แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายธรรมะปริทรรศน์โดยพื้นฐานในวันนี้ จะกล่าวถึงเวลาสำหรับการปฏิบัติธรรม หรือจะพูดอีกอย่างก็พูดว่าจะปฏิบัติธรรมกันเมื่อไร แล้วได้พูดมาแล้วตามลำดับหัวข้อว่าอะไร ทำทำไม จะได้รับผลอย่างไรนี่ จะปฏิบัติกันอย่างไร นี่ก็อยากจะพูด แถลงหนึ่งคือเกี่ยวกับเวลาเมื่อไร ปฏิบัติธรรมะกันเมื่อไรนั้นหัวข้อ ว่าที่จริงแล้วควรจะคิดนึกเองได้ ตอบด้วยตนเองได้ว่าควรปฏิบัติกันเมื่อไร เพราะมันก็ไม่ใช่ของลึกซึ้งอะไรนัก มีส่วนที่จะนึกได้เองมาก แต่มันก็มีบ้างเหมือนกันที่เป็นข้อเร้นลับหรือแฝงอยู่ หรืออาจจะไม่เคยนึกถึงก็ได้
ในชั้นแรกที่สุดนี้เราควรจะนึกถึงไอ้คำว่าธรรมะเป็นอกาลิโก นี่ถ้าสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ อะไรอยู่ทุกวัน ย่อมจะได้ยินคำว่า ธรรมะเป็นอกาลิโก ไม่ขึ้นกับเวลา นี่หมายความว่าไม่มีเวลาจำกัดว่าจะต้องทำเมื่อนั้น เมื่อนี้ จะได้รับผลเมื่อนั้น เมื่อนี้ มันแล้วแต่เหตุปัจจัยที่ควรจะทำ ในเรื่องการศึกษาก็เหมือนกัน มันก็ควรศึกษาได้ เมื่อไรก็ได้ ตามที่เราจะศึกษา แล้วปฏิบัติเมื่อไรก็ได้ แล้วมันได้รับผลสมควรแก่การปฏิบัติ มันจะได้ผลช้า จะได้ผลเร็วมันก็แล้วแต่วิธีการปฏิบัติ มันขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ มันไม่ขึ้นอยู่กับเวลา ให้รู้อย่างนี้ไว้เป็นหลักทั่วไปก่อน
ธรรมะมันเป็นของที่มีอำนาจเด็ดขาดอยู่ในตัวเอง จึงเรียกว่าไม่ขึ้นอยู่กับเวลา ทีนี้เมื่อไรที่มันควรจะปฏิบัติ มันก็เมื่อรู้สึกว่ามันมีปัญหา มันมีความทุกข์ หรือว่าจะเรียนฝึกฝนไว้เป็นการล่วงหน้า มันก็อยู่ในคำว่า มันมีปัญหา มันมีปัญหาที่มันจะมีความทุกข์ในอนาคต แล้วก็เตรียมไว้ล่วงหน้า ฉะนั้นความรู้สึกที่รู้สึกอยู่ว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้น ที่ไม่พึงปรารถนา ที่เราจะต้องกำจัดไปเสียด้วยธรรมะ นั่นมันเป็นเวลาที่จะต้องปฏิบัติธรรมะ ควรจะทราบไว้เสียด้วยว่าคำว่า สิกขา ในภาษาบาลี หรือ สิกฉา (นาที่ที่ 06:00) ในภาษาสันสกฤต หรือศึกษาในภาษาไทยเรานี้ เป็นคำเดียวกัน คำว่าศึกษานี้เขาไม่ได้หมายถึงเรียน หนังสือหนังหาจากในโรงเรียน คำว่าศึกษานี้เขาหมายถึงการปฏิบัติลงไปจริงๆทั้งนั้น ไม่ใช่มาอ่านพระไตรปิฎกเพื่อท่องจำอะไรอยู่แล้วเรียกว่าศึกษา ไม่ใช่
ศึกษาก็หมายถึงการกระทำ ทีนี้การเรียนให้รู้ว่าทำอย่างไรมันรวมอยู่ในนั้นเสร็จ แต่ไม่ให้ความหมายอะไรนัก ให้ความหมายอยู่ที่การปฏิบัติ เช่น ศีลสิกขา ก็คือปฏิบัติ ศีล สมาธิ สิกขา จิตตสิกขานี่ก็ปฏิบัติสมาธิ ปัญญาสิกขาก็ปฏิบัติปัญญา หรือจะเรียงคำพูดเสียใหม่ว่า ศีลสิกขา ปฏิบัติเพื่อให้มีศีล สมาธิสิกขาปฏิบัติเพื่อให้มีสมาธิ ปัญญาสิกขาปฏิบัติเพื่อให้มีปัญญา เมื่อเขาเห็นประโยชน์ของสิ่งเหล่านี้อยู่เมื่อไร เขาก็ลงมือปฏิบัติเมื่อนั้น เพราะว่ามันเป็นสิ่งละเอียดสุขุม มันกินเวลาบ้างอะไรบ้าง มันต้องทำไว้ให้ชำนาญ ให้เชี่ยวชาญ แล้วมันจะได้เต็มที่ๆ คือถึงพร้อม เราปฏิบัติศีลอยู่ตลอดเวลา เมื่อบวชเข้ามานี่จะต้องปฏิบัติศีลของภิกษุอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นชาวบ้านก็ปฏิบัติศีลของชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา สนใจสูงขึ้นไปก็ปฏิบัติสมาธิอยู่ตลอดเวลา ปฏิบัติปัญญาอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นหลักทั่วไป เป็นหลักกว้างๆที่ควรจะรู้ไว้
เราปฏิบัติเพื่อความมีศีล ต้องรู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร สิกขาบท ลาบวชสำหรับศึกษา คือบวชสำหรับปฏิบัติ ก็ปฏิบัติตามสิกขาบทนั้นๆอยู่ เพื่อการเป็นบรรพชิตที่ดี ตลอดเวลาต้องปฏิบัติสิกขาบท เพื่อความมีศีลอยู่ตลอดเวลา มันไม่ได้รอไว้ให้เกิดปัญหา หรือเกิดความทุกข์อะไรขึ้น มันจึงจะปฏิบัติ เหมือนที่เขาล้อกันว่าวัวหายจึงค่อยล้อมคอก มันจะได้ผลอะไร ก็รู้วิธีของการปฏิบัติ แล้วก็ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา เพื่อความมีศีล แล้วมันก็เหมือนทำรู้ว่าชั้นนอก หรือชั้นต้น(9.33) เราก็เห็นอยู่ว่าเราจะต้องสังวรในพระปาฏิโมกข์อยู่ตลอดเวลา เวลาไปนั่งฟังปาฏิโมกข์ ไปเรียนเรื่องปาฏิโมกข์ แต่แล้วต้องปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา ภิกษุที่ดีก็เป็นอย่างนั้น ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต สำรวมระวังในปาฏิโมกข์ อาจารโคจรสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มรรยาทอะไรเป็นของบรรพชิตจะต้องปฏิบัติอย่างเต็มที่ โคจรอะไรที่สมควรแก่บรรพชิตจึงจะไป คือที่ๆสมควรเขาเรียกว่าโคจร ที่ไม่สมควรจะไปเรียกว่าอโคจร ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร หมายความว่าปฏิบัติดีอยู่ตลอดเวลา ไปมาหาสู่แต่ที่ๆควรจะไปมาหาสู่อยู่ตลอดเวลา นี่เรียกว่าปฏิบัติศีล เห็นด้วยความเป็นโทษ เป็นๆภัย เป็นของน่ากลัว แม้ในโทษที่มีประมาณน้อย คือแม้อาบัติเล็กน้อยก็ถือว่าเป็นภัยอันใหญ่หลวง น่ากลัว จึงเว้นจากสิ่งที่ควรเว้น ไม่ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย
แต่คนโดยมากมันเสียนิสัยมาตั้งแต่เด็กๆเล็กๆแล้ว มักจะได้รับการอบรมไม่ถูกต้อง ไม่เห็นว่าไม่มีอะไรเล็กน้อย ไม่มีเรื่องอะไรมันเล็กน้อย มันมีแต่เรื่องสำคัญทั้งนั้น เด็กๆมักจะพูดว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ เรื่องนี้เล็กน้อย เรื่องนี้ไม่ทำก็ได้นี่ มันก็เสียนิสัย เรามีหลักปฏิบัติในส่วนศีลที่ว่าไม่มีเรื่องเล็กน้อย ประพฤติให้ถูกต้องตามสิกขาบทอยู่เสมอ มันก็ตลอดเวลา แต่ยังไม่พูดว่าทุกครั้งที่หายใจเข้าออก จะมองเห็นได้ว่าตลอดเวลาแหละ ถ้าคุณเป็นผู้ปฏิบัติ ตื่นนอนขึ้นมาก็ต้องระวัง ไม่ให้มีอะไรติดขึ้นมา (นาทีที่ 12:26) ทำหน้าที่ตอนเช้า แล้วไปบิณฑบาต แล้วกลับมาฉันท์บิณฑบาต แล้วทำอะไรต่อไป ต้องมีความรู้สึกตัว มีสติสัมปชัญญะไม่ผิดวินัย ไม่ผิดสิกขาบทอยู่ตลอดเวลา จนค่ำ จนนอน จนตื่นอีกก็เหมือนกัน แม้แต่จะนอนหลับก็ยังตั้งใจที่ว่าจะไม่ให้มีอะไรผิดพลาดขึ้น แม้ในระหว่างหลับ อย่านอนดิ้นเหมือนสุนัข นอนเหมือนหมา ไม่นอนเหมือนราชสีห์ ใช้ไม่ได้ เขาก็เลยให้สำรวมระวังก่อนแต่จะปล่อยให้หลับลงไป กำหนดความถูกต้องแห่งอิริยาบถทั้งหลาย เมื่อตื่นขึ้นมาก็ยังดีอยู่ เรียกว่ามีการควบคุมไม่ตัดๆระยะ แม้ในเวลาหลับก็มีการควบคุมอยู่ด้วย วิธีปฏิบัติชนิดหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นการปฏิบัติที่เป็นเทคนิคก็ได้ เขาก็มีวิธีปฏิบัติเพื่อให้แม้นอนหลับแล้วก็ไม่ดิ้นอย่างสุนัขนอน ให้เป็นเหมือนกับอย่างราชสีห์นอน คำกล่าวในบาลีมีอย่างนี้ ปฏิบัติศีลแท้ๆมันก็มีตลอดเวลา
ทีนี้สูงขึ้นไปก็เป็นเรื่องสมาธิ คือมีจิตที่ตั้งไว้ดี ถูกต้อง มั่นคง มีประโยชน์แก่ปัญญา ไอ้ศีลนี้มันเป็นเรื่องตั้งไว้ดีสำหรับกาย วาจา สมาธิมันเป็นเรื่องที่ตั้งไว้ดีสำหรับจิต นี่มันก็เป็นเรื่องที่สูงขึ้นไป ซึ่งหมายความว่ามันละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไป ปฏิบัติไม่ผิดในส่วนจิต ธรรมดาจิตมันเป็นสิ่งที่ไม่อยู่นิ่ง เรียกว่าไม่อยู่นิ่ง ไม่มีอะไรมันก็คิดนึกไปตามเรื่องที่มันเคยผ่านมา ตามความจำหมาย ตามสัญญาในอดีต ถ้ามีอะไรเข้ามายั่วยวนทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง จิตมันก็คิดไปในอารมณ์นั้นๆ ก็เกิดความไม่ปกติ ความไม่หยุด ความไม่ปกติขึ้น ก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เล็กจนเป็นนิสัย จิตชนิดนี้มัน ตามทางธรรมะก็ถือว่าใช้ไม่ได้ มีคำเรียกว่ากะปิจิตตัง (นาทีที่ 16:12) คือมีจิตเหมือนลิง มีจิตเหมือนอิริยาบถของลิงที่ซุกซน มันใช้ไม่ได้ในหลายๆอย่าง คือมันจะคิดนึกอะไรให้ดีก็ไม่ได้ มันจะอยู่อย่างสงบเย็นเป็นสุขก็ไม่ได้ แล้วมันก็อ่อนแอ ที่เราปฏิบัติในส่วนสมาธิสิกขานี่มันก็เพื่อให้จิตเป็นสมาธิ แปลว่าตั้งๆมั่น หรือตั้งไว้อย่างดี มีจิตที่ตั้งไว้อย่างดี จนไม่มีนิวรณ์ เป็นจิตที่ไม่มีนิวรณ์ คือไม่ๆสกปรก ก็เป็นจิตที่มีกำลัง มีกำลังจิต แล้วเป็นจิตที่พร้อมที่จะทำหน้าที่
จิตของคนเราตามธรรมดา มันไม่พร้อม ไม่ๆๆพร้อมที่จะทำหน้าที่ คือมันคอยแต่จะไปหาอารมณ์แห่งกิเลส มีคำเปรียบว่าเหมือนกับปลา จับโยนขึ้นมาบนบกมันก็ดิ้นไม่หยุดเพื่อจะลงไปในน้ำ เมื่อเอาจิตมาทำสมาธิ เหมือนกับจับโยนไปบนบก มันก็ดิ้นไม่หยุด มันจะลงไปในน้ำ ฉะนั้นจึงมีระเบียบที่เขาค้นพบแล้ว เขาค้นพบกันมา เรื่องนี้คงหลายพันปีก่อนพุทธกาล พบว่าทำอย่างไรจะเป็นสมาธินี่เขาพบกันก่อนพุทธกาล ในสมัยพุทธกาลก็รับระบบที่เขาพบกันมาแล้วแต่กาลก่อนเอามาใช้ หรือดัดแปลงบ้าง แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ดัดแปลงให้มันเหมาะสมยิ่งขึ้น มันจึงไม่ใช่เหมือนกันทีเดียว คือมันได้ปรับปรุงให้ดีกว่า แต่แล้วในที่สุดก็มีหลักอย่างนี้ คือจิตนั้นจะบริสุทธิ์ จิตนั้นจะเข้มแข็ง และจิตนั้นมันจะว่องไวต่อหน้าที่พร้อมๆกัน (นาทีที่ 18:54)
คุณจะต้องสังเกตเอาเอง เมื่อเราศึกษาเล่าเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราจะเขียนบทความอะไรดีๆสักเรื่องหนึ่งนี่ มันเขียนไม่ได้ เพราะมันเหมือนมีอะไรมารบกวน เหมือนกับมีแมลงมาตอมให้รำคาญ ถ้าเป็นเรื่องที่มันประณีต เช่นจะเขียนบทกลอนให้ดีสักบทหนึ่ง จิตชนิดนั้นมันทำไม่ได้ มันต้องเป็นจิตที่แน่วแน่ กลมกลืนอยู่กับไอ้สิ่งที่จะทำ แล้วมันก็ทำได้ นี่เพราะว่ามันไม่มีอะไรรบกวน เราจะทำอะไรให้ดี ไอ้ความรู้สึกมันๆเอียงไปหากามารมณ์ๆบ้าง มันเอียงไปหาไอ้ความรู้สึกเกลียดชังอะไรอยู่บ้าง โกรธใครอยู่บ้าง หรือมันอ่อนเพลียเสียบ้าง หรือมันฟุ้งซ่านเสียบ้าง หรือมันโลเลเสียบ้าง ที่เขาเรียกว่านิวรณ์ ๕ คือสิ่งที่เรามีอยู่เป็นประจำ แต่แล้วเราก็โง่จนไม่รู้จักมัน จนต้องไปบวชเรียนนักธรรมตรี จึงค่อยเรียนเรื่องนิวรณ์ ๕ นี่เรามันโง่กี่มากน้อย ลองคิดดู ที่จริงมันมีมา กับเรา รบกวนเราตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีมาจนบัดนี้ ทำไมเราจึงไม่รู้จักนิวรณ์ ๕ แปลว่าสิ่งที่กั้นจิตไม่ให้เป็นไปในทางๆดี ทางที่ควรจะเป็น มันเหมือนกับมันมารบกวนจิตให้รำคาญ
เรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องวิเศษ พิเศษไปจากไอ้เรื่องธรรมชาติ มันก็เป็นเรื่องตามธรรมชาติแท้ๆ ที่ว่าคนเรามันก็มีนิวรณ์กันอยู่เป็นประจำตั้งแต่เกิดมา แต่เราไม่สนใจ ไม่ได้ศึกษา แล้วก็ไม่รู้จัก แล้วก็ไม่สนใจ แล้วมันก็น่าหัวที่สุดเมื่อรู้จักเรื่องนิวรณ์ ๕ ต่อเมื่อมาบวชเรียนนักธรรม ทั้งที่มันรบกวนเราอยู่ตลอดเวลา จิตเมื่อไม่มีไอ้ ๕ อย่างนี้รบกวนก็เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ จิตปรกติที่สุด ตามๆหลักที่ว่ามันๆๆสะอาด มันเข้มแข็ง มันไวต่อหน้าที่ คิดออกดี อย่างจะเขียนจดหมายสักฉบับก็ยังก็ยังเขียนได้ราบรื่นดี เป็นที่พอใจ จะแต่งโคลง แต่งกลอนสักบทหนึ่งก็เหมือนกัน มันทำได้ดี สนุกสนาน เป็นที่พอใจ ไม่ว่าจะทำอะไร แม้แต่จะอ่านหนังสือ ถ้าจิตมันปรกติอย่างนี้แล้วอ่านหนังสือรู้เรื่องดี เป็นสุขไปในตัว ได้รับความรู้อย่างยิ่งไปในตัว
จิตที่ดีมันมีประโยชน์อยู่ตามธรรมชาติอย่างนี้ แต่เราก็ไม่สนใจ เราไม่เคยฝึกสมาธิกันใช่ไหม มันเป็นวัฒนธรรมที่โง่ของมนุษย์นั้นเอง ไม่สนใจเรื่องนี้กันมาแต่อ้อนแต่ออก จนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำคน ประจำชาติ มันคงจะมีสักยุค สักสมัยหนึ่งในประเทศอินเดียโน้น ที่เขานิยมฝึกสมาธิกันเป็นปรกติ เป็นประจำ แล้วเป็นคนมีจิตใจดี มีความเป็นสมาธิง่าย มีความจำดี เราจึงได้เห็นว่าพวกแขกอินเดียเขามีความเป็นสมาธิง่าย จำเก่ง ดูลูกตามันๆมีลักษณะไอ้การเป็นสมาธิ เข้มแข็ง บึกบึน แต่ว่าเดี๋ยวนี้มันก็ไม่ค่อยได้ทำ เข้าใจว่าในสมัยหนึ่ง ยุคหนึ่ง เป็นวัฒนธรรมที่เขาทำกันจนมันกลายเป็นบุคคลที่มีนิสัยอย่างนั้น
ในพระบาลีก็แปลกประหลาดที่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสถึงวิธีกระทำ บอกให้ตั้งจิตเป็นสมาธิ เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตฌาณเลย ไม่ได้บอกว่าทำอย่างไร เพราะมันรู้กันอยู่แล้ว มันรู้กันเสียแล้ว มันรู้กันอยู่แล้วในหมู่ประชาชนเหล่านั้น บอกทำจิตเป็นปฐมฌาน แล้วก็พิจารณาน้อมไปในทางจะเห็นอะไรยิ่งๆขึ้นไป จะไปถึงจตุตฌาณก็ยิ่งดี น้อมไปเพื่อความสิ้นอาสวะ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่เราจึงไม่ค่อยได้รับความรู้เรื่องทำสมาธิอย่างไร จากพระบาลีทั่วๆไป ถึงแม้ในพระบาลีมหาสติปัฏฐาน บาลีอานาปานสติก็ไม่ได้พูดให้มันชัดลงไป จนใช้เป็นคู่มือได้เลย ต้องไปหารายละเอียดจากที่อื่นเอามาประติดประต่อกันเข้าให้สมบูรณ์ แล้วก็ทำได้
นี่เป็นเหตุให้ผมคิดว่าไอ้การปฏิบัติให้จิตเป็นสมาธินี้คงจะทำได้เหมือนกับเป็นวัฒนธรรมประจำบ้านเรือน ภิกษุออกจากบ้านเรือนมันก็ต้องทำได้ตามสมควร แปลว่าเขาให้ความสนใจทางจิตกันอย่างเพียงพอ เป็นวัฒนธรรมประจำคน ประจำมนุษย์ โดยหลักมันก็ต้องมีอะไรที่เรียกว่าเป็นอารมณ์สำหรับกำหนด เป็นอารมณ์ให้จิตกำหนด จะเป็นวัตถุภายนอก มีสิ่งของ มีดวงแดงๆ ดวงเขียวๆ มีอะไรเป็นวัตถุสำหรับกำหนดลงไปอย่างนี้ก็ได้ หรือเป็นเพียงไอ้วัตถุที่ไม่มองเห็นตัว เช่น ลมหายใจเข้าออกอยู่อย่างนี้ ก็ใช้เป็นอารมณ์สำหรับกำหนดได้เหมือนกัน ถ้าสิ่งใดที่ว่าจิตรู้สึกได้ มันไปเกาะเกี่ยวได้แล้วก็ใช้เป็นอารมณ์ได้ทั้งนั้น นี่ที่มีหลายแบบก็เพราะว่ามุ่งหมายผลที่มันจะเกิดขึ้นให้ตรงความประสงค์ เอาของที่ไม่สวยงามมากำหนดเป็นอารมณ์ จิตใจมันก็จะได้เลิกละความความหลงในความสวยงามอย่างนี้เป็นต้น เช่น กำหนดซากศพอย่างนี้ มันก็ได้ผลเป็นสมาธิด้วย ได้ผลเป็นการทำลายความหลงใหลในความงามอะไรต่างๆด้วย ท่านมีไว้ให้เลือกหลายแบบ แต่ในบาลีไม่มีถึง ๔๐ แบบเหมือนคัมภีร์ครั้งหลัง ที่พระพุทธเจ้าท่านแนะนำมาก สรรเสริญมาก คือแบบอานาปานสติ เพราะว่าพระองค์ก็ได้ฝึกฝนและใช้อานาปานสติประพฤติปฏิบัติอยู่เป็นประจำจนกระทั่งตรัสรู้ แม้ในวันตรัสรู้ก็ทำอานาปานสติเพื่อกำหนดปฏิจจสมุปบาท ทำจิตให้เป็นสมาธิโดยอานาปานสติ แล้วกำหนดปฏิจจสมุปบาทย้อนไปย้อนมา ย้อนไปย้อนมา จนเห็นชัดเรื่องทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ทุกข์ดับไปอย่างไร ก็เรียกว่ารู้แล้วๆ
ลมหายใจเป็นอารมณ์ของจิตสำหรับกำหนดที่ลมหายใจ ถ้ากำหนดได้สำเร็จก็คือมีสมาธิ นี่ลมหายใจนี่มันสะดวก มันมีอยู่แล้ว มีแต่ไปกำหนดก็เท่านั้นเอง ถ้าจะกำหนดซากศพมันต้องไปที่ป่าช้า ไปหาซากศพ ถ้าจะกำหนดดวงเขียวแดงเป็นกสิณก็ต้องไปทำมันมา ก็ใช้ลมหายใจที่มีอยู่ตลอดเวลา หายใจเข้าออกอยู่ในลักษณะอย่างไร กำหนดจิตตามลมหายใจอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้ก็เรียกว่ากำหนดลมหายใจ สะดวกนี่อย่างหนึ่ง แล้วก็ไม่น่ากลัว ไม่น่าเกลียด น่ากลัวนี่ก็อย่างหนึ่ง แล้วก็ทำให้เกิดความละเอียด ประณีต สงบระงับได้โดยง่าย เพราะว่าลมหายใจเองมันก็เป็นสิ่งที่ละเอียด สงบระงับอยู่แล้ว ไปฝึก ไปกำหนดมันเข้า ก็เท่ากับไปฝึกให้มันละเอียด ให้จิตใจมันละเอียด จิตใจมันเป็นสมาธิชนิดละเอียด แล้วจึงค่อยไปกำหนดอื่นต่อไปทุกๆครั้งที่หายใจ
ครั้งแรกกำหนดลมหายใจนั่นแหละ เป็นจิตเป็นสมาธิพอสมควรแล้ว ที่นี้ก็ไปกำหนดเวทนาที่มีอยู่ในสมาธิ ถ้ามีสมาธิเมื่อไรก็มีเวทนา คือความสุขรวมอยู่ในสมาธินั้นด้วย กำหนดไอ้ส่วนที่เป็นความสุข หรือเวทนาในสมาธินั้นต่อไป แล้วกำหนดจิตที่กำลังเป็นอย่างไรในทุกขั้นตอน แล้วก็กำหนดความไม่เที่ยงของสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด คือของลมหายใจก็ดี ของเวทนาก็ดี ของจิตก็ดี อะไรที่ได้ทำให้ผ่านมาในความรู้สึกแล้วก็เอามาเป็นเครื่องกำหนด เพื่อดูความไม่เที่ยงของมันได้ทั้งนั้น นี่ฟังให้ดีว่ากำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก แล้วมันจะมีระยะเวลาว่างที่ไหน ก็แปลว่าการปฏิบัตินั้นมันทำอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจเข้าออก ตลอดเวลาที่มีการหายใจเข้าออก จะอยู่ในอิริยาบถใดก็ได้ มันต้องเปลี่ยนอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน แม้จะอยู่ในอิริยาบถใดก็มีสมาธิ หรือมีสติกำหนดให้เป็นสมาธินี่อยู่ในทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน อย่างนี้เรียกว่าบุคคลนั้นมันมีจิตชนิดที่ฝึกดีแล้ว เป็นจิตพิเศษแล้ว เป็นจิตที่จะใช้ทำอะไรได้มากมายเหลือประมาณแหละ คือทำให้สูงขึ้นไปเพื่อจะตัดกิเลส บรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ท่านแสดงไว้มากมายคล้ายกับโฆษณาสินค้า เช่นว่าจิตที่เป็นสมาธินี้จะแสดงฤทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ก็ได้ จิตที่เป็นสมาธินี้จะเอาความสุขอย่างดีเลิศกันเดี๋ยวนี้เวลานี้ก็ได้ หรือว่าจะเป็นผู้มีสติสมบูรณ์เหลือประมาณที่สุดที่มนุษย์จะทำได้ก็ได้ หรือจะทำความสิ้นอาสวะก็ได้
แล้วก็มีคำกล่าวที่เป็นอุปมาให้น่าสนใจ แปลกๆ ต่างๆอีกมากมาย มีคำเปรียบว่าไอ้ช้าง หรือม้าที่ฝึกดีแล้วของพระราชาโดยสารถีชั้นเลิศ มันก็ได้แค่นั้นแหละ เช่นม้าก็ไปได้ทางหนึ่ง ช้างก็วิ่งไปได้ทางหนึ่ง ถ้าจิตที่ฝึกดีแล้วมันแล่นไปได้ทุกทิศ จะมีทิศทางอยู่กี่ทิศทาง จิตที่ฝึกดีแล้วมันแล่นไปได้ในทุกทิศทาง หรือจะพูดให้เป็นบุคลาธิษฐานว่าไปนรก ไปสวรรค์ ไปพรหมโลก ไปอะไรกี่โลกๆๆก็ได้อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นเรื่องของจิตที่ฝึกดีแล้ว มีความสามารถ มีอานิสงส์อย่างยิ่งอย่างนี้ แต่เมื่อกล่าวตามทางของธรรมะอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่ได้ต้องการอันอื่น ก็ต้องการเพื่อสิ้นอาสาวะ เพื่อให้สิ้นกิเลส สิ้นอาสาวะเป็นส่วนสำคัญ หรือว่ายังไม่สิ้นอาสาวะเพราะมันยังไม่ได้ทำปัญญา ไม่ได้ทำวิปัสสนา กิเลสอาสาวะก็ถูกควบคุมไว้ไม่ให้ลุกขึ้นมารบกวน คือมีความสุขจากสมาธินั้นอยู่ในเวลานั้นๆ มีผลเหมือนกับสิ้นอาสาวะก็ได้ อาสาวะไม่ออกมารบกวน กิเลสอนุสัยไม่ปรุงขึ้นมาเป็นเครื่องรบกวนก็สบายดี อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นขั้นสมาธิ ไม่สิ้นกิเลสอาสาวะ แต่ได้อยู่สบายตลอดเวลาที่เขามีสมาธิ เขาจัดไอ้สัตว์ชนิดนี้ว่าเป็นพวกพรหมๆ มีความสุขอยู่ด้วยอำนาจของสมาธิระดับใดระดับหนึ่งอยู่เป็นปกติเรียกว่าพวกพรหม เช่นเดียวกับพวกเทวดา กามาวจรนี่สบายอยู่กับกามารมณ์ พวกพรหมนี่สบายเป็นสุขอยู่ด้วยสมาธิ ด้วยผลของสมาธิ ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ ไม่มีกามารมณ์ เพื่อเป็นสิ่งสูงสุด เพื่อให้เข้าใจว่าเป็นสิ่งสูงสุดกันอยู่ในยุคหนึ่ง ในสมัยหนึ่ง ก่อนพระพุทธเจ้าๆ ก็เคยเอาไอ้ความสุขเกิดจากสมาธิชั้นสูงสุดนี่ว่าเป็นธรรมะสูงสุดที่เรียกว่านิพพาน ด้วยความเข้าใจที่ไม่สมบูรณ์ เข้าใจเพียงเท่านั้น แต่ก็ยังดีกว่าพวกที่เอากามารมณ์เป็นนิพพาน พวกที่ยึดถือกามารมณ์เป็นสิ่งสูงสุด เป็นนิพพานมันก็เคยมี ต่อมามันรู้ดีขึ้นไป มันว่าไม่ใช่ มันก็เอาสมาธิ ที่มีผลเป็นสมาธินี่เป็นนิพพานเป็นลำดับๆมา จนกว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้น ท่านจึงบอกว่าไม่ใช่ มันไม่ใช่ มันต้องสิ้นอาสาวะโน้น
นี่การปฏิบัติเกี่ยวกับสมาธิ ให้ผลเป็นความสุข ชนิดที่มันไปแนวเดียวกันกับนิพพาน คือไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ ถ้ายังไม่ถึงสมาธิมันก็ไปอยู่กับกามารมณ์ เป็นกามาวจร เรียกว่าระดับที่พอใจอยู่ในกาม ถ้าปฏิบัติสูงขึ้นมาถึงขั้นที่มีสมาธิ มันก็มาใน มันก็สูงขึ้นมาถึงระดับที่เรียกว่ารูปาวจร อรูปาวจร ไม่มีกามารมณ์อีกแล้ว แต่ยังมีตัวตน มีตัวตนสำหรับหลงในความสุข ต้องปฏิบัติต่อไปจนกิเลส อาสาวะหมดสิ้น จึงจะเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์ในที่สุด ฉะนั้นการปฏิบัติเพียงเพื่อเป็นสมาธินั้นมันไม่พอ มันยังอยู่แค่รูปาวจร อรูปาวจร ที่สมมุติเรียกกันว่าพรหมโลก นี่จึงมาปฏิบัติให้สูงขึ้นไป จิตเป็นสมาธิดีแล้ว พิจารณาเห็นสิ่งสมควรตามที่เป็นจริงว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นต้น มันก็เลยไม่หลงในความสุขที่เกิดจากสมาธิ แม้ว่าความสุขในพรหมโลกมันจะสูงมากอยู่แล้วเพียงใดก็ตาม เขาก็ไม่พอใจๆ ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ต้องการให้สูงไปกว่านั้น ให้ประณีตไปกว่านั้น จึงใช้สมาธินั้นศึกษา พิจารณาดูความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพื่อให้รู้ว่าไม่มีอะไรที่ควรจะยึดมั่น ถือมั่น เป็นของดีเลิศ เป็นของตัวเรา เป็นของๆเรา นี่จึงเรียกว่ามันๆสูงพ้นพรหมโลกขึ้นไป เพราะเห็นว่าแม้ความสุขอันดีเลิศอย่างพรหม หรือพรหมโลกนั้นมันก็ยังยึดถือไม่ได้ ยึดถือแล้วเป็นทุกข์ แล้วมันเปลี่ยนแปลงอยู่โดยธรรมชาติของมัน
ไอ้ความสุขนั้นรู้ไว้เถิดว่ามันมีหลายระดับ แม้ขึ้นมาจนถึงระดับที่เรียกว่าพรหมโลก เป็นสมาธิชั้นสูงสุด นี่ก็ยังเป็นความสุขที่ยึดถือไม่ได้ เรียกว่ายังหลอกลวงอยู่ก็ได้ จึงแสวงหาสิ่งที่สูงกว่านั้น มันก็ไปพบความไม่ยึดถืออะไรนั่นแหละ ความไม่ๆๆยึดถือในอะไรโดยความเป็นของตน เพราะว่าสิ้น เพราะว่ามันหมดอวิชชา มันหมดกิเลสตัณหา มันหมดอนุสัย มันหมดอาสาวะ มันก็เป็นจิตที่ไม่ยึดมั่นอะไร เป็นจิตที่ใช้คำว่าหลุดพ้นจากสิ่งที่มันเคยเข้าไปยึดถือ เป็นจิตชนิดที่อะไรจะมาทำให้ยึดถือไม่ได้อีกต่อไป เป็นจิตที่ไม่มีอะไรมาปรุงให้ยึดมั่น ถือมั่นในอะไรได้อีกต่อไป เขาเรียกว่าจิตหลุดพ้น เพราะอำนาจของปัญญา เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ว่าแม้แต่ความสุขสูงสุดในพรหมโลกก็ยังเป็นของมายา จึงปฏิบัติในระบบ ๓ คือว่า ปฏิบัติปัญญา สิกขา เอาจิตที่เป็นสมาธิแล้วมากำหนดพิจารณา เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสิ่งทั้งปวง สิ่งที่เคยรักก็ดี เคยเกลียดก็ดี เคยโกรธก็ดี เคยกลัวก็ดี เคยอาลัยอาวรณ์ก็ดี วิตกกังวลก็ดี อะไรก็ตามทุกอย่าง สิ่งเหล่านั้นมันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ไม่ควรจะเข้าไปยึดถืออย่างนั้น แล้วก็สิ่งเหล่านั้นจะไม่มาทำให้เกิดความรู้สึกเป็นความรัก โกรธ เกลียด กลัว เป็นต้นได้อีกต่อไป จิตนี้ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งให้เกิดความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ต่างๆเหล่านั้นได้อีกต่อไป เขาเรียกว่าจิตหลุดพ้น
เมื่อมันไม่อยาก ไม่ต้องการในสิ่งใด มันก็ไม่เกิดความรู้สึกว่าตัวกูเป็นผู้อยาก เช่นอุปาทานว่าตัวๆกู หรือของกู ตัวเรา หรือของเรามันก็ไม่เกิด ก็ไม่เกิดอัตตวาทุปาทาน ว่าตัวเรา ว่าาของเรา นี่ไม่มีอะไรประเสริฐ หรือสูงไปกว่านี้ คือจิตหลุดพ้นจากความยึดมั่น ถือมั่น ว่าตัวเรา ว่าของเราในสิ่งทั้งปวง นี่ปฏิบัติในส่วนปัญญามันเป็นอย่างนี้
ถ้าจะพูดกันให้มันง่าย ง่ายๆก็ว่าครั้งแรกก็ปฏิบัติศีล เป็นพลเมืองดี มีเงิน มีทรัพย์สมบัติ มีวัตถุแห่งกามารมณ์ เสวยกามารมณ์ไป เป็นพลเมืองดี ต่อมาเห็นว่าวุ่นวายๆ ก็ไปเห็นไอ้ความสงบแห่งจิต ไม่ไปๆยุ่ง ไม่ไปหลงใหลในสิ่งเหล่านั้นว่าดีกว่า ก็ทำจิตให้ไปหา ไปอยู่กับความสงบๆๆ ต่อมาเห็นว่าความสงบก็ยังเปลี่ยนแปลง ความสงบชนิดนี้ก็ยังเปลี่ยนแปลง มีจิตที่หลุดพ้นจากสิ่งทั้งปวงเสียดีกว่า นี่เขาก็เป็นชีวิตชนิดอื่น เรียกว่าออกจากโลก หรือเหนือโลก
บุคคลคนหนึ่งเมื่อหนุ่มสาวอยู่ก็หลงเรื่องระดับกามารมณ์ เป็นผลของ ศีล ของทาน ของการปฏิบัติขั้นศีล ต่อมาอายุมากเข้าก็มันบอกความสงบดีกว่า อยู่ด้วยความสงบดีกว่า มันก็อยู่ด้วยความสงบอย่างที่พอใจ ต่อมามันก็รู้ โอ๊ย, มีตัวกูอยู่อย่างนี้ไม่ดี สู้ไม่มีตัวกูเลยก็ไม่ได้ นี่มันก็ทำให้มองเห็นว่าไอ้สิ่งที่มีตัวกู หรือมีความอะไรเป็นของกูนั้น มันเห็นว่าเรื่องโง่ เรื่องบ้า เรื่องหลงใหล เลยมีจิตไม่ๆเอาอะไร ไม่เอาตัวกู ไม่เอาของกู เขาเรียกว่าว่าง หรือเกลี้ยงไปหมดเลย เป็นชั้นสูงสุด นั่นแหละคือชั้นปัญญาสูงสุด
ชั้นศีลมันก็ระดับหนึ่ง ชั้นสมาธิก็ระดับหนึ่ง ชั้นปัญญาก็ระดับหนึ่ง แต่ควรจะมองให้เห็นว่ามันส่งเสริมกัน ถ้ามันไม่เคยชิมรสที่เป็นผลของชั้นศีล มันก็ๆเลิกละไอ้ระดับศีลไม่ได้ ก็หลงอยู่ที่นั่น เมื่อได้รับผลของศีลจนเป็นที่ประจักษ์แจ่มแจ้ง ทุกแง่ ทุกมุมแล้ว มันจะรู้ โอ้, แค่นี้เอง แล้วมันจึงเลื่อนไปสู่ขั้นสมาธิ สงบ เย็น ลึกซึ้งกว่า ก็นานเข้าๆ มันก็ โอ้, ยังมีตัวฉันแบกอะไรอยู่ ยังมีตัวฉันแบกตัวตนอยู่ แบกภาระหนักคือตัวตนอยู่ สู้ไม่มีอะไรไม่ได้ นี่มันจึงเลื่อนไปถึงชั้นปัญญา จิตนั้นจะไม่ยึดถือ คือไม่รู้สึกว่ามีตัวฉัน หรือมีของฉัน ก็เรียกว่าจิตมันหลุดพ้น หรือจิตมันว่าง หรือจิตมันเกลี้ยง หรือจิตมันบรรลุนิพพานๆ ไม่มีอะไรสำหรับจะยึดถือ นี่คนมันดีได้เท่านี้ในทางธรรมะ มันไม่ๆๆมากไปกว่านี้ ไม่แปลกไปกว่านี้ พูด ๒-๓ คำมันก็จบ แต่มันก็ทำยาก
เราก็รู้ว่านี่ที่เราจะเรียนกัน อุตส่าห์บวช อุสาห์เรียนกัน มันก็ไม่ๆมากไปกว่านี้ ปฏิบัติศีล ปฏิบัติสมาธิ ปฏิบัติปัญญา ให้มันรู้จริง มันถึงที่สุดจริง จิตมันกลายเป็นจิตชนิดที่ไม่ต้องการอะไร ไม่รู้สึกว่ามีตัว มีตนอยู่ เขาเรียกว่าไม่มีภพ ออกจากภพ ออกจากความรู้สึกที่เป็นภพ ความรู้สึกที่เป็นภพ คือรู้สึกว่ามีตัวฉัน เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ มีฉันเป็นมนุษย์ มีฉันเป็นเทวดา มีฉันเป็นพรหม อย่างนี้ก็เรียกว่ามันมีอยู่ในภพ ถ้ามันไม่มีความรู้สึกเป็นอยู่ในภพ คือความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งนี่ ก็เรียกมันหลุดออกไปจากภพ ไปเป็นพระอริยเจ้า มีพระอรหันต์เป็นจุดสุดท้าย คือว่าไม่มีภพ ออกไปจากภพ คือจิตใจของท่านไม่มีภพ ไม่เป็นภพ แม้ว่าร่างกายของท่านอยู่ในมนุษยโลก ยังอยู่ในโลกนี้ ถ้าคนโง่ๆมันก็ต้องเรียกว่ากามภพ หรือรูปภพก็แล้วแต่
แต่ว่าพระอรหันต์แม้อยู่ในโลกนี้ ก็ไม่ได้ว่าอยู่ในโลกนี้ หรือเป็นมนุษย์ หรือเป็นอยู่ในภพนี้ เพราะจิตมันเห็นในสิ่งที่เหนือกว่า สูงกว่า จะออกจากภพไปๆ เดี๋ยวนี้เราที่ยังไม่ออกจากภพนั่น เราจะรู้สึกว่าเราเป็นอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ มีสถานะของเรา อย่างเช่นคนธรรมดานี้ก็เรียกว่า เรารู้สึกว่าเราเป็นคน เราต้องมีบ้าน มีเรือน เราต้องเป็นนั่น เป็นนี่ เป็นพ่อบ้าน แม่เรือน หรือว่าเราเป็นเศรษฐี หรือว่าเราเป็นชาวนาก็แล้วแต่ เราจะต้องมีความรู้สึกว่าเป็นอะไรอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็มีภพ ภพแปลว่าความมี ความเป็น ก็หมายมั่น ติดพันกันอยู่กับภพ จนเกิดกิเลส จนเกิดความทุกข์ มันก็ไปด้วยกัน ถ้ามันไม่มีกิเลสตัณหา มันก็ไม่มีความคิดว่ากูเป็นนั่น กูเป็นนี่ คือไม่มีภพ และไม่ได้อยู่ในภพ ถ้ารู้สึกว่ามีตัวตน ตัวกู มันก็อยู่ในภพใด ภพหนึ่ง เมื่อมันหลงอยู่ในกาม มันก็เรียกมันอยู่ในกามภพ เมื่อมันหลงอยู่ในรูป ก็อยู่ในรูปภพ หลงอยู่ในอรูป ก็เรียกในอรูปภพ ทั้ง ๓ ภพนี้อาจจะวนเวียนอยู่ไม่มีที่สิ้นสุดก็ได้ ถ้าว่าแม้ไปเกิดในอรูปภพ เป็นพรหมโลกชั้นสูงสุดแล้ว มันก็ยังเป็นปุถุชนอยู่นั่น มันยังเวียนกลับมาเป็นคนธรรมดาในกามภพอีกก็ได้ เพราะยังไม่หมดโง่
ทีนี้เราอยากให้เป็นเรื่องของคนๆหนึ่งในปัจจุบันนี้ ในชาตินี้ ก็อบรมจิต พัฒนาจิตในขั้นศีล ในขั้นสมาธิ จนมีสมาธิชั้นละเอียดประณีต เสวยความสุขจากสมาธิชั้นละเอียดประณีตได้ทันตาเห็น ไม่ต้องรอตอนตายแล้ว ถ้าว่ามันมีโชค คือสิ่งต่างๆเป็นไปดี มันก็รู้ว่าคราวนี้มันยังไม่ดับทุกข์ ดับความรู้สึกว่าฉันอยู่ที่ไหน ฉันเป็นอะไรเสียดีกว่า ฉันเป็นอย่างไร ฉันอยู่ที่ไหน ดับไอ้ความรู้สึกอันนี้เสียดีกว่า เรียกว่าจิตมันหลุดพ้นจากความเป็นอะไร หรือความอยู่ที่ไหน มีอะไร นี่มันไม่มี ก็เรียกว่าจิตมันเกลี้ยง จิตมันหลุดพ้น ถ้าใครทำได้อย่างนี้ก่อนตาย ก่อนเข้าโลง นั่นวิเศษที่สุด คือมนุษย์ที่ประเสริฐที่สุด แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ได้สอนกันอย่างนี้ เขาว่าอีกหลายชาติ หลายสิบชาติ หลายร้อยชาติมันจึงเลื่อนขึ้นไปได้ จากกามภพไปสู่รูปภพเป็นต้น แต่ถ้าเราดูตามหลักธรรมะแล้ว มันแล้วแต่เหตุปัจจัย จิตมันจะเปลี่ยนได้ตามการกระทำ การปฏิบัติที่เราปฏิบัตินั่นแหละ ปฏิบัติให้พ้นจากกามภพไปสู่รูปภพ ปฏิบัติให้พ้นจากรูปภพไปสู่อรูปภพ ปฏิบัติให้พ้นจากอรูปภพ ก็ไปสู่ความไม่มีภพ คือไปนิพพาน เป็นที่สิ้นสุดแห่งภพ
นี่เรื่องปฏิบัติมันมีอย่างนี้ แล้วคุณก็ดูกันเอาเองสิว่ามันปฏิบัติกันเมื่อไร ไม่มีใครบังคับใครได้ แต่ถ้าเมื่อมันมองเห็นแล้วว่ามันมีอะไรที่เป็นความทุกข์ แล้วมันก็ปฏิบัติ เมื่อเห็นว่าอันนี้เป็นความทุกข์ ก็ปฏิบัติให้ละเสียจากความทุกข์นั้นๆ ฉะนั้นเราก็ปฏิบัติเมื่อเห็นว่าความทุกข์มันมีอยู่อย่างไร เพื่อจะละความทุกข์นั้นเสีย ถึงขนาดที่เรียกว่าปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาหายใจเข้าออก เมื่อไร คิดดู มันก็ตอบว่าทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ไม่ต้องมีถามว่าเมื่อไร ให้มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ครบถ้วนอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก มันก็จะก้าวหน้าๆๆไป ถึงจุดสุดท้าย คือที่เรียกกันว่านิพพาน คือดับทุกข์ ดับร้อนหมด เป็นนิพพาน
เดี๋ยวนี้จะมีนิพพาน ก็นิพพานตัวอย่าง นิพพานน้อยๆ นิพพานชั่วขณะในระยะอันสั้น เมื่อไม่โง่ ไม่หลงให้กิเลสเกิดขึ้นรบกวนนี่ บางเวลาก็มีนะที่เราดำรงชีวิตจิตใจอยู่ ที่กิเลสไม่เกิดขึ้นรบกวน สบายดี นี่นิพพานที่เป็นบังเอิญ เรียกว่าตทังคนิพพาน มันบังเอิญกิเลสไม่เกิดขึ้น สบายดี เย็นดี แต่คนก็ไม่ค่อยสนใจ ไม่รู้จัก ไม่รักษาเอาไว้ให้มันยืดยาวออกไป ฉะนั้นจะตอบว่าเมื่อไร ถ้าถามว่าปฏิบัติเมื่อไร ก็ปฏิบัติเมื่อหายโง่ ถ้ามันยังโง่อยู่ มันก็หลงอยู่ในความทุกข์ มันไม่มีการปฏิบัติ พอมันลืมหูลืมตา หายโง่ขึ้นมา มันก็ลงมือปฏิบัติ แล้วมันก็ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาที่หายใจเข้าออก
ทีนี้มันก็มีปัญหาปลีกย่อยๆ ปฏิบัติได้ หรือไม่ได้ ปฏิบัติสะดวก หรือไม่สะดวก ปฏิบัติช้า หรือปฏิบัติเร็ว มันก็แล้วแต่สภาพความเป็นอยู่ของบุคคลนั้น มีเหตุ มีปัจจัยแวดล้อมอยู่อย่างไร เราอยู่ในสภาพเป็นเด็ก ยังโง่ ยังหลง ยังชอบของเอร็ดอร่อย ทางวัตถุ ทางเนื้อหนังอยู่ มันก็ยังปฏิบัติในชั้นสูงไม่ได้ ถึงเป็นหนุ่ม เป็นสาวแล้วมันก็ยังไม่ได้ เป็นพ่อบ้าน แม่เรือนแล้วมันก็ยังไม่ได้ มันยังโง่ ยังหลงอยู่กับเรื่องทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง คนแก่ๆที่ไม่ๆได้ยุ่งกับกามารมณ์แล้ว ก็มาหลงอยู่กับเกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นนามธรรม เป็นพวกรูป พวกอรูปไปตามแบบของคนโง่ จนกว่ามันเห็นว่าโอ้, ไม่ไหวนี่อย่างนี้ มันหายโง่ มันก็จะปฏิบัติเพื่อละสิ่งเหล่านี้เสีย คือปฏิบัติแท้จริง เพื่อๆๆนิพพาน เพื่อผลอันแท้จริงในขั้นสุดท้าย
เดี๋ยวนี้มันก็ยังๆต้องปฏิบัติไปตามความโง่ หาอารมณ์ที่เอร็ดอร่อยให้แก่จิตใจเรื่อยไปๆ การปฏิบัติมันก็ไม่ตั้งต้น เพราะฉะนั้นเราจึงมาเร่งการปฏิบัติโดยการศึกษาให้รู้ รู้เสียก่อนเวลา รู้เสียก่อนแต่ที่จะโง่ไปจนตาย แล้วก็พาไปด้วย ตายแล้วก็พาไปด้วย ไม่ๆได้หายโง่เพราะตาย อย่างนี้มันก็ไม่ไหว จนตายเข้าโลงก็ยังโง่เหมือนเด็กๆ ยังหลงใหลในความเอร็ดอร่อย ทางอารมณ์ ทางวัตถุอยู่ ถ้ามันโชคดี มันก็รู้สึกตัวตามขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ เป็นเด็กก็ฉลาดในเรื่องของเด็ก เป็นวัยรุ่นก็ฉลาดในเรื่องของวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาวก็ฉลาดในเรื่องของหนุ่มสาว เป็นพ่อบ้าน แม่เรือน ก็ฉลาดในเรื่องพ่อบ้าน แม่เรือน กระทั่งเป็นคนแก่ คนเฒ่า ก็ฉลาดในเรื่องของคนแก่ คนเฒ่า คือมีจิตใจที่หลุดพ้นออกไป ไม่หลงในอะไรอยู่ยิ่งๆขึ้นไป คนๆๆเฒ่า ผู้เฒ่านั้นก็ออกไปเสียได้จากไอ้ภพที่สกปรกนี้ จะเป็นพระอรหันต์หรือไม่ ก็แล้วแต่แกจะทำได้อย่างไร แต่เราเห็นว่าเขาเลื่อนชั้นอยู่ตลอดเวลา เขาเลื่อนชั้นแต่ละชั้นๆอยู่ตลอดเวลา ชีวิตนี้มันมีทางที่จะเลื่อนชั้นกันถึงอย่างนี้ ถ้าดีมาก โชคดีมากมันก็เป็นพระอรหันต์ที่หลุดพ้นได้ก่อนตาย คือไม่ประสงค์จะมีตัวกู ของกู อยู่ในสภาพใดๆ อยากจะให้ดับสิ้นสุดไปกับจิต หรือกายที่ต้องดับอยู่แล้วตามธรรมชาติ ไอ้กายนี้มันต้องดับอยู่แล้วตามธรรมชาติ ถ้ากายดับจิตมันก็ต้องดับ เพราะมันอาศัยกายอยู่ ฉะนั้นกายกับจิตมันต้องดับอยู่ตามธรรมชาติ แล้วไอ้ความโง่ หรืออวิชชาของคนนั้นมันควรดับไปเสียด้วย อย่าเหลือไว้สำหรับที่จะเกิดใหม่ หรือเหลือไว้สำหรับเป็นทุกข์เข้าโลงไป
ปฏิบัติเมื่อไร ปฏิบัติเมื่อหายโง่ เมื่อรู้สึกว่าอ้าว, โง่ เมื่อนั้นก็ลงมือปฏิบัติ แล้วปฏิบัติติดต่อ เขาเรียกว่าติดต่อ มีคำกล่าวไว้ชัดเจนว่า ชัดเจนว่าต้องปฏิบัติติดต่อ ไม่ๆๆขาดตอน ไม่เป็นระยะ ไม่ลุ่มๆดอนๆ ก็ได้รับผลของการปฏิบัติ นี่เรียกว่าปฏิบัติเมื่อไร ปฏิบัติเมื่อรู้สึกตัว ถ้าถามว่ารู้สึกตัวเมื่อไร อันนี้ตอบยาก ตามธรรมชาติมันก็รู้สึกตัวได้เหมือนกัน สำหรับคนที่มันมีๆบุญ คือมีสติปัญญาอยู่บ้าง มันก็รู้สึกตัวได้จากการที่กระทบกับความทุกข์อยู่บ่อยๆ ยิ่งๆขึ้นไป มันก็รู้สึกตัวได้ แต่คนที่มันโง่ หรือมันมีอวิชชามากเกินไป มันรู้สึกไม่ได้ มันจึงโง่จนตาย ก็ไม่รู้สึกตัว มันก็ไม่มีการปฏิบัติ คนเป็นอันมากก็ไม่มีการปฏิบัติ นี่เราจะพูดว่าโชคดีที่ว่าการเป็นมนุษย์ของเรานี้ได้พบพุทธศาสนาตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่หนุ่มๆ อย่างนี้ก็เรียกว่ามันเป็นโชคดีอยู่นะ ฉะนั้นควรถือเอาๆเป็นโอกาส ถือเอาโชคดีอันนี้ได้
แต่ถ้าว่าทำตามพิธี สักว่าพอเป็นพิธี เช่นบวชเณร บวชพระ พอเป็นพิธีนี่มันก็ยังหวังยาก มันก็ไม่รู้สึกตัวเหมือนกัน จึงขอร้องว่าอย่าให้มันเป็นแต่เพียงพิธีเลย บวชพระก็ดี บวชเณรก็ดีนี้อย่าให้มันเป็นเพียงพิธีเลย ขอให้เข้าถึงเนื้อหาของเรื่อง คือปฏิบัติศีลดีแล้วก็เกิดสมาธิง่ายดาย มีสมาธิแล้วก็เกิดปัญญาเห็นตามที่เป็นจริงได้โดยง่ายดาย
ศีล สมาธิ ปัญญานี้นำไปสู่ไอ้สุดยอดของความเป็นมนุษย์ หรือแม้เมื่อยังจะต้องมนุษย์อยู่ในโลกนี่ก็ยังใช้ประโยชน์ได้ คืออยู่กันอย่างสบาย แล้วมันก็ส่งเสริมให้ก้าวหน้าไปข้างหน้าเรื่อยๆๆ มันก็ได้ผลดี วิเศษยิ่งขึ้นไป ฉะนั้นขอให้เรามีชีวิตชนิดที่เป็นการก้าวหน้าตามหนทางแห่งพระศาสนาอยู่ตลอดเวลา วันคืนล่วงไปเราก็มีอะไรดีขึ้น คือสูงขึ้นๆ ดีขึ้นตลอดเวลา วันคืนล่วงไปไม่เปล่า ไอ้คนๆนี้มันก็มีความก้าวหน้า ความเจริญสูงขึ้นทุกวัน ทุกคืนที่มันล่วงไป
ขอให้สำรวจดูตัวเองว่ามันเป็นอย่างนี้หรือเปล่า วันนี้ดีกว่าวานนี้หรือเปล่า โดยทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางจิตใจก็ดี ทางทิฐิ ความคิดเห็น สติปัญญา อะไรก็ดี มันดีขึ้นกว่าเมื่อวานหรือเปล่า มันมีทางจะทำได้ให้ดีกว่าเมื่อวาน อย่างน้อยก็นิดหนึ่ง มันมีทางทำได้ทุกวันๆ ขอให้สนใจทำก็แล้วกัน วันนี้มีศีลดีกว่าเมื่อวาน มีความเป็นสมาธิก็มากขึ้น ดีกว่าเมื่อวาน มีความรู้ ความเข้าใจ มีทิฐิ ความคิด ความเห็นอะไรก็ดีกว่าเมื่อวาน นั่นคือการปฏิบัติที่มันกำลังดำเนินไปๆ มันต้องถึงแน่ มันต้องถึงจุดหมายปลายทางแน่ วันก่อนเราพูดกันแล้วว่าไอ้การปฏิบัติมันคือการเดินทาง คำว่าปฏิปทาก็ดี ปฏิปตฺติก็ดี แปลว่าการเดินทางไปสู่จุดหมายแห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ ให้ชีวิตมันมีการเดินทางอย่างนี้ ก็เรียกว่ามีการปฏิบัติอย่างนี้ ก็อยู่ตลอดเวลาๆ ไม่จำกัดเวลา คืออย่าให้การปฏิบัติมันจำกัดอยู่กับเวลา เดี๋ยวเวลามันจะพาไปในทิศทางอื่น ให้มันเป็นอิสระ ให้การก้าวหน้านั้นมันเร็วๆ เร็วเหมือนสายฟ้าแลบเลย อย่าไปผูกพันอยู่กับเวลาที่มันงุ่มง่ามนั้น
นี่คือผมพูดเรื่องว่าจะปฏิบัติกันเมื่อไร เวลาไหนเป็นเวลาปฏิบัติ ก็ตลอดเวลา ตั้งต้นเมื่อไร ตั้งต้นเมื่อมันหายโง่ เมื่อมันหายโง่ซักแว่บหนึ่งไอ้การปฏิบัติมันก็ตั้งต้น มันก็เป็นการเดินทาง เดินไปๆโดยไม่มีความประมาท ถ้าใครเกิดประมาทอวดดีแล้วมันก็ไม่เดิน แล้วมันเดินวกวน เดินกลับหลัง เราจะต้องเคารพตัวเอง นับถือตัวเอง ไม่ประมาท อย่าประมาทแล้วมันก็ไม่มีทางจะผิดพลาด ไม่มีทางจะออกไปข้างๆคูๆ เมื่อไม่รู้มันก็คือประมาท ประมาทก็คือไม่รู้ด้วยเหมือนกัน ทำให้รู้เสียสิ แล้วก็อย่าประมาทชนิดที่จะเดินไปออกนอกลู่นอกทาง ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนให้ดี รู้จักหนทาง รู้จักแนวทาง แล้วก็เดินไปอย่างถูกต้อง ไม่หันเหออกนอกทาง คือผิดทางของความดับทุกข์ ทางของพระนิพพาน ที่เราพูดกันวันก่อนว่าอัฏฐังคิกมรรค ๘ ก็ดี กรรมบถ กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี หรือธรรมะหมวดอื่นๆ เรียกว่าทางทั้งนั้น เรื่องอินทรีย์ก็ดี เรื่องโพชฌงค์ก็ดี เรื่องอะไรก็ดี ล้วนแต่เป็นทางทั้งนั้น รายละเอียดอย่างนี้ผมไม่พูดให้เสียเวลา เพราะว่ามันหาอ่านได้ในหนังสือ เอาหล่ะสำหรับวันนี้เราก็ได้พูดกันเรื่องหนึ่ง ตามสมควรแก่เวลาที่กำหนดไว้แล้ว ขอยุติการพูดจาในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้