แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการอบรมฝ่ายวิชชา ฝ่ายวิชาการ แต่มันไม่ใช่เป็นการปิดหรือหยุดในฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายปฏิบัติการนั้นมันหยุดไม่ได้ คือมันไม่มีหยุด มันต้องทำกันจนตลอดชีวิต การอบรมฝ่ายวิชาการมีได้เป็นคราวๆเป็นงวดๆ จึงมีเปิดมีปิดได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี ขอให้ทุกคนรู้ไว้ว่าการอบรมศึกษาเป็นงวดๆจนจบงวด หรือว่าถึงกับได้ประกาศนียบัตรแล้วก็ตาม นั้นไม่ได้แสดงว่ามีความรู้ หากพวกอื่นหรือว่าชาวโลกวิธีการทางโลกเขาอาจจะว่ารู้ก็ได้เพราะว่าได้สอบไล่แล้ว แต่ทางธรรมะจะถืออย่างนั้นไม่ได้ ไม่ถือว่าการสอบไล่เป็นการแสดงว่ามีความรู้ อันนี้เพราะว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าความรู้นั่นมันต่างกัน ความรู้อย่างของชาวบ้าน สอบไล่ได้ก็มีความรู้ แต่ความรู้อย่างธรรมะหรือโดยธรรมชาตินั้น เรียกว่ายังไม่รู้ เขาต้องเอาความรู้ที่เรียนนั่นน่ะไปปฏิบัติดูทีนี้จะรู้ ปฏิบัติดูแล้วจะรู้ตามความรู้ที่เรียนไป ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ แต่ถ้าคนนั้นมันโง่ มันปฏิบัติไม่ได้ มันก็ยังคงไม่รู้อยู่นั่นเอง เราก็เรียกว่าคนไม่รู้แม้ได้ประกาศนียบัตรได้อะไรต่างๆเสร็จแล้วขอให้ถือเป็นหลักว่า ไอ้ความรู้อันแท้จริงนั้นจะต้องหลังจากการปฏิบัติเสมอไป
เมื่อเราเรียนเรื่องอะไรรู้แล้ว มันรู้แค่เรียนแค่จำ ต้องเอาเรื่องนั้นไปปฏิบัติจนมีผลขึ้นมา ตอนนี้เรียกว่าเป็นความรู้หรือมีความรู้ เรื่องศีลก็ดี เรื่องสมาธิก็ดี เรื่องปัญญาก็ดี คำว่าเรียนก็หมายถึงการปฏิบัติทั้งนั้นเลย คำว่า ศึกษาๆคือการปฏิบัติทั้งนั้นเลย ไม่ใช่เรียนท่องจำ คำว่า สิกขา กับคำว่าสุตะนั้นต่างกันลิบ คำว่าสุตะก็แปลว่าเล่าเรียน จะเรียนอย่างในโรงเรียน คำว่าสิกขาก็แปลว่าการศึกษา การเล่าเรียน แต่มันเป็นเรื่องของการปฏิบัติตลอดเวลา มันก็คือปฏิบัติไปตามที่ได้เรียนอย่างสุตะ เมื่อเรายังจะต้องเรียนด้วยการปฏิบัติ ซึ่งเป็นการเรียนจริงหรือที่เราเรียกว่า สิกขา ดังคำที่ใช้กันอยู่เป็นหลักว่า สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ตอนนี้ตอนปฏิบัติแล้วนี่จะเกิดความรู้จริงว่า ศีลเป็นอย่างไร สมาธิเป็นอย่างไร ปัญญาเป็นอย่างไร คราวนี้จะเลยไปถึงคำว่าปริญญา มันก็มีเหมือนกัน ภาษาของพระพุทธเจ้ามีในพระไตรปิฎก คำว่าปริญญา ภิกษุทั้งหลายปริญญามีอยู่ทั้งสาม สามคืออะไร ราคกฺขโย โทสกฺขโย โมหกฺขโย ความสิ้นไปแห่งราคะ แห่งโทสะ แห่งโมหะ เรียกว่าปริญญาสาม คือมันเป็นความรู้สุดยอดนั่นเอง เราปฏิบัติศีลปฏิบัติสมาธิปฏิบัติปัญญาในระดับธรรมดากลางๆยังไม่สิ้นกิเลส นี้ก็เป็นความรู้แต่ไม่เรียกว่าปริญญา เพราะคำว่าปริญญามันแปลว่า รู้รอบ รู้หมดจด ครบถ้วน ถ้าคนเรายังไม่สิ้นกิเลส ก็ยังไม่รู้หมด รู้ครบถ้วนหรือรอบรู้ นั้นท่านจึงเอาคำว่าปริญญาไปใช้กับคำว่า สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ นี่เรียกว่ารอบรู้หรือปริญญา เดี๋ยวนี้ในบ้านในเมืองเขา ปริญญาคือกระดาษแผ่นหนึ่งก็ไม่เคยทำอะไร เรียนจบไม่เคยทำอะไรมันก็ได้ปริญญา นี่มันไกลกว่าคำว่าปริญญามากเกินไป มันเป็นปริญญาว่าเอาเอง ปริญญา สอบไล่ ไม่ตรงตามความหมายของคำว่าปริญญาในภาษาบาลี ดังนั้นเราจะต้องรู้ว่า การอบรมวิชาการนั้นปิดได้ แต่ว่าการปฏิบัตินั้นปิดไม่ได้ มันจะต้องทำต่อไป คุณจะกลับไปสำนักภูมิลำเนาอะไรแล้ว ก็ตามใจมันก็ต้องปฏิบัติต่อไป นั่นแหละคือการเรียนที่แท้จริง แล้วก็จะได้ความรู้ภายหลังจากปฏิบัตินั้นๆ นี่ทางธรรมะเขาถือหลักกันอย่างนี้ว่าความรู้ที่แท้จริง มันมาจากภายหลังการปฏิบัติ
นั้นการเรียนรู้ก่อนการปฏิบัติเขาก็ไม่ได้เรียกว่าความรู้ ไม่ได้เรียกว่าการศึกษาด้วยซ้ำไป จึงคิด เอ่อ จึงหวังว่าทุกคนนี่จะต้องไปทบทวนอย่างละเอียดเป็นข้อๆ ทีละข้อๆ แล้วก็ปฏิบัติดูทีละข้อๆ จนกว่าจะครบหมด มันจึงจะเป็นการเรียนและการรู้ ถึงแม้ว่าเราจะเล็งถึงความรู้ในการเผยแผ่สั่งสอน เราจะมีความรู้เรื่องนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราได้ไปทำการเผยแผ่สั่งสอนมาแล้วอย่างถูกต้องหรือเพียงพอ แม้เราจะได้พูดกันเรื่องวิธีการสั่งสอนเผยแผ่กันมาหลายครั้งหลายหนแล้วมันก็ยังไม่รู้ มันเพียงแต่จำได้ ได้ยินได้ฟัง ยังไม่รู้ ถ้าเป็นความรู้เขาก็เรียกว่าความรู้อย่างสุตตะ ยังไม่ได้คิดค้นยังไม่ได้ปฏิบัติยังไม่ได้ทำตามนั้นดูก็ยังไม่ใช่ความรู้ นั้นพวกที่เรียกตัวเองว่าธรรมจาริก มันก็ต้องไปเรียนต่อ คือไปทำการเผยแผ่อบรมสั่งสอนดู มันก็จะรู้อะไรอีกมาก อย่างน้อยก็รู้ความโง่ของตัวเอง รู้ความไม่สามารถของตัวเอง ว่าเรามันยังไม่ทำอะไรได้หรอก จนกว่าจะได้ทำไปๆ ค่อยมีความสำเร็จเกิดขึ้น จะต้องไปรู้จักผู้ที่เราจะเผยแผ่ ว่าเขามีอย่างไร เขามีลักษณะอย่างไร มีปัญหาอย่างไร ให้เหมือนที่ผมได้พูดวันแรกสุด จนไปทำความรู้จักกับคนเหล่านั้นให้ครบถ้วนเสียแล้ว จึงจะสามารถเผยแผ่ให้เขาได้ มันจึงยังต้องทำอีก ไม่ใช่ว่าจบเรื่อง แล้วต่อนี้ไปเราจะเก่ง มันไม่เหมือนกับเรียนช่างไม้ เป็นต้น ถ้าเรียนช่างไม้คือเขามันสอนให้ทำๆๆอยู่ตลอดเวลา พอเรียนจบมันก็เรียกว่าพอจะรู้แล้ว แต่ถ้าว่าเรียนช่างไม้เรียนตั้งแต่ตัวหนังสือ ไม่เคยทำด้วยมือจริงๆ มันก็เหมือนกันอีกแหละ มันก็ทำไม่ได้ มันก็ทำไม่ได้ เหมือนกับเรียนเรื่องทำสวนแต่ตัวหนังสือในห้องเรียนนี้ทำไม่ได้ มันต้องไปทำสวนจริงๆถึงได้รู้ว่ามันเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้เราก็เรียนแต่เพียงเรียกว่าวิชาทฤษฎีบ้าง ยังไม่ได้ประสบกับการกระทำจริงๆ ต่อไปนี้มันก็เปิดการเรียนขั้นสอง คือการเรียนด้วยการกระทำจริงๆ การเรียนด้วยการได้ยินได้ฟังนี่ก็ปิดได้ แต่ถ้าว่าโดยที่แท้แล้วมันปิดไม่ได้นะ มันปิดได้สำหรับคนที่มันไม่รู้อะไรนัก เพราะว่ายังจะต้องศึกษาต่อไปแม้โดยวิชา หลักวิชา มันต้องศึกษาต่อไปยังปิดไม่ได้ พูดว่าปิดนี่คล้ายๆกับว่าหลับตาพูด นั้นคุณจะต้องหาหนังสือหนังหา ตำรับตำรา หาโอกาสพบครูบาอาจารย์ ศึกษาต่อไปเถิด มันปิดไม่ได้เหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้สมมติว่าการที่มาพูดกันที่นี่ ระยะหนึ่งสิบวันยี่สิบวันนี่มันปิดได้ ก็เป็นเรื่องเป็นพิธีรีตองมากกว่า โดยเนื้อแท้แล้วมันปิดไม่ได้ โดยสุตะโดยเล่าเรียนนี่ก็ปิดไม่ได้ เหมือนกับผมมันก็ยังเรียนอยู่ทุกวันก็ยังปิดไม่ได้ ยังเรียนอยู่ทุกวัน การกระทำมันก็ทำไปพร้อมๆกัน มันก็เลยมีความรู้ทั้งสองอย่างไปพร้อมๆกัน คือความรู้เรื่องวิชาการโดยปริยัติ และความรู้วิธีการกระทำประพฤติปฏิบัติ ก็เป็นอันว่ามันทำกันตลอดชีวิต ความคิดที่ว่าเดี๋ยวนี้พอแล้ว มันก็เป็นเรื่องหลับตาพูด อย่าคิดว่าเดี๋ยวนี้มันพอแล้วสำหรับวิชา มันไม่มีทาง เพราะบางทีจะมีแผนการว่าพอแล้วทำงานได้สองสามปีแล้วก็สึก แล้วก็ลาสิกขา แล้วพออะไรกัน เพราะว่าทำจนตลอดชีวิตมันก็ยังยากที่จะพอ หรือมันไม่พอ นี่ให้เรามองให้เห็นว่าตามความจริงมันอยู่อย่างนี้ การเรียนโดยวิชา โดยเล่าเรียนมันไม่มีหยุดไม่มีพอ เพราะการเรียนโดยการปฏิบัติไปๆ จนเข้าถึงตัวของมันจริงๆ มันก็ไม่พอ มันหยุดไม่ได้หรอก จนกว่าสิ้นกิเลสมันถึงจะหยุดได้ คือได้รับปริญญาจริงๆน่ะ เดี๋ยวมันก็ไม่ต้องพูดแล้วว่า คุณก็ไม่ต้องการจะรับปริญญาของพระพุทธเจ้า มันก็ไม่ต้องพูดนะ เข้าใจว่าทำไปตาม ตามประเพณี บวชจริงเรียนจริงปฏิบัติจริงสอนจริงๆ ไปตามที่จะทำได้ มันก็ได้ มันก็ได้ ได้เท่าไรก็ไปรู้ ไปรู้กันข้างหน้า เดี๋ยวนี้ก็ให้มันเป็นที่แน่นอนว่าเราได้ทำดีที่สุดแล้ว บวชจริงเรียนจริงปฏิบัติจริงสอนกันไปจริงๆ มันมีลักษณะเหมือนกับเป็นเพื่อนกันมากกว่า ไม่ใช่เป็นครูบาอาจารย์ที่แท้จริง มันเป็นเพื่อนกันมากกว่า รู้อะไรบ้างก็สอนไปตามนั้น เพื่อไปถึงตลิ่งถึงฝั่งนู้นพร้อมๆกัน เมื่ออยู่ในโลกนี้มันก็มีเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ด้วยกัน แล้วก็สอนกันแล้วก็ไปด้วยกัน ว่ายน้ำไปด้วยกัน สอนกันไปพลาง ถ้าใครไม่สมัครทำอย่างนี้ผมว่าเลิกเสียดีกว่า หรือไปสึกเสียดีกว่า ถ้าไม่ตั้งใจว่าจะทำให้มันจริงจังอย่างนี้ ไม่มีประโยชน์อะไร
มันก็ยังเหลือปัญหาที่ต้องพูดที่ว่า ทำอย่างไรเล่ามันจึงจะอดทนกันได้ถึงขนาดนั้นนะ อย่างที่เขาพูดกันทั่วๆไปว่าสำเร็จหรือมิฉะนั้นก็ตายล่ะ ผลมีสองอย่าง คือสำเร็จตามความมุ่งหมาย หรือมิฉะนั้นก็ตาย เมื่อมันไม่สำเร็จแต่มันทำจนตาย มันจึงได้ผลคือตาย ถ้ามันสำเร็จเสียก็ดีไปทีหนึ่ง แต่เรามั่นหมายแน่นอนอย่างนี้แหละ สำเร็จหรือตาย ตายหรือสำเร็จก็ได้เหมือนกัน ในวันที่สองที่สามผมพูดถึงพระพุทธสุภาษิตที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสในวันส่งภิกษุออกไปประกาศพระศาสนานั่นแหละจะช่วยได้ แต่ผมคิดว่าที่นั่งอยู่นี่คงไม่มีใครจำได้สักกี่คน พระพุทธสุภาษิต จรถ ภิกขเว จาริกํ พหุชนหิตาย คุณคงจำไม่ได้ เพราะคุณไม่ได้ตั้งใจจะศึกษาให้มันครบถ้วนกระบวนท่า นี่ไปเปิดบาลีไปเปิดตำรามาดูจดไว้ให้แม่นยำท่องไว้ทุกวันๆ ถ้อยคำเหล่านั้น ถ้าคุณรู้คำบาลีโดยแท้จริงนะ คุณจะฟังออกว่าไม่ใช่เป็นคำสั่งบังคับ แต่เป็นคำขอร้องและอ้อนวอน เป็นคำขอร้องอ้อนวอน ท่านอ้อนวอนให้ไป ขอร้องให้ไป ให้ทำให้ดีที่สุด ให้แสดงธรรมไพเราะเบื้องต้นท่ามกลางเบื้องปลาย ให้ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ แล้วยังทรงต่อรองว่า แม้เราก็ยังไปเหมือนกัน แม้เราก็จะไปอุรุเวลา นี่แสดงว่าท่านต่อรองไม่ได้สั่งบังคับหรอก แล้วยังขอร้องว่า ช่วยกันทำให้มันเร็ว คำว่าอย่าไปทางเดียวกันสองรูป ให้ไปรูปเดียวๆๆ เพื่อมันจะได้มาก มากทาง เดี๋ยวนี้ดูเหมือนว่าจะไปสนุก ยกทีมกันไป ไปเล่นไปหัวไปสนุก พระพุทธเจ้าท่านขอร้องให้ไปทางเดียวคนเดียว เดี๋ยวนี้มันไปยกทีม ไปเล่นสนุกกันเสียมากกว่า ไปสนใจในพระพุทธสุภาษิตนั้นเอามาพิจารณา เอามาใคร่ครวญอยู่เสมอ จำได้แม่นยำทุกตัวอักษร ตั้งแต่คำว่าเธอจงเที่ยวไป ถึงคำสุดท้าย แม้เราก็จะไปยังอุรุเวลา คำสุดท้าย เดี๋ยวนี้เรามันเรียนกันหยาบ หยาบเกินไป เพราะมันหยาบ เพราะมันประมาทและมันโง่ด้วยซ้ำไป เพราะมันโง่มันจึงเรียนได้หยาบๆ มันเรียนให้ให้ละเอียดให้ประณีตทุกตัวอักษรไม่ได้ เราจึงไม่ค่อยได้รับอำนาจอิทธิพลดลใจจากพระพุทธสุภาษิตเหล่านั้น เขาให้ศึกษาให้ถึงขนาดได้รับอิทธิพลดลใจ ในพุทธภาษิตเหล่านั้น แม้ถ้าว่ามันถึงกับจะแสดงธรรมให้ไพเราะทั้งสามสถานด้วยแล้ว มันก็ยิ่งต้องการความละเอียดประณีตมาก ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ให้มันถูกต้อง ไม่ใช่สอนเอาตามความเดาของแต่ละคนๆ เดี๋ยวอาจารย์คนหนึ่งก็สอนไปตามความเดาของแต่ละคนของแต่ละคน จึงมีทะเลาะกันบ้างเถียงกันบ้างอะไรกันบ้าง แล้วมันจะบริสุทธิ์จะถูกต้องได้อย่างไร ถูกต้องโดยอรรถโดยพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ฟังดูมันห่างไกลกันมากกับที่เรากำลังกระทำอยู่ เรากำลังกระทำอยู่เขาเรียกว่าหวัดๆชุ่ยๆ ตามสบายใจกันมากเกินไป ไม่ได้ทำอย่างละเอียดที่สุด ระมัดระวังสำรวมที่สุด แล้วก็ด้วยความซื่อตรงที่สุด ซื่อตรงต่อพระพุทธเจ้า ซื่อตรงต่อธรรมะ เดี๋ยวนี้มันทำงานเพื่อตัวกู เพื่อของกู ก็ไม่มีทางที่จะซื่อตรงต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะว่าซื่อตรงต่อตัวกูมันก็ไม่ได้เหมือนกัน เมื่อตัวกูไม่ได้มีตัวจริง และถ้าซื่อตรงต่อตัวกูในความหมายนั้นก็คือหลอกลวงที่สุดน่ะว่ากันอย่างนั้นดีกว่า เตือนกันอยู่บ่อยๆเตือนกันอยู่เสมอๆว่าซื่อตรงต่อพระพุทธเจ้า และก็ระมัดระวังอย่างละเอียด ประณีตที่สุด แล้วก็เสียสละที่สุดทำด้วยกำลังจิตทั้งหมดทั้งสิ้น กำลังจิตทั้งหมดทั้งสิ้น นี่มันเรื่องมันมีอย่างนี้
นั้นต่อไปนี้มันก็มีการฝึกเรื่องทำอย่างนี้ ทำอย่างดีที่สุดซื่อตรงที่สุดประณีตที่สุดอุทิศเสียสละที่สุด นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์อยู่เสมอ แม้แต่ว่าจะอ่านหนังสือพิมพ์ ก็อ่านเพื่อให้มันได้แง่ที่จะเป็นประโยชน์แก่การเผยแผ่ของตน น่าจะไปอ่านหนังสือพิมพ์เหมือนเขาทั้งหลาย อ่านเหมือนเขาทั้งหลายแต่ความมุ่งหมายคนละอย่าง ถ้าว่ามันฉลาดจริงมันทำได้ มันจะเก็บเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่การเผยแผ่ได้ แม้แต่อ่านหนังสือพิมพ์ ถ้าไม่ฉลาดมันก็ไม่ได้ล่ะ มันก็เป็นการอ่านอย่างเพลิดเพลิน คนธรรมดาเขาอ่านกัน แม้แต่ว่าเราจะไปเที่ยวที่ไหนจะไปดูอะไรที่ไหน ก็ขอให้มันได้ผลอันนี้ แม้ที่สุดแต่จะใช้เวลาพักผ่อนนอนเล่น มันก็ยังได้ประโยชน์อย่างนี้ คือเรื่องที่มันลึกซึ้งมันออกมาได้ ผุดขึ้นมาในความคิดได้ แล้วเราก็รีบจดไว้เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ในการเผยแผ่ มิฉะนั้นมันลืม คนที่ว่าไม่จดจำได้นั้นน่ะคือคนโง่ ไม่มีใครจำได้หรอกถ้าจะเรื่องมากๆอย่างปัจจุบันนี้น่ะไม่มีใครจำ เพราะว่าจิตมันต้องเปลี่ยนไปตามอารมณ์ตามเหตุการณ์เรื่อยไปๆ ดังนั้นมันจะไม่ย้อนกลับไปคิดเรื่องที่คิดไปแล้วไม่ค่อยมี เพราะวว่าสิ่งแวดล้อมมีแต่จะก้าวหน้าเรื่อย นั้นจิตมันคิดได้ก็ไปตามสิ่งแวดล้อมเรื่องใหม่ไปหมด ผมไปดูเปิดดูไอ้สมุดบันทึกหรือบางทีก็เศษกระดาษบันทึกเมื่อหลายๆปีมาแล้ว ไอ้ยี่สิบสามสิบปีมาแล้วมันก็รู้สึกได้ทันที ถึงกับสะดุ้ง โอ้,นี่เราเคยคิดมาแล้ว เคยคิดถึงอย่างนี้เชียวหรือ เรียกว่าเราเคยคิดเก่งคิดดีอย่างนี้เชียวหรือ มันไม่น่าเชื่อ นี่มันเป็นหลักฐานยืนยันว่าไอ้ความคิดมันไม่ค่อยจะกลับไปซ้ำลอย เพราะว่ามันถูกแวดล้อมโดยปัจจัย แปลกใหม่ยิ่งๆขึ้นไปตามยุคตามสมัย บางทีเราคิดได้ดี จนไม่อาจจะคิดให้ดีอย่างนั้นได้อีกก็มีนะผมบอกให้เลย คุณไปสังเกตุเอาเองข้างหน้า
นี่ความคิดดีๆมันจะเกิดก็ต่อเมื่อจิตมันเหมาะสม ที่ในบาลีเขาเรียกว่ามีจิตนิ่มนวลอ่อนโยน นิ่มนวลสมควรแก่การงานนั่นแหล่ะ ไอ้คำนั้นแหละมันๆตลอด ตลอดเวลาเลย ถ้าจิตไม่ได้นิ่มนวลอ่อนโยนเหมาะสม นิ่มนวลควรแก่การงานแล้ว มันไม่ออกมา ความคิดดีๆมันไม่ออกมา นั้นเราไปนอนเล่นอยู่บนเก้าอี้นอน พักผ่อนอยู่ก็ตาม ถ้ามันประจวบเหมาะ จิตมันอ่อนโยนนิ่มนวลควรแก่การงานน่ะ ที่เรียกว่ากัมมนีโย มันก็คิดอะไรออกได้เป็นตุเป็นตะ ถ้าปัญหาอะไรมันมีอยู่ในใจในเวลานั้น มันจะมีคำตอบออกมาทันที น่ะรีบจดบันทึกเถิด ว่าถ้าไม่จดบันทึกมันก็ลืมแหละ เพราะว่าเหตุการณ์อย่างนั้นมันไม่กลับมาอีก ไอ้สิ่งที่บังคับจิตให้ต้องเป็นอย่างนั้นน่ะมันจะไม่กลับมาอีก เพราะมันจะไม่คิดเรื่องนี้อีก หรือว่าจะไม่เป็นความคิดออกมาอย่างนี้อีก เราก็สูญเปล่า ก็เสียเปล่า มันกี่ปีๆมันไม่มีก้าวหน้าในชีวิต ซึ่งมันจะต้องก้าวหน้าอีกมาก
ไอ้คนที่มันเรียกว่ามีบุญอยู่บ้างหรือว่ามันมีอะไรพิเศษอยู่บ้าง มันก็เป็นคนที่มีจิตใจนิ่มนวลอ่อนโยนนิ่มนวลควรแก่การงาน อยู่ได้เป็นประจำ คนชนิดนั้นมันคิดได้เรื่อย คิดได้มากกว่าคนธรรมดา มันเรื่องเดียวกับหลักของการทำสมาธิ ที่ว่าจิตของคนชนิดนี้มันไม่ถูกรบกวนด้วย กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ที่เรียกว่า นิวรณ์ ๕ ประการ บางคนมันมีบุญหรือว่ามันโชคดีอะไรก็ตามใจ มันไม่ค่อยเกิดนิวรณ์ จิตของเขาอ่อนโยนนิ่มนวลควรแก่การงานอยู่เสมอ คือเป็น กัมมนีโย อย่างน้อย ปริสุทโธ สมาหิโต กัมมนีโย นี่ ๓ คำนี้ แต่บางคนมันมีได้ง่ายมีได้มากเขาก็ได้เปรียบ แต่บางคนมันประมาทมันกระด้าง หรือมันมีนิสัยรุนแรงด้วยจริตที่รุนแรง มันก็ไม่ค่อยมี ไม่ค่อยมีภาวะจิตอย่างนี้ นั้นเขาจึงไม่พร้อมที่จะเห็นธรรมะ ไม่พร้อมที่จะมองเห็นธรรมะ ไม่พร้อมที่จะรู้แจ้งแทงตลอดธรรมะ มันก็ผิดกับอีกคนหนึ่งซึ่งมันมีจิตใจมันไม่มีนิวรณ์รบกวน เสียเป็นปกติ จิตนี้มันเป็นกัมมนียะ คือพร้อมที่จะให้ความรู้ให้ความคิดออกมาเป็นความรู้เป็นความคิด มันก็มีได้มาก เพราะนั้นคนที่มันเป็นนักคิดจะเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักปรัชญาหรือนักอะไรก็ตาม เขาจะต้องมีจิตชนิดนั้นแหละ แล้วเขาก็อบรมมันด้วยมันมีจิตชนิดนั้น เหมือนกับที่เราอบรมจิตให้เป็นสมาธิก็เพื่อจะเป็นจิตชนิดนั้น แต่เราไม่ได้ทำกันจริงๆจังๆทำพอเป็นพิธีรีตอง บางทีก็ทำอวดคนให้คนโง่เลื่อมใส มันเคร่งให้คนโง่เลื่อมใส มันหาวิธีเคร่งให้คนโง่เลื่อมใส ทำอย่างนี้ มันก็ไม่มีทางที่มันจะได้ผลโดยแท้จริงตามหลักของพระธรรม ถ้าเราไม่มีจิตชนิดนั้นเราก็อบรมมันจริงๆโดยวิธีของสมาธิ หรือว่าเราอย่าไปเครียดอะไรมันโดยไม่จำเป็น ก็พยายามที่จะ เรียกว่าอะไรก็ไม่รู้ ประคับประคองให้จิตมันอยู่ในลักษณะที่นิ่มนวลอ่อนโยนควรแก่การงานอยู่เสมอ
ไอ้เรื่องกามราคะก็เหมือนกันแหละ มีอุบายที่จะป้องกันไม่ให้มันเกิด ไอ้เรื่องความเครียดด้วยโทสะก็มีอุบายที่จะไม่ให้มันเครียด ทีนี้โมหะที่มันเป็นเหตุที่ทำให้ทำอะไรชุ่ยๆหวัดๆ สะเพร่า จัดการกันเสียใหม่ มันตรงกับคำภาษาชาวบ้านๆเด็กๆว่าเมื่อมีอารมณ์ดีอารมณ์มันดี อารมณ์คำนี้มันหมายถึงความรู้สึกในจิตใจนะไม่ใช่อารมณ์อายตนะภายนอก เมื่ออารมณ์มันดี เมื่อจิตมันดี เมื่อมันสบายใจดีนั่นแหละ คิดอะไรออกดี เราก็ต้องเป็นอย่างนั้นแหละ ต้องมีอะไรอารมณ์ดีสบายใจดี อะไรมันเกือบจะไม่ต้องคิด มันออกมาเอง คำที่กล่าวไว้ว่า เมื่อจิตตั้งมั่นย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ เมื่อจิตตั้งมั่นย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง มันมีความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ คือถ้าเราทำจิตให้เป็นกัมมนีโยอยู่เรื่อย มันจะง่ายที่สุด ที่มันจะเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง เพราะมันเกิดความคิดอย่างที่พูดมา มันเกิดความคิดที่มีประโยชน์อยู่ตลอดเวลา คือคำตอบของปัญหามันออกมาเอง
ที่จริงไอ้ชีวิตจิตใจนี่มันก็อัดอยู่ด้วยปัญหาต่างๆทั้งหมดเลย แต่มันจะตอบปัญหาเหล่านั้นไม่ได้จนกว่าจิตจะมาอยู่ในสภาพอย่างที่ว่านั่น นิ่มนวลอ่อนโยนควรแก่การงาน แล้วปัญหามันจะออกมาเองโดยไม่ต้องนึกถึงปัญหา โดยไม่ต้องทำปัญหา หรือไม่ต้องสร้างตัวปัญหา มันจะออกมาเอง ไอ้คำตอบมันจะออกมาเอง เพราะว่าปัญหามันอยู่ใต้สำนึกอยู่ตลอดเวลา อันนี้เราเกือบจะไม่ต้องสร้างเพราะว่าเรามีปัญหาที่เกิดได้เองอยากรู้อะไร ต้องการอะไร มันสะสมของมันอยู่ตลอดเวลา เขาเรียกว่ามันอยู่ใต้สำนึก ถ้าเราทำจิตเหมาะสม คำตอบมันออกมาเอง นั้นจึงพูดอย่างเมื่อตะกี้พูดว่า ถ้าความคิดดีๆมันเกิดขึ้นหรือถ้าออกมา ให้เราก็เก็บไว้ๆ มันเป็นความรู้ที่จะใช้ประโยชน์ได้ในโอกาสข้างหน้า นี่ผมเห็นว่าทุกคนควรจะมีหลักการอย่างนี้ แม้ว่าจะไม่เป็นผู้เผยแผ่ก็ต้องมีหลักการอันนี้ ถ้ายิ่งเป็นผู้จะทำงานเผยแผ่ มันเพิ่มขึ้นอีกงานหนึ่งนะ การปฏิบัติเฉยๆกับการเผยแผ่ มันต่างกันมากนะ มันก็มีงานเพิ่มขึ้นเราก็ต้องวิธีที่จะทำงานให้มากขึ้น ให้มันเป็นการทำงานได้มากๆเป็นพิเศษโดยธรรมชาติ
สรุปความแล้วก็คือว่าตั้งจิตไว้ให้มันเหมาะสม ดำรงจิตไว้ให้เหมาะสม สิ่งต่างๆมันจะเกิดขึ้นเอง ที่เราต้องการ ความรู้ประโยชน์ที่เราต้องการ จะเกิดขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเราไม่รู้เรามองไม่เห็นเหตุปัจจัยเหล่านี้ เราก็คิดคล้ายกับว่ามันเกิดเอง แต่ที่จริงมันไม่ได้เกิดเอง มันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งของมันอยู่อย่างมากมาย คือว่าอีกทางหนึ่งเราก็ไม่ค่อยเชื่อว่าจะเกิดอย่างนี้ได้ เราก็ไม่พยายามที่จะทำ คือไม่พยายามที่จะรักษาจิต ดำรงจิตหรือถนอมจิตแล้วแต่จะเรีกให้มันอยู่ในสภาพที่ว่าให้นิ่มนวลอ่อนโยนให้เหมาะสมแก่การงาน เราก็ไม่สนใจ ไม่สนใจเรื่องนี้ มันก็เลยไม่มีกันใหญ่ ทุกอย่างมันก็ไม่มี ความก้าวหน้าในทางจิตในทางวิญญาณก็ไม่มี มันก็ไม่ค่อยจะมี ความละเอียดลออความประณีตของสติปัญญา มันก็ไม่ค่อยจะมี ความเป็นสมาธิมันก็ไม่ค่อยมีอยู่แล้ว นั้นการเพ่ง เพ่งจิตที่จะให้รู้อะไรนี่มันก็ไม่ค่อยมี มันก็ไม่ได้เพ่ง หรือไม่เพ่ง หรือมันเพ่งผิวๆ มันไม่เพ่งลึก เรื่องนี้ก็ไม่ค่อยได้ฝึกฝนกันด้วย การจะฝึกจิตให้มองเห็นอะไรละเอียดอ่อนอะไรลึกซึ้งนี้เราไม่ค่อยได้ฝึกกันด้วย วิชาการศึกษาสมัยใหม่เขาก็มี แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์มันก็มี เขาก็มีความนิยมที่จะฝึกจิตให้มันละเอียด เหมือนกับพวกศิลป์ พวกศิลปะทั้งหลาย เป็นพวกที่จะทำให้จิตประณีตละเอียดลึกซึ้ง แต่ว่าพร้อมกันนั้นน่ะมันให้โทษก็มี ศิลปะนั้นน่ะมันดึงไปทางกิเลสตัณหาก็ได้ง่ายเหมือนกัน แต่นี้พูดเมื่อเราไม่ต้องการกิเลสตัณหาต้องการจะมาในทางนี้ มันก็มีประโยชน์ ถ้าไม่มีหัวศิลปะมันก็คือคนโง่ แล้วบางคนก็เข้าใจผิดว่าไอ้ศิลปะเป็นข้าศึกแก่ธรรมะ เพราะนั้นมันก็จริงจริงในฝ่ายที่มันคุมไว้ไม่ได้ มันเป็นฝ่ายส่งเสริมกิเลสได้ แต่ถ้าว่าเราควบคุมมันได้ ใช้ศิลปะแต่ในทางธรรมะล้วนๆ มันก็ลึกมันลึกในทางธรรมะ มันจะแสดงธรรมะให้ไพเราะในเบื้องต้นในท่ามกลางเบื้องปลายได้
การฝึกอย่างนี้มันฝึกยาก จริงๆแล้วฝึกยาก แต่มันก็อยู่ในพวกที่ฝึกได้ เดี๋ยวนี้มันฝึกยาก บางทีไม่รู้ว่าใครจะช่วยฝึก เห็นจะไม่มี ฝึกความละเอียดลออ ในการใช้จิตพินิจพิจารณาหรือว่าเพ่ง ใช้คำว่าเพ่ง เพ่งได้ลึก เพ่งได้ละเอียด ยกตัวอย่างเหมือนภาพปริศนาธรรมในตึก โรงหนัง ไอ้คนโง่มันก็เหลือบเห็นภาพอย่างนั้นน่ะ แต่คนฉลาดมันมองเห็นความหมาย ไอ้คนที่มีจิตใจเกลี้ยงเกลา เฉียบแหลมมองเห็นความหมายเลย ไอ้คนโง่มองเห็นแต่ภาพ เหมือนก้อนหินเหล่านี้แต่ละก้อน ถ้าคนโง่ก็เห็นเป็นก้อนหินๆเหมือนกันหมด แต่คนฉลาดมันจะมองเห็นความหมายที่รูปร่างแตกต่างกันนี่จะเป็นความหมายอย่างไร ดังนั้นเขาจึงมองเห็นได้จากธรรมชาติเหล่านี้ว่าก้อนหินๆก้อนนี้มันแสดงลักษณะของคนโง่ แทนคนโง่ แทนความโง่ ก้อนหินก้อนนั้นแสดงลักษณะของความฉลาด เพราะรูปร่างเป็นอย่างนั้นๆ อย่างนี้เราไม่ค่อยได้เรียนกัน เพราะเราไม่สนใจศิลปะ ศิลปะที่มองเห็นความหมายจากธรรมชาตินี่ในเมืองไทยเกือบจะไม่สนใจ แม้จัดสวนหย่อมสวนอะไรมันก็จัดกันไปด้วยกิเลส เพื่อให้สวยงามตามแบบสวนหย่อม แต่ว่าสวนหย่อมที่วัดเซน โดยเฉพาะที่มีชื่อเสียงมากที่สุด วัดระโยงงันชิ(นาทีที่45.17) ก้อนหินแต่ละก้อนก็มีความหมายพูดกันเป็นชั่วโมงๆเลย ก้อนหินแต่ละก้อนที่เขาวางไว้ในลาน ในลานนันเขาสร้างกันไว้เป็นร้อยๆปี พวกนักศึกษาก็ไปนั่งเพ่งก้อนหินเกิดความคิดเป็นตุเป็นตะ อย่างนี้ในเมืองไทยยังไม่ได้ทำ ไม่ได้จัดไม่ได้ทำ เราก็ทำ เราก็ทำเอาเองได้
เมื่อเด็กๆผมชอบดูเมฆรูปแปลกๆ แล้วก็ออกความคิดความเห็นกับเมฆที่แปลกๆ คนแก่ๆเขาก็ห้ามว่าโอ้,อย่าไปดูขี้เมฆอย่างนั้นจะบ้า อย่าไปดูขี้เมฆแบบนั้นมึงจะบ้า ก็คิดดูสิว่า มันก็มีทางจะบ้าได้เหมือนกัน เพราะว่าแปลความไอ้รูปร่างของเมฆได้ติดต่อกันไปได้เรื่อยจนเป็นเรื่องเป็นราวเป็นอะไรไป มันมีส่วนที่จะบ้า ถ้าว่ามันทำผิด หรือมันทำมากเกินไป นี่ก็เป็นส่วนที่จะต้องรู้ไว้ว่า ไอ้หัวคิดจิตใจชนิดที่มันมีแวว มีความสามารถในแง่ของศิลปะนี่มันก็จะช่วยได้ อย่างน้อยก็ช่วยให้รู้จักความงามความงดงามของความหมายของธรรมะ ต่อไปเขาก็แสดงธรรมให้ไพเราะให้กัลยาณะให้งดงามทั้งเบื้องต้นทั้งท่ามกลางทั้งเบื้องปลายได้โดยง่าย ไม่ทำอะไรหยาบๆหวัดๆไปตามความคิดนึกชั่วขณะ ความคิดนึกชั่วขณะใช้ไม่ได้ มันไม่ลึกซึ้งไม่ละเอียดลออ มันไม่สมบูรณ์ มันไม่ เกวะละ ปะริสุทธัง ปริปุณณัง เกวะละ ปริปุณณัง ปะริสุทธัง ผมจึงเชื่อรู้สึกแน่ใจว่าไอ้การอบรมจิตให้มีความละเอียดลออมีความงามมีความอะไร มันจำเป็นนะจำเป็นสำหรับผู้ที่จะสอนธรรมะหรือปฏิบัติธรรมะโดยเฉพาะ แต่ถ้าสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมะอาจจะจำเป็นน้อยกว่า คือถ้าทำผิดมันก็เป็นเครื่องเนิ่นช้าเปล่าๆ ทำให้เนิ่นช้าเปล่าๆ แต่ผู้ที่จะเผยแผ่ธรรมะน่ะมันต้องการความสามารถมาก ก็ควรจะเฉียบแหลมในเรื่องอย่างนี้ คือมองอะไรไม่เห็นแต่รูปร่าง แต่จะเห็นความหมายของมันด้วย ฟังให้ดีๆคนโง่มันจะมองเห็นแต่รูปร่างไม่เห็นความหมาย คนฉลาดเท่านั้นที่เห็นทั้งรูปร่างแล้วก็จะเห็นความหมาย ไอ้รูปร่างมันก็เหมือนพยัญชนะ อรรถ สพฺยญฺชนํ พร้อมทั้งอรรถ ความหมายพร้อมทั้งพยัญชนะ คือชื่อรูปร่างเราเห็นรูปร่างเห็นชื่อ คือเราเห็นอรรถของมัน นั้นเขาจึงจัดขึ้นเป็นวิชาแขนงหนึ่งทีเดียว ที่จะให้คนเราฉลาดในการที่จะเห็นความหมายของสิ่งที่มันให้ความหมาย หรือมันอาจจะให้ความหมายได้ถ้าเราฉลาด มันก็อยู่ที่ว่าเราฉลาดหรือไม่ฉลาด ถ้าเราฉลาดเราก็เห็นความหมายของมันได้ ไม่ว่าจะเห็นรูปของอะไร เห็นรูปร่างของอะไร มันก็จะเห็นทั้งรูปเห็นความหมายเสมอไป นี่คือเรื่องฝึกฝนปัญญา ฝึกฝนความเฉียบแหลมของจิตจากธรรมชาติจากธรรมชาติ ถ้ามีการอบรมมันก็เห็นได้มาก ถ้ามีการอบรมผิดมันก็เห็นผิดเหมือนกัน มันเป็นในด้านฝ่ายผิดมันก็มีได้เหมือนกัน อะไรผิดอะไรถูกไม่เป็นของยาก ถ้ามันมีประโยชน์ดับทุกข์ได้ก็ถูกแหละ ถ้ามันไม่มีประโยชน์ดับทุกข์ไม่ได้ มันก็ผิดก็ใช้ไม่ได้ เราไม่ต้องไปเอาตามหลักเกณฑ์คำพูดของใครนัก ถ้ามันดับทุกข์ได้มันก็มีประโยชน์นั้นก็คือถูกนั่นแหละถูกต้อง ถ้ามันไม่มีประโยชน์ดับทุกข์ไม่ได้ มันก็ผิด เราก็ถือว่าผิด ไม่ทำ ไม่ต้องอ้างหนังสือไม่ต้องอ้างบุคคล ไม่ต้องอ้าง ดูที่ว่ามันดับทุกข์หรือเปล่า ถ้าดับทุกข์ได้มันก็ถูก ไม่ต้องเอาหลักปรัชญามาวัดไม่ต้องเอาหลักตรรกวิทยามาวัดเป็นต้น นั้นมันเกินไปนั้นน่ะมันจะบ้า แล้วไม่ค่อยมีจุดจบหรอก เอาแต่เพียงว่ามันดับทุกข์ได้เห็นอยู่ชัดๆนี่มันก็ถูก ดับทุกข์ไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ เรียนให้มากมายเท่าไรมันดับทุกข์ไม่ได้มันก็ไม่มีประโยชน์ หรือว่าเขาเลือกไม่เป็นเขาเลือกไม่เป็น ไม่ได้ในสิ่งที่มันจะดับทุกข์ได้มันก็ไม่มีประโยชน์เหมือนกัน นี่มันพูดเผื่อไปมาไปหน่อยแล้ว เพราะว่าเรามันจะต้องจากกัน หรือว่าเราจะไม่ได้นั่งพูดกันอยู่ทุกวัน เราก็ต้องจากกัน นั้นจึงพูดเผื่อๆ ให้คุณติดกลับไปบ้าน แล้วก็ไปใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างที่ว่ามานี้ สรุปสั้นๆก็ว่าเดี๋ยวนี้เราเพียงแต่เรียนชนิดในกระดาษ ยังไม่ได้เรียนแท้จริงคือไม่ได้ปฏิบัติ การเรียนกับการปฏิบัตินั้นเขาเคยแยกออกจากกันเป็นคนละขั้นตอน ถูกแล้วถ้ามันเป็นเรียนชนิด สุตตะ สุตตะ ขั้นคนละขั้นตอนกับการปฏิบัติ แต่ถ้ามันเป็นการเรียนที่แท้จริงตามแบบพระพุทธเจ้าแล้วมันก็คือการปฏิบัตินั่นเอง
นี่สรุปความทบทวนว่า สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา เป็นเรื่องการเรียนแต่เป็นตัวการปฏิบัติ เราจึงรู้ภายหลังจากการปฏิบัติ ความรู้ที่แท้จริงมันมาภายหลังการปฏิบัติ พอรู้มากขึ้นๆ จนรู้ถึงที่สุดว่า อ้าว,เดี๋ยวนี้มันหมดปัญหาแล้วๆ มันสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะแล้ว หมดปัญหาแล้วนี่เรียกว่ารับปริญญาจากธรรมชาติ รับปริญญาของธรรมชาติจากธรรมชาติ มันก็เอาไว้กำหนดจดจำเอาไว้ เผื่อเผยแผ่สั่งสอนกันต่อไปให้เขาได้เรียนเหมือนเรา ได้รู้เหมือนเรา หรือได้รับปริญญาอย่างเดียวกัน อย่าเพิ่งท้อใจว่ามันจะไม่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ สิ้นเชิง อันนั้นเป็นปริญญาสุดท้าย เอาแต่เพียงว่าแม้มันจะสิ้นไปแต่บางส่วน ราคะสิ้นไปแต่บางส่วน โทสะสิ้นไปแต่บางส่วน โมหะ สิ้นไปแต่บางส่วน แต่ขอให้มันสิ้นไปจริงๆ ถ้ามันสิ้นแล้วก็ขอให้มันสิ้นไปจริงๆ แม้สิ้นแต่บางส่วน มันก็สงเคราะห์อยู่ในคำว่าปริญญาได้เหมือนกัน เพราะมันยังมีปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก อะไรกันอยู่หลายๆขั้นตอน แต่ถ้าปริญญาโดยแท้จริงมันต้องมีผลอันแท้จริงคือว่า ไอ้กิเลสหรือความทุกข์หรือปัญหามันได้สิ้นไปแล้วจริง ไม่ต้องสิ้นทั้งหมดคนเราก็สบายเป็นสุขเหลือประมาณแล้ว เพียงแต่กิเลสสิ้นไปบางส่วนคนเราก็สบายเป็นสุขเหลือประมาณแล้ว ก็เราก็หวังกันอย่างนี้ล่ะ ก็สอนกันในระดับนี้ ถ้าจะอาจเอื้อมว่าสิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์บางทีมันก็น่าหัวเราะ คือมันจะไม่ได้ คือว่าคนเขาจะไม่เอาด้วย
เอาเป็นว่าวันนี้พูดกันถึงข้อที่ว่าการเล่าเรียนนั้นไม่ปิด เว้นแต่การเล่าเรียนชนิดที่ในโรงเรียน การเล่าเรียนจากชีวิตการเล่าเรียนจากภายในนี่มันปิดไม่ได้ มันปิดไม่ได้ ก็เรียนต่อไปจากประสบการณ์ทั้งหลาย โดยการปฏิบัติเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นๆ การปฏิบัติทำให้เรารู้จากผลของการปฏิบัติว่าอะไรเป็นอย่างไรๆ อะไรเป็นเหตุอะไรเป็นปัจจัยมาทางไหนอะไรไปทางไหนเราก็รู้ ผมเคยบอกวันนั้นว่าในสำนักเซน ต้องปฏิบัติเซนมาตั้ง ๒๐ ปีเขาจึงจะให้เป็นอาจารย์สอน นั้นเขาก็สามารถสอนได้จริงๆ แต่ถ้าเราไม่ประมาทเราระมัดระวังให้ดี เราก็สอนไปได้เท่าที่มันจะสอนได้มันก็ไม่เป็นไร แต่คงไม่เก่งไม่รอบคอบไม่เก่งไม่ปาฏิหาริย์ ไม่มีปาฏิหาริย์ เดี๋ยวนี้จะทำอย่างไรได้เพราะว่าจะรอ ๒๐ ปีไม่ได้ เขาเอาไปพลาง ถ้าทำอย่างผมว่าก็ไม่มีทางจะเสียหาย ขอให้มีการเรียนอยู่ในการปฏิบัติ มีการค้นคว้าอยู่ในการปฏิบัติแล้วก็ทำไปอย่างกับเพื่อน อย่ายกหูชูหางเป็นครูบาอาจารย์ให้มากนักเลยทำไปอย่างเพื่อนก็พอแล้ว นี่เรื่องมีเท่านี้สำหรับพูดวันนี้ที่เขาให้ปิด ก็ตั้งชั่วโมงแล้วเหมือนกัน เอาล่ะในที่สุดแล้วสุดท้ายนี้ก็ขอแสดงความหวังเป็นการปิด แสดงความหวังเป็นการปิดว่าทุกคนนี่จะไปทำให้ดีที่สุดกว่าที่แล้วๆมาในชีวิต มันเป็นการปฏิบัติธรรมะเสียเองให้มันเป็นตัวชีวิตเสียเองอย่ามีใครตัวกูที่ไหนมาปฏิบัติธรรมะเลย ให้นามรูปร่างกายชีวิตนี้มันเป็นการปฏิบัติเสียเองอยู่ตลอดเวลา แล้วจะต้องประสบผลชนิดที่เป็นปาฏิหาริย์อย่างแน่นอน ขอยุติการบรรยายครั้งนี้ไว้เพียงเท่านี้