แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้อาตมาภาพจะได้วิสัจนา พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียร เป็นต้น ของท่านทั้งหลาย ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนานี้เป็น ปุพพาปรลำดับ เนื่องด้วยธรรมเทศนาในตอนบ่าย คือ การวิสัจนา เรื่อง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันเป็นพระพุทธโอวาทที่พระองค์ทรงแสดงในวันอาสาฬหะปุณณมีเช่นวันนี้ วันนี้เรามาปรารภเหตุการณ์อันนั้นและทำการบูชาเนื่องด้วยเหตุการณ์อันนั้น ต้องการจะได้รับประโยชน์จากพระพุทธโอวาทนั้น ให้ถึงที่สุด อาตมาก็ได้บรรยายโดยเรื่องนั้นแต่เริ่มต้นของพระธรรมเทศนานั้น
สรุปใจความได้สั้นๆ ก็คือ เรื่องของความทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดความทุกข์ และเรื่องความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ และเรื่องหนทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์นั้น เรียกกันสั้นๆมันก็ต้องเรียกว่า เรื่องความทุกข์ นั่นเอง แต่ว่าเกี่ยวกับความทุกข์ในทุกแง่ทุกมุมซึ่งเราจะต้องทราบ
เรื่องของความทุกข์นั้นเป็นเรื่องใหญ่ เป็นปัญหาของสิ่งที่มีชีวิตทั้งปวง ถ้ามันมีชีวิตมันก็มีความรู้สึก ถ้ามันมีความรู้สึก มันก็ต้องมีความรู้สึกเป็นทุกข์หรือเป็นสุข แต่ถ้ากล่าวกันอย่างลึกซึ้งแล้ว มันมีแต่ความรู้สึกชนิดที่เป็นทุกข์ ความรู้สึกที่เป็นสุขนั้นมันซ่อนความรู้สึกที่เป็นทุกข์ไว้เสมอไปสำหรับปุถุชนคนธรรมดา แม้จะมีความสุข ก็ต้องมีความหนักอกหนักใจเพราะความสุขนั้นเอง จึงเรียกว่ามันไม่มีความสุขอะไรที่ตรงไหน จึงมีคำกล่าวในพระพุทธศาสนานี้ว่า ไอ้สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็คือความทุกข์ สิ่งที่ตั้งอยู่นั้นก็คือความทุกข์ สิ่งที่ดับไปก็คือความทุกข์ สิ่งที่เกิดใหม่ก็มีความทุกข์ นี่, มันเรื่องสำหรับคนโง่
แต่ถ้าสำหรับคนฉลาดมันไม่ต้องมีอย่างนั้น มันมองเห็นตามที่เป็นจริงแล้ว มันไม่ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาในจิตใจ ความต่างมันอยู่กันที่ตรงนี้ซึ่งจะได้พูดให้เห็นชัดในเฉพาะข้อนี้ ว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่เราทั้งหลายนั้นมันเกิดขึ้นมาอย่างไร? มันเกิดขึ้นโดยวิธีใด? คำพูดเพียงคำเดียวที่จะตอบปัญหานี้ได้ก็มีอยู่ คำพูดคำเดียวที่ว่านั้นก็คือ สิ่งที่เรียกว่า อุปาทาน ถ้าเรียกให้เต็มก็ต้องเรียกว่า อัตตวาทุปาทาน
อุปาทาน แปลว่า ความยึดมั่น-ถือมั่น มันเป็นคำพิเศษ ถ้ามันยึดถือเอาด้วยความโง่ ก็เรียกว่า อุปาทาน ถ้ามันยึดถือเอาด้วยสติ-ปัญญาความเฉลียวฉลาดไม่เรียกว่า อุปาทาน แต่ไปเรียกว่า สมาทาน คำว่า อุปาทาน ก็ดี คำว่า สมาทาน ก็ดี มันหมายถึงการยึดถือทั้งนั้น แต่มันต่างกันอย่างตรงกันข้าม ถ้ายึดถือเอาด้วยความโง่ความเขลามันก็เป็น อุปาทาน นั่นแหละ กำหนดไว้ให้ดีก่อนว่ามันจะเป็นที่เกิดแห่งความทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้ายึดถือเอาด้วยสติปัญญา เช่น ถือหลักระเบียบวินัย ถือศีล ถือธุดงค์ ถือธรรมะ อย่างนี้ไม่เรียกว่า อุปาทาน แต่เรียกว่า สมาทาน เช่น เรา สมาทานศีล สมาทานธุดงค์ สมาทานวัตรปฏิบัติ นั้นเรียกว่า สมาทาน ไม่ได้เรียกว่า อุปาทาน มันต่างกันที่ มูลเหตุให้ยึดถือ ถ้ายึดถือด้วยความโง่หรือ อวิชชา เป็นเหตุให้ยึดถือแล้วก็เรียกว่า อุปาทาน เหมือนที่คนทั้งหลายยึดถือในของรักของชอบใจทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส อย่างนี้มันยึดถือเอาด้วยความโง่ แล้วมันก็ได้รับความทุกข์อย่างสาสมกัน
ถ้ายึดถือหลักปฏิบัติหรือธรรมะด้วยสติปัญญา ก็เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เพื่อความเจริญก้าวหน้าในทางจิตใจ ก็ไม่เกิดความทุกข์ ไม่เกิดความทุกข์นี่บางทีก็เรียกว่า ความสุข แต่สติปัญญาของพระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่เรียกว่า ความสุข ท่านเรียกแต่ว่า ความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ ไม่ไปหมายมั่นไอ้ความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ว่าเป็นความสุขขึ้นมาอีก เพราะว่าคำว่า สุข สุขนี้มันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ มันมีความหมายสำหรับจะยึดถือ มันมี อัสสาทะ คือ รสอร่อยหรือเสน่ห์ในตัวมันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ผู้ฉลาดจึงไม่อยากจะเรียกว่า ความสุข คนทั่วไปจะเรียกว่าความสุขก็ตามใจ แต่ผู้รู้ท่านจะเรียกว่า ความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ เท่านั้นมันพอแล้ว บางทีเพราะเราไม่รู้เรื่องนี้ ไม่พอใจในส่วนที่ว่าสิ้นสุดแห่งความทุกข์ ต้องการจะให้มีความสุขยิ่งๆขึ้นไป แล้วก็ได้ไปตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสอีกเพราะหลงใหลในความหมายของคำว่า ความสุข นั้นเอง มันจึงหยุดไม่ได้ มันจึงจบเรื่องไม่ได้ มันปกติอยู่ไม่ได้ มันก็หมุนไปในวงกลมของความทุกข์
ในที่นี้ต้องการจะให้สนใจคำว่า ความทุกข์ที่เกิดมาจาก อุปาทาน นั้นเอง จะต้องใช้คำให้เต็มๆ ว่า อัตตวาทุปาทาน, อุปาทาน นั้นมีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่เกี่ยวกับความทุกข์โดยตรงนี้ เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน อุปาทาน ที่เป็นเหตุให้พูดออกมาว่า ตัวตน หรือ รู้สึกว่าตัวตน แล้วก็พูดออกมาว่า ตัวตน นี่เราพูดว่าตัวตน ตัวตนเป็นกันมาแล้วตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่เล็กๆ เพราะว่าเด็กทารกเกิดขึ้นมาแล้ว ก็มีคำพูดที่แวดล้อมให้เขามีความรู้สึกนึกคิดว่าเป็นตัวตนของเขา จะใช้คำว่า ฉัน ก็ได้ กู ก็ได้ อะไรก็ได้ มันหมายถึง ตัวตน ทั้งนั้น เด็กๆ ก็ค่อยๆมีความรู้สึกที่มีความหมายเป็นตัวตนขึ้นมาตามลำดับ คนข้างเคียงนั่นแหละเขาสอนให้โดยไม่รู้สึกตัวว่า พ่อ-ของหนู แม่-ของหนู บ้าน-ของหนู ตุ๊กตา-ของหนู อะไรๆก็-ของหนู จนเกิดความรู้สึกชนิดหนึ่งซึ่งมีความหมายว่าเป็นตัวตนและของตนขึ้นในจิตใจของเด็กนั้นทุกคราวที่เขาพอใจในอะไร
ต้องสังเกตดูให้ดีว่าไอ้ความรู้สึกว่าตัวตน-ของตนนี้ มันต้องมีมาภายหลังที่ได้รัก ได้พอใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว รักพอใจในรูปที่สวยงามก็ได้ ในเสียงที่ไพเราะก็ได้ ในกลิ่นที่หอมก็ได้ ในรสที่อร่อยก็ได้ ในความนิ่มนวลสัมผัสทางผิวหนังก็ได้ ให้มันเป็นความรู้สึกเอร็ดอร่อยแก่จิตใจ นี่, พอมีความรู้สึกอย่างนี้แล้ว มันก็เกิดความอยากให้มีเช่นนั้นอยู่ตลอดไป มีความอยากในสิ่งเหล่านั้น จะให้มีเช่นนั้นอยู่ตลอดไป ไอ้ความอยากนี้เป็นเพียงความรู้สึกว่าอยากขึ้นมาในจิตใจ แต่แล้วมันไม่รู้สึกเฉยๆมันปรุงให้เกิดความรู้สึกอีกอันหนึ่งสืบต่อมา คือ ความรู้สึกว่า-ตัวกู ตัวตนซึ่งเป็น-ตัวกูผู้อยาก แล้วก็อยากจะได้เป็น-ของกู ข้อนี้น่าหัวที่ว่า ไอ้ตัวกูนั้นนะมันพึ่งเกิดที่หลังความอยาก ต้องเกิดความอยากเสียก่อนแล้วจึงจะเกิดความรู้สึกว่า - ตัวกู นั่นแหละมันแปลก แต่มันก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่าไม่ต้องมี ตัวกู มันก็รู้สึกอยากได้ เพราะระบบแห่งความรู้สึกมันมีได้สำหรับจะอร่อย แล้วก็พอใจ ก็อยากให้มี อยากให้อยู่ด้วยกัน ไอ้ความอยากอันโง่เขลานี้ มันก็ค่อยๆ คลอดไอ้ความยึดมั่น-ถือมั่น เป็น ตัวกู-ผู้อยาก และอยากจะได้เป็น-ของกู
ถ้าท่านสังเกตในตอนนี้ให้ดี ท่านจะเข้าใจหลักของพระพุทธศาสนา ที่กล่าวว่ามันเป็น อนัตตา ทุกสิ่งมันเป็น อนัตตา มันไม่มีตัว-มีตน แต่ทำไมมันรู้สึกเป็นตัว-เป็นตนขึ้นมาเล่า? เรามีความรู้สึกเป็นตัวตน-เป็นของตนกันอยู่เป็นประจำทุกวันๆจนตลอดชีวิตปุถุชนผู้ยังไม่รู้อะไร ต้องสังเกตให้ดีว่ามันมีความรู้สึกอย่างไรอันเป็นความรู้สึกที่มีความหมายแห่งตัวตน? บางทีมันก็มิได้มีความรู้สึกว่าตัวตนโดยตรง แต่มันมีความหมายแห่งตัวตนหลายทิศทางทีเดียว เช่น เราชอบใจอะไร มันก็ซ่อนความรู้สึกว่าเป็น-ของตน หรือมีตัวตนเป็นเจ้าของ ความอยากได้ ความเห็นแก่ตัว นี่แหละ มันเป็นความหมายของตัวตน อย่าลืมว่าตัวตนมิได้เป็นตัวตนอยู่จริง เป็นแต่ความรู้สึก ท่านจึงกล่าวว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวตนนั้นเป็นเพียงมายา เป็นเพียงความโง่ที่มันทำให้เกิดความรู้สึกว่า-ตัวตน ตัวตนแห่งความรู้สึก แต่ว่าแม้จะเป็นเพียงตัวตนมายา เป็นเพียงตัวตนแห่งความรู้สึก ไม่เป็นดุ้น ไม่เป็นก้อนอะไร นั่นแหละระวังให้ดี มันกัดเจ็บปวดยิ่งกว่าตัวตนอย่างสุนัขและแมว เป็นต้น ความรู้สึกว่าตัวตนหรือความรู้สึกที่มีความหมายแห่งตัวตนทุกอย่างทุกทางเกิดขึ้นในจิตใจเมื่อใด มันก็กัดเอาเจ็บปวดเมื่อนั้น ถ้าใครรู้สึกตัวตนในลักษณะนี้แล้วจะเข้าใจธรรมะอันสูงสุดในพระพุทธศาสนาได้โดยง่าย เพราะว่าความทุกข์ทั้งหลายมันมาจากความรู้สึกว่า - ตัวตน
ทีนี้ก็จะได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า ตัวตน อันเกิดมาแต่ ความยึดถือ นั้นให้ละเอียดออกไป ขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งอกตั้งใจฟังให้ดี กำหนดจดจำให้ดี เอาไปคิดไปนึกให้ดี ให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ แล้วจะได้เกลียดน้ำหน้ามัน แล้วก็จะได้ระวังรักษาการปรุงแต่งแห่งจิตใจ อย่าให้มีการปรุงแต่งขึ้นมาเป็นตัวตนได้ มันก็จะพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เป็นพุทธบริษัทสมบูรณ์แบบ คือ ไม่มีความทุกข์เลย
อยากจะกล่าวว่า ถ้ามันมีความทุกข์อยู่แล้วมันยังไม่เป็นพุทธบริษัทที่สมบูรณ์แบบ เป็นพุทธบริษัทแต่เพียงชื่อ เพียงทะเบียน พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันรู้สิ่งที่ควรรู้เหมือนกับคนตื่นจากหลับ ไม่มัวหลับ แล้วมันก็มีความเบิกบาน คือ ไม่มีความทุกข์ นี่, คือลักษณะของความเป็นพุทธบริษัท จะต้องเป็นผู้เบิกบานอยู่ด้วยความรู้หรือสติปัญญา แล้วก็ไม่มีความทุกข์ และการที่จะเป็นเช่นนั้นได้ก็เนื่องมาจากการรู้จักควบคุมสิ่งที่เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ คือ อุปาทาน ว่า ตัวตน ท่านทั้งหลายมี อุปาทาน ว่าตัวตนวันหนึ่งเป็นสิบครั้ง เป็นร้อยครั้ง แล้วท่านก็ไม่รู้จักมัน อุปาทาน ว่าตัวตนมันทำให้ทุกข์ร้อน หลั่งน้ำตาหรืออะไรก็ตาม ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่แล้วก็ไม่รู้จักมัน นี่คือข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทุกคน จึงเป็นเรื่องที่จะต้องสังเกตดูให้ดีๆว่านี่มันอะไรกัน
พระบาลีธรรมจักรที่ทรงแสดงในวันนี้ มันก็บอกเรื่องความไม่มีตัวตนอยู่แล้วโดยปริยาย คือ บอกให้รู้ ให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายเป็นแต่เพียงมีเหตุ-มีปัจจัย มันไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุ-ตามปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น เราจึงมีอะไรล้วนแต่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง แม้แต่ชีวิต-จิตใจก็เปลี่ยนแปลง ร่างกาย-เนื้อหนังก็เปลี่ยนแปลง สมบัติ-พัสถาน ข้าวของใดๆ มันก็เปลี่ยนแปลง ทั้งที่เรายึดถืออยู่ว่า-ของตน เป็นความรู้สึกยึดถือที่ไม่ ไม่ปรากฏแก่คนโง่ ขออภัยอาตมาต้องใช้คำอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นมันไม่รู้ว่าจะพูดว่าอะไร สิ่งที่เรียกว่า ตัวตน หรือความหมายแห่งตัวตนนั้นมันมีอยู่ตลอดเวลา แต่มันไม่ปรากฏแก่คนโง่ คือ คนที่ไม่รู้จักธรรมะ ไม่มีแสงสว่างแห่งจิตใจ จะได้พูดไปตามลำดับ ตามข้อความที่มีอยู่ในพระบาลีนั้น
เมื่อตรัสเรื่องความทุกข์ก็ได้ตรัสว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ โสกะ, ปริเทวะ, ทุกขะ, โทมนัส, อุปายาส เป็นทุกข์ ประสบพบกันเข้ากับสิ่งที่ไม่น่ารักก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้ตามที่ต้องการก็เป็นทุกข์ สรุปความแล้ว เบญจขันธ์ ที่มี อุปาทาน ยึดถืออยู่นั้นเป็น ตัวทุกข์ โดยตรง นี่, ท่านตรัสไว้อย่างนี้
ท่านทั้งหลายอาจจะกำหนดเอาได้ง่ายๆ ในข้อที่ว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ เป็นต้น ทำไมมันจึงเป็นทุกข์? เพราะมันยึดถือว่า ความเกิด-ของเรา ความแก่-ของเรา ความเจ็บ-ของเรา ความตาย-ของเรา ทุกคนรู้สึกยึดถือความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็น-ของเราโดยไม่รู้สึกตัว ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงไม่ต้องตรัสว่า ความเกิดที่ถูกยึดถือ ความแก่ที่ถูกยึดถือ ความตายที่ถูกยึดถือ ไม่ต้องพูดอย่างนั้น พูดแต่ว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็พอแล้ว เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่คนโง่ทั้งหลายยึดถืออยู่โดยความเป็นตัวตน โดยไม่ต้องรู้สึก โดยไม่ต้องเจตนาจะยึด มันก็ยึดแล้ว แล้วมันก็ยึดไว้โดยความเป็น-ของตน ความเกิด-ของเรา ความแก่-ของเรา ความเจ็บ-ของเรา ความตาย-ของเรา พอมีลักษณะแสดงให้เห็นความแก่ มันก็สะดุ้งกลัวว่า ความแก่ของเรา เราจะตาย ความเจ็บ ความเจ็บของเรา เราจะตาย ไม่ต้องเจตนาคิดว่าความเจ็บของเรา มันก็ยึดถือว่าความเจ็บ-ของเราอยู่ในส่วนลึกแห่งจิตใจ ยิ่งความตายแล้วก็ยิ่งเห็นเป็นสิ่งที่มีอำนาจมาก ทุกคนเกลียดกลัวความตาย แล้วมีสัญลักษณ์แห่งความตายมันก็เป็นทุกข์ แล้วมันจะมาเป็นความตายของเราหรือเราตาย ทีนี้ มันกินความไปถึงสิ่งอื่นๆ ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งความตาย เช่น ความยากจน เราก็กลัวความยากจน และเป็นทุกข์เพราะความยากจน ยากจนเพราะมันเป็นปัจจัยแห่งความตาย หรือว่าสัตว์ร้าย สิ่งที่มีพิษร้ายเป็นที่ตั้งแห่งความตาย เราก็กลัวเพราะมันมีความหมายแห่งความตาย เพราะเรามันรู้สึกว่าเป็น-ของเรา หรือว่าเราจะเป็นผู้เกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของเรา เราก็ต้องเป็นทุกข์แหละ พูดว่าความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็พอแล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่ยึดถืออยู่แล้วโดยเต็มที่ในตัวมันเอง
ทีนี้ ลองเทียบเคียงว่าถ้าเราไม่มีความรู้สึกว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายของเรา เราก็ไม่เป็นทุกข์เท่านั้นแหละ แต่แล้วมันมีไม่ได้ มันยึดถืออยู่โดยนิสัยสันดาน โดยไม่ต้องเจตนา เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถมีความรู้ถึงขนาดที่มองเห็นว่า ไม่ใช่ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย-ของเรา และไม่มี-ตัวเรา ซึ่งเป็นผู้เกิด แก่ เจ็บ ตายอย่างนี้แล้ว มันก็ไม่เป็นทุกข์หรอก ความเกิด แก่ เจ็บ ตายนั้นไม่เป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์เฉพาะแก่ผู้ที่ เฉพาะผู้ที่มันมีความโง่ ยึดถือด้วย อุปาทาน ว่า ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย-ของเรา
ทีนี้ ถ้าว่าได้ศึกษามากพอ ศึกษาจากของจริงมากพอ มีสติปัญญาสูงสุดตามหลักของพระพุทธศาสนา แล้วมองเห็นชัดลงไปว่า ไม่ใช่-ของเรา และ ไม่มี-ตัวเรา ที่จะเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันก็ไม่มีความทุกข์ ได้แก่ พระอรหันต์ทั้งหลาย พระอรหันต์ทั้งหลายท่านก็แก่ลงทุกวัน บางเวลาท่านก็เจ็บ บางเวลาท่านก็พ่าย และในที่สุดท่านก็ตาย แต่ทำไมพระอรหันต์เหล่านั้นไม่มีความทุกข์เพราะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งที่ท่านก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตายอยู่เดี๋ยวนี้ นี่เพราะว่าพระอรหันต์ไม่ได้มีความรู้สึกว่า-ตัวตน ไม่ได้รู้สึกว่ามีความหมายแห่ง-ตัวตน หรือของตนอยู่ในจิตใจของท่าน เพราะฉะนั้น ความแก่ ความเจ็บ ความตาย หรือความเกิดก็ได้ มันก็เป็นของธรรมชาติไป มันเป็นของธรรมชาติไปเสีย ไม่มาเป็นของจิตใจของท่าน เพราะว่าในจิตใจของท่านไม่มีความรู้สึกว่า ตัวตน หรือ ของตน ดังนั้น พระอรหันต์ท่านจึงพ้นจากภัยของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พูดกันสั้นๆ ก็พูดว่าพระอรหันต์ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เพราะว่าความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีความหมายแก่พระอรหันต์นั่นเอง นี่ขอให้เข้าใจเสียให้ถูกต้องว่าทำไมพระอรหันต์จึงได้รับคำกล่าวว่า ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เพราะจิตใจของท่านฉลาด สะอาด สว่างไสวจนถึงไม่เกิดมีความรู้สึกว่า-ตัวกู หรือตัวฉัน ของกู หรือของฉัน โดยประการทั้งปวง
นี่แหละ ขอให้เข้าใจให้ลึกซึ้งถึงขนาดนี้ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์นั้น ท่านพูดอย่างธรรมดาสามัญสำหรับคนโง่ซึ่งมีความยึดมั่น-ถือมั่นด้วย-ตัวตน แล้วก็มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย-ของตน มันก็เป็นทุกข์ ความเกิด แก่ เจ็บ ตายอย่างเดียวกันมันก็เป็นทุกข์แก่คนโง่ๆ เหล่านี้ แล้วก็ไม่เป็นทุกข์แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย
นี่ดู เปรียบเทียบดู ให้เห็นว่าทำไมมันจึงต่างตรงกันข้ามกันถึงอย่างนี้ เพราะที่แท้มันก็เป็นความเกิด แก่ เจ็บ ตายอย่างเดียวกัน ตามธรรมชาติเป็นความเกิด แก่ เจ็บ ตายอย่างเดียวกันเป็นกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจยตา มันเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสแห่ง อิทัปปัจยตา เปลี่ยนแปลงอย่างนั้นเรียกว่าความเกิด เปลี่ยนแปลงอย่างนั้นเรียกว่าความแก่ เปลี่ยนแปลงอย่างนั้นเรียกว่าความเจ็บ เปลี่ยนแปลงอย่างนั้นเรียกว่าความตาย เป็นการเป็นไปตามกฎของธรรมชาติในลักษณะของธรรมชาติ โดยกฎของ อิทัปปัจยตา แต่พอมาเกี่ยวข้องกับคนโง่ก็กลายเป็น ทุกข์ สำหรับคนโง่ ถ้าเกี่ยวข้องกับคนที่ไม่โง่เลย คือ รู้ธรรมชาติทั้งหลายตามที่เป็นจริง มันก็ไม่เป็นทุกข์
ด้วยเหตุนี้แหละ ความเกิด แก่ เจ็บ ตายจึงเป็นทุกข์แก่ปุถุชน แต่ไม่เป็นทุกข์แก่พระอรหันต์ ท่านก็พอจะมองเห็นได้ว่า มูลเหตุมันอยู่ตรงที่คนหนึ่งมันมีความยึดถืออยู่แล้วโดยไม่รู้สึกตัว คนหนึ่งมันไม่มีความยึดถือเลย นี่จึงเห็นได้ว่าจะเป็นทุกข์หรือจะไม่เป็นทุกข์ มันก็อยู่ที่ว่า ยึดถือ หรือ ไม่ยึดถือ นี่เป็นหลักสำคัญที่จะมองให้เห็น และจะเข้าใจธรรมะได้โดยสมบูรณ์
ทีนี้ก็ไปดูถึง ความโศก ความเศร้าโศก ความ ปริเทวะ ร่ำไร รำพัน น้ำตานองหน้า ความเจ็บกาย ความเจ็บใจ ความเหือดแห้งใจ จิตใจแห้งผากเหล่านี้ ซึ่งเป็นรายการปลีกย่อยออกไปของความทุกข์ทางใจ เราโศกเศร้าเมื่อไร ขอให้ไปดูให้ดีว่ามันมีความยึดถือว่า-ตัวตน หรือ ของตน อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ลูกมันตายไป แม่มันโง่ พ่อมันโง่ มันก็ร้องไห้อยู่ เป็นความโศกเพราะว่าไอ้ลูกนี้มันเป็น-ของกู นี่เรียกว่าเพราะมีความหมายแห่ง-ตัวกู และ-ของกู มันจึงมีความโศก เพราะมันยึดถือใน..ในเด็กคนนั้น แต่ถ้าว่าในเด็กอย่างเดียวกันมันเป็นเด็กอื่น มันเป็นลูกของคนอื่น แม่คนนี้-พ่อคนนี้มันก็ไม่เศร้าโศก จะตายไปกี่คนกี่คนมันก็ไม่เศร้าโศก เรียกว่า มันมียึดถือที่ไหน-มันก็มีเศร้าโศกในที่นั้น
ทีนี้สมมติว่า ไอ้ลูกของมันแท้ๆแหละ แต่มันพลัดสูญหายไปนานแล้ว ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ วันหนึ่งมันก็ตาย นอนตายอยู่ พ่อ-แม่คนนี้ คู่นี้ไปเห็นเข้ามันก็ไม่เป็นทุกข์เลย ทั้งที่เป็นลูกของมันแท้ๆ มันเกิดมาจากไส้ อกของมันแท้ๆ แต่มันไม่รู้เพราะมันสูญหายไปนาน ไปนอน เห็นนอนตายอยู่ที่ไหนมันก็ไม่รู้สึกเป็นทุกข์เลย เพราะเหตุอะไร เพราะเหตุมันไม่เกิดความยึดถือว่า-ตัวกู หรือ ของกู นี่, ความโศกมันก็เกิดมาจากความยึดถือว่า-ตัวกู ว่า- ของกู ความร้องไห้ ร่ำไร รำพัน ปริเทวะ ตีอกชกหัว ซึ่งเป็นอาการแห่งความทุกข์นั่น มันก็มีมูลอยู่ที่ความยึดถือว่าตัวกู-ของกู ถ้ามีอะไรมาทำให้ไม่ยึดถือมันก็ไม่ต้องร้องไห้ ถ้ามันรู้ธรรมะพอว่า โอ้, มันเป็นเช่นนั้นเอง คนมันก็ต้องตายอย่างนี้ ไอ้ลูกของเราก็ต้องตายอย่างนี้ พ่อ-แม่คู่นั้นมันก็ไม่ต้องเป็นทุกข์
ทีนี้ว่า ความประสบกับของไม่รักเป็นทุกข์ก็เพราะมันมีความรู้สึกว่า-ตัวกู ได้ประสบกับสิ่งที่เป็นอันตรายแก่-กู มันก็เป็นทุกข์ เช่น พลัดพรากจากของรัก ของชอบใจแล้วก็เป็นทุกข์ ก็เพราะมันมี-ตัวกู เป็นเจ้าของแห่งของรัก แล้วมันก็พลัดพรากไป กู สูญเสียปัจจัยแห่งความสุข ความ..อะไรก็ตามมันก็ต้องเป็นทุกข์
ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นมันก็เป็นทุกข์ ก็เพราะว่ามันมี-ตัวกู เป็นผู้ต้องการจะเอามาเป็น-ของกู เมื่อไม่ได้ตามที่ไอ้ความโง่นี้มันต้องการมันก็เป็นทุกข์ ถ้าผู้ที่ไม่มีความรู้สึกว่า-ตัวกู ว่า-ของกู มันก็ไม่ได้ต้องการอะไร หรือถ้ามันต้องการอะไรมันก็เป็นต้องการด้วยสติปัญญา แม้ไม่ได้มันก็ไม่เป็นทุกข์ แม้จะได้มามันก็ไม่ดีใจ ไอ้ความดีใจ ไอ้ความเสียใจนี้ มันเป็นบ้าเท่าๆกัน ถ้าไม่เชื่อก็ไปลองคิดดูว่า ไอ้ที่ดีใจ ใจระรัว หรือ เสียใจจนใจสั่นนั้นนะ มันบ้าเท่าๆ กัน จะเป็นความทรมานเสมอกัน ถ้าเราไม่ต้องเป็นอย่างนั้นมีจิตใจที่ปกติจะดีกว่า คือ อยู่ตรงกลางระหว่างดีใจกับเสียใจ นั่นแหละ จะดีกว่า จะไม่ต้องเป็นทุกข์ จะมีความปกติทางกาย-ทางใจ ทำสิ่งที่เป็นหน้าที่การงาน เป็นประโยชน์สืบต่อไปได้โดยสะดวก ถ้าไปเสียใจหรือดีใจมันก็ระรัวไปหมด มันก็มืดไปตามแบบของความดีใจหรือความเสียใจ มันทำอะไรไม่ได้ กินข้าวก็ไม่ลง ดีใจมากเกินไป ก็กินข้าวไม่ลง เสียใจมากเกินไป ก็กินข้าวไม่ลง ก็เรียกว่า มันเป็นความบ้าเท่ากัน ถ้าเสียใจอยู่นานๆ เสียใจอยู่นานๆ ไม่เท่าไรมันก็เป็นโรคกระเพาะ เป็นโรคลำไส้ไม่รู้จักหายหรอก หรือมันจะกลายเป็นโรคความดันสูง น้ำตาลใช้ไม่หมดเหลือเป็นเบาหวาน อะไรก็เป็นไปตามเรื่องของมัน เพราะความผิดปกติของร่างกาย
สังเกตดูให้ดีๆว่า ตัวกู-ของกูนี้ มันร้ายกาจถึงขนาดนี้ มันสร้างปัญหาได้ทุกอย่าง ทำให้ความทุกข์เกิดขึ้นมาได้ทุกๆอย่างทีเดียว และที่กำลังเป็น กำลังมีอยู่แก่คนในโลกปุถุชนนี้ มันเป็นอยู่อย่างนี้จริงๆ เราจึงจำเป็นที่จะต้องถอนตนขึ้นมาเสียจากความเป็นคนโง่ หรือปุถุชนคนโง่ มาเป็นคนฉลาด เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันเสียที ก็เพราะเหตุอันนี้ เพื่อว่าจะมีจิตใจปกติ มีจิตใจปกติ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่ต้องเป็นบ้าเพราะความยินดียินร้าย ไม่ต้องกินข้าวไม่ลงเพราะความยินดี ยินร้าย แต่จะปกติที่สุด จะปกติถึงที่สุด มีสติปัญญาปกติ มีจิตใจปกติ มีร่างกายปกติ ทีนี้อะไรๆ มันก็ปกติไปหมด นี่แหละคือ ความไม่มีทุกข์ อยากจะเรียกว่า ความสุข ก็ตามใจ เดี๋ยวมันจะได้ยึดถือว่าเป็นของกู ของกูมากขึ้นไปอีก เอาแต่เพียงว่ามันไม่มีความทุกข์เลย
นี่ภาษาธรรมะ ภาษาสูงสุดในพระศาสนาท่านจะเรียกว่า ความไม่มีแห่งความทุกข์ ความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ ความออกไปเสียได้จากความทุกข์ ท่านไม่ใช้ว่า ความสุข แต่แล้วก็ไม่ถูกใจคนโง่ พอมาพูดกับคนโง่ๆ ต้องพูดว่าความสุข ความสุข พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งเพื่อให้คนโง่มันสนใจ แต่โดยที่แท้แล้วพระนิพพานเป็นเพียงที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ที่พูดนี้ก็เพียงเหตุผลอย่างเดียวว่า ให้ดูให้ดีว่ามันมาจาก อุปาทาน ยึดถือว่าตัว ว่าตน ว่าของตน สิ่งที่เป็นธรรมชาติธรรมดาแท้ๆ มันก็มากลายเป็นความทุกข์ขึ้นมาได้
การที่ยึดถือว่าตัวตนนั้นมันมีการแตกตัว ขยายออกไปได้หลายกระแส มายึดถือว่าตัวตนมีอยู่แล้ว มันก็เกิดความโลภบ้าง มันเกิดความโกรธบ้าง มันเกิดความหลงบ้าง ถ้ามันไม่ยึดถือว่าตัวตนมันไม่เกิดความโลภหรอก เพราะความโลภนี้คือ ความอยาก ความโง่เกินธรรมดา เกินความต้องการตามธรรมดา มันอยากด้วยความโง่แห่งความมีตัวตน ตัวตนมันอยากจะได้มาเป็น-ของตนมันก็เกิดความโลภ ทีนี้ถ้ามีอะไรมาขัดคอ ไม่เป็นไปตามที่ตัวตนมันอยากมันก็โกรธ ไอ้ตัวตนนั่นแหละมันเป็นเหตุให้โกรธ เมื่อมันไม่ได้ตามที่ตัวตนมันต้องการ ที่ความรู้สึกอันนี้มันไม่ระงับ เมื่อไม่ได้หรือยังไม่ได้ มันก็สงสัยว่าจะให้ได้อย่างไร มันก็วิตกกังวลว่าจะให้ได้อย่างไรนี่ก็เป็น โมหะ โมหะ มันก็มาจากความมี-ตัวตน ซึ่งต้องการด้วยความโง่ ซึ่งเดือดร้อนอยู่ด้วยความโง่ สงสัย วิตกกังวล หวังจะได้อยู่ด้วยความโง่ เมื่อมีความรู้สึกเป็นตัวตน-เป็นของตนอยู่ในใจแล้ว มันก็คลอดออกมาเป็น-ความโลภ เป็น-ความโกรธ ความหลง ซึ่งมันก็เป็นไฟที่เผาผลาญให้ร้อนอกร้อนใจด้วยกิเลสชื่อนั้นๆ หรือว่าจะไม่ดูกันในชื่อของกิเลส เราดูกันด้วยความรู้สึกธรรมดาๆ ก็ได้ ว่าตามธรรมดาที่คนเราประสบกันอยู่ก็คือ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล ความอาลัยอาวรณ์ ความอิจฉาริษยา ความหึง ความหวง โอ๊ย, เยอะแยะไปหมด กี่อย่างๆ เหล่านี้มันก็มาจากความรู้สึกว่า ตัวตน เป็นต้นเหตุ ไอ้ความโง่มันปรุงแต่งความรู้สึกว่า-ตัวตนอยู่ภายในใจ มันมีตัวตนมายานั้นแหละ ตั้งอยู่ภายในใจเป็นตัวประธาน ที่จะทำให้เกิดความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวง เป็นต้น
ถ้ามันไม่มีความรู้สึกที่เป็นความหมายแห่งตัวตนแล้วมันจะรักไปทำไม แล้วมันจะไปโกรธใครได้ มันจะไปเกลียดใครได้ จะไปกลัวอะไรได้ มันไม่มีอะไรนี่ที่จะต้องกลัว ถ้ามันไม่มี-ตัวตนหรือ-ของตน มันก็ไม่มีความอาลัยอาวรณ์ วิตกกังวลซึ่งทรมานใจอย่างยิ่ง ไม่อิจฉาริษยาใครว่ามันจะได้ดีเกินตัว ไม่มีความรู้สึกอันเลวร้ายทุกชนิดเลย เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกคนมองให้เห็นความจริงข้อนี้ว่าไอ้ความรู้สึกอันเลวร้ายเป็นอันตรายแก่จิตใจนั้นมันมาจากไอ้ความรู้สึกที่เป็น อุปาทาน ว่า-ตัวตน หรือว่า-ของตน นี่พูดสุภาพหน่อยก็ว่าตัวตน-ของตน แต่พอมันเดือดจัดขึ้นมา มันก็เป็น-ตัวกู เป็น-ของกู หรือจะเป็นอะไรที่หยาบคายมากกว่านั้น นี่, ความรู้สึกนี้เรียกว่า อุปาทาน ความโง่สำคัญผิดเป็นเหตุให้นึก คิด หรือพูดออกมาว่า-ตัวกู ว่า-ของกู รู้สึกเป็นตัวกู-ของกูขึ้นมาเมื่อไรก็ร้อนเป็นไฟเมื่อนั้น
เอ้า, ทีนี้มันอยู่ในโลกนี้ ที่ในโลกนี้มันมีไอ้ตัวโลก อยู่ที่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไอ้โลกนี้มันมีตัวโลกแท้จริงอยู่ที่เราจะรู้สึกได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กายของเรา สิ่งอะไรที่เราสัมผัสลงไปได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กายนั้นแหละ นั่นแหละคือ ตัวโลก ถ้ามันมีอยู่ตามพื้นดิน ตามพื้นที่ทั่วไปไม่มีความหมายอะไร มันก็ไม่มี ต่อเมื่อมันมาสัมผัสกับตา หู จมูก ลิ้น กายของเรา มันจึงมี มันก็มีอยู่ในขณะนั้นมันมี เวลานั้นเรียกว่า โลกมันมี ถ้าไม่มีสัมผัสกับ อายตนะภายใน ของเรามันก็เท่ากับไม่มี โลกมันไม่มี โลกมันเกิดขึ้นต่อเมื่อมันมาสัมผัสกับ อายตนะ ในตัวเราคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่พูดอย่างนี้เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า ว่าโลกนั้นมันคือ อายตนะภายใน หรือ อายตนะภายนอก
อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
ไอ้นี่มันเป็นของคู่กัน ถ้ามันไม่จับคู่กันก็เท่ากับมันไม่มี มีตาแล้วไม่มีรูป มีหูแล้วไม่มีเสียง มันก็เท่ากับไม่มีตา ไม่มีหู หรือว่าถ้ามีรูปหรือมีเสียงแต่แล้วมันไม่มีตาหรือมีหู มันก็เท่ากับไม่มีรูปไม่มีเสียง ฉะนั้นเมื่อพูดว่า อายตนะ มันก็ดึงเอามาทั้งคู่ เรียกว่า อายตนะ นั่นแหละคือ โลก
เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัมผัสกันอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั่นแหละคือ โลก ทีนี้ โลกนี้จะไม่มีความหมายอะไรหรอกถ้ามันไม่มีความรู้สึกโง่ๆอยู่ในภายในว่า-ตัวกู ถ้าไม่มี-ตัวกูเป็นความรู้สึกต้องการอะไรอยู่ ไอ้โลกนี้มันก็ไม่มีค่าอะไร แต่โลกมันมีค่าขึ้นมาเพราะมันมีความรู้สึกโง่ๆอยู่ในภายในใจว่า กู และ กู ต้องการจะได้มาเป็น ของกู เพราะฉะนั้น จึงพูดว่า อุปาทาน นี่ ตัวกูนี่ทำให้เกิดโลก พร้อมๆกันกับการเกิดแห่ง ตัวกู เพราะถ้าไม่มีความรู้สึกเป็น-ตัวกู เป็น-ของกู โลกก็ไม่มีความหมาย คือ ไม่ได้เกิด ถ้าโลกมันเกิดมีความหมายขึ้นมาแล้ว มันก็ต้องมีจิตที่มีความรู้สึกเป็นตัวกู-ของกู มันจึงพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า ไอ้โลก กับ ตัวกูนี้มันเกิดดับพร้อมกันเลย นี่ความลึกซึ้งแห่ง อุปาทาน ว่าตัวกู ว่าของกูนี่ มันอยู่ในลักษณะอย่างนี้
ทีนี้ก็มาสรุปหมดเลยอะไรก็ตาม ที่มันมีอยู่ในโลกนี้ ภายในตัวคนก็ดี ภายนอกตัวคนก็ดี ไปยึดถือเข้าแล้วมันเป็นความทุกข์ทั้งนั้นแหละ ยึดถือในภายในชีวิต จิตใจ เนื้อหนัง ร่างกาย-ของกู มันก็กลายเป็นความทรมานใจของกู ไปยึดถือภายนอก วัว ควาย ไร่ นา ช้าง ม้า อะไรก็ตาม ว่า-ตัวกูหรือว่า-ของกู มันก็มีความทุกข์ทรมานใจทั้งนั้น แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าความสุข นี่มันจะน่าหัวนะ มันเหมือนกับพูดเล่น แม้แต่ความสุขนั่นแหละที่คุณเรียกชื่อมันว่าความสุขนั่นแหละ ลองไปยึดถือให้เป็น-ของกูสิ มันกัดเอาทันที ความสุขมันจะหมดความหมายของความสุข มันจะกลายเป็นความทุกข์ไป ความสุขก็ดี ความเอร็ดอร่อย ความสนุกสนานอะไรก็ที่เรียกว่าความสุข ลองไปยึดถือเป็นตัว-ของกูไปเถอะ มันจะกัดเอาทันที มันจะกลายรูปเป็นยักษ์ เป็นมาร เป็นยักษ์ เป็นมารขึ้นมาขบกัดทันที โทษเลวร้ายของไอ้ความยึดถือมันเป็นถึงอย่างนี้ อะไรที่เรารักมานั่นแหละมันจะกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมาทันที แก้ว แหวน เงิน ทอง เพชร พลอย บุตร ภรรยา สามี เกียรติยศ ชื่อเสียงอะไรก็ตาม ลองไปยึดมั่น-ถือมั่น เป็นตัวกู-เป็นของกู มันจะกัดเอาทันที มันก็เป็นบ้าฆ่าตัวตายกันไม่รู้กี่ร้อยราย กี่สิบรายแล้วเพราะความยึดมั่น ถ้าไม่ยึดมั่นมันก็ไม่กัด ถ้าไปยึดมั่นมันกัด ความทุกข์เรียกว่า ถูกกัด เพราะไปยึดมั่นและสิ่งที่ยึดมั่นแหละมันกัด เพราะว่าอย่างน้อยมันก็หนักอกหนักใจแหละ ด้วยสิ่งที่เราไปยึดมั่นของน่ารักน่าพอใจ ตัวความสุขเองก็ดี วัตถุปัจจัยแห่งความสุขก็ดี พอไปยึดมั่นมันก็หนัก เหมือนกับว่าเราหิ้วของด้วยมือนี้ ถ้ามือไม่ไปหิ้วอะไรไว้มันก็ไม่หนักสิ พอมือไปหิ้วอะไรไว้มันก็หนัก จิตใจก็เหมือนกันแหละ ถ้ามันไปหิ้วอะไรเข้าไว้มันก็หนัก นั่นแหละคือ มันกัดเอา ถ้ามันไม่หิ้วอะไรมันปล่อยมันวางเอาไว้ มันก็ไม่กัดเพราะมันไม่หนัก ถ้าเราไปหิ้วแล้วมันหนัก จะหิ้วก้อนอิฐมันก็หนัก หิ้วเพชรพลอยแพงมากมันก็หนักเหมือนกัน มันอยู่ที่ว่าไปหิ้ว ไปหาบ ไปถือ ไปยึดแล้วมันก็หนัก เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ยึดถืออะไรก็ไม่มีอะไรหนัก มีเงิน มีทอง มีเพชร มีพลอยก็ได้โดยไม่ต้องยึดถือไว้ให้มันหนักหัวใจ หรือพูดอย่างหยาบคาย มันไม่มาสุมอยู่บนกระบาล วัว ความ ไร่ นา มันก็อยู่ตามทุ่งนา มันไม่มาสุมอยู่บนกระบาลของเจ้าของ วัวทั้งฝูง ควายทั้งฝูง มันอยู่ตามทุ่งนา มันไม่มาสุมอยู่บนกระบาลของเจ้าของจนนอนไม่หลับ จนเป็นโรคประสาท นี่, ดูไอ้ความยึดถือนั้นมันเป็นอย่างนี้ เราจะมีเงินก็ได้ มีอะไรก็ได้ อย่ายึดถือก็แล้วกัน พอยึดถือแล้วมันก็จะกัดเอา คือ จะเป็นทุกข์
ทีนี้ คนนี่มันมีความคิดมาก มันมีมันสมองใหญ่ มันคิดมากคิดเก่งมันก็ยึดถือเก่ง มันก็ได้มีความหนักมาก เกิดอาการที่ทนทรมานมาก นอนไม่หลับมาก เป็นโรคประสาทมาก เป็นบ้าก็มาก ซึ่งแมวมันไม่เป็นสักตัวหนึ่ง แมว สุนัข กา ไก่ มานั่งดูทุกวันมันไม่เป็นเลย มันไม่รู้จักยึดถือให้หนักอกหนักใจเหมือนคนเลย เพราะฉะนั้น เราไม่เห็นแมวปวดหัว ไม่เห็นแมวเป็นบ้า ไม่เห็นแมวเป็นโรคประสาท เหมือนคนที่เต็มไปทั้งบ้านทั้งเมืองนี้ เป็นโรคประสาทกันคนละเล็กละน้อยโดยจะไม่เว้นหน้าเสียแล้ว นี่แหละ มันน่าละอายแมว สัตว์เดรัจฉานสมองมันยังต่ำ มันยังคิดไม่เป็น มันเลยยึดถือไม่เป็น มันเลยไม่เป็นทุกข์เหมือนกับคนที่เก่งมากเกินไปในการที่จะยึดถือ นี่, คำว่า อุปาทาน คือ ความยึดถือ มันหมายความอย่างนี้ ถ้าไม่มี อุปาทาน แล้ว จะไม่มีความทุกข์เลย สิ่งที่พอใจหรือความสุขไม่มีใครมาสอนหรอกมันก็ยึดถือ เพราะมันยึดถือเป็นมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่แรกคลอดเลยมันก็ยึดถือเป็น แล้วมันก็เป็นชีวิตที่อยู่ด้วยความหนักในความยึดถือ แต่มันมีของล่อ ของหลอก คือ ความสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อย มาปิดบังเอาไว้ เหมือนกับน้ำตาลนั้นมันเคลือบของขม เคลือบยาพิษไว้ มันรู้แต่เรื่อง เสียงมีปัญหาขาดช่วง...(นาทีที่ 45.46) ขอให้ทุกคนสังเกตดูให้ดีๆว่า ตามธรรมชาตินี้เรามีความรู้น้อยไม่รู้เรื่องสิ่งเหล่านี้ และสิ่งแวดล้อมมันทำให้เราโง่และมันทำให้เรายึดถือ เที่ยวพอใจ และยึดถือในความพอใจ ก็หนักอกหนักใจเพราะความพอใจ ส่วนที่ไม่พอใจไปยึดถือเป็นความไม่พอใจ-ของกูมันก็หนักอกหนักใจ เพราะความไม่พอใจ
ทีนี้ก็จะพูดให้มันรุนแรงไปอีกว่าแม้แต่ความดี ถ้าไปยึดถือมันจะกัดเอา แม้แต่บุญกุศลที่คุณยายชอบกันนักนั่นแหละ ลองไปยึดถือเข้าเถอะมันจะกัดเอา ทั้งชั่ว-ทั้งดี ทั้งบุญ-ทั้งบาป ทั้งสุข-ทั้งทุกข์ พอไปยึดถือเป็น-ของกูเท่านั้นแหละมันจะกัดเอา มันก็เหมือนกับหยิบก้อนอิฐก้อนหินขึ้นมาทูนไว้เหนือศีรษะ มันก็หนักสิ ถ้าว่าอยู่กลางดินมันก็ไม่หนักอะไร พอยึดถือมาเป็น-ของกูแล้วมันก็หนักทั้งนั้น เอาความชั่วมาเป็น-ของกูมันก็หนักอย่างความชั่ว ไปเอาความดีมาเป็นของกูมันก็หนักอย่างความดี เพราะฉะนั้นไอ้คำพูดที่เคยพูดให้ฟัง ที่คนโบราณเขารู้แล้ว เขาพูดกันนั้นนะ ยังจะต้องจำใส่ใจไว้อีกนานว่า ทั้งชั่ว-ทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ ทั้งชั่ว-ทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ ทั้งชั่ว-ทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ กูไม่เอากับมึง ความชั่วไปยึดถือเข้ามันก็กัดแบบความชั่ว ความดีไปยึดถือเข้ามันก็กัดแบบความดี มันทรมานหัวใจเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จงมีจิตที่ไม่ยึดถือ มีจิตที่ปล่อยวาง ไม่สร้างของหนักขึ้นมาท่วมทับจิตใจ ก้อนอิฐก็หนัก เพชรพลอยที่แพงมากมันก็หนักเหมือนกันลองเอามาถือมาทูนไว้
คำว่า “อัปรีย์” นี้ ในภาษาธรรมะก็แปลว่า มันไม่น่ารัก “อะ” แปลว่า ไม่ “ปรียะ” แปลว่า น่ารัก “อัปรียะ” แปลว่า ไม่น่ารัก, ไม่น่ารักเพราะอะไร เพราะไปยึดถือเข้ามันกัดเอานี่ ทั้งชั่ว-ทั้งดีล้วนแต่ อัปปรีย์ คือไม่น่ารัก เพราะว่าไปยึดถือเข้าแล้ว ไปรับมันเข้าเท่านั้นมันจะกัดเอา มันจึงจัดไว้เป็นของที่ไม่น่ารักหรอกมีไว้เฉยๆ ความชั่วนั้นไม่มีดีกว่า เพราะมัน มันเสียชื่อเสียอะไรหมด ไอ้ความดีนั่นแหละมีไว้ได้แต่อย่ายึดถือ เหมือนกับมีเงินอย่าเอามาสุมไว้บนกระบาล คือ จิตใจ ถ้ามาสุมไว้ในจิตใจมันก็เป็นทุกข์ เอาไปฝากไว้ในธนาคารแล้วยังเอามาใส่ไว้ในจิตใจอีกมันก็ต้องเป็นทุกข์ ไม่เท่าไรคนๆ นี้ต้องเป็นโรคประสาทแน่ เอาเงินฝากไว้ในธนาคารแล้วแต่ยังเอามาสุมอยู่บนกระบาล คำพูดมันหยาบคายนะ แต่ว่าคำพูดหยาบคายนี้มันประหยัดเวลาได้มากต้องขอโอกาส ขออภัยใช้คำธรรมดาๆ ซึ่งค่อนข้างหยาบคาย
ที่นี้ อุปาทาน ในความชั่วมันก็กัดกันเป็นไฟเลย อุปาทาน ในความดีมันก็กัดเนือยๆ กัดไม่รู้สึก ร้อนเหมือนกับไฟที่อยู่ใต้แกลบ มันก็ร้อนที่สุดเหมือนกัน แต่ว่าไอ้แกลบหรือขี้เถ้าแกลบมันหมกไว้ มันปิดไว้ มันก็ยังร้อนนั่นแหละแต่มันร้อนโดยเปิดเผย หรือมันร้อนโดยเร้นลับ มันมีอยู่อย่างนี้ คนเราจะต้องรู้เรื่องนี้จึงจะไม่มีความร้อนเลย ความรู้นี้จึงประเสริฐที่สุดสมกับที่ว่าเป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านประทานให้แก่เรา ความรู้นี้มันประเสริฐที่สุด ถ้าใครมีไว้แล้วก็จะไม่ต้องละอายแมว ใครไม่มีแล้วมันจะต้องละอายแมววันยังค่ำ คือ มันจะต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนให้ละอายแมว เป็นโรคประสาทให้ละอายแมว เป็นบ้าให้ละอายแมว ซึ่งแมวมันไม่เป็น
เพราะฉะนั้น เราควรจะรู้จักในพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า ที่ท่านได้ประทานสิ่งที่ป้องกันไม่ให้เราต้องละอายแมวมาให้เรา แต่ถ้าเรามันโง่ถือเอาไม่ได้ แล้วไปทำสิ่งที่ต้องน่าละอายแมว มันก็ต้องโทษตัวเองสิจะไปโทษพระพุทธเจ้าได้อย่างไร พระธรรมที่ท่านประทานให้มันก็มีคุณสมบัติเต็มที่ ดับทุกข์ได้ พระองค์ก็ได้ประทานให้เพราะเมตตากรุณา ทีนี้เรามันรับมาไม่เป็น รับมาไม่ถูกต้อง หรือมีไว้ไม่ถูกต้อง ใช้มันไม่ถูกต้อง มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เหมือนกับยารักษาโรคที่ไม่กินไม่ใช้ หรือใช้มันไม่ถูกต้อง มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เผลอเข้ามันก็เป็นยาพิษไปก็ได้
จึงให้เห็นตามที่เป็นจริงว่า ไม่น่ายึดถือ อย่าไปเกิดความยึดถือให้เป็นตัวกู-เป็นของกู ไอ้ความรู้ที่จะทำให้ไม่ยึดถือ หรือความรู้ประเภทที่ทำให้เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นเช่นนั้นเอง เป็น ตถตา หรือ ตถาตา คือ มันเป็นเช่นนั้นเอง คือ มันเป็นไปตามกระแสแห่ง อิทัปปัจจยตา ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติว่า สิ่งใดนั้นมันย่อมเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นไปตามกฎของมันเอง จึงเรียก มันเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเองตามแบบของมันเอง แล้วจะไปเอามาเป็นของยึดถือได้อย่างไร มันไม่ฟังเสียงใครนี่ มันจะเป็นไปตามแบบของมันเอง เช่นนั้นเอง มันไม่ฟังเสียงมนุษย์ที่จะไปยึดถือ มันไม่ฟังเสียงเราที่จะไปยึดถือ ต้องการอย่างนั้น ต้องการอย่างนี้ มันไม่ฟังเสียง มันจะเป็นเช่นนั้นเองไปตามกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา
ดังนั้น ถ้าเรามีความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา เราก็จะไม่โง่ถึงขนาดจะไปหวังว่าสิ่งนั้นจงเป็นอย่างนั้น สิ่งนี้จงเป็นอย่างนี้ สิ่งนั้นจงมาเป็นตามความปรารถนาของเรา จะไม่เกิดความโง่ชนิดนี้ แล้วมันก็ไม่ผิดหวังมันไม่มีผิดหวังเพราะมันไม่เคยหวัง เพราะฉะนั้น คนนี้มันก็สบายดีเพราะมันไม่มีความผิดหวัง เพราะมันไม่ไปหวังให้มันผิดหวัง คนโง่เท่านั้นที่มันจะไปหวัง พอหวังก็ผิดหวังทันที ทันทีที่หวังเลย ลองดู คุณไปหวังอะไรเข้าสิ มันจะมีอาการผิดหวังทันทีที่หวัง แล้วก็ทรมานใจตั้งแต่จุดนั้นเป็นต้นมา ดังนั้น อย่าไปหวังอะไรดีกว่า เมื่อต้องการอะไรก็ทำให้ถูกต้อง ตามกฎของ อิทัปปัจจยตา หรือ เช่นนั้นเอง ของมันเอง แล้วมันก็ได้มาตามที่ต้องการแหละ ต้องการเงิน ต้องการชื่อเสียง ต้องการอะไรก็ได้ ไปทำให้ถูกต้องตามกฎของ อิทัปปัจจยตา อย่าไปหวังให้มันกัดหัวใจ คนที่เคยมีความหวังอะไรๆมาแล้วย่อมรู้ดี พอหวังแล้วก็ผิดหวังแล้วมันกัดหัวใจตลอดเวลา ถ้าได้เอามาสำหรับรัก สำหรับหวงแหนแล้วมันยิ่งกัดใหญ่เลย ดังนั้น ไม่ต้องหวัง ไม่ต้องหลงใหลในการที่จะยึดถือ แล้วมันก็ไม่กัด
เด็กๆ ถูกสอนผิดๆ ให้อยู่ด้วยความหวัง ไม่เท่าไรก็เป็นบ้าตายหมดแหละ หรือเป็นวัณโรคตายหมดเพราะมันทรมานใจด้วยความหวัง แม้แต่หวังชู้ หวังแฟนก็อย่าไปหวังดีกว่า มันไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าต้องการก็ทำไปตามที่ควรจะทำ โดยไม่ต้องหวังให้มันทรมานหัวใจ นี่, ธรรมะมันมีอย่างนี้ เพราะว่าความหวังนั้นก็คือ อุปาทาน ชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน มันก็มีความทุกข์ เพราะฉะนั้น มันไม่ต้องหวังเพราะเห็นอยู่ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง เพราะฉะนั้น จึงไม่ยึดถือในความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อะไรๆ ทุกอย่าง มันก็ไม่มีความทุกข์ เราเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเองตามกฎของ อิทัปปัจจยตาโดยเรามี สัมมาทิฏฐิ ความเห็น ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ ความอะไรอย่างถูกต้อง ไม่ไปหวังในอะไรซึ่งมันเป็นการผิดธรรมชาติ เพราะมันจะมาเป็นตามที่เราต้องการไม่ได้ เพราะมันจะต้องเป็นไปตามกฎของมันเอง ถ้าเราเก่งจริง เราทำให้ถูกกฎของมันเองสิ เราสร้างอะไรขึ้นมาได้มากมายทีเดียว เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ด้วยความหวัง ไม่ใช่สักแต่ว่าความหวัง
นี่เรียกว่าเดี๋ยวนี้เรามีความรู้เรื่องนี้ เรารู้จักทำ ไม่ให้เกิดความยึดถือว่าตัวกู-ของกู เราก็เกิดใหม่แล้ว ตายเสียแล้วจากคนโง่ มาเกิดเป็นคนฉลาดกันเสียดีกว่า จะได้เรียกว่า ได้มาอยู่ในอาณาจักรของพระพุทธเจ้า ตายเสียจากอาณาจักรของความโง่ ความมืด ความหลง แล้วมาเกิดใหม่ในอาณาจักรของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีแสงสว่าง มีความสะอาด มีความสว่าง มีความสงบนี้ มาอยู่ในโลกชนิดนี้ซึ่งไม่มีความโง่ ไม่มีความยึดมั่น-ถือมั่น ไม่เกิดกิเลส ราคะ โทสะ โมหะอะไรเลย นี่, เรียกว่า ประโยชน์ของธรรมะ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ในวันอาสาฬหปุณณมี เช่นวันนี้ เหมือนกับบอกให้อยู่ในอาณาจักรใหม่ หรือว่าจะช่วยกันสร้างอาณาจักรใหม่ มาอยู่กันในอาณาจักรใหม่แล้วจะไม่ต้องเป็นทุกข์เลย
เราช่วยกันทำให้ประเทศไทยของเรานี้เป็นอาณาจักรใหม่ ไม่เป็นอาณาจักรของคนโง่ แต่เป็นอาณาจักรของคนฉลาด ของพระพุทธเจ้า แล้วก็ไม่ต้องมีความทุกข์ทนทรมานด้วยสิ่งทั้งหลายนานาประการที่ทำไปเพราะความโง่ กล้าพูดว่าทำโลกนี้ ทำโลกนี้ทั้งโลกให้เป็นอาณาจักรของพระพุทธเจ้า เผยแพร่ธรรมะให้มีอยู่ในโลกทั่วโลก ทำให้โลกนี้กลายเป็นโลกของพระพุทธเจ้ามันก็วิเศษที่สุด แต่เอาเถอะ เพียงแต่ว่า ทำร่างกายของตัวเองนั่นแหละ ให้เป็นโลกของพระพุทธเจ้าซักทีมันก็ยังทำไม่ได้ มันจะเอาอำนาจ เอาปัญญาไหนไปทำโลกทั้งโลก หรือทำประเทศทั้งประเทศให้เป็นอาณาจักรของพระพุทธเจ้า แม้แต่ตัวมันเองซึ่งยาวซักวาหนึ่ง กว้างซักศอกหนึ่ง หนาซักคืบหนึ่งมันก็ยังทำไม่ได้ ขอให้ทำกันให้ได้ ทำตัวคนแต่ละคนที่ยังมีชีวิตเป็นๆ อยู่นี่แหละ ให้เป็น อัตตภาพ ที่มีแต่สติปัญญา ไม่มีความผิดพลาดในทางสติปัญญาอีกต่อไป ก็จะได้ชื่อว่าเป็นพุทธบริษัท พบพระพุทธศาสนา ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา ไม่เสียทีที่ได้พบพระพุทธศาสนา
นี่คือข้อที่อาตมาต้องการจะบอกท่านทั้งหลายในวันนี้ พูดมาตั้งชั่วโมงกว่า แต่เรื่องมีนิดเดียว คำเดียวคือว่า อุปาทาน ที่เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึก ว่าตัวกู-ว่าของกู สิ่งที่เรียกว่า อุปาทาน การปรุงแต่งอย่างผิดๆ โง่ๆ ในจิตใจ ทำให้เกิดความรู้สึกคิดนึกว่าตัวกู-ว่าของกู นั้นคือ อุปาทาน ถ้ารู้จักตัวนี้ได้แล้ว ควบคุมอันนี้ได้แล้ว ไม่มีความทุกข์ใดๆ จะเกิดขึ้น จะอยู่ด้วยความปกติไม่มีความทุกข์เลย
นี่, วันนี้เป็นวันอาสาฬหปุณณมี เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องนี้ ว่าสิ่งใดมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็มีความดับเป็นธรรมดา มันเป็นเช่นนั้นเอง อย่าไปหลง คาดคั้น เค้นให้มันเป็นตัว-เป็นตน ให้มันเป็นเช่นนั้นเองไปตามธรรมชาติ จิตใจรู้แล้ว อย่าไปหมายมั่นให้มันเป็นตัวตน ต้องการประโยชน์อะไรก็ทำไปโดยไม่ต้องหมายมั่นว่าเป็น-ตัวตน ทำนาก็ไม่ต้องหมายมั่นว่า-ตัวกู ว่า-ของกู ตัวกูทำ ทำมาเป็นของกู ทำไปก็แล้วกัน ข้าวมันก็ออกรวงดีแหละ เอามากินก็ได้ ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู-ว่าของกู ข้าวมันก็ออกรวงดีและมันก็เอามากินได้ อย่าโง่ให้มากนักไป ชาวนา ชาวสวน ค้าขาย ข้าราชการหรืออาชีพอะไร ก็สุดแท้แหละอย่าต้องหมายมั่นให้เป็นตัวกู-ของกู ทำไปถูกเรื่องของมันก็จะได้ผลมากินมาใช้โดยไม่ต้องยึดถือว่าตัวกู-ของกู เคี้ยวเข้าไปในปากอร่อยแล้วก็อย่าได้โง่หลงว่า กูอร่อย อร่อยของกู มันจะกัดเอาอีก ไปยึดถือเมื่อไรมันกัดเมื่อนั้น ยึดถือที่ไหนมันก็กัดที่นั้น
เพราะฉะนั้น ขอให้พระธรรมของพระพุทธองค์ ซึ่งทรงประทานให้แก่ชาวโลกในวันนี้ เป็นเรื่องอย่างนี้ จงสำเร็จประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย มีความเจริญงอกงามตามความหมายของพระธรรมนี้ และมีความปกติสุขอยู่ทุกทิพพาราตรีกาลเทอญ
ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการแสดงธรรมเทศนาในตอนนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้