แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมเทศนาเป็นปุพพภาคลำดับ สืบเนื่องจากธรรมเทศนาที่ได้แสดงมาแล้วในตอนเย็น และตอนต้นแห่งราตรี มีเรื่องเกี่ยวกับพระอรหันต์ เนื่องจากวันนี้เป็นวันที่สมมติว่าเป็นวันพระอรหันต์ เราได้มาประชุมกันด้วยการเสียสละเป็นเครื่องบูชาพระคุณ จะลำบากบ้าง จะเหนื่อยบ้าง เปลืองบ้าง ก็ถือว่าเป็นการบูชาคุณของพระอรหันต์ เพื่อว่า เรื่องต่างๆ ที่เป็นเรื่องของพระอรหันต์นั้นจะยังคงมีอยู่ในโลก พูดอย่างสมัยใหม่สักหน่อย ก็ว่าระบบของพระอรหันต์จะคงมีอยู่ในโลก พูดให้ชัดลงไปกว่านั้นก็คือว่า มนุษย์ที่มีความเต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ จักยังคงมีอยู่ในโลก เพราะพระอรหันต์นั้นมีความหมายที่สำคัญที่สุด ก็คือมีความเต็มเปี่ยมของความเป็นมนุษย์ จนไม่มีเนื้อที่เหลือให้ความทุกข์ตั้งอยู่ได้ ความทุกข์ไม่อาจจะตั้งอยู่ได้ในจิตใจ แห่งบุคคลที่เราเรียกว่ากันว่าพระอรหันต์ พระพุทธศาสนา มีพระอรหันต์เป็นปรากฏการณ์ ว่าไม่มีพระอรหันต์ ก็พูดได้ว่าไม่มีพระพุทธศาสนา บางทีก็พูดว่า ถ้าไม่มีนิพพานนั้นก็ไม่มีพุทธศาสนา โดยเนื้อแท้แล้วก็เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะว่าพระอรหันต์คือผู้ที่ลุถึงพระนิพพาน สิ่งที่เรียกว่านิพพาน มีอยู่ ปรากฏอยู่แก่จิตใจของพระอรหันต์ ฉะนั้นกิริยาอาการของผู้บรรลุถึงนิพพาน พอจะหาดูได้ที่อิริยาบถต่างๆ ของพระอรหันต์นั่นเอง พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมนี้ เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน เพื่อเกื้อกูลแก่ประโยชน์สุขของมหาชน ทั้งเทวดา และมนุษย์ พระองค์ทรงหวังกับถึง กับทรงขอร้องให้พุทธบริษัทกระทำหน้าที่ที่สำคัญที่สุด คือ สืบอายุพระศาสนาที่เป็นข้อปฏิบัติ เพื่อการบรรลุถึงพระอรหันต์ ท่านทั้งหลายจะต้องฟังดูให้ดีๆ อาตมากำลังพูดด้วยคำที่กำกวม เช่นว่า พระพุทธองค์ทรงหวังว่าเราจะทำอะไรที่ตรงตามพระพุทธประสงค์ การใช้คำว่าหวังนี่ มันกำกวม ความหวังจะไม่มีแก่พระอรหันต์ทั่วไป หรือแม้แต่พระพุทธเจ้า แต่เราก็ไม่รู้จะพูดว่าอะไร ถ้าไม่พูดว่าทรงหวัง เพราะดูจากคำตรัสของพระพุทธองค์แล้ว เห็นชัดว่าทรงหวัง แต่ไม่ใช่ความหวังของคนมีกิเลส ไม่ใช่ความหวังของกิเลส แต่มันเป็นความหวังของสติปัญญา หรือเมตตา เป็นต้น แล้วที่พูดว่าพระองค์ทรงขอร้องนี่ก็เป็นคำพูดที่กำกวม ทำไมพระองค์จะต้องมาทรงขอร้อง พระอรหันต์จะมาขอร้องอะไรกับใคร แต่คำพูดที่มีปรากฏอยู่ในพระบาลีนั้นมันเหมือนกับคำขอร้อง ขอร้องนี้ก็เป็นขอร้องของบุคคลผู้ไม่มีกิเลส ที่เป็นเหตุให้เห็นแก่ตน คำขอร้องนั้นเพื่อให้ช่วยกันทำประโยชน์แก่กัน และกัน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ การขอร้องนั้นจึงไม่ใช่เป็นการขอร้องของบุคคลผู้มีกิเลส เป็นอันว่าสาวกของพระองค์จะช่วยกันกระทำทุกอย่างให้พระพุทธประสงค์นั้นประสบความสำเร็จในการช่วยให้ธรรมะ หรือศาสนา หรือพรหมจรรย์ คงมีอยู่ในโลกนี้ เพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดา และมนุษย์ ดังกล่าวแล้ว ไอ้ คำว่าเทวดา และมนุษย์นี้ก็เป็นคำที่ควรจะทำความเข้าใจกันให้หมดปัญหาไปเสีย บางคนเชื่อเรื่องเทวดาในรูปแบบหนึ่ง จนมันถึงกับว่าไม่สามารถจะทำประโยชน์อะไรได้ เดี๋ยวนี้เราเอาเป็นว่ามนุษย์คือคนมีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง เทวดาเป็นคนไม่มีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง ความรอดของมนุษย์มีอยู่ ๒ ชั้น คือรอดตาย เป็นอยู่ได้อย่างผาสุข นี่ขั้นหนึ่ง อีกขั้นหนึ่งก็ดียิ่งๆ ขึ้นไป จนรอดจากการบีบคั้นของกิเลส เทวดานี่ยังมีกิเลส มันก็ยังไม่รอด ทั้งมนุษย์ และทั้งเทวดายังอยู่ในวิสัยที่ต้องการความช่วยเหลือเสมอกัน ดังนั้นพระองค์จึงได้ตรัสถ้อยคำรวมกันว่าจงทำประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชนทั้งเทวดา และมนุษย์ นั่นก็คือมนุษย์นี่แหละ ถ้าใครยังมีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้องก็เรียกว่าเป็นมนุษย์ ในความหมายธรรมดาสามัญ ถ้าใครไม่มีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้องอยู่ได้อย่างสบายดี สนุกสนานด้วยก็เรียกว่าเป็นเทวดา ทั้ง ๒ พวกยังต้องการธรรมะในอันดับสูง เพื่อจะชนะกิเลส และนี่แหละจะเป็นหลักสำคัญที่ควรพิจารณาในการที่เราจะช่วยกันสืบอายุพระศาสนา มีปัญหาลดลงมาจนถึงกระทั่งว่าจะสอนเด็กๆ ในโรงเรียนให้รู้ธรรมะ แล้วก็ยังทำไม่ได้ ที่ทำไม่ได้นี้ส่วนใหญ่จะมาจากการที่ผู้สอนก็ไม่รู้ธรรมะ ไม่รู้ศาสนาโดยแท้จริง ไปจำๆ เอามาไม่ได้เข้าถึงธรรมะ หรือศาสนาด้วยใจจริงของตนเอง การสอนจึงเป็นไปไม่ได้ ยิ่งเดี๋ยวนี้ที่เราว่าจะสอนพุทธศาสนา หรือธรรมะในโรงเรียน จะเอาครูมาแต่ไหน ผู้ที่รู้ธรรมะจริงด้วยใจจริงนั้นดูหายาก ยากแม้แต่จะหามาทำยาหยอดตาสักนิดหนึ่งก็ยังจะทำไม่ได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องพยายามกันต่อไป จนให้สำเร็จประโยชน์ตามความมุ่งหมาย ก็คือให้ช่วยกันศึกษา และปฏิบัติเข้าถึงคุณของพระอรหันต์ ปรากฏอยู่ในใจโดยแท้จริง แล้วก็จะได้ไปสอน ถึงการที่จะทำให้ธรรมะเป็นที่พึ่งแก่คนทั่วๆ ไปนี้ มันจึงต้องตั้งต้นมาจากการปฏิบัติของแต่ละคน จนให้บรรลุธรรมะนั้นแล้ว จะได้เป็นครูสอน หรือที่เรียกว่าเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างมีหวัง วันนี้เราก็ได้เสียสละ พูดกันถึงเรื่องนี้ วันนี้พูดกันถึงเรื่องนี้ทั้งวันทั้งคืน ทั้งกลางวันและกลางคืน ว่าทำอย่างไร เรื่องอันลึกซึ้งเกี่ยวกับพระอรหันต์นั้นจะเปิดเผยแจ่มแจ้งขึ้นมา จนมีความรู้ความเข้าใจโดยแท้จริง แล้วก็นำไปสอนกันได้ ข้อนี้อยากจะพูดนอกเรื่องไปสักหน่อยว่า การที่เสียสละ อดทน ไม่นอนคืนนี้ มันก็จะต้องรับผิดชอบว่า ได้ผลคุ้มกัน ถ้าอดนอนกันคืนหนึ่งแล้วไม่ได้อะไร มันก็เป็นเรื่องที่ยมบาลเอาตาย ยมบาลเล่นงาน เอาตาย เหมือนที่กล่าวมาแล้วว่าท่านทั้งหลายมาจากที่ไกลมาที่นี่ ประชุมกันที่นี่ แล้วไม่ได้รับประโยชน์อะไร เป็นความบกพร่องของอาตมา ยมบาลก็เล่นงานอาตมา เอาตาย แต่ถ้าท่านทั้งหลายไม่ฟังให้ดี แม้อาตมาจะทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว ก็ยังไม่ได้รับประโยชน์อันใด นี่ยมบาลจะเล่นงานใครก็ไปคิดเอาเอง เดี๋ยวนี้เราก็ยอมอดนอนหนึ่งคืน ถ้าประโยชน์มันไม่ได้อย่างคุ้มกัน คนทั้งหลายเขาก็จะหัวเราะเยาะ บางทีผีสางเทวดาถ้ามีจริง มันก็หัวเราะเยาะ ว่าคนโง่ฝูงนี้มาอดนอนกันทั้งคืน แล้วก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรคุ้มกัน อย่างนี้ใครจะรับผิดชอบ อาตมาจะต้องรับผิดชอบ หรือว่าผู้ฟังทั้งหลายจะต้องรับผิดชอบ หรือว่าผู้ที่อภิปรายถ่ายทอดธรรมะกันแต่ละคนๆ เหล่านั้นจะต้องรับผิดชอบ เอาเป็นว่ามันต้องรับผิดชอบร่วมกัน เพราะมันเนื่องกัน อาตมาเป็นต้นเหตุให้ท่านทั้งหลายอดนอนกันหนึ่งคืน ถือเป็นเหตุให้ต้องอภิปรายกัน ถือเป็นเหตุให้ต้องเสียสละเวลา เรี่ยวแรง เหน็ดเหนื่อยมาจากที่ไกล เป็นต้น นี่ต้องคิดดูว่า ถ้ามันไม่ได้ประโยชน์คุ้มกัน มันก็ถูกเหมาว่าเป็นมนุษย์โง่ ใช้เวลาไม่เป็นประโยชน์ ใช้เรี่ยวแรงไม่เป็นประโยชน์ เราจะต้องนึกถึงข้อนี้ แล้วจะต้องช่วยกันรับผิดชอบให้มากๆ วันมาฆบูชาก็ดี วิสาขบูชาก็ดี อาสาฬหบูชาก็ดี ที่เราจัดให้มีการพบปะปรึกษาหารือ ชี้แจง ศึกษาให้รู้เพื่อนำไปปฏิบัติ อย่างที่เคยทำมาทุกโอกาสนี่มันก็มากมายพอสมควรแล้ว คือหลายปีแล้ว มันควรจะเห็นผลของการกระทำนี้บ้าง แล้วก็จะได้ชื่อว่า ไม่มีข้อที่ควรตำหนิ คือไม่มีช่องให้ยมบาลเขาเล่นงานเรา นี่เป็นเรื่องที่ขอปรารภ ขอให้ช่วยกันระมัดระวัง เพราะว่าเราเป็นพุทธบริษัท เรากำลังทำหน้าที่ของพุทธบริษัท ซึ่งมีหลักเกณฑ์อันแน่นอนว่า พุทธศาสนาจะยังอยู่ หรือจะสูญสิ้นไปก็เพราะพุทธบริษัทนั่นเอง หาใช่บริษัทของศาสนาอื่น ลัทธิอื่นมาช่วยทำให้ไม่ เรามันไม่เป็นพุทธบริษัทเอง เราก็สืบอายุของพุทธศาสนาของเราเองไว้ไม่ได้ บางทีจะทำลายให้สูญหายไปเสียอีก เพราะว่าเราสอนกันผิดๆ นี่แหละเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ และจะต้องได้รับการชำระสะสางให้ดี เราจะต้องมีการศึกษาให้พอ มีการปฏิบัติให้พอ รับผลของการปฏิบัติ ปรากฏชัดอยู่ในจิตใจ แล้วก็เผยแผ่ไปด้วยความรู้สึกอันนั้น เรียกว่าเผยแผ่ธรรมะออกไปจากจิตใจ ไม่ใช่จากหนังสือ หรือคัมภีร์ซึ่งเป็นแต่แนวทางสำหรับการปฏิบัติเท่านั้น ปฏิบัติแล้วได้ผลแล้ว ก็เผยแผ่ธรรมะนั้นออกไปจากจิตใจ ที่รู้แล้ว ที่ปฏิบัติแล้วกำลังได้รับผลอยู่ ครั้นว่าท่านทั้งหลายคงจะมีหลักการอย่างนี้
ทีนี้ก็เรื่องเผยแผ่ ซึ่งได้ยินวิพากษ์วิจารณ์ปรารภถกเถียงกันมาก นี่ก็เป็นการดี มีหวังอยู่อย่างหนึ่งว่าเราคงไม่ขาดแคลนผู้เผยแผ่ธรรมะ ฟังจากการบรรยายสัมมนาทั้งหลายแล้ว ทำให้รู้สึกว่าเราจะไม่ขาดแคลนผู้ที่รับอาสาหน้าที่ในการเผยแผ่ธรรมะเป็นแน่นอน เป็นห่วงอยู่แต่เพียงว่าจะมีความรู้ที่ถูกต้อง และเพียงพอสำหรับการเผยแผ่หรือไม่เท่านั้น คุณสมบัติของการเผยแผ่ดูเหมือนว่าเราจะมีพร้อม แต่ว่าธรรมะที่ถูกต้อง และสมบูรณ์ในจิตใจแห่งของบุคคลผู้เผยแผ่นั้น ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ เรายังมีผู้เผยแผ่ปากเข็มก็ได้ ปากตะไกรก็ได้ เราจะมีผู้เผยแผ่ปากหุ้มนวมก็ได้ ฟังดูจะมีแต่ได้กันทุกๆ แบบแหละ ฉะนั้นเรื่องจะขาดแคลนผู้เผยแผ่นี่ไม่ค่อยป็นห่วง แต่เป็นห่วงอยู่ที่ว่าจะรู้จริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง น่าจะเผยแผ่ออกมาจากจิตใจจริงนี้ได้ หรือไม่เท่านั้น นี่ขอให้เอาไปนึกคิดพิจารณากัน โอกาสหน้ามันยังมี ถ้าไม่ตายเสียเร็วเกินไป จะต้องมาปรึกษาหารือเรื่องนี้กันอีกใน โอกาสแห่งวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา แล้วก็วนไปมาฆบูชาในปีถัดไป วิสาขบูชา อาสาฬหบูชาในปีถัดๆ ไปอีก มองดูในข้อนี้ มีๆ หวังอยู่มากว่าเราคงจะทำกันได้ แต่มันจะประสบความสำเร็จสมบูรณ์หรือไม่นี่ มันยังคงสงสัยอยู่ จึงขอร้องว่าอย่าได้ประมาทเลย จงได้พยายามให้สุดความสามารถของตนๆ ที่จะรู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ ได้รับผลของธรรมะแล้วก็เผยแผ่ นี่ขอให้ทบทวนเรื่องที่ได้พูดมาแล้วในตอนกลางวัน ตอนเย็นนั้นว่าเราจะระลึกนึกถึงพระอรหันต์ เราจะเอาพระอรหันต์เป็นตัวอย่าง แล้วเราก็จะเดินตามพระอรหันต์ ในวันที่เป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ เราก็พูดอย่างนี้ ยกเอาพระอรหันต์ขึ้นมาเป็นเบื้องหน้า สำหรับการพิจารณา ถ้าเป็นวันพระพุทธเจ้า เช่นวันวิสาขบูชา เราก็ยกเอาพระพุทธเจ้ามาเป็นเบื้องหน้าสำหรับการพิจารณา ถ้าเป็นวันของพระธรรม เช่นวันอาสาฬหบูชา เราก็เอาพระธรรมนั่นเองมาเป็นเบื้องหน้า มาเป็นเป้าหมายสำหรับที่จะพินิจพิจารณา แต่เนื่องจากวันนี้เป็นวันพระอรหันต์ อาตมาจึงแสดงไปโดยหัวข้อที่พาดพิงถึงพระอรหันต์โดยเฉพาะ ว่าเราจะระลึกนึกถึงพระอรหันต์ ว่าเราจะถือเอาพระอรหันต์เป็นตัวอย่าง และว่าเราจะเดินตามพระอรหันต์ และในตอนต้นแห่งราตรีนี้ ก็ได้พูดถึงเรื่องจิต ชนิดที่ทำให้รู้จักพระอรหันต์ คือจิตประภัสสร อันเป็นในเรื่องละเอียด หรือจะเรียกว่าเป็นเรื่องเร้นลับก็ได้ ว่าจิตนี้ตามธรรมชาติแท้ๆ มันไม่ได้มีกิเลสติดมา มันเป็นจิตที่เกลี้ยง ที่ว่างจากกิเลส ก่อนแต่ที่จะเกิดกิเลส มีลักษณะประภัสสร คือเรืองแสง ใช้คำว่าประภัสสร แปลว่าเรืองแสง ไม่ได้ใช้คำว่าบริสุทธิ์ ก็เห็นง่ายๆ ว่าถ้าไม่มีกิเลสแล้วจิตมันสว่างไสว มันเรืองแสง แต่ถ้ากิเลสเกิดขึ้น ความเป็นประภัสสรก็สูญไป จนกว่ากิเลสจะดับไปตามธรรมชาติของมัน แล้วก็กลับเรืองแสงขึ้นมาอีก คำว่าประภัสสรนี่แปลยาก แต่เห็นว่าแปลว่าเรืองแสงนี้ ดูจะถูกต้อง มันไม่ได้แปลว่าบริสุทธิ์ แล้วก็มีลักษณะของความบริสุทธิ์ เพราะมันเรืองแสงได้ก็ต่อเมื่อไม่มีกิเลส ในบาลีมีข้อความที่จะอธิบายให้ทราบความหมายของคำว่าประภัสสร ข้อความในตอนนั้นมีอยู่ว่า เอาเหล็กมาเผาไฟ เหล็กก็เปลี่ยนสีจากสีดำเป็นสีแดง เราเผาไฟหนักเข้าไปอีก เหล็กนั้นก็จะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีเหลือง เผาไฟ สุมไฟหนักขึ้นไปอีก จิตนั้นก็จะเปลี่ยนจาก ไอ้, เหล็กนั้นก็จะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีขาว จนเป็นสีขาวแล้วก็แสงอาทิตย์ นั้นน่ะ เรียกว่าเหล็กชิ้นนั้นมีสีประภัสสร จะพูดว่าสีขาวก็ไม่ถูก สีไหนก็ไม่ถูก มันเป็นสีอะไรก็ไม่รู้ แต่เรียกว่ามันเรืองแสง มันเป็นประภัสสร ใครอยากรู้ก็ลองทำดู เอาเหล็กมาเผา จนเป็นสีแดง เผาจากสีแดงเป็นสีเหลือง เผาจากสีเหลืองจนเป็นสีประภัสสร คือขาวโชติช่วง จิตนี้มีธรรมชาติประภัสสร เมื่อไม่มีกิเลส ก็เรืองแสงอย่างกับเพชรน้ำเอก มันมีรัศมีเรืองแสง จิตนี้ก็มีประภัสสรเรืองแสงเมื่อไม่มีกิเลส อย่างนี้ไม่บริสุทธิ์ ยังไม่เรียกว่าบริสุทธิ์ ยังเรียกว่าประภัสสร ยังไม่ใช่จิตของพระอรหันต์ แต่มันมีอาการเหมือนกันตรงที่ว่ากำลังไม่มีกิเลส ยังไม่มีกิเลส เพราะกิเลสไม่เกิดตามธรรมชาติ นี่จะเรียกว่าประภัสสร แล้วมันกลับไม่ประภัสสร กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ ไม่เป็นที่พอใจ จึงเห็นวิธีที่ว่าจะทำให้มันประภัสสรเด็ดขาด คือว่ากลับเศร้าหมองไม่ได้ บุคคลที่มองเห็นธรรมชาติของจิตอย่างนี้แล้ว ก็มีความแน่ใจในจิตตภาวนา จิตตภาวนาแปลว่าทำจิตให้เจริญ คำว่าภาวนานี่แปลว่าทำให้เจริญ จิตตภาวนาคือวิธีการอันหนึ่งที่จะทำจิตให้เจริญ เจริญไปถึงไหน เจริญไปถึงขนาดที่ว่าทำอย่างไร จิตนี้ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการเกิดของกิเลสอีกต่อไป การที่ประพฤติพรหมจรรย์ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นแหละเป็นจิตตภาวนา ทำให้จิตนี้ถึงสภาพประภัสสรชนิดถาวร ไม่กลับเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอีกต่อไป กิเลสก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นแก่จิตนั้น ความเป็นประภัสสรของจิตนั้นก็เป็นการถาวร ประภัสสรชนิดนี้เป็นจิตของพระอรหันต์ ประภัสสรที่ยังกลับเศร้าหมองได้นั่นน่ะเป็นจิตของคนทั่วไป เมื่ออบรมกระทำจนจิตกลับเศร้าหมองอีกไม่ได้ หรือว่าจิตนั้นไม่เป็นที่ตั้งแห่งการเกิดของกิเลสอีกต่อไป ก็เป็นประภัสสรถาวร นี่คือจิตของพระอรหันต์ ที่เรากำลังพูดกันเรื่องพระอรหันต์ เกี่ยวกับพระอรหันต์ ว่าจะนึกถึงพระอรหันต์ จะถือเอาพระอรหันต์เป็นตัวอย่าง แล้วก็จะปฏิบัติตามพระอรหันต์ มันก็คือการอบรมจิต การที่เดินตามพระอรหันต์นั้นเดินตามไปได้ด้วยการอบรมจิต ให้ไม่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลส ไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นได้ยิ่งๆ ขึ้นไป ทำให้รู้สิ่งที่ควรรู้ พระพุทธองค์ได้ตรัส ว่าโยคะที่ควรกระทำ มีอยู่คือ โยคะที่ควรกระทำให้รู้ว่าความทุกข์เป็นอย่างนี้ โยคะที่ควรกระทำให้รู้ว่าเหตุให้เกิดทุก์เป็นอย่างนี้ โยคะที่ควรกระทำเพื่อให้รู้ว่าความดับสนิทแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้ โยคะที่ควรกระทำเพื่อให้รู้ว่าหนทางแห่งการดับ หนทางให้ถึงการดับแห่งความทุกข์เป็นอย่างนี้ นี่เรียกว่าโยคะ แปลว่าการประกอบ หรือการกระทำ เพื่อให้เกิดผลอันใดอันหนึ่งขึ้นมา โยคะที่พุทธบริษัทควรกระทำก็คือ โยคะ ๔ ประการนี้ คือโยคะที่ทำให้รู้ว่าทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางให้ถึงความดับทุกข์นั้นเป็นอย่างไร ถ้ามันรู้ขนาดนี้แล้วจิตมันเปลี่ยนไป อยู่ในลักษณะที่กิเลสจะเกิดขึ้นกับจิตนั้นอีกไม่ได้ เราจึงควรสนใจให้รู้ แล้วปฏิบัติให้ได้ ในการที่จะทำจิตตภาวนา คือการทำจิตให้เจริญ จนไม่เป็นที่เกิดแห่งกิเลสได้อีกต่อไป นี่เรื่องแนวทาง หรือว่าหลักการก็ได้ หลักการที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ แต่รู้ว่าการทำจิตที่ประภัสสรตามธรรมชาตินั้น ให้มาเป็นประภัสสรชนิดที่อยู่ในอำนาจของเรา คือทำกิเลสไม่ให้เกิดได้ หรือทำจิตไม่ให้เกิดกิเลสได้ แล้วแต่จะชอบใช้คำไหน ฝึกฝนจิตจนกิเลสเกิดไม่ได้ ไม่เป็นที่เกิด ที่ตั้งแห่งกิเลสอีกต่อไป อย่างนี้ก็ดูจะชัดดี เรามีระบบสำหรับปฏิบัติเพื่อให้จิตปราศจากกิเลส เพราะว่ากิเลสเกิดแก่จิตไม่ได้อีกต่อไป ให้จิตถึงสภาพที่เป็นวิสังขาร สภาพที่เป็นวิสังขารนั้นถึงกันแล้ว จิตก็ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้อีกต่อไป ฉะนั้นจึงเป็นจิตล้วนๆ จิตประภัสสรตามเดิมล้วนๆ แล้วก็ปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป กิเลสก็เกิดขึ้นไม่ได้อีก นี่เรื่องมันมีเท่านี้ ทีนี้ก็มีปัญหาว่าเราจะทำกันอย่างไร จะเผยแผ่ระบบนี้ให้เป็นที่เข้าใจทั่วๆ ไปแก่ประชาชน หรือแก่ยุวชน หรือแก่ลูกเด็กๆ ที่เรามาพูดกันว่าจะสอนธรรมะแก่เด็กนักเรียน คิดดูเถอะว่าครูบาอาจารย์หน้าไหน คำมันจะหยาบไปหรือเปล่า ครูบาอาจารย์หน้าไหน ที่มันจะสอนเด็กๆ ให้รู้จักการทำจิตให้เป็นจิตประภัสสรโดยถาวร หรือจะพูดว่ากระทรวงศึกษาธิการหน้าไหนจะสามารถ จัดการศึกษาให้เด็กๆ นี่รู้จักการทำจิตให้เป็นจิตประภัสสรเป็นการถาวร ประเทศที่ถือพุทธศาสนามีอยู่หลายประเทศ หรือหลายสิบประเทศก็ได้ เราอยากจะถามว่ากระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงธรรมการ หรือกระทรวงการศาสนา หน้าไหนที่มันจะสอนเด็กให้รู้จักการทำจิต ให้เป็นประภัสสรเป็นการถาวร ถ้า ถ้าอนุญาตให้พูดคำหยาบมากกว่านี้ไปอีก ก็จะถามว่าคณะสงฆ์ไหน คณะสงฆ์หน้าไหนแห่งประเทศไหนที่ไหน ที่จะช่วยดลบันดาล ให้เกิดการปฏิบัติชนิดที่ทำจิตของคน กระทั่งยุวชนให้เป็นจิตประภัสสรเป็นการถาวร นี่พูดไปแล้วมันก็เป็นการด่าตัวเองอยู่ในตัว เพราะว่าเราก็เป็นชนกลุ่มหนึ่งคณะหนึ่ง ซึ่งต้องรับผิดชอบในความดำรงอยู่แห่งพระศาสนา เราก็หลีกไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ชนิดที่หลีกไม่ได้ เพราะว่าเราเป็นสาวกที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า เราจะหลีกได้ถ้าเราเป็นสาวกคดโกง เราก็หลีกได้ เราก็เล่นตลก เราก็หลอกลวงพระพุทธเจ้า ไม่ทำหน้าที่ของตนตามที่ควรจะทำ นี่ถ้าเราไม่เป็นสาวกที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า มันก็มีทางออก มันก็ปฏิเสธเสีย มันก็หลีกเลี่ยงเสีย ไม่ช่วยกันกระทำหน้าที่ ที่มีอยู่ สำหรับสาวกของพระพุทธเจ้า นี่แหละวันนี้เราก็มาพูดจากัน ถึงเรื่องราวอันเกี่ยวกับสาวกของพระพุทธเจ้า นับตั้งแต่พระอรหันต์ลงมาจนถึงปุถุชนธรรมดา พูดกันถึงหน้าที่ที่จะต้องทำ พูดกันถึงหน้าที่ที่ได้กระทำค้างคาอยู่ ติดตัน ก้าวหน้าไปไม่ได้ ถ้าเราทำด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์อย่างนี้ เป็นอันรับประกันได้ว่าเราไม่ได้ทำผิด เราไม่ได้ใช้เวลาให้เป็นหมัน เสียเปล่าไม่เป็นประโยชน์ เราใช้เวลาให้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ปรึกษาหารือกัน ว่าทำอย่างไรธรรมะที่เป็นเครื่องดับทุกข์นี้ จะแพร่หลายไปในหมู่สัตว์ ตามพระพุทธประสงค์ ตรงนี้ก็ต้องขอย้ำอีกทีหนึ่งว่า พระพุทธประสงค์มันมีอยู่ว่า ให้สาวกช่วยกันเผยแผ่ธรรมะ จนสัตว์ทั้งหลายสามารถที่จะบอกกล่าวแก่กัน และกันได้ ในการดับทุกข์ ทรงหวังว่าสาวกทั้งหลายจะช่วยกันเผยแผ่ธรรมะให้เป็นที่รู้ ที่เข้าใจ แก่ประชาชนทั้งหลาย จนประชาชนเหล่านั้นสามารถบอกกล่าวแก่กัน และกันในเรื่องธรรมะนั้น ทรงหวังอย่างนี้ ทรงประกาศว่าตถาคตเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดา และมนุษย์ ธรรมวินัยเกิดขึ้นในโลกนี้ เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดา และมนุษย์ เธอทั้งหลายจงช่วยกันสืบอายุของพระธรรมวินัยให้ยังคงมีอยู่ในโลกนี้ เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดา และมนุษย์ ลองคิดดู มันแสดงอยู่อย่างเต็มที่ ไม่มีช่องโหว่ ที่เราจะต้องยอมรับว่า การทำให้พระธรรมวินัย แผ่หลายทั่วไปในหมู่สัตว์ ทั้งเทวดาและมนุษย์นั่นเป็นพระพุทธประสงค์ เมื่อเป็นพระพุทธประสงค์มันก็เป็นหน้าที่ของเรา เพราะว่าเราเป็นสาวกของพระองค์ ถ้าประกาศตนเป็นผู้รับใช้ คือเป็นทาสของพระพุทธเจ้าบ้าง เป็นทาสของพระธรรมบ้าง เป็นทาสของพระสงฆ์บ้าง ในบททำวัตรเย็นก็มีอยู่อย่างนี้ ความเป็นทาสคือเป็นผู้รับใช้นี่ ต้องทำงาน หรือทำการงานให้ตรงตามความประสงค์ของนายเสมอ เราจึงไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำอะไรให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ นี่ก็หมายความว่า เดี๋ยวนี้ก็มีหน้าที่ ที่จะเผยแผ่ธรรมะให้แก่สัตว์ทั้งหลาย จนสัตว์ทั้งหลายสามารถนำไปใช้ ใช้คือว่าศึกษาเล่าเรียนประพฤติปฏิบัติ ได้รับผลของการปฏิบัติ ถ้าถึงที่สุดก็คือเป็นพระอรหันต์นั่นเอง ถ้ายังไม่ถึงที่สุดก็เป็นผู้ที่กำลังเดินตามรอยของพระอรหันต์อยู่ ดังนั้นจึงไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยง หรือปฏิเสธความเป็นพระอรหันต์ หรือองค์พระอรหันต์ ถ้าไม่มีพระอรหันต์ก็คือไม่มีพุทธศาสนา หรือถ้าไม่มีนิพพานซึ่งเป็นใจความสำคัญของความเป็นพระอรหันต์ มันก็ไม่มีพุทธศาสนา ถ้ายังมีพุทธศาสนาตัวจริง แท้จริง มันก็ยังจะต้องมีพระอรหันต์ หรือพระนิพพาน ซึ่งเป็นคุณค่าอันสูงสุด ที่พระอรหันต์ได้ลุถึง หรือทำคนให้เป็นพระอรหันต์นั่นเอง เราก็ปฏิเสธไม่ได้ในการที่จะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพระอรหันต์ หรือเรื่องของพระนิพพาน นี่เราก็ระลึกนึกถึงพระอรหันต์ มีพระอรหันต์เป็นตัวอย่าง แล้วก็เดินตามรอยของพระอรหันต์ โดยการทำจิตที่ไม่ประภัสสรถาวรนี้ให้กลายเป็นจิตประภัสสรถาวร นี่เรื่องที่กล่าวมาแล้วมันมาจบลงที่ตรงนี้ มันมาค้างอยู่ที่ตรงนี้ ที่นี้ก็จะได้พูดต่อไปถึงเรื่องการทำจิตให้เป็นประภัสสรชนิดถาวร จะได้เป็นทารกที่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุต นั่นแหละปัญญาวิมุต คำที่สรุปความของเรื่องนี้ก็คือคำที่ว่าจิตตภาวนา ทำจิตให้เจริญ การปฏิบัติใดๆ ที่ทำให้จิตเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป นี่เรียกว่าจิตตภาวนา มันเจริญจากไหนไปถึงไหน ก็เจริญจากจิตประภัสสรที่ไม่ถาวร ให้กลายเป็นจิตประภัสสรชนิดที่ถาวร นี่ถ้าพูดโดยหลักนี้มันก็เป็นอย่างนี้ หรือพูดธรรมดาที่สุด มันก็จะพูดว่า ทำจิตที่ยังตกอยู่ในอำนาจของความทุกข์นั่น ให้กลายเป็นจิตที่ไม่ตกอยู่ในอำนาจของความทุกข์อีกต่อไป ท่านทั้งหลายคิดดูให้ดีๆ ว่าไอ้สิ่งที่จะต้องทำมันมีอยู่อย่างนี้เท่านั้น มันไม่มีอย่างอื่น ที่ว่าจะเอาตัวรอด หรือบรรลุนิพพาน หรืออะไรก็ตามใจ มันพูดได้หลายอย่าง แต่ใจความสำคัญของเรื่องก็คือการทำจิตชนิดที่มีความทุกข์ให้ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป ถึงที่สุดแห่งความทุกข์แล้วเรื่องมันก็จบกัน นั่นแหละตรงตามคำที่เขาพระองค์ตรัสว่า โยคะอันเธอท่านทั้งหลายพึงกระทำ เพื่อให้รู้ความทุกข์ เพื่อให้รู้เหตุให้เกิดทุกข์ เพื่อให้รู้ความดับสนิทแห่งความทุกข์ เพื่อให้รู้หนทางให้ถึงความดับสนิทแห่งความทุกข์ มันแปลว่าในการที่จะรู้เรื่องจิต ที่เกี่ยวกับความทุกข์นั้น มันแยกออกเป็น ๔ ปริยาย คือรู้เรื่องทุกข์ มันก็ต้องรู้เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ด้วย รู้สิ่งที่ตรงกันข้าม คือความไม่มีทุกข์ ก็ต้องรู้หนทางที่ให้ถึงความไม่มีทุกข์นั้นด้วย กลายเป็น ๔ เรื่องที่เรียกว่าอริยสัจจ์ ๔ ถ้าพูดให้สั้นเข้ามามันก็คือ เรื่องความทุกข์ กับความดับทุกข์ ๒ เรื่อง ให้สั้นเข้ามาอีกก็เหลือเรื่องเดียวคือ ความดับทุกข์ การทำให้ความทุกข์หมดไป ถึงที่สุดแห่งความทุกข์มีเรื่องเดียวเท่านี้ นั่นแหละเป็นเรื่องที่เป็นหัวใจของการเดินตามรอยพระอรหันต์
ทีนี้อาตมาได้กล่าวมาตอนหนึ่งแล้วว่า ให้ศึกษาจากของจริงที่มีอยู่ในภายในตน หรือในชีวิตนี้ นับตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ขึ้นมาทีเดียว ทารกตั้งต้นขึ้นในครรภ์ ทารกเจริญอยู่ในครรภ์ ทารกเจริญเต็มที่อยู่ในครรภ์ และทารกคลอดออกมาจากครรภ์ใหม่ๆ และทารกก็เติบโตขึ้นไปตามลำดับ ทีนี้เรื่องของความทุกข์นั้นมันอยู่ที่ไหน มันก่อเกิดขึ้นมาอย่างไร ใจความสำคัญมันก็มีอยู่ว่า เมื่อทารกนั้นมันไม่มีอายตนะที่จะรับอารมณ์ มันก็ไม่ต้องเกิดปัญหาอะไร เพราะว่าอายตนะของมันมีแต่ สักว่าเป็นธาตุตามธรรมชาติ เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา แต่ยังทำหน้าที่ไม่ได้ ไอ้สิ่งที่ทำหน้าที่ไม่ได้นั้น หลักธรรมะเขาถือว่ายังไม่เกิด ทารกเจริญเต็มที่อยู่ในครรภ์ถ้าผ่าท้องออกดู จะเห็นว่าทารกนั้นมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่มันไม่ทำหน้าที่ ไม่อาจจะทำหน้าที่ ตาก็ยังไม่อาจทำหน้าที่ของตา หูก็ยังไม่อาจทำหน้าที่ของหู อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้ภาษาธรรมะก็พูดว่า ตายังไม่เกิด หูยังไม่เกิด จมูกยังไม่เกิด ลิ้นยังไม่เกิด กายยังไม่เกิด ใจจิต ใจก็ยังไม่เกิด ทารกนั้นจะต้องเติบโตขึ้นมา จนกว่ามันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ทำหน้าที่ได้ และเมื่อใดมันทำหน้าที่ก็เรียกว่ามันเกิด พอมันเสร็จการทำหน้าที่แล้วมันก็ดับ เพราะฉะนั้นในภาษาธรรมะจึงมีคำพูดที่แปลกๆ ว่า ตาเกิดตาดับ หูเกิดหูดับ จมูกเกิดจมูกดับ ลิ้นเกิดลิ้นดับ กายเกิดกายดับ ใจเกิดใจดับ แก่ทุกคนน่ะ นับตั้งแต่ทารกที่สามารถที่จะมีอายตนะอันทำหน้าที่ได้ จนกระทั่งถึงบุคคลที่โตแล้ว แก่เฒ่าแล้วอย่างนี้ มันก็ยังมีการเกิดดับแห่ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะคำว่าเกิดในที่นี้หมายถึงทำหน้าที่ เมื่อทำหน้าที่จึงเรียกว่ามันเกิด พอมันหยุดทำหน้าที่ก็เรียกว่า มันดับ ฉะนั้นขอให้ศึกษาดูให้ดี ให้เห็นชัดอย่างนี้ ว่าเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เกิดดับๆ อยู่ตามกรณีของมัน นี่เรียกว่าอายตนะมันเกิด อายตนะมันดับ ครั้นอายตนะเกิดมันก็ทำหน้าที่ของอายตนะ มันเกิดวิญญาณขันธ์ มันเกิดเวทนาขันธ์ มันเกิดสังขารขันธ์ ก็เลยมีปัญหา คือเกิดสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ บางเวลาจิตของเราไปสนใจอยู่กับเรื่องของร่างกายคือรูปขันธ์ เวลานั้นเราก็มีรูปูปาทานขันธ์ ไปยึดมั่นในรูปก็มีความทุกข์เพราะรูป บางเวลาจิตเราไปสนใจอยู่กับเรื่องเวทนา ไปขลุกอยู่กับเรื่องของเวทนา มันยึดมั่นในเวทนานั้น ก็เรียกว่าเวลานั้น มีเวทนูปาทานขันธ์ ก็เป็นทุกข์อยู่ ด้วยขันธ์ คือเวทนาที่มีความยึดถือ สังเกตดูในดีนะ ถ้าไม่มีความยึดถือ ไม่เป็นทุกข์ ทางไหนก็ตามเถอะ ถ้าไม่มีความยึดถือไม่เป็นทุกข์ บางเวลาจิตมันไปสนใจไปขลุกอยู่กับสัญญาขันธ์ สำคัญมั่นหมาย อย่างนั้นสำคัญมั่นหมายอย่างนี้ จนเกิดยึดถือสัญญานั้น ว่าเป็นตัวเองบ้าง ว่าเป็นของตัวเองบ้าง เวลานี้ก็ยึดมั่นในสัญญาขันธ์ ก็เรียกว่าสัญญูปาทานขันธ์ บางทีก็ไปยึดมั่นในสังขารขันธ์ มีความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง และเกิดความรู้สึกว่าเราคิดก็ดี มีความรู้สึกว่าความคิดของเราก็ดี อย่างนี้เรียกว่าจิตมันไปยึดมั่นในสังขารขันธ์ สังขารนั้นก็เรียกว่าสัญขารูปาทานขันธ์ แต่ถ้ามันยึดความรู้สึกที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือยึดถือที่วิญญาณ นั่นก็เรียกว่าวิญญูปาทานขันธ์ มันจะยึดถือพร้อมกันทีเดียวทั้ง ๕ อย่างไม่ได้ มันแล้วแต่ว่าในกรณีนั้นมันมีความสำคัญอยู่ที่ขันธ์ไหน และจิตไปยึดมั่นอยู่ที่ขันธ์นั้น ก็เรียกว่าไปยึดถือแล้ว ยึดถือขันธ์ไหนความทุกข์ก็เกิดจากขันธ์นั้น นี่ก็คือปัญหาที่มีอยู่จริง สำหรับเราที่จะต้องแก้ปัญหานี้ ให้ศึกษาจนรู้ว่าขันธ์ทั้งหลายเป็นอย่างนั้นเอง ยึดถือไม่ได้ ยึดถือมันก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันที ไม่ยึดถือก็ไม่มีความทุกข์เลย ไอ้ขันธ์ที่ไม่ได้ยึดถือนั่นเราเรียกชื่อว่า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ แต่ถ้ามันเป็นขันธ์ที่ยึดถือแล้ว เราเรียกชื่อว่า รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาญูปาทานขันธ์ ชื่อมันแปลกกันมาก สังเกตุดูให้ดี ถ้าไม่ได้ยึดถือมีชื่อสั้นๆ ว่า รูปขันธ์ ถ้าไปเกิดยึดถือมันเข้า ไอ้รูปขันธ์นั้นเปลี่ยนชื่อเป็น รูปูปาทานขันธ์ ก็เลยเป็นทุกข์เพราะความยึดถือ เมื่อยึดถือมันก็เกิดความหนัก หนักเหมือนกับทางวัตถุ ทางวัตถุ ทางร่างกาย ถ้ามือของเราไปหิ้วอะไรเข้า ไปยึดถืออะไรเข้ามาหิ้วอยู่มือมันก็หนัก ทางจิตก็เหมือนกัน เมื่อจิตมันไปยึดถืออะไรเข้าจิตมันก็หนัก หนักนั่นแหละคือเป็นทุกข์ จึงต้องศึกษาให้รู้ว่า มันยึดถือไม่ได้ มันมีปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ยึดถือ คำตอบก็มีว่า ศึกษาให้รู้จนรู้ว่ามันยึดถือไม่ได้ ไปยึดถือเข้าแล้วมันจะกัดเอา คือเป็นทุกข์ ดีหรือชั่วก็ตาม ไปยึดถือเข้าแล้วมันจะกัดเอาคือเป็นทุกข์ เราจะต้องอยู่เหนือความยึดถือโดยประการทั้งปวง ไม่ยึดถือบุญ ไม่ยึดถือบาป ไม่ยึดถือกุศล ไม่ยึดถืออกุศล นี่แหละเรียกว่าไม่ยึดถือทั้งชั่วและดี เพราะว่าไปยึดถือเข้าแล้วทั้งชั่วและดี มันจะกัดเอา จึงใช้คำพูดที่รุนแรงที่สุดว่า ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ อัปรีย์ในภาษาบาลีนั้นแปลว่าไม่น่ารัก อะแปลว่าไม่ ปรียะ แปลว่าน่ารัก อัปรีย์แปลว่าไม่น่ารัก ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์คือไม่น่ารัก ไปรักกับมันเข้าสิมันจะกัดเอา จึงต้องมีความรู้กันถึงขนาดนี้มันจึงจะไม่ไปยึดถือในสิ่งเหล่านั้น หรือเมื่อยึดถือ หรือเมื่อรู้ถึงอย่างนี้แล้ว จิตมันก็จะไม่ยึดถือ การที่ไม่ยึดถือคือการไม่มีกิเลส ไม่มีกิเลสก็คือประภัสสร ถ้าเราทำให้ไม่ยึดถือเด็ดขาดลงไป มันก็เป็นประภัสสรจิตตลอดกาล หรือเด็ดขาดลงไป ถ้ามันยึด ถ้ามันเป็นเพียงชั่วคราว ประภัสสรชั่วคราว ประเดี๋ยวก็มายึดถืออีกก็เป็นประภัสสรชั่วคราว มีอยู่ตามธรรมชาติ โดยที่เราไม่ได้จัดการอะไรมันก็มี คือจิตนี้มีธรรมชาติประภัสสร ประภัสสรแล้วไม่ประภัสสร ประภัสสรแล้วไม่ประภัสสรตามธรรมชาติ ทีนี้ถ้าเราจะไปจัดการ เข้าไปควบคุม เข้าไปเกี่ยวข้อง ก็คือการประพฤติปฎิบัติ ซึ่งมีแนววางไว้แจ้งชัดเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องแจกเป็น ๓ อย่างเพราะว่ามันต้องมี ความถูกต้องทั้ง ๓ ขั้นตอน มีศีลก็เพื่อให้ระบบร่างกายนี่มันถูกต้อง มันเหมาะสมที่จะมีจิตเป็นสมาธิได้โดยง่าย ถ้ามันมีความผิดพลาดทางร่างกาย ทางวาจาอยู่ ร่างกายนี้ก็ไม่เป็นที่ตั้งอันเหมาะสมสำหรับจิตจะเป็นสมาธิ เมื่อจิตได้ร่างกายที่เหมาะสมโดยศีล แล้วมันก็เป็นสมาธิได้โดยง่าย พอจิตเป็นสมาธิแล้วก็มีความเป็นประภัสสรอยู่ในสมาธินั่นเอง ระดับหนึ่งเท่านั้น ความเป็นประภัสสรมีอยู่ในความเป็นสมาธิ ข้อนี้ก็มีคำกล่าวตรัสไว้ในบาลี แต่ไม่ได้จดที่มาไว้ ลืมไปแล้ว แต่ยังจำได้แม่นยำว่า ความเป็นประภัสสรของจิตนี้มีอยู่แม้ในขณะแห่งสมาธิ มันเป็นประภัสสร เพราะว่ากำลังไม่มีกิเลส จิตไม่มีกิเลสเมื่อใด จิตก็มีความเป็นประภัสสรเมื่อนั้น ในขณะที่จิตเป็นสมาธินั้นไม่มีกิเลส ฉะนั้นจึงมีความเป็นประภัสสรตามแบบของสมาธิ หรือว่ามีความเป็นประภัสสรในขั้นสมาธิ ยังไม่เด็ดขาดหรอกเพราะว่าสมาธินี้ก็ยังเปลี่ยนแปลง ก็ยังไม่เที่ยง นี่ต้องทำต่อไป ทำสมาธิดีแล้วก็เกิดปัญญา มันจะได้รู้เรื่องเกี่ยวกับจิต เกี่ยวกับความทุกข์ เกี่ยวกับเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ หรือความดับสนิทแห่งความทุกข์ยิ่งๆ ขึ้นไป สามารถควบคุมจิตได้มากกว่าเดิม ทีนี้เมื่อจิตมันดีกว่าเดิม คือว่างจากกิเลส ดีกว่า มากกว่า ความเป็นประภัสสรก็มีได้ในผลของปัญญา ในผลของวิปัสสนา คือเห็นแจ้งตามที่เป็นจริงแล้ว โดยหลักว่าทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับสนิทแห่งความทุกข์เป็นอย่างไร ทางดับสนิทแห่งความทุกข์เป็นอย่างไร อันเป็นโยคะที่พึงกระทำนั่นน่ะ ถ้ามันเห็นอย่างนั้นแล้ว มันควบคุมได้มากกว่า หรือมันจะไม่กล้าไปยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ดังนั้นความเป็นประภัสสรก็สูงกว่า สูงกว่าขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งว่า ตัดกิเลสได้ด้วยอำนาจของปัญญา ตัดกิเลสในที่นี้ หมายความว่าตัดการเกิดแห่งกิเลส ตัดทางมาแห่งกิเลส ไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นได้ ใช้คำว่าตัดกิเลสมันไม่ถูกหรอก แต่มันก็พูดกันอย่างนั้นนี่ จะทำอย่างไรได้ อันที่จริงพูดว่าตัดกิเลสนั้นมันไม่มีอ่ะ ไม่มี ไม่มีการตัดกิเลส แต่มันมีการกระทำชนิดที่กิเลสเกิดไม่ได้ เดี๋ยวนี้กิเลสเกิดไม่ได้อีกต่อไป เราเรียกว่าตัดกิเลส หรือว่า ดับกิเลส เป็นภาษาไทยที่ไม่ถูกต้อง ถ้าให้พูดถูกต้อง มันก็ตัดหนทางแห่งการเกิดของกิเลสน่ะถูกกว่า เรียกว่าเรามีการประพฤติถูกต้อง ไม่ผิดพลาดทางอายตนะคือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ประพฤติไม่ผิดพลาดจากกฎเกณฑ์ของสิ่งเหล่านี้ มันก็ไม่มีการปรุงแต่ง โดยนัยยะแห่งปฏิจจสมุปบาท ไม่มีการปรุงแต่งตามวิธีทางแห่งปฏิจจสมุปบาท ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ไม่เกิดทุกข์ ทีนี้การปรุงแต่งที่ให้เกิดทุกข์ตามวิธีปฏิจจสมุปบาท นั้นมันเกิดไม่ได้ เพราะว่าจิตนี่มันถูกอบรมฝึกฝนดีแล้ว ที่เรียกว่าใช้ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจให้พอ คำว่าศีลนี่จะไม่อธิบาย เพราะรู้กันดีอยู่แล้วว่าอะไรบ้าง เมื่อศีลนี้อบรมแล้ว ประพฤติดีแล้ว มันก็เกิดผลคือมีระบบร่างกายนี่ที่ถูกต้อง ที่ช่วยให้เป็นสมาธิได้ง่าย นี่เป็นระบบศีล มันถูกต้องแล้ว ระบบภาวนาคือจิตตภาวนา ก็จะถูกต้อง ถูกต้องได้ง่ายยิ่งขึ้น ถูกต้องสูงๆ ยิ่งๆ ขึ้นไปตามลำดับ คือมีความเป็นสมาธินั่นแหละปัญญา จริงๆ คือต้องฝึกสมาธิ และฝึกปัญญา ที่เรียกกันว่าฝึกกรรมฐานนั่นแหละ ฝึกกรรมฐานก็คือฝึกทั้งสมาธิ และปัญญา ฝึกสมาธิคือฝึกเข้าไปที่จิต ระบบจิต พฤติของจิต ฝึกในระบบปัญญา ก็คือวิชาความรู้ที่ใคร่ครวญ พิจารณาจนกระทั่งเห็นแจ้ง เห็นแจ้งตามที่มันเป็นจริง นี่แหละระบบปัญญา ในระบบของสมาธิ นั่นก็คือ ใช้สติกำหนดอารมณ์ของสมาธิ สมาธิมีหลายแบบ แต่จะเป็นแบบไหนก็ตามเถอะ มันมีการใช้สติกำหนดอารมณ์ของสมาธิ สมาธิอย่างหนึ่งต้องมีอารมณ์ของมันอย่างหนึ่ง สติกำหนดที่อารมณ์นั้น เหมือนกับผูกจิตไว้กับอารมณ์นั้นเปรียบสติเหมือนกับเครื่องผูก แล้วก็ผูกจิตไว้กับอารมณ์นั้น คือจิตมันจะกำหนดอยู่แต่ที่อารมณ์นั้น กำหนดได้สำเร็จเมื่อใด มันก็เป็นเรื่องของสมาธิ ถ้าเราฝึกสมาธิคือฝึกให้สติกำหนดอยู่ที่อารมณ์ มันก็เป็นการฝึกทั้งจิต ฝึกทั้งสติ ฝึกทั้งสมาธิ คำว่าสมาธินั้นมันจะรวมสติอยู่ด้วย มันจะรวมจิตอยู่ด้วย มันเป็นการศึกษาหลายเรื่องพร้อมกันไปทีเดียวในการฝึกสมาธินั้น มันก็ศึกษาเรื่องจิต รู้เรื่องจิตดี มันจึงจะทำสมาธิได้ มันก็จะศึกษาเรื่องสติ รู้เรื่องสติดี จึงมีสติได้ เรียกว่ามีสมาธิขึ้นมา ในการที่จิตกำหนดอารมณ์ได้ด้วยสติ ก็เลยรู้เรื่องสมาธิ แล้วก็รู้เรื่องอารมณ์ของสมาธิ อารมณ์ที่จิตกำหนดเพื่อความเป็นสมาธิ มันรู้เรื่องหมดเลยว่าจิตเป็นอย่างไร สติเป็นอย่างไร สมาธิเป็นอย่างไร การกำหนดเป็นอย่างไร อารมณ์เป็นอย่างไร กำหนดแล้วมีพฤติเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นี่ระบบของสมาธิ มันมีหลายเรื่องรวมอยู่ในนั้น แต่ว่าเราก็ไม่ค่อยได้ศึกษา และบางทีก็เห็นว่ายุ่งยากลำบากก็ไม่อยากจะศึกษา ทำเพียงกำหนดอารมณ์เฉยๆก็ได้ แต่มันจะรู้หมดทุกอย่างแหละ ถ้าเรากำหนดอารมณ์สำเร็จ เราก็จะรู้ทุกสิ่งเหล่านี้ ทีนี้เมื่อพูดถึงสมาธิ ก็หมายความว่า จิตมันตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์ที่เป็นสิ่งที่เราใช้สำหรับการกำหนด ขอให้สังเกตุดูให้ดีว่าความเป็นสมาธินั่นมันมีการกำหนด หวังเอาผลคือความสงบแห่งจิตเป็นผล หวังให้เกิดความสงบแห่งจิตเป็นผล คำในอรรถกถาที่มีอยู่เป็นคำที่ไพเราะมาก คือคำที่ว่า เอกัคคตาจิต ที่มีอารมณ์เป็น ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์นั้นคือสมาธิ เป็นประโยคที่ไพเราะมาก ว่าสมาธินั้นคือเอกัคคตาจิต ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ คำว่านิพพานในที่นี้ความหมายกว้าง หมายตั้งแต่ความสงบ ชั้นต้นๆ ก็ได้ จนถึงสงบสูงสุด ซึ่งเป็นความหมายของนิพพาน นิพพานคือสงบเย็น ความสงบแห่งกิเลสนั้นน่ะมันเป็นนิพพาน ทำสมาธิมันก็มีความสงบแห่งกิเลส แม้จะชั่วคราว ความสงบนั้นมีความหมายอย่างเดียวกันกับพระนิพพาน แต่ว่าการทำสมาธิของเรานั้นไม่ใช่หยุดอยู่เพียงแค่สมาธิ มันเลยไปถึงปัญญา หรือวิปัสสนาด้วย ใน ในบาลีนั้นใช้คำว่าสมาธิภาวนา การเจริญสมาธินี้กินความหมดทั้งสมาธิ และทั้งปัญญา คือทั้งสมถะ และทั้งวิปัสสนา ผลของสิ่งเหล่านี้ ฉะนั้นผลของสมาธิภาวนานี่คือความสงบซึ่งมีความหมายแห่งพระนิพพาน ท่านจึงให้คำบัญญัติว่า สมาธิคือ เอกัคคตาจิต ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ลองไปคิดดูว่าเราทำสมาธิแบบไหน เราจะทำสมาธิแบบไหน แบบต่ำที่สุด แบบสูงที่สุด แบบยุ่งยากที่สุด แบบง่ายที่สุดอะไรก็ตาม มันมุ่งหมายความสงบแห่งจิต เป็นอารมณ์ เป็นที่มุ่งหมาย เอกัคคตาจิต คือจิตที่มีอารมณ์เดียว มีอารมณ์เดียว รวมเป็นอารมณ์เดียว เป็นสุดยอด ยอดสุดอยู่ที่อารมณ์เดียว อารมณ์เดียวยอดสุดนั้นคือ พระนิพพาน คือความสงบ เอาความรู้สึกธรรมดาสามัญของคนโง่ก็ได้ เพราะเราต้องการความสงบ เราจึงทำสมาธิ จึงพูดเป็นหลักใหญ่เสียเลยว่า สมาธิคือเอกัคคตาจิต ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ มันจะใช้ได้ตั้งแต่ต่ำที่สุด ครั้งแรกลงมือทำ และก็ปลายสุดนู้นคือสิ้นกิเลส เป็นพระนิพพานโดยแท้จริง เมื่อยังอยู่ในขั้นสมาธิก็เป็นนิพพานชั่วคราว เป็นนิพพานตามแบบของสมาธิ เมื่อไม่มีกิเลสรบกวนก็เรียกว่านิพพานนี่ เป็นนิพพานน้อยๆ นิพพานตัวอย่าง นิพพานเด็กเล่น ในชั้นสมาธิจึงเป็นเหตุให้พูดได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าสมาธินั้น มี เอกัคคตาจิต ซึ่งมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าสมมติว่าใครคนหนึ่งเขาอยากจะทำสมาธิ ง่ายๆ เบื้องต้นที่สุดตามแบบของเขา เขาก็หวังความสงบทั้งนั้น มันจึงถือว่าไอ้สมาธินั้นมีเอกัคคตาจิต ซึ่งมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ จะเริ่มทำสมาธิก็เรียกว่า เอกัคคตาจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์ ทำไปทำไปตามลำดับ ก็เรียกว่า เอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ จนกระทั่งเป็นฌาน เป็นฌาณ คือเป็นสมาธิจริง มันก็เป็น เอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ มันเป็นไปในตัวเองได้โดยไม่ต้องเจตนา ทีนี้เมื่อได้ฌานคือสมาธิที่แท้จริงแล้ว หยุดอยู่ในฌานนานๆ ให้เป็นสมาบัติ มันก็มีเอกัคคตาจิต ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์อยู่นั่นเอง ฉะนั้นเป็นอันว่าเราทำให้จิต มีนิพพานเป็นอารมณ์เดียว เป็นเอกัคคตาเป็นอารมณ์เดียว ถ้าว่าจะไม่พูดให้มันเป็นเทคนิค เป็นคำพูดแบบเทคนิค ก็เอาความรู้สึกธรรมดาสามัญ เมื่อใดจิตสงบเมื่อนั้นก็เป็นสมาธิ สงบเองตามธรรมชาติก็มี ไม่ใช่ไม่มี จิตนี้เป็นสมาธิได้ระดับหนึ่งตามธรรมชาติโดยที่เราไม่ได้เจตนาจะทำ เพราะว่าจิตนี้มันจะฟุ้งซ่าน วุ่นวายไปตลอดเวลาไม่ได้ มันตายแน่ ฉะนั้นเวลาที่มันสงบของมันเองก็มี เช่น เวลาที่เราสบายใจ สบายใจ บอกไม่ถูก ทำไมมันจึงสบายใจ สงบใจ ใจเย็น ด้วยเหตุอะไรก็ไม่รู้ นี่คือจิตมันมีสมาธิของมันตามธรรมชาติ เวลาที่เราโปร่งใจ สบายใจ นั่นแหละ คิด สังเกตุ ดูให้ดีจะพบว่า เออนี่คือความเป็นสมาธิ ฉะนั้นความเป็นสมาธินั้น กำหนดลักษณะไว้ ๓ อย่างคือ จิตเป็นบริสุทธิ์ กิเลสกำลังไม่รบกวน และจิตนั้นตั้งมั่น และจิตนั้นว่องไว ในการทำหน้าที่ของจิต ๓ คำนี้ช่วยจำไว้ให้ดีนะ ปริสุทโธ จิตบริสุทธิ์ สมาหิโต จิตตั้งมั่น กัมมนีโย จิตว่องไว ในหน้าที่ของจิต ในการงานของจิต ปริสุทโธ สมาหิโต กัมมนีโย นี่ก็คือ คุณค่าของสมาธิที่จะมาใช้ได้ในทุกอิริยาบท ถ้าเราทำสมาธิได้ คุณสมบัติอันนี้มันจะมีอยู่ในสมาธินั้น แม้ออกจากฌาน ออกจากสมาบัติแล้ว คุณค่า ๓ อย่างนี้ก็ยังเหลืออยู่ในจิต เรียกว่าจิตที่ยังมีสมาธิ มีร่องรอยแห่งสมาธิ ฉะนั้นเราก็จะมาสบายได้ แม้นว่าจะลุกขึ้นจากนั่งสมาธิ ไปเดินอยู่ ไปนั่งอยู่ ไปนอนอยู่ที่ไหนก็ตาม ได้ทั้ง ๔ อิริยาบท ทั้งเดิน ยืน นั่ง นอน ถ้ามันมีความรู้สึกที่บริสุทธิ์ ตั้งมั่น และว่องไวต่อการงานแล้ว มันก็ว่ายังมีสมาธิอยู่ แม้เดินอยู่ ข้อนี้ก็มีบาลีชัดว่า ถ้าจิตเป็นสมาธิ เดินอยู่ก็เป็นที่เดินอันเป็นทิพย์ นอนอยู่ก็เป็นที่นอนอันเป็นทิพย์ นั่งอยู่ก็เป็นที่นั่งอันเป็นทิพย์ ยืนอยู่ก็เป็นที่ยืนอันเป็นทิพย์ เพราะในอิริยาบททั้ง ๔ แต่ละอิริยาบทมันมีคุณค่าของสมาธิติดมา คือ จิตบริสุทธิ์ จิตตั้งมั่น จิตว่องไวต่อการงาน ไม่ใช่ว่าจะต้องไปนั่งหลับตานิ่งตัวแข็งอยู่ แล้วก็เรียกว่าสมาธิเพียงเท่านั้น ถ้าอย่างนั้น มันก็ทำอะไรไม่ได้ ให้มันต้องออกจากสมาธิชนิดนั้น แล้วมาอยู่ในสมาธิชนิดนี้ คือ เดิน นั่ง ยืน นอน อยู่ก็ได้ แต่มีคุณสมบัติของสมาธิครบถ้วนอยู่ คือ จิตบริสุทธิ์ จิตตั้งมั่น จิตว่องไว ควรแก่การงาน เมื่อมาเดินจงกรมอยู่ จิตเป็นสมาธิได้ในความหมาย ๓ ประการนี้ และในขณะที่เดินจงกรมอยู่นั้น จิตว่องไวต่อการงานในหน้าที่ของมัน ดังนั้น จิตในขณะที่เดินอยู่นั่นแหละคิดอะไรได้ดี คิดอะไรได้ดี ช่วยสังเกตุกันสักหน่อย เมื่อนอนคิด ไม่ดีไม่ค่อยดี คือว่า ไม่สมบูรณ์ ไม่ถูกต้องครบถ้วนโดยสมบูรณ์ เมื่อเดินคิดดีกว่า เอาเรื่องธรรมดาๆ ก็แล้วกัน ไม่ต้องเรื่องธรรมะธรรมโมอะไร ไอ้ความคิดที่คิดออกเมื่อเดินคิดนั่นแหละ มันถูกต้องแน่นอน แม่นยำกว่า เมื่อนั่งคิด หรือนอนคิด ไอ้นอนคิดนี่ ใช้ไม่ค่อยได้ เผลอเข้า มันก็จะเป็นเรื่องเคลิ้มๆ ฝันๆ ไปเสีย พอตื่นขึ้นมา อ้าว, ผิดหมดแล้ว ความคิดมันผิดหมดแล้ว ถ้าเราเดินคิด เดินคิด เดินคิดอยู่นี่ คิดถูกคิดออกแล้ว ไอ้ความถูกต้องนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลง นี่ประโยชน์ของสมาธิ ที่ไปมีอยู่ในทุกๆ อิริยาบท และก็ทำหน้าที่ของสมาธิได้ จิตตั้งมั่น จิต เออ, จิตตั้งมั่น และจิตว่องไวในการหน้าที่ของจิต คือการคิด จิตมันมีหน้าที่ที่จะคิด ฉะนั้นเมื่ออบรมให้เป็นสมาธิดีแล้ว จิตก็ว่องไวในหน้าที่แห่งการคิด ซึ่งเรียกว่าหน้าที่ของมัน ฉะนั้นถ้าเราอยากจะคิดอะไรให้ดี ก็ทำจิตให้เป็นสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิแล้ว มันก็เป็นจิตที่ว่องไวในหน้าที่ของมัน และก็มาคิดอยู่ด้วยอิริยาบทเดิน โดยอิริยาบทเดิน ในความคิดนั้น จะแจ่มใส จะว่องไว จะถูกต้องสนิททีเดียว ไม่เหมือนกับนอนคิด ฉะนั้นเราเดินคิด คิดอะไรออก ไปสังเกตุดูเถอะว่า มัน มันแน่นแฟ้น มันแน่นอน เอาดินสอ ปากกา พิมพ์ดีด ก็ได้ วางไว้บนโต๊ะ แล้วก็เดินไปเดินมาคิด พอคิดออกเป็นที่พอใจแล้วก็บันทึกไว้ พอใจแล้วบันทึกไว้ ไอ้ความคิดที่จะบันทึกไว้นั่นน่ะ จะถูกต้องอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ไอ้ที่นอนคิด เคลิ้มๆ ฝันๆ นอนคิดนี่ ไม่ค่อยถูกต้องถึงที่สุด และเป็นความคิดที่จะมีส่วนที่เปลี่ยนแปลง หรือใช้ไม่ได้ เรื่องอย่างนี้อาตมาเคยทำมาแล้ว ที่ว่าเดินไปพลาง แล้วก็จดลงไปพลาง เดินไปพลางแล้วก็จดลงไปพลาง วางโต๊ะเขียนหนังสือไว้ที่มุมสุดนั่น แล้วก็เดินไปเดินมาตามสบาย คิดออกแล้วก็รีบไปจดๆ นี่เราใช้สมาธิได้รอบด้าน ได้หลายอย่าง และเพื่อประโยชน์หลายอย่าง ฉะนั้นสมาธิที่ว่าจิตบริสุทธิ์นี่ มันเป็นความสุข เกิดจากสมาธิ ฉะนั้น ถ้าอยากจะมีความสุขกันเดี๋ยวนี้ ที่นี่ทันทีก็ทำจิตให้เป็นสมาธิ บริสุทธิ์เถอะ ในความบริสุทธิ์ของจิตนั้น จะเป็นความสุขให้แก่เรา นี่เป็นความสุขแล้ว ทีนี้ความตั้งมั่นแห่งจิตนี้ มันจะควบคุมความรู้สึกต่างๆ ได้ อารมณ์ร้าย อารมณ์วิตกกังวล อารมณ์ร้ายที่รบกวนจิตใจนี่เราก็ขับไล่ออกไปซะได้ ด้วยความที่จิตมันตั้งมั่น อย่าไปมัวร้องไห้ อย่าไปไหว้วอนผีสางเทวดา อะไรที่ไหนเลย ถ้าอารมณ์ร้ายมันเกิดขึ้นในจิตแล้ว ก็ทำจิตให้เป็นสมาธิ ในความหมายที่มันตั้งมั่น มันก็จะขจัดอารมณ์ร้ายนั้นออกไป ทีนี้ถ้าว่าเกี่ยวกับการคิดที่ละเอียดลึกซึ้ง ที่จะเป็นนักปราชญ์ เป็นนักคิด อะไรก็ทำจิตเป็นสมาธิ จิตมันจะมีลักษณะกัมมนีโย คือว่องไวในหน้าที่ของมัน แล้วเราก็คิดนึกอะไรได้ จำไว้ว่ามันอย่างน้อย มันก็ มีคุณลักษณะ ๓ ประการ ใน ๓ ประการนั้น แต่ละประการก็มีคุณค่าตามแบบของมัน คือว่าถ้ามันมีคุณค่า เป็นความบริสุทธิ์แห่งจิตมันก็มีความสุข ถ้ามันมีคุณค่าในลักษณะเป็นความตั้งมั่นแห่งจิต เราก็ขับไล่อารมณ์ร้าย ที่กำลังรบกวนจิตใจอยู่ออกไปซะได้ นับตั้งแต่นิวรณ์เป็นต้นไปทีเดียว ถ้ามันมีกัมมนีโย มีเรื่องต้องการกัมมนีโย ก็ทำจิตเป็นสมาธิ มันก็มีความเป็นกัมมนีโย ว่องไวในหน้าที่การงานของมัน เราก็คิดนึกอะไรได้ เราจะเอาความสุขก็ได้ ขับไล่อารมณ์ร้ายๆ ออกไปก็ได้ ให้คิดเก่ง ให้ว่องไวในการคิดก็ได้ นี่เป็นประโยชน์ของสมาธิ เมื่อกล่าวโดยทั่วไป แต่เมื่อกล่าวโดยทางธรรมะในวงจำกัดที่เกี่ยวกับเรื่องของพระอรหันต์แล้ว ในสมาธินั้นมันมีความเป็นประภัสสรชนิดที่เราสร้างขึ้นมา ไม่ใช่ประภัสสรที่มันเป็นไปเองตามธรรมชาติ จิตชนิดนี้มันก็จะให้เกิดผลไปในทางสูง คือทางของวิปัสสนา ดังบทว่า สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ จิตตั้งมั่น บุคคลมีจิตตั้งมั่นแล้วย่อมเห็นตามที่เป็นจริงในสิ่งทั้งปวง คล้ายๆ นี่มันจิตรอที่จะเห็น อยากที่จะเห็น อยากที่จะรู้ อยากที่จะเข้าใจอยู่แล้ว ปัญหาต่างๆ มันสะสมอยู่ในภายในแล้ว พอเราทำจิตเป็นสมาธิแล้วนั่นน่ะ คำตอบมันออกมาเอง ดังบาลีว่า สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ พอจิตตั้งมั่น แล้วก็เห็นตามที่เป็นจริง บุคคลมีจิตตั้งมั่น ย่อมเห็นตามที่เป็นจริง มันเป็นอัตโนมัติ วิเศษที่สุดเลย ไอ้ความที่ไม่รู้ หรือไม่รู้ตามที่เป็นจริงนั้นน่ะ ทำจิตให้มีสมาธิเถิด ไอ้ความรู้ตามที่เป็นจริงมันจะโผล่ออกมา ดังนั้น การฝึกสมาธินี้มันมีประโยชน์ในทางสูงก็คือเป็นบาทฐานแห่งปัญญา ทำให้เกิดปัญญา ผลนี้สูงกว่า สูงกว่าไอ้สามอย่างข้างต้น ที่ว่า สมาธิแล้วเป็นสุข สมาธิแล้วไล่อารมณ์ร้ายออกไปได้ หรือสมาธิแล้วจิตว่องไวต่อการงานในหน้าที่ของจิต นี่มันเป็นสามอย่างนี้ ก็ไม่มีค่าดีเท่ากับว่าจิตที่เป็นสมาธิแล้วย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ถ้าสิ่งทั้งปวง บรรดาสังขารทั้งหลาย ไม่ยกเว้นอะไรนี่ มันอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา มันมีลักษณะแห่งความเป็นอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา มันไม่ใช่มีแต่ลักษณะเฉยๆ มันมีความเป็นอย่างนั้นด้วย เราเห็นนี่ก็คือเห็นลักษณะว่ามันเป็นสิ่งที่มีลักษณะอย่างนั้น การที่มันมีลักษณะอย่างนั้นหมายความว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วย ฉะนั้นสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง และมีลักษณะแห่งความไม่เที่ยง ฉะนั้นสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ และมีลักษณะแห่งความเป็นทุกข์ สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา และมีลักษณะแห่งความเป็นอนัตตา นี่มีปัญญาเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงได้ เมื่อจิตเป็นสมาธิ นี่คือจิตตภาวนา ในอันดับนี้ อันดับที่เรียกว่าสมาธิ มีผลเป็นจิตประภัสสร ตลอดเวลาที่จิตมีสมาธิ จิตประภัสสรคือกิเลสไม่รบกวน มีความเป็นประภัสสรเรืองแสง ตลอดเวลาที่เป็นสมาธิ แต่มันคล้ายของซ่อนอยู่ในนั้น ไม่ได้มองกัน หรือไม่จำเป็นจะต้องมอง แล้วคำพูดอย่างนี้ก็ไม่ค่อยเอามาพูด ไม่ค่อยเอามาสอนกันในแบบเรียน ไม่ ไม่เคย ไม่เคยเห็นมี แต่ในพระบาลี มีว่า ความเป็นประภัสสรแห่งจิตนั้นมีอยู่ในขณะที่จิตเป็นสมาธิ นี่จิตตภาวนา ขั้นสมาธิมีแล้ว มีแล้ว แล้วมีรากฐานอยู่บนศีล บนความมีศีลของบุคคลนั้น ช่วยให้จิตเป็นสมาธิได้ง่าย ทีนี้ครั้นจิตเป็นสมาธิแล้วขั้นต่อไปมันก็คือ ปัญญา มีปัญญา ปัญญามันก็คือผลของการเพ่งลงไปที่ลักษณะ หรือเพ่งลงไปที่สัจจะ ของสิ่งทั้งปวง ย้อนกลับไปพูดมาตั้งแต่ต้นว่า การเพ่งจิตมี ๒ ชนิด เพ่งจิตลงไปที่อารมณ์ก็ได้สมาธิ เพ่งจิตลงไปที่ลักษณะของสิ่งใดก็ได้ปัญญา ได้ปัญญาเกี่ยวกับสิ่งนั้น เพ่งจิต หรือสมาธิภาวนานั้นมีอยู่ ๒ เพ่ง เพ่งที่อารมณ์แล้วก็ได้สมาธิ เพ่งที่ลักษณะของธรรม ของธรรม ธรรม ธรรมะเหล่านั้นของสังขารเหล่านั้น ก็ได้ปัญญา เพ่งที่ลักษณะนั้นมันก็คือเพ่งหาความจริงของสิ่งเหล่านั้น มันก็ได้ปัญญา เดี๋ยวนี้เราเพ่งอารมณ์ ได้สมาธิ เรื่องของสมาธิจบไปแล้ว ก็ใช้จิตที่เป็นสมาธินี้แหละ เพ่งอีกทีนึง แต่เดี๋ยวนี้จะเพ่งที่ลักษณะ เพื่อจะหาความจริงในด้านของสัจจะที่สูงขึ้นไป ถ้าเพ่งที่ลักษณะอย่างนี้แล้ว ก็ได้ผลคือปัญญา หรือวิปัสสนา ปัญญาแปลว่ารู้รอบ วิปัสสนาแปลว่าเห็นแจ้ง ความหมายก็อันเดียวกัน เห็นแจ้งก็รู้รอบ รู้รอบก็เห็นแจ้ง ไม่เกี่ยวกับความคิด ไม่ ไม่ ไม่มีคิดอีกแล้ว คือ ดูแล้วเห็น เห็นแล้วก็เป็นความรู้ขึ้นมาเอง ไม่มีการคิดนึกด้วยเหตุผล ปัญญา หรือวิปัสสนาที่ถูกต้องนั้นไม่ ไม่ ไม่เกี่ยวกับการใช้เหตุผลสำหรับคิด สำหรับนึก มันเป็นแต่เพียงดูลงไปเท่านั้น เห็นอย่างไรก็เห็นอย่างนั้น จิตที่เป็นสมาธิแล้ว ย่อมเห็นตามที่เป็นจริง เดี๋ยวนี้จิตมันเป็นเห็นว่าอันนี้เป็นอย่างไร รูปเป็นอย่างไร เวทนาเป็นอย่างไร สัญญาเป็นอย่างไร สังขารเป็นอย่างไร วิญญาณเป็นอย่างไร นี่ มันก็เห็นด้วยปัญญา เห็นแจ้งด้วยปัญญา เห็นสัจจะคือความจริงของสิ่งเหล่านั้นในทุกแง่ทุกมุม แต่ที่สำคัญที่สุดมีประโยชน์ที่สุดก็คือเห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา เห็นชัด ชัด ชัดลงไปมันก็เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด แล้วก็หลุดพ้น หลุดพ้นจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน พูดโดยเฉพาะก็หลุดพ้นจากอุปาทาน ที่ยึดถือสิ่งต่างๆ ไว้ด้วยความโง่ เดี๋ยวนี้ก็เกิดความหลุดพ้น ดังนั้นขอให้เรารู้ปัญหา ว่าปัญหามันอยู่ที่ถูกผูกพัน ด้วยความยึดมั่น พอเห็นตามที่เป็นจริงมันก็คลายออก มันก็ไม่ยึดมั่น มันก็คลายออก มันก็หลุดพ้น ฉะนั้นการฝึกทางปัญญาในชั้นปัญญานี้ มันก็ทำให้รู้จักอะไรมากเหมือนกันแหละ รู้จักจิตในขณะที่มีปัญญา รู้จักสติที่ทำให้จิตมีการเพ่งลักษณะแบบปัญญา มันก็มีสมาธิอยู่ในการดูให้เห็น ปัญญานี้ต้องมีสมาธิมาเป็นเครื่องดูให้เห็น ฉะนั้นใน ในระบบปัญญา หรือวิปัสสนามันก็มีสมาธิเป็นรากฐาน เป็นพื้นฐาน ก็มีปัญญาว่าเป็นอย่างไร ฉะนั้นสัจจะหรือความจริงที่ปัญญามองเห็นนั้นเป็นอย่างไร อารมณ์ของปัญญาคือลักษณะของธรรมทั้งปวงเป็นอย่างไร มันก็มีอารมณ์ สมาธิมีวัตถุเป็นอารมณ์ ปัญญามันก็มีลักษณะของสิ่งนั้นๆ เป็นอารมณ์ แต่เราไม่ค่อยสนใจที่จะรู้ ไม่สนใจที่จะแยกออกดูให้รู้ว่ามีกี่อย่างๆ ถ้าแยกแล้วมันก็จะเห็นเป็นอย่างนี้ มันคล้ายๆ กันมาก ในขณะแห่งสมาธิเปรียบเทียบกันดูอีกทีว่า ในขณะแห่งสมาธิ ทำแล้ว ครั้นทำแล้วมันก็รู้เรื่องจิต รู้เรื่องสติที่จิตใช้กำหนดอารมณ์ รู้เรื่องสมาธิคือความเป็นสมาธิ รู้อารมณ์ของสมาธิ ในขั้นปัญญานี้ ทำปัญญาแล้ว สำเร็จแล้ว มันก็รู้เรื่องจิตที่กำลังมีปัญญา รู้เรื่องสติที่เป็นเครื่องกำหนดในทางของปัญญา รู้เรื่องปัญญาที่ได้มาในฐานะเป็นผลของการกำหนด รู้เรื่องความจริงของสิ่งเหล่านั้น นี่คือการฝึกทางปัญญา รู้สัจจะคือความเป็นจริง หรือความจริงของสิ่งนั้นๆ ซึ่งถือได้ว่ามันมีเพียงอย่างเดียว ที่ถูกต้องมันมีเพียงอย่างเดียว สัจจะคือความจริง มีเพียงอย่างเดียว ไม่มีเป็นหลายอย่าง เพราะว่าเรื่องเดียวมันมีความจริงอย่างเดียว พระบาลี จะเป็นชั้นพระบาลี ไม่ใช่อรรถกถา มันจึงมีว่า เอกัง หิสัจจัง น ทุติยมัตถิ เป็นคำกลอน เอกัง หิสัจจัง น ทุติยมัตถิ ฉะนั้น สัจจะนั้นมีอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีสอง ไม่มีที่สองในเรื่องเรื่องเดียว ในกรณีเดียวสัจจะ จะมีเพียงอย่างเดียว หรือจะเรียกว่าสัจจะของทั้งหมด ของสากลจักรวาลอะไรก็ได้ มันก็ไม่ได้มีเพียงอย่างเดียว มันจะมีสองอย่าง คือตรงกันข้าม เป็นคู่กัน อยู่อย่างนี้ไม่ได้ ฉะนั้นสัจจะจึงมีเด็ดขาด อย่างเดียวในกรณีนั้นๆ ในสังขารธรรมชนิดนั้น หรือแม้แต่ใน วิสังขาร ในอสังขตธรรม มันก็มีสัจจะเพียงอย่างเดียว นี่เรามีปัญญา ฝึกปัญญาแล้ว เข้าถึงสัจจะแห่งสิ่งทั้งปวงแล้ว จะไม่ยึดถือสิ่งใด โดยความเป็นตัวตน หรือของตน ในสังขารทั้งหลายก็ไม่ยึดถือโดยความเป็นตัวตน ของตน ในวิสังขารทั้งหลายก็ไม่ยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นตัวตน ของตน นี่จึงเรียกว่าไม่ยึดถือสิ่งใดเลย ทั้งฝ่ายสังขตะ และอสังขตะ คือทั้งฝ่ายที่มีปัจจัยปรุง และฝ่ายที่ไม่มีปัจจัยปรุง ทั้งสองฝ่ายนั้นไม่ได้มองเห็นอะไรว่าเป็นตัวตนที่ควรจะยึดถือ เห็นชัดว่ายึดถือไม่ได้ ยึดถือแล้วเป็นทุกข์มันจะกัดเอา ก็เลยไม่มีการยึดถือ เมื่อไม่ยึดถือมันก็หมายความว่าไม่มีกิเลส เมื่อความไม่ยึดถือนี้เป็นการถาวร มันก็เป็นประภัสสรถาวร จิตก็เป็นประภัสสรถาวร เดี๋ยวนี้จะใช้คำว่าบริสุทธิ์ จะไม่ใช้คำว่าประภัสสร แต่ที่จริงก็มีลักษณะเดียวกับประภัสสร แต่ว่ามันเป็นประภัสสรถาวร เพราะว่าจิตมันเปลี่ยนสภาพไปอยู่ในสภาพที่กิเลสเกิดไม่ได้ จิตก็ประภัสสรถาวร แต่นิยมเรียกกันว่า จิตบริสุทธิ์แล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่ ไม่ใช้คำว่าประภัสสร แต่ที่จริงมันก็คือประภัสสรชนิดถาวร นี่เรามีสมาธิให้จิตเป็นประภัสสรเท่าที่มีกำลังแห่งสมาธิควบคุมอยู่ แล้วเราก็มีปัญญา มีวิปัสสนา และจิตก็เป็นประภัสสร เท่าที่มันตัดกิเลสเด็ดขาดลงไปจริงๆ เท่าไร ตัดกิเลสได้หมด ก็เป็นประภัสสรทั้งหมด และ เป็นการถาวร นั่นแหละคือจิตของพระอรหันต์ เรายังไม่เป็นพระอรหันต์ แต่เราสามารถที่จะศึกษาคำนวณ มองเห็นได้ เข้าใจได้ และก็จะมองเห็นโดยในลักษณะที่เป็นสันทิฏฐิโก โดยวิธีพิจารณา คือว่าเมื่อ เมื่อเรามีจิตกลุ้มรุมเร่าร้อน อารมณ์ร้าย เพราะโลภะ โทสะ โมหะนี่ เราก็มีปัญญาพิจารณาว่าถ้ามันไม่มีสิ่งเหล่านี้ จะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีราคะร้ายๆ อย่างที่รบกวนจิตใจอยู่เดี๋ยวนี้ จิตจะเป็นอย่างไร จะสงบเย็นอย่างไร จะหลุดพ้นอย่างไร ถ้าไม่มีโทสะร้ายๆ กำลัง รบกวนจิตใจอยู่ จิตจะเป็นอย่างไร นี่มันเทียบเคียงได้โดยลักษณะตรงกันข้ามอย่างนี้ นั้นก็เป็นต้นทุนเป็นการริเริ่มเป็นเดิมพัน ให้เกิดความอยาก ฉันทะ เกิดฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ยิ่งๆ ขึ้นไป มีฉันทะ มีอิทธิบาท ๔ ตั้งต้นขึ้นแล้วเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ความสำเร็จก็อยู่ในกำมือของเราอย่างนี้ นี่คือเรื่องพัฒนาจิต ซึ่งเป็นเรื่องลึกอยู่ในระบบของความเป็นพระอรหันต์ จึงต้องศึกษาเรื่องของความเป็นพระอรหันต์ ตั้งต้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มีจิตเป็นอย่างไร ทารกออกมาจากครรภ์แล้วมีจิตเป็นอย่างไร ทารกโตแล้วเป็นอย่างไร หนุ่มสาวแล้วเป็นอย่างไร หนาเตอะเต็มไปด้วยกิเลส และอนุสัยอาสวะเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ถูกมันกัดเอาเจ็บปวด แล้วก็หาทางป้องกัน แก้ไข ต่อสู้ ด้วยการทำจิตให้เจริญ หรือจิตตภาวนา ด้วยวิธีศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีศีล จิตเป็นสมาธิยาก ความเป็นสมาธิตั้งมั่นอยู่บนศีล คือความถูกต้องของจิต เออ, ของร่างกาย ความถูกต้องของจิตตั้งรากฐานอยู่บนความถูกต้องของกาย ความถูกต้องของปัญญาตั้งอยู่บนรากฐานคือความถูกต้องทางจิต ถ้ามีความถูกต้องของกายเพื่อให้เกิดความถูกต้องทางจิต เรามีความถูกต้องทางจิตเพื่อให้เกิดความถูกต้องทางปัญญา ดังนั้นมันจึงขาดไม่ได้ ไอ้สามเกลอนี่ต้องไปด้วยกัน ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องไปด้วยกัน ไม่มีปัญญาก็ปฎิบัติอะไรไม่ได้ ไม่มีสมาธิก็ไม่มีกำลังอะไรที่จะรบกวน ที่จะต่อสู้กิเลสได้ ไม่มีศีลมันก็เหมือนไม่มีแผ่นดินเหยียบ ถ้าไม่มีศีล มันเท่ากับไม่มีแผ่นดินเหยียบสมาธิก็ไม่รู้จะเหยียบลงบนอะไร ไม่มีสมาธิแล้วปัญญามันก็ไม่รู้จะเหยียบลงบนอะไร มันไม่มีรากฐานกันไปเสียหมด ฉะนั้นขอให้รู้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญานี่จะต้องไปด้วยกันเสมอ ใน ในทุกเรื่องน่ะ แม้เรื่องธรรมดาของคนธรรมดามันก็ต้องมี เมื่อมีสมาธิมันก็ต้องมีศีลอยู่ด้วย มันซ่อนอยู่ในนั้นด้วย เมื่อมีสมาธิแล้วมันก็ต้องมีปัญญาตามสมควรแก่ธรรมชาติ ที่เรียกว่าจิตตั้งมั่นแล้วย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ทำไมไม่สังเกตุดูเมื่อเรามีจิตเป็นสมาธิ ใจคอสบาย มันก็รู้อะไรได้ ร่างกายก็พลอยสบาย จิตก็สบาย ปัญญาก็สบาย ในกรณีของโลกๆ อย่างชาวโลกชาวบ้านทำไร่ทำนาก็ต้องมีลักษณะ ๓ อย่างนี้ พูดว่าทำนาก็ต้องมีลักษณะ ๓ อย่างนี้ มีความถูกต้องทางกาย มีความถูกต้องทางจิต มีความถูกต้องทางสติปัญญา เขาจึงจะเป็นชาวนาที่ดี ที่จะเป็นผู้ปฎิบัติกรรมฐานเพื่อเป็นพระอริยะเจ้า เขาต้องมี ศีล สมาธิ ปัญญา คือมีความถูกต้องทางกาย มีความถูกต้องทางจิต มีความถูกต้องทางปัญญา ไม่ว่าอะไรของมนุษย์เราที่จะทำให้เกิดความสำเร็จประโยชน์แล้ว มันจะต้องอาศัย ไอ้สิ่งทั้งสามนี้ คือความถูกต้องทางกาย ถูกต้องทางจิต ถูกต้องทางปัญญา ถ้าปัญญาไม่ถูกต้องก็ทำอะไรผิดหมด ถ้าจิตไม่ถูกต้องมันก็ไม่เกิดปัญญา ถ้าศีลมันไม่ถูกต้องจิตก็ไม่เป็นสมาธิได้ ฉะนั้นขอให้มองเห็นให้ลึกลงไปถึงว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นี้มันรองรับชีวิตของเราอยู่โดยที่เราไม่รู้สึกตัว แต่มันน้อยเกินไป มันไม่พอที่จะสร้างความเป็นประภัสสรให้เต็มขนาด หรือให้ยืดยาวตลอดเวลาได้ ดังนั้น มาประพฤติ อบรม เจริญ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้สูงขึ้น ให้มากขึ้น ให้เพียงพอสำหรับจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ศีล สมาธิ ปัญญา จะขยายออกไปเป็น ๘ เป็นมรรคมีองค์ ๘ มันก็อย่างเดียวกันอีก เพียงแต่มันขยายความหมาย ขยายสัดส่วนส่วนประกอบต่างๆ ให้มัน ให้มัน ให้มันซอยละเอียดลงไป เหมือนผ่า ผ่าตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ ถ้ามีสามชิ้นก็เป็นชิ้นใหญ่ๆ แต่ละชิ้นๆ มาผ่าออกไปเป็นสองบ้าง เป็นสามบ้าง เป็นสี่บ้าง เป็นชิ้นเล็กๆๆ ออกไป แต่แล้วมันก็ต้องทำงานร่วมกันอย่างเดียวกัน ผู้ที่เคยศึกษาธรรมะมาแล้วก็รู้ได้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นน่ะขยายออกเป็นมรรคมีองค์ ๘ ได้อย่างไร มรรคมีองค์ ๘ นี่สงเคราะห์ย่นย่อลงเป็นศีล สมาธิ ปัญญา เพียงสามอย่างได้อย่างไร ถึงคนที่เคยฟังเทศน์มาบ่อยๆเคยได้ยินแล้วเรื่องนี้ แต่ว่าไม่ค่อยจะสังเกตุ และไม่รู้ลึกลงไปถึงว่ามันแยกกันไม่ได้ มันต้องไปด้วยกัน มันต้องทำงานร่วมกัน ศีล สมาธิ ปัญญาต้องทำงานร่วมกันเหมือนกับสามเกลอ มรรคมีองค์ ๘ มันก็ต้องทำงานร่วมกันเหมือนกับ ๘ เกลอนั้นน่ะ มันขาดเสียแล้วมันก็ทำไม่ได้ หรือมันจะไม่สมบูรณ์ ทำได้ก็ไม่สมบูรณ์ มันก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้เพราะว่าไม่สมบูรณ์ ถ้าว่าเราเจริญ สมาธิ ปัญญา เจริญศีล สมาธิ ปัญญากลมเกลียวกันไป มันก็เกิดความวิมุตหลุดพ้น หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสด้วยอำนาจของสมาธิ คือบังคับจิตให้เป็นสมาธิ กิเลสก็ไม่เกิด รอดตัวจากการเบียดเบียนของกิเลสด้วยอำนาจของจิต เรียกว่าเจโตวิมุต ถ้ามีปัญญารู้พิจารณาแล้วเห็นชัดตามที่เป็นจริง เรียกอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา กิเลสมันก็ออกไป เข้ามารบกวนไม่ได้ ก็เรียกว่า ปัญญาวิมุต หลุดพ้นด้วยอำนาจของปัญญา เจโตวิมุต ปัญญาวิมุต นี้เป็นคำแฝด เป็นคำคู่ คำแฝดกัน ต้องมาด้วยกัน มัน มันจะต่างกันบ้างก็เพียงในบางกรณีอำนาจของเจโตวิมุตมากกว่า ในบางกรณีอำนาจของปัญญาวิมุตมากกว่า แต่มันก็ยังเป็นเจโตวิมุต ปัญญาวิมุต เป็นเกลอเป็นคู่กันอยู่แยกจากกันไม่ได้ เพราะว่าปัญญาต้องมีจิต จิตก็ต้องเกิดปัญญา ทารกอยู่ในครรภ์หรือทารกคลอดออกมาใหม่ๆ มันไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุต ปัญญาวิมุต เป็นคำพูดที่น่าหัว แต่ว่าจริงที่สุด ทารกนั้นไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุตปัญญาวิมุตนี่เป็นพระพุทธภาษิต ฉะนั้นทารกนั้นเมื่อได้รับอารมณ์อะไรเข้ามามันก็ทำไม่ถูกสิ มันก็ทำไม่ถูก เพราะมันไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุต ปัญญาวิมุต มันก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ เมื่อปลอ่ยไปตามธรรมชาติมันก็ปรุงแต่งไปตามแบบของปฏิจจสมุปบาท หรือที่ว่าจะมองดูในแง่ของขันธ์ทั้งห้าก็ได้ แล้วยึดถือเป็นอุปาทานขันธ์ ก็มีความหมายเหมือนกับปฏิจจสมุปบาท ฉะนั้นทารกที่ไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุต ปัญญาวิมุต ก็ต้องทนทุกข์ ก็ต้องมีทุกข์ มีทุกข์เรื่อยไปจนจะโตเป็นผู้ใหญ่ จนกว่าเมื่อไรมันจะมีเหตุปัจจัยที่ดีทำให้ระลึกได้ โอ้, นี่ทุกข์ทั้งนั้น นี่ทุกข์ทั้งนั้น และก็หาทางที่จะดับทุกข์เสีย ปัจจัยอย่างอื่นแวดล้อมมันก็มีบ้าง ที่จะให้มีความรู้เรื่องนี้บ้างแต่มันน้อยเต็มที มันไม่พอที่จะตัดเสียซึ่งกิเลส หรือความทุกข์ เราจึงต้องอบรมจิตตภาวนา ให้ธรรมชาติของจิตที่ไม่มีกิเลสชั่วคราวนั่นน่ะ เป็นจิตที่ไม่มีกิเลสตลอดกาล เรียกประภัสสรตลอดกาล เรียกชื่อว่าเป็นจิตบริสุทธิ์ นี่เรื่องของพระอรหันต์มันก็จบลงที่ตรงนี้
วันนี้เราให้หัวข้อว่า พระอรหันต์อย่าลืม พระอรหันต์อย่างลืม อย่าใช้เฉพาะคนที่กำลังจะตายอย่างเดียว คนเดี๋ยวนี้คนที่นั่งๆ อยู่ที่นี้ หรือที่ไหนตลอดเวลา พระอรหันต์อย่าลืมๆ คืออย่าลืมเรื่องผู้ที่หลุดพ้นจากกิเลส และความทุกข์ ใช้คำพูดสมมติว่าผู้ที่ไม่มีกิเลส และความทุกข์ ถ้าใช้ภาษาจริง ภาษาไม่สมมติ ก็ใช้คำว่าจิต จิตที่ไม่มีกิเลส และความทุกข์นั่นแหละคือพระอรหันต์ แต่เราพูดกันตามธรรมดา พูดด้วยความยึดมั่นถือมั่น ในภาษาสากล เราก็ใช้คำว่า บุคคลที่ไม่มีกิเลส และความทุกข์ อันนี้ทำให้ผิด เข้าใจผิด ยึดถือว่า มีสัตว์ มีบุคคล ซึ่งมันผิด แต่แล้วจะทำยังไงได้เพราะมันพูดกันมาผิดๆ อย่างนี้ ที่จริงมันไม่มีบุคคล มันไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มีแต่จิต ฉะนั้นจิตที่ไม่มีกิเลสและความทุกข์นั่นแหละคือพระอรหันต์ ฉะนั้นขอให้สนใจเรื่องจิต จิตประภัสสรตามธรรมชาตินั้นจะต้องถูก ทำให้เจริญเป็นประภัสสรถาวร เด็ดขาด ตลอดกาล จิตนี้ชนิดนี้ที่เราสมมุติเรียกกันว่าพระอรหันต์ วันนี้เป็นวันพระอรหันต์เราพูดกันเรื่องพระอรหันต์ เพื่อระลึกถึงพระอรหันต์ และก็จะไม่ลืมพระอรหันต์ ไม่ลืมเรื่องของพระอรหันต์ ไม่ลืมภาวะของพระอรหันต์ ซึ่งเราอาจจะทำให้มีแก่จิตนี้ได้ เพราะว่าแม้นจะไม่ทำอะไรเลยมันก็มีความเป็นประภัสสรตามธรรมชาติอยู่ เวลาใดจิตไม่มีกิเลสมารบกวน จิตก็เป็นประภัสสรอยู่ตามธรรมชาติ นั่นแหละเราจะเรียกว่าอะไรดี เรียกว่าสัญลักษณ์ของพระอรหันต์ก็ได้ เรามีจิตประภัสสรอยู่เป็นระยะๆ พอดี สมส่วนกัน เราไม่ปวดหัวจนนอนไม่หลับ เราไม่เป็นบ้า เราไม่ตาย เพราะว่าจิตประภัสสร หรือความเป็นพระอรหันต์น้อยๆ ชั่วคราวชั่ว ขณะนี้ช่วยคุ้มครองให้เรารอดอยู่ได้ด้วยความเป็นประภัสสรชนิดนี้ รู้จักเสียสิ รู้จักพืชพันธุ์ของพระอรหันต์ เมล็ดพืชพันธุ์ของความเป็นพระอรหันต์ คือ จิตประภัสสรตามธรรมชาติ ถ้าเรามาเพาะ มาปลูก มาหว่าน มาพรวนดิน รดน้ำเสียให้มันเจริญงอกงามเป็นประภัสสรตลอดกาล เรื่องก็จบ คือเป็นพระอรหันต์โดยสมบูรณ์ เมล็ดพืชแห่งความเป็นพระอรหันต์นั่นก็คือจิตประภัสสรตามธรรมชาติ มาทำภาวนาให้กลายเป็นจิตที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอีกต่อไป ก็เลยเป็นประภัสสรตลอดกาล นี่เป็นพระอรหันต์แท้ พระอรหันต์สมบูรณ์ ที่เรียกว่าวิมุตหลุดพ้นโดยแท้จริง เรียกว่าเจโตวิมุต ปัญญาวิมุต ทำให้เป็นพระอรหันต์ ถ้าเก่งในทางบังคับจิตที่เรียกว่าวิโมกข์ บังคับได้คล่องแคล่วในการเข้าการออก การให้เป็นอะไรก็ได้นี่ เขาเรียกว่า อุภโตภาควิมุตติ อุภโตภาควิมุตติ นี่คือมีเจโตวิมุต ปัญญาวิมุต มีความคล่องแคล่วว่องไวในการใช้กำลังของฌาน ของสมาธิ เจโตวิมุต ปัญญาวิมุต นั่นมีอยู่ส่วนหนึ่ง เรียกว่าวิมุต แล้วความคล่องแคล่วว่องไวของการเข้าการออก การใช้สมาธิ ใช้ฌาณ ใช้สมาธิ ใช้สมาบัติ นี่มันอีกส่วนหนึ่ง ก็เลยเรียกว่ามีอยู่สองส่วน ถ้าเป็นไปได้ถึงขนาดนี้ก็เป็นชั้นดีเลิศ อุภโตภาควิมุตติ ถ้ามีอย่างนั้น ถ้าไม่ถึงอย่างนั้นก็เป็นเพียงเจโตวิมุต ปัญญาวิมุต ตามธรรมดา มันจะมีเจโตวิมุต เพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ มีปัญญาวิมุตเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะของไอ้สองอย่างนี้มัน มันเนื่องกัน แต่บางทีเขาไม่ค่อยพูดถึง เพราะเขาไปเพ่งเล็งว่าอะไรออกหน้าก็เรียกว่าวิมุตชื่อนั้น ถ้าดูให้ดีแล้ว แม้พระอรหันต์สุขวิปัสสกนี่ท่านก็มี จะมีทั้งเจโตวิมุต และปัญญาวิมุต แต่ว่าปัญญาวิมุต มันออกหน้าๆ จนกระทั่งเจโตวิมุตไม่มีทางแสดงตัว ก็เรียกกันว่าสุขวิปัสสก แต่ที่จริงก็มีทั้งปัญญาวิมุต และเจโตวิมุต ทีนี้พระอรหันต์ธรรมดาต้องมีทั้งเจโตวิมุตปัญญาวิมุต และก็หลุดพ้นในอำนาจวิมุตนี้ แต่ถ้าท่าน ถ้าท่านเป็นผู้เก่งกล้าแคล่วคล่องว่องไวในการใช้กำลังฌาน กำลังสมาบัติด้วยแล้วท่านมีคุณสมบัติเพิ่มขึ้นมาอย่างหนึ่งเลยเรียกว่า อุภโตภาควิมุตติ เรื่องของพระอรหันต์ก็จบในขั้นที่เป็นอุภโตภาควิมุตติ นี่เรื่องพระอรหันต์จบ วันนี้เราพูดกันถึงเรื่องของพระอรหันต์เพราะว่ามันเป็นวันพระอรหันต์ ถ้าท่านทั้งหลายที่มาแต่ที่ไกลโดยเฉพาะ พวกที่มาแต่ไกลโดยเฉพาะ ให้สนใจดีๆ ให้ได้รับความรู้เรื่องนี้ แล้วท่านก็จะได้รับประโยชน์คุ้มค่าที่มาไกล ที่เหนื่อยมาก แพงมาก ลำบากมาก แล้วยมบาลก็จะมาตอแยไม่ได้ เพราะว่าเราใช้เวลาเป็นประโยชน์ถูกต้องที่สุด และอาตมาก็รอดตัวเพราะว่าไม่ได้ทำให้ท่านทั้งหลายเสียเวลาเปล่า ถ้าท่านทั้งหลายมาแล้วมีประโยชน์คุ้มค่า อาตมาก็ไม่ถูกยมบาลตอแยเหมือนกัน เพราะว่าเรามีเหตุผลที่จะแสดงว่าเราได้ใช้เวลาให้คุ้มค่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันคุ้มค่า แม้อดนอนคืนหนึ่งมันก็คุ้มค่า จะมองกันในแง่ไหนก็คุ้มค่า คิดว่าอดนอนเฉยๆ นี่มันก็เป็นการฝึกความเข้มแข็งแห่งจิต เดี๋ยวนี้เราไม่ได้อดนอนเปล่า เรามาอดนอนเพื่อศึกษา มาเพื่อทำความเข้าใจเรื่องของพระอรหันต์ ดังนั้นเราจึงมีประโยชน์ ได้รับประโยชน์คุ้มค่า ไม่มีทางที่จะตำหนิได้เลย เป็นอันว่าเรื่องของพระอรหันต์ที่มีประโยชน์ที่สุด ที่เราจะต้องรู้ในฐานะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เราก็ได้ทำแล้ว ได้ทำความเข้าใจกันในส่วนหลักวิชาแล้วเป็นอย่างน้อย และก็นำไปสู่การปฎิบัติ ปฎิบัติด้วยการมองเข้าไปที่จิตใจ รู้เรื่องนี้แล้ว ก็รู้จักที่จะเทียบเคียงคำนวณที่ตัวความทุกข์ ที่ตัวกิเลสนั่นแหละ เมื่อกิเลสใด ความทุกข์ใดมีอยู่ เท่ากับคำนวนดูอยู่ ถ้ามันไม่มีจะเป็นอย่างไร มันก็สบาย มันก็ไม่มีความทุกข์ นี่เป็นสันทิฏฐิโกได้ เรียกว่า สวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม สันทิฏฐิโก ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวไว้ดีแล้วนี้ต้องเป็น สันทิฏฐิโก ถ้ายังไม่ถึงสันทิฏฐิโก เราก็ยังไม่ถึงธรรมที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้ดีแล้ว คือเราไม่เข้าใจนั่นเอง เอาละเป็นอันว่าสมควรแก่เวลาแล้วในการบรรยายครั้งสุดท้ายนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายมีความรู้ มีความเข้าใจ มีความเห็นแจ้ง และมีกำลัง ความกล้าหาญ ความเชื่อแน่ สำหรับที่จะได้นำไปประพฤติปฎิบัติ และก็จะเกิดความก้าวหน้าตามทางของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นทั้งหมดของมนุษย์เรา เป็นยอดสุด เป็นอันดับสุด เป็นสิ่งสูงสุด ของความเป็นมนุษย์ของเรา ธรรมะเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้