...เราเจริญสติปัฏฐานเขียนกันมาอย่างนั้นนะ นี้โอวาทน่ะ โอวาทอะไร โอวาท...เปลี่ยนเป็นคำแนะนำบางอย่างบางประการ ดูโอวาทน่ะมันเยอะแยะเลย การบรรยายครั้งนี้ผมอยากจะพูดในลักษณะเป็นการแนะนำอะไรบางอย่าง คือว่าเราเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าจะเผยแผ่พระธรรมหรือพระศาสนาสนองพระพุทธประสงค์ มันก็ต้องมีหลักการ มีวิธีการ มีอะไรที่จะช่วยให้สำเร็จประโยชน์ตามนั้น ข้อนี้มันก็ขึ้นอยู่กับวิธีที่จะพูดจะอธิบายจะสอนจะอะไรต่างๆนี่ ให้มันสำเร็จประโยชน์นั่นเอง เท่าที่สังเกตเห็นตลอดมา มันไม่ค่อยจะสำเร็จประโยชน์ เช่นวิธีการสอนนักธรรมในโรงเรียนนักธรรม มันก็ยังไม่สำเร็จประโยชน์ มันเป็นการถ่ายทอดเหมือนกับเครื่องจักรเสียมากกว่า ผู้ฟังก็ไม่ได้รับรสของธรรมะเข้าไปในจิตใจ มันก็หยุดอยู่แค่ว่าได้ฟังและจำได้ และบางอย่างก็เข้าใจ ในส่วนความรู้สึกที่เป็นความรู้อันแท้จริง หรือ ยถาภูตสัมมัปปัญญา มันไม่มี เรียกว่าไม่มีดีกว่า มันมีแต่ความจำได้ กับความเข้าใจ ทั้งก็ยังไม่ได้ลองปฏิบัติดูด้วย ความรู้รสของธรรมะมันก็ยังไม่มี นี่ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ตรงตามหลักของพระธรรม ทีนี้ครู คุณครูเหล่านี้ก็เที่ยวสอนออกสอนแก่ประชาชน มันก็เป็นอย่างเดียวกันอีก มันไม่ได้พูดให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาในใจ รวมความแล้วก็คือคำว่าไม่สันทิฏฐิโก นั้นที่เราทำกันอยู่นี่ ธรรมะไม่เป็นสันทิฏฐิโก ถ้าไม่สันทิฏฐิโกมันก็คือไม่สวากขาโต คือไม่ใช่ธรรมะที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้ว ถ้ามันไม่เข้าไปถึงขนาดที่เป็นสันทิฏฐิโกแก่ผู้ฟังมันก็ไม่เป็นสวากขาโต คือไม่เป็นธรรมะนั่นเอง มันเป็นธรรมะในรูปแบบอื่น ไม่ใช่ธรรมะโดยตรงในพระรัตนตรัย ขอให้นึกถึงคำว่าสันทิฏฐิโกนี้ให้มากตามบทของพระธรรมคุณว่าสวากขาโตภควตาธมฺโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ตรัสไว้ดีแล้ว ต้องเป็นสันทิฏฐิโก คือผู้นั้นรู้สึกได้ด้วยความรู้สึกของตน แต่ท่านใช้คำว่าเห็น เห็นในลักษณะอย่างนี้ ในความหมายอย่างนี้ก็คือรู้สึก ไม่ใช่เห็นด้วยตา อ้าว, ถ้าเห็นด้วยปัญญา มันก็เห็นในความรู้สึกนั่นเอง ให้รู้สึกได้ด้วยตัวเองจึงจะเป็นสันทิฏฐิโก ที่เป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยเวลา แล้วก็สอนไปในลักษณะที่ประกอบด้วยเวลาไปเสียหมด แม้แต่ทำกรรมนี่ยังแจกไปเป็นกรรมเวลานั้น กรรมเวลาต่อไป กรรมในอนาคตติดตามไป และโดยเฉพาะพระนิพพาน นี่ก็สอนกันว่าอีกเท่าไร อีกกี่ชาติ กี่พันชาติ หมื่นชาติถึงจะถึงนิพพาน แล้วมันจะสันทิฏฐิโกอย่างไรได้ล่ะ เอหิปัสสิโกมันก็ไม่มีล่ะ เพราะมันไม่มีตัวจริงอยู่ที่นั่น น้อมเข้ามาใส่ตนก็ไม่ได้เพราะเขาไม่รู้สึกด้วยจิตใจนี่ ไม่อาจจะรู้สึกได้ด้วยจิตใจ แล้วก็ไม่มีผู้ใดรู้แจ้งเห็นแจ้งเฉพาะตนเลย เรียกว่าล้มเหลวหมดในกรณีที่เกี่ยวกับพระธรรม จึงขอให้ช่วยเอาไปคิดเอาไปนึกกันเสียใหม่ ในการที่จะทำอะไรที่เกี่ยวกับพระธรรม ขอให้สำเร็จประโยชน์ตามนั้น ถ้ามันล้มเหลวเกี่ยวกับพระธรรมล่ะก็ไม่ต้องสงสัย พระพุทธและพระสงฆ์ก็พลอยล้มเหลวเป็นโมฆะไปด้วย ถ้าพระธรรมมา มีมาอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ก็ไม่ต้องกลัว พระพุทธ และพระสงฆ์ก็มา ก็มาเต็มที่ นี่ขอให้ช่วยนำไปประชุมกัน ศึกษาหารือ ทดสอบค้นคว้าอะไรก็ตามน่ะ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ในเรื่องของพระธรรม ผมเคยพูดอยู่เสมอว่ามันน่าหัวอยู่มากทีเดียว ที่ว่าเรียนธรรมะแล้วก็ไม่รู้ธรรมะ เรียนบาลี เรียนนักธรรม เรียนพระไตรปิฎก เอ้า,ต่อให้ เรียนธรรมะแต่ก็ไม่รู้ธรรมะ คือไม่รู้ตัวจริงของธรรมะ มันเป็นการท่องจำฝากไว้ในความเข้าใจบ้าง ไม่ถึงกับรู้ธรรมะ
ทีนี้รู้ธรรมะแต่ไม่มีธรรมะ เรียนธรรมะแล้วไม่รู้ธรรมะนี่ขั้นตอนหนึ่งละ รู้ธรรมะแล้วก็ไม่มีธรรมะ บางทีเราเรียนรู้ธรรมะในความหมายสอบไล่ได้ เทศน์ได้พูดได้เต็มที่เลย แต่ในตัวบุคคลนั้นมันไม่มีธรรมะที่เป็นตัวจริงของธรรมะ เรียกว่ารู้ธรรมะและก็ไม่มีธรรมะ ทีนี้อีกขั้นตอนหนึ่งก็คือ มีธรรมะและไม่อาจใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ไม่ไปประยุกต์ ไม่เป็นประโยชน์อะไรได้ มีธรรมะชนิดที่ยังไม่เป็นประโยชน์ เหมือนกับเรามีเครื่องไม้เครื่องมือศาสตราอาวุธอะไร เรามีๆ แต่เราไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ นี่ช่วยนำไปพิจารณาดูว่าเป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่งหรือไม่ในหมู่พุทธบริษัทเรา เรียนธรรมะแล้วก็ไม่รู้ธรรมะ รู้ธรรมะอย่างที่กำหนดบัญญัติว่ารู้ แต่ไม่มีตัวธรรมะแท้จริงในบุคคลนั้น ถ้ามันเป็นการปฏิบัติ และผลการปฏิบัติได้รับอยู่ ถึงจะเรียกว่าธรรมะ นี้บางทีก็มีธรรมะ มีธรรมะ แต่มีชนิดที่มันไม่ค่อยจะเป็นประโยชน์แก่ตนเองหรือแก่ผู้อื่น นั้นเราจึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมอย่างเป็นที่น่าพอใจหรือมีความมั่นคง นี่คือความไม่เป็นสันทิฏฐิโก ทุกเรื่องที่นำมาเรียน นำมาสอน เข้าใจว่าเคยเรียนกันมาแล้วทั้งนั้น บางทีก็เคยเป็นครูสอนด้วย สอนธรรมโอวาทน่ะสอนอย่างไร และมันได้ผลอย่างไร เพียงเท่าไร ไม่สำเร็จประโยชน์อย่างที่ว่านี้ คือไม่รู้ธรรมะ ไม่มีธรรมะ ไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ก็จะต้องปรับปรุงกันเสียใหม่ เรียนบาลีมันก็ไม่ได้เรียนธรรมะโดยตรง แต่มันเป็นอุปกรณ์การศึกษาธรรมะ มันก็เป็นเพียงแค่อุปกรณ์ ยังไม่สำเร็จประโยชน์ด้วยเหมือนกัน นั้นขอให้ตั้งอกตั้งใจมีแผนการทำกันใหม่ ให้รู้ธรรมะ ให้มีธรรมะ ให้ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ แล้วคงจะมีผลดีกว่าที่เป็นอยู่ คือเราผู้เรียนน่ะ แม้ว่าจะต้องลาสิกขา แต่เมื่อยังไม่ลาสิกขานี่ มีธรรมะแท้จริงพอตัว ดีตรงที่ว่าจะมีความสุข มีความสุขอันเกิดจากธรรมะนั่นแหละ แม้จะลาสิกขาไปมันก็ติดไปด้วยแน่นอนล่ะ ถ้ามีธรรมะชนิดนี้ เพราะมันอยู่ที่จิตใจ อยู่ที่การปรับปรุงจิตใจให้เปลี่ยนไปอยู่ในสภาพที่ไม่มีความทุกข์ หรือเป็นทุกข์ไม่ได้ มันมีความสามารถที่จะควบคุมไว้ไม่ให้เกิดความทุกข์ได้ นี่ส่วนเราเอง แล้วเราก็จะสามารถสอนประชาชนให้เป็นอย่างนั้นไปด้วย ทีนี้ธรรมะมันก็เข้าไปตั้งมั่นเป็นสถาบันของมันเลย อยู่ในหัวใจของประชาชน ก็เป็นอันว่าพระศาสนานั่นแหละตั้งมั่นลงไปในหัวใจของประชาชนทุกคนๆ มันก็ถึงที่สุดแล้ว ตรงตามพระพุทธประสงค์แล้ว นั้นคำว่าสถาบันนี่ผมก็อยากจะขอร้องให้ช่วยคิดนึกในความหมายของคำๆนี้ด้วย เรามักจะมีสถาบันกันแต่ในทางภายนอก เป็นสถาบันที่ตั้งอยู่บนดิน อย่างนี้ไม่ใช่สถาบันแล้ว สถาบันที่ตั้งอยู่บนดินนั้นไม่ใช่สถาบัน ถ้ามันจะเป็นสถาบันที่แท้จริงมันต้องตั้งอยู่ในหัวใจมนุษย์โน่น ตั้งมั่นอยู่ในหัวใจมนุษย์โน่น ถึงจะเป็นสถาบัน สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันมหากษัตริย์ ถ้ามันอยู่ที่ๆเนื้อตัวคน หรืออยู่ที่แผ่นดิน ยังไม่เป็นสถาบันหรอก พูดกันแต่ปากเปล่าๆ จนกว่าเมื่อไรมันเข้าไปตั้งอยู่ในหัวใจคนได้ เมื่อนั้นมันถึงจะเป็นสถาบันขึ้นมา มันกลายเป็นธรรมะขึ้นมา เป็นคุณธรรมขึ้นมา และก็ไปตั้งอยู่ในหัวใจของบุคคลที่เกี่ยวข้อง นี่ถ้าคุณค่าหรือความหมายของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มันเข้าไปลงรากอยู่ในหัวใจของประชาชน เมื่อนั้นแหละเราถึงจะเรียกว่ามี เรามีสถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันมหากษัตริย์ที่แท้จริง ถ้ามันยังมีแต่เพียงวัตถุหรือสัญลักษณ์ หรืออะไรอยู่นี้ มันก็ตั้งอยู่ข้างนอก ตั้งอยู่บนดิน หรืออยู่ที่ตัวบุคคล มันก็เข้าไปในจิตใจของประชาชนไม่ได้ นี่คำว่าสถาบัน ไปยืมคำสันสกฤตมาใช้ มันก็คือ ถาปนะ หรือ ถาบัน ในภาษาบาลีเรา นั้นเราจะต้องทำจนธรรมะประทับลงไปในจิตใจของประชาชน เรียกว่าธรรมะตั้งสถาปนะ ตั้ง ตั้งอยู่ ตั้งทัพ ตั้งลงไปในหัวใจของประชาชน ก็มีธรรมะ มีศาสนา มีพระธรรม มีพระศาสนาอยู่ในหัวใจของประชาชนทุกคนนี่ แล้วลองคำนวณดูเถอะว่ามันมั่นคงเท่าไรเล่า คนกี่ล้านๆคนล้วนแต่มีหัวใจถูกประทับอยู่ด้วยสิ่งนี้คือพระธรรม เมื่อพระธรรมแท้จริงอย่างที่ว่า สันทิฏฐิโก อกาลิโก ต่างๆ แท้จริงอย่างนี้ เข้าไปประทับอยู่ในหัวใจ ตั้งมั่นอยู่ในหัวใจของประชาชนแล้ว ไม่ต้องสงสัยแล้ว พระพุทธและพระสงฆ์ก็ไปเองๆ ไปโดยอัตโนมัติ ตามๆไปเองน่ะ เดี๋ยวนี้มันมีแต่สถาบันที่ปากพูดนี่ อย่างมากก็สถาบันที่ปากพูด และบางทีมันอยู่ที่โบสถ์วิหารลานวัดกันเสียมากกว่า มันไม่เข้าไปตั้งอยู่ในจิตใจของประชาชน เรียกว่าเราไม่มีพระรัตนตรัยที่เป็นสถาบันอยู่ในจิตใจของประชาชน มีอยู่ตามข้างนอก แล้วก็ไปเน้นหนักในเรื่อง อะไรน่ะ ศาสนพิธี ศาสนบุคคล ศาสน อะไรก็ไม่รู้ ผมไม่ค่อยจำหรอก เพราะผมไม่ค่อยชอบ ถ้ามันอยู่ข้างนอกอย่างนี้ ไปเน้นหนักกันแต่เรื่องศาสนบุคคล ศาสนวัตถุ ศาสนพิธี ศาสนอะไรอีกกี่อย่างที่ไปพูดกันนัก อย่างนี้ไม่ใช่สถาบันหรอกเพราะมันตั้งอยู่ข้างนอก ถ้าสถาบันจริงต้องไปตั้งอยู่ในจิตใจของประชาชน บนจิตใจของประชาชน ถ้ามันมีกันอยู่แต่ข้างนอก มันก็มีสัญลักษณ์นะ สัญลักษณ์ของพระธรรม กลายเป็นสถาบันได้ยังไง อย่างโบสถ์หลังหนึ่ง วัดหลังหนึ่งนี่จะเป็นสถาบันอะไรได้ล่ะ มันไม่ใช่ตัวธรรมะที่จะเข้าไปตั้งอยู่ในจิตใจของประชาชน นี่ เรียกว่ามันแขวนอยู่กับความไม่มั่นคง ความไม่มีรากฐานที่มั่นคง มันจะลำบากในอนาคตแหละ ถ้ามัวแต่เน้นกันอยู่แต่ที่ศาสนพิธี ศาสนวัตถุ ศาสนบุคคลอย่างที่พูดๆกันอยู่ เพราะนั้นขอให้มีธรรมะที่เป็นสันทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก โดยครบถ้วนนี้อยู่ในจิตใจของบุคคล มีธรรมะอยู่ในจิตใจของบุคคลจึงจะเรียกว่ามีธรรมะอยู่ในโลกนี้ ถ้าอยู่แต่ในวัดหรือในโบสถ์มันก็ไม่อยู่ในจิตใจของบุคคล แล้วบางทีก็ไม่มี มเรื่องนี้เดี๋ยวเราค่อยพูดกันถึงเรื่องตัวธรรมะแท้ๆ น่ะมันจะอยู่ที่ไหน หรือจะพูดไปเลยก็ได้เพราะมันเนื่องกัน ผมตั้งใจจะเสนอความคิดเห็นเรื่องนี้ให้พวกเราทุกคนเอาไปพิจารณาดู เพราะว่าการที่เราจะทำให้เขารู้จักธรรมะนั่นน่ะ เราจะทำอย่างไร ถ้าทำให้เขารู้จักธรรมะไมได้ มันก็ไม่มีใครที่จะมีธรรมะโดยแท้จริง มันมีแต่ปากพูดมีแต่เสียงร้องมีแต่ตัวหนังสือ หรือมีแต่สัญลักษณ์เป็นอย่างมาก ขอให้ตั้งปัญหาที่ว่าทำอย่างไรประชาชนถึงจะมีธรรมะ เอ้า,ก็ขอถือโอกาสพูดกันตรงนี้เลยว่าธรรมะนั้นมันคืออะไร
ในโรงเรียนนักธรรมเราก็พูดกันแต่ว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าบ้าง ธรรมะคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วนำมาสอนบ้าง คู่กับพระสงค์ที่รู้และปฏิบัติตาม พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้พระธรรมแล้วก็มาสอน เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นความรู้ชนิดที่สำหรับท่องจำไปหมด ได้ยินได้ฟังทางหูเท่านั้นเอง แล้วทายกทายิกาของเราไม่รู้ ไม่เคยคิด และไม่กล้าคิดว่าธรรมะนั่นมันยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า สูงกว่าพระพุทธเจ้าจนพระพุทธเจ้าต้องเคารพ และมันยิ่งกว่านั้นก็คือว่ามันมีอยู่ก่อนพุทธศาสนา ก่อนจะมีพุทธศาสนาหรือศาสนในอินเดียเกิดขึ้นน่ะ มันมีคำว่าธรรมะนี่ใช้มาแล้วในความหมายที่สำคัญที่สุด ธรรมะคำนี้ที่ไม่ได้เกี่ยวกับพระรัตนตรัยในพระพุทธศาสานาน่ะ เป็นกลางโดยทั่วไปหมดนั่นน่ะ มันแปลว่าหน้าที่ๆ ซื้อดิคชันนารีในประเทศอินเดียมาดู ที่เขาพิมพ์เป็นอักษรอินเดียด้วยก็ยิ่งดี จะได้รู้ว่าชาวอินเดียเขามีความหมายสำหรับคำๆนี้ว่าอะไร ดิคชันนารีที่เป็นกลางน่ะ มันจะแปลคำธรรมะว่าหน้าที่ คือ duty ใช้คำสั้นๆว่า duty ธรรมะคือ duty ตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักสิ่งที่เรียกว่า duty หรือหน้าที่ในภาษาไทย และธรรมะในภาษาอินเดีย พอเขาเริ่มรู้จักไอ้สิ่งนี้ก็เลยเรียกมันว่าธรรมะขึ้นมา ธรรมะคือหน้าที่ นั้นก็เลยถือเป็นหลักสำคัญของมนุษย์เราคือหน้าที่ๆ นั้นเมื่อใดมีการทำหน้าที่ เมื่อนั้นมีธรรมะ โดยที่ไม่ต้องเรียนในโรงเรียน มันก็ทำหน้าที่ๆ แล้วมันก็มีธรรมะ นี่เราควรจะบอกทายกทายิกาของเราให้รู้ขึ้นมาถึงขนาดนี้ว่าธรรมะมันคือหน้าที่ หน้าที่ของใครล่ะ หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต ระบุให้ชัด ธรรมะคือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต นั้นถ้าไม่รู้จักหน้าที่ ไม่ได้ทำหน้าที่มันตายนะ มันโทษถึงตาย ทำเล่นกับธรรมะสิ ไม่มีธรรมะก็คือไม่มีหน้าที่ ไม่มีหน้าที่มันก็คือตาย ถึงจะรอดอยู่ได้ก็อย่างน่าทุเรศ ไม่ ไม่มีความผาสุกอะไรเลย เลยให้เข้าใจลึกลงไปถึงความหมายอันแท้จริงของคำว่าธรรมะ ซึ่งมนุษย์รู้จักก่อนมีศาสนาด้วยซ้ำไป ศาสนาเพิ่งก่อรูปเพิ่งประมวลกันเป็นรูปเป็นโครง แต่มนุษย์เริ่มรู้จักหน้าที่และใช้คำพูดคำนี้พูดจากันอยู่แล้ว และในฐานะเป็นธรรมะ เป็นระบบหนึ่งๆ ตามแต่เจ้าลัทธิผู้นั้นเขาจะสอนว่าหน้าที่นั้นคืออย่างไร มันก็เลยมีมากหลายระบบ แต่ระบบที่ประชาชนเห็นด้วยนั้น มันตั้งอยู่ มันดำรงอยู่ และอยู่เรื่อยมา ซึ่งผมก็กำลังพูดอยู่ เรียกว่าปีนี้พูดเรื่องนี้มากที่สุด หน้าที่ก็คือสิ่งที่มีชีวิต นั่นคือธรรมะ ช่วยพิจารณาดูว่ามันจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นสักกี่มากน้อยในการที่ประชาชนจะมีธรรมะจริงๆกันเสียที ต้นไม้ต้นไร่นี่ก็มีชีวิต นั้นต้นไม้นี่ก็ต้องมีธรรมะของต้นไม้คือทำหน้าที่ของต้นไม้ ซึ่งเว้นไม่ได้ ต้นไม้จะต้องดูดน้ำขึ้นไป ดูดแร่ธาตุขึ้นไป เมื่อมีแดดส่องก็ทำปฏิกริยาทางเคมีให้สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นที่จะสสารบำรุงใบ บำรุงเปลือก บำรุงต้นเป็นต้นเจริญงอกงาม นี่หน้าที่ ลองไม่ทำต้นไม้ต้นนั้นก็ตาย นี่มันๆสำคัญ เด็ดขาดเท่าไร ไอ้สิ่งที่เรียกว่าธรรมะคือหน้าที่ ทีนี้สัตว์เดรัจฉานก็มีชีวิต มันต้องทำหน้าที่ทุกอย่างน่ะในระดับสัตว์เดรัจฉาน มันต้องหาอาหารกิน นั่นน่ะเป็นแน่นอน แล้วมันต้องกิน แล้วมันต้องทำหน้าที่ทุกอย่างน่ะที่มันจะบริหารร่างกายชีวิต ทำหน้าที่ต่อสู้ต่ออันตรายหนีภัยอะไรก็ตามใจ อะไรน่ะเป็นธรรมะหมด ธรรมะสำหรับสัตว์เดรัจฉาน ลองไม่ทำ มันตายเหมือนกันน่ะ
ทีนี้ก็มาถึงคนเรา ก็มีหน้าที่สำหรับที่จะให้มันรอดชีวิต หน้าที่ ทางรอดที่หนึ่ง คือ รอดชีวิต แล้วต้องทำมาหากินยังไง ประกอบอาชีพทำมาหากิน ทำนาทำสวนค้าขาย ก็แล้วแต่แหละ มันต้องทำหน้าที่เพื่อมีอาหารกิน แล้วก็ต้องทำหน้าที่กิน แล้วก็ทำหน้าที่ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ บริหารร่างกาย ให้ปัจจัยทั้ง ๔ เกื้อกูลต่อการมีชีวิต รอดชีวิตอยู่ได้ตลอดเวลา นี่เรียกว่าหน้าที่ ให้มันละเอียดลงไปๆ เป็นหน้าที่ที่ละเอียดลงไป ต้องนอนต้องพักผ่อน พักผ่อนนี่ก็มันก็เป็นหน้าที่ อย่าๆๆไปละเมอเสียว่าไอ้พักผ่อนนั่นมันไม่ใช่หน้าที่ ที่ว่าเป็นเวลาที่เสียเปล่า การพักผ่อนมันเป็นหน้าที่ต้องพักผ่อน ถ้าไม่พักผ่อนมันไม่มีเรี่ยวแรงที่จะทำหน้าที่อันอื่น เพราะนั้นเราต้องให้ความพักผ่อนที่ถูกต้องทั้งทางกายและทั้งทางจิต ทีนี้กายและจิตก็จะมีสมรรถนะสำหรับจะทำอย่างอื่นตามหน้าที่ เพราะนั้นการงานก็เป็นหน้าที่ การพักผ่อนก็เป็นหน้าที่ ทีนี้การงานก็รวมหมดน่ะ การศึกษา การอะไรก็ตามที่จะทำให้มันดำรงชีวิตอยู่ได้ แม้ที่สุดแต่ว่าคันขึ้นมาก็ต้องเกาใช่ไหม มันจะกลายเป็นของน่าหัวไป ถ้ามันคันขึ้นมามันก็ต้องเกาน่ะแหละ มันก็ทนอยู่ไม่ได้ มันก็ทำหน้าที่ เพราะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่จะให้ดำรงอยู่ได้ ธรรมะคือหน้าที่เพื่อรอดชีวิตอยู่ได้ อันแรก เพราะธรรมะคือหน้าที่ แล้วก็จะรอดจากสิ่งที่มันสูงไปกว่านั้นคือรอดจากกิเลส รอดจากความทุกข์ รอดจากวัฏสงสาร รอดไปถึงพระนิพพานน่ะ หลุดรอดไปถึงพระนิพพาน นี่มันรอดอันที่สอง อันที่หนึ่งรอดจากความทุกข์ เอ๊ย,รอดจากความตายน่ะ รอดจากชีวิต อันที่หนึ่งรอดจากชีวิต รอดจากความตาย อันที่สอง รอดจากไอ้ปัญหาอันละเอียดลึกซึ้ง คือ กิเลสตัณหาทั้งปวง รอดจากวัฏสงสาร ลุ บรรลุถึงนิพพาน ไอ้ประโยคนั้นที่สุนทรภู่เขาว่า รู้รักษาตัวรอดเป็นปอดดีนั่นน่ะ ผมว่าถูกที่สุดเลย แต่ประโยคนี้ถูกเอาไปเล่านะ ถูกนักปราชญ์เมืองไทยบางคนเอาไปเล่า รู้จักรักษาตัวรอดต้องเห็นแก่ตัวอย่างเดียว เป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ยอดความดี แต่ผมว่ายอดของความดี ให้รู้รักษาตัวรอดนั่นแหละ รอดจากตาย รอดจากกิเลส รอดจากวัฏสงสาร ไปนิพพาน เพราะนั้นการรู้รักษาตัวรอดมันเป็นยอดดี แล้วอย่าลืมว่า รู้สึกเคยบอกแล้วว่าทุกศาสนามีจุดหมายปลายทางเป็นความรอดด้วยกันทั้งนั้นเลย ทุกศาสนาเลยไปดูเหอะ ทุกศาสนาที่มันเข้ากันไม่ค่อยจะได้นั่นแหละ แต่ในที่สุดมันจะมีคำพูดคำหนึ่งซึ่งตรงกันหมด จุดหมายปลายทางคือรอด รอดไปอยู่กับพระเจ้า หรือรอดไปอยู่กับปรมาตมัน รอดไปอยู่กับอะไรก็สุดแท้แต่ แม้แต่ศาสนาวัตถุนิยมมันก็รอดจากไอ้ความอดอยากยากเข็ญไปอยู่กับความผาสุกสบาย ให้ๆๆๆให้สังเกตกันไว้ในตอนนี้ว่าทุกศาสนามุ่งหมายความรอด มักจะใช้คำว่า -aion (นาทีที่31.35-31.37) รอดออกไปได้
ทีนี้ก็วกมาดูถึงหน้าที่ หน้าที่ก็เพื่อให้รอดทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่หน้าที่เพื่อการอื่นใด หน้าที่เพื่อให้รอด นั้นหน้าที่ก็จำเป็นที่ต้องมี คือเป็นตัวธรรมะ หรือเป็นตัวศาสนานั่นเอง เป็นการปฏิบัติเพื่อมันให้เกิดความรอด นั้นถึงจะมองให้มันต่ำลงมาถึงวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอารยธรรมอะไรก็ตามเถอะ มันเพื่อความรอดทั้งนั้นแหละ ดูให้ดีเถอะ แม้ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมืองบ้าๆบอๆ นี่ก็เถอะ มันก็มุ่งหมายต่อความรอดอย่างใดอย่างหนึ่งที่มันมองเห็นอยู่ ปัญหาทางเศรษฐกิจนี่มันบีบคั้นนัก ก็ต้องทำให้รอดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ นั้นวิชาเศรษฐกิจมันจึงมุ่งหมายเพื่อความรอดจากปัญหาที่จะมาจากเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง เรื่องอะไรก็ตามในโลกนี้ หรือสังคมศาสตร์ทั้งหลายมันก็เพื่อความรอดด้วยกันทั้งนั้น นั้นคำว่ารอดมันจึงเป็นคำครอบจักรวาลหมดเลย แล้วคำว่ารอดนี่มันขึ้นอยู่กับหน้าที่ ถ้ามันไม่มีหน้าที่มันก็ไม่รอด มันตาย แล้วคำว่าหน้าที่นี่มันก็คือว่าคำว่าธรรมะในภาษาอินเดียที่เรารับเอามา นี้ผู้ฟังก็ควรจะมองเห็นทันทีว่า โอ้,ไอ้ตัวธรรมะนี้มันช่างกว้างขวางใหญ่หลวงครอบงำหมดไม่มียกเว้นอะไรทีเดียวนั่น เขาก็จะได้พอใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ โดยจิตใจโดยแท้จริง แล้วมันก็ง่ายที่จะมีธรรมะ ให้เขาทำหน้าที่เถิด นั่นน่ะคือธรรมะ แม้แต่หน้าที่หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็ธรรมะส่วนหนึ่งแหละ นั้นการที่ชาวนาเขาไถนาอยู่กลางนานั่นน่ะ คือเขาประพฤติธรรมะของชาวนา ชาวสวนทำสวนอยู่ก็คือเขาประพฤติธรรมะของชาวสวน ถ้าพ่อค้าเขาค้าขายอยู่ แม่ค้าค้าขายอยู่ อย่างๆ อย่างที่เรียกว่าค้าขายสุจริตนะ เขาก็มีธรรมะของคนค้าขาย เขาเป็นกรรมกรทำหน้าที่ของกรรมกรกันอย่างสุจริต เขาก็เป็นผู้มีธรรมะของกรรมกรนั่น เขาอาจจะแจวเรือจ้างอยู่ก็ได้ ถีบสามล้ออยู่ก็ได้ ล้างท่อถนนอยู่ก็ได้ กระทั่งว่าเขานั่งขอทานอยู่ ขอทานเขานั่งขอทานอยู่ ก็ดูดีๆสิอย่าไปดูหมิ่นดูถูกอะไรเขา เขากำลังปฏิบัติธรรมะในฐานะเป็นหน้าที่ของเขา โดยที่สภาพต่างๆ มันบังคับให้เขาต้องทำอย่างนั้น เขาก็ไปนั่งขอทานอยู่อย่างถูกต้อง มีธรรมะของคนขอทานเป็นเครื่องช่วยเขา เมื่อเขาทำหน้าที่นี้ไปโดยถูกต้องไม่เท่าไร เขาก็พ้นจากสภาพขอทานก็เรียกว่ารอดเหมือนกันแหละ รอดคำเดียวกันนั่นแหละ รอดคำเดียวกับที่เราเรียกว่าวิมุตติ หรือ (นาทีที่ 35.12-35.14) มันรอดออกมาได้จากภาวะของความเป็นคนขอทาน ไม่เท่าไรเขาก็จะรอดจากความเป็นภาวะของคนล้างท่อถนน ถีบสามล้อ แจวเรือจ้างอะไรก็ตาม มันก็รอดขึ้นมา มันก็รอดขึ้นมาตามลำดับแหละ กรรมกรก็รอดพ้นจากภาวะกรรมกร ชาวนาชาวสวนก็พ้นขึ้นไปเป็นภาวะของไอ้คนที่มันอยู่อย่างเป็นผาสุก คำประหลาดๆในพระบาลีสูตรหนึ่งคือคำว่า โวหาระ โวหาระ นั้นแปลว่าการค้านะ ไม่ใช่แปลว่าโวหารพูด ในปาติโมกข์ก็มีใช้ รูปิยสังโวหารัง รูปิยสังโวหารัง (36.06) ไอ้โวหาระคำนี้แปลว่าทำการค้าเพื่อผลมากกว่าทุนที่ลงไป ทำการค้าด้วยรูปียะ รูปียะคือเงินตราที่ใช้อยู่ในประเทศ แต่ในพระบาลีสูตรนั้น โวหาระหมายถึงชีวิตตลอดเวลา เป็นชีวิตโวหาระ เป็นการลงทุนค้าของสิ่งที่มีชีวิต สิ่งมีชีวิตมีชีวิตแล้วจะต้องใช้มันลงทุนเพื่อผลอันสูงสุดจากชีวิตนั้นเอง นั้นเขาจึงทำทุกอย่างน่ะ ชาวนาชาวสวนชาวอะไร ทำเรื่อยไปๆ เป็นการลงทุนค้ากันด้วยชีวิต กระทั่งเจริญๆๆจนเรียกว่าถึงที่สุด แต่มันเป็นเรื่องฝ่ายโลก เช่นว่า คนๆนี้เขาทำหน้าที่ของเขาครบหมดแล้ว มีทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศชื่อเสียง มีบริวารมีอะไรครบถ้วนแล้ว ในสูตรนั้นอ่านดูแล้วก็ฟังได้ว่าเป็นธรรมเนียม เมื่อคนสูงอายุคนนี้ได้ทำมาอย่างนี้แล้ว ถึงที่สุดอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่า สมุจเฉทโวหาโร (นาทีที่ 37.31) มีโวหาระอันเป็นสมุจเฉทแล้ว ทีนี้เขาก็นุ่ง นุ่งขาวห่มขาว มีร่มขาว มีรองเท้าขาวอะไรเที่ยวตามสบายใจเลย ไปเที่ยวตามสถานที่พักผ่อนต่างๆ เที่ยวตามสบายใจ ไม่ต้องทำงานอะไรอีกแล้ว ให้ลูกหลานทำแล้ว ยกให้ลูกหลานทำแล้ว นี่ เป็นผู้มีโวหาระแห่งชีวิต ถึงที่สุดแล้ว อย่างเขาไปลองดีกับพระพุทธเจ้า จนกระทั่งพระพุทธเจ้าท่านก็ว่าโอ๊ย,นั่นมันเรื่องเด็กๆ ไอ้โวหาระ สมุจเฉทะอย่างนั้นนะ อย่างที่เมื่อไอ้นายคนนี้เขาถามว่าในๆๆธรรมวินัยนี่เป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าก็ตรัสแต่ธรรมะเรื่องสิ้นกิเลส ธรรมะเป็นลำดับๆไปถึงเรื่องสิ้นกิเลส เมื่อสิ้นกิเลสน่ะถึงจะเป็นสมุจเฉทโวหาโร มีสิ้นสุดแห่งการค้าขาย คือเป็นพระอรหันต์นั่น เขาจึงยอมแพ้แลเห็นว่าเป็นคนละเรื่องคนละตอน อันนั้นมันจบในเรื่องฝ่าย ฝ่ายวัตถุฝ่ายร่างกายฝ่ายโลกนี้ แต่ของพระพุทธเจ้านั่นมันฝ่ายเหนือโลก นั้นเราก็ควรจะรู้ไว้ ว่าเขาเคยมีหลัก หลักการ หรือหลักเกณฑ์อย่างนี้กันมาแล้ว ไอ้ชีวิตนี้เป็นการลงทุนเพื่อความรอดพ้นในที่สุด ถ้าพูดอย่างโลกๆ ก็พ้นๆๆ อย่างโลกๆ พ้นจากไอ้โลกียโวหาโร โลกียปัญหา ถ้าเป็นอย่างสูงก็พ้นจากโลกุตตระ ปัญหาๆที่เกี่ยวกับโลกุตตระก็เป็นความรอดเหมือนกัน นั้นถ้าเรามองเห็นไอ้ความจริงข้อนี้ เราหลับตาก็มองเห็น ไม่ต้องลืมตาแล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่หลับตาจึงจะมองเห็น ถ้าลืมตามองไม่เห็น ไอ้ว่าทุกชีวิตนั้นมันกำลังเดินไปๆ มันวิวัฒนาการไปกว่าจะถึงจุดรอดของมัน อันนั้นเป็นหน้าที่ เป็น duty อันนั้นแหละ คือ ตัวธรรมะ ก็ขอให้ทุกคนมี ถ้าเราเป็นนักเรียน เป็นนักศึกษานี่ ไอ้นี่กำลังเป็นไอ้ตัว duty เป็นตัวธรรมะของนักเรียนของนักศึกษา ก็เรียนให้ดีที่สุด ให้มันสนุกไปเรื่อย มันก็จะพ้นไปได้ จะรอดไปได้จากปัญหาที่เกี่ยวกับการเรียนการศึกษา นั้นก็นำไปสู่ปัญหาของการปฏิบัติ ก็ถ้ามันรอดพ้นไปได้มันก็บรรลุผลของการปฏิบัติ มันก็เป็นที่สมบูรณ์ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือเป็นพระอรหันต์ เป็นมนุษย์ที่เต็มความเป็นมนุษย์
นี่ผมต้องการเพียงว่าจะให้สังเกตข้อความในพระบาลีทั้งหลายที่เรามาใช้ๆๆๆพูดใช้สอนกันอยู่ แล้วด้วยคำว่าธรรม หรือธรรมะเพียงคำเดียว เราเคยถือเอาความหมายของคำว่าธรรมะในลักษณะอย่างนี้ๆ หรือเปล่า ตั้งแต่เราเรียนนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก เป็นครูสอนเป็นอะไร เป็นอะไรก็เทศน์สอนกันอยู่แต่ในเรื่องธรรมะแหละ แล้วได้ชักนำประชาชนให้เขาเข้าถึงความหมายของคำว่าธรรมะในลักษณะอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าไม่ถึงเรียกว่ามันยังห่างไกลกันนัก เราไม่รู้ว่าแม้แต่คำพูดคำเดียวที่เป็นคำสำคัญอยู่ในพระไตรปิฎก จะเรียกเป็นคำสำคัญที่สุดก็ได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นได้เห็นธรรม มันจะไม่ให้สำคัญอย่างไรเล่า ได้เห็นธรรมะก็คือเห็นพระพุทธเจ้า แต่เดี๋ยวนี้ให้เห็นธรรมะในลักษณะที่เป็นหน้าที่ และทำหน้าที่ แล้วก็รอด ครั้นรอดแล้วจึงจะรู้จักพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ อันนี้แปลกมาก ค้นพบในพระบาลี เอามาใส่ไว้ในเรื่องอริยสัจจากพระโอษฐ์ เขาพิมพ์เมื่อไรลองหาอ่านดู คนเราจะรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วเท่านั้นแหละ ถ้าไม่ถึงนั่นมันก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามทัศนะเท่านั้นแหละ ตาม philosophy เท่านั้นแหละ ไม่ใช่ด้วยสัมมัปปัญญาโดยแท้จริง เป็นพระอรหันต์แล้วรู้จักกิเลส รู้จักความพ้นจากกิเลส ความสิ้นจากกิเลส เมื่อนั้นถึงจะรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริง ถ้าพูดกันตามที่พูดๆกันอยู่โดยทั่วไปก็รู้จักสรณาคมโดยแท้จริง เดี๋ยวนี้ประชาชนทั้งหลายรู้จักสรณาคมเพียง philosophy ใช่ไหม ต้องคำนวณพระพุทธเป็นอย่างไร พระธรรมเป็นอย่างไร พระสงฆ์เป็นอย่างไร ซึ่งครูบาอาจารย์สอนให้คำนวณไปตามนั้น มันไม่ใช่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อันแท้จริง และที่มันยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็คือคำว่าศรัทธา ที่เรามีศรัทธานั่นน่ะ ในพระบาลีกลับเอาไปไว้สุดโต่ง แปลว่าศรัทธาเป็นเบื้องต้น ศรัทธาเป็นทำบุญทำทานทำศีล ดึงเข้ามาหาศาสนาประพฤติปฏิบัติศรัทธาเป็นตัวต้น มันก็ศรัทธา philosophy ศรัทธาที่ขึ้นอยู่กับการคำนวณ ขึ้นอยู่กับการคาดคะเนหรือความหวังอะไรต่างๆ ศรัทธาที่จะแท้จริงในพระรัตนตรัยจะมีได้ต่อเมื่อผู้นั้นบรรลุธรรมแล้ว ดับทุกข์แล้วแหละ ถึงจะเชื่อลงไปจริงๆ เต็มเปี่ยมในรูปศรัทธาแท้จริงเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ในเรื่องโพธิปกฺขิยธรรม นั้นเอาศรัทธาไปไว้สุดโต่งของเขา ไอ้พละ ๕ อินทรีย์ ๕ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา คำอธิบายของท่านฉลาดท่านไปอธิบายวิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาก่อนแล้วถึงอธิบายศรัทธาน่ะ ไปเปิดดูในพระบาลีได้ แต่ที่เรามาสอนกันอยู่ใน โรงเรียน น่ะ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เพราะนั้นคำอธิบายของท่านเอาศรัทธาไปไว้สุดโต่ง มีปัญญาแล้วจึงจะมองเห็นชัด และเชื่อด้วยปัญญานั้นๆจึงจะเป็นศรัทธินทรีย์ หรือเป็นศรัท...ศรัทธาพละแต่ที่ตัวจริงกลายไปอยู่สุดท้ายจะปรากฏออกมาเป็นสิ่งที่ ๕ นี่เป็นตัวอย่างเพียงไม่กี่คำที่ผมขอเสนอแนะว่าเรายังสะเพร่าหรือหละหลวมหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ ไม่เอาธรรมะมาสอนให้เต็ม ถูก ตรง ตามเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือคำว่าธรรมะ ไอ้ไก่ที่มันเขี่ยอยู่ทุกวันน่ะนะถือว่าปฏิบัติธรรมะ แต่พอพูดอย่างนี้คนก็หัวเราะกันหมดเลย แต่มันเป็นความจริงที่สุดเลย ธรรมะแปลว่าหน้าที่ ไอ้ที่ไม่ทำตามหน้าที่น่ะคือไม่มีธรรมะเพราะฉะนั้นเมื่อชาวนาไถนาอยู่ในนากลางแดด เหงื่อไหลไคลย้อยนั่นแหละคือมีธรรมะ อยู่ที่กลางนา แต่เราไม่ได้สอนอย่างนี้ ชาวนาจึงไม่มีกำลังใจ ไอ้ลูกหลานชาวนาไม่อยากทำนา อยากไปเรียนเป็นบัณฑิตเป็นอะไร จะได้ทำงานเบาทั้งหมด ก็เมื่อทำไม่ได้ก็ไปขโมย ยุวชนเหล่านั้นเมื่อทำอะไรไม่ได้ทำอย่างที่เขาต้องการก็ไปขโมยดีกว่า ไปปล้นไปจี้ เอาโดยทางลัดก็ข่มขืนเลย ไม่ต้องปล้น ไม่ต้องมีพิธีรีตรองอะไรมาก เพราะเขาไม่รู้จักว่าไอ้นี่คือธรรมะ และจะได้พอใจ จะได้ยินดีปฏิบัติธรรมะ ไถนาเป็นธรรมะ ก็พอใจยินดี เป็นสุขอยู่เมื่อไถนา แล้วเป็นธรรมะจริงซะด้วยนะ ผม ผมขอยืนยันอย่างนี้เรื่อยไป และขอฝากให้เอาไปใคร่ครวญ แล้วก็ไปสอนกันให้มันคืบ คืบหน้าต่อไปจากที่เคยสอนกันอยู่แต่เพียงว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีอยู่ในวัด มีอยู่บนธรรมาสน์ มีอยู่อย่างนี้ก็ไม่พอหรอก จนกว่าเมื่อไรมันไปอยู่ในรูปของหน้าที่ หน้าที่เมื่อนั้นแหละ จึงจะเป็นธรรมะ ตรงตามความหมายของคำคำนี้ ซึ่งเป็นภาษาอินเดีย ก็ใช้คำคำนี้ แม้ว่าเราจะใช้ความรู้บาลีบอกว่า ธรรมะมาจากพระธาตุแปลว่าทรงไว้ ทรงตัวเองได้ ทรงตัวเองได้ เมื่อทรงตัวเองได้ มันก็คือทรงผู้ปฏิบัติธรรมะนั้นได้ แต่แล้วมันต้องทำหน้าที่ เพราะตัวธรรมะมันคือตัวหน้าที่ ถ้าจะมีธรรมะมันก็ต้องมีหน้าที่ ในหน้าที่มันจะทรงตัวผู้นั้นไว้ได้ พระธรรมทรงผู้ปฏิบัติ ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ที่เป็นทุกข์ มันก็ต้องทำหน้าที่ ในโรงเรียนนักธรรมสอนอย่างนี้หรือเปล่าเล่า ถ้าไม่สอนถึงนี่มันก็ไม่ถึงความจริงน่ะ ไม่ถึงความไอ้ ความจริงของเรื่องคือ พระธรรมทรงไว้ถึงผู้ปฏิบัติก็ต่อเมื่อผู้นั้นปฏิบัติ การปฏิบัติคือการทำหน้าที่ นั้นพระธรรมมีเมื่อบุคคลทำหน้าที่ ในนาก็ได้ ในสวนก็ได้ นั่งขอทานอยู่ก็ได้ ถีบสามล้อ แจวเรือจ้างอะไรก็เป็นการทำหน้าที่ เป็นธรรมะหมด อย่าไปดูถูกเขา เราอย่าไปถือเป็นอาชีพต่ำต้อย เมื่อสภาวะแวดล้อมมัน มัน มันจำกัดให้คนนี้ต้องทำหน้าที่อะไร ถ้าสามารถทำหน้าที่อันนั้นมันก็ต้องทำแหละ มันก็ต้องถือว่าเขาปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้อง แม้นั่งขอทานอยู่ เป็นการทำหน้าที่ที่ถูกต้องตามเหตุผล ตามสภาพเป็นจริงที่แวดล้อมเขาอยู่ก็ถูกแล้ว คนหนึ่งมันจะเป็นประธานาธิบดี เป็นจักรพรรดิ เป็นอะไรก็ตามใจ มันก็อย่างมากมันก็ทำได้เพียงหน้าที่เท่านั้น ทำได้เพียงหน้าที่ โดยดูกันโดยในนี้แล้วมันก็ไม่ได้ดีไปกว่าคนที่นั่งขอทานอยู่อย่างถูกต้อง คือ มันทำหน้าที่ มีธรรมะเสมอกัน
นี่ผมไม่ได้ต้องการอะไรมาก ต้องการแต่เพียงว่า ขอให้เราช่วยกันศึกษาธรรมะหรือบาลีก็ตามแหละ ให้มันลึกเข้าไปหรือสูงกว่าที่เคยรู้ เคยเรียน เคยสอนกันมา กันมาแล้วนะ จะยกตัวอย่างเรื่องธรรมะนิดหนึ่ง สอนจนให้มันเห็นว่ามีธรรมะอยู่ตลอดเวลา ไม่นั้นมันตาย ที่เราต้องลุกไปอาบน้ำนี่ ไปถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ นั่นน่ะคือธรรมะ แล้วพอใจเถิด เมื่อนั่งถ่ายอุจจาระอยู่ พอใจก็เป็นธรรมะ ปฏิบัติธรรมะหน้าที่ แล้วก็พอใจยินดีที่จะทำให้ดีที่สุด ปฏิบัติธรรมะถ่ายอุจจาระนั่นแหละให้ดีที่สุดเถิด แล้วมันก็จะเป็นไปเพื่อความรอด ถ้าอาบน้ำ อาบน้ำให้ดีที่สุดเถอะ คือบริหารกายอย่างใดก็ตามน่ะ ขอให้ทำดีที่สุด มันเป็นการปฏิบัติธรรมะ แล้วโดยเฉพาะหน้าที่ เลี้ยงชีวิตนั่นแหละ ยิ่งทำเท่าไรยิ่งเป็นธรรมะเท่านั้น นั้นชาวนาที่เขาทำนาโดยแท้จริงแล้วมันเป็นผู้มีธรรมะอย่างยิ่ง เราก็อนุโมทนากับเขา อย่าไปดูถูกดูหมิ่นเขา ทีนี้ถ้าว่าในโบสถ์นะ สมมติว่าในโบสถ์บางแห่งบางโบสถ์น่ะ มันมีเซียมซีแล้วมันจะมีธรรมะอะไรได้ ถ้าในโบสถ์มันมีแต่เซียมซี มีแต่พิธีรีตรองอะไรก็ไม่รู้ ไปนั่งงุบงิบๆทำพิธีเซ่นสรวงพระพุทธรูปอย่างนั้นอย่างนี้กันอยู่ ไม่มีการทำหน้าที่ มันก็ไม่มีธรรมะในโบสถ์น่ะ แล้วมันไปมีธรรมะอยู่กลางนา เมื่อชาวนาคนหนึ่งอาบเหงื่อไถนาอยู่ นั้นถ้าโบสถ์เป็นที่แสดงอาบัติ ในโบสถ์มีแต่อาบัติน่ะ จะไปแสดงธรรมะ ไม่มีธรรมะหรอก โบสถ์ โบสถ์คริสต์ โบสถ์พุทธ อะไรก็ตาม ถ้าโบสถ์มันเป็นแต่เพียงที่แก้บาปหรือแสดงอาบัติ ในโบสถ์ก็จะมีแต่อาบัติ หาธรรมะไม่ได้ นั้นต้องมีการทำหน้าที่ มีการทำหน้าที่ที่ไหนมีธรรมะที่นั่นไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา นี่คือ อกาลิโกของพระธรรม เมื่อธรรมะเป็นอกาลิโกอย่างนี้สิ ทำหน้าที่ที่ไหนมีธรรมะที่นั่น แล้วคำว่าอกาลิโกนี่ยังมีความหมายหลายแง่หลายมุมมากกว่านี้ พอทำกรรมเสร็จ ผลกรรมก็เกิดขึ้นทันที นี่เป็นอกาลิโกอย่างนี้ จิตดวงนี้ทำมโนกรรมเสร็จไป จิตดวงที่เกิดขึ้นทีหลังคือผลของมัน เป็น วิภาคจิต (53.15) ไม่ต้องมีอะไรมาขั้นตอนหรอก เพราะนั้นจะพูดว่ากรรมจะต้องมาให้ผลอีกกี่ๆชาตินั่นเป็นเรื่องว่าเอาเอง ไม่ถูกต้องตามหลักแท้จริงของธรรมชาติ เมื่อจิตดวงนี้กระทำกรรมทางมโนกรรมคิดนึกอันไหน โลภะ โทสะ โมหะ คิดไปอย่างนั้นเป็นมโนกรรม พอจิตดวงนั้นดับไป จิตดวงถัดมาก็เป็นผลของมัน นี่เป็นอกาลิโกอย่างนี้ เราจึงไม่ต้องรอ ไม่ต้องรอผลกรรมหรอก ทีนี้เราไม่รู้จักนี่ เราไปสนกรรมต่อเมื่อได้เงิน ได้รางวัลเป็นกรรมดี ติดคุกติดตารางกรรมชั่ว นี่มันก็ ก็ไกลสิ แล้วบางทีเขาจับไม่ได้ก็ไม่ต้องได้สิ เพราะนั้นก็ไม่เป็นอกา ...ก็ไม่เป็นอกาลิโก มันเป็นอกาลิโกชนิดหนึ่งไปเสีย มันไม่เป็นอกาลิโกในความหมายนี้ นี่ก็ ควรจะเข้าใจแล้วสอนกันเพิ่มเติมจากที่เคยเรียนเคยสอนกันมา
แล้วคำที่สำคัญที่สุด พิเศษที่สุด สูงสุดที่สุด คือคำว่านิพพาน นิพพาน บอกให้เขารู้อย่างถูกต้องว่านิพพานมันแปลว่าเย็น มันแปลว่าเย็น อย่าไปพูดเรื่องอื่นให้มันมาก มันเป็นความหมายที่สองความหมายที่สามความหมายที่สี่ที่เลื่อนๆๆ ออกไปเรื่อยๆ ความหมายแท้จริงอันนี้ก็คือเย็น ประชาชนเขามีคำว่านิพพาน นิพพานใช้อยู่ก่อน ก่อนศาสนาเกิด เช่นเดียวกับคำว่าธรรมะนั้นมีอยู่ก่อนศาสนาเกิด ประชาชนรู้จักมันในฐานะเป็นหน้าที่ นี้ประชาชนรู้จักของเย็น พูดว่าเย็นๆๆ แล้ว อยู่แล้ว ครั้นมาถึงศาสนาเกิด เกิดความเย็นทางจิตใจ ก็ต้องยืมคำว่านิพพานของชาวบ้านไปใช้ จึงจะพูดให้ชาวบ้านฟังถูกว่าฉันพบนิพพานที่เย็นแท้จริง ชาวบ้านจึงจะ จึงค่อยๆสนใจ ไปสนใจเย็นทางจิตใจ นั้นนิพพานแปลว่าเย็น คือไปหมด ดับหมดแห่งความร้อน เมื่อความร้อนไปหมดดับหมด มันก็เรียกว่าเย็น และชาวบ้านจะได้ใช้กันอยู่แล้วในความหมายหลายๆชั้น เช่นว่า ไฟดับ ก็เรียกว่าไฟนิพพาน แม้แต่ในภาษาช่างทองมันมีอยู่ในสูตรๆหนึ่ง ไอ้ชาวทองเขาก็จะเอาน้ำรดทองไอ้ทองที่หลอมแดงร้อน ลุก ให้มันเย็นน่ะ คำนั้นก็ใช้คำว่านิพพาน ปริยะ (นาทีที่ 56.49-56.50) ให้ทำแทงทองที่กำลังหลอมอยู่ให้มันนิพพาน อย่างนี้เป็นต้น มันก็มีในแห่งอื่นที่ๆ คนในครัวร้องบอกว่ายาคุนิพพานแล้วกินได้อย่างนี้ก็มี หมายถึงมันเย็น นี้ในบาลีบางแห่งเล็งถึงสัตว์เดรัจฉาน สัตว์ป่าฝึกดีแล้วไม่มีอันตราย ไม่มีอะไรเกิดจากสัตว์ตัวนี้อีกแล้วก็เรียกว่านิพพานตัวนี้เย็น ไอ้สัตว์ตัวนี้นิพพานแล้วเหมือนกัน นั้นเป็นเรื่องทางวัตถุกันมาเรื่อยๆ มาอย่างนี้ พอเกิดเรื่องทางจิตใจก็คำนี้ไปใช้หมายถึงความเย็น และประชาชนจะต้องรู้จักความเย็นในทางจิตทางใจอยู่แล้ว เช่น คำพูดว่าเย็นอกเย็นใจนี่ ประชาชนต้องรู้จักพูดรู้จักใช้ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ถ้าไม่อย่างนั้นนางกีสาโคตมีจะพูดเป็นได้ยังไงว่า....(นาทีที่ 58.00) พูดได้อย่างไร นางกีสาโคตมีเคยเรียนธรรมะที่ไหนที่จะเอาคำว่านิพุโต นิพุตามาใช้ได้ เพราะเป็นคำที่ประชาชนใช้อยู่แล้ว พอเห็นพระสิทธัตถะมาเขาก็ร้องออกมาได้ว่า บุรุษนี้เป็นแม่ เอ๊ย,เป็นลูกของใคร แม่ของเขาต้องเย็น เป็นลูกของใคร พ่อของเขาต้องเย็น เป็นผัวของใคร เมียของเขาต้องเย็น รู้จักใช้คำว่านิพุตา นิพุโต อะไรมาแล้วนี่ ทั้งที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้สอนเรื่องนิพพานสักที เป็นภาษากลางบ้าน ภาษาพื้นบ้าน ทีนี้เราเดี๋ยวนี้ถ้าจะสอนให้ประชาชนสนใจนิพพาน ก็สอนในแง่นี้ว่าชีวิตเย็นๆ เราจะบอกชีวิตเย็นหรือวิธีทำชีวิตให้เย็นให้แก่ท่าน ท่านจงฟังให้ดี ก็ว่าไปสิ ทำอย่างนี้แล้วชีวิตจะเย็น นั้นคนก็จะพอใจ สนใจในนิพพาน เดี๋ยวนี้ทุกคนน่ะไปถามดูเถอะ เขาขอผัดไว้ อนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเถอะ นั่นแหละ ทุกคนสั่นหัวต่อนิพพาน แล้วจะถือเป็นหลักว่าในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเธอนั้นมันจึงค่อยไปสนใจนิพพาน มันก็ไม่เป็นอกาลิโก ก็ไม่เป็นธรรมะในพระพุทธศาสนา นิพพานที่ต้องรอคอยกันอีกพันชาติหมื่นชาติในอนาคตกาลนั้น ไม่ใช่นิพพานในพุทธศาสนา ถ้านิพพานในพระพุทธศาสนามันก็ต้องชี้กันลงถึงเมื่อไร ไม่ร้อนน่ะ ในใจไม่ร้อนเพราะไม่มีไฟคือราคะ โทสะ โมหะ นั่นน่ะนิพพาน แล้วก็ดูตัวอย่างน้อยๆก็ได้ เมื่อไรจิตมันว่างจากราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีความร้อนแล้วก็เป็นความเย็นใจเป็นตัวอย่างของนิพพาน คือเป็นนิพพานน้อยๆ เป็นนิพพานชั่วขณะ ในบาลีก็เรียกว่า สามายิกนิพพาน สามายะ สามยะ มีทั่วๆไปเลยไม่เอามาพูดกันนี่ อันนี้มันเรียกว่าน่าๆ น่าอะไร น่าเศร้าหรือว่าน่าหัวก็ได้ ที่จริงไม่เข้าใจแล้วไม่เอามาพูดกัน มันเลยตกค้างอยู่ในพระไตรปิฎกหมด ผม ผมสำรวจดู โอ้,นี่ทำไมมันตกค้างอยู่ที่นี่ ไม่มีใครพูดถึงกันเสียเลย ไม่เอาไปพูดให้ชาวบ้านได้ยินได้ฟังกันเสียเลย มันมีอยู่แยะ เรื่องต่างๆมันก็ไม่ได้ออกมาสู่ การได้ยินได้ฟังของประชาชน ถ้าอยากจะให้เขาเข้าใจในเรื่องนิพพานแล้วก็อธิบายความหมายไปในทางเย็น ที่อรรถกถาหรือใครมันจะทำให้มากไปว่าไม่เสียดแทง ไม่มี (นาทีที่ 1.01.21) ไม่มีอะไรนั่นเป็นเรื่อง งอกเงยออกไป ไม่ใช่ความหมายเดิม ไม่ใช่คำเดิมที่ประชาชนอินเดียเขาใช้กันอยู่ นี่เราว่าเราเก่งไหม สอนกันทางไอ้พยัญชนะทางอะไรกันไป จนไม่รู้จะเอากันอย่างไร ในหนังสือบันทึกอะไรของพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งที่ถามปัญหาเรื่องนิพพานแก่พระราชาคณะ ลองเปิดดู ตอบไปข้างทางจนพระเจ้าแผ่นดินเวียนหัว ไม่รู้ว่าเอาอย่างไหน ทีนี้บอกให้มันชัดสิว่าเมื่อไรว่างจากกิเลสคือไฟเมื่อนั้นมันก็เย็น นั่นน่ะคือนิพพานนั่นแหละ นั้นถ้าเราทำได้เราก็มีชีวิตเย็น นั่นน่ะคือนิพพาน ไอ้คนเหล่านั้นมันก็อยากจะได้ขึ้นมาเดี๋ยวนี้ เอาเดี๋ยวนี้ได้เดี๋ยวนี้เอาเดี๋ยวนี้ เพราะว่าฉันจะมีชีวิตเย็น นี่คือสิ่งที่เราจะต้องปรับปรุงกันเสียใหม่
นี่เป็นเพียงคำแนะนำ ผมนึกได้ว่าควรจะแนะนำ ก็เอามาแนะนำ ไม่ถือเป็นโอวาทอันมากมาย แต่ถือเป็นข้อสะกิด ให้สนใจกันให้กว้างขวางออกไป มันจะได้ครบถ้วน แล้วจะได้ทำไปในลักษณะที่พระพุทธศาสนาของเราจะมั่นคง คือจะเป็นสถาบันที่แท้จริง แล้วฝังอยู่หรือตั้งอยู่บนจิตใจของพุทธบริษัท นี่คือมั่นคงที่สุด พระพุทธศาสนามั่นคงที่สุด ไม่ใช่จะสร้างวัดสร้างโบสถ์กันให้เต็มไปได้ทั้งเมือง หรือจะพิมพ์พระไตรปิฎกไปให้ทั่วบ้านทั่วเมือง มันก็เป็นไปไม่ได้ มันจะต้องทำให้ไอ้ตัวธรรมะในลักษณะนี้ เอ่อ ฝังลงไปในจิตใจของประชาชนอย่างตั้งมั่น แล้วก็มีพระพุทธและพระสงฆ์ติดไปเอง ถ้ามีพระธรรมล่ะก็ พระสงฆ์พระพุทธก็จะติดไปเอง ก็เลยมีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ฝังตั้งมั่นอยู่ในจิตใจของพุทธบริษัทอย่างนี้แล้วไม่มีใครมาทำอันตรายได้ ให้พวกคริสต์ยกมาสัก ๑๐ พวก น่ะ ก็ทำลายไม่ได้น่ะ นั้นไม่ต้องกลัวว่าพวกคริสต์เขาจะทำอันตรายพุทธศาสนาได้ เว้นเสียแต่ว่าจะไม่เป็นพุทธศาสนาจริง ถ้าเป็นพุทธศาสนาจริงก็เข้าไปตั้งมั่นอยู่ในจิตใจของประชาชนในลักษณะอย่างนี้แล้วก็ไม่มีใครทำอันตรายได้ ไอ้ข้อที่กล่าวว่าศาสนาจะเสื่อมก็เพราะพุทธบริษัท ๔ เข้าใจกันว่ายังไง ศาสนาจะเจริญหรือจะเสื่อมก็เพราะพุทธบริษัท ๔ ก็คือพุทธบริษัท ๔ ไม่ทำหน้าที่ พุทธบริษัท ๔ ไม่มีธรรมะ ไม่ทำหน้าที่มันก็เสื่อมจริงๆด้วย ลองพุทธบริษัท ๔ ไม่ทำหน้าที่ของตนๆนี่ พระศาสนาก็เสื่อมมันก็สลายหมดแหละ เราไม่ต้องกลัวเหตุปัจจัยภายนอกที่จะมาทำให้พุทธศาสนาเสื่อม เราระวังตัวเราที่จะบกพร่องในหน้าที่ คือไม่ทำหน้าที่ คือไม่มีธรรมะ เมื่อผู้ใหญ่ ผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการมาที่นี่ ผมก็พูดข้อนี้เสมอว่าสอนเด็กนักเรียน แต่เพียงว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นน่ะไม่พอนะ มันล้าสมัย มันล้าหลังเต็มทีนะ สอนถึงระดับต้องภาษาอินเดียว่าธรรมะคือหน้าที่ ให้เด็กๆขยันในหน้าที่ของตนตั้งแต่ต้นจนปลายเลย มีหน้าทีเรียนก็เรียน มีหน้าที่รักษาสุขภาพก็รักษาสุขภาพ มีหน้าที่อะไรก็ทำหมด แม้แต่ช่วยพ่อแม่ล้างจานถูบ้านถูเรือนนั้นมันก็คือธรรมะหมดคือหน้าที่ นั้นเด็กๆของเราคงจะขยันเยอะแยะ ถ้ามันรู้ว่านั่นคือธรรมะ ช่วยพ่อแม่ตำน้ำพริก ล้างชามๆ ถูบ้านถูเรือน ขนฟืนผ่าฟืน มันก็คงจะดีขึ้น นั้นระบบการศึกษาควรจะปรับปรุงให้มีหลักสูตรหรือมีวิชชาที่มันถูกต้องเพียงพอเสร็จสมบูรณ์
ทีนี้ก็จะพูดคำสุดท้ายนี้ว่าพวกเรานั้นอยู่ในระดับที่เรียกว่ามีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยนั่น หรือกำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยควรจะมี อะไรน่ะที่สมกันแหละ ที่มันถึงระดับที่มันสมกัน ไม่อย่างนั้นมันไม่ถึงระดับ มันถึงระดับที่มีอยู่หรือวางไว้ ก็เรียกว่า เป็นของปลอม ถ้ามันไม่ถึงระดับที่วางไว้ นี่เป็นตัวอย่างเท่านั้นแหละ ซึ่งจะเอาไปประชุมปรึกษาหารือวิพากษ์วิจารณ์กันในหมู่เพื่อนฝูงทั้งหมด มันจะปรับปรุงวิชาความรู้การศึกษาวิธีศึกษา วิธีสอนวิธีอะไรกันอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ประชาชนรู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะจนเป็นเนื้อเป็นตัวไปเลย ให้ประชาชนรู้จักว่านิพพานน่ะ คือสิ่งที่ควรต้องการเดี๋ยวนี้ ไม่ฉะนั้นคุณจะจมอยู่ในนรก คือมันร้อนอยู่ในกิเลส ที่นี่และเดี๋ยวนี้ คุณจะจมอยู่ในนรกตลอดเวลา มันทำให้มีเวลาที่ว่างจากไฟนี่ให้มากให้บ่อยๆ เพราะธรรมดามันก็ว่างอยู่แล้ว การที่คนบางพวกหรือ อาจารย์อภิธรรมบางคนสอนว่าเรามีกิเลสอยู่ตลอดเวลานี่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะโดยหลักธรรมแล้วกิเลสเป็นสิ่งที่เกิดดับ แล้วมันเกิดดับต่อเมื่อมีเหตุปัจจัย ดังนั้นมันไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา ไปดูให้ดีสิ เวลาที่มันไม่ได้เกิดน่ะ เราๆ เราไม่มีความร้อนน่ะมันเป็นอย่างไร แต่เมื่อเขาถือเสียว่ามันไม่มี ก็ถือเป็นร้อนไปหมด อะไรๆก็เป็น ไม่มีนิพพานเข้ามาแทรกแซงเป็นระยะน้อยๆ พอให้เราสังเกตได้ว่า ไอ้ความไม่มีกิเลส ความว่างจากกิเลสนั้นเป็นอย่างไร จุดตั้งต้นมันก็ไม่มี จุดตั้งต้นของการรู้จักพระนิพพานมันก็ไม่มี มันก็ไม่รู้จักไปตลอดทางเลยนั้นคุ้ยเขี่ยกันให้เขารู้จักจุดตั้งต้นของพระนิพพานว่าเวลาใดเราไม่มีกิเลสมันก็เป็นชีวิตเย็น การที่เรามีความสุข มีบุญ มีกุศลนั้นน่ะมันไม่เย็น ไม่เย็นเท่าความเย็นของนิพพาน คือว่างจากกิเลส เพราะว่าไอ้ความดี ความสุข รวย สวยนี่น่ะมัน มันสั่นระรัวไปหมด มันรบเร้าให้ความกระวนกระวายไปหมด มันไม่ใช่เย็นน่ะ แม้แต่มหากุศลที่เขาพูดกันนักน่ะ ไม่เย็นเป็นนิพพานได้แม้มหากุศล มันต้องว่างจากการปรุงแต่งของกุศลของอกุศล มันก็จะเย็นเป็นนิพพาน เป็นเสรีภาพทางวิญญาณอย่างสูงสุด ถ้าเราอยู่กันอย่างนี้แล้วเราก็ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา มีพระนิพพานน้อยๆ มาป้องกันโรคประสาท ฟังดูเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเรามีสามารถที่จะใช้ความว่างจากกิเลส ให้มันเจืออยู่ในชีวิตของเรา พระนิพพานนั่นแหละคือสิ่งที่จะป้องกันโรคประสาทซึ่งกำลังเป็นมากขึ้นทุกทีๆ เดี๋ยวนี้เอาไปไว้เสียหมื่นชาติแสนชาติ อนาคตกาลนานไกลนั่นแหละ ไม่เป็นสัณทิฏฐิโก ไม่เป็นอกาลิโก ผิดเกินผิดไปเสียอีก ผิดจนเกินผิดไปเสียอีก ถ้าสอนเรื่องที่ไม่เป็นสัณทิฏฐิโก ไม่เป็นอกาลิโกมันจะผิดเกินผิดไปเสียอีก ไหนๆเราก็ได้มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยกันแล้ว แล้วเป็น academic study ของผู้มีสติปัญญาแล้ว มันก็ควรจะจัดการกับเรื่องนี้ให้ถูกต้องและเพียงพอเถิด มันจะได้ไม่เสียทีที่เราได้ปรับปรุงการศึกษากันขึ้นมาจนถึงขั้นนี้ นี่ชั่วเวลาเล็กน้อยที่ผมจะถวายความคิดเห็นความรู้สึกอะไรได้บ้างก็มีอย่างนี้แหละ เมื่อเวลามันมีเท่านี้มันก็พูดเท่าที่นึกออกอย่างนี้ จึงขอฝากไว้ ฝากไปให้เป็นเงื่อนต้น ไปเป็นชนวนหรือเป็นจุดตั้งต้นสำหรับศึกษาค้นคว้าให้มันสมบูรณ์ เราคงจะได้รับความพอใจกันเป็นส่วนรวมกันในอนาคต ว่าได้ทำหน้าที่ของพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรงตามพระพุทธประสงค์ จะไม่มีใครมีโอกาสมากล่าวหาว่าจัดการศึกษาชนิดที่ทำให้พระสึกกันมาก ไม่เป็นไปได้น่ะ หลับตาพูด ถ้ามันไม่ถอยหลังจากพระนิพพานหรือจากทางดับทุกข์นี่ เวลาหมดแล้ว ขอยุติการบรรยายแล้วก็ปิดประชุม ไปนอน ไอ้เรื่องทำสติปัฏฐานนั้นพูดไม่ได้ในเวลาอย่างนี้ มันมีเรื่องมาก เอาไว้พูดเฉพาะเรื่องนั้นคืนพรุ่งนี้ก็ได้ มีใช่ไหม คืนพรุ่งนี้มีใช่ไหม หา หรือไปแล้ว เอ้า,ตกลงจะพูดเช้า (นาทีที่ 1.13.10 ----) หลักเกณฑ์ชนิดที่เอาไปประกอบได้ด้วยตนเอง