แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายธรรมะปริทัศน์โดยพื้นฐานเป็นครั้งที่ ๓ นี้ เราจะพูดกันถึงตัวสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ครั้งที่แล้วๆมาเราก็พูดถึงไอ้ความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องมีธรรมะ ให้รู้ว่าว่าธรรมะแปลว่าธรรมะ จะให้อะไรแก่เรา เป็นการปลุกความสนใจ หรือความต้องการในธรรมะมาพอสมควรแล้ว พอสมควรที่จะให้ท่านทั้งหลายสนใจในสิ่งที่เรียกว่าธรรมะให้ยิ่งขึ้นไป ดังนั้นเรามาพูดกันถึงเรื่องตัวตนแห่งธรรมะ หรือตัวธรรมะโดยแท้จริงนั้นให้ชัดเจน แจ่มแจ้ง เต็มที่กันเสียที
การตั้งปัญหาว่าธรรมะคืออะไรนี้ มันมีขอบเขตกว้างขวางมาก เพราะว่าคำว่าธรรมะมันหมายถึงทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไร เราก็พยายามที่จะเข้าใจความหมายของธรรมะในฐานะเป็นทุกสิ่ง และความหมายของธรรมะในฐานะเฉพาะที่เราจะต้องใช้ เพื่อประโยขน์แก่การดับทุกข์ของเรา นี่เรียกว่าพูดถึงธรรมะปริทัศน์ คือมันกว้างครอบคลุมไปหมด และก็ในขั้นที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้น เมื่อศึกษาอะไรให้ๆเต็มที่ดีที่สุด ฉะนั้นโดยหลักที่ใช้กันอยู่ในวงการศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนานี้ เขาจะแบ่งแยกออกเป็นสองซีก คือศึกษาโดยพยัญชนะ คือตัวหนังสือ โดยคำพูด แล้วก็โดยอรรถะ คือโดยความหมายของมัน นิยมใช้กันมาอย่างนี้ ส่วนเรื่องอื่นๆที่นอกไปจากนั้นมันก็รวมอยู่ในคำว่าอรรถะ คือความหมายของมัน คำว่าธรรมะในภาษาบาลีโดยพยัญชนะนี้มันใช้ว่าธรรมะ แต่ความหมายของมันหมายถึงธรรมะก็ได้ ธรรมชาติก็ได้ ธรรมดาก็ได้ แม้โดยพยัญชนะ ธัมโม ชา-ติ ธัมโม ธรรมะ แปลว่าธรรมดา เรามีการเกิดเป็นธรรมดา ธัมโม แปลว่าธรรมชาติ ธรรมะแปลว่าธรรมชาติ ที่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็มี ธรรมะหมายถึงธรรมะสำหรับศึกษาและปฏิบัติก็มี ก็ใช้กันอยู่อย่างนี้ตามที่เห็นอยู่อย่างแน่นอนในพระคัมภีร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะคัมภีร์พระไตรปิฏกซึ่งเป็นต้นตอชั้นแรก
ทีนี้มาดูถึงประชาชนสมัยนั้นเขารู้จักธรรมะกันในลักษณะอย่างไร ไม่มีใครบอกเราได้ นอกจากเราจะสังเกตศึกษาดูจากที่ข้อความทั้งหลายที่มันมีอยู่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมสังเกตดูอย่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นคำที่ใช้กันอยู่อย่างรู้ความหมายของคำนั้นโดยถูกต้อง เข้าใจตรงกันหมด อย่างเช่นว่าประชาชนพบกับเพื่อนประชาชนด้วยกัน พวกคนวัดคนวาก็จะถามกันว่าท่านชอบใจธรรมะของใคร คล้ายๆว่าชอบใจธรรมะของพระศาสดาองค์ไหน ในพุทธกาลมีศาสดามากเต็มไปหมด ที่คู่แข่งขันของพระพุทธเจ้าคือศาสดาทั้งหกที่ว่า สอนเป็นหลักต่างๆๆกันไป มีพระพุทธเจ้าอีกด้วย และมีอื่นๆอีกด้วย มีศาสดามาก เขาจะถามกันว่าท่านชอบใจธรรมะของใคร คนนั้นมันก็ตอบตามที่เขาชอบใจสิ ชอบใจธรรมะของพระสมณโคดม ชอบใจธรรมะของนิครนถ์นาฏบุตร ชอบใจธรรมะของสัญชัยเวลัฎฐบุตร เป็นต้น แต่ถึงแม้นักบวชต่อนักบวชพบกัน เขาถามกันเขาก็ถามด้วยคำๆนี้แหละ ท่านชอบใจธรรมะของใคร เช่นเรื่องพระอัสสชิพบกับพระโกลิตะ หรืออุปติสสะ อุปติสสะที่จะเป็นพระสารีบุตร ก็ทักถามด้วยคำพูดนี้ ว่าท่านชอบใจธรรมะของใคร หรือนักบวชสนทนากับประชาชนเขาก็ถามแต่คำๆนี้ มันเป็นคำที่ใช้สำหรับหมายถึงระบบคำสอนของศาสดาองค์ใดองค์หนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง ไม่ต้องพูดกันมาก นี่คือคำว่าธรรมะที่เขาใช้กันอยู่ จะมีความหมายเป็นที่รู้ทั่วกันไปหมดภายในวงศาสนาหนึ่ง หรือว่าระหว่างศาสนาต่อศาสนาหนึ่ง
ฉะนั้นเรามาวินิจฉัยดูว่าที่เขาเรียกว่าธรรมะนั้นคืออะไร มันคงเป็นที่รู้กันมาแต่ก่อนหน้าโน้น ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ครั้งกระโน้นว่าคือเป็นระบบการปฏิบัติที่เขาคิดว่าเขา ว่าๆมันจะช่วยเขาได้ ทุกคนต้องการระบบปฏิบัติ หรือความรู้ด้วยก็ได้ มันรวมอยู่ในนั้น ที่จะช่วยเขาได้ ให้เขามีความสุข เมื่อถามว่าชอบใจธรรมะของใคร ก็เท่ากับว่าถามว่าชอบใจธรรมะปฏิบัติที่จะช่วยดับทุกข์ได้อย่างที่ใครสอนๆ นี่เรียกว่าเราไม่เอาเรื่องราวหรือการบัญญัติในชั้นหลังเป็นหลักเกณฑ์ เอาเรื่องที่เขาใช้พูดกันอยู่จริงแต่ครั้งกระนู้นเป็นหลักเกณฑ์ ก็มีคำว่าธรรมะใช้ถึงระบบปฏิบัติที่เป็นที่พอใจของเขา จะช่วยเขาได้ นี่ต่อมาเราเข้าใจความหมายคำว่าธรรมะ มากกว่านั้นๆ มากๆๆ จนในที่สุดพบว่าคำว่าธรรมะคำเดียวนี่หมายถึงทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไร ในบรรดาสิ่งต่างๆที่มนุษย์จะรู้จักได้ หรือจะเอามาพูดจาได้ จะบัญญัติขึ้นมาอะไรก็ตาม ทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร ได้แก่คำว่าธรรมะ ธรรมะคือทุกสิ่ง
อย่างเช่นมันมีคำที่กล่าวไว้เป็นหลักในชั้นหลังๆ กุศลาธรรมา ธรรมะที่เป็นกุศล อกุศลาธรรมา ธรรมะที่เป็นอกุศล อัพยากตาธรรมา ธรรมะที่กล่าวไม่ได้ว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล มันก็เลยหมด ไม่มีอะไรที่จะเหลือไว้ให้สำหรับจะไม่ใช่ จะไม่ๆถูกเรียกว่าธรรมะ นี่เดี๋ยวนี้มันก็เป็นการศึกษามาก กว้างไกลเกินจำเป็น เกินจำเป็น แต่มันก็ยังมีประโยชน์ คนธรรมดาสมัยโน้นเขาต้องการธรรมะเพียงแต่ว่ามันจะช่วยดับทุกข์ของเขาได้ หรือว่าเขาจะถือเป็นหลักประจำตัวเขาแล้วมันดับทุกข์ได้ นี่ก็พอแล้ว พูดกันอยู่แต่อย่างนั้น ท่านชอบใจธรรมะของใครๆ มันก็บอกอยู่ในตัวว่าไอ้ธรรมะนั้นมีประโยชน์คือดับทุกข์ได้ ดับทุกข์ของเขาได้ สรุปได้สั้นๆว่าธรรมะมันเป็นเครื่องดับทุกข์ ในความหมายอื่นอีกกี่ความหมาย อีกกี่สิบความหมายก็ตาม มันไม่จำเป็น มันไม่มีๆค่า เพราะไอ้ค่า คุณค่าของมันอยู่ที่ดับทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นธรรมะในความหมายที่มนุษย์จำเป็นจะต้องมี ต้องรู้ ต้องมี คือเครื่องดับทุกข์ เป็นเครื่องดับทุกข์
ขอให้เราใช้ความหมายนั้นแม้ในเวลานี้ ในปัจจุบันนี้ ศึกษาธรรมะคือศึกษาเครื่องดับทุกข์ แม้ในนักศึกษายุคปัจจุบันนี้ ยุคปรมาณู ยุควิทยาศาสตร์อะไรก็ตาม ธรรมะนั้นคือสิ่งที่ดับทุกข์ได้ แล้วก็เสาะแสวงหารวบรวมไว้ แล้วประพฤติปฏิบัติ หรือบอกสอนกันต่อๆไป มันก็พอ แต่ทีนี้มันๆมีเรื่องมากกว่านั้น มันมีเรื่องที่จะต้องเผยแผ่ออกไปในหมู่ชนชาติอื่น หรือว่าต้องการจะศึกษาให้สมอยากของสติปัญญาที่มันก้าวหน้า ก็เลยค้นคว้าๆศึกษา มันก็พบๆๆแง่มุมต่างๆที่เป็นคำอธิบาย หรือที่เป็นคำบัญญัติอะไรต่างๆ เกี่ยวกับธรรมะมากขึ้น
ที่อยากจะให้รู้ไว้ทีก่อนก็คือว่าไอ้เจ้าธรรมะนี่เป็นภาษาอินเดียโบราณ ภาษาโบราณในอินเดีย และใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ มันเข้าไปในประเทศไหน การเผยแผ่นำเข้าไปในประเทศไหน มันก็ยังใช้คำนั้นแหละ มันเปลี่ยนไม่ได้นี่ มันตั้งคำใหม่ก็ไม่ได้ ตั้งไม่ถูก หรือมันไม่พอ ในประเทศไทยเราก็มีคำว่าธรรมะๆใช้ ถึงแม้ว่าจะไปในประเทศอื่น ในฝ่ายตะวันออกเราก็ใช้คำว่าธรรมะ ทีนี้ครั้นมันจะต้องไปถึงไอ้ประเทศตะวันตก มันก็ต้องหาคำแปล เป็นประเทศ เป็นภาษาของประเทศนั้นๆ ปรากฎว่าน่าหัวที่สุดคือหาไม่ได้ หาคำต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ เป็นต้นนี้ จะมาเป็นคำแปลของคำว่าธรรมะ มันหาไม่ได้ มันหาได้แต่คำที่มันไม่มีความหมายพอ
ดูเหมือนว่าค้นกัน สอบสวนกัน ได้คำภาษาอังกฤษตั้ง ๓๒ คำของภาษาอังกฤษ จึงจะได้ความหมายของคำว่าธรรมะในภาษาบาลีอย่างครบถ้วน ๓๒ คำนี้ใช้ได้อย่างไร คำตั้ง ๓๒ คำจะมาพูดจาเรียงกันได้อย่างไร มันก็ไม่ได้ มันก็ต้องยอมแพ้ ก็ต้องใช้คำว่าธรรมะ ภาษาบาลีโบราณเอาไปใช้ในภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ มันก็เลยไปอยู่ในปทานุกรมของประเทศนั้นๆ คำว่าธรรมะ เพราะว่ามันแปลไม่ได้นี่ คำบาลี หรือสันสกฤตก็ตาม คือภาษาอินเดียโบราณไปใช้เป็นคำของๆตน เป็นภาษาของตนๆ นี่คือคำว่าธรรมะเป็นภาษา ในภาษาอินเดียโบราณ ประหลาดมหัศจรรย์จนถึงกับว่าแปลเป็นภาษาอื่นโดยเฉพาะคำๆไม่ได้ มันแปลว่าระเบียบก็ได้ แปลว่าคำสั่งสอนก็ได้ แปลว่าความจริงก็ได้ แปลได้หมด เพราะเหตุว่ามันหมายถึงทุกสิ่ง นี่ท่านมุ่งหมายถึงทุกสิ่ง ก็ไม่รู้จะเอาอะไรกัน ก็ต้องเลือกเอาเฉพาะที่มันจะใช้มันเป็นประโยชน์ได้ มันจึงเอาความหมายที่ว่าเป็นเครื่องดับทุกข์ เป็นเครื่องดับทุกข์ได้ ตามความหมายของคนโบราณในประเทศอินเดียที่เขาใช้กันอยู่ มันก็ถามเพื่อนกันว่าท่านชอบใจธรรมะของใคร เคยพบเขาพยายามที่จะใช้คำว่า สิ่ง เหมือนกันในภาษาไทยเรา คือคำว่า Thing Thing ในภาษาอังกฤษ แต่แล้วมันก็ไม่สำเร็จ ไม่สำเร็จประโยชน์ หรือมิอาจจะใช้ได้ เช่นเดียวกะในภาษาไทยนี่เราไม่อาจใช้คำว่า สิ่งๆ กับคำว่าธรรมะ ภาษาอังกฤษเขาก็ไม่อาจใช้คำว่า Thing กับคำว่าธรรมะ อันที่จริงมันอาจจะเป็นคำที่มีรากศัพท์อันเดียวกันก็ได้ ผมไม่แน่ใจ ผมสันนิษฐานเอา คำว่า Thing ในภาษาอังกฤษที่ใช้กันอยู่มันคงจะรากศัพท์เดียวกับคำว่าธรรมะ คือ ธะระๆ (นาทีที่ 17:40) แปลว่าสิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง หรือว่ามันจะทรงตัวอยู่ได้ก็แล้วกัน โดยตัวมันเอง หรือโดยเหตุปัจจัยของมันเอง แต่ถ้ามันมีเหตุปัจจัยของมันเองเข้ามา มันก็กลายเป็นตัวมันเองหมด ฉะนั้นเป็นสิ่งที่มันทรงตัวอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง นี่คือคำว่า Thing Thing ในภาษาฝรั่ง ซึ่งเขาพยายามที่จะใช้เป็นคำแปลของคำว่าธรรมะ แต่แล้วมันก็ไม่ได้ มันไม่ดี มันไม่เหมาะ มันไม่ดี ในที่สุดก็ใช้คำว่าธรรมะ นี่เราจะถือว่าเป็นความศักดิ์สิทธิ์พิเศษของคำว่าธรรมะ เพราะมันแปลเป็นภาษาอื่นไม่ได้ นี่มันจะแปล จะไปสู่ประเทศไหน ภาษาไหน ในปัจจุบันนี้ทั่วไปทั้งโลกมันก็ต้องใช้คำว่าธรรมะอยู่นั่นเอง สิ่งที่ทรงตัวอยู่ สิ่งที่เป็นตัวมันเอง หรือสิ่งที่มันเป็นเช่นนั้นเองนี่คือธรรมะ
ทีนี้ผมสังเกตเอาเอง รวบรวมเอาเองจากแง่มุมต่างๆที่พบในพระบาลีทั้งหลาย ผมเลยพูดขึ้นว่า ธรรมะนั้นมันมี ๔ ความหมาย มีความหมาย ๔ ความหมาย หรือ ๔ อย่าง ธรรมะคือตัวธรรมชาติ ธรรมะคือตัวกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลที่เกิดมาจากหน้าที่นั้น เอามาใคร่ครวญดู เออ มันก็ได้เหมือนกัน บรรดาสิ่งต่างๆที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ มันก็รวมอยู่ใน ๔ ความหมายนี้เท่านั้น ไม่ออกไปจาก ๔ ความหมายนี้ได้ จึงได้เสนอขึ้นมาแก่สังคมนักศึกษาของพุทธบริษัท ปรากฎว่าไม่มีใครค้านให้มันพังทลายลงไปได้ แล้วก็คนมีเป็นอันมากเห็นด้วยแล้วก็รับเอาไปใช้ เมื่อคำอธิบายนี้แปลเป็นภาษาต่างประเทศกลับได้รับความนิยม จะมากกว่าในประเทศไทยเสียอีก
ธรรมะ สิ่งที่มีความหมาย ๔ ความหมาย คือตัวธรรมชาติทั้งปวง ตัวกฎของธรรมชาติทั้งปวงที่มีอยู่ในธรรมชาตินั้นๆ ตัวหน้าที่ นี่สำคัญมาก มันจะเป็นตายกันก็ตรงนี้ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติแก่สิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตมีหน้าที่ที่ต้องประพฤติตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ ธรรมะคือผลจากหน้าที่ ถ้าเราไปดูภาษา ดูปทานุกรมภาษาอินเดียปัจจุบัน เขาก็แปลธรรมะว่าหน้าที่ เขาไม่ต้องแปลเป็น ๔ อย่างๆเรา ว่า เขาใช้คำว่าหน้าที่ แล้วมันก็ตรงกับที่เรามุ่งหมาย คือเป็นอย่างหนึ่งใน ๔ อย่าง ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลจากหน้าที่ นี่เห็นได้ว่าในความหมายที่ ๓ คือหน้าที่นี่มันสำคัญที่สุด จึงเอามาถือเป็นหลัก คำแปลหลักของคำว่าธรรมะ หน้าที่คือสิ่งสำคัญที่ว่าถ้าไม่ทำแล้วมันตาย ใครลองไม่ทำหน้าที่ของตนๆ มันก็ตายแหละ มนุษย์ก็ต้องตาย สัตว์เดรัจฉานก็ต้องตาย ต้นไม้ก็ต้องตาย ลองไม่ทำหน้าที่ ตัวหน้าที่ๆทำให้รอดชีวิตอยู่ได้จึงมีความสำคัญมาก เอามาใช้เป็นความหมายของคำว่าธรรมะในอันดับสูงสุด ธรรมะคือหน้าที่ๆทุกคนจะต้องประพฤติ เพื่อความรอดของตนเอง
ฉะนั้นการที่ชาวอินเดียสมัยดึกดำบรรพ์นั้นเขาทักทายกันว่าท่านชอบใจธรรมะของใคร ท่านชอบใจธรรมะของใครนี้ มันคือหน้าที่นั่นเอง เขาถามถึงเรื่องหน้าที่ๆพระอาจารย์คนใดคนหนึ่งเขาแนะไว้ว่าทำอย่างไร เราอยากจะรู้ เราอยากจะทราบ เอามาปฎิบัติ กำจัดปัญหาทั้งปวงออกไปเสีย ผมเดาเองว่าไอ้ความหมายคำว่าหน้าที่ๆนี่จะเป็นความหมายแรกที่สุดที่เกิดขึ้นมาในหมู่มนุษย์ เพราะมนุษย์มันก็มีชีวิต มันมีความคิด ความนึก มันก็ต้องนึกถึงสิ่งที่จำเป็นจะต้องนึก คือที่ธรรมชาติมันบีบบังคับให้ต้องนึกโดยไม่รู้สึกตัว เขาก็นึกไปในทางที่ว่าอะไรมันสำคัญที่สุดของๆพวกเรา ในที่สุดเขาก็คงพบคำว่าหน้าที่ สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ๆ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด แล้วเขาก็เรียกออกมาด้วยภาษาของเขาในสมัยนั้น ในยุคนั้น มันคงได้แก่คำว่าธรรมะนั่นเอง หน้าที่สำหรับสิ่งที่มีชีวิต ใช้กันสืบมาๆๆจนกระทั่งพระพุทธเจ้าเกิดขี้นก็ใช้คำนี้อีก แต่ว่ามีคำอธิบาย หรือความหมายที่ดีกว่าๆเท่านั้นเอง ความหมายรวมก็คือว่ามันหน้าที่ คือต้องทำให้รอดอยู่ได้ ทำอย่างไรๆ อธิบายต่างๆกันไปตามลัทธินั้นๆ พระพุทธเจ้านี่เราถือว่าเป็นบุคคลสุดท้ายที่จะรู้อะไรถึงที่สุด ท่านก็บอกความหมายของคำนี้ถึงที่สุด หน้าที่ๆประเสริฐที่สุดคืออย่างไร คือไปถึงที่สุดที่มนุษย์จะไปกันได้ บรรลุมรรคผลนิพพานไปนู่นเลย นี่เพื่อจะให้มันใช้ได้ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนปลาย
เราจึงแบ่งหน้าที่ หรือความหมายของหน้าที่ออกเป็น ๒ ชั้น คือว่าหน้าที่ที่จะให้รอดอยู่ได้ คือไม่ตาย นี่หน้าที่หนึ่ง อีกหน้าที่ๆว่าเมื่อรอดอยู่ได้ไม่ตายแล้วจะทำอย่างไรต่อไป คือทำให้ดีที่สุด ถึงที่สุด คือบรรลุมรรคผลนิพพาน บางคนอาจจะถือว่าที่รอดอยู่ได้เรียกว่าโลกียธรรม ที่ไปถึงที่สุดโน่นเรียกว่าโลกุตรธรรม มันก็ได้เหมือนกัน แต่แล้วอย่าลืมว่ามันเป็นหลักเกณฑ์อันเดียวกัน คือต้องทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ จึงจะรอดอยู่ได้ แล้วก็ทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติที่สูงขึ้นไปๆจนบรรลุมรรคผลนิพพาน มันก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เราไม่อยากจะแบ่งเป็นโลกียะ โลกุตระ เพราะว่ามันสายเดียวกัน ทุกคนจะต้องดิ้นรน ทำเพื่อให้รอดได้ทั้งนั้น ความหมายอยู่ที่ความรอด บางคนอาจจะเห็นว่าเราบัญญัติตามชอบใจ บัญญัติธรรมะ ตีความหมายตามชอบใจ แต่แล้วเขาก็ไม่มีหนทางที่จะค้าน ค้านให้มัน และมันไม่มีเหตุผล หรือว่าใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ มันพิสูจน์ว่ามีเหตุผล และมีประโยชน์ ที่ทำให้ง่าย ให้สะดวกแก่การศึกษาธรรมะทั้งหมด ดังนั้นผมก็จะขอร้องว่าให้ทุกคนช่วยจำคำอธิบายนี้ไว้ให้ดี ธรรมะ ๔ ความหมาย ศึกษาให้เข้าใจแจ่มแจ้งจริงๆเถิด จะมีประโยชน์ที่สุดในการที่จะศึกษาธรรมะต่อไปข้างหน้า คล้ายๆกับเราจับไอ้ระบบของมันได้ หัวๆๆข้อ หรือหัวขั้วที่เป็นประธาน เราจับมันได้ ๔ หัวข้อแล้ว ต่อไปอะไรมันเข้ามา มันก็เข้ามาอยู่ใน ๔ หัวข้อนี้ทั้งหมด นี่มันจะเข้าใจอีกหลายอย่างหลายเรื่องที่เราเข้าใจไม่ได้อยู่ เข้าใจได้
แม้กระทั่งๆคำว่าพระเจ้า หรือพระเป็นเจ้ามันก็รวมอยู่ใน ๔ ความหมายนี้ เดี๋ยวนี้เรากำลังต่อสู้กับศาสนาอื่นที่เขามีพระเจ้าอย่างบุคคล เราก็มีพระเจ้า แต่ไม่ใช่บุคคล เป็นกฎของธรรมชาติ ธรรมชาติ กฎของธรรมชาตินั่นแหละคือสิ่งที่มีหน้าที่ หรือมีความหมายอย่างเดียวกับคำว่าพระเจ้า พระเป็นเจ้า ผู้สร้าง พระเป็นเจ้าผู้ควมคุม พระเป็นเจ้าผู้ทำลายล้าง พระเจ้าที่เหนือทุกสิ่ง พระเจ้าที่อยู่ในที่ทั่วไป พระเจ้าที่รู้ทุกสิ่ง คือสามารถสร้างได้ทุกสิ่ง อย่างนี้เป็นต้น เขาพูดเป็นพระเจ้าอย่างบุคคล ทำอย่างนั้นได้ เราไม่เชื่อ เราต้องเป็นพระเจ้าชนิดนี้ คือกฎของธรรมชาติ ไม่ใช่บุคคลที่จะทำอย่างนี้ได้ พระเจ้าอย่างบุคคล หรือมีความรู้สึกอย่างบุคคล มันก็ทำไม่ได้ ที่มันจะทำอะไรอย่างนี้ ครบถ้วนอย่างนี้ได้ แต่เขาก็ถือกันอยู่
ในโลกนี้คนถือพระเจ้าอย่างที่เป็นบุคคล หรือมีความรู้สึกอย่างบุคคลมากๆ และมากที่สุด มากกว่าที่จะถือพระเจ้าอย่างเป็นธรรมะ หรือเป็นกฎของธรรมชาติ ลองสำรวจดูว่า ศาสนาคริสเตียน ศาสนา เอามาตั้งแต่ศาสนาฮินดูโบราณ ศาสนาพราหมณ์ ต่อมาศาสนาอื่นกระทั่งศาสนายิว ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาอื่นที่มันแตกแขนงออกไปจากศาสนาเหล่านี้ ล้วนแต่มีพระเจ้าอย่างบุคคลกันทั้งนั้น พระเจ้าที่มีความรู้สึกเหมือนบุคคล อย่างบุคคล ในประเทศไทยเราก็รับนับถือศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดู มีพระเจ้าอย่างบุคคลมายึดถือเต็มไปหมด ทั่วไปหมด ถ้าเรามาพูดว่าพระเจ้าแท้จริงไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าแท้จริงเป็นกฎของธรรมชาติ จะทำอะไรได้ๆเต็มที่อย่างที่เขาจัดไว้ว่าเป็นหน้าที่ของพระเจ้า กฎของธรรมชาติจะทำได้ดีกว่า ก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อ คือไม่ค่อยมีใครยอมรับว่านี่ควรเรียกว่าพระเจ้า ก็อยากจะให้เรียกเป็นอย่างอื่น เช่นเราบอกว่า มันไม่ได้ที่คนจะไม่มีความรู้สึกว่าไม่มีพระเจ้า โดยที่เขายกคำว่าพระเจ้านี่ไปให้ศาสนาเหล่าโน้นเสียจนหมดสิ้น จนตัวเองไม่มีพระเจ้าใช้ นี่คือความโง่ของคนไทยเรา แม้จะมีพระเจ้า หรือสิ่งสูงสุด ใช้อยู่ก่อนคำว่าพระเจ้า พระเป็นเจ้าคือสิ่งสูงสุดกว่าใคร นั่นแหละมันใช้อยู่แล้วในหมู่คนไทยเรา ทีนี้พอชาวอินเดียก็มาก่อนชาวคริสต์ มาสอนลัทธิของเขาก็พูดถึงบุคคลชนิดนั้น จะเรียกเป็นภาษาไทยว่าอะไรดี คนไทยก็เอาคำว่าพระเจ้าให้เขายืมไปใช้ เขาก็เอาไปใช้เป็นพระเจ้าในศานาฮินดู แล้วเมื่อจนกว่าว่าศาสนาคริสต์ คริสตังเข้ามา เขาเอาคำว่า God God นี่เข้ามาอธิบายอย่างนั้นๆ จะใช้ภาษาไทยว่าอะไรดี คนไทยต้องบอกให้ ไม่อย่างนั้นคนฝรั่งจะรู้ได้อย่างไร คนไทยก็เสนอคำว่าพระเจ้าเข้าไปอีก เป็นคำแปลของ God ให้ฝรั่ง คริสตังเขายืมไป ยืมไปหมดจนตัวเองไม่มีใช้ เหลือแต่พระเจ้าในความหมายที่ว่าเป็นศาสนานั้นๆเขาจะสอนอย่างไร นี่คนโง่ แล้วมาบอกตัวเองว่าไม่มีพระเจ้า แล้วมาด่าผมว่าทำให้เป็นคริสเตียนไปแล้ว ทำพุทธให้เป็นคริสต์ไปแล้ว คือมีพระเจ้าไปเสียแล้ว
ทำไมไม่ดูว่าเรามีใช้อยู่ก่อน ให้เขายืมไปจนหมด จนไม่ได้ทวงคืน จนไม่มีๆใช้ ในความหมายนี้ แต่แล้วมันโง่ เหลือโง่ ที่มันไม่ดูว่าในๆปัจจุบันนี้มีๆการพูดว่าข้าพเจ้าอยู่ทุกคน คนไทยทุกคนจะมีคำพูดว่าข้าพเจ้าอยู่ทั้งนั้นแหละไม่ๆว่าคนพวกไหน ข้าพเจ้า คือข้าของพระเจ้า ใช้อยู่ทุกคนเลย แล้วกลับว่าตัวเองไม่มีพระเจ้า นี่มันโง่หรือมันบ้ากี่มากน้อยที่จะพูดว่าเราไม่มีพระเจ้า ใครบ้างที่ไม่ใช้คำว่าข้าพเจ้าแทนในนามของตัว ฉะนั้นเราก็มีพระเจ้า เราเป็นข้าของพระเจ้า พระเจ้าเป็นบุคคลสูงสุด ในศาสนาไหนก็มีพระเจ้า คือสิ่งสูงสุดนั่นเอง นี่เรามีพระเจ้าเป็นบุคคล มีความรู้สึกอย่างบุคคลเหมือนพวกนั้นไม่ได้ เราก็แยกตัวมาเอาธรรมะเป็นพระเจ้า ธรรมะๆคำนี้เป็นพระเจ้า พระพุทธเจ้าพอท่านตรัสรู้ธรรมะแล้ว ท่านก็ถือธรรมะเป็นสิ่งสูงสุด เป็นสิ่งเคารพสูงสุด ประกาศว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ถือธรรมะเป็นที่เคารพ นั่นแหละคือพระเจ้า คือธรรมะที่แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังทรงเคารพ เราก็ยังเคารพธรรมะในฐานะเป็นพระเจ้า ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่มีความรู้สึกอย่างบุคคล พระเจ้ามีความรู้สึกอย่างบุคคลมันของศาสนาอื่น ไม่ใช่ของพุทธศาสนา ฉะนั้นพระเจ้าเป็นสิ่งสูงสุดในพุทธศาสนา คือธรรมะที่พระองค์ พระพุทธเจ้าเองก็ทรงเคารพตั้งแต่วันที่ได้ตรัสรู้ใหม่ๆ คือพระเจ้าในพุทธศาสนาก็คือธรรมะ มีอะไรเหนือกว่านี้ ไม่มีๆๆอะไรเหนือกว่านี้แล้ว ก็ยังเรียกธรรมะในคำธรรมดา ธรรมดา ธรรม ธรรมะ นั่นแหละ
ขอให้มองดูว่าคำว่าธรรมะนี่มันใช้กับทุกสิ่ง นับตั้งแต่สิ่งสูงสุดที่สุดลงมาๆๆๆ กี่อย่างๆๆ จนกระทั่งว่ามาถึงขี้ฝุ่นเม็ดหนึ่งซึ่งไม่มีค่าอะไร มันก็ยังเรียกธรรมะอยู่นั่นแหละ จนกระทั่งถึงว่าว่าง ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ว่างไปหมดก็ยังเรียกว่าธรรมะอยู่นั่นแหละ ความมีสิ่งเหล่านี้ก็มีธรรมะ ความว่างจากสิ่งเหล่านี้ ไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็เรียกธรรมะ เพราะคำว่าธรรมะมันหมายความได้ทุกอย่าง อย่างที่กล่าวมาแล้ว หมายถึงสิ่งที่มนุษย์บัญญัติว่าดี หมายถึงสิ่งที่มนุษย์บัญญัติว่าไม่ดี และหมายถึงสิ่งที่มนุษย์บัญญัติไม่ได้ว่าดี หรือไม่ดี มันก็หมด แต่จริงธรรมะโดยแท้จริง ธรรมะ ธรรมชาติแท้ๆนั้น มันไม่ได้ดี หรือมันไม่ได้ชั่ว มันเป็นอย่างนั้นเอง มันเป็นอย่างเดียว ที่มาบัญญัติว่าดี บัญญัติว่าชั่ว นี่มนุษย์ต่างหากมันบัญญัติ บัญญัติใส่เข้าไปในธรรมชาติ แล้วแบ่งธรรมชาติเป็นธรรมะกุศล ธรรมะอกุศล ธรรมะอัพยากฤต นี่มนุษย์พูดเอาเองทั้งนั้น ตัวธรรมชาติแท้ๆ ธรรมะคำเดียว เป็นกลาง เป็นธรรมะเท่านั้น คือธรรมชาติเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่ามนุษย์พวกหนึ่ง สมัยหนึ่ง ลัทธิหนึ่ง ก็เอาธรรมะเป็นตัวตน เอาธรรมะเป็นอัตตา ธรรมะเป็นอาตมัน ก็ตามใจเขา มันลัทธิของเขา ลัทธินี้ พุทธศาสนานี้จะไม่เอาอะไรเป็นตัวตน โดยถือเป็นธรรมชาติทั้งนั้น ธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ผลจากหน้าที่ตามธรรมชาติ เป็นธรรมๆคำเดียว ธรรมะคำเดียว ที่ในส่วนที่มันเป็นธรรมชาตินั่นแหละ อย่าไปยึดถือเอามาเป็นตัวตนเข้า มันเหมือนกับโกง ปล้น จี้ กับธรรมชาติ เอามาเป็นตัวกู ของกู อย่างนี้มันเป็นคนโกง ไปเอาของธรรมชาติมาเป็นตัวกู ของกู และก็ได้เป็นทุกข์ สมน้ำหน้าคนโกง เพราะมันโกง เพราะมันโง่ เพราะมันโกง มันจึงได้เป็นทุกข์ โดยเอาธรรมชาติมาเป็นตัวตน หรือเป็นของของตน
นี่พุทธศาสนาก็ต้องถือให้ตรงตามหลักของพุทธศาสนา คือไม่มีตัวตน ธรรมชาติทั้งนั้น ธรรมชาติเท่านั้น ดีก็ธรรมชาติ ไม่ดีก็ธรรมชาติ นี่มนุษย์ว่าเอง ที่ไม่ได้บัญญัติว่าดี ไม่ดี ก็ธรรมชาติ ทั้ง ๓ อย่างนั้นคือธรรมะทั้งนั้น ก่อนนี้ไม่ได้แบ่งแยกเป็นดี หรือไม่ดี ธรรมชาติมันไม่มีความหมายที่จะเป็นดี หรือไม่ดี มันเป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติ สิ่งใดถูกใจมนุษย์ มนุษย์ก็ว่าดี ไม่ถูกใจมนุษย์ ก็ว่าไม่ดี หรือมันไม่รู้ได้ว่าดีหรือไม่ดี มันก็เรียกว่า ไม่พูดว่าดี หรือไม่ดี นี่มนุษย์ มันรู้เท่านี้ แล้วก็เอาส่วนที่ถูกใจนั้นแหละมายึดถือไว้ แล้วก็เลยมีความทุกข์ ไปหลงรัก พอใจในสิ่งใด มันก็เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา เพราะว่ามันหลงว่าเป็นตัวตน ของตนขึ้นมา
เพราะฉะนั้นเราบวช ได้รับคำสั่งสอนตั้งแต่ก่อนบวช หรือแรกบวชให้รู้เรื่องนี้ ให้รู้เรื่องว่าสิ่งทั้งปวงเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน คำสอนแรกที่ผู้เข้ามาบวชในพุทธศาสนาที่ทำกันมาแต่โบราณ เดี๋ยวนี้ไอ้คนโง่ๆมันชักจะไปเลิกวิธีนี้เสียแล้ว ไปเรียนอย่างอื่นแล้ว ไม่เรียนเรื่องยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง เป็นๆบทแรกที่จะต้องเรียนเมื่อเข้ามาบวช ถ้ายังถือตามแบบเดิมๆอยู่ คนเข้ามาบวช สิ่งแรกที่เขาได้เรียนก็คือบทนี้ ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง ยะทิทัง จีวะรัง ตะทุปะภุญชะโก จะ ปุคคะโล ธาตุมัตตะโก นิสสัตโต นิชชีโว สุญโญ คุณบวชที่วัดชลประทาน เรียนๆๆบทนี้ก่อนหรือเปล่า เปล่าใช่ไหม ไม่ได้เรียนหรือไร ไปเลิกมันเสียนี่ ไปเลิกของดี ไปเลิกหลักหัวใจพุทธศาสนาที่เขาให้เรียนตั้งแต่วันแรก เพื่อประกันความผิดพลาด หรือการหันเหออกไปนอกพุทธศาสนา แต่บ้านนอกยังเรียนอยู่ บ้านนอกที่ยังถือแบบบ้านนอกยังเรียนอยู่
เมื่อผมบวชก็เหมือนกันแหละ วันแรกที่อยู่วัดเขาก็ให้เรียนอันนี้ เรียนหลักหัวใจของพุทธศาสนาที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มันเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ สิ่งที่เรากิน ใช้ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยาก็ธรรมชาติ และตัวผู้กินเองก็ธรรมชาติ เด็กๆขี้ล้อมันก็เอาไปล้อเล่น เออ ธรรมชาติกินธรรมชาติโว้ย ธรรมชาติกินธรรมชาติ ธรรมชาตินุ่งธรรมชาติ ธรรมชาติห่มธรรมชาติ ธรรมชาติอยู่ธรรมชาติ หรือบางทีก็ใช้คำว่าธาตุ ธาตุกินธาตุ คนที่กินมันก็เป็นธาตุ สิ่งที่มันกินก็เป็นธาตุ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นิสสัตโต ไม่ใช่สัตว์ นิชชีโว ไม่ใช่ชีวะ สุญโญ ว่างเปล่าจากความหมายแห่งตัวตน เป็นหัวใจธรรมะชั้นลึกแห่งพุทธศาสนา เขาให้เรียนแต่วันแรกเข้ามาอยู่ว่าธรรมะคือธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีตัวตน ไม่มีของตน ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตน คือมันเป็นเพียงสักว่าธรรมะ ในความหมายว่าธรรมชาติ ธรรมะจึงหมายถึงทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไรในความหมายไหน เป็นวัตถุก็ได้ มิใช่วัตถุก็ได้ เป็นกิริยาอาการก็ได้ เป็นส่วนที่เป็นเหตุก็ได้ เป็นส่วนที่เป็นผลก็ได้ มันไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะ ถ้ามองเห็นข้อนี้ได้ก็เรียกว่ารู้มากทีเดียว ถ้ามองเห็นได้โดยประจักษ์แก่จิตใจนี่ เรียกว่าคนนั้นรู้ธรรมะมาก มากพอการทีเดียว แต่โดยมากไม่ค่อยรู้หรอก มันเพียงแต่ท่องได้ ท่องคำแปลได้ มันก็ไม่รู้
ถึงผมก็เหมือนกันแหละ เมื่อแรกเรียน เมื่อแรกบวช แรกเรียน ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ก็จำได้ ก็ว่าได้ แล้วก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาหมายความว่าอะไร ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นแต่สักว่าธาตุตามธรรมชาติ เป็นไปอยู่ เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ เราก็ไม่รู้ เดี๋ยวนี้มันค่อยๆรู้ ค่อยๆรู้ ตั้งหลายสิบปี มันจึงค่อยรู้มันหมายความว่าอะไร ที่ไม่ใช่ตัวตน หรือไม่ใช่ของตน เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ คือธรรมะตามธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ เพราะว่าเดี๋ยวนี้เรากำลังพูดกันถึงสิ่งที่เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ ไม่ได้พูดถึงนิพพานที่อยู่เหนือเหตุ เหนือปัจจัย คนที่บวชเข้ามานี่ ที่จะห่มจีวร ที่จะกินอาหาร ที่จะอยู่ที่อยู่อาศัย กินหยูกกินยานี่ คนที่เรียกว่าคนนี่ไม่ใช่คน สักว่าธาตุตามธรรมชาติ และสิ่งที่เอามากิน มานุ่ง มาห่ม มาใช้สอยมันก็สักว่าธาตุตามธรรมชาติ เพิ่งมองเห็นตัวจริงของธรรมะ ก่อนนี้มันพูดได้แต่เสียงที่พูด และตัวหนังสือที่อ่าน
ถ้าเรามันโชคดีมันได้เข้าใจสิ่งนี้เสียโดยเร็วนั่นแหละ จะเรียกว่าโชคดีมาก ประหยัดมาก รู้ธรรมะเร็ว ใช้สำเร็จประโยชน์ได้ จะมองไปในทิศทางไหนก็ให้เห็นว่าเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ นี่ส่วนที่เป็นโลก เป็นโลกทั้งโลก เป็นโลก ก้อนโลก สัตว์มีชีวิตที่มีอยู่ในโลก รวมกันเป็นโลก มันก็สักว่าธาตุตามธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ สิ่งเหล่านั้นมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ มิฉะนั้นจะต้องตาย ครั้นปฏิบัติหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติแล้ว ผลก็คือรอดอยู่ได้ มีชีวิตอยู่ได้ ตามความมุ่งหมายของธรรมชาติ ที่จะมีชีวิตรอดอยู่ได้ แล้วก็สืบพันธุ์อะไรไปตามเรื่อง ทำให้มันถูกต้องตามเรื่องของธรรมชาติ ก็เจริญๆ ที่เรียกว่าเจริญคือก้าวหน้าสูงขึ้นไปตามกฎของธรรมชาติ จนบรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นธรรมชาติอันสุดท้ายสักว่าธรรมชาติ พระนิพพานก็สักว่าธรรมชาติ เหมือนกับธรรมชาติอื่นๆ เป็นธรรมชาติตามธรรมชาติของธรรมชาติ
เมื่อจิตมันหลุดพ้นจากความโง่เขลาในกิเลสทั้งหลายแล้ว มันก็สัมผัสกับสภาพของพระนิพพาน ซึ่งก็เป็นธรรมชาติ นี่พูดแล้วมันก็น่าหัวว่าไม่มีอะไรนอกจากธรรมชาติ ธรรมชาติกินธรรมชาติ ธรรมชาติรู้ธรรมชาติ ธรรมชาติเสวยธรรมชาติ มันก็เป็นเรื่องที่น่าหัวคล้ายๆกับพูดเล่น ธรรมะคืออะไร คุณไปจับใจความเอาเองว่าธรรมะคืออะไร เรื่องนี้ผมกล้าท้าว่าไม่เห็นใครมาค้าน มาค้านไอ้การแบ่งธรรมะเป็น ๔ ความหมายนี่ไม่เห็นใครค้านเลย มีแต่หุบปากนิ่ง หรือมิฉะนั้นก็เห็นด้วย แล้วไปศึกษาให้เข้าใจ มันมีแต่ธรรมชาติ มีแต่กฎของธรรมชาติ มีแต่หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ มีแต่ผลที่เกิดจากหน้าที่ คิดในทางพุทธศาสนาเรา ท่านนิยม ท่านนิยมให้ดูที่ของจริง แบบสันทิฏฐิโก ต้องเห็นเอง เห็นจริง จึงมีระบบคำสอนที่สอนให้ดูเข้าไปข้างใน มองย้อนดูเข้ามาในตัวเรา จะพบธรรมะ ๔ ความหมายได้ก็จะดี ถูกต้องตามวิธีการ
ดูตัวเราให้หมดทุกส่วน ที่เรียกกันว่าร่างกายเรา ร่างกายก็ดี จิตใจก็ดี ที่เป็นรูปก็ดี ที่เป็นนามก็ดี ว่างั้น ขน ผม เล็บ ฟัน หนังทั้งหลายก็ดี จิตใจก็ดี ความคิดก็ดี ความนึกรู้สึกก็ดี มันเป็นสักว่าธรรมชาติ สักว่าตามธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟนี้จัดว่าธรรมชาติ จิตคิดนึกได้ก็เป็นธาตุ เป็นธาตุจิต ธาตุวิญญาน มโนธาตุ ก็เป็นตาม ก็เป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ร่างกาย และจิตใจนี่เป็นธรรมชาติ ทีนี้ร่างกาย และจิตใจนี้มันมีกฎของธรรมชาติยึดครองหรือควมคุมอยู่ ร่างกายของเราจึงเติบโตเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของธรรมชาติ ความรู้สึกคิดนึกเกิดขึ้นตามกฎของธรรมชาติ เมื่อสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดำเนินเป็นไปแล้ว มันก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ที่จะเกิดความรู้สึกนึกคิดอย่างนั้น อย่างนี้ขึ้นมา เป็นกิเลส โลภะ โทสะ โมหะขึ้นมา หรือว่าถ้ามันทำถูกวิธีของธรรมชาติ ฝ่ายตรงกันข้าม มันก็ไม่เกิดกิเลส มันก็ยังคงสงบอยู่ อย่าลืมว่าทุก ๆปรมาณูในร่างกายของเรานี่ก็ถูกควมคุมอยู่ด้วยกฎของธรรมชาติ มีกฎธรรมชาติควมคุมอยู่ที่นั่น จิตใจก็เหมือนกัน จิตใจ ความคิดรู้สึกคิดนึกของจิตใจทุกๆส่วน ทุกๆอนุภาคของมันก็มีกฎของธรรมชาติควมคุมจิตใจนั้นอยู่ ดูให้ดี ดูให้เห็นกฎของธรรมชาติที่ควมคุมชีวิต ร่างกาย อัตตภาพของเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องไปดูข้างนอกก็ได้ ดูข้างใน มันดูง่าย เพราะมันรู้สึกอยู่
ทีนี้ก็ดูความหมายที่ ๓ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ในร่างกายนี้ ชีวิตจิตใจนี้มันก็ทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ อยู่เป็นปกติวิสัย บางอย่างไร้สำนึก ใต้สำนึก ก็ทำได้ มันหายใจ หรือมันสูบฉีดโลหิต หรือมันอะไรกันอยู่ได้โดยกฎของธรรมชาติ โดยไม่ต้องไปเจตนา มันทำหน้าที่อยู่โดยไม่ต้องเจตนา หรือใต้สำนึกนี่ก็มี ที่ร่างกายมันจะรอดไปได้ ทีนี้บางอย่างมันก็ต้องทำด้วยตั้งใจ ด้วยเจตนาด้วยพยายาม (นาทีที่50:12 – 50:18 มีเสียงแทรก) ทำหน้าที่ประเภทที่ว่าเป็นสำนึก และมันยังต้องทำหน้าที่ๆโตกว่านั้น ใหญ่กว่านั้น (นาทีที่50:30) คือต้องไปหาอาหารมา แล้วจะได้กินเข้าไป ต้องกินเข้าไป ก็ให้ถูกต้อง ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ นี่เรียกว่าปฏิบัติหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติอย่างถูกต้อง แล้วก็อยู่ได้ รอดชีวิตอยู่ได้ ถ้าเราทำหน้าที่เหล่านี้ หรือทำไม่ได้ ก็ตาย คนก็ตาย สัตว์ก็ตาย ต้นไม้ต้นไร่มันก็ตาย ถ้ามันทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติไม่ได้ ทีนี้มันทำหน้าที่แล้ว มันก็ได้รับผลจากหน้าที่ ตามสมควรแก่หน้าที่ คือมีชีวิตที่เป็นสุขสบายบ้าง มีชีวิตที่ผิดพลาดไม่เป็นสุข ไม่สบายเลยบ้าง เดือดร้อนอยู่บ้าง สบายดีอยู่บ้าง อะไรก็ตาม นี่เรียกว่าผลจากหน้าที่ มันมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราทำหน้าที่สูงสุด มันก็ได้รับผลสูงสุด ปราศจากความทุกข์โดยประการทั้งปวง (นาทีที่ 51:34-51:51 มีเสียงแทรก) มันก็ง่ายที่จะมองดูไปข้างนอกว่าในคนอื่นมันก็เป็นอย่างนั้น เราดูในภายในของเราให้ชัดเจนเสียก่อน มันก็ง่ายนิดเดียวที่จะดูในคนอื่นมันก็เป็นอย่างนั้น นี่มันจึงเห็นทั่วไปหมดทั้งโลกได้ ทุกคนในโลกนี้มีเรื่องอย่างนี้ ทั้งโลกมันก็มีเรื่องอย่างนี้ (นาทีที่ 52:10-52:45 มีเสียงแทรก) น่าประหลาดไหม คำว่าธรรมะคำเดียว มันเป็นได้อย่างนี้ มันเป็นไปได้ทุกอย่างทุกประการ ที่เป็นปรากฎการณ์ทั้งหลายทั้งปวงในโลก ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะ แล้วมันยังประหลาดอย่างยิ่งกว่านั้น แม้ที่มันตรงกันข้ามมันก็ยังคือธรรมะ นี่เป็นพุทธศาสนาจึงไม่เหมือนกับลัทธิอื่น ลัทธิอื่นเขาก็มีว่าอย่างนี้เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวตน แต่สิ่งที่ตรงกันข้ามต้องเป็นตัวตน ก็คือธรรมชาติที่เป็นตัวตน แต่พุทธศาสนาเราไม่เอาๆ สักว่าเป็นธรรมชาติ มันก็ยังไม่ใช่ตัวตนอยู่นั่นเอง มีความเป็นต่างๆอย่างที่เราเห็นอยู่แล้วทั้งหมดทั้งสิ้นว่าเป็นธรรมชาติ
ทีนี้สมมุติว่าก็ได้ สิ่งที่ตรงกันข้ามจากนั้น จะว่ายังไงก็ยังคงเป็นธรรมชาติ ยอมยกให้ว่าเหนือธรรมชาติ ผิดธรรมชาติ และเป็นตัวตน ฝรั่งเขามีคำว่าเหนือธรรมชาติ Supernatural อย่างนี้เป็นต้น เขารู้ไปในทำนองนั้นว่ามีสิ่งที่เหนือธรรมชาติ แต่พุทธศาสนาไม่มี ไม่มี Supernatural มันอยู่ในระดับธรรมชาติเหมือนกันหมด นี่เราจะพูดกันเข้าใจ หรือไม่เข้าใจก็สุดแท้ มันอยู่ที่วิธีพูด การใช้คำพูด ไอ้เรานี่เป็นนักธรรมชาติ พุทธศาสนา และพุทธบริษัทนี่เป็นนักธรรมชาติ รู้จักธรรมชาติ รู้จนไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ นี่คือมันทั้งหมดที่ๆๆรู้ เปรียบเหมือนใบไม้ทั้งป่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเหมือนใบไม้ทั้งป่า ท่านรู้ แต่ที่เอามาสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว ใบไม้ทั้งป่าก็คือความรู้อย่างที่ว่านี้ ที่มันไม่จำเป็นจะต้องรู้ หรือปฏิบัติ มันก็มีอยู่ มันเอากันมาแต่ที่ว่ามัน เราจะต้องรู้ ต้องปฏิบัติ มันก็เหลือเท่ากับกำมือเดียว ใบไม้ทั้งป่ามีมากเท่าไหร่ ก็เลือกแยกธรรมชาติ แยกอะไรออกไป เดี๋ยวมันก็ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่พระพุทธเจ้าท่านไม่รู้ แต่ที่ท่านมาสอนเพื่อดับทุกข์มันมีกำมือเดียว
มีประโยคที่พวกคุณจะต้องจำไว้แม่นยำอยู่ประโยคหนึ่ง คือที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า แต่ก่อนนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ฉันบัญญัติเฉพาะความทุกข์ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น พูดก่อนๆก็ดี กำลังพูดเดี๋ยวนี้ก็ดี หรือแม้แต่จะพูดได้ต่อไปในอนาคต ก็มัน ก็พูดแต่เรื่องว่าทุกข์ กับความดับแห่งทุกข์ ไอ้ความทุกข์ก็คือธรรมชาติเหมือนที่ว่ามาแล้ว ดับแห่งทุกข์คือตรงกันข้ามก็ยังคงเป็นธรรมชาติอยู่นั่นเอง ไอ้ๆๆคำสอนประโยคนี้มันๆกินความกว้างมาก คือเราจะไม่พูดเรื่องอื่นให้เสียเวลา พูดกันแต่ภายในขอบเขตของใบไม้กำมือเดียว เรื่องความทุกข์ กับความดับทุกข์เท่านั้น เรื่องอื่นไม่ต้องพูดให้เสียเวลา เช่นจะพูดว่าตายแล้วเกิดไหม ตายแล้วไม่เกิดไหม เทวดามีไหม อะไรมีไหม ไม่เสียเวลาพูด ไม่มีประโยชน์อะไร จะพูดแต่เรื่องความทุกข์คืออย่างไร ดับทุกข์คืออย่างไร เท่านั้น ๒ เรื่อง นั่นคือธรรมะที่เราจะต้องรู้ ว่าดับทุกข์กันอย่างไร รู้เรื่องธรรมชาติเขาดับทุกข์กันอย่างไร รู้เรื่องกฎของธรรมชาติ แล้วก็จะรู้ว่าจะดับทุกข์กันอย่างไร รู้เรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ก็เพื่อจะรู้ว่าเราจะดับทุกข์กันอย่างไร จะรู้ผลที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ รู้ว่าดับทุกข์ได้แล้ว หรือดับทุกข์ไม่ได้ หรือดับทุกข์อย่างไร
สรุปความสั้นๆว่าธรรมะมีความหมายทุกอย่างทุกประการ แต่ที่สำคัญที่สุด เป็นหัวใจของเรื่องก็คือว่าดับทุกข์กันอย่างไร วิธีการจะดับทุกข์ให้ได้คือตัวธรรมะสูงสุด ธรรมสูงสุดอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติเพื่อดับทุกข์เสียให้ได้ เรามาบัญญัติคำใหม่ บัญญัติบทนิยามใหม่กันเอาเองก็ได้ว่า ธรรมะคือการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ให้ได้ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของเรา ธรรมะคือการฏิบัติที่ดับทุกข์ได้ทุกๆขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของเรา เรานี่คือสิ่งที่สมมุติเรียกว่าเรา คือคนนี่ สมมุติเรียกว่าคน คือเรานี่แหละ มีวิวัฒนาการตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงสุดท้าย เช่นว่าตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ออกมาจนกว่าจะเข้าโลง ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ จะดับทุกข์กันอย่างไร วิธีการอันนั้นคือธรรมะ อย่างนี้เราก็จะเกิดความคิดขึ้นมาได้เองว่า โอ้ว,ธรรมะๆ ก็คือสิ่งที่จำเป็นแก่มนุษย์ สิ่งที่จำเป็นที่มนุษย์จะต้องมี จะต้องรู้เพื่อจะดับทุกข์เสีย ธรรมะคือคู่ชีวิตของมนุษย์นั่นเอง ถ้าไม่มีธรรมะเป็นคู่ชีวิตสำหรับดับทุกข์แล้ว มนุษย์ก็คือสัตว์นรก มันจะต้องตกนรกอยู่ตลอดเวลา ดับทุกข์ไม่เป็นดับทุกข์ไม่ได้ ธรรมะกลายเป็นคู่ชีวิตของมนุษย์ ระบบจะดับทุกข์เสียได้ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการคือธรรมะ นี่เห็นไหมว่าคุณจะพูด พูดอย่างไร พูดวิธีไหน ย้ายวิธี ตกแต่งประโยคของการพูดเป็นอย่างไร มันก็ไม่พ้น ไม่พ้นไปจากเรื่องของธรรมะ มันเป็นธรรมะไปหมด อยู่ในชั้นที่เป็นคำพูด มันก็เป็นธรรมะสำหรับพูด อยู่ในชั้นที่เป็นการปฏิบัติ มันก็ธรรมะสำหรับการปฏิบัติ อยู่ในขั้นที่ได้รับผลของการปฏิบัติแล้ว มันก็เป็นธรรมะในขั้นที่เป็นผลของการปฏิบัติ ในชั้นปริยัติก็ดี ปฏิบัติก็ดี ปฏิเวธก็ดี มันเป็นธรรมะหมด คุณจะต้องพบหรือเคยได้ยินคำว่า ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม ธรรมะในขั้นปริยัติ ธรรมะในขั้นปฏิบัติ ธรรมะในขั้นปฏิเวธ คือขั้นที่เล่าเรียนศึกษา ในขั้นที่ประพฤติปฏิบัติ และในขั้นที่ได้รับผลของการปฏิบัติโดยสมบูรณ์ ธรรมะไปหมดไม่มีอะไร
เป็นสิ่งที่น่าประหลาดหรือแปลกประหลาดอย่างยิ่ง เราไปสอนพวกฝรั่ง มันจะเป็นของแปลกประหลาดอย่างยิ่งสำหรับฝรั่ง เพราะเขาไม่เคยเรียนอย่างนี้ เขาไม่เคยรู้สึกอย่างนี้ แต่เราก็ไม่ค่อยได้สอนเขา ไม่ได้อธิบายกับเขาถึงขนาดนี้ เพราะเราเองก็ไม่ค่อยรู้ เราก็เลยสอนไม่สำเร็จ สอนธรรมะแก่พวกฝรั่งไม่สำเร็จ เพราะว่าผู้สอนเองมันก็ไม่รู้ มันก็ไม่รู้อย่างแจ่มแจงชัดเจนครบถ้วนอย่างนี้ ก็ไปทำกันเสียใหม่นะ ให้รู้ว่าธรรมะคืออะไร เวลาหมดแค่นี้
เมื่อคืนเราพูดว่าธรรมะจะให้อะไรแก่เรา วันนี้เราก็พูดว่าธรรมะคืออะไรอย่างสมบูรณ์ ธรรมะคืออะไร จะโผล่ขึ้นมาพูดว่าธรรมะคืออะไร มันก็ยังคงฟังยาก มันเลยต้องพูดถึงเรื่องต่างๆที่มีอยู่ เกี่ยวข้องกันอยู่กับมนุษย์ นี่ก็ชี้ให้เห็นว่ามันมีอะไรบ้าง ทุกอย่างมันเป็นธรรมะทั้งนั้น สิ่งที่เรียกว่าธรรมะคืออะไรอย่างสมบูรณ์ ตัวแท้ของธรรมะคืออะไร มันก็คือสักว่าธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตน ไม่มีความหมายแห่งตัวตน ธรรมะคือธรรมชาติ ถ้าถามว่าธรรมะคืออะไร หรือตัวตนของธรรมะคืออะไร ก็คือธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่ใช่ตัวตนของกิเลส ตัณหา อุปาทาน มันเป็นตัวตนของธรรมชาติโดยสมมุติเรียกว่าตัวตนของธรรมชาติ แต่มันก็เป็นสักว่าธรรมชาติ มันไม่ใช่ตัวตน เรียนรู้เรื่องธรรมชาติพร้อมๆกันไปกับเรื่องไม่ใช่ตัวตน เมื่อเป็นเพียงธรรมชาติก็ไม่ใช่ตัวตน เมื่อเป็นเพียงสักว่าธาตุตามธรรมชาติ ก็ไม่ใช่ตัวตน คำว่าธาตุนี่บัญญัติขึ้นใช้สำหรับให้มันเป็นเครื่องจำแนกธรรมชาติได้ต่างๆกัน ธาตุก็ไม่ใช่ตัวตน ธรรมชาติก็ไม่ใช่ตัวตน เห็นความไม่มีตัวตนก็คือเห็นในความจริงแท้ของธรรมชาติ สักว่าเป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติ โดยธรรมชาติ เพื่อธรรมชาติ ของธรรมชาติ เป็นภาษาการเมือง ดูเข้าไปข้างในก็เห็นสักว่าธรรมชาติ ดูออกไปข้างนอก ก็เห็นสักว่าธรรมชาติ ดูไปรอบด้านก็สักว่าธรรมชาติ ดูทั้งบนทั้งล่างหมดทุกทิศทุกทางมันก็สักว่าธรรมชาติ เห็นหมดแล้วว่าธรรมชาติ แล้วทีนี้สมมุติฐานคำที่ว่าสิ่งที่ตรงกันข้ามกับธรรมชาติหล่ะ ก็คือธรรมชาติ เรื่องมันจบที่ว่าไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ
ธรรมชาติชนิดหนึ่งอย่างที่เราเห็นๆอยู่นี้ มีเหตุ มีปัจจัย เป็นธรรมชาติสังขตะ ปรุงแต่งกันอยู่เรื่อยไป ตรงกันข้ามกับสิ่งเหล่านั้นมันก็ยังคงเป็นธรรมชาติ เรียกว่าเป็นอสังขตะ ธรรมชาติพวกแรกมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ธรรมชาติพวกหลังไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มีลักษณะอาการตรงกันข้ามทุกอย่าง ทั้ง ๒ พวก ๒ ฝ่ายนั้น เป็นสักว่าธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวตน แต่แล้วไอ้ปุถุชน ไอ้คนๆ มนุษย์นี่มันโง่ มันไม่รู้ มันมีอวิชชา มันเกิดความคิดว่าตัวตนๆ ของตนขึ้นมาเอง เมื่อมัน เมื่อจิตตามธรรมชาติของจิตมันได้รับความรู้สึกที่พอใจ มีผลมากแก่จิต จิตมันปรุงแต่งความคิดโง่ๆขึ้นมาว่าตัวตน ว่าตัวกูได้รับสิ่งเหล่านั้นอยู่ ตัวกูกำลังอร่อยอยู่ กำลังอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ ตัวตนนี้เพิ่งเกิดตามที่จิตมันโง่แล้วมันปรุงขึ้นมา เห็น ไม่ๆๆยอมเรียกว่าธรรมชาติ เรียกว่าตัวกู ปล้นเอาธรรมชาติมาเป็นตัวกูอย่างโจร ขโมย จี้ ปล้นอย่างเลวร้ายที่สุด ธรรมชาติมันก็ตบหน้าให้ ให้คนชนิดนี้มีความทุกข์ตลอดกาล เรื่องจบแล้วว่าตัวตนของธรรมะคืออะไร
ผมบอกแล้วว่าธรรมะปริทัศน์โดยๆพื้นฐาน มันพูดกันแต่โดยๆพื้นฐาน โดยปริ ปริแปลว่ารอบๆๆๆๆ คร่าวๆ ดูกันอย่างครบถ้วนโดยพื้นฐาน ธรรมะปริทัศน์ คุณลองจำไว้ ผมพูดตามความรู้สึกว่า ผมได้พยายามที่สุด สุดสติปัญญาของผมแล้ว ที่จะช่วยให้พวกคุณศึกษาธรรมะในเวลาอันสั้น ในวิธีพิเศษ ใช้เวลาอันสั้น และก็รู้ธรรมะอย่างกว้างขวางหมดสิ้น นี่ความพยายามที่กำลังกระทำอยู่ และถ้ามันได้รับประโยชน์แล้วคุณก็ช่วยเอาไปสอนต่อๆกันไป ต่อๆกันไป จะได้บุญได้กุศล ได้ช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนา ผมคนเดียวจะไปสอนได้กี่คน ถ้าทุกคนที่ได้รับคำอธิบายนี้แล้วไปช่วยสอนต่อ มันก็มีทางที่จะเต็มบ้านเต็มเมือง สอนต่อๆๆกันไป คนหนึ่งสอน ๑๐ คน คนหนึ่งสอน ๑๐ คน เอา ๑๐ คูณเรื่อย เดี๋ยวก็เต็มๆโลก เอ้า,ปิดประชุม พรุ่งนี้ๆพูดกันถึงวิธีปฏิบัติธรรมะ