แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ผมจะพูด เรื่องที่เรียกได้ว่าพิเศษ คือ ผิดจากธรรมดา ก็โดยหวังจะให้ได้รับความรู้พิเศษ ทั้งเรื่องของธรรมะ และทั้งเรื่องของวิธีพูด ขอให้คุณตั้งใจฟังให้ดีๆ เถิด เชื่อว่ามีประโยชน์ พิเศษกว่าธรรมดา เพราะว่าจะพูดให้เข้าใจถึง ๒ อย่าง พร้อมกัน คือ เรื่องธรรมะเรื่องหนึ่ง แล้วก็เรื่องวิธีการพูดธรรมะ อีกเรื่องหนึ่ง ก็โดยใช้หัวข้อว่า อ้า, สวนโมกข์อยู่ที่ไหน หัวข้อเรื่องที่พูดนั้นมีว่า สวนโมกข์อยู่ที่ไหน อย่าเข้าใจว่าเป็นเรื่องพูดเล่น แต่เป็นเรื่องที่จะช่วยให้เข้าใจธรรมะ และวิธีพูดธรรมะ ซึ่งเชื่อว่าคงจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้วว่า มีวิธีพูดอยู่ ๒ อย่าง คือ โดยภาษาคน และภาษาธรรม แต่ว่ามันไม่ใช่เพียง ๒ อย่าง เท่านั้น เพราะว่าภาษาธรรมมันพูดได้หลายอย่าง ภาษาคนก็ดูเหมือนจะอย่างเดียว ถ้าถามว่าสวนโมกข์อยู่ที่ไหน มีทางที่จะตอบได้ถึง ๔ อย่าง นี่ขอให้ตั้งใจฟังให้ดีๆ สนใจ ให้มันเข้าใจเรื่องที่จะพูด ที่ว่าคำตอบมีได้ถึง ๔ อย่างนั้นนะ คือ มันเป็นภาษาคน สักอย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช่ภาษาคนอีก ๒ – ๓ อย่าง เมื่อถามว่าสวนโมกข์อยู่ที่ไหน ถ้าตอบภาษาคนธรรมดาๆ มันก็ว่า อยู่ที่เลขที่ ๖๘ หมู่ที่ ๖ ตำบลละเม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นภาคใต้นี่ก็ตอบอย่างนี้ นี่คือธรรมดาที่สุด อันนี้ไม่ยาก เข้าใจได้ง่าย และอย่างที่ ๒ มันก็เป็นตอบภาษา ไม่ใช่ภาษาคนเขาเรียกว่าภาษาธรรมะก็ได้ แต่ไม่ใช่เต็มขนาดก็เรียกว่าภาษาจิต ทุกสิ่งต่างๆ นั้น มันรู้สึกที่จิต ถ้าไม่มีจิตมันก็เท่ากับไม่มี เพราะจิตมันสัมผัสสิ่งนั้น แล้วก็ มันก็อยู่ที่จิตที่รู้สึกสิ่งนั้น ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่าสวนโมกข์มันอยู่ที่จิต ที่เห็นสวนโมกข์อยู่ที่ไหน นี่เขาเรียกภาษาจิตหรือภาษาข้างใน ไอ้สวนโมกข์จริง มันจะอยู่ที่ตรงไหนก็ไม่รู้ แต่ว่าถ้ามันไม่มีจิตไปสัมผัส แล้วมันก็ ไม่มี ไม่มีความหมายเหมือนกับไม่มี ดังนั้น จิตที่สัมผัสสวนโมกข์ แล้วสวนโมกข์เข้าไปปรากฏในจิต เข้าไปรู้สึกอยู่ที่จิต ในฐานะเป็นอารมณ์คือ เป็นอายตนะภายใน มีอะไรทุกอย่างครบบริบูรณ์เหมือนที่จิตมันรู้สึก อย่างนี้ก็ตอบว่า สวนโมกข์นะมันอยู่ที่จิต ทีนี้ ถ้าเป็นภาษาที่ลึกไปกว่านั้นเป็นภาษาธรรมะ ท่านก็จะตอบไปในทางว่า คนมีจิตเกลี้ยงอยู่ที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นเป็นสวนโมกข์ จะเป็นป่าไม้ หรือเป็นสวน หรือเป็นอะไรก็ตาม คนที่จิตมันโมกข์คือ จิตมันเกลี้ยง อ้า, จากไอ้กิเลส จากสิ่งสกปรก คนจิตเกลี้ยง ไปอยู่ที่ตรงไหน ไอ้สถานที่ตรงนั้นก็ได้ชื่อว่าสวนโมกข์ ที่ป่านี้ก็ได้ ป่าไหนก็ได้ ที่ตรงไหนก็ได้ คนมีจิตเกลี้ยงคือ จิตโมกข์ ไปอยู่ที่ตรงไหน ก็เรียกว่า ที่ตรงนั้นเป็นสวนโมกข์ ทีนี้ ถ้าเขาดูกันละเอียดยิ่งไปอีก ยิ่งขึ้นไปอีก ไอ้โมกข์คือ ภาวะของโมกข์ เกลี้ยง สะอาด บริสุทธิ์ จากกิเลสนั้นนะ มันอยู่ที่ไหน มันกลายเป็นว่ามันอยู่ในจิต อยู่ในจิต ดังนั้น สวนโมกข์มันไปอยู่ในจิตของคนที่มีจิตเกลี้ยง นี่ถ้าคุณเข้าใจดีทั้ง ๔ ความหมาย แล้วก็ เรียกว่าจะรู้ธรรมะมากด้วย แล้วก็จะรู้วิธีพูดธรรมะที่มากด้วย อย่างที่หนึ่งพูดภาษาคนธรรมดา ตามธรรมดา ตามที่รู้กันโดยธรรมดา พูดกันอยู่โดยคนธรรมดาว่า สวนโมกข์อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่วัดสวนโมกข์ ที่หมู่ที่ ๖ ตำบลละเม็ด อำเภอไชยา แต่ถ้าพูดว่า ถ้าพูดโดย โดยภาษาที่ดีกว่านั้น ภาษาที่จริงกว่านั้น เรียกว่า ภาษาจิต ในจิตที่เห็นสวนโมกข์ นั้นแหละ มีสวนโมกข์ สวนโมกข์นั้นอยู่ที่จิต นี่ไม่เป็นธรรมะ ธรรมโมอะไรนัก มันคล้ายๆ กับวิทยาศาสตร์ทางจิต หรือภาษาจิต แต่วิทยาธรรมดาๆ แต่เขาก็เอามาใช้ เป็นเรื่องธรรมะได้เหมือนกัน เช่น เรื่องของพวกเซน ที่เขามีวิธีพูดคล้ายกันนี้ คือ เรื่องนั้นมันมีว่า ไอ้ พระ ๒ องค์มันทะเลาะกัน คือ องค์หนึ่งก็พูดว่า ไอ้ ไอ้ธงที่แขวนไว้ ถูกลม แล้วมันไหว คือ คนหนึ่งพูดภาษาคน ธงที่ถูกลมพัดนะมันก็ไหวสิ ทีนี้พระอีกองค์หนึ่งว่า บ้า จิตของคุณ ของคุณเองนะมันไหว นี่มันพูดลึกกว่า เอานะ จิตของคุณที่มันไหวไปตามที่มันรู้สึกว่าลมว่าธงไหว ไม่ใช่ธงไหว แต่ว่าจิตของคุณนะมันไหว นี่คุณ คุณ คุณสังเกตดูเถิดว่า เขามีวิธีพูด อย่างนี้กันอีกวิธีหนึ่ง คือ พูดภาษาจิต ทีนี้พูดภาษาธรรมะ ชั้นธรรมดาๆ นะ ซึ่งมีในบาลี มีในอรรถกถา ก็พูดถึงมากเหมือนกัน ถ้าเราหมายถึงสวนโมกข์ซึ่งแปลว่าเกลี้ยง คือ จิตเกลี้ยงจากกิเลส เขาก็จะพูดว่า ไอ้คนจิตเกลี้ยงจากกิเลสอยู่ที่ตรงไหน ตรงนั้น นั่นแหละเป็น อ้า, สวนโมกข์ หรือเป็นที่โมกข์ อย่าง จะใช้อย่างอื่นก็ได้ แต่ว่าให้ขอ ให้เข้าใจเป็นหลักว่า ไอ้คนชนิดนั้นมันมีอยู่ที่ไหน ที่ตรงนั้นมันจะพลอยได้ชื่อเป็นอย่างนั้นไป นี่ก็เป็นธรรมะ เป็นภาษาธรรมะ คือ ไม่เอาพื้นที่ ไม่เอาเนื้อที่ ไม่เอาสมมติเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นหลัก คนมีจิตเกลี้ยงอยู่ที่ไหน ตรงนั้นเรียกว่าสวนโมกข์ อยู่ที่ไหนก็ได้ มันจะกลายไปเป็นถึงว่าไปอยู่ที่บ้านคุณก็ได้ สวนโมกข์ ถ้าคุณมีจิตเกลี้ยง ที่อันสุดท้าย ละเอียดเข้าไปอีก เป็นภาษาธรรมะชั้นละเอียด ก็ตอบว่าอยู่ไหนจิตที่เกลี้ยง สวนโมกข์นะอยู่ในจิตที่เกลี้ยง คือ ภาวะของจิตที่เกลี้ยงจากสิ่งหุ้มห่อ ปรุงแต่ง ยึดถือ ภาวะนั้นมันอยู่ในจิตอยู่ที่จิตหรืออยู่ในจิตก็แล้วแต่จะเรียกมันก็อยู่ที่นั่นแหละ หมายถึงว่าสวนโมกข์เข้าไปอยู่ในจิต ทีนี้พอคุณเอาทั้งไอ้ ๔ ความหมายนี้ มารวมกันเข้า มันก็เกิดการเถียงกันได้ เถียงกันเหมือนตาบอดคลำช้าง คนนั้นว่าอย่างนั้น คนนั้นว่าอย่างนี้ แต่ที่มันน่าจะเถียงกัน และอยากจะให้ ให้คิดกันเสียบ้างก็คือ จะถามขึ้นว่า คุณนะ อยู่ในสวนโมกข์ หรือว่าสวนโมกข์อยู่ในคุณ พวกคุณอยู่ในสวนโมกข์ หรือว่าสวนโมกข์อยู่ในพวกคุณ ลองคิดดู ถ้าเราพูดตามความรู้สึกธรรมดาก็เราอยู่ในสวนโมกข์กันนี่ เมื่อมาอยู่ในสวนโมกข์ ก็อยู่ในสวนโมกข์ นี่ภาษาคนธรรมดา เรียกว่าไม่มีไอ้ความลึกซึ้ง หรือเฉียบแหลมอะไรเลย ถ้าพูดว่าเราอยู่ในสวนโมกข์ แต่ถ้าพูดว่าสวนโมกข์อยู่ในคนที่จิตเกลี้ยง สวนโมกข์อยู่ในเราที่จิตเกลี้ยง มันกลับตรงกันข้าม มันถูกกว่า แต่ว่ามันกลับมีได้ยาก เพราะคนจิตมันไม่เกลี้ยง ในจิตคนนั้นมันไม่มีสวนโมกข์ แต่นี่ เดี๋ยวนี้มันเป็นการพูด เราก็พูดได้ว่า เราอยู่ในสวนโมกข์ หรือสวนโมกข์อยู่ในเรา พยายามทำความเข้าใจ ถ้าพูดให้มันเป็นกลางๆ ทั่วๆ ไป ให้เพียงอย่างเดียวมันก็พูดว่า สวนโมกข์มันอยู่ในหัวใจของคนที่จิตเกลี้ยง นี่ถูกที่สุด แล้วก็เป็นการพูดโดยภาษาธรรมที่ลึกซึ้งที่สุดเลย แล้วสังเกตไว้ให้ดีๆ เถิดจะมีประโยชน์ พูดอย่างนี้ หรือทำอย่างนี้จะมีประโยชน์ ทีนี้ก็มาพูดถึงเรื่องจิตมันเกลี้ยงหรือไม่เกลี้ยงกันสิ จิตของเราเป็นอย่างไร จิตของเราเต็มไปด้วยลิงเป็นฝูงๆ ใน ในจิตของเราเต็มไปด้วยลิงเป็นฝูงๆ ลิงแห่ง ตัวกู ตัวกู ของกู มีลิงอยู่เป็นฝูงๆ ในจิตนั้น แล้วมันจะเกลี้ยงได้เหรอ มันก็เกลี้ยงไม่ได้นี่ ถ้าว่าฟังไม่ถูก มันก็เป็นพูดเล่น จะรู้สึกว่าพูดเล่น แล้วโกรธเสีย แล้วก็ไม่ฟังเสีย มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ทั้งคนพูดและคนฟัง อย่าไปเห็นว่าเป็นเรื่องพูดเล่นๆ นะ พูดเรื่องจริง ยิ่งกว่าจริง ยิ่งกว่าจริง แต่มันฟังดูคล้ายๆ กับพูดเล่นว่าในจิตของคุณนะมันเต็มไปด้วยลิงเป็นฝูงๆ แห่งตัวกู เอาละ พูดกันให้เกลี้ยง ให้ชัด ให้ชัดอีกก็ว่า จิตเกลี้ยงกับจิตไม่เกลี้ยงนะ พูดพร้อมกันไป เป็นการเปรียบเทียบ มันฟังง่ายดี จิตเกลี้ยง คือ ไม่มีอะไรที่เป็นความหมายแห่งความรก คำว่าความรกนี่ไม่ใช่เป็นเรื่องว่าความคิด แล้วมันจะรกไปหมด มันต้องความคิดชนิดที่เป็นความรก ความคิดที่ว่าเป็นตัวกูของกู จิตปรุงแต่งชนิดที่มีความหมายเป็นตัวกูของกู นี่ คุณจำ อ้า, เข้าใจคำว่ารกให้ดีๆ ในจิตมีสิ่งรก มีของรก รุงรังไปหมด แล้วมันไม่เกลี้ยง นี่มันมีความหมายละเอียด ซ่อนอยู่ อาจจะไม่รู้จักคำว่า รก ที่ตรง ที่อะไรก็ได้ เช่น คำกล่าว อีกคำหนึ่งว่า มันรกอยู่ที่มีความหมายเป็นรก ไม่ได้รกอยู่ที่ต้นไม้ ต้นหญ้า ต้น อ้า, ต้น ต้นไม้ มัน มัน ที่เรียกว่าป่านะ ป่านะ ป่ามันรก แต่ความรกไม่ได้อยู่ที่ต้นไม้ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงมีคำสอนอยู่ ประโยคหนึ่งว่า จงตัดป่าอย่าตัดต้นไม้ ก็หมายความว่า ให้ตัดความรก รกรุงรัง ออกเสียให้หมด แต่อย่าตัดต้นไม้ เพราะต้นไม้ไม่ใช่ความรก ไม่ใช่ตัวรก คือ ตัวรกมันอยู่ที่ตัวป่า หรือว่าไอ้รูปภาพในตึกโน้นของเรา มีอยู่ภาพหนึ่งที่ว่า ไอ้ความคดนะ มันอยู่ที่แม่น้ำ ไม่ได้อยู่ที่น้ำ เอ่อ, แม่น้ำคด แต่น้ำมิได้คด ความคดอยู่ที่ตัวของแม่น้ำ คดไปคดมา แต่น้ำที่ไหลไปในนั้นนะ ไม่ได้คด คือ น้ำมันคดไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น ที่ว่าจิตรกก็เหมือนกันแหละ จิตมันไม่ได้รกด้วยความคิดอย่างอื่น อ้า, ถ้ามีความชนิดที่ไม่มีตัวกูแล้ว ไม่เรียกว่ารก เพราะไม่ใช่กิเลส ถ้าจิตมันมีความคิดประเภทกิเลสนานาชนิด ที่จะสรุปเรียกว่า ตัวกู ตัวกู นั่นนะคือ จิตที่มันรก ถ้ามันมีความคิดอย่างอื่นซึ่งมิใช่กิเลส เช่น ปัญญา สติ สัมปชัญญะ อะไรก็ได้ อย่างนี้ไม่เรียกว่ารก ดังนั้น คำว่า จิตเกลี้ยง นะหมายถึง จิตที่ไม่มีความคิดประเภทตัวกู ของกู เรื่องตัวกู ของกูนี่เคยพูดกันมาแล้ว ไม่ต้องพูดอีก เสียเวลา มีความคิดปรุงแต่งขึ้นมาเป็นตัวกู มันก็มีความคิดประเภทของกูตามเป็นเงา มาแล้วไม่ต้องสงสัย ถ้าในจิตนั้นมีความคิดอย่างอื่น เช่น ความเฉลียวฉลาด หรือว่าไอ้ความคิดนึกที่มิได้มีความหมายแห่งตัวกู แล้วก็เรียกว่า ไม่มีกิเลส หรือไม่มีของรก เป็นจิตเกลี้ยงจากตัวกู คำว่าเกลี้ยงนี้มันหมายถึง เกลี้ยงจากตัวกู จิตก่อนที่จะเกิดความคิดว่า ตัวกู เป็นจิตเดิม ถ้าว่าที่จริงแล้วไอ้ตามปกติตามธรรมชาติแท้ๆ มันก็ไม่ได้เกิดความคิดประเภทตัวกู มันมีจิตธรรมชาติ และความคิดตามธรรมชาติ ที่ยังไม่เป็น ตัวกู ของกู ต่อเมื่อมีอะไรมายั่ว มาล่อ มาปรุง แล้วจึง ไอ้ความคิดประเภทตัวกูมันจึงจะเกิด ซึ่งเราก็อธิบายกันมามากแล้วว่า ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางจิตเอง มันมีอารมณ์เข้ามาหา กระทบกับผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหานั่น มีอุปาทานตัวกู ตามที่มันอยู่ตามปกติแต่เดิมนั้นไม่มีตัวกู แต่พอมีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ปรุงๆๆ เป็นลำดับไป จนเกิดตัวกู ดังนั้น จึงถือว่าจิตที่มีตัวกู หรือเกิดตัวกูนี่เป็นจิตใหม่ ของใหม่ ซึ่งเกิดความรกขึ้นมา ไม่เกลี้ยงแล้ว ไม่เกลี้ยงแล้ว แต่ก่อนนี้ไม่มีสกปรกด้วยเรื่องตัวกูของกู ยังเกลี้ยงอยู่ พอปรุงกันอย่างนี้แล้วก็เป็นจิตที่รก สกปรก หุ้มห่อ ผูกพัน อยู่ด้วยความหมายแห่งตัวกู จะเรียกว่า จิตเดิมก็ได้ จิตล้วนๆ ก็ได้ จิตตามธรรมชาติ จิตที่ยังไม่ปรุงแต่ง จิตที่ยังว่างอยู่ นั่นแหละ คือ จิตเกลี้ยง ทีนี้พอจิตไม่เกลี้ยงจะเรียกว่าจิตอะไรดีล่ะ จิตรกเหรอ จิตรกรุงรัง มันก็เป็นจิตที่ปรุงขึ้นใหม่เพราะตัวกูเข้าไป เข้าไปรวมอยู่ด้วย มันก็เสียปกติเดิม เสียสภาพปกติเดิม คือไม่ปกติแล้ว เสียธรรมชาติเดิมเสียแล้ว ถูกปรุงด้วยกิเลส หรือปรุงเป็นกิเลสแล้วแต่กรณีนี่ มันก็เป็นจิตที่วุ่นวาย นี่จิตไม่เกลี้ยง วันก่อนเราก็ได้พูดกันถึงเรื่องว่า สังเกตอย่างไรนะที่ว่าจิตมีตัวกู เกิดขึ้นแล้ว จิตมีตัวกูเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งได้ยกตัวอย่าง ด้วยจิตที่เมื่อเห็นบุรุษไปรษณีย์เดินเข้ามาในบ้านอย่างนี้เป็นต้น ก็จำไว้ให้ดี แล้วมันได้กระเพื่อมไปในทางที่จะเกิดเป็นตัวกูแล้ว ผิดปกติแล้ว มันมีเริ่ม กระทั่งมีเกิดเต็มรูปของตัวกู ทีนี้เราเอาความหมายของคำว่า เกลี้ยง กันให้มากๆ เพราะว่าเป็นสิ่งที่เราต้องการ อยู่ที่นี้ หรืออยู่ที่บ้าน หรืออยู่ที่ไหนก็ตาม ความมีจิตเกลี้ยงนั่นแหละดีที่สุด เอาอย่างแรกกัน ก็มันเป็นความสุขนะ เป็นความสุขสงบเย็นนะถ้าจิตเกลี้ยง ถ้ามันจิตมันไม่เกลี้ยง มันก็ร้อนกระวนกระวาย ถ้ามันอันแรกที่สุด จิตเกลี้ยงก็มีความสงบสุข ไม่ติดอยู่ที่อะไร ไม่ไปเกาะติดอยู่ที่อะไร ด้วยอุปาทาน ก็มันเป็นอิสระสิ มันเป็นเสรี แก่ แก่ตัว เพราะมันไม่ไปเป็นทาสของอะไร ที่มันไปเกาะติดด้วยความหวัง เรียกว่ามันมี มันเป็นอิสระ แล้วก็มีปัญญาตามธรรมชาติของจิตที่เป็นอิสระ ถ้าเราทำจิตให้เป็นอิสระจากกิเลสเสียแล้ว ปัญญาของมันมีมาพร้อม มันมีมาเต็ม แล้วเป็นจิตที่แคล่วคล่องว่องไว ไม่งุ่มง่าม ในการที่จะปฏิบัติหน้าที่ อ้า, ของจิต แล้วมันยังเข้มแข็ง เข้มแข็งอย่างมั่นคง แล้วมีสมรรถนะหรือความสามารถสูง ในการที่จะปฏิบัติหน้าที่ของมัน มีความสะอาด มีความสว่าง มีความสงบ อยู่ในจิตเกลี้ยง จะเห็นภาวะวิมุติคือ หลุดพ้น จากการบีบคั้น หุ้มห่อ พัวพัน ของสิ่งใดๆ พ้นจากกิเลส พ้นจากทุกข์ มีลักษณะเป็นนิพพานอยู่ในขณะนั้น นิพพานแปลว่าดับเย็น เพราะมันมี ไม่มีความร้อนแห่งกิเลส แม้เป็นนิพพานชั่วขณะ ก็เรียกว่านิพพาน โดยที่มันเป็นอย่างนั้นเองตามธรรมชาติ ผมจะซ้ำอีกทีหนึ่งว่า ถ้าว่าจิตมันเกลี้ยง คือ โมกข์นะ โมกข์แปลว่าเกลี้ยง มันไม่ติดอยู่กับอะไร ไม่ยึดมั่นอยู่กับอะไร แล้วมันเป็นอิสระเสรี เมื่อมีปัญญาว่องไว แล้วมันเข้มแข็งมั่นคง มันมีสมรรถนะสูงในการปฏิบัติหน้าที่ มีภาวะ สะอาด สว่าง สงบ มีลักษณะหลุดพ้นจากกิเลส หลุดจากอำนาจของกิเลส หลุดจากอำนาจของความทุกข์ มีลักษณะเย็นตามความหมายของคำว่า นิพพาน อยู่ในขณะนั้นนะ จนกว่ามันจะสูญเสียความเกลี้ยง มันก็ก็ไม่เย็น อย่างนี้เรียกว่านิพพานชั่วขณะ เรียกว่า สามายิกะนิพพาน ก็ได้ เรียกว่า ตทังคะนิพพานก็ได้ นิพพานชั่วขณะ นี่ถ้าไม่โมกข์ ถ้าจิตไม่เกลี้ยง ถ้าจิตไม่เกลี้ยง ก็รู้เอาโดยตรงกันข้ามสิ คุณก็รู้ หรือเขียนไปแล้ว ลักษณะความเกลี้ยง คือ ถ้าจิตไม่เกลี้ยง มันก็คือมันติดอยู่ที่อะไร มันไม่เป็นอิสระ มันโง่ มันไม่ว่องไว มันโลเล อ่อนแอ มันไม่มีสมรรถนะในหน้าที่ มันไม่สะอาด ไม่สว่าง ไม่สงบ ไม่หลุดจากกิเลสและความทุกข์ ไม่มีความเย็นที่เป็นลักษณะของนิพพาน นี่เราเรียกว่าจิตไม่เกลี้ยง ทีนี้รู้จักจิตเกลี้ยงกัน กันแล้วนะ รู้จักจิตเกลี้ยงกันดีแล้ว หรือพอสมควรแล้ว ก็มาดูถึงคนที่มีจิตเกลี้ยงอยู่ในใจ อยู่ในตัว จิตเกลี้ยงอยู่ในอัตภาพนี้ นั่นนะสวนโมกข์อยู่ที่นั่น สวนโมกข์แท้จริงในความหมายธรรมะแท้จริงอยู่ในจิตที่เกลี้ยง ทีนี้ถ้าดูออกมาภายนอก มันก็พูดอย่างที่พูดนั่นแหละ คนชนิดนี้ไปนั่งที่ในสวนไหน ป่าไหน ป่านั้นก็จะกลายเป็นป่าโมกข์ หรือสวนนั้นจะกลายเป็นสวนโมกข์ สวนโมกข์ในความหมายที่ อ้า, ที่ ๓ แบบ อ้า, มันมีคนจิตเกลี้ยงเข้าไปอาศัยอยู่ที่นั่น หรือว่ามันอยู่ที่จิตที่เกลี้ยง ที่จิตที่รู้สึก จิตที่รู้สึกความเกลี้ยงนั้นก็มี สวนโมกข์ แล้วก็ออกมาเป็นชั้นนอกสุดก็คือ อยู่ที่นี่สิ อยู่ที่หมู่ที่ ๒ ตำบลละเม็ด อำเภอไชยา นี่ผมอยากให้คุณสังเกตจนรู้ว่า เนื้อหาและความที่เป็นธรรมะนั่นเป็นอย่างไร แล้ววิธีการที่จะพูดหลายๆ ปริยาย หลายแง่หลายมุม นี่มันเป็นอย่างไร ผมจึงพูดว่า ไอ้ ไอ้การพูดครั้งนี้ จะพูดให้ได้ความรู้ อย่างน้อย ๒ ด้าน ๒ ทิศทาง คือ ว่ารู้ธรรมะด้วย รู้วิธีการพูดอย่างภาษาคน อย่างภาษาธรรมด้วย ทีนี้ จะเอาความหมายลึกเข้าไปว่า ถ้าคุณจิตไม่เกลี้ยง ถึงคุณนั่งอยู่ตรงนี้ก็ไม่ใช่อยู่ในสวนโมกข์นะ ไม่ใช่สบประมาท หรือไม่ใช่แกล้งด่า แกล้งอะไร ถ้าคุณจิตไม่เกลี้ยงแม้นั่งอยู่ตรงนี้ก็ไม่ได้อยู่ในสวนโมกข์เพราะว่าคำว่าโมกข์โดยแท้จริงมันอยู่ที่จิตเกลี้ยง แต่ถ้าเราพูดภาษาธรรมดา ก็ ก็เรียกว่าถูกแล้ว ก็เรียกว่าอยู่ในสวนโมกข์ นั่งอยู่ในสวนโมกข์ มาอยู่สวนโมกข์ นี่พูดภาษาธรรมดา เพียงแต่ว่าคุณมาจากกรุงเทพฯฯ หรือมาจากจังหวัดไหน แล้วก็มาอยู่ที่ตรงนี้ บ้านเลขที่ ๖๘ หมู่ที่ ๖ ตำบล ละเม็ด อำเภอไชยา นี่ ก็พูดได้สิ อย่างนี้ เขาเรียกว่าเป็น โลกียะโวหาร ภาษาคน ถ้าคนพูดอย่างภาษาโลก ก็พูดอย่างนี้ว่า เรามาอยู่ที่สวนโมกข์ แต่ถ้าพูดภาษาธรรมะ เขาไม่ยอมหรอก เขาไม่ยอม คุณไม่ได้มาอยู่ที่สวนโมกข์หรอก เพราะว่า มันไม่เป็นสวนโมกข์สำหรับคุณ เพราะว่าคุณไม่มีจิตเกลี้ยง ขอให้ อ้า, รู้ความหมายของธรรมะ และรู้วิธีพูด ว่าเราพูดกันโดยภาษาไหน แล้วเราก็จะไม่เถียงกัน เหมือนภิกษุในเรื่องนิกายเซน ๒ คนนั้น ทะเลาะวิวาทกัน ว่าอะไรไหว คนหนึ่งว่าธงที่อยู่ปลายเสานั้นไหว อีกคนหนึ่งว่าจิตของ ของคุณนะมันไหว เพราะเขามันเพ่งเล็งกันคนละทางนี่ ก็ต้องเกิดการทะเลาะกัน นี่ หัวข้อที่ตั้งขึ้นว่า สวนโมกข์อยู่ที่ไหน ตอบได้ถึง ๔ อย่างนะ จดให้ถูก เข้าใจให้ถูกด้วยถึง ๔ อย่างนะ คือ มันอยู่ที่พื้นดินตรงที่เขาสมมติกันนั้นอย่างหนึ่ง อยู่ที่จิตของผู้มองเห็น และรู้สึกมองเห็น นี่ภาษาธรรมดานะ ไม่ ไม่ใช่ภาษาธรรมอะไรนักนะ แล้วก็อยู่ที่ผู้มีจิตเกลี้ยงอาศัยอยู่ ตรงที่ๆ ผู้มีจิตเกลี้ยงอาศัยอยู่ ชั้นยอดสุด ละเอียดที่สุด ก็ว่าอยู่ในจิต สวนโมกข์อยู่ในจิตของคนที่มีจิตเกลี้ยง ในจิตเกลี้ยงของบุคคลนั้นมีสวนโมกข์อยู่ในจิตนั้น ลึกที่สุดแล้ว นี่แหละ มันจะ พูดได้ต่อไปว่าคุณอาจจะพาสวนโมกข์ติดไปกรุงเทพฯฯ ด้วยก็ได้ มันสามารถ ถ้ามีจิตเกลี้ยง ไปอยู่ที่กรุงเทพฯ กลับไปกรุงเทพฯ เป็นต้นนะ สวนโมกข์มันก็ติดไปด้วย สวนโมกข์จะติดตามคุณไปด้วยได้อย่างไร มันก็อยู่ที่ตรงนี้ เพราะว่าไอ้สวนโมกข์ที่แท้จริงมันอยู่ในจิตที่เกลี้ยงนะ ถ้าคุณกลับไปอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วมันมีจิตเกลี้ยงขึ้นมา สวนโมกข์มันก็อยู่ที่นั่นด้วย คือ มันอยู่ในจิตที่เกลี้ยง นี่ประโยชน์มันมากกว่ากันอย่างนี้ จิตที่ไม่เกลี้ยงแม้อยู่ในสวนโมกข์ นั่งอยู่ที่นี่ ก็ไม่มีสวนโมกข์ เพราะมันไม่มีสวนโมกข์สำหรับบุคคลนั้นนี่ สวนโมกข์มันมีเฉพาะผู้ที่มีจิตเกลี้ยงมาอาศัยอยู่ หรือว่าจิตเกลี้ยงอาศัยอยู่ สวนโมกข์อยู่ในจิตที่เกลี้ยง หรือว่าจิตที่เกลี้ยงอยู่ในสวนโมกข์ ถ้าคำถามมันเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว ระวังเถิด ตอบให้ดี มันจะกลายเป็นโง่ที่สุด กลายเป็นฉลาดที่สุดก็ได้ สวนโมกข์อยู่ในจิตเกลี้ยง หรือว่าจิตเกลี้ยงอยู่ในสวนโมกข์ ตอบให้ถูก แต่ว่านั่นแหละ มัน มัน มันอยู่ มันแล้วแต่ว่า เอาความหมายอย่างไรกัน แล้วแต่ว่าผู้พูดนั้นเขาใช้ความหมายอย่างไร สวนโมกข์อยู่ในจิตที่เกลี้ยงนี่เป็นหลักธรรมะชั้นสูง ถ้าจิตที่เกลี้ยงอยู่ในสวนโมกข์อย่างนี้ละก็ ก็ ก็ ก็ไม่มี ไม่มีหลักฐาน ไม่มีเหตุผล เป็นคำพูดที่ไม่อัศจรรย์ จิตเกลี้ยงอยู่ในสวนโมกข์ เพราะว่าในจิตเกลี้ยงนั้น มันมีสวนโมกข์เสียแล้ว มันไม่ต้องไปอยู่ในสวนโมกข์ที่ไหนอีก นี่จะเรียกว่าพูดอย่างตลบตะแลงก็ได้ แต่ไม่ใช่ตั้งใจพูดอย่างตลบตะแลง พูดต้องการที่จะให้เห็นอรรถ เห็นความหมายอันลึกซึ้ง หรือพลิกแพลงได้หลายปริยาย แล้วแต่สติปัญญา ไอ้ ของผู้พูด ถ้าเข้าใจตามที่ว่านี้แล้ว สามารถจะทำให้มีสวนโมกข์อยู่ตลอดกาล หรือว่าอยู่ในสวนโมกข์ได้ตลอดกาล กลับไปที่บ้าน หรือว่าไปอยู่ที่ไหนก็ตามใจจนกว่าจะตาย สวนโมกข์ก็จะตามไปด้วยไปอยู่ในจิตใจของคนที่มีจิตเกลี้ยง ถ้าเกิดจิตไม่เกลี้ยงขึ้นมาสวนโมกข์ก็วิ่งหนีกลับไปอยู่ที่อื่น ถ้าเกลี้ยงขึ้นมาไอ้สวนโมกข์ก็วิ่งไปอยู่ที่จิตนั้นอีก เหมือนกับพูดเล่นใช่หรือไม่ แต่ไม่ใช่เรื่องพูดเล่น มันเป็นเรื่องที่อยู่ลึกกว่าธรรมดาที่จะต้องมองให้เห็น ดังนั้น มันก็สำคัญอยู่ตรงที่ว่าจะทำให้จิตเกลี้ยงได้อย่างไรแล้ว จะถามใหม่ว่าสร้างสวนโมกข์กันที่ไหน อย่างไร ไปสร้างสวนโมกข์กันที่ไหน มีคนพยายามมากนะที่เขาจะสร้างสวนโมกข์กันที่จังหวัดนั้น จังหวัดนี้ แล้วเขาก็พยายาม มันเป็นเรื่องงมงาย เป็นเรื่องโง่เง่าที่สุดแหละ ถ้าจะไปสร้างสวนโมกข์ที่ไหนนะ ไม่สร้างในจิตใจแล้วก็ มันก็เป็นเรื่องโง่เง่างมงาย ถ้าจะถามว่าจะสร้างสวนโมกข์กันที่ไหน ก็ตอบให้ถูกที่สุด ก็สร้างในจิตใจ จะไปสร้างเชียงใหม่ หรือจะไปสร้างที่ภาคอีสาน หรืออะไร ก็มี ก็มีคนพยายามจะสร้าง นั่นนะเรียกว่าพูดโดยภาษาคนธรรมดา ถ้า ถ้า ถ้าพูดภาษาธรรมะ ภาษาจริงแท้แล้วก็ สร้างกันในจิตใจ ทุกคนสร้างในจิตใจ ของตน ของตน ความสำคัญมันจึงไปอยู่ที่การทำจิตให้เกลี้ยง ทีนี้ เราก็มารู้จักจิตที่ไม่เกลี้ยง จิตที่มีตัวกูเกิดแล้ว เหมือนที่ เหมือนที่แนะให้สังเกต หลายสิบขั้นตอน หลายสิบแง่มุม ในการบรรยายครั้งก่อน จิตอย่างไรเป็นตัวกูคือ จิตไม่เกลี้ยง ถ้าเราไม่รู้จักสภาพที่ไม่เกลี้ยงนะ ไม่รู้จักภาวะที่ไม่เกลี้ยงแล้ว เราก็ไม่อาจจะรู้จักภาวะที่เกลี้ยงหรอก เพราะว่ามัน มันตรงกันข้ามอยู่ เราจะต้องรู้จัก ไอ้ตัวจริงของมัน อย่างไรเกลี้ยง อย่างไรไม่เกลี้ยง แล้วก็ดู เมื่อมันไม่เกลี้ยงครั้งใด มันก็กัดเอาทุกที เมื่อจิตไม่เกลี้ยงครั้งใด มันก็กัด กัดเอาทุกที กัดอยู่กรอดๆ ในจิตใจของคนนั้น บางทีเราก็ไม่รู้สึกว่าถูกกัด มันก็ไม่มีเรื่อง ก็ไม่รู้ไม่ชี้ ก็ไม่ได้สนใจที่จะจัดการอะไร แต่ถ้าเรารู้จักมัน ตัวกูนั้น แล้วก็รู้สึกว่ามันกัดอยู่กรอดๆ นี่ แล้วก็เกลียดขึ้นมา แล้วก็เบื่อหน่ายขึ้นมา ในเรื่องของตัวกู หรือในเรื่องของความไม่เกลี้ยง ดังนั้น ขอให้รู้จักกิเลสเถิด แล้วก็จะเกลียดกิเลสขึ้นมาเอง เดี๋ยวนี้ ที่เราไม่เกลียดกิเลสก็เพราะเราไม่รู้จักกิเลส มันก็ยิ่งเต็มไปด้วยกิเลส แล้วเต็มกันทั้งโลกเลย กลายเป็นโลกของกิเลส โลกของไอ้ความวุ่น เพราะจิตวุ่น พระอรหันต์เท่านั้นแหละที่ว่าจิตเกลี้ยงถึงที่สุด และเด็ดขาด นอกนั้นก็เกลี้ยงบ้างไม่เกลี้ยงบ้าง หรือกลับไปกลับมา เกลี้ยงไม่ถึงขนาดก็ยังไม่เรียกว่าเกลี้ยง บางทีก็มันเริ่มเกลี้ยงที่แน่นอน เริ่มที่แน่นอนว่าจะเกลี้ยง มันก็ยังดี ดี ไม่มีเรื่อง อะไรลึกลับหรอก ถ้าเรามองเห็นแล้วก็ไม่มีเรื่องอะไรลึกลับ ความคิดปรุงแต่งจนเกิดความรู้สึกเป็นตัวตนของตน หรือตัวกูของกู ขึ้นในจิต เป็นสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน นี่คือสิ่งที่ขอร้องอย่างยิ่ง ขอให้สังเกตอย่างยิ่ง ขอให้จับให้ได้ ความคิดปรุงแต่ง จนเกิดความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกู อยู่เป็นประจำในชีวิตแต่ละวันๆ อยู่ในที่บางแห่ง ก็เกิดง่ายมาก สิ่งแวดล้อมมันเป็นไปในทางนั้น อยู่ในที่บางแห่งมันก็เกิดยากหน่อย เพราะมันไม่มีสิ่งช่วยแวดล้อมไปในทางนั้น ดังนั้น การที่มาอยู่ในสถานที่ที่เขาจัดไว้ ในลักษณะที่จะเป็น ที่จะเป็นสวนโมกข์ สำหรับเป็นอุปกรณ์แก่การโมกข์นะ มันก็ง่ายหน่อย เพราะว่ามันมีสิ่งแวดล้อมที่จะส่งไปในทางเกลี้ยง มันก็เกลี้ยงง่ายหน่อย แต่ถ้าไปอยู่ในสิ่งที่มีสิ่งแวดล้อมที่จะส่งไปในทางไม่เกลี้ยง มันก็ไม่เกลี้ยง เช่น ไปอยู่ในที่ยั่วยวน เป็นต้น ควรจะพูดกันขึ้นมาได้เป็น ๒ ความหมายแล้วว่า สวนโมกข์ในภาษาคน และสวนโมกข์ในภาษาธรรม สวนโมกข์ในด้านวัตถุ สวนโมกข์ในด้านจิตใจ หรือจะพูดว่า สวนโมกข์นอก สวนโมกข์ในก็ได้ คุณพยายามเข้าใจคำเหล่านี้ทุกคำให้ดี ธรรมะมันจะปรากฏแจ่มแจ้งออกมาเอง จะแตกฉานในธรรมะเอง รู้จักความหมายของคำว่า สวนโมกข์นอก แล้วก็ สวนโมกข์ใน สวนโมกข์นอกก็คือ แผ่นดินนี้ สวนโมกข์ใน ก็คือ ความเกลี้ยงในจิต อยู่ในจิต อยู่ในศูนย์ของจิต รู้จัก สวนโมกข์นอก สวนโมกข์ใน จนกระทั่งรู้ว่า โอ้, เราอยู่กันแค่สวนโมกข์นอก มาไชยานี่มันก็ถึงแต่สวนโมกข์นอก มันยังมีสวนโมกข์ในอีกทีหนึ่ง ที่จะต้องไปจัดการ ให้จิตใจมันเข้าถึงสวนโมกข์ในคือ ความเกลี้ยงแห่งจิตที่มีอยู่ที่จิต ฝึกฝนอบรมดีแล้ว ดังนั้น การที่จะมีสวนโมกข์หรือไม่ มันก็อยู่ที่การฝึกฝนอบรมจิตนั้นเอง จึงเรียกว่า จิตตภาวนา ภาวนานี้แปลว่าทำให้มันเจริญ แต่ไม่ใช่ ไม่ใช่เจริญอย่างรกรุงรัง หมายความว่าให้ ให้ ให้ดีขึ้น ดีขึ้น ไปในทางที่พึงประสงค์นะ จนกระทั่งว่ามันไม่มีปัญหา จนเราไม่มีความทุกข์ เรียกว่าภาวนา ทำให้เจริญ ไอ้ภาษาพูดนี่มันยาก คุณอย่ายึดถือไอ้คำพูด หรือตัวอักษรที่ใช้นัก เอาความหมายของมันให้ถูกต้องเสีย ภาวนามัน มันจะ จะพูดว่าทำจิตให้โมกข์นี่ จะถูกที่สุดแหละ จิตตภาวนาก็คือ การทำจิตให้โมกข์ นั่นแหละถูกที่สุด จิตตภาวนาก็ทำจิตให้มันใกล้ไปทางพระนิพพาน นั่นแหละถูกที่สุด คำว่าภาวนาหมายความว่าอย่างนี้ ดังนั้น ถ้าจะถึงสวนโมกข์กันจริงๆ ก็รีบบำเพ็ญจิตตภาวนา ทำจิตให้เจริญ แล้วมันก็จะใกล้เข้าไป ใกล้เข้าไป และถึง อ้า, สวนโมกข์จริงกันได้ กลายเป็นว่าไม่ต้องไปสร้างสถานที่ ที่จะมีสวนโมกข์ ไม่ต้องไปสร้างสถานที่ กลายเป็นว่าต้องไปทำจิตตภาวนา ทำจิตให้เจริญ จิตเจริญคือ เกลี้ยง เกลี้ยงจากกิเลส เกลี้ยง เกลี้ยงจากตัวกูของกู เกลี้ยงมากเข้า เกลี้ยงมากเข้า เกลี้ยงมากเข้า เรียกว่าจิตเจริญ วิธีการหรือรายละเอียดของการปฏิบัติมันก็พูดกันแล้ว คราวอื่น หรือว่ามีอยู่แล้วในหนังสือหนังหา ตำรับตำรา ถ้าจะพูดให้ ให้ ให้เข้ารูป ให้เห็นได้อีกทีหนึ่งก็ ก็พูดได้ เช่นว่าไอ้จิตตภาวนาทั้งหมดในพุทธศาสนานั่น มันก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่บางทีก็เรียกเป็นอย่างอื่นว่า อริยมรรค อัฏฐังคิกมรรค หรือแม้จะพูดว่า มรรค มรรค เฉยๆ ซึ่งแปลว่าหนทาง ก็ได้ ก็พอแหละ เป็นหนทาง แจกเป็น ๓ อย่าง ก็พวกศีล พวกสมาธิ พวกปัญญา สัมมาวาจา สัมกัมมันโต สัมมาอาชีโว นี่เป็นพวกศีล สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป นี่เป็นพวกปัญญา สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่เป็นพวกสมาธิ เมื่อพูดว่ามรรค พูดตามหลักของมรรค จะเห็นชัดว่าใน ใน ในรูปโครงของมรรค ท่านเอาปัญญามาก่อน แล้วจึงถึงศีล ถึงสมาธิ แปลกดี นั่นเพราะว่าท่านพูดชนิดที่ว่ามันเป็น ไอ้อะไร มันเป็นที่เขาเรียกว่า practical เมื่อมีการปฏิบัติกันจริงๆ ถ้ามันพูดอย่าง theoretical พูดอย่างทฤษฏี สำหรับถ้าจะพูด ก็พูดศีลก่อนสมาธิแล้วปัญญา พูดศีล สมาธิ ปัญญา พูดอย่างหลักวิชา แต่ถ้ามันพูดอย่างความจริง ปฏิบัติจริง มันกลายเป็นพูดว่า ปัญญา ศีล สมาธิ เอาละ เดี๋ยวนี้ เราก็พูดอย่างหลักวิชากันก็แล้วกัน ก็พูดว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องสร้างความเกลี้ยง ศีลมันก็ขัดชำระชะล้างกาย วาจา ให้เกลี้ยง สมาธิไปชำระชะล้างจิต ในระบบจิตเท่านั้นนะให้เกลี้ยง ทีนี้ปัญญามันก็ชำระชะล้างระบบสติปัญญา ระบบญาณ ระบบวิญญาณ ความรู้หรือคุณสมบัติ ที่เป็นความรู้ของจิตให้เกลี้ยง อย่างที่เราไม่มีคำจะพูด เราก็พูดว่า กาย จิต วิญญาณ กาย จิต วิญญาณ อย่าให้มันสับสนกันเสีย ไอ้เรื่องทางกายล้วนๆ นี่มันชั้น ชั้นหนึ่ง ลึกเข้าไปถึงจิต ระบบจิต ก็ระบบหนึ่ง ทีนี้ ความรู้ของจิต สติปัญญาของจิต ฟังให้ดี นั่นมันอีกระบบหนึ่ง ไอ้กายนี่มันเป็นเรื่องเปลือกนอก เป็น corporeality นี่ถ้ามันเป็นจิต มัน mentality มันไม่ใช่อันเดียวกัน ถ้ามันเป็นวิญญาณ มันเป็น spirituality ภาษาฝรั่งมันพูดง่าย เพราะว่าเขาแบ่งไว้มัน มัน มันง่ายดี ชัดเจนดี ง่ายดี แต่ภาษาธรรมะที่เราพูดกันอยู่นี้ เราใช้คำว่ากาย ว่าจิต พอถึงอันที่ ๓ ไม่รู้จะว่าอะไร ผมเรียกเองว่าระบบวิญญาณ ชั้นวิญญาณ ระดับวิญญาณ มันก็ไปปนกันยุ่งกับไอ้วิญญาณผีสาง วิญญาณอะไร ทางนั้นไปเสีย พูดลำบากเหมือนกัน ไอ้นี่มันเป็นเรื่องของภาษา เกี่ยวกับภาษา คุณไปรู้เอาเองเถิด ว่ามันจะถือตามตัวหนังสือนักไม่ได้หรอก เช่นคำว่า spirit ของภาษาฝรั่งนั่นนะ มันก็แปล่าผีก็ได้ แปลว่าเหล้าก็ได้ แล้วอะไรหลายอย่าง spiritual มันก็เป็นเรื่องผี เรื่องเหล้า แต่ไม่ใช่อย่างนั้น เดี๋ยวนี้ผมหมายถึงเรื่องสติปัญญาของจิต เรียกว่า spiritual physical, mental, spiritual เขาบัญญัติไว้สำหรับพูดง่าย ง่ายดี เราจึงยืมเขามาพูด ในบางคราวที่มันจำเป็น เพื่อประหยัดเวลา จึงพูดว่า ระบบศีล มันก็ทำกายให้เกลี้ยง ระบบสมาธิก็ทำจิตให้เกลี้ยง ระบบปัญญาก็ทำวิญญาณให้เกลี้ยง คนที่เขาไม่ยอมฟัง ไม่ยอมร่วมมือ เขาก็ไม่ ไม่พยายามจะฟัง ไม่พยายามจะตีความอย่างนี้ ก็เลยพูดกันไม่รู้เรื่อง แล้วมันก็ไม่ต้องพูดกันแหละ มันมีปัญหายุ่งยากตรงที่คำว่าวิญญาณนั่น จะใช้คำว่าทิฏฐิ ความคิดความเห็นก็ยังได้เหมือนกัน ระบบทิฏฐิ ระบบทิฏฐิ ระบบกาย ระบบจิต ระบบทิฏฐิ ซึ่งมันไม่ใช่จิตแต่มันเป็นไอ้เรื่องของสมบัติของจิต ต้องถูกชำระอีกทีหนึ่ง กายเกลี้ยง เรียกว่า กายวิเวก คือ กายไม่มีอะไรรบกวน ไม่มีอะไรปรุงแต่ง ยื้อแย่ง ผูกพัน กายวิเวก วิเวก แปลว่า หนึ่งอย่างยิ่ง คำว่า วิเวก นั้นแปลว่า หนึ่งเดียวอย่างยิ่ง กายวิเวก ก็คือว่าไม่มีอะไรนอกจากกาย ไม่มีอะไรรบกวนกาย ทีนี้ จิตตวิเวก ก็จิตเดี่ยวอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรรบกวนจิต ทีนี้ อุปธิวิเวก ก็วิเวกจาก อุปธิ คือ วิเวกจาก ไอ้ ความคิดผิด เห็นผิด หรือสิ่งที่มายั่วยึดถือ สิ่งเป็นที่ตั้งความยึดถือ มายั่วให้ยึดถือ นี่เราเรียกว่า อุปธิ แปลว่าของหนัก ถ้าไปยึดถือเข้าแล้ว มันก็เป็นของหนัก ถ้าไม่ถือก็ไม่หนัก แต่ว่ามันเป็นที่ตั้งแห่ง ความยึดถือ เป็นสิ่งที่ให้ยึดถือของคนธรรมดา ก็เลยเรียกไอ้สิ่งชนิดนี้ หรือสิ่งเหล่านี้ว่า อุปธิ ซึ่งแปลว่าของหนัก แม้แต่บุญกุศลหรือความดีนี่ ไปยึดถือเข้าเถิด มันกลายเป็นอุปธิขึ้นมาทันที แต่คนเขาไม่รู้เรื่องนี้เขาก็ยึดถือกันใหญ่ ยึดถือบุญเป็นของกู ยึดถือชื่อเสียงเกียรติยศความดีความงามให้เป็นของกู มันก็กลายเป็นของหนักชนิดอุปธิ แล้วมันก็ไม่วิเวก วิญญาณก็ไม่วิเวกเต็มไปด้วยอุปธิ กายวิเวก วิเวกทางกาย จิตตวิเวก วิเวกทางจิต อุปธิวิเวก วิเวกทางของหนักคือ ไม่มีของหนัก วิเวกเกลี้ยง เรียกว่าเกลี้ยง จึงพูดได้เลยว่าระบบพรหมจรรย์ทั้งหมดทั้งสิ้นนี่คือ วิธีทำให้เกลี้ยง ศาสนาทั้งหมด พรหมจรรย์ทั้งหมด อะไรทั้งหมด ก็คือ วิธีการทำจิตให้เกลี้ยง เราก็บ่มที่จิตเพราะว่ามันเป็นตัวที่จะยืนโรงได้ ถ้าจิตเกลี้ยง กายก็เกลี้ยง วิญญาณก็เกลี้ยง ถ้า ถ้าจะไม่พูดอย่างนั้นก็พูดได้ว่า ไอ้ระบบพรหมจรรย์ทั้งหมดนี่ คือ เป็นระบบการสร้างให้เกิดความเกลี้ยง ทั้งกาย ทั้งทางจิต ทั้งทางไอ้ วิญญาณ หรือทางทิฏฐิ ความคิด ความเห็น ความเชื่อ หรืออะไรก็ตาม เรียกว่าทางวิญญาณ พุทธศาสนามันก็กลายเป็นเรื่องทำให้เกลี้ยง ความเกลี้ยง ในเรื่องทำให้เกลี้ยง นี่คือวิธีพูดซึ่งมันพูดได้หลายอย่าง หลายคำ แม้ในเรื่องเดียวกัน ผมก็ได้บอกข้างต้นแล้วว่าให้ฟังให้ดี ที่ผมจะพูดนะขอให้ฟังให้ดี จะให้ได้ความรู้ ทั้งเรื่องของธรรมะ และทั้งเรื่องของวิธีการพูด เดี๋ยวนี้มันชะงักอยู่นะ ไม่ก้าวหน้า เพราะว่าไอ้เรื่องการพูดนั้นนะมันไม่สามารถจะพูดได้ตามที่ต้องการจะพูด หรือว่ามันพูดภาษาหนึ่ง คนฟังมันฟังอีกภาษาหนึ่ง หรือว่าคนฟัง มันไม่สามารถจะเข้าใจภาษา ที่แปลกไปจากที่ตนเคย เคยรู้เคยเรียน คนหนึ่งผู้พูด พูดภาษาธรรม แต่คนฟัง ฟังภาษาคน มันก็เลยไม่รู้เรื่อง เช่น ถามว่าสวนโมกข์อยู่ที่ไหน ไอ้คนพูดภาษาคนมันก็ตอบอย่าง ไอ้คนพูดภาษาธรรม หรือภาษาจิต มันก็ตอบอีกอย่าง อย่างอื่นไปอีก นี่เรียกว่ามันพูดกันคนละภาษา ไม่ใช่ ไม่ใช่ภาษาต่างประเทศนะ แต่มัน มันเป็นภาษาที่ซ้อนลึกกันอยู่ใน ในภาษาเดียวนั้นแหละ คือ ในภาษาไทยนี่ มันมีภาษาชั้นละเอียด ชั้นหยาบ ชั้นละเอียด ชั้นลึก ชั้น อะไรก็ตาม คำนี้เขาจะเรียกว่า นิรุกติ นิรุกติ นิรุตติหรือนิรุกติ คือ อ้า, การใช้ภาษา หรือนิรุกติให้ถูกต้อง ให้สำเร็จประโยชน์ ตามที่เราต้องการจะให้เขารู้หรือเข้าใจ ถ้าเราไม่เก่งทาง นิรุกติ หรือ นิรุกติศาสตร์ นี่ ก็ทำไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้มันยิ่งกว่านั้น นิรุกติของชาวบ้าน ที่เขาใช้กันอยู่ตามบ้านตามเมืองนั้น มัน มันเป็นนิรุกติระบบอื่น ไม่ใช่นิรุกติในระบบของ พุทธศาสนา ที่เป็นภาษาวัด ภาษาศาสนา ในขอบเขตของศาสนา นิรุกติในภาษาที่ใช้พูดกัน มันก็เลยเป็น ๒ อย่างหรือ ๓ อย่างขึ้นมา เลยพูดกันไม่รู้เรื่อง ดังนั้นขอให้เข้าใจว่าการที่เราทำความเข้าใจกันไม่ค่อยจะได้ แม้ในหมู่คนไทยพูดภาษาไทยด้วยกันนี่ ก็เพราะเราไม่สามารถในการที่จะใช้ภาษาไทยนั่นเอง ไม่ต้องพูดถึงภาษาต่างประเทศ พูดไทยด้วยกันยังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง แล้วจะไปพูดให้ฝรั่งฟังรู้เรื่อง ผมว่าคนอวดดี พูดให้คนไทยด้วยกันฟังยังไม่รู้เรื่อง แล้วจะไปพูดให้ฝรั่งฟังรู้เรื่อง นั่นมันเป็นคนอวดดี เอาละ มันก็อวด หรือพยายามไปตามเรื่องเท่าที่มันจะทำได้ ถ้าว่า ถ้าพูดกันนานๆ เข้า นานๆ เข้า มันก็คง จะ จะฟังถูก ฟังถูก กันมากขึ้น มากขึ้น เช่นเดียวกับที่เราพูดไทยกันนี่ ผมจะพูดเลยว่าไอ้ที่ผมพูดครั้งแรกๆ นะ คุณคงจะฟังถูกน้อย เข้าใจน้อย กว่าการพูดครั้งหลังๆ นี่ ทีนี้ ปรากฏว่ามันพูดมา ๑๗ ครั้ง ทั้งครั้งนี้นะ ผมจึงเชื่อว่าการพูดครั้งหลังๆ นี่ คุณคงจะฟังถูกเสียมากกว่า การพูดครั้งแรกๆ เพราะว่าเราได้ความรู้ทางภาษาคน และภาษาธรรม มีอยู่หลายระดับ มากขึ้นๆ ดังนั้น ขอให้จำอันนี้ไว้เป็นหลักเทียบเคียงหรือตัวอย่างซึ่งมันจะง่ายเช่นว่า สวนโมกข์อยู่ที่ไหน สวนโมกข์อยู่ที่แผ่นดินตรงนี้ อย่างหนึ่ง และสวนโมกข์อยู่ที่จิตของผู้เหลือบตาเห็นสวนโมกข์ เข้าไปอยู่ในจิตของคนที่เหลือบตาเห็นสวนโมกข์แผ่นดินนี้ แล้วสวนโมกข์อยู่ตรงที่ๆ มีคนจิตเกลี้ยงนั่งอยู่ แล้วก็สวนโมกข์แท้จริงอยู่ในหัวใจของคนจิตเกลี้ยง อยู่ท่ามกลางหัวใจของคนที่มีจิตเกลี้ยง มัน ๔ ความหมายนี่ นี่เรียกว่ามันเป็น นิรุกติ หรือการใช้ภาษาที่มันเหลื่อมล้ำกันอยู่เป็นชั้นๆ ถ้าคุณจะพยายามศึกษาไอ้เรื่องการพูดจา หรือการใช้ภาษานี้ให้มากขึ้นๆ พร้อมกับที่ความรู้ทางธรรมะมันมากขึ้นๆ ผมว่าจะดีที่สุด ในการที่จะเรียนเอาๆ หรือว่าในการที่จะสอนผู้อื่นออกไป เรามีอยู่ ๒ หน้าที่ เราจะเรียนรับเข้ามาเพื่อตัวเราภายใน หรือว่าเราจะถ่ายทอดออกไปยังผู้อื่นในภายนอก ถ้าเราไม่แตกฉานในภาษา แล้วมันก็ลำบากอย่างนี้ อยู่ในลักษณะที่ว่าไม่มีทางที่จะประมาท ไม่มีทางที่จะอวดดี ต้องทำอย่างที่เรียกว่า ประณีต สุขุม ละเอียดลออ มีความไม่ประมาทอย่างยิ่ง มันจึงจะค่อยสำเร็จๆ
เอาละ สรุปความ อ้า, การพูด การบรรยายครั้งนี้ เราพูดเรื่อง พูดโดยหัวข้อ สวนโมกข์อยู่ที่ไหน การตอบเป็น ๔ อย่าง สวนโมกข์จะติดตามคุณไปได้อย่างไร ตอบเองสิ สวนโมกข์จะติดตามคุณไปในที่ทุกหนทุกแห่งได้อย่างไร ถ้าพูดให้เด็กฟังมันก็ว่าบ้า คนพูดบ้าแล้ว สวนโมกข์ติดตามคนแต่ละคนไปทุกหนทุกแห่งได้อย่างไร ไอ้เด็กๆ มันก็นึกว่าคำพูดนี้บ้าที่สุด ไม่อยากจะฟัง แต่ความจริงนะ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ที่ว่า สวนโมกข์ โมกข์ ภาวะโมกข์แท้ มันติดตามไปได้ทุกหนทุกแห่งแหละ ที่ว่าไอ้คนมันไปมีจิตโมกข์ อยู่ที่ไหน ผมจึงว่าทำให้ดี กลับไปบ้าน ลาสิกขาออกไป ขอให้เอาสวนโมกข์ไปด้วย มิฉะนั้นการมาสวนโมกข์ เป็นโมฆะ แล้วก็สรุปที่สุดว่า ขอให้มันอยู่กับคุณตลอดกาล ตลอดชีวิตเลย ให้คุณมีจิตเกลี้ยง จิตว่าง มีชีวิตที่มีจิตเกลี้ยง จิตว่าง จนตลอดชีวิตนี่เป็นผลอย่างยิ่งไม่เป็นโมฆะเลย จงได้สนใจวิธีการที่จะฝึกฝนจิต บำรุงจิต รักษาจิต ควบคุมจิต ให้มันเกลี้ยงอยู่ตลอดเวลา นี่คือเรื่องที่พูดวันนี้ สรุปความได้อย่างนี้ เวลาก็หมดแล้ว ไอ้การพูดจา มันเป็นเครื่องถ่ายทอด เป็นเครื่องมือถ่ายทอด เครื่องมือถ่ายทอดไม่ดี หรือว่ามันไม่รู้กัน มันก็รับไม่ได้ การถ่ายทอดความรู้มันก็ ก็เป็นไปไม่ได้ มันรับไม่ได้ เหมือนเครื่องรับวิทยุมันไม่ดี มันไม่ตรงกัน หรืออะไร มันก็รับไม่ได้ ดังนั้น จงศึกษาพร้อมๆ กันไป ทั้งเรื่องธรรมะ และทั้งเรื่องวิธีการพูดและการฟังด้วย ถ้าไม่มีการฟังมันก็ไม่มีการพูดที่เรียกว่าสำเร็จประโยชน์ เมื่อพูดถึงว่า พูด แล้วมันก็ต้องรวมถึงการฟังด้วย สรุป สรุปเป็นหัวข้อสั้นๆ จำง่ายได้เพียงว่ามันเกลี้ยงที่ไหนมันก็มีโมกข์ที่นั่น มันเกลี้ยงที่ไหนมันก็มีสวนโมกข์ที่นั่น เมื่อนั้น เวลานั้น คำว่าโมกข์ นี่มันเป็นคำแทนชื่อ synonym ของคำว่า นิพพาน ภาษาเทศน์ ธรรมวัตร แต่โบราณเขาเรียกว่า ติวะโมกข์มหานิพพาน เข้าสู่ติวะโมกข์มหานิพพาน คำว่า โมกข์ หมายถึงนิพพาน ติวะ แปลว่า เย็น โมกข์ แปลว่า เกลี้ยง มหานิพพาน นิพพานใหญ่ คือ ที่เกลี้ยงที่เย็น เกลี้ยงเมื่อไม่มีความหมายแห่งตัวกู พอมีความหมายแห่งตัวกูก็สกปรกรกรุงรัง ไอ้ความคิดนึกรู้สึกอย่างที่มิใช่ตัวกู ไม่ ไม่ ไม่ถือว่าสกปรกรกรุงรัง เป็นของธรรมดา ตามธรรมดาของจิต พอมันมีความหมายแห่งตัวกูในความคิดนึกรู้สึกนั้นจึงจะเรียกว่า จิตสกปรกรกรุงรังคือ ไม่เกลี้ยง คือ ไม่ว่าง เพราะมันมีตัวตนที่ อะไรอันหนึ่งเข้าแทรกแซง เลยไม่ว่าง เอาละ ปิดประชุม นิมนต์กลับได้