แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผมบอกแล้วว่าจะพูดถึงเรื่องวิธีการ ก็จะพูดถึงวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับการเผยแผ่ต่อไป ได้พูดมาสามสี่ครั้งแล้ว ก็ลองทบทวนดูให้มันมีความเกี่ยวเนื่องกันหมดเลย ในเรื่องที่ได้บรรยายมาแล้วนั้น ครั้งที่แล้วมานั้นเราพูดถึงลักษณะผู้ที่จะรับการเผยแผ่ ซึ่งหมายความว่าจะต้องทำให้ ให้มันถูกฝาถูกตัว ชนิดที่ตัวมันใหญ่ใหญ่มาก คือทั้งโลกมันก็ยิ่งทำยาก มันก็ต้องมีแผนการที่ใหญ่ แต่ถ้ามันเล็กลงมาเป็นเรื่องของประเทศภายในเป็นประเทศ ก็ต้องเป็นเรื่องภายในหมู่คณะ ในที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ละคนละคน มันก็แตกต่างกันไปลดหลั่นกันไป แต่ว่าแม้ว่ามันจะมีอยู่หลายขนาดนะแต่หลักการมันก็มีอยู่เหมือนกัน คือมันต้องรู้ถึงปัญหาของเขา ปัญหาของผู้ที่จะรับการเผยแผ่ เพราะว่ามันมีทางเดียวเท่านั้นแหละที่จะทำให้เขาสนใจ คือเรื่องที่พูดนั้นมันต้องตรงกับปัญหาของเขา เพื่อเขาจะได้ประโยชน์ เขาจึงจะสนใจ เพื่อจะแก้ไขปัญหาคือดับทุกข์ของเขานั่นแหละสำคัญ
สังเกตดูทุกเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านไปโปรดไปเทศน์ไปสอนไปโปรด มันมีการที่ตรงกับปัญหาของผู้ฟัง แม้ว่าในสูตรบางสูตรจะไม่ได้เขียนไว้ว่าผู้ฟังนั้นมีปัญหาอะไร พระองค์ไปถึงก็ตรัสเป็นเรื่องเป็นราวไปอย่างนี้ ก็ให้รู้เถอะว่ามันมีปัญหา ซึ่งพระองค์ทรงทราบอยู่แล้ว จึงพูดได้เลย พูดไปก็ตรงปัญหาเพราะทรงทราบอยู่แล้วว่าเขามีปัญหาอะไร แล้วมันก็มีมากหลายกรณีเหมือนกัน ที่ว่ามันเป็นปัญหาที่ร่วมกัน ซึ่งใครๆก็จะมีปัญหาอย่างนั้น อาศัยหลักเกณฑ์อย่างนี้แล้วก็พูดเรื่องที่มันเป็นปัญหารวมกัน คือใช้ได้ร่วมกันก็คือจัดไปเลย ไม่ใช่ว่านึกจะพูดไปหรือว่าเราชอบจะพูดอะไรแล้วก็พูดไปตามใจของเรา อย่างนี้ก็แย่มาก แล้วมันก็จะไม่สำเร็จด้วย นั้นต้องพูดให้ตรงกับปัญหา หรือให้ตรงเรื่องราวที่มันเป็นปัญหาของผู้ฟัง
ยกตัวอย่างเช่นเรื่องธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้ ในตัวสูตรไม่ได้บอกว่ามีปัญหาอย่างไร แต่ว่ามันมีปัญหา ซึ่งพระองค์ทรงทราบดีแล้วว่ามันเป็นปัญหาอย่างไร เช่นทรงทราบดีอยู่แล้วว่าปัญจวัคคีย์ เขากำลังต้องการอะไร เคยอยู่กันมากับปัญจวัคคีย์ ต้องทราบดีว่าปัญจวัคคีย์ เที่ยวออกแสวงหาอะไรเขาต้องการอะไร นั้นยิ่งกว่ารู้ปัญหาเสียอีก ก็มันรู้หมดเลยว่าพวกนี้เขาต้องการทำอะไรบวชออกมา บวชหรือติดตามเราอยู่หรือว่าทิ้งเราไปแล้ว ก็ยังรู้ว่าเขาต้องการอะไร ถ้าโดยหลักใหญ่ๆมันก็นักบวช หรือผู้ออกบวชนั้นต้องการเรื่องที่จะดับทุกข์ ใช้คำว่าจะดับทุกข์ หรือสิ่งที่เห็นว่าจะดับทุกข์หรือจะให้แคบลงมาคือสิ่งที่มันดีกว่าที่เขารู้อยู่แล้ว ทุกคนมันมีความรู้ของตนของตนที่เขารู้สึกว่าดีที่สุดอยู่ด้วยกันทุกข์คน ถ้ามันมีอะไรมาแสดงว่า มันดีกว่านั้นอีกเขาก็สนใจ นั้นพวกปัญจวัคคีย์เขาก็มีความรู้ของเขาเรื่องจะดับทุกข์อย่างไรอยู่แล้ว ที่พระพุทธเจ้าจะโปรดปัญจวัคคีย์ ต้องไปพูดเรื่องที่ว่าจะดับทุกข์ได้ดีกว่านั้น จริงกว่านั้นเด็ดขาดกว่านั้น มันมีเรื่องที่อยู่ในนั้นมากแต่ในตัวหนังสือมันไม่มี เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าพวกคุณไม่รู้หรอกไม่รู้เรื่องเหล่านั้นที่ตัวหนังสือมันไม่มี เราต้องสังเกตเราต้องศึกษา จนให้มันจับใจความได้ว่า มันมีปัญหาอย่างไร มันมีเรื่องอย่างไร
ปัญจวัคคีย์นั้นก็กระวนกระวายที่จะดับทุกข์ เขาก็มีวิธีที่จะดับทุกข์ตามแบบของเขา มีหลักธรรมะตามแบบของเขา ซึ่งมันไม่ตรงกับพระพุทธเจ้าหรอก พอพระพุทธเจ้าจะตรัสอะไรออกไป เป็นคำแรกก็ต้องเป็นคำที่ทำให้เขาสนใจ ตามบาลีธรรมจักรก็ตรัสเรื่อง มัชฌิมาปฏิปทา ก่อนนะแล้วจึงค่อยตรัสเรื่องอริยสัจ ๔ พอตรัสเรื่องมัชฌิมาปฏิปทามันก็กระทบปัญจวัคคีย์ อย่างแรงเพราะพวกเขาเป็นพวกขวาสุดนี่ ถ้าให้เรียกอย่างสมัยใหม่ก็คือพวกขวาสุด คือเคร่งเครียดในการที่จะทรมานตนหรือทรมานกิเลส มันก็เป็นการข่มขี่กิเลสด้วยการทรมานตน มันดูๆก็น่าหัวแหละ แต่ถ้ากิเลสด้วยการทรมานตนต้องดูให้ดี เกือบจะพูดได้ว่าเป็นเรื่องบ้าเต็มที แต่มันก็เป็นธรรมดาแหละความคิดของคนว่ามันต้องดิ่งไปสุดโต่งอยู่ที่ใดที่หนึ่งในภาษาบาลี และที่ใช้อยู่ทั่วไปในบาลีเขามีคำว่าสัจจาภินิเวส สัจจาภินิเวส คำนี้ตัวหนังสือก็แปลว่า การเข้าไปสู่สัจจะโดยเฉพาะเพียงอย่างเดียว สัจจาภินิเวส อภินิ อภิ แล้วก็นิเวส นิเวส นี่ก็เข้าไป อภิ อย่างยิ่ง สัจจะก็สัจจะ เข้าไปสู่สัจจะอย่างเดียวแล้วก็อย่างยิ่ง เมื่อเขามีอยู่ ไอ้หลักมันอย่างยิ่งของเขาอย่างนั้นอยู่ พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสชนิดที่ว่ามันกระทบกันอย่างแรงกับสัจจาภินิเวสนั้น แล้วเขาก็สนใจ
เรื่องนี้แหละผมเห็นว่าสำคัญ ที่เราจะไปสอนผู้ใด ไปโปรดใครเราต้องรู้ก่อนว่าไอ้คนนี้มันมีสัจจาภินิเวส ของมันอย่างไร พูดตามภาษาธรรมดาก็คือว่ามันมีทิฏฐิอย่างไร มีความเชื่ออย่างไร มีความรู้อย่างไร มีมานะอย่างไรที่มันยึดถืออยู่ แล้วก็รู้ว่ามันมีอย่างนั้น แล้วเราก็พูดให้มันกระทบสัจจาภินิเวสของมันมันก็สนใจแล้ว เดี๋ยวนี้ก็รู้ดีว่าทุกคนมันมี แม้พวกคุณทุกองค์นี่ก็มีสัจจาภินิเวสของตนของตนตามที่เรียนมาอย่างไร แล้วก็เชื่ออยู่อย่างไรยึดถืออยู่อย่างไร มันก็มีกันอยู่ทุกคน เหมือนกันก็ได้ไม่เหมือนกันก็ได้ แต่เป็นความรู้ที่พอใจที่ถือเป็นความรู้ที่ถูกต้องและเด็ดขาดตามความหมายของสัจจาภินิเวส คือความรู้สึกที่ว่า อิทัง สัจจัง โมฆะ มัญญัง อิทัง สัจจัง นี้เท่านั้นถูกต้องเป็นจริงโมฆะ มัญญัง นอกจากนี้ผิดทั้งนั้นเป็นโมฆะทั้งนั้น นี่คุณเองก็มี ทุกคนมีสัจจาภินิเวสของตนนี่เท่านั้นที่ถูกต้องนอกนั้นผิดทั้งนั้น นั้นถ้าจะไปโปรดใครไม่ว่าจะเป็นใคร เด็ก ผู้ใหญ่ หญิงชาย บรรพชิตเป็นหลักก็ตามเถิด ต้องดูด้วยว่าเขามีหลัก สัจจาภินิเวสของเขามีอยู่อย่างไร เดี๋ยวนี้มันก็น่าสลดใจแหละที่ว่ามันเป็นไสยศาสตร์อย่างยิ่งเสียเกือบทั้งนั้น ในหมู่ทั้งพุทธบริษัท นี่มันก็มีลักษณะเป็นไสยศาสตร์เกือบทั้งนั้นมันไปพึ่งไสยศาสตร์โน้นเอาธรรมะไปให้ดับทุกข์มันก็ไม่ค่อยจะเอา ไม่เชื่อ เพราะฉะนั้นเราจะพูดกับใครให้เขารับเอาธรรมะได้ มันก็ต้องพูดชนิดที่ทำลายสัจจาภินิเวสของบุคคลนั้นได้ เราไม่มีคำแปลในภาษาไทย ที่เหมาะสมก็ใช้คำบาลีไปก่อนสัจจาภินิเวสคุณช่วยจำไว้ด้วย การเข้าไปสู่สัจจะเฉพาะของตนของตน คำมันฟังยาก ใช้บาลีสัจจาภินิเวสดีกว่า ลัทธิของเขาความเชื่อของเขานั่นแหละ แล้วจะไปสอนใครที่ไหนในโลก มันจะต้องรู้ปัญหาอันแรกคือคนเหล่านั้นมีสัจจาภินิเวสอยู่อย่างไร เราก็ต้องพูดให้มันกระทบสัจจาภินิเวสเขาถึงจะสนใจ
ไอ้คำว่ากระทบนี่มันหมายความได้ทั้งสองอย่างแหละ คือว่าตรงกันข้ามเลยก็ได้ กระทบโป้งใหญ่เลยก็ได้ กระทบ ทีนี้มันตรงกับที่เขามีอยู่เชื่ออยู่ก็ได้ นี่มันกระทบ กระทบเหมือนกันแต่มันกระทบอีกแบบหนึ่ง กระทบที่เขาจะพอใจยินดีรับ คือไม่ใช่กระทบอย่างฝ่ายค้าน มันกระทบอย่างสนับสนุนมันก็สนใจเหมือนกัน มันก็ดูเอาเองสิว่าจะพูดเรื่องอะไรกับใคร เอ้า,พูดเรื่องพระพุทธเจ้ากับปัญจวัคคีย์ต่อไปว่า ท่านเห็นว่าคนเหล่านี้มันสุดโต่งยึดถือสุดโต่งไปในทางทรมานกาย ว่าจะเป็นเรื่องดับทุกข์ได้ ก็ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เข้าไปสู่ส่วนสุดทั้งสองว่ามันจะดับทุกข์ได้ อย่างน้อยให้เกิดความขัดแย้งในใจของปัญจวัคคีย์ก่อน ว่าที่เขาทำอยู่มันผิดแล้ว ว่าไอ้ที่เขาถือเขาทำมันผิดแล้ว เขายังเงี่ยหูฟังที่จะพูดกันต่อไป พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงอริยสัจ ๔ ประการ ในชั้นแรกมันจะต้องกระทบไอ้ลัทธิที่เหนียวแน่นของเขา หรือยกเลิกเพิกถอนไอ้ลัทธินั้นให้ได้เสียก่อน เขาจึงจะสนใจฟังไอ้ที่เราจะพูดเรื่องใหม่กับเขา เขาจึงตรัสว่า อันนี้เป็นไปเพื่อตรัสรู้เป็นไปเพื่อเกิดญาณ ที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แล้วเราก็รู้เฉพาะตนนี่เป็นการยืนยันเข้าไปอีกชั้นหนึ่งส่วน กามสุขลฺลิกานุโยค มันก็ผิด อัตติกิลมถานุโยค ของเธอโดยตรงนี้มันก็ผิด สังฆภพเปิด(นาทีที่18.30) สิ่งที่ถูกที่จะดับทุกได้ก็คือ มัชฌิมาปฏิปทา ดูให้ดีเถอะ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ขึ้นต้นเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา มันก็กระทบ ปัญจวัคคีย์ เข้าอย่างจังเลย เพราะเขามันขวาสุด นี่เขาก็เกิดความอยากรู้ขึ้นมาว่ามันจะได้แก่อะไร แล้วตรัสเรื่องอริยสัจทั้ง ๔ ซึ่งเป็นมัชฌิมาปฏิปทาอย่างยิ่ง
มัชฌิมาปฏิปทานั้นมีอยู่ใน ๒ ความหมาย มัชฌิมาปฏิปทาในฐานะที่เป็นการปฏิบัติอย่างหนึ่ง และก็มัชฌิมาปฏิปทาในฐานะที่เป็นทฤษฎีหรือเป็นสัจจะหรือเป็นปรัชญา ก็แล้วแต่จะเรียกนี้ก็เป็นพวกหนึ่ง นี่ผมเชื่อคุณไม่รู้หรอก ไม่เห็นเขาเคยเอามาสอนว่ามัชฌิมาปฏิปทา ในฝ่ายทฤษฎี คือ อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท เรื่องอริยสัจ ๔ คือเรื่องอิทัปปัจจยตา คือเรื่องมีเหตุมีผลมีเหตุมีผลมีเหตุมีผลคืออิทัปปัจจยตา นี่คือตัวมัชฌิมาปฏิปทาอย่างยิ่ง อิทัปปัจจยตา คือตัวมัชฌิมาปฏิปทาอย่างยิ่ง เพราะว่าโดยหลักอิทัปปัจจยตาแล้วมันพูดอะไรโดยส่วนเดียวไม่ได้ มันพูดอะไรโดยส่วนเดียวคำเดียวฝ่ายเดียวด้านเดียวไม่ได้ มันต้องอยู่ตรงกลางเสมอ แล้วแต่เหตุปัจจัยมีหรือไม่มี แล้วแต่เหตุปัจจัยจะเป็นอย่างไร นี่มัชฌิมาปฏิปทาแท้จริง มัชฌิมาปฏิปทาโดยทางปัญญาโดยทางสัจจะโดยทางทฤษฎี แต่ถ้าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ในทางปฏิบัติ มันก็คือมรรคมีองค์ ๘ ประการนั่นแหละ มรรคมีองค์ ๘ ประการ ทั้ง ๘ ประการ แต่ละองค์มันเป็นสัมมา สัมมา สัมมา มันอยู่ที่ถูกต้องมันอยู่ที่พอดีนี่มัชฌิมาปฏิปทา ที่รู้จักกันอยู่ทั่วไป พูดกันอยู่ทั่วไป สอนกันอยู่ทั่วไป มันก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทาทางปฏิบัติ ข้อนี้พระพุทธเจ้าก็ได้บอกแล้วแต่ทีแรก ตั้งแต่ก่อนแสดงอริยสัจ ๔ ก็ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทาคืออริยมรรค มีองค์ ๘ ให้ได้ฟังให้ได้ยินให้ได้รู้กันแล้ว นั้นก็ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา โดยการปฏิบัติเสร็จแล้ว พอจบแล้วก็ทรงแสดงอริยสัจ ๔ ซึ่งมันเป็นเรื่อง เพราะมีเหตุจึงมีผลมีเหตุมีผล ตามกฏของ อิทัปปัจจยตานั่นแหละ เพราะว่าสิ่งนี้มีนี้จึงมี สิ่งนี้เกิดขึ้นมีสิ่งนี้เกิด เพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ ซึ่งเป็นหลัก อิทัปปัจจยตา
ดังนั้นเรื่องอริยสัจทั้ง ๔ ก็คือเรื่องอิทัปปัจจยตา ซึ่งทรงแสดงขึ้นมาในฐานะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ในฝ่ายปัญญาในฝ่ายทฤษฎี หรือที่สมัยนี้เขาจะเรียกว่าปรัชญาก็ได้ตามใจเขา ข้อนี้ตัวอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละคือมัชฌิมาปฏิปทานั่น ข้อนี้ไม่ค่อยสอนกันนัก ผมก็ไม่เคยได้ยินครูสอน ผมเรียนนักธรรมมาตลอดเวลาครูก็ไม่ได้สอนเรื่องว่าปฏิจจสมุปบาทเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ต่อเมื่อเรามาค้นเอง ค้นกันเป็นการใหญ่เมื่อคราวที่จะทำหนังสือเรื่องปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์บ้าง เรื่องอริยสัจจากพระโอษฐ์ เลยรู้ว่า อ้าว, ไปพบพระบาลีโดยตรง พระบาลีโดยตรงเลยแหละ เราจะแสดงมัชฌิมาปฏิปทา และก็แสดงปฏิจจสมุปบาท นี่แสดงอิทัปปัจจยตาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
นั้นการที่จะแสดงอริยสัจ ๔ ก็คือแสดงมัชฌิมาปฏิปทาที่สูงขึ้นไปในระดับปัญญา ทั้งในแบบทฤษฎี ทำไม อิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทานี่มันสำคัญมาก อาจจะไม่รู้หรืออาจจะไม่อยากรู้ก็ได้ เพราะว่ามันไม่เคยคิดชนิดนั้น นั้นอยากจะขอให้รู้ไว้เป็นหลัก เป็นหลักสำคัญเป็นหลักตลอดกาลด้วยเสียเลยว่า มัชฌิมาปฏิปทานั้นคือการที่ไม่พูดลงไปโดยส่วนเดียวว่า อะไรเป็นอะไรแต่จะพูดโดยสายกลางว่าเพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นหรือเพราะมีอย่างนี้เป็นปัจจัยจึงพูดได้อย่างนี้ เพราะอย่างนั้นเป็นปัจจัย จึงพูดได้เป็นอย่างนั้น ดังนั้นปฏิจจสมุปบาท หรืออิทัปปัจจยตาก็ดีจะไม่มีการพูดว่าดีหรือชั่ว จะไม่มีการพูดว่าดีหรือชั่ว ว่าได้หรือเสีย ว่าสุขหรือทุกข์ มันจะไม่พูด มันจะพูดว่าเพราะอย่างนี้มี อย่างนี้จึงมี เพราะอย่างนี้มีอย่างนี้จึงมีทั้งนั้น มันกระทั่งไม่พูดว่า นี่หรืออื่น พูดว่าคนนี้หรือคนอื่น นี่ไม่พูด ถ้ามันไม่จริง มันคือแล้วแต่อิทัปปัจจยตา ว่ามันจะเป็นอย่างไร ถ้าจะให้พูดว่าคนนี้ตายแล้วไปเกิดมันก็ผิด คนอื่นตายแล้วไปเกิดมันก็ผิดทั้งนั้นเพราะโดยหลักอิทัปปัจจยตาแล้วพอตายแล้วจะไม่มีนี้หรือไม่มีอื่น มันถึงไม่พูดชัดไปว่าคนนี้หรือคนอื่น จึงจะเป็นตรงกลางเรียกว่าอิทัปปัจจยตา
คุณคิดดูเถอะว่าคุณเคยได้ยินที่ไหน มัชฌิมาปฏิปทาในรูปแบบอย่างนี้จะไม่เคยได้ยิน หรือว่าทำเองหรือให้ผู้อื่นทำ มันก็แล้วแต่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตาที่มันจะเป็นไปอย่างไร มันลึกจนถึงว่าไม่มีตัวตน ไม่มีตัวตนมันมีแต่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา ถ้ามีตัวตนมันก็เด็ดขาดไปแล้วว่ามีตัวตน ถ้าอย่างนี้แล้วไม่ใช่ ไม่ใช่อิทัปปัจจยตาแล้วมันมี ตัวตนเด็ดขาดลงไปเสียแล้ว นี้คำพูดที่ไม่มีตัวตนมันมีแต่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตานั่นแหละคือมัชฌิมาปฏิปทา ผมเชื่อไม่เคยได้ฟังหรอกพวกคุณน่ะ เพราะในโรงเรียนมันไม่มีสอนเพราะเรื่องอย่างนี้เขาไม่เอามาสอนหรอก นั้นถ้ามีแต่ อิทัปปัจจยตา มันก็ไม่มีคน มันเป็นความทุกข์มันก็ไม่ใช่คนไม่ใช่ตัวตน ถ้ามันไม่มีตัวตนมันก็ไม่ใช่คนนั่นแหละ มันจึงไม่มีคนที่เป็นทุกข์แล้วก็ไม่มีคนที่ดับทุกข์ หรือไม่มีคนที่ทำอะไร มันมีแต่กระแสอิทัปปัจจยตา คือธรรมชาติที่เป็นนามและเป็นรูปปรุงแต่งกันไปตามกฏแห่งอิทัปปัจจยตา อย่างไรแล้วเกิดผลขึ้นอย่างนั้น เกิดอย่างไรแล้วเกิดเป็นผลขึ้นอย่างไร นั้นเพียงแต่แสดงธรรมจักร แค่นั้นก็ก็กระทบเรื่องอัตตาเสียแล้ว เพียงแต่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องอริยสัจ ๔ มันก็กระทบลัทธิของปัญจวัคคีย์ ที่ว่ามีตัวตนเข้าไปครึ่งหนึ่งแล้วอย่างน้อย เพราะไม่พูดว่ามีบุคคล มีแต่ความทุกข์มันเป็นอย่างนี้ๆ เหตุของทุกข์มันมีอย่างนี้ๆ ความดับสนิทของทุกข์มันมีอย่างนี้ๆ ธรรมที่เป็นเหตุแห่งการดับทุกข์มันเป็นแบบนี้ๆ มันไม่มีตัวตน นี่มันกระทบสัจจาภินิเวสของปัญจวัคคีย์ เข้าไปครึ่งหนึ่งแล้วอย่างน้อย
ทีนี้ต่อมาทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร นี่คือกระทบหมดเลย กระทบเรื่องมีตัวตนของปัญจวัคคีย์โดยสิ้นเชิง จึงเป็นเหตุให้ปัญจวัคคีย์ ละมิจฉาทิฏฐิทั้งหลายได้ แล้วก็เป็นพระอรหันต์ไปหมดทั้ง ๕ องค์ การแสดงอริยสัจ ๔ มันกระทบแค่เพียงผิวๆหรือครึ่งๆ นั้นคนที่ฉลาดมากๆถึงจะเห็น ดังนั้นจึงมีผลเพียงคนเดียวเห็น คือโกณฑัญญะคนเดียว เห็นเคล้าเงื่อน เขาเรียกเกิดดวงตาแห่งธรรมเพียงคนเดียว ครั้นแสดงอนัตตลักขณสูตร แสดงตรงๆจังๆโผลงลงไปบนทิฏฐิที่ว่ามีอัตตา มันมีผลรุนแรงมันก็ง่ายกว่า แล้วก็บรรลุพระอรหันต์กันหมดทั้ง ๕ องค์ อิทัปปัจจยตานั่นแหละคือมัชฌิมาปฏิปทาหรือสิ่งที่อยู่ตรงกลาง ไม่พูดว่าบุคคลหรือมิใช่บุคคล พูดว่ามีแต่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา แต่ตัวอย่างที่เอามานี่ดูจะลึกไปก็ได้ อาจจะไม่มีโอกาสใช้กับที่เขาสั่งสอนกันตามธรรมดาก็ได้ แต่ตัวอย่างนี้มันดีที่จะชี้ให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าท่านจะประกาศพระศาสนาของท่านนั้น ท่านทำไปก็อย่างว่าแหละ ท่านต้องกระทบทิฏฐิเหนียวแน่นของผู้ฟัง อย่างน้อยต้องเป็นการประหมัดกันก่อนเลย มันจะได้เตรียมตัวรู้สึก แล้วคราวนี้พอถึงมีโอกาสก็เอากันเลย ใส่หมัด ตายไปเลย มันก็พ่ายแพ้หมด นี่จะเป็นหลักสำหรับใช้ประโยชน์ทั่วไปได้กระมัง เพราะขั้นแรกต้องส่งไอ้ลูกกระสุนเข้าไปกระทบลัทธิที่เขามีอยู่แต่ก่อนสิ เป็นประปรายก็ได้ ภาษามวยเขาเรียกหมัดแยบหมัดอะไรก็ไม่รู้ผมไม่ค่อยรู้จักหรอก แต่มันไม่ใช่หมัดตาย พอมันได้ที่ ถึงค่อยส่งหมัดตายเข้าไปแล้วก็ตายเลย
นี่เราจะเทศน์ชนิดที่จริงจังเผยแผ่ลัทธิอย่างจริงจัง ก็ลองนึกถึงวิธีพระพุทธเจ้า มันจะต้องรู้ว่าเขามีทิฏฐิ ความคิดความเห็นหรือหลักลัทธิของเขาอยู่อย่างไร แล้วเราจะกระทบเขาอย่างไร แล้วเราจะส่งหมัดตายขยี้หมดเลยได้อย่างไร ช่วงทีแรกปัญจวัคคีย์ เขาถือลัทธิอัตตกิลมถานุโยค พอตรัสมัชฌิมาปฏิปทาที่ไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยค หรือ กามสุขัลลิกานุโยค มันก็กระทบชั้นหนึ่งแล้ว คือกระทบลัทธิที่เขาถืออยู่ก่อนน่ะคืออัตตกิลมถานุโยค ท่านก็กระทบมันด้วยมัชฌิมาปฏิปทา อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือว่าหลักอริยสัจ คืออิทัปปัจจยตานั่นเอง คราวนี้ยกสอง ในยกต่อมาก็ทรงใช้ อนัตตา ธรรมะคืออนัตตา กระทบลัทธิอัตตา ซึ่งปัญจวัคคีย์ เขาถือกันอย่างเหนียวแน่น พวกนี้เขามีอัตตากันทั้งนั้น ลัทธิที่มีอยู่ก่อนพุทธศาสนาจะดีวิเศษอย่างไร มันก็มีเพียงแค่อัตตา ปัญจวัคคีย์เขาก็มีอัตตาในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง อยู่ลึกๆหรือกี่อย่างก็ตามใจ แต่ก็มีอัตตา นี่พอจะกระทบลัทธิอัตตา พระองค์ก็ทรงแสดงเรื่องอนัตตา ว่าไปหาในรูปขันธ์ก็ไม่พบอัตตา ไปหาในเวทนาขันธ์ก็ไม่พบอัตตา สัญญาณขันธ์ก็ไม่พบอัตตา สังขารขันธ์ก็ไม่พบอัตตา วิญญาณขันธ์ก็ไม่พบอัตตา มันก็เลยไม่มีอัตตา ปัญจวัคคีย์จึงถอนอัตตานุทิฏฐิ ละทิฏฐิว่าอัตตานั้นเสียได้ ก็เลยเป็นพระอรหันต์ กลายเป็นบุคคลลัทธิที่ไม่มีอัตตาอีกต่อไป ก่อนนี้มันเป็นบุคคลลัทธิที่มีอัตตามีตัวตน สำหรับจะได้หลุดพ้น สำหรับจะได้ดับทุกข์ สำหรับจะได้ไปมีความสุข พระพุทธเจ้ากวาดทิ้งหมด เป็นอนัตตาไปหมด หรือว่ามันเป็นอิทัปปัจจยตาคือกระแสการปรุงแต่งไปตามเหตุไปตามปัจจัยทั้งนั้นเลย ไม่มีตัวตนอยู่ที่ตรงไหน
นี่ความสำเร็จอันใหญ่หลวงก็ได้เกิดขึ้น คือได้มีการเป็นพระอรหันต์กันหมดเลยทั้ง ๕ องค์ นี่วิธีหรือข้อเท็จจริงหรือจะเรียกว่าเทคนิคก็ได้ มันมีเทคนิคอยู่การทรมาน ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้นให้ละลัทธิเดิมแล้วกลายเป็นพระอรหันต์กันหมด คำว่าเทคนิคนี่แปลเป็นไทยแล้วง่ายๆเรียกว่าเคล็ดน่ะ เคล็ด เคล็ดลับ ที่ธรรมดาไม่ค่อยจะรู้กัน แต่เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่าเทคนิคเอาคำฝรั่งมาใช้ วิธีใช้เคล็ดลับคือเทคโนโลยี ไอ้ตัวเทคนิคเองคือตัวเคล็ดลับ นี่เห็นได้ว่ามันเป็นเรื่องที่มีอยู่ อย่างนี้ คือใช้ได้อย่างนี้ตลาดกาล ในการสอนธรรมะเผยแผ่ธรรมะมันก็มีเทคนิค และก็มันมีการใช้เทคนิคให้ได้ผลเต็มที่คือเทคโนโลยี แต่ก่อนไม่มีคำเหล่านี้เพราะไม่ได้เข้ามาใช้ แต่เดี๋ยวนี้แม้ว่าเขาจะมีคำเหล่านี้ใช้ มันก็ดูธรรมดาๆ ที่เขาเคยใช้กันมาแล้ว มันมีเคล็ดลับก็ใช้เคล็ดลับให้ถูกเรื่อง มันก็สำเร็จประโยชน์ นั้นเรื่องที่ผมพูดก็ว่า เราจะเผยแผ่ มันมีเคล็ดลับหรือมีอุบายแล้วแต่จะเรียก เราใช้เคล็ดลับหรือใช้อุบายนี้ให้มันถูกต้อง สรุปความอีกทีหนึ่งมาซ้ำอีกทีก็ว่า คือจะเราต้องรู้ว่าเขามีเดิมพันคือมีสัจจาภินิเวสของเขาเป็นเดิมพันมันมีอยู่อย่างไร แล้วเราก็ต้องส่งหมัดแรกเข้าไปกระทบไอ้สัจจาภินิเวสนั้นแหละให้ถึงกับหวั่นไหวทีเดียว แล้วมันหวั่นไหวแล้วมันส่งหมัดที่สองเข้าไปทำลายขยี้ บดขยี้ไปเลย ก็จะทำให้คนนั้นเขาเปลี่ยนมาสู่ลัทธิใหม่ธรรมะใหม่นี้ได้ นี่เรื่องมันก็มีเท่านี้ ทีนี้เราจะไปสอนอะไรที่ไหน เราก็ต้องดูตัวคนที่เราจะไปสอนเขาว่าลัทธิเดิมของเขาคืออะไร แล้วทำอย่างไรที่จะทำให้ลัทธิเดิมของเขาจะเริ่มคลอนแคลน จะเริ่มหวั่นไหว พอทำให้มันเริ่มคลอนแคลนได้ก็บดขยี้ให้มันหมดไปเลย นี่คือเคล็ดหรือเทคนิค ที่เราสังเกตได้จากการกระทำของพระพุทธเจ้าในการเผยแผ่พระศาสนาของพระองค์
เอาล่ะนี่ก็เป็นอันว่านี่เป็นเรื่องๆหนึ่ง เป็นเรื่องๆหนึ่งที่อยากให้เข้าใจรู้จักแล้วก็นำไปใช้ ในการที่ทำหน้าที่ของตนต่อไปข้างหน้า จะไปกระทำกับบุคคลคนหนึ่งๆก็ต้องรู้หัวใจของเขา พูดภาษานิยายก็คือเอากล่องดวงใจของเขามาให้ได้ แล้วก็เอามาขยี้ๆเสียให้แหลกลาน เขามีความเชื่อความเห็นทิฏฐิอย่างไรนั่นแหละต้องจับให้ได้ เขาเรียกว่ากล่องดวงใจของเขาถ้าได้มาแล้วก็ขยี้เสีย เขาก็จะกลับไปสู่ทิฏฐิเดิมๆอยู่นั้นอีกไม่ได้ เขาก็จะได้รับสิ่งใหม่ที่ดีกว่า ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง แล้วเขาก็เห็นด้วยตนเองว่ามันใช้ประโยชน์ได้จริง แล้วมันก็เหมือนกับว่าทำลายสัจจาภินิเวสอันเก่าเสีย จะเรียกว่าสร้างใหม่ขึ้นมาก็ได้แต่เขาไม่นิยมใช้สัจจาภินิเวส จะต้องมีจะต้องใช้เรียกว่าความถูกต้องความถูกต้องหรือปัญญา วิชา แสงสว่างที่ถูกต้อง อย่าให้ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานเลย แต่ก่อนนี้เขามีความรู้อย่างไรปัญญาอย่างไรเขายึดมั่นสติปัญญานั้นด้วยอุปาทาน พอยึดมั่นด้วยอุปาทานมันจึงเรียกว่าสัจจาภินิเวส เดี๋ยวนี้เรามีสติปัญญาอันใหม่ซึ่งไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน จึงไม่ควรเรียกว่าสัจจาภินิเวส แต่ถ้าดูกันแบบผิวๆมันก็คือสัจจาภินิเวสอันใหม่ ซึ่งไม่ต้องยึดถือด้วยอุปาทาน แต่มันมีไว้โดยสมาทานของสติและปัญญา อย่าด้วยอุปาทานเลยมันจะเป็นสัจจาภินิเวส แต่เป็นเพียงสมาทานอยู่ได้ด้วยสติปัญญา นั้นธรรมะทั้งหลายที่จะเป็นเครื่องดับทุกข์ได้นี่เราไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ถ้าเราไปยึดมั่นอุปาทานมันกลับไปสู่สัจจาภินิเวส ซึ่งต่ำมาก ซึ่งมีแต่จะเกิดเรื่องเพราะมันทำไปด้วยอุปาทาน เดี๋ยวนี้เรามีความรู้ความเข้าใจแล้วก็ถือไว้ ถือไว้อย่างสมาทาน อย่าถือไว้ด้วยอุปาทาน มันก็ไม่ผิด เพราะมันก็ดับทุกข์ได้ ก็เรียกว่าเปลี่ยน เปลี่ยนมาสู่ความถูกต้องแล้วก็ไม่เกี่ยวข้องด้วยอุปาทาน นั้นความรู้ที่ถูกต้องทุกเรื่องในพระพุทธศาสนาต้องไม่ถูกยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน แต่ว่าถือไว้อย่างดีโดยลักษณะของสมาทาน คือวิชชา ปัญญา แสงสว่าง เป็นเครื่องช่วยให้สมาทานที่ถือไว้อย่างดีโดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น
นี่คือกฎเกณฑ์ทั่วไปของการเปลี่ยนจิตใจ จากความผิดมาสู่ความถูก จากมิจฉาทิฏฐิมาสู่สัมมาทิฏฐิ แล้วก็รอดตัวได้ ซึ่งเป็นหลักที่เราค้นเอามาจากเรื่องของพระพุทธองค์ หรือจากการกระทำที่พระพุทธองค์ได้ทรงกระทำมาแล้ว แล้วเราก็ทำตามอย่างก็มีเท่านี้ นี่คือเรื่องที่ผมพูดวันนี้ วิธีที่จะเอาคนมาสู่พุทธลัทธิ จะดึงคนมาจากมิจฉาทิฏฐิมาสู่สัมมาทิฏฐิ หรือจะเอาคนที่ไม่มีธรรมะไม่ยอมมีธรรมะมาสู่การมีธรรมะ มันมีวิธีปฏิบัติอย่างนี้เอง ตามความรู้สึกของผมเห็นว่าสำคัญที่สุด พึ่งพาอาศัยได้ วิธีนี้พึ่งพาอาศัยได้ แล้วก็ได้ใช้อยู่แล้วก็ทำมา ใช้อยู่เป็นหลักในการกระทำ ในการพูดจาในการสั่งสอนในการเผยแผ่พระศาสนา อย่างว่าเราจะพูดให้สังคมปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลง มันก็ต้องทำอย่างวิธีนี้ หรือเราต้องการจะให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงวิธีการเกี่ยวกับศีลธรรม เราก็ต้องทำโดยวิธีนี้ วิธีอื่นไม่มี แต่ว่ามันจะสำเร็จหรือไม่มันก็มีเหตุปัจจัยอย่างอื่นอีก ถ้ามันทำไปอย่างถูกต้องอย่างครบถ้วนแล้วมันก็สำหรับ หมายความว่าทำให้เขายอมเห็นด้วยยอมปฏิบัติตาม ยอมให้ใช้ประโยชน์อันนี้ ถ้าเราจะพูดกับโลกพูดกับคนทั้งโลกนี่มันก็ต้องมีวิธีอย่างนี้ คือกระทบทิฏฐิหรือมิจฉาทิฏฐิของโลกให้มันคลอนแคลน แล้วมันก็บอกไอ้สิ่งที่ถูกต้องดีกว่าสำทับลงไป ให้เขาเลิกไอ้มิจฉาทิฏฐิเหล่านั้นเสีย ก็มีหวัง แต่มันจะสำเร็จผลทันทีเหมือนกับหยิบเอาได้ด้วยมือมันทำไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องทางจิตใจ แล้วมันเรื่องมันก็มาก คนก็มาก อะไรมันก็มาก อุปสรรคมันก็มาก แต่ถึงอย่างไร วิธีการมันก็มีแต่อย่างนี้ มันไม่มีอย่างอื่น ขอให้มองดูไปถึงว่ามันมีมิจฉาทิฏฐิอย่างไร แล้วจะกระทบกระแทกมันให้สั่นคลอนรวนเรโดยวิธีใด แล้วจะสั่งสอนมันให้เด็ดขาดเฉียบขาดลงไปอย่างไร มันก็ได้ เรื่องมันก็หมด แล้วนี่คือไอ้สิ่งที่ผมมาพูดวันนี้ นั่นคือวิธีการประดิษฐานธรรมะลงไปในคนทั่วไป ซึ่งไม่มีธรรมะ ขอยุติการบรรยายวันนี้เพียงเท่านี้ เพราะมันเหนื่อยมันไม่มีแรงจะพูด เพราะมันพูดอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา