แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ผมจะพูดโดยหัวข้อที่ออกจะแปลกสักหน่อย คือหัวข้อที่พูดอันมีว่า เกี่ยวกับคำว่าว่าง ๆ สูญ ๆ ในพระพุทธศาสนา ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อให้คุณจำง่าย เข้าใจง่าย ให้มันเป็นคำธรรมดาที่มันพูดกันอยู่ และก็เป็นปัญหาขึ้นมา คือคำว่า “ว่าง” ก็ดี คำว่า “สูญ” ก็ดี ที่เขาพูดกันแล้วก็เถียงกัน และก็ไม่ยุติกัน เราพูดแปลกออกไปหน่อยหนึ่งก็ถูกด่า ก็ต้องใช้คำว่าถูกด่า คำเดียวกัน บางคนเขาใช้คำว่า “ว่าง ๆ” บางคนใช้คำว่า”สูญ ๆ” บางคนหนักขึ้นไปอีก ใช้คำว่า”สูญเปล่า” เหล่านี้มาจากคำบาลีคำเดียวกันคือคำว่า“สุญญะ ๆ” ในพุทธศาสนามีคำว่าสุญญะก็มี บางทีก็เป็นสุญโญ บางทีก็เป็นสุญญัง บางทีก็เป็นสุญญโต บางทีก็เป็นสุญญตา แล้วแต่เขาจะแจกกันไปตามหลักของภาษา ภาษาบาลีเป็นภาษาชนิดที่แจกคำได้ แล้วก็เปลี่ยนความหมายด้วยรูปที่แจกนั้น มีอยู่ในโลก ภาษาชนิดนี้มีอยู่ในโลก เช่นภาษาลาตินเป็นต้น ภาษาฝรั่งเศส หรือภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต เราจึงได้ยินคำว่า สุญญังบ้าง สุญโญบ้าง สุญญาบ้าง สุญญตาบ้าง สุญญโตบ้าง นี่เป็นที่มาของคำว่า “ว่าง” และเรื่องว่างนี้เป็นเรื่องสูงสุด สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา
แต่เดี๋ยวนี้มันเกิดปัญหาขึ้นมาในประเทศไทยเรา เอาความหมายไม่ถูก หรือไม่ตรงกัน แล้วก็เถียงกัน แล้วก็เรียกว่าด่ากัน ขอให้รู้ว่าคำว่าบาลีนี้ สุญญะๆ ถ้าเป็นภาษาบาลีต้องมีความหมายว่าว่าง ว่างจากสิ่งไม่ควรจะมี คือมันว่างจากสิ่งที่ไม่ควรจะมี เรียกว่าว่างในที่นี้ ไม่ใช่ว่าว่างอย่างไม่มีอะไรเลย ถ้าเราจะเทียบกับคำภาษาฝรั่ง ภาษาอังกฤษนี่ เช่นคำว่า Empty, Empty นี่มันว่างจากวัตถุใด ๆ Vacuum นั้นมันว่างมากไปถึงกับว่าอากาศมันก็ไม่มี มันหนักขึ้นไปจนถึงว่า แม้แต่อากาศก็ไม่มี แต่ empty นี่ก็หมายถึงว่างจากวัตถุ วัตถุใด ๆ ไม่มี แต่มันมีอยู่อีกคำหนึ่งคือคำว่า Void คำว่า วอยด์ นี่ต้องเติม of เข้าไป จะได้แปลว่า จาก void of จากอะไรก็ว่าไป อย่างนี้ก็เรียกว่า void of self, void of personality อะไรก็ตาม มันไม่ได้หมายความว่าว่างหมด ว่างไม่มีอะไรทั้งวัตถุทั้งในอากาศ มันว่างจากสิ่งที่เราเล็ง มันก็ว่างจากตัวตนนั่นแหล่ะ อะไร ๆ ก็ มีๆๆ มีครบหมดเลย แต่ไม่มีความหมายแห่งตัวตน ดังนั้นเราก็เรียกว่าว่างจากตัวตน อย่าได้เข้าใจว่า ถ้าว่างแล้วไม่มีอะไรเลยทั้งทางวัตถุ หรือทางนามธรรมก็ตาม มันมีอะไรได้ ทางวัตถุก็ได้ ทางนามธรรมก็ได้ ทางการกระทำก็ได้ ขอแต่อย่ามีไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวตน คำว่าสุญโญ สุญญะ ในพุทธศาสนาที่แปลว่าว่างนั้น เขาเล็งถึงว่างจากตัวตน แต่ถ้าจะเอาไปใช้ว่างจากวัตถุ ว่างจากอะไรก็ตามนี้มันก็ยังได้เหมือนกัน แต่ในทางพุทธศาสนา ว่างจากตัวตน ขอให้รู้ว่ามันว่างจากตัวตน สุญโญ ๆ สุญญะ ศัพท์แท้ ๆ ว่า สุญญะ แจกไปเป็น สุญโญ สุญญัง สุญญโต สุญญตา ก็ยังคงแปลว่าว่าง หรือเนื่องอยู่กับว่างอยู่นั่นเอง
ทีนี้พอนำมาสู่ภาษาไทย เข้ามาในประเทศไทย คำนี้มาสู่ประเทศไทย คนนำมามันก็ใช้คำว่า สุญญะ ๆ ไปตามเดิม เผอิญมาตรงกับคำว่า “สูญ”, “สูญหาย” ในประเทศไทย กระทั่งว่า “สูญเปล่า” ไม่มีอะไรเป็นสาระ ไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์ สูญเปล่า คนไทยจึงต้อนรับคำว่าสุญญะในภาษาบาลี ด้วยภาษาไทยที่ว่า สูญเปล่า หรือสูญหาย เดี๋ยวนี้คนที่มีการศึกษาดีก็ยังแปลคำ สุญญะ ว่าสูญเปล่า อย่าออกชื่อเขาเลยไม่ดี คนที่มีความรู้ขนาดเป็นบัณฑิตนักปราชญ์ ก็ยังแปลคำ สุญญะ ว่าสูญเปล่าอยู่ ก็เลยพูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะว่าคำว่าสุญญะ ไม่ได้แปลว่าสูญเปล่า สูญหาย สูญเสีย มันแปลว่าว่าง ๆๆ ว่างจากอะไรก็ว่าไปซิ แต่ถ้าหลักธรรมะแล้วมันก็ต้องว่างจากตัวตน คือไม่มีตัวตน เช่นว่าโลกนี้ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน โลกนี้มีอะไรสารพัดอย่างในโลก แต่ว่าโลกนี้ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน ไม่ใช่ว่าโลกว่างไม่มีอะไรเลย หรือไม่ใช่ว่าไม่มีโลก อย่าเข้าใจผิด สุญฺโญ โลโก อตฺเตน วา อตฺตนิเยน วา โลกนี้ว่างจากตัวตน ว่างจากของที่เนื่องด้วยตนคือของตน นี่ช่วยรู้ไว้ว่าภาษาบาลีเขาแปลว่าว่าง และว่างจากสิ่งที่ไม่ควรจะมีในที่นี้ ด้วยหลักธรรมะ ก็คือว่างจากตัวตน อย่าแปลว่าสูญเปล่าซิ สุญโญ สุญญา อย่าแปลว่าสูญเปล่า ให้แปลว่าว่างจากตัวตน หรือความหมายแห่งตัวตน อันเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์
ทีนี้ภาษาจีนได้เปรียบ ภาษาจีนนี่ต้องเรียกว่าได้เปรียบ คำว่าว่างในภาษาไทย หรือ สุญโญ ในภาษาบาลีสันสกฤตน่ะ มันตรงกับคำว่า ค้ง ค้ง (นาทีที่ 9.12) ในภาษาจีน มันเลยตรงกับเสียงระฆัง เสียงระฆังที่ดัง ค้งๆๆๆ พอระฆังดัง ค้ง ๆๆๆ คือบอกว่าว่างๆๆๆ ถือเอามาใช้บ้างซิ พอคุณได้ยินเสียงระฆังดัง ค้ง ๆๆๆๆ ก็ว่าง ๆๆๆๆ เช้า-เย็น ตีระฆังดัง ค้ง ๆๆๆ อยู่เรื่อย ในภาษาจีนนี้ คำว่า “ค้ง” มันแปลว่าว่าง นี่ผมว่าภาษาจีนได้เปรียบ ว่างจากสิ่งที่ควรยึดถือว่าตัวตน นี่โดยคำพูดมันเป็นอย่างนี้นะ ทีนี้ในภาษาไทยนี่อย่าได้อุตริแปลว่า สูญเปล่า สุญญะไม่ใช่สูญเปล่า หรือสูญหาย มันแปลว่าว่าง ว่างจากสิ่งที่เป็นตัวตนอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ยึดถือแล้วก็เป็นทุกข์ ถ้าได้ยินคำว่าสุญญะนี่ใช้กับอะไรที่ไหน อะไรก็ตาม ให้รู้ว่ามันว่างจากความหมายแห่งตัวตน เช่นว่า ปัจเวก ปิณฑะปาโต จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ อะไรก็ตาม มันมีคำว่า สุญญัง สำหรับ จีวะรัง สุญโญสำหรับปิณฑะปาโต ว่างจากความหมายแห่งตัวตน ไม่ใช่ว่าไม่มีจีวร หรือไม่มีบิณฑบาต จีวร บิณฑบาต ก็ยังคงมี แต่ว่าไอ้จีวร หรือบิณฑบาตนั้น มันว่างจากความหมายแห่งตัวตน ถือเอาตามคำแปลที่เราสวดมนต์แปลกันอยู่ทุกวันนี้ถูกแล้ว สุญโญ ว่างเปล่าจากความหมายแห่งตัวตน นี่ขอให้จำให้แม่นยำทุกตัวอักษรก็แล้วกัน เมื่อชาวอินเดียนำพุทธศาสนามา นำคัมภีร์มา นำพระไตรปิฎกมา มันก็มีปัญหาอย่างนี้แหล่ะไปถึงประเทศพม่า ลังกา ประเทศไหนก็ตาม มันคงจะมีปัญหาด้วยคำที่เข้าใจยากคำนี้ มันจะมีปัญหาอย่างเดียวกับประเทศไทยเราก็ได้ แต่ผมไม่ทราบนะ ผมสันนิษฐาน เราเอากันที่ปัญหาในประเทศไทยเราสิ
อ้าว, ทีนี้ก็พูดถึงปัญหาที่กำลังมีกันอยู่เดี๋ยวนี้ดีกว่า ธรรมะนี้มันเป็นประโยชน์กับผู้ศึกษาผู้ปฏิบัติ พุทธบริษัท มันก็ขึ้นอยู่กับข้อที่ว่าใช้คำนี้เป็น หรือไม่เป็น ใช้คำนี้ผิด หรือใช้คำนี้ถูก ใช้คำนี้อย่างผู้มีศรัทธาความเชื่อหรือไม่ศรัทธาไม่เชื่อคอยแต่จะล้อเลียน ถ้าเขาเรียนบาลีจริง รู้จริง เขาก็แปลว่างจากตัวตนแหละ สูญ ๆ นี่ แต่ถ้าเขาเรียนบาลีเอาเอง เขาก็แปลสูญ สูญเปล่า หรือสูญหาย นี่ก็เรียกว่านักบาลีคุด บาลีว่าเอาเอง คนไทยที่ไม่เคยเรียนบาลี แล้วก็แปลภาษาบาลีเอาตามชอบใจ เลียนเสียงเลียนอะไรออกไป นั่นมันก็เป็นเรื่องที่ไม่ตรง ไม่ได้ประโยชน์จากคำว่าสูญ เช่นได้ยินคำว่านิพพานสูญ นิพพานสูญ นิพพานก็สุญญังเหมือนกัน นิพพานัง ไอ้คนพวกนี้ก็แปลว่าสูญเปล่า เขาถือว่านิพพานสูญเปล่า เป็นของสูญเปล่า เอาซิ ทำอย่างไรกันล่ะทีนี้ จะเอาไปทิ้งเสียก็ไม่ได้ เพราะนิพพานเป็นของสูงสุดต้องมีในพุทธศาสนา จะยอบรับเอาไว้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรนี่ มันเป็นของสูญเปล่า เสียเปล่า มันก็เกิดปัญหายุ่งยากขึ้น แล้วก็ทำลายประโยชน์ที่ควรจะได้ นี่มันขึ้นอยู่กับว่ามันแปลผิด แปลถูก ถ้าเรียนบาลี แปลให้ดีแล้วถือเอาความหมายนั้นให้ได้ นิพพานสูญ ก็คือว่างจากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา อย่างว่างจากกิเลส ว่างจากทุกข์ ว่างจากตัวตน ว่างจากที่ไม่พึงปรารถนานั่นน่ะ เรียกว่านิพพานสูญ นิพพานว่างอย่างยิ่ง จากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ไม่มีกิเลส ว่างจากกิเลส ไม่มีความทุกข์ ว่างจากความทุกข์ ไม่มีตัวตน ว่างจากตัวตน ว่างจากที่ตั้งแห่งความยึดถือว่าตัวตน นี่เขาเรียกว่าแปลถูก ถ้าแปลผิดเอาเองตามพระอาจารย์บางคนมันก็ว่าสูญเปล่า แปลเป็น หรือแปลไม่เป็นก็หมายความว่า ดูให้ดีหรือดูไม่ดี ถ้าแปลออกมาแล้วมันไม่ได้ประโยชน์อะไร ไม่มีความหมายอะไร ฟังไม่ถูกไม่เข้าใจ ก็ต้องเรียกว่าแปลไม่ถูก แปลไม่เป็น ก็ตั้งข้อสงสัยขึ้นมาว่าไอ้นี่มันคงจะไม่ใช่แล้ว ถ้ามันไม่มีประโยชน์อะไรอย่างนี้จะเป็นของสูงสุดในพุทธศาสนาได้อย่างไร ก็เลยไม่ต้องไม่ต้องแปลอย่างนั้น ก็คิดต่อไปว่าควรจะแปลอย่างไร คิดไป ๆ จนมันพบคำแปลที่ถูกต้อง
ทีนี้ที่ว่าของผู้ศรัทธา ผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา เคารพนอบนพต่อพระธรรม พระสงฆ์นี้ มันก็ทำด้วยใจที่มีศรัทธา ระมัดระวังไม่กล้าพูดจ้วงจาบ ไม่กล้าบิดเบือน ไม่กล้าอะไรต่าง ๆ เพราะว่ามีศรัทธา ส่วนผู้ไม่มีศรัทธา พอได้ยินคำแรกมันก็มีความคิดที่ขัดแย้ง ลำเอียงโต้เถียงอะไรไปตามเรื่อง พยายามที่จะพูดตามความรู้สึกขัดแย้งเหล่านั้น มันก็ออกมาเป็นคำพูดที่ไม่น่าฟัง ถ้าเราแปลเองไม่ได้ ก็พยายามศึกษาคำที่เขาแปลไว้ให้ ที่มันมีเหตุมีผล สมเหตุสมผม มองเห็นประโยชน์ที่จะดับทุกข์ได้อย่างนี้ ก็ถือเอาความหมายนั้น ก็ไม่สูญเสียประโยชน์ที่พุทธบริษัทควรจะได้รับ นี่ปัญหามันมีอยู่อย่างนี้ เกี่ยวกับประโยชน์ คือมันใช้คำ ๆ นี้เป็นหรือไม่เป็น ใช้คำ ๆ นี้ถูกหรือไม่ถูก มันใช้คำ ๆ นี้ด้วยจิตที่มีศรัทธา หรือไม่มีศรัทธา ทีนี้เราก็ลองสอบสวนตัวเราเอง เรารู้สึกต่อคำ ๆ นี้อย่างไร ถ้ามันไม่ถูกเรื่อง มันไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่สิ่งขัดแย้งรำคาญใจ ก็คิดเสียใหม่สิ ศึกษาเสียใหม่ ให้มันเข้ารูปลงรอยเป็นคำพูดที่ยอมรับได้ รับไว้เป็นในฐานะเป็นคำสูงสุดในพระพุทธศาสนา เดี๋ยวก็สู้พวกจีนไม่ได้ พอได้ยินเสียงระฆังดัง ค้ง ก็ว่าง ๆๆๆ แล้วจะสู้พวกจีนไม่ได้ ตีระฆังทุกวัน วันละกี่ค้ง มันก็ได้ยิน ว่าง ๆ ทุกครั้ง เขาก็เลยได้ประโยชน์
ทีนี้ปัญหาเกี่ยวกับการสอนเรื่องนี้ สอนเรื่องความว่างนี้ เอาเฉพาะในประเทศไทยเราก็แล้วกัน ไม่ค่อยสอน ไม่อยากสอน กระทั่งว่าสอนไม่ได้ เขาเห็นแบบนี้ อนัตตา เรื่องอะไรนี้ เขาห้ามไม่ให้สอน จนเกิดเป็นธรรมเนียมน้อย ๆ ขึ้นมาในการสอนว่าอย่าไปสอนเรื่องที่ว่าง หลุดพ้น ไม่เอา ไม่เป็นอย่างนั้นสิ ให้สอนในระดับที่เอา มี เป็น ได้ ไว้ก่อน หรือเขากลัวว่าคนมันจะไม่ได้รับประโยชน์ แล้วมันก็จะเลอะเทอะ มันฟังไม่ถูกแล้วมันจะเลอะเทอะ จนกระทั่งว่ามันจะไปฆ่าตัวตาย ถ้ามันไม่มีประโยชน์ ไม่มีตัวตน ไม่ยึดถือเอาได้ แล้วมันก็ไปฆ่าตัวตายก็ได้ คงจะเป็นอย่างนี้ แล้วถือเสียว่าสูงกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะรับได้ เอามาสอนเข้าแล้วจะเป็นอันตราย ตัวผมเองนี้ก็ได้รับคำแนะนำอย่างนั้น และถึงกับคำขอร้องว่าอย่าเพิ่งสอนก็มี นี่เรามันก็ไม่ค่อยจะสอนกันเพราะเหตุนี้ และมันยากที่จะสอน บางทีพอคิดว่าจะสอน มันไม่รู้ว่าจะสอนอย่างไร มันอธิบายยาก คนที่เคยเป็นครูนักธรรมมาแล้วก็ยังคงจะรู้สึก ว่าจะสอนเรื่องสุญญตาในห้องเรียนในชั้นเรียน รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากลำบากยุ่งยากใจ เรียกว่ามันก็ไม่ค่อยอยากจะสอนอยู่เหมือนกัน อยากจะพูดสองสามคำแล้วเลยไปพูดเรื่องอื่นดีกว่า ครูผู้สอนนะ ทีนี้บางคนก็สอนไม่ได้เอาซะทีเดียว ไม่กล้าพูดออกไปเรื่องนี้ ก็ไม่สอนเอาซะทีเดียว ไม่กล้าอ่าน แม้แต่อ่านตามหนังสือ เพราะมันไม่เข้าใจนี่ ครูเองก็ไม่เข้าใจ ก็ต้องสอนอย่างไม่รับผิดชอบ ก็ไม่อยากสอน ก็เลยไม่สอนหรือเพราะมันสอนไม่ได้ สอนให้เป็นที่พอใจผู้สอนก่อนนี้มันก็ทำไม่ได้ และถ้าดูให้ดีแล้ว มันไม่ชวนฟัง มันไม่ชวนฟังแก่ผู้ได้ยินนะ ว่าไม่มีตัวตน ไม่มีตัวตนของตนนี่ ใครมันชอบฟังคำอย่างนี้บ้าง มันมีลักษณะเป็นปฏิเสธ ไม่มีใครอยากฟัง เขาอยากจะได้ยินได้ฟังคำฝ่ายที่เป็นฝ่ายไม่ปฏิเสธ หูคนธรรมดาสามัญทั่วไปมันชอบฟังคำประเภท positive ที่มันได้ ที่มันมี ที่มันเอาได้ คำประเภท negative ไม่ค่อยมีใครชอบฟัง พอได้ยินคำว่า “ว่าง” มันมีลักษณะเป็น negative จนกระทั่งพวกฝรั่งเข้าใจผิดต่อพุทธศาสนา โดยเฉพาะในยุคแรก ๆ ที่ฝรั่งมาเรียนรู้พุทธศาสนาในยุคแรก ๆ เรียกว่าอย่างงู ๆ ปลา ๆ ก็ได้ มันก็เลยจับให้พุทธศาสนาเป็นประเภท negativism นั่นยิ่งทำให้ฝรั่งเองเกลียดพุทธศาสนามากขึ้นไปอีก และเป็นการพูดใส่ความกันอย่างเลยร้ายที่สุด ที่ฝรั่งเขาจัดพุทธศาสนาให้เป็น negativism นี้ เพราะฝรั่งก็ชอบกันแต่ positive แล้วมันไม่ถูก คือพุทธศาสนาไม่เป็น positive ไม่เป็น negative อยู่เหนือความหมายของ positive และ negative เช่นคำว่า “ว่าง” นี่มันไม่มีความหมายเป็นปฏิเสธในทางร้าย และก็มีความหมายที่ใคร ๆ ก็ต้องมองว่าไม่ใช่ทางดี หรือจะเทียบอีกคู่หนึ่งก็ได้ โดยฝรั่งอีกเหมือนกัน ฝรั่งเขาจัดพุทธศาสนาไว้เป็น pessimistic มองสิ่งทั้งปวงในแง่ร้าย ชีวิตเป็นทุกข์ อะไรเป็นทุกข์ ทุกอย่างเป็นทุกข์ ไม่ว่าอะไรเป็นทุกข์ไปหมด เลยถูกฝรั่งจัดให้เป็นพวก pessimistic นี่ฝรั่งเขาเป็นพวก optimistic นี่เขามามองอะไรในแง่ดี ในแง่ positive ทั้งนั้น ก็ทำให้พวกฝรั่งด้วยกันเกลียดกลัวพุทธศาสนามากขึ้น ข้อนี้มีประจักษ์พยานหลักฐานอยู่ในหนังสือยุคเก่า ๆ ยุคแรก ๆ นั่น ที่มันพิมพ์ขึ้นโดยพวกฝรั่งเองนั่นแหล่ะ ผมยังเคยเห็นเลย แม้ในประเทศเยอรมันที่ว่ารู้พุทธศาสนาดี ก็มีบางคนบางพวกจัดพุทธศาสนาเป็น negative เป็น pessimistic ดูเหมือนคนที่ชื่อโชเฟ่น ฮาวเออร์??? (นาทีที่ 24.32) คนนี้คนหนึ่ง ที่เขียนระบายพุทธศาสนาเป็น pessimistic เป็น negativism นี่เรียกว่าเขาใส่ร้ายเราโดยไม่รู้ เรียกว่าลำเอียงด้วยโมหะ พุทธศาสนาต้องการจะมีจิตใจอยู่เหนือ positive เหนือ negative คือว่าไม่รับและไม่ปฏิเสธ โดยถือว่าทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง คือ อิทัปปัจจยตา พุทธศาสนาเป็นอิทัปปัจจยตา ดังนั้นพุทธศาสนาจึงไม่เล็งสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นของน่ารัก น่ายินดี คือ optimist และก็ไม่เล็งไปในทางเป็น pessimist แต่ว่ามันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามกฎเกณฑ์ของมันเองคือเป็นอิทัปปัจจยตา ถ้าคุณจะต้องพูดเรื่องนี้แก่ชาวต่างประเทศแล้วก็ระวังให้ดี อย่าพูดชนิดที่ทำลายพุทธศาสนาให้เป็น negative เพราะมันมีพระบาลีที่ชวนให้คิดอย่างนั้น มีบาลีที่แสดงลักษณะของนิพพาน มีแต่คำว่า นะ ๆๆๆๆๆ คือไม่ ๆๆๆๆๆ ไม่ทั้งนั้นเลย มันเป็นนิพพาน ไม่ใช่ดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ลม ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่อากาศ ไม่ใช่ อากาสานัญจายตนะ ไม่ ๆๆๆ ตั้งไม่รู้กี่ไม่ แล้วจึงว่า นั่นแหล่ะคือที่สุดทุกข์ อันนี้เป็นเหตุให้เข้าใจผิดว่าพุทธศาสนาเป็นพวก negative ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ไม่ ๆๆๆๆ นั้น คือไม่ ไม่อย่างที่ไอ้คนปุถุชนมันรู้ อย่างที่ปุถุชนมันรู้จัก มันยึดถือมันพอใจอยู่แต่เดิมเป็นประจำ ไม่ทั้งนั้นเลย ไม่ทั้งนั้นเลย แล้วจึงจะไปถึงจุดที่ต้องการคือที่สุดทุกข์ หรือนิพพาน ใช้คำอีกคำ อัญญาโต(นาทีที่ 26.44) อื่น ๆ อื่นจากที่ปุถุชนรู้สึก รู้จัก เข้าใจ แม้อย่างนี้ก็ไม่ใช่ negative เพราะไม่ได้ปฏิเสธโดยท่าเดียว ที่มันตรงกันข้ามมันก็ยังมี แล้วเราก็จะไม่วิ่งไปสุดโต่ง ไม่วิ่งไปสุดโต่งว่ามี หรือว่าไม่มี แต่เราว่าแล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัย
พุทธศาสนาจะไม่ใช่ลัทธิ ถือว่ามีหรือว่าไม่มี ซึ่งเป็นคำปรัชญาด้วยเหมือนกันแหละ แต่จะพูดว่ามันแล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัย ถ้ามีก็ยึดถืออย่าง positive ถ้าไม่มียึดถืออย่าง negative เราไม่พูดว่า “สิ่งทั้งปวงมี” ไม่พูดว่า “สิ่งทั้งปวงไม่มี” แต่พูดว่า “สิ่งทั้งปวงไปตามเหตุตามปัจจัย” นี่พอรู้อย่างนี้แล้วก็จะไม่เกลียดกลัวคำว่า “ว่าง” ไอ้คำว่าว่างมันเป็นแล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัย ไม่ใช่ความหมายสุดโต่งว่าไม่มีอะไรฉิบหายหมด ร้าย เลวร้ายไปหมด แต่เมื่อดูตามความรู้สึกของคนธรรมดาสามัญแล้ว ปุถุชนนะ มันไม่ชอบหรอกคำว่า “ว่าง” คำว่าว่างมันไม่ได้อะไรเลย มันไม่ชอบหรอก มันชอบได้ ขอบมี ชอบดี ชอบสุข สนุก เอร็ดอร่อย คนธรรมดาไม่ชอบว่าว่าง พอถ้าว่างเปล่าแล้วก็รู้สึกหมดหวัง เพราะว่ามันไม่ชวนฟัง และคนก็ไม่อยากจะฟังคำว่าว่าง เลยสอนกันยาก เพราะว่ามันฟังแล้วมันเหี่ยวแห้ง ฟังแล้วจิตใจมันห่อเหี่ยว มันก็ไม่สดชื่นเมื่อได้ยินคำว่าว่าง นั้นจะไปโทษธรรมะไม่ได้ จะไปโทษความจริงไม่ได้ ความจริงมีอย่างนั้น คนฟังมันไม่เข้าถึงความจริง มันเข้าใจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วมันก็แล่นไปสุดโต่งอย่างที่ว่ามาแล้ว โดยมากพวกฝรั่งที่มาแตะต้องพุทธศาสนาแรก ๆ ก็เป็น negative ให้พุทธศาสนาเป็น negative ให้พุทธศาสนาเป็น pessimistic เอาเลย มันก็ยิ่งห่อเหี่ยว เหี่ยวแห้งในจิตใจไม่สดชื่น นี่คือปัญหาเกี่ยวกับการสอนพุทธศาสนาเรื่องความว่าง เรื่องความว่าง คุณจะต้องรู้ไว้ด้วย
ทีนี้ก็ว่าปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ เมื่อมันรู้ไม่ถูก รู้ไม่จริงเสียแล้วมันจะปฏิบัติให้ได้ประโยชน์อย่างไรได้ มันเนื่องมาจากความรู้ และการสั่งสอนที่ถูกต้อง เมื่อสอนให้เข้าใจคำว่า “สุญญตา” ผิดไปแล้ว มันก็ปฏิบัติผิด ปฏิบัติผิดจนว่าสูญเปล่า ๆๆ ก็นั่งเพ่งไอ้ความสูญเปล่า ได้เป็นบ้าเลย จะต้องศึกษาจนรู้ความหมายของสุญญตาให้ถูกต้อง และสมบูรณ์ ถูกต้องว่าสุญญะ สุญญะนั่นหมายความว่าอย่างไร ก็คือว่างจากตัวตนที่ควรยึดถือ ไม่มีที่ให้จิตยึดถือ แล้วก็เป็นหลักสำคัญที่ว่า เห็นแล้วปฏิบัติได้แล้วก็เป็นผู้หลุดพ้น เป็นพระอรหันต์ คำสอนเรื่องสุญญตาที่สำคัญที่สุด ก็ที่เรียกว่าคำสอนโมกขราช คำที่ตรัสแก่โมกขราชแหล่ะ สุญญโต โลกัง อเวกขสสุ โมฆะราช สทา สโต ดูก่อนโมกขราช ท่านจงมีสติ มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างทุกเมื่อเถิด “อัตตานุทิฏฐิ อูหัจจะ” ถอนความเข้าใจ หรือความคิดเห็นว่าตัวตนเสีย ”เอวัง มัจจุตะโรสิยา” ท่านไม่ได้เป็นผู้พ้นจากอำนาจของมัจจุ, “เอวัง โลกัง อเวกขันตัง” ท่านเห็นโลกอยู่อย่างนี้ “มัจจุราชา นะ ปัสสะติ” มัจจุราชก็จะไม่มองเห็นท่าน มัจจุราชก็จะหาตัวท่านไม่พบ ถ้อยคำนี้ทั้งไพเราะทั้งลึกซึ้ง ทั้งมีความหมายในพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ แล้วก็ยังมีที่อื่นอีก คาถาอื่นอีก จะเป็นคำสอนหลักคล้าย ๆ กันเรื่องสุญญตา แต่เราใช้กันมากก็คาถานี้ มีสติเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อเถิด นั่นหลักคำสอน หลักปฏิบัติ สอนให้ปฏิบัติ สำคัญที่ว่าจะต้องมี“สติ” มีสติเห็น ถ้าไม่มีสติมันก็ไม่อาจจะเห็น หรือไม่อาจจะควบคุมการเห็น แล้วมันก็ไม่เป็นไปอย่างติดต่อ ถ้ามีสติมันก็เห็นอย่างสุขุม อย่างติดต่อ อย่างสม่ำเสมอ “เห็นโลกโดยความเป็นของว่าง” โลกก็ยังอยู่ อะไร ๆ ในโลกก็ยังอยู่ แต่จงดูเถิดว่าในทุก ๆ สิ่งทุก ๆ ส่วนนั้นว่างจากความหมายแห่งตัวตน หมายความว่าอะไร ๆ ก็ตามที่รวมกันแล้วเข้ามาเรียกว่าโลก ทุกส่วน ทุกอนุภาค เช่นขี้ฝุ่นเม็ดหนึ่ง อนุภาคน้อย ๆ กระทั่งไปถึงสิ่งใหญ่สิ่งโตสิ่งอะไรก็ตามที่รวมกันแล้วเรียกว่าโลก ดูให้เห็นทั้งหมดนั้นว่าไม่มีความหมายแห่งตัวตน เรียกว่าโดยความเป็นของว่าง สุญญโต โดยความเป็นของว่าง ไอ้โลกแผ่นดินล้วน ๆ ก็ดี ไอ้โลกมนุษย์มีมนุษย์รวมอยู่ด้วยก็ดี มีต้นไม้ต้นไร่รวมอยู่ด้วยก็ดี ก็หมายความว่าทุก ๆ สิ่งที่รวมกันเป็นโลก มีอยู่ในโลก ดูให้เห็นโดยความเป็นของว่างจากตัวตน ส่วนใหญ่ท่านก็เล็งถึงคน คนแต่ละคนที่มีอยู่ในโลก แต่ละคนทุกคนนั้นมันว่างจากความหมายแห่งตัวตน เป็นสิ่งที่ธรรมชาติปรุงแต่งขึ้นมา เป็นกลุ่มเป็นก้อน แห่งธาตุทั้ง ๔ แห่งอายตนะทั้ง ๖ อะไรเขาเรียกว่ากลุ่มแห่งสังขาร สังขารแปลว่าปรุงแต่ง ปรุงแต่ง ปรุงแต่งของที่ธรรมชาติปรุงขึ้นมา ดูเหมือนฝรั่งเขาเอาไปแปลเป็นคำว่า compounded, compounded รวมกันเข้าแล้ว compounded ให้ดูเห็นว่ามันไม่เป็นตัวตน แต่มันเป็นเพียง “กลุ่ม” ของสิ่งตามธรรมชาติ ถูกปรุงเข้าให้เป็นกลุ่ม ๆๆ เป็นกลุ่มน้อย ๆ รวมกลุ่มน้อย ๆ เป็นกลุ่มใหญ่ เช่นว่าร่างกายนี้ กลุ่มธาตุดินก็มี กลุ่มธาตุน้ำก็มี กลุ่มธาตุไฟก็มี กลุ่มธาตุลมก็มีอย่างนี้ กลุ่มธาตุวิญญาณก็มี กลุ่มvacuum ก็มีนะ ที่เขาเรียกอากาศอ่ะ ว่างนะ ในกลุ่มนั้นก็มีหลาย ๆ ส่วน ทีนี้แต่ละกลุ่ม หลาย ๆ กลุ่มนั้นรวมเข้ามาเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น ๆ จนว่าสมบูรณ์แล้วมันก็เป็นอย่างที่เราเรียกว่าคน ๆ หนึ่ง ที่มองคนทั้งคนเป็นเพียง compounded thing, compounded thing สิ่งที่สังขารปรุงแต่งขึ้นมาเท่านั้นไม่มีตัวตนอะไรที่แท้จริง แต่ถ้าพวกอื่นเขาไม่ว่าอย่างนั้น เขาว่าในนั้นมีอัตตามีตัวตน ชนิดที่ฝรั่งเอาไปเรียกว่า soul บ้าง self บ้าง หรือเขาเรียกกันมาก่อนก็ได้ เขามีคำว่า soul ว่าตัววิญญาณ ตัวคน ตัววิญญาณ ตัวเจตภูตนั่นน่ะ แล้วก็มีตัวตนเรียกว่า self ซึ่งในภาษาบาลี ภาษาอินเดียเขาเรียกว่าอัตตา อัตตาในภาษาบาลี อาตมันในภาษาสันสกฤต ในลัทธิอื่นที่นอกจากพุทธศาสนาเขาไม่สอนอย่างนี้ เขาไม่สอนว่าว่างจากตัวตน เขาสอนว่ามีตัวตน แล้วก็สอนว่าตัวตนโง่ ๆ ตัวตนเลว ๆ ตัวตนหลอก ๆ ที่พวกคุณยึดถือกันอยู่นั้น ไม่ใช่ ๆๆ ให้ประพฤติความดีสูงขึ้นมา สูงขึ้นมา ให้ได้พบตัวตนที่แท้จริง ตัวตนที่แท้จริงจนเรียกว่า มหาอัตตา หรือปรมาตา ปรมาตมัน มหาตมัน ปรมาตมันนั้นน่ะ แล้วเอานั้นแหล่ะเป็นจุดยึดหน่วง เพราะว่าปรมาตมันนั้นเที่ยงแท้ถาวร เป็นนิรันดร อนันตกาล ไม่มีเกิดไม่มีดับ เพราะไม่มีตัวตน ฉะนั้นจึงไม่มีคำว่า“ว่าง” ในลัทธิศาสนาเหล่านั้น ถ้าว่างก็เหมือนว่างทางวัตถุแหล่ะ เพราะฉะนั้นศาสนาเหล่านั้นที่มีอัตตา มีตัวตนอย่างนั้นมันก็เป็นฝ่ายหนึ่งหรือพวกหนึ่งก็เลย มีหลายศาสนา ทีนี้ฝ่ายที่ไม่ถือว่ามีอัตตาคือว่างนี่ มีพุทธศาสนา ในอินเดียน่ะ หรือจะมีศาสนาอะไรอีกบ้างผมก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้เล่าเรียนมาจนหมดสิ้น แต่รู้แน่ชัดว่าพุทธศาสนาเรานี้สอนว่าไม่มีอัตตา แล้วก็ว่างจากอัตตา
เมื่อแบ่งศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้นออกเป็น ๒ พวก มันก็กลายเป็นพวกที่ว่า “ไม่ว่าง” กับ “ว่าง” นี่ พวกพุทธเรานี่เป็นพวกว่าง ก็เลยเรียกว่า สุญญวาท, สุญญวาทะ ผู้กล่าวว่า “ว่าง” ส่วนศาสนาอื่นอีกเยอะแยะ ๆ ทั้งในอินเดียนอกอินเดียมันก็ว่ามีตัวตน อย่างน้อยก็ตัวตนของปรมาตมัน ตัวตนของพระเป็นเจ้า ตัวตนของอะไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นถูกจัดไว้เป็นพวกอสุญญวาท ขอให้จำไว้เถอะว่ามันมีการแบ่งกันอย่างนี้แล้ว ถ้าเขาเรียกเราเรียกพุทธศาสนาเราว่าพวกสุญญวาท ก็อย่าไปโกรธเขานะ เดี๋ยวคุณจะไปโกรธ หาว่าเขาดูถูกหรือใส่ร้ายให้อีก มันเป็นอย่างนั้นแหล่ะ พุทธศาสนานี่ถูกจัดไว้ในกลุ่มพวกที่เป็นสุญญวาท มีวาทะว่า“ว่าง” ศาสนาอื่นทั้งหลายที่ตรงกันข้ามถูกจัดไว้เป็นพวกอสุญญวาท คือกล่าวว่าไม่ว่าง ไม่ว่างจากตัวตน เขาจะสอนให้ละตัวตนผิด ๆ ที่เข้าใจผิด กิเลสนี่ก็ว่าผิด งดเรื่องกิเลสได้แล้วก็พบตัวตนที่แท้จริง แล้วยึดถือเอาตัวตนนั้นเป็นการถาวรตลอดไป นี่พวกตัวตน ทีนี้พุทธศาสนาเราว่า ละกิเลสได้แล้ว ถอนกิเลสได้แล้ว หมดแล้วไม่มียึดถือว่าตัวตน แล้วอะไรเหลืออยู่ก็ยังไม่ใช่ตัวตนอยู่นั่นเอง เลยนิพพานก็ไม่ใช่ตัวตน จุดสุดท้ายสูงสุดของการประพฤติปฏิบัติเป็นผลสุดท้ายก็มิใช่ตัวตน ถ้าเป็นศาสนาฝ่ายโน้น เมื่อปฏิบัติสำเร็จแล้ว มันภพ (นาทีที่ 40.19) มันเหลืออยู่เป็นตัวตน เป็นตัวตนที่แท้จริง เรียกว่าตัวตนใหญ่ มหาอาตมัน เรียกว่าตัวตนสูงสุด ปรมาตมัน แล้วบางทีก็เรียกว่าพระเจ้า พระเจ้ออะไรไปตามคำเรียกของเขาแหล่ะ เขามีคำเรียก แต่มีความหมายเป็นตัวตนทั้งนั้น
เรามีหลักปฏิบัติว่าจงดู จงมองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างทุกเมื่อเถิด ทุกโลกไม่ว่าโลกไหน และไม่ว่าอะไรที่มีอยู่ในฐานะเป็นเหตุก็ดี เป็นผลก็ดี เป็นกิริยาอาการที่กระทำเชื่อมสัมพันธ์กันอยู่ก็ดี ล้วนแต่ว่างจากตัวตน มันช่างไม่มีตัวตนเอาเสียเลย นี่คนที่ไม่รู้เรื่องมันก็ว้าเหว่สิ เพราะว่าตามธรรมดาของปุถุชนมันต้องการจะมีอะไร คือโดยสัญชาตญาณมันเป็น positive ว่าที่จริงชีวิตนี้ ถ้าโดยสัญชาตญาณแล้วมันมีลักษณะเป็นต้องมีอะไร จะต้องมองในแง่ดีว่ามีอะไร มันอยากมีตัวกู อยากมีของกู ไม่อยากตาย อย่างนี้เป็นต้น พอบอกว่า“ว่าง” ไม่มีตัวตน มันก็เท่ากับตายแล้ว เพราะมันไม่มีตัวตน นี่มันสับสนฟังยากใช่ไหม เขาจึงมีคำกล่าวล้อเลียนพวกที่มีลัทธิตัวตนฝ่ายโน้นนะ พวกพรหม พวกพรหมพอปฏิบัติในโลกนี้เสร็จแล้ว เกลี้ยงเกลาแล้ว บริสุทธิ์แล้วก็ไปอยู่กันเป็นพรหม เป็นพรหมคือตัวตนแท้ ตัวตนถาวร มีคำกล่าวในพระคัมภีร์ของเราว่า พวกพรหมนั้นพอได้ยินคำว่า ละสักกายะ คือละตัวตนเสีย มันกลัวตายเลย ไม่อยากฟัง วิ่งหนีเลย “ละตัวตนเสีย” เป็นคำร้ายกาจที่สุดที่พวกพรหมจะวิ่งหนีเลย เพราะมันเท่ากับบอกให้ฆ่าตัวตาย แล้วในพุทธศาสนาเราไม่ใช่อย่างนั้น ละตัวตนก็ได้จะเป็นไรไป เพียงแต่มองให้เห็นว่ามันไม่ใช่ตัวตนอยู่แล้วนี่ ตามธรรมชาติ ตามแท้จริงมันไม่ใช่ตัวตนอยู่แล้วนี่ พอเรามองเห็นแล้วมันจะเป็นไรไป ไม่ใช่ว่าต้องมาฆ่า ๆ เอามีดมาฆ่าตัวตนนี้อีก ละความเข้าใจผิดที่มีอยู่แต่ก่อนเสีย ความเข้าใจว่ามีตัวตนแต่ก่อนนั้นละเสีย ก็คือกลับไปหาความจริงแท้ของเดิมที่มันเป็นอย่างนั้นอยู่จริง แต่เราไปโง่เองโง่ทีหลังว่ามีตัวตน ทีหลังหายโง่แล้ว อ้าวมันไม่มีตัวตน มันก็พอแล้ว มันก็จบ เรื่องมันก็จบ ไม่ยึดถือสิ่งใดว่าตัวตน ว่าของตนอีกต่อไปนี้ เรื่องมันก็จะจบได้อย่างนี้ ปฏิบัติ มีสติ เห็นสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นของว่างจากตัวตนอยู่เสมอ ไอ้เรื่องที่จะเอามาดู มาศึกษา มาปฏิบัตินั้นน่ะ เรื่องข้างนอกตัวไม่สำคัญหรอก เรื่องภายในคือตัวคนนี่สำคัญ ถ้าเราเห็นว่าตัวคน ๆ นี่มันไม่ใช่ตน หรือมันว่างจากตนแล้ว ไอ้สิ่งอื่นทั้งหลายมันก็ว่างไปเอง เพราะมันไม่รู้จะมาใส่ที่ไหน เมื่อตัวคนนี้มันว่างไม่ใช่ตัวตนอยู่แล้ว ไอ้โลกภายนอกทั้งหลายมันก็พลอยว่างไปเองเพราะมันไม่รู้จะเอามาทำไมได้ ฉะนั้นท่านจึงสอนให้ดูภายในที่เรียกว่า ตัวกู ตัวเรานี่ จนเห็นว่ามันไม่ใช่ตน จะโดยวิธีใดก็ได้ วิธีมีมาก ๆ ถ้ามันทำให้มองเห็นลงไปว่า เหล่านี้มิใช่ตัวตนแล้วถูกทั้งนั้นเลย ใช้ได้ทั้งนั้นเลย จะแยกดูเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ได้ หรือจะดูในแง่ที่ว่า มันไม่เชื่อฟังใคร มันเป็นไปตามธรรมชาติอำนาจของมันเอง มันไม่ได้ตามความประสงค์ของผู้ต้องการเลย ชีวิตสังขารร่างกายนี้มันไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ต้องการ ให้เป็นอย่างนั้นก็เรียกว่ามันก็ไม่มีตัวตน เขามีวิธีดูกันหลายแง่ และมีสติเห็นอยู่ตลอด อย่าเห็นบ้างไม่เห็นบ้าง มีสติเห็นมันอยู่ตลอด และเห็นมันทุกอิริยาบถ
ดังนั้นในหลักปฏิบัติที่ดีนี่ ที่จะอาศัยได้ มันก็มีสติเห็นโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกอิริยาบถ ยกตัวอย่างให้ฟังเช่นเรื่องกรรมฐานที่เขาปฏิบัติกันอยู่นั่นแหล่ะ ถ้าเขาเข้าใจถูกต้อง มันก็มาเข้ารูปนี้ จะตั้งต้นแต่อะไรดี? พิจารณาดูตัวตนนี้ทั้งหมด ร่างกายนี้ทั้งหมด แล้วก็เห็นส่วนประกอบว่าเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นต้น ไม่มีอะไรมากไปกว่า ๖ ธาตุนั้นนะ ที่ประกอบเป็นหนึ่งคน เห็นชัด ๆๆนี่ แล้วปากมันก็พูดออกมาว่า “สักแต่ว่าธาตุเท่านั้นหนอ ๆๆ” ทีนี้มันยาวนัก ๆ ก็ว่า “ธาตุหนอ ๆๆ” อยู่ตลอดเวลา นี่ฝึกที่ว่าจะมีสติ เห็นว่างจากตัวตนอยู่ตลอดเวลา “ธาตุหนอ ๆ” มาจากคำว่า “มันสักแต่ว่าธาตุเท่านั้นหนอ” “มันมาจากคำว่าสักแต่ว่าธาตุเท่านั้น มิใช่มีตัวตนอะไรเลยหนอ” นั่นแหล่ะคือธาตุหนอ ๆ เดี๋ยวจะไปย้ำเอาธาตุเป็นตัวตนไปอีก มันก็ผิดหมด ถ้าเห็นว่าสักแต่ว่าธาตุเท่านั้นหนอ ก็ถูก แล้วก็ธาตุหนอ ๆ คือกลุ่มสังขารนี้ไม่มีอะไรนอกจากสักว่าธาตุเท่านั้นหนอ นั่งในที่ ๆ สะดวกแล้วก็พิจารณาเห็นว่า โอ้มันธาตุเท่านั้นหนอ ปากมันก็ร้องว่า “ธาตุเท่านั้นหนอ ๆ” แล้วเหลือสั้นที่สุดก็ว่า “ธาตุหนอ ๆๆๆ” ตลอดเวลาติดต่อกันไป นี่เขาเรียกว่ามีสติติดต่อ เมื่อนั่งก็ว่า “ธาตุหนอ ๆ” เมื่อยืนก็ “ธาตุหนอ ๆ” เมื่อเดินก็ “ธาตุหนอ ๆ” เมื่อนอนก็ “ธาตุหนอ ๆ” ไม่ใช่คน ไม่ใช่คนยืน เดิน นั่ง นอน มันสักว่าธาตุเท่านั้นหนอ เมื่อดูกันว่ามันเป็นธาตุพอสมควรแล้ว มาดูให้มันใกล้ชิดเข้ามาอีก ก็กลุ่มแห่งธาตุนั้น มันทำอาการอย่างนี้ เราเรียกว่า “นั่งหนอ” ไม่ใช่มีบุคคลตัวตนที่นั่ง มันมีแต่กลุ่มธาตุนี้อยู่ในอิริยาบถที่เขาเรียกกันว่านั่ง ก็เลยพิจารณาลงไปเห็นว่า โอ้นี้มันเพียงสักว่าอิริยาบถที่เขาเรียกว่านั่งของธาตุเหล่านั้นเท่านั้นหนอ สักว่าอิริยาบถที่เรียกว่านั่งของกลุ่มธาตุตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ สักว่าอิริยาบถที่เรียกว่านั่งเท่านั้นหนอ สั้นเข้ามา ๆ จนเหลือแต่ว่า นั่งหนอ ๆๆ คือสักแต่ว่าอิริยาบถนั่งของกลุ่มธาตุตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ เพื่อให้บริกรรมได้ง่ายได้สะดวกจึงตัดมาเหลือสั้นว่านั่งหนอ ๆๆ ถ้าคนมันเข้าใจผิดมันก็ว่า กูนั่งหนอ ๆ นี่เดินคนละทาง ผิดหมด ถ้าเข้าใจถูกก็ว่า นี่คืออิริยาบถนั่งที่สมมติเรียกกันว่าอิริยาบถนั่งของกลุ่มธาตุตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ ประโยคมันยาว ก็ย่นเข้าสิ สักว่าอิริยาบถที่เรียกกันว่าอิริยาบถนั่งเท่านั้นหนอ สักว่าอิริยาบถนั่งเท่านั้นหนอ การนั่งเท่านั้นหนอ ก็ว่านั่งหนอ ๆๆๆ ติดต่อกันไปเรื่อย เมื่อเดิน ก็สักว่าอิริยาบถเดิน ที่สมมติเรียกกันว่าอิริยาบถเดินของกลุ่มธาตุตามธรรมชาติเคลื่อนไปเคลื่อนมาเท่านั้นหนอ สักว่าอิริยาบถเดินของกลุ่มธาตุตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ สักว่าเป็นอิริยาบถเดินเท่านั้นหนอ ลดมาจนว่าเดินหนอ ๆๆ ถ้ามันทำผิด สอนผิด ปฏิบัติผิด มันก็เข้าใจว่ากูเดินหนอ ตัวตนมีอยู่ ตัวตนเดินหนอ นั่นมันก็ผิด ถ้าว่าเดินหนอ ๆ นี่หมายความว่า โอ้อิริยาบถที่เขาสมมติเรียกกันทั้งโลกว่าเดินของกลุ่มธาตุตามธรรมชาติที่เราสมมติเรียกกันว่าคน มันก็ไม่มีคนแล้ว มันมีแต่ธาตุแล้ว ทีนี้กลุ่มธาตุนั้นอยู่ในอิริยาบถที่เรียกว่าเดิน หรือใช้คำว่าสักแต่ว่าอิริยาบถเดินเท่านั้นหนอ การเดินเท่านั้นหนอ เดินหนอ ๆ เมื่อนั่ง เมื่อยืน ก็ทำอย่างเดียวกันนี้ มีสติติดต่อกัน นี่เรียกว่ามันก็เห็นธาตุ กลุ่มธาตุ แล้วก็เห็นอิริยาบถแต่ละอิริยาบถของแต่ละกลุ่มธาตุ
ทีนี้ถ้าว่าเราจะให้มันละเอียดไปกว่านั้น เราก็ศึกษาแล้ว หรือว่าได้รับการสั่งสอนแล้วว่า อะไรบ้างเป็นธาตุดิน ก็แยกดูในร่างกายนี้ อะไรเป็นดิน เกสา โลมา นขา ทันตา อะไรนี่ เป็นธาตุดิน ดูให้เห็นว่าทั้งหมดนี้ว่าเป็นธาตุดิน ส่วนนี้ทั้งหมดนี้เป็นธาตุดิน ก็พิจารณาว่าทั้งหมดนี้เป็นธาตุดินหนอ นี่กลุ่มธาตุดินหนอให้สั้นเข้าไปอีกก็ว่า ดินหนอ ๆๆ คือไม่ใช่ตัวตนนั่นเอง ธาตุใดเป็นธาตุน้ำก็ดูสิ เลือด น้ำเหลือง น้ำพวกน้ำ ๆ นี่เป็นที่ดูง่ายว่าเป็นธาตุน้ำ โอ้นี่ส่วนนี้ธาตุน้ำหนอ ธาตุน้ำหนอ น้ำหนอ ๆ ธาตุไฟก็คือว่าอุณหภูมิโดยเฉพาะความร้อน ที่มีอยู่ในร่างกาย แยกออกมาพิจารณาดู ไฟย่อยอาหาร ไฟให้ร่างกายแก่ชรา ไฟอะไรก็ตาม เอามารวมเสียเป็นอุณหภูมิในร่างกายนั้นแหละ ก็ว่าโอ้ส่วนนี้เป็นธาตุไฟหนอ ธาตุไฟหนอ ไฟหนอ ๆๆ ดูลม ธาตุลม อาการระเหยของแก็สที่มีอยู่ในตัวนี้ ธาตุลม ก็ว่าลมหนอ ๆ แต่ไม่ใช่ทำวันเดียวครบทุกอย่างนะ วันหนึ่งทำแต่อย่างเดียว หรืออย่างเดียวทำหลาย ๆวันก็ได้นะ ถ้าทำอย่างเดียวนี้เป็นทำเล่น ก็ยุ่งกันหมด แล้วก็ไม่ลึก ไม่ถึงที่สุด ยุคไหนระยะไหนจะพิจารณาบริกรรมอะไร ก็ทำแต่อันนั้นแหละ ตลอดวันตลอดเวลา เช่นธาตุนี้ ก็ ธาตุหนอ ๆ แล้วก็ซอยละเอียดเป็นดินหนอ ๆๆ น้ำหนอ ๆๆ ไฟหนอ ลมหนอ
ทีนี้อิริยาบถก็เหมือนกัน ที่ว่าเดินหนอ ๆ นี่เขาก็จะให้มันถี่เข้าอีก เขาจึงกำหนดอิริยาบถเดินให้แบ่งเป็นระยะ ๆ การเดิน มันต้องมีระยะที่ยกเท้าขึ้นมาหนอ แล้วเสือกเท้าไปข้างหน้าหนอ แล้วก็เหยียบเท้าลงไปหนอ มันเลยได้ ๓ ตอน “ยกหนอ, ย่างหนอ, เหยียบหนอ ๆ” ก็อย่างเดียวกัน คือให้รู้ว่ามันเป็นสักว่าอิริยาบถ เรียกชื่ออย่างนั้น ไม่ใช่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนที่ทำอาการอย่างนั้น ทีนี้มันก็จะซอยตามพอใจก็ได้ถ้าต้องการ เดี๋ยวนี้มาซอยเป็น ๓ อย่างว่า ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ที่เมื่อก่อนจะยกก็มันขยับ แล้วมันยก แล้วมันเลื่อนไปข้างหน้า แล้วมันจะลง แล้วมันก็ลง แล้วมันก็เหยียบกดลงไปนี่ จะแบ่งเป็น ๔ ระยะ ๕ ระยะ ๖ ระยะก็ได้ ถ้าอยากจะทำนะ แต่ว่าเขาก็มีแบบ มีครูอาจารย์ที่เขาแนะให้เองว่าคนนี้มันควรจะทำกี่ระยะ ที่เหมาะสำหรับคนนี้ควรจะแบ่งให้มันสักกี่ระยะ ก็ทำได้ นั่นเป็นหน้าที่ของอาจารย์ ถ้าว่า ๓ พอแล้ว ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ก็ทำไป จนเป็นที่แน่ใจ คนนั้นมันแน่ใจตนเองว่า ตลอดเวลาเราทำได้ ไม่มีความคิดว่าตัวตน ว่าของตนแทรกเข้ามาเลย คอยกำหนดอยู่แต่อย่างนั้น อะไรจะมา ก็ไม่ดูไม่ฟังไม่สนใจไม่อะไรหมดก็ทำได้ ๆ แล้วก็ทำอันอื่นต่อไป มีสติกำหนดความไม่มีตัวตนอยู่ในทุกอิริยาบถ ในทุกธาตุ ทีนี้คำว่าอิริยาบถมันนี่มันไม่ใช่มีแต่เพียง เดิน ยืน นั่ง นอน เราจะไปทำอะไรอีกก็ได้ จะไปบิณฑบาต จะไปฉันอาหาร จะไปอาบน้ำ จะไปส้วม ไปฐานอะไรก็แยก ๆๆ ออกไป แม้แต่จะห่มจีวรนี้ มันก็จีวรหนอ หยิบหนอ คลุมหนอ ห่มหนอ สักว่าเป็นอิริยาบถเท่านั้นแหล่ะไม่ใช่มีตัวตนที่เป็นผู้ทำอย่างนั้น นี่มันเป็นตัวอย่างที่คุณจะไปตั้งบทฝึกหัดเอาเอง บทฝึกหัดไปตั้งเอาเอง แต่ขอให้มีสติ แล้วก็กำหนดความที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล มีปรากฏการณ์อย่างนั้น มีอิริยาบถอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา นี่ปฏิบัติเพื่อให้เห็นว่าว่างจากตัวตน มีแต่สักว่าอิทัปปัจจยตา หรือกระแสแห่งอิทัปปัจจยตาปรุงแต่งไป อย่างนี้เรียกกว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อย่างนี้เรียกว่าอิริยาบถเดิน อิริยาบถยืน อิริยาบถนั่ง อิริยาบถนอน มันไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ ที่ไม่ใช่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา เมื่อซอยละเอียดเข้าก็มาทำเป็นอย่างนี้ ถ้าเราจะสรุปเสียทีเดียวว่าอิทัปปัจจยตา ๆ นี่มันจะทำไม่ได้ มันลึกเกินไป มันยากเกินไป สู้แยกออกมาให้เป็นส่วน ๆ เสี่ยง ๆ เสียก่อนก็ได้ ถ้าใครทำได้ก็ใช้ได้ มองเห็นทั้งหมดนี้เป็นเพียงกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา มันก็เห็นว่าง ว่างจากตัวตนเหมือนกัน ถ้ามันเป็นเพียงกระแสปรุงแต่งแห่งอิทัปปัจจยตาแล้วมันก็ไม่มีตัวตน นี่เราฝึกเพื่อเห็นความว่างจากตัวตนอยู่ทุกอิริยาบถ หรือทุกหายใจเข้า-ออก
แต่ถ้าชอบระบบอานาปานสติ ก็ใช้สูตรอื่น เช่นว่าหายใจ “หายใจหนอ” ๆ หายใจเข้าหนอ ก็ “เข้าหนอ” ๆๆ หายใจออกหนอก็ ออกหนอ ๆๆ สั้นหนอ ๆๆ ยาวหนอ ๆๆ หยาบหนอ ๆ ละเอียดหนอ ๆ นี่ มันก็กำหนดอยู่ที่ลมหายใจซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ก็เห็นว่างเหมือนกัน ทีนี้มันก็มีรายละเอียดทุกขั้นของ ๑๖ ขั้น ของอานาปานสติ “หนอ”ได้ตลอดเวลา แล้วแต่เราจะชอบระบบไหน ถ้าพอมองสังเกตเห็นพิจารณาเห็นว่า โอ้ลมหายใจนี่มันปรุงแต่งร่างกายเนื้อหนัง ก็ว่า"ปรุงแต่งกายหนอ" ๆๆ “ปรุงกายหนอ” ๆ ถ้าว่าการปรุงแต่งมันระงับไป ก็ “ระงับแล้วหนอ” ๆ “การปรุงแต่งระงับแล้วหนอ" ว่า "ระงับหนอ ๆๆ” ไปสร้างบทบริกรรมได้ด้วยตนเอง พิจารณาเห็นอยู่อย่างไรก็ใช้บทบริกรรมที่มันเข้ากันกับอันนั้น สงบหนอ ๆๆ กำเริบหนอ ๆๆ ถ้ากำหนดเป็นเพียงสมาธินะ มันก็เพ่งกสิณ มันก็เพียงแต่เพ่งให้จิตไปเกาะอยู่ที่นั่น ไม่ได้ดูความไม่มีตัวตน แต่นี่เราไม่ได้ทำอย่างนั้นนะ เราจะดูให้ลึกลงไปถึงความไม่มีตัวตน เราจึงว่า “อย่างนี้หนอ” ๆ ถ้าว่ากำหนดดวงกสิณขาว เขียว แดง หรือเพียงแต่ว่ากำหนดให้จิตจดจ่ออยู่ที่นั่น มันก็อีกความหมายหนึ่ง คือเขาไม่ได้ดูโดยความเป็นของว่างจากตัวตนหนอ อะไรก็ได้ถ้าเอามาพิจารณาเพียงว่าจิตกำหนดแล้วเป็นสมาธิแล้วก็เป็นสมาธิ แต่นี่เราไม่ได้ต้องการเพียงสมาธิ เราต้องการจะเห็นลึกลงไปถึงว่าไม่ใช่ตัวตน จึงเห็นไม่ใช่ตัวตนเสียก่อน แล้วเราจึงใช้คำบริกรรมว่า “อย่างนั้นหนอ” ๆ เช่นว่า ดินหนอ ๆ ไม่ใช่ทำปฐวีกสิณ กำหนดเอาดินนั้นเป็นสมาธิ ไม่ใช่ มันสักแต่ว่าดินเท่านั้นหนอไม่ใช่ตัวมิใช่ตน นั่นดินหนอของเรา ถ้าปฐวีกสิณมันก็เพ่งดูที่ดินให้มันติดตาให้มันเป็นสมาธิไปเลย ไม่มีความหมายแห่งอนัตตา จึงไม่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อเห็นสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นของว่าง ยึดถือเอาหลักเห็นโลก มีสติเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อ คือเป็นอย่างนี้ (หมดเวลาแล้วหรอ?)
ทีนี้เมื่อเห็นทุกอย่างทุกส่วนเป็น ไม่มีตัวตน ว่างจากตัวตนเป็นหนอ ๆ แล้วก็กำหนดรวบยอดเลย สุดท้ายเลย “เป็นเช่นนั้นเองหนอ”, “เช่นนั้นเองหนอ” คล้าย ๆ กับ “ตถตาหนอ ๆ” ถ้าเรามองเห็นว่ามันเช่นนั้นเองหนอ ตามธรรมชาติเช่นนั้นเองหนอ เราก็กำหนดว่าตถตาหนอ หรือเช่นนั้นเองหนอก็ได้ หรือถ้าเราจะให้มันชัดเจนกว่านั้น ว่าเป็นการสักว่าปรุงแต่งตามเหตุตามปัจจัยของมันเท่านั้นหนอ คืออิทัปปัจจยตา เห็นความจริงชัดเจนก่อนแล้วจึงพูดคำเรียกรวบว่า “อิทัปปัจจยตาหนอ” ๆ แต่ถ้าว่าท่องแต่ปากโดยไม่รู้ว่าอะไร ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร จะว่าตถตาหนอ ต้องรู้ว่าตถตาคืออะไรเสียก่อน เห็นชัดแล้วก่อน ปากจึงว่าตถตาหนอ เห็นอาการปรุงแต่งของอิทัปปัจจยตาแล้วดีแล้ว จึงกล่าวว่า อิทัปปัจจยตาหนอ อิทัปปัจจยตาหนอ นี่ก็ได้เหมือนกัน เป็นเรื่องละเอียดสุขุม แล้วก็สูงขึ้นไป เพื่อจะเห็นอนัตตา สุญญตา ว่างจากตัวตน ผมพูดได้ครึ่งเดียวเวลาหมดแล้ว เอาล่ะ, เอาไว้พูดพรุ่งนี้บ้าง เดี๋ยวคนอัดเทปเขาจะโกรธเอา ๑ ชม. พูดได้เท่านี้ นี่เรียกว่า “ว่าง ๆ สูญ ๆ ในพุทธศาสนา” นั้น เรามีวิธีปฏิบัติให้จิตมองเห็นว่าง ๆ สูญ ๆ จากพุทธศาสนา แล้วก็จิตว่าง เป็นจิตที่ว่างจากความยึดถือ เป็นจิตสะอาด สว่าง สงบ แล้วก็อยู่กันอย่างเป็นสุขสบาย นี่ส่วนตัว เมื่อแต่ละคนมันอยู่เป็นสุขมันก็ไม่เบียดเบียนใครแล้ว เพราะมันพอใจในความสุขนี้แล้ว มันจะไปทำให้ใครรำคาญทำไม ไปเหนื่อยทำไม การที่จะจัดโลกนี้ให้มีความสงบสุข ก็คือจัดบุคคลนั้นให้มันมีความสงบสุขเสียก่อน แล้วมันก็อยู่กันอย่างสงบสุขเอง เมื่อคนไม่เห็นแก่ตน มันก็ไม่เบียดเบียนใคร สงบสุข คนจะไม่เห็นแก่ตนนั้นทางดีที่สุดที่แท้จริงที่สุดก็คือให้เห็นสุญญตานี่แหละให้มันว่างจากตัวตน ถ้าทำได้นะ ถ้าให้ประชาชนทั้งประเทศศึกษาเรื่องสุญญตา ว่างจากตัวตนสำเร็จ แล้วก็ไม่มีใครเบียดเบียนใคร เพราะไม่มีใครเห็นแก่ตน แต่มันคงจะดีเกินไปกว่าที่รัฐบาลไหนในโลกนี้มันจะจัดได้ ผมบ้าไปคนเดียว ดังนั้นวันนี้พอที เรื่องว่าง กลายเป็นพูดวันเดียวไม่จบ น่าหัว เพียง ๒-๓ คำเท่านั้น เห็นสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อเถิด คุมสติให้เห็นอย่างนั้นอยู่ทุกเมื่อเถิด ถ้าไม่มีสติมันจะไม่เห็นอยู่ทุกเมื่อ จึงว่า มีสติเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อเถิด หัวใจธรรมะในชั้นสูงสุด สุญญโต โลกํ อเวกขัสสุ โมฆะราชะ สทา สโต ดูก่อนโมกขราช จงมีสติมองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างทุกเมื่อเถิด ที่มาของความว่าง เรื่องว่าง สุญญตา ปิดประชุม กลับได้