แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาส : ตามหมายกำหนดการที่เขียนว่าขอฟังธรรมสั้น ๆ นั่นจะเอาอย่างไร ฟังธรรม ให้ผมพูดให้มันตามโปรแกรมเดี๋ยวสักนิดหนึ่งก่อนสิ ฟังธรรมแล้วถึงพูดเรื่องนั้น เรื่องวิจารณ์เรื่องนั้นคงจะดี ขอให้เตรียมไว้อย่างนั้นเถอะ ฟังธรรมเรื่องธรรม เรื่องธรรมฟังธรรม เรื่องธรรมซึ่งผมอยากจะถวายความคิดนึกรู้สึกเกี่ยวกับคำๆ นี้อย่างยิ่ง จึงขอฝากให้ไปพิจารณา ถ้ามีทางที่จะใช้เป็นประโยชน์ได้ ก็ๆดีมากอะ เรื่องธรรมเพียงคำเดียวมีคนพูดกันมาก หรือเห็นด้วย ว่าธรรมพยางค์เดียวคำเดียวแก้ปัญหาหมดทุกปัญหาในสากลจักรวาลเลย อย่างที่เราพูดกัน พูดค้างกันมาแล้วเมื่อคืนนี้ว่าธรรมคือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต เมื่อสิ่งที่มีชีวิตมันทำหน้าที่แล้วมันจะมีปัญหาอะไรเหลือเล่า เมื่อหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต ทุกชนิดคือธรรม ถ้ามันทำหน้าที่ผิดไปไม่ๆใช่เป็นหน้าที่มันก็เป็นธรรม ธรรมที่ผิด ธรรมที่เป็นบาปเป็นอกุศล ในพระบาลีใช้มากนะคำนี้ คือธรรมดำ ธรรมขาว กรรมดำ กรรมขาว มีใช้มาก เราไม่ค่อยเอามาพูดกันเอง มาใช้คำพูดอย่างอื่น ว่าบาป ว่าบุญ ว่ากุศล ว่าอกุศล ไม่ใช้คำที่เป็นธรรมชาติที่สุดเลยคือธรรมดำ คือหน้าที่ที่ทำผิดไปจากที่ถูกที่ควร เขาควร จะทำหน้าที่ให้มีชีวิตรอด เขาเข้าใจผิดไปทำเสียผิดตรงกันข้ามก็กลายเป็นธรรมที่ดำตรงกันข้ามกับธรรมที่ขาวซึ่งถูก แต่ถ้าเราใช้คำว่าธรรมเพียงคำเดียว ต้องหมายถึงหน้าที่ที่ถูกต้องตามความมุ่งหมายของการมีชีวิต นั้นขอให้จำคำนี้ในความหมายเดียวนี้ไว้เป็นหลักด้วย แล้วจะพบว่าเป็นหลักที่เป็นไปตามวิทยาศาสตร์ที่สุด ซึ่งจะพูดในวันนี้ก็ว่าไอ้ธรรม ธรรม ธรรมะ ธรรมนี้คือวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติ สัจธรรมของธรรมชาติคือวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติ ช่วยๆ ช่วยกำหนดไว้ด้วยว่าเราจะต้องเผยแผ่ธรรมะในฐานะที่เป็นวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนาต้องเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าจะให้เป็น philosophy มันก็ยังไม่ถึงหัวใจของพุทธศาสนา เป็นการศึกษาอย่าคาดคะเนเทียบเคียงเกี่ยวกับพุทธศาสนา ถ้าเป็นไสย-ศาสตร์มันก็เป็นเปลือกนอกสุดที่มาหุ้มห่อศาสนาติดมาเหลือมาแต่ดึกดำบรรพ์ ดังนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าธรรมโดยถูกต้อง ขอให้ยืนโรงยืนหลักคำว่าธรรมะต้องเป็นวิทยาศาสตร์เสมอ เพราะจำกัดความไว้แล้วว่าหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตมันมีหน้าที่ต้องทำเพื่อรอดชีวิตตามกฎของธรรมชาตินั่นน่ะคือวิทยาศาสตร์ของพุทธศาสนา วิทยาศาสตร์ปัจจุบันมันก็มีหลักว่าเหมาะสมที่สุดนั่นแหละจะอยู่รอดนะ the fit the fittest, the survival , the fittest's survival ที่มันเหมาะสมที่สุดน่ะมันจะ survive คือรอดอยู่ได้ ถ้าไม่ fittest ไม่ๆไม่เหมาะสมที่สุดมันไม่รอด fittest มันก็คือมัชฌิมาปฏิปทา ความหมายเท่ากันร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ความเหมาะสมที่สุดก็คือมัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาเราก็รู้อยู่ดีแล้วว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนาอย่างไร ในพระบาลีก็มีเราเคยเรียนธรรมบทก็เคยผ่านมาแล้วประโยคที่ว่า เอเสวะ มัคโค นัตถัญโญ ทัสสะนัสสะ วิสุทธิยา ทางนี้ทางเดียวเท่านั้นที่เป็นไปเพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลายก็ทรงแสดง อัฏฐังคิกะมัคค เออัฏฐังคิโก มัคโค เป็น เอเสวะ มัคโค นัตถัญโญ นั่นแหละคือ the fittest's survival ผมขอให้พวกเราที่เรียนบาลีมาแล้วพยายามหาแง่มุมของวิทยาศาสตร์ที่มันมีอยู่ในพระบาลีที่เราเล่าเรียนมาตั้งแต่ต้นนะตั้งแต่ ปธ.๓ เป็นต้นมา เราจะได้พบกับพุทธภาษิตชนิดที่มีหลักเกณฑ์ของวิทยาศาสตร์ แต่เราไม่นึกไม่ฝันเราก็ปล่อยเรื่อยๆไป เราก็จำไว้แต่ตัวหนังสือ แล้วขยายความไปตามพอใจบางทีก็ไม่ไปถึงจุดที่เป็นวิทยาศาสตร์กลายเป็นไสยศาสตร์ไปเสียก็มี ธรรมะคือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตตามธรรมชาติหน้า ที่นี้ตามธรรมชาติสัตว์มีชีวิตมันคือสัตว์ตามธรรมชาติมันก็มีหน้าที่ตามธรรมชาติตามกฎของธรรมชาติ มันจึงเป็นไปตามหลักของวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ไสยศาสตร์ หรือไม่ใช่เทววิทยาไม่ใช่อะไรต่างๆ ทำนองนั้น เพื่อความสะดวกขอให้สนใจความหมายของคำว่าธรรม ตามที่ผมได้พยายามสังเกต ศึกษา ประมวลรวบรวมมาเป็นเวลาหลายปี แล้วก็บอกกล่าวเพื่อนฝูงให้มันมากขึ้นไปมากขึ้นไปว่า ถ้าจะอธิบายธรรมะในฐานะที่เป็นวิทยาศาสตร์ในสากลจักรวาลตามกฎตามธรรมชาติแล้ว ก็ขอให้แยกคำว่าธรรมนี้เป็น ๔ ความหมาย แต่ ๔ ความหมายนั้นเก็บมาจากพระบาลีนะ ไม่ใช่ว่าเอาเอง เก็บมาจากพระบาลีได้ความหมายหนึ่ง ความหมายหนึ่ง ธรรมะในความหมายที่ ๑ คือธรรมชาติ ธรรมะคือธรรมชาติ ท่องได้หรีอเปล่า รูปธรรม นามธรรม สังขตธรรม อสังขตธรรม นี่ว่าตามธรรมชาตินั้นแหละ นั่นคือตัวธรรมะในฐานะที่เป็นสภาวธรรมตามธรรมชาติ นี้ดูลึกเข้าไปอีกมันจะพบว่าในธรรมชาตินั้นน่ะมันมีกฎของธรรมชาตินะนั้นเราจึงได้ความหมายที่ ๒ ว่าธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ที่จะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องจึงจะรอดชีวิต กฎนี้ก็คือ กฎเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กฎแห่งเหตุและปัจจัย สรุปให้รวมหมดแล้วมันก็ได้แก่กฎแห่ง อิทัปปัจจยตา ขอเน้น คำว่า อิทัปปัจจยตา ไว้เรื่อยๆว่าเป็นตัวกฎของธรรมชาติ นี่ธรรมะในฐานะเป็นสัจธรรมคือเป็นกฎของธรรมชาติ ธรรมะที่หนึ่งมันเป็นสภาวธรรมที่เป็นอยู่เองตามธรรมชาตินี่ธรรมะคือธรรมชาติ นี่ธรรมะคือกฎของธรรมชาติเฉียบขาดที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือกฎอิทัปปัจจยตา เราจะเรียกว่าสัจธรรมตามตัวหนังสือ นี่อยู่ในฐานะเป็นสิ่งสูงสุดที่พระพุทธองค์ ก็ทรงเคารพนั่นนะ และสัจธรรมนี่กฎของธรรมชาตินี่จะตั้งอยู่ในฐานะเทียบเท่ากับพระเป็นเจ้าในศาสนาอื่นๆในศาสนาอื่นๆที่เขามีพระเป็นเจ้า เรามีสัจธรรมเป็นพระเจ้าแต่ใจความของมันก็คือกฎของธรรมชาติ อย่างที่พูดชวนหัวมาแล้ว เมื่อคืนว่า เรามีพระเจ้าคือกฎของธรรมชาติแต่เราออกๆ เสียงมันสั้นไปแทนที่จะว่า god ยาวๆ เราก็กฎ มันก็ชวนหัว สัจธรรม truth ความจริงของธรรมชาติ ทั้งหมดที่เป็นกฎของธรรมชาติเรารวมเรียกว่าสัจธรรม แต่ถ้าเราเลือกเอามาใช้เฉพาะกรณีเป็นกรณีไปผมขอเรียกใหม่ว่าธรรมสัจจะ เหมือนกับยาทั้งตู้อยู่ในตู้รวมกันทั้งตู้เหมือนกับสัจธรรม พอจะกินนะมันๆหยิบมาขวดเดียวเท่านั้นแหละ มันจะกินทั้งตู้ได้อย่างไรเล่า มันก็หยิบมาขวดเดียวแล้วก็กินให้ถูกกับโรค ตัวนี้เราจะเรียกว่าธรรมสัจจะ ธรรมะมี ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ เอ้า,รวมเรียกว่าสัจธรรม แต่พอจะใช้จริงๆ มันมาทีละข้อ ๆ เฉพาะโรค เฉพาะเรื่อง เฉพาะกรณี ขอให้สัจธรรมเป็นทั้งหมด ธรรมสัจจะเป็นเฉพาะส่วนที่เราจะเอามาใช้เฉพาะหน้า เฉพาะเวลาหรือเฉพาะกรณีของเรื่องนั้นๆ ไอ้กฎของธรรมชาติก็เป็นวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติ
ทีนี้ความหมายที่ ๓ ว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินี้สำคัญในฐานะเป็นสิ่งๆ ที่ต้องปฏิบัติ ในกฎของธรรมชาตินั้นนะมันเป็นมันสำคัญในฐานะที่ต้องเคารพต้องเชื่อถือนั่น กฎของธรรมชาติมีความสำคัญเท่ากับพระเจ้าที่เราต้องเคารพเชื่อฟังเชื่อถือ พอมาถึงหน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินี่มันได้แก่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องประพฤติปฏิบัติมิฉะนั้นมันตายนะ มันตายนะ มันตายทางร่างกายก็ได้ ตายทางวิญญาณก็ได้ ตายทั้งสองอย่างก็ได้ ไม่ทำหน้าที่แล้วมันตาย จึงถือว่าธรรมะที่มีความหมายว่าหน้าที่ หน้าที่นี้จำเป็นแก่สิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดทุกระดับ นับตั้งแต่ต้นไม้ต้นไร่ขึ้นมาถึงสัตว์เดรัจฉานมาถึงมนุษย์ มาถึงเทวดาถ้ามีขึ้นไปถึงพรหมอะไรก็ตามถ้ามันมี ถ้ามันเป็นสิ่งที่มีชีวิตแล้วมันก็จะต้องมีหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติทั้งนั้น นี้ความหมายสุดท้ายความหมายที่ ๔ อ้อ,ความหมายที่ ๓ นี่เราจะสรุปๆ เรียบเรียงเรียกว่า ปฏิปัตติธรรม ในความหมายของความหมายที่ ๔ เราจะเรียกว่าปฏิเวธธรรม คือผลของหน้าที่ที่ได้ดื่ม ได้กิน ได้เสพ ได้เสวยอยู่กับใจเป็นสันทิฎฐิโกถึงที่สุด สุดท้ายของสันทิฎฐิโกคือได้รับรสของธรรมเรียกว่าผลที่เกิดมาจากหน้าที่ เรียกว่าปฏิเวธธรรม ละเป็นกลางดี เหมาะดีจะจะเรียกว่าวิปาตธรรม มันก็ชอบ ชอบกลแต่มันก็ถูกด้วยตัวหนังสือ ฉะนั้นเราจึงได้ธรรมะใน ๔ ความหมายคือสภาวธรรมเป็นอยู่เอง สัจธรรมความจริงสูงสุดที่เป็นกฎ ปฏิบัติธรรมคือหน้าที่สำหรับสิ่งมีชีวิต ปฏิเวธธรรม คือผลที่ออกมาจากหน้าที่ได้เป็นประโยชน์แก่เรา ทั้ง ๔ ความหมายเป็นวิทยาศาสตร์ยิ่งดูจะยิ่งเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแท้ๆ ธรรมชาติแท้ๆ เป็นไอ้วัตถุสำหรับการศึกษาของวิทยาศาสตร์เราจะเรียกว่าสังขตธรรม คือธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งอสังขตธรรม ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็ได้ อย่างนี้มันหมดเลยแหละ มันหมดเลยตั้งแต่ฝุ่นเม็ดหนึ่งขึ้นไปถึงพระนิพพานนะ มันเป็นสภาวธรรมเป็นธรรมตามธรรมชาติหมด นึกออกว่าฝรั่งเขามีคำ ๒ คำเรียกรวมธรรมชาติที่เราเรียก แต่เขากลับไม่เรียกว่าธรรมชาติ มันเพราะ ๆ ฝรั่งเขามี natural และ supernatural พุทธศาสนาไม่มีนะ supernatural ไม่มี เพราะว่าแม้อันนั้นมันก็เป็นธรรมชาติ สังขตะ มันก็เป็นธรรมชาติ อสังขตะเช่นพระนิพพานเป็นต้น มันก็เป็นธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเราจึงมีแต่ธรรมชาติ เราไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเหนือไปกว่าธรรมชาติคือ supernatural ที่ฝรั่งเขามี phenomena ถ้าเป็นเอกพจน์เป็น phenomenon ถ้าเป็นพหูพจน์เป็น phenomena นั่นแหละเป็นธรรมชาติ เพราะถึงสิ่งที่ตรงกันข้ามจากสิ่งนี้ดูเหมือนเขาจะเรียกว่า Noumenon มีลักษณะเป็นเอกพจน์ Noumenon ตรงกันข้ามกับเป็น phenomena ทุกอย่างทุกประการ เขากลับไปจัดมันเป็น supernatural นี่ถ้าเราพูดกันแล้วเราก็จะสะดุดกันถ้าไม่ๆๆไม่ทำความเข้าใจกันให้ดีๆ เราจะบอกเขาว่าทั้ง สังขตะและอสังขตะ ทั้ง phenomena และ Noumenon มันก็เป็นธรรมชาติ เลยเราไม่มีคำว่าธรรมชาติที่มีความหมายตรงกันกับฝรั่ง นี้รู้ไว้นะ ถ้าเราพูดว่า nat nat nat natural หรือ nat nature ก็ตามฝรั่งเขาผงกหัว แต่ไม่ถูกนะมันเหลืออีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งเขาไม่ได้ ไม่ได้หมายถึงเขาไม่ได้ยอมรับว่าไอ้ที่มันผิดไปจาก phenomena แล้วมันจะเป็นธรรมชาติ ฉะนั้นต้องพูดกับเขาอีกทีหนึ่งอย่าๆ ใช้คำรุ่นๆ บัญญัติเฉพาะ มันไม่พอ เอาละเป็นอันว่าไม่มีอะไรที่มิใช่ธรรมชาติ นี่พูดอย่างพุทธ แต่พูดอย่างฝรั่งพูดเขาว่ามี nature , supernature มีที่นอกเหนือธรรมชาตินี่ระวังไว้ให้ดีถ้าจะพูดกันต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันก่อน สภาวธรรมแปลว่าเป็นเอง ถ้ามันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือเป็นสังขตธรรม ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เปลี่ยนแปลงนั้นนะ ไอ้ตัวความเปลี่ยนแปลงนะเป็นตัวมันเอง เป็นการทรงตัวมันเองอยู่ด้วยความเปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงมันก็มีความเปลี่ยนแปลงเป็นตัวมันเอง ถ้าธรรมชาติที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอสังขตะ มันก็มีอสังขตภาคภาวะอันไม่เปลี่ยนแปลงแหละเป็นตัวมันเอง เดี๋ยวเขาจะค้านขึ้นมาว่าเอ้า,มันเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยเอาๆตรงไหนเป็นตัวมันเองเล่า มันก็เอาตัวความเปลี่ยนแปลงสิเป็นตัวมันเอง เพราะว่ามันเป็นสังขตธรรม มันคือ มีความปรุงแต่งเรื่อยไป ศึกษาให้เห็นชัดว่าเป็นธรรมชาติทั้งนั้นไม่มีอะไรที่มิใช่ธรรมชาติตามหลักของพุทธศาสนา เพื่อว่าไม่มีตัวบุคคลตัวตนที่เป็นตัวตนเป็นบุคคลอย่างที่เป็นที่ตั้งความยึดถือไงจนเห็นแก่ตัวไม่มีนะมีแต่ธรรมชาติทั้งนั้น
ทีนี้ความหมายที่ ๒ เป็นสัจธรรมแปลว่า กฎ คำว่ากฎในภาษาบาลีไม่มี แม้เราจะยืมคำว่ากฎหรือ กัตตะ กัตตะ (นาทีที่ 17.07)มาใช้ คำว่า กัตตะ ไม่เคยใช้ในความหมายของคำว่ากฎในภาษาบาลี มันต้องมีคำอื่นประกอบแต่มันตรงกับคำว่าสัจจะๆ หรือสัจธรรมนี่ตรงกับคำว่ากฎ ทุกอย่างทุกๆ ธรรมชาติในทุกธรรมชาติทุกอย่างมีสิ่งที่เรียกว่ากฎครอบงำอยู่ สิงสถิตอยู่ เพื่อบังคับสิ่งนั้นให้เป็นไปตามกฎยังไงล่ะ ดังนั้นสิ่งที่เป็นธรรมชาติทั้งหลายจะต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ แม้ว่ามันเป็นอสังขตธรรมเป็นพระนิพพานมันก็ยังมีกฎฝ่ายนั้นนะฝ่ายที่มันไม่ๆไม่ถูกปรุงแต่ง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่อะไรหมดนั้นนะ มันมีกฎตรงกันข้ามกับฝ่ายนี้ที่ว่าไม่ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถึงแม้อสังขตะมันก็ มันก็ยังเนื่องด้วยกฎอิทัปปัจจยตา มันคือมันไม่มีอะไรปรุงแต่งได้ มันเป็นที่สิ้นสุดของอิทัปปัจจยตานี่เป็นอสังขตะเป็นนิพพาน มันก็เป็นเรื่องอิทัปปัจจยตา อยู่โดยตรง แต่ว่ามันเป็นส่วนสุด หรือเราจะพูดว่าพระนิพพานเป็น อะกะตัง (นาทีที่ 18.25) เป็น อะกะตัง นิพพานัง (นาทีที่ 18.27) นิพพานเป็นสิ่งที่อะไรๆ ทำไม่ได้ ปรุงแต่งไม่ได้ก็ถูกแล้ว แต่มันเป็นเนื่องด้วยกฏ อิทัปปัจจยตาคือมันสิ้นสุดแห่งอิทัปปัจจยตา กฎอิทัปปัจจยตาไม่ล้ำเข้าไปได้ในเขตแดนนั้น แต่ถ้าจะดูถึงการประพฤติปฏิบัติเพื่อถึงนิพพานมันก็จะต้องเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา เพื่อถึงที่สุดแห่งอิทัปปัจจยตา จึงเป็นอันว่าธรรมชาติสังขตะ หรือธรรมชาติอสังขตะก็ยังเนื่องอยู่กับกฎหรือสัจจะ เช่น นิโรธอริยสัจ เป็นเรื่องของนิพพานโดยแท้ เขาเอามาบัญญัติไว้ในฐานะเป็นสัจจะๆ อันหนึ่ง เราได้ยินแต่ ทุกขอริยสัจ สมุทยอริยสัจ นิโรธอริยสัจ มรรคอริยสัจ แต่มีชื่ออย่างอื่นเรียกใน ๆ บาลีถ้าไม่สนใจจะไม่พบนะ เรียกว่าพอเรามันผ่านพระไตรปิฎกกันอย่างลวกๆ มันยังมีที่ตรัสไว้ว่า ทุกขตถา สมุทยตถา นิโรธตถา มรรคตถา ตถา ตถา แปลว่าเช่นนั้น เช่นนั้นเอง ความเป็นเช่นนั้นเองคือทุกข์ ความเป็นเช่นนั้นเองคือสมุทัย ความเป็นเช่นนั้นเองคือนิโรธ ความเป็นเช่นนั้นเองคือมรรค ตถามันแปลว่าเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเองก็คือสัจจะนั้นเองคือ truth นั้นเอง ตถตา หรือ ตถา หรือ อวิตถตา อนัญญถตา ก็ตามละมัน ๆ มันเป็นเรื่องเดียวกันหมดคือ มันเป็นเช่นนั้นเอง ตถา ความเป็นเช่นนั้นเองคือๆ คงที่ อวิตถตา ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น อนัญถตา ไม่เป็นโดยประการอื่นจากความเป็นอย่างนั้น อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาทโท คืออิทัปปัจจยตาและปฎิจจสมุปบาท บางทีก็ใส่ภาวะปัจจัยเป็น ตถตา อวิตถตา อนัญถตา อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาทโท อย่างนี้ก็มี ดูความหมายของคำว่า ตถา สิมันตายตัวมันคือสัจจะ นั้นแหละคือกฎ ฉะนั้นคำว่ากฎในภาษาไทยเรามันตรงกับคำว่าสัจจะ หรือคำว่า ตถา คำว่ากฎในภาษาไทยมันไม่ได้ตรงกับคำว่า กัตตะ (นาทีที่ 21.06) ในภาษาบาลีหรอก แต่มันตรงกับคำว่าสัจจะ และหรือคำว่า ตถา ทีนี้เรามีธรรมะในฐานะที่เป็นกฎนะ นี่เรียกว่ากฎของธรรมชาติ ผมพบคำฝรั่งที่มันใช้ว่า natural law แต่ไม่เชื่อว่าเขาหมายไปถึง อสังขตะเพราะเขาแยกไว้มี supernature นะ เขาๆ ก็จะต้องมีคำว่า supernature law แต่ไม่เคยพบ แต่พบว่าเขามีคำพูดว่า natural law กันอยู่แล้ว กฎของธรรมชาติ เรายืมเอาคำนั้นมาใช้แต่เราขอแสดงความหมายหมดเลย หมดทั้ง natural และ supernatual เป็น natural ด้วยกันเป็น law ในธรรมชาติทั้งหลายต้องมีกฎ มันจึงเป็นไปตามกฎ ...(นาทีที่ 22.09 - 22.21 เสียงหาย) พลังงานเท่านั้นเองอย่างนี้ก็ได้ มันไม่ยกเว้นอะไรไอ้กฎนี่ เพราะว่าทุกสิ่งมันเป็นธรรมชาติ ฉะนั้นทุก ทุกๆ สิ่งที่เป็นธรรมชาติมันก็อยู่ใต้กฎ นี่แหละสูงสุดและตามรู้จักได้โดยการศึกษาตามวิถีทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเราว่าสิ่งอะไรเป็นไปตามกฎ พวกไอ้เทคโนโลยีนั้นน่ะ เขาก็เป็น ๆ เป็นไปตามคำสั่งของพระเจ้า พอหนักเข้ามาเขาก็ว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างกฎซะอีก เลยทีนี้จะมาถึงขั้นชกปากกันพูดกันไม่รู้เรื่อง เลยให้พระเจ้าเป็นผู้สร้างกฎ ไอ้เรามันๆ มีกฎเป็นสิ่งสูงสุด ฉะนั้นระวังให้ดี ถ้าจะต้องไปพูดกันและก็พูดกันให้ดีๆ ธรรมชาติสร้างคน คนสร้างพระเจ้าตามคำล้อของโอมาร์คัยยัมดีกว่านะ ความคิดเรื่องพระเจ้านี้มันเกิดขึ้นเมื่อมีมนุษย์แล้วนี่ มีคนแล้วคนวาดความคิดอันนี้ขึ้นมาเป็นพระเจ้า ดังนั้นเรามีธรรมะในความหมายที่ ๒ คือกฎของธรรมชาติเรียกว่า สัจธรรม หรือเรียกว่า law เขาฟังถูกเรียกว่า truth เขาก็ฟังถูกคือสัจจะของธรรมชาติในฐานะเป็นธรรมะสัจจะสูงสุดเป็น ultimate truth, absolute truth นั่นนะมันจะอยู่ในตำแหน่งที่เป็นสัจจะเรียกว่าธรรม
ทีนี้ความหมายที่ ๓ หน้าที่ ๆ นี่ก็พูดกันมาวันก่อนแล้วโดยชัดเจนแล้วว่าถ้าไม่ทำให้ถูกต้องตามกฎ มันก็ตาย มันจึงมีหน้าที่ที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎเออพูดสั้นๆ ว่าแม้แต่คันขึ้นมามันก็ต้องเกามันทนอยู่ไม่ได้นี่ ทำไมต้องพูดถึงหาเลี้ยงชีวิตสุขภาพอนามัยทุกอย่างถูกต้องและรอดชีวิต หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตเพื่อความมีชีวิตนั่นแหละคือธรรม ทีนี้ถ้าเราเอาความหมายที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างนี้ เอาความหมายในแง่ของศีลธรรมก็มีคนพูดไว้ดีนะ ระบบการปฏิบัติที่ถูกต้องสำหรับมนุษย์เป็นผาสุกทุกขั้นตอนแห่งชีวิต ทุกขั้นตอนแห่งชีวิต การปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นตอนแห่งชีวิตนั้นแหละคือธรรม ธรรมะหรือธรรม นี่ก็ควรจะเอาไว้พูดกันกับชาวต่างประเทศว่าเรามีธรรมในความหมายอย่างนี้ คุณแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ไหม สั่นหัวเลย จะแปลเป็น technical term ไม่ได้แล้วมันไม่มี มันก็ต้องแปลเป็นไอ้คำบัญญัติ definition course course ระบบ course of conduct liked to a man at every states of his evolution คือว่ามันถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา มันเป็นคำสั้น ๆ ไม่ได้นะมันต้องเป็นประโยคยาวเฟื้อย นี่คือสิ่งที่เรียกว่าธรรม ธรรม หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตเพื่อความมีชีวิตรอดอยู่ได้ ถ้าไม่ถูกต้องก็ไม่รอดฉะนั้นต้องถูกต้องมันจึงหมายถึงที่ๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องก็เป็นธรรมะผิดเป็นๆ ธรรมะดำ ธรรมะที่ทำอันตราย ชาวบ้านเขาจะเรียกว่าอธรรม แต่ตามธรรมชาติเรียกไม่ได้ อธรรมเรียกไม่ได้เพราะมันเป็นธรรมเสมอไปละ ถ้าฝ่ายที่ให้ผลเลวก็เรียกว่าธรรมดำ ถ้าฝ่ายที่ให้ผลถูกต้องก็เรียกว่าธรรมขาว แต่ธรรมชาติแท้ ๆ ไม่มีดำไม่มีขาว แต่มนุษย์มาบัญญัติเอาเองว่าที่มัน ๆ เป็นประโยชน์เกื้อกูลเรียกว่าธรรมขาว ที่มันไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลเรียกว่าธรรมดำ เพราะฉะนั้นขอให้ทราบไว้ว่าบางที่พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสภาษาคน บางทีก็ท่านตรัสภาษาธรรม ตรัสภาษาคนคือความหมายตามความรู้สึกของคนมีดี มีชั่ว มีสุข มีทุกข์ มีแพ้ มีชนะ มีอะไรอย่างนี้มันภาษาคนทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นธรรมชาติล้วนๆ แล้วก็เป็นภาษาธรรม ดังนั้นขอให้เราทำหน้าที่ เพราะเป็นสิ่งสูงสุดคือเป็นธรรม เป็นพระธรรม เรารักพระธรรม เราพอใจพระธรรม เรานับถือพระธรรม เราก็ปฏิบัติหน้าที่สนุกสิ เพราะมันทำด้วยความพอใจจึงทำได้มาก ผมเขียนหนังสือได้เท่านั้นก็เพราะอันนี้เพราะความพอใจในหน้าที่ มันจึงทำงานได้ เมื่ออยู่สวนโมกข์เก่านะทำงานวันละ ๑๘ ชั่วโมง เพราะมันสนุกในหน้าที่ยังไง เพราะมันมองเห็นไอ้ธรรมะในฐานะที่เป็นหน้าที่ ไอ้งานนั่นนะคือพระธรรม งานนั่นนะคือสิ่งสูงสุด ไอ้งานนะคือเกียรติยศของมนุษย์และมันสนุก มันจึงทำงานได้มาก ทำลืมไปแล้ว คือเพราะว่าไม่มีอะไรจำเป็นแล้วก็ ๆ ก็ไม่ ๆ ได้เว้น ถ้ามันง่วงนอนขึ้นมามันก็ๆ ต้องนอนนะ ถ้ามันต้องรับฉันอาหารหรือมันต้องทำอะไรบ้างก็ทำเถิด มันก็ทำเท่าที่จำเป็นมันก็เสียเวลาไปเท่านั้นนะ เหลือๆ เหลือนอกนั้นทำหน้าที่หมด นั้นเลยทำงานวันละ ๑๘ ชั่วโมง คนอื่นเขาทำวันละ ๘ ชั่วโมง เราทำวันละ ๑๘ ชั่วโมง เขียนไปบ้าง อ่านไปบ้าง คิดค้นไปบ้าง มานั่งท่องจำบ้างอะไรบ้าง มันก็ทำงานได้มากกว่าธรรมดา แต่ก็ ไม่ๆ ไม่เกินธรรมดา ไม่เกินธรรมชาติหรอกยังเป็นธรรมชาติอยู่นั่นเอง นั้นขอให้ทุกคนพอใจในหน้าที่ ชื่นอกชื่นใจเมื่อได้ทำหน้าที่ และก็จะทำให้ลืมๆ สึก ผมลืมสึกได้เพราะเหตุนี้นะ ฉะนั้นถ้าพวกคุณเอาไปใช้ละก็คงจะลืมสึกกันหลายองค์ เพราะว่าธรรมะมันเป็นของสนุกและมันก็อยู่ได้ จึงขอย้ำว่าขอให้รู้จักธรรมะพอเป็นบูชาแล้วก็ทำสนุก ทำทำไปโดยไม่มีอะไรบังคับ เพราะมัน ๆ มันถูกใจมันสนุก ไม่เหน็ดไม่เหนื่อย ธรรมะคือหน้าที่ ได้แก่ปฏิบัติธรรมเรียกสั้น ๆ ก็คือคำว่า กรณีๆ คำนี้เป็นคำสากลของสิ่งที่มีชีวิต กรณีแปลว่าต้องทำ ต้องทำก็คือหน้าที่ พอเป็นพระอรหันต์ก็ว่า กะตัง กะระณียัง.......... (นาทีที่ 30.01) มันไม่มีอะไรที่จะเกิดอีก กะตัง กะระณียัง กะระณียังทำเสร็จแล้วคือหน้าที่ทำเสร็จแล้ว นี่คือเป็นพระอรหันต์ ธรรมะคือหน้าที่เออเรียกว่าสัจธรรมก็ได้ เรียกว่ากรณีก็ได้แต่ต้องเป็นคำเฉพาะพิเศษ ที่ใช้อยู่ในท้ายพระสูตรคำว่า กะตัง กะระณียัง นาปะรัง อิตถัตตายะ คำนั้นแหละ คำว่ากรณีคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ข้าพเจ้าได้ทำเสร็จแล้วหมดแล้ว ถึงแล้วซึ่งความสูงสุด คำนี้มีความหมายถึงพระอรหันต์นะ เป็นผู้ๆ ผู้เสร็จกิจแล้ว ผู้ทำหน้าที่แล้ว ผู้เสร็จหน้าที่แล้วคือพระอรหันต์ แล้วมันก็มีคำมีความหมายที่เราๆยังกำกวมเข้าใจกันไม่ค่อยจะถูกก็คือคำว่า ตถาคต ตถาแปลว่าสัจจะ หรือกฎ เมื่อตะกี้พูดแล้ว ตถา ตถา นะคือสัจจะหรือกฎ โดยเฉพาะกฎอิทัปปัจจยตา ที่ตถาคต ถึงแล้วซึ่งตถา ถึงแล้วซึ่งความคงที่ ถึงแล้วซึ่งความไม่เปลี่ยนแปลง ก็คือพระอรหันต์ พระอรหันต์ทุกองค์นะเป็นตถาคต นี้มีหลักทั้งทางธรรมะและทั้งทางถาษาบาลีแต่เราไม่ค่อยสนใจกัน ผมก็เคยเข้าใจผิดเคยสอนผิดด้วยซ้ำไปที่ว่า ตถา....... ปรัง มรณา.(นาทีที่ 31.54 ) เบื้องหน้าแต่ตายแล้วตถาคตมีอยู่หรือตถาคตไม่มีอยู่ ไปแปลว่าสัตว์กันเสียบ้าง ไปแปลว่าอะไรกันเสียบ้างก็ไม่ทราบ ไปๆ ไปแปลว่าเป็นพระพุทธเจ้าเสียก็มี ที่จริงคำนั้นแปลผู้ถึงซึ่งผู้ถึงซึ่งตถาแล้วนะเมื่อตายแล้วเมื่อร่างกายตายแล้วจะมีอยู่หรือไม่ ตามกฎของอิทัปปัจจยตามันก็เป็นอิทัปปัจจยตา คือไม่ถึงซึ่งความมีอยู่ นั้นคำว่าตถาคตนั้นคือ ผู้เสร็จกิจนะ ที่เป็นพระอรหันต์นะ พระอรหันต์ทุกองค์เป็นตถาคต ไปค้นดูเอาเองเถอะมันมีเหตุผลมีความหมายมากมายอยู่ในพระบาลีนั้นๆ แล้วก็สอนเรื่องอันติอันตคาหิกทิฎฐิ ๑๐ กันเสียให้ถูก ไอ้ ๔ คำนั้นนะ ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายแล้ว เบื้องๆ หน้าแต่การแตกทำลายแห่งกายมีอยู่หรือไม่มีอยู่ หรือมีอยู่บ้างไม่มีอยู่บ้าง หรือว่ามีอยู่ก็หามิได้ไม่มีอยู่ก็หามิได้ ทั้ง ๔ คำนั้น คำว่าตถาคตคำนั้นหมายถึงพระอรหันต์ คือผู้ ๆ ที่ทำหน้าที่เสร็จแล้ว เป็นกะตัง กะระณียังแล้ว ฉะนั้นคำว่าหน้าที่ หน้าที่มันมีความหมายอย่างนี้ เรามีหน้าที่จนกว่าจะถึงๆ ความเป็นตถาคตเป็นตถาคต คือเป็นพระอรหันต์หมดหน้าที่ ธรรมะทั้งหลายเป็นไปเพื่อถึงจุดนั้น ธรรมะทั้งหลายจึงเป็นหน้าที่ ถูกแล้วตามภาษาอินเดียธรรมดาๆ ธรรมะแปลว่าหน้าที่ ในเมืองไทยธรรมะไม่ๆไม่เคยแปลว่าหน้าที่ หรือในปทานุกรมเขาจะมีกระผมก็ไม่ทราบนะ แต่ผมเคย ได้ยินได้ฟังแต่ว่าเขาแปลกันว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ากันทั้งนั้น ไปปรึกษาผู้ทำปทานุกรมเสียใหม่ ขอให้บรรจุความหมายชั้นสูงสุดธรรมะแปลว่าหน้าที่เข้าไว้ด้วย แล้วประชาชนก็จะได้รับธรรมะแล้วก็จะประพฤติธรรมะสนุกคือ ทำหน้าที่สนุก ประชาชนก็จะไม่ยากจน ไม่มีปัญหาของประเทศชาติที่ว่าประชาชนยังยากจน เพราะเขาบูชาหน้าที่เขาทำหน้าที่สนุก จนทำงานวันละ ๑๘ ชั่วโมงโดยไม่ต้องมีใครบังคับ เดี๋ยวนี้มันทำงานกันวันละ ๘ ชั่วโมงแล้วมันยังเรียกร้องขึ้นค่าแรงงานอีกล่ะ เอากับมันซิมันๆไม่รู้จักหน้าที่ ไม่รู้จักหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต นี่ก็ยังมีปัญหาอยู่เรื่องค่าแรงงานสหภาพจะปรับปรุงแรงงานค่าๆค่าแรงงานเรื่อยไปเพราะมันไม่สนุกในการทำหน้าที่ ถ้ามันสนุกในการทำหน้าที่เสียแล้วมันอาจจะไม่ขอรับแรงงานก็ได้ ไม่ต้องขึ้นค่าแรงงานก็ได้
ความหมายสุดท้าย ผลจากหน้าที่ คำว่าทำหน้าที่แล้วที่จะไม่มีผลนั้นไม่มีล่ะ ทำผิดผลก็ผิด ทำถูกผลก็ถูก แล้วก็ได้ๆ ได้ผลอยู่ในโลกนี้สบายแล้วก็เลื่อนขึ้นไปเหนือโลก คือบรรลุมรรคผลนิพพานนี่เป็นเหนือโลก ผลในโลกนี้ก็คืออย่างที่ชาวโลกต้องการ เป็นโลกสมัยพระศรีอริยเมตไตรยก็อย่างเป็นโลกๆ นี่ถ้าสูงขึ้นไปเป็นบรรลุมรรคนิพพานก็เป็นโลกุตตระ ผลเป็นโลกุตตระ หน้าที่ให้เกิดผลทั้งทางโลกียะและทั้งทางโลกุตตระ ก็แปลว่าเราอยู่รอดชีวิตอยู่ได้นี่เพราะผลของหน้าที่อย่างโลกียะ แล้วเราจะเป็นผู้ถึงที่สุดแห่งความเป็นมนุษย์ได้เพราะหน้าที่ในฝ่ายโลกุตตระ ธรรมะ ๔ ความหมายอย่างนี้แล้วหมด ผมรู้สึกว่าหมดไม่จำเป็นจะต้องมีความหมายอย่างอื่นเพิ่มขึ้นมาความหมายที่ ๕ เมื่อมันหมดแล้ว คือตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และก็ผลจากหน้าที่ เรียกให้สั้นๆ ย่อหน้าที่ เรียกสั้น ๆ ก็ว่าธรรมชาติ และก็กฎ และหน้าที่ และก็ผล ๔ คำสั้น ๆ เรียกว่าธรรมะ มีคำถามอะไรที่คุณจะจะถามผมๆ ท้าเลยกี่ล้านคำถามก็ตามคำตอบมีคำว่าธรรมะคำเดียว คำตอบมันจะออกมาได้ด้วยคำว่าธรรมคำเดียว ธรรมคำเดียว ถามมายังไง ทำไมจึงเป็นสุข ทำไมจึงเป็นทุกข์ ทำไมจึงเกิดอีก ทำไมจึงไม่เกิดอีก ทำไมจึงอะไรถามไปเถอะ ก็จะตอบธรรมๆ ธรรมคำเดียว ตอบปัญหาทั้งหมด และมันเป็นวิทยาศาสตร์นะไม่ใช่เป็นเรื่องเหลวไหลอะไร นี่คือคำว่าธรรม ที่ผมเอามาพูดเป็นการถวายความรู้ ความคิด ความเห็นอะไรแล้วแต่จะเรียก ขอให้เอาไปๆช่วยใคร่ครวญพิจารณาศึกษาแล้วใช้ให้เป็นประโยชน์ ถ้าแสดงธรรมก็ให้รู้แต่ว่าเราบอกเขาในเรื่องหน้าที่ที่เขาจะต้องทำ ถ้าไม่อย่างนั้นไม่ใช่แสดงธรรมล่ะ พูดเพ้อเจ้อ ถ้าแสดงธรรมก็ต้องเป็นการบอกให้เขารู้หน้าที่ที่เขาจะต้องทำ จะบอกไปถึงตัวธรรมชาติ ตัวกฎธรรมชาติ ตัวผลจากหน้าที่ก็ได้เหมือนกันนะแต่มันๆรวมอยู่ที่คำว่าธรรมเพียงคำเดียว นี่คือธรรมที่ผมพูดให้ฟังตามรายการที่กำหนดไว้ว่าวันนี้ เวลานี้เป็นเวลาฟังธรรม แสดงธรรมและก็เรื่องธรรมหมดแล้ว หมดแล้วสำหรับการพูด เรื่องสำหรับพูดหมดแล้วทีนี้ก็เป็นเรื่องสำหรับถาม อย่าถามให้มันนอกเรื่องธรรมแล้วแต่จะเป็นเรื่องนอกหน้าที่ อย่าถามนอกหน้าที่ ถามอยู่ในแต่ในหน้าที่
ถาม : คือเกล้า ขอถามเรื่องในการบรรยายนี้ คือคำว่าธรรมสัจจะนี้ แม้แต่นักปราชญ์ทางด้านภาษาบาลีเองก็ยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับพระเดชพระคุณว่ามันๆ มีอยู่ในพระไตรปิฎกหรือไม่ คำว่าธรรมสัจจะหรือว่าเป็นศัพท์บัญญัติที่พระเดชพระคุณใช้
ท่านพุทธทาส : อ้าวแล้วกัน มันก็บัญญัติขึ้นทั้งนั้นแม้แต่คำว่าสัจธรรม ก็ค้นพบในพระไตรปิฎกที่ไหนเล่า ไอ้คำว่าสัจธรรมน่ะไปหาดูเถอะมันไม่เคยใช้ในพระไตรปิฎกนะ ก็เป็นเรื่องที่เราๆพูดกันขึ้นในๆ ในประเทศไทยเราในหมู่พวกเราว่าสัจธรรม แล้วคำอื่นอีกแยะที่ไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎกเอามาใช้กันเป็นคำที่ใช้อยู่ประจำ ทีนี้เพื่อจะแยกง่ายๆ ฟังง่ายๆ ว่าไอ้ธรรม สัจธรรมนั่นนะที่เอามาใช้เฉพาะกรณี ขอเรียกว่าธรรมสัจจะเถิด ทั้งคู่มันไม่มีในพระไตรปิฎก และคำอื่นๆ อีกมากมายไม่มีในพระไตรปิฎกแต่เราก็เอามาใช้ สำรวจดูให้ดี ไม่ได้มีอยู่ในพระไตรปิฎกแต่เรามาใช้จนกลายเป็นคำสำคัญสำหรับพูดจา เว้นไม่ได้ถ้าเว้นแล้วมันพูดไม่ได้ นี่มันพูดไม่ได้นี่มันติด ธรรมสัจจะมันก็สัจธรรมนั่นแหละ แต่เฉพาะส่วนที่เอามาใช้กำลังใช้อยู่ กำลังใช้อยู่ สัจธรรมทั้งหมดทั่วไปมีอยู่ตามธรรมชาติมันไม่ถูกใช้นี่ มันไม่ถูกใช้ ถ้ามันใช้อยู่ก็เรียกว่าธรรมสัจจะดีกว่ามันจะพอได้แยกตัวออกมาเป็นธรรมะในความหมายที่ ๓ คือคำๆว่าหน้าที่ เอามาใช้ทำหน้าที่อะไรอยู่ก็เรียกว่าธรรมสัจจะ สัจธรรมก็ธรรมที่เป็นสัจจะ ธรรมสัจจะก็สัจจะที่เป็นธรรม แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่ในหน้าที่ กำลังอยู่ในหน้าที่ เมื่อคนอื่นบัญญัติคำขึ้นใช้ได้ ผมก็มีสิทธิที่จะบัญญัติขึ้นใช้ได้เหมือนกันนะ ให้มันสะดวกแก่การพูดจาก็พอแล้ว
ถาม : คือที่พูดนี้คงหมายถึงคำว่า สัจธรรมนี้ใน ๆ รูปอรรถกถายังมีปรากฏอยู่บ้างแต่ธัมมะ สัจโจนี่ไม่ปรากฏครับ
ท่านพุทธทาส : ไม่ปรากฏ ถูกแล้ว แต่คำว่าสัจจะ ธัมโม ถ้ามีในอรรถกถาก็ ๆ ถือว่ามันยังนอก อยู่นอก นอกพระไตรปิฎก เราจะถือตามอรรถกถาหรือไม่เรามีสิทธิที่จะพิจารณา แต่เราก็ไม่ได้ยกเลิกนี่ธรรมสัจจะ อันสัจธรรมไม่ได้ยกเลิกแต่ขอเพิ่มขึ้นมาว่าถ้าเอามาใช้เฉพาะกรณีแล้ว สัจธรรมสัจธรรมนั้นขอเปลี่ยนชื่อเป็นธรรมสัจจะ
ถาม : ที่ ๆ วิจารณ์รุนแรงไปถึงขนาดว่าเป็นคำสัจธรรมปฏิรูปหรือเปล่านี่ มาเป็นความรุนแรง
ท่านพุทธทาส: ปฏิรูปอะไร
ถาม: คำนี้ฮะ เพราะว่ามันไม่ ๆ ปรากฏ
ท่านพุทธทาส: อ้าว, ไม่ใช่ว่าเพราะไม่ปรากฏในบาลีแล้วจะเป็นปฏิรูป ปฏิรูปก็คือมันตรงกันข้ามกับความจริง นี่ยังสงวนไว้เป็นความจริงยิ่งกว่าขึ้นไปอีก คือเอามาใช้อยู่ ยังมาใช้อยู่ มากินอยู่นี่ เหมือนกับยาขวดที่เราหยิบออกมาจากตู้ มากินอยู่ ใช้อยู่ จนกว่าจะเสร็จธุระแล้วได้กลับคืนเข้าไปในตู้ตามเดิม ไม่ใช่ผมบังคับหรืออะไรมากมายนะ ผมๆแนะเสนอเท่านั้นนะถ้าจะพูดกันให้เป็นประโยชน์นะ เดี๋ยวนี้ไม่เอามาๆกินมาใช้ก็เลยไม่มีธรรมสัจจะ ประชาชนเลยไม่มีธรรมะ หลักสูตรการศึกษาในโรงเรียนมันมีแต่สัจธรรม มันไม่มีธรรมสัจจะ ประชาชนยังไม่มีธรรมสัจจะ มีแต่สัจธรรมที่เก็บไว้ เก็บไว้ มีแต่ในตู้ในสต๊อก เอามาใช้สิจะกลายเป็นธรรมสัจจะขึ้นมาทันที
ถาม: เกล้าขอกราบเรียนถามพระเดชพระคุณ เกี่ยวกับเรื่องนรก สวรรค์ บาป บุญ ว่าจะทำอย่างไรจึงจะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง และก็แก้ปัญหาญาติโยมที่ได้ถามมาจนเป็นที่พอใจและเข้าใจได้ ครับผม
ท่านพุทธทาส : มันดีมากละปัญหานี้มันเป็นปัญหาที่กำลังรบกวนที่สุดกว่าปัญหาใดในเวลานี้ ควรจะศึกษาให้ๆ เข้าใจอย่างถูกต้องและก็พูดจาบอกกล่าวกันไปอย่างถูกต้อง ประเด็นแรกก็คือว่าเป็นคำที่ยกเลิกไม่ได้นะ และต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงนะ ถ้าไม่มีอยู่จริงจะเอามาแต่ไหนพูดละ มันจะจริงแค่ไหนก็ทำใจมาเถอะ แต่มันต้องมีอยู่จริง และก็ต้องเป็นคำที่พูดถึงรู้จัก และพูดถึงกันมาแล้วตั้งแต่ก่อน ก่อนพุทธกาลแหละ คือก่อนพุทธศาสนาเกิด คำเป็นอันมากก็มีใช้กันอยู่ก่อนพุทธศาสนานี้เกิดทั้งนั้น เช่นคำว่าพระ คำว่าอรหันต์ คำว่าอะไรเหล่านี้มีใช้อยู่ก่อนพุทธศาสนาเกิด คำว่านรกสวรรค์ก็เหมือนกัน ทีนี้จะต้องยึดหลักที่ว่าถ้าเป็นเรื่องในพุทธศาสนาหรือของพระพุทธเจ้าละก็ต้องเป็นสันทิฏฐิโกนะ ประชาชนเหล่านั้นจะยอมรับอันนี้ไหมว่า ถ้าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ต้องเป็นสันทิฏฐิโก อย่างนรกสวรรค์ชนิดไหนละเป็นสันทิฏฐิโก ที่รู้สึกได้ด้วยๆบุคคลนั้น ด้วยตัวเอง ไอ้เราก็ไม่มี ไม่มีการแบ่งแยกกัน นรกสวรรค์ชนิดไหนเขาพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า เป็นสันทิฏฐิโกไหม หรือว่าพูดสักว่าให้เชื่อ ให้กลัวเท่านั้น เรื่องนรกสวรรค์ มหาปุ้ยก็เคยจัดเป็น philosophy เป็นปรัชญา หนังสือปรัชญาของมหาปุ้ยมีนรกปรัชญา สวรรค์ปรัชญา ไอ้นี่มันก็ถูกแหละ มันเป็นเรื่องคำนวณไปตามวิธีปรัชญาก็จะมีนรกสวรรค์ตามแบบ philosophy ปรัชญา philosophy ไม่ใช่ปรัชญาสัจจะ นี้เขาคงเกลี้ยกล่อมชักจูงให้ประชาชนเชื่อนรกสวรรค์ตามวิธีนี้ วิธี philosophy นี่กันมาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล นั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาในโลก ท่านเห็นว่าประชาชนเหล่านี้มีความรู้ ความคิด ความเชื่อเกี่ยวกับนรกและสวรรค์อย่างนี้ๆ อยู่แล้ว ท่านจะทำอย่างไร นี้เป็นๆเรื่องสำคัญมากนะที่ๆพวกเราจะต้องจำไว้เป็นๆหลักสำหรับปฏิบัติตามนะ คือไม่ค้านของเก่าที่เขามีอยู่แล้ว คุณอย่าไปค้านเข้า มีแต่แสดงให้เห็นว่าดีกว่า ถูกว่าเท่านั้นแหละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เป็นสันทิฏฐิโก ถ้าไม่มีความเป็นสันทิฏฐิโกไม่ใช่เรื่องของพุทธศาสนา นี้พระพุทธเจ้าท่านก็จะต้องหาคำพูดที่มันไปด้วยกันได้นะ ถ้าๆๆถ้าถือตามหลักที่เขาเชื่อกันอยู่ก่อนว่ามีนรกใต้ดินอย่างนั้น สวรรค์บนฟ้าอย่างนี้ๆ ท่านจะบอกไม่ใช่ไม่ๆมียกเลิก มันเป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านๆไม่ทำอย่างนั้นเด็ดขาดทุกเรื่องเลย แต่ท่านจะบอกว่าถ้าอยากไปสวรรค์ต้องทำอย่างนี้สิ ถ้าอยากไปนรกทำอย่างนี้สิ แล้วมันจริงกว่าที่พวกเขาเคยถืออยู่นะ อย่างสอนว่าถ้าอยากไปสวรรค์ต้องบูชายัญ ฆ่าคนนะยิ่งดี พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ใช่จะไปสวรรค์ต้องทำอย่างนี้ๆ ถ้ายังไม่ไปนรกก็อย่าทำอย่างนั้นๆ แต่ที่มีศูทรอยู่กลุ่มหนึ่งใน สังยุตตนิกายนั่น ..ทิฏฐา(...นาทีที่ 47.52...) ฉันเห็นแล้วนะ ฉันเห็นแล้ว มีคำนี้ไม่ๆ ไม่ค่อยมีใครสนใจกันนัก ว่านรกหรือสวรรค์ก็ตามที่เป็นไปทางอายตนะ เมื่อใดทำผิดทางอายตนะ เมื่อนั้นเป็นอายตนิกนิริยะ คือนรกทางอายตนะ ฉันเห็นแล้ว ..ทิฏฐา...(นาทีที่ 48.23) หยอดท้ายอยู่ทุกประโยค ฉันเห็นแล้ว นี่เมื่อใดทำถูกต้องทางอายตนะ มีความสบายใจ ชื่นอกชื่นใจนี้ก็เป็นอายตนิกสัคคะ ..(นาทีที่ 48.38) ฉันเห็นแล้ว ก็แปลว่ามอบนรกและสวรรค์อีกชุดหนึ่งให้นะ ไม่ใช่อย่างเดียวกับที่เขาถือกันอยู่ก่อนนะ จึงต้องใช้คำว่า ..ทิฏฐา..(.(นาทีที่ 48.47) นี่เป็นสันทิฎฐิโก ใครจะเถียงได้ มันเห็นอยู่ชัดๆ นี่ พอทำผิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เป็นไฟออกมา มันก็เป็นนรกอยู่ที่อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอทำถูก โอ้,มันก็ชื่นใจเป็นสุขสบายมันก็เป็นสวรรค์อยู่ที่อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็ไม่มี ไม่ ไม่ใช่แต่เรื่องนรกกับสวรรค์นะ ที่ทรงแสดงอย่างสันทิฏฐิโกอย่างนี้ เรื่องอื่น ๆ ก็มีมาก เช่นคำว่า สมุทร สมุทร ที่ตกแล้วตาย ก็แสดงที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนกัน ไม่ใช่สมุทร มหาสมุทรที่มันน่ากลัว มหาสมุทรที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ น่ากลัวกว่า ตกแล้วเหลือประมาณ นั่นเป็นสันทิฏฐิโก ฉะนั้นนรกสวรรค์ที่เป็นสันทิฏฐิโกก็คือที่เป็นไปทางอายตนะในเวลานั้นไม่เกี่ยวกับกาลเวลา ที่ว่าต่อเท่าต่อเท่านั้นเท่านี้จึงจะไปสวรรค์ ต่อเท่านั้นเท่านี้จึงจะไปนรกนั้น มันๆเกี่ยวกับกาลเวลา ถ้าเขาทำถูกทางอายตนะเป็นสวรรค์ทันที ทำผิดทางอายตนะมันก็ต้องเป็นนรกทันที เป็นกฎเดียวกับเรื่องกรรม พอทำเสร็จก็มีผลเกิดขึ้นมาในๆจิต ขณะถัดมา นี่เป็นสันทิฏฐิโกอย่างยิ่ง นี้ก็ถามชาวบ้านดูสิ คุณจะเอานรกสวรรค์ ชนิดสันทิฏฐิโก หรือว่าคุณจะเอาตามข่าวลือที่เขาสอนกันมาอยู่แต่ก่อน มันเป็นของก่อนพุทธกาลและมันก็หลงค้างอยู่ในศาสนาเดิมของเขาแหละ ซึ่งๆกลายมาเป็นศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดูโบราณน่ะ จนกว่าจะมาเป็น จนกว่าจะเกิดอุปนิสัตว์ในยุคอุปนิสัตว์ ศาสนาพราหมณ์มันก็เปลี่ยนมาเป็นคล้ายๆ กับพุทธศาสนา นั้นเราจะพูดถึงเรื่องนรกสวรรค์ชนิดไหนกัน ถามให้แน่สิ จะพูดอย่างเป็นสันทิฏฐิโกในพุทธศาสนานี้ หรือว่าจะพูดอย่างไม่รู้ศาสนาไหน พูดตามว่าตามๆกันมาตั้งแต่ไม่รู้ครั้งไหน นรกอยู่ใต้ดินเป็นอย่างนั้นๆ ซึ่งมีผู้สันนิฐานว่าพูดไปตามไอ้ๆ ไอ้อาการถูกลงโทษอันเลวร้าย ดูไอ้กรรมกร ๓๒ อย่างในพระบาลี ซึ่งการลงโทษคนทำผิดนะ อู้,เลวร้ายน่ากลัวมาก กระทั่งเหมือนกับที่ได้กล่าวถึงในนรกนะ และที่ทรมานอย่างยิ่งกรีดเนื้อให้เป็นแผลเอาเกลือทา หรือว่าถลกหนังให้สัตว์มันตอมอันนี้ นั้นมันเขาพูดอยู่ก่อน ก็เราพอจะแยกกันได้ว่านั่นไม่สันทิฏฐิโก เป็นภาษาคน ถ้ามาใช้อย่างเดี๋ยวนี้ต้องคำนวณโดยวิธี philosophy ว่ามันจะมีได้อย่างไร แต่ถ้าเป็นสัจจะ ปรัชญา แล้วก็มันก็อย่างนี้แหละเห็นชัดทันที ทำผิดกฏอิทัปปัจจยตา ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นรกสูงขึ้นมาทันที ทำถูกต้องตามกฏอิทัปปัจจยตา สวรรค์ก็สูงขึ้นมาทันที ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เป็นอกาลิโก รู้ได้เฉพาะตน เป็นสันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ ทีนี้ผมก็จะพูดต่อไปว่า ปู่ย่า ตายาย ของเราคงเข้าใจเรื่องนี้ดีนะ เพราะท่านพูดกันว่าสวรรค์ในอก นรกในใจนะ ปู่ย่าตายายที่เป็นสัมมาทิฏฐินะ ท่านไม่ได้พูดว่านรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้าหรอก มันพูดตามแบบเดิม ฉะนั้นปู่ย่าตายายของเราเข้าใจดีว่ามันมีอยู่ในอกในใจนะ พระพุทธโฆษาจารย์เสียอีกไปดูเถอะพอถึงอธิบายสูตรนี้ สูตรที่ว่านี้แหละในอรรถกถา พระพุทธโฆษาจารย์มันก็ว่านรกใต้ดินอีกแล้วว่าอย่างนี้ ไอ้นรกทางอายตนะมันก็คือนรกอย่างที่รู้กันอยู่ว่าเป็นนรกใต้ดิน นี่แกไม่อาจจะออกมาเสียจากไอ้ความรู้เดิมๆไม่ได้ สวรรค์หรือนรกนี่ทางอายตนะก็คือชนิดใต้ดินนั่นแหละ นรกแหละ ไอ้สวรรค์บนฟ้านั่นแหละ แต่พูดด้วยคำพูดอย่างอื่น แปลว่าไม่มีสันทิฏฐิโก ว่าใต้ดินหรือบนฟ้าถึงกับจะตายแล้วจะเป็นสันทิฏฐิโกเมื่อไรเล่า มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นคำพูดใดที่ไม่ใช่ที่ไม่เป็นสันทิฏฐิโกแล้วอย่าถือว่าเป็นพุทธศาสนา ถ้าเขาพูดอยู่ก่อน เราก็อธิบายให้ดีกว่าก็แล้วกัน อย่าไปยกเลิกมัน เช่นว่าไปสวรรค์เพราะบูชายันต์ เราจะโอ้,ไม่ใช่ไปสวรรค์เพราะนิพพานสิดีกว่า นี่จะเป็นเรื่องที่ไม่ทะเลาะกัน มิฉะนั้นก็จะต้องเกิดการทะเลาะกัน ให้เป็นสันทิฏฐิโก ทุกเรื่องไป เรื่องนรกก็ดี เรื่องสวรรค์ก็ดี เรื่องกรรมก็ดี เคยฟังนิทานเซนเรื่องหนึ่งไหม เรื่องสันทิฏฐิโกนะ ซามูไรนักรบที่แขวนดาบตลอดเวลา มันไปถามพระเถระองค์หนึ่ง พระเซนนะ บอกพระเซนก็บอกว่า ไอ้พวกซามูไรหน้าโง่จะรู้จักนรกสวรรค์ได้อย่างไร ท่านตอบอย่างนี้ ที่นี้ซามูไรก็ชักดาบออกมาสิ มันเงื้อดิ พระเถระบอกนั่นๆ นั่นนรก นั่นๆ นั่นนรก ทีนี้ซามูไรคนนั้นมันๆ นึกได้มันเอาดาบสอดฝัก เอานั่นๆ นั่นสวรรค์ นี่ดูสิสันทิฏฐิโกกี่มากน้อย คุณคิดดูสิว่าสันทิฏฐิโกกี่มากน้อย ฉะนั้นเรื่องคำว่าสันทิฏฐิโกไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะ จงพยายามทำให้มันเป็นเออสันทิฏฐิโกไปเสียทุกเรื่องก็แล้วกัน และก็จะเป็นพุทธบริษัท ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทีนี้ผมบ้าง ผมบ้าง ผมว่าเอาเองนะทีนี้นะ ใครจะห้ามผมก็ไม่ได้เพราะเรามีเสรีภาพ ผมบอกทุกคนเลยว่า สวรรค์ เมื่อคุณยกมือไหว้ตัวเองได้ นรก เมื่อคุณเกลียดน้ำหน้าตัวเอง คุณทำอะไรอยู่ทุกวัน ๆทุกวัน เมื่อคุณพอใจตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้นี่คือสวรรค์ เมื่อคุณนึกแล้วเกลียดตัวเอง กินแหนงตัวเอง นั้นเป็นนรก เมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เรื่องอะไรก็ได้ นี่ผมพูดให้มันง่ายเข้านี่ ให้ประชาชนเขารู้จักนรกสวรรค์ได้ง่ายเข้า แล้วยังยืนยันด้วยว่าถ้าคุณไม่ตกนรกชนิดนี้คือเกลียดน้ำหน้าตัวเองนะ คุณจะไม่ตกนรกชนิดไหนหมด ต่อตายแล้วนะมันจะมีกี่นรก กี่นรกชั่งหัวมัน คุณไม่ตกแน่ ถ้าอยากตกนรกชนิดนี้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วก็ขอให้ได้สวรรค์ชนิดยกมือไหว้ได้ที่นี่ ตายแล้วคุณจะได้สวรรค์ทุกชนิดถ้ามันมีนะ นี่กล้าท้าทายอย่างนี้นะ นี่ไปเลือกเอาเองนรก สวรรค์โดยบริยายต่าง ๆ มันมีอยู่อย่างนี้ จะเอาบริยายไหนไปใช้กับญาติโยมคนไหนก็ดี เอ้า,เรื่องนรกสวรรค์จบแล้ว
ถาม: ..(นาทีที่ 57.31) How Buddhism can develop the religion of mankind to bring peace and happiness in the present world ?
ท่านพุทธทาส: ทำไมต้องพูดฝรั่ง..หือ
(แกไม่ค่อยถนัดภาษาไทย)
เออเป็นชนชาติไหน
(Bangladesh บังคลาดิช)
เออ บังคลาดิช ถามเป็นไทยสิ ถามว่ายังไง เสียงก้องจนฟังไม่ค่อยถูกหรอก
ถาม: ศาสนาจะสามารถพัฒนาศีลธรรมของมนุษย์ให้นำสันติภาพและความสุขมาสู่โลกปัจจุบันได้อย่างไร
ท่านพุทธทาส : ว่าพุทธศาสนามีศีลธรรมอะไรที่จะนำมาพัฒนาโลกปัจจุบันได้อย่างไร ใช่ไหม มีศีลธรรมอะไรที่จะพัฒนาโลกปัจจุบันได้อย่างไร อยากจะพูดถึงคำว่าศีลธรรมก่อน เพราะมันยังปนเปกันอยู่ว่าศีลธรรมนะมันคืออะไร ธรรมะคืออะไร พุทธศาสนาคืออะไร นี่ถ้าเขาๆ หมายถึงศีลธรรม มันก็หมายความว่ามันลดต่ำลงมากว่าคำว่าธรรมโดยสมบูรณ์ เรามาทำความเข้าใจในเรื่องนี้ก่อนว่าคำว่าศีลธรรม คำว่าวัฒนธรรม คำว่าขนบธรรมเนียมประเพณี มันคืออะไร ผมพอใจเท่าที่สังเกตมาแล้วว่าคือพูดว่าคือหลักธรรมะนั่นเอง หลักธรรมะอันๆสำคัญในศาสนานั้นๆ นั่นเอง ถ้าเรานำมาปรับให้ๆให้เหมาะกับสังคมทั่วไปก็เรียกว่าศีลธรรมก็แล้วกัน ยกเว้นในชั้นโลกุตตระซึ่งมันไม่ใช่บุคคลทั่วไป ถ้าเอามาปรับระบบรูปแบบให้มันเหมาะสำหรับคนทั่วไปก็จะเรียกว่าศีลธรรม หรือ morality เรียกว่าศีลธรรมไม่ใช่ตัวธรรมะนะในชั้นหัวใจหรือทั้งหมดของพระศาสนา แล้วเราก็จะต้องมีคำอธิบายที่เป็นเหตุผลซึ่งจะเรียกว่า philosophy หรือปรัชญาก็ได้ ควบคู่กันมากับศีลธรรมข้อนั้น ส่วนนี้เขาเรียกว่าอะไรจริยธรรม จริยธรรม หรือจริยศาสตร์ ศีลธรรมคือตัวกฎที่ต้องปฏิบัติ จริยธรรมหรือจริยศาสตร์คือเหตุผลสำหรับให้ปฏิบัติ ฉะนั้นศีลธรรมเรียก morality หรือ moral ไอ้เหตุผลก็มันเรียกว่า ethic ethic เขาแยกเป็น ๒ วิชา วิชาศีลธรรมคือ morality วิชาปรัชญาของศีลธรรมเรียกว่า ethic มันจึงมี morality และ philosophy of morality รวมเป็นระบบเดียวกันก็ได้เรียกว่าระบบจริยศาสตร์หรือจริยธรรม มันไม่อื่นหรือแปลกออกไปจากหลักธรรมะในศาสนานั้นๆ ถ้าเรามาทำให้เป็นระบบกลางใช้กันในสังคมใหญ่ในโลกก็เรียกว่าศีลธรรม ถ้าเอามาใช้ให้มันยิ่งขึ้นไปอีก ประจำชาติประจำอะไรก็ๆเรียกว่าวัฒนธรรม หรือว่าเรียกว่าขนบธรรมเนียมประเพณีในบ้านเรือน เช่นว่าเรามีวัฒนธรรมประจำบ้าน ประจำเรือน ประจำเด็ก ประจำผู้ใหญ่ในบ้านในเรือน มันก็ลดระดับต่ำลงมาให้เหมาะสมกับที่จะใช้ทุกวันในบ้านเรือน ทีนี้เอามาทำให้เป็นประเพณีๆ ตามเวลา ตามโอกาส ตามสถานที่เป็นประเพณีขนบธรรมเนียมประเพณี มันก็ต่ำลงไปอีกแหละแต่เพื่อประโยชน์อย่างเดียวกัน เพื่อประโยชน์อย่างเดียวกันก็คือเพื่อสันติสุขของมหาชน เพราะว่าศาสนาเดิมตัวศาสนาแท้เดิมมันก็เพื่อสันติสุขของมหาชน แต่มันสูงเกินไปมันคว้ากันไม่ถูก เอามาจัดระบบใหม่เรียกว่าศีลธรรม กระทั่งมาเป็นที่ปฏิบัติ นี้เราจะได้ใช้กันสะดวกเห็นไหมละ ถ้ามันๆ ยังลึกยังเข้าใจยาก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์อยู่ในพระไตรปิฎก มันลำบากแก่ประชาชนคนธรรมดาจะเอามาใช้ ฉะนั้นเลือกคัดมาให้ เลือกคัดมาให้ระบบอย่างนี้ๆระบบอย่างนี้ที่เราชอบจะใช้คำว่าศีลธรรม นี้มันก็สะดวกแก่คนทั้งหลายที่จะประพฤติปฏิบัติ ในอันนี้เลยกลายเป็นเรื่องสากลไปเลยของทุกศาสนา นักศีลธรรมที่ดีมันก็จะกวาดเอามาได้จากทุกศาสนา ซึ่งมันตรงกันและมันไม่ขัดขวางกัน ศีลธรรมในทุกศาสนาที่เป็นหัวใจสำคัญก็คือความไม่เห็นแก่ตัว ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์เพริมที่ไหนก็ตามแหละมันมีหัวใจอยู่ตรงที่ทำลายความเห็นแก่ตัวนั้นมันจึงเป็นยอดของศีลธรรม ถ้าเรามาใช้ได้มันก็ทำลายความเห็นแก่ตัวได้มนุษย์ก็อยู่กันเป็นผาสุก มันจะเป็นศีลธรรมในพุทธศาสนาหรือในศาสนาคริสต์ศาสนาใดก็ตามมันใช้ได้ทั้งนั้นในการทำลายความเห็นแก่ตัว แต่ต้องรู้ว่ามันไม่ใช่ระดับเดียวกันนะ มันมากน้อยกว่ากันอยู่บ้าง เช่นว่ายกตัวอย่างว่าจะทำลายความเห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัว ศาสนาคริสเตียนก็บอกว่าพระเจ้าต้องการ พระเจ้าสั่ง เรายกตัวของเราให้พระเจ้าเสียแล้วเราจะมาเห็นแก่ตัวของเราได้อย่างไรนี่ ก็เลยไม่เห็นแก่ตัว ก็ช่วยผู้อื่น ส่วนพุทธศาสนาเราก็สอนทำนองนั้นเป็นเล็กๆ น้อยๆ แต่ว่าสอนสูงสุดว่ามันไม่มีตัว มันไม่มีตัว สอนให้เข้าถึงความจริงที่ว่าไม่มีตัว มันไม่มีตัวจะๆรับจะเห็นแก่ตัวมันก็รักผู้อื่นอยู่ดี แต่แล้วมองดูที่ผลของมันๆ ก็ไม่เห็นแก่ตัวด้วยกันทั้งนั้น มันทุกศาสนาสอนทำลายความเห็นแก่ตัว ดังนั้นระบบศีลธรรมทั้งหมดก็เป็นความไม่เห็นแก่ตัว ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์คือความไม่เห็นแก่ตัว ดูไอ้ที่เขาเขียนไว้เป็นๆ แบบฉบับในนั้นในหลักทางศีลธรรมดูที่คำว่า morality คำว่า ethic ก็ได้ มีคำว่าศีลธรรมเป็นๆ หลักมันก็มุ่งหมายถึงความรักสากล universal love แต่ ๆ แต่ยกเอาส่วนประกอบที่จะทำให้มี universal love ได้อย่างไร ไอ้ส่วนประกอบเหล่านั้นล้วนแต่ทำลายความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น duty for duty success ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่หน้าที่ แล้วมันจะเห็นแก่ตัวได้ยังไง นั้นมันหลักจริยธรรมสากล แล้วมันก็มีความเต็มในหน้าที่ของมนุษย์ มันก็เต็มอยู่ที่ไม่ๆไม่มีไม่เป็นโทษเป็นภัยแก่ผู้ใด มันเต็มอยู่ที่ความรักผู้อื่นทำประโยชน์แก่ผู้อื่น รวมความแล้วในที่สุดมันก็คือความไม่เห็นแก่ตัว มันก็เกิดไอ้ความรักสากล ซึ่งในพุทธศาสนาเราก็ใช้คำว่า ทุกคนเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายแม้แต่สัตว์เดรัจฉาน ไอ้ความรักสากลในพุทธศาสนาบางทีจะกว้างกว่าที่เขาใช้กันอยู่กระมังเขารักกันๆแต่มนุษย์นะ แต่พุทธเราให้รักลงไปถึงสัตว์เดรัจฉานหรือสิ่งที่มีชีวิตนะ ถ้าเราจะตีความบัญญัติของพระวินัยไม่ให้ภิกษุทำลายภูตคาม มันก็คงมาในที่นี้ว่ามันต้องรักพืชพรรณต้นไม้ว่ามันเป็นสิ่งที่มีชีวิตทำลายไม่ได้ก็ได้ มันมองเห็นอยู่ เพราะขอบเขตของการรักผู้อื่นในพุทธศาสนานี้กว้างกว่าหรือกว้างที่สุด ในบางศาสนาห้ามแต่ฆ่าคน ไม่ได้ห้ามฆ่าสัตว์ อย่างนี้ผมว่าไม่ถูก มันแคบกว่า มันต้องห้ามทำลายสิ่งที่มีชีวิตทุกอย่างจึงจะเรียกว่าไม่เห็นแก่ตน ทีนี้เมื่อไม่เห็นแก่ตนแล้วไม่ต้องตอบเอ้อ,ไม่ต้องตอบคำถามนี้ก็ได้ว่าไอ้ศีลธรรมในพุทธศาสนาจะช่วยโลกปัจจุบันได้อย่างไร เฮ้อ,ก็โลกปัจจุบันนี้เป็นโลกที่หนาขึ้น หนาขึ้นด้วยความเห็นแก่ตัว การเจริญทางวัตถุโดยเฉพาะทางเทคเทคโนโลยีทั้งหลาย ยิ่งเจริญเท่าไรคนจะยิ่งเห็นแก่ตัวเท่านั้นนะ นี่คุณไปสังเกตเหอะ จริงหรือไม่จริง ยิ่งเจริญทางวัตถุโดยเทคโนโลยีมากขึ้นเท่าไร คนจะหลงในความเอร็ดอร่อยและจะเห็นแก่ตัวยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นไอ้เทคโนโลยีคือศัตรูตัวร้าย ที่มันย้อมจิตใจคนมันเห็นแก่ตัวมากขึ้น เพราะมันผลิตแต่สิ่งที่เอร็ดอร่อยสนุกสนาน ทำให้คนเห็นแก่ตัว มีเงินพอที่จะช่วยผู้อื่นได้บ้างนะ ช่วยชาติ ช่วยน้ำท่วมอะไรก็ตามเหอะก็จะพูดว่าเอาไว้ซื้อวีดีโอดีกว่าเห็นไหม เดี๋ยวนี้ถ้ามีเงินเดือนสักๆหมื่นนี่เอาไว้ซื้อวีดีโอดีกว่า ไม่เอาไปช่วยคนภัยน้ำท่วม เออไอ้ๆสิ่งที่มันผลิตขึ้นมาโดยเทคโนโลยีนั้นนะ มันจะเพิ่มความเห็นแก่ตัวเสมอ มันจึงเป็นข้าศึกแก่ศีลธรรมหรือมันมิใช่ศีลธรรม นี่ถ้าศีลธรรมมา มีมา คนก็ไม่เห็นแก่ตัว คนก็เห็นแก่ผู้อื่น เขาก็ใช้เงินจำนวนนี้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่ต้องถามละที่ว่าไอ้ศีลธรรมมันจะไม่ ไม่ช่วยเหลือโลกเพราะว่าไอ้จุดมุ่งหมายเดิม ต้นเหตุที่มันเกิดศีลธรรมมันก็มีปัญหาคือมนุษย์ไม่ๆไม่รักกัน ไปอ่านดูสูตรพระบาลีบางสูตรเช่นอัคคัญญสูตร กฎหมาย ระเบียบกฎหมายหรือศีลธรรมมันแรก ๆ เกิดขึ้นมาในโลก วันแรกก็เพราะว่ามนุษย์มันเริ่มคดโกง มันเริ่มเห็นแก่ตัว เมื่อมนุษย์รู้จักเพาะปลูกแล้วก็มีมนุษย์ที่รู้จักขโมย ทีนี้มันก็ต้องมีการบัญญัติกฎ ศีลธรรม มีกฎหมาย มีการสมมติว่าไอ้คนนี้จงเป็นหัวหน้าควบคุมลงโทษคนทำผิด ให้รางวัลคนทำถูก รักษาระเบียบให้เป็นไปจนกว่ามันเกิดความสงบสุข ก็ร้องคำว่าราชาๆ ราชา พอใจๆ ยินดีๆ ออกมา นี่พระราชาเกิดขึ้นในโลกด้วยเหตุนี้ นี่ในบาลีก็มี นั่นละผลของศีลธรรม ที่เกิดขึ้นมาก็ทำลาย เอ่อก็ทำความสงบสุขทำลายไอ้สิ่งเลวร้าย แล้วมันก็เป็นมาอย่างนี้จนกระทั่งบัดนี้ ดังนั้นขอให้พวกเราสมัยนี้ หันไปหาไอ้ความรักผู้อื่น ความไม่เห็นแก่ตัวซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนา เอ้อ,ของศาสนาทุกศาสนา แล้วเอามาใช้ให้เป็นประจำสังคมเรียกว่าศีลธรรม ศีลธรรมก็ช่วยเหลือมนุษย์ในโลกปัจจุบันได้คือลดความเห็นแก่ตัว รักผู้อื่นและก็ช่วยผู้อื่น เป็นสันทิฏฐิโกอีกเหมือนกันว่าศีลธรรมนี้จะช่วยสังคมได้ ไม่ต้องคาดคะเน ไม่ต้องเป็น philosophy ประกาศสงครามกับ philosophy ไม่ต้องเป็น philosophy ต้องเป็นสันทิฏฐิโก ต้องเป็นสัจจะปรัชญาเห็นอยู่ชัดๆ ว่าคุณลองรักผู้อื่นสิ คุณลองยึดถือเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราก็จะมีศีลธรรมขึ้นมา สำหรับผมยืนยันว่าจำเป็นที่ต้องมีศีลธรรม เพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลกแห่งยุคปัจจุบัน และศีลธรรมนั้นคือสิ่งที่ถอดออกมาจากหัวใจของศาสนาทุกศาสนา ศาสนาอิสลามน่ะก็มีๆ มีประโยคในพระคัมภีร์เขาว่ามนุษย์ทุกคนมีร่างกายเดียวกันนะ มนุษย์ทุกคนมีร่างกายเดียวกัน มันเก่งกว่าพุทธศาสนาเสียอีกนะเรื่องเมตตา แต่แล้วทำไม่อิรักกับอิหร่านมันรบกันไม่สิ้นสุดก็ไม่รู้ คือมันไม่ปฏิบัติตามไอ้ที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ ทุกคนมีร่างกายเดียวกัน เอ่อ เขาตีกลองแล้ว ต้องหยุด
คุณเป็นไทอาหมหรือเปล่า ฮะ หมายความว่าโดยเชื้อชาติ โดย.......เป็นไทอาหมหรือเปล่า ไทอาหมหรือเปล่า ติดกับอัสสัม คือนั่นเป็นไทอาหมนั่น เป็นไท ที่เรียกว่าไทอาหม ที่เขาเชื่อกันว่าเป็นไทที่แยกไปทางตะวันตก..........(นาทีที่ 73.45)...........เวลาอื่นก็ได้ เอ้า เร็วๆๆๆ นาฬิกามันไม่รอ