แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ อย่าได้รู้สึกประหลาดใจ ที่ผมจะได้พูดถึงเรื่อง อัตตวาทุปาทาน อีกครั้งหนึ่ง ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน ชัดเจน แจ่มแจ้ง ยิ่งขึ้นกว่าที่แล้วมา จะพูดถึงธรรมชาติ หรือธาตุแท้ ของ อัตตวาทุปาทาน เพราะว่าเท่าที่ได้ศึกษามาทั้งหมดทั้งสิ้น ทุกเรื่องมันมารวมอยู่ที่นี่ อะไร อะไร ก็มามีจุดรวม อยู่ที่สิ่งที่เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน
เหมือนที่พวกฝรั่ง เขาพูดว่า ถนนทุกสายไปรวมจุดที่กรุงโรม หลับตามองเห็นภาพอย่างนั้น ก็คือ ทุกเรื่องมันเนื่องด้วย อัตตวาทุปาทาน แล้วก็ไม่ค่อยได้สอนกัน ไม่ได้เอามาพูดกัน เอาไว้พูดเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องทีหลังสุดของทั้งหมด โดยมากเป็นอย่างนั้น แล้วก็พูดกันอย่างที่ว่า ไม่ชัดเจน ไม่เจาะจงลงไป ที่ว่า ไอ้ตัวเรื่องที่แท้จริงมันรวมจุดที่นั่น เขาเอาเรื่องนี้ไปพูด คล้ายๆกับว่า มันเป็น ส่วนหนึ่ง ส่วนน้อย ส่วนหนึ่ง แขนงหนึ่งอะไร ของเรื่องทั้งหมด ไม่ได้พูดให้มองเห็นชัดว่า มันเป็นจุดศูนย์รวม อะไรๆ มันวิ่งไปรวมที่นั่น แม้ว่าอาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นเรื่อง ก ข ก กา ของธรรมะ มันก็เป็นเรื่องสำคัญ เป็นจุดร่วมของ ก ข ก กา นั่นอีกทีหนึ่ง
ผมสังเกตุดู เห็นว่าพวกที่ไม่รู้ธรรมะเพียงพอ จะใช้เป็นประโยชน์ได้ หรือจะไปอธิบายให้คนอื่นฟังได้ ก็เพราะขาดความรู้อันชัดเจนในเรื่องนี้ เราจะพูดถึง ก ข ก กา ของธรรมะ โดยเปรียบเทียบกับที่เราเรียน ก ข ก กา ของหนังสือ มันเรียน ก ข ก กา แล้วมันก็แตกลูก อะ อา, อะ อา อิ อี อย่างนี้ จนหมด จนจบ แล้วมันก็ผันไปได้ต่างๆ จนว่ามันจะสะกดตัวให้เป็นมาตรา กก มาตรา กัง กัง กง เกย อะไรก็ตามนะ มันก็ไม่พ้นไปจากไอ้ฐานที่ตั้งของมันก็คือ ก ข ค ฅ ง
สำหรับ อัตตวาทุปาทาน นั้นไม่ใช่ตัว ก หรอก แต่มันก็อยู่ในเครือนั้นแหละ ก ข ค ฅ ง กะ กา กิ กี กะ กา กิ กี ที่มันแตกลูกออกไปได้แล้ว มันก็ไม่หลีกออกไปได้จาก ก ข ค ฅ ง เมื่อรูปเป็นอะไรๆ มันก็ไม่พ้นไปจาก พยัญชนะ ก ข ค ฅ ง ไม่พ้นไปจาก สระ อะ อา อิ อี
ที่อยากจะให้ทราบ และเข้าใจเป็นข้อแรก ก็คือว่า มันเป็นตัว ก ของธรรมชาติ จะเรียกว่าของ สัญชาตญาน ก็ได้ ถ้าเราไปอ่านเรื่อง จิตวิทยา ที่เกี่ยวกับชีวะ มันจะพบว่า สัญชาตญานอันหนึ่ง ซึ่งนำหน้า สัญชาตญานอื่นๆ ก็คือ สัญชาตญานของการรู้สึกว่า มีตัว, ตัวฉัน ตัวตน มีตัวฉัน คือสัญชาตญานแห่งการที่จะ มีอยู่แห่งตัวฉัน จะคงมีอยู่แห่งตัวฉัน ในสัญชาตญานอันนี้ มันก็เป็นตัวสำคัญที่ให้จะมีชีวิตอยู่ ถ้ามันไม่มีสัญชาตญานอันนี้ ชีวิตมีไม่ได้หรอก มันไม่มีอะไรต่อสู้ ต่อต้าน เพื่อมีชีวิตอยู่ นี่มันเป็นสัญชาตญานอันที่ว่า ทำให้มันมีชีวิตต่อต้าน เพื่อมีชีวิต เพื่อป้องกันชีวิต เพื่อจะรักษาไว้ซึ่งชีวิต ถึงเขาก็, ซึ่งเขาก็เรียกว่า ตัวตนเหมือนกัน
คือว่า จากสัญชาตญานอันนี้ มันทำให้เกิดความรู้สึกว่า เอโก้ อีโก้ อีโก้ ซึ่งความหมาย มันก็เท่ากับว่า คำว่า ตัวตน ในภาษาไทย หรือว่า อัตตา อาตมัน ในภาษาบาลี สันสกฤต
ถ้ามันไม่มีความรู้สึกของสัญชาตญานอันนี้ มันก็ไม่รักษา, มันก็ไม่, ไม่พยายามเพื่อจะคงไว้ซึ่งชีวิต รักษาชีวิต ถนอมชีวิต นี้มันเป็นเรื่องอย่างนี้ แต่แล้วทำไมเล่า ที่มันมากลายเป็นศัตรูขึ้นมา คือ เป็นปัญหาขึ้นมา ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะมีความยึดถือว่า ตัวตน นี่, จึงมีความทุกข์ ทั้งที่ ตัวตน ตัวตนนี้ มันเป็นสัญชาตญาณของธรรมชาติ ที่ทำให้สิ่งที่มีชีวิต ถนอมชีวิตไว้ ให้รอดชีวิตอยู่ได้
สัญชาตญานอื่นๆ มันจะขึ้นอยู่กับสัญชาตญานตัวตนนี้แหละ เช่น
สัญชาตญานแสวงหาอาหาร มันก็เพื่อตัวตนอยู่ได้
สัญชาตญานแห่งการต่อสู้ ต่อสู้เพื่อตัวตนอยู่ได้ หรือว่า
สัญชาตญานของการสืบพันธ์ ก็เพื่อว่าตัวตนจะได้ไม่หายไป
สัญชาตญานอะไรๆก็ตาม มันเพื่อคงไว้ซึ่งตัวตน สัญชาตญานแห่งการสะสมแสวงหา สัญชาตญานแห่งการคุมพวก อยู่กันเป็นพวก ไปพิจารณาดูเถิด กี่สัญชาตญาน มันจะมีมาได้ มันก็ล้วนแต่เพื่อสัญชาตญานแห่งตัวตน ให้ตัวฉันยังคงอยู่
มันจึงเป็นที่รวมแห่งตัณหา ถ้าว่าไอ้สัญชาตญานนี้มัน, มันหมด อย่างอื่นมันก็หมด นี้, สัญชาตญานอันนี้ มัน, มัน, มันมีประโยชน์ เป็นตัวชีวิต แล้วทำไมมันกลายเป็นตัวความทุกข์ขึ้นมา เพราะว่า มันยึดถือด้วยอวิชชา มันเข้าไปจับฉวย เกี่ยวข้อง ซึ่งสัญชาตญานอันนี้ชนิดที่ไม่, ไม่พอเหมาะพอดี ตามที่ธรรมชาติควรจะมี มันก็ทำมากไป ด้วยอำนาจของอวิชชา ตัวชีวิตมันก็กลายเป็นพิษ, เป็นพิษขึ้นมา
ตัวชีวิตนั่นเองเข้าไปหมายมั่น ไปยึดถือเข้า มันก็กลายเป็นของหนัก จำ, จำ, จำคำที่เป็นหลักไว้ คำหนึ่งว่า ไม่ว่าอะไร ถ้าไปยึดถือเข้าแล้ว มันก็กลายเป็นของหนัก
ไม่ว่า ฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว ฝ่ายบุญ ฝ่ายบาป ฝ่ายสุข แม้แต่ฝ่ายสุข แม้แต่ตัวความสุขนั้น พอเข้าไปยึดถือ ก็, ก็จะกลายเป็นของหนัก
ทีนี้ไอ้ตัวตน, ตัวตน นี่, มันก็เกิดมาจากความยึดถือในความรู้สึกอันนี้ ตามธรรมชาติแท้ๆ มันไม่มากจนถึงกับว่าเป็นของหนัก ชนิดที่ว่ามันจะกัดเจ้าของ แต่ถ้าอวิชชามันเข้าไปช่วย ทำให้มันเห็นผิด ถึงโง่ หนักเข้า มันก็ยึด เกินจำเป็น เกินพอดี ก็มีความทุกข์ขึ้นมา
ถ้าเราถือตามหลักพุทธศาสนา เราจะมีหลักขึ้นมาว่า ไอ้จิตเดิมแท้ๆ น่ะ มันไม่ได้ยึดถือ ที่ว่าจิตเดิมแท้ๆ จิตประภัสสร ก่อนแต่ที่จะรู้สึก นั่น นี่ ขึ้นมานั้น มันไม่มีความยึดถือ มันมีธรรมชาติ สักว่า คงอยู่ เป็นตัว ความรู้สึก คือไม่ตาย นี่, จิต จิตเดิม จิตแท้ๆ จิตไม่มีอะไร มันกลายเป็นที่ตั้งแห่งสัญชาตญาน ของความยึดถือว่าตัวตนขึ้นมา
หรือจะพูดอีกอย่าง ก็พูดว่า อวิชชา, อวิชชาในแง่นี้ มัน, มัน, มันร้ายแรงกว่าอวิชชาในแง่อื่น อวิชชาในข้อที่ว่า เป็นตัวตน อวิชชาครอบงำจิตที่ไม่มีความหมายอะไร ให้เกิดมีความหมายในตัวเอง ว่าเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา แต่มันไม่ใช่ตัวตนล้วนๆ มันพร้อมกันกับไอ้ความรู้สึกที่เป็นกิเลสอย่างอื่นด้วย เช่น ตัวตนแห่งความโลภ ตัวตนแห่งความโกรธ ตัวตนแห่งความหลง อะไรก็ตาม มันปรุงพร้อมกันขึ้นมา เราจึงมีจิตชนิดที่เป็นตัวตนสำเร็จรูป ตัวตนแห่งความโลภก็โลภอยู่ โกรธก็โกรธอยู่ หลงก็หลงอยู่ นี่เรียกว่า ส่วนจิต มันก็เป็นอย่างนี้
ทีนี้ ส่วนกาย มันก็แปลกเหมือนกัน มันต้องการอะไรตามแบบของกาย ซึ่งจะต้องหล่อเลี้ยงไว้ เพื่อ, เพื่อให้เป็นกายที่มันมีชีวิต และก็เป็นที่ตั้งของจิต ทำงานพร้อมกัน ทำงานด้วยกัน จึงเรียกว่า ตัวตนเต็มที่
รู้ไว้สักอย่างหนึ่งว่า ในภาษาบาลีนั้น ไอ้ กาย กับ ใจ นั้น เขาไม่ได้แยกเป็นสอง, เป็นสองอย่าง จะแยกสำหรับพูด, พูด กาย กับ ใจ แยกได้เมื่อ, เมื่อมีการพูด แต่ว่าธรรมชาติโดยแท้จริงของมัน หรือว่าทำหน้าที่ของมัน มันไม่แยก เพราะถ้ามันแยก มันทำไม่ได้นี่ มันทำไม่ได้เลย กายก็ทำหน้าที่อะไรไม่ได้ จิตก็ทำหน้าที่อะไรไม่ได้ ถ้ามัน, มันแยกไปเสียจากกาย
ธรรมชาติมันสร้างมา ให้รวมกันอย่างสนิท มันจึงเกิดความรู้สึกได้ ความรู้สึกชนิดที่ว่า เป็นตัวฉัน แล้วจะเห็นแก่ตัวฉัน ข้อนี้แยกออกยาก แยกกันยากมาก
ความรู้สึกว่า ตัวฉัน
กับ
ความรู้สึกว่า เห็นแก่ตัวฉัน คล้ายๆกับแยกออกจากกันไม่ได้
ไอ้ความรู้สึกว่า ตัวฉัน มันเกิดง่ายที่สุด เกิดง่ายที่สุด เพราะเหตุนี้ และเกิดแล้ว ก็ขยายตัวได้มากที่สุด เพราะมันมีไอ้, ไอ้ธรรมชาติ ที่มัน, มันต้องการ หรือมันเสวยสิ่งที่ได้ เช่นธรรมชาติที่เป็นเวทนา เสวยในสิ่งที่เข้ามาหรือหามาได้ จะหล่อเลี้ยงไอ้ตัวตนนั้นน่ะอีก ให้ยิ่งๆขึ้นไปอีก
นี้, ถ้าว่าเป็นเรื่องของอวิชชาตามธรรมชาติ แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ ให้เกิดความรู้สึกว่า ตัวตน ขยายออกไปเป็น ของตน จนชิน เป็นนิสัย ชินเป็นนิสัย คือเป็นตัวธรรมชาติไปเสียเลย ที่เรียก, ที่เรียกยาวเฟื้อยในบาลี ว่าอหังการ มมังการ มานานุสัย คือ อัตตวาทุปาทาน ที่เคยชิน เป็นนิสัย ถ้าตัดได้ ก็เป็นพระอรหันต์ คือกลับไปสู่สภาพที่บริสุทธิ์อันถาวร ไม่มีกิเลสอะไรได้อีกต่อไป
ผมสำรวจดูในบาลีรู้สึกว่า อันนี้ท่าน, ท่านเล็งว่า เห็นว่ามันเป็นพื้นฐานของชีวิตสัตว์ธรรมดาสามัญ คือ ปุถุชนมีความเคยชินที่จะสำคัญมั่นหมายว่า ตัวฉัน หรือของฉัน
อหังการ ทำความรู้สึกว่า ตัวฉัน
มมังการ ทำความรู้สึกว่า ของฉัน
มานะ แปลว่า สำคัญมั่นหมาย
อนุสัย แปลว่า ความเคยชิน
ความเคยชินที่สะสมไว้ ของไอ้ความสำคัญมั่นหมาย ว่าตัวฉัน ว่าของฉัน นี่, คือตัวไอ้ศูนย์กลาง ของสิ่งที่มันมีชีวิต หมายความว่า มันไม่, ไม่, ไม่, ไม่ได้เท่าเดิม มันเพิ่ม หมายความว่า เคยชิน, เคยชิน นี่คือ มีมาก เพิ่ม เพิ่ม เพิ่ม เพิ่ม เพิ่ม เรียกว่า ความเคยชิน
จนกว่าจะมาอยู่ในระดับเรา เรา ธรรมดาสามัญอย่างนี้ มันแน่นแฟ้นนะ มันแน่นแฟ้นที่สุด ที่จะรู้สึก ว่าตัวฉัน ว่าของฉัน แน่นแฟ้นที่สุด มันก็เลยเป็นที่ตั้งของการปรุงแต่งทั้งหลาย เพื่อ, เพื่อตัวฉัน เพื่อของฉัน ได้แก่ความรู้สึกที่เป็นกิเลส เช่น
ความโลภ นี่, มันก็เพื่อจะได้มาเป็นของฉัน ตัวฉันจะได้มาเป็นของฉัน เขาเรียกว่า ความโลภ
เมื่อมันไม่ได้ หรือ มันขัดขวาง หรือ อะไรมาขัดขวาง มันก็โกรธ ตัวฉันมันก็โกรธ เพราะว่ามาขัดขวางการได้เป็นของฉัน มันก็โกรธ
ส่วนโมหะ มันหลงได้ ร้อยแปดอย่าง ก็เพื่อประโยชน์แก่ตัวฉัน และของฉัน เหมือนกัน
ทีนี้ ไอ้ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่มันคลอดลูก คลอดลูกออกไปได้มากมายหลายระดับ หลายขนาด หลายชนิด เป็นกิเลส เรียกชื่อต่างๆกัน ความโกรธก็เหมือนกัน ความหลงก็เหมือนกัน
ฉะนั้น ชื่อกิเลส ชื่อของกิเลส มันจะมีกี่สิบกี่ร้อยชื่อ มันมารวมอยู่ในสามชื่อนี้ทั้งนั้นแหละ มันเป็นไอ้ความหมายรวม เป็น
ความโลภ จะเอาเข้ามา
ความโกรธ จะดีดออกไป
ความหลง จะวนอยู่รอบๆ
ถ้าใครอยากจะรู้ว่ากิเลสชื่อไหน จะสงเคราะห์เข้าในหมวดไหน ก็ดูว่า
ถ้ามีลักษณะดึงเข้ามาหาตัว มันก็เป็นพวกความโลภ
มีลักษณะที่จะผลักออกไป หรือตีให้ตายเสีย มันก็เป็นความโกรธ
วิ่งวนอยู่รอบๆ มันก็เป็นความหลง
แต่ในที่สุด มันก็ของตัวตน มีความหมายแห่งตัวตน อยู่เป็นศูนย์กลาง จึงทำให้โลภ จึงทำให้โกรธ จึงทำให้หลง
เรื่องจิตตามธรรมชาติ มีลักษณะเปิดโอกาสให้แก่สัญชาตญานแห่งความมีตัวตนอย่างนี้ มันก็รุนแรงยิ่งขึ้นทุกที ยิ่งขึ้นทุกที ไอ้วิชาจิตวิทยาในพุทธศาสนา ท่านไม่ได้ทำไว้ ในรูปแบบที่จะให้เข้าใจเรื่องอย่างนี้ ท่านไปแจกเฟ้อไปในทางอื่น เราจึงอธิบายยาก จะไปแจกโลภะ โทสะ โมหะ มากมายหลายสิบหลายร้อยอย่าง ก็ไม่ชัดเจนตรงที่ว่า มันมีรวมอยู่ที่ อัตตวาทุปาทาน ที่เราจะทำลายมันให้ได้อย่างไร ไปมัวสู้รบ กับ โลภะ โทสะ โมหะ และลูกสมุนของมัน หรือที่มันแจก แยกออกไปจากไอ้โลภะ โทสะ มามากมาย มันก็เป็นปลายเหตุ และมันก็มากมาย
ถ้ามันกำจัดลง ตรงไปที่ตัวศูนย์กลาง คือ ตัวตน ตัวตน มันก็หมด เพราะฉะนั้น มันก็เหมือนกับ ไปรบกับบริวาร บริวารของมันซึ่งมากมาย ไม่ได้ฆ่าหัวหน้าของมันโดยตรง
ขอให้ทุกคนศึกษาเรื่องนี้โดยตรง จากภายในใจ ภายในใจของตัวเอง ไม่ใช่จากหนังสือ หรือจากคำอธิบายของผู้พูด ต้องจับให้ได้ ไอ้ตัวตน มันเป็นความรู้สึกเกิดขึ้นมาในใจ เมื่อไร อย่างไร เท่าไร ให้ได้ไว้เสมอ
ผมเห็นว่า เป็นวิธีที่ลัดสั้นที่สุด ที่จะปฎิบัติธรรมะ เพื่อดับทุกข์ หมด, หมดกิเลส ไอ้ความคิดของเรา มันจะคิดไปในทางนี้ เพราะว่าไอ้เวทนาที่มันเกิดขึ้นเป็นประจำวันนั้น มันส่งเสริมให้คิดอย่างนี้ ความสำ, สำคัญมั่นหมายที่เรียกว่า สัญญา มันก็เป็นทุนสำรองที่จะคิดอย่างนี้
แปลว่า มันมีอะไรมาก ที่แวดล้อมให้คิดอย่างว่า มีตัวตน อยากจะมีตัวตน ความคิดมันจึงผุดขึ้นมาโดยง่าย สำหรับ เป็นตัวตน มีตัวตน มีกิเลสมาด้วยเสร็จ ประเภทโลภะ ประเภทโทสะ ประเภทโมหะ ขึ้นมาพร้อมกันเลย กับความรู้สึกว่าตัวตนในจิต มันไม่ใช่ตัวตนเกลี้ยงๆ ไม่มีอะไร มันมีตัวตนที่มีความหมายเป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้าง ขึ้นมา พร้อมกับการเกิดแห่งจิต
การเกิดแห่งจิต เรียกว่า จิตตุปบาท แปลว่า การเกิดแห่งจิต มันไม่ใช่จิตล้วนๆ มันเป็นจิตที่มีตัวตน มีกิเลสมาเสร็จ นี้หมายถึงในกรณีที่มีความทุกข์
ที่เราได้พูดเรื่อง ผัสสะ กันมา จนเป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้วว่า ผัสสะ อวิชชา เป็นอย่างไร ไปทบทวนให้เข้าใจเห็นชัดอยู่เสมอ นั้นน่ะเป็น ก ข ก กา ตัวแรก
ไอ้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้างในนี่พวกหนึ่ง
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ข้างนอกนั้นพวกหนึ่ง
แต่ละอย่างของไอ้สองพวกนี้ พอมาถึงกันเข้า เกิดวิญญานครบทั้งหกทางอีกเหมือนกัน เมื่อสามอย่างนี้ทำงานร่วมกันอยู่ กำลังทำงานร่วมกันอยู่ คือ วิญญานรู้สึกต่อ อายตนะภายนอก โดยทางอายตนะภายใน เขาเรียกว่า ผัสสะ
ทีนี้ ผัสสะ นี่ถ้าว่าไม่มีสติ ไม่มีปัญญา มันก็เป็นโอกาสให้อวิชชาเข้ามาครอบงำหมด นี้, โดยมากคนเกิดมาใน, จากท้องแม่ แล้วมันไม่เอาสติปัญญามาด้วย มันก็เป็นโอกาสที่ว่าอวิชชาจะเข้าควบคุม ครอบงำ ผัสสะ ได้ เป็นธรรมดาไปเสีย
คำนี้ฟังแล้วมันก็น่าหัว เพราะไม่มีความรู้ธรรมะ เรื่องวิมุต มาแต่ในท้องแม่ มันโง่มาแต่ในท้องแม่ จะเรียกว่าโง่ก็ไม่เชิง คือมันไม่มีความรู้อะไรเลย มาจากท้องแม่ พอออกมาแล้ว ก็มีความเจริญทางอายตนะ ทำหน้าที่ทางอายตนะ มี ผัสสะ
แล้วก็ไม่มีวิชชา ไม่มีปัญญา ไม่มีญานทัศนะ ก็เป็นโอกาสของอวิชชาจะเข้าเป็นผู้เจ้าของ เป็นผู้บัญชาการ เป็นเจ้าของเรื่อง มันก็ต้องไปตามอำนาจของอวิชชา คือเป็น ผัสสะ โง่ ผัสสะ อวิชชา ก็เกิดเวทนาออกมา มีลักษณะโง่ มีลักษณะที่ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา อีกเช่นเดียวกัน เรียกเวทนาโง่
เวทนาที่จะให้เกิดตัณหา เมื่อเกิดตัณหา คือ ความอยากอย่างนั้น อย่างนี้ มีแต่เพียงความอยากเกิดขึ้นแก่ใจตามธรรมชาติเท่านั้น มันก็ปรุงเป็นความรู้สึก ว่าตัวตน ว่าของตน ที่เรียกว่า อุปาทาน ขึ้นมา
ตรงนี้ก็น่าหัว ที่ว่า อุปาทาน ไม่ใช่ของจริง ของจังอะไรที่ไหน เป็นการคิดปรุงขึ้นมาในจิต เป็นตัว เป็นตน แต่มันมีอำนาจครอบงำหมด เมื่อมันรู้สึกว่าเป็นตัวตนเสียแล้ว มันก็ไม่มีอะไรที่จะ, จะเหลืออยู่ในทางตรงกันข้าม ฉะนั้นเราจึงมี ตัวตน มีตัวกู มีของกู
ในภาษาที่ธรรมดา ธรรมดา เขาเรียกว่า ตัวกู ของกู
ภาษาสุภาพ ก็ว่า ตัวตน ของตน ตัวเรา ของเรา
ภาษาบาลีว่า อหังการ มมังการ
เป็นคำกลางมีความหมายทั้งอย่างหยาบ อย่างกลางและอย่างละเอียด คำว่า อหังการ มมังการ นี่ แปลว่า ตัวกู ของกู ก็ถูกที่สุดเลย เพราะคำนี้มันใช้ได้ทั้งอย่างหยาบและอย่างละเอียด เช่น อหังการ นี่เราใช้ในภาษาไทย ให้มันเลว, เลวร้ายที่สุด ก็ อหังการ
เพราะมันมีการปรุงแต่ง ว่าเป็นตัวตนขึ้นมาอย่างนี้แล้ว มันก็ต้องจับฉวยเอาทุกอย่างที่มาเกี่ยวข้องด้วย โดยความเป็นของตน หรือว่าเอาตัวมันเองเป็นของตน เอาชีวิตเป็นของตน เอาร่างกายเป็นของตน และอะไร อะไรที่มันเกี่ยวข้องกับชีวิตกับร่างกายเข้ามาเป็นของตน
ของตน มันก็มากเต็มไปหมด และตั้งต้นที่ไอ้ความอร่อย พอมีความอร่อยในสิ่งใด ความคิดที่จะถือเป็นของตน ก็มีในสิ่งนั้นเอง อัตโนมัติเลย ตามธรรมชาติ
ทีนี้ มันไม่อร่อย มันก็ตรงกันข้าม ถ้ามันไม่อร่อยมันตรงกันข้าม มันก็มีความหมายเป็นของตน ชนิดที่ไม่เป็นที่พอใจ หรือเป็นข้าศึก เป็นคู่ปรปักษ์ไป มันกลายเป็นข้าศึกของกู อันตรายของกู อุปสรรคของกู ขึ้นมา
มันก็เป็นเรื่องที่ทำให้เป็นทุกข์เหมือนกัน
ที่อร่อย รัก พอใจ ก็เป็นทุกข์แบบหนึ่ง
ที่ไม่อร่อย ไม่รัก ไม่พอใจ ก็เป็นทุกข์ไปอีกแบบหนึ่ง
เพื่อโทสะ ที่อร่อย อร่อย พอใจ ก็เพื่อโลภะ หรือราคะ ที่ไม่อร่อย ไม่ถูกใจ ก็เพื่อโทสะ เพื่อโกรธะ ที่มันยังไม่มีรูปเป็นอร่อย หรือไม่อร่อยชัดลงไป มันก็สงสัย มันก็กังวล มันก็เป็นรูปของโมหะ
สุขเวทนา เพื่อโลภะ
ทุกขเวทนา เพื่อโทสะ
อทุกขมสุขเวทนา เพื่อโมหะ
เรียกว่า ความรู้สึกโดยธรรมชาติ หรือสัญชาตญาน มันถูกหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ มันก็เจริญเติบโต ถ้ามันอยู่ในท้องแม่ มันมีขีดจำกัด ไม่มีทางจะรู้สึกอะไรได้ มันเลยเหมือนกับหยุดอยู่เฉยๆ เหมือนกับเมล็ดพืชที่ยังไม่ได้เพาะ มันไม่งอก ไม่งอก พอมันได้ออกมาจากท้องแม่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ทำงานได้ ก็เคลื่อนไหว ก็คือเหมือนกับว่า มันงอก ทีนี้มันก็เจริญ, เจริญไปตามเรื่อง
ที่จริงมันก็ไม่มี เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องสุข เรื่องทุกข์ หรอก ไอ้ ตัวธรรมชาติน่ะ มันเป็นของมันอย่างนั้นแหละ แต่ทีนี้ จิต หรือ ระบบประสาท นี้ มันแยกออกว่า ถ้ามันเหลือทน มันเจ็บปวด มันเหลือทน มันก็จัดเป็นฝ่ายทุกข์ ถ้าไม่, ไม่เจ็บปวด สบายดี มันก็จัดเป็นฝ่ายสุข นี่, มัน, มันเกิดขึ้น
ธรรมชาติล้วนๆไม่มีความหมายอะไร ไม่สุข ไม่ทุกข์ เพราะว่าฉันไม่ได้ทำการ สุข หรือ ทุกข์ เป็นธรรมชาติล้วนๆ แต่ถ้ามันมาเนื่องกันกับที่ระบบประสาทนี้แล้ว อย่างไหนมันขบ กัด ให้ระบบประสาทมันเจ็บปวด มันก็เรียก หรือ รู้สึกขึ้นมาเองว่า มันไม่ไหว ไม่ไหว เป็นทุกข์ มีลักษณะเป็นการเสียดแทง เผาลน เสียดแทง ผูกมัด ครอบงำ ทิ่มตำ แล้วแต่จะใช้คำไหนนะ มันเกือบจะครบทุกคำเลย
ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ความทุกข์ น่ะ ไปสังเกตุดูเถิด มันมีความหมาย จะครบหมด ทิ่มแทง เหมือนของแหลม เผาให้ร้อน เหมือนกับเผาไฟ ถูกผูกมัด ให้แน่น เหมือนถูกผูกมัด ถูกครอบงำ เหมือน กับเอาของหนักครอบ ใช้ได้ทุกอย่าง ของคำ มีความหมายว่า ทำอันตราย ให้ไม่อยู่เป็นสุข
นี่ต้องการจะให้มองดูมายังจุดนี้ จุดที่เรียกว่า ยึดมั่น ถือมั่น อุปาทาน อัตตวาทุปาทาน ยึดมั่น ถือมั่น ด้วยวาทะว่าตน คำว่าวาทะ ในที่อย่างนี้ ไม่ใช่คำพูด แต่มันหมือนกับคำพูด ถ้ามันรู้สึกอะไร หรือมันก็เท่ากับรู้สึกว่า, ว่าอย่างไร
อัตตวาทะ นี่, ยึดมั่นด้วยวาทะว่าตน ใครพูด น่ะมันไม่ใช่มีปาก มันไม่ใช่มีลิ้น แต่มันเหมือนกับมีปากหรือมีลิ้น พูดว่าตัวกู ว่าของกู ความยึดมั่น มันมีความหมายว่า เป็นตัวกู ว่าเป็นของกู
นี่, ขอให้รู้จักในสิ่งนี้ มีความสำคัญมากที่เราจะศึกษาพุทธศาสนาให้รู้ได้ ก็ต้องรู้จักสิ่งนี้ และจะรู้ว่าพระพุทธศาสนาต่างจากศาสนาอื่นอย่างไร ก็เพราะพุทธศาสนามีเรื่องนี้ ซึ่งที่อื่นเขาไม่มี เขาไม่พูดเรื่อง อัตตวาทุปาทาน เขาพูดเรื่องอุปาทาน ชื่ออื่น อย่างอื่นซึ่งไม่สำคัญ หรือว่าเราจะไปสอนไอ้พวกฝรั่งที่มันฉลาด มันเรียนอะไรมามากๆ ไอ้เรื่องพุทธศาสนา แล้วก็สอนไม่ได้ ไม่เข้าใจ ก็เพราะเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ทำกันไม่เข้าใจ นั่นเพราะเรียนกันมาอย่างอื่น คืออย่างตรงกันข้าม คืออย่างที่จะต้องมีตัวตน มีตัวตนเป็นปกติ มีตัวตนเป็นธรรมดา ไม่, ไม่อาจจะมองเห็นว่า ไอ้ตัวตนนั้นแหละเป็นตัวปัญหา เป็นตัวให้เกิดความทุกข์
ผมจึงเอามาพูดให้รำคาญ คือพูดไม่รู้จักสิ้นสุด พูดเรื่อง อัตตาวาทุปาทาน นี้ไม่รู้จักสิ้นสุด ทีนี้ มันก็ไม่ใช่เพียงแต่พูดเสียแล้ว แต่ขอร้องให้ไปจับตัวมันให้ได้ ไม่ว่าเวลาไหน เพราะว่าเมื่อเราเป็นพระ เราบวชแล้ว เรามีเวลาเป็นของตัว ก็มีอิสระที่ใช้เวลา ก็คอยระวังเรื่องนี้ว่า มันเกิด อัตตวาทุปาทาน อย่างไร ในอะไร ให้รู้ทันที บางทีมันเป็นป้ายสำนึก เหมือนกับสะอื้นขึ้นมาจากภายใน ไม่รู้เรื่องอะไร มันสะอื้นขึ้นมา เหมือนกับเด็กจะร้องไห้ เป็นความสะอื้น นั่นแหละ อัตตวาทุปาทาน ใต้สำนึก มันห่วง มันวิตกกังวล มันทนทรมานอะไรอยู่ พอได้โอกาส ได้ช่องนิดหนึ่ง มันก็รู้สึกสะอื้นออกมา เหมือนกับเด็กๆมันสะอื้น แต่เรื่องของเด็กๆมัน, มันเป็นสำนึก เรื่องมันเป็นเรื่อง ?????????? (นาทีที่ 38.44)
ทีนี้ของคนที่โตๆแล้ว อย่างนี้ มันอยู่ลึก แต่มันก็มีแรงมากพอที่จะทำให้สะอื้นขึ้นมาเฉยๆ ตื่นนอนขึ้นมามันก็สะอื้น หรือบางทีมันฝันสะอื้น บางทีมันครึ่งหลับครึ่งตื่นมันสะอื้น เพราะมีความทุกข์กดดัน บีบคั้นอยู่ในภายใน ซึ่งก็คือไอ้ตัวนี้แหละ ไม่มีตัวอื่นหรอก แต่มันไม่เต็มสำนึก มันไม่แสดงตัวให้ชัด
แม้อย่างนี้ก็ขอให้, ให้จับไว้ ให้, ให้, ให้รู้จักไว้ ให้จับให้ได้ ให้, ให้รู้จักมันไว้ จะเป็นอุปาทานเต็มสำนึก หรือครึ่งสำนึก หรือใต้สำนึก ไม่ถึงสำนึกก็ตาม มันแสดงอาการออกมาแก่จิตใจ แล้วก็จับตัวมันให้ได้ มันจะง่ายขึ้น ในการที่จะดับทุกข์
มันมีอาการที่เป็นปัญหา หรือว่าสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า ความเคยชิน เขาเรียกกันว่า อนุสัย คำนี้เขาไม่ค่อยแปลกัน ที่เขาแปล เขาก็เรียกว่า กิเลสอันละเอียด นอนอยู่ในสันดาน นอนอยู่ในสันดาน คล้ายๆกับว่า มันมีอยู่ตลอดกาลเที่ยงแท้ ถ้าอย่างนั้นมันไม่ถูกแล้ว มันไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้ได้ มันมีเกิดดับทั้งนั้น นี้, ผมเรียกเสียใหม่ว่า ความเคยชินที่จะเกิด มัน, มันชินมาก ชินมาก ชินมาก มันเคยชินที่จะเกิด มันเกิดง่ายขึ้นทุกที นี่, อนุสัย
คือ เราไม่สนใจกับมัน ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ แล้วเราปล่อยมัน มันก็เคยชินที่จะเกิด จนเป็นนิสัย คนนี้ขี้โกรธ คนนี้ขี้อะไรก็แล้วแต่มัน ก็เกิดออกมารูปนึง จนมีนิสัยอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเอาเรื่องของวิตกทั้งหก ในวิสุทธิมรรคมาใช้ก็ได้ มันมีนิสัย โลภ โกรธ หลง หรือว่า นิสัยคิดนึก นิสัย เอ่อ, นิสัยเครียด นิสัยฟุ้งซ่าน ล้วนแต่มีนิสัยเฉพาะคน คือมันมาก, มากไปในส่วนไหน มันก็มีนิสัยในส่วนนั้น
ที่จริงมันก็มีนิสัยเลวๆครบทั้งนั้น แต่ว่าถ้าอันไหนมันมาก มันมีนิสัยออกหน้า ก็เรียกว่า คนนั้นมันมีนิสัยอย่างนั้น เพราะเขาได้ปล่อยให้ ไอ้กิเลสเกิดขึ้นในแบบนั้น ในรูปนั้น จนชินเป็นนิสัย ออกมาเป็นรูปภายนอก ทางกาย ทางวาจา
อย่างในบาลีมีคำประหลาดอีกคำว่า หุง หุง กะชาติโก หุง หุง กะชาติโก (นาทีที่ 43:05) คือ ชอบตวาดคนอื่น ว่า ฮึ ฮึ ฮิ ฮิ คนบางคนมีสัย ชอบตวาดผู้อื่น ว่า ฮิ ฮิ , ชิ ชิ อะไรก็ตาม ที่บาลีมี คำนี้ในบาลีมี นี้ก็ดูเถิด คนเรา พวกเรา มนุษย์ มันก็มีนิสัยชอบตวาดผู้อื่น ว่า ฮิ ฮิ นี่, ชิ ชิ นี่, ดูหมิ่นผู้อื่นซะมาก มาก, มากคนอยู่เหมือนกัน คือตัวอย่างนิสัย ที่ว่าชอบสะสมไว้ แล้วมันก็ยากที่จะ, จะลดมัน มันก็ให้โทษอย่างยิ่ง พอ, พอ, พอ, พอเข้าหน้าใคร มันก็นึกดูถูกผู้อื่น พอเข้าใกล้ใครมันก็นึกดูถูก ผู้, ผู้, คนนั้นเสียแล้ว ในใจมัน จึงมีนิสัยชนิดที่ ดูหมิ่นผู้อื่น ไอ้ที่จะมีนิสัยยอมแพ้, เอ่อ, ยอมแพ้อยู่ข้างล่างนั้น ไม่ค่อยมี มันจะมีนิสัยอยู่เหนือ ดูหมิ่นผู้อื่น เพราะมันง่ายกว่า คือมันตรงตามลักษณะนิสัยของ อัตตวาทุปาทาน นั้นมากกว่า
เราจึงไม่ค่อยรู้สึกว่า เรามีปมด้อย เราด้อย หรือด้อยกว่า เราจะรู้สึกว่าเราต้องเหนือกว่าไว้เสมอ ทั้งที่เราด้อยกว่า คือเราจะมีปมเด่นเรื่อยไป ตามแบบของ อัตตวาทุปาทาน เพราะว่าเป็นเหตุให้ยอมกันไม่ได้ แม้ถูก, ถูกของเขา แต่เราก็ไม่ยอม
และในที่ประชุม มันก็เถียงกัน จะเอาเป็นเอาตายกันแหละ คือ ไม่ยอม ไม่, ไม่ยอม ถ้ายอมมันเสียเกียรติ รู้สึกว่าเสียเกียรติ สู้เขาไม่ได้ ฉันไม่ยอม ก็เถียงข้างๆคูๆไป นี่, ไอ้โทษของอหังการ มมังการ น่ะ มันเป็นอย่างนี้ ทำให้มนุษย์รักกันไม่ได้ หรือเคารพนับถือกันไม่ได้ หรือที่เรียกว่า ยอมกันไม่ได้
ทีนี้นักจิต, นักจิตวิทยา เขาก็มองเห็นว่าปัญหาใหญ่ คาราคาซังอยู่ในโลกนี้ ในเวลานี้ ก็คือความที่มันยอมกันไม่ได้ มันยอมกันไม่ได้ ถึงมันจะตายแล้ว มันก็ยังไม่ยอมแพ้ มันยอมไม่ได้ และถ้ามันมีกำลัง อยู่ด้วยกันทั้งสองฝ่ายแล้ว มันยอมกันไม่ได้
เช่น ฝ่ายนายทุน กับ กรรมกร ฝ่ายคอมมิวนิสต์ กับ ฝ่ายนายทุน นี่, มันยอมกันไม่ได้ ถึงจะว่าอย่างไร มันก็ยอมกันไม่ได้ มันจะประนีประนอมกันไม่ได้ จะออมชอมกันไม่ได้ เพราะมันมีอันนี้ อหังการ มมังการ มานานุสัย ความยึดถือว่าตัวกู ว่าของกู ทำให้ยอมกันไม่ได้
เขาพูดถึงเรื่องการยอม แต่, แต่, แต่เขาก็ยอมกันไม่ได้ แล้วเขาก็ตกลงกันไม่ได้ เขาก็ต้องคิดเข่นฆ่ากันเรื่อยไป นี้เรียกว่า สูงขึ้นไปจนเป็นปัญหาของโลก เป็นปัญหาระดับโลก มันก็ อัตตวาทุปาทาน ทีนี้ปัญหาระดับบุคคล แต่ละคน นี่ก็ อัตตวาทุปาทาน หรือว่าคนคุมกัน เป็นพรรค เป็นพวก พรรคพวกเล็กๆน้อยๆ มันก็ยอมกันไม่ได้ เพราะ อัตตวาทุปาทาน เราจึงร่วมมือกันไม่ได้ เราจึงอิจฉาริษยากัน ซึ่งเป็นเหตุให้ทำลายโลก ความขัดแย้งมันทำลายโลก เราก็เห็นว่า มันหมดแล้ว ไอ้ความทุกข์ ไอ้สิ่งที่เป็นอุปัทวะ ความทุกข์ทั้งหลาย มันมาจากไอ้ตัวกู ของกู
ผมยกตัวอย่างมา ให้ได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆนั้นน่ะ มันไม่ใช่หมดเท่านั้นน่ะ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล ความอาลัยอาวรณ์ ความเป็นห่วง ความอิจฉาริษยา ความหึง ความหวง ความจองเวร ความอะไรที่มันละเอียด ละเอียด ละเอียด ลงไป กี่สิบอย่าง กี่ร้อยอย่าง นับไม่ไหว มันมาจากตัวกู ของกูนี่ทั้งนั้น
นี่, ทีนี้ก็ เหลือบดูอีกทีหนึ่งว่า โอ้, อันนี้ที่แท้มันเป็นที่ตั้งของชีวิต เป็นฐานที่ตั้งของชีวิต ทำให้ชีวิตมีอยู่ได้ เป็นสัญชาตญานโดยไม่ต้องเจตนา ทำไมมันมากลายเป็นพิษร้าย เป็นศัตรูขึ้นมา มันก็เพราะว่ามันเจริญ มันเจริญจนเลย, เลย, เลยเถิด มันเห็นแก่ตนจนเลยเถิด มันไม่เห็นแก่ตนชนิดที่พอมีชีวิตอยู่ได้ หรือจะว่าพระเจ้าแกล้ง หรือธรรมชาติแกล้ง ก็ไม่รู้ คือแกล้งให้มันมีลักษณะอย่างนี้ มันจะมีแต่พอดีพอสมควร สำหรับปกติไม่ได้ แต่มันให้ขยาย ใหญ่โต เรื่อยไป เหมือนกับว่าต้นไม้ เมล็ดพืช เพาะแล้วมันก็งอก งอกเป็นต้นใหญ่โต
เดี๋ยวนี้เราทุกคน มันก็อยู่ในระยะที่ว่า ไอ้เมล็ดพืชแห่งตัวตน ถูกเพาะงอกขึ้นมา และขยาย เติบโต เหมือนต้นไม้ ที่มันเติบโต ในการ, ด้วยความเจริญของต้นไม้แห่งอวิชชา ต้นไม้แห่งตัณหา ต้นไม้แห่งอุปาทาน เดี๋ยวนี้มันปลูก ฝัง รดน้ำพรวนดิน กันในนั้นเอง ใน, ใน, ในวิถีจิต ในกระแสการปรุงแต่งของจิต
นี้คือธรรมชาติ ธรรมชาติ มันไม่มีอะไรมากหรอก ธรรมชาติของสิ่งนี้เป็นอย่างนี้ แล้วก็เป็นตัวมันเอง ที่มันจะต้องรู้จักตัวมันเอง และก็จะควบคุมตัวมันเอง มันก็เลยยาก
วันก่อนเราเคยพูดกันมาทีหนึ่งแล้วว่า มันมีจิตดวงเดียวเท่านั้นที่มันทำ, ทำงานทุกอย่าง และจิตที่มันควบคุมไว้ไม่ได้ มันขยายตัวไปในทางที่, ปรุงแต่ง ปรุงแต่ง แต่เรื่องความทุกข์ แล้วก็ไม่มีใครที่ไหนมาช่วย มาดู มาแล มันต้องช่วยตัวเอง เขาว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ขอให้ขยายเนื้อความให้สูงขึ้นมาถึงข้อนี้ อย่าเพียงแต่ทำนาทำไร่หากินด้วยตนเอง ก็ช่วยตนเอง ไม่เท่าไรหรอก มันเรื่องตื้นๆ
ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน คือจิตนี้ มันทำผิด ทำถูก อะไรก็ตาม มันรับผิดชอบของมัน และมันต้องช่วยตัวเองในส่วนที่มันทำผิด จิตจะต้องช่วยจิตเอง มัน, มัน, มันน่า น่าอัศจรรย์ที่ว่าจะให้คน คนเดียวนั้น เป็นทั้งผู้ช่วย ผู้ถูกช่วย ผู้รู้สึก ผู้แก้ไข และเป็นคนเดียวไป, ไปได้
ข้อนี้วันก่อนเราพูดกันแล้วนะ ว่าไอ้การสัมผัสอยู่ตลอดเวลา ให้เกิดความสุข ความทุกข์อย่างไร ก็ทำให้ค่อยฉลาดขึ้น แต่จิตก็มันเอียงไปในทางที่จะไม่ค่อยเป็นทุกข์ และมันก็นึกขึ้นมาได้ จะเกลียดหรือกลัวความทุกข์ คือว่าจิตมันก็เปลี่ยน, เปลี่ยนฉาก บทบาทของมันเอง มันโง่และเป็นทุกข์ทนทรมานมานานพอแล้ว มันก็เปลี่ยนมาได้เอง แต่เปลี่ยนได้ช้าหรือเปลี่ยนได้เร็ว มันก็อยู่ที่ว่า มันได้ผ่านมาอย่างน่าเข็ดหลาบ สักกี่มากน้อย
อย่าเพิ่งท้อใจว่า จิตมันจะช่วยจิตเองได้อย่างไร มันก็มีธรรมชาติที่จะช่วยตัวมันเองได้ ไม่อย่างนั้นมันก็จะหลุดพ้นออกมาเป็นพระอรหันต์ไม่ได้หรอก และก็มองเห็นชัดอยู่ ไม่ได้มีคนที่สองอะไรที่ไหนมาเกี่ยวข้อง จิตเองจะต้องปรับปรุงตัวเอง เปลี่ยนแปลงของตัวเอง ให้มีธรรมะฝ่ายดับทุกข์เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น แล้วมันก็ออกมาได้ หลุดพ้นมาบรรลุพระอรหันต์ได้ โดยตัวมันเอง นี่, ตนเองเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง มันลึกมาถึงนี่ ไม่ใช่เรื่อง, ไม่ใช่เรื่องการทำงาน หาเลี้ยงปาก เลี้ยงท้อง เลี้ยงอะไรด้วยตนเอง นั้นมันตื้นเกินไป ส่วนลึกที่สุดมันอยู่ที่ว่า จิตมันจะต้องช่วยจิต ช่วยตัวมันเอง
เดี๋ยวนี้ ปัญหามันก็มีอยู่ตรงที่ว่า มันไม่รู้จักตัวมันเอง แล้วจะช่วยตัวมันเองได้อย่างไร นี้คือพวกเรา ระวังให้ดี คือพวกเราที่ไม่รู้จักแม้แต่ตัวเอง แล้วจะช่วยตัวเองได้อย่างไร
ผมจึงเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญมาก พูดให้เห็นชัด ยิ่งๆขึ้นไปตามโอกาสที่มีไว้ ตัวตน น่ะมันคืออะไร แล้วมันแสดงบทอย่างไร ทำไมจึงว่า เป็นทุกข์ทุกที ที่เกิดความรู้สึกว่าตัวตน เมื่อใดเกิดความรู้สึกว่าตัวตน มันก็เป็นทุกข์ทุกที
จึงต้องรู้จักตัวตน รู้จักธรรมชาติของตัวตน รู้จักธาตุแท้ของตัวตน จิตนั้นแหละ รู้จักเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น แล้วจิตมันก็น้อมเอียงไปในทางที่จะไม่ต้องเกิดตัวตน แต่ก้าวหน้าต่อไป มันก็เป็นการบรรลุมรรคผล ถ้าถึงที่สุด ก็เป็นพระอรหันต์หรือนิพพาน
พิสูจน์ให้ดูด้วยตา เหมือนของเป็นวัตถุนั้นมันไม่ได้ มันก็ต้องพูดโดย โดย โดยให้ไปดูเอาเอง ให้ไปสังเกตุเอาเอง ไปดูเอาเอง จนรู้จักตนเอง จนรู้จักทำที่พึ่งให้แก่ตนเอง จิตนั้นทำที่พึ่งให้แก่ตนเอง จิตนั้นจะหลุดพ้น จากการเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ อย่างซ้ำๆ ซากๆ เวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ อย่างซ้ำๆ ซากๆ นั้น เขาเรียกว่า วัฏสงสาร
จนจิตหลุดออกมาได้ เพราะมันรู้จักตัวเอง และมันทำที่พึ่งให้แก่ตนเอง คือ จิตจะไม่ยอมให้ อัตตวาทุปาทาน เกิดขึ้นในจิตอีกต่อไป แต่จิตมันก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่คนชนิดหนึ่ง ที่จะได้รู้สึกได้อย่างนั้น แต่มันก็รู้จักเข็ดหลาบ การมีร่างกาย มีระบบประสาท มีอะไร เนื่องถึงกันอยู่ มันก็ช่วยให้รู้สึก ในตัวร่างกาย มันรู้จักเข็ดหลาบ ส่วนประสาทมันก็รู้จักเข็ดหลาบ ส่วนจิตมันก็รู้จักเข็ดหลาบ จึงกลัวความทุกข์
ที่เคยบอกว่า ไอ้เรื่อง หิริ และ โอตัปปะ มันไม่ใช่เรื่องเล็กนะ ถ้าไม่เกิดขึ้นแล้ว มันจะไม่กลับ มันจะไม่กลับทางเดิน มันจะเดินทุกข์ ทุกข์เรื่อยไป ถ้ามันเกิดเห็น และเกิดกลัว มันก็จะกลับทางเดินตรงกันข้าม ขอให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน ให้มากขึ้นกว่าครั้งที่แล้วมา
บางทีผมจะทำความรำคาญให้อีกวันหลัง คือพูดเรื่องนี้ซ้ำอยู่เรื่อยๆ แต่ให้มั ขยายความมากออกไปเรื่อยๆ
หนึ่งชั่วโมงแล้ว ไม่ได้เรื่องอะไร ผู้ที่เขาอยากจะรู้ธรรมะเป็นพวง เป็นพวง เขาไม่ชอบฟังเรื่องอย่างนี้ เพราะเราพูดไม่เห็นมีธรรมะอะไร พูดแต่เรื่องควบคุม พูดถึงเรื่องพัฒนา เรื่องควบคุม ในตัวสิ่งที่เรารู้กันอยู่แล้ว ธรรมะที่เรารู้กันอยู่แล้ว แต่เราใช้เป็นประโยชน์ไม่ได้ เป็นเรื่องที่เราสวดท่อง อยู่ทุกวันด้วยซ้ำไป แต่แล้วเราก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ไม่ได้ ต้องเอามาพูดกันอย่างพิถีพิถัน ให้มันใช้ประโยชน์ ให้รู้จัก อัตตวาทุปาทาน มากขึ้น ให้วันคืน วันคืนของเราล่วงไป คอยระวังป้องกันการเกิด อัตตวาทุปาทาน ให้รู้จักมัน แม้แต่ว่า มันเป็นอยู่ใต้สำนึก ที่มันสะอื้นออกมาโดยไม่รู้ว่าเรื่องอะไร แต่มันต้องมีอะไรอยู่ใต้นั้น
เหมือนที่เราจะไปขุดปู เห็นคุ้ยดินอยู่ที่ปากรู ก็รู้ว่ามันมีอยู่ในนั้น หรือจะไปขุดแย้ เด็กๆ มันเห็นมันไปคุ้ยยดินอยู่ที่ปากรู ก็รู้ว่าในนั้นต้องมีแย้ ขุดจิ้งหรีด เห็นคุ้ยดินอยู่ที่ปากรู ก็รู้เลยว่าในนั้นมีตัว นกกระเต็นตาฟาง มันเห็น คุ้ยดิน กระดุก กระดิกนี่แหละ มันเอาปากงับ สับลงไปลึก งับขึ้นมาทั้งดิน ทั้งไส้เดือน มันเก่งขนาดนั้น เห็นตะกุยนิดๆ ยังจับเอาตัวขึ้นมาได้ แล้วเราทำไมไม่ทำอย่างนั้นบ้าง
เอาล่ะวันนี้เท่านี้ เรื่องตัวกู ของกู เคยบรรยายบางคราว สมัยก่อนนู้น ไม่, ไม่เรียกว่า อัตวาอุปาทาน แต่เรียกว่า เรียกว่า ตัวกู ของกู เสร็จแล้วเขาก็พิมพ์ขึ้นมาเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง เรียกว่า ตัวกู ของกู เป็นหนังสือเล่มแรกในประเทศไทยชื่อว่า ตัวกู ของกู แต่ใครเห็นแล้ว มัน, มัน, มันสงสัยว่า เป็นเรื่องบ้า ไม่เคยได้ยินชื่อหนังสืออย่างนี้ ก็เป็นการตั้งต้นไว้ดีมาก หนังสือเล่มนั้น ชื่อ ตัวกู ของกู ให้คนตั้งต้นศึกษาเรื่อง อัตตวาทุปาทาน กัน