แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายนี้ ตั้งใจให้สำเร็จประโยชน์ แก่พวกที่เรียกว่า ธรรมะจาริณี การบรรยายในเวลาอันสั้นนั้น จะพูดเรื่องทั้งหมดทุกเรื่อง โดยรายละเอียดนั้นไม่ได้ ที่จะทำได้ก็คือ บอกวิธีสำหรับจะได้ ไปศึกษาและปฏิบัติ ให้ก้าวหน้าต่อไป ด้วยตนเอง คำว่า “ธรรมะจาริณี” แปลว่า ประพฤติธรรม ถ้าทำสำเร็จ มันจะกลายเป็น ธรรมชีวี คือ เป็นผู้ที่มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะ ถ้าประพฤติ ถ้าทำไม่สำเร็จ เรียนหรือประพฤติ ไม่สำเร็จ มันก็ยังคงเป็นธรรมะจารี ๆ ธรรมะจาริณีอยู่นั่นเอง
รู้ไว้เถิดว่า เราจะต้องทำให้มันยิ่งกว่าธรรมะจาริณี คือ ให้เป็นผู้ที่มีชีวิตเป็นธรรมะ ธรรมะเป็นชีวิต เป็นผลของการปฏิบัติ ให้มันเป็นสิ่งอันเดียวกันเสียกับชีวิต ธรรมะกับชีวิต ดังนั้น จะพูดโดยหลักกว้าง ๆ ทั่วไป จำไว้ให้ดี ข้อแรก ให้รู้ว่าชีวิตนี่เป็นสิ่งที่เติมธรรมะลงไปได้ เหมือนกับยุ้ง ฉาง โอ่ง ไห นี้ ให้เราเติม อะไรลงไป ได้ตามความต้องการ ชีวิตนี้ก็เหมือนกันเป็นสิ่งที่เติมธรรมะลงไปได้ จนกว่าจะเต็มตามที่ เราต้องการ เท่าที่ธรรมชาติมันมีให้เองมันน้อย มันยังน้อยที่จริงมันก็มีอยู่เหมือนกัน มีธรรมะตามธรรมชาติ เติบโตขึ้นมา มันก็รู้อะไร ประพฤติอะไร ให้มันถูกต้องตามธรรมชาติ แต่เท่านั้นมันไม่พอ ถ้าปล่อยไว้เพียง เท่านั้นมันไม่พอ มันไม่มีความรอดโดยสมบูรณ์ สมบูรณ์นั้นคือ รอดชีวิตและรอดจากความทุกข์ทั้งปวง
มนุษย์เรามี ๒ รอดหรือ ๒ ชั้น ชั้นแรกก็รอดชีวิตไม่ตาย นี่ก็ต้องปฏิบัติธรรมะในชั้นนั้น เพื่อรอด ชีวิต ถ้ารอดชีวิตอยู่แล้ว ก็ปฏิบัติธรรมะเพื่อให้รอดจากไอ้ความทุกข์ หรือกิเลสก็ได้ เหตุให้เกิดทุกข์ แล้วก็จะ เป็นชีวิตชนิดที่ไม่มีความทุกข์ เป็นมนุษย์ที่ไม่มีความทุกข์ เย็นเป็นนิพพาน เป็นชีวิตที่เยือกเย็น มีความหมายของคำว่า “นิพพาน” คือ เย็นไม่ร้อน ร้อนเพราะกิเลสเสมือนกับไฟ รู้จักกิเลสกันให้ดี ๆ ว่า เหมือนกับไฟราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นก็ร้อนไปตามแบบของตน ๆ ถ้าไม่เกิดมันก็ไม่มีไฟ ไม่มีไฟมันก็เย็น นี่รอดจากไฟ รอดจากความทุกข์ รอดชั้นแรก รอดจากตาย กันไม่ตายแล้วก็ต้องรอด
อีกรอดหนึ่งคือ รอดจากความทุกข์ งั้นเรามาศึกษาหรือทดลองปฏิบัติดูในเรื่องนี้ จึงชวนกันบวช ธรรมะจาริณี ก็นับว่าเป็นความคิดที่ดี แต่กลัวว่าจะรู้จักความประสงค์ อันแท้จริงถึงที่สุดหรือหาไม่ ความเป็น ผู้ประพฤติธรรมนั้น มันมีในขั้นที่ศึกษา คือ ขั้นที่ยังไม่มีธรรมนั้นมันต้องศึกษาต้องปฏิบัติให้มีธรรม ครั้นมันมีธรรม มีธรรมะเป็นเนื้อเป็นตัวแล้ว มันไม่ต้องประพฤติแล้ว มันเรียกว่า ธรรมชีวีได้ มีชีวิตเป็น ธรรมะไปเลย
งั้นเรียนเรื่องอะไร การบวชนี้เรียนเรื่องอะไร มันก็เรียนเรื่องที่ว่านี่คือ เรื่องจะเอาตัวรอดให้ได้ รอดทั้งทางกาย รอดทั้งทางวิญญาณ รอดทางกายนี้ เป็นเรื่องรู้กันโดยมาก คนชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ก็รู้จัก ทำมาหากิน รู้จักสะสมทรัพย์สมบัติ รู้จักทำให้รอดทางกาย แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าจะสมบูรณ์ รอดทางกาย อยู่อย่างไม่น่าดู เพียงแต่ไม่ตาย แต่ก็มีอะไรที่ไม่น่าดูอย่างนี้ก็ไม่พอ มันต้องพิจารณาดูด้วยว่า อะไรที่มัน เหมือนกับตายอยู่ การสมาทานศีล ก็เพื่อให้มีความถูกต้องมากขึ้น ในการที่จะมีชีวิตอยู่ เมื่อเราได้สมาทานศีล เป็นอยู่อย่างมีศีล ๙ วัน ๑๐ วันอะไรก็ตามใจ ควรจะสังเกตดู ให้รู้ให้เห็น ให้เข้าใจ ว่ามันมีอะไรแปลกขึ้นมา จากการที่ไม่ได้ประพฤติอย่างนี้ ต่อไปนี้ก็จะทำได้ถูกต้องมากขึ้น
เรื่องความรอดทางกายนั้น บางทีก็ไม่ต้องบวชก็ได้ หรือว่าบวชก็ได้เหมือนกัน แต่ความจริง เป็นเรื่องที่ไม่ต้องบวชมากกว่า เว้นแต่จะมองให้ลึกถึงไอ้ความรอดชั้นที่ละเอียดประณีต สุขุม งดงาม ในชั้นต่ำ เรื่องโลกเขาก็กำหนดกันไว้ว่า มันจะต้องมีทรัพย์สมบัติตามที่ควรจะมี จะต้องมีเกียรติยศชื่อเสียง ตามที่ควรจะมี จะต้องมีเพื่อนดี มิตรสหายที่ดี ส่วนมากตามที่ควรจะมี ถ้าได้อย่างนี้มันก็ครบ สำหรับรอด ในทางฝ่ายโลก แต่ถึงอย่างนั้นก็น้อยคน ที่มันจะทำอย่างนั้นได้ เรื่องรอดอย่างโลก ๆ นี้ มันน้อยคนที่จะทำได้ เพราะว่ามันไม่รู้เรื่องที่จะบังคับตัว ให้เดินไปอย่างถูกต้อง การเล่าเรียนก็ไม่ดี การประพฤติก็ไม่ดี มีความเข้าใจ ผิด มันไปหลงเรื่องของกิเลสมากกว่า เรื่องของไอ้ความถูกต้อง เมื่อเรียนไม่ดีก็สอบไล่ได้ไม่ดี ไม่อยู่ในฐานะ ที่จะมีทรัพย์สมบัติได้พอตัว ชื่อเสียงก็ไม่ดี คนดี ๆ ที่จะคบค้าสมาคมด้วย ก็ไม่ค่อยจะมี
นี่เราดู ฆราวาสทั่วไป ก็ยังมีอยู่อย่างนี้ จะบวชเมื่อเรียนหรือจะเรียนเมื่อบวช หรือจะเรียนเมื่อ ไม่ต้องบวช ก็ขอให้มันได้ผล ว่าเราเอาชนะเรื่องนี้ได้ คือ เรื่องทางโลก ๆ มีทรัพย์สมบัติพอตัว หมายความ ไม่ใช่ว่าเป็นมหาเศรษฐี แต่ว่าพอตัวตามสมควรที่ควรจะมี เรียกว่า มีความสุขสบาย จากการมีทรัพย์สมบัติ พอตัว แล้วก็มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการกระทำที่ดี คือ ทำเพื่อผู้อื่น เป็นต้น ก็มีชื่อเสียงบางคน มีทรัพย์แล้ว ไม่มีชื่อเสียงไม่มีใครนับถือก็มี นั้นมันจึงคนละเรื่องกับมีทรัพย์ มันก็มีทรัพย์แล้วก็ทำความดี ต่อไปทางอื่น ซึ่งให้เกิดชื่อเสียง มีชื่อเสียงแล้วก็สามารถจะ สร้างสมาคมให้สูงขึ้นให้ดีขึ้น คือ สมาคมกันแต่คนที่ดี เป็นสัตบุรุษ นี่จะทำได้เท่าไหร่ ก็ลองคิดดู
ในระหว่างบวชนี้ ก็ศึกษาได้เหมือนกัน ถ้ามันไม่สามารถ จะศึกษาอะไรสูงไปกว่านี้ พวกพระก็เรียน เรื่องที่ปฏิบัติ คือ เรียนเรื่องของฆราวาส ดูมันน่าหัวเราะอยู่เหมือนกัน เป็นพระเรียนเรื่องฆราวาส แต่เมื่อมัน ไม่มีทางหรือยังทำไม่ได้มันก็จำเป็น แต่ถึงอย่างไรก็ดี มันมีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่ คือ ว่าเรียนเรื่องธรรมะ แล้วมันจะบังคับจิตได้ เมื่อบังคับจิตได้ออกไปเป็นฆราวาส ในโลกในบ้านเรือนมันก็บังคับจิตได้ เมื่อบังคับ จิตได้ มันก็ทำอะไรถูกต้องมากกว่าผิด หรือทำถูกต้องหมดมันก็เจริญ นี่เรียกว่า โลกนั้นไม่ใช่จะไม่ต้องอาศัย ธรรมะ หรือแยกกันเด็ดขาดไปเลย นั่นเข้าใจผิด
ไม่อาจจะแยกเด็ดขาดไปได้ ไอ้ธรรมะคือ ความถูกต้อง ต้องเข้าไปมีอยู่ในทุกสิ่ง ๆ นับตั้งแต่สิ่งที่ ธรรมดาสามัญที่สุด จะกินข้าว จะอาบน้ำ จะถ่ายอุจจาระปัสสาวะ จะทำอะไรก็ตาม มันก็ยังต้องมี ความถูกต้อง นั่นแหละคือ ธรรมะ เพื่อจะประพฤติสิ่งเหล่านี้ให้ดีให้น่าดู ถึงเมื่อปล่อยไปตามบุญตามกรรม ตามที่กระทำ ๆ กันอยู่มันไม่น่าดู แล้วบางทีมันก็หยาบ ซึ่งส่งเสริมกิเลส ให้เกิดขึ้นอีกทางหนึ่ง งั้นเราจะต้อง รู้เรื่องนี้ ในการบวชนั้น ถ้าบวชจริง มันก็ต้องปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงทำพิธีนุ่งขาวห่มขาว หรือทำพิธีอะไรกัน แล้วมันจะเป็นบวช นั่นมันเป็นบวชอย่างพิธี
บวชอย่างพิธีเสร็จไปแล้ว นี่มันก็ต้องบวชจริง คือ ต้องประพฤติให้ถูกต้อง ทางกาย ทางวาจา ทางใจ มีระเบียบปฏิบัติเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดความถูกต้องขึ้นมา ใช้ได้รอบด้าน ไอ้ความถูกต้องนี้ใช้ได้รอบ ด้าน อยู่ในโลกก็ถูกต้อง อยู่เหนือโลกก็ถูกต้อง เลยไม่มีความทุกข์ จำคำว่า ถูกต้อง ๆ นี้ไว้ให้ดี ๆ เพราะเป็น หัวใจของพุทธศาสนา หัวใจของพุทธศาสนา คือ ตัว ตัวแท้ ตัวจริง ตัวบริบูรณ์ของศาสนาก็คือ ความถูกต้อง ๘ ประการ รวมกันแล้วเรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค หรืออริยมรรค หนทางมีองค์ ๘ คงจะสวดได้จำได้กันทุกคน จะขอให้เอาไปทำ ให้มันกลายเป็นของจริง ทำตัวหนังสือให้กลายเป็น ตัวการประพฤติปฏิบัติ ทำเรื่องที่ไม่ เป็นชิ้นเป็นอัน คือ มีแต่เสียง มีแต่ร้องสวด ร้องให้มันเป็นเรื่องจริงขึ้นมา
จำให้แม่นยำ อริยมรรค มีองค์ ๘ ถ้าจะพูดถึงคำว่า ประพฤติธรรม ๆ แล้วก็ มันก็คือ ประพฤติ อริยมรรค มีองค์ ๘ นั่นแหละ สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมากัมมันโต สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่ มีคำว่า สัมมา ๆๆๆ คำนั้นแปลว่า ถูกต้อง
สัมมาทิฎฐิ ถูกต้องในทางความคิดเห็น ความเข้าใจ ความเชื่อ หรืออุดมคติ หรืออะไรก็สุดแท้ เรียกว่า ถูกต้องในทางความคิดเห็น แล้วก็สัมมาสังกะโป ถูกต้องในความต้องการ ความปรารถนา ความประสงค์ ความประสงค์ที่ไม่ถูกต้องนั่นแหละ ทำลายวินาศหมดเลย ทำลายการเรียน ทำลายการงาน ทำลายทุกอย่างเลย ถ้าเกิดความประสงค์ไม่ถูกต้องขึ้นมา คน ๆ นั้นก็ต้องไปทำอะไรชนิดที่เป็นความผิด สัมมาวาจา ถูกต้องทางการพูดจา เป็นสิ่งที่ควรจะฝึกฝนให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป ที่แล้วมามันไม่รู้อะไร มันมีวาจา การพูดจาหรือมีถ้อยคำหรือมีที่ไม่น่าเลื่อมใส ฝึกบวชนี่ก็ฝึกให้มันดีขึ้นให้น่าเลื่อมใส
สัมมากัมมันโต การงาน ทางกาย กระทำทางกาย อย่าให้มีอะไรที่มันผิดพลาด คือ ว่ามันเดือดร้อน ตัวเอง เดือดร้อนผู้อื่น ผู้รู้ติเตียน สัมมาอาชีโว ถูกต้องทางความเป็นอยู่หรือการดำรงชีวิต รู้จักมีชีวิตให้มัน ถูกต้องทุกขั้นตอน ตั้งแต่เด็กไป จนถึงวัยรุ่นถึงหนุ่มสาว ถึงผู้ออก พ่อบ้านแม่เรือนคนเฒ่าคนแก่ ดำรงชีวิต ให้มันถูกต้อง สัมมาวายาโม ความพากเพียรที่ถูกต้อง ความพากเพียรนี่ก็ ความหมายกำกวม ถ้ามันเครียด หรือเกินไป นี่มันบ้านะ มันไม่ใช่ ความพากเพียรที่ถูกต้อง มันไม่ต้องเกินไม่ต้องเครียด ไม่ต้องหวังเป็น ไอ้เหมือนกับคนบ้า ในความเคร่งนั้นนะ มันอยู่ที่พอดี ถ้าเกินพอดีแล้วมันเครียดหรือเป็นบ้า นี่เราพยายาม ถูกต้อง คือ พอดีกับเรื่องแล้ว ก็ทำอย่างติดต่อไม่ขาดตอน
นี่สัมมาสติ ความผิดชอบชั่วดี ถูกต้องเป็นอย่างไร ระลึกอยู่ รู้ความจริง ธรรมะความจริง ที่เราเคย ศึกษาเล่าเรียน หรือปฏิบัติให้เห็นแจ้งมาแล้ว ก็ระลึกอยู่ ระลึกได้อยู่ ระลึกได้ทันท่วงที เมื่อมีเหตุที่จะต้องใช้ ก็ระลึกถึงธรรมะเหล่านั้น ได้ทันท่วงที เอามาใช้ได้ แล้วก็ปลอดภัยในที่สุด สัมมาสมาธิ ทำจิตให้เป็นสมาธิ คือให้ตั้งมั่น ๆ ตั้งอยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง ๆ คือ มันบริสุทธิ์ แล้วมันก็เข้มแข็ง แล้วมันก็ว่องไวต่อหน้าที่ การงาน ถ้ามีใจอย่างนั้น ตั้งไว้อย่างนั้น เป็นสัมมาสมาธิอย่างนั้น อะไรมันจะเป็นไปด้วยดีหมดเอง ถ้ามันจะ คิดนึกได้ดีมันจะทำได้ดี มันจะได้ดีทุกอย่างแหละ ถ้าว่าจิตมันเข้มแข็ง บริสุทธิ์ แล้วก็ว่องไว ก็เรียก สมาธิ ไม่ใช่ว่านั่งหลับตานิ่งเป็นท่อนไม้ เดินอยู่ก็ได้ นอนอยู่ก็ได้ นั่งอยู่ก็ได้ เดิน ยืน นั่ง นอน ก็สามารถที่จะมี สมาธิได้ แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องมีสมาธิเมื่อทำการงาน เมื่อทำการงานซึ่งเป็นหน้าที่ ด้วยจิตชนิดนี้ ก็ทำ ได้ดี
ประพฤติอย่างนี้ อยู่เมื่อบวช บวชชั่วคราว นี้พอละไปแล้ว ลาสิกขาไปแล้ว ก็ยังคงประพฤติอย่างนี้ คือ ถูกต้อง ๘ ประการนั้น เมื่อทำอยู่อย่างนี้ก็คือ ทำให้ธรรมะมันมากขึ้น ให้ธรรมะมีขึ้นมาในชีวิต จิตใจ ของเรามากขึ้น ๆๆ ที่เรียกว่า เติมลงไป ๆๆ ระหว่างบวชสะดวกกว่า ที่ไม่บวช แต่ว่าอยู่ที่บ้านก็ทำได้ ถ้ารู้จัก ทำ ศึกษาให้รู้จักทำไปเสียตั้งแต่เมื่อบวช สึกไปแล้วก็ยังทำได้ อย่าให้มัน ๆ ลืมเสีย อย่าให้มันฟั่นเฟือนเสีย อย่าให้มัน ถูกดึง ถูกยั่วไปในทางอื่นเสีย บวชสะดวกไอ้การที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมะ มันก็รีบทำเสีย แต่เมื่อ ลาสิกขา ลาสึก ไปแล้วมันก็ยังทำได้ แต่ต้องเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่ต้องทำ ไอ้คำว่า บวช ๆ นี้มัน ไม่มีความหมาย อะไรมาก ไปกว่าว่าสะดวก ในการที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมะ ที่บ้านก็ทำได้
ที่บ้านบางบ้าน บางคน บางแห่งอาจจะทำได้เหมือนกะบวช ก็อยู่ที่บ้าน แล้วก็สะดวกทุกอย่าง ที่จะปฏิบัติธรรมะ งั้นมันก็เท่ากับบวชมาอยู่วัดเหมือนกัน งั้นรู้ไว้เถอะว่าไอ้บวช ๆ นี้ เพื่อสะดวกในการศึกษา และปฏิบัติ ถ้าอยู่ที่บ้านสามารถจะทำได้ มันก็ได้เหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้โดยมาก ๆ มันทำไม่ค่อยจะได้ อยู่อย่าง ชาวบ้าน นั้นนะมันศึกษาธรรมะลำบากไม่สะดวก ปฏิบัติก็ไม่สะดวก งั้นจึงบวชกันสักพักนึง ครั้นบวชเข้า มาแล้ว ก็พยายามอย่างยิ่ง ที่จะศึกษา ที่จะปฏิบัติให้รู้ไว้มาก ๆ จะได้เอากลับไปบ้านได้มาก ๆ นี่ความหมาย ของผู้ประพฤติธรรมในระหว่างบวช
แต่ที่อยู่ที่บ้านที่ไม่ใช่บวช ก็ต้องประพฤติธรรมะเหมือนกัน เพราะว่ามันยังมีความทุกข์อยู่ มันยังมี กิเลส เป็นเหตุให้เกิดทุกข์อยู่ แล้วต้องประพฤติธรรมะทั้งนั้น ถ้ามันยังมีอยู่จนแก่เฒ่า จนตาย มันก็ต้อง ประพฤติธรรมะ จนตายไม่ต้องสงสัย นี่เรามาตั้งใจกันสักหน่อยว่า จะรีบมีธรรมะหรือเติมธรรมะ ให้มันพอ เสียแต่เนิ่น ๆ พออายุไม่เท่าไหร่ ก็มีธรรมะเป็นที่พอใจแล้ว ชีวิตที่เหลือนั้นแหละ มันจะเป็นสุขสงบ เย็น เหมือนกับนิพพาน จนกว่าจะตาย ถ้ามัวเหลวไหลอยู่มันก็ไม่ได้ ๆ ออกไปเป็นอายุมากแล้วก็ไม่ได้ ก็ตายเปล่า ๆ จัดให้ชีวิตข้างหน้า ในอนาคตบั้นปลาย อย่างน้อยสักเสี้ยว ทั้งหมดหรือครึ่งทั้งหมด เป็นชีวิต ที่มันเยือกเย็น ๆ สมกับว่าเป็นมนุษย์มีพุทธศาสนา ให้มนุษย์ก็มีจิตใจสูงกว่าธรรมดา แล้วได้พบ พระพุทธศาสนา ก็ยิ่งทำได้ดีขึ้น สูงขึ้นไปอีก อยู่เหนือความทุกข์ได้ ถ้าอยู่ใต้ความทุกข์ มีแต่ความผิดพลาด มันก็ไม่ใช่มนุษย์หรอก เพราะมันมีจิตใจต่ำ
อันที่จริงเพียงแต่เป็นมนุษย์กัน ให้ได้ถูกต้องตามความหมายของคำว่า มนุษย์ มันก็ถมไป มันก็มากอยู่ ที่มีจิตใจสูง อยู่เหนือความผิด อยู่เหนือปัญหา อยู่เหนือความทุกข์ อยู่เหนืออะไร ๆ ทุกอย่าง ที่ไม่พึงปรารถนา ก็อยู่เหนือหมด นั่นนะเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์เพราะได้พบพระพุทธศาสนา หรือว่าเพราะ พบพระพุทธศาสนา จึงทำความเป็นมนุษย์ให้มันยิ่ง ๆ ขึ้นไป นี่มันจะต้องมองกว้าง ไปจนถึงว่าเกิดมาทำไม เกิดมาแล้วได้อะไร จึงจะไม่เสียชาติเกิด ถ้าคอยถามตัวเองอย่างนี้ไว้เสมอ ๆ แล้วก็จะไม่ผิดพลาดละ จะไม่มีทางเหลวไหลผิดพลาด เกิดมาทีหนึ่งนี้ควรจะได้อะไร จึงจะไม่เสียชาติเกิด ไม่ใช่ว่าเกิดมาชาตินี้ เพื่อบวชธรรมะจาริณี นั้นมันเป็นเรื่องของ การฝึกการกระทำ เพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง บวชเป็น ธรรมะจาริณี เพื่อจะได้อะไร จะได้เมื่อไหร่ ภายใน ๙ วัน ๑๐ วัน มันจะได้หรือไม่ ถ้ามันยังไม่ได้ ก็ต้องไปทำ ต่อไป แล้วถ้ามันได้ ได้มันคือ ได้อะไร เขาเรียกว่า ได้ชีวิตจิตใจ ชนิดที่สว่างไสว ๆ สะอาด สงบ ก็อยู่เป็นสุข สุขทางใจ ตลอดชีวิต ตอนนี้เป็นธรรมชีวี เพราะเป็นธรรมะจาริณีที่ถูกต้อง มันก็จะได้เป็น ธรรมะชีวีในที่สุด
ที่อยากจะอธิบายคำว่า “ถูกต้อง” ให้มากเป็นพิเศษ ถูกต้องในความหมายทางการเมือง ทางการค้า ทาง.. เอ..เรื่องโลก ๆ หรือเรื่องของสติปัญญาเพ้อเจ้อ นั้นมันไม่รู้จบ ถูกต้อง ไม่รู้ว่าถูกต้องกันอย่างไรแน่ ต้องตั้งหลักอย่างนั้น ตั้งหลักอย่างนี้ เรียนกันเกือบตาย ก็ไม่รู้จักความถูกต้อง เรียนจบแล้ว ก็ยังไม่เป็น คนถูกต้อง ก็ยังเป็นคนอันธพาลอยู่ดี “ถูกต้อง” ในพระพุทธศาสนา คือ ว่ามันไม่ทำให้ ใครต้องเดือดร้อน ตัวเองไม่เดือดร้อน ผู้อื่นก็ไม่เดือดร้อน แล้วทุกฝ่ายพลอยได้รับประโยชน์ ได้รัประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น เรื่องความเดือดร้อน ไม่มีแก่ฝ่ายใด ส่วนประโยชน์หรือผลดีมีแก่ทุกฝ่าย นั่นแหละคือ ความถูกต้อง จะพูดด้วยหลักเกณฑ์อย่างอื่น ให้มันมาก เรื่องมากราวป่วยการ เอาถูกต้องตามหลักของพระธรรม จะถือเอา ความถูกต้องเป็นอารมณ์ แล้วก็กระทำให้มันมีความถูกต้อง ทุกกาละและเทศะ หมายความว่า ทุกวินาทีมัน มีแต่ความถูกต้อง และทุกกระเบียดนิ้ว มันมีแต่ความถูกต้อง เรียกว่า ถูกต้องทุกกาละและเทศะ พูดกันอย่าง ง่าย ๆ ธรรมดา ๆ ก็คือ มีสติ ระวัง ให้มีความถูกต้อง เพราะได้ศึกษาความถูกต้อง มาแล้วแต่หนหลังว่า ถูกต้องอย่างไร ๆ หลักธรรมะนั้น ก็ต้องบอก เรื่องความถูกต้อง แล้วก็มีสติทำให้มันถูกต้อง
ที่นี้ก็ส่วนตนเอง เอาส่วนตนเอง มีชีวิตวันหนึ่งอย่างถูกต้อง ก็พอใจตัวเอง นี่เรียกว่า จุด...จุดตั้งต้น เพื่อจะพิจารณา พอตื่นนอนขึ้นมา รู้สึกว่าถูกต้อง คือ เราได้ทำดีตลอดมา จนปลอดภัย จนนอนหลับ ตลอดคืนโดยปลอดภัย ตื่นขึ้นมามีความถูกต้อง แล้วก็ได้ทำไว้อย่างถูกต้อง แล้วมันก็แน่ใจในความถูกต้อง ไม่หงุดหงิด งัวเงีย วิตกกังวลลังเลอะไร ขึ้นมาจากที่นอนเลย เพราะมันตื่นนอนแจ่มใส สดชื่น รู้สึกอยู่แต่ว่า ทุกอย่างเป็นมาอย่างถูกต้อง รู้สึกถูกต้อง ๆ อย่างนี้เสียก่อน แล้วจึงลุกจากที่นอน จะไปทำอะไร จะไป ล้างหน้า ก็เดินอย่างถูกต้องไปที่ล้างหน้า จับขันอย่างถูกต้อง ล้างหน้าอย่างถูกต้อง ทำอย่างมีสติสัมปชัญญะ ถูกต้อง ในการล้างหน้า แล้วจะไปแล้วแต่คนเขาจะมีลำดับอย่างไร จะไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ก็ทำอย่างดี อย่างถูกต้อง ทุกกระเบียดนิ้ว และทุกวินาทีเหมือนกัน โดยมากทำอย่างลวก ๆ มันไม่เพียงแต่ เสียหาย เรื่องนั้น มันปล่อยเสียนิสัยไปด้วย การทำอะไรอย่างลวก ๆ แม้แต่เรื่องเดียว แต่มันจะเสียนิสัยไปทุกเรื่อง
งั้นวินัยของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับภิกษุสงฆ์นี่ก็มีมากละ ที่เกี่ยวกับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ มีข้อวินัย มาก เพื่อให้ดีที่สุด เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด ที่นี้ก็ไปอาบน้ำก็ทำดีที่สุด ไปแต่งตัวก็ทำดีที่สุด ไปกินอาหาร ก็ถูกต้อง ตั้งแต่วินาทีแรก วินาทีสุดท้าย ในการกินอาหาร แล้วก็จะไปทำงาน มีความถูกต้อง ทุกก้าวย่าง ที่เดินไป จะขึ้นรถลงเรืออะไรก็ตามใจ มันมีแต่ความถูกต้อง แล้วก็ไปที่ทำงาน ก็ทำอย่างถูกต้อง จนพอใจ ตัวเอง เมื่อรู้สึกว่าถูกต้อง ๆๆๆ มันก็พอใจตัวเอง เมื่อมีความพอใจก็มีความสุข ๆ นี้เกิดจากความ พอใจที่ ถูกต้อง อย่าไปบ้าตามเขาว่า หวังมาก ๆ ดิ้นรนมาก ๆ แล้วก็จะมีความสุข หวังมาก ๆ ดิ้นรนมาก ๆ นั่นนะ มันเป็นเรื่องของความทุกข์ มันต้องพอดี ๆ ความหวังนั้นถูกต้องแล้ว มีการกระทำที่พอดี จะไม่เจ็บ ไม่ไข้ ไม่เสื่อมสุขภาพ ไอ้ความถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์
นี่การทำการงานนี้ ทำอย่างมีความสุขเมื่อทำงานนั่นเอง แต่ว่าคนโดยมากเขาไม่คิดอย่างนี้ ทำงานนี้ เพื่อได้เงิน เมื่อได้เงินแล้ว เอาเงินนั้นไปซื้อหาไอ้ความหลอกลวงทั้งหลาย เรื่องกามารมณ์ เรื่องอบายมุข เรื่องความหลอกลวงทั้งหลาย แล้วว่านั่นมีความสุข ๆ มีความสุข เมื่อจิตใจถูกหลอกลวง ให้โง่เขลา ให้เร่าร้อน ให้มืดมน ให้กระวนกระวาย เห็นเป็นความถูกต้อง เห็นเป็นความสุขไปเสีย เรื่องนี้ควร จะย้อนดู มาแต่หนหลัง ว่าเราได้เคยทำผิดพลาดอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าเคยทำมาอย่างผิดพลาด ก็ทำเสียใหม่ ให้มัน ถูกต้อง ทำการงานด้วยจิต ที่รู้ความหมายของการงาน รู้ว่าไอ้การงานนี้ มันเป็นเครื่องช่วยให้รอด ให้รอดตาย ให้รอดจากความทุกข์ทั้งหลาย
หน้าที่การงานนั่นแหละ เป็นธรรมะเพื่อช่วยให้รอด รอดเหมือนพระเจ้าเลย พระเจ้าที่เขามี ๆ กันไว้ ช่วยได้อย่างไร เราก็มีการงานหน้าที่ ๆ กระทำนั่นแหละเหมือนกับพระเจ้าทำดีที่สุด ๆ นั้นมันก็จะช่วยเรา ระหว่างเรียน การเรียนนั่นแหละคือ การงาน เสร็จเรียนแล้วก็ประกอบอาชีพอะไรอยู่ อาชีพนั้นแหละ คือ การงาน การงานทุกชนิดเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เรียกว่า ธรรมะ ธรรมะ แปลว่า หน้าที่ ถ้าเคยเข้าใจมาแต่ก่อนว่า ธรรมะคือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อย่างนี้เรียกว่ายังถูกน้อยนัก คือ ต้องรู้ว่าท่านสอนเรื่อง หน้าที่ ที่มีธรรมะแต่เพียงการเรียนไม่ได้ มันต้องมีการปฏิบัติด้วย มันจึงจะมีธรรมะ
งั้นคำว่าหน้าที่ จึงหมายถึง การปฏิบัติแล้ว เพียงแต่เรียน ๆ รู้ ๆ มันยังไม่ใช่หน้าที่ ไอ้ธรรมะของ พระพุทธเจ้า ก็อย่างเดียวกัน ถ้าจะเป็นธรรมะ แล้วมันก็ต้องเป็นการปฏิบัติแล้ว ทำหน้าที่แล้ว มีหน้าที่แล้ว ก็เรียกว่า ธรรมะ เพียงแต่เรียนตัวบท ท่องจำอะไรอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่การเตรียม เตรียมที่จะมีธรรมะ เมื่อมีการ ปฏิบัติอยู่อย่างถูกต้อง มันจึงจะเรียกว่า มีธรรมะจริงอยู่อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ไอ้การเรียนมัน เป็นบุพภาค เป็นการเตรียม เพื่อจะมีธรรมะอย่างถูกต้อง และสมบูรณ์ มันก็ต้องทำเหมือนกันแหละ ก็ทำให้พอดีกัน นี่มาทำการงาน ก็จะกลับบ้าน ก็กลับมาอย่างถูกต้อง มากินข้าวอาบน้ำ ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ทำอะไรอย่าง ถูกต้อง มันจนถึงเวลา สิ้นสุดลงแล้วจะนอน ๆ นี่ก็จะต้องนอนอย่างถูกต้อง คือ สรุปตลอดวัน ๆ ที่ผ่านมา เรามีแต่ ความถูกต้องอย่างนั้น ๆๆ จนกระทั่งจะนอนจะหลับอยู่เดี๋ยวนี้แล้ว มีแต่ความถูกต้อง ก็พอใจ
เคารพตนเองจนยกมือไหว้ตัวเองได้ เคารพตัวเองคือ มองเห็นอยู่ว่าตัวเองมีแต่ดี มีแต่ถูกต้อง ถ้าเห็น ว่าตัวเองมีอะไรเลว มันเคารพไม่ลง มันไม่เคารพ ไอ้การเคารพตัวเองนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่เรื่อง ง่าย ๆ มันมีได้ก็ต่อเมื่อ มันได้ประพฤติกระทำอะไร มาอย่างถูกต้องแล้วเท่านั้น งั้นผู้ที่เคารพตนเอง จนยกมือ ไหว้ตนเองได้ นั้นมันวิเศษประเสริฐ ก็มีความสุขเหมือนกับเป็นสวรรค์อยู่ในตัวเวลานั้น ๆ เวลาที่ยกมือไหว้ ตัวเอง ได้นั้นเป็นสวรรค์ สวรรค์จริง เวลาที่เกลียดตัวเองนึกถึง แล้วมีแต่เกลียดตัวเองนั้นเป็นนรก ๆ จริง จะกัดกินหัวใจ เหมือนกับตกนรก นี่ก็เป็นนรกจริง ไอ้นรกหรือสวรรค์ตอนตายแล้ว มันขึ้นอยู่กับนรกที่นี่ และเดี๋ยวนี้ สวรรค์นรกตอนตายแล้วโน้น มันขึ้นอยู่กับสวรรค์นรกในอกในใจที่นี่และเดี๋ยวนี้ ถ้ามันได้ สวรรค์ที่นี่เดี๋ยวนี้ ตายแล้วก็ได้สวรรค์ทุกชนิด ถ้ามันตกนรกกันซะที่นี่เดี๋ยวนี้ตายแล้วก็ไปนรก งั้นไอ้นรกตาย แล้ว ยังไม่ต้องนึกถึงก็ได้ นึกถึงแต่อย่าให้มันตกนรกที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือ ในใจในอกในใจ อย่าให้มีนรกขึ้นมา ให้มันมีแต่สวรรค์ แล้วเมื่อเราได้ทำความดี ความถูกต้องมาตลอดวัน เดี๋ยวนี้จะนอนแล้ว ก็ยกมือไหว้ตัวเอง ได้ ก็เป็นสวรรค์แท้จริง สำหรับจะมากมาย จะเพิ่มขึ้น ๆ ในวันต่อ ๆ ไป
นี่ประพฤติถูกต้อง อยู่ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกวินาทีอย่างนี้ เรียกว่า ธรรมะจารีสูงสุด งั้นปฏิบัติได้แล้ว ก็เป็นธรรมชีวี คือ มีธรรมะจริง มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต แล้วก็หมดปัญหา มันดีเท่านั้นแหละ คนเราเกิดมาชาติหนึ่ง ดีที่สุดจุดตรงที่ได้เป็นธรรมชีวี มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต ขอให้รู้จักไว้ ในฐานะเป็นจุดหมายปลายทาง จะได้เดินไปตามสบายถูกต้องดีงาม ไม่ต้อง ๆ วิ่งให้หกล้มหรอก นี่ประพฤติธรรมะนี่ จงประพฤติอย่างที่ เรียกว่า เดินไปตามสบาย พอสบายถูกต้องเดินหน้าเรื่อยไป เราเดิน ด้วยสติปัญญาไม่ได้ เดินด้วยกิเลสตัณหา ก็เดินไปตามสบาย พอที่ระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาดได้โดยง่าย ถ้าวิ่งไปนั่นแหละ มันมีทางพลาดหกล้ม หรืออันตรายได้ง่าย
เรื่องนี้ไม่ต้องวิ่ง ทำให้ถูกต้องมันจะยิ่งถึงเร็ว ทำไม่ถูกต้องก็ถึงช้า แม้จะวิ่งมันก็ยิ่งไม่ถึง ความเร็ว มันอยู่ที่ความถูกต้อง ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเดินหรือว่าวิ่ง ความถูกต้อง มันก็ต้องไปอย่างพอดี ๆๆ จิตใจไม่ระหก ระเหิน ไม่กระวนกระวาย ไม่ทุรนทุราย เหมือนกับบางคนถือลัทธิผิด ๆ ว่าอยู่ด้วยความหวัง อ้าว, ยิ่งหวัง ๆๆๆ อยู่ด้วยความหวัง ไม่เท่าไหร่ก็เป็นโรคจิต หรือเสื่อมสุขภาพทางกายทางจิต แล้วมันก็จะ เสื่อมไปถึง ทั้งหมดเลย คือ ทางวิญญาณด้วย ก็ผิดหมด
ทบทวนตัวธรรมะ ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ ให้เต็มที่ ให้แตกฉาน ๆ ให้รู้จักดีที่สุด เหมือนกับเรา รู้จักอะไรดีที่สุด คือ อริยมรรค มีองค์ ๘ ประการ นั่นแหละ ให้แตกฉานทั้งโดยตัวหนังสือ ให้แตกฉานทั้ง โดยความหมาย เนื้อความของมัน ให้แตกฉานในการประพฤติปฏิบัติของเรา ปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป ๆ นี่เรียกว่า ประพฤติธรรมะเป็นชีวิต ระหว่างบวชก็ประพฤติอย่างนี้ ถึงสึกออกไปแล้ว มันก็ยังต้องประพฤติอย่างนี้ แล้วก็ต้องหาโอกาส ให้มันได้อย่างนี้ ต้องตระเตรียมให้มันถูกต้องอย่างนี้ ไม่งั้นมันล้มละลาย ไม่ต้องมี ใครแช่งละ มันล้มละลายหมด มันต้องมีความถูกต้อง แล้วก็เป็นธรรมะ ให้เป็นธรรมะ แล้วก็เป็นศีลเข้มแข็ง ตั้งมั่น สำหรับเป็น ที่พึ่งของผู้นั้น มีความถูกต้องอยู่ทุก ๆ อิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง นอน ทุก ๆ เวลาวินาที ทุกๆ สถานที่ ทุก ๆ กระเบียดนิ้ว เป็นธรรมะจารีสูงสุด
ที่นี้ก็มาพิจารณาดูว่ามันเหลือวิสัยหรือไม่ มันดีเกินไปหรือไม่ บางคนมันคิดว่าเหลือวิสัย ทำไม่ได้ ก็ไม่ทำ บางคนคิดว่าดีเกินไป เราไม่ต้องเอาถึงอย่างนั้นนะป่วยการ เราเอาเท่าที่เราชอบดีกว่า อย่างนี้มันก็มีแต่ จะถอยหลัง คิดอย่างนี้จะมีแต่จะถอยหลัง ต้องพยายามให้มันก้าวหน้า ให้ยกมือไหว้ตัวเองได้บ่อยเข้า ๆๆ จนไม่ว่าเวลาไหน พอนึกถึงตัวเองก็ยกมือไหว้ตัวเองได้ นั่นแหละ ถูกต้องที่สุด ดีที่สุด ต้องแน่ใจว่า เกิดมานี้ เพื่อเป็นมนุษย์ คือ สัตว์ที่มีจิตใจสูง มีคุณธรรมสูง ไม่ใช่เป็นคนธรรมดาปุถุชน ซึ่งมันก็พอ ๆ กับสัตว์ เดรัจฉาน เป็นคนธรรมดา มันไม่ต้องระวังสังวรอะไร ปล่อยไปตามกิเลส ตามความโง่เขลา ตามเรื่องปาก เรื่องท้อง เรื่องสนุกสนานเอร็ดอร่อย ตามแบบของกิเลส แล้วมันก็ล้มละลาย
เราจะต้องเอาไอ้ความถูกต้อง ความสุขที่ถูกต้อง ความพอใจในสิ่งที่ถูกต้อง ระมัดระวังกัน แต่เรื่อง หน้าที่ที่ถูกต้อง ธรรมะคือ หน้าที่ที่ถูกต้อง ชีวิตมันอยู่กับหน้าที่ หน้าที่คือ ธรรมะ ตลอดเวลามันมีหน้าที่ ทั้งนั้นละ บางทีก็เป็นเรื่องที่เราไม่เจตนา ร่างกายมันทำของมันเอง แต่ว่ามากเรื่องทีเดียว ที่เราจะต้องทำด้วย เจตนาระมัดระวังให้ถูกต้อง ทุก ๆ อิริยาบถ ก็จะได้ชื่อว่ามีธรรมะ ๆ การศึกษาฝึกฝน ประพฤติปฏิบัติธรรมะ มันก็มีความหมายเป็นของจริงขึ้นมา ใช้เป็นประโยชน์ได้ คำพูดนั้นไม่ให้เสียทีที่เกิดมา ที่มันล้มเหลว ก็คือ มันไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม จะดีกันที่ตรงไหน ถูกต้องกันที่ตรงไหน มันก็เอาแต่เรื่องสนุกสนาน สวยงาม เอร็ดอร่อย เพลิดเพลิน มันไปบูชากิเลส ไปบูชาเหยื่อของกิเลส กลับเห็นว่าเป็นสิ่งสูงสุด
ซึ่งคนวัยรุ่น ทั้งหญิงทั้งชาย ได้ทำผิดพลาดมากในเรื่องนี้ ไปบูชากิเลสและเหยื่อของกิเลส งั้นการที่ อยู่ในระยะวัยรุ่นนี่ จะต้องมีการฝึกฝน บังคับ อบรมตัวเองให้มาก หัวข้อที่ควรกำหนด ที่มีประโยชน์ ก็มีอยู่ ชุดหนึ่งนะ คอยจำ ๆ ให้ดีว่า มันเริ่มขึ้นมาด้วยการรู้จักตัวเอง ๑ มันรู้จักตัวเอง ๒ มันเชื่อตัวเอง ว่าจะต้องทำ อะไรได้ ๓ มันก็บังคับตัวเองให้ทำอย่างนั้น แล้วมันก็ทำอย่างนั้น งั้นก็มี ความพอใจตัวเอง นี่รู้จักตัวเอง เชื่อตัวเอง บังคับตัวเอง แล้วมันก็ช่วยตัวเองได้ พอใจยกมือไหว้ตัวเองได้
เรารู้จักตัวเองมันลำบากหน่อย แต่ก็ไม่เหลือวิสัยหรอก ถ้าอายุยังน้อย ก็เชื่อผู้ที่อายุมาก บิดา มารดา ครูอาจารย์ไว้ก่อน ถ้าอายุยังน้อย มันยากที่จะรู้จักตัวเอง อย่างฉันเดี๋ยวนี้อายุอีก ๑ปี จะ ๘๐ ปี ก็รู้สึกว่า เพิ่งจะรู้จักตัวเอง พอใช้ได้ พอเป็นที่พอใจ ก่อนนั้น ๒๐ ปี ๓๐ ปี มันๆๆ คิดว่ารู้จักตัวเองเหมือนกัน แต่แล้ว มันไม่ถูก ๆ มันไม่ตรง มันไม่ถูก มันยังรู้จักตัวเองไม่ถูก ทั้งที่มันคิดว่ารู้จัก และถูก และดี และเก่ง อย่าอวดดี ไปเลย มันต้องผ่านอะไรมากพอสมควร จึงจะรู้จักชีวิตด้วยตัวเองได้
ดังนั้นในวัยยุวชนนี้ จะต้องเชื่อฟังบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีที่ดีที่งาม อะไรให้มาก ๆ แล้วมันจะค่อยรู้จักตัวเอง ยิ่งขึ้นตามลำดับ ไม่มีหยุด วัยรู้จักตัวเอง โดยสมบูรณ์กัน ในยาม แก่เฒ่า แก่เฒ่าบางคนไม่รู้จักก็มี ตายเข้าโลงไป ทั้งไม่รู้จักตัวเองก็มี ไม่งั้นมันจะทำเลว ทำชั่ว จนกระทั่ง ตายหรือถ้ามันไม่รู้จักตัวเองนี้ รู้จักตัวเองว่าเป็นมนุษย์เกิดมาทำไม คือ รู้ว่าไอ้ธรรมชาตินะ มันสร้างคนเรามา สำหรับเพียงพอที่จะทำอะไรให้ดีที่สุดได้ ธรรมชาติมันสร้างคน สร้างสัตว์อะไรมา สำหรับพัฒนาตัวเอง ให้ดี ที่สุดได้ ถ้าเรารู้สึกอย่างนี้จะปลอดภัยมาก บางคนมันไม่รู้ มันก็กลัว ว่ามันเหลือความสามารถเลย มันไม่มี กำลังใจที่จะทำ
นี่เรารู้จักตัวเอง ว่าเราก็เป็นคนปกติ ธรรมชาติสร้างมา สำหรับเติมธรรมะได้ มีธรรมะให้ถึงที่สุดได้ รู้จักตัวเองเสียที ทีนี้ก็เชื่อว่าเราทำได้ หน้าที่อะไรที่ธรรมชาติจะมอบให้ทำ ทำได้ ก็คือ การยกตัวเองขึ้นมา ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจวิญญาณ ยกตัวเองขึ้นมา แล้วก็มีความเชื่อว่าเราทำได้ นี่เชื่อตัวเอง เชื่อตัวเองว่าทำได้ ที่นี้ก็ต้องบังคับละ เพราะขี้มักจะเหลวไหลหละ ไอ้ตัวเองที่มันยังใหม่ ๆ อย่างนี้ขี้มักจะเหลวไหล ยังเป็นของ กิเลสอยู่ มันก็ต้องบังคับ ๆ ตัวเอง บังคับตนเองให้อยู่ในความถูกต้อง คนที่บังคับตัวเองได้ เป็นคนที่หวังได้ว่า จะประสบความสำเร็จ คนที่บังคับตัวเองไม่ได้ ยังไม่มีหวังที่จะประสบความสำเร็จ
การบังคับตัวเองนี่ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ที่เรามาบวชธรรมะจาริณี ประพฤติศีล สมาธิ ปัญญา นี่คือ การบังคับตัวเองทั้งนั้นเลย บังคับตัวเองให้อยู่ในร่องในรอย ให้ถูกต้องแล้วเดินไป ถ้าเราไม่รู้ มันก็บังคับไม่ถูก แต่เดี๋ยวนี้ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ ๆ มันไม่บังคับ มันไปเห็นแก่ความสวยงาม สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ทางวัตถุ ทางเนื้อ ทางหนัง ทางกิเลส มันก็ไม่บังคับซิ มันก็ไปแอบลอบทำสิ่งเหล่านั้น ส่งเสริมกิเลสไปซะเลย อย่างนี้คือ ไม่บังคับตัวเอง บังคับตัวเองก็เท่ากับบังคับกิเลส บังคับกิเสสคือ การบังคับตัวเอง ให้ตั้งอยู่แต่ในความถูกต้อง นี่ ๓ แล้วนะ รู้จักตัวเอง เชื่อตัวเอง บังคับตัวเอง มันก็เกิดการช่วยตัวเองขึ้นมา คือ มีผลของการกระทำขึ้นมา ให้เห็นว่าตัวเองช่วยตัวเองได้ เท่าไหร่อย่างไร เห็น ๆๆ นี่การช่วยตัวเองได้เกิดขึ้นแล้ว มีผลแล้ว ที่นี้ก็อิ่มใจ พอใจ ยินดีปรีชา นับถือตัวเอง นี่คือ ความสุข
ถ้าพอใจตัวเองนับถือตัวเองได้มันก็มีผลออกมาเป็นความสุข สุขแท้จริง สุขที่แท้จริงแล้วก็เย็นจริง แล้วก็ไม่ต้องใช้เงินใช้ทองซื้อหาอะไร เป็นสุขจริงเต็มเปี่ยมอยู่ตลอดเวลา ทำการทำงาน เงินก็เหลือซิ เพราะไม่ต้องซื้อของหลอกลวง เดี๋ยวนี้ไอ้พวกที่ทำงานแล้วเงินไม่พอใช้ เพราะเอาเงินไปซื้อของหลอกลวง ไปสถานเริงรมย์ ไปซื้อความเพลิดเพลิน ที่หลอกลวงและแพงมาก ถ้ามันมีความสุขความพอใจ ในการทำ หน้าที่แล้ว ก็ไม่ต้องการสิ่งหลอกลวงเหล่านั้น เงินมันก็เหลืออยู่ งั้นจำไว้เป็นหลักเลยว่า ถ้าความสุขแท้จริง แล้ว ไม่ต้องใช้เงินซื้อ ความสุขหลอกความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ใช้เงินเท่าไหร่ก็ไม่พอ ความเพลิดเพลิน ไม่ใช่ความสุข ฟังดูให้ดี ๆ เราเรียก ความเพลิดเพลินที่หลอกลวง อย่างนี้ใช้เงินซื้อเท่าไหร่ก็ไม่พอ
อย่างความสุขที่แท้จริง เกิดมาจากความพอใจ ว่าได้ทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว พอใจ ๆ ตัวเอง พอใจตัวเอง ชอบใจตัวเอง เคารพตัวเอง นับถือตัวเอง ก็มีความสุขได้ในตัวเอง มีความสุขได้ในตัวเองนี่ เป็นพุทธศาสนา ถ้าต้องไปขอร้องจากเทวดา พระเจ้า อะไรอื่นที่ไหน อยู่นั้นไม่ใช่พระพุทธศาสนา เขาเรียกว่า ไสยศาสตร์ ไอ้คู่ปรับตรงกันข้าม คือ ไสยศาสตร์ พุทธศาสตร์ คือ พุทธศาสนาหรือศาสนาอื่นที่มันคล้ายกัน นี่ไสยศาสตร์ ก็คือ ตรงกันข้ามเลย มันไม่ทำตัวเองไม่เชื่อตัวเอง ไม่ทำตัวเอง ไม่ยกตัวเอง ไปอ้อนวอนพระเจ้าช่วย ๆ ผีสางช่วย เทวดาช่วย โชคชะตาช่วย อย่างนั้นมันเป็นไสยศาสตร์ เรียกง่าย ๆ ว่ามันทำที่พึ่งในภายใน เอาตัวเองเป็นที่พึ่ง อยู่ในภายใน นี่เป็นพุทธศาสตร์ ถ้าต้องไปพึ่งข้างนอกๆ ออกไปไกลๆ เท่าไหน ก็ยิ่งเป็น ไสยศาสตร์ ผีสางเทวดา อยู่ที่ไหน ก็ไม่รู้ ได้แต่พึ่งไปเท่านั้นเอง แล้วก็เชื่อพิธีรีตอง รดน้ำมนต์บ้าง เป่ากะหม่อมบ้าง อะไรบ้างทำกันไป เราเป็นพุทธบริษัท ทำอย่างนั้นไม่ได้ ทำอย่างนั้นมันเป็นไสยศาสตร์
พุทธศาสตร์ไม่ใช่ไสยศาสตร์ ตรงกันข้ามโดยประการทั้งปวง ไสยศาสตร์แปลว่า ศาสตร์ สาด-ตระ สาด-ตระ ความรู้วิชาอาวุธ นั่นแหละ ของคนหลับ ไส-ยะ แปลว่าหลับ พุทธศาสตร์ พุท-ธะ แปลว่า ตื่น พุ-ชะ แปลว่าตื่น อันหนึ่งหลับ อันหนึ่งตื่น คิดดูมันจะเหมือนกันได้อย่างไร มันก็ต้องตรงกันข้าม การมาบวช ธรรมะจาริณีนี้ ก็เท่ากับว่าจะมาปรับปรุงพุทธศาสตร์ ปรับปรุงความเป็นพุทธบริษัท ให้มันง่ายขึ้น ดีขึ้น เร็วขึ้น สมบูรณ์ขึ้น อย่าให้มันเป็นไสยศาสตร์ไปเสียอีก เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ทำแล้วศักดิ์สิทธิ์ ทำแล้วดีเอง ทำแล้วมีอำนาจอะไร ก็ไม่รู้มาช่วยให้ดีเอง บางคนก็คิดอย่างนั้นก็มี โดยเฉพาะพวกแก้บน บวชแก้บน ๓ วัน ๗ วัน อย่างนั้นมันเป็นเชื่อไสยศาสตร์ ประเคนให้พระพุทธเจ้ากินสินบนเสียอีก
เอ้าละ, เป็นอันว่าที่พูดนี้ พูดเป็นแนวตลอดไป สำหรับจะไปใช้ ไปคิด ไปนึก ไปทดสอบอยู่เรื่อย ๆ ขึ้นไป จนตลอดชีวิตได้ ไม่มีเวลาพอ ที่จะพูดโดยรายละเอียดทุกข้อ ๆๆ แต่พูดได้เพียงโดยหลัก โดยหลักเกณฑ์ โดยเค้าเงื่อน ให้กำหนดจดจำไว้ให้ดี ๆ แล้วดำเนินไปให้ถูกต้องตามนั้น ให้เกิดมาได้เป็นมนุษย์ และได้พบ พระพุทธศาสนา อย่าให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา ให้ชีวิตนี้เป็นชีวิตตื่น เหมือนกับ พุทธะอยู่เสมอ อย่าได้เป็นชีวิตหลับ เหมือนไสยศาสตร์ทั้งหลายเลย ถ้าเคยมีไสยศาสตร์อยู่ ก็เลิก ๆ ไปเสีย เลิก ๆ ไปเสีย มันเป็นธรรมดาแหละ วัฒนธรรมประเพณี มันยังไม่ดีแท้ทำให้เด็ก ๆ หลงถือไสยศาสตร์ มาแต่เล็ก ๆ จนเดี๋ยวนี้ยังเอาออกไม่หมด ก็พยายามเอาออกให้หมด เรื่องเชื่อไม่มีเหตุผล เชื่อภายนอก ไม่เชื่อการกระทำ ของตนเองคิดพึ่งผู้อื่น นั่นแหละมันเป็นไสยศาสตร์ พึ่งตัวเอง พึ่งการกระทำของตนเอง นับตั้งแต่ว่ารู้จักตัวเอง เชื่อตัวเอง บังคับตัวเอง กระทำด้วยตนเอง พอใจตนเอง เป็นสุขด้วยตนเอง นี่แหละเป็นพุทธศาสตร์ จำไว้สักแนวหนึ่ง ว่ามันมีอย่างนี้เป็นแนวยาวออกไป สำหรับจะไว้วัดหรือตรวจสอบ ทดสอบความรู้การศึกษา อะไรที่มันจะเพิ่มเข้ามาเรื่อย ๆ ในอนาคต
นี่วันนี้ก็พูด เรื่อง เค้าเงื่อนเค้าโครงของคน ของชีวิต คือ คนที่เกิดมาแล้วจะต้องเดินไปอย่างไร จะเดินไปที่ไหน ด้วยความถูกต้องอย่างไร นี่จำไว้ว่าอย่างนี้ แล้วทำให้ทุก ๆ อย่างมันเป็นไปได้อย่างนี้ เอาละขอยุติการบรรยายวันนี้ ไว้เพียงเท่านี้
เอ้า, มีเวลาเหลืออยู่นิดหน่อย ใครจะถามปัญหาอะไรบ้างก็ได้ ใครมีปัญหาอะไร เกี่ยวกับเรื่องที่ได้พูด ไปแล้วนะถามได้ …(เสียงถาม) ไม่ได้ยิน ถามใหม่ให้ดังกว่านั้นนะไม่ได้ยิน
ถาม.. หลักเกณฑ์ที่จะใช้วัดความถูกต้องมีอะไรค่ะ
ตอบ.. ตะกี้ว่าตั้งหลายหน คือ ไม่ทำอันตรายใคร แล้วก็มีประโยชน์แก่ทุกคนนะ หลักเกณฑ์ความถูกต้อง เดี๋ยวนี้เขาเรียนกันไปไกล ถึงเรื่อง logic เรื่อง Philosophy เรื่องอย่างนั้นถูกต้อง อย่างนี้ถูกต้อง มันมากไป เอากันง่าย ๆ เพียงว่า ถ้ามันมีประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วก็ไม่ทำใครให้เดือดร้อน เสียหายรวมทั้งตัวเองด้วย ก็เรียกว่า ถูกต้อง ไม่ทำอันตรายตนเอง และผู้อื่น ทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ ด้วย เรียกว่า ถูกต้อง การกระทำอันนั้นถูกต้อง เป็นการพูดจาหรือการกระทำ หรืออะไรก็ตามมีผลออกมา อย่างนั้น ก็เรียกว่า นั่นถูกต้อง
เอ้า, ถ้าไม่มีปัญหาก็ปิดประชุมกลับไปนอน เดี๋ยวเขาจะปิดไฟจะลำบาก