แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ อาตมาจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเป็น ปุพพาปรลำดับ สืบต่อจากธรรมเทศนาที่วิสัชนาแล้ว ในตอนต้นแห่งราตรี ซึ่งได้กล่าวถึง เรื่องการบังเกิดขึ้นแห่งความทุกข์เพราะอำนาจของ อุปาทาน ในตอนนี้จะได้กล่าวถึง ความดับลงแห่งความทุกข์ ด้วยการดับลงแห่ง อุปาทาน ซึ่งเป็นที่กำหนดได้ง่ายมากว่า ความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อมี อุปาทาน เกิดขึ้น ความดับทุกข์ก็มีเมื่อความดับแห่ง อุปาทาน มีขึ้น นี่เป็นหลักง่ายๆ อย่างนี้
สิ่งที่ควรจะกำหนดศึกษาให้แจ่มแจ้งก็คือ การเกิดขึ้น และ การดับลง แห่ง อุปาทาน นั่นเอง ความรู้สึกที่เป็น อุปาทาน เป็นสิ่งที่กำหนดได้ยาก เพราะว่าไอ้ความรู้สึกนั้นมันเป็นตัวตนเสียเองแล้ว ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาเป็นเครื่องกำหนดตัวตน จึงต้องรู้จักทำจิตให้ประกอบอยู่ด้วยสิ่งที่จะรู้จักตัวตน ซึ่งในที่นี้ก็ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ถ้ามีความรู้เรื่อง สัมมาทิฏฐิ คือ สติปัญญาอันถูกต้องอยู่อย่างเพียงพอแล้ว สติเป็นผู้นำมาซึ่งปัญญานั้นมาทันเวลาแห่งการเกิดขึ้นของทุกข์หรือ อุปาทาน ก็จะได้กำหนดรู้จัก ความทุกข์ และ อุปาทาน นั้นได้โดยง่าย เราจึงต้องศึกษากันในขั้นตอนเหล่านี้โดยละเอียด
อยากจะย้ำถึงเรื่องที่เป็นหลักทั่วไปในเบื้องต้นก่อน ซึ่งมีอยู่ว่าอาศัย ตา กับ รูป ถึงกันเข้า มันย่อมเกิด จักษุวิญญาณ คือ การเห็นทางตา เกิดเป็น ๓ อย่างขึ้นมา คือ
ตาอย่างหนึ่ง
รูปอย่างหนึ่ง และ
จักษุวิญญาณ อย่างหนึ่ง
๓ ประการนี้ทำงานร่วมกันอยู่ขณะนั้นเรียกว่า ผัสสะ มันก็เป็น ผัสสะ ของ จักษุวิญญาณ ที่รู้สึกทางตาต่อรูปที่มากระทบ ๓ ประการนั้นทำงานร่วมกันอยู่เรียกว่า ผัสสะ สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นการกำหนดรู้สึกได้ด้วยใจ ในลักษณะที่เป็น สันทิฏฐิโก ไม่ใช่ตัวหนังสือ แต่เป็นความรู้สึกอย่างแท้จริงต่อสิ่งเหล่านั้น
ตาเกิดขึ้นมาเมื่อตาทำหน้าที่เห็นรูป รูปจะเกิดขึ้นมาก็ต่อเมื่อมันมาเป็นอารมณ์ของตา ครั้น รูป กับ ตา ถึงกันเข้าก็เกิดการเห็นทางตา คือ จักษุวิญญาณ ทั้ง ๓ อย่างนี้ต้องปรากฏชัดเจนอยู่ในความรู้สึกของบุคคลผู้จะทำการศึกษา ท่านทั้งหลายก็มีตา แล้วก็เห็นรูป แต่แล้วก็ไม่เคยกำหนดด้วยความรู้สึกอันชัดเจนลงไป ว่าอย่างไรเรียกว่า ตา? อย่างไรเรียกว่า รูป? อย่างไรเรียกว่า จักษุวิญญาณ? ในที่นี้ก็ขอให้ ทำความกำหนดกันเสียใหม่ในเรื่องที่ตาเกิดแล้ว รูปเกิดแล้ว จักษุวิญญาณเกิดแล้วรู้โดยหลักสั้นๆว่า
เมื่อตาทำหน้าที่ของตา ก็เรียกว่า ตามันเกิด
เมื่อรูปทำหน้าที่ของรูป คือ เป็นอารมณ์ของตา ก็เรียกว่า รูปมันเกิด
ตากับรูปมันเกิดแล้ว มันถึงกันเข้า มันก็เกิด จักษุวิญญาณ หรือ การเห็นทางตา
เพียงเท่านี้ถ้าไม่ซักซ้อม กำหนด จดจำ ทำความเข้าใจให้ดีๆ มันก็ยากที่จะรู้เป็นลำดับต่อไป มันไม่ได้ตั้งต้น รู้เพียงแต่เบื้องต้นมันจะลำบาก
เรื่องนี้ก็ได้พูดไว้มากแล้ว เขียนเป็นหนังสือไว้ก็มากแล้ว แต่ผู้ศึกษาจะแต่เพียงอ่านหนังสือ หรือฟังคำพูดนั้นมันไม่พอ มันต้องกำหนดเข้าไปที่ไอ้ตัวจริงของมัน คือ ตา รูป และ จักษุวิญญาณ รู้จักสิ่งทั้ง ๓ นี้ดีแล้วก็เรียกว่า เหมือนกับเราเรียน ก. ข. ก.กา เป็นลำดับไป กล่าวคือ เมื่อมี จักษุวิญญาณ กับ ตาหรือรูป ๓ ประการรวมกันทำงานอยู่ก็เรียกว่า ผัสสะ หรือจะเรียกเต็มๆ ก็ว่า สัมผัส แต่ในบาลีเกี่ยวกับเรื่องนี้เรียกสั้นๆว่า ผัสสะ ท่านเคยจะต้องรู้จัก ผัสสะ ในลักษณะที่เป็น สันทิฏฐิโก กันเสียก่อนว่าเรามี ผัสสะ อย่างไร? อะไร? ในสิ่งใด? รู้จัก ผัสสะ ให้ชัดเจนลงไป ก็จะเห็นชัดว่า ผัสสะ นั้นได้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า เวทนา
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาจาก ผัสสะ ซึ่งมันก็มีอยู่ตลอดเวลาแต่เราไม่สังเกต เราก็ไม่รู้จักตัว เวทนา คือความรู้สึกที่รู้สึกอยู่ในใจโดยแท้จริง มันก็ต้องรู้จัก เวทนา แต่ในตัวหนังสือหรือฟังเทศน์เท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้ต้องรู้สึกต่อสิ่งที่เรียกว่า เวทนา เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่สุข-ไม่ทุกข์บ้าง ๓ อย่างนี้ล้วนแต่เรียก เวทนา ทั้งนั้นจงกำหนดให้ดีๆ ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า สุขเวทนา เกิดขึ้นแล้วจิตเป็นอย่างไร? ทุกขเวทนา เกิดขึ้นแล้วจิตเป็นอย่างไร? อทุกขมสุขเวทนา เกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างไร? ตลอดให้รู้เลยไปถึง ผล อันเกิดมาจาก เวทนา นั้นๆ
สุขเวทนา เป็นผลให้เกิด ราคานุสัย คือ เกิดความรู้สึกพอใจ และความเคยชินที่จะเกิดความพอใจ อันนี้ก็เรียกว่า ราคานุสัย ความเคยชินที่จะให้เกิด ราคะ หรือความพอใจ
ถ้าเป็น ทุกขเวทนา มันก่อให้เกิด ปฏิฆะ คือ ความไม่พอใจ และเกิด ปฏิฆานุสัย ความเคยชินที่จะเกิดความไม่พอใจ ให้เลวให้มากยิ่งขึ้นไปกว่าแต่ก่อน
และถ้ามันเป็น อทุกขมสุขเวทนา คือ เวทนา ที่ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ มันเข้าใจไม่ได้ มันก็มีความสงสัย โง่เง่าอยู่กับสิ่งนั้น เวทนา ชนิดนี้ก่อให้เกิด อวิชชานุสัย คือ ความเคยชินที่จะโง่ จะไม่เข้าใจ จะสงสัย จะพะว้าพะวง
เวทนา มี ๓ อย่าง อย่างนี้ ต้องรู้จักตัวของมันด้วยความรู้สึก และรู้จักผลที่จะเกิดขึ้น คือ มันเป็นเหตุให้เกิดผล ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ ราคานุสัย, ปฏิฆานุสัย, และ อวิชชานุสัย ๓ อย่างนี้ มันก็เป็นสิ่งที่ต้องรู้สึกโดย สันทิฏฐิโก ไม่ใช่อ่านหนังสือหรือฟังเสียงอย่างเดียว มีความเคยชินที่จะเกิด ราคะ อย่างไรก็รู้จัก มีความเคยชินที่จะเกิด ปฏิฆะ หรือ โทสะ อย่างไรก็รู้จัก มีความเคยชินที่จะโง่ ซ้ำๆ ซากๆ อย่างไร ก็รู้จัก เอาเป็นว่าเราก็รู้จัก เวทนา แล้วก็ดูต่อไปว่า เวทนา นี้ให้เกิด ตัณหา คือ ความอยากด้วยอำนาจของ อวิชชา คือ ความโง่ ถ้ามันอยากหรือต้องการด้วยสติปัญญา ไม่เรียกว่า ตัณหา ต่อเมื่อมันอยากหรือมันต้องการด้วยอำนาจของความโง่ คือ อวิชชา จึงจะเรียกว่า ตัณหา
ถ้า สุขเวทนา เกิด มันรัก มันพอใจ มันก็เกิด ตัณหา ที่อยากจะเอาหรืออยากจะได้ ที่เรียกว่า กามตัณหา หรือถ้า เวทนา เป็น ทุกขเวทนา มันก็เกิด วิภวตัณหา ความอยากที่จะไม่เอา ไม่เป็น ถ้าว่ามันเกิด เวทนา ที่เป็น อทุกขมสุข มันจะเกิด ตัณหา ความอยากที่จะเอา จะเป็น ที่จะไม่เอา ที่จะไม่เป็น มันก็ได้ทั้งนั้น แล้วแต่ว่ามันจะชวนให้คิดไปในทางไหน รวมความว่า เวทนา ย่อมทำให้เกิด ความอยาก โดยสมควรแก่ เวทนา นั้นๆ อยากได้ก็มี อยากเอาก็มี อยากเป็นก็มี อยากไม่ให้เอา ไม่ให้เป็น ก็มี
นี่เราจะต้องสังเกตศึกษาให้ดีๆ ว่า ตัณหา ได้เกิดขึ้นในลักษณะอย่างไร? ดังนี้ สรุปรวมสั้นๆ ก็เรียกว่า เกิดความอยาก แต่เป็นความอยากชนิดที่มี อวิชชา ความไม่รู้นี้เป็นมูลฐานอยู่ ความอยาก เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันจะเป็น เจตสิกธรรม อันหนึ่งครอบงำจิตอยู่ มันก็ปรุงให้เกิดความรู้สึกในอันดับต่อไป คือ รู้สึกว่ามี-ตัวเรา/ตัวกู-ผู้อยาก นี่เรียกว่า อุปาทาน ตัณหา ให้เกิด อุปาทาน ก็คือ ให้เกิดความรู้สึกเป็น ตัวกู-ผู้อยาก หรืออยากได้มาเป็น-ของกู อันนี้มีข้อสังเกตง่ายๆ อยู่ที่ว่ามันน่าหัว ที่ว่าไอ้ความอยากมันเกิดก่อนตัวผู้อยาก เพราะมันเป็นเรื่องนามธรรม เป็นเรื่องของกิเลส ถ้าเป็นเรื่องรูปธรรมตามธรรมดา มันต้องเกิดตัวผู้อยากเสียก่อน แล้วมันจึงจะเกิดความอยากขึ้นมาได้ เดี๋ยวนี้มันเรื่องของรูปธรรม เป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องเล่นตลก มันเกิดความอยาก แล้วมันจึงค่อยปรุงให้เกิดเป็นความรู้สึกว่า-ผู้อยาก คือ อุปาทาน ซึ่งเป็น-ผู้อยาก เวทนา ให้เกิด ตัณหา ตัณหา ให้เกิด อุปาทาน
ครั้นเกิด อุปาทาน แล้วมันก็คือ การจับฉวยเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไว้ ในลักษณะเป็น-ตัวกูบ้าง เป็น-ของกูบ้าง ยึดขันธ์ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งว่าเป็น-ตัวกู ยึดขันธ์ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งว่าเป็น-ของกู มันก็เลยมี-การยึดถือ เมื่อมีการยึดถือด้วยความรู้สึกว่าตัวกู-ของกู ก็เรียกว่า มันเกิด ภพ ขึ้นมาแล้ว ภพ คือ ความมี-ความเป็น จะเป็น กามภพ รูปภพ อรูปภพ มันก็แล้วแต่ ตัณหา ที่ทำให้เกิด อุปาทาน นั้น
กามตัณหา ก่อให้เกิด อุปาทาน ชนิดที่สร้าง กามภพ ขึ้น
ถ้าเป็น รูปตัณหา เกิด อุปาทาน ชนิดที่จะสร้าง รูปภพ
ถ้ามันเป็น วิภวตัณหา มันค่อยเกิด อุปาทาน ชนิดที่จะสร้างขึ้นมาซึ่ง อรูปภพ เป็นต้น
คำว่า ภพ นี้ก็คือ ความมีอยู่ ความเป็นอยู่แห่งสิ่งที่มันจะมีอยู่ เป็นอยู่ ในที่นี้ก็คือ ความรู้สึกว่า-ตัวกู จึงเรียกว่า ตัวกู-มันเริ่มมีอยู่ เริ่มเป็นอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์ แล้วต่อมามันก็มี ชาติ คือ การแสดงบทบาทแห่ง-ตัวกูให้ปรากฏชัดแจ้งออกมา แล้วแต่ว่ามันจะไปยึดถืออะไร มันก็ไปแสดงบทบาทที่นั่น เหมือนกับว่ามันมีการสร้างครรภ์แล้วมันก็มีการเจริญอยู่ในครรภ์ แล้วครรภ์มันก็แก่ ครั้นครรภ์มันแก่แล้วมันก็คลอด ลักษณะแห่ง ตัณหา เหมือนกับการตั้งครรภ์ ลักษณะแห่ง อุปาทาน ก็คือ ครรภ์มันเจริญ จนครรภ์แก่มันก็เป็น ภพ แล้วมันก็คลอดออกมาเป็น ชาติ
นี่, เราต้องศึกษา อิทัปปัจจยตา ในส่วนนี้ ให้เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง เป็นต้นทุน เป็นเดิมพันทั้งหมดที่จะศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับความทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร? ครั้นเมื่อเกิดเป็น ตัวกู-ของกูโดยสมบูรณ์แล้ว มันก็ไปยึดมั่น-ถือมั่นในสิ่งใด ว่าเป็น-ตัวกู ว่าเป็น-ของกู บางทีก็ยึดถือ รูปขันธ์ แท้ๆ ยึดถืออย่างโง่เขลาว่า รูปขันธ์ เป็นตัวกูก็มี เพราะว่าในบางคราวมันไม่ได้นึกถึงเรื่องจิตใจ มันนึกถึงแต่เรื่องวัตถุมันก็เอาร่างกายเป็นตัวตน แต่ส่วนใหญ่ที่สุดมันมักจะยึดถือเอา วิญญาณ ให้รู้แจ้งโน่นนี่ ได้ว่าเป็น-ตัวตน มันยึดถือ เวทนา สัญญา สังขาร เป็นต้น ว่าเป็น-ของตน
ในชีวิตประจำวันมันก็มีอยู่อย่างนี้ เราจะรู้จักเรื่องนี้ให้เข้าใจแจ่มแจ้งอย่างเป็นพื้นฐาน แล้วจึงมาศึกษาให้ชัดเจนทีเดียวว่า ความทุกข์มันเกิดขึ้นอย่างไร? ในขณะไหน? ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตัณหา เกิดมาจาก... ตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ หรือ ความทุกข์เกิดมาจาก ตัณหา นั้น ท่านกล่าวระบุไปยัง ตัณหา แต่โดยเนื้อแท้แล้ว นาทีที่ ๒๐.๓๕ ตัณหา ก่อให้เกิด อุปาทาน อุปาทาน ก่อให้เกิด ภพ เกิด ชาติ และ เกิดทุกข์ ซึ่งพระองค์ก็ได้ตรัสไว้ในบทสุดท้ายว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา เมื่อกล่าวโดยสังเขปแล้ว ขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยความยึดมั่น คือ อุปาทาน นั่นแหละเป็น ตัวทุกข์ บางทีก็ตรัสไว้ในรูปของ ปฏิจจสมุปบาท ที่ยาวยืดถึง ๑๑ อาการ ตั้งต้นด้วย อวิชชา แล้วไปจบลงด้วยความทุกข์ ถ้ามองกันอย่างนี้ มันก็จะรู้สึกว่า อวิชชา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่มันก็ต้องผ่านมาทาง ตัณหา แล้วผ่านต่อไปทาง อุปาทาน จึงจะเกิด ความทุกข์ เราจะต้องดูเห็นชัดเจนเข้าใจแจ่มแจ้ง ทั้งที่เมื่อกล่าวอย่างสั้นๆที่สุดว่า อุปาทาน กับ ขันธ์ นั้นเป็น ทุกข์ ที่จะกล่าวอย่างธรรมดาสามัญเป็นกลางๆ ว่า ตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ หรือจะกล่าวอย่างพิสดารว่า อวิชชา เป็นรากเหง้า เป็นต้นตอ เป็นจุดตั้งต้นแห่งความทุกข์ ขอให้สังเกตและศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ให้เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งกันจริงๆ แล้วสิ่งที่ท่านทั้งหลายพูดกันอยู่ว่าเข้าใจยาก เข้าใจลำบากนั้นมันก็จะหายไป คือ มันจะเป็นสิ่งที่เข้าใจแจ่มแจ้งได้โดยไม่ยากลำบาก ความยากลำบากนั้นมันเกิดมาจากความไม่เอาจริงของท่านทั้งหลายนั่นเอง ท่านทั้งหลายเป็นคนไม่เอาจริง ไม่ศึกษาจริง ไม่สังเกตจริง มันก็ไม่แจ่มแจ้ง แล้วมันก็มืดมน แล้วมันก็รู้สึกว่าลำบาก เดี๋ยวนี้ได้กล่าวมาแล้วในการแสดงในตอนต้นแห่งราตรีว่า อุปาทาน นั่นแหละเป็นตัวการที่จะให้เกิด ความทุกข์ ขึ้นมา อุปาทาน เกิดขึ้นในสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะกลายเป็น ทุกข์ อุปาทาน เกิดขึ้นในทรัพย์สมบัติ สิ่งของ บุตร ภรรยา สามี ในอะไรก็ตามสิ่งนั้นจะกลายเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ หรือมีอาการแห่งความทุกข์ปรากฏอยู่ในใจเพราะเหตุที่ยึดถือสิ่งนั้นๆ
เดี๋ยวนี้เราก็มาเห็นชัดแล้วว่า อุปาทาน เกิดขึ้นอย่างไร? ในกรณีที่ยกมาเป็นตัวอย่างในเรื่องของตา เรื่องของหู เรื่องของจมูก เรื่องของลิ้น เรื่องของผิวหนัง มันก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน ได้กล่าวเรื่องตาให้เป็นตัวอย่างแล้วก็ไปเทียบเคียงเอาเอง เมื่อตากระทบกับรูปแล้วก็ให้เกิดการเห็นทางตา หูกับเสียงกระทบกันแล้วก็ให้เกิดการได้ยินทางหูหรือวิญญาณทางหู จมูกกับกลิ่นกระทบกันแล้วก็เกิดความรู้สึกทางจมูกหรือวิญญาณทางจมูก ทางนี้ก็เหมือนกัน ทางผิวหนังมีอะไรมากระทบผิวหนังมันก็เกิดความรู้สึกทางผิวหนังทางผิวกายที่เรียกว่า กายวิญญาณ สำหรับ มโน อันสุดท้ายเมื่อมีอะไรมากระทบ มโน เป็น ธรรมารมณ์ เช่น ความรู้สึกกลัว รู้สึกในความเกิด ในความแก่ เป็นต้น ในความตาย เป็นต้น ความรู้สึกอันนั้นมากระทบจิตทำให้เกิด มโนวิญญาณ รู้สึกต่อ ธรรมารมณ์ เหล่านั้น เกิดทั้ง ๓ ประการขึ้นมาทำงานร่วมกันอยู่ก็เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ ก็ให้เกิด เวทนา ให้เกิด ตัณหา ให้เกิด อุปาทาน เกิด ภพ เกิด ชาติ โดยนัยเดียวกัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาในลักษณะที่เป็น วิปัสสนา ก็พิจารณาโดยนัยยะอันนี้ เมื่อได้ทำจิตให้เป็นสมาธิพอสมควรแล้ว มันก็พิจารณาโดยนัยยะอันนี้ คือ พิจารณาเรื่อง อิทัปปัจจยตา ให้เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งอยู่เสมอๆ ในเวลาอันไม่นานนักคือไม่นานเกินไป จะได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง อิทัปปัจจยตา คือ ลำดับขั้นตอนแห่งการเกิดขึ้นมาแห่งการปรุงแต่งจนกระทั่งเกิดความทุกข์
ถ้าว่าจิตใจมันไม่มีความเป็นสมาธิบ้างแล้ว มันก็ยากที่จะมองเห็น จิตใจยิ่งเป็นสมาธิเท่าไรก็จะยิ่งมองเห็นง่ายมากยิ่งขึ้นไปเท่านั้น ดังนั้น ในขั้นต้นท่านจึงมีการฝึกจิตใจไปในทางให้เกิดความเป็นสมาธิ ซึ่งรวมทั้งสติอยู่ด้วย ครั้นฝึกในเรื่องของสมาธิได้พอสมควรแล้ว ก็ฝึกต่อไปในเรื่องของ ปัญญา กำหนด อิทัปปัจจยตา โดยนัยที่กล่าวมานั้น เป็นการกำหนดโดยละเอียดที่สุดที่จะรู้ว่าไอ้ความทุกข์นั้นเกิดขึ้นมาอย่างไร? นี่เรียกว่า เป็นการเจริญภาวนาในส่วนปัญญา หรือส่วน วิปัสสนา แต่การทำจิตให้เป็นสมาธินั้น เป็นการเจริญจิตใจในส่วนของ สมถะ ครั้นเรียกรวมๆ กันว่า สมถะวิปัสสนา ทั้ง ๒ อย่างมาบวกกันเรียกว่า สมถะวิปัสสนา สิ่งที่เรียกว่า สมถะ และ วิปัสสนา นี้ ในบางทีก็ตรัสเรียกว่าเป็น มรรค
โดยทั่วไป มรรค คือ หนทางให้ถึงความดับทุกข์นั้น แสดงไว้ด้วย มัชฌิมาปฏิปทา ๘ ประการ หรือแสดงไว้ด้วย มรรคมีองค์ ๘ แต่ก็มีในที่อื่นในหลายๆ สูตรเหมือนกัน ในเมื่อกล่าวถึง มรรค พระท่านก็แสดงด้วยคำสั้นๆ ว่า สมถะ และ วิปัสสนา นั้นคือ มรรค หมายความว่าเมื่อเจริญ สมถะ และ วิปัสสนา อยู่ มันก็จะมีอาการแห่ง มรรค นั่นเพราะว่าเมื่อเจริญ สมถะ เพื่อสมาธิอยู่ มันก็มีความสงบระงับทางกาย ทางวาจา ทางอาชีวะ มีความเพียรเป็น สัมมาวายามะ มีสติเป็น สัมมาสติ มันก็ครบทุกองค์เหมือนกัน มีความเป็นสมาธิ และก็มี สัมมาทิฏฐิ นำหน้าอยู่ คือ ความรู้ที่ทำให้เรารู้ว่าเราจะเจริญสมาธิอย่างไร นี่ก็เป็น สัมมาทิฏฐิ อย่างหนึ่งแล้ว ความรู้ที่เพียงพอที่จะทำให้รู้ว่าเจริญสมาธิอย่างไร มันก็เป็น สัมมาทิฏฐิ เพียงพออยู่แล้ว และเมื่อเจริญสมาธิยิ่งๆ ขึ้นไป สัมมาทิฏฐิ ใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นมาเติมเพิ่มเติม ดังนั้นในการบำเพ็ญ สมถะ และ วิปัสสนา นั้นมันจึงมีปัญญาอยู่ มีสมาธิอยู่ และมีศีลอยู่อย่างถูกต้อง อย่างครบถ้วน อย่างสมบูรณ์ เพราะเมื่อตั้งจิตเจริญ สมถะ สมถะ และ วิปัสสนา นั้นการตั้งใจการสำรวมเพื่อจะทำนั้นมันเป็นตัว ศีล ดังนั้น พระองค์จึงไม่ได้เอ่ยถึงคำว่า ศีล เอ่ยถึงแต่คำว่า สมถะ และ วิปัสสนา ก็พอ เมื่อเจริญ สมถะ หรือ วิปัสสนา อยู่มันก็มีครบถ้วน ทั้งศีล ทั้งสมาธิ และปัญญา โดยเหตุนี้คำว่า สมถะ วิปัสสนา มีลักษณะเป็นทั้ง มรรค มีเนื้อแท้แห่ง อริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ พร้อมอยู่ในนั้น นี้ก็ควรจะเข้าใจไว้ด้วย
เดี๋ยวบางคนจะเกิดสงสัยขึ้นมาว่า มาสอนให้เจริญสมาธิปัญญาแล้วจะมีมรรคสำหรับดับทุกข์ เป็นทางที่ถึงความดับทุกข์ได้อย่างไรกัน? ความสงสัยมันอาจจะเกิดขึ้นมาได้โดยทำนองนี้ เดี๋ยวนี้ก็ขอให้รู้ให้เข้าใจให้ชัดว่า จะเจริญ อริยมรรคมีองค์ ๘ มันก็คือ เจริญ สมถะ และ วิปัสสนา อยู่นั่นเอง เดี๋ยวนี้ก็รู้ว่าดำเนินอยู่ตาม มรรค ประพฤติตนก็คือดำรงจิตอยู่ใน มรรค เมื่อดำรงจิตอยู่ใน มรรค มันก็ไม่ให้โอกาสแก่ อวิชชา มีอะไรมากระทบ มี อายตนะภายนอกมากระทบ อายตนะ ภายใน เช่น รูปมากระทบตาเป็นต้น ถ้าจิตมันประกอบอยู่ด้วย สมถะ หรือ วิปัสสนา มันก็ไม่เกิด อวิชชา ดังนั้น มันจึงเกิด ผัสสะ ชนิดที่ไม่ประกอบไปด้วย อวิชชา มันจะกลายเป็นประกอบไปด้วย...ประกอบอยู่ด้วย ผัสสะ ที่เต็มไปด้วยวิชชา เพราะอำนาจของความรู้อันเกิดมาจาก สมถะ และ วิปัสสนา ผัสสะ นั้นมันก็เลยเป็น ผัสสะ ฉลาด ไม่ใช่ ผัสสะ โง่ มันเป็นการสัมผัสด้วย วิชชา ถ้าเกิด เวทนา ขึ้นมามันก็ประกอบอยู่ด้วยความรู้ มันไม่เป็น เวทนา หลอนหลอก มันก็ไม่อาจจะเกิด ตัณหา คือ ความอยากด้วยอำนาจของความโง่ เพราะเดี๋ยวนี้ อวิชชา มันไม่เข้าเกี่ยวข้องเสียแล้ว มันไม่อาจจะเข้ามาเกี่ยวข้องเสียแล้ว เกิด เวทนา แล้ว ให้เกิดความต้องการใน เวทนา นั้น มันก็เกิดได้แต่ในทางที่เป็น วิชชา หรือมันไม่อาจจะเกิดความต้องการใดๆ เลยก็ได้ เพราะมันมี วิชชาเข้ามากำกับอยู่ว่า เวทนา นี้ก็สักแต่ว่า เวทนา เป็นเช่นนั้นเอง เป็นไปตามกฎแห่ง อิทัปปัจจยตา ก็ไม่อยาก ก็ไม่เกิดความอยากเกี่ยวกับ เวทนา นั้น เรื่องมันก็จบมันไม่เกิด ตัณหา ไม่เกิด ตัณหา มันก็ไม่เกิด อุปาทาน มันก็ไม่อาจจะเกิดทุกข์ กระแสแห่ง ปฏิจจสมุปบาท มันก็ไปหยุดเสียเพียงแค่ เวทนา บ้าง ตัณหา บ้าง มันก็ไม่เกิดทุกข์ นี่คือ สิ่งที่จะต้องกำหนดรู้ แล้วก็เข้าใจ แล้วก็เห็นแจ้งด้วยความรู้สึกอย่างที่เป็น สันทิฏฐิโก
เรื่อง สันทิฏฐิโก นี่สำคัญมาก ถ้ามันไม่มีความเป็น สันทิฏฐิโก แล้วมันไม่อาจจะรู้อะไรได้ตามที่เป็นจริง จำไว้เถอะว่าถ้ามันไม่มีลักษณะที่เป็น สันทิฏฐิโก แล้ว มันก็ไม่เป็น สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม คือ มันไม่เป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อย่างดีแล้ว ต่อเมื่อมันเป็น สันทิฏฐิโก จึงจะเห็นความที่เป็นธรรมะที่ตรัสไว้อย่างดีแล้ว หรือความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม คือ เป็นธรรมที่ตรัสไว้อย่างดีแล้ว จึงมีหลักทั่วๆ ไปว่าทุกอย่างต้องเป็น สันทิฏฐิโก แม้ที่สุดแต่เรื่องตา เรื่องหู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรสก็ต้องเป็น สันทิฏฐิโก คือรู้จักตัวจริงของมัน ไม่ใช่ให้มันผ่านไปโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในสิ่งเหล่านั้น
ทีนี้ เราก็มาไล่ลำดับกันดูอีกทีหนึ่งว่า อายตนะภายนอก เช่น รูป เป็นต้น เข้ามากระทบกับอายตนะภายใน มี ตา เป็นต้น รูปกับตาหรือตากับรูปเนื่องกันแล้วก็เกิด จักษุวิญญาณ คือ ความรู้แจ้งทางตา จะเรียกเป็นภาษาบาลีภาษาธรรมะก็จะกล่าวว่า อายตนะภายนอก อายตนะภายใน กระทบกันแล้วก็เกิด วิญญาณ มีชื่อต่างๆ กัน แล้วแต่ว่ามันเป็น อายตนะไหน แล้วจะพูดให้สั้นกว่านั้นก็พูดได้ว่า อายตนะ อาศัยกันแล้วก็เกิด วิญญาณ วิญญาณ และ อายตนะ ๒ ฝ่ายนั้นทำงานสัมพันธ์กันอยู่ในเวลานั้น อันนั้นเรียกว่า ผัสสะ ถ้ามี ผัสสะ แล้ว ก็ให้เกิด เวทนา มี เวทนา แล้วให้เกิด ตัณหา ตัณหา มีแล้วให้เกิด อุปาทาน อุปาทาน มีแล้วให้เกิด ภพ ภพ มีแล้วให้เกิด ชาติ เป็น-ตัวกูโดยสมบูรณ์ที่จะไปจับฉวยเอาอะไรเข้าแล้วสำหรับจะเป็นทุกข์ จับฉวยความเกิดเป็น-ของกูความเกิดก็เป็นทุกข์ จับฉวยความแก่เป็น-ของกูความแก่ก็เป็นทุกข์ จับฉวยเอาความตายเป็น-ของกูความตายก็เป็นทุกข์ จับฉวยอะไรก็ตาม โสกะปะริเทวะ ทุกขะ โทมะนัส อุปายาส หรือ วิปโยค สัมปโยค หรือ ยัมปิจฉัง ต้องการสิ่งใดแล้วมันก็ล้วนแต่เป็นทุกข์ไปทั้งนั้น ท่านต้องมีความรู้สึกเข้าใจแจ่มแจ้งคล่องแคล่วว่า อายตนะ ทำหน้าที่แล้วเกิด วิญญาณ เมื่อทำหน้าที่นั้นอยู่เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ ให้เกิด เวทนา เวทนา ให้เกิด ตัณหา ตัณหา ให้เกิด อุปาทาน อุปาทานให้เกิด ภพ ภพให้เกิด ชาติ ยึดถือเอา ชาติ เป็นตัวตน เป็นของตนมันก็เกิดทุกข์ มีชื่อเรียกหลายๆ อย่าง หลายๆ ประการ
สรุปความสั้นๆว่า ทุกข์ได้เกิดขึ้นมาแล้วโดยอาการอย่างนี้ แล้วก็จะระบุลงไปที่ตัว อุปาทาน นั่นแหละ ว่ามันเป็นตัวทุกข์ หรือไอ้ความทุกข์ที่พอจะเรียกได้ว่าความทุกข์ มันได้เกิดออกมาแล้วในขณะแห่ง อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นว่า-ตัวตน ว่า-ของตน แล้วเป็นตัวทุกข์นานาประการ ซึ่งกล่าวแล้วโดยละเอียดในธรรมเทศนาในตอนต้นแห่งราตรีวันนี้
ทีนี้ ก็จะดูกันในฝ่ายตรงกันข้าม คือ ฝ่ายที่จะดับทุกข์ คือไม่เกิด อุปาทาน เพราะไม่เกิด ตัณหา ไม่เกิด ตัณหา เพราะว่า วิชชา หรือ ปัญญามันเข้ามายึดครองอยู่ในขณะแห่ง เวทนา หรือในขณะแห่ง ผัสสะ เรารู้เรื่อง ผัสสะ แล้วก็ทำให้มีปัญญาควบคุม ผัสสะ โดยอาศัยอำนาจของสติ คนเราก็มีความรู้ที่เรียกว่าปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่มากหรือน้อยตามที่เราได้ฝึกฝนอยู่ ฝึกฝนปัญญาไว้ได้มากเท่าไรก็เป็นการดีเท่านั้น เพราะว่าพอมีเหตุอะไรเกิดขึ้น สติมันก็จะได้พาเอาปัญญามาจัดการในเหตุการณ์นั้นๆ ถ้าไม่มีสติก็ไม่มีปัญญามาจัดการในเหตุการณ์นั้นๆ มันก็เป็นทุกข์ มันจะเป็นไปในทางของความทุกข์ ตามลำดับแห่งความทุกข์ แต่ถ้ามี วิชชา มีปัญญามาทันด้วยสติพามาอย่างรวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ ผัสสะ นั้นก็จะถูกควบคุมด้วย วิชชา ด้วยปัญญา เป็น เวทนา ออกมาว่าเป็น เวทนา ที่ควบคุมอยู่ด้วยปัญญา ด้วย วิชชา มันไม่ให้เกิด ตัณหา เพราะมันถูกควบคุมอยู่ด้วยปัญญาหรือ วิชชา ตัณหา มันก็ไม่เกิด กระแสแห่งความทุกข์ก็สิ้นสุดตรงนั้นเอง นี่, เรียกว่าความไม่เกิดขึ้นแห่งความทุกข์หรือจะเรียกว่าความดับแห่งความทุกข์ก็ได้ คำว่า ไม่เกิด ในที่นี้หมายความว่ามันไม่ปรากฏ มันไม่มีขึ้นมา ก็มีค่าเท่ากันกับว่ามันดับ
หรือจะให้ขยับต่อมาถึงว่าเดี๋ยวนี้มี เวทนา โง่ มี ตัณหา เกิดขึ้นแล้ว ก็ให้มีสตินำเอาปัญญามาอีกทีหนึ่ง เพื่อจะระงับเสียซึ่ง ตัณหา นั้น อย่างนี้มันก็ยังจะไม่ทันจะมีความทุกข์มากมายอะไร แต่ถ้าว่า ตัณหา นั้นมันมีโอกาสปรุงแต่ง อุปาทาน เสียแล้ว มันก็ต้องมีความทุกข์เสียแล้ว แม้ว่าสติจะเอาปัญญามาในขณะแห่ง อุปาทาน นั้น มันก็พอจะหยุดกระแสแห่งความทุกข์เสียได้ แต่ว่ามันเป็นความทุกข์แล้ว มันเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วจึงค่อยหยุด ทางที่ดีมันก็ควรจะหยุดเสียได้ หยุดกระแสเสียได้ก่อนแต่ที่มันจะเกิดความทุกข์ คือ ก่อนแต่ที่มันจะเกิด อุปาทาน
มีหลักสำคัญที่ตรัสไว้ว่า “สติเป็นเครื่องกั้นซึ่งกระแส” สติเป็นเครื่องกั้นแห่งกระแสอะไร? ก็กระแส อิทัปปัจจยตา อย่างที่ว่ามานี้แหละ อย่าให้กระแสมันแล่นไปจนถึง ตัณหา - อุปาทาน ให้มันหยุดชะงักเสียในขณะแห่ง ผัสสะ หรือ เวทนา อย่าให้มันแล่นเลยไปถึง ตัณหา และ อุปาทาน ด้วยอำนาจของสติที่ขนเอาปัญญามาทันเวลาในความเร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ มาควบคุม ผัสสะ ก็ได้มาควบคุม เวทนา ก็ได้ มันก็ไม่เกิด ตัณหา ไม่มี ตัณหา เกิดขึ้นในกระแสแห่ง อิทัปปัจจยตา ด้วยอำนาจการควบคุมของสติ นี่, มันมีหลักเกณฑ์อยู่อย่างนี้ มีความจริงอยู่อย่างนี้ ท่านจะฝึกอย่างไร ฝึกอะไร ฝึกตอนไหนก็ไปรู้เอาเอง แล้วแต่ปัญหาของท่านจะมีอยู่อย่างไร
แต่เมื่อกล่าวโดยหลักทั่วไป เราก็ฝึกสติที่เรียกว่า อานาปานสติ เป็นต้น เป็นชุดแรก ฝึก อานาปานสติ เป็นชุดแรก เพื่อให้เกิดสติ ให้มีสติ ให้เกิดความคล่องแคล่วในการที่จะมีสติ จะใช้สติ เมื่อฝึก อานาปานสติ มันก็ย่อมมีสติ แต่มันไม่ใช่มีแต่สติอย่างเดียว มันมีสมาธิด้วย แล้วมันมีปัญญาด้วยโดยหลักของ อานาปานสติ นั้น หมวดแรกก็ฝึกที่ลมหายใจ ให้มีการฝึกสติเกี่ยวกับลมหายใจ มีความรู้ที่เป็นปัญญาเกิดขึ้นเพราะรู้จักสังเกตลักษณะแห่งลมหายใจ เห็นความที่ลมหายใจปรุงแต่งร่างกาย เป็นต้น นี้มันก็มีปัญญาบ้างแล้ว แต่มันมีการฝึกสติอย่างยิ่ง มีสมาธิอย่างยิ่ง จะมีปัญญาบ้างแล้ว
ต่อมาก็ฝึกในหมวด เวทนา มันก็มีสติที่ละเอียดประณีตยิ่งๆขึ้นไปอีก มีปัญญาที่ละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ความเป็นสมาธิมันก็อยู่ในชั้นที่ละเอียดประณีตขึ้นไปอีก พอไปถึงหมวดฝึกจิตโดยตรงมันก็มี สติ สมาธิ ปัญญา ที่ว่องไว ฉับไวยิ่งขึ้นไปอีก ครั้นไปฝึกหมวดสุดท้าย คือ หมวดธรรม มันก็มีปัญญาโดยสมบูรณ์ การฝึก อานาปานสตินั้น มันเป็นการทำให้เรามีสติสมบูรณ์ มีสมาธิสมบูรณ์ มีปัญญาสมบูรณ์ ทีนี้ ก็พร้อมแล้วที่จะต่อสู้ มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นทาง อายตนะ มันก็มีพร้อมแล้ว สติมันจะขนเอาปัญญามาอย่างรวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ มาควบคุม ผัสสะ มาควบคุม เวทนา ไม่ให้เกิด ตัณหา-อุปาทาน หรือถ้ามันเผลอไปในส่วนนั้น มันมี ตัณหา แล้วก็เอามาจัดการกับ ตัณหา ทำลายล้าง ตัณหา เสียให้หมดไปเสียในขณะนั้นแล้วไม่เกิด อุปาทาน มันก็ยังไม่มีความทุกข์ แต่ถ้ามันเผลอไปเป็นขั้น อุปาทาน เสียแล้วมันก็ต้องได้รับทุกข์บ้าง ตลอดเวลาที่สติหรือปัญญายังไม่มา ครั้นสติพาปัญญามาทันเวลา ที่มีความทุกข์บ้างแล้วในระยะแห่ง อุปาทาน มันก็มาระงับเสียซึ่งสิ่งที่เรียกว่า อุปาทาน ความยึดมั่น-ถือมั่น ด้วยความรู้สึกว่าเป็น-ตัวตน แล้วมันก็หยุดลงที่ตรงนั้นไม่ยืดยาวต่อไปจนเป็นความทุกข์ที่ใหญ่โตกว่านั้น นี่, เรียกว่ามันจะหยุดความทุกข์ หยุดกระแสแห่งความทุกข์ได้อย่างไร? เมื่อไร? ในระยะไหน? มันมีอยู่อย่างนี้
ทีนี้ก็ดูให้ดีว่าเราจะดับทุกข์ เพราะดับเสียซึ่ง อุปาทาน จะดับทุกข์เพราะดับเสียซึ่ง อุปาทาน เพราะตัว อุปาทาน นั้นเป็นตัวทุกข์ อย่าให้เกิด อุปาทาน ก็ไม่เกิดทุกข์ มันก็ควรจะรู้จักไอสิ่งที่เรียกว่า อุปาทาน นั่นแหละให้เป็นอย่างยิ่ง ทีนี้ มันเป็นเรื่องที่ไม่มีตัวตน ไม่มีเนื้อไม่ตัวเป็นก้อนเป็นดุ้น มันเป็นเรื่องของจิตใจละเอียดประณีตสุขุมยิ่งนัก จะไปดูกันอย่างไร? จะจับตัวได้ที่ไหน?
เรื่องของจิตมันก็เป็นเรื่องของจิต มันจะต้องกระทำโดยวิธีของจิต คือ กำหนดรู้ พิจารณาเห็น แล้วก็แจ่มแจ้งด้วยความรู้สึก จะศึกษาทางวิชา ปริยัติ มันก็เป็นหนทางที่จะทำให้รู้จักการปฏิบัติ ครั้นปฏิบัติแล้วมันก็ทำให้เกิดความรู้สึกอยู่ในจิตใจที่มีการปฏิบัติ มันเป็นการรู้สึกที่เรียกว่าความรู้สึกหรือความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ชนิดที่เป็น สันทิฏฐิโก
ทีนี้ ก็มาพูดกันถึงเรื่องกิเลสเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ อุปาทาน เป็นนามธรรม มันก็มีความรวดเร็วมากในกระแสแห่ง ปฏิจจสมุปบาท ซึ่ง อิทัปปัจจยตา นี้ มันมีกระแสที่ปรุงแต่ง ลึก รวดเร็วมากจะดูกันอย่างไรจึงจะมองเห็น? เราก็สังเกตดูที่มีดูเมื่อในเวลาที่มีความอยาก อย่างนี้มันดูง่าย มันเป็นระยะยาวและมันชัดเจน จงกำหนดดูที่ความอยาก อยากอะไรก็ตามใจเถิด อยากกามอารมณ์ หรืออยากเป็นนั่นเป็นนี่ อยากไม่ให้เป็นอย่างนั้นไม่ให้เป็นอย่างนี้ก็เรียกว่าความอยากก็แล้วกัน ที่เห็นง่ายๆ ก็อยากได้เงิน อยากได้ของ อยากได้อารมณ์ที่เป็นที่รักที่พอใจ พอเกิดความอยากขึ้นมาก็ให้รู้ด้วยใจจริงว่า เอ้า! ความอยากได้เกิดแล้ว ความอยากได้ตั้งต้นแล้ว ทีนี้มันเกิดความอยากแล้วมันก็ได้ดำเนินไปตามวิถีทางของความอยาก จนกว่ามันจะได้รับสิ่งที่มันต้องการแล้วมันจะหยุดอยาก มันก็เกิดเป็นจุด ๒ จุดที่สังเกตเห็นได้โดยง่ายว่า ความอยากเกิดแล้ว แล้วความอยากดับลงเพราะได้สิ่งที่มันอยาก อย่างนี้มันก็เป็นระยะยาวมาก ไม่ใช่สายฟ้าแลบ มันจะเป็นระยะ หนึ่งนาที สองนาที ชั่วโมงหนึ่งก็ได้ เช่น อยากในกามอารมณ์ ก็ไปแสวงหาจนกว่าจะได้มา มันอาจจะกินเวลาตั้งชั่วโมงหนึ่งก็ได้ ตลอดเวลานั้นมันเต็มอยู่ด้วยความอยาก
เราจงรู้จักความอยาก พึงดูความอยากว่ามันแสดงตัวออกมา เหมือนว่าเราจะดูสัตว์ที่มันอยู่ในรู อยู่ในรัง อยู่ในโพรง อยู่ในที่กำบัง เราต้องดูเมื่อมันออกมาจากโพรง จากรัง หรือจากรู จะดูเปี้ยว ดูปู ดูอะไรมันก็เห็นได้ต่อเมื่อมันออกมาจากรู เดี๋ยวนี้ไอ้ตัว ตัณหา หรือตัว อุปาทานมันออกมาจากรู ปรากฏชัดเจนอยู่ในระยะเวลาที่มีความอยาก อยากอยู่ อยากอยู่ อยากอยู่ อยากอยู่จนกว่าจะได้สิ่งที่เรียกว่า ต้องการ แล้วมันก็ดับไป เมื่อมันได้สมอยาก หรือแม้มันไม่ได้สมอยากแต่ถ้าเหตุปัจจัยเข้ามาแทรกแซงเกิดความเปลี่ยนแปลง ความอยากมันก็ดับไปได้เหมือนกันทั้งที่ไม่ได้สมอยาก นี่, มันมีโอกาสมากอยู่ถ้าเราไม่เหลวไหลเกินไป เราควรจะสังเกตเห็นความอยากและความดับลงแห่งความอยากได้โดยไม่ยากเลย แล้วความอยากเกิดขึ้นมาอย่างไร? แล้วมันดำเนินไปอย่างไร? แล้วมันดับไปอย่างไร? คือดับไปเพราะได้สมอยาก หรือว่าดับไปเพราะเหตุปัจจัยอันใดอันหนึ่งมันแทรกแซงเข้ามา เช่น สติมันแทรกแซงเข้ามา ปัญญามันแทรกแซงเข้ามา ความอยากนั้นมันก็ดับไป นี่ทำไมไม่ได้สนใจดูเมื่อสัตว์ตัวนี้มันออกมาจากโพรงจากรู มาแสดงตัวปรากฏอยู่อย่างนี้ทำไมไม่ดู? ทำไมไม่ศึกษาให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ตัณหา หรือ อุปาทาน? ที่มันเป็นไปในขณะแห่ง ปฏิจจสมุปบาท นั้น แต่ละขั้นตอนมันเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ แต่เดี๋ยวนี้มันแสดงบทบาทซ้ำๆ ซากๆ อยู่ เช่น ตัณหา แสดงบทบาทแห่ง ตัณหา ซ้ำๆ ซากๆ อยู่เป็นความอยาก เป็นเวลานาทีบ้าง สองนาทีบ้าง ครึ่งชั่วโมงบ้าง ตั้งวันบ้าง ถ้ามันรุนแรงมาก ไอ้ความอยากมันรบกวนอยู่เป็นเวลาตั้งวันก็มี สิ่งนี้เราเรียกว่า เวลา
บางคนพูดว่า เวลาไม่มี เวลาไม่ใช่ตัวจริง เวลาไม่มี ไอ้นั้นมันหลับตาพูด เวลามันมี ไอ้เวลามันมีตัวจริงของเวลา คือ จุดตั้งต้นละที่เกิดความอยากและถึงจุดที่ดับลงแห่งความอยากนั้นมันยาวเท่าไร นั่นแหละคือ เวลา ถ้าไม่มีความอยาก ไม่มีเวลา นี่พูดภาษาธรรมะพูดอย่างนี้ ไม่ใช่ว่านาฬิกามันยังเดินอยู่แล้วมันมีเวลา นั้นไม่ใช่เวลา มันเวลาของคนโง่ เวลาของเด็กอมมือ มันเป็นเวลาของนาฬิกาหรือว่าเป็นเวลาของโลกที่มันหมุน มันไม่ใช่เวลาในเรื่องของความทุกข์ คำว่า เวลา เวลาในเรื่องของความทุกข์นั้น คือ จุดตั้งต้นของความอยากจนไปถึงจุดดับของความอยากนี้เรียกว่า เวลา
หลักธรรมะก็มีอยู่ชัดเจนว่า เวลาย่อมกินสรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวมันเอง เวลามันกัดกินสรรพสัตว์ เพราะว่าเวลามันคือจุดตั้งต้นของความอยาก จนกว่าจะดับอยาก ดับความอยากนั้นคือเวลา พอเกิดขึ้นมาก็กัดกินจิตใจของบุคคลผู้มีเวลานั่นเอง เราจึงต้องเป็นทุกข์เพราะความกัด-ขบกัดของเวลา คือ ความอยากที่มีจุดตั้งต้นและจุดหยุดลง ในระหว่างสองจุดนี้มันกัดตลอดเวลา มันกัดอยู่ตลอดไป แล้วตัวมันเองก็เปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย พร้อมที่จะดับลงเมื่อหมดเหตุหมดปัจจัย จึงพูดว่าเวลาย่อมกัดกินสรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวมันเอง
ทีนี้ในทางตรงกันข้ามก็มีพระบาลีว่า ผู้ใดทำลาย ตัณหา เสียได้หรือแม้แต่ควบคุม ตัณหา เสียได้ ผู้นั้นย่อมกินเวลา นี่มันกลับกัน ก่อนนี้เวลามันกินเราแต่ถ้าเราควบคุม ตัณหา หรือตัด ตัณหา เสียได้เราจะเป็นผู้กินเวลา นั่นแหละคือลักษณะที่จะไม่ทุกข์ ทั้งในลักษณะที่ดับลงแห่งความทุกข์ว่าเรากลายเป็นผู้กัดกินเวลา จงรู้จักสิ่งที่เรียกว่าเวลา ของกิเลส ตัณหา นี้ ไอ้เวลาที่ร้ายกาจนี้ให้ดีๆ ไม่ใช่เวลาของนาฬิกาอย่างที่กล่าวแล้ว มันเป็นเวลาชนิดที่เป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของ กิเลส ตัณหา เป็นเรื่องของความทุกข์ เวลาเกิดขึ้นเมื่อใดก็หมายความว่า ตัณหา ได้เกิดขึ้นแล้ว จนกว่าจะดับ ตัณหา จึงจะหมดเวลา มันมีระยะยาวมากพอที่จะให้เราดูเห็นชัดเจนถนัดถนี่ เช่นว่า เปี้ยวปูตัวนี้มันออกมาจากรูอยู่ข้างนอกรูเป็นเวลานานพอ เป็นเวลานานพอที่เราจะดูมันให้เต็มตา เราก็ดูมันให้รู้จักชัดเจนแจ่มแจ้ง นี้จะได้รู้จักมันดี รู้จักมันอย่างว่ามันเป็น สันทิฏฐิโก จะจัดการอย่างไร? จะมีวิธีการอย่างไรที่จะกำจัดมันหรือเอาตัวมันมา? มันก็ทำได้นี่ เพราะฉะนั้น อย่าเห็นว่ามันเป็นเรื่องเร็วเหมือนกับอย่างสายฟ้าแลบแล้วก็กำหนดไม่ได้ แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป เพราะว่าถ้าสายฟ้ามันแลบติดกันยาวยืดมันก็เห็นได้ง่าย เห็นได้ชัด ถ้า ตัณหา มันดำเนินไปเป็นเวลาชั่วโมงบ้าง สองชั่วโมงบ้าง วันหนึ่งบ้างมันก็ยิ่งรู้ชัดเจน รู้สึกชัดเจนว่ามันเจ็บปวดรวดร้าวอย่างไร เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างสำคัญ เช่น ลูกตาย เมียตาย ชิบหายอะไรก็ มันก็ทนทรมานในจิตใจอยู่เป็นเวลายาวพอที่จะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ตัณหา นั้นได้เป็นอย่างดี
นี่, ขอให้ท่านทั้งหลายสนใจศึกษากันในข้อนี้ คือ มีสติให้เพียงพอ แล้วเป็นคนเอาจริงไม่เหลวไหล ถ้าความรู้สึกที่เป็นทุกข์เกิดขึ้นมาเมื่อใด ก็เป็นผู้ศึกษาทำการศึกษาทันที แล้วก็ศึกษาอยู่ตลอดเวลาที่มี ตัณหา มี อุปาทาน มีความทุกข์ มันจะมีครบอยู่ในนั้น คือ ในความรู้สึกที่เป็นความอยากที่หมายมั่นอยู่ในสิ่งใด คือ อุปาทาน เช่นว่า เกิดเรื่องลูกตาย-เมียตายแล้วก็สังเกตดูจิตในระยะนั้นนะที่มันมีความรักมีความอาลัยอาวรณ์ มีความทุกข์ทรมานใจอย่างไร ดูมันให้ละเอียด อย่างเรียกว่าทุกกระเบียดนิ้ว หรือทุกๆ ปรมาณู จะดีกว่า ว่ามันมีรสชาติอย่างไร? ไอ้ความทุกข์นี้มันมีรสชาติอย่างไร? มันกัดเอาเจ็บปวดอย่างไร? ความเจ็บปวดนั้นมันมีรสชาติอย่างไร?
นี่เป็นโอกาสดีแล้วที่จะศึกษาเรื่องความทุกข์ ทีนี้คนโง่ๆมันไม่ทำอย่างนี้ พอมันมีความทุกข์มันก็นั่งร้องไห้อยู่แล้วมันจะศึกษาอะไรได้ เพราะมันมานั่งร้องไห้เสีย ถ้ามากกว่านั้นมันไปผูกคอตายเสียแล้วมันก็เลิกกัน มันก็ไม่ต้องได้รู้เรื่องอะไร นี่มันคือคนโง่ เพียงแต่นั่งร้องไห้อยู่เพราะความพลัดพรากอันนี้มันก็เหลือที่จะโง่แล้ว มันเป็นทุกข์เปล่าๆโดยที่ไม่จำเป็นนี่ เพราะความโง่ต่างหากที่มันจะต้องมีความทุกข์ ถ้ามีสติปัญญามันก็ใช้ไอ้สิ่งนั้นให้เป็นการศึกษาที่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาย่อมใช้ความทุกข์ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษา ความทุกข์เข้ามาก็เข้ามาสำหรับให้ศึกษา แล้วให้รู้จักความทุกข์มันจะชนะความทุกข์ได้ ไม่ให้ความทุกข์มาเพื่อกัดเรา เพื่อทรมานเรา กลายเป็นว่าให้ความทุกข์มาเพื่อให้เราศึกษา นี่เรียกว่าเราใช้ไอ้สิ่งที่คนอื่นถือกันว่าเป็นทุกข์นั้น ให้กลายเป็นเรื่องการศึกษาไปเสีย
มันมีหลักที่ควรจะกำหนดไว้ตลอดกาลว่า ไอ้สิ่งที่มันเข้ามานั้นใช้เป็นการศึกษาได้ทั้งนั้นแหละ แม้มันจะเข้ามาอย่างศัตรู ก็ศึกษามันเถอะใช้เป็นโอกาสทางการศึกษา เราเคยพูดเป็นคำกลอนว่า ดูให้ดี มีแต่ได้ ไม่มีเสีย ดูให้ดี ถ้าดูให้ดี มันจะมีแต่ได้ ไม่มีเสีย แม้ว่าความทุกข์มันจะเกิดขึ้น เพราะลูกตายไป เมียตายไป ผัวตายไป อะไรตายไปนี่เรียกว่าความทุกข์ คนธรรมดาเค้าก็เรียกว่าเสีย มันเสียแล้ว มันเสียแล้ว แต่คนฉลาดมันดูดีกว่านั้น มันมีแต่ได้ไม่มีเสีย ไอ้คำที่เสียลูก เสียเมีย เสียหลาย เสียเหลนอะไรไปมันเป็นการให้ความรู้ มันก็เลยไม่มีอะไรเสีย นี่เรียกว่าถ้าดูให้ดีมันจะมีแต่การได้ไม่มีการเสีย แต่คนโง่มันก็ยังร้องไห้อยู่แล้วมันก็ไปผูกคอตาย เป็นต้น มันก็ไม่มีไม่ได้อะไร มีแต่เสียๆ อย่างเดียว นี่เพราะไม่รู้ธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านทรงมอบให้เป็นสมบัติอันประเสริฐ จะเรียกว่า ของขวัญ ก็ยังน้อยไป ไอ้ของขวัญมันมีค่าน้อยมากไม่มีขนาดเทียบเท่า แต่ว่าธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประทานให้แก่เรามันจะต้องเรียกว่าเป็นขุมทรัพย์อันประเสริฐ อันมหาศาล ไม่ใช่เป็นของขวัญเล็กๆน้อยๆ ไอ้ธรรมะที่ได้รับจากพระพุทธเจ้านั้นมันเป็นขุมทรัพย์มหาศาล ไม่ใช่เป็นเพียงของขวัญเล็กๆ น้อยๆ
เดี๋ยวนี้ คนเหล่านี้ก็รับเอาไม่ได้ แม้แต่เพียงจะเป็นของขวัญเล็กๆน้อยๆ มาทำพิธีวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา ก็มากระทำด้วยความโง่ มาเวียนเทียนเล่นแปลกๆ ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากวิสาขบูชาหรือจากอาสาฬหบูชา นี่แหละเป็นสิ่งที่เราต้องตักเตือนกันให้ดีๆว่า การประกอบพิธีวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา มาฆบูชาอะไรก็ตาม มันต้องเป็นเวลาที่ระลึกนึกได้อย่างชัดเจน แจ่มแจ้งในสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประทานให้แก่เรา ให้สมตามพระพุทธประสงค์ที่ได้ตรัสไว้ว่า ตถาคตเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดา และมนุษย์ เราเป็นมนุษย์รวมอยู่ในกลุ่มนั้น เทวดาและมนุษย์เราก็ควรอยู่ในกลุ่มนั้น เพราะฉะนั้น เราก็ต้องได้รับประโยชน์จากสิ่งนั้นตรงตามพระพุทธประสงค์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ว่าท่านเกิดมาเพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ และท่านตรัสว่า ธรรมวินัยนี้ ปรารถนานี้เกิดขึ้นในโลกก็เพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ และท่านยังตรัสว่า เธอทั้งหลาย จงช่วยกันกระทำในลักษณะที่ว่าธรรมวินัยนี้จะยังคงมีอยู่ในโลกนี้ เพื่อประโยชน์ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์
หลายเรื่อง หลายขั้นตอนว่ามันมีอยู่เพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ เทวดานั้นเราจะไปเล็งถึงไอ้คนที่มันไม่มีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง มันมีปัจจัยอันเป็นทิพย์ มีอาหารทิพย์ มีอะไรทิพย์ พอสักแต่นึกมันก็ได้ นี้คือคนที่มันมีอำนาจในทางปัจจัยนี้มากนี่ก็เรียกมันว่า เทวดา ไอ้ส่วนคนที่ยังต้องอาบเหงื่อต่างน้ำอยู่นี้ก็จะต้องเรียกว่า มนุษย์
ในโลกนี้มันก็มีเทวดาอยู่พวกหนึ่ง มีมนุษย์อยู่พวกหนึ่ง ใครยังต้องอยู่กับเหงื่อ ยังรู้จักเหงื่อ ยังคุ้นเคยอยู่กับเหงื่อก็เรียกว่า มนุษย์ ไปก่อน ถ้าใครไม่รู้จักเหงื่อเลยก็เรียกว่า เทวดา ก็แล้วกัน พูดอย่างนี้มันมีเหตุผล เพราะในคัมภีร์เรื่องราวที่กล่าวไว้เขากล่าวไว้ว่า ไอ้พวกเทวดาทั้งหลายนั้น พอเหงื่อออกแล้วมันก็ตายมันก็จุติ เทวดานั้นมันตายเมื่อเหงื่อออกเมื่อมันจุติ เหงื่อออกเป็นสัญลักษณ์ของความตายของเทวดา อาตมาจึงเอามาเป็นกฎเกณฑ์ถ้าเราจะพูดว่า เทวดา คือ พวกที่ไม่รู้จักเหงื่อ มนุษย์ คือ ผู้ที่คลุกคลีอยู่กับเหงื่อ แม้ว่ามันจะต่างกันถึงอย่างนี้ มันก็ยังต้องการธรรมะอยู่นั่นเอง แล้วความทุกข์มันก็มีทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ ไอ้เทวดามันไม่มีความทุกข์เรื่องปาก เรื่องท้อง เรื่องทำมาหากินก็จริง แต่มันก็มีความทุกข์เรื่องกิเลส เรื่องราคะ โทสะ โมหะ บางทีจะร้ายกว่ามนุษย์เสียอีก เพราะมันลุ่มหลงอยู่ด้วยปัจจัยแห่งความสุข กิเลสมันต้องมากกว่าแน่ แม้ว่าจะเป็นเทวดามันก็ยังจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่ใต้อำนาจเหตุปัจจัย ดังนั้น เทวดามันก็จะต้องตาย แม้ว่ามันจะไม่เกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างมนุษย์ หรือเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างเทวดา มันก็ยังเป็นความทุกข์เพราะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่แหละ อย่าได้ประมาทเลย ใครเป็นเทวดาแล้วก็อย่าประมาทเลย เป็นคนไม่รู้จักเหงื่อแล้วก็อย่าประมาทเลย มันยังมีความทุกข์ชนิดนี้อยู่ คือ กิเลสยังบีบคั้นอยู่ แล้วต้องแสวงหาธรรมะเป็นเครื่องดับทุกข์ตามแบบของเทวดา ซึ่งมีข้อความกล่าวไว้ว่าพวกเทวดาในสวรรค์นั้นมันก็ยังต้องการจะฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ครั้นถึงคราวที่เทวดามันจะจุติหรือมันจะตาย มันก็ปรึกษากันว่าจะไปเกิดที่ไหนกันโว้ย จะได้สุขติ ในที่สุดก็ตกลงกันว่าไปเกิดในมนุษย์โลก มนุษย์โลกกลับเป็นสุขคติของเทวดา เทวดาทั้งหลายจึงมาเกิดในมนุษย์โลก เพราะว่าในมนุษย์โลกนี้มีพระพุทธ มีพระธรรม มีพระสงฆ์ ที่หาได้ง่ายกว่าในเทวโลกที่เต็มไปด้วยความเพลิดเพลิน เทวดาทั้งหลายก็ตั้งใจจุติลงมาเกิดในมนุษย์โลก ทีนี้ คนที่อยู่ในมนุษย์โลกนี้ มันตั้งใจจะไปเกิดในโลกเทวดา มันบ้าหรือดีไปคำนวณดูเอาเองตอนนี้ก็แล้วกัน
เดี๋ยวนี้เราก็จะมาพูดกันถึงข้อที่ว่า ธรรมะนั้นเป็นสิ่งจำเป็นทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ตามพระพุทธภาษิต อย่างที่ตรัสว่า ตถาคตอุบัติขึ้นในโลกนี้ เพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ ดังที่กล่าวแล้ว เมื่อธรรมะนั้นมีความประเสริฐถึงอย่างนี้ แล้วทำไมเราจะไม่สนใจ? ทำไมเราจะไม่เกี่ยวข้องให้ดีที่สุด? ในวันวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา มาฆบูชา ก็ตั้งอกตั้งใจทำกันให้ดีที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ เป็นที่ระลึกแก่ธรรมะที่พระพุทธองค์ ได้ทรงประทานให้แก่เรา ในฐานะเป็นสิ่งประเสริฐสูงสุด
นี่แล อาตมาจึงตักเตือนท่านทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายจงประกอบพิธีอาสาฬหบูชา เป็นต้นนี้ให้อย่างดี ให้เป็นอย่างดีที่สุดที่จะกระทำกันได้ เราจึงมีการเตรียม เตรียมกาย วาจา ใจ เครื่องสักการบูชา ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่จะปรุงแต่งจิตใจ ให้มันมีจิตใจที่มีกำลังสำหรับจะประกอบพิธี อาสาฬหบูชา เป็นต้น จึงต้องทำอย่างดีนับตั้งแต่เอาดอกไม้ ธูป เทียนมา และก็ทำการบูชาด้วยร่างกาย คือ เดิน บูชาด้วยวาจา คือ ออกนามพระคุณ บูชาด้วยจิตใจ คือระลึกนึกถึงไอ้เรื่องเหล่านี้ให้ถูกต้อง เรียกว่า บูชากันหมดเลย ชีวิต ร่างกาย จิตใจอะไรทำดีที่สุด เพื่อให้เป็นการบูชาอันสูงสุดแก่พระพุทธเจ้า
ทีนี้ไอ้ความโง่มันจะยังหลับตาต่อไปมันเหลืออยู่ แล้วไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน มันมาเดินเวียนเทียนบูชาพระพุทธเจ้า แล้วก็ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน? อยากจะถามทุกคนแหละที่ว่าเวียนเทียนตอนบ่ายตอนเย็นนั้นนะ พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน? แล้วไปเวียนเทียนบูชาท่านอย่างไร? ที่ไหน? มันก็ต้องรู้จักพระพุทธเจ้าที่ยังคงอยู่ แม้ว่าร่างกายของท่านจะล่วงลับไปแล้ว เผาแล้ว เป็นพระธาตุไปหมดแล้ว พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน? พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม คือ ธรรมะนั่นแหละ นั่นแหละธรรมะนั่นแหละคือพระพุทธเจ้า ธรรมะไหนเล่าที่เป็นพระพุทธเจ้า? ก็มีคำตรัสไว้ว่าผู้ใดเห็น อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรมะ ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็น อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท เพราะฉะนั้น เมื่อให้ใจของเราเห็นอยู่ซึ่ง อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท เมื่อนั้นเห็นธรรมะ เมื่อเห็นธรรมะก็เห็นพระตถาคต เห็นพระตถาคตก็เห็นธรรมะ
ดังนั้น เมื่อเราเดินเวียนเทียนประทักษิณอยู่ ในจิตใจก็ควรจะมองเห็นธรรมะที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท เรียกให้สั้นให้ง่ายสำหรับกำหนดจดจำก็เรียกว่า ธรรมกาย ธรรมกาย จำไว้ดีๆว่าธรรมกาย คำนี้ไม่ใช่ของมหายาน เพราะพวกมหายานขาใช้กันมากคำนี้ พวกเถรวาทโง่ๆมันก็คิดว่าคำว่า ธรรมกาย เป็นภาษาฝ่ายมหายาน ไอ้คำว่า ธรรมกาย มันก็มีอยู่ในพระคัมภีร์พระไตรปิฎกของเถรวาทนี้ไปเปิดดูจะพบข้อความว่า คำว่า ธมฺมกาโย ก็ดี ภูตกาโย ก็ดี อันนี้เป็นคำแทนชื่อเรียกตถาคต ธมฺมกาโย / ภูตกาโย / พฺรหฺมกาโย นี้คำเหล่านี้ เป็นต้น เป็นชื่อของตถาคต ธรรมกาย เป็นชื่อแทนเป็น ไวยพจน์ เรียกชื่อแทนพระตถาคต เพราะฉะนั้น กายของพระธรรม-ตัวพระธรรมนั่นแหละเป็นองค์ตถาคต ก็ขอให้เรามี ธรรมกาย ปรากฏอยู่ในจิตใจ เมื่อบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการบูชาเมื่อไรก็ตาม ยิ่งเป็นการบูชาในโอกาสพิเศษ เช่น อาสาฬหบูชา เป็นต้นอย่างนี้แล้ว ก็ให้รู้สึกต่อ ธรรมกาย รู้จัก องค์พระธรรมกายแจ่มแจ้งอยู่ในใจมันก็บูชาได้จริง ไม่ใช่ละเมอๆ บูชาได้จริงเมื่อรู้จักต่อ องค์พระธรรมกาย ที่พวกมหายานเขาพูด น่าสนใจก็มีอยู่ เคยอ่านพบจากฝ่ายมหายานมันมากไปกว่านี้ คือ พวกมหายานเขาพูดว่า พระพุทธเจ้ามี ๓ พระกาย พระพุทธเจ้านี้มี ๓ พระกาย สัมโภคกาย (นาทีที่ 74.07 หมายเหตุท้ายเอกสาร) กายเนื้อหนัง คือ คลอดออกมาเป็นพระสิทธัตถะ ถึงเวลาแล้วก็ตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้ามีร่างกายที่เดินไปมาอยู่ในชมพูทวีปครบ ๘๐ ปีแล้วก็ดับ นั่นแหละ ไอ้กายนี้ กายที่มีอายุ ๘๐ ปีแล้วดับ นี้เรียกว่า สัมโภคกาย พระพุทธเจ้าในกายเนื้อ หรือ เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์พูดภาษาวิทยาศาสตร์นี้เป็นพระพุทธเจ้าในรูปแบบแห่งกายเนื้อ ทีนี้ พระพุทธเจ้าในแบบที่ ๒ คือ ธรรมกาย คือ กายแห่งพระธรรม ธรรมะอะไรที่ทำให้พระองค์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะนั้นเรียกว่า “ธรรมกาย” อันนี้เขาเน้นมาก เขาจะนึกถึง จะพูดถึงแต่ ธรรมกาย นี้มาก ทีนี้ มีกายที่ ๓ ชนิดหนึ่งเรียกว่า นิรมาณกาย คือ กายที่เปลี่ยนแปลง แปรผัน จะเรียกว่า จำแลง ก็ได้ เป็นกายอย่างนั้น เป็นกายอย่างนี้เมื่อพระองค์มีความประสงค์จะทำอะไร ในเหตุการณ์ที่มัน...มันไม่ใช่ธรรมดา บางทีต้องแปลงกายเป็นยักษ์ เป็นมาร เป็นเทวดา เป็นอะไรก็ได้ เป็นพราหมณ์ก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ เข้าไปจัดการกับสถานการณ์นั้นๆ ให้สำเร็จประโยชน์ อย่างนี้ก็เรียกว่า พระพุทธเจ้าในรูป จำแลง แปลงกายต่างๆ นาๆ นับไม่ไหว เพื่อจะทำหน้าที่ให้สำเร็จ
ดังนั้น ถ้าเราจะถือโดยหลักภาษาธรรม ไม่เอาเป็นจำแลงแปลงกายเหมือนกับเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์มันก็ยังพูดกันได้ เพราะบางคราวพระองค์ ทำพระองค์ให้เป็นที่เข้ากันได้ สนิทสนมกับพวกชาวนากับพวกชาวไร่ ชาวสวน หรือว่าพวกพราหมณ์ พวกเดียรถีย์ พวกพระราชา พวกอำมาตย์ของพระราชา พวกไหนก็ตามเถิด พระพุทธองค์สามารถจะกระทำพระองค์ให้เข้ากันได้สนิทสนมพูดจากันรู้เรื่อง แล้วก็ทรมานคนนานาแบบนานาชนิดนั้น ให้รู้ถึงธรรมให้เข้าถึงธรรมให้เป็นสาวกของพระองค์ นี้เรียกว่าทรงมีร่างกายอันเปลี่ยนแปลงได้มากมาย เพื่อสำเร็จประโยชน์ในการทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า พวกมหายานเขาว่าอย่างนี้นะ แล้วก็มีเหตุผลอยู่ แล้วก็มองเห็นได้จริงว่ามันเป็นอย่างนี้จริง
กายเนื้อของพระองค์นั้นนะไม่ต้องพูดถึง ก็เดี๋ยวนี้ก็เหลือแต่เม็ดพระธาตุ จะเอามาเวียนเทียนยังไงกัน แต่ว่า ธรรมกาย นั่นแหละสามารถที่จะมาอยู่ในจิตใจของเราผู้จะเดินเวียนเทียน เพราะฉะนั้น เราก็มีพระพุทธเจ้าอย่างธรรมกาย ติดไปที่ไหนก็ได้ ติดอยู่กับเราตลอดทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่นก็ได้โดย ธรรมกาย นี่ก็พอแล้ว ส่วนนิรมาณกาย นั้นมันไม่ใช่เรื่องของเรา มันไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ของเราก็ไม่ต้องนึกถึงก็ได้
เอาละ เป็นอันว่า ธรรมกาย ธรรมกาย เป็นสิ่งสูงสุด ที่จะอยู่ตลอดนิรันดร ธรรมกาย เกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ เกิดขึ้นในหัวใจของใครก็ได้ เกิดขึ้นในหัวใจของพุทธบริษัทที่แท้จริง บริษัทที่เป็นแต่ปาก เป็นแต่ชื่อ เป็นแต่ทะเบียน ไม่เป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงนี้ไม่มีหวังหรอกที่จะมี ธรรมกาย เข้ามาสถิตประดิษฐานอยู่ในหัวใจของตน เราต้องมีความเป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบำเพ็ญ สมถะ- วิปัสสนา อยู่ เกิดความรู้แจ้งในธรรมขึ้นมาในจิตใจแห่งตน นั่นแหละคือ ธรรมกาย ดังนั้น ธรรมกาย จึงเป็นนิรันดร เป็น อนันตภาวะ- ไม่มีที่สิ้นสุด ที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ตลอดกาลนิรันดร เมื่อบุคคลนั้นหรือสาวกคนนั้นมันสามารถประพฤติปฏิบัติ ในลักษณะที่ ธรรมกาย มาปรากฏแก่จิตใจ พระพุทธเจ้าในรูปแบบแห่ง ธรรมกาย ก็มาปรากฏเหนือจิตใจของบุคคลนั้น มันก็อยู่ในจิตใจของบุคคลนั้น แล้วจะเอาอย่างไรกันอีกเล่า และบุคคลนั้นแหละก็ได้รับประโยชน์จาก ธรรมกาย มี ธรรมกาย เป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ ไม่พูดกันแต่ปากว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ เราจะมีพระพุทธเจ้าพระองค์จริงมาสิงสถิตอยู่ในจิตใจ เป็นที่พึ่งได้จริง พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ก็ให้นึกถึง ธรรมกาย / ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ก็ให้ยิ่งนึกถึง ธรรมกาย / สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ก็ให้นึกถึง ธรรมกาย เพราะว่าพระสงฆ์อันแท้จริงทั้งหลายท่านย่อมมี ธรรมกาย อยู่ในจิตใจของท่าน เพราะฉะนั้น พระสงฆ์ ก็คือ ธรรมกาย กลุ่ม ธรรมกาย หมู่ เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มาเป็นที่พึ่งนี่มันก็อยู่ที่ธรรมกาย - กายแห่งธรรมะ กายแห่งธรรมะ ธรรมะที่เป็นกาย พูดไปแล้วมันก็จะยิ่งเป็นธรรมดา ไม่น่าเลื่อมใสไปก็ได้ ไม่อยากจะพูดมาก พูดหยุดไว้แต่ว่ามันเป็น ธรรมกาย
คำว่า กาย นี่ก็แปลว่า หมู่ หรือ กลุ่ม คำว่า กาย นั้นแปลว่า หมู่ นะ ธรรมกาย แปลว่า หมู่แห่งธรรม ธรรมที่ประกอบกันอยู่เป็นหมู่ หลายธรรม หลายอย่างมาประกอบกันเป็นหมู่เดียว กลุ่มเดียว ก็เรียกว่า ธรรมกาย คำว่า กาย ไม่ได้แปลว่า ร่างกายเนื้อหนังอะไรหรอก เขาแปลว่า หมู่ ร่างกายของคนเรานี้มันประกอบขึ้นด้วยสิ่งหลายสิ่ง ดิน น้ำ ลม ไฟ ผม ขน เล็บ หนัง อะไรต่างๆ มากมาย ประกอบกันเข้าเป็น กาย นี้ เพราะฉะนั้น คำว่า กาย นี้มันแปลว่า หมู่ หรือเขาว่า ยกกองทัพ ยกพหลพลกาย กาย นั้นก็แปลว่า หมู่ คือ หมู่ทหาร คำว่า กาย แปลว่า หมู่ เราจึงมีธรรมะครบถ้วนเพราะมี ธรรมกาย เพราะหมู่แห่งธรรมนั้นมันครบถ้วน กี่อย่างก็ไม่ได้นับหรอก แต่ว่ามันครบถ้วนก็แล้วกัน สำเร็จประโยชน์ในการที่จะดับทุกข์ นี่ เราก็มี ธรรมกาย ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ แต่ขอให้มีปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้งแก่ความรู้สึก ในขณะที่เราจะทำการบูชาพระองค์
ทุกๆ ปีเมื่อประกอบพิธี ก็มีการบูชาพระรัตนตรัย มันก็ขอให้มันมี ธรรมกาย ถึง ธรรมกาย ครั้นถึงพิธีใหญ่ ใหญ่มาก เช่น พิธีอาสาฬหบูชา ก็ให้มี ธรรมกาย นึกถึง ธรรมกาย มี ธรรมกาย ปรากฏอยู่ในความรู้สึก การบูชานั้นก็จะมีความหมายถึงที่สุด นี่ จึงหวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ปรับปรุง ความรู้สึกคิดนึกกันเสียให้เข้ารูปเข้ารอยกับการที่จะมี ธรรมกาย เป็นจุด จุดศูนย์กลางเป็นจุดศูนย์กลาง จะเป็นพระพุทธก็ได้ เป็นพระธรรมก็ได้ เป็นพระสงฆ์ก็ได้ เป็นสาวกก็ได้ ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา อะไรก็ได้ ขอให้ในจิตใจนั้นมี ธรรมกาย ทำให้ธรรมะปรากฏแก่จิตใจมากเท่าไร มันก็มี ธรรมกาย มากเท่านั้น
ดังนั้นจึงขอให้สนใจในการบำเพ็ญ จิตตะภาวนา คือ การทำจิตให้เจริญ ด้วยวิธี สมถะ - วิปัสสนา หรือศีล สมาธิ ปัญญา หรือ อริยมรรคประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการ แล้วแต่จะเรียก ทุกๆระบบนั้นไปทำเข้าแล้วมันก็จะเกิด ธรรมกาย ขึ้นมาในจิตของคน คือพวกเรานี่ สมมติที่เรียกว่าคน สมมติที่เรียกว่าพวกเรานี้ ในจิตนั้นจะมีธรรมกาย สิงสถิต ทุกสิ่งก็เป็นเรื่องจริง ไม่งมงาย ไม่โง่เขลา เป็นเรื่องจริง จริง จริงที่สุด จริงเหมือนกับจริงทางวัตถุ ในจิตใจนั้นมีพระพุทธ มีพระธรรม มีพระสงฆ์ เรียกสั้นๆ ว่ามี ธรรมกาย แล้วเป็นอันว่าไม่เสียทีที่ได้ประกาศตัวเองเป็นพุทธบริษัทบ้าง เป็น พุทธมามกะ บ้าง แล้วแต่จะเรียก เป็นภิกษุ ภิกษุณี เป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็แล้วแต่จะเรียก แต่ความสำคัญมันอยู่ที่ตรงมี ธรรมกาย เป็นภิกษุผู้เห็นภัย เพื่อเห็นแจ้งมันก็ไปเห็นแจ้ง ธรรมกาย อุบาสก อุบาสิกาแปลว่า ผู้นั่งใกล้ มันก็นั่งใกล้ ธรรมกาย จะไม่นั่งใกล้อย่างไร เพราะมันมาอยู่ในจิตใจของคนนั้นเสียแล้ว มันก็ยิ่งนั่งใกล้นั่งแวดล้อม ธรรมกาย ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของบุคคลนั้น
เราก็มีความเป็นอุบาสก อุบาสิกา ที่ดี ที่ถูกต้อง ที่สมบูรณ์ และเป็นประโยชน์ได้จริง มันสำเร็จอยู่ที่มันเป็นประโยชน์ได้จริง มันไม่สักแต่ว่าพิธีรีตอง นี่คือ ธรรมะ หรือว่า ธรรมจักร ก็ได้ ธรรมะที่จะเป็นอาณาจักรของธรรมะให้เราเข้าไปอยู่อาศัย เราไปอยู่ในอาณาจักรของมาร เป็นขี้ข้า เป็นสมุนของมารมานานนักแล้ว และถูกมารข่มเหง ย่ำยี ทรมานมานานนักแล้ว เลิกอยู่ เลิกอยู่ในอาณาจักรของมาร มาอยู่ในอาณาจักรของพระพุทธเจ้า หรืออาณาจักรของพระธรรมก็แล้วแต่จะเรียก ซึ่งเรียกว่า ธรรมจักร วันนี้พระองค์ทรงแสดง ธรรมจักร ก็คือมอบอาณาจักรของธรรมให้แก่พวกเรา เรียกว่า ธัมจักกัปปวัตนสูตร พระบาลีนี้แปลว่า เป็นเสมือนการยังทำอาณาจักรให้เป็นไป ประกาศอาณาจักรของพระองค์แล้ว ขับไล่พวกมารร้ายทั้งหลายออกไปเสียให้หมด เดี๋ยวนี้เราไม่เป็นเมืองขึ้นของมารแล้ว เราจะมีอาณาจักรของเราเองตามที่พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้ด้วยการแสดง ธัมจักกัปปวัตนสูตร
พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นคนโชคดีกว่าเพื่อนได้รับเป็นคนแรก แล้วเราทำตามๆท่านก็แล้วกัน ให้เข้าถึงธรรมอาณาจักรได้ โดยมีธรรมะถึงธรรมะ รู้จักธรรมะ เห็นธรรมะ ซึ่งพระองค์ก็ได้ตรัสไว้แล้วว่า ได้แก่การเห็น อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ขอให้สนใจสิ่งที่เป็นตัวธรรมะ แล้วก็เข้าไปอยู่ในอาณาจักรของธรรมะ ก็จะไม่เสียทีที่พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศธรรมจักร อย่าให้พระองค์เหนื่อยเปล่าเพราะความเหลวไหลของพวกสาวก ทำให้พระพุทธองค์เหนื่อยเปล่า นี่พูดอย่างภาษาชาวบ้านก็ต้องพูดอย่างนี้ แต่มันไม่มีหรอกที่พระพุทธองค์จะเหนื่อยเปล่า มันไม่มี ท่านทรงทำอะไรให้สำเร็จประโยชน์แก่คนที่ควรจะได้รับประโยชน์ ยกเว้นคนโง่ ยกเว้นคนโง่ทั้งหลายที่จะไม่ได้รับประโยชน์จากการบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า
คนฉลาดย่อมได้รับประโยชน์จากการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่เราก็กำลังขวนขวายกันเพื่อสิ่งนี้ เพื่อจะให้ได้รับประโยชน์จากการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ พระพุทธเจ้าท่านเกิดมาในโลกไม่เป็นหมันเปล่าสำหรับเรา มันจะหมัน เป็นหมันก็สำหรับฝ่ายเรานี่แหละ จะเป็นหมันหรือไม่ เราจะกระทำไม่ให้มันเป็นหมัน จะได้รับประโยชน์จาก ธรรมกาย ของพระองค์ซึ่งจะอยู่กับเราตลอดกาลนิรันดร
นี่, พูดวันนี้โดยหัวข้อว่าจะดับ อุปาทาน กันอย่างไร? เมื่อตอนต้นแห่งราตรีพูดถึง อุปาทาน เกิดขึ้นอย่างไร? ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร? ในตอนปลายแห่งราตรีคือเวลานี้ เรากำลังพูดถึงเรื่องว่าความทุกข์จะดับไปอย่างไร? อุปาทาน จะดับไปอย่างไร? ถ้าท่านทั้งหลายรู้ดี เข้าใจดีทั้ง ๒ เรื่องแล้วมันพอแน่ ความทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างไร? ความทุกข์ดับลงไปอย่างไร? นั่นมันคือรู้ธรรมะเห็นธรรมะซึ่งเป็นองค์ ธรรมกาย เป็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริงที่จะเป็นที่พึ่งได้ตลอดไป
ธรรมกาย คือ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาทนี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงเคารพ เมื่อพระองค์ตรัสรู้เสร็จกันไปใหม่ๆ หยกๆ ก็ทรงคิดค้นหาที่เคารพสำหรับพระพุทธเจ้า ก็ทรงพบว่า โอ้, ธรรมะที่ตรัสรู้นั่นแหละ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เคารพ พระพุทธเจ้าในอดีตก็ดี ในปัจจุบันก็ดี ในอนาคตก็ดี ทุกๆพระองค์ล้วนแต่เคารพพระธรรม เพราะพระองค์ก็ทรงเคารพธรรมะที่ตรัสรู้ คือ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท เป็นสิ่งที่เคารพ เพราะว่าตรัสรู้ก็ตรัสรู้เรื่องนี้ หรือแม้ว่าเมื่อออกมาบวชใหม่ๆ มาค้นหาก็มาค้นหาเรื่องนี้ คือ เรื่องความดับทุกข์ ท่านตรัสรู้แล้วก็พบสิ่งนี้ คือ เรื่องความดับทุกข์ ท่านพบแล้วก็ทรงเคารพเรื่องนี้ เคารพธรรมะ ที่เป็น เครื่องดับทุกข์ แล้วก็ทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า คือ ประกาศเผยแผ่สิ่งนี้ ประกาศเผยแผ่ระบบวิธีแห่งการดับทุกข์ เป็นความรู้ระบบหนึ่งเราเรียกกันว่าความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปปาโท นี่เรียกกันสมบูรณ์แบบเลยว่า อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปปาโท ถ้าเรียกอย่างขี้เกียจ สั้นๆ ลุ่มๆ ก็เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ก็ได้ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ก็ได้ แต่คนเขามักจะเรียกกันว่า ปฏิจจสมุปบาท เพราะถ้าเรียกว่า อิทัปปัจจยตา มันกว้าง มันกว้างหมดครอบงำหมดไม่ยกเว้นอะไร แม้แต่สิ่งที่ไม่มีชีวิต ก็เป็นไปตามกฎของ อิทัปปัจจยตา แต่ถ้าเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท จะใช้เฉพาะสิ่งที่มีชีวิตที่มีความรู้สึกต่อความทุกข์ เช่น คน เช่น มนุษย์นี่ หรือ สัตว์ก็ได้ถ้ามันมีความรู้สึก ถ้าเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท นั้นความหมายมันแคบเข้ามาเฉพาะเรื่องที่เป็นตัวทุกข์ของสัตว์ที่มีความรู้สึกต่อความทุกข์ แต่ถ้าพูดว่า อิทัปปัจจยตา กินความกว้างหมด มันจะเป็นสิ่งที่มีชิวิตไม่มีชีวิตอะไรก็ตามแต่ ก้อนหิน ก้อนดิน กรวด ทรายอะไรก็ตาม มันอยู่ภายใต้กฎของ อิทัปปัจจยตา ไปหมดสิ้น รู้ไว้อย่างนี้จิตใจมันก็จะไม่สับสน จะเรียกว่า อิทัปปัจจยตา ดี ก็เรียกว่า อิทัปปัจจยตา จะเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ดี ก็เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท แต่ถ้าเรียกเต็มที่เต็มยศของมันแล้วก็ต้องเรียกว่า อิทัปปัจจยตา - ปฏิจจสมุปบาท พ่วงเข้ากัน พ่วงเข้าด้วยกันเป็นคำคำเดียวกัน
นี่, สิ่งสำคัญที่พระองค์ได้ทรงประทานให้ในวันอาสาฬหบูชา เพราะว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบแล้วในโอกาสแห่งวิสาขบูชา วันวิสาขบูชาทรงค้นพบอันนี้ ในอาสาฬหบูชาทรงแสดงเรื่องนี้แก่มนุษย์ พอถึงมาฆบูชาก็ประชุมพวกมนุษย์ทั้งหลาย ที่ได้รับเรื่องนี้แล้วโดยสมบูรณ์ คือ พระอรหันต์ตั้งพันกว่าองค์มาประชุมกัน ในฐานะเป็นบุคคลผู้เข้าถึงแล้วซึ่ง อิทัปปัจจยตา ให้เรียกว่า ตถาคตเข้าถึงแล้วซึ่ง ตถา หมายถึงพระอรหันต์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้านั้นเป็น จอมตถาคต เพราะว่าพ้นได้เอง พระอรหันต์ทั้งหลายเป็น ตถาคต เพียงแต่ว่ารู้ตาม ตามที่พระพุทธเจ้าสอนให้ คำว่า ตถาคต ในความหมายนี้หมายถึง พระอรหันต์ทั้งปวงรวมทั้งพระพุทธเจ้าด้วย
เอาเป็นว่าเราได้ทำความเข้าใจกันในข้อ..ในเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับอาสาฬหบูชาพอสมควรแล้ว อาตมาก็ขอยุติธรรมเทศนานี้ และฝากไว้ด้วยความหวังว่าท่านทั้งหลายจะมีความรู้ ความเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องนี้ และคงจะได้ประกอบพิธีบูชาทำนองนี้ให้ดี ให้ยิ่งขึ้นไปในโอกาสข้างหน้าถ้าชีวิตมันยังอยู่ เราเตรียมไว้แต่เดี๋ยวนี้ ศึกษาไว้แต่เดี๋ยวนี้ ทุกๆ คราวที่เราประกอบพิธีบูชา ก็คงจะเป็นการเจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระศาสดา สมตามความประสงค์ทุกประการ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
สวดมนต์บาลี นาทีที่ ๙๔.๕๘ – ๑๐๑.๔๔
...................................................................................จบบริบูรณ์..................................................................................
หมายเหตุ
ช่วง “สัมโภคกาย” (นาทีที่ 74.28) ไม่แน่ใจว่ามีการตีความผิดของฝ่ายไหนนะครับ ยังไงลองตรวจสอบดูก่อนก็ได้นะครับก่อนเผยแพร่
เรื่องของการตีความหมายทั้ง 3 อย่าง ของ 1.สัมโภคกาย 2.นิรมาณกาย 3.ธรรมกาย