แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายครั้งนี้เป็นการบรรยายต่อจากครั้งที่แล้วมาซึ่งยังไม่จบเรื่อง ว่าง ๆ สูญ ๆ ในพระพุทธศาสนา จะทบทวนไอ้เรื่องที่แล้วมาสักเล็กน้อย เพื่อผู้มาใหม่จะได้ฟังรู้เรื่อง คำว่าสุญญตา แปลว่า ความว่าง คำว่า สุญญ แปลว่า ว่าง ในพุทธศาสนาหมายถึงว่างจากตัวตน ว่างจากความหมายแห่งตัวตน หรือของตน ถ้ามันมีตัวตนหรือความหมายแห่งตัวตน ไอ้ตัวตนนั่นแหละมันมีอยู่ มันเลยทำให้ไม่ว่าง ถ้ามันไม่มีความหมายแห่งตัวตน มันก็คือเท่ากับไม่มีอะไร หรือว่าง ถึงแม้มันจะมีอะไรสักกี่อย่างก็ตาม ถ้าไม่มีความหมายแห่งตัวตน มันก็เท่ากับไม่มี ฉะนั้น เราจึงว่าคำว่าว่างนี้ก็ว่างจากตัวตน หรือสิ่งที่มีความหมายแห่งตัวตน จิตนี้เมื่อไม่มีความคิด นึก รู้สึกที่เป็นตัวตน หรือเป็นความหมายแห่งตัวตน ก็เรียกว่า จิตว่าง มันจะมีความคิดนึก หรือความรู้สึก หรือสติปัญญาอย่างอื่นก็ตามใจ เมื่อมันไม่มีความหมายแห่งตัวตนก็เท่ากับไม่มี จึงเรียกว่า ว่าง มันเลยกลายเป็นว่า ไอ้จิตที่มันว่างนั่น กลับเต็มไปด้วยสติปัญญา เต็มไปด้วยสมรรถนะของจิตคือ มันอิสระ มันแคล่วคล่องว่องไว มีความสามารถในการที่จะคิดจะนึก นี่ คำว่า ว่าง ในภาษาบาลีมันเป็นอย่างนี้ ทีนี้พอมา มาถึงภาษาไทย พอมาสู่เมืองไทย คำว่าว่างนี่ หรือสุญญะ สุญญตะ หรือว่า สุญญะ นี่ ก็มาแปลกันเสียว่าสูญ สูญในภาษาไทยนะ มันเท่ากับสูญหาย หรือเท่ากับสูญเปล่า คำว่า สุญญตา ไปถูกแปลว่าเป็นสูญเปล่า เป็นความสูญเปล่า หรือสุญญะ แปลว่า สูญเปล่า ซึ่งสูญเปล่า ก็เลยยุ่ง และหมดความหมายของธรรมะ ดังนั้น ขอให้ถือเป็นหลักไว้ว่า สุญญะ ในภาษาบาลีนี่แปลเป็นไทยต้องแปลว่าว่าง อย่าไปแปลว่าสูญหายหรือสูญเปล่า เหมือนที่เขาแปลกันอยู่โดยมาก มากเหมือนกัน ให้แปลว่าว่าง คือ ว่างจากตัวตน หรือว่างจากความหมายแห่งตัวตน รวมทั้งของตนด้วย เพราะว่าถ้ามันมีความหมายแห่งตัวตนคือ มีตัวตนนะ มันก็ต้องมีอะไรซึ่งเป็นของตน เป็นธรรมดา เหมือนกับเป็นเงาตามตัว นี่เราก็อย่าให้มันมีทั้งตัวตน และทั้งของตน อย่างนี้เขาเรียกว่า ว่าง ตรงกับคำว่า สุญญะ เมื่อครั้งที่แล้วมาก็พูดถึงเรื่องการปฏิบัติให้มีจิตชนิดที่ว่าง ไม่มีความยึดถือว่าตัวตนโดยวิธีซึ่งสรุปความแล้วก็ได้ความว่า เรามีอะไรให้จิตกำหนดชนิดที่จะไม่ให้เกิดตัวตนขึ้นมาได้ ให้รู้ไว้ว่า ตามธรรมดาจิตที่ไม่ได้มีอะไร มาควบคุมนั่นนะ มันมีความคิดนึกไปในทางเป็นตัวเป็นตนทั้งนั้นแหละ ทั้งวันทั้งคืนแหละ เพราะว่าในโลกนี้ ในสังคมเรานี้ มันก็มีอะไร ๆ ที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชวนให้คิดนึกไปในทางเป็นตัวเป็นตนทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าเรื่องอะไร ในวันหนึ่ง วันหนึ่ง ฉะนั้น จึงเรียกว่าไอ้ความคิดปรุงแต่งประเภทว่ามีตัวตนนั้นมันจึงเป็นของธรรมดาไปเสีย เราก็คิดนึกถึงตัวตน รู้สึกเป็นตัวตน เคยชินในการที่จะมีความคิดนึกว่าตัวตน เมื่อมีความคิดนึกว่าตัวตน ก็ยึดถือตัวตนเมื่อไร มันก็มีความทุกข์เมื่อนั้น อย่างน้อยก็มีความหนัก มันเครียด หรือมันหนัก เพราะความรู้สึกแห่งตัวตน มันจะมีความหมายเป็นการได้ เป็นการเสีย มันจะมีความหมายเป็นการดี เป็นการชั่ว เป็นการแพ้ เป็นการชนะ เป็นการขาดทุน เป็นการได้กำไร เป็นคู่ ๆ เสมอไป สิ่งที่เรียกว่าตัวตนมันก็ระแวง ระแวง ว่าจะเป็นไปในทางที่ไม่ได้ หรือ มีหวังว่าจะได้ มันก็มีความคิดไปในทางที่จะได้ นี่มันสูญเสียไอ้ความว่าง หรือภาวะปกติเดิม ทีนี้เราจะรักษาเอา เอาสภาวะความว่างปกติเดิมนี้ไว้ให้ได้ เพื่อจิตว่างจากตัวตน หรือของตน เพื่อประโยชน์อย่างน้อย ๒ อย่าง คือว่า เมื่อมันมีความรู้สึกว่างจากตัวตนนั้นมันจะมีความสุข นี้อย่างหนึ่ง แล้วอีกอย่างหนึ่งมันจะมีความสามารถในการที่จะคิดนึกหรือทำอะไร เพราะจิตไม่ถูกผูกมัดให้ไปติดอยู่ที่อะไร เป็นจิตที่เป็นอิสระ ฉะนั้น จิตที่ว่างนี้จึงทำงานได้ดีกว่า จิตที่ไปถูกติด ผูกติดอยู่กับอะไร บางทีก็ถึงกับเป็นทาสของสิ่งนั้นก็มี แม้ไม่เป็นทาส มันก็ถูกผูกติดให้ไม่คล่องตัว นี่ถ้าจิตว่างแล้ว มันอย่างน้อยก็ได้ประโยชน์เป็น ๒ อย่าง คือ มีความสุขสบาย มันมีอิสรภาพ ไม่มีอะไรรบกวน และวิเวกอย่างยิ่งแหละ ไอ้จิตว่างแหละ วิเวกอย่างยิ่ง ซึ่งได้เคยพูดมาแล้วว่า ไอ้ความวิเวกนะ มีวิเวกทางกาย คือ กายไม่ถูกอะไรรบกวน วิเวกทางจิต จิตไม่มีอะไรรบกวน วิเวกทางอุปธิ ไม่ได้แบกของหนักไว้ นี่ก็เรียกว่าวิเวกชั้นสูงสุดแหละ กระทั่งว่าสติปัญญาก็วิเวก สติปัญญาไม่ถูกกักขัง ไม่ถูกกีดกัน สติปัญญามันก็อิสระ คือ วิเวก มันมีอยู่ ๓ วิเวก วิเวกทางกาย วิเวกทางจิต วิเวกทางสติปัญญา ซึ่งจะเรียกว่าอุปธิวิเวก เมื่อเรามีจิตว่างนั่นแหละ คือ มีอุปธิวิเวก อุปธิ แปลว่าของหนัก เมื่อถือของหนักอยู่ มันก็คือไม่คล่องตัว ไม่วิเวก ไม่มีของหนักมาถืออยู่ มันก็วิเวกในทางนี้ ถ้ามองดูทางสติปัญญา ก็คือสติปัญญาไม่ถูกกักขังนะ ดังนั้น จิตที่ว่างนั่นนะ มันจึงเป็นสุข เป็นความสุข สงบ เพราะความเป็นอิสระ ขอให้สังเกตดูเอาเองก็แล้วกันไม่ต้องไปเชื่อใครที่ไหน เมื่อจิตมันโปร่ง เมื่อจิตมันว่าง มันไม่มีอะไรผูกพันนะ เราก็รู้สึกสบายที่สุด ที่เราจะประสบอยู่เสมอ ๆ ในเรื่องของเราในชีวิตประจำวันนี้ เมื่อใดจิตมันโปร่ง มันว่าง มันไม่มีอะไรผูกพันรบกวน เวลานั้นเราสบาย สบายใจ ที่จะเป็นสุขยิ่งกว่าได้กิน ได้เล่น อะไรที่มันเป็นเรื่องรบกวน กินของอร่อยมันก็ไม่ว่างนะ เล่นสนุกมันก็ไม่ว่างนะ จิตมันถูกผูกพันอยู่ที่ของอร่อย หรือของสนุก เมื่อมันไม่ถูกผูกพันอยู่ด้วยอะไร ก็เรียกว่ามันว่าง มันก็จะมีความหมายเป็นสุข เอ่อ, ใน ใน ในทางธรรมะ ในทางภาษาธรรมะ จะใช้คำว่าสนุกก็เหมือนกันแหละ แต่ต้องอีกภาษาหนึ่ง ภาษาธรรมะ จิตว่างนี้เป็นสุข สนุกสนานไปตามแบบธรรมะ จิตวุ่น มันเป็นสุข สนุกไปตามแบบของกิเลส ดังนั้น ขอให้สังเกตดูให้ดีว่าเมื่อใดจิตไม่ถูกอะไรรบกวนเมื่อนั้นเป็นสุข นี่อานิสงส์นี้ก็ดูเหมือนจะพอแล้ว จะคุ้มค่านะ ทีนี้อานิสงส์ที่ ๒ นี้ มันเป็นจิตที่มีสมรรถนะสูง ว่องไวในการทำหน้าที่ของจิตนั้น คือทำหน้าที่พินิจพิจารณา สอดส่อง ค้นคว้า คิดนึก คล่องไปหมด เพราะมันเป็นจิตที่อิสระ แล้วกายก็พลอยสบายไปด้วยในเมื่อจิตมันเป็นอิสระ เราก็ทำงานได้ดี จิตนั้นจะทำงานได้ดี หมายความว่าทำถูกที่สุด ว่องไวที่สุด มั่นคงที่สุด นี่เราต้องการจะใช้ประโยชน์จากจิตว่าง ทีนี้จะทำให้มีจิตว่างก็ปฏิบัติชนิดที่ว่าไอ้ตัวกูเกิดไม่ได้ ที่เอาจริงเอาจังก็คือปฏิบัติในรูปแบบที่ว่า เห็นไอ้ความว่าง เห็นไอ้สิ่งที่ไม่ ไม่เป็นตัวตนตามธรรมชาติอยู่เสมอ ที่ให้รู้จัก หนอ หนอ หนอ หลายสิบขั้นตอนนะ เดี๋ยวนี้มาดูที่ชีวิต ร่างกายทั้งหมดนี้ รู้สึกว่าธรรมชาติ เป็นธรรมชาติไม่ใช่ตัวตน นี่เหมาๆ รวมๆ กันว่ามันเป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวตน ก็ว่าไม่ใช่ตัวตนหนอ หรือว่าธรรมชาติหนอ ธรรมชาติเท่านั้นหนอ หาใช่ตัวตนไม่ หามีตัวตนไม่ ถ้าแยกแยะออกไปเห็นว่าชีวิตร่างกายอัตภาพนี้ประกอบไปด้วยธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ก็ดูทีละธาตุสิ ในร่างกายนี้ แล้วก็เพ่งเข้าไปที่ตรงนั้น โอ้, ดินหนอ หมายความว่า สักแต่ว่าธาตุดินหนอ เพ่งเข้าไปที่ส่วนประกอบที่เป็นธาตุน้ำ ก็โอ้, สักว่าน้ำหนอ ธาตุไฟ ก็สักว่าไฟหนอ ลมก็สักว่าลมหนอ ธาตุจิต ธาตุวิญญาณก็ว่าจิตหนอ วิญญาณหนอ ถ้าดูที่ความว่างทางวัตถุในส่วนช่องว่างแห่งร่างกายก็ว่า โอ้, ว่างหนอ ว่างหนอ ช่องว่างหนอ ร่างกายนี้ดูเป็นธรรมชาติ สักว่าธรรมชาติหนอ เมื่อมันเดินอยู่ โอ้, สักว่าอิริยาบถเดินหนอ ไม่ใช่ตัวกูเดิน สักว่าอิริยาบถเดินตามธรรมชาติ ของธรรมชาติ ที่มันปรุงแต่งกันจนมาอยู่ในอิริยาบถที่เดิน สักว่าอิริยาบถเดินเท่านั้นหนอ เมื่อนั่งก็เหมือนกัน สักว่าอิริยาบถนั่งเท่านั้นหนอ สักว่าอิริยาบถยืนเท่านั้นหนอ สักว่าอิริยาบถนอนเท่านั้นหนอ กระทั่งว่าจะซอยให้เป็นละเอียด เป็นขั้นตอนไป ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ก็ได้ ถ้าไปเป็นเรื่องอื่น เช่นว่า กินหนอนี่ อย่าให้เป็นตัวกูกินหนอ สักให้มันเป็น สักว่าอิริยาบถตามธรรมชาติที่เราเรียกชื่อกันว่า กิน ไอ้กินนี่มันยังต้องมีแบ่งเป็นส่วน ๆ ว่าหยิบ ยก ใส่ปาก เคี้ยว กลืน อย่างนี้เป็นต้น ก็แยกออกไปได้ หยิบหนอ เข้าปากหนอ เคี้ยวหนอ กลืนหนอ กำหนดเอาเองสิว่าเราอยากจะกำหนดสักกี่ขั้นตอนแล้วก็ใส่หนอเข้าไป เพราะมันเป็นสักว่ากิริยาอาการ อิริยาบถเช่นนั้นเท่านั้นหนอ ไม่ใช่มีกูที่เป็นผู้กิน ผู้เคี้ยว ผู้กลืน ทีนี้ ถ้าว่ามันเป็นเรื่องอาบน้ำ ก็ดูเถิด ทั้งหมดนั้นเรียกว่าอาบน้ำ อาบหนอ อาบหนอ ถ้าว่ามันจะซอยให้ละเอียดก็ว่าผลัดผ้าหนอ ตักน้ำ ตักขึ้นหนอ ยกขึ้นหนอ รดลงไปหนอ เมื่อทำอิริยาบถอย่างใดอยู่ กำหนด อิริยาบถอย่างนั้นว่าเป็นสักว่าอาการตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ ไม่ใช่มีตัวกู ไม่ใช่มีตัวตน จะถ่ายอุจจาระ จะถ่ายปัสสาวะ หรือจะทำอย่างอื่น ทุกอิริยาบถเลย มีสติกำหนดว่ามันเป็นสักว่าอิริยาบถเช่นนั้นตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ เมื่อทำอยู่อย่างนี้มันปิดหมด ปิดความคิดปรุงแต่งว่าตัวกู ว่าของกู เมื่อทำไปนานพอสมควร มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในจิตนี่ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะไม่ต้องมีตัวตน นั่นแหละมันก็ไปเข้ารูปแบบที่ว่าไม่มีตัวตน คือว่างจากตัวตน นี่เรียกว่าเราฝึกบทเรียนสุญญตา ความว่างจากตัวตน โดยลักษณะอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว อย่าให้มีความคิดเป็นตัวตนเข้าไปแทรกแซง เช่นว่านั่งหนอ ก็กลายเป็นกูนั่ง ถ้ากูอยากจะลุกขึ้น แล้วกูลุกขึ้น กูยืน กูเดิน กูอะไรหนอ หนอ ไปเป็นตัวกูไปเสียหมด ธรรมชาติเดิมแท้มันไม่มีตัวกูหรอก มันว่างจากตัวกูกลับไปสู่สภาพเดิมแท้ของมัน เห็นทุกสิ่ง ตามธรรมชาติเดิมแท้ของมัน เห็นตามธรรมชาติเดิมแท้ของมัน หรือว่าเห็นโดยธรรมชาติเดิมแท้ของมัน นี่เรียกว่าฝึกให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการที่มันเคยชิน แต่จะมีความคิดปรุงแต่งว่าตัวกู ว่าของกู ต่อไปนี้มันก็เกิดน้อยลง น้อยลง จนกระทั่งไม่เกิด ไม่เกิดตัวกู ก็ไม่มีกิเลส มันไม่เกิดความหมายแห่งตัวกู แล้วมันก็รักไม่ได้ โกรธไม่ได้ เกลียดไม่ได้ กลัวไม่ได้ อาลัยอาวรณ์ไม่ได้ วิตกกังวลไม่ได้ มันก็ไม่มีความทุกข์ มันไม่มีความร้อนของกิเลส ก็เรียกว่าเย็น เป็นความหมายของนิพพาน คำว่านิพพานนั้น ถ้ายังไม่ทราบก็ทราบว่ามันแปลว่าเย็น เมื่อไม่เกิดตัวกู ว่างจากตัวกู มันจะมีสภาพเย็นหรือความรู้สึกเย็น คือได้นิพพานมาเป็นตัวอย่าง นิพพานน้อย ๆ นิพพานชั่วขณะ นิพพานที่เป็นความรู้สึกของตน รู้สึกด้วยตนเองว่ามันเย็น นี่คือ คือนิพพานที่เราอาจจะชิมลองได้ เป็นนิพพานตัวอย่างได้ ในเมื่อจิตมันว่างจากความยึดถือ มันไม่มีความหนัก และเป็นทุกข์ แล้วมันไม่เกิดกิเลส เป็นโลภ โกรธ หลงใด ๆ เรียกว่า สันทิฎฐิกนิพพาน คือ นิพพานที่รู้สึกได้ด้วยตนเอง เรียกว่า ทิฎฐธัมมิกนิพพาน คือนิพพานที่รู้สึกได้ใน ในทิฏฐธรรมนี้ ในชาตินี้ ไม่ต้องตายแล้ว เรียกว่า ตทังคนิพพาน คือมันประกอบขึ้นด้วยการประกอบที่กระทำถูก กระทำถูก ถูกจุด แล้วมันก็ออกมา โดยที่มันเป็นของชั่วคราวไม่แน่นอนตลอดไป ก็เรียกว่านิพพานชั่วคราว สามายิกนิพพาน นิพพานชั่วสมัย แต่มีรสชาติอย่างเดียวกันทั้งนั้นแหละ นิพพานแท้สมบูรณ์ ก็คือนิพพานชั่วขณะ มันมีรสชาติ คือเย็น เย็นเพราะไม่มีไฟ คือกิเลส ก็ดูไปที่ตรงนั้นว่า จะเห็นว่า ตอนนั้น เวลานั้น ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ รบกวน มันว่างจากไอ้ราคะ โทสะ โมหะ รบกวน คือ ว่างจากไฟ ซึ่งเป็นของร้อน เมื่อมันว่างจากไฟซึ่งเป็นของร้อน มันก็เย็นนะ ตรงกับความหมายของคำว่านิพพาน ซึ่งแปลว่าเย็น ถ้ายังไม่ทราบ ก็ทราบเสียสิว่า คำว่านิพพาน แปลว่าเย็น ชีวิตที่เยือกเย็นนั่นแหละคือ ชีวิตที่อยู่กับนิพพาน ไม่มีไฟ ไม่มีของร้อน ก็คือเย็น สำหรับคน เย็นเพราะไม่มีกิเลส คำนี้ใช้กับวัตถุก็ได้นะ อย่างคำบาลีว่า ปชฺโช ตสฺเสว นิพฺพานํ นิพพาน นิพพานของไฟ นิพพานํ คือคำนี้แหละ ปชฺโช ตสฺ ก็ของไฟ ก็คือ ความดับของไฟ เมื่อไฟดับก็เรียกว่านิพพานของไฟนี่ ของร้อน ๆ ใด ๆ ถ้ามันเย็นลงก็เรียกว่ามันนิพพาน ภาษาชาวบ้านครั้งโบราณพุทธกาล เช่นว่า ข้าวมันร้อน ก็เรียกว่า ข้าวมันยังไม่นิพพาน ยังกินไม่ได้ ต้องรอเดี๋ยวคอยให้ข้าวมันเย็นลงคือ มันนิพพาน แกง กับ อะไรก็เหมือนกันแหละ ข้าวต้มมันก็เหมือนกัน ถ้ามันยังร้อนอยู่กินไม่ได้ ต้องรอจนกว่ามันจะนิพพาน ก็คือมันเย็นลง ถึงจะกินได้ ถ้าใช้กับสัตว์เดรัจฉาน ก็หมายความว่าเมื่อมันไม่มีฤทธิ์ ไม่มีพิษ ไม่มีอันตรายอีกต่อไป สัตว์เดรัจฉานมันเชื่องถึงที่สุด ไม่มีอันตรายอีกต่อไป ก็ใช้คำเรียกว่าสัตว์เดรัจฉานตัวนี้ก็นิพพานแล้วเหมือนกัน คือมันเย็นลงด้วยการได้รับการฝึกฝนดี ฝึกฝนดี อย่างเราไปจับสัตว์ในป่ามา มันก็เอะอะ ตึงตัง โวยวายเหมือนกับไฟ ไฟ ไฟติดอยู่ เอามาฝึก ฝึกๆ ฝึกจนเชื่อง จนเชื่อง เหมือนกับช้าง ช้างตัวโต ๆ ช้างป่ามาฝึก จนเชื่องเหมือนกับแมวนั้น ก็เรียกว่ามันนิพพานได้เหมือนกัน คือมันหมดพิษร้อน หมดอันตราย หมดอะไรต่าง ๆ แต่ถ้าสำหรับคนเรามันก็หมดไฟด้วยราคะ โทสะ โมหะ ถ้าหมดด้วยการกระทำของเรามันก็เรียกว่าเป็นผลการกระทำ แต่บางเวลาที่มันเป็นเองของมัน มันไม่ได้ เราไม่ได้ตั้งใจจะทำ มันไม่เกิดเอง มันก็เย็นเองก็มีเหมือนกัน แต่เราไม่ค่อยสังเกต เพราะเราสนใจจะ เอากันแต่เรื่องสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อย เมื่อมันว่างจากกิเลสเป็นธรรมดามันกลับเห็นว่า ไม่มีรสมีชาติอะไร มันไม่ค่อยมีใครสนใจ ถ้าสนใจก็จะรู้ว่า เอ่อ, ไอ้เวลาที่มันเป็นของมันเองก็มีเหมือนกันนะ ราคะไม่เกิด โทสะไม่เกิด โมหะไม่เกิด มันมีเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งบางทีเราก็ไม่รู้ แต่มันก็มี แล้วจิตมันก็ไม่เกิดราคะ โทสะ โมหะ แม้ชั่วขณะหนึ่งอย่างนี้ เป็นเองอย่างนี้ก็ยังมี มันก็เย็นเหมือนกันแหละ เช่นวันเวลาหนึ่งเรารู้สึก โอ้, โปร่งใจ สบายใจ พอใจที่สุดโดยไม่รู้เหตุผลว่าเพราะเหตุอะไร นี้มันก็มี ดังนั้น ก็รู้จักมันไว้สิ แต่ชนิดนั้นมันไม่ได้ตามที่เราต้องการ มันมีเมื่อมันจะมี พอเราต้องการมันไม่มี ทีนี้เราจะฝึกจิตให้มีได้ทันทีที่เราต้องการ เราก็ฝึกตามแบบที่เรียกกันว่ากรรมฐานนี่แหละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ สมาธิ หรือ สมถะก่อนแหละ ในระยะแรกนี่มันก็หยุด มันก็เย็น แต่มันเดี๋ยวก็กลับมาอีกแหละ มันต้องฝึกเลยไปถึงวิปัสสนา ตัด ตัดรากเหง้า ตัดต้นเหตุแห่งความร้อนเสียให้หมด มันก็เย็นตลอดกาล สมาธิหรือสมถะ ก็เย็นชั่วขณะที่บังคับไว้ได้ ถ้าว่า วิปัสสนา มัน อริยมรรคมันก็ตัดต้นเหตุแห่งความร้อน คือ กิเลสให้หมดไป ตัดรากเหง้าคือตัวกูของกิเลสหมดไป แล้วก็เย็นตลอดไป ไม่ใช่เย็นชั่วคราว นี้คือเรื่อง ว่างจากกิเลส ว่างจากทุกข์ ว่างจากไฟคือ ของร้อน ถ้าได้มาก็เป็นชีวิตเย็น อยู่ที่บ้านก็เย็น อยู่ที่วัดก็เย็น อยู่ที่ไหนก็เย็น ถ้ามันได้อันนี้มา ขอให้เราสนใจศึกษาให้รู้จักมันทีเดียวแหละ ที่มันมาให้เองเป็นครั้งเป็นคราว เล็กๆ น้อยๆ ก็ให้รู้จัก ที่เราทำได้สำเร็จตามที่เราทำได้ก็ให้รู้จัก ทีนี้เราก็จะพอใจที่จะเป็นอย่างนั้นมากขึ้น นี่ ความพอใจในนิพพานก็จะเกิดขึ้น แล้วมันจะทำอะไรมุ่งหมายให้เป็นนิพพานมันก็เร็วขึ้น เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานแล้ว ก็มีหวังว่าจะได้พระนิพพานในอนาคตอันใกล้ ทีนี้ก็จะพูดให้ชัดไปในทางที่ว่า จะปฏิบัติในชีวิตประจำวัน นี่หมายความว่าผู้ฟังรู้จักคำว่า จิตว่างดีแล้วนะ จิตที่ว่างจากตัวกู ว่างจากของกูเป็นอย่างไร ก็พูดมาตั้ง ๒ ครั้งแล้ว ว่ามันเป็นอย่างไร จิตว่างนะ ให้รู้จักให้ดีๆ ไม่ใช่ว่าจิตว่างชนิดที่ไม่มีจิต ไม่ใช่ว่าจิตว่างชนิดที่ไม่คิดอะไรเลย จิตว่างนั้นมีคุณสมบัติของจิตทุกอย่าง เว้นแต่กิเลสไม่มี กิเลสว่าตัวกู ว่าของกู ซึ่งจะให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ มันไม่มี มันไม่มีเฉพาะไอ้ตัวกูของกู ซึ่งเป็นรากฐานของไอ้ราคะ โทสะ โมหะ นี่เรียกว่าจิตว่าง นี่เราจะใช้ให้เป็นประโยชน์ มีเครื่องมือวิเศษ ที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์คือ จิตที่มันเป็นอิสระคือว่างอย่างนี้ ก็เลยจะให้หัวข้อสำหรับจำกันไว้ง่ายๆ ว่าทำงานทุกชนิด ด้วยจิตว่าง นี่ข้อ ๑ สัมผัสสิ่งทุกสิ่งด้วยจิตว่าง นี่ข้อ ๑ บริโภคสิ่งทุกสิ่งด้วยจิตว่าง พักผ่อนด้วยจิตว่าง ๔ อย่างก็พอ ที่จริงมันจะพูดได้มากกว่านี้ มากนักมันก็ป่วยการเหมือนกันแหละ เกินจำเป็น เอาแต่ที่เห็นว่าจำเป็นที่คุณจะเข้าใจได้ หรือจะรักษากันไว้ได้ เอาสัก ๔ อย่างก็พอ ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง สัมผัสสิ่งทุกสิ่งด้วยจิตว่าง บริโภคสิ่งทุกสิ่งด้วยจิตว่าง พักผ่อนตลอดเวลาด้วยจิตว่าง คำว่า จิตว่าง นี่ไม่ต้องอธิบายกันแล้วนะ เพราะพูดมาแล้วนะ นี่เหลือแต่ว่าจะทำงานด้วยจิตว่างนั้นทำอย่างไร ให้รู้ไว้เถิดว่าพอผมพูดเรื่องนี้ ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่างนะ ออกไปแล้วก็ถูกด่า ถูกหาว่าบ้าบอ มิจฉาทิฎฐิอะไร เขาด่ากันใหญ่ เพราะคนบางพวกเขาก็ถือว่าจิตมันว่างไม่ได้ จิตต้องมีอารมณ์ ก็ถูกแล้ว เราก็ยอมรับว่าจิตนี่มันจะว่างจากอารมณ์ไม่ได้ แต่ขอให้มันว่างจากตัวกู ของกู เมื่อจิตว่างจากตัวกู ของกู แล้วก็ทำงาน มันก็เป็น การทำงานอย่างปกติที่สุด มันไม่หิว มันไม่หวัง มันไม่ระแวง มันไม่หวาดผวา ไม่อะไรทุกอย่างในการทำงาน คนธรรมดาก็ทำงานด้วยความหวัง หวังแห่งความโง่ หวังแห่งโมหะ หวังแห่งตัวกู ของกู คนธรรมดาก็ทำงานด้วยความหวัง ไปตามก้นฝรั่งที่สอนให้ทำงานด้วยความหวัง ถ้าเป็นพุทธบริษัท เราทำงานด้วยสติสัมปชัญญะ ทำด้วยจิตว่าง รักษาจิตให้ว่างจากความหมายแห่งตัวกู ของกูอยู่ แล้วก็ทำงาน ทีนี้พวกนั้นเขาว่า ว่าทำไม่ได้ ถ้าไม่หวังอะไรทำไม่ได้ ต้องมีความหวังมากระตุ้นให้ทำงาน ก็ทำงานด้วยความหวัง มันก็ได้เป็นเปรต คือ มันหิวผลที่จะได้ ของความหวังอยู่ตลอดเวลา ความหวังทำให้หิวสิ่งที่จะได้ นี่ก็เรียกว่าการทำงานด้วยความหวัง มันจะได้เป็นเปรตอยู่ตลอดเวลาที่หวัง ถ้าจิตว่าง ก็ไม่หวัง ไม่หวัง ทำ อย่างที่ควรจะทำ ตามที่ควรจะทำด้วยสติสัมปชัญญะ เพราะมันเห็นแล้ว มองเห็นแล้ว รู้สึกแล้ว รู้จักแล้ว ก็ทำไปด้วยสติสัมปชัญญะ เรื่องนี้มีอุทาหรณ์เปรียบ จำไว้ง่าย ๆ เช่นว่า แม่ไก่ฟักไข่ แม่ไก่นั้นมีหน้าที่ฟักให้ถูกวิธีตามที่ไก่มันจะฟักไข่ก็แล้วกัน แม่ไก่นั้นไม่ต้องหวังว่าลูกไก่จงออกมานี่ ไม่ต้องหวังว่าลูกไก่จงทำลายฟองไข่แล้วออกมา ลูกไก่มันก็ออกมาเองแหละ ถ้าว่าฟักถูกวิธีแล้วลูกไก่มันก็เจริญ แล้วก็ออกมา จากไข่เป็นตัวลูกไก่ ถ้าแม่ไก่ตัวไหนหวัง หวัง หวังว่าลูกไก่จงออกมา ลูกไก่จงออกมา แม่ไก่บ้า มันเป็นแม่ไก่บ้า อย่าไปเอากับมัน มันมีหน้าที่ที่จะฟักให้ถูกวิธี แล้วลูกไก่ก็ออกมา ทีนี้เราทำงานด้วยสติสัมปชัญญะให้ถูกวิธี อย่ามีความหวังให้แผดเผาหัวใจ ทำไป ทำไปๆ งานมันก็สำเร็จ มันก็มีผลงานเหมือนกัน เปรียบเทียบกันก็คือว่า พวกหนึ่งทำงานด้วยความหวัง มีความหิวอยู่ในใจตลอดเวลา พวกหนึ่งทำงานด้วยจิตว่าง คืออิ่ม ไม่ต้องการอะไร แต่ทำด้วยสติปัญญาอยู่ตลอดเวลา คนจิตวุ่น คนที่จิตวุ่นนะ ทำงานด้วยความหวัง คนจิตว่างนี่ ทำงานด้วยสติปัญญา แล้วใครจะสบายกว่าใคร ใครจะเหมือนกับเป็นเปรต หรือตกนรก อยู่ด้วยความหวัง แล้วก็ใครสบายไม่มีวุ่นวาย ไม่ต้องหวัง ไม่หวาดผวา ไม่ระแวง นี่เรียกว่าทำงาน อ้า, ทุกชนิดด้วยจิตว่าง แล้วแต่งานอะไรที่ว่าเป็นหน้าที่ อย่าให้ความคิดว่า ตัวตน ตัวกู เกิดขึ้น ทำงานเพื่อตัวกู ตัวกูจะได้กำไร ตัวกูจะอย่างนั้นอย่างนี้ อย่า อย่าให้มันมีขึ้นมา เพราะมันจะเสียกำลังจิตไปเปล่า ๆ กำลังจิตทั้งหมดนั้น สงวนเอามาไว้สำหรับทำงานเท่านั้นแหละ อย่าเอาไปใช้หวังเสียเลย เอามาใช้สำหรับคิด สำหรับนึก สำหรับระวัง สำหรับทำงานด้วยสติสัมปชัญญะ ทำงานด้วยจิตว่างตลอดเวลานั้น ไม่มีความรู้สึกว่าตัวกู ของกูเกิดขึ้น เลยเป็นสุขเมื่อทำงานนั้นด้วย แล้วได้ผลดีด้วย เราทำงานด้วยความเป็นสุข แล้วได้ผลดีด้วย พวกที่ทำงานด้วยจิตไม่ว่าง คือจิตวุ่น มันกระวนกระวาย มันหวัง มันแหวะ มันหวาดผวาอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความสุข แล้วงานก็ไม่ดี เพราะว่าจิตมันฟุ้งซ่าน เพราะว่าจิตมันไปฟุ้งซ่าน วุ่นวายเสีย งานก็ไม่ ไม่ดี ความสุขก็ไม่มีเมื่อทำงาน ถ้าเราทำงานด้วยจิตว่างก็มีทั้งความสุข แล้วได้ผลงานที่ดีในการกระทำนั้น ดังนั้น ขอให้ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง แม้จะเป็นงานเหน็ดเหนื่อย หยาบ เหน็ดเหนื่อย ก็ทำด้วยจิตว่าง แม้จะเป็นงานละเอียด สุขุม ละเอียด ประณีตก็ทำด้วยจิตว่าง อยากจะยกตัวอย่างงานหยาบ เช่นว่า เราเป็นคนแจวเรือจ้าง เราเป็นคนถีบสามล้อ เราเป็นคนกวาดถนน ล้างท่อถนน งานหยาบ ก็ทำด้วยจิตที่ไม่มี อ้า, ไม่มีความยึดถือเรื่องตัวกู ว่างจากตัวกู จิตว่างนี้ก็ทำไปได้เพลิดเพลิน สนุกก็ได้ แต่ถ้าจิตมันเกิดตัวกู แล้วมันก็โกรธว่างานนี้มันหยาบ งานนี้มันหนัก งานนี้มันเหนื่อย ตัวกูอับโชค ไม่มีวาสนา ต้องมาทำงานบ้า ๆ บอ ๆ อย่างนี้ มันด่าผี ด่าเทวดา ด่าตัวเอง ด่าโชคชะตาไปพลางนั่นนะ คนจิตไม่ว่าง แม้จะทำงานหยาบมันก็ เป็นทุกข์ มันก็ทนทำ มันก็ตกนรก ผมสังเกตเห็น เมื่อผมไปกรุงเทพฯ ตอนก่อนบวชโน่น ๖๐ ปี มาแล้ว คนแจวเรือจ้างคนหนึ่ง รับจ้างแจวเรือจากสถานีบางกอกน้อยไปยังวัดปทุมคงคา แจวทวนน้ำเกือบสองชั่วโมงได้ ๒ บาท มันไม่มีความทุกข์เลย มันไม่บ่น มันไม่ด่าผีสางเทวดา มันแจวเรือไปพลาง มันร้องเพลงอะไรพึมพำ ๆ อยู่ในใจของมันพลาง แล้วมันเหยียบด้วยตีนข้างเดียว ตีนข้างหนึ่งแกว่งอยู่ในอากาศตามจังหวะที่มันแจวและร้องเพลง เอ่อ, เรายอมแพ้ มันทำงานด้วยจิตว่างเสียจริงๆ ไม่มีความทุกข์เลย ๒ ชั่วโมงแล้วได้ ๒ บาท สมัยนั้น นั่นแหละทำงานแม้งานหยาบ งานหนัก มันก็ยังทำได้ ทีนี้ถ้าจิต ถ้างานประณีต งานวิจิตรศิลป์ งานประณีต ที่ต้องระมัดระวังมาก ละเอียดลออมาก นั่นแหละยิ่งต้องทำด้วยจิตว่าง อย่าให้จิตหงุดหงิด วุ่นวายขึ้นมา งานประณีต ละเอียด วิจิตรศิลป์ทั้งหลาย เรื่องเขียน เรื่องวาด เรื่องอะไรก็ตาม แก้นาฬิกาอันละเอียด ประณีตที่สุดก็ตาม เรียกว่างานประณีต ก็ต้องทำด้วยจิตปรกติที่สุด ถ้าโมโหขึ้นมาแล้วเป็นอันว่าฉิบหายหมด หยาบหมด เสียหายหมด ทำผิดหมด แม้แต่จะคิดเลข จะคำนวณอะไรก็ตาม ทำจิตให้ว่างเสียก่อนสิ แล้วคิดจะดี ถ้าจิตมันวุ่น วุ่นๆ อยู่ด้วยตัวกูของกูอย่างนั้นอย่างนี้มันคิดไม่ได้ดี แล้วมันจะ คิดผิดด้วย นี่ขอให้ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ในลักษณะอย่างนี้ ทีนี้ข้อที่ ๒ ว่า จงสัมผัสสิ่งทุกสิ่งด้วยจิตว่าง สิ่งที่เรียกว่าสัมผัส นั่นคือการกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเอง รูปมาสัมผัสกับตา เสียงมาสัมผัสกับหู กลิ่นมาสัมผัสกับจมูก รสมาสัมผัสกับลิ้น ของสัมผัสมากระทบทางผิวหนัง ความรู้สึกคิดนึกมากระทบจิต นี่เรียกว่าสัมผัส ๖ อย่าง เราจงสัมผัสสิ่งเหล่านั้นด้วยจิตว่าง คือ เราฝึกฝนไว้ดี เราควบคุมไว้ได้ เมื่ออะไรมากระทบตาก็ว่างไว้ก่อน แม้สวยก็อย่าเพิ่งรัก อย่าเพิ่งนึกรัก ไม่สวยก็อย่าเพิ่งนึกเกลียด ถ้าไปนึกรักที่สวย ไปนึกเกลียดที่ไม่สวย แล้วมันก็ไม่ว่าง แล้วมันก็วุ่นแหละ มันก็เกิดกิเลสเท่านั้นแหละ เกิดความรักความชัง ก็เกิดตัณหาความอยากฆ่า หรืออยากได้ แล้วมันก็เกิด ไอ้การกระทำที่ผิดหมด นี่เรียกว่าสัมผัส มันผิดแล้ว สัมผัสมันผิดแล้ว ความทุกข์มันก็เกิด ทางตาเป็นอย่างไร ทางหูก็เป็นอย่างนั้น อะไรมาสัมผัสทางหู ก็มีจิตว่างไว้ก่อนเถิด อย่าไปรัก ไปโกรธ ไปเกลียด ไปกลัว ไปอะไรเข้า สัมผัสทางจมูก หอมหรือเหม็นก็ปรกติไว้ก่อนเถิด แล้วก็ทำไปตามที่ควรจะทำ มาอร่อยที่ลิ้น หรือไม่อร่อยที่ลิ้น มาสัมผัสลิ้น ก็ใจคอปรกติไว้ก่อนเถิด ควรทำอย่างไรก็ทำ อย่าไปโกรธที่ไม่อร่อย อย่าไปหลงรักที่มันอร่อย มันจะกลายเป็นทาสของลิ้น คนเราเป็นทาสของลิ้นกันเกือบจะทั้งหมดเสียแล้วนะ พออร่อยก็หลงรัก พอไม่อร่อยก็หลงโกรธ ยิ่งมีอำนาจวาสนาบ้างแล้วก็อาละวาดใหญ่เลย ผิวหนังนี่ สัมผัสทางผิวหนังนี่ความหมายมาก เป็นที่ตั้งแห่งกิเลส มากกว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ไอ้ ๔ อย่างนั้นยังไม่ร้ายเท่าทางผิวหนัง เพราะผิวหนังมันเป็นเครื่องรับสัมผัสทางเพศ ทางกามารมณ์ได้มากกว่า จึงต้องรู้จักควบคุมไอ้ความสัมผัส การสัมผัสทางผิวหนังให้ดีๆ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องระหว่างเพศแล้วมันก็กลายเป็นเรื่องกามารมณ์ มันมีอำนาจมาก ทำให้เกิดเรื่องได้มากถึงขนาดเป็นตายก็ได้ สัมผัสทางผิวหนังเข้ามาถึงแล้วก็เฉยไว้ก่อน มีจิตว่างไว้ก่อน แล้วใคร่ครวญดูให้ดีว่าอะไร อะไรๆ เป็นอย่างไร ทำไม เพื่ออะไร แล้วก็ค่อยทำไปให้มันถูกเรื่องสิ อย่าไปหลงรัก อย่าไปหลงเกลียด หลงโกรธ ทีนี้อันสุดท้าย สัมผัสทางใจ ก็คือความจำ ที่จำไว้ได้ แต่หนหลังฟื้นความจำเข้ามาปรุงเป็นความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ชนิด idea ก็ดี ชนิดเป็น thought โดยสมบูรณ์ก็ดี อย่าให้มันครอบงำจิตใจของเราได้ ว่างไว้ก่อน เฉยไว้ก่อน แล้วใคร่ครวญดูว่าอันนี้อะไร อันนี้อย่างไร อันนี้ทำไม ก็ควบคุมได้ มันก็ไม่เกิดความคิดชนิดที่แผดเผาให้เร่าร้อน ไม่ต้องเกิดความรู้สึกรัก ไม่ ไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่อาลัยอาวรณ์ ไม่วิตกกังวลอะไรที่ทำให้เหมือนกับคนบ้า เดี๋ยวนี้เรื่องต่าง ๆ ครอบงำคนเราในโลกยุคปัจจุบันนี้มากเกินไป เป็นโรคประสาทกันจนไม่มีโรงพยาบาลประสาทจะรับไหวแล้ว จะสร้างโรงพยาบาลประสาทกันสักเท่าไร ก็ดูจะไม่พอ นี่เพราะคนมันไม่รู้จักควบคุมจิตให้ปรกติ ไม่รู้จักสัมผัสสิ่งที่มากระทบด้วยจิตว่าง นี่จำไว้สั้นๆ ว่าจงสัมผัสสิ่งทุกสิ่งด้วยจิตว่าง รับมาด้วยจิตว่าง ก็มีสติปัญญาพอที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านั้นให้ถูกต้อง โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่ข้อที่ ๒ ทีนี้บริโภคสิ่งทุกสิ่งด้วยจิตว่าง คำว่าบริโภคนี่ ในภาษาบาลีเป็นคำที่มีความหมายกว้าง ไม่ได้หมายเฉพาะกินทางปาก คำว่าบริโภคนะ บริโภคทางไหนก็ได้ อย่างเช่นเอาเสื้อผ้ามาสวมเขาก็เรียกว่าบริโภคเหมือนกัน เอาอะไรมากิน มาใช้ มา บ้านเรือนที่อยู่อาศัยนี้ก็เรียกว่าบริโภคเหมือนกัน อะไรที่จะเข้าไปอาศัย ใช้สอย เกิดผล ก็เรียกบริโภคหมด จะเรียกบริโภครูปก็ได้ บริโภคเสียงก็ได้ บริโภคกลิ่นก็ได้ บริโภครสก็ได้ ฉะนั้น ไอ้การบริโภคมันจึงมีมาก การใช้สอยก็เรียกว่ารวมอยู่ในคำว่าบริโภค ไม่เฉพาะแต่การกินโดยตรง เราใช้รถ ใช้เรือ ใช้เรือน ใช้อะไรๆ ก็เรียกว่าเป็นการบริโภค เมื่อเราจะใช้สอยสิ่งใด ต้องระวัง ทำด้วยจิตที่ว่าง เดี๋ยวนี้เราก็พอจะมองเห็นนะ ทีแรกเราก็เรียน เล่าเรียน เป็นนักเรียนเล่าเรียน ต่อมาเรียนสำเร็จ เราก็ทำงาน พอทำงานแล้วก็ได้ผลงาน พอได้ผลงานเราก็บริโภคผลงาน ระวังให้ดี จงบริโภคผลงานด้วยจิตว่าง อย่าให้ไปหลงรัก ไปหลงเป็นทาสของสิ่งที่บริโภค ไอ้เรื่องบริโภคนี่มันต้องมีในชีวิตแหละ เพราะคนเราต้องทำงาน เมื่อได้ผลงานมาก็บริโภคผลงานโดยทางใดก็ตาม จะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจเอง ก็เรียกบริโภคผลงานทั้งนั้น จงบริโภคทุกสิ่งนี่ ที่จะบริโภคด้วยจิตว่าง อย่าด้วยจิตโง่เขลา เต็มไปด้วยตัวกูของกู มันก็จะบริโภคอย่างตะกละ บริโภคอย่างตะกละนี้มันไม่น่าดูเสียแล้ว และบริโภคอย่างตะกละ มันก็เป็นอันตรายแหละ การบริโภคอย่างตะกละนี่เป็นอันตรายที่สุด ทางจิตใจเวลานั้นก็เสียหายหมด แล้วมันก็จะกินเข้าไปมากกว่าที่ควรจะกิน มันก็มีความวุ่นวายทางกาย ทางกระเพาะ ทางลำไส้ ทางอะไรต่างๆ จนมันเกิดเรื่องทางนั้น ทางนี้ ทางโน้น ได้ทะเลาะวิวาทกัน บางทีก็ต้องทะเลาะวิวาทกับแม่ครัว ดังนั้น จงบริโภคทุกชนิดด้วยจิตว่าง เพราะการบริโภคนั้นมันเป็นสิ่งที่ต้องมี ชีวิตมันอยู่ได้ด้วยสิ่งที่เข้าไปหล่อเลี้ยงมัน การที่จะเข้าไปหล่อเลี้ยงมัน มันก็ต้องผ่านทางการบริโภค ดังนั้น เราจึงมีการบริโภค เพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย เพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจ เพื่อหล่อเลี้ยงอะไรก็ตามที่มันต้องการจะหล่อเลี้ยง สิ่งที่มีชีวิตมันต้องมีการหล่อเลี้ยงมันจึงมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าให้มีการหล่อเลี้ยงมันต้องมีการบริโภค สัตว์เดรัจฉานก็บริโภค ต้นไม้ต้นไล่มันก็บริโภค ดังนั้น มันต้องถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องมันเป็นอันตรายขึ้นมา มันเหมือนกินของผิดเป็นอันตรายขึ้นมา ที่กินของผิดก็เพราะจิตมันวุ่นวาย จิตมันโง่ ถ้ามันจิตเฉลียวฉลาด ว่างจากกิเลส มันไม่โง่ มันก็ระมัดระวัง ดังนั้น มันก็เกิดไอ้การกินของผิดไม่ได้ จึงใช้คำรวมๆ ว่าบริโภคทุกชนิดด้วยจิตว่าง ทีนี้ถึงอันสุดท้าย พักผ่อนทุกชนิดด้วยจิตว่าง ไอ้การพักผ่อนนี้มันก็คู่กันกับการงาน เราจะทำการงานตลอดเวลาไม่ได้ เราต้องมีการพักผ่อนที่คู่กันกับการทำการงาน โดยธรรมชาติมันก็ต้องพักผ่อน ดังนั้น ทุกคนจึงมีไอ้การพักผ่อน ไม่ใช่ว่าจะทำงานไปเสียหมดจนไม่มีเวลาพักผ่อน ถ้าไม่พักผ่อนร่างกายก็ทนไม่ไหวแหละ นอกจากเวลาทำงานก็ควรจะเรียกว่าเป็นการพักผ่อน จะไปเดินเล่น หรือจะไปกินอะไรเล่น ไปร้องเพลงเล่นหรือไปนอนเฉย ๆ กระทั่งนอนหลับสนิท รวมกันแล้วก็เรียกว่าพักผ่อน จงพักผ่อนทุกชนิดเลย ด้วยจิตที่มันว่าง ไม่มีตัวกูของกูพลุ่งอยู่ ถ้าจิตไม่ว่าง จะไม่เป็นการพักผ่อน แม้จะนอนหลับอยู่นี่ ถ้าจิตมันไม่ ไม่ยอมหยุด จิตมันไม่ว่าง จิตมันปรุงเป็นตัวกูของกูอยู่ มันก็ฝันร้ายไปตามเรื่อง มันก็พลุ่งพล่านอยู่ภายใต้สำนึก ครึ่งสำนึก ใต้สำนึกอะไรมันก็พลุ่งพล่านอยู่ด้วยตัวกู ตื่นขึ้นมาก็เพลียแหละ เพราะฉะนั้นขอให้สังเกตดูให้ดีๆ เถิด บาง บางที บางเวลา บางคราวนั้นเราตื่นขึ้นมาแล้วอ่อนเพลีย ทั้งที่นอน นอนแล้วตื่นขึ้นมามันยังอ่อนเพลีย เพราะว่าจิตมันไม่หยุด จิตมันไม่ว่าง มันวุ่นอยู่ แม้ในขณะที่ร่างกายหลับ พูดได้เลยว่าถ้าจิตไม่ว่าง จะไม่มีการพักผ่อน เช่น เราล้มตัวลงนอนบนเก้าอี้นอนพักผ่อน ถ้าจิตมันไม่ว่าง มันก็พลุ่ง พลุ่งๆ อยู่เป็นตัวกูของกูเรื่อย มันไม่มีพักผ่อน แม้ลงไป ล้มนอนไปแล้ว กระทั่งแม้ว่าหลับแล้วก็ยังไม่เป็นการพักผ่อน จะไปพักผ่อนที่ชายทะเล ไปพักผ่อนที่ที่พักผ่อนไหนก็ตาม ถ้าจิตมันอัด อัดพลุ่งอยู่ด้วยตัวกูของกู มันไม่มีการพักผ่อน มันจะขนเอาไอ้ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉา ริษยา ความหึง ความหวง อะไรต่างๆ ติดไปด้วย จะพักผ่อนที่ไหนได้ จิตไม่ว่างจะไม่มีการพักผ่อน พอจิตว่างแล้วจะเป็นการพักผ่อนทันที แม้ว่าทำงานอยู่ด้วยจิตว่าง มันก็เป็นการพักผ่อนอยู่ครึ่งหนึ่งในตัวมันเอง เพราะจิตมันว่าง มันไม่หิว มันไม่กระหาย มันไม่ทะเยอทะยาน ดังนั้น แม้จะเดินเล่นอยู่ ถ้าจิตมันว่าง มันก็เป็น การพักผ่อน ไม่ต้องถึงกับนอน ขอให้จิตมันว่างจากความคิดประเภทกิเลสก็แล้วกัน จะเป็นการพักผ่อนทันทีที่ว่ากิเลสมันไม่กระตุ้นจิต ไม่รบกวนจิต ไม่มีอะไรเครียดอยู่ในจิต เราจึงพูดสรุปความสั้น ๆ ว่า จิตว่างเมื่อไรเป็นการพักผ่อนเมื่อนั้น เราจึงต้องพักผ่อนด้วยการมีจิตว่าง ถ้าไม่มีจิตว่าง มันไม่เป็นการพักผ่อน นี่อย่างที่ ๔ ควรจะท่องจำกันไว้ได้ง่าย ๆ นะว่า ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง สัมผัสทุกชนิดด้วยจิตว่าง บริโภคทุกชนิดด้วยจิตว่าง พักผ่อนทุกชนิดด้วยจิตว่าง มันเป็นทุกชนิดด้วยจิตว่าง เราจะมีความสุข และเราจะทำอะไรได้ดีพร้อมกันไปในตัว จะมีความสุขในการงานแล้วจะเอาอย่างไร ทีนี้ผมก็อยากจะพูดถึงไอ้ ไอ้ หลักเกณฑ์ข้อหนึ่ง ซึ่งขอร้องให้ทุกคนเอาไปปฏิบัติเวลานี้ว่าทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อกำลังทำงานนั่นเอง ทำงานให้สนุกนะ ไม่ใช่สนุกด้วยกิเลส สนุกด้วยจิตที่ไม่มีกิเลสคือ จิตว่าง แล้วมันจิตรู้ จิตฉลาด รู้ว่าไอ้ทำงานนั่นแหละคือ ปฏิบัติธรรมะ เพราะว่าธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ เมื่อได้ทำหน้าที่ เมื่อนั้นเรียกว่าปฏิบัติธรรมะ มันก็เลยพอใจและเป็นสุข สนุกเมื่อทำงาน ทำงานให้สนุก ถ้าจิตว่างจะทำงานให้สนุก ถ้าจิตวุ่น จะทำงานเป็นทุกข์ ถ้าไม่เข้าใจก็ไปสังเกตเอาเอง ถ้าจิตมันวุ่นวายด้วยกิเลส ด้วยตัวกูของกู ทำงานไม่สนุกและเป็นทุกข์ ถ้าจิตมันว่างจากไอ้ความรู้สึกชนิดนี้แล้ว จะทำงานสนุกและเป็นสุขในการทำงาน
สรุปสั้น ๆ ว่า จิตว่าง งานสนุก จิตวุ่นงานเป็นทุกข์ ขอให้มันทำงานสนุก จิตว่างตัวนี้เต็มอยู่ด้วยสติปัญญาว่า งานนั่นแหละคือธรรมะ ธรรมะนั่นแหละคืองาน หรือว่าธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ เมื่อได้ทำหน้าที่ก็พอใจว่าได้ปฏิบัติธรรมะ มันก็สนุกสิ เพราะมันทำด้วยความพอใจ ได้ทำสิ่งประเสริฐสูงสุด คือธรรมะนั่น ธรรมะคือหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อให้รอดชีวิตอยู่ได้ก็ดี หรือว่าเพื่อให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไปก็ดี เรียกว่าหน้าที่ทั้งนั้น นั่นคือธรรมะ พอได้ทำงานก็คือได้ปฏิบัติธรรมะ ก็เกิดความสนุกและพอใจ ขอให้ชาวนาก็ทำงานให้สนุก ชาวสวนก็ทำสวนให้สนุก พ่อค้าก็ค้าขายให้สนุก ข้าราชการก็ทำราชการให้สนุก กรรมกรก็ทำงานกรรมกรให้สนุก แม้แต่คนขอทานก็จงขอทานให้สนุก เพราะเป็นหน้าที่ตามฐานะแห่งตน แห่งตน เป็นธรรมะตามฐานะแห่งตน แห่งตน เป็นธรรมะของชาวนา เป็นธรรมะของชาวสวน เป็นธรรมะของพ่อค้า เป็นธรรมะของข้าราชการ เป็นธรรมะของกรรมกร กระทั่งว่าเป็นธรรมะของคนขอทาน ถ้าเขารู้สึกว่าเป็นธรรมะอย่างนี้ เขาก็พอใจ ก็เกิดความเคารพในการกระทำนั้นขึ้นมา แล้วก็ทำได้สนุก เพลิน ทำสนุก คนอื่นเขาทำงาน ๘ ชั่วโมงเราทำงาน ๑๘ ชั่วโมง ได้กำไรมาอีก ๑๐ ชั่วโมง ถ้ารู้จักทำจิตอย่างนี้ มันจะสนุกจนทำงานได้มากกว่าคนอื่น พอสนุกก็พอใจ เมื่อพอใจก็เป็นสุข เป็นสุขเสียเมื่อกำลังทำงานนั้นเอง ไม่ต้องรีบเลิกงาน เอาผลงานไปซื้อหากามารมณ์มาทำให้เป็นคนบ้า กามารมณ์ไม่ใช่ความสุข เป็นเพียงความเพลิดเพลินด้วยความโง่หลง ตามแบบของธรรมชาติ กามารมณ์เป็นค่าจ้างของธรรมชาติให้มนุษย์ทำการสืบพันธุ์ เป็นของหลอก เป็นของลวงของธรรมชาติ จ้างมนุษย์โง่ๆ ให้ทำการสืบพันธุ์ ถ้าไม่เอากามารมณ์มาใส่ไว้ข้างหน้า มนุษย์ไม่ ไม่สืบพันธุ์หรอก เพราะมันสกปรก มันเหน็ดเหนื่อย มันน่าเกลียดน่าชัง แต่ธรรมชาติเขาฉลาดกว่า มาเหนือกว่า ใส่กามารมณ์ไว้เป็นเบื้องหน้าของการสืบพันธุ์ แล้วเราก็หลงกัน ทำงานได้ผลงานมาเท่าไรก็ไปซื้อหากามารมณ์หมด เงินเดือนไม่พอใช้ ต้องคอรัปชั่น เขาจับได้ถูกไล่ออกจากราชการ หรืออันธพาลทั้งหลายมันหลงใหลในเรื่องกามารมณ์ มันไปปล้นจี้ ขโมย เพื่อไปซื้อหากามารมณ์ ถ้าไม่ได้มันก็ทำผิดเลวร้ายไปถึงกับข่มขืนอะไรต่างๆ เพราะมันเป็นทาสของกามารมณ์ เพราะฉะนั้นอย่าไปเป็นทาสของกามารมณ์ โดยเป็นสุขเสียเมื่อทำงาน ถ้าเราเป็นสุขแท้จริงเสียเมื่อทำงานแล้ว มันก็ไม่ต้องการความสุขอะไร ชนิดไหนอีก โดยเฉพาะไอ้ความสุขบ้าๆบอๆ ซึ่งเป็นเพียงความเพลิดเพลินทางเนื้อทางหนัง ทางอายตนะ ทำจิตให้ว่างมีความสุขอยู่ในตัวเพียงพอที่จะไม่ไปเป็นทาสของกามารมณ์ นี่มันเป็นสุขอยู่ด้วยจิตว่างนั้นเอง ไม่ต้องไปเป็นทาสของกามารมณ์ ดังนั้น ถ้าพวกที่มันเลิกเฮโรอีน มาทำสมาธิ ให้มีจิตว่าง เป็นสุขได้แล้ว มันก็ไม่กลับไปเสพเฮโรอีนอีกหรอก เพราะมีของที่ดีกว่ารสของเฮโรอีนให้ดื่มให้กิน แต่ถ้ามันไม่มีอะไรดื่มกินให้มีความสุขชนิดนั้น แม้จะเลิกเฮโรอีนได้แล้วมันก็กลับไปหาเฮโรอีนอีก เราหาความสุขที่ดีกว่า ที่เหนือกว่าให้มัน มันก็ไม่ต้องกลับไปหาเฮโรอีนอีก นี่ความสุขที่แท้จริง มันมีค่าอย่างนี้ มีอำนาจอย่างนี้ แก้ปัญหาได้มากมายอย่างนี้ ความสุขที่แท้จริงมันก็มาจากความมีจิตว่าง หรือเป็นผลของการทำด้วยจิตว่าง นี่คือสิ่งที่จะพูดกัน ในฐานะเป็นเรื่องสำคัญในพระพุทธศาสนา คือ สุญญตา ความว่างจากตัวกูของกู เห็นทุกสิ่งว่างจากตัวตน คือ มันเป็นเพียงกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา ไม่ใช่ตัวตนที่ไหน แม้จิตมันจะโง่ โง่ขนาดที่เป็นตัวกูของกูอย่างเข้มข้น มันก็เป็นแค่ความโง่ คิดเอาเองของจิต ไม่ได้มีตัวตน อันแท้จริง ดังนั้น จึงสรุปความว่า ตัวตนๆ นี้ เป็นสิ่งที่จิตมันปรุงแต่งขึ้นมาหลอกตัวเองอย่างโง่ๆ ให้หลงยึดมั่นถือมั่น เลิกกันที เอาละ สรุปความว่า ปัญหามันเกิดขึ้นเพราะว่าเราเข้าใจคำว่าสุญญะ หรือสุญญตาในภาษาบาลีผิด เขามีความหมายว่าว่างจากตัวตน เราเอามาเป็นความว่าง ว่าสุญญะ สูญเปล่า สูญหาย หรือสูญเปล่าไม่ได้อะไร แล้วก็ใครๆ ก็ไม่ชอบเรื่องความว่าง กลัวว่าจะทำอะไรไม่ได้ เขาหาว่าถ้าจิตว่างเสียแล้ว จะรักชาติประเทศไม่ได้ เขาหากันอย่างนั้น ที่จริงจิตว่างนั้นมันไม่เห็นแก่ตัวตน มันก็รักประเทศชาติได้ ถ้ามันเห็นแก่ตัวตนเสียแล้ว มันก็จะไปรักประเทศชาติได้อย่างไร ทำประเทศ อ้า, ทำจิตให้ว่างจากตัวตน มันจะได้ไปรักประเทศชาติถึงที่สุด หรือว่ามันจะช่วยผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่นได้ เพราะมันไม่เห็นแก่ตนนี่ เพราะมันว่างจากตัวตน จิตที่มันว่างจากตัวตน มันก็คิดจะช่วยผู้อื่นได้ ถ้ามันอัดอยู่ด้วยตัวตน มันก็เห็นแก่ตนอย่างเดียว มันก็ไม่ช่วยใคร มันจะกินคนเดียว มันจะอร่อยคนเดียว มันจะเป็นสุขคนเดียวอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นเป็นอันว่าเรื่องว่าง เรื่องสุญญตา นี้จะช่วยมนุษย์ได้ ช่วยประเทศชาติได้ ช่วยโลกได้เลย คือไม่มีใครเห็นแก่ตน เพราะเห็นแก่ส่วนรวม ช่วยกันทำโลกนี้ให้มีสันติภาพได้ เอาละ ขอให้เรารู้จักสิ่งที่เรียกว่าสุญญะ ว่าง สุญญตา ความว่างของพระพุทธศาสนาไว้ในลักษณะที่ถูกต้องอย่างนี้ แล้วก็ยินดี พอใจว่าเรามีสิ่งสูงสุด ในพระพุทธศาสนา เอามาใช้ประโยชน์ให้ได้ เอามาใช้ประโยชน์ให้ได้ เอาความว่าง จิตว่างมาใช้เป็นประโยชน์ให้ได้ จนถึงกับสรุปได้ว่า ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง สัมผัสทุกชนิดด้วยจิตว่าง บริโภคทุกชนิดด้วยจิตว่าง พักผ่อนทุกชนิดด้วยจิตว่าง แล้วก็ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่านี้แล้ว นี่เวลาหมดแล้ว เรื่องความว่างต้องพูดถึง ๒ ที ๒ ตอน เรื่องอื่นๆ พูดตอนเดียว เราพูดกัน ๒๐ ครั้งแล้วนะ ที่พูดๆ มานี้ ๒๐ ครั้งแล้ว ใช่หรือไม่ ดูเถิดว่าแวบเดียว เดี๋ยวเดียว พูดตั้ง ๒๐ ครั้ง พูดอีกสัก ๕ ครั้ง คงจะออกพรรษา จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น กินอาหารความว่างอย่างพระกิน ตายเสร็จสิ้นแล้วในตัวแต่หัวที นี่ออก บอกมาอย่างนี้ จะร่วม ๒๐ ปีแล้ว คนก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ พูดมา ๒๐ ปี คนก็ยังไม่เข้าใจ ยังแถมด่าเอาด้วย ไม่เข้าใจแล้วยังด่าเราด้วย เอาละ ปิดประชุม นิมนต์กลับ นิมนต์กลับ