แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายธรรมปริทรรศน์โดยพื้นฐาน ในครั้งนี้จะได้พูดโดยหัวข้อว่าปฏิบัติธรรมะกันอย่างไร ดังที่เราได้ตกลงกันไว้แต่เมื่อวาน ปริทรรศน์แปลว่าโดยคร่าวๆ โดยทั่วๆไป โดยคราวเดียวกว้างๆทั้งหมด เราก็ได้พูดถึงเรื่องต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่กับธรรมะ โดยทั่วๆไปแล้วได้พูดถึงเรื่องธรรมะจะให้อะไรแก่เรา ว่าตัวแท้ของธรรมะนั้นคืออะไร ทีนี้ก็จะได้พูดถึงการปฏิบัติธรรมะ คือเป็นคำพูดสำเร็จรูปอยู่ในตัวเองว่าการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่ ๑ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งตรงที่ว่าถ้าธรรมะนั้นไม่ได้ปฏิบัติ ธรรมะนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไร ดังนั้นจึงต้องมีการปฏิบัติ เมื่อรู้ธรรมะแล้วก็รู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรด้วย แล้วก็มีการปฏิบัติจริงๆด้วย จึงจะได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ดังที่ได้บรรยายมาแล้วอย่างละเอียดว่าอานิสงส์ของธรรมะนั้นคืออะไร คือเราจะได้อะไรจากธรรมะ มันจะได้ก็เพราะการปฏิบัติ
ทีนี้ขอให้นึกลงไปถึงว่าธรรมะนั้นคือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต ธรรมะนั้นคือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตตามกฎของธรรมชาติ อย่างที่บอกแล้วว่าอย่าลืมเสีย คำอธิบายของธรรมะ ๔ ความหมายนั้นจะมีประโยชน์ จะช่วยได้ตลอดไปแหละ จนถึงที่สุดแหละที่จะศึกษาธรรมะให้สูง ให้ยิ่งๆขึ้นไป ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลจากหน้าที่ นี่ความหมายสำคัญก็ ความหมายก็คือความหมายที่ ๓ ความหมายที่สำคัญคือความหมายที่ ๓ ว่าหน้าที่ ฉะนั้นธรรมะคือหน้าที่ ไอ้คำว่าหน้าที่ในภาษาไทยมันชัดอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ จะหน้าที่ตามกฎธรรมชาตินี้ยิ่งเฉียบขาด รุนแรงกว่านั้น ถ้าไม่ทำมันก็คือตาย มันจึงมีการทำหน้าที่ ไอ้การทำหน้าที่นั้นเองคือคำว่าปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมคือการทำหน้าที่ หน้าที่นี้ทำตามกฎของธรรมชาติบังคับไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตรงนี้อยากจะแทรกความรู้เกี่ยวกับภาษานิดหน่อยว่าภาษาธรรมะที่ใช้ในวงธรรมะนั้นมันก็คือคำพูดธรรมดาของชาวบ้านนั่นเอง เขายืมไปใช้ใน ในขอบวงของธรรมะ ทุกคำว่าได้ ไอ้ภาษาธรรมะหรือคำที่ใช้ในวงของธรรมะนั่นทุกคำมันยืมไปจากภาษาชาวบ้านทั้งนั้นแหละ เมื่อพระศาสดา ฤาษีมุนีเขาค้นพบธรรมะ แล้วเขาจะมาบอกให้ชาวบ้านฟังว่าอะไร เป็นอย่างไร เขาก็ต้องใช้คำที่ชาวบ้านรู้อยู่แล้ว รู้อยู่แล้ว ถ้าไปใช้คำชาวบ้านไม่รู้เขาก็ฟังไม่ถูก ดังนั้นผู้สอนเหล่านั้นก็ต้องใช้คำที่ชาวบ้านรู้อยู่แล้ว ฉะนั้นภาษาธรรมะทุกคำมันจึงเป็นภาษาชาวบ้านที่ยืมเอาไปใช้ คำว่า ปฏิปัต ปฏิปัตติ หรือคำว่า ปฏิปทา นี้ก็เป็นคำที่ชาวบ้านเขาใช้พูดอยู่ก่อนแล้ว มันแปลว่าการเดินทางหรือการเดินไป หรือการเดินไปเฉพาะจุดหมาย หรือการถึงก็ได้ การไปกับการถึงนี่ใช้แทนกันได้ เรียกว่าไปให้ถึงจุดหมาย การไปให้ถึงจุดหมายแหละเรียกว่าการเดินทาง นี้เอาคำว่าการเดินทางนี่ไปใช้เป็นชื่อของการปฏิบัติธรรมะ ซึ่งเป็นการเดินทางในทางจิตใจ คุณก็ไปสังเกตและจำไว้เถอะว่าคำธรรมะทุกคำนี่มัน มันเอาคำชาวบ้านไปใช้ เช่นว่าของสกปรก เป็นคำที่ชาวบ้านเขาใช้อยู่แล้ว เขายืมไปใช้เป็นไอ้ชื่อของกิเลสซึ่งเป็นของสกปรก คำว่ากิเลสแปลว่าสกปรก เอาคำว่าสกปรกไปใช้แทนชื่อ เป็นชื่อของราคะ โทสะ โมหะ เรียกกิเลสกับของสกปรก หรือว่านิพพานแปลว่าเย็น ใช้อยู่ตามบ้านเรือนแปลว่าเย็น เมื่อของร้อนมันเย็นลงก็เรียกว่านิพพาน นี่ก็เอาไปใช้เป็นชื่อของไอ้ความสิ้นกิเลสหรือความที่กิเลสมันลดลงๆ แล้วมันเย็นเพราะกิเลสมันเป็นไฟ คำว่าไฟยืมไปใช้เป็นชื่อของกิเลสก็มี คำว่าของท่วมทับ คำว่าโคลน เลน คำเหล่านี้ก็ล้วนแต่ยืมไปใช้เป็นชื่อของกิเลสทั้งนั้น ทีนี้คำว่าทางเดิน เช่นถนนหรือทางเดินนี่ก็ยืมไปใช้เป็นไอ้ทางเดินของธรรมะ ของจิตที่เรียกว่า มรรค มักคะ มักคะ เราไม่รู้เราก็ถือเป็นคำสูงสุด เป็นคำสูงสุดศักดิ์สิทธิ์ของศาสนา แต่ว่าทุกคำนั้นมันยืมไปจากคำชาวบ้านที่ชาวบ้านเขาใช้พูดกันอยู่แล้ว ว่า มรรค ก็คือ มรคา มรรคา ทางเดินที่เขาใช้เดินกันอยู่ แล้วเขาก็เรียกอย่างนั้นกันอยู่แล้ว นี่ให้รู้ไว้ว่าไอ้คำธรรมะทุกคำนี่มันเป็นภาษาธรรมดาของชาวบ้านที่ยืมไปใช้ เรื่องนี้พูดไปแล้วมันน่าหัว เหมือนกับภาษาเขมรที่มาเป็นราชาศัพท์อยู่ในภาษาไทยนี่น่าหัวอย่างเดียวกัน ที่ประเทศเขมรคำเหล่านั้นเป็นภาษาชาวบ้าน ตาสีตาสา ยายมียายมาเขาก็ใช้ พอมาในภาษา ในประเทศไทยกลายเป็นราชาศัพท์ เราก็รู้สึกอย่างแหละว่ามันเป็นราชาศัพท์ เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกันแหละ เมื่อเป็นภาษาธรรมะเราก็รู้สึกอย่างหนึ่งทีเดียว ดังนั้นคำว่าปฏิบัติ ปฏิบัตินี่เราก็รู้สึกว่าเป็นคำศักดิ์สิทธิ์สูงสุดแหละอยู่ในใจ ที่แปลก ที่แท้มันก็แปลว่าการเดินทางไปให้ถึงจุดประสงค์อันใดอันหนึ่ง เอาแล้วรู้ไว้ว่าไอ้คำว่าปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมะนี่คือการเดินทางไปตามทางของธรรมะเพื่อถึงธรรมะ การเดินทางเพื่อถึงธรรมะ ไอ้การปฏิบัตินั้นก็เรียกว่าธรรมะ การเดินก็เรียกว่าธรรมะ การถึงก็เรียกว่าธรรมะ เพราะคำว่าธรรมะมันมีความหมายกว้างอย่างที่เรากล่าวมาแล้ววันก่อน เพื่อจะให้เข้าใจได้ชัดเจนกว้างขวางง่ายขึ้นก็นึกถึงคำว่าวิวัฒนาการก็แล้วกัน นั้นมันเป็นการรวบหมดสุดยอดของความหมายคำว่าเดินทาง วิวัฒนาการของชีวิตตามหลักวิชาชีววิทยา ตั้งแต่ไม่มีอะไร จนมามีชีวิตเซลล์เดียว ชีวิตหลายเซลล์ ชีวิตเป็นพืชพันธุ์ เป็นสัตว์ เป็นคน นี่การวิวัฒนาการนั่นแหละคือการเดินทางโดยหลักใหญ่ ซึ่งมันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของธรรมชาติ เป็นชีวิตที่ต่ำต้อย มันเดินไปเรื่อย สูงขึ้นเรื่อย เป็น จนเป็นชีวิตที่สูงสุด นี่ไม่มี ไม่ ไม่มีบุคคลเป็นเจ้าของ ไม่ได้สมมติใครเป็นเจ้าของ เป็นของวิวัฒนาการของธรรมชาติ แต่มันมีลักษณะของการเดินทาง นี่เป็นหลักเกณฑ์ของการเดินทางทั่วไปแหละ มันมาถึงขั้นไหนมันก็ยังเป็นการเดินทางไอ้ของขั้นนั้น ดังนั้นชีวิตของเราที่สมมติเรียกว่าบุคคลๆ คนหนึ่งๆนี่มันก็เป็นการเดินทาง แต่ว่าไอ้ส่วนใหญ่หรือเบื้องต้นเราไม่รู้สึก หรือเราไม่ได้สังเกต หรือว่าเราไม่ต้องสังเกตก็ได้ มันเป็นการเดินทางของมันเอง ที่ว่ามันเกิดมาในท้องแม่ มันเจริญเติบโตขึ้นมา จนกว่าจะเป็นเด็กออกมานี่มันมีการเดินทางของมันเองโดยไม่ ไม่เป็นเจตนาของใคร อยู่อย่างเต็มที่ เราเกิดมาแล้ว เป็นทารกแล้วมันก็มีการเดินทางอยู่ในการเติบโตนั่นแหละ แต่เราไม่เรียกว่าการเดินทางหรือปฏิบัติธรรมะ ไม่เรียก ไม่ต้องเรียก หรือไม่อาจจะเรียกก็ได้ ไอ้การที่ทารกเติบโตขึ้นมาก่อนจะเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวนี้มันก็คือการเดินทาง นั้นมันก็คือการปฏิบัติธรรมโดยธรรมชาติ มันเป็นไปได้เองโดยธรรมชาติคือมันเดินของมันเองตามธรรมชาติ มันกินอาหาร มันย่อยอาหาร มันถ่ายอุจจาระปัสสาวะ มันบริหารทุกอย่างตามธรรมชาติจนขึ้นมาถึงขั้นที่มันรอดชีวิตอยู่ได้ เราดูสัตว์เดรัจฉาน ลูกไก่ ลูกหมา ลูกอะไรก็ตามมันเดินทางของมันมาได้โดยถูกต้อง โดยธรรมชาติ มันก็ไม่ตาย มันก็มาเป็นไอ้สัตว์ตัวน้อยๆขึ้นมาขั้นหนึ่ง ทีนี้ไอ้เหลือต่อจากนั้นที่มันจะต้องเดินต่อไปนี่ ทีนี้มันจะต้องมาเกี่ยวข้องกับเจตนา เจตนาคือความตั้งอกตั้งใจ ความพากเพียรพยายาม หรือจะเรียกว่าเป็นส่วนก็ได้ เป็นตอนก็ได้ มาถึงตอนที่ว่าจะต้องมีเจตนาพากเพียรพยายามเดินต่อไป เพราะว่าการเดินตามธรรมชาติเพียงแต่รอดชีวิตอยู่ได้ เป็นมาได้นั้นแหละมันทำได้โดยธรรมชาติ และมันก็ได้ทำเสร็จมาแล้ว เดี๋ยวนี้แม้กระทั่งมาเป็นเรา บวชเรียนอยู่แล้วอย่างนี้ มันก็เหลือการ เหลือแต่การที่จะต้องเดินต่อไป เดินทางต่อไป เรื่องที่จะต้องเรียนจึงมีอยู่ในส่วนนี้ตอนนี้ แล้วต้องทำด้วยเจตนา จะปล่อยมาตามธรรมชาติไม่ได้ ธรรมชาติมันเดินมาได้เพียงตามแบบของธรรมชาติ มาเป็นชีวิตอยู่ได้คนหนึ่งนะ ทีนี้จะไปทางไหนต่อไป หรือจะปล่อยไปตามธรรมชาติไม่ต้องเรียนอะไรเหมือนสัตว์เดรัจฉาน มันก็ได้มันก็ไปหาความตายโดยไม่มีราคาหรือความหมายอะไร เดี๋ยวนี้มนุษย์เขาค้นพบ มนุษย์คนแรกๆ ผู้ฉลาดไอ้ยุคแรกๆนั่นเขาค้นพบว่าไม่ถูก มนุษย์เดี๋ยวนี้มาถึงขั้นที่จะต้องเดินให้ดี ซึ่งเป็นการเดินทางจิตใจมากกว่าทางร่างกายแหละ จะต้องเดินให้ดี เดินให้ดี ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ เขาจึงค้นพบระบบที่เรียกว่าการปฏิบัติหรือการเดินทางในทางจิตใจนี่ขึ้นมาๆ มากขึ้นๆ มากขึ้น แล้วเอามาสอนไว้ เอามาบัญญัติไว้เป็นระบบๆ ให้ผู้ฟัง ผู้ที่เป็นสาวกเดินๆๆ ซึ่งเรียกว่าปฏิบัติ ปฏิบัติ หรือว่าเดินไปให้ถึงจุดที่กำหนดไว้เฉพาะ มีการเดินๆๆ นี่คือพวกเรา กำลังอยู่ในจุดนี้ในระยะนี้ ที่แล้วมาแต่หนหลังนั้นมันก็เรียกว่าไม่มีปัญหาอะไรแล้ว เหลืออยู่ว่าต่อไปนี้มันจะ จะเดินให้ดี ให้ได้รับผลดีที่สุดในการเกิดมาเป็นมนุษย์นี้อย่างไร คนแก่ๆเขาก็จะรีบร้อนหน่อยว่าเราจะต้องรีบใช้ชีวิตที่เหลือนี่ให้ดีที่สุด ให้มีประโยชน์มากที่สุด คนหนุ่มๆก็ยังไม่สู้จะรีบร้อน แต่ก็ควรจะรีบร้อนเท่าที่จะรีบได้แหละ เพื่อศึกหาให้รู้ว่าเราจะต้องเดินต่อไปอย่างไร มันเดินทำไม มัน การเดินมันก็เพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่งแหละจึงใช้คำว่าเพื่อให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะได้รับให้ทันแก่เวลา จะใช้คำว่าการกระทำเพื่อให้เกิดผล อย่างนี้ก็ได้ คำเดียวกับคำว่าปฏิบัติ เพราะการเดินทาง เดินไปๆก็เพื่อจุดหมายปลายทางอันใดอันหนึ่ง นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่า ปฏิปัตติ การปฏิบัติ หรือ ปฏิปทา ก็แปลว่าการปฏิบัติ ผู้เดินทางก็คือผู้ปฏิบัติ นี่อยากจะให้มองเห็นว่าไอ้ชีวิตนี้มัน มันปฏิบัติของมันเองโดยธรรมชาติมาเยอะแยะแล้ว มาเป็นเราอยู่ในสภาพอย่างนี้แล้ว ยังเหลือแต่ว่าเราจะเดินต่อไปอย่างไรให้ถึงจุดสูงสุดที่มนุษย์ควรจะไปถึงได้ นี่เรื่องที่เราจะต้องศึกษาให้รู้ แล้วก็เดินนะ ถ้าไม่เดินก็มันไม่ ไม่มีผลอะไร ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่มีผลอะไร คำว่าปฏิบัติมันคือคำว่าเดินนั่นเอง เดินนี้คือก้าวไปข้างหน้า เมื่อชีวิตมีการก้าวไปข้างหน้าก็เรียกว่ามีการเดินหรือมีการปฏิบัติ ส่วนที่ไม่ต้อง ไม่ต้องเจตนามันเป็นไปของมันเองตามธรรมชาติมันก็มีอยู่มากนะ แต่มันไม่พอ เราต้องศึกษาให้รู้ แล้วเราต้องทำด้วยการใช้ ใช้กำลัง ใช้วิชา ใช้ความเพียรใช้อะไรต่างๆ ซึ่งก็รวมเรียกว่าธรรมอยู่นั่นแหละ แล้วก็ใช้ธรรมเพื่อปฏิบัติธรรม เพื่อผลคือธรรม อะไรๆมันก็ไม่แคล้ว ไม่ ไม่พ้นไปจากคำว่าธรรม มีข้อปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ท่านก็เรียกว่าการเดินทาง เช่นคำว่า มัชฌิมาปฏิปทา มีองค์ ๘ ประการนั้น ปฏิปทา คำนั้นแปลว่าการเดินทาง มรรคมีองค์ ๘ นี่ไปหารายละเอียดศึกษาดู อย่าต้องมาเสียเวลาพูดในเวลาอย่างนี้ เอาเวลานี้ไว้พูดไอ้สิ่งที่มันไม่มีอยู่ในบทเขียนบทอะไรต่างๆดีกว่า เรื่องมรรค อริยมรรคมีองค์ ๘ คืออย่างไรคุณไปดูโดยรายละเอียด หนังสือมีละเอียด นั้นแหละคือไอ้การเดินทางที่ ที่เป็นการเดินแหละ คำว่าการเดินทางนี่มันเป็นคำรวบยอด ถ้าไม่มีทางมันจะเดินได้อย่างไรเล่า แล้วมันต้องมีทาง แล้วก็มีการเดินของผู้เดิน ผู้เดินในที่นี้ก็สมมติว่าบุค ว่าบุคคล ที่จริงมันก็ไม่มีบุคคลไม่มีสัตว์อะไร มีแต่จิตที่มันก้าวหน้าไปสูงขึ้นๆ เรียกว่าผู้เดิน มีผู้เดิน มีการเดิน มีทางเดิน พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ในฐานะเป็นทางเดิน เรียกว่า มรคา มรรคา ปฏิปทา หรือผู้เดินก็เรียกว่า ปฏิปันโน คือพระสงฆ์แหละ สาวะ ตัสสะ สุปฏิปันโน ผู้เดินดี ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตัวหนังสือแท้ๆ ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านก็ผู้เดินดี ปฏิปันโน ที่ ที่เป็นพื้นฐานต่ำลงไปกว่านั้นท่านเรียกว่า กรรมบท กรรมบท ไอ้บทนั้นก็แปลว่า ว่าทางเหมือนกัน กรรมบท ๑๐ แหละ ฝ่ายถูกเรียกว่ากุศลกรรมบท ฝ่ายผิดเรียกว่าอกุศลกรรมบท คำว่า บท คำนี้ก็แปลว่า ทาง แม้จะตัว ถ.ถุง ไม่ใช่ ท.ทหาร หรือคลองหรือแนวก็คือหนทาง กรรมบทก็แปลว่าทางแห่งกรรม หรือทางเพื่อกรรม ทางเพื่อการกระทำ การกระทำก็คือการปฏิบัติ คือการเดินอีก เรื่องกรรมบทนี่ไม่ค่อยผ่านสายตาในการศึกษารุ่นหลัง การศึกษาธรรมะรุ่นเก่าเขาจะพูดถึงไอ้กรรมบทนี่มากที่สุด คล้ายกับเป็นหลักสำหรับมนุษย์เลย ทางแห่งการกระทำคือการเดิน กายมี ๓ อย่าง ทางวาจามี ๔ อย่าง ของใจมี ๓ อย่าง รวมกันเป็น ๑๐ อย่าง มันก็มีรายละเอียดพอหาดูได้แหละ ไม่เอามาพูดให้เสียเวลา เราอย่ามา จะพูดแต่เรื่องที่มันไม่มีเขียนไว้ที่ไหน จึงหลับตามองให้เห็นว่าไอ้ธรรมะระบบที่แสดงไว้ในฐานะเป็นหนทางหรือเป็นการเดินทางนี่คือธรรมะ ที่เรียกว่า ปฏิปัต ปฏิปัตติธรรม หรือ ธรรมะปฏิปัต มันแล้วแต่จะใช้คำเรียกอย่างไร แต่ใจความสำคัญมันก็อยู่ที่ว่าให้มันก้าวหน้า ให้มันรุดหน้าไป
ทีนี้ก็จะพูดถึงเรื่องที่มันยัง มันยังลึกลับอยู่ ซึ่ง ซึ่งอาจจะไม่เข้าใจ ดีกว่าจะพูดเรื่องที่มีหาอ่านในหนังสือได้ ป่วยการ ว่าใครล่ะเป็นคนเดิน ใครล่ะเป็นคนปฏิบัติ ก็เมื่อไอ้ทางหนึ่งสอนไว้ว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นอนัตตา มิใช่ตัวตนอยู่ทั้งนั้น มันก็เกิดปัญหา ก็ถ้าอย่างนั้นใครล่ะเดิน นี่แม้แต่เด็กๆมันก็เกิดความสงสัยได้ว่า ไอ้ ไม่มี ไม่มีตัวตนแล้วใครมันเดิน นี่จะต้องพูดกันให้รู้เรื่อง มันๆ มันกลายเป็นถึงเรื่องอัตตา เรื่องอนัตตา ซึ่งยาก อธิบายยาก ลึก อยู่อีกพวกหนึ่งทีเดียว แต่เดี๋ยวนี้เราก็เอามาพูดว่าในที่นี้ไอ้สิ่งที่มันรู้สึกได้นี่แหละมันเดิน ก็คือจิต นี่คุณต้องรู้เสียแต่ๆ แต่ล่วงหน้าว่าจิตนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวตนอะไร มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นธาตุชนิดหนึ่งก็เรียกว่าวิญญาณธาตุ มโนธาตุ แล้วแต่จะเรียก มันเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ แล้วมันก็คิดนึกได้สำหรับสิ่งที่จะต้องคิดต่อไป มันเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่าจิต ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แล้วอันนี้ตัวจิตนี่เป็นๆ เป็นสิ่งที่มันรู้สึกต่อความทุกข์ ความทนทรมาน หรือมันจะรู้สึกต่อสิ่งที่เป็นความสุข ไม่เป็นทุกข์ ไม่ทนทรมาน ฉะนั้นจิตนั่นแหละมันก็ดิ้นรนของมันเอง เมื่อมันประกอบไปด้วยความรู้มากขึ้นมันก็รู้จักคิดนึกให้สูงขึ้นไปเพื่อจะพ้นจากความทนทรมาน ไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี่มันคือรวมของหมดนี่ ของกาย ของจิต ของไอ้ระบบทั้ง ทั้งหมดที่เรียกว่าเป็นคนๆหนึ่งแหละ มีชีวิตก็หมายความว่าส่วนประกอบทั้งหลายยังทำหน้าที่ของมันได้ ยังมีชีวิต พอมันไม่ทำหน้าที่ได้มันก็คือตาย ไม่มีชีวิต บางทีเราใช้คำว่าชีวิต สะดวกดี บางทีใช้คำว่าจิต แต่ชาวบ้านทั้งหลายเขาจะใช้คำว่าคน คนหรือตัวตน ฉะนั้นคนมันก็คิด มันก็ดิ้นรน ปฏิบัติให้ดีขึ้น ดังนั้นคนทั้งหลาย ไอ้ชาวบ้านทั้งหลายจึงยึดถือว่ามีสัตว์ มีบุคคล มีตัวมีตน มีกูมีของกู แต่ถ้าธรรมะที่แท้จริงนั้นมันก็ไม่มีบุคคล ตัวตน กู ของกู มีแต่จิตที่มันเป็นธรรมชาติ ประเสริฐ ประเสริฐ พิเศษ ลึกลับที่สุด คิดนึกได้ รู้สึกได้แล้วก็บังคับร่างกายได้ ให้พูดก็ได้ ให้ทำก็ได้ สิ่งนั้นเรียกว่าจิต แต่ชาวบ้านเขาจะใช้คำว่าคน เรา ว่าตัวเรา เราศึกษา เราปฏิบัติ เราได้รับผลของการปฏิบัติ นี่มันพูดตามความรู้สึกของคนที่ไม่รู้อะไร ยังเป็นคนที่ไม่รู้อะไร ต่อมามันศึกษามากเข้ามันก็รู้ว่าจิตมันรู้สึกอะไรได้ มันคิดนึกได้มันก็ต้องการดีขึ้นไปได้ มันปฏิบัติดีขึ้นไปได้ ภาษาธรรมะแท้ๆเรียกว่าจิต ไม่เรียกว่า ว่าคน ไม่เรียกว่าตัวตน แต่ก็มีคำสอนที่สอนไว้ใน ในบางลัทธิ ในบางหมู่บางคณะ เขาสอนให้ถือว่าจิตนั่นแหละตัวตน ถ้า ถ้าคุณหาอะไรไม่พบก็เอาจิตนั่นแหละเป็นตัวตน ไปทีก็ได้ มันก็สำเร็จประโยชน์เท่ากันแหละ เมื่อเอาจิตเป็นตัวตนมันก็อบรมตัวตนอบรมจิตแหละ สูงขึ้นไปจนบรรลุไอ้ผลสุดท้ายได้ ถ้ายังโง่มากมันก็มีตน มีบุคคล มีกูมีอะไร ถ้ามันโง่น้อยลงมันก็เอาจิตแหละเป็นตัวตนไปพลาง เพื่อจะคิดนึกรู้สึกแก้ไขอะไรก็ไปพลาง ถ้ามันฉลาดถึงที่สุดแล้วมันไม่มีตัวตน มันไม่มีอะไรเป็นตัวตน จิตก็จิต กายก็กาย เป็นธรรมชาติตามธรรมชาติ เป็นธาตุตามธรรมชาติไม่ใช่ตัวตน นี่ถ้าถาม ถ้าเขาถามว่าอะไรเป็นผู้ปฏิบัติ ก็แล้วแต่จะตอบภาษาไหน ภาษาคนโง่ก็ ก็บอกว่าคนนั่นแหละ ภาษาไม่โง่นักก็บอกว่าจิตที่เป็นตัวตนนั้นแหละ ชีวิตที่เป็นตัวตน อัตภาพที่เป็นตัวตนนั่นแหละ ถ้าท่านฉลาดถึงที่สุด ปฏิบัติแล้วถึงที่สุดเห็นว่า เอ้า! ที่แท้มันไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่คนอะไรของใคร เป็นธรรมชาติคือจิตตามธรรมชาติ ดังนั้นจิตนี่จึง จึงยังเป็นสิ่งที่ลึกลับมากสำหรับคนแรกศึกษา จิตเป็นผู้ที่รู้สึกต่อสิ่งต่างๆ แล้วมันก็ต้องการจะให้ดียิ่งๆขึ้นไป มันก็ ก็ขวนขวาย ค้นคว้าศึกษา อยากจะดีกว่าเดิมอยู่เสมอ แล้วมันก็ดีได้จริงเพราะว่าธรรมชาตินั่นมันเป็นเช่นนั้นเอง ฟังถูกไหม คงฟังไม่ถูกว่าธรรมชาติเป็นเช่นนั้นเองผมหมายความว่าไอ้ชีวิตนั่นแหละมันเป็นการศึกษาอยู่ในตัวมันเอง ประโยคนี้สำคัญมากนะ ไอ้ชีวิตนั่นแหละมันเป็นการศึกษาอยู่ในตัวมันเอง ดังนั้นเรามีชีวิตอยู่สิ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอยู่สิ สัมผัสในสิ่งต่างๆอยู่สิ มันก็รู้อะไรมากขึ้นๆๆ ถ้าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเราก็ไม่มีทางจะรู้อะไร มันจะศึกษาอะไรได้ เพราะมันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมันจึงเป็นการศึกษาอยู่โดยอัตโนมัติ ก็ดูสุนัขและแมวนี่ทำไมมันจึงรู้อะไรมากขึ้นล่ะใครสอนมันที่ไหน ชีวิตแหละมันเป็นการศึกษาอยู่ในตัวมันเอง คือมันไปกระทบนั่นทางตา กระทบนี่ทางหู กระทบนู่นทางจมูก มันก็รู้อะไรมากขึ้นทุกที มัน จนๆมันรู้ อะไรกินได้อะไรกินไม่ได้ อะไรเป็นอันตรายอะไรไม่เป็นอันตราย ควรจะนอนที่ไหนอะไรนี้มันก็รู้ๆๆ เป็นสัตว์แสนรู้ขึ้นมาได้ เพราะชีวิตมันเป็นการศึกษาอยู่ในตัวชีวิตนั่นเอง ดังนั้นเราก็ดูว่าเรามีชีวิตเป็นการศึกษาอยู่ในตัวเองมากที่สุด ที่เราต้องศึกษาจากภายนอก จากผู้อื่นนั่นมันก็มีไม่ใช่ไม่มี นี่มันจำเป็นเหมือนกัน สำคัญเหมือนกัน เพราะเมื่อคนอื่นก่อนเรานั่นเขารู้แล้ว เขาถ่ายให้เรา เราไม่ต้องมานั่งค้นคว้าให้เสียเวลา ฉะนั้นเราจึงศึกษาได้จากสิ่งอื่นนอกจากตัวเรา ศึกษาจากข้างนอก ทั้งที่ชีวิตมันก็เป็นตัวการศึกษาอยู่ในตัวมันเองแล้วมันไม่พอ แล้วความเป็นมนุษย์มันก็สำคัญอยู่ที่ตรงนี้ ความเป็นมนุษย์นั้นมันเกิดขึ้นมาในโลกนี้ได้เพราะว่ามันสามารถถ่ายทอดความรู้กันได้ ถ้าถ่ายทอดความรู้กันไม่ได้มันก็เป็นสัตว์เดรัจฉานแหละ สัตว์เดรัจฉานมันไม่มีเครื่องมือถ่ายทอดความรู้ มันไม่มีเครื่องมือ คือมันพูดไม่ได้ มันเขียนไม่ได้ มันอะไรไม่ได้ มนุษย์มันวิวัฒนาการขึ้นมาจนถึงพูดกันได้ พูดกันรู้เรื่อง แล้วก็ถ่ายทอดความรู้กันได้ มันก็เร็วสิ มันก้าวหน้ากระโดดไปเร็วๆ เร็วๆ ส่วนสัตว์เดรัจฉานมันคงอยู่เท่าเดิมเพราะมันถ่ายทอดกันไม่ได้ ความเป็นสัตว์มนุษย์กับเป็นสัตว์เดรัจฉานมันต่างกันที่ตรงนี้ คือมันถ่ายทอดความรู้กันได้ เพราะมันมีการพูดจา ซึ่งเป็นสื่อที่สำคัญที่สุดซึ่งไม่มีในหมู่สัตว์เดรัจฉาน ดังนั้นมนุษย์จึงได้รับความรู้มากมายโดยเร็ว ว่าทำอย่างไรที่จะดีกว่าเดิม ทำอย่างไรจะดีกว่าเดิม เราไม่ต้องไปลองกินนั่นกินนี่ ชิมนั่นชิมนี่ แล้วก็บัญญัติกันใหม่อะไรกันใหม่ เพราะว่าคนแต่ก่อนเขาทำไว้ดีแล้ว มี เรามีแต่ทำให้ดีกว่านั้นนะ คน คนปัจจุบันมีหน้าที่แต่ทำให้ดีกว่าไอ้ที่คนแต่ก่อนเขาทำไว้ คนในอนาคตก็จะต้องทำให้ดีกว่านั้นอีก นี่เป็นการเดินทางโดยธรรมชาติ แต่นี้มันไม่พอนี่มันไม่พอ เราต้องสนใจ เราต้องตั้งใจ เราต้องเลือกต้องเฟ้น หลักของโพชฌงค์ ๗ ประการนั่นแหละที่จะเป็นหลักปฏิบัติที่ดีในๆ ในตอนนี้นะในขั้นนี้ ใน ในขั้นที่ละเอียด มาถึงนี่แล้ว เราได้เล่าได้เรียนมามากแล้ว บวชเข้ามานี้ก็ยิ่งได้เรียนมาก มันเหลืออยู่แต่ว่าจะ จะเดินไปอย่างไร ไอ้ที่เรียนไว้มากๆ รู้ไว้มากๆนี่จะเอามาใช้มันอย่างไร ใช้ให้มันถูกต้องให้มันเป็นการปฏิบัติทางกาย วาจา ใจ เดินไปให้ดี
เราต้องพูดถึงเดี๋ยวนี้ก็คือว่าเท่าที่คุณเรียนมาแล้วนะ เท่าที่คุณเรียนมาแล้วอะไรบ้างๆนี่ พอถึงคราวที่จะปฏิบัติมันก็จะต้องใช้สติ สติ ระลึกนึกรวบรวมเอามาให้หมด ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอะไร เรื่องอะไรเป็นอะไร เรื่องอะไรเป็นอย่างไร นี้เรียกว่าสติ ระลึกรวบรวมเอามาให้หมด ไอ้ครั้นรวบรวมเอามาได้หมดแล้วก็เลือก เขาเรียกว่า ธัมมวิจยะ ศัพท์นี้โบราณหลายพันปีนะ วิจัยนั่นคำว่าวิจัย พระพุทธเจ้าในทางศาสนาก็ใช้มาหลายพันปีแล้วไม่ใช่คำใหม่ๆ ที่พวกนักศึกษารุ่นหลังคิดว่าตัวคิดขึ้นมาเองและใช้ แต่มันก็ไปยืมคำในคัมภีร์นั่นมาใช้ คำว่า วิจัย ธรรมวิจยะ ธัมมวิจยะ ก็เลือกเฟ้นธรรม เลือกนะ เอามาพลิกดูๆ พลิกดูๆ เลือกอันไหนเป็นอย่างไร อันไหนจะใช้เดี๋ยวนี้ สติ ธรรมวิจัย สติ แล้วก็ธรรมวิจัย ธัมมวิจยะ ถ้าเลือกได้แล้วก็ลงมือทำ ก็เรียกว่าวิริยะ วิริยะหรือใช้พลังงาน ทีนี้ก็พอใจที่ว่าสามารถที่จะทำได้อย่างนั้น นี้เป็นจิตวิทยาอย่างลึก คือท่านถือว่าต้องมีความพอใจในสิ่งที่กระทำอยู่หรือกระทำได้ ถ้ามันไม่พอใจเสียเลยมันทำไปไม่ได้หรอก มันไม่ทำแล้วมันหยุดแหละ มันต้องมีความพอใจ อย่างน้อยก็ที่ว่าเรากระทำได้ หรือว่าเราได้รับผลอยู่ ดังนั้นความพากเพียรอันเหน็ดเหนื่อยของเรานั้นมันถูกหล่อเลี้ยงไว้ด้วยความพอใจ คือปีติ ทีนี้เมื่อทำไปอย่างนี้แหละมันเข้ารูปเลย ความเพียรที่เป็นไปอย่างแรงกล้า มีความพอใจหล่อเลี้ยงอยู่เรื่อย แล้วมันก็เริ่มเข้ารูปกัน ระงับลง ก็เรียกว่า ปัสสัทธิ ไอ้ความวุ่นวาย ความก้าวก่าย กีด เกะกะอะไรต่างๆมันเริ่มเข้ารูปกัน แล้วมันเริ่มระงับลง ระบบสติปัญญา ความรู้ การปฏิบัติอะไรนี่มันเริ่มเข้ารูปเป็นปัสสัทธิ แล้วก็เกิดไอ้ความแน่วแน่ เข้มแข็ง มั่นคง ขั้นสุดท้ายเรียกว่าสมาธิ ทีนี้มันก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามที่มันถูกต้องเช่นนั้นนะ กว่ามันจะถึงที่สุด เมื่อทำเข้ารูปจนเป็นปัสสัทธิและสมาธิแล้วมันก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามนั้นของมันเองจนกว่ามันจะถึงที่สุด นี่ๆ นี่หลักการนี้เรียกว่าโพชฌงค์ เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือ คือการลุถึงนิพพาน เราต้อง ต้องเลือกจาก เลือก เลือกเอาความรู้ทั้งหมดประมวลมาสำหรับเลือก แล้วก็เลือก เลือกแล้วก็ลงมือกระทำ หล่อเลี้ยงกำลังของการกระทำไว้ด้วยความพอใจ เป็นสุขไปพลาง นี่ที่ผมใช้คำว่าทำงานไปพลาง เป็นสุขไปพลาง มันจะลงรูป มันจะเข้ารูป มันจะไม่ มันจะไม่กีดขวางเกะกะอะไรซึ่งกันและกันเพราะมันไม่เข้ารูป พอมันเข้ารูปแล้วมันจะมีความตั้งมั่นแน่วแน่ลงไปเรียกว่าสมาธิ แล้วก็ปล่อยให้มันไปเองตามที่มันถูกต้องแล้ว มันก็ไปๆๆของมันเองจนถึงที่สุด สรุปสั้นๆเหมือนกับว่าเราทำนา เมื่อเราได้ทำถูกต้องมาตั้งแต่การไถนา การหว่านข้าว การทุกอย่างแหละเสร็จถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ต่อไปนี้เราก็ไม่ต้องทำอะไร คือคอยดูให้ต้นข้าวมันเจริญเติบโตจนมันออกรวง ตอนนี้ไม่ ไม่ต้องทำอะไรแต่เขาก็จัดเป็นองค์ของการปฏิบัติข้อหนึ่งเหมือนกันแหละ เรียกว่าอุเบกขา คนที่สะเพร่าเขาแปลคำอุเบกขานี้ว่าวางเฉย แต่ตัวหนังสือนั้นคำว่าอุเบกขามันแปลว่าเพ่งดูๆ ไม่ใช่ ไม่ใช่วางเฉยหันหลังให้ มันวางเฉยอย่างเพ่งดู คือไม่ต้องทำอะไรที่เป็นกิริยาอาการ แต่มันก็เพ่งดูๆอยู่ ถ้ามันจะเกิดผิดพลาดขึ้นมามันก็ต้องแก้ไข แต่เดี๋ยวนี้มันถูกต้องแล้วมันเพียง เพียงแต่เพ่งดูมันก็ไปๆ ไปของมันจนถึงไอ้บรรลุผลด้วยสุดท้าย หลักการนี้ใช้กับอะไรก็ได้ แต่เขากล่าวไว้ในพระบาลีนั้นเรียกว่าสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้ พอเราบอกว่าเอามาใช้กับเรื่องบ้านเรื่องเรือน เรื่องโลก เรื่องทำนาทำไร่ก็ได้ เขาก็ด่าเราว่าทำไขว้เขวหมด ยุ่งไปหมด เอาเรื่องโลกุตระมาสอนเป็นเรื่องชาวบ้านอย่างนี้ ผมอยากจะบอกว่ามันไม่มีเรื่องชาวบ้าน ไม่มีเรื่องโลกุตระ มันเป็นเรื่องที่ทางเดียวเท่านั้นแหละ ใช้ปฏิบัติได้ร่วมกันตามระดับลดหลั่นกว่ากัน มีความหมายอย่างเดียวกัน มีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันที่จะต้องทำไปเพื่อดับทุกข์ แต่ชาวบ้านก็ทำล้าหลังไปหน่อย ชาววัดก็ทำไปได้เร็วกว่าหน่อย แล้วถ้าทำถูกวิธีมันก็เร็วยิ่งเร็วขึ้นไปอีก ทำผิดวิธีมันก็ยิ่งช้า หรือยิ่งไม่ ไม่ไปเลย ล้มละลายเลย ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมะนั้นมันจึงต้องครบๆ ครบองค์ประกอบของมัน มันจะมองดูในแง่ไหนก็ต้องเรียกว่าครบถ้วนโดยองค์ประกอบร่วมกัน นี่โพชฌงค์ ๗ ข้อมันก็ครบ ๗ ข้อ แล้วก็ทำงานร่วมกัน อริยมรรคมีองค์ ๘ มันก็มี ๘ ข้อครบถ้วน แล้วมันก็ทำงานร่วมกัน แม้จะพูดให้สั้นเหลือแต่เพียง ๓ ข้อว่าศีล สมาธิ ปัญญาอะไรนี่มันก็ ๓ ข้อครบถ้วนแล้วก็ทำงานร่วมกัน คำว่าทำงานร่วมกันนั่นแหละมีความหมายมาก มีสัดส่วนเหมาะสมแล้วทำงานร่วมกัน เหมือนกับกฎทางวิทยาศาสตร์ที่มันจะเกิดอะไรขึ้นมาได้ มันไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน มันไม่ใช่เรื่องไสยศาสตร์ มันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ไอ้ธรรมะนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้นเราพยายามดูให้เห็นว่าอะไรมันเป็นปัญหาที่จะๆ จะต้องก้าวล่วงไปได้อย่างไร มันต้องรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั่นเอง คือธรรมะในฐานะที่เป็นชีวิต มันอยู่ของมันอย่างไรและจะต้องไปต่อกันต่อไปอย่างไร ก็ทำส่วนที่ยังไม่ได้ทำ ที่ยังจะต้องไปต่อไปนั่นแหละให้มัน ให้มันเต็ม ดังนั้นคำว่าปฏิบัติธรรมนั้นมันหมายถึงทำให้เกิดการเดินไปข้างหน้า ก้าวไปข้างหน้ากว่าจะถึงปลายทาง เป็นแนว เป็นแนวใหญ่ยาวอย่างนี้แหละ บางคนเขาเข้าใจว่าโอ้! มานั่งโคนไม้ มานั่งหลับตาอยู่โคนไม้ มาทำกรรมฐานทำวิปัสสนาเรียกว่าปฏิบัติธรรม ไอ้นั่นมัน มันรู้แค่นั้น มันรู้น้อยเกินไป มันเป็นๆ เป็นๆ เป็นพวกพิธีรีตองไปมากกว่า เดี๋ยวนี้มันทำกันอย่างพิธีรีตองเสียมากกว่า เพราะว่าไอ้ตัวแท้ตัวจริงมันไม่ใช่พิธีรีตองเพียงเท่านั้น ไม่ใช่ว่ามานั่งโคนไม้ทำกรรมฐานเพียงเท่านั้น ไอ้อันนั้นมันก็ถูกแหละมันเป็นทำส่วนหนึ่งหรือตอนหนึ่ง เราจะต้องดูให้ดีว่าทั้งหมดนั่นมันคืออย่างไร มันต้องเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าชีวิตโดยตลอดสาย และเดินไปอย่างไร เดินไปอย่างไรที่เป็นการปฏิบัติ การมานั่งโคนไม้ทำสมาธินี่มันก็เป็นหนึ่งแหละ เป็นแฟคเตอร์ (นาทีที่ 45.17 ตรวจแล้วไม่แน่ใจ) อันหนึ่งในหลายๆแฟคเตอร์ เช่นว่ามรรคมีองค์ ๘ ก็มีตั้ง ๘ สมาธิก็เป็น ๑ ใน ๘ โพชฌงค์ ๗ สมาธิก็เป็น ๑ ใน ๗ ผมนั่งอยู่ตรงนั้นนะ ไอ้แขกที่มันมาจากที่ต่างๆ เป็นผู้หญิงโดยมาก ถามว่าที่นี่ปฏิบัติธรรมไหม นี่คุณ คุณคิดดูเถอะเขาถามผมว่าที่นี่ปฏิบัติธรรมไหม ผมก็ไม่รู้จะตอบว่าอย่างไร เพราะไม่รู้ว่าเขาหมายความว่าอะไร บางคนก็ถามว่าที่นี่ทำวิปัสสนาไหม เราก็บอกไม่ถูก เพราะว่าไอ้ๆ ไอ้ๆ ไอ้ที่เขาถามนั่นมันไม่เหมือนกับเรา ไม่เหมือนกับ ไม่มีความหมายเหมือนกับที่เราถืออยู่ ไอ้คำว่าวิปัสสนามันแปลว่าดูให้เห็น แล้วต้อง ต้องทำกันอยู่ตลอดเวลา ทำทุกคน ทำโดยไม่เจตนาก็มีทำโดยเจตนาก็มี ปฏิบัติธรรมนี้ก็เหมือนกันแหละมันต้องทำอยู่ตลอดเวลาแหละ โดยเจตนาตามแบบตามไอ้กฎเกณฑ์นี้ก็มี แต่โดยไม่เจตนาที่ธรรมชาติมันเป็นไปเองมันก็มี นี่เรียกว่าเป็นของไอ้ธรรมชาติประจำชีวิตจิตใจแท้ๆแหละที่จะต้องเดินไปข้างหน้า จนไปถึงสภาพที่สูงสุดที่มนุษย์จะไปถึงได้ พวกฝรั่งทั้งหลายมันไม่รู้ถึงข้อนี้หรอก มันก็ไม่รู้ว่าเรียนธรรมะทำไม ปฏิบัติธรรมะทำไม มันก็เห่อๆตามๆกันมา มันไม่ได้รับคำอธิบายเรื่องชีวิต เรื่องวัฏสงสาร เรื่องปฏิจสมุปบาทหรือเรื่องอะไรอย่างถูกต้อง มันจะรู้ว่าอ้าว! ปัญหามันอยู่ตรงนี้โว้ย! ปัญหามันอยู่ตรงนี้โว้ย! แล้วก็จะได้ทำให้มันถูกกับเรื่อง ก็ได้ผลสิ ละทิ้งศาสนาที่งมงายเป็นไสยศาสตร์ แล้วมาถือศาสนาอย่างพุทธศาสน์ให้มันได้ผลสิ
เอาแล้วทีนี้มันก็ยังจะต้องดูกันให้ละเอียดต่อไปถึงว่าการปฏิบัตินั่น ที่ว่าจะก้าวไปๆนี่มันก็ยังมีความหมาย เพราะว่าไอ้เรื่องของความทุกข์นั่นมันๆ มันหลายๆรูปแบบหรือหลายขั้นตอน ไอ้ความก้าวหน้าหรือการปฏิบัตินั้นมันก็เลย เลยพลอยมีหลายรูปแบบหรือหลายขั้นตอน ว่าเราจะปฏิบัติชนิดที่ป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์อย่างนี้ก็ได้ ถ้าว่าการปฏิบัติก้าวหน้าดีๆมันป้องกันได้จริงมันก็อาจจะไม่เกิดความทุกข์ หรือว่าจะทำลายความทุกข์ที่มันเกิดอยู่แล้ว ถ้าปฏิบัติได้ถูกต้องก้าวหน้าจริงมันก็ทำลายได้จริงเหมือนกัน ถ้าคุณรู้เรื่องกิเลสดีพอสมควรก็เข้าใจเรื่องนี้ได้ เพราะว่าไอ้ความผิดพลาดหรือปัญหานั่นมันๆ มันมาตามธรรมชาติแหละ พอเราเกิดมาจากท้องแม่เราไม่ได้มีความรู้ติดตัวมา พอเราได้รับสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เกิดความยินดียินร้ายเป็นกิเลส เป็นตัวกูของกูขึ้นมา เราไม่รู้ ไม่มีความรู้เราก็จะต้อง เราก็ต้องไปตามนั้นแหละก็กิเลสเกิดตัวกูของกูขึ้นมาจนชินเป็นนิสัย เกิดกิเลสเพราะยินดี เพราะยินดี ก็เรียกว่าราคะ โลภะ ก็เรียกว่ากิเลสเกิดขึ้น อยู่ในท้องไม่มีกิเลสนี่ แม้อาจารย์อื่นๆเขาจะสอนว่ามีกิเลสตลอดเวลาก็ตามใจเขา เราไม่ ไม่ยอมรับมตินั้น กิเลสเกิดเมื่อมีเหตุมีปัจจัยสำหรับเกิดกิเลส เช่นเกิดราคะ รักยินดี กำหนัด พอเกิดราคะทีหนึ่งมันก็เกิดความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นเอาไว้หน่วยหนึ่ง มันสร้างความเคยชิน สะสมความเคยชินไว้หน่วยหนึ่งทุกคราวที่มันเกิดกิเลส พวกนี้เขาเรียกว่าอนุสัย พออนุสัยนี่มันมากเข้าๆมันก็ มันก็ปรี่ ดัน ปรี่ที่จะไหลออกมาก็เรียกว่าอาสวะ ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมะนี้มันก็จะเพื่อไม่ให้เกิดกิเลส การป้องกันก็มี หรือจะเป็นการทำเพื่อ ทำ ลดอนุสัย ทำลายอนุสัยก็มี เมื่อทำลายอนุสัยได้ไอ้อาสวะมันก็พลอยไม่มี ก็เรียกว่าสิ้นอาสวะ ฉะนั้นคำ การปฏิบัติจึงแยกออกไปได้เป็นหลายแขนงแหละว่าจะเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกิเลส หรือว่าจะทำลายความเคยชินแห่งกิเลสที่สะสมไว้เรียกว่าอนุสัย หรือว่าทำลายอนุสัยเสียไม่ให้มีอาสวะออกมา นี่มันเป็นเทคนิคที่พูดกันไว้อย่างละเอียด อย่างละเอียด ต้องไปศึกษากันเฉพาะ ถ้าเราปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้วมันก็เป็นไปได้ตามนั้นแหละ มันจะป้องกันไม่ให้เกิดกิเลสแล้วก็ไม่มีอนุสัย ไม่มีอนุสัยก็ไม่มีอาสวะ ดังนั้นเรารู้จักเป็นอยู่ให้ถูกต้องกับที่เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราจะต้องควบคุมมันอย่างไรอย่าให้มันโง่เมื่อ เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น ที่เราเรียกกันง่ายๆว่าสัมผัส หรือเรียกว่าผัส ผัสสะเฉยๆ เมื่อมีผัสสะทางตาแล้วอย่าโง่ มันจะ มันจะเกิดกิเลส เมื่อมีผัสสะทางหูก็อย่าโง่มันจะเกิดกิเลส ผัสสะทางจมูกก็อย่าโง่ จนทั้ง ๖ ทางแหละเมื่อมีผัสสะทางไหนก็อย่าโง่ในขณะนั้น อย่า คืออย่าให้เกิดอวิชชา ความโง่ในขณะนั้น จิตนั่นแหละอย่าได้เกิดอวิชชาหรือความโง่ในขณะนั้น ถ้าเกิดความโง่ในขณะนั้นมันก็เกิดไอ้ เกิดผัสสะแล้วมันก็มีเวทนา เวทนาโง่เกิดตัณหา ความอยากอย่างโง่ๆ มี มีความอยากอย่างโง่ๆเกิดอุปาทานว่าตัวเราว่าของเราในสิ่งนั้นๆ นี่ความทุกข์เกิดแล้ว ฉะนั้นต้องศึกษาให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ จะแก้ไขได้อย่างไรก็คือมีสติเมื่อผัสสะ จงพยายามฝึกสติให้มาก ให้พอ ให้เร็ว ทั้งมากและทั้งเร็วนะสติ จึงจะป้องกันความโง่ในขณะแห่งผัสสะได้ ไอ้อย่างนี้ไม่มีเรื่องโลกียะ โลกุตระหรอกมีอย่างเดียวเท่านั้นแหละ ไม่มีเรื่องสำหรับชาวบ้าน ไม่มีเรื่องสำหรับชาววัดหรอก ชาว ชาวบ้านอยู่ที่บ้านนั่นตัว ตัวร้ายแหละที่จะมีผัสสะชนิดนี้มาก ดังนั้นทั้งชาวบ้านและทั้งชาววัดแหละจะต้องฝึกสติให้มากพอ เอามาใช้เมื่อมีผัสสะ อย่าให้ขาดสติเมื่อมีผัสสะ มันก็ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดตัณหา อุปาทาน ไม่เกิดความทุกข์คือไม่ๆ ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา ถ้าเราปฏิบัติอยู่อย่างนี้มันก็เป็นการปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการป้องกันไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นทั้งวันทั้งคืน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ได้ทำผิด ไม่มีทางที่จะทำผิด มันก็เรียกว่าไม่เกิดกิเลสและไม่เกิดทุกข์ มันเสมือนกับ กับได้ชีวิตใหม่ ได้ชีวิตใหม่ ผมมันชอบแต่เอาคำที่เขาพูดไว้ดีๆแล้วมาใช้ แม้เป็นคำที่พูดอยู่ในศาสนาอื่นผมก็ไม่รังเกียจ เอามาใช้ แต่พอทำอย่างนี้เขาด่า เขาหาว่าไป ไปเข้ากับศาสนานั้น ไปถือศาสนานั้นไปเสียแล้ว คำพูดของพวกเซนก็ดี คำพูดของพระเยซูก็ดี คำพูดของพระเยซูมีว่าถ้าเขามาหาฉัน ฉันจะให้ชีวิตใหม่แก่เขา นี่คุณลองคิดดู เราเอามาใช้ได้ไหมล่ะ ถ้าเรามาหาพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามคำของพระพุทธเจ้า มีสติพอ ควบคุมอายตนะไว้ได้ ชีวิตก็เปลี่ยนเป็นชีวิตใหม่ทันที ถึงแม้ว่าจะเป็นคำที่เขาใช้กันอยู่ฝ่ายศาสนาอื่นก็ตามใจเข้าสิ เขาจะถือกรรมสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ได้ที่ไหน เรายืมคำว่าชีวิตใหม่มาใช้ก็ได้ ถ้าท่านปฏิบัติอยู่อย่างนี้ชีวิตของท่านจะเปลี่ยนเป็นชีวิตใหม่ ใหม่ตรงไหน ใหม่ตรงที่มันไม่เกิดความทุกข์อีกต่อไป มันไม่อาจจะเกิดความทุกข์ได้ ชีวิตเก่ามันเกิดความทุกข์อย่างพร่ำเพรื่อ เดี๋ยวนี้ชีวิตใหม่มัน มันป้องกันไอ้เกิดความทุกข์ ป้องกันการเกิดความทุกข์อยู่ในตัว พอที่จะเรียกชีวิตใหม่ได้ นี่การปฏิบัติธรรมะมันทำให้เราได้รับผลถึงขนาดนี้ เป็นจิตที่ไม่มีความทุกข์อีกต่อไปถ้ามันถึงที่สุดนะ ก็เรียกว่าถึงวิสังขาร ถึงนิพพาน จิตนี้มันจะไปทำผิดทางอายตนะไม่ได้อีกต่อไป กิเลสไม่เกิด อนุสัยความเคยชินแห่งกิเลสที่มีอยู่ก่อนก็ถูกทำลายหมด ไม่มีอาสวะ จะเหลือก็สิ้นอาสวะ ถ้าคุณเข้าใจคำพูดเหล่านี้คุณจะรู้สึกว่ามันเหมือนกับวิชาวิทยาศาสตร์แท้ๆเลย เป็นสันทิฏฐิโก เข้าใจได้ด้วยตนเอง เห็นได้ด้วยตนเอง ไม่มืด ไม่ ไม่คลุมเครือ ไม่มืดมน แต่ถ้าไม่เข้าใจมันก็จะมีลักษณะไม่รู้ มืดมัว คลุมเครือ เข้าใจไม่ได้ จะถือเป็นไสยศาสตร์ไปเสียก็ได้เพราะเข้าใจไม่ได้ ฉะนั้นไปศึกษาดูให้ดีเถอะเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันมีผัสสะแล้วมันเป็นอย่างไร เกิดเวทนาแล้วทำไมเกิดตัณหา แล้วเกิดอุปาทาน แล้วเกิดภพเกิดชาติ เกิดทุกข์อย่างไรให้แจ่มแจ้ง เป็นสันทิฏฐิโกด้วย คือแจ่มแจ้งด้วยตนเองอย่างนี้เป็นสันทิฏฐิโก แจ่มแจ้งนั้นเป็นวิปัสสนา วิ แปลว่าแจ่มแจ้ง ปัสสนา แปลว่าเห็น เห็นอย่างแจ่มแจ้งเรียกว่าวิปัสสนา เราปลุกปล้ำเรื่อยมาจนเห็นอย่างแจ่มแจ้งในสิ่งเหล่านี้ แล้วก็เห็นด้วยตนเองเรียกว่า สันทิฏฐิโก นั้นแหละคือรู้จริง จะมองเห็นเหมือนกับเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ คือมัน คือมีสิ่งต่างๆแสดงชัดเจนอยู่ เป็นเหตุผลกันอย่างไร มีความเปลี่ยนแปลงกันอย่างไร ไม่ลึกลับ ไม่มีอะไรลึกลับ แล้วก็ควบคุมได้ในที่สุด อย่าให้มัน อย่าให้มันเป็นไปในทางที่จะเกิดความทุกข์ ให้มันเป็นไปแต่ในทางที่ไม่เกิดความทุกข์เลย นี่เขาเรียกว่าที่สุดแห่งความทุกข์คือความทุกข์มันหยุดไป เป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านใช้ว่าที่สุดแห่งความทุกข์ แต่ท่านจะพูดอย่างแบบชาวบ้านพูดก็เป็นลักษณะเหมือนกับโฆษณาให้เขาสนใจท่านก็พูดว่าความสุขเหมือนกัน เพราะว่ามีบาง บางที่บางแห่งท่านก็ตรัสว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง แต่โดยที่ทั่วไปท่านจะตรัสเรียกนิพพานว่าที่สุดจบแห่งความทุกข์ ไม่ได้พูดว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง ว่างจากอัตตาอย่างยิ่งเสียอีกแหละนิพพาน ว่างจากตัวตนอย่างยิ่ง ว่างจากความหมายแห่งตัวตนเป็นอย่างยิ่งนั่นแหละเป็นที่สุดจบแห่งความทุกข์ เมื่อชาวบ้านฟังไม่ถูกก็จะต้องดึงมาให้สนใจด้วยคำว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง แล้วมาปฏิบัติ เอ้า! ปฏิบัติๆ ปฏิบัติมันก็ดับทุกข์หมด ไอ้ความดับทุกข์หมดนั่นแหละคือจุดหมายปลายทาง จุดจบ จุดสิ้นสุด มันมีแค่นั้น แล้วคนชนิดนี้มันจะรู้สึกว่าสุขอย่างยิ่งไม่ได้หรอก มันว่าอ้อ! มัน ความทุกข์หมดแล้วเท่านั้นแหละที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ดังนั้นเราทำอย่างไรให้ชีวิตนี้ไม่ประกอบอยู่ด้วยความทุกข์นั่นแหละคือถูกต้อง ถ้าคุณคิดเอาเองได้ก็ยิ่งดี แต่ขอให้มันมีผลว่ามันไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น ฉะนั้นใครจะไปคิดเอาเองก็ได้แหละ ไปตั้งหลักปฏิบัติเอาเองก็ได้ถ้ามันดับทุกข์ได้จริงก็ถูกแหละ ถูกแน่แหละ ถูกเหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านสอน นี่ท่านไม่ได้ผูกขาดว่าต้องมาฟังจากฉัน ปฏิบัติอย่างที่ฉันแนะอะไรนี่ พระ พระพุทธเจ้าท่านไม่ทำอย่างนั้น แต่ท่านได้เล่าไว้ให้เสร็จโดยเรื่องความทุกข์จะเกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์จะดับไปอย่างไรนี่ ไปศึกษาเอาเองจากเรื่องปฏิจสมุปบาท ทั้งฝ่ายที่จะทำให้เกิดทุกข์และทั้งฝ่ายที่จะทำให้ทุกข์ไม่เกิด แล้วก็เข้าใจได้เองแหละว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างนั้น มันยากนะที่เราจะเอาไปรู้เอง แล้วรู้เหมือนกัน ตรงกัน เท่ากันนั้นมันยาก มันประหยัดเวลาไว้โดยการรับฟังของพระพุทธเจ้าเอามาศึกษาใคร่ครวญดู เอ่อ มันมีทางที่จะเป็นได้จริง ก็ลองปฏิบัติดู ลองปฏิบัติดู อ้าว! แล้วก็มันมีผลจริงๆ นี่จึงเชื่อพระพุทธเจ้า นับถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ร้องออกมาว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ด้วยตนเอง พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนไม่เคยนำให้ใครว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ นะอย่าเข้าใจผิดเหมือนชาวบ้าน ไอ้พอมันมาเล่าที่ว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ไม่ ไม่มีพระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ใครว่าเลย ผู้นั้นเขาว่าเขาเองนะ เมื่อเขามองเห็นนี้แล้วเขาว่าของเขาเอง ผู้ปฏิบัติได้รับผลของการปฏิบัติที่พอใจสุดขีด ไม่มีอะไรดีกว่านั้น จึงค่อยร้องออกมาว่าข้าพเจ้าถึงซึ่งพระพุทธเจ้า ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เป็นสรณะจนตลอดชีวิต พระพุทธองค์คือผู้สอน พระธรรมคือคำสอน พระสงฆ์คือผู้ปฏิบัติได้ ๓ อย่างนี้ข้าพเจ้าขอถือเอาเป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิต ร้องว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ตามความพอใจของเขา เดี๋ยวนี้ไม่ใช่อย่างนั้นนี่ พอเข้ามาก็จับตัวมาว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ บ้าที่สุดเลย อย่างฝรั่งมันไม่รู้อะไรจับมาถึงให้มันว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ นี่มันบ้าทั้งคนสอนและทั้งคนว่า เพราะมันไม่รู้ว่าว่าอะไร ฉะนั้นก่อนที่จะทำอย่างนี้มันควรจะทำอย่างอื่นมากกว่า คือบอกว่าคุณมีความทุกข์อยู่อย่างไร มีปัญหาอยู่อย่างไร เอามาแถลงกันให้แจ่มแจ้ง แล้วเราจะชี้ให้เห็นว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นเพราะเหตุนั้น เพราะเหตุนั้น แล้วก็ ไม่เชื่อก็ลอง ลองทำดู ถ้าจะไม่ให้เกิดทุกข์ก็คืออย่างนี้ๆๆ ยังไม่เชื่อ ไม่ต้องเชื่อ ก็ลองทำดูสิเดี๋ยวมันก็เชื่อแหละ พอมันทำแล้วมันดับทุกข์ได้จริงมันก็เชื่อ นี้เรียกว่าไม่งมงาย การปฏิบัตินี่งมงายไม่ได้ถ้างมงายมันก็ไม่ใช่ไอ้การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา นี่เราจะปฏิบัติเพื่อสกัดกั้นการเกิดแห่งความทุกข์ ก็ได้ มันมีอยู่รูปแบบหนึ่งแหละคือเป็นอยู่อย่างถูกต้องและสกัดกั้นความเกิดแห่งความทุกข์ แล้วก็ปฏิบัติเพื่อทำลายความทุกข์ที่มันเกิดอยู่จนเคยชินเป็นนิสัย นี่ก็อีกแบบหนึ่ง เราควรจะรู้ว่าเรากำลังทำอยู่ในแบบไหน แต่ว่าไอ้แบบที่ว่าทำไม่ให้เกิดความทุกข์ได้นั้นแหละมันจะ จะเป็นแบบที่ใช้ครอบไปหมดเลย เพราะมันหมายถึงมันไม่เกิดกิเลสอีกต่อไป ถ้าว่ามันปฏิบัติเพื่อกำจัดไอ้ความทุกข์ได้ ปฏิบัติชนิดที่ป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ได้นั่นมันย่อมหมายถึงว่ามันไม่เกิดกิเลสอีกต่อไป นั่นแหละมันจะรื้อถอนกันหมดเลยไอ้กิเลสที่เป็นความเคยชิน มันไม่ได้รับการเพิ่มมันก็ลด ลดลงไปเอง ลดลงไปเองเพราะการไม่เกิดกิเลสใหม่ๆ แต่ถ้าจะให้เร็ว ให้ตรง ให้จังๆตรงๆแล้วก็ดู....... (นาทีที่ 01.05.23 คำนี้ฟังไม่ชัดค่ะ) ความทุกข์ที่มันกำลังเกิดอยู่ จะพบว่ามันมาจากความไม่รู้คืออวิชชา ไม่รู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่รู้เรื่องปฏิจสมุปบาทไม่รู้เรื่องอะไรเหล่านี้ มันมีอวิชชา ภาวะที่ปราศจากความรู้ที่ควรจะรู้ อวิชชานั้นแปลว่าภาวะที่ปราศจากความรู้ที่ควรจะรู้ ไอ้ตัวนี้ร้ายกาจ ถ้ามันมาเกิดขึ้นได้เมื่อมีผัสสะอะไรก็ตามแล้วก็มันก็เดินผิดหมดแหละ มันก็เดินผิด ผิดจากทางที่จะสงบเย็น ไม่เป็นทุกข์ มันไปสู่ทางที่จะมีความทุกข์ เร่าร้อนเป็นไฟเป็นอะไรขึ้นมา เป็นนรกขึ้นมา รวมความแล้วพูดสั้นที่สุด คำว่าปฏิบัติคือมีสติทันเวลา มีสติอันเพียงพอและทันเวลานั่นแหละคือหัวใจของการปฏิบัติ ถ้าเรารู้สึกว่าสติไม่พอก็ไปฝึกสติ หรือสติไม่เร็วพอก็ฝึกให้มันเร็วพอ ไอ้เรื่องของการปฏิบัติมัน มันก็คือทำให้มีสติพอและเร็วทันเวลา แต่ถ้าเรื่องปริยัติแล้วก็เราเรียนเรื่องราย รายละเอียดของสิ่งเหล่านี้มากมายมหาศาลนะ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ มันเรื่องปริยัติ บางทีก็ไม่รู้จักเลือกเอามาใช้ แต่ถ้าเรื่องปฏิบัติมันก็เหลือนิดเดียว เช่น เรื่องปฏิจสมุปบาทนี่ถ้าจะศึกษากันแนวปริยัติแล้ว อู้ย! มากมายแหละ หลายปีก็ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องปฏิบัติก็มีสติเพียงพอทันแก่เวลา นั่นแหละปฏิจสมุปบาทจะเกิดขึ้นไม่ได้ในฝ่ายที่จะให้เกิดทุกข์ เกิดไม่ได้ มันเหลือนิดเดียวแหละมีสติทันเวลาในขณะที่มีผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คุณจะไม่จำประโยคนี้ไว้เหรอว่ามีสติเพียงพอทันเวลาในขณะที่มีปัด ผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เข้าใจมันให้ถูกต้องทุกคำนะ แล้วก็ท้าตะโกนให้ลั่นโลกไปเลยว่าคุณจะถือศาสนาไหนก็ตามใจคุณแหละ แต่ความดับทุกข์มีแต่อย่างนี้เท่านั้น คุณจะถือศาสนาคริสต์ อิสลามอะไรก็ตามแหละ คุณจะดับทุกข์ได้ด้วยการทำอย่างนี้เท่านั้นนะอย่างอื่นไม่มีหรอก แต่อย่างอื่นมีก็เป็นเรื่องกลบเกลื่อนความทุกข์แหละ ไปอ้อนวอนพระเจ้าหรือไปทำอะไรก็ตาม เป็นเรื่องกลบเกลื่อนความทุกข์ไปกว่าจะตาย ตายแล้วเลิกกัน นี่เราไม่ใช้วิธีกลบเกลื่อนความทุกข์หรอก เราจะทำไม่ให้มันเกิดขึ้นมาได้เลย นั่นมันจึงเป็นเรื่องโอหังจองหองอยู่มาก นี่คุณจะถือศาสนาไหนตามใจคุณ แต่ว่าความทุกข์มันต้องเกิดอย่างนี้แหละ แล้วความดับทุกข์มันต้องดับอย่างนี้ คุณทำเถอะเพื่อจะดับทุกข์ได้ จะเป็นคริสต์ เป็นพุทธ เอ้ย! จะเป็นคริสต์ เป็นอิสลาม เป็นไอ้ฮินดูเป็นอะไรก็แล้วแต่ มันต้องดับทุกข์อย่างนี้เท่านั้นโดยธรรมชาติ โดยกฎของธรรมชาติ
เอาแล้วเป็นอันว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรม ดับทุกข์ได้จริง เพราะรู้ความจริงของธรรมชาติในส่วนนี้ แล้วปฏิบัติถูกต้องต่อกฎของธรรมชาติในส่วนนี้ ก็สามารถควบคุมกระแสแห่งสังขาร กระแสแห่งการปรุงแต่งคือปฏิจสมุปบาท ควบคุมสายแห่งปฏิจสมุปบาทได้ไม่ให้เกิดทุกข์ แปลว่าการเดินทาง เดินเสร็จแล้ว ผู้เดินหามีไม่ คือไม่มีตัวตนที่เป็นผู้เดิน มีแต่จิตที่ปฏิบัติไปอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่มีตัวกูของกูที่เป็นผู้เดิน เป็นคำที่ฝรั่งแรกศึกษาพุทธศาสนาเขาสะดุดกันมากที่สุด แต่ว่ามันกลับมีผลดีคือเขาจะศึกษาต่อไปจนให้รู้ว่าทำไมจึงพูดว่าการเดินมี เดินแล้ว เสร็จแล้ว ถึงแล้ว แต่ผู้เดินหามีไม่ เพราะมันไม่มีตัวตน ไม่มีอัตตา ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลที่เป็นทุกข์จะดับทุกข์ มันมีแต่จิตอย่างเดียว อะไรๆมารวมอยู่ที่คำว่าจิตคำเดียว มันทำผิดมันก็เป็นทุกข์ ทำไม่ผิดมันก็ไม่เป็นทุกข์ นี่เรียกว่าพุทธศาสนา คำสอนของบุคคลผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่เรามาศึกษากันจนถึงกับลงทุนบวชเพื่อจะศึกษา ดังนั้นจึงหวังว่าควรจะทำให้มันได้รับผลคุ้มๆกัน นี่เวลาหมดแล้ว นานไปกว่า มันนานกว่าครั้งก่อน เอาแหละขอยุติการบรรยายในคืนนี้ไว้เท่านี้
(ตั้งแต่นาทีที่ 01.12.25 สนทนาธรรม)
ท่านพุทธทาส : ใช่ไหมคุณปรีชา มันเลยไป นี่มันเลยไปกว่า กว่าเป็นชั่วโมงๆ ไอ้เรามันพูดแล้วมันก็อยากจะพูดให้สิ้นกระแสความ มันชินอย่างนี้ ไม่ค่อยรักษาเวลา คุณมาจากวัดไหนกัน
ผู้ฟัง : ผมมาจากวัดชลประทานที่มาเมื่อวันที่
ท่านพุทธทาส : ไม่ใช่ในชุดนี้
ผู้ฟัง : ผมมา ที่มาพร้อมกัน 4 คน
ท่านพุทธทาส : อะไร พูดให้ดังกว่านั้นสิ คนแก่หูมันหนักเว้ย! พูดให้มันดังกว่านั้นสิ
ผู้ฟัง : ที่อาจารย์ว่าเมื่อสักครู่นี้ วิญญาณธาตุนี่เป็นธาตุของอะไร
ท่านพุทธทาส : เป็นธาตุตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง
ผู้ฟัง : เป็น ๑ ในขันธ์ ๕ ใช่ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : ไม่ใช่ นี่เขาหมายถึงวิญญาณธาตุไม่ใช่วิญญาณขันธ์ คนละคำ วิญญาณขันธ์นั่นเมื่อมันมาทำหน้าที่วิญญาณอยู่เรียกว่าวิญญาณขันธ์ ที่มันเป็นธาตุอยู่ตามธรรมชาตินั้นเรียกว่าวิญญาณธาตุ
ผู้ฟัง : มีตัวตนไหมครับ
ท่านพุทธทาส : ไม่ นี่ฟังไม่ถูก พูดตั้งกี่วันกันแล้วฟังไม่ถูก วิญญาณไม่ใช่ตัวตน วิญญาณเป็นเพียงธาตุตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง ๕ นั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นธาตุตามธรรมชาติ
ผู้ฟัง : วิญญาณขันธ์ ๕ ก็เป็นไม่ใช่ตัวตน
ท่านพุทธทาส : ไม่ใช่ตัวตน ก็ไม่ ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน
ผู้ฟัง : วิญญาณธาตุก็ไม่ใช่ตัวตน
ท่านพุทธทาส : เป็นภวธาตุ
ผู้ฟัง : ก็อยู่ในกฎไตรลักษณ์หรือครับ
ท่านพุทธทาส : ก็แน่นอนแหละ เป็นสังขารก็อยู่ในกฎของไตรลักษณ์
ผู้ฟัง : วิญญาณธาตุยังเป็นสังขาร
ท่านพุทธทาส : เป็นสิ ไม่มีอะไรนอกจากนิพพาน เป็นสังขารทั้งนั้น คือมีปัจจัยปรุงแต่ง ก็ถามดู ดูสิว่าวิญญาณขันธ์มันเกิดโดยปัจจัยปรุงแต่งใช่หรือไม่ ไม่เคยเรียน ไม่เคยเรียนนักธรรมเสียเลยมันก็เลยไม่รู้ไอ้ ไอ้หลักเบื้องต้นหรือพื้นฐานเลย ทุกอย่างเป็นสังขารเพราะมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง
ผู้ฟัง : ทำไมคนบอกผมมา มีจิตวิญญาณคือจิตล้วน คือจิต จิตที่เมื่อบริสุทธิ์แล้วมันจะเป็นธาตุที่คงอยู่ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ เขาบอกว่า
ท่านพุทธทาส : นั่นมันก็ลัทธิอื่น ถ้าพูดอย่างนั้นเป็นลัทธิอื่นไม่ใช่พุทธศาสนา ลัทธิอื่นสอนอย่างนั้นมี แต่ว่าในลัทธิที่ถูกต้องที่ของพวกเวทานตะเขาไม่เรียกว่าวิญญาณนะ อาตมันนะเขาไม่เรียกว่าวิญญาณนะ วิญญาณก็วิญญาณ นี้มาพูดกันผุดผิด ผิดๆถูกๆปนกันยุ่งในเมืองไทย ในภาษาไทย ในประเทศไทย
ผู้ฟัง : ผมจะพยายามทำความเข้าใจให้มากขึ้น
ท่านพุทธทาส : เอ้อ! ศึกษาให้มากขึ้น ศึกษาพื้นฐานให้มากขึ้น เพราะเรามันไม่เคยศึกษาพื้นฐานเสียเลย
ผู้ฟัง : อาตมันนี่คือจิตที่บริสุทธิ์
ท่านพุทธทาส : เอ้อ! พุทธศาสนาไม่มีอาตมัน ไม่มีอัตตา ในพุทธศาสนาไม่มีอะไรที่เป็นอาตมัน ถ้ามีอาตมันก็เป็นลัทธิฮินดู เป็นลัทธิฮินดู นั่นแหละเขามีอาตมัน ไปจบอยู่ที่อาตมัน ไปอยู่กับปรมาตมันอย่างถาวร พูดอย่างนั้นเป็นลัทธิฮินดู ฟังไม่ดีปนกันยุ่ง อายุยังน้อยคงเรียนให้รู้อย่างถูกต้องได้ ไม่ตายเสียก่อนสักวัน