แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การพูดของเรา ติดต่อกันมาตามลำดับ ก็พูดในลักษณะที่เรียกกันว่า ประยุกต์ คือเรื่องปฏิบัติโดยตรง ไม่ใช่พูดกันด้วยเรื่องหลักธรรม ระบบหลักธรรมที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ หรือว่าจะต้องเอามาบอกให้ จำไว้ ท่องไว้ อะไรทำนองนั้น ผมเคยบอกมาแล้วว่าเรื่องเหล่านั้นมันหาอ่านได้จากหนังสือ จากพระไตรปิฎกโดยตรง หรือจากหนังสืออะไรก็ได้ แต่เรื่องที่จำเป็นที่สุด ที่จะต้องรู้ให้สำเร็จประโยชน์นั่น มันไม่ได้เป็นเรื่องอย่างนั้น มันเป็นเรื่องที่ต้องมารู้จักกันโดยตรง จากตัวเรื่องนั้นๆ ในเรื่องจริงที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน นี้, ถ้าว่าบางคนฟังไม่ดี ไม่รู้เรื่อง แล้วก็จะเรียกว่า เป็นเรื่องไม่มีประโยชน์อะไรก็ได้ เรื่องที่จะพูดนี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้ ผมจะพูดเรื่องว่า พูดโดยหัวข้อว่า รู้จักตัวกูกันเสียก่อน มันได้พูดอะไรมาพอสมควรแล้ว
มาถึงวันนี้ ก็มาถึงตอนที่ว่า เราควรจะรู้จัก สิ่งที่เรียกว่าตัวกูกันเสียก่อน เพราะว่า สิ่งที่เรียกว่า ตัวกู มันเป็นตัวปัญหา เป็นตัวความทุกข์ ถ้ามันเกิดตัวกู มันก็ต้องมีไอ้ความรู้สึกที่เป็นของกู ติดมาด้วยกัน เมื่อเราพูดว่ามีตัวกู มันก็ย่อมรวมเอาความหมายของคำว่า ของกู เข้ามาด้วยเสร็จ ธรรมดาก็มักจะพูดแต่เพียงคำเดียวว่า เรื่องตัวกู มารู้จักตัวกูกันเสียก่อน ก็คือ ให้รู้จักเรื่องของกูด้วยเหมือนกัน
ถ้าจะพูดอย่างบัญญัติความก็ บัญญัติความหมายของคำ ก็ว่า ไอ้ตัวกูน่ะ มันไม่ใช่ตัวตนตัวจริงอะไรที่ไหน มันเป็นเพียงความคิด คิดว่า ตัวกู หมายความว่า ความคิดนั้น มันเจืออยู่ด้วยความรู้สึก หรือความหมาย หรือความมั่นหมายว่า ตัวกู
วันนี้ก็จะพูดแยกกันถึงข้อที่ว่า ไอ้ความคิดที่มัน ไม่มีความหมายแห่งตัวกูนั้นมันเป็นอย่างไร แล้วความคิดประเภทที่มันมีความหมายแห่งตัวกูรวมอยู่ด้วยนั้น มันเป็นอย่างไร ถ้าไม่รู้จักแยกออกจากกัน มันก็ไม่เข้าใจธรรมะได้
ด้วยเหตุที่หลักของธรรมะนั้นเฉียบขาด เด็ดขาดของธรรมชาตินั้น มันมีอยู่ว่า หากเกิดตัวกูทุกที เป็นทุกข์ทุกที นี่, เป็นกฏตายตัวที่จะต้องรู้ว่า ถ้าเกิดตัวกูทุกที แล้วก็เป็นทุกข์ทุกที ถ้าตัวกูไม่เกิดขึ้นมา ในใจจะไม่มีความทุกข์เลย
ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสว่า ฉันไม่ได้บัญญัติสอนเรื่องอื่น นอกจากเรื่องทุกข์ และดับทุกข์
ฉันพูดแต่เรื่องความทุกข์และความดับทุกข์แค่นั้นแหละ
แต่ก่อนก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้มันมีหลักของธรรมชาติ เด็ดขาดตายตัวอยู่ว่า เกิดตัวกูทุกที เป็นทุกข์ทุกที ไม่เกิดตัวกูอยู่ตลอดเวลาไร ก็ไม่มีความทุกข์เลย ก็เท่ากับว่าเราพูดเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนั่นเอง
ท่านพูดว่า ฉันพูดแต่เรื่องทุกข์กับความดับทุกข์
มันก็เท่ากับว่า ท่านพูด ท่านตรัสว่า ฉันพูดแต่เรื่องตัวกู กับ ความดับแห่งตัวกู หรือความไม่มีแห่งตัวกู
ทีนี้เราก็มีหน้าที่ ที่จะต้องดับความเกิดแห่งตัวกู ไม่ให้มีตัวกู เพื่อจะไม่มีทุกข์นั่นเอง แต่เดี๋ยวนี้ปัญหามันน่าสงสาร ที่ว่า เราไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าตัวกู แล้วเราจะดับมันได้อย่างไร จะดับตัวกูไม่ได้ จะดับความทุกข์ไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งเดียวกัน ป้องกันการเกิดแห่งตัวกูไว้ไม่ได้ มันก็ป้องกันการเกิดแห่งความทุกข์ไว้ไม่ได้
การรู้จักตัวกู ก็คือ การรู้จักความทุกข์ เพราะว่าความเกิดแห่งตัวกูนั่นแหละ คือตัวความทุกข์ ในบาลีอาจจะใช้คำอย่างอื่น เช่นใช้คำว่า อุปาทานขันธ์เป็นทุกข์ นั่นมันหมายความว่ามันเกิด ตัวกู อยู่ในขันธ์ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งในบรรดาขันธ์ทั้งห้า การเกิดตัวกูขึ้นมาในขันธ์ทั้งห้าเป็นตัวทุกข์ เขาจะเรียกว่า อุปาทานเกิด
อุปาทานเกิด คือ ตัวกูหรือของกูมันเกิด นี่, คำที่กล่าวไว้ในพระบาลีทั้งหลาย มันหลาย, หลายที่ หลายที่มา แล้วก็ใช้คำต่างๆ กัน ถ้าเราปรับเข้ากันไม่ได้ ก็หมายความว่า เราไม่รู้นั่นแหละ ฉะนั้น การเกิดแห่งเบญจขันธ์ อุปาทานขันธ์เป็นทุกข์ อย่างนี้คนที่ไม่รู้เรื่อง ก็ฟังไม่ออกว่า มันเกี่ยวอะไรกับ ตัวกู ของกู
อุปาทานขันธ์ นั่นแหละ ก็คือ ตัวกู ของกู คือ มันเอารูปเป็นตัวกูบ้าง เอาเวทนาเป็นตัวกูบ้าง สัญญาหรือสังขารหรือวิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นตัวกูบ้าง เมื่อพูดถึงอุปาทานขันธ์ก็คือว่า จิตทำผิด ยึดเอาขันธ์ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งเป็นตัวกู มันก็ได้แก่ ความเกิดขึ้นแห่งจิต ว่าตัวกูหรือของกู ในขันธ์ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง อย่างนี้ท่านพูดเอาเรื่องขันธ์เป็นหลัก ที่จริงมันก็เรื่องเดียวกัน กับ เรื่องตัวกู ของกู
ทุกข์ ทุกข์เกิดมาจากตัณหา ตัณหาเกิดอุปาทาน แล้วมันก็เป็นทุกข์ มันก็เรื่องเดียวกันอีก เรื่องเดียวกับที่อุปาทานขันธ์เป็นทุกข์
ทุกข์เกิดมาจากตัณหา ดับตัณหาเสีย เป็นความดับทุกข์ ฉะนั้น ดับตัณหา ก็คือ ดับตัวกูนั่นเอง เพราะว่าตัณหาคือความอยาก ความรู้สึกอยากเป็นความรู้สึกที่เป็นตัวกู คือ ตัวกูมีความอยาก ฉะนั้นการดับตัณหาเสียคือดับทุกข์ มันก็เท่ากับว่า ดับความรู้สึกตัว, ตัวกูเสีย มันเท่ากับดับทุกข์
นี่ยกตัวอย่างมาให้ดูเพียงสามอย่างนะ ใช้คำว่าทุกข์ก็ได้ ใช้คำว่าตัวกูก็ได้ ใช้คำว่าอุปาทานขันธ์ก็ได้ เหมือนกันทั้งนั้น
ทีนี้ ที่ผมต้องการอย่างยิ่ง ก็คือว่า ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ตัวกู ที่เกิดอยู่เป็นประจำวันเสียที สังเกตุมานานนักหนาแล้ว เห็นว่ามันไม่รู้จักเรื่องนี้ ไม่รู้จักสิ่งนี้กันอยู่โดยทั่วๆ ไป ฟังดูแล้วมันไม่น่าจะเป็น, เป็นไปได้ มันน่าสงสารนะ มันน่าสงสารที่ว่าเราไม่รู้จักตัวกู แล้วเราเรียนธรรมะกันไปตั้งมากมาย แล้วมันก็ไม่รู้เรื่อง ว่ามันจะต้องดับตัวกู ทีนี้เราก็เอาไปใช้ดับตัวกูไม่ได้ เพราะว่า เราไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ตัวกู
ฉะนั้น จึงจะพูดแต่ในลักษณะของความคิดที่มันเป็นตัวกูกันเสียสักวันนึงเลยดีกว่า ซึ่งบางคนอาจจะรู้สึกไม่มีประโยชน์อะไรก็ได้ เดี๋ยวคอยฟัง
โดยหลักตามธรรมชาติมันมีว่า พอเกิดความคิดประเภทตัวกูทีไร มันก็เป็นความทุกข์ทุกที อันนี้ตายตัวเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทีนี้มันมองเห็นชัดลงไปได้อย่างหนึ่งว่า จิตที่ไม่มีตัวกูน่ะ ความคิดที่ไม่มีตัวกู จิตชนิดนั้นน่ะ มันเป็นสภาพเดิมอยู่ตามธรรมชาติ ส่วนจิตที่มีความคิดว่าตัวกู เป็นตัวกูนั้น เป็นของใหม่มาทีหลัง
นั่นแสดงว่า ตามธรรมดาจิตมันไม่ได้เกิดความคิดว่าตัวกู ตามสภาพของจิตเดิมๆ ตามธรรมชาตินั้นน่ะ จะใช้คำว่า มันนิ่ง มันว่าง มันเกลี้ยง มันอะไรก็ตามใจ แต่ว่าจิตตามธรรมชาติเดิมของมัน มันไม่ได้มีความคิดว่าตัวกู ไม่ได้ยึดถือว่าตัวกู ไม่ใช่ว่ามัน, มันมีอวิชชา หรือมัน, มันอยู่ด้วยอวิชชา มันก็ไม่ได้คิดน่ะ จนกว่า อวิชชามันทำหน้าที่ ไม่ใช่ว่าจิตมันจะเกิดอวิชชาอยู่ตลอดเวลา เหมือนที่เขาสอนกันโดยมาก จิตมันจะเกิดอวิชชาต่อเมื่อเป็นโอกาส แล้วก็มีเหตุปัจจัยให้เกิด มันจึงจะเกิดอวิชชา
ที่จริงสภาพเดิมแท้ๆ ของจิต มันก็ไม่ได้อยู่ด้วยอวิชชา มันไม่ได้มีอวิชชา มันว่างจากอวิชชาด้วยเหมือนกัน ดังนั้นมันจึงว่างจากตัวกู พอเมื่อใดมันเป็นโอกาส หรือมันมีเหตุปัจจัยอะไรเข้ามาแวดล้อม เช่น การเห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้นนี้ ก็มีสิ่งแวดล้อม ให้ไม่มีสติหรือเผลอสติ มันก็มีอวิชชา แล้วมันก็ปรุงกันจนเกิดตัวกูขึ้นมาในจิต มองดูอีกทางหนึ่ง ตัวกูกับอวิชชามันก็เป็นเรื่องเดียวกันน่ะ ถ้ามันมีอวิชชาเข้ามา ไอ้ตัวกูมันก็เข้ามา มันก็เข้า, คือมันเข้ามาในจิต แล้วมันเกิดขึ้นในจิต เมื่อใดอวิชชาเกิดขึ้นในจิต เมื่อนั้นตัวกูมันก็จะเกิดขึ้นในจิต
มีตัวกูนี่ มีอวิชชานี่, เป็นของใหม่นะ เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นลู่ทางว่า มันเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ หรือกำจัดออกไปได้ ถ้ามันเป็นสิ่งเดียวกับจิตมาแต่เดิม เราก็หมดฝีมือ ไม่มีทางที่จะกำจัดมันออกไปได้ หรือป้องกันอย่าให้เกิดได้ เดี๋ยวนี้เดิมแท้ มันไม่มี ไม่มีตัวกู ถ้าเป็นตัวกูเกิดขึ้นมานี้เป็นเรื่องใหม่ เป็นของใหม่ ตัวกูเป็นของใหม่ นี่เราจึงมีหวัง มีความหวังที่ว่า ตัวกูนั้นเป็นสิ่งที่กำจัดได้ หรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมาได้ โดยควบคุมปัจจัยควบคุมโอกาสเหล่านั้นไว้
เดี๋ยวนี้ปัญหาแท้ๆ มันที่อยู่ว่า พวกเราทุกคนนั้น ไม่ได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าตัวกู ที่เกิดอยู่ตลอดเวลา มันมีได้ทั้งสามชนิดแหละ คือ
มันเกิดอย่างเต็มสำนึก เป็นตัวกูที่รู้สึกได้เต็มที่ก็มี
มันเกิดครึ่งเดียว ครึ่งสำนึกก็มี
มันเกิดอยู่อย่างสุขุม ไม่ปรากฎในสำนึกของคนธรรมดาก็มี
แปลว่า เต็มสำนึกก็ได้ ครึ่งสำนึกก็ได้ ใต้สำนึกก็ได้ ระวัง ระวังในที่นี้ หมายถึงว่า เตรียมจิตใจให้ละเอียด ให้สุขุมพอที่จะรู้จักมัน ถ้าพูดให้เป็นหลักก็จะพูดได้ว่า ไอ้ตัวกูเกิดตามที่ท่านกล่าวไว้เป็นหลักในพระคัมภีร์ ที่เราเรียนกันอยู่นี้ก็มี หรือว่าตัวกูที่มันไม่ได้มีการเกิดตามลำดับตรงตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ก็มี เพราะมันเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ด และมันเป็นเรื่องที่ไม่ ไม่เต็มขนาด ฉะนั้นเรามาพูดกันถึงเรื่องที่ว่า ตามหลักในพระคัมภีร์กล่าวว่าอย่างไรเสียก่อน เสร็จแล้วเราจึงมาดูชนิดที่มันเกิด เรียกว่าเกิดนอกคัมภีร์ เกิดโดยที่ไม่ได้มีการกล่าวไว้ในคัมภีร์ อย่างทีหลังก็ได้ ที่ว่าตามหลักคัมภีร์นี้พูดมามาก กันมามากแล้ว อันนี้ก็เป็นหลักอันหนึ่ง สำหรับที่จะศึกษาเรื่องนี้ และปฏิบัติเรื่องนี้ ซึ่งขอทบทวนอีก ขอพูดซ้ำ หรือทบทวนอีกที ว่า มันเกิดจากการปรุงแต่งทางอายตนะ
อายตนะนี่ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หกอย่างนี้อยู่ข้างใน แล้วก็ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้นมันอยู่ข้างนอก เป็นตัวนอก นี้เป็นตัวใน เรียกว่า อายตนะ เสมอกัน เพราะว่ามันจะต้องติดต่อกัน สัมพันธ์กัน หรือรู้สึกต่อกัน จึงจะเรียกว่า อายตนะ ถ้ามันไม่ถึงกันตามคู่ของมัน มันจะเหมือนกับไม่มี
ถ้าเรามีตา แต่มันไม่มีรูป ตาก็ไม่รู้จะเห็นอะไร มันมีรูปแต่ไม่มีตา มันก็ไม่ได้เห็นรูป มันก็เหมือนกับรูปไม่มี อย่างนี้
ถ้าเรามีหูแล้วก็มีเสียง ซึ่ง ซึ่งเมื่อถึงกันเข้ามันจึงจะเรียกว่า มันเกิดอายตนะ เกิดทีเดียวทั้งสอง, ทั้งสองฝ่ายแหละ ถ้าไม่เกิดทั้งสองฝ่ายมันก็เท่ากับ ไม่มี ถ้าหูไม่ได้ยินเสียง หูมันก็เหมือนกับไม่มี ถ้ามีเสียงแล้วไม่มีหู เสียงก็ไม่ได้ยิน ก็เหมือนกับเสียงไม่มี
นี่เพราะมันมี
ตา คู่กับ รูป
หู คู่กับ เสียง
จมูก คู่กับ กลิ่น
ลิ้น คู่กับ รส
สัมผัสผิวหนัง คู่กับผิวหนัง คู่กับกาย
แล้วก็อารมณ์ที่คิดได้ด้วยใจ รู้สึกได้ด้วยใจ ทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต มันคู่ คู่กันกับใจ
หกคู่นี้จำไว้ให้ดี เป็นเรื่องหัวใจของพุทธศาสนาแหละ ถ้าเราไม่รู้เรื่องอายตนะทั้งหกคู่นี้แล้ว มันไม่มีทางหรอกที่จะศึกษาพุทธศาสนา ดังนั้นขอให้สนใจคำว่า อายตนะภายนอก ภายใน หกคู่นี้ ไว้ตลอดเวลาเลยเพราะทุกเรื่องมันจะขึ้นอยู่กับไอ้สิ่งทั้งหกนี้
ทีนี้ก็จะเกิดตัวกูอย่างไร พอตาสัมผัสกับรูป เช่น ตามาถึงเข้ากับรูป หรือรูปถึงเข้ากับตา ก็แล้วแต่จะพูดนะ มันก็เกิดการเห็นทางตา เรียกว่า วิญญาณ คือ จักษุวิญญาณ นี่พอจะเห็นได้นะ พอจะเข้าใจได้ ถึงขนาดเหมือนเห็นด้วยตาเลย ไม่ ไม่ต้องคำนวนเลยนะ ถ้าใครยังต้องคำนวนอยู่ ก็คนนั้น ก็คือไม่รู้ธรรมะข้อนี้ แล้วก็ไปไม่รอดหรอก ไม่มีทางศึกษา ถ้าบอกว่าตาถึงเข้ากับรูป มันก็เกิดการเห็นทางตาหรือรู้สึกขึ้นมาทางตา อันนี้เรียกว่า จักษุวิญญาณ ถ้าพูดอย่างนี้คุณไม่เห็น ไม่มองเห็น ไม่เข้าใจชัดเจน เหมือนกับว่ามองเห็นล่ะก็ ?????(นาทีที่ 17:30) มันก็ศึกษาธรรมะกันไม่ได้
ทีนี้ ตา รูป ถึงกัน เกิดจักษุวิญญาณ จะเป็นสามสิ่งขึ้นมาแล้ว ตา รูป จักษุวิญญาณ สามประการนี้มีอยู่พร้อมกัน คือมันทำงานอยู่ สามอย่างนี้มันทำงานอยู่ด้วยกันทั้งสามอย่าง คือ ตา รูป จักษุวิญญาณ
จักษุวิญญาณ ก็รู้สึกรูปโดยทางตา เขาเรียกทำงานด้วยกัน เมื่อทำงานด้วยกันถึงสามอย่างอย่างนี้ อันนี้เรียกว่า ผัสสะ การถึงกันของสิ่งทั้งสามนี้เรียกว่า ผัสสะ ก็เป็นว่ามี ผัสสะ
ทีนี้ในขณะแห่งผัสสะนี้ นั่นแหละ คือโอกาสที่จะเกิดอวิชชาหรือไม่อวิชชา ถ้าคนไม่ศึก, ไม่มี, ไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษาเป็นคนปุถุชนไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษา มันก็ต้องมีผัสสะ นั่นแหละตามธรรมชาติ ตามธรรมชาติ มันก็เป็นไปตามธรรมชาติ คือมันปราศจากความรู้ ในภาวะที่ปราศจากความรู้นี้เราเรียกว่า อวิชชา ฉะนั้นเราจึงเรียกผัสสะนั้น เป็น ผัสสะโดยอวิชชา ด้วยอวิชชา หรืออวิชชาเป็นเจ้ากี้เจ้าการ ดำเนินงานต่อไปจึงเรียกว่า ผัสสะโง่ ผัสสะหลับ ผัสสะตาบอด หรือผัสสะอะไรก็แล้วแต่จะเรียก อย่างนั้นคือผัสสะของคนธรรมดา ปุถุชนคนธรรมดา
ก็เป็นว่าผัสสะตามธรรมดานี่ จะให้เกิดเวทนาตามธรรมดา คือความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่ ไม่ทุกข์ไม่สุข ไม่สุข ไม่ทุกข์
สุข
ทุกข์
ไม่สุข ไม่ทุกข์
เป็นสามชนิดกันอยู่ แต่ก็เรียกว่า เวทนา เหมือนกันทั้งสามอย่างแหละ
ทีนี้เวทนาของ, ของจิตโง่นี่ มันไม่ทำให้จิตนั้นรู้ว่า เวทนานี้สักแต่เวทนาเท่านั้นหนอ มันไม่มีทาง เพราะจิตมันโง่ ปราศจากวิชชา เป็นจิตอวิชชา ผัสสะของอวิชชา มันก็ให้มีเวทนาชนิดที่ไม่, ไม่, ไม่มีวิชชา คือไม่แสดงตัวว่า เป็นสักว่าเวทนาเท่านั้นหนอ
มันก็มีความหมายแห่งสุข สำหรับให้อยากได้
หรือ มีความหมายแห่งทุกข์ สำหรับอยากจะทำลายเสีย หรือ, หรือ, หรือ, หรือขับไล่ไปเสีย
หรือว่า มันจะเกิดความรู้สึกที่ไม่ทุกข์ไม่สุข ซึ่งยังให้พะวงอยู่ พะวงสงสัย สงสัยอยู่ ข้องใจอยู่
นี้เวทนาที่มีอยู่, อยู่เป็นประจำวัน ไม่สุขก็ทุกข์ หรือไม่, ไม่, ไม่, ไม่ทุกข์ไม่สุข เป็นสามนี้อย่างจำไว้ให้ดี
ไอ้ที่ว่าไม่สุขไม่ทุกข์นี่ เขายังจัดเป็นเวทนา เพราะมันมีความรู้สึกชนิดหนึ่งอยู่ มันไม่ใช่ มันไม่ใช่มันเกลี้ยงหรือมันว่างไปเสียเลย ถ้าเป็นสุขเวทนาก็ให้เกิดความต้องการได้ อยาก คือตัณหา อยากได้ ส่วนทุกขเวทนาก็อยากฆ่า อยากทำลาย ก็อยากเหมือนกัน ทีนี้ถ้าว่ามันเป็นอทุกขมสุข เพราะมันยังอยากจึงเหลือค้างอยู่ ค้างอยู่ในลักษณะของความสงสัย อยากรู้ อยากเข้าใจ อยากอะไรต่อไปก็ได้ แต่มันไม่ได้หยุดความอยาก
ดังนั้น จงมองเห็นว่า ขึ้นชื่อว่าเวทนาแล้ว ย่อมให้เกิดตัณหา คือ ความอยาก สามรูปแบบนั้น รูปใดรูปหนึ่ง นี่คุณต้องมองเห็นชัด เหมือนกับมองเห็นสิ่งของอย่างนี้ ถ้าไม่มองเห็นชัด มันก็ไม่รู้ธรรมะหรอก และก็คงไม่มีทางที่จะศึกษาต่อไปได้ พูดว่าเวทนาให้เกิดตัณหานี่ มันต้องเห็นชัดเหมือนกับเราเห็นสิ่งของต่างๆ ด้วยตา
มันไม่ได้ดูด้วยตา มันดูด้วยใจ และก็เห็นด้วยใจ ว่าความรู้สึกเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น จะทำให้เกิดความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ
ทีนี้ เราก็ดูที่เวทนาอดีตก็ได้ เวทนาปัจจุบันนี่ก็ได้ จะเห็นชัดว่า เวทนาให้, ให้เกิดอะไร ความรู้สึกที่เป็นเวทนาให้เกิดอะไรนี่ เห็นว่าต้องให้เกิดความอยากสามอย่างอย่างใดอย่างหนึ่ง ในสามอย่างนี้เสมอ ถ้าจะเอาเวทนาที่ยังไม่เกิด คือในอนาคต ถ้าอย่างนั้นมันต้องคำนวน มันจะไม่เรียกว่าเห็น แต่ถ้าจะให้เรียกว่าเห็น มันต้องเห็นที่เป็นอดีต หรือปัจจุบัน แล้วเอาไปจับเข้ากับอนาคต มันต้องอย่างเดียวกันแน่ๆ อย่างเดียวกันแน่ๆ เห็นชัดอย่างเดียวกันแน่ๆ อย่างนี้ก็พอจะเรียกว่าเห็นได้เหมือนกัน มันเป็นลักษณะคำนวนอยู่ ต้องมีความแน่ชัดที่มาจากอดีต เวทนาในอดีตที่เราเคยรู้สึกมาแล้วว่าให้เกิดตัณหาอย่างไร เราทำความแจ่มแจ้งในข้อนั้นให้มากๆ ๆ ๆ แล้วมันก็ทำความแจ่มแจ้งในเวทนาอนาคต ว่ามันคงเกิดผลอย่างเดียวกัน
หรือว่า ถ้าเดี๋ยวนี้เกิดเวทนาอย่างใดอย่างนึงอยู่ ทำความเข้าใจชัดลงไปว่า มันเกิดตัณหาอย่างไร มันให้เกิดตัณหาอย่างไร ให้เห็นให้ชัดๆ มองเห็นชัดแจ๋ว ไอ้ความชัดแจ๋วนี่ จะช่วยให้เห็นไปถึงอนาคต ว่าแม้เวทนาในอนาคตก็จะให้เกิดตัณหาอย่างเดียวกันนี้ อย่างนี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน คือ เป็นเรื่องที่เห็นชัดแจ้งลงไป โดยไม่ต้องคำนวนอะไรกันอีก โดยไม่ต้องใช้เหตุผล อุปมาน อนุมาน อะไรกันอีก นี่ต้องอย่างนั้น
ทีนี้ เวทนา ให้เกิด ตัณหา, ตัณหา ก็ให้เกิด อุปาทาน ให้ยึดมั่น ถือมั่น ตรงนี้มันน่า, มันน่าหัว ที่ว่ามัน เกิดความอยากขึ้นในใจตามธรรมชาติ เกิดความอยากขึ้นในใจตามธรรมชาติ
ไอ้ความอยาก ไอ้ความคิดที่เป็นความอยากนี่ มันให้เกิดความคิดอีกอันขึ้นมา ว่า มีกู ผู้อยาก รู้สึกขึ้นมาเองว่า กูอยาก กูลมๆ แล้งๆ มันก็เกิดขึ้น ตอนที่เรียกว่า อุปาทาน ตอนนี้เห็นยาก ตอนนี้เห็นยาก ผมก็บอกว่าเห็นยาก แล้วคุณก็จะเห็นยากว่า มันอยากอะไรขึ้นมาแล้ว มันจะเกิดความรู้สึกเป็นกู ผู้อยาก ขึ้นมา อย่างที่ไม่ค่อยจะเห็นตัวมันหรอก เห็น เห็น เว้นว่าแต่จะมีปัญญาจริงๆ จึงจะเห็นตัวความรู้สึกที่เป็นตัวกูผู้อยาก นี่เรียกว่า ตัณหา ความอยากจะให้เกิด ความรู้สึก ตัวกู ซึ่งเป็นผู้อยาก มันขัด logic ของเด็กๆที่ว่า ผู้อยากมันเกิดที่หลังความอยาก
เหตุผลอย่างเด็กๆ มันก็ต้องมีตัวผู้อยาก ก่อนสิ มันถึงจะเกิดความอยากได้ แต่ธรรมชาติอันนี้มัน, มันเร้นลับ ตามธรรมชาติจะเกิดความรู้สึกว่าอยาก อยาก อยาก อยาก โดยไม่มีใครอยากหรอก พออยาก อยาก อยากเข้า เดี๋ยวก็มีความรู้สึกอันนึง คลอดออกมาจากความรู้สึกอยาก นั่นก็เป็นตัวกู ผู้อยาก
ถ้าน่า, น่าพอใจ ก็อยากได้ กูอยากได้
ไม่พอใจ ก็ไม่อยากได้ กูอยากจะฆ่ามันเสีย
หรือถ้าว่ามันไม่, มันไม่แน่ว่า น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ มันก็กู ก็อยากจะค้นคว้าต่อไป
นี่เรียกว่า อนุสัย มันมีชัดว่า
ถ้าว่ามันเป็นเรื่องน่ารัก น่าอยาก มันก็เกิด ราคะ หรือ โลภะ
ถ้ามันเป็นเรื่องของไม่น่ารัก ไม่น่าอยาก มันก็เกิด โทสะ หรือ โกรธะ
แต่ถ้ามันไม่ชัดลงไปอย่างนั้น คือมันเป็นอทุกขมสุข มันก็เกิด โมหะ หรือเกิด อวิชชา ขึ้นมาอีก, อีกประเภทหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง
เดี๋ยวนี้มันก็เกิดตัวกู ในชื่อว่าของ อุปาทาน ตัณหาให้เกิดอุปาทาน มันเกิดอุปาทาน ว่า
ตัวกูอยากได้ ที่มันน่ารัก
ตัวกูอยากฆ่าเสีย ไอ้ที่มันน่าโกรธน่าเกลียด
ตัวกูอยากจะสัมพันธ์ ติดต่อ ต่อไปในตัวกูที่มันยังไม่แน่ชัดว่าน่ารักหรือไม่น่ารัก แต่มันเป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความอยากหรือความยึดถือด้วยเหมือนกัน
นี่ตัวกูเกิดอย่างนี้ ถ้าไม่เห็นชัด มันก็ต้องเห็นไอ้ของที่อยู่ต่อหน้านี้แหละ มันไม่มีทางที่จะรู้ธรรมะ คุณจะไปทำอย่างไรก็ตามใจคุณเถอะ แต่, แต่ต้องทำให้เห็นชัดเหมือนกับดูด้วยตา ว่ามันมาอย่างนี้
ผัสสะ ให้เกิด เวทนา, เวทนา นั้น เป็นเวทนาของปุถุชนคนธรรมดา ไม่, ไม่มีวิชชา มันก็เป็นเวทนา เป็นผัสสะโง่ มันก็เกิดเวทนาที่หลอก หลอกให้รักบ้าง หลอกให้รัก หลอกให้สงสัย
ทีนี้ เวทนาชนิดนี้ มันก็ให้เกิดความอยากไปตามสมควรแก่ความหมายนั้นๆ ก็เกิด ตัณหา พอเกิด ตัณหาอย่างนี้แล้ว คืออยาก อยาก อยาก อยากแล้ว ความรู้สึกอีกอันก็คลอดมาจากตัณหานั้น คือ อุปาทาน ก็มีตัวกู ผู้อยากอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น
อันนี้มันเป็นนามธรรม มันไม่มีวัตถุที่เห็นด้วยตา มันเป็นวัตถุที่ต้องเห็นด้วยใจ ถ้าไม่เห็นชัดแจ้งอย่างนี้แล้ว ไม่มีทางหรอกที่จะรู้ธรรมะที่จะดับทุกข์ได้ ดังนั้น ขอให้ใช้เวลา ตลอดเวลา รู้จักตัวกูในลักษณะอย่างนี้จนชัดเจน เหมือนกับดูของที่เป็นวัตถุด้วยตา ให้รู้จักตัวกู ตามที่กล่าวไว้ในหลักของธรรมะ หรือในระบบของธรรมะ หรือในพระคัมภีร์ ซึ่งตรงตามธรรมชาติ พระคัมภีร์ที่กล่าว, นี้จะกล่าวไปตามความจริงของธรรมชาติ ว่าเป็นการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในเรื่องของธรรมชาติ ท่านตรัสออกไป มันก็ตรงกันตามความจริงของธรรมชาติ
ทีนี้ อุปาทาน ความคิดว่าตัวกูเกิด มันก็มีตัวกู ความมีตัวกูอยู่ในจิตใจ มีความรู้, ความ, มีรู้สึก มีความรู้สึก ว่าตัวกูอยู่ในจิตใจน่ะ เขาเรียกว่า ภพ เป็นภพ เป็นความมี ความเป็นชนิดหนึ่ง คือ ตัวกูที่เกิดออกมา
ทีนี้ ภพ มัน มัน มันแก่เข้า แก่เข้า ถึงที่สุดมันก็คลอดลูกมาเป็น ชาติ คือ เป็นตัวกูที่ไปทำอะไรเข้าจริงๆ ตัวกูนี้ก็ไปทำอะไรตามแบบของตัวกู
เช่น ไปเอานั่น เอานี่ มาเป็นของกู เอาความเกิดมาเป็นของกู ก็เลยมีความทุกข์เพราะความเกิด, เอาความแก่มาเป็นของกู ก็เป็นความทุกข์เพราะความแก่, เอาความเจ็บมา เอาความตายมา อะไรทุกอย่าง ทุกอย่าง ตามที่ท่านแจงไว้ว่าเป็นลักษณะแห่งความทุกข์น่ะมีกี่อย่างกี่สิบอย่าง
ชาติ ตัวกู, ตัวกูที่เป็นชาติออกมาโดยโง่เขลาเต็มที่นี้ มันก็เอามาเป็นของตน มันก็ต้องเป็นทุกข์ล่ะ เพียงแต่เอามาเป็นของตนมันก็หนัก ในเมื่อสิ่งนั้น มัน มัน มันไม่เป็นไปตามที่ตนต้องการ มันก็ยิ่งเป็นทุกข์ใหญ่ นี่แหละ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็แสดงบทบาทกันเต็มที่ตอนนี้
นี่หลับตาให้เห็นเหมือนกับของเป็นวัตถุดูด้วยตา ว่ามีอายตนะภายใน อายตนะภายนอก ถึงกันเข้าเกิดวิญญาณ สามประการทำหน้าที่ร่วมกันอยู่ เรียกว่า ผัสสะ
ทีนี้ก็โง่ เพราะไม่มี ไม่มีวิชชา มีแต่อวิชชา, ผัสสะโง่ ก็ให้เกิด เวทนา ที่จะหลอกต่อไป ให้, ให้เกลียด ให้, แล้วแต่ว่าเวทนานั้นมันปรุงกันอย่างไร เวลานั้น
แล้วเวทนาก็ให้เกิดความอยาก คือ ตัณหา ตามสมควรแก่ค่าของเวทนานั้น ตัณหาความอยากเกิดแล้ว มัน มันปรุงความคิดและจิตใจ ไม่ใช่ปรุงร่างกายใหม่ ไม่ใช่ปรุงคนใหม่ ร่างกายใหม่เสียที่ไหนล่ะ มันเป็นความคิดที่คลอดออกมา จากความอยาก ซึ่งเป็นความคิดชนิดหนึ่งเหมือนกันนะ ความคิดชนิดอยาก ชนิดเป็นความอยาก เกิดความคิดชนิดที่ว่าเป็น อุปาทาน กู ผู้อยาก นี่แหละตัวกูเกิด
และต่อไป มันก็ไปเป็นตัวกูที่ ที่ออก ที่แก่เข้า แก่เข้า จนออกมา เป็น เป็นตัวแสดงบทบาท ทุกอย่างที่จะเป็นความทุกข์
นี่หลับตาดูให้เห็นชัดเสียอย่างนี้ เป็นหลักเสียก่อน นี่เป็นหลักที่ท่านกล่าวไว้ชัดเจนมากทุกขั้นตอน แล้วก็เป็นการกล่าวที่จะให้เรารู้สึกได้ หรือเห็นได้อย่างเต็มสำนึก
แต่ในกรณีทั่วๆ ไป มันไม่ ไม่ ไม่ได้มีโอกาส ไม่ได้มีเวลาให้เห็นอย่างเต็มสำนึกอย่างนี้ เพราะมันก็เกิดแล้ว มันก็เป็นทุกข์เสียแล้ว นี่เรียกว่า เกิดตัวกู ตามแบบฉบับ แล้วก็เต็มสำนึกโดยทางอายตนะทั้งหก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นก็เรียกได้ว่า มันต้องมีอารมณ์ภายนอก มีอายตนะภายนอก คือที่อยู่ข้างนอกของจิตใจก็ได้ ซึ่งเป็นตัวนอกน่ะ มาจากอารมณ์ที่เป็นตัวนอก แล้วก็เกิด มาปรุงแต่งกันเข้า แล้วก็เกิดเป็นตัวกู อย่างนี้มันมีอารมณ์ภายนอกชัดๆ มาปรุงกันเข้า แล้วเกิดตัวกูอย่างนี้ นี่ นี่ แบบตามพระคัมภีร์
ทีนี้ เราไม่ค่อยรู้สึก ไม่ค่อยจะรู้สึกอย่างนี้ จะไปรู้สึกเอาก็ตอนที่มันเป็นทุกข์แล้ว ตอนที่เป็น ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน นี้ มันเหมือนกับสายฟ้าแลบ แป๊บเดียวก็อยู่ที่ความทุกข์แล้ว เราก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสที่จะเห็นหน้าตัวกู ไปเห็นเอาที่ตอนมันเป็นทุกข์แล้ว เป็นตัวความทุกข์เสียแล้ว ตัวกูกลายเป็นตัวความทุกข์เสียแล้ว
ทีนี้ส่วนใหญ่ที่มันเป็นปัญหามาก มันเป็นคู่สุดท้าย คือคู่ใจกับธรรมารมณ์, ตาหู, ตากับรูป หูกับเสียงนี่ ว่าที่จริงมันก็เป็นเรื่องเด็กเล่นมากกว่า แต่มันก็ให้เกิดได้เหมือนกันแหละ ควรจะสนใจให้, ให้เต็มขนาดของมัน
ทีนี้ที่จะต้องดู ที่จะดูได้ง่าย ที่จะเห็นได้ง่ายน่ะ ต้องเห็นด้วยปัญญานะ ไม่ใช่เห็นด้วยตานะ เช่นในกรณีที่มันมีอารมณ์แรง อารมณ์ร้าย อารมณ์แรง เรียกว่า เรื่องขนาดหนัก เช่นว่า ลูกตาย เมียตาย ผัวตาย อย่างนี้ ใครเคยมีมาแล้วก็ให้ไปคำนวนดูเถิดว่า อารมณ์นี้มันแรงเท่าไร หรือว่าถูกทำลายเหมือนกับว่าถูกถอดอย่างนี้ เป็นข้าราชการแล้วถูกถอด ถูกไล่ออก ชนิดที่ไม่มีบำเหน็จบำนาญให้ มันรู้สึกอย่างไร หรือแม้ที่สุดแต่ว่า โลกธรรมธรรมดานี่ ได้ลาภมากแล้วก็สูญเสียลาภหมด ได้ยศมากแล้วก็สูญเสียยศไปหมด ได้คำนินทาเต็มที่ ได้รับสรรเสริญเต็มที่ หรือได้สุข ได้ทุกข์ ได้สบาย ได้ลำบากอย่างที่เขาเป็นๆ กันอย่าง อย่างประเภทที่เรียกว่าขนาดหนักน่ะ ไปดู ว่าตัวกูมันเกิดที่ตรงไหน
โดยมากคนมันจะไม่มองเห็น ตัวกูหรอก มันจะไปรู้สึกสุดท้าย ที่ตัวกูไปอยู่ในรูปของความทุกข์ ทุกข์หนัก น้ำตาไหล ตีอกชกหัว รำพึงรำพัน อะไรไปเหมือนกับคนบ้าไปแล้ว มันก็เลยไม่มีโอกาส ไม่มีเวลาที่บุคคลนั้นจะมองเห็นตัวกู ที่มันได้ปรุงแต่งมาตามลำดับทั้งนั้นแหละ พอเราเห็นลูกตายหรือเมียตายหรืออะไรก็ตาม หรือว่าเราได้ยินข่าวนะ เห็นด้วยตามันก็อย่างนะ แต่ได้ยินข่าวว่า มัน ลูกตาย เมียตายอะไรอย่างนี้ มันก็เกิดปรุงแต่งอย่างนี้ มันไม่ใช่เห็นภาพธรรมดาเสียแล้ว มันเป็นเห็นภาพชนิดที่มันเข้าไปจับใจ ปรุงแต่งทางจิตใจ มันกลายเป็นเรื่องของ มโน กับ ธรรมารมณ์ เสียมากกว่า
อารมณ์ที่รู้สึกว่า, อารมณ์ที่เห็นว่า ลูกตาย เมียตาย มันก็ละจากอารมณ์ทางตา ไปเป็นอารมณ์ทางจิตใจ เป็นอารมณ์ที่รู้สึกแก่จิตใจ ก็ปรุงกันขนาดหนักในระดับจิตใจ นี่, ตัวกูอย่างแรง แล้วก็เป็นทุกข์อย่างแรง
ถ้ามันเป็นแต่เพียงเห็นทางตานี่มันก็ไม่เท่าไหร่หรอกนะ แต่นี่มัน มันเลยตาเข้าไปถึงใจ มันก็เป็นทุกข์ไปตามที่มันรู้สึกเต็มที่
ทีนี้ได้ยินทางหูก็เหมือนกัน แม้ว่าเรื่องทางหูนั่น เป็นเรื่องเขาหลอก แต่เราไม่รู้ว่าเขาหลอก เขาหลอกว่า ลูกตาย เมียตาย หรือถูกถอดอะไรก็ตาม มันก็เป็นทุกข์เต็มที่ เหมือนกับว่าเป็นเรื่องจริง ดังนั้น มันจะไม่ใช่เรื่องทางหู แล้วเป็นเรื่องทางจิต ที่มันไปยึดถืออย่างนั้นจริงๆ
นี่อารมณ์ที่แรงร้าย ร้ายแรงถึงขนาดหนัก มันเป็นอย่างนี้
ทีนี้ก็ เราได้ยิน ได้เห็น ได้ฟัง ได้อะไรมากมาย มัน มันไม่รู้กี่เรื่อง ต่อกี่เรื่อง นี่ มันก็เกิดความรู้สึกปรุงตามแนวนี้ เป็นผัสสะ เป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน ได้กันทั้งนั้นแหละ
ทีนี้ก็มาถึงที่อยากจะให้ใช้เป็นเครื่องศึกษา ให้รู้ว่าเมื่ออารมณ์มากระทบ อารมณ์นั้นมากระทบ แล้วจิตมันเปลี่ยน จิตมันเปลี่ยน คุณต้องเข้าใจคำว่า ที่ผมพูดว่า จิตมันเปลี่ยน เพราะอารมณ์นั้นกระทบตาหูอะไรก็ตาม จิตมันเปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่ง ซึ่งจะผิดกันมาก กับ กับก่อน กับที่มันจะมากระทบ หรือก่อนกับที่มันจะเปลี่ยน
ทีนี้, ถ้าเราสังเกตุกันให้ดีๆ เราจะรู้สึกว่ามันเปลี่ยน ทีนี้เรา ถ้าเราสังเกตุให้ดีๆ เราจะรู้สึกว่ามันเปลี่ยนเป็นรูปแบบไหน ถ้าเรามีความรู้พอ ศึกษาพอ ฉลาดในการสังเกตุ หรือการดู จะเห็นว่ามันเปลี่ยนไปในรูปแบบที่ว่า มันเป็นตัวกู แล้วจิตก็หวั่นไหวไปตามสมควร ไปตามสมควรแก่น้ำหนัก หรือความหมายแห่งคุณค่าของสิ่งที่ ที่เราได้เห็น เหมือนว่าเราอ่านโทรเลขที่บอกมาว่า ลูกตาย เมียตาย ผัวตาย พ่อตายน่ะ จิตมันเปลี่ยนอย่างไร ก่อนหน้านั้นจิตเป็นอย่างไร
ถ้าเราฉลาด เราพอจะรู้สึกได้ว่า โอ้, มันต่างกันลิบ จิตที่ ที่เมื่อตะกี้ที่ยังไม่ทันอ่านโทรเลขอันนี้นะ มัน มัน มัน มันธรรมดา ธรรมชาติ มันว่าง มันเกลี้ยง มันไม่มีตัวกู หมายความว่า หมายความว่า มันไม่ได้มีเรื่องอะไรอยู่นะ แต่ทีนี้พอมาอ่านโทรเลขว่า คนนั้นตายหรือถูกถอดเรื่องนี้ มันเปลี่ยนไป จนเกิดความรู้สึกร้อน เหมือนกับไฟ มันต้องเกิดตัวกูแล้ว มันต้องเกิดตัวกูแล้ว
ตาเห็น ก็กลายเป็นเรื่องของความหมายในทางจิตใจ ตัวกูได้สูญเสียอะไร ไม่ใช่เพราะว่าไอ้กระดาษแผ่นนั้นมันจะทำให้เกิดความทุกข์ไม่ใช่ แต่กระดาษแผ่นนั้น มันทำให้เกิดความรู้สึกข้างใน จนเกิดตัวกู รู้สึกว่ากูสูญเสียอะไรไป มันก็มีจิตใจชนิดที่เขาเรียกกันว่าอะไร มันก็วูบวาบไป เป็นทุกข์ ถ้ามันมากก็ถึงกับช็อกไปเลยอย่างนี้เป็นต้น
อย่างนี้อยากจะขอให้เอาไปศึกษา เอาไปสังเกตุ ให้พบว่าจิตปรุงกันอย่างไร ปรุงกันอย่างไร ถึงระดับไหนเรียกว่า เกิดตัวกู ของกู
ทีนี้ มันจะเห็นง่ายขึ้นมาอีกหน่อยนะ คุณเห็นบุรุษไปรษณีย์ เดินเข้ามาในรั้วบ้านเราแล้ว เราอยู่บนเรือน เห็นบุรุษไปรษณีย์เดินเข้ามาในเขตบ้านเรา จะมา มาเรือนเรา ใครมีจิตปกติเหมือน เหมือน เหมือน เหมือนเดิมอยู่บ้าง เหมือนเมื่อไม่เห็นบุรุษไปรษณีย์เดินเข้ามา พอเห็นบุรุษไปรษณีย์เดินเข้ามา มันไม่ใช่เห็นรูปทางตาอย่างเดียวแล้ว มันมีความหมายว่ามันต้องมีเรื่องอะไรที่ในจดหมายที่บุรุษไปรษณีย์จะเอามาให้ จิตผิดเมื่อตะกี้นี้น่ะ เมื่อบุรุษไปรษณีย์ยังไม่เข้ามา แต่นี้เมื่อบุรุษไปรษณีย์เดินเข้ามา จิต จิตเป็นอย่างไรบ้าง จิตตุ๊บๆ ตั๊บๆ หรือว่าจิตเริ่มรวนเร จิตเริ่มสงสัย จิตเริ่มเปลี่ยนแปลงไป นั่นแหละมันคือ มันเกิดตัวกู ในระดับหนึ่งแล้ว แล้วมันเกิดความรู้สึกว่ากูต้องได้อะไร หรือกูต้องสูญเสียอะไร หรือมันจะเกิดอะไรแก่กู ซึ่งจะรู้ได้โดยจดหมายที่บุรุษไปรษณีย์จะเอามาให้
นี่เพียงแต่บุรุษไปรษณีย์เดินเข้ามา ใน ในเขตบ้านเราเท่านั้น เราก็มีตัวกูเกิดชนิดหนึ่ง ยังไม่เป็นเรื่อง ได้เรื่องเสียอะไรโดยตรง แต่มันก็เกิดตัวกูของกู ที่ทำให้มีความคิดสงสัยหรือระแวงไปว่ามันต้องมีเรื่องอะไร ที่เป็นเรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องร้าย เรื่องดี เรื่องอะไร เรื่องใด เรื่องหนึ่ง
ที่พูดนี้เพียงให้เทียบให้ดูว่า เมื่อไม่เห็นบุรุษไปรษณีย์เดินเข้ามา จิตเป็นอย่างไร เราก็รู้สึกหรือเราพอจะกลับไปรู้สึกได้ และเมื่อบุรุษไปรษณีย์เดินเข้ามา จิตของเราเป็นอย่างไร รู้สึกเป็นอย่างไร ถ้าศึกษาเรื่องนี้ได้จะรู้จักตัวกู ในระดับนี้
แม้ในระดับ สักว่า เป็นเพียงความสงสัย หรือความคาดคะเน มันก็ให้เกิดผัสสะทางจิต เกิดเวทนาทางจิต เกิดตัณหาทางจิต เกิดตัวกูของกูทางจิต คู่สุดท้ายแหละ คือ คู่ใจกับธรรมอารมณ์
ทีนี้ พอเขาเอาจดหมายให้ จดหมายนั้นจ่าหน้าซองถึงเราโดยตรงเลย เหมือนจ่าชื่อของเรา ที่หน้าซองนั้น จิตคงเดิมอยู่หรือเปล่า มันเปลี่ยนอีกชั้นหนึ่ง ถ้ามันเป็นจดหมายคนชื่ออื่นมันก็ไม่เกิดอย่างนี้ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ไอ้จดหมายนี้มันจ่าหน้าถึงเรา ถ้ามันเป็นเรื่องเข้ารูปกับเรื่องที่เรารอคอยอยู่ ระแวงอยู่ หวาดกลัวอยู่ มันก็เป็นมากเพียงแต่เห็นหน้าซองจดหมายนั่น นี่เรียกว่ามัน มันต่างกันแล้ว ทีนี้ถ้าว่ามันไปรู้ลายมือที่หน้าซองนั่น ว่าลายมือของใครเข้าอีก มันก็จะมีอาการเปลี่ยนมากขึ้นไปอีก ถ้ามันรู้ว่าเป็นลายมือของคนๆ นั้น ซึ่งมีเรื่องอะไรกันกับเรา จิตมันก็จะเปลี่ยนลึกเข้าไปอีกนะ คือว่า ความหมายแห่งตัวกูมันจะมากขึ้นกว่าเดิม กระทั่งว่าฉีกจดหมายมาดูเป็นเรื่องนั้นจริงๆ เอ้า, จิตเป็นอย่างไร จิตเหมือนเดิมไหม จิตเหมือนเดิมเหมือนเมื่อบุรุษไปรษณีย์ยังไม่เข้ามาในบ้านไหม
นี่ดูในขั้นตอนที่ว่า เห็นบุรุษไปรษณีย์เดินเข้ามาในบ้าน จิตไม่ได้คงเดิมแล้ว หวั่นไหวไปอย่างแล้ว พอจดหมายนั่นจ่าหน้าซองถึงเรา มันก็เปลี่ยนไปอีกทีนึง พอเราเห็นว่าลายมือนั้นเป็นลายมือของใคร ก็ยิ่งเปลี่ยนไปอีกทีนึง พอฉีกออกดูเป็นเรื่องนั้นจริงๆ มันก็เปลี่ยนเต็มที่ ที่มันจะเปลี่ยนได้ แล้วแต่ว่าข้อความในจดหมายนั้นมันจะมีว่าอย่างไร ถ้ามันเป็นเรื่องที่เต็มขนาดของมันให้เกิดความรู้สึกตามเรื่องตามราวที่มันสัมพันธ์กันอยู่ อะไรกันอยู่ มันก็ถึงสุดเหวี่ยงของการมีตัวกูของกู มันก็ยินดียินร้ายเต็มที่ เป็นเวทนาที่ยินดียินร้าย หรือยินดีก็ไม่เชิง ยินร้ายก็ไม่เชิง มันก็เกิดอุปาทาน เป็นของกู เป็นตัวกูเต็มที่
หรือว่า เปรียบตัวอย่างอีกทีว่า เราเดินเข้าไปในป่า จิตใจเป็นอย่างไร กำหนดไว้ชั้นหนึ่งก่อน พอเห็นรอยเสือตรงไอ้ตรงที่ทางที่เราเดินอยู่ มีรอยเสือ จิตใจเป็นอย่างไร ความกลัวตายมันก็เกิดขึ้นมา ถ้ามันไม่เกิดความรู้สึกเป็นตัวกู มัน มัน มันจะเกิดความกลัวตายไม่ได้หรอก แต่มัน ความที่มันทับซ้อนกันอยู่ แล้วมันเร็วมาก เราไม่ทันสังเกตุ เราสังเกตุไม่ทันว่า มันเกิดความรู้สึกว่าตัวกู และตัวกูกลัวตาย ตัวกูเป็นทุกข์อย่างนี้เป็นต้น พอเห็นรอยเสือแล้วมันก็เป็นทุกข์เสียแล้ว มัน มันไม่อาจจะแจงเป็นว่า ขณะแห่งผัสสะ ขณะแห่งเวทนา ขณะแห่งตัณหา อุปาทานได้ แป๊บเดียวมันก็เป็นทุกข์
ทีนี้ที่พูดนี้ก็เพื่อให้สังเกตุกันง่ายๆ ว่า เมื่อก่อนที่จะรับอารมณ์นี้ จิตมันเป็นอย่างไร จิตธรรมชาติ จิตว่าง จิตเกลี้ยง จิตไม่มีอะไร หรือบางทีเพลิดเพลินอยู่กับการชมนกชมไม้ ซึ่งมันก็เกิดตัวกูของกูไปอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน แต่มันไม่รุนแรงเท่ากับเห็นรอยเสือ ถ้าเราเห็นนกเห็นไม้อะไรสวยงาม มันก็เกิดตัวกูไปแบบนั้น แล้วก็เนือยๆ ไปแบบนั้น มันไม่เข้มข้นเหมือนกับว่าเห็นรอยเสือ
ถ้าเรารู้จักสังเกตุ สังเกตุ พบว่า โอ้, มันเปลี่ยนแปลงอย่างนี้เอง นี่ผมบอกตัวอย่างที่ไปศึกษา สังเกตุให้พบว่าการปรุงแต่งในจิตนั่น มัน มันเป็นขั้นตอนอย่างนี้ เพราะมัน จนกระทั่ง มันจะต้องเกิดความคิดที่มีความหมายแห่งตัวกู ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความตาย หรือความอยู่ ความได้ ความเสีย ความแพ้ ความชนะ ทุกอย่างเลย ทุกคู่เลย
มันเหมือนกับลมๆ แล้งๆ มันเป็นเพียงความคิดเท่านั้น แต่มันรุนแรง ถึงกับทำให้เป็นทุกข์ ทำให้ช็อกได้ เป็นทุกข์ช็อกตายก็ได้ นี่, ความคิดที่เป็นตัวกู เป็นเพียงความคิด แม้จะเป็นเพียงความคิด มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า ตัวตนจริงๆ ตัวกูจริงๆ ตัวกูจะตายจริงๆ หรือว่าตัวกูจะได้อะไรจริงๆ นี่แหละตัวกู ฝ่ายได้ก็สบายไป ฝ่ายเสียไปนี่ก็จะตายขึ้นมา
ทีนี้ พวกที่นอกแบบ หรือว่าที่เราจะต้องใช้ความสังเกตุละเอียดละออของเรามากเป็นพิเศษ จึงจะเกิด จึงจะมองเห็น ใน ใน ใน ในขั้นนี้ก็เป็นเพียงว่า ความหวาด ความระแวง ความสันนิษฐาน คาดคะเน รู้สึกอยู่เนือยๆ คือ ไม่รุนแรง ไม่ ไม่ใช่อารมณ์รุนแรง แต่มันก็เกิดตัวกูเท่ากัน
เราอาจจะคิดไปเองก็ได้ และมันเป็นความคิดที่ผิด เพราะว่าเขาโง่ เก่งที่จะคิดไปในทางที่ผิด ที่ทำให้ตัวเองเกิดกลัวขึ้นมา เกิดหวั่นระแวงขึ้นมา จนหวั่นระแวงว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้น ไอ้ความคิดเขลาๆ มันทำให้เกิดความคิดอันหนึ่งขึ้นมาว่า มันจะมีอะไรเกิดขึ้น แล้วตัวกูมันก็เป็นทุกข์ มัน มันจะระแวงว่าเราได้ทำอะไรผิดไว้ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น หรือเราได้ทำความชั่วอะไรไว้ มันจะถูกเปิดเผยขึ้น เพียงเท่านี้ก็ถมไปแล้ว ที่มันจะปรุงให้เกิด ไอ้ ไอ้ ไอ้ความคิดประเภทตัวกู มัน มัน เกือบจะไม่มีเรื่องอะไร
ทีนี้บางทีเราก็ไม่ได้ทำผิดอะไรไว้ แต่มันก็หวั่นหรือระแวงไปว่ามันจะได้ทำผิดอะไรไว้ หรือมันจะถูกเขาจับ ถูกเขาซัดมา มันก็หวั่นระแวงไปเอง สังหรณ์ใจไปก็ได้ มีอะไรชวนให้สังหรณ์ใจไปหวั่นระแวง หรือแม้แต่ความฝันก็ได้ ไม่ว่าฝันร้ายหรือฝันดีก็ตาม พอมันเสวยอารมณ์นั้นแล้ว มันก็จะเกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน ที่มาจากความฝันนั่นก็ได้
คือว่า คนมันเชื่อโชคลาง เห็นอะไรที่มันเป็นนิ, เอ่อ, นิมิตโชคลา ง บางคนเพียงแต่จิ้งจกทักนั้น มันก็ออกมา จิ้งจกทักเท่านั้น ก็รู้สึกมีความหมายมากจนถึงกับว่า ตัวสั่น นี่ ที่มันเชื่อโชค เชื่อลางมาก จิ้งจกทัก หรือว่าถ้าจิ้งจกมันตกลงมาตายตรงหน้านั้นเลย เขาก็เลยเป็นทุกข์ใหญ่ มีความโง่ถึงขนาดนั้น ไอ้ตัวกูชนิดนี้ มันเรียกว่า มันเล่นตลกที่สุด มันเป็นเรื่องที่เหลวแหลกที่สุด แต่มันก็มีได้
เราหวั่นๆ อยู่ว่าไอ้ที่เราตั้งใจไว้ผิดหมด หรือแผนงานที่เราได้ทำแล้ว วางไว้ มันจะผิดหมด มันคงไม่ไปตามนั้นว่าอย่างนั้นเถิด เพียงเท่านี้ก็พอแล้ว ที่มันจะเกิดตัวกูขึ้นมา แล้วก็เป็นห่วง วิตกกังวล เป็นทุกข์ เสียใจ ร้อนใจอะไร มันเพียง เพียงแต่มันเป็นการปรุงแต่งอย่างเหลวไหล เหมือนกับก็มีตัวกูที่เกิดขึ้นร้อยเเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน
บางทีมันจะโง่ถึงขนาดว่า เราตายแล้วไอ้สิ่งต่างๆ ที่เราหวังจะเปลี่ยนหมด ที่เราสั่งเสียไว้จะเปลี่ยนหมด นี่, ยังไม่ทันตายแต่มันก็หวั่นใจไปว่า เราตาย เขาจะไม่ทำตามที่เราสั่งไว้อย่างนี้ เพียงเท่านี้ตัวกูมันก็เกิดตัวกูเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์สำหรับจะเป็นทุกข์ ที่เราวางแผนการไว้อย่างไรมันคงจะผิดหมด
และที่จะเป็นกันมาก ก็ ก็ดูแต่ เป็นกันมาก เป็นกันถี่ยิบก็ดูจะได้แก่ ความน้อยใจ ทุกคนจะรู้จักความน้อยใจ เดี๋ยวน้อยใจนั่น น้อยใจนี่ ว่าทำไม มันจึงชั่งไม่ได้ตรง หรือเต็มตามที่เราต้องการ น้อยใจเมีย น้อยใจลูก น้อยใจญาติ น้อยใจเพื่อน กระทั่งน้อยใจชาติ, โชคชะตาวาสนาของตัวเอง ถ้าเชื่อผีเชื่อสาง ก็น้อยใจว่าผีสางมันไม่ช่วย เทวดามันไม่ช่วย หรือน้อยใจว่าสังคมมันไม่เห็นอกเห็นใจเราซะเลย นี่คือตัวกู ที่ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว แล้วมันก็มาจากเหตุผลที่ไร้สาระที่สุด
เพราะฉะนั้น ใครมีน้อยใจอะไรอยู่ น้อยใจเพื่อน น้อยใจครูบาอาจารย์ น้อยใจอะไรก็ตาม ซึ่งมันมีได้ง่าย และมันจะมีมากซะด้วย พยายามจับ ไอ้ตัวกู ดึงออกมาดู จากความรู้สึกที่น้อยใจ แล้วก็เป็นทุกข์อยู่
นี่ผมเรียกว่า ตัวกูทั้งนั้น ไม่ได้มา ไม่ได้มาจากการกระทบทางอายตนะตรงๆ จังๆ แต่มันมาอย่างอ้อมๆ มาอย่างไม่, ไม่จริงจังอะไร ต้นเหตุนั้น ของการที่มันจะมา แต่พอมันมาแล้ว มันก็เกิดตัวกูได้เต็มที่ มีความทุกข์ความร้อนได้เต็มที่ บางทีก็มาจากความจำผิดๆ ถูกๆ หรือความรู้ผิดๆ ถูกๆ หรือความเชื่อ ที่มันเชื่ออยู่อย่างโง่เขลางมงายผิดๆ ถูกๆ คือว่า คน นี้, มันเก่งด้วยความโง่ ที่จะคิด จะเชื่อ จะจำสิ่งต่างๆ มันเก่ง มันก็ทำให้หลอนตัวเอง หลอกตัวเองมากขึ้น วิตกไปเอง สังหรณ์ไปเอง ฝันเอา หรือเห็นลาง หรือได้ยินข่าวลือ หรือแม้แต่ว่าความคิดลางเลือนที่มันจำไว้ผิดๆ ถูกๆ หรือมันสันนิษฐาน มันคาดคะเน มันหวั่นใจ ที่มันจะหวั่นอยู่ตลอดเวลา มันก็หวั่นอยู่ว่าแผนการนี้คงหมด คงล้มเหลวหมด สิ่งที่เราวางไว้มันคงจะล้มเหลวหมด กระทั่งว่ามันน้อยใจคนนั้นคนนี้อยู่ น้อยใจของคนโง่ น้อยใจว่าอะไรๆ มันช่างไม่เป็นไปตามที่เราต้องการเสียเลย ฉะนั้นในความน้อยใจนั้น ดูเถิด แม้มันจะเป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ เป็นเรื่องเด็กเล่นก็ตามเถิด แต่มันก็มีตัวกูของกูอยู่ในนั้นเต็มที่ ทำให้เป็นทุกข์ได้เต็มที่เหมือนกัน
นี่ผมพูดมาแต่เพียงตัวอย่าง ไม่ใช่มันเท่านี้นะ มันมากกว่านี้นะ แต่เพียงตัวอย่างที่จะเอาไปเป็นวิธีทดสอบ เพื่อจะค้นหาหรือจับตัวกูให้ได้ และจะสังเกตุเห็นได้ว่า แม้แต่เรื่องของธรรมชาติที่มันเป็นไปตามธรรมชาติ มันก็ยัง, อาจเอามาเป็นเรื่องน้อยใจของ ของ ของตน ว่าธรรมชาติมันไม่เข้าด้วยเสียเลย หรือแม้แต่ว่า ร่างกายของเรานี้ มันไม่เข้าด้วย ไม่ช่วยเอาซะเลย ร่างกายของเรานี้ มันเป็นไปไม่ตรงตามความประสงค์ มันขัดคอ เดี๋ยวเจ็บตรงนั้น เดี๋ยวเจ็บตรงนี้ เดี๋ยวตรงนั้นตรงนี้ มันพิกลพิการ ไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ มันก็น้อยใจได้ แม้แต่ว่าร่างกายตัวเอง มันไม่เป็นไปตามที่ตัวเองประสงค์
ลงความว่าอะไรก็ได้ แม้แต่จุดแต่ที่เป็นตามธรรมชาติมันก็น้อยใจได้ มันเป็นอารมณ์ทางใจได้ ก็เกิดปัญหา เกิดอุปาทาน เกิดตัวกูได้ทั้งนั้น
ให้ช่วยจำไว้สักอย่างเถิดว่า ถ้ามันไม่เกิดความหมายแห่งตัวกู แล้วมันเป็นทุกข์ไม่ได้ ความหวั่นใจ ความน้อยใจ ความอะไรก็ตาม ถ้ามันไม่เกิดเป็นความหมายแห่งตัวกูขึ้นมา แล้วมันเป็นทุกข์ไม่ได้
ฉะนั้น เรื่องนิดเดียว มันก็ให้เกิดความหมายเป็นตัวกู ของกู ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน แล้วเราก็เป็นทุกข์ นี่ถึงจะ, ถึง, เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุด ที่ต้องรู้จักตัวกูกันเสียก่อนนะ จึงจะเรียนธรรมะได้ เป็นสิ่งที่จำเป็นก่อน ที่จะต้องรู้จักกันเสียก่อน แล้วจะเข้าใจธรรมะ เรื่องทุกข์ เรื่องดับทุกข์ เดี๋ยวนี้เราพูดกัน เทศน์กัน ปาฐกถากัน แล้วก็ฟังกันตั้งมากมาย หลายเดือนหลายปี มันก็มากมาย เสร็จแล้วมันก็ไม่เข้าถึงธรรมะ คือไม่มองเห็นธรรมะ ที่เป็นเรื่องทุกข์ หรือเป็นเรื่องดับทุกข์ เพราะว่าคนนั้นมันไม่มองเห็นไอ้ตัวกู ไม่ ไม่ ไม่รู้จัก ไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวกู มันก็เข้าใจเรื่องความทุกข์ไม่ได้ มันก็เข้าใจข้อความเหล่านั้นไม่ได้ มันก็ดับทุกข์ไม่ได้
อย่างพูดว่า เราต้องรู้จัก ไอ้ตัวทุกข์ กันเสียก่อน เมื่อ เมื่อ ใน ใน ในกรณีนี้ เขาบอกว่าไอ้ตัวทุกข์มันอยู่ที่ตัวกู เกิดความรู้สึกว่าตัวกูเมื่อไร มีความทุกข์เมื่อนั้น จนพูดได้ว่า ไอ้ตัวทุกข์ กับ ตัวกู นั้นมันเป็นอย่างเดียวกัน
ฉะนั้น เราจะต้องรู้จัก ตัวทุกข์ หรือ ตัวกู กันเสียก่อน แล้วเราก็จะศึกษาวิธีดับทุกข์ วิธีขจัดตัวกู ป้องกันตัวกูอะไรได้แน่นอน ทีนี้เมื่อเราไม่รู้จักตัวกู เราจะไปศึกษาเรื่องดับตัวกู มันก็บ้าเท่านั้นสิ คือ ความที่เราไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษาธรรมะ เพราะว่า เราไม่รู้จักไอ้เรื่องของสิ่งที่เป็นจุดตั้งต้น
คือ เรื่องความทุกข์ก็ดี
เรื่องตัวกูก็ดี
เรื่องอุปทานก็ดี
ซึ่งมันเป็นเรื่องเดียวกัน นี่คือ ความยากลำบากที่จะเข้าใจธรรมะ ยิ่งจะไปสอนให้พวกฝรั่งฟัง เข้าใจเรื่องนี้ จะยิ่งยากมากขึ้นไปอีก เพราะมีความคิดอย่างอื่น มีแนวศึกษาอย่างอื่น ยากที่จะเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง ในขณะที่มองเห็นเรื่องตัวกูทุกๆ ชนิด อย่างที่ยกตัวอย่างมา
ผมขอสรุปความว่า ถ้าไม่รู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวกูแล้ว ไม่มีทางที่จะศึกษาธรรมะให้สำเร็จประโยชน์ได้
ไม่รู้จักตัวกู ให้รู้พระไตรปิฎก สักสิบปิฎก สิบไตรปิฎก ก็ไม่มีประโยชน์อะไร อย่าว่าพระไตรปิฎกเดียว ให้พระไตรปิฎกอีกสักสิบเท่าก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าคนนั้นมันไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ตัวกู
มันซับซ้อน มันซ่อนเงื่อน มันจะสอนผู้อื่นให้ละตัวกู อาจารย์คนนั้นน่ะ มันมุ่งหมายจะสอนคนอื่นให้ละตัวกู แต่มันก็มีตัวกูแห่งผู้สอน คิดดูเถิด ตัวผู้สอนน่ะ มันมีตัวกูเป็นผู้สอนตัวกู จะสอนให้เอาเกียรติเป็นผู้รู้ เป็นผู้สอนตัวกู มีเกียรติแห่งความเป็นผู้สอน แล้วก็สอนให้ละตัวกู ระวัง อาจารย์ชนิดนี้มีมาก อาจารย์ชนิดนี้มีมาก อาจารย์ชนิดที่สอนให้ผู้อื่นละตัวกู แต่อาจารย์เองนะมีตัวกูเขาโง้งยาวตั้งวาเลย มันมีตัวกูที่จะเป็นผู้สอน กูจะมีเกียรติในฐานะเป็นผู้สอน กำลังจัดการ การสอน ดำเนินการสอนให้ผู้อื่นละตัวกู โดยที่ผู้สอนนั้น ก็มีตัวกูขนาดเขาโง้งเลยทีเดียว
เอาล่ะ พอกันทีสำหรับวันนี้ เวลาเลยไปนิดหน่อยแล้ว ว่าจงรู้จักสิ่งที่เรียกว่าตัวกูกันเสียก่อนเถิด เป็นเรื่องแรกที่จะต้องรู้จัก รู้จักตัวกูกันเสียก่อนเถิด มันก็ไปคอยเฝ้าระวังจิต เมื่อไรจิตเปลี่ยนไปนิดหนึ่งเท่านั้น ก็ให้รู้ทันที อย่างในตัวอย่างว่า เมื่อยังไม่เห็นบุรุษไปรษณีย์เดินเข้ามาในบ้านเรา เราก็มีจิตอย่างหนึ่ง พอเห็นสักว่าบุรุษไปรษณีย์เดินเข้ามาในบ้านเรา จิตมันเปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่ง ไปจับให้ดี จึงจะพบตัวกู ไม่ใช่ ไม่ใช่ยากเกินไป ไม่ใช่ลึกเกินไป แต่เพราะว่าไม่สังเกตุ ไม่กำหนดให้ละเอียดละออ มันก็มองไม่เห็น
ฉะนั้น ใครจิตปกติสม่ำเสมออยู่ได้ คนนั้นก็เก่งแหละ คือเป็นพระอริยเจ้าไปแล้ว เห็นบุรุษเดินเข้ามาในบ้าน นั้นก็ จิตใจก็ยังเหมือนเดิม ถึงจ่าหน้าซองถึงเรา จิตใจก็ยังเหมือนเดิม เป็นลายมือคนนั้น คนที่ต้องการจะรับข่าว จิตใจก็ยังเหมือนเดิม ฉีกซองออกดูมีเรื่องอะไรต่างๆ จิตใจก็ยังเหมือนเดิม อย่างนั้นใช้ได้ เขาไม่ได้เกิดตัวกู นี่เป็นตัวอย่าง
เอ้า, ขอยุติการบรรยายวันนี้