัสสาวะ ก็ต้องทำให้ดีที่สุด จนบอกตัวเองได้ว่า ถูกต้องแล้วและพอใจ นั่นน่ะ คือปฏิบัติธรรมะ เมื่อนั่งอยู่บนโถส้วม นี่คนมันโง่มันบอกว่า มาสิปฏิบัติธรรมะได้ แต่เมื่อมาที่วัด เดี๋ยวนี้เราบอกว่าแม้นั่งอยู่บนโถส้วม ปฏิบัติธรรมะได้เต็มที่เหมือนกัน ขอให้ทำหน้าที่ทุกกระเบียดนิ้วให้มันถูกต้อง
เอาหละนี่คือธรรมะและวิธีปฏิบัติธรรมะ ฉะนั้นทำแล้วจะรอด มันจะมีความสุขตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าปฏิบัติธรรมะแล้วจะต้องทนทุกข์ มันเข้าใจผิด คนโง่ มันไม่รู้จักปฏิบัติให้รู้สึกว่าถูกต้องแล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจ คนฉลาดมีธรรมะจริงมันปฏิบัติจนเกิดความรู้สึกว่าถูกต้องแล้ว และก็พอใจ ถูกต้องแล้ว และพอใจ ดังนั้นการปฏิบัติธรรมะ จึงไม่มีทางที่จะเป็นทุกข์หรือทนทุกข์ เหมือนที่เขาพูดกัน ไม่ว่าจะหาเงิน จะทำงานหาเงิน มันต้องยอมเหนื่อย เหงื่อไหลไคลย้อย มันจะเป็นอย่างนั้นเสีย ถ้าเขาคิดอย่างนั้น แต่ถ้าเรารู้สึกว่าไอ้ทำงานนั้นมันคือหน้าที่ แล้วเราก็พอใจ เหงื่อออกมากลายเป็นน้ำเย็น อาบน้ำมนต์เลย ยิ่งเหนื่อย ยิ่งออกมายิ่งทำสนุก ไม่เหมือนคนโง่ พอเหงื่อออกมา วิ่งหนี ไปขโมยดีกว่า ไม่อยากจะทำงานแล้ว
ขอให้รู้สึกพอใจยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น เมื่อได้ปฏิบัติหน้าที่นั่นคือธรรมะ ถ้าเหงื่อออกมา ยินดีต้อนรับเป็นน้ำมนต์เย็นสบาย ทำงานต่อไป ทำงานให้ตลอดเวลา ถึงมันเหงื่อจะไหลออกมา มันก็ไหล มันเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าได้ปฏิบัติธรรมะอย่างยิ่ง แล้วมันไม่ต้องไปทำอย่างอื่น นี่พูดได้เลยว่าถ้าทุกคนทำหน้าที่ของตน โลกนี้เต็มไปด้วยสันติภาพ อยากจะพูดว่า ผู้จัด จัดโลกสมัยนี้มันยังโง่มาก มันจัดอย่างนั้น มันจัดอย่างนี้ มันจัดเศรษฐกิจ มันจัดกันบ้าๆ บอๆ จัดเพื่อให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนทั้งนั้นแหละ โลกนี้มีสันติภาพ ให้ทุกคนทำหน้าที่ของตน ของตน ถูกต้องหละ โลกนี้มีสันติภาพ ทุกอย่างจะดีหมด เศรษฐกิจจะดีหมด การเมืองจะดีหมด การปกครองจะดีหมด อะไรๆ มันก็ดีหมด เมื่อทุกคนทำหน้าที่ของตน
คำว่าถูกต้อง ถูกต้อง ในทางธรรมะมันมีความหมายว่าเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ถ้าถูกต้องตามแบบอื่น ถูกต้องตามอันธพาล มันว่ากูได้ ถูกต้องคนอื่นไม่ได้ก็ช่างหัวมัน นั่นมันเป็นแบบอันธพาล หรือถูกต้องตามปรัชญาเพ้อเจ้อ ไอ้ Philosophy เพ้อเจ้อ ถูกต้องอย่างนั้น ถูกต้องอย่างนี้ก็เหลว ไม่อาจจะทำโลกให้มีสันติภาพได้ ถ้าว่าถูกต้องก็ว่าทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ เป็นความสงบสุข ฉะนั้นเราจะทำอะไรลงไป ขอให้นึกถึงความถูกต้อง ว่าทุกฝ่ายจะไม่ได้รับอันตราย แต่จะได้รับประโยชน์ แล้วก็ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ว่าถูกต้องแล้ว และพอใจ ถูกต้องแล้วและพอใจ นี่คาถาศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองไม่ให้เป็นทุกข์ คุ้มครองไม่ให้เป็นอะไรหมด นอนหลับสนิท ไม่ต้องเป็นโรคประสาทให้ละอายแมว ถ้าใครยังต้องกินยานอนหลับอยู่หละก็ ละอายแมวบ้างนะ แมวไม่ต้องกินยานอนหลับ มันนอนหลับ ถ้าคนยังต้องกินยานอนหลับอยู่มันๆๆ สู้แมวก็ไม่ได้ คือทำให้มันถูกต้อง พอใจ ทำให้ถูกต้อง พอใจ ทำให้ถูกต้อง พอใจ มันจะนอนหลับสนิท ไม่ต้องละอายแมว ไม่ต้องเป็นโรคประสาท ไม่ต้องเป็นบ้า ไม่ต้องเป็นอะไรหมด
เอาหละคิดว่า พอกันทีแล้วสำหรับวันนี้คือว่าพูดถึงเรื่องตัวธรรมะ แล้วก็วิธีปฏิบัติธรรมะ เราเป็นคน อย่าให้เลวกว่าสัตว์ สัตว์มันไม่เหลวไหลต่อหน้าที่ ทำหน้าที่สนุก เห็นไก่ทุกตัวในวัดนี้ ทำหน้าที่ตลอด มันสนุก ไม่มีตัวไหนเกียจคร้าน หลบหลีกหน้าที่ บางทีคิดว่าต้นไม้นี้ทำหน้าที่ทั้งกลางวันกลางคืน ถ้ามันจริงอย่างไอ้พวกนักชีววิทยามันว่า ต้นไม้กลางวันคายออกซิเจนตลอดวัน ต้นไม้กลางคืนคายคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดคืน มันก็แลต้นไม้ทำงาน ๒๔ ชั่วโมงใช่ไหมล่ะ แล้วคุณล่ะ ทำงานกี่ชั่วโมง วันหนึ่งน่ะ ครูบาอาจารย์แบบนี้ ทำงานวันละกี่ชั่วโมง เมื่อต้นไม้มันทำงานวันละ ๒๔ ชั่วโมง ทำไมไม่ละอายมันบ้าง ทำให้มันถูกต้องหมดทั้ง ๒๔ ชั่วโมง ได้ยินเขาพูดว่า ไอคอมมิวนิสต์นั้น ลัทธิคอมมิวนิสต์นั้น คนทำงาน ๘ ชั่วโมง แล้วต้องศึกษาตัวลัทธิคอมมิวนิสต์อีก ๘ ชั่วโมง แล้วก็พักผ่อนกินนอนอะไรอีก ๘ ชั่วโมง รวมกันเป็น ๒๔ ชั่วโมง ใน ๒๔ ชั่วโมงนั้น เขาศึกษาลัทธิคอมมิวนิสต์ ๘ ชั่วโมง เขาจึงต้องรู้ลัทธิของเขาดีกว่า ปฏิบัติหน้าที่ของเขาเคร่งครัดมาก นี่พวกคุณนี้ศึกษาธรรมะวันละ ๘ ชั่วโมงหรือเปล่า บางทีจะไม่ใช่ ครึ่งชั่วโมงก็ไม่มีมั้ง บางคนวันหนึ่งไม่ได้ศึกษาธรรมะแม้ชั่วโมงเดียว แล้วจะเอาพุทธศาสนาไปสู้คอมมิวนิสต์ได้อย่างไรเล่า ในเมื่อคอมมิวนิสต์มันศึกษาลัทธิของมันวันละ ๘ ชั่วโมง พุทธบริษัทนี้ขี้เกียจ วันหนึ่งชั่วโมงก็ไม่ได้ แล้วมันจะไปสู้กันได้ที่ไหนเล่า ฉะนั้นก็รู้ว่าหน้าที่ของตัวมีอย่างไร ก็ศึกษาให้เพียงพอ ศึกษาธรรมะวันละ ๘ ชั่วโมงสิ ทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง พักผ่อนกินนอน ๘ ชั่วโมง เหมือนคอมมิวนิสต์บ้าง มันก็จะสู้คอมมิวนิสต์ได้นะ เดี๋ยวนี้คอยแต่จะหลบหลีก ไปสถานกามารมณ์ ไปเต้นรำอย่างลิงบ้า ทั้งผู้หญิงผู้ชาย มันโกงเวลาทำงานไปสถานเริงรมย์ ไปเต้นรำ ไปอาบอบ ไปตามเรื่องของมัน มันเอาเปรียบธรรมะ เอาเปรียบหน้าที่ แล้วมันก็มีผลคือ ไม่มีความสุข ไม่เท่าไรเงินไม่พอใช้ ต้องโกงแล้วไปอยู่ในตาราง พวกแบบนี้ พวกที่โกงธรรมะแล้วต้องไปจบอยู่ในตารางทั้งนั้น ในคุกในตารางทั้งนั้น
เอาหละก็พอกันทีสำหรับเรื่องธรรมะและวิธีปฏิบัติธรรมะ วันอื่นจะพูดเรื่องอื่นต่อไป ขอยุติการบรรยาย ถูกต้องแล้ว พอใจ ถูกต้องแล้ว พอใจ นั่นแหละเอาแขวนไว้ที่คอ ให้พูดได้ว่า ถูกต้องแล้ว พอใจ ถูกต้องแล้ว พอใจ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ไม่ว่ากำลังเดินไป หรือนั่งอยู่ เดิน ยืน นอน กิน อาบ ถ่ายอะไรก็ตาม ให้บอกตัวเองได้ว่า ถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้ว พอใจ ถูกต้องแล้ว พอใจ ธรรมะคือหน้าที่ อยู่ที่การงาน ที่ทำนั่นแหละ คือธรรมะ ไม่ใช่อยู่ที่วัด ถ้าจะหาธรรมะต้องไปหาที่หน้าที่ ที่การงานที่ทำ ต่อจากนี้มีอะไร หรือกลับไปนอน ตามรายการที่เขียนไว้ ต่อไปนี้ นอนใช่มั้ย ปิดประชุมกลับไปนอน.