แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ผมคิดว่าจะควร อ้า, ควรจะพูดเรื่องนรก สวรรค์ กันเสียที ใคร ๆ ก็จะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องหญ้าปากคอก อ้า, คำนี้มีความหมายพิเศษ คอกวัวคอกควายมันก็มีหญ้าอยู่ที่ตรงปากคอก แต่ก็ไม่ค่อยจะเป็นที่สนใจแก่วัว หรือควายนัก เพราะจิตใจมันไปอยู่ที่อื่น มันก็เลยไม่ค่อยรู้เรื่อง หญ้าปากคอก หรือไม่ค่อยได้รับ ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่า หญ้าปากคอก ที่จริงมันก็มีหญ้าหญ้าปากคอกอย่างอื่นอีกบางอย่าง แต่ในทีนี้ เห็นว่าไอ้เรื่องนรก สวรรค์นี่เป็นเรื่องจำเป็นก่อน ที่เราจะทำความเข้าใจกัน บางคนอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องพ้นสมัย มันก็เลยไม่สนใจ ก็เลยไม่ได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ บางคนก็ ตรงกันข้าม เชื่ออย่างงมงายมากเกินไปเกี่ยวกับเรื่องนรกสวรรค์ เลยได้รับประโยชน์อย่างที่เรียกว่างมงาย ใช้อะไรไม่ได้ ก็ว่ากันอย่างนั้นดีกว่า ก็ขอให้ฟังกัน ศึกษากัน วิพากษ์วิจารณ์ใคร่ครวญดูในลักษณะที่มันจะเป็นประโยชน์ได้ สวรรค์และนรก เป็นเรื่องโบรมโบราณก่อนพุทธกาล เมื่อก่อนพุทธกาลนะ เขาก็มีเรื่องพูด พูดถึงเรื่องนี้กันอยู่แล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น เขาก็พูดเรื่องนรกสวรรค์กันอยู่แล้ว ก็น่าเห็นใจท่านนะ ที่ท่านจะต้องพูดอะไรที่มันจะผิดจากที่เขาเชื่อกันอยู่ก่อนแล้ว แต่ท่านก็มีวิธีพูดของท่าน ที่มันจะให้สำเร็จประโยชน์ เรามีหัวข้อที่จะพูดกันว่า นรก และสวรรค์นั่นนะมันคืออะไร นี่ปัญหาหนึ่ง และมันมีจริงหรือไม่นี่ปัญหาหนึ่ง และมันอยู่ที่ไหน ก็อีกปัญหาหนึ่ง รวมเป็น ๓ ปัญหา ก็ดูเหมือนจะพอแล้ว แม้ว่าเราจะมีปัญหาอย่างนี้ เราก็หาคำตอบร่วมกันไม่ได้ เพราะว่ามันมี ความคิด หรือความเชื่อหลายพวกนัก หลายระดับนัก พวกหนึ่งหรือระดับหนึ่งก็พูดไปอย่าง อีกอย่างก็ว่าอยู่ที่ไหน อีกพวกหนึ่งก็พูดไปอีกอย่าง เพราะฉะนั้น เราควรจะเอามาพิจารณาดูทุกพวก อย่างแรกนะ พูดอย่างชาวบ้านทั่ว ๆ ไป อย่างที่ ๒ พูดอย่างที่พระองค์ตรัส อย่างที่ ๓ แถมพก คือ อย่างที่ผมจะพูด อย่างที่ ๑ เรียกว่า อย่างที่ชาวบ้านทั่วไปเขาพูด ก็หมายถึงชาวบ้านทั่วไป ในอินเดีย ในยุคก่อนพุทธกาลนั้น แล้วก็เรื่อย ๆ มาจนถึง ถึงชาวบ้านในประเทศไทยเรานี่แหละ ชาวบ้านระดับชาวบ้านทั่วไป เขาพูดเรื่องนรก สวรรค์ อย่างเดียวกันกับไอ้ชาวอินเดีย สมัยก่อนพุทธกาล หรือยุคพุทธกาลที่เป็นชาวบ้านทั่วไป ข้อนี้มันรู้ได้ง่ายคือว่า ในเรื่องไตรภูมิพระร่วง ที่เขา เขาถือเป็นหลักกันในสมัยสุโขทัยก็ดี ที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปเขาพูดกันอยู่นี่ก็ดี มันตรงกัน ก็มี นรกใต้ดินมี กี่ชนิด กี่ชนิด แล้วสวรรค์บนฟ้ามี กี่อย่าง กี่อย่าง กี่ชั้น มันก็พูดตรงกันนั่นแหละ เพราะว่าที่ชาวบ้านพูด มันก็พูดตามหนังสือไตรภูมิพระร่วงนั่นหนังสือไตรภูมิพระร่วงก็เป็นหนังสือที่พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งในสมัยสุโขทัย อ้า, ร้อยกรองขึ้น ให้ใช้เป็นหลัก ถือกันทั่วประเทศ และประชาชนก็เชื่อเรื่องนรก สวรรค์แบบนี้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สำหรับในเมืองไทยเราที่แน่นอน ส่วนที่ก่อนหน้านั้น เราก็ไม่แน่นอน มันก็ จะต้องมีพูดถึงอย่างใดอย่างหนึ่งตามแบบของชาวบ้าน แต่เดี๋ยวนี้ ถ้าเราพูดกันว่าตามแบบของชาวบ้านนั่นก็หมายความอย่างนี้ อย่างที่มีกล่าวอยู่ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง แล้วก็อย่างเดียวกับที่ชาวบ้าน แม้เดี๋ยวนี้ ยุคนี้ ปัจจุบันนี้ ก็พูดอย่างนั้นเหมือนกัน คัมภีร์ต่างๆ ในอินเดีย ของฝ่ายอินเดีย เขาก็มีอย่างสมบูรณ์ และอรรถกถา ฎีกาของพุทธศาสนาก็พลอยพูดอย่างนั้นไปด้วย แล้วคัมภีร์เหล่านั้น อรรถกถา ฎีกาเหล่านั้นแหละ ก็มาเป็นที่มาของหนังสือไตรภูมิพระร่วง ไปเปิดดูหนังสือไตรภูมิพระร่วง เขาจะบอกคัมภีร์ต่าง ๆ ที่เขาอ้างมาแต่งหนังสือคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง นั่นแหละมันจึงตรงกัน ทั้งที่ อินเดีย ทั้งที่ลังกา ทั้งที่พม่า ทั้งที่ประเทศไทย ถ้าเป็นเรื่องนรก สวรรค์ อย่างที่ชาวบ้านพูดกันแล้วตรงกันหมดเลย รายละเอียด ไม่ต้องเอามาพูดหรอก ไปหาดูได้ สวรรค์กี่ชั้น ๆ แต่ละชั้น ละชั้น มีอะไร แล้วก็เมืองมนุษย์มีลักษณะอย่างไร มีทวีป ๔ อย่างไร มีหิมาลัยอย่างไร มี ตามแบบเดียวกันหมดเลย อย่างหนังสือไตรภูมิพระร่วง กระทั่งว่าใต้แผ่นดินนี้ก็มีปลาอยู่ อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้ใต้แผ่นดินลงไปโน้นก็ถึงเมืองนรก มีกี่ประ มีกี่ชนิด ชนิดละกี่ขุม กี่อะไรก็แล้วแต่ ผมไม่ได้จำหรอก เพียงแต่จับเค้าหลัก ๆ ได้ว่ามันเป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่า นรก หรือ สวรรค์อย่างที่ชาวบ้านพูด ก่อนพุทธกาล สมัยพุทธกาล ในอินเดีย ในพม่า ในลังกา ในประเทศไทย ที่ชาวบ้านพูดตรงกันหมดเลย นี่มีอยู่พวกหนึ่ง ทีนี้ พวกที่ ๒ ที่ว่า อย่างที่พระองค์ตรัส มันก็จะต้อง นรก สวรรค์นะ มันมีอยู่ที่อายตนะของคนเรา อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ของคนเรา ถ้าเราทำผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ มันก็ร้อนใจเกิดเป็นนรกขึ้นมา ถ้าเราทำถูกเกี่ยวกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ มันก็ได้รับความสุขความพอใจ เป็นสวรรค์ขึ้นมา นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่างนี้ และใช้คำประหลาดอยู่คำหนึ่งว่า ฉันเห็นแล้ว นรกทางอายตนะ ฉันเห็นแล้ว สวรรค์ทางอายตนะ ฉันเห็นแล้ว นี่พูดต้อนรับไอ้นรกสวรรค์อย่างที่เขาพูดกันอยู่แต่ก่อนพระองค์ตรัส นี่ถ้าพูดอย่างนี้ มันก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ คือ ในตัวคนเราที่เมื่อทำผิดหรือทำถูกนะ ทำถูกก็สบาย ชื่นอกชื่นใจ พอใจ ในความหมายของคำว่าสวรรค์ก็คือ สบายใจ สุขใจ จะได้รับผลเป็นเงินเป็นทอง เป็นกามารมณ์ เป็นอะไรตามที่มนุษย์ ควรจะได้รับ ก็รวมอยู่ในข้อเหล่านี้แหละ ถ้าทำผิดมันก็ร้อนใจแหละ ร้อนใจอยู่ภายใน กระทั่งว่าร้อนใจที่ภายนอก คือ ถูก คือทำผิดถูกเขาจับได้เอาไปลงโทษ มันก็ร้อนใจ เนื่องมาจากภายนอก ที่มันร้อนใจเพราะทำผิด อยู่ในภายใน มันก็มีอยู่ส่วนหนึ่งด้วย ทีนี้มันแปลกตรงที่ว่า ไอ้รายละเอียดเกี่ยวกับนรกที่เขาพูดไว้ในคัมภีร์ มันมาตรง ๆ กันกับ ไอ้ระเบียบวิธีการลงโทษ ผู้ทำผิดในคุกในตะราง ใน ในอินเดีย ในครั้งพุทธกาลนั่นเอง ก็คล้าย ๆ กัน ผู้ที่บัญญัติเรื่องนรกว่ามีรายละเอียดอย่างไร น่ากลัวว่าเขาจะได้เอาเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการลงโทษลงอาญา ในการกระทำผิดของคนผิดไปเป็นหลักเกณฑ์ส่วนใหญ่ แล้วก็เติมไอ้ที่มันน่าแปลกประหลาดน่าอัศจรรย์ น่ากลัวอย่างยิ่ง อะไรเข้าไปอีก เป็นเรื่องนรกโดยสมบูรณ์ นี่เปรียบเทียบกัน ก็ได้ความว่า ถ้านรกที่เขาพูดกันอยู่ทั่วไปมันก็อยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้า ถ้าพูดกันอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส มันก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ทำผิดหรือทำถูก ของคนเรานั่นเอง ทีนี้อย่างที่ผมจะพูด ถือเป็นเสรีภาพ พูดอย่างถือเสรีภาพ พูดเป็นใจความสั้น ๆ ว่า สวรรค์นั้นมันอยู่ที่ความรู้สึก เมื่อยกมือไหว้ตัวเองได้นี่ ประโยคว่า ความรู้สึกที่รู้สึกอยู่เมื่อยกมือไหว้ตัวเองได้นี่เป็นสวรรค์ นรกเป็นความรู้สึกที่เมื่อรู้สึกว่าเกลียดน้ำหน้าตัวเอง มันต้องรุนแรงมากแหละ ถึงกับ ถึงกับคนมันจะเกลียดตัวมันเอง เพราะคนมันก็เห็นแก่ตัว อะไรก็สนับสนุนตัวเอง เข้าข้างตัวเอง อะไรอยู่ แต่ถ้าเมื่อใดมันถึงขนาดที่ว่า มันเกลียดตัวมันเองได้แล้วนะ ก็เรียกว่ารุนแรงมาก มันเป็นความชั่วที่รุนแรงมาก จนตัวเองก็ ไม่ยอมรับว่า ว่าดีและเกลียดตัวเอง ความรู้สึกชนิดนั้น เรียกว่าเป็นนรก ถ้ามันรู้สึกเกลียดชังตัวเองแล้วก็ มันหมายความว่าได้ทำความผิด ความเลวร้าย เสียหายมาก จนถึงกับไปกระทบกระทั่งผู้อื่นนะ แล้วมันก็ได้ถูกจับใส่คุกใส่ตาราง มันก็เลยเป็นไอ้ความรู้สึกที่เกลียดมาจากการถูกจับใส่คุกใส่ตารางเป็นภายนอก อีกส่วนหนึ่งแหละ ส่วนในภายในที่มันเกลียดตัวเองนี่ มันก็มากอยู่แล้วนะ ทีนี้มันยังแถมมีผลเพิ่มเข้ามาจากภายนอกเพราะว่า ทำ การกระทำนั้น มันผิดกฎหมาย ผิดอะไรต่าง ๆ ถูกลงโทษเพิ่มขึ้นอีกก็พอดีกัน แต่ถึงอย่างไรก็ จะขอรวมไว้ในถ้อยคำเพียงคำเดียวว่า เมื่อมันเกลียดตัวเอง ก็เทียบดูสิ ว่ามันอยู่ที่ไหนแล้วมันก็อย่างนี้ นรกกับสวรรค์อยู่ที่ไหน มันก็อยู่ที่การกระทำของคนนั้น เมื่อมันทำจนยกมือไหว้ตัวเองได้เป็นสวรรค์ มันทำจนเกลียดน้ำหน้าตัวเองก็เป็นนรก นี่เพียง ๓ ชนิดเท่านั้นแหละมันก็พอแล้วที่คุณจะพิจารณาดู ให้เห็นว่าไม่ใช่มันเป็นเรื่องเปล่า ๆ ปลี้ ๆ ไม่ใช่มันเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเรา หรือว่า มันไม่ใช่เป็น อ้า, มัน ไม่ใช่มันเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับมนุษย์ทั้งโลก แล้วจะหาว่ามันเป็นเรื่องคร่ำครึ มันไม่มีประโยชน์นั้นไม่ได้หรอก แม้เรื่องนรก สวรรค์ที่พูดกันอย่าง ปรัมปรา ที่เรียก จะเรียกว่างมงายก็ตามเถิดมันก็มีประโยชน์อย่างหนึ่ง มีประโยชน์ให้คนยุคหนึ่งสมัยหนึ่งมีศีลธรรมดี คนยุคโบราณ แล้วถืออย่างโบราณ เขามีศีลธรรมดียิ่งกว่าคนสมัยนี้มาก เพราะเขาเชื่อ กลัว หรือว่าอยากได้นรก อ้า, สวรรค์ นรกอย่างที่พูดกันมาแต่กาลก่อนนั่นแหละ ถ้าคนมีศีลธรรมดี ไม่ใช่ว่าพูดอย่างนั้นแล้วมันจะมีโทษ ถ้ามิฉะนั้นแล้ว มันไม่ยืนอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ คือ คนที่มันเชื่อว่า นรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้าก็ยังมีอยู่ และก็ทำให้คนเหล่านั้น กลัวบาป รักบุญ และมีศีลธรรม มันก็ยังมีประโยชน์อยู่ นรกอย่างที่ชาวบ้านพูด มันก็ยังมีประโยชน์อยู่ ถึงแม้ว่าคุณจะไม่เชื่อก็ตามใจ แต่มันยังมีประโยชน์อยู่แก่คนจำนวนใหญ่ จำนวนมาก เราก็ไม่ต้องยกเลิกสิเพราะมันมีประโยชน์ทางศีลธรรม ทีนี้ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นะ ก็หมายความว่า พูดให้ลึก ให้สูงขึ้นมา เป็นขั้นปรมัตถ์ สำหรับนักปราชญ์ สำหรับคนมีปัญญา แล้วพูดอย่างเป็นเนื้อหาสาระ ในภายในที่เข้มข้น หมายความว่าเอาแต่ใจความสำคัญนะ เพราะว่านรกชนิดไหนก็ได้ที่เขาพูดกันอยู่ก่อน ๆ นะ มันก็ล้วนแต่ความเจ็บปวดทั้งนั้นแหละ สวรรค์ในบนฟ้า สวรรค์ที่ไหนก็ตามมันหมายถึงความพอใจ ความสบายใจ ความสุขร่าเริง บันเทิงทั้งนั้นแหละ ดังนั้น ถ้าเราทำถูกจนบันเทิงรื่นเริงอยู่ได้โดยทางอายตนะ ก็เรียกว่าสวรรค์แหละ ถ้าเราทำผิดจนมันเดือดร้อน มันก็ไฟไหม้อยู่ข้างในมันก็นรกแหละ นี่ก็มีประโยชน์สำหรับผู้มีปัญญา ซึ่งมันต้องมีน้อยคนแหละ ในโลกนี้ผู้มีปัญญามันมีน้อยนะ ระวังให้ดี จะเอาคำพูดหรือความเชื่อของคนมากเป็นประมาณนั้นนะ มันอาจจะไม่ได้ปัญญาก็ได้ ดังนั้น ถ้าเราถือตามหลักของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงปัญญา สติปัญญากว่า มันก็ต้องมีน้อยคน มันก็มีประโยชน์ส่วนปรมัตถธรรม ในระดับต่ำศีลธรรมของชาวบ้านนั้นนะ เกือบ เขาเกือบจะถือเอาประโยชน์ไม่ได้หรอกอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสนี่ เขาจะไม่สนใจเสียด้วยนะ นรกอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสนี่ ประชาชนทั่วไปจะไม่สนใจ ชั้นชาวบ้านนะ แต่ว่าจะเป็นที่สนใจชั้นนักศึกษา ผู้มีสติปัญญา เป็นนัก อ้า, บัณฑิต เป็นนักปราชญ์ แล้วก็เรียกว่าเป็นเรื่องทางปรมัตถธรรม นรกทางศีลธรรมก็อย่างแบบเดิม นรกทางปรมัตถธรรมก็อย่างแบบที่พระพุทธเจ้าตรัส นี่อย่างที่ผมพูดนี่ จะเรียกว่า อย่างอะไรดีนะ อย่างที่มันจะเป็นวิทยาศาสตร์ หรือเป็นอะไรทำนองนั้นแหละ คือ มันเห็นได้โดยประจักษ์จึงเรียกว่ามันจะเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นที่ตั้งแห่งหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ยอมรับได้ ถ้าเราพูดว่านรกอยู่ใต้ดินสวรรค์อยู่บนฟ้า นักวิทยาศาสตร์เขาสั่นหัวนะ เขาไม่เอาด้วย ถ้าพูดอย่างพระพุทธเจ้าท่านตรัส นักวิทยาศาสตร์ก็ยังยอมรับได้ แต่ผมพูดให้มันชัดกว่านั้น ให้มันเจาะจงกว่านั้น ให้ฟังถูกกัน ทุกคนนะ จะเป็นคนโง่คนฉลาด คนอะไรก็ฟังถูกทั้งนั้นนะ พูดว่า สวรรค์เมื่อยกมือไหว้ตัวเองได้ นรก เมื่อเกลียดชังตัวเอง ทีนี้คุณเหล่านี้ คุณ คุณทั้งหลาย พวกคุณคิดว่าอย่างไหนจะเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้ คุณก็เอาอย่างนั้นก็แล้วกันแหละ ไม่มีใครสงวนลิขสิทธิ์ ทฤษฏี เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ ใน ๓ อย่างนี้ อย่างไหนจะเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้ ก็เอาไปสิ แต่ผมก็อยากจะพูดอย่างนี้ เรียกว่านรก สวรรค์ อย่างที่ผมพูด เอาละ ทีนี้ผมพูดนี่ ผมก็จะพูดอธิบายเรื่องที่ผมพูดให้มันละเอียดสักหน่อย ที่ได้พูดอย่างนี้ ก็เพื่อจะให้สำเร็จประโยชน์เหมือนกันแหละ ไม่ใช่ว่าจะพูด ให้มันเหนื่อยเปล่า ๆ หนวกหูเปล่า ๆ จะพูดให้มันสำเร็จประโยชน์ในการที่จะปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนรก สวรรค์ แต่มันประหลาดที่ว่า พอผมพูดอย่างนี้นะ คนทั่วไป ชาวบ้านทั่วไป หรือว่าไอ้คนที่เขาเชื่ออย่างโน้น เขาก็หาว่าผมนี่ทำลาย เป็นผู้ทำลาย เห็นผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทำลายของเก่า ยกเลิกของเก่า ผมไม่มีเจตนาที่จะทำลายของเก่า หรือยกเลิกของเก่าหรอก อย่างที่เอามาพูดให้คุณฟังทั้ง ๓ ชนิดนี่อย่างไรเล่า ไม่ยกเลิกของเก่า ของเก่าก็เก็บไว้ใช้ประโยชน์อย่างของเก่า ของ ของใหม่ก็เก็บไว้ใช้ประโยชน์อย่างของใหม่ ผมไม่ได้ยกเลิก แต่เขาคิดว่ายกเลิก แล้วเขาก็ด่า ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าเราไม่ได้ยกเลิกนี่ เขาด่าว่าเรายกเลิกก็ตามใจเขาสิ ที่หาว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ นี่ก็ดูเอาเองเถิดว่าเป็นหรือไม่เป็น แต่ว่าเรื่องสำคัญนะมันอยู่ตรงที่ว่า พูดอย่างนี้นะ มันเป็นหลักที่แน่นแฟ้น ที่มีอยู่ว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้า นั้นต้องเป็น สันทิฏฐิโก บทที่เราสวดกันอยู่ทุกวัน สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก นั่นแหละ ถ้ามันจะเป็นธรรมะในพระพุทธศาสนาแล้วมันต้องมีลักษณะเป็น สันทิฏฐิโก คือเห็นรู้สึกประจักษ์ด้วยตนเอง อะกาลิโก ไม่จำกัดเวลา เมื่อใดก็เมื่อนั้นแหละ เอหิปัสสิโก เรียกมาดูได้ มันมีให้ดูนี่ มันดี เรียกให้เพื่อนมาดูได้ จึงพูดว่า นรก เมื่อเกลียดน้ำหน้าตัวเอง สวรรค์เมื่อยกมือไหว้ตัวเอง ทุกคนมันก็รู้สึกอยู่ด้วยตัวเองอย่างที่ว่าเป็น สันทิฏฐิโก แล้วก็ไม่จำกัดเวลา เมื่อใดก็เมื่อนั้นนะ แกทำจนยกมือไหว้ตัวเองได้ เมื่อใดมันก็มีสวรรค์เมื่อนั้น ถ้าเกลียดตัวเองเมื่อใดมันก็มีนรกเมื่อนั้น อย่างนี้เป็น อะกาลิโก ไม่ต้องรอแต่ตายแล้ว ทีนี้ก็ เรียกเพื่อนมาดูได้ว่ามาดู มาดู ฉันทำอย่างนี้ อย่างนี้สบายที่สุด พอใจที่สุด ยกมือไหว้ตัวเองได้ เอหิปัสสิโก มาดู มาดู เท่านี้ก็พอแล้วละ เอาแต่ ๓ บทว่า สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก ก็พอแล้ว นี่เรียกว่าอย่างที่เราพูดให้มันเป็นอย่างนี้ ทีนี้ดูอีกทีว่า มันไม่ขัดกับที่พระองค์ตรัสนะ อย่างที่ผมพูดนี่ไม่ขัดกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันอยู่ที่อายตนะ ท่านตรัสว่ามันอยู่ที่อายตนะ ทำผิดทำถูกทางอายตนะแล้วผลก็เกิดขึ้นมาเป็นว่า ไหว้ตัวเองได้ หรือว่าเกลียดน้ำหน้าตัวเอง แล้วถ้าเราพูดถึงผลของการทำผิดทำถูกทางอายตนะนั่น มันไม่ขัดและตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า นรก สวรรค์ มันอยู่ที่อายตนะ ทีนี้มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ อย่างที่ว่าไปเมื่อสักครู่นี้ พูดอย่างนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ให้นักวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบันนะ เขาหัวเราะเยาะได้ นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันนะ เขาหัวเราะเยาะ ไอ้คำกล่าวเรื่องนรก สวรรค์ ของทุกศาสนาก็ว่าได้ แม้ของศาสนาคริสเตียน เขาก็ไม่เชื่อ ทั้งที่เขาเป็นฝรั่งถือศาสนาคริสเตียนกัน เขาก็หัวเราะเยาะไอ้นรกสวรรค์แบบนั้น อย่างที่นักศึกษาของเราเดี๋ยวนี้ก็หัวเราะเยาะนรก สวรรค์ แบบคุณย่าคุณยาย แต่เดี๋ยวนี้เพื่อจะให้เขาหัวเราะเยาะไม่ได้ เราก็พูดอย่างนี้ เพราะคุณดูเอาตรงที่ผลสุดท้ายก็แล้วกันว่า ถ้ามันมีผลให้ยกมือไหว้ตัวเองได้ก็เป็นสวรรค์ ถ้ามีผลให้เกลียดชังตัวเองซึ่ง ซึ่งรักอย่างยิ่งแล้วมันก็เป็นนรก นี่เรียกว่าเพื่อจะให้มันเป็นวิทยาศาสตร์ที่นักวิทยาศาสตร์แห่งยุคปัจจุบันเขายอมรับได้ ดังนั้น เรา ทีนี้ก็ดูต่อไปว่า เราไม่จำเป็นที่จะต้องพูด อย่างที่คนโบราณพูด คนโบราณพูด โดยเฉพาะโบราณก่อนพุทธกาล แล้วก็ประชาชนทั่วไปเหล่านั้นนะ เขาพูดอย่างเราพูดนี้ไม่ได้หรอก พูดไม่เป็นหรอก ความรู้ความคิดการศึกษา หลักการอะไร มันไม่เหมือนกันนะ เขาจะพูดอย่างที่ผมพูดนี้ไม่ได้หรอก เขาต้องพูดที่เหมาะกับระดับความรู้สึกคิดนึกของเขาแห่งสมัยนั้นแหละ หรือว่าจะถอยหลังออกไปอีก จนถึงยุคคนที่ยังเกือบจะเป็นคนป่า ไม่นุ่งผ้าสมัยโน้น ถ้าเขาจะมีความคิดเรื่องว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นจุดสุดของดีของชั่ว เขาก็ต้องพูดเท่าที่เขาจะนึกได้ เท่าที่เขาจะมองเห็น เขาจะหยั่งเห็น ทีนี้เขาไม่ได้มีอะไรอย่างเดี๋ยวนี้นี่ ไม่มีการเรียน ไม่มีวัตถุ ผลิตผล เครื่องใช้ไม้สอย อะไรอย่างเดี๋ยวนี้นี่ เขามีอย่างอยู่กับธรรมชาติล้วนๆ นะ และโดยเฉพาะอยู่ใกล้ๆ ภูเขาหิมาลัย เงยขึ้นไปดูภูเขาหิมาลัย ก็สันนิษฐานเอา เข้าใจเอาว่าบนภูเขาหิมาลัยอันที่ไม่เคยไปนะ ต้องมี มีอะไร ๆ แล้วก็ว่าเอาได้ตามชอบใจ ดังนั้น เรื่องสวรรค์มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับภูเขาหิมาลัยทั้งนั้นแหละ บนภูเขาหิมาลัยส่วนที่ขึ้นไปไม่ถึงนั่นแหละ เขาก็บัญญัตินั่นนี่ไปตามเรื่อง แล้วก็เลยภูเขาหิมาลัยขึ้นไปนั่นก็ถึงสวรรค์ชั้นแรก ไปถึงสวรรค์ชั้น ที่ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ไปเลย แล้วแต่จะอยากจะพูดให้มันวิเศษอย่างไร แต่ดูแล้วมันก็ไม่ ไม่พ้นไปจากเรื่องที่มนุษย์จะรู้สึกได้ ก็เรื่องสวย เรื่องงาม เรื่องสนุกสนาน เรื่องเอร็ดอร่อย เรื่องสมบูรณ์ด้วยกามารมณ์ อะไรเหล่านี้ ก็น่าขำอยู่ที่ว่าไอ้สวรรค์ สุดท้ายนะ ปรนิมมิตวสวัตตี มีความหมายว่า ไม่ต้องทำเอง ไม่ต้องทำเอง จะมีคนทำให้ แม้แต่จะป้อนอาหารเข้าปากอย่างนี้ เป็นสวรรค์ชั้นสุดท้าย สวรรค์ชั้นต่ำ ๆ ลงมานี้ ยังต้องทำเอง หยิบเอง กินเอง อะไรเอง เดี๋ยวนี้ไปถึงสวรรค์ชั้นสุดท้าย ปรนิมมิตวสวัตตี มีอำนาจบังคับ บันดาลให้คนอื่นบำรุงบำเรอได้ ตามที่ตัวต้องการ สวรรค์ทุกชั้นเลยเป็นเรื่องบำรุงบำเรอ ความสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางอายตนะทั้งนั้น ดังนั้น เรื่องสวรรค์ในรายละเอียดอย่างนี้มันจึงเกิดขึ้น เพราะความรู้ของผู้คนสมัยนั้นมันมีเท่านั้น ทีนี้จะเปรียบเทียบได้อย่างว่า ครั้นมาถึงในสมัยพระพุทธเจ้านี่ เกิดขึ้นแล้วนี่ว่า จะพูดถึงโลกพระศรีอารย์ อ้า, กัน ซึ่งคำนี้ก็ไม่ใช่คำพระพุทธเจ้า ตรัสอย่างเดียวหรือโดยตรงมันก็ชาวบ้านทั่วไป มันก็มุ่งหมายอย่างนั้นแหละ พูดถึงโลกพระศรีอารย์ที่ยังมาไม่ถึง ชาวบ้านก็ไม่มีปัญญาอะไรมากนักหรอก มันก็ต้องพูดเท่าที่ความคิดนึกมันจะรู้สึกได้ให้ผิดธรรมดาก็แล้วกันนะ จนพูดว่ามีกัลปพฤกษ์ ๔ มุมเมือง แล้วก็ไปขอได้ทุกอย่างขอทองได้ทอง ขอเงินได้เงิน เท่าที่เขาคิดนึกมันจะนึกกันได้เอง มันก็พูดกันมาอย่างนี้ แล้วที่ว่า ไอ้ข้างหนึ่ง น้ำไหลขึ้น ข้างหนึ่งน้ำไหลลง ให้สะดวกกับการคมนาคมทางเรือ เขาก็ต้องพูดอย่างนั้น เท่าที่จะมองเห็น เพราะเขาก็ไม่รู้ว่า เดี๋ยวนี้เราทำเรือจักร เรือกลไฟได้แล้ว น้ำขึ้นน้ำลงไม่มีปัญหา คนเหล่านั้นไม่เคยรู้เรื่อง เครื่องบิน เรื่อง ไอ้เรือกลไฟ เขาก็พูดไม่ได้ เขาก็ต้องพูดให้พิเศษ อย่างที่เขาจะนึกออกว่า แม้แต่ในแม่น้ำมันยังก็ไหลขึ้นข้างลงข้าง เพราะเขาต้องการให้สะดวกการคมนาคมทางน้ำ แล้วที่มันน่าขำอีกอย่างที่เขาว่า แผ่นดินจะแยกออกสูบเอาสิ่งสกปรกที่มนุษย์ได้ทำขึ้นไว้ลงไปใต้ดินเลยนะ เพราะเขาก็ไม่มีความรู้เรื่องส้วมซึม คนสมัยนั้นไม่มีความรู้เรื่องส้วมซึม อะไรทำนองนั้น มันก็ต้องพูดชนิดที่น่าประหลาด น่าอัศจรรย์ เหมือนกับว่ายักษ์ เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เขาทำให้ เดี๋ยวนี้จะมีปัญหาอะไร เราก็มีส้วมซึมที่จะเก็บอุจจาระ หรือว่ามีอะไรที่จะทำลายของสกปรก ไม่ให้รบกวน มันอยู่ที่ว่าเราจะทำ หรือไม่ทำเท่านั้นแหละ เพราะฉะนั้น การที่จะบรรยายลักษณะที่น่าพึงปรารถนากว่าธรรมดาที่ว่าสวรรค์ก็บรรยายกันไปตามที่มนุษย์ จะรู้สึกได้นั่นเอง เพราะมนุษย์สมัยโน้นนะ เขาไม่ ไม่คิดอย่างอื่นได้ เขาก็ต้องพูดไปจากที่เขาจะคิดได้ เขาจึงวาดไว้อย่างนั้น อย่างนั้น สวรรค์ สวรรค์อย่างนั้น อย่างนั้น แม้ในโลกพระศรีอารย์ ก็พอ ๆ กันแหละ เรื่องมันก็พอ ๆ กัน แต่เราเดี๋ยวนี้ ไม่จำเป็นที่ต้องพูดเช่นนั้น แหละบางทีเราก็รู้มากเสียแล้วว่า ไอ้เช่นนั้น มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร เป็นเรื่องของหวาน หลอกเด็กเสียมากกว่า เราต้องการเรื่องที่มันจริงกว่านั้น อ้าว, ทีนี้ก็ดูต่อไปว่าการที่พูดอย่างนี้นะ มันมีลักษณะของสติปัญญา สำหรับผู้มีสติปัญญา ใช้กันอยู่ในวงผู้มีสติปัญญา สมตามหลักของพุทธศาสนา ที่เป็นปัญญาธิกะ ทีนี้ก็ช่วยจำให้ดีนะไอ้หลักใหญ่ ๆ ที่เขาวางกันไว้นี้ว่า ปัญญาธิกะ ศรัทธาธิกะ วิริยาธิกะ ถ้าพูดตามลำดับก็ศรัทธาธิกะ มีเรื่องศรัทธาเป็นใหญ่ วิริยาธิกะ มีเรื่องบังคับจิตเป็นใหญ่ ปัญญาธิกะ มีเรื่องสติปัญญาเป็นใหญ่ ถ้าพูดกัน เป็นแยก แยกกัน แยกกันเป็น เป็นพวก ๆ แล้วก็ว่า ไอ้พวกหนึ่งมันมีศรัทธาเป็นใหญ่มันเอาศรัทธานั่นแหละดับทุกข์เพราะมันเชื่ออย่างนั้นเสียแล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์ เช่น เชื่อว่าพระเจ้าต้องการที่เราต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันก็เลยไม่ต้องเป็นทุกข์ ก็เอาศรัทธาเป็นใหญ่ อย่างนี้ก็ยังมีประโยชน์ เพราะเมื่อเขาเชื่อเสียแล้ว เขาก็ไม่มีความทุกข์ ทีนี้พวกที่ ๒ มี วิริยาธิกะ เอา เอา เอาไอ้วิริยะนี่ กำลังจิตนี่เป็นหลัก เขาบังคับจิตของเขาไม่ให้เป็นทุกข์นี่ เขามีวิธีศึกษาฝึกฝนและบังคับจิตให้รู้สึกอย่างไรได้ เขาบังคับจิตให้รู้สึกที่ไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้เรียกว่า พึ่งกำลังจิตให้เป็นใหญ่เลย มาพวกสุดท้าย ปัญญาธิกะ เอาปัญญา เอาความรู้แจ้งนี่แหละเป็นหลัก ให้รู้แจ้งไปในทางที่มันจะไม่เป็นทุกข์ นี่การที่พูดว่า สวรรค์เมื่อยกมือไหว้ตัวเองได้ นรกเมื่อเกลียดตัวเองนี่ มันเป็นเรื่องของปัญญาธิกะ ไม่ต้องใช้กำลังศรัทธา หรือไม่ต้องใช้การบังคับจิตจนอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง นี่มันเหมาะกับพุทธศาสนาที่สุด เพราะว่าพุทธศาสนา เป็นประเภทปัญญาธิกะ คือ เราจะทำกันได้ด้วยสติปัญญา ทีนี้ที่อยากจะพูด ทั้งที่ว่าไม่สู้จำเป็นจะต้องพูดหรือบางคนจะฟังไม่ถูกคือว่า ถ้าว่าเราถือหลักอย่างที่ว่านี้นะ สวรรค์เมื่อยกมือไหว้ตัวเองได้ นรกเมื่อเกลียดตัวเองนี่ มันไม่ฝืนหลักกาลามสูตร ๑๐ ประการ แต่อย่างไรนะ อันนี้เป็นหัวใจพุทธศาสนา ไอ้หลักกาลามสูตร ๑๐ ข้อ นี่ไปหาศึกษาเอาเอง คือ เราไม่ต้องเชื่อ หรือไม่ ไม่ ไม่ต้องถือ ไม่ต้องฝาก ฝากความเชื่อ ความไว้ใจไว้กับ ไอ้ ๑๐ ประการนั้น คือ เชื่อตามที่เขา พูดตามๆ กันมา ไม่ต้องเชื่อเอาตามที่เขาปฏิบัติตามๆ กันมา ไม่ต้องเชื่อเอาตามที่มันเล่าลืออยู่กระฉ่อนทั้งบ้านทั้งเมือง ไม่ต้องเชื่อว่ามันมีที่อ้างอยู่ในพระไตรปิฎก แล้วไม่ต้องเชื่ออย่างคิดแบบตรรกะ ไม่ต้องเชื่ออย่างพิจารณาแบบนัยยะ ไม่ต้องเชื่อแบบ logic ไม่ต้องเชื่อแบบปรัชญา philosophy ซึ่งเป็นเรื่องคำนวณทั้งนั้นแหละ แล้วก็ไม่ต้องเชื่อชนิดที่ว่ามันคิดชุ่ยๆไปตามความคิดนึกชั่วขณะ ไม่ต้องเชื่อแม้แต่ว่านี่มันทนกันได้กับความคิดของเรา เราคิดอย่างนี้ มันแสดงอย่างนี้ทุกที อย่างนี้ก็ยังไม่เอานะ และก็ไม่เชื่อเพราะเหตุว่า ไอ้ผู้พูดนั้นมันน่าเชื่อ กระทั่งสุดท้ายว่า ผู้พูดนั้น พระสมณะนั้นเป็นครูของเรา ยังไม่เชื่อแม้แต่ครู ไม่ต้องเชื่อแม้แต่ครูพูด แม้แต่พระพุทธเจ้าตรัส ก็เพราะว่า เราเห็นกันอยู่ชัด ๆ นี่ว่า เมื่อยกมือไหว้ตัวเองได้ มันเป็นอย่างไร จิตใจมันเป็นอย่างไร เมื่อเราเกลียดน้ำหน้าตัวเอง จิตใจมันเป็นอย่างไร การถือหลักอย่างนี้มันไม่ขัดหลักกาลามสูตร มันสมคล้อยหลักกาลามสูตร ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา นี่มันมีเท่านี้แหละ ทีนี้มันก็มีดีอยู่ที่ว่านรก สวรรค์ชนิดนี้เรา เราจัดเอาได้เราทำเอาได้เราสร้างเอาได้ มันอยู่ในอำนาจของเรานี่ เราอยากได้สวรรค์ เราก็ทำชนิดที่ทำให้เรายกมือไหว้ตัวเองได้ เราจัด เราทำเอาได้ ไม่ ไม่ได้อยู่นอกเหนืออำนาจของเรา มันไม่ ไม่อยู่ไกลถึงบนฟ้า หรืออยู่ใต้บาดาลโน้น ซึ่งเราไปจัดการมันไม่ได้ มันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา คือที่ร่างกายของเราที่นี่ เดี๋ยวนี้ เราจัดการเอาได้ จนเกิดสวรรค์ขึ้นมาก็ได้ หรือถ้าเราต้องการนรก เราก็จัดให้นรกมีขึ้นมาได้ และทันตาเห็น ใช้คำว่าจัดเอาได้ตามที่เราต้องการแล้วมันก็ทันตาเห็น ทันตาเห็น เอาละ สรุปความหน่อยว่ามันเป็นคำพูดเพื่อเป็นพื้นฐาน ได้ทั้งทางศีลธรรมและทั้งทางปรมัตถธรรม สมัยก่อนเขามี นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้าเป็นรากฐานทางศีลธรรม เดี๋ยวนี้ เราก็มีรากฐานทางศีลธรรมด้วยคำพูดอย่างนี้ มันไม่เสียหายไปไหนหรอกเพราะว่าคนชาวบ้านทั่วไปไม่มีสติปัญญาก็มองเห็น มองเห็นว่า เมื่อไหว้ตัวเองได้นะ ชื่นใจแน่ เมื่อเกลียดตัวเองแล้วมันร้อนใจแน่ นี่เป็นรากฐานได้ทั้งทางศีลธรรม และเป็นรากฐานได้ทั้งทางปรมัตถธรรมโน่น ผมจึงชอบพูดอย่างนี้ พูดทีเดียวมันเป็นรากฐานใช้ได้ทั้งทางศีลธรรม และทั้งทางปรมัตถธรรม ไม่มีส่วนแห่งความงมงาย เป็นสันทิฏฐิโก มองเห็นได้ ไม่จำกัดเวลา ทำได้ นั่นแหละมันมีประโยชน์อย่างนี้ ที่ว่าเราพูดเรื่องนรก สวรรค์ กันเสียใหม่ในลักษณะอย่างนี้ สามารถที่จะได้รับประโยชน์เต็มทุกความหมาย ที่มันควรจะได้ หรือที่เขามุ่งหมายจะให้ทุกคนมันได้ เราก็สามารถทำให้ได้ ก็เลยมีคำพูดแปลก ๆ ขึ้นมาว่า สวรรค์อยู่ที่เมื่อยกมือไหว้ตัวเองได้ นรกอยู่ที่เมื่อมันเกลียดชังตัวเอง แล้วคุณก็ดูเอาเองเถิดว่ามันจำเป็นที่จะต้องรู้หรือไม่ เรื่องมันเกี่ยวข้องกับเราหรือไม่เกี่ยวข้องกับเรา และที่ดีกว่านั้นก็คือเราสร้างเอาได้ตามชอบใจของเรา ต้องการนรกก็ได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ต้องการสวรรค์ก็ได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว อ้าว, ทีนี้ก็จะพูดเลยไปถึง เรื่องวิธีพูด หรือการพูด พูดอย่างชาวบ้านทั่วไปก็อย่างหนึ่ง พูดอย่างพระพุทธเจ้าตรัสก็อย่างหนึ่ง พูดอย่างผมกล่าวนี่ก็อย่างหนึ่ง นี่มันเป็นเรื่องความต่างกันของวิธีพูดก็เลยอยากจะให้รู้ให้เข้าใจเรื่องของการพูด วิธีการพูด โวหารแห่งการพูด ความตื้นลึกของการพูด เขามี มีการแบ่งว่าเป็นไอ้โวหาร โวหาร ทิฏฐธัมมโวหาร โวหารชั้นต่ำ ภาษาคน ชาวบ้านพูด สัมปรายิกโวหาร โวหารอื่น นอกไปจากที่ชาวบ้านเขาพูด ชาวบ้านเขาพูดเขาก็พูดกันทื่อ ๆ ตรง ๆ อย่างนั้นแหละ ถ้าว่าโวหารธรรมะ มันก็ลึกกว่านั้นแหละ แล้วถ้าปรมัตถโวหารแล้ว มันเลิกหมดเลย มันยกเลิกทิ้งหมดเลย ว่างไปเลยนะ ยกตัวอย่างที่มันเป็นเรื่องเป็นราวในบาลี ก็เช่น ชาวบ้านเขาพูดนะ เขาพูดว่าวรรณะ ๔ วรรณะทั้ง ๔ มันต่างกัน กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร กษัตริย์ พวกนักรบ นักปกครอง พราหมณ์ พวกครูบาอาจารย์ สั่งสอนและนักบวช แพทย์ คือ ประชาชนที่ทำมาหากินเป็นหลักฐาน ศูทร คือ คนรับใช้ คนชั้นต่ำ ถ้าพูดอย่างภาษาชาวบ้าน ทิฏฐธัมมโวหาร ก็พูดว่าต่างกัน ต่างกันจนไม่กินข้าวร่วมกัน ไม่เดินถนนร่วมกัน ไม่อะไรต่างกัน เพราะมันต่างกัน แต่ถ้าพูดอย่างสัมปรายิกโวหารอย่างพระพุทธเจ้าตรัส มันเหมือนกันนั่นแหละ กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทรนี่ มันเหมือนกันแหละ ถ้ามันปฏิบัติดี มันก็ได้รับผลดี ปฏิบัติชั่วก็ได้รับผลชั่ว มันจะตกนรก หรือขึ้นสวรรค์ก็เพราะการปฏิบัติของมัน กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร ก็ตาม ถ้าปฏิบัติจริง ในพรหมจรรย์ แล้วก็บรรลุมรรคผลนิพพานกันทั้งนั้นแหละ ดังนั้น ไม่พูดว่าต่างกันหรอก นี่สัมปรายิกโวหาร โวหารภาษาธรรม ผิดไปจากโวหารชาวบ้านพูด แต่ถ้าที่จะพูดสูงกว่านั้น ลึกกว่านั้น สูงกว่านั้น เป็นปรมัตถโวหารแล้วก็ โอ๊ย, ไม่มีหรอก ไม่มีคำว่า กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร มนุษย์ทั้งนั้นแหละ มนุษย์ก็ไม่มีหรอก มีแต่ไอ้กลุ่มสังขารที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งนั้น ยกเลิกหมด ไม่มี ไม่มีวรรณะ ๔ ว่าอย่างนั้น จึงไม่มีปัญหาที่จะพูดว่าต่างกันหรือเหมือนกันนี่โวหารนี้มันสูงสุดขึ้นไปอีกจนกระทั่งว่ามันไม่มีคน ไม่มีการแบ่งวรรณะอย่างนั้น อย่างนี้ เพราะว่า มันไม่มีคน สิ่งที่ในบาลี กล่าวถึงว่าในอริยะวินัยนี้ เขาพูดกันอย่างนี้ นั่นนะคือ สัมปรายิกโวหารที่ต่างจากชาวบ้านพูดแล้ว เช่น ชาวบ้าน อะไร ติกะนิบาติ(นาทีที่ 45:54) ที่ไปเขียนลงไว้ในหนังสือไอ้กามนิตนะ การเต้นรำเป็นอาการของคนบ้า ที่ชาวบ้านเขาเรียกว่าเต้นรำ เต้นรำ สวยงาม เรื่องเต้นรำนี่ สัมปรายิกโวหารเขาพูดว่าอาการของ คนบ้านะ นี่การร้องเพลงนั่นคือ อ้า อ้า ไอ้การ การร้องเพลงคือ การร้องไห้นี่ ที่ ที่มันร้องเพลงสนุกสนาน นั่นนะ คือ การร้องไห้ มีอาการของคนร้องไห้ มันถูกกิเลส บีบคั้น ให้มันออกเสียงอย่างนั้น โก่งคออย่างนั้นเหมือนกับการร้องไห้ และอะไรอีกนะ การหัวเราะ หัวเราะร่านั่นนะ มันคือ อาการของเด็กทารก ไม่ใช่สิ่งที่มีเกียรติอะไร หัวเราะร่า เฮ ๆ ฮา ๆ นั่นนะ ก็จัดว่าเป็นอาการของเด็กทารก แต่คนก็ชอบแสดง นี่ถ้า ถ้า ถ้าชั้นธรรมดานะ ทิฏฐธัมมโวหาร นั้นเรียกว่าเต้นรำ นั้นเรียกว่า ร้องเพลง นั้นเรียกว่า หัวเราะ แต่ถ้าว่าสัมปรายิกโวหารนี่ เต้นรำคือ อาการบ้า ร้องเพลงคือ ร้องไห้ หัวเราะ คืออาการของเด็กทารกแบเบาะ อย่างนี้ โวหารมันเป็นอย่างนี้ ถ้าปรมัตถโวหาร มันก็เลิกเลย มันจะไม่มีความหมายว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง อ้า, ในบรรดาคำเหล่านั้น คือ มันไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มันก็เลิกเลย เลิกหมด นึกออกอีกคำหนึ่งว่า ไอ้ ไอ้ โลหิตของมารดานั่นแหละ คือ นมของมารดา เมื่อชาวบ้านเขาพูดว่า นมของมารดา น้ำนมจากมารดานะ ภาษาสัมปรายิกโวหารก็ว่าเลือดในอกของมารดา อย่างนี้เป็นต้นคือต้องพูดให้จริงกว่าไว้เสมอแหละ เพราะฉะนั้น เราจะต้องถือหลักว่าเราจะพูดให้ถูกกว่า หรือจริงกว่า สำเร็จประโยชน์กว่า แสดงภูมิแห่งปัญญามากกว่า ไว้เสมอไป จึงจะเรียกว่าการพูดที่ดี เดี๋ยวนี้มันมีแต่การพูดสะเพร่า โง่ ๆ พูดอวดๆ พูดด้วยความอวดมันก็ผิดมากกว่าถูก มันต้องพิจารณาให้เห็นไอ้ ความจริงนะ ที่ลึกลงไป ลึกลงไป ลึกลงไป ก็เรียกว่า ดูหลายชั้น ดูหลายชั้น คิดหลายชั้น ไม่ใช่ความคิดชั้นแรกโพล่งออกมาแล้วถูกแล้ว คุยโม้ ดังลั่นเลย เพราะว่าเมื่อคิดอีกที มัน มันเป็นอย่างอื่นมันถูกกว่านั้น ถ้าคิดอีกที มันกลับถูกกว่านั้น มันเป็น มันเปลี่ยนไปอย่างอื่น เพราะฉะนั้น เราจงพยายามคิด หรือจะเรียกให้ถูกก็มองดูให้ลึกกว่าธรรมดา ให้เป็นชั้น ๆ ให้หลาย ๆ ชั้น นี้ก็เป็นหลักทั่วไปแหละ เช่นว่าธรรมดาพระพุทธเจ้าก็คือ บุคคลที่เกิดในอินเดีย เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว เดินท่อม ๆ อยู่ในอินเดีย นี่พระพุทธเจ้าในความหมายธรรมดา ทีนี้ถ้าว่าความหมายที่สูงกว่านั้น ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา องค์พระพุทธเจ้าไปอยู่ที่ธรรมะโน่นไม่ใช่อยู่ที่ร่างกายนั่น หรือจะดูให้มันมากกว่านั้นไปอีก มันก็อยู่ที่ไอ้ จิตที่มันดับทุกข์ได้โน่น ไอ้ความรู้สึกที่มันดับทุกข์ได้ สติปัญญาที่มันดับทุกข์ได้ เป็นพระพุทธเจ้า เป็นองค์พระพุทธเจ้า จะดูลักษณะที่เป็นผลก็คือ มีลักษณะสะอาด สว่าง สงบ ถ้าดูที่คุณสมบัติก็คือว่า ปัญญาคุณ เมตตาคุณ วิสุทธิคุณ นี่เรียกว่า มองลึกกว่า และก็เห็นแปลกออกไป พูดได้เลยว่า ทุกคำพูดที่มนุษย์พูดนะ มีความหมายหลายชั้นทุกคำแหละ แต่บางคำไม่จำเป็นจะต้องไปดูมัน ไปแยกมัน ก็ไม่ต้องไปพูดมัน แต่บางคำจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะดู และแยกมัน ให้เห็นเป็นชั้นๆ และพูดให้ถึงชั้นลึกเข้า ให้ถึงชั้นลึกและใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ เช่นเดียวกับที่ เราพูดกันเรื่องสวนโมกข์คืออะไร เมื่อคืนก่อนนะมันเป็นชั้น ๆ ชั้น ๆ สวนโมกข์คือ แผ่นดินที่ตรงนี้ หรือว่า สวนโมกข์คือแผ่นดินที่เมื่อคนใจเกลี้ยงไปนั่งอยู่ หรือสวนโมกข์คือจิตที่มันเกลี้ยงจากไอ้สิ่งผูกพัน หรือว่าสวนโมกข์คือสิ่งที่มันอยู่ในจิตของบุคคลผู้ไม่ยึดมั่นสิ่งใดๆ สวนโมกข์มันเป็นชั้นๆ อย่างนี้ นี่ก็เรียกว่าโดยภาษาที่มันลึกเข้าไปเป็นชั้น เป็นชั้น เป็นชั้น ขอให้รู้ไว้ เพื่อว่าเรานี่แหละ จะเป็นผู้สามารถมองเห็นอะไรลึกซึ้ง หลายชั้น แล้วก็จะใช้เป็นประโยชน์ได้มากกว่าที่จะเห็นเพียงชั้นเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของธรรมะนี้ ถ้าเห็นเพียงชั้นเดียวแล้วก็ ไม่พอ ไม่ไหวหรอก เป็นอาจารย์โง่คนหนึ่งเท่านั้น ถ้ามันเป็นอาจารย์ที่ฉลาดมันต้องเห็นหลายชั้น แล้วมันต้องพูดได้หลายชั้น แล้วถือเอาประโยชน์ของชั้นที่มีประโยชน์ที่สุดได้นี่ จึงจะเรียกว่าผู้มีปัญญา แล้วถ้าเก่งจริงมันก็ถือเอาประโยชน์ได้ทุกๆ ฝ่ายแหละ จะมีประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า ประโยชน์ตนเอง ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์โดยตรง ประโยชน์โดยอ้อม เอาได้ทั้งนั้นเลย ก็เพราะมันมองเห็นหลายชั้น ดังนั้น อย่าไปเข้าใจว่าคิดทีเดียวออก คิดชุ่ยๆ หวัดๆ ออกมาแล้ว นั่นคือหมดแล้ว คือถูกแล้ว ซึ่งเป็นกันอยู่โดยมาก ผมสังเกตเห็นว่าเป็นกันอยู่โดยมาก โลกนี้เป็นกันอยู่โดยมาก ในพระ เณรของเรา จึงทำอะไรไม่ค่อยจะได้มากนัก วันนี้เราเอาเรื่องนรก เรื่องสวรรค์มาเป็นวัตถุสำหรับศึกษา สำหรับพิจารณา เพื่อให้เห็นความแตกต่างเป็นชั้นๆ ชั้นๆ ระหว่างกัน มันเป็นเรื่องของความรู้ และถ้าเราปฏิบัติได้ตามที่เราต้องการ มันก็เป็นเรื่องอานิสงส์ของความรู้ ได้รับประโยชน์ และอานิสงส์ของความรู้หรือการปฏิบัติ และทำให้เราสามารถมองเห็น ความที่มันมีอยู่หลายชั้น และมีวิธีพูดหลายวิธี ความรู้สึกอย่างนี้ มันเกิดขึ้นแก่ผมเมื่อได้ผ่านไป ผ่านไป ผ่านไป ในพระไตรปิฎกนั่นเอง ตรงนี้ สูตรนี้ ท่านตรัสด้วยหลักการที่ธรรมดา ภาษาคน ตรงโน่น สูตรโน่น ตรัสด้วยภาษาที่ลึกขึ้นไป ตรงโน้นสูตรโน้นเลยที่ลึกที่สุดเลย จนว่างไปเลย อย่างนี้เป็นต้น แม้ข้อความในพระไตรปิฎก ส่วนที่มันอยู่ในรูปพระพุทธภาษิตด้วยกัน มันก็ยังมีหลายชนิดด้วยกันอย่างนี้ เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าก็ควรจะใช้ประโยชน์สิ่งที่ได้ตรัสไว้ให้ คือ พระไตรปิฎก เป็นต้น ให้ได้ประโยชน์ที่สุด
สรุปความเสียทีว่า ไอ้นรก สวรรค์นั่นแหละ คือ อะไร คือ เมื่อให้สุขใจก็เรียกว่า สวรรค์ เมื่อให้ทุกข์ใจก็เรียกว่านรก มีจริงหรือไม่ ถามอย่างนี้ก็บ้าเต็มที เพราะทุกคนมันรู้สึกอยู่นี่ บางคราวนั้น อ้า, เป็นสุขใจ บางคราวมันก็เหลือ เหลือทน แล้วยังมาถามว่ามีจริงหรือไม่ ทีนี้พอถามว่าอยู่ที่ไหนเล่า นี่ตอนนี้ นี่จะตอบ จะตอบได้หลาย ๆ คำแหละ อยู่ที่ไหนเล่า อยู่ใต้ดินหรืออยู่บนฟ้า หรืออยู่ที่คน หรืออยู่ที่การกระทำของคน เรียกว่ามันมีจริงและมันอยู่ ในที่นั้นๆ ตามแต่สติปัญญาของผู้พูด เขาจะพูดอย่างไร มันเหมาะสมแก่ใครที่จะพูดอย่างไร เราก็พูดอย่างนั้น ถ้าเขาเหมาะสมที่จะฟังว่ามันอยู่ใต้ดิน หรืออยู่บนฟ้า ก็พูดอย่างนั้น มันเป็นคำพูดที่ชิน จนซึมเข้าไปในกระดูกแล้ว ก็ต้องพูดอย่างนั้นแหละ แต่ถ้ามันไม่สำเร็จประโยชน์เราก็พูดอย่างอื่นสิ พูดชนิดที่ให้สำเร็จประโยชน์ ก็แล้วกัน เป็นอันว่าไอ้นรกหรือสวรรค์นั้นนะ มันมีจริงนะ มันมีจริงทุกระดับแหละ ไอ้ระดับที่พูดว่าอยู่ใต้ดิน หรือ บนฟ้า ก็ให้ถือว่ามันมีจริง มันมีจริงอยู่อย่างนั้นแหละ เพราะมันมีประโยชน์ในระดับนั้น ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามีอยู่ที่อายตนะ มันก็มีจริงตามความหมายนั้น และที่ผมพูดว่ามันมีจริงอยู่ที่เมื่อไหว้ตัวเองได้ หรือว่า เกลียดตัวเอง มันก็มีจริงอยู่ที่นั่นแล้ว ทุกคนก็มองเห็นได้เองอยู่แล้ว ต้องถือว่านรกหรือสวรรค์นี่มันมีจริงทุกชนิด ทุกระดับที่ได้พูดกันมาแล้ว หากแต่ว่ามันมีความหมาย หรือที่ตั้ง ที่อาศัย ทิศทางที่จะดูนั้นมันต่างๆ กัน มันเหมาะสำหรับคน พวกหนึ่ง พวกหนึ่ง พวกหนึ่ง ตามอุปนิสัย ของตน ของตน ดังนั้น เราเก็บไว้ได้ รักษาไว้ได้ เก็บไว้ได้ ทุกระบบของนรกและสวรรค์ ที่เขาจะพูดกันอย่างไร พวกหนึ่งให้สำเร็จประโยชน์ทางศีลธรรม พวกหนึ่งให้สำเร็จประโยชน์ทางปรมัตถธรรม มันอยู่ที่ว่าเรามุ่งจะเอาประโยชน์ในระดับใด เราก็พูดเรื่องนรก สวรรค์ให้ตรงตามระดับนั้น และที่ใดควรจะพูดกันอย่างไร ที่ใดควรจะพูดกันอย่างไร ก็พูดให้ตรงตามกาลเทศะ ตามสัปปุริสธรรม ๗ อย่าพูดอย่างเดียว อย่าพูดยืนกระต่ายขาเดียว ถึงไม่เคยสำเร็จประโยชน์เลย ถ้าพูดว่านรกอยู่ใต้ดินสวรรค์อยู่บนฟ้า มันยังไกลนัก มันยังไกลนัก ก็คว้าไม่ค่อยถึง จะไม่ ไม่ มันไม่เกี่ยวกับเราเสียแล้ว เพราะฉะนั้น เอามาอยู่ที่คว้าถึงกันสิ คว้าถึงจัดการได้ จัดการไม่ ไม่มีนรก กวาดนรกทิ้งไปก็ทำได้ เอาสวรรค์เข้ามาก็ทำได้ แต่ว่าดีที่สุด ที่ดีที่สุดนั้นคือ อยู่เหนือนรก เหนือสวรรค์ นี่มันอีกเรื่องนะ เรื่องนรก สวรรค์ ก็ว่ากันเป็นตุเป็นตะ เป็นวรรคเป็นเวร และสุดท้ายจบด้วยคำว่า ถ้าดีที่สุดมันต้องอยู่เหนือนรก เหนือสวรรค์ คือไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ที่จะตกนรก หรือที่จะอยู่ในสวรรค์ จิตเป็นอิสระ ฟรีไปหมดเลย ไม่เป็นตัวตนที่จะไปตกนรก หรือจะไปอยู่ในสวรรค์ นี่คือ จิตมันหลุดพ้นอย่างนี้ เรียกว่าอยู่เหนือนรก เหนือสวรรค์ ไม่อยู่ภายใต้ความผูกพันของนรก หรือสวรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องอะไรนะ ถ้าให้พูดตรงๆ ก็ต้องพูดว่าเรื่องบ้าทั้งเพ ก็ไม่ต้องเรื่อง อ้า, ไม่ต้องไป ไปยุ่งกับเรื่องนรก สวรรค์ คือ เราอยู่เหนือนรก คือไม่ทำชั่ว อยู่เหนือสวรรค์ คือไม่ติดความดี หลุดพ้นเป็นอิสระ อยู่เหนือความผูกพันทั้งปวง นี่เขาเรียกจิตหลุดพ้น กลับมาสวนโมกข์อีกแล้ว ไอ้ความที่จิตหลุดพ้นจากความผูกพันทั้งปวง เวลาหมด เราเป็นเด็กทารก เราเป็นเด็กวัยรุ่น เราเป็นเด็กหนุ่มสาว เราเป็นพ่อบ้านแม่เรือน เราเป็นคนเฒ่าคนแก่ เราเป็นคนเข้าโลง ในเรื่องมันก็ไม่เหมือนกันหรอก คนละ คนละคราว คนละระดับ สิ่งที่มันต้องการมันก็จึงไม่เหมือนกัน นรกหรือสวรรค์มันก็มีให้เลือกอย่างนี้ แล้วเรื่องไอ้ ไอ้ ไอ้ที่จะรู้จักอยู่เหนือนรก เหนือสวรรค์ นั่นมันยังไกลมากนะ มันยังไกลเกินไปสำหรับปุถุชนคนธรรมดา มันก็เกี่ยวข้องกับนรกสวรรค์ไปเรื่อยๆ ไปจนกว่า มันจะเบื่อนะ ไม่เอา ทั้งนรก และ สวรรค์ อ้าว, ปิดประชุม กลับ