แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้คิดว่าควรจะพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับการสอนธรรมะในชั้นโลกุตตรธรรม ที่ว่าเป็นปัญหาหมายความว่าคนทั่วไปเขาก็ถือว่าไม่ควรสอนฆารวาสให้สูงเกินไปถึงโลกุตตรธรรม แล้วในหมู่พระเราเองก็มีความคิดเห็นกันว่าไม่ควรสอนโลกุตตรธรรมแก่ประชาชนชาวบ้านทั่วไป ชาวบ้านส่วนมากเขาก็คิดอย่างนั้น ชาววัดก็คิดอย่างนั้น มันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาว่าควรจะสอนโลกุตตรธรรมแก่ประชาชนหรือไม่ หรือว่าสอนสักเท่าไรจึงเป็นปัญหาอย่างนี้
เมื่อเราทำตนให้เป็นผู้สั่งสอนมันก็ต้องกระทบกับปัญหานี้เป็นแน่นอน จึงเห็นว่าควรจะทำความเข้าใจกันเสียบ้าง ชาวบ้าน ฆารวาส นักศึกษา แม้จะเป็นนักศึกษา ชั้นนักศึกษาครูบาอาจารย์ ที่เป็นนักการเมืองก็ได้ เขาเห็นว่าการสอนโลกุตตรธรรมให้กับชาวบ้านนั้นน่ะ ชาวบ้านปฏิบัติไม่ได้ แล้วบางคนก็เลยไปกว่านั้นอีกถือว่าจะเป็นการขัดขวางกับหนทางความก้าวหน้าของชาวบ้านนั่นเอง เพราะว่าชาวบ้านเขาต้องหา ต้องแสวงหาหรือว่าต้องอยากมากต้องละโมบมาก ภาษาพระเขาว่าอย่างนั้น ซึ่งเราสอนธรรมะชั้นโลกุตตระ มันก็หยุด มันก็ตรงกันข้าม เขาจึงว่าไม่ควรไปทำให้เกิดความช้า แก่การก้าวหน้าของชาวบ้านก็มี ผมเองก็เคยประสบมาแล้วอย่างหนัก แล้วพระเถระผู้เฒ่าบอกองค์ท่านก็บอกว่าอย่าเพิ่ง จริงด้วยเหมือนกัน แม้แต่เพียงเรื่องอนัตตา จะไม่สอนกันเสียแล้ว ถ้าเป็นเรื่องโลกุตตระ สิ่งเหนือโลกก็ยิ่งจะไม่สอนกันใหญ่เลย คล้ายๆกับว่ามันคนละระดับจะฟังไม่ถูก ฟังถูกก็ไม่มีประโยชน์นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้วยังจะขัดขวางทางก้าวหน้าของเขาเสียอีก มันเป็นไปอย่างนั้น นั้นเราควรจะเข้าใจกันแจ่มแจ้งในเรื่องนี้ว่ามันควรจะเป็นอย่างไร
โดยหลักใหญ่ๆที่สุดมันต้องมองให้เห็นว่า ไอ้ที่มันจะดับทุกข์กันได้จริงนั้นมันก็มีฝ่ายธรรมะโลกุตตรธรรม เท่านั้นแหละ ธรรมะฝ่ายที่จะไม่เอาไม่เป็นไม่ยึดถือไม่อยากไม่หวัง นี่มันถึงจะดับทุกข์ได้ ถ้ามันเป็นเรื่องเอา เรื่องเป็น เรื่องยึดถือ เรื่องอยาก เรื่องหวัง มันก็ไม่ดับทุกข์ได้ นี่มันสรุปความได้ว่าไอ้ที่มันจะดับทุกข์ได้นั่นมันต้องเป็นธรรมะประเภทโลกุตตรธรรม ทีนี้เรื่องมันก็เห็นชัดอยู่แล้วว่า ไอ้ที่มีทุกข์บ้างมีทุกข์มากก็คือชาวบ้านนั่นเอง ชาววัดไม่ค่อยมีทุกข์หรอก บรรพชิตไม่ค่อยมี ไม่ค่อยมีทุกข์ ไอ้ที่มีทุกข์มากก็คือชาวบ้านนั่นเอง แล้วไม่ให้เอาโลกุตตรธรรม ไปสอนชาวบ้าน นั้นชาวบ้านมันก็ไม่มีอะไรจะดับทุกข์ มันก็ขัดกัน เหตผลมันก็ขัดกัน เมื่อความทุกข์มันอยู่ที่บ้านอยู่กับชาวบ้าน มันก็ต้องสอนสิ่งที่ดับทุกข์ได้ให้กับชาวบ้าน ดังนั้นมันจึงหลีกไม่พ้นที่จะไม่สอนโลกุตตรธรรมถ้าจะอ้างพระพุทธสุภาษิต เป็นหลักตรงๆมันก็มีเหมือนกัน เมื่อตถาคตบัญญัติโลกุตตรธรรมให้เป็นทรัพย์สำหรับคนทุกคน สำหรับมนุษย์น่ะสำหรับคน สนทนากับพวกพราหมณ์เขาว่าเขาบัญญัติอาวุธธนูศรนี่เป็นทรัพย์ของกษัตริย์ บัญญัติทักษิณัย เอ่อ ทักขิณาทานเป็นทรัพย์ของพราหมณ์ วัวควายไร่นานี่เป็นทรัพย์ของไวศยะ ของแพศย์ เคียวกับไม้คาน ไม้คานกับเคียวเป็นทรัพย์ของพวกศูทร แล้วถามว่าพระองค์บัญญัติทรัพย์อย่างไร พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบว่าเราบัญญัติโลกุตตรธรรมเป็นทรัพย์ของคน ท่านว่าของคนทุกคน ของบุรุษคือคนทุกคน นี่ภาษิตอย่างนี้ก็มีหมายความว่าจะเป็นวรรณะไหนก็ตามใจ พึงบัญญัติโลกุตตรธรรมว่าเป็นทรัพย์ของคนทุกวรรณะ มันก็รวมวรรณะต่ำสุดเช่นวรรณะศูทรด้วยซ้ำไป วรรณะแพศย์ชาวนาชาวสวนพ่อค้านั้นก็สูงกว่าก็ยังก็ยังต้องการอยู่นั่น มาถึงต่ำลงไปอีกก็เป็นกรรมกรลูกจ้างข้าทาสก็ยังต้องมีโลกุตตรธรรมเป็นทรัพย์ เพราะฉะนั้นทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสอย่างนั้น ก็ตอบได้ง่ายๆว่าก็มันเป็นทุกข์ไง เพราะทั้ง ๔ วรรณะเป็นทุกข์เสมอกัน แล้วสิ่งที่ดับทุกข์ได้จริงไม่มีอะไรนอกจากโลกุตตรธรรม จึงตรัสว่าโลกุตตรธรรมเป็นทรัพย์ของคนทุกคน นี่เราก็มีเหตุผลด้วยมีหลักฐานที่มาในพระบาลีด้วยว่าจะสอนธรรมะขั้นโลกุตตรแก่คนทุกคน เหตุผลในพระบาลีก็มีอยู่อย่างที่ว่านี้คือพุทธภาษิต นี้เหตุผลตามธรรมดาที่ไม่ต้องอ้างพระบาลีก็คือว่าฆารวาสน่ะมันเป็นทุกข์นี่ แล้วมันไม่มีอะไรจะดับทุกข์นอกจากโลกุตตรธรรม
ทีนี้ปัญหาถัดไปที่ว่ามันจะเป็นการทำให้ฆารวาสไม่ก้าวหน้าในการหาทรัพย์ในการร่ำรวย อันนั้นมันอีกปัญหาหนึ่ง แล้วก็บอกว่าฆารวาสก็ยังคงมีกำลังใจมีกำลังใจมีเหตุผลที่จะแสวงหาทรัพย์ร่ำรวยได้ โดยไม่ต้องงดเว้น เพียงแต่ว่ามันเปลี่ยนเท่านั้นเองมันเปลี่ยน เหตุปัจจัยมันเปลี่ยน เมื่อก่อนฆารวาสก็หาทรัพย์ด้วยอำนาจของกิเลส ตัณหาอุปาทาน แล้วก็เป็นทุกข์ เพราะมีกิเลสตัณหาอุปาทานในการหาทรัพย์แล้วก็เป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนเป็นหาทรัพย์ด้วยอำนาจของสติปัญญาความรอบรู้ มันก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ด้วย แล้วก็หาทรัพย์ก็ได้ด้วย ถ้ามีสติปัญญาย่อมหาทรัพย์ได้ มีปัญญามีความเพียรมีสติ มีความเหมาะสมอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่กิเลสนะก็หาทรัพย์ได้ด้วยแล้วก็ไม่เป็นทุกข์ด้วย ฆารวาสเหล่านั้นก็เป็นฆารวาสก็มีชีวิตเย็น ชีวิตที่เป็นสุขเย็น นี่เป็นอันว่ามันก็ควรสอน
ทีนี้ผู้ที่จะสอนก็ควรจะมีความรู้ที่ละเอียด ความรู้ที่ละเอียดเกี่ยวกับในเรื่องนี้คือเรื่องสุญญตาน่ะ เรื่องทั้งหลายที่เกี่ยวกับสุญญตา ควรใช้ไปสอนฆารวาส นี่ก็มีเหตุผลอีกนั่นแหละ เหตุผลทั้งทางพระบาลีและเหตุผลข้อเท็จจริงที่มันเป็นอยู่จริงเรื่องสุญญตา มันดับทุกข์ได้ ฆารวาสมันมีทุกข์มากมันก็ต้องเอาสิ่งที่ดับทุกข์ได้ไปให้ ฆารวาส เหตุผลทางพระบาลีมันมีอยู่ในมันหมวดที่ว่าเรื่องสุญญตานี่แหละ ฆารวาสคฤหบดีจำนวนหนึ่งเขาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขอให้ทรงแสดงธรรมซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆารวาส เขาเป็นฆารวาสมีบุตรภรรยา ยังนอนแออัดอยู่ในบุตรภรรยา ยังลูบไล้ของหอม ยังนุ่มผ้าแพงๆ นุ่มห่มผ้าแพงๆนี้เป็นฆารวาส ขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรมที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆารวาส พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงตรัสเรื่องสุญญตา ใช้คำว่าสุตัณตา เยเต สุตตันตา ตถาคต ภาสิตา คัมภีรัตถา โลกุตตรา มีคำว่า โลกุตตราด้วยแล้วก็ ตถา ตถาคตภาสิตา ตถา ตถาคตภาสิตา ตถา ตถาคตภาสิตา สุญญตัปปฏิสังยุตตา เมื่อสุตัณตาเหล่าใดที่ตถาคตกล่าวไว้แล้วนั้นเป็นของลึก มีอรรถอันลึกเหนือโลก เกี่ยวเนื่องกับเรื่องสุญญตา สุญญตัปปฏิสังยุตตา ประกอบเข้าเฉพาะด้วยสุญญตานั่นแหละเหมาะกับฆารวาสทั้งหลายฆารวาสเขาทูลว่ามันมากเกินไปลึกเกินไป พระองค์ก็ตรัสเรื่องโสตาปัตติสังยุตต์คือให้มีศรัทธาในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน และมีอริยกันตศีล คือศีลที่ดีที่สุด พวกฆารวาสกลุ่มนั้นก็บอกว่านี้มีอยู่แล้ว นี้ทำอยู่แล้ว ประพฤติปฏิบัติอยู่แล้ว แล้วข้อความในสูตรมันก็จบเสียเฉยๆมันไม่ได้ว่าอะไรกันต่อไป แต่เรามาใคร่ครวญดูตามหลักว่า เขาถามขึ้นมาเฉยๆว่าอะไรเหมาะกับฆารวาส พระองค์ก็ตรัสเรื่องสุญญตาเหมาะ นี่ก็จะถือว่าพระพุทธเจ้าอย่าทรงสะเพร่า พูดเรื่องที่เกินไปก็ไม่ถูกหรอก เพราะไม่ใช่วิสัยของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าต้องตรัสเรื่องพอดีถูกต้องไอ้อย่างนั้นน่ะ ก็เป็นอันว่าท่านตรัสเรื่องสุญญตา ว่าเป็นเรื่องที่เหมาะ คือเป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่งแก่ฆารวาสทั้งหลาย แค่ขอ คัมภีร์รา ลึกซึ้ง คัมภีรัตถา ในอรรถอันลึกซึ้ง โลกุตตราเหนือโลก ตถาคต ภาสิตาเป็นคำที่ตถาคตกล่าวไว้แล้ว สุญญตัปปฏิสังยุตตา เนื่องเฉพาะด้วยสุญญตา ใช้คำนามในกรณีนี้ว่า สุตตันตา สุตตะ อันตะ แปลว่าที่สุดของสูตร ก็แปลว่าจุดยอดสำคัญๆสำหรับการศึกษา แล้วก็การศึกษาที่มันจะเป็นแนวอันแน่นอนหรือตายตัวก็คือหลักสำหรับการศึกษาปฏิบัติ
ท่านตรัสว่าต้องเป็นเรื่องที่เนื่องด้วยสุญญตาที่ตถาคตได้กล่าวไว้แล้ว ชนิดที่เป็นโลกุตตรา โลกุตตราก็เหนือโลก คำนี้แหละสำคัญมาก คำว่าโลกุตตรา ถ้าเราไม่เข้าใจถูกต้องแล้วมันก็จะสร้างปัญหาขึ้นมาทีเดียว เพราะใครๆเขาก็ถือหลักทั่วไป แต่ไม่ใช่พุทธภาษิตไอ้โลกุตตรธรรม ๙ คือมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นี่ไม่เคยมีพบในพุทธสุภาษิต มีในหนังสือชั้นอรรถกถาชั้นหลังๆมาว่าโลกุตตรธรรม มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ถ้าพูดอย่างนั้นล่ะก็มันๆๆแคบไปมันเข้ากันไม่ได้ เราต้องแปลโลกุตตรา ว่าเหนือโลก แล้วขยายความออกไปให้มันเข้ากันได้กับเรื่อง เหนือโลกก็คืออำนาจในโลก คืออารมณ์ในโลก เรามีสภาพเป็นอยู่เหนืออำนาจของอารมณ์ในโลก คล้ายๆกับพระพุทธเจ้าท่านบอกว่าแกอยู่ในโลก แต่แกต้องมีจิตใจอยู่เหนืออำนาจของโลก ก็คืออย่างนี้ ก็ยังเป็นฆารวาสต่อไปตามเดิม แต่ขอให้มีจิตใจอยู่เหนืออารมณ์ทั้งหลายที่รวมเรียกกันว่าโลก ไอ้ที่เรียกรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมมารมณ์ ว่าโลกหรือว่าสมุทร หรือว่านี่ก็มีพระพุทธสุภาษิต โลกก็คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมมารมณ์ ที่เราจะสัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไอ้ ๖ อย่างนั้นมันมีอำนาจ มีอิทธิพล เราต้องอย่าไปอยู่ใต้อำนาจใต้อิทธิพลของมันอยู่เหนือเสียศีลนั่นแหละคือโลกุตตร จึงพูดไปวันก่อนเกี่ยวกับเรื่องฟ้าสางทางธรรมโฆษณ์นั้นแหละ ว่าไอ้ โลกุตตรคืออย่างนั้นๆ สรุปใจความสั้นๆก็ว่าอยู่เหนืออำนาจของอารมณ์ ยิ่งเป็นชาวบ้านชาวฆารวาสเท่าไรยิ่งจำเป็นต้องอยู่เหนืออำนาจของอารมณ์มากเท่านั้นล่ะ มิฉะนั้นจะเป็นทุกข์มากจนเป็นบ้าเลยตายเลย ถ้าว่าอยู่ใต้อำนาจของอารมณ์มันก็ไปกระทำ ชนิดที่ว่าหลงใหลในอารมณ์ เป็นทาสของอารมณ์ เป็นอบายมุขอย่างแรง กามารมณ์อย่างแรง อะไรๆก็อย่างแรง ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ มีปัญหาท่วมตัว จนเป็นบ้าแล้วก็ตายเลย นี่เรียกว่ามันอยู่ใต้อำนาจของอารมณ์ เราอยู่ในโลกคืออารมณ์ เต็มไปด้วยอารมณ์ นั้นก็อยู่เหนืออารมณ์เหล่านั้น อยู่กับอารมณ์แต่ว่ามีอำนาจเหนืออารมณ์นั่นเอง ถ้าในโลกเต็มไปด้วยอารมณ์ อยู่ในโลกชนิดนั้นแต่มีจิตใจที่อยู่เหนืออำนาจของอารมณ์เหล่านั้น จำเป็นที่สุดสำหรับฆารวาสล่ะ ถ้าไม่อย่างนั้นฆารวาสคนนั้นน่ะจะต้องแย่ จะเกินแย่จะเป็นบ้าแล้วก็ต้องตาย
นี่บอกให้ฆารวาสทั้งหลายรู้สิว่ามันอย่างนี้นะ คุณอย่าอวดดีไปว่าจะไม่สนใจกับเรื่องธรรมะ ประเภท โลกุตตร คือเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญญตา ตถาตา ในที่สุด กระทั่งว่านิพพาน เราจะต้องเคร่งไปที่ฆารวาส ที่กำลังเป็นทุกข์มากที่สุด ที่มีอยู่ในโลกแล้วก็ไปดู แล้วก็ชวนเขาทั้งหลายดูด้วย ว่าฆารวาสเหล่านั้นกำลังเป็นอย่างไร ที่ทนทุกข์เหมือนกับตกนรกทั้งเป็นน่ะเพราะอะไร เพราะมันอยู่ใต้อำนาจของอารมณ์ อยู่ใต้โลกใต้อำนาจของอารมณ์ มันจึงทนทุกข์ทรมารอยู่ แล้วก็ไม่รู้สึกแล้วก็ไม่ยอมเปลี่ยนไม่ยอมละ เขาไม่ยอมละความเอร็ดอร่อยสนุกสนานในอารมณ์เหล่านั้น เรียกว่ามันติดในอัสสาทะของโลก คำสูงๆทางธรรมะเขาเรียกว่ามันอัสสาทะคืออร่อย อัสสาทะของโลก มันก็หลงจมติดในอัสสาทะของโลก เราให้ๆๆฆารวาสเขาพิจารณาเอาเองว่าจะเป็นอย่างไรคุณสมัครจะจมอยู่อย่างนี้หรือ ถ้าสมัครจะจมอยู่ในโลกอย่างนี้ก็เอาสิ คุณๆต้องการก็เอาสิ แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ แต่ถ้าไม่ต้องการอย่างนี้ ต้องการไม่ทนทุกข์ทรมานมากเท่านั้น ก็ศึกษาธรรมะ จะมีจิตใจชนิดที่อบรมเสียใหม่ อย่าให้มันจมลงไปในอารมณ์ อย่าให้มันจมลงไปในโลก คืออย่างนั้นๆ อย่างนั้นมันก็ต้องสอนเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะธรรมมารมณ์ กระทบกันแล้วเกิดวิญญาณทั้ง ๖ ที่เรียกว่า ผัสสะ ที่เกิดเวทนาตัณหาอุปาทานกันให้เห็นเป็นลำดับไป จนกระทั่งฆารวาสคนนั้นมันก็มองเห็นว่า โอ้, เราต้องมีสติรู้สึกตัวเมื่อผัสสะ เหมือนกันอย่าโง่ เมื่อผัสสะ จะไม่ได้จมลงไปในอารมณ์ทั้งหลายทั้ง ๖ ชนิด ก็เลยไม่ต้องเป็นทุกข์ จะทำมาหากินก็ทำไป แต่ว่าจิตไม่ต้องจมไปในอารมณ์หรือในเหยื่อล่อของอารมณ์ หรือความอร่อยของอารมณ์ ที่เรียกว่าอัสสาทะเราต้องการจะทำอะไรเราก็ทำได้ โดยไม่ต้องทำด้วยอำนาจกิเลสบังคับไม่ต้องให้กิเลสไสหัวไสคอขี่คอไสหัวไปให้ทำงานเหล่านั้น แต่ให้สติสัมปชัญญะหรือปัญญาของตัวเราเองทำให้ไปทำงานเหล่านั้น ผลงานก็จะได้ดีกว่าเสียอีก ดีกว่าทำด้วยกิเลสแล้วผู้ทำก็ไม่เป็นทุกข์ ผลงานก็ได้มากกว่า ผู้ทำก็ไม่เป็นทุกข์เลย นี่ฆารวาสที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายให้เป็นอย่างนี้ จึงได้ตรัสว่า ทุกเรื่องที่มันเกี่ยวกับสุญญตานั่นแหละ สำหรับฆราวาส
เดี๋ยวนี้คนในประเทศไทยนี่ ที่เป็นนักศึกษาพอได้ยินคำว่าสุญญตา เขาก็ให้ความหมายว่าสูญเปล่าจนไม่มีอะไรจะได้จะเอาเลย สุญญตาแปลว่าสูญเปล่า ทั้งที่จริงสุญญตามันแปลว่าว่างจากตัวตน ว่างจากตัวตน มันก็มีกินได้ใช้ได้อะไรได้ ที่เรามากินมาใช้มาอะไรอยู่ คือว่างจากตัวตน ก็ยังกินได้ ทรัพย์สมบัติก็สุญญตาก็ใช้ได้ บ้านเรือนก็สุญญตาก็อยู่อาศัยได้ อย่าใช้คำว่าสูญเปล่าซึ่งมันมีความหมายเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเลยเหมือนเอาไปทิ้งหมด ถ้า ฆารวาสเขามีจิตใจที่ถึงสุญญตา คือเห็นความว่างจากตัวตนของทุกสิ่งทั้งปวง นั้นฆารวาสก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายด้วยความรู้อันนั้น ความรู้ที่ว่าทุกสิ่งมันว่างจากตัวตน มันก็ไม่ต้องร้องไห้นะ มันเป็นฆารวาสชั้นดีชั้นดีเลิศไม่ต้องร้องไห้ไม่ต้องเป็นทุกข์ทรมาน แล้วคำว่าฆารวาสในสูตรนี้นะคงจะหมายเพียงแต่ว่ายังครองเรือนอยู่เท่านั้น เป็นโสดาบันกันได้ เป็นสกิทาคามีก็ได้ ยังครองเรือนอยู่ก็แล้วกัน ถ้าฆารวาสเหล่านี้เขามีความรู้เรื่องสุญญตา ได้ ถ้าเขาเป็นชั้นโสดาบัน ก็เข้าไปในเขตของสุญญตาอยู่มากแล้ว พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าไอ้เรื่องที่เนื่องด้วยสุญญตานี่แหละเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ท่านทั้งหลายที่เป็นฆารวาส นี่ผมก็บอกให้ผู้จะเผยแผ่ทั้งหลายทราบว่าปัญหามันมีอยู่อย่างนี้ ปัญหามันมีอยู่อย่างนี้
โดยแท้จริงควรสอนเรื่องโลกุตตระ แก่ฆารวาส แต่ฆารวาสเขาเข้าใจผิด เขาไม่เอาหรือเขาวาดความหมายไว้สูงเกินไป แม้คนในยุคปัจจุบันนี้คนในบ้านเราในกรุงเทพในเมืองไทยนี่ มันก็แปลสุญญตาว่าสูญเปล่าไปหมด ถ้าทำอย่างนี้มันก็ไปเข้าหลักที่ว่า ตถาคต บัญญัติโลกุตตรธรรมว่าเป็นทรัพย์สำหรับคน เป็นทรัพย์สำหรับคน ใครเป็นคนคนนั้นก็ต้องมีทรัพย์อันนี้ นั้นก็ต้องไปดูเอาเอง คือปัญหามันมีว่าเราจะต้องสอนให้ฆารวาสชนะความทุกข์ได้ แล้วจะสอนเรื่องอะไรที่จะชนะความทุกข์ได้ สอนเรื่องทำมาหากินให้ร่ำให้รวยให้สวยให้งาม มันก็ชนะความทุกข์ไม่ได้ เราต้องสอนว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น แม้จะมีก็ได้ จะมีเงิน มีของ มีทรัพย์สมบัติก็ได้ แต่อย่าไปยึดถือให้มันเกิดความทุกข์ขึ้นมา เรากินของอร่อยๆก็ได้ สวยงามก็ได้ ไม่ใช่ว่าเขาห้ามไม่ให้กินของอร่อยของสวยงาม มีก็ได้แต่อย่าไปยึดถือกับมัน จะกินของอร่อยก็โอ้,ก็สักว่าของที่มีรสอร่อย ตามที่เขาเรียกว่ารสอร่อย รู้สึกแก่ระบบประสาทของลิ้น มันก็ว่าอร่อยก็เท่านั้นแหละ มีมาให้กินมันก็กินได้ หรือบางทีก็มีเหตุผลสมควรจะไปซื้อของอร่อยๆมากินก็ได้จะเป็นไรไป แต่ต้องไม่มีในความลุ่มหลง และไม่มีความยึดถือในความอร่อยก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะนั้นก็อยู่ในโลกตามบ้านเรือนธรรมดา บางวันก็มีของอร่อย บางวันก็ไม่มีของอร่อย มันก็ปกติเท่ากัน ทั้ง ๖ ทางแหละบางทีก็มีของสวยงาม ของไม่สวยงาม ของไพเราะ ของไม่ไพเราะ ของหอม ของเหม็น ของอร่อย ของไม่อร่อย ของนิ่มนวล ของกระด้าง ของน่าพอใจ ของไม่น่าพอใจ มันก็มีอยู่ตามปกติ ไม่มีอะไรผิดแปลก แต่มันไม่เป็นทุกข์ มันจึงดีกว่าอะไรนิดหน่อยก็เป็นทุกข์ อะไรนิดหน่อยก็เป็นทุกข์ นี่คือข้อที่ว่า ตามความจริงแท้นั้นโลกุตตรธรรม เป็นสิ่งที่ต้องใช้เป็นประโยชน์เป็นแก่ทุกคนๆ ไม่ว่าฆารวาสไม่ว่าบรรพชิต เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติไว้ว่าเป็นทรัพย์สมบัติของทุกคน ขอให้ไปใช้ประโยชน์นี่ใช้คำสอนของธรรมะระดับนี้ให้สำเร็จประโยชน์ก็แล้วกัน เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติว่ามันเป็นทรัพย์สมบัติของทุกคนนั้นก็ได้รับประโยชน์ไม่มีความทุกข์ พวกฆารวาสทั้งหลายก็ไม่มีความทุกข์ ฆารวาสทั้งหลายก็ไม่มีความทุกข์ แล้วก็เจริญก้าวหน้าไปตามแบบของฆารวาสได้ด้วย ไอ้นั่นมันดีตรงนี้ มันเจริญได้ด้วย ไม่เป็นทุกข์ได้ด้วย นั้นมันก็เหมาะแล้วสำหรับฆารวาส
ก็ขอให้ศึกษาเรื่องประเภทโลกุตตระ นี่ไว้ให้ดีๆ ให้เข้าใจถูกต้องจะได้ไปสอนถูกต้อง นับตั้งแต่เรื่อง อนิจจัง ขึ้นไปถึง ทุกขัง อนัตตา แล้วมันก็จะถึง อิทัปปัจจยตา ตถตา อวิตถตา อนัญญถตา ทั้งนั้นแหละที่เกี่ยวกับ อิทัปปัจจยตา แล้วมันก็ไปถึงสุญญตาสูงสุดว่างจากตัวตน มันก็ว่างจากกิเลส จากความทุกข์นั่นแหละ ว่างจากตัวตน มันก็ว่างจากกิเลสว่างจากความทุกข์ และนั่นก็คือนิพพาน ไม่ได้หมายความว่าให้ฆารวาสนิพพานกันให้หมด แต่อยากให้ฆารวาสใช้หลักของพระนิพพานมากำจัดความทุกข์ ตามที่จะได้ตามที่จะได้ มีนิพพานตามโอกาสที่ควรจะมี แล้วขยายให้มันยาวออกไปยาวออกไป ถ้าพูดโดยเจาะจงก็ว่าไอ้ระยะการที่อยู่ใต้อำนาจอารมณ์นั้นมันน้อยค่า ระยะการที่มีอำนาจเหนืออารมณ์ให้มันยาวออกไปๆๆ รอเวลาวันคืนของเรานั้นจิตอยู่เหนืออารมณ์มากขึ้นๆ อยู่กับนิพพานอยู่กับโลกุตตระ
นั้นศึกษาเรื่องอนิจจังให้ดีๆ เรื่องทุกขังให้ดีๆ เรื่องอนัตตาให้ดีๆ เรื่องอิทัปปัจจยตาโดยเฉพาะให้ดีๆมัชฌิมาปฏิปทา ปฏิบัติเป็นสายกลาง นั่นมันคือเรื่องอิทัปปัจจยตา อย่างที่พูดเมื่อวานนี้ อิทัปปัจจยตาไปตามกระแสแห่งการปรุงแต่งไม่มีคำว่าดีและไม่มีคำว่าชั่ว ไม่มีว่าบุญไม่มีว่าบาป มันมีแต่กระแสอิทัปปัจจยตาเป็นอย่างนั้นๆ แล้วคนเขาก็บัญญัติไอ้ส่วนที่ไม่น่าปรารถนาว่าบาปว่าชั่ว ไอ้ส่วนที่คนธรรมดานั้นน่ะน่าปรารถนาก็ว่าบุญว่าดี ก็มีทั้งนั้นส่วนที่ว่าชั่วว่าดีว่าบุญว่าบาป บัญญัติของคน ไอ้ตัวธรรมชาติมันไม่มีดีมีชั่ว แล้วมันก็ไม่บัญญัติได้ด้วยเพราะว่ามันตัวธรรมชาติทั้งนั้น แต่มันตายตัวว่าถ้ามีอย่างนี้ก็ต้องมีอย่างนี้ ถ้ามีอย่างนี้ก็ต้องมีอย่างนี้ ถ้ามีอย่างนี้เป็นปัจจัยเหตุ ผลอย่างนี้ก็เกิดขึ้น ปัจจัยผลอย่างนี้ก็เกิดขึ้น มีเหตุเป็นปัจจัยผลอย่างนี้จึงเกิดขึ้น เอาคนเป็นหลักมันก็บัญญัติตามที่เขาบัญญัตีไว้แล้ว ดีอย่างไรชั่วอย่างไร แต่ถ้าเอาหมาเป็นหลักมันใช้ไม่ได้ ที่ว่าดีชั่วบุญบาป เพราะหมามันไม่รู้เรื่อง มันไม่มีความหมายอย่างที่คนคิด ที่บัญญัติกันไว้ มันเป็นการบัญญัติสำหรับคนโดยคน ก็คนบัญญัติก็บัญัตติตามความรู้สึกของคน แล้วก็ยึดถือกันมากเกินไปเรื่องดีเรื่องชั่วเรื่องบุญเรื่องบาป จะได้หนักอกหนักใจเพราะเรื่องนั้น เพราะมันไปหลงบุญรักบุญไปเกลียดบาป เดือนร้อนด้วยบาปมันก็ต้องยุ่งไปหมด ไปคิดดูให้ดีว่าไอ้รักหรือชอบมันก็เหนื่อยเหมือนกันแหละ เหนื่อยเท่ากับเกลียดหรือกลัวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าไปรักอะไรดีกว่า มันจะไม่ต้องเหนื่อยเพราะไปรัก ไม่พอใจมันก็เหนื่อย ไม่พอใจนั้นมันก็กระหืดกระหอบนั่นแหละ แต่ว่าไอ้พอใจมันก็เหนื่อยเป็นความหนักเป็นความเหนื่อยชนิดหนึ่ง นั้นอยู่กลางๆเป็นมัชฌิมาปฏิปทา อยู่กลางๆไม่รักแล้วก็ไม่เกลียด ไม่พอใจแล้วก็ไม่ไม่พอใจ นั้นอยู่ตรงกลางอิทัปปัจจยตา ตามลักษณะอิทัปปัจจยตา นี่เป็นโลกุตตรธรรม แท้ ถ้าเป็นโลกุตตรธรรม มันจะไม่มีคำว่ากุศล หรืออกุศล ดี ชั่ว บุญ บาป สุข ทุกข์ กำไร ขาดทุน มันจะไม่มีหมด มันมีกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา แต่พวกอภิธรรมเขาสอนกันไปไกลลิบล่ะ เขามหากุศลเลย กุศลไม่พอต้องเอามหากุศลให้มันหนักเข้าไปอีก นั่นแหละมันจะได้ยิ่งหลงมากไปอีก กุศลเฉยๆมันก็แย่อยู่แล้ว ถ้าถึงขนาดมหาหรือบรมมหาละก็มันก็ตายเลย มันก็ไม่ใช่อิทัปปัจจยตา มันก็ไม่ใช่มุ่งหมายอิทัปปัจจยตาเสียแล้ว ถ้าทำอย่างนั้น อิทัปปัจจยตา มันเป็นวิทยาศาสตร์ตามธรรมชาติ มันเป็นอย่างนี้ๆเท่านั้น มันเป็นอย่างนี้เพราะเหตุอย่างนี้ๆ ตามธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีอะไรที่จะไปยึดถือเป็นของเราเป็นของเราได้
นี่คือเรื่องที่ผมอยากจะให้ทราบไว้ สำหรับผู้ที่จะทำการเผยแผ่ต่อไป ให้ดีให้ถูกต้อง ให้เต็มมาตรฐานของพระพุทธศาสนา นั้นจะต้องถือว่าถ้ามันดับทุกข์ไม่ได้ ถ้ามันยังไม่ดับทุกข์ได้ ไม่ใช่มาตรฐานของพระพุทธศาสนา ยังไม่ถึงมาตรฐานขนาดของพุทธศาสนา มันต้องขนาดที่ดับทุกข์ได้ถึงจะเป็นมาตรฐานของพุทธศาสนา ถ้าเราไปสอนเขาดับทุกข์อะไรไม่ได้แล้วมันก็จะได้อะไรล่ะ มันก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนาด้วย เพราะมันยังดับทุกข์ไม่ได้ คุณจะต้องพยายามสอนถึงขั้นดับทุกข์ได้ แล้วมันก็หนีเรื่องโลกุตตระไปไม่พ้น เราจะสอนให้เขาทำนาทำสวนทำไร่ ทำพิธีปฏิบัติทั้งหลายนั่นแหละ แต่เราต้องสอนชนิดที่เขาต้องไม่เป็นทุกข์นะ อย่าไปเป็นทุกข์เหมือนกับชาวไร่ชาวนาพ่อค้าอะไรตามธรรมดา ซึ่งมันเป็นทุกข์ด้วย เราไม่เอา เราก็สอนให้ทำงานอย่างเดียวกันร่ำรวยเหมือนกันอะไรด้วยกัน แต่ไม่มีความทุกข์เลยนี่มันผิดกันอยู่ตรงนี้ มันดีกว่ากันอยู่ที่ตรงนี้ สอนให้ทำมาหากินได้นี่มันก็ไม่แปลกอะไร แต่ถ้าสอนไม่ให้ต้องเป็นทุกข์ด้วยนี่ล่ะมันแปลกมันดีมันพิเศษหรือมันวิเศษ สอนให้ทำมาหากินได้สะดวกสบายและไม่ต้องเป็นทุกข์ด้วย เพราะว่าเขาก็ทำมาหากินเป็นอยู่แล้ว แต่มันเป็นทุกข์ด้วย มันเป็นทุกข์จนกระทั่งว่าเขาเลิก เลิกทำอย่างนั้น ไปขโมย ไปปล้น ไปจี้ ไปคดไปโกงเสียเลยนั่นมันเป็นอย่างนั้นเสีย เพราะมันทนความทุกข์ไม่ไหวมันจึงไม่อยากทำงานให้เหน็ดเหนื่อย แต่ถ้ามีธรรมะแล้ว มันจะทำได้โดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย หรือมันขจัดความเหน็ดเหนื่อยออกไปเสียได้ด้วยความรู้เรื่องสุญญตาเป็นต้น นั้นเราให้เขาไปถึง ๒ อย่าง คือวิธีที่จะยกตัวเองด้วย วิธีที่จะไม่ต้องมีความทุกข์ในการยกตัวเองนั้นด้วย นี่เราให้ ๒ อย่าง นี่ถ้าให้อย่างเดียวให้อย่างเดียว ให้แบบยกตัวเอง ทำแบบที่ปฏิบัติเท่านั้น ส่วนจะเป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์นี่ไม่รับรอง อย่างนี้ใช้ไม่ได้
นี่ข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าสุตตันตที่เนื่องเฉพาะด้วยสุญญตานั้น เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆารวาสทั้งหลาย ขอให้เข้าใจให้ดี เอาไปใช้สำเร็จประโยชน์ อย่าให้เสียทีที่เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ไปเผยแผ่ธรรมะมันก็ต้องให้สำเร็จประโยชน์ในการที่จะดับทุกข์ได้ด้วย แล้วมีความเจริญงอกงามได้ด้วย ไม่ใช่จะไปหยุดตายด้านอยู่ที่ไหน นี่คือเรื่องที่เป็นใจความสำคัญที่สุด และเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดที่จะต้องแก้ไขปัญหาให้มันลุล่วงไป ให้เราทำหน้าที่ได้ถูกต้อง เอาละเป็นอันว่ายุติการบรรยายวันนี้ไว้เพียงเท่านี้